โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

จำลอง ศรีเมือง: “เราคือนักไล่นายกฯ มืออาชีพ ให้มันรู้ไปว่าแผ่นดินนี้เป็นของใคร”

Posted: 24 Nov 2010 08:36 AM PST

ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อเวลา 21.50 น. วันนี้ (24 พ.ย.) ว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขึ้นปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯบริเวณหน้า รัฐสภาฯ หลังนายประพันธ์ขึ้นกล่าวปราศรัยว่ารัฐบาลต้องการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 เพื่อเปิดทางให้เจบีซีผ่านฉลุย และนำไปสู่การเสียดินแดนให้กัมพูชาอย่างแน่นอน

 
พล.ต.จำลองกล่าวว่า  ขอพูดถึงนายประพันธ์ที่พาดพิงว่าตนนั่งทางในยังรู้เลยว่านายกฯจะแก้รัฐ ธรรมนูญเพื่อให้เสียดินแดน ตนไม่ได้นั่งทางใน แต่รู้ว่าสามารถปราบมันได้ ซึ่งก็ได้ถามนายประพันธ์ก่อนขึ้นเวทีว่าชุมนุม 11 ธ.ค. นี้แก้ไขทันใช่มั๊ย นายประพันธ์ก็ตอบว่าทัน ดังนั้นถือว่า 3 วันนี้เป็นการซ้อมใหญ่ก็แล้วกัน
 
"11 ธ.ค.นี้ ครบเครื่อง เครื่องขยายเสียงเต็มที่ มีเวที ดนตรี เป็นไงเป็นกัน ไม่รู้จักพวกเราซะแล้ว นายกฯคนไหนทำความเสื่อมเสียให้บ้านเมือง เราคือนักไล่นายกฯมืออาชีพ ให้มันรู้ไปว่าแผ่นดินนี้เป็นของใคร เราไล่มา 3 คนแล้วใช่มั๊ย ไล่คนที่ 4 อีกคนจะเป็นยังไง พี่น้องไม่ต้องหวั่นไหวพรุ่งนี้มติสภาฯ ออกมาอย่างไรก็ไม่เป็นไร วันที่ 11 ธ.ค. มาสู้อย่างยืดเยื้อไม่ชนะไม่เลิก ไม่ต้องห่วงแม้จะมี พ.ร.ก.อะไรก็แล้วแต่ แต่การเสียดินแดนยิ่งใหญ่กว่า" พล.ต.จำลอง กล่าว
 
พล.ต.จำลองกล่าวอีกว่า เขาจับพี่น้องไม่ได้เพราะคุกมีไม่พอ ตำรวจมีไม่พอ ตนไปสำรวจคุกมาหมดแล้ว ตอนปี 35 ถูกจับไปที่คุกตำรวจ จากนั้นไปที่คุกทหาร 5 ต.ค.ก็โดนจับไปคุกพลเรือน ถ้าเขาจับ จับแกนนำ พวกเราก็พร้อมเป็นแกนนำต่อๆไป แล้วจะเอาคุกที่ไหนมาใส่ อยากจะรู้
 
พล.ต.จำลองยังกล่าวต่ออีกว่า พี่น้องตำรวจทั้งหลาย เรามีความจำเป็น ถ้าท่านจะจับ แม้ตำรวจหลายท่านผ่านโรงเรียนผู้นำมาแล้ว มีความเป็นศิษย์เป็นครูกับตน ตัดมันออกไป  แล้วทำหน้าที่ให้เต็มที่ ไม่ต้องห่วงเรา เพราะเราจะสู้จนชนะ เราทราบดีว่าชุมนุมอย่างนี้ ไม่มีผลต่อการกดดันอะไรหรอก เพราะนักการเมืองไทยมันหน้าหนา ถ้าเป็นญี่ปุ่นยอมแพ้ไปแล้ว  เรารู้แล้วว่าไม่มีผลในการกดดัน แต่มีผลในการซ้อมใหญ่เพื่อให้ 11 ธ.ค. และวันต่อๆไป ปราบให้เหี้ยนเลย
 
หลังจากนั้นเมื่อเวลา 22.00 น. แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข ขึ้นบนเวทีเพื่อกล่าวสลายการชุมนุมสำหรับคืนที่ 2 โดยพล.ต.จำลองกล่าวว่า ท่านพี่น้องพันธมิตร คืนนี้เป็นการชุมนุมคืนสุดท้าย เพราะพรุ่งนี้สภาฯ ประชุมไม่เกิน 5 โมงเย็น คืนนี้เลยเป็นคืนสุดท้ายของพวกเรา เราอาจโชคดีถ้าพรุ่งนี้เกิดไม่ครบองค์ประชุมเราก็เลิกเหมือนกัน
 
"เราอย่าเสียดายบรรยากาศการชุมนุมยามค่ำคืน เพราะ 11 ธ.ค.เป็นต้นไป ยิ่งใหญ่เพราะตรงที่เราไปชุมนุมต้นไม้ทุกต้นประดับประดาด้วยไฟสวยงาม พวกเราพี่น้องพันธมิตรมาช่วยเหลือกัน ทุกสิ่งทุกย่างพร้อมหมด เราจึงไม่ลำบากเท่าไหร่ ดังนั้นวันที่ 11 ธ.ค. ขอดีๆ อีกที และจะสบายกว่านี้อีก เพราะจะมีจอโทรทัศน์ มีเครื่องขยายเสียง ภาพเก่าๆ จะกลับมา คืนนี้เราไปกันได้แล้ว พรุ่งนี้เช้าเจอกันใหม่ " พล.ต.จำลอง กล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"Insects in the Backyard" ได้เรท "ห้ามฉาย" อีกครั้ง

Posted: 24 Nov 2010 08:30 AM PST

"Insects in the Backyard"  ได้เรท "ห้ามฉาย" อีกครั้ง ผกก.วอนผู้เกี่ยวข้อง "เปิดใจ"  รับปัญหาสังคมมีจริง

24 พ.ย. 53 - มติชนออนไลน์รายงานว่า ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง "Insects in the Backyard" และ ทรงยศ สุขมากอนันต์ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์แห่งประเทศไทย เดินทางไปรับฟังผลการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ที่สำนักพิจารณาภาพยนตร์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม บริเวณศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  เพื่อขอจัดเรตภาพยนตร์ใหม่อีกครั้ง หลังจากในการยื่นขอจัดเรตครั้งแรก คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ได้ให้เรต "ห้ามฉาย" แก่หนังเรื่องนี้ โดยเปลี่ยนชื่อผู้ยื่นจากบริษัทป๊อป พิคเจอร์ส เป็นตัวธัญญ์วารินเอง ซึ่งเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์

โดยผลการตรวจพิจารณาภาพยนตร์รอบที่สอง คือ ′ไม่อนุญาตให้ฉาย′ เนื่องจาก "มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน" ซึ่งมีข้อสังเกตว่า มีการตัดคำว่า "ความสงบเรียบร้อย" ออกจากประโยคเดิม

โดยธัญญ์วาริน ได้กล่าวหลังจากรับผล "บันทึกการตรวจพิจารณาภาพยนตร์" ว่า "ผลครั้งนี้เหมือนเดิม ซึ่งก็คือไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายในประเทศไทยเช่นเดียวกับครั้งแรก โดยให้เหตุผลว่า "มีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน" และครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่มีการขอยื่น และมีการขอแก้ไขให้ภาพยนตร์ได้รับเรต ฉ 20 โดยไม่มีการแก้ไขเนื้อหาหนัง แต่มีการขึ้นคำเตือนว่าเรื่องราวในภาพยนตร์ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จริงในสังคม"

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีฉากใดหรือไม่ที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า "เป็นสิ่งที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี" ธัญญ์วารินกล่าวว่า ไม่ได้มีการแจ้งในเอกสารแต่อย่างใด แต่คาดว่าน่าจะเป็นภาพยนตร์ทั้งเรื่อง และหลังจากนี้จะเดินทางไปยื่นอุทธรณ์ที่สำนักปลัดกระทรวงวัฒนธรรมต่อไป แต่ก็ยังไม่ทราบว่าผลจะเป็นอย่างไร

"จริงๆแล้วตอนที่สร้างหนังเรื่องนี้ คิดว่าประเทศไทยมีระบบการจัดเรตติ้งแล้ว และผู้ที่สามารถชมหนังเรื่องนี้ต้องมีวิจารณญานแล้ว  และสามารถฉายด้วยเรต ฉ 20 ได้"

"จริงๆแล้วสิ่งที่พูดในหนังก็คือ ปัญหาสังคมที่เป็นอยู่ คนที่เป็นผู้ใหญ่ก็ทราบว่าจริงๆแล้วมันเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในระดับครอบครัว และเรื่องเพศที่ถูกตีกรอบเอาไว้ และการที่เราอยู่ในกรอบของเพศชายและหญิงนั้น มันจะก่อให้เกิดปัญหาสังคมอะไรบ้าง" นอกจากนั้นธัญญ์วารินกล่าวยอมรับว่า หนังมีฉากที่มีความรุนแรง ผิดศีลธรรม หวือหวา และมีฉากโป๊อยู่บ้างจริง แต่ยืนยันว่าคนที่มีอายุ 20 ปี ก็ควรที่จะมีสิทธิได้ดู เรามีสิทธิเลือกเองว่าควรจะดูหนังเรื่องไหน มีสิทธิตัดสินเองว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด"

"โดยส่วนตัวแล้ว ทุกฉากไม่สามารถตัดออกได้ เนื่องจากทุกภาพที่เลือกได้เล่าเรื่องในสิ่งที่เราต้องการ การตัดภาพใดภาพหนึ่งออกก็เท่ากับไม่ได้สื่อสารในสิ่งที่เราต้องการ" ธัญญ์วารินกล่าวเสริม

นอกจากนั้นคุณทรงยศยังกล่าวเพิ่มเติมว่า กรรมการที่ทำการพิจารณาไม่ได้แนะนำว่าฉากใดหรือภาพใดที่ไม่เหมาะสม จึงคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของประเด็นในหนังมากกว่า ดังนั้นไม่ว่าจะแก้ไขอะไรก็คงไม่ผ่านเช่นเดิม ในฐานะคนทำหนัง เราต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแน่นอน  และการได้เรต ฉ 20 เราก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมดีแล้ว แต่การห้ามฉายเช่นนี้ เท่ากับเป็นการตัดโอกาสการเสพงานที่สะท้อนถึงสังคมด้วย

โสฬส สุขุม โปรดิวเซอร์จาก ป๊อป พิคเจอร์ส กล่าวว่าตนเองยังไม่ทราบว่าจะมีการตัดหรือไม่ตัด ฉากใดฉากหนึ่งหรือไม่ และเมื่ออ่านจาก พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 พบว่ายังมีบางประเด็นที่ยังคลุมเครืออยู่ และจำเป็นต้องมีการพูดคุยกับคณะกรรมการต่อไป

"การยื่นอุทธรณ์ครั้งนี้ต้องการแค่ให้หนังได้ฉาย ซึ่งมีระยะเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์ วันละรอบเท่านั้น และคาดหวังว่าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์แห่งชาติน่าจะช่วยในจุดนี้ได้ และเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังพูดถึงสังคม รวมทั้งเปิดกว้างและยอมรับในสิ่งที่หนังเรื่องนี้กำลังบอก" ธัญญ์วารินกล่าวเสริม

ทั้งนี้ "Insects in the Backyard" เล่าเรื่องของ ธัญญ่า "พี่สาวประเภทสอง" ที่ดูแลน้องสาวและน้องชายวัยมัธยมเพียงลำพัง โดยน้องๆ ของเธอไม่มีความสุขมากนักที่จะอยู่ร่วมชายคาเดียวกับธัญญ่า น้องทั้งสองจึงหนีออกจากบ้านไปผจญชีวิตกันเองอันนำมาสู่การขายบริการทางเพศ ของทั้งคู่ โดยเป็นภาพยนตร์ในโครงการ  Indy Spirit Project หมายเลข 2  ซึ่งมีกำหนดฉายในเดือนหน้านี้

ที่มาข่าว:

"Insects in the Backyard" ได้เรท"ห้ามฉาย"อีกครั้ง ผกก.วอนผู้เกี่ยวข้อง"เปิดใจ" รับปัญหาสังคมมีจริง (มติชนออนไลน์, 24-11-2553)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1290588580&grpid=01&catid&subcatid

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เรื่องเพศที่ต้องพูด...บนโลกออนไลน์

Posted: 24 Nov 2010 08:28 AM PST

 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อกระแสหลักทุกช่องทางนำเสนอเรื่องศพเด็กทารกที่เกินจากการทำแท้งมากกว่าสองพันศพที่วัดแห่งหนึ่ง ข่าวถูกตีสะพัดในหลายๆ แง่มุม บางฉบับเลือกนำเสนอเรื่องของการท้องไม่พร้อมและวิกฤตคุณแม่วัยรุ่น บางฉบับพูดถึงกฎหมายการทำแท้งเสรี หรือเลยเถิดไปกว่านั้นบางฉบับเลือกนำเสนอว่าบรรดาคอหวยพากันตีเลขเด็ดจากจำนวนศพทารก

คำถามก็คือ การเลือกนำเสนอในเรื่องดังกล่าวใครได้ประโยชน์? ไม่มีใครได้ประโยชน์ คือคำตอบ การพยายามตอกย้ำภาพที่สยดสยองเคล้าด้วยการเล่าข่าวด้วยอารมณ์แบบ Emotional Journalist เหมือนเป็นการไปกดโดน "แผลกดทับ" ของผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำแท้ง ถ้าหากมีทางเลือก พวกเขาเหล่านั้นคงไม่เลือกเดินไปในทางนี้ การรีรันภาพอย่างซ้ำไปซ้ำมาเป็นการเปิดแผลที่พวกเขาอยากจะลืม

