ประชาไท | Prachatai3.info |
- นักวิชาการชี้ HIA ช่วยหนุนวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ไม่ใช่ตัวฉุดการพัฒนา
- สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผนึกกำลังชาวบ้าน ฟ้องศาล บี้ ก.พลังงาน ระงับสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล
- เสวนาที่เชียงใหม่ “ประจักษ์” ชี้โครงสร้างการเมืองบิดเบี้ยวเพราะมี “ศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้ง”
- NGO-นักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยร้องคืนอำนาจสูงสุดให้ "ประชาชน" จี้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
- ทำไมเราต้องคัดค้าน พรบ.การชุมนุมสาธารณะ
- กวีประชาไท: กฤช เหลือลมัย กับ"บทสนทนาถึงผู้มาก่อนกาล"
- ประชาชนจัดกิจกรรมรำลึก 78 ปีคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง
นักวิชาการชี้ HIA ช่วยหนุนวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ไม่ใช่ตัวฉุดการพัฒนา Posted: 24 Jun 2010 02:52 PM PDT สัมมนาวิชาการ “การกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Public Scoping) : ปัญหาหรือความท้าทายของสังคมไทย” HIA ไม่ใช่ฉุดการพัฒนา แต่เป็นกระบวนการที่ร่วมกันพัฒนาให้โครงการหรือกิจกรรมนั้นๆ ส่งผลดีต่อสุขภาวะ กระตุ้นทำให้เกิดวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม <!--break--> วานนี้ (24 มิถุนายน 2553) ศูนย์ประสานงานพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA-Co Unit) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการสัมมนาวิชาการ “การกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Public Scoping) : ปัญหาหรือความท้าทายของสังคมไทย” เปิดการสัมมนาโดย นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไก จากนั้นมีการเสวนาเรื่อง บทเรียนของสังคมไทยในการทำ Public Scoping โดยผู้ที่มีประสบการณ์และเกี่ยวข้อง ได้แก่ รศ.ดร.สุเทพ ศิลปานันทกุล ศูนย์วิจัยและปฏิบัติการอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นายเสขสิริ ปิยะเวช ผู้จัดการฝ่ายคุณภาพความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด มหาชน นางสุชญา อัมราลิขิต ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางสิริวรรณ จันทนจุลกะ ผอ.กองประเมินผลกระทบทางสุขภาพ กรมอนามัย อ.ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไก HIA สช. นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก อ.ดร.เดชรัต สุขกำเนิด กล่าวว่า หลังจากที่ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้บัญญัติให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ในประเทศไทย โดยมุ่งให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม ในการตัดสินใจทางนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพที่ดีต่อสุขภาวะของทุกคน ประกอบกับเรื่อง HIA ได้รับการบัญญัติไว้ในมาตรา 67 เพื่อปกป้อง คุ้มครอง สุขภาพของประชาชนจากผลกระทบทางลบที่อาจเกิดจากโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมามีหน่วยงาน องค์กร นักวิชาการ และภาคประชาชน ได้มีประสบการณ์ในการเข้าร่วมการทำ HIA มาบ้างแล้ว ดังนั้นเวทีวันนี้จึงจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยเน้นในขั้นตอน “การกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบ (Public Scoping)” เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องให้ความเห็นว่าจะให้ศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุมในทุกๆ ประเด็นที่มีความกังวลและห่วงใยว่าอาจจะเกิดผลกระทบขึ้นได้หากมีโครงการหรือกิจกรรมใดๆ เข้ามาดำเนินการ แต่ที่ผ่านมาอาจจะยังมี องค์ความรู้ในเรื่องนี้ยังไม่เพียงพอนักในสังคมไทยที่เพิ่งเริ่มมีการทำ HIA ดังนั้นคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไก HIA ซึ่งมีนายแพทย์วิพุธ พูลเจริญ เป็นประธาน ได้มอบหมายให้ทางศูนย์ประสานงานพัฒนาระบบและกลไก HIA จัดการสัมมนาวิชาการนี้ขึ้นมา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำ Public Scoping จากทั้งบริษัทที่ปรึกษา ผู้ประกอบการ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งนักวิชาการด้วย เพื่อช่วยกันสร้างองค์ความรู้ด้านนี้ให้มากขึ้น และเหมาะกับบริบทของสังคมไทย ในส่วนของ ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รายงานข้อเสนอเพื่อการพัฒนาระบบการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยศึกษาจากบทเรียนทั้งของไทยและต่างประเทศ การเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการทำ Public Scoping ในพื้นที่ต่างๆ พบว่า เจตนารมณ์ของการทำ Public Scoping เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสแสดงถึงความห่วงใยที่มีต่อโครงการที่เกิดขึ้น โดยช่วยกันมองอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด รวมทั้งเป็นการแสดงความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในการดำเนินโครงการที่ต้องให้เวลากับการทำ Public Scoping คำนึงถึงผู้คนหลากหลายกลุ่ม ทั้งผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ บุคลากรสาธารณสุข ประชาชนในพื้นที่ และที่สำคัญการทำเวที Public Scoping เพียงครั้งเดียวอาจไม่เพียงพอ หลายๆ โครงการในต่างประเทศจะทำจนมั่นใจว่าไม่มีประเด็นใหม่แล้ว โดยจัดกระบวนการรับฟังความเห็นหลายครั้งและทั่วถึง จึงจะลงมือศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ นอกจากนี้เจ้าของโครงการไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน จะทำงานร่วมกับชุมชนตั้งแต่เริ่มคิดโครงการ จนกระทั่งโครงการสร้างเสร็จแล้วและร่วมกันตรวจสอบผลกระทบ (Monitor) หลังจากนั้นอีก บางโครงการวางแผนการทำงานร่วมกับชุมชนยาวถึง 40 ปี ดังนั้นจะเห็นได้ว่า HIA ไม่ใช่ฉุดการพัฒนา แต่เป็นกระบวนการที่ร่วมกันพัฒนาให้โครงการหรือกิจกรรมนั้นๆ ส่งผลดีต่อสุขภาวะ “ผมมองว่าการทำ HIA เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากจะช่วยกันดูผลกระทบอย่างรอบด้านแล้ว กระบวนการนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนวัฒนธรรมประชาธิปไตยของสังคมไทยให้ดีขึ้น เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงการหย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้น โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกิดปัญญาภาคพลเมืองขึ้น” ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ กล่าว นายสุทธิ อัชฌาศัย นำเสนอให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ และกล่าวถึงกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ที่ผ่านมาว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ร่วมกันในการทำ HIA ของ คือ ประชาชนขาดความรู้ ความเข้าใจในเรื่อง HIA อย่างถูกต้อง การให้ข้อมูลของผู้ประกอบการต่อชุมชนไม่ละเอียดและไม่ครบถ้วน การประชาสัมพันธ์โครงการไม่ทั่วถึงและประชาชนชนไม่สามารถเข้าถึงได้ การทำ HIA แต่ละครั้งยังเป็นกลุ่มเป้าหมายเดิม เวลาในการแสดงความเห็นในเวทียังน้อย ไม่มีการบันทึกข้อสงสัยที่ประชาชนสะท้อนไว้เป็นลายลักษณ์ ทั้งยังไม่สรุปผลการจัด Public Scoping และเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ การจัดทำ HIA ของผู้ประกอบการและบริษัทที่ปรึกษาทำแบบเร่งรีบ หรือเพียงเพื่อต้องการให้โครงการสามารถดำเนินการได้เท่านั้น และตัดพ้อว่า อยากได้ HIA เพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อโรงงาน” ด้าน นายเสขสิริ ปิยะเวช เปิดเผยว่า การทำ HIA ที่ผ่านมาก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของผู้ประกอบการกับชุมชน จากอุปสรรคที่เป็นปัญหานำมาสู่โอกาสในการศึกษาร่วมกัน โดยลดช่องว่างระหว่างผู้ประกอบการกับชุมชน ทำงานบนความท้าทายด้านสุขภาพทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย จิต สังคม ปัญญา และคาดว่าจะเกิดระบบฐานข้อมูลสุขภาพและระบบการเฝ้าระวังเชิงพื้นที่ที่ดีที่สุดต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผนึกกำลังชาวบ้าน ฟ้องศาล บี้ ก.พลังงาน ระงับสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล Posted: 24 Jun 2010 02:15 PM PDT สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมชาวบ้านชาวบ้านทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เดินทางฟ้องศาล ปค.ให้ยกเลิกโรงไฟฟาชีวมวล ชี้รัฐฯ หนุ่นสร้าง ล่าสุดขออุญาตแล้วเกื่อบ 300 ใบทั่วประเทศ อัดรัฐเพิกเฉยต่อสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน <!--break--> จากกรณีที่รัฐบาล โดยกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พยายามส่งเสริมให้มีการประกอบการเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกหนึ่งในแผน PDP 2010 ของกระทรวงพลังงาน โดยปัจจุบันมีการส่งเสริม และมีการขอใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแล้ว 2-3 ร้อยใบทั่วประเทศ นำไปสู่ความขัดแย้งกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.เวลา 10.30 น. ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมชาวบ้านชาวบ้านทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ได้รับความเดือดร้อน 38 ราย ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อุตสาหกรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายก อบต.ห้วยยาง และนายก อบต.แสงอรุณ ผู้ถูกฟ้องที่ 1-8 เรื่องกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 ร่วมกันออกคำสั่งที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนในการอนุญาตให้บริษัท พี.ที.อุตสาหกรรม เหรียญชัย จำกัด ก่อสร้างโรงงาน และติดตั้งเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าระบบพลังงานชีวมวล ในเขตพื้นที่ชุมชน ขอให้ศาลพิพากษาหรือสั่งการให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 ระงับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทดังกล่าว จนกว่าจะมีการปฏิบัติตามมาตรา 66 และ 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 รวมทั้ง ขอให้ศาลสั่งรัฐมนตรีพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ทบทวนหรือพิจารณาแผนการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าประเภทชีวมวลทั้งหมด ภายใต้มาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังขอให้ศาลสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เสนอพื้นที่ ต.ห้วยยาง และ ต.แสงอรุณ ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อประกาศเป็นเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติด้วย ชาวบ้านระบุว่า ก่อนหน้านี่ได้ร้องขอต่อหน่วยงานต่างๆ ให้ดำเนินการแล้วแต่ไม่มีการดำเนินการ ปล่อยให้มีการก่อสร้างโรงงานที่ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย และมีการสร้างผ่านแหล่งน้ำสาธารณะ เกิดมลภาวะทางเสียง และอากาศเป็นพิษ ทำให้ชาวบ้านและสัตว์เลี้ยงเดือดร้อน เรียบเรียงบางส่วนจาก มติชนออนไลน์ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เสวนาที่เชียงใหม่ “ประจักษ์” ชี้โครงสร้างการเมืองบิดเบี้ยวเพราะมี “ศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้ง” Posted: 24 Jun 2010 01:56 PM PDT เสวนาขบวนการประชาธิปไตย 24 มิถุนาฯ ที่รัฐศาสตร์ฯ ม.