โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

มีชัย ยันต้องเซ็ตซีโร่ กสม. - สมชัย จ่อยื่นศาล รธย.ตีความเซ็ตซีโร่ กกต.อีกครั้ง

Posted: 16 Aug 2017 11:41 AM PDT

ประธาน กรธ.ย้ำเซ็ตซีโรกสม. แก้ปัญหาเวทีโลกไม่ยอมรับ ระบุทำตามเดิมอาจเกิดปัญหาทำให้ กสม.ถูกลดเกรดความน่าเชื่อถือไปเรื่อย ๆ  ด้าน กกต.สมชัย เผยรอฤกษ์ก่อนยื่นศาลรัฐธรรมนูญ กรณีถูกเซตซีโร่ กกต.

มีชัย ฤชุพันธ์ุ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 

16 ส.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า มีชัย ฤชุพันธ์ุ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุ กสม.มาถูกต้องตามหลักการปารีส ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเรื่องที่มาของกรรมการ กสม.ไม่เปิดกว้าง รวมถึงกรอบระยะเวลาและองค์ประกอบไม่ครบถ้วน และไม่เปิดกว้างสำหรับคนทุกกลุ่มตามเงื่อนไขที่หลักการปารีสกำหนด ซึ่งเป็นที่มาของหลักคิด ของกรธ.ให้กสม.พ้นจากตำแหน่งทั้งหมดโดยไม่มีวาระซ่อนเร้น เพื่อให้เป็นไปตามพันธะกรณีระหว่างประเทศ 

มีชัย  กล่าวว่า หากยังให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอาจเกิดปัญหาทำให้ กสม.ถูกลดเกรดความน่าเชื่อถือไปเรื่อย ๆ และกระทบต่อการทำงานในแง่ความน่าเชื่อถือ เมื่อชี้แจงข้อเท็จจริงในที่ประชุมระหว่างประเทศ เพราะขณะนี้ กสม.เวลาเดินทางไปประชุมระหว่างประเทศก็ยังต้องเป็นทีมร่วมของกระทรวงการต่างประเทศ  ประชุมในฐานะกสม.ไม่ได้ กรธ.ยืนยันสงวนความเห็นให้กสม.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะในชั้นกรรมาธิการ

ส่วนกรณีที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะส่งบัตรเชิญให้กรธ.ดูงานสาธิตลงคะแนนเลือกตั้งระบบต่างเบอร์ในสัปดาห์หน้า มีชัย กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า ยังไม่ได้รับบัตรเชิญ 

ประธาน กรธ.ยังกล่าวถึงสถานะของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่เพิ่งมีการแต่งตั้ง อาจเกิดปัญหาหากร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินให้อยู่ต่อตามคุณสมบัติ หรือให้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ  ว่า คตง.ที่เพิ่งสรรหาไปเป็นการสรรหาที่รับรองตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้ว และกรธ.จะบัญญัติหลักการให้สอดคล้องในภายหลัง ส่วนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการให้ดำรงตำแหน่งต่อจนครบวาระ นายมีชัย กล่าวว่า ทางกรธ.จะไม่ส่งข้อโต้แย้งให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายเพื่อพิจารณา เนื่องจากมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว

ด้าน สมชัย กล่าวด้วยว่า ได้ทำคำร้องที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีเซ็ตซีโร่ กกต.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดในเนื้อหา รวมทั้งวันที่จะไปยื่นเพราะยังไม่ว่างและขอดูฤกษ์ก่อน 

ที่มา : สำนักข่าวไทย และเว็บไซต์วิทยุละโทรทัศน์รัฐสภา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

10 ปี 1 แสนภาพ : คุยกับ ‘Soray Deng’ นักบันทึกภาพ ‘นายู น่าอยู่’ สะท้อนปาตานี

Posted: 16 Aug 2017 10:43 AM PDT

มูฮำหมัดซอเร่ เด็ง หรือ 'Soray Deng' ผู้เชี่ยวชาญในการบันทึกภาพวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม และการเมืองในพื้นที่สงครามชายแดนใต้/ปาตานี ที่มีทั้งความสวยงาม ความหวัง หรือแม้แต่ความจริงที่เลวร้าย ที่มีเรื่องราวซ่อนอยู่

มูฮำหมัดซอเร่ เด็ง หรือ 'Soray Deng' 

ไม่นานมานี้เขารวบรวมภาพจากแสนกว่าภาพที่เขาใช้เวลาถ่ายภาพบันทึกเรื่องราวมา 10 ปี และคัดเลือกเหลือร้อยกว่าภาพเพื่อนำมาจัดในงานนิทรรศการภาพถ่ายเดี่ยว "Nayu Nayu (นายู น่าอยู่)" ณ บ้านมลายูลิฟวิ่ง (Melayu Living) ถ.ปัตตานีภิรมย์ อ.เมือง จ.ปัตตานี ระหว่างวันที่ 30 ก.ค.-13 ส.ค. 2560 และล่าสุดได้ต่อเวลาอีกจนถึงวันที่ 27 ส.ค. 2560 เพื่อให้ผู้สนใจได้มีเวลามาเยี่ยมชมกันนานขึ้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นการเรียกร้องจากแฟนเพจอีกด้วย

ตลอดระยะเวลาการจัดงานที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมมากมายหลายหลากเข้ามาเยี่ยมเยือน ชื่นชมอย่างไม่ขาดสาย ทั้งช่างภาพ ศิลปิน นักกวี นักวิชาการ นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว นักศึกษา นักเรียน นักข่าว อาจารย์ อุสตาส ทหาร ตำรวจ รวมทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อย่างผู้ว่าราชการปัตตานี คุณวีรนันท์ เพ็งจันทร์   

'Soray Deng' ภาพประกอบโดย Mana Salae (ภาพที่ 1) และ Nurdin NDgraphic Aouming (ภาพที่ 2)

จัดแสดงเพื่อการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจ สื่อสารสู่ภายนอก

Soray Deng เปิดเผยว่า "การจัดนิทรรศการภาพครั้งนี้ เริ่มต้นจากการเชิญชวนของคุณราชิต ระเด่นอาหมัด ประธานกลุ่ม Melayu Living คุณราชิต เขาเห็นว่าผลงานของผมน่าสนใจ แนะว่าควรจัดแสดงให้คนได้ชมเพื่อการเรียนรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงวิถีของคนในพื้นที่ อีกทั้งเป็นการสื่อสารกับคนในพื้นที่และคนข้างนอกด้วย" 

"ผมกลับมานั่งคิดอีกทีว่าคงถึงเวลาที่ผมต้องรวบรวมภาพเพื่อจัดแสดงแล้ว เพราะตลอดระยะเวลาที่ผมบันทึกภาพมาก็ยังไม่เคยจัดแสดงผลงานตัวเองแบบฉายเดี่ยวเลยสักครั้ง นอกจากผมแล้วก็ยังไม่เคยเห็นศิลปินอื่นๆ ในพื้นจัดขึ้นมาเหมือนกัน ผมจึงตกลงรับปากคุณราชิตไป แต่ขอเวลาเตรียมภาพ 6 เดือน เพื่อคัดเลือกภาพที่น่าสนใจมากที่สุด" Soray กล่าว

'นายู น่าอยู่' ความหมาย-ความเป็นมา

"ระหว่างที่คัดภาพอยู่ ผมก็ประมวลถึงหัวข้อที่จะนำเสนอไปด้วย แต่คิดแบบจริงจัง คิดไปก็คิดไม่ออก ผมกวาดสายตามองภาพที่ผมคัดมาทำให้นึกได้ว่า ภาพพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นวิถีของคนมลายู เป็นวิถีที่หลากหลาย มีความน่าสนใจแฝงอยู่ มีความแตกต่างเป็นเอกลักษณ์ มีความน่าอยู่ซ่อนอย่างน่าค้นหา

เออว่ะ คนในพื้นที่มักเรียกตนเองว่า "ออแฆ-นายู" หรือแปลว่า "คนมลายู" ตามมาด้วยคำว่า "น่าอยู่" ซึ่งเป็นสไตล์การถ่ายภาพที่ผมมักจะสะท้อนอยู่แล้ว รวมๆเป็น "นายู น่าอยู่" ดังนั้น ผมจึงสรุปว่า สองคำนี้น่าจะเป็นคำที่น่าสนใจและมีความเป็นพื้นที่มากที่สุด นั่นคือที่มาและความหมายของชื่องานในครั้งนี้" Soray เล่าที่มาของคำ

Soray ยังกล่าวเชิงเชิญชวนว่า หากใครอยากรู้ว่า คำว่า "น่าอยู่" มันน่าอยู่จริงหรือไม่นั้นก็ต้องมาหาคำตอบจากภาพ ถ้าอยากรู้ต้องมาค้นหาในงาน

ภาพน่าสนใจ-เกิดคำถาม

Soray ระบุว่า ภาพที่เป็นจุดสนใจและเกิดคำถามมากที่สุด คือ 2 ภาพด้านล่างนี้ ซึ่งทั้ง 2 ภาพเขาพึ่งถ่ายมาปีนี้ (2560) ภาพแรกเขาถ่ายในชุมชนกรือเซะ ซึ่งชุมชนรายรอบมัสยิดกรือเซะ เป็นมัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี เต็มไปด้วยเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์มากมาย แต่ภาพแรกไม่มีชื่อภาพ

ส่วนภาพที่สองเขาถ่ายที่ตึกปาตานีจายา ในเมืองปัตตานี มีชื่อภาพว่า "มลายูไม่เสร็จ"

ภาพแรก "ไม่มีชื่อภาพ"

ภาพที่ 2 ชื่อภาพ "มลายูไม่เสร็จ"

"มลายูไม่เสร็จ" มาจากความไม่สมบูรณ์และผสมผสานของความต่าง

Soray อธิบายภาพ มลายูไม่เสร็จ นั้นคือ จุดที่โฟกัสบอกว่ามลายูไม่เสร็จ ก็คงเป็นภาพตึก บวกกับการแต่งตัวผสมผสาน ความขัดแยงระหว่างโลกกับศาสนา iPad กับแกะ

ชมภาพ จุดประเด็น ชวนคิด ร่วมถก

"หลายๆ ภาพผมใช้ความพยายามอย่างสูงที่จะไม่อธิบาย เพราะอยากให้คนดูได้ลองคิด ส่วนหนึ่งต้องการจุดประเด็นให้คนคุยกันเอง บางภาพสำหรับผมมันแรงไปที่จะอธิบาย สุดแล้วแต่มุมมองของแต่ละคน เพราะในสังคมทุกคนมีความคิดความอ่านที่แตกต่างกันอยู่แล้ว

