โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ไทยตั้งศูนย์ ฉก.จับกุมแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย-ตร.เร่งจับอ้างพัวพันขบวนการใต้ดิน

Posted: 16 Jun 2010 02:01 PM PDT

<!--break-->

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 53 ที่ผ่านมา พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจปราบปรามจับกุมและดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน โดยมอบหมายให้ตนเป็นประธาน หลังจากที่ยังพบว่ามีแรงงานต่างด้าวฝ่าฝืนไม่มายื่นขอใบอนุญาตทำงานและเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติอีกถึง 383,677 คน จากแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 1.31 ล้านคน แม้ว่ารัฐบาลจะผ่อนผันให้แรงงานดังกล่าวมาต่ออายุใบอนุญาตทำงานแล้วก็ตาม

พร้อมกันนี้ จะมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นอีก 5 ชุด เพื่อตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีกับแรงงานต่างด้าว ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง และ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว โดยคณะทำงานทั้ง 5 ชุดจะแบ่งความรับผิดชอบตามพื้นที่ คือ ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคกลาง-ตะวันออก, ภาคใต้ และกทม. ซึ่งจะมีการสนธิกำลังร่วมกันของตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง

ทั้งนี้ หากพบว่านายจ้างหรือสถานประกอบการใดมีการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบทำงาน จะมีโทษสูงสุด คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนคนต่างด้าวมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท แต่หากตรวจพบขณะทำงานนั้น นายจ้างจะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน ส่วนคนต่างด้าวมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พล.ต.สนั่น ย้ำด้วยว่า กรณีที่พบเห็นข้าราชการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบขนย้ายแรงงานต่างด้าว เมื่อถูกจับกุมได้จะถูกดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด

ด้าน พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ( ผบช.น.) กล่าวถึงการดูแลความสงบเรียบร้อยรักษาความปลอดภัยพื้นที่ กทม.ขณะที่อยู่ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า พื้นที่ กทม.ยังไม่มีการประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแต่อย่างใด ได้ให้นโยบายการปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกท้องที่ไปแล้วว่า หากพบมีการกระทำความผิดก็ให้จับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายในทันที รวมถึงให้จัดกำลังตำรวจคุมเข้มดูแลสถานที่สาธาณะสาธารณูปโภคและการคมนาคมต่างๆ โดยเฉพาะสถานีไฟฟ้าใต้ดินบนดิน ห้างสรรพสินค้าที่เป็นจุดเสี่ยง พื้นที่เสี่ยงพื้นที่เป้าหมายต่างๆ ยังคงให้ความสำคัญอยู่ตามปกติรวมถึงการกวาดล้างจับกุมแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายด้วย

"ตลอดสัปดาห์นี้ตำรวจนครบาลทุกหน่วยจะเข้มงวดกวดขันกวาดล้างจับกุมแรงงานเถื่อนทั้งหมด โดยเฉพาะต่างด้าวที่ทำผิดกฎหมาย รวมไปถึงแรงงานต่างชาติที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายต่าง ๆ ตลอดจนการเข้มงวดดูแลเกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่ให้มีการลักลอบทำผิด กฎหมาย โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ผู้กระทำผิดสามารถโทรเรียกเพื่อนให้มาร่วมกันก่อ เหตุได้" ผบช.น.กล่าว

การดำเนินการดังกล่าวจะทำควบคู่ไปกับการระดมกวาดล้างอาวุธปืน ยาเสพติดยังคงมีการดำเนินงานขยายผลการจับกุมอยู่ต่อเนื่อง รวมถึงการตั้งด่านในที่ต่าง ๆ ก็จะยังคงมีอยู่ตำรวจคงต้องทำงานเหนื่อยขึ้น ซึ่งในวันนี้ได้เรียกนายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาหน่วยงานประชุมทำความ เข้าใจการปฏิบัติงานให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามแบบแผนที่วางไว้แล้ว

 

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: อินโฟเควส, เนชั่นทันข่าว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนงานโรงเหล็กไทยคูน ประท้วงนายจ้างเบี้ยวขึ้นเงินเดือน-โบนัส

Posted: 16 Jun 2010 01:50 PM PDT

<!--break-->

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมาสหภาพแรงงานไทยคูน ประเทศไทย นำโดย นายชัชวาล ลัมเพชร ประธานสหภาพ เข้าพบ นายสมชาย วงศ์ทอง รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อขอความช่วยเหลือหลังจากแรงงานได้รับความเดือดร้อนจากกรณีข้อพิพาทกับนายจ้างคือบริษัท ไทยคูน เวิลด์ไวด์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โดย นายชัชวาล กล่าวว่า ตั้งแต่เข้าสู่กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พนักงานก็ถูกกลั่นแกล้งมาโดยตลอด ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2553 ก็ถูกบริษัทไล่ไม่ให้เข้าไปในหอพัก ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของพนักงาน ทั้งที่มีการจ่ายค่าเช่าทุกเดือน นอกจากนี้ยังมีการจ้างชายฉกรรจ์ไปยืนเฝ้าทางเข้าออกหอพักด้วย

อีกทั้งกรณีการลอบทำร้ายกรรมการสหภาพแรงงาน ซึ่งได้มีการแจ้งความกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไปแล้ว ทว่าคดีความก็ยังไม่คืบหน้า จนถึงขณะนี้พนักงานในฝ่ายของสหภาพเกิดความวิตกถึงความไม่ปลอดภัย จึงต้องการให้กระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลเรื่องความเดือดร้อนดังกล่าว

สำหรับเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของสหภาพนั้น นายชัชวาล กล่าวว่า เป็นเรื่องที่บริษัทละเลยมาตลอด และไม่มีความชัดเจนที่จะแก้ปัญหา ทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานมีมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่พนักงานต้องสูญเสียอวัยวะนิ้วมือทั้ง 4 นิ้วจากการทำงาน และบางรายถึงขั้นตาบอด ขณะนี้ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล โดยที่ทางบริษัทไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (17 มิ.ย.) เวลา 10.00 น. จะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกันอีกครั้ง ที่สำนักงาน อบต.นิคมพัฒนา จ.ระยอง หลังจากที่มีการเจรจาไกล่เกลี่ยก่อนหน้านี้มาแล้ว 16 ครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงาน บริษัท ไทยคูน กว่า 400 คน จากทั้งหมดกว่า 700 คน ต้องใช้ชีวิตกินอยู่หลับนอน ริมถนนหน้าโรงงาน ในตำบลนิคมพัฒนา อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง มานานเกือบ 1 เดือน หลังจากรวมตัวกันเรียกร้องให้นายจ้างชาวไต้หวันให้ปรับเงินเดือน และโบนัส ตามกฎหมาย แต่ก็ไร้ผล

นายจารึก บุญยัง พนักงานที่ร่วมประท้วง ยอมรับว่า การมากินอยู่หลับนอนริมถนน ทั้งอันตรายและลำบาก แต่ก็ต้องทำ เพื่อเรียกร้องให้นายจ้างยอมทำตามข้อกฎหมาย คือ การ ปรับเงินเดือนให้แก่พนักงาน และยอมจ่ายโบนัส เพื่อช่วยเหลือพนักงานที่มีรายได้น้อย

นางเบญจวรรณ ราชวงศ์ อีกหนึ่งในคนงานผู้ประท้วง บอกว่า การรวมตัวกันประท้วง ทำให้นายจ้างไม่พอใจ ไล่ออกจากหอ แล้วนำคนงานต่างด้าวเข้าไปสวมแทนคนงานไทย จึงพากันไปร้องต่อศาล นายจ้างก็อนุญาตให้เข้าไปอยู่ได้ แต่ไม่ให้อยู่ในห้องเดิม ให้ไปอยู่ชั้นล่างของหอ อยู่รวมกันอย่างแออัด ซึ่งเป็นการกลั่นแกล้งและไม่เป็นธรรม--จบ--

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แอฟริกาใต้ 2010 : ไทยกระชับพื้นที่ถ่ายทอดสดบอลโลก “จานดำ” จอมืด (อีกแล้ว)

Posted: 16 Jun 2010 01:11 PM PDT

<!--break-->

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในการแข่งขันในกลุ่มอี ระหว่าง "ฮอลแลนด์" กับ "เดนมาร์ก" ที่มีกำหนดการแข่งขันในเวลา 18.30 น. ซึ่งจะถ่ายทอดสัญญาณผ่านดาวเทียมทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 นั้น ปรากฎว่าก่อนถึงเวลา 18.00 น. ผู้ประกาศข่าวช่อง 3 แจ้งผ่านรายการข่าวเด่นเย็นนี้ว่า สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ได้เข้ารหัสสัญญาณการถ่ายทอดสดเวิลด์คัพ 2010 ส่งผลให้จานดาวเทียมระบบซีแบนด์ ดาวเทียมไทยคม 2 หรือที่เรียกว่า “จานดำ” ไม่สามารถรับชมการแข่งขันได้ ดังนั้นถ้าแฟนบอลต้องการชมฟุตบอลโลก ต้องติดตั้งเสาอากาศเท่านั้น
กระทั่งเวลา 18.00 น. ซึ่งเป็นกำหนดการถ่ายทอดการแข่งขัน ปรากฏว่า จอช่อง 3 มืดทันที โดยมีข้อความระบุว่า "เนื่องด้วยสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า กำหนดให้มีการเข้ารหัสสัญญาณการถ่ายทอดสดทุกคู่ อันจะทำให้การรับชมผ่านทางดาวเทียมไม่สามารถทำได้ จึงเรียนมาเพื่อให้ผู้ชมรับชมการถ่ายทอดสดผ่านทางการใช้เสาอากาศ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยประการใดสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2810-0777 ต่อ 230"
เกี่ยวกับกรณีนี้ นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าในกรณีที่มีการสอบถามเข้ามาถึงเรื่อง ทำไมการแข่งขัน 2010 ฟีฟ่า เวิล์ด คัพ เซาธ์ แอฟริกา จึงไม่มีการถ่ายทอดสดพิธีเปิด บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารจัดการสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขัน 2010 FIFA World Cup South Africa (2010 ฟีฟ่า เวิล์ด คัพ เซาธ์ แอฟริกา) ขอชี้แจงกรณีดังกล่าว เป็นเหตุมาจากเรื่องข้อจำกัดของเวลา ซึ่งเป็นผลมาจากที่ทาง Federation Internation ale de Football Association หรือ FIFA ได้ทำการแจ้งเพื่อยืนยันกำหนดการพิธีเปิด 2010 ฟีฟ่า เวิล์ด คัพ เซาธ์ แอฟริกา อย่างเป็นทางการ ว่าจะเริ่มต้นในเวลา 19.10 น. และจะจบพิธีการทั้งหมดในเวลา 19.45 น. ตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งเป็นการแจ้งกำหนดการอย่างกระชั้นชิดเพียง 2 สัปดาห์ล่วงหน้าก่อนทำการแข่งขัน
ในขณะที่ทาง อาร์เอส ช่อง 3 และช่อง 7 ได้จัดเตรียมแผนงานล่วงหน้า รวมถึงตารางการถ่ายทอดไว้เสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้นปี ซึ่งในแผนที่วางไว้ก็ได้เผื่อเวลาในช่วงพิธีเปิดไว้แล้ว 30 นาที โดยเริ่มรายการในเวลา 20.30 น. และถ่ายทอดสดนัดเปิดสนามคู่แรกระหว่าง แอฟริกาใต้ และ เม็กซิโก ในเวลา 21.00 น. ซึ่งปกติในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านๆมา พิธีเปิดจะอยู่ในช่วงก่อนการแข่งขันคู่แรกครึ่งชั่วโมง ซึ่งทาง อาร์เอส ก็เผื่อเวลาในช่วงนี้ไว้แล้ว แต่จากการเปลี่ยนแปลงการเริ่มต้นของพิธีเปิดที่เร็วขึ้น ผนวกกับการแจ้งที่ล่าช้า และแผนงานที่เราเตรียมล่วงหน้าไว้แล้ว บริษัทฯจึงตัดสินใจไม่แทรกคิวพิธีเปิด ในวันที่ 11 มิ.ย. ในช่วงเวลาปกติของทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
แต่ถึงอย่างไร ทางอาร์เอส ก็ได้ทำการคัดเลือกและส่งภาพไฮไลท์ บรรยากาศพิธีเปิด 2010 ฟีฟ่า เวิล์ด คัพ เซาธ์ แอฟริกา ไปยังสถานีโทรทัศน์ และช่วงข่าวของ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 , สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 แล้ว เพื่อให้คนไทยได้เห็นภาพบรรยากาศของพิธีเปิดบอลโลก มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยข้อจำกัดตามที่แจ้งมาเบื้องต้น
สำหรับกรณีเรื่องการที่ประชาชนในบางพื้นที่ที่รับสัญญาณตรงจากดาวเทียมไม่สามารถรับสัญญาณถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ออกอากาศในเวลา18:30 ของวันที่ 14 มิถุนายนนั้น อาร์เอส ขอชี้แจงว่า ปัจจุบันทาง FIFA เข้มงวดในเรื่องการส่งสัญญาณการถ่ายทอดสดมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดว่าผู้ได้รับสิทธิในแต่ละประเทศ จะต้องเข้ารหัสสัญญาณถ่ายทอดสด(Encryption)หากมีการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิของผู้ได้รับสิทธิในประเทศอื่น ทั้งนี้ในกรณีของประเทศไทยนั้นสถานีโทรทัศน์ทุกช่องได้มีการส่งสัญญาณการออกอากาศผ่านดาวเทียมเพื่อนำไปออกอากาศอีกครั้งในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาสถานีไม่ได้มีการเข้ารหัสสัญญาณ ทำให้ผู้ที่ต้องการใช้สัญญาณสามารถดึงสัญญาณเหล่านั้นไปใช้ได้ผ่ านการรับจากจานดาวเทียมประเภทต่างๆที่ไม่มีการเข้ารหัสสัญญาณ แต่ในครั้งนี้สถานีจำเป็นต้องเข้ารหัสสัญญาณสำหรับการส่งสัญญาณการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในครั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามกฎของฟีฟ่าและไม่ละเมิดสัญญาของผู้ได้รับสิทธิในประเทศข้างเคียง อันอาจทำให้เกิดการระงับสัญญาณทั้งหมดโดยฟีฟ่า อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ชมที่รับสัญญาณจากฟรีทีวีตามปกติผ่านเสาอากาศยังสามารถรับชมการออกอากาศของสถานีทุกช่องได้ตามปกติ
ทั้งนี้นอกจากการรับชมผ่านทางฟรีทีวีทุกช่องโดยการใช้เสาอากาศหรือเสาก้างปลาแล้ว ประชาชนทั่วไปยังสามารถรับชมบอลโลกผ่านช่องฟรีทีวีทุกช่องบนทุกระบบสมาชิกของ True Vision ได้อีกด้วย ทางบริษัทฯอาร์เอส ต้องขออภัยในความไม่สะดวกในการรับชมบอลโลกมา ณ โอกาสนี้
 
ประเด็นเพิ่มเติม
- ผู้ที่ได้รับผลกระทบในการ Encryption สัญญาณในครั้งนี้ได้แก่ ผู้ที่รับสัญญาณโทรทัศน์ในระบบ C-Band หรือ จานดำ
- การเปลี่ยนดาวเทียมไทยคม 2 เป็นไทยคม 5 นั้น ส่งผลกระทบกับเรา เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนเข้ามาในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ จากต่างประเทศ
- ซึ่งที่ผ่านมามีการออกอากาศไปแล้วหลายคู่ เนื่องจาก อาร์เอส ช่อง 3 ช่อง 7 มีเจตนาที่ดี ต้องการให้คนไทยได้ชมบอลโลกฟรี แต่ได้รับการแจ้งเตือนจาก ฟีฟ่า ให้ใช้การ Encryption มิฉะนั้น จะต้องระงับสัญญาณของ ฟีฟ่า
- ซึ่งปัจจุบันนี้เราได้ทำตามกฎและข้อบังคับ เรื่องของการ Encryption สัญญาณ เรียบร้อยแล้ว ปัญหากับฟีฟ่าจึงหมดไป
- ต่อไปนี้สิ่งที่เราต้องทำคือการเร่งรีบประชาสัมพันธ์ และทำความเข้าใจกับผู้ชม ให้สามารถรับชมบอลโลกได้อย่างทั่วถึง
- สำหรับโทษที่ฟีฟ่าตั้งไว้ สำหรับผู้ที่ไม่ทำการกฎเกณฑ์ ก็คือตัดสัญญาณ ซึ่งจะส่งผลกระทบและความเสียหายกับอาร์เอสเป็นอย่างมาก รวมถึงชื่อเสียงของประเทศอีกด้วย
- สำหรับผู้ที่รับสัญญาณโทรทัศน์ในระบบ C Band ก็สามารถติดต่อเพื่อขอคำแนะวิธีการรับชมได้ที่ PSI Call Center 02-730-2999
นางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการอาร์เอส กล่าวว่า เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ฟรีทีวีทุกช่องของไทยได้เปลี่ยนระบบการออกอากาศผ่านดาวเทียมจากดาวเทียมไทยคม 2 ไปไทยคม 5 ทำให้การส่งสัญญาณภาพครอบคลุมจำนวนประเทศมากขึ้น เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา ผู้ประกอบการที่ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกจากอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการลิขสิทธิ์กีฬารายใหญ่ที่สุดของอินเดีย ร้องเรียนไปยังฟีฟ่าว่าสัญญาณภาพฟุตบอลโลกจากประเทศไทยเผยแพร่ ไปยังอินเดีย ทำให้ได้รับผลกระทบจากการบริหารลิขสิทธิ์ เพราะหลายประเทศมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการรับชมฟุตบอลโลกครั้งนี้ ฟีฟ่าจึงมีคำสั่งให้ไทยแก้ปัญหาด้วยการล็อกรหัสสัญญาณตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ แต่อาร์เอสได้ขอเจรจามาดำเนินการในวันที่ 14 มิถุนายนแทน และหากไม่ดำเนินการฟีฟ่าจะตัดสัญญาณถ่ายทอดสดในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ชมทั้งประเทศ
"นอกจากอินเดียแล้วยังพบว่ามีหลายประเทศในอาเซียน ร้องเรียนไปยังฟีฟ่าว่าสัญญาณภาพบอลโลกจากไทยได้แพร่ภาพไปละเมิดสิทธิ์ในประเทศอื่นๆ ทำให้อาร์เอสต้องล็อกรหัสสัญญาณฟรีทีวี ซึ่งไม่เคยดำเนินการมาก่อนเช่นกัน" นางพรรณกล่าว
ส่วนประเด็นการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกจอมืดตั้งแต่คู่ ฮอลแลนด์ พบ เดนมาร์ก ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง แม้แต่ในทวิตเตอร์เองก็มีการถกถึงเรื่องนี้ ก่อนจะนำข้อควาทวิตโต้ตอบระหว่างคนวงในที่ใช้ชื่อ "กุ้ง พรพรรณ @kung pornpan" ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.อาร์เอส ที่ได้รับแจ้งจากฟีฟ่ามาตั้งแต่คืนวันที่ 13 มิถุนายน 2553 กับข้อสังเกตของ "Prarot Vilapasuwan@pranot"จากเนชั่นทีวีนำมาลงในบล็อกโอเคเนชั่น
โดย "กุ้ง พรพรรณ" ทวิตได้ตั้งแต่เวลา 21.30 น.วันที่ 13 มิถุนายน 2553 หรือ 1 วันก่อนจะเกิดเหตุการณ์ปิดสัญญาณถ่ายทอดสดผ่านเคเบิลทีวีว่า "ทุกคนกำลังมีความสุขกับบอลโลก แต่ดิฉันกังวลมากเลยที่จะมืดดับไปเพราะฟรีทีวีไทยไม่ได้สนใจเรื่องการเข้ารหัสสัญญาณ" จากนั้น 20 นาทีต่อมาจึงมีทวิตตามมาอีกหัวข้อว่า "มีการต่อสายจากฟีฟ่ามาถึงเธอในวันนั้น"
ทั้งนี้ "Pranot Vilapasuwan@pranot" ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ในเย็นวันเดียวกันเกี่ยวกับสาเหตุของปัญหาที่ทำให้คนไทยดูฟรีทีวีจากจานดำไม่ได้เป็นข้อๆ ดังนี้ 1.จากการตรวจสอบไทยน่าจะเป็นชาติเดียวในภูมิภาคนี้ที่ให้รับชมสัญญาณบอลโลกแบบ free - to - air ซึ่งกำลังเป็นปัญหา 2.สัญญาณฟุตบอลโลกในระบบซีแบนด์ของไทยถูกโอเปอเรเตอร์ที่อินเดีย อินโดนีเซีย และอีกหลานประเทศแอบลักสัญญาณไปออกอากาศ 3.โอเปอเรเตอร์ที่เดือดร้อนเลยฟ้องไปที่ฟีฟ่า เพราะประเทศรอบบ้านเราขายรายการฟุตบอลโลกแบบ Pay-tv กันทั้งนั้น
ดังนั้น ในประเทศไทยตอนนี้ใครจะดูบอลโลกที่ฉายผ่านช่อง 3, 7, 9 และ 11 จะดูได้เฉพาะใช้เสารับสัญญาณหนวดกุ้งกับเสาก้างปลาหรือรับตรงจากจานดาวเทียมเคยูแบนด์ จานทีวี (จานเหลือง) จานแดง - จานขาว (ยูบีซี) ถึงจะสามารถดูบอลโลกได้ ส่วนจากซีแบนด์พีเอสไอ ดูช่อง 69 ลาวสตาร์
หลังจากนั้น "กุ้ง พรพรรณ" กลับมาชี้แจงเพิ่มเติมว่า การย้ายดาวเทียมฟรีทีวีของไทยไปอยู่บนไทยคม 5 ซึ่งมีฟุตปรินท์กว้างมากส่งผลกระทบต่อผู้ถือลิขสิทธิ์ใหญ่ทางช่องกีฬารายหนึ่งในอินเดีย และฟีฟ่าเล่นงานไทยมาตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 13 มิถุนายน โดยจะระงับสัญญาคู่สุดท้ายให้ได้ จึงมีการร้องขอให้การแข่งขันจบลงก่อน แล้วจะแก้ปัญหาทั้งหมด โดย "กุ้ง พรพรรณ" ใช้คำว่าต้องใช้พลังของผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการกีฬาบ้านเราท่านหนึ่งต่อสายถึงเลขาฯฟีฟ่า เพื่อให้ผ่านคืนนั้นไปก่อน รุ่งขึ้นจึงเรียกประชุมทุกฝ่ายเพื่อหาทางออก

