โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ถอนฟ้อง 'โจนาธาน เฮด' ผู้สื่อข่าวบีบีซี คดีหมิ่นประมาท ปมเสนอข่าวฉ้อโกงที่ดินของชาวอังกฤษ

Posted: 24 Aug 2017 10:52 AM PDT

25 ส.ค.2560 จากกรณีโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบีบีซี ถูกดำเนินคดีอาญาฐานหมิ่นประมาท และละเมิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในประเทศไทย ที่ศาลภูเก็ต จากการนำเสนอรายงานเรื่องการปลอมแปลงเอกสารและฉ้อโกงที่ดินของชายชาวอังกฤษ

ล่าสุด บีบีซีไทย รายงานว่า ทนายความฝ่ายโจทก์ถอนฟ้องผู้สื่อข่าวบีบีซีแล้ว โดยเมื่อวันพุธ (23 ส.ค.60) เฮด และเอียน แรนซ์ ซึ่งตกเป็นจำเลยร่วมได้เดินทางไปขึ้นศาลจังหวัดภูเก็ต โดยทั้งคู่ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

แถลงการณ์จากบีบีซี ระบุว่า "ฝ่ายโจทก์ ได้ถอนคำฟ้องผู้สื่อข่าวบีบีซีคนนี้ แต่คดีความของจำเลยร่วมยังคงดำเนินต่อไป ทั้งนี้ บีบีซียังไม่สามารถให้ความเห็นเพิ่มเติมได้ในขณะนี้"

Voice TV รายงานด้วยว่า เฮดถูกฟ้องร้องโดย ประทวน ธนารักษ์ ทนายความในจังหวัดภูเก็ต สืบเนื่องจากการรายงานข่าว เอียน แรนซ์  ชาวอังกฤษวัยเกษียณอายุ ถูกอดีตภรรยาชาวไทยปลอมลายเซ็นเพื่อจำหน่ายสินทรัพย์ของทั้งคู่ในจังหวัดภูเก็ตเมื่อปี 2015 

รายงานข่าวดังกล่าวของบีบีซีเป็นการเปิดโปงขบวนการฉ้อโกงชาวต่างชาติซึ่งพัวพันกับเครือข่ายผู้ปล่อยเงินกู้และตัวแทนด้านอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดภูเก็ต รวมถึงพาดพิงทนายความรายหนึ่งซึ่งยอมรับเอกสารที่มีลายเซ็นของ แรนซ์ โดยที่เจ้าตัวไม่ได้อยู่ด้วย และปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวมีการปลอมแปลงลายเซ็น ซึ่งส่งผลให้อดีตภรรยาของแรนซ์ถูกลงโทษจำคุกไปแล้ว

ด้าน ประทวน กล่าวว่าการรายงานข่าวของเฮด ทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกมองว่าเป็นทนายความที่ไม่มีจริยธรรม จึงได้ฟ้องร้องเฮดและแรนซ์ ส่งผลให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรปกป้องเสรีภาพสื่อแสดงความกังวลว่าคดีดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อการรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนและการเปิดโปงขบวนการทุจริตในประเทศไทย จนกระทั่งมีการตัดสินใจถอนฟ้องเฮดในที่สุด และไม่มีการระบุสาเหตุที่ถอนฟ้อง

อย่างไรก็ตาม ทนายความฝ่ายโจทก์ยังไม่ถอนฟ้องแรนซ์ และบีบีซีงดออกความเห็นต่อกรณีดังกล่าว โดยระบุว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อการพิจารณาในชั้นศาล 

ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.พ. เฮดและแรนซ์ ได้เดินทางไปให้ปากคำที่ศาลจังหวัดภูเก็ต และทางการมีคำสั่งยึดหนังสือเดินทางของทั้งคู่ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเฮดในฐานะผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาค ทำให้บีบีซีออกแถลงการณ์ว่าจะ "ยืนหยัดเคียงข้างผู้สื่อข่าว" พร้อมย้ำว่าการปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักการสื่อสารมวลชน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อนุสรณ์ชี้ตัดสินจำนำข้าวกระทบดำเนินนโยบายในอนาคต แนะรับผิดทางการเมืองมากกว่าอาญา

Posted: 24 Aug 2017 09:57 AM PDT

อนุสรณ์ ธรรมใจ ชี้การตัดสินคดีรับจำนำข้าวเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของประทศ การดำเนินนโยบายสาธารณะใดๆ รวมทั้งรับซื้อ 15,000 บ/เกวียน นั้น หากเกิดความผิดผลาดโดยไม่เจตนาทุจริตไม่ควรรับผิดทางอาญา แต่ต้องรับผิดชอบในทางการเมือง
 
 

อนุสรณ์ ธรรมใจ

24 ส.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า การตัดสินคดีรับจำนำข้าวพรุ่งนี้ (25 ส.ค.60) เป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของประทศ การดำเนินนโยบายสาธารณะใดๆ รวมทั้งการับซื้อข้าวที่ 15,000 บาทต่อเกวียน นั้น หากเกิดความผิดผลาดหรือเสียหายโดยไม่เจตนาทุจริตไม่ควรรับผิดทางอาญา หากเกิดความเสียหายจากการดำเนินนโยบายโดยเกินควบคุมต้องรับผิดชอบในทางการเมือง ให้ประชาชนตัดสินผ่านการเลือกตั้งหรือลงประชามติ ส่วนการรับผิดทางแพ่งต้องสอบสวนให้ละเอียดรอบคอบและต้องรอให้ผลกระทบ ทั้งทางบวกทางลบ แสดงผลอย่างชัดเจนก่อนในระยะยาว หากผิดต้องลงโทษทางแพ่ง ฉะนั้นไม่ควรด่วนสรุปขณะนี้ ต้องยึดหลักความเป็นธรรม และ หลักนิติรัฐ

อดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี แนะนำให้ใช้วิธีการแทรกแซงราคาโดยตรงด้วยการรับจำนำข้าวหรือประกันราคาจะมีประสิทธิภาพมากกว่า รัฐบาลควรมีมาตรการสนับสนุนชาวนาจัดตั้งบริษัทหรือสหกรณ์เพื่อการเกษตรในการเพิ่มอำนาจต่อรองในโครงสร้างตลาดและโครงสร้างการผลิต เพราะขณะนี้ ข้าวเปลือกราคาตกต่ำ ราคาข้าวสารที่บริโภคและราคาข้าวส่งออกไม่ได้ปรับตัวลดลงมากนัก ส่วนต่างตรงนี้ไม่ตกถึงมือคนส่วนใหญ่ โครงสร้างตลาดไม่มีการแข่งขันดีนัก มีอำนาจผูกขาดของกลุ่มทุนธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ แต่รัฐบาลไม่ควรเข้าไปผูกขาดตลาดเองเพราะจะสร้างปัญหาไม่ต่างกันหรืออาจจะแย่กว่า จึงขอให้ "รัฐบาล" ศึกษาหามาตรการในการปรับโครงสร้างส่วนนี้ให้ดีขึ้นก็จะทำให้แก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณและภาระทางการคลัง

นโยบายแทรกแซงราคาหรือพยุงราคา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรับจำนำ นโยบายประกันราคาก็ตาม อนุสรณ์ มองว่า รัฐบาลควรนำมาใช้ระยะหนึ่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาหรือเกษตรกรเมื่อราคาพืชผลตกต่ำและผันผวนเท่านั้น ที่สำคัญ รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนวิธีการรับจำนำเสียใหม่ ไม่ให้กลายเป็น การผูกขาดการค้าข้าวโดยรัฐบาล หรือ ตั้งราคาจำนำสูงเกินกว่าราคาตลาดมากๆ ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณราคาที่บิดเบือน ทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวเกินพอดีเกินศักยภาพและเบียดบังพื้นที่เพาะปลูกพืชผลประเภทอื่น การแทรกแซงราคาที่ฝืนกลไกตลาดไม่สามารถทำได้ในระยะเวลานานๆเพราะจะส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ระบบตลาด ระบบการผลิตและฐานะทางการคลังของรัฐบาล และไม่สามารถสร้างรายได้หรือชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาหรือเกษตรกรให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนได้ หลังจากที่รายได้เกษตรกรมีความมั่นคงด้วยการจำนำข้าวแล้ว ก็มุ่งไปที่การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มอำนาจของเกษตรกรในโครงสร้างการผลิตและโครงสร้างการตลาด

12 ข้อเสนอนโยบายภาคเกษตร-แก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ

อนุสรณ์ คาดการณ์อีกว่า ราคาข้าวและราคาสินค้าเกษตรอื่นๆที่ตกต่ำจะทำให้กำลังซื้อในภาคชนบทชะลอตัวลง ส่งผลต่อกิจกรรมเศรษฐกิจต่างๆในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือบางจังหวัด อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกที่กระเตื้องขึ้น ภาคท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องจะทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้ไม่ต่ำกว่า 3% โดยจีดีพีไตรมาสสามน่าจะเติบโตสูงสุด ส่วนไตรมาสสี่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสสาม

สำหรับข้อเสนอในเรื่องนโยบายภาคเกษตรและแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำนั้น อดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะฯ มีข้อเสนอดังต่อไปนี้     

ข้อแรก ต้องมีการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร เริ่มต้นตั้งแต่ปฏิรูประบบข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตร กำหนดเพดานการถือครองที่ดินอย่างเหมาะสม กำหนดเขตการใช้ที่ดินและแผนการใช้ที่ดิน จัดตั้งกองทุนที่ดินเพื่อเกษตรกร รวมทั้งการพลักดันให้มีการเก็บภาษีที่ดินเพื่อกระตุ้นให้นำที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการผลิต  

ข้อสอง ไทยต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนต่อ ไตรลักษณะของภาคเกษตรกรรมของไทย อันประกอบด้วย เกษตรดั้งเดิม เกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เกษตรอินทรีย์ทางเลือก ในขณะที่โลกเผชิญความท้าทายทางด้านความมั่นคงอาหารและพลังงาน

ข้อสาม ใช้ เทคโนโลยี การบริหารจัดการความรู้ เพื่อ เพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปสินค้าเกษตร (ข้าวหรือสินค้าเกษตรอื่นๆ)

ข้อสี่ เพิ่มรายได้เกษตรกรด้วยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มสวัสดิการให้ชาวนาและเกษตรกร

ข้อห้า ทะยอยลดระดับการแทรกแซงราคาลง (แต่ต้องไม่ยกเลิกทันที) โดยนำระบบประกันภัยพืชผลและตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ามาแทนที่ ทำให้ "ไทย" เป็นศูนย์กลางของตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรของภูมิภาค

ข้อหก พัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรและมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร

ข้อเจ็ด จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจจากการเปิดเสรีภายใต้ WTO, FTA, AEC

ข้อแปด ส่งเสริมการขยายฐานในรูป Offshore Farming เกษตรพันธะสัญญาโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV

ข้อเก้า การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมและเดินหน้าสู่ยุทธศาสตร์ ครัวของ

ข้อสิบ จัดให้มีตลาดสินค้าเกษตรให้มากและหลากหลายและพัฒนาไทยสู่โลก รัฐควรลดบทบาทแทรกแซงกลไกตลาดสินค้าเกษตรลง ลดการบิดเบือนกลไกราคาการเป็น "ครัวของโลก" และทำให้ไทยเป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยของโลก

ข้อสิบเอ็ด ทำให้ ชาวนาหรือเกษตรกรทั้งหลายเข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้นปล่อยสินเชื่อถึงเกษตรกรโดยตรง ไม่ต้องผ่านคนกลาง โรงสี หรือ บริษัทค้าปัจจัยการผลิตทั้งหลาย บูรณาการการบริหารจัดการกองทุนที่เกี่ยวกับการแก้ไขหนี้สินเกษตรกรให้เป็นเอกภาพและเร่งรัดแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร

ข้อสิบสอง นำนโยบายรับจำนำข้าวกลับมาดำเนินการจนกว่าราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวดีขึ้นระดับหนึ่งและยกเลิกนโยบายแจกเงินให้ชาวนาเนื่องจากเป็นมาตรการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ สิ้นเปลืองและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรนอกจากบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวนาในระยะสั้นมากๆ เพราะเงิน 1,000 บาทใช้ไม่เกินสามวันก็หมดแล้ว นอกจากนี้การกำหนดมาตรการแบบนี้อยู่บนฐานคิดแบบสังคมสังเคราะห์และส่งเสริมวัฒนธรรมอุปถัมภ์อันไม่ได้ทำให้ชาวนาเข้มแข็งขึ้นในระยะยาวและยังเป็นการทำให้ประชาธิปไตยฐานรากอ่อนแอลงด้วย

