โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ชนิด สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา "จูเลียต" เสียชีวิตแล้ว

Posted: 15 Jun 2010 11:07 AM PDT

"ชนิด สายประดิษฐ์" ภรรยาของ "ศรีบูรพา" และผู้แปล "เหยื่ออธรรม" เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 97 ปี มีกำหนดรดน้ำศพเย็นวันนี้ ที่วัดเทพศิรินทร์

<!--break-->

ชนิด สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา "จูเลียต"

นางชนิด สายประดิษฐ์ นักเขียน นักแปล เจ้าของนามปากกา "จูเลียต" และเป็นภรรยาของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับการเชิดชูเกียรติรางวัลนราธิปประจำปี พ.ศ. 2544 ได้ถึงแก่กรรมแล้วเมื่อวานนี้ (15 มิ.ย.) เวลา 13.48 น. สิริรวมอายุ 97 ปี โดยมีกำหนดการรดน้ำศพวันนี้ (16 มิ.ย.) ที่ศาลากลางน้ำ  วัดเทพศิรินทร์ เวลา 17.00 น. โดยงดพวงหรีดทุกชนิด และฌาปนกิจวันเสาร์ที่ 19 มิ.ย. เวลา 14.00  น.

นางชนิด สายประดิษฐ์ เดิมชื่อ ชนิด ปริญชาญกล เกิดเมื่อวันที่ 15 ม.ค. พ.ศ. 2456 ที่ย่านรองเมือง เป็นบุตรของขุนชาญรถกล กับนางเขียว ปริญชาญกล นางชนิดเป็นลูกคนโตสุดจากพี่น้อง 6 คน บิดาเสียชีวิตเมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยม แต่เนื่องจากมารดาเป็นผู้หญิงเก่ง แม้จะไม่ได้เรียนหนังสือ จึงเปิดร้านขายของสารพัดอย่างเลี้ยงดูลูกและ ส่งเสียให้เรียนหนังสือ

นางชนิดจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เมื่อ พ.ศ. 2477 (สมัยนั้นคณะอักษรศาสตร์  ยังไม่เปิดหลักสูตรปริญญา) ได้พบกับกุหลาบ สายประดิษฐ์เมื่อ พ.ศ. 2475 และแต่งงานกันเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2478 โดยหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นเจ้าภาพ พร้อมทั้งได้ประทานที่ดินในซอยพระนางให้ปลูกเรือนหอ

หลังจบการศึกษาได้เป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ต่อมาย้ายไปสอนที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา ขณะเดียวกันก็ศึกษาต่อกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นางชนิด สายประดิษฐ์ เริ่มงานแปลหนังสือตั้งแต่สมัยเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ตีพิมพ์ใน "ประชาชาติ รายสัปดาห์" เรื่องแรกคือเรื่อง "ความรักของ เจน แอร์" ใช้นามปากกาว่า "จูเลียต" ซึ่งตั้งให้โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ ผลงานแปลชิ้นสำคัญคือ เหยื่ออธรรม  ซึ่ง ประพันธ์โดยวิคเตอร์ ฮูโก

นางชนิด สายประดิษฐ์ มีบุตรกับ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ 2 คน คือ แพทย์หญิงสุรภิน สายประดิษฐ์  และ สุรพันธ์ สายประดิษฐ์ นางชนิดได้เดินทางไปใช้ชีวิตร่วมกับนายกุหลาบ ซึ่งลี้ภัยอยู่ที่ประเทศจีน ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 เป็นเวลา 12 ปี จนกระทั่งกุหลาบ สายประดิษฐ์ เสียชีวิตในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2517

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แอฟริกาใต้ 2010 : คนหลังฉากฟุตบอลโลก (2) คนงานสร้างสนามฟุตบอลโลก

Posted: 15 Jun 2010 11:01 AM PDT

ในการแข่งขันฟุตบอลครั้งนี้ FIFA อนุญาตให้นำตั๋วจำนวน 40,000 ใบไว้เป็นโควตาเฉพาะสำหรับคนงานก่อสร้างสนาม ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะความเอื้ออาทรของ FIFA แต่หากเป็นเพราะวัฒนธรรมสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งของแอฟริกาใต้ และการต่อสู้มาตลอดระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก
<!--break-->

 
เช่นเดียวกับหลายๆ ที่ในโลก แรงงานในแอฟริกาใต้ยังคงเผชิญกับปัญหาความยากจน ทั้งๆ ที่ประธานาธิบดี Jacob Zuma เคยได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะแก้ปัญหาความยากจนในแอฟริกาให้ได้ภายใน 15 ปี นับจากการสิ้นสุดของการแบ่งแยกสีผิว โดยชาวแอฟริกาใต้ 43% มีรายได้ไม่ถึงวันละ 2 ดอลลาร์
ในช่วงการก่อสร้างสนามเพื่อเตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2010 สหพันธ์แรงงานสากลในกิจการก่อสร้างและคนงานไม้ (Building and Wood Workers' International : BWI) และสหภาพแรงงานในภาคก่อสร้างของแอฟริกาใต้ ได้จัดให้มีการรณรงค์ส่งเสริมการทำงานที่ดี และการต่อสู้เพื่อสิทธิที่มีต่อการทำงาน ต่อรองเรื่องสิทธิในเรื่องของค่าตอบแทน การลดอุบัติเหตุในการทำงาน สุขภาพของคนงาน รวมถึงการปรับปรุงสภาพในการทำงาน พัฒนาทักษะการทำงาน --  แต่ FIFA ไม่เคยร่วมกิจกรรมกับการรณรงค์นี้
การเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกของแอฟริกาใต้ ถือว่ามาถูกที่ถูกเวลาสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อประเทศกำลังประสบกับปัญหาอัตราการว่างงานถึง 46% ในขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตต่ำ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง

 
 
 
สนามการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 (ที่มาภาพ: propertyinvesting.net)
 
 
สนาม Ellis Park เมือง Johannesburg
ความจุ 60,000 ที่นั่ง ใช้งบประมาณในการปรับปรุง 229 ล้าน Rand (ประมาณ 19 ล้านยูโร) แรงงานในไซต์นี้ได้ค่าแรง 16 Rand (ประมาณ 1.40 ยูโร) ต่อชั่วโมง ทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน ในอดีตก่อนปรับปรุงสนามเคยเกิดโศกนาฏกรรมที่สนามแข่งขันแห่งนี้เมื่อปี 2001 ในการแข่งขันฟุตบอลภายในประเทศระหว่างทีม Kaizer Chiefs และ Orlando Pirates เนื่องจากการเบียดเสียดของแฟนบอลที่เข้ามาเกินความจุของสนาม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 43 คน
 
สนาม Soccer City เมือง Johannesburg
สนามแห่งนี้เป็นสนามหลักของการแข่งขันครั้งนี้ ใช้ในนัดเปิดและนัดชิงชนะเลิศ มูลค่าการก่อสร้าง 1.6 พันล้าน Rand (ประมาณ 140 ล้านยูโร) จุคนดูได้ถึง 97,000 คน บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างสนามแห่งนี้คือ GLTA ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Aveng Group ในโครงการร่วมทุนกับบริษัทสัญชาติดัทซ์อย่าง BAM ที่มีหุ้นอยู่ 25% โดยคนงานก่อสร้างสนามแห่งนี้ได้รับหมวกนิรภัย แว่นตาและรองเท้า ซึ่งให้ครั้งเดียวใช้ตลอดการก่อสร้างทั้งปี
 
คนงานมากกว่า 20% ของคนงานที่ไซต์ก่อสร้างนี้ เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานเหมืองแร่แห่งชาติ (National Union of Miners : NUM) แต่ทั้งนี้พบว่านายจ้างยังใช้แรงงานจ้างเหมาสัญญาชั่วคราว 1,500 คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน
 
สนาม Royal Bafokeng เมือง Rustenburg
เป็นโครงการปรับปรุงสนามมูลค่า 147 ล้าน Rand (ประมาณ 13 ล้านยูโร) อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ แถบเหมืองแร่แพลทตินัม จุคนดูได้ 45,000 คน ใช้ในการแข่งขันรอบแบ่งกลุ่ม
 
สนาม Peter Mokaba เมือง Polokwane
โครงการมูลค่า 870 ล้าน Rand (ประมาณ 75 ล้านยูโร) มีความจุ 45,000 คน ในเดือนพฤษภาคม ปี 2008 แรงงานได้ทำการหยุดงานประท้วงเพื่อขอเพิ่มค่าแรงอีก 8%
 
สนาม Mbombela เมือง Nelspruit (Mbombela)
รับเหมาปรับปรุงโดยบริษัทรับเหมา Basil Read ของแอฟริกาใต้ และ Bouygues ของฝรั่งเศส ด้วยมูลค่า 920 ล้าน Rand (ประมาณ 80 ล้านยูโร) ความจุของสนาม 46,000 คน ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2007 และเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2008 คนงานได้ทำการประท้วงกดดันเพื่อขอค่าแรงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การประท้วงของคนงานในไซต์แห่งนี้ยังเป็นแคมเปญรณรงค์โดย BWI ไปทั่วโลกอีกด้วย
 
สนาม Nelson Mandela Stadium เมือง Port Elizabeth
สนามความจุ 50,000 รับเหมาก่อสร้างโดยบริษัทแอฟริกาใต้ Grinaker และบริษัทดัทซ์ Interbeton มูลค่าการก่อสร้าง 1.2 พันล้าน Rand (ประมาณ 105 ล้านยูโร) ในเดือนเมษายน ปี 2008 คนงาน 1,200 คน ประท้วงเพื่อขอโบนัส
 
สนาม Loftus Versveld เมือง Pretoria (Tshwane)
มีความจุ 45,000 ที่นั่ง มูลค่าการปรับปรุง 98 ล้านRand (ประมาณ 8 ล้านยูโร)
 
สนาม Moses Mabhida เมือง Durban (Ethekwini)
ความจุ 70,000 ที่นั่ง รับเหมาก่อสร้างโดยบริษัท WBHO, Group 5 และ Pandev ด้วยมูลค่า 1.9 พันล้าน Rand (ประมาณ 165 ล้านยูโร)
 
สนาม Free State เมือง Bloemfontein (Mangaung)
สนามความจุ 45,000 ที่นั่ง มูลค่าการปรับปรุง 245 ล้านRand (ประมาณ 20 ล้านยูโร) แห่งนี้ คนงานเคยประท้วงถึง 5 ครั้ง ในเดือนธันวาคม ปี 2007 หนึ่งครั้ง ในเดือนมกราคม ปี 2008 สามครั้ง และอีกหนึ่งครั้งในเดือนมีนาคม ปี 2008 แรงงานส่วนใหญ่ถูกว่าจ้างด้วยสัญญาระยะสั้นโดยบริษัทเหมาค่าแรง ได้ค่าแรงต่ำ 8 Rand (ประมาณ 0.70 ยูโร) ต่อการทำงานหนึ่งชั่วโมง
 
สนาม Green Point เมือง Cape Town
ใช้ในการแข่งขันรอบแบ่งกลุ่มและรอบรองชนะเลิศ สามารจุคนดูได้ 70, 000 คน มูลค่าการก่อสร้าง 3.7 พันล้าน Rand (ประมาณ 310 ร้อยล้านยูโร) มีผู้รับเหมาคือ บริษัท Murray & Roberts และบริษัท WBHO โดยในไซต์ก่อสร้างที่นี่มีคนงานเสียชีวิต 3 คน
 
 

 
การปรับปรุงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานรวมถึงการสร้างสนามฟุตบอลแห่งใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกได้กระตุ้นภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างขึ้นมา ในปี 2006 ภาคก่อสร้างของประเทศมีอัตราการเจริญเติบโตถึง 13.3% ซึ่งเป็นอัตราการเจริญเติบโตมากที่สุดของทุกภาคอุตสาหกรรม
ในการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพครั้งนี้มีแรงงานอย่างน้อย 3 คนเสียชีวิตจากการทำงาน พวกเขาได้รับค่าแรงเพียงเดือนละ 2,500 Rand (ประมาณ 313 ดอลลาร์สหรัฐ) คนงานกว่า 70% ได้สัญญาทำงานระยะสั้นถูกหักหัวคิวผ่านนายหน้าและบริษัทจ้างเหมาช่วง ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน
ขณะที่บรรษัทก่อสร้างมีอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นถึง 218% ในปี 2007และเมื่อเทียบรายได้ของ CEO ของบริษัทรับเหมาก่อสร้างสนามกับคนงานก่อสร้าง พบว่าคนงานทั่วไปจะต้องทำงานถึง 139 ปี ส่วนแรงงานที่มีฝีมือจะต้องทำงานถึง 56 ปีถึงจะได้เท่ากับรายได้ของ CEO บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่นั่งทำงาน 1 ปี
 

ค่าใช้จ่ายของคนงานในแอฟริกาใต้นั้น ประมาณการได้ดังนี้
·         ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย 800 Rand ต่อเดือน
·         เฉลี่ยค่าอาหารในแต่ละวัน
o    ไก่ 1 ก.ก. ราคา 26.99 Rand
o    กล้วย 1 ก.ก. ราคา 9.29 Rand
o    ข้าว 1 ก.ก. ราคา 5.80 Rand
o    น้ำมันดอกทานตะวัน 1 ลิตร ราคา 14.99 Rand
o    กระดาษชำระ 4 ม้วน ราคา 22.99 Rand

