โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ศอฉ.พบ "โรงเรียนแกนนอน" มีลักษณะลูกโซ่ ถ้าทำผิดจะจับกุมทันที

Posted: 30 Nov 2010 12:51 PM PST

ศอฉ.ห่วงการสร้างสถานการณ์ช่วงธันวาคม เล็งวางกำลังรักษาความปลอดภัย 169 จุด เฝ้าจับตา 11 ธ.ค. เหลือง-แเดงชุมนุม พร้อมรับมือหากเกิดความไม่สงบ จะใช้กฎหมายมาตรฐานเดียวทั้งสองสี

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์  รายงานว่า วันนี้ (30 พ.ย.) ที่ประชุม ศอฉ.ได้แสดงความห่วงใยการจัดงานเฉลิมฉลอง 5 ธันวา ที่จะจัดตั้งแต่วันที่ 1-9 ธันวาคม ว่า อาจมีการสร้างสถานการณ์ ทั้งเชิงสัญลักษณ์และความไม่สงบ ศอฉ.จึงสั่งการให้เพิ่มกำลังรักษาความปลอดภัยมากขึ้นในพื้นที่ 169 จุด โดยใช้กำลังตำรวจเป็นหลัก ส่วนทหารเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ส่วนงานฉลองทางน้ำนั้น กองทัพเรือจะเป็นกำลังหลักในการดูแลความปลอดภัย แต่ ศอฉ.ได้วางมาตรการรับมือไว้สองขั้น คือ ปกติ และฉุกเฉิน ทั้งนี้ ในชั้นปกติ ศอฉ.จะกำกับดูแลสถานการณ์ และมีตำรวจเป็นกำลังหลักในการรักษาความปลอดภัย ขั้นสอง กรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ศอฉ.จะเข้าไปรับผิดชอบเต็มรูปแบบ สั่งการการรักษาความปลอดภัย

แหล่งข่าวระบุว่า กิจกรรมที่เฝ้าจับตาเสื้อแดงประกาศชุมนุม 11 ธันวาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคัดค้านคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ และจัดงานครบรอบ 8 เดือน 20 เมษายน รวมทั้งกลุ่มพันธมิตรฯประกาศชุมุนมยืดเยื้อคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ นั้น ศอฉ.กำลังวางแผนรับมือหากเกิดความไม่สงบ โดยจะไม่ยอมให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นเด็ดขาด และจะดำเนินการตามกฎหมายในมาตรฐานเดียวกัน ทั้งสองสี ส่วนการดูแลรักษาความปลอดภัยตุลาการทั้ง 9 คน และประธาน กกต.นั้น ได้มอบหมายให้นครบาลเป็นผู้ดูแล

นอกจากนี้ มีสถานการ์ที่น่าจับตา คือ การตั้งกรรมการ นปช.ชุดใหม่ ที่มี นางธิดา ถาวรเศรษฐ เป็นประธานนั้น ศอฉ.ประเมินว่า เป็นการจัดตั้งแกนนำเสื้อแดงชุดใหม่ โรงเรียนแกนนอนของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ศอฉ.กังวลว่า มีการขยายมวลชนให้เป็นลูกโซ่ หากพบการกระทำความผิด ก็จะจับกุมทันที สำหรับสถานการณ์หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ศอฉ.ประเมินว่า ยังมีการคัดค้านในลักษณะลูกคลื่นอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นก่อความไม่สงบ เนื่องจากหลังเกิดเหตุระเบิดที่สมานแมนชั่น ก็ยังไม่เกิดเหตุความรุนแรงในพื้นที่ใดๆ อีก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นานาทัศนะกรณีตลก.ยกคำร้องยุบพรรค ปชป.

Posted: 30 Nov 2010 12:12 PM PST

อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระบุผลตัดสินคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ที่ให้ยกคำร้องด้วยคะแนน 4 ต่อ 2 เสียงเป็นโมฆะ เพราะองค์คณะพิจารณาคดีที่เหลือเพียง 6 คนไม่สามารถชี้ขาดได้ ย้ำกฎหมายกำหนดให้องค์คณะมี 15 หรือ 9 คน และต้องลงมติด้วยเสียงข้างมาก

ตั้งคำถามเหลือ 6 คนรู้ล่วงหน้าได้อย่างไรว่าจะได้เสียงข้างมากชี้ขาดได้ “อัษฎางค์” ระบุศาลหาช่องทางและวินิจฉัยได้เก่ง เตือนเสื้อแดงอย่าเคลื่อนไหวหากจะอยู่ในประเทศนี้ต้องเจียมตัว เพราะที่นี่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบเบ็ดเสร็จ “บัญญัติ” ยันไม่รู้ผลล่วงหน้าที่บอกมติ 4 ต่อ 2 แค่คาดเดา เล็งนำผลไปใช้สู้คดีเงินบริจาค 258 ล้านบาทต่อทีมทนาย เผยเตรียมยื่นเรื่องให้ถอนคดีเพราะขาดอายุความที่ต้องฟ้องภายใน 30 วัน “อภิสิทธิ์” ย้ำไม่ใช่ 2 มาตรฐานเพราะเป็นคนละกรณีกับคดีอื่น เพื่อไทยให้ฝ่ายกฎหมายหาช่องฟัน กกต. ยื่นฟ้องล่าช้า “สมชัย” ถามจะตัดสินแบบนี้เสียเวลาสืบพยานทำไมตั้งนาน ยอมรับ กกต. ต้องคุยกันเพื่อปรับการทำงานใหม่

หลังองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ตลก.) มีมติด้วยคะแนน 4 ต่อ 2 เสียง ให้ยกคำร้องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์จากกรณีใช้เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรค การเมือง 29 ล้านบาทผิดวัตถุประสงค์ เนื่องจากเห็นว่านายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ยื่นเรื่องให้พิจารณาภายใน 15 วัน หลังตรวจพบการทำความผิดตามข้อกำหนดของกฎหมาย (อ่านรายละเอียดคำตัดสินคดีที่หน้า 05A) ทำให้มีหลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับคำตัดสินของศาลในครั้งนี้


"องค์คณะ 6 คนตัดสินคดีไม่ได้"

นายจุมพล ณ สงขลา อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า การที่องค์คณะพิจารณาคดีเหลือเพียง 6 คน ไม่น่าจะตัดสินคดีได้ เพราะเวลาที่จะตัดสินคดีต้องมีเสียงมากพอที่จะชี้ขาดได้

“การที่องค์คณะเหลือ 6 คน สามารถพิจารณาคดีได้แต่ตัดสินคดีไม่ได้ เพราะตามกฎหมายกำหนดให้องค์คณะมีจำนวน 15 หรือ 9 คน เพื่อให้สามารถใช้เสียงข้างมากในการตัดสินคดีได้ การเหลือ 6 คนไม่สามารถหาเสียงข้างมากได้ เพราะคุณจะรู้ได้อย่างไรว่าจะหาเสียงข้างมากได้เมื่อยังไม่ฟังคำแถลงปิดคดี ยังไม่ได้พิจารณาคดี การเหลือองค์คณะเพียง 6 คนไม่สามารถมีเสียงชี้ขาดได้ หากพิจารณากันในแง่กฎหมายจริงๆการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องถือ เป็นโมฆะ ใช้ไม่ได้” อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว


"ชี้นักกฎหมายเก่งจนน่ากลัว"

รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ผลของคำตัดสินที่ออกมาทำให้เห็นว่านักกฎหมายในบ้านเมืองนี้เก่งจนน่ากลัว เพราะสามารถหาทางออกให้กับทุกสถานการณ์ได้ในทุกประเด็น นี่ขนาดยังไม่ถึงขั้นของการพิจารณาว่าถูกหรือผิด เพราะเขายังไม่ได้พิจารณาประเด็นนั้นเลย
 
"ชมศาลหาช่องทางตัดสินได้เก่ง"

“ศาลรัฐธรรมนูญหาช่องทางและวินิจฉัยได้เก่ง เรื่องนี้ต้องรอดูความคิดของผู้คนในสังคมต่อไปว่าจะมองกันอย่างไร แต่ผมรู้สึกเฉยๆกับคำตัดสิน เพราะในฐานะที่เป็นนักรัฐศาสตร์เข้าใจสภาพสังคมตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐ ประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549 เป็นอย่างดีแต่พูดมากไม่ได้ เอาเป็นว่าผมเข้าใจลักษณะการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบเบ็ดเสร็จดี”

รศ.อัษฎางค์กล่าวว่า การจะอยู่อาศัยในประเทศนี้พวกเราต้องอยู่อย่างเจียมตัว ใครไม่มีเส้น ไม่มีพรรคพวกต้องระวังหมด ประเทศนี้ไม่ใช่เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะมีการใช้กฎหมายควบคุมกำกับไม่ให้คนที่เป็นศัตรูทางการเมืองโผล่ได้เลย

"รัฐบาลอยู่ได้ถึงต้นปีหน้า "

รศ.อัษฎางค์กล่าวอีกว่า หลังจากนี้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบและได้ประโยชน์ แต่เท่าที่ประเมินสถานการณ์คิดว่ารัฐบาลไม่น่าจะลากยาวถึงครบเทอมได้ เพราะถ้ารัฐบาลอยู่นานอาจมีปัญหาแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้น นายกรัฐมนตรีอาจตัดสินใจยุบสภาในเดือน ก.พ. ปีหน้าแล้วให้มีการเลือกตั้งในเดือน มี.ค. ซึ่งเขาอาจได้กลับมาเป็นรัฐบาลใหม่อีกครั้ง และครั้งนี้อาจอยู่ยาวถึง 4 ปีเลย
 

"เตือนเสื้อแดงให้อยู่อย่างเจียมตัว"

ผู้สื่อข่าวถามว่าผลการตัดสินออกมาอย่างนี้จะทำให้สถานการณ์บ้านเมือง รุนแรงขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะคนเสื้อแดงที่ไม่พอใจคำตัดสิน รศ.อัษฎางค์กล่าวว่า คนเสื้อแดงควรเก็บไว้ใต้ดินดีกว่า ไม่ควรออกมาเคลื่อนไหวอะไรช่วงนี้ ยกเว้นรอให้ถึงวันเลือกตั้งค่อยออกมา ขอย้ำว่าคนเสื้อแดงควรอยู่อย่างสงบ นิ่งๆ และยอมรับโดยดุษฎี ไม่ต่อต้าน ไม่แสดงความเห็น ถ้าหากนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง เล่นการเมืองเป็นก็ต้องนิ่งไว้ก่อน


"ผลตัดสินไม่เหนือความคาดหมาย"

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ผลของคดีที่ออกมาไม่ได้ผิดไปจากความคาดหมาย แต่ติดใจตรงที่ผู้ร้องให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ขอให้ศาลวินิจฉัยประเด็น เรื่องเงื่อนเวลา แต่การตัดสินกลับออกมาในประเด็นนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าคำตัดสินจะมีผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์
โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมกฎหมายต่อสู้คดี น่าจะได้รับสัญญาณพิเศษ เพราะสามารถพูดมติล่วงหน้าได้แม่นยำว่าจะออกมา 4 ต่อ 2

"ถามทำไมไม่ยกคำร้องตั้งแต่ต้น"

นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ในฐานะที่ติดตามคดีนี้มาตั้งแต่ต้นมีความเห็นต่างจากคำตัดสินหลายประเด็นดัง นี้

     1.การยกเรื่องอายุความขึ้นมาโดยไม่ได้วินิจฉัยความถูกผิดตามคำร้อง มีคำถามว่าทำไมไม่พูดเรื่องนี้มาตั้งแต่ตอนที่ยื่นฟ้อง เพราะคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมืองบรรยายละเอียดอยู่แล้ว

     2.เมื่อไม่พิจารณาข้อเท็จจริงทำไมต้องเสียเวลาในการสืบพยานฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องนานหลายเดือน

 "เพื่อไทยหาช่องเอาผิด กกต. ฟ้องช้า"

“เรื่องประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นเรื่องล่าช้าเกินกว่ากฎหมายกำหนด ฝ่ายกฎหมายของพรรคจะพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร”นายพร้อมพงศ์ตั้งคำถาม

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน หนึ่งในทีมทนายต่อสู้คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า ไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อนว่ามติของศาลจะออกมา 4 ต่อ 2 ที่ตอบคำถามสื่อไปเป็นการคาดเดาเพื่อให้มองในแง่ดีว่าจะไม่เกิดปัญหาจากคำ ตัดสินเท่านั้น ส่วนคดียุบพรรคจากกรณีเงินบริจาค 258 ล้านบาทนั้นเป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวกับคดี 29 ล้านบาท เพราะว่าพยานในคดีเป็นชุดเดียวกัน คงต้องไปดูว่าอัยการยื่นฟ้องเมื่อไร จะขาดอายุความเหมือนคดี 29 ล้านบาทหรือไม่


“มาร์ค” รอดูปฏิกิริยาจากสังคม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในส่วนของคดีจบแล้ว ต่อไปจะมุ่งทำงานแก้ปัญหาบ้านเมืองในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ส่วนสถานการณ์จากนี้จะเป็นอย่างไรอยู่ที่ปฏิกิริยาจากกลุ่มต่างๆในสังคม แต่ส่วนตัวได้บอกก่อนหน้านี้แล้วว่าขอให้ทุกคนยอมรับคำตัดสินไม่ว่าจะออกมา อย่างไร เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

