โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เมื่อเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง ทวงถามความจริงให้บิลลี่และชัยภูมิ

Posted: 27 Aug 2017 08:32 AM PDT

"มันไม่ควรจะเกิดขึ้น และขอให้เคสนี้เป็นเคสสุดท้าย เพราะเราทุกคนนั้นเป็นมนุษย์ ที่ต้องการความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นคนพื้นราบหรือ ชนเผ่าใดๆ ก็ตาม" เสียงหนึ่งจากเยาวชนที่ร่วมงานสมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทย ต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับชัยภูมิ ป่าแส และบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ

"ฝันของเธอ เราจะร่วมกันสานต่อ...จงภูมิใจในตัวตน แม้จะไร้สัญชาติ"

"บิลลี่ หายไปไหน..."

"เด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการเรียนรู้ ส่งต่อและเผยแพร่ วิถีวัฒนธรรมได้อย่างภาคภูมิใจ สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างสันติ"

ป้ายภาพของจะอุ๊ ชัยภูมิ ป่าแส กับภาพของบิลลี่  และข้อความนั้น ตั้งเด่นอยู่หน้าซุ้มกิจกรรมของเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ในงาน สมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทยและวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล เพื่อทบทวนปฎิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องประชุม 40 ปี อาคาร 4 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7-8 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ผู้เข้าร่วมงานสนใจและเข้ามาดูกันเป็นระยะๆ

กิจกรรมในวันนั้น เครือข่ายเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองฯ ซึ่งมีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ ม้ง ลาหู ดาระอั้ง กะเหรี่ยง เป็นต้น ทุกคนได้ร่วมกันวาดรูปบิลลี่และชัยภูมิลงในผืนผ้าดิบขนาดใหญ่และยาวหลายเมตร พร้อมกับวาดเส้นทางที่โค้งทอดยาว ระหว่างทางนั้น ทุกคนช่วยกันเขียนบันทึกเรื่องราวชีวิต ความจริง ความฝันของบิลลี่ และชัยภูมิลงบนผืนผ้า

ในขณะเดียวกัน ทุกคนมองเห็น มึนอ ภรรยาของบิลลี่ นั่งนิ่งจ้องมองรูปวาดของน้องๆ เยาวชนชนเผ่าที่ร่วมกันวาดรูปของบิลลี่อยู่ตรงนั้นอย่างเงียบๆ

กิจกรรมครั้งนี้ มีการล้อมวงสนทนาแลกเปลี่ยนเพื่อสรุป "บทเรียนจากกรณีบิลลี่และชัยภูมิ สู่การปกป้องนักสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย"  ซึ่งจัดโดย: เครือข่ายติดตามเครือข่ายติดตามความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส และกองเลขานุการเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

และนี่คือส่วนหนึ่งของเสียงเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง ที่ได้ร่วมกันพูดคุยกัน

"เรื่องราวของบิลลี่และชัยภูมิ ไม่ควรจะเกิดขึ้นแบบนี้กับคนทำงานจิตอาสา แต่กลับถูกละเมิด เพราะฉะนั้นเราจะต้องรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้อสิทธิ ต้องสร้างแกนนำ ที่สามารถเข้าเจรจาพูดคุยกับรัฐได้"

"เราจำเป็นต้องมีความรู้ทางกฎหมาย"

"อยากให้ภาครัฐ มีกระบวนการยุติธรรมที่มีความยุติธรรมอย่างแท้จริง"

"มันไม่ควรจะเกิดขึ้น และขอให้เคสนี้เป็นเคสสุดท้าย เพราะเราทุกคนนั้นเป็นมนุษย์ ที่ต้องการความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นคนพื้นราบหรือ ชนเผ่าใดๆ ก็ตาม"

"อยากให้มีหน่วยงานนอก ที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ เข้าไปทำคดีบิลลี่ และคดีชัยภูมิ โดยต้องเป็นผู้ที่เข้าใจความเป็นชนเผ่าของเรา เพื่อให้ความเป็นธรรมและเป็นกลาง"

ในขณะที่ Prabindra Shakya ตัวแทนจาก องค์กรชนพื้นเมืองในเอเชีย หรือ Asia Indigenous Peoples Pact (AIPP) ชาวเนปาล ได้นั่งล้อมวงกับเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมืองด้วย ก็ได้บอกเล่าว่า ตนเองก็เป็นชนเผ่าพื้นเมืองชนเผ่าหนึ่งที่เนปาล  และก็ไม่ได้รู้จักกับบิลลี่และชัยภูมิ เป็นการส่วนตัว แต่สิ่งที่เราเจอและเผชิญอยู่นี้ ก็คล้ายๆ ไม่ต่างกัน เพราะว่า บิลลี่และชัยภูมิ ทั้งสองคน ต่างก็มีครอบครัว เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นผู้นำในชุมชน โดยเฉพาะกรณีบิลลี่นั้น ตนเคยเจอบิลลี่ครั้งหนึ่งในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งถ้าหากย้อนเวลากลับไปได้ ก็อยากใช้เวลาพูดคุยกับบิลลี่ อยู่กับบิลลี่ให้นานมากกว่านี้

"ในฐานะที่ผมทำงานอยู่องค์กรชนพื้นเมืองในเอเชีย หรือ AIPP ก็ขอยืนยันว่าเราจะทำงานเพื่อสิทธิชนเผ่าของเราต่อไป อย่างกรณีบิลลี่ ตอนนี้เราก็ได้ทำข้อมูลเพื่อการค้นหาความจริงกันอยู่ เพราะฉะนั้น การที่เราจะสู้กับอำนาจ เราจะต้องร่วมกันทำงาน เป็นกลุ่ม เป็นเครือข่ายขยายกันไปออกไป" Prabindra Shakya กล่าวในตอนท้าย

ในขณะที่กลุ่มเครือข่ายเยาวชนกำลังวาดรูปบนแผ่นผ้า และล้อมวงคุยกันอยู่นั้น ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ เดินถือกล้องถ่ายรูปภายในซุ้มกิจกรรมของเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง เจ้าหน้าที่บางคน ยืนจ้องถ่ายรูปป้ายบิลลี่และชัยภูมิด้วยสีหน้าจริงจัง เจ้าหน้าที่คนหนึ่งแอบกระซิบถามว่ามีแฟนบิลลี่มางานนี้ด้วยใช่ไหม พอบอกได้ไหมว่าคนไหน...ในขณะที่มึนอ ภรรยาของบิลลี่ ยืนอยู่ใกล้ๆ นั้นด้วยสีหน้าเรียบเฉย...