 
การประท้วงของแรงงานในแอฟริกาใต้มีข่าวควบคู่กันมาอย่างต่อเนื่องในการเตรียมตัวเพื่อเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก โดยขบวนการแรงงานได้อาศัยการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในครั้งนี้เป็นจังหวะสำคัญในการเกาะกระแสให้คนสนใจประเด็นแรงงานในแอฟริกาใต้ควบคู่กันไปด้วย
ในปี 2007 คนงานในแอฟริกาใต้หยุดงานประท้วง ด้วยสาเหตุที่ว่าการทำงานหนักทำให้แรงงานชายหมดเรี่ยวแรงในการมีเซ็กส์กับภรรยาที่บ้าน โดยในปีนั้นลูกจ้างภาครัฐในแอฟริกาใต้ได้เริ่มเจรจากับรัฐบาลเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงเป็นครั้งแรกนับจากปี 2004
8 ก.ค. 2009 คนงานก่อสร้างสนามฟุตบอลกว่า 70,000 คนประท้วงหยุดงานเพื่อขอค่าจ้างเพิ่ม โดยคนงานเรียกร้องขอขึ้นค่าจ้าง 13% จากค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ 2,500 Rand นอกจากนี้คนงานยังได้เรียกร้องสิทธิต่างๆ เช่น การลาหยุด และการจ่ายค้าจ้างในวันที่ต้องหยุดงานเพราะสภาพอากาศไม่ดี
ในปีเดียวกันนี้แรงงานภาครัฐกว่า 150,000 คน หยุดงานประท้วง มีการเดินขบวนรณรงค์ในกรุง Johannesburg, Cape Town และเมืองใหญ่อีกหลายแห่ง โดยได้แรงงานภาครัฐเหล่านี้ได้เรียกร้องเพิ่มค่าแรงขึ้น 15% หลังจากอัตราเงินเฟ้อทะยานขึ้นสูงเป็น 13.7% เมื่อปี 2008 ขณะที่ราคาน้ำมันและอาหารก็พุ่งสูงขึ้นมาก แม้ว่าในปี 2009 อัตราเงินเฟ้อจะลดลงเหลือ 8.0% แล้วก็ตาม ม็อบแรงงานเสื้อแดงซึ่งเป็นชุดของสหภาพแรงงานคนทำงานภาครัฐ (SAMWU) ได้เดินขบวนไปตามท้องถนน ก่อนจะยื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายกเทศมนตรี ขณะที่มีการตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าไปในเมืองเพื่อเป็นการประท้วง
ทั้งนี้สำหรับการหยุดงานประท้วงของแรงงานที่สร้างสนามฟุตบอลโลกก็มีถึง 26 ครั้ง ในไซต์ก่อสร้างต่างๆ
ล่าสุดระหว่างการแข่งขัน (14 มิ.ย. 53) ตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมของบรรดาเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกว่า 500 คนที่ประท้วงที่สนาม Moses Mabhida ที่เมือง Durban หลังจากเกมส์การแข่งขันระหว่างเยอรมันกับออสเตรเลีย
ทั้งนี้กลุ่มพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ออกมาประท้วงนั้น ได้เปิดเผยว่าพวกเขามารวมตัวกันที่สนามเพื่อแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับค่าแรงที่พวกเขาได้รับเงินไม่ตรงตามข้อตกลงที่ตกลงกันไว้ที่ 1,500 Rand ต่อวัน แต่พวกเขาได้รับเงินเพียง 190 Rand เท่านั้น ผู้ประท้วงหลายคนได้โบกซองจดหมายสีน้ำตาลซองเล็กที่ใส่ค่าแรงของพวกเขาไปมา ขณะที่คนอื่นๆ บอกว่าพวกเขาถูกทิ้งอยู่ที่สนาม หลังจบแมตช์และต้องเดินกลับบ้านเป็นเวลานานถึง 4 ชั่วโมง โดยบอกว่าไม่มีการจัดหาพาหนะรับส่งไว้ให้พวกเขาด้วย
ตำรวจถูกเรียกมาสลายการชุมนุม มีการเตรียมหามาตรการป้องกันการประท้วงระหว่างการแข่งขันในแมตซ์ต่อๆ ไป หลายฝ่ายออกมาตำหนิการประท้วงครั้งนี้เพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของนักกีฬาและแฟนบอลจากต่างประเทศ
และนี่คืออีกหนึ่งชะตากรรมของคนเบื้องหลังฟุตบอลโลกหนนี้!
 แหล่งข้อมูล:
Police clash with workers in first unrest (Mail & Guardian, 2010-06-14)
International Labour Conference (ILC) - FIFA drives an Unfair Globalization by violating Workers’ Rights (bwint.org, เข้าดูเมื่อ 14 มิ.ย. 2010)
Decent work – Fair Play for All Teams About the Decent Work project in the run up to the FIFA World Cup in South Africa 2010 (bwint.org, เข้าดูเมื่อ 14 มิ.ย. 2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/2010_FIFA_World_Cup (เข้าดูเมื่อ 14-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Soccer_City(เข้าดูเมื่อ 14-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Mbombela_Stadium (เข้าดูเมื่อ 14-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Ellis_Park_Stadium (เข้าดูเมื่อ 14-6-2010)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เหตุการณ์ “อาทิตย์แดงเดือด” (Bloody Sunday): ความยุติธรรมไม่มีวันหมดอายุ

Posted: 15 Jun 2010 10:38 AM PDT

<!--break-->

 

ทหารพลร่มกระชากผมของผู้ชุมนุมประท้วงในเหตุการณ์ “อาทิตย์แดงเดือด” (ภาพ Fred Hoare/Belfast Telegraph)

ผู้ชุมนุมชาวคาธอลิคและทหารอังกฤษในเหตุการณ์ “อาทิตย์แดงเดือด” (ภาพ: KPA/Zuma/Rex Features)

ชมชุดภาพที่รวบรวมโดย the Guardian (คลิกที่นี่) แผนที่ลำดับเหตุการณ์โดย the Guardian (คลิกที่นี่)

 

แม้จะผ่านไปเกือบ 40 ปี ประชาชนชาวไอร์แลนด์เหนือไม่มีวันลืมเหตุการณ์สังหารหมู่ที่รัฐบาลอังกฤษกระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ และเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากเลือกจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลอย่างยืดเยื้อในอีกสามทศวรรษต่อมา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,500 คน แต่ในรายงานสอบสวนข้อเท็จจริงครั้งใหม่ที่กำลังมีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ พวกเขาคงได้เห็นความยุติธรรมที่รอคอย รวมทั้งการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างสันติด้วยความเหี้ยมโหด

Bloody Sunday เกิดขึ้นเมื่อปี 2515 เป็นเหตุการณ์ที่ทหารของรัฐบาลอังกฤษสังหารพลเรือนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีการยิงปืนใส่ผู้ชุมนุม 27 คน เป็นเหตุให้ 13 คนเสียชีวิตทันที อีกหนึ่งคนเสียชีวิตอีกสี่เดือนกว่าถัดมา (ซึ่งนับว่าน้อย ถ้าเทียบกับความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายของพลเรือนผู้เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ช่วงเดือนเม.ย.กับ พ.ค.ที่ผ่านมา)

ในวันที่ 30 มกราคม 2515 กลุ่มสิทธิมนุษยชนในไอร์แลนด์เหนือ (Civil Rights Association) ได้ขัดขืนคำสั่งห้ามของรัฐบาล และประกาศเดินขบวนชุมนุมโดยสันติและไม่มีการติดอาวุธ ในเขต Bogside ของเมือง Londonderry หรือ Derry ซึ่งเป็นเมืองใหญ่สุดเป็นอันดับสองของไอร์แลนด์เหนือ (ทำให้เหตุการณ์นี้มีอีกชื่อว่า Bogside Massacre) โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมาณหนึ่งหมื่นคน แต่ปรากฏว่าทหารหน่วยพลร่มของอังกฤษตัดสินใจใช้อาวุธปืนยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม ซึ่งต่อมาพบว่าผู้เสียชีวิตไม่มีอาวุธเลย และเป็นผู้ชายทั้งสิ้น 13 คน ในจำนวนนี้เป็นวัยรุ่นเจ็ดคน

การเดินขบวนเป็นการประท้วงชาวคาทอลิกต่อนโยบายจับกุมโดยไม่มีการตั้งข้อหาและไม่มีสิทธิอุทธรณ์ทางต่อศาล หรือที่เรียกว่า “internment” ซึ่งเป็นมาตรการที่ทางการอังกฤษนำมาใช้ตั้งแต่หนึ่งปีก่อนหน้านั้น โดยอ้างว่าเพื่อค้นหาและจับกุมผู้นำกลุ่มติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐบาล เป็นเวลานับร้อยปีที่ชาวคาทอลิกในไอร์แลนด์พยายามต่อต้านระบอบปกครองของอังกฤษ เนื่องจากถูกกดขี่ ข่มเหง และมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง

ผลจากการปราบปรามพลเรือนอย่างเลือดเย็นในครั้งนั้น ทำให้ประชาชนในไอร์แลนด์เหนือจำนวนมากตัดสินใจเข้าร่วมกับกลุ่ม Irish Republican Army (IRA) ซึ่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ใช้อาวุธต่อสู้กับรัฐบาล และทำให้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่าง IRA กับรัฐบาลอังกฤษและกลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนรัฐบาลอังกฤษ (unionists) สงครามกลางเมืองยืดเยื้อมาถึงสามทศวรรษ และทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,500 คน เฉพาะปี 2515 เหตุการณ์สังหารเอาชีวิตผู้คนได้พุ่งขึ้นถึง 500 ศพ ซึ่งนับว่าเลวร้ายสุดในรอบสามทศวรรษ

มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง (คล้ายๆ กับคณะกรรมการที่รัฐบาลอภิสิทธิ์แต่ตั้งและนำโดยนายคณิต ณ นคร) ถึงสองครั้ง ครั้งแรกว่ากันว่าเป็นความพยายาม “ฟอก” รัฐบาล (whitewash) โดยมีประธานคือ Baron John Widgery อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเขตอังกฤษและเวลส์ (Lord Chief Justice of England and Wales) แต่ถึงอย่างนั้น ข้อสรุปที่ได้ก็ชัดเจนว่าเป็นการยิงในลักษณะที่ “น่าจะเข้าใกล้การยิงแบบไม่เลือกเป้า” ("bordered on the reckless")

เมื่อมีการลงนามในสัญญาสันติภาพเมื่อปี 2541 (Good Friday Agreement) รัฐบาลนายโทนี่ แบลร์จากพรรคแรงงานจึงได้รับปากที่จะตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมาอีกชุดเพื่อรื้อฟื้นการพิจารณากรณีนี้อีกครั้ง เขาบอกในช่วงการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชุดใหม่ด้วยว่า คนที่ตายต้องถือเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ตรงกับข้อกล่าวหาใดๆ ที่ว่าพวกเขาถูกยิงขณะที่ถืออาวุธปืนหรือระเบิดตะปู (nail bomb)

คณะกรรมการไต่สวนชุดใหม่นี้ที่นำโดย Lord Mark Saville ใช้เวลาเสาะหาข้อเท็จจริงอีก 12 ปี ใช้งบประมาณไปกว่า 190 ล้านปอนด์ (เก้าพันกว่าล้านบาท) มีการสอบปากคำพยานกว่า 900 ปาก และมีการรับถ้อยแถลงเพื่อให้การจากประชาชนอีก 2,500 คน และเพิ่งมีการส่งมอบรายงานหนา 500 หน้าให้นายกฯ คนใหม่ คือนายเดวิด คาเมรอน จากพรรคอนุรักษ์นิยมไปเมื่อวันจันทร์ที่ 14 มิ.ย.นี้เอง

รายงานฉบับนี้จะเปิดเผยอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะในวันอังคารที่ 15 มิ.ย. 2553

ในบรรดาพยานผู้ให้ปากคำประกอบด้วยนาย Martin McGuinness ผู้ช่วยรัฐมนตรี (Deputy First Minister) ของรัฐบาลไอร์แลนด์เหนือ เขายอมรับว่าดำรงตำแหน่งเป็นนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาของกลุ่ม IRA ที่เมือง Londonderry ตอนที่เกิดเหตุ

“พลเมืองที่เมือง Derry ทั้งชายและหญิง ต้องการให้ลอร์ดเซวิลล์ทำข้อมูลให้ประจักษ์ชัดว่า ทั้ง 27 คนที่ถูกยิงในวันนั้น ต่างถูกฆาตกรรมและทำร้ายจนบาดเจ็บ พวกเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ และผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นจนบาดเจ็บล้มตายต้องเป็นฝ่ายผู้กระทำผิด” เขากล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

ในทำนองเดียวกับการอ้างความชอบธรรมของรัฐบาลไทยต่อการปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง รัฐบาลอังกฤษในขณะนั้นที่นำโดยนายวิลเลียม เฮก (William Hague) จากพรรคอนุรักษ์นิยมอ้างว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้ทั้งอาวุธปืนและระเบิด ทำให้รัฐบาลต้องสั่งการให้ทหารใช้อาวุธเพื่อปราบปราม

เหตุการณ์ “อาทิตย์แดงเดือด” นับเป็นเหตุการณ์ที่ทหารรัฐบาลอังกฤษสังหารพลเรือนจำนวนมากสุดในประวัติศาสตร์ นับแต่การสังหารหมู่ปีเตอร์ลู (Peterloo massacre) ที่เมืองแมนเชสเตอร์เมื่อ 150 ปีก่อนหน้านั้น ในครั้งนั้นมีพลเรือนเสียชีวิต 15 คน (แสดงว่าทหารอังกฤษเขาไม่ได้มีไว้ยิงประชาชนของตนเอง - ผู้เขียน)

คาดว่าในรายงานของ Lord Seville จะมีการระบุชื่อนายทหารที่เป็นคนลั่นไก และน่าจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป แม้เหตุการณ์จะผ่านไปเกือบ 40 ปี

คงเป็นอุทาหรณ์สำหรับรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่า ความยุติธรรมไม่มีวันหมดอายุ !!!

