โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

อภิสิทธิ์ไม่รู้เรื่อง เสธ.หนั่นพบ 'ทักษิณ' ที่นอร์เวย์

Posted: 07 Nov 2010 11:10 AM PST

7 พ.ย. 2553  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวว่า พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปพูดคุยกับพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ประเทศนอร์เวย์ว่า ยังไม่ทราบว่า ไปพบหรือไม่อย่างไร เห็นแต่ข่าวที่บุคคลที่สามพูดออกมา

นายอภิสิทธิ์ กล่าวfh;pว่า "เคยสอบถามพล.ต.สนั่น ซึ่งท่านบอกว่า ท่านไปพบ ท่านต้องย้ำว่า ทาง พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างไร ตัว พล.ต.สนั่นเองก็ไม่ใช่เจ้าพนักงาน แต่ยังไม่ทราบว่าพบหรือไม่ลักษณะไหนอย่างไร"

ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โฟนอินเข้ามายังเวทีปราศรัย "พรรคเพื่อไทยพบประชาชน เวทีประชาธิปไตย" และคอนเสิร์ต "วันฟ้าใสหัวใจตรงกัน" ที่สนามทุ่งศรีเมือง เทศบาลนครอุดรธานี เมื่อคืนวันที่ 6 พ.ย.ว่า พร้อมที่จะกลับมาปลดหนี้ สร้างความมั่งคั่งให้พี่น้องประชาชน

ในช่วงหนึ่งได้กล่าวถึงการจับกุมคนเสื้อแดงว่า "ผมให้คนไปคุยกับผู้พิพากษาว่า ทำไมไม่ปล่อยชาวบ้านเขา เขาเดือดร้อน บางคนบอกว่าก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะไม่มีสัญญาณ คนก็ไม่รู้ว่าสัญญาณคืออะไร ก็ไปเหมาว่าสัญญาณต้องเป็นเรื่องของเจ้านาย ซึ่งความจริงมันไม่จริง จึงกลายเป็นว่าไม่มีใครกล้าทำอะไร วัฒนธรรมแบบไทย ๆ ทำให้เจ้านายเสียหาย ความจริงมันคือระบบรักษาอำนาจ หวงอำนาจ คอรับชั่น อยากได้ตังค์ใช้ เลยสร้างความวุ่นวายในบ้านเมืองแล้วไม่ยอมจบเสียที"

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้อดทนกันอีกนิด ตนทราบว่ามีชาวอุดรธานีถูกคุมขังอยู่ 25 คน ฟังแล้วเศร้าใจ บางคนถูกจับทั้งผัวและเมีย ลูกไม่มีใครดูแล ขอประกันตัวออกมาดูลูกยังไม่ได้ บอกว่าจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ ก็ชาติมั่นคงอยู่แล้ว แต่เอาคนเหล่านี้ไปขังถึงไม่มั่นคง มันไม่มีปัญหาเรื่องความมั่นคงเลย วันนี้ถึงเวลาแล้วที่จะนำประเทศไปสู่ความปรองดองให้ได้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ก็เอาจริงเอาจังให้เกิดความปรองดองให้ได้

"บัดนี้ใครบังอาจขัดขวางความปรองดองของชาติ แสดงว่าคน ๆ นั้นเห็นแก่ตัวอย่างบัดซบ ผมเป็นคนที่โดนมากที่สุด เจ็บที่สุด แต่พร้อมที่จะลืมความเจ็บปวด เพื่อให้คนไทยได้ไปสู่ความสันติเสียที ถ้าคนไทยมีความสุข ผมก็สุขด้วย" อดีตนายกฯ กล่าว

 

 

........................
ที่มา : เรียบเรียงจากมติชนออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เลือกตั้งพม่าไม่คึก โอบามาชี้ไม่ชอบธรรม ศึกชายแดนปะทุ

Posted: 07 Nov 2010 10:46 AM PST

7 พ.ย.53 พม่าเปิดคูหาเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปี คาดใช้สิทธิ์ 45-60 เปอร์เซ็นต์ เจ้าหน้าที่ USDA จับตาประชาชนในย่างกุ้งไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ขณะที่โอบามาเผย การเลือกตั้งในพม่าไม่ชอบธรรม ศึกชายแดนปะทุ กระเหรียงพุทธยึดเมียวดี
 

กลุ่มดีเคบีเอไม่เอา BGF ยึดเมืองเมียวดี
สาละวินโพสต์ อ้างสำนักข่าว DVB ที่รายงานว่า กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ หรือดีเคบีเอที่ปฏิเสธการเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border Guard Force) นำโดยพลจัตวานาคามวยได้ยึดพื้นที่สำคัญหลายจุดในเมืองเมียวดี รวมถึงตรงบริเวณสะพานมิตรภาพไทย – พม่าที่เชื่อมสู่รัฐกะเหรี่ยง นอกจากนี้ยังยึดสำนักงานของตำรวจ ทหารและเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของพม่าเอาไว้ด้วย

ขณะที่นาคามวยออกมาเปิดเผยว่า เหตุที่ยึดพื้นที่สำคัญของเมืองเมียวดีครั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ รัฐบาลพม่าประกาศว่า จะยิงประชาชนที่ไม่ไปเลือกตั้ง ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการที่จะคว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยกลุ่มนาคามวยได้รับการเรียกร้องจากประชาชนในพื้นที่ให้ยึดเมืองเมียวดี นอกจากนี้ยังให้เหตุผลว่า ต้องการยืนเคียงข้างประชาชน

นาคามวยยังกล่าวด้วยว่า มีทหารอีกราว 200 คน จากกองกำลังรักษาชายแดนได้กลับเข้ามาร่วมกับเขาด้วย เช่นเดียวกับกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(Karen National Liberation Army- KNLA) เองก็ได้ส่งกำลังมาสนับสนุน มีรายงานด้วยว่า นักข่าวชาวญี่ปุ่นรายหนึ่งถูกจับเมื่อที่เมืองเมียวดีหลังพยายามลักลอบเข้าไปยังฝั่งพม่า
 

พม่าเปิดคูหาเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปี
สำนักข่าวไทยรายงานว่า ทางการพม่าเริ่มเปิดคูหาให้ประชาชนมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็น ครั้งแรกในรอบ 20 ปี วันนี้ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยกันอย่างเข้มงวด ซึ่งคาดว่าพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลทหารจะชนะการเลือกตั้งอย่างง่ายดาย 

ด้านนางออง ซาน ซูจี แกนนำฝ่ายค้าน ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ในบ้านพัก ขณะที่สองพรรคการเมืองหนุนรัฐบาลทหาร ส่งผู้สมัครลงชิงชัยถึง 2 ใน 3 ของผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด ยิ่งทำให้ความหวังของฝ่ายค้านที่ะชนะการเลือกตั้งมีโอกาสน้อยมาก ทางการพม่าเปิดหน่วยเลือกตั้งเมื่อเวลา 06.00 น.วันนี้ ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 06.30 น.ที่ผ่านมาในไทย แต่ยังไม่แน่ชัดว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 29 ล้านคน จะมาหย่อนบัตรลงคะแนนกันจำนวนเท่าใด ทางการพม่ารักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในวันนี้ โดยมีตำรวจติดอาวุธคอยคุ้มกันตามท้องถนนในนครย่างกุ้ง

รัฐบาลทหารพม่าไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์หรือผู้สื่อข่าวต่างชาติเข้า ติดตามการเลือกตั้งในครั้งนี้ ขณะที่มีมาตรการคุมเข้มสื่อท้องถิ่นในการทำข่าวที่หน่วยเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องมีเจ้าหน้าที่ทหารพม่าติดตามไปด้วยเท่านั้น และยังไม่แน่ชัดว่าผลการเลือกตั้งจะประกาศเมื่อใด
 

ปิดหีบเลือกตั้ง คาดใช้สิทธิ์ 45-60 เปอร์เซ็นต์
ด้านสำนักข่าวเอพี รายงานในเวลาเย็นว่า พม่าปิดหีบเลือกตั้งแล้ว ขณะที่คาดการณ์กันว่า มีผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งราว 45 – 60 เปอร์เซ็นต์ จากประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 29 ล้านคน ขณะที่บรรยากาศในย่างกุ้งค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากร้านค้าจำนวนมากต่างปิดในวันนี้ ขณะที่ประชาชนบางส่วนไม่ได้ออกไปเลือกตั้ง เนื่องจากมีกระแสข่าวลือว่า จะเกิดเหตุระเบิดขึ้น อย่างไรก็ตามมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

โอบามาเผย การเลือกตั้งในพม่าไม่ชอบธรรม
นายโอบามา ประธานธิบดีสหรัฐกล่าวในระหว่างเยือนอินเดียว่า การเลือกตั้งในพม่าไม่ชอบธรรมและไม่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ด้านนายพลอาวุโสตานฉ่วยได้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันนี้ด้วยเช่นกัน


เจ้าหน้าที่ USDA จับตาประชาชนในย่างกุ้งไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

สำนักข่าว DVB รายงานว่า ประชาชนในย่างกุ้งร้องเรียนว่า ไม่สามารถไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้อย่างอิสระ เนื่องจากถูกจับตาทุกฝีก้าวจากเจ้าหน้าที่สมาคมสหภาพเอกภาพและการพัฒนา หรือ USDA (Union Solidarity and Development Association) ในอีกด้านหนึ่ง มีการเปิดเพลงเชิญชวนให้ประชาชนไปเลือกตั้งตั้งแต่เวลา 05.00น.ของเช้าวันนี้ โดยมีการเปิดให้ลงคะแนนเสียงตั้งแต่เวลา 06.00น. 
 

ลูกชาย ซูจี เตรียมขอวีซ่าเข้าพม่าเยี่ยมแม่
ก่อนหน้านี้ Irrawaddy รายงานว่า นายคิม อริส บุตรชายคนเล็กของนางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีเตรียมขอวีซ่าเข้าพม่า เพื่อเข้าเยี่ยมนางซูจี ผู้เป็นแม่ หลังมีการคาดการณ์กันว่า นางซูจี จะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 13 พ.ย.นี้ ทั้งนี้ นายคิมวัย 33 ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในอังกฤษได้พบกับนางซูจีครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2543 และที่ผ่านมา เขาถูกปฏิเสธจากรัฐบาลพม่าหลายครั้งไม่ให้เข้าพม่า

นายหน่ายวิน นักกฎหมายของนางซูจี เปิดเผยว่า ขณะนี้นายคิมอยู่ในกรุงเทพฯแล้ว และกำลังพยายามทำทุกอย่าง เพื่อที่จะได้พบกับนางซูจี ในวันที่นางซูจีได้รับอิสรภาพ แต่นายหน่ายวินไม่ได้เปิดเผยว่า นายคิมได้ยื่นขอวีซ่าต่อสถานทูตพม่าแล้วหรือยัง ซึ่งยังคงไม่มีรายละเอียดในเรื่องนี้

แม้รัฐบาลจะจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปี และโทษกักบริเวณนางซูจีให้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 13 พ.ย.ที่จะถึงนี้ก็ตาม แต่รัฐบาลพม่าก็ยังไม่ได้ยืนยันว่า จะปล่อยตัวนางซูจีในเร็วๆนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม นางซูจี ถูกกักบริเวณเป็นเวลา 15 ปีแล้ว ในช่วงที่ถูกกักตัวและถูกปล่อยตัวในรอบ 21 ปีที่ผ่านมา โดยนางซูจีถูกจับครั้งแรกในปี 2532 ตอนที่ลูกชายคนโตอายุ 16 ปี และลูกชายคนเล็กอายุ 11 ปีเท่านั้น

ขณะที่นายไมเคิล อริส ชาวอังกฤษ สามีของนางซูจีเคยขอวีซ่าเข้าพม่า เพื่อพบกับนางซูจีก่อนที่จะเขาจะเสียชีวิตด้วยมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ท้ายสุดได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาลพม่า นางซูจีไม่มีโอกาสที่จะได้พบหน้าสามีในช่วงที่เขาป่วยหนักและเสียชีวิต

ทั้งนี้ นางซูจี สามารถเดินทางออกจากพม่าไปหาครอบครัวของเธอได้ทุกเมื่อ แต่เธอก็ตัดสินใจเลือกที่จะอยู่ในพม่าต่อ เนื่องจากกลัวว่า หากเดินทางออกจากประเทศแล้วจะไม่สามารถกลับเข้าพม่าได้ รวมทั้ง ยังมีความต้องการที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเสรีภาพเพื่อประชาชนในพม่า ขณะที่ผ่านมา ครอบครัวของนางซูจีเองไม่เคยออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อแต่อย่างใด

 

...........................
ที่มา : สาละวินโพสต์ www.salweennews.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาธิปไตยอย่างมีวินัย ในสายตาของคนชายแดน

Posted: 07 Nov 2010 10:23 AM PST

                ก่อนการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศพม่า สื่อมวลชนต่างนำเสนอมุมมองของทั้งนักวิชาการด้านพม่า ผู้ลี้ภัย ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง บรรณาธิการสำนักข่าวต่าง ๆ และตัวแทนของภาครัฐบาลไทย พวกเขาต่างแสดงความคิดเห็นอันประมวลจากประสบการณ์การทำงานของตัวเอง บ้างมองการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในการปกครองของรัฐบาลทหารพม่า บ้างก็มองว่า ...นี่แหละ.. คือโอกาสของรัฐบาลไทยในการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยที่คั่งค้าง (อย่างชั่วคราว) มานานใกล้ 30 ปี บ้างก็มองว่า นี่จะคือก้าวแรกของการปกครองแบบประชาธิปไตยในพม่าอย่างแท้จริง

                ประเด็นฮือฮามากที่สุดประเด็นหนึ่งของคนชายแดน ก็คือการที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ออกมาประกาศว่า เมื่อมีการเลือกตั้งและพม่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะส่งกลับผู้ลี้ภัยในประเทศไทยได้ หากหลังจากเสียงสะท้อนไม่เห็นด้วยย้อนกลับมามากมาย ในที่สุดเขาก็เข้าไปในค่ายผู้ลี้ภัยตามแบบฉบับนักการเมือง โดยไปประกาศว่า การส่งกลับผู้ลี้ภัยจะเป็นไปโดยสมัครใจเท่านั้น เมื่อได้ยินดังนี้ กลุ่มคนชายแดนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็วิพากษ์วิจารณ์กันแพร่หลาย พวกเขาได้รับบทเรียนจากการที่รัฐบาลไทยประกาศว่า การส่งกลับผู้ลี้ภัยจากหนองบัวจะเป็นไปโดยสมัครใจไม่มีการบังคับกดดัน แต่ในความเป็นจริง เรื่องราวจากเพื่อน ๆ ที่หนองบัวก็ทำให้พวกเราเข้าใจว่า “การไม่บังคับ”​ เป็นเพียงศัพท์เทคนิคบางอย่าง

                "เขาจะส่งพวกเรากลับจริง ๆ หรือ ?" เพื่อนผู้ลี้ภัยคนหนึ่งถามด้วยใจกังวล

                "คนไทยเชื่อจริง ๆ หรือว่า หลังเลือกตั้งแล้วพม่าจะสงบสุข" เพื่อนอีกคนเปรยขึ้นมาอย่างไม่ต้องการคำตอบ

                 "ฝ่ายไทยเป็นใจกับฝ่ายพม่าหรือเปล่า ?" อดีตทหารกองกำลังชาติพันธุ์ตั้งข้อสงสัย

                แล้วแบบนี้พวกเราจะทำอย่างไร ? …. ใช่.. ตอนนี้ใครหลาย ๆ คนกำลังอยากจะรู้ว่า... "แล้วแบบนี้พวกเราจะต้องทำอย่างไร"

                ที่ชายแดน เราได้เห็นทหารหลายกลุ่มหลายกองถูกโยกย้ายสลับตำแหน่ง ทุกด่านทุกทางผ่านเข้าออกของค่ายผู้ลี้ภัยถูกคุมเข้ม สถานการณ์ตึงเครียดนี้มีเหตุผลอธิบายโดยเจ้าหน้าที่ว่า เป็นการทำตามคำสั่งเพื่อป้องกันเหตุวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการเลือกตั้ง คนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยหลายคนอาจจะเริ่มชาชินกับสภาพที่ไม่เคยสามารถกำหนดชีวิตของตัวเองได้เลยที่นี่ คำถามที่ว่าเราจะต้องทำอย่างไร ดูเหมือนจะคำตอบเดียวในตอนนี้ก็คือ "..ก็คงต้องรอฟังผู้นำของเรา ยังไงเราก็เชื่อว่าผู้นำจะทำดีที่สุด"

                ผู้นำกองกำลังชาติพันธุ์ท่านหนึ่ง ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า "ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรอก เผด็จการยังไงก็เป็นเผด็จการ" อาจจะเป็นเพราะประสบการณ์ที่ถูกหักหลังกันมาหลังจากการเลือกตั้งปี 2533 และการสู้รบที่ดำเนินต่อเนื่องมากระทั่งทุกวันนี้ ผู้นำท่านนี้ไม่สนใจใส่ใจว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย เขาประกาศชัดว่าจะไม่ยอมรับการเลือกตั้งครั้งนี้แน่นอน

                "การแบ่งเขตประชาชนที่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งใน 5 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ กะเรนนี คะฉิ่น ไทใหญ่ มอญ และกะเหรี่ยง ซ้ำยังจำกัดสิทธิ์ของพรรคการเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ที่จะลงเลือกตั้ง หรือการที่ไม่ยอมปล่อยนักโทษการเมืองที่ยังถูกคุมขังอยู่เป็นจำนวนมมาก เท่านี้ก็เป็นหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องให้ใครต่อใครได้รู้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เป็นประชิปไตย" 

                คนทำงานชายแดนที่เดินทางเข้าออกงรัฐกะเหรี่ยงท่านหนึ่ง เล่าถึงข้อมูลที่ได้รับฟังจากการเยี่ยมพื้นที่ว่า " ไม่เพียงเท่านั้น ในพื้นที่ห่างไกลในป่า อยู่ ๆ ก็มีการไล่ถ่ายบัตรประชาชน คนก็ไม่รู้ว่าถ่ายเอาไปทำอะไร บัตรที่ว่านี้มีสองส่วน บัตรกับต้นขั้ว ต้นขั้วอยู่ไหนไม่รู้ เขากลัวกันว่าจะมีคนไปเลือกตั้งแทนได้หรือเปล่า"

                คนปกาเกอะญอที่ยังอยู่ในประเทศพม่านั้นมีความคิดหลากหลาย กลุ่มที่อยู่ในเมืองใหญ่ใกล้พื้นที่ปกครองของกองทัพพม่าจะเห็นด้วยกับการเลือกตั้ง เพราะเขารู้สึกว่าตัวอยู่ใต้การกดขี่มานาน การเลือกตั้งก็อาจเป็นเหมือนทางเลือกเดียวที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง หนึ่งเสียงของคนปกาเกอะญออาจช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นบ้าง การมีความหวังคงจะดีกว่าอยู่ไปโดยสิ้นหวัง ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานปฏิวัติ ผ่านประสบการณ์เลวร้ายจากการปกครองของรัฐบาลเผด็จการมาเนิ่นนาน เกินกว่าจะวางใจได้

                แล้ว ประชาชนกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ตามป่าเขาล่ะ เขาไม่ได้รับรู้เลยด้วยซ้ำว่า การเลือกตั้งครั้งนี้คืออะไร มีวัตถุประสงค์อย่างไร และจะต้องทำอย่างไร

                ไม่กี่ชั่วโมงก่อนการเลือกตั้ง ในขณะที่ผู้หลักผู้ใหญ่ชาวไทยกังวลอยู่เรื่องปัญหาผู้ลี้ภัย ยาเสพติด หรือเรื่องการค้าขายว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง คนชายแดนต่างให้ความเห็นตรงกันว่า "คิดว่าการสู้รบจะเกิดขึ้น การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นประชาธิปไตยที่เต็มไปด้วยเลือด" หลาย ๆ คนเชื่อเกือบจะแน่นอนว่า เหตุการณ์จะเลวร้าย กองทัพรัฐบาลใหม่จะเข้าปราบปรามกองกำลังของกลุ่มต่าง ๆ และการสู้รบจะทำให้ผู้พลัดถิ่นในประเทศเพิ่มขึ้น การหลั่งไหลเข้าชายแดนไทยก็จะตามมา ทั้งในค่ายผู้ลี้ภัย และในรูปแรงงานอพยพ

                "เพราะว่าการเลือกตั้งไม่ใช่แค่เลือกกาถูกหรือผิด แต่เป็นการเลือกว่าใครจะเข้ามาเป็นผู้ปกครอง ดังนั้นการทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า เราไม่สามารถจะพูดคุยให้ความรู้กับชาวบ้านได้เลยในภาวะสงครามและการจำกัดเสรีภาพแบบนี้" ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์คนหนึ่งว่า ..แล้วจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น คำตอบของเขาก็คือ "ยังไม่รู้เหมือนกันว่าหัวหน้าเรามีแผนการอย่างไร แต่เชื่อว่าคนที่ทำหน้าที่รบก็ต้องรบ คนที่ทำหน้าที่พูดชี้แจงถึงความไม่เป็นธรรมก็ต้องพูด ...ส่วนการที่จะให้ความรู้แก่ประชาชนนั้น .. ตอนนี้คงไม่ทัน"

                ไม่ทันแล้วจริง ๆ น่ะหรือ? แล้วเมื่อไรจะทัน สำหรับก้าวแรกของประชาธิปไตยอย่างมีวินัย ประชาชนชาติพันธุ์หลายคนคงไม่คาดหวังผลของการเลือกตั้งว่าจะทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่หลาย ๆ คนก็ยังหวังว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดีกว่าไม่ได้เปลี่ยน

 

 

…………………………..

