โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ถึง "เพื่อน" ของผม "บุญทรง เตริยาภิรมย์"

Posted: 25 Aug 2017 09:01 AM PDT


คนส่วนใหญ่วันนี้คงโพสต์ถึงอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แต่ผมขอโพสต์ถึง "เพื่อน" ผม "บุญทรง เตริยาภิรมย์"

ผมรู้จัก "บุญทรง" ตั้งแต่เราเข้ามาร่วมอุดมการณ์ตั้งพรรคไทยรักไทย ปี 2542-2543 อายุเท่าๆกัน "ฮุก" เกิด 2503 ส่วนผม 2504 คุยกันถูกคอ เราเป็นคนรุ่นเดียวกัน และเป็นรุ่นแรกๆที่เข้ามาทำการเมืองในพรรค ตั้งแต่พรรคไทยรักไทยยังเป็น "วุ้น"

ผมรู้สึกว่า "บุญทรง" เป็นคนหนุ่มตั้งใจดี เป็นนักธุรกิจที่อยากเห็นประเทศเจริญก้าวหน้า เราคุยกันตลอด จัดสัมมนาร่วมกันเพื่อระดมความคิดในการทำการเมืองในหมู่คนรุ่นใหม่ด้วยกัน

เราอยากเห็นการเมืองใหม่ อยากเห็นการเมืองก้าวหน้า และเชื่อว่า "ทักษิณ ชินวัตร" จะเป็นผู้นำที่จะทำให้ความฝันของเราเป้นความจริง

ริมบ่อริมบึงหลังระดมความคิด ผมนั่งจิบเบียร์กับ "บุญทรง" หลายครั้งหลายหน ผมเชื่อว่าเราเข้าใจตรงกัน ใน ฐานะนักการเมือง "รุ่นใหม่" ในขณะนั้น

ชะตาชีวิตพลิกผัน ปี 2544 ผมเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ "เพื่อน" เป็น ส.ส. เขต เราคุยกันเสมอ ผมก้าวกระโดดจาก ส.ส. และโฆษกพรรค ปี 2544-2548 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในปี 2548 แต่ก็ติดต่อกันคุยและประสานงานกับ "เพื่อน" จนรัฐประหาร ปี 2549

จากนั้นก็แตกกระสานซ่านเซ็นกันไป

ได้ข่าว "เพื่อน" อีกทีเป็นเลขานุการส่วนตัวนายกฯ "สมชาย วงศ์สงวัสดิ์" ใจห่วงว่าเพื่อนจะปลอดภัยหรือไม่ ยกหูโทร.คุยกันครั้งหนึ่งเท่าที่จำได้ เพื่อนบอก "ไม่ต้องห่วง"

ส่วนผมนั้นโดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ด้วยเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ได้แต่ช่วยให้กำลังใจอยู่ห่างๆ

เวียนมาเจอและร่วมงานอีกครั้ง เมื่อ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เป็นนายกรัฐมนตรี ผมเข้ามาเป็น "เลขาธิการนายกรัฐมนตรี" หลังพ้นการตัดสิทธิ์ ปี 2555 "เพื่อน" เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ไปเยี่ยมห้องครัวเพื่อนไฟไหม้ ที่กระทรวง ยังหัวเราะกันอยู่

จน "เพื่อน" เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผมเป็นเลขาธิการนายกฯ ได้เจอกันบ้าง แวะไปคุย เห็นเพื่อนแฟ้มเต็มโต๊ะ ยังเป็นห่วง

"ใครดูให้มึง แต่ละเรื่องน่ากลัว" ผมแอบพลิกแฟ้มดู

"กูมีทีม" แล้วชวนทานข้าวจากโรงอาหาร หน้าห้องสั่งมาให้ ยังคงความเป็นคนง่ายๆ ที่ผมรู้จัก ถึงแม้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงใหญ่

เวลานายกฯ ยิ่งลักษณ์ไปต่างประเทศ บางทีได้คุยกัน ได้ปรับทุกข์ผูกมิตรกันมากกว่าอยู่กรุงเทพฯ แต่ในแววตา "เพื่อน" มีความกังวล

ช่วงวิกฤต ผมมีงานหลายด้าน แต่ก็ไม่วายห่วงเพื่อน ส่งเรื่องจากทำเนียบก็คอยเตือนว่าเรื่องไปแล้่วรีบจัดการ เราเป็นเพียง "เสมียน" ไม่รู้ตื่นลึกหนาบางทั้งหมด แต่รู้สึกเสมอว่าเพื่อน "ไม่สบายใจ"

หลังพายุพัดผ่าน รัฐประหารไปแล้ว เคยนั่งจิบไวน์คุยกันสองคน

ผมถาม​ "มึงเล่าให้กูฟังหน่อยว่าเรื่องเป็นยังไง" ผมนับถือน้ำใจมันที่ตอบ "กูพูดไม่ได้"

เราร่ำสุราจนดึก แล้วไม่แตะเรื่องนั้นอีกเลย

ทางการเมือง บางเรื่อง "ต้องตายไปกับเรา" พูดไม่ได้ ผมเข้าใจดี และผม "เห็นใจ" เพื่อน ที่ต้องเข้าไปติดกับ "เงื่อนไข" นั้น ผมอาจจะ "โชคดี" กว่า ที่ยังรักษาความเป็นตัวของตัวเองได้ และ "เพื่อน" ไม่ "โขคดี" เท่า

ผมโลดแล่นทางการเมืองมาหลายสิบปี เห็นคนตั้งใจดีโดนกลั่นแกล้งจนถอยไป และเห็นคนที่เริ่มต้นด้วยอุดมการณ์ดี แต่เวลาผ่านไป "เสียคน" ก็เยอะ เอาเป็นว่า ไม่หาก "ใจ" ไม่ "นิ่ง" จริง อำนาจทำลายล้างทางการเมือง ทำลายคนได้

ครั้งสุดท้ายที่เจอ "เพื่อน" เมื่อเร็วๆนี้ ก็ได้แต่ "โบกมือ" ทักทายกัน เพราะต่างมี "ภารกิจ" ไม่นึกว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายก่อนคำตัดสินของศาลวันนี้

สาธารณชนอาจจะตัดสิน "บุญทรง" อย่างไรก็ตาม และต่างๆนานา ย่อมทำได้ แต่ผมรู้จัก "บุญทรง" และไม่ว่าจะในสถานะใด จะผิดจะถูกอย่างไร เขาเป็น "เพื่อน" ผมเสมอ ขอให้ "เพื่อน" โชคดีและพ้นวิบากกรรม ผมขอให้กำลังใจ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ห้างเยอรมนีปลดสินค้าต่างชาติจากชั้นวาง-หวังทำความเข้าใจเรื่องเหยียดเชื้อชาติ

Posted: 25 Aug 2017 08:56 AM PDT

ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ต้องการแสดงออกให้ผู้คนเข้าใจเรื่องการเหยียดเชื้อชาติสีผิวจึงทำการปลดสินค้าที่มาจากต่างปะเทศออกจากชั้นวางสินค้าทั้งหมดให้เหลือแต่สินค้าที่มาจากเยอรมนี ส่งผลให้เห็นชั้นวางสินค้าโล่งๆ ดูเงียบหงอยเพราะขาดความหลากหลายของสินค้าจากที่อื่นๆ

ที่มา: twitter/@opendev

25 ส.ค. 2560 เอดิคา (Edeka) หนึ่งในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายสาขาที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนีนำสินค้าที่มาจากต่างประเทศออกจากชั้นวางสินค้าแล้วนำป้ายที่เขียนว่า "ชั้นวางของนี้ดูน่าเบื่อพอสมควรเลยถ้าไม่มีความหลากหลาย" และ "การคัดเลือกสินค้าของเราในวันนี้มีการแบ่งพรมแดนแล้ว"

ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้ต้องการแสดงออกหลังจากเกิดกรณีอาชญากรรมจากความเกลียดชังในเชิงต่อต้านผู้อพยพรวมถึงการแสดงความรู้สึกต่อต้านผู้อพยพที่เพิ่มมากขึ้น โดยการนำสินค้าเหล่านี้ออกจะทำให้ผู้คนเข้าใจมากขึ้นด้วยว่าเยอรมนีกับประเทศภายนอกต้องพึ่งพาอาศัยกัน

สิ่งที่หายไปจากชั้นคือมะเขือเทศของสเปน มะกอกจากกรีซ รวมถึงไม่มีชีสให้เห็นเลย ผู้คนในโซเชียลมีเดียต่างชื่นชมการรณรงค์แบบนี้กันมาก

โฆษกของเอดิคากล่าวว่าเอดิคามจุดยืนสนับสนุนความหลากหลายในร้านค้าของพวกเขาก็มีการขายอาหารที่มาจากหลายแหล่งและผลิตในหลายภูมิภาคของเยอรมนี แต่การวางร่วมกับผลิตภัณฑ์จากประเทศอื่นด้วยเท่านั้นที่จะทำให้เกิดความหลากหลายจริงๆ ได้ นั่นคือค่านิยมของผู้บริโภคของพวกเรา และทางเอดิคาก็รู้สึกยินดีที่มีเสียงตอบรับทางบวกจำนวนมาก

นักการเมืองในเยอรมนีแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ไปในหลายแนวทาง ในขณะที่ผู้นำระดับสูงจากพรรครัฐบาลของแองเกลา แมร์เคิล บอกว่าเป็นการกระทำที่ฉลาด แต่ตัวแมร์เคิลเองเพิ่งจะถอยห่างจากนโยบายเปิดรับผู้อพยพและต้องการเพิ่มกฎการส่งคนออกนอกประเทศให้หนักขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้แมร์เคิลเคยถูกวิจารณ์เรื่องที่พวกเขารับผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลางมากกว่า 1 ล้านคนเข้าสู่เยอรมนี

ขณะที่มาร์คัส เพรตเซลล์ จากพรรคการเมืองที่ต่อต้านผู้อพยพวิจารณ์ซูเปอร์มาร์เก็ตนี้ว่า "ทำไมเรื่องนี้มันควรจะฉลาดล่ะ ไม่ใช่ว่ามันบ้าบอสิ้นดีเลยหรือ"

ตั้งแต่ต้นปีนี้ยังคงมีผู้ลี้ภัยมากกว่า 400,000 รายรอการรับรองสถานะหลังจากที่เข้าสู่ยุโรปมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว สื่อบีบีซีระบุว่าในช่วงปีที่แล้วมีกรณีการโจมตีใส่ผู้อพยพจำนวนมากเฉลี่ยราว 10 กรณีต่อวัน มีผู้อพยพได้รับบาดเจ็บราว 560 ราย และมีการโจมตีที่พักอาศัยเกือย 1,000 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีการโจมตีองค์กรผู้ลี้ภัยหรืออาสาสมัครมากกว่า 200 ครั้งจากชาวยุโรปในพื้นที่ อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ลี้ภัยก็มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับช่วง 2 ปีที่แล้วที่มีจำนวนสูงสุดหลังจากที่เยอรมนีปิดเส้นทางอพยพบอลข่านรวมถึงทำข้อตกลงสหภาพยุโรปกับตุรกี

 

เรียบเรียงจาก

German supermarket clears foreign goods from shelves to make point about racism, ฺBBC, 24-08-2017

German Supermarket Clears Out Foreign Products To Make A Point About Racism, Lad Bibel, 23-08-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกี่ยวกับ "Judicialization of Politics" และ การเมืองไทยต้องเดินหน้าสู่ยุคโพสต์-ชินวัตร

Posted: 25 Aug 2017 08:35 AM PDT




1. หากไม่โกหกต่อตนเอง หากซื่อสัตย์ต่อตนเองอยู่บ้าง คงไม่มีใครคิดว่า "คดีจำนำข้าว" เป็นเรื่อง "กฎหมาย"

ผมเห็นว่าการเริ่มต้นกระบวนการในคดีนี้ คือ การ purge โดยผ่านปรากฏการณ์ "Judicialization of Politics" ดังที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ เช่น ปากีสถาน, อินเดีย, ตุรกี, บราซิล, ฯลฯ และเกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ 2549

เพียงแต่ว่า ที่นี่ แตกต่างจากที่อื่นๆ ตรงที่ว่า "ศาล" มี "เกราะคุ้มกัน" แน่นหนามากกว่าที่อื่นๆ ทำให้การตอบโต้ศาลทำได้อย่างยากลำบาก นานวันเข้า ดุลยภาพของอำนาจระหว่าง Political Actor (ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองจากการเลือกตั้ง ศาล และพลังทางการเมืองอื่นๆ) จึงไม่เกิดขึ้น

(โปรดอ่านความเห็นของผมในส่วนนี้ได้ในโพสก่อนๆ และคลิปการ Live ในเฟสบุ๊กตอนล่าสุด)

2. "Judicialization of Politics" เป็นเรื่องฝืนธรรมชาติของการเมือง นำเรื่อง "การเมือง" มาเป็นเรื่อง "กฎหมาย" ให้ศาลซึ่งมีความชอบธรรมจากอุดมการณ์แบบ "นิติรัฐ-เสรีประชาธิปไตย" เข้ามายุ่งเกี่ยวกับ "การเมือง"

"การเมือง" เป็นเรื่องของความไม่ลงรอยกัน เถียงกัน ขัดแย้งกัน ไม่มีวันจบ

"กฎหมาย" ต้องการให้ทุกๆสิ่งทุกๆอย่างยุติ ชี้ขาดให้จบสิ้น และการยุติก็ได้แรงสนับสนุนจากความคิดแบบ "นิติรัฐ-เสรีประชาธิปไตย"

มันจึงเป็นเรื่องที่ขัดกันอย่างยิ่ง

พลังของ "กฎหมาย" ไม่มีวันที่จะยุติ "การเมือง" ได้ ที่เห็นๆกัน มันเป็นแค่การยุติลงอย่างชั่วคราว เพราะถูกกลไกรัฐกดทับ ถูกกำลังทางกายภาพ กำลังทางอุดมการณ์กดทับ มากกว่า แท้จริงแล้ว "การเมือง" ยังคงดำรงอยู่ ยังไม่ลงรอยต่อไป และไม่มีวันที่จะลงรอยได้ด้วย