 

ที่มา:

เรียบเรียงจากhttp://www.guardian.co.uk/uk/2010/jun/10/bloody-sunday-inquiry-northern-ireland และอื่น ๆ 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คปส.ค้านกองทัพเข้ามาจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุ-โทรทัศน์

Posted: 15 Jun 2010 08:37 AM PDT

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อเรียกร้องให้ ส.ส. ค้านการแก้ไขหลักการ "พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ" ที่เปิดให้ตัวแทนจากฝ่ายกองทัพเข้ามาเป็น กสทช. ถ้าให้แก้เท่ากับให้กองทัพครอบงำกิจการสื่อฯ ชี้ปัจจุบันกลาโหมเป็นเจ้าของคลื่นวิทยุกว่า 201 สถานี เป็นเจ้าของทีวี 2 ช่อง ถ้าให้ทหารเข้ามายุ่งย่อมปฏิรูปสื่อได้ยาก

<!--break-->

วันนี้ (15 มิ.ย.) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ หรือ คปส. ออกแถลงการณ์ "คัดค้านร่างกฎหมาย องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ‘ฉบับ ท.ทหาร ฉุกเฉิน’" โดยระบุว่าถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยอมให้วุฒิสภาแก้ไขหลักการของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่เปิดให้ตัวแทนจากฝ่ายกองทัพเข้ามาเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็เท่ากับให้กองทัพครอบงำกิจการสื่อกระจายเสียง

โดย คปส. มีข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร สื่อมวลชน และสาธารณชน ดังนี้  1. ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคัดค้านการแก้ไขหลักการสำคัญโดยวุฒิสภา ที่เปิดให้ตัวแทนจากฝ่ายกองทัพเข้ามาเป็น กสทช. และจัดสรรผลประโยชน์ล่วงหน้าให้กับ หน่วยงานของตน  และขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งยึดมั่น ในเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ อันเป็นหลักการรองรับสิทธิเสรีภาพการสื่อสาร ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และการได้มาซึ่งองค์กรอิสระที่เป็นอิสระ อย่างแท้จริง

2. ขอให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบการทำหน้าที่กลั่นกรองร่างกฎหมายฉบับนี้ ของวุฒิสภา และตั้งกรรมาธิการร่วมระหว่างสองสภาขึ้นเพื่อทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย ฉบับนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยต้องเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้และมีส่วนร่วมตรวจสอบโดยตรง

และ 3. ขอให้สื่อ มวลชน และ สาธารณชน ติดตามการแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างใกล้ชิดและ ให้ข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้าง ขวางในการตรวจสอบและปกป้องผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรสื่อสารของสาธารณะ โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์ดังนี้

 

000
 

แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ
คัดค้านร่างกฎหมาย องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ‘ฉบับ ท.ทหาร ฉุกเฉิน’

สืบเนื่องจากการประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญนัดพิเศษ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความ ถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. … และวุฒิสภามีมติผ่านร่างกฎหมาย โดยแก้ไขในหลักการสำคัญ ประกอบด้วย 1) การเพิ่มองค์ประกอบในองค์กรอิสระให้กับฝ่ายความมั่นคง และกำหนดให้มีกรรมการมาจากฝ่ายความมั่นคง ตลอดจนเปิดให้หน่วยงานความมั่นคงส่งตัวแทนเข้าคัดเลือกกันเองเป็นกรรมการ  และ  2) การกำหนดให้ต้องจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับฝ่ายความมั่นคงได้ใช้ อย่างเพียงพอ

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) เห็นว่า การกลั่นกรองร่างกฎหมายของวุฒิสภาในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการทำลายหลักการ สำคัญและเจตนารมณ์ในการปฏิรูปสื่อของภาคประชาชน ที่เรียกร้องให้มีองค์กรที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตลอดจนกิจการโทรคมนาคมมาตลอดระยะเวลากว่าสิบปี กล่าวคือ เป็นการอาศัยสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรม ให้แก่หน่วยงานความมั่นคงหรือกองทัพ ในการเข้าแทรกแซงองค์กรอิสระ และจัดสรรผลประโยชน์ให้กับตนเองอีกครั้งหนึ่ง

เพราะภายหลังที่กองทัพได้กระทำ การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านร่างกฎหมายและบังคับใช้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการ กระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มีสาระสำคัญคือ เปิดให้กองทัพสามารถแสวงหารายได้ในเชิงพาณิชย์จากการประกอบ กิจการวิทยุและโทรทัศน์ได้ต่อไปดังที่ได้ดำเนินการมาอย่างยาวนาน ตลอดห้าทศวรรษที่ผ่านมา

วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองใน ปัจจุบันที่นำมาซึ่งความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไทย ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของรัฐในการปฏิรูปสื่อ ส่งผลให้สังคมไทยขาดกลไกที่เป็นอิสระกำกับดูแลสื่อวิทยุและ โทรทัศน์เป็นเวลายาวนาน อีกทั้งการที่หน่วยงานรัฐและทุนที่ครอบครองสื่อผูกขาดเดิมได้เข้าแทรกแซงกระบวนการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการ โทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) จนไม่สามารถจัดตั้งองค์กรอิสระดังกล่าวได้เป็นระยะเวลากว่าสิบปี กระทั่งการรัฐประหารในปี 2549 มีผลให้เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญมาตรา 40 โดยแก้ไขเป็นมาตรา 47 ซึ่งสาระสำคัญที่เปลี่ยนไป คือการกำหนดให้รวมสององค์กรกำกับดูแลเข้าด้วยกันเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จนนำมาสู่การร่างกฎหมายดังกล่าวในปัจจุบัน ซึ่ง คปส. สนับสนุนร่างฉบับสภาผู้แทนราษฎร แต่คัดค้านร่างที่ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาที่ได้แก้ไขสาระสำคัญ อันขัดต่อเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ

ในการนี้หากรัฐบาลยินยอมต่อข้อขัดแย้งในหลักการสำคัญที่วุฒิสภาแก้ไข ย่อมไม่ต่างจากการปกป้องผลประโยชน์ให้กองทัพมีอำนาจในการครอบงำกิจการสื่อกระจายเสียง อีกทั้งยังตอกย้ำปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะปัจจุบันกระทรวงกลาโหมเป็นเจ้าของคลื่นความถี่วิทยุมากถึง 201 สถานี  และเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และเป็นผู้ดูแลสัมปทานสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ดังนั้นถ้าหน่วยงานจากฝ่ายทหารเข้ามาเป็นตัวแทนในองค์กรกำกับ ดูแลอิสระย่อมเป็นไปได้ยากมากที่จะปฏิรูปสื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง

คปส. ซึ่งเป็นองค์กรภาค ประชาสังคมที่ติดตามตรวจสอบและผลักดันการปฏิรูปสื่อมากว่าหนึ่ง ทศวรรษจึงมีข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร สื่อมวลชน และสาธารณชน ดังนี้

1. ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคัดค้านการแก้ไขหลักการสำคัญโดยวุฒิสภา ที่เปิดให้ตัวแทนจากฝ่ายกองทัพเข้ามาเป็น กสทช. และจัดสรรผลประโยชน์ล่วงหน้าให้กับ หน่วยงานของตน  และขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งยึดมั่น ในเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ อันเป็นหลักการรองรับสิทธิเสรีภาพการสื่อสาร ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และการได้มาซึ่งองค์กรอิสระที่เป็นอิสระ อย่างแท้จริง

2. ขอให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบการทำหน้าที่กลั่นกรองร่างกฎหมายฉบับนี้ของวุฒิสภา และตั้งกรรมาธิการร่วมระหว่างสองสภาขึ้นเพื่อทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยต้องเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้และมีส่วนร่วมตรวจสอบโดยตรง

3. ขอให้สื่อ มวลชน และ สาธารณชน ติดตามการแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างใกล้ชิดและ ให้ข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้าง ขวางในการตรวจสอบและปกป้องผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรสื่อสารของสาธารณะ

 
ด้วยความเชื่อมั่นในเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
15 มิถุนายน 2553

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เนินมะปรางฮึดสู้ ยันเหมืองทองอัคราฯ

Posted: 15 Jun 2010 08:10 AM PDT

ชาวบ้าน 7 ตำบลใน อ.เนินประปรางรวมกันระดมความเห็น พบว่าพื้นที่ร้อยละ 90 ของชุมชนคือพื้นที่ป่าในการควบคุมครองรัฐ ซึ่งเป็นการง่ายหากมีการเวนคืนที่ดินและนำไปทำเหมืองทองคำ

<!--break-->

จากการรวมตัวระดมความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ 7 ตำบล คือ เนินมะปราง บ้านมุง ชมพู บ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก วังยาง ไทรย้อย และวังโพรงของอำเภอเนินมะปราง จำนวน 26 คน ที่ จ.พิษณุโลกเมื่อเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปอันน่าเป็นห่วงว่าพื้นที่กว่าร้อยละ 90 เป็นพื้นที่ป่าซึ่งอยู่ในการควบคุมของหน่วยงานรัฐชาวบ้านมีเพียงสิทธิครอบครองทำมาหากินเท่านั้น จึงเป็นการง่ายหากหน่วยงานรัฐเวนคืนที่ดินและนำไปให้บริษัทอัครา ไมนิ่ง จำกัด ใช้ทำเหมืองทองคำ

โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านทุ่งนาดี บ้านห้วยบ่อทอง ตำบลวังยาง ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายอย่างแน่นอนของบริษัทฯ เนื่องจากว่ามีการเข้าไปเจาะสำรวจรวมทั้งได้ซื้อที่ดินชาวบ้านไปแล้วกว่า 15 รายเป็นพื้นที่กว่า 400 ไร่ แต่ปัจจุบันกระบวนการซื้อที่ดินได้เงียบหายไปแต่คิดว่าเร็วๆนี้คงจะมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากว่าอาชญาบัตรสำรวจแร่ของบริษัทฯ จะหมดอายุในกลางปีหน้า (สิงหาคม 2554) ทางบริษัทฯ จะต้องรีบของประทานบัตร

การระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ชาวบ้านที่เข้าร่วมมีทั้งกลุ่มชาวบ้านหน้าเดิมๆซึ่งเคยต่อสู้เรื่องโรงโม่หินมาก่อนและได้เคยเสนอให้พื้นที่ริมขอบเทือกเขาเพชรบูรณ์ตะวันตกนี้เป็นแหล่งคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเนื่องจากพื้นที่มีหินปูนซึ่งถือว่าเป็นแหล่งใหญ่ของการพัฒนาพื้นที่อินโดจีน แต่เรื่องก็ได้เงียบหายไป รวมทั้งชาวบ้านหน้าใหม่ๆ ซึ่งมีใจรักถิ่นที่อยู่ของตน มารวมใจในครั้งนี้เนื่องจากพวกเขาอาจจะได้รับการละเมิดสิทธิหากเกิดเหมืองทองขึ้นจริงพวกเขาจะอยู่กันอย่างไรเพราะเห็นตัวอย่างความล่มสลายที่บ้านเขาหม้อ ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จ.พิจิตร มาแล้วว่า น้ำไม่มีจะกินจะใช้ ไม่มีน้ำทำนา ทำสวนมะม่วงก็ไม่ติดช่อดอก หรือบางส่วนก็รู้สึกเปรียบเทียบว่าตนขึ้นไปปลูกพริกบนเขาแต่ถูกเจ้าหน้าที่ไล่และสั่งห้ามกลับกันเมื่อบริษัทฯ ขอเข้าไปสำรวจกลับได้รับความร่วมมืออย่างดี

ชาวบ้านเห็นว่าการทำเหมืองทองในพื้นที่นี้ยังไม่พร้อม เนื่องจากชาวบ้านยังไม่ได้รับทราบข้อมูลใดๆทั้งยังเห็นผลจากการประกอบการของบริษัทฯ ซึ่งล้มเหลวในพื้นที่บ้านเขาหม้อมาก่อนทำให้ไม่แน่ใจว่าการมีเหมืองแล้วจะดีจริง ผลดีประเทศและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้ค่าภาคหลวง ชุมชนได้รับการพัฒนา แต่หากเกิดผลเสียเกิดขึ้นจะมีใครหันหน้ามาใส่ใจหรือไม่ ส่วนใหญ่ชาวบ้านทำนาและสวนมะม่วง ทำนาก็ต้องใช้น้ำหากระบบน้ำมีปัญหาเนื่องจากจะมีการขึ้นไปทำเหมืองบนเขาซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของพื้นที่นั้นชาวบ้านจะใช้น้ำที่ไหน หรือแม้แต่สวนมะม่วงหากมีการระเบิดหินฝุ่นควันคละคลุ้งไปจับยอดจับปากใบก็ไม่ทำให้มะม่วงติดดอกเช่นกันแล้วชาวบ้านจะไปประกอบอาชีพอะไรกัน คำถามเหล่านี้ยังเป็นที่ข้องใจ

ด้วยเหตุหลากหลายอย่างชาวบ้านจึงได้ตระหนักถึง “สิทธิทำมาหากิน” ของตนที่ควรจะมีอยู่ตามปกติไม่ให้ผู้ใดมารบกวน จึงร่วมมือร่วมใจสร้างเครือข่ายกันขึ้นมาโดยจุดประสงค์แรกคือ เรียกร้องเอกสารสิทธิ์ ไม่ว่าจะหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) หรือ โฉนดที่ดิน (น.ส.4) เพื่อเป็นบันไดก้าวต่อไปเพื่อต่อสู้กับการมีเหมืองทองคำนั่นเอง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เจ้าหน้าที่พม่าไฟเขียวพนันบอลในท่าขี้เหล็ก - พร้อมกวาดล้างรถหนีภาษีรอบใหญ่

Posted: 15 Jun 2010 05:11 AM PDT

นับตั้งมีการแข่งขันฟุตบอลโลก ในจังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน พบการเล่นพนันบอลกันอย่างแพร่หลาย ขณะที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้มงวดจับกุม ด้านผู้ประกอบการบ่อนเผยธุรกิจไม่คึกคักเนื่องจากลูกค้าหันไปเล่นคาสิโนเปิดใหม่ฝั่งลาว นอกจากนี้เจ้าหน้าที่พม่ายังออกยึดรถไม่จดทะเบียนเสียภาษีรอบใหม่ ยึดรถไปแล้วนับสิบคัน

<!--break-->

เจ้าหน้าที่พม่าไฟเขียวพนันบอลในท่าขี้เหล็ก
(SHAN 15 มิ.ย.53) - มีรายงานจากแหล่งข่าวว่า นับตั้งมีการแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นต้นมา ในจังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน สหภาพพม่า ตรงข้ามอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พบมีการเล่นการพนันบอลกันอย่างแพร่หลาย ขณะที่เจ้าหน้าที่ทั้งทหาร ตำรวจ ต่างไม่ได้เข้มงวดจับกุม

โดยการเล่นการพนันบอลสามารถพบเห็นทุกหนแห่ง ทั้งมีการเล่นกันตั้งแต่หลักสิบหลักร้อย ไปจนถึงขาใหญ่ เล่นกันหลักพันถึงหลักหมื่น ร้านอาหารและร้านคาราโอเกะแทบจะทุกแห่งให้บริการรับแทงบอล พร้อมกับมีการเปิดฉายการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเรียกลูกค้า ซึ่งลูกค้ามีทั้งเยาวชน วัยรุ่น รวมถึงมีฐานะพออยู่พอกิน
 
ชาวท่าขี้เหล็กคนหนึ่งเผยว่า นับตั้งแต่ฟุตบอลโลกเริ่มแข่งขัน เยาวชน ตลอดจนกลุ่มวัยรุ่น และนักเล่นการพนันในจังหวัดท่าขี้เหล็กต่างให้ความสนใจกันมาก ไม่ว่าจะไปทางไหนมีแต่การจับกลุ่มพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องฟุตบอลและการได้เสียในการพนันกัน บางคนเล่นเสียถึงกับต้องจำนำรถหรือทองคำ ซึ่งการพนันบอลมีการเล่นกันอย่างเปิดเผย เจ้าหน้าที่ไม่เข้มงวดจับกุมเหมือนในเมืองไทย

