โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

เสียงหนึ่งจากนักศึกษา: "หนูรัก 'สันติสุข' ยกเลิก พ.ร.ก. เถอะนะคะ"

Posted: 23 Jun 2010 11:48 AM PDT

นักศึกษากลุ่มหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยเทปกาว สีชอล์ค และกระดาษ A4

<!--break-->

ตามที่มีภาพนักศึกษากลุ่มหนึ่งถือป้ายกระดาษและติดเทปกาวที่ปากแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" โดยมีถ้อยคำระบุว่าเป็นการจัดกิจกรรมของนักศึกษากลุ่มหนึ่งในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยภาพชุดนี้เผยแพร่ในฟอร์เวิร์ดเมล์ของนักกิจกรรม และในเว็บเครือข่ายทางสังคมอย่างเช่นเฟซบุคมาตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์นี้นั้น

ล่าสุดวันนี้ (23 มิ.ย.) จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวพบว่า เป็นการจัดกิจกรรมเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว หรือเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่โรงอาหาร อาคารองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อาคาร อ.มช.) โดยมีนักศึกษากลุ่มหนึ่งในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

นักศึกษากลุ่มนี้ ติดป้ายกระดาษขนาด A4 ด้วยเทปกาว ป้ายกระดาษเหล่านั้นมีข้อความ ที่เขียนด้วยสีชอล์ค สีเมจิก มีเนื้อหาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เช่น "หนูรัก 'สันติสุข' ยกเลิก พ.ร.ก. เถอะนะคะ" "ยกเลิก พ.ร.ก. = ยกเลิกความรุนแรง" "ยกเลิกเหอะ อายเค้า" "หนูอยากใช้ "ชีวิต" ปกติค่ะ ยกเลิก "พ.ร.ก." เถอะนะ สันติ 'สุข' สู่สังคมไทย" "สงบ ไม่ได้หมายถึง สันติ"  ฯลฯ นอกจากนี้นักศึกษากลุ่มนี้ก็ติดเทปกาวที่ปากเขียนข้อความว่า "พ.ร.ก." คาดด้วยเครื่องหมายกากบาทสีแดง

โดยนักศึกษากลุ่มนี้รวมกลุ่มกันที่โรงอาหาร อาคาร อ.มช. ก่อนเดินจากโรงอาหาร อ.มช. ไปที่อาคารเรียนรวม 5 ซึ่งอยู่ใกล้กัน จากนั้นเดินกลับมาที่ อาคาร อ.มช. เพื่อสั่งอาหารกลางวันที่โรงอาหารและนั่งที่โรงอาหารราวกับชีวิตประจำวันปกติของนักศึกษาช่วงพักกลางวัน ผิดกันตรงที่เครื่องแต่งกายของนักศึกษากลุ่มนี้ติดป้ายกระดาษที่เขียนข้อความคัดค้านการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีคาดเทปกาวที่ปากทำให้ต้องสื่อสารกับแม่ค้าขายอาหารด้วยการเขียนตัวหนังสือแทน

นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนหนึ่งซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดกิจกรรม ให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย.) ว่า ที่มีการจัดกิจกรรมเนื่องจากมีเพื่อนๆ กลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คิดว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กดทับสังคมไว้เป็นเรื่องไม่สมควร เพราะความสงบที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้หมายถึงสันติ การหันมาพูดคุยกันน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า ด้วยเหตุนี้เพื่อนๆ ในกลุ่มจึงร่วมกันจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นมา

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งใน 24 จังหวัดทั่วประเทศไทย ที่มีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดย จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 40 วันแล้ว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คปส.เรียกร้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หยุดคุมสื่อ

Posted: 23 Jun 2010 11:27 AM PDT

คปส.ร่วมกับวิทยุชุมชนและกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และหยุดคุกคามและแทรกแซงสื่อ

<!--break-->

23 มิ.ย. 2553 มีการจัดแถลงข่าว “สื่อภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” โดยมีตัวแทนเข้าร่วมแถลงจาก คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ และ เครือข่ายพลเมืองเน็ต โดยระบุว่า ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล นับแต่ 7 เม.ย. เป็นต้นมา รัฐบาลได้ใช้อำนาจตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เข้าปิดกั้น ควบคุม ข้อมูลข่าวสารในพื้นที่สื่อ ทั้งวิทยุชุมชน และอินเทอร์เน็ต และมีการจับกุมดำเนินคดีโดยหลายกรณีเป็นไปโดยไม่เปิดเผย

พิสิต ศรีปราสาททอง ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ก่อนมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีการสั่งปิดเว็บไซต์กว่า 9,000 แห่งอยู่แล้ว แต่หลังจากประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อ 7 เม.ย. ได้มีคำสั่งปิดเว็บไซต์ที่ปรากฏรายชื่ออีก 36 แห่ง โดยให้เหตุผลว่าเป็นเว็บไซต์ที่อาจกระทบต่อความมั่นคง และต่อมาสั่งปิดเพิ่มอีก 1,570 แห่งโดยที่ไม่เปิดเผยข้อมูลแต่อย่างใด และกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยอำนาจศาล เนื่องจากมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังนั้น ศอฉ.จึงสั่งให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการปิดเว็บโดยไม่มีขั้นตอนใดๆ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้กระทรวงยุติธรรมเป็นกลไกรัฐที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านเว็บไซต์

ด้านวิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) กล่าวถึงผลกระทบที่วิทยุชุมชนได้รับว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้วิทยุขนาดเล็กที่เรียกตัวเองว่าวิทยุชุมชนที่มีกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ ต้องหลีกเลี่ยงการนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะภายใต้กระบวนการออกใบอนุญาตที่มีการลงทะเบียนกับ กทช. ไว้มีเงื่อนไขเรื่องการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง และมีการส่งหนังสือแนบคำสั่ง ศอฉ.ให้ระงับการเผยแพร่ข่าวสารที่จะกระทบต่อความมั่นคงให้กับทุกสถานีทั่วประเทศ ทำให้ทุกสถานียิ่งเกิดความหวาดกลัวไม่กล้าพูดคุยเกี่ยวกับการเมือง ซ้ำตนเองยังได้หมายเรียกจาก ศอฉ.เข้าฟังชี้แจงสถานการณ์และถูกร้องขอให้เครือข่ายวิทยุชุมชนไม่นำเสนอเนื้อหาดังกล่าว

ต่อเรื่องการให้ใบอนุญาตวิทยุชุมชน วิชาญ ชี้แจงว่า เมื่อวาน (22มิ.ย.) กทช.ได้แถลงข่าวโดยระบุว่าให้วิทยุชุมชนกลุ่มแรก 5,874 สถานี ได้รับการขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิออกอากาศไปอีก 300 วัน ส่วนกลุ่มที่สองอีก 743 สถานี ให้ชะลอสิทธิการออกอากาศ และกลุ่มสามให้เพิกถอนสิทธิออกอากาศ 14 สถานี พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการออกใบอนุญาตที่ยืดเยื้อได้กลายเป็นเครื่องมือในการควบคุมเนื้อหาของวิทยุชุมชน ส่วนสถานีวิทยุชุมชนที่ถูกปิดไปมีมากกว่าที่ กทช.ระบุ เนื่องจากยังมีกลุ่มที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ ซึ่งส่วนตัวตั้งข้อสังเกตว่าสถานีส่วนใหญ่ที่ถูกปิดเป็นสถานีวิทยุชมชนของกลุ่มคนเสื้อแดง

ส่วนสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการ คปส. เห็นว่า นอกเหนือจากปฏิบัติการของรัฐภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะเป็นไปในทิศทางของการควบคุมปิดกั้นข่าวสารและความคิดเห็นที่แตกต่างและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแล้ว ยังมีความพยายามเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย โดยการแก้ไขกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งในชั้นวุฒิสภาได้แก้ไขให้ฝ่ายความมั่นคงสามารถเข้ามาเป็น กสทช.ได้ และกำหนดให้ต้องจัดสรรคลื่นความถี่ให้ฝ่ายความมั่นคงได้ใช้อย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นหลักการที่ขัดต่อการปฏิรูปสื่อโดยสิ้นเชิง

