โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กวีประชาไท: ปลุกผี

Posted: 12 Aug 2017 03:24 PM PDT

 

อนุรักษ์ วัฒนธรรม ด้วยคำสาป
ศิโรราบ ภาพหลอน ย้อนสมัย
เทพเทวา ปาฏิหาริย์ ครอบขวานไทย
พลเมืองไพร่ ชั้นสอง ต้องบูชา

ประเพณี ดีงาม ความเป็นชาติ
เอกราช รากเหง้า เฝ้าโหยหา
อ้างบาปบุญ คุณปู่ชวด ทวดให้มา
ขังปัญญา ฆ่าความคิด จิตวิญญาณ

ดี-เลวเป็น เส้นชี้วัด จึงขัดเเย้ง
สีเสื้อแบ่ง แข่งรักชาติ เป็นมาตรฐาน
เด็กระยำต้องกำจัด ดัดสันดาน
โทษแห่งการ คิดแหวก แหกประเพณี

ยุคผู้ใหญ่ ใจแคบ แบบวิปริต
เด็กฉลาด เนติวิทย์ เกิดผิดที่
ในระบอบ อุปถัมป์ อ้างความดี
พร้อมขยี้ คนคิดต่าง อย่างชิงชัง

อนาคต ความคิด ติดในคอก
แยกไม่ออก สิ่งก้าวหน้า หรือล้าหลัง
"ปลุกผี"ฟื้น คืนอดีต รีดพลัง
ทาสคลุ้มคลั่ง ไม่ปลดปล่อย อีกร้อยปี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อุบัติเหตุทางถนน…ความเสียหายร้ายแรงต่อเศรษฐกิจไทย

Posted: 12 Aug 2017 02:29 PM PDT

 

จากการประมาณการขององค์การอนามัยโลก (WHO) ใน พ.ศ. 2556 ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีอัตราการตายเท่ากับ 36.2 คนต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงมาก จึงกล่าวได้ว่า คนไทยมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุทางถนนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ประสบภัยเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยรวมอย่างมหาศาล เพราะการเสียชีวิตจากและบาดเจ็บทั้งทางกายและใจจากอุบัติเหตุ ทำให้ผู้ประสบภัยและครอบครัวสูญเสียผลิตภาพ ส่งผลต่อผลิตภาพโดยรวมของประเทศ

นอกจากนี้ อุบัติเหตุยังก่อให้เกิดต้นทุนอื่นๆ เช่น ต้นทุนในการดำเนินคดี ต้นทุนจากผลกระทบต่อสภาพการจราจร เป็นต้น

ข้อมูลสถิติผู้เสียชีวิตที่บูรณการจากข้อมูลจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แสดงให้เห็นว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรประมาณ 22,281 คนต่อปี ส่วนผู้บาดเจ็บสาหัส ซึ่งอ้างอิงจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีจำนวนเฉลี่ย 107,542 คนต่อปี ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งหมด ตัวเลขเหล่านี้สามารถนำมาประเมินมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจด้วยวิธีการทางเศรษฐศาสตร์ได้

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) (2560)[1] ได้คำนวณมูลค่าความสูญเสียจากการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุจราจรจากพื้นที่ในจังหวัดสระบุรี ด้วยวิธีการประเมินความเต็มใจที่จะจ่ายในการลดอุบัติเหตุทางถนนของคนในพื้นที่ พบว่า การเสียชีวิตมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 10 ล้านบาทต่อราย ในขณะที่การบาดเจ็บสาหัสมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 3 ล้านบาทต่อราย

ซึ่งผู้วิจัยได้อ้างอิงมูลค่าดังกล่าวในการประเมินความสูญเสียของทั้งประเทศ เนื่องจากพื้นที่ที่ทำการสำรวจเป็นพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท จึงสามารถเป็นพื้นที่ตัวแทนของทั้งประเทศได้ จากข้อมูลดังกล่าว คณะผู้วิจัยพบว่า ในช่วงปี 2554-2556 มูลค่าของอุบัติเหตุเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 545,435 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

แม้ว่าอุบัติเหตุทางถนนก่อเกิดความสูญเสียที่มีมูลค่ามหาศาล คนไทยจำนวนมากก็ยังขาดความตระหนักรู้ถึงภัยจากอุบัติเหตุทางถนนต่อตนเองและสังคมโดยรวม

การศึกษาของทีดีอาร์ไอในข้างต้นพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนร้อยละ 27 ไม่ตระหนักว่าปัญหาความปลอดภัยทางถนนเป็นปัญหาสำคัญ ในขณะที่อีกร้อยละ 38 ให้ความสำคัญกับปัญหาความปลอดภัยทางถนนเพียงปานกลางเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนร้อยละ 2 ยังไม่ยินดีที่จะจ่ายเพื่อลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุในสถานการณ์สมมติ

ความไม่ตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงของอุบัติเหตุจราจร ทำให้พฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งเป็นสาเหตุที่ทำให้อุบัติเหตุดังกล่าวมีความรุนแรง

หนทางหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาเหล่านี้ คือการสร้างความตระหนักรู้ในด้านความปลอดภัยทางถนนแก่ประชาชน จากงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและความปลอดภัยทางถนนของ Dr. Sam Peltzman[2] ผู้วิจัยได้มีข้อสรุปว่า คนเราอาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับตนเองเมื่อรู้สึกปลอดภัย ดังนั้น หากผู้ใช้รถใช้ถนนตระหนักว่าตนมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุมากเท่าใด ก็จะยิ่งระมัดระวังพฤติกรรมในการขับขี่มากยิ่งขึ้นเท่านั้น 

โดยสรุปแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมาก ทำให้เกิดความสูญเสียที่คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 5 แสนล้านบาทต่อปี

ในขณะที่ประชาชนยังขาดความตระหนักรู้ถึงปัญหาความปลอดภัยทางถนน ส่งผลให้คนจำนวนมากมีพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้น การรณรงค์ด้านปัญหาความปลอดภัยทางถนนจึงเป็นสิ่งที่ควรจะทำอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการปลูกฝังจิตสำนึกและระเบียบวินัยในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด ซึ่งจะช่วยปรับพฤติกรรมการขับขี่ของคนอีกด้วย

 

หมายเหตุและข้อมูลอ้างอิง

[1] "โครงการประเมินมาตรการความปลอดภัยทางถนน  กรณีเส้นทางท่าเรือวัดบันได – โรงปูนท่าหลวง และเส้นทางถนนมิตรภาพ – โรงปูนแก่งคอย"  โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2560)

[2] "The Effect of Automobile Regulation" โดย S. Peltzman (1975)
http://www.jstor.org/stable/1830396?seq=1#page_scan_tab_contents

(อ้างอิงจาก บทความ "เศรษฐศาสตร์ในเลนขวา: วิเคราะห์ "อุบัติเหตุ"" http://www.settakid.com/econ_traffic_accidents/ )

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอกรินทร์ ต่วนศิริ: ข้อสังเกตบางประการกรณีทหารยิงปืนใส่นักศึกษา

Posted: 12 Aug 2017 01:25 PM PDT


ภาพประกอบโดย เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ

ไม่มีหิมะ มีแต่กระสุน

คืนวันที่ 9 สิงหาคม 2560 ผมได้มีโอกาสคุยกับนักศึกษาสองคนที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารพรานยิงเมื่อเวลาประมาน 18.00น. ของวันก่อนหน้านั้น ผมไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร รู้แต่ว่าต้องระมัดระวังเรื่องการไถ่ถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหากจะถามก็คงต้องหาคำถามที่ดีๆ เพื่อไม่ให้เกิดการผลิตซ้ำความรุนแรงและตอกย้ำความหวาดกลัวจากเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมา ด้วยความตั้งใจอยากให้นักศึกษารู้สึกเป็นกันเองและผ่อนคลายกังวลจากเหตุการณ์ข้างต้น

ผมขอเริ่มเล่าถึงในช่วงท้ายบทสนทนา ผมชวนคุยโดยถามไปว่า ตอนนี้ทั้งสองคนได้อ่านหนังสืออะไรอยู่? ฮานาน นักศึกษาหญิงที่กระสุนสามนัดพลาดเป้าไปได้บอกว่าหนังสือเล่มล่าสุดที่อ่านคือเรื่อง "หิมะ" เขียนโดย ออร์ฮาน ปามุก จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บทจร ซึ่งก่อนหน้านี้เธอได้อ่านรีวิวหนังสือเล่มดังกล่าวจากเพจ Candide Books (ร้านหนังสือก็องดิด) เลยตัดสินซื้ออ่านและอ่านจนจบในช่วงเดือนรอมาฎอน (ปลายเดือนพฤษภาคม-ปลายเดือนมิถุนายน) ที่ผ่านมา ฮานานถามผมว่า เนื้อหาหนังสือเรื่องหิมะ เป็นเรื่องจริงหรือไม่?

ผมไม่ได้ตอบทันที แต่ได้ถามต่อไปว่า แล้วคิดว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่? เธอตอบไม่ตรงคำถามสักเท่าไหร่ แต่เลือกจะตอบว่าชอบมาก ๆ เพราะเป็นเรื่องที่อ่านสนุก ฮานานชอบเนื้อเรื่องที่มีการสืบสวนคดีในเมืองคาร์ส เมืองชายแดนของประเทศตุรกีซึ่งอยู่ติดกับประเทศอาร์เมเนีย เมืองถูกปิดล้อมด้วยหิมะ ความรุนแรง ข่าวลวง และความขัดแย้งเกิดขึ้นโดยไร้ข้อเท็จจริง

ผู้เขียนกำหนดเรื่องให้ "คา" กวีหนุ่มผลัดถิ่นชาวตุรกีผู้ลี้ภัยการเมืองอยู่ในประเทศเยอรมันเดินทางกลับมายังเมืองชายแดนคาร์ส เพื่อสืบหาสาเหตุการฆ่าตัวตายของเหล่าเด็กสาวผู้ยืนยันจะสวมฮิญาบ (ผ้าคลุมศีรษะ) มาโรงเรียนในหนังสือเรื่อง "หิมะ" เมืองคาร์ส เป็นเมืองแปลกแยกจากส่วนอื่นๆ ของตุรกีเช่นเดียวกับปาตานีที่แปลกแยกจากส่วนอื่นๆ ของไทยที่มีความคลุมเครือไม่ลงรอยระหว่างรัฐบาลส่วนกลางในกรุงอังการาและในกรุงเทพฯ

"ภายใต้หิมะที่ตกลงมาไม่หยุดหย่อน เมือง (คาร์ส) แห่งนี้ได้เปลี่ยนโฉมกลายเป็นฉากละเลงเลือดของความขัดแย้งทางความเชื่อ" และอาจจะเปรียบเปรยได้ว่า "ภายใต้อุ้งมือทหารที่ทำกระสุนลั่น เมือง (ปาตานี - โดยผมเอง) แห่งนี้ได้เปลี่ยนโฉมกลายเป็นเมืองแห่งน่าอึดอัดของผู้คนที่ดำเนินชีวิตท่ามกลางห่ากระสุน"