ในวงเสวนาของเครือข่ายพลเมืองเน็ตล่าสุด ผู้ที่ทำงานเคลื่อนไหวเรื่องเพศสภาพได้ให้ข้อมูลว่า ผู้ที่ไปทำแท้งส่วนใหญ่ไม่ใช่วัยรุ่น แต่เป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ในวัยทำงานโดยเฉพาะกลุ่มอายุ 20-40 ปีขึ้นไปที่ไม่มีความต้องการจะมีบุตร ทั้งเหตุผลด้านสุขภาพและทางเศรษฐกิจ เช่น เป็นสาวโรงงานที่ไม่สามารถทำงานได้ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของการเลือกนำเสนอของสื่อกระแสหลัก ที่เลือกหยิบประเด็นวัยรุ่นมาตีข่าวเพียงเพราะว่ามัน "ขายได้"

ปัญหาในการเลือกสรรนำเสนอนั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ในประเทศที่เราเชิดชู "เปลือก" ภายนอกมากกว่าแก่นจนอาจเรียกได้ว่า "ระบอบหน้าตาธิปไตย" คือชื่นชมคนที่หน้าตาดี ปูมหลังดี ดูมีชาติตระกูล นั้นเรื่องเพศสภาวะได้ถูกนำเสนออย่างสนุกปาก

กระทู้จากเว็บบอร์ดยอดนิยมอันดับหนึ่งเคยมีตั้งคำถามว่า "ถ้าหากให้คุณเป็นสามีของน้องปอย คุณจะเอาหรือไม่?” ความคิดเห็นที่ถูกแสดงออกนั้นถูกแสดงออกมาในแง่ชื่นชมชื่นชอบน้องปอย เพียงเพราะว่าเปลือกภายนอกเธอนั้นดูสวยงามและน่าดึงดูด แต่ถ้าหากเปลี่ยนจากน้องปอย เป็นสาวประเภทสองจิตใจดีแต่รูปลักษณ์ภายนอกนั้นไม่น่าดูชม อวบอ้วน หรือหน้าปรุ คำตอบยังคงเป็นเช่นนั้นหรือไม่?

ทำไมภาพลักษณ์ของสาวประเภทสองที่สวยงาม อย่างน้องปอย หรือโกโก้ สตรีเหล็กถูกนำเสนอในแง่ของความสวยงามและในทางตรงกันข้าม อีกหลายๆ กลุ่มกลับถูกเลือกนำเสนอในด้านตลกโปกฮา เพียงเพราะว่าเขาไม่สวยหรือ? มีการฟอร์เวิร์ดเมลภาพของกลุ่มสาวประเภทสองที่หน้าตาไม่ดี โพสต์ท่าเซ็กซี่ในแบบที่เขาคิดว่าสวย ซึ่งถูกถ่ายเก็บไว้ในอัลบั้มออนไลน์ส่วนตัว แต่ถูกนำไปเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตและกลายเป็นที่ตลกโปกฮา และวิพากษ์กันอย่างคะนองปากของผู้ที่ได้ชม ถามว่าในสิ่งที่เจ้าตัวคิดว่าสวยและเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลนั้น กลายเป็นที่ขบขันของคนส่วนรวม ใครเป็นผู้กำหนดว่าอะไรคือความสวย?

เรื่องพื้นที่บนโลกอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจในวงเสวนาที่ประเทศไต้หวันเกี่ยวกับการขับเคลื่อนประเด็นสังคมด้วยอินเทอร์เน็ต กลุ่มผู้หญิงในทวีปเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา ได้เสนอข้อคิดเห็นว่าสาเหตุที่โซเชียลเน็ตเวิร์คได้รับความนิยมในกลุ่มผู้หญิงประเทศเอเชียใต้ เพราะเป็นพื้นที่ที่พวกเธอได้แสดง "ตัวตน"

บนฐานความเชื่อที่ว่าในโลกออนไลน์ไม่มีชั้นวรรณะ ไม่มีฐานะ และที่สำคัญไม่มีเพศ พวกเธอกล่าวว่าพวกเธอสามารถจะพูดจะสื่อสารอะไรก็ได้บนหน้าวอลล์ของเฟซบุ๊ก ในขณะที่โลกแห่งความจริง พวกเธอไม่แม้แต่มีสิทธิที่จะคิดในสังคมที่ยังไม่เปิดอย่างเต็มที่

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะเล่าคือเคยเกิดเรื่องน่าเศร้า ในประเทศหนึ่งในทวีปเอเชียใกล้บ้านเรา ต้นเหตุเกิดขึ้นจากเกมออนไลน์ โดยมีผู้เล่นสองคนพบรักกันในเกมออนไลน์ โดยมีการแชทคุยกันในเกม มีการดูแลกัน แบ่งอาวุธและเงินในเกมให้กัน เสมือนผู้ชายจีบผู้หญิงในโลกแห่งความจริง

แต่ที่ไม่ปรกติก็คือ ตัวละครที่ถูกคิดว่าเป็นผู้หญิงนั้น แท้จริงคือผู้ชายอายุ40 ปีที่มีหน้าตาไม่ดึงดูดเสน่ห์นัก และเรื่องน่าเศร้าอุบัติขึ้นเมื่อพ่อหนุ่มที่เฝ้าประคบประหงมในโลกออนไลน์ ดันไปรู้ทีหลังว่าหญิงสาวอ่อนหวานที่อยู่ในเกมนั้นตัวจริงไม่ใช่ผู้หญิง ด้วยความอับอายเขาจึงลงมือทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายจนถึงแก่ชีวิต!!! ถูกต้อง สิ่งที่ฝ่ายผู้เสียชีวิตทำเข้าข่ายเรื่องการหลอกลวง แต่สมควรหรือที่เกิดการใช้ "อำนาจ"ในการตัดสินปัญหา เพียงเพราะว่าความสัมพันธ์ที่คิดว่าถูกต้องบนฐานชายควรคู่กับหญิงนั้น ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด การกระทำดังกล่าวเสมือนการกู้หน้าจากการถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรี แทนที่จะให้กฏหมายดำเนินการ

น่าสนใจว่าในพื้นที่ที่เราคิดว่าเสรีนั้น เสรีจริงหรือไม่ กลุ่มคนพวกนี้ในโลกแห่งความเป็นจริงพวกเขาถูกไล่พื้นที่จนต้องเลือกใช้พื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่แสดงตัวตน และในปัจจุบันก็มีคนที่พยายามจะนำ "สถาบัน" เช่น ศีลธรรม ค่านิยม และอาจรวมไปถึงกฏหมายบางอย่างเข้าไปจัดระบบระเบียบ ค่านิยมในโลกออนไลน์

บางทีเรื่องเพศ อาจเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องพูดกันถึงเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ในอันดับต้นๆ ของโลกออนไลน์ก็เป็นได้
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อนุสรณ์ อุณโณ:ภาษาข้าใครอย่าแตะ

Posted: 24 Nov 2010 08:24 AM PST

“ชิมิ” มิใช่สิ่งแรกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้ภาษาไทยวิบัติ และนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ก็ไม่ใช่คนสุดท้ายที่จะลุกขึ้นมาระงับความวิบัติของภาษาไทย เพราะภาษาไทยที่นายไตรรงค์รวมทั้งอีกหลายคนเข้าใจไม่ได้มีสถานะเป็นเพียง สื่อกลางระหว่างผู้คน แต่มีสถานะเป็นคุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งของชาติ ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่จำต้องได้รับการปกปักรักษาไปตราบชั่วนิรันดร์ หากปล่อยให้ภาษาไทยวิบัติ ชาติไทยก็มีอันล่มจม

 

ชาติไทยถูกสร้างให้มีภาษาไทยเป็นองค์ประกอบหลักมาตั้งแต่ต้น เพราะในการสร้างรัฐสมัยใหม่ หลังจากวาดเส้นเขตแดนที่ชัดเจนแล้ว ชนชั้นนำสยามต่างพากันคิดว่าจะเชื่อมโยงผู้คนต่างศาสนาและพงศ์พันธุ์ที่อยู่ ในเขตแดนนี้เข้าด้วยกันได้อย่างไร และชาติไทยก็เป็นสิ่งที่พวกเขาคิดว่าสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ โดยพวกเขาเสนอความคิดที่ว่าผู้คนที่อยู่ในเขตแดนที่เพิ่งวาดนี้ไม่ว่าจะ นับถือศาสนาหรือว่าอยู่ในพงศ์พันธุ์หรือว่าพูดภาษาถิ่นใด นอกจากความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ทุกคนเป็นคนไทยหากว่าสามารถพูดภาษาไทยได้ ไม่ว่าจะเรียนรู้แต่กำเนิดหรือฝึกฝนในภายหลัง ภาษาไทยจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการผนวกรวมและเชื่อมโยงผู้คนที่แตกต่าง หลากหลายเข้าด้วยกันในฐานะคนไทย 

แต่การนำมาภาษามารับใช้ชาติในลักษณะดังกล่าวมีข้อจำกัด เพราะผู้คนบางกลุ่มใช้ภาษาอื่นในชีวิตประจำวันและไม่คิดว่าภาษาที่พวกเขาใช้ เป็นภาษาถิ่นเช่นที่ถูกหมายความโดยผู้ปกครองในกรุงเทพฯ เช่น มลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้ภาษามลายูในชีวิตประจำวัน คนวัยกลางคนขึ้นไปส่วนใหญ่พูดภาษาไทยไม่ได้ ขณะที่เด็กนักเรียนและวัยรุ่นจำนวนมากโดยเฉพาะในหมู่บ้านพูดภาษาไทยไม่ค่อย ถนัด ไม่ใช่เพราะความอ่อนด้อยทางสติปัญญา แต่เพราะว่าภาษาไทยมาตรฐานไม่ใช่ภาษาที่เกี่ยวโยงกับพงศ์พันธุ์และศาสนาของ พวกเขา มลายูมุสลิมเหล่านี้เรียกร้องมาอย่างต่อเนื่องให้มีการใช้ภาษามลายูเป็นภาษา หลักหรือ “ภาษาราชการ” ในพื้นที่ และคิดว่าเป็นการไม่เป็นธรรมหากจะใช้ภาษาไทยมาตรฐานเป็นเกณฑ์ในการกำหนดความ เป็น “คนไทย” หรือผู้มีสิทธิเต็มบนแผ่นดินนี้ 

ขณะเดียวกันกระบวนการกำหนดภาษาไทยให้เป็นมาตรฐานเดียวกันก็เกี่ยวข้องกับการ คัดสรรและกีดกัน เพราะภาษาไทยมาตรฐานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาษาไทยภาคกลางซึ่งมีสำเนียงและ ศัพท์เฉพาะแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ ขณะที่ภาษาใต้แม้จะใช้ศัพท์ร่วมกับภาษากลางจำนวนหนึ่ง แต่ก็มีสำเนียงที่แตกต่างจนยากกว่าคนภาคกลางรวมทั้งภาคอื่นๆ จะเข้าใจ ส่วนภาษาอีสานและภาษาเหนือมีลักษณะเฉพาะค่อนข้างมากแม้จะมีศัพท์ร่วมกับภาษา ไทยกลางบ้าง ภาษาไทยมาตรฐานจึงเป็นการหยิบเลือกภาษาของคนกลุ่มหนึ่งในท้องถิ่นหนึ่งขึ้น มาเป็นต้นแบบ จากนั้นก็ทำการเพิ่มเติมหรือเน้นย้ำคุณลักษณะบางประการเช่นการออกเสียง “ร” อย่างเด่นชัดและการควบกล้ำ และอาศัยระบบการศึกษาและสื่อมวลชนเป็นช่องทางสำคัญในการสถาปนาความเป็น มาตรฐานของภาษาดังกล่าว ส่งผลให้ภาษาไทยกลุ่มอื่นมีสถานะเป็นเพียงภาษาพูดหรือภาษาถิ่นที่ไม่ได้ มาตรฐานไปโดยปริยาย 

แต่กระบวนการทำภาษาให้เป็นมาตรฐานขัดกับคุณสมบัติพื้นฐานของภาษาอย่างรุนแรง เพราะภาษาวิวัฒนาการมาจากการใช้ในชีวิตจริง จึงไม่หยุดนิ่ง ประสบการณ์ใหม่จะกระตุ้นให้ภาษาปรับเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง ภาษาไทยจำนวนมากสร้างขึ้นจากการนำคำเดิมมาผสมกัน (เช่น น้ำแข็ง รถไฟ) แต่จำนวนหนึ่งก็มาจากการใช้คำเดิมผสมกับคำที่ถ่ายเสียงมาจากภาษาอื่น (เช่น คริสตจักร) และจำนวนไม่น้อยสร้างก็ขึ้นจากการถ่ายเสียงจากภาษาอื่นโดยตรง (เช่น ลิปสติก) นอกจากนี้ เพราะชีวิตจริงมีความแตกต่างหลากหลาย ภาษาจึงมีความเฉพาะกลุ่มตามไปด้วย ภาษาที่แม่ค้าในตลาดใช้ระหว่างกันมักจะตรงไปตรงมาหรือมีลักษณะเชือดเฉือน เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าซึ่งไม่มีกติกา อย่างเป็นทางการรองรับ ขณะที่เพื่อนสนิทโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นมักใช้ภาษาที่เน้นความเป็นกันเองหรือ ถึงลูกถึงคนเพราะภาษาสุภาพบ่งถึงระยะห่างหรือความสัมพันธ์อย่างมีลำดับขั้น พลวัตรและความหลากหลายจึงเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของภาษาไทย 

