โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สัมภาษณ์ เดือนเด่น นิคมบริรักษ์: กฎหมายไทย 100,000 ฉบับ ต้องสังคยนาไม่ให้ถ่วงการพัฒนา

Posted: 14 Aug 2017 09:48 AM PDT

"เรามักบอกว่าเรามีกฎหมายนู่นนี่ แต่เราไม่ยอมรับว่า มันบังคับใช้ไม่ได้ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์เลย และเราก็ไม่เคยแก้ไข สุดท้ายก็เปิดช่องเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจดุลยพินิจ เรามีกฎหมายแบบนี้เยอะมาก"

เมื่อกฎหมายมีไว้บังคับใช้ให้คนในสังคมปฏิบัติตาม กฎหมายจึงเกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพ และสร้างผลกระทบได้อย่างกว้างขวาง การออกกฎหมายจึงต้องทำอย่างเปิดเผยและผ่านการกระบวนการกลั่นกรองอย่างถี่ถ้วน

ที่ผ่านมา กระบวนการการออกกฎหมาย กฎระเบียบของไทยกลับเป็นตรงกันข้าม  กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่มีมากถึงกว่า 100,000 ฉบับ จึงเปรียบเสมือนคลังกฎหมายขนาดใหญ่ที่ประชาชนในประเทศต้องยึดถือและปฏิบัติตาม 

การปฏิรูประบบกฎหมายจึงต้องประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1. กระบวนการประเมินผลกระทบของกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment – RIA)  และ 2. การสังคายนากฎหมาย หรือ Regulatory Guillotine ซึ่งเป็นกระบวนการช่วยโละกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็น หรือปรับปรุงให้มีความกระชับ ชัดเจนขึ้น เพื่อทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยทั้ง 2 ส่วน เป็นกระบวนการที่ต่างประเทศใช้เพื่อยกระดับกระบวนการออกกฎหมายให้ดีขึ้น และปรับปรุงกฎหมายให้มีคุณภาพ

ทีมจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะ ทีดีอาร์ไอ ชวน ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ พูดคุยถึง สถานะของคลังสะสมกฎหมายและกฎระเบียบของไทย พร้อมตรวจสอบความคืบหน้าของกระบวนการปฏิรูปกฎหมายไทยจากกระบวนการของทั้ง RIA และ Regulatory Guillotine  และหากโชคไม่ดี ไม่สามารถ ปฏิรูประบบกฎหมายได้สำเร็จ ประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างไร ติดตามได้ใน บทสัมภาษณ์ขอให้คุณโชคดี กับ คลังสะสมกฎหมายและกฎระเบียบของไทย

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ

สถานะของกฎหมายไทยในตอนนี้เป็นอย่างไร

เดือนเด่น: ข้อมูลจาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพบว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีกฎหมายทุกลำดับชั้นรวมกว่า 1 แสนฉบับ ตัวเลขจำนวนหลักแสนที่บอกไป อาจสะท้อนว่า 'ไม่มาก' ก็ได้ เพราะบางกฎหมายที่เราควรมีก็อาจไม่มี แต่จะเรียกว่า 'มีมาก' เพราะ มีหลายฉบับที่ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ มีแล้วไม่เกิดประโยชน์ และยังทำให้เกิดต้นทุนตามมา หรือกลายเป็นว่าเปิดช่องให้เกิดการคอร์รัปชัน ให้เงินใต้โต๊ะ สินบนตามมา

ตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ ที่เคยเขียนไว้ว่าไม่ให้ต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจบริการทุกประเภทเลย ทั้งที่จริงๆ มีเต็มไปหมด ดังนั้นกฎหมายนี้ออกมาเพื่ออะไร มันบังคับใช้ไม่ได้เพราะห้ามมากเกินไป แล้วไม่มีกำลังไปตรวจสอบ พอมันบังคับใช้ไม่ได้ก็กลายเป็นเครื่องมือที่ผู้ประกอบการไทยงัดขึ้นมาตีหัวบริษัทต่างด้าว ที่เราไม่อยากให้เขามาแข่งขันด้วย

ทำแบบนี้เรียกว่า 'ปากว่าตาขยิบ' เพราะเรามักบอกว่าเรามีกฎหมายนู่นนี่ แต่เราไม่ยอมรับว่า มันบังคับใช้ไม่ได้ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์เลย และเราก็ไม่เคยแก้ไข  สุดท้ายมันก็เปิดช่องเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจดุลยพินิจ และเรามีกฎหมายแบบนี้เยอะมาก

กฎหมายไทยที่ออกมาเพิ่มเรื่อยๆ สะท้อนหน้าตาของกระบวนการออกกฎหมายอย่างไร

เดือนเด่น: ที่ผ่านมากระบวนการออกกฎหมายของไทยรวบรัด ขาดการกลั่นกรอง ตรวจสอบเหตุผลความจำเป็น เพราะมีที่ทำอย่างไม่เปิดเผย หรือมาเปิดเผยตอนที่มีร่างออกมาแล้ว ประชาชนหรือผู้ที่จะถูกบังคับใช้ยังไม่ทันรู้เห็น ขั้นตอนที่จะชะลอ หรือช่วยหยุดกฎหมายที่ไม่จำเป็น หรือกฎหมายที่สร้างผลกระทบทางลบมากกว่าให้ผลดี จึงขาดหายไป

ตัวอย่างเช่น กฎหมายคุ้มครองสื่อฯ ที่ถึงมีกระบวนการที่เหมือนเปิดว่าจะรับฟังความเห็น แต่แล้วหน่วยงานของรัฐก็มีเวอร์ชั่นของตัวเองออกมา สุดท้ายกฎหมายก็ถูกแรงต่อต้านจากสาธารณะอย่างมาก

ต้องบอกว่าการรับฟังความเห็นของกฎหมายนั้นสำคัญมาก เช่น ประเทศสิงคโปร์แม้เขาไม่ได้มีการสังคายนากฎหมายครั้งใหญ่อย่างที่เราพยายามจะทำอยู่ แต่เขาก็ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการมีกฎหมายที่ล้าสมัย หรือที่สร้างภาระต้นทุนให้แก่ธุรกิจหรือสังคมโดยไม่จำเป็น

เนื่องจากกระบวนการในการจัดทำกฎหมายของเขานั้นเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าไปให้ความเห็นในทุกขั้นตอน  เขาจะมีการออก  public notice เกี่ยวกับร่างกฎหมายทุกฉบับ และมีตารางเวลาในการรับฟังความเห็นของร่างกฎหมายต่างๆ ให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้าซึ่งมีการเผยแพร่ออนไลน์ตั้งแต่ยังเป็นเพียงแนวความคิด แล้วไปสู่ร่างแรก ร่างถัดๆ ไป โดยเอกชน ประชาชนทุกคนให้ความเห็นได้ และเขาก็ให้ความสำคัญจนจบ

ทำไมของไทยทำอย่างสิงคโปร์ไม่ได้

เดือนเด่น: ความจริงเราก็มีการนำเครื่องมือในการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายมาใช้ ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Regulatory Impact Analysis (RIA) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมาย เป็นกลไกหลักในการพิจารณาข้อเสนอให้มีกฎหมาย ว่ากฎหมายนั้นจะเป็นกฎหมายที่มีประสิทธิภาพและไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

โดยผู้ที่เสนอร่างกฎหมายต้องตอบคำถามสิบข้อ เช่น กฎหมายนี้ต้องการจะแก้ปัญหาอะไร มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด มีทางเลือกอื่นไหมที่ดีกว่า ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นหรือไม่ สร้างต้นทุนให้แก่ภาครัฐในการบังคับใช้ และต้นทุนให้แก่ภาคธุรกิจในการปฏิบัติตามกฎหมายมากน้อยเพียงใด ฯลฯ เป็นต้น แต่ปัญหาคือที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานใดที่มาคอยดูว่ามีการตอบคำถามเหล่านี้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่

ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เสนอกฎหมายก็ตอบคำถามเหล่านี้พอเป็นพิธีเท่านั้นเพื่อให้ผ่านข้อกำหนด เช่น คำถามที่ให้อธิบายว่าร่างกฎหมายนี้จำเป็นอย่างไร ก็จะตอบว่า "จำเป็น" มีทางเลือกอื่นหรือไม่ ก็ตอบว่า "ไม่มี" อนึ่ง หลักเกณฑ์นี้ได้รับการพัฒนาโดยกลุ่มประเทศ OECD ที่สามารถเป็นแนวทางในการพัฒนากฎหมายให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นได้ เพียงแต่ต้องมีหน่วยงานกลางที่เข้ามาควบคุมคุณภาพของการทำรายงานตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวว่าได้มาตรฐานหรือไม่

กลไก RIA ทำงานอย่างไร ทำไมประเทศไทยมีใช้ แต่ยังไม่เกิดผล

เดือนเด่น:  ดังที่ได้กล่าวไว้ว่า RIA ประกอบไปด้วยชุดคำถาม 10 คำถาม ก่อนออกกฎหมายจะต้องตอบคำถามเหล่านี้ เพื่อพิจารณาทบทวนเหตุผลความจำเป็น และทางเลือกอื่นแทนการออกกฎหมายนั้นๆ โดยต้องจัดทำเป็นเอกสารแนบไปกับการเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณากฎหมาย

แต่จากการศึกษาของทีดีอาร์ไอ เราพบความไม่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของการนำ RIA มาใช้ เพราะจากการตรวจสอบว่าประเทศไทยนำ RIA มาใช้ได้ตรงตาม OECD กำหนดไหม เราพบว่า ในกฎหมายจำนวน 55 ฉบับ มีที่ทำ RIA ไว้เพียง 3 หน้า โดยการตอบคำถามสั้นๆ เช่น ถามว่ากฎหมายนี้มีความจำเป็นอย่างไร เขาจะตอบแค่ว่า มีความจำเป็นเท่านั้นเอง ซึ่งไม่มีคำอธิบายอะไรเลย หรือ ทางเลือกอื่นมีอะไรบ้าง คำตอบคือ ไม่มี

นอกจากนี้ ใน 55 ฉบับที่ศึกษานี้ เราพบว่ามีกระบวนการรับฟังความเห็นเพียง 7 ฉบับ เห็นได้ว่าการทำ RIA เราไม่ได้ทำตามมาตรฐาน และการตอบคำถามก็ทำแบบพิธีการไม่มีสาระ เพราะไม่มีใครควบคุมการทำรายงานเรื่องนี้ ทั้งที่เรามีกระบวนการที่ดีเหมือนเขามี แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ได้มีผลจริง ไม่ได้ทำจริง มากไปกว่านั้น ที่ผ่านมากระบวนการที่เรานำ RIA มาใช้ผิดตั้งแต่ต้น เพราะเราไปทำตอนที่มีร่างกฎหมายเรียบร้อยแล้ว มันควรเริ่มตั้งแต่ แนวคิดที่จะมีกฎหมายเลย