อังคณา นีละไพจิตร กรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ก็กล่าวถึงกรณีของบิลลี่และชัยภูมิ ว่า ที่ผ่านมา ตนเคยเข้าไปคุยกับนายกรัฐมนตรี ก็บอกว่ารัฐบาลสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่เมื่อมาดูกรณีของบิลลี่ และกรณีจะอุ๊ ชัยภูมิ เราก็ยังพบว่า รัฐยังพยายามจะให้กลุ่มชาติพันธุ์เป็นคนไม่ดี ยกตัวอย่าง กรณีของบิลลี่ เจ้าหน้าที่รัฐก็พยายามจะกล่าวหาว่าบิลลี่นั้นเป็นคนขโมยน้ำผึ้งจากป่า หรือกรณีจะอุ๊ ชัยภูมิ ก็มีความพยายามจะโยงให้เขาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด  

"หรือแม้กระทั่งเรื่องการคุ้มครองสิทธิ ช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ทำงานอยู่ ยกตัวอย่าง กรณีพี่ชายของชัยภูมิ ได้ยื่นขอการคุ้มครองสิทธิแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการคุ้มครอง หรือกรณีบิลลี่ ก็คุ้มครอง เฉพาะในหมู่บ้านเท่านั้นเอง สรุป ทุกคนก็อยู่อย่างมีความเสี่ยง เพราะฉะนั้น เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เลย ถ้ารัฐและเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่อดทน ไม่รับฟังเสียงประชาชน ขอให้เลิกหวาดระแวงชาวบ้านได้แล้ว และขอให้ปรับเรื่องทัศนคติไม่ดีกับพี่น้องชนเผ่ากันใหม่ ถ้าอยากร่วมกันแก้ปัญหา รัฐต้องไว้ใจประชาชน"

ในช่วงท้ายของกิจกรรม น้องๆ เครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมืองฯ ได้ร่วมกันเดินถือป้ายผ้าที่ร่วมกันเขียนถึงบิลลี่ และชัยภูมิ เดินรณรงค์ไปรอบๆ พื้นที่การประชุมเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับรู้เรื่องราวการนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ พร้อมกับน้องเครือข่ายเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ต่างก็ยืนยันที่จะร่วมกันสานต่อเจตนารมณ์ของบิลลี่ และชัยภูมิกันต่อไป

แม้ว่าเหตุการณ์และเรื่องราวของพวกเขาทั้งสองคนนั้น ไม่ได้รับความคุ้มครองเหมือนกับที่ประเทศไทย ได้เข้าร่วมลงนามในปฏิญญาสหประชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง เอาไว้เลยว่า...

"ชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิที่จะได้รับความพึงพอใจอย่างเต็มที่ ในสิทธิมนุษยชนทั้งปวง และเสรีภาพขั้นพื้นฐานในฐานะส่วนรวมและปัจเจกบุคคล ตามที่ได้รับรองไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ ปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ"

(ปฎิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง มาตรา 1)

"สิทธิต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับในปฏิญญานี้ ถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการอยู่รอด ความมีศักดิ์ศรีและความเป็นอยู่ที่ดีของชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก"

(ปฎิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง มาตรา 43)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฮังการีประกาศเรียกทูตกลับ ไม่พอใจทูตเนเธอร์แลนด์วิจารณ์เป็น 'พวกขี้แพ้'

Posted: 27 Aug 2017 05:59 AM PDT

กลายเป็น "ดราม่า" การทูตในยุโรป เมื่อฮังการีไม่พอใจคำวิจารณ์จากทูตของเนเธอร์แลนด์จึงสั่งถอนเอคอัครราชทูตของประเทศตนออกจากเนเธอร์แลนด์และปิดกั้นไม่ให้ทูตเนเธอร์แลนด์ที่วิจารณ์พวกเขาเข้าไปในสถานที่ของรัฐอีก โดยที่ก่อนหน้านี้ทูตเนเธอร์แลนด์เคยวิจารณ์รัฐบาลฮังการีไว้ว่าเป็นพวก "ขี้แพ้ในโลกาภิวัตน์" "มุ่งสู่แนวทางศาสนาจัด" "นิยมสร้างศัตรูคล้ายพวกไอซิส"

 
27 ส.ค. 2560 ก่อนที่เขาจะเกษียณอายุราชการหลังจากประจำอยู่ในบูดาเปสต์มานาน 4 ปี เกฮุส เซลเทมา เอคอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำฮังการีกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อนิตยสาร 168 Ora ที่เผยแพร่ในฮังการีเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมาเปรียบเทียบว่ารัฐบาลฮังการีทำตัวเหมือนเป็นผู้ก่อการร้าย
 
"พวกนี้เป็นกลุ่มคนขี้แพ้แห่งโลกาภิวัตน์ ด้วยเหตุผลนี้เองพวกนี้ถึงหันไปสู่แนวทางหัวรุนแรงและคลั่งไคล้ศาสนา พวกมันทำให้พวกนี้รู้สึกมั่นคงในตัวเองได้ แล้วพวกนี้ก็สร้างศัตรูด้วยหลักเดียวกันกับที่รัฐบาลฮังการีใช้" เซลเทมากล่าวในการให้สัมภาษณ์
 
เซลเทมากล่าวอีกว่ารัฐบาลฮังการียังคงมองโลกแบบมาร์คซิสต์ยุคเก่าและมองทุกอย่าง "เป็นขาวเป็นดำ" มีแนวคิดแบบ "ถ้าคุณไม่เป็นพวกเราคุณก็เป็นศัตรูเรา" "ทุกคนมองหาศัตรูอยู่ตลอดเวลา" และ "คนที่ไม่เห็นด้วยกับผู้มีอำนาจจะถูกมองว่าเป็นศัตรูทันที"
 