“ชิมิ” ก็เป็นส่วนหนึ่งของคุณสมบัติดังกล่าวของภาษาไทย โลกอินเตอร์เน็ตหรือโลกเสมือนจริงเปิดโอกาสให้มีการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่หลุดรอดหรือสามารถท้าทายอำนาจในการควบคุมตรวจตราระดับหนึ่ง นอกจากประเภทของกลุ่มหรือเครือข่ายความสัมพันธ์และหัวข้อการสนทนา ภาษาที่ใช้ในโลกอินเตอร์เน็ตจำนวนมากบ่งถึงความพยายามที่จะไม่อยู่ในอาณัติ ของอำนาจดังกล่าวนี้ แทนที่จะเป็นภาษาไทยมาตรฐาน ศัพท์จำนวนมากถูกดัดแปลงตามความประสงค์ของผู้ใช้ คำว่า “เธอ” ถูกเปลี่ยนเป็น “เธอว์” หรือ “เทอว์” คำว่า “ครับ” ถูกเปลี่ยนเป็น “ฮ๊าฟ” ขณะเดียวกันก็เกิดคำที่มีความหมายเฉพาะจำนวนมาก เช่น “เมพขิง” ซึ่งหากเป็นบุคคลทั่วไปจะไม่รู้ว่ามีความหมายในทำนองว่าล้ำเลิศ หรือว่าความหมายดังกล่าวมีที่มาและคลี่คลายมาอย่างไร นอกจากนี้ เพราะเหตุที่ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันส่งผลให้การควบคุมตรวจตราใน โลกปกติเข้มงวดเป็นพิเศษ โลกเสมือนจริงจึงกลายเป็นพื้นที่ของการต่อต้านและท้าทายอำนาจครอบงำอย่าง เข้มข้น ศัพท์เฉพาะจำนวนมาก เช่น ทองมาร์ค และอื่นๆ ซึ่งไม่สามารถกล่าวถึงได้ในที่นี้ ได้ถูกผลิตขึ้นเพื่อสื่อความระหว่างผู้แข็งข้อเหล่านี้ รัฐบาลอาจจะสามารถสั่งปิดหรือกั้นเว็บไซต์ได้ แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการใช้ภาษาที่มีนัยของการต่อต้านและท้าทายในโลกเสมือน จริงเหล่านี้ได้ 

ฉะนั้น การที่ “ชิมิ” ออกมาอาละวาดในโลกปกติจึงเป็นการท้าทายอำนาจในการควบคุมตรวจตรา และรัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งมีความโน้มเอียงในการใช้อำนาจประเภทนี้อย่างดิบ หยาบจึงไม่สามารถปล่อยให้ผ่านไปได้โดยง่าย แม้ว่าคำๆ นี้จะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ซึ่งมีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นประธาน มีมติให้ภาพยนตร์ที่มีชื่อลงท้ายด้วย “ชิมิ” ไม่ผ่านการพิจารณา ขณะที่ราชบัณฑิตซึ่งเป็นร่างทรงอำนาจจารีตเช่นนายชัยอนันต์ สมุทวณิช ก็ให้ความเห็นสนับสนุนบนฐานที่ว่า “ชิมิ” จะทำให้ภาษาไทยเสื่อม พร้อมกับเรียกร้องให้คณะกรรมการฯ เร่งออกมาตรการควบคุมการใช้ภาษาไทยในสื่อต่างๆ ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น และเน้นย้ำว่าเป็นหน้าที่ของคนไทยที่จะต้องช่วยกันธำรงรักษาภาษาไทยไว้ไม่ให้เสื่อม 

แต่ภาษาไทยมาตรฐานที่บุคคลเหล่านี้พยายามปกปักรักษามีลักษณะกีดกันแฝงอยู่ และความพยายามจะสร้างและรักษามาตรฐานให้กับภาษาไทยก็สวนทางกับคุณสมบัติพื้นฐานของภาษาดังที่กล่าวก่อนหน้า พวกเขาอาจอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือกฎระเบียบล้าหลังและข้ออ้างเรื่องความภักดีต่อชาติไทยและความเป็นไทยในการสกัดกั้นการแพร่กระจายของ “ชิมิ” ได้ระดับหนึ่งโดยเฉพาะในพื้นที่ที่สามารถควบคุมได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ตรงกันข้าม การห้ามของพวกเขากลับทำให้มีการใช้คำๆ นี้ในโลกอินเตอร์เน็ตและพื้นที่อื่นๆ ในอัตราที่เข้มข้นและแฝงนัยของการท้าทายที่แหลมคมยิ่งขึ้น หาก “ชิมิ” จะเสื่อมความนิยมหรือสาบสูญไปก็จะเป็นด้วยเงื่อนไขและปัจจัยอื่น แต่ไม่ใช่เพราะการวางก้ามในทำนองว่าภาษาข้าใครอย่าแตะของบุคคลเหล่านี้ “ชิมิ ชิมิ”


 

เผยแพร่ครั้งแรกใน:คอลัมน์ คิดอย่างคน ในหนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ปีที่ 1 ฉบับที่ 12 (19-25 ตุลาคม 2553)]

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สื่อสารแรงงาน: ครบแล้วหมื่นกว่าชื่อผู้นำแรงงานเตรียมเสนอกฎหมายประกันสังคม

Posted: 24 Nov 2010 07:24 AM PST

เว็บไซต์ voicelabour.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 ณ ห้องประชุมแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ชั้น 4 อาคาร บ้านลือชาอพาร์ทเมนท์ ห้อง 5 ชั้น 4 เลขที่ 10ถนนพหลโยธิน ซอย 3แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400ได้มีการประชุมของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ผู้นำแรงงานกลุ่มต่างๆ เพื่อตรวจเชิดรายชื่อที่กลุ่มสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ แรงงานกลุ่มต่างๆ และภาคประชาชนที่ได้ให้การสนับสนุนรายชื่อเพื่อร่วมเสนอร่างพระราชบัญญัติ ประกันสังคม พ.ศ. …. (ฉบับขบวนการแรงงาน) ซึ่งขณะนี้ได้ลายมือชื่อที่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านประกอบพร้อมยื่นประมาณ 12,000 ชื่อ(จัดทำแบบแสดงรายชื่อแยกจังหวัด ขก.2 เรียบร้อย) โดยที่ประชุมได้กำหนดการยื่นลายมือชื่อทั้งหมดต่อประธานรัฐสภาในวันที่ 24 พ.ย.เวลา 09.30 น. นี้

นางสาววิไลวรรณ  แซ่เตียประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรง งานไทย กล่าวว่า ถึงแม้ว่าจะได้ลายมือชื่อครบพอที่จะเสนอร่างกฎมายประกันสังคมฉบับภาคประชาชน แล้วก็ตาม แต่ทาง

ขบวนการแรงงานก็ยังต้องการเพิ่มอีกเพื่อสำรองไว้หากรายชื่อที่ล่ามามีข้อ บกพร่องไม่ถูกต้องตามกฎหมายกำหนดไว้เรื่องการใช้สิทธิในการเลือกตั้งหรือมี ข้อกำหนดอื่นๆที่เราอาจตรวจไม่พบ จึงยังขอให้แต่ละพื้นที่ทำการล่าลายมือชื่อต่อไปอีก “ครั้งนี้เป็นการลงมือรณรงค์ล่าลายมือชื่อเสนอกฎมายที่ใช้เวลาเพียง 20 กว่าวันเท่านั้น เราต้องการเสนอให้ ทันกับการปิดสมัยประชุมนี้เพื่อที่จะได้เป็นร่างกฎหมายที่สมัยหน้าเมื่อเปิด การประชุมแล้วจะมีการนำขึ้นมาพิจารณาเป็นฉบับแรกๆ ถึงเวลาแล้วที่ประกันสังคมจะต้องมีการปฏิรูปปรับโครงสร้างเสียใหม่ให้สอด คล้องกับความต้องการของผู้ประกันตน และให้การคุ้มครองแรงงานทุกกลุ่ม รวมทั้งต้องมีการบริหารงานอย่างโปรงใสตรวจสอบได้ การบริการอย่างมีประสิทธิภาพ” นางสาววิไลวรรณกล่าว

นางสาววิไลวรรณยังกล่าวอีกว่า “ขอขอบคุณผู้ที่ร่วมกันสนับสนุนร่างกฎหมายประกันสังคมครั้งนี้เพราะตั้งแต่ มีการประชุมสัมมนาร่วมกันเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2553 ที่โรงแรมบางกอกพาเลซ กรุงเทพฯ ผู้นำแรงงานทุกกลุ่มก็ได้มีการลงพื้นที่ล่าลายมือชื่อกันอย่างไม่เห็นแก่ เหน็ดเหนื่อย ครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่ผู้ใช้แรงงาน ได้ล่าลายมือชื่อตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2553 ครบหมื่นชื่อด้วยความพร้อมเพียงกันในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้จะได้นำรายชื่อทั้งหมดเสนอต่อประธานรัฐสภา จึงอยากเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกันและยังคงเปิดรับลายมือชื่อเพิ่มอีก” 

(ดาวโหลดแบบฟร์อม www.voicelabour.org)

โดยในวันนี้ (24 พ.ย. 53) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และกลุ่มเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน เข้ายื่นร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ พ.ศ.(ฉบับบูรณาการแรงงาน) พร้อมนำรายชื่อผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกันตน จำนวน 14,500 รายชื่อ ต่อ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยสาระของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีความเป็นอิสระ และการบริหารงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ การขยายสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกันตน และขยายการคุ้มครองไปสู่แรงงานทุกกลุ่ม รวมทั้งการบริการที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการผลักดันให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ กรรมการมาจากการเลือกตั้ง และประธานกรรมการต้องมาจากการสรรหา รวมทั้งให้มีคณะกรรมการตรวจสอบคณะกรรมการการลงทุน และคณะกรรมการการแพทย์ ทั้งนี้ เป็นการยื่นร่างกฎหมาย เพื่อเข้าไปประกบกับร่างของรัฐบาลที่มีอยู่ในวาระการพิจารณาของสภาแล้ว

ที่มาข่าว:

ครบแล้วหมื่นกว่าชื่อผู้นำแรงงานเตรียมเสนอกฎหมายประกันสังคม (สื่อสารแรงงาน, 24-11-2553)
http://voicelabour.org/?p=1303

“ภาคแรงงาน”ยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (เดลินิวส์, 24-11-2553)
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=8&contentID=106052

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผบ.ตร.เล็งส่งมือเอ็ม 79 ให้ดีเอสไอสอบต่อ

Posted: 24 Nov 2010 06:46 AM PST

24 พ.ย. 53 - ที่รัฐสภา พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงการจับกุมตัว นายวัลลภ พิธีพรม พร้อมพวก รวม 5 คน ในคดียิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ในสถานที่ต่างๆ ในระหว่างที่มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ว่า เชื่อว่าจะมีโอกาสสาวไปถึงตัวผู้บงการและผู้ร่วมกระทำความผิดรายอื่นๆ ซึ่งการที่ผู้ต้องหารับสารภาพ เพราะจำนนต่อหลักฐาน หลังจากนี้ จะส่งเรื่องไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต่อไป แต่ในระหว่างนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องสอบสวนหาพยานหลักฐานไปพลางๆ ก่อน ทั้งนี้ สาเหตุที่มีการจับกุมผู้ต้องหาได้มากขึ้นในช่วงเวลานี้ เป็นผลมาจากการทำงานอย่างเป็นระบบของตำรวจ ทั้งภูธรภาค 5 ภาค 1 และนครบาล

เมื่อถามว่า จากการสอบสวนพบว่า ผู้ต้องหาที่จับกุมได้ชุดนี้มีความเชื่อมโยงกับเหตุระเบิดก่อนหน้านี้ เช่น สมานเมตตาแมนชั่น จ.นนทบุรี หรือไม่ พล.ต.อ.วิเชียร ตอบว่า ยอมรับว่ามีความเชื่อมโยง แต่ต้องสืบหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่ามีหลักฐานเชื่อมโยงในคดีก่อการร้ายใช่หรือไม่ ผบ.ตร. กล่าวว่า “ใช่ครับ” เมื่อถามว่าขณะนี้ยังมีกลุ่มผู้ก่อเหตุที่ต้องติดตามจับกุมอีกจำนวนเท่าไหร่ พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวว่า ยังมีอีกพอสมควรที่ต้องติดตามจับกุม

ทำแผนประกอบคำรับสารภาพ 4 จุด

ที่จังหวัดเชียงใหม่ พล.ต.ต.สมศักดิ์  จันทะพิงค์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ได้นำตัวนายวัลลภไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพการก่อเหตุเพิ่มอีก 4 จุดในพื้นที่ ประกอบด้วยที่ห้างแม็คโคร โรงงานเฟอร์นิเจอร์ กรมรบพิเศษที่ 5 ค่ายขุนเณร และบ้านของนายคะแนน สุภา พ่อตาของนายเนวิน ชิดชอบแกนนำพรรคภูมิใจไทย ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของตำรวจคอมมานโด

"ขณะนี้กำลังขยายผลเพื่อจับกุมตัวผู้ต้องหาที่ร่วมก่อเหตุ เบื้องต้นยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ มีอยู่ 2-3 รายที่สามารถออกหมายจับได้แล้ว แต่ยอมรับว่าผู้ต้องหาที่มาทำแผนในวันนี้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ผู้ต้องหานักรบแดง 11 คน ที่จับได้ในจังหวัดเชียงใหม่" พล.ต.ต.สมศักดิ์ กล่าว

“สุเทพ” เผยพบการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารผู้ต้องหายิงเอ็ม 79

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ตำรวจจับกุมนายวัลลภ พิธีพรม ผู้ต้องหายิงระเบิดเอ็ม 79 ป่วนกรุงได้ ว่า ต้องขอบคุณตำรวจภูธรภาค 1 และภาค 5 ที่ร่วมมือติดตามผู้กระทำผิด จนจับกุมได้พร้อมพยานหลักฐาน จากการสอบสวนผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ และเห็นว่ามีความเชื่อมโยงทำเป็นกระบวนการ สังเกตได้จากการโทรศัพท์และการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะรวบรวมหลักฐานและขยายผลต่อไป ซึ่งตนขอไม่ลงลึกรายละเอียดของคดี ที่เกี่ยวกับท่อน้ำเลี้ยง เนื่องจากเป็นเรื่องของตำรวจ และเมื่อดำเนินการสอบสวนตามกระบวนการทุกอย่างเสร็จสิ้น ตำรวจจะรายงานให้ทราบอีกครั้ง

ต่อข้อถามว่ามีการตรวจสอบถึงผู้จ้างวานหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่ขอแสดงความเห็น เพราะไม่อยากนำไปเชื่อมโยงให้เป็นประเด็นทางการเมือง แต่จากพยานหลักฐานมีความชัดเจนว่ามีการโอนเงินจากบุคคลใดไปเข้าบัญชีผู้ต้อง หาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสอดคล้องกับวันที่มีการก่อเหตุยิงเอ็ม 79 ใส่สถานที่ต่าง ๆ ส่วนจะสาวถึงผู้บงการได้หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า คาดหวังไม่ได้ แต่จากการทำงานของเจ้าหน้าที่ทำให้เห็นถึงความชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น และใครเป็นผู้สนับสนุน การจับกุมครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ายังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่ยังนิยม ความรุนแรงอยู่

จตุพรชี้จับมือยิงหวังใส่ร้ายเสื้อแดง

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่าหลังจากที่ตำรวจจับกุมนายวัลลภ หรือป้อม พิธีพรม ผู้ต้องหาที่อ้างว่าก่อเหตุยิงเอ็ม79 ใส่สถานที่สำคัญหลายแห่งในกทม. และเชียงใหม่ คาดว่าจะส่งคดีนี้ไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ดำเนินการต่อ จะมีการสร้างเรื่องโกหกใส่ร้ายคนเสื้อแดงเหมือนกับที่ทำเมื่อมีการจับกุม บุคคลที่อ้างว่าเป็น 11 นักรบแดงได้ที่จ.เชียงใหม่

"เชื่อว่าที่สุดแล้วจะเอาคนเหล่านี้เข้าสู่โครงการคุ้มครองพยานและมีการ ใส่ร้ายพวกเหมือนกับที่ทำกับ 11 นักรบแดง ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่ามีการดำเนินการลอบสังหารนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง โดยคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปเพื่อต้องการไม่ให้รัฐบาลไม่รับความผิด ในข้อหาทำร้ายประชาชน" นายจตุพร กล่าว

“เมีย” วัลลภ เผยไม่ใช่การ์ดเสื้อแดง เป็นคนใจกว้าง

หลังจากที่ตำรวจจับกุมนายวัลลภ พิธีพรม หรือป้อม ผู้ต้องหาที่อ้างว่าก่อเหตุยิงเอ็ม79 ใส่สถานที่สำคัญหลายแห่งในกทม. และเชียงใหม่ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ น.ส.อัจจิมาพร สุพรรณ ภรรยานายวัลลภ ที่บ้านพักอยู่บ้านเลขที่ 116/47 (บ้านบุ่งคุก) ถ.อินใจมี ต.ท่าอิฐ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์
 
น.ส.อัจจิมาพร บอกว่า ได้รู้จักและอยู่กินกับนายวัลลภช่วงเป็นอาสาสมัครกู้ภัยเทศบาลตำบลท่าเสา อ.เมือง จนมีพยานรัก 1คน ชื่อ ด.ญ.เบญญาพร พิธีพรม วัย 3 เดือนเศษ โดยนิสัยส่วนตัวของสามีแล้วเป็นคนดี ใจกว้าง แต่หลังสามีก่อเหตุยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่อาคารมูลนิธิอุตรดิตถ์สงเคราะห์ หลบหนีไปก็ไม่ได้ติดต่อ หรือกลับมาหาอีกเลย จนมาทราบข่าวว่าถูกจับดังกล่าว
 
"ไม่เชื่อว่าสามีจะเป็นการ์ดและสมาชิกกลุ่มคนเสื้อแดง หรือยิงเอ็ม 79 ถล่มบ้านพ่อตานายเนวิน ชิดชอบ แต่สามีเป็นคนมีอุดมการณ์สูง ชอบช่วยเหลือคน ทราบข่าวว่าถูกจับก็อยากเจอหน้าแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ทุกวันนี้ก็ต้องขายเสื้อผ้ามือสองหาเงินมาเลี้ยงลูกสาว ยังดีที่แม่ยังคอยช่วยเหลือบ้าง” น.ส.อัจจิมาพร กล่าว
 
ด้านนายสิทธิชัย เจริญธนะจินดา นายกเทศมนตรีตำบลท่าเสา อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า นายวัลลภ เป็นอาสาสมัครก็ภัยเทศบาลท่าเสา แต่ไม่ประจำช่วงมีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่ง ชาติ (นปช.) และกลุ่มคนเสื้อแดง ก็หายไปจากกู้ภัย
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาว่า นายวัลลภสมัครเข้าเป็นสมาชิก นปช. และ เป็นการ์ดของ นปช. ซึ่งอยู่ในทีมเดียวกับ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธแดง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบบกที่ถูกยิงเสียชีวิตก่อนสลายการชุมนุมแยกราชประสงค์ เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก:

ผบ.ตร.เล็งส่งมือยิง M79 ให้ DSI สอบต่อ (ไทยรัฐออนไลน์, 24-11-2553)
http://www.thairath.co.th/content/pol/129328

“สุเทพ” เผยพบการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารผู้ต้องหายิงเอ็ม 79 ป่วนกรุง (สำนักข่าวไทย, 24-11-2553)
http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/134136.html

จตุพรชี้จับมือยิงM79หวังใส่ร้ายเสื้อแดง (โพสต์ทูเดย์, 24-11-2553)
http://bit.ly/g1Wus2

เปิดใจภรรยา 'วัลลภ' ปัดเป็นการ์ดเสื้อแดง (โพสต์ทูเดย์, 24-11-2553)
http://bit.ly/eYAUBz

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: ชาวบ้านคอนสารเดินขบวนทำความเข้าใจ “คดีโลกร้อน” เผยโดนฟ้องค่าปรับล้านกว่า

Posted: 24 Nov 2010 05:17 AM PST

ชาวบ้าน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ พร้อมด้วยสมาชิก คปอ.เดินรณรงค์ทำความเข้าใจกรณีการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ทับที่ทำกิน ทำชาวบ้านถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายโลกร้อนกว่าล้านบาท ด้านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ รับลงพื้นที่ตรวจสอบ-ฟังปัญหา พร้อมนายอำเภอ 3 ธ.ค.นี้

 
การเดินรณรงค์มีอุปกรณ์การให้จังหวะ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "กะลอ" เป็นไม้ไผ่เจาะช่องเล็กๆ เคาะแล้วจะเกิดเสียง โดยในบางหมู่บ้านใช้เพื่อการแจ้งเตือนภัย และเรียกประชุม 
 
 
"ป๊อกๆๆๆ เฮาเดือดฮ้อน...เพราะเฮ็ดอยู่เฮ็ดกินบ่ได้....พี่น้องเอ้ย"
 
หยุด ชาวบ้านไม่ยอมรับมติ ครม.30 มิ.ย.41
 
ทั้งเด็กและผู้สูงอายุร่วมเดินขบวน
 
 
เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2553 ชาวบ้าน ต.ทุ่งลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ พร้อมด้วยสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ได้เดินรณรงค์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกรณีการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้งทับซ้อนกับที่ดินของเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านที่ทำกินในพื้นที่ดังกล่าวถูกจับกุมดำเนินคดีพร้อมด้วยการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง ในข้อหาบุกรุก แผ้วถาง ยึดถือครอบครองพื้นที่ป่า เป็นเงินรวม 1,155,860.97 บาท จากผู้เดือดร้อน 8 ราย โดยการคำนวณค่าเสียหายดังกล่าว คิดจากปริมาณน้ำที่สูญหาย ค่าเสียหายจากดินที่สูญหาย และค่าเสียหายจากปุ๋ยในดินสูญหาย รวมทั้งค่าเสียหายจากอุณหภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นด้วย
 
นอกจากนี้ยังมีชาวบ้าน 2 รายที่คดียังอยู่ในชั้นพนักงานอัยการ และอีก 6 รายมีคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ให้ตัดต้นยางออกจากพื้นที่ภายใน 2 วัน หากไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป รวมทั้ง ผู้โดนคดีที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเครือข่ายฯ อีก 1 คน โดยตอนนี้ต้องโทษจำคุกนาน 6 เดือนเนื่องจากไม่มีเงินเพื่อชำระค่าปรับ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรณรงค์ในครั้งนี้ส่งผลให้เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้งรับที่จะเร่งลงตรวจสอบพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหา และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันกับกลุ่มชาวบ้านอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 3 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ โดยจะมีหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ และนายอำเภอมาร่วมรับฟังปัญหาพร้อมตรวจสอบพื้นที่พิพาท
 
 
 
แถลงการณ์
คืนอำนาจการจัดการทรัพยากรให้ชุมชน หยุดขับไล่คนจนด้วยกฎหมายไม่เป็นธรรม”
 
นับเป็นเวลากว่า 114 ปีที่ประเทศไทยได้กำเนิดหน่วยงานด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้ขึ้นมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2439 ที่ก่อตั้งกรมป่าไม้ กระทั่งปัจจุบันได้แบ่งส่วนบริหารออกเป็น 3 กรม ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กล่าวได้ว่า การจัดการทรัพยากรป่าไม้ ได้มุ่งรวมศูนย์อำนาจไว้ที่หน่วยงานรัฐโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้เกิดข้อพิพาทและความขัดแย้งกับประชาชนมาโดยตลอด โดยมีรูปธรรมของปัญหาคือ การประกาศเขตพื้นที่ป่าไม้ทับซ้อนกับที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยของประชาชน รวมทั้งการอพยพขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ทำกินเดิมเพื่อกำหนดเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายต่อไป
 
ปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวข้างต้นยังคงดำรงอยู่โดยทั่วไปในแทบทุกพื้นที่ของประเทศ ทั้งนี้เป็นเพราะแนวทาง นโยบายของรัฐไทยไม่เคยมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับพัฒนาการและความเป็นจริงของสังคม หากยังมุ่งใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้น รวมทั้งยังเพิ่มเงื่อนไขในการคุกคามประชาชนเพิ่มมากขึ้น ดังเช่น การฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน ในการเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง หรือ “คดีโลกร้อน” เช่นในปัจจุบัน
 
เครือข่ายองค์กรชาวบ้านเทือกเขาเพชรบูรณ์ คือกลุ่มชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากปัญหาข้อพิพาทด้านที่ดินและทรัพยากรในเขตภูมินิเวศน์เทือกเขาเพชรบูรณ์ มีความเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องปรับเปลี่ยนทิศทางการจัดการทรัพยากรป่าไม้ โดยมุ่งเน้นสนับสนุนสิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น หยุดคุกคามข่มขู่ดำเนินคดีกับประชาชนโดยใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อน หาใช่การกำหนดขึ้นมาจากผู้มีอำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียวเช่นในอดีต หาไม่แล้วปัญหาความขัดแย้งจะยังคงดำรงอยู่และไม่สามารถสร้างความสันติสุขให้บังเกิดขึ้นได้ในสังคม
 
สมานฉันท์
เครือข่ายองค์กรชาวบ้านเทือกเขาเพชรบูรณ์
 
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน:“คนสุรินทร์จะอยู่อย่างไรกับโรงไฟฟ้าชีวมวล 7 แห่ง”

Posted: 24 Nov 2010 03:26 AM PST

เครือข่ายประชาชนจังหวัดสุรินทร์ หาทางออกร่วมกันจะจัดการพลังงานอย่างไรให้เป็นสุข ท่ามกลางกระแสพลังงานทางเลือกที่ทำให้โรงไฟฟ้าชีวมวลผุดขึ้น 7แห่งทั่วจังหวัด

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 เครือข่ายประชาชนจังหวัดสุรินทร์และคณะทำงานพลังงานยั่งยืนจังหวัดสุรินทร์ ได้ร่วมกันจัดเวที “คนสุรินทร์จะจัดการพลังงานอย่างไรให้ชุมชนเป็นสุข” ขึ้น ณ ห้องประชุมศูนย์การศึกษาการเรียนรู้ตามอัธยาศัย อำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์ โดยมีผู้เข้าร่วมจากพื้นที่ตำบลต่างๆ ที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าชีวมวลของจังหวัดสุรินทร์และผู้สนใจทั่วไปประมาณ ๑๐๐ คน เนื้อหาในเวทีกล่าวถึง สถานการณ์และระบบพลังงานของประเทศไทยและทางเลือกการจัดการพลังงานในจังหวัดสุรินทร์ที่ควรจะเป็น