"ย้ำไม่ใช่เรื่อง 2 มาตรฐาน

ผู้สื่อข่าวถามว่าผลการตัดสินจะดีต่อคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาทหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ ต้องรอดูรายละเอียดคำวินิจฉัยที่จะออกมาก่อนเพราะเป็นคนละคดีกัน ส่วนข้อวิจารณ์เรื่อง 2 มาตรฐานก็อยากให้ไปดูคำวินิจฉัยของศาล และอยากย้ำว่า 2 มาตรฐานหมายถึงกรณีเดียวกันแต่ปฏิบัติไม่เหมือนกัน แต่คดีนี้หากดูจากคำแถลงปิดคดีของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคและหัวหน้าทีมทนาย จะเห็นว่ามีความแตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับคดีอื่นก่อนหน้านี้


"เตรียมยื่นถอนคดีเงินบริจาค 258 ล้าน"

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในทีมทนายต่อสู้คดียุบพรรค กล่าวว่า จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญถอนการพิจารณาคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท เพราะน่าจะขาดอายุความแล้วเนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ต้องยื่นฟ้องภายใน 30 วันหลังตรวจพบ เพราะคดีนี้เกิดตั้งแต่ปี 2552


"กกต. งงเสียเวลาสืบพยานทำไมตั้งนาน"

นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ฝ่ายสืบสวนสอบสวน กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินออกมาอย่างนี้ก็ไม่รู้จะเสียเวลาสืบพยานทั้งสอง ฝ่ายทำไมตั้งนาน การยกคำร้องทำให้ขาดโอกาสที่จะได้รับฟังว่าพรรคประชาธิปัตย์มีความผิดตามคำ ฟ้องหรือไม่  “เมื่อผลออกมาอย่างนี้ กกต. ต้องไปปรึกษาหารือกันเพื่อปรับการทำงาน”

 

 

ที่มา:หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ครม.อนุมัติโครงการเกินพันล้านไม่ต้องรายงานทุก6เดือน

Posted: 30 Nov 2010 11:21 AM PST

ครม.อนุมัติปลดล็อคส่วนราชการที่มีงบลงทุนโครงการเกิน 1,000 ล้านบาทไม่ต้องรายงานความคืบหน้าทุก 6 เดือนอ้างเพื่อความคล่องตัวเว้นกรณีสำคัญเร่งด่วนหรือเป็นที่สนใจของสาธารณะ

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) อนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ( สลค. )  เสนอทบทวนแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการติดตามและการรายงานผลการดำเนินโครงการ ที่มีงบลงทุนเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ที่กำหนดให้ต้องรายงานความคืบหน้าทุก 6 เดือนว่า เปลี่ยนให้ไม่ต้องรายงานทุก 6เดือน เพื่อให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการมีความคล่องตัว และยังกำหนดให้ต้องรายงานโครงการที่มีดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในเรื่อง สำคัญ (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2550) ยังต้องให้รายงานความคืบหน้าตามเดิม  
ขณะที่เรื่องที่ ครม. มีมติกำหนดให้หน่วยงานของรัฐรายงานผลการดำเนินงานต่อ ครม.  หาก ครม. มิได้กำหนดระยะเวลาไว้ให้หน่วยงานของรัฐรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรี อย่างน้อยทุก 3 เดือน ทั้งนี้ ตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 กรณีเป็นเรื่องสำคัญ เร่งด่วน หรือที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนให้หน่วยงานของรัฐสามารถรายงานได้ก่อนระยะ เวลาที่กำหนดไว้ข้างต้น
 
ทั้งนี้เห็นควรให้ สลค.ประเมินผลการติดตามผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะกรรมการประสานงานและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ปคค.) กรณีที่เห็นว่าควรมีการปรับปรุงประเภทเรื่องแบบรายงานและระยะเวลาการรายงานผลการดำเนินงานให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อานันท์ประกาศ ปฏิรูปประเทศไทยไม่มีกำหนด อำพลออกตัว"งบปฏิรูปไม่มีอะไรในกอไผ่"

Posted: 30 Nov 2010 11:03 AM PST

"อานันท์"ชี้"ปฏิรูปประเทศไทย"ต้องไม่กำหนดเวลา ต่างจาก"ปฎิวัติ" แม้ไม่สำเร็จก็ได้บทเรียนเป้าหมายคือแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านอำพล จินดาวัฒนะ เลขา คปร.และ คสป.ออกตัวงบที่เพิ่มเป็นเงินจากองค์กรอื่น 

(30 พ.ย.53) อานันท์ ปันยารชุน นายกกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และประธานคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) บรรยายพิเศษหัวข้อ “แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย” ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2553 “การลดความเหลื่อมลํ้าและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ” ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยตอนหนึ่งกล่าวถึงโครงสร้างของสังคมว่า โครงสร้างทางสังคมนั้นโยงกับทั้งโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะของไทยยังมีตัวแปรหลายตัว ทั้งโครงสร้างทหาร โครงสร้างนายทุน และโครงสร้างของกลุ่มต่างๆ ที่มีอิทธิพลและอำนาจที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งทางที่ดีและไม่ดี ทั้งนี้มองว่าโครงสร้างทางการเมืองของไทยเป็นโครงสร้างที่กระจุกตัวในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเริ่มมีการกระจายไปต่างจังหวัดบ้างแล้ว โดยทำงานร่วมกันในบางเรื่อง เป็นอิสระต่อกันบางเรื่อง แต่มีเป้าหมายใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้ เขากล่าวต่อว่า เมื่อคนมีทุน อำนาจ อิทธิพล แล้วก็เป็นธรรมดาที่จะอยากมีมากขึ้นอีก ดังนั้น จะขัดขวางส่งเดชก็ไม่ได้ เพราะคนเรายังไม่รู้จักคำว่า "พอ" ซึ่งตราบใดที่เรายังไม่รู้จักคำว่า "พอ" ก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

อานันท์กล่าวว่า การปฏิรูปไม่ใช่ของใหม่ ทุกสังคมมีมาตลอด แม้ว่าบางประเทศอาจไม่ได้ใช้คำนี้ แต่มีการปฏิรูปทั้งนั้น โดยมีทั้งผลที่ดีและเลว เขาแนะว่า สิ่งที่ต้องปรับความรู้สึกนึกคิดของคนไทยคือ เมืองไทยไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คนคิด และไม่ได้เลวร้ายอยู่ประเทศเดียว แต่หลายประเทศที่ปฏิรูปไปแล้ว จะมีกลไกหรือค่านิยมทางสังคมที่ทำให้เรื่องหนักกลายเป็นเบาได้ ประเทศไทยเองก็มีความ พยายามหลายครั้งที่จะปฏิรูป โดยในอดีตจะเป็นการปฏิวัติ ทั้งนี้ คำว่า "ปฏิวัติ" และ "ปฏิรูป" นั้นวิธีคิดอาจจะใกล้เคียงกัน แต่ปฏิบัติไม่เหมือนกัน โดยปฏิวัติเป็นการใช้กำลังหรือที่เรียกว่า ทหารออกมาเอ็กเซอร์ไซร์ ซึ่งไม่ใช่คำตอบของสังคมไทย

"สิ่งแรกที่เราต้องทำใจคือว่าเลิกคิดเรื่องการปฏิวัติเสียที อันนั้นไม่ใช่คำตอบ ปฏิวัติทีไรเมืองไทยก็จะล่มจมมากขึ้น มันอาจตอบปัญหาในระยะสั้น" อานันท์กล่าวและว่า เมื่อมองแบบนี้ จะเห็นว่าการปฏิรูปจึงสำคัญมาก ขึ้น โดยคณะกรรมการปฏิรูป มีเป้าหมายคือ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม รวมถึงอยากเห็นการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน เพราะมองว่ารัฐมีอำนาจน้อย โอกาสที่จะใช้อำนาจในทางที่ผิดก็จะน้อยลง

สำหรับการเพิ่มอำนาจประชาชน เขามองว่า เป็นเรื่องที่พูดกันมาหลายสิบปี แต่ยังไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีความพยายามกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แต่จะเห็นว่าอำนาจไม่ได้ไปที่คนท้องถิ่นโดยตรง แต่ไปยังหน่วยงานของรัฐบาล กลางในจังหวัดต่างๆ แทน ประชาชนก็คอยค้าง ดังนั้น ต้องทำให้แน่ใจว่า เรากระจายอำนาจไปที่ใคร ทั้งนี้เสริมว่า การเพิ่มอำนาจให้ประชาชนนั้นก็เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจต่อรองกับกลุ่มต่างๆ มากขึ้น

อานันท์ยกตัวอย่างจีนว่าเป็นประเทศที่อำนาจกระจุกตัวอยู่ที่ปักกิ่ง แต่ก็มีการกระจายอำนาจและรายได้อย่างแท้จริงไปยังเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นกำหนดทิศทางอนาคตของตัวเองหรือการจัดเก็บภาษี ซึ่งมีนโยบายตัดกำไร 30 - 40% คืนสู่พื้นที่ที่ได้มาซึ่งภาษีนั้น แตกต่างกับประเทศไทยที่รัฐอุ้มผลกำไรไว้คนเดียว อันเป็นที่มาของความไม่ยุติธรรมในสังคมอีกประเด็นหนึ่ง

เขาเสนอว่า ให้เริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิดกันเสียก่อน เช่น เรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ใต้ดินทั้งหมด เป็นทรัพยากรร่วมระหว่างรัฐกับชุมชน  หรือแม้แต่วิทยุชุมชน ที่ระบุในรัฐธรรมนูญ 2540 ว่าเป็นสมบัติสาธารณะ ดังนั้น เมื่อเป็นสมบัติสาธารณะ ผลประโยชน์ที่รัฐได้รับจากการเก็บค่าสัมปทาน ภาษี ประชาชนต้องได้รับส่วนแบ่งมากกว่าที่เคยเป็นมา

สุดท้าย อานันท์ย้ำว่า เมื่อพูดถึงการปฏิรูปให้นึกถึงความยุติธรรมทางสังคม     ซึ่งหากแก้ได้จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
 

 

ด้านนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ    เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)  ได้เขียนบทความ " งบประมาณ คปร. และ คสป. ปฏิรูปประเทศไทย ไม่มีอะไรในก่อไผ่ " ชี้แจงข่าว  คปร. และ คสป. ของบประมาณเพิ่มแบบไม่รู้จักพอ ถึง ๕๖๕.๔๗ ล้าน ดังนี้

เลขา สช.   ชี้แจงผ่านบทความ"งบประมาณ คปร.และ คสป.ปฏิรูปประเทศไทย ไม่มีอะไรในกอไผ่"ว่า  ช่วงที่ผ่านมา มีข่าวสับสนเกี่ยวกับการขอใช้งบประมาณสำหรับการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) จนอาจทำให้สาธารณะเข้าใจคลาดเคลื่อนได้

ในฐานะที่ผู้เขียนเข้าไปเกี่ยวข้องกับวงจรเรื่องนี้โดยตรงตลอดช่วงที่ผ่านมา จึงขอเล่าความเป็นมาเป็นไป และข้อเท็จจริงเพื่อให้สาธารณะได้รับรู้และติดตามตรวจสอบต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องการทำงานสาธารณะเพื่อบ้านเพื่อเมือง ไม่มีอะไรแอบแฝง    

หลังจากบ้านเมืองเข้าสู่วิกฤตความขัดแย้งอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๓ มีเวทีระดมความเห็นเพื่อหาแนวทางปฏิรูปประเทศไทย มีการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งกลไกขึ้นมาทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ไทยเพื่อหาทางแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเป็นธรรมในสังคมให้ได้  โดยที่ประชุมดังกล่าวได้เสนอแนะให้รัฐบาลไปเชิญผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเข้ามา ช่วยทำงานสำคัญนี้  ซึ่งต่อมา นายกรัฐมนตรีได้ไปเชิญนายอานันท์ ปันยารชุน และนายแพทย์ประเวศ วะสี ให้เข้ามาช่วยเป็นหัวขบวนขับเคลื่อนงานนี้ โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เป็นแกนเสนอออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการปฏิรูป พ.ศ. ๒๕๕๓  เพื่อตั้งคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) เป็นกลไกหลักในจัดทำข้อยุติในการปฏิรูปเสนอต่อสาธารณะ และชวนคนไทยทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยในทุกมิติ โดยให้มีเวลาทำงานต่อเนื่อง ๓ ปี    

ต่อมา สช. เสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อ ครม. โดยเสนอวงเงินงบประมาณที่เป็นการคาดการณ์รายจ่ายไว้ล่วงหน้า รวมปีละประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท ซึ่งครม. ให้ความเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ ส่วนเรื่องงบประมาณ ครม. ให้ สช. ไปจัดทำคำของบประมาณโดยให้ คปร. และ คสป.เห็นชอบก่อน แล้วค่อยนำเสนอต่อ ครม. ในโอกาสต่อไป     สช. เสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓ จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งท่านอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน คปร. และอาจารย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน คสป. เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ และ สช. จัดตั้งสำนักงานปฏิรูป (สปร.) ขึ้นเป็นหน่วยงานภายในของ สช. เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๓     ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ๒๕๕๓ สปร. ก็รีบยกร่างแผนงานหลักและงบประมาณของ สปร. เพื่อรองรับการทำงานของ คปร. และ คสป. เสนอให้ คปร. และ คสป. ให้ความเห็นชอบ เมื่อ คปร. และ คสป. ได้ให้ความเห็นชอบแผนงานหลักและวงเงินงบประมาณที่จะขอจากรัฐบาลในส่วนที่คณะ กรรมการแต่ละชุดเกี่ยวข้องแล้ว สปร. ก็ได้ปรับปรุงร่างแผนงานฯ ดังกล่าวเสนอผ่าน สช. ให้นายกรัฐมนตรีนำเสนอต่อ ครม. ตามขั้นตอนปกติ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๓ โดยการทำงานในช่วง ๓-๔ เดือนแรก ที่ยังไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล สปร. ได้ยืมเงินงบประมาณของ สช. ไปใช้ก่อนเป็นเงิน ๑๕ ล้านบาท    

สำหรับการเสนอต่อ ครม. ครั้งนี้ เป็นการขออนุมัติหลักการต่อแผนงาน ๓ ปีของ สปร. รองรับการทำงานของ คปร. และ คสป. ในวงเงินงบประมาณที่ขอจากรัฐบาลรวม ๕๖๕.๔๗ ล้านบาท จำแนกเป็นปีงบประมาณ ๒๕๕๔ วงเงิน ๑๘๗.๔๗ ล้านบาท ปีงบประมาณ ๒๕๕๕ วงเงิน ๑๙๐.๕ ล้านบาท และปีงบประมาณ ๒๕๕๖ วงเงิน ๑๘๗.๕ ล้านบาท โดยในปีแรกเป็นการขออนุมัติใช้งบกลาง เนื่องจากเลยเวลาการของบประมาณประจำปีมาแล้ว  สำหรับปีงบประมาณ ๒๕๕๕ และ ๒๕๕๖ สช. ต้องทำคำของบประมาณเสนอขออนุมัติตามขั้นตอนปกติต่อไป    

คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องนี้เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดย (๑) เห็นชอบหลักการของแผนงานหลักของ สปร.ตามที่เสนอ และ (๒) อนุมัติงบกลางของปีงบประมาณ ๒๕๕๔ เป็นเงิน ๑๘๗.๔๗ ล้านบาท ให้สช. (โดย สปร.) ใช้รองรับการทำงานตามแผนงานของ คปร. และ คสป.    