ในบทสัมภาษณ์เดียวกันเซลเทมายังพูดถึงประเด็นเรื่องการกล่าวโจมตีจอร์จ โซรอส นักการเงินผู้เกิดในฮังการี และปัจจุบันอยู่สหรัฐฯ ในแง่ที่เขามักจะถูกรัฐบาลฮังการีลงทุนลงแรงทำให้กลายเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของประเทศ เซลเทมากล่าวว่าแม้โซอสจะน่าถูกวิจารณ์ในหลายประเด็นรวมถึงประเด็นการเก็งกำไรของเขา แต่โซรอสก็มีแง่ดีในด้านที่เขาลงทุนกับการเสริมสร้างประชาธิปไตยและประชาสังคม ทำให้การที่รัฐบาลฮังการีโจมตีโซรอสอย่างหนักและอย่างเกรี้ยวกราดถูกมองว่าแปลกประหลาดในสายตาคนต่างประเทศ
 
นอกจากนี้ในบทสัมภาษณ์ของเซลเทมายังพูดถึงประเด็นทัศนคติของรัฐบาลฮังการีต่อผู้ลี้ภัย เซลเทมากล่าวว่าก่อนอื่นต้องแยกแยะให้ออกระหว่างผู้ลี้ภัยกับผู้อพยพด้วยสาเหตุทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลฮังการีดูจะแยกแยะไม่ได้และมองทุกคนเป็นผู้อพยพหมดไม่มีการแยกว่าใครเป็นผู้ลี้ภัยเลย ส่วนที่การรณรงค์ต่อต้านผู้อพยพของรัฐบาลฮังการีได้ผลนั้นเป็นเพราะว่า "ถ้าหากอันตรายอยู่ไกลออกไปมันจะดูใหญ่โตขึ้น"
 
เซลเทมายังวิจารณ์ป้ายโฆษณาต่อต้านสหภาพยุโรปของรัฐบาลฮังการีว่า เป็นเรื่องไม่จริงถ้าจะมองว่ามีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากเงินของสหภาพยุโรป พวกเขาต้องเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาที่อียูกำลังเผชิญด้วยเพราะอียูเป็นกลุ่มที่ให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกต่างๆ เซลเทมามองว่านี่เป็นเพียงแค่ "โฆษณาชวนเชื่อราคาถูก" เท่านั้นและชาวฮังการีส่วนใหญ่ก็รู้ดี
 
หลังจากที่ถูกวิจารณ์หนักเช่นนี้ก็ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสหภาพยุโรปด้วยกันเอง โดยที่ทางการฮังการีประกาศเรียกตัวเอคอัครราชทูตของพวกเขาที่ประจำกรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์กลับประเทศ นอกจากนี้รัฐมนตรีต่างประเทศของฮังการี ปีแตร์ ซียาโต ยังประกาศห้ามไม่ให้เซลเทมากลับเข้าสู่กระทรวงหรือสถาบันการเมืองของรัฐแห่งใดก็ตามในฮังการี อีกทั้งโฆษกรัฐบาลฮังการียังกล่าวโต้ตอบว่าคำให้สัมภาษณ์ของทูตเนเธอร์แลนด์นั้นเป็นคำพูดให้ร้ายและไม่เป็นความจริง
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Hungary severs ambassadorial-level ties with Netherlands, Budapest Business Journal, 25-08-2017
 
Hungary suspends diplomatic ties with the Netherlands, DW, 25.08.2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #172 แต้มบุญและครูบาอุ๊กแก๊ส

Posted: 27 Aug 2017 05:27 AM PDT

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ คำ ผกา พูดคุยกับ ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว ผู้เขียนวิทยานิพนธ์หัวข้อ การศึกษากระแส "ครูบาคติใหม่" ในภาคเหนือของไทย พุทธทศวรรษ 2530-2550 โดยณัฐพงศ์นำเสนอปรากฏการณ์ของ "ครูบาคติใหม่" หรือที่ถูกเรียกว่า "ครูบาอุ๊กแก๊ส" (บ่มแก๊ส) ซึ่งเป็นกลุ่มพระสงฆ์รุ่นใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือ ที่นำภาพลักษณ์ของครูบาศรีวิชัยเฉพาะด้านที่ถูกผลิตซ้ำจนกลายเป็นรับรู้หลัก มาใช้เป็นเอกลักษณ์ในการนำเสนอตัวเอง โดยที่ไม่ได้พูดถึงบทบาทเรื่องการต่อต้านการควบคุมคณะสงฆ์โดยรัฐบาลกลาง ภาพลักษณ์ของครูบาคติใหม่เหล่านี้จึงเป็นเรื่องของการนุ่งห่มแบบครูบาศรีวิชัย การเข้านิโรธกรรม การเป็นตนบุญ เป็นนักพัฒนา ผู้สร้างและบูรณะพุทธสถานที่สำคัญ

พิธีกรรมที่ตีความใหม่ ที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน เช่น เดิมมีคติสร้างพระพุทธรูป "พระเจ้าทันใจ" ก็มีการสร้าง "พระเจ้าโคตรทันใจ" หรือคติสร้าง "พระเจ้าอินสาน" ที่ใช้ไม้ไผ่สานเป็นองค์พระพุทธรูปก็มีการตั้งชื่อใหม่เป็น "พระเจ้ารวยมหาศาล"

ในช่วงท้ายคำ ผกา กล่าวถึงภาพลักษณ์ที่น่าสนใจของครูบาคติใหม่ว่า ในขณะที่ภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ในอดีตจะมีลักษณะที่ทำให้ญาติโยมรู้สึกเกรงขาม แต่ครูบาคติใหม่ ดึงดูดญาติโยมได้มากด้วยภาพลักษณ์ด้านเมตตา รวมทั้งใช้ภาษากายแบบที่พบในพระสงฆ์ฝ่ายมหายาน เช่น กรณีที่ครูบาคติใหม่บางรูปใช้ศีรษะส่วนหน้าผากชนกับหน้าผากของญาติโยม การประคอง การจับมือ นัยว่าเป็นการเผื่อแผ่ความเมตตา