*แอ้เกอะหลึต่อ เป็นนักเขียนจากรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สงครามไซเบอร์ ถล่มอินเทอร์เน็ตพม่ารับวันเลือกตั้ง

Posted: 07 Nov 2010 10:13 AM PST

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยเผย ในช่วงก่อนการเลือกตั้งวันนี้ อินเทอร์เน็ตพม่าถูกโจมตีครั้งร้ายแรงจากต่างประเทศจนใช้การไม่ได้ คล้ายคลึงกันในจอร์เจียและเอสโตเนีย

7 พ.ย.53 ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยจากบริษัท Arbor Networks เปิดเผยว่า ในช่วงก่อนการเลือกตั้งวันนี้ อินเทอร์เน็ตพม่าถูกโจมตีจากต่างประเทศจนใช้การไม่ได้ โดยการโจมตีครั้งนี้มีความร้ายแรงกว่าเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันในจอร์เจียและเอสโตเนีย

ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อินเทอร์เน็ตในพม่าถูกรบกวนทำให้ ‘ช้า’ จนแทบใช้การไม่ได้ และส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่น อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ต้องหยุดให้บริการ ประชาชนไม่สามารถดาวน์โหลดเอกสารเพื่อขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศ และบริษัทท่องเที่ยวต้องจองตั๋วเครื่องบินผ่านโทรศัพท์แทน [1]

มีการตั้งข้อสงสัยว่า การรบกวนอินเทอร์เน็ตนี้เป็นความพยายามของรัฐบาลทหารในการจำกัดการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งนี้ มีรายงานว่า ผู้สังเกตการณ์และนักข่าวจากต่างประเทศไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าพม่าเพื่อรายงานข่าวนี้ [2]

การโจมตี
ดร. เครก ลาโบวิตซ์ ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท Arbor Networks ซึ่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านความมั่นคงของระบบเครือข่ายวิเคราะห์ว่า อินเทอร์เน็ตในพม่าถูกโจมตีด้วยวิธีการที่เรียกว่า Distributed Denial of Service (DDoS) หรือการใช้คอมพิวเตอร์จำนวนมากติดต่อเครื่องปลายทางพร้อมๆ กันเกินกว่าที่ระบบจะสามารถรองรับได้ [3]

ดร. ลาโบวิตซ์ อธิบายว่า การโจมตีด้วยวิธี DDoS ในครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่หมายเลขไอพีในพม่าจำนวนมาก ระบบเครือข่ายทั้งหมดในพม่านั้นรองรับการเชื่อมต่อกับโลกภายนอกที่อัตราการรับส่งข้อมูล 45 เมกะบิตต่อวินาที (ประมาณ 8 เท่าของความเร็วอินเทอร์เน็ตตามบ้านทั่วไปในกรุงเทพมหานคร) แต่ข้อมูลจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทแสดงให้เห็นว่า การโจมตีครั้งนี้โดยเฉลี่ยแล้วเป็นการเรียกข้อมูลขนาด 1 กิกะบิตต่อวินาที หรือประมาณ 20 เท่าของระดับที่ระบบเครือข่ายในพม่าจะรองรับได้ และมีความรุนแรงมากที่สุดถึง 15 กิกะบิตต่อวินาที ส่งผลให้การจราจรเครือข่ายทั้งขาเข้าและขาออกประเทศเป็นอัมพาต
 


กราฟแสดงขนาดการโจมตี 
 

การโจมตีพม่าด้วยวิธี DDoS นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเว็บไซต์ของ Democratic Voice of Burma ที่ตั้งอยู่ในนอร์เวย์ก็เคยถูกโจมตีจนไม่สามารถให้บริการได้มาแล้วในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 [4]

ดร. ลาโบวิตซ์ เสริมว่า การโจมตีครั้งนี้มีความซับซ้อน เนื่องจากมีการใช้หลายวิธีการเพื่อกระจายเป้าหมายอย่างทั่วถึง และมาจากหลายสถานที่ แรงจูงใจของการโจมตีนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ที่พบบ่อยคือเรื่องการเมือง การเซ็นเซอร์โดยรัฐบาล การขู่กรรโชก หรือการปั่นหุ้น


สงครามไซเบอร์

ในปัจจุบัน ผู้ที่ต้องการโจมตีด้วยวิธี DDoS สามารถว่าจ้าง ‘พ่อค้าอาวุธไซเบอร์’ เช่นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ในจีนและอิหร่านได้อย่างง่ายดาย โดย ‘อาวุธ’ ของคนเหล่านี้ คือเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนมากในประเทศต่างๆ ที่ไม่มีความปลอดภัยเพียงพอจนถูกลักลอบติดตั้งซอฟต์แวร์สำหรับสั่งการผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้ยากที่จะตามหาตัวผู้กระทำผิด [5] [6]

จอร์เจียและเอสโตเนียก็เคยตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีด้วยวิธี DDoS ในระดับประเทศ โดยเฉพาะการโจมตีเอสโตเนียเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2550 ส่งผลให้ธุรกรรมทั้งประเทศต้องหยุดชะงัก การโจมตีครั้งนั้นมีขนาดสูงสุดประมาณ 100 เมกะบิตต่อวินาที หมายความว่า การโจมตีพม่าครั้งนี้มีความรุนแรงประมาณ 100 เท่าของการโจมตีเอสโตเนียเลยทีเดียว [7]

การโจมตีด้วยวิธี DDoS ถือเป็นการเปิดเผยโฉมหน้าใหม่ของ ‘สงครามไซเบอร์’ ที่กระทำได้ง่าย ป้องกันได้ยาก และสามารถส่งผลกระทบที่ร้ายแรงได้ ความกังวลต่ออาวุธชนิดใหม่นี้ ทำให้สหภาพยุโรปกำลังจะปรับแก้กฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ให้มีการกำหนดโทษต่อการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อ DDoS โดยเฉพาะ และจะมีการเฝ้าระวังและเก็บข้อมูลการโจมตีตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อช่วยในการหาตัวผู้กระทำผิด [8]

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา 22 ประเทศทั่วทวีปยุโรป ได้ร่วมกันทดสอบระบบป้องกันการโจมตีทางอินเทอร์เน็ต และจะมีการรายงานผลในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ [9]

 

 

อ้างอิง

[1]: สัญญาณเน็ตพม่าล่มทั่วประเทศ ประเมินเหตุใกล้วันเลือกตั้ง (http://www.prachatai3.info/journal/2010/10/31652)

[2]: อินเตอร์เน็ตพม่าช้า รับเลือกตั้ง (http://www.prachatai3.info/journal/2010/11/31719)

[3]: Attack Severs Burma Internet (http://asert.arbornetworks.com/2010/11/attac-severs-myanmar-internet)

[4]: Press Release: DVB web site hit by DDoS attack (http://www.dvb.no/uncategorized/press-release-dvb-web-site-hit-by-ddos-attack/1256)

[5]: Chinese cybercrooks offer DDoS-for-hire (http://www.theregister.co.uk/2010/09/14/hosted_ddos_botnet)

[6]: A New Cyber Arms Dealer (http://defensetech.org/2010/11/01/a-new-cyber-arms-dealer)

[7]: Estonian DDoS Attacks – A summary to date (http://asert.arbornetworks.com/2007/05/estonian-ddos-attacks-a-summary-to-date)

[8]: Commission proposes new EU cybercrime law (http://www.out-law.com/page-11436)

[9]: Europe simulates total cyber war (http://www.bbc.co.uk/news/technology-11696249)

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สภาทนายชี้เก็บค่าส่งคนต่างด้าวกลับโหด ทำแรงงานลงใต้ดิน

Posted: 07 Nov 2010 09:57 AM PST

สภาทนายความชี้การที่กระทรวงแรงงานไม่ออกกฎกระทรวงกำหนดประเภทงานที่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำได้ ภายใน 2 ปี ทำให้แรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นการทำงานที่ผิดกฎหมาย และการเก็บเงินเข้ากองทุนส่งกลับจากตัวแรงงานต่างด้าวถึง   2,100 - 2,400 บาท ต่อคน จะส่งผลให้แรงงานไม่เข้าระบบที่ถูกต้องตามกฎหมาย กลายเป็นแรงงานเถื่อนใต้ดิน และเอื้อต่อขบวนการค้าแรงงานที่ผิดกฏหมาย

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงกำหนดงานและจำนวนเงินที่ลูกจ้างต้องส่งเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และหลักเกณฑ์และวิธีการในการส่งเงิน การออกใบรับ หนังสือรับรอง และใบแทนหนังสือรับรองการส่งเงิน พ.ศ. 2553  มีเนื้อหาสำคัญ คือ ให้นายจ้างหักเงินจากลูกจ้างส่งให้รัฐเพื่อเป็นค่าส่งคนต่างด้าวกลับ โดยลูกจ้างชาวพม่าและลาว เสียรายละ 2,400 บาท และลูกจ้างชาวกัมพูชา เสียรายละ 2,100 บาท น่าจะเป็นการดำเนินการที่ขัดกฏหมายและความมั่นคงสงบสุขของประเทศ

อนุกรรมการด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ จึงมีความเห็นว่า
1.กระทรวงแรงงานมิได้ออกกฎกระทรวงกำหนดงานที่คนต่างด้าวอาจทำได้ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ซึ่งบทเฉพาะกาล มาตรา 57 ได้กำหนดให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2 ปี ระหว่างภายใน 2 ปีนี้นายทะเบียนสามารถอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานได้ แต่ปัจจุบันพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว นายทะเบียนจึงไม่สามารถอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานได้เลย ต้องรอกฎกระทรวงกำหนดงานที่คนต่างด้าวอาจทำได้ตามมาตรา 7 เสียก่อน  ดังนั้นการอนุญาตให้คนต่างด้าว ทำงานในปัจจุบัน 2 อาชีพ คือ งานกรรมกร และงานรับใช้ในบ้าน จึงเป็นการอนุญาตที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้

2. กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวข้างต้น ยังมิได้มีการออกแบบและวิธีการขอเงินคืนจากกองทุนตามมาตรา 19 มาเป็นคู่ขนานจึงเป็นการออกกฎหมายที่เอารัดเอาเปรียบแก่ลูกจ้าง ทั้งนี้ยังมิได้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎหมายคนเข้าเมืองที่ไม่อนุญาตให้ที่ลูกจ้างซึ่งไม่อาจพิสูจน์สัญชาติ (ไม่มีหนังสือเดินทาง) ยื่นแบบรายการเดินทางกลับประเทศของตนได้ จึงทำให้ลูกจ้างไม่สามารถที่จะกลับในเวลาที่ตนต้องการ และใช้ค่าใช้จ่ายของตนในการเดินทางกลับ

3. การกำหนดให้ลูกจ้างตามมาตรา 13 (2) ต้องส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับยังมิได้มีการพิสูจน์ได้ว่าลูกจ้างผู้นั้นเป็นคนสัญชาติพม่า หรือลาว หรือกัมพูชา การเก็บเงินเข้ากองทุนจึงไม่อาจก่อประโยชน์ที่แท้จริงเพื่อส่งลูกจ้างผู้นั้นกลับภูมิลำเนา เพราะทางการไทยมิอาจส่งคนซึ่งไม่ทราบสัญชาติกลับไปยังประเทศที่ทางการต้องการส่งกลับได้ ซึ่งในข้อเท็จจริงที่ผ่านมาลูกจ้างเหล่านี้ก็กลับเข้าสู่ประเทศไทยใหม่ การใช้เงินกองทุนในการส่งกลับจึงไม่เกิดผลแต่ประการใด

4. การเรียกเก็บเงินจากลูกจ้างตามข้อ 3. คนละ 2,100 -2,400  บาท เป็นจำนวนที่สูงเกินค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจริง และไม่เกิดผลสำเร็จในการส่งกลับ ส่งผลให้นายจ้างและลูกจ้างไม่ยอมขึ้นทะเบียน หรือไม่ขอต่อใบอนุญาตทำงานอีก ทำให้ความพยายามที่จะให้มีแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายไม่ประสบผล และเกิดขบวนการค้าแรงงานใต้ดินอย่างผิดกฎหมาย

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ทบทวนกฎกระทรวง และดำเนินการตามกฎหมายอย่างรอบคอบ และถึงเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเพื่อพิจารณาแนวนโยบายของรัฐเกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากส่งผลโดยตรงถึงการจัดการและแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

5 สถาบันสงขลานัดถก จัดระบบอาสาฯรับภัยพิบัติระยะยาว

Posted: 07 Nov 2010 09:46 AM PST

 
ชาวบ้านจากทั่วทุกสารทิศแห่กันมาซื้อของราคาถูกที่ถูกน้ำท่วมที่ตลาดกิมหยง หาดใหญ่ 
จนทำให้การจราจรติดขัดอย่างหนักและไม่สามารถเก็บขยะที่อยู่เกลื่อนเมืองได้

 


ขยะยังมีอยู่ทั่วไปในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่

.....

นายพงศ์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดระบบสุขภาพภาคใต้ (สจรส.)มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) เปิดเผยว่าในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2553 จะมีการประชุมสถาบันการศึกษา 5 แห่งในจังหวัดสงขลา ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อพูดถึงกระบวนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดสงขลาในช่วงที่ผ่านมา และการจัดระบบอาสาสมัครระยะยาวในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทั้งน้ำท่วม ดินถล่มและพายุ

ทั้ง 5 สถาบันประกอบด้วย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ เนื่องจากเห็นว่าหลังจากนี้ภัยพิบัติร้ายแรงมีโอกาสเกิดมากขึ้น จึงจำเป็นต้องจัดระบบอาสาสมัครในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในระยะยาว ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักชุมชน สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ในส่วนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมาของมหาวิทมยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ นั้นมี 2 ส่วนคือ สถานีวิทยุม.อ.ทำหน้าที่ประสานการช่วยเหลือและการรับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือ อีกส่วนคือจัดนักศึกษาลงพื้นที่ฟื้นฟูความเสียหายตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะโรงเรียนในเขตพื้นที่รอบนอกตัวเมืองหาดใหญ่

  

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชุมชนรอบอ่าวปัตตานีหนัก บ้านพังกว่า700 รอความช่วยเหลือ

Posted: 07 Nov 2010 09:33 AM PST


เสียหายหนัก – หญิงสาวชาวบ้านดาโต๊ะ บนแหลมตาชี อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
กับซากปรักหักพังของบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากคลื่นและลมพายุพัดกระหน่ำ
เมื่อคืนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553
(ภาพโดยเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและเครือข่ายประชาสังคม)

....

นางสาวละม้าย มานะการ เจ้าหน้าที่หน่วยพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น หรือ เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและเครือข่ายประชาสังคม เปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นจากการสำรวจความเสียหายจากอุทกภัยและลมพายุในพื้นที่รอบอ่าวปัตตานีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา และการช่วยเหลือล่าสุดว่า มีความเสียหายเป็นวงกว้าง ชาวบ้านยังประสบกับความยากลำบาก โดยเฉพาะบ้านที่ได้รับความเสียหายจากลมพายุ เนื่องจากไม่มีอาหาร น้ำ และที่หลับนอน

นางสาวละม้าย กล่าวว่า ตอนนี้ น่าจะเข้าถึงทุกพื้นที่แล้ว โดยข้อมูลการสำรวจล่าสุด พบว่ามีบ้านเรือนประชาชนเสียหาย 723 หลัง โดยเสียหายทั้งหลัง 26 หลัง และเรือประมงได้รับความเสียหายอีกหลายร้อยลำ เมื่อแยกพื้นที่ความเสียหายรอบอ่าวปัตตานี มีดังนี้

พื้นที่บ้านบางตาวา ตำบลบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี มีบ้านเรือนเสียหาย 284 หลังคาเรือน โดยเสียหายทั้งหลังจำนวน 5 หลัง ทางองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)บางตาวา ให้ความช่วยเหลือโดยมอบกระเบื้องมุงหลังคาแล้ว รวม 200 แผ่น

พื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านเสียหายบางส่วน 70 - 80 หลังคาเรือน ทางอบต.บางตาวา ได้มอบกระเบื้องและสังกะสีแล้ว ส่วนเรือประมงในพื้นที่หมู่ที่ 1 เสียหาย 32 ลำ

พื้นที่หมู่ที่ 2 เสียหาย 17 หลังคาเรือน โรงเรียนบ้านบางตาวาพังเสียหายทั้งหมด 4 อาคาร ชาวบ้านได้รับถุงยังชีพพระราชทาน 130 ถุงต่อหมู่บ้าน

พื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านดาโต๊ะ ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี บ้านเรือนเสียหาย 32 หลังคาเรือน เรือเสียหายประมาณ 100 ลำ ส่วนความต้องการทางตำบลแหลมโพธิ์ ต้องการเตาแก๊ซ ถังแก๊ซและชุดเครื่องครัว 20 ชุด เนื่องจากขาดอุปกรณ์ทำอาหาร

พื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านบูดี ตำบลแหลมโพธิ์ บ้านเสียหายทั้งหลัง 4 หลัง เสียหายบางส่วน 50 หลัง

พื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านปาตาบูดี ตำบลแหลมโพธิ์ บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 6 หลัง เสียหายบางส่วน 150 หลังคาเรือน

บ้านบางปลาหมอ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 10 หลังคาเรือน

หมู่ที่ 1 ชุมชนปาตา ตำบลตันหยงลูโล๊ะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี บ้านเรือนเสียหาย 30 หลังคาเรือน โดยมี 14 หลังที่เสียหายทั้งหลัง ส่วนเรือประมงได้รับความเสียหายหลายสิบลำ

หมู่ที่ 7 บ้านลุ่ม ตำบลปะเสยาวอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี บ้านเรือนเสียหาย 10 หลังคาเรือน

หมู่ที่ 1 บ้านปาตาบาระ ตำบลปะเสยาวอ อำเภอสายบุรี บ้านเรือนเสียหาย 20 หลังคาเรือนเรือประมงได้รับความเสียหาย

บ้านละหาร ตำบลปะเสยาวอ บ้านเรือนเสียหายมาก 2 หลังคาเรือน

หมู่ที่ 5 บ้านบางราพา ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี บ้านเสียหายหนัก 1 หลัง น้ำท่วมขังบ้านเรือน 240 หลัง

หมู่ที่ 1 บ้านท่ากำชำ ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก บ้านเสียหายหนัก 1 หลัง บ้านเสียหายบางส่วน 48 หลัง

นอกจากนี้ ยังมีที่ถูกน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ได้แก่ พื้นที่บ้านจางา ตำบลปะกาฮารัง มีบ้านที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 200 หลังคาเรือน ชุมชนตะลุโบะ ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี 80 หลังคาเรือน ชุมชนริมคลอง 200 หลังคาเรือน หมู่ที่ 2 บ้านปลาหมอ ตำบลรูสะมิแล 10 หลังคาเรือน หมู่ที่ 1 บ้านรูสะมิแล 300 หลังคาเรือน

ในพื้นที่ อำเภอหนองจิก โรงเรียนบ้านบางตาวา และบ้านเรือนประชาชนใกล้เคียง 350 หลังคาเรือน บ้านใหม่ ตำบล เกาะเปาะ อำเภอ 100 หลังคาเรือน บ้านมะพร้าวต้นเดียว ตำบลลิปะสะโง 100 หลังคาเรือน โรงเรียนยาบีและบ้านใกล้เคียง 100 หลังคาเรือน

นางสาวละม้าย เปิดเผยด้วยว่า ส่วนความช่วยเหลือขณะนี้เริ่มมีความช่วยเหลือจากภายนอกเข้ามาบ้างแล้ว โดยจุดแรกที่ได้รับความช่วยเหลือคือพื้นที่บ้านบานา ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี จุดที่สองคือบ้านดาโต๊ะ เนื่องจากได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทั้งอาหาร น้ำ และอุปกรณ์ยังชีพ รวมทั้งความช่วยเหลือในเบื้องต้นจากทหารที่อยู่ในพื้นและนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคปัตตานี และวิทยาลัยการอาชีวะปัตตานี ได้ลงไปช่วยซ่อมแซมระบบไฟฟ้าแล้ว

ขณะที่ต้องการของผู้ประสบภัยขณะนี้คือ ต้องการอาหาร น้ำ อุปกรณ์ในการประกอบอาหาร เช่น เตาแก๊ซ เนื่องจากเครื่องครัวหายไปกับน้ำท่วม เสื้อผ้าและเครื่องยังชีพอื่นๆ อีกเกือบ 2,000 ชุด รวมทั้งความต้องการซ่อมเรือ เนื่องจากเป็นเครื่องมือหากินหลัก แต่ได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด

“ชาวบ้านในพื้นที่รอบอ่าวปัตตานีส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก 2 อย่าง คือ ถ้าไม่ประมงหากินอยู่กับทะเลก็ไปมาเลย์ ทำงานที่นั่น แต่ตอนนี้ไม่สามารถลงทะเลได้แล้ว เพราะเรือพังสายหายมาก ทั้งเครื่องยนต์หรือไม้กระดานเรือ ตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งหน่วยงานที่น่าจะช่วยได้ คือ กรมประมง”นางสาวละม้าย กล่าว

