โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

เมื่อตาสียายมาไปไกลกว่าเมืองกรุง

Posted: 15 Nov 2010 08:42 PM PST

วิกฤติการเมืองไทยร่วมสมัยสามารถทำความเข้าใจได้หลายลักษณะ หากเน้นการเมืองของชนชั้นนำวิกฤติครั้งนี้เป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำไม่กี่กลุ่มโดย มีการผลัดอำนาจเป็นฉากหลัง หากเน้นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองในวงกว้าง วิกฤติเกิดขึ้นเพราะชนชั้นใหม่ไม่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ตามที่คาดหวัง หรือหากจำเพาะเจาะจงลงไปในเรื่องของจุดยืนและแนวคิด วิกฤติครั้งนี้เป็นเรื่องของจินตนาการทางการเมืองที่ต่างกันจนยากเกินกว่าจะประนีประนอม    

วิกฤติการเมืองไทยสามารถเข้าใจได้ในอีกลักษณะ ศาสตราจารย์ชาร์ลส คายส์ แห่งภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เสนอว่าวิกฤติครั้งนี้มีความซับซ้อนและแหลมคมเพราะคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ไม่รับรู้และไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน “ชนบท” และในตัว “คนชนบท” โดยเฉพาะในภาคอีสาน พวกเขาซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐบาลและจำนวนมากสมาทานความคิดของกลุ่มเสื้อ เหลืองและเสื้อสีกลายพันธุ์อื่นๆ เชื่อว่ากลุ่มคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ถูกจ้างมาจากต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคอีสาน โดยนักการเมืองที่มีอดีตนายกฯ ทักษิณ หนุนหลัง เพื่อมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล พวกเขาคิดว่าคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่อยู่แต่กับท้องนาท้องไร่ ไร้การศึกษา โง่และยากจนข้นแค้น จึงสามารถถูกหลอกและถูกซื้อได้โดยง่าย

ศาสตราจารย์คายส์เสนอว่าความเชื่อดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างมหันต์   เพราะประสบการณ์การศึกษาหมู่บ้านอีสานอย่างต่อเนื่องยาวนานของเขาชี้ให้เห็นว่าชาวชนบทอีสานเริ่มออกนอกภาคเกษตรมากว่า 4 ทศวรรษแล้ว  โดยในช่วงแรกผู้ชายในหมู่บ้านจำนวนหนึ่งนิยมเดินทางไปรับจ้างในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่นอกฤดูการผลิตเป็นรายได้เสริม ต่อมาผู้หญิงก็ร่วมเดินทางไปด้วยในจำนวนที่เพิ่มขึ้น  จนกระทั่งเมื่อ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาครัวเรือนส่วนใหญ่มีรายได้นอกภาคเกษตรจากนอกหมู่บ้านเป็นสัดส่วนสำคัญ และหลายครัวเรือนมีรายได้เหล่านี้เป็นรายได้หลักแทนรายได้จากภาคเกษตร นอกจากนี้ผู้ชายในหมู่บ้านจำนวนหนึ่งมักเดินทางไปทำงานต่างประเทศเป็นระยะ  ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้โลกของชาวอีสานเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่บ้านที่พวกเขาพำนักอีกต่อไป   แม้ว่าพวกเขาจะยังเรียกตัวเองว่าชาวบ้านหรือเกษตรกร   ศาสตราจารย์คายส์เรียกชาวอีสานเหล่านี้ว่า cosmopolitan villagers หรือ “ชาวบ้านที่มีโลกกว้างไกล” ซึ่งหมายถึงผู้คนที่ยังมีความผูกพันกับหมู่บ้านและสังคมวัฒนธรรมชนบท  แต่ก็มีความเข้าใจในเศรษฐกิจโลกและประเทศที่เขาอาศัยและทำงานอยู่  