สันติ โชคชัยชำนาญกิจ กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือก
กล่าวว่า แผนพัฒนาความต้องการไฟฟ้าหรือพีดีพีของประเทศไทยปัจจุบันนี้มีการคาดการณ์เกินจริง จึงทำให้มีนโยบายในการพัฒนาโรงไฟฟ้าเพื่อให้เกิดพลังงานสำรองในประเทศมากขึ้น รวมถึงขยายระยะเวลาการคาดการณ์พลังงานจาก 15 ปีเป็น 20 ปี  ซึ่งเห็นว่าเป็นการคาดการณ์ที่ยาวนานเกินไป และทำให้นโยบายการขยายโรงไฟฟ้าในประเทศไทยมีสูงขึ้น รวมไปถึงพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่รัฐบาลพยายามจะผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศ ในขณะที่หลายประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นยุโรปและอเมริกา ยังประสบปัญหาการจัดการผลกระทบ ความปลอดภัย และกระบวนการผลิตจากโรงงานนิวเคลียร์ไม่ได้ แต่กฟผ.ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักก็ยังเสนอในแผนว่าจะต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และพลังงานอื่นให้ได้ ซึ่งทำให้หลายพื้นที่โดยเฉพาะในภาคใต้และภาคตะวันออกมีการคัดค้านจากประชาชนอย่างหนัก ในพื้นที่ภาคอีสานมีการประกาศแล้ว 1 พื้นที่ คือจังหวัดอุบลราชธานี  จากการศึกษาข้อมูลของกลุ่มพบว่า แม้ในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนโรงไฟฟ้าและปริมาณไฟฟ้าในประเทศในปัจจุบันก็ยังสูงกว่าความต้องการและสูงกว่าปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศ เพราะฉะนั้นการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมอาจจะไม่จำเป็นสำหรับในประเทศไทย

           
วิจิตรา ชูสกุล ตัวแทนคณะทำงานพลังงานยั่งยืน กล่าวว่า สถานการณ์พลังงานในจังหวัดสุรินทร์ ภายใต้กระแสพลังงานทางเลือก ทำให้มีกลุ่มทุนท้องถิ่นได้ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานทางเลือกมากขึ้น ปัจจุบันในจังหวัดสุรินทร์มีโรงไฟฟ้าชีวมวลแล้วจำนวน 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้ากรีนพาวเวอร์ ต.บุฤาษีของกลุ่มทุนโรงสีข้าวมุ่งเจริญพร โดยใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงหลักและโรงไฟฟ้าสุรินทร์จำกัดของโรงงานน้ำตาลจังหวัดสุรินทร์ โดยใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงหลัก นอกจากนั้นยังมีโรงไฟฟ้าชีวมวลอีกจำนวน 4แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 1แห่งกำลังยื่นขอใบอนุญาตจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้ามุ่งเจริญพร แห่งที่ 2 จำนวน 17 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าสุรินทร์ไบโอพาวเวอร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ 9.9 เมกะวัตต์ , โรงไฟฟ้าสังขะ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ 9.9 เมกะวัตต์ , โรงไฟฟ้า อ.รัตนบุรี . จ.สุรินทร์  จำนวน 0.9 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ต.ตาอ็อง อ.เมือง จ.สุรินทร์ จำนวน 3.15เมกะวัตต์ โดยคาดว่าปริมาณไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าทั้งหมดจะผลิตได้ประมาณ ๘๐.๗๕ เมกะวัตต์

โดยความคืบหน้าของการดำเนินการโรงไฟฟ้าในแต่ละแห่ง มีความแตกต่างกัน และในระดับพื้นที่ก็ทางเจ้าของโรงไฟฟ้าก็ได้จัดเวทีประชาพิจารณ์ต่อชุมชนไปแล้วเป็นส่วนใหญ่และมีแนวโน้มว่าจะสามารถตั้งโรงไฟฟ้าได้ครบทั้ง ๗ แห่ง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่า การจัดการพลังงานได้เข้าไปอยู่มือของกลุ่มทุนท้องถิ่นแล้ว ท่ามกลางการเปิดนโยบายให้เอกชนสามารถลงทุนในกิจการพลังงานของรัฐได้ แต่ปัญหาในระดับพื้นที่จากโรงไฟฟ้า ๒ แห่ง   ก็ยังมีมากมายทั้งเรื่องผลกระทบทางอากาศ ที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองในน้ำดื่มและเสื้อผ้าที่ตากไว้นอกบ้าน เป็นต้นเมื่อมีโรงไฟฟ้ามากมายขนาดนี้แล้วคนสุรินทร์จะร่วมกันจัดการพลังงานอย่างไร

ตัวแทนชุมชนกันตร็วจสมวล อ.ปราสาท กล่าวว่า ฟังข้อมูลด้านพลังงานแล้ว ก็คิดหนัก เพราะไม่รู้ว่าจะหาทางออกหรือหาความสุขได้อย่างไร โรงไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น ดูชื่อเจ้าของแล้วก็หนักใจเพราะเป็นผู้มีชื่อเสียงในจังหวัดทั้งนั้น การกำกับติดตามปัญหาผลกระทบที่ผ่านมาก็เป็นไปได้ยาก และปรากฏการณ์ที่เกิดในพื้นที่ขณะนี้คือ ป่าไม้ต่างๆลดลงมาก หากโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นจริง การเข้าถึงข้อมูลที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ก็เป็นเรื่องยากมาก

ตัวแทนตำบลในเขตรัตนบุรี กล่าวว่า ในขณะนี้ชาวบ้านและอบต.ในพื้นที่ยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าเลย รู้แต่ว่าจะผลิตไฟจำนวน 0.9 เมกะวัตต์โดยใช้แกลบ แต่ผมประเมินว่า แกลบในเขตตอำเภอรัตนบุรีคงใช้ได้เพียง 3 เดือน แต่พื้นที่ของตำบลมีป่ายูคาและป่าธรรมชาติเป็นจำนวนมาก เกรงว่า ต่อไปคงทำให้ป่าและต้นไม้ที่ชาวบ้านพึ่งต่อสู้กับรัฐจนได้สิทธิคืนมานั้นต้องสูญหายไปกับโรงไฟฟ้าอย่างแน่นอน และในระดับตำบลก็ต้องข้อมูลความชัดเจนทั้งด้านลบและด้านบวกมากกว่านี้

โดยในเวทีได้มีการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการเสนอทางออกในการจัดการพลังงานท่ามกลางความกังวลใจของภาคประชาชน โดยมีข้อเสนอสำคัญๆคือ ในระดับพื้นที่ต้องมีปฏิบัติการพลังงานชุมชนทางเลือกทั้งระดับครอบครัว เช่น การผลิตไฟฟ้าหรือแก๊สจากชีวภาพจริงๆ เช่น มูลสัตว์ หรือมูลคน หรือปฏิบัติการเกษตรอินทรีย์เพื่อยืนยันในพลังงานทางเลือกของระดับครัวเรือน ระดับชุมชนคือ การคิดค้นการจัดทำโรงไฟฟ้าของชุมชน อาจจะบริหารงานโดยองค์กรท้องถิ่นหรือการจัดการในนามสหกรณ์ชุมชนในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าของชุมชนเองได้ ระดับนโยบายได้มีการเสนอให้มีเครือข่ายประชาชนและเครือข่ายคณะทำงานติดตามกำกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อให้โรงไฟฟ้ามีการปรับปรุงระบบและประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าและมีการผลักดันเชิงนโยบายเกี่ยวกับไฟฟ้าให้เหมาะสมร่วมกัน การกระจายข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าให้คนในจังหวัดสุรินทร์ได้รับรู้มากขึ้น

           
ขณะนี้จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่กำลังจะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลมากที่สุดในภาคอีสาน และโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่มีกำลังการผลิตไม่ถึง 10 เมกะวัตต์ มีขนาดเพียง 9.9 เมกะวัตต์ ซึ่งทำให้ไม่ต้องมีการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม   ซึ่งทำให้ไม่มีมาตรการที่แน่ชัดในการเตรียมการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นผลกระทบในระยะยาวต่อประชาชนในพื้นที่ และต่อไปคำขวัญจังหวัดสุรินทร์ที่ว่า “สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ปะคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม” อาจจะต้องต่อท้าย “มากล้ำโรงไฟฟ้า” ก็เป็นได้

 

ไพรินทร์ เสาะสาย, เสียงคนอีสาน รายงาน

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วาทกรรมจริยธรรมและรัฐประหาร

Posted: 24 Nov 2010 02:58 AM PST

ทำไมระยะหลังมานี้สังคมไทยจึงดูเหมือนจะเอียนกับคำว่า “จริยธรรม” หากมองย้อนกลับไป สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจาก การที่สื่อ นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย (รวมทั้งตัวผมด้วยในเวลานั้น) ชู “ประเด็นจริยธรรม” มาขับไล่ทักษิณ

แล้วเรื่องจริยธรรมก็ถูกทำให้คลุมเครือ เช่น เป็นเรื่องของความรู้สึก เป็นเรื่องจิตสำนึกส่วนบุคคล ชี้ถูก-ผิด หรือพิสูจน์ให้สาธารณชนเห็นตรงกันไม่ได้เหมือนประเด็นทางกฎหมาย ฉะนั้น เรื่องจริยธรรมจึงเอามาเป็นประเด็นทางการเมืองไม่ได้
 
แต่ในความเป็นจริง เราจะพูดถึงสังคม-การเมือง หรือรัฐที่ดีไม่ได้ ถ้าไม่มีความคิดพื้นฐานทางจริยศาสตร์บางอย่างรองรับ เช่น ในทางสังคม-การเมือง ที่เรายอมรับหรือเคารพความเสมอภาคตามกฎหมาย เท่ากับเรายอมรับความคิดพื้นฐานทางจริยศาสตร์ที่ว่าความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวมันเองซึ่งละเมิดมิได้ การละเมิดความเสมอภาคในความเป็นคนเป็นสิ่งผิดจริยธรรม เป็นต้น
 
ทว่าเมื่อเราพูดถึงเรื่องจริยธรรมในสังคมไทย จะพบว่ามีความสับสนอย่างมาก เช่น
 
1. เรามองเรื่อง “จริยธรรม” คู่กับ “คนดี” ฉะนั้น เราจึงสรุปว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของตัวบุคคล หรือเป็นเรื่องแล้วแต่จิตสำนึกของแต่ละคน ซึ่งมุมมองเช่นนี้ถูกต้องถ้าหมายถึงจริยธรรมทางศาสนาที่เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมเพื่อเข้าถึงพระเจ้า หรือบรรลุนิพพาน หรือเพื่อให้มีความสุข ความสำเร็จส่วนตัวอื่นๆ
 
แต่ตามความคิดทางจริยธรรมตะวันตก คำว่า “คนดี” จะคู่กับคำว่า “คุณธรรม” ซึ่งคุณธรรมหมายถึง “ความเป็นเลิศ” ของบุคลิกภาพ (character) หรือลักษณะนิสัย (habit) ในด้านต่างๆ เช่น โสเครตีส มีบุคลิกภาพเป็นเลิศในด้านปัญญา พระเยซูเป็นเลิศในด้านความรักและความเสียสละ เป็นต้น
 
ส่วนคำว่า “จริยธรรม” จะคู่กับคำว่า “หน้าที่” คือ จริยธรรมมีสถานะเป็นกฎ หรือหลักการสากลอันถือเป็นหน้าที่ซึ่งทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติร่วมกัน เพื่อปกป้องคุณค่า ศักดิศรีความเป็นมนุษย์ หรือความผาสุกของสังคม
 
เช่น หลักจริยธรรมสากลของคานท์ หลักประโยชน์นิยมของมิลล์ ซึ่งต่อมานักปรัชญาอื่นๆ ได้พัฒนาหลักจริยธรรมในฐานะที่เป็นหน้าที่ซึ่งเราต้องปฏิบัติเป็นหลักจริยธรรมสากลหรือจริยธรรมภาคสาธารณะ คือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม ซึ่งกลายมาเป็นพันธสัญญาพื้นฐานของระบบสังคม-การเมือง
 
ฉะนั้น จริยธรรมจึงมีความหมายเป็นพันธะสัญญาทางสังคมที่ทุกคนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเพื่อปกป้องคุณค่าของมนุษย์ และความผาสุกร่วมกัน พูดอย่างเจาะจงคือการมีจริยธรรมสากลก็คือการเคารพหลักการประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนนั่นเอง
 
ซึ่งถ้ามองจากกรอบของสังคม-การเมือง จริยธรรมสากลต้องเหนือกว่าจริยธรรมหรือคุณธรรมส่วนบุคคล เพราะจริยธรรมสากลเป็นหลักการหรือกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกันในสังคม ขณะที่จริยธรรมหรือคุณธรรมส่วนบุคคลเป็นหลักปฏิบัติเพื่อความสำเร็จหรือความสุขส่วนตัว
 