เชียงใหม่ “คณิน บุญสุวรรณ” ถล่มนักวิชาการ นักกฎหมาย ระบบศาลเอื้อให้เกิดรัฐประหารบ่อย “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” ชวนย้อนพินิจ 2475 เพื่อดูสถานการณ์ปัจจุบัน “ประจักษ์ ก้องกีรติ” อธิบายความพ่ายแพ้ของคณะราษฎร เปิดประเด็น “ศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้ง” ทำลายระบบเลือกตั้ง <!--break--> เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 53 ที่คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มีการเสวนาหัวข้อ “ชักตื้น.. ติดกึก.. ชักลึก.. ติดกัก..: ขบวนประชาธิปไตย 24 มิถุนาฯ" จัดโดย สำนักวิชาการเมืองและการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยวิทยากรร่วมการเสวนาได้แก่ ดร.คณิน บุญสุวรรณ นักวิชาการอิสระ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ดร.จันทนา สุทธิจารี คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสนตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ และ อาจารย์ภูมิอินทร์ สิงหชวาลา สำนักกระจายอำนาจและปกครองตนเอง เป็นผู้ดำเนินรายการ นอกจากนี้ในงานมีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาด้วย บรรยากาศเสวนา นิทรรศการภายนอก
คณิณจวก 78 ปี 2475 ประชาธิปไตยไม่ไปไหน เหตุรัฐประหารบ่อยครั้ง คณิน บุญสุวรรณ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ผ่านมา 78 ปีของการเมืองไทยสัมพันธ์ต่อมิติการเมือง ดังนี้ ข้อที่ 1. จะต้องเป็นเจตนารมณ์ที่แท้จริงในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ซึ่งน่าสรุปได้ว่า ถ้าเราพิจารณา “อำนาจ” ว่าควรเป็นของราษฎรที่แท้จริง จะต้องเท่าเทียมกัน และสิทธิคุ้มครองก็ต้องไม่เลือกปฏิบัติ เมื่อเริ่มต้นด้วยศัพท์ทางการ ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขอย่างแท้จริงหรือเปล่า ซึ่งเป็นแค่แบรนด์เนม และศัพท์ไม่ทางการเท่านั้น แต่ว่าสิ่งที่ตรงตามสภาพความเป็นจริง คือ ระบอบอำนาจอันแท้จริง ศูนย์รวมอำนาจอยู่ที่กองทัพเป็นหลัก และอำนาจอยู่ที่ระบบราชการเป็นกองหนุนหรืออำมาตย์ ก็สัมพันธ์อยู่ที่ศาลปกครองรองรับอำนาจนั้น ทำให้ในบางครั้งดูเหมือนประเทศเราเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แล้ว คณิน กล่าวต่อว่า ในข้อที่ 2. อำนาจต้องเป็นของราษฎรอย่างแท้จริงจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะอยู่ก็เพียงธรรมนูญชั่วคราวและพระราชบัญญัติก็ใช้ไม่กี่เดือน หลังจากนั้นก็เปลี่ยนแปลงไป และอำนาจเป็นของราษฎร รวมทั้งคณะราษฎร ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะความขัดแย้งทางการเมืองของไทย จนกระทั่งนายปรีดี พนมยงค์ ในส่วนหนึ่งของคณะราษฎร ก็ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย และคณะปฏิวัติทำการยึดอำนาจ โดยสมัยปัจจุบัน หลังรัฐประหารก็เป็นกลุ่ม คมช. ต่อมาจากนั้นไม่ยอมรับอำนาจของการเลือกตั้งโดยราษฎร ก็เห็นได้ชัดว่า กองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมือง และศาล เข้ามาเป็นผู้ตัดสินความขัดแย้งทางการเมือง และเกือบจะเรียกได้ว่าที่เดียวในโลก ใช้ศาลล้มนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผลจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยสรุปข้อที่ 2 ไม่มีวิธีใดที่จะทำให้อำนาจเป็นของราษฎรอย่างแท้จริง นอกจากการเลือกตั้ง โดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ส่วนข้อที่ 3. หลักนิติรัฐ ต้องมีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยอย่างชัดเจนและต้องเป็นอิสระและถ่วงดุลกันได้ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าอำนาจของฝ่ายตุลาการเป็นอำนาจหนึ่ง และยิ่งไปกว่านั้นยังเกิดปรากฏการณ์อำนาจขององค์กรอิสระ ก็ร่วมกันมีกระบวนการที่จะจัดการอำนาจ ดัดแปลง แก้ไข มติของประชาชน จนเป็นการล้มล้างมติเดิม คณิน อภิปรายต่อไปว่า หลักนิติรัฐ คือ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเท่าเทียมกัน และตราบใดที่ยังมีการตัดสิน 2 มาตรฐานก็ย้อนศรสวนทางเจตนารมณ์ประชาธิปไตย โดยข้อที่ 4 เราต้องมีหลักมาตรฐานประชาธิปไตย ที่ผ่านมาไทยมีรัฐธรรมนูญตั้ง 18 ฉบับ ถ้ารัฐธรรมนูญมีมาตรฐานสากล ในจำนวนรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ มี 15 ฉบับเป็นผลสืบเนื่องจากรัฐประหารทั้งนั้น แต่ว่าเรามีรัฐธรรมนูญอีกสามฉบับ ไม่ได้เป็นผลจากรัฐธรรมนูญของรัฐประหาร คือรัฐธรรมนูญปี 2487 ปี 2517 และปี 2540 ซึ่งเราไม่สามารถคุ้มครองรัฐธรรมนูญได้ และข้อที่ 5 ไม่ว่าใครก็ได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ แต่ว่าเราก็โดนผลกระทบของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งภายใต้ พ.ร.ก. ทำให้บรรดาสิทธิเสรีภาพ ถูกล้มล้างไปโดยสิ้นเชิง คณิณกล่าวทิ้งท้ายว่า ข้อสุดท้าย หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 78 ปี ไม่ได้ไปไหนเลย จำเป็นต้องพูดว่า สาเหตุที่มีการรัฐประหารมีบ่อยครั้ง ทั้งที่การรัฐประหาร ลิดรอนสิทธิ เสรีภาพมานาน และตัวการก็คือ นักวิชาการ นักกฎหมาย และศาลสถิตยุติธรรมของไทยเอง