มีรายงานด้วยว่า การเล่นการพนันสำหรับขาใหญ่ จะมีให้บริการตามโรงแรมใหญ่ เช่น โรงแรมอาลูเออร์ (Allure) โรงแรมเรจิน่า โรงแรมแม่ขาวเก้าชั้น และโรงแรมพาราไดซ์ รีสอร์ท ใกล้ฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเจ้ามือใหญ่มีทั้งคนจีน และคนไทย

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการบ่อนการพนันรายหนึ่งในจังหวัดท่าขี้เหล็กเปิดเผยว่า การเล่นการพนันในจังหวัดท่าขี้เหล็กปีนี้ไม่คึกคักเช่นทุกปี เนื่องจากนักพนันหันไปใช้บริการบ่อนคาสิโนเปิดใหม่ ที่บ้านต้นผึ้ง ในฝั่งลาว ตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เนื่องจากที่นั่นมีอุปกรณ์เล่นการพนันครบวงจรและมีความปลอดภัยสูง

 

พม่ากวาดล้างรถหนีภาษีในท่าขี้เหล็กอีกรอบ

(SHAN 14 มิ.ย. 53) - เจ้าหน้าที่พม่าจังหวัดท่าขี้เหล็ก ออกปฏิบัติการตรวจยึดรถไม่จดทะเบียนอีกระลอก สามารถตรวจยึดรถจักรยานยนต์ และรถยนต์นับสิบคัน

แหล่งข่าวในจังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน สหภาพพม่า รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย. เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าในจังหวัดท่าขี้เหล็ก ได้ออกปฏิบัติการตรวจยึดรถไม่จดทะเบียนของชาวบ้านอีกระลอก จนกระทั่งถึงวันที่ 13 มิ.ย. สามารถตรวจยึดรถทั้งจักรยานยนต์ และรถยนต์แล้วนับสิบคัน ในจำนวนนี้มีรถลูกชายหัวหน้ากลุ่มอาสาสมัครเมืองโก รวมอยู่ด้วย 1 คัน

การตรวจยึดรถครั้งใหม่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจพม่า เกิดขึ้นหลังจากชาวบ้านในจังหวัดท่าขี้เหล็กแห่สั่งซื้อนำเข้ารถจากฝั่งไทยจำนวนมาก เหตุเนื่องจากก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลทหารพม่าเตรียมจดทะเบียนให้กับรถทุกชนิดที่ยังไม่มีการจดทะเบียนถูกต้อง ดังนั้นชาวบ้านจึงได้แห่สั่งซื้อนำเข้ารถจากฝั่งไทยเพื่อนำไปใช้หรือขายต่อ

แหล่งข่าวเผยว่า ตลอดช่วง 3 – 4 วันที่ผ่านมา พบเห็นตำรวจจราจรพม่าในท่าขี้เหล็กตั้งจุดตรวจ เพื่อตรวจค้นรถไม่มีทะเบียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากตรวจพบรถคันใดไม่มีทะเบียนถูกต้องจะให้เจ้าของลงจากรถ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะขับรถไปไว้รวมกันที่ค่ายกองพันทหารราบที่ 331 ใกล้กับสนามบินท่าขี้เหล็ก โดยเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (14 มิ.ย.) พบเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านตรวจอยู่ตรงบริเวณวงเวียนใกล้กับ สะพาน มิตรภาพไทย – พม่า โดยสังเกตุเห็นมีการตรวจยึดรถไว้หลายคัน

เมื่อช่วง 2 - 3 ปี ที่ผ่านมา ทางการพม่าได้มีการจัดสรรระบบทะเบียนรถทั่วประเทศ โดยมีการกวดขันตรวจยึดรถ ไม่มีทะเบียนอย่างเข้มงวด และสามารถตรวจยึดรถไม่มีทะเบียนทั่วประเทศได้เป็นจำนวนมาก เฉพาะในจังหวัดท่าขี้เหล็ก มีรถยนต์ถูกยึดมากกว่า 1,000 คัน

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) เป็นสำนักข่าวอิสระจัดตั้งโดยกลุ่มชนไทยใหญ่พลัดถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทยใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พรรคการเมืองไทใหญ่ยันได้สมาชิกครบ - ตั้งสำนักงานทั่วรัฐฉาน

Posted: 15 Jun 2010 04:45 AM PDT

พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ (SNDP) ตั้งสำนักงานทั่วรัฐฉาน เตรียมลงเลือกตั้งทั่วไปในพม่า ขณะที่มีทั้งเสียงเห็นด้วยและคัดค้านจากชาวไทใหญ่ทั้งในรัฐฉานและต่างประเทศ เนื่องจากเห็นว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเป็นการเลือกตั้งที่ไม่อิสระและยุติธรรม ขณะที่พรรคให้เหตุผลว่ามีผู้แทนอยู่ในสภาดีกว่าไม่ทำอะไร

<!--break-->

(SHAN 14 มิ.ย. 53) - พรรคการเมืองใหม่ไทใหญ่ SNDP ยันได้สมาชิกครบ ตามกฎคณะกรรมการเลือกตั้ง พร้อมระบุจะตั้งสำนักงานพรรคทั่วรัฐฉานและอีกหลายอำเภอในรัฐคะ ฉิ่น รัฐคะเรนนี และภาคสะกายรวมถึงมัณฑะเลย์ของพม่า

มีรายงานว่า พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ Shan National Democracy Party – SNDP พรรคการเมืองใหม่ของไทใหญ่ ที่ยื่นขอจดทะเบียนตั้งพรรคเพื่อร่วมเลือกตั้งในพม่า ยืนยันว่า ทางพรรคไม่ห่วงจะไม่ได้สมาชิกครบ 1 พันคน ภายใน 90 วัน ตามกฎของคณะกรรมการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ พรรค SNDP ซึ่ง มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงย่างกุ้ง และมีนายจายอ้ายเปา เป็นประธาน เปิดเผยว่า เฉพาะในรัฐฉานภาคเหนือ พรรคมีสมาชิกแล้วอย่างน้อย 300 คน ซึ่งพรรคตั้งเป้าจะเปิดสำนักงานสาขาทั่วรัฐฉานและอีกหลายรัฐและ ภาคของพม่า

เฉพาะในรัฐฉาน พรรคมีแผนตั้งสำนักงานสาขาให้ได้อย่างน้อย 40 เมือง จากทั้งหมด 55 เมือง นอกจากนี้ ทางพรรคยังมีกำหนดตั้งสำนักงานสาขาในรัฐคะฉิ่นอีก 6 อำเภอ รัฐคะเรนนี 3 อำเภอ และอีก 2 อำเภอในภาคสะกายของพม่า และมีกำหนดตั้งในเมืองมัณฑะเลย์ด้วย

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. พรรค SNDP ได้ทำพิธีเปิดสำนักงานสาขาพรรคประจำเมืองน้ำคำ ซี่งสำนักงานสาขานี้มีจายจ่อโอง เป็นประธาน และจายแสงแสงวัน เป็นรองประธาน ต่อมาในวันที่ 10 มิ.ย. ทางพรรคทำพิธีเปิดสำนักงานสาขาอีกแห่งที่เมือง หมู่แจ้ สาขานี้มีจายหมอกคำ เป็นประธาน และจายยี่แสง เป็นรองประธาน ซึ่งสำนักงานสาขาพรรคทั้งสองแห่ง อยู่ในรัฐฉานภาคเหนือ

การเปิดสำนักงาน สาขาของพรรคทั้งสองแห่งมีประชาชน รวมถึงสมาชิกชมรมศิลปวัฒนธรรมไทใหญ่ สมาชิกสมาคมสหภาพเอกภาพและการพัฒนา USDA พร้อมด้วยสมาชิกสมาคมวัฒนธรรมคะฉิ่นและปะหล่องเข้าร่วมให้กำลังใจด้วย

พรรค SNDP ได้ รับการอนุมัติจัดตั้งพรรคจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตามกฏกติกาคณะกรรมการเลือกได้กำหนดให้แต่ละพรรคสรรหาสมาชิกให้ครบ ตามที่ กำหนดภายใน 3 เดือน จากนั้นให้ยื่นเสนอรายชื่อผู้สมัครและสมาชิกต่อคณะกรรมการเลือกตั้งก่อนสิ้นเดือนสิงหาคม

อย่างไรก็ตาม หลังกระแสข่าวการจัดตั้งพรรค SNDP เพื่อเตรียมเข้าร่วมการเลือก ตั้งในพม่า กระจายสู่สังคมไทใหญ่ในรัฐฉานและต่างประเทศ ได้มีชาวไทใหญ่บางส่วนแสดงความไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ อิสระและยุติธรรม ขณะที่พรรคให้เหตุผลว่า มีผู้แทนอยู่ในสภาดีกว่าไม่ทำอะไร เพราะอย่างน้อยจะเป็นเสียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยเป็นตัวแทนเรียกร้อง ให้ชาวไทใหญ่ในสภา

ขณะที่เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา สภากอบกู้รัฐฉาน RCSS องค์กรการเมืองกองทัพรัฐฉาน SSA ภายใต้การนำของพล.ท.เจ้ายอดศึก ได้ออกแถลงการณ์จะไม่สนับสนุนและให้การยอมรับผลการเลือกตั้งใน พม่า พร้อมระบุ จะไม่ให้การสนับสนุนทุกพรรคการเมืองที่เข้าร่วมเช่นเดียวกัน

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) เป็นสำนักข่าวอิสระจัดตั้งโดยกลุ่มชนไทยใหญ่พลัดถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทยใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มปกป้องที่ดินจะนะฯ ร้องจุฬาราชมนตรีคืนที่ดินวะกัฟ

Posted: 15 Jun 2010 03:06 AM PDT

"กลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟและขอทวงคืน" อ.จะนะ จ.สงขลา นำป้ายทวงคืนที่ดินวะกัฟติดคู่กับป้ายแสดงความยินดีที่นายอาศีส พิทักษ์คุมพลได้รับเลือกเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 ที่มีผู้นำมาติดตั้งก่อนไว้แล้ว

<!--break-->

วานนี้ (14 มิ.ย.) เวลาประมาณ 10:30 น. ตัวแทนกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟและขอทวงคืน อ.จะนะ จ.สงขลา จำนวนประมาณ 20 คน เดินทางมาบริเวณสี่แยกหอนาฬิกา อ.จะนะ  จ.สงขลา เพื่อนำแผ่นป้ายไม้กระดานมีข้อความว่า “ท่านจุฬาฯ ขอรับ ช่วยคืนดินวะกัฟให้กับอัลลอฮฺ” มาติดตั้งไว้คู่กับป้ายแสดงความยินดีต่อนายอาศีส  พิทักษ์คุมพล เนื่องในโอกาสรับเลือกเป็นจุฬาราชมนตรี คนที่ 18 ซึ่งมีผู้อื่นนำมาติดตั้งไว้ก่อนแล้ว

ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 53 ตัวแทนกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟได้เดินทางไปร่วมแสดงความยินดีกับผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นจุฬาราชมนตรีคนใหม่ โดยทางกลุ่มเองก็ไม่ทราบมาก่อนว่าจะเป็นใคร ภายหลังจากทราบผลการเลือกตั้งชัดเจนแล้วจึงได้ประสานงานขอยื่นหนังสือเพื่อแสดงความยินดีและร้องเรียนให้จุฬาราชมนตรีคนใหม่แก้ไขปัญหากรณีที่ดินวะกัฟ ซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ในพื้นที่อำเภอจะนะ

เนื่องจากสำนักจุฬาราชมนตรีในชุดก่อนได้ทำการวินิจฉัยเรื่องนี้ไว้ว่า “ไม่มีหลักฐานชัดเจนที่แสดงว่าทางสาธารณะดังกล่าวได้มาโดยการวะกัฟของชาวมุสลิม”  และเห็นด้วยกับกับการแลกเปลี่ยนที่ดินวะกัฟหรือทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวให้แก่ บริษัท ทรานส์ ไทย – มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อใช้เป็นที่ตั้งโรงแยกก๊าซของ บริษัท ทรานส์ ไทย – มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ทั้งที่การวินิจฉัยครั้งนั้นไม่ได้มีกระบวนการสอบสวนรับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เป็นการใช้กระบวนการรับฟัง สรุปข้อเท็จจริงด้านเดียว ฝ่ายเดียว คือข้อมูลจากฝ่ายราชการ และบริษัทผู้ได้ประโยชน์จากการใช้ที่ดินวะกัฟ  ไม่เคยรับฟังข้อมูลจากกลุ่มผู้ร้องเรียนซึ่งประกอบด้วยทายาท พยานของการวะกัฟเส้นทาง รวมถึงไม่เคยรับฟังข้อเท็จจริงของประชาชนผู้เดือดร้อนจากการปิดกั้นเส้นทางสาธารณประโยชน์จากการกระทำของบริษัทฯ ซึ่งทำให้ประชาชนไม่สามารถสัญจร ใช้ประโยชน์ในเส้นทางวะกัฟดังกล่าวได้ต่อไป     จึงเป็นการวินิจฉัยโดยมิได้เป็นไปตามหลักนิติศาสตร์อิสลาม ทำให้หลักการสำคัญของการวะกัฟตามหลักการศาสนาต้องถูกบิดเบือนไป ตามความประสงค์ของอำนาจฝ่ายรัฐและผลประโยชน์ของฝ่ายทุน
นายประกอบ  หลำโส๊ะ ผู้มาร่วมติดตั้งป้ายดังกล่าว กล่าวว่า “วันที่พวกเราไปยื่นหนังสือนายอาศีส  พิทักษ์คุมพล กลับปฏิเสธไม่ยอมรับหนังสือ และเดินหนีไปขึ้นรถเดินทางออกจากศูนย์บริหารกิจการศาสนาฯ อย่างรีบร้อนโดยไม่ยอมรับฟังคำชี้แจงใดๆ จากพวกเรา ที่แย่ไปกว่านั้นคือผู้ติดตามของนายอาศีส  พิทักษ์คุมพล ยังพยายามข่มขู่คุกคามตัวแทนกลุ่มฯ อีกด้วย พวกเรารู้สึกผิดหวังในตัวว่าที่จุฬาราชมนตรีคนใหม่มาก”

