โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

จอร์แดนแก้กฎหมาย-ทำให้ผู้ก่อเหตุข่มขืนไม่สามารถพ้นผิดด้วยวิธีแต่งงานอีกต่อไป

Posted: 02 Aug 2017 11:57 AM PDT

มีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืนในจอร์แดน จากที่ก่อนหน้านี้ผู้ก่อเหตุข่มขืนจะได้รับการเว้นโทษหากแต่งงานกับเหยื่อ ล่าสุดสภาของจอร์แดนลงมติให้แก้กฎหมายโดยตัดเนื้อหาเรื่องการเว้นโทษออกไป นับเป็นความก้าวหน้าอีกก้าวหนึ่งในเรื่องความเป็นธรรมทางเพศในภูมิภาคอาหรับ

ผู้ประท้วงหน้ารัฐสภาจอร์แดนเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 (ที่มาของภาพประกอบ: Alghad.com)

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2560 รัฐสภาประเทศจอร์แดนลงมติให้มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืน จากเดิมที่มีการอนุญาตให้ผู้ก่อเหตุพ้นโทษได้ถ้าหากแต่งงานกับเหยื่อ กลายเป็นตัดบทเฉพาะการข้อนี้ทิ้งหมายความว่าจะไม่มีการอนุโลมให้ผู้ก่อเหตุหากแต่งงานกับเหยื่อที่ถูกข่มขืนอีกต่อไป โดยเรื่องนี้นักกิจกรรมและชาวจอร์แดนต่างก็มองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย "ครั้งประวัติศาสตร์" ในพื้นที่ที่มีการกดขี่ทางเพศมานาน

เซลมา นิมส์ เลขาธิการคณะกรรมการเพื่อผู้หญิงแห่งชาติจอร์แดนซึ่งเป็นองค์กรกึ่งรัฐกึ่งเอกชนกล่าวให้สัมภาษณ์ต่ออัลจาซีราว่ามันเป็นประวัติศาสตร์ไม่แต่เฉพาะกับจอร์แดนแต่สำหรับภูมิภาคอาหรับ นิมส์บอกอีกว่าที่พวกเขาสำเร็จในการแก้กฎหมายนี้เนื่องมาจากความพยายามของภาคประชาสังคม และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและด้านสิทธิสตรี

เนื้อหาในประมวลกฎหมายอาญาของจอร์แดน มาตรา 308 อนุญาตให้อภัยโทษแก่ผู้ก่อเหตุข่มขืนได้ถ้าหากผู้ก่อเหตุแต่งงานกับเหยื่อและอยู่กินด้วยกันอย่างน้อยเป็นเวลา 3 ปี กฎหมายฉบับนี้สร้างข้อถกเถียงขึ้น ขณะที่บางคนมองว่ามันจำเป็นสำหรับการปกป้อง "ศักดิศรี" ของผู้หญิง แต่บางคนก็มองว่ามันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ต้องให้เหยื่อที่ถูกข่มขืนมาอยู่กินกับคนที่ทำร้ายเขาหรือเธอมาก่อนเช่นนี้

นักกิจกรรมหลายร้อยคนปักหลักประท้วงอยู่หน้าอาคารรัฐสภาในวันอังคารที่ผ่านมา (1 ส.ค.) เพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกบทเฉพาะกาลที่ปกป้องคนก่อเหตุผ่านการแต่งงานโดยสิ้นเชิง นิมส์เปิดเผยว่าก่อนหน้าการลงมติมีสภาชิกรัฐสภาบางส่วนที่คัดค้านการแก้ไขกฎหมายนี้ แต่ในที่สุดข้อเรียกร้องของพวกเขาก็ประสบความสำเร็จในประเด็นนี้ อย่างไรก็ตาม นิมส์มองว่ายังต้องมีการแก้ไขกฎหมายยกชุดเพื่อทำให้สถานภาพของผู้หญิงในจอร์แดนดีขึ้นรวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้หญิง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนักการเมืองตูนีเซียก็เพิ่งจะยกเลิกการอภัยโทษผู้ก่อเหตุข่มขืนด้วยการแต่งงานเช่นกัน รวมถึงจัดให้การใช้ความรุนแรงในครอบครัวถือเป็นอาชญากรรมด้วย

คาเล็ด รอมฎอน หนึ่งในสมาชิกรัฐสภาผู้ผลักดันให้มีการแก้กฎหมายนี้ในจอร์แดนกล่าวแสดงความยินดีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เอื้อต่อความเท่าเทียมระหว่างเพศมากขึ้นหลังจากที่กฎหมายนี้มีอยู่มานานถึง 57 ปี มีการถกเถียงถึงกฎหมายนี้มานานหลายสิบปีแล้ว พวกเขาเคารพความคิดเห็นจากทุกมุมมองอย่างไรก็ตามการแก้ไขกฎหมายนี้ได้รับการสนับสนุนจากชาวจอร์แดน มันเป็นการส่งสารถึงคนก่อเหตุข่มขืนว่าอาชญากรรมของพวกเขาจะไม่ถูกมองข้าม

อัสมา คาเดอร์ ทนายความและนักกิจกรรมด้านสิทธิสตรีกล่าวถึงกระบวนการต่างๆ ก่อนหน้าการลงมติในครั้งนี้ว่าองค์กรด้านสตรีต้องพยายามให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับ ส.ส. หลายคน เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องเหยื่อข่มขืน คาเดอร์บอกอีกว่าเดิมทีกฎหมายให้อภัยคนข่มขืนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของตรรกะหรือเหตุผลทางกฎหมาย มันไม่มีความชอบธรรมใดๆ เลยทั้งทางวัฒนธรรม ทางความรู้ หรือการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล

อมานี ริซค์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์กรเพื่อความเท่าเทียมทางเพศจากสวีเดน มูลนิธิควินนาทิลควินนา ซึ่งทำงานในจอร์แดนกล่าวว่า แม้จะประสบความสำเร็จในด้านการเปลี่ยนแปลงกฎหมายซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญด้านกระบวนการยุติธรรม แต่ก็ควรจะต้องทำงานกันต่อไปเพื่อคุ้มครองเหยื่อที่ถูกข่มขืนในแบบที่รอบด้านด้วย เช่นเรื่องการเหยียดเหมารวม การกีดกันทางสังคม หรือการตีตราหยื่อที่ถูกข่มขืน ซึ่งมาพร้อมกับบาดแผลของพวกเธอ โดยเฉพาะถ้าเหยื่อท้องควรต้องมีการคุ้มครองที่ส่งผลในเชิงปฏิบัติด้วย

เรียบเรียงจาก

'Historic day' as Jordanian parliament repeals rape law, Aljazeera, 02-08-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูนิเซฟชี้ขาดลงทุนเพื่อส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ส่งผลกระทบต่อแม่และเด็กทั่วโลก

Posted: 02 Aug 2017 11:14 AM PDT

ผลการวิเคราะห์ชิ้นใหม่บ่งชี้ว่าการลงทุน 4.70 เหรียญสหรัฐต่อเด็กแรกเกิดหนึ่งคนก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 

2 ส.ค. 2560 รายงานข่าวจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยแจ้งว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา รายงานชิ้นใหม่จากความร่วมมือของยูนิเซฟ องค์การอนามัยโลก (WHO) และกลุ่มผู้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั่วโลก (Global Breastfeeding Collective – โครงการใหม่ที่ริเริ่มขึ้นเพื่อเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั่วโลก) ระบุว่าไม่มีประเทศใดเลยที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน

การวัดผลด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั่วโลก (Global Breastfeeding Scorecard) ซึ่งมีการจัดทำใน 194 ประเทศพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่ได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก  และประเทศที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเกินร้อยละ 60 มีเพียงร้อยละ 23 เท่านั้น (สำหรับประเทศไทย ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ด้วยการสนับสนุนจากยูนิเซฟ พบว่ามีเด็กเพียงร้อยละ 23 ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก)

งานวิจัยและการศึกษาทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์ทางด้านสุขภาพและสติปัญญาต่อทั้งทารกและผู้เป็นแม่โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต โดยจะช่วยป้องกันโรคท้องร่วงและปอดบวมซึ่งเป็นสองสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของทารก นอกจากนี้ แม่ที่ให้ลูกกินนมจะมีความเสี่ยงน้อยลงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ อันเป็นสองสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของสตรี

ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า "การให้ลูกกินนมแม่เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่สุดในชีวิตของทารก นมแม่เปรียบเสมือนวัคซีนแรกที่จะช่วยป้องกันโรคร้ายแรงต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับทารก ทั้งยังให้สารอาหารครบถ้วนที่ทารกต้องการในการรอดชีวิตและเติบโต" 

การวัดผลดังกล่าวถูกเผยแพร่ในช่วงต้นสัปดาห์นมแม่โลก (World Breastfeeding Week) ซึ่งตรงกับวันที่ 1-7 สิงหาคม พร้อมกับผลการวิเคราะห์ชิ้นใหม่ที่ระบุว่า การลงทุนเพียง 4.70 เหรียญสหรัฐต่อปีต่อเด็กแรกเกิดหนึ่งคน จะช่วยเพิ่มอัตราการให้นมแม่อย่างเดียวแก่เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนทั่วโลกได้ถึงร้อยละ 50 ในปี 2568   

บทความเรื่อง ดูแลสุขภาพและความมั่งคั่งของชาติ: ความจำเป็นของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  (Nurturing the Health and Wealth of Nations: The Investment Case for Breastfeeding) ชี้ว่าการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจะสามารถช่วยชีวิตเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีได้ 520,000 คน และสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจมูลค่าถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐในระยะเวลากว่า 10 ปี โดยเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บที่ลดลงและผลิตผลที่เพิ่มขึ้น

แอนโทนี่ เลค ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า "การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นการลงทุนเพื่อสุขภาพของเด็กที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุดวิธีหนึ่ง รวมทั้งเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตทางเศรษฐกิจและสังคม หากเราไม่ลงทุนด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็เท่ากับเราทอดทิ้งแม่และเด็ก ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียเป็นสองเท่า คือทั้งในแง่การเสียชีวิตและการเสียโอกาส" 

ในกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดของโลก 5 ประเทศได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก และไนจีเรียนั้น การขาดการลงทุนเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ส่งผลให้มีเด็กเสียชีวิต 236,000 คนต่อปีโดยประมาณ และมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 1.19 แสนล้านเหรียญสหรัฐ  

การลงทุนเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั่วโลกยังมีอัตราต่ำเกินไป รัฐบาลในกลุ่มประเทศรายได้น้อยถึงปานกลางมีการใช้จ่ายในโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประมาณ 250 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี พร้อมด้วยเงินบริจาคเพิ่มเติมอีกเพียง 85 ล้านเหรียญสหรัฐ 

กลุ่มผู้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั่วโลกได้เรียกร้องให้นานาประเทศดำเนินการดังต่อไปนี้

  • ระดมทุนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มอัตราการกินนมแม่ของเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 2 ปี
  • ดำเนินการที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารเสริมและอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast-milk Substitutes) รวมทั้งมติที่เกี่ยวข้องจากการประชุมสมัชชาสุขภาพโลก (World Health Assembly) ผ่านการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมาย อย่างจริงจัง โดยมีองค์กรที่เป็นอิสระจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ใดๆ เป็นผู้ตรวจสอบ
  • ออกนโยบายต่างๆ รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการให้นมลูกในสถานที่ทำงานและการลากิจแบบจ่ายเงิน ตามแนวทางการคุ้มครองความเป็นมารดาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และข้อกำหนดต่างๆ ของแรงงานนอกระบบ
  • นำ 10 ขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปปฏิบัติใช้ในสถานที่ดูแลแม่และเด็ก รวมทั้งการให้นมแม่แก่เด็กแรกเกิดที่ป่วยและอ่อนแอ
  • ปรับปรุงเรื่องการเข้าถึงคำปรึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และนำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายและโครงการด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ครอบคลุมภายในสถานดูแลสุขภาพต่างๆ 
  • เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานดูแลสุขภาพและชุมชนให้แข็งแกร่ง ตลอดจนสนับสนุนเครือข่ายชุมชนที่คุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  • พัฒนาระบบการตรวจสอบเพื่อติดตามความก้าวหน้าของนโยบาย โครงการ และเงินทุนเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก 

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนต่างๆ (Sustainable Development Goals: SDGs) ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงด้านโภชนาการ (เป้าหมาย #2) การป้องกันการเสียชีวิตในเด็กและลดความเสี่ยงของกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (เป้าหมาย #3) หรือการสนับสนุนด้านการศึกษาและพัฒนาการทางสติปัญญา (เป้าหมาย #4) นอกจากนี้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังมีบทบาทสำคัญต่อการยุติความยากจน ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ และลดปัญหาความไม่เสมอภาคต่างๆ อีกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปอ.โต้คอลัมนิสต์เดลินิวส์ ยันไร้ใบสั่งจัดต้านแก้ ก.ม.บัตรทอง

Posted: 02 Aug 2017 11:02 AM PDT

คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ แถลงโต้ "ดินสอโดม" คอลัมนิสต์ในเดลินิวส์ หลังลงข้อความในลักษณะที่ชวนให้เข้าใจได้ว่างานเสวนาที่ คปอ. จัดขึ้น เป็นของ นพ.วินัย สวัสดิวร อดีตเลขาธิการ สปสช. เพื่อต้านการแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ

คอลัมน์ "คนหน้า 5" โดย "ดินสอโดม" ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์  24 ก.ค.60

2 ส.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ข้อเท็จจริงที่คลาดเลื่อนในคอลัมน์ "คนหน้า 5" หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 24 ก.ค. 2560 แถลงการณ์ ระบุว่า หลังจากที่ คปอ. ได้จัดเสวนา "จากบัตรทองสู่บัตรอนาถา? ปัญหาและทางออกของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค" ขึ้น เมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) ปรากฎว่าเมื่อวันจันทร์ที่ 24 ก.ค.60 คอลัมน์ "คนหน้า 5" โดย "ดินสอโดม" ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้ลงข้อความในลักษณะที่ชวนให้เข้าใจได้ว่างานดังกล่าวจัดขึ้นโดย นพ.วินัย สวัสดิวร อดีตเลขาธิการ สปสช. เพื่อต้านการแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