ณัฐพงศ์กล่าวด้วยว่า นอกจากภาพลักษณ์ของครูบาคติใหม่แล้ว คณะศิษยานุศิษย์ยังใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเครื่องมือในการนำเสนอาภาพลักษณ์ของครูบาที่พวกเขาศรัทธา ทั้งทีมงานมืออาชีพมาช่วยจัดงานพิธีทางศาสนา การบันทึกภาพและวิดีโอเพื่อการนำเสนอ การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารกับญาติธรรมด้วย

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ศรีสุวรรณ' เตรียมยื่น ป.ป.ช. สอบ 'ประวิตร-จักรทิพย์' ปล่อย 'ยิ่งลักษณ์' หนี

Posted: 27 Aug 2017 01:05 AM PDT

'ศรีสุวรรณ' เตรียมยื่น ป.ป.ช.สอบ 'พล.อ.ประวิตร' และ 'พล.ต.อ.จักรทิพย์' ปล่อยปละละเลยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเลยในคดีอาญาอุกฉกรรจ์ หลบหนีออกนอกประเทศ

 
27 ส.ค.2560 ThaiPBS รายงานว่านายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวถึงกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังอ้างว่าป่วย ไม่มาฟังคำพิพากษาของศาล คดีปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว และมีรายงานว่าหลบหนีออกนอกประเทศไทยแล้วว่า
 
"ก่อนหน้านี้เป็นที่ทราบกันดีว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกฝ่ายความมั่นคง ทั้งทหาร และตำรวจ เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลา แต่เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หายตัวไป กลับไม่มีใครทราบว่าหลบหนีไปทางไหนและเมื่อไหร่" นายศรีสุวรรณ กล่าว
 
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นความบกพร่องและเป็นความผิดฐานละเลยการปฎิบัติหน้าที่และเข้าข่าย "ทุจริตต่อหน้าที่" ตามกฎหมาย ป.ป.ช.ของฝ่ายความมั่นคง จึงขอให้ ป.ป.ช.สอบสวนเพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่างระบบราชการไทย
 
ดังนั้นในวันพรุ่งนี้ (28 ส.ค.) ตนจะเดินทางไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ให้สอบสวน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฐานเกียร์ว่าง หรือ ปล่อยปละละเลยให้จำเลยในคดีอาญาอุกฉกรรจ์ หลบหนีออกนอกประเทศ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.อุตสาหกรรม แจงเจรจาค่าเสียหาย 'เหมืองอัครา' ยังไม่ได้ข้อยุติ

Posted: 27 Aug 2017 12:56 AM PDT

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมแจงผู้แทนรัฐบาลอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทคิงส์เกต ประเทศออสเตรีเลียผู้ถือหุ้นใหญ่เหมืองทองอัครา ยังไม่มีข้อยุติใด ๆ กรณีผลกระทบจาก ม.44 ระงับเหมืองทองคำชั่วคราว

 
27 ส.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่าการใช้ มาตรา 44 ออกคำสั่งโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 72/2559  เป็นการระงับการประกอบกิจการของเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศเป็นการชั่วคราว เป็นกฎหมายที่ออกมาคุ้มครองสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชนชาวไทยเป็นสำคัญ เนื่องจากมีการร้องเรียนและคัดค้านว่าการประกอบการเหมืองแร่ทองคำก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนจนเกิดความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่โครงการทำเหมืองแร่ทองคำหลายแห่ง
 
สำหรับกรณีของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ไม่ได้เป็นการยึดสิทธิ์การทำเหมืองของนักลงทุนแต่อย่างใด แต่เป็นการระงับการต่อใบอนุญาตประกอบการเพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของการทำเหมืองเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพความปลอดภัยและผลกระทบต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ส่วนสิทธิการเรียกร้องค่าเสียหายนั้น เป็นสิทธิตามที่รัฐบาลไทยกับออสเตรเลียได้ตกลงกันในกรอบการค้าเสรี ซึ่งข้อเรียกร้องจะยุติอย่างไร ยังไม่ทราบเพราะอยู่ระหว่างการเจรจา  ทั้งนี้ทีมเจรจาของประเทศไทยได้ดำเนินการพิจารณากำหนดท่าทีโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ ผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม และความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยมีข้อผูกพันอยู่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข้อยุติใด ๆ ทั้งสิ้นจากการเจรจาตามที่เป็นข่าวในสื่อบางแห่งในขณะนี้
 
ทั้งนี้ หากในอนาคต แม้ว่าบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท อัคราฯ จะยื่นฟ้องอนุญาโตตุลาการ การดำเนินการต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน ไม่สามารถยุติได้ง่าย ๆ และแม้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย จะมีผลเหนือกฎหมายภายในประเทศของทั้งสองฝ่าย แต่การพิจารณาจะใช้ระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ จะพิจารณาเหตุผลความจำเป็นในการดำเนินการของคู่ภาคีเป็นสำคัญ  ซึ่งระหว่างนี้ทีมเจรจาของประเทศไทน ก็ยังดำเนินการเจรจาต่อไป เพื่อหาข้อยุติที่เหมาะสมทั้งสองฝ่าย และเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างถึงที่สุด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ‘ยิ่งลักษณ์’ หนี เป็นการถอดชนวนความขัดแย้งรุนแรงเฉพาะหน้า

Posted: 27 Aug 2017 12:31 AM PDT

'อนุสรณ์ ธรรมใจ' ชี้ผลการตัดสินคดีรับจำนำข้าวมีความชัดเจนในส่วนของการขายข้าวจีทูจีทำให้ระบบนิติรัฐเข้มแข็งขึ้น ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในอนาคตน่าจะลดลงบ้าง การหนีศาลอาจเท่ากับการถอดชนวนความขัดแย้งรุนแรงเฉพาะหน้าได้ ลดความเสี่ยงจากวิกฤตความขัดแย้งแต่ปรากฏการณ์ที่ เกิดขึ้นสะท้อนถึง 'ตุลาภิวัฒน์' อย่างชัดเจน