ผลการศึกษาเพื่อสำรวจประสิทธิผลของการนำ RIA มาใช้ในกระบวนการออกกฎหมายไทย โดย ทีดีอาร์ไอ (ดูเพิ่มเติมที่ tdri.or.th/2016/05/thinkx2-146)

เช่น กฎหมายคุ้มครองสื่อฯ ที่ยกตัวอย่างไปแล้ว คือ ไม่ใช่มีการยกร่างกฎหมายออกมาครบทุกมาตราแล้วจึงจะมารับฟังความคิดเห็น ตามหลักการแล้ว การรับฟังความคิดเห็นจะต้องจัดทำตั้งแต่ก่อนที่จะมีการจรดปากกาในการยกร่างกฎหมาย โดยจะต้องมีการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ปัญหาก่อนว่ามีทางเลือกใดบ้าง และการออกกฎหมายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดจริงหรือไม่

เช่น ในกรณีของการควบคุมจรรยาบรรณาของสื่อนั้น ในขั้นแรกอาจต้องมีการรับฟังความเห็นก่อนว่า มีปัญหาอะไรในการคุมสื่อแนวปฏิบัตหรือที่เรียกว่า code of conduct ของสมาคมสื่อไม่เพียงพอในการกำกับดูแลจรรยาบรรณของสื่อหรือ สื่อบางคนทำไม่ดีก็ลาออกจากสมาคมแค่นั้นใช่ไหม

หากเป็นเช่นนั้น ประเด็นที่จะต้องรับฟังความเห็น คือ ทำอย่างไรดีที่จะให้ code of conduct ที่ว่ามันมีเขี้ยวเล็บมากขึ้น เช่น อาจพิจารณาให้สื่อและผู้ที่ประกอบวิชาชีพสื่อทุกรายต้องเป็นสมาชิกสมาคมสื่อและสมาคมวิชาชีพสื่อ ดังนั้น หากไม่ปฏิบัติตาม code of conduct ที่สมาคมกำหนดขึ้นก็จะถูกเพิกถอนการเป็นสมาชิก ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการหรืออาชีพได้

หรือ ถ้าเห็นว่า การบังคับเป็นสมาชิกอาจไม่เหมาะสม เพราะกรรมการสมาคมมาจากสื่อบางรายเท่านั้น อาจมีการเล่นพวกพ้องกัน ก็อาจจะต้องคุยกันแล้วว่า หากสื่อยังไงก็คุมตัวเองไม่ได้ จำเป็นต้องใช้อำนาจรัฐไหม

ถ้าสรุปต้องใช้ด้วย จะใช้แบบไหน คณะกรรมการที่จะเข้ามาควบคุมควรเป็นใครบ้าง ซึ่งต้องกลั่นกรองและตกลงแนวความคิดกันก่อนยกร่างกฎหมาย โดยจัดทำการรับฟังความคิดเห็นและประเมินผลดี ผลเสียของทางเลือกต่างๆ ที่มีการเสนอเข้ามาอย่างละเอียดถี่ถ้วนกันตั้งแต่ตอนนั้น

ถามเขาว่าจะปรับกระเบื้องหลังคา หรือ วัสดุที่ใช้ปูพื้นจากอิฐเป็นไม้ แต่ถ้าบ้านนั้นมีโครงสร้างที่ไม่เป็นไปตามที่ผู้อยู่ต้องการจะทำอะไรได้ คนที่สร้างมาแล้วก็คงไม่ยอมรื้ออย่างแน่นอน ฉันใดฉันนั้น ร่างกฎหมายออกมาแล้วครบทุกมาตราก็ยากที่หน่วยงานที่เป็นผู้ร่างจะยอมปรับเปลี่ยน หรือรื้อโครงสร้างของร่างกฎหมายดังกล่าว

สถานะกฎหมายไทยที่ว่า 'ตายไม่ได้' เป็นเพราะอะไร  

เดือนเด่น: เพราะประเทศไทยมีหลักคิดในการออกกฎหมายว่า "กฎหมายควรจะมี ยกเว้นพิสูจน์ได้ว่าไม่ควรจะมี" ทำให้เราไม่เคยมีกระบวนการลงไปดูว่า กฎหมายฉบับไหนไม่ได้บรรลุเป้าประสงค์ที่มันออกมา หรือมันต้องปรับแก้อย่างไร เพราะมันสร้างต้นทุน มันบิดเบือนเจตนารมณ์ที่มีมาหรือไม่ ขณะที่กฎหมายของประเทศอื่น อย่างเกาหลีใต้เขาจะถูกทบทวนอยู่เสมอ เพราะเขามีหลักคิดว่า "ควรโละหมด ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีประโยชน์ ("sink all regulations in the water and save only those that need to be saved") ซึ่งเป็นคำกล่าวของอดีตประธานาธิบดีหญิงของเกาหลีใต้

ตอนนี้เรามี พ.ร.ฎ. การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558 ช่วยแก้ปัญหานี้ได้บ้างหรือไม่

เดือนเด่น: พ.ร.ฎ.การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558 ออกมาเพื่อปรับแก้เรื่องนี้ แต่ก็ยังช่วยได้ไม่มาก เพราะกระบวนการทบทวน ไม่ได้เกิดจากคณะบุคคลภายนอก (third party) ที่ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมหรือกำกับบังคับใช้กฎหมาย หากแต่ให้เจ้ากระทรวงเป็นผู้เสนอกฎหมายที่ต้องการจะปรับปรุงหรือยกเลิกเป็นหลัก

จากประสบการณ์ของต่างประเทศ เขาบอกว่า เวลามีการเสนอปฏิรูปกฎหมาย ถ้าให้ภาครัฐเสนอแก้ไข จะได้ทำได้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของกฎหมายที่ควรจะโละ เพราะหน่วยงานของรัฐต้องการจะรักษาอำนาจตามกฎหมายไว้ ดังนั้นคนหรือหน่วยงานที่จะมาช่วยในการสังคายนากฎหมาย ควรเป็นบุคคลภายนอก ที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียในการใช้อำนาจกฎหมายดังกล่าว

นั่นอาจแปลว่า เราไม่ค่อยมีหวังใช่หรือไม่ เพราะกฎหมาย ให้รัฐเป็นเจ้าภาพ  

เดือนเด่น: ตอนนี้รัฐบาลได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย ที่มี อาจารย์ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมการ และ ท่านรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม  และ ท่าน รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นที่ปรึกษาและกรรมการ คณะกรรมการชุดนี้จะจัดระบบการทบทวนกฎหมายแบบเป็นระบบโดยเริ่มจากกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการและขั้นตอนที่มีการประเมินใน ease of doing business ก่อน ตอนนี้คงฝากความหวังไว้กับคณะกรรมการชุดนี้มากกว่า

Regulatory Guillotine คืออะไร จะมีช่วยให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างจากเดิมอย่างไร

เดือนเด่น: Regulatory Guillotine คือ กลไกปรับ-โละกฎหมายที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีความจำเป็นและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งเป็น Best Practice จากต่างประเทศ ที่ตอบโจทย์ประเทศไทยอย่างมากในการนำมาพิจารณากฎหมายที่มีอยู่กว่าแสนฉบับว่าควรมีอยู่ ควรปรับปรุง หรือยกเลิก เพราะจะสร้างผลกระทบหรือสร้างต้นทุนภาระให้กับผู้ถูกบังคับใช้มากกว่าให้ประโยชน์หรือไม่

และการนำ Regulatory Guillotine มาใช้ สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ เราไม่ได้ฝากเรื่องนี้ไว้ในมือกระทรวงอีกแล้ว เพราะจะมีคณะกรรมการขึ้นมา และแยกกฎหมายทบทวนเป็นรายสาขา คือ สาขาสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจและประชาชน โดยภาคเอกชนพร้อมใจเดินหน้าเรื่องนี้อย่างมา เขาได้ช่วยเชิญที่ปรึกษาต่างประเทศมาวางระบบให้ก่อนเราลงมือทบทวนกฎหมาย

ซึ่งหากเราไม่นำ Best Practice จากต่างประเทศมาใช้และอาศัยที่ปรึกษาต่างชาติที่ดำเนินการเรื่องนี้ สุดท้ายเราอาจจะสร้างระบบการทบทวนกฎหมายแบบไทยๆ ขึ้นมาอีก เพราะ การทบทวนกฎหมาย กระบวนการมันไม่ใช่แค่เอากฎหมายมาทบทวน มันต้องยึดหลักการมีส่วนรวมของผู้ที่มีส่วนได้เสีย เช่น ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนด้วยการทำงานกับเขา เขาต้องการความโปร่งใส ที่ปรึกษาเขายืนยันว่าในกระบวนการในการสังคายนากฎหมายนั้นจะไม่สามารถปิดประตูทำได้ มิเช่นนั้นเขาช่วยปรับ-โละแก้ไขกฎหมายของประเทศให้ตรงกับความต้องการของสาธารณะ หรือผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ เพราะข้อมูล ความเห็นจากประชาชน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเขา เขาไม่มีทางรู้ว่ากฎหมายนี้ไม่ดียังไง ถ้าเขาไม่ให้คนมีส่วนได้เสียมาแสดงความเห็น

แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ต้องฟังเหตุผลและความจำเป็นในการมีกฎหมายจากหน่วยงานราชการที่เป็นผู้บังคับกฎหมายด้วย  ดังนั้น ในคณะทำงานที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณากฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจ่ายภาษี การจัดตั้งธุรกิจ การบังคับสัญญา ฯลฯ จะประกอบด้วยภาคเอกชน ประชาชน  และหน่วยงานราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อนึ่ง ที่ปรึกษามีความเห็นว่า ขั้นตอนหนึ่งที่จะช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายของรัฐมีความชัดเจนต่อประชาชนมากขึ้น คือ การกำหนดเงื่อนไขว่า กฎหมายที่จะใช้กับประชาชนทุกฉบับ ไม่ว่าจะเป็น พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา ประกาศหระทรวง ระเบียบหรือประกาศคณะกรรมการ ฯลฯ  จะต้องขึ้นทะเบียนกลางไว้ทั้งหมด ซึ่งเป็นทะเบียนที่ทุกคนเข้าถึงได้ออนไลน์ และสามารถค้นหาได้ตามหมวดหมู่  ส่วนกฎหมายฉบับไหนที่ไม่ปรากฎในฐานข้อมูลกฎหมายกลางดังกล่าว  ถือว่าไม่มีผลบังคับใช้ได้แม้จะมีอยู่จริงก็ตาม  การทำเช่นนี้จะเป็นการบังคับให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานต้องแจ้งให้ประชาชนทราบถึงกฎ ระเบียบทุกฉบับ เพื่อป้องกันมิให้มีการใช้กฎหมายที่ไม่มีใครรู้จักมาเป็นอาวุธในการเอาผิดกับประชาชน