3. เมื่อ "Judicialization of Politics" กันมากขึ้น โอกาสที่จะถูก "บิดผัน" นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกวาดล้างกันทางการเมือง ก็มีมากขึ้น

ทุกความคิด-ทุกระบอบ ต่างก็มีโอกาสที่จะหยิบฉวย "Judicialization of Politics" ไปใช้เพื่อให้ความคิด-ระบอบของฝ่ายตนชนะ

"Judicialization of Politics" แบบ "ประชาธิปไตย" ก็ถูกนำไปใช้ไล่บี้พวกเผด็จการได้

"Judicialization of Politics"แบบ "นีโอลิบ" ก็ถูกนำไปใช้ไล่บี้พวกซ้ายได้

"Judicialization of Politics"แบบ "เผด็จการ" ก็ถูกนำไปใช้ไล่บี้ฝ่ายตรงข้ามกับเผด็จการได้

กรณีของประเทศไทยเป็นแบบใด ให้ท่านลองตรึกตรองพิจารณาดูกันเอาเอง

4. ในกรณีระบอบเผด็จการ นำ "Judicialization of Politics" มาใช้ ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องจัดการแก้ไข คือ เราจำเป็นต้องทำลายความศักดิสิทธิ์ของศาล ทำลายมายาคติ "ศาลเป็นใหญ่" สร้างปัจจัยบังคับกดดันไปที่ "ศาล" เพื่อฟื้นเอาดุลยภาพอำนาจกลับมาใหม่ ไม่ใช่ "ศาล" ครอบงำแบบเบ็ดเสร็จ ให้สังคมเห็นว่า "ศาล" ก็คือ Political Actor ตัวหนึ่ง ไม่ต่างกับนักการเมือง ไม่ต่างกับพลังทางสังคมกลุ่มต่างๆ ไม่ต่างกับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆในชีวิตทางการเมือง

ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้อำนาจของศาลในระบอบเผด็จการ ตามแนวทาง "Judicialization of Politics" นั้น สูญเสียความชอบธรรม ไม่สามารถยึดครองจิตใจคนอีกต่อไป ที่ยังครองอำนาจได้อยู่นั้น มาจากกลไกปราบปรามของรัฐล้วนๆ ไม่ใช่เกิดจากการครองความเป็นใหญ่ผ่านอุดมการณ์ความคิด

5. กรณีคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันนี้ ผมไม่เห็นว่าการไม่มาฟังคำพิพากษา และอาจออกจากประเทศนี้ไปแล้ว เป็นเรื่องผิดหลักการแต่อย่างไร

หากเราวินิจฉัยว่าทั้งหมด คือ "Judicialization of Politics" ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตามมา ก็คือ "การเมือง"

6. กรณีปัญหาว่า ถ้าเช่นนั้น ยอมรับเข้าสู่กระบวนการนี้ตั้งแต่แรกทำไม ทำไมไม่ "ชน" ตั้งแต่แรก? ผมเห็นว่า เงื่อนไขชีวิตและทางเลือกของแต่ละคน การประเมินของแต่ละคน แตกต่างกันไป

การพยายามต่อสู้ตาม "กระบวนการ" ที่พวกเขาขีดเส้นให้เดิน ด้านหนึ่ง ก็คือ การทำลายความชอบธรรมของ "กระบวนการ" เหล่านี้ไปด้วย ฉีกหน้ากากให้คนเห็น นำไปอธิบาย อภิปรายกันต่อได้ว่า นี่คือ การ purge โดยผ่านปรากฏการณ์ "Judicialization of Politics" จริงๆ

หากได้ตามข่าวกันบ้าง ก็คงทราบว่า การเดินของคดีนี้ ไปในทิศทางที่เล่นงานโครงการจีทูจี ของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อ "ชิ่ง" มาให้ถึงคุณยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ปล่อยปละเลยทำให้เสียหาย และที่ทำกันก็เพื่อประโยชน์ของพรรคเพื่อไทยในการเย้ายวนใจให้ประชาชนเลือกเป็นรัฐบาล

ผมคาดไว้อยู่แล้วว่า คุณบุญทรง เตริยาภิรมย์ และคุณภูมิ สาระผล ต้องถูกจำคุกจริงแน่นอน เพราะ ความผิดของสองคนนี้ ใช้ "ชิ่ง" มาให้ถึงนายกฯได้ แต่ที่เหลือเชื่อเกินคาด คือ ติดคุกยาวถึง 42 และ 36 ปี

เมื่อเห็นโทษจำคุกขนาดนี้ ก็น่าคิดว่าคุณยิ่งลักษณ์จะโดนจำคุกหรือไม่ กี่ปี?

7. ผมคิดว่าคนจำนวนมาก ไม่ได้คาดคิดอยู่แล้วว่าคุณยิ่งลักษณ์มีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำทางการเมืองในระยะหัวต่อหัวเลี้ยว หรือผู้นำทางการเมืองแบบปฏิวัติเปลี่ยนแปลงใหญ่ (แน่นอนว่า คงมีหลายคนหวัง แต่ก็เป็นความหวัง ความอยากเห็น เพื่อการต่อสู้ทางการเมืองมากกว่า โดยคาดว่าการเสียสละยอมเข้าคุกจะช่วยให้ "จุดติด" ขึ้นมาได้)

ผมไม่เคยคิดว่าคุณยิ่งลักษณ์จะสามารถทำได้แบบที่อินทิรา คานธี, เบนาซีร์ บุตโต, อองซาน ซูจี, รุซเซฟ ทำ

การเข้าสู่วงการทางการเมืองของคุณยิ่งลักษณ์เป็นเช่นไร เกิดจากอะไร ทุกท่านก็คงทราบกันดีอยู่แล้ว

ต่อให้คุณยิ่งลักษณ์เข้าคุก ผมก็คิดว่าไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ

ในยามบ้านเมือง "เฉื่อยชา-ชิน" กับระบอบเผด็จการเช่นนี้ ไม่น่าจะมีเหตุการณ์อะไรที่จะเป็นชนวน "จุดติด" ขึ้นมาได้ คสช เองก็ตรึงกำลังไว้อย่างเต็มที่ ต้องยอมรับว่าระบอบเผด็จการกำลังติดตั้งได้สำเร็จแล้ว เวลาผ่านมา 3 ปีเศษแล้ว สถานการณ์การต่อสู้กับระบอบเผด็จการก็ทำได้ยากขึ้น และต่อให้มีเหตุการณ์ที่จุดติด จน คสช เสียท่า คสช ก็มีไพ่ใบสุดท้าย คือ การจัดให้มีการเลือกตั้ง ทันที

8. สำหรับผม ผมเห็นว่า หากพิจารณาจากบุคลิกลักษณะ การก่อรูปทางความคิด ที่มาที่ไปในการเข้าสู่วงการเมือง ตลอดจนเงื่อนไขความเป็นจริงของการเมืองไทยที่เธอต้องเผชิญแล้ว เท่าที่คุณยิ่งลักษณ์ได้ทำมาตั้งแต่รณรงค์หาเสียงการเลือกตั้ง 2554 จนถึงวันนี้ ผมคิดว่า ทำได้ดีเท่าที่จะทำได้แล้ว

ตั้งแต่หาเสียงโดยใช้เวลาไม่กี่วัน เดินสายไปทั่วประเทศ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่นาน ก็เจออุทกภัยขนาดใหญ่จนเอาตัวแทบไม่รอด เจอ "การเมืองที่แท้จริงแบบไทยๆ" ต้องประนีประนอมกับกองทัพและชนชั้นนำจารีตประเพณีตลอดเวลา เจอการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล เจอการชุมนุมของ กปปส เจอเรื่อง "เหมาเข่ง" เจอคดีความสารพัด ถูกปลดจากนายกฯ ถูกถอดถอนตัดสิทธิ ถูกรัฐประหาร เจอคดี "จำนำข้าว" ทั้งเอาผิดเข้าคุก และเอาเงินจนหมดตัว และอาจมีคดีอื่นๆตามมาอีกมาก

แน่นอน ผมไม่เห็นด้วยกับหลายๆเรื่อง เห็นว่าต้องทำมากกว่านี้ แรงมากกว่านี้ เดินหน้ามากกว่านี้ สู้มากกว่านี้ เคยวิจารณ์ทั้งในทางสื่อและทางเฟสบุ๊คก็หลายครั้งหลายหน แต่สุดท้ายแล้ว คนที่ตัดสินใจ ก็คือ คนที่อยู่ในสนามการเมือง เราเป็นผู้สังเกตการณ์ วิจารณ์ เมื่อเขาไม่ทำ เราก็ผิดหวัง และก็เรียกร้องต่อไป เรียกร้องคนอื่น และในอนาคต วันหนึ่ง หากไม่ได้ดังที่เราหวังเสียที ผมก็ต้องเรียกร้องต่อตนเองให้ลงไปทำเอง

9. ข้อเรียกร้องให้คุณยิ่งลักษณ์ เป็นผู้นำมวลชน เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง หรืออย่างน้อยช่วยเสียสละอิสรภาพของตนเองเพื่อเป็น "สัญลักษณ์" คงเป็นเรื่องคาดหวังเกินจริง เป็นเรื่องเพ้อฝันไป

ถ้าคิดได้แบบนี้ ก็จะไม่ผิดหวังมากนัก

10. หากคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากแผ่นดินนี้ไปจริง ผมคิดว่า ก็มีข้อดี อยู่

หากคุณยิ่งลักษณ์ สู้ จากข้างนอก ก็อาจทำให้การต่อสู้ครั้งใหม่กลับมาคึกคักได้อีก

หากคุณยิ่งลักษณ์ ไม่สู้ อยู่อย่างเงียบๆ รีไทร์ทางการเมือง ก็ยิ่งดีเสียอีก เพราะ นั่นหมายความว่า "การเมืองไทย" เดินหน้าเข้าสู่เฟสใหม่เสียที

โดยส่วนตัว ผมคิดว่า ไม่น่าจะมีการต่อสู้ใดๆจากคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีก หากจะมี ก็คงเป็นแค่แถลงการณ์ชี้แจงชิ้นสุดท้ายเท่านั้น แต่คงไม่มีการต่อสู้แบบต่อเนื่องยาวนาน

ถ้าความเห็นของผมไม่ผิด นี่ก็นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่การเมืองไทยกำลังก้าวสู้เฟสใหม่ คือ ยุค "โพสต์-ชินวัตร"

11. การเมืองไทยติดล็อคมานานหลายปี ส่วนหนึ่ง มาจากปัจจัยเรื่องครอบครัวชินวัตร ที่ฝ่ายตรงข้ามนำมาเล่นงาน สร้างเงื่อนไข สร้าง "ผี" เพื่อทำให้พวกเขาครองอำนาจไปได้เรื่อยๆ

ในขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยเอง จะเดินหน้าแบบก้าวรุดหน้ามากกว่าเดิม ก็ไปติดขัดการเมืองแบบพรรคการเมืองเดิม ต้องประคองตัวไปสู่การเลือกตั้ง ต้องเป็นรัฐบาล ต้องประนีประนอม แล้วก็วนกลับมาที่การชุมนุมต่อต้าน การยึดอำนาจ แบบนี้อีก

ถ้าการเมืองไทยเข้าสู่ยุค "โพสต์-ชินวัตร" ได้จริง นั่นหมายความว่าปัจจัยเรื่อง "ชินวัตร" ก็จะหายไป

การสร้าง "ผี" ชินวัตร ก็ทำไม่ได้หรือทำได้ยาก

การเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ก็สามารถทำได้เต็มที่ไม่ต้องติดเรื่องเงื่อนไขการเมืองแบบเดิม

12. การเมืองยุค "โพสต์-ชินวัตร" เป็นโอกาสอันสำคัญ เป็นพื้นที่ที่เปิดใหม่

ใครที่เห็นว่าการเมืองไทยจะเป็นแบบเดิมๆตลอด 12 ปีนี้ ไม่ได้อีกแล้ว

ใครที่เห็นว่าการเมืองไทยต้องหลุดพ้นจากความขัดแย้งชุดนี้ (ที่ทำให้ คสช เข้าสู่อำนาจและครองอำนาจได้อย่างสบาย) เพื่อไปสู่การสร้างระบบการเมืองใหม่

ใครที่เห็นว่าประเทศไทยสูญเสียโอกาสสำคัญไปกับ "ทศวรรษที่สูญหาย"

ใครที่เห็นว่าประเทศไทยจะเป็นแบบนี้ต่อไปอีกไม่ได้ คนรุ่นใหม่ คนรุ่นถัดไป ถัดถัดไป จะต้องไม่เจอและทนทุกข์กับสภาพเช่นนี้อีก

ต้องลงมาทำ ช่วยกันทำ ถึงเวลาแล้วที่ต้องลงมือ

พวกเขาเหล่านี้แหละ จะเป็นพลังสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลง

ขอให้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เริ่มต้นทำอย่างจริงจัง สร้าง "ทางเลือกใหม่" อย่างแท้จริงให้กับสังคมไทย

รักษาเนื้อรักษาตัว ดูแลสุขภาพ พัฒนาความรู้ความคิดให้แหลมคม สนทนาแลกเปลี่ยนหารือประสบการณ์กับแวดวงต่างๆ ยึดมั่นในหลักการอย่างแน่วแน่อดทน

การเมืองที่มีวิกฤติ เปิดโอกาสให้ "ทางเลือกใหม่" ขึ้นมาเสมอ เมื่อยังไม่มีโอกาส ก็ต้องฝึกฝนตระเตรียมความคิดความพร้อมไว้ เมื่อโอกาสยังไม่มาเสียที ก็ต้องสร้างโอกาสขึ้นมา และเมื่อมีโอกาส ก็ต้องใช้มัน