“ส่วนบ้านที่เสียหาย ก็น่าจะเป็นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อย่างไรก็ตามตนได้ประสานไปยังสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์กรมหาชน) หรือ พอช.ให้มาช่วยเหลือในเรื่องที่อยู่อาศัยแล้ว ซึ่งทาง พอช.แจ้งว่า ดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว”นางสาวละม้าย กล่าว

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดใจสองแม่ลูกสงขลา เสียงอีกฝากวันน้ำท่วมหาดใหญ่

Posted: 07 Nov 2010 09:26 AM PST

 


สภาพบ้านของนางสาวหวามีนะห์ พันสะและหมัน
 

 


บริเวณวงเวียนน้ำพุกลางเมืองหาดใหญ่ กลายเป็นตลาดสดไปแล้วเมื่อพ่อค้าแม่ค้านำของมาขาย
ให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ท่ามกลางกลิ่นเหม็นของกองขยะจากน้ำท่วมที่มีกลาดเกลื่อนทั่วตัวเมืองหาดใหญ่
เช่นเดียวกับพวกที่น้ำสินค้าที่ถูกน้ำท่วมมาขายในราคาถูก

 

 


บุคลากรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
ช่วยกันทำความสะอาดอุปกรณ์การเรียนของโรงเรียนบ้านบางศาลา ตำบลโคกม่วง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนแถบชานเมืองหาดใหญ่ที่ถูกน้ำท่วมจนมิดหลังคาอาคารเรียน

 0 0 0

นางสาวหวามีนะห์ พันสะและหมัน อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 118 หมู่ที่ 6 บ้านเกาะแต้ว ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ในคืนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มมีน้ำท่วมหลายแห่งในจังหวัดสงขลา ตนพร้อมกับนางรอฝี้ยะ บินรัตแก้ว อายุ 65 ปี มารดาอาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว ขณะเกิดฝนตกหนักและมีลมพัดแรง

จนกระทั่งเวลาประมาณ 21.00 น. ไฟดับไปทั้งหมู่บ้าน และฝนยิ่งตกหนักและลมพัดแรงขึ้น ได้ยินเสียงต้นไม้ขนาดใหญ่ล้มหน้าบ้าน จากนั้นต้นไม้อีกต้นล้มหลังบ้าน จากนั้นได้ยินเสียงต้นไม้อีกหลายต้น จนรู้สึกตกใจกลัวมาก

“จากนั้นมีต้นไม้ขนาดใหญ่ล้มทับบนหลังคาเสียงดังมากจนตกใจ แต่โชคดีที่ต้นไม้ต้นดังกล่าว ซึ่งเป็นต้นยางพาราล้มทับต้นไม้อีกต้น ทำให้ลำต้นขนาดใหญ่ไม่ฟาดลงกลางบ้าน เพียงแต่มีกิ่งขาดใหญ่ฟาดบนหลังคาสังกะสีจนทำให้ไม้คาดหักไปท่อนหนึ่ง ทำให้ทั้งสองถึงกับร้องกรี๊ดและกอดกันกลม” นางสาวหวามีนะห์ กล่าว

เมื่อตั้งสติได้ จึงตัดลงจากบ้าน ซึ่งเป็นบ้านไม้มีใต้ถุน เมื่อลงไปใต้ถุนบ้านแล้ว ประกฎว่า ไม่สามารถหาทางหนีไปได้ เพราะเต็มไปด้วยต้นไม้ที่ล้มระเนระนาด จึงพยายามแทรกตัวไปตามกิ่งไม้จนพบทางออกไปบ้านเพื่อนบ้านข้างๆ ปรากฏว่ามีต้นขนุนขนาดใหญ่หักล้มลงตามหลัง ยิ่งตกใจกลัวสุดขีด เพราะไม่รู้จะหนีไปทางไหนแล้ว

จนกระทั่งเวลาประมาณ 23.00 น.เศษ ลมเริ่มสงบและฝนหยุดตก จึงเดินไปที่บ้านญาติเพื่ออาศัยหลับนอนชั่วคราว เพราะกลัวที่จะนอนในบ้านของตนเองแล้ว ปรากฏว่าในบ้านญาติเองหลังคาก็หลุดลุ่ยเหมือนกัน เพราะแรงลม ส่วนในบ้านก็มีแต่น้ำ ระหว่างเดินไปบ้านญาติมีแต่ต้นไม้ล้มระเนระนาด ส่วนใหญ่เป็นต้นยางพารา ทับสายไฟฟ้าจนขาดหลายสาย

“เหตุการณ์ครั้งนี้หนักที่สุดเท่าที่เคยเจอมา และในหมู่บ้านก็ไม่เคยเจอเหตุการณ์อย่างนี้มาก่อน ภัยธรรมธรรมชาติครั้งนี้รุนแรงเหลือเกิน เหตุการณ์ผ่านไป 4 วันแล้ว ยังผวาไม่หาย” นางสาวหวามีนะห์ กล่าว

นั่นเป็นเพียงเสียงส่วนหนึ่งของผู้ประสบเหตุวาตภัยในพื้นที่แถบใกล้ชายฝั่งอ่าวไทย ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกับน้ำเข้าท่วมทะลักตัวเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาจนสร้างความเสียหายอย่างหนัก

แม้ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในอำเภอหาดใหญ่ได้คลี่คลายลงแล้ว แต่ความช่วยเหลือต่างๆ ส่วนใหญ่ยังคงมุ่งตรงไปที่ตัวเมืองหาดใหญ่ ส่วนในเขตรอบนอกซึ่งได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ

นายทัศนัย แก้วสมบูรณ์ นายกเทศมนตรี ตำบลทุ่งลาน อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา ซึ่งมีคลองอู่ตะเภาไหลผ่านกล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ถือว่าหนักที่สุดในรอบ 40 ปี

ขณะที่นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมในปีนี้ มีความรุนแรงมาก ความเสียหายน่าจะไม่ใช่หมื่นล้าน แต่เป็นแสนล้านแล้ว

นายชัยยศ สินเจริญกุล ประธานสภาธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา คาดว่าความเสียหายจากน้ำท่วมในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา น่าจะมีกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยธุรกิจที่มีความเสียหายมากที่สุดคือธุรกิจการท่องเที่ยว

นายครรชิต เหมะรักษ์ นายกเทศมนตรีตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ในเขตเทศบาลตำบลบ่อตรุ ซึ่งอยู่ติดชายฝั่งอ่าวไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน ความเสียหายส่วนใหญ่มากจากลมแรงที่พัดทำลายบ้านเรือนหรือถูกต้นไม้ลมทับ ขณะนี้ในตำบลบ่อตรุไม่ได้ขาดแคลนอาหาร แต่ต้องการกระเบื้องมุงหลังคาประมาณ 100,000 แผ่น เพื่อนำมาให้ชาวบ้านใช้ซ่อมแซมหลังคาที่ถูกลมพัดหลุด

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์สาวตรี สุขศรี: ศาลรธน. พร้อมจะพิสูจน์ไหม

Posted: 07 Nov 2010 04:12 AM PST

คลิปฉาวที่เกี่ยวพันกับความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญถูกปล่อยออกมา 2 ระลอกต่อเนื่องกัน คลิปแรกนั้นพุ่งประเด็นไปที่คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และคลิประลอกที่สอง เป็นประเด็นที่อ้างว่าเกี่ยวพันกับการทุจริตสอบเข้ารับราชการในศาลรัฐธรรมนูญ

การโต้ตอบจากฝ่ายตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีการออกมายืนยันความบริสุทธิ์และระบุว่าจะฟ้องร้องผู้เผยแพร่คลิป ขณะเดียวกันมีการขานรับจากรัฐบาลที่จะดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึงคลิปจำนวน 8 คลิปดังกล่าว

พร้อมกันนั้น ในบรรดาผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตและผู้สื่อข่าวก็อาจเกิดคำถาม กับตัวเองว่า ในฐานะผู้เผยแพร่ต่อๆ ไป อาจจะต้องมีความผิดอย่างใดหรือไม่

ประชาไท คุยกับอาจารย์สาวตรี สุขศรี อาจารย์ภาควิชากฎหมายอาญา และผู้เชี่ยวชาญกฎหมายความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เปิดตำรากฎหมายตอบคำถามว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทจากการแพร่คลิปที่อ้างว่าเป็นบทสนทนาของผู้พิพากษาศาล รธน. ซึ่งมีแนวโน้มว่าผู้ทำคลิปและผู้เผยแพร่ได้รับยกเว้นโทษตามที่กฎหมายบัญญัติ และการฟ้องร้องจะช่วยผลักให้เกิดกระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในชั้นศาลอีกด้วย

โดยเธอแบ่งประเด็นพิจารณาฐานความผิดไว้ 3 ประเด็นหลักๆ คือ

ความผิดฐานดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198

ความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 423 และกฎหมายอาญามาตรา 326-328

ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ..2550

ค่อยๆ เปิดตำราเรียนกฎหมายอันเกี่ยวเนื่องกับคลิปฉาวดังกล่าวไปพร้อมๆ กับเธอ

000

1 คลิปเผยแพร่ได้หรือไม่ ผิดไหม

ประเด็นคือ คลิปวีดีโอนั้นถือเป็นข้อมูลข่าวสารประเภทหนึ่ง เมื่อเป็นข้อมูลข่าวสารประเภทหนึ่งแล้ว คำถามว่าเผยแพร่ได้หรือไม่ ถ้าดูกันที่เรื่อง “เนื้อหา” (ไม่ใช่ปัญหาในทางเทคนิค) ของสิ่งที่เผยแพร่ ก็ต้องถามกลับไปที่หลักทั่วไปที่เกี่ยวกับสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และสิทธิในการแสดงความคิดเห็น บทหลักในการคุ้มครองเรื่องนี้อยู่ที่ไหน คำตอบก็คือ อยู่ที่กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 45 [1] เหมือนกับทุกๆ สื่อ ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์อื่น ๆ โทรทัศน์ หรือว่าออนไลน์

มาตรา 45 เป็นบทหลัก แต่ดังที่กล่าวถึงไปหลาย ๆ ที่แล้วว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้เฉพาะสิทธิ แต่กำหนดหน้าที่ด้วย ดังนั้นในมาตรานี้เอง สิทธิดังกล่าวจึงอาจถูกจำกัดได้ เนื้อหาประเภทไหนที่อาจถูกจำกัด หรือสิทธิในเรื่องนี้อาจถูกยกเว้นด้วยเหตุผลใดบ้าง มีอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน คือ หนึ่ง เพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ สอง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือว่าสิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง สาม เพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และสี่ ป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน

ประเด็นที่สำคัญมาก ๆ ในการจำกัดสิทธิ หรือยกเว้นสิทธิ ก็คือ ข้อยกเว้นทั้งสี่ข้อนี้จู่ ๆ รัฐจะลุกขึ้นมาจำกัดลอยๆ ไม่ได้ รัฐต้องออกกฎหมายกำหนดให้ชัดเจนก่อน พูดง่าย ๆ ก็คือ ต้องมีกฎหมายเฉพาะออกมาให้อำนาจก่อน รัฐจึงจะใช้อำนาจจำกัดสิทธิได้ ดังนั้น ประเด็นต่อมาเราจึงต้องมาดูว่า ณ เวลานี้ประเทศไทยมีกฎหมายอะไรที่มาเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่เนื้อหา หรือในกรณีนี้เผยแพร่คลิปบ้าง

เมื่อมาดูคลิป จะเห็นว่ามีอยู่สองระลอก คือ ระลอกแรกเป็นเรื่องที่อาจเกี่ยวพันกับการพิจารณาคดียุบพรรค ระลอกสองเป็นเรื่องที่ออกไปทางการกระทำส่วนตัวก็คือ คลิปเกี่ยวกับการทุจริตการสอบเข้ารับราชการ

เมื่อตรวจสอบตัวกฎหมายดูแล้ว จะพบว่าปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิในเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และที่สำคัญน่าจะเกี่ยวข้องกับกรณีการเผยแพร่คลิปวิดีโอนี้ มีอยู่ด้วยกัน 3 ตัว ตัวแรก คือกฎหมายอาญามาตรา 198 ว่าด้วยเรื่องการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา

สอง คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กับประมวลกฎหมายอาญาที่ว่าด้วยเรื่องหมิ่นประมาทบุคคลอื่น

สาม คือ พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.. 2550

000

2 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา: ไม่ผิด

มาตรา 198 กฎหมายอาญาเขียนว่า

ผู้ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณา หรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับกฎหมายข้อนี้ ประเด็นแรกที่ต้องพิจารณา คือ กฎหมายคุ้มครองอะไร กฎหมายใช้คำว่า ศาลหรือผู้พิพากษา ดังนั้นจึงคุ้มครองสองสิ่ง นั่นคือ ห้ามดูหมิ่นศาล หรือดูหมิ่นตัวองค์กรหรือสถาบัน ในขณะเดียวกันก็ห้ามดูหมิ่นตัวผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ในศาลด้วย และคำว่า ศาลในที่นี้ใช้กับทุก ๆ ศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อมา มาตรา 198 ใช้คำว่า “ดูหมิ่น” ไม่ใช่ “หมิ่นประมาท” สองคำนี้ไม่เหมือนกัน คำว่าดูหมิ่นนั้น คือการที่ ผู้พูดหรือผู้ทำการดูหมิ่นได้แสดงพฤติกรรม เขียน หรือใช้วาจาบางอย่างที่เป็นการดูหมิ่นตรง ๆ เป้าหมายคือ เพื่อลดเกียรติยศ ลดศักดิ์ศรีของคน ๆ นั้น หรือองค์กรนั้นลง เช่น ใช้คำหยาบคายด่าทอ หรือถ้าเป็นกรณีนี้ที่ทำต่อศาลหรือผู้พิพากษาก็เช่น ถ้อยคำต่อว่าลอย ๆ ทำนองตัดสินไม่ดี ไม่สุจริต รับเงิน เข้าข้างอีกฝ่าย เป็นต้น ซึ่งเป็นความหมายเดียวกันกับความผิดฐาน “ดูหมิ่นซึ่งหน้า” ที่ทำต่อบุคคลธรรมดามมาตรา 393 ประมวลกฎหมายอาญา เพียงแต่ต่างกันตรงที่ กรณีการดูหมิ่นศาลนี้ ไม่จำเป็นต้องกระทำซึ่งหน้า หมายความว่า อาจจะด่าในขณะพิจารณาในศาล หรือไปด่าลับหลังศาล ก็เป็นความผิดฐานดูหมิ่นศาลได้

สำหรับประเด็นที่ต่างจากการหมิ่นประมาทนั้นคือ ดูหมิ่นเป็นการที่คนดูหมิ่นแสดงการดูหมิ่นด้วยตัวเองโดยตรง คนถูกดูหมิ่นรู้สึกว่าโดนหมิ่นก็ผิดได้แล้ว  ในขณะที่การหมิ่นประมาทนั้น อาจไม่ใช่การพูดจาดูหมิ่นตรงๆ แต่เป็นการพูดข้อเท็จจริงใด ๆ หรือพฤติกรรมใด ๆ ที่อาจไม่ได้หยาบคาย หรือด่าทอ แต่มีเป้าหมายเพื่อให้คนอื่นที่ได้รู้ข้อเท็จจริงนั้นรู้สึกดูหมิ่นผู้ถูกหมิ่นประมาท เรื่องนี้จึงไม่เหมือนกันจึงต้องแยกแยะให้ดี ๆ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญที่สุดของ มาตรา 198  ก็คือ จะผิดมาตรานี้ได้ต้องเป็นการดูหมิ่นในเรื่องที่เกี่ยวพันกับการทำหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งด้วย มิใช่การดูหมิ่นกันในเรื่องส่วนตัว หรือความประพฤติส่วนตัวของผู้พิพากษาคนหนึ่งคนใด เพราะกฎหมายมาตรานี้มุ่งคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา และการพิจารณาตัดสินคดี

เมื่อเป็นเช่นนี้ พอย้อนกลับมาดูคลิปสองระลอก ก็จะพบว่า คลิประลอกสอง ฟันธงได้เลยว่า ไม่ใช่เรื่องดูหมิ่นศาลมาตรา 198 ประมวลกฎหมายอาญา แน่นอน เพราะคลิประลอกสองไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวพันกับการพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งเลย ไม่ใช่การกล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้พิพากษา แต่เป็นพฤติกรรม หรือการกระทำส่วนบุคคล เพียงแต่บุคคลนั้นประกอบอาชีพหรือมีตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาเท่านั้นเอง

ดังนั้น เรื่องที่จะต้องพิจารณากันมากหน่อย ก็คือ คลิประลอกแรก ซึ่งบางคนอาจมองว่ามีประเด็นที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีอยู่ เพราะมีบางคลิปในชุดนั้นนำเอาการพิจารณาในที่ประชุมออกมาเผยแพร่ แต่เงื่อนไขแค่นี้ยังไม่พอ เพราะดังกล่าวไปแล้วว่า ต้องมีการแสดงพฤติกรรมดูหมิ่นโดยตรงด้วย ดังนั้น คำถามก็คือ  ในคลิปต่าง ๆ มีการใช้ถ้อยคำทำนองดูหมิ่นหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีก็จะบอกว่ามีความผิดตามมาตรา 198  ไม่ได้  ขอยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมหน่อย เคยมีคำพิพากษาฎีกาหนึ่งตัดสินให้คนพูดมีความผิดฐานดูหมิ่นศาล เพราะเขาไปพูดนอกศาลว่า “ไอ้ผู้พิพากษานี้ปรับกู กูจะเตะมึง” กรณีนี้คือการใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ ลักษณะเหยียดหยามผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีของตน จึงถือเป็นการดูหมิ่น หรือการพูดในทำนองว่าศาลตัดสินคดีไม่ยุติธรรม ลำเอียงเข้าข้างบุคคลอื่น ไม่สุจริต ก็เคยมีฎีกาตัดสินให้ผิดมาแล้วเช่นกัน  คราวนี้ กลับมาที่คลิป  ดูสิว่ามีถ้อยคำในลักษณะดังกล่าวบ้างไหม คำตอบคือ ไม่มีนะคะ ชัดเจนเลยว่าไม่มีคำลักษณะหยาบคาย หมิ่นหยาม หรือลดศักดิ์ศรีทั้รรเท็จจริง เหตุการณ์ หรือพฤติกรรมบางอย่างของบางคนที่อาจเกี่ยวพันกับการพิจารณาคดีมาเผยแพร่เท่านั้น ซึ่งจะจริงหรือไม่นี่อีกเรื่อง ต้องพิจารณากันอีกที เป้าหมายของการเผยแพร่ก็อาจเพื่อให้คนที่ได้เห็นคลิปรู้สึกดูหมิ่นศาล หรือที่เค้าใช้คำว่าดิสเครดิตศาล นั่นแหละ แต่เรื่องนี้ก็ไม่่ใช่ความหมายของการดูหมิ่น อย่างที่พูดไปแล้วตอนต้น ถูกไหมคะ

ดังนั้น เมื่อพิจารณาทั้งจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย รวมทั้งถ้อยคำในตัวบทกฎหมาย แม้คลิประลอกแรกเอง ก็ไม่น่าจะผิดตามมาตรา 198  ส่วนที่มีข่าวว่ามีการไปกล่าวโทษกันแล้วโดยใช้มาตรานี้ ก็ยังน่าสงสัยอยู่ เพราะถ้าถามโดยส่วนตัว มันตีความไปไม่ถึงค่ะ และคลิปเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถเอาไปเกี่ยวพันกับเรื่อง “ละเมิดอำนาจศาล”  ในชั้นกระบวนพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ด้วย ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งแยกจากเรื่อง “ดูหมิ่นศาล” ที่เรากำลังพูดกันอยู่ แต่ครั้งนี้ไม่มีความจำเป็นต้องกล่าวถึงเรื่องละเมิดอำนาจศาล เพราะนอกจากคลิปทั้งหมดที่ออกมาจะไม่ชัดเจน หรือไม่มีส่วนใดที่น่าจะส่งผล หรือมีอิทธิพลเหนือผู้พิพากษา หรือเหนือการตัดสินคดียุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะศาลเองก็บอกว่าเจ้าหน้าที่ศาลในคลิปตกลงกันเอง ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญเอง ยังไม่มีกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติให้อำนาจกับศาลไว้โดยตรงในเรื่องที่ว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาล

 

ถ้าให้ฟันธงก็ต้องบอกว่า ทั้งคลิปชุดแรกและสอง ไม่เป็นความผิดในฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา ตามมาตรา 198 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

000

3 ความผิดฐานหมิ่นประมาท: อาจผิด แต่มีข้อยกเว้นความผิด และข้อยกเว้นโทษ

กฎหมายเรื่องที่ 2 คือ ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายแพ่ง และกฎหมายอาญา สาเหตุที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย ก็เพราะว่าผู้พิพากษาก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ดังนั้นกฎหมายย่อมต้องให้ความคุ้มครองเกียรติยศ ศักดิ์ศรี ของเขาเช่นเดียวกันกับคนอื่น ๆ ในฐานะที่เป็นประชาชนในรัฐ ในเรื่องนี้ แม้ในที่สุดมันจะไม่กระทบต่อตัวองค์กร ตัวสถาบัน หรือไม่กระทบต่อผู้พิพากษาในฐานะที่ปฏิบัติภาระหน้าที่จนเป็นความผิดตามมาตรา 198 ได้ แต่ถ้ามีการเผยแพร่คลิปที่มีเนื้อหาบางอย่างไปกระทบเกียรติยศ หรือเรื่องในทางส่วนตัวของเขาผู้กระทำก็อาจต้องรับผิด