ศาสตราจารย์คายส์กล่าวเพิ่มเติมว่าความสัมพันธ์ทางการเมืองที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยสถาปนาขึ้นตอบสนองโลกและชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมของชาวอีสานเหล่านี้  แทนที่จะใช้วิธีการอุปถัมภ์ผ่านระบบราชการเช่นพรรคการเมืองอื่น พรรคไทยรักไทยดำเนินนโยบายที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากงบประมาณและทรัพยากรต่างๆของรัฐได้โดยตรง   พวกเขาจึงเห็นความสำคัญของการเมืองระบบรัฐสภามากขึ้น การเลือกตั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาหมู่บ้านมีความคึกคักอย่างมาก  เพราะคนที่ทำงานในที่ห่างไกลต่างพากันเดินทางกลับมาลงคะแนนเสียง มีรถแท็กซี่จอดตามบ้านต่างๆ หลายสิบคัน  ฉะนั้นขณะที่คนกรุงเทพฯ ต่างพากันแสดงความยินดีปรีดากับรัฐประหาร 2549 ชาวอีสานเหล่านี้ส่วนใหญ่มีความคับแค้นและขมขื่น  ซึ่งพวกเขาแสดงออกผ่านการลงประชามติไม่รับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเลือกพรรคการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง   โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเข้าร่วมกลุ่มคนเสื้อแดง ศาสตราจารย์คายส์สรุปว่านอกจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นระบบ  หากไม่สามารถทำให้คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ตระหนักในโลกและชีวิตอันกว้างไกลของ “ชาวบ้าน” เหล่านี้ และไม่สามารถทำให้ “ชาวบ้าน” เหล่านี้รู้สึกว่าเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมกันในชาติได้ วิกฤติครั้งนี้ก็ยากเกินกว่าจะเยียวยา    

ข้อคิดเห็นของศาสตราจารย์คายส์สำคัญ เพราะในทางทฤษฎี ความมีโลกกว้างไกล หรือ cosmopolitanism ในแง่หนึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นอภิสิทธิ์ที่สงวนไว้สำหรับคนบางกลุ่ม   คนที่จะมีโลกกว้างไกลได้ต้องมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงพอที่จะท่องเที่ยวไปทั่วโลกได้ดังใจ  พวกเขาถือหนังสือเดินทางหลายฉบับ ตอนเช้าเดินทางไปประชุมธุรกิจประเทศหนึ่งที่ลงทุนไว้ ตกค่ำไปกินอาหารค่ำกับลูกที่ส่งไปเรียนอยู่อีกประเทศ  จึงไม่ใช่รูปแบบชีวิตที่คนทั่วไปจะเอื้อมถึง แต่ศาสตราจารย์คายส์ชี้ให้เห็นว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานของคนชนบทก็สามารถเข้าถึงประสบการณ์ในโลกกว้างได้เช่นกัน  แม้จะเป็นคนละลักษณะ นอกจากนี้การจัดวางประสบการณ์เหล่านี้เข้ากับบริบททางการเมืองในประเทศก็ชี้ให้เห็นว่าการเป็นผู้มีโลกกว้างไกลไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงข้ามกับการเป็นพลเมืองรัฐหรือคนในชาติอย่างที่นักคิดสายนี้หลายคนเสนอ   ชาวบ้านอีสานอาจมีวีซ่าของหลายประเทศ  แต่ก็มีหนังสือเดินทางของประเทศไทยเพียงฉบับเดียว   พวกเขาท่องไปในโลกกว้างไม่ใช่เพื่อจะได้มีประเทศหลายแห่งไว้พำนัก   แต่เพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจและประสบการณ์ชีวิตที่พวกเขาจะนำมาใช้ประโยชน์ใน ประเทศและโดยเฉพาะในหมู่บ้านที่พวกเขามีความผูกพันอยู่ด้วย

