โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ปภ.ตานีเตือนภัยปกติ อีหม่ามวอนรัฐเร่งซ่อมไฟ

Posted: 03 Nov 2010 10:07 AM PDT

3 พ.ย. 53 - ปภ.ปัตตานีเตือนภัยปกติ พายุรอบสองไม่แรง ให้ประชาชนติดตามข่าวเสมอ ตั้งสติอย่าเครียด เหลือ 3 ตำบลในเมืองปัตตานี น้ำยังท่วม อีหม่ามหมู่ 2 รูสะมิแล วอนรัฐช่วยเหลือไฟฟ้าเร่งด่วน ชาวบ้านอยู่ในความมืดมาหลายวัน

นายปัญญาศักดิ์  โสภณวสุ  หัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปัตตานี  เผยว่า ทางจังหวัดปัตตานีได้ประสานกับทางศูนย์อุตุนิยมวิทยา จะมีการก่อตัวขึ้นของพายุที่บริเวณปลายแหลมญวน แต่จะไม่พัฒนาเป็นดีเปรชั่นโซนร้อน โดยจะลดกำลังลงในอ่าวไทย  และทางจังหวัดได้มีประกาศเตือนปกติ ยังไม่มีการประกาศเตือนภัยพิเศษ ถ้าหากว่ามีความคืบหน้าขอให้ประชาชนรับฟังข่าวสาร โดยตั้งสติให้ดีอย่าเครียด หรือวิตกกังวลมากจนเกินไป

สถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ขณะนี้ ยังคงมีเพียงในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ปะกาฮะรัง  บาราเฮาะ  และตะลุโบะ อ.เมืองปัตตานี และพื้นที่อำเภอรอบนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำเภอที่ติดบริเวณชายฝั่งทะเล เช่น บ้านแหลมโพธิ์ ต.ยามู อ.ยะหริ่ง ทางด้าน ว่าที่ ร.ต. เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้เข้าไปดูแลให้ความช่วยเหลือ จากพายุลมฝนเมื่อคืนวันที่ 1 พ.ย. 2553 บ้านเรือนราษฎรเสียหายทั้งหลัง กว่า 10 หลังคาเรือน ทรัพย์สิน เครื่องมือทำมาหากิน ถนน เรือประมง และกระชังปลากะพง เสียหายทั้งหมด

ส่วนความเสียหายของบ้านเรือนราษฎร ขณะนี้ทางจังหวัด ขอหารือไปทางกรมบรรเทาสาธารณภัย ถึงข้อตกลงในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในซ่อมบ้านเรือนให้ได้มากกว่าปกติ เพราะบ้านเรือนเสียหายจำนวนมาก บางหลังพังทั้งหลัง เพราะปีนี้พายุมาแรงมากที่สุดในรอบ 30 ปี

ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในเบื้องตัน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ลงพื้นที่เข้าแก้ไขระบบต่างๆ เพื่อให้ใช้การงานได้ตามปกติ แต่ยังมีบางพื้นที่ยังไม่สามารถใช้การได้เนื่องจากพื้นที่เสียหาย เป็นพื้นที่วงกว้าง เสียหายจำนวนมาก เจ้าหน้าที่เร่งทำงานตลอด 24 ชั่วโมง จัดระบบการให้ความช่วยเหลือ อบต.เข้าดูแลเบื้องต้น อำเภอ จังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด เทศบาล รวมกำลังเต็มที่

แต่ทางด้าน นายสะสาแอ กูโน อีหม่าม(ผู้นำศาสนา) ม.2 บ้านบางปลาหมอ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี กล่าวว่า หลังจากที่เกิดพายุเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 53 ทำให้บ้านเรือนเสียหายและพายุได้สัดเสาไฟฟ้าเอียงจนเกือบจะล้มขวางถนนทาง เข้าวิทยาลัยประมง ทำให้ระบบไฟฟ้าขัดข้องใช้การไม่ได้ อยู่ในความมืดมาหลายวันแล้ว ส่งผลกระทบในหลายๆ หมู่บ้านในบริเวณนั้นจนไม่สามารถที่สตาร์ทเครื่องดูดน้ำเพื่อใช้เป็นน้ำใช้ ในหมู่บ้านได้ และยังมีอีกหลายหลังคาเรือนที่หลังคาบ้านถูกพายุพัดปลิวไป หรือไม่ก็โดนกิ่งไม้ขนาดใหญ่หล่นทับ จึงขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องช่วยรีบมาให้ความช่วยเหลือ ชาวบ้านอย่างเร่งด่วนด้วย

นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล  ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ทางจังหวัดปัตตานี ได้เร่งระดมสรรพกำลัง เต็มศักยภาพ ทั้งฝ่ายปกครอง และทหารในพื้นที่ พร้อมถึงภาคเอกชน ที่ให้ความร่วมมือ เร่งให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม ทั้ง 12 อำเภอของจังหวัดปัตตานี โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.บานา อ.เมืองปัตตานี ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก และ ต.แหลมโพธิ์ ต.ตันหยง อ.ยะหริ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ติดทะเล ทางจังหวัดได้สนับสนุนเรือพร้อมเครื่องยนต์ 21 ลำ เครื่องสูบน้ำ   ขนาดใหญ่ กระสอบทราย 400 กระสอบ แจกถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภค 400 ชุด และอพยพประชาชนไปยังจุดปลอดภัย และได้สั่งการพิเศษให้เร่งแก้ปัญหาระบบไฟฟ้าขัดข้องให้สามารถใช้การได้ตาม ปกติในทุกพื้นที่อย่างเร่งด่วน พร้อมนี้ ได้มีการสำรองน้ำดื่ม 500 โหล  เครื่องอุปโภค 2,000 ชุด และกระสอบทราย 1,000 ถุง

ความเสียหายจากพายุเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 53 ในจังหวัดปัตตานีสร้างความเสียครอบคลุกทุกพื้นที่ แต่พื้นที่ที่ที่หนักที่สุดเป็นพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ พื้นที่ อ.เมือง หนองจิก และยะหริ่ง มีจำนานผู้ประสบภัยจำนวนประมาณ 95,305 คน 26,694 ครอบครัว 405 หมู่บ้าน ส่วนแนวโน้มของสถานการณ์น้ำในตัวเมืองปัตตานีปริมาณน้ำฝนลดลง แต่ปริมาณน้ำในแม่น้ำปัตตานีเพิ่มขึ้นเนื่องจากรับน้ำจากเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา

ที่มาข่าว:

ปภ.ตานีเตือนภัยปกติ อีหม่ามวอนรัฐเร่งซ่อมไฟ (BungarayaNews, 3-11-2553)
http://www.bungarayanews.com/news/view_news.php?id=533

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: อาจท่วมท้นถึงยอดพระสุเมรุ

Posted: 03 Nov 2010 09:45 AM PDT

ความแค้นคลั่งดั่งหนามแหลมแทงดวงจิต
หลายชีวิตสิ้นลงตรงเบื้องหน้า
แผ่นดินแดงด้วยเลือดอาบพสุธา
ช้ำเกินกว่าจะจำนรรศพเรียงราย

ความขมขื่นของทุกคนครั้งครานี้
หากไหลรี่ดั่งสายธารหลายร้อยสาย
หลายพันถิ่นที่เจ็บช้ำมิวางวาย
เป็นดั่งสายนทีที่เกรียงไกร

ความชอกช้ำระกำจิตที่ท่วมท้น
ย่อมเอ่อล้นท้นฝั่งเกินขานไข
ท่วมแผ่นดินสิ้นสมจมลงได้
กว้างเพียงไรไหลไปถึงทุกถิ่นนาม

แม้นภูผาสง่างามตระหง่านฟ้า
อาจเปื่อยตมล่มลาน้ำล้นหลาม
ค่อยค่อยเซาะเจาะพื้นจนลุกลาม
ก็พังพาบดั่งสนามลงพังภิณ

ยิ่งจับฆ่ายิ่งสะสมระทมเพิ่ม
ยิ่งสร้างเสริมก่อขยายเกินถวิล
เป็นมหาสมุทรสุดแดนดิน  
ยิ่งไหลรินยิ่งเอ่อล้นเหลือคณา

อาจท่วมท้นถึงยอดพระสุเมรุ
เทวดาจะหลบเร้นที่ใดหนา
เขาอาจยุบอาจล่มถล่มมา
เทวดาจะไปไหนเมื่อไร้ทาง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อัล จาซีรา เสนอรายงานเรื่อง "นายหน้าค้ามนุษย์ ขูดรีดเเรงงานข้ามชาติพม่า"

Posted: 03 Nov 2010 07:40 AM PDT

สำนักข่าว อัล จาซีรา เสนอรายงานเรื่อง "นายหน้าค้ามนุษย์ ขูดรีดเเรงงานข้ามชาติพม่า"  (โครงการยุติธรรมเพื่อเเรงงานข้ามชาติ ได้จัดทำวิดีโอพร้อมคำแปลไทย)

อนึ่งสารคดีข่าวเรื่องนี้เผยเเพร่สู่สาธารณะหลังจากนาย บัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติเดินทางเยือนกรุงเทพฯ เพื่อหารือกับเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติเเละนายรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยแอลลา แคลแลนผู้สื่อข่าวอัล จาซีรา เปิดประเด็นแรงงานข้ามชาติถูกรีดไถและเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ เนื่องจากนโยบายการกวาดล้างแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายของรัฐบาล ในการแถลงข่าวร่วมของนายอภิสิทธิ์  และนายบัน คี มุน เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2553

บทบรรยายสารคดีข่าว "นายหน้าค้ามนุษย์ ขูดรีดเเรงงานข้ามชาติพม่า" (คำแปลภาษาไทยอย่างไม่เป็นทางการ โดยโครงการยุติธรรมเพื่อเเรงงานข้ามชาติ)

ผู้สื่อข่าว: น่านน้ำระหว่างไทย-พม่า   จ.ระนอง มีเรือบรรทุกเเรงงานข้ามชาติหลายร้อยคน เต็มลำเรือ เพื่อผลักดันออกนอกประเทศไทย แรงงานนับเเสนเสี่ยงถูกผลักดันตามนโยบายกวาดล้างแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายของไทย   เเต่คนบนเรือไม่ได้ถูกส่งกลับไปพม่า ในการผลักดันไม่เป็นทางการเช่นนี้

เชื่อว่าเรือเล็กเหล่านี้เป็นเรือของนายหน้าค้ามนุษย์ ที่รอซื้อแรงงานเเละขายต่อให้นายจ้างไทย

ชายที่เราไม่สามารถเปิดเผยตัวได้ เพื่อความปลอดภัย เล่าว่า  เพิ่งเดินทางกลับไทย หลังจากถูกขายไปหลายครั้ง ในราคาประมาณ 1,000 เหรียญสหรัฐ  เขาต้องทำงานเเลกกับค่าตัว

ชาย:  มีหลายคนเป็นเหมือนผม ถ้าไม่มีคนมาไถ่ตัว นายหน้าจะติดต่อ ต.ม. เเล้วถามว่าใครอยากไปทำงานบนเรือ1 ปี เงินที่นายหน้าได้ เอาไปเเบ่งกับตำรวจครึ่งหนึ่ง

ผู้สื่อข่าว:  ก่อนแรงงานจะออกจากด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ระนอง นายหน้าก็เข้ามาซื้อตัวเเล้ว นายหน้าจะรออยู่นอกน่านน้ำไทย เเละนำเเรงงานที่ถูกส่งกลับเข้ามาในไทยอีกครั้งเพื่อทำงาน ดังนั้นการผลักดัน จึงไม่ใช่การส่งเเรงงานกลับพม่า เเต่เป็นวิธีการใช้ช่องโหว่ของกฎหมายที่มีอยู่หาเงินเข้ากระเป๋าเจ้าหน้าที่รัฐเเละนายหน้าค้ามนุษย์

ผู้สื่อข่าว: ในย่านร้านคาราโอเกะที่มีการขายบริการ หญิงชาวพม่าถูกบังคับให้ค้าประเวณี หลังจากถูกหลอกให้มาทำงานในไทย เพราะต้องการชีวิตที่ดีกว่า

ผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่า เธออายุ 16 ปี ตอนที่ถูกขายให้สถานบริการเมื่อ 6  ปีที่เเล้ว

หญิง:  ตอนเเรกฉันจะไม่ทำ เเต่เขาบังคับว่า  เขาจ่ายค่าเดินทางให้ฉันมาที่นี่ สุดท้ายก็ต้องทำเพราะไม่มีเงินไถ่ตัวเอง   พอจ่ายหนี้หมด ฉันก็บอกว่าจะเลิก เเต่นายหน้าขู่ว่าถ้าเลิกจะโดนซ้อม หรือถูกฆ่า ก็เลยต้องอยู่ต่อ

ผู้สื่อข่าว:  เธอเล่าว่า ถูกบังคับให้หลับนอนกับเจ้าหน้าที่ไทย  ที่ขู่ว่าจะส่งเธอกลับประเทศเเละทำร้ายร่างกายด้วย

หญิง: ฉันไม่มีทางปฏิเสธ ถ้าไม่ทำก็โดนซ้อม

ผู้สื่อข่าว: ประเทศไทยมีเเรงงานข้ามชาติประมาณ 3 ล้านคน  รัฐบาลมีนโยบายจดทะเบียนเเรงงาน โดยอ้างว่าจะช่วยให้เเรงงานได้รับความคุ้มครองมากขึ้น