2. แต่ความหมายของจริยธรรมที่ใช้กันในบ้านเรานั้นสับสนมาก เช่น มีการโปรโมทการชุมนุมทางการเมืองว่าใช้ธรรมนำหน้า มาทำบุญ มาตอบแทนคุณแผ่นดิน ฯลฯ เป็นการใช้ “วาทกรรมจริยธรรม” เพื่อ 1) สร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองดูเป็นคนดี ในขณะเดียวกันก็เหยียดฝ่ายที่ตนเองกล่าวหาว่าไร้จริยธรรมเป็นคนเลวทราม 2) เชิดชูคนมีจริยธรรมหรือคนดีเหนือหลักการ ถ้าพวกฉันเป็นคนดี หรือถ้าเป็นคนดีมีคุณธรรมก็สามารถล้มหลักการได้ (เช่น มีการชุมนุมที่ละเมิดกฎหมาย ทำรัฐประหาร ฯลฯ)
 
หลายๆ ครั้งเราจะเห็นการอ้างความเป็นคนดีทางศาสนา เช่น ถือศีล 8 กินมังสวิรัติ การเข้าวัดปฏิบัติธรรม ฯลฯ มาสร้างความน่าเชื่อถือในทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะความดีที่กล่าวอ้างนั้นเป็นคุณธรรมทางศาสนา หรือจริยธรรมส่วนบุคคลไม่เกี่ยวกับจริยธรรมทางการเมือง หรือจริยธรรมประชาธิปไตย
 
การมีคุณธรรมทางศาสนา หรือจริยธรรมส่วนบุคคลจะมีความหมายต่อจริยธรรมทางการเมือง หรือจริยธรรมประชาธิปไตย ก็ต่อเมื่อสามารถทำให้จริยธรรมส่วนบุคคลนั้นสนับสนุนจริยธรรมประชาธิปไตย (เช่น กรณีคุณมด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนาช่วยให้มีจิตใจเข้มแข็งในการต่อสู้เพื่อคนยากจน เป็นต้น) ไม่ใช่ใช้คุณธรรมทางศาสนาสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ตนเอง แล้วก็ทำตัวเป็นคนดีเหนือหลักการ หรือเหนือหลักจริยธรรมประชาธิปไตย
 
ในทางตรงกันข้าม แม้ไม่อ้างอิงคุณธรรมทางศาสนา หากยึดมั่นในหลักจริยธรรมสากล หรือจริยธรรมประชาธิปไตยก็ถือว่ามีจริยธรรมทางการเมืองที่สมบูรณ์ในตัวเองแล้ว
 
พูดตรงๆ คือ เวลาเราพูดถึงคำว่า “จริยธรรม” ในบริบทของสังคม-การเมือง ก็เท่ากับเรากำลังพูดถึงจริยธรรมสากล จริยธรรมภาคสาธารณะ หรือจริยธรรมประชาธิปไตยนั่นเอง
 
การกล่าวอ้าง ธรรมนำหน้า มาทำบุญเพื่อประเทศ ตอบแทนคุณแผ่นดิน อ้างความเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัด อ้างการถือศีลกินเจใดๆ แต่ละเลยหรือละเมิดหลักจริยธรรมสากล จริยธรรมภาคสาธารณะ หรือจริยธรรมประชาธิปไตย ย่อมเป็นการกล่าวอ้าง “วาทกรรมจริยธรรม” ที่ไร้ความหมาย
 
นอกจากไร้ความหมายแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นว่าคงมีประเทศนี้ประเทศเดียวกระมังที่มีการอ้างคุณธรรมทางศาสนา อ้างวาทกรรมจริยธรรม เพื่อให้สิทธิพิเศษแก่คนดีมีศีลธรรมล้มหลักการประชาธิปไตยได้
 
น่าอนาถ “วาทกรรมจริยธรรม” ในบ้านเมืองนี้ไหมครับ ที่จนบัดนี้เหล่าคนดีมีศีลธรรมสูงส่งยังป้องปากตะโกนเรียกให้ทหารออกมาทำรัฐประหารกันอยู่อีก!
 
 
 
        
 
 
 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์: ความจริง-การเมือง-กฎหมายหมิ่นในทรรศนะ"เดวิด สเตรกฟัสส์"

Posted: 24 Nov 2010 02:39 AM PST

ปฏิบัติการเกาะติดและสะกดรอยผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้มข้นยิ่งขึ้น   ในปรากฏการณ์ความขัดแย้งเหลืองแดงกว่าครึ่งทศวรรษ "คดีหมิ่น" ขึ้นสู่ศาล430 คดี  ขณะนี้จำนวนคดีหมิ่นพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ"ประชาชาติธุรกิจ" ติดตาม-ฉายภาพ"คดีหมิ่น"จากแว่นของเดวิด สเตรกฟัสส์(David Streckfuss) นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ และทำงานในฐานะนักมานุษยวิทยาในภาคอีสาน  ผู้เขียนหนังสือที่อาจหาอ่านจากเมืองไทยไม่ได้ชื่อTruth on Trial in Thailand :Defamation, Treason, and LeseMajeste  (การดำเนินคดีกับความจริงในเมืองไทย : กฎหมายหมิ่นประมาท, ข้อหากบฏ, และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

Q:ในฐานะที่เป็นฝรั่งศึกษาประเทศไทยมองการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในการ เมืองไทยอย่างไร

A:ช่วงนี้ไม่ว่าฝรั่งหรือไทยหลายคนก็เริ่มมองเหมือนกันว่า การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่เหมือนกฎหมายอื่นหลายอย่าง ถ้าเป็นหมิ่นประมาทธรรมดาก็เป็นผู้เสียหายเท่านั้นที่เป็นผู้ฟ้องร้อง แต่ในเมืองไทยไม่มีข้อจำกัด ผู้ที่สามารถฟ้องร้องบุคคลที่เขาคิดว่ากำลังหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อีกอันหนึ่งที่ไม่เหมือนกันระหว่างกฎหมายหมิ่นคนธรรมดากับหมิ่นพระบรมเดชานุ ภาพ คือในการพิจารณาคดีของศาลหรือในยุทธศาสตร์การต่อสู้ของจำเลย ถ้าเป็นหมิ่นประมาทธรรมดามีข้อยกเว้น หากเป็นความจริงมีประโยชน์ต่อสาธารณะหรือแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตแต่กฎหมาย หมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่มีข้อยกเว้น

อีกอย่างหนึ่งที่แตกต่างจากหมิ่นประมาทธรรมดาอาจจะเห็นในต่างประเทศ คือ การวิจารณ์ถึงคนที่อยู่ในสายตาสาธารณะยิ่งต้องมีข้อยกเว้นจาก ศาล  (จากกฎหมาย)สำหรับผู้ที่ถูกพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือข้าราชการ หรือแม้แต่ดาราหรือใครก็ตามที่อยู่ในสายตาของสาธารณะแต่กฎหมายในประเทศเหล่า นั้นก็คุ้มครองhead of the state ก็ได้ หรือนายกรัฐมนตรีก็ได้ ซึ่งอาจจะคุ้มครองกรณีที่มีผู้ใช้คำหยาบหรือดูหมิ่น เช่น กล่าวหาว่าไปฆ่าคนอื่น หรือกล่าวหาเรื่องส่วนตัว ขณะที่หากเป็นเรื่องสาธารณะเขาก็ไม่คิดจะฟ้องแต่จะใช้วิธีโต้ตอบผ่านสื่อมากกว่า

 

Q: ดังนั้น หลักการคือยิ่งเป็นบุคคลสาธารณะ เช่น นักการเมือง นายกรัฐมนตรี ยิ่งควรเปิดโอกาสที่จะพูดถึงแล้วกรณีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศอื่น ๆ เป็นอย่างไร

A:ประเทศประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ประเทศอื่นก็มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเหมือนกัน เช่น สเปน มีโทษจำคุกถึง3 ปีนอร์เวย์ จำคุกถึง5 ปี แต่มีข้อจำกัด เช่นที่ประเทศนอร์เวย์ ถ้ามีใครดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ถ้าจะดำเนินคดีต้องมาจากความยินยอมของพระมหากษัตริย์เอง ดังนั้นก็มีวิธีการที่จะให้ผู้เสียหาย (พระมหากษัตริย์) บอกว่า อันนั้นมากเกินไปแล้วต้องดำเนินคดี

ดังนั้น หลายประเทศก็อาจจะมีเงื่อนไขว่าเรื่องต้องผ่านราชสำนัก หรือคณะองคมนตรีก่อน คืออย่างน้อยต้องมีการกรองระดับหนึ่ง
 

Q: ผลของกฎหมายไทยที่บัญญัติแบบนี้ส่งผลอย่างไร

A:การกลั่นแกล้งเกิดขึ้นได้ง่ายมากปัญหาคือถ้าตำรวจได้รับแจ้งความแล้ว แม้เขาจะไม่อยากฟ้อง แต่เขาก็ไม่กล้าที่จะยุติการดำเนินคดีนั้น เพราะต้องสอบสวนและส่งให้อัยการอยู่ดี ส่วนอัยการก็ไม่กล้าที่จะไม่ฟ้อง ฉะนั้นเขาก็ส่งให้ศาลในที่สุดศาลชั้นต้นก็ไม่ตัดสินชี้ขาดก็ส่งต่อให้ศาล อุทธรณ์ และแม้แต่ศาลฎีกาก็ดูเหมือนไม่แน่ใจว่าจะตัดสินอย่างไร ก็มี9 คดีที่มาถึงศาลฎีกา ในช่วง5 ปีที่ผ่านมายังไม่พิพากษาและแนวโน้มของกระบวนการที่ไม่มีไกด์ไลน์ก็มีแต่การ ส่งต่อไปจนถึงศาลฎีกาประเด็นคือคนที่ทำคดีก็ไม่กล้ายกคำร้องหรือยกฟ้อง ดังนั้นกลั่นแกล้งง่ายมาก

         

Q:กฎหมายนี้ดูเหมือนถูกนำมาใช้ทางการเมืองมากกว่าจะหวังผลทางกฎหมายหรือไม่          

A:ถ้าการเมืองอย่างแคบคือการเลือกตั้งแต่การเมืองอย่างกว้างทุกวันนี้ทุกอย่าง ก็มีเรื่องอำนาจอยู่ในตัวมันเอง หมายความว่าทุกอย่างก็เป็นการเมืองอีกแบบหนึ่งมองอย่างกว้าง ถ้านิยามอย่างแคบก็คือนักการเมืองนำกฎหมายนี้มาแกล้งกันมาฟ้องกัน นักการเมืองอาจจะเป็นศัตรูกันจึงฟ้องกัน ถ้าจะพูดว่ากฎหมายนี้ใช้เป็นอาวุธทางการเมืองก็ว่าได้          

แต่เหยื่อของการใช้กฎหมายนี้เป็นใครส่วนมากเราไม่รู้ ความจริงแล้วไม่มีใครมีข้อมูลการฟ้องคดีนี้มากเท่าไร ซึ่งเราก็จะรู้แค่3-4 คดี เช่น ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล,บุญยืน ประเสริฐยิ่ง, สุวิชา ท่าค้อ, แฮรี่นิโคไลดส์ ชาวออสเตรเลีย ฯลฯ ปีที่ผ่านมามี164 คดี ไปถึงศาลชั้นต้นแล้วก็ลงอาญา82 คดี เรามีข้อมูลไม่กี่คดี และช่วงหลังมานี้สำนักงานอัยการไม่ได้รวบรวมสถิติคดีนี้ในรายงานประจำปีของ เขา เดิมทีเขารวมสถิติได้เป็นประโยชน์มาก ซึ่งต่อมาผมก็ต้องใช้สถิติของสำนักงานศาลยุติธรรมแต่ก็ขาดรายละเอียด บางอย่าง
          

Q:ทำไมเลือกศึกษาเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
          
A: ผมไม่ได้สนใจกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเดียว แต่สนใจกฎหมายที่ใช้หลักการเรื่องหมิ่นประมาท คือเริ่มต้นจากผมเป็นลูกศิษย์อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลผมก็พยายามศึกษาความเป็นไทย...หลังจากนั้นก็ดูเรื่องมุมมองความ มั่นคง เช่น สถานะผู้หญิง เด็ก ทุกอย่างก็เกี่ยวกับความมั่นคงศึกษาต่อมาก็ดูกฎหมายหมวดความผิดเกี่ยวกับ ความมั่นคงของประเทศ ก็ดูคำพิพากษาตั้งแต่เรื่องกบฏภายใน เรื่องดูหมิ่นสถานทูตที่เป็นมิตรกับไทย และจึงเริ่มดูกฎหมายที่ใช้หลักการหมิ่นประมาท
          

Q:พบว่ามีการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในสถานการณ์การเมืองที่แตกต่างกันอย่างไร
          
A: ตอนที่ผมเขียนวิทยานิพนธ์ พบว่าหลังจากรัฐธรรมนูญ2540 บางปีไม่มีคดีเลยหรืออาจจะ5 คดีต่อปี แต่ช่วงปี2548 ก็มีการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็เริ่มมีการฟ้องกันเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ... โดยมีการฟ้องร้องกันเต็มที่ภายในไม่กี่เดือน เทียบกันไม่ได้กับในอดีต ก่อนปี2548 ผมยังเขียนเน้นเกี่ยวกับเรื่องหมิ่นประมาทธรรมดาแต่ปี2548 มีการแจ้งความฟ้องร้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากขึ้นไม่หาย
          

Q:สาเหตุที่ในตอนแรกศึกษาคดีหมิ่นประมาทธรรมดาเพราะอะไร
          

A:สนใจกฎหมายที่ใช้หลักการเรื่องหมิ่นและตอนนั้นทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญการใช้ข้อหาหมิ่นประมาทฟ้องร้องคนอื่นเป็นร้อยล้านบาท ในช่วงนั้นทุกคนก็พูดถึงกฎหมายหมิ่นประมาทซึ่งกระทบต่อสื่อมวลชนและตอนนั้น ก็มีคดีของสุภิญญา กลางณรงค์
          