ไม่มีอะไรต้องเสียใจ ไม่มีอะไรต้องผิดหวัง

เดินหน้าเพื่ออนาคต

 


Judicialization of Politics คืออะไร "ตุลาการภิวัตน์" เหมือนหรือต่างกับ Judicialization of Politics

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประยุทธ์' ยันไทยช่วยผู้ลี้ภัย-ยึดมั่นหลักมนุษยธรรมมาตลอด หลัง 'ปู' เข้าพบ

Posted: 25 Aug 2017 06:13 AM PDT

'ปู ไปรยา' ทูตสันถวไมตรี สนง.ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย UN เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ขอบคุณ รบ.ที่ดูแลผู้ลี้ภัย ด้าน หัวหน้า คสช. ยัน ไทยดูแล-ช่วยเหลือผู้หนีภัย มาเป็นระยะเวลานาน และยึดมั่นในหลักมนุษยธรรม แนะ ทุกประเทศต้องร่วมมือกันรับมือกับปัญหา

ภาพจาก เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

25 ส.ค.2560 รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า วันนี้ (25 ส.ค.60) เวลา 15.30 น. ไปรยา ลุนด์เบิร์ก หรือ ปู ทูตสันถวไมตรี สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

โดบ พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการสนทนา ดังนี้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวแสดงความยินดีแก่ไปรยาที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้ โดยถือเป็นทูตสันถวไมตรีคนแรกของประเทศไทยและคนแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งความภาคภูมิใจของประเทศไทย นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การเป็นบุคคลสาธารณะและเป็นผู้นำทางความคิดจะช่วยให้งานของ UNHCR เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมทั้งจะทำให้เกิดความเข้าใจ ความตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยให้การดูแลและช่วยเหลือผู้หนีภัยฯ มาเป็นระยะเวลานาน และยึดมั่นในหลักมนุษยธรรม โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ทุกประเทศต้องร่วมมือกันรับมือกับปัญหา และให้ความสำคัญกับการจัดการและป้องกันปัญหาที่ต้นเหตุในประเทศต้นทาง ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวขอบคุณ UNHCR ที่ร่วมมือกับไทยในการช่วยเหลือผู้หนีภัยฯ รวมถึงการทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อให้ความคุ้มครองกลุ่มผู้หนีภัยฯ

ด้านทูตสันถวไมตรีฯกล่าวขอบคุณรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่ให้การดูแลผู้ลี้ภัย และร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ UNHCR ในการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครอง การอำนวยความสะดวกการไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม และการเดินทางกลับประเทศต้นทางโดยสมัครใจ ส่วน นาย Francois Marrillet เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายโครงการ UNHCR กล่าวว่านางสาวไปรยาทำหน้าที่ ทูตสันถวไมตรี และเป็นตัวแทนของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี โดย UNHCR พร้อมส่งเสริมความสัมพันธ์และร่วมมือกับรัฐบาลไทย ในการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยอย่างยั่งยืน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มค้านถ่านหินเทพาเตรียมยกระดับเคลื่อนไหว ผลักดันปฏิรูปอีเอชไอเอ

Posted: 25 Aug 2017 06:12 AM PDT

กลุ่มค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเชื่อรัฐไม่ยอมรับระงับอีเอชไอเอ ทั้งที่ข้อมูลในรายงานไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ ขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ เตรียมหารือเครือข่ายเพื่อยกระดับการเคลื่อนไหว ผลักดันปฏิรูปกระบวนการทำอีเอชไอเอ

ดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS)

ชาวบ้าน 4 คนจากหมู่ 4 ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัสงขลา เดินทางมาปักหลักที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 23 สิงหาคม 2560 เพื่อขอให้ทางรัฐมนตรีระงับรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรืออีเอชไอเอ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ได้อนุมัตอีเอชไอเอฉบับนี้แล้ว และกำลังจะส่งต่อไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และขอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ เนื่องจากอีเอชไอเอฉบับดังกล่าวมีปัญหาหลายประการ

ดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) หนึ่งในชาวบ้าน กล่าวกับประชาไทว่า

"เรามาบอกกับรัฐมนตรี กับรัฐบาลว่า โครงการนี้สร้างความเดือดร้อนกับเรา เราขอให้ระงับอีเอชไอเอและตั้งคณะกรรมการตรวจสอบว่ามันเป็นไปตามกฎหมายและหลักทางวิชาการหรือไม่ ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายและหลักวิชาการ ก็ขอให้ยกเลิก"

ดิเรกขยายความว่า อีเอชไอเอฉบับนี้มีปัญหา 2 ประการ ประการแรก ไม่มีการรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ การจัดเวทีรับฟังทั้ง 3 ครั้งเป็นแค่พิธีกรรมที่ไม่ต้องการให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง โดยครั้งที่ 1 เป็นการเชิญชวนประชาชนมารับแจกข้าวสารที่เวที โดยไม่ได้บอกประชาชนว่าเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นเวทีศึกษาผลกระทบรายกลุ่ม พบว่ากลุ่มที่ไม่เห็นด้วยไม่ได้รับเชิญให้เข้าให้ข้อมูล และไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะว่าวันนี้จะจัดเวทีครั้งที่ 2 ที่ไหน เวลาใด ส่วนครั้งที่ 3 อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลามีคำสั่งห้ามฝ่ายคัดค้านเข้าร่วมเวที เพราะเกรงว่าจะสร้างความวุ่นวาย

ประการที่ 2 คือตัวการศึกษาผลกระทบ ปรากฏว่ารายงานฉบับนี้มีข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่อยู่เป็นจำนวนมาก อาภา หวังเกียรติ ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า

"อีเอชไอเอที่มีปัญหาเพราะข้อเท็จจริงในรายงานไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ อย่างเรื่องของทรัพยากรชีวภาพทั้งที่อยู่บนบกและในทะเล เช่น ระบุว่าในคลองมีจอกแหนธูปฤาษี ทั้งที่เป็นคลองน้ำกร่อย หรือบอกว่าเจอปลาช่อน ปลาหมอ ซึ่งในระบบนิเวศน้ำเค็ม น้ำกร่อย จะไม่เจอปลาและพืชเหล่านี้ เป็นต้น หรืออย่างเช่นมลพิษทางอากาศ ถึงบอกว่าจะมีระบบกำจัดตะกั่ว แต่สิ่งที่น่าจะต้องให้ข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าคือ เมื่อสร้างโรงไฟฟ้า 1 โรงแล้ว โรงไฟฟ้าปล่อยสารพิษอะไรออกมาบ้าง ปีหนึ่งปริมาณเท่าไหร่ เทคโนโลยีที่นำมาใช้บอกว่าเป็นของญี่ปุ่น ซึ่งในญี่ปุ่นจะมีกฎหมายบังคับว่าโรงไฟฟ้าต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษต่อปี ตัวรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมควรพูดถึงสิ่งเหล่านี้ แต่กลับไม่มี"

อาภากล่าวอีกว่า ปัญหาของระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยคือไม่มีการประเมินผลกระทบทางสังคมที่ชัดเจน แต่จะเป็นการประเมินคุณภาพชีวิตที่ส่วนใหญ่ในรายงานจะบอกเพียงว่า ชาวบ้านมีรายได้เท่าไหร่ เศรษฐกิจในพื้นที่เป็นอย่างไร แต่การประเมินภาพรวมผลกระทบทางสังคมไม่มี การประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน กับวิถีชีวิต วิถีประมงชายฝั่ง กลับไม่มีการเปรียบเทียบมูลค่า

"วันนี้เราสรุปแล้วว่า รัฐบาลไม่ได้สนใจเรา เราไม่คาดหวังแล้ว เราคิดว่าเสียงเราที่มา 4 คน ไม่พอเพียงที่จะให้รัฐฟัง เครือข่ายที่เราร่วมมือกัน ทั้งใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้และทั่วประเทศจะร่วมมือกันหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและหยุดถ่านหินประเทศไทย และเราต้องการปฏิรูปกระบวนการทำอีเอชไอเอ ซึ่งรัฐบาลจะต้องได้เห็นพลังของความร่วมมือนี้ การชุมนุมเป็นทางเลือกหนึ่งในหลายทางเลือก ซึ่งเรากำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ" ดิเรกกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม. แจง 8 ข้อเสนอจากเวทีสัมมนาจัดทำข้อเสนอแนะต่อนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ

Posted: 25 Aug 2017 04:56 AM PDT

แนะทบทวนกระบวนการจัดหาที่ดิน ปรับแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัด กำหนดแนวทางและมาตรการในการเยียวยาผลกระทบด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ฯลฯ

25 ส.ค.2560 รายงานข่าวจาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แจ้งว่า ตามที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบจากการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 13 คำร้อง โดยคำร้องส่วนใหญ่ ร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เช่น กรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม และเขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา รวมถึงกรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย และเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย  เป็นกรณีการใช้พื้นที่ป่าชุมชนและพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่ราษฎรในชุมชนได้ร่วมกันดูแลรักษาไว้มาใช้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ คาดว่าจะมีราษฎรที่ได้รับผลกระทบต้องอพยพโยกย้ายออกจากที่ดินทำกินและอยู่อาศัย ถูกดำเนินคดีหรือเสี่ยงต่อถูกดำเนินคดีไม่ต่ำกว่า 300 ครอบครัว จากนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว

คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ใน กสม. ยืนยันว่า ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน จึงได้จัดการสัมมนาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายและการปรับปรุงกฎหมาย กรณีนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อวันที่ 24 – 25 ส.ค. 60 ณ ห้องเสวนา ชั้น 6 สำนักงาน กสม. และ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์  โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ตัวแทนกลุ่มผู้ร้อง 7 พื้นที่ ได้แก่ ผู้ได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (จ.ตาก จ.เชียงราย จ.หนองคาย จ.นครพนม จ.สระแก้ว จ.สงขลา) เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  หน่วยงานรัฐ  ภาคเอกชน  องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา และนักวิชาการ จำนวน 150  คน

เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กล่าวว่าจากการสัมมนาดังกล่าวมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ดังนี้

1.  ให้ทบทวนกระบวนการจัดหาที่ดิน ไม่ควรนำที่ดินของเกษตรกร  ที่ดินของรัฐ  หรือที่ดินที่สำคัญกับระบบนิเวศ หรือ วัฒนธรรม ไปใช้  โดยให้เอกชนจัดซื้อเอง

2. ควรปรับแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัด โดยร่วมกันคัดเลือกกิจการที่เหมาะสมกับยุทธศาสตร์จังหวัด หรือ พื้นที่

3. ให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และ คณะรัฐมนตรีกำหนดแนวทางและมาตรการในการเยียวยาผลกระทบด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

4. ให้มีนโยบายของแต่ละจังหวัด ทบทวนและปรับปรุง พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และ กิจการที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้คนท้องถิ่นได้รับประโยชน์จากการดำเนินกิจการ และ อยู่ร่วมกันได้กับการพัฒนาในพื้นที่

5.  ให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ  แจ้งยืนยัน การใช้พื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ / เขตนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร  

6. ให้มีช่องทางการสื่อสาร การมีส่วนร่วม บนพื้นฐานของการไว้วางใจกัน โดยปราศจากการข่มขู่คุกคาม

7. ให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานของรัฐ นำหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมาดำเนินการ อันประกอบด้วย การเคารพ  การคุ้มครอง  การเยียวยา ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ

8. ขอให้มีท่าทีการทำงานระหว่างรัฐกับชุมชนเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เปิดช่องให้จังหวัดมีอำนาจดำเนินการในการกำหนดมาตรการการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการเยียวยาอีกด้วย

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรจะนำข้อเสนอที่ได้จากเวทีสัมมนาในครั้งนี้ไปประกอบการพิจารณาตามคำร้องเรียน  และจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอย่างเป็นทางการต่อไป

  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“ปูไม่มา ป้ายังอยู่” สำรวจโฉมหน้า-ฟังสุ้มเสียงคนมาให้กำลังใจคดีจำนำข้าว

Posted: 25 Aug 2017 03:58 AM PDT

เช้าตรู่วันที่ 25 สิงหาคม ริมฟุตบาทไล่ตั้งแต่หน้ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถึงทางเข้าศูนย์ราชการ ผู้คนมานั่งรอเต็มทั้งสองฝั่งและทยอยมาหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ประชาไทสุ่มสำรวจความคิดเห็นของผู้มาให้กำลังใจอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีกำหนดต้องมาฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีจำนำข้าวช่วงสายวันนี้ ก่อนที่สุดท้าย มวลชนจะสลายตัวพร้อมข่าวว่าศาลออกหมายจับยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ไม่มาฟังคำสั่งโดยระบุว่ามีอาการน้ำในหนูไม่เท่ากัน ตามด้วยคำพิพากษาคดีบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์และพวกเป็นที่เรียบร้อย

ป้าๆ จากร้อยเอ็ดและสุรินทร์

พวกเธอบอกว่า มารถส่วนตัว และต้องการมาให้กำลังใจนายกฯ  "รักเพราะว่าท่านทำให้ชาวนามีเงินใช้ ข้าวมีราคา" ทั้งหมดมีอาชีพทำนา โดยปลูกพืชอย่างอื่นเสริม เธอเล่าว่าราคาข้างตกต่ำมากตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่วนพืชที่บอกให้ปลูกเสริม เช่น มะนาว ก็ปรากฏว่าราคาตกเช่นกันจนต้องปล่อยให้ร่วงทิ้ง และยืนยันว่าเศรษฐกิจในต่างจังหวัดนั้นซบเซามาก ทำให้หากินลำบาก ดีที่ว่าพวกเธอยังมีข้าวที่ปลูกไว้กินเอง แต่ปีนี้ก็ประสบกับน้ำท่วมทำให้ไม่มีข้าวเข้ายุ้ง