ฟังดูภาคเอกชนกลายมามีบทบาทผลักดันเรื่องนี้อย่างมาก แสดงว่าเป้าหมายของ Regulatory Guillotine มุ่งไปที่การทำธุรกิจได้ง่ายขึ้นรึเปล่า

เดือนเด่น: จริงๆไม่ใช่ เพราะการปรับ-โละกฎหมายที่เป็น  Best practice ของต่างประเทศที่กล่าวมานี้ ปรับใช้ได้กับกฎหมายทุกประเภท มิได้จำกัดว่าจะต้องเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับภาคธุรกิจเท่านั้น   ขึ้นกับว่าแต่ละประเทศต้องการอะไร ถ้าเราอยากจะมุ่งไปที่การสังคายนากฎหมายที่เกี่ยวกับสังคม ไม่เกี่ยวกับธุรกิจเลยก็ได้ เช่น กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม หรือสิทธิมนุษยชน  ก็ทำได้ แล้วแต่โจทย์ของแต่ละประเทศ

แต่ที่ยกตัวอย่างนี้ เพราะประสบการณ์จากต่างประเทศ การทำการโลกกฎหมายครั้งแรกมักจะมุ่งไปที่จุดที่เห็นชัดเจนที่สุด ไม่เช่นนั้นประชาชน คนที่เกี่ยวข้องจะไม่รู้ว่าทำไปแล้วได้อะไร ดังนั้นเขามักจะเริ่มจากจุดที่เห็นผลชัดเจน คือ ลำดับของความความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของประเทศนั้นๆ ที่ธนาคารโลกจัดทำทุกปี

ซึ่งนักลงทุนใช้เป็นดัชนีชี้วัดถึงประสิทธิภาพของกฎกติกาในการประกอบธุรกิจของภาครัฐของประเทศนั้นๆ เพราะทำแล้วเห็นผลทันที  เช่น ในกรณีของประเทศไทย มีเป้าว่าหากทำเสร็จแล้ว อันดับของความสะดวกในการประกอบธุรกิจของประเทศจะขยับขึ้นมาจากที่ 47 เป็นที่ 23 ประเทศส่วนมากจึงต้องเลือกประเด็นเริ่มต้นขับเคลื่อน ที่ทำแล้วต้องเห็นผลว่าปรับเปลี่ยนให้เกิดการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

อย่าง เกาหลีใต้ ก็เริ่มจากตรงนี้ก่อน เมื่อเขาทำ Regulatory Guillotine สำเร็จ ทำให้  ความความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business ของอันดับดีขึ้นอย่างมาก คือ จากเมื่อ 6 ปีก่อน เกาหลีใต้อยู่ลำดับที่ 20 แต่หลังจากเขาทำ Regulatory Guillotine อันดับเขาดีขึ้นเป็นที่ 5 ของโลก  ส่วนของไทยเคยทำอันดับได้ที่ 12 ของโลก แต่ล่าสุดเราตกมาที่ 47 เพราะยังไม่ได้ทำอย่างเขา

ดังนั้น เมื่อมีเกณฑ์การประเมิน Ease of Doing Business จากธนาคารโลกที่จัดทำไว้อยู่แล้ว อีกทั้งแจกแจงมาแล้วว่าขั้นตอนไหนของเราไม่ดีอย่างไร ทำให้เราเห็นจุดอ่อนและจัดลำดับความสำคัญเพื่อปรับปรุงแก้ไขได้ทันที ซึ่งจะง่ายกว่าไปเริ่มกระบวนใหม่เองทั้งหมด

ผลการจัดลำดับของความความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของธนาคารโลก เปรียบเทียบปี 2010 และ 2016 (ดูเพิ่มเติมที่ https://tdri.or.th/2016/05/thinkx2-146)

กระบวนการ Regulatory Guillotine ทบทวนกฎหมายของไทยจะออกมาหน้าตาแบบไหน

เดือนเด่น: ตอนนี้มีแผนการดำเนินเป้าหมายการสังคายนากฎหมายออกมาแล้ว 3 ระยะ คือ

ในระยะที่ 1เป็นเรื่องการทบทวนกฎหมาย (รวมกฎหมายทุกลำดับชั้น) ประมาณ 300 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจที่จะทำให้การจัดอันดับ ease of doing business ของประเทศดีขึ้นตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นก้าวสำคัญ

ระยะที่ 2 จะเป็นการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุมัติ และการให้ใบอนุญาต (permit and licensing) ตอนนี้เราไม่รู้แม้กระทั่งว่าเราต้องมีขั้นตอนการขอใบอนุญาตต่างๆ กี่ฉบับ กี่เรื่อง มีการพูดกันว่าอาจมี 1,500 ฉบับ ไปๆมาๆ เพิ่มเป็น 3,000 เป็น 6,000 ในขณะที่ตัวเลขที่เป็น best practice ในโลก คือ ประมาณ 300 ฉบับเท่านั้น

สรุปเรายังไม่รู้ว่าเรามีกระบวนการออกใบอนุญาตมีกี่กระบวนการ ซึ่งตรงนี้คิดว่าเป็นต้นทุนทางสังคมและธุรกิจ เพราะประชาชน 1 คน ต้องเจอกับเรื่องการขอใบอนุญาตเยอะแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นใบขับขี่ พาสปอร์ต จะโอนที่ดิน ก็ต้องขออนุญาต ซึ่งส่วนนี้จะเหนื่อยกว่า ระยะที่ 1 มาก เพราะว่าเรายังไม่ได้มีการแกะเลยว่า การจะก่อสร้างอาคาร 1 แห่งจะต้องเกี่ยวข้องกับการขออนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งหมด กี่ฉบับ และการขออนุญาตแต่ละฉบับมีขั้นตอนกี่ขั้นตอน มีค่าใช้จ่ายเท่าไรและเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดบ้าง

ระยะที่ 3 จึงจะเจาะประเด็นว่าประเทศอยากแก้ปัญหาอะไรมากสุด อาจเป็นเรื่อง สังคมหรือสิ่งแวดล้อมก็ได้ ซึ่งเราสามารถเลือกประเมินได้ว่าจะทำในมิติไหน เช่น กฎหมายนี้มีผลกระทบอย่างไร มันอาจกว้าง ต้องถามว่ามีผลกระทบด้านไหน กับใคร ด้านสิ่งแวดล้อม หรือเชิงสังคม หรือสิทธิมนุษยชน หรือธุรกิจระดับ SMEs หรือแก้ปัญหาคอร์รัปชัน มันมีหลากมิติให้ใช้ประเมินได้

ดังนั้นการจะประเมิน การทบทวนกฎหมาย สิ่งแรกที่เราจะต้องบอกคือ เราจะประเมินมันด้วยแว่นแบบไหน หลังจากนี้ประเทศไทยจึงต้องฟันธงไปว่าเราควรสนใจเรื่องอะไร เช่น ถ้าเป็นเรื่องคอร์รัปชันสำคัญ เราก็ต้องบอกว่า มิติหนึ่งที่เราต้องประเมินคือ โอกาสในการเกิดทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเป็นกฎอะไรก็ตาม กฎหมายเหล่านั้นเปิดช่องให้เกิดคอร์รัปชันหรือเปล่า จะไปดูว่าตรงไหนเปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจ ตรงไหนไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล เป็นต้น

ฟังดูแล้ว เหมือนเป็นงานใหญ่ที่ต้องรีบขับเคลื่อนโดยเร็ว

เดือนเด่น: การแก้กฎหมายมันยากมาก สภาพการเมืองที่จะทำให้เกิดการโละกฎหมายครั้งใหญ่ มันต้องมีเจตจำนงทางการเมือง (political will) จากระดับสูงสุด เพราะเจ้ากระทรวงเขามักจะขัดขืน ดังนั้นในระดับประเทศที่จะประสบผลสำเร็จ ก็เกิดจากที่ระดับสูงสุดเอาด้วย ดังนั้นมันต้องเริ่มจากผู้กำหนดนโยบายในระดับสูงสุดต้องเอาด้วยก่อน เพราะยังไงงานนี้มันเป็นงานเกี่ยวกับการแก้กฎหมายของรัฐ

แต่รัฐจะเดินหน้าก่อนได้ยังไง ในเมื่อรัฐก็เป็นเจ้าของกฎหมายที่ให้อำนาจ แรงจูงใจไม่มีพลังเท่าแรงกดดัน

เดือนเด่น: อาจถูกในระดับนึงว่าแรงกดดันมันต้องมาจากเอกชนและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมจากกฎหมายที่ไม่มีคุณภาพของรัฐ  แต่ถ้ารัฐไม่สนใจก็เดินหน้าไม่ได้ ซึ่งความพยายามที่จะทบทวนกฎหมายครั้งใหญ่ครั้งนี้ แรงกดดันมาจากภาคเอกชน ซึ่งให้การสนับสนุนด้านบุคลากร ขอให้รัฐออกระเบียบทุกอย่างให้มันเดินได้

แต่ปัญหาเรื่องรัฐหรือเจ้ากระทรวงไม่เอาด้วยในต่างประเทศก็เจอปัญหานี้ ที่พอเสนอเข้าไปแล้วโดนบิดเบือนสิ่งที่เขาวางไว้ หรือโดนล็อบบี้จากเจ้ากระทรวงเสียก่อน วิธีการเสนอสังคายนากฎหมายของเขาจึงเสนอเข้าไปทั้งก้อน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Omnibus โดยผู้มีอำนาจเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ครม. ที่ต้องให้การอนุมัติในหลักการหรือรัฐสภาที่ต้องพิจารณากฎหมาย พิจะต้องเลือกว่าจะเอา หรือไม่เอาทั้งหมดเท่านั้น ไม่มีการพิจารณาแยกส่วน มิเช่นนั้นการเสนอแก้กฎหมายอาจโดนรุมทึ้งโดยเจ้ากระทรวงที่ไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงหมด

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า เจ้ากระทรวงจะไม่มีสิทธิในการคัดค้านการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงกฎหมาย เพราะดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า กระทรวงจะมีตัวแทนอยู่ในคณะทำงานทุกชุดที่พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเมื่อมีข้อเสนอในการปรับแก้ หรือ ยกเลิกกฎหมายฉบับใด ก็จะมีการขอความเห็นโดยตรงต่อเจ้ากระทรวงอีกครั้ง พร้อมทั้งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นระหว่างคณะทำงานและกระทรวงจนประเด็นที่เป็นข้อกังขามีความชัดเจนตามเหตุผลที่แต่ละฝ่ายสามารถนำเสนอ

