โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

จับแม่ค้ารองเท้ารูปนายกฯ - ตำรวจระบุนำสินค้ามาสอบว่าฝ่าฝืน "ศอฉ." หรือไม่

Posted: 19 Nov 2010 09:34 AM PST

ตำรวจนครบาลควบคุมตัวแม่ค้าขายรองเท้าที่พิมพ์รูปนายกรัฐมนตรี ซึ่งวางขายที่ชุมนุมคนเสื้อแดงแยกราชประสงค์ ยึดได้ 100 คู่ ตำรวจระบุเป็นเพียงการตรวจสอบสินค้าว่าผิดตามประกาศหรือไม่ เผยจะแจ้งข้อหากีดขวางทางเท้าและเปรียบเทียบปรับเท่านั้น

ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 19 พ.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.สส.บช.น. ได้ควบคุมตัวนางกรกมล พรหิทธ์ แม่ค้าขายรองเท้าที่มีรูปหน้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งวางขายอยู่ในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ โดยจับกุมนางกรกมลได้พร้อมของกลางรองเท้ากว่า 100 คู่ จากนั้นได้นำตัวไปสอบสวนที่ กก. 4 บก.สส.บช.น.

เบื้องต้นพล.ต.ต.รณศิลป์ ภู่สาระ ผบก.สส.บชน. เปิดเผยว่า การควบคุมตัวครั้งนี้เป็นเพียงการนำสินค้าที่วางขายมาตรวจสอบว่า เป็นสินค้าที่ผิดตามประกาศของ ศอฉ. หรือไม่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบรายละเอียด โดยจะแจ้งเพียงข้อหาวางสิ่งของกีดขวางทางเท้า และเปรียบเทียบปรับเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 11.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้มีคำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ 141/2553 เรื่อง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึด หรือ อายัด สินค้าหรือวัตถุอื่นใด ที่ก่อให้เกิดความแตกแยก (อ่านข่าวย้อนหลัง)

โดยสาระสำคัญระบุว่า "ห้ามบุคคลใดมีไว้ในครอบครอง หรือ มีไว้เพื่อการจำหน่าย จ่าย แจก ซึ่งสินค้า เสื้อผ้า เครื่องอุปโภคบริโภค หรือวัตถุอื่นใด ที่มีการพิมพ์ เขียน วาดภาพ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นใดที่ทำให้ปรากฏความหมายในลักษณะ ยั่วยุ ปลุกระดม สร้างความปั่นป่วน หรือก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนโดยทั่วไป หรือ เพื่อการกระทำหรือสนับสนุนการกระทำให้เกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน" โดยผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง ศอฉ. ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บวรศักดิ์ ลาออกปธ.สอบคลิปศาลรธน.

Posted: 19 Nov 2010 09:27 AM PST

เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้ยื่นใบลาออกจากประธานคณะกรรมการการตรวจสอบข้อเท็จจริงคลิปวีดีโอ เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ(รธน.)ที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ยูทูปและสื่ออื่นๆ ต่อ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ(รธน.) โดยให้เหตุผลว่า มีภารกิจค่อนข้างมาก อันอาจส่งผลกระทบให้รายงานต่อท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ทันภายในเวลา 30 วันที่กำหนด จึงขอลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว และขอขอบคุณที่ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ความไว้วางใจ

ที่มา: http://www.naewna.com
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประมวลภาพคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ 19 พ.ย. 2553

Posted: 19 Nov 2010 08:23 AM PST

19 พ.ย.53 ที่บริเวณแยกราชประสงค์ มีการจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 6 เดือนเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ส่วนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงรวมตัวกันกินแมคโดนัลด์ที่ห้างอัมรินทร์พลาซ่า

คนเสื้อแดงจำนวนมากเดินทางมาร่วมกิจกรรมรำลึกครบรอบ 6 เดือนเหตุการณ์สลายการชุมนุม 19 พ.ค.ตั้งแต่ช่วงบ่าย จนทำให้ตั้งแต่ 14.00 น. เป็นต้นมา การสัญจรบนถนนราชดำริ ด้านหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ คับคั่งไปด้วยคนเสื้อแดงจนการจราจรปิดตัวลง รถยนต์ไม่สามารถแล่นผ่านไปมาได้ ส่วนถนนราชดำริฝั่งโรงพยาบาลตำรวจ เจ้าหน้าที่พยายามกันไม่ให้คนเสื้อแดงลงมาบนผิวถนน มีการกระทบกระทั่งกันเล็กน้อย ในที่สุดคนเสื้อแดงซึ่งมีจำนวนมากก็ทะลักลงมาบนผิวถนน ทำให้การจราจรที่แยกราชประสงค์ปิดตัวลง

ส่วนของกิจกรรม ในช่วงบ่ายที่ป้ายแยกราชประสงค์ มีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง โดยการนำหน้ากากรูปภาพหน้าแกนนำคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังมาถือไว้ และติดป้ายข้อความให้ปล่อยตัวแกนนำและคนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมคุมขังตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และในบริเวณโดยรอบมีการนำนกกระดาษสีแดงมามัดติดกับผ้าสีแดงและดำที่ถูกมัดขึงเป็นใยแมงมุมคลุมเหนือแยกราชประสงค์ และมีการปล่อยนกพิราบ

เวลาประมาณ 16.30 น. นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง เดินทางมาถึงแยกราชประสงค์ และขึ้นกล่าวกับผู้ที่มาร่วมกิจกรรมว่า วันนี้เป็นการรำลึกวันครบรอบ 6 เดือนเหตุการณ์สังหารประชาชน และตนเดินทางมาสักการะท้าวมหาพรหม เพื่อขอพรโดยจะอธิษฐาน 3 ข้อ คือ 1) ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณทุกดวงที่พลีชีพเพื่อประชาธิปไตย 2 ) ขอพรจากท้าวมหาพรหมดลใจให้ผู้มีอำนาจปล่อยแกนนำและคนเสื้อแดงทุกคนที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ และ 3 ) ขอให้ท้าวมหาพรหมดลบันดาลให้คนที่ออกคำสั่งสังหารประชาชนถูกนำตัวมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม

ในขณะที่กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ได้มารวมตัวกันที่หน้าร้านแมคโดนัลด์ ชั้นล่างห้างอัมรินท์พลาซ่า เพื่อมาร่วมกันรับประทาน โดยร้านแมคโดนัลด์สาขาดังกล่าวเป็นสถานที่ที่คนเสื้อแดงจำนวนมากมาพักรับประทานอาหารและใช้เป็นที่พูดคุยในระหว่างการที่มีชุมนุมที่ราชประสงค์ในช่วงเดือน เม.ย.และ พ.ค.ที่ผ่านมา

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวว่า การมากินอาหารที่ร้านแมคโดนัลด์ของคนเสื้อแดงในวันนี้ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ แต่เป็นการย้ำเตือนว่า 1) คนเสื้อแดงไม่ยอมพ่ายแพ้กับการต่อสู้ แม้ว่าจะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำก็ตาม 2 ) เพื่อมาทวงถามความเป็นธรรม ซึ่งตราบใดที่ยังไม่สามารถนำผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่ควรรับผิดชอบต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนมารับผิดชอบได้ กิจกรรมลักษณะนี้ก็จะมีต่อไปทุกเดือนๆ ละ 2 ครั้งคือทุกวันที่ 10 และ 19 ของเดือน ซึ่งนายสมบัติกล่าวว่า หากความเป็นธรรมเกิดขึ้น ก็ไม่มีเหตุผลที่คนเสื้อแดงจะมาจัดกิจกรรมเช่นนี้อีก คงเหลือแต่การจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เพียงปีละครั้ง

ประมาณ 17.00 น.นายจตุพรเดินทางไปสักการะท้าวมหาพรหม จากนั้นจึงเดินทางไปพบนายสมบัติที่ร้านแมคโดนัลด์ โดยมีผู้สื่อข่าวและคนเสื้อแดงสนใจติดตามไปเป็นจำนวนมาก ระหว่างนั้น น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล บุตรสาวพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ได้เดินทางมาร่วมกิจกรรมที่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ด้วย

ประมาณ 18.00 น.คนเสื้อแดงที่มาร่วมกิจกรรมร่วมกันจุดเทียนสีแดงและร้องเพลงนักสู้ธุลีดิน ในเวลา 18.30 น. นายจตุพรได้ขึ้นพูดและขอให้คนเสื้อแดงยืนสงบนิ่ง 1 นาทีเพื่อไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมและไว้อาลัยให้กับประชาธิปไตยไทย จากนั้นนายจตุพรกล่าวกับผู้ที่มาร่วมกิจกรรมว่า ตราบที่ความยุติธรรมยังไม่เกิด ตราบที่ยังไม่มีความเมตตา ตราบที่ยังมีความอำมหิต คนเสื้อแดงก็จะยังลุกขึ้นมาเพื่อต่อสู้

กิจกรรมสิ้นสุดลงประมาณ 19.00 น. คนเสื้อแดงที่มาร่วมกิจกรรมจึงแยกย้ายกันเดินทางกลับ
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ซีรีส์ สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมือง ตอน 12: “ใจเย็นๆ มันอาจไม่เห็นผลทันที”

Posted: 19 Nov 2010 07:36 AM PST


 

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ส่งผลให้ สื่อทางเลือกหรือ นิวมีเดียมีรูปแบบที่หลากหลายและนับวันจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ เคเบิลทีวี หรือวิทยุชุมชน จนกระทั่งช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาซึ่งประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ก็ทำให้ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ถึงนัยสำคัญที่มีต่อสังคมไทย กระทั่งเป็นที่จับตารอการทำความเข้าใจและอธิบาย