นายกรัฐมนตรี: สำหรับสถานการณ์ที่ระนอง  ผมได้เป็นประธานประชุมคณะกรรมการฯ ต่อต้านค้ามนุษย์การ เเละกำลังให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลอยู่ เราทราบสถานการณ์แล้ว และรัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเเก้ไขปัญหา โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเเละกระทรวงยุติธรรมดำเนินการ

ผู้สื่อข่าว: องค์กรสิทธิมนุษยชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการอย่างจริงจัง

นายสาวิทย์ แก้วหวาน:  การทุจริตที่สื่อนำเสนอเกิดขึ้นจริง แต่ไม่ทราบว่ารัฐบาลจะยอมรับว่ามีหรือไม่ ส่วนนี้เราพยายามช่วยเหลือแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเเรงงานไทย หรือแรงงานข้ามชาติ  เเต่เมื่อรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเท่าเทียม ก็ต้องเรียกร้องให้ UN  เข้ามาช่วย

ผู้สื่อข่าว: กลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติช่วยเเทรกเเซง เเละตรวจสอบกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานข้ามชาติระหว่างการกวาดล้าง และให้กำจัดวงจรการกดขี่ขูดรีดเเรงงานข้ามชาติที่เป็นอยู่

แอลลา แคลเเลน  อัล จาซีรา รายงานจาก ระนอง ภาคใต้ของประเทศไทย
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ปู่ชัย” ชี้ช่องเสนอร่างแก้ รธน. อยากให้น้ำท่วม กทม. คนจะได้ไม่มาเดินขบวน

Posted: 03 Nov 2010 05:17 AM PDT

"ชัย” ชี้ช่องให้ “มาร์ค” เร่งเสนอร่างแก้ รธน. เชื่อทันเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะอายุรัฐบาลเหลืออีกเป็นปี ไม่หวั่นเสียงค้าน ก็แค่อยากดัง อยากให้น้ำท่วม กทม. คนจะได้ไม่มาเดินขบวน จะได้เกิดความสามัคคี

3 พ.ย. 53 - เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า ที่รัฐสภา นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง กรณีที่ ครม.มีมติให้แก้รัฐธรรมนูญใน 2 มาตรา คือ มาตรา 190 เรื่องการทำหนังสือสนธิสัญญาที่ต้องรัฐสภาเห็นชอบ และมาตรา 93-98 เรื่องระบบเลือกตั้ง ส.ส. ว่า จะสามารถพิจารณาทันในสมัยประชุมนี้หรือไม่ ก็อยู่ที่นายกรัฐมนตรี ถ้าเสนอเข้ามาเร็วตนในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้อง และบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ และนัดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาแก้ไข จากนั้น ก็ตั้งคณะกรรมาธิการ หากที่ประชุมเห็นว่าควรตั้งกรรมาธิการก็มีสิทธิ์ที่จะทำได้ และแปรญัตติในสภาฯ ได้

จากนั้น ก็สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ ทั้งนี้ คิดว่าคงไม่มีปัญหา ส่วนที่หลายฝ่ายเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการตกลงเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่ ฝ่ายค้านยังไม่เห็นด้วยนั้น เป็นที่แน่นอน ถ้าพรรคร่วม และรัฐบาลไม่พิจารณาเรื่องนี้ คนอื่นก็ไม่มีสิทธิ์ คือ ถ้าเสนอมาก็คาอยู่ในสภาฯ อย่างที่เห็น ต้องให้รัฐบาล และวุฒิสภาให้ความร่วมมือก็จะผ่านไปได้ ส่วนคนที่ยังมีปัญหาก็เป็นเรื่องธรรมดา ถือเป็นสิทธิของคนที่อยากดัง เราไปห้ามเขาไม่ได้
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทางสภาฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องฟัง แต่เราจะฟังเสียงคนนอกไม่ได้ เพราะคนข้างนอก เป็นคนเลือก ส.ส.มาแล้ว ดังนั้น ส.ส.ก็มีหน้าที่พิจารณากฎหมาย

เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะทำให้นักการเมืองได้ประโยชน์อย่างไร นายชัย กล่าวว่า เรื่องเขตเลือกตั้ง ส.ส.1 คน ก็มีสิทธิ์ที่จะออกบริการประชาชนในพื้นที่ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ทำให้ ส.ส.ใกล้ชิดประชาชนมากยิ่งขึ้น ความจริง ส.ส.ทั้ง 480 คน อยากให้คนทั้งประเทศเลือกด้วยซ้ำ ตามที่กฎหมายเขียนว่า เป็น “ผู้แทนปวงชน” แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นการเลือกตั้งผู้แทนในเขตเลือกตั้งนั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งตนเห็นว่าต่างคนต่างได้เปรียบ ไม่มีใครเสียเปรียบ
   
เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทันการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลเสนอมาเร็ว ก็ทัน เพราะอายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดวันที่ 23 ธ.ค.54 ซึ่งยังเหลือเวลาอีกเป็นปี ดังนั้น ก็คงทัน และขณะนี้ ก็ต้องแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 3-4 เดือน เวลาก็ปาไปครึ่งปี ดังนั้น จะมาทะเลาะกันไม่ได้แล้ว และอยากให้น้ำท่วม กทม. คนจะได้ไม่ต้องมาเดินขบวน จะได้เกิดความสามัคคี

ที่มาข่าว:

“ปู่ชัย”ชี้ช่อง“มาร์ค”เร่งเสนอร่างแก้ รธน.  (เดลินิวส์, 3-11-2553)
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=8&contentID=101897

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตัดสิน "6 ส.ส." สิ้นสภาพถือหุ้นสัมปทานรัฐ "บุญจง-เกื้อกูล" ไม่รอด "16 ส.ว." ไม่เข้าข่าย

Posted: 03 Nov 2010 04:25 AM PDT

ศาล รธน. มติ 7 ต่อ 1 ตัดสิน 6 ส.ส. ถือหุ้นต้องห้าม-ขัดรัฐธรรมนูญ "เกื้อกูล-บุญจง-ม.ร.ว.กิติวัฒนา" ไม่รอด ส่วน ส.ว.ทั้ง 16 คน ไม่เข้าข่ายขัดกฎหมาย

3 ต.ค. 53 - มติชนออนไลน์รายงานว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 ให้ ส.ส.จำนวน 6 คนกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญปี 2550  ในมาตรา 265 จากกรณีการเข้าไปถือหุ้นในกิจการที่รับสัมปทานรัฐและกิจการสื่อหลังจากเข้า มารับตำแหน่ง ส.ส. ซึ่งถือเป็นการกระทำต้องห้าม จึงมีผลให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย

สำหรับ ส.ส. 6 คน ได้แก่ นายสมเกียรติ ฉันทวานิช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์, นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา, นางมลิวัลย์ ธัญญสกุลกิจ ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน, นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย, ร้อยโท ปรีชาพล พงษ์พานิช (ลูกชาย นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช อดีต ส.ว.ขอนแก่น) ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ ม.ร.ว.กิติวัฒนา(ไชยันต์) ปกมนตรี ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน ซึ่งมีทั้งกรณีที่เข้าไปถือหุ้นด้วยตัวเอง หรือคู่สมรสเข้าไปถือหุ้น

ทั้งนี้ นายเกื้อกูล ปัจจุบันเป็น รมช.คมนาคม และ นายบุญจง เป็น รมช.มหาดไทย ส่วน ส.ว.ทั้ง 16 คน ศาลฯ เห็นว่าไม่เข้าข่ายขัดรัฐธรรรมนูญ

อนึ่ง คดีนี้ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของคณะกรรมการเลือก ตั้ง(กกต.) ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 กรณีสมาชิกภาพของ 16 ส.ว. และ 29 ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 119(5) และ 106(6) เนื่องจากกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265(2) (4) ถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อ และบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐหรือไม่

ขณะที่ผู้ถูกร้องประกอบด้วย ส.ว. 16 คน และ ส.ส.อีก 29 คน ได้แก่ ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ 13 คน, เพื่อไทย 8 คน, เพื่อแผ่นดิน 3 คน, ภูมิใจไทย 2 คน, ประชาราช 2 คน และชาติไทยพัฒนา 1 คน โดยในจำนวนนี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.สุราษฎร์ธานี ไปก่อนหน้านี้แล้ว

"บุญจง" จ่อลงสมัคร ส.ส.อีก

ด้านเว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้พ้นจากตำแหน่งส.ส.กรณีการถือครองหุ้นว่า เพิ่งทราบข่าว ยังอยู่ในพื้นที่ทำงานช่วยประชาชนผู้ประสบอุทกภัยอยู่ จึงยังไม่ได้อ่านคำวินิจฉัยว่ามีรายละเอียดอย่างไร ได้ยินแค่ว่าสิ้นสุดสภาพความเป็นส.ส.

อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลมีคำตัดสิน ยอมรับและเคารพคำตัดสิน ส่วนขั้นตอนต่อไป คือการต้องเลือกตั้งใหม่ โดย กกต.จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง ทั้งนี้จะลงสมัครรับเลือกตั้งเองหรือไม่ จะต้องรอกรรมการบริหารพรรค ที่จะประชุมกันในวันที่ 9 พ.ย.นี้ โดยที่ประชุมพรรคภูมิใจไทยจะกำหนดตัวผู้สมัคร

ส่วนกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เพื่อลงสมัคร ส.ส. จะเป็นบรรทัดฐานที่ต้องปฏิบัติตามเหมือนกันหรือไม่ นายบุญจงตอบว่า อยู่ที่กรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยกำหนด และทั้งหมดจะเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายเป็นสำคัญ

นายสมเกียรติ ฉันทวานิช ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกศาลตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.กรณีถือครองหุ้นบริษัทที่ได้รับสัปทานรัฐ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนทราบข่าวจากสื่อมวลชนที่โทรศัพท์มาสัมภาษณ์ แต่ยังไม่รู้ในรายละเอียดว่า ถูกตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.จากการถือครองหุ้นตัวไหน เพราะตนถือครองหุ้นอยู่ในมือหลายตัว แต่คาดว่าอาจจะเป็นหุ้นของปตท.ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ตนคงต้องหารือกับผู้ใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ก่อน

ด้าน นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย รองหัวหน้าพรรค ภท. ส.ส.นครราชสีมา พ้นสภาพการเป็น ส.ส. ว่า ไม่เป็นไร ถึงพ้นจากความเป็น ส.ส แต่ไม่ได้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี และนายบุญจง ก็ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ ส่วนพรรคจะมีการส่งนายบุญจง ลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่นั้น ต้องหารือกับที่ประชุมพรรค เพื่อให้พรรคลงมติในเรื่องนี้ก่อน โดยไม่ได้รู้สึกหวั่นไหว ถึงแม้เก้าอี้ ส.ส. ของพรรคหายไป 1 ที่ เพราะเป็นธรรมดาของการเมือง

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก:

มติ 7 ต่อ 1 ฟัน "6 ส.ส." สิ้นสภาพถือหุ้นสัมปทานรัฐ "บุญจง-เกื้อกูล" ไม่รอด "16 ส.ว." ไม่เข้าข่าย (มติชนออนไลน์, 3-11-2553)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1288775831&grpid=00&catid=

"บุญจง" จ่อลงสมัคร ส.ส.อีก (เว็บไซต์ไทยรัฐ, 3-11-2553)
http://www.thairath.co.th/content/pol/124110

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฆ่าด้วยความรัก

Posted: 03 Nov 2010 04:05 AM PDT

ผมไม่ตั้งใจจะ แซงคิว ท่านพี่ ใบต้องแห้ง นะครับ ที่เขียนบ่อยก็ไม่ใช่เพราะว่างมาก แต่เจียดเวลานอนบ้าง วันหยุดบ้างมาเขียน แล้วมันก็อยากเขียนๆ เพราะความโศกเศร้ายังเกาะกินหัวใจ กลัวจะเป็นโรคซึมเศร้าเลยต้องระบายออกด้วยการเขียน ไม่ทราบว่าเมื่อไรเราจะก้าวผ่าน ประวัติศาสตร์แห่งความโศกเศร้า ไปได้

ประวัติศาสตร์แห่งความโศกเศร้าคือ ประวัติศาสตร์แห่งการฆ่าด้วยความรัก ผมครุ่นคิดซ้ำซากกับเรื่องที่พี่ (ขออนุญาตเรียก พี่ นะครับ) ใบตองแห้ง พูดออกทีวีเมื่อช่วงรำลึก 6 ตุลา ที่ผ่านมาว่า โมเดลที่ใช้ปราบคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ก็คือโมเดลเดียวกันกับที่ใช้ปราบนักศึกษาเมื่อ 6 ตุลา แต่ทำไมอดีตนักศึกษา 6 ตุลาที่อยู่ฟากเสื้อเหลืองจึงเชียร์ให้ใช้โมเดลนี้กับคนเสื้อแดง ทั้งที่ตัวเองเคยเป็นฝ่ายถูกระทำมาก่อน คุณทำได้ยังไงๆๆ (พูดถึงตรงนี้พี่ใบตองแห้งร้องให้สะอื้นออกมาอย่างระงับอารมณ์ไม่อยู่)

ถ้าไม่มีการอ้างความรักสถาบัน รัฐประหาร 19 กันยา 49 ไม่น่าจะเกิดขึ้น ถ้าไม่อ้างความรักสถาบัน การเรียกร้อง การเชียร์ การสั่งใช้กำลังทหารปราบประชาชนช่วง เมษา-พฤษภา 53 ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น และถ้าไม่ใช่การฆ่าในนามของความรักสถาบัน ผู้ฆ่า ผู้สั่งให้ฆ่า คงถูกคนทั้งสังคมประณามในทางศีลธรรม และถูกดำเนินการทางกฎหมายไปแล้ว

ความโศกเศร้าจาก การฆ่าด้วยความรัก มีแง่มุมซับซ้อน เช่น

หนึ่ง ความรักเป็นสิ่งงดงาม ความรักสถาบันใดสถาบันหนึ่งทางสังคมก็เป็นสิ่งงดงาม และ ความรัก ย่อมตรงข้ามกับ ความอำมหิต หากรักอย่างมีเหตุผลย่อมเข้าใจสัจธรรมที่ว่าสถาบันใดๆ จะดำรงอยู่ได้ก็ด้วย บุญคุณ ของประชาชน ฉะนั้น เมื่อเรารักสถาบันใดๆ ในสังคม เราต้องรักประชาชนที่ค้ำจุนสถาบันนั้นๆ ด้วย (เช่น ด้วยการเสียภาษี ฯลฯ)

ประชาชนคือเจ้าของสถาบันทางสังคม อย่าคิดว่าสถาบันใดๆ จะมีบุญคุณกับประชาชน เช่น รัฐบาลแจกถุงยังชีพ จ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ไม่ใช่รัฐบาลมีบุญคุณต่อประชาชน เพราะสิ่งของ เงินที่ใช้ทั้งหมดมาจากการบริจาคและภาษีของประชาชน

จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่สังคมเรามีการเรียกร้องให้รัก ให้สำนึกบุญคุณต่อสถาบันใดสถาบันหนึ่ง แต่ละเลยที่จะเรียกร้องให้รัก ให้สำนึกในบุญคุณของประชาชน!