นอกจากนี้เรายังต้องเตรียมตัวรับมือกับข้อตกลงการเปิดเสรีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงว่าด้วยการใช้อัตราภาษีพิเศษที่เท่ากันสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน (CEPT-ทำข้อตกลงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536) และข้อตกลง ATIGA ต่อข้าวไทย เช่น การปรับลดภาษี ไทยลดภาษีศุลกากรในสินค้าข้าวให้เหลือ 0% ตั้งแต่ปี 2553 ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอื่นๆได้จัดข้าวอยู่ในบัญชีสินค้าที่มีการอ่อนไหวสูง (Highly Sensitive List) จึงค่อยทยอยลดภาษี

ประเด็นเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ประเด็นเรื่องมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชที่เราทำข้อตกลงเอาไว้เรื่องมีผลต่ออุตสาหกรรมการผลิตข้าวในประเทศไทย เราจึงต้องมีมาตรการรับมือเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมข้าวและประเทศโดยรวม  

อนุสรณ์ กล่าวให้ข้อมูลและข้อเท็จจริง อีกว่า มาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรและการรับจำนำข้าวเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เป็นวิธีการแก้ปัญหาราคาตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรและราคาข้าวได้รวดเร็วที่สุด ต้องยอมรับภาระทางการคลังหรือการเกิดหนี้เนื่องจากการแทรกแซงหากเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและประชาชน เม็ดเงินที่ใช้ไปไม่ใช่ความเสียหายต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการที่ต้องจ่าย เป็นนโยบายควรนำกลับมาใช้ชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้ซึ่งดีกว่าใช้วิธีแจกเงินให้เกษตรกรต่อไร่หรือจำนำยุ้งฉาง นโยบายรับจำนำข้าวย่อมดีกว่าและมีประสิทธิภาพสูงกว่าการแก้ปัญหาด้วยการแจกเงินต่อไร่ให้เกษตรกรหรือจำนำยุ้งฉาง การรับจำนำ รัฐบาลยังมีสต๊อคข้าว อย่างไรก็ตาม แผนการรับจำนำครั้งใหม่ต้องทบทวนจุดอ่อนในอดีต เช่น ไม่รับจำนำในราคาสูงเกินราคาตลาดมากเกินไป ไม่รับจำนำทุกเมล็ด แยกรับจำนำข้าวในราคาตามระดับคุณภาพ ตรวจสอบขั้นตอนการรับจำนำให้โปร่งใสและลดการรั่วไหลทุจริต เป็นต้น  ต้องบริหารจัดการระบายข้าวในสต็อคของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสเพื่อให้ได้สภาพคล่องมาชำระหนี้ชาวนาและทำให้เกิดภาระทางการคลังให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันต้องสร้างความมั่นใจต่อระบบสถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้หรือชำระเงินให้ชาวนาที่ถือใบประทวน โดยสถาบันการเงินสามารถนำใบประทวนซึ่งเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันมารับเงินจากรัฐบาลได้ต่อไป

แนะทบทวนปัญหาและข้อผิดพลาดจากนโยบายรับจำนำข้าว

ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ในการศึกษาทบทวนปัญหาและข้อผิดพลาดจากนโยบายรับจำนำข้าวเพื่อนำมาสู่การพิจารณาว่า จะปรับปรุงนโยบายรับจำนำข้าวอย่างไรให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้หลุดพ้นจากความยากลำบากทางเศรษฐกิจ นโยบายรับจำนำข้าวที่ผ่านมาได้ทำให้ชาวนายากจนจำนวนไม่ต่ำกว่า 3.45 แสนราย ได้รับเงินจำนำข้าวเฉลี่ยรายละ 94,579 บาท และชาวนาระดับกลางและรายได้สูงไม่ต่ำกว่า 2.69 แสนราย ได้รับเงินจำนำข้าวเฉลี่ยรายละ 405,937 บาท นอกจากนี้ยังทำให้ชาวนาบางรายที่มีที่ดินขนาดนา 100 ไร่ขึ้นไปมีรายได้ปีละ 2-3 ล้านบาท หรือ ชาวนาที่มีที่ดินขนาดใหญ่จะได้รายได้เฉลี่ย 4-6.6 แสนบาทต่อปี ด้วยระดับรายได้แบบนี้จึงทำให้ภาคเกษตรกรรมไทยเติบโตและขยายตัวได้อย่างมั่นคงต่อไป 

อนุสรณ์ ชี้ด้วยว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวนาอย่างชัดเจนจะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตและฐานะทางเศรษฐกิจของชาวนาจำนวนมากดีขึ้น ลดปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและทำให้ประชาธิปไตยฐานรากเข้มแข็งขึ้น ประชาธิปไตยรากฐานเข้มแข็งจากฐานะทางเศรษฐกิจและอำนาจต่อรองที่มากขึ้นไม่น้อยหลุดพ้นจากกับดักความยากจน

พรรคเพื่อไทยออกแบบและปั้นนโยบายรับซื้อข้าว 15,000 เพื่อสร้างความนิยมทางการเมืองต่อประชาชนโดยเฉพาะชาวนา 15 ล้านคนซึ่งเป็นปรกติของพรรคการเมืองในระบบประชาธิปไตย โดยหวังว่านโยบายจะทำให้ "ชาวนา" มีรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม กระตุ้นกำลังซื้อช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้พึ่งพาอุปสงค์ในประเทศมากขึ้นจากที่พึ่งพิงภายนอกมากเกินไป (70-80% ของ GDP พึ่งพิงการส่งออกและการลงทุนภายนอก)

ย้ำการตัดสินคดีรับจำนำข้าวกระทบดำเนินการนโยบายสาธารณะในอนาคต 

อนุสรณ์ กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า การตัดสินคดีรับจำนำข้าว (รับซื้อข้าว 15,000 บาท) จะส่งผลต่อการดำเนินการนโยบายสาธารณะ ของรัฐบาลในอนาคต ต่อการทำงานของกลไกระบบราชการ ต่อเศรษฐกิจ ต่อการเมือง สังคม และต่อสันติสุขรวมทั้งเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคน  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

11 ปีดึง‘ศาล’เล่นการเมือง: โมฆะเลือกตั้ง ยุบพรรค ยึดทรัพย์ ถอดถอน ลิดรอนนโยบาย(ฟันจำนำข้าว)

Posted: 24 Aug 2017 09:36 AM PDT

ย้อนทบทวนนับตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ตุลาการภิวัตน์ในเดือนเมษายน 2548 ซึ่งต่อมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารหรือพลเรือน บทบาทของฝ่ายตุลาการได้กลายเป็นปัจจัยชี้ขาดสำคัญคู่ขนานไปกับอิทธิพลของพลังการเมืองนอกรัฐสภาทั้งกลุ่มทุน กองทัพ และฝ่ายอนุรักษ์นิยม สวนทางกับดาวอับแสงอย่างนักการเมืองและอำนาจของประชาชน

ไทม์ไลน์ตุลาการภิวัตน์ภาค 1 เมษายน 2549 ถึงรัฐประหาร คปค./คสช. และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 (คลิกเพื่อรับชมภาพขนาดใหญ่)

ไทม์ไลน์ตุลาการภิวัตน์ภาค 2 เลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ถึงยุบพรรคพลังประชาชน ตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐธรรมนูญ 2550 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 (คลิกเพื่อรับชมภาพขนาดใหญ่)

ไทม์ไลน์ตุลาการภิวัตน์ภาค 3 เลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึง รัฐประหาร คสช. (คลิกเพื่อรับชมภาพขนาดใหญ่)

ไทม์ไลน์ตุลาการภิวัตน์ภาค 3.1 ยุค คสช. รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ถึงรัฐธรรมนูญ 2560 และวันตัดสินคดีจำนำข้าว (คลิกเพื่อรับชมภาพขนาดใหญ่)

 

ย้อนรอยสถานการณ์ทางการเมือง คำพิพากษา และเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม นับตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ตุลาการภิวัตน์ (Judicialization of Politics) โดยเฉพาะหลังจากการประชุมของประมุข 3 ศาลในเดือนเมษายน 2548 โดยนับแต่นั้นมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลพลเรือน บทบาทของฝ่ายตุลาการได้กลายเป็นปัจจัยชี้ขาดสำคัญในพื้นที่การเมืองไทย คู่ขนานไปกับอิทธิพลของพลังการเมืองนอกรัฐสภาทั้งกลุ่มทุน กองทัพ และฝ่ายอนุรักษ์นิยม และมีบ่อยครั้งที่บทบาทของฝ่ายตุลาการทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง ถึงขั้นพลิกขั้วรัฐบาลหรือเป็นบันไดที่นำไปสู่ระบอบที่ไม่ใช่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด พร้อมด้วยตุลาการศาลปกครองสูงสุด และชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำรัสแก่คณะตุลาการ ทรงชี้แนะให้พิจารณาว่าการที่ต้องมีการเลือกตั้งภายใน 30 วัน หลังยุบสภานั้นถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งทรงแสดงความเห็นว่าการเลือกตั้งโดยมีผู้สมัครพรรคเดียวไม่เป็นประชาธิปไตย นอกจากนี้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องข้อเสนอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน และมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ 2540 โดยทรงกล่าวว่า "เป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้" การปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มิได้ให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจทำอะไรได้ทุกอย่าง และทรงแนะแนวทางให้ฝ่ายตุลาการ คือ ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมกันหารือเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

[1.]

28 เมษายน 2549
ประมุข 3 ศาลประชุมพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาการเมือง

นายผัน จันทรปาน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปฎิบัติหน้าที่ประธาน ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายอัขราทร จุฬารัตน์ ประธาน ศาลปกครองสูงสุด และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา กำลังประชุมหาทางออกแก้วิกฤติการเมือง เมื่อวันที่ 28 เมษายน (ที่มาของภาพ: หนังสือพิมพ์แนวหน้า, 29 เมษายน 2560)

หลังจากนั้น นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นายอัขราทร จุฬารัตน์ ประธานศาลปกครองสูงสุดและนายผันจันทรปาน จันทรปาน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับคณะตุลาการทั้ง 3 ฝ่ายประชุมปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาการเมือง ที่อาคารสำนักงานยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก

ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ส่งเรื่องที่บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นเรื่องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการออกพระราชกฤษฎีกา ยุบสภาฯและกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยคณะผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา อธิบายว่าคำร้องดังกล่าว เป็นวาระเร่งด่วนมีหลักฐานขัดเจนไม่จำเป็นต้องเรียกกกต.มาชี้แจงและคณะผู้ตรวจการเห็นว่ามีปัญหาความชอบธรรมด้านกฎหมายจึงส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพื่อแก้ไขวิกฤติของประเทศ

ทั้งนี้ข้อเรียกร้องของอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ยื่นเรื่องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินฯให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตร 17 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความใน 4 ประเด็นคือกำหนดระยะเวลาสำหรับการเลือกตั้งซึ่งห่างจากวันยุบสภาเพียง 35 วัน การจัดคูหาเลือกหันหน้าออกทำให้การลงคะแนนไม่เป็นความลับ การที่พรรคการเมืองใหญ่จ้างพรรคเล็กลงแข่งเป็นต้น

 

8 พฤษภาคม 2549
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ

 

ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย 9/2549 ให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นผู้ส่งเรื่องให้พิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้งและการหันคูหามิชอบ และสั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่

ผู้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาคือ บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ พล.อ.สายหยุด เกิดผล ประธานพีเน็ต

16 พฤษภาคม 2549
ศาลปกครองกลางให้การเลือกตั้ง 2 เมษายนเป็นโมฆะ

ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาที่ 607-608/2549 ให้การเลือกตั้ง 2 เมษายนเป็นโมฆะ กรณี กกต. หันคูหาเลือกตั้งออก ทำให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยลับทั้งทางข้อเท็จจริงและในความรู้สึกของผู้มาใช้สิทธิ ไม่ชอบด้วยมาตรา 104 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ 2540

โดยโพธิพงศ์ บรรลือวงศ์, น.พ.ประมวล วีรุตมเสน และพวก 10 คน เป็นผู้ยื่นคำร้อง

31 พฤษภาคม 2549

ธีรยุทธ บุญมี พูดเรื่อง 'ตุลาการภิวัตน์' ก่อนจะนำเสนองานวิจัยเรื่องตุลาการภิวัตน์ใน 2 เดือนถัดมา

 

รายละเอียดหนังสือของนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา ถึงสุชิน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา เมื่อ 1 มิถุนายน 2549 (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์)

1 มิถุนายน 2549

ที่ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา ทำจดหมายถึง สุชิน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา แจ้งมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ไม่ขอเสนอชื่อ 2 กกต. เนื่องจาก กกต. 3 คนที่เหลือทำหน้าที่บกพร่อง ขาดคุณสมบัติหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ในจดหมายตอนหนึ่ง ประธานศาลฎีกาได้อ้างว่าเป็นการปฏิบัติภารกิจของศาล "ตามที่ได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อม จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ" โดยใจความในจดหมายระบุว่า

"ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยโดยผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล แต่ในเวลาที่ประเทศตกอยู่ในภาวะว่างเว้นรัฐสภา และคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร หากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสงวนรักษาระบอบการปกครองและความสงบสุขของราชอาณาจักรไว้ พระมหากษัตริย์ย่อมทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางศาลได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสแก่ประธานศาลปกครองสูงสุดและประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ดังนั้น การปฏิบัติภารกิจของศาลตามที่ได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อม จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ" (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์)

20 กรกฎาคม 2549
พระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง 15 ตุลาคม 2549

พระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2549 พ.ศ.2549 กำหนดวันเลือกตั้ง 15 ตุลาคม 2549

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักราชเลขาธิการฯ ได้อัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี จำนวน 2 ข้อ ได้แก่ 1. เหตุผลที่ทรงลงพระปรมาภิไธยในกฤษฎีการเลือกตั้งครั้งนี้ ด้วยเพราะมีพระราชประสงค์ให้ประเทศชาติกลับไปสู่ความสงบโดยเร็ว 2. มีพระราชประสงค์ให้การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไปให้มีความเรียบร้อย และยุติธรรม

25 กรกฎาคม 2549
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 กกต. จัดเลือกตั้งรอบใหม่โดยไม่มีอำนาจ

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก4 ปี ต่อ 3 กกต. คือ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต. และพวก กรณีร่วมกันจัดการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตรอบใหม่เมื่อวันที่ 23 และ 29 เมษายน 2549 โดยไม่มีอำนาจ และออกหนังสือเวียนถึง ผอ.กต.เขต ให้เปิดรับผู้สมัครรายเดิมเวียนเทียนสมัครใหม่ โดยผู้ฟ้องคือ ถาวร เสนเนียม ส.ส.ประชาธิปัตย์

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2551 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และในเดือนมิถุนายน 2556 ศาลฎีกายกฟ้อง (ที่มา: คมชัดลึก)

 

15 กันยายน 2549
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 กกต. ไม่เร่งสอบข้อเท็จจริงจ้างพรรคเล็ก

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 ปี 3 กกต. คือ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต. และพวก กรณีไม่เร่งสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคการแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทย ลงสมัครเลือกตั้ง โดยผู้ฟ้องคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

ต่อมา 14 พฤษภาคม 2551 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และ 3 มิถุนายน 2559 ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุกคนละ 2 ปี

19 กันยายน 2549
รัฐประหาร คปค./คมช.

ช่วงหนึ่งของการอ่านแถลงการณ์โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 (ที่มา: โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย)

รัฐประหารนำโดย พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ใช้ชื่อว่า 'คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข' (คปค.) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 และยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ตั้ง 'คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ' ขึ้นแทน

30 พฤษภาคม 2550
ตุลาการรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักไทยและ 3 พรรคเล็ก

คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย 3-5/2550 ยุบพรรคไทยรักไทยกับพรรคเล็กได้แก่ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย รวมทั้งให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้ง 4 พรรค มีกำหนด 5 ปี

19 สิงหาคม 2550

ลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เห็นชอบ 57.81% ไม่เห็นชอบ 42.19%

24 สิงหาคม 2550

ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะมีการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่

 

[2.]

23 ธันวาคม 2550

ผลการเลือกตั้งทั่วไป พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

25 พฤษภาคม 2551

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเริ่มต้นชุมนุม โดยอ้างว่ารัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

27 มิถุนายน 2551

ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ 984/2551 สั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติ ครม. ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ซึ่งหนุนกัมพูชาจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

โดยผู้ร้องคือ สุริยะใส กตะศิลา และพวกรวม 13 คน

30 มิถุนายน 2551

ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย 5/255 รับรองคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีอำนาจตรวจสอบและฟ้องคดี กรณีหวยบนดิน โดยคำวินิจฉัยอ้างเจตนารมณ์ในคำปรารภในพระบรมราชโองการแต่งตั้งหัวหน้า คปก.

8 กรกฎาคม 2551
ศาลฎีกานักการเมืองเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งยงยุทธ ติยะไพรัช ซื้อเสียงกำนัน

ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งที่ 5019/2551เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา กรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน กรณี กกต.ร้องเรียนว่าแจกเงินเพื่อจูงใจให้กลุ่มกำนันอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นหัวคะแนน เพื่อช่วยให้ผู้สมัครพรรคพลังประชาชนได้รับการเลือกตั้ง

8 กรกฎาคม 2551

ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ 547/255 ยืนยันคำสั่งศาลปกครองกลางคุ้มครองชั่วคราว กรณีเพิกถอนร่างแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา

8 กรกฎาคม 2551

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ขัดรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

 

9 กันยายน 2551
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 'สมัคร' พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกรณีชิมไปบ่นไป

 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำคำวินิจฉัย 12-13/2551ให้สมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีเป็นพิธีกรรายการทำอาหาร 'ชิมไปบ่นไป'

คดีนี้ผู้ร้องคือเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และวุฒิสมาชิกรวม 29 คน

17 กันยายน 2551

สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทนสมัคร สุนทรเวช

7 ตุลาคม 2551

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปิดล้อมหน้ารัฐสภาเพื่อขัดขวางไม่ให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ทำให้มีเหตุปะทะและเกิดการสลายการชุมนุม มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

9 ตุลาคม 2551

ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่าการชุมนุมเมื่อ 7 ตุลาคม 2551 ของพันธมิตรฯ มิใช่การชุมนุมโดยสงบอันจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ 2550 และการปิดกั้นมิให้เข้าออกรัฐสภาเพื่อมิให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จะเกิดผลกระทบต่อภาระหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีอำนาจหน้าที่ที่จะเข้าสลายการชุมนุมเพื่อแก้ไขปัญหาการกระทำของผู้ชุมนุมได้ แต่จะต้องกระทำเท่าที่จำเป็น โดยคำนึกถึงความเหมาะสม มีลำดับขั้นตอนตามหลักสากลที่ใช้ในการสลายการชุมนุม โดยมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้นายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามหลักสากล หากจะมีการสลายการชุมนุม ให้กำชับผู้ใต้บังคับบัญชาดำเนินการตามขั้นตอนจากเบาถึงหนัก จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

21 ตุลาคม 2551
ศาลฎีกาตัดสินจำคุกทักษิณ 2 ปี-คดีที่ดินรัชดา

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกจำนวน 33 ไร่ มูลค่า 772 ล้านบาท ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ณ ป้อมเพชร) ภรรยา ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ปฎิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดีและเป็นเจ้าพนักงาน และผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 86, 91, 152 และ 157 โดยศาลตัดสินจำคุกทักษิณ ชินวัตร 2 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนพจมาน ชินวัตร ยกฟ้อง เพราะไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ

เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม ทักษิณและพจมานตัดสินใจอยู่ต่างประเทศและไม่ยอมมารายงานตัวต่อศาล จึงทำให้มีการออกหมายจับ โดยคดีของทักษิณมีอายุความ 15 ปี คือถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2566

ผลสืบเนื่องของคดี ต่อมาเมื่อ 24 กันยายน 2553 ศาลแพ่งพิพากษาให้คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ส่งมอบที่ดิน 4 แปลง คืนให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน เนื่องจากเห็นว่าการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดิน ระหว่างกองทุนฟื้นฟูฯ และคุณหญิงพจมานเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 เป็นโมฆะกรรม พร้อมทั้งให้กองทุนฯ คืนเงินซื้อขายที่ดินจำนวน 772 ล้านบาท ให้กับ คุณหญิงพจมาน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันที่คุณหญิงพจมาน ฟ้องกลับกองทุนฟื้นฟูฯ ให้คืนเงินซื้อที่ดิน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552

24 พฤศจิกายน 2551

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมภายในพื้นที่ของสนามบินดอนเมือง และวันถัดมาได้เข้าไปชุมนุมภายในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ

2 ธันวาคม 2551
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน-มัชฌิมาธิปไตย-ชาติไทย

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 18-20/2551 ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย ตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี กรณียงยุทธ ติยะไพรัช ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

3 ธันวาคม 2551

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยุติการชุมนุม

9 ธันวาคม 2551

อดีตพรรคร่วมรัฐบาลสลับขั้ว พรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

14 เมษายน 2552

แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกาศยุติการชุมนุม หลังจากเริ่มชุมนุมมาตั้งแต่ 26 มีนาคม จนกระทั่งเกิดเหตุจลาจลนำมาสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและสลายการชุมนุม

30 ธันวาคม 2552

ศาลปกครองกลาง ตัดสินคดีหมายเลขดำที่ 984/2551, 1001/2551 และ 1024/2551 มีคำสั่งเพิกถอนแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา กรณีปราสาทเขาพระวิหาร สมัยนพดล ปัทมะ เป็น รมว.กระทรวงการต่างประเทศ

21 กันยายน 2552

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้องคดีจัดซื้อกล้ายางพาราในปี 2546 จำนวน 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท ที่ต้นกล้าตายเกือบหมด โดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ส่งเรื่องให้กับ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ฟ้อง

จำเลยคดีดังกล่าวมีทั้งหมด 44 คน ในจำนวนนี้มีอดีตรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลทักษิณทั้งสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายและช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.), วราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง, สรอรรถ กลิ่นประทุม อดีต รมว.เกษตร, เนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตร และอดิศัย โพธารามิก อดีต รมว.พาณิชย์ นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการเครือบริษัทซีพี, บริษัท รีสอร์ทแลนด์ , บริษัทเอกเจริญการเกษตร รวมทั้งจำเลยที่เป็นข้าราชการระดับบริหารกับกรรมการของบริษัทผู้เสนอราคาจัดซื้อกล้ายาง โดยศาลเห็นว่า คชก. จำเป็นต้องช่วยเหลือเกษตรกร การดำเนินงานไม่ขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เงื่อนไขการประกวดราคาเปิดกว้าง ตรวจสอบผู้เสนอราคาถูกต้อง และบริษัทเอกชนที่ผ่านคุณสมบัติไม่มีการฮั้วประมูล (ที่มา: ไทยรัฐ)

26 กุมภาพันธ์ 2553
ยึดทรัพย์ทักษิณ 4.6 หมื่นล้าน คดีขายหุ้นชินคอร์ป

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.14/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2553มีคำพิพากษายึดทรัพย์ทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้นชินคอร์ป 4.6 หมื่นล้านบาท

12 มีนาคม 2553

แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ชุมนุมใหญ่เรียกร้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่

10 เมษายน 2553

สลายการชุมนุม นปช. ที่ ถ.ราชดำเนิน

13 - 19 พฤษภาคม 2553

สลายการชุมนุม นปช. ที่ราชประสงค์

2 พฤศจิกายน 2553

คณะรัฐมนตรีรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 รวม 2 ประเด็น คือ ม.190 การทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศไม่ต้องผ่านสภา และ ม.93-98 กลับมาใช้ระบบเลือกตั้งแบบ เขตเดียวเบอร์เดียว 375 คน และระบบบัญชีรายชื่อเขตเดียวทั่วประเทศ 125 คน

โดยมาจากข้อเสนอ 6 ประเด็นของคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำโดย สมบัติ ธำรงธัญวงศ์

8 พฤจิกายน 2553

ศาลรัฐธรรมนูญมี คำวินิจฉัย 7/2553 ความเป็นรัฐมนตรีของกษิต ภิรมย์ รมว.การต่างประเทศ ไม่สิ้นสุด กรณีทำจดหมายแนะนายกรัฐมนตรีเร่งคดีทักษิณ

ผู้ร้องคือ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กับวุฒิสมาชิกรวม 19 คน

 

29 พฤศจิกายน 2553

 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 15/2553 ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีเงินบริจาค 258 ล้านจากบริษัททีพีไอโพลีน เนื่องจากกระบวนการยืนคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยผู้ร้องคือ นายทะเบียนพรรคการเมือง

9 ธันวาคม 2553

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 16/2553 ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีเงินบริจาค 258 ล้านจากบ.ทีพีไอโพลน เนื่องจากข้ามขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ชอบด้วยวิธีปฏิบัติ

โดยผู้ร้องคืออัยการสูงสุด

11 กุมภาพันธ์ 2554

รัฐสภาลงมติผ่านวาระ 3 การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 93-98 และ 190

3 มีนาคม 2554

ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 (ที่มา: ราชกิจจานุเบกษา [1][2])

 

[3.]