 
นานาทัศนะ
 
นายวิชิต เอื้ออารีวรกุล อุปนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับผู้ชมระบบเคเบิลทีวีไม่มีปัญหา เนื่องจากการรับสัญญาณของเคเบิลทีวีทุกวันนี้ มี 3 ระบบ คือ ระบบเสาอากาศ ระบบจานดาวเทียมเคยู แบนด์ และระบบซี แบนด์ เมื่อระบบซี แบนด์ ถูกเข้ารหัสไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดได้ จึงเปลี่ยนไปรับสัญญาณจากเสาอากาศ หรือจานเคยู แบนด์แทน
 
“ต่อไปลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬาสำคัญๆ หากผ่านระบบจานดาวเทียมแบบฟรี ทู แอร์ เจ้าของลิขสิทธ์อาจไม่ยอม เพราะเจ้าของลิขสิทธิ์ก็อยากขายสิทธิให้แต่ละประเทศ ไม่ใช่ซื้อแค่ 1 ประเทศ แต่รับชมได้กว่า 40 ประเทศ”
 
นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะเชิญนักกฎหมายและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือ เพื่อตีความกฎหมายลิขสิทธิ์มาตรา 29 (3) ว่าเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2010 ที่ติดตั้งจอฉายภาพขนาดใหญ่ภายในโรงแรม และโฆษณาเชิญชวนประชาชนให้มาใช้บริการได้หรือไม่ และเข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างไร
 
เกิดปัญหาจอมืดการถ่ายทอดสดในประเทศไทยนั้น ต้องร้องเรียนไปยังฟีฟ่าให้ปรับระบบใหม่ ทำให้ตอนนี้คนไทยจะดูได้เฉพาะทีวีติดก้างปลา และหนวดกุ้งเท่านั้น
 
นายวรสิทธิ์ ลีลาบูรณพงษ์ พรรมการบริหารการตลาด บริษัทพีเอสไอ โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตจำหน่ายและติดตั้งจานรับสัญญาณดาวเทียมระบบซีแบนด์ พีเอสไอกล่าวว่า ปัจจุบันมีจานพีเอสไออยู่ในตลาดกว่า 5 ล้านจาน โดยมีจำนวน 1 ล้านจาน ที่เป็นจานรับสัญญาณแบบรุ่นใหม่ และเป็นชุดเซต ท็อป บ็อกซ์แบบโอทู (O2) ที่สามารถล็อกรหัสได้ ซึ่งขานรุ่นใหม่นี้สามารถรับชมบอลโลกได้ แต่จานดำพีเอสไอรุ่นเก่า อีกกว่า 4 ล้านจาน ที่ไม่มีการล็อกรหัสคงไม่สามารถรับชมบอลโลกในครั้งนี้ได้ โดยพีเอสไอชี้แจงปัญหาดังกล่าวฝนช่องพีเอสไอตั้งแต่เวลา 20.00 น.วันที่ 15 มิถุนายนเบื้องต้นแนะนำลูกค้าที่ติดตั้งจานพีเอสไอรุ่นเก่าให้จานรับสัญญาณไปรับชมบอลโลกจากดาวเทียมดวงอื่น ที่ไม่มีการล็อกรหัส และออกอากาศแบบฟรีทูแอร์ โดยรับชมได้จากแทนพีเอสไอ เช่นจากกล่าวแทน
 
ทั้งนี้ ปัญหาจานดำไม่สามารถรับชมบอลโลกได้ น่ายจะส่งผลต่อยอดขายพีเอสไอ ในเดือนมิถุนายนนี้ ให้มียอดขายในระดับปกติเดือนละ 1.4 - 1.5 แสนจาน ต่ำกว่าเดือนพฤษภาคมที่เติบโต 20% หรือมียอขาย 1.7-1.9 แสนจานจากกระแสตื่นตัวบอลโลก
 
นายพรวุฒิ อมราสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ดีทีวี เซอร์วิส จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายจานเหลืองดีทีวี ระบบเคยูแบนด์ กล่าวว่า จานดีทีวี เป็นจานดาวเทียมที่มีการล็อกรหัสสัญญาณและมีการแพร่ภาพเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น มีรูปแบบการออกอากาศเช่นเดียวกับทรูวิชั่นส์ และยังสามารถรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกทางช่องฟรีทีวี จากจานรับสัญญาณทีวีได้ตามปกติ
 
อย่างไรก็ตามก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกจะเริ่มขึ้น มีกระแสตื่นตัวในการติดตั้งจานดีทีวีเพิ่มขึ้น โดยมียอดขายเติบโตจากปกติ 30% แต่หลังจากเกิดปัญหาจานดำ ระบบซีแบนด์ ไม่สามารถรับชมฟุตบอลโลกได้ เชื่อว่าจะส่งผลบวกต่อยอดขายจานดีทีวีในเดือนมิถุนายนให้มียอดขายเติบโตระดับ 40-50% คาดว่าสิ้นปีนี้จะมียอดจำหน่ายครบ 1 ล้านชุด
 
 

 
อนึ่งมีการประมาณการกันว่าจานดำในระบบซีแบนด์ที่รับสัญญาณจากดาวเทียมไทยคม 2 นี้มีการติดตั้งในประเทศไทยประมาณ 4 – 6 ล้านครัวเรือน โดยเนื้อหาของรายการจากจานดำนี้โดยเฉพาะของกลุ่มคนเสื้อแดง เคยถูกบล็อกมาหลายครั้งตั้งแต่การชุมนุมเดือนเมษายนปี 2552 และการชุมนุมเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553
ที่มาเรียบเรียงจาก:
ตัดสัญญาณบอลโลกจานดำสปอนเซอร์มึนคนดูหาย 24 ล้าน (เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์, 16-06-2010)
4 ล.จานดำอดดูบอล อาร์เอสโยนฟีฟ่าสั่งบล็อก หลังจับได้อินเดียแอบดูด (เว็บไซต์คมชัดลึก, 16-06-2010)
พณ.ถกแก้ปมลิขสิทธิ์บอลโลก "ทรู-เสาทีวี"ขายดีหลัง"จานดำ"เดี้ยง (แนวหน้า, 16-06-2010)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ลูกสาว "เสธ.แดง" จี้นายกรับผิดชอบกรณีคนตาย

Posted: 16 Jun 2010 10:54 AM PDT

<!--break-->

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 53 ที่ผ่านมาผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ลุมพินีสถาน สวนลุมพินี กลุ่มเครือข่ายพลังบวก นายภาณุ อิงคะวัต ประธานเครือข่าย นายชัยประนิน วิสุทธิผล รองประธานเครือข่าย และ นายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้จัดการเครือข่าย ร่วมกันแถลงข่าว เปิดตัวเครือข่ายพลังบวก โดยเป็นการรวมพลคนไทย เปิดเครือข่ายพลังบวก ปลุกแนวคิดสร้างสรรค์ ช่วยชาติเดินหน้าฝ่าวิกฤต และเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืน เป็นการปลุกพลังบวก เปลี่ยนประเทศไทย สร้างชาติให้น่าอยู่แบบไม่เกี่ยวการเมือง

นายภาณุ อิงคะวัต ประธานเครือข่ายพลังบวก กล่าวว่า เครือข่ายพลังบวกเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มบุคคลหลากหลายวิชาชีพ อาทิ วงการโฆษณา โซเชียลเน็ตเวิร์ค พีอาร์ อีเว้นท์ ตลอดจนเครือข่ายภาคประชาชน ตัวแทนสมาคม องค์กร บริษัท ข้าราชการ และนักวิชาการทั่วประเทศ ซึ่งมีแนวคิดยุติความแตกแยกของคนในสังคม และต้องการเห็นประเทศไทยเดินหน้ากันต่อไปอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืน หลังจากที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ความไม่สงบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินของทุกคน เป็นการทำลายภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือต่อประเทศไทยอีกด้วย

นายภาณุ ยังกล่าวต่อว่า วันนี้คนไทยต้องเข้าใจบทบาท หน้าที่ และพลังที่มีอยู่ในตัวเอง เพราะทุกความคิด ทุกคำพูด ทุกการกระทำที่แสดงออกมาล้วนส่งผลต่อสังคมทั้งสิ้น การรวมพลคนคิดบวกในครั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมาย คือ คนไทยทุกภาคส่วนหันมาสนใจรับฟังกันมากขึ้น แสดงพลังร่วมกันผลักดันสู่การเปลี่ยนแปลง เป็นรูปธรรมในระดับครอบครัว ชุมชน และประเทศต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มต้นที่ยั่งยืน

นายชัยประนิน วิสุทธิผล รองประธานเครือข่ายพลังบวก กล่าวว่า ด้านแนวทางการสื่อสาร เพื่อรณรงค์ปลุกพลังบวกเปลี่ยนประเทศไทย จะดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาพยนตร์โฆษณาชุด “ต่อไปนี้ถ้าเธอพูด ฉันจะฟัง” ที่จะออกอากาศสู่สาธารณชนในสัปดาห์หน้า เนื้อหาหลักเพื่อกระตุ้นคนไทยหันมารับฟัง และทำความเข้าใจข้อเท็จจริงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมกัน และใช้พลังบวกสร้างสรรค์แนวทางแก้ไขปัญหา รวมถึงการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ทางวิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค เว็บบอร์ด ทวิตเตอร์ และโปสเตอร์ แบนเนอร์ อีกด้วย

นายชัยประนิน ยังกล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่จะผลักดันให้เกิดเป็นโครงการสำรวจความต้องการของประชาชนทั่วประเทศ (พีเพิลโพล) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ชี้วัดระดับความเป็นอยู่ มาตรฐานรายได้ เศรษฐกิจองค์รวม การศึกษา รวมไปถึงสภาพสิ่งแวดล้อม ความถูกต้อง ความผิดชอบชั่วดี ศีลธรรมจรรยาบรรณ โดยพีเพิลโพลจะเป็นเครื่องมือในการรวบรวมความต้องการของประชาชนทุกภาคส่วน และยังเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นการทำงานของรัฐบาล โดยนำเอาผลสำรวจขึ้นแถลงเป็นไตรมาส และชี้ให้เห็นดัชนีระหว่างความต้องการของประชาชนทั้งประเทศ กับผลงานการทำงานของภาครัฐ

นายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้จัดการเครือข่าย กล่าวว่า กิจกรรมที่จะจัด จะมีเวทีอิกไนท์ ไทยแลนด์ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้พูด และยังเปิดโอกาสให้แนวร่วมคิดบวกได้เข้ารับฟังแนวคิดสร้างสรรค์ แง่มุมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ นอกจากนี้ ยังจะขยายไปต่างจังหวัด เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้มีโอกาสพูด และรับฟังอย่างเท่าเทียมกัน โดยในวันนี้จะมีบุคคลหลากหลายอาชีพเข้าร่วมนำเสนอแนวทางดี ๆ เพื่อสร้างชาติให้แข็งแกร่ง อาทิ พระศรีญาณโสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม 9 น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ โดยจะมีการพูดคนละ 5 นาที เพื่อเป็นการสร้างแรงบัลดาลใจให้กับผู้ฟัง

"ลูกเสธ.แดง" ไม่เชื่อมั่นแผนปรองดอง ระบุนายกฯต้องแสดงความรับผิดชอบกรณีคนตาย

น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล บุตรสาวของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกที่เสียชีวิตจากการถูกลอบยิง กล่าวในหัวข้อ การเมืองกับครอบครัวจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ว่า เรื่องการเมืองในครอบครัวที่อาจมีสมาชิกมีความคิดเห็นทางการเมืองแบบสองขั้วสองสีแต่อยู่ร่วมกันได้นั้น สมาชิกในครอบครัว เมื่ออยู่ในครอบครัวต้องไม่นำเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันมาพูดคุยในครอบครัว เพราะต้องเข้าใจอยู่เสมอว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและถึงวาระสุดท้ายของชีวิตก็คงไม่มีแกนนำสีใดๆ มาเฝ้าดูแลรับผิดชอบเท่ากับคนในครอบครัว เพราะในยามที่เจ็บป่วยก็คงมีแต่สมาชิกในครอบครัวที่จะเฝ้าดูแลไปจนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต

"ความคิดเห็นทางการเมืองของแต่ละคนในครอบครัวนั้น อาจมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ แต่เมื่อทุกคนกลับมาที่บ้านมาอยู่กันแบบครอบครัว ต้องวางเรื่องการเมืองไว้ข้างนอกมาพูดคุยกันในเรื่องความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ซึ่งจะทำให้ครอบครัวไม่มีความขัดแย้งหรือแตกแยก อย่างตนเองแม้คุณพ่อจะเป็นแนวร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนเสื้อแดง และตนเองก็เข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตร แต่เมื่อกลับเข้าบ้าน ยังมีความสัมพันธ์กัน เป็นพ่อลูกเหมือนเดิม ต่างฝ่ายต่างเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้สมาชิกของทุกคนในครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติสุข"น.ส.ขัตติยากล่าว

น.ส.ขัตติยากล่าวอีกว่า ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในแผนปรองดองแห่งชาติที่รัฐบาลกำลังทำขณะนี้ เพราะนายกรัฐมนตรีเองยังไม่มีความจริงใจที่จะให้ความปรองดองเกิดขึ้น เช่น ยังไม่มีความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความสูญเสียทางการเมืองที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เดือนเมษายนไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ถ้าแผนปรองดองจะเดินหน้าไปได้ ลำดับแรก นายกรัฐมนตรีต้องแสดงความรับผิดชอบ

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: เดลินิวส์, มติชนออนไลน์

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

38 ปี 'วันอาทิตย์นองเลือด' ที่ไอร์แลนด์เหนือ ผลชำระคดีผู้ชุมนุมบริสุทธิ์-ทหารไร้ความชอบธรรม

Posted: 16 Jun 2010 10:49 AM PDT

การสอบสวนครั้งล่าสุดกรณีปราบผู้ชุมนุม 'วันอาทิตย์นองเลือด' (Bloody Sunday) ของอังกฤษจนมีผู้เสียชีวิต 14 ราย ระบุผู้ชุมนุมบริสุทธิ์ และทหารไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการใช้อาวุธปราบผู้ชุมนุม ถือเป็นการสอบสวนที่ยาวนานและราคาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ

<!--break-->

(วิดิโอจาก Telegraph: ญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 'วันอาทิตย์นองเลือด' กล่าวถึงผลการตัดสินเหตุการณ์ว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้บริสุทธิ์)
 

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีการประกาศรายงานผลการสอบสวนคดีกองทัพอังกฤษสังหารหมู่ประชาชนที่มาชุมนุมเรียกร้องสิทธิพลเมือง เมื่อปี 1972 หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์ 'วันอาทิตย์นองเลือด' (Bloody Sunday) ซึ่งผลออกมาว่าเหยื่อในเหตุการณ์ครั้งนั้นทั้งหมดเป็นผู้บริสุทธิ์

ดิ อินดิเพนเดนท์ รายงานว่า มีประชาชนราวพันคนยืนอยู่รอรับฟังคำตัดสินของลอร์ดซาวิลล์ ผู้พิพากษาศาลสูงอังกฤษ และแสดงความยินดีหลังได้รับฟังคำตัดสิน

โทนี่ โดเฮอร์ตี ลูกของเหยื่อรายหนึ่งในเหตุการณ์กล่าวว่า "ในตอนนี้เราสามารถประกาศให้โลกรับรู้ได้แล้วว่าผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด ซึ่งเป็นผู้ชุมนุมเรียกร้องสิทธิพลเมืองทุกคนต่างเป็นผู้บริสุทธิ์ และทุกคนถูกยิงโดยทหารผู้เชื่อว่าตนจะไม่ต้องรับโทษใด ๆ จากการลงมือสังหาร"

เขาบอกอีกว่าปฏิบัติการของทหารที่ก่อเหตุสังหารหมู่ในเมืองเดอร์รี่ ถือเป็นการทำร้ายเมืองนี้อย่างมาก และหวังว่าจากวันนี้ไปจะเป็นการเริ่มต้นของการเยียวยา

"จะไม่มีใครลืมผู้ที่เสียชีวิตจากการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม" โทนี่กล่าว


รายงานฉบับของวิดเกอรี่ (1972) : ผู้ชุมนุมมีอาวุธ และทหารอาจถูกยิงก่อน

เหตุการณ์ 'วันอาทิตย์นองเลือด' เกิดขึ้นในวันที่ 30 ม.ค. 1972 โดยมีผู้ชุมนุมเรียกร้องสิทธิพลเมืองที่ชุมนุมโดยปราศจากอาวุธและผู้อยู่ในเหตุการณ์ ถูกกองทัพอังกฤษยิงจนมีผู้เสียชีวิต 14 ราย

โดยหลังเกิดเหตุไม่นานก็มีการสอบสวนเหตุการณ์ 'วันอาทิตย์นองเลือด' โดยคณะผู้พิพากษาของบารอน จอห์น วิดเกอรี่ ซึ่งกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่ผู้ชุมนุมบางส่วนจะมีอาวุธหรือระเบิด ตรงจุดนี้ทำให้ญาติของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์รู้สึกโกรธเคือง เรื่องราวของ 'วันอาทิตย์นองเลือด' จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญข้ามทศวรรษมาจนถึงวันนี้

รายงานฉบับของวิดเกอรี่ใช้เวลาเพียง 10 สัปดาห์ในการจัดทำ ก่อนนำเสนอในวันที่ 19 เม.ย. 1972 มีปริมาณไม่ถึง 40 หน้า และเนื้อหาของรายงานมีเพียง 558 คำ ซึ่งหลายคนรวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ โทนี่ แบลร์ บอกว่าเป็นรายงานที่ 'ซักฟอก' รัฐบาล

ซึ่งในรายงานฉบับของวิดเกอรี่มีการระบุถึงหลักฐานว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ ขณะที่ดอน มูลลาน เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือเรื่อง 'พยานเหตุวันอาทิตย์นองเลือด' (Eyewitness Bloody Sunday) ระบุว่า มีการสร้างหลักฐานปลอมโดยการนำระเบิดมาไว้ที่ตัวผู้เสียชีวิตหลังเขาเสียชีวิตแล้ว

นอกจากนี้รายงานฉบับของวิดเกอรี่ดูจะเอียงข้างไปทางฝ่ายทหาร โดยมีการระบุว่าทหาร "ไม่ได้ขัดขืนต่อระเบียบวินัย ไม่มีเหตุผลสนับสนุนว่าทหารจะยิงผู้ชุมนุมหากพวกเขาไม่ได้ถูกยิงก่อน" การฝึกของทหารนั้นทำให้บางส่วน "มุทะลุและตัดสินใจเร็ว" ขณะที่บางส่วน "มีการยับยั้งช่างใจมากกว่าในการตัดสินใจยิง" และมีอีกบางส่วนที่แสดงความรับผิดชอบสูง

หนังสือพิมพ์ ดิ อินดิเพนเดนท์ ของอังกฤษ บอกว่ารายงานฉบับของวิดเกอรี่ไม่ได้แสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิตเลย และมีความคาดหวังว่ารายงานฉบับของซาวิลล์ซึ่งใช้เวลาดำเนินการถึง 12 ปี และมีเนื้อหา 5,000 หน้า จะทำให้ฉบับของวิดเกอรี่หมดความหมาย

 

ภาพจาก AP Photo งานจิตรกรรมในเขตบ็อกไซด์ ลอนดอนเดอร์รี่ เขียนว่า "ตอนนี้คุณกำลังเข้าสู่เขต 'เดอร์รี่อิสระ' ปาเลสไตน์, ไทย, ศรีลังกา, อัฟกานิสถาน, อิรัก... อย่าได้มีวันอาทิตย์นองเลือดอีก"

รายงานฉบับของซาวิลล์ (2010) : การใช้กำลังของทหาร 'ไร้ความชอบธรรม'

วันที่ 16 มิ.ย. 2010 หนังสือพิมพ์เทเลกราฟของอังกฤษ กล่าวถึง สิ่งสำคัญที่ค้นพบในรายงานฉบับของซาวิลล์ โดยระบุว่าทหารยิงปืนไรเฟิลมากกว่า 100 นัด เป็นเหตุทำให้ประชาชน 13 รายเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ มีผู้หนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยที่บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตดังกล่าวไม่มีใครเลยที่แสดงให้เห็นถึงกระทำการร้ายแรง นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า "พวกเราไม่พบว่ามีเหตุอันใดที่ทหารจะได้รับความชอบธรรมในการใช้อาวุธ"

ในรายงานฉบับของซาวิลล์ พูดถึงกรณีที่ทหารอ้างถึงการมีอาวุธของผู้ชุมนุมว่า ไม่มีใครเลยที่ยิงอาวุธปืนตอบโต้ทหาร หรือขู่ว่าจะใช้ระเบิดตะปูกับระเบิดเพลิง คำอธิบายของฝ่ายทหารถูกปฏิเสธ และจำนวนหนึ่งถือเป็นการ "ใส่ความ" ผู้ชุมนุม

มีการอ้างว่าพบสมาชิกของกลุ่ม IRA หรือ กลุ่มกองกำลังแบ่งแยกดินแดนไอร์แลนด์ ได้ยิงปืนไปทางทหารแต่พลาดเป้า ทั้งที่มีการตรวจพบว่าฝ่ายทหารเป็นผู้เริ่มต้นยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมก่อน และไม่มีการเตือนผู้ชุมนุมก่อนเริ่มยิง

ข้อสันนิษฐานที่ว่า มือปืน IRA ไม่ทราบชื่อผู้นั้นได้รับบาดเจ็บหรือถูกทหารสังหารแล้วลักซ่อนศพก็ถูกปฏิเสธ เนื่องจากไม่มีหลักฐานรองรับ และเรื่องนี้หากเกิดขึ้นจริงน่าจะมีความกระจ่างมากกว่านี้

เรื่องที่มีการกล่าวหาว่า มาร์ติน แมกกินเนส ผู้ช่วยรัฐมนตรีไอร์แลนด์เหนือ ที่เคยเป็นรองผู้นำของ Provisional IRA ปี 1972 ว่าเขา "อาจจะมีอาวุธปืนกลเบา Thompson" ในช่วงหนึ่งของวันนั้นและอาจมีการใช้อาวุธดังกล่าว เรื่องนี้ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่รายงานก็สรุปว่า "เขา (มาร์ติน) ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ที่จะทำให้ทหารใช้อ้างความชอบธรรมในการใช้อาวุธได้"