 
27 ส.ค. 2560 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวให้ความเห็นผลกระทบจากการตัดสินคดีรับจำนำข้าว ว่า ผลการตัดสินคดีรับจำนำข้าวมีความชัดเจนในส่วนของการขายข้าวจีทูจี (กรณีคุณบุญทรงและพวก) ทำให้ระบบนิติรัฐเข้มแข็งขึ้น ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในอนาคตน่าจะลดลงบ้าง นักการเมืองต้องโปร่งใสมากขึ้น ตอกย้ำถึงกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ขณะที่ความซับซ้อนของความขัดแย้งหลักระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายประชาธิปไตยยังดำเนินต่อไปท่ามกลางความขัดแย้งในมิติอื่นๆ ความขัดแย้งจะจัดการได้ดีที่สุดภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีคุณภาพและมีความเป็นธรรมอย่างแท้จริง ความเป็นกลาง เป็นธรรมและอุเบกขาของศาลจะเป็นหลักประกันสู่สันติสุขอย่างยั่งยืน 
 
ความชัดเจนของการตัดสินคดีในระดับหนึ่ง และ มีความเรียบร้อย (ไม่มีเหตุรุนแรง) ในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว เป็นผลบวกต่อการลงทุนในตลาดการเงินและผลดีต่อภาคการลงทุนซึ่งยังกังวลกับความไม่แน่นอนทางการเมือง เงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นอีก ตลาดหุ้นน่าจะฟื้นตัว เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะขยายตัวได้ในระดับเดียวกับครึ่งปีแรก โดยจะมีการชะลอตัวในไตรมาสสามเล็กน้อยจากปัญหาน้ำท่วมในภาคอีสานและปัญหาการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเร่งตัวขึ้นช่วงปลายปีโดยเฉพาะในภาคการลงทุนและการท่องเที่ยว อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีน่าจะมีโอกาสเกิน 4% โดยมีช่วงของการคาดการณ์อัตราการเติบโตของจีดีพีอยู่ที่ 3.6-4.2% 
 
กรณีอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่ไปฟังคำพิพากษาของศาลนั้น ในเบื้องต้นตนไม่เชื่อว่า อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะหนีศาล เพราะไม่ผลดีต่อใครเลย และแสดงถึงความไม่รับผิดชอบทางการเมืองจากการดำเนินนโยบายรับซื้อข้าว 15,000 บาท ดังกล่าว และจะทำให้การดำเนินนโยบายสาธารณะเพื่อประชาชนในบางลักษณะประสบความยากลำบากในอนาคต การหนีศาลอาจสะท้อนถึงความไม่มั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากระบบศาลยุติธรรมของไทยและไม่มั่นใจต่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพในที่คุมขังเพราะที่ผ่านผู้ต้องหาในหลายรายได้เสียชีวิตอย่างน่าสงสัย ขณะเดียวกันการหนีศาลอาจเท่ากับการถอดชนวนความขัดแย้งรุนแรงเฉพาะหน้าได้ การปล่อยให้หนีของ คสช. โดยที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินจึงเป็นลดความเสี่ยงจากวิกฤติความขัดแย้งในเรื่องดังกล่าว แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึง "ตุลาภิวัฒน์" อย่างชัดเจน
 
โดยที่กรณีนี้อาจทำให้ คสช. ถูกวิจารณ์ได้ว่า "ปล่อยให้หลบหนี"และรัฐบาล และ คสช. ต้องหาผู้กระทำความผิดและผู้รับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าวด้วย ขณะนี้ตนยังคงเชื่อว่า อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางมาศาลในวันที่ 27 ก.ย. รับฟังผลการพิพากษาด้วยความกล้าหาญและการยืนหยัดต่อสู้เพื่อความถูกต้องและยืนยันในความบริสุทธิ์ความตัวเอง และศาลต้องตัดสินใจไปตามข้อเท็จจริง ตามหลักความเป็นธรรมเป็นกลาง อุเบกขาโดยไม่ปล่อยให้มีอำนาจภายนอกมาแทรกแซง หากทุกอย่างดำเนินไปตามที่ตนกล่าวไป ประเทศไทยจะกลับมามีอนาคตที่ดี รุ่งเรืองและสงบสุขสมตามความตั้งใจของรัฐบาล โดยเฉพาะทีมงานเศรษฐกิจที่มีความตั้งใจในการแก้ปัญหาของประเทศอย่างดียิ่ง หากอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ หนีศาลจริง จะทำให้ความขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมืองในระยะต่อไปขยับสู่เรื่องของหลักการ อุดมการณ์มากกว่าตัวบุคคลยิ่งขึ้น และหากความขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมืองอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย จะมีปัญหาต่อประเทศน้อยที่สุด หากอยู่นอกระบอบประชาธิปไตยการใช้กำลังรุนแรงหรือการกดขี่ด้วยกำลังที่เหนือกว่าจะมีให้เห็นโดยทั่วไป 
 
กรณีข้อกล่าวหาต่ออดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ เรื่องการดำเนินนโยบายและปล่อยปละละเลยก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันนั้นยังไม่ทราบผลตอนนี้ มีความไม่ชัดเจนและยังไม่มีการเผยแพร่คำพิพากษาของศาลเป็นลายลักษณ์อักษรและให้มีการการรับฟังผลการตัดสินของศาลอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 27 ก.ย. 2560 (อาจผิดมาตรา 157 จะส่งผลต่อการดำเนินการนโยบายสาธารณะ ของรัฐบาลในอนาคตอย่างมาก และการดำเนินนโยบายจะต้องมีความระมัดระวังและต้องมีฐานการวิจัยและข้อมูลมากขึ้น) ความไม่แน่นอนดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคการลงทุนไม่มากนักเนื่องจาก คสช. และรัฐบาลสามารถรักษาความสงบเรียบร้อยได้ดีและมวลชนสนับสนุนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยก็ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการชุมนุมอย่างสงบและให้ความร่วมมือกับทางการเป็นอย่างดี และมีความมุ่งหมายให้ประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อย มีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยเพื่อประชาชนโดยประชาชน ของประชาชนอย่างแท้จริง บ้านเมืองจะรุ่งเรืองและชีวิตของประชาชนจะดีขึ้นอย่างชัดเจนภายใต้ระบอบดังกล่าว 
 