ศิโรตม์ชวนย้อนพินิจ 2475 เพื่อดูสถานการณ์ปัจจุบัน ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ กล่าวถึงงานของนักวิชาการที่อธิบายเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ว่ามีวิธีการอธิบายไม่กี่แบบ ซึ่งแบบหนึ่ง อธิบายว่าเกิดจากการพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การอธิบายแบบที่สอง ก็ตรงกันข้ามคือ ราษฎรต้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบใหม่ ก็ยึดอำนาจ 2475 ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งเวอร์ชันสองแบบ คือ ชิงสุกก่อนห่าม และเวอร์ชัน ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของแบบที่สอง จนกระทั่งเกิดการอธิบายการเมืองแบบที่สาม คือ การพระราชทานรัฐธรรมนูญ คือ ชนชั้นนำนั้นปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงและหาทางอยู่ร่วมกับราษฎรได้ ในที่สุดชนชั้นนำก็ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เชื่อมโยงถึงสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ว่า เกิดข้อที่หนึ่ง คือ เกิดกลุ่มคนใหม่ ใน 24 มิถุนา 14 ตุลา 6 ตุลา 17 พฤษภา ฯลฯ ก็เกิดคนกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมา อย่างเช่นกลุ่มคนใน 24 มิถุนา คือ อยากเปลี่ยนระบบ จากกลุ่มคนที่เป็นคนชั้นกลาง นักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชน นับตั้งแต่ก่อน 24 มิถุนายน ก็เกิดคนเหล่านี้ขึ้นมา ศิโรตม์ กล่าวต่อว่า แล้วคนสำคัญของการต่อสู้ใหม่และเผยแพร่ความคิดแบบใหม่ อย่างเช่นภาพยนตร์เรื่อง October sonata ก็เกี่ยวข้องในเรื่อง 2475 คือ ศรีบูรพาเป็นนักเขียนสำคัญจาก ร.ร.เทพศิรินทร์ ก็ทำงานไปเป็นล่ามและนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งพูดถึงความเท่าเทียมของคน ในนิยายเรื่องสงครามชีวิต ซึ่งพูดเรื่องความเท่าเทียมของคนว่า คนเราไม่ว่าจะเกิดจากชาติตระกูลไหน คนเราก็เท่าเทียมกัน แต่ว่าการพูดแบบนี้ในช่วง 2475 ซึ่งอยู่ในการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยผู้นำของประเทศขึ้นอยู่กับการสืบทอดจากชาติตระกูล ศักดิ์ศรี ซึ่งคนที่เกิดในชาติตระกูลต่ำ พวกไพร่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น กรณีศรีบูรพา ซึ่งมีการเชิดชูว่า คนเราเท่ากันโดยกำเนิดไม่ว่ามีทรัพย์สินเท่าไหร่ ความคิดว่า คือ คนเราเท่ากัน ไม่ว่าจะมีศักดิ์ศรี หรือชาติตระกูลแบบใดแล้ว ในที่สุดก็เป็นคนเท่ากัน และศรีบูรพาก็เผยแพร่เรื่องราวนี้ในสังคมไทย ศิโรตม์ กล่าวด้วยว่า สิทธิไม่ได้อยู่กับอำนาจโดยกำเนิด และความคิดแบบใหม่ในระบบการเมืองที่ดีอยู่ได้โดยการช่วงชิงไปสู่สังคมแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งควรเป็นสังคมที่ควรเท่าเทียมกัน และความเชื่อคนเราไม่เท่ากัน ก็นำไปสู่เรื่องสังคมแบบใหม่ ซึ่งนำไปสู่เรื่อง 24 มิถุนา ทำให้ความคิดเรื่องนี้ กระจายไปในหัวของคน และกลุ่มก้อนการเมือง มันเป็นแค่รากฐาน เป็นมวลเป้าหมายการเมืองจากรัฐ คือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ว่า 24 มิถุนายน 2475 เป็นตัวอย่างบทเรียนของสังคม และความสามารถของการปรับตัว โดยฝ่ายต้องการเปลี่ยนแปลงกับฝ่ายไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันมีอยู่จำนวนมาก แล้วในปัจจุบัน ก็มีคณะที่ล้มรัฐธรรมนูญ คือ ฝ่ายไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง กับฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง และความสามารถของการปรับตัวของกรณี 2475 ทำให้เราคิดถึงเรื่องปัจจุบันได้
ประจักษ์อธิบายคณะราษฎรแพ้เพราะโครงสร้างทางการเมืองบิดเบี้ยว ประจักษ์ ก้องกีรติ กล่าวว่า ความพ่ายแพ้ของคณะราษฎรมาจากปัญหาของโครงสร้างทางการเมืองที่บิดเบี้ยว ตราบใดที่ไม่สามารถแก้ไขโครงสร้างการเมืองที่บิดเบี้ยว ก็ไม่สามารถพาเราออกไปได้ ซึ่งใน 2 ประเด็นใหญ่ที่จะพูดต่อจาก ศิโรตม์ ก็คือ เรื่องความพ่ายแพ้ทางการเมือง และคณะราษฎร ซึ่งเทียบกับคณะปฏิวัติในทั่วโลก แล้วการรัฐประหาร 2490 ก็ทำให้หมดยุคของคณะราษฎร ก็เป็นจุดจบของคณะราษฎร โดยคณะราษฎรหมดอำนาจ เพราะความพ่ายแพ้ของคณะราษฎรไม่สามารถสถาปนาอำนาจของประชาชนและระบบรัฐสภาที่เข้มแข็ง ก็โยงหลายประเด็นที่อาจารย์คณินก็ได้ชี้ให้เห็น ซึ่งก็โยงให้หลายคนได้รับรู้ถึงจุดเปลี่ยนของทางรัฐสภา และคณะราษฎรพ่ายแพ้ทางอุดมการณ์ ซึ่งการพ่ายแพ้นี้เกิดก่อนการพ่ายแพ้ทางการเมืองด้วยซ้ำ โดยในแง่อุดมการณ์คณะราษฎรไม่ประสบความสำเร็จในการสถาปนาอุดมการณ์ทางการเมือง และพ่ายแพ้ในการเขียนประวัติศาสตร์ โดยความทรงจำของเราเขียนเรื่อง 2475 จากนักเขียนคณะราษฎร และในนิทรรศการของนักศึกษาซึ่งมีการจัดไม่มีเอกสารของคณะราษฎร ซึ่งในตอนบ่ายของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีการอ่านประกาศที่ว่า ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง นี่เป็นเอกสารของคณะราษฎร ซึ่งต้องมีแอบซ่อนอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง ประจักษ์ กล่าวต่อว่า เอกสารของคณะราษฎร ก็ไม่ได้ถูกอ้างอิงมาก และที่น่าสนใจมากก็คือ เอกสารที่ถูกอ้างอิงมากกลับเป็นเอกสารในปี 2477 เป็นเอกสารของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยผมเคยเขียนบทความในเรื่องนี้ (คลิกเพื่อดูบทความ) ที่มีข้อความว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎร โดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” ซึ่งประจักษ์ กล่าวย้ำว่า วรรคทองดังกล่าว ถ้าไปนับสถิติแทบจะเป็นยอดฮิต และกำหนดความคิดคนรุ่นหลัง เพราะนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 นัยยะของคณะราษฎร ในทางการเมืองถูกทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ โดยไม่มีมิติอะไร และละเลยมิติทางการปฏิวัติ เหลือแค่รัฐประหาร จนคนรุ่นหลัง ก็นำการปฏิวัติ มาเปรียบเทียบกับกรณี 14 ตุลา ที่ผิดฝาผิดตัว เพราะว่า