กรณีระเบิดตะปูที่ถูกพบในกระเป๋าของเจอราด โดนาเคย์ ที่มีคนบอกว่าอาจจะถูกทหารนำมาใส่ไว้ในภายหลังนั้น รายงานฉบับล่าสุดระบุว่าเจอราด 'อาจจะ' พกระเบิดตะปูไว้อยู่แล้วขณะที่เขาถูกยิง แต่ก็เสริมด้วยว่า "อย่างไรก็ตาม พวกเราแน่ใจว่าเจอราด โดนาเคย์ ไม่ได้เตรียมพร้อมหรือตั้งใจขว้างระเบิดตะปูในขณะที่เขาถูกยิง และพวกเราต่างมั่นใจว่าเขาไม่ได้ถูกยิงเพราะมีระเบิดในครอบครอง เขาถูกยิงขณะที่กำลังพยายามหนีจากทหาร"

ซาวิลล์สรุปว่า ผู้บัญชาการกองทัพบกในไอร์แลนด์เหนือ โรเบิร์ท ฟอร์ด อาจคอยระวังหน่วยพลร่มของกองทัพอังกฤษซึ่งมีชื่อเสียงด้านการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ แต่เขาอาจไม่ทันได้คิดถึงความเสี่ยงที่กองพลร่มจะใช้อาวุธปืนโดยไม่มีเหตุชอบธรรม

ผู้บัญชาการกองพลร่มอังกฤษ เดเรก วิลฟอร์ด ฝ่าฝืนคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงโดยการนำกองทัพเข้าไปในเขตบ็อกไซด์ ด้านผู้บัญชาการระดับสูง แพททริก แมคเลลาน ไม่มีความผิดจากกรณียิงผู้ชุมนุมเนื่องจากเขาไม่ทราบว่าวิลฟอร์ดมีความต้องการใช้กำลังอาวุธดังกล่าว และหากเขาทราบก็น่าจะมีคำสั่งให้ยุติ

ด้านผู้ดำเนินการชุมนุม 'กลุ่มสมาคมสิทธิพลเมืองไอรฺ์แลนด์เหนือ' (Northern Ireland Civil Rights Association) ไม่มีความผิดใด ๆ ในกรณี 'วันอาทิตย์นองเลือด' และทั้งฝ่ายรัฐบาลไอร์แลนด์เหนือและรัฐบาลอังกฤษ ต่างไม่มีใครวางแผนหรือคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะเกิดการใช้กำลังรุนแรง

บีบีซี ระบุว่ารายงานฉบับนี้มอบอำนาจการตัดสินใจดำเนินคดีทหารที่อยู่ในเหตุการณ์แก่หน่วยงานดำเนินคดีของไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland's Public Prosecution Service หรือ PPS) ซึ่งทาง PPS แถลงว่าผู้อำนวยการ PPS จะพิจารณารายงานเพื่อตัดสินใจและขยายผลการสืบสวนของตำรวจ

 

ภาพจาก Getty Image วันที่ 15 มิ.ย. ญาติของเหยื่อจากเหตุการณ์ 'วันอาทิตย์นองเลือด' เดินขบวนจากเขตบ็อกไซด์ไปยังจัตุรัสกิลด์ฮอลล์ โดยถือรูปเหยื่อจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นไปด้วย

12 ปี กับ 5,000 หน้ารายงาน ชำระคดี 'วันอาทิตย์นองเลือด'

สำนักข่าวบีบีซี ของอังกฤษ รายงานตารางการสอบสวนคดี 'วันอาทิตย์นองเลือด' ของซาวิลล์ ว่าใช้เวลานานถึง 12 ปี มีการอ้างอิงคำของพยาน 2,500 ชิ้น การอ้างอิงสอบปากคำ 922 ชิ้น มีหลักฐาน 160 ชิ้น มีเทปเสียง 121 ชิ้น และวิดิโอเทป 110 ชิ้น จำนวนคำในรายงาน 20-30 ล้านคำ ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 195 ล้านปอนด์ (ราว 9,300 ล้านบาท)

ซึ่งถือเป็นการสอบสวนที่ยาวนานและราคาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ

สำนักข่าวของอังกฤษหลายแห่งระบุว่า นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอังกฤษ เดวิด คาเมรอน จากพรรคอนุรักษ์นิยมออกมาแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ 'วันอาทิตย์นองเลือด' (เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสมัยของเอ็ดเวิร์ด ฮีธ นายกฯ จากพรรคอนุรักษ์นิยม)

โดยบีบีซีรายงานอีกว่า นายกฯ เดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ กล่าวถึงเหตุการณ์ 'วันอาทิตย์นองเลือด' ไว้ดังนี้
- ไม่มีการเตือนประชาชนก่อนที่ทหารจะใช้อาวุธปืน
- ทหารไม่ได้ยิงเพื่อตอบโต้การโจมตีด้วยระเบิดเพลิงหรือก้องกิน
- คนที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บบางคนกำลังหนีอย่างเห็นได้ชัด ไม่ก็กำลังให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ
- มีทหารจำนวนมากกล่าวเท็จเกี่ยวกับการกระทำของพวกเขา
- เหตุการณ์ 'วันอาทิตย์นองเลือด' เกิดขึ้นโดยไม่มีการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า
- มาร์ติน แมกกินเนส อาจมีอาวุธปืนกลเบาในช่วงที่เกิดเหตุ แต่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ที่จะทำให้ทหารใช้อ้างความชอบธรรมในการใช้อาวุธได้

ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เซอร์ เดวิด ริชาร์ด และผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยกองพลร่มช่วงเกิดเหตุ 'วันอาทิตย์นองเลือด' ต่างร่วมแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น

ผู้สื่อข่าวของบีบีซีรายงานจาก จัตุรัสกิลล์ฮอลล์ ลอนดอนดอร์รี่ ที่มีผู้มาชุมนุมรอฟังรายงานผลการสอบสวนว่า ทุกคนไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เวลาและราคาที่ต้องจ่ายให้กับการสอบสวนของซาวิลล์นั้นจะนำมาซึ่งช่วงเวลาแห่งความปลื้มปิติ และเหล่าครอบครัวผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุ 'วันอาทิตย์นองเลือด' ก็รู้สึกว่าพวกเขาได้รับความเป็นธรรมแล้ว

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Bloody Sunday: 'Victims vindicated - and parachute regiment disgraced', The Independent, 15 June 2010
http://www.independent.co.uk/news/uk/politics/bloody-sunday-victims-vindicated--and-parachute-regiment-disgraced-2001247.html

Will the wounds ever be healed?, The Independent, 15 June 2010
http://www.independent.co.uk/news/uk/politics/will-the-wounds-ever-be-healed-2000587.html

Bloody Sunday: key findings of the Saville Report, Telegraph, 16 June 2010
http://www.telegraph.co.uk/news/uknews/northernireland/7831836/Bloody-Sunday-key-findings-of-the-Saville-Report.html

Bloody Sunday report published, BBC, 15 June 2010
http://news.bbc.co.uk/2/hi/northern_ireland/10320609.stm

ข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วนจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/Bloody_Sunday_(1972)
http://cain.ulst.ac.uk/events/bsunday/circum.htm

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตำรวจมหาชัยจับแรงงานข้ามชาติ 135 คน

Posted: 16 Jun 2010 10:27 AM PDT

<!--break-->

16 มิ.ย. 53 เมื่อเวลา 05.30 น. พ.ต.อ.ประทีป  ราญสระน้อย รอง ผบก.ภ.จว.สมุทรสาคร ได้สั่งการให้ พ.ต.ท.ชัยชาญ  ปุราธนานนท์ รอง ผกก.ป.สภ.เมืองสมุทรสาคร นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจออกกวาดล้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในพื้นที่ เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมและความมั่นคงของชาติ ดังนั้นทาง พ.ต.ต.สมชาย  ขอค้า สวป.สภ.เมืองสมุทรสาคร จึงได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจออกตรวจสอบพื้นที่รับผิดชอบในเมืองมหาชัยเพื่อกวาดล้างแรงงานต่างด้าว โดยสามารถจับกุมได้จำนวนทั้งสิ้น 135 คน แบ่งเป็นสัญชาติพม่า 103 คน สัญชาติกัมพูชา 20 คน และสัญชาติลาว 12 คน จึงนำตัวทั้งหมดมาที่ สภ.เมืองสมุทรสาคร จากนั้น จึงได้ตั้งข้อกล่าวหาในเบื้องต้นว่าเป็นบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยมิได้รับอนุญาต จากนั้นจึงนำตัวทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสมุทรสาคร เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 

ด้าน พ.ต.ท.ชัยชาญ  ปุราธนานนท์ รอง ผกก.ป.สภ.เมืองสมุทรสาคร กล่าวว่า ขอให้ผู้ประกอบการเจ้าของโรงงานต่างๆ ช่วยตรวจสอบแรงงานต่างด้าวของตนเอง  และให้พกพาบัตรอนุญาตทำงานด้วย  เพื่อความสะดวกแก่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมทั้งควรจะรับบุคคลที่ถูกกฎหมายเข้าทำงานโดยให้คำนึงถึงคนไทยก่อนเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติต่อ

ที่มา: สยามรัฐ
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาธิปไตยการแก้ไขความขัดแย้ง และหลักนิติธรรม

Posted: 16 Jun 2010 10:18 AM PDT

“ลารี เบอร์แมน” คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย บรรยายเรื่องเกี่ยวกับแนวคิดของประชาธิปไตย การแก้ไขความขัดแย้งและหลักนิติธรรม ที่ จ. เชียงใหม่

<!--break-->

 

วานนี้ (16 มิ.ย.) มีการบรรยายและนำเสนอประเด็นเสวนาในหัวข้อประชาธิปไตย การแก้ไขความขัดแย้ง และหลักนิติธรรม จัดโดย สถานกงสุลใหญ่อเมริกา ประจำประเทศไทย ร่วมกับสถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ โดยมีวิทยากรคือ ดร.ลารี เบอร์แมน (Dr.Larry Berman) เป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส และผู้อำนวยการโครงการวอชิงตันของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส ซึ่งนำเสนอเป็นภาคภาษาอังกฤษ พร้อมผู้แปลภาคภาษาไทย

โดยเนื้อหาการบรรยายเป็นเรื่องแนวคิดของประชาธิปไตย การแก้ไขความขัดแย้ง และหลักนิติธรรม โดยแนวคิดของประชาธิปไตยในฐานะกรอบความคิด โดยคนในประเทศไทยสามารถพูดคุยช่วยเหลือสำหรับการสร้างประชาสังคมบนพื้นฐานของแนวคิดของคนส่วนใหญ่ ในหลักปกป้องสิทธิคนส่วนน้อย และอนุญาตเพื่อให้เกิดสันติภาพของการเปลี่ยนผ่านในอำนาจ ที่มีอยู่ในประชาธิปไตยไทยๆ

ดร.เบอร์แมน กล่าวถึงว่า ปัญหาการปรองดองของไทย กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าจะสร้างความสมานฉันท์และปรองดอง ต้องเกี่ยวข้องกับความประนีประนอม โดยสถานการณ์ของประเทศไทยก็คล้ายคลึงกับสหรัฐอเมริกาในกรณีสงครามกลางเมืองของฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ในยุคสมัยของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอร์น ในช่วงหลังสงครามกลางเมืองที่มีผู้เสียชีวิตไปหนึ่งแสนคน และเมื่อเกิดเหตุดังกล่าว ประธานาธิบดีลินคอร์นก็พูดไว้ว่า “เราไม่แสดงเจตนาร้ายกับผู้ใด และเราแสดงจิตเมตตาต่อทุกคน คนอเมริกาก็สามารถเยียวยาให้เกิดสันติภาพอย่างแท้จริง”

ทั้งนี้ ดร.เบอร์แมน เห็นว่าผู้นำของประเทศไทยต้องมีการให้อภัยกัน และการแก้ไขความขัดแย้งโดยสมานฉันท์ ทำนองเดียวกับผู้นำของโลกอย่างมหาตมะ คานธี, มาติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ และเนลสัน แมนเดลา ซึ่งเยียวยาความขัดแย้งด้วยการให้อภัยต่อกันกับคู่ขัดแย้งทางการเมือง

ดร.เบอร์แมน กล่าวต่อว่า ถ้าผู้นำไทยสามารถแสดงคำพูดแบบเดียวกับลินคอร์นได้แสดงไว้ในคราวสงครามกลางเมืองของอเมริกา ก็เป็นขั้นตอนแรก ในสถานการณ์ของการคลี่คลายปัญหาของไทย และความสัมพันธ์แบบใหม่ ก็คือระหว่างความคิดเห็นที่แตกต่างของประชาธิปไตยทางวัฒนธรรม และก้าวย่างสำคัญของประชาธิปไตยไทยๆ กับความเห็นที่แตกต่าง กับแนวทางคุ้มครองเสรีภาพของคน

“ผมเคยพูดอย่างนี้หลายวันก่อนที่กรุงเทพฯ ว่าควรนำทุกฝ่ายมาเจรจาอย่างเป็นธรรม อย่างเปิดเผย และแสดงเจตจำนงอย่างที่ประธานาธิบดี ลินคอร์น ทำไว้กับสงครามกลางเมืองที่อเมริกา”

ดร.เบอร์แมน ชี้ให้เห็นว่าการพูดคุย การเจรจา เป็นหนทางเดียวสำหรับการไกล่เกลี่ย และเป็นการทำให้ทุกภาคส่วนยอมรับ การพัฒนาให้เกิดตุลาการที่เป็นอิสระและจะทำให้ลดความแตกต่างลงได้ ก่อนที่ความปรองดองเกิดขึ้นตามแผนโรดแมป ก็ต้องการการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นธรรม การให้สื่อมีความเสรี มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั่นก็เป็นเรื่องของประเทศไทย ถ้านายกรัฐมนตรี ไม่แสดงเจตจำนงเป็นท่าทีอย่างที่ลินคอร์นแสดงไว้แผนปรองดองก็จะไม่สำเร็จ และสิ่งที่ต้องพัฒนาในเรื่องของการพูดคุยกับทุกฝ่าย เพื่อที่จะพัฒนาการพูดคุยกัน เพราะแผนนั้นจะสะท้อนฉันทามติในแบบนั้น แผนปรองดองจึงจะเกิดขึ้นได้

ดร.เบอร์แมน ชี้แจงเพิ่มเติมว่าในฐานะที่เป็นศาตราจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์ สันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ามีฝ่ายที่กำหนดว่าสันติภาพเป็นอย่างใด และสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อผู้นำต้องเข้าหาคนทุกฝ่าย แนวทางสำหรับเป็นช่วงเวลาหาสันติภาพที่ยั่งยืน และเมื่อจะทำให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้ เพราะประชาธิปไตยไม่ได้ หมายถึงการเลือกตั้งเท่านั้น และประชาธิปไตยต้องเป็นธรรมต่อมนุษย์

เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยไม่ได้ช่วยด้านเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม มันก็ช่วยทำลายความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อในช่วงหลังเหตุการณ์ 9/11 ในสังคมอเมริกัน ก็ได้เรียนรู้ว่าประชาธิปไตยก็มีความเสี่ยงละเมิดสิทธิของคน และประชาธิปไตย ก็มีข้อจำกัดหลายประการในสังคมอเมริกัน ซึ่งคำถามสำหรับระบอบประชาธิปไตย และจะนำไปสู่ความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งกระจายความเท่าเทียม ส่งเสริมสิทธิ และส่งเสริมให้มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นแตกต่างกันได้

ทั้งนี้การปรองดองของไทย ต้องนำไปสู่การทำหน้าที่ประชาธิปไตย เพื่อลดความยากจนด้วย และการเลือกตั้ง ต้องเป็นช่องทางแสดงความเห็นและประโยชน์ที่ตนเห็นว่าสำคัญ

รัฐบาลมีหน้าที่ส่งเสริมให้ทุกคนเข้าสู่การศึกษาอย่างเท่าเทียมและการสื่อสารอย่างเท่าเทียม โดย ดร.เบอร์แมนคิดว่า ประชาธิปไตยในปัจจุบันเป็นแค่พิธีซึ่งคนที่มีอำนาจไม่ได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกภาคฝ่าย และกระบวนการสู่การเลือกตั้งไม่สามารถแสดงได้อย่างเป็นธรรม และรัฐบาลไทยก็พูดถึงผลกระทบของลัทธิก่อการร้าย โดยสถานการณ์ในบ้านเรา คล้ายๆ กับรัฐบาลอเมริกา ในช่วงเหตุการณ์ 9/11 ที่มีการออก พ.ร.บ.รักชาติ ในการควบคุมเสรีภาพต่างๆ

ดร.เบอร์แมนกล่าวว่าวิกฤติสำคัญที่สุดของประชาธิปไตยไทยๆ ก็เป็นปัญหาท้าทาย ในความขัดแย้งกันเอง และรัฐบาลอ้างว่า เมื่อมีคนก่อการร้าย นี่เป็นปัญหาท้าทาย ในการที่รัฐบาลแสดงท่าทีเกินขอบเขต เป็นการทำให้รัฐบาลแยกตัวออกจากประชาชนมากขึ้น นั่นเป็นการทำให้การแก้ไขความขัดแย้งด้านต่างๆ น้อยลง

ดร.เบอร์แมน กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ผมเป็นเสียงส่วนน้อยมานาน และความพยายามของผม คือ เสียงส่วนน้อยที่ใช้เหตุผลของการพูดคุย อย่างยาวนาน จนทำให้เป็นเสียงส่วนใหญ่ โดยสถานการณ์ที่อเมริกาเหมือนกับไทย จากบทเรียนของอเมริกาและแอฟริกาใต้ ทั้งบุคคลอย่างมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ของอเมริกา ก็เรียกร้องสิทธิของคนดำ โดยที่เราก็เห็นอย่างกรณีเนลสัน มันเดลา ผู้นำของแอฟริกาใต้เรียกร้องสิทธิของคน ก็เป็นเสียงส่วนน้อยมาก่อน แล้วต่อมาก็กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ จากกระบวนการแข่งขัน และส่งเสริมเสรีภาพอยู่ในพื้นที่การเมือง

แล้วโอกาสที่นำไปสู่ความคลี่คลายของปัญหาของไทย ขึ้นอยู่กับรัฐบาลอภิสิทธิ์ทำแบบที่ประธานาธิบดีลินคอร์นให้เจรจา สำหรับแก้ไขความขัดแย้ง ก็เกิดจากการริเริ่มของนายกรัฐมนตรีในแบบที่บุคคลสำคัญของโลกพยายามคลี่คลายวิกฤตินั่นเอง”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประสบการณ์ "ไอร์แลนด์เหนือ" จากความขัดแย้งสู่โต๊ะเจรจา

Posted: 16 Jun 2010 09:39 AM PDT

<!--break-->

16 มิ.ย. 53 - มติชนออนไลน์รายงานสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้าร่วมกับศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีสาธารณะ เรื่อง "จากสงครามสู่สมานฉันท์-ลองฟังประสบการณ์จากไอร์แลนด์เหนือ" เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธ์ทิพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยมีรศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า นายอเล็กซ์ มาสคีย์ สมาชิกสภาไอร์แลนด์เหนือจากเขตเบลฟาสต์ใต้ พรรคซีนเฟน (Sinn Fein) นายจิมมี่ สแปรตต์ สมาชิกสภาไอร์แลนด์เหนือจากเขตเบลฟาสต์ใต้ พรรคเดโมเครติก ยูเนียนนิสต์ ปาร์ตี้ (ดียูพี) Democratic Unionist Party (DUP) นายไมเคิล คัลเบิร์ต ผู้อำนวยการ คอยสต์ (Coiste) อดีตสมาชิกกลุ่มขบวนการกองทัพกู้ชาติไอริช (ไออาร์เอ) Irish Republican Army (IRA) และนักโทษการเมือง และนายเอียน ไวท์ ผู้อำนวยการศูนเกลนครี เพื่อสันติภาพและความสมานฉันท์ ทำงานในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกฝ่ายสามารถพูดคุยกันได้ เพื่อลดความรู้สึกแตกแยกระหว่างกลุ่มบุคคลและระหว่างชุมชนต่างๆ

พล.อ.เอกชัย กล่าวว่า สถาบันพระปกเกล้าคิดว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ควรต้องศึกษาเพื่อให้สังคมไทยอยู่กันอย่างสันติสุข จึงได้ก่อตั้งสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาลขึ้น เพราะคนไทยขาดความรู้ในการป้องกันความขัดแย้งและขาดความรู้เรื่องการเยียวยาเพื่อให้เกิดความปรองดอง โดยใช้กรณีศึกษา อย่างเช่นไอร์แลนด์เหนือ ที่มีความคิดแตกต่างกัน แต่ยังสามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งสมาชิกสภาไอร์แลนด์เหนือและอดีตสมาชิกกลุ่มขบวนการไออาร์เอ เคยเป็นคู่ขัดแย้งกันมาก่อน ทุกวันนี้ร่วมมือกันในกระบวนการสันติภาพ นำไปสู่การยุติความรุนแรงที่ยืดเยื้อได้ในที่สุด จึงได้ร่วมกับศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ จัดเวทีสาธารณะนี้ขึ้น

นายอเล็กซ์ มาสคีย์ กล่าวว่า จากมุมมองการเมืองที่ต่างกัน เช่น ตนกับนายจิมมี่ มีวัตถุประสงค์ต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่เราเจรจาและสามารถทำงานร่วมกันได้ ทำงานแบบประชาธิปไตย โดยนับถือแนวคิดทางการเมืองแม้เราจะไม่เห็นพ้องต้องกัน ตนคิดว่าการเจรจากับฝ่ายตรงข้ามเป็นการสร้างสันติ เราจำเป็นต้องยอมรับว่ามีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น บางครั้งก็มีการใช้อาวุธ การเจรจาสำคัญที่สุดว่าเราต้องรับฟังอีกฝ่ายว่าที่มาของข้อขัดแย้งคืออะไร ปัญหาเกิดจากอะไร ขณะนี้เราวางแผนอนาคตให้กระบวนการต่างๆ นำข้อตกลงที่บรรลุไปปฏิบัติอย่างเท่าเทียม คำนึงถึงความรุนแรง ความยุติธรรม ตกลงเพื่อสร้างกลไกในการแก้ไขปัญหา นำข้อตกลงมาสร้างความไว้วางใจ การเสวนาในครั้งนี้คงไม่มีคำตอบให้กับปัญหาในเมืองไทย แต่อยากให้ทุกคนได้ประโยชน์จากประสบการณ์ของเรา