ในแง่นี้การที่ชาวอีสานจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์ในโลกกว้างเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงจึงตอกย้ำว่าการเป็นผู้มีโลกกว้างไกลไม่จำเป็น  ต้องแลกกับความเป็นพลเมืองรัฐหรือคนในชาติ ความรู้กว้างไกลทำให้พวกเขาตระหนักว่าประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่ตอบสนองความต้องการของคนหมู่มาก  ประสบการณ์เฉพาะภายในประเทศช่วยตอกย้ำความสำคัญของระบบเลือกตั้งยิ่งขึ้น   ขณะเดียวกันสำนึกในความเป็นพลเมืองและคนในชาติก็ผลักดันให้พวกเขาร่วมสร้างสังคมที่เป็นธรรมขึ้นในประเทศไม่ใช่เฉพาะเพื่อตัวเองในวันนี้  หากแต่เพื่อลูกหลานที่จะเกิดมาอาศัยบนแผ่นดินนี้ในวันข้างหน้า รัฐประหาร 2549 ที่พาประเทศถอยหลังในสายตาของชาวโลกจึงไม่สามารถเป็นที่ยอมรับได้ ระบบการปกครองที่ปฏิเสธอำนาจของประชาชนก็ไม่สามารถยอมรับได้เช่นกัน  สิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจอีกประการที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มคน เสื้อแดงเรียกร้องระบบการปกครองที่ชาวโลกส่วนใหญ่ยอมรับ

ในทางกลับกัน คนชั้นกลางในเมืองที่ผ่านการศึกษาในระบบจำนวนมากกลับมีโลกทัศน์ทางการเมือง คับแคบ รวมทั้งมีความตื่นตัวทางการเมืองต่ำ (หากอาศัยร้อยละของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปเป็นเกณฑ์) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการศึกษาในระบบถูกใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือปลูกฝังความ ภักดีต่อผู้อยู่ในอำนาจ แบบเรียนประวัติศาสตร์ สังคมศึกษา และจริยธรรม รวมทั้งพิธีกรรมในวาระต่างๆ ทำหน้าที่ตอกย้ำความชอบธรรมของอำนาจครอบงำ เมื่อผนวกกับเป้าหมายเพื่อการตลาดของระบบการศึกษา โอกาสที่ผู้ผ่านการศึกษาในระบบจะตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือมีจินตนาการทางการเมืองที่ต่างออกไปจึงจำกัด ขณะเดียวกันการจัดสรรงบประมาณที่กระจุกที่กรุงเทพฯ ก็ปิดกั้นโอกาสที่คนในเมืองนี้จะเห็นว่าการเมืองกับการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะสัมพันธ์กันอย่างไร เพราะไม่ว่าจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ หรือว่าเลือกใคร กรุงเทพฯ ก็จะได้รับการปรนเปรอต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ฉะนั้น ในขณะที่บุคคลที่พวกเขาเหมาว่าเป็นตาสีตาสาได้ท่องไปไกลกว่ากรุงเทพฯ ในเชิงความคิด คนกรุงผู้มีการศึกษาจำนวนมากก็ยังมีจินตนาการทางการเมืองวนเวียนอยู่ไม่ไปไหนไกลกว่าปากซอย      

 

############################################


[บทความนี้มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับการบรรยายของท่านอาจารย์  Charles F.Keyes จากภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในหัวข้อชื่อ From Peasants to Cosmopolitan Villagers: the transformation of "rural" northeastern Thailand (จากชาวนาสู่คนงานโลก:ชีวิตทันสมัยของชาวชนบทอีสาน) เมื่อวันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2553 จัดโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์]

 

 

จากบทความเดิมชื่อ:ตาสียายมาไปไกลกว่าเมืองกรุง

คอลัมน์ คิดอย่างคน


(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ มหาประชาชน ปีที่ 1 เล่มที่ 11 ประจำวันที่  13-20 พฤศจิกายน 2553)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รัฐทหารพม่าหลังเลือกตั้ง

Posted: 15 Nov 2010 07:25 PM PST

รัฐบาลทหารพม่ามุ่งหวังอะไรจากการร่างรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง?