คปอ. ชี้แจงว่า นพ.วินัย ไม่ได้อยู่เบื้องหลังการจัดงานเสวนาดังกล่าว แต่งานนี้เป็นการจัดร่วมกันระหว่างพรรคใต้เตียง มธ. ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คปอ. ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมที่เคยจัดเสวนาในประเด็นต่าง ๆ มาหลายครั้ง เช่น เสรีภาพทางศาสนา สวัสดิการการศึกษา สิทธิคนหลากหลายทางเพศ สิทธิแรงงาน ประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นต้น ซึ่งในการจัดงานทุกครั้ง คปอ. เป็นฝ่ายเลือกวิทยากรเองจากการปรึกษากันในกลุ่ม โดยไม่มีอิทธิพลจากภายนอกแทรกแซงแต่อย่างใด

คปอ. ชี้แจงด้วยว่า จุดมุ่งหมายของงานนี้คือเพื่อกล่าวถึงปัญหาที่พบในการดำเนินโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคตลอด 15 ปีที่ผ่านมา และเสนอทางออกร่วมกันเพื่อช่วยให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายั่งยืนต่อไป การตั้งชื่องานว่า "จากบัตรทองสู่บัตรอนาถา?" นั้นจงใจใส่เครื่องหมายคำถามไว้ เพื่อตั้งคำถามว่าการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จะทำให้บัตรทองกลายเป็นบัตรอนาถาจริงอย่างที่ฝ่ายคัดค้านวิจารณ์หรือไม่ ซึ่งอาจไม่จริงก็ได้ ในการนี้ คปอ. ไม่เพียงติดต่อผู้คัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ. นี้มาเป็นวิทยากรเท่านั้น แต่ยังติดต่อผู้สนับสนุนการแก้ไข พ.ร.บ. นี้อีกหลายท่าน ทั้งแพทย์ องค์กรแพทย์ และนักวิชาการ ทั้งทางโทรศัพท์และทางจดหมาย แต่ก็ไม่มีผู้ใดตอบรับ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวิทยากรทุกคนจะสนับสนุนให้ดำเนินโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคต่อไป แต่ในงานก็ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ นำเสนอปัญหาที่พบอย่างเข้มข้น รวมทั้งเสนอแนะทางแก้ต่าง ๆ ไว้ด้วย

โดยสรุป งานเสวนา "จากบัตรทองสู่บัตรอนาถา? ปัญหาและทางออกของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค" ไม่ได้จัดขึ้นเพื่อต้านการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 แต่จัดขึ้นเพื่อนำเสนอปัญหาที่พบและเสนอทางออกร่วมกัน ยิ่งไปกว่านั้นคืองานนี้ไม่ได้จัดโดย นพ.วินัย สวัสดิวร แต่จัดร่วมกันระหว่างกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกลุ่มนักกิจกรรม โดยเชิญ นพ.วินัย เป็นวิทยากร

"ขอชี้แจงข้อเท็จจริงข้างต้นไปยัง "ดินสอโดม" ผู้เขียนคอลัมน์ "คนหน้า 5" ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ทาง คปอ. หวังว่าท่านจะตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถูกต้องก่อนเขียนคอลัมน์พาดพิงผู้อื่นในอนาคต หากมีข้อสงสัยประการใดท่านสามารถตรวจสอบข้อมูลและติดต่อคณะผู้จัดได้ทางเฟซบุ๊ค โทรศัพท์ถึงวิทยากรด้วยตนเอง หรือจะสอบถามนักข่าวที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ของท่านส่งมาทำข่าวงานเสวนาครั้งนี้ก็ได้" แถลงการณ์ของ คปอ. ระบุตอนท้าย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อาจารย์แพทย์ มข. ย้ำล้างไต 'บัตรทอง' เน้นเข้าถึง แม้ถูกเปรียบเป็นเสื้อโหล ก็ดีกว่าไม่มีให้ใส่

Posted: 02 Aug 2017 06:01 AM PDT

อาจารย์คณะแพทย์ ม.ขอนแก่นชี้ล้างไตทางช่องท้องช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการ-ลดภาวะล้มละลายทางการเงิน แม้เปรียบเหมือนเสื้อโหลก็ดีกว่าไม่มีใส่เลย ย้ำระยะแรกต้องเน้นการเข้าบริการถึงก่อน ถัดไปค่อยปรับแนวทางการรักษาให้เหมาะกับเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

2 ส.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ในระยะที่ผ่านมามีนักวิชาการบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในเรื่องการบริหารจัดการที่ให้ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพได้เหมือนกันหมด เช่น ซื้อยาแบบเหมาโหลให้คนไข้ ทำให้ได้ผลการรักษาที่ไม่ดี เปรียบเสมือนซื้อเสื้อโหล ไม่ยอมตัดให้เหมาะกับแต่ละคน

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองส่วนตัวคิดว่าการมีเสื้อโหลก็ยังดีกว่าการไม่มีเสื้อใส่เลย เพราะก่อนจะมีระบบหลักประกันสุขภาพเกิดขึ้น ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง คนที่ไม่มีกำลังจ่ายก็ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ เปรียบเหมือนคนไม่มีเสื้อผ้าใส่ แต่เมื่อมีระบบหลักประกันสุขภาพ อย่างน้อยก็ยังมีเสื้อ แม้เสื้อตัวนั้นจะไม่พอดีตัว เป็นเสื้อโหล แต่ก็สามารถใส่ได้ ให้ความอบอุ่นได้ ซึ่งดีกว่าไม่มีให้ใส่เลย

รศ.นพ.สมศักดิ์ ยกตัวอย่าง เรื่องการล้างไตทางช่องท้อง ในอดีตสมัยที่ตนเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 ได้ดูแลผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งซึ่งมีอาการไตวายเรื้อรัง ต้องรับการรักษาด้วยการฟอกเลือดทางหลอดเลือด (hemodialysis) ซึ่งครอบครัวผู้ป่วยรายนี้มีเงินเก็บ 5 ล้านบาทและมีกิจการที่มีผลกำไรตลอด

"สามีผู้ป่วยถามผมว่าการรักษานี้จะยาวนานแค่ไหน ใช้เงินแค่ไหน และการรักษาระหว่างการฟอกเลือด กับการล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) อะไรจะดีกว่ากัน สุดท้ายก็เลือกการรักษาด้วยการฟอกเลือด ผมก็อธิบายว่า การรักษานี้ต้องรักษาไปตลอดชีวิต (ขณะนั้นยังไม่มีการผ่าตัดเปลี่ยนไต) ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนก็ประมาณ 7 หมื่นบาท ทั้งค่าฟอกเลือด ค่ายา ค่าเดินทาง ทางสามีก็เลือกวิธีการรักษาดังกล่าว เพราะมั่นใจว่าน่าจะมีรายได้เพียงพอต่อการรักษา" รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากรักษาไปได้ 2 ปี เงินเก็บสะสม 5 ล้านบาทลดลงมาเหลือ 3 ล้านบาท กิจการที่บ้านเริ่มไม่ปกติเพราะต้องปิดบ่อยๆ ตนให้คำแนะนำสามีผู้ป่วยไปว่าควรจะเก็บเงินที่เหลือไว้ให้ลูก 2 คนเรียนหนังสือ และประคับประคองผู้ป่วยดีกว่า เพราะถึงรักษาไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายก็แพ้อยู่ดี เมื่อเงินหมด ทุกอย่างก็หมด ผู้ป่วยก็เสียชีวิต ลูกๆ ก็จะไม่มีเงินเรียนหนังสือ กิจการที่บ้านก็หมด ทางสามีผู้ป่วยก็เข้าใจแต่ด้วยความรักที่มีต่อภรรยาทำให้ยังคงตัดสินใจเดินหน้ารักษาภรรยาแบบเดิม

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปอีก 1 ปีสถานการณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้น ผู้ป่วยอาการหนักมาก เงินที่เหลือก็เกือบหมดแล้ว กิจการที่ร้านก็ต้องปิดตายเพราะสามีต้องมาเฝ้าภรรยาตลอดเวลา สรุปสุดท้ายเงิน 5 ล้านบาทก็หมด ร้านก็ต้องปิดตาย ผู้ป่วยก็เสียชีวิต หมดทุกอย่าง

"ผมจำภาพทุกภาพทุกเหตุการณ์นี้ได้เป็นอย่างดีตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้าย ผมเล่าให้นักศึกษาแพทย์บางรุ่นได้ฟังว่าอดีตก่อนที่ไม่มีบัตรทองนั้นคนไทยลำบากอย่างไร โดยเฉพาะผู้ป่วยไตวาย เราไม่มีเงิน ก็ต้องปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตต่อหน้าต่อตาโดยที่ทำอะไรไม่ได้จริงๆ" รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้คณะแพทย์ขอนแก่นจึงได้พัฒนาระบบการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังด้วยการล้างไตทางช่องท้องตามสิทธิประโยชน์บัตรทองเพราะสามารถให้ผู้ป่วยไปทำการรักษาได้เองที่บ้าน ยังทำงานได้ ไปไหนมาไหนได้ ถึงแม้จะมีผลการรักษาดีไม่เท่าเทียมกับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ก็ตาม แต่ส่วนตัวคิดว่ายังดีกว่าไม่ได้รับการรักษาเลยและสามารถลดการล้มละลายของครอบครัวได้มากมาย

"เรื่องไต ผมคิดว่าตอนนี้อยู่ในช่วงแรก ซึ่งเราคงเน้นการเข้าถึงระบบบริการให้ได้ถ้วนหน้ากันก่อน พอทุกอย่างเข้าที่แล้ว ก็คงเป็นเรื่องรายละเอียด มาปรับรายละเอียดให้ดีขึ้นเป็นกลุ่มๆ ให้ชัดเจนว่าคนกลุ่มนี้ควรรักษาด้วยวิธีนี้ ก็ค่อยๆปรับในระยะถัดไป แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องการทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงระบบบริการได้ถ้วนหน้าเท่ากันก่อน หากรักษาด้วยวิธีนี้ไม่ได้ผลก็ยังสามารถเปลี่ยนไปใช้การฟอกเลือดได้" รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะที่เป็นแพทย์คนหนึ่งแม้ไม่ได้เป็นหมอโรคไตโดยเฉพาะ แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าในภาพรวมของคนส่วนใหญ่แล้ว การล้างไตทางช่องท้องให้ความสะสวกสบายกว่าชัดเจน ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสามารถช่วยเหลือชีวิตคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ถึงแม้จะไม่ดีสูงสุดแต่ก็ไม่เป็นภาระกับคนอื่นมาก

"ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ 1.คนไทยเข้าถึงก่อน 2.คนส่วนใหญ่สามารถใช้วิธีนี้ได้และทำได้เลย ถ้าเราใช้วิธีฟอกเลือดก็ต้องมาผ่าตัดต่อหลอดเลือด ต้องมีสถานพยาบาลที่รับฟอกเลือด ซึ่งจะเห็นช่วงตอนน้ำท่วม ปี 2554-2555 คนในจังหวัดที่น้ำท่วมไม่รู้จะฟอกเลือดยังไง แต่ถ้าล้างทางช่องท้องเอง แม้บ้านจะถูกน้ำท่วมก็ยังล้างได้" รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ไร้สัญญาณ

Posted: 02 Aug 2017 05:20 AM PDT

เสียงภูพานรานร้าวคราวน้ำหลาก
ชีพฝังฝากรากดินถิ่นอีสาน
นาไร่ล่มบ้านจมขมดวงมาน
ชลประทานงานเขื่อนบิดเบือนชน

เสียงสะอื้นกลืนน้ำตาน่าใจหาย
โอ้พี่น้องป้องปายหลายแห่งหน
ไร้ถิ่นฐานบ้านล่มจมสายชล
อีสานหม่นม่านน้ำตาคราน้ำนอง

ทำไมไม่บอกกล่าวเล่าความจริง
รอจมดิ่งใต้บาดาลบ้านหอห้อง
จนแตกดับอับปางอย่างลำคลอง
จนร่ำร้องมองสินทรัพย์ยับย่อยลง

เสียงภูพานหนองหารรานร้าวโศก
เสียงเตือนภัยวิปโยคกลับลืมหลง
เมื่อละเลยเฉยนิ่งทิ้งซื่อตรง
ประชาคงคือเหยื่อทุกเมื่อเชื่อวัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อำนาจนิยมมหาวิทยาลัยในกางเกงขาวอำพราง

Posted: 02 Aug 2017 05:03 AM PDT


 

"กางเกงขาว" เป็นที่รู้จักกันในฐานะจุดเด่นของเครื่องแบบพิธีการของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังที่เคยได้กล่าวอ้างถึงความเป็นรัฐนาฎกรรมในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาแล้วในบทความนี้ จุฬาฯ ขออีกหน่อยละกัน: CU A while longer สำหรับผู้ที่ยังนับตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่าเพิ่งโวยวายไปว่าผู้เขียนหาเรื่องโจมตี หรือไม่รักก็ออกไป ฯลฯ ซึ่งไม่ว่าท่านจะเห็นต่างไปจากความเห็นของข้าพเจ้าก็ดี หรือเห็นสอดคล้องก็ดี ขอให้พิจารณาเรื่องที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นอุทาหรณ์ กล่าวคือ ถึงจะจั่วหัวว่าเป็นเรื่องของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เอาเข้าจริงแล้วมันเกี่ยวโยงกับเรื่องอำนาจนิยมในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งจะเรียนที่ไหน คำนำหน้าเป็นนักศึกษาหรืออะไรก็ต้องเจอเหมือนกันทั้งนั้น

วันนี้ (30 กรกฎาคม 2560) เพจสำหรับประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนิสิตชั้นปีที่หนึ่ง เผยแพร่ภาพพร้อมข้อความ เชิญชวนให้นิสิตรุ่นใหม่แต่งกายด้วย "เครื่องแบบพิธีการ" มาในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนสำหรับนิสิตชั้นปีที่ 1 ทั้งที่ในปัจจุบันเครื่องแบบดังว่ามานี้ไม่มีในข้อบังคับใด ๆ ที่ออกโดยมหาวิทยาลัย[1]

ซึ่งประกาศนี้ไม่น่าจะครอบคลุมถึงนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา แน่นอนว่าโดยสามัญสำนึก พิธีกรรมทำนองนี้มันไม่ควรจะครอบคลุม แต่ที่นี่คือมหาวิทยาลัยอันเก่าแก่คับฟ้าคับดิน นิสิตระดับปริญญาโทปริญญาเอกก็ "ถูกเชิญชวน" ให้ไปเข้าพิธีถวายบังคมเหมือนกัน โดยจัดให้อยู่ในรูปแบบเดียวกันกับนิสิตปริญญาตรี คือ พิธีกรรมเป็นส่วนพ่วงท้ายพิธีการปฐมนิเทศ ส่วนที่ต่างคือ "พี่" แต่งกายสุภาพมาเรียนก็แต่งกายตามนั้นถวายบังคม ไม่ต้องแต่งเครื่องแบบกางเกงขาว หรือราชปะแตนแต่ประการใด

จากการตรวจสอบอย่างผ่าน ๆ พบว่าในทางปฏิบัติรุ่นพี่จำนวนมากกล่าวในทำนองว่า "นิสิตทุกคน" ต้องแต่งกายแบบนี้ (และหมายความว่าต้องมาร่วมงาน) ดูตัวอย่างที่นี่

เงื่อนไขของการวิพากษ์วิจารณ์พิธีกรรมถวายสัตย์ฯ ในรอบนี้จึงมีดังต่อไปนี้

1. พิธีการนี้ มีการบังคับเข้าร่วมเกิดขึ้น (สนใจสภาพที่เกิดจริงมากกว่าที่ประกาศเป็นลายลักษณ์อักษร)

2. พิธีการนี้ ครอบคลุมนิสิตทุกระดับของจุฬา ฯ

3. พิธีการนี้ นอกจากจะมีการบังคับให้เข้าร่วมเกิดขึ้นแล้ว ยังผลักภาระให้แก่ผู้ปกครองในการหาซื้อกางเกงพิธีการสีขาว


ประเด็นที่ 1: มีการบังคับให้เข้าร่วมเกิดขึ้น

แล้วการบังคับเข้าร่วม หรือแค่โน้มน้าวให้เข้าร่วมมันผิดตรงไหนหรือ?