นี่คือการอนุมัติงบประมาณเพื่อการทำงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิรูป พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นครั้งแรก และเป็นครั้งเดียว     ที่มีสื่อมวลชนเสนอข่าวว่า คปร. และ คสป. ของบประมาณเพิ่มแบบไม่รู้จักพอ จึงเป็นเรื่องที่ไม่จริง อนึ่ง เนื่องจากในแผนงานหลักของ สปร. ที่ สช. ส่งไปให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบหลักการนั้น มีการประมาณการเงินที่องค์กรภาคีต่างๆ อาจใช้เพื่อร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยแสดงไว้ด้วย โดยมีหลักคิดว่า ในความเป็นจริงแล้ว การขับเคลื่อนงานใหญ่ของบ้านเมืองครั้งนี้ มีองค์กร ภาคีเครือข่ายเป็นจำนวนมากเข้าร่วมทำงานด้วย ไม่ใช่มีแค่ คปร. และ คสป. เท่านั้น โดยองค์กรภาคีเครือข่ายเหล่านั้นก็มีการใช้เงินขององค์กรตนเองร่วมทำงานเป็นจำนวนไม่น้อยด้วยเช่นกัน  

เช่นที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนได้สนับสนุนเครือข่ายองค์กรชุมชนจัดเวทีประชุมสัมมนา ขับเคลื่อนงานปฏิรูปหลายครั้งทั้งระดับชาติและในพื้นที่ สภาพัฒนาการเมืองก็สนับสนุนเครือข่ายภาคีต่างๆ ทำงานเรื่องนี้อย่างคึกคัก เครือข่ายประชาสังคมหลายแห่งได้จัดประชุมสัมมนาขับเคลื่อนงานนี้เป็นจำนวน มาก  สื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์หลายแห่งก็ได้เปิดพื้นที่สำหรับเสนอเนื้อหาสาระและความคืบหน้า การทำงานปฏิรูปประเทศไทยอย่างหลากหลาย  หน่วยงานราชการหลายแห่งก็เข้าร่วมทำกิจกรรมขับเคลื่อนการปฏิรูป ฯลฯ  ซึ่งการทำงานเหล่านี้ แต่ละองค์กรใช้เงินงบประมาณของตนเองทั้งสิ้น    

ดังนั้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วม และเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่องค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ  ในแผนหลักของ สปร. จึงได้เขียนคาดประมาณงบประมาณที่องค์กรภาคีต่างๆ ใช้สนับสนุนการขับเคลื่อนงานปฏิรูปประเทศไทย  ว่าในปีงบประมาณ ๒๕๕๔ อยู่ที่ประมาณ ๑๘๗ ล้านบาท ปีงบประมาณ ๒๕๕๕ ประมาณ ๒๐๘ ล้านบาท ปีงบประมาณ๒๕๕๖ ประมาณ ๒๒๗ ล้านบาท โดยเขียนไว้ชัดเจนในแผนงานหลักดังกล่าวว่า “เงินสนับสนุนจากภาคี หมายถึงเงินค่าบุคลากรที่องค์กรต่างๆ ส่งเข้าร่วมงานปฏิรูป รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จ่ายโดยองค์กร ภาคี เครือข่ายต่างๆ ด้วย” เงินส่วนนี้ คปร. คสป. และ สปร.ไม่ได้ขอเพิ่มจากรัฐบาล และก็ไม่ได้ขอจากองค์กรภาคีใดๆ มาใช้จ่าย เป็นเรื่องการคาดประมาณการใช้จ่ายขององค์กรภาคีต่างๆ เท่านั้น     ตรงนี้กระมัง อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สื่อมวลชนบางส่วน เกิดความเข้าใจผิด จึงเสนอข่าวว่า คปร. คสป. และ สปร. ของบประมาณซ้ำแล้วซ้ำอีก?    

สช. ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เลขานุการของ คปร. และ คสป. มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ทั้งในการทำแผนงาน การของบประมาณ และการใช้งบประมาณ โดยมี สปร. เป็นหน่วยปฏิบัติการ จึงขอให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สาธารณะ เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ว่าทุกอย่างที่ดำเนินการผ่านมา และที่จะดำเนินการต่อไป เป็นไปอย่างถูกต้องและโปร่งใส และพร้อมที่จะให้ตรวจสอบได้ตลอดเวลา 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมัชชาแรงงานซัด "มาร์ค" เบี้ยวเพิ่มค่าข้างขั้นต่ำ

Posted: 30 Nov 2010 05:47 AM PST

30 พ.ย. 53 - มติชนออนไลน์รายงานว่าตัวแทนสมัชชาสหภาพแรงงาน นำโดยนายจีรวัฒน์ โพนเวียง ผู้ประสานงานสมัชชาสหภาพแรงงาน เข้ายื่นหนังสือต่อนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรมว.คลังนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในฐานะอดีตปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้ดำเนินการช่วยเหลือการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงาน ที่พรรคเพื่อไทย วันที่ 30 พฤศจิกายน

นายจีรวัฒน์ กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2553 ว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำทั้งระบบเท่ากันทั่วประเทศเป็น 250 บาทต่อวัน แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับผิดชอบต่อมติอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้างเคาะปรับค่า จ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 11 บาทต่อวันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 โดยกรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ในอัตรา 215 บาทต่อวันแสดงว่ารัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญา และตามที่สมัชชาผู้ใช้แรงงานได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมใน 3 ประเด็น คือ

1.ขอให้รัฐบาลเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 250 บาทตามสัญญา 2.เพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมเงินสงเคราะห์บุตรจากเดิม 6 ปีเป็น 12 ปี ให้มีการคลอดบุตรฟรีและเงินช่วยเหลือขณะตั้งครรภ์และคลอดบุตรเหมาจ่ายเป็น เงิน 12,000 บาท และ3.ให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานยกเลิกการจ้างงานเหมาค่าแรงเพราะก่อ ให้เกิดปัญหาเลือกปฏิบัติ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จึงขอให้พรรคเพี่อไทยผลักดันช่วยเหลือ

"อยากให้นายกรัฐมนตรีคำนึงถึงจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อคำพูด อย่าลืมว่าก่อนพูดเราเป็นนาย แต่เมื่อพูดออกไปแล้วคำพูดเป็นนายเรา สิ่งที่ผู้ใช้แรงงานเรียกร้องให้ ปฏิบัติตามสัญญา นายกรัฐมนตรียังมีเวลาถึงวันที่ 1 มกราคม 2554 ไปแก้ไขค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ 250 บาทต่อวันตามที่สัญญาไว้ ถ้าทำไม่ได้ พรรคเพื่อไทยพร้อมดำเนินการแทนและจะเพิ่มให้เป็น 300 บาทต่อวันแต่วิธีการยังไม่เปิดเผยเพราะกลัวถูกลอก"

ที่มาข่าว:

สมัชชาแรงงานซัด"นายกฯ"เบี้ยวเพิ่มค่าข้างขั้นต่ำเข้าทางเพื่อไทยลั่นเพิ่มให้เป็น 300 บาท (มติชนออนไลน์, 30-11-2553)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1291105274&grpid=03&catid&subcatid

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อนุสรณ์ อุณโณ:ร่างกายเรานั้นสำคัญไฉน

Posted: 30 Nov 2010 04:36 AM PST

เช่นเคย นักเคร่งศีลธรรมมักแสดงความไม่เห็นด้วยเมื่อมีการอภิปรายว่าควรจะอนุญาตให้ ผู้หญิงตัดสินใจทำแท้งด้วยตนเองได้หรือไม่ ว.วชิรเมธี กล่าวว่าการทำแท้งเป็นบาปเพราะเป็นการฆ่าคน ทั้งคนทำแท้งและคนรับทำแท้งจะมีบาปติดตามตัวไปทั้งชาตินี้และชาติหน้า เขาชี้ว่าหากไม่เร่งปลูกฝังศีลธรรมในเยาวชนและหากผู้คนยังตกเป็นทาสวัตถุ นิยม ปัญหาการทำแท้งจะไม่หมดไปจากสังคมไทย   

แต่การทำแท้ง รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ มีนัยกว้างขวางและซับซ้อนเกินกว่าจะจำกัดขอบเขตการอภิปรายไว้เฉพาะการตีความ กฎศีลธรรม เพราะการมีเพศสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบทบาทที่ไม่เสมอกันระหว่างชายหญิง การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์หลายกรณีเกี่ยวกับสถานะทางเศรษฐกิจของคู่สามี ภรรยา และการทำแท้งก็เป็นการท้าทายอำนาจเหนือความเป็นความตายของพลเมืองในรัฐสมัย ใหม่อย่างแหลมคม การอภิปรายรูปแบบการใช้ร่างกายทั้งสามอย่างรอบด้านและเท่าทันจำเป็นต้อง พิจารณาประเด็นเหล่านี้ประกอบด้วย

 
ผู้หญิงไทยมักถูกกำหนดให้เป็นฝ่ายตั้งรับในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ดังจะเห็นได้จากวรรณกรรมคำสอนประเภทรักนวลสงวนตัวต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มสุภาษิตสอนหญิง เช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประพันธ์ว่า “เป็นสตรีนี้ไซร้มิใช่ง่าย สงวนกายเราไว้อย่าให้หมอง” หน้าที่หลักของผู้หญิงจึงเป็นเรื่องของการรักษาพรหมจารีของตนเองไว้ให้สามี ส่วนผู้หญิงที่ผันตัวเองเป็นฝ่ายรุกมักถูกตำหนิว่าร่านหรือใจแตก หรือหากไปมีเพศสัมพันธ์นอกการสมรสก็จะถูกพิพากษาทางสังคมว่ามีความผิดฐานคบ ชู้สู่สมหรือมีพฤติกรรมสำส่อน ในทางตรงกันข้าม ผู้ชายไทยถูกจัดวางให้สวมบทรุกในความสัมพันธ์ระหว่างเพศ เช่น ได้รับอนุญาตให้เกี้ยวพาราสีผู้หญิงได้แต่พองาม ขณะที่หากผู้ชายฝ่าฝืนข้อกำหนดทางเพศก็ไม่จำเป็นต้องถูกประณามแต่เพียงสถาน เดียว ไม่ว่าจะเป็นเฒ่าหัวงูหรือพวกมักมากในกาม แต่พฤติกรรมดังกล่าวสามารถเป็นคุณสมบัติที่มีนัยพึงประสงค์ได้ เช่น การได้รับการขนานนามว่าเป็นขุนแผนหรือคาสโนวา ไม่เคยปรากฏว่าผู้ชายไทยถูกประณามว่าคบชู้หรือสำส่อนเมื่อนอกใจภรรยาหรือว่า คู่ควงไม่ว่าในกรณีใดๆ  
 