แถมยังยอมให้อ้างความรักอ้างบุญคุณของสถาบันเพื่อใช้ กำลังทหาร (ที่เลี้ยงชีวิต/มีชีวิตอยู่ได้/ไม่ตาย เพราะอาศัยเงินเดือนจากภาษีประชาชน) ปราบปรามประชาชนที่มาเรียกร้องสิทธิ อำนาจของเขา แค่ขอ เลือกตั้ง เท่านั้นเอง โดยผู้สั่งใช้กำลังทหารไม่ต้องแคร์ว่าใช้กองกำลังและอาวุธมากขนาดนั้น จัดการกับประชาชนมากขนาดนั้น เขาจะต้องบาดเจ็บล้มตายกันเท่าไร

สอง โศกเศร้ากับ ข้อเท็จจริง ที่เห็น คือ นักวิชาการ สื่อ อาจารย์มหาวิทยาลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ตบเท้าเข้ารับตำแหน่งที่ตั้งโดยคณะรัฐประหาร ออกทีวี เดินสายทั้งในและต่างประเทศไปอธิบายความชอบธรรมของรัฐประหาร

แต่คนขับแท็กซี่พลีชีพเพื่อต้านรัฐประหาร คนขับมอเตอร์ไชค์รับจ้าง แม่ค้า กรรมกร ชาวนา ป้าแก่ๆ จากชนบทจำนวนมากออกมาเสี่ยงตายเรียกร้องประชาธิปไตย ประชาชนพวกนี้ก็ถูกประณามว่าไม่เอาสถาบัน เป็นทาสของคนที่จ้องล้มสถาบัน โดยสื่อ นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ปัญญาชนชั้นนำนิ่งเฉยต่อการที่ประชาชนเหล่านี้ถูกประณาม!

สาม เศร้าโศกกับข้อตัดสินของคนมีการศึกษาในสังคมนี้ที่ว่า ระบอบทักษิณคือเผด็จการในคราบประชาธิปไตย แต่ระบอบอำมาตย์ที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ตรวจสอบไม่ได้เป็นประชาธิปไตย มีความชอบธรรมที่จะขจัดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

สี่ เศร้าโศกกับวิธีคิดของปัญญาชนชั้นนำของประเทศ อย่างเช่น ประเวศ วะสี ยุค ศรีอาริยะ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ฯลฯ ที่พยายามประดิษฐ์ นวัตกรรมทางปัญญาพุทธ มาใช้อธิบายปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เช่น อ้าง กฎอิทัปปัจจยตา ว่า สรรพสิ่งล้วนมีเหตุปัจจัยอิงอาศัยกันเกิดขึ้น อ้างเหตุปัจจัยไปถึง ระบบโลก ทุนข้ามชาติ กระแสโลกาภิวัตน์ ฯลฯ เพื่อสรุปว่า รัฐประหาร 19 กันยา จำเป็นต้องเกิด เพราะมีเหตุปัจจัยหนุนเนื่องอย่างซับซ้อนและประจวบพร้อมให้ต้องเกิด

แต่จริงๆ คือ กฎอิทัปปัจจยตาในพุทธศาสนาหมายถึง กฎทั่วไป ที่บรรยายว่า สรรพสิ่งในธรรมชาติมีความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยอิงอาศัยกันและกัน เมื่อนำกฎนี้มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหา กฎประยุกต์นี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท คือ กฎที่ระบุสาเหตุที่เด่นชัดหรือแน่นอนในการเกิดทุกข์ (หรือการดับทุกข์) ในชีวิต ถ้าจะแก้ก็ต้องเจาะจงแก้ที่สาเหตุนั้น ไม่ใช่ต้องไปแก้เหตุปัจจัยอื่นๆ ครอบจักรวาล (เช่น อวิชชา ตัณหา เป็นสาเหตุที่แน่นอนหรือโดดเด่นของการเกิดทุกข์ในชีวิต ถ้าจะแก้ทุกข์ก็ต้องแก้ตรงๆ ที่สาเหตุนี้เป็นหลัก)

ฉะนั้น เมื่อประยุกต์กฎอิทัปปัจจยตา (ปฏิจจสมุปบาท) กับปัญหาประชาธิปไตย ก็ต้องระบุ สาเหตุที่โดดเด่นหรือแน่นอนที่เป็นอุปสรรคหรือหยุดยั้งพัฒนาการประชาธิปไตย ซึ่งสาเหตุที่โดดเด่นก็คือ รัฐประหาร โดยใช้โมเดลสถาบัน หรือการอ้างความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ไม่ใช่ไปอ้างเหตุปัจจัยครอบจักรวาล แต่ไม่แตะสาเหตุจริงๆ ที่เป็นอุปสรรคประชาธิปไตยมาตลอด แล้วก็พยายามจะปฏิรูปอะไรต่ออะไรครอบจักรวาล แต่ไม่ชัดเจนว่า จะปฏิรูปกองทัพอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้มีการใช้โมเดลสถาบันเพื่อทำรัฐประหาร และปราบปรามประชาชนอีก!

5. สุดท้ายก็เศร้าอย่างยิ่งกับสังคมนี้ที่เอาแต่ประณามว่า นาย ก นาย ข จาบจ้วง หรือหมิ่นสถาบัน แต่ไม่ประณาม ไม่คิดจะเอาผิดกับคนที่นำสถาบันมาเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง อ้างสถาบันเพื่อแบ่งแยกคนในประเทศเป็นฝักฝ่าย

นาย ก นาย ข ที่บอกว่าเขาจาบจ้วงหรือหมิ่นฯ ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม ถ้ามีใครเห็นว่ากฎหมายหมิ่นฯ ไม่ยุติธรรม ก็ต้องเอามาเถียงกันได้เพื่อแก้ไขปรับปรุง ไม่ใช่อ้างการกระทำของนาย ก นาย ข เพื่อจะปิดปาก หรือใช้อำนาจควบคุมคนทั้งประเทศแบบเหมารวม หรืออ้างเพื่อยื่ดเวลาไม่ให้มีการเลือกตั้ง ฯลฯ

พูดอย่างตรงไปตรงมาถ้า นาย ก นาย ข หมิ่นฯ ก็จัดการตามกฎหมายเป็นรายๆ ไป ไม่ได้สร้างความแตกแยกแก่สังคมเหมือนกับการใช้สถาบันเป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่ได้ทำให้เกิดรัฐประหาร การปราบประชาชน

แต่การอ้างความจงรักภักดีเพื่อใช้สถาบันเป็นเครื่องมือทางการเมืองมักนำไปสู่รัฐประหาร และการปราบปรามประชาชน เป็นความเสียหายมากกว่าการกระทำของ นาย ก นาย ข อย่างเทียบกันไม่ได้ มันจึงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนในสังคมไม่ประเมินปัญหาสองเรื่องนี้อย่างเที่ยงธรรม!

ฉะนั้น แทนที่จะปฏิรูปจิตสำนึกใหม่ เราควร ปฏิรูปความรัก เพื่อหาแนวทางป้องกันอย่างถาวรว่า จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ ฆ่าด้วยความรัก ในประเทศของเราอีกต่อไป!

ปล. คำขวัญปฏิรูปความรัก คือ เรารักประชาชน : เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ !” (อย่าลืมติดสติ๊กเกอร์คำขวัญนี้ที่รถของคุณด้วยนะครับ!)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ "การโต้กลับของฝ่ายขวา"

Posted: 03 Nov 2010 03:37 AM PDT

รู้จักกับ “เลือกตั้งกลางเทอม”

สหรัฐเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประธานาธิบดีเป็นประมุขฝ่ายบริหาร และมีรัฐสภาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ การเลือกตั้งประธานาธิบดีมีทุกๆ 4 ปี ซึ่งเพิ่งเลือกตั้งไปเมื่อปี 2008 และชัยชนะเป็นของประธานาธิบดีบารัค โอบามา

ส่วนฝ่ายนิติบัญญัตินั้นแบ่งเป็นสภาผู้แทนราษฎร (house of representative หรือเรียกสั้นๆ ว่า house) จำนวน 435 คน และวุฒิสภา (senate) อีก 100 คน โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระ 2 ปี ส่วนวุฒิสมาชิกมีวาระ 6 ปี การเลือกตั้ง ส.ส. จะเปลี่ยนชุดพร้อมกันหมดทั้ง 435 คน ส่วน ส.ว. จะเลือกตั้งไม่พร้อมกัน ขึ้นกับวาระของสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน

จะเห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะเลือกตั้งทุก 2 ปี ตามธรรมเนียมแล้วจะเกิดขึ้นในปีที่ลงท้ายด้วยเลขคู่ การเลือกตั้ง ส.ส. คราวก่อนเกิดขึ้นเมื่อปี 2008 พร้อมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีนั่นเอง ชัยชนะในครั้งนั้นเป็นของพรรคเดโมแครตซึ่งเกาะกระแสบารัค โอบามาฟีเวอร์ สามารถแย่งเสียงมาจากพรรครีพับลิกันได้อีก 21 ที่นั่ง ทำให้พรรคเดโมแครตมีที่นั่งในสภาล่าง 257 ที่นั่ง เทียบกับรีพับลิกัน 178 ที่นั่ง คิดเป็นสัดส่วน 53.18 ต่อ 42.53

ผลการเลือกตั้ง ส.ส. สหรัฐปี 2008
รัฐที่เป็นสีฟ้าอ่อนคือรัฐที่พรรคเดโมแครตได้คะแนนเพิ่ม
(
ภาพจาก Wikipedia)

เมื่อเวลาผ่านมา 2 ปี ประธานาธิบดีทำงานมาได้ครึ่งวาระ และถึงเวลาสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งใหม่ การเลือกตั้งลักษณะที่เกิดขึ้นในช่วงที่ประธานาธิบดียังอยู่ในวาระ จึงมีชื่อเรียกว่า “Mid-term Election” หรือ “เลือกตั้งกลางเทอม” นั่นเอง

การเลือกตั้งกลางเทอมประจำปี 2010 ไม่เพียงแต่ประกอบด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เท่านั้น ยังมีการเลือกตั้ง ส.ว. อีก 34 คน และการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐ (ซึ่งถือเป็นการเมืองท้องถิ่น ไม่ใช่ระดับประเทศ) อีก 36 รัฐ เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

และการเลือกตั้งกลางเทอมประจำปี 2010 จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ ตามเวลาสหรัฐ (อ่านรายละเอียดได้จาก Wikipedia)

ปูมหลังการเลือกตั้ง: ความตกต่ำของรีพับลิกัน

พรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นตัวแทนความคิดสายอนุรักษ์นิยมของสหรัฐ เสื่อมความนิยมลงอย่างมากในช่วงปลายของรัฐบาลบุช (แม้ว่าช่วงแรกจะได้เสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากเหตุการณ์ 9/11 ก็ตาม) ส่วนหนึ่งเพราะสงครามทั้งในอิรักและอัฟกานิสถานที่ยืดเยื้อยาวนาน และเศรษฐกิจที่เริ่มตกต่ำ

กระแสนิยมที่ลดลงของพรรครีพับลิกัน ทำให้บารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครต ซึ่งชูนโยบาย Change ที่เน้นการปฏิรูป และภาพลักษณ์ที่สดใหม่ คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2008 ได้อย่างงดงาม

ในการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา พรรคเดโมแครตเองก็ “ตีกิน” ที่นั่งของพรรครีพับลิกันมาเรื่อยๆ จนได้เสียงข้างมากทั้งในสภาสูง สภาล่าง และผู้ว่าการรัฐของสหรัฐ