อีกคนหนึ่งตั้งคำถามว่า การบอกว่าขาดทุนมหาศาลนั้นแน่ชัดแค่ไหน เพราะยังมีสต๊อกข้าวอีกจำนวนมากและรัฐบาลควรนำไปขายให้หมดเสียก่อน

ถามแนวโน้มที่จะเปลี่ยนอาชีพ เธอตอบว่า "เราก็ไม่รู้จะทำอะไรเราชาวนาเราทำอย่างอื่นไม่ได้ ถึงหน้านาก็ต้องทำ อาชีพอื่นก็ทำเสริม ปลูกผักปลูกหญ้ากิน ก็พอได้กิน"

คนชั้นกลางจากหนอกจอก "ผมมาเพราะไม่ชอบรัฐประหาร"

กระจ่าง เป็นคนชั้นกลางจากหนองจอก ทำธุรกิจส่วนตัว เขามาร่วมให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ด้วย น่าสนใจว่าเขาออกตัวว่าไม่ได้ชอบทั้งทักษิณและยิ่งลักษณ์เป็นพิเศษ แต่เริ่มต้นร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยการต่อต้านรัฐประหาร อาจเพราะเป็นคนร่วมสมัยเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 จึงยังคงยึดหลักว่า "ทหารต้องอยู่ใต้ประชาชน" เช่นเดิม นอกจากนี้เขายังอธิบายว่า แม้ตนเองเป็นคนชั้นกลางแต่ก็สนับสนุนนโยบายรับจำนำข้าวเพราะทำให้ชาวบ้านจำนวนมากลืมตาอ้าปากได้ ซึ่งเป็นหน้าที่รัฐบาล เขาไม่กังวลกับหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล โดยให้เหตุผลว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนก็สร้างหนี้สาธารณะเช่นกัน แต่คำถามคือ มันไปตกอยู่กับใคร รัฐบาล(ยิ่งลักษณ์) มีกรอบอยู่แล้วว่าจะเป็นหนี้แค่ไหน และการที่ชาวบ้านจำนวนมากมีการเงินดีขึ้น มันทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นและรัฐย่อมได้รายได้ดีขึ้นจากการเก็บภาษี

"ยิ่งลักษณ์ ถามว่าชอบไหม ก็ธรรมดานะ เพียงแต่ผมไม่ชอบที่ว่าเขาไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะว่าที่ผ่านมาทุกรัฐบาลสร้างหนี้สาธารณะทั้งนั้น เพียงแต่ว่ามันสะสมความขัดแย้งซึ่งมันทำให้เราต้องมีจุดยืน เราถึงต้องมา ผมก็เชื่อได้ว่ายังมีคนอีกเยอะแยะที่เป็นแบบผม"

"ผมผ่านพฤษภาทมิฬ ทำให้ผมรู้ไงว่า ถึงที่สุดแล้ว เลือกตั้ง ถึงแม้มันจะไม่แก้ปัญหาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ประชาชนสามารถพูดได้เต็มคำ ไม่ต้องไปเอาใจใคร  อะไรที่สะท้อนความจริงได้ทุกคนจะกล้าพูด แต่ถ้าระบบทหาร ระบบเผด็จการเข้ามา คุณพูดไปมันก็มีคนที่จะมาคอยรังแกเรา เพราะเราพูดความจริง แล้วสังคมไทย ถ้าลึกๆ แล้วเค้าไม่ชอบความจริง เค้ามีสุภาษิตว่า ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ใช่ ความจริงมันไม่ตาย แต่คนพูดความจริงแหละจะตาย" กระจ่างกล่าว

ระยองไม่กลัวมือที่สาม เพราะคนมีแค่สองมือ !

คู่หูหนุ่มใหญ่อารมณ์ดีจากระยองมาร่วมให้กำลังใจด้วยโดยไม่เชื่อข่าวที่พูดเรื่องมือที่สามจะมาสร้างสถานการณ์รุนแรงก่อนหน้านี้ เพราะตำรวจทหารเต็มไปหมด และยังพูดติดตลกว่า "คนมีแค่สองมือ มือที่สามจะมาจากไหน"

เขายังเห็นว่าสิ่งที่ฟ้องๆ กันนั้น อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบทางอาญาไปด้วย และแม้จะอยู่ระยองที่เป็นเมืองอุตสาหกรรม ก็ยังเห็นด้วยกับโครงการนี้เพราะชาวนาจะได้รับการช่วยเหลือ สิ่งที่ไม่ได้ปรากฏในคลิปคือ เขาอธิบายว่าพื้นที่ระยองนั้นเป็นฐานเสียงของประชาธิปัตย์ และคนส่วนใหญ่เข้าร่วม พธม.และ กปปส. อย่างไรก็ตาม พวกเขาคิดต่างจากคนอื่น และระหว่างชาวบ้านด้วยกันนั้นไม่มีการตีกัน จุดยืนใครจุดยืนมัน

"พอจะลืมตาอ้าปากได้นิดหนึ่ง ก็เอา(รัฐบาล)กันลงแล้ว"

ป้าจากกาฬสินธุ์เว่าอีสาน เล่าให้ฟังถึงต้นทุนการทำนาที่แพงลิบลิ่ว และเธอเป็นหนี้ ธกส.เยอะมาก แต่ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ข้าวราคาดีนั้น สามารถทำให้เธอปลดหนี้ได้มาก

เธอยังโต้แย้งเรื่องการโกงด้วยการยืนยันว่า ชาวนาได้เงินจากโครงการนี้ถูกต้องตรงกับความจริงทั้งนั้น ใครไม่ได้รับเงิน เป็นเรื่องให้ผู้ใหญ่บ้านเดือดร้อนแน่นอน

"เราเป็นคนทำนาปีใช่มั้ย มันก็ปีละครั้งเอง เราไม่ได้ทำสองครั้งสามครั้งเหมือนภาคกลางนะ ภาคอีสานน่ะทำปีละครั้ง ใช้น้ำฝน ที่บ้านป้านี้ไม่มีน้ำส่งมา พอเราจะลืมตาอ้าปากได้นิดหนึ่ง ก็เอากันลงแล้ว เราถึงไม่มีความหวังไง"

เธออยากให้อดีตนายกฯ รอดพ้นจากการถูกลงโทษ แต่ถ้าสุดท้ายต้องโดนลงโทษจริงๆ เธอก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเช่นกัน

ป้าจากชัยภูมิ เก็บผักได้เงินแล้วซื้อตั๋วรถทัวร์

ป้าปราณี ปาเป้า "นั่งรถแอร์" มาจากจังหวัดชัยภูมิ เพื่อมาให้กำลังใจนายกฯ สุดที่รัก อารมณ์แบบ "ร้ากกกกกกกรัก"  ขายผักได้เงินก็เอามาซื้อตั๋วเลย เธอเห็นด้วยกับนโยบายนี้เพราะมีรายได้สูงขึ้น "(ยิ่งลักษณ์) มีน้ำใจเนาะ เราก็มีน้ำใจต่อท่าน เพราะว่าสงสาย เป็นลูกผู้หญิงเหมือนกันด้วย"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์บอกนึกว่ายิ่งลักษณ์จะกล้าหาญ อภิสิทธิ์เล่นมุข 'น้ำในหูไม่เท่ากัน' เรียกเสียงฮาจากครู

Posted: 25 Aug 2017 03:42 AM PDT

'ประยุทธ์' บอกนึกว่ากล้าหาญแต่กลับไม่ได้มา 'อภิสิทธิ์' ถามครู 'ดีใจหรือเสียใจ' ยิ่งลักษณ์ไม่มาศาล 'น้ำในหูไม่เท่ากัน' ศรีวราห์ สั่ง ตร.ทั่วประเทศติดตามตัว และเข้าตรวจบ้าน หลังพบสัญญาณโทรศัพท์

แฟ้มภาพ

25 ส.ค.2560 ภายหลังจากที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่งทนายความยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอเลื่อนอ่านคำพิพากษาคดีจำนำข้าว ระบุป่วยกระทันหันมีอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ปวดศีรษะอย่างรุนแรง แต่ศาลฯ เห็นว่าไม่มีใบรับรองแพทย์ และพฤติการณ์มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยหลบหนี จึงออกหมายจับ และให้ปรับนายประกันเต็มสัญญา (30 ล้าน) นัดฟังคำพิพากษาอีกครั้ง 27 ก.ย.นี้

ประยุทธ์บอกนึกว่ากล้าหาญแต่กลับไม่ได้มา

เดลินิวส์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกณีดังกล่าวว่า เป็นเรื่องของอดีตนายกฯ ที่ทำเรื่องขอเลื่อนมา แต่ศาลไม่ให้เลื่อนและออกหมายจับ แล้วเกี่ยวอะไรกับตน เพราะตนไม่สามารถสั่งกระบวนการยุติธรรมได้ ตนทำได้เพียงกำชับฝ่ายความมั่นคงให้ติดตามว่าป่วยจริงหรือไม่และขณะนี้อยู่ที่ไหน กำชับให้ติดตามเส้นทางเข้าออก ทั้งช่องทางธรรมชาติและปกติ ซึ่งเมื่อเช้าตนรู้สึกดีใจและคิดว่ายิ่งลักษณ์กล้าหาญดีที่เข้ามารับการพิจารณา แต่กลับได้รับแจ้งเมื่อสักครู่ว่าไม่ได้มาเพราะมีอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่าตนไม่ทราบและกำลังให้ติดตาม และขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานเพิ่มเติม กำลังหาตัวอยู่ ส่วนจะมีผลกระทบต่อการปรองดองหรือไม่นั้นก็ขึ้นกับประชาชน หากยิ่งลักษณ์ ไม่อยู่แล้วไปไหน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล แต่เป็นเรื่องกฎหมาย หากไม่อยู่แล้วกฎหมายว่าอย่างไร มีหมายเรียก หมายจับอะไรหรือไม่ แล้วภายใน 1 เดือนที่ต้องมีการพิจารณาใหม่หรือไม่ ต้องมา หากไม่มาก็ยิ่งไปกันใหญ่ เป็นเรื่องใหญ่โต
 
"ทำไมมา ทำไมไม่เข้าอยู่ในระบบ ในเมื่อมั่นใจ ผมก็ให้เกียรติ ก็เข้ามาอยู่ในระบบสิ แล้วบรรดาคนที่มาออกันอยู่ที่ศาลมากันทำไม ทุกอย่างมันวุ่นวายปั่นป่วนไปหมดเพราะคนเยอะและคนรอบๆ ข้าง ตอนแรกก็ดีใจว่าจะมาฟัง ผมก็สบายใจ เดี๋ยวศาลก็ดูแลเอง ในส่วนการพิจารณาให้เกิดความเป็นธรรม แต่ อ่าว ไม่มาอีกแล้ว บอกว่าป่วย ผมก็หาตัวอยู่ว่าป่วยอยู่ที่ไหน ก็ยังหาไม่เจออยู่นี่" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ตนไม่กังวลว่า ยิ่งลักษณ์ จะมาสู้คดีต่อหรอไม่ เพราะคนที่ควรกังวลคือคนที่โดนคดี ในเมื่อบอกว่าไม่มีอะไรผิดก็ต้องสู้คดีให้ได้ ซึ่งกฎหมายใหม่ก็ได้ช่วยแก้ปัญหาว่าไม่เป็นธรรมอย่างไร และให้มีสิทธิ์อุทธรณ์ ซึ่งตนและศาลได้พูดไปหลายครั้งในเรื่องนี้ แล้วยังไม่อยู่หมายความว่าอย่างไร จะบอกว่าไม่เป็นธรรมได้อีกหรือไม่
 
เมื่อถามว่าส่วนตัวมองว่ายิ่งลักษณ์ มีเจตนาหลบหนีหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่รู้ ต้องไปถามท่านอดีตนายกฯ เอง ผมไม่ใช่เขา และส่วนตัวไม่เคยประเมินว่าจะออกมาในลักษณะนี้ ไม่เคยตัดสินก่อนศาล เพราะไม่ใช่ผู้พิพากษาและไม่ได้เรียนกฎหมายและ ไม่คิดว่าจะหนี เพราะอดีตนายกฯ ก็แสดงว่าจะมาสู้คดีมาตลอดและบรรดาพรรคเพื่อไทยก็ระบุว่าจะสู้คดีแน่นอน และหากไม่สู้จะเชื่อมั่นกันได้อีกหรือไม่ ต้องดูคนอื่นที่เคลื่อนไหวในขณะนี้ด้วย ที่ทุกคนระบุว่าจะมาเจอกันแล้วทำไมไม่มา ไปถามคนที่มีปัญหา ไม่ใช่ตน ตนไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้นและกำลังทำเนื่องที่สร้างสรรค์
 
เมื่อถามต่อว่า จากการที่ยิ่งลักษณ์ ไม่อยู่ในขณะนี้ประเมินว่ามวลชนจะแผ่วลงหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนไม่รู้แต่เชื่อว่าทุกคนเป็นประชาชนคนไทย ไม่ใช่พวกใคร แต่ความรักเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ไม่ว่าจะพวกไหนก็ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายไม่ได้ เพราะจะมีปัญหากับกฎหมายทั้งสิ้น
 

อภิสิทธิ์ ถามครู 'ดีใจหรือเสียใจ' ยิ่งลักษณ์ไม่มาศาล 'น้ำในหูไม่เท่ากัน'

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่าเมื่อเวลา 09.30 น. ที่ผ่านมา ที่โรงแรมทวินโลตัส อ.เมืองนครศรีธรรมราช อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานปฐมนิเทศพนักงานครูเทศบาล ประจำปี 2560 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักการศึกษา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช
 