10 พฤษภาคม 2554

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาจัดการเลือกตั้งทั่วไป

3 กรกฎาคม 2554

ผลการเลือกตั้งทั่วไป พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

13 กุมภาพันธ์ 2555

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยจะแก้ไขมาตราเดียวคือ มาตรา 291 เพื่อปลดล็อกให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ

22 กุมภาพันธ์ 2555

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 5-7/2555พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เพื่อวางระบบจัดการน้ำ และ พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

13 กรกฎาคม 2555
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับควรทำประชามติ

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 18-22/2555 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ "ควร" ทำประชามติ

กรณีนี้มีผู้ร้อง 5 ราย คือ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์, นายวันธงชัย ชำนาญกิจ, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ, นายวรินทร์ เทียมจรัส และนายบวร ยสินทรและคณะ

5 ตุลาคม 2555

ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ 1569/2552 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรีชดใช้ให้กับผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 250 ราย จากกรณีตำรวจสลายการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ปิดล้อมรัฐภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551

ผู้ฟ้องคือชิงชัย อุดมเจริญกิจ กับพวกรวม 250 ราย ซึ่งเป็นประชาชนที่สูญเสียอวัยวะสำคัญและได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเมื่อ 7 ตุลาคม 2551 เฉพาะผู้ฟ้องที่ 45 ถูกคนเสื้อแดงดักทำร้ายขณะรถติดไฟแดงที่ ถ.วิภาวดี ซอย 3 ไม่ได้ถูกกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศาลจึงไม่กำหนดค่าเสียหายให้ และพิพากษาให้ยกฟ้อง

29 มกราคม 2556

กลุ่ม 29 มกราปลดปล่อยนักโทษการเมือง ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อช่วยนักโทษการเมือง

7 มีนาคม 2556

วรชัย เหมะ ส.ส.เพื่อไทยนำทีม ส.ส.รวม 42 คนยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสภา

4 เมษายน 2556

รัฐบาลตัดสินใจไม่ทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 แต่แก้ไขรายมาตราแทน โดยนำเสนอ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภา ในประเด็นที่มาของวุฒิสมาชิก, มาตรา 190 หนังสือสัญญาระหว่างประเทศ และมาตรา 237 ว่าด้วยการยุบพรรค

7 สิงหาคม 2556

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาวาระแรกของสภา มีการชุมนุมต่อต้านหน้าสภาโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ

28 กันยายน 2556

รัฐสภาลงมติผ่านวาระ 3 แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ในประเด็นที่มาของวุฒิสมาชิก

31 ตุลาคม 2556

ชุมนุมต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่สถานีรถไฟสามเสน ก่อนขยายตัวเป็น กปปส.

1 พฤศจิกายน 2556

สภาผู้แทนราษฎรลงมติผ่านวาระ 3 พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

4 พฤศจิกายน 2556

รัฐสภาลงมติผ่านวาระ 3 แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ในประเด็นมาตรา 190

20 พฤศจิกายน 2556

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.. ไม่ชอบ

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ15-18/2556 การดําเนินการ พิจารณา และลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กรณีแก้ไขที่มาวุฒิสมาชิก เป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญมีเนื้อความที่เป็นสาระสําคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นการกระทําเพื่อให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550

ส่วนที่ผู้ร้องที่ 1 ขอให้ยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง เห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขจึงให้ยกคําร้อง

29 พฤศจิกายน 2556
เปิดตัวแกนนำ กปปส.

เปิดตัว 'คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข' (กปปส.) อย่างเป็นทางการ

9 ธันวาคม 2556

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภา กลายเป็นรัฐบาลรักษาการ กำหนดวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557

21 ธันวาคม 2556

พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศบอยคอต ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

8 มกราคม 2557
ศาลรัฐธรรมนูญชี้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.190 ไม่ชอบด้วยกระบวนการ

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 1/2557การพิจารณาและลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 เป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญและการที่ผู้ถูกร้องร่วมกันแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2550 ผิดมาตรา 68 วรรคหนึ่ง

24 มกราคม 2557

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 2/2557 สามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ตามที่ กกต. เสนอ ครม. และอำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของ กกต. และ ครม.ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

2 กุมภาพันธ์ 2557

วันเลือกตั้งทั่วไป 2 กุมภาพันธ์ 2557 ผู้ชุมนุม กปปส. ขัดขวางไม่ให้จัดการเลือกตั้งในหลายเขตเลือกตั้ง

7 มีนาคม 2557

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ เลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 โมฆะ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ

12 มีนาคม 2557
ศาลรัฐธรรมนูญตีตก พ...โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 3-4/2557 มีวินิจฉัยว่า ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศพ.ศ. … ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นี้ จึงมีผลให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ เป็นอันตกไป

21 มีนาคม 2557
ศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้ง 2 .. โมฆะ เพราะไม่สามารถจัดได้ภายในวันเดียว

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 5/2557พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทน 2556 เฉพาะในส่วนที่กําหนดให้มีการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่สามารถจัดการให้เป็นการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

7 มีนาคม 2557
ศาลปกครองคืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แก่ถวิล เปลี่ยนศรี

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา ให้คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แก่ถวิลเปลี่ยนศรี เนื่องจากยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีใช้ดุลยพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

7 พฤษภาคม 2557
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดลง

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 9/2557 ความเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการของยิ่งลักษณ์ ชินวิตร สิ้นสุดลง กรณีศาลปกครองสูงสุดสั่งให้การโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นไปโดยมิชอบ

ผู้ร้องคือ ไพบูลย์ นิติตะวัน วุฒิสมาชิก

 

[3.1]

22 พฤษภาคม 2557
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหาร

คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกแถลงการณ์ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหาร นอกจากนี้ยังมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 เรื่อง การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเป็นการยกเลิกประกาศฉบับที่ 5/2557 เรื่อง การสิ้นสุดชั่วคราวของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยรัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดลง วุฒิสภา ศาล และองค์กรอิสระ ยังคงปฏิบัติหน้าที่

22 กรกฎาคม 2557

ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

23 มกราคม 2558
สนช.ลงมติถอนยิ่งลักษณ์ปมจำนำข้าว

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สนช. ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าวด้วยคะแนน 190 ต่อ 18 งดออกเสียง 8 บัตรเสีย 3 คะแนน และยังส่งผลให้ยิ่งลักษณ์ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี ส่วนนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา รอดจากการลงมติถอนถอน (ไทยรัฐ)

19 มีนาคม 2558
ศาลฎีกาแผนกนักการเมืองรับฟ้องยิ่งลักษณ์คดีจำนำข้าว

องค์คณะผู้พิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีจำนำข้าว ตามที่เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2558 อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 โดยกล่าวหาว่าละเลยไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

19 เมษายน 2558
ศาลฎีกาแผนกนักการเมืองรับฟ้องบุญทรงและพวกคดีระบายข้าวจีทูจี

องค์คณะผู้พิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ตามที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.กระทรวงพาณิชย์, ภูมิ สาระผล อดีต รมช.กระทรวงพาณิชย์ และพวกรวม 21 ราย เมื่อ 9 เมษายนที่ผ่านมา

19 พฤษภาคม 2558

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาคดีจำนำข้าวนัดแรก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

28 พฤษภาคม 2558

ศาลชั้นต้น สั่งจำคุก 2 ปี แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้แก่ สนธิ ลิ้มทองกุล, จำลอง ศรีเมือง, พิภพ ธงไชย, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สมศักดิ์ โกศัยสุข และสุริยะใส กตะศิลา คดีบุกรุกทำเนียบรัฐบาลและปักหลักชุมนุมเมื่อ 26 สิงหาคม 2551 ก่อนออกจากทำเนียบเมื่อ 3 ธันวาคม 2551 "แม้จำเลยจะมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่ก็มีความผิดตามฟ้อง" ทนายจำเลยอุทธรณ์สู้คดีต่อ ศาลให้ประกันตัววงเงิน 2 แสนบาท ไม่มีเงื่อนไขการประกันตัว

29 มิถุนายน 2558

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาคดีจำนำข้าวนัดแรก บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.กระทรวงพาณิชย์ และพวกรวม 21 ราย เดินทางมาสอบคำให้การ โดยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

30 ตุลาคม 2558
ประยุทธ์ใช้มาตรา 44 อุ้มคณะทำงานจำนำข้าวพ้นรับผิดอาญา-แพ่ง-วินัย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 39/2558 เรื่อง การคุ้มรองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด โดยมีผลต่ออายุคณะกรรมการสอบคดีจำนำข้าว ตั้งแต่ปีการผลิต 48/49 จนถึงปีการผลิต 56/57 เพื่อหาคนทำผิดให้ชดใช้ค่าเสียหาย และคุ้มครองคณะทำงานไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย

29 ธันวาคม 2558
...ปัดตกข้อหาอภิสิทธิ์-สุเทพ-อนุพงษ์สลายชุมนุมปี 53

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหาต่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สุเทพ เทือกสุบรรณ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. กับพวกสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ตกไป โดยระบุว่าข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 กับพวก ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปเช่นกัน

ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่พกอาวุธปืนติดตัวเพื่อป้องกันตัวเอง หากภายหลังสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการใช้อาวุธปืนโดยไม่สุจริต เลือกปฏิบัติ และเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็น จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ถือเป็นความรับผิดเฉพาะตัว

19 เมษายน 2559
กำหนดวันออกเสียงประชามติ 8 สิงหาคม 2559

ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กําหนดวันออกเสียงประชามติ โดยกำหนดให้วันที่ 8 สิงหาคม 2559 เป็นวันออกเสียงประชามติ ในประเด็นร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ รวมทั้งคำถามพ่วงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

29 มิถุนายน 2559
ศาลรัฐธรรมนูญชี้ พ...ประชามติ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราว

ศาลรัฐธรรมนูญมี คำวินิจฉัยที่ 4/2559 เห็นว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

ก่อนหน้านี้จอน อึ๊งภากรณ์และคณะยื่นหนังสือร้องเรียน โดยผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย จรัญ ภักดีธนากุล, ชัช ชลวร, ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, บุญส่ง กุลบุปผา, ปัญญา อุดชาชน, วรวิทย์ กังศศิเทียม, อุดมศักดิ์ นิติมนตรี

7 สิงหาคม 2559

ลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เห็นชอบ61.35% ไม่เห็นชอบ 38.65% ลงประชามติคำถามพ่วง เห็นชอบ 58.07% ไม่เห็นชอบ 41.93%

25 สิงหาคม 2559

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี้ยบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และตัดสินจำคุก 1 ปี รอลงอาญา 5 ปีนายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ และอดีตปลัดกระทรวงไอซีที ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157กรณีที่มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

28 กันยายน 2559

ศาลรัฐธรรมนูญมี คำวินิจฉัยที่ 6/2559 วินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้แก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ไม่ชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติ และให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการแก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปรับแก้ถ้อยคำในคำปรารภให้สอดคล้องกันต่อไป ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 มาตรา 37/1

โดยผู้ร้องคือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้ว หรือไม่

26 ตุลาคม 2559

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 7/2559 การปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นสามารถกระทำได้ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้มีหน้าที่ปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเพื่อให้สมบูรณ์ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป

คณะรัฐมนตรีขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดกรณีการปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญภายหลังการลงประชามติ

16 พฤศจิกายน 2559

ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยพิพากษากลับให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงกลาโหม 1163/2555 เมื่อปี 2555 ที่มีผลปลดอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะออกจากทหารกองหนุน-เรียกคืนเบี้ยหวัด กรณีขาดการตรวจคัดเลือกทหารแล้วนำไปใบสำคัญ (ใบ สด.9) แทนฉบับที่ชำรุดสูญหายอันเป็นเท็จมาแสดงต่อสัสสดี จ.นครนายก ทำให้ไม่มีคุณสมบติเข้ารับราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตร ตำแหน่งอาจารย์สอนในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) โดยศาลเห็นว่าคำสั่งไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับและกฎเกณฑ์ที่ถือปฏิบัติ และไม่อาจตีความปิดช่องว่างทางกฎหมายให้เป็นผลร้ายกับโจทก์ผู้ถูกกล่าวหา

โดยต่อมาในวันที่ 13 มกราคม 2560 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ยื่นฎีกาของคดีนี้

17 กุมภาพันธ์ 2560
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องอภิสิทธิ์-สุเทพออกคำสั่ง ศอฉ. สลายชุมนุมปี 2553 ถือว่าไม่ได้กระทำในฐานะส่วนตัว เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ต้องให้ ป... เป็นผู้ชี้มูล

ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำสั่งในคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา กรณีจำเลยทั้งสองออกคำสั่ง ศอฉ. ให้เจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่การชุมนุมจาก นปช. บริเวณถนนราชดำเนินและแยกราชประสงค์ ตั้งแต่เดือนเมษายน จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

ศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า อภิสิทธิ์ และสุเทพ ออกคำสั่งขณะดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และ รองนายกรัฐมนตรี ฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำในฐานะส่วนตัว ถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้มูลความผิดและยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ไม่มีอำนาจในการสอบสวน โดยเป็นการตัดสินยืนตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อ 28 สิงหาคม 2557

6 เมษายน 2560
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

โดยรัฐธรรมนูญ 2560 มีการแก้ไขคำปรารภ และแก้ไขเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 8 มาตราเมื่อเทียบกับร่างรัฐธรรมนูฉบับที่มีการลงประชามติ

โดยมีการแก้ไขบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง เปิดทางวุฒิสภาสมัยแรกที่มาจากการแต่งตั้งร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี และแก้ไขอีก 7 มาตรา ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญคืนมาแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะบางประเด็นได้ โดยเนื้อหาที่แก้ไข เช่น มาตรา 5 องค์กรแก้วิกฤต มาตรา 12 คุณสมบัติองคมนตรี มาตรา 15 อำนาจการแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง มาตรา 16, มาตรา 17 การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร มาตรา 19 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิญาณตนมาแล้ว ไม่ต้องปฏิญาณตนที่รัฐสภาอีก และมาตรา 182 เกี่ยวกับเรื่องผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

21 เมษายน 2560

ศาลฎีกาพิพากษายืน จำคุก 12 เดือน อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง หมิ่นประมาท อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีปราศรัยเมื่อ 11 และ 17 ตุลาคม 2552 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและทำเนียบรัฐบาล กล่าวหาอภิสิทธิ์ว่าสั่งทหารฆ่าประชาชน ปล้นอำนาจจากประชาชน และไม่ดำเนินการตรวจสอบการทุจริตในโครงการต่างๆ

โดยอริสมันต์ ถูกคุมขังอยู่ก่อนแล้วที่เรือนจำพัทยา จ.ชลบุรี ในคดีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตัดสินจำคุก 4 ปี กรณีพาผู้ชุมนุม นปช. บุกโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เพื่อขัดขวางการประชุมผู้นำอาเซียนเดือนเมษายนปี 2552

9 มิถุนายน 2560

ศาลฎีกาประทับรับฟ้องคดีที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ ฟ้องธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอและพวก กรณีสรุปสำนวนคดีสลายการชุมนุมปี 2553 โดยไม่สุจริต มีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา หลังธาริตสรุปสำนวนกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสองพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

20 กรกฎาคม 2560

ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.1962/2552 ที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332

กรณีจตุพรปราศรัยที่วัดไผ่เขียว ย่านดอนเมือง วันที่ 10 พฤษภาคม 2552 กล่าวว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์เป็นรัฐบาลภายใต้ทรราชฟันน้ำนม เป็นคนสั่งทหารให้ไปยิงประชาชน เป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือดฆ่าประชาชน จะต้องถูกประหารชีวิต ข้อหาฆ่าคนตาย ฯลฯ โดยศาลพิพากษากลับให้จำคุกจตุพรเป็นเวลา 1 ปี ไม่รอลงอาญา และให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวัน 7 วัน

โดยก่อนหน้านี้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2555 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อ 26 ธันวาคม 2557 ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่ารูปคดีมีเหตุผลที่ทำให้จำเลยเชื่อว่าน่าจะมีมูลเหตุในเรื่องที่ได้กล่าวถึงจริง เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (1) ไม่ใช่ความผิดฐานหมิ่นประมาท

24 กรกฎาคม 2560

จำลอง ศรีเมือง เดินทางมาขึ้นศาลอาญา รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 (ที่มา: เพจ Banrasdr)

ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ลดโทษ 1 ใน 3 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้แก่ สนธิ ลิ้มทองกุล, จำลอง ศรีเมือง, พิภพ ธงไชย, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สมศักดิ์ โกศัยสุข และสุริยะใส กตะศิลา คดีบุกรุกทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 26 สิงหาคม - ธันวาคม 2551 โดยระบุว่าการกระทำของพวกจำเลยมิได้เป็นประโยชน์เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตน จึงเห็นควรพิพากษาลงโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์จึงพิพากษาแก้จากเดิมที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 2 ปี ให้เป็นจำคุก 1 ปี โดยลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยทั้ง 6 เป็นเวลาทั้งสิ้น 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

โดยคดีดังกล่าวเมื่อ 28 พฤษภาคม 2558 ศาลชั้นต้นเคยตัดสินจำคุกจำเลยทั้ง 6 คนเป็นเวลา 2 ปี

2 สิงหาคม 2560
ศาลฎีกาแผนกนักการเมืองยกฟ้องสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และพวกคดีสลายชุมนุมพันธมิตรฯ 7 ตุลาคม 2551

สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เดินทางมาฟังคำพิพากษาคดีสลายการชุมนุม 7 สิงหาคม 2551 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ที่มาของภาพ: Facebook/Banrasdr Photo)

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินยกฟ้อง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คดีสลายการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 7 ตุลาคม 2551ระบุไม่ปรากฏข้อเท็จจริงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลัง

คดีดังกล่าว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้องในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จากการสลายการชุุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ

 

25 สิงหาคม 2560

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษาคดีนโยบายจำนำข้าวที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลย ฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต และปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว เป็นจำนวนเงิน 5 แสนล้านบาท ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และพิพากษาคดีทุจริตระบายข้าว(จีทูจี) ที่บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.กระทรวงพาณิชย์ และภูมิ สาระผล อดีต รมช.กระทรวงพาณิชย์ เป็นจำเลย

 

ผลกระทบของคำพิพากษาแบบตุลาการภิวัตน์

ในงานเสวนาวิชาการ "เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" ซึ่งจัดในเดือนเมษายน 2559 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน และหนึ่งในสมาชิกของนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ เสนอว่า บทบาทของตุลาการภิวัตน์ที่ผ่านมาได้ทำลายพลังของกลุ่มการเมืองเดียวกันทั้งหมดคือ ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย ซึ่งทั้งหมดจบลงด้วยการล้มรัฐบาล (อ่านการนำเสนอของปิยบุตร)

ในการนำเสนอของปิยบุตร เขาเสนอว่าคำพิพากษากลุ่มนี้ส่งผลกระทบทางการเมืองอยู่ 4 รูปแบบ กลุ่มที่หนึ่ง คำพิพากษาที่กำจัดนักการเมืองโดยตรง กลุ่มที่สอง คำพิพากษาที่ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล กลุ่มที่สาม คำพิพากษาที่ปกป้องแดนอำนาจของพวกเขาเอง และกลุ่มที่สี่ สร้างสุญญากาศในทางการเมือง

กลุ่มแรก คำพิพากษาที่เข้าไปจัดการนักการเมืองโดยตรง คือ กำจัดนักการเมืองที่ถูกมองเป็นศัตรู เป็นภัยต่อชนชั้นนำจารีตประเพณี ต่อประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กลุ่มนี้คือ การยุบพรรค เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี การปลดนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ยึดทรัพย์สิน ผลคือนักการเมืองเหล่านี้ต้องถูกขับออกไปจากการเมือง ไม่ถาวรก็ชั่วคราวระยะเวลาหนึ่ง แล้วรัฐบาลต้องล้มลงต้องมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล

กลุ่มที่สอง คำพิพากษาที่ส่งผลทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล โดยธรรมชาติของความเป็นศาล ไม่สามารถตัดสินคดีที่ปลดรัฐบาลล้มรัฐบาลได้อยู่บ่อยๆ มีข้อจำกัดของความเป็นศาล ซึ่งถ้าทำมากๆ อาจทำให้ศาลเสียหายได้ แต่ก็มีวิธีอยู่นั่นคือ มีคำพิพากษาที่ออกมาแล้วบั่นทอนความชอบธรรมของรัฐบาลหรือเปิดช่องให้องค์กรอื่นเล่นงานได้ต่อ เช่น คำพิพากษากรณีปราสาทพระวิหาร หรือคำพิพากษาศาลปกครองที่พิพากษาว่าการย้ายถวิล เปลี่ยนศรี เข้ามาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วหลังจากนั้นก็มี ส.ว.กลุ่มหนึ่ง เอาผลจากคำพิพากษานี้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้มีการปลดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

กลุ่มที่สาม คำพิพากษาที่ส่งผลปกป้องแดนอำนาจของตัวเอง โดยปิยบุตรยกตัวอย่างกรณีของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งถือเป็นหัวใจของพวกเขา เมื่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีเสียงข้างมากชูธงจะเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อเริ่มต้นก็จะถูกขวางทันที โดยเมื่อรัฐสภาต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ศาลรัฐธรรมนูญในเวลานั้นแม้ว่าไม่ได้ตัดสินว่าทำไม่ได้ แต่ก็บอกว่าต้องทำประชามติเสียก่อน รัฐบาลซึ่งคำนวณแล้วว่าได้ไม่คุ้มเสีย จึงเปลี่ยนไปแก้ไขรัฐธรรมนูญทีละมาตรา แต่พอแก้ไขที่มาของวุฒิสมาชิกจากเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง มาเป็นเลือกตั้งทั้งหมด ศาลรัฐธรรมนูญก็ตีความแบบพิสดารว่า การแก้รัฐธรรมนูญโดยเปลี่ยนให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นการได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย หรือไม่ยอมให้แก้ไขมาตรา 190 ไม่ให้แก้ไขเรื่องยุบพรรค เหล่านี้เหมือนการป้องกันแดนอำนาจของตัวเอง เพราะหากเสียส่วนนี้ไปศาลรัฐธรรมนูญจะพลิกโฉมทันที

และกลุ่มที่สี่ คำพิพากษาที่ส่งผลให้เกิดสุญญากาศ ตอนรัฐบาลทักษิณ สมัคร สมชาย ยิ่งลักษณ์ จะมีการชุมนุมต่อต้าน จุดประสงค์ของผู้ชุมนุมต่อต้านไม่ได้ต้องการให้ยุบสภา เพราะเขามองว่ายุบแล้วเลือกตั้งใหม่ได้พวกเดิมกลับมา จึงมีข้อเสนอเช่น ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งบ้าง หรือเสนอมาตรา 7 เสนอนายกรัฐมนตรีพระราชทานบ้าง แต่อยู่ดีๆ มีข้อเสนอเหล่านี้ไม่ได้ ต้องเกิดสุญญากาศก่อน ดังนั้นเมื่อรัฐบาลยุบสภา ขั้นตอนต่อไปคือต้องไปเลือกตั้ง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกลายเป็นรัฐบาลรักษาการ อำนาจหายหมด ราชการประจำไม่ฟังแล้ว พอจะเลือกตั้งก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่บอกว่าเลือกตั้งไม่ได้ และสุดท้ายก็จะมีคำพิพากษาออกมาว่าการเลือกตั้งนั้นใช้ไม่ได้ เราจึงมีคำพิพากษาเรื่องนี้ 2 ครั้ง ล้มการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 และล้มการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อให้การเลือกตั้งเสียไป พอเสียไปรัฐบาลก็ไม่มี เป็นรัฐบาลรักษาการก็เข้าสู่สภาวะสุญญากาศ และทั้งสองครั้งจบด้วยการรัฐประหาร

ปิยบุตรเสนอด้วยว่ามี 4 เหตุปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดคำพิพากษาแบบตุลาการภิวัตน์ ประกอบด้วย 1.ตัวบทรัฐธรรมนูญ ตัวบทที่เขียนไว้ชัดเจนว่าให้อำนาจศาล ศาลก็ไม่ลังเลใจที่จะใช้อำนาจเนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ หรือมีช่องทางการส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา องค์กรนั้นองค์กรนี้ และมีตัวบทมันไม่ชัดแต่ศาลตีความให้อำนาจตัวเอง

2. นักร้อง หรือ คนที่ไปร้องศาล ปิยบุตรยกตัวอ่างสุภาษิตกฎหมายละตินที่บอกว่า 'ไม่มีคำฟ้อง ไม่มีผู้พิพากษา' กล่าวคือถ้าไม่มีคนไปฟ้องศาลตัดสินไม่ได้ ทีนี้ศาลอยู่ดีๆ จะเปิดประตูเรียกให้คนมาฟ้องก็ไม่ได้ จึงต้องมีกลุ่มที่ขะมักเขม้นขยันขันแข็งในการร้องศาลตลอดเวลา

3. วาทกรรมตุลาการภิวัตน์

และ 4. สร้างให้สังคมเชิดชูศาลเป็นกลาง ซึ่งข้อเสนอนี้เองที่ทำให้ศาลออกมา บนวาทกรรมที่ว่า ศาลมีความเป็นกลาง เป็นอิสระ เรื่องทุกเรื่องที่ขัดแย้งกันต้องไปจบที่ศาล มีความคิดว่าถ้าขัดแย้งกันเมื่อไรต้องมีศาลชี้ขาด ทั้งที่กระบวนการทางการเมืองบางเรื่องไม่ต้องจบที่ศาล แต่ของไทยต้องไปที่กระบวนการศาลตลอด