เลขาธิการ คปส. กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ความเคลื่อนไหวในเรื่องสื่อของรัฐบาล นอกจากการปิดกั้นช่องทางข่าวสารที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทั้งอินเทอร์เน็ตและวิทยุชุมชนแล้ว ยังมีฝ่ายกองทัพที่พยายามที่จะแก้ไขนโยบายสื่อให้เอื้อประโยชน์แก่ตนเอง จึงควรจับตาว่ารัฐบาลจะยอมรับหรือยอมอย่างมีเงื่อนไขในการเข้าปกป้องผลประโยชน์ให้กับทหารหรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง สิ่งที่เรียกว่าการปฏิรูปสื่อตามเจตนารมณ์ที่ต้องการให้เกิดการกระจายความเป็นเจ้าของสื่อ และทุกภาคส่วนได้รับสิทธิการเข้าถึงคลื่นความถี่จากเดิมที่รัฐยึดกุมอยู่ทั้งหมด นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ก็จะถูกบิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ดั้งเดิม

สำหรับสุภิญญา กลางณรงค์ รองประธาน คปส. และ กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต ได้ฝากประเด็นไปยังรัฐบาลและ กทช. ว่า ตนเองอยากให้รัฐบาลส่งเรื่องให้ กทช.เป็นเจ้าภาพในการกำกับดูแลสื่อวิทยุโทรทัศน์ เพราะตามกฎหมายเองก็ให้อำนาจบางส่วนไว้กับ กทช. เพื่อให้เกิดเกณฑ์กติกาที่สื่อของทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้ในภาวะที่ยังไม่มีองค์กรอิสระตัวจริงมาทำหน้าที่ และยังเห็นว่า กทช.ควรเชิญทุกกลุ่มเปิดเวทีพูดคุยกันอย่างเปิดอกเพื่อสร้างกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับและมีแนวทางบังคับใช้อย่างเป็นมาตรฐานเดียว

สุภิญญาแสดงความเห็นว่า ตอนนี้กองทัพน่าจะมีสื่อพอเพียงแล้ว โดยมีวิทยุถึง 200 กว่าสถานีและมีทีวีถึง 2 ช่อง มากกว่าใครเพื่อน จึงตั้งคำถามว่าน่าจะพอเพียงในการทำเพื่อความมั่นคงแล้วหรือไม่ และหากต้องจัดสรรคลื่นความถี่ให้กองทัพมากกว่านี้จะมีหลักประกันเรื่องการปฎิรูปสื่อที่มีความเป็นอิสระ แข่งขันเสรี ให้เสรีภาพกับประชาชนอย่างเสมอภาคได้จริงหรือไม่ 

นอกจากนี้ สุภิญญายังตั้งคำถามกับการไล่ปิดเว็บไซต์ของรัฐบาลว่า ข้อมูลในปี 2551 รัฐบาลประกาศปิดเว็บ 1,893 เว็บ ซึ่งมีเว็บที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นเพียง 26 แห่ง และต่อมาในปี 2553 รัฐบาลยังประกาศปิดเว็บอีก 43,000 แห่ง โดนระบุว่าเป็นเว็บหมิ่นทั้งหมด ต้องถามว่ารัฐบาลมาถูกทางหรือไม่ หรือในปีหน้าจะประกาศปิดเว็บหมิ่นอีกเป็นหมื่นแห่งแล้วถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาล

ทั้งนี้ ทั้งสามองค์กรได้เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในช่องทางสื่อต่างๆ ทั้งวิทยุชุมชนและอินเทอร์เน็ต และเปิดเผยรายชื่อสถานีวิทยุชุมชนและจำนวนเว็บไซต์ที่ถูกสั่งปิด ตลอดจนคดีจับกุมและข้อกล่าวหาที่ถูกระบุว่าเป็นความผิดให้สาธารณะได้รับรู้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: อาเศียรวาทคณะราษฎรผู้ปฏิวัติประชาชน 24 มิถุนายน 2475

Posted: 23 Jun 2010 09:43 AM PDT

<!--break-->

ที่มาของภาพ: http://www.pridi-phoonsuk.org/timeline/2470/

 

 สิ้นสุดแล้ว...การปกครองอันกดขี่
ทำคนไร้สิทธิ์เสรีเป็นเพียงไพร่
ต่อจากนี้เราเป็น “คน” ใช่เดนใคร
ประชาชนตระหนักในลำแข้งตน

 
 
สิ้นสุดแล้ว...การก้ม คลาน หมอบกราบ
ที่เคยซาบซึ้งซึมซ่านเป็นล้นพ้น
ณ บัดนี้ เราเป็นประชาชน
มิยินยอมจำนนอีกต่อไป
 
 
24 มิถุนายน 2475
วันที่ฟ้าสีทองผ่องไสว
คณะราษฎรนำสังคมไทย
สู่ประชาธิปไตยอันเท่าเทียม
 
 
สิทธิ เสรี เสมอภาค   
ทำลายซากศักดินากุมบังเหียน
หลักทั้ง 6 ประการเปรียบดั่งเทียน
สาดส่องแสงเปลี่ยนยุคสมัยใหม่
 
 
คารวะแด่คณะราษฎร
ปฏิวัติถ่ายถอนความเป็นไพร่
เรา คือคน ใช่เศษฝุ่นใต้ตีนใคร
 ประกาศชัดได้ยินไหมฟ้าอมร!
 
 
เรา คือคน ใช่เศษฝุ่นใต้ตีนใคร
ประกาศชัดได้ยินไหมฟ้าอมร!
 
 
<<<<<<<>>>>>>>>>
 
Homo erectus

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แถลงการณ์ชาวอุบลราชธานีขอให้ยกเลิก "พ.ร.ก. ฉุกเฉิน" โดยเร็วที่สุด

Posted: 23 Jun 2010 08:11 AM PDT

นักวิชาการและประชาชนใน จ.อุบลราชธานี ร่วมกันลงชื่อขอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว การคง พ.ร.ก.สร้างความอึดอัดคับข้องใจกับประชาชน  ส่วนการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับรัฐบาล ก็สมควรเป็นสิ่งที่ทำได้ตามปกติในระบอบประชาธิปไตย ชี้การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเท่ากับยกเลิกรัฐธรรมนูญเท่ากับบ้านเมืองไม่ได้ปกครองด้วยกฎหมาย

<!--break-->

วานนี้ (23 มิ.ย.) เวลา 13.00  ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้มีการเสวนาทางวิชาการเนื่องในโอกาส 78 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ภายหลังการเสวนาได้มีการออกแถลงการณ์ให้มีการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่ จ.อุบลราชธานี ดังข้อความในแถลงการณ์ต่อไปนี้

000

  แถลงการณ์ชาวอุบลราชธานีขอให้ยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

 

                  ตามที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในภาวะฉุกเฉินมาระยะหนึ่งแล้วนั้น โดยที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้ตกอยู่ใต้ภายใต้การบริหารของ พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวจวบจนบัดนี้ พวกเราชาวจังหวัดอุบลราชธานีหลากหลายสาขาอาชีพดังมีรายชื่อแนบท้ายนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยเหตุผลสำคัญดังนี้

 

                ประการแรก ขณะนี้สถานการณ์ที่จังหวัดอุบลราชธานีอยู่ในภาวะปกติ ประชาชนทำมาหากินและประกอบกิจกรรมอื่นๆตามที่เคยเป็นมา และในเดือนกรกฎาคมนี้จะมีงานเทศกาลฉลองเทียนพรรษา ซึ่งเป็นงานพิธีของชาวพุทธ และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญประจำปีของจังหวัด ส่วนในด้านของการก่อเหตุร้ายก็ไม่มีปรากฏ และถ้าหากจะมี ทางราชการก็สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายในภาวะปกติจัดการได้อยู่แล้ว

                ประการที่สอง การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้รัฐบาลจะอ้างว่าไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตปกติ แต่โดยแท้จริงแล้ว พ.ร.ก. กลับมีผลต่อการรับรู้และแสดงออกทางความคิดและกิจกรรมต่างๆ อย่างยิ่ง อาทิมีการปิดกั้นเวปไซต์อย่างเหมารวม การปิดสถานีวิทยุ การติดตามตรวจสอบการส่งข่าวสารของประชาชน การห้ามพบปะกันเกินกว่า 5 คน  ทั้งที่กิจกรรมเหล่านี้อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองแต่อย่างใดทั้งสิ้น จึงสร้างความอึดอัดคับข้องใจกับประชาชนอย่างมาก หรือแม้กระทั่งหากมีการรวมตัวกันแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับรัฐบาล ก็สมควรเป็นสิ่งที่ทำได้ตามปกติในระบอบประชาธิปไตย หากมีสิ่งใดเกินเลยกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด รัฐบาลก็ยังสามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเข้ามายับยั้งได้  

