ประชาไท | Prachatai3.info |
- เครือข่ายนักกฎหมายออกจดหมายเปิดผนึก จี้ยกเลิกคำสั่ง ศอฉ.
- ทำไมเราไม่ควรตื่นเต้นกับอิสรภาพของ “ออง ซาน ซุจี”
- บชน.แถลงข้อห้าม 5 ข้อ - มทภ.1 ห่วงมือมืดจ้องป่วน "พันธมิตร" ชุมนุม
เครือข่ายนักกฎหมายออกจดหมายเปิดผนึก จี้ยกเลิกคำสั่ง ศอฉ. Posted: 21 Nov 2010 08:55 AM PST 21 พ.ย. 53 - เครือข่ายนักกฎหมายออกจดหมายเปิดผนึก จี้ยกเลิกคําสั่งที่ 141/2553 ของ ศอฉ. ที่ให้เจ้าหน้าที่สามารถยึดหรืออายัดสินค้าหรือวัตถุอื่นใด ที่ก่อให้เกิดความแตกแยก และยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
ทำไมเราไม่ควรตื่นเต้นกับอิสรภาพของ “ออง ซาน ซุจี” Posted: 21 Nov 2010 05:17 AM PST
* ชื่อบทความเดิม: ทำไมเราไม่ควรตื่นเต้นกับอิสรภาพของ ออง ซาน ซุจี มองอิสรภาพของอองซานซุจีผ่านการเมืองพม่าสมัยใหม่ ณ กรุงย่างกุ้งเมืองหลวงเก่าของพม่า วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมาเป็นหนึ่งในวันที่น่าจะได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของพม่า อองซานซุจี (หรือที่คนพม่าเรียกด้วยความเคารพว่าดอซุหรือ “อานตี้”) ในชุดโลงจีสีม่วงอ่อนและดอกไม้ติดผมที่เราเห็นกันคุ้นตาเดินออกมาจากบ้านพักเพื่อต้อนรับกลุ่มผู้สนับสนุนนับพันคนที่รวมตัวกันตั้งแต่คืนวันศุกร์ ผู้คนต่างรอลุ้นให้เธอถูกปล่อยตัวและเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาที่เปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ ความสุขและความหวัง แม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงสั้น ๆ แต่ก็นับว่า “หายาก” เหลือเกินสำหรับประเทศอย่างพม่า แจ๊ค เดวีส์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์การ์เดียนประจำย่างกุ้งเขียนไว้ในวันที่เธอถูกปล่อยตัวว่า “การปล่อยตัวอองซานซุจีนำความชื่นมื่น น้ำตาและความหวังใหม่กลับมาสู่พม่า” [1] เป็นไปได้ว่าโลกตะวันตกกลับตื่นเต้นกับข่าวการปล่อยนางอองซานซุจีในครั้งนี้อาจมากกว่าคนพม่า หนังสือพิมพ์ทุกฉบับของอังกฤษเริ่มตีพิมพ์ข่าวการปล่อยตัวอองซานซุจี (คำสั่งการควบคุมตัวในบ้านพักหมดลงในวันที่ 13 พฤศจิกายน) มาตั้งแต่ราววันที่ 6 พฤศจิกายน เมื่อลูกชายคนเล็ก นายคิม อริส (Kim Aris) เดินทางมาจากอังกฤษเพื่อ ยื่นเรื่องขอวีซ่าเข้าพม่าจากสถานทูตพม่าที่กรุงเทพฯและได้รับการปฏิเสธ หนึ่งอาทิตย์ก่อนวันปล่อยตัวหนังสือพิมพ์บางฉบับของอังกฤษยังตีพิมพ์บทความ บทบรรณาธิการ รูปของนางหรือบทความอีกหลายชิ้นที่มีเนื้อหาชวนให้ติดตาม ตัวอย่างหนึ่งคือหนังสือพิมพ์ดิ อินดีเพนเดนท์ฉบับวันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายนนำบทความชื่อ “วันตัดสิน อิสรภาพของอองซานซุจีอาจมาถึงในอีกไม่กี่ชั่วโมง” เป็นพาดหัวใหญ่ [2] และ ถึงวันเสาร์ที่ 13 สถานีข่าวในอังกฤษทั้งบีบีซีและสกายนิวส์ต่างแข่งขันกันรายงานสด (live coverage) นาทีต่อนาทีจากผู้สื่อข่าวต่างประเทศของตนในย่างกุ้ง ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดกระแสความตื่นเต้นในหมู่ผู้บริโภคสื่อสิ่งพิมพ์และข่าวทางโทรทัศน์ในอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง เมื่อสองปีก่อนนายจอห์น ยิตตอสัญชาติอเมริกันลงทุนว่ายน้ำข้ามทะเลสาปอินยาระยะทางกว่า 2 กิโลเมตรไปหานางโดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยด้านจิตวิทยาของตน ในครั้งนั้นเป็นที่วิพากย์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของนายยิตตอ แต่ไม่ว่าการสืบสวนของทางการพม่าจะออกมาเป็นอย่างไร รัฐบาลออกคำสั่งขยายเวลาควบคุมนางอองซานซุจีในบ้านพักออกไปอีกเป็นเวลาหนึ่งปีทั้ง ๆ คำสั่งเดิมกำลังจะหมดลงอีกไม่กี่วัน ข่าวความกล้าหาญบ้าบิ่นของนายยิตตอในคราวนั้นกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก รัฐบาลสหรัฐฯ ที่คว่ำบาตรพม่ามานานปีถึงกับต้องส่งวุฒิสมาชิกฝีปากกล้าอย่างจิม เวบบ์เพื่อเจรจาเกลี้ยกล่อมให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนายยิตตอและอองซานซุจี แม้นายยิตตอจะถูกปล่อยตัวแต่อองซานซุจียังถูกคุมขังไว้ในบ้านพักและคำสั่งคุมตัวเธอถูกขยายไปอีกหนึ่งปี แต่แน่นอนว่าข่าวที่ถูกมองว่าแปลกประหลาดกรณีนายยิตตอในคราวนั้นไม่ได้เป็นที่สนใจมากเท่ากับการปล่อยตัวนางอองซานซุจีในครั้งนี้... เหตุผลที่รัฐบาลพม่ายอมปล่อยตัวนางอองซานซุจีคราวนี้ไม่ปรากฎชัดและข่าวลือการปล่อยตัวนางที่ออกมาต่างมีที่มาจากสำนักข่าวต่างประเทศ เช่น เอเอฟพี ก่อนหน้านี่รัฐบาลพม่าไม่เคยแถลงอย่างเป็นทางการว่าจะมีการปล่อยตัวนางแต่อย่างใด แต่ข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วย่างกุ้งและเมืองอื่น ๆ ว่ามีโอกาสสูงที่รัฐบาลจะยอมปล่อยตัวนางหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา การจัดการเลือกตั้งดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากย์วิจารณ์ไปทั่วโลกว่าเป็นการเลือกตั้งจอมปลอมที่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลทหารที่อ้างว่าพรรคยูเอสดีพี (Union Solidarity and Development Party) ของตนได้เสียงข้างมากและชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย คำถามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากกรณีการปล่อยตัวนางอองซานซุจีคือต่อไปนี้จะเกิดอะไรขึ้นในพม่า หลายคนอยากรู้ว่าประชาธิปไตยจะมีโอกาสเติบโตในพม่าหรือไม่ หรือแม้แต่รัฐบาลพม่าปล่อยตัวเธอออกมาเพื่ออะไร คำถามเหล่านี้ไม่มีใครสามารถตอบได้ดีเท่ากับนายพลระดับสูงเพียงไม่กี่คนหรือนักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งกับรัฐบาลทหาร