รายงานข่าวระบุว่าภายหลังที่อภิสิทธิ์ ได้กล่าวเปิดงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยก่อนปาฐกถาเรื่อง การปฏิรูปการศึกษายุค 4.0 อภิสิทธิ์ ได้พูดบนเวที ถึงกรณีที่ ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้มาศาลว่า "ทราบข่าวแล้วใช่ไหมครับ ดีใจหรือเสียใจ ข่าวไม่มาศาลทุกคนคงทราบกันแล้ว น้ำในหูไม่เท่ากัน ไม่มีใบรับรองแพทย์ถือว่าเท็จ ผมพูดเรื่องจริง ไม่ได้ทับถม มีหมายจับแล้ว ผมไม่พูดนะ แต่มาพูดเรื่องการศึกษา 4.0" ซึ่งหลังจากอภิสิทธิ์พูดจบ บรรดาครูในห้องประชุมถึงเฮดังลั่น ห้องประชุม
 
อย่างไรก็ตาม บีบีซีไทย รายงานเพิ่มเติมว่า อภิสิทธิ์ส่งข้อความ ไลน์@ Mark_Abhisit ระบุว่า "ผมเพิ่งเห็นข่าวในไทยรัฐออนไลน์พาดหัวข่าว มาร์คเย้ยปูน้ำในหูไม่เท่ากัน รวมทั้งรายงานคำพูดผมอย่างคลาดเคลื่อน สิ่งที่ผมพูดมีเพียงการแจ้งข้อเท็จจริงให้ผู้เข้าฟังการบรรยายทราบ ผมไม่อยากให้สื่อมวลชนสร้างความขัดแย้งบนความเข้าใจผิดโดยเฉพาะในสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน"
 
ขณะที่ ณัฎฐ์ บรรทัดฐาน รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในหน้าเฟซบุ๊กของพรรคว่าสิ่งที่นายอภิสิทธิ์ กล่าวในงานนั้นเป็นเพียงการให้ข้อเท็จจริงให้กับผู้ที่มาร่วมฟังบรรยายได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น โดยเป็นการสื่อข้อความดังกล่าวก่อนการบรรยาย ปราศจากซึ่งการแสดงความรู้สึกใดๆ ไม่ว่าจะเป็นในทางบวกหรือลบ และมิได้มีสิ่งหนึ่งประการใดที่แสดงออกถึงการเย้ยหยัน หรือไม่เคารพกติกาใด ๆของบ้านเมืองทั้งสิ้น การนำเสนอที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงจากสื่อฯ ไม่ว่าจะในช่องทางใดก็ตาม อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม สำหรับท่าทีของพรรคนั้นเห็นว่าไม่ว่าคำตัดสินจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม ทุกฝ่ายต้องยอมรับและปฏิบัติตามกติกาของบ้านเมือง
 

สั่ง ตร.ทั่วประเทศติดตามตัว และเข้าตรวจบ้าน หลังพบสัญญาณโทรศัพท์

ข่าวสดออนไลน์ รายงานด้วยว่า บรรยากาศบริเวณบ้านพัก ยิ่งลักษณ์ ภายในซอยโยธินพัฒนา 3 เป็นไปอย่างเงียบเหงา มีบรรดาผู้สื่อข่าวมาเฝ้าสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวภายหลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งออกหมายจับยิ่งลักษณ์ ที่ไม่มารายงานตัวและฟังคำพิพากษาของศาลในวันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำการดูแลความเรียบร้อยตลอดโดยรอบบ้านพักเท่านั้น ซึ่งตั้งแต่ช่วงเช้าไม่ปรากฏว่ามีบุคคลภายในบ้านพักเดินทางเข้าออกแต่อย่างใด และภายในบ้านไม่พบรถตู้โฟล์ค เลขทะเบียน ฮน 333 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถส่วนตัวที่ ยิ่งลักษณ์ ใช้เป็นประจำจอดอยู่

นอกจากนี้ มีรายงานข่าวว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล เตรียมนำกำลังตำรวจเข้าตรวจสอบบ้านของ ยิ่งลักษณ์ ที่ซอยโยธินพัฒนา 3 เนื่องจากฝ่ายสืบสวนของตำรวจได้ตรวจสอบพบสัญญาณโทรศัพท์มือถือของ ยิ่งลักษณ์ ในบ้านดังกล่าว อีกทั้ง ศาลมีคำสั่งออกหมายจับ ยิ่งลักษณ์ จึงต้องเข้าไปตรวจสอบว่า ยิ่งลักษณ์ ยังอยู่ในประเทศไทยหรือไม่

ต่อมาพล.ต.อ.ศรีวราห์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ตำรวจทั่วประเทศติดตามตัวยิ่งลักษณ์ ผู้ต้องหาตามหมายจับที่ไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีจำนำข้าว โดยส่งกำลังตรวจสอบทั้งบ้านพักในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตามมีกระแสข่าวว่ายิ่งลักษณ์ได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว ข่าวสดออนไลน์ ยังรายงานว่า จากการตรวจสอบพบว่ายิ่งลักษณ์เดินทางไปทำบุญกราบไหว้สมเด็จโตที่วัดระฆังโฆสิตาราม กทม. เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นมีข้อมูลว่าวันที่ 24 ส.ค. ยิ่งลักษณ์ได้อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์แล้ว ขณะเดียวกันมีข้อมูลอีกว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาที่ประเทศสิงคโปร์เช่นเดียวกัน

พร้อมกันนี้ข่าวสดออนไลน์ยังระบุด้วยว่า ยิ่งลักษณ์ได้เดินทางออกจากประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติทางชายแดนไทย-กัมพูชา ก่อนเดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยานนานาชาติพนมเปญ หรือสนามบินโปเชงตง ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากใจกลางกรุงพนมเปญไปทางตะวันตก 7 กิโลเมตร ก่อนบินตรงไปประเทศสิงคโปร์ แล้วบินต่อไปประเทศสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือดูไบ ต่ออีกทอด

มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า การเดินทางออกนอกประเทศครั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้พา ไปป์ ศุภเสกข์ อมรฉัตร ลูกชายวัย 15 ปีเดินทางไปด้วย โดย ยิ่งลักษณ์ติดสินใจออกนอกประเทศพร้อมลูกชาย ก็เพราะเป็นห่วงว่าหากมีคำพิพากษาให้จำคุก จะทำให้ขาดคนดูแลลูกชายคนเดียว จึงตัดสินใจพาลูกชายเดินทางออกนอกประเทศไปด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฎีกาสั่งจำคุกบุญทรง 42 ปี คดีขายข้าวรัฐต่อรัฐ ไม่รอลงอาญา สั่งเอกชนชดใช้ 1.6 หมื่นล้าน

Posted: 25 Aug 2017 01:38 AM PDT

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำพิพากษาคดีขายข้าวรัฐต่อรัฐ สั่งจำคุกบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.กระทรวงพาณิชย์ 42 ปี และภูมิ สาระผล อดีต รมช.กระทรวงพาณิชย์ 36 ปี ไม่รอลงอาญา iLaw ชี้ควรอุทธรณ์ได้ตาม รธน. 2560 แม้กฎหมายลูกยังไม่บังคับใช้

ที่มาภาพจาก: pxhere.com

25 ส.ค. 2560 Voice TV รายงานเบื้องต้นว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี ที่บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงนักการเมือง,ข้าราชการ และเอกชน รวม 28 คน ซึ่งถูกอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้อง ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เข้าข่ายกระทำผิด มาตรา 157 และฐานใช้อำนาจทุจริตสร้างความเสียหาย เข้าข่ายกระทำผิด มาตรา 151 ตามประมวลกฎหมายอาญา และกระทำผิด พ.ร.บ.ฮั้วประมูล และพ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2542

ล่าสุดศาลอ่านคำพิพากษา สั่งจำคุกนายบุญทรง 42 ปี ขณะที่นายภูมิ สาระผล จำคุก 36 ปี 

ด้านโพสต์ทูเดย์ รายงานเพิ่มเติมว่า อภิชาติ จันทร์สกุลพร อดีตนักธุรกิจค้าข้าวชื่อดัง ผู้ก่อตั้งบริษัทสยามอินดิก้า ถูกศาลสั่งจำคุก 48 ปี ส่วนจำเลยอื่นๆ ศาลลงโทษจำคุกลดหลั่นตามพฤติการณ์ความผิด

นอกจากนี้ให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และเอกชนอีก 2 รายร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 16,912 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% นับตั้งแต่วันที่รับมอบข้าวตามสัญญาแต่ละฉบับ ส่วนจำเลยอื่นให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามส่วนเช่นเดียวกัน

iLaw ชี้ รธน. 2560 ให้สิทธิอุทธรณ์คดีได้ แม้กฎหมายลูกยังไม่ประกาศใช้ แต่การบังคับใช้กฎหมายต้องรักษาประโยชน์ต่อสิทธิของคู่ความตามที่ รธน. รับรองไว้

ขณะที่ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้รายงานไว้เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2560 ว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 มาตรา 195 ซึ่งระบุถึงแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยในวรรค 4 และ 5  ระบุว่า

"คําพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําพิพากษา

การวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามวรรคสี่ ให้ดําเนินการโดยองค์คณะของศาลฎีกา ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาซึ่งไม่เคยพิจารณา คดีนั้นมาก่อน และได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจํานวนเก้าคน โดยให้เลือกเป็นรายคดีและเมื่อองค์คณะของศาลฎีกาดังกล่าวได้วินิจฉัยแล้ว ให้ถือว่าคําวินิจฉัยนั้นเป็นคําวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา"

นอกจากนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญเขียนเช่นนี้แล้ว ก็ต้องมี "กฎหมายลูก" ออกตามมา ซึ่งก็คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือ พ.ร.ป.วิอาญานักการเมืองฯ ในการประชุมเมื่อ 13 กรกฎาคม 2560 สนช. พิจารณาเห็นชอบร่างกฎหมายนี้แล้ว เหลือเพียงประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาก็จะมีผลบังคับใช้ทันทีในวันถัดจากวันที่ลงประกาศ

โดยใน พ.ร.ป.วิอาญานักการเมืองฯ มาตรา 60 ระบุว่า การอุทธรณ์คำพิพากษาให้ยื่นต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายในสามสิบวัน และในบทเฉพาะกาล มาตรา 69 เขียนว่า การดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งหมายความว่า เมื่อกฎหมายลูกมีผลบังคับใช้ในวันใดก็ตาม คดีที่แม้จะฟ้องร้องกันไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ก็ต้องดำเนินคดีไปตามหลักเกณฑ์ใหม่ของกฎหมายใหม่

พ.ร.ป.วิอาญานักการเมืองฯ ที่ผ่านการพิจารณาแล้วไม่ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาภายในสามสิบวัน นับแต่วันตัดสิน ในทางปฏิบัติจึงอาจมีความสับสนอยู่บ้างว่า ขั้นตอนและวิธีการยื่นอุทธรณ์จะเป็นอย่างไร แต่โดยหลักการเมื่อรัฐธรรมนูญเขียนเช่นนี้แล้ว ก็หมายความว่า สิทธิของคู่ความในคดีทั้งสองฝ่ายได้เกิดขึ้นแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องรอการออก "กฎหมายลูก" มารับรองสิทธิ หากกฎหมายลูกยังออกไม่ทันตามที่รัฐธรรมนูญเขียน ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อสิทธิของคู่ความตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้

ส่วน พ.ร.ป.วิอาญานักการเมืองฯ จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้เมื่อไรนั้น ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 145 และ 146 กำหนดว่าร่างพ.ร.บ.ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ห้าวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพ.ร.บ.จากรัฐสภา และให้นำขึ้นเกล้าทูลฯ ภายใน 20 วัน และให้พระมหากษัตริย์เห็นชอบภายใน 90 วัน ทั้งนี้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นายกฯ เพิ่งได้รับร่างฉบับนี้จาก สนช.

คำพิพากษามีรายละเอียดดังนี้

วันนี้ เวลา 9 นาฬิกา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหนงทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม. 25/2558 ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ กรมการค้าต่างประเทศ ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน ผู้ร้องนายภูมิ สาระผล ที่ 1 กับพวกรวม 21 คน จำเลย และคดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2559 ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ กรมการค้าต่างประเทศ ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน ผู้ร้อง ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจทวียโสธร ที่ 1 กับพวกรวม 7 คน จำเลย

คดีแรก (อม. 25/2558) โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 กล่าวหาว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 21 ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงพาณิชย์ และพ่อค้าข้าว ร่วมกันกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำสัญญาขายข้าวให้แก่บริษัทกวางตุ้งและบริษัทห่ายหนานซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนรวม 4 สัญญา โดยอ้างว่าเป็นการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ และขายในราคาต่ำกว่าท้องตลาดทำให้รัฐเสียหาย ความจริงเป็นการขายข้าวบางส่วนให้แก่พ่อค้าข้าวในประเทศเป็นการเสนอราคาซื้อขายโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ งบประมาณแผ่นดิน หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ประเทศชาติ และประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 86, 91, 151, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 9, 10, 12 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 123, 123/1 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงินร้อยละ 50 ของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญา 2 สัญญา จำนวน 23,498,134,119 บาท และปรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 21 ร้อยละ 50 ของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญาทั้ง 4 สัญญา จำนวน 35,274,611,007 บาท

ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2559 โจทก์ฟ้องคดีที่สอง (อม. 1/2559) กล่าวหาว่าจำเลยที่ 22 ถึงที่ 28 ซึ่งเป็นกลุ่มพ่อค้าข้าวอีก 7 ราย สนับสนุนการกระทำความผิดในคดีแรก ศาลจึงสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองคดีเข้าด้วยกัน

จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ยกเว้นจำเลยที่ 3 และที่ 16 ซึ่งหลบหนี

โจทก์อ้างพยานบุคคล 239 ปาก เอกสาร 383 แฟ้ม (หมาย จ.1 ถึง จ.1041)

จำเลยทั้งยี่สิบแปดอ้างพยานบุคคล 1,166 ปาก เอกสาร 105 แฟ้ม (หมาย ล.1 ถึง ล.780)