                ประการที่สาม ภายใต้ พ.ร.บ. ฉุกเฉิน ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจอย่างไม่มีขอบเขต จึงปรากฏว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่งที่รัฐบาลต้องสงสัยว่ามีความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกับรัฐบาล ถูกสอดส่องติดตาม  มีความหวั่นเกรงว่าจะถูกกลั่นแกล้งด้วยการออกหมายจับ และเมื่อถูกหมายจับก็ไม่สามารถจะฟ้องร้องหรือชี้แจงได้ตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่งถูกคุมตัวในเรือนจำในเวลานี้ ทั้งที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทางการเมืองที่ผ่านมา  หรืออาจมีส่วนร่วมในบางกิจกรรม แต่กลับถูกตั้งข้อหาที่เกินไปกว่าความจริง พวกเราไม่ปฏิเสธที่จะให้มีการเอาผิดตามกฎหมายกับบุคคลไม่ว่าฝ่ายใด แต่ขอเรียกร้องให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมตามกระบวนการกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

                ประการสุดท้าย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เป็นการละเมิดหลักการประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง การใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินมีค่าไม่ต่างกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญ เท่ากับบ้านเมืองไม่ได้ปกครองด้วยกฎหมาย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง  ทั้งหมดนี้ไม่เพียงทำให้รัฐบาลเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ยังทำให้ชาติไทยโดยรวมเสื่อมเสียเกียรติ์คุณอย่างร้ายแรงในสายตาชาวโลก อีกทั้งในขณะที่รัฐบาลต้องการดำเนินการปรองดองและปฏิรูปประเทศไทย การคง พ.ร.บ. ฉุกเฉิน เป็นอุปสรรค์ต่อเจตนารมณ์ดังกล่าว เพราะ มันได้แต่ทำให้เกิดการอึดอัดคับข้องไปจนถึงแค้นเคืองใจ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เอื้อให้สังคมไทยสร้างสรรค์สิ่งที่ดีร่วมกันในขั้นต่อไปได้เลย

                ด้วยเหตุดังกล่าวพวกเราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน ที่จังหวัดอุบลราชธานีโดยเร็วที่สุด.

 

 

 

 

ชื่อ – สกุล                                                               สังกัดหรืออาชีพ

 

 

1.ผศ.พฤกษ์ เถาถวิล                                 อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

2. ผศ.กิติพร โชประการ                             อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

3.นายวิเชียร อันประเสริฐ                           อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

4.นางเสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์           อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

5 .นายธีรพล อันมัย                                 อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

6 .ดร.ชมพูนุช ธารีเธียร                            อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

7. นางสาวดวงดาว พันธ์นิกุล                      อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

8. นายแพทย์กิติภูมิ จุฑาสมิต                    ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ

9. นายวีรพจน์ ธีรชาญวิทย์                        นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

10.น.ส.อุไรวรรณ ดาวัลย์                         นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

11.นายยุทธนา ดาศรี                              นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

12.น.ส. วินนา หอมโทน                          นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

13.น.ส.ปิรัญญา ยังกองแก้ว                     ประชาชน

14.นายพล บู่แก้ว                                   ประชาชน

15.นายเชษฐา ทองคำ                             นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี                               

16.นายธนานวัฒน์ คำเกิ่ง                         นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

17.น.ส.ฉัตรสุดา หาญบาง                        นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

18. น.ส. ลลิตา มานะสาร                         นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

19.นายธนวัต ศรีลาชัย                             นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

20.นายสุธาวุฒิ เรืองเดช                           นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

21.น.ส. ชลธิชา ศรีโยหะ                          นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

22.น.ส.อุไรวรรณ ผาธรรม                        นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

23.น.ส.ผกาวรรณ นามโครต                     นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

24น.ส.รัชฎาภรณ์ พลเขต                         นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

25.น.ส.ยุพารัตน์ กึงก้อง                          นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

26.น.ส.บุญลักษณ์ ดัชนี                          นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

27.น.ส.วิกานดา อินทรสมหวัง                   นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

28.น.ส.ประภาพันธ์ โพรัง                         นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

29.ดร.ปภัสสร เธียรปัญญา                       อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

30.น.ส. ปุญญิกา บัวงาม                          ประชาชน

31. นายมนต์ชัย สุพล                              นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

32.นายมนัส ทองชื่น                               นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

33.นายศุภกร บุญขาว                             นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

34 น.ส.ประภาพร ชัยพรม                        นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

35.น.ส.สุพัตรา แสนคำยอ                       นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

36.น.ส. ชฎาภรณ์ สานันต์                       นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

37.น.ส. เมธิวรรณ ชินวัง                         ประชาชน

38. นายธนศักดิ์ โพธิ์คุณศรี                     ประชาชน

39.นายเกรียงไกร ศรีธรรม                      นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

40.นายเอกรัฐ ทาตาสุข                          นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

41.นายอนุวัฒน์ เจริญศรี                         นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

42.นายกฤตย์กอตติพงศ์ กิติพิเชฐสรรค์      สื่อมวลชน

43.นายวีระ ทนงค์                                 นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

44.นายคมสันต์ บุญญานุเคราะห์               นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

45.นางสาววรรณวิมล บัวงาม                    ครูโรงเรียนลือคำหาญ 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารพม่าซุ่มตีไทใหญ่ SSA ดับ 2 เจ็บ 1 ด้าน อ.เวียงแหง เชียงใหม่

Posted: 23 Jun 2010 07:57 AM PDT

<!--break-->

ทหารพม่าซุ่มตีไทใหญ่ SSA ดับ 2 เจ็บ 1 ด้านอ.เวียงแหง เชียงใหม่
Khonkhurtai : 22 มิถุนายน 2553

 
รายงานข่าวจากชายแดนแจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ของวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา เกิดเหตุมีทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA จำนวน 3 นาย ออกหาของป่าจากฐานไม้ยมเหม็น อยู่ชายแดนไทย – พม่า (รัฐฉาน) ตรงข้ามบ้านเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ถูกทหารพม่าชุดหนึ่งไม่ทราบจำนวนและหน่วยซุ่มยิงเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 1 นาย
 
ก่อนเกิดเหตุ ทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA ทั้ง 3 นาย ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพ.ต.กอสั่นละ ได้ชวนกันไปหาของป่า ซึ่งมีสุนัขติดตามไปด้วย 6 ตัว แต่หลังจากออกจากฐานลงเขาไปได้ไม่นาน ถูกทหารพม่าที่กำลังออกลาดตระเวนมาใกล้บริเวณนั้นระดมยิงใส่ 8 – 9 นัด ส่งผลให้ทหารนายหนึ่งถูกยิงเข้าที่หน้าผากเสียชีวิตคาที่ ส่วนอีกสองนายถูกยิงได้รับบาดเจ็บและได้วิ่งกลับขึ้นไปยังฐาน แต่อยู่ได้ไม่นานทหารที่ได้รับบาดเจ็บได้เสียชีวิตลงอีกหนึ่งนาย
 
แหล่งข่าวเผยด้วยว่า ทหารพม่ายังได้ใช้ลูกระเบิดยิงใส่ฝูงสุนัขที่ติดตามไปกับทหารไทใหญ่กลุ่มดัง กล่าวตายอีก 4 ตัวด้วย ส่วนทหารไทใหญ่ที่เสียชีวิตนั้นทราบว่า เป็นนายทหารยศสิบตรี 1 นาย และพลทหาร 1 นาย อย่างไรก็ตาม ทางกองกำลังไทใหญ่ SSA ยังไม่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด
 
ทั้งนี้ บริเวณชายแดนไทย – พม่า (รัฐฉาน) ด้านอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ มีกำลังทหารหลายกลุ่มตั้งฐานเรียงรายกันอยู่ ประกอบด้วย ทหารไทย ทหารไทใหญ่ SSA ทหารพม่า และทหารกองกำลังว้า UWSA โดยเมื่อปี 2546 พื้นที่บริเวณนี้ได้เกิดเหตุการสู้รบกันอย่างรุนแรงระหว่างทหารกองกำลังไท ใหญ่ SSA กับทหารกองทัพพม่า ส่งผลให้มีผู้อพยพเข้ามายังฝั่งไทยกว่า 500 คน ซึ่งจนถึงปัจจุบันผู้อพยพยังไม่สามารถเดินทางกลับได้ โดยทั้งหมดได้อาศัยอยู่ในศูนย์อพยพชั่วคราวบ้านกุงจ่อ อยู่ห่างจากชายแดนราว 2 กม.
 