นางจันทิมา  ชัยบุตรดี ตัวแทนกลุ่มปกป้องฯ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “ในวันนั้นพวกเราเห็นว่า เมื่อผลเลือกตั้งเป็นเช่นนี้ก็เป็นโอกาสดีที่เราน่าจะเข้าถึงตัวจุฬาราชมนตรีได้ง่ายขึ้น เพื่อทำความเข้าใจ หาทางแก้ไขปัญหาที่ดินวะกัฟเพราะท่านเป็นคนบ้านเรา แต่กลับกลายเป็นตรงกันข้าม ท่านไม่ยอมคุยกับเรา เราจึงต้องนำป้ายนี้มาติดตั้งเพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจให้กับสาธารชน และเรียกร้องให้ท่านจุฬาฯ คนใหม่จริงจังแก้ปัญหานี้”

นายเจะหมัด  สังข์แก้ว กล่าวเพิ่มเติมว่า “หลังกลับจากไปร่วมฟังผลการเลือกตั้งจุฬาฯ มีการข่มขู่มาจากฝ่ายผู้ติดตามท่านอาศีสว่าไม่พอใจถึงขั้นจะเอาชีวิตพวกเรา เราจึงอยากจะฝากถึงท่านอาศีสว่าช่วยควบคุมดูแลพฤติกรรมคนของท่านด้วย นอกจากนี้หลายคนมีความเห็นตรงกันว่า การที่ท่านไม่ยอมรับหนังสือร้องเรียนในครั้งนี้ ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีกเนื่องจากอาจทำให้ผู้ที่ทราบเรื่องราวเข้าใจไปได้ว่า นายอาศีส  พิทักษ์คุมพลเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยที่ผ่านมา โดยตั้งใจให้เป็นไป “เพื่อสมประโยชน์ของบริษัท  ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด”  ซึ่งเป็นการสร้างความเสียหายแก่ตัวนายอาศีสเอง และสร้างความเสียหายต่อพี่น้องมุสลิมโดยรวมเช่นกัน”

หลังจากนั้นสมาชิกกลุ่มจึงเดินทางไปติดตั้งป้ายรณรงค์เพิ่มเติมบริเวณสามแยกบ้านสะหลุดทางไปอำเภอนาทวี และริมถนนทางเข้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติทรานส์ไทย-มาเลเซีย แล้วจึงแยกย้ายกันกลับบ้านเวลาประมาณ12:30 น.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลอาญายกคำร้อง 11 แกนนำ-การ์ด นปช.ขอประกันตัว ทนายเตรียมอุทธรณ์พรุ่งนี้

Posted: 15 Jun 2010 03:02 AM PDT

หลังศาลไม่ให้ประกันตัว 11 แกนนำ กองเชียร์ไม่พอใจแห่ล้อมรถคุมขัง ทนายเผยเตรียมยื่นอุทธรณ์ 16 มิ.ย. บ่ายครึ่ง ยันไม่หลบหนี ด้านราชทัณฑ์ มั่นใจผู้ต้องหาอยู่ปลอดภัย แจงส่งไปแดน 1 ก่อนแยก ให้เยี่ยมได้วันละ 1 รอบ

<!--break-->

ศาลอาญายกคำร้อง 11 แกนนำ นปช.ขอประกันตัว 

วันนี้ (15 มิ.ย.53) เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น.ศาลอาญา มีคำสั่งยกคำร้องที่ 11 แกนนำและการ์ด นปช.ยื่นคำร้องขอประกันตัว หลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ยื่นคำร้องฝากขังครั้งแรกคดีก่อการร้าย โดยศาลพิเคราะห์คำร้องและหลักทรัพย์แล้วเห็นว่า คดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าหากปล่อยตัวชั่วคราวไป ผู้ต้องหาจะหลบหนี

โดยผู้ต้องหาทั้ง 11 คน ประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)  นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ.เหวง โตจิราการ, นายขวัญชัย สาราคำ หรือไพรพนา, นายวิภูแภลง พัฒนภูมิไท, นายนิสิต สินธุไพร, นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก และนายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช.รวม 8 คน และนายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดา คนสนิท พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล, นายอำนาจ อินทโชติ และนายสมบัติ มากทอง กลุ่มการ์ด นปช.อีก 3 คน

กระทั่งเวลา 13.00 น.หลังกลุ่มผู้คนเสื้อแดงทราบว่าศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว แกนนำ นปช.กลุ่มคนเสื้อแดงที่มารอให้กำลังใจต่างแสดงความไม่พอใจ พูดจาตะโกนด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย และจับกลุ่มกันยืนร้องไห้ด้วยความเสียใจ  

จากนั้น กลุ่มคนเสื้อแดงบางส่วนประมาณ 50 คน ใช้รถจักรยานยนต์ออกไปรวมตัว ยืนและนอนขวางปิดถนนรัชดาภิเษก ฝั่งขาออก หน้าศาลอาญา เนื่องจากทราบว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะควบคุมตัวแกนนำ นปช.ทั้ง 11 คน ขึ้นรถเรือนจำ ไปคุมขังที่เรือนจำคลองเปรม โดยอ้อมด้านหลังศาลอาญาไปออกทางประตูศาลแพ่ง ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามที่ดูแลความเรียบร้อยบริเวณศาลต้องระดมกำลังไปอำนวยความสะดวกให้รถบัสเรือนจำ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อรถบัสเรือนจำวนมาถึงถนนรัชดาภิเษกหน้าศาลอาญา กลุ่มคนเสื้อแดงบางส่วนพยายามยื่นช่อดอกไม้ให้แกนนำผ่านรั้วลูกกรง ขณะที่บางส่วนทุบรถและตะโกนโห่ร้อง ส่วนเจ้าหน้าตำรวจกองปราบปรามเข้าคุ้มกันรอบรถและกันกลุ่มผู้ชุมนุมออกห่างเพื่อเปิดทางให้รถเรือนจำผ่านออกไปได้ในที่สุด ทั้งนี้ เหตุการณ์วุ่นวายอยู่นานราว 15 นาที ทำให้การจราจรติดขัด แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด

 

ทนาย นปช.เตรียมอุทธรณ์ 16 มิ.ย.

ด้านนายคารม ทนายความของ นปช.กล่าวว่า ที่ศาลชั้นต้นไม่ให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่าคดีมีอัตราโทษสูง เกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี แต่ไม่ได้มีเหตุผลว่าหลักทรัพย์ประกันตัวน้อยเกินไป หรือเกรงผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ดังนั้น จึงจะเตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวในวันที่ 16 มิ.ย.นี้เวลาประมาณ 13.30 น.โดยจะบรรยายคำร้องให้ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้ต้องหาทั้ง 11 คน ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี 

นายคารม กล่าวด้วยว่า เวลานี้อยู่ระหว่างที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2550 ซึ่งเจ้าหน้าที่ของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มีอำนาจขอหมายค้น หมายจับ และคุมขังผู้ต้องสงสัย ดังนั้นการที่ผู้ต้องหาจะหลบหนีจึงไม่มีทางทำได้ นอกจากนี้การตั้งข้อหาก่อการร้ายกับแกนนำในคดีนี้เป็นคดีการเมือง ไม่เข้าข่ายกระทำผิดข้อหาก่อการร้ายตาม ป.อาญา ม.135/1-3  รวมทั้งสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิของผู้ต้องหาตามรัฐธรรมนูญ โดยจะชี้แจ้งให้ศาลอุทธรณ์ทราบพฤติการณ์ของผู้ต้องหาแต่ละคนมากยิ่งขึ้น อาทิ ในส่วนของนายวีระ นพ.เหวง และนายก่อแก้ว แม้พนักงานสอบสวนดีเอสไอจะไม่คัดค้านการประกันตัว และเข้ามอบตัวเอง อีกทั้งช่วงหลังไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม แต่ก็ไม่ได้รับประกันตัว

 

ราชทัณฑ์ มั่นใจแกนนำ นปช.อยู่ปลอดภัย แจงส่งไปแดน 1 ก่อนแยก เยี่ยมได้วันละ 1 รอบ

นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึง การควบคุมตัวผู้ต้องหากลุ่มแกนนำ นปช.ซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวว่า กรมราชทัณฑ์มีหน้าที่รับตัวผู้ต้องหามาควบคุมตามคำสั่งศาล โดยผู้ต้องหากลุ่มนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาจึงต้องนำตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งในวันแรกจะนำเข้าควบคุมตัวรวมกันภายในแดน 1 จากนั้นจะพิจารณาตามความเหมาะสมว่าจะจำแนกให้กระจายไปควบคุมในแดนต่างๆ หรือจะควบคุมตัวไว้รวมกันภายในแดนเดียวกัน

"ในส่วนของการควบคุมตัวเรือนจำจะดูแลตามปกติ ไม่มีสิทธิพิเศษเหนือผู้ต้องขังรายอื่น แต่จะเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ดูแลเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยโดยเชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาภายในเรือนจำ เพราะเรือนจำพิเศษกรุงเทพรับตัวผู้ต้องหาทั้งคดีทั่วไปและคดีเกี่ยวกับการเมืองอยู่ตลอด อีกทั้งผู้ต้องหากลุ่ม นปช.ก็เคยถูกส่งเข้ามาควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพแล้ว" นายชาติชาย กล่าว

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องอาหารจะจัดการให้ตามระเบียบของเรือนจำ ความเป็นอยู่ในเรือนจำจะได้ตามอัตภาพ โดยเจ้าหน้าที่จะดูแลให้เกิดความเหมาะสมไม่ให้ผู้ต้องขังอื่นมาระรานกลุ่มนปช. ส่วนระเบียบการเขข้าเยี่ยมเป็นไปตามปกติคือให้เยี่ยมวันละ 1 รอบ รอบละ 20 นาที สำหรับบรรดาแฟนคลับคนเสื้อแดง เรือนจำจะจัดระเบียบการเข้าเยี่ยมให้เหมาะสมแต่จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกับผู้ต้องหารายอื่นคือเยี่ยมได้วันละ 1 รอบ

 

คอมมานโดคุมยื่นฝากขังศาล ค้านประกัน 8 แกนนำฮาร์ดคอร์

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 08.30 น.ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่ง พนักงานสอบสวนค ดีเอสไอ ยื่นคำร้องฝากขังครั้งแรก ผู้ต้องหาคดีร่วมกันใช้หรือสนับสนุนผู้อื่นให้กระทำความผิดฐานก่อการร้ายตาม ป.อาญา ม.135/1- 3 และ ม.83-86 มีอัตราโทษสูงสุดประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือ จำคุก 3 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 – 1,000,000 บาท ทั้ง 11 คน

โดยคำร้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า ผู้ต้องหาร่วมกันชุมนุมในนามของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยทำเป็นขบวนการ แบ่งหน้าที่กันทำซึ่งมีวัตถุประสงค์เดียวกันเพื่อเรียกร้องให้ยุบสภาโดยเร็ว การชุมนุมมีพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายใช้ความรุนแรง ก่อวินาศกรรม มีและใช้อาวุธปืนสงครามและวัตถุระเบิดที่มีความร้ายแรงตอบโต้เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ รวมทั้งประชาชนที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม โดยผู้ต้องหาได้สลับสับเปลี่ยนกันขึ้นเวทีปราศรัยปลุกระดม ปลุกปั่นให้ผู้ชุมนุมเกลียดชังรัฐบาลและให้มีการเผชิญหน้าถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบ เช่น เหตุการณ์บุกรุกรัฐสภา สถานีดาวเทียมไทยคม การต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่โรงแรมเอสซีปาร์ค การปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหารที่สถานอนุสรณ์สถานแห่งชาติ สี่แยกคอกวัว บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

รวมทั้งการเผาสถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้าใน กทม. และศาลากลางจังหวัดหลายแห่ง จนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก พฤติการณ์ของผู้ต้องหาดังกล่าวยังเป็นการร่วมแรงร่วมใจหรือรู้เห็นเป็นใจ มีเจตนากระทำผิดร่วมกันฐานก่อการร้าย ขณะที่การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ ต้องสอบพยานบุคคลที่สำคัญอีก 80 ปาก และรอผลการตรวจพิสูจน์หลักฐานต่างๆทางนิติวิทยาศาสตร์อีกจำนวนมาก จึงขออนุญาตศาลฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 11 คน เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 – 26 มิ.ย.นี้

ขณะที่ผู้ต้องหา 8 คน ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ, นายขวัญชัย, นายวิภูแภลง, นายนิสิต, นายยศวริศ, นายภูมิกิติ, นายอำนาจ และนายสมบัติ มีพฤติการณ์นิยมความรุนแรงก้าวร้าว ใช้อาวุธปืนและมีส่วนร่วมในการก่อความไม่สงบวุ่นวาย หรือกระทำผิดกฎหมายมาแล้ว ซึ่งแม้ว่าเหตุการณ์รุนแรงและความวุ่นวายต่างๆ จะสงบลง แต่สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจจากเหตุการณ์รุนแรงต่างๆที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นหากปล่อยตัวไปเกรงว่าจะหลบหนีหรือก่อความวุ่นวายขึ้นซ้ำอีก พนักงานสอบสวนจึงขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้นำตัวแกนนำและการ์ด นปช.ทั้ง 11 คน ขึ้นเฮลิคอร์ปเตอร์ จาก ค่ายนเรศวร จ.เพชรบุรี มาลงที่กองบังคับการกองปราบปราม แล้วเปลี่ยนมาขึ้นรถบัสเดินทางมาฝากขังที่ศาลโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอมมานโดกองปราบปราม ตามประกบคอยรักษาความปลอดภัย เมื่อมาถึงบริเวณศาลตำรวจคอมมานโดและกำลังตำรวจจาก บก.น.2 รวมประมาณ 1 กองร้อย คอยดูแลความสงบเรียบร้อย ท่ามกลางกลุ่มเสื้อแดงประมาณ 100 คนเศษ ที่เดินทางมาให้กำลังใจ แต่เจ้าหน้าที่ศาลไม่อนุญาตให้เข้ามาในบริเวณศาล โดยนำแผงเหล็กมากั้นไว้

ด้าน นายคารม พลทะกลาง ทนายความ นปช. กล่าวว่า ได้ยื่นคำร้อง พร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวนคนละ 1,000,000 บาท เพื่อขอประกันตัว แกนนำ นปช. พร้อมยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง โดยยอมรับว่ากังวลเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากแกนนำ บางคนมีข้อหาอื่นนอกจากก่อการร้าย แต่หวังว่าแกนนำทั้งหมดจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ส่วนนายวิเชียร ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ยังไม่สามารถเดินทางมาที่ศาลได้เนื่องจากติดภารกิจต่างจังหวัด แต่ จะเดินทางเข้าพบ พนักงานสอบสวนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ภายในสัปดาห์นี้