"ผมอยากเห็นระบบกฎหมายและสังคมไทยตั้งอยู่บนความเป็นธรรม ปรองดองสมานฉันท์ ไม่ทำร้ายกันและใช้ความรุนแรงต่อกันอย่างไร้เหตุผล คนไทยไม่ว่ายากดีมีจน ต้องได้รับความเสมอภาค มีสิทธิเสรีภาพ มีวิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้านโดยไม่ถูกปิดกั้นและครอบงำโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง" 
 
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ในฐานะ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวให้ข้อมูลและข้อเท็จจริง อีกว่า มาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรและการรับจำนำข้าวเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เป็นวิธีการแก้ปัญหาราคาตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรและราคาข้าวได้รวดเร็วที่สุด ต้องยอมรับภาระทางการคลังหรือการเกิดหนี้เนื่องจากการแทรกแซงหากเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและประชาชน เม็ดเงินที่ใช้ไปไม่ใช่ความเสียหายต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการที่ต้องจ่าย 
 
หากผลการตัดสินในวันที่ 27 ก.ย. 2560 ออกมาว่านายกรัฐมนตรีมีความผิดจากการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว (รับซื้อข้าว 15,000 บาท) ซึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นทุจริต จะส่งผลต่อการดำเนินการนโยบายสาธารณะ ของรัฐบาลในอนาคตอย่างมาก ต่อการทำงานของกลไกระบบราชการ ต่อเศรษฐกิจ ต่อการเมือง สังคม และต่อสันติสุขรวมทั้งเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคน แน่นอนจะส่งผลต่อความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง ซึ่งต้องเสนอทางเลือกนโยบายหลากหลายให้ประชาชนเลือกตั้ง 
 
แม้นผลการตัดสินจะออกมาแบบไหนก็ตาม มาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรหรือนโยบายรับจำนำสินค้าเกษตรรวมทั้งการจำนำข้าวยังเป็นคงเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการบรรเทาความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรที่กระทบกับเกษตรกร และ ยังคงเป็นนโยบายสาธารณะที่จำเป็นสำหรับประเทศและประชาชนในอนาคตอย่างยากที่จะยกเลิกได้ 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวี นักเขียน นักวิชาการ ค้าน 'ไพฑูรย์ ธัญญา' เป็นตัวแทนกวีไทยงาน ASEAN Poets Forum

Posted: 26 Aug 2017 10:00 PM PDT

กลุ่ม กวี นักเขียน นักวิชาการ ออกแถลงการณ์ คัดค้านการเชิญ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ (นามปากกา "ไพฑูรย์ ธัญญา") ศิลปินแห่งชาติ นักเขียนรางวัลซีไรต์ เป็นตัวแทนกวีไทย ในงาน ASEAN Poets Forum@Diversity 2017 ที่มาเลเซีย เพราะแต่งกวีบทถึงอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงในลักษณะที่เหยียดหยามและส่อถึงการดูถูกสตรีเพศ

รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ (นามปากกา "ไพฑูรย์ ธัญญา") ศิลปินแห่งชาติ นักเขียนรางวัลซีไรต์ ที่มาภาพ: All Magazine

27 ส.ค. 2560 กลุ่ม กวี นักเขียน นักวิชาการ ได้ออกแถลงการณ์ คัดค้านการเชิญ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ (นามปากกา "ไพฑูรย์ ธัญญา") ศิลปินแห่งชาติ นักเขียนรางวัลซีไรต์ เป็นตัวแทนกวีไทย ในงาน ASEAN Poets Forum@Diversity 2017 ที่มาเลเซีย โดยระบุว่า รศ.ดร.ธัญญา ได้แต่งกวีบทหนึ่งถึงอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงในลักษณะที่เหยียดหยามและส่อถึงการดูถูกสตรีเพศ จึงขอเรียกร้องให้สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและ The Malaysian Institute of Translation & Books (ITBM) ผู้จัดงานดังกล่าว ถอนชื่อและยุติการเชิญ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ ในฐานะตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมงาน

โดยรายละเอียดทั้งหมดของแถลงการณ์มีดังต่อไปนี้

แถลงการณ์จาก กวี นักเขียน นักวิชาการ คัดค้านการเชิญ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ ศิลปินแห่งชาติ / นักเขียนรางวัลซีไรต์ เป็นตัวแทนกวีไทย ในงาน ASEAN Poets Forum@Diversity 2017 KL International Arts Festival ครั้งที่ 3 ในงาน the Literature genre in DiverseCity 2017 ของสถาบันเดวัน บาฮาซา แดนปุสกาตา ในธีม 'Struggle of Nation' ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

ตามที่เป็นข่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2017 ที่ผ่านมา กรณีที่รัฐบาลทหารไทยได้ดำเนินคดีต่ออดีตนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งที่เป็นที่รู้กันทั่วไปในชื่อคดีว่า "คดีจานำข้าว" ถึงกำหนดที่ศาลนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา

เหตุการณ์ปรากฏว่านางสาวยิ่งลักษณ์มิได้ปรากฏตัวต่อศาล โดยส่งทนายมาแจ้งว่ามีอาการป่วยเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันทำให้มีอาการปวดศีรษะ จึงไม่สามารถมาศาลได้ และศาลได้ออกหมายจับ หลังจากนั้น มีกระแสข่าวว่าอาจจะมีการลี้ภัยไปนอกประเทศจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์นั้น

รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ (นามปากกา "ไพฑูรย์ ธัญญา") ซึ่งมีชื่อเป็นตัวแทนจากประเทศไทยร่วมงาน ASEAN Poets Forum @ Diversity 2017 KL International Arts Festival ครั้งที่ 3 จากการคัดเลือกของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้แต่งกวีบทหนึ่งถึงอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงในลักษณะที่เหยียดหยามและส่อถึงการดูถูกสตรีเพศโดยใช้ "หู" เป็นอุปลักษณ์ในการสื่อถึงอวัยวะเพศของผู้หญิงในลักษณะที่ขบขัน พร้อมทั้งโพสต์ลงในสื่อสังคมออนไลน์โดยตั้งค่าเข้าถึงเป็น "สาธารณะ"