กฎหมายที่ว่าด้วยหมิ่นประมาทมีสองส่วน คือ กฎหมายแพ่ง และกฎหมายอาญา

โดยกฎหมายอาญา คือ มาตรา 326-328 [2] ส่วนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ มาตรา 423 [3]

กฎหมายแพ่งเป็นเรื่องของการหมิ่นประมาทแล้ว ผู้กระทำอาจถูกเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน แต่กฎหมายอาญาผู้กระทำจะต้องมีโทษจำคุก หรือปรับ แม้บทลงโทษจะต่างกัน แต่องค์ประกอบการกระทำความผิดหลัก ๆ เหมือนกัน คือ หนึ่ง ต้องมีการใส่ความบุคคลอื่น คือ มีการแสดงข้อเท็จจริง แล้วมีการยืนยันข้อเท็จจริงที่ผู้ฟังสามารถพิสูจน์ได้ว่าเรื่องนั้นเป็นจริงหรือเป็นเท็จ  เพราะฉะนั้นถ้าเป็นแต่เพียงการพูดลอย ๆ ว่า นาย ก. ซึ่งเราไม่ชอบหน้าว่า “นาย ก เป็นคนหน้าหมา เป็นคนเลว” อย่างนี้ ถือเป็นแค่เพียงการแสดงความคิดเห็นลอยๆ เท่านั้น ไม่ใช่การแสดงข้อเท็จจริง และเป็นเรื่องที่ไม่มีทางเป็นความจริง คือ นาย ก คงมีหน้าเหมือนหมาไม่ได้ เมื่อเป็นเรื่องอธิบายหรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงไม่ได้ว่าเลวอย่างไร หรือเลวเพราะอะไร จึงไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาทตามกฎหมาย แต่แน่นอนอาจจะผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าได้ ถ้าเราไปพูดแบบนี้ต่อหน้านาย ก เพราะใช่ถ้อยคำหยาบคายดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตรงนี้จึงต้องแยกให้ดี ๆ ว่าผิดอะไร ดังนั้น การใส่ความ จึงต้องเป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงบางอย่างที่คนที่ได้ฟังไปพิสูจน์ต่อได้ และผู้ใส่ความมีการยืนยันข้อเท็จจริงนั้น ๆ เช่น พูดถึงพฤติกรรมที่ไม่ดีในทางเพศของนาย ก หรือพฤติกรรมที่ทุจริตคอร์รัปชั่นของ นาย ก ประกอบกับถ้อยคำว่า นาย ก เป็นคนเลว เป็นคนไม่ดี แบบนี้เป็นต้น

องค์ประกอบที่สอง คือ การใส่ความนั้นต้องเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สาม หรือสาธารณชนทั่วไป หากเป็นบุคคลที่สามคนเดียว ก็เป็นความผิดตามาตรา 326 คือ หมิ่นประมาทกับบุคคลที่สาม แต่ถ้าไปพูดต่อสาธารณชนทั่วไป ซึ่งตามกฎหมายแค่เพียงมีมากกว่าหนึ่งคน ก็จะเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา มาตรา 328 มีโทษหนักขึ้น ซึ่งถ้าถามว่า การเอาคลิปไปเผยแพร่ในเว็ปไซต์ควรจะเข้ามาตราไหน เราก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของมาตรา 328 เพราะมีผู้คนจำนวนมากเข้าถึงได้

องค์ประกอบที่สาม ต้องระบุตัวผู้ถูกใส่ความได้ว่าเป็นใคร ไม่ใช่ว่าพูดลอย ๆ เป็นกลุ่ม ๆ หมายถึงใครก็ไม่รู้ ซึ่งคลิปนี้ก็เห็นชัดเจนว่าพูดถึงใครบ้าง

องค์ประกอบที่สี่ คือ การใส่ความนั้นน่าจะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติยศชื่อเสียงของผู้ถูกใส่ความ หรือทำให้เขาต้องถูกคนอื่นเกลียดชัง หรือรู้สึกดูหมิ่น

ถ้าการกระทำครบทั้งสี่องค์ประกอบนี้เมื่อไหร่ ก็ถือเป็นความผิด

มีข้อสังเกตเพิ่มเติมนิดหนึ่งว่า สิ่งที่แตกต่างกันข้อสำคัญข้อหนึ่ง สำหรับการหมิ่นประมาทในทางแพ่ง กับทางอาญา ก็คือ ถ้าเป็นคดีแพ่ง หากเรื่องที่นำมาเปิดเผย หรือนำมาใส่ความกันเป็นเรื่องจริง แบบนี้ผู้กระทำไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพราะกฎหมายแพ่งใช้คำว่า ไขข่าวที่ “ฝ่าฝืนต่อความจริง” แล้วทำให้ผู้อื่นเสียหาย  แต่ถ้าเป็นคดีอาญา กฎหมายอาญาคุ้มครองชื่อเสียงเกียรติยศของบุคคล โดยไม่สนใจว่า เรื่องที่ใส่ความนั้นเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเรื่องเท็จ ผู้ใส่ความเขา หรือเอาเรื่องของเขามาเปิดเผยโดยฝ่าฝืนความยินยอมของเจ้าของเรื่อง ย่อมมีความผิด เช่น แม้ผู้ถูกใส่ความว่าทุจริตจะกระทำการทุจริตจริง ๆ   ผู้ใส่ความ หรือเอาเรื่องราวของเขาไปเปิดเผยก็ยังคงมีความผิดอยู่

คำอธิบายต่อแนวทางของกฎหมายอาญาที่ผู้ใส่ความมีความผิด แม้การใส่ความนั้นจะเป็นเรื่องจริง ซึ่งต่างจากคดีแพ่ง ก็คือ คดีแพ่งเป็นเรื่องข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน กฎหมายมองว่า ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริง บุคคลนั้นก็ไม่มีอะไรเสียหายที่เป็นรูปธรรม ที่ให้ผู้กระทำต้องจ่ายค่าชดใช้ชดเชยให้  แต่ในทางกฎหมายอาญา จะมุ่งมองในเรื่องความสงบเรียบร้อยของสังคมเป็นหลัก หากปล่อยให้คนในสังคมเอาเรื่องของคนอื่นมาเปิดเผยได้โดยเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมที่ไม่ดี โดยฝ่าฝืนความยินยอมของเจ้าของเรื่อง แล้วรัฐไม่เข้ามาดูแลจัดการ ก็จะทำให้สังคมวุ่นวายได้  ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. แต่งงานแล้ว แต่มาเป็นชู้กับนางสาว ข.  นาย เอ ซึ่งเป็นแค่เพียงแฟนของนางสาว ข. จึงนำเรื่องนี้ไปเปิดเผยกับคนอื่น ๆ  แบบนี้ ถือเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา แม้ ก กับ ข จะเป็นชู้กันจริง ๆ ก็ตาม แต่นาย เอ อาจไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้นาย ก และ นางสาว ข ในทางแพ่ง

ประเด็นที่เกิดขึ้นกับคลิปที่เผยแพร่  ดังกล่าวแล้วว่า ในทางอาญานั้นไม่ต้องสนใจเลยว่า เรื่องในนั้นเป็นจริงหรือเท็จ หากพิจารณาตามองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว เข้าองค์ประกอบ ผู้ทำคลิป แล้วนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน ก็อาจมีความผิดตามมาตรา 328  ประมวลกฎหมายอาญาได้ เพราะน่าจะเกิดความเสื่อมเสียมต่อชือเสียง หรือทำให้ผู้พิพากษาที่ปรากฏในคลิปถูกดูหมิ่น เกลียดชัง  

แต่ตรงนี้มีเรื่องต้องพิจารณาต่อ เพราะความรับผิดในทางอาญานั้นจะเกิดขึ้นได้ การกระทำต้องเป็นไปตาม “โครงสร้างความรับผิด” ด้วย คือ 1 การกระทำนั้นครบองค์ประกอบเป็นความผิด 2 การกระทำนั้นไม่มีเหตุยกเว้นความผิด และ 3 การกระทำนั้นไม่มีเหตุยกเว้นโทษให้ผู้กระทำ ดังนั้น ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อมาสำหรับการเผยแพร่คลิปในครั้งนี้ ก็คือ  มาตรา 328 คือ บทหลักของความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ถ้าการแพร่คลิปครบองค์ประกอบตามมาตราดังกล่าว ใช่ เราถือเป็นความผิดตามกฎหมายแล้ว  แต่การหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญานี้ ได้เขียนข้อยกเว้นความผิด คือ การกระทำนั้นแม้ครบองค์ประกอบแต่ผู้กระทำไม่มีความผิด ไว้ที่มาตรา 329 ด้วย ในขณะเดียวกันก็มี ข้อยกเว้นโทษ ในที่มาตรา 330 คือ การกระทำครบองค์ประกอบ ผู้กระทำมีความผิด แต่ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ

มาตรา 329 ประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติว่า 

ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต

(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม

(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่

(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ

(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม

ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

ลองมาวินิจฉัยดูว่า คลิประลอกหนึ่ง และระลอกสองเข้าข้อยกเว้นนี้ไหม ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาแยกกัน เพราะว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่คลิปเหล่านี้ ณ ปัจจุบันมีหลายกลุ่ม คือ

หนึ่ง คือ คนที่ทำคลิป แล้วนำออกเผยแพร่เป็นคนแรก

สอง คือ คนที่ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วไป ที่เห็นคลิปแล้วนำไปเผยแพร่ต่อ

สาม คือ คนที่ถอดความจากคลิป แล้วนำเสนอเป็นข่าว

สำหรับคนที่ทำคลิป แล้วนำมาเผยแพร่เป็นคนแรก นั้น ถ้าให้ตีความ และปรับกฎหมาย คิดว่าไม่น่าจะเข้าข้อยกเว้นความผิดตามมาตรา 329 ได้เลย พูดอีกอย่างก็คือ หมิ่นเหม่ที่จะต้องรับผิดฐานหมิ่นประมาทได้ อาจมีคนสงสัยว่าเข้าข้อยกเว้น มาตรา 329 (3) ไม่ได้หรือ ?

เรื่องนี้มีปัญหา เพราะตาม (3)  นอกจากต้องเป็นกรณีของการ “แสดงความคิดเห็น” คือ ติชมด้วยความเป็นธรรมต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในคลิป ซึ่งในตัวคลิปเองไม่ปรากฏเรื่องนี้ แล้ว ยังเคยมีคำพิพากษาฎีกาหนึ่ง ที่น่าจะนำมาเปรียบเทียบกับการเผยแพร่คลิป คือ จำเลย นำเทปบันทึกเสียงของโจทก์ ซึ่งเป็นหญิง ที่พูดว่าตนไปลักลอบได้เสียกับพระภิกษุมา ไปเผยแพร่ให้คณะสงฆ์ที่ทำหน้าที่วินิจฉัยโทษของพระภิกษุที่ลักลอบได้เสียกับโจทก์ฟัง ศาลฎีกาคดีนี้ตัดสินว่า การเผยแพร่เสียงนี้เป็นการเผยแพร่พฤติกรรมไม่ดีของโจทก์ กับพระภิกษุต่อบุคคลที่สาม จนน่าจะผิดตามมาตรา 328 ฐานหมิ่นประมาทโจทก์ก็จริง แต่จำเลยไม่ได้กระทำไปโดยมุ่งประจานโจทก์ เพราะเป็นการนำมาฟังกันในระหว่างบุคคลที่มีหน้าที่ตัดสินโทษ จำเลยจึงทำไปโดยสุจริต เพื่อ ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ถือว่าเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 329 (3) จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

หากพิจารณาตามหลักการตีความมาตรา 329 นี้ ย่อมกล่าวได้ว่า  คนทำคลิปและนำมาเผยแพร่ ย่อมไม่มีความผิดเลย หากเขานำคลิปนี้ส่งให้คณะกรรมการ ปปช. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาว่าพฤติกรรมต่าง ๆ ของคนที่อยู่ในคลิป เป็นความผิดหรือไม่  แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ทำคลิปเอาคลิปมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งคนทั่วไปเห็นได้  หากมีคดีขึ้นสู่ศาล ผลก็น่าจะออกมาในแนวว่า เป็นการกระทำที่ไม่เข้าข้อยกเว้นความผิด เพราะไม่ใช่การกระทำโดยสุจริต เนื่องจาก ทำไปโดยมุ่งประจาน ้ ต้องการกลั่นแกล้ง หรือดิสเครดิตบุคคลนั้น ฉะนั้น คนที่ทำและเผยแพร่เป็นคนแรก คงต้องมีความผิดตามมาตรา 328 โดยไม่มีข้อยกเว้นความผิดตามมาตรา 329

แต่สำหรับกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่นำคลิปไปเผยแพร่ต่อ หรือคนที่ทำข่าวหรือถอดความจากคลิปมานำเสนอเป็นข่าวนั้น การกระทำของเขาน่าจะเข้าข้อยกเว้นมาตรา 329 (3) ได้ เพราะว่าเขาไม่ได้เป็นคนสร้างคลิปขึ้นมา และนำมาเผยแพร่โดยเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในคลิปน่าจะเป็นความจริง ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ คือ การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือการนำเผยแพร่ต่อนี้ คนเผยแพร่ต่อ ๆ กันมา ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเรื่องในคลิปเป็นจริงหรือเป็นเท็จ เพียงแค่เขาเชื่อโดยสุจริตว่า เป็นเรื่องจริงที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวพันกับองค์กรที่ตัดสินคดีความของประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อพวกเขาโดยตรง การนำคลิปมาเผยแพร่ต่อ ๆ กันไป จึงย่อมอยู่ในวิสัยที่ประชาชนอาจทำได้ ดังนั้นกรณีนี้ จึงน่าจะอ้าง 329 (3) เพื่อยกเว้นความผิดได้

โดยสรุปในประเด็นข้อยกเว้นความผิด ก็คือ คนทำคลิปและเผยแพร่เป็นคนแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของคลิปชุดที่สอง ซึ่งมีภาพและเสียงพฤติกรรมไม่ดีของบุคคลอื่น (คลิปชุดแรกไม่ค่อยมีประเด็นเรื่องหมิ่นประมาท) ไม่น่าจะได้ประโยชน์จากมาตรา 329 ดังนั้น การกระทำของเขาจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ในขณะที่คนนำคลิปไปเผยแพร่ต่อ หรือทำข่าวตามคลิป อาจได้รับยกเว้นความผิดตามมาตรา 329 โดยเฉพาะอย่างยิ่งตาม (3) ได้ หากเข้าใจ หรือเชื่อโดยสุจริตว่าพฤติกรรมของผู้พิพากษา ที่อยู่ในคลิปเป็นเรื่องจริง แล้วนำไปว่ากล่าวติชมกันตามวิสัยของประชาชน ที่กล่าววิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของผู้มีตำแหน่งสำคัญในบ้านเมือง 

เรื่องที่จำเป็นต้องพิจารณาต่อจากเหตุยกเว้นความผิดก็คือ เหตุยกเว้นโทษ คือ ผิดแล้วแต่ไม่ต้องรับโทษ ตามมาตรา 330 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า 

ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

นำมาปรับใช้กับกรณีเผยแพร่คลิปดู จะเห็นว่า ในที่สุดแล้ว การเผยแพร่คลิป ผู้กระทำอาจผิดฐานหมิ่นประมาทก็จริง แต่คำถาม คือ ตามกฎหมายเขามีโอกาสในการพิสูจน์ความแท้จริง หรือความจริงของเรื่องราวในคลิปได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ และต้องได้ ด้วย

เพราะแม้เรื่องราวในคลิปอาจเป็นพฤติกรรมการทุจริตส่วนบุคคลก็จริง แต่สาเหตุแห่งการทุจริต มีความเกี่ยวพันกับหลักเกณฑ์และประโยชน์ของบุคคลอื่น และกระทบต่อประเทศชาติโดยรวม อีกทั้งยังเป็นพฤติกรรมของผู้พิพากษา ผู้ซึ่งเป็นคนในองค์กรที่มีอำนาจในการตัดสินคดีและให้ความยุติธรรมกับคนในสังคม เป็นองค์กรที่ถูกคาดหวังจริยธรรมมากที่สุดองค์กรหนึ่งของประเทศ ดังนั้น กระบวนการพิสูจน์ว่าเรื่องราวในคลิป เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ย่อมถือเป็นประโยชน์แก่ประชาชน และหากผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด ในที่นี้ คือ ผู้ทำคลิปและนำมาเผยแพร่เป็นคนแรกพิสูจน์ในชั้นศาลได้ด้วยว่า คลิปนั้นเป็นเรื่องจริง เขาย่อมได้รับการยกเว้นโทษตามมาตรา 330 

สรุปก็คือ แม้ในท้ายที่สุดแล้ว ผู้ทำคลิปและนำคลิปมาเผยแพร่เป็นคนแรกจะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา โดยอ้างเหตุยกเว้นความผิดใด ๆ ไม่ได้ แต่หากมีการนำคดีขึ้นสู่ศาล และพวกเขาสามารถพิสูจน์ได้ว่าคลิปที่นำมาเผยแพร่เหล่านั้นเป็นเรื่องจริง ก็จะได้รับยกเว้นโทษ สำหรับผู้นำมาเผยแพร่ต่อ หรือทำข่าวคลิปนั้น ไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าได้รับยกเว้นโทษหรือไม่เลย ทั้งนี้เพราะเขาน่าจะได้ หรือย่อมได้รับการ ยกเว้นความผิด ตามที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว

คำถามสำคัญสำหรับเรื่องนี้ จึงคงเหลืออยู่ข้อเดียว ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะได้คำตอบในเร็ว ๆ นี้หรือไม่ ก็คือ ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่อยู่ในคลิปเอง และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ พร้อมที่จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาคดีหมิ่นประมาทในศาลยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ความจริงในคลิป หรือไม่ เท่านั้น

000

4  ผู้ปล่อยคลิปผิดอะไรตามพรบ.คอมพิวเตอร์ และรัฐใช้มาตรการปิดกั้นคลิปได้หรือไม่ ?

ช่วงที่ผ่านมาเราจะได้ยินข่าวกันค่อนข้างมากว่า มีการใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.. 2550 เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่คลิปด้วย จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ เจ้าหน้าที่รัฐไทย พอมีเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปั๊บ นึกอะไรไม่ออกก็ใช้พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ไว้ก่อน แต่คำถามก็คือ ใช้มั่วหรือเปล่า หรือว่าตั้งข้อหาส่ง ๆ ไปก่อน ซึ่งได้ข่าวมาว่า มีความพยายามที่จะใช้ข้อหาตาม  มาตรา 14 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง (2) การเอาข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน [4]

ถ้าถามความเห็นส่วนตัวว่าผิดตามมาตราดังกล่าวหรือไม่ คงขอตั้งคำถามกลับไปว่า คลิปที่ถูกเผยแพร่ออกมา ไม่ว่าระลอกไหน ๆ เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งรัฐยังไง  มีข้อควรสังเกตว่า แม้จะมีการถกเถียงกันมานานมากแล้วว่าถ้อยคำนี้เป็นถ้อยคำคลุมเครือเกินไปสำหรับการกำหนดโทษทางอาญา และหากจะตีความก็ควรจำกัดให้เหมาะสม แต่ประเทศไทยก็ยังตีความคำว่าความมั่นคงแห่งรัฐ กว้างเป็นทะเลอยู่ดี ที่ผ่านมานอกจากตีความรวมไปถึง ความมั่นคงแห่งรัฐบาลแล้ว กรณีนี้ยังมีความพยายามจะตีความรวมเอา ความมั่นคงของศาล และความมั่นคงของผู้พิพากษา เข้ามาด้วย แต่ที่น่าเสียดายที่สุด คือ ความมั่นคงของประชาชนไม่เคยอยู่ในความหมายนี้เลยสักครั้งเดียว คลิปนี้ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกหรือไม่ ก็ยังน่าสงสัยอยู่ เพราะหากคลิปนี้จะทำให้ใคร หรือคนกลุ่มใดสักกลุ่มตื่นตระหนก ก็ไม่น่าจะเป็นบุคคลที่ปรากฏอยู่ในคลิปมากกว่าที่จำเป็นประชาชน ดังนั้น ดูแล้วก็เป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะตีความเรื่องนี้ให้เป็นความผิดตามมาตรา 14 (2) ได้ ส่วนจะเปลี่ยนมาตั้งข้อหาตาม มาตรา 14 (1) นำข้อมูลปลอมทั้งหมดหรือบางส่วนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ นั้น ณ ปัจจุบัน การตีความมาตรานี้ ยังนับว่าน่าสงสัยอยู่มาก ว่าจะใช้หลักการเดียวกันกับการ “ปลอมเอกสาร” ที่มีความสำคัญอยู่ที่ “อำนาจของผู้ทำข้อมูลปลอม” ไม่ใช่ “เนื้อหาที่ถูกปลอม” หรือจะตีความคำว่า “ปลอม” ในความหมายสามัญทั่วไปกันแน่ สุดท้าย เราจึงไม่ค่อยเห็นตำรวจไซเบอร์ หรือไอซีทีใช้มาตรานี้ตั้งข้อหากับใครมากนัก ซึ่งไม่เฉพาะกับเรื่องคลิปนี้แต่หมายถึงกับคดีอื่น ๆ ด้วย  