ขณะที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ได้เดินทางมาให้กำลังใจ แกนนำ นปช. โดยกล่าวว่า คนเสื้อแดงไม่เคยเรียกร้องให้รัฐบาลยกโทษหรือนิรโทษกรรม ตนเห็นว่าการที่รัฐบาลเตรียมออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้เข้าร่วมชุมนุมนั้นเป็นเพียงเกมการเมืองที่รัฐบาลเอามาบังหน้าในการสั่งฆ่าประชาชนเท่านั้น

 

"คณิต" มอบปลัด ยธ.ประสานกลุ่มหารือเย็นนี้ หวังได้ข้อมูลจากวีระเพิ่ม

นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง กล่าวถึงกรณีข้อเท็จจริงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตนเองมอบหมายให้นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ประสานงานติดต่อไปที่กลุ่มอื่นๆ เพิ่มอีก ซึ่งเท่าที่ทราบจะเป็นในช่วงวันที่ 15 มิถุนายนนี้ ส่วนจะติดต่อใครได้นั้น คงต้องรอความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่เรื่องการพบปะหารือกับแกนนำ นปช.อาทิ นายวีระ มุสิกพงศ์ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมานั้น นายคณิต กล่าวว่า ก็เป็นไปด้วยดี ซึ่งได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์มาด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ก่อนตนจะเดินทางกลับ นายวีระยังระบุด้วยว่า หากมีข้อมูลเพิ่มเติมจะส่งผ่านมาให้อีก ซึ่งตนก็หวังจะได้ข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์ เนชั่นทันข่าว 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรรมสิทธิ์ลงพื้นที่บ้านนาปรัง ชาวบ้านแจงหวั่นโครงการอ่างเก็บน้ำ กระทบที่ทำกิน-ป่าไม้

Posted: 14 Jun 2010 06:18 PM PDT

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.53 เวลาประมาณ 11.00 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่บ้านนาปรัง หมู่ที่ 1 ตำบลคลองกวาง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและสำรวจพื้นที่ซึ่งเป็นที่ทำกินของชาวบ้านไปจนถึงเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง

<!--break-->

ชาวบ้านเล่าว่า หน่วยงานของรัฐได้เข้ามาทำการปักหลักเขตชั่วคราว เพื่อเป็นการบอกให้ชาวบ้านทราบว่าบริเวณนี้ได้มีการสำรวจพื้นที่เพื่อจะทำอ่างเก็บน้ำ ซึ่งบริเวณดังกล่าวนั้นได้รุกเข้ามาในที่ทำกินของชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางหน่วยงานของรัฐเองได้ให้เหตุผลว่าโครงการนี้เป็นโครงการในพระราชดำริ และบริเวณที่จะสร้างนั้นก็เป็นป่าเสื่อมโทรม ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการก่อสร้างต่อไปเพื่อให้โครงการนั้นแล้วเสร็จ 

นางจารี แก้วย้อย ตัวแทนชาวบ้านหมู่ที่ 1 บ้านนาปรังกล่าวว่า ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นจริงตามที่หน่วยงานของรัฐได้กล่าวมานั้น จะมีผลกระทบต่อที่ดินทำกินของชาวบ้านอย่างแน่นอน ซึ่งอาชีพส่วนใหญ่ของชาวบ้านคือการทำสวนยาง และพื้นที่ของชาวบ้านร้อยละ 80 ที่ได้รับผลกระทบเป็นสวนยางทั้งสิ้น ที่สำคัญยังกินบริเวณไปถึงเขตอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้างซึ่งยังเป็นป่าที่สมบูรณ์และเป็นป่าที่เป็นส่วนหนึ่งของต้นน้ำลำธารอีกด้วย ถ้าวันใดที่ป่าหมดน้ำก็หมดเช่นเดียวกัน และการสร้างอ่างเก็บน้ำก็คงไม่ประโยชน์อะไรถ้าไม่มีน้ำจะให้เก็บ 

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ชี้แจงผลจากการตรวจสอบโครงการดังกล่าวว่าโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านนาปรังเป็นโครงการที่อยู่ในแผนงานสำรวจและออกแบบในปีงบประมาณ 2552-2554 โดยที่มีสำนักงานออกแบบและว่าจ้างบริษัทเอกชนที่ปรึกษา ทำการศึกษาตั้งแต่ 27 พฤษภาคม 2552 ครบกำหนด 18 พฤศจิกายน 2553 มีการประชาสัมพันธ์ ปฐมนิเทศโครงการ ประชุมกลุ่มย่อยกับประชาชน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ได้ดำเนินการไปแล้ว การสำรวจและการออกแบบเป็นการเตรียมความพร้อมเรื่องของการออกแบบ เพื่อการก่อสร้าง ส่วนขั้นตอนของการก่อสร้างขึ้นอยู่กับความต้องการของราษฎรในพื้นที่ของโครงการ

และยังกล่าวอีกว่าในกรณีโครงการพัฒนาของรัฐบาลสิ่งที่กรรมการสิทธิในอนุชุมชนจะต้องดูว่าโครงการเหล่านั้นต้องไม่ทำให้เกิดผล 2 อย่างต่อพี่น้องและชุมชน 1.ต้องไม่ทำลายสิทธิในการมีชีวิตอยู่ในการทำมาหากินในพื้นที่เข้าถึงในการจัดการที่ดินนี่คือกฎหมายที่จะรักษาและปกป้องสิทธิ 2.จะต้องรับฟังความคิดเห็นมิใช่การรับฟังครั้งเดียว ต้องมีกระบวนการการให้ข้อมูลรายละเอียดของโครงการทั้งข้อดีและข้อเสียต้องให้เวลาประชาชนในการแลกเปลี่ยนซักถาม เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นปัญหาของรัฐคือการทำประชาคมเป็นการประชาสัมพันธ์อย่างเดียว เหมือนอย่างที่ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าว่าตอนที่มีเจ้าหน้าที่มาบรรยายเรื่องการสร้างเขื่อน มีชาวบ้านไปเข้าร่วมประมาณ 20 กว่าคน มีการบรรยายและสรุปชาวบ้านไม่ได้พูดแสดงความคิดเห็นอะไรเลย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักปรัชญาชายขอบ: ความฉลาดซ้ำซาก!

Posted: 14 Jun 2010 05:45 PM PDT

<!--break-->

ในที่สุด ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า ก็ได้รับเทียบเชิญจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ให้รับหน้าที่ประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง อันเป็นกิจกรรมคู่ขนานกับแผนปรองดอง หลายคนมองว่า เขามักแสดงทัศนะทางการเมืองสนับสนุนฝ่ายเสื้อเหลือง หรือเป็นนักวิชาการที่มี “หัวใจสีเหลือง”

แต่สำหรับผมใครจะเป็นสีไหนไม่สำคัญ ผมสนใจ “วิธีคิด” ของเขามากกว่า โดยเฉพาะที่ ดร.สมบัติ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 12 มิถุนายน 2553 ต่อคำถามที่ว่า “ประเด็นหลักๆ ในการปฏิรูปการเมืองคือเรื่องอะไร” เขาตอบว่า...

ขณะนี้เรื่องของการเมืองไทยมันเป็นการเมืองที่อยู่บนพื้นฐานของสังคมที่มีความแตกต่างกันชัดเจน คือโครงสร้างประชากรเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่ว คนที่มีอำนาจตัดสินใจเลือกตั้งเป็นคนชั้นล่างส่วนใหญ่ คุณภาพการตัดสินใจจะต่างจากสังคมที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ที่ชนชั้นกลางเป็นกลุ่มใหญ่ คุณภาพการตัดสินใจจะดีกว่า และประกอบกับดูพื้นที่ จะพบว่า ภาคอีสานมีพื้นที่มากที่สุด คนมีความรู้โดยเฉลี่ยน้อย ภาคเหนือรองลงมา สภาพเช่นนี้ทำให้กลุ่มการเมืองอาศัยความไม่รู้ ไม่เข้าใจของประชาชนเป็นเหยื่อทางการเมือง สร้างความนิยมอย่างไม่ถูกต้อง ใช้ประชาชนเพื่อการเคลื่อนไหวของตนเอง นี่คือปัญหาใหญ่ ถ้าเราปรับแก้โครงสร้างประเทศหรือบริบทสังคมเป็นสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดไม่ได้ ปัญหาก็ยังอยู่ต่อไป ยังเจอกลุ่มการเมืองที่ใช้เรื่องความเสียเปรียบของคนชั้นล่างมาเป็นเครื่องมือได้อยู่ ถ้าจะแก้ประเด็นเหล่านี้ ต้องแก้ไขระยะยาว คือเรื่องการศึกษาจะเกิดผล 2 ประการ คือจะพึ่งพาตัวเองทางเศรษฐกิจได้ และความรู้จะทำให้เข้าใจเหตุผลและปกป้องตัวเองให้พ้นจากการเป็นเหยื่อได้ การตัดสินใจมีคุณภาพ โดยเฉพาะการเลือกตัวแทนทางการเมือง ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อของนักเลือกตั้ง 

คำตอบของ ดร.สมบัติข้างบนนี้ (ผู้ซึ่งตอนนี้สวมบทผู้ร่วมสร้างความปรองดองและเรียกร้องให้เลิกพูดเรื่องสี) ราวกับกับ “ก๊อปปี้” คำพูดของแกนนำพันธมิตรฯ ที่เราได้ยินกันจนแสบแก้วหูตลอดสี่ห้าปีมานี้ ถ้าแยกพิจารณาเป็นประเด็นจะโต้แย้งได้ดังนี้

1.การเมืองไทยมันเป็นการเมืองที่อยู่บนพื้นฐานของสังคมที่มีความแตกต่างกันชัดเจน คือโครงสร้างประชากรเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่ว คนที่มีอำนาจตัดสินใจเลือกตั้งเป็นคนชั้นล่างส่วนใหญ่ 

คำว่า “คนชั้นล่างส่วนใหญ่” น่าจะหมายถึง “คนชั้นกลางระดับล่าง” (ตามที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยวิเคราะห์) ที่มีรายได้เลย “เส้น” ความยากจนขึ้นมาแล้ว ซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นในต่างจังหวัด ในชนบท คนเหล่านี้มีโทรศัพท์มือถือ มอเตอร์ไซค์ รถปิ๊คอัพ สามารถส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย สนใจดูข่าวโทรทัศน์ อ่านหนังสือพิมพ์มากขึ้น

ผู้ที่ติดตามการชุมนุมอย่างใกล้ชิด ย่อมรู้ว่าในกลุ่มคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมส่วนใหญ่จะเป็นคนชั้นกลางระดับล่างดังกล่าวนี้ คนที่ยากจนจริงๆ (หรือ คนชั้นล่างจริงๆ) พวกเขาไม่สามารถจะทิ้งลูกทิ้งครอบครัวให้รอคอยอดอยากอยู่ที่บ้านจากการมาชุมนุมเป็นเดือนๆ ได้

2.คุณภาพการตัดสินใจจะต่างจากสังคมที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ที่ชนชั้นกลางเป็นกลุ่มใหญ่ คุณภาพการตัดสินใจจะดีกว่า และประกอบกับดูพื้นที่ จะพบว่า ภาคอีสานมีพื้นที่มากที่สุด คนมีความรู้โดยเฉลี่ยน้อย ภาคเหนือรองลงมา สภาพเช่นนี้ทำให้กลุ่มการเมืองอาศัยความไม่รู้ ไม่เข้าใจของประชาชนเป็นเหยื่อทางการเมือง สร้างความนิยมอย่างไม่ถูกต้อง ใช้ประชาชนเพื่อการเคลื่อนไหวของตนเอง 

ผมว่าข้อนี้เป็น “จินตนาการ” ถ้าดูจากข้อเท็จจริง ส.ส.ที่คนอีสาน คนเหนือเลือกก็ไม่ได้แตกต่างจาก ส.ส.ที่คนภาคอื่นๆ (ที่มีคนชั้นลาง มีการศึกษาเป็นส่วนใหญ่) เลือก คือบรรดา ส.ส.ของทุกภาคก็คือนักธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่น อดีตข้าราชการ หรือผู้มีอิทธิพลทางการเมือง มีฐานคะแนนที่แน่นอน มีบารมีในเชิงการให้ความอุปถัมภ์ในจังหวัดนั้นๆ (จะว่าไปแล้ว นักการเมืองในภาคอีสาน ภาคเหนือ มีภาพของ “เจ้าพ่อ” น้อยกว่านักการเมืองภาคอื่นๆ ที่เศรษฐกิจดีกว่าด้วยซ้ำ)

ฉะนั้น ประเด็น “ชนชั้นกลางเป็นกลุ่มใหญ่ คุณภาพการตัดสินใจจะดีกว่า” ใช้อะไรเป็นเกณฑ์วัดครับ! เอาง่ายๆ เลยถ้าใช้ “หลักการ” หรือ “อุดมการณ์” ประชาธิปไตยเป็นเกณฑ์วัด การที่คนภาคอีสาน ภาคเหนือออกมาต้านรัฐประหาร ต้าน “อำนาจนอกระบบ” ต้าน “สองมาตรฐาน” ต้าน “ความเหลื่อมล้ำ” ในเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง ในสิทธิและอำนาจต่อรองทางการเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงอำนาจกำหนดถูก-ผิดทางศีลธรรม การตัดสินใจเช่นนี้เป็นการตัดสินใจที่ “ด้อยคุณภาพ” (ทางการเมือง) กว่าคนชั้นกลางส่วนใหญ่ที่ “ตัดสินใจ” สนับสนุนรัฐประหาร (และ “ตัดสินใจ” ผูกขาดการมีเสรีภาพที่เหนือกว่า อำนาจชี้นำ และตัดสินใจแทน) อย่างไร?

และที่พิพากษาว่า เพราะ “ประชาชนโง่” (ไม่รู้ ไม่เข้าใจ) จึงตกเป็น “เหยื่อ” ทางการเมือง เป็น “เครื่องมือ” เคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น ข้อเท็จจริงคือ ชาวบ้านที่เลือกผู้แทนตั้งแต่ยุครัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา พวกเขาเลือก “นโยบาย” พรรคการเมือง และที่เขานิยมนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใด ก็เพราะเขาพบว่านักการเมืองและพรรคการเมืองนั้นทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ (แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็ทำได้ดีกว่าที่เคยเห็นมา) ฉะนั้น การตัดสินใจเช่นนี้ ความนิยมเช่นนี้จะเป็นความโง่ได้ ก็ต่อเมื่อ ดร.สมบัติ (หรือใครก็ตาม) เห็นว่าการเลือกนโยบาย การนิยมนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ทำตามนโยบายเป็นสิ่งที่ผิด!