นำข้อความของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มาใช้ต่อสู้กับจอมพลถนอม ที่มาจากคณะรัฐประหารทำการยึดอำนาจโดยทหาร และทำให้เกิดเรื่องว่า 2475 คือ วาทกรรมชิงสุกก่อนห่าม ลดทอนเหลือแค่นี้ ซึ่งในแง่นี้ 2475 ก็กลายเป็นความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ และอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็เคยเขียนเรื่อง 2475 ว่า คือ ความจำเป็นของประวัติศาสตร์ ทั้งไม่มีประสิทธิภาพ ไม่รับฟังเสียงของประชาชน และมันเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยทั้งโลกเหลือไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันน่าเสียดาย เพราะว่า 2475 มันถูกยึดกุมโดยฝ่ายชนชั้นนำ อนุรักษ์นิยม แล้วพ่ายแพ้ทางอุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์ ประจักษ์ อภิปรายถึงความพ่ายแพ้ทางอุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์ เชื่อมโยงกับโครงสร้างการเมืองที่บิดเบี้ยว และมีที่มาจากปมปัญหาใหญ่ที่สุดที่เราเผชิญอยู่ คือ ปมปัญหาทางการเมือง มากกว่าปมเศรษฐกิจสังคมเป็นบริบทแวดล้อมไม่ใช่สาเหตุโดยตรง และปมปัญหาทางการเมืองที่ว่า คือ โครงสร้างการเมืองไทยอยู่ในสภาพบิดเบี้ยว และสภาพบิดเบี้ยว ที่ศูนย์อำนาจหนึ่งอยู่กับการเลือกตั้ง อีกศูนย์อำนาจอยู่นอกการเลือกตั้ง และไม่สามารถสร้างการยอมรับผิดได้ เพราะว่า ปัญหาของระบอบเผด็จการคือการไม่ยอมรับผิด และตัวอย่างของรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่มีผลจากศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้ง เช่น การไม่สามารถตั้ง ผบ.ตร.ได้ โดยกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง และวาทกรรมซื้อเสียง ขายสิทธิ และผู้เลือกตั้งชนบท โง่ จน เจ็บ ถูกถักทอ และเผยแพร่อย่างต่อเนื่องทำลายความชอบธรรมของการเลือกตั้ง และการปกครองบ้านเมืองโดยคนดี มีศีลธรรม ก็คนดีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ ทั้งนี้ ประจักษ์ กล่าวตอนท้ายว่า ศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้งได้โจมตีการเลือกตั้ง ว่ามีปัญหาที่มาจากการคอรัปชั่นของนักการเมือง แล้วศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้งได้ปัญญาชน สื่อมวลชน และเอ็นจีโอ จำนวนหนึ่งเป็นพันธมิตรไม่ไว้ใจอำนาจเลือกตั้ง และพรรคการเมืองไม่สามารถควบคุมกลไกรัฐด้วยความมั่นคงได้ ตราบใดที่ไม่สามารถทำให้ศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้งยอมรับโครงสร้างการเมืองแล้วโครงสร้างการเมืองก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
จันทนาชี้การเมืองไทยมีไอ้โม่ง การเปลี่ยนแปลงมีการสะสมของรอยแผล จันทนา สุทธิจารี กล่าวว่า ศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้ง ที่ซับซ้อนในการเมืองไทย คือ ไอ้โม่ง หรือ อำนาจที่มองไม่เห็น ซึ่งปรากฏการณ์ทำให้เกิดมือที่มองไม่เห็นอีกประเด็น คือ ความพยายามเปลี่ยนศูนย์อำนาจ โดยการสถาปนาทางการเมืองที่มาจากอำนาจนอกการเลือกตั้ง ซึ่งปฏิบัติการนอกการเลือกตั้ง และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็ปฏิเสธไม่ได้เมื่อเรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่ไม่ขาดสายก็คือ วัฒนธรรมของผู้ปกครอง แปลว่าบนวิวัฒนาการของประชาธิปไตยไทยก็มีรอยบาดแผลของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่หลายประการและที่ดูเหมือนราบรื่น นับตั้งแต่จาก 19 กันยายน 2549 ก็แปลว่า มันมีการสะสมของรอยบาลแผล โดยจันทนายกตัวอย่างว่า สมมติตัวเองที่มีอายุ 50 ปี ไม่ได้มาพรวดๆ เป็นอยู่ขึ้นมาได้ โดยไม่อาจละเลย จากมุมมองของความสืบเนื่องของรอยต่อของประวัติศาสตร์ เหมือนกับในปัจจุบันซึ่งชนชั้นนำบางคนที่อยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ก็ดำรงอยู่ในทุกวันนี้ เช่น ผู้นำก็อยู่บนพื้นที่ และ position การปะทะกันของวาทกรรมอำมาตย์ และไพร่ ของชนชั้นนำใหม่ ซึ่งประชาธิปไตยที่มีอยู่ต้องมีการชี้นำและอารักขาจากใครก็ไม่รู้ ซึ่งภาวะของจำนนอำนาจ ถูกปกครอง และชนชั้นนำ เป็นปรากฏการณ์ของเหตุการณ์ 19 กันยา ทั้งนี้ ดร.จันทนา กล่าวต่อว่า ปัญหาของการเมืองเชิงพื้นที่ ตั้งแต่การอธิบายว่าเมืองกับชนบทคือปัญหาทางพื้นที่การเมือง วาทกรรมปรองดอง ปฏิรูปประเทศไทยที่ทำลายบรรยากาศประชาธิปไตย หรือเปล่า และปรากฏการณ์นับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาจนเกิดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม จนถึงปัญหาสถาบันตัวแทน กลไกของรัฐเป็นตัวหลัก ที่ดูแลสื่อ พรรคร่วมรัฐบาล แล้วสังคมตั้งคำถาม ก็ต้องดูกัน ในเรื่องความซับซ้อนไปสู่ความแตกต่างให้กลับมาหาการเมืองปกติ รวมทั้งพื้นที่การเมืองภาคประชาชน เพราะฉะนั้น สังคมไทยจะเรียนรู้แบบสะสมอย่างดิฉันที่อายุ 50 ปี ส่วน 24 มิถุนายน เป็นการสรุปบทเรียนที่น่าสนใจ คือ ภาวะความเป็นอื่นของมิติของบาดแผลที่สะสมมาตลอด จึงต้องหาทางออกจากความเป็นอื่น จันทนา กล่าวทิ้งท้าย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