วิธีที่สอง คือ อย่างที่บอกว่าเขาทำทุกอย่างอย่างเปิดเผย ไม่มีความลับ ทุกขั้นตอนให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับกฎหมายที่จะแก้ การปรับปรุงแก้ไขในรายมาตรา ว่าแก้อย่างไรและด้วยเหตุผลอะไรทางเว็บไซต์ ซึ่งจะมีระบบที่เปิดให้ประชาชนทุกคนเข้ามาให้ความเห็นในรายมาตราด้วยได้เลย การสร้างระบบเปิดให้สาธารณะเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการและขั้นตอนในการโละหรือปรับปรุงกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการล็อบบี้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือมาตราใดๆ ในกฎหมาย

ถ้าเราไม่ทำ RIA ให้มีคุณภาพ และทำ Regulatory Guillotine ให้สำเร็จ ผลคืออะไร

เดือนเด่น: ถ้าเราไม่ทำ โอกาสที่ Ease of Doing Business ของไทยจะร่วงลงอีกก็มีมาก และภาคธุรกิจ จะได้รับผลกระทบชัดเจนเป็นลำดับแรกๆ  เพราะภาคธุรกิจเอกชนกำลังติดขัดกับกระบวนการทางกฎหมายมากจนต้องออกมาผลักดันให้รัฐเดินหน้าแก้ไขเรื่องนี้

มีคนจากภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่งให้ข้อมูลว่า เขาต้องเจอกฎระเบียบที่ต้องผ่านขั้นตอนทำขอเอกสารมากถึง 27 ฉบับ ซึ่งของเหล่านี้ต้องใช้เวลาและมีต้นทุน สร้างความลำบากในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งธนาคารโลกนำเรื่องพวกนี้มาประเมิน ก็จะทำอันดับเราก็แย่ลงไปด้วย

และถ้ามันแย่ลง ก็จะส่งผลกับการลงทุนโดยตรง ตอนนี้การลงทุนเราแทบจะน้อยสุดในอาเซียนแล้ว ถ้าไปดูการประเมิน ขีดความสามารถการแข่งขัน ที่เป็นปัญหามากสุด คือ institution กฎระเบียบภาครัฐเอง เราก็เห็นชัดว่านี่คือ ปัญหาหลักของไทย  เวลาไปสัมภาษณ์ธุรกิจรายใดไม่ว่าไทยหรือเทศ เขาก็เจอปัญหาเดียวกันคือ เรื่องกฎระเบียบ ทั้งที่ทำให้เกิดต้นทุน หรือกฎที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชัน คือ ยิ่งปล่อยให้กฎหมายเยอะ ก็ยิ่งมีโอกาสคอร์รัปชันเยอะ ทั้งสินบน ใต้โต๊ะ ดังนั้นเมื่อเรารู้ว่าปัญหาอยู่ตรงนี้ หากเราไม่ทำอะไรขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย รวมทั้งปัญหาอื่นๆ ในเชิงสังคม เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน ความเหลื่อมล้ำ ก็แย่ลงเรื่อยๆ เพราะกฎหมายเป็นตัวตรึงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ

นั่นแสดงว่าผลกระทบจะไปไกลกว่าภาคธุรกิจ ใช่หรือไม่

เดือนเด่น: ผลกระทบไม่ได้มีแต่มิติด้านธุรกิจหรือด้านเศรษฐกิจ  แต่ไปถึงประชาชน และผลกระทบจะเข้าไปใกล้ตัวกว่า ซึ่งในครั้งนี้ยังไม่ได้ลงรายละเอียด เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน หรือ เรื่องแรงงานต่างด้าว ที่มีกระบวนการเยอะแยะเต็มไปหมด เช่น เวลาจะขอใบอนุญาต ทุกขั้นตอนมันไม่ตรงไปตรงมา เจ้าหน้าที่มีอำนาจแห่งดุลยพินิจสูง ถ้าตัดตรงนี้ได้ ชีวิตความเป็นอยู่คนไทยก็ดีขึ้น ไม่ต้องเสียเวลากับกระบวนการในระบบราชการ และลดการจ่ายใต้โต๊ะ

ประเทศไทยยังเองไม่มี Rule of law หรือหลักนิติรัฐ นิติธรรมที่เข้มแข็ง ทุกวันนี้กฎหมายบางส่วนยังถูกเลือกบังคับใช้กับคนที่ไม่มีเส้นสาย เลือกใช้แค่กับคนบางกลุ่มเท่านั้น

ถ้าประชาชนหรือสังคม ไม่เห็นความสำคัญของ RIA ที่มีคุณภาพ และ Regulatory Guillotine ที่ต้องเร่งดำเนินการ

เดือนเด่น: ก็ขอให้คุณโชคดี กับคลังกฎหมายและกฎระเบียบของไทยที่มีกว่า 100,000 ฉบับที่ล้อมรอบคุณ ที่จะเป็นปัจจัยที่ถ่วงการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย และเป็นต้นทุนที่เรา ลูกเรา หลานเรา ฯลฯ ทุกคนต้องแบกรับตลอดไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไต้หวันมอบทุนการศึกษาป.โท-ป.เอก ลูกแรงงานไทยที่ทำงานหรือเคยทำงานไต้หวัน

Posted: 14 Aug 2017 09:36 AM PDT

สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ร่วมกับโรตารีจงหัว เริ่มโครงการมอบทุนการศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกให้กับลูกของแรงงานไทยที่ทำงานหรือเคยทำงานในไต้หวัน โดยมุ่งหวังพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-ไต้หวันมากขึ้น

ทัศนียภาพของกรุงไทเป เมืองหลวงของไต้หวัน และอาคาร Taipei 101 (ที่มาของภาพประกอบ: Wikipedia)

ในเว็บไซต์ของสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ของสาธารณรัฐจีนหรือไต้หวัน ลงประกาศเมื่อวันที่ 11 ส.ค. ระบุว่า ถงเจิ้นหยวน ผู้แทนรัฐบาล สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย แจ้งว่า ทางสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการศึกษาโรตารีจงหัว จะมอบทุนการศึกษาในโครงการส่งเสริมบุตรธิดาแรงงานไทยที่ศึกษาที่ในไต้หวัน เพื่อตอบแทนแรงงานไทยที่เป็นสื่อกลางการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย - ไต้หวัน คาดว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยและไต้หวันมากขึ้น

โดยมูลนิธิโรตารีจงหัวจะมอบทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาไทยในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยต่างๆของไต้หวัน ทั้งหมด 3 ทุน ปริญญาโท NT 120,000 และปริญญาเอก NT 160,000 โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการทดลอง 1 ปี โดยบุตรธิดาแรงงานไทยในปัจจุบัน หรือบุตรธิดาแรงงานที่เคยทำงานในไต้หวัน และนักศึกษาที่มีสภาพเศรษฐกิจครอบครัวไม่ดีจะรับพิจารณาเป็นพิเศษ

ทั้งนี้มูลนิธิเพื่อการศึกษาโรตารีจงหัว ต้องการส่งเสริมกระชับความสัมพันธ์และความเข้าใจมิตรภาพระหว่างประเทศ และสนับสนุนปลูกผังเยาวชนภายในและต่างประเทศที่มีความสามารถดีเด่น โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 - 2559 มูลนิธิเพื่อการศึกษาโรตารีจงหัวมอบทุนแก่นักศึกษาดีเด่นระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ที่มาจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม มองโกเลีย ยูเครน และรัสเซีย เป็นต้น และตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 ได้มอบทุนการศึกษาระดับปริญญาโทแล้ว 2,720 ทุน ระดับปริญญาเอก 1,249 ทุน

โดยนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในไต้หวัน ที่มีพ่อแม่ทำงานหรือเคยทำงานที่ไต้หวัน สามารถยื่นขอรับทุนของมูลนิธิเพื่อการศึกษาโรตารีจงหัวโดยเปิดรับสมัครตั้งแต่ 1-30 กันยายน พ.ศ. 2560 เอกสารการสมัครขอรับทุนส่งถึง แผนกการศึกษา สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย โดยใบสมัครและเงื่อนไขสามารถเข้าถึงได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย

ข้อมูลในเดือนมิถุนายน 2560 ของ กองบริหารแรงงานไทยในต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน เปิดเผยจำนวนแรงงานไทยที่ยังคงทำงานอยู่ในต่างประเทศ โดยพบว่าอันดับ 1 คือไต้หวัน 74,061 ราย รองลงมาคือ อิสราเอล 25,400 ราย และเกาหลีใต้ 20,734 ราย

ทั้งนี้รัฐบาลชุดปัจจุบันของไต้หวัน กำลังดำเนินนโยบายระหว่างประเทศใหม่คือ นโยบายมุ่งลงใต้ ซึ่งต้องการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ โดยตั้งแต่ 1 สิงหาคมปีก่อนมีการประกาศยกเว้นวีซ่าให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศไทย โดยพบว่าหลังยกเว้นวีซ่า มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปไต้หวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 57.26

และนอกจากมาตรการยกเว้นวีซ่ากับไทยแล้ว ยังมีการยกเว้นวีซ่าให้กับฟิลิปปินส์ และยังยกเว้นวีซ่าให้กับผู้ที่เคยได้วีซ่าท่องเที่ยวในรอบ 10 ปี จากอินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า กัมพูชาและลาวอีกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลไกซื้อยาปี 61 ยังไม่เกิด-ยามีพอใช้ถึง พ.ย. แนะใช้อำนาจพิเศษ สปสช.จัดซื้อยา

Posted: 14 Aug 2017 09:30 AM PDT

ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ความเห็นว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่มีอำนาจในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ ทำให้ปัจจุบัน สปสช.ไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อยาที่มีความจำเป็น 7 กลุ่มรายการได้ ขณะที่กลไกการจัดซื้อยารวมแบบใหม่ก็ยังไม่มีความชัดเจนทั้งๆ ที่ใกล้จะเริ่มปีงบประมาณ 2561 แล้ว ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้กลุ่มเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ที่ต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ออกมาแสดงความกังวลเนื่องจากสต๊อกยามีพอใช้ถึงเดือน พ.ย.นี้เท่านั้น หากไม่มีการจัดซื้อยาได้ทัน ก็จะส่งกระทบกับผู้ป่วยโดยตรง

ผศ.ภญ.ยุพดี ให้ความเห็นว่าทางออกระยะสั้นที่ดีที่สุดในขณะนี้คงต้องใช้อำนาจพิเศษในการออกประกาศให้ สปสช.สามารถจัดซื้อยาได้ไปก่อน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านกลไกการจัดซื้อยาจาก สปสช.ไปยังระบบใหม่เป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า ประเด็นในเฉพาะหน้าขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้จัดซื้อ แต่จะทำอย่างไรถึงจะจัดซื้อยาให้เสร็จก่อน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องได้รับผลกระทบ ซึ่งหากพิจาณาทางเลือกต่างๆ แล้ว กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ก็จัดซื้อไม่ได้ จะการวางระบบจัดซื้อใหม่ก็ยังไม่มีความชัดเจน หรือจะแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจให้ สปสช.ก็คงไม่ทันการณ์ เนื่องจากการจัดซื้อยาโดยเฉพาะในปริมาณมากๆ ไม่ได้หมายความว่าซื้อแล้วจะได้ยาเลย ยังมีประเด็นเรื่องความพร้อมในการ Supply ยา คนขายต้องไปวางแผนการผลิต ยาบางตัวต้องมีแผนการผลิตของโรงงาน ดังนั้นหากขณะนี้ระบบการจัดซื้อยารวมยังไม่มีความชัดเจน ทางออกที่ดีที่สุดคือใช้อำนาจพิเศษมาช่วยและควรต้องออกโดยเร็วอีกด้วย