อำเภอแม่สายเตรียมจัดงานวัฒนธรรม "ชาวเครือไต"
Khonkhurtai : 22 มิถุนายน 2553

 
อำเภอแม่สาย กำหนดจัดงานวัฒนธรรมชาวเครือไต ระหว่างวันที่ 2 -  4 กรกฎาคม 2553 ณ. บริเวณลานหน้าที่ว่าการอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จะมีการแสดงแสงสีเสียง ม่านไหมใยหมอก พร้อมจะจัดให้มีกิจกรรมการจำหน่ายสินค้าชนเผ่าและสินค้า otop ราคาประหยัด....
 
นายวิศิษฐ์ สิทธิสมบัติ นายอำเภอแม่สาย เปิดเผยว่า เพื่อให้ชาวไตหรือไทยใหญ่ในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายและประเทศเพื่อนบ้าน ได้ร่วมสืบสานวัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้พบบรรยากาศวิถีชีวิตของชาวเครือไตที่จัดเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของอำเภอแม่สาย จึงได้กำหนดให้จัดงานวัฒนธรรมชนเผ่าชาวเครือไตขึ้นระหว่างวันที่ 2 - 4 กรกฎาคม 2553 ณ. บริเวณลานหน้าที่ว่าการอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
 
โดยวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 เวลา 17.00 น. จะมีงานขันโตกไต และการแสดงดนตรีศิลปินยอดนิยมและการประกวดร้องเพลงพื้นบ้านของชาวเครือไตจากอำเภอแม่สาย อีกทั้งจะจัดให้มีการแสดงเดินแบบของชนเผ่าจำนวน 6 เผ่า และในวันที่ 3 กรกฎาคม 2553  เริ่มเวลา 09.00 น. ชาวไตจะรวมตัวประกอบขบวนชนเผ่าเทิดพระเกียรติ จากบริเวณพรมแดนไทย-พม่า มุ่งหน้าไปยังบริเวณสถานที่จัดงาน ณ. บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอแม่สาย เพื่อประกอบพิธีเปิดงาน
 
นอกจากนี้ ภายในงานจะจัดให้มีซุ้มวิถีชีวิตชนเผ่ารวม 6 ชนเผ่า พร้อมการแสดงวิถีชีวิตชนเผ่าและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้า พร้อมชิมอาหารประจำแต่ละชนเผ่า 25 ชนิด ชมดนตรีจากวงดนตรีชาวไตจากประเทศไทยและประเทศพม่า พร้อมมีการประกวดธิดาชนเผ่า และในงานจะมีการแสดงแสง สี เสียง เรื่องม่านไหมใยหมอก ซึ่งมีตัวประกอบและนักแสดงนำโดยนายอำเภอแม่สาย
 
ส่วนในวันปิดท้ายการจัดงานวัฒนธรรมชนเผ่าชาวเครือไตแม่สาย จะมีการแสดงดนตรี จากวงนกแล ตลอดทั้งคืน โดยตลอดงานจะมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้า otop และการจำหน่ายสินค้าธงฟ้าราคาถูก นอกนั้น ตั้งแต่เวลา 18.00 น. – 21.00 น. ของทุกคืนการจัดงานจะมีการรำวงย้อนยุคสร้างความสนุกสนานด้วย
 
 
รัฐบาลพม่าเน้นเลือกตั้งก่อนจัดการกลุ่มหยุดยิง
Khonkhurtai : 21 มิถุนายน 2553

 
แหล่งข่าวใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงรัฐบาลทหารพม่าเผยว่า รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้เน้นให้ความสำคัญการเลือกตั้งมากกว่ากดดันจัดการกองกำลังหยุดยิง ที่ปฏิเสธข้อเสนอเปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน Border Guard Force – BGF
 
ทั้งนี้ พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ผู้นำหมายเลขหนึ่งของรัฐบาลทหารพม่า กล่าวในที่ประชุมประจำสามเดือนล่าสุด ซึ่งมีผู้นำระดับสูงเข้าร่วม เมื่อวันที่ 26 – 28 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้ผู้เข้าร่วมประชุมสนับสนุนพรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา Union Solidarity and Development Party – USDP ภายใต้การนำของพล.อ.เต็งเส่ง อดีตนายรัฐมนตรี โดยกล่าวว่า ทุกคนมีหน้าที่ช่วยให้พรรค USDP ชนะการเลือกตั้ง
 
ด้านนายอ่องจ่อ ซอ นักวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองพม่า แสดงความเห็นว่า รัฐบาลทหารพม่าจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้พรรค USDP ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งรัฐบาลทหารเคยทำมาแล้วเมื่อปี ค.ศ.1960 ซึ่งพรรคที่รัฐบาลสนับสนุนสามารถเอาชนะพรรคประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จในการเลือกตั้งทั่วไป
 
เขากล่าวด้วยว่า การประชุมประจำสามเดือนครั้งล่าสุดของรัฐบาลทหารพม่า มีสิ่งที่น่าสังเกตคือไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนหรือโยกย้ายตำแหน่งเช่นทุกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลทหารพม่าให้ความสำคัญในการสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า รัฐบาลทหารพม่าจะหันมาจัดการกลุ่มหยุดยิงหลังเลือกตั้งแล้วเสร็จ
 
จนถึงขณะนี้ กองกำลังหยุดยิงกลุ่มใหญ่ เช่น กองทัพสหรัฐว้า UWSA กองทัพเอกราชคะฉิ่น KIA กองทัพสัมพันธมิตรชาติประชิปไตย หรือ กลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA และกองพลน้อยที่ 1 กองทัพรัฐฉานเหรือ SSA-N ยังคงปฏิเสธรับข้อเสนอรัฐบาลทหารพม่าในการเปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยพิทักษ์ชาย แดน Border Guard Force – BGF
 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/
สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) เป็นสำนักข่าวอิสระจัดตั้งโดยกลุ่มชนไทยใหญ่พลัดถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรุงเทพโพลล์: ประเมินผลงาน 1 ปี 6 เดือนรัฐบาล นายกฯ อภิสิทธิ์

Posted: 23 Jun 2010 07:47 AM PDT

<!--break-->

ด้วยวันที่ 20 มิถุนายน ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 1 ปี  6 เดือน การทำงานของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ประเมินผลงาน 1 ปี 6 เดือนรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์” ขึ้น โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปจากทุกภาคของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,395 คน เมื่อวันที่ 17- 20 มิถุนายน ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจการทำงานของรัฐบาล 3.79 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยพึงพอใจผลงานด้านการต่างประเทศมากที่สุด แต่พึงพอใจผลงานด้านการบริหารจัดการและการบังคับใช้กฎหมายน้อยที่สุด และเมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อตอนที่รัฐบาลทำงานครบ 6 เดือน และ 1ปี พบว่ามีคะแนนเฉลี่ยลดลง

สำหรับกระทรวงที่ประชาชนชื่นชอบผลงานมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตามลำดับ

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบคะแนนความพึงพอใจต่อการทำงานของพรรคแกนนำรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน พบว่า พรรคแกนนำรัฐบาลได้คะแนน 4.21 คะแนน พรรคร่วมรัฐบาลได้ 3.26 คะแนน และพรรคฝ่ายค้าน ได้ 3.36 คะแนน  จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

สำหรับคะแนนการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้คะแนนเฉลี่ย 4.48 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ซึ่งลดลงจากผลการประเมินเมื่อตอนที่ทำงานครบ 1 ปี 0.22 คะแนน หรือลดลงร้อยละ 0.2 โดยได้คะแนนด้านความซื่อสัตย์สุจริตมากที่สุด แต่ได้คะแนนด้านความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจน้อยที่สุด
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง : คุกคามอีก! M-16 ถล่ม ชุมชนพี่น้องเครือข่ายปฏิรูปฯ (คปท.) สุราษฏร์ธานี