Q:จากการศึกษาพบว่าทักษิณใช้กฎหมายหมิ่นจัดการกับฝ่ายที่วิจารณ์ตัวเขาอย่างไร
          
A:ร้ายแรงมาก มีการใช้คดีแบบนี้เยอะมาก อาจจะมีถึง100 คดีกับสนธิลิ้มทองกุล ก่อนหน้านี้มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เตมียาเวส ที่ใช้กฎหมายนี้เก่งจนดูเหมือนเขาอาจจะขึ้นศาลทุก ๆ2 วัน เพราะฟ้องทั่วประเทศ แต่สู้ทักษิณไม่ได้ เพราะทักษิณใช้กฎหมายนี้เก่งกว่า


Q:เป็นธรรมชาติของนักการเมืองทั่วโลกหรือไม่ ที่ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทจัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

A:ถ้ากฎหมายอำนวยให้ เขาก็คงจะใช้หรือถ้าอัยการและศาลเห็นด้วยในการดำเนินคดี เขาก็คงยิ่งได้อำนาจในการป้องกันตัวเองจากศัตรู โดยทั่วไปการยิ่งใช้กฎหมายหมิ่นประมาท ก็ยิ่งปิดพื้นที่สาธารณะหรือทำให้มันเล็กลง มันก็มีแนวโน้มที่ไม่ไปในทางประชาธิปไตยมากเท่าไร ซึ่งถ้าที่ไหนมีกฎหมายอำนวยให้...คนที่มีอำนาจก็จะใช้กฎหมายนั้นอยู่ดี
         

Q: การที่ใครไปแจ้งความข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ได้ เป็นปัญหาที่มีทางแก้ไขอย่างไรบ้าง
          
A: มีหลายอย่างที่อาจจะช่วยให้คนมีจิตสำนึกมากขึ้นในการใช้กฎหมายนี้ ซึ่งของฝ่ายรัฐบาลเวทีสัมมนากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ มีบางคนก็เสนอว่าใครแจ้งเท็จก็ถูกฟ้องได้ อาจจะถูกจำคุก5 ปีแต่ผมคิดว่าอาจจะเป็นการขยายปัญหาเพราะที่จริงแล้วอะไรที่เป็นการหมิ่นพระ บรมเดชานุภาพ ก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้วและถ้าจะฟ้องคนที่กล่าวหาก็ยิ่งมั่ว เพราะในที่สุดก็เป็นเรื่องเจตนาซึ่งเป็นสิ่งที่วัดยาก
        

Q: ทางออกในการแก้ปัญหา
          
A: ถ้อยคำที่ใช้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็เป็นถ้อยคำตามกฎหมายธรรมดา ที่แต่ละประเทศที่ปกครองแบบนี้ก็อาจจะใช้ได้ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่มาตรา112 แต่ปัญหาอยู่ที่อาจจะต้องมีข้อยกเว้นหรือไกด์ไลน์เพื่อที่จะทำให้ศาลนิยาม ความผิดที่ชัดเจนมากขึ้น ควรจะมีการศึกษาว่าอะไรคือหมิ่นฯ เพราะอะไร ? อะไรไม่เป็นหมิ่นฯ เพราะอะไร ? จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมาก

 

Q:ในฐานะที่อาจารย์ลงพื้นที่ศึกษาแบบมานุษยวิทยา พบว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากลั่นแกล้งกัน ในสังคมไทยสามารถใช้ได้ผล

A:ในความคิดเห็นของผม คิดว่าใน 100 ปีที่ผ่านมามีการพยายามสร้างโมเดลชาตินิยมชนิดหนึ่งที่ปฏิเสธความแตกต่างทาง ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา ชนชั้นหลาย ๆ อย่างโดยพยายามทำให้มันหายไปและก็ที่จริงแล้วช่วงที่อาจจะเข้มแข็งที่สุดก็ คือตอนช่วงต่อต้านคอมมิวนิสต์ให้เป็นศัตรูสุดยอดสมบูรณ์แบบ เป็นผู้ดูเหมือนปฏิเสธความเป็นไทย ดูเหมือนช่วงนั้นก็มีคำถามว่าความเป็นไทยคืออะไร เราเป็นใคร เราน่าจะมีการปกครองแบบไหน ดูเหมือนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง โดยรัฐธรรมนูญ2540 ยอมรับความแตกต่างมากขึ้น

แต่หลังจากรัฐประหาร2549 นั้น ดูเหมือนมีความพยายามเอาโมเดลชาตินิยมแบบนี้ขึ้นมาใหม่ แล้วบังคับให้ทุกคนอยู่ในนั้น แต่มีศัตรูแบบใหม่ คือ ผู้ไม่มีความจงรักภักดีกับสถาบันสูงสุด ผมว่าเป็นโชคร้ายมาก หรือเป็นสิ่งที่แย่มากที่เป็นแบบนี้แบ่งแยกว่ามีผู้จงรักภักดีและไม่จงรัก ภักดีหรือบอกว่ามีคนรักชาติและไม่รักชาติ ทั้งที่คนซึ่งถูกหาว่าไม่รักชาติ เขาอาจจะรักชาติอีกแบบหนึ่งก็ได้ การกล่าวหากันนั้นได้ผลระยะสั้น แต่ในประวัติศาสตร์ประเทศไทยยังไม่เผชิญหน้ากับการชำระประวัติศาสตร์ไม่ว่า จะเป็นช่วงสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีคำสั่งคณะปฏิวัติที่17 ที่พยายามควบคุมสื่อมวลชน หรือช่วงตุลา2516 ตุลา2519 พฤษภาทมิฬ2535 และเมษา พฤษภา ในปีนี้ก็ดูเหมือนแนวโน้มยังไม่ถึง(การชำระประวัติศาสตร์) ใช่ไหม ผมยังไม่เห็นเหตุการณ์ที่ชัดเจนว่าประเทศไทยจะเผชิญหน้ายอมรับกับความจริง เพราะกลัวเจ็บ
         

Q:อาจารย์เชื่อว่าแผนปรองดองจะได้ผลไหม
         
A:
ผมทำวิจัยอยู่อีสาน มีคนน้อยมากที่ผมเจอที่คิดว่าแผนปรองดองมีความหมาย
          

Q:บรรยากาศในชนบทเป็นอย่างไร          

A:เปลี่ยนไปเยอะ แต่ยังไงก็มีฐานบางอย่างอยู่ที่นั่น อย่างเช่นเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมามีคนอีสานตายเยอะ จนคนอีสานหลายคนแทบไม่เชื่อว่าคนกรุงเทพฯรับได้ที่มีคนตายเยอะ แทบไม่เชื่อว่าเขาทนได้ยังไง แล้วหลังจากมีการเผาเซ็นทรัลเวิลด์ คนกรุงเทพฯก็ให้คุณค่ากับอันนั้น(เซ็นทรัลเวิลด์) เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ได้มองชีวิตคนว่าเป็นมนุษย์เท่ากัน...เขาก็เจ็บ

Q:ถ้าคิดแทนคนกรุงเทพฯ เขาก็รับไม่ได้ที่คนเสื้อแดงมาเผาบ้านเผาเมือง

A:คนอีสานก็จะตอบว่า ต้องดูหลักฐานก่อนว่าใครเผา มันจะมีเกมการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ เขายังมีความสงสัย ซึ่งผมก็ไม่มีข้อมูล แต่การเผาเป็นสิ่งดีไหม ก็ไม่ดีเพราะคนเสื้อแดงส่วนมากไม่มีใครเห็นด้วย
          

Q:อารมณ์คนกรุงเทพฯที่รับไม่ได้กับเสื้อแดง          

A: ปัญหาคือใครมีสิทธิจะบอกว่าเป็นตัวแทนของคนกรุงเทพฯ เพราะกรุงเทพฯก็น่าจะเป็นของคนไทยทุกคน แต่คนที่สีลมในช่วงนั้นบอกให้คนชนบทออกไป คำถามคือคนชนบทเขาไม่มีสิทธิอยู่ที่นี่เหรอ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องกระจายอำนาจหน่อย เพราะถ้าไม่กระจายอำนาจ...ทุกคนก็จะมาหางานที่กรุงเทพฯอยู่ดี ถ้าไม่มีคนชนบทในกรุงเทพฯแล้ว50 เปอร์เซ็นต์ของคนกรุงเทพฯก็จะหายไป ก็ลองดู ก็จะไม่มีร้านอาหารไม่มีอะไร ลองดูว่าคนกรุงเทพฯจะยังสบายใจไหม
          

Q:มองการเคลื่อนไหวเสื้อแดงอย่างไร

A:ยังไม่มีใครพูดได้อย่างมั่นใจว่ากระบวนเสื้อแดงว่ามันคืออะไรกันแน่ มันเป็นของพรรคเพื่อไทยเหรอ ? มันเป็นของทักษิณเหรอ ? หรือมีเอกลักษณ์ของมันเอง?ที่จริงแล้วใครควบคุมเสื้อแดงตอนนี้ได้?ตอนแรกก็ รู้สึกว่าเชื่อมกับทักษิณ กับพรรคเพื่อไทย แต่ตอนหลังเริ่มไม่แน่ใจเพราะคุมกันไม่ได้และไม่รู้ว่าจะไปทิศทางไหน...อาจ จะต้องมีเหตุการณ์อะไรสักอย่างแต่ดีที่คุณอภิสิทธิ์มีเหตุผลที่บอกว่าถ้า ห้ามแต่เสื้อแดงก็จะเป็นการสร้างความแตกแยกเสียเอง..

 

 

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"มาร์ค" ย้ำจะอดทนไม่ฟ้องหากคนจะเอาเท้าเหยียบรูปหน้า

Posted: 24 Nov 2010 02:15 AM PST

"มาร์ค" ย้ำไม่ฟ้องใครอยากเอาเท้ามาแตะรูปหน้าก็เชิญ ระบุเป็นความผิด "ตัวต่อตัว" แต่จะอดทนไม่ฟ้อง ศอฉ.อย่ามายุ่ง

24 พ.ย. 53 - เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนสปาร์ค  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในการสัมมาหัวข้อ “นโยบายเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความท้าทาย” ซึ่งจัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า ความขัดแย้งที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ของเราคือความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งตนยืนยันว่าสิ่งที่ตนพยายามจะทำอยู่ในทุกเรื่องตามแผนการปฏิรูปหรือการ ปรองดอง แม้หลายคนรู้สึกว่ายังไม่สามารถทำให้ความขัดแย้งหมดไปได้ แต่ตนยืนยันว่ามันเป็นแนวเดียวที่เราต้องเดินและต้องทำให้ได้ แม้จะช้าบ้างแต่ก็ต้องทำ โดยการที่เสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภาในขณะนี้ ไม่ได้หมายความว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาลผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว แปลว่าปรองดอง แต่เพื่อจะบอกกับคนไทยทั้งประเทศว่าเงื่อนไขเรื่องรัฐธรรมนูญสำหรับรัฐสภา ชุดนี้ได้จบแล้ว ไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน ก็ไม่ต้องเถียงกันอีกแล้ว แต่ถ้าอยากจะถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญอีก ขอให้ไปเถียงกันภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า
  
“ผมต้องการปลดเงื่อนไขออกไปทีละประเด็น ไม่มีวันไหนที่ผมเสนอแล้วไม่ถูกค้าน และไม่มีวันไหนที่ผมอยู่เฉยแล้วไม่ถูกอีกฝ่ายบอกว่าทำไมไม่ทำ จึงต้องปลดเงื่อนไขออกไปทีละประเด็นๆ และยืนยันว่าประเด็นที่ละเอียดอ่อนเกินไปจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ผมก็ไม่เสนอ เช่น ปัญหาการยุบพรรค เป็นต้น”นายอภิสิทธิ์ กล่าว
  
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นอื่นๆนั้น คณะกรรมการของนายอานันท์ ปันยารชุน ของศ.นพ.ประเวศ วะสี และของนายคณิต  ณ นคร จะเสนออะไรมา ตนพยายามดูตลอดและให้เดินต่อไป เช่น การที่ตนพูดคุยกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในขณะที่บางคนสนใจแต่ว่าเมื่อใดที่แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อช่วงที่ผ่านมา จะได้รับการประกันตัว แต่คนที่ไม่ได้เป็นแกนนำ กลายเป็นคนที่ไม่มีใครดูแล ตนจึงขอให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ไปดูแลให้หมดว่าเขามีปัญหาอะไรในระหว่างถูกคุมขัง มีทนายหรือไม่ จนในที่สุดก็เข้าช่วยในการยื่นประกันตัว ดังนั้น ตนอยากบอกว่าตนทำงานในการพยายามลดเงื่อนไขและสร้างความปรองดอง
  
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อีกทั้ง ตนระมัดระวังในกรณีที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)สั่งห้ามขาย สินค้านั้น ต้องทำความชัดเจนว่ากรณีที่เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายโดยเป็นการหมิ่นสถาบัน หลักของชาติ ก็ขอให้ดำเนินการกันไป แต่อะไรที่เป็นความผิดต่อส่วนบุคคล ศอฉ.ก็ไม่ต้องไปยุ่ง “ใครอยากเอาเท้ามาแตะรูปหน้าผม ก็เชิญตามสบาย เป็นความผิดส่วนตัว ต่อตัวผม ผมก็ไม่ฟ้องนะครับและก็อดทน เป็นเรื่องที่ต้องทำกันอย่างนี้เพื่อหาทางให้สังคมกลับเข้ามาสู่การใช้ กฎหมายที่เป็นปกติให้มากที่สุด”
  