เสรีภาพในการแสดงออกนั้น จะต้องไม่ละเมิดทางเชื้อชาติ เพศ สีผิว ในฐานะที่ไทยเป็นรัฐภาคีของ "อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ" (CEDAW) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1985 หนึ่งในเนื้อหาของอนุสัญญานี้ได้ระบุว่ารัฐภาคีนั้นต้องคุ้มครองผู้หญิงจากความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ร่างกาย เพศ อารมณ์ สติปัญญา โดยระบุว่ารัฐภาคีจะต้องใช้มาตรการที่เหมาะสมทั้งปวงปรับปรุงแบบแผนความประพฤติทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างบุรุษและสตรี "โดยมุ่งที่จะให้ได้ขจัดความเดียดฉันท์และวิธีปฏิบัติอันเป็นประเพณีอื่น ๆ ทั้งปวง ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความคิดเกี่ยวกับความต่ำต้อยหรือความสูงส่งของอีกเพศหนึ่ง หรือที่อยู่บนพื้นฐานของบทบาทแบบเก่าสำหรับบุรุษและสตรี" (อนุสัญญาฯ ข้อ 5)

ทว่า รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ กลับมิได้คำนึงถึงหลักการดังกล่าว และแม้จะเป็นบุคคลที่ได้รับรางวัลทางวรรณกรรมมากมาย รวมถึงการถูกยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ และได้รับเลือกจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ให้เป็นตัวแทนไปนำเสนอผลงานในเวที ASEAN Poets Forum ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในปลายเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ แต่ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ กลับแต่งบทกลอนที่มีลักษณะเหยียดเพศดังกล่าว กลุ่มกวี นักเขียน และนักวิชาการ จึงขอประณาม รศ.ดร. ธัญญา สังขพันธานนท์ และขอไม่ยอมรับการเป็นตัวแทนของวงการกวีไทยไปร่วมงานดังกล่าว และเห็นว่าหากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพิกเฉยก็เท่ากับเป็นการสร้างมาตรฐานที่ผิดให้วงการนักเขียนในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ

ผู้มีรายนามต่อท้ายแถลงการณ์ข้างล่างนี้ จึงขอเรียกร้องให้สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและ The Malaysian Institute of Translation & Books (ITBM) ผู้จัดงานดังกล่าว ถอนชื่อและยุติการเชิญ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ ในฐานะตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมงาน ด้วยเขาได้ละเมิดหลักการสากลอย่างชัดแจ้งและยังมิได้มีการแสดงการรับรู้ถึงการกระทำที่ผิดพลาดของตนมาจนปัจจุบัน

แถลง ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2017
 

คำชี้แจงเพิ่มเติมต่อสาธารณชน 
 
เนื่องจากกรณีที่มีหลายกลุ่มได้ทำการรณรงค์ต่อกรณี "บทกวีหู" และมีผู้สับสนจำนวนมาก ทางกลุ่มที่มีรายนามดังต่อไปนี้ ขอย้ำว่า สำหรับกลุ่มเราที่ออกแถลงการณ์ครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการคัดค้านการเป็นตัวแทนประเทศไทย ของ รศ.ดร.ไพฑูรย์ สังขพันธานนท์ ในงาน ASEAN Poets Forum@Diversity2017 KL International Arts Festival ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่  29-30 กันยายน 2017 อันเนื่องมาจากการแต่งบทกวีที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมเท่านั้น ส่วนกลุ่มใดจะเสนอประเด็นอื่นนอกเหนือไปจากนี้ เราก็เคารพและมองว่าเป็นสิทธิที่ปัจเจกชนทุกท่านจะพิจารณาว่าจะเข้าร่วมหรือไม่
 

1. กฤช เหลือลมัย / Krit Lualamai

2. กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช / Kridikorn Wongsawangpanit

3. กันต์ธร อักษรนา / Kanthorn Auksornnam

4. กานต์ ณ กานท์ / Karnt Na Karnt

5. การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์ / Karaket Sriparinyasin