หรือหากเห็นว่านักการเมือง หรือพรรคการเมืองพรรคนั้นโกง ดร.สมบัติ (หรือใครก็ตาม) ไม่อยากให้ “คนชั้นล่าง” ตกเป็นเหยื่อ เป็นเครื่องมือนักการเมือง หรือพรรคการเมืองพรรคนั้นอีกต่อไป วิธีตัดสินใจที่ “มีคุณภาพกว่า” คือ การเรียกร้องและสนับสนุนรัฐประหารเช่นนั้นหรือ? คือ การประณาม “คนชั้นล่าง” ที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารว่าเป็น “พวกกเฬวราก” เป็นปัญหาของบ้านเมือง หรือเป็น “ฐานของปัญหาการเมือง” เช่นนั้นหรือ?

3.ถ้าจะแก้ประเด็นเหล่านี้ ต้องแก้ไขระยะยาว คือเรื่องการศึกษาจะเกิดผล 2 ประการ คือจะพึ่งพาตัวเองทางเศรษฐกิจได้ และความรู้จะทำให้เข้าใจเหตุผลและปกป้องตัวเองให้พ้นจากการเป็นเหยื่อได้ การตัดสินใจมีคุณภาพ โดยเฉพาะการเลือกตัวแทนทางการเมือง ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อของนักเลือกตั้ง

เห็นหรือยังครับ วิเคราะห์ปัญหาแบบสูตรสำเร็จ “ชาวบ้านจน-โง่” เสนอทางแก้แบบสูตรสำเร็จ “ให้การศึกษาแล้วจะหายจนหายโง่” ผมขอเสนออย่างนี้แล้วกันครับ ให้ ดร.สมบัติ (ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง) และบรรดาคนชั้นกลางผู้มีอันจะกิน มีการศึกษาดีทั้งหลาย ลอง “ทบทวน” ในเรื่องต่อไปนี้

1. พวกคุณยอมรับได้อย่างไรกับ “เสรีภาพที่ไม่เท่าเทียม” สื่อของรัฐบาล สื่อเสื้อเหลือง หรือที่เชียร์รัฐบาลมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ แต่สื่อฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายเห็นต่าง วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลถูกปิดอย่างไม่มีกำหนด สมาชิกทุกคนแห่งสังคมประชาธิปไตยต้องมีเสรีภาพอย่างเท่าเทียมมิใช่หรือ? ความเป็นอยู่ที่ดี การศึกษาสูงๆไม่ได้สอนพวกคุณเช่นนี้หรือครับ?

2. แกนนำ นปช.และผู้นำรัฐบาลต่างมีส่วนทำให้คนตาย 89 ศพ บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน แต่แกนนำ นปช.มอบตัว ถูกจับ ถูกไล่ล่า ขณะที่ฝ่ายกุมอำนาจรัฐไม่แสดงความรับผิดชอบอะไรเลย พวกคุณพึงพอใจกับมาตรฐานแห่ง “นิติธรรม” และ “นิติรัฐ” ที่เป็นอยู่นี้หรือ?

3. พวกคุณ “มีความสุข” กับการผูกขาดอำนาจคิดแทนตัดสินใจแทน หรืออำนาจต่อรองที่เหนือว่าทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และศีลธรรมจริงๆ หรือครับ?

ชาวบ้านจำนวนมากที่คุณเรียกพวกเขาว่า “คนชั้นล่าง” จากภาคอีสานภาคเหนือ เขาเห็น “ความอยุติธรรม” อย่างน้อยทั้งสามเรื่องดังกล่าวนี้ จึงมาทวงขอ “ความยุติธรรม” จากพวกคุณ แต่พวกคุณนอกจะมืดบอดต่อความอยุติธรรมดังกล่าวแล้ว ยังเอาแต่ท่อง “คำพิพากษา” ต่อเนื่องกันมาหลายปีว่า “ชาวบ้านโง่ จน เจ็บ ไม่รู้ประชาธิปไตย เป็นเครื่องมือนักเลือกตั้ง!...”

ไม่เบื่อ “ความฉลาดซ้ำซาก” แบบนี้ของตัวเองบ้างหรือครับ!!! 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“สาทิตย์” เผยรัฐบาลเล็งประกาศ "พิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ" 1 ธ.ค.นี้

Posted: 14 Jun 2010 04:51 PM PDT

กรรมการติดตามสถานการณ์ วุฒิสภา เชิญ รัฐบาลแจงการเยียวยา-แผนปรองดอง “สาทิตย์” ระบุ กรรมการทุกชุดทำเสร็จ ต.ค.เสนอรัฐบาล จากนั้น 1 ธ.ค.ประกาศพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ

<!--break-->

มติชนออนไลน์ รายงานว่าเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 มิ.ย.53 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา มีนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงความคืบหน้าเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและความคืบหน้าเรื่องแผนปรองดอง โดยนายกฯ มอบหมายให้นางอัญชลี วานิชเทพบุตร รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง มาชี้แจงร่วมกับนายสาทิตย์

นายสาทิตย์ ชี้แจงว่า แบ่งการเยียวยาเป็น 3 ส่วนคือ 1.ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ มีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดูแลซึ่งกำลังสรุปตัวเลขอยู่ ซึ่งการเยียวยาใช้หลักเกณฑ์เดียวกับกรณี 7 ต.ค.51 โดยเกณฑ์นี้มีการใช้ไปแล้วเมื่อคราวเมษายน 52 รวมถึงคราวนี้ โดย ณ วันที่ 7 มิ.ย.ดำเนินการแล้ว 667 ราย รวม 36 ล้านบาทเศษ แบ่งเป็นเสียชีวิต 30 ราย 12 ล้านบาท บาดเจ็บ 637 ราย 24 ล้านบาทเศษ และไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลแล้ว 159 ราย มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นรายละ 2,000 บาท และกระเช้าของขวัญมูลค่า 1,000 บาท ส่วนบุตรของผู้เสียชีวิต เข้าใจว่าจะดูแลจนจบปริญญาตรีด้วย ซึ่งตัวเลขผู้มาขอรับความช่วยเหลือ ตอนนี้มีมากขึ้นแล้ว และจะช่วยทุกคน ไม่ได้แบ่งว่าเป็นผู้ต้องหาหรือไม่ โดยในส่วนคดีก็ดำเนินการแยกกับการช่วยเหลือ 

2.การเยียวยาฟื้นฟูจิตใจในส่วนผู้ชุมนุม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รับผิดชอบ ซึ่งได้วางแผนสำรวจภาวะสุขภาพจิตและอารมณ์ มี 41 จังหวัดที่มีคนในจังหวัดมาร่วมชุมนุมมากเป็นเป้าหมาย ส่วนผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิต สธ.ไปสำรวจเบื้องต้นพบ ภาวะความรุนแรงทางอารมณ์เฉลี่ยที่ 24 % ซึ่งตัวเลขสภาพปกติอยู่ที่ 10 % สะท้อนว่า มีอัตราสูงมาก สธ.ตั้งเป้าว่า ใน 3 เดือน ต้องทำให้ลดลง 3.กรรมการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

นายสาทิตย์ กล่าวว่า สำหรับแผนปรองดอง ในส่วนคณะกรรมการอิสระตรวจสอบค้นหาความจริงฯ ตอนนี้นายคณิต ก็ต้องเสนอกรรมการและเสนออำนาจหน้าที่กระบวนการทำงานเพื่อให้ได้ความจริง นำไปสู่แผนการสร้างความปรองดองให้ ครม.ภายในวันที่ 21 มิ.ย.ส่วนความเชื่อมโยงของคณะกรรมการทุกชุด เช่น ชุดรัฐธรรมนูญ ชุดปฏิรูปสื่อ ชุดค้นหาความจริง และชุดปฏิรูปประเทศ ต้องทำเสร็จไม่เกินเดือนตุลาคม ซึ่งในทางคู่ขนานก็มีคณะกรรมการที่นายกฯ ตั้งขึ้น ที่มีคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกฯจะนำผลของคณะกรรมการเหล่านั้นเชื่อมโยงไปถึงนายกฯ โดยต้องมีการไปหาประชาชนทุกภาคส่วนโดยทำสมัชชาประชาชน และทำโพลระดับชาติเพื่อหาทิศทางประเทศภายหลังวิกฤต ข้อมูลทั้งหมดจะกลับมาปลายเดือนกันยายนหรือต้นเดือนตุลาคม และช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน รัฐบาลก็จะนำข้อมูลเหล่านั้นมากำหนดเป็นแผนซึ่ง วันที่ 1 ธันวาคม รัฐบาลต้องประกาศพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายนายจิตติพจน์ ได้ฝากความคิดเห็นต่อรัฐบาลว่า เท่าที่เห็นข้อมูลรัฐบาลยังไม่ความชัดเจนว่าคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาจะมีกรอบภาระหน้าที่ในการทำงานจะทำได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร และขอฝากว่า การปรองดองคู่กรณีหลักซึ่งขณะนี้มีอยู่ 2 ฝ่าย รัฐบาลต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้คู่กรณียอมรับกระบวนการเหล่านี้ได้ หากอีกฝ่ายยอมรับก็คิดว่ากระบวนการปรองดองของรัฐบาลมีโอกาสสำเร็จมาก แต่หากอีกฝ่ายไม่ยอมรับก็ยากที่จะปรองดอง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“วีระ” ปัดไม่ส่งคนร่วมทีม กก.อิสระ เหตุติดใจที่ “อภิสิทธิ์” เป็นคนตั้ง

Posted: 14 Jun 2010 04:07 PM PDT

แจงไม่เห็นความชอบธรรมที่ “อภิสิทธิ์” จะตั้งกรรมการชุดนี้ จึงไม่เสนอตัวแทนเป็นคณะกรรมการ เผย ยอมรับ “คณิต” เป็นคนดี พร้อมหนุนหลักการปรองดอง แนะทำงานควรเปิดเผยกับประชาชน แถมคู่ขัดแย้งเป็นกรรมการจะเสียเวลาไปกับการตอบโต้กัน

<!--break-->

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (14 มิ.ย.53) เมื่อเวลา 14.10 น. นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เดินทางไปที่ค่ายนเรศวร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เพื่อขอข้อมูลและแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองจากนายวีระ มุสิกพงษ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยนายคณิต กล่าวก่อนพบกับนายวีระว่า เบื้องต้นในฐานะเป็นคนใต้ด้วยกันจะขอพูดคุยและหาข้อมูลจากนายวีระ เพียงคนเดียวก่อน หลังจากนั้น อาจจะพูดคุยกับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และอาจจะมีการพูดคุยกันเป็นกลุ่ม เนื่องจากมีเวลาทั้งวัน

จากนั้นเวลา 14.20 น. เจ้าหน้าที่นำตัวนายวีระ ซึ่งสวมเสื้อเสื้อยืดสีแดงบริเวณหน้าอกมีคำว่า "หัวหิน" มายังอาคารเอนกประสงค์สถานที่พูดคุย เมื่อนายวีระ และนายคณิตพบกันต่างคนต่างเข้าจับมือพร้อมโอบกอดกัน ท่ามกลางเสียงหัวเราะของทั้ง 2 ฝ่าย และมีการทักทายกันเป็นภาษาใต้ ระหว่างนี้ มีการเปิดโอกาสให้บรรดาสื่อมวลชนบันทึกภาพก่อนการพูดคุยจะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการและไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนร่วมรับฟัง

จนเวลา 17.00 น.นายคณิต ได้เดินออกมาจากห้องประชุม ก่อนให้สัมภาษณ์ถึงผลการหารือกับนายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช.เพียงสั้นๆ ว่า มีข้อเสนอมากมาย ที่ตนจะรับไว้ เป็นการมาเยี่ยม มีทางบวกเกิดขึ้น พยายามทำให้ดีที่สุด นายวีระ บอกว่า อาจจะได้หารือกันที่กรุงเทพฯ อีก เพื่อช่วยกันให้เกิดความเรียบร้อยในบ้านเมือง โดยนายวีระ รับปากไว้จะให้คำแนะนำอีกในอนาคต

ส่วนนายวีระ กล่าวว่า ขอขอบนายคณิต ที่ให้เกียรติพวกตนที่เป็นพวกผู้ก่อการร้าย ซึ่งไม่ธรรมดา แต่ว่าท่านมาขอความคิดไปประกอบคณะกรรมการฯ พวกตนเห็นด้วยสนับสนุนการปรองดองทุกวิถีทาง เพราะปัญหาไประเทศคือปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ แต่มีข้อติงนิดที่เป็นความผิดที่ นายอภิสิทธ์ เป็นคนตั้ง ถ้าหากตั้งโดยองค์กรอื่นที่เป็นกลางจะถือว่าวิเศษทีเดียว ปัญหาอยู่ที่ผู้ตั้ง ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองฝ่ายไม่น่าจะมีสิทธิ์ตั้งกรรมการชุดนี้ที่มีความสำคัญกับประเทศมาก ข้อนี้เป็นข้อที่เสื้อแดงทุกคนติดใจ 

ทว่าในหลักการปรองดองจะสนับสนุนเต็มที่คือการป้อนข้อมูล ความร่วมมือในการแสวงหาความจริงเพื่อไปสู่การปรองดอง ข้อเสนอแนะที่มีคณะกรรมการที่คล้ายคลึงกันในอดีตที่ทำไป ไม่เคยเผยแพร่ผลให้ประชาชนทราบเป็นเรื่องที่สูญเปล่า พวกตนจึงเสนอว่า หากทำไปแล้วให้เปิดเผยกับประชาชนรับทราบ ข้อสองจากที่เคยทำกันมาดึงเอาคู่ขัดแย้งเป็นกรรมการ เวลาประชุมไปกล่าวหาโต้กันไปมา เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการตอบโต้ของคู่กรณี 

นายวีระ กล่าวอีกว่า เราฝากข้อสังเกตว่าคู่กรณีควรจะอยู่ข้างนอก เป็นไปได้กรรมการควรจะเป็นคนกลางๆ แล้วเชิญคู่กรณีไปให้ความคิด ข้อมูล ไม่มีปัญหาน่าจะเป็นอีกวิธีขอให้กรรมการหาข้อสรุปที่นายคณิต จะรับไว้ เราไม่เห็นความชอบธรรมที่ นายอภิสิทธิ์ จะตั้งกรรมการชุดนี้ จึงไม่เสนอตัวแทนเป็นคณะกรรมการ ถ้าจะเป็นคณะกรรมการจากที่อื่นคงจะดีกว่า ตรงนี้เสื้อแดงไม่ยอมรับที่จะไปเป็นกรรมการ แต่จะร่วมมือให้ข้อมูล แกนนำ นปช. ทุกคนไม่ติดใจในตัวประธานคณะกรรมการ นายคณิต ต้องทำงานหนัก เพื่อให้มีคะแนนที่บวกเพิ่มขึ้น นายคณิตพวกเราเห็นเป็นคนดี แต่อย่างว่าคนตั้งเป็นแบบนี้ คนเสื้อแดงจึงไม่มีความเชื่อถือ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข่าวสด: พระถูกมัดไพล่หลัง เปิดตัวแฉ วันสลายม็อบโหด