ตารางแสดงคะแนนเสียงของพรรครีพับลิกัน ณ ปัจจุบัน (ก่อนเลือกตั้ง 2 พ.ย. 2010)
จะเห็นว่าพรรครีพับลิกันเป็นฝ่าย “เสียงข้างน้อย” ในการเมืองทุกระดับของสหรัฐ (ข้อมูลจาก
Wikipedia)

ท่ามกลาง “กระแส Change” อันเชี่ยวกราก พรรครีพับลิกันไม่มีทางเลือกนอกจากทำตัวสงบเสงี่ยม เจียมตัว และรอให้เดโมแครตเป็นฝ่ายพลาดพลั้งเสียก่อน

และโอกาสนั้นของรีพับลิกันก็มาเร็วกว่าที่คาด…

ความล้มเหลวของโอบามา

บารัค โอบามา ขี่กระแส “ความฝันและความหวัง” อันใหม่ของปวงชนชาวอเมริกันในยามที่ประเทศตกต่ำ วิกฤตเศรษฐกิจที่ลากยาวมาตั้งแต่ปลายปี 2008 กลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่หนักหน่วงที่สุดของอเมริกันในรอบศตวรรษ แม้ว่าสหรัฐจะใช้แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจมากเพียงใด ก็ไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาเข้มแข็งได้ในระยะเวลาอันสั้น แถมยังมีโอกาสจะเกิดวิกฤตรอบสองด้วยซ้ำ

กราฟแสดงอัตราการว่างงานของประชาชนสหรัฐ เทียบกันระหว่างวิกฤตเศรษฐกิจรอบต่างๆ ในประวัติศาสตร์
จะเห็นว่ากราฟเส้นสีแดงของวิกฤตรอบล่าสุดนั้นร้ายแรงกว่ามาก (ที่มา –
Business Insider)

แนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลโอบามา ใช้นโยบายแบบเคย์น (Keynesian ตามชื่อของ John Maynard Keynes นักเศรษฐศาสตร์ที่ใช้แนวทางนี้แก้ปัญหา The Great Depression ในปี 1929) ซึ่งใช้งบประมาณภาครัฐจำนวนมหาศาลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อุ้มสถาบันการเงินและบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการจ้างงานเฉพาะหน้า

แต่เมื่อนโยบายของโอบามากลับไม่สามารถแก้ ปัญหาได้เร็วตามที่คาด ทำให้เกิดกระแสตีกลับ และเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าโอบามานั้นเอาเงินภาษีของประชาชนไปอุ้มสถาบัน การเงินและบริษัท เมื่อผนวกกับพลวัตรของเศรษฐกิจโลกที่ย้ายภาคการผลิตไปยังประเทศจีน ทำให้ตำแหน่งงานของสหรัฐลดลง เกิดภาวะคนว่างงาน (ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตของประชาชน) อย่างหนัก

ชาวอเมริกันจำนวนมากจึงเริ่มหมดศรัทธากับแนว ทาง “สันติ-สายกลาง” ของโอบามา และหวนไปนึกถึง “ความฝันแบบอเมริกัน” ตามแนวทางของพรรครีพับลิกัน


กราฟแสดงความนิยมของประธานาธิบดีโอบามา (นับจากต้นปี 2009 ถึงปัจจุบัน) ข้อมูลจาก Rasmussen Reports

Tea Party การกำเนิดของ “ฝ่ายขวาใหม่”

ช่วงกลางปี 2009 กลุ่มคนที่ไม่พอใจแนวทางการแก้ปัญหาของโอบามา (รวมถึงนโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลบุชช่วงปลาย) เริ่มรวมตัวกันในชื่อกลุ่ม Tea Party ซึ่งตั้งชื่อตามการประท้วงชุมนุมงานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน (Boston Tea Party) ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐสมัยยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี 1773

อุดมการณ์หลักของ Tea Party นั้นต่อต้านการอุ้มสถาบันการเงิน ต่อต้านงบประมาณขาดดุลและการขึ้นภาษี คนกลุ่มนี้เคยหวังกับ “ความเปลี่ยนแปลง” ของโอบามาแต่ก็ต้องผิดหวัง จึงพยายามสร้าง “การเมืองแบบใหม่” ในแบบฉบับของตัวเองที่แตกต่างไปจากโอบามา

จากการสำรวจพบว่ากลุ่ม Tea Party มักเป็นอเมริกันผิวขาวที่มีอายุมากกว่า 45 ปี มีการศึกษาและรายได้ดี มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมและเคยผ่านประสบการณ์ “ยุครุ่งเรืองของอเมริกา” และโหยหาอดีตอันหอมหวนอันนั้น

การประท้วงของกลุ่ม Tea Party ในวอชิงตันดีซี เมื่อเดือนกันยายน 2009 (ภาพจาก Wikipedia)

Tea Party เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยผ่านการรวมตัวแบบหลวมๆ มีแนวทางสนับสนุนพรรครีพับลิกันแต่ไม่ใช่เห็นด้วยกับรีพับลิกันไปเสียทั้ง หมด (เราอาจมองว่าเป็นปีกหนึ่งของอุดมการณ์แบบรีพับลิกัน) กลุ่ม Tea Party ดำเนินการประท้วงหลายครั้งตลอดปี 2009-2010 และสามารถระดมคนมาร่วมประท้วงได้เป็นจำนวนมาก

Tea Party สนับสนุนแนวทางของซาร่าห์ เพ-ลิน ผู้สมัครรองประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกันในปี 2008 และต่อต้านนโยบายส่วนมากของโอบามา ข้อเสนอของ Tea Party คือการปฏิรูปภาษี ลดภาษี และงบประมาณแบบสมดุล Tea Party

Judah Sekscinski แกนนำหนุ่มของ Tea Party ในรัฐเดลาแวร์ ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่าเข้าร่วมกับ Tea Party ตั้งแต่แรกเพราะรัฐบาลใช้งบประมาณฟุ่มเฟือย ประเทศมีหนี้มหาศาล และต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ในวอชิงตัน เขาบอกว่ามีประชาชนที่ไม่สังกัดพรรคใด และอดีตผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตเข้าร่วมเป็นจำนวนไม่น้อย

กลุ่ม Tea Party บางคนประสบความสำเร็จถึงขนาดลงรับเลือกตั้งในนามพรรครีพับลิกัน เช่น Christine O’Donnell ที่ใช้คะแนนหนุนจากมวลชนเอาชนะนักการเมืองเก่าแก่ของพรรครีพับลิกัน ขึ้นมาเป็นตัวแทนในการชิงวุฒิสภาระดับรัฐได้สำเร็จ

การเกื้อหนุนกันระหว่างขบวนการ Tea Party ที่กำลังสร้างโมเมนตัม และพรรครีพับลิกันที่รอโอกาสนี้มานาน ทำให้เดโมแครตตกอยู่ในที่นั่งลำบาก

ประเมินผลการเลือกตั้ง:รีพับลิกันกำลังกลับมา

สำนักข่าว BBC ได้รวบรวมผลการประเมินจากนักวิเคราะห์การเมืองหลายราย แสดงกราฟคาดการณ์ผลการเลือกตั้งดังภาพ

ที่มา – BBC

จากการคาดการณ์ของ BBC พยากรณ์ว่าพรรครีพับลิกันจะได้คะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นถึง 56 ที่นั่ง (จากทั้งหมด 435) ชิงเสียงข้างมากในสภาล่างได้สำเร็จ แม้ว่าจะเป็นเสียงปริ่มน้ำคือมากกว่าเสียงข้างมาก 18 คะแนนก็ตาม

ส่วนในสภาสูงหรือวุฒิสภา คาดว่ารีพับลิกันจะได้ที่นั่งเพิ่มอีก 7 เสียง แต่เดโมแครตยังสามารถรักษาเสียงข้างมากได้แบบเฉียดฉิว

ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาในทิศทางเดียวกับที่ประเมินเอาไว้ การที่เดโมแครตสูญเสียที่นั่งทั้งในสภาบนสภาล่าง จะทำให้รัฐบาลโอบามาเริ่มประสบอุปสรรคในการดำเนินนโยบายสำคัญๆ โดยเฉพาะนโยบายในประเทศ ที่หลายๆ อย่างต้องอาศัยการสนับสนุนจากรัฐสภา แม้ว่าในระดับนโยบายต่างประเทศ โอบามาจะยังได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรครีพับลิกันอยู่ก็ตาม

ความแตกแยกระหว่างสองขั้วในสังคมอเมริกัน ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและสลายภาพฝันที่โอบามาสร้างไว้ จะส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจอเมริกันที่ทรุดหนักอยู่แล้วเข้าไปอีก เจ้าโลกอย่างอเมริกาคงยังอยู่ในช่วง “ขาลง” ไปอีกระยะหนึ่ง

การเลือกตั้งที่กำหนดทิศทางของประเทศอเมริกาจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามผลอย่างเป็นทางการในอีกไม่ช้า

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บุญยืน สุขใหม่: ความยุติธรรมที่ถูกลืม

Posted: 03 Nov 2010 03:05 AM PDT

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 [*] มันเป็นวันที่สำคัญมากวันหนึ่งสำหรับคนที่รอคอยมานานไม่น้อยกว่าสิบห้าปี และระหว่างการรอคอยความยุติธรรมจากศาลมีหลายชีวิตต้องลมหายตายจากไปอย่างคนไร้เกียรติหรือไร้เหลียวแล นี่หรือคือผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยต่างก็ชื่นชมและเลี้ยงฉลองกับการประกาศค่า GDP กันอย่างใหญ่โตในโรงแรมหรู แต่ขณะเดียวกันยังมีชีวิตของคนงานอีกหลายชีวิตยังคงนอนนิ่งหายใจรวยรินรอคอยความตายอยู่ในซอกหลืบของสังคม โดยที่ไม่รู้ว่า“ความตาย” มันจะมาเยือนเมื่อไรเขาเหล่านั้นทำผิดอะไร ? เปล่าเลยเขาเหล่านั้นไม่ได้ทำผิดกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าจะผิดก็คงจะผิดตรงที่เขาเกิดมาเป็นคนไทย !

ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐภายใต้ชื่ออันสวยหรูว่า “การพัฒนา” นั้นมีให้เห็นมากมาย และคนที่ทุกคนน่าจะรู้จักดีก็คือ "ยายไฮ ขันจันทา" กับ 28 ปีของการเดินทางต่อสู้กับอำนาจรัฐ มันทั้งเจ็บปวดที่ถูกพูดจาถากถางจากเจ้าหน้าที่รัฐ และมันแสนคับแค้นใจเหนือคำบรรยายเมื่อถูกเพื่อนบ้านต่อว่า ว่าเป็นคนเห็นตัวแต่ใครจะเข้าใจหัวอกผู้ถูกกระทำเท่าพี่น้องสมัชชาคนจนด้วยกัน

ความแตกต่างของการรอคอยระหว่าง "ยายไฮ" กับ " คุณสมบุญ สีคำดอกแค" ซึ่งทั้งคู่ต่างก็เป็นสมาชิกสมัชชาคนจนเช่นเดียวกันแตกต่างกันที่ "คุณสมบุญ สีคำดอกแค และพี่น้องโรงงานทอผ้ากรุงเทพเหลือปอดเพียงข้างเดียว” แต่ทุกคนต่างก็มีจิตใจที่เข้มแข็งแน่วแน่บนเส้นทางแห่งการต่อสู้นี้ ถึงแม้ร่างกายที่อ่อนแอ บวกกับระยะทาง 15 ปี ที่เดินผ่านมา พบกับอุปสรรคและขวากหนามมากมาย สู้ทนขมขื่นเก็บกลั้นน้ำตาแห่งความปวดรวดร้าวนั้นไว้ บางครั้งมีเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญจากพี่น้องหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็มีคำเยาะเย้ยถากถางจากคนไทยหรือแม้แต่จากพี่น้องกรรมกรด้วยกัน

นี่แหละคือรางวัลสำหรับชีวิตของคนทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดระยะเวลาที่ต่อสู้มา 15 ปี เขาไม่ได้หวังเงิน โล่รางวัลหรือเหรียญตราใดๆ แต่สิ่งที่คุณสมบุญ สีคำดอกแค และผู้ป่วยทั้งหลายต้องการ “ความยุติธรรม” ซึ่งมันจะเป็นน้ำมันหล่อเลี้ยงจิตใจให้กับคนป่วยเหล่านี้ยืนหยัดต่อสู้ต่อไป มาถึงวันนี้โจทก์ที่ยื่นฟ้องต่อบริษัทฯ ทั้งสิ้น 38 คน หลายคนได้เสียชีวิตไปแล้ว และมีอีกหลายคนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ทุกคนก็ยังคงเฝ้ารอคำพิพากษา เผื่อว่ามันอาจจะเป็นข่าวดีข่าวสุดท้ายสำหรับชีวิตของเขา

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 จะเหลือโจทก์สักกี่คนที่สามารถเดินทางไปฟังคำพิพากษาฏีกาของศาลแรงงานกลางได้ การเดินทางในการเข้าถึงในครั้งนี้ ต้องใช้เวลาในการเดินทางกว่า 15 ปี มันจะเรียกได้หรือไม่ว่า "ความยุติธรรม"

.....