บทความนี้ไม่มีจุดประสงค์เพื่อทำนายอนาคตของพม่า แต่สิ่งที่อาจทำได้คือการบอกเล่าประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของพม่าที่เป็นเบ้าหลอมให้การเมืองพม่าหยุดอยู่กับที่มาหลายสิบปี และเป็นวงจรอุบาทว์ที่อุบาทว์กว่าวงจรการเมืองใด ๆ ในโลก (เว้นไว้แต่เกาหลีเหนือกับโซมาเลีย) เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและการปราบปรามผู้ที่มีแนวความคิดไม่ลงรอยกับฟากรัฐบาลอย่างรุนแรงนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่าแบบซ้ำซาก จำเจจนคนพม่าส่วนใหญ่ตัดสินใจไม่ไปเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา อองซานซุจีกับการเมืองพม่านับจาก 1989 อริสโตเติลเคยกล่าวไว้ว่า “หากจะเข้าใจสิ่งใด จงสังเกตจุดเริ่มต้นและพัฒนาการ” ในสังคมพม่าที่เป็นสังคมที่ให้เกียรติและเชิดชูเพศหญิงมากกว่าประเทศใด ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้หญิงพม่ามีสถานะพิเศษในสังคม จอห์น เฟอร์นิวัล (J.S. Furnivall, 1878-1960) ปราชญ์ชื่อดังด้านพม่าและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาเคยสังเกตประเด็นนี้ไว้ว่า “อิสระภาพของผู้หญิงพม่าเป็นเรื่องน่าสนใจ” นักวิชาการทั้งในและนอกพม่าอีกหลายคนยังเห็นพ้องต้องกันว่าผู้หญิงพม่าโดยรวมยังเป็นที่เคารพและอาจเรียกได้ว่าเป็นเสาหลักของครอบครัวและมีอิสระในการตัดสินใจและการดำเนินชีวิตในสังคมมากเท่า ๆ กับผู้หญิงตะวันตก [3] ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่คนพม่าจำนวนมากจะเห็นว่าอองซานซุจีเป็นบุคคลพิเศษและมีความสามารถทัดเทียมเท่าผู้ชายในหลาย ๆ ด้าน เธอยังถูกมองว่าเป็นหญิงที่ใจแข็งดังหินผาผู้พร้อมยอมสละชีพเพื่อบ้านเกิดเมืองนอนที่เธอรัก มาในสมัยนี้เธอจะถูกมองว่าเป็นความหวังสุดท้ายและเป็นผู้เดียวที่มีดีกรีเพียงพอที่จะท้าทายบารมีรัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 1962 แต่ในทางกลับกันหลายคนก็มองว่าเธอไม่สามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในพม่าได้ คนพม่าหลายคนที่ผู้เขียนเคยพูดด้วยระหว่างปี 2008 ถึง 2009 ถึงกับส่ายหน้าและกล่าวแบบไม่อ้อมค้อมว่าเขาไม่เชื่อว่ารัฐบาลทหารจะยอมปล่อยตัวเธอง่าย ๆ และยิ่งไม่เชื่อใหญ่ว่าจะมีอุบัติการทางการเมืองหรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นเว้นเสียแต่กองทัพทะเลาะกันเองและผู้นำคนปัจจุบันก้าวลงจากอำนาจ (ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก) บ้างอยากเห็นเธอเคลื่อนไหวในต่างแดน (ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากกว่า) หรือแม้แต่การให้นานาชาติเข้ามาแทรกแซงอย่างจริงจัง (ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากที่สุด) ข่าวลือการปล่อยตัวนางอองซานซุจีประกอบกับการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์และพายุไซโคลนกิริที่พัดกระหน่ำพม่าทางฝั่งตะวันตกอย่างหนักทำให้สื่อต่างชาติให้ความสนใจพม่าเป็นพิเศษและโหมเขียนข่าวเกี่ยวกับการเมืองพม่าตลอดเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนที่ผ่านมา ไม่น่าแปลกใจที่ความตื่นเต้นยินดีดังกล่าวจะทำให้หลาย ๆ คนยังนำเธอไปเปรียบเทียบกับเนลสัน แมนดาลา อดีตผู้นำกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านการต่อต้านสีผิว (Apartheid) ในแอฟริกาใต้ บทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์วันอาทิตย์ ดิ ออปเซิฟเวอร์ วันที่ 14 พฤศจิกายน กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าการปล่อยตัวอองซานซุจีไม่มีนัยยะทางการเมืองที่จะเทียบได้กับการปล่อยตัวนายเนลสัน แมนเดลา “สำหรับผู้ที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวเธอ [อองซานซุจี] รวมไปถึงชาติในยุโรปหลายชาติ เหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องน่าเฉลิมฉลอง แต่มันไม่ใช่ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของพม่าและไม่ได้มีความสำคัญเทียบเท่ากับเหตุการณ์การปล่อยตัวเนลสัน แมนเดลาอย่างที่หลาย ๆ คนเชื่อ” บทบรรณาธิการเดียวกันยังกล่าวต่อไปอย่างน่าสนใจว่า “เนลสัน แมนเดลาถูกปล่อยตัวเพราะคนที่ปกครองแอฟริกาใต้ในสมัยนั้นรู้ดีว่าเกมส์มันกำลังจะจบ กล่าวคือนโยบายต่อต้านสีผิวมันใช้ไม่ได้แล้ว ในทางตรงกันข้ามเหล่านายพลระดับสูงในรัฐบาลทหารพม่ากลับต้องการรักษาอำนาจของตนไว้ให้ได้อย่างเด็ดขาด รัฐบาลพม่าจัดการเลือกตั้งจอมปลอมขึ้นและพรรคที่รัฐบาลตั้งขึ้นมากลายเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง (…) ประเทศอื่น ๆ ที่กำลังหาโอกาสทำการค้าเพิ่ม [กับพม่า] คงพร้อมยกเลิกการคว่ำบาตร ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ [รัฐบาลพม่า] คำนวณไว้เรียบร้อยแล้วและคงจะเป็นเงื่อนไขสำหรับการปล่อยตัวอองซานซุจี” เมื่อวีรบุรุษสร้างวีรสตรี อองซานซุจีมีวัยเด็กที่เรียบง่าย ครอบครัวทางบิดาเป็นครอบครัวชนชั้นกลางแถบมักกเว ด้านมารดาดอขิ่นจีตอนที่พบรักกับนายพลอองซานเป็นพยาบาลอยู่โรงพยาบาลกลางในย่างกุ้ง นับตั้งแต่ปี 1933 นายพลอองซานถือว่าเป็นวีรบุรุษผู้ปลดปล่อยพม่าออกจากการปกครองของอังกฤษที่มีมายาวนานตั้งแต่ปี 1826 เขามีบทบาทโดดเด่นเป็นผู้นำต่อต้านการปกครองแบบอาณานิคมของอังกฤษเริ่มตั้งแต่เป็นประธานสโมสรนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งจนกระทั่งถูกลอบสังหารในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1947 เมื่ออองซานซุจีอายุได้เพียง 2 ปี หลังจากเหตุการณ์ลอบสังหารดอขิ่นจีเข้ารับตำแหน่งสำคัญ ๆ ในรัฐบาลอูนุ รวมทั้งตำแหน่งเอกอัครทูตประจำกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียในปี 1960 ตั้งแต่ตอนนี้อองซานซุจีใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่นอกพม่า เธอใช้ชีวิตส่วนหนึ่งในอินเดียและเข้าศึกษาต่อในเซนต์ฮิวส์คอลเลจ (St Hughes’s College) มหาวิทยาอ๊อกฟอร์ดและได้รับปริญญาบัญฑิตสาขาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ เธอสมรสกับไมเคิล อริส ที่ในขณะนั้นเป็นนักวิชาการทางธิเบตศึกษาที่มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ครอบครัวพร้อมลูกชายสองคน อเล็กซานเดอร์และคิมใช้ชีวิตในภูฎานราวหนึ่งปีในครั้งที่ที่อริสทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์อยู่ในราชสำนักภูฎาน ในปี 1888 อองซานซุจีกำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกอยู่ ณ สถาบันเอเชียและแอฟริกันศึกษา [School of Oriental and African Studies (SOAS), University of London] ด้านวรรณคดีกับปรมาจารย์ด้านภาษาพม่าอย่างจอห์น โอเคลและแอนนา อัลลอท เมื่อได้รับข่าวร้ายว่ามารดาป่วยหนัก เธอตัดสินใจกลับย่างกุ้งเพื่อไปดูแลมารดาของเธอทันทีโดยที่ไม่ได้ฉุกคิดว่าเธอจะไม่มีโอกาสกลับไปอังกฤษและอยู่กับครอบครัวที่เธอรักอีก ในปีเดียวกันราวฟ้าลิขิต นักเรียนนิสิตนักศึกษาในย่างกุ้งเดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลพรรคเดียวของนายพลเนวินลาออก จากการประท้วงของนิสิตนักศึกษากลุ่มเล็ก ๆ เหตุการณ์บานปลายตั้งแต่เดือนมีนาคมเมื่อรัฐบาลและตำรวจใช้วิธีรุนแรงล้อมวงและทุบตีนิสิตนักศึกษาใกล้มหาวิทยาลัยย่างกุ้งจนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าร้อยคน อีกเหตุการณ์หนึ่งคือการล้อมปราบนิสิตนักศึกษาอีกครั้ง แม้จะไม่ได้มีการใช้ความรุนแรงให้เห็นเหมือนครั้งก่อน แต่มีนิสิตนักศึกษา 41 คนถูกจับยัดใส่รถตำรวจและขาดอากาศหายใจเสียชีวิตทั้งหมด แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความโกรธแค้นในหมู่นิสิตนักศึกษาและยิ่งทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและนิสิตนักศึกษาประทุหนักขึ้นจนรัฐบาลต้องออกเคอร์ฟิวในย่างกุ้งและหัวเมืองสำคัญ ๆ อื่น ๆ บางแห่ง [4] แต่การประท้วงของนิสิตนักศึกษายังมีต่อไปและมาถึงจุดสูงสุดในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมในปีเดียวกันเมื่อเส่งลวิน ผู้ที่ออกคำสั่งปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงอย่างหนักโดยเฉพาะในเหตุการณ์สองเหตุการณ์ข้างต้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ รัฐบาลในขณะนั้นที่กลัวพลังนิสิตนักศึกษาอยู่แต่เดิมใช้มาตรการขั้นรุนแรงและเด็ดขาดเช่นการปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยหรือการทำข้อตกลงแกมบังคับให้องค์กรสงฆ์ห้ามไม่ให้พระภิกษุสงฆ์เข้าร่วมกับกลุ่มผู้ประท้วงเป็นต้น แต่เหตุการณ์ความรุนแรงก็ยังมีอยู่ต่อไป เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนเฉพาะในย่างกุ้งเมืองเดียว [5] เหตุการณ์การสังหารหมู่กลุ่มผู้ประท้วงในครั้งนั้นประกอบกับการแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ที่ถูกมองว่าเป็นรัฐบาลหุ่นของนายพลเนวินยิ่งก่อให้เกิดความไม่พอใจ และถือเป็นวิกฤตที่กลายเป็นเวทีแจ้งเกิดทางการเมืองของอองซานซุจีที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีบทบาททางการเมืองใด ๆ ในพม่า ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 1888 เธอเคยเขียนจดหมายไปยังรัฐบาลให้ยอมรับระบบการเมืองแบบหลายพรรค เธอกลายเป็นที่ยอมรับในหมู่นิสิตนักศึกษาและประชาชนที่สนใจการเมืองอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 สิงหาคม 1888 เมื่อเธอกล่าวสุนทรพจน์ครั้งใหญ่ต่อหน้าฝูงชนเรือนแสนที่มารอฟังเธอที่ลานหน้าพระเจดีย์ชเวดากอง ผู้ฟังจำนวนมากเป็นพระภิกษุ ท่ามกลางผู้ชุมนุมนับพันที่มากกว่า 90 เปอร์เซ็นเป็นผู้ชาย เธอคือผู้หญิงเพียงคนเดียวบนเวทีที่สายตาหลายพันคู่จ้องมองและต่างเปี่ยมไปด้วยความหวัง ในตอนนั้นเธอไม่มีความรู้สึกอยากข้องเกี่ยวกับการเมือง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสามีและลูกเล็กอีกสองคนอยู่อังกฤษและความเชี่ยวชาญของเธอเป็นเรื่องวรรณคดีไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่ในท้ายที่สุดเธอต้องลงมาทำงานการเมืองแบบเต็มตัวเมื่อรัฐบาลที่ตอนนั้นมีดร.หม่องหม่องเป็นผู้นำปฏิเสธไม่ยอมให้มีการทำประชาพิจารณ์และเสนอให้มีการเลือกตั้งที่มีพรรคอื่นเข้าร่วม ข้อเสนอของรัฐบาลถูกอองซานซุจีปฏิเสธ ข้อเสนอของเธอที่ให้ต่อรัฐบาลดร.หม่องหม่องคือรัฐบาลต้องขับนายพลเนวินออกจากประเทศทันทีเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าการเมืองจะสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นโดยไม่ผ่านการชักใยจากเผด็จการทหาร ความขัดแย้งภายในกองทัพและรัฐบาลในขณะนั้นรวมกับความอ่อนแอของกองทัพหลังการชุมนุมประท้วงที่ทำให้ทหารและตำรวจรวมทั้งข้าราชการหลาย ๆ คนต่างสำนึกและอับอายกับสิ่งที่กองทัพทำ ทหารตำรวจและข้าราชการบางคนเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง นับตั้งแต่นายพลเนวินขึ้นสู่อำนาจไม่มีครั้งใดที่กองทัพและรัฐบาลพม่าจะอ่อนแอเท่าครั้งนั้น หลายคนในตอนนั้นเชื่อว่าพลังของประชาชนนี่แหล่ะคือพลังที่ทรงพลังที่สุดในอันที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมและระบบการเมืองที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมได้ แต่เหตุการณ์กลับพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ นายพลซอหม่องทำรัฐประหารคว่ำรัฐบาลดร.