ด้านนายจิมมี่ สแปรตต์ เปิดเผยว่า ตนเป็นตำรวจมา 30 ปี อยู่ในเขตที่ขัดแย้งมาโดยตลอด ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงต่างๆ เริ่มลดลงแล้ว ตอนที่เป็นตำรวจก็ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะมาทำงานอยู่ที่สภา เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมืองกับคนที่เคยขัดแย้งกันมาก่อน ผ่านช่วงเวลาอันยาวนานจนสามารถคุยกันได้ เราได้เรียนรู้จากคนที่มีความเห็นต่าง อดทนกับคนที่ปูมหลังไม่เหมือนกัน หัดฟังคนอื่นบ้าง คุณไม่มีทางจะได้รับทุกอย่าง เราต้องประนีประนอมเพื่อที่จะให้ยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย พยายามเปิดรับความคิดเห็นของคนอื่น บางคนอาจคิดว่าไม่จำเป็นต้องประนีประนอมแต่เมื่อเวลาผ่านไป ทุกอย่างจะคลี่คลายเอง

"ผมมองว่าเมืองไทยต้องใช้เวลา ไอร์แลนด์เหนือเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว เรามีทั้งการเดินขบวนเรียกร้องความเป็นธรรม สิทธิทางการเมือง ช่วงที่ผมเป็นตำรวจใหม่ๆ เขาก็เรียกร้องสิทธิพลเมือง เราต้องมองย้อนอดีตเพื่อหาแนวทางการทูต ไม่ใช่ใช้ความรุนแรง เราจะช่วยเหลือทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เพื่อช่วยให้ความขัดแย้งลดลง และพร้อมที่จะพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ ในเมืองไทย แต่ไม่ยัดเยียดวิธีแก้ปัญหา เพราะเรื่องนี้ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป" นายจิมมี่ แนะ

นายเอียน ไวท์ ระบุว่า นี่ถือเป็นครั้งสำคัญที่จะสามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ของไอร์แลนด์เหนือ ทุกคนที่เข้าร่วมเวทีสาธารณะในครั้งนี้ ไม่ใช่คนที่ได้สิทธิพิเศษแต่อย่างใด แต่เรามีกระบวนการในการสร้างสันติภาพ โดยยอมรับว่าไอร์แลนด์เหนือเองก็ยังไม่ได้สร้างสันติได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่พวกเราช่วยกันสร้าง ซึ่งเราไม่ได้มีคำตอบให้กับประเทศไทย ทำได้แค่ให้แง่คิดมุมมอง เพราะเรามีบางมิติที่คล้ายกัน แต่บางอย่างก็มีเฉพาะในไทยเท่านั้น ช่วงเวลาที่ผ่านมา ความขัดแย้งของเรามีความรุนแรงขึ้นๆ ลงๆ ปลายปี 1960 ถือว่ารุนแรงมาก เราพยายามต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้บรรลุเป้าหมายทางการเมือง ซึ่งผู้ที่มีส่วนร่วมนั้นมีหลายฝ่ายมาก เช่น องค์กรต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล หน่วยรักษาความมั่นคงปลอดภัย ด้านรัฐบาลอังกฤษก็มีองค์กรติดอาวุธหรือทหารบ้าน เป็นทั้งชาวไอริชและชาวอังกฤษ และความขัดแย้งดังกล่าวก็ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก มี 3 หมื่นคนที่ถูกคุมขังเพราะเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยข้อตกลงหยุดยิงในช่วงแรกยังไม่ได้ผล เพราะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้ได้ก่อน ต้องสร้างความเข้าใจให้ชาวไอริชเห็นด้วยให้ได้ จนในปัจจุบันไอร์แลนด์เหนือปกครองแบบแบ่งสรรอำนาจ

"ผมว่าความขัดแย้งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นการมองโลกที่ต่างกัน แม้ความเชื่อต่างๆ จะไม่เหมือนกัน อาทิ ความเชื่อทางศาสนา แต่เราจำเป็นต้องมีความขัดแย้งเพื่อถ่วงดุลกัน อย่างบนเวทีเราเองก็เป็นคนที่มีความคิดเห็นต่างกัน บทเรียนที่เราได้คือการเรียนรู้อดีตว่าสันติต้องทำอย่างเป็นกระบวนการ แม้ว่าไอร์แลนด์เหนือจะไม่เหมือนสถานการณ์ของภาคใต้ในประเทศไทย แต่การแก้ปัญหาต้องรู้ก่อนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร การสร้างสันติต้องรวมทุกฝ่าย ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งผู้นำต้องเป็นคนที่มีบทบาทอย่างมาก"

ที่มา: มติชนออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

องค์กรสิทธิ์หนุนนิรโทษกรรมผู้ร่วมชุมนุม นปช.

Posted: 16 Jun 2010 09:18 AM PDT

<!--break-->

16 มิ.ย. 53 - เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม สนุนข้อเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุม จากฐานความผิดที่เกี่ยวกับการฝ่าฝืนประกาศตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

แถลงการณ์ฉบับที่ 7

สนับสนุนข้อเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุม จากฐานความผิดที่เกี่ยวกับการฝ่าฝืนประกาศตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
 
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2553 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเสนอให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้เข้าร่วมชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาชนประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) เพื่อนิรโทษกรรมผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ไม่ได้กระทำความผิดอาญาร้ายแรง 
 
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาน(สสส.) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. การที่ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมกับ นปช. เป็นการชุมนุมทางการเมืองของบุคคลและประชาชนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาลที่บริหารประเทศ  จนท้ายที่สุดได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองขึ้น  ซึ่งต่อมาได้มีการจับกุม ควบคุมตัว และดำเนินคดีต่อประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก รวมทั้งผู้ที่มิได้เข้าร่วมชุมนุมด้วย ด้วยเหตุเพราะมีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548  ที่ห้ามชุมนุม ให้ออกจากพื้นที่ชุมนุม หรือห้ามออกจากเคหสถาน ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท โดยที่ประชาชนดังกล่าวมิได้มีการกระทำอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และนอกจากผู้เข้าร่วมชุมนุมแล้ว ยังพบว่าข้อมูลรายชื่อผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวที่มีการเปิดเผย มีทั้งเด็กและเยาวชน ทั้งหญิงและชายถูกจับกุมและควบคุมตัวเป็นจำนวนมากเนื่องจากฝ่าฝืนพระราชกำหนดเดียวกัน โดยที่บุคคลดังกล่าวอาจมิได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมแต่อย่างใด 

2. หากมีการดำเนินคดีกับประชาชนผู้ชุมนุมที่มีความเห็นต่างทางการเมืองซึ่งมิได้กระทำการอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอื่นใด นอกจากความผิดจากการฝ่าฝืนพระราชกำหนดดังกล่าว การดำเนินคดีต่อไปย่อมเป็นการลิดรอนเสรีภาพของประชาชนจนเกินสมควร และไม่คำนึงถึงหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตย

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้

1. ขอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวจากฐานความผิดที่เกี่ยวกับการฝ่าฝืนประกาศตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ไม่ว่าจะเป็นข้อหาร่วมกันชุมนุมโดยฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ชุมนุม และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งห้ามออกจากเคหสถาน ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม หากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยืนยันชัดแจ้งว่าบุคคลใดเป็นผู้ใช้ความรุนแรงกระทำการหรือก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ก็มีความจำเป็นต้องนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายต่อไป

2. ดำเนินการการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเพียงพอแก่ประชาชนทั้งที่เป็นผู้ร่วมชุมนุมและมิใช่ผู้ร่วมชุมนุมที่ได้รับผลกระทบและถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จากการบังคับใช้พระราชกำหนดดังกล่าว   เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน
3. ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยทันที

กฎหมายนิรโทษกรรม และการยุติการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ จะช่วยลดแรงกดดันทางการเมือง เพื่อให้เกิดบรรยากาศการหันหน้าเข้ามาพูดคุยหารือกัน เพื่อการปฏิรูปประเทศไทยไปสู่สังคมที่มีความเสมอภาค ความยุติธรรม ตามหลักการแห่งสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยต่อไป
 
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหาที่ถูกล่ามโซ่

Posted: 16 Jun 2010 07:58 AM PDT

<!--break-->

 ภาพที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาและถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก คงไม่ภาพใดสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้คน ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือต่างประเทศคือ ภาพของนายณัฐพล ทองคุณอายุ 20 ปีกับนายจรัญ ลอยพูน อายุ 39 ปีผู้ต้องหาคดีละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯซึ่งถูกยิงด้วยปืนจนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจและถูกล่ามโซ่บนข้อเท้าติดไว้กับเตียงพยาบาล และยังมีญาติคนเจ็บอีก 7 คนร้องเรียนว่าโดนล่ามโซ่ในโรงพยาบาลเช่นกัน
 
ล่าสุดฮิวแมนไรต์วอตช์ ออกมาประณามล่ามโซ่ 2 คนเจ็บ นปช.กับเตียงคนไข้ โดยระบุเป็นการละเมิดสิทธิผู้บาดเจ็บชัดเจน ขัดกับมาตรฐานสากล ควรใช้วิธีจัดห้องควบคุมพิเศษแทนการล่ามโซ่ตีตรวน และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ก็เห็นเหมือนกันว่าเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
คำว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”นั้น ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “Human Dignity” ซึ่งเป็นศัพท์ที่นักวิชาการได้บัญญัติขึ้นในยุคที่มีการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน(Human Rights) และได้ปรากฏสู่วงการกฎหมายไทยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และยังคงสืบเนื่องมาจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่บัญญัติรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ถึงสามมาตราคือ มาตรา 4 ของบททั่วไป มาตรา 26 และมาตรา 28 ของหมวดว่าสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย
 
ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นมีนัย 2 ประการ คือ
 
(1) “ธรรมชาติมนุษย์” กล่าวคือ ลักษณะที่แท้จริงของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสภาพจิตใจและความต้องการจำเป็น(Needs)ที่จูงใจให้มนุษย์ทำการใดๆ โดยทฤษฎี มนุษย์น่าจะเป็นอย่างเดียวกันไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด แต่ในทางปฏิบัติ พฤติกรรมของมนุษย์ย่อมอยู่ภายใต้อิทธิพลของสังคมและวัฒนธรรมด้วย
(2) “ศีลธรรม” อันได้แก่ หลักที่ว่าด้วยความผิดชอบชั่วดีที่สังคมหนึ่งๆกำหนดให้สมาชิกปฏิบัติ โดยไม่มีศีลธรรมสากลให้ยึดถือ นอกจากอนุมานเอาจากส่วนที่กำหนดไว้เหมือนกันในความประพฤติบางเรื่อง
 
ฉะนั้น การที่เราจะวินิจฉัยว่าพฤติกรรมใดเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสังคมไทยหรือไม่ แล้วจึงนำไปสู่การปกป้อง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”ตามกฎหมายเมื่อถูกละเมิด สามารถแยกพิจารณาได้สองประเด็น คือ
 
ประเด็นแรก สิ่งนั้นๆมนุษย์ควรปฏิบัติต่อกันหรือไม่
การที่มนุษย์คนหนึ่งแม้จะถูกล่าวหาว่ากระทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯหรือความผิดอื่นใด ในเมื่อยังไม่มี          คำพิพากษาติดสินว่ากระทำความผิด ตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายย่อมถือว่าเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่    การล่ามโซ่ในลักษณะเสมือนดั่งข้าทาสในยุคดึกดำบรรพ์หรือนักโทษที่กำลังจะถูกนำตัวเข้าสู่ตะแลงแกงประหารชีวิตเช่นนี้ย่อมกระทำมิได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอยู่ในสถานพยาบาลของรัฐที่มีเจ้าหน้าที่คุ้มกันอย่างแข็งแรงเช่นโรงพยาลตำรวจแห่งนี้ ที่สำคัญการล่ามโซ่นี้ก็ไม่ต่างกับการล่ามสัตว์แต่อย่างใด
 
ประเด็นที่สอง  ความรู้สึกทางด้านจิตใจของสังคมสนับสนุนหรือโต้แย้งหรือไม่ อย่างไร
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าเหตุการณ์การชุมนุมของ นปช.นั้นเป็นการชุมนุมทางการเมือง การชุมนุมทางการเมืองย่อมมีทั้งการสนับสนุนและการคัดค้าน การคัดค้านก็หมายถึงการที่มีความเห็นที่แตกต่าง คนที่คิดเห็นแตกต่างไม่ได้หมายความว่าเป็นคนชั่ว เป็นคนเลว การปฏิบัติต่อผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองไม่ใช่การนำไปลงทัณฑ์ทรมานด้วยการจองจำล่ามโซ่ติดกับเตียงคนไข้เช่นนี้
 
หลักคิดหรือแนวปฏิบัติของนานาอารยประเทศนั้น คนที่กระทำความผิดกฎหมายอาญาต่างๆหากเกี่ยวข้องกับความคิดทางการเมืองโดยทั่วไปแล้วย่อมได้รับอภัยโทษหรือนิรโทษกรรมเสมอ ส่วนคดีที่กระทำความผิดทางอาญาที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองก็ว่ากันไปเป็นกรณีๆไป ตัวอย่าง กรณีที่ปฏิบัติต่อพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในอดีตที่มีคำสั่งสำนักนายกฯที่ 66/23 และ66/25 ก็เคยมีมาแล้ว
 
ในกรณีที่ผู้ต้องหาต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลนั้นย่อมแสดงว่าอาการหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวพวกเขาได้หลายวิธี เช่น การเฝ้าที่หน้าห้อง และควบคุมอย่างแน่นหนา แต่ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะใส่โซ่ล่ามพวกเขา เพราะเท่ากับเป็นการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยปกติแล้วหากผู้ต้องหาหรือนักโทษที่ป่วยและอยู่ในเรือนจำ เจ้าหน้าที่จะไม่ใส่โซ่ตรวน ส่วนกรณีขึ้นศาล ถ้าเป็นคดีหนัก ถึงขั้นประหารชีวิต จะใส่โซ่ตรวน แต่หากเป็นคดีไม่รุนแรงหรือผู้ต้องหาเป็นผู้หญิงและเยาวชน จะไม่มีการใส่โซ่ตรวน

กรณีนี้ผมเห็นว่าผู้ต้องหาทั้ง 2 นายที่ถูกล่ามโซ่ สามารถดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้ เนื่องจากเข้าข่ายเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือสามารถนำคดีเป็นฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อดำเนินคดีกับหน่วยงานที่ควบคุมตัว คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้รับผิดชอบชดใช้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้เช่นกัน

 
การปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่เริ่มต้นจากความจริงใจและการให้อภัยซึ่งกันและกัน สิ่งไหนที่มนุษย์ไม่พึงปฏิบัติต่อกันย่อมเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ก่อนที่จะปลดโซ่ตรวนของความขัดแย้งระหว่างพี่น้องชาวไทยที่มีต่อกัน ควรที่จะเริ่มต้นด้วยการปลดโซ่ตรวนของผู้ต้องหาที่มีความคิดแตกต่างจากตนเสียก่อน แม้เพียงเรื่องโซ่ตรวนเส้นเล็กๆของบุคคลที่ถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพียงไม่กี่คนเช่นนี้รัฐยังปลดไม่ได้แล้ว ป่วยการที่จะทำเรื่องการปรองดองซึ่งเป็นการถอดโซ่ตรวนใหญ่ที่ล่ามคนไทยไว้เป็นฝักเป็นฝ่ายต่างๆที่เป็นงานใหญ่และหนักหนาสาหัสกว่านี้มากนักจะสำเร็จลงได้
 

*ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 15 มิ.ย.53
                       
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พลิกบอลดูโลก เปิดมุมมองทางความคิด ธุรกิจ กีฬา วัฒนธรรม

Posted: 16 Jun 2010 06:53 AM PDT

<!--break-->

“This time for Africa” เนื้อหาตอนหนึ่งของบทเพลงในมหกรรมฟุตบอลโลกปี 2010 ที่จัดขึ้นในประเทศแอฟริกาใต้ เริ่มคุ้นหูเราขึ้นเรื่อยๆ เพราะถูกนำเสนอซ้ำอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนาน และเป็นการกระตุ้นเตือนให้เราหันมาให้ความสนใจกับกีฬาชนิดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ฟุตบอลจัดเป็นกีฬาประเภทหนึ่งที่เป็นปรากฎการณ์สำคัญอย่างที่กีฬาชนิดอื่นๆ ยังไม่สามารถทะยานขึ้นมาเทียบได้ โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญทั้งจำนวนของผู้ชมทั่วโลก ความถี่ของการถ่ายทอดสด และการถูกพูดถึงทั้งจากสื่อและจากสังคมแวดล้อม นี่ยังไม่รวมถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งก่อนและในช่วงการแข่งขัน นั่นหมายความว่าฟุตบอลโลกไม่ได้มีมิติทางด้านกีฬาเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีมิติทางด้านเศรษฐกิจ มิติทางด้านวัฒนธรรม และมิติทางการเมืองว่าด้วยเรื่องต่างๆ ให้มองได้อีกมากมาย

เพียงแต่มิติมุมมองอื่นๆเหล่านั้นถูกกลบทับ ละเลย และถูกทำให้ลืมเลือนด้วยการนำเสนอเพียงมุมมองของกีฬาเพียงอย่างเดียว กีฬา ซึ่งโดยตัวของมันเองถูกสร้างให้เป็นภาพเชิงบวก ด้วยคำสำคัญเรื่องของสุขภาพความแข็งแรง ความมีน้ำใจ และการสร้างความสัมพันธ์อันดีในหมู่มวลมนุษย์ ทุกเหตุผลที่ยกมากล่าวนี้ล้วนเป็นความจริง แต่ไม่ใช่กับฟุตบอลโลกซึ่งยังซ่อนความจริงอีกหลายอย่างไว้มากมาย และนี่เป็นเหตุผลที่ผมพยายามจะเสนอว่าความจริงต่างๆ ที่เรายอมรับกันอยู่นั้นเป็นความจริงที่กำลังกลบเกลื่อนความจริงอีกหลายๆชุดไว้อย่างแนบเนียน..หรือไม่

ในคอลัมน์ทัศนะวิจารณ์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 มิถุนายน 2545 ระบุว่าจากข้อมูลของ The Globalist ที่สำรวจทวีปแอฟริกา(ไม่นับรวมประเทศแอฟริกาใต้)พบว่ามีประชากรทั้งสิ้น 530 ล้านคน แต่มีจำนวนโทรทัศน์เพียง 67 ล้านเครื่อง คนแอฟริกาส่วนใหญ่หากจะเชียร์ทีมตัวแทนทั้งห้าของตน ก็ต้องฟังจากวิทยุ ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แทบทุกครัวเรือนมีโทรทัศน์เป็นของตัวเอง และ 74% ของครัวเรือนทั้งหมดมีโทรทัศน์อย่างต่ำสองเครื่อง ที่ตลกร้ายก็คือ คนอเมริกันไม่ชอบดูฟุตบอล (Soccer)

กีฬาฟุตบอลเป็นกีฬาที่ดูได้ทุกเพศทุกวัย แต่เป็นที่นิยมเล่นหรือเล่นแล้วเป็นที่นิยมได้ทุกเพศทุกวัยหรือไม่ยังคงเป็นคำถาม ผู้หญิงมากมายก็นิยมเล่นฟุตบอลและมีการจัดการแข่งขันสำคัญๆหลายครั้งและมีถึงระดับโลกด้วย แต่หาได้รับความสนใจจากประชาคมโลกเทียบเท่ากับผู้ชายไม่ ฟุตบอลจึงดูเหมือนเป็นกีฬาที่สังกัดอยู่กับผู้ชายและความเป็นชายอย่างแยกไม่ออก และความเป็นชายที่สอดคล้องกับยุคสมัยนั้นต้องมีลักษณะปรากฎทางด้านร่างกายที่สมส่วน สูงสง่า อุดมไปด้วยมัดกล้ามและมีบุคลิกลักษณะที่สามารถสะกิดความรู้สึกของเพศตรงข้ามได้ ความเก่งกาจอย่างเดียวจึงไม่สามารถจะยืนยันว่าจะประสบความสำเร็จจากการเล่นฟุตบอล การมีบุคลิกลักษณะและสรีระแบบ sport man ดูเหมือนจะนำไปสู่ความสำเร็จทางด้านธุรกิจการกีฬาได้มากกว่า เพราะสามารถเป็นภาพลักษณ์ตัวแทนของสินค้านานาชนิดได้ หน้าตาและร่างกายของนักกีฬาหากมองให้ดีจะพบว่าเป็นร่างกายที่ผูกพันเชื่อมโยงกับธุรกิจชนิดต่างๆ อย่างแนบแน่น ร่างกายของพวกเขาถูกแปรสภาพให้เป็น “พื้นที่” ทางธุรกิจและสามารถจับจองได้ไม่ต่างกับพื้นที่ธรรมดาทั่วไปแถวสีลม จะมีสิ่งที่แตกต่างกันอยู่บ้างก็คือร่างกายเป็นพื้นที่ที่เคลื่อนไหวได้ และเป็นพื้นที่ที่ “พูดแทน” เจ้าของสินค้านั้นๆได้

เมื่อถึงตรงนี้เราจึงพบว่าร่างกายของพวกเขาไม่เป็นของพวกเขาอีกต่อไป ร่างกายของไทเกอร์ วูด เป็นร่างกายของไนกี้ ร่างกายของ เบ็คแฮม ไม่ใช่ของเขาหรือของคุณวิคตอเรีย ที่สามารถทำอะไรกับมันได้ตามอำเภอใจแต่ต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของร่างที่แท้จริงในนามของ sponsor ที่มีความช่ำชองในการเปลี่ยนร่างกายมนุษย์ให้กลายมาเป็น “พื้นที่ทางการค้า” ของพวกเขา และมีอำนาจเหนือร่างกายของเราอย่างไม่น่าเชื่อ แม้กระทั่งเรื่องง่ายๆอย่างเช่นการเลือกใส่เสื้อผ้า นักกีฬาเหล่านี้มีสิทธิเลือกเสื้อผ้ารองเท้า หรือของใช้ตามอำเภอใจได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ได้ หากมันไม่ใช่คู่แข่งของสินค้าเรา แต่ความจริงที่โหดร้ายในโลกของธุรกิจกีฬาก็คือ สินค้าทุกยี่ห้อในโลกนี้ เป็นคู่แข่งกันหมด