[*] อ่านเพิ่มเติม ...  พิพากษาฎีกาแล้ว 15 ปี ที่ต้องรอคอย..... ของกลุ่มผู้ป่วยปอดเสื่อมจากการทำงาน ด้วยโรคบิสซิโนซิสปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวบ้านเชื่อ รัฐบาลพม่าจะไม่เลื่อนการเลือกตั้งในพื้นที่ประสบภัย

Posted: 03 Nov 2010 01:39 AM PDT

ชาวบ้านในรัฐอาระกันเชื่อว่า รัฐบาลพม่าจะไม่เลื่อนการเลือกตั้งในพื้นที่ประสบภัยพายุไซโคลนกิริ ออกไปจากกำหนดเดิม ในขณะเดียวกัน ยังไม่มีคำตอบจากทางคณะกรรมการเลือกตั้งพม่าถึงเรื่องนี้

นายเอหม่อง จากพรรคพัฒนาแห่งชาติยะไข่ (Rakhine Nationalities Development Party) เปิดเผยว่า ได้ส่งจดหมายไปยังคณะกรรมการเลือกตั้งพม่าให้เลื่อนการเลือกตั้งในเมืองคเยาก์พยู เมืองพอกทอ มะเยโบนและเมืองมินพยา ในรัฐอาระกันออกไปก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบหนักสุดจากพายุไซโคลนกิริ โดยทางพรรคได้ส่งจดหมายไปให้คณะกรรมการเลือกตั้งในวันถัดมาหลังจากเกิดภัยพิบัติ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีท่าทีใดๆจากทางคณะกรรมการเลือกตั้งแต่ ซึ่งเป็นไปได้ว่า รัฐบาลไม่ต้องการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของนายเอหม่อง เขากล่าวว่า รัฐบาลควรเลื่อนการเลือกตั้งในพื้นที่ประสบภัยออกไปก่อน เนื่องจากเขาเห็นว่า ยังคงเป็นเรื่องยากที่ชาวบ้านจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติในช่วงเวลานี้ ด้านทาบาน จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติอาระกันเพื่อประชาธิปไตย (Arakan League for Democracy) กล่าวว่า ที่จริงแล้วรัฐบาลควรเลื่อนการหย่อนบัตรในพื้นที่ประสบภัยในรัฐอาระกันออกไป โดยเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ไซโคลนนาร์กิสในพื้นที่ปากน้ำอิรวดี ที่รัฐบาลยังเลื่อนการลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญปี 2551 ออกไป 15 วัน

ด้านตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไซโคลนกิริ ที่เข้าพัดถล่มชายฝั่งของรัฐอาระกันเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 170 รายแล้ว โดยชาวบ้านราว 170, 000 คน ยังคงไม่มีบ้านอยู่ โดยชาวบ้านในพื้นที่รายหนึ่งกล่าวว่า “รัฐบาลไม่ได้สนใจว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับเรา สิ่งที่พวกเขาให้ความสนใจก็คือ การรักษาอำนาจของตนต่อไป ในเวลาเดียวกัน เราถูกรัฐบาลกดดันอย่างหนักให้ไปเลือกตั้ง” ด้านชาวบ้านอีกคนหนึ่งกล่าวว่า “เราไม่สนใจการเลือกตั้งครั้งนี้แต่อย่างใด สิ่งที่เรากำลังคิดในตอนนี้ก็คือ เราจะกลับมาเริ่มชีวิตใหม่อย่างไร”

ขณะที่ความเคลื่อนไหวอื่นๆ มีรายงานว่า พรรคการเมืองของรัฐบาลกำลังรณรงค์หาเสียงในพื้นที่อย่างหนัก เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน เช่นมีการแจกจ่ายอาหารให้กับผู้ประสบภัย การซ่อมแซมสุเหร่าให้กับชุมชนชาวมุสลิมในเมือง มงดอว์ ทางภาคตะวันตกของรัฐอาระกัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ที่รัฐบาลอนุญาตให้มีการซ่อมแซมสุเหร่าได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลพม่าสั่งห้ามชาวมุสลิมซ่อมแซมหรือสร้างสุเหร่าแห่งใหม่

ส่วนในเมืองราทีดอง อีกเมืองหนึ่งของรัฐอาระกัน มีรายงานว่า รัฐบาลกำลังกดดันให้ข้าราชการในพื้นที่ลงคะแนนเสียงล่วงหน้าให้กับทางพรรคสหภาพและการพัฒนา (The Union Solidarity and Development Party - USDP) ของรัฐบาล

 ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลพม่าประกาศเคอร์ฟิวในเมืองหลอยก่อ เมืองหลวงของรัฐคะเรนนี โดยห้ามประชาชนออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 18.00 น. - 06.00 น.หลังทหารพม่าถูกพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party -KNPP) ซุ่มโจมตี จนทำให้มีทหารพม่าเสียชีวิต 4 นาย และทหารคะเรนนีเสียชีวิต 1 นาย

เช่นเดียวกับที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในเมืองเมาะละแหม่ง เมืองหลวงของรัฐมอญ หลังจากที่รัฐบาลพม่าออกมากล่าวหาว่า กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นยู (Karen National Union) และกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ตั๊ดบิ่ว” เตรียมก่อเหตุวางระเบิดเพื่อขัดขวางการเลือกตั้ง โดยมีการตั้งด่านตรวจทั่วเมือง ซึ่งสถานการณ์คล้ายคลึงกับกรุงย่างกุ้ง เนื่องจากมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ร้านอาหารและร้านน้ำชาในย่างกุ้งถูกสั่งให้ปิดเร็วขึ้นกว่าปกติ

ขณะที่ในรัฐฉานเอง มีรายงานว่า ประชาชนในเมืองล่าเซี่ยว เมืองน้ำตู้ สี่ป้อ ทางภาคเหนือของรัฐฉานส่วนใหญ่ จะลงคะแนนเสียงให้กับพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ หรือ พรรคเสือเผือก (Shan National Democracy Party – SND) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของชาวไทใหญ่ มีรายงานเช่นเดียวกันว่า วัยรุ่นชาวคะฉิ่นที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของรัฐฉานเป็นจำนวนมากทยอยเดินทางเข้าจีนนับตั้งแต่วันที่ 21 เดือนตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ต้องการไปลงคะแนนเสียงให้กับรัฐบาลพม่าในวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ย.ที่จะถึงนี้

ที่มา:

Narinjara/KNG/Irrawaddy/Mizzima/เวบไซต์ข่าวไทใหญ่ www.mongloi.org 2 พ.ย.53

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอ ร์http://twitter.com/salweenpost     

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรพศ ทวีศักดิ์: “ความดี” ในจินตนาการของชาวพุทธไทย

Posted: 03 Nov 2010 01:27 AM PDT

ความดีในจินตนาการของชาวพุทธไทยคืออะไร? ทำไมชาวพุทธไทยจึงนิยมทำความดีตามเทศกาล ทำไมความดีจึงผูกพันอยู่กับวัด อยู่กับพิธีกรรม หรือมีรูปแบบเฉพาะ และมีความหมายพิเศษ เช่น จะทำความดีต้องไปนุ่งขาวห่มขาว ต้องไปนั่งหลับตา ต้องไปบริจาคให้พระ บริจาคมากได้บุญมาก แล้วความดีหรือบุญนั้นก็มีอานุภาพวิเศษหลายอย่าง

เช่น ดลบันดาลให้ถูกหวยก็ได้ (แต่พระบอกว่า หวยเป็นอบายมุข ผมเคยได้ยินมหาเปรียญ 9 อธิบายว่า การถูกหวยเป็นเพราะกรรมดีในอดีตส่งผล) ให้ร่ำรวยทำมาค้าขึ้นก็ได้ ให้ได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคนก็ได้ ให้ไปเกิดในสวรรค์มีนางฟ้าห้าร้อยเป็นบริวารก็ได้ (แต่ไม่เห็นมีเทพบุตรห้าร้อยเป็นบริวาร) ให้ไปนิพพานก็ได้ แต่แทบไม่เห็นสอนกันว่า ความดีหรือบุญทำให้สังคมมีความเป็นธรรมอย่างไร มีเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพอย่างไร หรือแม้แต่ด้วยการทำบุญหรือความดีนั้นทำให้เราเคารพ ความเป็นคน ของตนเองและเพื่อนมนุษย์อย่างไร

ผมเลยลองไปหาดูจากคัมภีร์ทางพุทธศาสนาว่า ความดีตามที่บันทึกในพระไตรปิฎกเหมือนกับความดีตามจินตนาการของชาวพุทธไทยไหม ก็พบประเด็นที่อยากนำมาแลกเปลี่ยน คือ

1. ความดี (ตามที่พุทธศาสนาสอนจริงๆ) เป็นวิถีชีวิตไม่ได้ผูกพันอยู่กับวัดกับรูปแบบพิธีกรรมใดๆ ตัวอย่างเช่น การทำความดีที่คลาสสิกมากๆ คือ การทำความดีของพระโพธิสัตว์ใน ทศชาติชาดก ที่เรียกกันว่าเป็นความดีสูงส่งในระดับของ การบำเพ็ญบารมี ที่ส่งผลต่อมาให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น สาระสำคัญจริงๆ แล้ว คือการทำความดีในวิถีชีวิต ในบริบทที่เราดำรงชีวิตอยู่จริง และการทำความดีบางอย่างหมายถึง การต่อสู้เพื่อให้รอดชีวิต

เช่น การทำความเพียรของพระมหาชนก ก็คือการใช้ความพยายามว่ายน้ำในมหาสมุทร 7 วัน 7 คืน เพื่อให้มีชีวิตรอด นี่หมายความว่าพุทธศาสนายกย่องความเพียรพยายามเพื่อให้ตนเองมีชีวิตรอดว่าเป็น การบำเพ็ญบารมี อย่างหนึ่งเลยทีเดียว

ชาวพุทธอาจอธิบายว่า ที่การทำความเพียรเพื่อรอดชีวิตของพระมหาชนกเป็นการ บำเพ็ญบารมี เพราะเป็นความเพียรของพระโพธิสัตว์ที่อธิษฐานมาก่อนว่าจะบำเพ็ญบารมีเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต (วิริยบารมีเป็นหนึ่งในบารมี 10 ข้อ) แต่ประเด็นคือ เนื้อหา ของ ความเพียรพยายามเพื่อให้มีชีวิตรอด ถ้ามีคุณค่าเป็นความดีภายใต้ความจำเป็นในบริบทชีวิตจริง (กรณีพระมหาชนก บริบทคือเรือแตกในมหาสมุทร จำเป็นต้องเพียรพยายามเพื่อให้รอดชีวิต และความเพียรพยายามนั้นเป็น ความดีที่ได้รับการสรรเสริญ) แต่ทำไมการสอนเรื่อง ความดี ในสังคมพุทธไทย จึงไม่ค่อยให้คุณค่ากับการทำความดีในบริบทของชีวิตจริงอย่างที่ให้คุณค่าอย่างสูงยิ่งแก่การกระทำของพระมหาชนก

มีคนจำนวนมากในสังคมที่พยายามต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตรอด เช่น รอดจากความยากจน จากการถูกละเมิดสิทธิ แต่ชาวพุทธไทยไม่ได้ให้การยกย่อง คือไม่ได้ยกย่องผ่านคำอธิบายด้วยหลักคิดทางพุทธศาสนา เช่น กรณียายไฮ ขันจันทา ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเองเกือบ 30 ปี เรายกย่องผ่านหลักคิดของประชาธิปไตย ไม่ได้ยกย่องว่าเป็นความดีตามหลักพุทธศาสนา เพราะความเพียรของยายไฮ ไม่ใช่การทำบุญกับวัด ไม่ผ่านพิธีกรรมทางศาสนาใช่หรือไม่? (แต่ก็เป็นการทำความดีเพื่อความอยู่รอดในบริบทชีวิตจริงเช่นเดียวกับพระมหาชนกมิใช่หรือ?)