"ปัญหาเดียวคือ สปสช.ไม่มีอำนาจ ทำไมไม่แก้ให้ตรงไปตรงมา และถ้ากังวลในเรื่องความโปร่งใส ก็เขียนเพิ่มให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมด้วย อย่าไปตีความว่าเป็นการปกป้อง สปสช. ตอนนี้พูดอย่างเดียวคือต้องมียามาซัพพอร์ตคนไข้ ใครจะซื้อก็ได้ แต่ถามความพร้อมในฝั่ง สธ.ก็ยังไม่ชัด ยังไม่สร้างความมั่นใจให้คนไข้ ขณะที่ สปสช.มีข้อมูลเตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว ตอนนี้อย่าเพิ่งชักคะเย่อกันได้ไหม เอาคนไข้ให้ได้ยาก่อน แล้วปี 2561 ค่อยคุยกันให้ตกผลึกว่าระบบการจัดซื้อจะทำอย่างไร เพราะกลไกการต่อรองราคาต้องมีความพร้อมพอสมควร ไม่เช่นนั้นจะเสียโอกาสในการต่อรองได้ยาในราคาถูก ตอนนี้ให้คงเดิมไว้ก่อน" ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อ 'ขวาจัด' ออกเรือขวางช่วยเหลือผู้ลี้ภัย แต่ขัดข้องต้องขอความช่วยเหลือเอง

Posted: 14 Aug 2017 09:00 AM PDT

14 ส.ค. 2560 เดอะ คานารี รายงานว่าเรือของกลุ่มขวาจัด "ปกป้องยุโรป" (Defend Europe) พยายามขัดขวางกลุ่มเอ็นจีโอไม่ให้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในแถบเมดิเตอร์เรเนียน แต่เมื่อออกจากจิบูตีเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาก็เผชิญกับปัญหาหลายอย่าง ทำให้เกิดเรื่องย้อนแย้งอย่างการที่กลุ่มเอ็นจีโอที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยต้องหันมาช่วยเรือของฝ่ายขวากลุ่มนี้ด้วย

เรือที่ชื่อ "ซีสตาร์" (C-Star) ของกลุ่มขวาจัดพยายามขอจอดที่ท่าเรือในประเทศตุรกีแต่กัปตันเรือก็ถูกจับกุมในข้อหาครอบครองเอกสารเท็จ อีกทั้งยังพบว่าบนเรือมีชาวศรีลังกาอยู่จำนวนหนึ่งที่พยายามขอสถานะผู้ลี้ภัยแต่ก็ถูกปฏิเสธและส่งตัวกลับไป อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาก็มีการปล่อยตัวกัปตันเรือและมีการหาสมาชิกลูกเรือใหม่

ซีสตาร์เจออุปสรรคอีกครั้งขณะพยายามจอดเรือที่ท่าเรือเมืองคาตาเนีย แคว้นซิซิลี ประเทศอิตาลี แต่ก็ถูกปฏิเสธไม่ให้จอด พวกเขาพยายามขอจอดอีกครั้งที่เมืองเอียราเพตราของกรีซ แต่ก็ถูกปฏิเสธ เพราะมีกลุ่มอนาธิปไตยในกรีซต่อต้านพวกเขา จนกระทั่งถึงวันที่ 7 ส.ค. พวกเขาก็พยายามจอดเรือที่ท่าเรือซาร์ซีสที่ตูนีเซีย แต่ก็ถูกกลุ่มชาวประมงขับไล่

หลังจากที่ไม่สามารถไปจอดที่ใดได้เลยพวกเขาก็ปล่อยเรือให้ค้างเติ่งอยู่ที่จุดเดียว ห่างจากชายฝั่งลิเบียไปเพียงไม่กี่ไมล์จนกระทั่งเห็นได้ชัดว่าเรือของพวกเขาเชื้อเพลิงหมดแล้วหรือไม่เช่นนั้นก็เกิดปัญหาเครื่องยนต์ จนกระทั่งในวันที่ 11 ส.ค. พวกเขารายงานว่ามีความเสียหายเกิดกับเครื่องยนต์เรือจริง ทำให้กองกำลังทางน้ำของสหภาพยุโรปในนาม "ปฏิบัติการโซเฟีย" ติดต่อกับเรือที่อยู่ละแวกนั้นให้ช่วยเหลือพวกเขา

เรือที่มาช่วยเหลือพวกเขาคือเรือชื่อ "ซีอาย" (Sea-Eye) ที่เป็นเอ็นจีโอให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยนั่นเอง ประธานของซีอายออกแถลงการณ์ว่า พวกเขามีหน้าที่ช่วยเหลือเรือใดๆ ก็ตามที่ประสบปัญหาบนท้องทะเล ไม่ว่าเรือนั้นจะมีที่มาเช่นใด มีเชื้อชาติ ศาสนา หรือความเชื่อแบบใด

กลุ่มขวาจัด "ปกป้องยุโรป" อ้างว่าการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ประสบภัยในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการ "บุกรุก" ที่สร้างอันตรายให้ทวีปยุโรป

จากข้อมูลเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 ขององค์กรเพื่อผู้อพยพสากลระบุว่ามีผู้อพยพที่เสียชีวิตโดยจมลงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนรวมแล้ว 2,385 รายในปีนี้ มีผู้อพยพที่สามารถขึ้นฝั่งยุโรปได้ 114,287 ราย ร้อยละ 85 ขึ้นฝั่งที่อิตาลี

 

 

เรียบเรียงจาก

Anti-migrant ship Defend Europe rescued by NGO in Mediterranean, The Telegraph, 11-08-2017
http://www.telegraph.co.uk/news/2017/08/11/anti-immigrant-defend-europe-vessel-has-rescued-mediterranean/

A far-right anti-refugee ship has had to be rescued by… you guessed it [TWEETS], The Canary, 11-08-2017
https://www.thecanary.co/2017/08/11/far-right-anti-refugee-ship-rescued-guessed-tweets/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ก่อนนิทรา

Posted: 14 Aug 2017 08:18 AM PDT

 

ยื่นมือให้ฉันเกาะกุม
มือแห่งความอบอุ่นด้วยมิตรไมตรี
มือที่ทะนุถนอมน้ำใจ
มือที่แม้นเข็มเรือบอกทิศไปยังปลายทาง
มือที่หยิบยื่นความแข็งแกร่ง
ดั่งหนึ่งนาวาแหวกเกลียวคลื่นแล่นไปยังจุดหมาย
มือนั้น...มือที่เป็นมากกว่าฉันกับเธอ

ทิวา...
บนระยะทางตามโค้งโลก
ที่ไมล์ทะเลเริ่มจากต้นทางยาวสู่ปลายทาง
เป็นเส้นทางที่เรือเดินไปบนแผนที่
กับวันรินดอกเหงื่อเมื่อเรือ ณ เส้นรุ้งร้อน
ซุกกายในผ้าห่ม ณ เส้นรุ้งเหน็บหนาว
บางวันทะเลอ่อนหวานราบเรียบ
ดังหนึ่งดรุณีแรกรุ่นเก็บงำความรักไว้ในใจ
บางวันเธอ (ทะเล) กราดเกรี้ยวโมโหร้าย
คล้ายภรรยาโกรธาเมื่อรู้ว่าสามีมีเมียน้อย
จะอย่างไร  เรา (คนเรือ) ก็อยู่ในอ้อมกอด
ของเธอ (ทะเล) ไม่ว่าที่นี่หรือที่อื่น
วันนี้หรือวันไหน

ราตรี...
ชูจอกเมรัยร่ำรสเพลินพิศเคียวจันทร์
ซึ่งค่อยเคลื่อนคล้อยดวงไปท่ามธารดาว
เมรัยจอกหนึ่ง  น้ำตาจันทราหยดหนึ่ง
หวานเมรัยและขมปร่าแห่งอัสสุชล
กุมมือฉันไว้ก่อน...ได้ไหม ?
มือที่ปลุกปลอบฝันและกำลังใจ
หลังดื่มจอกนี้แล้ว  ห่มผ้าให้ฉัน
เพื่อสนิทในนิทรา.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปรับเปลี่ยนสายรถเมล์ ประชาชนได้อะไร เมืองได้อะไร

Posted: 14 Aug 2017 08:11 AM PDT



จากข่าวปรับเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ใหม่ (หรือ Reroute) ที่เป็นกระแสของชาวเมืองช่วงนี้ ตอนแรกเข้าใจว่าเปลี่ยนเอาตัวอักษรภาษาอังกฤษมาร่วมให้ชาวต่างชาตินักท่องเที่ยวเข้าใจ ภายใต้กระแส AEC ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ที่ช่วงนี้เงียบๆ ไป) แล้วก็ค่อยถือโอกาสขึ้นราคาค่าโดยสาร แก้ขาดทุนสะสมของ ขสมก. ด้วยวิธีการที่ง่ายที่สุด?