NGO-นักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยร้องคืนอำนาจสูงสุดให้ "ประชาชน" จี้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ Posted: 24 Jun 2010 01:39 PM PDT เครือข่ายนักพัฒนาเอกชนและนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย อ่านแถลงการณ์ 78 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย ในโอกาสการรำลึกวันครบรอบ 78 ปี 24 มิถุนายน 2475 <!--break--> ย่ำรุ่ง วานนี้ (24 มิ.ย.53) ที่บริเวณหมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านหน้าสนามเสือป่า "เครือข่ายนักพัฒนาเอกชนและนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย" อ่านแถลงการณ์ 78 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย ในโอกาสการรำลึกวันครบรอบ 78 ปี ที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ประกาศจุดยืน 1.เชิญชวนเรียกร้องให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้าโดยยึดถือหลักการ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ของคณะราษฎร เป็นหลักการที่มีความถูกต้องชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ดังกล่าว เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2.รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีที่มาและการใช้อำนาจขัดต่อหลักการ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” อย่างรุนแรง สังคมไทยจงร่วมกันรับรู้และเปิดเผยความจริงข้อนี้ และร่วมกันต่อสู้เพื่อให้รัฐบาลที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริงได้เข้ามาปกครองประเทศต่อไป 3. การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ของรัฐบาล ในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้ คือรูปธรรมของการใช้อำนาจแบบเผด็จการเพื่อธำรงความมั่นคงของกลุ่มอำนาจเดิมที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาลร่างทรง เรียงร้องให้ สังคมไทยร่วมกันต่อต้านการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ในการต่อสู้เพื่อให้อำนาจอธิปไตยกลับมาอยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง
แถลงการณ์ เครือข่ายนักพัฒนาเอกชนและนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย 78 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย เป็นเวลา 78 ปีมาแล้ว ที่คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบที่ปกครองโดยรัฐธรรมนูญ ภายใต้หลักการที่ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ดังที่ได้ปรากฏเป็นมาตรา 1 ของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475อย่างชัดเจน มิอาจบิดเบือนเป็นอย่างอื่นได้ กระนั้นก็ตาม ประวัติศาสตร์ตลอดช่วงเวลากว่าค่อนศตวรรษที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า ประเทศนี้มิได้ปกครองโดยอำนาจของประชาชนตามหลักการของคณะราษฎรแต่อย่างใด แทนที่กลุ่มผู้ปกครองเดิมจะละวางอำนาจและให้ประชาชนปกครองตนเอง ในทางตรงกันข้าม เมื่อเห็นว่าประชาชนเริ่มเกิดสำนึกในสิทธิเสียงของตน กลุ่มผู้ปกครองเดิมกลับหวาดกลัวที่จะสูญเสียอำนาจ ลงมือกระทำการทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจของตนไว้ ดังที่ปรากฏเป็นวิกฤติการณ์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การยุบพรรคการเมืองและล้มรัฐบาลที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งข้างมาก การตั้งรัฐบาลร่างทรงของตน จนกระทั่งการลุแก่อำนาจ ปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนอย่างโหดเหี้ยมทารุณในการสลายการชุมนุมและล้อมปราบ เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา เป็นที่ชัดเจนว่า หลักการสำคัญของคณะราษฎรยังไม่บรรลุผลอย่างที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด ในสถานการณ์เช่นนี้ ประกอบกับวาระการครบรอบ 78 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรา “เครือข่ายนักพัฒนาเอกชนและนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย” ขอประกาศจุดยืนดังต่อไปนี้ 1. หลักการ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ของคณะราษฎร เป็นหลักการที่มีความถูกต้องชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย เราขอเชิญชวนเรียกร้องให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้าโดยยึดถือหลักการดังกล่าวเป็นสำคัญ เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2. รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีที่มาและการใช้อำนาจขัดต่อหลักการ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” อย่างรุนแรง สังคมไทยจงร่วมกันรับรู้และเปิดเผยความจริงข้อนี้ และร่วมกันต่อสู้เพื่อให้รัฐบาลที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริงได้เข้ามาปกครองประเทศต่อไป 3. ในสถานการณ์เฉพาะหน้า รัฐบาลยังคงการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน นี่คือรูปธรรมของการใช้อำนาจแบบเผด็จการเพื่อธำรงความมั่นคงของกลุ่มอำนาจเดิมที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาลร่างทรง สังคมไทยจงร่วมกันต่อต้านการประกาศใช้พระราชกำหนดดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ในการต่อสู้เพื่อให้อำนาจอธิปไตยกลับมาอยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง 24 มิถุนายน 2553 เวลาย่ำรุ่ง ณ หมุดคณะราษฎร
