โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ความเจ็บปวดของการ (บังคับ) รับสารภาพ : มอง ‘ไผ่’ ผ่านหนัง Fire Under the Snow

Posted: 18 Aug 2017 09:44 AM PDT

Palden พระทิเบตผู้ถูกทัณฑ์ทรมานแสนสาหัสในคุกยาวนาน 33 ปีเพราะความคิด คุกไม่อาจทำให้เขาพูดในสิ่งที่ตนไม่ได้คิดได้ เทียบกับสภาวการณ์เมืองไทย มิได้หมายให้นักโทษความคิดต้องยืนยันด้วยชีวิตเช่นลามะทิเบต หากพยายามทำความเข้าใจ "ความทรมาน" จากการถูกบีบบังคับให้สารภาพว่าสิ่งที่ตนคิดเป็นความผิด เป็นภัยต่อผู้คน

"They say, everything is great in Tibet. Tibetans enjoy human rights.

But I am living proof of how they treated us.

If the world learns about it, they'll demand an end to this injustice."

นั่นเป็นคำพูดแรกเริ่มในหนังสารคดีเรื่อง Fire Under the Snow (เผยแพร่ปี 2008) ที่สถาบันวัชรสิทธาจัดฉายเมื่อวัน 13 สิงหาคมที่ผ่านมา

คนที่พูดคือพระสูงวัย อดีต(พระ)นักโทษการเมืองที่เรียกร้องอิสรภาพและเสรีภาพในทิเบตจากการรุกรานของจีน ชื่อ Palden Gyatso (พาลเด็น เก็ตโซ) เขาใช้ชีวิตในคุกและในค่ายแรงงานรวม 33 ปี ผ่านการถูกทรมานสารพัดจนเหลือเชื่อว่าจะรอดชีวิตมาได้ และคงเป็นประโยคข้างบนนั่นเองที่เป็นแรงจูงใจสำคัญ การเล่าเรื่องดูเหมือนเป็นอาวุธเดียวที่เขาใช้ 

ประเด็นที่น่าสนใจและร่วมสมัยกับประเทศไทยซึ่งมีนักโทษทางความคิด นักโทษการเมืองด้วยเช่นกันคือ เสรีภาพในการแสดงออก การซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่คิดที่เชื่อนั้นมีความหมายต่อการมีชีวิตอยู่เพียงไหน  

"เพียงตอบว่า ใช่ (ทิเบตเป็นของจีน) ยอมรับว่าเปลี่ยนความคิดแล้ว คุณก็จะได้ออกจากคุก แต่นักโทษส่วนใหญ่ยังคงยืนยันคำเดิม"

"เราถูกถามคำถามเดิมเป็นเดือนๆ และทุกทีที่ตอบว่า "ไม่" ก็จะถูกตี ถูกซ้อม" Tenzin Tsundue นักกิจกรรมรณรงค์  Free Tibet อดีตนักโทษการเมืองที่เคยติดคุกแล้วลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศเล่า

หลังจากจีนเริ่มบุกทิเบตในปี 1949-1950 ทำลายวัดวาอารามและห้ามผู้คนในดินแดนที่ศาสนาเป็นเนื้อเดียวกับชีวิตนับถือศาสนาอีกต่อไป Palden ซึ่งเป็นพระธรรมดาๆ ก็เริ่มเข้าร่วมขบวนต่อต้าน เขาบวชตั้งแต่ยังเป็นเด็กชายตามธรรมเนียมชาวทิเบตที่ว่า หากบ้านใดมีลูกชาย 3 คน ลูกชายคนเล็กสุดจะต้องบวชเป็นพระ นั่นหมายความว่าประเทศนี้ชายฉกรรจ์เป็นพระกันจำนวนมาก และพระก็กลายสภาพเป็นนักโทษกันจำนวนมากเช่นกัน เอ็นจีโอที่ทำงานเรื่องทิเบตระบุว่า เมื่อก่อนพระทิเบตมีจำนวน 15,000-10,000 รูปแต่ตอนกดปราบหนักนั้นเหลือ 300-600 รูปได้ ส่วนใหญ่เข้าคุก อีกส่วนลี้ภัยไปต่างประเทศ และจำนวนไม่น้อยที่ตาย

Palden นับเป็นนักโทษการเมืองรุ่นบุกเบิก ถูกจับตั้งแต่ปี 1959 ที่ประชาชนทิเบตลุกขึ้นประท้วงจีนครั้งแรก ก่อนที่ประเด็นการละเมิดสิทธิและ "Free Tibet" จะโด่งดังในโลกตะวันตกหลังการลุกขึ้นประท้วงอย่างสันติของชาวทิเบตครั้งใหญ่อีกครั้งในปี 1998 อันนำมาซึ่งการจับกุมคุมขัง เข่นฆ่าและทำให้หายตัวไปของผู้ประท้วงจำนวนมาก

Palden ติดคุกระหว่างการพาอาจารย์ของเขาหลบหนีไปอินเดียในปี 1959 ขณะนั้นอายุ 28 ปี เขาถูกคุมขังในอารามที่ถูกปรับให้เป็นคุกชื่อว่า Drapchi prison ใน LHASA เมืองหลวงของทิเบต


ภาพจากนักโทษการเมืองทิเบตเล่าถึงตัวอย่างการทรมานในคุก

สิ่งที่เขาเจอคือการสอบสวนพร้อมๆ กับการทรมาน เพราะเขายืนกรานว่าทิเบตเป็นของคนทิเบต เขาถูกซ้อมอย่างหนัก ถูกจับแขวนโยงกับขื่อ ถูกเอาน้ำร้อนสาด เขาเล่าว่าหลังจากนั้นเขาถูกขังในห้องมืด รู้สึกเหมือนใกล้จะตาย จากนั้นก็มีคนเปิดประตูเข้ามา เขาได้กลิ่นสบู่ มีเสียงผู้หญิงถามขึ้นว่า "คุณชื่ออะไร" หลังจากตอบชื่อ เจ้าหน้าที่หญิงถามว่า คุณได้ร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจีนไหม อีกครั้งที่เขาตอบความจริง "ใช่" จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็นำกระดาษที่พิพากษาลงโทษจำคุก 7 ปีมาให้เขาลงชื่อในสภาพใกล้ตายแบบนั้น

ในหน้าหนาวผู้คุมจะเอาน้ำเย็นสาดนักโทษ ในหน้าร้อนพวกเขาจะก่อไฟเพื่อให้ควันและความร้อนจากเปลวไฟรมนักโทษ เวลาจะโดนสอบสวน Palden ต้องถอดกางเกง คลานเข่าไปในห้องสอบสวนที่เต็มไปด้วยเศษแก้วและหินแหลมคม หลังติดคุกมา 1 ปีเขาถูกถามคำถามเดิมว่า คิดว่าดาไลลามะควรกลับมาทิเบตไหม และทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีนหรือไม่ คำตอบคือ ใช่ และ ไม่ใช่ ตามลำดับ เขาถูกซ้อมอย่างหนัก

AMA ADHE อดีตนักโทษการเมืองหญิงเล่าว่า ในคุกแห่งนี้ มีนักโทษอดอาหารตาย 12,019 คน นักโทษที่เหลือต้องกินทุกอย่าง เช่น แมลง เศษหนังจากรองเท้า กระทั่งบางคนต้องกินศพของคนอื่น "I swear it is true"

ด้วยสภาพที่ย่ำแย่ถึงขีดสุดในคุก Palden เห็นว่าอยู่ไปต้องตายแน่ จึงวางแผนหลบหนีออกจากคุกกับเพื่อน เขาหนีออกมาได้ แต่นี่ไม่ใช่หนังฮอลีวูด เขาและเพื่อนถูกจับได้ระหว่างทางแล้วนำกลับมายังคุกเดิมอีกครั้ง เจ้าหน้าที่พยายามกดดันให้เพื่อนนักโทษทำร้ายเขา แต่ไม่มีใครซักคนที่ยอมทำตาม เพื่อนๆ ได้แต่ลงโทษด้วยตะโกนใส่หน้าว่า "พวกแกทำให้พวกเราลำบากขึ้นอีก" จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็สอบสวนเขา เขาพูดความจริงอีกครั้งถึงจุดประสงค์ที่จะหนีไปอินเดียว่าต้องการไปพบดาไลลามะเพื่อเล่าเรื่องการทรมานที่เกิดขึ้น และต้องการ "enjoy freedom" เจ้าหน้าที่ลงโทษเขาด้วยการใช้กระบองไฟฟ้ายัดเข้าไปในปากแล้วช็อตไฟ เพื่อนของเขาในคุกเดียวกันเล่าว่า มันรุนแรงมากจนทำให้ฟันของเขาร่วงหมดปาก และยังถูกซ้อม ถูกพันธนาการอย่างหนัก ก่อนจะถูกตัดสินเพิ่มโทษฐานหลบหนีอีก 8 ปี รวมเป็น 15 ปี

Palden เป็นกรณีที่ทั้งสร้างความสะเทือนใจ สร้างแรงบันดาลใจ และกระทั่งทำให้เกิดคำถามว่าทำไมเขาจึงไม่ยอมพูดคำลวงอย่างที่ผู้มีอำนาจอยากได้ยิน

Manfred Nowak ผู้ตรวจการพิเศษจากสหประชาชนที่ทำรายงานเรื่องการทรมานในทิเบต ระบุว่า การทรมานที่เกิดขึ้นนั้นเป็นยิ่งกว่าอาชญากรรมธรรมดา ผู้กระทำไม่ได้ต้องการเพียงยึดครองดินแดนหรือเอาชนะกดข่มประชาชนที่นั่น แต่ต้องการให้เปลี่ยน personality และยอมรับว่าสิ่งที่พวกเขาเป็นนั้นเป็นเรื่องผิด การทรมานอย่างรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจจึงเกิดขึ้นเพื่อที่ท้ายที่สุดแม้ผู้นั้นอาจจะไม่ยอมรับ เมื่อเขาออกจากคุกไปก็จะหมดสภาพที่จะทำการใดๆ ต่อ

แน่นอน หลายคนยอมซัดทอดเพื่อน คนจำนวนมากล้มตายในคุก หลายคนออกมาตายที่บ้านหลังออกจากคุกมาไม่นาน ล่าสุดคือปี 2014 ในกรณีของ Goshul Lobsang (อ่านที่นี่) และปัจจุบันก็ยังมีการจับกุมผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่อต้านจีนอยู่ ส่วนจำนวนนักโทษการเมืองที่แน่ชัดนั้น HRW ระบุว่าเป็นการยากมากที่จะเข้าถึง (อ่านที่นี่)

ในกรณีของไทย แม้เรื่องราวการทรมานให้ผู้คนเปลี่ยนความคิดจะไม่เทียบเท่ากับในทิเบต และมีปัจจัยต่างๆ ที่แตกต่างกันมากมาย แต่กล่าวให้ถึงที่สุด การจองจำผู้คนในคดีเกี่ยวกับความคิดและการพยายามทำให้บุคคลเหล่านั้นรับสารภาพก็เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารที่พลเรือนจำนวนมากต้องไปขึ้นศาลทหารในความผิดเกี่ยวกับความคิดที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ (มาตรา 112) กระบวนการที่ยาวนานอย่างไม่รู้จุดหมายปลายทาง และสภาพย่ำแย่ในเรือนจำ ทำให้หลายต่อหลายคนยินยอมรับสารภาพทั้งที่ต้องการสู้คดี (อ่านที่นี่) หรือกรณีของคนที่ต่อสู้คดีก็แทบไม่มีใครสามารถชนะคดีได้และต้องถูกลงโทษอย่างหนัก เช่นกรณีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำคุก 10 ปี

ไม่ต้องกล่าวถึงความสมเหตุสมผลของโทษ (ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่) ความผิดปกติในกระบวนการระหว่างสู้คดี แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สาธารณชนก็ไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่พวกเขาพูดหรือเขียนนั้นคืออะไร

กรณีล่าสุดของเด็กหนุ่มนักศึกษาชื่อ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ เป็นเพียงไม่กี่กรณีที่เรารู้ว่าเขา "พูด" อะไร เนื่องจากเป็นการแชร์บทความจากเพจสำนักข่าวบีบีซีไทยเกี่ยวกับพระราชประวัติของในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยตัดเอาย่อหน้าหนึ่งมาโพสต์ตั้งต้นเท่านั้น

"ลูกชายพูดมาตลอดว่า การต่อสู้คดีครั้งนี้เพื่อจะพิสูจน์เรื่องความเป็นกฎหมาย ความเป็นกระบวนการยุติธรรม ซึ่งลูกชายไม่เคยได้รับ เขาจึงต้องการต่อสู้"

"ไผ่ไม่ได้ต่อสู้คนเดียว ไผ่ไม่ได้ต่อสู้เพื่อไผ่ ไผ่ต่อสู้เพื่อคนอื่น ต่อสู้เพื่อลูกคนอื่น ต่อสู้เพื่อประชาชนที่มีโอกาสจะถูกกระทำแบบนี้เช่นกัน ดังนั้นการต่อสู้ของไผ่ครั้งนี้ เป็นการต่อสู้เพื่อส่วนรวม"

คำให้สัมภาษณ์ของพ่อไผ่ถึงการยืนยันต่อสู้คดีตลอด 7 เดือนที่ถูกคุมขัง ไม่ได้รับการประกันตัวแม้ยื่นเรื่องไปแล้วถึง 9 ครั้ง

แต่เมื่อมีการสืบพยานนัดที่สอง เขาก็เปลี่ยนมา "รับสารภาพ" ผู้ใกล้ชิดไผ่คาดว่าเหตุที่เขาเปลี่ยนใจเป็นเพราะแม่ของเขาตรอมใจอย่างหนักและเกิดผลกระทบหลายอย่างที่ยากจะกล่าวแก่สาธารณะ

ส่วนทนายความของไผ่ระบุถึงเหตุการณ์ก่อนการรับสารภาพไว้อย่าง "น่าสนใจยิ่ง" ว่า

"ผมจำได้ว่า ผมเรียนท่านผู้พิพากษาไปอย่างชัดเจนว่า ผมขอให้ไผ่และครอบครัวเป็นผู้ตัดสินใจดีกว่า แล้วในที่สุดผมก็ปล่อยให้ไผ่กับพ่อแม่อยู่ในห้องพิจารณาคดีที่ 8 กับผู้พิพากษาเพื่อใคร่ครวญเอง ประมาณเกือบชั่วโมงพ่อกับแม่ของไผ่เดินออกมาจากห้องพิจารณาและขอให้ผมกับทนายแสงชัยเข้าไปคุยกับไผ่..."

"ผมพูดกับไผ่อยู่สามประโยคทั้งที่เขาไม่ได้ถามอะไร
ผมบอกเขาว่า ผมเชื่อว่าคุณไม่มีวันชนะในการตัดสินคดีนี้อย่างแน่นอน ส่วนการตัดสินใจใด ๆ ของคุณในวันนี้นอกจากเพื่อตัวเองแล้วคงต้องคิดเพื่อพ่อกับแม่ที่รักคุณสุดหัวใจด้วย และสุดท้ายอย่างหวังว่าการต่อสู้เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมจะได้รับชัยชนะได้ในเร็ววัน แต่ที่สำคัญกว่าคือประสบการณ์ความเจ็บปวดที่คุณได้รับเพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมาจะสอนให้คุณรู้คุณค่าของความถูกต้องเป็นธรรมที่คุณใฝ่ฝันหา
ไผ่มองหน้าเราสองคนและพยักหน้า
ผมเดินกลับไปหาผู้พิพากษาและบอกว่า จำเลยจะรับสารภาพ
คำถามสุดท้ายของผู้คนที่มีต่อผมคือ "ทำไม่ไผ่จึงรับสารภาพ"
ขอตอบว่า ผมไม่รู้และไม่อยากรู้"

หลังจากนั้นพ่อของเขาก็ให้สัมภาษณ์อีกครั้งภายหลังศาลพิพากษาโทษจำคุก 2 ปีครึ่งว่า มีการผิดข้อตกลงอันไม่เป็นทางการและปิดลับซึ่งใช้เวลาเกือบชั่วโมงก่อนการตัดสินใจสารภาพครั้งนี้

เบื้องหลังการรายงานข่าวสารทั้งปวง ไม่มีใครรู้ว่าการตัดสินใจของเขายากเพียงไหน ไผ่กับ Palden จะรู้สึกร่วมหรือต่างกันอย่างไร สำหรับมนุษย์สมัยใหม่ มันอาจไม่ใช่เรื่องยากนักที่จะรับสารภาพเพื่อให้ตนเองได้พ้นสภาวะเลวร้ายแม้จะรู้สึกไม่ยุติธรรม สำหรับนักยุทธศาสตร์ยิ่งอาจเห็นว่า การเสียเวลาเปล่าในเรือนจำเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล หรืออาจเข้าขั้นโง่เง่า

สิ่งที่พอจะเป็นร่องรอยให้เราจินตนาการความยากลำบากของการรับสารภาพได้นั่นก็คือ ข้อความของผู้ที่ได้เห็นสภาพของเขาในวันนั้น

 "ขอสรุปสั้นๆ ช่วงเช้า (หลังคุยกับผู้พิพากษาและกำลังรอผลคำตัดสิน) ตัวเลขไผ่ไม่ติด และเข้าใจเหตุผล แต่...มันติดที่ว่ามันไม่ผิด และตั้งแต่เลี้ยงไผ่มาจนโต มีวันนี้เป็นครั้งแรกที่มันร้องไห้โฮ มือกำนิ้ว ขยับไปมา นานเป็นชั่วโมง ลงมาห้องขังศาล ใครขอพูด มันไม่มารับ มันนั่งนิ่งของมัน"

หลัง Palden ออกจากคุกรอบแรก ทัณฑ์ทรมานไม่อาจทำลายจิตใจของเขาได้ เขาออกมาแจกใบปลิวเรียกร้องอิสรภาพอีก และทำให้โดนโทษจำคุกอีก 8 ปี หลังครบกำหนดโทษ เขายังถูกส่งไปค่ายใช้แรงงานอีกหลายปี เพื่อ "รับการศึกษา" ที่ถูกต้องเพราะดูเหมือนความคิดของเขาก็ยังไม่เปลี่ยน

กระทั่ง 33 ปีของชีวิตหมดไปกับการจองจำ เขาออกมาจากคุกในวัยชราและยังคงเดินหน้ารณรงค์เรื่องเดิม มันอาจมีแรงผลักดันจากหลายปัจจัยโดยเฉพาะเรื่องทางจิตวิญญาณ แต่อันหนึ่งที่เข้าใจง่ายกว่าก็คือ คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับเพื่อนๆ ที่ต้องตายไประหว่างถูกจองจำ เขาเดินสายจัดกิจกรรมในหลายประเทศ โดยเฉพาะอเมริกา แน่นอนว่าถึงวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววของชัยชนะแม้แต่น้อย

"I am living proof of how they treated us.
If the world learns about it, they'll demand an end to this injustice."