ขณะเดียวกัน สื่อสารมวลชนไทยกระแสหลักเองก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทำหน้าที่ตลอดช่วงความขัดแย้งดังกล่าว ไม่เพียงแต่การตั้งคำถามถึงจริยธรรม จรรยาบรรณ จุดยืน ตลอดจนท่าทีที่มีต่อความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่างๆ ในบริบทของการแบ่งแยกขั้วแบ่งแยกข้างทางการเมือง จนนำไปสู่วิกฤติความน่าเชื่อถือของสื่อ และเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ช่องทางและการสื่อสารใหม่ๆ มีผู้ใช้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนความคิดและความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ประชาไท สัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน และนักปฏิบัติการสื่อออนไลน์ 12 คน เพื่อร่วมถกเถียงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะนำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยความสนับสนุนของมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ซึ่งบทสัมภาษณ์อย่างละเอียดจะนำเสนอเป็นรูปเล่มต่อไป

 

ท่ามกลางกระแสขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่เพียงระอุอยู่ในอณูอากาศของประเทศนี้ หากแต่การปิดกั้นสื่อของรัฐที่กระทำต่อสื่อของขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม นำมาซึ่งการหันไปฉวยใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ที่เคยเป็นพื้นที่เล่นเกม หาเพื่อน และสนทนาวิสาสะให้กลายเป็นพื้นที่สื่อสารทางการเมืองไปด้วย

 

เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ มีตัวเลขผู้ใช้งานเติบโตขึ้น ซึ่งแม้จะไม่อาจเคลมได้ว่าทั้งหมดเป็นผลจากความขัดแย้งทางการเมือง หากแต่ผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์จำนวนไม่น้อยที่ย้ายชัยภูมิทางการเมืองมาตั้งค่ายรบทางความคิดอยู่ในพื้นที่ออนไลน์เหล่านี้

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และคอลัมนิสต์ที่คนติดตามอ่านมีความหลากหลายทางอาชีพและสถานะทางสังคม มองว่านี่คือสิ่งที่สะท้อนเรื่องราวในโลกโลกออฟไลน์นั่นเอง ฉะนั้นแล้ว แม้ปรากฏความไร้ระเบียบในการถกเถียงแลกเปลี่ยน ก็เป็นสิ่งที่มันต้องเกิดขึ้นตามปกติ แต่คำถามคือ การศึกษาของไทยได้เตรียมความพร้อมสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยเหตุผลและข้อมูลเพียงพอหรือไม่ และปัญหาของความไร้ระเบียบเหล่านี้ มิใช่เรื่องที่สื่อใหม่จึงควรรับผิดโดยลำพังทั้งในประเด็นความแตกแยกทางการเมือง ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ครบถ้วน และความปั่นป่วนสับสนนานา

 

ในอีกด้านหนึ่ง นักวิชาการผู้นี้เห็นว่าไม่ควรไปตั้งความหวังอย่างใจร้อนว่าสื่อใหม่จะนำพามาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการรับรู้ข่าวสารที่เปิดกว้าง แต่ถึงอย่างไร ความเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมมาถึงอย่างไม่อาจยับยั้งได้ ซึ่งผู้มีอำนาจต้องเผชิญคำถามที่ท้าทายว่า พร้อมจะเผชิญความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้หรือไม่

 

1: สื่อใหม่และการท้าทายอำนาจ 

อาจารย์เคยเขียนบทความว่าสื่อใหม่ทำให้การไหลเวียนข่าวสารเป็นไปอย่างกว้างขวาง สภาพแบบนี้เป็นหลักประกันของสิทธิเสรีภาพหรือเปล่า

เป็นหลักประกันนั้นแน่นอน แต่ตัวสภาพน่ะมันยังไม่ใช่หลักประกัน ผมอยากจะเลยตัวคำถามนี้ไปนิดหนึ่ง จริงๆ แล้ว การสื่อทางอินเตอร์เน็ต ไม่ว่ารูปแบบของการทำเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ มันเป็นสิ่งใหม่ที่สังคมไทย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจในประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ แต่ขณะเดียวกันก็หยุดความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ด้วย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะอินเตอร์เน็ตอย่างเดียวแต่เกิดขึ้นในทุกมิติ เศรษฐกิจ การเมือง ถามว่าประเทศไทยสำนึกตัวเองว่าเข้ามาอยู่ในเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์กี่ปีแล้ว ผมว่าซัก 30 ปีแล้วมั้งที่มีคนพูดเรื่องโลกาภวัตน์ เรื่องว่าคุณไม่สามารถควบคุมอะไรต่างๆ นานาได้ ผ่านมาถึงวันนี้ ถามว่าคุณมีการเตรียมพร้อมในการเผชิญกับมันไหม

 

อินเตอร์เน็ตก็เหมือนกัน มันนำมาซึ่งสื่อสารมวลชนประเภทใหม่อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ได้แปลว่ามันดีกว่าแบบเก่า มันดีกว่าในบางเรื่อง แต่มันแย่กว่าในบางเรื่อง แล้วคุณไม่สามารถจะไปบอกมันว่า เราจะไปคุมมันได้เหมือนที่มีกฎหมายการพิมพ์ คนละเรื่องแล้ว ไม่ได้เลย

 

แต่เนื้อหาที่ปรากฏในออนไลน์ก็ไม่ได้โลกาภิวัตน์เสมอไป คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ โดยเฉพาะช่วงความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงนี้ คือชนชั้นกลาง และเว็บไซต์ที่เพิ่มจำนวนมากคือเว็บที่โจมตีคนเสื้อแดง นามสกุลที่ถูกใช้มากที่สุดในเฟซบุ๊กคือนามสกุลรักพ่อ รักในหลวง และพยายามบอกว่าคนเสื้อแดงหมิ่นเจ้า ต้องปกป้องสถาบันกษัตริย์จากคนเสื้อแดง อาจารย์มองอย่างไร

ผมไม่แน่ใจนะ คงต้องมาเถียงกันว่าคนชั้นกลางคืออะไร ขอนิยามอย่างกว้างก่อนแล้วกัน ตอนเสื้อแดงชุมนุม ผมพบคนที่ผมเรียกว่า “ชาวบ้าน” เป็นแม่ค้าบ้าง อะไรบ้างเข้าอินเตอร์เน็ตแยะเลย ในต่างจังหวัดในช่วงเดือนสุดท้ายของการชุมนุม คนต่างจังหวัดสามารถรู้ข่าวสารการชุมนุมของเสื้อแดงได้ได้จากการที่วิทยุชุมชนถ่ายต่อจากอินเตอร์เน็ต หลังจากที่มันออกแบบปกติไม่ได้แล้ว เป็นต้น  ฉะนั้น อินเตอร์เน็ตมันไมได้เพิ่มพลังกับคนชั้นกลางอย่างเดียว ถ้าคุณปล่อยมันโดยเสรี มันจะเพิ่มพลังให้กับคนอีกเยอะแยะ ตามแต่เงื่อนไขของแต่ละฝ่าย คนต่างจังหวัดอาจไม่ได้มีคอมพิวเตอร์ทุกบ้านแต่เขาก็จะได้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

 

2: ความรับผิดชอบ-ข้ออ้างของการดำรงสถานะ

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มักมีคำถามเรื่องสิทธิเสรีภาพกับความรับผิดชอบ มันเป็นคำถามที่ใช้ได้อยู่หรือเชยไปแล้ว

เชย เพราะมึงก็ไม่เห็นจะรับผิดชอบ ไอ้ที่เป็นสื่อกระแสหลักทุกวันนี้รับผิดชอบอะไรนักหนา ทีวีโกหกคุณทุกวัน คุณก็รู้อยู่ หนังสือพิมพ์ก็เหมือนกัน เอาเรื่องไม่เกี่ยวกับการเมืองเลย รถชนกันตายกี่ศพ ห้าฉบับยังไม่ตรงกันซักฉบับ 

 

แปลว่าการถามหาความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีแล้ว

ไม่ใช่ อย่าไปนึกว่าความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่ลอยอยู่เฉยๆ ทุกคนมีความรับผิดชอบตรงกัน คุณมองจากมุมหนึ่งคุณอาจเห็นว่ารับผิดชอบแล้ว แต่จริงๆ คุณไม่ได้รับผิดชอบ เอาง่ายๆ สื่อกระแสหลักทั้งโลกนี้เลยก็ได้ เคยสนใจความเดือดร้อน ปัญหา ความฝันของคนเล็กๆ บ้างไหม แล้วคุณมาพูดได้ยังไงว่าเป็นปากเสียงของประชาชนได้ไง หนึ่งในข้อดีของสื่ออินเตอร์เน็ตก็คือทำให้ความเห็นของคนเล็กๆ ทั้งหลายได้ปรากฏในที่สาธารณะมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะความเดือดร้อนอย่างเดียว ความเห็นเรื่องจะแก้ปัญหาจราจรของกรุงเทพยังไงก็มีคนพูดเยอะไปหมด จะดึงออกมามากกว่านั้นก็ยังได้อีก แท็กซี่บางคนเสนอว่าให้ยกเลิกไฟเขียวไฟแดงด้วยซ้ำ ซึ่งเราไม่รู้เหมือนกันว่าแกกำลังคิดอะไรอยู่

 

มันไม่มีสูตรสำเร็จที่เราจะเชื่ออีกแล้วหรือ

เมื่อไหร่มีสูตรสำเร็จปุ๊บ คือการที่คุณกำลังยกอำนาจให้แก่คนบางกลุ่ม...เสมอ 

 

นอกจากการเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจของคนแล้ว บางคนยังบอกว่าโลกอินเตอร์เน็ตมันละลายความอาวุโส กล้าวิพากษ์วิจารณ์นักวิชการ พระ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่มากับสื่อออนไลน์หรือเปล่า