หม่องหม่องและใช้มาตรการขั้นรุนแรงขั้นสูงสุดกับผู้ชุมนุมและผู้มีความเห็นต่างกับรัฐบาล รัฐบาลปกครองประเทศในนามสลอร์ก (SLORC - State Law and Order Restoration Council) พัฒนาการทางการเมืองที่สำคัญในยุคสลอร์กช่วงต้นคือการเปิดโอกาสให้มีการตั้งพรรคการเมือง นอกจากนั้นยังประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นที่มาของพรรคการเมืองฝ่ายค้านในนามเอ็นแอลดี (NLD – National League for Democracy) มีนางอองซานซุจีเป็นเลขาธิการพรรค เอ็นแอลดีกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านพรรคเดียวที่รัฐบาลเกรงกลัวเป็นพิเศษ รัฐบาลใช้วิธีต่าง ๆ นานาเพื่อขัดขวางการหาเสียงของอองซานซุจี ในที่สุดเมื่อรัฐบาลที่สู้กระแสของนักการเมืองหน้าใหม่บุตรสาวคนเดียวของนายพลอองซานไม่ได้ต้องใช้ไม้แข็งคือคุมตัวเธอและหัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีอูทินอูไว้ในบ้านพักและจับกุมสมาชิกพรรคหลายพันคนทั่วประเทศโดยอ้างว่ามีหลักฐานว่าเอ็นแอลดีจงใจก่อความไม่สงบ [6] แม้อองซานซุจีจะถูกคุมตัวการเลือกตั้งก็ยังมีต่อไป ผลการเลือกตั้งในปี 1990 ที่ปรากฎว่าพรรคของเธอได้ชัยชนะอย่างท่วมท้น มีคนพม่าถึง 7.5 ล้านคนออกมาใช้สิทธิในครั้งนั้น รัฐบาลกล่าวหาว่าการเลือกตั้งในครั้งนั้นไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมและประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง อองซานซุจีถูกควบคุมตัวถึงปี 1995 ถูกจับกุมอีกครั้งในปี 2000 จากความพยายามเดินทางไปมัณฑะเลย์ หัวเมืองใหญ่อันดับสองของพม่า ได้รับการปล่อยตัวในปี 2002 ปีถัดมาเธอถูกจับกุมในข้อหาปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในชาติหลังจากเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างผู้สนับสนุนพรรคเอ็นแอลดีกับฟากรัฐบาล ต่อมาถูกควบคุมตัวในบ้านพักและได้รับการปล่อยตัวครั้งล่าสุดวันที่ 13 พฤศจิกายน 2010 ที่ผ่านมา [7] ว่าด้วยการสร้างวีรสตรีและอองซานซุจี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกต่างร่วมกันรณรงค์ให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวอองซานซุจี องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับพม่าที่มีอยู่กว่า 30 องค์กรใน 27 ประเทศทั่วโลก [8] และมีองค์กรอิสระขนาดเล็กเพิ่มขึ้นจำนวนไม่น้อยเมื่อไซโคลนนาร์กิสพัดเข้าชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงใต้ของพม่า ก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินได้ ประเมินว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึงกว่า 140,000 คน [9] สิ่งที่กระตุ้นให้สื่อทั่วโลกให้หันมาสนใจพม่ามากขึ้นในตอนนั้นคือการที่รัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธความช่วยเหลือจากต่างชาติและไม่ออกวีซ่าให้ทั้งสื่อและคนทำงานช่วยเหลือด้านสาธารณภัยเข้าไปช่วยผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที ในปีเดียวกัน US Campaign for Burma ออกรณรงค์ครั้งใหญ่เพื่อให้ปล่อยตัวอองซานซุจี และมีดาราฮอลลีวูดอย่างจิม แครี่และผู้นำทางสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอย่างติช นัก ฮันปรากฎอยู่ในคลิปวีดีโอที่เผยแพร่ออกไปทั่วโลก คลิปส่วนใหญ่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตที่สุดแสนจะหดหู่และน่าเวทนาในพม่าและไม่ลืมส่งข้อความให้คนทั่วโลกเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวอองซานซุจี ในคลิปหนึ่งที่มีจิม แครี่เป็นผู้เล่าเรื่อง แครี่เริ่มเล่าเรื่องด้วยประโยคที่ว่า “ผมอยากจะเล่าเกี่ยวกับฮี่โร่ในดวงใจของผมคนหนึ่ง ชื่อของเธอคืออองซานซุจี เธอเป็นผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุด [แครี่ใช้คำว่า “champion”] ทางด้านสิทธิมนุษยชนและความดีงามในเอเชีย และเป็นสัญลักษณ์ของความหวังสำหรับผู้ที่กำลังดิ้นรนต่อสู้ (...)” [10] คนส่วนใหญ่ทั้งในและนอกพม่ามักมองเธอโดยใช้กรอบทฤษฎีมหาบุรุษ (The Great Man Theory) แน่นอนสำหรับชาวพม่าจำนวนหนึ่งอองซานซุจีคือคนสำคัญ เธอคือสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยในปัจจุบันและความรุ่งเรืองของพม่าที่เคยมีในอดีต ไม่น่าแปลกที่คนพม่ารุ่นก่อน ๆ มักจะมองเธอแบบโหยหาอดีต (nostalgia) เพราะเธอคือบุตรสาวเพียงคนเดียวของนายพล อองซาน วีรบุรุษแห่งชาติที่ปลดแอกพม่าออกจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ บ้างก็เห็นว่าเธอเป็นชาวพม่าคนที่สองที่เป็นที่รู้จักอย่างจริงจังในโลกตะวันตกถัดจากอูถั่น เลขาธิการองค์การสหประชาชาติที่เป็นชาวเอเซียคนแรก (เลขาธิการองค์การสหประชาชาติลำดับที่ 3 เข้ารับตำแหน่งปี 1961) ประกอบกับชีวประวัติของเธอที่น่าสนใจและสุดขมขื่นในบางช่วง ยกตัวอย่างเช่นการที่เธอตัดสินใจไม่กลับไปดูใจสามีดร.