Posted: 23 Jun 2010 05:45 AM PDT

<!--break-->

เมื่อเวลา 20.30 นใ ของวันที่ 19 มิถุนายน 2553  ได้เกิดเหตุมีคนร้ายไม่ทราบจำนวน ใช้อาวุธสงครามยิงถล่มด้านหน้าประตูทางเข้าชุมชนไทรงามพัฒนา  ส่งผลให้นายปรีดา  ประนอม  สมาชิกของชุมชนไทรงามพัฒนาโดนกระสุน  ได้รับบาดเจ็บบริเวณหน้าผากด้านซ้ายโดยลักษณะการเฉี่ยวของลูกกระสุน ซ้ำหลังจากสมาชิกได้โทรศัพท์แจ้งเหตุก็ได้มี  พ.ต.ต.สำเริง  ชูชัย  สารวัตรสืบสวนสอบสวน  จาก สภ. ชัยบุรี  จ.สุราษฏร์ธานี  และ พ.ต.ท. อัญญา  ชูนุ้ย  พนักงานสอบสวนเข้ามาในพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุพบปลอกกระสุนปืน เอ็ม 16  จำนวน 10  ปลอก  บริเวณริมถนนด้านหน้าชุมชน  พร้อมผู้ได้รับบาดเจ็บ  จำนวน 1 คน คือ นายปรีดา  ประนอม ดังที่กล่าวมาข้างต้น

ซึ่งจากการสอบถาม นายปรีดา  ประนอม  ผู้ได้รับบาดเจ็บได้ให้ข้อมูลว่าในช่วงกลางวันได้มีรถยนต์โตโยต้าวีโก้สีเทาดำ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนได้ขับรถวนเวียนบริเวณหน้าชุมชนจำนวนหลายเที่ยว  จนถึงเวลาเกิดเหตุดังกล่าว  ทางสมาชิกชุมชนที่อยู่ในเหตุการณ์ได้ให้ข้อมูลว่ารถคันที่ก่อเหตุเป็นรถคันดังกล่าวที่ขับวนเวียนหน้าชุมชนในช่วงเวลากลางวัน

ทั้งนี้ชุมชนไทรงามพัฒนาเป็นชุมชนในเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย  ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 5 ต.ไทรทอง  อ.ชัยบุรี  จ.สุราษฏร์ธานี  ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องเรื่องการจัดสรรที่ทำกินให้เกษตรกรในแนวทางโฉนดชุมชน  จาก  35 พื้นที่นำร่องทั่วประเทศขิงรัฐบาล นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  ซึ่งก่อนหน้านี้  พื้นที่ สปก.แปลงนี้ได้มีนายทุนครอบครองทำประโยชน์  โดยผิดกฎหมายไม่ต่ำกว่า 10 ปี  และได้เกิดเหตุการณ์คุกคามพี่น้องประชาชนที่เข้ามาตรวจสอบและเรียกร้องที่ดินทำกินในลักษณะการเผาทำลาย บ้านเรือนและทำร้ายถึงแก่ชีวิตมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 คน  ในระยะเวลาค่า ปีกว่าๆ  ซึ่งภายหลังจากการประชุมอนุกรรมการการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ที่ทำเนียบรัฐบาลโดย นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะได้ออกหนังสือคำสั่งให้ ตำรวจตระเวนชายแดนค่ายศรีนครินทร์ที่ 42 อ.ทุ่งสง  จ.นครศรีธรรมราช  เข้าอยู่ในพื้นที่รำร่องเรื่องการจัดสรรที่ดินทำกินจำนวน 6 พื้นที่ 4 ชุมชน  ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม  2553  เป็นต้นไป  แต่หลังจากชุดปฏิบัติการ ตชด. ได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี  จนถึงวันนี้เป็นเวลา 5 เดือน  ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ ตชด. ชุดใดเข้ามาปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยในลักษณะการมาอยู่ในพื้นที่แต่อย่างใด  จึงส่งผลให้วันนี้ทำให้กลุ่มทุนก่อเหตุคุกคามประชาชนในพื้นที่อีกอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พิชญ์ฉะประชาธิปไตยไทยไม่ไปพร้อมสิทธิมนุษยชน

Posted: 23 Jun 2010 12:15 AM PDT

<!--break-->

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ "ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน: หลังสลายการชุมนุม" ในกิจกรรม Light Up Night ซึ่งจัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ว่า ขณะที่บางสังคมมองว่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ไปคู่กัน ขาดกันไม่ได้ โดยเชื่อว่าสิทธิมนุษยชนจะทำให้ประชาธิปไตยมีคุณภาพ บางครั้งมีการใช้สองคำนี้แทนกัน ในการประชุมเรื่องสิทธิมนุษยชนก็มีนักกิจกรรมเรื่องประชาธิปไตยเข้าร่วม ขณะที่ในการประชุมเรื่องประธิปไตยก็มีนักสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมเช่นกัน แต่ในบางสังคม หลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยถูกแยกออกจากกัน โดยเปลี่ยนให้สิทธิมนุษยชนเป็นเพียงมาตรฐานที่รัฐมอบให้ จะยกเลิกเมื่อใดก็ได้ ไม่ใช่สิทธิที่มาจากประชาชนเอง ส่วนประชาธิปไตยก็เป็นเพียงทางเลือกของแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ตาม เขามองว่าสิทธิมนุษยชนต้องไปควบคู่กับประชาธิปไตย ไม่ใช่การมองปัญหาสิทธิมนุษยชนรายกรณี แต่ต้องเชื่อมกับประชาธิปไตยให้ได้ รวมถึงมีกลไกป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิทางการเมือง โดยพิชญ์ได้วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าไม่มีกลไกในการป้องกันด้านสิทธิมนุษยชน โดยจะเห็นจากก่อนและขณะเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุม กรรมการสิทธิฯ ไม่ได้ทำอะไร ขณะที่พอหลังเหตุการณ์ก็ค่อยตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริง

นอกจากนี้ เขาตั้งคำถามด้วยว่า กลุ่มสิทธิมนุษยชนที่เคยบอกว่าจะสังเกตการชุมนุมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงนั้นหายไปไหน เมื่อเกิดการสลายการชุมนุมและการชุมนุมสิ้นสุดลง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แอฟริกาใต้ 2010 : ลาก่อนฝรั่งเศสที่หลากหลาย แต่พวกเขาจะกลับมาอีก

Posted: 22 Jun 2010 09:21 PM PDT

“ฝรั่งเศส” ทีมฟุตบอลที่มีความหลากหลายดั่งสายรุ้งกำลังโดนหมอกฝนบดบัง ตามวัฎจักรของเกมกีฬาที่มีครบทุกรสชาติอย่าง “ฟุตบอล” แต่รับรองได้ว่า พวกเขาจะกลับมาอีก

<!--break-->

   

ภาพทหารผิวดำกำลังแสดงความเคารพต่อธงชาติฝรั่งเศสจากนิตยสาร “Paris-Match” ในหนังสือ "Mythologies" อันลือของ Roland Barthes ตีความไว้น่าสนใจ ถึงความพยายามสร้างมายาคติที่ว่า “จักรวรรดิฝรั่งเศสได้ปฏิบัติกับประชากรของตนทั้งหมดอย่างเท่าเทียมกัน” (ที่มาภาพ: wikimedia.org)
ความล้มเหลว
เป็นเรื่องที่แสนธรรมดาของฟุตบอลที่มีทั้งความสำเร็จและล้มเหลว ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ฝรั่งเศสเป็นทีมที่อื้อฉาวอีกทีมหนึ่ง เพราะทั้งที่มีดารานักเตะระดับโลกค่อนทีม แต่กลับมีผลการแข่งขันที่ย่ำแย่ถึงขั้นตกรอบแรก
เมื่อมาดูปัญหาเฉพาะส่วนของทีมชาติฝรั่งเศสชุดนี้ก็พบว่ามีมากมาย เริ่มที่แนวทางการทำทีมของ Raymond Domenech หัวหน้าโค้ชที่ถูกสับเละว่าเหมือนเขาไม่มีใจและขาดความมุ่งมั่นไปแล้ว (เพราะสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศสดันไปแต่งตั้ง Laurent Blanc เป็นหัวหน้าโค้ชทีมชาติไว้ล่วงหน้าหลังจบทัวร์เมนท์แอฟริกาใต้ 2010) การจัดวางตัวผู้เล่นแต่ละนัดที่ไม่ถูกใจสื่อ หรือการที่ไม่ส่ง Thierry Henry กัปตันทีมตัวจริงผู้ใช้มือของเขานำฝรั่งเศสเขี่ยไอร์แลนด์แพ้เพลย์ออฟลงเป็นผู้เล่นตัวจริง
ส่วน Nicolas Anelka จอมแสบถูกส่งกลับบ้านเพราะออกมาวิจารณ์ Domenech ตามมาด้วย Patrice Evra นำนักเตะประท้วงสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส (FFA) ที่ไม่เคยออกมาปกป้องทีมนักเตะ ด้วยการไม่ลงซ้อม หลังจากนั้นผู้อำนวยการทีมก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น
แล้วแบบนี้มันจะไปรอดได้ยังไงส่งผลให้ทีมสีน้ำเงินแพ้เจ้าภาพนัดสุดท้าย และได้เก็บข้าวของกลับบ้านอย่างสมใจ?