ส่วนตัวอยากเชิญชวนผู้สนใจลองมาสัมผัสชื่นชมกันเอง ถ้าใครสนใจก็ลองมาชมดู ผมคิดว่าคนที่มาน่าจะได้มากกว่าภาพ ตอนนี้ทางทีมงานก็ได้ขยายเวลาไปถึงวันที่ 27 ส.ค.เพื่อให้ผู้สนใจได้มีเวลามาชมภาพถ่ายกันมากขึ้น บรรยากาศในงานก็จะออกแนวสบายๆ อารมณ์อาร์ต วินเทจหน่อยๆ แต่ผมแฝงภาพบางมุมที่อยากให้คนมาได้คิด วันนี้ถึงเวลาที่ภาพต้องทำงานอย่างจริงจังแล้ว" Soray กล่าว

10 ปี 1 แสนภาพ

"ผมใช้เวลาบันทึกภาพมา 10 ปี รวมๆ แล้วได้แสนกว่าภาพโดยประมาณ ตอนฝึกสามสี่ปีแรก ผมถ่ายเยอะมาก กว่าจะหาแนวทางเจอโคตรยาก เอาที่เข้าที่เข้าทางจริงห้าปีหลังนี่แหละ" Soray กล่าว

เริ่มถ่ายหลังเห็นคนตายที่กรือเซะ เห็นความเสียหายจากพายุดีเปรสชั่น

Soray เผู้ใช้ระยะเวลาบันทึกภาพมาเกือบสิบปี ซึ่งเป็นเวลาไล่เลี่ยกันกับเหตุสงครามที่เกิดขึ้นระลอกใหม่ในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี สิ่งที่เขาตัดสินใจจับกล้องเพื่อบันทึกเรื่องราวต่างๆ เขาเปิดเผยอย่างน่าสนใจว่า

"ผมเริ่มจากการเห็นรอยเลือด รูกระสุน คนตายที่ไม่มีปืน คนยิงมีปืน ในเหตุการณ์กราดยิงมัสยิดกรือเซะช่วงปี 2547 บวกกับทุนเดิมที่ผมเกลียดการนำเสนอภาพถ่ายมุมลบของคนในพื้นที่ ทำให้คนนอกเข้าใจว่าพื้นที่นี้อันตราย ตอนนั้นคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อลบภาพเหล่านั้น

ช่วงปี 2551 เกิดพายุดีเปรสชั่น ผมเห็นคนตาย เห็นความเสียหายของบ้านช่อง เห็นความสูญเสียมากมาย ผมจึงใช้ภาพที่ผมถ่ายไปขอความช่วยเหลือจากภายนอก ปรากฏว่ามีการตอบรับเป็นอย่างดี มันทำให้ผมเห็นคุณค่าของภาพที่สามารถช่วยคนได้ นั้นคือที่มาและแรงกผลักให้ผมต้องถือกล้องบันทึกภาพจนถึงวันนี้" Soray กล่าว

รวมกลุ่มบันทึกภาพ เพราะคิดเหมือนกัน

Soray ระบุว่า "ช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็มีกลุ่ม Deep South Photojournalism Network. (DSP) โดยมีพี่บอย คุณปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์ เป็นตัวหลัก ผมก็เป็นทีมงานในกลุ่มนี้ด้วย แต่ทุกอย่างมันถึงจุดพีคสุดแล้วก็หายไป

หลังจากนั้นผมก็เริ่มกลับมาทำกลุ่มใหม่ เริ่มสร้างพื้นที่ให้กับตัวเองและคนที่สนใจผ่านกลุ่ม Bintang Photoเริ่มทำตั้งแต่แรกๆ พอถึงช่วงหนึ่งเฟสบุ๊คผมโดนโจรกรรมข้อมูลไปจนหายหมด แต่ผมก็มาเริ่มใหม่อีกครั้ง เริ่มทำแบบเล็กๆ ค่อยเป็นค่อยไป" Soray กล่าว

ย้ำ ช่างภาพ กับนักบันทึกภาพ ต่างกัน

"ผมไม่เคยเรียกตัวเองว่า "ช่างภาพ" แต่ผมเป็นคน "บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้น" ซึ่งความหมายมันต่างกัน ช่างภาพส่วนใหญ่จะเน้นและกังวลเรื่องเทคนิค แต่สำหรับนักบันทึกภาพเขาจะเน้นเรื่องราวมากกว่า ภาพพวกนี้ไม่ได้ทำเงินให้หรอกน่ะ ไม่อย่างนั้นคงมีคนถ่ายภาพแนวนี้เยอะแยะไปแล้ว

ช่างภาพใหม่ๆ ตอนนี้ออกดอก เกิดผลออกมาเยอะมาก เต็มไปหมด ดูเหมือนจะเยอะกว่าภาคอื่นๆ อีก ก็มีผลต่อแนวคิดและท้าทายอยู่เหมือนกัน แต่ผมก็ไม่คิดว่ามันเป็นปัญหา" Soray กล่าว

"ถ้าหากช่างภาพที่มีอยู่นับร้อยนำเสนอภาพในพื้นที่ ในหมู่บ้านของตนเองออกมา ผมว่ามันจะเกิดพลังมาก ภาพแนวนี้อาจจะไม่มีผลต่อตัวเรา หรืออาจจะมีผลก็ได้ แต่โดยส่วนรวมแล้วมันมีผลแน่นอน เชื่อเถอะว่าการทำให้คนอื่นได้รับผลดี สุดท้ายเราจะได้รับมันเช่นกัน หากสิ่งนั้นทำให้คนรอบข้างมีความสุขไปพร้อมกับเรา ก็ทำไปเหอะ" Soray ทิ้งท้าย

หมายเหตุ : ชมภาพและบรรยากาศในงานเพิ่มเติม คลิ๊ก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อัยการยื่นแถลงปิดคดีจำนำข้าว 'ยิ่งลักษณ์-บุญทรง' แล้ว

Posted: 16 Aug 2017 07:21 AM PDT

โฆษกศาลปกครองเผยคลังส่งคำชี้แจงอายัดบัญชีเงินฝากยิ่งลักษณ์แล้ว ด้านทนายเผยขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งจากศาลที่จะให้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมอีกแต่อย่างใด ระบุจากนี้ต้องรอว่าศาลจะเอาอย่างไร

16 ส.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า สุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะทำงานอัยการคดีโครงการรับจำนำข้าว หมายเลขดำ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 กรณีปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว กระทั่งทำให้รัฐเสียหายนับแสนล้านบาท และคดีหมายเลขดำ อม.25/2558 ซึ่งมีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวกรวม 28 ราย เป็นจำเลย ฐานทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐนั้น เปิดเผยว่า คณะทำงานอัยการได้ยื่นคำแถลงปิดคดีทั้ง 2 คดี เป็นลายลักษณ์อักษร ต่อองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา

"คำแถลงการปิดคดีโครงการรับจำนำข้าว ของ ยิ่งลักษณ์ มีความยาว 211 หน้า ส่วนคดี บุญทรง กับพวก มีความยาว 165 หน้า รวม 2 สำนวน ยาว 376 หน้า เนื่องจากทั้ง 2 คดี มีความสัมพันธ์ เกี่ยวพันกัน จึงได้ยื่นคำแถลงปิดคดีพร้อมกันเลย" สุรศักดิ์ กล่าว

สุรศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดคำแถลงการณ์ปิดคดีในส่วนของ ยิ่งลักษณ์ จะเป็นการสรุปประเด็นข้อพิพาท ว่ามีประเด็นใดบ้างที่มีการสืบพยานที่ผ่านมา ตรงไหนรับฟังได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร หักล้างกันได้อย่างไร ซึ่งการแถลงปิดคดี ก็เพื่อให้ศาลมองประเด็นที่คู่ความทั้ง 2 ฝ่ายนำเสนอมา เพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งในวันที่ 25 ส.ค.นี้ คณะทำงานอัยการก็พร้อมจะเดินทางไปฟังคำพิพากษาทั้ง 2 คดีด้วย

โฆษกศาลปกครองเผยคลังส่งคำชี้แจงอายัดบัญชีเงินฝากยิ่งลักษณ์แล้ว

วันเดียวกัน สมชาย งามวงศ์ชน  ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุด  ในฐานะโฆษกศาลปกครอง  เปิดเผยความคืบหน้าการพิจารณาคำร้องที่ ยิ่งลักษณ์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองครั้งที่ 2 หลังจากกระทรวงการคลัง ให้กรมบังคับคดี เริ่มดำเนินมาตรการยึดอายัดทรัพย์สินบัญชีเงินฝาก ว่า หลังจากที่ตุลาการเจ้าของสำนวน มีคำสั่งแจ้งให้กระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้อง ส่งคำชี้แจงต่อศาลภายใน 15 วัน ขณะนี้ทราบว่าผู้ถูกฟ้องได้ส่งเอกสารคำให้การชี้แจงข้อเท็จจริงต่อองค์คณะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก่อนครบกำหนด 15 วันดังกล่าวแล้ว   

โฆษกศาลปกครอง กล่าวว่า จากนั้นตามขั้นตอนองค์คณะก็จะรวบรวมเอกสารข้อเท็จจริง เพื่อส่งให้ตุลาการผู้แถลงคดีร่วมตรวจดูและทำความเห็นส่วนตน โดยขั้นตอนนี้ที่ตุลาการผู้แถลงคดีจะทำความเห็นน่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งคดีนี้อยู่ในความสนใจของประชาชนถือเป็นคดีเร่งด่วนอยู่แล้ว และเมื่อตุลาการผู้แถลงคดีได้ทำความเห็นส่วนตนเสนอองค์คณะแล้ว ถ้าองค์คณะมีคำสั่งยกคำร้องการขอทุเลาของผู้ฟ้อง คำสั่งของศาลปกครองกลางนี้ถือเป็นที่สุด อุทธรณ์ไม่ได้  แต่สามารถยื่นคำร้องได้ใหม่หากเกิดเหตุใหม่  แต่ถ้าศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาอย่างหนึ่งอย่างใด  คู่ความที่ไม่เห็นด้วยสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้

เมื่อถามว่าคดีอาญาที่ ยิ่งลักษณ์ กำลังจะตัดสินวันที่ 25 ส.ค.นี้ จะมีผลต่อการพิจารณาคดีปกครองในศาลปกครองหรือไม่  สมชาย กล่าวว่า ถ้าประเด็นในคดีอาญามีข้อที่เกี่ยวข้องกับประเด็นพิจารณาในคดีปกครอง ก็สามารถหยิบยกมาพิจารณาได้  ตัวอย่างคดีอาญาการสลายม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ศาลยกฟ้อง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ และนายตำรวจ แต่ในส่วนคดีปกครองที่ศาลปกครองเคยตัดสินให้หน่วยงานรัฐชดใช้ค่าสินไหมกับผู้ชุมนุมที่ได้รับความเสียหายนั้น  ก็พิจารณาว่าการกระทำนั้นเกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่  