คำตอบ ตอบแบบตามกฎหมายเลย คือ ไม่ผิด เพราะเป็นสิทธิที่มหาวิทยาลัยในฐานะผู้จัดงานจะทำได้ และที่ไหน ๆ เขาก็มีการปฐมนิเทศกันทั้งนั้น ปัญหาคือสิ่งที่เขาไม่มีกัน คือ การถวายบังคมอะไรในลักษณะนี้ (ไม่นับโรงเรียนนายร้อยหรือสถาบันที่พยายามจะมีอัตลักษณ์พิเศษต่างๆ ฯลฯ) สำหรับจุฬาฯ เคยมีกรณีพิพาทกันใน พ.ศ. 2512 เรื่องเล่าย่อๆ ก็มีอยู่ว่า (ย้ำว่าเป็นแค่เรื่องเล่าที่จำมาผิดๆ ถูกๆ ซึ่งไม่ตรงกับประวัติฉบับทางการของคณะผู้จัดงาน NITAD) ผู้นำนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์มีปัญหากันกับนิสิตอีกหลายคณะ เนื่องด้วยแย่งกันถือธงในพิธีปฐมนิเทศ ผู้นำนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งสมมติตนว่าเป็นคณะผู้นำไม่ยอมเด็ดขาดที่จะให้คณะอื่นได้ถือธงมหาวิทยาลัยกับเขาบ้าง[2] กรรมการสโมสรนิสิตคนอื่นจึงพร้อมใจกันลงมติให้เปลี่ยนแนวปฏิบัติผู้ถือธงมหาวิทยาลัย[3]  ปัญหาในความสัมพันธ์ที่มีมาแต่ก่อนสะสมจนทำให้สโมสรนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ประกาศถอนตัวจากสโมสรนิสิตจุฬาฯ จนนำมาสู่ความพยายามจัดงานนิทรรศการวิชาการ (ซึ่งในปัจจุบันคือ จุฬาฯ วิชาการ และจุฬาฯ เอ็กซ์โป) ที่แยกจากส่วนกลาง ในชื่อ "นิทรรศการวิชาการทางวิศวกรรม" (NITAD : นิทัศน์?) ปัญหาเรื่องนี้คงลุกลามใหญ่โต เพราะน่าจะกระทบไปถึงเรื่องที่กินข้าวในโรงอาหารด้วย คนที่จะคบหากันข้ามคณะก็คงคุยกันไม่ได้ (นี่เป็นเพียงการสันนิษฐาน) และกระทบไปถึงแนวปฏิบัติการรับเสด็จพระราชดำเนินด้วย เมื่อนิสิตคณะวิศวฯ หมอบกราบ แต่คณะอื่นไม่ได้ทำเช่นนั้นก็คงมีเสียง "จิกกัด" อะไรบางอย่าง ไม่แปลกอะไรที่เรื่องนี้จะทราบถึงเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในที่สุด เพราะเรื่องนี้

"ไม่ได้ลงในหนังสือพิมพ์ หรือออกวิทยุโทรทัศน์ มาถึงก็ได้สดับตรับฟังแล้ว แล้วทำให้นึกถึงว่า แต่ละคนที่เกี่ยวข้องไม่ได้คิดถึงประโยชน์แท้จริงของตัว ถึงทำให้เกิดอลวนได้...แต่ว่ามีสิ่งหนึ่งทีได้สดับตรับฟังมาแล้วก็ไม่เรียบร้อย แล้วน่าจะขจัดได้ด้วยความเข้าใจดี "[4]

การเสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในคราวนั้นจึงมีพระบรมราโชวาทที่กล่าวถึงปัญหาเรื่องการหมอบกราบ แต่ไม่ได้เท้าความไปถึงความขัดแย้งที่มีมาก่อนหน้านั้น มีพระราชกระแสถึงพระบรมราชโองการในรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงยกเลิกธรรมเนียมหมอบกราบ (เฉพาะกับไพร่ที่ไม่ต้องหมอบกราบเบื้องหน้ามูลนาย) แต่ไม่ได้ทรงยกเลิกการหมอบกราบในที่เฝ้าฯ เจ้านาย รัชกาลที่ 9 ทรงตักเตือนขยายความต่อไปอีกหลายประการ ทรงตีความว่าการหมอบกราบไม่ใช่การกดขี่ข่มเหงกัน แต่ใจความสำคัญ คือ การหมอบกราบนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิเสรีภาพในปัจจุบันที่บุคคลจะพึงทำได้ ทรงเห็นว่า "เป็นเรื่องที่มาเหยียดหยามกัน ฟัดกัน โดยที่ไม่มีประโยชน์เลย "[5] จากนั้นทรงวินิจฉัยต่อไปว่าการที่มีผู้มาขอพระราชทานธงใหม่ ไม่โปรดพระราชทาน ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องสิ้นเปลือง จากนั้นพระราชทานการแสดงดนตรีต่อไป

การหมอบกราบด้วยความจริงใจเป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ "ก้าวหน้า" อะไรอยู่แล้ว ในกรณีที่ยังนับถือศรัทธาในประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรศึกษาความเป็นไปในเรื่องนี้จากพระราชดำรัส แน่นอนว่าการศึกษาจากบันทึกพระราชกระแสต่างๆ ยังสอดคล้องกับค่านิยม 12 ประการของรัฐบาลด้วย!

ผู้เขียนจึงเห็นว่าการบังคับเข้าร่วมในกิจกรรมที่มีการหมอบกราบ ไม่ควรบังคับกัน (นอกเหนือไปจากกิจกรรมโดยทั่วไปที่ไม่ต้องมีการบังคับอยู่แล้ว)

ก็ถ้ามีการบังคับกันจริง ควรแยกว่าความรับผิดชอบที่กล่าวมานี้เป็นของใคร?

พิธีปฐมนิเทศของนิสิตทุกระดับจัดขึ้นโดยสำนักบริหารกิจการนิสิต โดยมีการแบ่งหน้าที่กันเป็นอย่างดี ในการตกลงกันตลอดหลายปีที่ผ่านมา ฝ่ายทุนและสวัสดิการนิสิตรับผิดชอบเป็นการทั่วไป ส่วนสโมสรนิสิตเป็นผู้รับผิดชอบการประชาสัมพันธ์ให้นิสิตมาเข้าร่วมกิจกรรม รวมถึงการสรรหาผู้ปฏิบัติงานพิธีการบางส่วน นั่นหมายความว่าหากเกิดปัญหาขึ้นในพิธีนี้ ผู้ควรรับผิดและรับชอบจึงมีสองกลุ่ม ได้แก่กลุ่มที่เป็นคนทำงานและกลุ่มที่เป็นนิสิตผู้รับคำสั่งมา (แต่โดยที่น่าจะมีวิจารณญาณแล้ว ก็ยังไม่ไตร่ตรองอะไรให้รอบคอบ)

"กลุ่มนิสิต" ที่อ้างถึงในที่นี้เป็นขอบเขตที่กว้างมาก คือ ตั้งแต่นิสิตผู้ปฏิบัติงานระดับสูงสุดในวันจริง คือ นายกสโมสร เรื่อยเรียงไปจนถึงระดับล่างสุดของโครงสร้างนี้ คือ "นิสิตสัมพันธ์ – พี่เชียร์คณะ" สมมติว่านี่เป็นคดีที่ไต่สวนในศาลที่นูแรมบวร์ก คงมีคนถูกไต่สวนเป็นร้อย ๆ คน รวมกันทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารที่เป็นอาจารย์ ผู้บริหารของนิสิต นิสิตที่อยู่ในระดับรองลงไป ฯลฯ

ผิดจริง ถ้าอิงตามพระราชดำรัส แต่อย่าให้มันถึงขั้นเป็นคดีอะไรเลย

เพราะมันแค่ผิดในทางวัฒนธรรม ที่ไม่ได้ศึกษาคำผู้ใหญ่เท่านั้น กลับตัวกลับใจแล้วก็ก้าวเดินต่อไปได้ ไม่ได้มีอะไรยาก

ยกเว้นแต่รู้ข้อมูลแล้วยังดื้อ อันนี้ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี? ไม่ปฏิบัติตามพระราชดำรัสนี่ควรมีโทษสถานไหนหรือ? โดยเฉพาะกับจุฬา ฯ ซึ่งมีในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นพระบรมราชูปถัมภก (องค์อุปถัมภ์) ด้วยแล้วนั้น


ประเด็นที่ 2 : การบังคับใช้พิธีกรรมนี้กับนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา

ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ เพราะไม่เคยเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา แต่เห็นว่าไม่ควร เพราะ

1. ในระดับปรัชญา : บรรยากาศของมหาวิทยาลัยที่ควรจะเป็น คือ พื้นที่ที่เปิดให้มีเสรีภาพทางความคิด เสรีภาพในที่นี้ หมายถึงความเป็นกลางจริง ๆ ที่มหาวิทยาลัยจะไม่สร้างเงื่อนไขอะไรให้สมาชิกของสถาบันนั้น ต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอุดมการณ์บางอย่าง

ทั้งนี้ ไม่เคยมีการทดลองในทางวิชาการ ว่าถ้าไม่มีการถวายบังคมสักสิบปีแล้วจะเกิดอะไรขึ้น งานวิจัยของเราจะฟอร์มดีขึ้นหรือไม่ หรือมีและมันสัมพันธ์กับแนวโน้ม Ranking ของจุฬา ฯ ที่มีปัญหาหรือเปล่า[6]

2. ในระดับการจัดกิจกรรมนิสิต : คนพวกนี้ถวายบังคมไปก็ไม่ได้อะไรเกิดขึ้น จุดประสงค์เริ่มแรกของมันคือการปฐมนิเทศ ให้มีการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่เท่านั้นเอง ระดับป.โท ป.เอก กันแล้ว อายุอานามก็มาก ยังต้องเรียนปรับตัวใหม่กันอีกหรือ?

3. ในระดับผู้เข้าร่วมกิจกรรม : สิ่งที่ควรระแวดระวังในเบื้องหน้าของชีวิตบัณฑิตศึกษา คือ การทำวิทยานิพนธ์ สิ่งที่ควรจะคิดมากกว่า คือ จับทุกคนอบรม Endnote ระบบการอ้างอิง โปรแกรมอ้างอิงอัตโนมัติ การใช้ฐานข้อมูลออนไลน์ที่สำนักงานวิทยทรัพยากรอุตส่าห์ไปซื้อมา ทักษะการนำเสนอพาวเวอร์พอยต์ที่ดี หรือโปรแกรม E – Theses ที่ใช้กันสุดจะยากเย็น หรือจะทำเป็นคูปองให้ไปอบรมกันตามใจชอบก็ยังดีกว่า

ยกเว้นแต่ถ้ามองว่าการทำพิธีอะไรพวกนี้เป็นขวัญกำลังใจในการเรียน นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่มันใช่หน้าที่มหาวิทยาลัยหรือ?