สำหรับผมแล้วบทสนทนาเรื่องหนังสือเรื่องหิมะ ของฮานาน น่าสนใจมาก สารภาพตรง ๆ ผมยังไม่เจอนักศึกษาคนใดมาคุยเรื่องหนังสือเล่มหนาเรื่องนี้ให้ฟังเลย ผมไม่รู้เหมือนกันว่าการสนทนานี้เรียกว่าการเยียวยาได้ไหม หลังจากที่พวกเขาต้องเจอเรื่องที่ไม่คาดฝันในชีวิต

ต่อคำถามของฮานาน นักศึกษาหญิงผู้รอดจากกระสุน ได้ถามว่าเรื่องหิมะเป็นเรื่องจริงหรือไม่? ผมแสดงความเห็นไปว่า จะจริงหรือไม่ก็อาจจะไม่สำคัญเท่ากับการที่เราได้เห็นโลกและมีความรู้มากขึ้นจากการอ่านหนังสือ  

 

ข้อสังเกตในวันทำแผนจำลองเหตุการณ์

ด้วยความความรู้อันจำกัดด้านตัวบทกฎหมาย ผมจึงติดหนังสือประมวลกฎหมายอาญาเล่มเล็กๆ ไปด้วยในวันนัด และตัดสินใจโทรปรึกษาเพื่อนอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อว่าพอจะเป็นประโยชน์ในการลงพื้นที่ข้างต้น

เมื่อถึงที่เกิดเหตุ ผมพยายามเดินเข้าไปหานักศึกษาทั้งหมดที่อยู่ในเขตกั้นสีเหลือง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งนายได้เดินเข้ามาคุยกับผมและกันผมออกจากเขตเส้นสีเหลือง บอกว่าเป็นเขตที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ผมจึงบอกเจ้าหน้าที่ว่าผมเป็นอาจารย์ของนักศึกษาทั้งหมด ผมอยากจะขอเข้าไปคุยได้ไหม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ปล่อยให้เข้าสังเกตการณ์ โดยระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานกำลังปฏิบัติงานโดยการค้นหากระสุนในที่เกิดเหตุ

ผมได้คุยกับนักศึกษาทั้ง 4 คนในวันทำแผน นักศึกษาคนหนึ่งได้บอกผมว่า "หนูรู้สึกกลัวและการทำแผนจำลองเหตุการณ์ก็ทำให้เธอนึกถึงเมื่อวันที่โดนยิง เพราะขณะทำแผนเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับวันที่หนูโดนยิง คือช่วงเย็น ๆ เหมือนเป็นการย้อนให้หนูมาอยู่ในเหตุการณ์เดิมอีกครั้ง" เท่าที่ผมสังเกตวิธีการทำงาน ตำรวจให้นักศึกษาเดินไปที่เกิดเหตุที่เดิมและจำลองเหตุการณ์การยิงและให้นักศึกษาอธิบายรายละเอียด หลังจากเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมก็ได้คุยกับนักศึกษาแต่ทว่าไม่ทันได้เอยปากถาม น้ำตาของนักศึกษาหญิงคนหนึ่งไหลออกมาและพูดว่า "หนูรู้สึกไม่ยุติธรรมและกลัวว่าคดีจะหลุดไป เพราะผู้ต้องหาให้การปฏิเสธในข้อกล่าวหาคดีพยายามฆ่า" และได้ถามผมว่า "ทำไมผู้ต้องหาไม่มาแผนประกอบ ทำไมมีแต่พวกหนู?" และผมเพิ่งรับทราบว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการเชิญนักศึกษากลุ่มนี้มาทำแผน ก่อนหน้านี้นักศึกษาต้องเอามอเตอร์ไซค์ที่ตนเองใช้ในวันที่เกิดเหตุมาทำแผนเพื่อจำลองเหตุการณ์แล้วครั้งหนึ่ง ผมได้แต่เงียบอธิบายตามหลักกฎหมายว่าเป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะปฏิเสธไม่มาทำแผน

ผมอยากกล่าวถึงพยานที่เกิดเหตุซึ่งเป็นกลุ่มผู้หญิงไทยพุทธ  4-5 คน ซึ่งผมได้มีโอกาส "แหลงใต้" คุยกับพวกเธอ พยานเหล่านั้นบอกผมว่า พวกเธอไม่เห็นด้วยอย่างมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น "ทำไมต้องมายิงนักศึกษา?" และตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า คนในเครื่องแบบทำแบบนี้กระทบต่อความศรัทธาของคนในพื้นที่อย่างมาก และตั้งข้อสงสัยต่อไปว่า "ทำไมเจ้าหน้าตำรวจไม่ตามจับกุมผู้กระทำความผิด?"

ก่อนกลับผมไหว้ขอบคุณชาวบ้านคนพุทธทั้ง 4-5 คนที่เป็นพยานพบเห็นเหตุการณ์สำหรับความกรุณาของพวกเธอที่เปิดประตูบ้านให้นักศึกษาวิ่งเข้าไปหลบในคืนเกิดเหตุ และขอบคุณที่อาสาจะเป็นพยานให้นักศึกษาหากว่าเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ผมไม่พบเห็นรายงานข่าวที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้น แต่สำหรับผมแล้ว รายละเอียดของเรื่องในช่วงนี้สำคัญมาก ๆ เพราะมันช่วยให้ลดอคติระหว่างศาสนาที่ก่อตัวในโลกออนไลน์ต่อความเห็นในเหตุการณ์ข้างต้น ส่วนนักศึกษาหญิงที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นยังบอกว่า พวกเธออยากขอบคุณชาวบ้าน เพื่อนนักศึกษาทุกคนที่มาร่วมสังเกตการณ์การทำแผน เพราะรู้สึกได้รับกำลังใจและดีใจมียังมีคนที่เห็นว่าพวกเธอยังไม่ได้รับความเป็นธรรม นักศึกษามิได้แสดงความเกลียดชังเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ได้แสดงความเห็นว่า "อยากเห็นว่าความเป็นธรรมเกิดขึ้นเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก" ไม่ว่ากับใครก็ตาม

ผมได้แนะนำให้นักศึกษาจดบันทึกข้อเท็จจริง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากวันเกิดเหตุ รวมทั้งบุคคลที่มาติดต่อเอาไว้ด้วย ผมแนะนำให้จดบันทึกทุกๆ วัน โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยหวังว่าการจดบันทึกข้อเท็จจริงและความรู้สึกนึกคิดจะเป็นประโยชน์ในอนาคตไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ หลังจากนี้คือ การเผชิญสถานการณ์ใหม่ของพวกเขาตั้งแต่เรื่องคดีความที่ต้องใช้เวลากว่าศาลจะพิจารณาและการต้องกอบกู้จิตใจของตัวเองให้เข้มแข็งกับเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นใหม่

0000

 

บันทึกท้ายบทความ: เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผมได้ลองสืบค้นบันทึก/ รายงานข่าวเรื่องเหตุการณ์ในทำนองนี้ดูทำให้พบว่า หากนับย้อนหลังการเกิดเหตุการณ์การใช้อาวุธโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยิงกันเองเพราะความเครียดหรืออาการเมา มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่มาโดยตลอด  เช่น 14 กันยายน 2554 พลทหารรุสลาม มอและ อายุ 22 ปี สังกัดหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 เกิดอาการคลุ้มคลั่งขณะปฏิบัติหน้าที่เข้าเวรยามอยู่ในฐานปฏิบัติการที่บ้านจำปากอ หมู่ 1 ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ประจำกายบุกยิงผู้บังคับบัญชายศพันจ่าเอก และจ่าเอกถึงในห้องทำงาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 4 นาย บาดเจ็บอีก 3 นาย จากนั้นเจ้าตัวก็ถูกยิงตอบโต้จนเสียชีวิตตามไปด้วย

28 พฤษภาคม 2556 ทหารพราน สังกัดกองร้อยทหารพรานที่ 2207 (ร้อย.ทพ.2207) หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 22 ที่อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อส.ทพ.สราวุฒิ อำพันธ์ เกิดอาการเครียดจึงยิงเพื่อนทหารเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 2 นาย คือ ส.ต.รณวิทย์ สิงห์สาย อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 83 ม.2 ต.ห้วยหลัว อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร ถูกยิงเข้าที่ศีรษะ หน้าอก และแขน และ อส.ทพ.เกรียงศักดิ์ ธูปพุดซา อายุ 29 ปี เป็นชาว จ.สุรินทร์ ถูกยิงเข้าที่บริเวณศีรษะ ทั้ง 2 นายสังกัดกรมทหารพราน 22 กองร้อย 2207

9 พฤศจิกายน 2556 เกิดเหตุทะเลาะวิวาท และยิงกันเสียชีวิตภายในฐานปฏิบัติการร้อย ร.15123 ฉก.นราธิวาส 30 ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายรือเสาะ-ศรีสาคร บ้านท่าเรือ ม.1 ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ที่เกิดเหตุพบศพ พลทหารหะรุดดี หะมิสา อายุ 22 ปี พลทหารพีระพงษ์ หนุนชู อายุ 22 ปี มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 1 ราย พลทหารสายันต์ บินญ่า อายุ 23 ปี

23 มีนาคม 2557 พลทหารอธิวัฒน์ ท้าวพันวงค์ สังกัด หมวดทหารม้าที่ 2 กองร้อยทหารม้าที่ 4 ค่ายพระยาไชยบูรณ์ อ.เด่นชัย จ.แพร่ ซึ่งตั้งฐานอยู่ติดกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เปาะเส้ง หมู่ 4 ต.เปาะเส้ง อ.เมือง จ.ยะลา ริมถนนสายสามแยกบ้านเนียง-บ้านละแอ ห่างจากตลาดบ้านเนียงประมาณ 1.5 กิโลเมตร เกิดอาการเครียด และยิง ส.อ.วันชนะ ก้อนสิน อายุ 31 ปีเสียชีวิต

12 ตุลาคม 2557 ภายในวัดสันติการามซึ่งเป็นที่ตั้งของ หมวดปืนเล็กที่ 1 ร้อย ร.1543 ฉก.ปัตตานี 23 ม.3 ต.ปะกาฮารัง อส.ทพ.พรศักดิ์ สีหล้า อายุ 23 ปี เครียดยิง ส.ท.สมคิด พันธุ์ไชยหอม อายุ 28 ปี และ อส.ทพ.พงษ์ศักดิ์ พวงโพธิ์ อายุ 23 ปี เสียชีวิต ส่วน อส.ทพ.พงศ์พัฒน์ แก้วมาศ อายุ 24 ปี ถูกยิงเฉี่ยวลำตัวและได้รับการรักษาจนปลอดภัย

6 พฤศจิกายน 2557 พลทหารเครียดใช้อาวุธปืนเอ็ม.16 ยิงทหารกันเอง ภายในฐานหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ซึ่งตั้งอยู่ที่ค่ายลูกเสือเดชานุชิต ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บ 2 นาย ส่วนผู้ก่อเหตุคือ พลทหารทวีเวทย์ สังข์มณี ตำแหน่งพลปืนเล็ก ร.8 พัน 3 บ้านเลขที่ 52 ม.4 บ้านโปโล ต.ท่าตูม อ.เมือง จ.มหาสารคาม ซึ่งได้ใช้ปืนยิงตัวเองถูกใต้คางทะลุตาข้างซ้าย อาการสาหัส รายงานของกองทัพได้จัดแถลงข่าวแจ้งให้ทราบว่าผู้ก่อเหตุมีอาการเครียด สาเหตุอาจเกิดมาจากความคิดถึงบ้าน