ขณะที่ นพดล หลาวทอง ทนายความของ ยิ่งลักษณ์ รับผิดชอบคดีปกครอง กล่าวว่า ในส่วนของผู้ฟ้องได้ยื่นเอกสารประกอบคำร้องขอทุเลาการบังคับคำสั่งกระทรวงการคลังและกรมบังคับให้ศาลแล้วตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งจากศาลที่จะให้เรายื่นเอกสารเพิ่มเติมอีกแต่อย่างใด หลังจากนี้ต้องรอว่าศาลจะแจ้งให้ ยิ่งลักษณ์ ต้องยื่นเอกสารใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่ หรือจะต้องเรียกไต่สวนบุคคลใดหรือไม่ หรือศาลได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้วอาจจะแจ้งวันนัดฟังคำสั่งการขอทุเลาต่อไป

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ แจงต้องอัพศักยภาพยุทโธปกรณ์ เพื่อเพิ่มอำนาจที่ไม่มีตัวตน ให้เขาเกรงใจ

Posted: 16 Aug 2017 06:56 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ แจงประเทศต้องมีศักยภาพทางยุทโธปกรณ์ เพื่อป้องอธิปไตย เพิ่มอำนาจที่ไม่มีตัวตน เพื่อให้เขาเกรงใจ พร้อมขอให้ใช้โซเชี่ยลแบบคนพัฒนาแล้ว ขอบคุณช่วยตรวจสอบ วอนอย่าตัดสินแทนศาล

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

16 ส.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (16 ส.ค.60) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาและมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ที่ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ถึงเรื่องความมั่นคง ว่า ต้องมีการเตรียมให้พร้อมรักษาอธิปไตย อย่างที่เห็นอยู่ในขณะนี้ 2 ประเทศมีศักยภาพทางยุทโธปกรณ์ แม้จะยังไม่รบกัน แต่ก็ทำให้ทั่วโลกวิตก ดังนั้นไทยก็จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมไว้

"เราไม่ต้องไปฮึ่มกับใคร แค่ฮึ่มกันเองก็วุ่นพอแล้ว ไม่ต้องฮึ่มกันมากนัก ดังนั้นต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องอธิปไตยเพื่อศักยภาพ เพิ่มอำนาจที่ไม่มีตัวตน เพื่อให้เขาเกรงใจ เพื่อฝึกรบ ลาดตระเวน ต้องดูแลทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ซึ่งเราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมกับมิตรประเทศรอบบ้าน แล้วจะเอาอะไรที่ขี้กะโล้โท้ไปอยู่กับเขาเหรอ ในเมื่อเขามีการพัฒนาแล้วเราไม่ได้พัฒนาเหรอ ไม่ได้ ต้องคิดสองด้าน นี่คือความมั่นคง รัฐบาลต้องจัดสรรงบฯ ให้เหมาะสม เพื่อเตรียมความพร้อมนี้ทุกประเทศก็จะให้ประเทศไทยร่วมมือลาดตะเวนทางทะเล ช่วยผู้ลี้ภัย แก้ปัญหาโจรสลัด ถ้าเราไม่มีเรือจะเอาเรือประมงไปสู้เขาเหรอ ก็ไปไม่ทันเขา หน้าตาประเทศชาติสำคัญด้วย ในเมื่อเราจะอยู่ในเวทีโลก แต่อย่างไรต้องอยู่พอเพียง โดยอย่างอื่นไม่เสียไปด้วย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการปฏิรูปกลไกการบริหารประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางการเมืองให้สามารถขจัดคอร์รัปชั่นมีกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่น สังคมเปลี่ยนแปลง ระบบโซเชี่ยลมีเดียกว้างขวาง ใครจะเขียนหรือนึกอะไรก็ได้แต่อยู่ที่ว่าจะเชื่อได้แค่ไหน ดังนั้นทุกคนต้องมีหลักคิด หลักการของตัวเองในการอ่าน เสพ และเชื่อหรือไม่ในข้อมูลที่ผ่านเชี่ยลมีเดีย สิ่งเหล่านี้คือความแตกต่างคนที่พัฒนากับคนที่ยังไม่พัฒนา ดังนั้นต้องให้คนพัฒนาไปด้วยกัน โดยมีหลักคิดพื้นฐานที่ไม่สร้างความขัดแย้ง ไม่ทำให้เกิดปัญหา

"วันนี้ข่าวในโซเชี่ยลมีเดีย หรือข่าวทุกช่อง ทุกคนทำหน้าที่เป็นตำรวจกันหมด โอเคถือว่าดี แต่อย่าไปตัดสินเอง วันนี้จากการตามเป็นตำรวจ เป็นเจ้าหน้าที่เองแล้วยังไปเป็นศาลตัดสินทุกอย่าง อันนั้นผิด อันนี้ใช่หรือไม่ใช่ สรุปเลยทำให้ปั่นป่วนกันไปทั้งหมด ที่ประชาชนมาเฝ้าระวังถือเป็นเรื่องเดียวต้องขอบคุณ แต่ก็ขอให้แจ้งมาตามช่องทาง เพื่อนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดการตัดสินตามกระบวนการยุติธรรม ผมไม่เคยไปก้าวล่วงสักคำ ที่ผ่านมาหน้าที่ของรัฐบาลคือนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนจะผิดหรือถูกไปสู้กันที่ศาล ซึ่งก็มีทนายสามารถอุทธรณ์ได้ มันรังแกกันไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวอีกว่า กระบวนการยุติธรรมต้องเข้มแข็ง มีการถ่วงดุลกันให้ได้ หลายคนต้องการแบบไหน ไม่ใช่ถ่วงกันไปมาจนทำอะไรไม่ได้อีกเหมือนเดิม ต้องถ่วงในทางสร้างสรรค์  มีระบบการตรวจสอบ คนต้องการปฏิรูปทหาร ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปกฎหมาย แต่ต้องเข้าใจว่าจะปฏิรูปอย่างไร ไม่ใช่พลิกแผ่นดิน พลิกฟ้าไปอย่างนั้น มันไม่ได้

ที่มา : สำนักข่าวไทยและเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทนายความของสุภาพ คำแหล้ ระบุ "แม่สุภาพยังมีกำลังใจดี แม้เรือนจำไม่เหมือนบ้านแต่พออยู่ได้"

Posted: 16 Aug 2017 03:39 AM PDT

ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ภาคอีสาน (คปอ.) ตัวแทนกลุ่มรักษ์คอนสาร รวมทั้งทนายความศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าเยี่ยมสุภาพ คำแหล้ ภรรยาเด่น คำแหล้ ซึ่งจำถูก 6 เดือนคดีรุกป่าสงวน ทนายความเผย "แม่สุภาพยังมีกำลังใจดี แม้เรือนจำไม่เหมือนบ้านแต่พออยู่ได้"

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2560 ประมาณ 13.00 น. ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ภาคอีสาน (คปอ.) และ ตัวแทนกลุ่มรักษ์คอนสาร รวมทั้งทนายความศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้าเยี่ยมเพื่อให้กำลังใจกับสุภาพ คำแหล้ ภรรยาของเด่น คำแหล้ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำภูเขียว จ.ชัยภูมิ ด้านสมาชิกชุมชนโคกยาวร่วมทำกิจกรรมทำความสะอาดบ้านเรือนของสุภาพ และปรับพื้นที่แปลงรวมของสมาชิกเพื่อทำการเพาะปลูกผลผลิตการเกษตรอินทรีย์

ตัวแทนกลุ่มรักษ์คอนสาร กล่าวว่า สุภาพมีสุขภาพเข้มแข็งและมีกำลังใจที่ดี และกล่าวขอขอบคุณกลุ่มรักษ์คอนสาร ที่มาเยี่ยมและให้กำลังใจ รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่ส่งกำลังใจและร่วมบริจาคเงินสมทบโอนเข้าบัญชีมาช่วยเหลือในด้านการใช้จ่ายเพราะในขณะที่อยู่เรือนจำในแดนขังแห่งนี้ ต้องหาซื้อข้าวของใช้ด้วยตนเอง อีกทั้งเงินที่โอนเข้ามาช่วยเหลือได้นำมาใช้จ่ายไว้ให้หลานคอยดูแลและซื้อกับข้าวให้สุนัข 2 ตัว (บักเติ่งและบักหมี) และไก่อีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ที่บ้านด้วย

ด้านนายถนอมศักดิ์ ระวาดชัย ทนายความศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน แจ้งหลังจากเข้าเยี่ยมและพูดคุยถึงสภาพความเป็นอยู่ของสุภาพว่า ในเรือนจำมีผู้ต้องขังหญิงประมาณ 133 คน มีการแยกเรือนนอนตามโทษ เช่น ยาเสพติดก็มีเรือนนอนเฉพาะ ส่วนผู้ต้องขังในกรณีของคดีป่าไม้มีอยู่ 3 คน ก็นอนเรือนเดียวกัน แม้จะไม่ใช่เป็นบ้านของเราแต่ก็พออยู่ได้ ส่วนอาหารผู้ต้องขังต้องซื้อจ่ายตามร้านที่มีอยู่ภายในเรือนจำด้วยตนเอง ซึ่งราคาค่อนข้างแพงพอสมควร ส่วนเงินนั้นจะมีหลานฝากเจ้าหน้าที่เรือนจำส่งมาให้ใช้

"การใช้ชีวิตประจำวันในเรือนจำ เจ้าหน้าที่จะจัดกิจกรรมให้ผู้ต้องขังเข้าฝึกอบรมวิชาชีพต่างๆ และร่วมสวดมนต์ฟังธรรมะ เป็นต้น นอกจากนี้ในส่วนของเรื่องทางบ้าน แม่สุภาพบอกว่ามีน้องและหลานรวมทั้งสมาชิกในชุมชนโคกยาวคอยดูแลให้อยู่เรื่อยๆ" ถนอมศักดิ์ แจ้งหลังจากเข้าเยี่ยมนางสุภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันเดียวกัน  นับแต่ช่วงเช้าถึงประมาณ 16.00 น.ชาวบ้านสมาชิกชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ประมาณ 15 คน ร่วมทำกิจกรรมทำความสะอาดบ้านเรือนและดูแลรดน้ำพรวนดิน พืชผักสวนครัวที่สุภาพ ปลูกไว้ ให้อาหารไก่ นอกจากนี้ได้ร่วมกันปรับพื้นที่แปลงรวมของสมาชิกเพื่อทำการเพาะปลูกผลผลิตการเกษตรอินทรีย์

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2560 ศาลจังหวัดภูเขียวมีหมายถึงนายเด่น คำแหล้ จำเลยที่ 1 และนางสุภาพ คำแหล้ จำเลยที่ 4 นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ตามความผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ ศาลจังหวัดภูเขียวอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา จำคุก  6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