ผมไม่แน่ใจว่าอินเตอร์เน็ตหรือสื่อออนไลน์เป็นตัวทำให้ระเบียบทางสังคมเสีย เพราะคุณจะคิดกลับกันก็ได้ว่าระเบียบทางสังคมได้ถูกทำลายไปแล้ว ไอ้สื่อออนไลน์มันอาจเป็นแค่ตัวสะท้อนความไร้ระเบียบนี้ออกมาก็ได้  การตัดสินว่าอันไหนเป็นเหตุอันไหนเป็นผลตัดสินทันทีไม่ได้ โดยส่วนตัวผมค่อนข้างเชื่อว่าสังคมมันไร้ระเบียบ ไม่ว่าจะมีสื่อออนไลน์หรือไม่ มันหมดแล้ว ไอ้ระเบียบที่คุณเคยเชื่อถือ นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและคนมีอำนาจต้องทบทวน หาทางปรับตัวกับสังคมที่ช่วงชั้นของคนเริ่มเบลอหายไปแล้ว ปรากฏการณ์นี้มันเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนมีอินเตอร์เน็ต ผมเห็นครูบ่นตั้งแต่สมัยผมยังทำงานเป็นครูว่าเด็กสมัยนี้ไม่มีสัมมาคารวะ ช่วงขั้นระหว่างครูกับศิษย์มันเบลอแล้วมันก็เลยไม่มีสัมมาคาราวะแบบสมัยเรายังเด็ก แล้วการทำลายช่วงชั้นทางสังคมมันเกิดมาตั้งนานแล้ว และไอ้ตัวสื่อนี้มันสะท้อนมาชัด เพราะคุณสามารถปิดบังตัวตนของคุณได้ คุณสามารถด่าได้ตั้งแต่พระเจ้าอยู่หัว นักวิชาการ ดารงดารา  

 

ไม่ได้มองว่าการโพสต์วิจารณ์แบบไม่เปิดเผยตัวนั้นคือการไม่รับผิดชอบ

แล้วทีคอลัมนิสต์ใช้นามปากกาเยอะแยะ มันก็เหมือนกันนั่นแหละ  

 

แล้วสื่อเก่าสะท้อนความไร้ระเบียบนี้ด้วยไหม

ถ้าอ่านสื่อทางเลือกที่เป็นสิ่งพิมพ์ คุณก็เห็นว่ามันมีการท้าทายอำนาจต่างๆ แยะมากเลย  

 

แต่มันก็ไม่ปรากฏในสื่อหลัก

พวกสื่อใหญ่ๆ พวกนี้จะไม่มีวันเสี่ยง หรือเดินนำสังคม เพราะเขาต้องการทำกำไรกับสินค้าของเขา 

 

แปลว่าสื่อออนไลน์เป็นแพะของความไร้ระเบียบที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว

เป็นแพะ เพราะมันตัวเล็กไง ถ้าบทความในประชาไทไปลงไทยรัฐ เขาไม่กล้าฟ้องหรอก แต่ประชาไทมันแมลง จะดีดมันออกเมื่อไหร่ก็ได้ 

 

สื่อออนไลน์ไม่จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบหรือ

ไม่ใช่ไม่มีความรับผิดชอบ อย่างน้อยมนุษย์ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อตัวเองถูกไหม ไม่ควรเขียนสิ่งที่ตัวเองไม่เชื่อ แต่ถามว่าสิ่งที่คุณเขียนออกมาต้องถูกต้องดีงามตลอดรึป่าว ก็แล้วแต่มาตรฐานใครวัด ผมว่าระหว่างสื่อหลักกับสื่อออนไลน์ความรับผิดชอบมันก็พอๆ กันนั่นแหละ เวลาที่สื่อหลักบอกว่าตัวเองรับผิดชอบ ถามว่าคุณรับผิดชอบต่อผู้อ่านหรือนายคุณ  เช่น หนังสือพิมพ์ฉบับนึง เจ้าของหนังสือพิมพ์ให้เงินกู้ไปทำหนังด้วย คุณไม่สามารถเขียนวิจารณ์หนังเรื่องนั้นในทางไม่ดีได้ ถ้าคุณเป็นคนซื้อสัตย์ที่สุดก็แค่ไม่เขียนแม่งเลย แค่นั้นเอง

 

ฉะนั้น ความรับผิดชอบมันจึงไม่ง่าย แค่ว่ารายงานเท็จเรียกว่าไม่รับผิดชอบ ผมว่ามันถึงยุคที่เราทุกคนต้องระวังตัวเองแล้ว สื่อในปัจจุบันนี้ไม่ว่าสื่ออะไรก็แล้วแต่มันถูกแฉให้เห็นว่ามีอะไรเบื้องหลังกว่าสิ่งที่มันเสนอทั้งสิ้น ไม่ว่าออนไลน์หรือกระแสหลัก ต้องอ่านมันด้วยความระมัดระวัง และเราต้องสอนให้ลูกหลานรู้จักใช้วิจารณญาณ ระมัดระวังในการรับสื่อทุกชนิดไม่ว่าออนไลน์หรือไม่ออนไลน์ 

 

คำว่าความรับผิดชอบ ถูกเอามาใช้เพื่อช่วยเยียวยาความรู้สึกสั่นคลอนของสื่อหลักหรือเปล่า พูดอีกอย่างคือ อาจารย์มองว่าการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ไปสั่นคลอนการมีอยู่หรือคุณค่าของสื่อเดิมหรือเปล่า

ไม่เฉพาะสื่อหลัก เมื่อไหร่ที่คุณพูดถึงความรับผิดชอบมันเป็นเกราะป้องกันสถานะของทุกฝ่ายในสังคม ไม่ว่าคุณจะเป็นอะไรก็แล้ว เพื่อยืนยันปกป้องสถานะที่คุณมีอยู่ทั้งนั้นแหละ 

 

3: สื่อใหม่กับคุณภาพของการถกเถียง คำถามคือ “ระบบการศึกษาเตรียมคนของเราในการมีวิจารณญาณมากน้อยแค่ไหน” 

 

แล้วเราจะจัดการกับคนที่ถูกป้ายสีในเว็บบอร์ดยังไง เช่น มีคนมาด่าอาจารย์เสียๆ หายๆ อาจารย์ควรรู้สึกอย่างไร

ก็เฉยๆ  

 

ทุกคนควรจะเฉยๆ ใช่ไหม

คุณมีวิธีตอบโต้เยอะแยะ ตอบโต้เขาไปถ้าได้ผล ฟ้องศาลก็ได้ถ้าคิดว่าคุ้มกับการปกป้องคุณ ก็เท่านั้นเอง แต่ประเด็นที่ผมต้องการพูดถึงที่สำคัญกว่าเรื่องการปกป้องตนเองคือ ถามว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นในโลกมาสิบยี่สิบปีแล้ว แล้วเราได้ปรับตัว ระบบการศึกษาเพื่อเตรียมคนของเราในการมีวิจารณญาณมากน้อยแค่ไหน ผมว่าเท่าเก่า แสดงให้เห็นว่าสังคมเรามันปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แล้วเราก็หยุดความเปลี่ยนแปลงนั้นไมได้เหมือนกัน ดังนั้น เราเราเป็นคนที่น่าสงสาร เป็นคนอ่อนแอที่เมื่อเผชิญสื่อใหม่ ก็ตีกันเอง ร้อยแปดพันประการ 

 

ตัวสื่อออนไลน์เองจะเป็นกระบวนการให้คนเรียนรู้ในการเท่าทันไหม

ตัวสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อโบราณสมัยพระเจ้าเหาก็ได้ ถ้าเราอยู่ในโลกปัจจุบัน คุณควรอ่านพระลอ ทวาทศมาส อะไรก็แล้วแต่ ด้วยวิจารณญาณมากกว่าเก่า ไม่ใช่ชื่นชมแต่ว่ามันใช้คำไพเราะ อันนั้นก็โอเค แต่ขณะเดียวกันต้องมีวิจารณญาณในด้านอื่นมากกว่านั้นด้วย ฉะนั้น ไม่ใช่เฉพาะสื่อออนไลน์จะมีประโยชน์ในการฝึก แต่มันอยู่ที่คุณฝึกคนให้มีวิจารณญาณ ละเอียดรอบคอบมากขึ้นกับทุกอย่าง จะสื่ออะไรก็ได้แล้วแต่ 

 

อาจารย์มีข้อสังเกตเรื่องคุณภาพของความเห็นของประชากรในโลกออนไลน์ไหม เช่น นักวิชาการหลายคนเตรียมตัวมาอย่างดี แต่พอเสนอในสื่อออนไลนัปั๊บ ความเห็นที่มากลับเป็นอะไรไม่รู้ บางทีถึงขั้นไปพูดเรื่องส่วนตัวของเรา

ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสังคมไทย เพราะเราไม่เตรียมตัวคนของเราให้ดีพอ ผลคือ ไม่ว่าในสื่อกระแสหลัก ในสื่อออนไลน์ มันก็ไม่ต่างกันนะ คุณคิดว่าที่เขาเถียงกันในสื่อหลักเขาไม่งัดเรื่องส่วนตัว เรื่องนอกประเด็นขึ้นมาเถียงกันหรอกหรือ ทำอยู่ตลอดเวลา สะท้อนกลับไปดูในห้องเรียน ครูกับเด็กที่เห็นขัดแย้งกันเถียงกันเรื่องอะไร ก็อย่างนี้อีก นักวิชาการก็เหมือนกัน สภาพที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้ปรากฏความเสื่อมโทรมเฉพาะในออนไลน์ มันปรากฏทั้งสังคม แต่ออนไลน์มันชัด คนเลยโจมตีออนไลน์  

 

จะมองว่ามันเป็นด้านดีให้คนที่ถูกกดทับได้แสดงออกทั้งเหตุผลและอารมณ์ได้ไหม

อันนี้แน่นอนว่าคุณเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ไม่มีพื้นที่ในทางสาธารณะ แต่ขณะเดียวกัน นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกคนมีสิทธิ์ลุกมาด่าแม่คนอื่น พื้นที่สาธารณะที่เปิดขึ้นมันน่าจะเป็นพื้นที่ที่สร้างสรรค์กว่านี้ แต่ขณะเดียวกันผมก็ไม่อยากพูดว่าคนพวกนี้มันแย่ เพราะพื้นที่อื่นๆ ที่คนมีอำนาจ คนดัง คนเด่นอะไรก็ตาก็ใช้พื้นที่ได้อีลุ่ยฉุยแฉกเหมือนกัน มันทั้งสังคม พอๆ กัน  