 

อ้างอิง

คืบ! เหตุทหาร จชต. ยิงกันเองกลางวงเหล้า ล่าสุดตายเพิ่มอีก 1 รายhttp://www.manager.co.th/south/ViewNews.aspx?NewsID=9570000128129

กำลังพลชายแดนใต้ยิงกันเอง! ย้อนอดีตปี 54 ถึง 6 พ.ย.57

https://www.isranews.org/content-page/67-south-slide/34202-guns.html           

ยิงดับบนรถไฟ ทพ.เครียด ระแวงถูกทำร้าย

 http://www.thairath.co.th/content/32717

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ศึกษา #2 ญี่ปุ่นและจักรพรรดิผู้ไม่มีทรัพย์สิน

Posted: 12 Aug 2017 12:17 PM PDT

เล่าเรื่องการบริหารทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของจักรพรรดิญี่ปุ่น รัฐธรรมนูญระบุชัดไม่มีทรัพย์สิน รับเงินจากรัฐใช้ประกอบราชกรณียกิจและครองชีพแต่ก็ยังต้องเสียภาษี กำหนดเพดานรับ-ให้บริจาคชัดเจน มีสภาเศรษฐกิจจัดสรร เพิ่ม-ลดเงินปีได้

ประชาไทพาผู้อ่านเปรียบเทียบการจัดการทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างกรณีของสเปน ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร เพื่อให้ผู้อ่านพิจารณาแนวทางอันหลากหลายและไม่ตายตัวในการจัดการทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีเงื่อนไขและบริบทแตกต่างกันออกไป ตอนที่สองนำเสนอกรณีบริหารจัดการของราชสำนักญี่ปุ่น โดยข้อมูลส่วนใหญ่มีให้ดูอย่างเปิดเผยและละเอียดในเว็บไซต์ของสำนักพระราชวัง

กรณีของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น เว็บไซต์สำนักพระราชวังหลวงญี่ปุ่น (Imperial Household Agency) ให้ข้อมูลการถือครองทรัพย์สินและการใช้จ่ายของสมเด็จพระจักรพรรดิเอาไว้อย่างละเอียด โดยระบุว่า ทรัพย์สินทั้งหมดของสำนักพระราชวังหลวงเป็นของรัฐ พระจักรพรรดิไม่มีทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายของสำนักพระราชวังหลวงจะได้รับการจัดสรรจากรัฐสภาหรือที่รู้จักกันอีกชื่อคือสภาไดเอทตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 88 โดยงบดังกล่าวจะประกอบด้วยค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับพระราชวังและค่าครองชีพสำหรับพระราชวงศ์

สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ เมื่อครั้งต้อนรับประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อ 24 เมษายน ค.ศ. 2014 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Wikipedia/State Department/William Ng/Public domain)

ค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์คือค่าใช้จ่ายของพระจักรพรรดิและสมาชิกข้าราชบริพารฝ่ายใน (inner-court members) ของพระราชวงศ์ จำนวนค่าใช้จ่ายถูกกำหนดตามกฎหมาย ในปีงบประมาณ 2560 ค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์มีมูลค่า 324 ล้านเยนหรือราว 97 ล้าน 4 แสนบาท

ค่าครองชีพสำหรับสมาชิกราชวงศ์ มีให้กับสมาชิกในราชวงศ์แต่ละคนโดยไม่นับรวมพระจักรพรรดิและข้าราชบริพารฝ่ายใน โดยเงินก้อนนี้จะได้รับเป็นรายปีเพื่อให้ราชวงศ์สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมพระเกียรติตามสถานะ ฐานการคำนวณค่าครองชีพก็ถูกระบุเอาไว้ในกฎหมาย สำหรับปีงบประมาณ 2560 งบค่าครองชีพมีมูลค่า 215 ล้านเยนหรือราว 64 ล้าน 6 แสนบาท ส่วนสมาชิกราชวงศ์ที่ออกจากราชวงศ์เพื่อไปตั้งครอบครัว จะได้รับเงินจำนวนนี้เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะไม่ได้รับในงบประมาณครั้งหน้า

ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับพระราชวังนั้นเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับพระราชกรณียกิจ รวมถึงพระราชพิธี งานเลี้ยงสังสรรค์ งานเลี้ยงต้อนรับในระดับรัฐและการเสด็จประพาสทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงใช้ในการบำรุงและซ่อมแซมพระราชวังและทรัพย์สินต่างๆ ในปีงบประมาณ 2560 มีมูลค่างบประมาณอยู่ที่ 5.68 พันล้านเยน หรือประมาณ 1 พัน 7 ร้อยล้านบาท

กฎเศรษฐกิจของสำนักพระราชวังหลวง มาตรา 1 ระบุว่า ทรัพย์สินที่จักรพรรดิได้รับมอบจากรัฐบาลให้ใช้งานนั้นถือเสมือนว่าเป็นการใช้งานโดยรัฐบาลภายใต้กฎหมายทรัพย์สินของแผ่นดิน และการใช้สถานที่ของสำนักพระราชวังนั้นไม่สามารถใช้หารายได้ได้ ส่วนทรัพย์สินหรือสิ่งของใดๆ ที่รัฐบาลจะให้สำนักพระราชวังหลวงใช้ จะต้องผ่านการอนุมัติจากสภาเศรษฐกิจของสำนักพระราชวังหลวง อันเป็นหน่วยงานที่ดูแลการใช้งานทรัพย์สิน และการใช้เงินของราชสำนัก ซึ่งจะกล่าวถึงในรายละเอียดภายหลัง

ในประเด็นการตามกฎหมายเศรษฐกิจของพระราชวังมาตราที่ 2 ระบุว่า การโอนถ่ายสินทรัพย์ของสำนักพระราชวังหลวงนั้นไม่สามารถกระทำได้หากสภาไดเอทไม่อนุญาต ยกเว้นเสียแต่ว่ามูลค่าจะไม่เกินเกณฑ์ที่ตั้งไว้ หรือในกรณีที่การโอนถ่ายเป็นไปตามปรกติในรูปแบบธุรกรรมส่วนบุคคล ศ.โยชิฟูมิ ทามาดะ จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ได้ตอบคำถามในงานเสวนาที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในระหว่างการบรรยายสาธารณะเรื่อง "ประชาธิปไตยใต้ร่มพระบารมี: กรณีศึกษาจักรพรรดิญี่ปุ่น" เมื่อ 13 มี.ค. 2555 ใจความว่า จักรพรรดิเองก็ต้องเสียภาษีถึงแม้จะมีเงินงบประมาณรายปีให้ก็ตาม และกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดกรอบให้กับจักรพรรดิในการบริจาคและรับทรัพย์สิน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยเว็บไซต์สำนักพระราชวังหลวงได้กล่าวถึงอย่างเปิดเผยตามตารางด้านล่าง

 

 

 

 

 

เพดานการให้ในฐานะของขวัญ

เพดานการรับในฐานะของขวัญ

พระจักรพรรดิและ

ข้าราชบริพารชั้นใน

 

18 ล้านเยน (ราว 5 ล้าน 4 แสนบาท)

 

6 ล้านเยน(ราว 1 ล้าน 8 แสนบาท)

 

สมาชิกราชวงศ์ที่เป็นผู้ใหญ่

 

1.6 ล้านเยน (ราว 4 แสน 8 หมื่นบาท)

 

1.6 ล้านเยน (ราว 4 แสน 8 หมื่นบาท)

 

สมาชิกราชวงศ์ที่เป็นผู้เยาว์

 

3 แสน 5 หมื่นเยน(ราว 1 แสนบาท)

 

3 แสน 5 หมื่นเยน (ราว 1 แสนบาท)

 

 

นอกจากนั้น กฎหมายยังระบุให้มีการจัดตั้งสภาเศรษฐกิจสำนักพระราชวัง โดยสภามีอำนาจอันชอบด้วยกฎหมายที่จะเปลี่ยนมูลค่าเงินรายได้ส่วนพระองค์และค่าครองชีพสำหรับสมาชิกราชวงศ์ ให้อำนาจสมาชิกราชวงศ์ในการที่จะออกไปตั้งครอบครัวต่างหาก และมีอำนาจในการให้เงินค่าครองชีพดังกล่าวให้กับสมาชิกราชวงศ์ที่สละสถานะสมาชิกราชวงศ์เป็นรอบสุดท้าย สภาจะประชุมและตัดสินใจด้วยการโหวตหาเสียงข้างมาก แต่ถ้าสมาชิกสภามาไม่ถึง 5 คนจะไม่สามารถเปิดประชุมและตัดสินใจใดๆ

สภาประกอบไปด้วยสมาชิกสภา 8 คน ได้แก่โฆษกสภาผู้แทนราษฏร รองโฆษกสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานสภาราชมนตรี (เทียบเท่าวุฒิสภาของไทย) นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หัวหน้าผู้จัดการทรัพย์สินของสำนักพระราชวังหลวงและประธานบอร์ดผู้ตรวจสอบบัญชี

นอกจากนั้นยังมีองค์สมาชิกสำรองอีก 8 ตำแหน่ง ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 คน สมาชิกสภาราชนตรี รัฐมนตรีประจำกระทรวง (Minister of State) รองรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงการคลัง รองหัวหน้าผู้จัดการทรัพย์สินของสำนักพระราชวังหลวง และผู้ตรวจการบอร์ดผู้ตรวจสอบบัญชี

แปลและเรียบเรียงจาก

Finances of the Imperial House, The Imperial Household Agency, Retrieved on August 13, 2017

The Constitution of Japan, Prime Minister of Japan and His Cabinet, Retrieved on August 13, 2017

The Imperial Household Economy Law of 1947, Internet Archive, Retrived on August 13, 2017

จักรพรรดิญี่ปุ่นในวัน"เบามาก" ทามาดะบรรยาย-ตอบสารพัดคำถาม, ประชาไท, March 13, 2012

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทความ CNN 12 ข้อ ที่ควรรู้เกี่ยววิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือในยุค 'ทรัมป์' กับ 'คิมจองอึน'

Posted: 12 Aug 2017 11:18 AM PDT

นักวิเคราะห์ผู้เคยทำงานให้สภาความมั่นคงและกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ เสนอ 12 ข้อควรรู้สำหรับกรณีเกาหลีเหนือที่เพิ่งขู่ยิงขีปนาวุธท่ามกลางความพยายามปลดอาวุธนิวเคลียร์จากนานาชาติ ซึ่งเขามองว่าการกดดันจากจีนจะเป็นตัวแปรสำคัญ แต่ผู้นำสหรัฐฯ เองก็ต้องทำตัวเรียกความน่าเชื่อถือจากจีนได้ด้วย

การซ้อมยิงขีปนาวุธของกองทัพเกาหลีเหนือ ภาพเผยแพร่ในเว็บไซต์ Uriminzokkiri ของเกาหลีเหนือเมื่อ 12 มีนาคม 2017 (ที่มาของภาพ: แฟ้มภาพ/Uriminzokkiri)