มันขึ้นอยู่กับว่าเรานิยาม "โลก" อย่างไร มีตัวเรารวมอยู่ในนั้นเพียงไหน ที่รู้ๆ คือ มันไม่แน่เสมอไปที่เมื่อโลกเห็นความอยุติธรรมแล้วจะพากันก้าวออกมาหยุดยั้งสิ่งนั้นเป็นผลสำเร็จ...ในชั่วชีวิตของเรา 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เนติวิทย์-สุเนตร-เวทิน-ชอมสกี้

Posted: 18 Aug 2017 08:53 AM PDT


 

สังคมไทยปัจจุบันมี "ดราม่า" กันรายวัน ทั้งเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งไปถึงเรื่องสลักสำคัญ แต่พอ "ดราม่า" กันสักพักชาวเน็ทสัญชาติไทยเราก็มักปล่อยเรื่องดังกล่าวให้หายไป จนกว่าเรื่องทำนองเดิมจะโผล่มาอีก หลายครั้งเราจึงเหมือนได้ประมวลข้อถกเถียงเพื่อจะเรียนรู้หรือหาข้อตกลงที่พอจะยอมรับกันได้

การจัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ ของนิสิตชั้นปีที่ 1 ที่ผ่านมาดูจะเป็นประเด็นที่ดร่ามากันยาวนานกว่าหลายๆเรื่อง ยิ่งมีโนม ชอมกี้ นักวิชาการระดับโลกส่งอีเมล์มาให้กำลังเนวิทย์ โชติภัทร์ไพศาลที่กำลังจะถูกต้นสังกัดสอบสวนทางวินัย ยิ่งกระพือความไม่พอใจให้ฝ่ายตรงข้ามออกมาแย้ง ที่ฮือฮามากที่สุดเห็นจะเป็นจดหมายเปิดผนึกของ ดร. เวทิน ชาติกุล ซึ่งเป็นอาจารย์สอนปรัชญา ถึงโนม ชอมสกี้ อันที่จริงแล้วชื่อชั้นไม่ควรจะมีผลต่อการถกเถียง เราพึงให้ความสำคัญกับการอ้างเหตุผลมากกว่าบารมีทางวิชาการ

ที่จริงก่อนหน้านี้ก็มีบทความหลายชิ้นที่น่าสนใจ อย่างเช่นบทความของคุณศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ที่ชี้ให้เห็นว่าการที่ ร. 5 ทรงยกเลิกพิธีหมอบกราบนั้นเป็นโครงการที่ต่อเนื่องกับการเลิกทาส ซึ่งก็เป็นปฏิกิริยาต่อลัทธิล่าอาณานิคมที่เห็นว่าสยามไร้อารยะ คุณศิริพจน์เห็นว่าการที่พวกหัวก้าวหน้าใช้พระราชประสงค์ของ ร. 5 ในการยกเลิกพิธีหมอบกราบมาอ้าง อาจจะเป็นอาวุธที่ใช้จัดการกับพวกอนุรักษนิยมสำเร็จก็ได้ นั่นหมายความว่าการอ้างพระราชประสงค์ของ ร. 5 เป็นเพียงยุทธวิธีและวาทศิลป์ของฝ่ายก้าวหน้านำมาใช้

บทสัมภาษณ์ของ  รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ก็เป็นการแสดงทัศนะที่น่าสนใจ คืออาจารย์สุเนตรเห็นว่าประเพณีนี้หรือพิธีกรรมมีส่วนยึดโยงกันอยู่ร่วมกันเป็นประชาคม แม้ว่า ร. 5 จะพระบรมราชโองการให้ยกเลิกพิธีหมอบกราบ และพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ ของนิสิตชั้นปีที่ 1 แม้จะเพิ่งมีขึ้นมาเพียง 20 ปีนี้เอง แต่หากมีคุณค่าก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องยกเลิก และอาจารย์สุเนตรได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ในแต่ละวัฒนธรรมมีการแสดงความเคารพที่แตกต่างกัน เราต้องเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้น  "...เราต้องเคารพศรัทธาของผู้อื่นที่แตกต่าง ทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งคนที่เชื่อและไม่เชื่อนะ" ซึ่งเราจะเห็นว่าจุดยืนของอาจารย์สุเนตรดูจะเป็นกลางอย่างมาก

ในจดหมายเปิดผนึกของอาจารย์ ดร.เวทิน ชาติกุล เองก็ได้กล่าวถึงการเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมขึ้นมาโต้แย้งโนม ชอมสกี้ กรณีที่เขียนอีเมล์มาให้กำลังใจและสนับสนุนเนติวิทย์ อาจารย์เวทินยกตัวอย่างพระอาจารย์ชยสาโร หรือณอน ชิเวอร์ตัน ชาวตะวันตกที่เข้ามาบวชเป็นภิกษุในไทย จนเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมตะวันตกและไทย อย่างเรื่องการเล่นหัว ซึ่งวัฒนธรรมไทยถือว่าเสียมารยาท หรือเรื่อง "บุญคุณ" ต่อบุพการีที่ฝรั่งจะไม่เข้าใจ อาจารย์เวทินเห็นว่าชอมสกี้สามารถสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมของตนได้ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรเคารพความต่างทางวัฒนธรรมและไม่ควรแสดงทัศนะที่ "ตื้นเขินจนไร้สติ"

จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าเป็นการยากที่แบ่งแยก "หัวอนุรักษ์" หรือพวกอนุรักษนิยมกับ "หัวก้าวหน้า" หรือฝ่ายสนับสนุนเสรีนิยมออกจากกันได้ ตัวอย่างเช่นการวิจารณ์พิธีหมอบกราบโดยอ้างพระราชประสงค์ที่แท้จริงของ ร. 5 ที่เนติวิทย์อ้าง ก็เป็นวาทศิลป์ที่อ้างสิทธิอำนาจ (authority) ซึ่งนักปราชญ์สายกษัตริย์นิยมอย่างอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ชอบใช้ จริงอยู่ประเพณีไม่ใช่ดีหรือเลวโดยตัวมันเอง ประเพณีไม่ได้มีด้านลบอย่างที่นักคิดอยู่แสงสว่างแห่งปัญญาใช้เหตุผลวิพากษ์ไปเสียทั้งหมด เราเกิดมาในสังคม เรียนรู้ภาษาวัฒนธรรม อยู่ร่วมกันในสังคมย่อมเรียนรู้อะไรบางอย่างผ่านประเพณี ตัวอย่างง่ายๆเลยคือภาษา แต่กระนั้น สิ่งที่ตกทอดมากับประเพณีมีอุดมการณ์ (ideology) แฝงฝังมาด้วย ซึ่งสิ่งนี้จะเข้ามาจัดการความทรงจำเรา ทำให้ความทรงจำเรากลายเป็นความทรงจำที่ถูกจัดการ (manipulated memory) และครอบงำให้จดจำอดีตอย่างที่รัฐอยากให้เราจำ เราจึงจ้องอาศัยการวิพากษ์อุดมการณ์ (critique of ideology) เพื่อแก้อาการดังกล่าว ความทรงจำต่างๆเกี่ยวกับอดีตของชาติถูกเข้ารหัสความหมายในอนุสาวรีย์ หนังสือเรียน พิธีกรรมต่างๆ การที่ "ฝ่ายก้าวหน้า" ใช้วาทศิลป์อ้างความถูกต้องของพระราชประสงค์ของ ร. 5 เพื่อมาแย้งพิธีกรรมที่ตนไม่เห็นด้วย ก็อาจจะต้องระวังอุดมการณ์บางอย่าง ซึ่งอาจจะเรียกว่าราชาชาตินิยมหรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งก็จัดเป็นประวัติศาสตร์แบบอ้างอิงผู้ยิ่งใหญ่ (great man history) อย่างที่อาจารย์สุเนตรก็ทราบดีอยู่แล้ว การอ้างเช่นนี้ทำให้เส้นแบ่งเรื่อง "หัวอนุรักษ์" กับ "หัวก้าวหน้า" คลุมเครืออย่างยิ่ง

ในทางกลับกัน ฝ่ายที่ดูจะเห็นด้วยกับถวายสัตย์ฯ อย่างอาจารย์สุเนตรและอาจารย์เวทิน ซึ่งอีกฝ่ายมักจะมองว่าเป็นพวกอนุรักษนิยม ก็อ้างการเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม (cultural diversity ) และเน้นที่การเคารพความแตกต่าง (difference) กลับชี้ให้เห็นด้านตรงกันข้าม คนที่สนับสนุนความคิดนี้หลายคนอ้างถึงพิธีการแสดงความเคารพ อย่างพิธีชงชาในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการเปรียบที่ผิดฝาผิดตัวเพราะนัยยะของพิธีกรรมที่แตกต่างกัน (ซึ่งขอข้ามไป ไม่นำมาพูดถึงในที่นี้) อย่างไรก็ตาม อุลริค เบค (Ulrich Bech) เห็นว่าการอ้างการเคารพความต่าง ความหลากหลายทางวัฒนธรรม สัมพันธนิยมทางวัฒนธรรม สากลนิยม ศัพท์แสงเหล่านี้ล้วนเป็นวาทศิลป์ของพวกเสรีนิยมใหม่ที่ใช้จัดการกับความต่างเท่านั้น เบคชี้ให้เห็นว่า ขณะที่ในสังคมปัจจุบันเรากำลังเผชิญวิถีชีวิตที่ข้ามพ้นกรอบของรัฐชาติ และการสื่อสารระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ นิเวศวิทยา ความเสี่ยงจากการก่อการร้าย ประเด็นคำถามที่สำคัญก็คือ สังคมต่างๆจะรับมือกับความเป็นอื่นและพรมแดนต่างๆท่ามกลางการอิงอาศัยซึ่งกันและกันในระดับโลกนี้อย่างไร เบคเห็นว่าแม้แต่สังคมอเมริกันที่เป็นแหล่งรวมของชาติพันธุ์ต่างๆก็ยังมีท่าทีกังวลในเรื่องความต่างของชาติพันธุ์ กล่าวคือ ยิ่งมีความต่างมากก็ยิ่งยากจะเชื่อมผสานกัน ซึ่งก็ยิ่งจะทำให้มีข้อเรียกร้องต่อจิตวิญญาณของชาติ (national ethos) หรือแนวคิดแบบชุมชนนิยม (อ่านได้ใน  "Realistic Cosmopolitanism: How do societies handle otherness?" ในหนังสือ Cultural Politics in a Global Age: Uncertainty, Solidarity and Innovation)

เบคเห็นว่านักปรัชญาตะวันตกอย่างค้านท์ ป๊อบเปอร์ เลียวตาร์ด เรื่อยมาถึงรอร์ตีนั้น แม้จะเห็นว่าความต่างมีอยู่จริง แต่ก็พยายามจะเน้นย้ำความเชื่อมโยงกันของมนุษยชาติ โดยย้อนกลับมาอ้างอิงหลักสากลนิยมแบบตะวันตก กล่าวคือ ไม่ได้ตระหนักถึงความเป็นอื่นของคนอื่น แต่ย้ำถึงสิทธิความเท่าเทียมกันของมนุษย์มากกว่า นั่นหมายความด้วยว่า เสียงพูดของคนอื่นที่มีความต่างเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อพูดผ่านเสียงของความเหมือน คุณจะต่างจากฉันได้ ต้องเป็นเหมือนฉันก่อน คุณจะมีวัฒนธรรมชาติพันธุ์ก็ได้ แต่ต้องเป็นคนไทยก่อน คุณจะคิดต่างจากฉํนก็ได้ แต่ต้องคิดต่างบนพื้นฐานความคิดแบบเดียวกับฉัน

เราจะเห็นได้ว่าฝ่ายที่ถูกประทับตราว่าเป็น "อนุรักษนิยม" กลับอ้างวาทศิลป์ของเสรีนิยมกลับไปตอบโต้พวกเสรีนิยมเอง นั่นคือการอ้างเรื่องการเคารพความแตกต่าง ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ถูกประทับตราว่า "หัวก้าวหน้า" ก็อาศัยวาทศิลป์แบบอนุรักษนิยมโต้แย้งฝ่ายอนุรักษนิยมเอง ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ได้ ในแง่นี้ เส้นแบ่ง "อนุรักษนิยม" กับ "หัวก้าวหน้า" จึงดูคลุมเครือและไม่อาจแบ่งชัดได้ในกรณีการถกเถียงนี้

ถึงที่สุดแล้วเราอาจจะต้องกลับไปหาศัพท์คำว่า diversity ซึ่งมาจากภาษาละตินว่า diversus แปลว่าบ่ายหน้าไปคนละทิศคนละทาง ความต่างที่ว่านี้ไม่ใช่ความต่างชนิดที่จะหันหน้าเข้ามากันเพื่อพูดคุยใช่หรือไม่ ก็คงจะย้อนกลับไปที่คำถามว่า เราอยากอยู่ร่วมกันหรือไม่ เราอยากอยู่ร่วมกันอย่างไร แล้วนำไปสู่ข้ออ้างของข้อถกเถียงที่ทั้งสองฝ่ายพอจะรับกันได้ เราจะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความต่างได้หรือไม่ ทำอย่างไรจึงจะมีข้อตกลงร่วมกัน อาจจะต้องอาศัยเวลาในการถกเถียงอภิปรายโดยไม่ด่วนสรุปว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง "ตื้นเขินจนไร้สติ" แม้แต่การการตัดสินว่าตัวเอง "ตื้นเขินจนไร้สติ" ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาก็เรียกว่า อหังการ มมังการ

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: คงกฤช ไตรยวงค์ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตระบัดสัตย์เพื่อคำสารภาพ ความไม่เป็นเหตุผลในการตัดสินจำคุก 'ไผ่ ดาวดิน'

Posted: 18 Aug 2017 08:02 AM PDT


 

วันที่ 15 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ศาลได้ตัดสินให้ไผ่ ดาวดิน หรือนายจตุภัทร บุญภัทรรักษา ต้องโทษจำคุก 5 ปี ในคดีแชร์ข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทยที่มีเนื้อหาถึงพระราชประวัติของรัชกาลปัจจุบัน แต่เนื่องจากไผ่ "ให้การสารภาพ" ศาลจึงลดโทษให้เหลือ 2 ปี กับ 6 เดือน

คำตัดสินนี้ไม่ได้เพียงแต่ตัดสิทธิและจำกัดชีวิตของไผ่ในปัจจุบัน แต่มันมีแนวโน้มที่จะหมายถึงการทำลายอนาคตทั้งชีวิตและความฝันที่ไผ่ฝันจะเป็นด้วย เพราะการตัดสินโทษของเขานี้ แปลว่าไผ่หมดโอกาสที่จะได้เป็นทนายความสิทธิมนุษชนที่เขาวาดหวังไว้ไปโดยปริยาย การขังคุกที่จองจำทางกายภาพของไผ่อาจจะสิ้นสุดที่ 2 ปี 6 เดือน แต่สิทธิเสรีภาพของเขา กลับต้องโดนบั่นทิ้งไปตลอดชีวิต

ไม่เพียงแค่นั้น เมื่อได้อ่านคำให้สัมภาษณ์ของคุณวิบูลย์ (คุณพ่อของไผ่) ที่ว่า "ก่อนที่ศาลจะพิพากษาตัดสิน ศาลได้เรียกไผ่และครอบครัวไปคุยเกี่ยวกับคดีความ ก็ไม่ได้คุยแบบนี้แบบที่ตกลงกันในช่วงเช้า ที่คุยกันก็คือโทษจำคุกหากไผ่รับสารภาพไม่ใช่ 5 ปี แต่ตนขอไม่ลงรายละเอียด...ตอนนี้เราผิดหวังว่า ที่เราได้คุยกันกับศาลจนไผ่รับสารภาพนั้น มันตระบัดสัตย์ ทั้งที่ปกติไผ่จะไม่รับสารภาพง่ายๆ แบบนี้"[1] แล้ว ผมไม่ปฏิเสธที่จะยอมรับว่าผมโกรธ ผมเซ็ง ผมหดหู่มาก แต่มากไปกว่านั้นคำถามที่เฝ้าถามตัวเองซ้ำๆ มาหลายครั้งดูจะร้องรัวๆ อยู่ในหัวว่า

เพียงเพราะอะไร(วะ)? ประเทศที่อ้างตัวว่ารักและเทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์จับเขาเข้าคุกเพราะไผ่แชร์ข่าวที่มีเนื้อหาถึงพระราชประวัติพระราชา จะเอาอย่างงี้กันจริงๆ หรือ? เราจะอยู่กันอย่างตลกไม่ออก และวิปริต (Perverted) แบบนี้กันจริงๆ หรือ แล้วต่อไปอะไรคือถูก อะไรคือผิด?

หากพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าการเขียนประวัติศาสตร์แล้ว รูปแบบที่เรียกได้ว่ามาตรฐานดั้งเดิม โอลด์สกูลที่สุดมันก็คือ "การเล่าเรื่อง" ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วนั่นเอง ซึ่งการเล่าเรื่องนี้ก็มีได้หลายวิธีหลายแบบ แบบกรีกโบราณที่อาจจะมีการเล่าซ้อนทับต่อยอดจากของเดิมที่เคยมีคนเล่าแล้ว จับมาเล่าต่อเลยดื้อๆ (เพราะตอนนั้นยังไม่มีคอนเส็ปต์เรื่องการลอกงาน หรือ Plagiarism) เป็นต้น ฉะนั้นหากจะให้มีสิ่งที่เรียกว่า "การบันทึกประวัติศาสตร์" จริงๆ ขั้นต่ำที่สุดก็ต้องยอมรับหรืออนุญาตให้มีการ "เล่าเรื่อง และบันทึกการเล่าเรื่องนั้น" เพราะฉะนั้นแล้ว หากเพียงแค่ "การเล่าเรื่อง" โดยเฉพาะเล่าในสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วจริงๆ หรือนำสิ่งที่มีการบันทึกจริงๆ มา "เล่าซ้ำ" ในฐานะตัวบททางประวัติศาสตร์ กลายเป็นสิ่งที่ "ผิด" ไป แล้วก็คงยุ่งยากมากจริงๆ ครับที่จะตัดสินความถูกผิดในสังคมประเทศไทยนี้

หากทางการไทยคิดจริงๆ ว่าเนื้อหาข่าวที่ "เล่าเรื่อง" พระราชประวัติเป็นเรื่องที่ผิด เราจะทำอย่างไรกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ครับ?

"กรมขุนอนุรักษ์มนตรี ( = สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ หรือพระเจ้าเอกทัศ) นั้นโฉดเขลา หาสติปัญญาแลความเพียรมิได้ ถ้าจะให้ดำรงฐานุศักดิ์มหาอุปราชสำเร็จราชกิจกึ่งหนึ่งนั้น บ้านเมืองก็จะเกิดภัยพิบัติฉิบหายเสีย" จากพระราชพงศาวดาร ฉบับราชหัตถเลขา ภาค 2[2]

สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงมีพระภรรยาเจ้าและพระมเหสีรวมทั้งสิ้น 59 พระองค์ และในทางประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักแล้ว ในบรรดาพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี อาจจะพอนับได้ว่ารัชกาลที่ 4 นั้นทรงมีพระราชกรณียกิจด้านพุทธศาสนามากที่สุดแล้วพระองค์หนึ่ง ทั้งการก่อตั้งธรรมยุตติกาวงศ์ขึ้น มีการประพันธ์วรรณกรรมทางศาสนาพุทธขึ้นมากมาย ฯลฯ

สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระปิยะมหาราช (รัชกาลที่ 5) ทรงมีพระภรรยาเจ้าและพระมเหสีรวมทั้งสิ้น 153 พระองค์ ในขณะที่พระองค์ได้รับสมญาเป็น 1 ใน "มหาราช" ของราชวงศ์จักรี

ในส่วนนี้เราจะพบด้วยว่าในทางหลักการแล้ว ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะได้รับการยกย่องเป็น "มหาราช" อย่างในราชวงศ์จักรีเอง จนถึงบัดนี้ก็มีเพียง 3 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9 นั่นหมายความว่าแม้แต่ระบบวิธีคิดตามจารีตของไทยเอง คุณงามความดีและผลงานพระราชกรณียกิจของพระราชาเอง ก็เกิดจากการสั่งสมและต้องได้รับการยอมรับจากสังคมเสียก่อน เมื่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใดได้รับการยอมรับโดยทั่วถ้วนและมากพอแล้วจึงจะได้รับการยอมรับเป็น "มหาราช" กล่าวคือ แม้แต่วิธีคิดในทางจารีตดั้งเดิมของไทยเอง ก็มีการเปรียบเทียบคุณงามความดีและผลงานของพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ในตัวระบบความคิดอยู่แต่ดั้งเดิมแล้วนั่นเอง ฯลฯ

ทีนี้ผมถามจริงๆ ครับว่าเนื้อหาข่าวของทางบีบีซี มันผิดอย่างไร? เราจะทำอย่างไรกับมันดี?

คำตอบง่ายๆ ครับคือ ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน เพราะการมีอยู่ของเนื้อความแบบนี้ "ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร!!!" เพราะฉะนั้นหลังจากที่เกิดกรณีความไม่เป็นธรรมขึ้นกับไผ่แล้ว หลายฝ่ายที่เอาใจช่วยไผ่ หรืออาจจะไม่เอาใจช่วยแต่เกิดความฉงนสงสัยต่อการที่ไผ่โดนลงโทษอยู่คนเดียว จนนำไปสู่คำถามว่า

"ทำไมบีบีซีไทยไม่โดนบ้างล่ะ? ทำไมโดนแต่ไผ่คนเดียว คนอื่นไม่โดนด้วย?"

การถามแบบนี้มันเป็นปัญหาครับ เพราะการทำแบบนี้เท่ากับเป็นการเปิดช่อง หรือยอมรับว่า "การมีอยู่ของข่าวพระราชประวัตินั้นมันผิดจริง แค่ยังจับคนมาลงโทษไม่ครบ" ฉะนั้นการถามแบบนี้จึงเท่ากับการยอมรับสภาพความผิดของการมีอยู่ของบทความนั้น ทั้งๆ ที่มันไม่ผิด รวมไปถึงเป็นการอนุญาตกลายๆ ให้มีการจับ เหยื่อผู้บริสุทธิไปลงโทษอีกได้

วันนี้ผมจึงอยากจะเขียนบทความนี้ขึ้น ด้วยหวังจะยืนยันให้ชัดเจนว่า "การมีอยู่ของข่าวบีบีซีชิ้นนั้นไม่ผิด และคนที่แชร์ก็ไม่ผิดเช่นกัน" หากมันจะมีอะไรที่ผิด ก็คงจะเป็นกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ มันคือคำตัดสินของประเทศนี้ และมันคือกฎหมายของประเทศนี้ครับ

กฎหมายสามารถผิดได้ สามารถถูกวิจารณ์ได้ และสามารถถูกเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ และผมอยากจะยืนยันให้ชัดเจนลงไปในที่นี้ว่า กฎหมายที่บังคับให้คนบริสุทธิ์ต้องกลายเป็นเหยื่อ กฎหมายที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรมในตัวกลไกของกฎหมายข้อนั้นๆ เอง กฎหมายนั้นคือกฎหมายที่ผิดครับ และนั่นคือกฎหมายที่ทำให้ไผ่กลายเป็นเหยื่อ และมันเป็นกฎหมายที่คุมขังความเป็นคน ความเป็นประชาชนของประเทศเรานี้ทั้งหมดด้วย

หากกฎหมายเป็นสิ่งที่แช่นิ่ง ถูกต้องเสมอ และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราก็คงจะยังพิสูจน์ความจริงและความยุติธรรมจากการลุยไฟ, ดำน้ำ, ว่ายน้ำข้ามฟาก, ฯลฯ[3] กันอยู่ ตามวิธีพิสูจน์ความจริงตามกฎหมายตราสามดวงโน่น นี่แหละครับคือกฎหมายที่ผิด เพราะมันบังคับให้คนบริสุทธิกลายเป็นเหยื่อ หรือหากกฎหมายเปลี่ยนไม่ได้ เราก็คงวนเวียนอยู่กับการลงโทษที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรมมากทีเดียว เคยรู้จักโทษประหารระดับรุนแรงของกฎหมายตาสามดวงไหมครับ? ที่เราดูซีรี่ส์ Game of Thrones แล้วแรมซี่ย์ โบลตั้นปล่อยให้กองทัพหมาของเขามากัดกินคนแทนการประหารที่เราว่าโหดๆ นั้น ก็มีในกฎหมายตามสามดวงนี้ครับ อยู่ในสถานที่ 15 ซึ่งว่ากันตรงๆ นับว่า "โหดน้อยแล้ว" หากเทียบกับสถานอื่นๆ ที่ผมขออนุญาตยก "สถาน" ที่พี๊คๆ มาให้ลองดูกันสักนิดนะครับ

"สถาน 1 คือ ให้ต่อยกระบานศีศะ (กบาลศีรษะ) เลิกออก (เปิดออก) เสียแล้ว เอาคีมคีบก้อนเหล็กแดงใหญ่ใส่ลงไปในมันสะหมอง (มันสมอง) ศีศะพลุ่งฟู่ขึ้นดั่งม่อ (หม้อ) เคี่ยวน้ำส้มพะอูม

สถาน 6 คือ เชือดเนื้อให้เป็นแรงเป็นริ้วอย่าให้ขาดจากกัน ตั้งแต่ใต้คอลงไปถึงข้อเท้าแล้วเอาเชือกผูกจำ ให้เดินเหยียบริ้วเนื้อริ้วหนังแห่งตน ให้ฉุดคร่าตีจำให้เดินไปกว่าจะตาย

สถาน 11 คือ ให้แล่สับทั่วร่างแล้ว เอาแปรงหวีชุบน้ำแสบกรีดคอ รูดขูดเสาะหนังและเนื้อแลเอ็นน้อยใหญ่ให้ลอกออกให้สิ้นให้อยู่แต่ร่างกระดูก

สถาน 19 คือ ให้เชือดเนื้อล่ำออกทอดด้วยน้ำมัน เหมือนทอดขนมให้ กินเนื้อตัวเองจนกว่าจะตาย"

และนี่คือการลงโทษประหารที่ไม่สนใจว่าเป็นหญิงแก่แม่ม่าย ลูกเด็กเล็กแดงอะไรนะครับ โดนแบบเดียวกันหมด นี่คือกฎหมายที่ "ผิด" เพราะมันไร้ซึ่งมนุษยธรรมครับ

ผมคงพูดไม่ได้ว่าสิ่งที่ไผ่โดนมันไร้มนุษยธรรมแบบโทษประหารโบราณ 21 ประการในกฎหมายตราสามดวง แต่การที่คนซึ่งไม่ได้ทำอะไรผิดเลยคนหนึ่ง ต้องถูกจองจำด้วยกลไกของกฎหมาย แล้วยังไปทำลายความฝันในอนาคตทั้งหมดของเขา ผมก็คิดว่า เราคงไม่สามารถพูดได้เช่นกันว่ากฎหมายที่ว่านี้มีมนุษยธรรม หรือพูดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปก็คือ กฎหมายและระบบยุติธรรมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหลายส่วนในประเทศนี้ยังคงย่ำต๊อกอยู่กับที่ อยู่ในโครงสร้างวิธีคิดแบบกฎหมายตราสามดวงเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน ก่อนที่ประเทศเราจะรู้จักระบบกฎหมายสมัยใหม่และสิทธิมนุษยชนเสียด้วยซ้ำ...ก่อนที่จะรู้จักกับคอนเส็ปต์ที่เรียกว่า "มนุษย์" กันเลยทีเดียว

ใช่ครับ ประเทศเราวิปริตขนาดนั้นเลยนั่นแหละ และที่น่าแปลกประหลาดยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ประเทศนี้เองก็ดูจะยอมรับในส่วนนี้ด้วย เพราะสิ่งที่ฉาบเคลือบและปกปักรักษาความวิปริตนี้ให้คงอยู่มาเนิ่นนาน โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ เห็นจะหนีไม่พ้นคำว่า "ความเป็นไทย" หรือ "วัฒนธรรมอันดีของไทย" หรือ "แบบไทยๆ" นั่นเอง ประเทศนี้ดูจะขยันปิดปากการวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการท้วงติงเห็นต่างด้วย "คำ" เหล่านี้ ราวกับว่ามันเป็นสิ่งวิเศษเหลือแสน เป็น "ภาษาที่มีไว้เพื่อฆ่าภาษาชุดอื่นๆ ทั้งหมด" แต่ประเทศนี้ก็คงจะหลงลืมไปด้วยว่า พร้อมๆ ไปกับการสถาปนาสถานะความวิเศษและยิ่งใหญ่ให้กับ "ความเป็นไทย" เหล่านี้ มันย่อมมีค่าเท่ากับยอมรับการรวมศูนย์ของความวิปริตและขัดกับกระแสอันเป็นสากลไว้ภายใต้คำเหล่านี้ด้วยเช่นกัน เพราะคำเหล่านี้ถูกใช้เพื่อปกป้องความวิปริตจากการถูกกล่าวถึงในท้ายที่สุด

ผมคงไม่ถึงกับต้องย้อนไปอภิปรายถึงความลักลั่นของการอ้าง "วัฒนธรรมไทย ในฐานะข้อห้ามของการวิจารณ์" อะไรอีก เพราะเพิ่งเขียนถึงเมื่อสองสัปดาห์ก่อนนี้เอง คงจะบอกได้เพียงว่ามีหลายประเทศที่มีประวัติศาสตร์ของการมีสถาบันพระมหากษัตริย์มาก่อนประเทศไทย และยังคงมีอยู่ แต่ประเทศใดก็ตามที่มุ่งมั่นจะเป็นประเทศประชาธิปไตยจริงๆ จารีตต่างๆ ก็ต้องปรับตามกติกาของระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้นในประเทศประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอื่นๆ นั้นจึงให้คุณค่ากับสิทธิและเสรีภาพในการพูด ในการแสดงออก ในการมีชีวิตอยู่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง มากกว่าการปลอดซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันทางการเมืองใดๆ และไม่มาหุบปากคนด้วยข้ออ้างว่า "นี่คือความเป็นอังกฤษ" หรือ "นี่คือวัฒนธรรมอันดีของเนเธอร์แลนด์" หรือห้ามด่าเพราะนี่คือวิถี "แบบญี่ปุ่นๆ" ... ผมคิดว่าในจุดนี้เรามาถึงทางสองแพร่งที่จะต้องตอบตัวเองให้ชัดแล้วล่ะครับว่าเรายังคิดจะเป็นประเทศประชาธิปไตยกันอยู่หรือเปล่า? หากคิดจะเป็น ความวิปริตเหล่านี้คงต้องหาทางยุติลง พร้อมๆ กับคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อของความวิปริตนี้

เป็นธรรมดาที่ไผ่ หรือคนที่สนับสนุนไผ่จะรู้สึกอึดอัด รู้สึกถูกลิดรอน ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในประเทศที่มีเงื่อนไขและการใช้อำนาจทางกฎหมายแบบนี้ คำว่ามนุษย์หรือคนในระบบวิธีคิดของยุคสมัยใหม่นั้นนอกจากร่างกายในฐานะมนุษย์แล้ว มันต้องมี "คุณค่าหรือสิทธิในฐานะมนุษย์" ประกอบด้วย เมื่อสิทธิในฐานะมนุษย์ถูกจำกัดด้วย "ความเป็นไทย" และ "กฎหมายแบบไทยๆ" แบบนี้ ก็คงจะมีคุกที่มีไว้ขังไผ่และคนแบบไผ่ไปเรื่อยๆ และคนอื่นๆ ที่เห็นความปกตินี้ก็คงจะได้แต่นิ่งเงียบในสถานะมนุษย์แต่ในนามต่อไป

"เวลาเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน แต่ความยุติธรรมกับผมยังคงเดิม" ไผ่กล่าวคำนี้ไว้หลังจากถูกจองจำได้ 5 เดือน...มาวันนี้มันยิ่งดูจุกอกหนักกว่าเดิม

 

เชิงอรรถ                 

[2] โปรดดู สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช. (2455), พระราชพงศาวดาร ฉบับราชหัตถเลขา ภาค 2

[3] โปรดดู http://oknation.nationtv.tv/blog/kritwat/2012/06/28/entry-3

 

เกี่ยวกับผู้เขียน  กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช เป็นเจ้าของผลงาน Thou Shall Fear: เจ้าจงตื่นกลัว ก่อการร้าย ความรุนแรง และการครอบงำ จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้าน Terrorism Studies จากมหาวิทยาลัย Aberystwyth ประเทศสหราชอาณาจักร

ปัจจุบันเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเกียวโต

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ไผ่พังกอ

Posted: 18 Aug 2017 06:58 AM PDT

สังหารอีกอิสรภาพ
ขยายระนาบอยุติธรรมนำสมัย
เอียงกะเท่เร่แล้วตาชั่งไทย
มือใคร? มือใคร? จับเอียง

สังเวยอีก - คนหนุ่ม
ใต้การกลุ้มรุม สุ่มเสี่ยง
อุตส่าห์ ฮึดสู้ ส่งเสียง
ตอบแทนมาเพียงน้ำตาเลือน

สังเวชประเทศนี้
อุบาทว์กรรมวิธี แปดเปื้อน
ระบบ ระเบียบ บิดเบือน
ตัดจบ กลบเกลื่อน เชือนแช

สังหรณ์ใจในไม่ช้า
ดูที ดูท่า ไม่รอดแน่
บ้านไร้ขื่อ เมืองไร้แป
สิทธิธรรมย่ำแย่ พังยับ

สังวรเถิดมหาประชา
ตัวอย่างตรงหน้าสดับ
หนึ่งคน - โค่น - คนนับร้อย ยังคอยนับ
เมื่อคนสิ้น ใครจะรับ ใครจะรู้ ?