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ สุวรรณสามชาดก การทำความดีก็คือการมีความกตัญญูเลี้ยงดูบิดามารดาที่ตาบอด นี่ก็คือการทำความดีตามบทบาทหน้าที่ในครอบครัว ซึ่งคนในยุคปัจจุบันก็ทำแบบนี้อยู่ไม่น้อย (เช่น เรื่องราวของเด็กหญิงวัลลีย์ ฯลฯ) แต่ชาวพุทธไทยไม่ได้โปรโมทความดีในวิถีชีวิตจริงแบบนี้เท่ากับครึ่งเสี้ยวหนึ่งของการโปรโมทการทำดีด้วยการบริจาคเงินให้วัด หรือการทำความดีในรูปแบบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งมี อานิสงส์ หรือ รางวัลตอบแทนเป็นสวรรค์ นิพพาน โชคลาภ ความมั่งคั่งร่ำรวย ฯลฯ (ต่อให้คุณทำความดีอื่นๆ ในวิถีชีวิตมากพียงใด แต่คุณไม่เคยเข้าวัดปฏิบัติธรรมคุณอาจไม่ใช่คนดีในมิติพุทธ)

ที่ยกมาเป็นตัวอย่างการทำความดีเฉพาะตัว หรือเป็นจริยธรรมเชิงปัจเจก ส่วนความดีเชิงสังคม เช่น กรณีของพระเวสสันดร การบริจาคช้างคู่บ้านคู่เมืองของตนเอง แก่ชาวเมืองอื่นที่เดือดร้อน เสียสละลูกเมียไปเป็นทาสของคนอื่น ถือเป็นการทำความดีเพื่อสังคม เพื่อผู้อื่นโดยยอมเจ็บปวดที่ต้องถูกเนรเทศออกจากเมือง ที่ต้องสูญเสียลูกเมียอันเป็นที่รัก

แต่ดูเหมือนการเรียนรู้เวสสันดรชาดกในบ้านเราไม่ได้เน้นคุณค่าของ การเสียสละตนเองเพื่อสังคม เพื่อเพื่อนมนุษย์ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการยอมเจ็บปวดเพื่อเพื่อนมนุษย์ แต่ให้ความสำคัญกับ มิติจริยธรรมเชิงปัจเจก ว่า ที่พระเวสสันดรทำเช่นนั้นต้องถือเป็นคุณลักษณะเฉพาะตัวของพระโพธิสัตว์ผู้มุ่งประสงค์ต่อพระโพธิญาณ

ฉะนั้น มิติของความดีในจินตนาการของชาวพุทธไทย จึงไม่มีมติทางสังคม ถ้าสังคมพุทธไทยมองมิติทางสังคมของการทำความดี (เช่นกรณีพระเวสสันดร) สังคมพุทธไทยย่อมมีวัฒนธรรมย่องย่องการทำความดีเพื่อสังคม เช่น การใช้ความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด การเสียสละตัวเองของคนอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ เพื่อต่อสู้เปลี่ยนแปลงระบบสังคมการเมืองที่ไม่เป็นธรรม สร้างระบบสังคมการเมืองที่เป็นธรรม แต่กลับไม่ปรากฏว่าชาวพุทธยกย่องการเสียสละเช่นนี้ รวมถึงการเสียสละชีวิตต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของนักศึกษา ประชาชนในยุคต่างๆ ที่ผ่านมา

นอกจากไม่ให้คุณค่าแก่การเสียสละ (ความหมายสำคัญคือ การเสียสละเพื่อสังคม ต่างกันที่บริบท เช่น พระเวสสันดรกระทำการเสียสละในบริบทหนึ่ง จิตรฯ และคนอื่นๆ ในยุคปัจจุบันกระทำการเสียสละในบริบทหนึ่ง แม้อาจจะด้วยอุดมการณ์ที่ต่างกัน แต่การเสียสละตัวเอง ยอมเจ็บปวดฯลฯ เป็นการทำความดีในวิถีชีวิตในบริบทสังคมที่เป็นจริงเช่นกัน) ของคนทั่วไปในปัจจุบันดังกล่าวว่ามีความหมายเป็น ความดี ที่ควรยกย่องแล้ว ดูเหมือนว่าชาวพุทธไทยมองความเสียสละเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นธรรมเป็นเรื่องทางโลก ไม่เกี่ยวกับทางธรรม เป็นเรื่องของพวกหัวรุนแรง เป็นเรื่องของความวุ่นวาย ไม่นำไปสู่บุญกุศลและความสงบ กระทั่งไม่แคร์ต่อการที่คนเหล่านี้ถูกฆ่าด้วยซ้ำ (อย่างที่มีพระบอกว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ฯลฯ)

ฉะนั้น การทำความดีของชาวพุทธที่เห็นเป็นรูปธรรมในปัจจุบัน จึงหมายถึงการระดมคนไปทำบุญไปปฏิบัติธรรมที่วัดมากๆ ถ้าคนสนใจปฏิบัติธรรม เข้าวัดทำบุญกันมากๆ พุทธศาสนาก็มั่นคง สังคมก็จะมีความสงบสุข (ไม่สนใจรับรู้ว่าสังคมจะเป็นธรรมไม่เป็นธรรม ฯลฯ)

2. การปฏิบัติธรรมที่ว่างเปล่า ผมพยายามเปิดหาในพระไตรปิฎกว่ามีไหมที่เวลาคนมีความทุกข์เมื่อไปหาพระพุทธเจ้าแล้วพระองค์แนะนำให้ไปนั่งหลับตากำหนดลมหายใจเข้า-ออกพร้อมกับบริกรรม (ท่องในใจ) คำอะไรสักอย่าง ที่ไม่มีความหมายต่อการทำความเข้าใจความทุกข์หรือปัญหาที่คนๆนั้น กำลังประสบอยู่ ปรากฏว่าผมหาไม่เจอว่าพระพุทธเจ้าเคยแนะนำแบบนี้เลย

มีตัวอย่างที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือ สตรีคนหนึ่งที่ลูกคนเดียวของเธอเสียชีวิตกะทันหัน เธอเสียใจมากอุ้มศพลูกไปเที่ยวหาหมอวิเศษเพื่อให้ชุบชีวิตลูกเธอให้ฟื้น จนไปพบพระพุทธเจ้าแล้วพระองค์ก็ออกอุบายว่าให้เธอไปหาเมล็ดผักกาดในบ้านของใครก็ได้ที่ไม่เคยมีคนตายเลย เมื่อหามาได้แล้วพระองค์จะช่วยชุบชีวิตลูกให้ เธอไปเที่ยวหาทั้งวันก็ไม่มีบ้านไหนที่ไม่เคยมีคนตาย ในที่สุดก็ตั้งสติได้ จัดการศพลูกเรียบร้อยแล้วก็มาพบพระพุทธเจ้า พระองค์ก็แสดงธรรมให้ฟังแล้วเธอก็บรรลุธรรม

เรื่องราวในพระไตรปิฎกจะเป็นแบบนี้แทบทั้งนั้น ส่วนใหญ่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมในลักษณะการสนทนาโต้ตอบปัญหาต่างๆ กับผู้ฟัง มีผู้ฟังจำนวนไม่น้อยที่บรรลุธรรมขณะสนทนาโต้ตอบกันจบลง หรือฟังธรรมจบลง หรือไม่ก็นำสิ่งที่ฟังนั้นมาใช้ในการดำเนินชีวิต ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมของคนในยุคนั้นจึงหมายถึงการสนทนาแลกเปลี่ยน การฟัง การนำหลักธรรมที่มี เนื้อหา ที่สามารถตอบปัญหาหรือความทุกข์ที่เขาประสบอยู่มา apply กับการใช้ชีวิตจริง

ไม่ปรากฏว่ามีการจัดโครงการปฏิบัติธรรม ขนคนไปมากๆ แล้วไปนั่งหลับตาบริกรรม คำที่ไม่มีเนื้อหา ที่ทำให้เข้าใจชีวิตเลย หรือจัดทัวร์สวรรค์ทัวร์นิพพาน จองสถานที่ปฏิบัติธรรมเพื่อเอาบุญเอากุศลข้ามเป็นปีๆ อย่างที่นิยมทำกันเป็นล่ำเป็นสันในบ้านเรา ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการปฏิบัติธรรมที่ว่างเปล่าจากความหมายที่จะทำให้ชีวิตมีคุณค่ามากขึ้นและสังคมดีขึ้น

และที่ผมรู้สึกสะเทือนใจมากคือ เมื่อได้เห็น ชาวพุทธคุณภาพระดับแถวหน้า ในบ้านเรา คนหนึ่งไม่กินเนื้อสัตว์ คนหนึ่งเป็นเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐานและเป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ เรียกร้องให้รัฐบาลและทหารใช้มาตรการเด็ดขาดสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ผมงงมากว่า ความดี และ การปฏิบัติธรรม ในจินตนาการของชาวพุทธบ้าเราคืออะไร?

ทำไมคนที่อ้างความดี อ้างการปฏิบัติธรรมจึงไม่ให้ความสำคัญแก่การปกป้องชีวิตของเพื่อนมนุษย์เลย!?

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

D-magazine ชวนคนรักประชาธิปไตยส่งผลงานตีพิมพ์

Posted: 03 Nov 2010 01:13 AM PDT

D-magazine นิตยสารของคนรักสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย สื่อทางเลือกในการทำความเข้าใจสังคมการเมืองไทยปัจจุบัน ชวนเชิญผู้ที่สนใจส่งผลงานตีพิมพ์ ปิดต้นฉบับ 20 พ.ย. นี้

3 พ.ย. 53 - สำนักพิมพ์ราษฎร์ประสงค์ ร่วมกับ กลุ่มกวีตีนแดงมีโครงการจัดพิมพ์หนังสือ D-magazine นิตยสารสำหรับคนไทยที่มีใจรักในสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย วัตถุประสงค์เพื่อเป็นสื่อทางเลือกในการทำความเข้าใจสังคมการเมืองไทยปัจจุบัน และเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเปิดพื้นที่สำหรับเผยแพร่เรื่องราวและทรรศนะของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งในเบื้องต้นกำหนดออกเป็นรายสะดวก (ตามแต่ทุนทรัพย์จะเอื้ออำนวย) โดย D-magazine ฉบับต่อไป มีกำหนดพิมพ์เผยแพร่วันที่ 10 ธันวาคม 2553 นี้

ทั้งนี้กองบรรณาธิการ จึงขอเรียนเชิญเพื่อนพ้องนักคิดนักเขียนอิสระ นิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไปร่วมส่งบทความ บทวิเคราะห์ บทกวี เรื่องสั้นเพื่อพิจารณาลงตีพิมพ์ใน D-magazine โดยเริ่มเปิดรับบทความตั้งแต่วันนี้ ถึง 20 พฤศจิกายน 2553 ส่งบทความทาง e-mail : freewrite2010@hotmail.com พร้อมชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์เพื่อความสะดวกในการติดต่อกลับ

โดยบทความ บทวิเคราะห์ บทกวีทุกชิ้นจะต้องไม่เคยถูกตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในที่ใดมาก่อน และต้องไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์จากผู้ใด สำหรับทุกบทความที่ได้ลงตีพิมพ์กองบรรณาธิการจะจัดส่งนิตยสารฉบับดังกล่าวให้ฟรีสองฉบับ และอาจมีค่าตอบแทนตามสมควร
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กมธ.ร่วมแก้ร่าง กม. “กสทช.” ส่งคืนให้สองสภาลงมติ

Posted: 03 Nov 2010 12:39 AM PDT

กมธ.ร่วมฯ แก้ไขร่าง กม.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ส่งคืนให้ สส. และ สว.ลงมติ เกรงไม่ทันปิดสภาฯ หลังแก้ไขประเด็นหลักที่วุฒิฯ ปรับ

เมื่อวันที่ 28 ตุ.ค. 53 ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. …ได้พิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว และได้ส่งกลับคืนไปยังสภาผู้แทนราฎรและวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้ทันในสมัยประชุมนี้ แต่ในสัปดาห์นี้ยังไม่ปรากฏวาระการประชุมทั้งสองสภา

มติกรรมาธิการร่วมฯ แก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมายในห้าประเด็นหลัก คือ หนึ่ง-องค์ประกอบกรรมการ (ม.6) มีมติให้ กสทช.มีจำนวนสิบเอ็ดคนโดยตัดองค์ประกอบด้านศาสนาและด้านความมั่นคงออกไป สอง-คุณสมบัติกรรมการ(ม.7) มีมติให้ กสทช. มีอายุระหว่าง 35-70 ปี สาม-ลักษณะต้องห้ามของกรรมการ(ม.7) ต้องไม่อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

สี่-การได้มาซึ่งกรรมการ(ม.9-19) มีมติให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นหน่วยงานธุรการในการดำเนินการสรรหาและคัดเลือกกรรมการ กสทช. ตามร่างของสภาผู้แทนราษฎร ห้า-การกำหนดระยะเวลาให้รัฐวิสาหกิจต้องนำรายได้จากผลประกอบการที่ให้อนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา (ม.84) มีมติให้รัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการนำส่งเพื่อเป็นรายได้ของรัฐออกไปเป็นสามปีหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้

นอกจากนี้ยังมีประเด็นแก้ไขเพิ่มเติม อาทิ วัตถุประสงค์ของกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ(ม.51(2)) ที่ประชุมมีมติให้แก้ไขเพิ่มเติมระบุให้มีการส่งเสริมและสนับสนุน เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุหรือ ผู้ด้อยโอกาส ตามที่นายมณเฑียร บุญตัน สว.และกรรมาธิการเสนอ

รวมทั้งประเด็นการจัดสรรคลื่นความถี่ให้ภาคประชาชน(ม.85) ที่ประชุมมีมติให้แก้ไขปรับปรุงโดยเพิ่มความเป็นวรรคสาม ดังนี้ “หลังจากประกาศใช้แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่แล้ว ในช่วงเวลาที่ยังไม่ได้ประกาศให้ใช้ระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ให้กสทช. จัดสรรคลื่นความถี่ให้ภาคประชาชนได้ใช้ในกิจการโทรทัศน์เป็นการชั่วคราวเฉพาะในพื้นที่ที่มีคลื่นความถี่เพียงพอที่จะดำเนินการจัดสรรได้”

ทั้งนี้ระหว่างประชุมครั้งที่ 4  (22 ต.ค.)  นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ สส. พรรคประชาธิปัตย์ และนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิชาการ ซึ่งเป็นกรรมาธิการร่วมฯ แสดงความเห็นสอดคล้องกัน ต่อร่างมาตรา 85 ที่ระบุเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่ 20% ให้กับภาคประชาชนมาใช้บังคับ จนกว่าจะมีการจัดทำแผนในระบบดิจิตอลแล้ว โดยแสดงความเป็นห่วงว่าถ้าหากปล่อยให้ท้องถิ่นดำเนินกิจการโทรทัศน์ไปพลาง เกรงว่าจะเกิดปัญหาซ้ำรอยเช่นเดียวกับกรณีวิทยุชุมชนที่ในขณะนี้ กทช.เองไม่สามารถควบคุมดูแลได้ การให้สิทธิชั่วคราวจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต อีกทั้งการจัดทำแผนในระบบดิจิตอลจะไม่ล่าช้าเพราะมีแผนแม่บทคลื่นความถี่กำกับอยู่