ส่วนใหญ่ของคำตอบที่ผมได้ยินมา คือต้องการสร้างความชอบธรรมให้ระบอบเผด็จการของตน แม้ฟังดูมีเหตุผลดี เพราะทั้งรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง ไม่ได้นำไปสู่อะไรที่ใกล้เคียงประชาธิปไตยเอาเลย ข้อนี้ใครๆ ก็เห็นมาแต่แรกแล้ว

ดังนั้น ถึงจะมีหรือไม่มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง ก็ไม่น่าจะทำให้ใครที่ยังมีสัญญาเป็นปกติ เชื่อได้ว่ารัฐบาลพม่ากำลังจะนำประเทศไปสู่ประชาธิปไตย อย่างน้อยรัฐบาลทหารพม่าก็รู้ดีว่า "ประชาธิปไตย" ของตน จะแตกต่างจากความเข้าใจของคนทั้งโลก จึงตั้งสมญาให้แล้วว่า "ประชาธิปไตยภายใต้วินัย"

หากระบอบทหารของพม่าขาดความชอบธรรม รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งก็ไม่น่าจะทำให้เกิดความชอบธรรมมากขึ้นตรงไหน

บางคนกล่าวว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ขาดความชอบธรรมนี้ จะสามารถสร้างความชอบธรรมในการใช้กำลังทหารปราบปรามชนกลุ่มน้อยได้มากขึ้น แต่ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ผมไม่เห็นรัฐบาลทหารลังเลในการใช้กำลังปราบชนกลุ่มน้อยตรงไหน อันที่จริง สงครามปราบชนกลุ่มน้อยเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมของรัฐบาลทหารตลอด มา อย่างน้อยก็แก่ประชาชนเชื้อสายพม่า เพราะรัฐบาลทหารตั้งแต่สมัยเนวินอ้างเสมอว่า ขาดซึ่งกองทัพ พม่าก็ไม่อาจดำรงความเป็นสหภาพไว้ได้ ต้องแตกออกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยหลายรัฐ

ที่ทหารพม่าปราบปรามไม่สำเร็จเสียที ก็เพราะทหารพม่ายังไม่มีสมรรถนะที่จะทำได้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็เพราะรบกันไปนานเข้า ทหารพม่าเองก็เข้าไปพัวพันเก็บส่วยจากการค้ายาเสพติดของชนกลุ่มน้อย จนกระทั่งสภาพสงครามนั่นแหละที่ทำกำไรให้นายทหาร โดยเฉพาะแม่ทัพ ที่ถูกส่งไปตรึงกำลังปิดล้อมได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ในระยะสัก 10 ปีที่ผ่านมา กองทัพพม่าได้ทุ่มเงินซื้อหาอาวุธและเตรียมการสร้างความแข็งแกร่งให้ตนเองอย่างมาก จนกระทั่งประเมินกันว่า กองทัพมีสมรรถนะพอจะจัดการกับกองกำลังของชนกลุ่มน้อยได้ในระดับที่สูงขึ้น ดังนั้นจึงสั่งให้กองกำลังของชนกลุ่มน้อยที่มีสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลทหาร แปรตนเองเป็นกองกำลังรักษาชายแดน แต่ส่วนใหญ่ของกองกำลังชนกลุ่มน้อยไม่เอาด้วย แม้แต่กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธซึ่งเคยร่วมมือกับพม่าในการปราบกะเหรี่ยงคริสต์ มาก่อน บางส่วนก็ไม่ยอม ซ้ำยังประกาศบอยคอตการเลือกตั้งเสียอีก

ทั้งหมดนี้แสดงว่ากองทัพพม่าเชื่อมือตนเองยิ่งกว่าครั้งใดที่ผ่านมา และถึงอย่างไรก็จะเปิดสงครามใหญ่กับกองกำลังของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม

รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งจะช่วยทำให้ประเทศอื่นลงทุนและค้าขายในพม่าได้สะดวกใจขึ้นหรือไม่ ดูเผินๆ เหมือนมีส่วนช่วยบ้าง โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน แต่คู่ค้าสำคัญคือจีนและอินเดียนั้นสะดวกใจในการลงทุนและค้าขายในพม่าอยู่แล้ว ไม่ว่าพม่าจะปกครองด้วยเผด็จการทหารเข้มงวดสักเพียงใด เกาหลีเหนือก็ยังคงให้ความช่วยเหลือทางทหารและวิชาการต่อไป ถ้าพม่าต้องการ ส่วนประเทศตะวันตกทั้งหลาย ถ้าสามารถทำอย่างจีนและอินเดียได้โดยไม่ถูกประชาชนในประเทศก่นประณาม ก็คงทำไปนานแล้ว

คำถามคือรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งที่นับวันยิ่งเห็นได้ชัดว่าไม่อาจให้ความชอบธรรมแก่รัฐบาลทหารได้นี้ จะทำให้ภาพพจน์ของพม่าในสายตาของประชาชนในโลกตะวันตกดีขึ้นหรือไม่ ผมคิดว่าไม่และจะยิ่งไม่มากขึ้นเมื่อข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งแพร่หลายออกมามากขึ้น ฉะนั้นตะวันตกก็จะถูกตรึงไว้ที่เดิม คือลงทุนและค้าขายในพม่าได้อย่างไม่เต็มที่นัก (ในวันที่เขียนบทความนี้ ประธานาธิบดีโอบามาเพิ่งกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้านายกรัฐมนตรีอินเดียว่า รัฐบาลทหารพม่าขโมยประชาธิปไตยไปจากประชาชน มหาอำนาจอย่างสหรัฐและอินเดียควรร่วมกันประณาม)

ด้วยเหตุดังนั้นอาเซียนจะสะดวกใจขึ้นกว่าเก่าได้อย่างไรหากท่าทีของประเทศตะวันตกยังเหมือนเดิม

ผมพยายามหาเหตุผลใดๆ มาอธิบายไม่ได้ว่า รัฐบาลทหารต้องการรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งไปทำไม ความรู้ที่จำกัดของผมบอกได้แต่ว่า หากกองทัพพม่าสามารถคุมกองกำลังชนกลุ่มน้อยได้รัดกุมขึ้น ส่วยยาเสพติดที่เรียกเก็บอยู่เวลานี้ก็น่าจะเพิ่มขึ้นอีกโขด้วย

แม้ไม่ตื่นเต้นกับรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งของพม่า แต่ผมก็ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งอาจนำความเปลี่ยนแปลงบางอย่างมาให้แก่พม่า ทั้งในทางร้ายและทางดี เท่าที่ผมนึกออกเวลานี้ มีอยู่สามอย่าง

ด้านการเมืองโดยรู้ผลการเลือกตั้งที่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า ที่นั่งประมาณ 80% ตกเป็นของพรรคฝ่ายรัฐบาลทหาร ตามที่คาดการณ์กันไว้ก่อน ผมคาดว่ากองทัพพม่าต้องปล่อยให้พรรคที่ไม่ได้เป็นแนวร่วมของพรรค USDP ได้ชัยชนะบ้าง อย่างน้อยก็ไม่ให้น่าเกลียดเกินไป และที่สำคัญกว่านั้น คือสร้างศัตรูใหม่ที่ไม่น่ากลัวเท่าดอว์ออง ซาน ซูจี แล้วปล่อยให้ศัตรูใหม่ลดทอนรัศมีของ "ท่านผู้หญิง" ลงบ้าง แต่เดาไม่ถูกว่า จะปล่อยที่นั่งให้ฝ่ายค้านในเขตพม่าหรือเขตของชนกลุ่มน้อย

ไม่ว่าจะ อยู่ในเขตไหน ส.ส.ฝ่ายค้านเหล่านี้ย่อมไม่สามารถมีบทบาทอะไรมากนักในสภา (ทั้งจำนวน, ประธาน, และสื่อที่ถูกควบคุม) บทบาทของเขาจึงอยู่นอกสภาซึ่งไม่มีผลอะไรต่อการบริหารของกองทัพก็จริง แต่ทำให้เขาต้องมีและรักษา "เครือข่าย" ทางการเมืองในภาคประชาชนเอาไว้

นี่คือการจัดองค์กรทางการเมืองอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกในเวลาหลายทศวรรษภายใต้เผด็จการทหารพม่า

จากจุดเล็กๆ เช่นนี้ย่อมมีผลให้สังคมการเมืองพม่าเริ่มเปลี่ยน อาจไปในทางร้ายกว่าเดิมก็ได้ เช่นทหารจับทั้ง ส.ส.และเครือข่ายเข้าคุกหมดเป็นต้น หรือในทางที่ดีกว่าเดิมก็ได้ เช่นเครือข่ายเหล่านี้อาจเคลื่อนไหวทางสังคม และขยายตัวขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