ไมเคิล อริส (Michael Aris) เมื่ออริสป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้ายและเสียชีวิตในปี 1999 แม้รัฐบาลทหารในตอนนั้นจะให้โอกาสเธอออกนอกประเทศได้ เพราะรู้ดีว่าหากเดินทางไปอังกฤษครานั้นเธอจะไม่มีโอกาสกลับมาบ้านเกิดอีก คำว่า “ฮีโร่” เป็นคำที่สื่อต่างชาติมักนำมาใช้เพื่อบรรยายความสำคัญของอองซานซุจี แต่สำหรับคนพม่าแล้วอองซานซุจีอาจจะไม่ได้มีสถานะเป็น “ฮีโร่” อย่างที่สื่อต่างชาติมักอ้างถึง ภาพคนพม่านับพันที่ไปรอเฝ้าหน้าบ้านพักของเธอบนถนนหน้ามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง เป็นภาพที่น่าประทับใจ ฝูงชนต่างโห่และตะโกนชื่อของเธอ “ดอ ซุ” และต่างอวยพรให้เธอมีสุขภาพแข็งแรง ภาพเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าฝูงชนเหล่านี้มองเธออองซานซุจีเป็นฮีโร่ของคนพม่าแต่อย่างใด ในช่วงเวลาราว 15 ปีที่เธอถูกคุมขังอยู่ในบ้านพัก อำนาจของรัฐบาลทหารและโดยเฉพาะอย่างยิ่งของนายทหารระดับสูงไม่กี่คนยังคงมีอยู่ต่อไปและยิ่งจะเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น อองซานซุจีอาจจะมีสถานะพิเศษในสังคมพม่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะภูมิหลังที่ทางครอบครัวที่ทำให้ผู้คนฝากความหวังไว้กับเธอ และความที่เป็นผู้หญิงบุคลิกแกร่งฝีปากกล้า แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วง 21 ปีหลังอยู่ในบ้านพักและถูกควบคุมการเข้าถึงข่าวสารอย่างเข้มงวด ในทางปฏิบัติข้อจำกัดเหล่านี้ไม่เปิดโอกาสให้เธอทำงานทางการเมืองได้อย่างเต็มตัว เธออาจจะเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวตามครรลองประชาธิปไตย แต่เธออาจจะยังไม่ใช่ผู้นำทางประชาธิปไตย เพราะพม่าไม่เคยมีการปกครองแบบประชาธิปไตยมาเลยนับตั้งแต่ต้นศตวรรษ 1960 และถ้ามองให้ดีโดยพักทฤษฎีมหาบุรุษไว้สักนิด จะเห็นว่าพรรคเอ็นแอลดียังไม่เคยประสบความสำเร็จทางการเมือง แม้จะได้ใจจากผู้สนับสนุนและคนพม่าส่วนใหญ่ แต่หากไม่ได้รับความยินยอมหรือความร่วมมือจากฝั่งรัฐบาลที่หวงอำนาจแบบสุดขั้วแล้ว ความเปลี่ยนแปลงตามครรลองประชาธิปไตยเห็นว่าจะเกิดขึ้นได้ยากมากในพม่า “รัฐไม่ยอมเปลี่ยนแปลง” เห็นทีประโยคนี้คงจะไม่ได้มีไว้สำหรับรัฐไทยเท่านั้น อย่างน้อยที่สุดรัฐไทยนับตั้งแต่พ.ศ.2505 (เทียบได้กับ ค.ศ.1962 ปีที่นายพลเนวินทำรัฐประหาร) ก็ยังมีผู้นำมากหน้าหลายตา ทั้งจากฝ่ายทหารและพลเรือน และผู้นำบางคนยังมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันไปแบบสุดขั้ว ความหลากหลายทางการเมืองที่กล่าวมานี้ไม่เคยเกิดขึ้นในพม่ามาหลายทศวรรษ หากมองให้ดีจะเห็นว่าเมื่อประชาชนออกมาประท้วง รัฐบาลพม่าจะใช้วิธีเดิม ๆ แบบขอไปทีเพื่อลดความตึงเครียดและการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลทหารกับประชาชน ไม่เคยยอมรับว่าตัวเองผิด และยังมีความพยายามหลายต่อหลายครั้งที่จะให้รัฐบาลทหารมีภาพความ “อ่อนโยน” และ “ประนีประนอม” แบบรัฐบาลพลเรือน และมักให้ภาพพรรคฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นกลุ่มนักการเมืองกระด้างกระเดื่องที่นำกลุ่มเชื้อชาติอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คนพม่าแท้หรือไม่ก็เป็นพวกคอมมิวนิสต์ นโยบาย “อ่อนโยน” ดังกล่าวเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อมีประชาชนออกมาเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย เห็นได้ในเหตุการณ์ใหญ่สองครั้ง ครั้งแรก ในปี 1888 เมื่อนายพลเนวินประกาศลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองและออกมาเรียกร้องให้ทำประชามติเพื่อกำหนดทิศทางทางการเมืองของพม่า แต่ในท้ายที่สุดสมาชิกพรรครัฐบาลออกมาประท้วงอย่างหนักและไม่ยินยอมให้มีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ ในเดือนกรกฎาคม 1988 เส่งลวินขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ต่อจากเนวิน แต่สิ่งที่ทำให้นิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไปรับไม่ได้คือการที่เส่งลวินเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่นิสิตนักศึกษาทั้งจากเหตุการณ์ล้อมตีและเหตุการณ์รถตำรวจมรณะที่คร่าชีวิตนิสิตนักศึกษากว่า 40 ศพ ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่แบบสุดขีดและภาพลักษณ์ของพม่าด้านสิทธิมนุษยชนที่ตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ รัฐบาลใช้วิธียิงกระสุนจริงเข้าสู่กลุ่มผู้ชุมนุม ภายหลังการประท้วงครั้งประวัติศาสตร์ ในครั้งนั้นรัฐบาลแก้เกมส์โดยแต่งตั้งดร.หม่องหม่องที่ปรึกษาด้านกฎหมายคนสนิทของนายพลเนวินที่เป็นพลเรือนขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี และประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเป็นครั้งแรก ครั้งที่สอง คือการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งล่าสุดระหว่างเดือนกันยายนและตุลาคม ปี 2007 สาเหตุหลักจากการประท้วงครั้งนั้นมาจากปัญหาปากท้องของประชาชนมากกว่าปัญหาทางการเมือง ความไม่พอใจเกิดจากรัฐบาลประกาศยกเลิกอุ้มราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ในชั่วข้ามคืนราคาน้ำมันพุ่งขึ้นกว่าสองเท่าตัว ความสำคัญของการประท้วงในครั้งนี้คือการเข้ามามีบทบาทสำคัญของพระสงฆ์ที่เป็นผู้นำการประท้วงและพยายามใช้ธรรมะเข้าเจรจากับรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีทั้งพระสงฆ์ เด็กและสตรีอย่างรุนแรงเหมือนที่เคยเป็นมา ประเมินกันว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนและสูญหายอีกจำนวนมาก พระสงฆ์ที่เป็นผู้นำกลุ่มผู้ประท้วงหากไม่โดนจับก็ระเห็ดไปอยู่เมืองอื่น ๆ นอกย่างกุ้ง บทเรียนทั้งรัฐบาลนายพลตานฉ่วยได้จากเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 1888 คือรัฐบาลจะต้องสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง และต้องสกัดกั้นไม่ให้พรรคฝ่ายค้านของนางอองซานซุจีซึ่งได้รับความนิยมมากมีบทบาทในการเลือกตั้ง มาตรการที่รัฐบาลใช้ปลอบใจคือการประกาศให้มีการทำประชาพิจารณ์ในปี 2008 อันเป็นที่มาของโร๊ดแม๊บเพื่อนำไปสู่ระบอบการปกครอบแบบประชาธิปไตยและความสมานสามัคคีภายในชาติ อ้างว่าเป็นเครื่องมือบ่มเพาะประชาธิปไตยและความสมัครสมานสามัคคีให้เกิดขึ้นในชาติ หนึ่งในกลยุทธ์การ “สร้าง” ประชาธิปไตยสไตล์พม่าคือการจัดการเลือกตั้งที่พรรคฝ่ายค้านออกมาประท้วงและคว่ำบาตรการเลือกตั้งเพราะเห็นว่าเป็นการเลือกตั้งที่จะยิ่งทำให้กองทัพแข็งแกร่งขึ้นและมีความชอบธรรมที่จะปราบปรามผู้ไม่เห็นด้วยทางการเมืองมากขึ้นอีกด้วย