อยากรู้เลยลองค้นหาข้อมูลเพิ่ม ก็ได้มาว่าการเปลี่ยนหมายเลขปรับสายรถเมล์ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนเลขเบอร์เอาตัวอักษรภาษาอังกฤษเข้าไปในเลขหมายสายรถเมล์ แต่เป็นการปรับสายการการเดินรถ ตัดเส้นทางเดินรถให้สั้นลง ตัวอักษรภาษาอังกฤษย่อมาจากตัวย่อของสี G มาจาก Green สีเขียว และสีเขียวที่ว่าคือสีที่ใช้แทนเขตการเดินรถของ ขสมก. (สีเขียว เขตการเดินรถที่ 1 และ 2 R=Red สีแดง แทนเขตการเดินรถที่ 3 และ 4 Y=Yellow สีเหลือง แทนเขตการเดินรถที่ 5 และ 6 B=Blue สีน้ำเงิน แทนเขตการเดินรถที่ 7 และ 8 E=Express way สายนี้ขึ้นทางด่วน)

อักษรภาษาอังกฤษย่อมาจากชื่อสีในภาษาอังกฤษ แต่สีนี้มาจากการแบ่งเขตพื้นที่ในการเดินรถเมล์ การเปลี่ยนสายรถเมล์ไม่ใช่เปลี่ยนแค่เบอร์เลขสายรถเมล์ แต่มีการปรับเส้นทางการเดินรถด้วย นับเป็นความพยายามในการที่จะปฏิรูป/ปรับปรุงจัดระบบรถเมล์ของไทยครั้งใหญ่จริงๆ

แต่การสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคมอาจจะไม่พอ ประกอบกับสังคมไทยอุดมดราม่า ไม่ค่อยหาเหตุหาผล หรือสนใจที่จะค้นหาที่มาที่ไป หรือการวิพากษ์ในเชิงเหตุผลเพื่อให้เกิดการพัฒนา ช่วยกันปรับปรุงให้ระบบมันดีขึ้นมากกว่าไหวไปตามอารมณ์ แค่ว่าทำให้คนงง ทำให้คนสับสน ทำให้ยุ่งยาก สิ่งที่ควรคือ เสนอสิว่าควรทำอย่างไรไม่ให้งง ควรทำอย่างไรไม่ให้สับสน ควรทำอย่างไรไม่ให้ยุ่งยาก พร้อมกับทำความเข้าใจว่า ทำไมเพราะอะไร ขสมก.จึงคิดใหญ่ เล่นใหญ่มาก ที่จะเปลี่ยนแปลงความเคยๆ เดิมๆ ของคนใช้รถเมล์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ปรากฏดราม่าต่างๆ นานาพาเหรดกันมารายวัน โดยไม่มีใครวิพากษ์หรือหาเหตุที่ ขสมก.พยายามทำอยู่ และไม่ลองหาผลดีที่จะเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงนี้ 

ที่มาภาพ: http://www.bangkokbusclub.com/

สิ่งที่อยากให้คิดเพิ่มต่อไปอีกในกรณีนี้ นอกจากการสื่อสารสาธารณะที่ทำได้ไม่พอแล้ว สิ่งที่ต้องการให้คิดต่อไปอีกคือ การคิดให้ครบถ้วน "อย่างเป็นระบบ" ในประเด็น "นโยบายสาธารณะด้านการขนส่งเมือง"

ระบบการขนส่งเมืองมีความสำคัญมากในการพัฒนาเมือง มีผลทำให้เมือง "โต" หรือ "ตาย" ในระบบการขนส่งมวลชนของเมือง ไม่ใช่มีแค่รถไฟฟ้า แต่ต้องมีรถเมล์เข้าไปร่วมด้วย รถเมล์ BRT เป็นตัวอย่างของการออกแบบขนส่งเมืองที่ดี เสียดายที่คิดไม่สุด หากกำจัดอุปสรรคเรื่องสถานีจุดจอดการเชื่อมต่อไปสู่การเดินทางอื่นที่เกี่ยวกัน พัฒนาต่อเพิ่มขยายเส้นทาง ควบรวมคิดร่วมไปกับระบบของรถเมล์สายอื่นๆ เราจะได้ขนส่งมวลชนอีกทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์การเดินทางของคนในเมือง ที่มีความยืดหยุ่นในการปรับเส้นทางการเดินรถดีกว่าระบบราง ส่งต่อคนเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนหลัก หรือเป็นสามารถขนส่งมวลชนหลักของเมืองที่ทำได้เร็วทำได้เลย ไม่ต้องลงทุนมหาศาลอย่างรถไฟฟ้า ราคาการให้บริการรถไฟฟ้าต่ำสุดอยู่ที่ 15 บาท (เช่น จากชิดลมไปสยามระยะเดินได้สบายๆ) ถ้าไกลหน่อยจากหมอชิตข้ามไปบางหว้า ฝั่งธนฯ 52 บาท ไม่แพงสำหรับใครหลายคน แต่กับคนอีกกลุ่มหนึ่งถ้าต้องจ่ายไป-กลับวันละ 100 บาท ขณะที่เงินได้วันละ 300 บาทคงไม่ใช่ละ ต่อให้เกิดรถไฟฟ้าครบทุกสายตามแผนการก่อสร้างที่รัฐวางไว้ แต่ก็จะมีคนรายได้น้อยกลุ่มนี้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าในการเดินทางประจำวันได้แน่นอน

รถเมล์และรถไฟเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีราคาถูก ซึ่งอันที่จริงแล้วขนส่งมวลชนเมืองควรเป็นสวัสดิการหนึ่งที่รัฐ "ต้อง" จัดให้ประชาชน ทำไมรัฐต้องจัดให้ เพราะขนส่งมวลชนเมืองเป็นความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของคนเมืองในปัจจุบันที่ต้องมีการเดินทางประจำวัน

ปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล (ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง) การศึกษา เหล่านี้ทั้งหมดต้องย้ำว่า ณ จุดที่รัฐพึงจัดให้ประชาชนนั้นเป็นเพียง "ขั้นพื้นฐาน" เพราะอะไรจึงเป็นสวัสดิการที่รัฐ "ต้อง" จัดให้แก่ประชาชน อะไรๆ ก็ให้รัฐจัด อะไรก็ขอต่อรัฐ มาเอาภาษีของคนกลุ่มหนึ่งไปประเคนให้คนอีกกลุ่มหนึ่งอีกแล้วหรือ ไม่ใช่เช่นนั้นแน่นอน แต่เป็นเพราะประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ล้วนมีความสำคัญต่อบ้านต่อเมือง กลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มหนึ่งที่เป็นกำลังสำคัญของเมือง ในการสร้างผลิตภาพของเมือง เป็นกลุ่มคนที่เป็นรากเป็นฐานของเมือง เป็นกลุ่มคนที่ให้บริการแก่เมือง ในห้างหรูๆ ไม่ได้มีแค่ร้านหรูๆ ในร้านอาหาร ร้านขายของในห้าง ภายใต้ภาพความหรูหรานั้น มีพนักงานขาย พนักงานเสิร์ฟ คนครัว คนปั้นซูชิ คนทำความสะอาด ข้างนอกรอบๆ ห้างก็มีคนขายอาหารขายส้มตำข้างถนน คนกวาดขยะ เราจะเอาพวกเขาไปอยู่ตรงส่วนไหนของเมืองกัน

ด้วยรายได้ที่น้อย ทางเลือกในการใช้ชีวิตของคนกลุ่มนี้จึงมีน้อยตามไปด้วย สวัสดิการต่าง ๆ ที่รัฐจัดให้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของพวกเขาลงได้ และเมื่อภาระค่าใช้จ่ายของพวกเขาลดลง เงินในกระเป๋าของเขาก็จะเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อกำลังซื้อ หรือกำลังในการผลิต และจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตในระบบรวมของเมืองให้สูงขึ้นไปด้วย และเขาก็คงจะเข้าร้านสะดวกซื้อได้ถี่ขึ้นล่ะค่ะ

ว่าจะแค่พูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสายรถเมล์แบบภาษาชาวบ้าน ที่ไม่ใช่ภาษานักวิชาการผังเมือง ไหงมาลงที่กลุ่มคนรายได้น้อยก็ไม่รู้ แต่เพราะเขาเป็นกำลังหลักเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง และเราต้องพัฒนาเมืองแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราถึงต้องคิดเรื่องระบบขนส่งมวลชนเมืองแบบให้ครบถ้วนให้เป็นระบบตอบโจทย์คนทุกกลุ่มในเมืองจริง ๆ     

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟซบุ๊ก NOY DISTHAWONG

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘วินธัย’ รับแค่ “ขอความร่วมมือ” ไม่ให้มาคดียิ่งลักษณ์ หลัง นปช. โวยโดนบล็อคทุกทาง

Posted: 14 Aug 2017 06:14 AM PDT

14 ส.ค.2560 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษาแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุว่าแกนนำ นปช.ต่างจังหวัดถูกเจ้าหน้าที่สกัดทุกช่องทาง เพื่อไม่ให้สามารถไปให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในวันพิพากษาคดีโครงการรับจำนำข้าว วันที่ 25 ส.ค.นี้ ว่า ขอชี้แจงว่าเป็นเรื่องของการขอความร่วมมือ เพราะในกิจกรรมบางลักษณะอาจทำให้สังคมมองออกไปได้ในหลายแง่มุม ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาบรรยากาศโดยทั่วไปให้มีความเรียบร้อยมากที่สุด การจะดำเนินกิจกรรมอะไรต้องใช้ความระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงไปเกี่ยวโยงทางการเมือง

พ.อ.วินธัย กล่าวต่อว่า ส่วนการที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่ไปสกัดมวลชนนั้นก็จำเป็นต้องเข้มงวดต่อการเดินทางในบางลักษณะ บางกลุ่ม และบางกรณี เพื่อไม่ต้องการให้บางบุคคลอาศัยสถานการณ์หยิบไปใช้ให้มีผลในมุมทางการเมืองได้ โดยเฉพาะข้อกังวลเกี่ยวกับกรณีการขนการเกณฑ์คนไปทำกิจกรรมใดๆ ดังนั้นขอให้เชื่อเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจอย่างมีเหตุมีผล พร้อมยืนยันว่า เราก็ไม่ได้ห้ามการให้กำลังใจแต่อย่างใด แต่ไม่อยากให้มีการขยับหรือเคลื่อนไหวอะไรผิดไปจากความเป็นธรรมชาติที่ควรเป็นมากกว่า

เมื่อวานนี้ (13 ส.ค.) นางธิดากล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลสั่งตรวจสอบองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลังจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยื่นให้ตรวจสอบว่าบางพื้นที่อาจใช้งบนำประชาชนมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันพิพากษาคดีจำนำข้าวว่า คิดว่าเป็นข้อสังเกตจาก สตง.มากกว่า เพราะก่อนหน้านี้ สตง.ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้งบประมาณที่อาจผิดวัตถุประสงค์ เช่น การขนคนไปเชียร์ฟุตบอล เป็นต้น

"ขณะนี้รัฐบาลได้บล็อกทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรถตู้ รถบัส รถรับจ้างต่างถูกควบคุมหมด ขณะที่แกนนำ นปช.ในพื้นที่เองก็ถูกบล็อกเช่นกัน ใครจะไปให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทางที่ดีคงต้องซื้อตั๋วโดยสารเอง ต่างคนต่างไป เพราะขณะนี้เหมือนว่าได้มีการบล็อกการสนับสนุน ทั้งจากอดีต ส.ส.และอดีตแกนนำ แม้จะใช้เงินของตัวเองก็ตาม" นางธิดา กล่าว

นางธิดา กล่าวอีกว่า เท่าที่พูดคุยกับมวลชนที่สนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่างระบุว่า เมื่อมีการสกัดกั้นมากขนาดนี้ เห็นทีจะต้องนั่งรถโดยสารหรือรถทัวร์ไปกันเอง อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายความมั่นคงบอกว่าสามารถเหมารถไปได้ แต่ต้องทำสัญญารับจ้างเป็นกิจจะลักษณะ มวลชนก็พร้อมปฏิบัติตาม ยืนยันว่าการไปให้กำลังใจเป็นสิทธิของประชาชน และถามว่าการขัดขวางนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ขอให้ทุกคนทำสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าจะไม่เสียใจภายหลัง การแสดงออกของผู้รักประชาธิปไตยจะต้องหลุดพ้นจากการกลัวตัวเองเดือดร้อน เพื่อสนับสนุนผู้ที่เห็นว่าไม่ได้มีความผิดแต่จะถูกจำคุก และประเทศไทยจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ก็ต้อง "Let it be"