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อ (บาง) สถาบัน ‘ประชาธิปไตย’ กลายเป็นไม้ค้ำยัน ‘เผด็จการ’

Posted: 18 Aug 2017 06:46 AM PDT

ในระบอบอำนาจนิยมมีสถาบันหลายแบบที่ส่งเสริมประชาธิปไตย แต่สถาบันเหล่านี้มีผลส่งเสริมการคงอยู่ของระบอบอำนาจนิยม มากกว่าที่จะบ่อนทำลาย
 
แนวคิดดังกล่าวมาจากบทความที่อยากมาชวนอ่านกัน คือ "พื้นที่ปิดล้อมประชาธิปไตยในระบอบอำนาจนิยม (Democratic Enclaves in Authoritarian Regimes)" เขียนโดย บรูช กิลเลย์ (Bruce Gilley) ปัจจุบันเป็นอาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยพอร์ตแลนด์สเตท (Portland State University) รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา
 

 

Democratic enclaves คืออะไร

วิธีหนึ่งในการทำความเข้าใจ democratic enclaves (พื้นที่ปิดล้อมประชาธิปไตย) คือการทำความเข้าใจคู่ตรงข้ามของมัน นั่นคือ authoritarian enclaves ซึ่งเป็นพื้นที่ปิดล้อมอำนาจนิยมในระบอบประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่น พรรคการเมืองลัทธิฟาสซิสต์ที่รณรงค์ในสังคมประชาธิปไตยด้วยความตั้งใจทำลายระบอบผ่านทางสภาวะแวดล้อม
 
"Authoritarian enclaves คือพื้นที่เชิงสถาบันในรัฐหรือพื้นที่ทางสังคมที่มีการควบคุมโดยรัฐ ซึ่งยึดติดกับบรรทัดฐานอำนาจนิยม และเป็นปฏิปักษ์ต่อกับระบอบประชาธิปไตย ถ้าพูดในทางกลับกัน democratic enclave ก็คือสถาบันของรัฐหรือพื้นที่ทางสังคมที่ถูกกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน โดยเป็นพื้นที่ที่อำนาจของระบอบอำนาจนิยมถูกจำกัดอย่างแท้จริง และ ถูกแทนที่ด้วยการปฏิบัติตามบรรทัดฐานของกระบวนการประชาธิปไตย"
 
ในระบอบอำนาจนิยมใดๆ democratic enclaves เป็นพื้นที่อิสระที่คอยต่อสู้กับบรรทัดฐานอำนาจนิยมพร้อมกับส่งเสริมหลักนิติธรรม อำนาจอธิปไตยของปวงชน และความเสมอภาคทางการเมือง
 
กิลเลย์ ยกกรณีศึกษาการเลือกตั้งระดับหมู่บ้านในประเทศจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ภายในที่คนจีนทั่วไปมีโอกาสใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โดยส่วนมากมักมีความเสรีและเป็นธรรม ทั้ง ๆ ที่สภาพแวดล้อมของระบบการเมือง เป็นอำนาจนิยมที่เข้มข้น
 
กิลเลย์ ยังเน้นย้ำอีกด้วยว่าสถาบันเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ประชาธิปไตยปลอม ๆ อย่างเช่น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ล้วนมีแต่คนที่ทหารแต่งตั้ง แต่สถาบันเหล่านี้แสดงออกถึง บรรทัดฐานประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและมั่นคง
 

Democratic enclaves เป็นภัยคุกคามหรือเสาหลักของอำนาจนิยม

รัฐอำนาจนิยมส่วนใหญ่มักมีอำนาจเพียงพอในการปราบปรามพื้นที่อิสระเหล่านี้ เพราะฉะนั้น คำถามคือ democratic enclaves สามารถหนีรอดการกดขี่ของอำนาจนิยมได้อย่างไร กรณีศึกษาในหลายๆประเทศทำให้ กิลเลย์ สรุปว่าการยอมรับโดยผู้มีอำนาจคือปัจจัยสำคัญที่สุด ในการอยู่รอดของพื้นที่อิสระดังกล่าว
 
"การเกิดขึ้นของข้อถกเถียงต่างๆ เป็นการสนับสนุนในการเมืองระดับบน ในบรรดากรณีศึกษาของเรา เงื่อนไขดังกล่าวเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับ democratic enclaves หากระบอบอำนาจนิยมไม่ยอมรับ หรือสนับสนุนการมีอยู่ของ democratic enclave มันก็จะล่มสลายลงอย่างแน่นอน"
 
แต่การที่ผู้มีอำนาจสนับสนุน (หรืออย่างน้อยก็ให้การยอมรับโดยนัย) พื้นที่ของการต่อต้านนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาชอบประชาธิไตย โดย กิลเลย์ สรุปว่า "สาเหตุที่ democratic enclaves ต้องอยู่ในคุณค่าเชิงยุทธศาสตร์สำหรับระบอบนั้นเพราะ ผู้มีอำนาจมองว่า enclaves ก่อให้เกิดประโยชน์บางอย่าง และบางทีเผด็จการก็มองว่าประโยชน์นั้นคุ้มค่าต่อความเสี่ยง"
 
กิลเลย์ ยกตัวอย่างว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนทดลองการเลือกตั้งระดับหมู่บ้านเพื่อควบคุมการทุจริตส่วนท้องถิ่น อีกทั้งยังได้รับความชอบธรรมในเวทีระหว่างประเทศ
 
 
Democratic Enclaves นำไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างไร
 
Democratic enclaves ต้องอาศัยการสนับสนุนจากการเมืองระดับสูง นอกจากนี้การวิเคราะห์ของ  กิลเลย์ ยังพบว่า "สิ่งที่น่าสนใจก็คือแรงกดดันของประชาชนดูจะมีความสำคัญน้อยที่สุดในการกำหนดว่า democratic enclaves จะได้รับการสนับสนุนในการเมืองระดับสูงหรือเปล่า"
 
ถ้าอย่างนั้น democratic enclaves ไม่ได้เป็นภัยคุกคามระบอบอำนาจนิยมเสมอไป มันอาจจะแสดงให้เห็นว่าระบอบยังไม่มั่นคงอย่างสมบูรณ์ แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยากอีกอยู่ดี
 
แต่พื้นที่อิสระก็ให้ความหวังอยู่บ้าง แม้ว่า democratic enclaves อาจจะไม่ส่งผลต่อความเป็นประชาธิปไตยเสมอ กิลเลย์ ยังกล่าวว่า มันไม่ได้หมายความว่า democratic enclaves ไม่ส่งผลต่ออุปนิสัยของระบอบอำนาจนิยม แต่ส่งเสริมความโปร่งใส ประสิทธิภาพเศรษฐกิจ เป็นต้น
 
"การเลือกตั้งระดับหมู่บ้านได้ทำให้หมู่บ้านมีอิสรภาพจากคณะกรรมการระดับเขตเมืองของการพรรคคอมมิวนิสต์ แม้ว่าผลกระทบต่อความเป็นประชาธิปไตยไม่ชัดเจน"
 
นอกจากนี้ บางที democratic enclaves มีผลกระทบที่ผู้มีอำนาจไม่ได้คาดหมาย โดยบางครั้งการตัดสินใจผิดของผู้นำอำนาจนิยม นั่นก็คือ democratic enclaves ถูกยอมรับหรือปราบปรามด้วยผลกระทบต่อความเป็นประชาธิปไตยที่ไม่คาดคิด

 

Democratic enclaves ในประเทศไทย

นั่นหมายความว่าแม้เผด็จการทหารกำลังปกครองประเทศไทยก็จริง แต่ก็ยังมีบางองค์กร บางเครือข่าย และบางสถาบันที่แสดงออกถึงกระบวนการและอุดมการณ์ประชาธิปไตย เช่น  ศาลปกครอง ซึ่งศาสตราจารย์ Peter Leyland เคยพบว่าเป็นสถาบันที่คัดค้างกับผู้มีอำนาจอย่างน่าเชื่อถือกว่าศาลรัฐธรรมนูญ
 
"ศาลปกครองจะตัดสินว่าผู้มีอำนาจ มีอำนาจทางกฎหมายหรือไม่ในการเรียกร้องให้จ่ายค่าเสียหาย รวมทั้งพิจารณาว่าเป็นการเรียกค่าเสียหายที่ได้สัดส่วนหรือไม่"(แต่การวิเคราะห์นี่อาจจะเปลี่ยนไปตั้งแต่คำพิพากษาของศาลก่อนหน้านี้เรื่อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
 
อีกตัวอย่างหนึ่งของ democratic enclaves อาจจะเป็นองค์กรข่าวสารทางเลือก ซื่งเผยแพร่ข่าวเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐอาจจะเข้าแทรกแซงในบางครั้ง ขึ้นอยู่กับว่ามาตรฐานเรื่อง "ความมั่นคง" มีความเข้มงวดมากเพียงใด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ พรรคเพื่อไทย อาจจะเรียกว่า democratic enclaves ได้เช่นกัน
 
ถ้า democratic enclaves อาจจะสนับสนุนหรือบ่อนทำลายอำนาจนิยมก็ได้ แล้วสถาบันการเมืองในไทยเหล่านี้มีความสำคัญสำหรับความเป็นประชาธิปไตยอย่างไร

กิลเลย์ คงจะตอบว่า ต้องศึกษาว่ารัฐบาลมีผลประโยชน์กับพื้นที่อิสระนั้นหรือเปล่า มันอยู่รอด เพราะรัฐบาลยอมรับหรือไร้ความสามารถ ส่วนที่พื้นที่อิสระจะสนับสนุนหรือเป็นภัยคุกคามประชาธิปไตยนั้นขึ้นอยู่กับบริบท

 

สำหรับ 'แมวมอง' เป็นนามปากกาของนักศึกษาและนักวิจัยชาวออสเตรเลียที่สนใจศึกษาการเมืองไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฉมหน้าการเมืองไทยหลัง 25 สิงหาคม 2560

Posted: 18 Aug 2017 06:42 AM PDT


"การต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยม เริ่มจากการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในเหตุการณ์กบฎบวรเดช มาสู่การต่อสู้ในเชิงการเมืองวัฒนธรรม ด้วยการพยายามลบความทรงจำของสังคม และอธิบายความหมายของเหตุการณ์ในปี 2475 เสียใหม่ เพื่อค้ำจุนอำนาจทางการเมืองของฝ่ายตน ผ่านการผลิตงานเขียนในรูปของสารคดี บทความ บันทึกความทรงจำ และนวนิยาย

ปัจจุบันวิธีการต่อสู้ของพวกเขา วิวัฒนาการมาถึงขั้นสูงสุด ด้วยการขโมยหมุดคณะราษฎร นับว่าเจริญขึ้นเรื่อยๆ"

เครดิต: มิตรสหายท่านหนึ่ง

คำกล่าวข้างต้นนี้เปรียบเหมือนบทสรุปวิชาประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างย่อ สั้น กระชับ และได้ใจความ โดยย่อเรื่องจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันได้อย่างเห็นภาพ ซึ่งผู้รู้ทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวไว้ว่า ผู้มีอำนาจรัฐมักทำให้ประชาชนหลงลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต และมอมเมาประชาชนผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ รวมทั้งผลิตซ้ำวาทกรรมเพื่อให้จดจำเหตุการณ์บางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครองเท่านั้น

ภาพข่าวจากทีวีและสื่อออนไลน์ได้แสดงให้เห็นถึงหยาดน้ำตาของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิง ผู้เป็นเจ้าของวันเกิดในวันที่ 21 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งควรจะเป็นวันครบรอบปีที่ 50 ที่มีแต่ความสุขสนุกสนานพร้อมทั้งได้รับคำอวยพรจากคนรอบข้าง แต่กลับกลายเป็นบรรยากาศงานเลี้ยงที่มีเสียงหัวเราะปนคราบน้ำตา จะมีใครรู้บ้างว่า ข้างในจิตใจของผู้หญิงคนหนึ่งกำลังคิดใคร่ครวญกับปัญหาอุปสรรคที่รออยู่เบื้องหน้าอย่างไร ถัดมาอีก 3 วัน ก็คือ วันที่ 24 มิถุนายน 2560 ซึ่งก็เป็นวันครบรอบปีที่ 85 ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อีกเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันคนส่วนใหญ่หลงลืมไปและไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันที่ทรงคุณค่าเช่นนี้มากนัก

หลังจากมีการไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยนัดสุดท้ายในคดีรับจำนำข้าว และรอวันฟังคำตัดสินในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 นั้น โฉมหน้าการเมืองไทยหลังจากนี้จะเป็นเช่นใดและลงเอยอย่างไร กูรูผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองยังไม่กล้าฟันธง เพราะเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาได้ สุดท้ายแล้วผลลัพธ์จะเป็นไปตามธงที่ตั้งไว้หรือไม่ คงจะมีแต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเท่านั้นที่ล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า ถัดจากนี้แล้วฝ่ายประชาชนจะอยู่ในสภาพเช่นใดในการศึกครั้งนี้ สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงพลิกผันไปเช่นไร คงมีหลายแนวทางให้จินตนาการนึกคิด ดังเช่น

1. การเมืองภาคประชาชนจะถูกตัดสัมพันธ์จากพรรคการเมือง ซึ่งจะทำให้พลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองลดลง และถูกผลักออกไปจากศูนย์กลางอำนาจรัฐอย่างค่อยเป็นค่อยไป สมมติว่าปีหน้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ตัวแทนของประชาชนที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎรก็หาได้มีอำนาจการบริหารจัดการอย่างเต็มที่ไม่ มือที่มองไม่เห็นและผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญจะยังคงเข้ามากำกับบทบาทและแทรกแซงการทำงานของรัฐบาลเพื่อให้แน่ใจได้ว่า อำนาจการตัดสินใจและผลประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจสาธารณะจะยังคงตกอยู่กับฝ่ายตนมิเสื่อมคลาย เสียงเรียกร้องจากประชาชนจะกลายเป็นเสียงนก เสียงกา เหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา เสียงที่แผ่วเบานั้นจะถูกกลบด้วยเสียงของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาจำนวน 250 คน หรืออาจจะกล่าวได้ว่า อำนาจการต่อรองของประชาชนถูกดึงกลับไปอยู่ในมือของฝ่ายอนุรักษ์นิยมอีกครั้งหนึ่ง และครั้งนี้จะไม่มีทางปล่อยอำนาจให้หลุดมืออีกเป็นแน่

2. พรรคการเมืองจะอ่อนแอลงจากผลพวงการรัฐประหาร 2 ครั้งหลังสุด โดยพรรคการเมืองขนาดใหญ่จะถูกกัดเซาะและบ่อนทำลายจากกลอุบายที่ซ่อนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 และกฎหมายลูกอีก 10 ฉบับที่กำลังจะตามมา ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ซ่อนเข็มพิษไว้ทิ่มแทงพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ดั่งเช่นวิธีการนับคะแนนที่บังคับให้พรรคที่ได้จำนวน ส.ส. เขตมาก จะได้จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เป็นต้น กฎหมายพิสดารเช่นนี้จะยกความสำคัญให้พรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กกลับมามีบทบาทเป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง เหมือนอดีตก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งในช่วงเวลานั้นเป็นยุคประชาธิปไตยครึ่งใบและมีนายกรัฐมนตรีมาจากคนนอก ส่วนคณะรัฐมนตรีจะเกิดจากผลลัพธ์ทางสูตรคณิตศาสตร์ทางการเมือง ตำแหน่งรัฐมนตรีจะได้มาจากการต่อรองโดยการรวบรวมเสียงสนับสนุนของ ส.ส. แต่ละกลุ่มก๊วน และเกิดภาวะที่รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ทำให้ยากต่อการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ รวมถึงการวางนโยบายพัฒนาประเทศในระยะยาวอีกด้วย อายุรัฐบาลจะสั้นเพียงแค่ 1-2 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นก็ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ วนไปวนมาเป็นวงจรอุบาทว์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด นี่คงเป็นการเสียโอกาสครั้งสำคัญของประเทศที่ต้องถอยหลังลงคลองอีกครั้ง ซึ่งต้นทุนของเวลาก็ประเมินค่ามิได้เช่นกัน