ความคาดหวังที่ไม่เสมอ กันดังกล่าวสร้างความยุ่งยากให้กับผู้หญิงไทยเมื่อถึงคราวมีเพศสัมพันธ์ เช่น เพราะถูกคาดหวังให้เป็นฝ่ายตั้งรับ ผู้หญิงไทยจึงประสบความยากลำบากในการสวมบทบาทเป็นผู้ริเริ่มหรือนำเสนอ มาตรการการมีเพศสัมพันธ์ที่รอบคอบและปลอดภัย จะให้ผู้ชายคิดกับผู้หญิงอย่างไรหากผู้หญิงพกถุงยางอนามัยหรืออุปกรณ์คุม กำเนิดอื่นๆ มาด้วยในการมีเพศสัมพันธ์ด้วยกันครั้งแรก แทนที่จะเป็นสาวพรหมจรรย์อย่างที่ถูกคาดหวัง การกระทำดังกล่าวเปลี่ยนสถานภาพผู้หญิงเป็นผู้จัดเจนเรื่องโลกีย์ในทันที ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดำรงอยู่ก่อนหน้าอย่างสำคัญ ฉะนั้น หากต้องการให้ผู้หญิงมีบทบาทอย่างแข็งขันในการสร้างสรรค์การมีความสัมพันธ์ ทางเพศที่ปลอดภัยก็จำเป็นจะต้องตั้งคำถามกับข้อกำหนดและความคาดหวังต่อ ผู้หญิงในความสัมพันธ์ระหว่างเพศดังกล่าวนี้ด้วย ซึ่งแปลว่าจะต้องท้าทายกฎศีลธรรมส่วนที่มักถูกนำมาใช้ในการคัดค้านการทำแท้ง โดยตรง
 
ขณะเดียวกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์มักถูกลดทอนให้เป็นเพียงผลพวงของการมี เพศสัมพันธ์ที่ไร้วุฒิภาวะ เป็นผลลัพธ์ของความรักสนุกที่ขาดความรอบคอบและยับยั้งชั่งใจของเด็กวัยรุ่น ใจแตก ทว่าในความเป็นจริงการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์สามารถเกิดขึ้นได้ในหลาย เงื่อนไข โดยนอกจากกรณีสุดขั้วอย่างเช่นการข่มขืน การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคู่สามีภรรยา (ไม่จำเป็นว่าจะต้องจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่) ในบางกรณีสามารถนำไปสู่การตั้งครรภ์ในลักษณะดังกล่าวได้ เช่น ด้วยภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ คนหาเช้ากินค่ำหรือคนงานค่าแรงต่ำจำนวนมากไม่มีเวลาให้กับการคิดเรื่องการ คุมกำเนิดมากนัก การป้องกันมักกระทำอย่างไม่รัดกุม โอกาสพลาดจึงมีสูง และเมื่อพลาดแล้วก็ไม่สามารถที่จะแบกรับภาระทางเศรษฐกิจที่จะตามมาได้ จึงกลายเป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ไปในที่สุด ฉะนั้น การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์จึงไม่ได้เป็นเพียงปัญหาความบกพร่องทางศีลธรรมของ ปัจเจกบุคคลที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการเทศนา หรือเป็นอาการใจแตกของเด็กวัยรุ่นที่สามารถป้องกันได้ด้วยการอบรมสั่งสอน แต่เป็นอาการปรากฏของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องอาศัยการจัด ระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ ใหม่ในการคลี่คลาย
 
นอกจากนี้ การต่อต้านและการประณามการทำแท้งด้วยกฎศีลธรรมทำให้มองไม่เห็นว่าการทำแท้ง เป็นปัญหาของการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจเหนือชีวิตระหว่างปัจเจกบุคคลกับรัฐ สมัยใหม่ โดยนอกจากการปกป้องชีวิตพลเมืองในฐานะทรัพย์สิน รัฐสมัยใหม่ผูกขาดสิทธิและอำนาจเหนือความเป็นความตายของผู้คนในเขตแดนของตน มีเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ความรุนแรงกับประชาชน ได้อย่างถูกกฎหมาย มีเฉพาะผู้พิพากษาโดยพระปรมาภิไธยเท่านั้นที่สามารถออกคำสั่งประหารชีวิตผู้ กระทำผิดได้ (และมีเฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ทรงพระราชทานอภัยโทษประหารชีวิตได้) ส่วนความรุนแรงและความตายที่ไม่เข้าข่ายนี้จัดเป็นอาชญากรรมหรือฆาตกรรมที่ จะต้องถูกลงทัณฑ์ ฉะนั้น การที่ผู้หญิงทำแท้งโดยพลการหรือไม่มีกฎหมายรองรับจึงเป็นฆาตกรรมในสายตาของ รัฐ เพราะเป็นการทำลายชีวิตที่รัฐอ้างสิทธิในการปกป้องคุ้มครอง ขณะเดียวกันก็เป็นการท้าทายอำนาจเหนือความตายของผู้คนของรัฐ เพราะมีแต่รัฐเท่านั้นที่มีสิทธิอำนาจจะพรากชีวิตพลเมืองของตนได้ ผู้หญิงอาจมีสิทธิในการให้ชีวิต แต่ไม่สามารถใช้สิทธิเหนือเนื้อตัวหรือร่างกายของตนเป็นข้ออ้างในการพราก ชีวิตผู้อื่น เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตจากรัฐ เพราะแม้กระทั่งชีวิตของผู้หญิงเองก็มีรัฐเป็นผู้ผูกขาดสิทธิอำนาจในการปก ป้องและทำลายมาตั้งแต่ต้น
 
การทำแท้งจึงชี้ให้เห็นปัญหารากฐาน ของสังคมร่วมสมัยที่ไปไกลกว่าความเสื่อมทรามทางศีลธรรมและการตกเป็นทาสของ วัตถุนิยมของผู้คน เพราะนอกจากจะเป็นผลพวงของความสัมพันธ์ระหว่างเพศที่ไม่เสมอกันที่กีดกัน ผู้หญิงออกจากการมีบทบาทในการสร้างสรรค์เพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย การทำแท้งเป็นอาการปรากฏของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สร้างรูปแบบชีวิต ที่สุ่มเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และมีทางเลือกในการแก้ปัญหา จำกัดเฉพาะสถานทำแท้งราคาถูก ขณะเดียวกันการถกเถียงเรื่องการทำแท้งก็ชี้ให้เห็นว่าร่างกายเป็นอาณาบริเวณ ที่ปัจเจกบุคคลกับรัฐช่วงชิงการอ้างสิทธิและอำนาจอย่างเข้มข้น การหาข้อยุติให้กับปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย กระนั้นก็คงไม่ใช่ด้วยการเทศนาหรือว่าอบรมจริยธรรม เพราะนอกจากจะลดทอนความสลับซับซ้อนของปัญหา วิธีการทั้งสองคือส่วนหนึ่งของปัญหาเมื่อมาถึงประเด็นความสัมพันธ์ระหว่าง หญิงชายในสังคมไทย
 
 
 
เผยแพร่ครั้งแรกใน:คอลัมน์ คิดอย่างคน หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ มหาประชาชน ปีที่ 1 ฉบับที่ 13 วันที่ 26 พฤศจิกายน ถึง 2 ธันวาคม 2553

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"เรื่องอย่างว่า" : ตอน1 ความน้อยเนื้อต่ำใจของผู้ต้องหาคนหนึ่ง

Posted: 30 Nov 2010 03:52 AM PST

 
บันทึกชุดนี้เกิดขึ้นอย่างไม่ตั้้งใจ ...
 
น่าเสียดายที่เราไม่อาจเปิดเผยสิ่งใดได้เลย ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของทั้งคนเล่าและคนเล่าต่อ
 
ในยุคสมัยที่มืดมน ใครอาจตีอกชกหัวที่เรื่องราวของผู้ถูกกระทำคนหนึ่งเป็นได้เพียง "นิยายประโลมโลกย์" หรือ "วรรณกรรมก่อนนอน" หาใช่รายงานอันมีข้อมูลหลักฐานหนักแน่น
 
แต่เชื่อเถิดว่ามันมีพลังเสมอ โดยเฉพาะเมื่อมันดิ้นรนที่จะมี "ชีวิต" ของมันเอง และพร้อมสื่อสารความเป็นไปต่างๆ ด้วยตัวเองให้คนร่วมยุคสมัยได้รับรู้
 
ใช่ ... บันทึกชุดนี้เกิดขึ้นอย่างไม่ตั้้งใจ แต่ขอให้รับรู้ไว้ว่ามันเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง พลังใจของผู้เล่า แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุดในชีวิต
 
 
เขาไม่ใช่ผู้ต้องขังคนแรกที่โดนข้อหาอย่างว่า ข้อหาที่แปลกประหลาดที่สุดของประเทศนี้ 

เรายังไม่รู้ว่าเขาทำอย่างว่าจริงหรือเปล่า แต่แม้สมมติว่าจริง ความเห็นของมหาชนก็ยังแตกต่างกันไป

บางคนว่าเรื่องอย่างว่าที่เขาทำเป็นเรื่องเล็กน้อยในสังคมสมัยใหม่ และออกจะไร้สาระเมื่อเทียบกับโทษทัณฑ์

บางคนว่าเรื่องอย่างว่าที่เขาทำ ไม่ว่าจะถูกหรือผิด เป็น "สิทธิ" ชนิดหนึ่ง เรียกว่า สิทธิในการแสดงออก

บางคนว่าเรื่องอย่างว่าที่เขาทำร้ายแรงอย่างไม่อาจให้อภัยได้ ทำร้ายจิตใจ "คนไทย" และบ่อนทำลายรากฐานสังคม

                                                                             ฯลฯ 

คดีเพิ่งเริ่มต้น ศาลยังไม่พิพากษา กาลเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า คนยังคิดเห็นไปได้นานา แต่อย่างว่า...เขาอยู่ในคุกมาแล้วเกือบปี

- - - - - - - - - - - - - - - - -

เขาเป็นคนตัวเล็ก ท่าทางดูเรียบร้อย คำพูดคำจายิ่งบ่งบอกว่าเป็นคนใจดีและ "มีการศึกษา"

หลังจากถูกบุกจับกุมตัวที่บ้านพักและนำตัวมาไว้ในห้องขัง สภาพจิตใจของเขาแย่มาก เนื่องจากชีวิตของคนชั้นกลางธรรมดาคนหนึ่งพลิกผันไปสู่การเป็นคนคุกเพียงชั่วคืน

เขาปฏิเสธข้อกล่าวหาอย่างว่า (มีไม่กี่คนที่ตัดสินใจปฏิเสธข้อกล่าวหาอย่างว่า เพราะบทเรียนจากนักโทษคนก่อนๆ บ่งบอกว่า...ยิ่งสู้ ยิ่งหนัก) และพยายามประกันตัว แต่ไม่เป็นผล คดีอย่างว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะได้ประกันตัว ถ้าไม่ใช่คนโด่งดังมีสถานะในสังคม หรือนิยมรับประทานเส้นใหญ่น้ำใสจริงๆ

เขามีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง อยู่ในแวดวงไซ...ยะ สาด และมักช่วยเหลือเพื่อนฝูงออกแบบห้องพิธีกรรมเอาไว้ให้คน "ปล่อยของ" เสมอ

เขาเล่าว่า กระทั่งมีคนเข้ามาปล่อยของแรงมากจนเป็นเหตุให้เขาถูกจับกุมตัว ทั้งที่เป็นเพียงผู้ออกแบบห้อง ไม่ใช่ผู้จัดการการใช้ “พื้นที่” นั้น

เมื่อ single dad อยู่ในคุก ลูกชายคนเดียวที่ยังเล็กก็ต้องเผชิญชีวิตคนเดียวภายนอกโดยอาศัยอยู่กับเพื่อนๆ ของพ่อ ในครั้งแรกๆ ที่เจอกัน เขาร้องไห้เสมอเมื่อเอ่ยถึงลูก ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกถึงอดีตผู้ต้องขังพ่อลูกสามรายก่อน

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ไม่ค่อยมีใครมาเยี่ยมเขาหรอก เพราะผู้คนต่างกลัวจะเกี่ยวพันกับเรื่องอย่างว่า

แม้แต่ครอบครัวของเขาเองก็เงียบหายไปหลายเดือน จนกระทั่งป๊าต้องไปบังคับให้ญาติๆ พากันมาเยี่ยมอย่างแกนๆ เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนก่อน

ตอนที่ป๊าและน้าๆ ป้าๆ มาเยี่ยม เขาดีใจมาก ยิ้มจนปากเกือบฉีกถึงหู

ป๊าเขียนจดหมายมาหาเขาด้วยในช่วงหลัง ถามสารทุกข์สุขดิบและพูดทีเล่นทีจริงว่า..อาตี๋ ถ้าลื้อออกมาแล้ว ลื้อก็ไปเปลี่ยนนามสกุล ตั้งตระกูลใหม่ได้เลยนา

เขาเล่าเรื่องขบขันนี้ด้วยเสียงหัวเราะแปร่งๆ และแววตาปวดร้าว 
 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