 

 

ที่มา: เว็บไซต์แนวหน้า

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'นอม ชอมสกี้' ส่งจม.ให้กำลังใจ 'เนติวิทย์' - กว่า 100 นักวิชาการขอจุฬาฯ เปิดใจกว้าง

Posted: 14 Aug 2017 05:49 AM PDT

ปมจุฬาฯ ตั้ง กก.สอบสวน หลังเหตุพิธีถวายสัตย์ฯ เนติวิทย์เผย 'นอม ชอมสกี้' ส่งจดหมายให้กำลังใจ ระบุ 25 นี้ 'ตนและเพื่อนสภานิสิต' จะถูกสอบสวนและลงโทษทางวินัย ขณะที่นักวิชาการกว่า 100 คน ชี้พิธีกรรมประดิษฐ์ราว 20 ปี แนะจุฬาฯ เปิดใจให้กว้าง

14 ส.ค. 2560 จากกรณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งกรรมการสอบสวน เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และประธานสภานิสิตจุฬาฯ พร้อมด้วยเพื่อนสภานิสิตจุฬาฯ อีก 7 คน จากเหตุการณ์พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ และกรณีสถานที่ราชการในการจัดประชุมโดยไม่รับอนุญาต จากการที่ตนทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของผู้ค้าสวนหลวงสแควร์ นั้น

ล่าสุดวันนี้ (14 ส.ค.60) เนติวิทย์ โพสต์ภาพจดหมายจาก ศาสตราจารย์ นอม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) นักภาษาศาสตร์และนักวิชาการจากสหรัฐฯ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยจดหมายดังกล่าวเป็นการให้กำลังใจ รายละเอียดว่า ได้ทราบข่าวอย่างหดหู่เกี่ยวกับการปฏิบัติอย่างน่ารังเกียจซึ่งคุณ(เนติวิทย์)ตกเป็นเหยื่อ และการคุกคามต่อคุณอย่างรุนแรง จากการที่คุณ ยืดหยัดเพื่อความยุติธรรมและสิทธิขั้นพื้นฐาน ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ผู้คนอย่างคุณคือคนที่จะถางทางประเทศไปสู่อนาคตที่สดใสได้ ตนหวังและเชื่อว่า การกระทำอันอยุติธรรมต่อคุณจะสิ้นสุดไปโดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะสามารถก้าวดำเนินต่อไปด้วยความพยายามอันน่าเคารพและกล้าหาญของคุณเพื่อนำประเทศให้ก้าวเดินต่อไป

เนติวิทย์ ระบุด้วยว่า วันที่ 25 ส.ค.นี้ ตนและเพื่อนสภานิสิตจุฬาฯ อีก7 คนจะถูกสอบสวนและลงโทษทางวินัยจากทางมหาวิทยาลัย เนื่องจากกรณีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และตนยังโดนข้อหาเพิ่มด้วยคือ การจัดรับฟังปัญหาผู้ค้าสวนหลวง

"ขอบคุณสำหรับกำลังใจที่ส่งเข้ามาอย่างมากมายครับ นี่คือช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่เพราะกำลังใจทำให้ไม่เคยย่อท้อที่จะฝ่าฟันไปให้ได้ ถ้าไม่มีตรงนี้ ประชาธิปไตยเสรีภาพก็ไม่มี เมื่อตอนบ่ายนี่เองก็มีอาจารย์นักวิชาการทั่วประเทศ 128 คนลงนาม ต่อเรื่องนี้ ผมขอขอบคุณทุกท่าน" เนติวิทย์ โพสต์

นักวิชาการกว่า 100 คน ชี้พิธีกรรมประดิษฐ์ราว 20 ปี แนะจุฬาฯ เปิดใจให้กว้าง

วันเดียวกัน เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส.' เผยแพรแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว โดยมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 100 คน พร้อมชี้ว่าพิธีกรรมถวายสัตย์ฯ เป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อราว 20 ปีที่แล้วเท่านั้น นอกจากนี้เครือข่ายฯ ยังเรียกร้อง ให้ผู้บริหารจุฬาฯ เข้าใจและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก แนะนำด้วยว่าควรใช้โอกาสนี้สร้างปัญญาให้แก่คนในประชาคมและสังคม ด้วยการเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงอย่างมีสติเพื่อให้เห็นข้อดีข้อเสียของทั้งสองฝ่าย และแสวงหาแนวทางแก้ไขต่อไป ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการใช้อำนาจกับนิสิต

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ผู้บริหารจุฬาฯ นั้น มีอำนาจที่จะให้คุณให้โทษแก่สมาชิกของประชาคม แต่อำนาจนั้นพึงใช้อย่างยุติธรรมและชอบธรรม ประการสำคัญ ผู้บริหารจุฬาฯ ยังมีสถานะเป็น "ครูบาอาจารย์" ที่พึงมีใจเปิดกว้างต่อธรรมชาติอันแตกต่างหลากหลายและเร่าร้อนของคนรุ่นใหม่ หากผู้บริหารจุฬาฯ เห็นว่านิสิตทำไม่ถูก ก็พึงแก้ไขด้วยความปรารถนาดี ไม่ใช่มุ่งลงโทษหรือมุ่งขับไสพวกเขาออกไปจากประชาคม ประการสำคัญ การกระทำของนิสิตทั้ง 8 คนในกรณีนี้ ไม่ได้กระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หากแต่มุ่งผลักดันสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าดีต่อสังคมโดยรวม 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภูมิธรรมแจง 7 ประเด็น อนาคต พท.หลังคดียิ่งลักษณ์-เลือกตั้งครั้งหน้า

Posted: 14 Aug 2017 04:59 AM PDT

ยังไม่สรุปใครเป็นผู้นำพรรคต่อไป ระบบไพรมารีโหวตต้องรับฟังความเห็นมากกว่านี้ กรธ.ยกเลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียวสร้างความยุ่งยาก ส่อเจตนาทำพรรคการเมืองอ่อนแอ โครงการจำนำข้าว ยืนยันทำเพื่อคนส่วนใหญ่ ส่วนการปรองดองต้องเริ่มจากการไม่สองมาตรฐาน

14 ส.ค.2560 เว็บไซต์มติชน รายงานว่า ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) แสดงทัศนะทางการเมือง 7 ประเด็น ได้แก่

1. การเปลี่ยนแปลงในพรรค การมีหัวหน้าพรรคคนใหม่ และความขัดแย้งภายในพรรค โดยระบุว่า เป็นเรื่องปกติของพรรคการเมืองที่มีความเห็นแตกต่างกันได้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งใหญ่โตใดๆ พรรคเพื่อไทยเป็นสถาบันทางการเมือง ความเป็นพรรคการเมืองนั้นสมาชิกต้องปฏิบัติตามข้อบังคับพรรค ไม่ใช่ตามการชี้นำของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และแน่นอน การเลือกผู้นำพรรคก็ต้องเป็นไปตามข้อบังคับพรรค ที่สำคัญมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ส่วนกรณีที่มีคำถามให้ยืนยันว่าพรรคจะไม่มีผู้นำที่มาจากตระกูลชินวัตรนั้น ต้องเรียนว่าพรรคมีบุคลากรที่มีศักยภาพ มีประสบการณ์บริหารประเทศ และมีความรู้ความสามารถที่หลากหลายจำนวนมาก ดังนั้นจึงเร็วเกินไปที่จะบอกว่าพรรคจะเลือกใครมาเป็นผู้นำพรรค เรายังมีเวลาเพียงพอที่ไม่ต้องรีบตัดสินใจใดๆ เพราะสถานการณ์ต่างๆ ในบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

2. พรรคไม่ได้กังวลต่อกระบวนการไพรมารีโหวต เพราะเราเป็นพรรคการเมืองลำดับต้นๆ ของประเทศที่ริเริ่มคิดเรื่องนี้มาก่อนเป็นสิบกว่าปีที่แล้ว ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยมีความเข้าใจในเรื่องไพรมารีโหวตและการเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการช่วยคิดและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในพรรคอย่างเต็มที่ ไม่ใช่การดำเนินการอย่างที่ผู้ออกกฎหมายปัจจุบันกำลังคิดและจัดทำอยู่ ซึ่งเชื่อได้ว่ากลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบันบันไม่ได้คิดอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจแบบลงลึก และยังขาดรายละเอียดอีกมาก ซึ่งการผลักดันเรื่องไพรมารีโหวตโดยขาดความเข้าใจเช่นนี้จะกลายเป็นเหตุที่ทำให้สังคมเกิดความแตกแยกและสถาบันการเมืองเกิดความอ่อนแอ และอยากเสนอให้ผู้มีอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกฝ่ายอย่าเร่งรีบจนไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดความเสียหายแก่ประเทศ และไม่ควรคำนึงถึงแต่ความต้องการของตนแต่ฝ่ายเดียว หากท่านปรารถนาจะให้ระบบไพรมารีโหวตมาใช้ในการเมืองไทย ควรเพิ่มความอดทนและให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชนได้เรียนรู้เพื่อจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงพัฒนาการและความเป็นจริงของสังคมไทยด้วย

3. ระบบเลือกตั้งตามแนวทางของ กรธ. โดยเฉพาะความพยายามผลักดันให้เกิดการยกเลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียว ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในความพยายามให้เกิดความสับสนวุ่นวายในการเลือกตั้งเพื่อให้พรรคการเมืองและสถาบันทางการเมืองอ่อนแอ ถอดถอย ยากต่อการบริหาร ยากต่อการทำงานแก้ไขปัญหาของประชาชน และส่งผลให้เกิดความสับสนในการเลือกนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าคณะผู้ร่างมีเจตนาเพื่อเปิดช่องทางสู่การมีนายกฯ คนนอกเข้ามาเป็นรัฐบาล และสะท้อนให้เห็นความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจต่อไปใช่หรือไม่

"ผมเห็นว่าผู้มีอำนาจควรจะสร้างกฎกติกาการเลือกตั้งให้ง่ายต่อการปฏิบัติให้มาที่สุด เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน มิใช่เพื่อทำให้เกิดข้อยุ่งยาก และสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นกับประชาชนเช่นที่กำลังเกิดในปัจจุบัน กติกาที่เขียนมา เช่น บัตรเลือกตั้งใบเดียว ระบบจัดสรรปันส่วน ค่าสมาชิกพรรค ไพรมารีโหวต และการยกเลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียว ถือเป็นการส่อเจตนาอย่างชัดเจนเพื่อให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ และมุ่งสืบทอดอำนาจทางการเมืองของกลุ่มตนเท่านั้น"