ดังนั้น การบอกว่าคนใช้ออนไลน์เพื่อด่ากันได้เพราะไม่ยอมเปิดเผยตัวเอง มันก็จริงส่วนหนึ่ง แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคํญเท่ากับว่า เราจะสามารถแลกเปลี่ยนกันโดยไม่ต้องใช้อารมณ์ เรื่องส่วนตัว คำหยาบได้ไหม ปัญหาคือ เราต้องการแลกเปลี่ยนหรือต้องการสั่งคนอื่น บางคนเก่งหน่อยก็ไม่ใช้คำด่า บางคนไม่ค่อยเก่งก็ด่าเลย เราต้องการให้เขาเป็นอย่างที่เราต้องการ หรือให้เขาเป็นอย่างที่เขาเป็นแต่เราคิดว่าเขาผิดและต้องการแลกเปลี่ยน  และเปลี่ยนความคิดเขาด้วยเหตุผลและข้อมูล 

 

สภาพไร้ระเบียบแบบนี้ จะนำไปสู่อะไรในอนาคต

ถ้าเอาเหนือจากพื้นที่ออนไลน์ ก็คือ ตีกันแบบนี้

 

แปลว่ามันไม่ดี

ไม่ดี แต่การที่จะทำให้สิ่งไม่ดีเหล่านี้ดีขึ้น ไม่ใช่ไปปิดกั้นเขา การเรียนรู้การใช้เสรีภาพอย่างสร้างสรรค์ผมว่าเงื่อนไขอันแรกคือคุณต้องมีเสรีภาพ ไม่ใช่ปิดเสรีภาพแล้ว อะ กูจะไปสอนว่าจะใช้เสรีภาพอย่างสร้างสรรค์ได้ลอยๆ คุณต้องยอมจ่าย 

 

แปลว่าให้ตีกันไปก่อน

ไม่ใช่ให้ตีกันไปก่อน เมื่อไหร่ที่คุณตีกันเองไม่ถึงขนาดเลือดตกยางออก ก็ต้องปล่อย เพราะการที่คุณไปเที่ยวห้ามว่าเดี๋ยวเลือดตกยางออก อย่างโน้นอย่างนี้อย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นอันว่าไม่มีโอกาสเรียนรู้ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่ต้องปรับตัวเองก็ไม่เรียนรู้ความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเอง 

 

อย่างนั้นกระบวนการล่าแม่มดที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องทำความเข้าใจ

ไม่ใช่ๆ การล่าแม่มดไม่ได้กระทำบนพื้นที่ออนไลน์อย่างเดียว มันทำทั้งสังคม พื้นที่ออนไลน์เป็นแต่เพียงสะท้อนจิตใจ  สะท้อนอารมณ์ของการล่าแม่มดออกมาชัดๆ เท่านั้นเอง  

4: “ออนไลน์เป็นภาพสะท้อนโลกจริงในสังคมไทย” 

เมื่อกี๊ที่อาจารย์พูดเรื่องปิดหน้าวิจารณ์ อาจารย์ต้องการให้เปิดหน้าในการถกเถียงใช่ไหม

ผมกำลังชี้ถึงประเด็นที่สำคัญกว่าไม่ว่าจะเปิดไม่เปิดหน้า เราเผชิญความขัดแย้งโดยไม่หันเข้าหาข้อมูลและเหตุผล มันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเราเอง เมื่อสังคมเปลี่ยนโลกเปลี่ยน เราไม่ยอมเปลี่ยนตาม

 

แล้วที่บอกว่าเราต้องยอมให้ตีกันก่อน มันโยงทั้งในโลกจริงและออนไลน์ไหม ตอนนี้การพูดเรื่องสันติวิธี การพูดเรื่องปรองดองมันเร็วไปไหม

ไม่เร็ว แต่ปัญหามันอยู่ที่ใครพูด คนพูดคือคนที่ทำร้ายคนอื่นแล้วให้ปรองดอง ใครเขาจะฟังคุณ เรื่องปรองดองก่อนจะเกิดนาทีนั้น หรือหลังนาทีนั้นทันทีก็พูดเถอะ มันถูกต้องเสมอ ถูกทุกที แต่ใครพูด ไม่ใช่คุณ คนที่ไปฆ่าเขาตายแล้วบอกให้ปรองดองมันเป็นไปไม่ได้ เข้าใจไหม

 

ความสัมพันธ์ระหว่างโลกออนไลน์ กับโลกจริง มีส่วนเกี่ยวพันกันไหม เช่น มีคนบอกว่าการปล่อยให้เขาเถียงกันเอาเป็นเอาตาย จะไปลดทอนความรุนแรงในโลกจริงหรือไม่อีกด้านก็อาจเชื่อว่ามันยิ่งเพิ่มเชื้อให้ปะทุยิ่งขึ้น

ไม่ทั้งสอง ผมพยายามจะย้ำตั้งแต่คำถามแรก ผมไม่เชื่อว่าออนไลน์เป็นโลกต่างหาก เอางั้นดีกว่า ผมคิดว่าออนไลน์เป็นภาพสะท้อนโลกจริงในสังคมไทย ถ้าอย่างนั้น ถามว่าเราเลิกอินเตอร์เน็ตเลยทั้งประเทศ แล้วคนไทยจะรักกันมากขึ้นไหม ฉะนั้นเวลาวิเคราะห์อะไรบนออนไลน์ ผมไม่อยากเห็นเราแยกมันออกมาจากสังคม มันก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพียงแต่เพิ่มความสามารถคุณในการติดต่อกับคุณ ได้ยินได้ฟังได้กว้างขวางกว่าเดิม เป็นวางนินทาหรือวงสนทนาอันใหม่ที่เกิดขึ้น  แต่ไม่ได้ทำให้คนไทยเลิกนับญาติกัน

 

ในมุมอาจาย์สองโลกมันล้อกันไปอยู่แล้ว

แน่นอน มันสะท้อนความสัมพันธ์แบบไทยออกมาชัดๆ เท่านั้นเอง 

 

ความหมายถ้าจะนิยาม ออนไลน์คือพื้นที่หนึ่งในการแสดงความเป็นสังคมไทยออกมา

ใช่ แต่เป็นสังคมไทยที่เปลี่ยนไปแล้วนะ 

 

แล้วออนไลน์ในฐานะเป็นสื่ออันใหม่ มันช่วยเสริมให้อะไรขับเคลื่อนไปเร็วขึ้นบ้างไหม

คืออย่างนี้ สื่อออนไลน์ทั้งหลายมันให้มุมมมองบางอย่างที่สื่อกระแสหลักจะไม่ให้ ถ้าเป็นประเทศที่เปิดเสรีภาพค่อนข้างมากอย่างอเมริกา คือ มันให้มุมมองคนเดินถนน คนทำงานนสพ.มันเป็นคนที่ถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจเรียบร้อยแล้ว มันก็จะมองทุกเรื่อง โดยไม่ได้ตั้งใจนะ ในสายตาของสถานะนั้น แต่สื่อออนไลน์มันให้โอกาสคนธรรมดาๆ ได้แสดงความเห็นในเรื่องนั้นเรื่องนี้ร้อยแปดพันประการ และถ้าคุณรับทั้งสองสื่อ คุณจะเห็นว่าสิ่งที่คุณรับรู้จากสื่อกระแสหลักมีมุมมองอีกมุม เป็นข้อดีแน่ๆ แต่ถามว่ามันจะช่วยผลักให้ประชาธิปไตยก้าวหน้ามากขึ้นไหม ผมว่ามันไม่.. มันก็ช่วยผลักในความหมายที่ว่าทำให้คนเล็กๆ ได้มีโอกาสพูด แต่มันทำให้คนศรัทธาประชาธิปไตยไหม ผมว่าไม่เกี่ยว ไม่น่าจะเกี่ยว  

 

มันมีความต่างกันอยู่สองปรากฏการณ์ การล่าแม่มดในสื่อออนไลน์มีพลังมากในโลกจริง เทียบกับการล่าชื่อยกเลิกกฎหมายหมิ่นเป็นพันชื่อ กลับไม่มีความหมายเลย แปลว่ารัฐหยิบสื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือ

ไม่ใช่ (เน้นเสียง) ผมไม่คิดแบบเดียวกับคุณ สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยไม่ได้อยู่ลอยๆ ไม่มีสถาบันทางสังคมใดในโลกนี้อยู่ลอยๆ การที่ดำรงอยู่สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ก็เพราะว่ามันเชื่อมโยงกันกับผลประโยชน์สถานะของคนและสถาบันอื่นๆ ในสังคมล้อมรอบไปหมด เป็นสิ่งธรรมดา ถามว่านักการเมืองที่เป็นรัฐบาลอยากจะรื้ออันนี้ไหม เขาไม่อยากรื้อ เขายังอยากรักษาโครงสร้างความสัมพันธ์เดิมไว้ จะบอกให้เลิกนู่นเลิกนี้ ถามว่าเลิกแล้วจะสะเทือนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไหม อาจสะเทือนหรือไม่สะเทือนก็ได้ แต่การสนับสนุนให้เลิกกฎหมายหมิ่นฯ ก็เท่ากับบอกว่าเราต้องปรับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางสังคมการเมืองเหล่านี้กัน อย่างน้อยก็นิดหน่อย ซึ่งทำให้เกิดศัตรูมากกว่าการจับแม่งดีกว่า อย่าลืมว่าคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจับโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร มีคนไปแจ้งความ ตำรวจก็จับคุณ ตำรวจก็ต้องทำเรื่องขึ้นไป ไม่มีใครจะสอบสวนแล้วบอกว่ามันไม่เป็นคดีปล่อยมันกลับบ้านไป เพราะมันเสี่ยงกับตัวเอง ต้องเผชิญกับโครงสร้างที่มันผูกกันอยู่เยอะแยะไปหมด ตำรวจตัวเล็กนิดเดียว แม้สงสารคุณด้วยก็ต้องทำสำนวนส่งฟ้องอัยการ เดี๋ยวอัยการคงปล่อย อัยการดูเสร็จก็ว่าส่งให้ผู้พิพากษาดีกว่าว่ะ เข้าใจไหม ไม่มีใครหวังร้ายกับใครสักคน แต่ทุกคนอ่อนแอเกินว่าจะเผชิญกับโครงสร้างอำนาจที่ใหญ่โตขนาดนั้น ไม่ใช่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่คือความสัมพันธ์ในเชิงสถาบันของทั้งหมด  