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ทำไมเราต้องคัดค้าน พรบ.การชุมนุมสาธารณะ Posted: 24 Jun 2010 09:18 AM PDT <!--break--> ในฐานะที่เป็นคนที่ทำงานกับชาวบ้านในประเด็นร้อน ๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการเรียกร้องให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น หากใช้ช่องทางการร้องเรียนตามปกติ เช่น การร้องเรียนผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส.จ. ส.ส. ศูนย์ดำรงธรรม สำนักนายกรัฐมนตรี แม้กระทั่งสำนักพระราชวัง ก็มักจะไม่ได้รับการแยแสสนใจจากหน่วยงานเหล่านั้นสักเท่าใด หรือกว่าจะได้รับความสนใจเรื่องราวก็ลุกลามบานปลายไปเกินกว่าที่จะเยียวยา การชุมนุมจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะทำให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาสนใจได้ และการชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเพียงช่องทางเดียวของชาวบ้านที่สร้างพื้นที่ทางสังคมสำหรับคนจน คนเล็กคนน้อยได้ แต่การใช้เสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ง่าย ตรงกันข้ามการใช้เสรีภาพในการชุมนุมกลับเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ซับซ้อนมาก เพราะกว่าจะต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าการชุมนุมเป็นเสรีภาพ ผู้ชุมนุม ไม่ใช่คอมมูนนิสต์ ไม่ใช่พวกหัวรุนแรง ไม่ใช่พวกไม่เคารพกฎหมาย แค่เรื่องนี้ก็ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกันมากมายแล้ว นอกจากนี้ยังต้องสร้างกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกันในระหว่างชุมนุม เช่น ไม่พกพาอาวุธ ไม่เสพยาเสพติด ไม่เล่นการพนัน ไม่มีพฤติกรรมชู้สาว ไม่ดื่มสุรา ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ต้องร่วมกิจกรรม แบ่งภาระกิจหน้าที่การทำงาน ฯลฯ และเมื่อออกมาชุมนุมก็ต้องเจอการข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ เจอการต้อนรับแบบขับไล่ของฝ่ายปกครองที่มีทัศนคติทางลบกับชาวบ้าน ที่ยังคิดว่าตนเองเป็นเจ้านาย เป็นผู้ปกครอง ในบางพื้นที่ก็เข้มงวด กลั่นแกล้ง ไม่ยอมให้ใช้ห้องน้ำห้องส้วม ฝนตกก็ไม่ให้ที่หลบฝน บางทีถึงขนาดตั้งข้อกล่าวหาว่าไม่ขออนุญาตใช้เครื่องเสียงก็ยังมี ทิ้งก้นบุหรี่ในที่สาธารณะก็อาจถูกขู่ถูกจับได้ ในพื้นที่กฎอัยการศึกก็ถึงขนาดตั้งข้อหากบฎกันเลยทีเดียว สรุปได้ว่าการใช้เสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญนั้นกลับขัดต่อกฎหมายอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก และไม่ได้มีการคิดจะแก้ไขกฎหมายต่าง ๆเพื่อรองรับการใช้เสรีภาพนี้เลย การพัฒนาของรัฐเป็นประเด็นที่ทำให้ชาวบ้านต้องออกมาชุมนุมเรียกร้องมากที่สุด เพราะการพัฒนาของรัฐส่วนใหญ่แล้วเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของบุคคลนอกชุมชนมากกว่าบุคคลในชุมชน เป็นการแย่งชิงทรัพยากรของชุมชน เป็นการทำลายทรัพยากรของชุมชน เป็นการทำลายวิถีชีวิตของชุมชน และคนที่ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาของรัฐนอกจากนักการเมืองขี้ฉ้อ นายทุนผู้ขูดรีดแล้ว ก็ยังมีชนชั้นกลางผู้รังเกียจการชุมนุมเป็นผู้ได้ผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นอันมากอีกด้วย เช่น การสร้างเขื่อนปากมูล เขื่อนสิรินธร เขื่อนอุบลรัตน์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ปรากฎว่าปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ทั้งสามเขื่อนผลิตได้ต่อปีนั้นมีปริมาณเท่า ๆ กับห้างเซ็นทรัลเวิร์ล ห้างสยามพารากอนและห้างสยามเซ็นเตอร์ ใช้ไฟฟ้าทั้งปีเช่นกัน แต่คนที่เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนทั้งสามนี้ได้ประโยชน์อะไรบ้าง อย่าว่าแต่มาเดินเที่ยวห้างเลย หลายคนชื่อห้างทั้งสามนี้ยังไม่รู้จักด้วยซ้ำไป และเมื่อคนที่เดือดร้อนเหล่านี้ออกมาชุมนุม ออกมาร้องเรียน แต่สิ่งที่ตอบรับจากคนชั้นกลางแทนที่จะเป็นความเข้าใจกลับกลายเป็นความรังเกียจเดียจฉันท์ เป็นพวกสร้างความเดือดร้อน ขี้เกียจ ไม่รู้จักทำมาหากิน ทำให้รถติด สกปรก รับจ้างมาม๊อบ สารพัดสารพันเท่าที่จะคิดได้ ยิ่งมาชุมนุมนาน ๆ ก็ยิ่งละเมิดสิทธิเสรีภาพของชนชั้นกลาง ทำให้ชนชั้นกลางเดือดร้อน จนกระทั่งครั้งหนึ่งนายสมัคร สุนทรเวช สมัยที่เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครถึงขนาดเอาเจ้าหน้าที่เทศกิจมาสลายการชุมนุมของพี่น้องปากมูล เพราะมาสร้างความเดือดร้อนให้กับคนกรุงเทพ ฯ เมื่อผมได้ทราบว่ามีการยกร่าง พรบ.การชุมนุมสาธารณะ นั้นเดิมทีเดียวผมเข้าใจว่าจะเป็นการสนับสนุนการชุมนุมสาธารณะ มากกว่าเป็นการจำกัดสิทธิ เพราะบรรดาผู้รู้หลายคนที่ออกมาพูดว่า ร่าง พรบ.นี้จะเป็นการปกป้องผู้ชุมนุม จะเป็นข้อจำกัดในการทำงานของเจ้าหน้าที่ จะทำให้การสลายการชุมนุมไม่เป็นไปได้ง่าย และจะไม่ทำให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเดือดร้อน แต่เมื่อผมเห็นร่าง พรบ.นี้ จากการที่ได้รับเชิญจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ไปร่วมรับฟังความคิดเห็น ผมพบว่าไอ้พวกผู้รู้ที่ออกมาพูดนั้นล้วนแล้วแต่โกหกตอแหลทั้งสิ้น เพราะร่าง พรบ.นี้เป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม ไม่ใช่การส่งเสริมเสรีภาพในการชุมนุม และยังเป็นการสร้างความชอบธรรมในการสลายชุมนุมของเจ้าหน้าที่ ทำนองว่าถ้าเลยเส้นเมื่อไรเจ้าหน้าที่ก็ล่อได้เลย ยิ่งเมื่อมาได้ฟังจากปากคำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยกร่างเอง ก็ยิ่งเป็นที่ชัดเจนขึ้น เพราะท่านยืนยันว่า ตำรวจไม่มั่นใจว่าจะจัดการกับการชุมนุมอย่างไร เพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ถ้าทำอะไรไปก็อาจจะผิดเหมือนการสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา ถ้ามี พรบ.นี้เจ้าหน้าที่จะได้รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ และทำได้แค่ไหนจะได้ไม่ต้องรับผิด นักกฎหมายก็ว่าเป็นการควบคุมการใช้สิทธิไม่ให้ไปละเมิดคนอื่น เช่น ไม่ไปปิดสนามบิน ไม่ไปปิดทำเนียบ ไม่ไปปิดโรงพยาบาล ไม่ไปปิดโรงเรียน หรือถ้าจะชุมนุมผู้นำการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ที่จะชุมนุม มีวันกำหนดเริ่มมีวันเลิกชุมนุม ฯลฯ เพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่ได้เตรียมการ หรือบุคคลที่เขาไม่เกี่ยวข้องได้เตรียมตัว ถ้าไม่ทำตามก็มีความผิดตามกฎหมายทั้งโทษจำและโทษปรับ ผมอยากจะบอกว่านี่มันเป็นความคิดของพวกอำมาตย์และชนชั้นกลาง เป็นความคิดต้องต้องการปิดกั้นพื้นที่ทางสังคมของคนจน ของไพร่ นี่คือความเอาเปรียบทางชนชั้น เพราะถ้าเป็นการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองของพวกชนชั้นกลาง เขาไม่สนใจกฎหมายนี้หรอกครับ เขาทำได้ เขาขออนุญาตชุมนุมได้ง่าย ๆ ถ้าเขาจะมาชุมนุมในกรุงเทพ แต่ถ้าพี่น้องจากอมก๋อยจะมาชุมนุมหน้าทำเนียบจะต้องมาขออนุญาตที่ สน.