การตรวจพยานหลักฐาน ศาลอนุญาตให้โจทก์นำพยานเข้าไต่สวน 27 ปาก จำเลยนำพยานเข้าไต่สวน 103 ปาก รวมพยานบุคคลทั้งหมด 130 ปาก กำหนดนัดไต่สวนรวม 20 นัด

ต่อมาวันที่ 20 เมษายน 2559 มีผู้ร้องทั้งห้าซึ่งเป็นส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง อตก. และ อคส. ยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 7 ถึงที่ 28 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 26,366,708,172.42 บาท และผู้ร้องทั้งห้าขอนำพยานเข้าไต่สวนอีกจำนวนหนึ่ง ศาลอนุญาตให้ไต่สวนพยานบุคคล 7 ปาก เอกสาร 1 แฟ้ม หมาย ร.1 รูปคดีจึงกลายเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และให้ฝ่ายจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีส่วนแพ่งตามกฎหมาย คดีจึงเริ่มไต่สวนนัดแรกได้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ไต่สวนพยานแล้วเสร็จนัดสุดท้ายวันที่ 5 กรกฎาคม 2560

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐย่อมก่อให้เกิดผลผูกพันต่อรัฐคู่สัญญา ทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามสัญญา ผู้มีอำนาจลงนามในสัญญาจึงต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐ ทั้งนี้อาจเป็นการมอบหมายให้บุคคล หน่วยงาน องค์กร หรือรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์สำคัญของการทำสัญญาคือต้องการระบายสินค้าออกนอกประเทศเพื่อให้สินค้าไปตกอยู่แก่รัฐผู้ซื้อและต้องการเงินตราต่างประเทศโดยแนวปฏิบัติในการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐเริ่มต้นด้วยการทาบทาม การพูดคุยระดับรัฐมนตรีในเวทีระหว่างประเทศ หรือการประสารงานทางการทูต หรือเป็นตัวแทนของรัฐที่เคยเป็นคู่ค้ากันมาก่อน ส่วนวิธีการซื้อขายด้วยการเจรจาระหว่างผู้แทนของแต่ละฝ่ายอาจไม่ต้องมีการประมูลแข่งขันราคากัน บางครั้งอาจตกลงซื้อขายในราคาต่ำกว่าตลาดเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

สำหรับการซื้อขายข้าวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นจะดำเนินการโดย China National Cereals, Oil and Foodstuff Import Export Corporation (COFCO) รัฐวิสหกิจการค้าภาครัฐที่นำเข้าผลิตภัณฑ์ธัญพืชของสาธารณรัฐประชาชนจีนรวมถึงข้าม และแนวปฏิบัติที่ผ่านมา การซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเจราจาผ่าน COFCO เท่านั้น โดยประเทศไทยไม่เคยขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ภายหลังเริ่มต้นโครงการรับจำนำข้าว นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ซึ่งคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้มีอำนาจให้ความเห็นชอบการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวได้ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์การระบายข้าวกรณีการขายแบบรัฐต่อรัฐให้รวมถึงการขายให้แก่รัฐวิสาหกิจด้วย และให้ใช้เกณฑ์ราคาขายแบบหน้าคลังสินค้าซึ่งผิดไปจากแนวทางปฏิบัติในกรณีการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ ส่อไปในทำนองว่าจัดทำยุทธศาสตร์การระบายข้าวเพื่อรองรับรัฐวิสาหกิจมาทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐโดยไม่ต้องได้รับมอบหมายจากรัฐบาลของผู้ซื้อ หลังจากนั้นนายภูมิได้ให้ความเห็นชอบผลการเจรจาซื้อขายข้าว 2 ฉบับให้ขายข้าวแก่บริษัทกว่างตง จำกัด รัฐวิสาหกิจมณฑลของสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งไม่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน 2 สัญญา สัญญาฉบับที่ 1 ตกลงซื้อขายข้าวทุกชนิดในสต็อกของรัฐบาลไทย ปริมาณ 2,195,000 ตัน ในราคาตันละ 10,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาท้องตลาดทำให้ประเทศชาติเสียหายเป็นเงิน 9,717,165,177.90 สัญญาฉบับที่ 2 ตกลงขายข้าว 5 เปอร์เซ็นต์ ข้าวเหนียว 100 เปอร์เซ็นต์ ข้าวหอมมะลิหัก ปีการผลิต 2554/55 ปริมาณ 2,000,000 ตัน ทำให้ประเทศได้รับความเสียหาย 1,294,109,767.83 บาท ต่อมานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวแทนนายภูมิ และได้ให้ความเห็นชอบสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับบริษัทกว่างตง 1 ฉบับ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 ตกลงขายข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ และข้าวขาวหักเอวันเลิศ ปีการผลิต 2555 ปริมาณ 1,000,000 ตัน และมีการขอแก้ไขสัญญาปรับเพิ่มปริมาณข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ อีก 1,300,000 ตัน รวมเป็น 2,300,000 ตัน ทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย 5,694,748,116.09 บาท โดยข้อตกลงตามสัญญาทั้งสี่ฉบับมีข้อพิรุธหลายประการ คือ วิธีการชำระเงินด้วยแคชเชียร์เช็ค รัฐวิสาหกิจผู้ซื้อสามารถนำข้าวไปขายต่อประเทศที่สามเพื่อการพาณิชย์ได้ มีการแก้ไขสัญญาเพิ่มชนิดและปริมาณข้าวเรื่อยๆ โดยไม่มีการเจรจาต่อรองเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ภายหลังการซื้อขายทั้งสี่ฉบับปรากฎว่ามีการชำระค่าข้าวด้วยแคชเชียร์เช็คภายในประเทศหลายร้อยฉบับและรับมอบข้าวไปโดยผู้รับมอบอำนาจที่เป็นคนไทยแล้วนำไปขายต่อให้ผู้ประกอบการค้าข้าวภายในประเทศ โดยไม่มีการส่งข้าวที่ซื้อขายไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือส่งออกไปประเทศอื่น กระบวนการดังกล่าวกระทำโดยนายภูมิ นายบุญทรง นายอภิชาต จันทร์สกุลพร (เสี่ยเปี๋ยง) และพวกร่วมกันนำบริษัทกว่างดง จำกัด และบริษัทห่ายหนาน จำกัด รัฐวิสาหกิจของมณฑลมาขอซื้อข้าวกับกรมการค้าต่างประเทษโดยแอบอ้างว่าได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนมาทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐในราคาต่ำกว่าท้องตลาดโดยหลีกหลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็ฯธรรมอันเป็นการเอาเปรียบแก่กรมการค้าต่างประเทศเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2552 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 เมื่อราคาข้าวในท้องตลาดลดลง รัฐวิสาหกิจผู้ซื้อข้าวก็จะไม่ยอมมารับข้าวตามสัญญา แต่มาขอทำสัญญาฉบับใหม่ซื้อข้าวชนิดเดียวกันในราคาต่ำลงกว่าสัญญาเดิม โดยเฉพาะนโยบายการระบายข้าวที่ดำเนินการโดยนายบุญทรงไม่เปิดประมูลขายข้าวภายในประเทศ ทำให้ข้าวในท้องตลาดขาดแคลน ผู้ประกอบการค้าข้าวไม่สามารถหาซื้อข้าวในท้องตลาดได้ จำต้องไปหาซื้อข้าวจากกลุ่มบริษัทและพนักงานของนายอภิชาติ ซึ่งผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศที่ซื้อข้าวต่อจากนายอภิชาตกับพวกนั้น ศาลเห็นว่าเป็ฯการซื้อโดยไม่ทราบว่าเป็นข้าวที่มาจากสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึง 21 ยกเว้นจำเลยที่ 3 และที่ 16 ซึ่งหลบหนี มีความผิดตามฟ้องโดยให้จำคุกนายภูมิ 36 ปี นายบุญทรง 42 ปี นายมนัส 40 ปี นายทิฆัมพร 32 ปี นายอัครพงศ์ 24 ปี นายอภิชาต 48 ปี ส่วนจำเลยอื่นศาลลงโทษจำคุกลดหลั่นลงตามพฤติการณ์ความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิด และพิพากษาให้ บริษัทสยามอินดิก้า จำกัด จำเลยที่ 10 นายอภิชาติ จำเลยที่ 14 และนายนิมล หรือโจ จำเลยที่ 15 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่กระทรวงการคลัง 16,912,128,273.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งนับแต่วันที่รับมอบข้าวตามสัญญาแต่ละฉบับ จำเลยอื่นให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามส่วนเช่นเดียวกัน ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 19 และจำเลยที่ 22 ถึง 28

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับ 2 สภานิสิตจุฬาฯ ก่อนถูกสอบและอาจถูกลงโทษทางวินัย ปมพิธีถวายสัตย์ฯ

Posted: 25 Aug 2017 12:16 AM PDT

2 สภานิสิตจุฬาฯ ยันแอคชั่นเชิงสัญลักษณ์ดีสุดขณะนั้น แต่ยังไม่ดีพอสำหรับแก้ปัญหาระยะยาว แจงเหตุการณ์ในพิธีฯ ตามมุมมอง ชี้การถูกสอบ/ตัดสินสะท้อนภาพลักษณ์ความยุติธรรมของจุฬาฯ ย้ำบทบาทนิสิตถูกลดเป็นเพียง 'ลูกค้า' ส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ชี้ถึงโซตัสที่ยังซ่อนเร้นในมหา'ลัย

จากกรณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งกรรมการสอบสวน เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และประธานสภานิสิตจุฬาฯ พร้อมด้วยเพื่อนสภานิสิตจุฬาฯ อีก 7 คน จากเหตุการณ์พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ ซึ่งในวันนี้ (25 ส.ค.60) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะดำเนินการสอบสวนพร้อมทั้งตัดสิน

ในโอกาสนี้ประชาไท ได้สัมภาษณ์ ชยางกูร ธรรมอัน กรรมาธิการสภานิสิต กับ ธรณ์เทพ มณีเจริญ สภานิสิตสามัญ สองใน 7 จำเลยที่ถูกสอบสวน เพื่อทำความเข้าใจสภาพปัญหาภายในจุฬาฯ ตั้งแต่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ดังกล่าวจนนำมาซึงการถูกสอบสวน ปัญหาอำนาจนิยมในเชิงโครงสร้างของมหาวิทยาลัย แนวนโยบายและการดำเนินการของสภานิสิตชุดนี้ โดยเฉพาะการสนับสนุนเสรีภาพการแสดงออก รวมไปถึงบรรยากาศทางการเมืองภายในมหาวิทยาลัย

ธรณ์เทพ มณีเจริญ (ซ้าย) และ ชยางกูร ธรรมอัน (ขวา)

000000

ประชาไท: จุดไหนที่เป็นจุดที่เราคิดว่าพอดี หรือจริงๆ คิดว่าควรทำให้สุดไปเลย จากกรณีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ผ่านมา และได้เห็นปฏิกิริยาของหลายฝ่าย มองย้อนกลับไปคิดว่าเป็นจุดที่พอดีไหม

ชยางกูร: จุดที่พอดี คือจุดที่เปิดพื้นที่ให้ความแตกต่าง หลากหลายอย่างจริงจัง และเป็นจุดที่ให้ทุกคนได้มีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเท่าเทียม ส่วนการทำให้สุดนั้น ถ้าในแง่ของหลักการ ก็ควรจะเป็นเช่นนั้น แต่ถ้าเป็นการกระทำ ในบางทีการทำอะไรแบบ "สุดขั้ว" ก็ย่อมนำเราไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่อาจจะลงรอยได้ หรือแย่ที่สุดก็อาจเลยเถิดไปถึงขั้นการใช้ความรุนแรง เพราะมันขาดจุดยืนร่วม และคุยกันไม่รู้เรื่องในที่สุด

จากกรณีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หากมองย้อนกลับไปโดยพิจารณาจากปฏิกิริยาของหลายๆ ฝ่าย ผมคงตอบไม่ได้ชัดว่ามันเป็นจุดที่พอดีไหม เพราะจุดที่พอดีของแต่ละฝ่ายมันไม่ได้มีมาตรวัดชัดเจนเสียทีเดียว อีกทั้งหลายๆ ฝ่ายเองก็ยังไม่เคยได้มีพื้นที่อภิปรายอย่างจริงจังถึงจุดที่พอดีของตัวเอง โผล่มาอีกทีก็กลายเป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างออกรสกันเสียแล้ว ซึ่งปัญหาที่แท้จริงก็ยังคงถูกเพิกเฉยต่อไป

ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นจุดที่ "พอดี" สำหรับหลักการในการยืนหยัดเพื่อหลักสิทธิ เสรีภาพ และความถูกต้อง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นจุดที่ผมคิดว่า "ยังไม่ดีพอ" สำหรับการพิทักษ์หลักเหล่านั้นไว้ เพราะมันไม่ได้มีการรื้อรากปัญหาออกมาชำแหละอย่างจริงจัง ไม่ได้มีการจัดตั้งโครงการเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว แต่ด้วยระยะเวลาที่ค่อนข้างกระชั้นชิด และด้วยรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำ ณ ขณะนั้นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเสียดายอยู่ไม่น้อย

 

ธรณ์เทพ: ผมว่าอันนี้ก็แล้วแต่การตีความเลยนะครับ เราต้องการจะทำอะไร เรื่องอะไร เต็มที่ขนาดไหน โดยใช้เกณฑ์อะไร นี่เป็นคำถามที่แล้วแต่ปัจเจกพึงมีเกณฑ์ต่างกันมากๆ ครับ