 

ทำไมบางเรื่องมีแรงกดดัน  บางเรื่องไม่มี

เรื่องไหนที่สอดคล้องกับสิ่งที่เขามองเห็น อยากให้เป็น เขาก็ใช้ อันไหนไม่สอดคล้องเขาก็ไม่ใช่ 

 

อีกประเด็นหนึ่ง สามสิบปีที่แล้ว สื่อทางเลือก เช่น หนังสือเล่มละบาท ทำให้นักศึกษารวมตัว ตอนนี้อินเตอร์เน็ตมีบทบาทแบบนั้นไหม หรือทำให้คนกระจายมากกว่ารวมตัว

เมื่อตอน 14 ตุลา หรือก่อนหน้านั้นนิดหน่อย เราทั้งหมด ซึ่งหมายถึง นักศึกษา คนชั้นกลางที่เกิดใหม่และขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีศัตรูอันเดียวกัน ผู้นำกลุ่มเล็กนิดเดียวที่มีอำนาจปืนในมือไม่ยอมปรับเปลี่ยน คุณต้องเปิดพื้นที่ให้คนเกิดใหม่เหล่านี้จะเปิดแค่ไหนอีกเรื่อง แต่ไม่ยอมเปิดเลย ผลก็คือคนเหล่านั้นก็ไม่พอใจ ในกลุ่มผู้มีอำนาจเองก็แตกกันเองด้วย 

 

แสดงว่าสื่อไม่เกี่ยว

เกี่ยวสิ มองสื่อว่าบทบาทของสื่อก็เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดัน ตอนนั้นมันง่ายเพราะทุกคนสามัคคี ปรองดองกัน ยกเว้นทรราชย์ไม่กี่คน แต่ตอนนี้มันไม่ชัดขนาดนั้นนี่ครับ เพราะว่าในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เราเผชิญเวลานี้ ผมคิดว่าความปรับตัวมันทำได้หลายอย่าง คุณคิดอย่าง ผมคิดอย่าง ซึ่งทำให้เราเห็นขัดแย้งกัน แต่แม้ศัตรูไม่ชัด แต่คุณต้องปรับตัวแน่นอนหลายเรื่อง แต่จะปรับอย่างไร เช่น ช่วงชั้นในทางสังคมไม่ชัดเจนเหมือนแต่ก่อน จะทำไง คนหนึ่งบอกต้องปลูกฝังความเคารพนบนอบ คนหนึ่งบอกครูต้องปรับตัว ไม่มีใครถูกหมด ผิดหมด 

 

5: การขับเคลื่อนทางสังคมภายใต้สื่อใหม่-ลดอำนาจการครอบงำ 

สรุปแล้วรัฐปรับตัวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลง

ไม่ใช่รัฐ แต่หมายถึงคนมีอำนาจทั้งหมดในสังคม อาจรวมผมด้วย หรือทุกคน คนอย่างผมย่อมมีอาญาสิทธิ์บางอย่างทางสังคมอยู่ด้วย ถามว่าผมปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ดีแค่ไหน อาจไม่ดีเท่าไรก็ได้ อาญาสิทธิ์ทั้งหมดมันถูกตั้งคำถามหมด 

 

แล้วคนมีอาญาสิทธิ์ ถ้าฉลาดหน่อยจะปรับอย่างไรให้เข้ากับความไร้ระเบียบอันนี้

ความไร้ระเบียบนี้มันเกิดขึ้นในสังคมคุณนะ อาจไม่เกิดในสังคมอเมริกัน สังคมที่มันปรับตัวได้แล้วไม่เป็นไร คุณไปอ่านข้อถกเถียงในเว็บไซต์อเมริกัน มันไม่ได้ด่าอะไรเลย ไม่เห็นด้วยก็ว่ากันไป แน่นอน บางคนเขียนสนุกหน่อยก็เขียนแบบล้อเลียน เยาะเย้ยนิดๆ ไม่ถึงกับด่า แค่พออ่านสนุก  

 

แต่เป็นธรรมดาของรัฐที่จะกลัว และป้องกันความเปลี่ยนแปลงอันไม่พึงประสงค์

ผมว่ารัฐไทยเป็นมากกว่าคนอื่น เพราะไม่ได้เป็นตัวแทนของคนทั้งสังคม เป็นตัวแทนของคนกลุ่มนิดเดียว ฉะนั้น การต้องการการปรับตัว อาจเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ แต่มึงไม่ใช่รัฐ

 

คนมีอำนาจปรับตัวไม่ทัน แต่ขณะเดียวกันโครงสร้างทางสังคมก็ทำให้คนในสังคมเกิดความหวาดกลัว

ไม่ใช่ ในทางตรงข้ามเขาออกมาท้าทาย แต่โครงสร้างมันไม่ยอมปรับ โครงสร้างมันถูกท้าทายแยะมาก เช่น คุณจะอ่านความท้าทายความชอบธรรมของสถาบันได้ไม่รู้กี่แห่ง ไม่ใช่ในสื่อหลัก ยิ่งอ่านภาษาอังกฤษออกยิ่งไปกันใหญ่ ไม่รวมใบปลิว ซีดี ทั้งหมดเล่านี้ชี้ให้เห็นว่า คุณต้องปรับตัวเอง ไม่ใช่เที่ยวไล่จับ จับยังไงก็ไม่หมด ทำยังไงถึงจะปรับตัวเองได้ เผชิญกับความท้ายทายเหล่านี้ได้ ทุกกลุ่มที่อยู่ในอำนาจไม่ได้คิดว่าวิธีการแบบเก่าที่จะจัดการกับการท้าทายมันใช้ไม่ได้แล้ว ผมก็ไม่ได้บอกว่ามันดีกว่านะ อาจโหดร้ายกว่าก็ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่เห็น 

 

ขอยกตัวอย่าง กรณีการจัดงาน “เราไม่ทอดทิ้งกัน” ของศูนย์ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายการชุมนุม เมษายน-พฤษภาคม 2553” (ศปช.) ซึ่งหลังการจัดงานมีการวิจารณ์กันในเฟซบุ๊กและโต้ตอบกันจนแทบไม่เหลือแนวร่วม ก็เลยสงสัยว่าสื่อออนไลน์เป็นตัวทำลายความคิดชี้นำสังคมที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไหม หรือแม้แต่เรื่องคณะกรรมการปฏิรูปก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เละเทะ

พูดง่ายๆ ว่าคุณกำลังถามผมว่าสื่อออนไลน์ครอบงำกว่าสื่อกระแสหลักใช่ไหม

 

มันไร้ระเบียบมากจนหาอะไรไม่ได้เลย

ถ้าการครอบงำไร้ระเบียบก็แปลว่าครอบงำน้อยลงสิ  

 

แต่ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร

ไม่จำเป็น  

 

มันกระจัดกระจายจนไม่สามารถมีความเป็นเอกภาพ

อ้าว คุณอยากได้ความคิดชี้นำเหรอ (หัวเราะ) และผมคิดว่ามันเคลื่อนได้นะ แต่มันไม่ได้เคลื่อนแบบเก่าอีกแล้ว และแบบเก่ามันน่ากลัว เพราะมันเคลื่อนท่ามกลางความครอบงำ เคลื่อนแบบใหม่มันจะลดการครอบงำลงไปแยะ  

 

ถึงที่สุด กรณีศูนย์คนหาย ตลกมากที่ไม่มีใครสามารถวิจารณ์การทำงานของศูนย์ฯ โดยอ้างคนอื่นได้เลย พูดได้เฉพาะในฐานะปัจเจก นี่มันเป็นประชาธิปไตยสุดๆ แต่มันดูไม่มีทิศทางว่าจะไปอย่างไร

อันนี้ควรจะอยู่ตลอดไป คือ มนุษย์มีความเห็นแตกแยกแตกต่าง ในที่สุดเมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องเคลื่อน เขาจะคำนวณว่าจะลงทุนแค่นี้ เลยกว่านี้ไม่เอา ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติ ตอน พธม.เสนอมาตรา7 มีคนถอยออกมาไม่รู้เท่าไร เขาตัดสินใจลงทุนแค่นี้ ถ้ามากกว่าเขาไม่เอา ซึ่งก็ดีไม่ใช่เหรอ ผมว่าสังคมสมัยใหม่ก็ควรจะเป็นอย่างนี้มากกว่า เออ มึงไปไหนก็ควรจะไปกันตลอดทาง

 

ไทยเป็นสังคมสมัยใหม่แล้วหรือ

คุณอาจไม่อยากเป็น แต่คุณหนีความเป็นสังคมสมัยใหม่แล้วหรือ แล้วความเป็นสมัยใหม่คุณหมายถึงอะไร คุณนิยามว่าอะไร 

 

นิยามคือ การใช้ทหารปราบประชาชน ไม่น่าถูกนิยามว่าเป็นรัฐสมัยใหม่

ทหารปราบประชาชน ไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐโบราณเลยนะ เพราะมันไม่มีทหาร (หัวเราะ) มันปราบเฉพาะคนแข่งอำนาจกับมัน มันแค่ขูดรีดประชาชนอย่างเดียว รัฐสมัยใหม่มีอำนาจมากกว่ารัฐโบราณแยะ และนั่นเป็นเหตุผลที่เราถึงต้องหาทางคุมรัฐสมัยใหม่ให้ได้  

 