"ผมเคยได้ยินแนวร่วมของผมและเพื่อนๆ ชาวไซ...ยะสาด พูดกันอยู่เสมอว่า "เราไม่ทอดทิ้งกัน" ผมเองก็คาดหวังอยู่เสมอว่าจะเป็นเช่นนั้น แต่พอมาประสบชะตากรรมเช่นนี้แล้วก็ดูเหมือนว่าผมอาจจะ "คาดหวัง" มากเกินไป และรู้สึกว่าคำๆ นี้อาจเป็นเพียงคำที่ใช้ปลอบใจสำหรับคนที่อยู่ข้างนอกเท่านั้น คนที่พลั้งพลาดไปแล้วอย่างผม และเพื่อนๆ ที่ไม่ใช่แกนนำอีกหลายคนก็อยู่แบบ "ตัวใครตัวมัน" ก็แล้วกัน จริงๆ แล้วผมเองพยายามในหลายๆ ทางที่จะให้เพื่อนข้างนอกให้ความใส่ใจกับคนภาคไซ...ยะสาด ที่โดนคดีอย่างว่าเหมือนผมให้มาก ซึ่งผมเองไม่แน่ใจว่าทั่วประเทศไทยมีอยู่จำนวนเท่าไหร่ ผมเองมีโอกาสคุยกับแกนนำคนหนึ่งหลายครั้งแต่ดูเหมือนเขาไม่ค่อยเห็นความสำคัญของภาคไซ..ยะสาดเท่าไหร่ เค้ายังคงมั่นใจกับการเคลื่อนแบบเดิมๆ ทั้งๆ ที่ผมเองมั่นใจว่าตลอดมาตั้งแต่ 19 ก.ย. จนถึงวันนี้ภาคไซ..ยะสาดยังคงเป็นกำลังสำคัญมาตลอด แม้พวกเราจะถูกหาว่าเก่งแต่หน้าคอมก็ตาม แต่วันนี้มันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว และก้าวต่อไปถ้ามีเหตุอะไรที่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลง กำลังทางไซ...ยะสาด นี้แหละที่มีความสำคัญที่สุด ต้องเน้นและทำขนานกันไปกับแนวทางเดิม และเมื่อกำลังทางไซ...ยะสาด สำคัญ "แกนนอน" ทางไซ..ยะสาดทุกคนก็ควรได้เกียรติเฉกเช่นแกนนำที่อยู่ตอนนี้ด้วยเช่นกัน และนี้คือเหตุผลที่ผมอยากเล่าให้ฟัง และผมมิได้คิดเพื่อตัวผมเอง แต่เพื่อพี่น้องชาวไซ...ยะสาด ของผมจะได้รับความสำคัญ และยกย่องบ้างจากพี่น้องที่พวกเขาทุ่มเทและศรัทธาไม่มากไม่น้อยไปกว่าใครเลย..." คำบอกเล่าของเขาคนนั้น

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบตองแห้งออนไลน์: ปชป.รอด แล้วศาลล่ะ

Posted: 29 Nov 2010 11:57 PM PST

 
 
เมื่อเย็นวันจันทร์เชื่อว่าหลายคนคงเตรียมใจไว้แล้วเหมือนผม ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อคำวินิจฉัยออกมาแล้ว ก็อดเซอร์ไพรส์ไม่ได้ว่าไหงกลายเป็น ปชป.ชนะฟาวล์ หมดอายุความ เพราะ กกต.ยื่นเรื่องยุบพรรคเกินกำหนด 15 วัน
 
ผลก็คือ ปชป.ลอยนวล เป็น “ของขวัญวันพ่อ” แด่พ่อน้องปลื้มกะพ่อน้องปราง โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าตกลง ปชป.ทำผิดหรือไม่ และไม่มีทางรู้ เพราะไม่สามารถนำมาฟ้องซ้ำได้อีกแล้ว
 
ปชป.จึงลอยนวล โดยที่สังคมยังคาใจ จากที่มีคลิปคาใจ ตอนนี้ยิ่งค้างเข้าไปใหญ่
 
คือผมเนี่ยเตรียมใจไว้แล้วนะครับ ท่านอาจารย์จรัญ พร้อมยอมรับคำวินิจฉัยว่าพรรค ปชป.ไม่ผิด ต่อให้เป็นการกระทำผิดของหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค กรรมการบริหารพรรค ก็ต้องลงโทษเฉพาะตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ลงโทษพรรคซึ่งเป็นสถาบัน เป็นของสมาชิกพรรคหลายล้านคนที่บ้างก็เลือกมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายสมัยคึกฤทธิ์ให้คนไปตะโกนในโรงหนัง หรือบ้างก็เลือกพรรคโดยไม่สนใจว่าจะส่งไอ้เท่งไอ้ไข่นุ้ยหรือว่าเสาไฟฟ้ามาลงสมัคร
 
นั่นจะเป็นการตีความที่ “ภิวัตน์” อย่างแท้จริง คือตีความกฎหมายให้ก้าวหน้า สอดคล้องหลักการประชาธิปไตย ไม่ให้มีการยุบพรรคการเมืองกันง่ายๆ เว้นเสียแต่เป็นพรรคนาซี พรรคฟาสซิสต์ ที่ พรบ.พรรคการเมืองมาตรา 95(1) บัญญัติว่า “กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” (เอ๊ะ มาตรานี้กระเทือนซางใครที่ร่วมมือกับรัฐประหารหรือเปล่า)
 
แต่พอคำวินิจฉัยออกมาแบบนี้ 4-2 (ต่อลูกควบลูกครึ่งยังกินเรียบ) มันก็ทำให้เกิดข้อกังขาสิครับ แถมอึดอัด เหมือนดูหนังไม่จบเรื่อง ไฟดับกลางคัน แต่หนังยังดูใหม่ได้ เอาเป็นว่าเหมือนเข้าห้องสุขาแล้วมีเหตุปัจจุบันทันด่วน ไม่สุด! มันยังคาๆ อยู่ พร้อมกับข้อกังขาหลายประการ
 
เช่น เอ๊ะทำไมศาลท่านไม่วินิจฉัยซะตั้งแต่แรก ว่ากระบวนการยื่นคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปล่อยให้ทั้งผู้ร้องผู้ถูกร้องสู้คดีกันเป็นวรรคเป็นเวร สุดท้ายเหนื่อยฟรีกลายเป็นนกเด้าลม (กระเด้าลมก็เรียก-พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน) แถมยังมีเรื่องบานปลายแอบถ่ายฉายคลิปกันวุ่นวาย ถ้าตัดไฟเสียแต่ต้นลมคงไม่ยุ่งยากปานนี้
 
เอ้อ แถมในคลิปก็ดูเหมือนจะพูดกันประเด็นนี้ด้วยนะ คือประเด็นที่ท่านอภิชาติ สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมือง (ซึ่งศาลตีความแยกบทบาทให้เป็นฉากๆ) จะเป็นเหตุให้ ปชป.”ชนะฟาวล์” ต้องเอาท่านมาให้การให้ได้ แม้สุดท้ายไม่มาให้การ ก็ยังเป็นประเด็นชี้ขาดอยู่ดี
 
ยิ่งกว่านั้นในฐานะชาวบ้านธรรมดาอย่างเราก็ยังอดกังขาไม่ได้ว่า เอ๊ะ กกต.5 คนก็เป็นอดีตผู้พิพากษาซะ 4 คน ไหงตีความกฎหมายพลาดง่ายๆ ปล่อยให้คดีขาดอายุความ กกต.จะออกมาแก้ตัวอย่างไร ผมยังไม่ได้ฟัง อยากฟัง เพราะถ้าท่านแก้ตัวไม่ขึ้น ก็คือท่านบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่อย่างร้ายแรง ทำให้คดีแท้งต้องเอาศพไปทิ้งที่วัดไผ่เงิน
 
อันที่จริงเรื่องนี้มีมุขคั่นเวลานะครับ นับดูดีๆ กกต.5 คนมีอดีตผู้พิพากษา 4 คน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คนมีอดีตผู้พิพากษา 5 คน หนึ่งในเสียงข้างมากคือท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ มาจากทูต ฉะนั้นคดีนี้ถ้านับเฉพาะเสียงอดีตผู้พิพากษาก็คือชนะกัน 3 ต่อ 6 (3 เป็นฝ่ายชนะ)
 
มีบางคนยกคดีนี้ไปเทียบกับคดีอัลไพน์ของป๋าเหนาะ แต่บางข้อก็ต่างกันนะครับ เพราะคดีอัลไพน์ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัยตั้งแต่การพิจารณาคดีนัดแรกว่าขาดอายุความ ป๋าเหนาะก็เลยไม่ต้องสู้คดีเปล่าๆ เป็นนก (กระ) เด้าลม
 
อันที่จริงคดีนั้นก็น่ากังขาเหมือนกัน เพราะศาลท่านชี้ว่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 วรรคหนึ่ง การฟ้องคดีอาญาต้องได้ตัวจำเลยมาที่วันฟ้องด้วย อายุความจึงจะหยุด แต่การยื่นฟ้องของ ป.ป.ช.ในคดีดังกล่าว ได้ยื่นฟ้องวันที่ 21 สิงหาคม 2553 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่คดีครบกำหนด โดยไม่มีตัวจำเลยมา อายุความของคดีจึงไม่นับให้ยุติลงในวันดังกล่าว วันนี้จำเลยได้เดินทางมาศาล ซึ่งเกินเวลาของอายุความ ศาลจึงวินิจฉัยให้พิพากษายกฟ้อง
 
ฟังแล้วกังขาไหมครับ ว่า ปปช.ที่เต็มไปด้วยอดีตผู้พิพากษา ผู้รู้ ผู้กล้า ไหงถึงพลาดง่ายๆ ทำเหมือนแมงแสนตีน (กิ้งกือ-ภาษาเหนือ) ตกน้ำตาย แต่อย่างว่านะแหละ ป๋าเหนาะแกไม่ค่อยมีศัตรู ก็เลยไม่มีใครไปไล่บี้โวยวาย (ลองเป็นคดีทักษิณสิ พลาดแบบนี้โดนขรมเจ็ดชั่วโคตร)
 
แต่คดียุบพรรคนี่ใครจะยอมง่ายหรือเปล่าไม่ทราบ เพราะโดยสามัญสำนึกแบบชาวบ้าน ก็ต้องสรุปว่าถ้าศาลท่านตัดสินอย่างนี้ ก็แปลว่า กกต.ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องอย่างร้ายแรง แล้ว กกต.จะรับผิดชอบอย่างไร ถ้าท่านเห็นว่าท่านไม่ผิด ท่านก็ต้องโต้แย้งคำวินิจฉัย ให้สังคมชั่งน้ำหนักว่า กกต.5 คน (ที่มีอดีตผู้พิพากษา 4 คน) บวกอดีตผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยอีก 2 คน กับตุลาการเสียงข้างมาก 4 คน (ที่มีอดีตผู้พิพากษา 3 คน) ใครมีเหตุมีผลกว่า
 
 
แม้วบงการคลิป
จบแค่นี้?
 
เรื่องบังเอิญอีกประการคือ “น้องปอย” พสิษฐ์ ออกคลิปล่าสุดพูดถึง “รอการลงโทษ” แต่ก็คงไม่มีใครให้น้ำหนัก เพราะถูกซัดถูกโยงไปเรียบร้อยแล้วว่า “อดีตผู้บริหารสูงสุด” เป็นผู้บงการคลิป
 
วันก่อนผมเห็นไทยโพสต์พาดหัวข่าว “แม้วบงการคลิป” แล้วก็หัวร่องอหงาย อ้าว เพิ่งรู้หรือ ไม่ใช่ว่าพยายามจะชี้จะนำมาให้ออกทางนี้หรือ
 
“แม้วบงการคลิป” จะได้ทำลายน้ำหนักของคลิปทั้งหมด ให้กลายเป็นความเท็จ ปัดเป่าข้อกังขาข้อครหาทั้งหลายที่มีต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อย่างนั้นหรือ
 
ขอประทานโทษ เรื่องยังไม่จบนะครับ มันจะจบได้ไงเพราะท่านตั้งกรรมการมาสอบตัวเองแล้วแท้งเป็นผีเด็กไปซะก่อน บวรศักดิ์หลวมตัวมารับแล้วรู้สำนึก ชิ่งหนีเอาดื้อๆ หมดศักดิ์ศรี “เนติบริกร” (ไหนว่าบริการได้ทุกเรื่อง)
 
เรื่องที่ค้างคาอยู่ยังไม่ลอยนวลไปเหมือน ปชป.และยิ่งเป็นประเด็นทับถมให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องรีบเคลียร์ตัวเอง ซึ่งพอสรุปเป็นประเด็นๆ ได้ดังนี้
 
หนึ่ง พฤติกรรมของ “น้องปอย” ประธานศาลรัฐธรรมนูญผู้แต่งตั้งมาเป็นเลขาฯ ควรต้องรับผิดชอบหรือไม่ – “ควร” พวกเกลียดทักษิณ พวกเอาหน้าแนบก้น ปชป.ตอบทันทีว่าควร เพราะท่านดันเป็นเสียงข้างน้อย ให้คอยดู จะมีการรุมถล่มร่ำลือส่งเมล์ซุบซิบโยงเข้ากับ “น้องปอย” และ “อดีตผู้บริหารสูงสุด” จะรักษาเก้าอี้ประธานไปได้นานแค่ไหนก็ไม่รู้
 
แต่ข้อสอง พฤติกรรมของตุลาการคนอื่นๆ ที่ถูกเปิดเผยว่าตั้งลูก ตั้งญาติ มาเป็นเลขา ผู้ช่วยเลขา ที่ปรึกษา เรื่องนี้จะถูกทำให้เงียบหายไปเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง ทั้งที่เป็นเรื่องไม่ต้องตั้งกรรมการสอบก็ได้ แค่ทุกท่านเปิดเผยรายชื่อออกมาว่าเป็นใครบ้าง ใช่ญาติพี่น้องไหม มีความสามารถอะไร ถ้าลูกจบเกียรตินิยมจบเนติบัณฑิต ก็ว่าไปอย่าง แต่ถ้าเอาเพื่อนร่วมรุ่นมาเป็นที่ปรึกษาโดยไม่มีความรู้ทางกฎหมายหรือทางรัฐศาสตร์ สังคมจะได้เห็นว่าท่านทำตัวเหมาะสมไหม
 
ง่ายๆ แค่เนียะ ไม่ยักมีใครทำ ท่านอาจารย์จรัญผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องควรทำก่อนเพื่อน คนอื่นจะได้ทำตาม
 