Posted: 14 Jun 2010 03:18 PM PDT

พระศรีอริยวิโส จากธรรมสถานสวนศรีอาริยะธรรม จ.ขอนแก่น เล่าเหตุการณ์ที่ตัวเอง ถูกทหารจับมัดมือไพล่หลังเมื่อ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม เผยอยู่ที่ศาลาแดง เห็นม็อบถูกยิง นั่งทำภาวนาสู้ จนถูกทหารจับ

<!--break-->

พระศรีอริยวิโส จากธรรมสถานสวนศรีอาริยะธรรม จ.ขอนแก่น เล่าเหตุการณ์ที่ตัวเอง ถูกทหารจับมัดมือไพล่หลังเมื่อ 19 พ.ค. ตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม ในงานชุมนุมเสื้อแดงที่วัดราชาธิวาส เมื่อ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา (ที่มาของภาพ: ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย)

 

ข่าวสด รายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 13 มิ.ย. ที่ห้องประชุมศาลาพิพิธภัณฑ์พระราชานุสรณ์ ร.4 ในวัดราชาธิวาส ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสตร์แห่งชาติ ร่วมกับสถานีวิทยุพระพุทธศาสนาแห่งชาติเอฟเอ็ม 104.25 จัดงานบรรยายธรรมในหัวข้อเรื่อง "บทบาทพระไทยในยุคโลกาภิวัตน์" โดยมีกลุ่มคนเสื้อแดงกว่า 500 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดงระดับแม่ยกและแฟนพันธุ์แท้ เดินทางมาร่วมงานกันจนเต็มห้องประชุม 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานจัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิตในเหตุชุมนุม และร่วมทอดผ้าป่า โดยผู้ที่มาร่วมงานต่างพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการเมืองในกลุ่มคนเสื้อแดงด้วย ท่ามกลางการจับตาอย่างใกลชิดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองความมั่นคงของทหาร 

พล.ต.ทองขาว พ่วงรอดพันธุ์ รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา กล่าวว่า การจัดงานวันนี้ถือเป็นการจัดงานปกติของทางศูนย์ที่มีขึ้นทุกเดือน ไม่ใช่เป็นการจัดเพื่อคนเสื้อแดง แต่กลุ่มคนเสื้อแดงคงชวนกันมาร่วมรับฟัง ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องเสรีภาพของคนในระบอบประชาธิปไตย ที่มีสิทธิ์ไปไหนก็ได้ โดยเฉพาะการเข้าวัด ที่แม้แต่สุนัขคนยังเอามาปล่อยได้ แล้วทำไมคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะเข้ามาร่วมรับฟังการบรรยายไม่ได้ ทั้งนี้ การอภิปรายในวันนี้ก็ไม่เกี่ยวกับการเมืองด้วย 

สำหรับการบรรยายธรรมในหัวข้อเรื่อง "บทบาทพระไทยในยุคโลกาภิวัตน์" พระครูปลัดสุวัฒนจริยคุณ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นพิธีกรและกล่าวนำถึงเหตุที่พระต้องมาร่วมในการชุมนุมว่า ประเทศชาติมีความคิดแตกแยกรุนแรงในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน พระสงฆ์กลุ่มหนึ่งเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง เพราะเห็นว่าชาวบ้านที่อยู่ในละแวกเดินทางมาต่อสู้เรียกร้อง พระในต่างจังหวัดจำนวนหนึ่งจึงต้องเดินทางมาด้วยเพื่อดูแลชาวบ้าน เพราะเมื่อชาวบ้านเดือดร้อนพระจะอยู่เฉยได้อย่างไร แต่รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงกลับออกมาพูดว่า พระกลุ่มนี้ไม่ใช่พระ 

พล.ต.ทองขาว กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวมองว่าพระสงฆ์ที่มาร่วมกับคนเสื้อแดงถูกกล่าวหาว่าไม่ใช่พระ เป็นพวกไม่หวังดีกับชาติ หรืออนาคตอาจเป็นผู้ไม่จงรักภักดี แต่พระสงฆ์ที่สนับสนุนรัฐบาลนั้นกลับได้รับการส่งเสริมให้ออกรายการโทรทัศน์อยู่เสมอ โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่ถูกจับกุมโดยทหาร และมีภาพปรากฏไปทั่วโลกนั้น ทางพระผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคมได้ทราบเรื่องแล้ว รู้สึกไม่สบายใจมาก เพราะในประวัติศาสตร์มีเพียงพระพิมลธรรม วัดมหาธาตุ เพียงรูปเดียวที่ถูกข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และมาจนถึงยุคนี้ก็มีพระถูกจับและกล่าวหาว่าก่อความไม่สงบด้วย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับไฮไลต์ของการจัดงานนี้ คือการนำพระสงฆ์ที่อยู่ในเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง 4 รูป มาร่วมเล่าถึงเหตุการณ์

พระศรีอริยวิโส จากธรรมสถานสวนศรีอาริยธรรม ตำบลวังเพิ่ม อำเภอสีชมพู จังหวัดขอน แก่น หนึ่งในพระ 4 รูปที่ถูกทหารจับกุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ได้เล่าเหตุการณ์วันที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. อาตมาพร้อมพระรูปอื่นๆ ได้ไปอยู่ประจำบริเวณสวน ลุมพินีประตู 5 โดยในวันนั้น ช่วงเช้ามีรถหุ้มเกราะของทหารเริ่มเข้ามาประชิดบริเวณด่านแยกศาลาแดง โดยอาตมาได้บอกให้พระสงฆ์ทั้งหมดวันนี้ไม่ต้องฉันอาหารเพล แต่ให้เอามาม่าและน้ำใส่ย่ามเอาไว้ เพราะเชื่อว่าในวันนั้นจะต้องมีการล้อมปราบกลุ่มผู้ชุมนุมแน่นอน

พระศรีอริยวิโสกล่าวอีกว่า หลังจากที่เตรียมตัวเสร็จพระสงฆ์รูปอื่นๆ ได้พากันถอยออกจากแยกไปอยู่พื้นที่ชั้นใน ส่วนอาตมาได้เดินย้อนสวนออกไปทางตึก สก.หน้าร.พ.จุฬาฯ บริเวณหน้าด่านและยังทราบอีกว่าการล้อมปราบวันนั้นจะล้อมปราบแบบวิธีกองโจร หากเจอผู้ชุมนุมก็จะยิงทิ้งทันที ซึ่งขณะนั้นอาตมาก็ได้เดินไปหลบบริเวณใต้ตอม่อสะพานไทยเบลเยียมบริเวณแยกศาลาแดง หลังจากนั้นไม่นานทหารเริ่มรุกคืบไปประชิดกับด่านพร้อมกับเริ่มยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุมและการ์ด ก่อนจะบุกเข้าไปในพื้นที่สวนลุมพินี ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมวิ่งหลบหนีคนละทิศละทาง มีการ์ดและพระสงฆ์ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บจำนวนหลายรายแต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วยเหลือ ขณะที่ทหารบุกได้มีการเผายางเป็นจุดๆ เพื่อชะลอการบุกของทหาร

พระศรีอริยวิโสกล่าวต่อว่า ช่วงที่ทหารยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุมพบว่ามีผู้เสียชีวิต และมีพระจำนวนหนึ่งพยายามเข้าไปช่วยนำศพและคนเจ็บใส่เสื่อ ช่วยกันลากออกมาอย่างทุลักทุเล แต่ก็ช่วยได้ไม่มาก ก่อนที่จะพากันร่นถอยออกมายังแยกสารสิน ซึ่งบริเวณดังกล่าวจะมีเต็นท์กาชาดปักหลักอยู่ด้วย แต่เมื่อไปถึงไม่พบกลุ่มญาติโยมเสื้อแดงอยู่บริเวณดังกล่าวแล้ว ทราบว่าพากันหลบหนีไปแล้วเนื่องจากทหารยิงปืนไล่ อาตมาจึงตัดสินใจนั่งทำจิตภาวนา โดยนำชีวิตเข้าไปเสี่ยงเพราะอยากทราบว่าเขาจะฆ่าพระหรือไม่ ซึ่งเป็นการพลิกแผนสู้ในอีกรูปแบบหนึ่งของอาตมา 

พระศรีอริยวิโสกล่าวต่อว่า ในขณะนั้นอาตมาได้ยินเสียงทหารบุกเข้ามาถึงเต็นท์ที่อาตมาอยู่ ซึ่งทหารตะโกนว่าให้ยอมจำนนและจะพากลับบ้านอย่างปลอดภัย ก่อนที่ทหารจะบุกเข้ามาควบคุมตัวอาตมาในเต็นท์ เมื่อทหารเข้ามาถึงตัวก็ได้จับกุมควบคุมตัวอาตมาพร้อมพระรูปอื่นจำนวน 4 รูป ซึ่งช่วงที่ทหารบุกเข้ามาพบว่ามีกลุ่มผู้สื่อข่าวต่างประเทศติดตามทหารเข้ามาด้วยประมาณ 10 คน โดยได้สอบถามอาตมาถึงเหตุผลในการเข้ามาร่วมการชุมนุมกับ นปช.หลังจากสัมภาษณ์เสร็จทหารได้ไล่ผู้สื่อข่าวออกทันที ก่อนที่จะนำพวกอาตมาไปควบคุมตัวในซอกตึกบริเวณแยกสารสิน เมื่ออาตมาเดินไปถึงบริเวณดังกล่าวพบผู้ชุมนุมที่ถูกจับมาไว้บริเวณนี้ไม่ต่ำกว่า 20 คน โดยทุกคนถูกปิดตาและพันธนาการมือทั้งสองข้างด้วยสายพลาสติกรัดสายไฟไว้ด้านหลัง ซึ่งทำให้ไม่สามารถหลบหนีได้ 

"หลังจากที่ทหารไล่นักข่าวไปหมดแล้วก็ได้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวและเป็นกุ๊ยทันที โดยด่าทอพระที่ถูกจับกุมว่ารับเงินรับทองมาร่วมชุมนุม พร้อมทั้งขู่ต่างๆ นานา ว่าจะยิงให้ตาย โดยอาตมาก็ได้ขอร้องว่า อย่าทำเช่นนั้นเลย เพราะมันจะทำลายเกียรติภูมิของชาติไทยและกลุ่มของพวกท่านเอง" พระศรีอริยวิโสกล่าว

พระศรีอริยวิโสกล่าวอีกว่า หลังจากนั้นไม่นานช่วงที่ทหารยังควบคุมตัวอาตมาพร้อมผู้ชุมนุมอื่นในบริเวณจุดดังกล่าว ได้เกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นว่ามีระเบิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหวตกอยู่บริเวณหน้าตึก และมีทหารคนหนึ่งวิ่งเข้ามาข้างในและพูดกับเพื่อนทหารด้วยกันว่า "รอดอยู่คนเดียว นอกนั้นถูกระเบิดไส้แตก" ยิ่งทำให้ทหารมีความโกรธแค้นกลุ่มคนเสื้อแดงมากยิ่งขึ้น โดยกระชากแขนอาตมาและบอกว่า "แน่นักหรือ ออกไปกับกู เพราะเขาคงไม่ยิงพวกมึง" ซึ่งอาตมาคิดว่าเป็นคำพูดที่หยาบคายมากที่พูดกับพระอย่างนี้ และอาตมาได้เถียงกับทหารอยู่พักหนึ่ง ยิ่งทำให้ทหารโมโหและจับมัดอาตมาจนแน่นเป็นแผล โดยมัดอาตมาตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น.กว่าจะแก้มัดก็เวลาประมาณ 20.00 น. 

จากนั้นก็ได้พาไปที่สวนลุมพินี ซึ่งขณะนั้นอาตมาปวดปัสสาวะขอให้แก้มัดก็ยังไม่ยอม จึงต้องเข้าห้องน้ำพร้อมกับมือที่โดนมัดไว้อย่างนั้น จากนั้นทหารได้นำตัวขึ้นรถและพาไปส่งที่ค่ายนเรศวร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อไปถึงอาตมาได้พบกับ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. โดย พล.ต.ต.อำนวยได้ออกคำสั่งให้นำตัวพระทั้ง 4 รูปสึกในวันนี้ โดยให้เหตุผลว่า พระสงฆ์ที่ถูกจับกระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

พระศรีอริยวิโสกล่าวว่า ช่วงที่นำพระผู้ใหญ่มาสึกพระสงฆ์ทั้ง 4 รูป ที่ถูกจับที่ค่ายนเรศวรไม่มีพระรูปใดเปล่งวาจาสึก เพราะคิดว่าไม่ได้กระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองอะไร ที่มาชุมนุมเพื่อต้องการไม่ให้ใครมาฆ่าคนที่บริสุทธิ์ หลังจากที่อยู่ที่ค่ายนเรศวรครบ 48 ชั่วโมง ก็ถูกส่งฟ้องศาล โดยที่ค่ายคุมขังแห่งนี้อยู่ที่เดียวกับบรรดาแกนนำ นปช. ส่งฟ้องศาลทั้งหมดรวม 18 คน ก่อนจะนำตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ รวมกับผู้ชุมนุมอื่นอีก 70 คน โดยทั้งหมดถูกส่งไปรวมตัวกันในห้องขนาด 40 ตารางเมตร จนเวลานอนต้องใช้วิธีนอนตะแคง หลังจากอาตมาอยู่ที่นั่นหนึ่งคืนทางเรือนจำได้กระจายผู้ถูกจับกุมไปที่เรือนจำต่างๆ ซึ่งอาตมาได้ถูกส่งไปอยู่ที่เรือนจำคลองเปรม จนได้รับการประกันตัวในวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งบอกได้เลยว่า ช่วงที่ถูกนำตัวส่งที่คุกนั้นคือ "นรกชัดๆ"

 

ที่มา: พระถูกมัดไพล่หลัง เปิดตัวแฉ วันสลายม็อบโหด, ข่าวสดรายวัน, 14 มิ.ย. 53
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01ERXdNakUwTURZMU13PT0

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น