มาตราที่น่าสนใจสำหรับกรณีการเผยแพร่คลิป น่าจะเป็น มาตรา 16 แห่งพรบ.คอมพิวเตอร์มากกว่า เพราะสำหรับคลิปชุดแรก อาจมีประเด็นในเรื่องการตัดต่อภาพ หรือข้อความบางตอน จนอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง ของบุคคลอื่นได้ อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด จะเป็นความผิดตามมาตราเหล่านี้หรือไม่ ก็ต้องว่ากันในชั้นศาลเท่านั้น ไม่ใช่มาตะโกนขู่กันอยู่ที่นอกศาล คำถามสุดท้าย จึงเป็นคำถามเดิมว่า ผู้เสียหายตามคลิปเหล่านี้ พร้อมหรือไม่ที่จะให้เกิดการพิสูจน์กัน ถ้าพร้อมก็ส่งเรื่องฟ้องเลย แล้วพิสูจน์กัน ประชาชนจำนวนมากน่าจะรออยู่ด้วยใจระทึก

ประเด็นต่อมา คือ การใช้มาตรการปิดกั้นการเข้าถึงคลิปนั้น ทำได้หรือไม่  ต้องชัดเจนเลยว่า ถ้าพูดถึงเรื่องปิดกั้นได้หรือไม่นี้  ไม่ใช่มาตรา 14 หรือมาตรา 16  แล้ว เพราะมาตราทั้งสองไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการปิดกั้น หรือระงับการเผยแพร่เนื้อหาบนระบบคอมพิวเตอร์  เป็นแต่เพียงบทกำหนดโทษผู้กระทำความผิดว่าจะจำคุก หรือปรับ หากผิดจริง ส่วนจะปิดกั้นได้หรือไม่ ปัจจุบันมีอยู่มาตราเดียวที่ต้องดู คือ มาตรา 20  ตำรวจไซเบอร์ก็ดี ไอซีทีก็ดี หรือนายกรัฐมนตรีก็ดี จะไปใช้กฎหมายอื่น หรือมาตราอื่น ๆ ไม่ได้ และหากจะปิดกั้นก็ต้องขออำนาจศาลยุติธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ไปทำตัวเป็นไอ้โม่ง ส่งหนังสือไปต่างประเทศขอให้ลบคลิป หรือสั่งใครให้ปิดกั้นคลิป ไม่เช่นนั้นรัฐก็กำลังทำการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 45 เสียเอง

ซึ่ง มาตรา 20 พรบ. คอมพิวเตอร์ ฯ บัญญัติว่า

ในกรณีที่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการทำให้แพร่หลายซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่ กำหนดไว้ในภาคสองลักษณะ ๑ หรือลักษณะ ๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้อง พร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่ หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรค หนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายนั้นเอง หรือสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้”    

จึงเห็นได้ว่า เนื้อหาที่รัฐจะใช้ มาตรา 20 ปิดกั้นการเผยแพร่ได้มีแค่ 2 เรื่องเท่านั้น คือ เรื่องความมั่นคงแห่งรัฐ กับเรื่องขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งคลิปที่เผยแพร่ และความผิดที่อาจถูกกล่าวหานั้น ชัดเจนว่าไม่เข้าข่ายหมวดความมั่นคงตามที่บัญญัติในมาตรา 20 เลย เพราะไม่ว่าจะเป็นมาตรา 198 ดูหมิ่นศาล ซึ่งดังกล่าวไปแล้วว่าไม่ผิดด้วย หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท ล้วนไม่ใช่บทมาตราในภาคสองลักษณะ ๑ หรือลักษณะ ๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา เลย สำหรับกรณีว่าขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เรื่องนี้ยิ่งไม่เกี่ยวเลย เพราะเป็นเรื่องพฤติกรรมของคนในศาล เป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการทุจริต เป็นการเผยแพร่ความไม่ชอบมาพากลให้ประชาชนเห็น ฉะนั้นเมื่อไม่ใช่ความผิดในสองหมวดนี้ ไอซีทีคุณใช้ มาตรา 20 ไม่ได้

อาจจะมีคนตั้งคำถามว่า อ้าว แล้วอย่างนี้ถ้ามี ใครสักคนเอาเราไปใส่ความในอินเทอร์เน็ต เราเสียหาย เราจะขอให้รัฐหรือไอซีทีไปบล็อกยูทูปว์ไม่ได้หรือ ตอบตรง ๆ ตามหลักมาตรา 20 คือ ไม่ได้ ประเด็นก็คือ การใช้มาตรการปิดกั้นการเข้าถึงสื่อ เป็นมาตรการเร่งด่วน ที่ต้องใช้กับเนื้อหาที่มีผลกระทบรุนแรงจริง ๆ เท่านั้น หากในที่สุด มีการขัดกันขึ้น หรือจำเป็นต้องให้น้ำหนักระหว่างสิทธิของปัจเจกชน กับสิทธิของประชาชนส่วนรวมทั้งหมด ก็ต้องคำนึงถึงสิทธิของประชาชนส่วนรวมก่อน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ หมายถึงเราโดนหมิ่นประมาท จะมีวิธีเยียวยาแบบอื่นรองรับไว้ได้อยู่แล้ว เช่น การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่ง การฟ้องให้ลงโทษทางอาญา หรือให้ศาลสั่งลงข่าวแก้ไข หรืออาจใช้่ช่องทางการขอศาลคุ้มครองชั่วคราวให้ปลดคลิปนั้นในระหว่างพิจารณาคดี เป็นต้น แต่ต้องไม่ใช่การใช้อำนาจปิดทันทีโดยอาศัยมาตรา 20 นี้

ที่ผ่านมากระทรวงไอซีทีเสนอว่าจะบล็อกคลิป คำถามคือ ตกลงคุณใช้อำนาจอะไรในการบล็อก หรือกระทั่งที่เป็นข่าวอยู่ คือ ไอซีทีมีทีท่าว่าจะใช้ พรก.ฉุกเฉิน ฯ มาตรา 9 (3) ปิดกั้น ซึ่งตรงนี้ ถ้ามีการใช้จริง ๆ ถือว่า รัฐกำลังใช้อำนาจในทางมิชอบด้วยกฎหมาย และมั่วซั่วมาก ๆ เพราะเรื่องนี้แท้จริงแล้ว ไม่ได้เกี่ยวพันกับสถานการณ์ฉุกเฉินเลยแม้แต่น้อย สรุปก็คือ ถ้ามีการบล็อกเมื่อไหร่ โดยไม่มีการร้องขอคำสั่งศาล หรือขอคุ้มครองชั่วคราวภายหลังฟัองศาลให้พิสุจน์ความจริงว่าหมิ่นประมาทหรือไม่  การบล็อกคลิปโดยเจ้าหน้าที่ต้องถือว่าขัดกับมาตรา 45 และประชาชนมีสิทธิฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ กลายเป็นเรื่องที่ย้อนตีกลับไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกทีหนึ่ง เราคงได้เห็นอะไรสนุก ๆ กัน 

ก็อยากจะบอกว่า ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้ต้องการปกป้องใครทั้งสิ้น แต่ว่ากันตามหลักกฎหมาย ตามหลักของนิติรัฐ หลักที่บอกประชาชนว่า รัฐจะทำอะไรได้ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ ถ้าเกิดคุณอ้างกฎหมายตัวไหนมาใช้ไม่ได้เลย นั่นคือคุณกำลังทำโดยไม่มีอำนาจ เรื่องการเผยแพร่คลิปหากในที่สุดแล้ว ศาล หรือผู้พิพากษา หรือใครต่อใครที่เกี่ยวข้องคิดว่า การเผยแพร่คลิปนั้นกระทบต่อสิทธิของท่าน ท่านก็ฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ทำคลิป ผู้เผยแพร่คลิปได้ เมื่อคิดว่าเป็นความผิด ก็ต้องว่ากันไปตามผิด แต่แน่นอนต้องได้รับการพิสูจน์กันในชั้นศาล แต่ในขณะเดียวกัน ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในคลิปเอง ก็จำเป็นต้องทำความจริงให้กระจ่าง ชี้แจงกับประชาชนเช่นกัน ว่าจริงไม่จริงอย่างไร ไม่ใช่พยายามออกมาบิดเบือน หรือเบี่ยงประเด็นว่า เป็นคลิปเท็จ คลิปปลอม ดิสเครดิต สร้างความเสื่อมเสียต่อศาล ฯลฯ  เพราะคำถามจากประชาชน ก็คือ แล้วมันปลอมยังไง ? หรือมันเท็จอย่างไร ? พิสูจน์สิ

ศาลจะเสื่อมเสียหรือไม่ ไม่ใช่เพราะมีคนเอาคลิปที่มีพฤติกรรมที่น่าเสื่อมเสียของคนในองค์กรออกมาประกาศหรือเผยแพร่  แต่ศาลจะเสื่อมจะเสียก็เพราะพฤติกรรมที่เสื่อมเสียเองของคนในองค์กรที่ปรากฎอยู่ในคลิป จะเสื่อมเสียก็เพราะคนที่เกี่ยวข้องขององค์กร นอกจากไม่ชี้แจงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ในคลิปเองแล้ว ยังนิ่งเฉยช่วยกันบิดเบือนประเด็นด้วย อย่างนี้แหละจะยิ่งเสื่อมเสีย  

000

5 ประชาชนก็ร้อง ป... ให้ตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญได้

สิ่งที่ควรจะเป็นหลังจากคลิปฉาวดังกล่าวหลุดออกสู่สาธารณะ ก็คือ กระบวนการหาข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะโดยองค์กรศาล หรือ ป... (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) เพื่อชี้แจงให้สาธารณชนเข้าใจข้อเท็จจริง

แต่ขณะนี้ยังไม่มีคนฟ้องป... ซึ่งจริงๆ ประชาชนทั่วไป หรือใครที่เคยไปสอบเข้ากรณีที่มีประเด็นทุจริตอยู่ในคลิปก็ไปร้องเรียน ป... ได้นะคะ เพื่อให้ ป... ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ นักกฎหมายจะเงียบไม่ได้เลย  แต่ปรากฏว่า บรรดานักกฎหมายต่างเงียบงันกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดานักกฎหมายที่สอนหลักวิชาชีพไปทำอะไรอยู่ที่ไหนกันหมด ในระยะหลัง จริง ๆ มันก็นับตั้งแต่มีตุลาการภิวัฒน์ นั่นแหละ  ศาล ประชาชน นักกฎหมายสายคุณธรรมทั้งหลาย เรียกร้องศีลธรรมจริยธรรมจากนักการเมือง แต่พอมีประเด็นปัญหา ความสงสัยต่อคุณธรรมจริยธรรมในองค์กรศาลเอง คนที่เคยเรียกร้องเหล่านั้นกลับเงียบงัน หลายคนทำหูทวนลม นักกฎหมายบางคนบอกว่าจนบัดนี้ตัวเองยังไม่ได้ดูคลิปเพราะเห็นเป็นเรื่องไร้สาระ มันน่าเหลือเชื่อที่สุด เพราะในต่างประเทศ คลิปเจ้าหน้าที่ซ้อมผู้ต้องหาซึ่งถ่ายจากมือถือของประชาชนผู้เห็นเหตุการณ์  คลิปการทรมานในคุก หลุดออกมา ยังใช้เป็นพยานหลักฐาน เป็นเบาะแสในการสืบหาข้อเท็จจริงต่อได้ กลายเป็นข่าวฮือฮาทั่วโลก จนผู้เกี่ยวข้องต้องออกมาทำความกระจ่างให้ปรากฏ เพราะปล่อยไว้ให้เป็นที่สงสัย ก็รังแต่จะเกิดผลเสีย และกระทบต่อความไว้วางใจของประชาชน แต่นักกฎหมายในประเทศไทยจำนวนมาก กลับเพิกเฉย แล้วกล่าวคำมักง่ายลอย ๆ ว่าคลิปที่หลุดออกมาเป็นของปลอม ไม่ต้องดู และไม่ต้องพิสูจน์

เรื่องเร่งด่วนที่สุดตอนนี้ คือ คุณต้องพิสูจน์ว่า องค์กร สถาบัน ยึดถือคุณธรรมจริยธรรมจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริงต้องจัดการกับคนที่ไร้จริยธรรมและไร้คุณธรรมนั้น เพื่อรักษาสถาบัน และองค์กรไว้

เรื่องที่สอง คือ เรื่องการดำเนินคดีกับคนที่ทำคลิปมาเผยแพร่ เรื่องนี้ ก็ต้องทำควบคู่กันไป เพราะหากเขาทำจริง ก็อาจจะฟ้องฐานหมิ่นประมาทเช่นกัน แต่พอฟ้องแล้วก็จะเกิดกระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริง สอบพยานกันในชั้นศาล ซึ่งประชาชนรอดูอยู่

กรณีที่กองปราบออกมาให้ข่าวว่าจะไล่ล่าคุณพสิษฐ์ก็เป็นเรื่องของกระบวนการ หากมีการฟ้องร้องกันแล้ว ซึ่งคาดว่าคงฟ้องด้วยกฎหมายอาญา มาตรา 198 แต่ต้องมีการแจ้งความก่อน ส่วนที่สุดแล้วจะขอตัวมาจากต่างประเทศเพื่อดำเนินคดีได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับประเด็นความร่วมมือระหว่างประเทศ

ประเด็นที่สาม คือเรื่อง ของการเผยแพร่ ต่อๆ ไป คือ ทำได้ตามวิสัยของประชาชนตามปกติ ติชมด้วยความเป็นธรรม โดยความสุจริต และต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ถ้อยคำด้วย เช่น การใช้ถ้อยคำว่า เลวจริง ๆ หรือเหยียดหยาม ประณาม ประจาน ก็ควรหลีกเลี่ยง

000

6 ละเมิดอำนาจศาล  กับดูหมิ่นศาล ต่างกันอย่างไร ช่วยอธิบายได้ไหม

เอาคร่าว ๆ นะคะ ว่า การละเมิดอำนาจศาล เป็นบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31, 32 แล้วมีโทษตาม 33 ส่วน ดูหมิ่นศาล เป็นบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 จริง ๆ โดยหลักการแล้ว สองเรื่องนี้มีสิ่งที่กฎหมายประสงค์จะคุ้มครองเหมือนกัน เพียงแต่กว้างแคบต่างกัน คือ คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดี และเกียรติของสถาบันตุลาการ รวมทั้งตัวผู้พิพากษาในองค์กรด้วย 

มาตรา 31 คือ กรณีที่เกิดในห้องพิจารณาคดี เช่น คู่ความขัดคำสั่ง หรือโวยวายขึ้นมาในห้องพิจารณาคดี จงใจให้การเท็จ ฯลฯ  ส่วนมาตรา 32  เป็นเรื่องของการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ซึ่งแยกเป็นสองอนุมาตรา โดยอนุมาตรา 1 คือ การนำเสนอข่าวหรือเอาข้อเท็จจริงของคดี หรือกระบวนพิจารณาคดีไปเผยแพร่ ทั้งที่ศาลบอกแล้วว่าเป็นการพิจารณาโดยลับ หรือห้ามไม่ให้เปิดเผยเพราะจะกระทบรูปคดี หรือคู่ความ ส่วนอนุมาตรา 2 คือเรื่องการเสนอความคิดเห็นที่เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดี โดยมีเป้าหมายที่จะมีอิทธิพลเหนือการพิจารณาคดี เหนือผู้พิพากษาเหนือคู่ความ หรือเหนือพยาน กล่าวคือมุ่งหมายให้มีผลต่อการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ๆ นั่นเอง 

ผลบังคับในมาตรา 33 ก็คือ ศาลมีอำนาจลงโทษผู้ละเมิดศาลได้ทันที เช่น ถ้าอยู่ในศาลก็ไล่ออกจากศาล หรือสั่งจำคุก หรือปรับ ตามความเหมาะสม

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีบทบัญญัติที่บอกให้เอาหลักของกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ได้โดยอนุโลม ซึ่งย่อมหมายรวมถึงบทที่ว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาลด้วย และสามารถทำได้ไม่ขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ  เพราะเป็นการนำเอากฎหมายระดับเดียวกัน คือ พระราชบัญญัติมาปรับใช้ด้วยกัน ดังนั้นศาลยุติธรรม จึงมีบทบัญญัติคุ้มครองเรื่องละเมิดอำนาจศาล และศาลก็มีอำนาจลงโทษ ผู้ละเมิดอำนาจศาลได้ตามกฎหมาย

แต่ประเด็นตอนนี้ ก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีเรื่องนี้เขียนไว้ และจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าเรื่องการพิจารณาคดีในศาลรัฐธรรมนูญ มีเพียงข้อกำหนดฯ ในการพิจารณาคดี ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ออกโดยศาลเอง ในขณะที่ เราทราบกันอยู่แล้วว่า กฎหมายที่จะออกมาแล้วมีผลกระทบต่อประชาชนได้ เช่น มีโทษทางอาญา หรือการลิดรอนสิทธิของประชาชน ต้องออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนเท่านั้น ดังนั้น เมื่อข้อกำหนดฯ ของศาลรัฐธรรมนูญ ออกโดยฝ่ายตุลาการ ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติ ข้อกำหนดนี้ จึงไม่อาจก้าวล่วงไปกำหนดเรื่องอะไร หรือเขียนอนุโลมให้นำเรื่องอะไรที่จะส่งผลกระทบสิทธิของประชาชนมาใช้ไม่ได้ เพราะถ้าหากยอมเช่นนั้น ศาล หรือองค์กรอื่นใด ที่ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติ ก็สามารถเขียนระเบียบ หรือข้อกำหนดภายในให้มีผลกระทบต่อประชาชนได้ โดยอาศัยวิธีดึงเอาบทลงโทษตามกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติมาใช้โดยอนุโลม  ดังนั้น สำหรับเรื่องการละเมิดอำนาจศาลนี้ ที่ผ่านมาเราจึงยังไม่เห็นการใช้อำนาจนี้โดยศาลรัฐธรรมนูญ และดูเหมือนศาลรัฐธรรมนูญเองก็เข้าใจเรื่องนี้ด้วยจึงไม่มีกรณีที่ไล่ออกจากศาลทันที หรือจำคุกทันที เพราะไม่มีอำนาจ

ซึ่งจะต่างกับความผิดฐานดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 ที่พูดถึงไปตั้งแต่ต้น เพราะ มาตรานี้ ไม่ใช่อำนาจลงโทษโดยตรงของศาลที่ถูกละเมิด แต่เป็นเรื่องที่ศาล หรือผู้พิพากษาสามารถนำเรื่องขึ้นสู่ศาลอีกทีหนึ่งเพื่อพิจารณาว่า มีการดูหมิ่นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ อย่างไร  และมาตรานี้ ก็เขียนไว้ใช้ครอบคลุมศาลทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือว่าศาลรัฐธรรมนูญ 

หมายเหตุ

[1] มาตรา ๔๕ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน

การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้

การห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามวรรคสอง

การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามวรรคสอง

เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย

การให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นของเอกชน รัฐจะกระทำมิได้

http://library2.parliament.go.th/giventake/content_cons50/cons2550.pdf

[2]

มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูก

เกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่น

บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 327 ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สามและการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้ บิดา มารดา คู่สมรส หรือ

บุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดัง

บัญญัติไว้ในมาตรา 326 นั้น

มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี

ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษร ที่ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึก

อักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้อง

ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

http://www.thailaw.com/thailaw2_4.pdf

[3]

มาตรา 423    ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสีย หายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดีหรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำ มาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้นแม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริงแต่หากควรจะ รู้ได้

 

ผู้ใดส่งข่าวสาส์นอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสาส์นนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสาส์นเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหม ทดแทนไม่

http://www.peesirilaw.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538627946&Ntype=777

[4]

    มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

    () นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

    () นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิด ความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

    () นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

    () นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

    () เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม () () () หรือ()

http://www.thaiall.com/article/law.htm

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทางการพม่าจับผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น - กะเหรี่ยงดีเคบีเอบุกเมียวดี

Posted: 07 Nov 2010 01:11 AM PST

โทรุ ยามาจิ” ผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นถูกทหารพม่าจับหลังข้ามเข้าไปที่เมืองเมียวดีตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก วันนี้ โดยขณะนี้กำลังถูกทหารพม่าสอบสวน ขณะที่สถานการณ์ชายแดนล่าสุดมีรายงานว่ากองกำลังกะเหรี่ยงพุทธกลุ่มของ พ.อ.ซอว์ ลา เพว ได้เข้ายึดพื้นที่สำคัญหลายจุดในเมืองเมียวดี

วันนี้ (7 พ.ย.) ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งทั่วไปที่จัดโดยรัฐบาลทหารพม่านั้น มีรายงานว่า นายโทรุ ยามาจิ อายุ 49 ปี หัวหน้าสำนักข่าว APF ของญี่ปุ่น ถูกตำรวจพม่าจับที่เมืองเมียวดี ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. หลังจากเขาลักลอบข้ามเข้าไปในเมืองเมียวดีเขตพม่า

โดยสิ่งของที่ติดตัวประกอบด้วยกล้องปากกา โทรศัพท์มือถือหมายเลขระหว่างประเทศ โทรศัพท์มือถือหมายเลขในประเทศไทย หนังสือเดินทาง และบัตรนักข่าวของเขาถูกเจ้าหน้าที่พม่ายึดด้วย