12 ส.ค. 2560 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นจากสหรัฐฯ นำเสนอบทความเสนอแนะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ถึงสิ่งที่เขาควรจะรู้เกี่ยวกับเกาหลีเหนือ 12 ประการ หลังจากที่ทรัมป์และผู้นำเกาหลีเหนือคิมจองอึน โต้ตอบด้วยวาจาและขู่กันไปมาตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ทางการเกาหลีเหนือแสดงท่าทีไม่พอใจเมื่อสหประชาชาติมีมติเพิ่มการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือหนักขึ้น ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเขาขู่ว่าจะยิงขีปนาวุธใส่เกาะกวมซึ่งเป็นเกาะในพื้นที่ปกครองของสหรัฐฯ ขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ก็สวนกลับไปด้วยการขู่เช่นกันว่าถ้าหากเกาหลีเหนือแสดงการคุกคามอีกจะต้อง "เผชิญกับเปลวเพลิงและความโกรธเกรี้ยวแบบที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน"

เจมี เมตซ์ นักวิจัยอาวุโสจากสภาแอตแลนติคผู้ที่เคยทำงานในสภาความมั่นคงสหรัฐฯ และกระทรวงการต่างประเทศมาก่อนระบุว่าเป็นการปะทะกันทางวาจาระหว่างผู้นำที่ "เอาแน่เอานอนไม่ได้" ทั้งสองคน และขณะเดียวกันเขาก็ประเมินว่านอกจากทรัมป์จะทำให้ประเด็นคาบสมุทรเกาหลีกลายเป็นวิกฤตแล้วรัฐบาลทรัมป์เองก็ไม่มียุทธวิธีใดๆ ในการแก้ไขปัญหานี้ ทำให้เมตซ์แนะนำทรัมป์ถึงสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเกาหลีเหนือ 12 ข้อ ผ่านบทความของซีเอ็นเอ็นดังนี้

ข้อ 1. เมตซ์ระบุถึงสาเหตุที่เกาหลีเหนือพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะว่าพวกเขาเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ราคาถูกที่สุดที่จะทำให้พวกเขาอยู่รอดได้โดยไม่ถูกกดดันจากประเทศอื่น และทางการเกาหลีเหนือเชื่อว่าอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นหลักประกันไม่ให้พวกเขาถูกแทรกแซงด้วยกำลังทหารแบบลิเบียหรือยูเครนหลังจากยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์แล้ว การพยายามสร้างการคานอำนาจด้วยวิธีทางการทหารแบบดั้งเดิมมีราคาที่สูงเกินไปสำหรับประเทศที่แร้นแค้นอย่างเกาหลีเหนือ

ข้อ 2. อุดมการณ์ทางการเมืองของผู้นำเผด็จการเกาหลีเหนือต้องขึ้นอยู่กับการต้องทำให้คนระแวงอย่างหนักว่าอยู่ในภาวะสงครามตลอดเวลาจนทำให้เกาหลีเหนือรู้สึกปลอดภัยมากกว่าถ้าจะมีอาวุธนิวเคลียร์ เมตซ์ระบุว่า เมื่อพิจารณาร่วมกับประวัติศาสตร์การไม่ยอมทำตามข้อตกลงการลดอาวุธที่พวกเขาร่วมลงนามแล้ว การโน้มน้าวหรือดำเนินการร่วมมือใดๆ ก็ตามดูจะไม่ทำให้เกาหลีเหนือยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ได้ง่ายๆ เมตซ์เสนอว่าวิธีที่จะทำให้เกาหลีเหนือยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ได้คือการที่ต้องทำให้ผู้นำเกาหลีเหนือเชื่อว่าราคาที่ต้องจ่ายให้กับการคงไว้ซึ่งอาวุธนิวเคลียร์มีสูงกว่าราคาที่ต้องจ่ายให้กับการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์

ข้อ 3. เมตซ์มองว่าวิธีการที่จะให้เกิดผลลัพธ์แบบข้อ 2 นั้น เป็นเรื่องยากที่จะรอให้เปลี่ยนแปลงผู้นำหรือถึงขั้นใช้วิธีโจมตีทางทหารจากสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลเสียมากกว่า วิธีที่เมตซ์เสนอคือการเพิ่มการคว่ำบาตรให้หนักขึ้นเท่านั้นหรือไม่ก็ต้องใช้วิธีการบีบเค้นด้วยมาตรการอื่นๆ นอกจากการทหารไปจนกระทั่งบ่อนทำลายการยึดกุมอำนาจของพวกเขาได้ ถ้าหากพวกเขายังไม่ยอมยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์

ข้อ 4. อย่างไรก็ตามเมตซ์มองว่าเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมายังไม่มากพอที่จะชักจูงให้เกาหลีเหนือออกจากเส้นทางนิวเคลียร์ได้ การเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรในครั้งนี้อาจจะเป็นการหยิกให้เจ็บนิดๆ หน่อยๆ แต่ผู้นำที่อำมหิตของเกาหลีเหนือคงยอมให้ประชาชนนับแสนอดตายแทนที่พวกเขาจะยอมทำตามข้อตกลงที่ดีในเชิงยุทธศาสตร์

เมตซ์ประเมินว่าวิธีการคว่ำบาตรที่จะได้ผลกับเกาหลีเหนือคือการให้จีนร่วมมือในการปิดกั้นการค้าและเชื้อเพลิงกับเกาหลีเหนือจนกว่าเกาหลีเหนือจะยอมยกเลิกพัฒนานิวเคลียร์ แต่นี่ก็เป็นเรื่องจีนคงไม่ยอมทำง่ายๆ ด้วยเหตุผลเชิงยุทธศาสตร์ของจีนเอง

ข้อ 5. เมตซ์ชี้ว่าตัวเกาหลีเหนือเองเป็นเสมือนกันชนระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการรวมชาติเกาหลี นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งแรงงานราคาถูกสำหรับจีน จีนแลกเปลี่ยนกับเกาหลีเหนือด้วยการส่งน้ำมันดิบและอาหารเป็นส่วนใหญ่ให้กับกองทัพเกาหลีเหนือ มีสถาบันทางการเงินจีนส่งเงินให้เกาหลีเหนือเพื่อทำให้เศรษฐกิจเกาหลีเหนือยังคงอยู่ได้รวมถึงทำให้เกาหลีเหนือเข้าถึงตลาดในจีนได้ด้วย ถ้าหากปราศจากการสนับสนุนและการปกป้องการคว่ำบาตรโดยยูเอ็นจากจีนแล้วก็เป็นไปได้ที่เกาหลีเหนือจะล่มสลายลง

ข้อ 6. แต่กระนั้นการที่จีนสนับสนุนเกาหลีเหนือต่อไปก็มีราคาที่ต้องจ่ายสำหรับจีนเอง เพราะเกาหลีเหนือก็ทำท่าเป็นปฏิปักษ์ต่อจีนมากขึ้น การทีเกาหลีเหนือดำเนินโครงการนิวเคลียร์ต่อไปก็บ่อนทำลายสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งจีนให้การสนับสนุนอยู่ จึงมีความเป็นไปได้ว่าถ้าหากจีนยังสนับสนุนเกาหลีเหนือก็อาจจะทำให้จีนตกเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดใน "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" ที่เกาหลีเหนืออาจจะเป็นผู้ก่อได้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่ความไม่มีเสถียรภาพและความไม่คงเส้นคงวาของเทคโนโลยีเกาหลีเหนืออาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์สำหรับเกาหลีเหนือได้ นั่นอาจจะส่งผลทำให้เกิดการปนเปื้อนไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนได้ด้วย

ท่าทีกระหายสงครามของเกาหลีเหนือยังเป็นผลเสียต่อจีนในแง่ที่มันทำให้สหรัฐฯ อ้างความชอบธรรมในการวางกำลังในเกาหลีใต้ได้และพัฒนาอาวุธป้องกันขีปนาวุธให้เกาหลีใต้และญี่ปุ่นได้มากขึ้น นอกจากนี้การที่ญี่ปุ่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ที่ทำให้พวกเขาหาความชอบธรรมในการใช้กองกำลังป้องกันตนเองในการจัดการข้อพิพาทนอกอาณาเขตได้ง่ายขึ้น มีโอกาสทำให้เกิดการพยายามสั่งสมอาวุะนิวเคลียร์ในหมู่ประเทศเอเชียซึ่งส่งผลเสียต่อผลประโยชน์ของจีนเองมากกว่าประเทศอื่นๆ

ข้อ 7. ถึงแม้จีนจะต้องการให้เกาหลีเหนือปฏิรูปตนเองจากภายในแบบที่จีนเคยทำแต่ผู้นำเกาหลีเหนือก็ไม่ปฏิรูปตัวเองจากภายในถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะพังแค่ไหนก็ตาม พวกเขาทำไม่ได้เพราะการปฏิรูปทางเศรษฐกิจโดยไม่ปฏิรูปทางการเมืองในการลดโครงสร้างเผด็จการเบ็ดเสร็จของพวกเขาไปด้วยนั้นเป็นไปไม่ได้ การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญจะต้องอาศัยตลาดข้อมูลในระดับหนึ่งรวมถึงต้องมีการเสริมกำลังให้กับคนงาน แต่การสร้างการเติบโตเช่นนี้เข้ากันไม่ได้กับระบบควบคุมอย่างโหดเหี้ยมของเกาหลีเหนือ

ข้อที่ 8. เมตซ์ระบุว่าด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้จีนมีทางเลือกอยู่สองทางเท่านั้น ทางแรกคือถ้าหากจีนเชื่อว่าควรจะมีเกาหลีเหนือจอมปฏิปักษ์และติดอาวุธนิวเคลียร์อยู่ใกล้ตัว ก็จะกระทำอะไรแบบเดิมต่อไปคือการแสดงความไม่พอใจและสนับสนุนการคว่ำบาตรบางส่วนแต่ก็ไม่ได้กดดันเกาหลีเหนืออย่างจริงจัง ทางที่สองคือถ้าหากพวกเขาไม่ทนต่อการมีเกาหลีเหนือที่ติดอาวุธและเป็นปฏิปักษ์ก็จะพยายามบีบให้เกาหลีเหนือยอมยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ไม่เช่นกันรัฐบาลเกาหลีเหนือจะต้องเผชิญกับการถูกทำลายเสถียรภาพและอาจจะล่มสลายไปได้

ข้อที่ 9. อย่างไรก็ตามเมตซ์ประเมินว่าถ้าจีนยังคงไม่กดดันเกาหลีเหนือเพิ่มเติมก็อาจจะทำให้เกาหลีเหนือเริ่มมีอะไรเอาไว้แข็งข้อกับจีนมากขึ้น เรียกร้องให้จีนต้องสนับสนุนส่งเสริมพวกเขามากขึ้นไม่ว่าเกาหลีเหนือจะส่งผลเสียหายทางยุทธศาสตร์ต่อจีนมากเพียงใดก็ตาม ถ้าจีนยังปล่อยเกาหลีเหนือไว้ก็อาจจะยิ่งทำให้สหรัฐฯ เกาหลีใต้และญี่ปุ่นหันมาบีบจีนแทนเพื่อให้ส่งผลต่อเกาหลีเหนื