ส่วนเด่น คำแหล้ จำเลยที่ 1 (ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ) ได้หายตัวไปในวันที่ 16 เม.ย.2559 หลังจากเข้าไปหาหน่อไม้ในบริเวณสวนป่าโคกยาว รอยต่อระหว่างเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ถึงปัจจุบันยังไม่พบเบาะแสการหายตัวไป

ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2560 พบหัวกะโหลก อยู่ระหว่างผลการตรวจพิสูจน์วัตถุพยานชิ้นส่วนกะโหลก โดยทราบเบื้องต้นว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นของเด่น คำแหล้ เนื่องจากผลการตรวจสอบมีสายพันธุกรรมตรงกับน้องสาว ที่มีการนำไปตรวจเปรียบเทียบ

ทุกท่านสามารถร่วมเป็นกำลังใจและมีความประสงค์จะช่วยเหลือแม่สุภาพ โดยสามารถโอนเงินเข้าได้โดยตรงที่ ธ.กรุงไทย สาขาชุมแพ ชื่อบัญชีนางสุภาพ คำแหล้ เลขบัญชี 4070427015 และสามารถเข้าเยี่ยมได้ทุกวันราชการ โดยติดต่อมายังอรนุช ผลภิญโญ (0981056932) หรือศรายุทธ ฤทธิพิณ(0869785629) เพื่อนัดหมายการเข้าเยี่ยมในวันเวลาเดียวกัน เพราะทางเรือนจำวางกฎให้ผู้ถูกคุมขังพบญาติได้วันละครั้งๆละ 15 นาที สำหรับท่านที่โอนเงินเข้าบัญชีมาสมทบแล้ว ทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน(คปอ.) ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ประท้วงในเมืองเดอร์แฮม สหรัฐฯ-โค่นอนุสาวรีย์ทหารฝ่ายสมาพันธรัฐ

Posted: 16 Aug 2017 03:04 AM PDT

"ไม่เอาพวกคูคลักซ์แคลน ไม่เอาสหรัฐอเมริกาที่เป็นฟาสซิสต์" คือเสียงตะโกนของเหล่าผู้ประท้วงในเมืองเดอร์แฮม รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ขณะที่พวกเขากำลังดึงเชือกเพื่อลากอนุสาวรีย์ทหารฝ่ายสมาพันธรัฐลง จนเป็นแค่กองเหล็กที่หักพัง

เหตุรื้อถอนอนุสาวรีย์ทหารฝ่ายสมาพันธรัฐ ที่เดอร์แฮม รัฐนอร์ทแคโรไลนา (ที่มา: CNN)

16 ส.ค. 2560 ขณะที่ในหลายรัฐของสหรัฐฯ กำลังพิจารณาว่าจะรื้อถอนรูปปั้นผู้นำสมัยสมาพันธรัฐที่เป็นตัวแทนของการใช้ทาสและการเหยียดผิวออกหรือไม่จนกระทั่งมีกลุ่มฝ่ายขวาออกมาต่อต้าน จนเกิดเหตุความรุนแรงเช่นกรณีชาร์ล็อตต์สวิลล์ แต่ที่เมืองเดอร์แฮม รัฐนอร์ทแคโรไลนา ฝ่ายต่อต้านการเหยียดผิวออกมาโค่นรูปปั้นที่พวกเขาไม่ชอบด้วยมือตัวเอง

นิวยอร์กไทม์รายงานว่าในช่วงเย็นของวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมาประชาชนมากกว่า 100 คน จากหลายกลุ่มที่ต่อต้านฟาสต์ซิสต์ ตั้งแต่ กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตยแห่งอเมริกา พรรคแรงงานโลก และกลุ่มแรงงานอุตสาหกรรมโลก โค่นล้มอนุสาวรีย์ทหารในเดอร์แฮมสำเร็จ ซึ่งในฝูงชนมีทั้งคนขาวและคนดำ ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวพากันส่งเสียงเชียร์หลังจากที่รูปปั้นนี้พังลงกับพื้น มีบางคนเข้าไปเตะรูปปั้นนั้นด้วย

กรมตำรวจของเดอร์แฮมแถลงว่าพวกเขาไม่ได้จับกุมผู้ชุมนุมที่ทำลายรูปปั้นเพราะมันนับเป็นสมบัติของเทศมณฑลซึ่งอยู่ภายใต้การพิจารณาของสำนักงานนายอำเภอประจำเทศมณฑลเดอร์แฮมมากกว่า โดยที่ไมค์ แอนดรูวส์ นายอำเภอแห่งเดอร์แฮมแถลงเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมาว่าเขาเตรียมตั้งข้อหากับเหล่าผู้ชุมนุมเนื่องจากเป็นการทำลายทรัพย์สินของรัฐ

อนุสาวรีย์ดังกล่าวมีความสูง 15 ฟุต เป็นอนุสาวรีย์ทหารสมาพันธรัฐในชุดยูนิฟอร์มกำลังถืออาวุธ ถูกตั้งขึ้นเมื่อปี 2467 การโค่นรูปปั้นนี้ทำให้มีทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์และเสียงชื่นชม มีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งชื่อ แคโรลีน โอ ระบุว่า "การโค่นอนุสาวรีย์สมาพันธรัฐไม่ถือเป็นการลบประวัติศาสตร์ แต่เป็นการประกาศว่าประวัติศาสตร์บางส่วนก็ควรจะอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ไม่ควรถูกยกไว้บนแท่น"

ผู้โค่นรูปปั้นลงในครั้งนี้ยังทำไปเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับประชาชนที่ออกมาต่อต้านการชุมนุมของกลุ่มเหยียดเชื้อชาติในชาร์ล็อตต์สวิลล์เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วย โดยที่ในการชุมนุมที่ชาร์ล็อตต์สวิลล์มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย ณะเดียวกันฝ่ายขวาจัดก็มีคนขับรถพุ่งชนผู้ต่อต้านพวกเขาจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

รอย คูเปอร์ นายกเทศมนตรีพรรคเดโมแครตระบุถึงเรื่องนี้ทางทวิตเตอร์ว่า "การเหยียดเชื้อชาติสีผิวและความรุนแรงถึงชีวิตในชาร์ล็อตตส์วิลล์เป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ก็จริง แต่มันก็มีวิธีที่ดีกว่าที่จะนำอนุสาวรีย์นี้ออกไป"

มีรายงานใน The Atlantic ระบุด้วยว่า หลังเกิดเหตุมีผู้ถูกจับ 1 ราย จากเหตุโค่นอนุสาวรีย์ด้วย

ทางการของหลายรัฐกำลังพิจารณาเรื่องนำอนุสาวรีย์สมาพันธรัฐออกจากพื้นที่สาธารณะต่างๆ เนื่องจากมันเป็นสัญลักษณ์ของการยอมรับการใช้ทาสหรือการเหยียดผิวในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ โดยมีขั้นตอนการหารือกับสภาเมือง แต่เรื่องนี้ก็ทำให้ฝ่ายขวาและกลุ่มชาตินิยมคนขาวในสหรัฐฯ ไม่พอใจพยายามประท้วงต่อต้านการรื้อถอนรูปปั้นเหล่านี้

 

เรียบเรียงจาก

Protesters in Durham Topple a Confederate Monument, The New York Tmes, 14-08-2017

Sheriff wants to charge protesters who pulled down Confederate statue, CNN, 15-08-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปฏิบัติการถล่มไอซิสของสหรัฐฯ-ทำพลเรือนเสียชีวิตจำนวนมาก

Posted: 16 Aug 2017 02:38 AM PDT

เหตุปฏิบัติการทางอากาศของสหรัฐฯ ต่อเมืองอัล-รัคคา ที่มั่นใหญ่ของกลุ่มไอซิส ถูกวิจารณ์ว่าส่งผลกระทบต่อพลเรือนที่มีชีวิตย่ำแย่อยู่แล้วในพื้นที่ซึ่งถูกไอซิสยึดครอง โดยผลจากการโจมตีทำให้พลเรือนเสียชีวิตจำนวนมาก ถ้าไม่เกิดจากการทิ้งระเบิด ก็มาจากการขาดแคลนอาหารและยา

แผนที่แสดงพื้นที่ยึดครองเมืองอัล-รัคคา ของกลุ่มไอซิส (สีเทา) ในขณะที่กองกำลังชาวเคิร์ดเริ่มยึดครองพื้นที่รอบๆ (ที่มา: Liveuamap)

 

16 ส.ค. 2560 เดอะการ์เดียนรายงานว่าเริ่มมีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงสถานการณ์ของพลเรือนใน อัล-รัคคา หลังจากพบว่าปฏิบัติการทางอากาศสังหารชาวซีเรียที่เป็นพลเรือนรวมถึงมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

ในเมือง อัล-รัคคา ประเทศซีเรียเป็นเมืองที่ถูกยึดครองโดยกลุ่มไอซิสก่อนหน้านี้ และกลุ่มไอซิสก็ตั้งให้เป็นเมืองหลวงชั่วคราวของพวกเขา โดยที่ประชาชนในพื้นที่นี้เคยประท้วงต่อต้านกลุ่มติดอาวุธมาก่อน อย่างไรก็ตามทางสหประชาชาติก็ได้รับรายงานว่าปฏิบัติการโจมตีทางอากาศนำโดยสหรัฐฯ ต่อ อัล-รัคคา สร้างความสูญเสียต่อพลเรือนด้วย ทั้งๆ ที่สหรัฐฯ มีพันธะกรณีระหว่างประเทศในการคุ้มครองพลเรือน และปฏิบัติการสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ก็มีความหย่อนยานลงในเรื่อง "กฏการปะทะ" ซึ่งเป็นกฎเกี่ยวกับการปฏิบัติการทางทหาร

อคิด อัลโคดร์ บรรณาธิการอาวุโสของซาวน์แอนด์พิกเจอร์องค์กรเครือข่ายพลเรือนในเมืองที่ถูกไอซิสยึดครองกล่าวว่าปฏิบัติการร่วมจากชาติตะวันตกไม่ได้มีความระมัดระวังในการหลีกเลี่ยงการสูญเสียของพลเรือนเลย อัลโคดร์กล่าวว่าพวกดาอิซ (หมายเหตุ - เป็นคำเรียกพวกไอซิสอีกแบบหนึ่ง) มีอยู่ในเมืองไม่ถึง 500 นาย แต่ปฏิบัติการทางทหารก็สร้างความเสียหายทำให้ประชาชนทั่วไปเสียชีวิตไปด้วย

แนวร่วมที่นำโดยสหรัฐฯ สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มอย่างซีเรียนเดโมเครติคฟอร์ซ (SDF) ซึ่งนำโดยกองกำลังชาวเคิร์ด รวมถึงกองกำลังหนุนติดอาวุธอาหรับ โดยการโจมตีทางอากาศเพื่อสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นดิน อย่างไรก็ตามปฏิบัติการโจมตีเหล่านี้ก็ทำให้ผู้คนในซีเรียสูญเสียที่อยู่อาศัยจนกลายเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่ก็ไปอยู่เป็นสมาชิกชนเผ่าทางตะวันออกของซีเรีย