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนการเลิกพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น เราไม่ได้คิดแค่เรื่องของการชุมนุมทางการเมือง แต่ตอนนี้เรากำลังจะเลิกใช้ในบางอำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการเข้าสู่แนวทางของความสมานฉันท์และ สันติวิธี แต่ต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าในปีหน้าจะมีเรื่องท้าทายอย่างนี้อีก เพราะมีบางกลุ่มที่ต้องการไม่ให้สงบ ซึ่งเราต้องบริหารจัดการด้วยความละเอียดอ่อนและรอบคอบ อีกทั้ง ตนบอกแล้วว่าต้องมีการเลือกตั้งในปีหน้า แต่ตนต้องการให้เป็นการเลือกตั้งที่สงบ เป็นธรรม และทุกคนยอมรับกติกา ดังนั้น เมื่อเรื่องรัฐธรรมนูญผ่านไปแล้วจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ถือเป็นความพร้อมอีกขั้นหนึ่งที่จะให้มีการเลือกตั้ง  ส่วนจะมีความสงบหรือไม่นั้น กลุ่มคนที่เรียกร้องว่าอยากให้มีการเลือกตั้งเร็วๆ กลับเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เราตัดสินใจไปเลือกตั้งไม่ได้ ทั้งนี้ ตนจะจับตาดูว่าการเลือกตั้งซ่อมส.ส.ครั้งนี้และการทำกิจกรรมทางการเมือง ต่างๆ ยังอยู่ในสภาวะการใช้ความรุนแรงหรือมีความเสี่ยงว่าจะใช้ความรุนแรงหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่มี ก็สามารถไปจัดเลือกตั้งได้

ที่มาข่าว:

นายกฯไม่ฟ้องใครเอาเท้าเหยียบรูปหน้าก็เชิญ (เดลินิวส์, 24-11-2553)
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=8&contentID=106094

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตำรวจมุกดาหารจับเสื้อแดงเพิ่มข้อหาเผาศาลากลาง

Posted: 24 Nov 2010 01:49 AM PST

หลังมีการรณรงค์ให้มีการประกันตัวผู้ต้องขังเสื้อแดงของกลุ่มสองขาเพื่อประชาธิปไตยที่ จ.มุกดาหาร เพียงหนึ่งวัน ล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกจับหนุ่มลูกจ้างคาร์แคร์ในข้อหาร้ายแรง

เมื่อ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา เวลา 6.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภอ.เมือง มุกดาหาร นำโดย พ.ต.ท.สัญญา แสงทองพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวน 6 คน ได้เข้าทำการจับกุมนายไพรวัลย์ พรเพ็ชร วัย 38 ปี ณ บ้านเช่าที่นายไพรวัลย์พักอาศัยอยู่กับพี่ชายและบุตรสาว บริเวณใกล้วัดเขามโนรมณ์ อ.เมือง มุกดาหาร

โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหา บุกรุกสถานที่ราชการและร่วมกันวางเพลิงเผาสถานที่ราชการ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภคม 2553 จากกรณีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) ที่ศาลากลาง จ.มุกดาหาร โดยผู้ต้องหาได้ยอมรับการจับกุมโดยละม่อม เจ้าหน้าที่จึงได้นำผู้ต้องหาขึ้นรถกระบะสีดำนำมาขังไว้ที่ ส.ภอ.เมือง มุกดาหาร

นายพรเพ็ชร ได้กล่าวว่ากับผู้สื่อข่าวว่า ตนไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมที่กรุงเทพ แต่ได้เข้าร่วมการชุมนุมที่ จ.มุกดาหารจริง ในเหตุการณ์ดังกล่าวมีคนเข้าร่วมชุมนุมเป็นพันคน แต่ตนไม่ได้กระทำการรุนแรงถึงขั้นเผาสถานที่ราชการดังข้อกล่าวหา ตนไม่ได้หลบหนีไปไหน ยังคงพักอาศัยอยู่ที่บ้านเช่าที่ตนอาศัยแต่เดิมมาโดยตลอด

นายพรเพ็ชร ให้การเพิ่มเติมว่า ตนมีอาชีพเป็นลูกจ้างรายวันล้างรถในคาร์แคร์แห่งหนึ่งมีรายได้วันละ 110 บาท ปัจจุบันตนหย่าร้างกับภรรยาและตนมีบุตรสาวและพี่ชายที่สติไม่ดีที่ต้องดูแล

นายตำรวจรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน จ.มุกดาหาร มีการออกหมายจับผู้ชุมนุมทั้งชายและหญิงทั้งสิ้น 78 ราย ถูกจับกุมแล้ว 28 ราย ยังคงอยู่ในระหว่างการติดตามจับกุม 50 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวทางเจ้าหน้าที่ทราบชื่อเพียง 7-8 รายเท่านั้น ที่เหลือเป็นการติดตามจับกุมตามรูปภาพ ซึ่งภาพตามหมายจับดังกล่าวไม่สามารถเผยแพร่ได้เนื่องจากเป็นนโยบายจากผู้บังคับบัญชา

อนึ่ง ก่อนวันที่นายพรเพ็ชรได้ถูกจับ 1 วัน ได้มีการรณรงค์ในมุกดาหารของกลุ่มดีเจวิทยุชุมชนในมุกดาหารและกลุ่มสองขาเพื่อประชาธิปไตย ที่ได้รณรงค์ให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา 19 คน จากกรณีดังกล่าว

นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่งได้ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวประชาไท โดยอ้างว่าการจับดังกล่าวเป็นนโยบายของผู้มีอำนาจที่ไม่ต้องการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนเสื้อแดงขึ้นในจังหวัดมุกดาหาร

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“ประยุทธ์” ชี้ชุมนุมพันธมิตรฯ เป็นสิทธิตามกฎหมาย

Posted: 23 Nov 2010 07:18 PM PST

สามารถทำได้ ในเงื่อนไขไม่ใช้ความรุนแรง ส่วนกลุ่มอื่นจะออกมาชุมนุมก็ทำได้ แต่ต้องไม่ทำร้ายใคร จำลองเผยจะชุมนุมใหญ่ 11 ธ.ค. “อมรเทพ” ชี้พันธมิตรฯ ชุมนุมด้วยสำนึก ไม่เหมือนเสื้อแดงที่มากกันมากเพราะเกณฑ์ - จัดตั้ง

 

ประยุทธ์ชี้พันธมิตรฯ ชุมนุมเป็นสิทธิตามกฎหมาย

วันนี้ (24 พ.ย.) ASTVผู้จัดการออนไลน์ [1] รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ ในระหว่างการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิ์ตามกฎหมายที่ทำได้ ถ้าไม่ใช้ความรุนแรง ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังคงต้องมีอยู่ต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะเรียบร้อย ยืนยันว่า ไม่เคยใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าว 2 มาตรฐาน ทำกับทุกกลุ่มเท่าเทียมกัน รวมทั้งข้อกฎหมายห้ามจำหน่ายสินค้าที่ทำให้เกิดความแตกแยก ทางผู้อำนวยการศูนย์อำนวยแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้เข้าชี้แจงกับนายกรัฐมนตรีให้เข้าใจ ยืนยันไม่มีเจตนาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เป็นห่วงในเรื่องของการหมิ่นสถาบัน

ส่วนกรณีหากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกยุบ อาจจะมีกลุ่มต่างๆ ออกมาชุมนุมนั้น ทางทหารมีหน้าที่รักษาความสงบตามกระบวนการประชาธิปไตย ทุกคนสามารถออกมาแสดงความเห็นได้ แต่ต้องไม่ทำร้ายใคร

 

จำลองเผยชุมนุมถึงพฤหัสบดี นัดใหม่ 11 ธ.ค.

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์รายการ “ยามเช้าริมเจ้าพระยา” [2] ทางเอเอสทีวี ถึงความคืบหน้าการชุมนุมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ผ่านประชามติที่ หน้ารัฐสภา เมื่อเวลาประมาณ 08.00 น. ที่ผ่านมาว่า มีพี่น้องพันธมิตรฯ เดินทางมาถึงหน้ารัฐสภาแต่เช้าแล้ว โดยมีพี่น้องเดินทางมาสมทบจากลำปางด้วย สำหรับคืนนี้ ถ้าพี่น้องที่มาจากต่างจังหวัดไม่พักที่บ้านญาติหรือบ้านเพื่อน ก็ขอเชิญให้ไปพรรคที่สำนักงานการเมืองใหม่ ซึ่งยังมีห้องว่าง ติดแอร์และห้องน้ำพร้อม ส่วนอีกที่หนึ่งคือสันติอโศกก็มีที่พักพร้อมเช่นกัน

พล.ต.จำลองย้ำจุดยืนของพันธมิตรฯ ว่า เราให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องถามประชามติก่อน ซึ่งเรามาชุมนุมตามเวลาที่เขารับผิดชอบ คือตามการประชุมของรัฐสภา ซึ่งเมื่อคืนที่ผ่านมาเลิกประชุมประมาณตี 1 ตี 2 แต่เรากลับตอน 4 ทุ่ม เพราะเห็นว่าควรจะนอนพักผ่อนเอาแรงก่อน และเป็นไปตามที่เราบอกแต่ต้นแล้วว่าเราจะมาแล้วก็กลับ ไม่ปักหลักพักค้าง คนที่มาไกลก็มีที่ให้พัก อาหารเลี้ยง สุขาพร้อม เพื่อออมกำลังไว้ก่อนที่จะมีการชุมนุมใหญ่เพื่อไม่ให้ไทยเสียดินแดนให้ กัมพูชาวันที่ 11 ธ.ค. ซึ่งจะชุมนุมให้เต็มที่

พล.ต.จำลองกล่าวต่อว่า เมื่อเย็นวานนี้ มี ส.ว.ทั้งสรรหาและเลือกตั้ง รวมทั้ง ส.ส.จำนวนหนึ่งออกมาเยี่ยมพี่น้องพันธมิตจรฯ แสดงว่ามีจำนวนไม่น้อยในสภาที่เห็นด้วยกับเรา แต่มาขึ้นเวทีไม่ได้ เพราะอาจจะไม่เหมาะ โดยที่ ส.ส. ส.ว.เหล่านี้มาเองโดยไมได้เชิญกันทั้งสิ้น

พล.ต.จำลองเปิดเผยอีกว่า ในการชุมนุมวันนี้มีภรรยาของนายตำรวจที่เป็นอดีตผู้บัญชาการภาคมาร่วมด้วย รวมทั้งมีนายพลที่เพิ่งเกษียณราชการ ซึ่งในการชุมนุมใหญ่วันที่ 11 ธ.ค.จะมีนายทหารทั้งในและนอกประจำการมาชุมนุมกับเราจำนวนมาก ในช่วงเวลาที่มาชุมนุมได้ เพราะเป็นเรื่องของการปกป้องดินแดน สำหรับการชุมนุมวันที่ 11 ธ.ค.เราต้องพักค้างเพื่อเรียกร้องให้นายกฯ ถอนเอ็มโอยู 2543 และการเห็นชอบบันทึกการประชุมเจบีซี ซึ่งการทำงานของนายกฯ สามารถทำได้ 24 ชั่วโมงไม่เหมือนการประชุมสภา เราจึงต้องชุมนุม 24 ชั่วโมง โดยจะปักหลักที่บริเวณหน้าเวทีมวยราชดำเนิน ตรงข้ามโรงเรียนนายร้อย จปร.เก่า

พล.ต.จำลองกล่าวย้ำว่า เรามีเหตุผลในการชุมนุม โดยเราประชุมแล้วประชุมอีก ซึ่งเห็นว่าสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือการชุมนุม สำหรับวันที่ 25 พ.ย.คาดว่าจะเลิกการชุมนุมในเวลาบ่าย 3 โมง เราก็จะเลิกบ่าย 3 โมง ส่วนผลการลงมติออกมาจะดีจะร้ายก็แล้วแต่ เราจะประชุมกันอีกครั้ง โดยจะทำตามสถานการณ์ ตามความเหมาะสม ซึ่งเมื่อคืนที่ผ่านมาเราเลิก 4 ทุ่มเพราะเห็นว่าเป็นเวลาที่เหมาะกับการไปพักผ่อน ส่วนในสภาจะประชุมถึงตี 1 ตี 2 ก็ว่ากันไป

 

อมรเทพลั่นพันธมิตรมาด้วยสำนึก เย้ยไม่เหมือนเสื้อแดง

ด้านบรรยากาศการชุมนุมหน้ารัฐสภา ถ.อู่ทองใน เมื่อเวลา 10.00 น. นายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี หรือนายอมรเทพ อมรรัตนานนท์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคการเมืองใหม่ ปราศรัยว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ ไม่เหมือนคนเสื้อแดง ซึ่งการชุมนุมแต่ละครั้งที่คนเสื้อแดงมารวมตัวกันจำนวนมากนั้น ไม่ชัดเจนว่ามาจากจิตสำนึก คือผ่านการจัดตั้ง มีการเกณฑ์มาจาก ส.ส. หัวคะแนน ส่วนเรามาด้วยสำนึก ด้านนายพิชิต ไชยมงคล แกนนำพันธมิตรฯ ปราศรัยว่า พวกเรามาด้วยจิตสำนึกรักชาติบ้านเมือง ดูทีวีที่บ้านไม่พอ ต้องออกมาสร้างหน้าประวัติศาสตร์กับพวกเรา พี่น้องที่อยู่ใกล้ๆ มาเติมเต็มพี่น้องที่นี่หน่อยนะครับ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น