ด้านชนกลุ่มน้อย นักวิชาการตะวันตกในออสเตรเลียคาดไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า หลังเลือกตั้ง ทหารพม่าจะเปิดฉากรุกชนกลุ่มน้อยเป็นการใหญ่ โดยเฉพาะที่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง จะเป็นผลให้มีการหลบหนีภัยเข้าสู่ไทยจำนวนมาก

คำถามก็คือความแข็งแกร่งของกองทัพพม่าที่เพิ่มขึ้นจะทำให้สามารถควบคุมกองกำลังชนกลุ่มน้อยได้ในที่สุดหรือไม่

ผมออกจะสงสัยว่าไม่ ความแข็งแกร่งที่เพิ่มขึ้นเป็นด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ใช่สมรรถนะเชิงยุทธวิธี กองทัพพม่านั้นไม่เคยมีชื่อเสียงด้านยุทธศาสตร์ยุทธวิธี แกนกลางของนายทหารของกองทัพพม่าที่อังกฤษสร้างไว้คือกะเหรี่ยง (คริสต์) ที่ปฏิเสธเข้าร่วมในสหภาพมาแต่ต้น ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของกองทัพได้เรียนรู้จากจีนในภายหลัง แต่ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของจีนคือการทุ่มกำลังมหึมาเข้าท่วมทับข้าศึก จะสูญเสียเท่าไรก็รับได้ ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเช่นนี้กองกำลังที่มีพลน้อยกว่าอาจจัดการได้ ดังเช่นการสอนบทเรียนของกองทัพเวียดนามเป็นต้น

กองทัพพม่าเคยใช้ วิธีแบบจีนอย่างได้ผลมาหลายครั้งในการศึกครั้งใหญ่กับพรรคคอมมิวนิสต์และ ชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มที่ร่วมกับกำลังของก๊กมินตั๋ง กำลังชนกลุ่มน้อยจึงเรียนรู้ที่จะไม่ปะทะกับกองทัพพม่าในศึกใหญ่ แม้แต่ฐานที่ตั้งของตนก็พร้อมจะสละทิ้งทันที ถ้าพม่าขนทหารมาท่วมทับเมื่อไรก็ตาม และนี่คือเหตุผลที่พม่าไม่สามารถปราบกองกำลังของชนกลุ่มน้อยได้เสียที แม้ว่าสามารถหยุดการเติบโตถึงขั้นที่จะคุกคามพม่าได้

อาวุธ ยุทโธปกรณ์ที่พร้อมพรั่งมากขึ้นเพียงอย่างเดียว จึงไม่สามารถเปลี่ยนสถานการณ์ทางการทหารเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยไปได้ ในขณะเดียวกันกองทัพพม่าก็ไม่พร้อมที่จะใช้เครื่องมือทางการเมืองใดๆ เพื่อยุติปัญหาด้วยแล้ว หนทางข้างหน้าคือการสู้รบกันไปเรื่อยๆ มากกว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกหลังการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากรัฐธรรมนูญ กองทัพพม่าก็คงมีนโยบายใช้กำลังมากขึ้นอยู่ระยะหนึ่ง ฉะนั้นคงมีสงครามและการอพยพของประชาชนทั้งโดยทางบกและทางเรือ ซึ่งจะทำให้แรงกดดันจากนานาชาติยิ่งเพิ่มมากขึ้น