ถึงแม้ว่า SDF น่าจะควบคุมอัลรัคคาได้ครึ่งเมืองแล้วแต่การสู้รบเพื่อครองพื้นที่ที่เหลืออีกครึ่งเมืองก็เป็นไปอย่างยากลำบากเพราะไอซิสชอบใช้วิธีวางกับดักและใช้มนุษย์เป็นโล่กำบัง พลเรือนจะสามารถหนีออกจากพื้นที่ได้ด้วยการจ่ายแพงๆ ให้กับคนลอบพาคนออกนอกเมือง ขณะที่องค์กรให้ความช่วยเหลือบอกว่าคนเหล่านี้ขาดอาหารและยาในการรักษาบาดแผล บ้างก็ติดอยู่ในเขตที่มีการสู้รบเป็นเวลาหลายวัน

วาเนสซา ครามอนด์ จากองค์กรแพทย์ไร้พรมแดนที่ดูแลคนไข้จากเมืองอัล-รัคคาและโดยรอบมาแล้ว 415 ราย เธอกล่าวว่าในเมืองอัลรัคคาถ้าคุณไม่ตายเพราะถูกโจมตีทางอากาศ ก็จะตายเพราะปืนครก หรือไม่เช่นนั้นก็ถูกพวกสไนเปอร์ยิง หรือถูกวัตถุระเบิด ถ้าคุณรอดจากสิ่งเหล่านี้มาได้พวกคุณก็จะต้องเผชิญความหิวโหยและความกระหายน้ำ เพราะไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำ และไม่มีไฟฟ้า

สภาพที่พลเรือนถูกทิ้งระเบิดและโจมตีจนในบางครั้งทำให้บ้านถล่มจนคนจมอยู่ในกองซากอาคารทั้งครอบครัวเช่นนี้ชวนให้ตั้งคำถามว่าจะทำให้อัล-รัคคากลับมามีเสถียรภาพได้อย่างไร

เดอะการ์เดียนระบุว่านโยบายการสนับสนุนกองกำลังแนวร่วมต่อต้านไอซิสของสหรัฐฯ ในยุคสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความหละหลวม โดยปล่อยให้การตัดสินใจในการสู้รบไปอยู่ในมือของผู้บัญชาการภาคพื้นดิน นอกจากนี้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนยังบอกว่ากองกำลังแนวร่วมที่สู้รบไอซิสควรจะมีความโปร่งใสในการตัดสินใจมากกว่านี้มากกว่านี้ เช่นบางครั้งก็ทำการทิ้งระเบิดเพื่อสังหารนักรบไอซิสนายเดียว

นาดิม ฮูรี ผู้อำนวยการฝ่ายการต่อต้านการก่อการร้ายของฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่าควรจะต้องมีการสืบสวนในเรื่องปฏิบัติการเหล่านี้ด้วยและเตือนว่ากองกำลังแนวร่วมมีพันธกรณีในการทำให้เกิดความเสียหายต่อพลเรือนน้อยที่สุด จึงควรรักษากลไกการควบคุมการใช้ความรุนแรงเอาไว้ไม่ให้ส่งผลเลวร้ายต่อพลเรือน

จากการที่เข้าถึงแห่งสู้รบได้ยากทำให้สื่อตะวันตกไม่สามารถเจาจะตัวเลขได้ชัดเจนว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตเท่าไหร่ มีหลายองค์กรที่อยู่ในพื้นที่พยายามประเมินตัวเลขออกมา โดยองค์กรทีคอยติดตามตัวเลขผู้เสียชีวิตพลเรือนชื่อแอร์วอร์ระบุว่าปฏิบัติการในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. ที่ผ่านมานั้น มีผู้เสียชีวิตเป็นพลเรือนราว 340 ราย มีเด็กเสียชีวิตจากปฏิบัติการปลดแอก อัล-รัคคาแล้วราว 119 ราย ขณะที่องค์กรเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชนซีเรียระบุว่ามีพลเรือนเสียชีวิตแล้วราว 523 รายในช่วงสองเดือนที่มีการสู้รบ

 

เรียบเรียงจาก

US-led anti-Isis campaign in Raqqa 'failing to avoid civilian deaths', The Guardian, 11-08-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ขอประชาชนเข้าใจสถาบันฯ "ท่านไม่ต้องการให้มีการลงโทษคดีหมิ่น แต่รัฐต้องปกป้องสถาบัน"

Posted: 16 Aug 2017 02:20 AM PDT

นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เผย สถาบันกษัตริย์ไม่ต้องการให้ประชาชนถูกดำเนินคดีหมิ่นฯ ระบุที่ผ่านมาสถาบันฯ เมตตามาโดยตลอด ทั้งอภัยโทษ-นิรโทษกรรม แต่บางคนเหมือนพยามต่อต้านกฎหมาย ซึ่งรัฐต้องปกป้องสถาบัน พร้อมแนะต้องสร้างการรับรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของสถาบันกษัตริย์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) / แฟ้มภาพ ทำเนียบรัฐบาล

16 ส.ค. 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนา และมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด รวมแล้วกว่า 1,600 คนร่วมงาน โดยการประชุมนี้เป็นผลมาจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 1 ส.ค. 2560 ซึ่งได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณและการปรับปรุงปฎิทินงบปี 2562

โดยพล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า เรื่องการตรวจสอบการกระทำความผิด อะไรก็แล้วแต่ ผู้ที่เผยแพร่สิ่งที่ไม่เหมาะสม วันนี้สถาบันทรงเมตตาทรงรับสั่งเสมอว่า ไม่อยากให้ประชาชนต้องถูกลงโทษด้วยเรื่องเหล่านี้ ซึ่งประชาชนบางคนก็รู้กฎหมาย แต่ก็พยายามจะทำอยู่ เหมือนพยายามที่จะต่อต้านกฎหมายซึ่งก็คือกฎหมายฉบับหนึ่งเหมือนฉบับอื่นๆ และพระองค์ท่านได้ทรงพระราชทานอภัยโทษ นิรโทษกรรมมาโดยตลอด แต่ยังมีคนพยายามจะทำอยู่ ซึ่งไม่เข้าใจว่าสถาบันไปทำอะไรให้เดือดร้อน ตนพยายามจะคิดแบบที่เขาคิด แต่ก็คิดไม่ออก คิดไม่ได้ว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้นไม่เข้าใจเหมือนกัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ฉะนั้นให้นึกถึงว่าพระองค์ท่านทรงมีเมตตามาตลอด พระองค์ท่านไม่อยากให้มีการลงโทษอะไรต่างๆ ซึ่งกฎหมายนี้พระองค์ท่านไม่ได้เป็นคนออก แต่ทุกรัฐบาลเป็นคนออกกฎหมายนี้มา เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอให้เข้าใจด้วยว่า พระองค์ท่านใช้กฎหมายไม่ได้ พระองค์ท่านพระราชทานอำนาจทั้ง 3 อำนาจให้รัฐบาลเป็นผู้บริหาร เราก็ต้องปกป้องพระองค์ท่าน เราต้องสร้างความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจรวมทั้งเร่งขยายผลโครงการตามแนวพระราชดำริ ตามหลักการทรงงานของพระองค์ท่านทุกพระองค์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

28 ประชาสังคม ร้องถอนฟ้อง 5 นักวิชาการ คดีฝืนคำสั่ง คสช. ปมกิจกรรมในงานไทยศึกษา

Posted: 16 Aug 2017 02:20 AM PDT

28 เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนออกแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถอนการแจ้งข้อกล่าวหาต่อ อ.ชยันต์และพวกทันที หลังถูกหมายเรียกคดีฝืนคำสั่งชุมนุมทางการเมือง ปมกิจกรรมชูป้ายข้อความว่า "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" ในงานไทยศึกษา

ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ (คนซ้ายมือ)

16 ส.ค.2560 จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกนักวิชาการและนักศึกษา 5 คน ประกอบด้วย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และยังเป็นประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ จ.เชียงใหม่เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกคือ ธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มช. และยังเป็นบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม, ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มช. และนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มช. ซึ่งเป็นหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก ลงวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ เวลา 10.00 น. จากกรณีเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในการประชุมวิชาการไทยศึกษาเมื่อเดือนที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุดวันนี้ (16 ส.ค.60) เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน 28 องค์กร ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถอนการแจ้งข้อกล่าวหาต่ออาจารย์ชยันต์และพวกในทันที และรัฐหรือหน่วยงานใดๆจะต้องไม่ใช้อำนาจแห่งตนในการดำเนินคดีกับบุคคลใดที่ได้ใช้สิทธิในการแสดงออกทางวิชาการและแสดงออกทางความเห็นต่างใดๆ อีกต่อไป

แถลงการณ์จากชาวบ้าน-องค์กรภาคประชาชน  กรณีการออกหมายเรียกนักวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

16  สิงหาคม 2560

อาจารย์ดร.ชยันต์วรรธนะภูติ ได้รับหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ให้ไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 23 สิงหาคม เวลา 10.00 น. ตามที่ได้มีพันเอกสืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ไปแจ้งความกล่าวหาว่า ดร.ชยันต์ และพวกรวม 5 คน มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ระหว่างการประชุมนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งอีก 4 คน ที่ได้รับหมายเรียกจากกรณีดังกล่าวด้วย คือ นายนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรี นายธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท นายชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นางภัควดี วีระภาสพงษ์

พวกเราชาวบ้านจากพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย และองค์กรภาคประชาชนขอยืนยันว่า

1.    อาจารย์ชยันต์ คือ นักวิชาการที่ยืนอยู่เคียงข้างประชาชนคนทุกข์คนยากมาโดยตลอดชีวิตของอาจารย์
2.    อาจารย์ชยันต์ เป็นผู้นำวิชาการมารับใช้สังคมเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยมาโดยตลอด
3.    การประชุมนานาชาติไทยศึกษา ซึ่งจัดขึ้นนั้น ไม่ใช่เป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง แต่คือ เวทีวิชาการที่ให้ความเห็นต่อประเด็นทางสังคมของประเทศไทย และประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับประเทศเพื่อนบ้าน อันเป็นสิ่งสำคัญที่สังคมและรัฐไทยควรรับฟัง
4.    การแสดงออกของอาจารย์ชยันต์และบุคคลตามหมายเรียกดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของเวทีวิชาการ ที่เป็นการแสดงออกทางวิชาการเท่านั้น หาใช่การมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองแต่อย่างใด
5.    กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีและให้สัตยาบันไว้ ได้กำหนดให้ความคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่จะมีเสรีภาพด้าน ความเห็น การแสดงออก การสมาคม และการชุมนุม นอกจากนี้ คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติซึ่งดูแลการปฏิบัติตาม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีและได้ให้สัตยาบันรับรองไว้เช่นกัน ก็ได้เคยเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า เสรีภาพทางวิชาการซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของสิทธิด้านการศึกษา ครอบคลุมถึง "เสรีภาพของบุคคลที่จะแสดงความเห็นอย่างเสรี เกี่ยวกับสถาบันหรือระบบที่ตนทำงานอยู่ด้วย รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ หรือความหวาดกลัวต่อการปราบปรามจากรัฐหรือหน่วยงานอื่นใด ความสามารถที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรทางวิชาการหรือหน่วยงานด้านวิชาชีพอื่นใด และการได้รับความคุ้มครองต่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเช่นเดียวกับบุคคลอื่นที่อยู่ในเขตอำนาจศาลเดียวกัน"