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นการทำให้มนุษย์กลายเป็นสินค้าอย่างถูกต้องตามกฏหมายในตลาดซื้อขายนักเตะนะครับ

อีกด้านหนึ่งของฟุตบอลโลกก็คือมันทำให้ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอร์และตัวเลขการพนันพุ่งสูงขึ้น ซึ่งสวนทางกับความสามารถในการทำงานของบุคคลที่ลดต่ำลงเมื่อมีฤดูกาลฟุตบอลโลก

มีหลายประเทศในโลกนี้ที่พยายามขอจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกเพราะมีการคาดการณ์ถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการคาดการณ์ถึงจำนวนของนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาใช้จ่ายในช่วงการแข่งขัน แต่ที่สำคัญก็คือ ความพยายามในการส่งผ่านวัฒนธรรมของประเทศตนสู่สายตาชาวโลกด้วยความคาดหวังว่าวัฒนธรรมที่ตนเองมีเหล่านั้นจะผันสภาพกลายมาเป็นสินค้าได้ และหากสามารถสร้างปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมได้จริงแล้ว มูลค่าและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลจะไหลบ่าสู่ประเทศเจ้าของวัฒนธรรมนั้น (เหมือนอังกฤษที่สามารถสร้างและส่งออกกีฬาฟุตบอลจนนิยมไปทั่วโลก และกีฬาชนิดนี้ก็ทำเงินให้กับระบบเศรษฐกิจของอังกฤษปีละมหาศาล)

ตัวอย่างที่น่าศึกษาจากความสำเร็จด้านการส่งออกวัฒนธรรมอีกประเทศหนึ่งก็คือเกาหลี เกาหลีส่งออกวัฒนธรรมตนผ่านละครโทรทัศน์ที่สามารถเจาะผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย ส่งผ่านวัฒนธรรมผ่านดนตรีและนักร้องชายหญิง เกาหลีไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เม็ดเงินจากการขายละครหรือเพลง เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถหาดาวน์โหลดได้ง่ายในโลกไซเบอร์ แล้วเกาหลีหวังอะไร..รัฐบาลเกาหลีหวังว่าผลตอบแทนที่กลับมาคือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมตามสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์หรือละครต่างๆเกาหลีหวังว่าจะดึงดูดผู้คนในประเทศแถบเอเซียให้เข้าไปทำศัลยกรรมความงามเพื่อที่จะงามแบบดาราหรือนักร้องเกาหลี และเขาก็ประสบความสำเร็จจนกระทั่งสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดด้านศัลยกรรมจากประเทศไทยไปได้อย่างน่าตกใจ พร้อมกันนี้อุตสาหกรรมความงามที่มีมูลค่ามหาศาล เช่น เครื่องสำอางต่างๆของเกาหลีก็กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและทะลุทะลวงไปทำตลาดในประเทศที่เสพวัฒนธรรมเกาหลีเช่นกัน นั่นแหละสิ่งที่เกาหลีต้องการจากการส่งออกวัฒนธรรม และหากแอฟริกาใต้สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้นนี้ ความสำเร็จที่รอคอยก็ “อาจ” เป็นไปได้

วัฒนธรรมเป็นต้นทุนที่มีอยู่แล้วในสังคมไม่ต้องผลิตใหม่ เพียงแค่ผลิตซ้ำก็ฉวยใช้ได้ตลอดเวลาสินค้าทางวัฒนธรรมจึงมีต้นทุนต่ำกว่าสินค้าทางอุตสาหกรรม เมื่อต้นทุนต่ำกว่ากำไรก็ต้องมากกว่า

การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกของแอฟริกาใต้มีการคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศประมาณ 450,000 คน แต่เมื่อการแข่งขันผ่านไปได้เพียง 3 วัน รัฐบาลก็ปรับตัวเลขประมาณการลงเหลือเพียง 350,000 คน อันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายในการชมฟุตบอลสูงมากเกินไปแต่ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมีต่ำเกินไป ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามคาด เพราะพวกเขาเกิดความลังเลที่จะเดินทางไปแอฟริกาใต้

อีกด้านหนึ่ง การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ยังมีผลโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศแอฟริกาใต้ เพราะการลงทุนก่อสร้างสาธารณูปโภคและสนามกีฬา จำเป็นต้องใช้เงินมหาศาล (แอฟริกาใต้ใช้งบไปประมาณ 4,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนเยอรมนีใช้ไป 7,700 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2006) การทุ่มเม็ดเงินลงไปในระบบก่อให้เกิดการลงทุนก่อสร้างและการจ้างงานภายในประเทศ แต่สิ่งเหล่านี้จะยั่งยืนได้หรือ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างจบสิ้นลง นักท่องเที่ยวหายกลับไป สิ่งปลูกสร้างเช่นสนามกีฬาจะทำอย่างไรต่อไป อาชญากรรมและโจรกรรมที่มีอยู่จะหายไปพร้อมฟุตบอลโลกได้หรือไม่ 4,300 ล้านเหรียญหากนำไปใช้แก้ปัญหาความยากจนหรือนำไปใช้เพิ่มศักยภาพให้กับระบบการศึกษาของประเทศจะดีกว่าหรือไม่ ทุกอย่างล้วนมีแต่คำถาม แต่คำตอบจะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องรอให้แอฟริกาใต้ตอบคำถามนี้กับเรา เพราะ “This time for Africa”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาคประชาชนเตรียมฟ้อง 'ทางหลวง-คมนาคม' กรณีเขาใหญ่

Posted: 16 Jun 2010 06:25 AM PDT

<!--break-->

16 มิ.ย. 53 - สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร่วมกับ เครือข่ายประชาชนอนุรักษ์มรดกโลกเขาใหญ่ และประชาชนที่รักและหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม กว่า 100 คน ได้มอบอำนาจให้สมาคมฯดำเนินการฟ้องร้องกรมทางหลวง และกระทรวงคมนาคม ต่อศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ ในวันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน 53 เวลา 10.00 น. เพื่อขออำนาจศาลสั่งไม่ให้มีการปรับปรุงหรือขยายถนนธนะรัชต์ได้อีกต่อไป รวมทั้งต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อนในการปรับปรุงฟื้นฟูถนนให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมหรือใกล้เคียงมากที่สุด ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ล้อมวงเข้ามา : คุยกับ ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ ในวัน ‘เสื้อแดง’ พ่าย

Posted: 16 Jun 2010 06:22 AM PDT

<!--break-->

หลังเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 คนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ขอให้อาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์การเมืองไทยให้ฟัง (3 มิถุนายน 2553) ซึ่งบรรยากาศดำเนินไปอย่างสบายๆ เป็นกันเอง และนี่คือถ้อยคำสนทนาในวันนั้น...โปรดล้อมวงกันเข้ามา

0 0 0

 

กลุ่มชนชั้นนำทั้งหมดได้ทิ้งไพ่ใบสุดท้ายนี้แล้ว
ไพ่ใบนี้คือ พรรคประชาธิปัตย์
พวกเขาทิ้งไพ่ใบนี้ลงมาเพื่อจะรักษาทุกอย่างเอาไว้

 

 

เป็นไปได้ไหมว่าจะมีการเลือกตั้งแบบเดิม แบบรัฐธรรมนูญปี 40 (คำถามนี้เริ่มขึ้นเนื่องจากรัฐบาลเพิ่งผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาหมาดๆ)
นิธิ : แบบนั้นมันต้องแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ง่ายนะ ยกเว้นแต่ว่าคุณยึดอำนาจ

แล้วการยึดอำนาจจะมีโอกาสเกิดขึ้นไหม
นิธิ : ผมก็ไม่แน่ใจนะ คือตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์เป็นไพ่ใบสุดท้ายแล้วของชนชั้นนำ เอาอย่างนี้ ตอนนี้คุณอย่าเพิ่งไปมองว่าประชาธิปัตย์สู้กับใคร แต่มองว่ามันเป็นเรื่องของกลุ่มชนชั้นนำ ซับซ้อนหลายกลุ่มด้วยกัน ทั้งทุน ทั้งสื่อ ทั้งอะไรก็แล้วแต่ กำลังพยายามที่จะกีดกันไม่ให้กลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจิตสำนึกทางการเมืองไม่ให้มามีส่วนร่วมทางการเมือง ถ้ามองในเรื่องนี้ คือ กลุ่มชนชั้นนำทั้งหมดได้ทิ้งไพ่ใบสุดท้ายนี้แล้ว ไพ่ใบนี้คือพรรคประชาธิปัตย์

พวกเขาทิ้งไพ่ใบนี้ลงมาเพื่อจะรักษาทุกอย่างเอาไว้ ทีนี้เมื่อมีการชุมนุม มีการฆ่ากันตายแล้วนี่ ถามว่าถ้าไพ่ใบนี้ใช้ไม่ได้ ถูกกิน หรืออะไรก็แล้วแต่ ยังมีไพ่อื่นๆ อะไรอีก ผมว่าไม่มีอีกแล้วนะ เมื่อไม่มีแล้ว ดังนั้น มันก็จะเหลืออีกแค่วิธีเดียว คือการล้มกระดานนี้ ยึดอำนาจ

ตอนนี้มีโอกาสไหม
นิธิ : ไม่ใช่ ไม่ใช่ตอนนี้ ผมหมายถึงว่า ถ้าไพ่ใบนี้มันใช้ไม่ได้ไง ถ้าไพ่ใบนี้มันใช้ไม่ได้แล้วคุณจะเหลืออะไรล่ะ มันก็เหลือสองทางเท่านั้น ปล่อยให้มันเป็นไปตามเวรตามกรรม นั่นก็คือปล่อยให้มีการเลือกตั้ง หรือสอง เลิก ไม่เอา เริ่มต้นกันใหม่ด้วยการล้มกระดานเสีย ทีนี้ถ้าล้มกระดาน ถามว่าจะเอาใครขึ้นมาเป็นรัฐบาล ผมว่าในหมู่ชนชั้นนำในเวลานี้แทบไม่เหลือใครที่พอจะมาเป็นรัฐบาลแล้วให้เกิดการยอมรับโดยสงบ โอเค อาจให้เวลา 6 เดือนหรือปีหนึ่ง ซึ่งผมเห็นอยู่สองคน คนหนึ่งอายุเกิน 90 แล้ว คือ คุณเปรม ติณสูลานนท์ อีกคนก็คือคุณอานันท์ ปันยารชุน (78ปี) คุณอานันท์อาจมีภาษีดีกว่าคุณเปรม เพราะคุณเปรมเป็นศัตรูคู่อาฆาตของฝ่ายเสื้อแดง แต่ถ้าคุณอานันท์มา คุณต้องลืมเรื่องคุณอานันท์ไปงานศพเสื้อเหลือง (หมวดจ๊าบ) ไปก่อน (คนฟังหัวเราะ)

สมมติให้เราลืมไปก่อน ถ้าคุณอานันท์ขึ้นมาเป็นเพื่อทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เป็นปกติ ถามว่า 6 เดือนมันจะพอไหมที่จะทำให้ประชาชนซึ่งไม่พอใจระบบทั้งระบบ ไม่ใช่ไม่พอใจแค่พรรคการเมือง เปลี่ยนใจ ผมว่าไม่พอ

เมื่อไม่พอ เอ้า ปีหนึ่งพอไหม ปีหนึ่งก็ไม่พออีก สองปีล่ะพอไหม สองปีอาจจะพอ แต่ถ้าคุณอานันท์ประกาศสองปีปั๊บ จะมีคนออกมาต่อต้านคุณอานันท์มากมายไปหมด ดังนั้น ผมดูแล้ว มันไม่เหลือไพ่อะไรอีกสักเท่าไหร่แล้วในเวลานี้ เพราะการที่คุณเลือกวิธีฆ่าคน มันเป็นไพ่ใบหนึ่งที่คุณไม่ควรทิ้ง แต่คุณก็ทิ้งไปแล้ว

มันไม่มีการรับผิดชอบทางการเมืองเลยหรือ
นิธิ : มันรับผิดชอบไม่ได้ไง วิธีรับผิดชอบที่ง่ายที่สุด ซึ่งทำไมไม่รีบทำเสียก็ไม่ทราบ ก็คือการลาออก แล้วเอาคนอื่นมาแทน อย่างน้อยก็ยังบรรเทาแรงกดดันได้บ้าง แต่ทีนี้คนอื่นจะเอาใคร จะเอาคุณกรณ์ อะไรอย่างนี้ก็ไม่ได้ คนที่อยู่ใน ครม. ปัจจุบันขณะนี้ไม่ได้อยู่แล้ว มีค่าเท่ากัน คือถ้าออกไม่ออก มีค่าเท่ากัน ถ้าออก คนนอกก็คือ คุณชวน เท่านั้น

คุณชวนก็ยังเป็นประชาธิปัตย์อยู่ดี
นิธิ : แต่อย่างน้อยก็ไม่ใช่คนใน ครม. จริงไหม คุณเอาคนซึ่งอยู่ใน ครม.ซึ่งมีส่วนร่วมในการตัดสินใจใช้กำลังปราบปรามไม่ได้ แต่เขาก็ไม่เปลี่ยน ปัญหาที่ตามมาก็คือ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ คุณก็ไม่เลิก เมื่อไม่เลิก คุณจะทนแรงบีบทั้งจากในประเทศและนอกประเทศไหวไหม

คือการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงครั้งนี้ต่อให้มันจะเลอะเทอะเปรอะเปื้อนยังไงก็แล้วแต่ แต่มันไม่เคยมีในเมืองไทยเลยที่คนซึ่งเคยถูกกีดกันออกไปจากวงการเมืองตลอดมา บัดนี้กลับเข้ามา อาจจะเข้ามาเพราะทักษิณ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าคนเหล่านี้กลับมานี่ เขาจะเรียกร้องสิ่งที่ (หยุดนิดหนึ่ง) มันไม่ใช่แค่ทักษิณหรอก แต่เขาจะเรียกร้องในสิ่งที่ผมคิดว่า มันจะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของกลุ่มคนชนชั้นนำเยอะแยะไปหมดเลย เช่น เรียกร้องในการปฏิรูปที่ดิน ยุ่งล่ะสิทีนี้

เรื่องนี้คุณกรณ์ก็เคยเสนอ
นิธิ : เสนอแต่เงียบหายไป การที่เงียบหายไปก็แสดงว่า คุณกรณ์ไม่ได้มีเจตนาจริงที่จะผ่านกฎหมายไปให้ได้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะทุกคนก็รู้กันอยู่ว่า ถ้าคุณอยากจะปฏิรูปที่ดินด้วยการเปลี่ยนระบบภาษี มันก็ต้องมีแรงคัดค้านสูงมาก วิธีการก็คือ คุณโยนเรื่องนี้ลงไปในสังคมก่อน เพื่อสร้างพันธมิตรก่อน ให้คนที่มาค้านค้านยากขึ้น มันผ่าน ครม.ไปแล้วนะ ไอ้ตัวร่าง พ.ร.บ. ตัวนี้ แต่มันเงียบหายไปเลย ใครได้อ่านบ้าง ไม่มีใครได้อ่านเลย เงียบหายไปเลย ไอ้นี่เป็นยุทธวิธีง่ายๆ ธรรมดาที่ทุกคนทำกัน คือ โยนลงมาหาพวกก่อน นั่นก็แสดงว่า คุณไม่ได้คิดที่จะให้มันผ่าน

ตอนนี้แกนนำเสื้อแดงโดนไล่ล่า
นิธิ : มันไล่ล่าได้ใน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ไง เพราะตำรวจใช้อำนาจไปเที่ยวจับๆ เขา แต่ทันทีที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นะคุณ ตายห่าละ ไม่ต้องพูดเรื่องไอ้อะไรอีกหลายๆ เรื่องที่จะโผล่ขึ้นมา รวมถึงเรื่องการเคลื่อนไหวที่มีการชุมนุมเกินห้าคน แล้วก็ออกมาชี้ข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกรณีการปราบ

 

 

การทำสงครามกองโจรในเมือง
หนึ่ง ต้องมีการจัดตั้ง
สอง มันต้องการความรู้ 
ซึ่งประสบการณ์แบบนี้ของสังคมไทยเรา
ยังมีไม่พอ ที่หวังกันว่า 
จะมีการทำสงครามใต้ดินต่างๆ นี่
ผมว่ายาก

 

การปราบที่ผ่านมาจะนำไปสู่การสะสมอาวุธมากขึ้นไหม เสื้อแดงจะเปลี่ยนยุทธวิธีการต่อสู้ด้วยความรุนแรงไหม
นิธิ : ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องนี้สักเท่าไหร่ คืออาจจะมีคนเที่ยวยิงโน่น ระเบิดนี่ แต่การทำสงครามกองโจรในเมือง ผมอยากจะบอกว่า มันต้องมีการจัดตั้ง อย่างกรณีภาคใต้สามจังหวัด จะว่าไม่มีการจัดตั้งคงไม่ได้ ถ้าเขาสามารถนัดหมายกันได้ว่า ระเบิดที่ยะลา ปัตตานี นราธิวาส พร้อมกันได้ มันต้องมีการจัดตั้งแน่ๆ ซึ่งอาจจะเป็นการจัดตั้งอย่างหลวมๆ ยังไงก็แล้วแต่

อันที่สองก็คือ มันต้องการความรู้ ความรู้ที่สังคมไทยมีอยู่คือการต่อสู้ในป่า สงครามกองโจรแบบที่คุณต้องมีเขตปลดปล่อยเพื่อจะตั้งฐานทัพได้ เมื่อคุณต่อสู้แล้วคุณก็กลับไปที่ตั้งฐานทัพ แต่การทำสงครามกองโจรในเมืองมันแตกต่าง เพราะคุณไม่ต้องมีเขตปลดปล่อย คุณไม่ต้องมีอะไรทั้งสิ้น เหมือนการทำสงครามกองโจรแบบพวกปาเลสไตน์ทำกับอิสราเอล หรือพวกไอริชเคยทำกับพวกอังกฤษ ซึ่งผมว่าประสบการณ์แบบนี้ของสังคมไทยเรายังมีไม่พอ ถึงมีจะมีคนคิดจัดตั้ง การจัดตั้งก็ยังมีไม่พอที่จะทำงานแล้วได้ผลจริงๆ ไอ้ที่ทำอยู่ในเวลานี้มันสะเปะสะปะ เช่น เผาโรงเรียนในเวลานี้ ผมคิดว่าเผาทำห่าอะไรวะ (ฮาครืน) เสียศักดิ์ศรีเปล่าๆ

มีเผาตลาดวโรรสด้วย
นิธิ : ใช่ อย่างเผาตลาดวโรรสนี่ คุณก็ต้องระวัง คนทำมาค้าขายเขาเดือดร้อนไปด้วย คือวิธีเลือกเป้าต่างๆ ที่เห็นในเวลานี้ มันทำให้ผมคิดว่าเขายังมีประสบการณ์ไม่พอ

คิดไหมว่ามันจะเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อให้ภาพของคนเสื้อแดงที่แม้จะกลับบ้านไปแล้ว ยังเลวร้ายอยู่
นิธิ : หมายความว่า รัฐบาลทำอย่างนั้นหรือ อันนี้ผมไม่รู้ แต่ที่หวังกันว่า มันจะมีการทำสงครามใต้ดินต่างๆ นี่ ผมว่ายาก

แนวทางของรัฐบาลต่อจากนี้ไป เขาจะทำอย่างไร
นิธิ : ตอนนี้รัฐบาลรู้แล้วนะว่า เขามีฐานทางการเมืองที่สำคัญของเขา คือชนชั้นกลางในระดับกลางขึ้นไป (หมายเหตุ : ชนชั้นกลางในทัศนะของอาจารย์มีสามระดับ คือ ชนชั้นกลางระดับล่าง ชนชั้นกลางระดับกลาง ชนชั้นกลางระดับสูง) ดังนั้น เขาจะทำทุกอย่างเพื่อให้คนชั้นกลางรับได้ เช่นว่า เขาทำแผนปรองดอง ส่วนหนึ่งของมันก็ต้องมีผักชีโรยหน้าให้เห็น เป็นต้นว่า ตอนนี้รัฐบาลเริ่มจะบอกว่า กลุ่มคนที่มาชุมนุมประท้วงและเสียชีวิต ตอนนี้รัฐบาลก็เข้าไปจ่ายเงินชดเชยต่างๆ แล้ว คนชั้นกลางก็ เออ ช่วยเหลือแล้วไง รู้สึกดี รับได้

 

 

ทำไมกลุ่มนี้จะต้องเกี่ยงงอน
ในเรื่องคุณสุเทพมอบตัว
หลายคนมองว่า
ถ้ายอมรับกันเสียตั้งแต่วันนั้น
ก็จะไม่ต้องเสียเลือดเนื้อกันอีกครั้งหนึ่ง
แต่คำถามก็คือ
ไอ้คนที่ตายไปตั้งแต่วันที่ 10 เมษายนล่ะ
จะทำอย่างไร
และผมคิดว่า
มันเป็นครั้งแรก ที่การเคลื่อนไหวของเรา
มองเห็นคุณค่าชีวิตคนที่เสียไปในการต่อสู้

 

พลังของชนชั้นกลางจะยังชนะไหมในอนาคต
นิธิ : ผมว่ายังชนะนะ แต่แพ้ในการเลือกตั้งไง เพราะฉะนั้น เขาถึงยอมให้มีการเลือกตั้งไม่ได้ไงล่ะ ชนะในที่นี้คือคุณสามารถกุมสื่อได้

ถ้าอย่างนั้น เดิมที่ประกาศมาว่า จะเลือกตั้งวันที่ 14 พฤศจิกายน แปลว่า เขาไม่ได้คิดจะเลือกตั้งจริงๆ
นิธิ : ผมว่าไม่นะ