ทั้งนี้นายยามาจิ ป็นเพื่อนร่วมงานกับนายเคนจิ นากาอิ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวเดียวกัน ซึ่งถูกทหารพม่ายิงเสียชีวิต ช่วงการประท้วงของพระสงฆ์เมื่อเดือนกันยายนปี 2550 โดยนายยามาจิเป็นผู้เดินทางไปรับศพนายเคนจิด้วย

ทั้งนี้ ทางการพม่าห้ามผู้สื่อข่าวต่างประเทศและผู้สังเกตการณ์เข้าประเทศในช่วงที่มีการเลือกตั้ง

ล่าสุด แหล่งข่าวที่ชายแดนไทยตรงข้ามเมืองเมียวดี รายงานด้วยว่านายซาโมโต ขณะนี้ถูกสอบสวนอยู่ภายในสำนักงานของทหารพม่า

นอกจากนี้เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. มีรายงานความเคลื่อนไหวของกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตยหรือ DKBA ภายใต้การของ พ.อ.ซอว์ ลา เพว ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนของกองทัพพม่า ได้เข้ายึดพื้นที่สำคัญหลายแห่งของเมืองเมียวดี โดยแหล่งข่าวที่ชายแดนไทยตรงข้ามเมืองเมียวดี ยืนยันว่า กองกำลังของซอว์ ลา เพว เข้ายึดสถานีตำรวจเมืองเมียวดีได้แล้ว

ทั้งนี้ ซอว์ ลา เพว กล่าวกับผู้สื่อข่าวอิระวดีว่า กองกำลัง DKBA กองพลน้อยที่ 999 และกองพันที่ 907 จะเข้าร่วมกับกองกำลังของเขาด้วย

 

หมายเหตุ: อัพเดตเพื่มเติมวันที่ 8 พ.ย. เวลา 01.50 น.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โนนป่าก่อ: อีกกรณีของการใช้อำนาจและความรุนแรงตามอำเภอใจของรัฐไทย

Posted: 06 Nov 2010 05:40 PM PDT

 
 
การใช้อำนาจตามอำเภอใจ
 
 
 “...ขอให้ราษฎรที่ยังมิได้แจ้งความประสงค์ที่จะอพยพขนย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน ลงมายังพื้นที่ที่ทางราชการจัดให้ ขอให้แจ้งความประสงค์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในระหว่างวันที่ 3-7 พฤศจิกายน 2553 หากไม่แจ้งความประสงค์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จะมีความผิดฐานการบุกรุกยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง หรือกระทำด้วยประการใด อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า, ป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่..... ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบ้านค้อ ตามความผิดดังกล่าว ดังนั้น จึงขอแจ้งให้ราษฎรที่ยังมิได้แจ้งความประสงค์ฯ ให้ไปดำเนินการแจ้งความประสงค์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวันดังกล่าว มิฉะนั้นแล้วจะดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป”
 
 
การสนธิกำลังเจ้าหน้าที่เข้าทำการขนย้ายที่อยู่อาศัยของชาวบ้านดนนป่าก่อ
 
ข้อความในประกาศจังหวัดมุกดาหาร ที่ลงนามโดยนายปรัชญา จินต์จันทรวงศ์ ปลัดจังหวัดมุกดาหาร (ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553 นี้เป็นสิ่งที่ชาวโนนป่าก่อ ตำบลบ้านเหล่า อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร คุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะเป็นเวลา 20 ปีมาแล้ว ที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในสถานะคน “ผิดกฎหมาย” และไร้ความมั่นคงในการทำการผลิตเลี้ยงชีพ เพราะถูกทางรัฐกดดันให้อพยพโยกย้ายจากถิ่นฐานของตนมาอย่างต่อเนื่องหลังจากที่บริเวณป่าภูสีฐานที่ชาวโนนป่าก่ออาศัยและทำกินอยู่ถูกประกาศเป็น “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน” เมื่อ 12 มิถุนายน 2533
 
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับชาวโนนป่าก่อว่าหากยังไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ ทางการจะรื้อฟื้นคดีความที่ทางเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูสีฐานแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้าน จำนวน 56 ราย (เป็นชาวโนนป่าก่อ 54 รายและไม่ทราบที่มา 2 ราย) เมื่อปี 2544 ขึ้นมาใหม่พร้อมกับแจ้งข้อหาเพิ่มเติม และจะนำเจ้าหน้าที่มาปิดกั้นทางเข้าออกชุมชนด้วย
 
 
  
ข้อเท็จจริงที่ว่าชาวบ้านโนนป่าได้เริ่มก่อตั้งถิ่นฐานและทำกินในบริเวณนี้มาตั้งแต่ประมาณปี 2496 หรือเกือบสี่สิบปีก่อนป่าบริเวณนั้นจะถูกประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ และวิถีชีวิตของชาวบ้านโนนป่าก่อ จำนวน 69 ครอบครัว และบ้านบางทรายอีก 30 ครอบครัว ที่อาศัยและทำกินอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐานตามที่กรมป่าไม้สำรวจพบเมื่อปี 2537 ดูเหมือนจะไร้ความหมายในสายตาของหน่วยงานราชการเมื่อเทียบกับข้ออ้างของพวกเขาเรื่องการรักษาป่าบริเวณต้นน้ำลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนในป่าภูสีฐาน   ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อผลักดันให้ชาวบ้านที่อาศัยทำกินอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อยู่เสมอ โดยใช้มาตรการการจำกัดการทำกิน เช่น การห้ามใช้รถไถเดินตาม รถไถล้อยาง การตรวจตราการเข้า-ออกหมู่บ้าน(ซึ่งต้องผ่านด่านหน่วยพิทักษ์ป่า) อย่างเข้มงวด  การจำกัดการพัฒนา เช่น ห้ามสร้างโรงครัววัด ห้ามเปลี่ยนหลังคาโรงเรียนเป็นสังกะสี ห้ามจัดงานบุญประเพณีเอิกเกริก  รวมทั้งการออกหมายจับแกนนำ และการข่มขู่ว่าจะใช้มาตรการทางกฎหมายจับกุมในข้อหาบุกรุกป่าดังประกาศข้างต้น
 
 
 
 
เมื่อเผชิญกับข้อกล่าวหาว่าตนเป็นอันตรายต่อพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ชาวบ้านโนนป่าก่อได้ศึกษาพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และได้กำหนดจัดการป่าชุมชนขึ้น แบ่งเป็นป่าชุมชน ๓๐๐ ไร่ ป่าใช้สอย ๖๘๗ ไร่ ป่าดอนปู่ตาอีก ๒๐ ไร่ และป่าช้าอยู่ปากทางเข้าหมู่บ้าน โดยออกกฎระเบียบห้ามการตัดไม้ทำลายป่า ล่าสัตว์ ในบริเวณชุมชน รวมทั้งห้ามบุกเบิกพื้นที่ทำกินเพิ่มเติม และได้จัดกิจกรรมบวชป่า ทำแนวกันไฟ ทำป้ายเขตกฏระเบียบ และสร้างโรงหอเทวดาอารักษ์ โดยทำพิธีกรรมทางสงฆ์อัญเชิญเทวดาอารักษ์มาสถิตย์เพื่อปกปักษ์รักษาป่าและชาวบ้านให้อยู่สงบสุขร่มเย็น  
 
ส่วนในทางนโยบาย ชาวโนนป่าก่อได้เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องวิถีชีวิตและสิทธิในการใช้ทรัพยากรของตน ทั้งการเจรจากับทางจังหวัดมุกดาหาร และการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับสมัชชาคนจน แต่ก็ยังแทบไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาของพวกเขา  จะมีก็เพียงการยอมรับในเชิงหลักการว่าให้ยุติการจับกุมหรือขุ่มขู่ชาวบ้านไว้ก่อน เช่นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 ที่ห้ามจับกุม ข่มขู่ คุกคามชาวบ้าน ให้กันแนวเขตที่ดินทำกินออกจากที่ดินรัฐ และให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้าน  และมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน กรณีป่าไม้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ครั้งที่ 1 / 2544 ณ จังหวัดขอนแก่น โดยมีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ในขณะนั้น) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2544 ที่ผ่อนผันการทำกินในที่ดินเดิม ให้ยุติการจับกุม คุกคาม ข่มขู่  โดยห้ามชาวบ้านบุกรุกพื้นที่เพิ่มเติม และให้ตั้งคณะทำงานศึกษารูปแบบการอยู่อาศัย และผลกระทบในด้านสังคม การเมือง และระบบนิเวศน์ โดยให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าไม้จังหวัดมุกดาหารไปดำเนินการคัดเลือกสถาบันการศึกษาที่เป็นกลางในภาคอีสานมาทำการศึกษาโดยใช้ระยะเวลาศึกษา 1 ปี  แต่หลักการเหล่านี้ก็ไม่เคยถูกนำมาปฏิบัติจริง
 
ท่ามกลางการต่อสู้และการปรับตัวของชุมชนเพื่อยืนยันความสามารถในการดูแลรักษาป่า ทางจังหวัดมุกดาหารยังคงยืนกรานจะอพยพชาวบ้านออกจากป่า  
 
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2543 ชาวบ้านโนนป่าก่อบางครอบครัวยอมอพยพเข้าไปในที่รองรับที่ทางราชการจัดให้ในบริเวณตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร แต่ก็กลับพบว่าที่ดินที่จัดสรรให้เป็นที่ทำกิน 8 ไร่และที่อยู่อาศัย 1 ไร่นั้นไปทับซ้อนกับที่ทำกินของชาวบ้านในบริเวณนั้น กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชุมชนขึ้นมา  ที่ดินที่ได้รับยังไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก  ทำให้ผู้ที่ยอมย้ายออกมาไม่สามารถอยู่และทำมาหากินในที่รองรับได้จริง  ชาวโนนป่าก่อบางครอบครัวอพยพโยกย้ายกลับไปถิ่นฐานเดิม บางคนขายที่ดินที่ได้รับจัดสรรไปตั้งหลักแหล่งที่อื่น
 
ความพยายามไล่คนออกจากป่าภูสีฐานเข้มข้นขึ้นอีกครั้งในปี 2552  ครั้งนี้ทางจังหวัดมุกดาหารได้เตรียมพื้นที่รองรับการอพยพของชาวบ้านจากพื้นที่ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐานขึ้นใหม่ในบริเวณบ้านด่านช้าง หมู่ 10 ตำบลบ้านค้อ อำเภอคำชะอี โดยได้จัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละ 3 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่บ้าน 2 งาน และที่ดินทำกิน 2 ไร่ครึ่ง
 
แม้ที่จัดสรรใหม่ที่บ้านด่านช้างจะอยู่ติดถนนลาดยางที่ดูสะดวกสบายต่างจากถนนลูกรังเข้าบ้านโนนป่าก่อระยะทางสิบกว่ากิโลเมตร ที่มักจะเละเสียจนรถยนต์ธรรมดาเข้าไม่ได้ในฤดูฝน และแม้ชาวบ้านที่ยอมอพยพออกมาจะได้รับความช่วยเหลือเรื่องการประกอบอาชีพ โดยได้รับแจกหมูและวัว พร้อมได้รับการฝึกให้เลี้ยงแมลงเพื่อส่งขาย  แต่วิถีชีวิตใหม่เช่นนี้ถูกชาวบ้านที่ยืนยันสิทธิในการอยู่ในถิ่นฐานเดิมตั้งคำถามถึงความยั่งยืน  นอกจากพื้นที่เพียงสองไร่ครึ่งจะไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรเลี้ยงครอบครัวหนึ่งครอบครัวแล้ว พวกเขายังจะถูกตัดขาดจากทรัพยากรธรรมชาติในป่าอย่างหน่อไม้ เห็ด ผักต่างๆ ที่อย่างน้อยก็พอเก็บกินได้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ
 
ด้วยถูกขู่ว่าจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายหากยังปฏิเสธที่จะย้ายออกจากป่าภูสีฐาน ชาวบ้านโนนป่าก่อจำนวนหนึ่งจึงได้ย้ายออกมาอยู่ในพื้นที่รองรับ  แต่ยังมีชาวบ้านอีกประมาณ 60 คน จาก 12 ครัวเรือน ยืนหยัดว่าจะปักหลักอยู่ในที่ทำกินเดิม ... ถึงวันนี้พวกเขายังคงต้องเผชิญกับการยื่นคำขาดที่จะดำเนินการตามกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ราชการ หากพวกเขาไม่ยินยอมออกจากพื้นที่ แม้จะมีข้อพิสูจน์ที่ว่าพวกเขาอยู่มาก่อนการประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์ก็ ตามที 
 
 
ความรุนแรง การคุกคามและข่มขู่
 
นับตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พร้อมๆ กับการแจ้ง 3 มาตรการเข้มเพื่อกดดันให้ชาวโนนป่าก่อออกจากพื้นที่  ได้มีการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่จากจังหวัดมุกดาหาร อาสาสมัครรักษาดินแดน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารจาก พัน3 ร.3 เจ้าหน้าที่ตชด. เจ้าหน้าที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน และเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าไปประจำการในพื้นที่บ้านโนนป่าก่อ  ทำความแตกตื่นให้กับราษฎรเป็นอย่างยิ่ง   ทั้งนี้ ในการสนธิกำลังกันครั้งนี้  ส่วนหนึ่ง เพื่อทำการรื้อถอนบ้านของชาวโนนป่าก่อ ที่แจ้งความจำนงขอย้ายออกจากพื้นที่ทั้งที่สมัครใจและถูกบังคับ  อีกส่วนหนึ่งเพื่อที่จะคุกคาม ข่มขู่ให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความกลัวและยอมออกจากพื้นที่ดังกล่าว     สถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ได้กระจายกำลังลงไปตามบ้านชาวบ้าน เพื่อข่มขู่คุกคาม เช่น  แม่อึ้ม ได้ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปข่มขู่ถึงในบ้านว่า  หากเธอไม่ยินยอมออกไป ก็จะใช้กำลังเข้ามาทำร้าย และรื้อถอนบ้านเรือน รวมถึงขู่ว่าหากเธอ เอะอะโวยวายก็จะยิงทิ้ง    ชาวบ้านบ้านโนนป่าก่ออีกหลายๆ คน ก็ถูกทางเจ้าหน้าที่เข้าไปข่มขู่ให้ย้ายออก ไม่เช่นนั้นจะดำเนินคดีตามกฎหมาย สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง   อีกทั้งยังได้ขู่นักศึกษาที่เข้าไปสังเกตการณ์ในพื้นที่ว่าหากไม่ยอมออกจากพื้นที่ก็จะทำการจับกุมข้อหาบุกรุกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเหมือนกันกับชาวบ้าน ทั้งนี้ได้มีการขอตรวจและเก็บภาพถ่ายบัตรประจำตัวของนักศึกษาไว้ด้วย   นอกจากนี้แล้ว เจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้ยังได้นำเอาโครงการพระราชดำริมากล่าวอ้างเพื่อให้ประชาชนยินยอมออกจากพื้นที่
 
กระบวนการข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินไปเช่นนี้ในทุกๆ วัน ซึ่งทางชาวบ้านและนักศึกษาก็ได้ร่วมกันเขียนป้ายประท้วงติดไว้ตามสถานที่ต่างๆภายในหมู่บ้านเพื่อเป็นการตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ และขอยืนหยัด ต่อสู้ในพื้นที่ด้วยสันติวิธีต่อไปจนกว่าจะได้รับการแก้ไขปัญหาตามความเหมาะสม   อีกทั้งมีความหวังเล็กๆ ว่า อนุกรรมการป่าไม้-ที่ดิน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งพวกเขาได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไว้ จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ก่อนที่เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้กำลังเข้าอพยพโยกย้ายตามที่ได้มีการข่มขู่คุกคาม ภายหลังวันที่ 7 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นเส้นตายที่ทางการขีดไว้  

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ระบบอุปถัมภ์ในปรากฏการณ์น้ำท่วมไทย 2553

Posted: 06 Nov 2010 04:17 PM PDT

ไม่กี่วันที่ผ่านมา มีคนนำคลิปรายการโทรทัศน์ช่อง 7 ในหัวข้อที่ชื่อทำนองว่า “หาดใหญ่น้ำไม่ท่วม” (ขออภัยที่ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันไม่สามารถค้นหาคลิปดังกล่าวได้แล้ว!) ซึ่งเป็นรายการที่ไปถ่ายทำการทำงานของกรมชลประทานในส่วนที่เรียกกันว่า “โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ซึ่งแสดงให้เห็นการที่กรมชลประทานกล่าวยืนยันว่าน้ำจะไม่ท่วมหาดใหญ่อีก หลังจากที่เคยท่วมหนักมาแล้วในปี 2531 และปี 2543 หลังจากที่มีโครงการดังกล่าวแล้ว (ซึ่งใช้งบประมาณไปจำนวน 2,726.4848 ล้านบาท [1])

แน่นอนว่า เป็นรายการที่ออกอากาศก่อนเกิดน้ำท่วมใหญ่...

ปรากฏการณ์น้ำท่วมไทยปีนี้ อาจเรียกได้ว่า ขึ้นจุดพีกที่สุดในช่วงเวลาที่น้ำมาถึงหาดใหญ่ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ทั้งที่ก่อนหน้านี้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมเป็นตัวเลขที่สูงมากจนแตะระดับ 100 ศพแล้ว [2] สังคมคนเมืองเริ่มตระหนกว่า ภัยดังกล่าวคืบคลานมาใกล้ตัวอย่างเห็นได้ชัดขึ้น ขณะที่ประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลยังงุ่มง่าม จนคนแทบจะสับสนกับบทบาทของนักข่าวที่ทุ่มเทช่วยน้ำท่วมมากกว่าคณะรัฐมนตรี

ท่ามกลางปรากฏการณ์น้ำท่วมหลากนี้ ได้พัดและงัดเอาตะกอนใหญ่ใต้ตมและขี้เลนในนามของระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยให้ออกมาปฏิบัติการอย่างอีหลักอีเหลื่อในที่สุด และเป็นอีกครั้งที่สถานการณ์ได้สร้าง “วีรบุรุษ” ในสังคมที่รอคอยและวาดหวังที่จะมีคนดีๆ เข้ามาแก้ไขปัญหาให้

น้ำท่วมจากเหนือ อีสาน ลงสู่ภาคกลาง และภาคใต้

คลังข้อมูลสภาพน้ำ ได้ระบุ “บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วม” [3] ซึ่งสามารถย้อนหลังไปได้ถึงปี 2545 ได้ให้ประโยชน์อย่างมากในการทำความเข้าใจสภาพรวมของสถานการณ์น้ำท่วม สถิติระบุว่าปีนี้น้ำเริ่มท่วมที่จังหวัดน่านเมื่อ 17-18 กรกฎาคม เนื่องมาจากพายุโซนร้อน “โกนเซิน” (CONSON) มีผลให้ฝนตกหนัก (สูงสุดในวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ 109.5 มิลลิเมตร) ซึ่งท่วมทั้งในเขตตัวเมืองและต่างอำเภอ มีรายงานข่าวว่า หนองคายก็น้ำท่วมด้วย [4]

ในเดือนต่อมา เป็นคราวของ พายุโซนร้อน “มินดอลเล” (Mindulle) ฝนตกหนักตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม ที่สุโขทัย ที่ 124.8 มิลลิเมตร (สูงสุดวันที่ 29 สิงหาคมที่มุกดาหาร 141.1 มิลลิเมตร) เขตพายุทำให้เหนือและอีสานประสบภาวะน้ำท่วม อย่างไรก็ตามพบว่าฝนตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วมมาก่อนแล้ว ในช่วง 3-9 สิงหาคม จังหวัดที่ประสบภัยได้แก่ แพร่ อุตรดิตถ์ ลำปาง น่าน เชียงราย วันที่ 21-23 เป็นพื้นที่ของ แพร่ ลำปาง (ว่ากันว่าน้ำท่วมในเขตที่คลองส่งน้ำจากเขื่อนกิ่วคอหมาที่พึ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ) เชียงราย ลำพูน และในช่วง "มินดอลเล" ตั้งแต่ 24 สิงหาคมถึงสิ้นเดือน ภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน  ภาคกลาง ได้แก่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ นครนายก สระบุรี อีสานได้แก่ มุกดาหาร  สกลนคร ชัยภูมิ ยโสธร อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ [5]  ความเสียหายดังกล่าวยังไม่ถูกยกเป็น “กระแสหลัก” ในสังคมไทย ในฐานะ “อุบัติภัยแห่งชาติ”  แม้ชาวนาหลายรายจะนาล่ม และวายป่วงไปแล้วก็ตาม [6]

สถานการณ์น้ำท่วมกระจายไปทั่วในจังหวัดต่างๆ อย่างไม่เป็นข่าว แต่ความรับรู้ของคนทั่วไปยังถือว่า ห่างไกลความเดือดร้อนของตน จนมาถึงคิวของโคราช ซึ่งปรากฏข่าวน้ำท่วม ที่เริ่มท่วมปากช่องในวันที่ 15 ตุลาคม [7] และกลายเป็นน้ำท่วมใหญ่ในวันที่ 16-20 จนกล่าวกันว่าเป็น “น้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์” [8] เป็นครั้งแรก จัดว่าเป็นน้ำท่วมตัวเมืองที่ “เป็นข่าว” จนทำให้สื่อมวลชนเริ่มสนใจ และยกระดับเป็น “อุบัติภัยแห่งชาติ” ขึ้น ทั้งที่ต้นเดือนกันยายนก็มีข่าวน้ำท่วมโคราช ขอนแก่น ชัยภูมิ แต่สื่อเห็นว่าไม่หนักหนาสาหัส [9]

 