เงินๆ ทองๆ
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเมื่อผู้สนับสนุนทีมต่างพากันถอนตัวออกไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Crédit Agricole ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส รวมถึงการถูกถอดออกจากแคมเปญทางโทรทัศน์เกี่ยวกับทีม และ Anelka ก็ยังโดนถอดจากการเป็นโฆษกของบริษัทอาหารฟาสต์ฟูด Quick อีก
 
ทั้งนี้ในฟุตบอลโลกหนนี้ทีมชาติฝรั่งเศสได้รับการอุดหนุนจากสปอนเซอร์และค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางทีวีประมาณ 86.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สปอนเซอร์รายใหญ่ก็ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า Carrefour, บริษัทด้านพลังงาน GDF Suez, ธนาคาร Crédit Agricole, บริษัทด้านคมนาคม SFR และบริษัทอุปกรณ์กีฬา Adidas
 
แต่ฝรั่งเศสกับสัญลักษณ์สามแถบของ Adidas ที่มีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่ปี 1972 กำลังจะสิ้นสุดลงในทัวร์นาเมนท์นี้ เพราะ Nike ได้เซ็นสัญญาล่วงหน้าไว้กับทีมชาติฝรั่งเศส ให้สวมใส่ชุดจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกันนี้แทน โดยมูลค่าของสัญญา 7 ปี (เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกรคม 2011 - 2018) สูงถึง 320 ล้านยูโร!!!

ช่วงทศวรรษ 2000’s ถือเป็นยุคทองของทีมชาติฝรั่งเศสโดยแท้ ภายใต้การนำของนักเตะที่เป็นแกนหลักอย่าง Zinedine Zidane, Marcel Desailly, Patrick Vieira, Youri Djorkaeff, Bixente Lizarazu, Lilian Thuram, Patrick Vieira, Thierry Henry และนักเตะผิวสีคนอื่นๆ ช่วยกันสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรก ในปี 1998 ต่อด้วยการคว้าแชมป์ยุโรปในอีก 2 ปีถัดมา ถึงจะล้มเหลวในการแข่งขันที่เอเชีย แต่ฟุตบอลโลกหนที่แล้วพวกเขาก็สามารถเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศได้ – โดยนักเตะแกนหลักที่กล่าวไปนั้น ต่างเป็นฝรั่งเศส “เลือดผสม-สายเลือดผู้อพยพ” ซึ่งเป็นภาพสะท้อนอดีตอันยิ่งใหญ่ของเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส
ทีมชุดแชมป์โลก 1998 จนถึงแชมป์ยุโรปปี 2000 และรองแชมป์โลกปี 2006 ถูกจัดให้เป็นสัญลักษณ์แห่งฝรั่งเศสยุคใหม่ ความสำเร็จในครั้งนั้นถูกชูขึ้นมาเป็นภาพวาดสวยงามโอ้อวดถึงแม่แบบของชาติสีรุ้งที่มีความหลากหลาย
แต่มาวันนี้ทีมชาติที่มีหลากหลายกำลังโดนหมอกฝนเบียดบัง ตามวัฎจักรของเกมกีฬาที่มีครบทุกรสชาติอย่าง “ฟุตบอล”
ความสำเร็จจากความหลากหลาย
ประวัติศาสตร์ลูกหนังที่บันทึกไว้เป็นเครื่องการันตีว่าถ้าหากทีมชาติฝรั่งเศสมีแต่คนขาวที่เป็นฝรั่งเศสแท้ๆ โดนไม่มีชนชาติสีอื่นเจือปน ก็ไม่มีใครรับรองว่าเราจะรู้จักทีมชาติชุดน้ำเงินนี้ในแบบที่เป็นอย่างปัจจุบันหรือไม่?
ในปี 1931 Raoul Diagne นักฟุตบอลตำแหน่งกองหลัง ลูกชายของ Blaise Diagne ซึ่งเป็นนักการเมืองผิวดำคนแรกที่ได้รับเลือกเข้าสู่สภาของฝรั่งเศส ได้ดำเนินรอยเท้าตามพ่อของเขา เขาได้รับการจดจารึกไว้ว่าเป็นนักเตะผิวสีคนแรกที่ติดทีมชาติฝรั่งเศส Diagne เกิดในเฟรนซ์กียานา แต่มีเชื้อชาติเซเนกัล เขาเล่นให้กับทีม RC Paris, Toulouse FC และ FC Annecy โดยประสบความสำเร็จกับ RC Paris ด้วยการคว้าแชมป์ลีกสูงสุด 1 ครั้ง และแชมป์ฟุตบอลถ้วยอีก 3 หน ติดทีมชาติทั้งหมด 18 นัด หลังจากเลิกเล่นเขาผันตัวเองไปเป็นโค้ชฟุตบอลและได้ไปรับใช้แผ่นดินแม่จริงๆ ด้วยการคุมทีมชาติเซเนกัล ในปี 1960 - 1961
ในช่วงทศวรรษที่ 1950s ทีมชาติฝรั่งเศสเริ่มเจิดจรัสในวงการลูกหนังโลกด้วยการเข้ารอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลกปี 1958 ด้วยนักเตะลูกหลานผู้อพยพอย่าง Raymond Kopa, Roger Piantoni, Maryan Wisnieski และ Bernard Chiarelli ต่อเนื่องมาถึงทศวรรษที่ 1980s ที่พวกเขาสามารถคว้าแชมป์ยุโรปได้เป็นหนแรกในปี 1984 ภายใต้การนำของนโปเลียนลูกหนัง Michel Platini และพลพรรคอย่าง Jean Tigana, Luis Fernández หรือแม้แต่นักเตะฝรั่งเศสที่ชาวผีแดงรักที่สุดอย่าง Eric Cantona ก็ล้วนแล้วแต่เป็นลูกหลานผู้อพยพทั้งสิ้น
 
ดาราลูกหนังฝรั่งเศสแท้ๆ มีบ้างไหม?

Raymond Kopa ดาราลูกหนังของโคตรทีมอย่าง Real Madrid ติดทีมชาติฝรั่งเศส 45 นัด ยิง 18 ประตู เกิดในครอบครัวผู้อพยพชาวโปแลนด์
 
Michel Platini นโปเลียนลูกหนังผู้นี้เกิดในครอบครัวผู้อพยพชาวอิตาลี ติดทีมชาติ 72 นัด ยิงได้ 41 ประตู พาทีมชาติฝรั่งเศสได้แชมป์ยุโรปปี 1984 เป็นเจ้าของรางวัล Ballon d'Or 3 สมัยในปี 1983, 1984 และ 1985
 
Jean Tigan กลองกางระดับตำนานอีกคนหนึ่ง พาทีมชาติฝรั่งเศสได้แชมป์ยุโรปปี 1984 ร่วมกับ Platini ติดทีมชาติ 52 นัด ยิงได้ 1 ประตู
 
Eric Cantona แม้จะเล่นให้กับทีมชาติฝรั่งเศสในยุคตกต่ำ แต่ขบถลูกหนังขวัญใจแฟนผีแดงผู้นี้ก้ถือว่าเป็นนักเตะที่มีสีสันอันดับต้นๆ ของโลก ปู่ของเขาเป็นผู้อพยพจากเกาะซาร์ดิเนีย ส่วนครอบครัวสายแม่ก็เป็นผู้อพยพจากแคว้นคาตาลันในสเปน
 