4. อย่าลืมว่ากิจกรรมมีหน้าที่ในการหาเพื่อน (พ่อแม่ของผู้เขียนก็รู้จักกันตอนเรียน ป. โท) ถ้าเราไปตัดตอนกิจกรรมนี้สงสัยทารกจำนวนมากคงจะไม่ได้เกิด ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ก็ไม่ใช่เรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องไปคิดแทน เพราะจบปริญญาตรีก็ควรจะได้ชื่อว่ามีวุฒิภาวะได้แล้ว (จริง ๆ ควรมีตั้งแต่เรียนปริญญาตรีด้วยซ้ำ) อนึ่ง คนแก่เขาหาเพื่อนกันตามหลักสูตรอบรมต่าง ๆ เช่น วปอ. (วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร) วตท. (วิทยาลัยตลาดทุน) ซึ่งหาเพื่อนได้จริง เพราะช่วยเกื้อกูลกันในทางธุรกิจ[7]ได้ด้วย  หรือของจุฬา ฯ ก็มี "หลักสูตรภูมิพลังแผ่นดิน"

ถ้าแก่ตัวลงแล้วไม่มีเพื่อนจริงก็เป็นเรื่องน่าสงสาร แต่มันช่วยไม่ได้ และไม่ใช่หน้าที่มหาวิทยาลัย ที่ผ่านมาถือเป็นความโชคดี ผู้เขียนก็โชคดีที่ได้เกิดมาเช่นเดียวกัน


ประเด็นที่ 3: ผู้จัดงานผลักภาระให้แก่ผู้ปกครองในการหาซื้อกางเกงพิธีการสีขาว

กางเกงพิธีการสีขาวเคยเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบพิธีการ (ไม่ใช่เครื่องแบบพระราชพิธี) ของนิสิตระดับปริญญาตรี  แต่ได้ถูกยกเลิกไปตั้งแต่ พ.ศ. 2553 โดย "ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยว่าด้วยเครื่องแบบ เครื่องหมาย และเครื่องแต่งกายของนิสิต พ.ศ. 2553"

สาระสำคัญอยู่ในข้อ 10 ของข้อบังคับ

"เครื่องแบบพิธีการสำหรับนิสิตชาย มีลักษณะเช่นเดียวกันกับเครื่องแบบปกติสำหรับนิสิตชาย โดยให้ผูกเนคไทมีตราพระเกี้ยวตามแบบของมหาวิทยาลัย"

และเครื่องแบบปกติของนิสิตชายตามข้อ 6 (2)

"กางเกงขายาวแบบสากล ทำด้วยผ้ากรมท่าหรือสีดำ ไม่มันแวววาว ไม่มีลวดลาย ห้ามใช้ผ้ายีน ผ้าสักหลาด ผ้าลูกฟูก"

ก็ในเมื่อมีหลักเกณฑ์เช่นนี้อยู่แล้ว การที่มหาวิทยาลัยสั่งให้นิสิตแต่งเครื่องแต่งกายอื่นที่นอกเหนือไปจากเครื่องแบบที่กำหนด เพื่อใช้ในกิจกรรมเพียงกิจกรรมเดียวย่อมเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยกว่าปกติวิสัย บางคนอาจเถียงว่า ก็ถ้าต่อไปต้องใส่เครื่องแบบนิสิตพระราชพิธีหรือเครื่องแบบปกติขาวของข้าราชการก็จะได้มีเก็บไว้ใส่ได้ ผู้เขียนขออนุโมทนาในกรณีที่ท่านเรียนมหาวิทยาลัยโดยรอบเอวไม่ขยายเลย และยินดีกับท่านด้วยที่ท่านสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำนิสิตที่มีศักดิ์สูงพอที่จะใส่เครื่องแบบที่มีชุดราชปะแตนได้ (ยกเว้น นิสิตในชมรมประสานเสียงที่ได้ใส่กันอยู่แล้ว - คือจริงๆ ใครจะใส่ก็ใส่ได้หมด แต่ไม่มีใครเขาใส่กัน เพราะมีแต่พวกผู้ปฏิบัติงานที่มีโอกาสได้ใส่) นั่นหมายความว่าคนที่ได้ใช้ประโยชน์จากกางเกงขาวแบบนี้มีน้อยนัก หลายคนก็ยกให้รุ่นน้องต่อไป บางคนก็เก็บไว้โดยไม่ได้ยกให้ใคร

ถามว่า จริง ๆ แล้วในข้อกฎหมาย มหาวิทยาลัยมีอำนาจสั่งให้นิสิตแต่งกายเป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากที่มีข้อกำหนดอยู่แล้วได้หรือไม่ คำตอบ คือ ทำได้ เพราะ "มหาวิทยาลัยอาจออกประกาศมหาวิทยาลัยว่าด้วยการแต่งกายชุดสุภาพก็ได้ โดยจัดทำเป็นประกาศมหาวิทยาลัย" และ "ให้นิสิตแต่งเครื่องแบบปกติ เครื่องแบบงานพระราชพิธีหรือรัฐพิธี เครื่องแบบงานพิธีการ หรือแต่งกายชุดสุภาพตามประกาศของมหาวิทยาลัย หรือตามที่ระบุในหมายกำหนดการ กำหนดการ หรือคำสั่งของมหาวิทยาลัย"

ถ้าเรามองว่าเสื้อเชิ้ตกางเกงขาวเป็นชุดสุภาพ ชุดแบบนี้ก็ไม่มีประกาศรองรับอยู่ดี แต่ที่ผ่านมานิสิตทั่วไปก็ไม่เคยรับทราบหรือเคยเห็นกำหนดการ – คำสั่งของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ที่ผ่านมาเป็นการประกาศแบบไม่เป็นทางการโดยตลอด คือ กิจการนิสิตสั่งผ่านสโมสรนิสิต ให้สโมสรไปประชาสัมพันธ์เช่นนั้น หรือไม่ก็ประกาศไปเองเลยเพราะที่ผ่านมาก็ทำกันแบบนี้จนเป็นประเพณีไปแล้ว ความลักลั่นที่เกิดขึ้นชวนให้เราคิดได้ว่า

1. ระบบการบริหารงานของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ จริง ๆ แล้วมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน (มีผู้ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวมาเปรียบเทียบให้ฟังว่าดีกว่ามหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด) ที่แน่ ๆ ก็คือ ไม่มีการประสานงานกันอย่างชัดเจน ตามหลัก เรื่องที่กระทบกับวิถีชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ควรจะมีการปรึกษาหารือกับประชาคมสาธารณะก่อนด้วยซ้ำไป (และไม่ใช่การเรียกนายกสโมสรหรือประธานสภามาตั้งเป็นกรรมการ เพื่อให้ได้ชื่อว่าได้ถามความเห็นนิสิตแล้ว ประเด็นนี้ สะท้อนข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งในสังคมนิสิตจุฬา ฯ คือ ผู้นำสโมสรนิสิตจุฬา ฯ ไม่ได้ยึดโยงอะไรกับนิสิตมานานมาแล้ว)

2. ถ้าเราให้น้ำหนักกับกางเกงขาวในฐานะวัตถุทางวัฒนธรรม การใส่กางเกงเช่นนี้มางานต้องเกิดขึ้นก่อนข้อบังคับฉบับล่าสุดแน่นอน การประกาศบังคับใช้กฎระเบียบแบบนี้ หมายความว่ามหาวิทยาลัยกำลังแทรกแซงพื้นที่ทางวัฒนธรรมของประชาคมของตนเอง ดังนั้น ที่ผ่านมา มันก็ไม่แปลกอะไรที่ผู้ปฏิบัติงานจำนวนมากรู้สึก "เฉยๆ" กับข้อบังคับนี้ เพราะมันแปลกแยกไปจากวิถีชีวิตของเขา ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ได้มีแค่กางเกงสีขาวที่ได้รับผลกระทบ แต่มันลากยาวไปถึง

1) กระโปรงทรงสอบยาว นิสิตหญิงชอบใส่กันโดยเฉพาะพวกพี่เชียร์ ผู้เขียนเคยไปสอบถามเพื่อนว่าเหตุไรจึงชอบนัก คำตอบที่ได้คือ ใส่แล้วมันสวย ไม่มีเหตุผลอะไรลึกซึ้งไปกว่านั้น

2) เนคไท ซึ่งตามข้อบังคับระบุไว้ว่าให้นิสิตใส่เนคไทตาม "แบบของมหาวิทยาลัย" แต่ข้อบังคับก็ไม่ได้แนบท้ายมาว่าจะเอาเนคไทแบบไหน นั่นหมายความว่าแบบที่ใส่ ๆ กันอยู่ ทั้งเนคไทรูปเกียร์ เนคไทติดเข็มพระเกี้ยวเงินอันเล็ก ๆ เนคไทติดติ้งรุ่น ฯลฯ ย่อมเป็นเครื่องแต่งกายที่กฎระเบียบไม่รองรับ เพียงแต่ว่าอนุโลมให้ใส่ไปก่อนเท่านั้นเอง (และมีขายในสหกรณ์จุฬา ฯ แทบทุกสาขา)

ในกรณีที่ไม่นิยมการแต่งชุดนิสิตไปเรียนอยู่แล้ว จะไม่พบปัญหาเช่นนี้เลย อย่างนิสิจคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (เพราะจะเจอเรื่องอื่นแทน) และปัญหาต่อมาคือในแต่ละคณะก็บังคับใช้กฎแบบนี้ไม่ตรงกัน ตีความไม่เหมือนกันจนชวนงง

การที่กฎระเบียบไม่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ก็ชวนให้คิดอีกว่าเป็นเพราะเหตุใด ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจมีเหตุผลที่ลึกซึ้งกว่าเหตุผลที่ได้สันนิษฐานไว้แล้วก็เป็นได้ แต่ในที่นี้ขอคิดเอาไว้ก่อนว่าเป็นเพราะความคิดเองเออเองของผู้ร่างซึ่งมีอยู่ไม่กี่คน แต่พยายามไปกะเกณฑ์วิถีปฏิบัติของคนทั้งแคมปัส ซึ่งสะท้อนวิธีคิดแบบอำนาจนิยมในมหาวิทยาลัยแบบไทย ๆ ส่วนวิธีการตีความกฎหมายเป็นเรื่องของคนที่ทำงานแบบตามอำเภอใจ ไม่ได้ใช้ความรู้ที่เป็นวิชาการอะไร

กางเกงขาวก็คงมีที่มาของมัน เพราะเราพบว่าปรากฏอยู่ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเครื่องแบบนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2498[8] (ซึ่งไม่มีผลบังคับใช้แล้วตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 แต่ฝ่ายกิจการนิสิตก็ยังอ้างถึงอยู่เนือง ๆ) แล้วมหาวิทยาลัย (และผู้ที่ร่างข้อบังคับนี้ขึ้นมา) จะให้ความเป็นธรรมแก่นิสิตปริญญาตรีตาดำ ๆ (ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่เห็นมีใครแคร์ข้อบังคับนี้อยู่แล้ว) ซึ่งต้องสวมใส่มันอย่างไรได้บ้าง จุฬา ฯ ในปีหลัง ๆ ที่เริ่มมีการให้ทุนแก่นิสิตที่มีฐานะไม่ดีในนาม "ทุนจุฬา ฯ ชนบท" นั่นหมายความว่ามีสัดส่วนของนิสิตที่มีครอบครัวฐานะไม่ดี – ปานกลางในมหาวิทยาลัยมากขึ้น จุฬา ฯ ไม่ใช่มหาวิทยาลัยคนรวยอย่างที่เข้าใจกัน คนจำนวนมากทำตัวให้ดูรวยเฉย ๆ แต่จุฬา ฯ จะผลักภาระให้แก่ผู้ปกครองหรือให้แก่ทุน (ในกรณีที่นิสิตได้รับ) ได้อย่างไร ?

ยกเว้นว่าถ้าบ้านรวยอยู่แล้วจะซื้อแจกคนทั้งคณะก็คงไม่มีใครบ่นว่าอะไร แต่ถ้าคนไม่มีเงินแล้วไปซ้ำเติมเขา ก็ถือว่าคนที่ทำงานนี้มีหัวใจที่มืดดำ (ตั้งแต่จำความได้ ไม่เคยมีประกาศจากงานกิจการนิสิตส่วนกลางว่าเปิดให้มีการให้ยืมกางเกงแต่ประการใด)

ภาพประกอบ: ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องแบบนิสิตจุฬาฯ บางส่วนที่มีการรวบรวมไว้ในคราวฉลอง 50 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ.2510) น่าสังเกตว่าสองชุดซ้ายน่าจะเป็น "บรรพบุรุษ" ของสิ่งที่เรียกว่าเครื่องแบบพระราชพิธีในปัจจุบัน ปัจจุบันจึงมีความพยายามจะรื้อฟื้นขึ้นมาบ้างผ่านการเดินแบบแฟชั่นโชว์ชุดนิสิตโบราณ ผู้เขียนไม่ทราบว่าในการปฐมนิเทศคราวนี้จะมีการเดินแบบให้ได้ยลกันหรือไม่ ยังไม่พบหลักฐานการก่อตัวของชุดพิธีการเสื้อเชิ้ตแขนยาวกางเกงขาวแต่ประการใด อาจต้องศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2459 - 2509 หน้า 613.


บทสรุป – บทเรียนรู้สู่สังคมไทย

สำหรับผู้เขียน อำนาจนิยมในมหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องแย่ขนาดนั้น

ตราบเท่าที่ไม่ได้ละเมิดสิทธิเหมือนมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคเหนือ

แต่มันก็ทำให้คุณค่าของมหาวิทยาลัยบกพร่องลงไปหลายส่วน เพราะทำให้การดำรงอยู่ของมันขาดนัยยะสำคัญต่อสังคม คือ เมื่อขนาดเป็นมหาวิทยาลัยยังกดขี่กัน พอเรียนจบก็จะใช้ความรู้ที่ตัวเองมีไปส่งเสริมภาวะอะไรที่มันไม่ดีอยู่แล้วให้มันทรงพลังขึ้นอีก

ซึ่งก็ต้องยอมรับสภาพจริงที่ว่าค่านิยม ความคิดบางอย่างที่บัณฑิตรุ่นใหม่ไม่สืบเนื่องต่อจากค่านิยมเก่า ก็เพราะแค่ตัวเองไม่ชอบ ซึ่งเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่ได้มีสำนึกอะไรที่เป็นอุดมการณ์ชัดเจน

การเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้นควรเริ่มต้นในทุกที่ แต่ในกรณีที่มีความดีเป็นแบบเฉพาะของตนเอง อะไรที่เชื่อมั่นศรัทธาก็จงทำต่อไปด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรม ถ้าท่านเชื่อว่ากิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมามันเป็นเรื่องที่ดี ก็ทำต่อไป ถ้ามีข้อบกพร่องก็ควรออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันด้วยความอดกลั้น "ปัญหา" ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงอาจถูกมองว่าไม่ได้มีข้อเสียก็ได้ และทำให้การตีความของทุกเรื่องที่กล่าวมาพร้อมจะมีการเชือดเฉือน ตอบโต้ ต่อรอง และชิงไหวชิงพริบตลอดเวลา

รวมทั้งอาจเป็นบทเรียน เพื่อการพัฒนา เพื่อการวิพากษ์ ให้กับมหาวิทยาลัยอื่น และกับเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคมไทยได้ด้วย ซึ่งเคยกล่าวไว้ในบทความที่แล้ว ว่าพิธีการถวายบังคมได้มีการแพร่กระจายไปยังสถาบันอุดมศึกษาในต่างจังหวัด เช่น บุรีรัมย์ พิษณุโลก ฯลฯ (ถ้าเข้าใจผิดต้องขออภัยด้วย)

ในประวัติศาสตร์โลก คุณสมบัติของผู้นำที่ดีคือการรับฟังความเห็นต่าง แม้ในวัฒนธรรมไทยก็กำหนดอยู่ในทศพิธราชธรรมเช่นเดียวกัน ในสมัยจารีต ผู้นำแทบทั้งนั้นเป็นฝ่ายขวา แต่มหาราชในอุดมคติก็ไม่ได้โง่หรือบ้ามุทะลุดุดัน หนำซ้ำยังสามารถรับฟังความเห็นทุกด้านเพื่อปรับปรุงการทำงานได้ เฉกเช่น จักรพรรดิถังไท่จง จักรพรรดิอัคบาร์ พระเจ้าจองโจ หรือแม้แต่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย

ควรตั้งคำถามว่าสังคมแบบไหนที่เอื้อให้เกิดนิสิตเด็ก ๆ ที่มีวัฒนธรรมใจแคบและไม่รับผิดชอบ

แต่คิดว่าจุฬา ฯ คงไม่มีคนแบบนั้น เพราะมหาวิทยาลัยเราเป็นเสาหลักของแผ่นดิน จึงหวังว่า "ผู้นำ" ที่มีส่วนในประเด็นปัญหาดังกล่าวจะแสดงตนออกมา อาจจะไม่ต้องรับผิดชอบหรอก แต่ตอบอะไรบ้างก็ดี ให้เขารู้บ้างว่ายังมีสปิริตเหลืออยู่เหมือนอย่างเพลงเกียรติภูมิจุฬาฯ ที่ร้อง ๆ กัน

มาเถิดมา ภราดาจุฬาฯทุกแหล่ง         มาร่วมแรง รวมรักและสามัคคี
อาวุโสเทิดไว้ น้ำใจระเบียบเรานี้         พร้อมประเพณี เสริมให้มีแต่วัฒนา

สีชมพู เชิดชูไว้คู่แดนไทย         แสนยิ่งใหญ่และเกรียงไกรในวิทยา
น้องพี่เราล้วนยิ้มแย้ม พักตร์แจ่มหฤหรรษา         ยึดมั่นอุดมการณ์มา เพื่อผองประชาชาติไทยทั้งมวล

ทั่วราชอาณาจักรนี้เราเป็นหลักอยู่แต่ละส่วน         ชาวจุฬาฯ จึงควรรู้ค่าแห่งเกียรติภูมิจุฬาฯ
พร้อมกันอภิรักษ์ พิทักษ์ให้อยู่คู่ฟ้า         วุฒิศักดิ์จุฬาฯ วัฒนาอยู่นิจนิรันดร์

 

เชิงอรรถ

[1] แต่เคยมี ซึ่งถูกยกเลิกไปตั้งแต่ พ.ศ. 2553 โดย "ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยว่าด้วยเครื่องแบบ เครื่องหมาย และเครื่องแต่งกายของนิสิต พ.ศ. 2553" ดู http://www.cca.chula.ac.th/edocuments/images/files/rules/2553/rules53_02.pdf

[2] โดยคำบอกเล่า คณะวิศวกรรมศาสตร์มีค่านิยมภายในคณะที่ที่เน้นอาวุโสเหมือนกันกับคณะอื่น แต่มีจุดต่างที่สำคัญที่สุด คือ เชื่อว่าคณะของตนเป็นคณะที่ปลูกฝังภาวะผู้นำ และเชื่อกันเช่นนั้นอย่างจริง ๆ จัง ๆ

[3] ธงมหาวิทยาลัย เป็นธงที่หายสาบสูญไปแล้ว คำบอกเล่า คือ ปักเป็นรูปพระเกี้ยว บนผ้าสักหลาด ด้ามจับเป็นไม้ เป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยก่อนที่จะนิยมใช้ "พระเกี้ยวงานบอล" ซึ่งเป็นงานประณีตศิลป์ลอยตัว ทั้งนี้ พระเกี้ยวเป็นของพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ บรมนาถบพิตร พระราชทานในปีเดียวกันกับที่มีข้อพิพาท

[4] พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ บรมนาถบพิตร,  "วันทรงดนตรี วันเสาร์ที่ 20 กันยายน 2512," ใน 70 ปีจุฬา ฯ รำลึกอดีต (กรุงเทพ ฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531), หน้า 184.

[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 185.

[6] มีปัญหาจริงในแง่ที่หนึ่ง คือ อันดับตกลงมาเรื่อยนับตั้งแต่มีการจัดอันดับเป็นต้นมา แง่ที่สอง คือ การโต้เถียงกันในประเด็นที่ว่ามีปัจจัยข้อใดที่ส่งผลต่อคะแนน และการวัดแบบนี้เป็นธรรมแล้วหรือไม่ อย่างไร ในแง่ที่สาม คือ ควรมีการวัดอันดับอะไรแบบนี้หรือไม่ เพราะการวัดผลแบบนี้เหมาะกับมหาวิทยาลัยทางวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ไม่มีทางจะได้อันดับสูงกว่า ยกเว้นแต่มหาวิทยาลัยนั้นจะเปิดสอนในทุกสาขา แล้วก็ต้องโดดเด่นพร้อมกันในทุกสาขาที่เปิดนั้น เช่น MIT Harvard U. และ ฯลฯ ดู ชัยชาญ ปรางค์ประทานพร, นวคุณ สาณศิลปิน และชลเทพ อมรตระกูล,  นิสิตนิทัศน์ ประวัติจุฬา ฯ ฉบับนิสิต, (กรุงเทพ ฯ : สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559)

[7] ดู Pasuk Phongpaichit, Nualnoi Treerat, and Chris Baker,  "Very Distinguished Alumni: Thai Political Networking" Access from : https://englishkyoto-seas.org/2016/04/vol-5-no-1-pasuk-et-al/ [31 July 2017]

[8] พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเครื่องแบบนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2498," ใน ประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2459 - 2509,(กรุงเทพ ฯ : จุฬาลงกรณ์มหหาวิทยาลัย, 2510), หน้า 542.

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอบโลกแรงงานกรกฎาคม 2017

Posted: 02 Aug 2017 03:23 AM PDT

ผู้หญิงใน 'Silicon Valley' ใช้โซเชียลมีเดียต่อต้านการคุกคามทางเพศ

ผู้หญิงในวงการเทคโนโลยีที่ Silicon Valley ใช้โซเชียลมีเดียในการต่อต้านการคุกคามและความเหลื่อมล้ำทางเพศ ที่มาภาพประกอบ: startupstockphotos.com (CC0)

สื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมมากขึ้น และเป็นกระบอกเสียงในการส่งผ่านการสนับสนุนหรือต่อต้านแนวคิดเดิม ๆ ในสังคม ล่าสุด ผู้หญิงในวงการเทคโนโลยีที่ Silicon Valley ใช้โซเชียลมีเดียในการต่อต้านการคุกคามและความเหลื่อมล้ำทางเพศ

สาว ๆ ในเมือง San Mateo รัฐแคลิฟอร์เนีย พร้อมใจกันสวมชุดซูเปอร์ฮีโร่ และปั่นจักรยานร่วมกันอย่างสนุกสุดฤทธิ์สุดเดชในคลาสฟิตเนส SoulCycle ยามบ่าย กิจกรรมนี้ไม่ใช่การออกกำลังกาย แต่เป็นการประท้วงของผู้หญิงในแวดวงเทคโนโลยี เพื่อต่อต้านความเหลื่อมล้ำทางเพศใน Silicon Valley

ไม่เพียงแต่การคุกคามในองค์กร ธุรกิจ Start-Up ที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของก็ได้รับผลกระทบ เมื่อพวกเธอถูกบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนร่วม ซึ่งส่วนใหญ่บริหารโดยผู้ชายมักปฏิบัติกับพวกเธออย่างไม่เหมาะสม

Wendy Dent อดีตนางแบบที่ผันตัวมาเป็นผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Cinemmerse ผู้ผลิตแอพพลิเคชั่นสำหรับนาฬิกา Smart Watch บอกว่า เธอเผชิญกับการคุกคามทางเพศจากผู้ที่ควรเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งเธอก็หาทางออกกับเรื่องนี้ไม่ได้

เสียงสะท้อนของพวกเธอไม่ใช่เรื่องที่บริษัทด้านเทคโนโลยีจะมองข้ามไปได้ง่ายๆ อีกต่อไป เพราะเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Travis Kalanick อดีตซีอีโอของ Uber ต้องลาออกจากบริษัทที่เขาร่วมสร้าง หลังพบว่ามีพนักงานหญิงร้องเรียนเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่คุกคามและเหยียดเพศ

ตามมาด้วยผู้บริหารชายอีก 2 คน ทั้ง Justin Caldbeck จาก Binary Capital และ Dave McClure จาก 500 Startups ที่ต้องลาออกจากตำแหน่งหลังได้รับเรื่องร้องเรียนในลักษณะเดียวกัน

ด้าน Kate Mitchell หนึ่งในนักลงทุนสถาบัน มองว่า ผู้หญิงสามารถใช้การเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่เพียงแค่การขึ้นโรงขึ้นศาล เพื่อสะท้อนปัญหาการคุกคามและความเหลื่อมล้ำทางเพศที่ยังคงเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้

อิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากกล้าจะออกมาเผชิญหน้ากับการคุกคามทางเพศมากขึ้น ทั้งการถ่ายทอดเรื่องราวอันน่าหดหู่ใจผ่านทางโซเชียลมีเดีย เพื่อส่งสัญญาณไปถึงระดับผู้ถือหุ้นของบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้าข่ายคุกคามและเหยียดเพศ รวมทั้งสร้างการเปลี่ยนแปลงจากแรงกดดันทางสังคม

ที่มา: voathai.com, 19/7/2017

เกาหลีใต้ใช้หุ่นยนต์ 'Troika' ให้บริการในสนามบิน

เกาหลีใต้จะใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะ 'Troika' ของบริษัท LG Electronics คอยให้บริการและช่วยเหลือผู้โดยสารที่เดินทางมายังท่าอากาศยานนานาชาติอินชอน (Incheon International Airport) ตั้งแต่เดือน ก.ค. นี้เป็นต้นไป  โดยหุ่นยนต์ตัวนี้มีหน้าจอคล้ายสมาร์ทโฟนยักษ์ไว้แสดงข้อมูลเที่ยวบิน แผนที่ภายในสนามบิน ข้อมูลสภาพอากาศภายนอก ช่วยพาผู้โดยสารไปยังประตูขึ้นเครื่องบิน และช่วยทำความสะอาดภายในสนามบินได้ด้วย ซึ่งการใช้หุ่นยนต์ต้อนรับของเกาหลีใต้ครั้งนี้ก็เพื่อเตรียมพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งแรกที่เมืองพยองชาง (Pyeongchang) ในปี 2018

ที่มา: scmp.com, 4/7/2017

หม้อไอน้ำในโรงงานทอผ้าบังกลาเทศระเบิด คนงานเสียชีวิต-บาดเจ็บระนาว

เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของบริษัทมัลติแฟบส์ (Multifabs) ในเขตกาซิปุระ (Gazipur) บังคลาเทศ แรงระเบิดทำให้ตัวโรงงานเสียหายอย่างหนัก มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 คน บาดเจ็บ 50 คน และสูญหาย 6 คน ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของบังคลาเทศมีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น เพลิงไหม้ อาคารถล่ม ทำให้คนงานเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

ที่มา: firstpost.com, 4/7/2017

Microsoft เตรียมเลิกจ้างพนักงาน 3,000 คนทั่วโลก ระบุเพื่อปรับโครงสร้างองค์กร

บริษัทไมโครซอฟต์ (Microsoft) ประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ด้วยการปลดพนักงาน 3,000 คนทั่วโลก ไมโครซอฟต์เปิดเผยว่าพนักงานที่จะถูกปลดออกมีจำนวนไม่ถึง 10% ของพนักงานในฝ่ายขาย และราว 75% ของการปลดออกจะเกิดขึ้นนอกสหรัฐ ทั้งนี้ไมโครซอฟต์มีพนักงาน 71,000 คนในสหรัฐ และ 121,000 คนทั่วโลก และการปรับโครงสร้างองค์กรของไมโครซอฟต์เพื่อพุ่งความสนใจไปในผลิตภัณฑ์ Azure ซึ่งอยู่ในธุรกิจ cloud ที่มียอดขายเพิ่มขึ้น 93% ในไตรมาสที่ผ่านมา

ที่มา: cnbc.com, 6/7/2017

ลูกจ้าง 'สตาร์บัคส์' ระบุบริการแย่ลงเพราะขาดแคลนพนักงาน

รายงานสำรวจของบริษัท Coworker.org ระบุว่า แผนของซีอีโอคนใหม่ของบริษัทกาแฟ Starbucks ที่ต้องการเพิ่มความใส่ใจลูกค้า รวมทั้งลดความคับคั่งและเวลาการเข้าคิวรอตามร้าน Starbucks ทั่วสหรัฐฯ ต้องประสบอุปสรรคสำคัญจากการขาดแคลนพนักงานตามร้านสาขาของ Starbucks เอง

รายงานสำรวจชิ้นนี้ชี้ว่า ราว 62% ของพนักงานร้าน Starbucks ระบุถึงปัญหาขาดแคลนคนงานดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพการบริการของร้านสาขาต่าง ๆ และอีกปัญหาหนึ่งที่ลูกจ้างของ Starbucks บอกว่าทำให้บริการล่าช้าลง คือระบบสั่งกาแฟผ่านโทรศัพท์มือถือหรือ Mobile Ordering ที่ยิ่งทำให้มียอดออเดอร์เพิ่ม ขณะที่คนทำงานไม่เพิ่ม ส่งผลให้ลูกค้าในร้านต้องรอนานขึ้น จนหลายคนไม่พอใจ เดินออกจากร้าน และเขียนตำหนิวิจารณ์ร้านกาแฟ Starbucks ในโลกออนไลน์กันอย่างมากมายเช่นกัน

ที่มา: voathai.com, 7/7/2017

Facebook ลงทุนสร้างหมู่บ้านให้พนักงาน แก้ปัญหาที่อยู่อาศัย

เฟซบุ๊ก (Facebook) เปิดเผยว่าว่าทางบริษัทต้องการลงทุนสร้างหมู่บ้าน 'Willow Village' พื้นที่ 1.75 ล้านตารางฟุต เป็นอาคารสำนักงานและอีก 125,000 ตารางฟุตเป็นพื้นที่สำหรับร้านค้า สำหรับพนักงานของเฟซบุ๊กและชุมชนใกล้เคียง โดยจะมีพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยขนาด 1,500 ยูนิตที่เปิดให้กับทุกคนไม่เฉพาะพนักงานเฟซบุ๊กเท่านั้น โดย 15 % ของพื้นที่นี้ จะกันไว้ให้สำหรับคนที่มีรายได้ต่ำกว่ารายได้มาตรฐานด้วย ซึ่งเฟซบุ๊กคาดว่ากระบวนการเหล่านี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี

ที่มา: fortune.com, 7/7/2017

ตั้งข้อหาบริษัทญี่ปุ่นหลังพนักงานฆ่าตัวตายเพราะงานหนักเกินไป

บริษัทเดนท์สุ (Dentsu Inc.) ซึ่งเป็นบริษัทโฆษณาชั้นนำแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ถูกตั้งข้อหาว่าละเมิดมาตรฐานด้านแรงงาน หลังจากที่นางสาวมัตซูริ ทากาฮาชิ (Matsuri Takahashi) พนักงานอายุ 24 ปี ฆ่าตัวตายในปี 2015 เพราะการทำงานหนักเกินไป เพื่อนของทากาฮาชิ ซึ่งเข้ามาทำงานที่บริษัทแห่งนี้ไม่ถึงหนึ่งปี ระบุว่าเธองานยุ่งมาก และได้นอนเพียงสัปดาห์ละ 10 ชั่วโมงเท่านั้น การเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไปเป็นเรื่องที่ค่อนข้างธรรมดาในญี่ปุ่น ซึ่งมีคำที่ใช้เรียกการตายเช่นนี้ว่า 'คาโรชิ' (karoshi)

มีรายงานว่า มีช่วงหนึ่งก่อนที่เธอจะเสียชีวิต ทากาฮาชิทำงานล่วงเวลา 100 ชั่วโมงต่อเดือน เธอเสียชีวิตในวันคริสต์มาสของปี 2015 จากรายงานระบุว่า ข้อความที่เธอทิ้งไว้ให้แม่ของเธอรวมถึงข้อความว่า: "ทำไมอะไรก็ยากไปหมดขนาดนี้?"

หนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุน (Asahi Shimbun) รายงานว่า ทางบริษัทกำลังถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับ การให้พนักงานทำงานล่วงเวลาอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งอัยการกำลังเสนอให้ลงโทษปรับ ส่วนสำนักข่าวเกียวโด (Kyodo) รายงานว่า เมื่อตั้งข้อหาแล้วก็จะส่งให้การสอบสวนยุติลง คดีนี้เป็นการดำเนินคดีนิติบุคคลของบริษัทเดนท์สุ ไม่ใช่ตัวบุคคล แต่สำนักข่าวเกียวโด รายงานโดยอ้างคำพูดของแม่นางสาวทากาฮาชิว่า เธอ "ไม่มั่นใจ" เกี่ยวกับการที่หัวหน้าของลูกสาวเธอรอดพ้นจากข้อกล่าวหา

คดีที่มีผู้ให้ความสนใจนี้ได้นำไปสู่การเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงเวลาทำงานที่ยาวนานในญี่ปุ่นอีกครั้ง รวมถึงการทำงานล่วงเวลาโดยไม่รับค่าจ้างอย่างผิดกฎหมายด้วย ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไปหลายร้อยคน แต่นักรณรงค์ระบุว่า ตัวเลขที่แท้จริงสูงกว่านั้น

เดนท์สุ ได้เปลี่ยนแปลงหลายอย่างซึ่งเป็นผลมาจากกรณีที่เกิดขึ้นกับนางสาวทากาฮาชิ โดยมีรายงานว่าทางบริษัทปิดไฟตอน 22.00 น. ทุกคืน เพื่อบังคับให้พนักงานออกจากบริษัท นายทาดาชิ อิชิอิ (Tadashi Ishii) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเดนท์สุ ได้ขอลาออกเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วสืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ที่มา: bbc.com, 8/7/2017

ค่าแรงขั้นต่ำรายชั่วโมงของเกาหลีใต้จะเพิ่มอีก 16.4% ในปี 2018

ค่าแรงขั้นต่ำรายชั่วโมงในเกาหลีใต้จะได้รับการปรับขึ้นอีก 16.4% เป็น 7,530 วอน หรือ 6.64 ดอลลาร์ในปี 2018 หลังตัวแทนภาคแรงงานและฝ่ายบริหารเจรจาต่อรองกัน การปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวจะมีขึ้นภายหลังจากที่ได้มีการปรับขึ้นค่าแรงไป 7% ในปีนี้ สู่ระดับ 6,470 วอนต่อชั่วโมง ทั้งนี้นายมูน แจ อิน (Moon Jae-in) ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ว่า จะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 10,000 วอน ก่อนที่จะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปีของตนเองในเดือน พ.ค. 2022

ที่มา: koreaherald.com, 15/7/2017

หนุ่มอเมริกันอายุ 21-30 ปีว่างงานมากขึ้น นักวิจัยชี้เล่นเกมส์มากกว่าทำงาน

งานวิจัยเกี่ยวกับการมีงานทำของหนุ่มอเมริกันชิ้นหนึ่งที่จัดทำโดย Princeton และ University of Chicago พบว่าชายอเมริกันอายุระหว่าง 21-30 ปี ว่างงานมากขึ้น ตัวเลขปี 2016 เผยว่ามี 15% ที่ไม่ได้ทำงาน หรือทำแต่ไม่ได้ทำเต็มเวลาเพิ่มขึ้นจากปี 2000 ถึงเท่าตัว นอกจากนี้เวลาทำงานเฉลี่ยต่อวันก็ลดลง 12% นับจากปี 2000 และ 67% ของชายที่ว่างงานยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่หรือญาติ เพิ่มขึ้นจากปี 2000 ที่มีเพียง 47% ทั้งนี้นักวิจัยตั้งข้อสันนิษฐานว่าพวกเขาหวังพึ่งพาครอบครัวในระยะยาว พวกเขายังใช้เวลา 520 ชั่วโมงต่อปีไปกับคอมพิวเตอร์ และ 60% ใช้ไปกับการเล่นเกมส์

ที่มา: fortune.com, 16/7/2017

ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ Carrier ของสหรัฐฯ เตรียมเลิกจ้างงานพนักงาน 300 คน

บริษัทผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ Carrier เตรียมบอกเลิกจ้างงานพนักงาน 300 คน โดย 6 เดือนก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าตนสามารถช่วยรักษาตำแหน่งงาน 800 อัตราไว้สำหรับคนอเมริกัน ด้วยการจูงใจให้ Carrier ไม่ย้ายโรงงานไปที่ประเทศเม็กซิโก การเตรียมเลิกจ้างพนักงานครั้งนี้ซึ่งเป็นระลอกแรกของการปลดลูกจ้าง 630 ตำแหน่ง เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขที่ Carrier ตั้งใจดำเนินการอยู่แล้ว ตั้งแต่การเจราจาระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์และผู้บริหารบริษัทในครั้งนั้น

บริษัทจะรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประธานาธิบดีทรัมป์ว่าจะจ้างคนที่โรงงานในเมืองอินเดียนาโพลิส รัฐอินเดียนา จำนวน 1,100 คน แต่ในอนาคตบริษัท United Technologies Corporation ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Carrier เตรียมเลิกจ้างพนักงานเพิ่มอีก 700 คน ที่เมืองฮันติงตั้น รัฐเดียวกัน

ที่มา: voathai.com, 20/7/2017

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ทนายจูน’ รับทราบข้อหาแจ้งความเท็จ เหตุแจ้งความ ตร.ยึดรถโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Posted: 02 Aug 2017 02:53 AM PDT

อัยการศาลแขวงดุสิตเลื่อนฟังคำสั่ง คดีซ่อนเร้นพยานหลักฐานของ 'ทนายจูน' ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ก่อน ตร. สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อกล่าวหาในคดีแจ้งความเท็จ เหตุแจ้งความว่านายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ยึดรถของเธอที่จอดอยู่หน้าศาลทหารกรุงเทพไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือ 'ทนายจูน' ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (ที่มาภาพ : เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

2 ส.ค.2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 09.30 น. ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือ 'ทนายจูน' ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้าพบอัยการศาลแขวงดุสิต โดยมีเจ้าหน้าที่จากสหภาพยุโรป เจ้าหน้าที่สถานทูตแคนาดา สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เนเธอร์เเลนด์ และสวีเดนร่วมให้กำลังใจ นัดนี้ อัยการศาลแขวงดุสิตขอเลื่อนนัดฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีฐานซ่อนเร้นพยานหลักฐานและและทราบคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ตามมาตรา 142 และมาตรา 368 ประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ ออกไปเป็นวันที่ 20 พ.ย. 2560 เวลา 09.30 น. ซึ่งนับเป็นการเลื่อนฟังคำสั่งอัยการ ครั้งที่ 7 หลังตำรวจส่งสำนวนให้อัยการมานานกว่าหนึ่งปีแล้ว

ต่อมา 11.00 น. ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางมาพบพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ตามหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาฐานแจ้งความเท็จ ซึ่ง พ.ต.อ.สุริยา จำนงโชค เป็นผู้กล่าวหาว่า ในวันที่ 26 มิ.ย. 2558 เจ้าหน้าที่ได้จับกุม 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 (ผบก.น.6) เป็นผู้สั่งการให้ตรวจค้นรถยนต์ของศิริกาญจน์ เนื่องจากเห็นว่านักศึกษาฝากสัมภาระไว้กับเธอ แต่ศิริกาญจน์ไม่ยินยอม พล.ต.ต.ชยพล จึงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลรักษารถยนต์คันดังกล่าวไว้ให้เรียบร้อยอย่างดี และล็อกล้อรถยนต์ไว้ พร้อมนำเทปกาวมาปิดไว้ที่มือจับสำหรับเปิดประตูรถทั้งหมดทุกด้าน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายหรือเปิดประตูรถ ซึ่งต่อมา ศิริกาญจน์ได้มาแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ในวันที่ 27 มิ.ย. 2558 ความว่า

"เนื่องจาก พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ไม่มีข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุเพียงพอที่จะมีอำนาจในการเข้าควบคุมและยึดรถของผู้กล่าวหาในความครอบครองได้ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะเป็นการควบคุมและยึดรถของข้าฯ โดยไม่มีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และทำให้เกิดความเสียหาแก่ข้าฯ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ทำให้ข้าฯ ไม่สามารถนำรถยนต์และสัมภาระออกมาจากพื้นที่ และไม่สามารถนำรถยนต์และสัมภาระไปใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ

"ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 132 (2) นั้น จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการค้น และในการยึดไว้ซึ่งสิ่งของที่ค้นพบตามมาตรา 132 (4) นั้น ต้องเป็นการยึดไว้ซึ่งสิ่งของที่ค้นพบ แต่พฤติการณ์ของ พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช กับพวกนั้น เป็นการยึดไว้ซึ่งสิ่งของหรือรถยนต์ของข้าพเจ้าโดยไม่มีหมาย อีกทั้งในการยึดและควบคุมรถของข้าฯ ไว้ ก็ไม่ได้มีการทำบันทึกใด ๆ ไว้เป็นหลักฐาน การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย"

พ.ต.อ.สุริยา เห็นว่า ข้อความที่ศิริกาญจน์แจ้งความดังกล่าว เป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน เพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษ ทำให้ พล.ต.ต.ชยพล กับพวกได้รับความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 และมาตรา 174

หลัง พ.ต.ต.หญิง ชมภูนุช อนันตญากุล พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อกล่าวหาให้ศิริกาญจน์รับทราบแล้ว ศิริกาญจน์ได้ให้การปฏิเสธ และจะทำคำให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 30 ก.ย. 2560 พร้อมแจ้งความประสงค์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงพนักงานสอบสวน เพราะเกรงว่าจะไม่ได้ความเป็นธรรม เนื่องจาก พ.ต.อ.สุริยา ผู้กล่าวหา และ พล.ต.ต.ชยพล ผู้เสียหายในคดีนี้ เป็นข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ มีอำนาจบังคับบัญชาและสั่งการต่อพนักงานสอบสวน รวมถึงตำรวจในเขตกองบัญชาการตำรวจนครบาล รวมทั้งมีเหตุโกรธเคืองกัน เนื่องจากศิริกาญจน์เคยแจ้งความดำเนินคดีกับ พล.ต.ต.ชยพล ผู้เสียหาย จึงขอให้พนักงานสอบสวนชะลอการดำเนินคดีนี้ไว้จนกว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีคำสั่งใด ๆ โดยศิริกาญจน์จะเป็นฝ่ายทำหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติผ่านผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม เพื่อเปลี่ยนแปลงพนักงานสอบสวนภายใน 15 วัน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า คดีนี้นับเป็นคดีที่ 3 ต่อจาก คดีซ่อนเร้นพยานหลักฐาน และคดีร่วมกับ 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ในข้อหายุยงปลุกปั่น ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการเดินทางไปสังเกตการณ์และปฏิบัติหน้าที่ทนายความให้กับกลุ่มนักศึกษาในช่วงวันที่ 25-27 มิ.ย. 2558 ซึ่งเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2559 พนักงานสอบสวนไม่สามารถแจ้งข้อหานี้แก่ทนายจูนได้ เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่สามารถระบุได้ว่าข้อความตอนใดจากการแจ้งความของทนายจูนที่เป็นข้อความเท็จ ก่อนจะมีหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาหลังจากผ่านไปแล้วกว่าปี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หวัง 'กองทุนรักษาคนไร้สถานะ' เดินตามรอย 'บัตรทอง' ผอ.รพ.สังขละบุรี ยันช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่อง

Posted: 02 Aug 2017 01:53 AM PDT

ผู้อำนวยการ รพ.สังขละบุรี ระบุ เม็ดเงินกองทุนรักษาคนไร้สถานะหรือกองทุนคืนสิทธิช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องโรงพยาบาล ยืนยัน การเงินดีขึ้นอย่างชัดเจน หวังบริหารจัดการทิศทางเดียวกับบัตรทอง 

2 ส.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.กฤษดา วุธยากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี กล่าวถึงการดำเนินงานของกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 23 มี.ค.2553 ตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ทางการเงินในภาพรวมของโรงพยาบาลสังขละบุรีหลังจากมีกองทุนคืนสิทธิ์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บางประการ โดยเฉพาะการใช้งบประมาณที่มีข้อกำหนดทำให้ใช้ค่อนข้างยาก แต่ที่สุดแล้วต้องยอมรับว่ากองทุนคืนสิทธิช่วยให้สภาพคล่องของโรงพยาบาลดีขึ้นอย่างชัดเจน