ดุสิต ก่อน 7 วัน เขาจะทำได้ไหม ถ้าไม่ทำเขาถูกปรับ ลองคิดว่าคนจนถูกปรับสองพันบาทซึ่งอาจจะเป็นค่าใช้จ่ายทั้งเดือนของเขาเมื่อเทียบกับคนชั้นกลางถูกปรับสองพันบาทที่อาจจะเป็นค่าเหล้าเพียงคืนเดียวของเขา มันสร้างความเดือดร้อนต่างกันขนาดไหน การอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สั่งให้สลายการชุมนุมได้ การกำหนดกติกาให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังในการสลายการชุมนุม แม้จะดูเหมือนเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผุ้ชุมนุม แต่เอาเข้าจริงมันก็จะกลายเป็นเครื่องมือในการข่มขู่คุกคามผู้ชุมนุม และอาจจะเป็นช่องทางในการเรียกรับ/หาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่อีกด้วย ผู้ที่ร่วมยกร่าง พรบ.นี้ ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีการศึกษาร่างกฎหมายของเกาหลีใต้ เพื่อนำมาเป็นแนวทางข้อเปรียบเทียบในการยกร่างกฎหมายของไทย โดยสรุปว่าร่างกฎหมายของเกาหลีใต้นั้นดี ทำให้การชุมนุมอยู่ในความสงบเรียบร้อย และไม่รบกวนคนอื่น แต่เมื่อผมสอบถามไปยังสมาคมชาวนาเกาหลีใต้และสมาคมชาวนาผู้หญิงเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสมาชิกองค์กรชาวนาโลกเช่นเดียวกับสมัชชาคนจนกลับได้รับคำตอบว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิในการชุมนุม เป็นกฎหมายของจอมเผด็จการ โรห์ แต วู และยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมมาว่าคนไทยต้องคัดค้านกฎหมายลักษณะนี้ให้ถึงที่สุดเพราะหากปล่อยให้มีกฎหมายอย่างนี้ออกมาก็จะเป็นปัญหากับคนไทยเอง โดยเฉพาะกับคนจน คำกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ศึกษานั้นศึกษาเฉพาะตัวกฎหมายและผู้ได้รับประโยชน์จากการใช้กฎหมายก็คือชนชั้นกลางและชนชั้นสูง โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายซึ่งเป็นคนจนเลย กลุ่มคณะผู้ยกร่างกฎหมายนี้ดูปรากฎการณ์จากการชุมนุมของพวกเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเป็นหลัก แต่ไม่ได้ดูการชุมนุมของคนเล็กคนน้อยตามหัวเมืองเลยแม้แต่น้อย พวกเขาไม่เคยเห็นพี่น้องคนจนที่ถูกกดขี่ ทารุณจากอำนาจรัฐท้องถิ่น จนต้องออกมาประท้วงโดยทันทีทันควัน พวกเขาคิดว่าการชุมนุมเป็นเรื่องง่าย ๆ กำหนดวันเริ่มกำหนดวันเลิกก็ได้ พวกเขาไม่เคยคิดว่าปัญหาอันเนื่องมาจากการชุมนุม เช่น การที่ผู้ชุมนุมปิดถนนก็เพราะตัวแทนของรัฐที่มาเจรจาไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีทักษะในการเจรจา การที่เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธสลายการชุมนุมจนเกิดการบาดเจ็บล้มตายก็เนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการสลายการชุมนุมตามหลักสากล ดังจะเห็นได้จากการสลายการชุมนุมที่สี่แยกคอกวัวเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 ที่ตำรวจ ทหารใช้ปืนยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมโดยไม่ได้ใช้น้ำ สเปรย์พริกไทย กระบอง กระสุนยาง ตามที่โฆษก ศอฉ. ออกมาแถลงโกหกต่อสาธารณชนไว้ นอกจากนี้ผู้ที่ร่วมยกร่างกฎหมายนี้ล้วนแล้วแต่เป็นชนชั้นกลาง ชนชั้นปกครอง ที่ปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นของเขาเป็นหลัก ถ้าชนชั้นของเขาได้รับความลำบากเพียงเล็กน้อย เสียผลประโยชน์เพียงบางส่วนเขาก็ออกมาโวยวาย มาปกป้อง โดยไม่ได้คิดคำนึงเลยว่าความสะดวกสบาย ผลประโยชน์ที่ได้ชนชั้นพวกเขาได้รับอยู่ทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่มาจากการขูดรีดของชนชั้นปกครอง ชนชั้นกลางทั้งนั้น ที่พวกเราคนจน ชนชั้นล่างที่ต้องออกมาเคลื่อนไหว ออกมาชุมนุม ก็เพราะอดรนทนไม่ไหวต่อการกดขี่ขูดรีดจากพวกชนชั้นกลาง ชนชั้นปกครองเหล่านี้ พรบ.การชุมนุมสาธารณะ จึงเป็นเครื่องมือในการกดขี่ขูดรีดคนจนอีกชิ้นหนึ่งที่พวกเราต้องคัดค้านให้ถึงที่สุด
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
กวีประชาไท: กฤช เหลือลมัย กับ"บทสนทนาถึงผู้มาก่อนกาล" Posted: 24 Jun 2010 08:44 AM PDT <!--break--> หลายครั้งเรา ไม่อาจรู้.. แสงหรุบหรู่อยู่ต่อหน้า ข้าฯ ขอระลึก นึกถึงพวกเขา ผู้คน–เรื่องราว อันวีระอาจหาญ ข้าฯ เคยสงสัย, ว่าที่ผ่านไป..หากไม่มีพวกเขา ข้าฯ ขอเคารพในความงดงามของความหาญกล้า ..มืดมิดมาตลอดคืน เราตื่นเช้า
กฤช เหลือลมัย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ประชาชนจัดกิจกรรมรำลึก 78 ปีคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง Posted: 23 Jun 2010 08:01 PM PDT ประชาชนกลุ่มหนึ่งรวมตัวบริเวณหมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อรำลึกครบรอบ 78 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 <!--break--> เช้าวันนี้ (24 มิ.ย.) เมื่อเวลา 06.05 น. นักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชนประมาณ 20 คน รวมตัวกันบริเวณหมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านหน้าสนามเสือป่า เพื่อรำลึกวันครบรอบ 78 ปี ที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น