ผลการเลือกตั้งออกมาตามคาดคือพรรคฝั่งรัฐบาลชนะพรรคอื่น ๆ แบบขาดลอย ไม่กี่วันหลังการเลือกตั้งก็เป็นคราวที่รัฐบาลต้องสร้างภาพความดีงามให้ประจักษ์ต่อทั้งสายตาคนพม่าและชาวโลกอีกครั้ง อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของโร๊ดแม๊บเพื่อการสร้างประชาธิปไตยและความสามัคคีในพม่า และนั่นคือการปล่อยตัวนางอองซานซุจี สามวันหลังจากการเลือกตั้ง ผู้เขียนจำได้ว่าเคยถามอาจารย์ชาวพม่าเมื่อหลายปีที่แล้วหลังเหตุการณ์ไซโคลนนาร์กิสว่าคิดว่าพม่ายุคนี้กับยุคนายพลเนวิน ยุคไหนดีกว่ากัน อาจารย์ยิ้มมุมปากและพูดด้วยเสียงแห้ง ๆ ว่า “ก็ไม่ดีทั้งคู่นั่นล่ะ” และก็พูดต่อไปว่า “แต่ฉันว่ายุคเนวินยังดีกว่ายุคนี้นะ ถึงจะเป็นเผด็จการแต่อย่างน้อยเด็ก ๆ ก็ยังได้ทำกิจกรรมในรั้วมหาลัย [ปัจจุบันมหาวิทยาลัยย่างกุ้งและมหาวิทยาลัยรัฐอื่น ๆ ถูกปิด แม้จะมีการเรียนการสอนอยู่บ้างแต่เป็นแบบไม่เป็นทางการ และสภานิสิตนักศึกษาโดนสั่งปิดแบบถาวร – ผู้เขียน] ผู้คนอภิปรายเรื่องการเมืองได้ระดับหนึ่งโดยไม่ต้องกลัวพวกสอดแนม อีกอย่างหนึ่งยุคนั้นน้ำไฟก็มีพร้อม เด็ก ๆ มีไฟอ่านหนังสือตอนกลางคืน แต่ตอนนี้ไม่เป็นแบบนั้นเลย” หากเรามองรัฐสมัยใหม่ของพม่าผ่านทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองก็จะเห็นได้ว่ากงล้อการเมืองของพม่าหมุนไปตามวัฎจักรแบบเดิม ๆ หมุนไปแบบช้า ๆ เนิบนาบ ความสึกหรอของกลไกทางการเมืองแบบพม่าถ้าไม่ถูกยกเครื่องและซ่อมแซมจากภายใน เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงที่คนพม่าและคนทั่วโลกถวิลหานั้นคงเกิดขึ้นได้ยาก เชิงอรรถ: [1] Jack Davies, “Aung San Suu Kyi release brings joy, tears – and new hope for Burma,” The Guardian, 13 November 2010 อ่านได้จาก http://www.guardian.co.uk/world/2010/nov/13/burma-aung-san-suu-kyi-released [2] Phoebe Kennedy, “A date with destiny: Aung San Suu Kyi coud be just hours from freedom,” The Independent, 12 November 2010 [3] Tharaphi Than, “Writers, Fighters, Prostitutes: Women and Burma’s Modernity, 1942-62,” (PhD diss., University of London, 2010). ธะระปีอ้างจากบทความของ J.S. Furnivall ในนิตยสาร Far Eastern Survey ปีที่ 18 ฉบับที่ 17 (ค.ศ.1949) หน้า 194; หนังสือพิมพ์รายวันพม่าที่ตีพิมพ์ในขณะนั้นชื่อ Htun Daily (ทุนรายวัน) ฉบับวันที่ 9 กรกฎาคม 1956 และหนังสือของดอมยาเซน (Daw Mya Sein) ชื่อ Burma: The Country, the People, Their History, Administration, Resources and Trade Communications, Education and Religion, Relations with India, Nationalism, The Future, Oxford University Press, 1944, หน้า 8. ดอ มยา เส่งเป็นผู้หญิงที่มีบทบาทโดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ในช่วงปลายสมัยอาณานิคม เป็นผู้หญิงพม่าคนแรก ๆ ที่มีบทบาทด้านการเมืองทั้งในระดับชาติและนานาชาติและที่ได้รับการศึกษาในยุโรป ดอ มยา เส่งยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากเซนท์ฮิวส์คอลเลจ St Hughes’s College) มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด เป็นคอลเลจเดียวกับอองซานซุจีสำเร็จการศึกษาปริญญาบัณฑิต [4] Michael Charney. A History of Modern Burma. New York: Cambridge University Press, pp.148-49 [5] เล่มเดียวกัน, หน้า 153 [6] Michael Charney, หน้า 166-7 [7] http://www.guardian.co.uk/world/2010/nov/12/suu-kyi-timeline-burma [8] ดูรายละเอียดได้ในเวบไซต์ของ Burma Campaign UK ที่ http://www.burmacampaign.org.uk/index.php/burma/links/all-links/37 [9] ตัวเลขจาก US Campaign for Burma http://uscampaignforburma.org/cyclone-nargis [10] http://www.youtube.com/watch?v=NySuaJ2B20E&playnext=1&list=PLF2E18A1D8A6B9D52&index=13
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |
บชน.แถลงข้อห้าม 5 ข้อ - มทภ.1 ห่วงมือมืดจ้องป่วน "พันธมิตร" ชุมนุม Posted: 21 Nov 2010 04:22 AM PST โฆษก บชน.แถลงข้อห้ามพันธมิตรฯ ชุมนุมคัดค้านแก้ รธน. 23 พ.ย. 5 ข้อ ด้านแม่ทัพภาคที่ 1 ห่วงมือที่ 3 จ้องป่วนเผยตำรวจเตรียมแผนเฝ้าระวังเสนอ ศอฉ. 21 พ.ย. 53 - มติชนออนไลน์รายงานว่าพล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กล่าวถึงมาตรการรับมือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่นัดชุมนุมใหญ่บริเวณหน้ารัฐสภา เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ ว่า สำหรับที่ประชุมสภาจะมีการประชุมขึ้นในวันที่ 23-25 พ.ย. นี้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และทางศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้กำหนดแนวทางไว้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ปฏิบัติหลัก ซึ่งจะเข้าควบคุมพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน โดยยึดตามประกาศของ ศอฉ. จำนวน 5 ข้อคือ 1.ห้ามไม่ให้มีการปิดการจราจร 2.ห้ามไม่ให้มีการขวางทางเข้าออกบริเวณโดยรอบรัฐสภา 3.ห้ามไม่ให้มีการโชว์ป้ายที่มีข้อความข่มขู่ และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อผู้อื่น 4.ห้ามไม่ให้มีการใช้เครื่องขยายเสียง หรือการพูดเพื่อยั่วยุให้เกิดการแตกแยก 5.ห้ามไม่ให้มีการล่วงละเมิดสถาบัน พระมหากษัตริษย์ ไม่ว่าจะเป็นเสียง คำพูด หรือการชูป้ายประกาศต่างๆซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างเคร่งครัด โดยเบื้องต้นทาง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. และพล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบช.น. ได้มอบหมายให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดย พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 เป็นผู้ทำการเจรจาต่อรองกับกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ได้รับมอบเงื่อนไขนี้มาเป็นอย่างดี โดยทางตำรวจจะเข้าประจำการดูแลที่บริเวณรัฐสภาตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน โดยให้ทางกองบังคับการตำรวจนครบาล1 เป็นผู้ดูแลในพื้นที่ก่อนจำนวน 1 กองร้อย จากนั้นเมื่อถึงเวลาช่วงเช้าของวันที่ 23 พฤศจิกายน ก็จะให้เจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด (ดีโอดี) บก.สปพ.บช.น. เข้าทำการตรวจสอบบริเวณโดยรอบรัฐสภาอย่างละเอียด พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ภายในรัฐสภา ส่วนกำลังเจ้าหน้าที่นั้นจะเสริมหน่วยอื่นเข้าไปช่วยในระลอกแรกจำนวน 4 กองร้อย เพื่อให้ควบคุมดูแลบริเวณโดยรอบรัฐสภา ห้ามไม่ให้มีการปิดทางเข้าออกรัฐสภา รวมทั้งห้ามไม่ให้มีการปิดถนนบริเวณถนนอู่ทองในและถนนราชวิถี และให้มีกำลังเจ้าหน้าที่คอยสแตนบายเตรียมพร้อมอยู่ในที่ตั้งเพื่อเป็นกำลัง เสริมในระลอกที่ 2 อีกจำนวน 6 กองร้อย และระลอกที่ 3 อีกจำนวน 10 กองร้อย รวมทั้งกำลังตำรวจหญิงอีก 1 กองร้อยร่วมด้วย ซึ่งกำลังตำรวจทั้งหมดจะคอยดูแลทางเข้าออกของรัฐสภาทุกด้าน บริเวณถนนโดยรอบรัฐสภาทั้งหมด รวมทั้งตามรั้วต่างๆ เพื่อป้องกันกลุ่มมือที่ 3 เข้ามาปั่นป่วนสร้างสถานการณ์ สำหรับการข่าวเรื่องมือที่ 3 นั้น เบื้องต้นจากการตรวจสอบของทาง ศอฉ. นั้นยังไม่พบว่าจะมีกลุ่มมือที่ 3 เข้ามาปั่นป่วนสร้างสถานการณ์ แต่ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ก็จะไม่ประมาท มีการเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา และมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ศปก.น.) อยู่ภายในอาคารรัฐสภา เพื่อประชุมวอลลูมควบคุมดูแลเหตุการณ์และดูแลความเรียบร้อยในภาพรวมตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งประสานเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรัฐสภา เพื่อให้ช่วยดูแลอีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ยังทาง บช.น. ยังได้ประสานไปยัง ศอฉ. เพื่อประสานขอกำลังทหารในการร่วมปฏิบัติหน้าที่ด้วย โดยอาจจะให้ทหารเป็นกำลังเสริมอยู่ในที่ตั้งจำนวนหนึ่ง ซึ่งเบื้องต้นอาจจะเป็นบริเวณภายในกองทัพภาคที่ 1 ส่วนเรื่องการขายสินค้านั้นจะต้องแยกประเด็นต่างๆว่าเป็นการขายอะไรบ้าง ซึ่งในเบื้องต้นหากเป็นการขายเสื้อผ้าธรรมดาก็คงจะขายได้ หรือหากเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดความยั่วยุตามประกาศของ ศอฉ. เช่น เป็นสินค้ามีการเขียนข้อความคำด่าหรือคำพาดพิงถึงบุคคลอื่นนั้น ทางเจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปเจรจาก่อนเพื่อแจ้งให้ทราบว่าสินค้านี้ผิดตาม ประกาศของ ศอฉ. และให้เลิกขายสินค้าดังกล่าว แต่หากพ่อค้าแม่ค้ายังไม่เลิกขายก็อาจจะมีการจับกุมดำเนินคดีต่อไป ทั้งนี้หากเป็นสินค้าที่มีการล่วงละเมิดสถาบัน เจ้าหน้าที่ก็จะทำการจับกุมทันทีเช่นกัน อย่างไรก็ตามสำหรับการขายของนั้นจะต้องดูที่เจตนาของทุกฝ่าย ซึ่งทางตำรวจไม่ใช่หน่วยงานหลัก แต่เป็นเจ้าหน้าที่เทศกิจที่จะเป็นผู้คอยดูแลเป็นหลัก ส่วนเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงนั้น หากเป็นโทรโข่งก็อาจจะอนุญาตให้ใช้ได้เพื่อควบคุมดูแลฝูงชน แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ ที่ก่อให้เกิดความยั่วยุและก่อให้เกิดความวุ่นวาย เช่นเครื่องขยายเสียงติดรถ หรือเครื่องขยายเสียงที่ตั้งบนถนน และอื่นๆ รวมทั้งหากมีการพูดจาที่เป็นการยั่วยุ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปจัดการเช่นกัน ทั้งนี้หากทางแกนนำต้องการที่จะใช้เครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่เพื่อควบคุมฝูง ชนจำนวนมาก ก็อาจจะอนุญาตให้ใช้เครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ของทางเจ้าหน้าที่ได้ ส่วนการชุมนุมจะยืดเยื้อหรือไม่นั้น จากการข่าวเบื้องต้นทราบว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ต้องการจะยื่นเรื่องเสนอการคัดค้านประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญต่อที่ประชุมสภา ซึ่งคงต้องต้องดูว่าทางรัฐสภาจะรับเข้าไปวาระไว้พิจารณาเป็นประเด็นเร่งด่วน หรือไม่ แต่ทั้งนี้การข่าวพบว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรคงจะไม่ยืดเยื้อ ทั้งนี้หากมีการชุมนุมที่ยืดเยื้อจริง ก็คงจะให้ทางเจ้าหน้าที่เข้าไปเจรจากับผู้ชุมนุมเพื่อให้กลับไป แต่หากกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงยืนยันไม่ยอมกลับและมีการชุมนุมระยะยาว ก็อาจจะใช้มาตรการกำหนดควบคุมพื้นที่ในบริเวณที่จำกัด เช่นอาจจะให้อยู่แต่บนฟุตบาท และจะเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมว่าขณะนี้ยังคงอยู่ในการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งหากมีการกระทำผิดเกิดขึ้นก็อาจจะถูกจับกุมได้ นอกจากนี้ทางนายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับเจ้าหน้าที่ เรื่องการจัดแบ่งพื้นที่ให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมอาจจะไม่ได้มาชุมนุมเพียงแค่กลุ่มเดียว และอาจจะมีหลายกลุ่ม จึงต้องจัดแบ่งพื้นที่ให้กับกลุ่มต่างๆ มีเจ้าหน้าที่และรั้วกั้นระหว่างกลุ่ม เพื่อให้กลุ่มผู้ชุมุนมอยู่แต่ในพื้นที่ของตนเอง เนื่องจากแต่ละกลุ่มอาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างจนทำให้เกิดการเผชิญหน้า กันและเกิดการกระทบกระทั่งกันได้ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆที่จะเกิดขึ้น สำหรับในวันที่ 23 พ.