แต่ในแง่สื่อทั่วไปจะมองว่า นปช. ทำไมไม่ยอมรับ ในเมื่อเขาประกาศแล้วจะให้เลือกตั้ง เลยกลายเป็นว่า นปช. ได้คืบจะเอาศอก ไม่ยอมปรองดอง
นิธิ :  ผมเองสองจิตสองใจนะในสถานการณ์ตอนนั้น คือ ทำไมกลุ่มนี้จะต้องเกี่ยงงอนในเรื่องคุณสุเทพไปมอบตัว หลายคนมองว่า ถ้ายอมรับกันเสียตั้งแต่วันนั้นก็จะไม่ต้องเสียเลือดเนื้อกันอีกครั้งหนึ่ง แต่คำถามก็คือ ไอ้คนที่ตายไปตั้งแต่วันที่ 10 เมษายนล่ะ จะทำอย่างไร และผมคิดว่ามันเป็นครั้งแรกนะ ที่การเคลื่อนไหวของเรา มองเห็นคุณค่าชีวิตคนที่เสียไปในการต่อสู้

คุณจำลอง ศรีเมือง นี่ในสมัยพฤษภาทมิฬ (2535) หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เรียกคุณจำลองและคุณสุจินดา คราประยูร เข้าเฝ้า และคุณสุจินดาออกไป ทุกอย่างก็จบ ถามว่าคนที่ตายล่ะ ได้อะไรบ้าง ไม่ได้เลย ได้การเลือกตั้งครั้งใหม่ คุณจำลองก็ลงเลือกตั้ง แล้วไอ้คนที่ตายไป 30 กว่าศพบนถนนราชดำเนินวันนั้น ถามว่าคุณค่าชีวิตเขาอยู่ที่ไหน เขาคือเหยื่อที่ให้คุณไปเลือกตั้งเท่านั้นหรือ ไม่มีใครทวงชีวิตเขา ไม่มีใครทวงการกระทำนั้นกลับคืนมา ทุกครั้งมันจะเป็นอย่างนี้ทุกที

แต่ครั้งนี้ ผมว่ามันเป็นครั้งแรกนะที่ผู้นำบอกว่าไม่ได้ คุณต้องรับผิดชอบกับ 20 ชีวิตนั้นก่อน วันที่อภิปรายไม่ไว้วางใจ คุณจตุพร (จตุพร พรหมพันธุ์) พูดในสภานั้นมีประเด็นนะ เขาบอกว่า เขาเป็นผู้แทน เมื่อมีการเลือกตั้งอย่างไรก็เป็นประโยชน์กับเขา รู้ว่าถ้าเลือกตั้งยังไงเขาก็ได้แน่ๆ จริงๆ จะหยุดตั้งแต่วันนั้นก็ได้ แต่ทีนี้ไอ้คนที่ตายไปล่ะ

นี่เป็นครั้งแรกที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองคำนึงถึงคุณค่าชีวิตของคนมาร่วมชุมนุมแล้วก็ตายไป เป็นการชุมนุมที่คิดถึงชีวิตคนที่ตายไป ไม่ใช่ให้เขาตายกลายเป็นเหยื่อแล้วคุณได้ผลดีในการเลือกตั้งก็แล้วกันไป ดังนั้น ผมไม่แน่ใจนะว่า การที่เขาไม่ยอมหยุด มันผิดแน่เหรอ
 

 

ผมไม่เชื่อว่ามีเรื่องของกองกำลัง
เพราะว่าถ้ามันมีมากอย่างคุณสุเทพบอกว่า
มีตั้งห้าร้อยคน
ทำไมคุณถึงจับไม่ได้เลยแม้สักคนเดียว

 

กรณีวันที่ 10 เมษายน มีกองกำลังที่เราไม่รู้ว่าเป็นฝ่ายไหน อยู่ในสถานการณ์นั้นด้วย
นิธิ : คือถ้ากองกำลังนั้นมีจริงนะ คำถามก็คือ รัฐบาลรู้ไหมว่า มันอาจจะถูกแทรกแซงโดยคนที่ไม่เกี่ยวกับกลุ่มเสื้อแดง แต่อาจไม่ถูกกับรัฐบาล อย่าลืมว่าก่อนหน้านั้นมันมีคนเอาเอ็ม 79 ไล่ยิงที่นั่นที่นี่ตลอดมา แสดงว่ามันมีกองกำลังนั้นอยู่แล้ว คุณไม่คิดหรือว่า ไอ้นี่มันอาจแทรกแซง และทำให้เกิดปัญหานั้นได้ แล้วคุณไปใช้กำลังหรือวิธีการขอคืนพื้นที่ทำไม

คำถามคือ มันมีกองกำลังจริงไหม
นิธิ : ไม่ใช่ๆ เขาบอกว่ามีคนแต่งชุดดำที่ถือปืนเอ็ม... เอ็มอะไรเนี่ย ปะปนอยู่ และเอาภาพถ่ายมาให้ดู คำถามก็คือ เอ้า ในเมื่อมันมีภาพคนเหล่านี้อยู่ และคุณก็บอกว่าพวกนี้คือกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งมีกี่คนก็ไม่รู้ แต่คุณมาบอกว่า คนเหล่านี้แหละที่ยิงทั้งทหารและยิงผู้ชุมนุม

สมมติว่าจริงก็ได้ ซึ่งผมไม่เชื่อเลยนะ (หัวเราะ) แต่ เอ้า สมมติว่าจริง ถามว่าคุณเป็นรัฐบาลนี่ คุณคาดสิ่งเหล่านี้ได้ก่อนไหม ผมว่าน่าจะคาดได้ เพราะก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุม มันมีการระเบิด ยิงตามโน่นนี่ตลอดเวลา คุณก็น่าจะรู้ว่า มันมีใครสักคนที่ใช้ยุทธวิธีรุนแรงแบบนี้ แล้วคุณยังใช้วิธีการรุนแรงแบบนี้ทำไม

ทำไมอาจารย์ไม่เชื่อว่ามันเป็นเรื่องของกองกำลัง
นิธิ : ผมไม่เชื่อ เพราะว่าถ้ามันมีมากอย่างคุณสุเทพบอกว่า มีตั้งห้าร้อยคน ทำไมคุณถึงจับไม่ได้เลยแม้สักคนเดียว (ฮาครืน) มันเป็นไปได้ยังไง คนเดียวก็จับไม่ได้

(แสดงความเห็น):คลิปวิดีโอหรือภาพถ่ายก็มีแบบเดิมๆ ตั้งแต่สมัยวันที่ 10 เมษา คลิปเหล่านี้เอามาออกทีวี ออกแล้วออกอีกว่า มีชายชุดดำหน้าเดิมๆ เห็นเป็นสิบรอบแล้ว ยังสงสัยอยู่ว่า ทำไมไม่ไปจับเล่า

(แสดงความเห็น) : มีผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นถามอภิสิทธิ์ว่า ผู้ก่อการร้ายห้าร้อยคนอยู่ไหน

(แสดงความเห็น) : แสดงว่าการข่าวของรัฐล้มเหลวเลยนะนี่

นิธิ : แล้วมันมีกรณีอย่างนี้ด้วยนะ คุณสุเทพบอกว่า ไอ้พวกเสื้อแดงนี่มันจับไว้เอง แล้วก็จับส่งให้ตำรวจ แล้วคนคนนั้น นายสุเทพบอกว่ามีภาพใบหน้าชัดเจน แต่ตำรวจปล่อยไปแล้ว แต่เชื่อว่า จะตามหาเขาได้ (ในวงคุยหัวเราะ ฮากันตรึม)

อะไรนี่! อะไร แต่เชื่อว่าจะตามหาเขาได้ อะไรนี่ (ฮา) งง

แล้วถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงนะ ไอ้คนที่จับได้ก็ไม่ใช่ตำรวจหรือทหารจับด้วยนะ แต่ไอ้พวกเสื้อแดงเป็นคนจับเอง เออ แล้วก็ส่งให้ตำรวจ (หัวเราะ ขำกันใหญ่)

แต่มันกลับกลายเป็นว่า เอากองกำลังมาอ้าง เพื่อที่รัฐบาลจะได้ปราบโดยไม่ผิด
นิธิ : ใช่ไง กลายเป็นอย่างนั้น ทั้งที่ก็ไม่รู้หรอกว่า มีจริงหรือไม่มีจริง แต่เอ้า ถ้ามีจริง คุณก็รู้อยู่แล้วว่ามันจะมี แล้วคุณใช้วิธีนี้ทำไม

มันน่าสงสัยเหมือนกันนะว่า การที่มีคนติดอาวุธปนอยู่นั้น มันเป็นยุทธวิธีของรัฐเพื่อจะให้มีความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงกับผุ้ชุมนุม
นิธิ : คนเสื้อแดงเขาก็ว่าอย่างนั้น แต่ผมว่า เราปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งก็มีอาวุธ เช่น กลุ่มของเสธ.แดง แต่ขณะเดียวกัน ผมก็เห็นใจเขานะ คือ เสธ.แดงมันใช้วิธีรุนแรง ก็เพราะชีวิตนี้ทั้งชีวิตเขารู้จักวิธีนี้วิธีเดียว มันก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออกหลายเรื่องด้วยกัน
 

 

ในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ
ซึ่งรัฐเป็นผู้ผูกขาดความรุนแรง
ผมยังมองไม่เห็นว่า
คุณจะสู้ด้วยวิธีการใช้อาวุธได้ยังไง
อย่างน้อย ถ้าคุณไม่เชื่อในเรื่องสันติวิธี
คุณก็ต้องเชื่อสันติวิธีในแง่ยุทธวิธี

 

การต่อสู้ที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธก็ยังโดนฆ่า ทีนี้เป็นไปได้ไหมว่า ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามันกลายเป็นบทเรียนให้พวกเขารู้จักป้องกันตัวด้วยการใช้อาวุธ
นิธิ : ในการต่อสู้กับอำนาจรัฐซึ่งรัฐเป็นผู้ผูกขาดความรุนแรง ผมยังมองไม่เห็นว่า คุณจะสู้ด้วยวิธีการใช้อาวุธได้ยังไง อย่างน้อย ถ้าคุณไม่เชื่อในเรื่องสันติวิธี คุณก็ต้องเชื่อสันติวิธีในแง่ยุทธวิธี คุณต้องเชื่อในแง่ของปรัชญา ว่ามันเป็นยุทธวิธี

แต่ชาวบ้านบางคนบอกว่า เขาจะต่อสู้แบบชาวบ้าน แรงมาแรงไป ตาต่อตาฟันต่อฟัน
นิธิ : แล้วคุณจะชนะเขาไหมล่ะ ยังไงคุณก็สู้รัฐไม่ไหว

มีบางคนบอกว่า การที่รัฐเปิดเจรจาสองครั้งที่ผ่านมานั้น มันแค่ต้องการลดแรงเสียดทานกระแสสังคมเท่านั้น รัฐไม่มีทางอยากปรองดองหรืออยากเปิดเจรจาจริงๆ เขาจึงเชื่อว่า การเจรจาต่อรองจะเกิดขึ้นได้ คือ ต้องต่อสู้จนทำให้ทหารหรือรัฐเกิดความสูญเสียถึงจะเจรจาได้ คือมีอำนาจต่อรอง
นิธิ : ผมไม่เชื่อ ถ้าคุณเลือกความรุนแรง คุณสู้รัฐไม่ได้

สันติวิธีเป็นสากลมากกว่า
นิธิ : ใช่ครับ มันเป็นสากลทั่วโลก ไม่ใช่แค่เมืองไทย คือถ้าคุณไม่เชื่อสันติวิธี ก็มองว่ามันเป็นยุทธวิธี หลายประเทศเขาก็ไม่ได้เชื่อในอุดมการณ์สันติวิธีจริงๆ หรอก เขาก็ทำมันเป็นแค่ยุทธวิธี ถ้าคุณเชื่อในสันติวิธีจริงๆ คุณต้องพร้อมที่จะให้เขาทำร้ายคุณ ซึ่งมันมีวิธีการในสันติวิธีที่จะทำให้เขาทำร้ายคุณได้น้อยลง

เช่น คุณนั่งลงเลย นั่งอยู่เฉยๆ ไม่กระดุกกระดิก เหมือนอย่างตอนที่ผู้นำเสื้อแดงประกาศมอบตัว เสื้อแดงมันแตกกันหมด แล้วมีผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 50 นั่งถือธงอยู่ (ผุสดี งามขำ) เธอบอกจะอยู่เป็นคนสุดท้าย เธอบอกจะรอให้เขามายิง

คือถ้าคุณเชื่อในสันติวิธีจริงๆ หรือเชื่อว่ามันคือยุทธวิธีจริงๆ คุณต้องฝึก ฝึกหนักยิ่งกว่าการรบด้วยซ้ำ แล้วมันมีเทคนิคต่างๆ ร้อยแปด เช่น เมื่อมีทหารหรือตำรวจเข้ามาประชิดตัวคุณปั๊บ คุณอย่าหลบตา ให้จ้องตาเขา เพราะเมื่อไหร่ที่คุณหลบตา คนที่เผชิญหน้ากับคุณ เขาจะรู้สึกว่าคุณน่ากลัวขึ้นมาทันที แต่ถ้าคุณจ้องตา คนที่เขาจะเข้ามาตีคุณ เขาจะมองเห็นว่า คุณไม่มีอาวุธ คุณพร้อมจะเผชิญหน้าเขา เขาจะเห็นคุณเป็นศัตรูน้อยลง ไม่ได้หมายความว่า มันจะไม่มีการเจ็บนะ แต่จะเจ็บน้อยกว่านี้ ซึ่งทั้งหมดนี้คุณต้องฝึกฝน

ในการต่อสู้ทางสันติวิธี คุณต้องปลดความกลัวของอีกฝ่าย ไม่ใช่การปลดอาวุธเขานะ แต่ปลดความกลัวของเขาให้ได้ ไอ้ทหารที่มันจะเข้ามาหาเรานี่ มันไม่ใช่ไม่กลัวเรานะ เขาก็กลัวเรา แต่ถ้าคุณไม่กลัว และปลดความกลัวของเขาซะ เขาจะไม่ทำร้ายคุณ หรือทำร้ายคุณน้อยลง หลักการของสันติวิธีเป็นอย่างนี้ ซึ่งคุณจะต้องฝึกฝน

อย่าง... คานธีเคยบอกกับเนรูห์ (ผู้นำอินเดีย) ว่า ถ้าตำรวจเอากระบองตี ห้ามยกมือขึ้นรับนะ เพราะถ้าคุณกระดุกกระดิกปั๊บ คุณน่ากลัวละ เขาจะคิดว่าคุณจะทำร้ายอะไรเขาก็ได้ ดังนั้น คุณต้องยืนเฉยๆ ปล่อยให้เขาตี เนรูห์บอก ‘กูรับแทบไม่ไหวเลยแบบนี้’ (หัวเราะ)

สันติวิธีจริงๆ มันต้องฝึกมาก (เน้นเสียง)

อย่างการต่อสู้ของเสื้อแดง ถ้าคุณนั่งเฉยๆ แล้วเขาจะเอาคุณเข้าคุก คุณก็ปล่อยเขามาลากตัวเอาไปเลย แต่ไม่ต้องไปเดินกับเขา นั่งเฉยๆ นี่แหละ ปล่อยเขาฉุดกระชากลากถูไปเพื่อเอาไปใส่ล็อบที่ตำรวจเอามาเนี่ย ลากเอาไปเลย จะร้องวี้ดว้ายก็ได้ ร้องไปเลย คุณคิดดู เมื่อภาพอันนี้ลงหนังสือพิมพ์ทั้งโลก แล้วใครจะชนะ

แต่ดูแนวทางตอนนี้ เสื้อแดงจะไม่เอาสันติวิธีแล้ว
นิธิ : ผมก็เกรงว่าจะอย่างนั้น

 

 

มันจะน่าเศร้าตรงที่
ความเจ็บแค้นนี้จะทำให้เขา
ต้องเลือกนักการเมืองกะเฬวกะลาก
มันต้องเลือก
เพราะมันไม่รู้จะเลือกใคร

 

โดยภาพรวมแล้ว ตอนนี้เขาเหนียวแน่นหรือว่ากระจัดกระจาย
นิธิ : ผมว่ากระจัดกระจายนะ คือแต่ก่อน องค์กรที่เคยมีอยู่มันก็มีอยู่อย่างหลวมๆ อยู่แล้ว เคยมีเสธ.แดง ตอนนี้ก็ถูกทำลายลงแล้ว แล้วแกนกลางในชุมชนต่างๆ ตอนนี้ต้องหนีบ้าง ถูกจับบ้าง ปฏิบัติการอะไรไม่ได้บ้าง เพราะต้องสงบนิ่งช่วงหนึ่ง ฉะนั้น ช่วงนี้จะเหลือแต่อันธพาลแท้ ซึ่งแยะมาก เพราะไม่มีประวัติศาสตร์ครั้งไหนที่คนจะเข้าร่วมชุมนุมเยอะอย่างนี้ มันจะมีแต่ความเจ็บแค้นเต็มไปหมด

ถ้ามองอนาคตไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น
นิธิ : อันที่หนึ่งก็คือว่า ตราบเท่าที่ยังเป็นอย่างนี้ ไม่สามารถที่จะแก้ไขความรู้สึกของคนในเรื่องนี้ได้ คุณเลือกตั้งไม่ได้ คุณเลือกเมื่อไหร่คุณก็แพ้ และมันจะน่าเศร้าตรงที่ความเจ็บแค้นนี้จะทำให้เขาต้องเลือกนักการเมืองกะเฬวกะลาก มันต้องเลือก เพราะมันไม่รู้จะเลือกใคร มันจะมีคนเลวๆ ที่มาเก็บเกี่ยวความแค้นไปใช้ประโยชน์เยอะมาก ซึ่งก็ช่วยไม่ได้นะ คล้ายๆ กับการเดินเลยขั้นที่ว่า เราจะสามารถนำประเทศไปสู่ความเปลี่ยนแปลงโดยสงบไปแล้ว

อย่างน้อยเราก็คงต้องผ่านช่วงเวลาหนึ่งซึ่งจะมีนักการเมืองเลวๆ เหล่านี้อยู่
 

 

มันไม่มีภาคใดที่จะเป็นรัฐที่ดำรงอยู่ได้
ในความเป็นจริง
อย่างภาคเหนือ ภาคอีสานนี่ไม่มีทะเลเลย
แล้วคุณจะส่งของออกนอกประเทศได้ยังไง

 

แล้วการปฏิเสธระดับพื้นที่จะเป็นไปได้ไหม อย่างบางคนบอกว่า จะแยกประเทศ
นิธิ : แม่ค้าในตลาดพูดกันเยอะแยะ แต่ผมจะบอกอย่างนี้นะ มันไม่มีภาคใดที่จะเป็นรัฐที่ดำรงอยู่ได้ในความเป็นจริง อย่างภาคเหนือ ภาคอีสานนี่ไม่มีทะเลเลย แล้วคุณจะส่งของออกนอกประเทศได้ยังไงวะ (หัวเราะ ฮากันตรึม)

(แสดงความเห็น) : ส่งไปทางแม่น้ำโขง (หัวเราะ)

(แสดงความเห็น) : แต่หลังวันที่ 19 พฤษภาคม มานี่ มันทำให้คิดอย่างนี้จริงๆ นะ เพราะเปิดทีวีมา รู้สึกเลยว่าประเทศไทย คือ ประเทศกรุงเทพฯ อยากจะคืนบัตรประชาชนคนไทยไปเลย

(แสดงความเห็น) : เห็นแต่ข่าวไฟไหม้ เยียวยาผู้ประกอบการ แต่คนตาย คนกลับบ้านนอก มองไม่เห็นเลยว่าพวกเขาอยู่ตรงไหนของประเทศไทย

นิธิ : ก็ใช่ ผมเห็นด้วยหมด แต่การแยกประเทศมันเป็นไปไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจการเมืองเราไปไกลแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เขาว้าวุ่น เขาก็เลย... เอ้า อะไรก็ได้ แยกประเทศ เท่าที่จะคิดได้

เหตุการณ์นี้ทำให้คนสำนึกในความเป็นชาติมากขึ้นไหม
นิธิ : แล้วแต่คุณจะนิยามว่า ความเป็นชาติคืออะไรนะ สำหรับผมคิดว่า การที่คนเหล่านี้แสดงออกต่อความเป็นชาติ คือ เรื่องสองมาตรฐานของชาติ ของชาตินะ ซึ่งเขาไม่เคยสนใจความเป็นชาติมาก่อน ผมว่าความเป็นชาติเข้มแข็งขึ้น แต่ในแง่หนึ่ง ผู้ใหญ่บางคนอาจจะมองอีกด้าน บอกว่า เอาล่ะ หันมาปรองดองกัน แต่ผมมองว่า ไม่เคยมีครั้งไหนที่ผู้คนจะสนใจและมาแชร์กันต่อเรื่องความเป็นธรรมของชาติ สองมาตรฐาน ห่าเหวอะไรนี่ ไม่มีนะ

การชุมนุมของคนเสื้อแดงทำให้คนกรุงเทพฯ อาจจะโกรธแค้น เพราะทำให้ลำบากลำบน
นิธิ : ไม่เห็นนะ ช่วงตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมไม่เห็นความโกรธแค้นของคนกรุงเทพฯ ชนชั้นกลางระดับล่างนะ ชนชั้นกลางระดับบน บนสุดเลย จริงๆ ไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าไหร่ เซ็นทรัลเนี่ย ถามว่าไม่ได้ขายสองสามเดือนแค่สาขาเดียวเดือดร้อนอะไรนักหนา

แล้วทำไมเขาปราบ
นิธิ : ปล่อยไว้ไม่ได้ไง ผมถึงบอกว่า ประชาธิปัตย์คือไพ่ใบสุดท้าย คุณปล่อยอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แล้วนำไปสู่การเลือกตั้งไม่ได้ เพราะถ้ามีการเลือกตั้ง เสื้อแดงมาแน่ๆ

ชนชั้นนำของอาจารย์หมายถึงอะไร
นิธิ : ชนชั้นนำของผมไม่ได้หมายถึงชนชั้นกลางอย่างเดียวนะ แต่หมายถึงทั้ง ทุน สื่อ หลายอย่าง อย่างพวกเรา ในแง่หนึ่งเราก็เป็นชนชั้นนำ แต่เราเป็นชนชั้นนำกลุ่มน้อยเท่านั้นเอง

 

 

ตอนนี้สื่อที่จะมาทำหน้าที่ของสื่อที่เป็นจริง
กำลังหายไปจากโลกนี้
และกำลังเกิดสื่อชนิดใหม่
ที่ยังไม่มีสมรรถภาพดีพอ
ที่จะมาแทนที่สื่อเก่าได้