"แผนที่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติ 2553"
ภาพจาก http://thaiflood.com/# (6 พฤศจิกายน 2553)

น้ำเอย...น้ำใจ ที่ศูนย์กลางอยู่ในมือ “สื่อมวลชน”

สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ในนามของ “ครอบครัวข่าว 3” ได้เปิดรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือประสบภัยน้ำท่วม ในกรณีน้ำท่วมนครราชสีมา ปราจีนบุรี และลพบุรี ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม เป็นอย่างช้า [10] การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างแข็งขันและรวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับความเฉื่อยของผู้มีอำนาจรัฐทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการรับบริจาคสิ่งของ ตัวเงิน การผนึกกำลังร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อส่งรายได้จากการส่ง SMS เข้ารายการ จนได้รับความชื่นชมอย่างมาก

การระดมความร่วมมือกันอย่าง “เอาเป็นเอาตาย” นี้ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ที่น่าสังเกตคือว่า สื่อมวลชนต่างดาหน้าและระดมไปที่การขอความช่วยเหลือ และส่งความช่วยเหลือ ซึ่งบดบังบทบาทของสื่อมวลชนที่ควรจะเป็นสื่อกลางในการสื่อสารแง่มุมต่างๆของน้ำท่วม อย่างไรก็ตามในประเด็นนี้มิได้มุ่งดิสเครดิตว่า สื่อทุกแขนงไม่ได้ให้ความสนใจกับปรากฏการณ์อื่นๆของน้ำท่วม แต่ในแง่น้ำหนักความสำคัญแล้ว เทียบไม่ได้เลยว่า บทบาทของสื่อนั้น เป็น “ผู้อุปถัมภ์” ผู้ใจบุญ เปี่ยมน้ำใจ เป็นที่พึ่งพา มีความเข้าใจต่อผู้ประสบเคราะห์ภัย ผู้ที่จะถูกอุปถัมภ์ สิ่งที่สะท้อนได้อย่างชัดเจนก็คือ การที่รายการข่าวช่อง 3 ระดมเปิดเพลง “น้ำเอย น้ำใจ” ผลงานร่วมของ อัสนี โชติกุล และยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว)

การตลาดของน้ำท่วมครั้งนี้ นับว่าช่อง 3 ที่มีภาพตัวแทนสำคัญคือ สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา “ได้ใจ” ชาวบ้านร้านตลาดไปเต็มๆ การทำข่าวที่ถึงลูกถึงคน ถึงเนื้อถึงตัว ตั้งแต่การสัมภาษณ์สด ลงพื้นที่น้ำท่วมในที่ต่างๆ เช่น โคราช หรือเดินทางอย่างฉับพลันไปถึงน้ำท่วมหาดใหญ่ ได้สร้างความพึงพอใจของมหาชนแก่ตัวเขาและทีมงานเป็นอย่างสูง จนติดลมไปถึงขนาดที่ว่า มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 5-11 พฤศจิกายน 2553นำไปลงหน้าปก โดยรายละเอียดของภาพคือ การตัดต่อภาพสรยุทธ์ ไว้บนเรือนร่างของซูเปอร์แมน และมีคำโปรยว่า “พระเอกตัวจริง”

เราจะพบว่า หลังการล้อมปราบอย่างเหี้ยมโหดของรัฐบาลในเดือนพฤษภาคม 2553 ชนชั้นกลาง มีความอึดอัดและหาทางออกเพื่อ “จุดยืนทางศีลธรรม” ของตน อย่างขมีขมัน ด้วยการออกมาร่วมมือร่วมใจกันผ่านแคมเปญต่างๆ ตั้งแต่ Together We Can, Big Cleaning Day ฯลฯ นี่คือ การเยียวยาตัวเองด้วยการแสดงความเป็น “ผู้อุปถัมภ์” ต่อผู้ที่ด้อยกว่า ต่ำกว่า และเดือดร้อนกว่าตน

น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ในด้านหนึ่งแล้วถือว่า เป็นช่องทางที่ผู้คนเหล่านั้นสบโอกาส ผสานกับการตลาดที่โชว์ความเป็นองค์กร “ใจบุญ” ภายใต้นโยบาย CSR  ขณะที่รัฐบาลก็ส่งสัญญาณให้ผู้ใจบุญทั้งหลายที่เป็น “นกรู้” สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 10% [11] นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่เราเห็นองค์กรธุรกิจจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามา “ยกป้าย” “ออกสื่อ” “ถ่ายรูปคู่กับสรยุทธ์” ฯลฯ

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5-11 พฤศจิกายน 2553 หน้าปก สรยุทธ์ "พระเอกตัวจริง"

ในพระบรมราชูปถัมภ์

ภายใต้ “ความเงียบ” ของรัฐบาล เรายังพบการรายงานข่าวช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสถาบันพระมหากษัตริย์

ด้วยนั่นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 10 ล้านบาท ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในวันที่ 18 ตุลาคม 2553 ต่อมาอีก 10 ล้านบาท ผ่านองค์กรเดียวกัน เพื่อนำไปซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค เข้าใจว่าเพื่อจัดส่งในนาม “ถุงยังชีพพระราชทาน” รวมเป็นมูลค่า 19,523,887.74 บาท นอกจากนั้นยังพบว่า พระองค์พระราชทานเงิน 1 ล้านบาท ผ่าน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4  (กอ.รมน.ภาค 4) เพื่อนำไปจัดทำ “ถุงยังชีพพระราชทาน” แจกจ่ายชาวใต้เช่นกัน [12]

ต่อมามีรายงานข่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงร่วมกันพระราชทานเงินให้กองทัพเรือเพื่อดำเนินการจัดซื้อน้ำดื่มและของใช้ที่จำเป็นสำหรับช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในจังหวัดต่าง ๆ จำนวน 3 ล้านบาท ในวันที่ 2 พฤศจิกายน และ 3 พฤศจิกายน 2553 ได้ทรงพระราชทานเงินเพิ่มอีก 3 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ภาคใต้ ในขณะที่กองทัพอากาศเองก็เปิดเผยว่า ทั้งสองพระองค์พระราชทานเงินอีก 2 ล้านบาทผ่านกองทัพอากาศ  ใช้เครื่องบิน C 130 เป็นหลักในการขนสิ่งของ [13] นอกจากนั้นยังมีรายงานข่าวอื่นๆอีกที่เป็นพระกรณียกิจในพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น “พระบรมฯ โปรดเกล้าฯถุงยังชีพชาวปักธงชัย” [14]  “"ชาวโคราชปลาบปลื้ม สมเด็จพระเทพฯเสด็จฯเยี่ยมช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม - ธารน้ำใจ พธม.ถึงเมืองย่าโม"” [15] “ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ พระราชทานสิ่งของช่วยน้ำท่วม” [16] "พระองค์โสม"ประทานรถโรงครัวพระราชทาน ทำอาหารช่วยน้ำท่วม" [17] "ทูลกระหม่อมฯทรงรับคุณยายน้ำใจงาม เอาเงินช่วยคนน้ำท่วมแต่ตัวเองถูกระเบิดขาขาด" [18] ฯลฯ

พลวัตของสถานการณ์น้ำท่วมระดับความรุนแรงที่ยังห่างตัว

พี่น้องที่ประสบภัยเป็นคนบ้านๆ ชาวนาชาวไร่ ได้รับการชดเชยระดับไร่ละ 606 บาท และเพิ่มเป็นสองพันกว่าบาทในระยะต่อมาเมื่อถูกค่อนขอดว่าเป็นเพียงเศษเงิน การสูญเสียเรือกสวนไร่นา บ้างก็สูญเสียชีวิต แน่นอนทรัพย์สินอันประเมินค่าไม่ได้ หากลองเข้าไปนั่งในใจของผู้ประสบภัยที่ไม่มีอะไรเหลือติดตัว สิ่งที่สื่อไทยพยายามอย่างถึงที่สุดแล้วก็คือ การลุกขึ้นมาเป็นตัวกลางเพื่อประสานงานเสียเอง ในเมื่อภาครัฐเชื่องช้า อุ้ยอ้าย และลอยหน้าลอยตาไปวันๆ โดยปราศจากความริเริ่มในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และภาพรวมอย่างเป็นระบบ

อย่างไรก็ตาม สื่อไทยก็หนีไม่พ้นการใช้ใจของผู้ให้ที่ประเสริฐ ให้อุปถัมภ์ผู้ทุกข์ยากดังที่กล่าวไปแล้ว ในระยะแรกของน้ำท่วม ข่าวยังเป็นข่าวเล็กๆ เสมือนว่า น้ำท่วมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามปกติอยู่แล้ว สื่อมวลชนยังรักษาระยะห่าง ต่อมาเสียงเพลง “น้ำเอย น้ำใจ” เริ่มกระหึ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเสียงและภาพของความทุกข์ยากของประชาชนปรากฏมากขึ้น ดังที่กล่าวมาแล้ว “เสือปืนไว” อย่างช่อง 3 เริ่มระดมทุนและใช้ทรัพยากรที่มีเริ่มปฏิบัติการเยียวยาผู้เสียหาย ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม ก่อนที่น้ำจะท่วมโคราชครั้งประวัติศาสตร์เสียอีก

การจัดการน้ำอย่างไร้ประสิทธิภาพในกรณีโคราช ทำให้เกิดการตั้งคำถามจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอย่างชุมชนออนไลน์ที่สมาทานฝ่ายเสื้อแดงว่า ฤาจะเป็นความตั้งใจของรัฐที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมเพื่อสลายกำลังทางการเมืองขณะเดียวกันก็กระชับพื้นที่หัวใจให้ทหารได้ช่วยเหลือและเป็น “ผู้อุปถัมภ์” ชาวบ้านให้ซาบซึ้งกับน้ำใจของทหาร [19] แต่เป็นเสียงเงียบๆที่ดังอยู่ในสังคมไซเบอร์เท่านั้น อย่างไรก็ตามที่น่าสังเกตก็คือ กรณี ระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวยกยอ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า

ผมไม่คิดว่านายกฯ จะทำตามสัญญาได้เร็วขนาดนี้ เพราะนายกฯ ไม่ได้ดูแลแค่พื้นที่โคราชและแก้แค่ปัญหาน้ำท่วม เพราะแค่วันหนึ่งรับแขกก็จะตายอยู่แล้ว ไหนจะไปทั้งเมืองนอกอีก และนายกฯอยู่พรรคประชาธิปัตย์ ที่ส.ส.โคราชทั้ง 16 เขตไม่มีของปชป.เลย แต่นายกฯก็ช่วยเหมือนภาคใต้ที่เลือกปชป. โดยไม่หวังคะแนนเลือกตั้ง จึงเปรียบเหมือนรัฐบุรุษ [20]

มุขดังกล่าวไม่ทราบว่าได้ผลเพียงใด แต่สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมการเมืองแห่งความอุปถัมภ์ที่ไม่ได้มองว่า การช่วยเหลือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ใครหน้าไหนอยู่จุดนี้ก็ต้องทำ กะอีแค่ทำได้ปริ่มๆ มาตรฐานยังเลิศลอยถึงกับเป็นรัฐบุรุษ (อย่างไรก็ตาม ไม่นับว่าเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายนักกับ double speak เกี่ยวกับอภิสิทธิ์ ที่ผ่านมา อภิสิทธิ์ ก็กลายเป็นอุปมาของความดีอะไรไปหลายอย่าง เช่น อภิสิทธัตถะ )

โลกร้อนและภัยคุกคามเข้ามาใกล้ตัวคนเมือง

แต่ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก เกิดเหตุมหาอุทกภัยที่หาดใหญ่ หลังจากที่มีการแจ้งเตือนถึงปริมาณน้ำฝนที่ตกมากถึง 357.9 มิลลิเมตร [21] ในวันที่ 1-2 พฤศจิกายน ส่งผลให้น้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ครั้งใหญ่หลังจากที่ทิ้งช่วงไปถึง 10 ปี หาดใหญ่ที่เป็นย่านของ “คนเมือง” และเป็น “เขตเศรษฐกิจ” เกิดน้ำท่วมเป็นระดับน้ำที่สูงมากและเป็นวงกว้างแทบจะทั้งเมือง เราจะสัมผัสได้ตามสื่อว่ามีโทนเสียงที่น่าเป็นห่วงมากและ “วิกฤต” เป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าการตื่นตัวดังกล่าวของคนเมืองอาจจะมาจากการรับรู้ถึงการผลิตซ้ำของวาทกรรมโลกร้อนที่เป็นกระแสมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระแสดังกล่าว ได้สร้างภาพจำลองถึงความชิบหายของคนเมืองอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ ที่ไม่อาจควบคุม เป็นภัยธรรมชาติที่ตามมาลงโทษมนุษย์ผู้ย่ำยีบีฑาธรรมชาติ และที่สำคัญน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ “โจมตีเมือง” ที่เป็นเมืองของชนชั้นกลางอันเป็นย่านธุรกิจ สำนักงานและที่พักอาศัยแบบที่พวกเขาคุ้นเคย ซึ่งไม่ใช่หายนะของทุ่งนา ไร่ผลผลิต เรือกสวน

ความเสียหายประเภทหลังแม้พวกเขาจะสงสาร และอาจช่วยบริจาค แต่ก็ไม่ได้ “อิน” อย่างเทียมเท่า ข่าวน้ำท่วมจากหาดใหญ่ยังได้รับการกระพืออย่างต่อเนื่อง เมื่อมี “เซเลบ” เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น “นาที แอ๊ด คาราบาว หนีตายน้ำท่วมจากหาดใหญ่” หลังจากที่ติดอยู่ในโรงแรมตัวหาดใหญ่ในวันที่ 2 พฤศจิกายน [22] หรือความสูญเสียของบุคลากรรัฐ ที่ปลัดอำเภอจะนะ เสียชีวิตจากการช่วยเหลือน้ำท่วม” [23] พ่อของดีเจซี้ด นรเศรษฐ หมัดคง ช็อคและติดอยู่ในบ้าน [24] การลุกขึ้นมาร่วมด้วยช่วยกันอย่าง รายการ “เช้ามาดูวู้ดดี้” ที่อยู่มาเช้าวันหนึ่งเกิดปรับเปลี่ยนท่าทีจากรายการ ที่เน้นความสนุกสนานหยอกเย้า มาเป็นรายการที่เคร่งขรึมจริงจังและแสดงความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้คนโดยเฉพาะในกรณีน้ำท่วมหาดใหญ่

รัฐบาลกับระบบที่หายไป

อันที่จริงแล้วนี่นับโอกาสอันเหมาะเหม็งของรัฐบาลที่จะโกยคะแนนความนิยมต่อประชาชน แต่ไม่รู้ทำอีท่าไหน คะแนน ความชื่นชมและความเห็นใจนั้นกลับเทไปให้กับสื่อมวลชนและองค์กรอื่นๆ แทน กว่าที่รัฐจะดำเนินการเป็นจริงเป็นจังก็ลุมาถึงวันที่ 24 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งแต่งตั้งให้ อภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็น ประธานศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย [25] ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ได้มีอำนาจและผลงานออกมาจริงจังนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับภาพการทำงานเป็น "วัวงาน" ของสื่อมวลชน โดยเฉพาะเมื่อถึงกับมีการยกภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเปรียบเทียบกันระหว่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา ใน " "คุณชาย"จวก!"ห่วยแตก"คนคิดให้ ตจว.รับน้ำแทน กทม. "มาร์ค" เมินยก "สรยุทธ์" เทียบ ยันทำงานเต็มที่ " [26]

แต่การดำเนินการอย่างเป็นยุทธศาสตร์และเป็นเงาทะมึนอยู่เบื้องหลังรัฐบาลนั้น ก็คือ กองทัพและเครือข่าย เมื่อมีแหล่งข่าวแจ้งว่า มีคำสั่งลับให้ทุกหน่วยโดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือ เร่งงานมวลชนและปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือไอโอ (Information Operation) เพื่อแก้ไขทัศนคติเชิงลบที่ประชาชนมีต่อทหารและรัฐบาลจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมช่วงเดือน เม.ย.ถึง พ.ค.ที่ผ่านมา [27] จึงไม่ทราบว่า ที่รัฐบาลเป็นง่อย เช่นนี้เนื่องว่า ตัวเองไม่มีน้ำยา หรือว่า ไม่มีที่ยืนของตัวเองในการแก้ไขปัญหากันแน่

ความขัดแย้งกันภายในระบบอุปถัมภ์

นอกจากนั้นยังมีข่าวไม่สู้เป็นผลดีต่อรัฐบาลก็คือ ปฏิกิริยาจากการถอนความช่วยเหลือออก นั่นก็คือ  การที่สรยุทธ์ได้ออกตัวในการยุติช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยกล่าวว่าจะให้ฝ่ายอื่นๆไปช่วยเหลือบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า การชี้แจงเช่นนั้น ทำให้ส่งผลไปถึงความรู้สึกของคนที่ชื่นชมการทำงานของช่อง 3 ในเชิงเปรียบเทียบกับภาครัฐ ขณะที่องค์กรดังที่ปรากฏตามเว็บไซต์ต่างๆ เช่น “ช่อง 3 ถูกเบรค!! สรยุทธ์แจ้งผ่านรายการเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์นี้..." [28]

ในอีกด้านหนึ่งก็มีเสียงที่พยายามกล่าวหาสื่อมวลชนในกรณีช่วยเหลือผู้ประสบภัยเช่นกัน เช่น การใช้สัญลักษณ์สำนักข่าว หรือสถานีของตนปิดบังบริษัทผู้บริจาค หรือยี่ห้ออื่นๆ  หรือการที่สื่อให้ความสำคัญกับ "ภาพ" การให้ความช่วยเหลือกับคนในฐานะปัจเจกมากกว่า การช่วยเหลือชุมชน หรือภาพที่ออกสื่อบางมุม ทำให้กลายเป็นว่า พื้นที่ดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือแล้ว ซึ่งกลายเป็นการตัดโอกาสที่ผู้ประสบภัยคนอื่นจะได้รับความช่วยเหลือ ฯลฯ [29]

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ใครสั่งเบรก มีเหตุผลใด จริงเท็จแค่ไหน แต่ความขัดแย้งดังกล่าวผู้เขียนเห็นว่า เป็นปัญหามาจากระบบอุปถัมภ์ที่มีอุปสรรค ก็คือ การยึดติดการทำงานอยู่ที่ตัวบุคคล และวางอยู่บนฐานความชอบธรรมอันง่อนแง่นของสิ่งที่เรียกว่า คนดีและศีลธรรม ทำให้ละเลยระบบ โครงสร้างการทำงาน ทั้งที่การจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนั้น ถือเป็นการจัดการระดับเมืองและภูมิภาคที่ต้องอาศัยระบบและโครงสร้างที่แข็งแกร่ง โดยผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและรวดเร็ว ส่วนการช่วยเหลือกันยามยาก งานการกุศลนั้นก็ไม่ได้ปฏิเสธ แต่โปรดอย่าลืมสร้างสิ่งที่จะอำนวยความสะดวก สร้างพื้นที่กลางและจุดเชื่อมต่อให้มนุษย์ใช้ศักยภาพของตนเองขึ้นมาทั้งในระดับปัจเจกและการทำงานร่วมกันด้วย ไม่พักที่จะต้องกล่าวถึงปัญหาน้ำท่วมกับการบริหารประเทศ

ขอทิ้งท้ายด้วย ผลการสำรวจจาก เอแบคโพลล์ [30] ในหัวข้อ “ประชาชนคิดอย่างไรต่อสาเหตุปัญหาน้ำท่วมและคณะบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของประเทศ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล” พบว่า จากการให้คะแนนเต็ม 10 กับหน่วยงานต่างๆในฐานะน้ำท่วม หน่วยงานที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับต้นๆ คือ หน่วยกู้ภัย 7.52 กองทัพ 7.28 (เป็นไปตามความคาดหมาย) และกระทรวงสาธารณสุข 7.07  นักร้องนักแสดงได้ถึง 6.66 ตามมาติดๆ คือ บริษัทเอกชน และกลุ่มนายทุน 6.56 ขณะที่รัฐบาลและฝ่ายค้านรูดไปอยู่ที่ 5.5 และ 4.54 คะแนนตามลำดับ  

“ทำดีแต่อย่าให้เด่นจะเป็นภัย” ยังคงเป็นคำเตือนที่มีค่าเสมอ ตราบใดที่เรายังอยู่ในสังคมอุปถัมภ์ที่หน้าไหว้หลังหลอก ในสังคมที่ปากต้องการ “คนดี” และ สังคมที่มี “คุณธรรรม” แต่กลับพยายามทุกวิถีทางในการผดุงไว้ซึ่งโครงสร้างที่

อยุติธรรม ไร้ประสิทธิภาพ และก้าวถอยหลัง.