Zinédine Zidane นักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งยุโรป (Ballon D'or) หนึ่งสมัย (ปี 1998) นักฟุตบอลยอดเยี่ยมของโลก 3 สมัย (ปี 1998, 2000, 2003) นักเตะยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเมนท์ฟุตบอลโลก 2006 เกิดในครอบครัวผู้อพยพชาวแอลจีเรียน ติดทีมชาติ 108 นัด ยิงได้ 31 ประตู
 
Marcel Desailly เกิดที่เมืองอัคคราในประเทศกาน่า อพยพตามครอบครัวสู่ฝรั่งเศสเมื่อมีอายุ 4 ขวบ ติดทีมชาติ 116 ยิงได้ 3 ประตู
 
Lilian Thuram เกิดที่เกาะกัวเดอลูป ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพจากแอฟริกัน เขาเป็นผู้เล่นที่ติดทีมชาติมากที่สุดถึง 142 นัด ยิงไปได้ 2 ประตู นอกจากนี้เขายังเป็นนักเตะที่ต่อสู้กับเรื่องการเหยียดผิวที่เอาจริงเอาจังคนหนึ่ง ด้วยการตั้ง มูลนิธิ Lilian Thuram เพื่อการศึกษาในการต่อต้านการเหยียดผิว นอกจากนี้เขายังเป้นกระบอกเสียงที่สำคัญในประเด็นเรื่องการเหยียดผิวในสนามฟุตบอลอย่างสม่ำเสมอ
 
Thierry Henry เกิดในครอบครัวผู้อพยพจากกัวเดอลูป ติดทีมชาติ 126 นัด ยิงได้ 3 ประตู และเช่นเดียวกับ Thuram เขาเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงในการต่อต้านการเหยียดผิว โดยเป็นโฆษกให้กับการณรงค์ต่อต้านการเหยียดผิวในสนามฟุตบอล
 
นอกจากนี้ยังมีนักเตะดังๆ อาทิเช่น Patrick Vieira เป็นผู้อพยพจากเซเนกัล, Claude Makélélé เป็นผู้อพยพมาจากสาธารณะรัฐคองโก, Vikash Dhorasoo เป็นนักเตะทีมชาติฝรั่งเศสคนแรกที่เกิดในอินโด-เมาริเทียน, Bafétimbi Gomis และ Bacary Sagna เป็นลูกครึ่งฝรั่งเศส-เซเนกัล, Louis Saha, Sylvain Wiltord, และ Pascal Chimbonda เกิดในครอบครัวผู้อพยพที่กัวเดอลูป, Florent Malouda เกิดที่เฟรนซ์กียานา, Karim Benzema, Samir Nasri, และ Hatem Ben Arfa เกิดในครอบครัวผู้อพยพจากแอลจีเรียและตูนีเซีย เป็นต้น
 

ความหลากหลาย การเมือง ฟุตบอล

ในปี 2001 ทีมชาติฝรั่งเศสได้เชิญทีชาติแอลจีเรีย อดีตประเทศอาณานิคมของตนเองมาแข่งกระชับมิตร ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่ทั้งคู่เจอกันหลังความขัดแย้งถึงขั้นมีสงครามในช่วงปี 1954–1962 แต่ผลลัพท์ของเกมส์นี้อาจจะไม่ได้กระชับมิตรเท่าใดนัก เมื่อสงครามย่อยๆ เกิดขึ้นอีก ก่อนเริ่มเกมส์ขณะที่มีการขับร้องเพลงชาติ La Marseillaise ของฝรั่งเศส แฟนบอลแอลจีเรียก็ได้ส่งเสียงโห่ฮา รวมถึงในช่วงครึ่งหลังของการแข่งขันมีแฟนฟุตบอลแอลจีเรียและแฟนบอลผิวดำได้บุกลงไปถึงกลางสนาม เกมส์ต้องยุติลงและหลังจากนั้น FIFA ก็ปรับเงินสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศสถึง 76,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ในปี 2006 นักการเมืองฝ่ายขวาของฝรั่งเศสก็ได้เคยออกมาทำลายบรรยากาศแห่งความหลากหลายบ่อยครั้ง ครั้งหนึ่ง Jean-Marie Le Pen ผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายขวา French National Front วิจารณ์ว่าทีมชาติฝรั่งเศสมีคนขาวน้อยเกินไป
ส่วน Nicolas Sarkozy ประธานาธิบดีคนปัจจุบันก็ไม่น้อยหน้า ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยเรียกวัยรุ่นที่ก่อความรุนแรงในการจลาจล ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นเพมาจากผู้อพยพว่า ‘ไอ้เศษสวะ’ (scum) ทั้งนี้กำพืดของซาร์โกซีเองก็ถือว่าเป็นผู้อพยพ แต่เป็นผู้อพยพชั้นสูง เพราะพ่อของเขาเป็นเชื้อพระวงศ์ของฮังการี ที่อพยพมาอยู่ในฝรั่งเศสหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนตาของเขาก็เป็นหมอชาวกรีกที่อพยพมาจากประเทศกรีซ

 
ทัศนคติ : การเงียบเฉยเป็นบาปยิ่งกว่า
Lilian Thuram (วารสาร ยูเนสโก คุริเย กันยายน 2544)
 
ครั้งแรกที่ผมพบเจอการเหยียดผิวที่ฝรั่งเศส ตอนนั้นผม 9 ขวบ เด็กผิวดำในโรงเรียนของผมล้วนโดนตั้งฉายา อย่างนี้เรียกว่าการเหยียดผิวรึเปล่า? สิ่งที่เด็กทำอาจดูเหมือนแค่ความเขลาแต่มันก็ยังส่งผลต่อผมอยู่ดี ผมมาจากกัวเดอลูปซึ่งหลากหลายชุมชนอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยผมไม่รู้สึกถึงการแบ่งแยกกีดกันใดๆเลย
 
การเหยียดผิวไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ มันเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่คิดและสร้างขึ้นโดยกำหนดความเหนือกว่าและด้อยกว่าบนพื้นฐานของสีผิวและวัฒนธรรม โรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการลบล้างสิ่งนี้ เด็กๆยังถูกสอน เรื่องความหลากหลายของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ขณะที่ความจริงมนุษย์เรามีเพียงเผ่าพันธุ์เดียว การพูดถึงชุมชนที่แตกต่างกันน่าจะถูกต้องกว่า
 
การสอนประวัติศาสตร์ของผู้คนก็เลวร้ายเต็มที แต่ละประเทศยึดถือสิ่งที่สอนต่อๆกันมาเพื่อสร้างความชอบธรรมรองรับพฤติกรรมในอดีตของตน ในทำนองเดียวกัน ผมก็ตกตะลึงสิ่งที่เรื่องราวของคนผิวดำที่ปรากฎในตำราประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคที่ตกเป็นทาสเท่านั้น ชีวิตความเป็นอยู่ก่อนหน้าช่วงประวัติศาสตร์อันน่าตื่นใจนี้ไม่เคยเป็นที่รับรู้ ราวกับคนดำเกิดมาก็เป็นทาสอย่างนั้นแหละ! วัฒนธรรมความเป็นมาที่แท้จริงของคนดำก็ล้วนถูกดูหมิ่นเสมอ อันทำให้เกิดความว่างเปล่าทางประวัติศาสตร์และคลี่ม่านคลุมความทรงจำของผู้คนเหล่านี้
 
ถ้าเราหวังสักนิดที่จะขจัดการเหยียดผิวให้สิ้นไป เราก็มีหน้าที่ต้องจดจำ แต่ละชาติต้องยอมรับสิ่งที่ตนทำผิดพลาดไป โดยเฉพาะเรื่องการใช้ทาสซึ่งผมเชื่อว่าเป็นที่มาอย่างหนึ่งของการเหยียดผิว ความจริงต้องถูกจารึกไว้ ไม่ใช่เพื่อมุ่งแก้แค้น แต่เพื่อเป็นวิถีทางที่จะนำพาเราไปสู่การปรองดองกันอย่างแท้จริง
 