มีทฤษฎีอะไรไหมที่จะอธิบายสังคมออนไลน์ หรือมีเรื่อง Chaos อย่างเดียว

ผมไม่เชื่อเรื่อง Chaos นะ และไม่รู้พวกทฤษฎีนัก แต่ดูตัวอย่างในอเมริกา มีการถกเถียงกันมากก่อนยุคออนไลน์ ช่วง ปี 1960 เรื่องสิทธิคนดำ อย่านึกว่ามาติน ลูเธอร์ คิง ไม่ถูกต่อต้านจากคนดำนะ แยะมาก ทั้งก่อนตายและหลังตาย ถึงที่สุดแล้วยี่สิบปีต่อมา แม้แต่คนดำเองก็ยอมรับว่าหนทางแบบสันติวิธีนั่นเหมาะที่สุดแล้ว จนทุกวันนี้ถามว่าคนดำเสมอภาคคนขาวยัง ก็ยัง มีการผลักดันกันให้เสมอภาคมากขึ้นอยู่ตลอด คุณใช้เวลาจำนวนหนึ่ง มาถึงจุดที่เห็นพ้องต้องกันว่า ควรเสมอภาคมากกว่านี้ และสอง เห็นว่าควรรักษาตัวโครงสร้างเอาไว้ ก็ต้องใช้สันติวิธีในการผลักดัน ผมว่าฉันทามติมันเกิดขึ้นได้ ถ้ามีโอกาส มีเสรีภาพในการถกเถียงกันเรื่องเหล่านี้มากขึ้น และผมคิดว่าคนที่จะได้ผู้ฟังมากขึ้นคือคนที่ไม่ด่าลูกเดียว  

 

สื่อออนไลน์ทำให้สังคมมีเหตุผลมากขึ้น

ไม่ใช่ สังคมพร้อมจะเรียนรู้การเอาชนะกันด้วยเหตุผล ถ้าเหตุผลชนะจริง แต่สื่อออนไลน์ค่อนข้างจะพิสูจน์แพ้ชนะชัดเจน เช่น หลายปีต่อมาจะเห็นเองว่าใครสาวกเพิ่มหรือลดแค่ไหน ฉะนั้น ใจเย็นๆ นี่พูดแบบคนแก่ มันอาจไม่เห็นผลทันที ในระยะยาวมันจะเริ่มมีผลขึ้นทีละนิดๆ เช่น ผมว่ามันมีการพูดถึงเรื่องกองทัพแยะมาก จะใช้วิธีคุมกองทัพอย่างไร จนเวลานี้ผมคิดว่าถ้ากองทัพไม่ปรับตัว โอกาสที่กองทัพจะรักษาความได้เปรียบ สิทธิประโยชน์ของตัวเองจะเหลือแคบเข้า หนึ่ง คุณต้องเลือกรัฐบาลแค่บางรัฐบาลที่ไม่อ่อนกับสังคมมากนัก หรือสองคุณต้องก่อรัฐประหารซึ่งยุ่งอีก อยู่ยากขึ้นเพราะมีการถกเถียงเรื่องต่างๆ มากขึ้น เช่น จีทีสองร้อย มันก็เป็นทางเลือกที่ไม่คล่องตัวกับปัจจุบันเท่าไร 

 

แต่งบกองทัพเพิ่มเท่าตัว นักการเมืองแทบทุกพรรคไม่กล้าวิจารณ์ทหาร มันสวนกับที่อาจารย์บอก

ไม่ใช่ ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ทันที ผมบอกว่าถ้ากองทัพคิดว่าจะอยู่รอดให้สบายใจมากขึ้นต้องปรับตัว แต่ถึงนาทีนี้ยังไม่เห็นการปรับตัวของกองทัพ  

 

วิธีการบริโภคของคนเล่นเฟซบุ๊ก การอ่านอะไรสั้นมีผลต่อการเรียนรู้ไหม

มันมีทั้งข้อดีกว่า เสียกว่า เพราะคุณใช้ข้อมูลและเหตุผลในการยืนยันความคิดคุณได้น้อย คุณไม่สามารถอภิปรายความเห็น เหตุผล ข้อมูลได้อย่างตลอดทั้งระบบ หลายอย่างไม่มีการตรวจสอบเพียงพอ ดังนั้น อย่างที่บอกคนต้องถูกเตรียมให้รู้ว่าคุณต้องตรวจสอบข้อมูลให้มากกว่าเดิม  

การทำให้ข้อมูลค่อนข้างสั้น กระชับ ธรรมเนียมการเขียนอะไรให้สั้น และปราศจากข้อมูลเหตุผลเพียงพอมันขยายไปสู่สื่อสิ่งพิมพ์ด้วย มันทำให้คนปัจจุบันนี้ถูกสอนให้รู้มากกว่าคิด รู้ว่าเรื่องนี้มีคนพูดว่าอะไรจบ ไม่ต้องครุ่นคิด นี่เป็นข้อโจมตีอินเตอร์เน็ต ทีนี้ผมไม่ได้ตามอินเตอร์เน็ตมากพอ เหลืออายุไม่มากนักก็อ่านเท่าที่อยากอ่าน ยังอ่านของโบราณเยอะอยู่

 

ถ้าว่าความสั้นมีปัญหา วิทยุ โทรทัศน์ไม่ยิ่งกว่าหรือ อ่านซ้ำไม่ได้ด้วย

จริงแน่นอน แต่สื่อที่เป็นตัวหนังสือในทัศนะผมมันไม่ใช่สื่อแบบโทรทัศน์ เมื่อไหร่ที่อ่านหนังสือมันเปิดสมองคุณในการโต้เถียงอภิปรายมากกว่าทีวี นักสื่อสารมวลชนถึงบอกว่าสื่อโทรทัศน์เป็นสื่อร้อน และสื่อเย็นมันเหมาะกับการคิด วิจารณ์ ซึมซับความหมายซ้อน และเวลาเข้าอ่านเว็บไซต์ สันดานของสื่อร้อนมันครอบงำผม ผมเลือกอ่านข้ามๆ พอรู้ แล้วคลิ๊กใหม่ เพราะอะไรผมก็ไม่รู้ สำหรับผมมันร้อนชิบเป๋งเลย มีเว็บไซต์อะไรในโลกนี้ที่เป็นกลอนอย่างเดียว กลอนนี่อ่านทางหน้าจอได้ไหม (ยิ้ม) ถ้าผมอ่านทางเน็ตผมคงเก็บความไม่ได้ เพราะไหมไม่รู้  

 

ข้อเสียอีกอันที่ฝรั่งเคยพูดถึงมาแล้วคือ อย่างน้อยสื่อกระแสหลักรวบรวมข้อมูลเรื่องราวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีเรื่องให้คุณจับได้ ขณะที่เน็ตไม่ค่อยมี มันเป็นเรื่องนั้น เรื่องนี้ มันทำให้คนไม่สามารถมองโลกอย่างมีความเข้าใจ มองเป็นจุดๆๆๆ เพราะไม่มีเรื่องข้างหลัง ฝรั่งมีสื่อออนไลน์ที่เป็นเว็บข่าวบอกเหตุการณ์สั้นๆ แยะมาก มันก็เป็นจุดๆๆๆ มันก็จะมองโลกแบบไร้เรื่อง มันก็อาจเกิดสภาวะรู้โดยไม่ได้คิด 

 

ท่ามกลางการวิจารณ์ในโลกออนไลน์ ปรากฏว่าคนที่ผิวบางมากที่สุดคือสื่อและเอ็นจีโอ

เอ็นจีโอ ในทัศนะผม อยู่ในสภาวะที่เสี่ยงมากๆ เสี่ยงต่ออะไร ผมคิดว่าเสี่ยงต่อความไร้ความหมาย เพราะว่ากันจริงๆ เลย สิ่งที่น่าสนใจมากๆคือ PO (People’s Organization) ประชาชนก่อตั้งตัวเองขึ้นมาเป็นองค์กรเคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่น ประเทศแยะมาก และไม่ได้เอาเงินฝรั่งซักแดง ขณะที่เอ็นจีโอเริ่มนิยามตัวเองไม่ได้ว่าทำอะไร เอ็นจีโอฝรั่งจะพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เอ็นจีโอที่อธิบายตัวเองได้ดีๆ จะเป็นเอ็นจีโอที่ทำงานเกี่ยวกับความรู้ มีความรู้เฉพาะมากพอจะบอกชาวบ้านได้ แต่เอ็นจีโอที่ทำอะไรที่ชาวบ้านน่าจะทำได้เองจะเริ่มนิยามตัวเองลำบาก และเวลาโดนวิจารณ์เขาจะรู้สึกมากเพราะมันสะเทือนตัวตน

 

สื่อ มันคล้ายๆ คุณวิจารณ์อายิโนะโมะโต๊ะ เขาทำธุรกิจน่ะ เขากลัวยอดขายตกมากกว่า เขาขายความน่าเชื่อถือ คุณไปทำลายสิ่งเหล่านั้นเขาแล้วโฆษณาไม่เข้าทำไง มันกระเทือนมากนะ 

 

ยกปรากฏการณ์หนึ่งคือ บก.มติชนออนไลน์ หลังถูกกล่าวหาว่าเริ่มแดง คนอ่านมากขึ้นมาก แต่โฆษณากลับลดลง

ผมว่าธุรกิจไม่กลัวแดงหรอก ปัญหานี้เป็นปัญหาที่พบทั่วไปหมด ฝรั่งก็พูดถึงอยู่ว่า นสพ.กระดาษไปไม่รอด พยายามผลักดันออนไลน์ ซึ่งบางฉบับประสบความสำเร็จ แต่โฆษณากลับเข้าไม่ถึง 25% ของสิ่งพิมพ์กระดาษ

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์พม่า 18 พ.ย.