 

อาจารย์คิดยังไงกับการที่สื่อเลือกข้าง ซึ่งครั้งนี้ชัดเจนมาก
นิธิ : มันก็แย่แน่ๆ ในแง่ของสื่อ ปรากฏการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะในประเทศของเราอย่างเดียว ตอนนี้สื่อที่จะมาทำหน้าที่ของสื่อที่เป็นจริงกำลังหายไปจากโลกนี้ และกำลังเกิดสื่อชนิดใหม่ที่ยังไม่มีสมรรถภาพดีพอที่จะมาแทนที่สื่อเก่าได้ ในอเมริกา บริษัท บ๊อกซ์ ที่ทำทีวีเคเบิล มันออกข่าวเรื่องบุชชนะเลือกตั้ง แต่ยังนับคะแนนไม่เสร็จเลย เพราะมันยังมีปัญหาเรื่องการนับคะแนนที่รัฐฟลอริดา แล้วมันออกข่าวบุชชนะไปได้ยังไง คือมันออกข่าวไปเพื่อสร้างกระแสให้คนรู้สึกก่อนว่า บุชชนะแล้ว อาจมีคนเสียใจ แต่ให้คุณยอมรับตรงนี้ก่อน แล้วต่อมาเมื่อพบว่ามันมีปัญหาเรื่องการนับคะแนนที่รัฐฟลอริดา เขากำลังจะมาคิดกันว่าจะนับคะแนนใหม่ไหม ไอ้นี่ก็มาบอกว่ามันชนะไปแล้ว มันไม่ควรมานับคะแนน ก็เหมือนสื่อในประเทศไทยหลายแห่ง การที่มันเลือกข้างมันเกิดขึ้นทั่วทั้งโลก

อย่างสื่อในเมืองไทย คุณสุทธิชัย หยุ่น อ้างว่ามันต้องเลือกข้างกันแล้ว ฝรั่งมันก็เลือกข้าง ต่างๆ นานา ประหนึ่งว่า แม่ง ฝรั่งมันทำเลวร้ายอะไร มันต้องกลายเป็นมาตรฐานไปเลย

การเลือกข้างของสื่อมันเกิดขึ้นจริง มันเป็นปัญหาที่เราต้องเผชิญ ซึ่งมันก็เกิดทางเลือกใหม่อย่างสื่อทางเลือก แต่มันไม่มีสมรรถภาพพอ คุณจะให้ ‘ประชาไท’ เสนอข่าวได้รอบด้านเท่าไทยรัฐ มันเป็นไปไม่ได้หรอก (เสียงพูดแทรกกันระงม - ตอนนี้แค่จะเปิดประชาไทยังเปิดไม่ได้เลย) เออ อย่าง ‘ประชาไท’ เขาทำงานกันสองคนหรือสามคนก็ไม่รู้ คุณจะให้มันไปเท่าไทยรัฐได้ยังไง (หัวเราะกันครืน)

(แสดงความเห็น) : สื่อทางเลือกอยากเสนอปัญหาของคนชั้นล่างก็จริง แต่เขาก็ไม่สามารถจะเจาะเข้าไปหาคนชั้นล่างได้

(แสดงความเห็น) : มันไม่มีเงินจะไปตามดูว่า ชาวบ้านเขากลับบ้านแล้วเป็นยังไง

นิธิ : ใช่ไง ก็นี่ไงมันไร้สมรรถภาพไง

(แสดงความเห็น) : เห็นบางคนบอกว่า นักข่าวบางคนก็ดี เขาก็รายงานตามความเป็นจริง แต่ว่า บ.ก. ไม่ให้ออก อันนี้มันก็มีอยู่จริง มันมีชนชั้นอยู่ในวิชาชีพสื่อ ตอนนี้สื่อไม่ใช่สถาบันอีกต่อไปแล้ว แต่สื่อคือธุรกิจประกอบการ นักข่าวหลายๆ คนบอกว่า จะให้เขาทำอย่างไร ลูกเขาต้องเรียนหนังสือ บ้านต้องเช่า ข้าวต้องกิน ถ้าเขาไม่ให้นักข่าวไปต่างจังหวัด ไม่ยอมไฟเขียว จะทำอย่างไรได้ อย่างเก่งก็มานั่งนินทากันเอง

ที่อาจารย์เคยเขียนว่าชนชั้นนำไม่ปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมคืออะไร
นิธิ : มีตัวอย่างที่อังกฤษนะ เมื่อเริ่มเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ตอนนั้น สภาผู้แทนอังกฤษมีประชาธิปไตยแบบที่ให้สิทธิเลือกตั้งเฉพาะคนที่เสียภาษี ดังนั้น จะมีคนหยิบมือเดียวเองที่มีสิทธิเลือกตั้ง ทีนี้ในหมู่ชนชั้นนำเองก็เกิดเสียงแตก มันเลยต่อสู้กันโดยขยายสิทธิการเลือกตั้งลงไปยังคนที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อที่กูจะได้มีคะแนนมาเยอะๆ มันเลยขยายๆๆ จนดึงคนอังกฤษเข้ามาสู่วงการเมือง โดยที่คนอังกฤษเองยังไม่ได้ผลักดันมากนัก

สรุปว่า ชนชั้นนำอังกฤษเนี่ย มันปรับตัวของมันเอง ไม่ว่าจะด้วยความโลภหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่มันปรับตัว

แต่ของเรานี่ ชนชั้นนำไทยไม่รู้จักปรับตัวเอง ขณะที่สังคมไทยเราเปลี่ยนไปแล้ว แทนที่จะปรับแล้วไม่ปรับ แต่กลับไปใช้อำนาจเพื่อจะหยุดสังคมไทยให้มันอยู่อย่างเก่าอยู่ตลอดเวลา มันคือตัวปัญหาที่สุดของไทยเรา
 

 

มันเป็นครั้งแรกในเมืองไทย
ที่การต่อสู้ทางการเมือง
ไม่ใช่การต่อสู้ของกลุ่มการเมืองอย่างเดียว
มันมีการต่อสู้ทางสังคมอยู่ด้วย

 

สังเกตดูว่า คนตายเยอะขนาดนี้ ถ้าเป็นทุกครั้งจะมีคนชนชั้นกลางออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ แต่ครั้งนี้ไม่มี
นิธิ : ผมว่ามันเป็นครั้งแรกในเมืองไทยนะ ที่การต่อสู้ทางการเมืองไม่ใช่การต่อสู้ของกลุ่มการเมืองอย่างเดียว มันมีการต่อสู้ทางสังคมอยู่ด้วย เช่น เป็นต้นว่า คนเสื้อแดงเมื่อพ่ายแพ้กลับมาแล้วมาด่าคนชนชั้นกลาง ผมว่าตรงประเด็นเด๊ะเลย

คือแต่ก่อนคุณไม่เคยคิดจะด่าคนในสังคม คุณด่าสุจินดา คุณด่าถนอม กิตติขจร ประภาส จารุเสถียร แต่คุณไม่ได้ด่าสังคมเราเอง มันเป็นแบบนี้ แต่บัดนี้คนในสังคมเราเห็นแล้วว่า มันไม่ใช่แค่อภิสิทธิ์ อภิสิทธิ์น่ะใช่แน่ แต่ไม่ใช่แค่อภิสิทธิ์ ในขณะที่คนชั้นกลางไปรบกับถนอม ประภาส ที่เรียกกันว่า สามทรราชย์

ด่าชนชั้นกลางเพราะเห็นว่าชนชั้นกลางนี่แหละ ที่ทำให้คนอย่างอภิสิทธิ์อยู่ได้
นิธิ : ใช่
 

 

คนไทยได้เปลี่ยนตัวเองเป็นชนชั้นกลางแล้ว
แต่เป็นชนชั้นกลางระดับล่าง
ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

 

หากจะบอกว่าเสื้อแดงคือชนชั้นล่าง แต่ชนชั้นล่างที่เป็นเหลืองก็มี?
นิธิ :  ไม่ๆ ต้องกลับไปพูดเรื่องที่เคยพูดแล้วหลายครั้งหลายหนว่า สังคมมันมีความเปลี่ยนแปลง คือต้องถามว่า มันมีความเปลี่ยนแปลงอะไร สำหรับผมคิดว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุดในสังคมไทยคือ หนึ่ง - บัดนี้สังคมไทยไม่ใช่สังคมเกษตรกรรมแล้ว เราเป็นสังคมที่แรงงานกว่าครึ่งของประเทศไม่ได้อยู่ภาคเกษตรกรรมแต่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมและบริการ

สอง - กว่าครึ่งของคนไทยในเวลานี้มีชีวิตอยู่ในเขตที่เราเรียกว่าเขตเมือง ไม่ว่าคุณจะนิยามเมืองว่าอะไรก็แล้วแต่ จะเรียกเทศบาลก็แล้วแต่ กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยอยู่ในเขตเมือง ซึ่งแปลว่า เขาได้รับข่าวสารข้อมูล หรืออะไรต่อมิอะไรแทบไม่ต่างกันแล้ว

และสาม - กลับไปดูในภาคเกษตรกรรมว่า มันมีใครเหลืออยู่บ้างในภาคเกษตรกรรม ซึ่งก็จะเหลือคนอยู่สองประเภทด้วยกัน นั่นคือ ประเภทที่หนึ่ง เนื่องจากการเกษตรกรรมในเวลานี้มันต้องผลิตในเชิงพาณิชย์เข้มข้นมากขึ้นทุกวัน ไม่มีใครปลูกข้าวกินเองนอกจากพ่อหลวงจอนิ (ฮาครืน) ทุกคนต้องปลูกข้าวเพื่อจะขายคนอื่นทั้งนั้น ฉะนั้น คนที่เหลือในภาคเกษตรกรรมคือคนที่- (หยุดคิดนิดหนึ่ง) จะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ แต่มีทุนพอจะสะสมที่ดินและลงทุนในระดับที่มันคุ้มทุนในเชิงพาณิชย์ ส่วนคนที่ไม่สามารถจะทำอย่างนั้นได้ จะหลุดออกจากภาคเกษตรกรรม หลุดไปไหน หลุดไปทำผมในหมู่บ้าน หลุดไปเป็นหมอนวด ร้อยแปดพันเก้าอย่าง ไปขายก๋วยเตี๋ยว นั่นคือส่วนนี้

โดยสรุปก็คือว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ คนไทยได้เปลี่ยนตัวเองไปเป็นชนชั้นกลางไปแล้ว แต่เป็นชนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นแม่ค้าขายผักอยู่ในตลาด เป็นอะไรร้อยแปด แล้วคนกลุ่มนี้ประสบปัญหาในชีวิตแยะมากๆ เพราะครั้งหนึ่งตนเคยมาจากภาคเกษตรกรรมเลี้ยงตัวเองที่มันไม่สนใจรัฐ รัฐไม่ต้องมาเกี่ยว แต่บัดนี้ รัฐเกี่ยวกับตัวเองทุกอย่าง แม้แต่ขายก๋วยเตี๋ยว ไอ้กระดูกหมูที่เอามาต้มเป็นน้ำซุป มันก็ขึ้นอยู่กับนโยบายหมู ถูกไหมครับ สมัยก่อน เขาจะทำอะไรก็ทำของเขาเอง รัฐไม่เกี่ยว แต่ตอนนี้ไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไรกระทบเขาอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น คนที่ว้าวุ่นที่สุดก็คือ ชนชั้นกลางระดับล่าง

อีกกลุ่มหนึ่ง คือคนที่เรียกว่า จนดักดาน ซึ่งเหลืออยู่ประมาณ 6-10 ล้านคน ซึ่งตัวเลขจะขึ้นหรือลงขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจเราว่าจะขึ้นหรือลง คนกลุ่มนี้ก็ยกตัวอย่าง คนเลี้ยงวัว เคยเลี้ยงวัวยังไงก็เลี้ยงมันยังงั้น ยังเป็นคนเลี้ยงวัวคนเดิม เดินไปเดินมา ไอ้นี่ไม่เหลืองไม่แดง ไม่ห่าอะไรทั้งนั้น กูจะเลี้ยงวัวของกูท่าเดียว พวกจนดักดานนี่ไม่เกี่ยวกับการเมืองในเวลานี้

แต่คนที่เกี่ยวคือชนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งผมคิดว่า ในความว้าวุ่นของเขานี่จะนำเขาไปสู่แดงก็ได้ นำเขาไปสู่เหลืองก็ได้ เป็นต้นว่า คนชนชั้นกลางระดับล่างเหล่านี้รู้สึกว่า ทำไมกูไม่รวยขึ้น อย่าลืมว่า คนชั้นกลางในหมู่คนทั้งหลายนี่ ถ้าเราจะพูดคำว่า “ชนชั้น” นี่ ชนชั้นกลางคือคนที่ไม่มีชนชั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เราพูดว่า อะไรคือชนชั้น มันแปลว่า มันต้องสืบทอดสถานะของมันให้แก่ลูกหลานได้ เช่น คนเลี้ยงวัวเนี่ย ถ้าเราถามว่า ลูกเขาต่อไปเป็นอะไร เขาบอก เลี้ยงวัว เหมือนเก่าเป๊ะเลย คือไม่ก้าวไปไหนเลย อย่างนี้คือชนชั้น

จนสุด นี่คือชนชั้น หรือสูงสุดนี่ก็ชนชั้น อย่างลูกคุณอะไร โสภณพานิช ถามว่า ต่อไปลูกคุณจะมาเก็บขยะไหม ไม่มีทางหรอก คุณก็ต้องอยากให้ลูกทำอะไรสักอย่างรวยๆ อย่างคุณน่ะแหละ นั่นแหละ คุณคือชนชั้น แต่ชนชั้นกลางคือคนที่ใฝ่ฝันว่า ลูกกูจะดีกว่ากูตลอดเวลา และด้วยเหตุดังนั้น คนชั้นกลางระดับล่าง หรือชนชั้นกลางระดับกลาง จึงมีเหตุผลหลายอย่างที่ผมจะยังไม่เข้าสู่รายละเอียดตอนนี้ว่า คนเหล่านี้ว้าวุ่นเพราะว่า เขาไม่สามารถไต่ระดับได้เลย ตรงนี้แหละที่จะผลักเขาเข้าไปสู่การเมือง จะเข้าไปสู่เหลืองก็ได้ เพราะว่าตัวเองตายนิ่งอยู่กับที่ ไม่ได้ขยับขึ้นไปเลย คุณจะพูดว่า เป็นเพราะนักการเมืองมันโกงกินกันก็ได้ ก็คือเข้าไปอยู่ในขบวนการของเสื้อเหลือง ถูกไหม หรือคุณจะบอกว่ามันสองมาตรฐานนี่หว่า มันไม่ให้ความเป็นธรรมกับเรา ทักษิณเคยช่วยเรา อะไรต่างๆ นานา อย่างนี้ก็ได้ คุณก็เข้าสู่กระบวนการเสื้อแดง

ถามว่าใครเคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนี้ ผมว่า คือชนชั้นกลาง แต่เป็นชนชั้นกลางระดับล่างและกลางระดับกลาง แต่กลางระดับบนไม่มี

แน่นอน คนชั้นสูงเข้ามามีส่วนเล่นเกมนี้ด้วย และเป็นคนเดินหมากด้วย แต่ตัวที่ออกหน้าที่สุดคือ คนพวกนี้
 

 

ชุมชนมันกำลังเปลี่ยน
แล้วเอ็นจีโอ ก็ลืมไปว่า
การที่คุณแช่แข็งชุมชนเอาไว้นี่
มันเป็นแค่เครื่องมือ
เป็นแค่ยุทธวิธีในการต่อสู้เท่านั้นเอง
มันไม่ใช่ความจริง

...

เมื่อชาวบ้านเข้ามาอยู่ในเมืองแล้วตอนนี้
แล้วจะทำอย่างไร
ถามว่าเอ็นจีโอ
มีความรู้พอจะเข้าไปจัดการคนจนหมู่บ้าน
ซึ่งเขาเข้าไปอยู่ในเขตเมืองไปแล้วอย่างไร
คำตอบคือ
ไม่มี

 

การที่อาจารย์พูดถึงชนชั้นกลางระดับล่างที่มีความทะเยอทะยาน มันอาจเป็นจุดโจมตีของอีกฝ่ายที่มองว่าผู้ชุมนุมเหล่านี้ไม่รู้จักพอเพียง ไม่มีชีวิตสมถะ เรียบง่าย โดยเฉพาะเอ็นจีโอจำนวนมากที่ไม่เข้ามาร่วมต่อสู้กับคนเสื้อแดง เพราะเห็นว่าเป็นผลมาจากทุนนิยมสามานย์
นิธิ : โดยรวมๆ ผมว่าอันนี้เป็นความอ่อนแอของเอ็นจีโอไทยด้วย คืออย่างนี้ ในสมัยเมื่อ 20-30 ปีก่อนนี่ การที่คุณจะต่อสู้เพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมชุมชนนี่ ถ้ามองในลักษณะตอนนั้น วัฒนธรรมชุมชนจะมีหรือไม่มีจริง เอาไว้ก่อน แต่มันคือเครื่องมือในการต่อสู้ ถ้า 20 ปีที่ผ่านมา รัฐหรือทุนจะเข้ามาแย่งทรัพยากรชุมชนระดับล่างลงไป เครื่องมือหนึ่งที่จะต่อสู้กับชุมชน คือการแช่แข็งของชุมชนเอาไว้ เพื่อไม่ให้รัฐหรือทุนเข้ามา แต่ 20 ปีที่ผ่านมานี้มันไม่ใช่แล้ว ชุมชนมันกำลังเปลี่ยน แล้วเอ็นจีโอคุณก็ลืมไปว่า การที่คุณแช่แข็งชุมชนเอาไว้นี่ มันเป็นแค่เครื่องมือ เป็นแค่ยุทธวิธีในการต่อสู้เท่านั้นเอง มันไม่ใช่ความจริง ก็ไม่ได้มองว่าตรงนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว

ผมพูดอย่างนี้ คนเป็นเอ็นจีโออาจจะไม่เห็นด้วย (มองหน้าเอ็นจีโอบางคนแล้วหัวเราะ) ผมมองอย่างนี้ เอ็นจีโอยิ่งนับวันก็สัมผัสกับประชาชนน้อยลง ฐานของเอ็นจีโอที่เคยทำงานและมีคนอยู่ด้วย มันน้อยลง เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านจัดตั้งตัวเองแยะมากๆ และไม่ได้เชื่อมโยงกับเอ็นจีโอโดยตรงด้วย

สังเกตว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่มีเอ็นจีโอเลย
นิธิ :  ตรงกันข้าม ชุมนุมเสื้อเหลืองนี่เอ็นจีโอเยอะแยะเลย (เสียงหัวเราะจากหลายๆ คนดังขึ้น)

เพราะชนชั้นกลางระดับล่างที่มีความทะเยอทะยาน ทำให้เอ็นจีโอไม่อยากเข้าร่วมกับผู้ชุมนุมเสื้อแดง?
นิธิ :  อันนี้ผมไม่รู้ แต่ผมหมายความว่า ถ้าคุณยอมรับว่าสังคมมันเปลี่ยน ชาวบ้านมันเปลี่ยน คำถามคือ กระเป๋าคุณสามารถเข้าไปจัดการกับความเปลี่ยนแปลงอันนี้ได้แค่ไหน การที่ชาวบ้านเปลี่ยน ไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านมีพลังเพิ่มขึ้นนะ ชาวบ้านก็ยังมีพลังน้อยอย่างเก่า คำถามคือ ความรู้ที่คุณมีในกระเป๋า จะเข้าไปช่วยชาวบ้านให้มีพลังได้มากหรือน้อย ผมว่าไม่มาก

ผมมองว่าเอ็นจีโอที่ทำงานกับชาวบ้านที่อยู่ในเมืองแทบไม่มีเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อชาวบ้านเข้ามาอยู่ในเมืองแล้วตอนนี้ แล้วจะทำอย่างไร คนจนดักดานทั้งหลายที่ผมว่านี่ ในหนึ่งหมู่บ้าน คือคนส่วนน้อยสุด คุณจะไปช่วยคนส่วนน้อยสุดที่มันไม่มีชุมชนด้วย เป็นคนจนอยู่ก้นตรอกอยู่สองสามครอบครัว ถามว่าเอ็นจีโอมีความรู้พอจะเข้าไปจัดการคนจนของหมู่บ้านซึ่งเขาเข้าไปอยู่ในเขตเมืองไปแล้วอย่างไร คำตอบคือ ไม่มี

ตกลงมันหมดพลังไปแล้ว ดังนั้น สิ่งที่น่าจะหวังตอนนี้คือ ทำอย่างไรถึงจะทำให้ชาวบ้านจัดการตัวเอง จัดองค์กรตัวเอง ทำอะไรเอง คิดเองว่าจะทำอย่างไร

ผมว่าชนชั้นนำตอนนี้นำเอายุทธวิธีของเอ็นจีโอเมื่อ 20 ปีที่แล้วมาใช้ ถ้าคุณดูอย่างช่อง ทีพีบีเอสบ่อยๆ รายการหลายรายการพร่ำพรรณนาถึงชุมชนไทยอันงดงามที่มันไม่มีในเมืองไทยแล้ว หรือแม้แต่ในอดีต มันก็อาจไม่เคยมีเลย ในขณะเดียวกันมันสะท้อนว่า คนกลุ่มนี้พยายามจะแช่แข็งสังคม แต่มันเป็นอุดมการณ์ที่ไม่มีจริง เข้ามาพยายามทำให้คนกลับไปสงบเหมือนเก่า ทำให้มันเชื่อง

(แสดงความเห็น) :  เอ็นจีโออย่างที่ว่า มันเป็นเอ็นจีโออีกระดับหนึ่งที่เหมือนราชการเข้าไปทุกที คือเป็นเอ็นจีโอระดับใหญ่ มีได้มีเสียกับสถานการณ์บ้านเมืองค่อนข้างมาก หรือมีได้มีเสียกับการรับรองหรือไม่รับรองรัฐ