นพ.กฤษดา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลสังขละบุรีมีวิกฤตทางการเงินอยู่ในระดับที่ค่อนข้างมาก แต่เมื่อได้เงินส่วนนี้มาช่วยบริหารจัดการก็ทำให้สถานการณ์ในขณะนี้ค่อนข้างปลอดภัย เงินบำรุงคงเหลือมีมากขึ้น โดยโรงพยาบาลสังขละบุรีมีประชากรกลุ่มนี้อยู่ราวๆ 2 หมื่นคน ฉะนั้นงบประมาณที่ได้รับมาจึงค่อนข้างมีนัยยะสำคัญทางการเงิน

"เมื่อได้เงินส่วนนี้มา โรงพยาบาลก็จะนำมาบริหารจัดการภายในเอง โดยจะใช้จ่ายในรายการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ เช่น ค่ายา เวชภัณฑ์ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดคือไม่สามารถนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายประจำ หรือค่าจ้างบุคลากรได้" นพ.กฤษดา กล่าว

นพ.กฤษดา กล่าวอีกว่า ส่วนตัวคิดว่าแนวทางการพัฒนากองทุนคืนสิทธิควรจะเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องหรือเหมือนกับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ที่บริหารโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่วนประเด็นวิธีการใช้งบประมาณก็ควรเป็นแนวทางเดียวกันด้วย

"ผมคิดว่าเรื่องวิธีการเบิกจ่ายน่าจะเป็นแบบเดียวกันกับบัตรทอง ส่วนอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวนั้นทุกวันนี้ที่ได้อยู่ก็โอเคอยู่แล้ว เพราะรายหัวจากกองทุนคืนสิทธิได้มากกว่าบัตรทอง เนื่องจากไม่ต้องหักเงินเข้ากองทุนย่อยต่างๆ" นพ.กฤษดา กล่าว

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสังขละบุรี กล่าวว่า เมื่อมีเม็ดเงินจากกองทุนคืนสิทธิเข้ามาย่อมส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการและทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้มีผู้ป่วยนอกประมาณ 250 คนต่อวัน ขณะที่ในอดีตอยู่ที่ 200 คน เท่านั้น ตรงนี้สะท้อนว่าผู้ใช้สิทธิกองทุนคืนสิทธิรับทราบสิทธิของเขาและเข้าถึงบริการได้ดีขึ้

"มันเกือบ 10 ปี เขารับทราบสิทธิของเขาแล้ว จำนวนผู้ใช้บริการจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ที่โรงพยาบาลสังขละบุรียังอยู่แนวชายแดนประชิดประเทศพม่า จึงมีชาวพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเข้ามารับการรักษาจำนวนมาก แต่โรงพยาบาลก็ไม่เคยปฏิเสธการรักษา ซึ่งแน่นอนว่าแหล่งรายได้จากกองทุนคืนสิทธิก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้โรงพยาบาลอยู่ได้" นพ.กฤษดา กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิตร โรจนพฤกษ์ โดนตำรวจแจ้งความ ม.116 จากกว่า 5 โพสต์เฟซบุ๊ก

Posted: 02 Aug 2017 01:01 AM PDT

เข้ารับทราบข้อกล่าวหา 8 ส.ค. นี้ ยัน วิพากษ์ คสช. ต่อไปจนกว่าจะโดนตำรวจแย่งมือถือไป เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายสิทธิฯ เป็นทนายให้ ก่อนหน้านี้นักข่าวเจ้าของรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติประจำปี 2017 ถูกเรียกเข้าค่ายมาแล้ว 2 ครั้งในยุค คสช.

ประวิตร โรจนพฤกษ์

เมื่อ 1 ส.ค. 2560 ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสจากสำนักข่าว ข่าวสดอิงลิช ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก Pravit Rojanaphruk ใจความว่า เมื่อเวลา 18.40 น. ตนได้รับโทรศัพท์แจ้งจากรองผู้กำกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก. ปอท.) พ.ต.ท. กิตตินัทธ์ ประชุมสุข ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาว่าตนกระทำผิดตามมาตรา 116 หรือที่รู้จักในชื่อข้อหายุยงปลุกปั่น ผ่านการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กประมาณ 5 ชิ้น

ประวิตรจะไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันอังคารที่ 8 ส.ค. ทั้งนี้ เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนจะเป็นทนายให้ผู้สื่อข่าวชื่อดัง โดยประวิตรยืนยันว่าจะวิพากษ์รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างสุจริตต่อไปจนกว่าจะโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจแย่งโทรศัพท์มือถือไป

ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ประวิตรเคยถูกควบคุมตัวไปแบบไม่สามารถติดต่อกับคนอื่นได้เพื่อ 'ปรับทัศนคติ' ถึง 2 ครั้งหลังแสดงความเห็นที่ถูกตีความว่ากระทบกับรัฐบาล คสช. และกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในปี 2557 และ 2558 เดิมทำงานเป็นผู้สื่อข่าวที่สำนักข่าวเดอะ เนชั่น แต่ถูกเชิญออกหลังจากถูกเรียกเข้าค่ายทหารครั้งที่สองเมื่อปี 2558 จากนั้นประวิตรจึงย้ายมาทำงานที่ข่าวสดอิงลิช

เมื่อ 18 ก.ค. 2560 คณะกรรมการคุ้มครองสื่อแห่งมหานครนิวยอร์ก (The Committee to Protect Journalists) มอบรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติประจำปี 2017 ให้กับนักข่าว 4 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสจากข่าวสดอิงลิช ที่ได้รับเกียรติจากทางคณะกรรมการฯ ร่วมกับนักข่าวอีก 3 คนจากแคเมอรูน เม็กซิโก และเยเมน แถลงการณ์ระบุถึงประวิตรว่าเป็น "นักข่าว นักวิพากษ์ และนักรณรงค์ด้านเสรีภาพสื่อ ถูกคุกคามโดยรัฐบาลและถูกคุมขัง 2 ครั้งในช่วงไม่กี่ปีนี้จากการทำข่าวประเด็นการเมืองและสิทธิมนุษยชน"

ทั้งนี้ ประมวลประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 บัญญัติไว้ว่า

         "มาตรา ๑๑๖ ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

         (๑) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย

         (๒) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

         (๓) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี"

(ที่มา: iLaw)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนทำไวน์รางวัลเกียรติยศฝรั่งเศสเปิดใจ ทำไมไวน์ไทยถึงไม่พัฒนา

Posted: 02 Aug 2017 01:00 AM PDT

หญิงผู้เติบโตมาในแถบอีสานใต้และเดินทางไปทำไวน์ที่ฝรั่งเศสจนได้รางวัลเกียรติยศ เธอให้สัมภาษณ์ต่อสื่อฮ่องกงถึงปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมไวน์ไทยไม่โต ทั้งจากวัฒนธรรมอำนาจนิยม การแบ่งชนชั้น รวมทั้งการออกกฎควบคุมจากภาครัฐที่ "แปรปรวนพอๆ กับสภาพอากาศ" นอกจากนี้ต้องทุนหนาเท่านั้นถึงจะประสบความสำเร็จ

ที่มาของภาพประกอบ: Megan Mallen/Wikipedia

1 ส.ค. 2560 ขณะที่ในประเทศเราเพิ่งมีการพูดถึงการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สื่อฮ่องกงเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์นำเสนอเรื่องของเหมียว สาคร-เซคี หญิงที่เคยทำงานเกี่ยวกับไวน์ในไทย ที่ต่อมากลายเป็นผู้ผลิตไวน์ที่ได้รับรางวัลเกียรติยศระดับชาติจากประธานาธิบดีของฝรั่งเศส รวมถึงสิ่งที่เธอมองว่าเป็นอุปสรรคที่ทำให้อุตสาหกรรมไวน์ในไทยไม่โต

เซคี เป็นหญิงที่มีพื้นเพครอบครัวชาวนาแถบอีสานใต้ใกล้กับชายแดน ลาว-กัมพูชา เธอเติบโตมาท่ามกลางเทือกเขาพนมดงรักก่อนที่จะได้ไปเรียนต่อด้านเกษตรศาสตร์และทำงานเป็นนักปฐพีวิทยาผู้ดูแลด้านดินในกรุงเทพฯ ต่อมาเธอแต่งงานกับคนที่ทำงานองค์กรแพทย์ไร้พรมแดนซึ่งเป็นองค์กรจากฝรั่งเศสแล้วย้ายไปทำงานเกี่ยวกับไวน์ที่ฝรั่งเศสในช่วงยุคทศวรรษ 90s

เซคีบอกว่าเธอมีประสบการณ์น้อยมากในเรื่องไวน์ก่อนไปที่ฝรั่งเศส แต่ด้วยความรู้เรื่องการเกษตรทำให้เธอพยายามเรียนภาษาฝรั่งเศสเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการผลิตไวน์จากที่นั่น หลังจากนั้นเธอก็กลับมาทำงานกับบริษัทผลิตไวน์ในไทยช่วงปี พ.ศ. 2545-2549 กับบริษัทใหญ่ๆ แต่กระนั้นหลังจากปี พ.ศ. 2549 เธอก็กลับไปฝรั่งเศสอีก

ในการให้สัมภาษณ์ต่อเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์ เซคี กล่าวว่าขณะที่ประเทศไทยให้โอกาสเธอสอนคนอื่นทำไวน์ได้ แต่ในแง่ของการทำงานเองเธอกลับรู้สึกว่าประเทศไม่เอื้อให้เธอสามารถทำไวน์ได้เต็มที่ เธอวิจารณ์ว่าการออกกฎควบคุมจากภาครัฐมีความแปรปรวนพอๆ กับสภาพอากาศ และต้องเป็นคนที่ทุนหนาเท่านั้นถึงจะประสบความสำเร็จได้

ถ้าผ่านพ้นเรื่องพวกนี้มาได้เซคีแนะนำว่าไทยเหมาะสมกับองุ่นที่ใช้ทำไวน์พันธุ์ชีราซ โคลอมบาร์ด และเชนินบลังค์ เพราะองุ่นเหล่านี้จะทนทานต่อสภาพอากาศร้อน แต่อุปสรรคก็ไม่ใช่แค่เรื่องสภาพอากาศหรือกฎควบคุมจากรัฐเท่านั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ปิดกั้นความก้าวหน้าคือระบบในไทยเองที่เซคีมองว่าเป็นระบบอำนาจที่ "มีการแบ่งลำดับขั้นสูงต่ำอยู่มาก" ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจเองเพราะระบบแบบนี้จะให้ความสำคัญว่า "เจ้านายต้องการอะไร" มากกว่าจะสนใจความรู้ของผู้ปฏิบัติงาน

ตรงกันข้ามเซคีรู้สึกว่าเจ้านายของเธอที่ฝรั่งเศสยอมรับความสามารถและให้ความสำคัญกับเธอมากกว่า ทำให้เป็นสิ่งที่ดึงดูดสำหรับเซคีนอกเหนือจากความชื่นชอบในธรรมชาติของเทือกเขาพีเรนีสแล้ว

"โชคชะตาอาจจะนำพาฉันมาที่นี่ แต่เป็นความรู้สึกดีที่ทำให้ฉันอยากอยู่ต่อไป" เซคีกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์

 

เรียบเรียงจาก

What's holding Thailand's wine back? Winemaker honoured in France talks Thai terroir and the pull of the Pyrenees, South China Morning Post, 01-08-2017

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยกฟ้อง 'สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ' ชี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงสั่งสลายพันธมิตรปี 51

Posted: 01 Aug 2017 11:37 PM PDT

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้อง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ระบุไม่ปรากฏข้อเท็จจริงสั่งการให้ จนท.ใช้กำลังกับกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 51

ที่มา ภาพเฟซบุ๊กแฟนเพจ Banrasdr Photo 

2 ส.ค.2560 Banrasdr Photo รายงานว่า สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เดินทางมายังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อฟังคำตัดสินในคดีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้องในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จากการสลายการชุุมนุมของชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดทางให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าประชุมสภาได้ในเช้าวันที่ 7 ต.ค. 2551เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บอีก 471 คน

โดยมีประชาชนจำนวนหนึ่งมารอให้กำลังใจ และอีกด้านหนึ่งมีประชาชนและผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์มารอฟังคำตัดสินด้วยเช่นกัน

ไทยพีบีเอสรายงานว่า หลังจากใช้เวลาในการอ่านคำพิพากษานานกว่า 1.20 ชั่วโมง ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา ยกฟ้องจำเลยทั้ง 4 คน ชี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตร โดยคดีนี้ใช้เวลาในการพิจารณายาวนานถึง 9 ปี

เปิดคำพิพากษา คดีสลายการชุมนุม 9 ปี 

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันทำการให้มีการเปิดทางเข้ารัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีเข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภาอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ การที่ผู้ชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา โดยปิดล้อมประตูเข้าออกไว้ทุกด้าน ถือว่าเป็นการขัดขวางการปฏิบัตคิหน้าที่และไม่ได้เป็นการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบกรกฎ 48 โดยใช้มาตรการควบคุมฝูงชนจากเบาไปหาหนักแล้ว เท่าที่จะทำได้ในสถานการณ์ขณะนั้น พยานหลักฐาน โจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 4 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
 
สำหรับเหตุการณ์ในช่วงบ่ายและช่วงค่ำ โจทก์ร้องขอให้ลงโทษเฉพาะจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 เนื่องจากข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่สองได้ลาออกจากตำแหน่งไปหลังจากเกิดเหตุการณ์ในช่วงเช้า การที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้กลับมาปิดล้อมรัฐสภาเป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา เจ้าหน้าที่รัฐสภา ไม่สามารถออกจากรัฐสภาได้ มีการปลุกระดมผู้ชุมนุมและจะบุกเข้าไปข้างในรัฐสภา จึงไม่ใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบ และเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อเปิดทางช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในรัฐสภา
 
โดยเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัตตามขั้นตอนของแผนกรกฎ 48 จึงจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตาเพื่อช่วยเหลือซึ่งพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้ง 4 ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญแก๊สน้ำตาก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับผลอันเกิดจากการใช้แก๊สน้ำตา แม้จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ว่าในสถานการณ์เช่นนั้นเป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะทราบว่าแก๊สน้ำตาจะเป็นเหตุให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่อนอกตีแผ่ปัญญาประดิษฐ์จะมาแย่งงานเรา หรือระบบทางสังคมกันแน่ที่ทำให้คนไม่เท่ากัน?