3. รัฐราชการจะมีขนาดใหญ่ขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของหน่วยงานรัฐรวมทั้งกฎระเบียบข้อบังคับที่เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาควบคุมดูแลกิจวัตรประชาชนมากขึ้น บทบาทข้าราชการประจำหรือเทคโนแครตจะกลับมาโดดเด่นอีกครั้งในฐานะผู้จัดทำและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ นั่นเท่ากับว่า นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง จะออกมาจากหน่วยงานภาครัฐที่สอดคล้องไปกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่วางเอาไว้ แต่นโยบายและแผนที่ดีนั้นต้องสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ตลอดเวลา หากแก้ไขได้ยากแล้ว นโยบายดังกล่าวก็จะกลายเป็นสิ่งล้าสมัยเพียงชั่วข้ามคืนและจะเป็นตัวฉุดรั้งความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ความเชื่องช้าของระบบราชการเป็นการเพิ่มต้นทุนชีวิตให้กับประชาชนอย่างชัดเจน ซึ่งจากอดีตที่ผ่านมา นโยบายส่วนใหญ่จะสั่งการมาจากกระทรวงที่ทำงานบนหอคอยงาช้าง โดยไม่ได้ตอบสนองความต้องการและไม่สะท้อนปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง 

4. พรรคการเมืองจะไม่กล้านำเสนอและผลักดันนโยบายหาเสียงอย่างเป็นรูปธรรม ทำได้แค่เพียงนำแผนยุทธศาสตร์ของแต่ละกระทรวงมารวมกันเป็นนโยบายหาเสียงที่หาความโดดเด่นไม่ได้ ทุกพรรคการเมืองจะเสนอนโยบายที่คล้ายคลึงกันจนแยกกันไม่ออก เป็นนโยบายที่สวยหรูในกระดาษแต่จับต้องไม่ได้ การแข่งขันกันสร้างนโยบายที่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบันจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นการสร้างเงื่อนไขสุ่มเสี่ยงให้ฝ่ายตรงข้ามนำไปฟ้องร้องว่า เป็นนโยบายหาเสียงที่ไม่ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีสิทธิ์จะถูกดำเนินคดีได้ สุดท้ายแล้วสังคมจะเสียโอกาสได้เห็นนโยบายที่สะท้อนปัญหาพื้นฐานของประชาชน อย่างเช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค , กองทุนหมู่บ้าน , โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เป็นต้น

5. กลุ่มทุนรายใหญ่ดั่งเดิมที่สนิทแนบแน่นกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะขยายธุรกิจและสร้างอำนาจผูกขาดตลาดได้ตามกฎหมาย เช่น การสร้างอุปสรรคกีดขวางคู่แข่งรายใหม่ไม่ให้เข้ามาสู่ตลาด รวมถึงกำจัดให้ออกไปจากเวทีการแข่งขันได้ กลุ่มทุนเหล่านี้เป็นฐานให้กับการปฏิวัติรัฐประหารมาอย่างยาวนาน การเข้าถึงรัฐบาลเผด็จการนั้นทำได้ง่ายกว่าและเร็วกว่า โดยปราศจากการตรวจสอบจากสื่อมวลชน การได้มาซึ่งโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ทำได้ไม่ยาก เพราะไม่ต้องแข่งขัน และไม่มีเสียงคัดค้านจากภาคประชาชน ช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาก็ปรากฎเป็นข้อเท็จจริงที่ดีอย่างหนึ่ง สังคมจะเห็นภาพ การรวยกระจุก แต่จนกระจาย เด่นชัดยิ่งขึ้น

6. ช่องว่างความเหลื่อมล้ำของประชาชนจะถ่างออกและกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ความมั่งคั่งจะถูกจำกัดให้อยู่แต่ในเมืองหลวง การกระจายความเจริญออกสู่ต่างจังหวัดจะมีน้อยลง ประชาชนจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น เกิดอุปสรรคในการค้าขายเพราะติดขัดด้วยกฎระเบียบราชการ เช่น การเข้มงวดต่อคนชั้นล่างแต่เอื้อประโยชน์ต่อคนชั้นสูง การสร้างกฎระเบียบที่หยุมหยิมและบังคับใช้อย่างเข้มงวดแต่เลือกปฏิบัติ ได้เปิดช่องและสร้างโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์ได้ง่ายขึ้น หากเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้ดุลยพินิจให้คุณและโทษได้แล้ว คนชั้นล่างก็จะกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่ร่ำไป เช่น การห้ามนั่งท้ายรถกระบะ , การใช้มาตรา 44 ประกาศให้ที่ดินของชาวบ้านกลายเป็นที่ราชพัสดุเพื่อนำไปสร้างเป็นเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น การกระจายรายได้และความมั่งคั่งจะแย่ลงในช่วงที่มีรัฐบาลเผด็จการเสมอ ผลกระทบด้านลบทางเศรษฐกิจจะกระจายไปในวงกว้างเกินกว่าที่จะจินตนาการก็เป็นได้ 

7. ความอยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมจะยังคงอยู่ รวมทั้งปรากฎการณ์สองมาตรฐานก็ยังวนเวียนอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนาน รัฐประหารกันยายน 2549 จวบจนถึงรัฐประหารพฤษภาคม 2557 ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้สร้างวาทกรรมขึ้นมามากมายเพื่อทำลายฝ่ายประชาธิปไตย รวมทั้งกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่คนส่วนใหญ่สัมผัสได้ว่า มีหลายมาตรฐานจนถึงไม่มีมาตรฐานเสียเลย ฝ่ายหนึ่งผิดแต่อีกฝ่ายไม่เคยผิด การตีความบทบัญญัติที่สร้างความเคลือบแคลงใจ เกิดครหาและข้อกังขาเป็นอย่างมาก จนกล่าวได้ว่า เป็นปาฏิหาริย์ทางกฎหมายที่ขัดต่อหลักวิชาการทางนิติศาสตร์ เหตุการณ์เหล่านี้จะพบเห็นอยู่ในสังคมไทยเป็นปรกติ ซึ่งในสายตาของต่างชาติแล้ว ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากและลำบากเช่นนี้กำลังจะกลายเป็นทศวรรษที่สูญเปล่าสำหรับคนไทย เป็น 12 ปีแห่งการหยุดนิ่ง ชะงักงัน และผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นคนป่วยแห่งเอเชียที่ยากต่อการเยียวยารักษาแบบถาวร หรืออาจจะต้องทนอยู่ในห้องไอซียูจนกว่าจะครบตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็เป็นได้

8. การปฏิรูปสถาบันกองทัพและสถาบันตุลาการยังไม่เกิดขึ้น และจะคงอยู่ในสถานะที่จับต้องไม่ได้ต่อไป ยกตัวอย่างเช่น การอุบัติขึ้นของตุลาการภิวัฒน์หลังจากปี 2549 เป็นต้นมา ทำให้กลายเป็นผู้เล่นที่สำคัญของความขัดแย้งทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งการเกิดขึ้นของอภินิหารทางกฎหมายในรูปแบบต่างๆ จนทำให้สังคมแปลกใจและสงสัย รวมทั้งตั้งคำถามถึงความเที่ยงตรงของตาชั่งแห่งความยุติธรรม ดังนั้นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วิธีคิด เพื่อก้าวผ่านวิกฤตการณ์ความขัดแย้งในครั้งนี้จะเป็นทางออกสุดท้ายที่ดีที่สุด ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องระเบิดออกมาจากภายในของสถาบันเหล่านี้เองเท่านั้น หาใช่จากภายนอกไม่

9. ความขัดแย้งของสังคมในยุคไทยแลนด์ 4.0 จะยังคงอยู่อย่างเงียบสงบภายใต้รัฐบาลเผด็จการ และจะปะทุออกมาอีกครั้งเมื่อมีสัญญาณการเลือกตั้ง เหตุผลสำคัญนั่นคือ การแข็งขืนฝืนธรรมชาติทางการเมือง โดยชนชั้นนำไม่ยอมปล่อยให้สังคมเดินหน้าตามครรลองคลองธรรมในระบอบประชาธิปไตย จนอาจกล่าวได้ว่า คนเหล่านี้ได้ละเลยการถอดบทเรียนความวุ่นวายทางการเมืองในอดีต ละเลยการเข้าใจบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งทำให้วิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติของประชาชนชาวรากหญ้าได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ท่ามกลางซากปรักหักพังของความขัดแย้งที่ยาวนานนี้ กลับเกิดสภาพการณ์ที่ย้อนแย้งในตัวเอง ชนชั้นปกครองรวมทั้งชนชั้นกลางผู้เชื่อว่าตนเองมีความรู้และคุณธรรมแบบแนวตั้งที่ผู้อื่นปีนป่ายขึ้นมาไม่ได้ กลับมุ่งมั่นปรารถนานำระบบเจ้าขุนมูลนายกลับมาใช้อีกครั้ง โดยยึดติดกับพิธีกรรมประดิษฐ์ รวมทั้งอัตลักษณ์ของสังคมที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ด้วยอำนาจนิยม และกระจายเข้าไปยังในวงการการศึกษา น่าแปลกใจยิ่งนักที่ปัญญาชนคนหนุ่มสาวผู้เป็นความหวังของประเทศชาติในอดีต ผู้เคยเรียกร้องหาเสรีภาพแห่งประชาธิปไตย ผู้เคยต่อต้านเผด็จการทหาร ได้กลายมาเป็นผู้ใหญ่หัวโบราณที่คร่ำครวญถึงแต่อดีต และกลับมาเรียกร้องหาเผด็จการทหารในบั้นปลายชีวิต การเปลี่ยนกลับไปกลับมาเช่นนี้ทำให้ยากที่จะหาเหตุผลมาอธิบายได้ ว่าเหตุใดและทำไม เมื่ออายุมากขึ้นจึงเกิดอุปาทานหมู่ย้อนกลับไปยึดมั่นถือมั่นกับธรรมเนียมจารีตประเพณีแบบเก่าที่คร่ำครึ หรือจะเป็นเหมือนสำนวนไทยที่ว่า แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นานก็เป็นได้ ซึ่งแปลได้ว่า แก่เฒ่าเพราะอยู่นาน แต่ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้สังคมและลูกหลานเลย

ในที่สุดแล้วการโต้กลับของฝ่ายอนุรักษ์นิยมตามจารีต คงจะมีชัยชนะได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเสียที หลังจากที่ปล่อยให้ฝ่ายประชาธิปไตยภาคประชาชนได้ยืนตัวตรง ร่าเริงเบิกบาน และยืนหยัดมาได้เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ หลังการกำเนิดของรัฐธรรมนูญปี 2540 และเหตุการณ์ต่อจากนี้กำลังจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ระยะใกล้ที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนรุ่นต่อไป ก็ขอให้ประชาชนทุกคนจงโชคดี มีความสุข และมีกำลังใจต่อสู้ชีวิตเพื่ออนาคตดีกว่าในวันข้างหน้า หากแม้นหมุดหมายของคณะราษฎรได้อันตรธานหายสาปสูญไปอย่างไร้ร่องรอย และคงไม่มีวันได้กลับคืนมาแล้วไซร้ ก็ขอให้จิตใจของเสรีชนผู้ตรากตรำทำงานหนัก ผู้รักประชาธิปไตย ยังคงเข้มแข็งปลอดภัยและรอวันแห่งการปลดปล่อย ทั้งนี้เพื่อยืนยันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน และยืนยันในความเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยด้วยกัน

     

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐบาล-ภาคเอกชนไต้หวันประกาศมอบ 12 ทุนพาแรงงานไทยลัดฟ้าทัวร์ไต้หวันฟรี

Posted: 18 Aug 2017 05:56 AM PDT

สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย และภาคเอกชนไต้หวันประกาศมอบ 12 ทุนเพื่อจัดทัศนศึกษาสำหรับแรงงานไทยที่เคยไปทำงานที่ไต้หวัน เพื่อให้แรงงานไทยมีโอกาสกลับไปเยือนไต้หวัน สถานที่ซึ่งเคยมีส่วนร่วมพัฒนาอีกครั้งหนึ่ง

แฟ้มภาพแรงงานไทยที่ทำงานในไต้หวัน (ที่มา: Taiwan Radio Internaional)

ในเว็บไซต์ของ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย โดย ถงเจิ้นหยวน ผู้แทนรัฐบาลประกาศว่า ทางสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ร่วมกับสมาคมการค้าไทย-ไต้หวัน และบริษัททัวร์ไต้หวัน จะสนับสนุนให้แรงงานไทย 12 รายมีโอกาสไปเยือนไต้หวัน สถานที่ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาอีกครั้ง

โดยกลุ่มแรกออกเดินทางระหว่างวันที่ 9 ถึง 15 ตุลาคม 2560 บริษัทไทยเฟิง จำกัดจะจัดทริปพาแรงงานไทยเยือนไต้หวัน เที่ยวชมทะเลสาบสุริยันจันทรา ชิงจิ้งฟาร์ม อาลีซัน อนุสรณ์สถานเจียงไคเช็ค บ้านพักเจียงไคเช็ค อาคารไทเป101 จิ่วเฟิ่น และอุทยานแห่งชาติเย่หลิ่ว ครอบคลุมสถานที่ท่องเที่ยวทั้งเมืองไถจง หนานโถว เจียยี่ ไทเป และนิวไทเป

ด้านกัวซิวหมิ่น ประธานบริษัทไทยเฟิง เผยว่าจะมอบทุนให้แรงงานไทย 6 ราย เพื่อเดินทางไปเยือนไต้หวันพร้อมคณะของบริษัทไทยเฟิงจำกัด โดยก่อนหน้านี้ทางบริษัทเคยให้รางวัลแรงงานไทยเที่ยวรอบเกาะไต้หวัน เมืองฮวาเหลียนและไถตง และท่องเที่ยวในเส้นทางสักการะเจ้าแม่ทับทิมมาแล้ว 2 ครั้ง

อีกกลุ่มหนึ่งผู้สนับสนุนคือสมาคมการท่องเที่ยวไต้หวัน จะมอบทุนให้แรงงานไทยไปเยือนไต้หวันจำนวน 6 ราย ออกเดินทางระหว่างวันที่ 9 ถึง 14 ตุลาคม 2560 โดยบริษัทไคหยางอินเตอร์เนชั่นแนล ทราเวล จะเป็นผู้จัดโปรแกรมการท่องเที่ยว ประกอบด้วย ตึกไทเป101 ชิงจิ้งฟาร์ม ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมกลอง 10 ใบ พิพิธภัณฑ์ฉีเหม่ย ครอบคลุมพื้นที่ไทเป หนานโถว ไถหนาน และเกาสง พักโรงแรมระดับ 4 ดาวหรือเทียบเท่า ในโอกาสนี้จะได้พูดคุยกับสื่อมวลชนไต้หวันเพื่อแบ่งปันความรู้สึกของแรงงานไทยที่ได้กลับไปเยือนไต้หวันอีกครั้ง

โดยแรงงานไทยที่เคยไปทำงานที่ไต้หวัน สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการจนถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้ทางเว็บไซต์ของ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย โดยต้องกรอกใบสมัคร พร้อมแนบสำเนาหนังสือเดินทางปัจจุบัน สำเนาหน้าวีซ่าแรงงาน หรือใบกามา (บัตร ARC) สัญญาจ้างงานหรือหลักฐานจากบริษัทจัดหางาน โดยเอกสารการสมัครส่งถึง แผนกสารนิเทศ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย ก่อนวันที่ 31 สิงหาคม 2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนเล็กเล็งเลิกกฎหมายหมิ่นฯ: เจริญชัย แซ่ตั้ง (แสดงนำ-กำกับเอง)

Posted: 18 Aug 2017 05:15 AM PDT

คุยกับเจริญชัย แซ่ตั้ง ในวัยผมสีดอกเลา อดีตคนทำงานสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กช่วงสงครามเวียดนาม – ล่ามตำรวจท่องเที่ยว 2ปี – ก่อนไปเก็บของเก่า – เคยปฏิบัติสมาธิกับวัดธรรมกายก่อนเลิกศาลา – ต่อต้าน รสช. คมช. คสช. เพราะ "รัฐประหารก็เท่ากับเขาปล้นอำนาจเรา" รณรงค์ให้ยกเลิก ม.112 อยู่ตามเว็บบอร์ด-ยื่นหนังสือ ฯลฯ จนทหารเรียกปรับทัศนคติ ระบุอยากให้ยกเลิกเพราะเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองและไม่เป็นผลดีกับใคร

เจริญชัย แซ่ตั้ง

เจริญชัย แซ่ตั้ง คือนักเคลื่อนไหวผู้เรียกร้องให้มีการยกเลิก ม.112 เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา เขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนกว่าสิบนายบุกเข้าจับกุมที่บ้านพักย่านดาวคะนอง โดยไม่มีหมายจับหรือหมายค้น แต่อ้างว่าใช้อำนาจตามมาตรา 44 นำตัวไปปรับทัศนคติเท่านั้น

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพูดถึงเหตุผลในการจับกุมตัวว่า ญาติของนายเจริญชัยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บุคคโล ว่ามีการจัดทำบันทึกเชิญตัวโดยระบุเหตุที่ควบคุมนายเจริญชัยว่ามีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาแต่ยังมิได้ดำเนินคดี

1.