สมรภูมินี้ยังห่างไกลจากชัยชนะ ตอนที่ผมไปอิตาลีในปี 1996 ผมไม่ได้สังเกตเห็นท่าทีใดๆ ของการเหยียดผิวหรือการรังเกียจคนต่างเชื้อชาติเลย อยู่ๆสถานการณ์ก็พลิกผันไปในทางเลวร้าย ทำไมกีดกันคนอื่นอย่างนี้? ทำไมก้าวร้าวอย่างนี้? คำถามพวกนี้ยังคงไร้คำตอบ
 
ผมเคยผ่านประสบการณ์อันเจ็บปวดระหว่างการแข่งขันนัดหนึ่งเมื่อครั้งที่ยังสังกัดสโมสร Parma แฟนบอลบางคนพากันตะเบ็งเสียงร้องเพลงล้อผู้เล่น 2 คนของทีม A.C. Milan ว่า “บากินกล้วยอยู่ในกระท่อมของเวอาห์’ เมื่อแข่งเสร็จ ผมก็หยิบเรื่องนี้มาคุยกับเพื่อนร่วมสโมสรคนอื่นๆ ผมรู้สึกได้ว่าพวกเขาไม่ใส่ใจ และผมก็ไม่อาจรับได้ การเงียบเฉยถือเป็นเจตคติที่เลวร้ายที่สุด การต่อสู้กับการเหยียดผิวก็คือการต่อสู้กับการเงียบเฉยด้วยเช่นกัน
 
ผมได้พบปะกับเด็กนักเรียนอิตาลีเป็นประจำ และพยายามปลูกฝังให้พวกเขาเห็นความสำคัญของสังคมแบบผสมผสาน อันเป็นบ่อเกิดสำคัญของความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม ผมมั่นใจว่าเยาวชนเหล่านี้จะไม่มีใจนิยมชมชอบพฤติกรรมล้อเลียนในเชิงเหยียดผิวที่ทำกันอย่างไร้ขอบเขตในสนามฟุตบอลแน่
แค่พูดถึงสิ่งดีๆที่ทำกันอยู่นั้นไม่พอ คุณต้องเผชิญกับสิ่งเลวร้ายด้วย และใช้มันเป็นเครื่องพิจารณาว่าอะไรผิด ต้องต่อสู้กับความชั่วร้ายตรงจุดนั้นเพื่อไม่ให้มันนำไปสู่ปัญหาที่สุดจะทนได้ อย่างเรื่องฟุตบอล ซึ่งเป็นแรงผลักดันที่ทรงพลังมาก เราต้องลงมือกำจัดการเหยียดผิวในทุกรูปแบบในสนามแข่ง และหยุดยั้งไม่ให้ใครใช้สนามฟุตบอลเป็นเวทีแสดงทัศนะอันไม่พึงประสงค์ออกมา
 
ผมผิดหวังที่ลัทธิเหยียดชนชาติยังคงแสดงอิทธิฤทธิ์อยู่ เป็นอย่างนี้มาหลายศตวรรษแล้ว เรายังได้รับการบอกกล่าวเสมอว่า เราอยู่ในโลกมหัศจรรย์ที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ผู้คนใกล้ชิดกัน แต่ความเป็นจริงกลับโหดร้าย เพราะในแง่จิตวิญญาณแล้วเรายังไม่ได้ก้าวหน้าขึ้นสักกี่มากน้อย แม้แต่สิทธิที่จะแตกต่างกับเพื่อนบ้านยังไม่มี ผมเชื่อว่าโลกาภิวัฒน์หมายถึงการเคารพซึ่งกันและกัน เคารพความแตกต่างของบุคคล เพราะในตัวเราแต่ละคนและทุกคนต่างก็มีที่มาที่แตกต่างกัน
 

อัดอั้นตันใจ
Zinédine Zidane เจ้าของรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งยุโรป (Ballon D'or) หนึ่งสมัย (ปี 1998) นักฟุตบอลยอดเยี่ยมของโลก 3 สมัย (ปี 1998, 2000, 2003) นักเตะยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเมนท์ฟุตบอลโลก 2006 Zidane ลูกชายของผู้อพยพจากแอลจีเรีย ผู้ซึ่งเป็นเป็นวีระบุรุษของชาติ และคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะที่มีสายเลือดจากผู้อพยพพยายามตามรอยเท้า … แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
ความอึดอัดของบรรดาคนรุ่นใหม่เชื้อสายมุสลิมและแอฟริกัน ที่มีความรู้สึกว่าสีผิวและชื่อแซ่ที่ไม่ใช่ฝรั่งเศสของพวกเขาถูกรังเกียจกีดกันในด้านต่างๆ แม้ว่าคนหนุ่มสาวต่างผิวสีที่ประสบความสำเร็จในการเป็นนายแบบนางแบบหรือเป็นนักฟุตบอล แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น อาชีพที่ใช้แรงอย่างเดียวที่จะทำให้พวกเขาไต่เต้าไปเป็นคนมั่งมีได้นั้นก็คงจะมีแค่นักฟุตบอลนี่แหละ
แม้ฝรั่งเศสจะมีระบบสวัสดิการด้านสาธารณสุข การศึกษา และที่อยู่อาศัยให้กับผู้อพยพและคนยากจน แต่ในทางเศรษฐกิจ-การเมืองพวกเขากลับถูกปฏิบัติเยี่ยงประชาชนชั้นสอง ชุมชนแออัดตามชานเมืองที่เป็นย่านที่อยู่ของคนจนเชื้อสายผู้อพยพเหล่านี้นั้นมีอัตราการว่างงาน 40 % ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 3 เท่า
ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนปี 2005 เกิดการจลาจลใหญ่จากลูกหลานผู้อพยพในประเทศที่ถูกเลือกปฏิบัติมาอย่างซ้ำซาก ความอัดอั้นนี้ได้ทำให้เกิดการระเบิดออกมา หลังจากที่วัยรุ่นที่มีเชื้อสายผู้อพยพ 2 คน Bouna Traore และ Zyed Benna ถูกไฟช๊อตจนเสียชีวิตขณะพยายามหลบหนีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เหตุการณ์นั้นได้ปะทุลามเป็นการจลาจลในหลายเมืองทั่วประเทศ
จากนั้นในเดือนพฤษภาคมปี 2007 คนหนุ่มสาวฝรั่งเศสได้ออกมาประท้วงคัดค้านชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy จากพรรคการเมืองฝ่ายขวา Union for a Popular Movement Party (UMP) ซึ่งเคยนโยบายว่าจะไม่ให้ฝรั่งเศสเป็นสวรรค์สำหรับผู้อพยพเข้าเมืองอีกนั้น เขาไม่ได้รับความนิยมจากวัยรุ่นในย่านที่อยู่อาศัยของผู้อพยพ และ Sarkozy ถูกกล่าวหาว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ก่อให้เกิดชนวนความรุนแรงในปี 2005 ด้วยคำว่า ‘ไอ้เศษสวะ’ นั่นเอง
แหล่งข้อมูล
จลาจลหลังเลือกตั้งฝรั่งเศส ล่าสุดถูกจับ 600 เผารถวอด 700 คัน! (ประชาไท, 7-5-2007)
Crédit Agricole pulls French World Cup ads (Roger Blitz and Richard Lapper, ft.com, 21-6-2010)
Racial politics and France’s mutinous football team (Gideon Rachman, blogs.ft.com/rachmanblog, 22-06-2010)
Roland Barthes กับวัฒนธรรมมวลชน มายาคติ และ วัฒนธรรมสังคมร่วมสมัย (สมเกียรติ ตั้งนโม : เรียบเรียง, midnightuniv.org, เข้าดูเมื่อ 22-6-2010)
บทวิเคราะห์เรื่องประโยชน์ของความรุนแรง อ่านให้ทะลุเหตุการณ์จลาจลวัยรุ่นในฝรั่งเศส (ณรุจน์ วศินปิยมงคล,midnightuniv.org, เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/2005_civil_unrest_in_France (เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/France_national_football_team (เข้าดุเมื่อ 23-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Raoul_Diagne (เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Raymond_Kopa (เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Michel_Platini (เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Jean_Tigana (เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Eric_Cantona (เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Zin%C3%A9dine_Zidane (เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Marcel_Desailly (เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Lilian_Thuram (เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)
http://www.footballteamplayers.com/michel-platini.html (เข้าดูเมื่อ 23-6-2010)
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น