ซึ่งรัฐไทยในฐานะรัฐภาคีและผู้ให้สัตยาบันจะต้องปฏิบัติตามให้สอดคล้องกับกติกาทั้งสองฉบับดังกล่าว

พวกเราขอยืนยันว่า เสรีภาพทางวิชาการเป็นหนึ่งในประเด็นที่รัฐจักต้องเคารพและปกป้องสิทธิ นั้น ไม่ใช่ละเมิดสิทธิเสียเอง และเสรีภาพทางวิชาการย่อมหมายถึงเสรีภาพของประชาชนที่ต้องได้รับความคุ้มครอง 

เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถอนการแจ้งข้อกล่าวหาต่ออาจารย์ชยันต์และพวกในทันที และรัฐหรือหน่วยงานใดๆจะต้องไม่ใช้อำนาจแห่งตนในการดำเนินคดีกับบุคคลใดที่ได้ใช้สิทธิในการแสดงออกทางวิชาการและแสดงออกทางความเห็นต่างใดๆอีกต่อไป


ลงนามโดย
1.    เครือข่ายประชาชนไทย 8  จังหวัดลุ่มน้ำโขง
2.    กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ จ.แพร่
3.    กลุ่มอนุรักษ์ต้น้ำท่าแซะ จ.ชุมพร
4.    เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ
5.    สมาพันธ์กะเหรี่ยงแห่งสยาม
6.    สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (คสจ.)
7.    กลุ่มกะเหรี่ยงภาคเหนือ
8.    กลุ่มตะกอนยน จ.แพร่
9.    เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน
10.    มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
11.    เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำโขง จ.อุบลราชธานี
12.    กลุ่มอนุรักษ์ป่าบ้านบุญเรือง จ.เชียงราย
13.    สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต
14.    สถาบันอ้อผะหญา (องค์กรสาธารณะประโยชน์)
15.    สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
16.    เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำแจ่มตอนบน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
17.    เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนื
18.    ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
19.    เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงล้านนา
20.    กลุ่มรักษ์เชียงของ
21.    ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง
22.    กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลับราชภัฏเชียงราย กลุ่มแอทนอร์ท
23.    กลุ่ม The Mekong Butterfly
24.    สมัชชา 9 เขื่อน 1แม่น้ำ จ.นครศรีธรรมราช
25.    มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
26.    สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง
27.    เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
28.    มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ร้องถอนฟ้อง 5 นักวิชาการ คดีฝืนคำสั่ง คสช. ปมกิจกรรมในงานไทยศึกษา

Posted: 16 Aug 2017 01:51 AM PDT

ฮิวแมนไรท์วอทช์ แถลงเรียกร้องให้ทางการไทยถอนฟ้องทันที หลัง ตร.ออกหมายเรียก 5 นักวิชาการ-น.ศ. ฝืนคำสั่งชุมนุมทางการเมือง ปมกิจกรรมชูป้ายข้อความว่า "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" ในงานไทยศึกษา

ภาพชูป้ายที่มีข้อความ "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" ที่มาภาพ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส. 

16 ส.ค. 2560 จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกนักวิชาการและนักศึกษา 5 คน ประกอบด้วย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และยังเป็นประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ จ.เชียงใหม่เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกคือ ธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มช. และยังเป็นบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม, ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มช. และนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มช. ซึ่งเป็นหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก ลงวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จากกรณีเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในการประชุมวิชาการไทยศึกษาเมื่อเดือนที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุด ฮิวแมนไรท์วอทช์ แถลงเรียกร้องให้ทางการไทยถอนฟ้องในคดีดังกล่าว โดยทันที 

"การเซ็นเซอร์ของรัฐบาลและการสอดแนมข้อมูลของกองทัพ ไม่ควรปรากฏขึ้นในที่ประชุมวิชาการ" แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว พร้อมระบุด้วยว่า การดำเนินคดีต่อผู้จัดการประชุมและผู้เข้าร่วม แสดงให้โลกเห็นว่ารัฐบาลทหารไทยดูถูกอย่างยิ่งต่อเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพด้านอื่นๆ

แถลงของฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุด้วยว่านับแต่ยึดอำนาจจากการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เน้นย้ำว่า การแสดงความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางสังคม ทางการมักใช้กำลังเพื่อสั่งให้ยกเลิกการประชุมตามหมู่บ้าน การอภิปรายทางวิชาการ การสัมมนาในประเด็นต่าง ๆ และเวทีสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเมือง โดยเฉพาะเมื่อเป็นการแสดงความเห็นต่างต่อนโยบายของคสช. หรือต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
 
บ่อยครั้งที่ทางคสช.ใช้อำนาจตามคำสั่งห้ามชุมนุมสาธารณะของบุคคลกว่าห้าคนและคำสั่งอื่น ๆ เพื่อเข้าแทรกแซงและปราบปราม โดยเป็นคำสั่งที่ห้ามไม่ให้สาธารณะวิพากษ์วิจารณ์ต่อระบอบปกครองของทหารไม่ว่าแง่มุมใด รัฐบาลทหารมองว่าบุคคลที่มักออกมาแสดงความคิดและความเห็นต่าง หรือแสดงความสนับสนุนต่อรัฐบาลพลเรือนที่ถูกขับไล่ออกจากอำนาจ ว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ และมักใช้อำนาจตามกฎหมายต่าง ๆ เพื่อจับกุมและดำเนินคดีต่อบุคคลเหล่านั้น
 
แถลงของฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุอีกว่า ในช่วงสามปีที่ผ่านมา นักกิจกรรม นักการเมือง ผู้สื่อข่าว และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายพันคน ได้ถูกจับกุมและนำตัวเข้าไปในค่ายทหารทั่วประเทศไทย เพื่อทำการสอบสวนในฐานะปรปักษ์กับรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อขัดขวางไม่ให้มีการแสดงความเห็นต่าง และเป็นการบังคับให้บุคคลเหล่านั้นเปลี่ยนทัศนคติทางการเมือง หลายกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ทางภาคเหนือของไทย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
 
บุคคลที่ได้รับการปล่อยตัวจากการสอบสวน ซึ่งทางคสช.เรียกว่า "การปรับทัศนคติ" มักถูกบังคับให้ต้องลงชื่อในสัญญาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุว่าจะยุติการแสดงความเห็นทางการเมืองใด ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมือง หรือไม่ดำเนินการใด ๆ อันเป็นการต่อต้านระบอบปกครองของทหาร หากไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเหล่านี้อาจส่งผลให้ถูกควบคุมตัวอีกครั้ง หรือถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดคำสั่งคสช. ซึ่งอาจมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี
 
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights)  ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี คุ้มครองสิทธิของบุคคลที่จะมีเสรีภาพด้านความเห็น การแสดงออก การสมาคม และการชุมนุม ทางคณะกรรมการแห่งสหประชาชาติซึ่งดูแลการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights) ซึ่งไทยให้สัตยาบันรับรองเช่นกัน ได้เคยเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า เสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของสิทธิด้านการศึกษา ครอบคลุมถึง "เสรีภาพของบุคคลที่จะแสดงความเห็นอย่างเสรี เกี่ยวกับสถาบันหรือระบบที่ตนทำงานอยู่ด้วย รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือความหวาดกลัวต่อการปราบปรามจากรัฐหรือหน่วยงานอื่นใด ความสามารถที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรทางวิชาการหรือหน่วยงานด้านวิชาชีพอื่นใด และการได้รับความคุ้มครองต่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่นเดียวกับบุคคลอื่นที่อยู่ในเขตอำนาจศาลเดียวกัน"
 
"นักวิชาการทั่วโลกควรร่วมกันเรียกร้องให้มีการถอนฟ้องข้อหาที่กุขึ้นมานี้ต่อศาสตราจารย์ชยันต์ และผู้เข้าร่วมการประชุมอีกสี่คนโดยทันที" อดัมส์ กล่าวพร้อมระบุด้วยว่าประเทศไทยกำลังเผชิญอนาคตที่มืดมน หากมีการเซ็นเซอร์การแสดงความเห็น มีการลงโทษต่อการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวิชาการ และมีการสั่งห้ามการอภิปรายทางการเมืองแม้แต่ในเขตมหาวิทยาลัย
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทุกข์ของ 'แรงงานแบ็คแพ็คเกอร์’ ในภาคการเกษตรออสเตรเลีย

Posted: 15 Aug 2017 11:26 PM PDT

ภาคการเกษตรของประเทศพัฒนาแล้วนอกจากจะใช้แรงงานต่างชาติจากประเทศด้อยพัฒนากว่าที่ค่าแรงต่ำ ปัจจุบันยังมีโครงการ 'Working Holiday' จ้าง 'แบ็คแพ็คเกอร์' ที่หวังเที่ยวต่างถิ่นและทำงานไปด้วย แต่ก็ยังพบปัญหาสภาพการจ้างย่ำแย่ การล่วงละเมิดทางเพศ 

แรงงานหนุ่มสาว 'แบ็คแพ็คเกอร์' ทั่วโลก หวังได้ประสบการณ์การทำงานและท่องเที่ยวในออสเตรเลีย แต่กระนั้นยังพบปัญหามากมายในการจ้างงานระบบนี้ (ที่มาภาพประกอบ: youtube.com/insntycomsnatrly)

เมื่อกลางเดือน ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา สำนักข่าว ABC ออสเตรเลีย ได้เผยแพร่รายงานพิเศษนำเสนอเรื่องแม่ของเหยื่อสาวชาวอังกฤษวัย 20 ปี ที่ถูกฆาตกรรมในรัฐควีนแลนด์, ออสเตรเลีย เมื่อเดือน ส.ค. 2559 โดยเหยื่อรายนี้ได้เข้าไปทำงานและเที่ยวตาม 'โครงการทำงานในฟาร์ม 88 วัน' โดยใช้วีซ่าประเภท 417 ที่ทางการออสเตรเลียออกให้กับเยาวชนจาก 19 ประเทศ