เชิงอรรถ

หมายเหตุ: บทความนี้ ขออุทิศแด่ ผู้เสียชีวิตและผู้สูญเสียจากภัยน้ำท่วม

 

[1] สำนักงานโครงการขนาดใหญ่ กรมชลประทาน. โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” http://kromchol.rid.go.th/lproject/2010/index.php/en/2010-04-16-10-41-04/2010-04-18-02-43-54/70-2010-04-18-02-38-43/116-2010-04-18-04-09-47  (5 พฤศจิกายน 2553 )

[2] "สังเวยชีวิตน้ำท่วม พุ่ง 100 ศพ สาวเครียดผูกคอ" http://www.thairath.co.th/today/view/123129   (31 ตุลาคม 2553 ) ขณะที่ตัวเลขถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน มียอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 105 ราย ดูใน http://www.isnhotnews.com/2010/11/%E0%B8%AA%E0%B8%98-%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%82%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%8A/  (3 พฤศจิกายน 2553) ซึ่งยอดดังกล่าวยังไม่นับว่าน่าจะมีเพิ่มเติมจากเหตุการณ์พายุที่ยังไม่สงบในภาคใต้อีก

[3] คลังข้อมูลสภาพน้ำ. บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วม  http://www.thaiwater.net/ (5 พฤศจิกายน 2553)

[4] คลังข้อมูลสภาพน้ำ. บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดน่าน (17-18 กรกฎาคม 2553)  http://www.thaiwater.net/ (5 พฤศจิกายน 2553)

[5] คลังข้อมูลสภาพน้ำ. บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สิงหาคม 2553)  http://www.thaiwater.net/ (5 พฤศจิกายน 2553)

[6] มีรายงานข่าวว่า พื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม มีประมาณ 1.1 ล้านไร่ แบ่งเป็นนาข้าว 9.6  แสนไร่ พืชไร่ 1.2 แสนไร่ พืชสวน 4.4 พันไร่  ประมาณการความเสียหายเบื้องต้น พื้นที่เกษตรกรรมเฉพาะภาคเหนือที่เสียหาย 1.1 ล้านไร่ มีมูลค่าความเสียหายแล้วประมาณ  3,250 ล้านบาท ดูใน กรุงเทพธุรกิจ. ธปท.ประเมินเสียหายน้ำท่วมภาคเหนือกว่า3พันล้าน  http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/business/20101102/360571/%E0%B8%98%E0%B8%9B%E0%B8%97.%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B23%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99.html (2 พฤศจิกายน 2553)

[7] ช่อง 7 สี. "เจาะประเด็น : ปี 2553 ทำไม? น้ำท่วมโคราช" http://www.ch7.co.th/news/news_thailand_detail.aspx?c=2&p=376&d=110220 (20 ตุลาคม 2553)

[8] ผู้เขียนพบเจอคำดังกล่าวในการค้นหาข้อมูลน้ำท่วมในอินเตอร์เน็ตบ่อยครั้งมาก

[9] ช่อง 7 สี. "เจาะประเด็น : ปี 2553 ทำไม? น้ำท่วมโคราช" http://www.ch7.co.th/news/news_thailand_detail.aspx?c=2&p=376&d=102155 (2 กันยายน 2553)

[10] ช่อง3 เปิดรับของบริจาค ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม http://www.thaitv3.com/ch3/%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1/922/%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%873-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%84-%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%9A%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A1.html (18 ตุลาคม 2553)

[11] กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. "สรรพากรให้สิทธิลดหย่อนภาษีบริจาคน้ำท่วม" http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/finance/20101102/360435/%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%8A%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%83%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%83%E0%B9%80%E0%B8%98%20%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%92%E0%B9%80%E0%B8%98%20%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%83%E0%B9%80%E0%B8%99%20%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%8B%E0%B9%80%E0%B8%99%20%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%8A%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%98%E2%80%94%E0%B9%80%E0%B8%98%20%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%85%E0%B9%80%E0%B8%98%E2%80%9D%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%8B%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%82%E0%B9%80%E0%B8%99%20%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%8D%E0%B9%80%E0%B8%98%20%E0%B9%80%E0%B8%98%C2%A0%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%92%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%89%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%98%20%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%83%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%98%20%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%92%E0%B9%80%E0%B8%98%20%E0%B9%80%E0%B8%98%20%E0%B9%80%E0%B8%99%20%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%93%E0%B9%80%E0%B8%98%E2%80%94%E0%B9%80%E0%B8%99%20%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%81.html    (3 พฤศจิกายน 2553)

[12] หนังสือพิมพ์บ้านเมือง. พระราชทานทรัพย์ ในหลวงช่วยน้ำท่วมอีก10ล.” http://www.ryt9.com/s/bmnd/1018025 (2 พฤศจิกายน 2553)

[13] หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์. ในหลวง-ราชินีพระราชทานเงิน8ล.ช่วยน้ำท่วม” http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=553&contentID=101982   (3 พฤศจิกายน 2553)

[14] นสพ.ดอทคอม. พระบรมฯ โปรดเกล้าฯถุงยังชีพชาวปักธงชัย” http://www.norsorpor.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7/t2236722/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AF+%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AF%E0%B8%96%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%98%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2  (22 ตุลาคม 2553)

[15] ผู้จัดการออนไลน์. ชาวโคราชปลาบปลื้ม สมเด็จพระเทพฯเสด็จฯเยี่ยมช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม - ธารน้ำใจ พธม.ถึงเมืองย่าโม"” http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9530000150423  (25 ตุลาคม 2553)

[16] เนชั่นแชนแนล. ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ พระราชทานสิ่งของช่วยน้ำท่วม” http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=477610 (3 พฤศจิกายน 2553)

[17] มติชนออนไลน์. "พระองค์โสม"ประทานรถโรงครัวพระราชทาน ทำอาหารช่วยน้ำท่วม" http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1288839342&grpid=03&catid=   (4 พฤศจิกายน 2553)

[18] มติชนออนไลน์. ทูลกระหม่อมฯทรงรับคุณยายน้ำใจงาม เอาเงินช่วยคนน้ำท่วมแต่ตัวเองถูกระเบิดขาขาด” http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1288241484&grpid=02&catid=no (28 ตุลาคม 2553)

[19] "รูปภาพของ Attachai Anantameak - รูปภาพบนกระดาน" http://www.facebook.com/photo.php?fbid=444983618300 (23 ตุลาคม 2553)

[20] "ผู้ว่าฯโคราช ชู นายกฯ รัฐบุรุษช่วยน้ำท่วม" http://www.startpage.in.th/view/145571  (5 พฤศจิกายน 2553)

[21] สถานีโทรทัศน์ ช่อง 7 “"ปริมาณน้ำฝนภาคใต้มากที่สุดในรอบ 10 ปี"”. http://www.ch7.co.th/news/news_thailand_detail.aspx?c=2&p=376&d=111963  (2 พฤศจิกายน 2553)

[22] Sanook News. "นาที แอ๊ด คาราบาว หนีตายน้ำท่วมจากหาดใหญ่" http://news.sanook.com/978261-%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95-%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B9%8A%E0%B8%94-%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A7-%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88.html (2 พฤศจิกายน 2553)

[23] Sanook News. "กรมการปกครองปูนบำเหน็จให้ปลัดอ.จะนะ" http://news.sanook.com/979063-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%AD.%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B0.html (5 พฤศจิกายน 2553)

[24] Bectero.com. " 'ดีเจซี๊ด'วอนช่วยพ่อช็อค!ติดน้ำขาดการติดต่อ" http://morningnews.bectero.com/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89-%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/'%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B9%8A%E0%B8%94'%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%8A%E0%B9%87%E0%B8%AD%E0%B8%84!%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD-2010110317.html  (3 พฤศจิกายน 2553)

[25] "นายกฯตั้งอภิรักษ์ เป็นปธ.ศูนย์ประสานงานน้ำท่วม จัดระบบทำงานเป็นเอกภาพ" http://www.ryt9.com/s/iq02/1011950  (23 ตุลาคม 2553)

[26] มติชนออนไลน์. " "คุณชาย"จวก!"ห่วยแตก"คนคิดให้ ตจว.รับน้ำแทน กทม. "มาร์ค" เมินยก "สรยุทธ์" เทียบ ยันทำงานเต็มที่ " http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1288792844&grpid=00&catid=  (4 พฤศจิกายน 53)

[27] อ้างจาก กรุงเทพธุรกิจ "ทหารฉวยน้ำท่วมซื้อใจ"เสื้อแดง" สั่งสำรวจทัศนคติต่อ"รัฐ-กองทัพ" http://www.parliament.go.th/news/news_detail.php?prid=274565  (5 พฤศจิกายน 2553)

[28] "ช่อง 3 ถูกเบรค!! สรยุทธ์แจ้งผ่านรายการเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์นี้..." http://talk.mthai.com/topic/135074  (23 ตุลาคม 2553)

[29] "Re: ช่อง 3 ช่วยเหลือน้ำท่วมเด่นจัด โดนสั่งเบรคแล้ว " http://www.udon108.com/board/index.php?topic=57930.msg525776;topicseen   (27 ตุลาคม 2553)

[30] มติชนออนไลน์. "เอแบคโพลล์ชี้ปชช.ส่วนใหญ่ 82 % พร้อมบริจาคแต่ไม่เชื่อมั่นว่าโปร่งใส รัฐบาลได้คะแนนความพึงพอใจแค่ 5.55 " http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1288490763&grpid=01&catid=01  (31 ตุลาคม 2553)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แอมเนสตี้ฯ ชี้รัฐบาลพม่ากีดกันเสรีภาพประชาชนทำให้ประสิทธิผลจากการเลือกตั้งน้อยลง

Posted: 06 Nov 2010 03:21 PM PDT

การกีดกันเสรีภาพในการแสดงความเห็น การชุมนุมและรวมตัวอย่างสงบของรัฐบาลพม่าทำให้ประสิทธิผลจากการจัดเลือกตั้งเป็นครั้งแรกของประเทศในรอบ 20 ปีลดน้อยลง แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวในวันนี้ 

ทางการพม่าได้ออกกฎหมายและคำสั่งใหม่หลายฉบับก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤศจิกายน เพื่อจำกัดเสรีภาพในการพูดและวิจารณ์รัฐบาล ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองคว่ำบาตรการเลือกตั้ง และปราบปรามไม่ให้มีเสียงเรียกร้องจากคนในประเทศเพื่อให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองประมาณ 2,200 คนในประเทศ

“การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสที่พม่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังตามวิถีทางของตนเอง และโลกกำลังเฝ้ารอดูอยู่” Salil Shetty เลขาธิการแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว “ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลกลับกีดกันสิทธิที่จำเป็นเพื่อให้สามารถจัดการเลือกตั้งอย่างจริงจังได้”

ตั้งแต่เดือนมีนาคมในปีนี้ รัฐบาลได้ออกกฎหมายเลือกตั้งที่จำกัดและกดขี่สิทธิ ทั้งยังละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็น การชุมนุมและรวมตัวอย่างสงบ การละเมิดในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่:

• เมื่อวันที่ 14 กันยายน คณะกรรมการการเลือกตั้งออกประกาศจำกัดการเผยแพร่คำปราศรัยทางสื่อของรัฐอย่างเข้มงวด รวมทั้งคำสั่งที่มีเนื้อหาอย่างคลุมเครือ ซึ่งเท่ากับห้ามไม่ให้วิจารณ์รัฐบาล หรือห้ามการพูดถึงปัญหาของประเทศใด ๆ โดยเฉพาะปัญหาของชนกลุ่มชาติพันธุ์

• เมื่อวันที่ 18 กันยายน รัฐบาลเตือนดอว์อองซานซูจีและพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของเธอ ซึ่งเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งปี 2533 ระบุว่าจะมีโทษหากยุยงให้มีการคว่ำบาตรการเลือกตั้ง  

• เมื่อวันที่ 27 กันยายน ทางการได้สั่งลงโทษพระอศิน ออกขันทา พระภิกษุชาวมอญให้ต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 15 ปีในข้อหามีใบปลิวเรียกร้องการปล่อยตัวนักโทษการเมืองในพม่าไว้ในครอบครอง 

• ในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน ทางการได้จับกุมนักศึกษา 11 คน โดยยังมีอย่างน้อยอีกเก้าคนซึ่งยังถูกควบคุมตัวอยู่ในกรุงย่างกุ้ง ในข้อหาแจกแผ่นปลิวยุยงไม่ให้คนไปลงคะแนนเสียง

“การที่ยังคงมีการคุมขังนักโทษการเมืองกว่า 2,200 คน แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ใส่ใจต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนในการเลือกตั้งครั้งนี้” Salil Shetty กล่าว “นโยบาย ‘หนทางสู่ประชาธิปไตย’ และการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายดังกล่าว ดูเหมือนจะนำไปสู่การปราบปรามทางการเมืองต่อไปเท่านั้น” 

รัฐบาลพม่าอ้างว่าไม่ได้ควบคุมตัวนักโทษการเมืองแต่อย่างใด แม้ว่าเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2533 ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่าแห่งสหประชาชาติ ได้เผยแพร่รายงานซึ่งวิจารณ์รัฐบาลอย่างหนักก็ตาม

ดอว์อองซานซูจีและพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยซึ่งชนะในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อปี 2533 ต้องถูกกักบริเวณเกือบ 15 จาก 21 ปีที่ผ่านมา

รัฐบาลพม่ายังได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในพื้นที่ชนกลุ่มชาติพันธุ์ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง รวมทั้งการใช้กำลังทหารโจมตีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ โดยมีเป้าหมายเป็นพลเรือน ในปี 2551 แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่าการโจมตีเช่นนี้มีลักษณะเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติจัดตั้งคณะกรรมการไต่สวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงในพม่า

“สถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าบ่อนทำลายเสถียรภาพของประเทศและภูมิภาค ถึงเวลาที่องค์การสหประชาชาติ รวมทั้งประชาคมอาเซียนซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของพม่า ต้องบอกว่าพอกันที” Salil Shetty กล่าว “การเลือกตั้งแบบจอมปลอมเช่นนี้ ซึ่งมีลักษณะสนับสนุนรัฐบาลทหารของพม่า ควรกระตุ้นให้แม้กระทั่งจีนและอินเดียหันมายืนหยัดเคียงข้างประชาชนในประเทศแทน”

การเลือกตั้งกำลังมีขึ้นในท่ามกลางการปราบปรามทางการเมืองและความรุนแรงอย่างเป็นระบบ ซึ่งยังดำเนินต่อไปแม้ภายหลังกลุ่มผู้ประท้วงหลายหมื่นคนที่นำโดยพระภิกษุจะเดินขบวนในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ปี 2550 เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการเมือง ทางการได้ใช้ความรุนแรงปราบปรามการประท้วงอย่างสันติทั่วประเทศ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 31 คน (อันที่จริงน่าจะมากกว่า 100 คน) และอีกจำนวนมากได้รับบาดเจ็บ โดยมีประชาชนอย่างน้อย 74 คนหายตัวไป และมีการควบคุมตัวบุคคลหลายพันคน

“การปฏิเสธว่าไม่มีนักโทษการเมืองและการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงในระดับสากล ไม่ได้ทำให้ความผิดเหล่านี้สูญหายไปได้” Salil Shetty กล่าว “การปล่อยตัวนักโทษการเมืองและการนำตัวผู้ก่ออาชญากรรมเหล่านี้มารับผิดเท่านั้น จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ท้าทายเหล่านี้ของรัฐบาล แค่จัดการเลือกตั้งยังไม่พอ” 

ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องให้อาเซียนและประเทศเพื่อนบ้านของพม่าในเอเชีย เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง และให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนความจริงขึ้นมาในพม่า

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมัชชาสังคมก้าวหน้า: ทหารออกไปจาก BTS และ MRT ก่อนทำลายประเทศมากกว่านี้

Posted: 06 Nov 2010 02:48 PM PDT

สถานีรถไฟใต้ดินและรถไฟฟ้าบีทีเอส จะปรากฏหน่วยทหารติดอาวุธพร้อมรบประจำตามทางขึ้นลงมานานไม่น้อยกว่า 1 เดือนแล้ว เรื่องนี้อาจจะเป็นกระทำเพื่อรักษาความสงบจากสถานการณ์การก่อวินาศกรรมก่อนหน้านี้ การแถลงข่าวของพรรคเพื่อไทยที่บอกว่าจะมีการวางระเบิดตามสถานที่สาธารณะ เช่น สถานีรถไฟฟ้า หลังจากนั้น ศอฉ. ได้จัดทหารเข้าประจำพื้นที่ดังกล่าว แต่มีคำถามว่ามีความเหมาะสมและป้องกันได้จริงหรือไม่

จัดกำลังเพื่อแก้ไขหรือคุกคาม

ด้านการก่อวินาศกรรมที่เกิดขึ้นนั้นได้ถูกตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า เป็นการก่อวินาศกรรมเชื่อว่าจากทั้งเสื้อแดงฮาร์ดคอร์และทหารด้วยกัน มีข้อสังเกตว่า การก่อวินาศกรรมด้วยอาวุธสงครามอีกหลายครั้งอาจจะเป็นฝีมือวงศ์เทวัญ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการก่อวินาศกรรมจะเกิดจากฝ่าย การจัดกำลังในลักษณะปัจจุบันจะตอบโต้และควบคุมสถานการณ์ได้จริงหรือไม่ และผลกระทบที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงไร

ถ้าผู้ก่อวินาศกรรมจะวางระเบิดภายในสถานีรถใต้ดินและรถไฟฟ้า น่าจะแฝงตัวมา ถ้าพวกเขามุ่งไปที่ Soft Target เพื่อก่อความเสียหายและบั่นทอนรัฐบาลแล้ว เขาควรเลือกที่จุดขายตั๋ว ชานชาลา และพวกเขาคงไม่มุ่งโจมตีทหารพร้อมรบเหมือนกับหลายครั้งที่ผ่านมา ดังนั้น การจัดวางกำลังตามทางขึ้นลงจะไม่สามารถตอบโต้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ถ้าฝ่ายความมั่นคงตั้งใจควบคุมเหตุการณ์ควรเพิ่มเจ้าหน้าที่ตรวจตราบริเวณจุดที่ผู้ใช้บริการหนาแน่น และไม่จำเป็นต้องเป็นหน่วยรบติดอาวุธสงคราม

การจัดกำลังทหารพร้อมอาวุธกลับเป็นการสร้างบรรยากาศของสถานการณ์สงคราม เมื่อผู้คนพบเห็นทหารชุดเขียวพร้อมอาวุธสงคราม ยอมเกิดความหวั่นวิตกมากกว่าความมั่นใจ บรรยากาศที่เกิดขึ้นเป็นการคุกคามต่อคนในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยการสภาพแวดล้อมแห่งความน่าสะพรึงกลัว

เมื่อจัดกำลังนี้ไม่ควรจะตรงกับสถานการณ์และมีผลสร้างความน่าหวาดกลัว จึงสามารถเข้าใจว่าฝ่ายทหารต้องการสร้างความหวาดกลัวให้กับสังคม อาจจะเพื่อความชอบธรรมในการดำรงอำนาจแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ ทำให้คนในสังคมศิโรราบกับอำนาจนอกระบบ ให้รวมถึงการข่มขวัญฝ่ายตรงทางการเมือง

นักท่องเที่ยวกับบรรยากาศสงคราม

ภาพสถานการณ์สงครามที่ฝ่ายทหารสร้างขึ้นย่อมทำให้มีความไม่เป็นมิตรกับคนต่างชาติเช่นกัน คนที่ไม่ได้ใช้ชีวิตในเมืองไทยยาวนานยากจะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น นอกจากจะรู้สึกประเทศนี้อยู่ในสถานการณ์สงครามกลางเมือง เพราะกองกำลังทหารติดอาวุธประจำอยู่ในจุดต่างๆ

ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนักท่องเที่ยวอาจจะมีคำถามถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งการสื่อสารอย่างรวดเร็วย่อมนำไปสู่ความสงสัยต่อความเป็นไปในประเทศไทยว่ามีความเสี่ยงต่อการเดินทางมาเที่ยวหรือไม่ด้วยเช่นกัน

ที่ผ่านมาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นปัจจัยสำคัญการตัดสินใจมาเที่ยวประเทศไทย เนื่องจากสถานทูตทุกประเทศต้องคำเตือนคนในประเทศตัวเองว่า ประเทศไทยมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งที่สถานการณ์ฉุกเฉินนี้ไม่ความน่าหวาดกลัวแม้แต่น้อย เป็นเพียงการประกาศเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น แต่ประกาศนี้ส่งผลต่อการตัดสินของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ในขณะที่กัวลาลัมเปอร์มีอัตราการเข้าพัก 70% แต่ภูเก็ตเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลกมีอัตราการเข้าพัก 30 - 40% ข้อความวุ่นวายทางการเมืองจบไปนานแล้ว แต่นักท่องเที่ยวยังไม่กระเตื้องขึ้น สาเหตุสำคัญย่อมมาจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

เมื่อมาประกอบการจัดกำลังทหารติดอาวุธสงครามยิ่งทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวโดยรวมเลวร้ายลงไปอีก เมื่อนักท่องเที่ยวต้องระวังกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังพบสภาพแวดล้อมจริงที่น่าสะพรึงกลัว แล้วจะมีผู้ใดประทับใจกับการเยือนประเทศไทย การคงกำลังทหารประจำจุดเหล่าจึงเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ให้เลวร้ายลงไปอีก

อภิสิทธิ์และประยุทธควรทำอะไร

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศอฉ. และพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ควรจะทำมากที่สุดในการรักษาความปลอดภัยและความอยู่รอดของประเทศไทย คือ

1. ถอนทหารทั้งหมดจากการรักษาการณ์ตามสถานีรถไฟฟ้าและรถใต้ดิน ปรับกำลังรักษาความปลอดภัยให้เหมาะสม

2. ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อทำให้ทั่วโลกรับรู้ว่าประเทศไทยได้กลับคืนสู่สถานการณ์ปกติ

ถ้าผู้รับผิดชอบต่อชะตากรรมของประเทศทั้งคู่ตระหนักถึงการอยู่รอดของประเทศต้องทำเดี๋ยวนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น