ข้อที่ 10. ในทางตรงกันข้ามถ้าจีนตั้งเงื่อนไขกับเกาหลีเหนือว่าต้องปลดอาวุธนิวเคลียร์ไม่เช่นนั้นจะตัดสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจก็จะสร้างความเสี่ยงใหญ่ๆ ให้จีนเช่นกัน แต่ก็อาจจะส่งผลดีอย่างมากต่อจีนไปด้วย

ข้อที่ 11. ในบทความของเมตซ์ยังประเมินอีกว่า ถ้าหากจีนสามารถทำให้เกาหลีเหนือสามารถเลิกพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ จีนจะกลายเป็นมหาอำนาจผู้ดูมีความรับผิดชอบในภูมิภาคและทำลายความพยายามของสหรัฐฯ และพันธมิตรในการโต้ตอบภัยนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้

ในกรณีที่จีนกดดันเกาหลีเหนือแล้วแต่เกาหลีเหนือก็ยังไม่ยอมยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์จนทำให้จีนกดดันหนักขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้การยึดกุมอำนาจของเกาหลีเหนือเสื่อมลง เรื่องนี้จะทำให้จีนเข้าไปมีอิทธิพลมากขึ้นในการรวมชาติเกาหลีได้ทำให้สามารถปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตัวเองในกระบวนการนี้ไปในตัวด้วย โดยอาจจะทำให้จีนสามารถออกมติห้ามสหรัฐฯ ส่งกองทัพเข้าไปในเกาหลีเหนือและจีนวางกองทัพตัวเองได้ นอกจากนี้ยังอาจจะทำให้จีนได้รับประโยชน์ทางการค้ากับชาติเกาหลีมากขึ้นจากการเปิดเชื่อมตะวันออกเฉียงเหนือของจีนที่ไฮเทคกับตอนใต้ของเกาหลีไปพร้อมๆ กับการยับยั้งภัยการสั่งสมอาวุธนิวเคลียร์ไปในตัว อีกทั้งยังลดอิทธิพลของสหรัฐฯ ต่อเกาหลีได้ด้วย

ข้อ 12. อย่างไรก็ตามเมตซ์ยังกล่าวถึงการที่สหรัฐฯ ควรจะช่วยปลดล็อกจีนในการดำเนินการเช่นนี้ เพราะแต่เดิมแล้วจีนมองเกาหลีเหนือว่าเป็นปฏิปักษ์ในเชิงยุทธศาสตร์กับสหรัฐฯ สหรัฐฯ จึงต้องดำเนินการเพื่อสร้างความเชื่อใจทางยุทธศาสตร์กับจีนถึงจะทำให้จีนยอมกดดันเกาหลีเหนือ แต่เมตซ์ก็วิจารณ์ผู้นำสหรัฐฯ ว่ามีพฤติกรรมเอาแน่เอานอนไม่ได้ การดำเนินยุทธศาสตร์แบบไม่สอดคล้องกัน และคณะรัฐบาลที่พึ่งพาลำบาก การจะทำให้เกิดความเชื่อใจกับจีนได้ก็เป็นเรื่องยาก

สรุปคือแม้ว่าจะมีการคว่ำบาตรจากสหประชาชาติเรื่อยๆ แต่ถ้าหากจีนไม่ได้ร่วมมือกดดันด้วยก็เป็นไปได้ยากที่จะเปลี่ยนแปลงออกจากสภาพเดิม การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ถ้าหากจีนเปลี่ยนนโยบายหรือเกาหลีเหนือพังทลายลงด้วยตัวเองซึ่งต้องใช้เวลานานหลายปี

เมตซ์ประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงของเกาหลีเหนืออาจจะไม่เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ นี้ สหรัฐฯ คงกลับไปสู่สภาพแบบพยายามควบคุมอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือคล้ายสมัยสหภาพโซเวียต แต่โดยรวมๆ แล้วคาดว่าในภูมิภาคจะค่อนข้างมีเสถียรภาพเพราะเกาหลีเหนือคงไม่เสี่ยงยิงอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งจะเป็นการทำลายตัวเองง่ายๆ กระนั้นก็ตามผู้นำสหรัฐฯ เองก็ไม่ควรจะไปเล่นโต้ตอบทางวาจากับผู้นำเกาหลีเหนือซึ่งมีโอกาสจะเสี่ยงต่อเรื่องเสถียรภาพมากกว่าหรืออาจจะทำให้เกิดภัยจากการคำนวณผิดพลาดได้

 

เรียบเรียงจาก

12 things Trump should know about North Korea, CNN, August 9, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 6-12 ส.ค. 2560

Posted: 12 Aug 2017 04:36 AM PDT

 
ชาวบ้าน 38 ชุมชนมาบตาพุด เตรียมยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ หลังสาธารณสุขมีนโยบานปรับลดบุคลากรพยาบาล
 
ประธานชุมชนในพื้นที่ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง รวมทั้งสิ้น 38 ชุมชน พร้อมด้วย อสม.มาบตาพุด เตรียมเคลื่อนไหวเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ที่ศาลากลางจังหวัด ในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ หลังทราบข้อมูลว่า ทางกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายปรับเกณฑ์ลดบุคลากรโดยเฉพาะพยาบาลปฏิบัติงานทั่วประเทศ
 
ส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (มาบตาพุด) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 200 เตียง ปัจจุบัน มีพยาบาล จำนวน 206 คน ให้เหลือเพียง 104 คน
ทั้งนี้ จากการทำประชาคมประธานชุมชนตำบลมาบตาพุด รวม 38 ชุมชน ชาวบ้าน และประธาน อสม.เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (มาบตาพุด) ประชาชนได้สอบถามแผนการพัฒนาโรงพยาบาลเพื่อรองรับแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
 
ทางโรงพยาบาลได้ชี้แจงว่า ได้ของบประมาณการก่อสร้าง และครุภัณฑ์การแพทย์ในการขยายห้องผ่าตัด ห้องไอซียู และตึกบริการผู้ป่วยนอกไปแล้ว แต่ติดขัดเรื่องเรื่องบุคลากร โดยเฉพาะพยาบาล ที่ถูกกำหนดกรอบจากกระทรวงสาธารณสุขให้เหลือพยาบาลปฏิบัติงานเพียง 104 คน จากเดิมที่มีอยู่ 206 คน
 
และทำให้พยาบาลที่มีอยู่ซึ่งเป็นลูกจ้าง จำนวน 50 คน เมื่อมีตำแหน่งข้าราชการจะต้องไปบรรจุที่อื่น ก็จะทำให้พยาบาลหายไป จำนวน 50 คน ภายใน 1-2 ปีนี้ นอกจะมีการขยายบริการไม่ได้แล้ว ยังมีความจำเป็นต้องยุบหอผู้ป่วยในลงอีก 2-3 หอ เนื่องจากพยาบาลหายไป จำนวน 50 คน
 
ด้าน นางจิรภา มหาเทพ ประธานชุมชนมาบชลูด กล่าวว่า ชาวบ้านมาบตาพุดไม่พอใจเป็นอย่างมาก คนมาบตาพุดได้รับผลกระทบมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมมานาน ต่อสู้เพื่อให้ได้มีการขยายโรงพยาบาลมาบตาพุด เดิมที่มีอยู่ 40 เตียง เพิ่มเป็น 200 เตียง
 
และในปี 2552 มติ ครม.อนุมัติให้เป็นโรงพยาบาลขนาด 200 เตียง เป็นโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือทางการแพทย์ด้านสารเคมีอันตราย ซึ่งได้รับงบจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเกือบ 100 ล้านบาท โดยเฉพาะสมาคมเพื่อนชุมชน ก็ได้สนับสนุนเงินทุนพยาบาลวิชาชีพเรียนฟรีปีละ 200 ทุน(เฉพาะคนในพื้นที่มาบตาพุด) เพื่อจะได้มาทำงานที่โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ แต่กลับถูกไปประจำที่โรงพยาบาลอื่น
 
นางจิรภา มหาเทพ ประธานชุมชนมาบชลูด กล่าวต่อไปว่า นโยบายห่วงแต่ EEC ไม่ห่วงเรื่องสุขภาพชีวิตของคนมาบตาพุด ทั้งที่มาบตาพุด เป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่ หากเกิดอุบัติเหตุสารเคมีรั่วไหล คนมาบตาพุดได้รับผลกระทบมลพิษจะส่งไปเข้ารับการรักษาที่ไหน
 
ในอดีตคนมาบตาพุดนับร้อยได้รับมลพิษต้องหามส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงกันโกลาหล แต่กระทรวงสาธารณสุขในยุคปัจจุบันกลับมีนโยบายปรับลดพยาบาล และในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ ชาวมาบตาพุดทั้ง 38 ชุมชน จะเดินทางไปยื่นหนังสือให้ นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ที่ศาลากลางจังหวัด หากไม่มีความคืบหน้าก็จะเข้ากรุงเทพฯ ต่อไป
 
 
กกร.จี้แก้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ปมต่างชาติบี้ตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าว
 
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการแรงงาน และพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ทำหนังสือแสดงความคิดเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน เรื่องการยกร่างแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยเฉพาะมาตรา 45 ที่กำหนดไว้ว่า ในสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไป ลูกจ้างอาจจัดตั้ง คณะกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบกิจการนั้น หรือสหภาพแรงงานต่างด้าวได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามกฎหมายดังกล่าว ทำให้ยังไม่สามารถให้ข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ได้ โดยต้องรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงถึงรายละเอียดต่อไป
 
นายพจน์กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่ได้กำหนดให้มีผู้ประกอบการ นายจ้าง หรือผู้ที่ใช้แรงงานต่างด้าวตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป รวมไปถึงตัวของแรงงานต่างด้าวเอง ให้มาขึ้นทะเบียนการทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะครบกำหนดการขึ้นทะเบียนในวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ทั้งนี้ หากไม่ดำเนินการขึ้นทะเบียนตามกำหนดดังกล่าว ทางรัฐบาลจะดำเนินการตามกฎหมายทันที
 
ตอนนี้ทางสภาหอการค้าฯได้มีการประสานงานและให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาลอย่างเต็มที่ในการขึ้นทะเบียนแรงงานเพื่อให้ถูกต้อง แต่ผู้ประกอบการยังมายื่นความจำนงในการใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนไม่มากเมื่อเปรียบเทียบ กับสภาพความเป็นจริง และสิ่งที่สภาหอการค้าฯเป็นห่วงมาก คือ แรงงานในกลุ่มเกษตรกรรม ก่อสร้าง และพวกแม่บ้าน ซึ่งเป็น 3 กลุ่มหลักที่ยอมรับว่ามีการใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก และยังมีแรงงานต่างด้าวอีกจำนวนมากที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน ดังนั้นจึงต้องการเร่งนำไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง เพราะหากตรวจพบอาจจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย
 
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวกับ"ประชาติธุรกิจ"ว่า ขณะนี้การยกร่างแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 อยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) หลังจากที่ กกร. และภาคเอกชนได้ยื่นคำร้องไป โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเท่าเทียมในการปฏิบัติของแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย และแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศ ซึ่งหากเปรียบเทียบกันแล้วปัจจุบันประเทศไทยให้สิทธิ์แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากกว่า
 