ซึ่งทั้ง 4 ปัจจัยนี้ผลักดันให้เกิดชุดคำพิพากษาตุลาการภิวัตน์ขึ้นมาได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผบ.ทบ.ยันไม่พบหลักฐานซ้อมทรมาน พลทหารทาโร่

Posted: 24 Aug 2017 06:18 AM PDT

พล.อ.เฉลิมชัย ระบุข้อมูลหลักฐาน รวมทั้งซักถามพยานและการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดไม่ปรากฏว่ามีการซ้อมทรมาน พลฯทหาร นภดล วรกิจพันธ์ ทหารกองประจำการ ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี  

แฟ้มภาพ

24 ส.ค. 2560 จากเหตุการเสียชีวิตของ พลฯทหาร นภดล วรกิจพันธ์ หรือ ทาโร่ อายุ 21 เป็นทหารกองประจำการ ประจำมณฑลทหารบกที่ 45 ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี  ผลัด 1 เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุดวันนี้ (24 ส.ค.60) สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้รอผลการชันสูตรศพและการพิสูจน์หลักฐานของตำรวจ แต่ในขั้นต้นจากการรวบรวมข้อมูลหลักฐานภายใน มทบ.45 และการรวบรวมข้อมูลของตำรวจ ทั้งการซักถามพยานและการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดไม่ปรากฏว่ามีการซ้อมทรมาน

"ผมมอบหมายให้ พล.ต.วิชัย ทัศนมณเฑียร ผบ.มทบ.45 ไปดูในรายละเอียดและช่วยจัดการงานศพ เบื้องต้นยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการเชื่อมโยงไปถึงบุคคลใด ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจในการรวบรวมหลักฐานทั้งหมดอีกสักระยะ" ผบ.ทบ. กล่าว 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาคมนักข่าวฯ จี้รัฐยุติการคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนและประชาชน

Posted: 24 Aug 2017 04:21 AM PDT

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แถลงการณ์ขอรัฐยุติการคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนและประชาชน ยกสถานการณ์สื่อถูกละเมิด เช่น ประวิตร โรจนพฤกษ์ และผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา  รวมทั้งพล.ท.สรรเสริญ ขอสื่อช่วยพีอาร์รัฐบาล 
 
24 ส.ค. 2560 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แถลงการณ์สมาคมฯ เรื่อง ขอให้ยุติการคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนและประชาชน โดยแถลงการณ์ ระบุว่า หลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้บริหารราชการแผ่นดินมาจนถึงวันนี้เป็นระยะเวลาสามปีกว่า อันเป็นเวลาที่บ้านเมืองกำลังเดินหน้าเข้าสู่บรรยากาศความปรองดองสมานฉันท์ เพื่อเตรียมการเข้าสู่วิถีทางประชาธิปไตย  แต่ในช่วงที่ผ่านมากลับมีขบวนการของเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงาน มีพฤติการณ์เข้าข่ายคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชน อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวิธีปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น ในชั้นเจ้าพนักงานตำรวจ ตั้งแต่การตั้งข้อหาโดยมูลเหตุคลุมเครือ การปฏิบัติที่ดูคล้ายจงใจสร้างความลำบากให้กับผู้ถูกกล่าวหา เช่น การกักขังไม่ให้ประกันในชั้นเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุอันควร ทั้งที่ยังไม่ใช่ผู้กระทำความผิดและยังไม่ใช่ผู้ต้องหา ซึ่งควรได้รับสิทธิคุ้มครองในฐานะที่ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตามหลักกฎหมายอาญา
 
แถลงการณ์สมาคมนักข่าวฯ ระบุต่อว่า ดังปรากฏในกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหากับ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส ว่ายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัววิจารณ์รัฐบาล และ คสช. อีกทั้งกรณีนายชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะอีก 4 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งชุมนุมทางการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตหลังจากเข้าร่วมกิจกรรมการประชุมวิชาการไทยศึกษาของมหาวิทยาลัย
 
รวมถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อหากลั่นแกล้งกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ว่าบุกรุกสถานที่ระหว่างลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงการแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. โดยปราศจากมูลความผิด ทั้งที่สื่อมวลชนได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและรักษาผลประโยชน์สาธารณะ และกรณีที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ สั่งการให้สื่อมวลชนที่ลงพื้นที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ในวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา ทำรายงานพิเศษผลงานรัฐมนตรีผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
 
สมาคมนักข่าวฯ เห็นว่า ปัจจุบันมีการใช้มาตรการที่คลุมเครือ เหวี่ยงแห เพื่อข่มขู่ ปิดปาก ดำเนินคดีกับประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐบาลมากขึ้น  โดยอ้างว่า บุคคลเหล่านี้ยุยงให้เกิดความปั่นป่วน หรือสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ทั้งที่การแสดงความคิดเห็นหลายกรณีเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ที่รองรับสิทธิเสรีภาพในการพูด การเขียน การพิมพ์ และการสื่อความหมายในวิธีต่างๆ พฤติกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจรัฐได้เข้ามาปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นโดยอ้างเหตุผลความมั่นคง ทั้งที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง และข่มขู่ให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว โดยเฉพาะมาตรา 116 ที่มีบทลงโทษสูงจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนและประชาชนอย่างชัดแจ้ง
 
สมาคมนักข่าวฯ  ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการกลั่นแกล้ง แทรกแซงเสรีภาพสื่อมวลชน การตั้งข้อหาที่เกิดขึ้นเป็นการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขตของกฎหมาย เป็นสัญญาณอันตรายต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน  และขอให้รัฐบาล รวมถึง คสช. เปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช. จ่อถกร่าง พ.ร.บ. ตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ควบรวม 11 รัฐวิสาหกิจ

Posted: 24 Aug 2017 04:09 AM PDT

หมอหยุยหวั่นควบรวมรัฐวิสาหกิจเอาสมบัติชาติให้เอกชนดูแล ยก ม. 77 ระบุ ร่าง ก.ม. ยังไม่ได้ประชาพิจารณ์ครบถ้วนพอจะเสนอ สนช. ทำความรู้จักบรรษัทฯ ผ่านร่าง พ.ร.บ. ระบุหน้าที่ 4 ด้าน ทุนหนึ่งพันล้าน แบ่งเป็นร้อยล้านหุ้น ให้กระทรวงการคลังโอนหุ้นรัฐวิสาหกิจเข้าบรรษัทภายใน 180 วัน หลังบังคับใช้

เมื่อ 23 ส.ค. 2560 สำนักข่าว มติชน รายงานว่า นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ระบุว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ (รสก.) พ.ศ...  ในสัปดาห์หน้า โดย พ.ร.บ. ถูกร่างขึ้นเพื่อปฏิรูปการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้เหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคม โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เสนอแนะให้คำปรึกษาต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางในการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ทำหน้าที่ในฐานะผู้ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทแทน

ด้านวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า เท่าที่ดูกฎหมายฉบับนี้จะรวมรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ 11 แห่ง เช่น ทีโอที ไปรษณีย์ ขสมก. ปตท. การบินไทย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยฯ ให้เป็นบรรษัทรัฐวิสาหกิจบริหารในลักษณะบอร์ดโดยมี คนร.เป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งในมาตรา 44-48 กำหนดให้ คนร. แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 คน มาบริหารบรรษัทรัฐวิสาหกิจ ซึ่งบรรษัทนี้จะควบรวมกิจการ หุ้น ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ให้มารวมไว้ในที่เดียวกัน หรือเป็นการบริหารแทนกระทรวงการคลัง ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่มากเพราะเป็นการเอาสมบัติของชาติมาให้เอกชนดูแล โดยเฉพาะกรรมการผู้ทรงวุฒิจำนวน 9 คนที่จะมีอำนาจในการบริหาร ทั้งยังระบุว่าร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้รับฟังความเห็นอย่างครบถ้วนดีพอที่จะส่งมาให้ สนช. พิจารณาได้ เพราะยังไม่ได้รับฟังความเห็นจากประชาชนหรือผู้เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 โดยได้ทำการรับฟังผู้ถือหุ้น คนบางกลุ่ม ขณะที่ตัวแทนจากสหภาพของรัฐวิสาหกิจมีการรับฟังน้อยมาก

ร่าง พ.ร.บ. ระบุหน้าที่ 4 ด้าน ทุนหนึ่งพันล้าน แบ่งเป็นร้อยล้านหุ้น ให้กระทรวงการคลังโอนหุ้นรัฐวิสาหกิจเข้าบรรษัทภายใน 180 วัน หลังบังคับใช้

ในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจได้เปิดเผยร่าง พ.ร.บ. การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ…. ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในวันที่ 8 ส.ค. 2560 ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยการจัดตั้งบรรษัท มาตรา 44-48 ระบุว่าบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจในกำกับของบรรษัทและกำกับดูแลการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจในฐานะผู้ถือหุ้น ให้เกิดผลตอบแทนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งลงทุนและบริหารทรัพย์สินและบริหารทรัพย์สินของบรรษัท ทั้งนี้บรรษัทเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ

บรรษัทมีอำนาจตามมาตรา 46 ของร่าง พ.ร.บ. สี่ประการ ดังนี้

  1. ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและหลักทรัพย์ มีสิทธิครอบครองและมีทรัพยสิทธิต่างๆ

  2. ก่อตั้งสิทธิหรือกระทำนิติกรรมใดๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร

  3. ค้ำประกันหรือรับรอง รับอาวัล หรือสอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงิน

  4. กู้หรือยืมเงินในหรือนอกราชอาณาจักรเพื่อกิจการของบรรษัท

การดำเนินการตาม (3) และ (4) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ คนร. กำหนด

มาตรา 47 ให้บรรษัทมีทุนหนึ่งพันล้านบาท แบ่งเป็นหนึ่งร้อยล้านหุ้น มีมูลค่าหุ้นละสิบบาท บรรษัทอาจเพิ่มหรือลดทุนได้โดยเสนอกระทรวงการคลังเพื่อเสนอต่อ คนร. ให้ความเห็นชอบ และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. กำหนดให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบรรษัท และหุ้นทุกหุ้นของบรรษัทต้องใช้เงินครั้งเดียวเต็มมูลค่าและโอนเปลี่ยนมือมิได้

ทั้งนี้ ในหมวดว่าด้วยการโอนหุ้นของรัฐวิสาหกิจให้แก่บรรษัทระบุให้โอนหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ในรัฐวิสาหกิจว่าด้วยบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติภายใน 180 วันนับแต่ พ.ร.บ. บังคับใช้

บรรษัทยังมีหน้าที่ตามกฎหมายมาตรา 48 ให้ประกาศกำหนดแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในบรรษัท เพื่อให้สามารถดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของบรรษัทตามหลักเกณฑ์ที่ คนร. กำหนด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรุงเทพโพลล์ ระบุ ปชช. 50% ไม่อยากให้ยิ่งลักษณ์กลับมาเล่นการเมือง แม้ไม่ผิดคดีจำนำข้าว

Posted: 24 Aug 2017 03:46 AM PDT

กรุงเทพโพลล์ เผยประชาชน 38.1% คิดว่า ยิ่งลักษณ์ จะมีความผิดจากผลของคำตัดสินคดีทุจริตจำนำข้าว ส่วน 50.0% มีความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้ไม่ผิดในคดีทุจริตจำนำข้าว ก็ไม่อยากให้ ยิ่งลักษณ์ กลับมาเล่นการเมืองอีก แต่ 47.9% เชื่อว่าจะกลับมาเล่นการเมือง

 

24 ส.ค.2560 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ รายงานว่า กรุงเทพโพลล์ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "ประชาชนคิดอย่างไรกับการตัดสินคดีทุจริตจำนำข้าวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,167 คน พบว่า ประชาชนร้อยละ 38.1  คิดว่า ยิ่งลักษณ์ จะมีความผิดจากผลของคำตัดสินคดีทุจริตจำนำข้าว ขณะที่ร้อยละ 19.5 คิดว่า ยิ่งลักษณ์ จะไม่มีความผิด ส่วนร้อยละ 16.5 คิดว่า ยิ่งลักษณ์ จะไม่มาฟังคำตัดสิน ทั้งนี้มีถึงร้อยละ 25.9 ที่ไม่แน่ใจ

สำหรับเรื่องที่กังวลมากที่สุด หากศาลตัดสินว่า ยิ่งลักษณ์ มีความผิดคดีทุจริตจำนำข้าวพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 55.4 กังวลเรื่องการจราจรติดขัด รองลงมาคือ การชุมนุมประท้วง (ร้อยละ 37.9) การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ชุมนุม (ร้อยละ 31.4) และการก่อเหตุไม่สงบ สร้างสถานการณ์ความรุนแรง  เผาสถานที่ต่างๆ (ร้อยละ 23.2)

เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่ารัฐบาลควรใช้ ม.44 เพื่อควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบ ในช่วงตัดสินคดีทุจริตจำนำข้าว ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.5 เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 35.1 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 12.4 ไม่แน่ใจ

ส่วนความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ให้สงบ ในช่วงการตัดสินคดีทุจริตจำนำข้าวพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 74.7 เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 16.3 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ที่เหลือร้อยละ 9.0 ไม่แน่ใจ

เมื่อถามว่าท่านคิดว่า ยิ่งลักษณ์ จะกลับมาเล่นการเมืองอีกหรือไม่ หากศาลตัดสินว่าไม่มีความผิดในคดีทุจริตจำนำข้าว ประชาชนร้อยละ 47.9 คิดว่าจะกลับมาเล่นการเมืองอีก ขณะที่ร้อยละ 38.6 คิดว่าไม่น่าจะกลับมาเล่นการเมืองแล้ว ส่วนที่เหลือร้อยละ 13.5 ไม่แน่ใจ 

ทั้งนี้เมื่อถามต่อว่าอยากให้ ยิ่งลักษณ์ กลับมาเล่นการเมืองอีกหรือไม่ในอนาคต หากศาลตัดสินว่า ไม่มีความผิดในคดีทุจริตจำนำข้าวพบว่า ประชาชนร้อยละ 50.0 ไม่อยากให้กลับมา ขณะที่ร้อยละ 33.7 อยากให้กลับมา และร้อยละ 16.3   ไม่แน่ใจ

รายละเอียดการสำรวจ : 

ประชากรที่สนใจศึกษา การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป โดยการสุ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฐานข้อมูลของกรุงเทพโพลล์ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) แล้วใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยข้อมูลประชากรศาสตร์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย

ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error) การประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน  ± 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

วิธีการรวบรวมข้อมูล ใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (Enumeration by telephone) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล        

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล     :  21 – 23 สิงหาคม 2560 

วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ           :  24 สิงหาคม 2560

ข้อมูลของกลุ่มตัวอย่าง

 

จำนวน

ร้อยละ

เพศ

 

 

            ชาย

601

51.5

            หญิง

566

48.5

รวม

1,167

100.0

อายุ

 

 

            18 ปี - 30 ปี

136

11.7

            31 ปี - 40 ปี

235

20.1

            41 ปี - 50 ปี

308

26.4

            51 ปี - 60 ปี

298

25.5

            61 ปี ขึ้นไป

190

16.3

รวม

1,167

100.0

การศึกษา

 

 

            ต่ำกว่าปริญญาตรี

724

62.1

            ปริญญาตรี

333

28.5

            สูงกว่าปริญญาตรี

110

9.4

                                 รวม

1,167

100.0

อาชีพ

 

 

            ลูกจ้างรัฐบาล

152

13.0

            ลูกจ้างเอกชน   

282

24.2

            ค้าขาย/ ทำงานส่วนตัว/ เกษตรกร

481

41.1

            เจ้าของกิจการ/ นายจ้าง 

45

3.9

            ทำงานให้ครอบครัว

1

0.1

            พ่อบ้าน/ แม่บ้าน/ เกษียณอายุ

165

14.2

            นักเรียน/ นักศึกษา 

24

2.1

            ว่างงาน/ รวมกลุ่ม

16

1.4

รวม

1,167

100.0

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จีนและการแผ่อิทธิพลกรณีโครงการสร้างคอคอดกระ

Posted: 24 Aug 2017 03:19 AM PDT

สื่อต่างประเทศนำเสนอข่าวกรณีที่กลุ่มนักธุรกิจจีนเข้ามาสำรวจพื้นที่คอคอดกระร่วมกับคนในพื้นที่และอดีตนายพลเกษียณอายุชาวไทย ทำให้ประเด็นการสร้างคอคอดกระกลับมาอีกครั้ง พร้อมคำถามว่านี่จะกลายเป็นการแผ่อิทธิพลจีนในรูปแบบใดบ้าง ไทยจะมีศักยภาพมากพอในการดีลเรื่องนี้หรือไม่ และใครที่จะเสียประโยชน์ นอกจากไทยแล้วใครที่มีโอกาสได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

ที่มาของภาพประกอบ: Google Maps

24 ส.ค. 2560 สื่อต่างประเทศอย่างเดอะนิวส์เลนและนิคเคอิเอเซียนรีวิวนำเสนอเรื่องแผนการสร้างคอคอดกระเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นโครงการที่ได่รับเงินสนับสนุนจากนักธุรกิจจีน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามโครงการนี้เป็นสัญญาณเตือนเรื่องที่น่ากังวลอย่างการพยายามแผ่อิทธิพลจากจีนเพื่อครอบงำภูมิภาค นอกจากนี้โครงการนี้อาจจะทำให้เกิดผู้แพ้และผู้ชนะในระดับที่ห่างชั้นกันมากได้

เอเซียนนิคเคอิอ้างอิงเรื่องนี้จากแหล่งข่าวเป็นชาวประมงชื่อสิทธิชัย อายุ 48 ปี เขาบอกว่าเมื่อปีที่แล้วมีกลุ่มนายพลวัยเกษียณจากกรุงเทพฯ และนักธุรกิจจากจีนเรียกตัวเขา เพราะมีคนในพื้นที่บอกว่าเขารู้จักชายฝั่งแห่งนี้ดี พวกเขาจ้างสิทธิชัยให้เป็นไกด์และถามความคิดเห็นเขาเกี่ยวกับโครงการขุดคอคอดกระ ซึ่งเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์มูลค่า 28,000 ล้านดอลลาร์ ที่จะเป็นการขุดเส้นทางน้ำ 135 กิโลเมตร

นิคเคอิระบุว่าการสร้างคอคอดกระดังกล่าวจะเป็นทางลัดที่ไม่ต้องผ่านพื้นที่ช่องแคบมะละกา โดยช่องแคบมะละกานั้นมีความคับคั่ง เสี่ยงต่อสินค้าหนีภาษี และมีความอ่อนไหวทางยุทธศาสตร์ แต่ก็เป็นเส้นทางการค้าที่คับคั้งที่สุดจากการที่มันเชื่อมระหว่างจีน ญี่ปุ่น และประเทศเอเชีตะวันออกอื่นๆ กับประเทศแถบที่มีน้ำมันอย่างตะวันออกกลางและตลาดใหญ่ในยุโรป แอฟริกา และอินเดีย การผ่านคอคอดกระย่นระยะการเดินทางลงอย่างน้อย 1,200 กม. ประหยัดวันเวลาเดินเรือลงได้ราว 2-3 วัน และเป็นเส้นทางทางเลือกใหม่สำหรับทางผ่านของเรือนพื้นที่ที่มีเรือผ่าน 84,000 ลำ ในปี 2559

กลุ่มนายพลเกษียณอายุของไทยรวมตัวกันเป็นองค์กรที่ชื่อสมาคมศึกษาและพัฒนาคอคอดกระร่วมมือกับมหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีนกับบริษัทจีนอีกแห่งหนึ่งที่ไม่เป็นที่รู้จัก โดยบริษัทนี้ให้ทุนในการศึกษาประเมินการสร้างคอคอดกระถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" อย่างเป็นทางการก็ตาม

เดอะนิวส์เลนส์ระบุว่าแนวคิดจะทำเส้นทางผ่านคอคอดกระนั้นมีมานานแล้วตั้งแต่ยุคคริสตศตวรรษที่ 19 ซึ่งอังกฤษและฝรั่งเศสเคยพยายามหาหนทางสร้างมาก่อนหน้านี้ แต่ก็เห็นว่ายากเกินไป อย่างไรก็ตามทางการอังกฤษเคยมีบันทึกว่าราชวงศ์แห่งสยามเคยทรงให้คำมั่นไว้ว่าจะไม่ให้ใครอื่นมาสร้างด้วยเช่นกัน ในช่วงคริสตทศวรรษ 1930s ก็เคยมีมีความกลัวว่าญี่ปุ่นจะมีแผนการสร้างคอคอดกระเพื่อให้ส่งกองทัพเรือไปโจมตีอังกฤษได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องผ่านฐานทัพอังกฤษในสิงคโปร์ แผนการจะสร้างทางผ่านจุดนี้มีมานานแต่ดูเหมือนว่านายทุนจากจีนจะกำลังมองโอกาสนี้

มีนักวิเคราะห์บางส่วนแสดงความกังวลในแง่ความมั่นคงว่าอาจจะทำให้จีนสามารถนำเรือบรรทุกน้ำมันผ่านได้ง่ายขึ้นขณะเดียวกันก็สามารถส่งเรือรบไปยังมหาสมุทรอินเดียได้ง่ายขึ้นด้วย โดยที่จีนส่งสัญญาณว่ากองทัพเรือของพวกเขาดูเตรียมพร้อมมากขึ้นในแถบทะเลอินเดียช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีการเปิดท่าเรือแห่งใหม่ที่จิบูตีเป็นแห่งแรก

กระนั้นคอคอดกระอาจจะส่งในแง่ของการขนส่งทางเศรษฐกิจมากกว่าความมั่นคง ขณะที่คอคอดกระอาจจะส่งผลดีต่อการเป็นศูนย์บริการแห่งใหม่สำหรับทางผ่านท่าเรือโดยไม่ต้องพึ่งพาสิงคโปร์นั่นทำให้สิงคโปร์เสียประโยชน์จากการเป็นผู้ให้บริการทางผ่านท่าเรือมาโดยตลอด นับตั้งแต่ที่สิงคโปร์เปิดเส้นทางการค้าฝิ่นอินโด-แปซิฟิก อาศัยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์สร้างความมั่งคั่งมาโดยตลอดจากการเป็นศูนย์รวมหรือ "ฮับ" จากบริการอย่างธนาคารไปจนถึงบริษัทกฎหมาย

เดอะนิวส์เลนส์ประเมินว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์มาที่สุดจากคอคอดกระคือศรีลังกาที่กลายเป็นแหล่งวางโครงการท่าเรือใหม่ของจีน รวมถึงโครงการเมืองท่าโคลอมโบที่อื้อฉาวโดยอยู่ภายใต้การควบคุมของจีนซึ่งทางการศรีลังกาหวังว่าจะทำให้ช่วยแก้ปัญหาในประเทศที่ตกค้างมาจากสงครามกลางเมือง 30 ปีได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการสกัดกั้นนักลงทุนใหญ่ๆ อย่างญี่ปุ่นไปในตัว

ขณะที่สิงคโปร์กำลังประสบปัญหาการขนถ่ายทางเรือจากอินเดียลดลงพวกเขาก็มีความตระหนักถึงภาวะเสี่ยงตรงนี้ และเริ่มประเมินศรีลังกาในฐานะคู่แข่งมากขึ้น ขระเดียวกันก็เล็งเห็นว่าศรีลังกาเองก็ยังมีปัญหาที่จะต้องจัดการก่อนที่จะสามารถแข่งขันการบริการมูลค่าสูงที่มีความซับซ้อนได้

นอกจากสิงคโปร์แล้วแน่นอนว่าชาวบ้านในพื้นที่ของไทยย่อมเสี่ยงได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ นิคเคอิอ้างว่าขณะที่ทหารเกษียณเหล่านี้ยืมเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพลาดตระเวณพื้นที่จุดนี้ ในทางภาคพื้นดินพวกเขาก็ออกโครงการหว่านล้อมชาวบ้านที่ได้อาจจะรับผลกระทบจากโครงการนี้จนมีการลงนาม 100,000 รายชื่อสนับสนุนการสร้าง

อย่างไรก็ตามมิคเคอิประเมินว่าโครงการนี้ยังมีอุปสรรคเนื่องจากไม่ใช่ประเด็นหลักลำดับต้นๆ ที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สนใจ ทำให้ผู้สนับสนุนโครงการนี้หวังว่าจะผลักดันในรัฐบาลถัดไป อีกประการหนึ่งคือการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป ผู้ที่ต้านการสร้างคอคอดกระกังวลในเรื่องความมั่นคงที่จะให้มีช่องทางผ่านประเทศ รวมถึงความกลัวเรื่องการแบ่งแยกดินแดนจากสามจังหวัดภาคใต้

ทั้งนี้ นิโคลัส ฟาร์เรลลี นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ยังคงไม่แน่ใจว่าประเทศไทยจะมีศักยภาพมากพอในการดำเนินข้อตกลงครั้งนี้หรือไม่ ทั้งในเรื่องการจัดหาทุนมากพอจะดำเนินการขุดครั้งใหญ่ในอีกไม่นานนี้ อย่างไรก็ตามถ้าหากนายพลเกษียณอายุที่สนับสนุนเรื่องนี้อ้างต่อรัฐบาลเผด็จการทหารว่าเป้นการส่งเสริมเศรษฐกิจของไทยที่กำลังเปราะบาง ก็มีโอกาสที่จะมีการดำเนินโครงการนี้