ในเมื่อมันเกิดภาวะคนสองชนชั้น เหมือนอยู่กันคนละกลุ่มก้อน เราจะทำอย่างไรให้กลับมาสู่ความปรองดอง(คนฟังหัวเราะครืน)
นิธิ : เอ แล้วแต่ก่อนมันเคยปรองดองหรือเปล่า (หัวเราะ) คือเดิมมันเคยปรองดองในความหมายนี้ คือ เมื่อก่อนเขาไม่เคยเกี่ยวข้องอะไรกับรัฐ และรัฐก็ไม่เคยเกี่ยวอะไรกับเขา เขาก็โอเคไม่มีปัญหาอะไร เคยมีอุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อย่างไรก็มีเหมือนกัน ก็ปรองดองกันแบบนี้ แต่บัดนี้มันไม่ได้แล้ว ถ้าต้องการปรองดองจริง คุณก็ต้องยอมปฏิรูปจริง ปฏิรูปประเทศไทย แต่มันไม่ได้ปฏิรูปง่ายๆ อย่างทักษิณเอาเงินไปเที่ยวแจกอย่างนี้มันไม่ใช่ เพราะมันมีระดับโครงสร้างที่ต้องปฏิรูปแยะมาก ตั้งแต่การปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการศึกษาที่เปิดโอกาสให้คนได้เท่าเทียมกันมากขึ้น เช่นนี้เป็นต้น

แล้วที่การเมืองมันรุนแรงขนาดนี้ เป็นเพราะอะไร
นิธิ : เพราะไม่อยากให้เปลี่ยนไง

ก็เลยใช้ความรุนแรง? แล้วมันจะหยุดความเปลี่ยนแปลงได้หรือ?
นิธิ : มันดูเหมือนว่าตอนนี้สามารถทำให้สงบ สยบได้แล้ว รัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้งงบประมาณไว้ปีหน้าเพื่อจะลดความเหลื่อมล้ำที่เขาว่านะ คือ เขาก็ทำอย่างที่รัฐบาลไทยทำตลอดมา แม้แต่ก่อนทักษิณ เช่น เอาเงินมาแจกคนแก่เดือนละ 500 บาท เป็นต้น คือการโปรยทานลักษณะต่างๆ ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ยอมแตะด้านโครงสร้าง ไม่ยอมปฏิรูปที่ดิน ไม่ยอมปฏิรูปการศึกษา อย่างโรงเรียนวัดเชิงดอย กับโรงเรียนสวนกุหลาบ มันต่างกันจากหน้ามือเป็นหลังมือ แล้วคุณปล่อยได้ยังไงแบบนี้ จะโดยวิธีไหนก็ไม่รู้ล่ะ แต่ไหนคุณว่าคุณเก่งนัก ก็ลองทำให้โรงเรียนวัดเชิงดอยมันมีคุณภาพใกล้เคียงกันหน่อยสิ

มีบางคนบอกว่า ต้องปฏิวัติก่อนถึงจะปฏิรูปได้
นิธิ :  ผมไม่เชื่อสำนักนี้

แล้วอาจารย์เชื่อสำนักไหน
นิธิ : ผมเชื่อว่า คุณต้องมีอำนาจต่อรองทางการเมืองที่ใกล้เคียงกัน ที่เท่ากันเป๊ะคงไม่มี เอาแค่ใกล้เคียงกันก็พอ ที่พอจะทำให้คนที่เสียเปรียบอยู่ขณะนี้ สามารถเรียกร้องเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างได้

แล้วทำอย่างไรถึงจะมีอำนาจต่อรอง
นิธิ : ก็นี่ไง ที่เสื้อแดงไปชุมนุมนี่ไง ก็คืออำนาจการต่อรองชนิดหนึ่ง แต่ถ้าคุณไปชุมนุมแล้วโดนฆ่าแบบนี้  อำนาจต่อรองมันก็ไม่เกิดไง มันไม่ใกล้เคียงกันเลย (จบคำพูดอาจารย์ เสียงบ่นก็ดังระงมเซ็งแซ่)

คือวิธีการปฏิวัติ ที่ผมเห็นในหลายๆ ประเทศนี่ มันต้องปล่อยให้เกิดปัญหาใหม่ๆ แล้วทำให้คุณแก้ตามเป็นระยะๆ ซึ่งไม่ใช่ว่าไม่ประสบความสำเร็จ อย่างในประเทศจีนก็ถือว่าเขาประสบความสำเร็จมากเลย อย่างน้อยสุดก็เป็นครั้งแรกที่เขาก็ทำให้คนจีนมีข้าวกินอิ่มก่อนทั้งประเทศ ซึ่งมันไม่ใช่ง่ายเลยนะ คนเป็นพันล้านทำอย่างไรให้อิ่มโดยทั่วถึงกัน มันยากนะ เพราะฉะนั้น ผมก็ยอมรับในความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ขณะเดียวกันเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจากการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โอกาสที่สังคมจะปรับตัวเองต่อไปไม่มีละ เพราะมันไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดในโลกนี้ที่จะไม่ก่อปัญหาใหม่ขึ้นมา

ขบวนการปฏิรูป มันจะเป็นไปได้อย่างไร
นิธิ : พูดอย่างจตุพรไง ง่ายๆ คุณต้องเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ใช่แค่เลือกตั้ง เพราะไม่งั้นอย่าหวังว่าจะปฏิรูปอะไรได้

แต่ทุกวันนี้ คำว่าประชาธิปไตยมันหลากหลายมาก
นิธิ : คืออย่างนี้ เมื่อมีคนถามว่า ประชาธิปไตยคืออะไร ก็จะมีนิยามต่างๆ นานา อย่างการปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาชน อะไรอย่างนี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร (หัวเราะ) ผมนิยามอย่างนี้ว่า มันคือการต่อรองที่เท่าเทียมกัน การเลือกตั้งก็คือ กลไกหนึ่งในการต่อรอง ถามว่าถ้าคุณไม่เลือกตั้ง คุณจะเอากลไกอะไรมาแทน ไม่ใช่ 70-30 หรือว่าไม่ต้องเลือกตั้ง คุณก็ว่าไปสิ คือผมไม่ได้บอกว่า การเลือกตั้งนี่มันสุดยอด แต่ผมมองว่า มันเป็นกลไกหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ในเรื่องของการทำให้เกิดอำนาจต่อรองที่ใกล้เคียง

การชุมนุมสองเดือนในใจกลางเมืองหลวงก็เป็นสิทธิตามประชาธิปไตย
นิธิ : ใช่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการต่อรอง ถ้าถามผมว่า อะไรคือ ประชาธิปไตย สำหรับผมคือการต่อรองที่เท่าเทียม

ถือว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงมีความชอบธรรมใช่ไหม
นิธิ : ผมก็ว่าชอบธรรม ถามว่าการชุมนุมมันทำให้รถติดไหม มันไม่ควรไปยึดตรงนั้น ใช่หมดเลย แต่ถ้าเรามองในภาพกว้างกว่านั้น มองไปไกลกว่านั้น คนเหล่านี้แทบไม่เคยมีอำนาจ ไม่มีพื้นที่ในการต่อรองอะไรเลย เพราะฉะนั้น เขาจึงต้องเปิดพื้นที่ใหม่ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนมากๆ เพื่อให้เกิดการต่อรองได้

ความแตกแยกของสังคมตอนนี้ถึงระดับครอบครัว เพื่อนฝูง มันจะบานปลายกว่านี้ไหม
นิธิ : ไม่รู้นะ เราเคยผ่านกันมาแล้วไม่ใช่หรือเมื่อ 6 ตุลา 2519

ซ้าย-ขวา น่ะหรือ แต่มันไม่รุนแรงขนาดนี้นะ
นิธิ : จะว่าอย่างนั้นก็ได้ เพราะตอนนั้นสังคมไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากขนาดนี้ แต่ครั้งนั้นจะว่าไม่แรงก็ไม่ได้นะ แล้วคนที่ถูกฆ่าตายมากไม่ใช่นักศึกษานะ แต่เป็นผู้นำชาวนาทั้งประเทศเลย

(แสดงความเห็น) : เมื่อก่อนมันจะชัดๆ ขาวกับดำ ใครจะอยู่ข้างขาว ข้างดำ ก็ว่ากันไป แต่ตอนนี้มันมียิบย่อย อย่างบางคนไม่เอาแดงและไม่เอาอภิสิทธิ์ บางคนอยู่ข้างแดง ไม่เอาทักษิณ มันเลยทำให้เกิดหลายกลุ่ม เกิดประเด็นถกเถียง โต้แย้งมาก

(แสดงความเห็น) : อย่างที่เขาว่า มันมีแดงหลายเฉด เหลืองก็เหลืองหลายเฉด

(แสดงความเห็น) : มันจะไม่เกิดการแตกแยกขนาดนี้ ถ้ามันแค่เรื่องว่า ใครจะเชื่อผีหรือไม่เชื่อผีก็จบ แต่ตอนนี้มันกลายเป็นว่า มึงต้องเชื่อกู ใครที่คิดไม่เหมือนตัวเองกลายเป็นผู้หลงผิด เขาต้องเปลี่ยนเรา เพราะเราเป็นผู้หลงผิด เรากลายเป็นผู้หลงผิดไปเลยนะ แต่เมื่อก่อน ผู้ใหญ่จะสอนว่า เพื่อนกัน สามเรื่องอย่าคุยกันคือ หนึ่ง การเมือง ศาสนา และความเชื่อ เราจึงจะสงวนสิทธิ์ต่างๆ

อาจารย์เชื่อเรื่องความเสมอภาคไหม
นิธิ : (หัวเราะก่อนตอบ) ผมมีสิทธิที่จะตอบว่า ไม่เชื่อได้ไหมนี่

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สรุปข่าวพม่ารอบสัปดาห์ (4 - 15 มิ.ย.53)

Posted: 16 Jun 2010 06:01 AM PDT

<!--break-->

 
 
10 มิ.ย.53 
 
เยาวชนปลูกต้นไม้ 2 หมื่นต้นวันเกิดซูจี  
 
เยาวชนสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีเริ่มปลูกต้นไม้ 2 หมื่นต้น เพื่อเป็นเกียรติให้กับนางอองซาน ซูจีที่จะมีอายุครบรอบ 65 ปีในวันที่ 19 มิถุนายนที่จะมาถึงนี้  โดยกลุ่มเยาวชนวางแผนที่จะปลูกต้นไม้จำนวน 66 ต้นในแต่ละตำบล รวมทั้งหมด 318 ตำบลทั่วประเทศ ยกเว้นในรัฐคะเรนนี เนื่องจากไม่มีสำนักงานของพรรคเอ็นแอลดีตั้งอยู่ ขณะที่มีการคาดการณ์กันว่า นางซูจีคงต้องฉลองวันเกิดของตัวเองอย่างโดดเดี่ยวภายในบ้านพักอีกครั้ง เนื่องจากนางซูจียังคงถูกกักบริเวณต่อไปอีกจนถึงเดือนพฤศจิกายน (Mizzima) 
 
 11 มิ.ย.53  
 
เจ้าหน้าที่สหรัฐแสดงความเป็นห่วงผู้ลี้ภัยตามชายแดนไทย  - พม่า 
 
นาย Eric Schwartz ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านประชากร ผู้ลี้ภัยและโยกย้ายถิ่นฐานได้แสดงความเป็นห่วงต่อผู้ลี้ภัยจากพม่าราว 140,000 คนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยตามชายแดนไทย - พม่าที่ไม่สามารถกลับฝั่งพม่าและเข้ามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งที่จะมาถึง หลังจากที่นาย Eric Schwartz เดินทางถึงกรุงเทพและมีกำหนดการจะเดินทางเยือนค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ ในจังหวัดตาก
 
สถานทูตอเมริกันในกรุงเทพระบุว่า การเยือนค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละในครั้งนี้ เพื่อเข้าไปสังเกตการณ์การใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ภายในค่ายผู้ลี้ภัย นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สหรัฐยังมีแผนเข้าพบปะกับสมาชิกฝ่ายค้านบางส่วนในค่ายผู้ลี้ภัย รวมถึงสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า และสภาเพื่อประชาธิปไตยในพม่า(Forum for Democracy in Burma) ด้วย (Irrawaddy) 
 
พม่าปฏิเสธไม่มีอาวุธนิวเคลียร์  
 
ทางการพม่าออกมาปฏิเสธผ่านสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ว่า ไม่มีแผนพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ตามที่จายเต่งวิน อดีตวิศวกรทหารออกมาเปิดเผยกับสำนักข่าวเสียงประชาธิปไตย (ดีวีบี)ก่อนหน้านี้ พร้อมทั้งตอบโต้ว่า กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลกำลังร่วมมือกับสื่อโจมตีรัฐบาล ต้องการขัดขวางขั้นตอนสู่ประชาธิปไตยของ และกำลังทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลเสียหาย พร้อมระบุอีกว่า พม่าไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตนิวเคลียร์ได้(Irrawaddy)  
 
14 มิ.ย.53  
 
พม่าอ่อนข้อกลุ่มหยุดยิง หลังการเยือนเหวินเจียเป่า  
 
มีรายงานว่า รัฐบาลทหารพม่าลดแรงกดดันต่อกลุ่มหยุดยิงหลายกลุ่มอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army) และกำลังเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army) หลังนายเหวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีน เยือนพม่าเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลพม่ากดดันกลุ่มหยุดยิงอย่างหนักให้เข้าร่วมเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border Guard Force) ภายใต้กองทัพพม่า
 
ทั้งนี้ นอกจากการหารือเรื่องความร่วมมือระหว่างพม่าและจีนแล้ว ผู้สังเกตการณ์ยังเชื่อว่า  นายกรัฐมนตรีของจีนยังหารือเรื่องความมั่นคงชายแดนร่วมกับรัฐบาลพม่า โดยแนะให้รัฐบาลพม่าจัดการปัญหาระหว่างรัฐบาลพม่าและกลุ่มหยุดยิงโดยไม่ใช้ความรุนแรง 
 
ด้านนายคืนใส ใจเย็น บรรณาธิการสำนักข่าวฉานในเชียงใหม่ เชื่อว่า รัฐบาลพม่าจะยังไม่เร่งกดดันกลุ่มหยุดยิงในช่วงเวลานี้ เพราะกลัวว่า หากเกิดการสู้รบอาจจะกระทบถึงการเลือกตั้งที่จะมาถึง (Irrawaddy) 
 
15 มิ.ย.53  
 
ผู้หญิงในพม่าทำงานกับสื่อเพิ่มขึ้น  
 
ตัวเลขผู้หญิงที่ทำงานด้านสื่อมวลชนเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2550 โดยเฉพาะสื่อนิตยสารและวารสาร โดย สำนักข่าวบางแห่งมีนักข่าวหญิงมากกว่านักข่าวชาย นอกจากนี้ ผู้หญิงยังเข้ามาดำรงตำแหน่งบรรณาธิการเพิ่มมากขึ้น 
 
ทั้งนี้  นับตั้งแต่ปีที่แล้ว มีนิตยสารจำนวน 162 ฉบับและวารสารอีก 138 ฉบับได้รับอนุญาตจากทางการพม่าให้สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ได้ 
 
อย่างไรก็ตาม  แม้จำนวนนักข่าวหญิงจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น  แต่ก็ประสบกับปัญหาหลายอย่าง ทั้งการถูกจำกัดเสรีภาพในการเขียนข่าว โดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล รวมไปถึงปัญหาเรื่องรายได้น้อย โดยพบว่า ตำแหน่งผู้สื่อข่าวอาวุโสอาจได้รับเงินเดือนเพียง 4 หมื่นจั๊ต(1,342 บาท)เท่านั้น 
นักข่าวรายหนึ่งเปิดเผยว่า สื่อมลชนเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนรวม ผู้หญิงหันมาสนใจทำงานสื่อมากขึ้นเพื่อค้นหาความจริงเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งข้อได้เปรียบของนักข่าวหญิงคือ มักจะได้รับความร่วมมือที่ดีและเข้าหาทางการพม่าได้ง่ายกว่าผู้ชาย (KNG)  
 
นักโทษพม่าราว 666 คนยังถูกขังอยู่ในบังกลาเทศ  
 
นายซาฮารา คาทัน รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของบังกลาเทศออกมาเปิดเผยว่า จำนวนนักโทษชาวต่างชาติ 1, 048 คนที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในบังกลาเทศ เป็นนักโทษชาวพม่า 666 คน โดยแหล่งข่าวในพื้นที่รายงานว่า นักโทษชาวพม่า จำนวนมากแม้จะได้รับโทษครบตามกำหนดแล้ว แต่ไม่สามารถกลับพม่าได้ เนื่องจากทางการพม่าปฏิเสธว่าเป็นพลเมืองของตน ขณะที่ นักโทษจากพม่าส่วนใหญ่ถูกจับกุมข้อหาลักลอบเข้าเมือง บางส่วนไม่มีเอกสารยืนยันว่ามาจากพม่า (Narinjara)  
 
วิกฤติสารพิษในทะเลสาบอินเล  
 
ภาพยนตร์สารคดีความยาว 30 นาที เรื่อง “Floating Tomatoes” จากฝีมือการสร้างของมิ้นติ่น โกโกจี ผู้กำกับชาวพม่าเปิดเผยให้เห็นว่า น้ำในทะเลสาบอินเล สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังในเมืองตองจี รัฐฉาน อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ ทั้งจากสารเคมีและปุ๋ยที่ชาวบ้านใช้ในสวนลอยน้ำในทะเลสาบ รวมถึงผลกระทบจากการตัดไม้ทำลายป่าในรัฐฉาน 
 
มิ้นติ่น  โกโกจีเปิดเผยว่า เกษตรกรที่ปลูกมะเขือเทศในพื้นได้ใช้สารเคมีในปริมาณที่มากแต่ไม่รู้จักการป้องกันตัวเองจากสารเคมี ทำให้ได้รับผลกระทบโดยตรง ในขณะเดียวกัน สารเคมีได้ไหลลงสู่ทะเลสาบอินเล ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้จำนวนปลาลดลง
 
ผู้กำกับรายนี้ยังเปิดเผยว่า เขาใช้เวลาในการหาข้อมูลและถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้เป็นเวลากว่า 1 ปี โดยหวังว่า สารคดีเรื่องนี้จะให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนเรื่องผลเสียจากสารเคมี มีรายงานว่า สารคดีเรื่องนี้กำลังจะถูกเผยแพร่ในสถานีโทรทัศน์แห่งชาติเมียนมาร์ – 4 (MRTV-4) ในเร็วๆ นี้ด้วย (Irrawaddy)

ดินถล่มในรัฐอาระกัน สังเวย 26 ศพ 
 
ฝนที่ตกกระหน่ำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดดินถล่มและน้ำท่วมอย่างหนักในเมืองบูทีดองและเมืองมงดอว์ รัฐอาระกันใกล้ชายแดนบังกลาเทศ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 26 คน และบ้านเรือนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก และยังมีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งสูญหาย
 
กรมอุตุนิยมวิทยาในเมืองชิตต่วย เมืองหลวงของรัฐอาระกันรายงานว่า ฝนได้ตกกระหน่ำอย่างหนักนับตั้งแต่วันที่ 12 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะทางภาคเหนือของรัฐอาระกัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มในพื้นที่ ขณะที่พบว่า มี 250 ครอบครัว ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมงดอว์ได้รับการช่วยเหลือให้อพยพไปอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยจากน้ำท่วมแล้ว
 
ขณะที่ในบังกลาเทศมีรายงานเช่นเดียวกันว่า ได้เหตุดินถล่มในลักษณะเดียวกัน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 52 คน โดยพบว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารบังกลาเทศรวมอยู่ด้วย ด้านค่ายผู้ลี้ภัยลาดา ซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยของชาวมุสลิมโรฮิงยา ที่ตั้งอยู่ในเมืองเทคนาฟ บังกลาเทศและยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ก็ได้รับความเสียหายอย่างหนักด้วยเช่นกัน (Narinjara 16 มิถุนายน 2553)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรุงเทพโพลล์สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ “ทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจ หลัง นปช. ยุติการชุมนุม”

Posted: 16 Jun 2010 05:51 AM PDT

นักเศรษฐศาสตร์ทบทวนตัวเลข GDP ปี 53 คาดทั้งปีขยายตัว 4.3 % เสนอคงอัตราดอกเบี้ยถึงสิ้นปี
<!--break-->

16 มิ.ย. 53 - ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 25 แห่ง เรื่อง “ทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจ หลัง นปช. ยุติการชุมนุม” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 8-14 มิ.ย. ที่ผ่านมา

พบว่า นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากถึงร้อยละ 86.6 ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปี 2553 ทั้งปีจะขยายดีกว่าปี 2552 โดยคาดว่า GDP จะขยายตัวเท่ากับร้อยละ 4.3 แม้จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่ม นปช. และวิกฤติหนี้สาธารณะของประเทศแถบยุโรป โดยนักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 27.8 เห็นว่าการส่งออกสินค้าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปี

สำหรับประเด็นวิกฤติหนี้สาธารณะของกรีซและประเทศในแถบยุโรปนั้นนักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นต่างกันแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ ร้อยละ 44.8 เห็นว่า วิกฤติดังกล่าวจะไม่ลุกลามและจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่อีกร้อยละ 44.8 เช่นกันกลับเห็นว่า วิกฤติจะลุกลามและนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจโลกอีกครั้งหนึ่งแต่แย่น้อยกว่าครั้งที่แล้ว(วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์)

จากปัจจัยวิกฤติทางการเมืองของไทยและวิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรปทำให้นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 50.7 เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 จนถึงสิ้นปี โดยให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า การคงอัตราดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ส่งเสริมการลงทุน ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันไม่ได้สูงมากนัก จึงเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันน่าจะเป็นอัตราที่เหมาะสม

ด้านปัจจัยที่จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนั้น ร้อยละ 71.6เห็นว่าเป็นปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล ร้อยละ 55.2 เห็นว่าการชุมนุมประท้วงที่อาจจะเกิดขึ้นอีก ร้อยละ53.7 เป็นปัญหาความเชื่อมั่นของนักลงทุน(การลงทุนทางตรง) นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ภายใต้แนวคิด “ 3 (อย่าง)สร้างประเทศไทย” ประกอบด้วย (1) สร้างเศรษฐกิจ ด้วยการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ กระตุ้นการท่องเที่ยว การบริโภค ช่วยเหลือ SMEs และภาคการเกษตร ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศมีการขับเคลื่อนที่ดีขึ้น ลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจากภายนอก (2) สร้างความเชื่อมั่น ทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวด้วยการออกมาตรการต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม (3) สร้างความปรองดอง เพื่อความแข็งแกร่งของประเทศในระยะยาว และการดำเนินการตามแผนปรองดอง การกำหนดให้การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยเป็นวาระแห่งชาติ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น