เราเจอกันที่บิ๊กซี ดาวคะนอง แถวบ้านของเขา เขาเป็นชายร่างกะทัดรัด ผมสั้นรองทรงสี ดอกเลา ใบหน้าตกกระเล็กน้อย ในวัย 60 ปีเขาดูกระฉับกระเฉง พูดจาคล่องแคล่วชัดถ้อยชัดคำติดสำเนียงจีน บทสนทนาของเราเริ่มต้นที่ลานจอดรถชั้น 2 เขาแนะนำที่นี่เพราะ "จะได้คุยกันเสียงดังได้อย่างสบายใจ" เขาว่าอย่างนั้น และฉันก็เห็นด้วย

เจริญชัยถูกคุมตัว 7 วัน ที่มณฑลทหารบกที่ 11 หรือที่รู้จักกันในชื่อ มทบ.11 อันเป็นสถานที่คุมตัวสำหรับคนถูกเรียกไปปรับทัศนคติ

ระหว่างถูกควบคุมเขาเล่าว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อเขาอย่างสุภาพ ไม่ได้ถูกข่มขู่หรือทำร้ายร่างกาย ขณะที่เจริญชัยอยู่ในนั้น มีอีก 4 คนที่ถูกควบคุมตัวพร้อมกัน เขาไม่รู้จักคนเหล่านั้น และถูกสั่งห้ามไม่ให้พูดคุยกัน เจ้าหน้าที่ให้เขาเซ็น MoU ห้ามยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง และถูกเตือนให้ระวังเรื่องการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กที่อาจเข้าข่ายความผิดม. 112

"ห้องสะดวกสบาย แอร์ก็เย็นพอดี ไม่มีปัญหาเลย ถึงเวลาเขาก็เอาข้าวมาให้ ไม่เคยใช้กำลังข่มขู่ ทุกคนเป็นมิตร" เขาเล่าให้ฟัง 

"ครั้งหนึ่งผมไม่ยอมเซ็นเอกสารที่จะเอาผิดผม ผมขีดทิ้งหมด จะทำอย่างนี้ได้ยังไง เขาจะใส่ข้อหาผมผิด 112 116 ผมไม่พอใจ เลยขีดทิ้ง แล้วทุกแผ่นจะมีเขียนบอกว่าจะไม่เอาความแก่เจ้าหน้าที่ที่จับกุมตัวมา ผมก็ขีดทิ้ง เขาเลยพิมพ์มาใหม่ครั้งที่สอง จะตั้งข้อหาผมอีก ผมก็เลยบอกว่าผมไม่รับ ผมพูดเสียงดัง ทหารมามุงหน้าประตูทางเข้า 4 คน ผมบอกว่ามาอย่างนี้ผมไม่ชอบนะ สุดท้ายผมก็ไม่ได้เซ็น และเขาก็ไม่ได้ทำอะไร แค่พิมพ์เก็บไว้" คืออีกประสบการณ์ที่เขาเจอในค่ายมทบ.11 นี้

เจริญชัยเล่าว่าคนที่เขาได้พูดคุยด้วยมีเพียงเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาไถ่ถามความคิดเห็นทางการเมืองยันเรื่องราวชีวิตส่วนตัวตั้งแต่เด็กจนโตของเขา แล้วพิมพ์เก็บรวมไว้ในแฟ้ม

"ผมเล่าให้เขาฟัง เหมือนที่เล่าให้คุณฟังนี่แหละ" เขากล่าวระหว่างเริ่มเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาให้ฉันฟัง

2.

"ผมเคยอยากเรียนครุศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ แต่ผมรู้ว่าผมเสียงไม่ดี ออกเสียงไม่ชัด ก็เลยไม่เอาดีกว่า" เขาว่าอย่างนั้น

เจริญชัยจึงเรียนครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกสุขศึกษา โทประชากรศาสตร์แทน

ปี 2519 ปีที่เกิด 6 ตุลา คือปีที่เขาเพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยพอดี แต่ด้วยฐานะทางบ้านที่ไม่ดี เจริญชัยจึงไม่ได้สนใจกิจกรรมทางการเมือง แต่มุ่งเพื่อเรียนให้จบเป็นคนแรกของครอบครัว

เมื่อจบออกมาเจริญชัยทำงานกับมูลนิธิเพิร์ล เอส. บัค* ช่วยเหลือลูกของทหารอเมริกาที่เกิดกับผู้หญิงไทยในช่วงสงครามเวียดนาม ด้านทุนการศึกษาและสุขภาพ อยู่ 9 ปี

หลังจากนั้นปี 2534 เขาย้ายมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ท่องเที่ยว ซึ่งทำงานร่วมกับตำรวจท่องเที่ยว เป็นล่ามแปลให้นักท่องเที่ยวถามทางยันปัญหารับแจ้งความ ทำได้ 2 ปี แต่เขาเป็นคนเดียวที่ไม่ได้ต่อสัญญาเพราะหัวแข็ง ซื่อตรงเกินไป "คล้ายไปขัดขวางผลประโยชน์ของตำรวจ" เป็นคำที่เขาใช้

เจริญชัยจึงออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ซื้อเศษโลหะ อะลูมิเนียม ทองเหลือง ทองแดง กระป๋องเบียร์ ฯลฯ มาขายโรงหล่อ ไปรับซื้อร้านของเก่าใหญ่ๆ ในตัวเมืองอุดรฯ หนองคาย ซื้อแล้วมาส่งกรุงเทพฯ รายได้ดี ตั้งตัวได้ก็เพราะงานนี้ มีเงินก็ลงทุนที่ดินหลายแปลง ทุกวันนี้เลยไม่ลำบาก แม้จะมีปัญหากับทางธนาคาร และยื่นฟ้องกับหน่วยงานต่างๆ มา 10 ปีแต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

3.

"ผมมาเริ่มต้นสนใจการเมืองจริง ๆ ปี 35 ไปร่วมชุมนุมด้วย พอวันเกิดเหตุเช้านั้นประท้วงถึงเช้า ผมอยู่บนสะพานมองไปเห็นทหารถือโล่เต็มถนน พอผมหันหลังจะก้าวลงสะพานก็ได้ยินเสียงปืนดัง ผมเลยวิ่งไปตั้งหลัก มีคนตะโกนว่า 'สู้ไม่ถอย' จนเขามีการเจราจากัน ตอนนั้นผมปวดท้องขี้ ห้องน้ำไม่ให้เข้า ผมไม่สามารถไปขี้อุจาดได้ผมเลยต้องกลับบ้าน ก่อนกลับก็เห็นจำลอง ครูประทีป กำลังคุยกับป๋าเปรมอยู่ คุยอะไรไม่รู้ แต่ผมกลับมาเข้าห้องน้ำที่บ้าน ปวดหัวก็เลยนอน ช่วงสายๆ ก็ได้ข่าวว่าเขาสลายชุมนุม ถ้าผมอยู่ก็คงโดนซิวด้วย ครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ผมได้เข้าร่วมทางการเมืองเป็นครั้งแรก" เจริญชัยเล่าให้ฟังถึงรายละเอียดในเหตุการณ์ครั้งนั้น

"ไปเพราะผมไม่ชอบเผด็จการ รัฐประหาร นายกฯ ไม่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่เอา" เขากล่าว

เมื่อถามว่าทำไมถึงสนใจจริงจังกับเรื่องการต่อต้านเผด็จการมายาวนานขนาดนี้ ในขณะที่คนบางกลุ่มก็เปลี่ยนแปลงความคิดทางอุดมการณ์กันไปบ้าง เจริญชัยเท้าความไปไกลตั้งแต่สมัยวัยรุ่น เขาสนใจศึกษาธรรมะตั้งแต่ตอนอยู่จุฬาฯ เข้าชมรมพุทธ ไปฝึกวิชาที่วัดธรรมกาย

"ผมรุ่นบุกเบิกเลย ธรรมกายยังมีแค่ศาลาเล็กๆ ยาวๆ หลังเดียว โบสถ์ยังไม่มี นายแพทย์มโนเป็นประธานชมรมพุทธเป็นผู้นำสวด ตอนหลังบวชเป็นพระเมตตา แล้วต่อมาก็ขัดแย้งกับธรรมกาย แต่การฝึกสมาธิแบบเพ่งดวงแก้วใสผมว่ามันไม่ถูกต้อง มันดีไม่ใช่ไม่ดีนะ แต่ไม่ใช่แนวทางของผม เลยมาอยู่ชมรมจิตศึกษา เน้นทางวัดมหาธาตุ ผมไปฝึกสมาธิ วันที่ 5 ฝึกสำเร็จ ไม่ขอบอก แต่รู้ว่าได้สมาธิ เข้าใจว่าสมาธิหมายถึงอะไร คนได้จะรู้เอง ผมเขียนไว้ในเฟซบุ๊กผม คุณลองไปอ่านได้

เมื่อลองเข้าเฟซบุ๊กของเขา ซึ่งใช้ชื่อ 'เจริญชัย แซ่ตั้ง' บางส่วนในข้อความของเขาเขียนว่า

"ตามที่ผมได้กล่าวไว้ในกระทู้ ตาสว่างจากสมาธิเพียงครั้งเดียว มีอานิสงส์มาก นั้น ผมได้จากการนั่งสมาธิ เจริญสติปัฏฐาน 4 โดยการกำหนดลมหายใจเข้าออกหรืออานาปานสติ เวลานั่งเหมือนมีการโหลดข้อมูลภาพนิมิตต่าง ๆ ตามหลักการเจริญสติปัฏฐาน 4 จำนวนมากและผ่านไปรวดเร็วจนไม่สามารถประเมินความเร็วได้ ในที่สุดจิตก็สงบ สามารถกำหนดลมหายใจเข้าออกได้อย่างละเอียดมาก เกิดสมาธิจิตสามารถทำปฏิภาคนิมิตได้ มีปีติสุขจากการนั่งสมาธิซึ่งเป็นความสุขที่ปราศจากกิเลสอย่างแท้จริง ความสุขนี้แม้จะมีเงินทองมากมายสักเพียงใดก็ไม่สามารถซื้อได้ นอกจากจะต้องฝึกปฏิบัติด้วยตัวเองเท่านั้น หากไม่มีศีลธรรมหรือไม่มีจิตใจที่สะอาดเพียงพอก็คงเข้าถึงได้ยาก ผมถือว่าผมมีบุญ จึงมีโอกาสได้สัมผัสความสุขนี้ได้ครั้งหนึ่งในชีวิต

"ทุกวันนี้ผมยังรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่สามารถเข้าถึงสมาธิได้ครั้งหนึ่งในชีวิตแต่อายุแค่ 20 ปีโดยใช้เวลาฝึกแค่ 5 วันเท่านั้น แม้ว่าจะเป็นการได้เพียงครั้งเดียวก็ตาม แต่ก็มีประโยชน์มากมายมหาศาล ทำให้เข้าใจแก่นธรรมะได้อย่างลึกซึ้งดีกว่าอ่านหนังสือนับสิบ ๆ เล่มเสียอีก และที่สำคัญคือไม่เสียทีที่ได้เกิดมานับถือศาสนาพุทธอีกด้วย ผมไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโลกธรรม 8 อย่างเหมือนเช่นคนทั่ว ๆ ไปเพราะมีจิตใจมั่นคงแล้ว ผมจึงกล้าทำสิ่งที่หลาย ๆ คนกลัวได้เช่น การรณรงค์ยกเลิกม.112 ที่ผมทำต่อเนื่องมา 7-8 ปีแล้ว เป็นต้น"

"เพราะฉะนั้นอะไรที่ไม่ดีไม่ชอบผมถึงต่อต้านหมด การรัฐประหารก็เท่ากับเขาปล้นอำนาจเรา ผมก็เลยไม่ชื่นชอบ ต่อต้านมาโดยตลอด" เจริญชัยยืนยันหนักแน่น และเพราะเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกรณีที่มีปัญหากับธนาคาร ทำให้เขารู้สึกว่า "ในยุคเผด็จการอย่างไรผมก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม" เขากล่าว "ผมรู้ว่ามันเกี่ยวข้องกันหมดกับความเป็นเผด็จการ แต่ผมพูดมากไม่ได้"

เช่นเดียวกับเหตุผลที่เขาต้องการให้ยกเลิกม. 112 เขากล่าวทันทีว่า "อยากให้มีการยกเลิกเพราะเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง ไม่เป็นผลดีกับใคร มีเรื่องลึกกว่านี้อีกแต่ผมพูดไม่สะดวก คุณคงเข้าใจ ถ้าอยู่ต่างประเทศผมคงพูดได้มากกว่านี้"

เราจบบทสนทนาของเราที่ลานจอดรถชั้น 2 ของบิ๊กซี ดาวคะนอง และรู้ว่าบางเรื่องแม้จะนั่งคุยกันห่างไกลจากการรับรู้ของผู้คนแค่ไหน เราก็ยังไม่สามารถพูดคุยกันได้อยู่ดีในประเทศนี้

 

- เจริญชัยกล่าวในเฟซบุ๊กว่าเขาเป็น ผู้อุทิศตนรณรงค์ยกเลิก ม.112

- 10 ธันวาคม 49 เจริญชัยเข้าร่วมการต่อต้านการรัฐประหาร

- เจริญชัยเริ่มเล่นเว็บบอร์ดประชาไทในปี 52 และเป็นตัวตั้งตัวตีในการยกเลิกม. 112 ตั้งแต่ตอนนั้น

- 22 มีนา 52 เจริญชัยตั้งโต๊ะล่ารายชื่อยกเลิกม. 112 ที่หน้าห้องประชุมนิติศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์

- 26 มีนา 52 ชุมนุมเสื้อแดง เจริญชัยล่ารายชื่อฯ ได้ประมาณ 600 คน

- ปี 54 สมัยที่ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ เจริญชัยยื่นข้อเสนอให้ลงสัตยาบันที่สำนักนายกฯ ให้ทำตาม ข้อเสนอของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล  8 ข้อ

- 15 ธันวาคม 54 เจริญชัยได้ยื่นฎีกาให้ยกเลิก ม.112 ที่สำนักนายกฯ โดยสำนักนายกฯ ส่งต่อไปที่กระทรวงยุติธรรม แต่ได้รับการตอบกลับมาว่าไม่สามารถดำเนินการได้ หลังจากนั้นได้ยื่นให้ราชเลขา ซึ่งรับเรื่องไว้แต่ไม่ได้ดำเนินการ เจริญชัยได้ติดตามไปถามเจ้าหน้าที่อยู่เรื่อยๆ จนได้รับคำบอกว่าในหลวงทรงรับทราบแล้วในเรื่องที่เขาฎีกา

 
 
*องค์การการกุศลเพิร์ล เอส. บัค (The Pearl S. Buck Foundation,Inc.) ก่อตั้งขึ้นที่เมืองเปอร์กาซี มลรัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1964 โดยนักเขียนสตรีชาวอเมริกันผู้มีนามว่า มิสเพิร์ล เอส. บัค ผู้ได้รับรางวัลโนเบลและรางวัลพูลิซเซอร์ ในสาขาการประพันธ์และมนุษยธรรม องค์การการกุศลเพิร์ล เอส. บัค เป็นหน่วยงานอเมริกันที่มีสาขาในประเทศต่าง ๆ แถบเอเชีย ได้แก่ เกาหลี โอกินาวา ไต้หวัน ฟิลิปปินส์และไทย เป็นของเอกชนที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กลูกครึ่งไทยอเมริกัน-เอเชียน ที่ถูกบิดาที่เป็นทหารชาวอเมริกันทอดทิ้งไป โดยไม่เกี่ยวข้องทางการเมืองและมิได้แสวงหาผลกำไรใด ๆ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิตร โรจนพฤกษ์ เข้ารับทราบข้อหากับ ปอท. ทนายระบุยังไม่รู้โพสต์ไหนนำเข้าข้อมูลเท็จ

Posted: 18 Aug 2017 04:58 AM PDT

นักข่าวดังระบุ โพสต์ตามสิทธิที่ประชาชนพึงมี ยันไม่ได้ปลุกปั่น สหรัฐฯ ส่งเลขานุการโทพร้อมเจ้าหน้าที่ไทยประจำสถานทูตร่วมสังเกตการณ์ เหตุสนใจเรื่องสิทธิที่ประชาชนได้รับจากรัฐบาลไทย

ประวิตร โรจนพฤกษ์ (ที่มา:kapook)

18 ส.ค. 2560 สำนักข่าว มติชน รายงานว่า ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของข่าวสดอิงลิช เดินทางไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจง กรณีถูกหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ ปอท.ในข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เนื่องจากได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว วิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด โดยปรากฏรูปภาพที่แสดงท่าทีไม่เหมาะสม และแสดงความคิดที่มีผลกระทบต่อรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยประวิตรได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองข้อหาในวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งความตั้งแต่ 2 ส.ค.

การเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในวันนี้มีแอนดรูว์ อาร์มสตรอง เลขานุการโท เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา พร้อมเจ้าหน้าที่ไทยประจำสถานทูตเข้าร่วมสังเกตการณ์รับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ เนื่องจากสนใจในเรื่องของสิทธิของประชาชนที่ได้รับจากรัฐบาลไทย

ประวิตรกล่าวว่า การโพสต์ข้อความดังกล่าวนั้น เป็นไปตามสิทธิของประชาชนที่มี สามารถจะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลได้ ยืนยันว่าไม่ได้ยุยงปลุกปั่น หรือสร้างความเคลื่อนไหวของมวลชนกรณีการโพสต์ถึงการตัดสินคดีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนผู้เป็นทนายความของประวิตรระบุว่าจะต่อสู้ทางคดีความจนถึงที่สุด หลังทราบจากตำรวจว่ายังไม่สามารถระบุได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นการโพสต์ข้อความเท็จในส่วนใด ซึ่งจะต้องเข้าไปรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อจะได้ชี้แจงกับตำรวจอีกครั้ง

ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ประวิตรเคยถูกควบคุมตัวไปแบบไม่สามารถติดต่อกับคนอื่นได้เพื่อ 'ปรับทัศนคติ' ถึง 2 ครั้งหลังแสดงความเห็นที่ถูกตีความว่ากระทบกับรัฐบาล คสช. และกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในปี 2557 และ 2558 เดิมทำงานเป็นผู้สื่อข่าวที่สำนักข่าวเดอะ เนชั่น แต่ถูกเชิญออกหลังจากถูกเรียกเข้าค่ายทหารครั้งที่สองเมื่อปี 2558 จากนั้นประวิตรจึงย้ายมาทำงานที่ข่าวสดอิงลิช

เมื่อ 18 ก.ค. 2560 คณะกรรมการคุ้มครองสื่อแห่งมหานครนิวยอร์ก (The Committee to Protect Journalists) มอบรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติประจำปี 2017 ให้กับนักข่าว 4 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสจากข่าวสดอิงลิช ที่ได้รับเกียรติจากทางคณะกรรมการฯ ร่วมกับนักข่าวอีก 3 คนจากแคเมอรูน เม็กซิโก และเยเมน แถลงการณ์ระบุถึงประวิตรว่าเป็น "นักข่าว นักวิพากษ์ และนักรณรงค์ด้านเสรีภาพสื่อ ถูกคุกคามโดยรัฐบาลและถูกคุมขัง 2 ครั้งในช่วงไม่กี่ปีนี้จากการทำข่าวประเด็นการเมืองและสิทธิมนุษยชน"

ทอดด รุยซ์ บรรณาธิการข่าวสดอิงลิชที่ประวิตรสังกัด ได้ออกมาแถลงต่อคดีนี้ ระบุว่า ตนยืนยันว่าประวิตรและประชาชนทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญ และขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยรายละเอียดแก่ประวิตรว่า ใครเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาให้ตำรวจดำเนินการกับประวิตร

"นี่คือการคุกคามประวิตรอย่างเห็นได้ชัด" ทอดด์กล่าว

คณะกรรมการนิติศาสตร์สากลหรือไอซีเจ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการใช้กฎหมายคุกคามการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประวิตร หลังจากที่องค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นเรียกร้องไทยยุติการใช้บทบัญญัติทางอาญารวมถึงความผิดฐานยุยงปลุกปั่นเป็นเครื่องมือในการกดขี่การแสดงความคิดเห็นของผู้เห็นต่างหรือการแสดงความไม่เห็นด้วย และใช้ทุกมาตรการเพื่อยุติการดำเนินคดีกับคนเหล่านั้นจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

เมื่อ 7 ส.ค. องค์กรสื่อไร้พรมแดน (Reporter Without Borders - RSF) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ภาครัฐเพิกถอนกระบวนการทางอาญาที่กำลังดำเนินอยู่กับประวิตร "ผู้สื่อข่าวที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาได้ถูกทำร้ายซ้ำไปซ้ำมาเพียงเพราะเขาแสดงความเห็นของเขาและปกป้องเสรีภาพในการให้ข้อมูลจนถึงกับทำให้เขาต้องออกจากงานเดิมที่สำนักข่าวเดอะเนชั่น ถึงเวลาแล้วที่ทางการจะตระหนักว่าเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพสื่อคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่สามารถถูกกดปราบในลักษณะนี้ โดยเฉพาะวิธีการนำตัวผู้บริสุทธิ์มาลงโทษ"

4 ส.ค. 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่าความพยายามของทางการไทยที่จะใช้กระบวนการทางอาญา เพื่อคุกคามผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลง โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคนไทยหลายสิบคนถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา เพียงแค่พวกเขาออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างสงบทั้งในการชุมนุมหรือผ่านโซเชียลมีเดีย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

3 องค์กรสิทธิร้องยุติคดี 5 นักวิชาการเชียงใหม่ ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/58

Posted: 18 Aug 2017 03:13 AM PDT

องค์กรสิทธิออกแถลงการณ์ร้องรัฐทบทวนและยกเลิกการกล่าวหา 5 นักวิชาการและนักกิจกรรมเชียงใหม่หลังถูกหมายเรียกคดีฝืนคำสั่งชุมนุมทางการเมือง ปมกิจกรรมชูป้ายข้อความว่า 'เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร' ในงานไทยศึกษา และยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 

ภาพชูป้ายที่มีข้อความ 'เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร' ที่มาภาพ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส. 

18 ส.ค.2560 จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกนักวิชาการและนักศึกษา 5 คน ประกอบด้วย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และยังเป็นประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ จ.เชียงใหม่เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกคือ ธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มช. และยังเป็นบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม, ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มช. และนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มช. ซึ่งเป็นหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก ลงวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จากกรณีเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในการประชุมวิชาการไทยศึกษาเมื่อเดือนที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุด สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) และสมาคมนักกฏหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ออกแถลงการณ์ทบทวนและยกเลิกการกล่าวหานักวิชาการและนักกิจกรรมดังกล่าว และยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1) การประชุมวิชาการไทยศึกษา เป็นเวทีทางวิชาการเพื่อนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับภูมิปัญญาความรู้ท้องถิ่น ปัญหาสังคม ความรู้เพื่อนบ้าน และเป็นเวทีวิชาการที่ "วิพากษ์รัฐและทหาร" ด้วย ซึ่งการวิพากษ์รัฐในเวทีไทยศึกษาเป็นธรรมเนียมทางวิชาการที่ถือปฏิบัติกันมาเกือบสี่ทศวรรษของการจัดงานนี้ ไม่ว่ารัฐนั้น จะเป็นรัฐภายใต้รัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม

2) ในการประชุมวิชาการไทยศึกษาครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหลายหน่วยงานทั้ง "ทหาร" และ "ตำรวจ" เข้ามาแฝงตัวในกลุ่มผู้เข้าประชุม มีการถ่ายภาพผู้อภิปราย ผู้เข้าร่วม อันเป็นการคุกคามประชาคมวิชาการ และเป็นการแทรกแซงเวทีวิชาการโดยรัฐเป็นครั้งแรกของการประชุมไทยศึกษา ซึ่งนักวิชาการไทย ประชาชนไทย และนักวิชาการต่างประเทศที่เข้าร่วมประชุม ไม่อาจยอมรับการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงดังกล่าวได้

3) การออกหมายเรียกนักวิชาการทั้ง 5 คน โดยพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ดังกล่าวถือเป็นการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ และพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยไทยมีอยู่ตามกติการะหว่างประทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 ซึ่งการใช้เสรีภาพทางวิชาการและการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่กระทำโดยสงบ ย่อมไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของสังคมหรือของชาติได้แต่ประการใด

4) คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ซึ่งออกมาบังคับใช้แทนกฏอัยการศึก ไม่ควรถูกนำมาบังคับใช้ในสภาวะปกติที่ประเทศไม่ได้อยู่ในสภาวะสงครามหรือสภาวะฉุกเฉินอันเป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของประเทศ การดำรงอยู่และการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ขัดต่อข้อ 4 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม การใช้อำนาจตามคำสั่งดังกล่าวมาออกหมายเรียกประชาขน จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีความชอบธรรมตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

5) ขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อทบทวนการตั้งข้อหานักวิชาการและนักกิจกรรม ทั้ง 5 คน ดังกล่าวโดยเร็ว และขอให้รัฐบาลยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก และเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญของความปรองดองของคนในชาติ สร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตย และการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศชาติต่อไป  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนไทยพลัดถิ่นห้วยส้านหวังศาลปกครองสั่งมหาดไทยคืนสัญชาติไทย

Posted: 18 Aug 2017 02:09 AM PDT

คนไทยพลัดถิ่นจากห้วยส้าน (แม่สอด) หวังศาลปกครองสั่งมหาดไทย คืนสัญชาติไทย ด้านตุลาการผู้แถลงคดีชี้คําสั่งไม่รับรองสัญชาติชอบแล้ว

 

คนไทยพลัดถิ่นจากห้วยส้าน (แม่สอด) 

18 ส.ค. 2560 คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนดานชนชาติ ผูไรสัญชาติ แรงงานขามชาติ และผูพลัดถิ่น สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ ระบุว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา เวลา 13.30 น. ที่ศาลปกครองกลางมีรายงานข่าวแจ้งว่าตุลาการผู้แถลงคดีในคดีคนไทยพลัดถิ่นจากห้วยส้าน (แม่สอด) ชี้ว่าคําสั่งมหาดไทยที่ไม่รับรองสัญชาติไทยชอบแล้ว และศาลนัดฟังคําพิพากษาวันที่ 14 ก.ย. 60 เวลา 13.30 น.

คดีนี้สืบเนื่องจากที่คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านคนไทยพลัดถิ่นจากห้วยส้าน หรือผู้ฟ้องคดี 351 คน ในการยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกับพวกรวม 4 คน ต่อศาลปกครองกลาง ในวันที่ 30 ม.คง58 เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคําสั่งทางปกครองและขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นให้แก่ผู้ฟ้องคดี
 
เนื่่องจากภายหลังจากการออกพระราชบัญญัติ สัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 อันมีเจตนารมณ์เพื่อคืนสัญชาติไทยให้กับคนไทยพลัดถิ่นแล้ว ก็ยังมีคนไทยพลัดถิ่นอีกจํานวนมากที่ไม่ได้รับการคืนสัญชาติ รวมถึงผู้ฟ้องคดี 351 คนในคดีนี้
 
ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ หนึ่งในทีมทนายความเปิดเผยว่า คนไทยพลัดถิ่นกลุ่มนี้มีบรรพบุรุษเป็นคนไทยล้านนาและอดีตตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านห้วยส้าน โดยจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม แต่ต่อมาได้มีการแบ่งอาณาเขตอย่างชัดเจนระหว่างสยาม-อังกฤษ (พม่า) แล้วในปี พ.ศ. 2515 คนไทยพลัดถิ่นกลุ่มนี้ก็ย้ายเข้ามาในไทยนอกจากนี้ปัจจุบันผู้ฟ้องคดีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย เป็นคนไทยพลัดถิ่นที่ต้องได้รับการคืนสัญชาติ แต่ก็ยังถูกปฏิเสธไม่ได้รับการรับรองการเป็นคนไทยพลัดถิ่น
 
"ประเด็นปัญหาในเรืองนี้ คือ การที่หน่วยงานรัฐตีความ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 อย่างแคบ โดยจํากัดอยู่เพียงคนไทยที่ต้องมีหลักฐานปรากฏว่ามีการเสียดินแดนตามสนธิสัญญา ทั้งๆ ที่กฎหมายกําหนดว่า "โดยเหตุอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต" ดังนั้นเจตนารมณ์ของกฎหมายคือการคืนสัญชาติให้แก่คนไทยพลัดถิ่นทุกกลุ่มโดยไม่จํากัดอยู่เพียงว่าจะเป็นการเสียดินแดนตามสนธิสัญญา" สมนึก ตุ้มสุภาพ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ สภาทนายความฯ กล่าว
 
สมนึกยังกล่าวอีกว่า สาเหตุอีกประการที่หน่วยงานรัฐอ้างไม่ให้สัญชาติแก่คนไทยพลัดถิ่นกลุ่มนี้ คือ การผลักให้ชาวบ้านไปใช้ช่องทางตามกฎหมายอื่น เช่น การแปลงสัญชาติและการเรียกร้องให้ออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่ม-เฉพาะกรณี ซึ่งไม่ใช่ทางแก้ปัญหาการไร้สัญชาติของประเทศที่ยั่งยืนเพราะการได้สัญชาติคืนตาม พ.ร.บ.สัญชาติฉบับนี้จะแก้ปัญหาเป็นการทั่วไปและมีประสิทธิภาพมากกว่า ส่วนการแปลงสัญชาติและการ ออกกฎหมายเฉพาะกลุ่มเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะกรณี ท้ายที่สุดก็จะมีชาวบ้านคนไทยพลัดถิ่นอีกจํานวนหนึ่งที่ตกเป็ นคนไร้สัญชาติที่ไม่สามารถได้สัญชาติโดยช่องทางใดๆ เลยหากแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐไทยยังคงเป็นเช่นนี้
 
ต่อคำถามที่ว่าในอนาคตชาวบ้านกลุ่มนี้จะเป็นอย่างไรถ้ายังคงถูกปฏิเสธไม่ได้รับสัญชาติไทยนั้น สมนึก กล่าวว่า ในปัจจุบันชาวบ้านมีความยากลําบาก การไร้สัญชาติทําให้บุคคลปราศจากสิทธิในการเป็นมนุษย์ ในการเป็นพลเมือง เสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบ และการค้ามนุษย์ ประสบปัญหาในการเข้าถึงการศึกษา สุขภาพการทํางานที่ดี และไร้การคุ้มครอง อนาคตชาวบ้านกลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่ด้อยโอกาสมากที่สุด เสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมากที่สุดกลุ่มหนึ่งและสืบทอดการไร้
สัญชาติให้แก่ลูกหลาน ทั้งที่สืบเชือสายไทยและเนื้อแท้เป็นคนไทย นั่นคือสาเหตุที่สภาทนายความไม่นิ่งนอนใจและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ชาวบ้านในคดีนี้ ซึ่งเราก็ได้รับเรืองร้องเรียนจากคน ไร้สัญชาติเข้ามาเพิ่มเติมในวันี้ด้วย
 
ขณะที่ส่วนหนึ่งของคําให้การของมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีระบุว่า สาเหตุที่ไม่รับรองสัญชาติไทยแก่ชาวบ้านกลุ่มนี้เพราะ เป็นกลุ่มที่บรรพบุรุษอพยพข้ามไปมาทำมาหากินฝั่งพม่าในอดีต อันมิได้เกิดจากการเปลียนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยในอดีตแต่อย่างใด และยืนยันว่าไม่มีหลักฐานปรากฎว่าประเทศไทยเสียดินแดน
 
เมื่อความเห็นของคู่กรณี ไม่ลงรอยกันเช่นนี้ส่วนความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีสนับสนุน ก.มหาดไทย ในวันที่ 14 ก.ย. 60 อันเป็นวันพิพากษาจึงเป็นวันที่ชีชะตาคนไทยพลัดถิ่นจาก ห้วยสาน และอาจจะเป็นคดีที่สร้างบรรทัดฐานให้แก่คดีคนไทยพลัดถิ่นกลุ่มอื่นๆ ต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ผสานวัฒนธรรม' ประณามกลุ่มติดอาวุธกรณีสังหารพลเรือนปล้นรถยนต์สงขลา เพื่อทำคาร์บอมบ์

Posted: 18 Aug 2017 01:23 AM PDT

18 ส.ค.2560 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ประณามกลุ่มติดอาวุธ กรณีสังหารพลเรือน ปล้นรถยนต์ ใน จ.สงขลาเพื่อทำคาร์บอมบ์ พร้อมทั้งขอให้ฝ่ายความมั่นคงใช้ขันติธรรมและไม่สมควรโต้ตอบด้วยความรุนแรง โดยมีรายละเอียดในแถลงการณ์ดังนี้

ขอประณามกลุ่มติดอาวุธ กรณีสังหารพลเรือน ปล้นรถยนต์ ในจังหวัดสงขลาเพื่อทำคาร์บอมบ์ ขอให้ฝ่ายความมั่นคงใช้ขันติธรรมและไม่สมควรโต้ตอบด้วยความรุนแรง