แหล่งข่าวจากภาคอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า การที่ต่างประเทศโดยเฉพาะพวกหน่วยงานองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ จะบังคับให้ไทยต้องดำเนินการตาม แต่ขณะที่หลายประเทศไม่ได้ให้สิทธิแรงงานไทยที่เข้าไปทำงาน เป็นเรื่องที่ฝ่ายไทยต้องต่อสู้เรียกร้อง ไม่ใช่ไทยจะต้องปฏิบัติตามทุกอย่าง หากมีสหภาพแรงงานต่างด้าวขึ้นมาเป็นเรื่องที่หลายบริษัทที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากกว่าแรงงานคนไทยค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ในหลายมาตรา ยกตัวอย่างมาตรา 101 ให้สิทธิลูกจ้างต่างด้าวเป็นกรรมการสหภาพแรงงานได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของกรรมการทั้งหมด ถือเป็นเสียงข้างน้อย แต่คงไม่ได้ช่วยอะไร เพราะแรงงานส่วนใหญ่ในโรงงานเป็นแรงงานต่างด้าว ทำให้การควบคุมบริหารจัดการภายในโรงงานอาจเกิดปัญหาได้
 
สมมุติโรงงานมีพนักงาน 100 คน แบ่งเป็น แรงงานต่างด้าว 70 คน แรงงานคนไทย 30 คน หากให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานในโรงงานได้ โดยสหภาพจะมีคณะกรรมการจำนวน 10 คน สมมุติมีกรรมการคนไทย 7 คน ต่างด้าว 2 คน หากมีการลงคะแนนเสียง กรรมการคนไทยถือเป็นเสียงข้างมาก แต่ในทางปฏิบัติแรงงานต่างด้าว 2 เสียงนี้ถือเป็นตัวแทนของแรงงานต่างด้าวทั้งหมดในโรงงาน เพราะฉะนั้น เสียงจากการลงมติในคณะกรรมการสหภาพ อาจจะไม่สามารถแก้ไขหรือยุติข้อเรียกร้องต่าง ๆ ได้
 
"ในอดีตการมีสหภาพแรงงาน เพราะนายจ้างเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง แต่ปัจจุบันความจำเป็นต้องมีสหภาพอาจลดลงไปแล้ว เพราะมีช่องทางอื่น ๆ ในการช่วยเหลือลูกจ้างมากมาย โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐมีการออกกฎหมายหลายฉบับมาคุ้มครองลูกจ้าง มีหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมเข้ามาช่วยเหลือมากมาย หากไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้น ความจำเป็นในการจัดตั้งสหภาพในปัจจุบันน่าจะลดบทบาทความสำคัญลงไป ทางกระทรวงแรงงานจึงไม่ควรหยิบประเด็นเรื่องนี้มาทำให้เป็นปัญหา"
 
 
นายจ้าง-ลูกจ้างตรวจความสัมพันธ์วันแรกคึกคัก
 
บรรยากาศที่กระทรวงแรงงาน ล่าสุด นายจ้างและแรงงานจำนวนมาก ต่างทยอยเดินทางเข้ารับบัตรคิว เพื่อเข้าสูขั้นการตรวจสอบคัดกรองความสัมพันธ์ของนายจ้างและลูกจ้าง ที่ได้เปิดเพื่อยืนยันความเป็นนายจ้าง - ลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.-6 ก.ย. 2560
 
โดยนายจ้างจะต้องพาลูกจ้างเข้าพบเจ้าหน้าที่ตามที่ได้รับนัดหมาย เพื่อยืนยันความเป็นนายและลูกจ้าง จากนั้นจะสามารถรับเอกสารเพื่อให้ลูกจ้างไปจัดทำหนังสือเดินทาง หรือ CI โดยล่าสุดมีนายจ้างเข้ารับบัตรคิวอยู่ที่ 115 คิว
 
โดยขั้นตอนในการตรวจสอบคัดกรองความสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่จะตรวจพิจารณาเอกสารและหลักฐานของนายจ้างและลูกจ้าง ก่อนทำการสัมภาษณ์นายจ้าง ลูกจ้าง เกี่ยวกับ ชื่อ นามสกุล อายุ สัญชาติ ลักษณะของงานที่ทำ ส่วนกรณีที่ไม่ผ่านการยืนยัน ลูกจ้างจะต้องเดินทางกลับประเทศ
 
ทั้งนี้กระทรวงแรงงานจะเปิดให้รับบัตรคิวได้ตั้งแต่เวลา 07:30 น. และเริ่มตรวจสอบคัดกรองตั้งแต่เวลา08:30 - 16:30 น. แบ่งเป็นภาคเช้า 250 คิว และภาคบ่าย 250 คิว
 
 
เดือน ก.ค.ว่างงานพุ่ง 1.2% จบปริญญาตรีครองแชมป์เตะฝุ่น 253,000 คน
 
รายงานข่าวจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติว่าภาวะการว่างงานในเดือนก.ค. 2560 มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.2% โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 476,000 คน มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 85,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเทียบกับเดือนมิ.ย. 2560 มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 61,000 คน
 
โดยในจำนวนผู้ว่างงาน 476,000 คนนั้น เป็นผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากที่สุดจำนวน 253,000 คน อัตราการว่างงานอยู่ที่ 3% รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 99,000 คน คิดเป็นอัตราว่างงาน 1.5% ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 74,000 คน อัตราว่างงาน 1.2% ระดับประถมศึกษาจำนวน 33,000 คน อัตราว่างงาน 0.4% และระดับต่ำกว่าประถมศึกษาจำนวน 16,000 คน อัตราว่างงาน 0.2%
 
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จำนวนผู้ว่างงานในระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น 57,000 คน มัธยมศึกษาตอนต้นเพิ่มขึ้น 22,000 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพิ่มขึ้น 19,000 คน ขณะที่ผู้ว่างงานที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับประถมศึกษา มีจำนวนลดลง 9,000 คน และระดับประถมศึกษาลดลง 5,000 คน ส่วนด้านประสบการณ์การทำงานของผู้ว่างงานนั้น พบว่า เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 292,000 คน เป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 184,000 คน ซึ่งในกลุ่มนี้ลดลง 13,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
 
สำหรับผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนในจำนวน 292,000 คน แยกเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาจำนวน 194,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สำเร็จการศึกษาสายวิชาการจำนวน 124,000 คน สายอาชีวศึกษาจำนวน 52,000 คน และสายวิชาการศึกษาจำนวน 18,000 คน รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 49,000 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 36,000 คน ระดับประถมศึกษา 9,000 คน และระดับต่ำกว่าประถมศึกษาจำนวน 4,000 คน
 
ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานในเดือนก.ค.2560 ที่เพิ่มขึ้น 85,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 พบว่า ภาคกลางมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 33,000 คน ภาคใต้มีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 22,000 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีจำวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3,000 คน
 
สำหรับจำนวนผู้มีงานทำ 37.98 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม 12.50 ล้านคน นอกภาคเกษตรกรรม 25.48 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก.ค.2559 พบว่า ในภาคเกษตรกรรม มีจำนวนผู้ทำงานเพิ่มขึ้น 70,000 คน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นในการปลูกข้าว และยางพารา
 
ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมมีผู้ทำงานลดลง 490,000 คน เป็นการลดลงในสาขาการผลิตจำนวน 330,000 คน สาขาก่อสร้าง 250,000 คน สาขาการขายส่งและขายปลีก การซ่อมจักรยานยนต์และยานยนต์ 160,000 คน ส่วนสาขาที่เพิ่มขึ้นคือ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารเพิ่มขึ้นจำนวน 160,000 คน สาขากิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ 40,000 คน สาขาการศึกษา 30,000 คน และสาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 10,000 คน
 
 
เตือนนายจ้างห้ามเรียกเงินประกันทำงาน
 
(9 ส.ค.2560) นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ห้ามไม่ให้นายจ้างเรียกหลักประกันการทำงาน และหลักประกันความเสียหายจากการทำงาน ไม่ว่าจะประกันด้วยเงิน ประกันด้วยบุคคล หรือประกันด้วยทรัพย์ เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้น ลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ โดยประเภทของหลักประกันการทำงาน จำนวนเงิน และวิธีการเก็บรักษา ขอให้นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการศึกษาและปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการเรียกเก็บหรือรับหลักประกันการทำงาน ระบุลักษณะ หรือสภาพของงานที่เรียกเก็บไว้ ได้แก่ 1.งานสมุห์บัญชี 2.งานพนักงานเก็บหรือจ่ายเงิน 3.งานควบคุมหรือรับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุมีค่า 4.งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้างที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง 5.งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน 6.งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ และ 7.งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคลังสินค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่าทรัพย์ให้เช่าซื้อ ให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ รับจำนอง รับจำนำ รับประกันภัย รับโอนหรือรับจัดส่งเงิน หรือการธนาคาร
 
สำหรับหลักประกันการทำงาน หรือความเสียหายมี 3 ประเภท ได้แก่ เงินสด ทรัพย์สิน และการค้ำประกันด้วยบุคคล โดยการเรียกเก็บต้องไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ
 
 
กสร.ชี้ลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์มีสิทธิขอเปลี่ยนงานได้
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้กำหนดสิทธิให้ลูกจ้างหญิงที่มีครรภ์และมีใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งมาแสดงว่าไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมต่อไปได้ มีสิทธิขอให้นายจ้างเปลี่ยนงานในหน้าที่เดิมเป็นการชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดได้ และนายจ้างจะต้องพิจารณาเปลี่ยนงานที่เหมาะสมให้แก่ลูกจ้างหญิงที่ตั้งครรภ์นั้นด้วย สำหรับนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
ทั้งนี้หากนายจ้างมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ กองคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ 02245717, 022466389 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1546
 
ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 9/8/2560
 
ก.แรงงานพอใจ ยอดแรงงานเฉียด 8 แสน - กทม. ครองแชมป์มากสุดกว่า 160,000 คน
 
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงแรงงานได้มีการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่ไม่มีเอกสารและไม่มีใบอนุญาตทำงาน โดยเปิดโอกาสให้นายจ้าง-ลูกจ้างที่ทำงานอยู่ด้วยกันแจ้งความประสงค์ในการทำงานให้ถูกต้อง โดยได้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว 100 ศูนย์ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม ถึง 7 สิงหาคม 2560 โดยระดมทรัพยากรทั้งบุคลากรและเครื่องมือจากทุกหน่วยในสังกัดกว่า 3,000 คน เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกการรับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวให้เพียงพอกับผู้มารับบริการ ซึ่งเมื่อสิ้นสุดการเปิดศูนย์รับแจ้งฯ ไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีนายจ้างยื่นแบบคำขอจ้างคนต่างด้าว จำนวน 193,918 ราย เป็นบุคคลธรรมดามากที่สุด จำนวน 169,575 ราย นิติบุคคล จำนวน 24,060 ราย และเป็นชาวต่างชาติ 283 ราย โดยมายื่นที่ศูนย์รับแจ้ง 180,058 ราย ยื่นทางออนไลน์ 13,860 ราย มีลูกจ้างคนต่างด้าว 772,270 คน สัญชาติเมียนมามากสุด 451,515 คน คิดเป็นร้อยละ 58.47 รองลงมา กัมพูชา 222,907 คน ร้อยละ 28.86 และลาว 97,848 คน ร้อยละ 12.67 ซึ่งมีปริมาณใกล้เคียงกับที่กระทรวงแรงงานคาดการณ์ไว้ โดยจังหวัดที่มีการยื่นขอจ้างคนต่างด้าวมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร 162,597 คน รองลงมาชลบุรี 44,487 คน สมุทรปราการ 40,868 คน ตาก 38,940 คน และเชียงใหม่ 36,075 คน ขณะที่ประเภทธุรกิจที่มีการยื่นขอมากที่สุดได้แก่ กิจการก่อสร้าง 181,772 คน ตามมาด้วยกิจการเกษตรและปศุสัตว์ 170,854 คน กิจการผลิตหรือจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 70,384 คน กิจการให้บริการต่าง ๆ ยกเว้นกิจการรับเหมา 58,914 คน และผู้รับใช้ในบ้าน 51,512 คน
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า หลังจากนายจ้างยื่นแบบคำขอจ้างคนต่างด้าวดังกล่าวแล้ว จะเป็นการคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้างว่าทำงานด้วยกันจริงหรือไม่ ตรวจสอบหลักฐานที่ยื่นถูกต้องหรือไม่ ลูกจ้างมีอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งผู้ผ่านการคัดกรองจะได้รับหนังสือรับรองเพื่อไปตรวจสัญชาติต่อไป สำหรับการตรวจสัญชาตินั้น ก็ได้รับความร่วมมือที่ดีจากประเทศต้นทางคือ เมียนมา ซึ่งมีศูนย์ตรวจสัญชาติในไทยแล้ว 6 ศูนย์ 5 จังหวัด คือ สมุทรสาคร 2 ศูนย์ สมุทรปราการ เชียงราย ตาก และระนอง จังหวัดละ 1 ศูนย์ แต่ขณะนี้ทางการเมียนมาแจ้งว่าจะเปิดเพิ่มอีก 3 จังหวัดคือ เชียงใหม่ นครสวรรค์ และสงขลา ขณะเดียวกันทางการกัมพูชาก็จะตรวจสัญชาติในประเทศไทยเช่นกัน 3 จังหวัดคือ ระยอง สงขลา และกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเป็นการดำเนินการในรูปแบบ One Stop Service (OSS) ตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยภายในศูนย์ OSS จะมีทางการเมียนมาตรวจสัญชาติออกเอกสารรับรองบุคคล (CI) ทางการกัมพูชาออกเอกสารเดินทาง (TD) ตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตราวีซ่า สาธารณสุข ตรวจโรค และทำประกันสุขภาพ กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงาน โดยจะแล้วเสร็จภายใน 1 วัน แรงงานสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องทันที ส่วนลาวต้องเดินทางกลับประเทศแล้วกลับเข้ามาทำงานตามระบบ MOU
 
 
แจ้งจับโฆษณารับนำเข้า "ต่างด้าวเถื่อน" มาทำงานในไทยผ่านไลน์
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีมีการโฆษณานำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยแบบผิดกฎหมาย ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โดยระบุข้อความ "โปรแรง "MOU" กัมพูชา!! มีแค่..พาสปอร์ตท่องเที่ยวเอามาทำใบอนุญาตทำงาน...ให้ถูกต้องได้" เสียค่าใช้จ่ายเพียง 15,900 บาทต่อคน ว่า จากการสืบสวนและตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน พบว่า การโฆษณาดังกล่าว ผู้โฆษณาไม่ได้เป็นผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศแต่อย่างใด ซึ่งฝ่าฝืนมาตรา 25 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ข้อหา ห้ามผู้ใดโฆษณานำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ เว้นแต่เป็นผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงาน มีโทษตามมาตรา 104 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดินแดงแล้ว
 
นายวรานนท์ กล่าวว่า คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 33/2560 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ผ่อนผันบทกำหนดโทษ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ใน 4 มาตรา คือ 101 102 119 และ 122 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป ดังนั้น ความผิดตามมาตราอื่นๆ ที่ พ.ร.ก. กำหนด จะมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งหากผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนจะต้องบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเดือดร้อนต้องสูญเสียเงินให้กับการโฆษณาในครั้งนี้ สามารถร้องทุกข์ได้ที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 0 2248 4792 ,0 2245 6763 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
 
 
เผย 4 วัน แรงงานต่างด้าวผ่านการคัดกรองกว่า 9 หมื่นคน ขณะที่ 1,600 คนไม่ผ่าน เหตุไม่มีความสัมพันธ์การเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างก่อน 23 มิ.ย.
 
นายวรานนท์  ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พล.อ. ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน มีความห่วงใยกรณีสาธารณชนเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับขั้นตอนและความจำเป็นในการพิสูจน์คัดกรองแรงงานต่างด้าวที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ว่า การคัดกรองดังกล่าวจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อความรอบคอบ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้มีการขนคนเข้ามาใหม่ โดยคัดกรองเพื่อตรวจสอบเรื่องความสัมพันธ์ในการเป็นนายจ้าง ลูกจ้างจริง เป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานอยู่กับนายจ้างก่อนวันที่ 23 มิ.ย. 2560 มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายหรือไม่ เช่น ใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี การใช้แรงงานบังคับ ใช้แรงงานเด็กอายุ 15-18 ปีในงานที่เป็นงานห้าม รวมทั้งกรณีอายุเกิน 55 ปี
 
"หากพิจารณาไม่รอบคอบจะมีผลเสียตามมา อาทิ มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ซึ่งผิดกฎหมาย และอาจนำไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานได้ ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะนายจ้างหรือสถานประกอบการ ขอให้ทุกฝ่ายอดทนและร่วมมือกันเพื่อให้เป็นที่ยอมรับกับประเทศคู่ค้าในสายตาประชากรโลกว่าประเทศไทยมีการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวตามมาตรฐานสากล" นายวรานนท์ กล่าว
 
นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า การพิจารณาดังกล่าวนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยแล้วยังเป็นประโยชน์ต่อการพิสูจน์สัญชาติของประเทศต้นทางที่ให้ความร่วมมือในช่วงที่ผ่านมาอย่างดียิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาที่หมักหมมมานาน การทำงานย่อมเกิดปัญหาความไม่สะดวกได้ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้มีการสรุปปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดความสะดวกแก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าวเป็นระยะ ซึ่งจากการพิสูจน์คัดกรอง 4 วันที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีนายจ้างผ่านการคัดกรองกว่า 28,000 ราย แรงงานต่างด้าวผ่านการคัดกรองกว่า 90,000 คน ไม่ผ่านการคัดกรองกว่า 1,600 คน เนื่องจากไม่มีความสัมพันธ์การเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างก่อนวันที่ 23 มิ.ย. 2560 และขาดคุณสมบัติด้านอายุ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเชื่อมโยงในการใช้แรงงานเด็กและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
 
 
รายงานชี้ไทยแก้ปัญหาทาสยุคใหม่ดีขึ้น แต่ EU แย่ลง
 
ผลการจัดอันดับดัชนีทาสยุคใหม่ (Modern Slavery Index หรือ MSI) ประจำปี 2017 จัดทำโดยบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลจากอังกฤษ 'วีริสค์ เมเปิลครอฟท์' ซึ่งเป็นการสำรวจและประเมินสถานการณ์ด้านแรงงานใน 198 ประเทศทั่วโลกตลอดปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนประชากรที่ถูกบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส หรือที่เรียกกันว่า 'ทาสยุคใหม่' มีประมาณ 21 ล้านคนทั่วโลก และนักวิจัยอาวุโสฝ่ายสิทธิมนุษยชนของบริษัทวีริสค์ เมเปิลครอฟท์ กล่าวเตือนว่าวิกฤตผู้อพยพในยุโรปส่งผลให้เกิดปัญหาทาสยุคใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
 
สมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู รวม 5 ประเทศ ได้แก่ โรมาเนีย กรีซ อิตาลี ไซปรัส และบัลแกเรีย เป็นประเทศที่พบทาสยุคใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุด เนื่องจากผู้อพยพจำนวนมากจากทั่วโลกเลือกที่จะเดินทางโดยเรือมาขึ้นฝั่งที่ 5 ประเทศเหล่านี้ โดยมีความหวังว่าจะยื่นเรื่องขอความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัยได้ง่ายกว่าการเดินทางไปยังประเทศอื่นๆ แต่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเหล่านี้มักจะตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์และผู้ที่ต้องการเอาเปรียบแรงงานด้วยการกดค่าแรงขั้นต่ำ
 
ผลสำรวจจากดัชนีเอ็มเอสไอบ่งชี้ว่านายหน้าค้ามนุษย์ลักลอบนำแรงงานทาสยุคใหม่เข้าไปยังประเทศสมาชิกอียูอื่นๆ ด้วย ทำให้สถานการณ์ด้านแรงงานใน 20 ประเทศสมาชิกอียูมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ไม่เว้นแม้แต่เยอรมนี อังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก และฟินแลนด์ ซึ่งมีนโยบายปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เข้มแข็งติดอันดับต้นๆ ของโลก ส่วนอินเดียและไทยเป็น 2 ประเทศที่มีความคืบหน้าในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทาสยุคใหม่ 'มากที่สุด' เพราะมีการเร่งปราบปรามและออกมาตรการป้องกันการใช้แรงงานทาสยุคใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่พ้นจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงด้านการใช้แรงงานทาสยุคใหม่อยู่ดี แต่กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเกือบทั้งหมดติดอยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน
 
ก่อนหน้านี้ องค์กรระหว่างประเทศ 'วอล์ค ฟรี ฟาวเดชั่น' ได้เผยแพร่รายงานสำรวจสถานการณ์แรงงานทั่วโลกเช่นกัน โดยในส่วนของประเทศไทยมีความคืบหน้าขึ้น โดยเฉพาะการออกกฎหมายป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานอย่างเป็นรูปธรรม แต่ยังมีทาสยุคใหม่ในประเทศไทยอยู่อีกประมาณ 4 แสน 2 หมื่น 5 พันคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติที่อยู่ในอุตสาหกรรมประมงและก่อสร้าง ส่วนแรงงานผู้หญิงซึ่งทำหน้าที่แม่บ้านหรือพนักงานร้านอาหารหรือร้านคาราโอเกะ มักถูกบังคับใช้แรงงานภายใต้เงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม ทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกล่อลวงและถูกหาประโยชน์ทางเพศ รวมถึงถูกบังคับให้ค้าประเวณี นอกจากนี้ยังพบว่า เยาวชนชายจำนวนมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกชักจูงไปเป็นทหารเด็กให้กับกลุ่มก่อเหตุที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
 