Posted: 19 Nov 2010 02:28 AM PST

กองกำลังหยุดยิงไทใหญ่ SSA-N แสดงความยินดีนางอองซาน ซูจี ได้รับอิสรภาพ พร้อมสนับสนุนแนวทางสร้างความปรองดอง, พ่อค้าแม่ค้าในจังหวัดท่าขี้เหล็กได้รับความเดือนร้อนจากเหตุทางการพม่ามีคำสั่งห้ามรถบรรทุกสินค้าทุกชนิดผ่านแดน ตั้งแต่ช่วงมีเลือกตั้งในพม่าเป็นต้นมา

กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ SSA-N แถลงหนุนแนวทางปรองดอง ซูจี
กองกำลังหยุดยิงไทใหญ่ SSA-N ร่อนแถลงการณ์แสดงความยินดีนางอองซาน ซูจี ได้รับอิสรภาพ พร้อมสนับสนุนแนวทางสร้างความปรองดองในการหยิบยกประชุมปางโหลงเป็นหลักนำ....

เมื่อวานนี้ (18 พ.ย. 53) กองพลน้อยที่ 1 กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" หรือ กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ SSA-N (Shan State Amy – North) ภายใต้การนำของพล.ต.ป่างฟ้า ได้ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีกับการได้รับอิสรภาพของนางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านรัฐบาลทหารพม่า พร้อมกับสนับสนุนแนวทางสร้างความปรองดองของนางอองซาน ซูจี

โดยแถลงการณ์ระบุว่า จากที่นางอองซาน ซูจี ได้กล่าวว่าประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับการร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่งทำเองฝ่ายเดียวไม่ได้ ทุกชนชาติต้องสามัคคีร่วมมือกันนั้น ทำให้ประชาชนทุกเชื้อชาติต่างชื่นชมยินดีและมีกำลังใจกันมากขึ้น และการที่นางอองซาน ซูจี ได้หยิบยกสนธิสัญญาปางโหลง มาเป็นแนวทางเพื่อสร้างความปรองดองในชาติ เห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะสัญญาปางโหลงที่มีนายพลอองซาน (บิดานางอองซาน ซูจี) ร่วมทำขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ มีจุดประสงค์เพื่อการอยู่อย่างสามัคคีเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ แถลงการณ์ยังได้วิงวอนขอให้นางอองซาน ซูจี เป็นผู้นำสำคัญในการสร้างความสามัคคีแก่ทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มการเมือง กลุ่มติดอาวุธ และในกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกัน นอกจากนี้ ยังได้ร้องขอให้ ช่วยผลักดันทุกวิถีทางเพื่อให้รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด ที่มีอยู่กว่า 2,000 คน ซึ่งมีเจ้าขุนทุนอู, เจ้าเสือแท่น, จายนุท และผู้นำการเมืองคนอื่นๆ ของไทใหญ่รวมอยู่ด้วย

สำหรับกองพลน้อยที่ 1 ของ SSA-N เดิมเป็นกองพลคุมกำลังหลักของกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" หรือ กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ SSA-N ที่มีพล.ต.หลอยมาว เป็นผู้นำสูงสุด โดย SSA-N แบ่งกำลังพลเป็น 3 กองพลน้อย ได้แก่กองพลน้อยที่ 1, 3 และ 7 แต่หลังจากพล.ต.หลอยมาว นำกองพลน้อยที่ 3 และ 7 เข้าร่วมจัดตั้งเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF ทางพล.ต.ป่างฟ้า ได้นำกองพลน้อยที่ 1 ซึ่งมีกำลังพลกว่า 2,500 นาย แยกอยู่ตามลำพังและประกาศยึดอุดมการณ์เพื่อชาติต่อไป ซึ่งตั้งแต่เดือนกันยายนมาจนถึงปัจจุบัน กองพลน้อยที่ 1 ได้ปะทะกับทหารพม่าแล้ว 4 ครั้ง ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา

พ่อค้าท่าขี้เหล็ก-แม่สายเดือดร้อน พม่าห้ามรถบรรทุกสินค้าผ่านแดน
18 พฤศจิกายน 2553 มีรายงานจากแหล่งข่าวชายแดนว่า พ่อค้าแม่ค้าในจังหวัดท่าขี้เหล็ก ฝั่งพม่า ตรงข้ามอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ต่างได้รับความเดือนร้อนจากเหตุทางการพม่ามีคำสั่งห้ามรถบรรทุกสินค้าทุก ชนิดผ่านแดน ตั้งแต่ช่วงมีเลือกตั้งในพม่าเป็นต้นมา

นางน้องคำ แม่ค้าตลาดท่าล่อในท่าขี้เหล็ก กล่าวว่า ขณะนี้มีกลุ่มพ่อค้าจากฝั่งไทยสั่งซื้อสินค้าเสื้อผ้าจากจีนเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถขนเข้าฝั่งไทยได้ เนื่องจากทางการพม่าสั่งห้ามรถบรรทุกสินค้าผ่านแดน และทำให้สินค้าชุดเสื้อผ้ามีราคาสูงขึ้น เพราะกลุ่มพ่อค้าต้องจ้างคนขนข้ามทีละน้อยแทน

นางน้องคำ เผยด้วยว่า ก่อนหน้านี้ทางการพม่าได้แจ้งว่า หลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จจะเปิดให้รถบรรทุกสินค้าผ่านตามปกติ แต่จนถึงขณะนี้เวลาผ่านไป 7 – 8 วัน แล้ว ทางการพม่าก็ยังไม่มีคำสั่งเปิด จากเหตุนี้ส่งผลให้กลุ่มพ่อค้าต่างได้รับความเดือดร้อนไปตามๆ กัน เพราะช่วงนี้เป็นช่วงหน้าหนาวสินค้าขายดี

ทั้งนี้ ทางการพม่าได้มีคำสั่งห้ามรถบรรทุกสินค้าผ่านสะพานมิตรภาพไทย–พม่า ทั้งแห่งที่ 1 ในตำบลแม่สาย และแห่งที่ 2 ในตำบลสันผักฮี้ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 53 ที่ผ่านมา

ขณะที่นางหน่อยหน่อย เจ้าของร้านค้าขายเสื้อผ้าใกล้กับสะพานแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก กล่าวว่า ช่วงนี้เสื้อผ้ากันหนาวและผ้าห่มจากประเทศจีนขายดีกว่าทุกปี เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเร็วกว่าทุกปี ประกอบหลายพื้นที่ของไทยประสบภัยน้ำท่วม แต่ก็ต้องมาประสบปัญหาการขนส่งจากเหตุทางการพม่ามีคำสั่งห้ามรถบรรทุกข้ามแดน

------------------------------------------------------------------------------------------

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ http://www.khonkhurtai.org/ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักวิชาการแนะใช้ “หลัก 3R” และใช้วัสดุแบบเดียวกันลอยกระทง

Posted: 19 Nov 2010 01:18 AM PST

สวทช. แนะ 3 วิธี ลอยกระทงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 1.เลือกวัสดุของกระทงให้เหมาะสมกับพื้นที่ 2.ใช้หลัก 3R กับการลอยกระทง คือ ลด (Reduce) ใช้ร่วมกัน (Reuse) แปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และ3.ชวนชุมชนและหน่วยงานรณรงค์ “ลอยกระทงวัสดุแบบเดียวกัน” เพื่อให้สะดวกต่อการจับเก็บและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่ายและเกิดประโยชน์สูงสุด

ดร.ธนาวดี ลี้จากภัย ห้องปฏิบัติการวิจัยเคมีโพลิเมอร์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การระบุว่าวัสดุประเภทใดดีที่สุดสำหรับการลอยกระทงเป็นเรื่องยาก เพราะไม่สามารถพิจารณาได้จากตัววัสดุเท่านั้น แต่ต้องอาศัยการประเมินจากสภาพพื้นที่ ปัจจัยสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการขยะของในพื้นที่นั้นๆ เป็นองค์ประกอบด้วย

“ทั้งนี้เราสามารถอาศัยหลักเกณฑ์ง่ายๆ ให้ประชาชนใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาเลือกวัสดุลอยกระทงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด 3 แนวทาง คือ 1.เลือกวัสดุลอยกระทงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ หากประชาชนอยู่ในพื้นที่ที่หาวัสดุ จากธรรมชาติ เช่น ต้นกล้วย ดอกบัว ได้ง่าย ก็ควรเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติ เพราะหาง่าย ราคาถูก และเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย แต่หากอยู่ในเมืองซึ่งหาวัสดุจากธรรมชาติได้ยาก ให้พิจารณาเลือกใช้วัสดุสังเคราะห์ หรือวัสดุทางเลือกอื่นๆ ที่ย่อยสลายง่าย เช่น ขนมปัง กระดาษ ชานอ้อย ฯลฯ ส่วนจะเลือกใช้วัสดุชนิดใดนั้นให้ดูจากพื้นที่ เช่น หากลอยในแม่น้ำ หรือสระน้ำที่มีปลาหรือสัตว์น้ำเยอะ ก็ควรเลือกกระทงขนมปัง ควรหลีกเลี่ยงการใช้กระทงที่ทำจากโฟมและพลาสติก เพราะหากปลาฮุบชิ้นโฟมหรือพลาสติกเข้าไปอาจเป็นอันตรายได้ รวมทั้งแนะนำว่ากระทงขนมปังไม่จำเป็นใส่สี ควรเป็นกระทงสีธรรมชาติซึ่งดูสวยอยู่แล้ว และไม่ควรตกแต่งกระทงด้วยวัสดุอื่นเช่นโรยกากเพชร เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำได้เช่นกัน