จากสถานการณ์การปล้นรถยนต์ในพื้นที่อ.เทพาและอ.นาทวี จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2560 และทางราชการสามารถติดตามนำรถที่ปล้นได้ทั้งหมดจำนวน 7 คันแล้วเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 โดยทางการเชื่อว่าเป็นการทำแผนประทุษกรรมและการก่อความไม่สงบโดยกลุ่มบุคคลเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับกองกำลังติดอาวุธ ในจังหวัดชายแดนใต้ อย่างน้อย 6 คน ปฏิบัติการดังกล่าวเริ่มจากที่กลุ่มบุคคล ได้ใช้บุกปล้นรถยนต์กระบะอีก 6 คัน จากเต๊นท์รถยนต์มือสองในอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นรอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนใต้ พร้อมทั้งได้จับตัวพนักงานเต๊นท์รถยนต์ไป 4 คน แล้วทำร้ายเพื่อมุ่งสังหารพนักงานดังกล่าวอย่างโหดเหี้ยม จนทำให้เสียชีวิต 1 คนเป็นประชาชน และกลุ่มผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 1 คน   ทางการมีหลักฐานเชื่อว่ารถที่ปล้นกำลังจะนำไปบรรทุกระเบิดเป็นคาร์บอมบ์ โดยรถจำนวน 2 ใน 7 คันเกิดเหตุระเบิดขึ้นอย่างรุนแรงแต่จากการทำงานของเจ้าหน้าที่ทำให้เกิดความเสียหายในวงจำกัดทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความเห็นต่อสถานการณ์นี้ดังนี้

1.            ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้ที่สูญเสียทรัพย์สินจากเหตุการณ์ครั้งนี้

2.            ขอประนามกลุ่มติดอาวุธ โดยเห็นว่า การใช้กำลังปล้นเต๊นท์รถยนต์และสังหารพนักงานซึ่งเป็นพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบนั้นเป็นการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ และจากกรณีที่ผ่านมาที่กลุ่มติดอาวุธได้ปฏิบัติการในลักษณะเดียวกันหลายครั้งในจังหวัดชายแดนใต้ อย่างกว้างขวาง และเป็นระบบ ถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ที่ผู้นำของกลุ่มติดอาวุธและผู้ปฏิบัติการจะต้องถูกนำตัวมาลงโทษตามกฎหมาย ทั้งกฎหมายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ

3.            ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งด้วยอาวุธเจรจาและทำข้อตกลง ที่มีผลในการปฏิบัติอย่างแท้จริง เพื่อยุติการโจมตีพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบ โดยเฉพาะหญิงและเด็ก รวมทั้งบุคคลากรและสถานที่ที่เกี่ยวกับงานด้านมนุษยธรรม เช่นโรงเรียน สถานพยาบาล ศาสนสถาน พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายและพื้นที่ปลอดภัยโดยต้องได้รับการเคารพและยึดถือปฏิบัติจากทุกฝ่ายอย่างเคร่งครัด

4.            ขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเอาตัวคนร้ายมาลงโทษ โดยยึดถือปฏิบัติตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเคร่งครัด  อีกทั้งทางหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงใช้ขันติธรรมและไม่สมควรโต้ตอบด้วยความรุนแรง ละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้ภาษาที่แสดงถึงความเกลียดชังที่เป็นการสร้างให้เกิดวงจรความรุนแรง

5.            ขอเรียกร้องให้ผู้นำกลุ่มติดอาวุธแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว และทำให้ประชาชนมั่นใจว่า เหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก

6.            ขอให้หน่วยงานของรัฐเยียวยาผู้ที่สูญเสียและเสียหาย ทั้งในด้านทรัพย์สิน ชีวิต และร่างกาย และให้มีมาตรการการคุ้มครองแก่พลเรือนอย่างได้ผล

7.            ขอให้ประชาชน ชุมชน ภาคประชาสังคม และกลุ่มองค์กรต่างๆ เฝ้าระวังการก่อเหตุร้ายไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากฝ่ายใด และใช้มาตรการอย่างเหมาะสม ในการป้องกัน หรือคัดค้านการก่อเหตุร้ายดังกล่าว

ขอสันติสุขจงเกิดแก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้

18 สิงหาคม 2560

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หน่วยงานราชการประสานเสียง สร้างเขื่อนปากแบงในลาว ส่งผลกระทบถึงไทยแน่นอน

Posted: 18 Aug 2017 12:32 AM PDT

กรมประมง แจงหลังพิจารณารายงานศึกษาผลกระทบโครงการสร้างเขื่อนปากแบงในลาว ชี้การศึกษาผลกระทบของโครงการด้านทรัพยากรประมงยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ขาดความสมบูรณ์ เเละไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการทั้งหมด<--break- />

รายงานข่าว แจ้งว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2560 ทองสุข อินทะวงศ์ ชาวบ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เปิดเผยว่าขณะนี้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงค่อนข้างกังวลต่อความคืบหน้าของโครงการเขื่อนปากแบง ในประเทศลาวซึ่งอยู่ประชิดชายแดนไทยด้านจังหวัดเชียงราย และขณะนี้ครบระยะเวลา 6 เดือนของขั้นตอนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปให้ข้อมูล หรือชี้แจงผลกระทบเพิ่มเติมกับชาวบ้านที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อนปากแบงเลย ส่วนความคืบหน้าในพื้นที่หัวงานเขื่อน ซึ่งตั้งอยู่ที่แขวงอุดมไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว ก็ยังไม่ทราบความคืบหน้าแต่อย่างใด

ทองสุขกล่าวว่าขณะนี้กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชาวบ้านในพื้นที่กำลังร่วมกันทำข้อมูลเกี่ยวกับระบบนิเวศแม่น้ำโขงในเขตบ้านห้วยลึก ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบท้ายน้ำจากการสร้างเขื่อนปากแบง ไว้เป็นฐานข้อมูลสำคัญของชุมชนในอนาคตอีกด้วย

รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มรักษ์เชียงของได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานราชการหลายแห่งเพื่อขอทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบข้ามแดนที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนปากแบง อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม(สผ.)  กรมประมง  โดยสผ. ได้ส่งหนังสือลงวันที่ 9 พ.ค. 2560 ตอบกลับมาว่า สผ.ได้ให้ความเห็น (แก่กรมทรัพยากรน้ำซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก) ว่าข้อมูลที่ใช้นั้นเป็นข้อมูลเก่ายังไม่เป็นปัจจุบัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งอาจจะส่งผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสม จึงต้องมีมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นจากเจ้าของโครงการ ซึ่งสผ. ได้เสนอให้มีแผนการปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนกับประเทศท้ายน้ำซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

ขณะที่ กฟผ. ได้ส่งหนังสือตอบกลับ ลงวันที่ 18 พ.ค. 2560 มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า สำหรับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณเหนือน้ำและท้ายน้ำในเขตประเทศไทย ที่อาจเกิดจากการเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนปากแบงนั้น กฟผ. ได้ร่วมพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง ของสปป.ลาว และได้เสนอความเห็นทั้งทางด้านเทคนิคและวิชาการ รวมทั้งมาตรการป้องกันแก้ไขและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ระบุไว้ในรายงานดังกล่าวไว้แล้วรวมทั้งยินดีให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้มีการดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนอย่างเป็นรูปธรรม (Transboundary Environmental Impact Assessment: TbEIA)

ด้านกรมประมงได้มีหนังสือตอบกลับลงวันที่ 22 พ.ค. 2560 มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ทางกรมประมงขอชี้แจงความคิดเห็นต่อกรณีผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง หลังได้พิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เห็นว่า การศึกษาผลกระทบของโครงการด้านทรัพยากรประมงยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ขาดความสมบูรณ์ เเละไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการทั้งหมด เช่น 1.จุดเก็บตัวอย่างที่ดำเนินการเก็บตัวอย่างทางด้านประมงมีจำนวนน้อยเเละไม่ครอบคลุมพื้นที่ในลำน้ำและรูปแบบเเหล่งอาศัยสัตว์น้ำที่จะได้รับผลกระทบ ทำให้ผลการศึกษาไม่สะท้อนข้อมูลที่จะได้รับผลกระทบจริงทั้งหมด 2.ช่วงระยะเวลาที่เก็บตัวอย่างภาคสนามจำนวน 2 ครั้งในช่วงเดือนมกราคมเเละเดือนกรกฎาคม 2554 ไม่ครอบคลุมการเปลี่ยนเเปลงที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลในรอบปีทั้งหมด ส่งผลให้จำนวนพันธุ์ปลาที่พบจากการศึกษามีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับผลการศึกษาของผู้วิจัยอื่นที่ดำเนินการในพื้นที่เดียวกัน 3.วิธีการสุ่มตัวอย่างในด้านการประมงในภาคสนามยังไม่เป็นวิธีการที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งทำการสุ่มตัวอย่างด้วยเครื่องมืออวนทับตลิ่งที่มีพื้นที่ขนาดเล็กมาก จึงไม่เป็นตัวแทนที่ดีพอและไม่สามารถสะท้อนให้เห็นความชุกชุมของประชากรปลาที่มีอยู่จริง 4.ไม่มีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มชาวประมงอาชีพในบริเวณพื้นที่เหนือเขื่อน โดยเฉพาะในส่วนของประเทศไทยตั้งแต่พื้นที่แก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จนถึงบ้านปากอิง ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กล่าวได้ว่า หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศต่างมีความกังวลต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนต่อประเทศไทยอย่างยิ่งเนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของบริษัท

อนึ่ง โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง (Pak Bang Dam) เป็นโครงการเขื่อนพลังน้ำซึ่งจะก่อสร้างอยู่บนแม่น้ำโขงสายประธาน เมืองปากแบง แขวงอุดมไชย ทางภาคเหนือของ สปป.ลาว ห่างไปทางตอนล่างของพรมแดนไทยลาว บริเวณแก่งผาได อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ประมาณ 92 กิโลเมตร  ลักษณะของเขื่อนปากแบง ประกอบด้วย เขื่อนคอนกรีต โรงไฟฟ้า ประตู ระบายน้ำ ประตูเรือสัญจร และทางปลา วัตถุประสงค์ คือ ใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า และปรับปรุงการเดือนเรือบริเวณทางตอนบนของเขื่อน และสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่เขื่อน โดยระดับน้ำบริเวณเขื่อนจะมีความหลากหลายตั้งแต่ 16-27 เมตร ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำในช่วงแต่ฤดู ซึ่งโรงไฟฟ้าจะมีกำลังผลิต 912 เมกกะวัตต์ การส่งออกไฟฟ้าขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงในแต่ฤดูกาล โดยโครงการเป็นของกลุ่มบริษัท ต้าถังโอเวอร์ซีส์ อินเวสต์เม้นต์ (Datang Overseas Investment) ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้าง ในปี 2560 การก่อสร้างจะแล้วเสร็จและจ่ายกระแสไฟฟ้าในปี 2566 โดยก่อนหน้าที่มีรายงานข่าวระบุว่า บริษัท EGCO บริษัทลูกของ กฟผ. ถือหุ้นในโครงการนี้ประมาณ 30%

โครงการเขื่อนปากแบง ได้เข้าสู่กระบวนการแจ้งล่วงหน้าและปรึกษาหารือ (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พศ. 2538 ที่ประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ลงนามร่วมกัน โดยเริ่มกระบวนการในปลายปี 2559 และกำหนดครบวาระ 6 เดือน ในวันที่ 19 มิ.ย. 2560 ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้มีการจัดเวทีให้ข้อมูลใน 3 จังหวัด รวม 4 ครั้ง ซึ่งประชาชนเห็นว่าข้อมูลไม่เพียงพอ และไม่สามารถอธิบายผลกระทบข้ามพรมแดนได้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2560 กลุ่มรักษ์เชียงของ ในนามผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากแบง ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. เนื่องจากเห็นว่าหน่วยงานเหล่านี้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านริมแม่น้ำโขงได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบข้ามแดน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิชาการต่างประเทศร้องทางการไทยยุติดำเนินคดี 5 นักวิชาการเชียงใหม่ ฝืนคำสั่ง คสช.

Posted: 18 Aug 2017 12:25 AM PDT

เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง ร้อง พล.อ.ประยุทธ์ หยุดดำเนินคดีต่อ 5 นักวิชาการเชียงใหม่ หลังถูก ตร.เรียกตัวในคดีฝืนคำสั่ง คสช. ปมกิจกรรมในงานไทยศึกษา ชี้เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ ไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมายและเป็นสิทธิที่ควรถูกปกป้อง 

ที่มา: Drop charges against peaceful conference attendees

18 ส.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง หรือ Scholars at Risk (SAR) ในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ออกจดหมายเปิดผนึกรณรงค์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อ นักวิชาการ 5 คนที่เชียงใหม่ ประกอบด้วย รศ.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ  ที่เป็นร้องศาสตราจารย์และผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธีรมล บัวงามแล้ว ที่เป็นนักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังเป็นบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม ภัควดี วีระภาสพงษ์ ที่เป็นนักแปลและนักเขียนอิสระ ชัยพงษ์ สำเนียง ที่เป็นนักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนลธวัช มะชัย ที่เป็นนักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทั้งนี้ 5 คนดังกล่าวถูกเรียกรายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภานีตำรวจช้างเผือกในวันที่ 21 ส.ค.นี้ โดยที่รายละเอียดยังไม่เปิดเผย แต่เบื้องต้นถูกกล่าวหาว่าละเมิดคำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558 ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป และที่เป็นกรณีเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในการประชุมวิชาการไทยศึกษาเมื่อเดือนที่ผ่านมา ที่ รศ.ดร.ชยันต์ เป็นประธานกรรมการจัดงานและอีก 4 คนเป็นผู้ที่เข้าประชุมวิชาการดังกล่าว

เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง (SAR) เขียนจดหมายเปิดผนึกและชวนสมาชิกในเครือข่ายส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ, ศาลจังหวัดขอนแก่น, อัยการสูงสุด, ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และ มณฑลทหารบกที่ 33 ที่ผู้กล่าวหาสังกัดอยู่ และ ซาอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อ 5 คน ดังกล่าว เนื่องจากการร่วมในประชุมวิชาการและแสดงความคิดเห็นเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ ไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมายและเป็นสิทธิที่ควรถูกปกป้อง (โดยมีรายละเอียดและช่องทางการลงชื่อที่นี่)

สำหรับเครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง (SAR) เป็นเครือข่ายของนักวิชาการและสถาบันการศึกษาทั่วโลกที่รวมตัวกันปกป้องนักวิชาการและนักศึกษาที่ถูกคุกคามโดยรัฐ สนับสนุนและส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการ โดยจะมีการบันทึกกรณีการจับกุม กักขัง การสังหาร และการละเมิดสิทธิชนิดอื่น นอกจากนี้ SAR ยังทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการและการแสดงออกความคิดเห็นอย่างสันติโดยนักวิชาการและนักศึกษา

ที่มา: Drop charges against peaceful conference attendees

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทบ. เสียใจเหตุทหารทำร้ายผู้ต้องหาที่เกาะล้าน แม้จะเป็นการกระทำของทหารเพียงคนเดียวก็ตาม

Posted: 17 Aug 2017 11:53 PM PDT

พ.อ.หญิง ศิริจันมร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก แถลงกรณีทหารทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาคดียาเสพติดขณะจับกุม ระบุกองทัพสั่งจำคุก 15 วัน พร้อมขอโทษญาติผู้ต้องหาแล้ว แจงเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมของกำลังพลเพียงคนเดียวก็ตาม

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่า พ.อ.หญิง ศิริจันมร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีที่มีเผยแพร่คลิปทหารทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาคดียาเสพติดที่เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ซึ่งได้ถูกเผยแพร่ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจแหม่มโพธิ์ดำ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ว่า กองทัพบกตรวจสอบข้อมูลเบื้อง พบว่าเหตุการณ๋ดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างการควบคุมผู้ต้องหาคดียาเสพติด โดยเป็นการปฏิบัติภารกิจร่วมกันของทหารชุดรักษาความสงบเรียบร้อยประจำพื้นที่เกาะล้าน , สถานนีตำรวจภูธรเมืองพัทยา และฝ่ายปกครองในพื้นที่ ในการเข้าตรวจค้นยาเสพติดในชุมชนบนเกาะล้าน จากการตรวจค้นดังกล่าวสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 3 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมาย

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวต่อว่า ในระหว่างที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาได้เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารแสดงพฤติกรรมส่วนบุคคลที่ไม่เหมาะสมตามที่ปรากฎในคลิป หน่วยต้นสังกัดจึงได้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยในขั้นต้นได้สั่งให้ชุดรักษาความสงบเรียบร้อยประจำพื้นที่เกาะล้านพ้นจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ และสั่งจำขัง(จำคุก)กำลังพลที่ปรากฎในคลิปเป็นเวลา 15 วัน พร้อมกันนี้หน่วยฯ ได้ประสานกับญาติของผู้ต้องหา เพื่อขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้เรียกกำลังพลทุกส่วนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าว มาดำเนินการปรับปรุงวินัย และย้ำให้ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายกองทัพบกบนพื้นฐานของหลักกฎหมาย และมนุษยธรรมโดยเคร่งครัด

"กองทัพบกขอแสดงความเสียใจ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมของกำลังพลเพียงคนเดียวก็ตาม และขอย้ำว่ากองทัพบกไม่มีนโยบายให้กองกำลังพลใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติงานในภารกิจใดๆ ก็ตาม" รองโฆษกกองทัพบกกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น