ย. นี้ ทางกลุ่มผู้ชุมนุมก็สามารถมาร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆได้ แต่ขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ห้ามมีการกระทำผิดในกติกาที่ตกลงกันไว้ โดยเจ้าหน้าที่จะเน้นการเจรจากับทุกฝ่ายเป็นหลัก แม้ว่าการข่าวจะไม่ยืดเยื้อและไม่รุนแรงก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ก็จะไม่ประมาทและยืนยันว่าจะดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อยมาก ที่สุดอย่างเต็มความสามารถ มทภ.ที่ 1 ห่วงมือมืดจ้องป่วนพันธมิตรชุมนุม ด้านไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าพล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าวถึง การเตรียมกำลังทหารเพื่อดูแลความสงบในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรใน วันที่ 23-25 พ.ย.นี้ ว่า เรื่องนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ทำแผนการปฏิบัติและนำมาชี้แจงในที่ ประชุม ศอฉ. ส่งทางกองทัพ เรามีกำลังที่มีความพร้อมสามารถเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานหากมีการร้องขอสนับ สนุนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เบื้องต้นศอฉ. มอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรับผิดชอบดูแล ซึ่งเร็วๆนี้ทางตำรวจจะมีแผนมาชี้แจงกับ ศอฉ. อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ขณะนี้ทาง ศอฉ. เฝ้าระวังมือที่3 ซึ่งการปฏิบัติก็เป็นไปตามที่กลุ่ม นปช.ชุมนุม “เราทุกคนมีความ ห่วงใยไม่อยากให้มีการชุมนุม เพราะประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากให้ชุมนุมไม่ว่าจะฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ตาม หรือถ้าจะชุมนุมก็ขอให้อยู่ในกรอบของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนทั่วๆไป อย่างไรก็ตาม คิดว่าทางตำรวจรับสถานการณ์ได้และกลุ่มพันธมิตรเองก็น่าจะให้ความร่วมมือพอ สมควร เพราะตนไม่อยากคาดเดาไปในทางที่ไม่ดีแต่ก็ต้องระมัดระวังและติดตามเหตุการณ์ ที่ต้องระวังมากที่สุด คือกลุ่มบุคคลที่ 3จะเข้ามาก่อความรุนแรง” พล.ท.อุดมเดช กล่าว เมื่อถามว่า กลุ่มพันธมิตรฯ ที่มาชุมนุม 3 วันทางเจ้าหน้าที่จะควบคุมอย่างไร พล.ท.อุดมเดช กล่าวว่า ขณะนี้ไม่สามารถคาดการณ์ว่าจะมีผู้ชุมนุมเท่าไร แต่คงมีจำนวนพอสมควรซึ่งเราติดตามอยู่ และ การชุมนุม 23-25 พ.ย. เราก็เป็นห่วงว่าจะละเมิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯหรือไม่ เรื่องนี้ได้มีการขอความร่วมมือไปแล้วว่าจะต้องอยู่ในกรอบของ พ.ร.ก.หวังว่าการชุมนุมน่าจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เมื่อถามว่า กลุ่มมือที่ 3 จะเข้ามาสร้างสถานการณ์เพื่อนำไปสู่ความปั่นป่วนและการปฏิวัติ มีความเป็นไปได้หรือไม่ พล.ท.อุดมเดช กล่าวว่า คำว่าปฏิวัติตนไม่ขอกล่าวเพราะ ผบ.ทบ.ได้พูดไปแล้ว แต่เรื่องมือที่ 3 ที่เราเป็นห่วงมีความเป็นไปได้ว่า พอมีการชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่ง อาจจะทำอะไรขึ้นมาเพื่อเสริมการชุมนุม ทำให้ปั่นป่วนมีปัญหาก็ได้ ซึ่งเป็นไปได้ทั้งสองกรณี “วันนี้เป็นวันลอยกระทงที่มีประชาชนยออก นอกบ้านไปสถานที่ต่างๆ ผมได้เน้นย้ำกำลังทหารตามจุดต่างๆเพิ่มความระมัดระวังและสังเกตุสิ่งปกติให้ มากขึ้น รวมถึงจุดตรวจต่างๆที่ปฏิบัติหน้าที่กัน24 ชั่วโมงและมีการเพิ่มจุดตรวจตามห้วงเวลาอาทิเวลา 18.00 น.ถึง 06.00 น.ก็จะปรับให้มีการเฝ้าระวังเข้มข้นขึ้นตั้งแต่17.00 น.เป็นต้นไปทั้งรนีเพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยมากที่สุด” พล.ท.อุดมเดช กล่าว เมื่อถามว่าในช่วงวันที่ 5 ธันวาฯที่จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อในหลวงทางกองทัพเป็นห่วงอะไรหรือไม่ พล.ท.อุดมเดช กล่าวว่า กองทัพอยากให้กลุ่มผู้ชุมนุมแสดงออกถึงความปราถนาดีของ แต่ละกลุ่มในกรอบที่สมควรเพราะใกล้วันสำคัญแก่คนไทยทั้งชาติดังนั้นเราควร ที่จะให้สถานการณ์นิ่งที่สุดตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่5ธันวาฯ ทั้งนี้ อยากให้คนไทยร่วมมือกันเพราะการชุมนุมทำให้เกิดสถานการณ์ไม่นิ่งถ้า เป็นไปได้จากนี้เป็นต้นไปน่าที่จะหยุดกิจกรรมการชุมนุมเพื่อให้สถานการณ์ เกิดความเรียบร้อยในช่วงวันสำคัญทุกคนจะได้มีความสุข เมื่อถามว่า ผบ.ทบ. ได้พูดถึงสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้อย่างไร พล.ท.อุดมเดช กล่าวว่า ท่านได้กำชับให้ทุกหน่วยช่วยกันดูแลติดตามสถานการณ์ให้เกิดความเรียบร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหรือความปลอดภัย ต้องดูแลให้เต็มที่ เมื่อถามว่า ศอฉ. ออกคำสั่งห้ามขายสินค้าที่มีข้อความหมิ่นสถาบันฯ และความแตกแยก พล.ท.อุดมเดชกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ผู้บังคับบัญชาพิจารณาเห็นว่าอาจจะเกี่ยวกับสถาบันฯ ซึ่งจริงๆแล้วก็ไม่ควรที่จะทำอะไรในเชิงหมิ่นเหม่ต่อสถาบันฯ สิ่งใดที่กระทำแล้วไม่เหมาะสมก็ไม่ควรกระทำ ซึ่งเรื่องนี้ทางทหารเรามีความเป็นห่วงอย่างยิ่ง ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: โฆษก บชน.แถลงข้อห้ามพันธมิตรฯชุมนุมคัดค้านแก้รธน. 23 พ.ย. (มติชนออนไลน์, 21-11-2553) มทภ.ที่ 1 ห่วงมือมืดจ้องป่วนพันธมิตรชุมนุม (ไทยรัฐออนไลน์, 21-11-2553) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น