หลังจากที่ลูกสาวถูกฆาตกรรมในโฮสเทลที่พัก โรซี่ อะลิฟฟ์ ครูสอนภาษาอังกฤษจากเดอร์บีเชียร์ (Derbyshire) เมืองทางตอนกลางของอังกฤษ ตัดสินใจเดินทางไปยังออสเตรเลียเพื่อรวบรวมข้อมูล 'ด้านมืดของอุตสาหกรรมภาคการเกษตรในออสเตรเลีย' พบว่าแม้ว่าแบ็คแพ็คเกอร์หลายคนมีจะประสบการณ์ที่ดีเกี่ยวกับโครงการทำงานในฟาร์ม 88 วัน แต่ก็มีอีกหลายคนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องถูกเอาเปรียบด้านตัวเงิน การล่วงละเมิดทางเพศ และการข่มเหงจิตใจ

ตัวอย่างเช่นเรื่องราวของแบ็คแพ็คเกอร์ 4 คน ที่ได้ติดต่อเธอมาจากที่เธอได้ประกาศการรณรงค์ปฎิรูปโครงการจ้างงานตามวีซ่าทำงานและท่องเที่ยว (Visa subclass 417 และ 462) ของออสเตรเลีย ดังนี้

แบ็คแพ็คเกอร์หญิง สัญชาติแคนาดา อายุ 30 ปี ระบุว่าเมื่อปีที่แล้ว (2559) เธอได้ข้อเสนองานจากไร่องุ่นแห่งหนึ่งในเมืองมิลดูรา (Mildura) ทางตะวันตกเฉียงเหนือในรัฐวิคทอเรีย, ออสเตรเลีย คืนหนึ่งชายที่ทำงานที่ฟาร์มขับรถไปส่งเธอที่โฮสเทลที่พัก ในระหว่างนั้นเขาก็พยายามข้ามเบาะที่นั่งมาหาเธอ เธอกระโดดลงจากรถ แต่เขาก็ตามลงไปทำร้ายร่างกายและพยายามข่มขืนเธอ ซึ่งก่อนหน้านี้ชายคนเดียวกันนี้ก็ถูกกล่าวหาว่าพยายามที่จะข่มขืนแบ็คแพ็คเกอร์หญิงอีกคน ต่อมาเจ้าเขาก็ถูกจับในข้อหากระทำการข่มขืน

แบ็คแพ็คเกอร์ชาย สัญชาติเดนมาร์ก อายุ 26 ปี ได้เล่าถึงสภาพอันย่ำแย่ของ 'ห้องพัก' ตามโครงการทำงานในฟาร์ม 88 วัน นี้ว่าครั้งหนึ่งที่เขาเดินทางไปยังรัฐควีนส์แลนด์ หลังจากเจ้าของฟาร์มสัญญาว่าจะจ้างเขาทำงาน ในระหว่างรอทำงานนั้นเขาต้องจ่ายเงิน 200 ดอลลาร์ฯ (ประมาณ 7,000 บาท) ต่อสัปดาห์สำหรับห้องพักรวม จากนั้นหลังจากที่เขาได้งานเก็บลูกแพร์ในฟาร์มและได้พักในโฮสเทลแห่งหนึ่งในเมืองเชพพาร์ตัน (Shepparton) ทางตอนเหนือของรัฐวิคทอเรีย เขาก็พบว่าห้องพักของเขามีสภาพคล้ายกับห้องขังนักโทษ มีอากาศหนาวเย็นมากในเวลากลางคืน เขาต้องจ่ายค่าเช่าให้วันละ 33 ดอลลาร์ฯ จากรายได้ของเขา 90 ดอลลาร์ฯ ในการทำงาน 10 ชั่วโมงต่อวัน

แบ็คแพ็คเกอร์หญิง สัญชาติอังกฤษ อายุ 22 ปี แม้เธอจะได้รับประสบการณ์ที่ดีในช่วง 88 วัน จากการทำงานที่ฟาร์มเบอร์รี่แห่งหนึ่ง ในรัฐควีนส์แลนด์ เธอได้รับค่าแรงงานตามค่าจ้างขั้นต่ำและหลังเสร็จสิ้น 88 วันนั้น เธอยังต้องการทำงานต่อในออสเตรเลีย เธอจึงได้หางานผ่านเว็บไซต์หางานแห่งหนึ่งซึ่งเป็นเว็บที่รัฐบาลดำเนินการเอง และได้งานที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในเมืองโบเวน (Bowen) เมืองทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ แต่เมื่อเธอและเพื่อนเดินทางไปถึงกลับไม่มีงานในฟาร์มตามที่ได้สัญญาไว้ นายจ้างให้พวกเธอไปทำงานที่โฮสเทลที่พวกเธอพักแทนโดยได้รายได้ 15 ดอลลาร์ฯ ต่อชั่วโมง นอกจากเรื่องผิดสัญญาจ้างแล้ว พวกเธอยังไม่พอใจกับพฤติกรรมทางเพศของเจ้าของโฮสเทลแห่งนี้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพยายามสัมผัสเนื้อตัวพวกเธอ หรือการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของพวกเธอในขณะที่อาบน้ำ

ก่อนหน้านี้เมื่อปี เดือน ต.ค. 2560 เว็บไซต์ news.com.au ได้รายงานถึงผลการตรวจสอบของ ผู้ตรวจการการจ้างงานที่เป็นธรรม (The Fair Work Ombudsman) ที่ใช้เวลาถึง 2 ปี ในการรวบรวมข้อมูล ในรายงานยืนยันว่าแรงงานแบ็คแพ็คเกอร์ตามโครงการนี้มักจะได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำของออสเตรเลีย หรือไม่ได้รับเงินเลย บางคนทำงานฟรีเพื่อแลกกับที่พัก บางคนยังต้องเสียเงินในการซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ในการทำงานเอง หรือเสียเงินในการหาตำแหน่งงาน ทั้งนี้โฮสเทลที่พักส่วนใหญ่มักมีเจ้าของหรือมีนิติบุคคลเดียวกับฟาร์มบริหารงาน และแบ็คแพ็คเกอร์ต้องจ่ายเงินค่าที่พักล่วงหน้าก่อนเข้าทำงานเสมอ

แบ็คแพ็คเกอร์หญิงจากฝรั่งเศสรายหนึ่งระบุว่าเธอต้องจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นเวลา 2 สัปดาห์ สำหรับงานเก็บองุ่นในไร่ที่เธอจะได้ค่าแรงประมาณ 1 ดอลลาร์ฯ ต่อถัง (แต่ต้องซื้ออุปกรณ์คือกรรไกรตัดองุ่นเอง) "ฉันเริ่มทำงานตั้งแต่เวลา 6.30 น. และทำงานไปจนถึงเวลา 17.30 น. โดยไม่หยุดพัก" เธอกล่าวกับ news.com.au "เราไม่ได้เข้าครัวในการทำมื้อกลางวัน และได้รับการเติมน้ำขวดน้ำของเราเพียงครั้งเดียวในระหว่างวัน .. ช่วงท้ายของวันทำงานกว่า 11 ชั่วโมงภายใต้อุณหภูมิ 43 เซลเซียส เราต้องนับถังองุ่นของเรา ฉันเก็บได้ถังเต็ม 75 ถัง ซึ่งน่าจะได้ค่าแรง 75 เหรียญ ฉันถามเจ้าของว่าฟาร์มว่าเขาสามารถกรอกแบบฟอร์มหลักฐานว่าฉันได้ใช้เวลาอีกหนึ่งวันในการทำงานเพื่อขยายวีซ่าของฉัน แต่เขาปฏิเสธ" ท้ายสุดแทนที่แบ็คแพ็คเกอร์หญิงรายนี้จะได้ค่าแรง 75 ดอลลาร์ฯ ในวันนั้น นายจ้างกลับจ่ายให้เธอเพียง 27 ดอลลาร์ฯ เท่านั้น

รายงานของ Fair Work ยังแสดงถึงความห่วงใยต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของเหล่าแบ็คแพ็คเกอร์ที่เข้ามาทำงานตามโครงการนี้ โดยเฉพาะหนุ่ม-สาวที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารไม่ดีนักและถึงเดินทางมาเพียงลำพัง จากสถิติที่ Fair Work สำรวจยังพบว่าแบ็คแพ็คเกอร์มากกว่า 1 ใน 3 ได้รับค่าแรงน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำของออสเตรเลีย ร้อยละ 14 ระบุว่าต้องจ่ายเงินก่อนทำงาน และร้อยละ 6 ต้องจ่ายเงินให้นายจ้างเพื่อค่า 'เซ็นสัญญา' บางคนต้องถูกหักค่าใช้จ่ายที่พวกเขาไม่ยินยอม และผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่โดยเฉพาะแบ็คแพ็คเกอร์จากเอเชียไม่ทราบถึงสิทธิคุ้มครองในการทำงานของตนเอง

นอกจากนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ยังระบุถึงความกังวลว่าแบ็คแพ็คเกอร์ต่างชาติที่กำลังมองหางานต่อในออสเตรเลีย ที่ขอรับวีซ่า 417 ต่อในปีที่ 2 มีความเสี่ยงที่จะถูกแสวงประโยชน์จากนายจ้าง แม้โปรแกรม Working Holiday ของออสเตรเลียนี้ถูกออกแบบมาเพื่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการเรียนรู้ระหว่างประเทศที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกันโดยเปิดโอกาสให้เยาวชนสามารถเข้าไปท่องเที่ยว ศึกษา และทำงานได้เป็นการชั่วคราว แต่ในบางกรณีก็กลับกลายเป็น 'ตั๋ว' ที่มีราคาของทั้งแรงงานต่างชาติและนายจ้างสำหรับการทำงานในออสเตรเลีย

อนึ่งการทำงานและเที่ยวในออสเตรเลีย (Working Holiday) โดยอาศัยวีซ่า 417 (Visa subclass 417) ซึ่งเป็นวีซ่าที่ออกให้กับเยาวชนอายุที่มีอายุระหว่าง 18-30 ปี จากประเทศ 19 ได้แก่ เบลเยียม แคนาดา ไซปรัส เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮ่องกง ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มอลต้า เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน ไต้หวัน และสหราชอาณาจักร เข้าไปทำงาน ท่องเที่ยว หรือศึกษาที่ออสเตรเลีย เป็นระยะเวลา 1 ปี ผู้ถือวีซ่า 417 สามารถเข้า-ออกจากออสเตรเลียได้บ่อยเท่าที่ต้องการภายในระยะเวลาของวีซ่า ส่วนวีซ่าอีกประเภทก็คือ วีซ่า 462 (Visa subclass 462) ออกให้กับเยาวชนอายุที่มีอายุระหว่าง 18-30 ปี จาก 20 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บังกลาเทศ ชิลี จีน ฮังการี อินโดนีเซีย อิสราเอล ลักเซมเบิร์ก มาเลเซีย โปแลนด์ โปรตุเกส ซานมาริโน สโลวาเกีย สโลเวเนีย สเปน ไทย ตุรกี สหรัฐอเมริกา อุรุกวัย และเวียดนาม