Posted: 01 Aug 2017 08:56 PM PDT

หนึ่งในความกังวลเกี่ยวกับระบบปัญญาประดิษฐ์คือ แย่งงานมนุษย์ สื่อด้านความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจอีควอลไทม์ เสนอว่าสุดท้ายแล้วมันเป็นเรื่องของการกำหนดนโยบายทางการเมืองและสังคมมากกว่าตัวเทคโนโลยีเอง ว่าจะทำอย่างไรให้ปัญญาประดิษฐ์เอื้อประโยชน์ต่อคนโดยเท่าเทียม แทนที่จะให้ประโยชน์คนไม่กี่คนและมีทำลายชีวิตคนอื่นๆ

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2560 ระบบปัญญาประดิษฐ์อาจจะมีประโยชน์สำหรับมนุษย์ในหลายๆ ด้าน แต่ก็มีสิ่งที่ยังไม่ชวนให้คลายความกังวล คือการที่มันจะมา "แย่งงาน" ของมนุษย์ ข้อมูลจากงานวิจัยของคัทยา เกรซ จากสถาบันวิจัยอนาคตของมนุษยชาติ มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ระบุว่าภายในช่วงราว 10-40 ปีข้างหน้าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อาจจะเข้ามาแทนที่การทำงานหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นงานเขียน งานแปล งานขับรถ งานทางการแพทย์ งานการเงิน หรือแม้กระทั่งงานทางการทหารก็ไม่พ้นอาจจะถูกแทนที่ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์

อย่างไรก็ตามในประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้วก็มีความกังวลในเรื่องนี้ต่างกัน สตีเวน โทบิน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าวว่า ในประเทศพัฒนาแล้วจะกังวลเรื่องความสามารถในกระบวนการคิดและรับรู้ของปัญญาประดิษฐ์จะทำให้พวกมันได้เปรียบมนุษย์ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจะกังวลว่าหุ่นยนต์อันโนมัติจะเข้ามาแย่งงานภาคการผลิตไป

อย่างไรก็ตามโทบินเน้นย้ำว่าที่ผ่านมาการพัฒนานวัตกรรมไม่ได้ทำให้เกิดการว่างงานเป็นจำนวนมากอย่างที่กังวลกันเสมอไป เพราะสุดท้ายแล้วความผิดไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของการจัดการของทั้งภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ ในสังคมต่างหากที่จะเป็นผู้กำหนดว่าพวกเขาต้องการอนาคตแบบใด พวกเขาควรทำให้อนาคตสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ไปพร้อมๆ กับเป็นประโยชน์ต่อสังคมและตลาดแรงงาน

อย่างไรก็ตามในระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ทุกคนหรือแค่คนที่มีอำนาจควบคุมปัจจัยการผลิตกันแน่ ฮวน ทอร์เรส โลเปซ ศาตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ประยุกต์จากมหาวิทยาลัยแห่งเซวิลล์กล่าวว่า ถึงแม้ปัญญาประดิษฐ์จะเป็นความก้าวหน้าที่พวกมันจะช่วยทำงานแทนมนุษย์ได้ แต่ปัญหาคือผู้ที่จะได้ประโยชน์จากมันอย่างไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภาคส่วนของสังคม

นอกจากนี้ทาง ILO ยังได้พูดถึงสถานการณ์การจ้างงานในยุคปัจจุบันที่เริ่มมีการทำสัญญาจ้างไม่เป็นแบบมาตรฐานมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างแบบไม่เต็มเวลา การจ้างชั่วคราว การจ้างผ่านองค์กรจัดหางาน การจ้างเหมาช่วง (subcontract) การทำงานอิสระแบบมีการพึ่งพิง หรือความสัมพันธ์ทางการจ้างงานแบบคลุมเครือ ทั้งหมดนี้จะยิ่งได้รับผลกระทบเกิดความไม่มั่นคงในหน้าที่การงานมากขึ้นเมื่อเกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ILO จึงเสนอให้มีการดูแลจัดการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อให้มั่นใจว่าจะจะทำให้แรงงานได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมไม่ว่จะมีสัญญาจ้างแบบใด

แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

ILO เสนอว่าควรจะมีการคุ้มครองสิทธิแรงงานที่ดีและทำให้แรงงานสามารถเข้าสู่กระบวนการฝึกฝีมือและพัฒนาทักษะตัวเองได้มากขึ้นเพื่อรองรับงานรูปแบบใหม่ไปพร้อมๆ กับรองรับให้พวกเขามีชีวิตอยู่ได้โดยหลักประกันในชีวิตขั้นพื้นฐาน ILO ยกตัวอย่างประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่นที่สามารถนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ได้โดยที่ไม่กระทบตอการจ้างงานของคน โดยพูดถึงการนำหุ่นยนต์มาใช้ในงานที่อันตรายสำหรับมนุษย์ ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีเหล่านี้ลดรายจ่ายได้โดยทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมด้วย

หนึ่งในการแก้ปัญหานี้คือนโยบายรายได้ขั้นพื้นฐาน หรือในกรณีของสเปนเรียกว่ารายได้ขั้นต่ำ (minimum income) ที่ทางการเมืองบาร์เซโลนาทดลองนำมาใช้กับเขตเบซอส 1,000 ครัวเรือนด้วยงบประมาณ 13 ล้านยูโร เป็นเวลา 24 เดือน เพื่อศึกษาว่าถ้าหากผู้คนเข้าถึงรายได้ขั้นต่ำแทนระบบสวัสดิการที่ยุ่งยากซับซ้อนเกินไปนั้นจะส่งผลอย่างไรบ้าง ทั้งนี้เพื่อศึกษาว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะมีรายได้เพิ่มเติมจากเดิม มีรายได้ลดลง รวมถึงยังคงมีส่วนร่วมทางสังคมในด้านแรงงานหรือไม่

นอกจากบาร์เซโลนาแล้วยังมีหลายเมืองที่มีโครงการทดลองในเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นออนแทริโอของแคนาดา อูเทรคต์ของเนเธอร์แลนด์ และในฟินแลนด์ โดยแนวคิดรายได้ขั้นพื้นฐานนี้มีเป้าหมายหลักคือการลดความเหลื่อมล้ำและทำให้เกิดความเท่าเทียมด้านโอกาส โดยหลังจากการทดลองเป้นเวลา 2 ปี ก็จะมีการประเมินว่านโยบายนี้ส่งผลต่อการคุ้มครองทางสังคมและการลดความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่เมื่อเทียบกับระบบสวัสดิการแบบเดิมที่ถูกวิจารณ์ว่าทำให้เกิดการพึ่งพิงและมีความเป็นราชการเกินไป ทางสภาเมืองบารเซโลนาจึงทดลองรายได้ขั้นต่ำเพื่อดูว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและลดความปัญหาจากความเป็นระบบราชการลงได้หรือไม่

 

เรียบเรียงจาก

The future of work in the era of artificial intelligence, Equal Times, 31-07-2017

https://www.equaltimes.org/the-future-of-work-in-the-era-of

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณะรัฐบาลชุดใหม่ของเกาหลีใต้ จะจัดการปัญหากับเกาหลีเหนือได้แค่ไหน?

Posted: 01 Aug 2017 08:37 PM PDT

ขณะที่คณะรัฐมนตรีของมุนแจอิน ผู้นำคนใหม่ของเกาหลีใต้จะเต็มไปด้วยผู้ที่เตรียมพร้อมรับมือปัญหาความมั่นคงเกาหลีเหนือหรือเคยทำงานทางการทูตเพื่อเจรจากับเกาหลีเหนือมาก่อน แต่การเตรียมการและท่าทีของมุนแจอินจะทำให้เกาหลีเหนือที่เพิ่งทดลองขีปนาวุธอีกลูกเมื่อไม่นานนี้ยอมขึ้นโต๊ะเจรจาด้วยหรือดื้อดึงต่อไป

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2560 หลังจากที่เกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ลูกที่สองช่วงคืนวันที่ 28 ก.ค. ที่ผ่านมาไปตกที่น่านน้ำเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่นห่างจากจังหวัดฮอกไกโดเป็นระยะทาง 160 กม. ก็ชวนให้จับตามองประเด็นความมั่นคงคาบสมุทรเกาหลีอีกครั้งโดยเฉพาะเรื่องที่สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ที่เพิ่งได้รัฐบาลใหม่จะจัดการปัญหาเกาหลีเหนืออย่างไร

มีบทความของ ไลฟ์-อิริค อีสลีย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวาและนักวิจัยการต่างประเทศในสถาบันวิจัยนโยบายกรุงโซล อธิบายถึงเรื่องท่าทีของทั้งเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ที่ถึงแม้จะมีข่าวออกมาว่าพวกเขาจะไม่ลงรอยกันในวิธีการจัดการกับเกาหลีเหนือเนื่องจากสหรัฐฯ ยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ดูมีท่าที "สายเหยี่ยว" ที่ดูแสดงกำลังทางการทหารมากกว่าขณะที่มุนแจอินผู้นำจากการเลือกตั้งคนล่าสุดของเกาหลีใต้ดูจะเน้นการพยายามตกลงหารือกับเกาหลีเหนือ แต่หลังจากที่มุนแจอินเข้าพบปะกับทรัมป์ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาแล้ว ทั้งสองประเทศนี้ยังมีความสัมพันธ์เชิงพันธมิตรกันและมุ่งปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือทั้งคู่ โดยที่จะมีการคว่ำบาตรหนักขึ้นต่อกรณีการทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ

มุนแจอินยังยอมรับเรื่องการติดตั้งระบบยิงสกัดขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง (THAAD) โดยสหรัฐฯ ยอมให้ทรัมปฺ์กดดันด้านการค้า อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ ก็สนับสนุนให้มุนแจอินเริ่มเปิดการเจรจากับเกาหลีเหนืออีกครั้ง จากที่รัฐบาลก่อนหน้านี้นำโดยปาร์กกึนฮเยปฏิเสธการปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือนับตั้งแต่การทดลองนิวเคลียร์ในเดือน ม.ค. 2559

แต่ถึงแม้ว่ามุนแจอินจะตอบรับคำขอขององค์กรเอ็นจีโอมากกว่า 50 องค์กรและเสนอว่าจะมีการดำเนินโครงการด้านสุขภาวะ การกีฬา การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการรำลึกประวัติศาสตร์ร่วมกันกับเกาหลีเหนือ แต่ทางการเกาหลีเหนือก็ตอบกลับอย่างไม่เป็นมิตรโดยเรียกร้องให้มีการยกเลิกคว่ำบาตรและคืนผู้ที่แปรพักตร์สู่เกาหลีเหนือ

นอกจากนี้อีสลีย์ยังระบุอีกว่าท่าทีของเกาหลีเหนือในยุคของคิมจองอึนดูจะเป็นไปในทางการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มากกว่า ทำให้มุนแจอินเคยแถลงว่าจะประณามเกาหลีเหนือมากขึ้นในเรื่องการทดลองอาวุธ จุดนี้ทำให้มีคนมองว่ามุนแจอินอาจจะเลิกยุ่งเรื่องเกาหลีเหนือแล้วหันมาเน้นเรื่องภายในประเทศ แต่เมื่อพิจารณาจากการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีและประสบการณ์ทำงานของมุนแจอินแล้วอีสฃีย์มองว่าเขาคงมีความยึดมั่นทีจะแก้ปัญหาเกาหลีเหนือให้ได้

"การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีของมุนแจอินแสดงให้เห็นอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าเขาต้องการให้เน้นใช้วิธีเข้าหาเพื่อทำสัญญาผูกมัดมากกว่าจะทำการคว่ำบาตร ใช้วิธีทางการทูตมากกว่าการทหาร และทำงานร่วมกับสหประชาชาติ" อีสลีย์ระบุในบทความ

แต่อีสลีย์ก็ประเมินแบบมองโลกในแง่ร้ายว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่เกาหลีเหนือจะยอมรับข้อเสนอมากมายที่เกาหลีใต้ยื่นให้แลกกับการเจรจา เว้นแต่เกาหลีใต้จะยกเลิกการคว่ำบาตร 5-24 (การคว่ำบาตรหลังจากที่เกาหลีเหนือยิงเรือโชนันของเกาหลีใต้ในปี 2553) เปิดให้มีการทัวร์ภูเขากุมกังในเกาหลีเหนือ หรือเปิดนิคมอุตสาหกรรมแคซองอีกครั้ง หรือจนกว่าเกาหลีเหนือรู้สึกว่าตัวเองมีอาวุธนิวเคลียร์ที่น่าพอใจแล้ว

นอกจากนี้เกาหลีเหนือเองก็เคยมีประวัติโกงไม่ทำตามข้อตกลง ยังคงทำลองนิวเคลียร์และขีปนาวุธต่อไป พยายามทำให้เกาหลีใต้และสหรัฐฯ แตกคอกัน อีสลีย์จึงมองว่าการพยายามกระชับมิตรสองเกาหลีเป็นเรื่องที่ดีแต่รัฐบาลมุนแจอินก็ทำถูกในแง่ที่ไม่ยอมแลกมันด้วยการขัดมติของสหประชาชาติหรือส่งผลกระทบต่อการประสานงานกับพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ

 

เรียบเรียงจาก

Moon assembles dream team, but North Korea unwilling to play, East Asia Forum, 

http://www.eastasiaforum.org/2017/07/30/moon-assembles-dream-team-but-north-korea-unwilling-to-play/

US assesses N.Korean missile was ICBM, NHK, 29-07-2017

https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/news/20170729_08/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

1 ความคิดเห็น:

  1. คุณต้องการเงินกู้ยืมสำหรับธุรกิจของคุณหรือเพื่อการใช้ส่วนตัวหรือไม่? ข้อเสนอของเราให้เงินกู้ยืมที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ 2% .. คุณคิดว่าจะได้รับเงินกู้หรือไม่? คุณอาจถูกปฏิเสธโดยธนาคารในพื้นที่ของคุณหรือไม่? ตอบกลับสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมผ่านทาง: (georgeanderson.loanfirm255@gmail.com) ลูกค้า Serous เฉพาะในกรณีที่คุณไม่จำเป็นต้องกู้ยืมเงินกรุณาละเลยข้อความนี้ขอบคุณ!

    ข้อเสนอเงินกู้.

    ตอบลบ