ขณะที่แหล่งน้ำซึ่งเป็นระบบปิด เช่น บ่อ บึง หนองน้ำ ที่ไม่มีปลาเยอะ หากใช้กระทงขนมปัง ควรพิจารณาถึงปริมาณของกระทงที่จะถูกนำไปลอยด้วย ตรงนี้อาจต้องลองประเมินคร่าวๆได้จากจำนวนกระทงที่ลอยในปีก่อนๆ ถ้าปริมาณกระทงขนมปังเหมาะสมกับจำนวนสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ก็จะไม่ก่อให้เกิดปัญหา กลับเป็นการได้บุญ 2 ต่อ ได้ขอขมาพระแม่คงคา และยังได้ทำทานกับเหล่าสัตว์น้ำอีกด้วย แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่าจะมีปริมาณ มากเกินไป อาจหลีกเลี่ยงมาใช้กระทงใบตอง หรือวัสดุอื่นแทน เพราะเมื่อขนมปังเปื่อยยุ่ย จมลงพื้นบ่อน้ำ จะทำให้จัดเก็บได้ยากและทำให้น้ำเสียได้
2.ใช้หลัก “3R” กับการลอยกระทง ได้แก่ 1) ลด (Reduce) ลดขนาด จำนวนชั้น และการตกแต่งให้น้อยลงเท่าที่จะทำได้ เพราะเท่ากับช่วยลดการใช้วัสดุ ประหยัดทรัพยากร และลดปริมาณการกำจัด ทำลายด้วย 2) ใช้ร่วมกัน (Reuse) คือ ใช้ซ้ำแบบใช้ร่วมกัน เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่า เช่น หนึ่งกระทง หนึ่งครอบครัว หรือ หนึ่งกระทง เพื่อนหนึ่งกลุ่ม ฯลฯ และ 3) แปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โดยชุมชนและหน่วยงานต่างๆ อาจช่วยกันวางแผนการคัดแยกและนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น การนำกระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติ ไปหมักในถังหมักสำหรับทำปุ๋ยชีวภาพ หรือแก๊สชีวภาพ เป็นต้น”

ดร.ธนาวดี กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางที่ 3 คือ การรณรงค์ “ลอยกระทงวัสดุแบบเดียวกัน” เนื่องจากปัญหาสำคัญของการลอยกระทง คือการจัดเก็บและทำลายกระทงภายหลังการจัดงาน ซึ่งหัวใจของการจัดการในตอนสุดท้ายที่ดี คือ ถ้าวัสดุที่นำมาใช้เหมือนกัน การจัดการจะง่าย และจัดการได้ทีเดียวพร้อมกันทั้งหมด ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการคัดแยก
“ด้วยเหตุนี้หากเป็นไปได้จึงอยากแนะนำให้ชุมชนและหน่วยงานผู้รับผิดชอบต่างๆ มีการรณรงค์ให้ใช้วัสดุแบบเดียวกันในแต่ละพื้นที่ โดยเริ่มต้นจากการมองไปที่ปลายทางก่อน ว่าในพื้นที่ของตนเองมีวิธีการหรือแนวทางการจัดการกับขยะ อย่างไรบ้าง เช่น หากในชุมชนมีถังหมัก สามารถนำขยะจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง กาบกล้วย ดอกไม้ มาหมักให้เกิดเป็นปุ๋ยชีวภาพ หรือ หมักโดยใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจนให้เกิดแก๊สชีวภาพได้ ชุมชนก็อาจจะกลับมาร่วมกันรณรงค์ที่ต้นทาง คือ ให้คนในชุมชนใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติแบบเดียว ห้ามใช้โฟม พลาสติก หรือกระดาษเด็ดขาด เพื่อให้การจัดเก็บง่ายและนำไปใช้กับถังหมักได้ทันที เช่นเดียวกับในกรณีของกทม. ที่ในบางเขตพื้นที่มีโรงงานหมักขยะมูลฝอย ก็อาจรณรงค์ให้ประชาชนหรือชุมชนบริเวณนั้น ใช้กระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติแบบเดียว เพื่อให้จัดเก็บและนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ง่าย

นอกจากนี้ในพื้นที่อื่นๆ เช่น สถานที่ท่องเที่ยว หรือวัด ที่มีสระน้ำ บึงน้ำที่มีปลาอาศัยจำนวนมาก ก็เลือกรณรงค์ให้ใช้กระทงขนมปังแบบเดียวกัน โดยจำกัดปริมาณขนมปัง ด้วยการทำกระทงให้เล็ก และบางลง เพื่อไม่ให้มีปริมาณมากจนทำให้น้ำเน่าเสีย หรือแม้แต่ในพื้นที่ที่หาวัสดุธรรมชาติได้ยาก แต่ว่ามีโรงงานรีไซเคิลโฟมในบริเวณนั้น ก็อาจชักชวนให้ใช้กระทงโฟมทั้งหมด สำหรับจัดเก็บโฟมไปส่งให้โรงงานรีไซเคิลโฟม นำกลับมาใช้ใหม่ต่อไป”

ดร.ธนาวดี กล่าวว่า การเลือกใช้วัสดุต้องพิจารณาตามความเหมาะสมกับพื้นที่ของตน วัสดุทุกประเภทมีคุณค่า และสามารถนำมาใช้งานได้ ไม่มีวัสดุประเภทไหนที่ดีหรือไม่ดีไปทั้งหมด เพราะการจัดการขยะของบ้านเราส่วนใหญ่ใช้วิธีการฝังกลบ ดังนั้นหากในพื้นที่ฝังกลบไม่มีการจัดเก็บก๊าซที่ถูกปลดปล่อยจากการย่อยสลายไปใช้ประโยชน์ต่ออย่างเป็นระบบ วัสดุจากธรรมชาติก็มีโอกาสย่อยสลายและปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศได้เช่นกัน ขณะที่โฟมในกรณีที่นำไปฝังกลบจะมีการย่อยสลายที่ยากมาก จึงไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศในทันที แต่มีผลเสียทำให้ต้องใช้พื้นที่ฝังกลบจำนวนมาก คราวนี้อาจต้องมาจับเข่านั่งคุยกันก่อน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เลือกใช้ในสิ่งที่มี เหมาะสมและเป็นประโยชน์มากที่สุด

ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีของไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ จึงควรมีการรักษาสืบสานประเพณีนี้ต่อไป เพียงแต่พิจารณาเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม ลดการใช้ และหาวิธีการกำจัดหรือนำกลับมาใช้ใหม่อย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้การลอยกระทง สร้างมลพิษน้อยที่สุด
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชุมพนักงานสอบสวนคดีพันธมิตรฯ ยึดสนามบิน มีมติสั่งฟ้อง 114 คน

Posted: 19 Nov 2010 12:59 AM PST

พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีกลุ่มพันธมิตรฯ บุกยึดสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เผยที่ประชุมลงมติสั่งฟ้องพันธมิตรฯ จำนวน 114 คน จากนี้ให้ผบ.ตร. ลงความเห็นก่อนนำส่งพนักงานอัยการ

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานเมื่อเวลา 14.18 น. ว่า ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตย บุกยึดสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ กล่าวภายหลังเรียกประชุมพนักงานสอบสวน ว่า ก่อนหน้านี้คณะพนักงานสอบสวนได้นำสำนวนคดีดังกล่าวเสนอให้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.พิจารณาไปแล้วโดยไม่มีการเสนอความเห็นว่าสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือ ไม่ เมื่อทาง ผบ.ตร.ได้พิจารณาสำนวนคดีแล้ว จึงมีคำสั่งให้นำสำนวนกลับคืนมาให้พนักงานสอบสวนลงความเห็นว่า สมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่ ตนจึงเรียกประชุมพนักงานสอบสวนในวันเดียวกันนี้

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาคดีนี้รวมทั้งหมด 114 คน และภายหลังจากคณะพนักงานสอบสวนลงชื่อในสำนวนคดีจนครบทุกคนแล้วก็จะนำเรียน ให้ ผบ.ตร.พิจารณาเพื่อมีความเห็นอีกครั้ง ก่อนนำส่งพนักงานอัยการดำเนินการต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีดังกล่าวยังคงมีผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับไว้แล้ว แต่ยังไม่เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนอีก 23 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตามตัวของเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินคดีต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศอฉ.สั่งห้ามบุคคลใดขาย-ครอบครองสินค้า "สร้างความแตกแยก"

Posted: 18 Nov 2010 10:06 PM PST

"ประยุทธ์" ลงนามคำสั่ง ศอฉ. ห้ามบุคคลใดครอบครอง ขายสินค้า สร้างความแตกแยก ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งยึดหรืออายัด ผู้ใดฝ่าฝืนคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่น หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

(19 พ.ย.53) เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 19 พ.ย. ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้มีคำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ 141/2553 เรื่อง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึด หรือ อายัด สินค้าหรือวัตถุอื่นใด ที่ก่อให้เกิดความแตกแยก

โดยมีรายละเอียดดังนี้ "ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดปทุมธานี แล้วนั้น

เพื่อให้การดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้นและเพื่อ เสริมสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมุ่งนำสังคมกลับเข้าสู่ความสงบสุข จึงมีความจำเป็นที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องออกคำสั่งห้ามและให้พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำการใดๆ เท่าที่จำเป็น แก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยของประชาชน

อาศัยอำนาจตาม ข้อ 3 และข้อ 6 แห่งประกาศตามมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงออกคำสั่งดังนี้

ข้อ 1 ห้ามบุคคลใดมีไว้ในครอบครอง หรือ มีไว้เพื่อการจำหน่าย จ่าย แจก ซึ่งสินค้า เสื้อผ้า เครื่องอุปโภคบริโภค หรือวัตถุอื่นใด ที่มีการพิมพ์ เขียน วาดภาพ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นใดที่ทำให้ปรากฏความหมายในลักษณะ ยั่วยุ ปลุกระดม สร้างความปั่นป่วน หรือก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนโดยทั่วไป หรือ เพื่อการกระทำหรือสนับสนุนการกระทำให้เกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน

ข้อ 2 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่ง ยึดหรืออายัด สินค้า เสื้อผ้า เครื่องอุปโภคบริโภค หรือวัตถุอื่นใด ตามข้อ 1 โดยให้มีอำนาจกระทำการเท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยของประชาชน

ข้อ 3 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ชั้นสัญญาบัตร หรือเทียบเท่าเป็นผู้ดำเนินการตามคำสั่งนี้

ข้อ 4 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามตามคำสั่งนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2553" โดยคำสั่งดังกล่าว ลงนามโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

ที่มา: สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น