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 ที่ผ่านมาทางการออสเตรเลียออกกฎให้สามารถเรียกเก็บภาษีจากแบ็คแพ็คเกอร์ที่เข้าไปทำงานผ่านวีซ่า 417 นี้ อัตราขั้นต่ำสุดที่ร้อยละ 15 ทั้งนี้ผู้ถือวีซ่านี้แทบที่จะทำงานได้ทุกประเภทในออสเตรเลีย ซึ่งส่วนใหญ่แบ็คแพ็คเกอร์จากต่างประเทศนิยมทำงานในภาคเกษตรกรรมและภาคการท่องเที่ยว แต่กระนั้นแรงงานแบ็คแพ็คเกอร์ตามวีซ่านี้จะไม่ได้รับสวัสดิการตามโครงการประกันสุขภาพของออสเตรเลีย เว้นแต่โครงการประกันสุขภาพประเทศต้นทางของพวกเขาจะมีการทำข้อตกลงกับโครงการประกันสุขภาพของออสเตรเลียไว้

ทางการออสเตรเลียเปิดเผยข้อมูล ณ เดือน ธ.ค. 2559 ว่ามีผู้เดินทางมาทำงานและเที่ยวในออสเตรเลียถึง 321,000 คน ส่วนใหญ่มาจากสหราชอาณาจักร 57,000 คน เกาหลีใต้ 35,200 คน และจากเยอรมนี 33,600 คน การทำงานและเที่ยวของชาวต่างชาติเหล่านี้ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจออสเตรเลีย ประมาณการว่าสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนถึง 3 พันล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี

 

ที่มาข้อมูล

'I wonder how long you'll last': Backpacker exploitation goes even deeper (news.com.au, 20/10/2016)
Backpackers reveal stories of sexual assault, exploitation while working on Australian farms (abc.net.au, 17/7/2017)
Working holidays in Australia (Wikipedia, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 14/8/2017)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รองนายกฯ วิษณุ เผย กก.ปฏิรูป 11 ด้าน ไม่มีเงินเดือนแต่ได้เบี้ยประชุมราว 48,000 ต่อเดือน

Posted: 15 Aug 2017 09:49 PM PDT

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน ในเรื่องค่าตอบแทนการทำงานว่า จะไม่มีการให้เงินเดือน มีเพียงแต่เบี้ยประชุม 6,000 บาทต่อครั้ง สัปดาห์หนึ่งประชุมไม่เกิน 2 ครั้ง เดือนหนึ่งประมาณ 48,000 บาท

16 ส.ค. 2560 เมื่อวานนี้ สำนักข่าวไทย รายงานว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงค่าตอบแทนคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ว่า ครม.เห็นชอบค่าตอบแทนของคณะกรรมการปฏิรูป โดยจะให้เพียงแค่เบี้ยประชุม รายครั้ง ครั้งละ 6,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะประชุมสัปดาห์ละไม่เกิน 2 ครั้ง โดยหนึ่งเดือนจะได้รับเบี้ยประชุม 48,000 บาท และไม่มีเงินเดือนเนื่องจากเป็นแค่คณะกรรมการ จึงได้น้อยกว่าค่าตอบแทนของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม รายชื่อทั้งหมดที่ออกมาวันนี้มาจากภาคส่วนต่างๆ ที่เสนอเข้ามา และยังสามารถแต่งตั้งเพิ่มได้ให้ครบตามจำนวนที่กำหนดต่อไป ส่วนรายชื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาตินั้น ต้องดำเนินการแต่งตั้งภายในสิ้นเดือนนี้ ขณะนี้มีรายชื่อเข้ามาแล้ว

สำหรับรายชื่อคระกรรมการปฏิรูปทั้ง 11 ด้านประกอบด้วย

1.ด้านการเมือง

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานกรรมการ รวี ประจวบเหมาะ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง เป็นเลขานุการ ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีตรัฐมนตรี  พรชัย ตระกูลวรานนท์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ อาจารย์รัฐศาสตร์ พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก อดีต สปท. พล.ต.ท.ตรีทศ รณฤทธิวิชัย อดีต สปท. นรรัตน์ พิมเสน อดีตเลขาธิการวุฒิสภา วันชัย สอนศิริ อดีต สปท. และ ฐะปานีย์ อาจารวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 

2.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

กฤษดา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ สุรพงษ์ มาลี สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นเลขานุการ คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีตปลัดกระทรวง บัณฑูร ล่ำซำ  ภาคเอกชนประชาสังคม พงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ อดีตปลัด กทม. วิบูลย์ สงวนพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เบญจวรรณ สร่างนิทร อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กานต์ ตระกูลฮุน ภาคเอกชน ประชาสังคม อาศิส อัญญะโพธิ์ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส และประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

3.ด้านกฎหมาย

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน พีรพิชญ์ วงศ์วัฒนศานต์ กฤษฎีกา เป็นเลขานุการ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ที่ปรึกษากฎหมาย ภาคเอกชน  คำนูณ สิทธิสมาน อดีต สปท. สุขุมพงศ์ โง่นคำ อดีตรัฐมนตรี นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ สุดา วิศรุตพิชญ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ อดีต ส.ว. ประภาส คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง และ พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ

4.ด้านกระบวนการยุติธรรม

อัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นประธานกรรมการ ชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษา เป็นเลขานุการ คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีต สปท.  สราวุธ เบญจกุล รองเลขาฯ สำนักงานศาลยุติธรรม วันชัย รุจนวงศ์ อัยการ ว่าที่ร้อยตรี ถวัลย์ รุยาพร ทนายความ สงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าฯ กทม. ตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด และ พล.ท.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ รองเจ้ากรมพระธรรมนูญ

5.ด้านเศรษฐกิจ

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธานกรรมการ ปัทมา เธียรวิศิษฐ์สกุล เป็นเลขานุการ ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กอร์ปศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ) อิสระ ว่องกุศลกิจ อดีตประธานหอการค้า เทวินทร์ วงศ์วานิช ปตท. ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ เอกชน ทวีศักดิ์ กออนันตกูล อดีต ผอ.สวทช. สว่างธรรม เลาหทัย เอกชน ชาติศิริ โสภณพนิช เอกชน และสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

6.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร(สสนก.) เป็นประธาน สาวลดาวัลย์ คำภา เป็นเลขานุการ บัณฑูร เศรษฐศิโรฒน์ สิ่งแวดล้อม ประชาสังคม ขวัญชัย ดวงสถาพร สิ่งแวดล้อม ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีต สปช. พล.อ.เอกชัย จันทร์ศรี ทรัพยากรธรรมชาติ สัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน ภาวิญญ์ เถลิงศรี ประชาสังคม นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ สิ่งแวดล้อม พล.ร.ออภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ ทรัพยากรทางทะเล และธีรพัฒน์ ประยูรสิทธ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

7.ด้านสาธารณสุข

นายแพทย์เสรี ตู้จินดา อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานกรรมการ นายแพทย์ ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล อาจารย์ ม.มหิดล เป็นเลขานุการ นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย แพทย์ สมชัย  จิตสุชน ระบบสาธารณสุข พาณิชย์ เจริญเผ่า แรงงาน นายแพทย์ พลเดช ปิ่นประทีป  นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อดีตอธิการบดี จุฬา ,สนช. นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อ.จุฬา

8.ด้านสื่อสารมวลชน

จิรชัย มูลทองโร่ย ปลัด สปน. เป็นประธานกรรมการ ปาริชาต สถาปิตานนท์ เลขานุการ พล.อ.อ. คณิต สุวรรณเนตร อดีต สปท. ธงชัย ณ นคร  สื่อมวลชน ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ สื่อมวลชน ประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด สื่อมวลชน ร.อ.ประยุทธ เสาวคนธ์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เสรี วงษ์มณฑา อาจารย์ กนกทิพย์ รชตะนันทน์ ความมั่นคง สุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชน และ สมหมาย ปาริจฉัตต์ อดีตนายกสมาคมนักข่าว 

9.ด้านสังคม

ปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานกรรมการ ชุตินาฎ วงศ์สุบรรณ เป็นเลขานุการ นายแพทย์อำพน จินดาวัฒนะ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ วัฒนธรรม ต่อพงศ์ เสลานนท์ สังคมวิเชียร ชวลิต อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วินัย ตะห์ลัน อาจารย์  อโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ประชาสังคม สมเดช นิลพันธุ์ อดีตอธิการบดี ม. ราชภัฎนครปฐม สุรินทร์ จิรวิศิษฐ์ อดีตรองปลัดกระทรวงแรงงาน/อดีต สปท. พล.อ.รณชัย มัญชุสุนทรกุล  กีฬา เอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประชาสังคม และไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

10.ด้านพลังงาน

พรชัย รุจิประภา อดีตรัฐมนตรี/อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานกรรมการ กวิน ทังสุพานิช เป็นเลขานุการ เสมอชัย ศุขสุเมฆ กองทุนพลังงาน มนูญ ศิริวรรณ พลังงาน ดุสิต เครืองาม พลังงานทดแทน บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีต สปท./พลังงาน สุนชัย คำนูณเศรษฐ์ พลังงานไฟฟ้า และ ดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

11.ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ

ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ อดีตประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธานกรรมกา ประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาฯ ป.ป.ช. พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีต สปท. เจษฎ์ โทณะวนิก อาจารย์ เพิ่มพงษ์ เชาวลิต อดีตเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) มานะ นิมิตรมงคล เอกชน วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. วิชัย อัศรัสกร เอกชน พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ อดีต ส.ว. อนุสิษฐ คุณากร  อดีต ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ อุทิศ ขาวเธียร สำนักงาน ป.ป.ช.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โจเซฟ เบเนดิกต์

Posted: 15 Aug 2017 08:58 PM PDT

"คำพิพากษานี้สะท้อนให้เห็นแนวทางสุดโต่งของทางการ ซึ่งพร้อมจะใช้กฎหมาย เพื่อห้ามการแลกเปลี่ยนความเห็นโดยปราศจากความรุนแรง รวมทั้งการใช้เฟซบุ๊ก เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจอย่างยิ่งที่ไผ่ ดาวดินถูกกักขังในเรือนจำรวมเป็นเวลาสองปีกว่า เพียงเพราะการแชร์ข่าวชิ้นเดียว"

โจเซฟ เบเนดิกต์ รองผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ สำนักงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอสเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงคำพิพากษาในคดีหมิ่นกษัตริย์ของไผ่ ดาวดิน, 15 ส.ค. 2560

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น