ข้อสาม ทุจริตสอบเข้ารับราชการ ป่วยการที่จะตั้งคณะกรรมการสอบ เพราะไม่มีใครยอมมาเป็นประธาน ก็ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่เอาคนในคลิปมาเปิดแถลงข่าวถ่ายทอดสดรถโมบายล์ แล้วให้เปิดคลิปเทียบเสียงเทียบกิริยาอาการ จากนั้นก็เปิดให้ผู้สื่อข่าวซักถามว่า สิ่งที่พูดในคลิปเป็นความจริงไหม จริงไม่จริงอย่างไร ให้ “น้องปอย” โฟนอินเข้ามาโต้แย้งกัน เป็นเวทีสาธารณะ (ท่านกล้าไหม)
 
นอกจากนี้เพื่อให้โปร่งใสแท้จริง เปิดเผยรายชื่อผู้ที่สอบเข้ารับราชการได้ พร้อมประวัติเทือกเถาเหล่ากอลูกเต้าเหล่าใคร มีลูกหลานตุลาการจริงไหม ศาลนี้หรือศาลไหน สังคมตรวจสอบต่อได้
 
ปชป.ลอยนวลไปแล้วครับ แต่เรื่องของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังไม่จบ แถมท่านยังมาทำให้อึดอัด ค้างคา ไม่สุด ขอความกรุณาโปรดทำอะไรให้เคลียร์ๆ ซักหน่อยเถอะนะ
 
ส่วนประเด็นกฎหมายคดียุบพรรคเนี่ย เอาไว้คำวินิจฉัยที่เป็นทางการ กับคำวินิจฉัยส่วนตนออกมา คงมีเชิดฉิ่งกันอีกรอบ เพราะมีอะไรแปลกๆ การประชุมเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2552 ท่านอภิชาติไม่เห็นด้วยกับมติยุบพรรค แต่ศาลกลับเห็นว่า ความปรากฏแก่นายทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว ตามมาตรา 93 ต้องเริ่มนับ 15 วัน โดยไม่ต้องมารอมติเอกฉันท์วันที่ 21 เมษายน 2553 ทั้งนี้ ศาลยังไปตีความแยกอีกว่าความเห็นของท่านอภิชาติเป็นความเห็นในฐานะประธาน กกต.ไม่ใช่ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง
 
อ้าว ก็วันที่ 17 ธันวาคมเนี่ย ท่านอภิชาติไม่ยอมยุบ ในขณะที่ กกต.คนอื่นมีมติให้ยุบ แล้วศาลก็บอกอยู่ว่า การยื่นยุบพรรคเป็นอำนาจนายทะเบียนพรรคการเมือง เพียงขอความเห็นชอบจาก กกต.
 
นายทะเบียนผู้มีอำนาจยื่นเรื่องยุบพรรค ไม่ยอมยื่นเรื่อง เพราะไม่เห็นด้วยกับมติ กกต.เสียงข้างมาก แต่ศาลบอกว่า ความปรากฎแก่นายทะเบียนแล้ว ต้องยื่นภายใน 15 วัน ไม่ยื่นก็ขาดอายุความ ส่วนที่ท่านไม่เห็นด้วยก็ชั่ง เพราะถือว่านั่นเป็นความไม่เห็นด้วยในฐานะประธาน กกต.
 
มันฟังแปลกๆ ดีไหมล่ะ
 
                                                                        ใบตองแห้ง 95
                                                                        30 พ.ย.53
.............................................
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ตลกยังร้องไห้"

Posted: 29 Nov 2010 08:31 PM PST

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ตลกยังร้องไห้"

นิธิ เอียวศรีวงศ์:พื้นที่การเมืองที่ปิดไม่ลง

Posted: 29 Nov 2010 07:51 PM PST

กล่าวกันว่า นโยบายพัฒนาที่ธนาคารโลกนำมาสู่ประเทศไทย ภายใต้เผด็จการสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ และทายาท ได้สร้างคนชั้นกลางรุ่นใหม่ขึ้นในสังคมไทย คนเหล่านี้ไม่อาจทนอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารที่กีดกันพวกตนออกไปจากการมี ส่วนร่วมทางการเมืองได้ จึงร่วมมือกับชนชั้นนำตามจารีต, ทุน และกลุ่มทหารที่ไม่พอใจการเมืองภายในกองทัพขับไล่ผู้นำเผด็จการทหารออกไปใน การปฏิวัติ 14 ตุลา

แต่การจัดสรรแบ่งปันอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่ร่วมกันโค่นล้มเผด็จการทหารหลังจากนั้น ไม่ได้ลงตัวและออกจะขัดแย้งกันอย่างเปิดเผย มีการช่วงชิงการนำกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ทั้งระหว่างกลุ่มและภายในกลุ่มกันเอง ในขณะที่ขบวนการนิสิตนักศึกษา พยายามผลักดันความเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดที่ค่อนข้างถอนรากถอนโคน นั่นคือขยายสิทธิประชาธิปไตยทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจลงไปถึงคนระดับ ล่าง ซึ่งอยู่นอกกลุ่มคนชั้นกลางรุ่นใหม่ และอย่างเป็นรูปธรรม เช่นผลักดันกฎหมายเช่าที่นา และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของแรงงานภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

แม้เมื่อ ได้ขจัดบทบาททางการเมืองของกลุ่มนิสิตนักศึกษาไปได้หลังวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่การช่วงชิงการนำของกลุ่มทุน-ธุรกิจ, ชนชั้นนำตามจารีต, กองทัพ, ราชการ ฯลฯ ก็ยังไม่ลงตัว มีการรัฐประหารซ้อนที่สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง สืบมาอีกหลายครั้ง ต้องใช้เวลาอีก 5-6 ปีต่อมา กว่าการช่วงชิงการนำจะลงตัว จนเกิดระเบียบที่ชัดเจนของการนำขึ้นมาได้

ทั้งนี้เพราะคนชั้นกลางมี พลวัตสูง โดยเฉพาะคนชั้นกลางรุ่นใหม่ซึ่งยังไม่ได้ถูกผนวกเข้าไปในโครงสร้างอำนาจ ย่อมก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในระบบ ทั้งโดยสงบและโดยวิธีรุนแรงได้ตลอดเวลา

ในที่สุดระบบก็มา ยุติลงตัวกันที่ระบอบเลือกตั้งที่มีการกำกับโดยกองทัพร่วมกับชนชั้นนำตามจารีต เข้ามาร่วมกำหนดการจัดตั้งรัฐบาลโดยลับๆ หรือโดยเปิดเผยคือก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ตั้งรัฐบาลชั่วคราวแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่

ภายใต้ระบอบ เลือกตั้งที่มีการกำกับนี้ กลุ่มคนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่ยังไม่ได้ถูกผนวกเข้าไปในโครงสร้างอำนาจ ก็ค่อยๆ ถูกผนวกเข้าไป จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจ ในที่สุดก็มีความฝันอันเดียวกับชนชั้นนำในโครงสร้างอำนาจนี้
กล่าวคือ ฝันว่าระบอบนี้จะมีความยั่งยืนตลอดไป

ยุทธวิธี ที่นำไปสู่ความสำเร็จเช่นนี้น่าสนใจ แม้ไม่ได้มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นผู้คิดขึ้นทั้งหมดมาแต่แรก เพราะกลายเป็นบทเรียนที่ "อำนาจ" มีอยู่เพียงอย่างเดียว สำหรับการกลืนคนชั้นกลางรุ่นใหม่เข้ามาในระบบโดยไม่ให้สะเทือนทั้งโครงสร้าง

ยุทธวิธี นั้นคือ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้ใช้ความรุนแรงอย่างป่าเถื่อนกับคนชั้นกลางรุ่นใหม่กลุ่มที่ไม่ยอมอยู่ภาย ใต้การกำกับของกลุ่มอำนาจต่างๆ ภายในโครงสร้างอำนาจ ปิดพื้นที่ทางการเมืองในระบอบของคนกลุ่มนี้ลงโดยสิ้นเชิง คนจำนวนเป็นพันที่ไม่ได้หนีเข้าป่า (คือหนีไปสู่พื้นที่ทางการเมืองที่อยู่นอกระบอบ) ถูกจำขังในเรือนจำ โดยไม่มีโอกาสต่อสู้คดีในศาลยุติธรรม

ในขณะที่ปิดพื้นที่ทางการเมือง ที่เป็นอิสระของคนชั้นกลางรุ่นใหม่กลุ่มที่ไม่ยอมสยบต่อระบบ แต่ก็เปิดช่องทางที่จะเข้ามาสู่พื้นที่ทางการเมืองภายใต้กำกับไว้ให้กว้าง จะออกจากป่า หรือออกจากคุก หรือจากที่ซ่อนใดๆ ก็ไม่มีอันตราย แต่อย่าสร้างพื้นที่ใหม่ทางการเมืองที่เป็นอิสระจากการกำกับเป็นอันขาด หากจะมีบทบาททางการเมืองก็ต้องเข้ามาสู่พื้นที่ภายใต้การกำกับ หากยอมรับพื้นที่นี้ได้ไม่เต็มที่ ก็ยังเหลือพื้นที่ตามชายขอบให้แก่การปฏิบัติงานของเอ็นจีโอ

แต่ถึงแม้เป็นพื้นที่ชายขอบ ก็ใช่ว่าจะเป็นพื้นที่อิสระ

การ กำกับโดยทางอ้อมก็ยังเอื้อมไปถึง เช่นหากการทำงานมีทีท่าว่าจะคุกคามความชอบธรรมของระบบ ก็อาจทำลายความชอบธรรมเสีย โดยการกล่าวหาว่ารับจ้างต่างชาติ หรือเป็นนายหน้าค้าความจน

ยิ่งมาในภายหลังเมื่อระบบหันมาใช้ นโยบายอุดหนุนการปฏิบัติงานของเอ็นจีโอโดยตรง ผ่านโครงการของหน่วยราชการหรือองค์กรของรัฐในเสื้อคลุม "ภาคประชาชน" เช่น สสส. การกำกับก็ยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเป็นผู้กุมกระเป๋าเงิน

ด้วย ยุทธวิธีเช่นนี้ ในไม่ช้าคนชั้นกลางรุ่นใหม่ (ในรุ่นนั้น) ก็สามารถกลืนเข้าไปกับระบบได้ราบรื่น และแนบเนียนจนเป็นเนื้อเดียวกัน ต่างพอใจที่จะมีพื้นที่ทางการเมืองภายใต้กำกับเพื่อความเป็นระเบียบเรียบ ร้อย และพากันยินดีต่อการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 เพราะถึงอย่างไร การรัฐประหารก็เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของระบอบการเมืองซึ่งอยู่ภายใต้การ กำกับของชนชั้นนำทางอำนาจ ไม่ต่างอะไรจากการเลือกตั้งซึ่งต้องจัดขึ้นเป็นครั้งคราว

อันที่จริง จะยกความสำเร็จให้แก่ยุทธวิธีอย่างเดียวคงไม่ถูกต้องนัก เพราะในช่วงระยะเวลาจาก 6 ตุลาคม 2519 สืบมาจนถึงปัจจุบัน ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารด้านสังคม-เศรษฐกิจด้วย เช่นเมื่อการคมนาคมสื่อสาร ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศขยายตัวขึ้นอย่างมาก ก็เปิดให้มีตำแหน่งงานใหม่ๆ แก่คนชั้นกลาง โดยเฉพาะในภาคบริการ สามารถดูดซับคนชั้นกลางรุ่นใหม่กับลูกหลานในเวลาต่อมาได้อีกมาก (ไม่ว่าจะดูจากภาคการเงิน, การท่องเที่ยว หรือธุรกิจสื่อ และโทรคมนาคม)

พูดง่ายๆก็คือ พื้นที่ทางการเมืองภายใต้การกำกับนั้นไม่ใช่พื้นที่ซึ่งอับจนทางเศรษฐกิจ

ความ เปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไม่ได้เปิดโอกาสให้คนชั้นกลางรุ่น ใหม่เท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสหรืออย่างน้อยก็คือนำความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางมาสู่ ชีวิตของคนส่วนใหญ่ด้วย

กล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้คนถูกดึงเข้าสู่ตลาดอย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นการผลิตในภาคเกษตรกรรมหรือการขายแรงงาน

จำนวน มากของคนเหล่านี้มีรายได้เป็นตัวเงินสูงขึ้น และส่วนใหญ่อยู่นอกภาคเกษตรกรรม (แม้ไม่เท่าเทียมกับคนชั้นกลางที่ได้กลืนเข้าสู่ระบบแล้ว) เข้าถึงสื่อเช่นโทรทัศน์อย่างทั่วถึง บุตรหลานมีการศึกษาสูงขึ้น ส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นเขตเมือง หรืออย่างน้อยก็สามารถเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวได้ไม่ยาก และมักเข้าไปเป็นประจำ

นี่คือคนชั้นกลางรุ่นใหม่ (กว่า) ซึ่งพื้นที่ทางการเมืองภายใต้กำกับยังไม่ได้ผนวกเข้าไป จากการสำรวจของอาจารย์อภิชาต สถิตนิรามัย พบว่าคนเสื้อแดงแถบนครปฐมมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวถึงกว่า 5,000 บาทต่อเดือน ห่างไกลสุดกู่จากเส้นความยากจนของสภาพัฒน์

แต่คนเหล่านี้ ล้วนขาดหลักประกันความมั่นคงในชีวิต เช่นไม่ได้อยู่ในอาชีพที่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายประกันสังคม เข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้ไม่สะดวกนัก หาหลักประกันในด้านการศึกษาของบุตรหลานไม่ค่อยได้