4. ความท้าทายในการเลือกตั้งครั้งหน้า นโยบายที่เคยใช้หาเสียงจะยังสามารถนำมาใช้ได้เช่นในอดีตหรือไม่ การเมืองที่จะเกิดขึ้นควรจะต้องมุ่งเดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นแม้ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ก็ต้องเป็นสิ่งที่สะท้อนเจตนารมณ์และการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด และให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ที่สุด และที่สำคัญจะต้องมีส่วนเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ของพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ พรรคเพื่อไทยขอยืนยันว่า เราจะใช้ความพยายามอย่างที่สุดที่จะมุ่งเดินหน้า สร้างงานการเมืองที่สร้างสรรค์เพื่อทำหน้าที่สำคัญคือ การรับฟังและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญที่พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยพึงกระทำ ทั้งนี้หากกฎกติกาที่คณะผู้มีอำนาจในปัจจุบันได้ออกแบบไว้นั้นเกิดสร้างปัญหาและเป็นอุปสรรคสำคัญ ก็ถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกๆ คนที่จะต้องร่วมมือกันแก้ไขเพื่อมิให้ประเทศติดอยู่ในวิกฤตและกับดักที่ถูกสร้างขึ้น

5. อนาคตของพรรคเพื่อไทยภายหลังวันตัดสินคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เรามั่นใจว่าสิ่งที่ผู้นำพรรคเพื่อไทยได้ดำเนินการมาตลอดในเรื่องนโยบายจำนำข้าว ล้วนเป็นไปด้วยความสุจริตและเป็นการดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดและเป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อสภา และถือเป็นการดำเนินการตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2555-2558 ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และที่สำคัญกฎหมายมีสภาพบังคับและกำหนดให้ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์และครม.ต้องปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข น.ส.ยิ่งลักษณ์และครม.ทั้งคณะก็ได้ใช้ความพยายามและความระมัดระวังอย่างเต็มที่ในการดูแลเพื่อให้โครงการรับจำนำข้าวเกิดประโยชน์สูงสุดต่อครอบครัวเกษตรกร และผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ

"พรรคกล้ายืนยันและเชื่อมั่นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มิได้ทำสิ่งใดผิดตามที่ถูกกล่าวหา เรามั่นใจในความบริสุทธิ์และความตั้งใจจริงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงเชื่อว่าผลแห่งความมุ่งมั่นทำงาน และคุณงามความดีที่ท่านได้ทำสั่งสมมาจะปกปักรักษาให้ท่านพ้นภัยในครั้งนี้ พรรคมีความเป็นสถาบันการเมือง มีประวัติศาสตร์ และผ่านการทำงานปฏิรูปและพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยมานานนับสิบๆ ปี หากผลจากการทำงานที่มุ่งมั่นให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจะทำให้พรรคเราได้รับความเสียหาย เราก็ยังเชื่อมั่นว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นใจเรา จะโอบอุ้มคุ้มครองเรา และจะให้โอกาสพรรคการเมืองของเราอยู่เคียงข้างพวกเขาตลอดไป"

6. การออกแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยล่าสุด ที่ขอให้รัฐบาลยุติการคุกคามและการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน การละเมิดสิทธิมนุษยชน จะไม่ส่งผลดีต่อการปรองดองและจะยิ่งส่งผลเสียต่อภาพพจน์ของประเทศ และยังอาจนำไปสู่การไม่ได้รับความสนับสนุนและไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาคมโลกอีกด้วย

7. พรรคเพื่อไทยเชื่อว่า การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความยุติธรรมเป็นพื้นฐาน ตราบใดที่คนในสังคมยังรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมหรือยังมีลักษณะความเป็นสองมาตรฐาน การปรองดองก็ยากจะประสบความสำเร็จ หน้าที่ของผู้นำโดยเฉพาะรัฐบาลต้องเป็นแบบอย่างในการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นและต้องสร้างความมั่นใจให้ประชาชนทุกฝ่ายสามารถได้รับความยุติธรรมต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน พรรคเพื่อไทยได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่ากระบวนการปรองดองที่จะเกิดขึ้นต้องไม่เป็นเพียงพิธีกรรม หากแต่ต้องมุ่งมั่นไปสู่กระบวนการที่จะอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่ายอย่างเสมอภาค

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองทัพตั้งกรรมการสอบทหารเอี่ยวอุ้มนักธุรกิจจีน

Posted: 14 Aug 2017 01:56 AM PDT

ผู้บัญชาการทหารสูงสุดตั้งคณะกรรมการสอบวินัย พล.ต.จรูญ- 4 จ่าสารวัตรทหารกองทัพไทย หลังพัวพันแก๊งเรียกค่าไถ่นักธุรกิจชาวจีน ยืนยันหากผิดจริงไม่ปกป้อง

 
14 ธ.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวถึงกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับ พล.ต.จรูญ อำภา ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติงานศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง กองบัญชาการกองทัพไทย และทหารยศจ่า สังกัดกรมสารวัตรทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 4 นาย หลังพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีอุ้มนักธุรกิจเรียกค่าไถ่ ว่าได้สั่งการผู้เกี่ยวข้องว่าหากตำรวจร้องขอรายละเอียดเรื่องใดต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ 
 
"ยืนยันว่าจะไม่ปกป้องกำลังพลที่กระทำความผิด ในส่วนของกองบัญชาการกองทัพไทยเองได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนทางวินัยด้วยเช่นกัน โดยจะดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตามจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และระหว่างที่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ได้มีคำสั่งให้ พล.ต.จรูญ มาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานผู้บังคับบัญชา เพื่อควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด" ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
 
ส่วนกรณีตำรวจขยายผลว่าแก๊งค์ทหารดังกล่าวเป็นแก๊งค์ปล่อยเงินกู้นอกระบบรายใหญ่ย่านดอนเมือง พล.อ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชายขวาจัดขับรถพุ่งชนหญิงผู้ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติเสียชีวิตในเวอร์จิเนีย

Posted: 13 Aug 2017 06:31 PM PDT

ที่เวอร์จิเนียเกิดเหตุรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตหลังการปะทะกันระหว่างกลุ่มชาตินิยมผิวขาวขวาจัดกับผู้ประท้วงต่อต้านการเดินขบวนของฝ่ายขวา ผู้เสียชีวิตเป็นหญิงอายุ 32 ปีนักกิจกรรมเพื่อสิทธิพลเมืองในสหรัฐฯ ถูกผู้นิยมนาซีอดีตทหารขับรถพุ่งชน

14 ส.ค. 2560 ตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมากลุ่มขวาจัดซึ่งประกอบด้วยกลุ่มขวาทางเลือก นีโอนาซี ชาตินิยมคนขาว ออกมาประท้วงเรื่องที่จะมีการนำรูปปั้นอนุสาวรีย์โรเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด ลี ออกจากอิแมนซิเปชันปาร์ค พวกเขาไม่ยอมให้นำรูปปั้นของอดีตนายพลฝ่ายสมาพันธรัฐในสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนให้มีการใช้ทาสคนผิวสีออกจากพื้นที่สาธารณะ

อย่างไรก็ตามมีผู้รวมตัวเพื่อประท้วงโต้ตอบกลุ่มขวาจัดเหล่านี้ในช่วงเที่ยงของวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่ในวันนั้นก็มีเหตุปะทะกันทั้งการทุบตี การขว้างปาขวดน้ำ และการใช้สเปรย์สารเคมีฉีดใส่กันจนมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 19 ราย จนกระทั่งถึมีรถคันหนึ่งพุ่งเข้าชนจนทำให้เฮเธอร์ ไฮเยอร์ หญิงอายุ 32 ปีเสียชีวิตและมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 19 ราย

เดอะการ์เดียน ระบุถึงผู้เสียชีวิตว่าเธอมีอาชีพเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางกฎหมายในเวอร์จิเนียและเป็นคนที่เรียกร้องในประเด็นสิทธิพลเมืองทางโซเชียลมีเดียมาโดยตลอด ในบริษัทกฎหมายที่เธอทำงานอยู่ เธอมักจะแสดงความสนใจกรณีที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่มิชอบและกระทำแบบเหยียดเชื้อชาติ 

หลังจากที่ไฮเยอร์เสียชีวิต เพื่อนสมัยเด็กของเธอ เฟลิเซีย คอร์เรียก็เปิดเพจระดมทุนเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของไฮเยอร์โดยมีผู้ร่วมบริจาคเกือบ 3,000 ราย ภายในเวลา 11 ชั่วโมง และเกินยอดบริจาค 50,000 ดอลลาร์ไปแล้ว

เดอะการ์เดียนระบุว่าไฮเยอร์จบมาจากโรงเรียนที่มีพันธกิจไม่แบ่งแยกกีดกันผู้คนจากเชื้อชาติ สีผิว สัญชาติ เพศ ความพิการ หรืออายุ เธอยังเคยโพสต์ในโซเชียลมีเดียขอให้คนที่กลัวชาวมุสลิมลองเป็นเพื่อนกับชาวมุสลิมสักคนหนึ่ง มีผู้คนจำนวนมากแสดงการชื่นชมเธอและแสดงความเสียใจต่อครอบครัว ขณะที่มีอีกส่วนน้อยที่แสดงความไม่พอใจและต่อว่าที่เธอไปอยู่ในที่ชุมนุม

เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า การก่อเหตุขับรถพุ่งชนในครั้งนี้เป็นการก่อเหตุอย่างมีเจตนา และภาพจากกล้องโดรนมุมสูงขของช่างภาพก็แสดงให้เห็นภาพของรถพุ่งชนผู้คน ขณะที่มีผู้คนจำนวนหนึ่งวิ่งหนีด้วยความหวาดกลัว ผู้ก่อเหตุคือ เจมส์ อเล็ก ฟิลด์ จูเนียร์ อายุ 20 ปี จากโอไฮโอ เขาถูกจับกุมและตั้งข้อหาฆาตกรรมแบบไม่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า วอชิงตันโพสต์ระบุว่า ฟิลด์เป็นคนที่เคยมีประวัติเข้าข้างแนวคิดนาซีและชื่นชมในตัวอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มาก่อน เคยเข้ารับราชการทหารในกองทัพสหรัฐฯ เมื่อปี 2558 และเพิ่งออกจากการประจำการเมื่อไม่ถึง 4 เดือนที่ผ่านมา

 

เรียบเรียงจาก

Woman killed at Charlottesville far-right rally was civil rights activist, The Guardian, 13-08-2017

https://www.theguardian.com/us-news/2017/aug/13/woman-killed-at-white-supremacist-rally-in-charlottesville-named

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/2017_Unite_the_Right_rally

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น