ส่วนข้อเสนอแนะที่วอล์คฟรีฟาวเดชั่นมีต่อรัฐบาลไทย ได้แก่ การเพิ่มความจริงจังในการคุ้มครองผู้ตกเป็นเหยื่อการใช้แรงงานทาสยุคใหม่ รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการสอบสวนและดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขบวนการเหล่านี้โดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าผู้ก่อเหตุจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอิทธิพลทางสังคม ที่สำคัญคือรัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ค.ศ.1951 เพื่อคุ้มครองผู้อพยพหรือผู้ยื่นเรื่องขอลี้ภัยในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ตกเหยื่อการใช้แรงงานทาสยุคใหม่มากที่สุด
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สั่งสอบ อปท.ใช้งบขนคนเชียร์ 'ยิ่งลักษณ์'

Posted: 12 Aug 2017 04:00 AM PDT

รมว.มหาดไทย สั่งตรวจสอบ 'อปท.' ใช้งบประมาณขนคนเชียร์  'ยิ่งลักษณ์' หลัง 'สตง.' ระบุว่าตรวจสอบพบอ้างจะพาชาวบ้านไปทำกิจกรรมอื่นแต่พาไปที่หน้าศาล แต่ไม่เปิดเผยรายละเอียดว่าเป็นพื้นที่ใด ระบุแจ้งเตือนไปแล้วเพื่อไม่ให้ทำอีกในวันที่ 25 ส.ค.นี้

 
12 ส.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เสนอให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยอ้างพบใช้งบส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการนำประชาชนมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะมีคำพิพากษาคดีโครงการรับจำนำข้าว ในวันที่ 25 ส.ค. นี้ว่า ได้มีการตรวจสอบดูแล้ว และได้มีการกำชับในเรื่องการใช้งบให้เป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับทุกประการ
 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าจากกรณีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใช้งบประมาณเพื่อนำประชาชนเดินทางไปให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตจำนำข้าว นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในฐานะกำกับดูแล อปท.ได้มีการตรวจสอบแล้ว แต่ขอเวลาในการดำเนินการก่อน เนื่องจากข้อมูลจาก สตง.ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ใด พร้อมกำชับข้าราชการในส่วนของ อปท.แต่ละพื้นที่ให้ใช้งบประมาณไปในทางที่ถูกต้องและเหมาะสม
       
ทั้งนี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า ข้อมูล อปท.ใช้งบประมาณขนมวลชนไปให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น ได้มาจากญาติของคนที่ถูกพาไปที่หน้าศาลฎีกาครั้งที่ผ่านมา โดยคนที่นำมาได้อ้างว่าจะพามาทำกิจกรรมอื่น แต่เมื่อไปถึงกลายเป็นไปให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามี อปท.ที่ดำเนินการลักษณะนี้หลายจังหวัด แต่ขอไม่เปิดเผยรายละเอียดว่าเป็นพื้นที่ใด แต่ได้แจ้งเตือนไปแล้วเพื่อไม่ให้ทำอีกในวันที่ 25 ส.ค.นี้ ส่วนที่เกิดขึ้นแล้ว สตง.จะตรวจสอบเพื่อเรียกงบประมาณส่วนนั้นคืน รวมถึงดำเนินคดีทางอาญาต่อไป 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จี้รัฐต้องไม่ทำให้วัคซีนมะเร็งปากมดลูกเป็นแค่อุปาทานหมู่

Posted: 12 Aug 2017 03:33 AM PDT

เครือข่ายสุขภาพผู้หญิง จ.เชียงใหม่ จี้รัฐต้องไม่ทำให้วัคซีนมะเร็งปากมดลูกเป็นแค่อุปาทานหมู่

 
 
กาญจนา แถลงกิจ ผู้ประสานงานเครือข่ายสุขภาพผู้หญิง จ.เชียงใหม่
 
ตามที่เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2560 จากข่าวในสื่อสารมวลชนต่าง ๆ มีการรายงานความผิดปกติของนักเรียนหญิงจำนวน 11 คนของโรงเรียนบ้านกร่าง ต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก หลังได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV Vaccine) โดยพบอาการแน่นหน้าอก ใจสั่น หายใจไม่ทั่วท้อง และไม่มีแรง จนต้องนำส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลพุทธชินราชจำนวน 3 ราย ต่อมารองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงในวันเดียวกันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดอาการแพ้จากการฉีดวัคซีน แต่เกิดจากการกลัวการฉีดยาจึงเกิดเป็นอุปาทานหมู่ หากแพ้วัคซีนจริงจะต้องมีอาการไข้หรือมีผื่นขึ้นร่วมด้วย และได้มีการฉีดวัคซีนมาแล้วกว่า 20,000ราย โดยไม่พบการรายงานผู้แพ้วัคซีนแต่อย่างใด
 
เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2560  เครือข่ายสุขภาพผู้หญิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ทำงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศกับผู้หญิงเห็นว่า จากกรณีดังกล่าวภาครัฐไม่ควรรีบด่วนสรุปว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเรื่องอุปาทานหมู่แล้วไม่มีการให้ข้อมูลทางวิชาการใดๆ เพิ่มเติม เนื่องจากมีข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันได้ว่าอาการหายใจลำบาก ใจสั่น และหลอดลมหดเกร็ง (Bronchospasm) นั้นเป็นอาการข้างเคียงที่อาจพบได้จากการได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก แม้จะมีโอกาสพบน้อยมากคือประมาณน้อยกว่า 1 รายใน 10,000 คนก็ตาม แต่ภาครัฐโดยกรมควบคุมโรคต้องให้ความสำคัญกับการสอบสวนความผิดปกติที่เกิดจากการใช้วัคซีนตามมาตรฐานการปฏิบัติงานของหน่วยงาน พร้อมทั้งนำเสนอกระบวนการสอบสวนและผลการสอบสวนต่อสาธารณะอีกครั้ง 
 
เครือข่ายพ่อแม่วัยรุ่นกลุ่มวัยใส ต.ดอนแก้ว อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ทำกิจกรรมค่ายครอบครัวพูดเรื่องเพศเชิงบวกกับลูก ได้แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมาประชาชนมีข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกน้อยมาก ไม่ทราบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ครอบคลุมแค่ไหนในระยะเวลาเท่าไหร่ หากนักเรียนผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาแล้ววัคซีนจะยังได้ผลหรือไม่ ผลกระทบหรืออาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดจากการรับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเป็นอย่างไรบ้าง ช่วงอายุที่เหมาะสมในการรับวัคซีน หากคนที่อายุมากกว่านี้สนใจจะฉีดวัคซีนบ้างต้องมีค่าใช่จ่ายเท่าใด ฯลฯ 
 
ดังนั้น จึงอยากให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐและโรงเรียนควรมีกิจกรรมส่งเสริมให้ความรู้ ในกลุ่มผู้ปกครองและเด็กหญิงที่จะต้องรับรู้ข้อมูลและเงื่อนไขต่างๆ ก่อนลงชื่อยินยอมให้ลูกหลานเข้ารับการฉีดวัคซีน และต้องมีกลไกติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของกลุ่มนักเรียนภายหลังจากการฉีดวัคซีนด้วย
 
ด้าน น.ส.กาญจนา แถลงกิจ ผู้ประสานงานเครือข่ายสุขภาพผู้หญิง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าแม้โครงการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกดังกล่าวจะเป็นนโยบายของรัฐในการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมนักเรียนหญิง ป.5 ทุกคน โดยเริ่มฉีดเข็มแรกตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2560 เป็นต้นไปโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่กระทรวงสาธารณสุขต้องตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพเป็นหลัก ต้องมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงหรือผลกระทบที่อาจเกิดจากการฉีดวัคซีน รวมทั้งต้องมีกลไกระบบสอบสวนโรคที่ชัดเจน โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเพราะเป็นผลิตภัณฑ์เกิดใหม่ต้องมีการติดตามและรายงานผลต่อสาธารณะ การที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรครีบออกมาชี้แจงโดยมิได้รายงานผลการสอบสวนร่วมด้วย อาจเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและยิ่งจะก่อผลเสียและสร้างความเข้าใจผิดให้กับสังคมโดยรวม ผลข้างเคียงไม่ใช่อุปทานหมู่ในกรณีการฉีดวัคซีนต้องแยกแยะให้สังคมเข้าใจด้วย
 
ทั้งนี้ผู้ประสานงานเครือข่ายสุขภาพผู้หญิง จ.เชียงใหม่ มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า นโยบายการฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนเป็นโยบายที่ดีเพราะเด็กหญิงวัยรุ่นในต่างประเทศก็ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงในหลายๆประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงควรใช้โอกาสนี้สร้างความร่วมมือกับโรงเรียนในการเปิดพื้นที่ให้มีกิจกรรมให้ความรู้เรื่องมะเร็งปากมดลูกและการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างรอบด้านร่วมกับครูในโรงเรียน ผู้ปกครอง และนักเรียน เช่น วิธีการป้องกัน โอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีอันเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก รวมไปถึงต้องให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในอนาคต เพราะวัคซีนที่ฉีดให้นั้น เป็นเพียงการลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ 2 สายพันธุ์เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ เงื่อนไขตรงนี้ต้องมีหน่วยงานรัฐเข้ามาสร้างเข้าใจให้กระจ่างโดยเร็ว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การบินไทย ไตรมาส 2 ขาดทุนกว่า 5 พันล้าน เหตุแข่งขันรุนแรง

Posted: 12 Aug 2017 01:51 AM PDT

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ประจำปี 2560 พบว่า ขาดทุนจากการดำเนินงานธุรกิจการบิน จำนวน 1,542 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 13.5% สาเหตุหลักมาจากค่าน้ำมันเครื่องบินที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่สูงกว่าปีก่อน 20.1% ประกอบกับรายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วยต่ำกว่าปีก่อน 10.9% จากการแข่งขันที่รุนแรงและการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมัน ถึงแม้ว่าจะมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารสูงสุดในรอบ 10 ปี ก็ตาม  ทั้งนี้ เมื่อหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ผลขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงส่วนได้เสียในเงินลงทุนในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) การด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินและขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแล้ว บริษัทฯ ขาดทุนสุทธิ 5,208 ล้านบาท

อุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 2 บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนปฏิรูปองค์กรระยะที่  3 "การเติบโตอย่างยั่งยืน" ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ทำให้ไตรมาสนี้ ซึ่งปกติเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว บริษัทฯ มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนถึง 21.9% โดยมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร  เพิ่มขึ้น 7.1% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร เฉลี่ย 78.5% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเท่ากับ 69.0% ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี 

ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในไตรมาส 2 ของปี 2560 บริษัทฯ ขาดทุนจากการดำเนินงานลดลงจากปีก่อน 13.5% มีรายได้รวมทั้งสิ้น 45,182 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนประมาณ 9.6% สาเหตุสำคัญเนื่องจากรายได้จากค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกินเพิ่มขึ้นจากปริมาณการขนส่งผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น สาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากการซ่อมบำรุงของฝ่ายช่างเพิ่มขึ้น ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวม 46,724 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6% เนื่องจากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 527 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมค่าน้ำมันเพิ่มขึ้น 3,390 ล้านบาท 

ขณะที่เมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง เพิ่งออกประกาศ เรื่อง การกู้เงิน ประจําปีงบประมาณ  2560 ให้แก่บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ รวม 3 งวด เป็นเงิน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 5,291,140,000 บาท (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น