คนเหล่า นี้ต้องการพื้นที่ทางการเมือง เพื่อผลักดันผลประโยชน์ของตนเอง ปัญหาที่เขาเผชิญอยู่เป็นปัญหาทางการเมือง ไม่ใช่การร้องทุกข์ทางเศรษฐกิจ หรือร้องขอการอุปถัมภ์จากรัฐ เขาจึงร่วมต่อสู้กับกลุ่มที่ต่อต้านการรัฐประหาร หยิบฉวยสัญลักษณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่คิดว่าจะเพิ่มพลังของฝ่ายตน (เช่นทักษิณ) เรียกร้องเสรีภาพและเสมอภาคทางการเมือง รับเอาศัตรูทางการเมืองของบางกลุ่มมาเป็นศัตรูของตนเอง (ซึ่งก็ไม่ผิดนัก) และรวมเรียกว่า "อำมาตย์" ไม่มีโครงการหรือแผนการทางเศรษฐกิจอะไรที่ชัดเจน

แผนการทางการเมืองอย่างเดียวที่เรียกร้องคือการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหมายความว่า ทุกฝ่ายต้องยอมรับผลของการเลือกตั้งด้วย

ทั้ง นี้หมายความว่า แนวทางการต่อสู้ทางการเมืองของเขาคือกระบวนการปกติที่ใช้กันทั่วไปในระบอบ ที่เรียกตนเองว่าประชาธิปไตย ด้วยความเชื่อว่าแนวทางนี้จะทำให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ และจะทำให้การเมืองแก้ปัญหาของเขาได้

แน่นอนว่า ความต้องการทางการเมืองของคนชั้นกลางรุ่นใหม่เหล่านี้ ย่อมกระทบต่ออำนาจการกำกับพื้นที่การเมืองของชนชั้นนำในระบบอย่างแน่นอน จะมากจะน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง (negotiation) แต่หากชนชั้นนำในระบบมองการเคลื่อนไหวของพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการต่อรอง เรื่องคงไม่นำไปสู่ความรุนแรงในเดือนเมษา-พฤษภา

แต่สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยให้กลุ่มชนชั้นนำในระบบให้เข้าสู่การเจรจาต่อรอง

เพราะในขณะที่คนชั้นกลางรุ่นใหม่นอกพื้นที่การเมืองภายใต้การกำกับ กำลังจะดันตัวเองเข้าสู่พื้นที่การเมืองนี้เอง ภายในพื้นที่นี้เอง ก็กำลังมีการปรับตัวขนานใหญ่ เพราะคนชั้นกลางรุ่นเก่า (อันเคยเป็นคนชั้นกลางรุ่นใหม่เมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว) กำลังขยับตัวเพื่อเข้าไปมีส่วนมีเสียงในพื้นที่นี้มากขึ้น กลุ่มทุนแตกร้าวกันเองอย่างหนัก ระหว่างกลุ่มที่เรียกว่า "ทุนเก่า" และ "ทุนใหม่" แม้ว่าชนชั้นนำตามจารีตยังยึดกุมภาวะการนำได้มั่นคง แต่ก็ไม่มีเอกภาพในการนำชัดเจนดังที่เคยเป็นมา

พูดสั้นๆ ก็คือสถานะในช่วงปั่นป่วนรวนเรของกลุ่มคนชั้นนำในระบบเอง ทำให้ตกเป็นฝ่ายอ่อนแอในการเจรจาต่อรองกับกลุ่มคนนอก จึงย่อมปลอดภัยกว่าที่จะไม่มองการเคลื่อนไหวของคนชั้นกลางรุ่นใหม่ว่าเป็น ส่วนหนึ่งของการเจรจาต่อรอง

ทางเลือกที่เหลืออยู่ในการกันพื้นที่ทาง การเมืองในระบบไว้ให้อยู่ในกำกับต่อไปได้ ก็คือยุทธวิธีที่เคยใช้ได้ผลใน 6 ตุลา นั่นคือการปราบปรามการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนชั้นกลางรุ่นใหม่อย่าง เหี้ยมโหด แล้วปิดพื้นที่ทางการเมืองของกลุ่มนี้ โดยไม่ต้องทำรัฐประหารยึดอำนาจ แต่อาศัยมาตรการนอกกฎหมาย (หรือใช้กฎหมายโดยไม่มีกระบวนการตามกฎหมาย-due process) และนอกรัฐธรรมนูญ

ในขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่ทางการเมืองไว้ให้แก่คนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่เลือกจะ เข้ามา โดยยอมรับการกำกับของชนชั้นนำตามเดิม เช่นมีการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ควบคุมการหาเสียง ปิดกั้นสื่ออิสระ และการจับกุมด้วยข้อหาที่คลุมเครือ

อย่าง ไรก็ตาม ยุทธวิธีที่เคยได้ผลดีมาก่อน เมื่อนำกลับมาใช้ใน พ.ศ.2553 ใหม่ ไม่น่าจะนำไปสู่ความสำเร็จได้อีก อย่างน้อยด้วยเหตุผลสองประการ

1/ การปิดพื้นที่ทางการเมืองของคนชั้นกลางรุ่นใหม่ไม่สามารถทำได้สนิทแนบแน่นเหมือนเมื่อ พ.ศ.2519-2520 ด้วยเหตุผลอย่างน้อยสองประการ คือ ทำไม่ได้ในเทคโนโลยีสมัยปัจจุบันหนึ่ง และอำนาจทางวัฒนธรรมของระบบเสื่อมโทรมลง จนกระทั่งไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการปกป้องข่าวสารและความเห็นอิสระได้ เสียแล้วอีกหนึ่ง

การปิดข่าวและความเห็นกลายเป็นการใช้อำนาจกับพรรค พวกตัวเอง เช่นสื่อที่เลือกจะยอมสยบต่ออำนาจเองกลับรู้สึกอึดอัดกับการควบคุมข่าวสาร ข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ

2/ จำนวนของคนชั้นกลางรุ่นใหม่มีมากกว่า "รุ่นใหม่" ของ 14 ตุลาอย่างเทียบกันไม่ได้ และบัดนี้ก็มีสำนึกทางการเมืองเสียแล้ว จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญของการเมืองระบอบเลือกตั้ง พรรคการเมืองใดที่ปฏิเสธบทบาทของคนกลุ่มนี้ก็ยากที่จะประสบชัยชนะ

เมื่อการแบ่งสีจืดจางลงในสังคมสักวันหนึ่งในอนาคต ทุกพรรคการเมืองก็ต้องพยายามเข้ามากวาดเก็บคะแนนจากคนชั้นกลางรุ่นใหม่เหล่านี้ การเมืองที่มีฐานมวลชนกำลังเริ่มเกิดในสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ฉะนั้นการรักษาการกำกับพื้นที่ทางการเมืองของชนชั้นนำจึงทำได้ยาก ตราบเท่าที่ยังเปิดให้มีพื้นที่การเมืองซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง จะกำกับพื้นที่นี้ด้วยการชักใยเบื้องหลังอย่างที่เคยทำมาจึงไม่ค่อยได้ผลนัก แม้แต่สามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นได้ รัฐบาลนั้นก็ขาดความชอบธรรมในสายตาของคนจำนวนมากในสังคม เช่นรัฐบาลปัจจุบัน

พื้นที่การเมืองซึ่งเคยอยู่ภายใต้การกำกับ กลับกลายเป็นพื้นที่แห่งความตึงเครียด จนแม้แต่การบริหารตามปกติก็ทำแทบไม่ได้ กลายเป็นพื้นที่ซึ่งต้องใช้กำลังทหารควบคุมไปทุกฝีก้าว (แม้แต่รองเท้าแตะ)

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่ประชาธิปไตยเบ็ดเสร็จ ซึ่งสังคมไทยรับไม่ได้และนานาชาติจะรับไม่ได้มากขึ้นไปตามลำดับ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ระบบสุขภาพ เราจะไปทางไหน ประสิทธิภาพ หรือ คุณภาพ มีกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ดีหรือไม่?

Posted: 29 Nov 2010 06:20 PM PST

ระยะของประสิทธิภาพ
ก่อนปีพ.ศ. 2520 นั้น แพทย์ในต่างจังหวัดเกือบทั้งหมด เป็นแพทย์ทั่วไป(GP-general practitioner) โรงพยาบาลอำเภอ (หรือโรงพยาบาลชุมชนในปัจจุบัน) มีแพทย์เพียง1-2 คน ส่วนโรงพยาบาลจังหวัด (หรือโรงพยาบาลทั่วไป ในปัจจุบัน) ขนาด 200-400 เตียง ก็มีแพทย์ประมาณ 10-20 คนเท่านั้น แพทย์ทุกคนจึงต้องรักษาได้ทุกโรค และต้องทำงานอย่างหนัก โรงพยาบาลที่มีแพทย์คนเดียวต้องรับผิดชอบ 24 ชั่วโมงต่อวัน และ 365 วันต่อปี แพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัดก็ต้องทำงานหนัก ไม่แพ้กัน ยุคนี้จึงเป็นยุคที่แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ด้านคุณภาพ ต้องอ่อนด้อยไปบ้าง  

ระยะเปลี่ยนผ่าน
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 เป็นต้นมา เริ่มมีแพทย์เฉพาะทางสาขาหลัก(ศัลยกรรมทั่วไป อายุรกรรม สูตินรีเวช กุมารเวชกรรม ฯลฯ)จบจากการฝึกอบรม ทยอยเข้ารับราชการในโรงพยาบาลในต่างจังหวัด แต่จำนวนยังน้อย ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเหล่านี้ ต้องทำงานอย่างหนัก .เช่น ศัลยแพทย์ อาจต้องยืนผ่าตัด ตั้งแต่เช้าถึงค่ำถึงดึก บางครั้งแม้จะง่วง แม้จะหิว หรือแม้แต่ป่วย ก็ยังคงต้องทำงานเพื่อช่วยผู้ป่วยให้รอดชีวิต ยุคนี้จึงยังคงเป็นยุคที่แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ด้านคุณภาพยังพัฒนาขึ้นได้ไม่มากนัก เนื่องจากบางครั้งแพทย์ต้องทำงานหนักในสภาพที่ร่างกายไม่พร้อม และต้องทำงานในด้านกว้างมากเกินไป เช่นศัลยแพทย์ต้องผ่าได้ทั้งสมอง, กระดูก, ทรวงอก, ช่องท้อง, หลอดเลือด ฯลฯ  

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533     เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เริ่มมีกฎหมายประกันสังคม บังคับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า สิบคน ต้องขึ้นทะเบียน จ่ายเงินสมทบ และลูกจ้างจะได้สิทธิในการรักษาพยาบาล โดยสำนักงานประกันสังคม(สปส) จะไปจ้างโรงพยาบาลให้รับรักษาลูกจ้างที่เจ็บป่วย โดยจ่ายค่ารักษาแบบเหมาต่อหัวให้แก่สถานพยาบาล แต่มีเงื่อนไข ว่าสถานพยาบาลที่จะรับรักษาลูกจ้างที่เจ็บป่วยนั้น จะต้องพัฒนาคุณภาพ เช่นต้องมีช่องทางพิเศษเพื่อความรวดเร็ว, มีระบบเวชระเบียนที่ดี, สภาพทางกายภาพของสถานพยาบาลต้องเหมาะสม ฯลฯ ระยะนี้ จึงเป็นระยะที่เริ่มมีการพัฒนาคุณภาพด้านการรักษาพยาบาลอย่างจริงจัง มีการนำระบบ OD, ESB, CQI , TQM และที่สุดรวมเป็นระบบ Hospital accreditation  มาจนถึงปัจจุบัน    

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาคุณภาพได้พบอุปสรรคที่สำคัญ คือโครงการ “30บาทรักษาทุกโรค” ตามพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทำให้ผู้ป่วย เข้าถึงระบบการแพทย์สมัยใหม่ได้อย่างทั่วถึง จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว ทำให้การพัฒนาคุณภาพดำเนินไปอย่างค่อนข้างเชื่องช้า    

ระยะของคุณภาพ
แต่เดิมนั้นโรงพยาบาลเอกชนมักก่อตั้งโดยมูลนิธิที่ไม่แสวงกำไร หรือไม่ก็เป็นกลุ่มแพทย์ ที่รวมตัวกันก่อตั้ง โดยคำนึงถึงจรรยาแพทย์เป็นหลัก แต่ต่อมาก็เริ่มมีนักธุรกิจนำระบบธุรกิจมาใช้ ระบบธุรกิจก็คือแสวงหากำไรสูงสุด ผู้ป่วยก็กลายเป็นลูกค้า ลูกค้าก็คือพระเจ้า เมื่อการรักษาผิดพลาด ก็นำเรื่องไปฟ้องศาล ส่วนการรักษาในโรงพยาบาลรัฐ เดิมยังมีปัญหาไม่มาก เนื่องจากผู้ป่วยยังคิดว่าเป็นระบบอุปถัมภ์ คือเมื่อตนเองหรือญาติป่วย การไปให้หมอรักษาถือว่าไปขอให้หมอช่วย จะช่วยได้มากหรือน้อย หรือช่วยไม่ได้ ก็คิดว่าเป็นเวรกรรม เป็นโชคชะตา แต่ต่อมารัฐได้ประชาสัมพันธ์ว่า การรักษาพยาบาลนั้น เป็นสิ่งที่รัฐมอบให้ประชาชน ประชาชนก็เริ่มเปลี่ยนความคิดว่าการไปโรงพยาบาลนั้นเป็น”สิทธิ” แพทย์ พยาบาลมี”หน้าที่”ต้องรักษาให้หาย ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ กับผู้ป่วยก็เริ่มเหินห่าง ผู้ป่วยเริ่ม”รักษาสิทธิ”ของตน มีอะไรไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ก็ร้องเรียน ประท้วงหรือกระทั่งฟ้องศาล ส่วนแพทย์ก็ต้องระวังตัว ไม่ให้ถูกฟ้องร้อง ระบบสุขภาพจึงถูกบีบบังคับให้เข้าสู่ระยะคุณภาพอย่างรวดเร็ว  