จากเหตุการณ์การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ผ่านมานั้น ผมคิดว่า ทุกคนในกลุ่มนั้นคงไม่ได้คาดหวังว่าการแสดงออกดังกล่าว อะไรคือทำแต่พอดี หรือต้องทำอะไรให้ได้ดีที่สุด อาจมีปัจจัยอื่นด้วยคือ เราเพิ่งมาเตรียมการกันก่อนเข้าสู่พิธีเป็นเวลาไม่นานนัก ทำให้มีเวลาตัดสินใจและไตร่ตรองไม่มากในการพิจารณาโดยละเอียดว่าสิ่งที่ตัดสินใจนั้นพอดีหรือดีที่สุดแล้ว พวกเราแค่อาจมีจุดร่วมกันในเรื่องบางอย่าง และเรื่องจุดร่วมที่ว่านั่นก็คือความกล้าหาญทางจริยธรรม (moral courage) พวกเราก็เห็นกันอยู่ว่ามีสิ่งที่ไม่ถูกต้องบางอย่างกำลังเกิดขึ้น โดยผู้ที่ถูกกระทำโดยความไม่ถูกต้องคือรุ่นน้องนิสิตชั้นปีที่หนึ่งของพวกเราแท้ๆ

ตามหลักสามัญสำนึกและหลักการใช้เหตุผลของวิญญูชน เราพึงรู้แน่ๆว่าการให้นิสิตตากฝนเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างชัดเจน ถึงแม้จะมีการแจกชุดกันฝน (ซึ่งรุ่นน้องนิสิตชั้นปีที่หนึ่งก็ได้รับไม่ครบกันทุกคน) เพื่อให้นิสิตปีหนึ่งดำเนินพิธีท่ามกลางสายฝนต่อไป (จนกว่าจะมีดุลยพินิจว่ามีพายุเข้า จึงจะมีการประกาศปล่อยให้นิสิตชั้นปีที่หนึ่งออกจากกิจกรรม อ้างอิงจากเอกสารที่มีการอธิบายแผนกิจกรรมกรณีฝนตก) แต่ก็ดูจะเป็นการแก้ปัญหาแบบไม่ตรงประเด็น เพราะหากเป็นห่วงน้องในฐานะรุ่นพี่ที่ห่วงใยรุ่นน้องจริงๆ ก็สมควรที่จะปล่อยให้รุ่นน้องแยกย้ายจากกิจกรรมออกไปได้ตั้งแต่ฝนตกแต่แรก มิใช่เพียงการแจกชุดกันฝน และให้น้องๆ ร่วมกิจกรรมท่ามกลางสายฝนกันต่อไปจนกว่าพายุ (ตามดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่) จะเข้า

ถึงจะสั่งให้น้องๆ แยกย้ายกันออกจากกิจกรรม การกระทำดังกล่าวของพวกเรา ในส่วนของผมเมื่อรับทราบมาก่อนแล้วว่าอาจมีการผิดสัญญาเกิดขึ้นในช่วงก่อนเริ่มเข้าแถวของสภานิสิตในกิจกรรม โดยเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้เล่าให้ผมและกลุ่มฟังว่า เขาเคยคุยกับท่านบัญชา ชลาภิรมย์ (ขณะนั้นท่านเป็นรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ว่าหากมีฝนตกในกิจกรรม จะให้เด็กทำการโค้งคำนับแสดงความเคารพพระบรมรูปสองรัชกาล และทำการแยกย้ายนิสิตเพื่อหลบฝน ผมเองก็ไม่พร้อมปักใจเชื่อเท่าใด ว่าท่านจะผิดสัญญาจริงๆ เพราะโดยส่วนตัวผมก็เคารพท่านเป็นอย่างมาก แต่หากการผิดสัญญาเกิดขึ้นจริง ผมก็พร้อมที่จะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อแสดงจุดยืนต่อความถูกต้อง เพราะความเคารพที่ผมมีต่อท่านก็ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ผมต้องแสดงจุดยืนเรื่องความถูกต้องก็อีกส่วนหนึ่ง

เมื่อเหตุการณ์ฝนตกเกิดขึ้น และน้องนิสิตปีหนึ่งไม่ได้ลุกหลบฝนทันที ก็ทำให้ผมตัดสินใจได้ว่าผมต้องทำอะไร

ณ ขณะนั้น ผมไม่ได้คิดว่านี่คือสิ่งที่พอดีหรือดีที่สุดหรือเปล่า ผมแค่คิดว่ามันดีเพียงพอสำหรับผมที่ตัดสินใจกระทำลงไปเพื่อความถูกต้อง ไม่ใช่เพียงในฐานะนิสิตรุ่นพี่ที่เป็นห่วงรุ่นน้องนิสิตปีหนึ่งเท่านั้น แต่ในฐานะผู้ดำรงตนในความกล้าหาญทางจริยธรรม แม้ผมจะพอคาดคะเนได้ว่าผมจะต้องถูกสอบสวนทางวินัยนิสิตจากการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าว ผมก็ยินดีที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมดังกล่าว เพื่อแสดงความสุจริตใจในการกระทำของตนเอง

 

การถูกสอบสวนและอาจถูกลงโทษทางวินัยสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของมหาวิทยาลัยอย่างไร

ชยางกูร: "อำนาจนิยม" คงจะเป็นคำอธิบายที่รวบรัดมากที่สุดเท่าที่ผมคิดออกในตอนนี้สำหรับหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างของมหาวิทยาลัย

เนื่องจากบทบาทของนิสิตได้ถูกลดทอนลงไปอย่างมาก และดูเหมือนว่าจะถูกบีบบังคับให้กลายเป็นเพียงลูกค้าเท่านั้น สังเกตจากศูนย์การค้าต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นมาล้อมรอบมหาลัยมากมาย อำนาจในการต่อรองเรื่องต่างๆ ไม่ค่อยจะมีเท่าไหร่ เว้นแต่อำนาจในการเลือกซื้อ เลือกบริโภคสินค้าของนิสิต การตัดสินใจต่าง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับมหา'ลัยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบางทีก็ปฏิบัติราวกับว่าไม่ได้นับนิสิตเป็นส่วนหนึ่งของมหา'ลัยด้วย มันตลกร้ายตรงที่เขาเรียกเราว่า "นิสิต" นี่แหละ

 

การสอบสวนครั้งนี้เองก็เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นบนฐานคิดของ "การทำได้" เพราะมีอำนาจรองรับอยู่ ซึ่งมหาวิทยาลัยนั้นมองว่าตัวเองมีอำนาจเหนือนิสิต และพร้อมที่จะใช้อำนาจนั้นกระทำกับนิสิตให้เกิดผลกระทบต่อนิสิตในทางใดทางหนึ่ง โดยที่ไม่ได้เอาผลประโยชน์ของนิสิตเป็นตัวตั้งต้น แต่กลับเอาผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเป็นตัวตั้งต้น คิดง่ายๆ เลยคือ การสอบสวนนี้เกิดขึ้นเพื่อทวงความชอบธรรมให้ใคร? ก็นั่นแหละครับ

แต่ตอนนี้การลงโทษผมยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้แน่ชัดเนื่องจากผมยังไม่รู้ผลที่แน่นอน แต่หากการลงโทษทางวินัยเกิดขึ้นจริง ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาดังกล่าว

ธรณ์เทพ: หากพูดถึงการถูกสอบสวนและถูกลงโทษทางวินัยดังกล่าวนั้นก็เป็นกระบวนการยุติธรรมในระดับมหาวิทยาลัย โดยทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาถึงปัจจัยและองค์ประกอบในการสอบสวนและถูกลงโทษดังกล่าว ว่ามีหลักเกณฑ์การพิจารณาและคำตัดสินว่ามีหรือไม่มีความผิดอย่างไร เหมาะสม และได้สัดส่วนหรือไม่

ซึ่งกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวในจุฬาฯ ก็จะสะท้อนถึงภาพลักษณ์ด้านความยุติธรรมต่อสังคมภายนอกเอง

 

หากผลการตัดสินว่ามีความผิดและมีการลงโทษทางวินัย ผมหรือทางกลุ่มจะตัดสินใจอย่างไร ก็คงต้องรอการปรึกษาหารือกันอีกทีในอนาคตที่จะมาถึง

แต่เป็นปัญหาระบบโครงสร้างหรือไม่ ต้องแก้ไขอย่างไรนั้น ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาโครงสร้างที่มีปัจจัยจากค่านิยมอนุรักษ์นิยมอย่างหนึ่ง หากผมหรือทางกลุ่มถูกลงโทษทางวินัยนิสิตจากกรณีดังกล่าว ก็เป็นผลมาจากการพิจารณาของคณะกรรมการที่มีค่านิยมทางวัฒนธรรมที่แตกต่างจากพวกผม พวกเขาอาจจะมองว่าการกระทำของพวกผมเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่ผมกลับมองว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยสุจริต และสมควรกระทำยิ่งเพื่อแสดงจุดยืนในเรื่องความถูกต้อง เรื่องนี้คือปัญหาความแตกต่างของระบบโครงสร้างค่านิยมกระแสหลักที่เกิดความขัดแย้งกับค่านิยมกระแสรอง การแก้ไขคือเราสมควรจะเปิดพื้นที่พูดคุยและแสวงหาจุดร่วมกันในประเด็นความขัดแย้งทางความคิด ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติในลำดับต่อไป

ลักษณะการดำเนินการของสภานิสิตเป็นอย่างไรบ้าง ขณะที่เราสนับสนุนเสรีภาพการแสดงออก แต่ในมหาวิทยาลัย บางส่วนมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม เช่น ระบบโซตัส

ชยางกูร: ก่อนอื่นเลยเราต้องรับฟังให้มากที่สุด แล้วมาพิจารณาร่วมกันว่าข้อเสนอไหนจะเป็นจริงได้ ข้อเสนอไหนเป็นจริงไม่ได้ เพราะอะไร? ข้อจำกัดคืออะไร? เช่น การดื่มน้ำจากถังเดียวกันในแต่ละกิจกรรมที่นิสิตจัดกันเอง ถ้าจะใช้ข้ออ้างเรื่องประเพณี ณ จุดนี้คงต้องดูที่ข้อจำกัดอย่างสุขอนามัยก่อนเลยว่ามันสมควรไหม?

หรือ อย่างโซตัส ถ้าจะเอา "การว้าก" เช่น การตะคอก ขู่เข็ญรุ่นน้องมาใช้เพื่อดำเนินกิจกรรม ก็ต้องดูที่ข้อจำกัดอันเป็นสากลอย่างหลักสิทธิมนุษยชนเหมือนกันว่า มันมีการละเมิดกันไหม? เคารพกันไหม? มีความรุนแรงเกิดขึ้นหรือเปล่า?

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการหาจุดยืนร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนสังคมให้ได้ ซึ่งก็คือหลักอันเป็นสากลที่มาในรูปแบบของข้อจำกัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น หลักสุขอนามัย หลักสิทธิมนุษยชน หลักความเสมอภาค การเคารพซึ่งกันและกัน ฯลฯ ไม่ว่าเราจะยืนอยู่บนฐานคิดไหน เสรีนิยม อนุรักษ์นิยม เราก็อยู่ในสังคมเดียวกัน

เท่าที่อยู่ในวาระมา ในฐานะกรรมาธิการสภานิสิต ส่วนตัวผมคิดว่าทำได้มากพอสมควร หากวัดจากการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมอย่างเช่น คำประกาศการรับน้องของสภานิสิต และแนวทางการรับน้องของอบจ. ที่เกิดจากการคุยกันกับหลายๆ ฝ่าย ส่งผลให้เกิดความโปร่งใสของห้องเชียร์แต่ละคณะมากขึ้น หรือว่าจะเป็นการที่สโมสรนิสิตคณะทันตแพทยศาสตร์ ออกมารณรงค์ไม่ดื่มน้ำร่วมถังร่วมหลอดกันก็นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง และเป็นสิ่งที่ดี ส่วนแผนขั้นตอนต่อไปก็ต้องขึ้นอยู่กับโครงการต่างๆ และมติการประชุมของสมาชิกสภานิสิตในวาระต่อๆ ไป

ธรณ์เทพ: จุฬาฯ ณ ขณะนี้มีภาพลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยอนุรักษ์นิยมอย่างชัดแจ้ง แต่อย่างไรแนวคิดอนุรักษ์นิยมบางอย่างก็มีคุณค่า อาจมีแนวคิดบางอย่างเป็นปัญหาต่อวัฒนธรรมพลเมืองตามหลักสังคมประชาธิปไตยบ้างเท่านั้น ความเห็นต่างซึ่งนำมาสู่ความขัดแย้งทางค่านิยมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ยกตัวอย่างระบบโซตัส เท่าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภานิสิต ผมรู้สึกว่าบรรยากาศในประเด็นระบบโซตัสในมหาวิทยาลัยจางลงไปมากกว่าปีก่อนสมัยที่ผมเป็นนิสิตชั้นปีที่หนึ่ง แต่ก็ยังมีค่านิยมในระบบโซตัสที่ "ซ่อนเร้น" อยู่ในโครงสร้างทางวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยโดยทั่วไป โดยที่นิสิตอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ทำไมเราจึงต้องยกมือไหว้รุ่นพี่โดยอัตโนมัติ อาจยกมือไหว้รุ่นพี่บ่อยกว่าไหว้อาจารย์หากเดินเจอกันด้วยซ้ำ

หรือแม้แต่การเลือกตั้งสมาชิกสภานิสิตสมทบ (นิสิตชั้นปีที่ 1) เราจะพบว่าสมาชิกสภานิสิตสมทบกลับไม่สามารถร่วมลงมติในการประชุมสภานิสิตได้ด้วยซ้ำ ถึงแม้ว่าจะเป็นนิสิตจุฬาฯด้วยกัน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นหน้าที่ของสภานิสิตที่ต้องวางแผนผลักดันต่อไป

สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก เพราะเป็นปัญหาในระดับโครงสร้างวัฒนธรรมเลยทีเดียว เราจะพบว่าค่านิยมระบบโซตัสส่งเสริมแนวคิดอำนาจนิยมในสังคมมหาวิทยาลัยอย่างยิ่ง ซึ่งจะส่งผลถึงการกดทับสิทธิ และเสรีภาพทางการแสดงออกของนิสิตนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มนิสิตจุฬาฯรุ่นใหม่ที่ผมเจอจำนวนมากนั้นมีแนวคิดการใช้เหตุผลแบบเสรีนิยม และพร้อมที่จะออกจากกรอบจารีตประเพณีที่มักอธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้ การที่เราจะขับเคลื่อนสังคมมหาวิทยาลัยให้พัฒนาไปได้นั้น ก็ต้องการนิสิตจุฬาฯ ร่วมแรงขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งสภานิสิตจะต้องจัดสรรพื้นที่การแสดงออกให้แก่พวกเขาเหล่านี้ เพื่อร่วมกันส่งเสริมวัฒนธรรมพลเมืองของผู้ตื่นตัวทางการเมืองตามหลักค่านิยมประชาธิปไตย โดยส่วนตัวผมคาดหวังว่าสภานิสิตจะสามารถร่วมขับเคลื่อนกับนิสิตจุฬาฯโดยทั่วไป สู่สังคมที่ยอมรับความเห็นต่าง และอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของเหตุผลตามหลักวิญญูชน

บรรยากาศทางการเมืองภายในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร ทำให้เราทำงานยากขึ้นไหม

ชยางกูร: ผมคงบอกไม่ได้อย่างชัดเจนว่าบรรยากาศมันราบรื่นหรือมาคุขนาดไหน เพราะแล้วแต่ช่วงเวลา และกิจกรรมในช่วงนั้นๆ ด้วย แต่เท่าที่ผมสังเกต ด้วยกระแสแนวคิดของสมาชิกสภาฯ ส่วนใหญ่ที่ค่อนข้างใหม่ และไม่ตายตัว ต้องมาปะทะกับกระแสของระบบงานของมหาวิทยาลัยที่เป็นไปเชิงธรรมเนียมปฏิบัติ และมีแบบแผนตายตัว คงจะเรียกได้ว่ามีความทุลักทุเลบ้างบางที

ส่วนเรื่องการฉุดรั้งมักจะมาจากปัจจัยสนับสนุนจากมหาลัยที่มีให้น้อยเสียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นอำนาจต่อรอง พื้นที่สำหรับจัดกิจกรรม และอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งงบประมาณต่อปีเอง ส่วนนี้ผมคิดว่าน่าจะมีผลมากกว่าบรรยากาศทางการเมืองภายในมหาวิทยาลัยเสียอีก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฎีกาเลื่อนอ่านคำพิพากษา 85 การ์ดพันธมิตรฯ ล้อม NBT ปี 51 เหตุจำเลยป่วยคล้ายอัมพาต

Posted: 24 Aug 2017 11:21 PM PDT

ทนายยื่นคำร้องศาลขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีการ์ดพันธมิตรฯ-ผู้ชุมนุมบุกล้อมเอ็นบีที เมื่อปี 51 เหตุจำเลย มีอาการป่วยคล้ายอัมพาต ล่าสุดศาลเลื่อนเป็นวันที่ 12 ต.ค.นี้ 

25 ส.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (25 ส.ค.60) พวงทิพย์ บุญสนอง ทีมทนายความคดีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) บุกรุกอาคารสำนักงานสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีเมื่อปี 2551 เปิดเผยว่า ตามที่ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในวันนี้ (25 ส.ค.) เวลา 09.00 น. จะยื่นคำร้องต่อศาลขอเลื่อนนัดการฟังคำพิพากษาออกไปก่อนเนื่องจาก ประเสริฐ ด้วงทิพย์ จำเลยที่ 37 ป่วยมีอาการคล้ายเป็นอัมพาต โดยจะเลื่อนหรือไม่นั้นเป็นดุลพินิจของศาลต่อไป

ล่าสุดเมื่อเวลา 11.46 น. นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ หนึ่งในจำเลยคดีนี้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า เลื่อนเป็นวันที่ 12 ต.ค.นี้ เนื่องจาก คนมาไม่ครบ

รายงานข่าวยังระบุว่า คดีนี้ในชั้นอุทธรณ์จำเลยได้รับการประกันตัว หลังยื่นหลักทรัพย์วงเงินคนละ 200,000 บาท
       
สำหรับคดีนี้อัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ธเนศร์ คำชุม กับพวกซึ่งเป็นกลุ่มนักรบศรีวิชัย การ์ด พธม., นนัสเซอร์ ยีหมะ อดีตหัวหน้าการ์ด คปท. และกลุ่มผู้ชุมนุมรวม 85 คน เป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อ.4486/2551 ต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 51 ความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, ร่วมกันไม่มีเหตุอันสมควรเข้าไปหรือซ่อนตัวในเคหสถาน หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยมีอาวุธในเวลากลางคืน, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธ, ร่วมกันพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210, 215, 309, 358, 364, 365, 371, พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490, พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2545 และ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2535 จากกรณีระหว่างวันที่ 22-25 ส.ค. 51 จำเลยทั้ง 82 คนกับอีก 3 คนซึ่งเป็นเยาวชน ร่วมกันบุกรุกอาคารสำนักงานสถานี NBT พร้อมพกอาวุธจำนวนมาก จากนั้นจำเลยได้ร่วมกันทำลายทรัพย์สินรวมค่าเสียหายทั้งสิ้นกว่า 6 แสนบาท ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของทางราชการ โดยจำเลยที่ 1 มีเครื่องรับและส่งวิทยุคมนาคม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่จำเลยที่ 39, 80 มีใบกระท่อม ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 รวมจำนวน 18 ใบไว้ในครอบครองจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
       
โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 53 ให้จำคุก ธเนศร์ คำชุม จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี 18 เดือน, ชนินทร์ อินทร์พรหม จำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี 6 เดือนและปรับ 500 บาท ส่วนจำเลยที่ 3-29, 31-38, 40, 41, 43-46, 48-79, 82 จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน, เมธี อู่ทอง จำเลยที่ 24 จำคุก 1 ปี 12 เดือน และจรัส วีระพันธ์ จำเลยที่ 39 กับธนพล แก้วเชิด ที่ 80 จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือนและปรับ 500 บาท และจำเลยที่ 30, 47, 81 จำคุกคนละ 12 เดือน ส่วนจำเลยที่ 83-85 จำคุกคนละ 9 เดือน ซึ่งระหว่างกระทำผิดจำเลยที่ 30, 47, 81 อายุยังไม่เกิน 20 ปี และจำเลยที่ 83-85 ยังเป็นเยาวชน และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลจึงเห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษจำเลย 30, 47, 81, 83, 84, 85 มีกำหนด 2 ปี และให้จำเลยรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 ปี

ต่อมาโจทก์-จำเลยยื่นอุทธรณ์ ซึ่งได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 57 เห็นว่าการกระทำของจำเลยถือเป็นการกระทำกรรมเดียวต่อเนื่องกันซึ่งผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษบทหนักสุดฐานบุกรุกที่แม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องความผิดดังกล่าว แต่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจนำมาวินิจฉัยได้ตามกฎหมาย จึงพิพากษาแก้ปรับบทลงโทษและอัตราโทษใหม่เป็นว่า ให้จำคุกธเนศร์ คำชุม จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 8 เดือน ,เมธี อู่ทอง จำเลยที่ 24 จำคุก 8 เดือน ,จำเลยที่ 2-23, 25-29, 31-41, 43- 46, 48-80, 82 จำคุกคนละ 6 เดือนและเมื่อรวมโทษปรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ชนินทร์ อินทร์พรหม จำเลยที่ 2, จรัส วีระพันธ์ จำเลยที่ 39 กับธนพล แก้วเชิด ที่ 80 จึงเป็นจำคุกคนละ 6 เดือนและปรับ 500 บาท ส่วนอัมรินทร์ ยี่เฮง จำเลยที่ 48 ให้บวกโทษคดีอื่นกับคดีนี้จึงเป็นจำคุก 9 เดือน และประดิษฐ์ คงช่วย จำเลยที่ 70 ก็เช่นกันจึงจำคุกทั้งสิ้น 8 เดือน สำหรับจำเลยที่ 30, 47, 81 จำคุกคนละ 4 เดือน, จำเลยที่ 83-85 จำคุกคนละ 3 เดือนขณะกระทำผิดทั้งหกเป็นเยาวชน จึงเห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ ส่วนความผิดฐานซ่องโจรนั้นให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต่อมายังได้มีการยื่นฎีกา ซึ่งศาลนัดอ่านคำพิพากษาในวันนี้

เรียบเรียงจาก : ผู้จัดการออนไลน์และเฟซบุ๊ก Nitirat Zapatista

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยิ่งลักษณ์ ขอศาลเลื่อนพิพากษาระบุน้ำในหูไม่เท่ากัน ศาลไม่เชื่อออกหมายจับ+ริบเงินประกัน

Posted: 24 Aug 2017 08:48 PM PDT

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่งทนายความยื่นคำร้องต่อศาล ขอเลื่อนอ่านคำพิพากษาคดีจำนำข้าว ระบุป่วยกระทันหันมีอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ปวดศีรษะอย่างรุนแรง แต่ศาลเห็นว่าไม่มีใบรับรองแพทย์ และพฤติการณ์มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยหลบหนี จึงออกหมายจับ และให้ปรับนายประกันเต็มสัญญา (30 ล้าน) นัดฟังคำพิพากษาอีกครั้ง 27 ก.ย.

25 ส.ค. 2560 เวลา 09.53 น. มีรายงานข่าวว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ผู้ตกเป็นจำเลยในคดีปล่อยปละละเลยไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ไม่ได้เดินทางไปยัง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยระบุเหตุผลว่ามีอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน โดยศาลได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป เป็นวันที่ 27 ก.ย. 2560

โดยในวันนี้ทีมทนายความของยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลว่าได้รับแจ้งว่า จำเลยป่วยด้วยอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน มีอาการวิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ จึงขอให้ศาลเลือนอ่านคำพิพากษาออกไป

โจทก์แถลงค้านว่า ไม่เชื่อว่าจำเลยป่วยจริงเนื่องจากไม่มีใบรับรองเเพทย์ และอาการป่วยที่อ้างไม่มีอาการถึงขั้นที่จะมาศาลไม่ได้

ศาลวิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ไม่เชื่อว่าจำเลยป่วยจนมาศาลไม่ได้ พฤติการณ์มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยหลบหนี จึงได้ออกหมายจับ และให้ปรับนายประกันเต็มสัญญา

สำหรับบรรยากาศที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ประชาชนที่เดินทางไปให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ บางส่วนได้ทราบข่าว และเดินทางกลับแล้ว แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่ยังไม่ทราบข่าว และยังไม่เดินทางกลับ ขณะที่ฟ้าเริ่มครึ้มดูคล้ายว่าฝนกำลังจะตก

หมายจับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2560 ความเคลื่อนไหวก่อนการตัดสินของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีโครงการรับจำนำข้าว ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วันที่ 25 ส.ค.นี้ ล่าสุดวันนี้ (24 ส.ค.60) เมื่อเวลา 10.55 น. ที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Yingluck Shinawatra ถึงผู้ที่จะเดินทางมาให้กำลังใจในวันพรุ่งนี้ว่า ไม่ต้องเดินทางมาศาลฯ และขอให้ทุกท่านให้กำลังใจตนโดยการรับฟังข่าวสารอยู่ที่บ้าน เพื่อความไม่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาอันไม่คาดคิดจากผู้ที่ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง และไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายอันอาจเกิดจากมือที่สาม

"ดิฉันขออนุญาตกล่าวถึงวันฟังคำพิพากษาคดีของดิฉันที่ศาลฎีกาฯ ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ดิฉันทราบถึงความห่วงใย และความเมตตา ของพี่น้องประชาชนที่รับรู้ถึงความทุกข์ร้อน และความยากลำบากที่ดิฉันประสบอยู่ แต่ดิฉันเห็นว่าการเดินทางมาศาลเพื่อให้กำลังใจดิฉันนั้น ครั้งนี้เราจะไม่ได้พบปะ เห็นหน้า หรือสื่อความรู้สึกถึงกันได้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ด้วยเหตุที่ฝ่ายความมั่นคงได้จัดระเบียบของผู้ที่จะเดินทางมาศาลผิดไปจากทุกครั้ง ทั้งที่เจตนาของพวกเราทุกคนเพียงต้องการมาให้กำลังใจซึ่งกันและกันเท่านั้น

ทั้งนี้ ดิฉันมีความห่วงใยต่อทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องประชาชน หรือแฟนเพจ และไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายอันอาจเกิดจากมือที่สาม ดังเช่นที่ฝ่ายความมั่นคงให้เหตุผลมาโดยตลอด ดิฉันจึงขอให้ทุกท่านที่ห่วงใย และต้องการให้กำลังใจดิฉัน ไม่ต้องเดินทางมาศาลฯในวันพรุ่งนี้ และขอให้ทุกท่านให้กำลังใจดิฉันโดยการรับฟังข่าวสารอยู่ที่บ้าน เพื่อความไม่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาอันไม่คาดคิดจากผู้ที่ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง และต่อพวกเราทุกคน ขอขอบคุณทุกกำลังใจค่ะ" ยิ่งลักษณ์ โพสต์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

(ภาพ)ประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ด้านตำรวจคุมเข้มห้ามใช้เครื่องมือสือสาร

Posted: 24 Aug 2017 06:51 PM PDT

25 ส.ค. 2560 ที่บริเวณศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ ได้มีประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ในข้อหากระทำความผิดต่อตำแหน่งราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ประกอบกับฐานความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 จากกรณีปล่อยปละละเลยไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวซึ่งทำให้รัฐได้รับความเสียหาย

เวลา 08.45 น. ยังไม่มีรายงานว่า ยิ่งลักษณ์ เดินทางออกจากบ้านพัก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น