เรียบเรียงจาก

Alarm Bells Ringing over Thailand's Chinese-Funded Canal Plans, The News Lens, 23-08-2017

Influential Thais in push for Kra Canal project, Nikkei Asian Review, 07-08-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ ยันทหารไม่ได้มุ่งแต่ช็อปอาวุธยุทโธปกรณ์ ขออย่ารังเกียจ

Posted: 24 Aug 2017 02:03 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ ปาฐกถา 'บางกอกโพสต์ ฟอรัม 2017' ปาฐกถาในงาน "บางกอกโพสต์ ฟอรัม 2017" ยันทหารไม่ได้มุ่งแต่จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ขออย่ารังเกียจ ชี้ทหารได้เข้าไปช่วยบรรเทาสาธารณภัยมาโดยตลอด ย้ำ รบ.ยึดหลักธรรมาภิบาล 

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

24 ส.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (24 ส.ค. 60) เวลา 10.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาประจำปี "บางกอกโพสต์ ฟอรัม 2017" ณ ห้องวิภาวดี บอลรูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว 

สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่าปัญหาทุจริตต้องยกระดับให้ดีขึ้น แม้หลายคนยังบอกว่ายังมีปัญหาอยู่ แต่ทั้งหมดเป็นไปตามกลไกของกฏหมาย  และต้องให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการและประชาชน โดยรัฐบาลได้เร่งรัดศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอตช. เพื่อเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง ยืนยันให้ความเป็นกับทุกคดีและทุกเรื่องแต่ขึ้น ซึ่งการบังคับใช้กฏหมายทุกวันนี้ยังมีปัญหา มีการหยิบยกเพียง 1 คดีจากแสนหรือล้านคดีที่มีอยู่ จึงขอให้มองว่าเป็นเหมือนคดีธรรมดาในสังคมที่หากทำผิดก็ต้องพิจารณาในกระบวนการยุติธรรม หากปลุกระดมกันไปศาลก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ และศาลถือเป็นศาลในพระปรมาภิไธยที่ตัดสินด้วยหลักฐานที่มีอยู่ จึงอย่าคิดกันเอาเอง และขออย่านำเรื่องนี้สร้างความวุ่นวายให้กับประเทศอีก 

หัวหน้า คสช. ยังกล่าวอีกว่า ทหารไม่ได้มุ่งแต่จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ขออย่ารังเกียจทหาร เพราะทหารได้เข้าไปช่วยบรรเทาสาธารณภัยมาโดยตลอด เพราะข้าราชการไม่มีเครื่องมือที่เพียงพอ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากการทหาร เนื่องจากทหารอยู่ในค่ายสามารถเดินทางมาช่วยเหลือได้ทันที แต่ไม่ใช่อยู่ในค่ายเพื่อปฏิวัติได้ทันที เพราะหากจะทำก็สามารถทำตรงไหนก็ได้ ขณะเดียวกันส่วนตัวเป็นทหารยังไงก็ต้องเป็นทหาร แต่วันนี้มาทำการเมืองก็ต้องอดทนเพราะปัญหามีจำนวนมาก

ยึดหลักธรรมาภิบาล

เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานสรุปปาฐกถาของ พล.อ.ประยุทธ์ ดังกล่าวด้วย โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลบริหารประเทศโดยยึดหลักธรรมาภิบาล ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ และได้มีนโยบายในการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวเข้าสู่โมเดล "ประเทศไทย 4.0" ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาวเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาล โดยกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ซึ่งเป็นการกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาประเทศในระยะยาว และเพื่อให้การบริหารแผ่นดินเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สามารถขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมุ่งเน้นที่การบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชน ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เป็นการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนภายใต้แนวคิด "ประชารัฐ" ที่ผนึกกำลังกับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ การวิจัยพัฒนา และบุคลากรทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติขึ้น ภายใต้คณะกรรมการเพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องเสนอคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) เพื่อทำหน้าที่จัดเตรียมสาระของยุทธศาสตร์ชาติให้มีความสมบูรณ์ที่สุด และตรงกับความต้องการของประชาชน และจะส่งมอบต่อให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือนสิงหาคม 2560  ทั้งนี้ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีเกิดสัมฤทธิผล เครื่องมือสำคัญที่จะเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนการทำงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ทั้งในส่วนของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่ประกาศใช้ไปเมื่อเดือนตุลาคม 2559 และแผนพัฒนาฉบับต่อๆ ไป เพราะยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะเป็นการเริ่มต้นสานต่อ และรองรับการพัฒนาที่ต่อเนื่องกันไปตลอด 20 ปี โดยเฉพาะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่จะต้องเป็นเหมือนก้าวแรกในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคต เป็นการวางรากฐานการพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ในระยะยาวทั้ง 6 ด้านของยุทธศาสตร์ชาติข้างต้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงความยินดีที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาทั้ง 10 ด้านของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ว่า สะท้อนการไปถึงเป้าหมายในระยะ 20 ปีของยุทธศาสตร์ชาติอย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นใน 6 ยุทธศาสตร์แรกของแผนฯ ที่ตอบสนอง 6 ยุทธศาสตร์หลักของยุทธศาสตร์ชาติโดยตรง ได้แก่ (1) การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ (2) การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม (3) การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน (4) การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (5) การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน (6) การบริหารจัดการในภาครัฐ ป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบและธรรมาภิบาลในสังคมไทย รวมถึง 4 ยุทธศาสตร์ที่จะสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ (7) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ (8) การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม (9) การพัฒนาภาคเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ  (10) การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา

ทั้งนี้การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในช่วง 5 ปี ของแผนฯ ฉบับที่ 12 นับเป็นก้าวแรกและก้าวย่างที่สำคัญของการวางรากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศ ไทยจะต้องเร่งกำจัดจุดอ่อนก่อนที่จะเร่งพัฒนาและเสริมจุดแข็งในช่วงเวลาต่อไป โดยมียุทธศาสตร์ระยะยาว 20 ปีเป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องบรรลุเป็นเป้าหมายที่เราอยากเห็นประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามเกณฑ์มาตรฐานนานาประเทศ และที่สำคัญคือ ประเทศไทยเป็นสังคมที่คนไทยมีความสุข กินอิ่ม นอนหลับ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สังคมมีความสงบสุข สามัคคี ปรองดองสมานฉันท์ ความสำเร็จของการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจากการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายที่เป็นพลังประชารัฐเข้ามาร่วมรับผิดชอบและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังในการดำเนินการให้ประสบผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเพื่อให้พลังประชารัฐเป็นพลังที่สามารถนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ครม.ได้เห็นชอบสั่งซื้อ "อาวุธปล่อยนำวิถี" หรือเรียกสั้นๆ ว่าขีปนาวุธ "ฮาร์พูน บล็อก ทูว์" ตัวเลขวงเงินจัดหาตามเอกสารของกองทัพเรือไทย 872 ล้านบาท ผูกพันงบ 3 ปี (2559-2560) และตลอด 3 ปี การบริหารงานในยุค คสช. มีการอนุมัติสั่งซื้ออาวุธกว่า 7 หมื่นล้านบาท เช่น รถถัง (38 คัน 6,985 ล้านบาท) รถเกราะล้อยาง (34 คัน 2,300 ล้านบาท) เฮลิคอปเตอร์ (10 ลำ 8,083 ล้านบาท) เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง -เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง (10 ลำ 6,599 ล้านบาท) เรือดำน้ำ (3 ลำ 36,000 ล้านบาท) รวมทั้ง เครื่องบินฝึกนักบินขับไล่เบื้องต้นจากเกาหลีใต้ แบบ T50 - TH จำนวน 8 ลำ รวมมูลค่า 8,997 ล้านบาทโดยเป็นงบผูกพัน 3 ปีของกองทัพอากาศ เป็นต้น 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หวั่นมือที่ 3 'ยิ่งลักษณ์' ขอ ปชช. ไม่ต้องมาศาลพรุ่งนี้ แนะฟังข่าวอยู่ที่บ้าน

Posted: 23 Aug 2017 11:16 PM PDT

ยิ่งลักษณ์ โพสต์ขอประชาชนไม่ต้องมาศาลเพื่อให้กำลังใจตนพรุ่งนี้ หวั่นมือที่ 3 ก่อความวุ่นวาย 'วัฒนา' เตือนหากมือที่ 3 ก่อเหตุ ผบ.ตร.ต้องรับผิดชอบ

24 ส.ค. 2560 ความเคลื่อนไหวก่อนการตัดสินของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีโครงการรับจำนำข้าว ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วันที่ 25 ส.ค.นี้ ล่าสุดวันนี้ (24 ส.ค.60) เมื่อเวลา 10.55 น. ที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Yingluck Shinawatra ถึงผู้ที่จะเดินทางมาให้กำลังใจในวันพรุ่งนี้ว่า ไม่ต้องเดินทางมาศาลฯ และขอให้ทุกท่านให้กำลังใจตนโดยการรับฟังข่าวสารอยู่ที่บ้าน เพื่อความไม่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาอันไม่คาดคิดจากผู้ที่ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง และไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายอันอาจเกิดจากมือที่สาม

"ดิฉันขออนุญาตกล่าวถึงวันฟังคำพิพากษาคดีของดิฉันที่ศาลฎีกาฯ ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ดิฉันทราบถึงความห่วงใย และความเมตตา ของพี่น้องประชาชนที่รับรู้ถึงความทุกข์ร้อน และความยากลำบากที่ดิฉันประสบอยู่ แต่ดิฉันเห็นว่าการเดินทางมาศาลเพื่อให้กำลังใจดิฉันนั้น ครั้งนี้เราจะไม่ได้พบปะ เห็นหน้า หรือสื่อความรู้สึกถึงกันได้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ด้วยเหตุที่ฝ่ายความมั่นคงได้จัดระเบียบของผู้ที่จะเดินทางมาศาลผิดไปจากทุกครั้ง ทั้งที่เจตนาของพวกเราทุกคนเพียงต้องการมาให้กำลังใจซึ่งกันและกันเท่านั้น

ทั้งนี้ ดิฉันมีความห่วงใยต่อทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องประชาชน หรือแฟนเพจ และไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายอันอาจเกิดจากมือที่สาม ดังเช่นที่ฝ่ายความมั่นคงให้เหตุผลมาโดยตลอด ดิฉันจึงขอให้ทุกท่านที่ห่วงใย และต้องการให้กำลังใจดิฉัน ไม่ต้องเดินทางมาศาลฯในวันพรุ่งนี้ และขอให้ทุกท่านให้กำลังใจดิฉันโดยการรับฟังข่าวสารอยู่ที่บ้าน เพื่อความไม่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาอันไม่คาดคิดจากผู้ที่ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง และต่อพวกเราทุกคน ขอขอบคุณทุกกำลังใจค่ะ" ยิ่งลักษณ์ โพสต์
 

วัฒนา เตือนหากมือที่ 3 ก่อเหตุ ผบ.ตร.ต้องรับผิดชอบ

ขณะที่วานี้ วัฒนา เมืองสุข สมาชิกพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ กับจอม เพชรประดับ ทาง Thais Voice กรณี รัฐบาล คสช.ใช้มาตาการกดดันทุกวิถีทางที่จะไม่ให้ประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ว่า การเดินทางมาให้กำลังใจบุคคลที่เป็นที่รัก เป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และรับรองโดยยูเอ็น ดังนั้นประชาชนสามารถเดินทางมาให้กำลังใจอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ได้ แต่ต้องอยู่ในความสงบไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร เหตุที่ คสช.สะกัดกั้นทุกทางเพื่อไม่ให้ประชาชนเดินทางมามาก เพราะจะส่งผลสะเทือนต่อเสถียรภาพของตัวเอง เชื่อว่าไม่เฉพาะคนเสื้อแดง แต่คนที่ไม่พอใจ รัฐบาลคสช.อาจจะมาร่วมแสดงพลังด้วยก็ได้ ดังนั้นรัฐบาลเผด็จการย่อมกลัวพลังประชาชน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลการ จะออกมาอย่างไร พรรคเพื่อไทยยังไม่อาจจะแสดงท่าทีได้ เพราะหากผลออกมาเป็นคุณกับฝ่ายจำเลย ฝ่ายโจทก์ก็ต้องอุทรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หรือหากผลออกมาเป็นโทษต่อจำเลย ยิ่งลักษณ์ก็ต้องอุทรณ์ต่อไปเช่นกัน ขั้นตอนยังต้องสู้กันอีกยาว

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น