คดีร่อนพิบูลย์ เมื่อปี พ.ศ. 2550  เป็นคดีที่ทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบสุขภาพของไทย เพราะแพทย์ที่เจตนารักษาผู้ป่วยให้หาย แต่เกิดความผิดพลาด ไม่ว่าความผิดพลาดนั้น จะเกิดจากความไม่รู้, เกิดจากความประมาท, หรือเกิดจากเหตุสุดวิสัยก็ตาม ต้องถูกพิพากษาให้จำคุก และต้องจำคุกจริงๆ ไม่มีการรอลงอาญา แม้คดีนี้จะได้รับการยกฟ้องในชั้นศาลอุทธรณ์ แต่ความหวาดกลัว และหวาดระแวงได้เกิดขึ้นกับแพทย์ทั่วประเทศแล้ว การรักษาผู้ป่วยกลายเป็นเหมือนการเดินอยู่กลางสนามที่มีทุ่นระเบิดอยู่ ถ้าผิดพลาด เท่ากับต้องติดคุก แพทย์ส่วนใหญ่ จึงต้องทำเวชปฏิบัติแบบป้องกันตัว คือ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด บันทึกเวชระเบียนทั้งที่ปกติและผิดปกติ (ธรรมดา เพื่อประหยัดเวลา แพทย์จะบันทึกเฉพาะการตรวจพบที่ผิดปกติ แต่ศาลวินิจฉัยว่าไม่บันทึก แปลว่าไม่ได้ตรวจ) ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการจำนวนมาก เพื่ออุดช่องโหว่ในทุกความเป็นไปได้ และถ้ามีข้อสงสัย หรือไม่แน่ใจอะไรแม้แต่นิดเดียว ก็จะส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อในโรงพยาบาลที่สูงขึ้น เป็นภาระแก่ผู้ป่วย และญาติ อย่างมาก การรีบเร่งพัฒนาคุณภาพทั้งๆที่ยังมีทรัพยากรที่จำกัดนี้ ทำให้เกิดผลเสียทำให้ผู้ป่วยเกิดความไม่สะดวก ต้องรอนาน และเกิดการสิ้นเปลืองทรัพยากรของชาติอย่างมหาศาล  

ประสิทธิภาพ หรือ คุณภาพ
การฟ้องแพทย์ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาลอย่างก้าวกระโดด แต่ในขณะเดียวกัน ก็เกิดผลเสียด้านประสิทธิภาพอย่างมาก ได้แก่
    
    1.แพทย์จะต้องตรวจผู้ป่วย และบันทึกผลการตรวจอย่างละเอียดเพราะฉะนั้นผู้ป่วยก็จะต้องรอพบแพทย์นานขึ้น ปัจจุบันนี้ แพทย์ใช้เวลาตรวจผู้ป่วยเฉลี่ยเพียง 3-5 นาที ทำให้สามารถตรวจผู้ป่วยนอกได้วันละกว่าร้อยคน แต่ถ้าต้องเพิ่มเวลาตรวจต่อคนขึ้นเป็น 5-10 นาที ผู้ป่วยครึ่งหนึ่ง จะต้องรอไปตรวจวันรุ่งขึ้น และผู้ป่วยที่จะควรจะได้ตรวจวันรุ่งขึ้น ก็จะต้องถูกเลื่อนไป เป็นดินพอกหางหมูไปเรื่อยๆ

     2.แพทย์ต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างมากมาย เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอะไรหลงหูหลงตาไป ที่จะสามารถเป็นต้นเหตุให้ถูกฟ้องได้ งบประมาณด้านการรักษาพยาบาลก็จะต้องเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก

     3.ถ้ามีกรณีสงสัย ไม่แน่ใจ แพทย์ก็จะต้องเลือกส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อในโรงพยาบาลระดับที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ป่วย และญาติ ไม่ได้รับความสะดวก และสิ้นเปลืองค่าเดินทาง ค่าขาดรายได้ คำขวัญ”ใกล้บ้าน ใกล้ใจ” กลายเป็นอดีตไปทันที  

การตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการแพทย์ โดยหวังว่าจะช่วยลดการฟ้องร้องแพทย์นั้น เป็นไปไม่ได้แน่นอน เนื่องจากเป็นการมอบ”สิทธิ”ในการเรียกร้องให้ผู้ป่วย ทุกครั้งที่การรักษาเกิดผลที่ไม่พึงปรารถนา (adverse effect) หรือเกิดโรคแทรกซ้อน (complication) ขึ้น ผู้ป่วยก็จะแห่กันไปขอรับเงินนี้ เมื่อผู้ป่วยเชื่อว่าตนมีสิทธิจะได้รับ ถ้ากองทุนไม่จ่าย ก็จะเกิดการฟ้องศาลตามมา ถ้ากองทุนจ่าย ก็จะสิ้นเปลืองเงินอย่างมากจนรับภาระไม่ไหว ในที่สุดก็จะต้องไปไล่เบี้ยเอากับบุคลากรที่รักษา ทำให้บุคลากรเหล่านั้นยิ่งเพิ่มวิธีทำเวชปฏิบัติแบบป้องกันตัวมากขึ้นเรื่อยๆ    

การที่รัฐประสงค์จะได้ประสิทธิภาพสูงสุด (เช่น จ่ายเงินให้โรงพยาบาลหัวละพันกว่าบาท แต่ต้องรักษาหายทุกโรค หรือถือบัตรประชาชนใบเดียว ไปรักษาได้ทั่วประเทศ หรือโรงพยาบาลทุกแห่ง ต้องมี”สามดี” ฯลฯ) ขณะเดียวกัน ก็ต้องการคุณภาพชั้นเยี่ยม (ต้องมีการบันทึกเวชระเบียนอย่างละเอียด ต้องตรวจและรักษาตามมาตรฐานโลก ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจรักษาอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอนาน ถ้าผลการรักษาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ต้องมีการสอบสวน มีการเรียกร้องค่าเสียหายทั้งจากกองทุน และฟ้องศาล ฯลฯ) แน่นอนว่าย่อมเป็นไปไม่ได้ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัดนี้ รัฐจะต้องเลือกปรับประสิทธิภาพ และ คุณภาพ ให้สมดุล เพื่อให้ระบบดำเนินไปได้อย่างราบรื่น การรีบร้อนมอบสิทธิต่างๆให้ประชาชน(สิทธิในการรักษาพยาบาลฟรี ไม่จำกัดจำนวนและสถานที่,สิทธิในการได้รับบริการชั้นเยี่ยม,สิทธิในการเรียกร้องความเสียหายถ้าผลการรักษาไม่เป็นตามที่คาดหวัง ฯลฯ) จะทำให้ระบบรวน และพังทะลายไปในที่สุด                  

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสื้อแดงมุกดาหารได้ประกันตัว ด้าน 2 เสื้อแดงที่เชียงใหม่ได้ประกันตัวเช่นกัน

Posted: 29 Nov 2010 05:30 PM PST

ศาลจังหวัดมุกดาหารให้ปล่อยตัวชั่วคราว วินัย ปิ่นศิลปชัย ผู้ต้องหาเสื้อแดงที่ดื่มน้ำยาปรับผ้านุ่มแล้ว ทนายชี้ หากผู้ต้องหาคนอื่นยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัว อาจมีพฤติกรรมเลียนแบบได้ ขณะเดียวกันสองผู้ต้องขังเสื้อแดงที่เรือนจำเชียงใหม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวเช่นกัน

จากกรณีนายวินัย ปิ่นศิลปชัย ผู้ต้องขังเสื้อแดงคดีเผาศาลากลางมุกดาหารดื่มน้ำยาปรับผ้านุ่มในเรือนจำต่อหน้าภรรยาขณะเยี่ยม จนต้องหามส่งไอซียู เมื่อ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา และแพทย์ลงความเห็นว่าผู้ต้องหามีอาการของโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง มีโอกาสเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายอีกสูง จึงทำหนังสือส่งตัวผู้ป่วยเพื่อไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจิตเวชนครพนม

ในวันนี้ (29 พ.ย.53) นางอำนวย ปิ่นศิลปชัย ภรรยา ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวนายวินัย โดยใช้หลักทรัพย์ที่เช่าซื้อมามูลค่า 5 แสนบาท ในใบคำร้องระบุเหตุผลในการขอปล่อยตัวชั่วคราวว่า

“คดีนี้เป็นคดีการเมือง จำเลยและจำเลยอื่นทุกคนไม่มีพฤติการณ์และความจำเป็นใดๆที่จะต้องหลบหนี จำเลยพร้อมที่จะเข้าพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามกฎหมาย และพร้อมเผชิญการตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรมอย่างกล้าหาญ เหมือนกับที่เข้าร่วมต่อสู้กับความอยุติธรรมที่ผ่านมา... จำเลยเป็นเพียงชาวบ้านที่มีความคิดเห็นทางการเมืองและเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น มิได้เป็นแกนนำแต่อย่างใด   จำเลยหาได้มีพฤติกรรมใดที่จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์แต่ประการใด... จำเลยมีอาการเจ็บป่วยที่จำเป็นต้องทำการรักษาเป็นกรณีพิเศษ กล่าวคือ จำเลยมีอาการทางจิต คิดทำร้ายตนเองและ พยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง ทั้งมีอาการซึมเศร้าขั้นร้ายแรง หากจำเลยถูกคุมขังต่อย่อมส่งผลเสียต่ออาการ ... จำเลยมีอาชีพและถิ่นที่อยู่ที่แน่นอน ทั้งยังมีภาระต้องดูแลภรรยาและพ่อแม่ที่แก่ชราและมีปัญหาสุขภาพอย่างมาก อีกทั้งภรรยาและตัวจำเลยมีหน้าที่ต้องดูแลบุตรอีก”

หลังการยื่นคำร้อง หัวหน้าศาลจังหวัดมุกดาหารได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายวินัยแล้ว นางอำนวยเปิดเผยว่า หลังทราบข่าว นายวินัยมีสีหน้าที่ดีขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัดเจน และทานอาหารได้มากขึ้น ทางเรือนจำได้มาปลดโซ่ตรวนให้เมื่อเวลาประมาณ 6 โมงเย็น ในวันพรุ่งนี้ (30 พ.ย.) ครอบครัวจะพาวินัยไป รพ.จิตเวช จ.นครพนม เพื่อเข้ารับการรักษาตัว และในวันที่ 3 ธ.ค.ซึ่งศาลนัดพร้อมก็จะต้องกลับมาขึ้นศาล

อานนท์ นำภา หนึ่งในทีมทนายความอาสาจาก ศปช.(ศูนย์ข้อมูลประชาชนฯ) ที่รับเข้าไปดูแลคดีร่วมกับทนายในพื้นที่ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวนี้ว่า “เราก็ดีใจแทนวินัยและครอบครัว และขอขอบคุณท่านหัวหน้าศาลอย่างสูงที่เมตตา ตอนนี้ของจังหวัดมุกดาหารยังเหลือผู้ต้องหาในเรือนจำอีก 19 คน หรือถ้าจะนับทั่วประเทศก็ยังเหลืออีกนับร้อยคน ผมว่า พวกเขาก็ไม่ต่างไปจากวินัยเท่าใดนัก ถูกจองจำมาเป็นเวลานานโดยที่หลายๆ คนไม่ได้มีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา บางคนอาจยังไม่ได้เข้าถึงทนาย ทำให้มีความเครียดสูง และก็เป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดกรณีอย่างนี้ขึ้นอีก พวกเขาทั้งหมดกำลังรอความเมตตาจากศาลอยู่”


2 เสื้อแดงเชียงใหม่ได้รับการประกันตัว

ในขณะเดียวกัน นายณัฐวุฒิ ธรรมชาติ ผู้ประสานงานประกันตัวเสื้อแดงที่ถูกจำคุกในเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ ในข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กองทุนกระทรวงยุติธรรม ที่ยื่นประกันตัวผู้ต้องหา 2 คน คือนายนิกร ศรีคำมา อายุ 29 ปี ชาว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ และนายสุจิต อินทรชัย อายุ 50 ปี ชาว อ.เมืองเชียงใหม่นั้น ทางศาลมีคำสั่งให้เรือนจำกลางเชียงใหม่ปล่อยตัว 2 ผู้ต้องหาแล้ว โดยให้ญาติมารับตัวที่หน้าเรือนจำ เมื่อเวลา 18.00 น. และสั่งให้ญาตินำผู้ต้องหามารายงานตัวที่สำนักงานคุมประพฤติจังหวัด เชียงใหม่ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ผู้ต้องหาทั้งสองถูกจับกุมและดำเนินคดี เมื่อกลางมิถุนายนหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ ทั้งนี้ ศาลจะตัดสินคดีนายนิกร วันที่ 2 ธันวาคม หลังสืบพยานหลักฐานแล้ว ส่วนนายสุจิตไม่ทราบรายละเอียดคดี

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น