6. กิตติพล สรัคคานนท์ / Kittipon Srukkanond

7. กิตติพล เอี่ยมกมล / Kittipoan Eamkamoan

8. แก้วตา ธัมอิน / Kaewta Tham-in

9. คนแคระ / Konkrae

10.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / Komkrit Uitekkeng

11.คาล รีอัล / Kal Real

12.คิม ไชยสุขประเสริฐ / Kim Chaisukprasert

13.ฉันทลักษณ รักษาอยู่ / Chantalak Raksayu

14.ชัชชล อัจนากิตติ / Chatchon Audjanakitti

15.ชัยนรินทร์ กุหลาบอ่ำ / Chainarin Kularpaum

16.ชัยวัฒน์ มีสัณฐาน / Chaiwat Meesanthan

17.ชาคริต คำพิลานนท์/chakriz kampilanon

18.ณรรธาวุธ เมืองสุข / Nattharavut Muangsuk

19.ดารณี ทองศิริ / Daranee Thongsiri

20.ดานาย ประทานัง / Damnai Pratanang

21.ตวงพร ปฏิปทาพานิชย์ / Tuangporn Patipatapanich

22.ทวี คุ้มเมือง / Tawee Khummuang

23.ทินกร หุตางกูร / Tinnakorn Hutangkul

24.ธรรมรงค์ ภูมิสีคิ้ว / Thammarong Phumsikew

25.ธิติ มีแต้ม / Thiti Meetam

26.ธีรพล พัฒนภักดี / Theerapon Phattanapakdee

27.ธีร์ อันมัย / Tee Anmai

28.นิติพงศ์ สำราญคง / Nithipong Samrankong

29.นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ Nithinand Yorsaengrat

30.นิธิ นิธิวีรกุล / Nithi Nithiveragul

31.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ / Pandit Chanrochanakit

32.บุษราพร ทองชัย / Bussaraporn Thongchai

33.ใบพัด นบน้อม / Baipat Nopnom

34.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี / Pinkaew Luangaramsri

35.ผการัมย์ งามธันวา / Phakaram Ngamthanwa

36.พิชญ อนันตรเศรษฐ์ / Pichaya Anantarasate

37.พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ / Pimsiri Petnamrob

38.เพียงคำ ประดับความ / Piengkam Pradabkwang

39.ภัควดี วีระภาสพงษ์ / Pakavadi Verapaspong

40.ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ Panu Boonpipattanapong

41.มนทกานติ รังสิพราหมณกุล /Montakan Ransibrahmanakul

42.มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม / Muhammadharis Kayem

43.ยรรยง เที่ยงทิศ / Yanyong Thiengtid

44.รชา พรมภวังค์ / Racha Prompavang

45.รวิวาร รวิวารสกุล / Rawiwarn Rawiwarnsakul

46.ลัดดา สงกระสินธ์ / Ladda Songkrasin

47.ลุ่มน้ำ ณ เทือกเขาดงรัก / Lumnam at Tuakkaodongrek

48.วลัยพร ภูมิรัตน์ / Walaiporn Phumirat

49.วัฒนชัย แจ้งไพร / Wattanachai Jaengprai

50.วาดดาว / Waaddao

51.วิทยากร โสวัตร / Wittayakorn Sowat

52.เวฬุ เวสารัช / Dhelu Dhesarajcha

53.ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ / Sorayut Aiemauayu

54.สร้อยมาศ รุ่งมณี / Soimart Rungmanee

55.สันติสุข กาญจนประกร / Santisuk Kanjanaprakorn

56.สายสุรีย์ มูลศรี / Saisuree Moonsri

57.สิริกัญญา กาญจนประกร / Sirikanya Kanjanaprakorn

58.สุเจน กรรพฤทธิ์ / Sujane Kanparit

59.เสรี ตรีศักดิ์ / Seeree Treesuk

60.อติภพ ภัทรเดชไพศาล / Atipop Pattaradejpaisarn

61.อนุชา วรรณาสุนทรไชย / Anucha Wannasoonthornchai

62.อนันต์ เกษตรสินสมบัติ / Anan Kasetsinsombut

63.อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ / Akkanut Vantanasombut

64.อรรถพงษ์ ศักดิ์สงวนมนูญ / Attapong Suksaguanmanoon

65.อรอนงค์ ทิพย์พิมล / Onanong Thippimol

66.อลงกต ใจสงค์ / Alongkot Jaisong

67.อโลชา เวียงพงศ์ / Alyosha Viengphong

68.อันธิฌา แสงชัย / Anticha Sangchai

69.อันยา โพธิวัฒน์ / Anya Pothiwat

70.อัสรี / Ausry

71.อาทิตย์ ศรีจันทร์ / Artit Srijan

72.อานนท์ นำภา / Arnon nampa

73.อาณัติ แสนโท / Arnut Saento

74.อาริตา / Aritaa

75.ฮาเมอร์ ซาลวาลา / Hamer Salwala

76.กรรณิกา เพชรแก้ว / Kannikar Petchkaew

77.กำพล จำปาพันธ์ / Kampol Champapan

78.จณิต เฟื่องฟู / Janit Feangfu

79.จักรพงษ์ เอี่ยมสอาด / Jukapong eimsaard

80.ฐิตินบ โกมลนิมิ / Thitinob Komalnimi

81.ทองธัช เทพารักษ์ / Thongtouch Theparak

82.ธนศักดิ์ สายจำปา / Thanasak Saijampa

83.ธาดา เฮงทรัพย์กูล / Tada Hengsapkul

84.ธีรมล บัวงาม / Teeramon Buangam

85.ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล / Panithita Kiatsupimon

86.ปริยา รัตนโยธา Pariya Ratanayotha

87.พจน์ พันธา / Phot Phantha

88.พศุตม์ ลาศุกขะ / Pasut Lasuka

89.เพ็ญสุภา สุขคตะ / Pensupa Sukkata

90.แพรจารุ / Praecharu

91.ภัทรภร ภู่ทอง / Patporn Phoothong

92.ภาณุ ตรัยเวช / Panu Trivej

93.มหรรณพ โฉมเฉลา / Mahannop Chomchalao

94.ระริน มุข / Rarin Muk

95.วัชรัสม์ / Watcharat

96.ศุภโมกข์ ศิลารักษ์ / Supamok Silarak

97.สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย / sinsawat yodbangtoey

98.สุลักษณ์ หลำอุบล / Suluck Lamubol

99.แสงดาว ศรัทธามั่น / Sangdao  Sattaman

100. อรุณรุ่ง สัตย์สวี / Aroonrung Satsawe

101.ก่องแก้ว กวีวรรณ / KonggeawKaweewan

102.กิตติ วิสารกาญจน / KittiWisankanchana

103.ขวัญเรียม จิตอารีย์/ KwanreamJitaree

104.จิตติมา พลิคามิน / JittimaPlikamin

105.ชัยพงษ์ สำเนียง / ChaipongSamnieng

106.ชานนท์ ญาณากร / ChanonYanakorn

107.นิพนธ์ อินทฤทธิ์ niponintarit

108. บุญวรรณี วิริยะ / BooneanneeViriya

109.ปรัชญาภรณ์ ไชยสวัสดิ์ / PrachyapornChaisawas

110.ประกายพฤกษ์ จิตกาธาน / PrakaipruekJittakatan

111.ปิยฉัตร สินพิมลบูรณ์ / PiyashatSinpimonboon

112.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ / PadtheeraNarkurairattana

113.พริม เรด / Prim red

114.พริษฐ์ ชีวารักษ์ / ParitChiwarak

115.ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร / Paitoon Prohmwichit

116.ภัทรภร ภู่ทอง / PatpornPhoothong

117.ภู เชียงดาว/phuchiangdao

118.โมน สวัสดิศรี / MoneSawadsri

119.รัชตะ อารยะ / Ratchata Araya

120.วิสา คัญทัพ / Visa Khanthap

121.สมชาย แซ่จิว / Somchai Saejiu

122.สมศักดิ์ ศรีเอี่ยมกูล / SomsakStiuiamkool

123.สมอลล์ บัณฑิต อานียา / Small Bandit Aneeya

124.สรายุทธ์ ธรรมโชโต / SarayutThammachoto

125.สุขุมพจน์ คำสุขุม / SukhumpojKamsukhum

126.เอกราช ซาบูร์ / EkrajSabur

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น