ทางฝ่ายชนกลุ่มน้อย หากกองกำลังต้องย้ายฐานที่มั่นอยู่เสมอ ก็ยากที่จะสร้างความแข็งแกร่งขึ้นได้ ที่สำคัญกว่านั้นก็คือฐานที่มั่นนอกจากใช้เป็นศูนย์บัญชาการและฝึกทหารแล้ว ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่านั้นคือเป็นฐานเศรษฐกิจในการผลิตยาเสพติดหรือเก็บส่วย ค่าผ่านแดน หรือค่าตัดไม้ การย้ายฐานแต่ละครั้งจึงเท่ากับทำลายฐานทางเศรษฐกิจไปด้วย แต่เศรษฐกิจยาเสพติดไม่ได้ให้ประโยชน์แก่กำลังของชนกลุ่มน้อยเท่านั้น ยังเป็นทางทำมาหาได้ของนายทหารพม่าด้วย ดังนั้น ในระยะยาวแล้ว คงมีการเจรจาตกลงอะไรกันบางอย่าง (เช่นหยุดยิง แล้วเลิกนโยบายผนวกกองกำลังของชนกลุ่มน้อยเข้ามาเป็นกองกำลังป้องกันชายแดน) จนสถานการณ์กลับมาเหมือนเดิม กล่าวคือต่างฝ่ายต่างรักษากองกำลังของตนเอาไว้ และต่อรองกันด้วยวิธีการอันหลากหลาย ทั้งทางการทหาร, ผลประโยชน์, และอื่นๆ ตามแต่จังหวะและโอกาส

นอกจากนี้ ยิ่งรัฐบาลทหารกดดันชนกลุ่มน้อยมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้กองกำลังเหล่านี้ร่วมมือกันในทางปฏิบัติมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทัพพม่าไม่อยากเห็น ดังเช่นกองกำลังกะเหรี่ยง KNU ให้ความร่วมมือแก่ศัตรูเก่าคือกองกำลังของ DKBA ในครั้งนี้ และอ้างกันว่ากองกำลังของไทยใหญ่ก็ได้รับสัญญาความร่วมมือกับพรรคมอญใหม่ แล้วเป็นต้น อย่างไรก็ตาม สัญญาร่วมมือกันของชนกลุ่มน้อยนั้นเคยทำกันมาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่เคยมีผลในทางปฏิบัติ

จะมีผลอย่างไรขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในภาคสนามมากกว่า

ด้าน ดอว์ออง ซาน ซูจี เชื่อได้ว่ารัฐบาลทหารคงปล่อยตัวเธอจากการจำขังไว้ที่บ้านอย่างน้อยในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติอาจตรวจตราหรือกีดกันการเข้าออกพอสมควร เพราะการกักตัว "ท่านผู้หญิง" ดึงดูดแรงกดดันจากนานาชาติมากเกินคุ้ม แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าตัว "ท่านผู้หญิง" เองจะทำอะไรหลังจากนั้น หากท่านหาเส้นทางที่ "สมดุล" ระหว่างการเคลื่อนไหวซึ่งมีนานาชาติหนุนหลัง กับความมั่นคงของอำนาจทางการเมืองของกองทัพได้ ท่านก็ยังคงเคลื่อนไหวต่อไปได้

บางคนเห็นว่าท่านควรหันมาเคลื่อนไหว ทางสังคมแทนการเมือง เพื่อรักษาตัวท่านไว้สำหรับโอกาสเปิดทางการเมืองในภายหน้า แต่ผมคิดว่าสองอย่างนี้แยกจากกันไม่ได้ ในที่สุดท่านก็จะเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจทางการเมืองของกองทัพจนได้ การใช้ม็อบเถื่อนเข้าทำร้ายอย่างที่เคยทำมาแล้ว คงไม่สำเร็จ เพราะผู้สนับสนุนท่านคงให้การอารักขายิ่งกว่าเดิม ลอบสังหาร ก็คงทำให้เกิดจลาจลครั้งใหม่และยิ่งเพิ่มแรงกดดันจากนานาชาติ

ผม มองอย่างไรก็ไม่เห็นว่า คนอย่าง "ท่านผู้หญิง" นั้น รัฐบาลเผด็จการทหารจะทำอะไรได้ นอกจากกักตัวไว้ที่บ้านตามเดิม ฉะนั้นถึงท่านจะได้รับอิสรภาพหลังการเลือกตั้ง ก็คงเป็นการชั่วคราวเท่านั้น อีกไม่นานก็คงถูกจับกักตัวไว้ตามเดิม แต่อาจให้อิสระในการพบปะผู้คนมากขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย

เช่นชาวต่างชาติอาจพบได้ แต่ชาวพม่าพบไม่ได้เป็นต้น

 

ที่มา:มติชนออนไลน์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น