ด้านนางรสนา โตสิตระกูล สว.และกมธ.ร่วม ได้แสดงความเห็นยืนตามร่างวุฒิสภาที่ได้แก้ไขไว้ ว่าควรเปิดให้มีการจัดสรรคลื่นชั่วคราวในพื้นที่ที่มีคลื่นความถี่เพียงพอให้กับภาคประชาชนได้ใช้ระหว่างการเปลี่ยนผ่านเป็นระบบดิจิตอล เนื่องจากไม่มีหลักประกันว่าประชาชนจะเข้าถึงหรือได้รับสิทธิในคลื่นความถี่เมื่อใดหากการแปลงระบบไปสู่ดิจิตอลล่าช้าออกไป ทั้งยังได้ย้ำว่าอย่างไรก็ตามการกำหนดนิยาม “ภาคประชาชน” ควรต้องมีความชัดเจนไม่เป็นการเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจหรือกลุ่มที่แสวงประโยชน์อื่นๆ เข้ามาแทรกแซงได้

ระหว่างกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายในคราวนี้มีผู้ยื่นข้อเสนอปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ สี่หน่วยงาน ประกอบด้วย สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สหภาพแรงงาน รัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สมาคมพนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และกลุ่มพลังใหม่ ทีโอที

ข้อสังเกตในการพิจารณาร่างกฎหมายครั้งนี้ พบว่าผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษากรรมาธิการ นอกจากนักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาชนแล้ว ยังปรากฎรายชื่อของนายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง ซีอีโอบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) หรือ CAT และ นายมนต์ชัย หนูสูง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) หรือ TOT อีกทั้งระหว่างการประชุมทุกครั้งจะมีตัวแทนจากสองรัฐวิสาหกิจเตรียมพร้อมเข้าชี้แจงและนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการนำส่งรายได้จากการสัมปทานโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจาก คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) อสมท และเครือข่ายวิทยุเสียงธรรมเข้าติดตามการพิจารณาเป็นประจำ.
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: โจ๋เมืองดอกบัวเข้าค่ายฝึกละครเพื่อฟื้นฟูคุณธรรม

Posted: 03 Nov 2010 12:22 AM PDT

2 พ.ย. 53 - ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี โครงการต้นกล้าคุณธรรมสร้างสรรค์สื่อเพื่อชุมชนคุณธรรม ร่วมกับ สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี และแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน (สสย.) จัด “ค่ายเยาวชนสร้างสรรค์สื่อคุณธรรมนำชีวิต (ค่ายละครเพื่อคนคุณธรรม)” เพื่อพัฒนาทักษะการแสดงละคร และใช้เป็นสื่อในการส่งเสริมคุณธรรมให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่อำเภอศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี

ค่ายละครเพื่อคนคุณธรรมเป็นการรวมตัวกันทำกิจกรรมของเด็กและเยาวชนจาก 3 โรงเรียนในพื้นที่อำเภอศรีเมืองใหม่คือ โรงเรียนศรีเมืองวิทยาคาร  โรงเรียนเอือดใหญ่พิทยาและโรงเรียนหนามแท่งพิทยาคมราชมังคลาภิเษก  โดยกิจกรรมจัดขึ้นทั้งหมด 3 วัน คือในระหว่างวันที่ ๓๑ ตุลาคม – ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๓ ส่วนกิจกรรมที่น่าสนใจภายในค่ายนั้นมีหลายอย่างที่นอกจากจะสอนทักษะการเล่นละครเบื้องต้นแล้ว  ยังแฝงการปลูกฝังคุณธรรมเรื่องกาอยู่ร่วมกันในสังคมด้วย  โดยได้กลุ่มสื่อใสวัยทีน  กลุ่มเยาวชนที่มีประสบการด้านละครหลายรูปแบบมาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้กับน้องๆตลอดการอบรมทั้ง 3 วัน  ส่วนบรรยากาศของกิจกรรมในวันสุดท้ายที่ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมค่ายนั้น  เด็กและเยาวชนที่มาร่วมค่ายยังคงฝึกเล่นละครกันอย่างสนุกสนานแต่ก็ยังคงเห็นแววตาแห่งความเอาจริงเอาจัง   และดูเหมือนว่าทุกคนจะมีความเป็นกันเองมากขึ้น  ถึงแม้จะมาจากต่างโรงเรียนก็ตาม  ทำให้ค่ายนี้บรรลุผลในเรื่องการอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป: สภาวการณ์ชะงักงันในภาคใต้ของไทย

Posted: 02 Nov 2010 11:18 PM PDT

3 พ.ย. 53 - รัฐบาลไทยจะต้องฝ่าสภาวการณ์ชะงักงันของปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ด้วยการผลักดันการแก้ปัญหาด้วยการเมืองอย่างจริงจัง ด้วยการชำระปัญหาความอยุติธรรมในอดีต พูดคุยกับกลุ่มก่อความไม่สงบและแสวงหารูปแบบการปกครองแบบใหม่

สภาวการณ์ชะงักงันในภาคใต้ของไทย เป็นรายงานชิ้นล่าสุดของอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ปที่วิเคราะห์ถึงปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ในช่วงปีที่สองของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในขณะที่การชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลใน กรุงเทพฯ ในช่วงต้น ปี ๒๕๕๓ ได้สะกดความสนใจของผู้คน ความรุนแรงในภาคใต้ก็ยังคงดำเนินต่อไป มันเป็นปัญหาที่อยู่ชายขอบของความสนใจสาธารณะซึ่งยังคงไม่ได้รับการแก้ไข มีผู้คนเสียชีวิตไปกว่า ๔,๔๐๐ คนแล้วในความขัดแย้งนี้ซึ่งปะทุขึ้นเมื่อกว่าหกปีที่แล้ว

“ในขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ตระหนักว่าการแก้ปัญหาด้วยการเมืองนั้นเป็นสิ่งจำเป็นต่อการยุติความขัดแย้ง แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามคำพูดที่กล่าวไว้ได้”, รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิเคราะห์ประจำประเทศไทย ของอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป กล่าว “การเปลี่ยนกระบวนทัศน์เป็นสิ่งที่จำเป็น ควรจะมีการยอมรับว่าการผนวกกลืนเอาคนมลายูมุสลิมเข้ากับวัฒนธรรมของสังคมใหญ่นั้นล้มเหลว การยอมรับถึงอัตลักษณ์เฉพาะทางศาสนาและเชื้อชาติของพวกเขาเป็นสิ่งสำคัญต่อการแก้ปัญหาภาคใต้”

รัฐบาลนี้ไม่สามารถทำตามสิ่งที่เคยประกาศไว้ว่าจะพิจารณายกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ในทางตรงกันข้าม กฎหมายฉบับนี้กลับถูกนำไปใช้ในจังหวัดอื่นๆ เพื่อปราบปรามผู้ที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล นอกจากนี้ ยังไม่มีความคืบหน้าในการนำเอาผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในขณะที่การซ้อมทรมานและการละเมิดอื่นๆ ต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ตอกย้ำถึงปัญหาการละเว้นลงโทษผู้กระทำผิดและหนุนเสริมคำอธิบายของขบวนกาเรื่องการปกครองอันอยุติธรรม นอกจากนี้ ยังมีส่วนผลักดันให้คนเข้าสู่ขบวนการอีกด้วย

การปฏิรูปการบริหารการปกครองโดยเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการกับปัญหาของตนเองจะเป็นหนทางหนึ่งในการสร้างพื้นที่ให้คนมลายูมุสลิมนำเอาความอึดอัดคับข้องใจและผลักดันความต้องการของพวกเขาอย่างสันติ แม้ว่าจะมีการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยในเรื่องนี้ได้อย่างเปิดเผยขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่มีความพยายามอย่างจริงจังในการแสวงหารูปแบบที่เป็นไปได้ของการกระจายอำนาจภายใต้กรอบความเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศไทย

รัฐบาลจะต้องพยายามอย่างจริงจังที่จะพูดคุยกับกลุ่มก่อความไม่สงบและมีความพร้อมที่จะยินยอมตามข้อเสนอบางอย่าง ที่ผ่านมา การประกาศหยุดปฏิบัติการรุนแรงแบบฝ่ายเดียวในพื้นที่จำกัดของกลุ่มก่อความไม่สงบสองกลุ่มกลับได้รับการยอมรับด้วยท่าทีเพิกเฉยจากรัฐบาล

รัฐบาลควรจะดำเนินตามนโยบายที่วางไว้ในการลดจำนวนทหาร โดยใช้กำลังตำรวจและอาสาสมัครในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยแทนในบางส่วน ในขณะที่กองทัพคาดหวังว่านโยบายตามมาตรา 21 ที่คล้ายกับการนิรโทษกรรม ซึ่งคาดว่าจะมีการบังคับใช้ในเร็ววันนี้จะสามารถโน้มน้าวให้ผู้ก่อความไม่สงบมามอบตัวได้ กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนกลับเกรงว่ามันอาจจะนำไปสู่การบังคับให้สารภาพ อย่างไรก็ดี มาตรการนี้เพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ ตราบใดที่บริบททางสังคมการเมืองที่เป็นปัญหายังคงไม่ได้รับการแก้ไข

นับเป็นความจริงที่โชคร้ายว่าหากการเมืองในกรุงเทพฯ ยังคงไร้เสถียรภาพ ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ก็จะยังคงถูกเพิกเฉยโดยรัฐบาลซึ่งวุ่นวายกับการจัดการปัญหาของตนเองเพื่อความอยู่รอด

“แม้ว่าจะมีเรื่องอื่นๆ มาดึงความสนใจ ในทุกภาคส่วนของรัฐบาลก็ควรจะครุ่นคิดว่าจะตอบสนองต่อท่าทีของขบวนการอย่างไร” จิม เดลลา-จิอาโคม่า ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ปกล่าว  “ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างตระหนักว่าไม่สามารถที่เอาชนะกันได้ด้วยการทหาร การแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้จะต้องแก้ด้วย การพูดคุยและประนีประนอม ซึ่งหมายถึงว่าฝ่ายขบวนการเองก็จำเป็นต้องมีข้อเสนอทางการเมืองที่เป็นเอกภาพด้วย”

 

 

สภาวการณ์ชะงักงันในภาคใต้ของไทย

I. บทนำ

ปัญหาการก่อความไม่สงบในภาคใต้ของประเทศกำลังอยู่ในสภาวการณ์ชะงักงัน แม้ว่าปฏิบัติการทางการทหารอาจจะมีส่วนที่ทำให้ระดับของความรุนแรงลดลงบ้าง แต่รัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแทบจะไม่ได้จัดการกับเงื่อนไขทางการเมืองที่ผลักให้เกิดขบวนการต่อต้านรัฐไทยขึ้น การประกาศหยุดปฏิบัติการความรุนแรงในพื้นที่จำกัดแบบฝ่ายเดียว (a limited unilateral suspension of hostilities)โดยกลุ่มก่อความไม่สงบไม่ได้รับการตอบสนองอย่างมีนัยสำคัญจากรัฐบาล กฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงอย่างกว้างขวางก็ยังคงใช้บังคับอยู่เช่นเดิม ยังคงไม่มีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมกับผู้เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงและการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยก็ยังคงดำเนินต่อไป ในขณะที่การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลในกรุงเทพฯ ในช่วงต้นปี 2553 ได้ดึงดูดความสนใจของสาธารณชนไป จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงในภาคใต้ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การก่อความไม่สงบปะทุขึ้นเมื่อกว่าหกปีที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ได้กลายเป็นประเด็นชายขอบของการเมืองไทยและยังอาจแก้ไขได้ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการแก้ไขปัญหาเป็นสิ่งที่จำเป็น รัฐบาลจะต้องตระหนักว่าความพยายามที่จะผนวกกลืนคนมลายูมุสลิมนั้นล้มเหลวและควรจะยอมรับว่าพวกเขามีอัตลักษณ์เฉพาะทางศาสนาและชาติพันธุ์ การพูดคุยกับกลุ่มก่อความไม่สงบและการปฏิรูปการบริหารราชการในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างจะเป็นสององค์ประกอบสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้วยการเมือง

ระดับความรุนแรงในภาคใต้นั้นค่อนข้างคงที่ในช่วงสามปีที่ผ่านมา กองกำลังทหารกว่า 30,000 นายยังคงปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่มีการก่อความรุนแรงในการโจมตีกองกำลังทหารตำรวจ ครู พระ คนพุทธ รวมถึงคนมุสลิมที่ถูกมองว่าให้ความร่วมมือกับรัฐบาล หลังจากปี 2551 ที่ความรุนแรงลดระดับลงอย่างสำคัญ จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงก็คงอยู่ที่ประมาณ 1,000 เหตุต่อปี โดยในสิบเดือนแรกของปี 2553 มีผู้เสียชีวิต 368 คน ปฏิบัติการทางการทหารเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถที่จะหยุดความรุนแรงได้

ในขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ตระหนักว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้จะต้องแก้ด้วยการเมือง แต่คำพูดนั้นยังมิได้ปรากฎเป็นการกระทำที่ชัดเจนนัก รัฐบาลยังไม่ได้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2548 ซ้ำร้ายไปกว่านั้น รัฐบาลกลับใช้กฎหมายพิเศษที่มีความรุนแรงฉบับนี้ในการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลจังหวัดอื่นๆ รัฐบาลได้ปฏิเสธโอกาสในการเปิดเวทีพูดคุยกับขบวนการโดยเพิกเฉยต่อการที่ขบวนการก่อความไม่สงบสองกลุ่มได้ประกาศหยุดปฏิบัติการความรุนแรงในบางพื้นที่ แม้ว่าจะมีการเปิดพื้นที่ให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนระบบบริหารราชการในภาคใต้มากขึ้นกว่ารัฐบาลก่อนๆ แต่รัฐบาลก็ยังไม่ได้พยายามอย่างจริงจังในการแสวงหารูปแบบการปกครองใหม่ที่เป็นไปได้ในกรอบของความเป็นรัฐเดี่ยว

รัฐบาลเตรียมการที่จะใช้ “ปฏิบัติการทางการเมือง” (political offensive) ใหม่ภายใต้พระราชบัญญัติความมั่นคงซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับการนิรโทษกรรม โดยคาดหวังว่ามาตรการนี้จะสามารถดึงให้ผู้ที่อยู่ในขบวนการมามอบตัวและทำให้ขบวนการอ่อนแอลง มาตรการนี้อนุญาตให้ทางการสามารถระงับการดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยในคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลด้วย โดยผู้นั้นจะต้องเข้ารับการ “อบรบ” เป็นเวลาสูงสุดหกเดือน คงต้องรอดูกันต่อไปว่ามาตรการนี้จะได้ผลหรือไม่ นักสิทธิมนุษยชนยังคงกังขาและเกรงว่าผู้ที่มามอบตัวจะถูกบังคับให้สารภาพผิดต่อความผิดที่ตนไม่ได้ก่อ พวกเขาเรียกการอบรมนี้ว่าเป็น “การควบคุมตัวด้วยคำสั่งของฝ่ายบริหาร” (administrative detention) อย่างไรก็ดี มาตรการนี้เพียงอย่างเดียวไม่อาจที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ตราบใดที่บริบททางสังคมการเมืองที่เป็นปัญหาที่ใหญ่กว่ายังคงไม่ได้รับการแก้ไข

การซ้อมทรมานและการละเมิดในลักษณะอื่นๆ กับผู้ถูกควบคุมตัวยังคงเกิดขึ้น ในขณะที่การเรียกร้องความยุติธรรมต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมายังคงไม่ได้รับเสียงตอบรับ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องอดีตทหารพรานซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยคดีการสังหารโหดในมัสยิดอัลฟุรกอนในปี 2552 กรณีแบบนี้ได้ตอกย้ำความเชื่อที่ว่าคนกระทำผิดไม่ต้องถูกลงโทษ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับคำอธิบายของขบวนการว่าการปกครองของรัฐไทยนั้นอยุติธรรมและเป็นการผลักให้คนเข้าสู่ขบวนการและจับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐไทยมากขึ้น

จนกว่าที่เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลไทยจะกลับคืนมา ปัญหาการก่อความไม่สงบในภาคใต้ก็จะยังคงเป็นประเด็นชายขอบในวาระของรัฐบาล แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลจำเป็นจะต้องเตรียมพร้อมที่จะตอบสนองต่อท่าทีในอนาคตของขบวนการและวางพื้นฐานทางการเมืองสำหรับข้อตกลงจากการเจรจาที่อาจจะเกิดขึ้น ในพื้นที่อื่นๆ ที่เผชิญกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน การเจรจาเป็นส่วนประกอบสำคัญของแนวทางที่นำไปสู่การยุติความขัดแย้งและไม่จำเป็นที่จะต้องนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนอย่างที่รัฐบาลไทยรู้สึกหวาดกลัวมาโดยตลอด

ในขณะที่โอกาสที่แต่ละฝ่ายจะได้รับชัยชนะทางการทหารเป็นไปได้ยาก ขบวนการเองก็ควรที่จะพิจารณายุทธศาสตร์ทางการเมืองใหม่ ตัวแทนของขบวนการควรจะมีข้อเสนอทางการเมืองอย่างรอบด้าน นอกเหนือจากการต่อสู้ด้วยความรุนแรง พวกเขาควรที่จะเตรียมพร้อมในการเสนอข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเมื่อโอกาสในการพูดคุยมาถึง

รายงานฉบับนี้นำเสนอบทวิเคราะห์สถานการณ์การก่อความไม่สงบในภาคใต้ในช่วงปีที่สองของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาวิจัยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงตุลาคม 2553 ซึ่งได้มีการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ในภาคใต้ด้วย

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชำนาญ จันทร์เรือง: หากจะยุบศาลรัฐธรรมนูญ ต้องยุบศาลปกครองด้วย

Posted: 02 Nov 2010 10:48 PM PDT

หลังจากที่มีการเผยแพร่ "คลิป” เกี่ยวกับคดีการยุบพรรคประชาธิปัตย์และการสอบคัดเลือกเจ้าหน้าที่ ศาลรัฐธรรมนูญออกมา ได้สร้างความสั่นสะเทือนต่อความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญและศาลอื่นๆ ด้วย มีการเสนอให้มีการปฏิรูปศาลทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นที่มาที่ไปของบุคคลากรและองค์ประกอบขององค์กร การสรรหาและการตรวจสอบจากรัฐสภาและประชาชน

อย่างไรก็ตามการปฏิรูปศาลทั้งระบบนั้นเป็นเรื่องใหญ่และต้องถกเถียงกันอีกมาก เพราะแรงต้านจากองค์กรที่จะถูกปฏิรูปคงมีอย่างแน่นอนและเป็นหนังเรื่องยาวชนิดหลายตอนจบ แต่ก็ต้องทำเพราะโลกได้หมุนไปข้างหน้ามากแล้วแต่เรายังไปไม่ถึงไหน ทั้งๆที่ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกามีเลือกตั้งผู้พิพากษากันแล้ว แต่ของเราอย่าว่าแต่เลือกตั้งผู้พิพากษาเลยแค่เพียงการตรวจสอบหรือวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนยังทำได้ยากเลย

ประเด็นที่น่าสนใจเป็นปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้ก็คือ การเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญให้ไปรวมกับศาลอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางนายเองที่อยากให้ยุบไปรวมกับศาลฎีกาหรือศาลปกครองเสียให้สิ้นเรื่องหากยังยุ่งนัก ประเด็นการยุบรวมนี้ดูเผินๆอาจจะดูง่ายๆ เพราะแก้กฎหมายเสียก็เป็นอันใช้ได้ แต่อันที่จริงแล้วการมีหรือไม่มีศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็นเรื่องของระบบศาลของประเทศนั้นๆเลยทีเดียว

แต่ก่อนที่จะไปถึงประเด็นที่ว่าไทยเราควรยุบหรือไม่ยุบศาลรัฐธรรมนูญ นั้น เรามาเข้าใจกันเสียก่อนว่าระบบศาลในโลกนี้มีอยู่ ๒ ระบบ คือ ระบบศาลเดี่ยวกับระบบศาลคู่

ระบบศาลเดี่ยว (Single Court System ) หมายถึงประเทศนั้นไม่มีการจัดตั้งศาลขึ้นมาพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนเป็นการเฉพาะ ซึ่งศาลที่ใช้กฎหมายมหาชนที่ประกอบไปด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครองก็คือศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองนั่นเอง เมื่อไม่มีการจัดตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ในประเทศที่ใช้ระบบศาลเดี่ยวซึ่งได้แก่ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์(Common Law) ได้แก่ประเทศอังกฤษและประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศอังกฤษก็จะใช้ศาลยุติธรรมทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองแทน

โดยศาลสูงสุดของแต่ละประเทศก็จะทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญ เช่น สหรัฐอเมริกาใช้ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา (the U.S. Supreme Court) หรือศาลสูงสุดของรัฐบาลกลาง (the Federal Supreme Court) เป็นศาลรัฐธรรมนูญ อังกฤษใช้ศาลยุติธรรมสูงสุดของอังกฤษ ซึ่งหมายถึง ศาลสภาขุนนาง (House of Lords) และญี่ปุ่นก็ใช้ศาลสูงสุดของญี่ปุ่น (The Supreme Court of Japan) เป็นศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจของ ศาลปกครองนั้นจะอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมซึ่งอาจจะตั้งเป็นแผนกคดีปกครองเป็นการเฉพาะหรือในลักษณะศาลพิเศษ(Tribunal)ขึ้นมา แต่ยังสังกัดศาลยุติธรรม

ส่วนประเทศที่ใช้ระบบศาลคู่ (Dual Court System) นั้น หมายถึงประเทศที่มีการจัดตั้งศาลขึ้นมาพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายมหาชนเป็นการเฉพาะแยกอิสระจากศาลยุติธรรมในลักษณะคู่ขนาน ฉะนั้น คำว่าศาลคู่ในที่นี้จึงหมายความถึงคู่ขนานมิใช่ในความหมายของคำว่า”สอง” ประเทศที่ใช้ระบบศาลคู่จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีเพียงสองศาล อาจจะมีมากกว่าสองก็ได้ เช่น ในไทยเรามีทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครองและศาลทหาร และเช่นเดียวกันคำว่าศาลเดี่ยวก็ไม่จำเป็นต้องมีเพียงศาลเดียว เช่น ไทยเราก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี ๔๐ เราใช้ระบบศาลเดี่ยว แต่เราก็มีทั้งศาลยุติธรรมและศาลทหาร

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือหากประเทศใดใช้ระบบศาลคู่ก็จะต้องมีศาลปกครองกับศาลรัฐธรรมนูญ หากประเทศใดใช้ระบบศาลเดี่ยวก็จะไม่มีศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองนั่นเอง ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าขำที่มีการเสนอให้ยุบรวมศาลรัฐธรรมนูญเข้ากับศาลยุติธรรมโดยยังคงเหลือศาลปกครองไว้

แต่ที่น่าตลกที่สุดก็คือการเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญไปอยู่กับศาลปกครอง เพราะโดยศักดิ์แล้วศาลรัฐธรรมนูญมีสถานะเหนือกว่าศาลปกครองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอำนาจหน้าที่ ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยว่ากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติใดขึ้นไปขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ศาลปกครองมีอำนาจวินิจฉัยกฎหมายเพียงระดับกฎหมายรองคือกฎหมายในระดับที่ต่ำกว่าพระราชบัญญัติลงมาเท่านั้น อาทิ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ฯลฯ

ในระดับตัวผู้นำขององค์กรก็เช่นกัน ในงานพิธีต่างๆ ลำดับอาวุโสของตำแหน่งจะเรียงจากประธานศาลฎีกาก่อน ต่อด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ แล้วจึงมาถึงประธานศาลปกครองสูงสุด ฉะนั้น การที่ ศาลรัฐธรรมนูญจะยุบรวมศาลฎีกาก็ยังพอฟังได้ แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไปยุบรวมเป็นแผนกหนึ่งของศาลปกครองจึงเป็นข้อเสนอที่ตลกเอามากๆ

ในความเห็นของผมนั้น ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการการยุบศาลรัฐธรรมนูญเพราะนอกเหนือจากเหตุผลที่ว่าประเทศเราใช้ระบบศาลคู่แล้ว ผลงานที่ผ่านมาตั้งแต่ปี๔๑ศาลรัฐธรรมนูญทำได้ดีพอสมควรในเรื่องของการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ถึงแม้ว่าผมจะไม่เห็นด้วยในหลายๆ ประเด็น อาทิ การยุบพรรคการเมืองต่างๆ หรือการตีความในกรณีรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๐ ฯลฯ เพราะการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาอย่างหลากหลายย่อมทำให้การวินิจฉัยตีความรัฐธรรมนูญย่อมทำได้ดีกว่าการที่มีที่มาจากแหล่งเดียว

เป็นธรรมดาอยู่เองที่การใช้อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญของทุกประเทศ ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง หรือเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐ เช่น รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมตลอดทั้งสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการควบคุมตรวจสอบ เป็นต้น

กอปรกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่สุดและเด็ดขาด มีผลผูกพันบุคคล องค์กร และหน่วยงานของรัฐทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ฉะนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องได้รับแรงเสียดทานและวิชามารจากฝ่ายการเมือง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าตัวตุลาการเองจะต้องมีจรรยาบรรณ ความสุจริต ไม่เอาความชอบความชังส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และต้องกล้ายืนหยัดในความถูกต้อง ที่สำคัญที่สุดต้องพร้อมที่จะถูกตรวจสอบได้ด้วย ซึ่งก็รวมถึงการถูกยื่นถอดถอนจากวุฒิสภาด้วยหากจะมีขึ้น

กล่าวโดยสรุปก็คือหากจะยุบศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาจริงๆแล้วก็ต้องยุบศาลปกครองไปด้วย เพราะในเรื่องของระบบศาลนั้นศาลรัฐธรรมนูญกับศาลปกครองเป็นของคู่กัน แต่จะให้ดีที่สุดก็คือยังคงไว้ทั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองเพราะเป็นศาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ส่วนตัวบุคคลก็ว่ากันเป็นรายๆ ไป เพราะกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ใครทำกรรมใดไว้ก็ต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้น นั่นเอง

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น