ประชาไท | Prachatai2.info |
- วิกฤตการเมือง ไซเบอร์สเปซ สนามรบใหม่ของความขัดแย้งในไทย
- ยูเอ็นประณามอิสราเอลถล่มเรือบรรเทาทุกข์
- ศาลนัดพร้อมคดีผอ.ประชาไทถูกฟ้องผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สืบพยาน ก.พ.54
- พฤษภาอำมหิตกับองค์การนิรโทษกรรมสากล
- อสังหาริมทรัพย์เพื่อนบ้านกำลังเติบโตใหญ่
- ประเทศไทยจะหลีกพ้นวังวนจลาจลครั้งใหม่ได้อย่างไร?
- สรุปข่าวพม่ารอบสัปดาห์ (25-31 พ.ค. 53)
- ฮิวแมนไรทส์วอช-มสพ. ห่วงแรงงานข้ามชาติถูกเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ
- สสส.ร่วมองค์กรสิทธิฯ เผยขบวนการหักหัวคิว "กองทุนสุขภาพ" คนไร้สถานะ
- ขบวนการแรงงานโลกกดดันไทยปล่อย “สมยศ-สุธาชัย”
วิกฤตการเมือง ไซเบอร์สเปซ สนามรบใหม่ของความขัดแย้งในไทย Posted: 01 Jun 2010 11:12 AM PDT <!--break--> แม้ว่าความขัดแย้งที่เห็นบนถนนสิ้นสุดลงแล้ว แต่แท้จริงยังคงยืดเยื้อ คนไทยหลบมาถกเถียงกัน ซึ่งมีทั้งรูปและวิดีโอให้เห็นมากมายผ่านสังคมอินเตอร์เน็ทที่กำลังถูกเซ็นเซอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ ในสนามรบแห่งนี้ กลุ่มนปช.ก็สื่อสารกันและกันถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกปิดกั้นโดยรัฐบาล เฟซบุ๊ค เป็นเวบไซต์ที่มีคนใช้มากขึ้นถึงสามเท่าในระยะเวลาเพียงสองสามเดือน มีผู้ที่ทั้งชอบและต่อต้านรัฐบาล มาแลกเปลี่ยนความคิดทางการเมือง ภาพถ่าย วิดีโอ อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์ผ่านเวบไซต์นี้ อินเตอร์เน็ทกลายเป็นพื้นที่สำหรับกลุ่มเคลื่อนไหวทางความคิดของคนไทย ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะระงับการแลกเปลี่ยนผ่านอินเตอร์เน็ทหนักขึ้นทุกที ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา มีกระทั่งการถ่ายทอดสดภาพจากพื้นที่ที่เกิดเหตุการการเมือง มีฟอรั่มต่างๆ ตัวอย่าง เฟซบุ๊ค มีคนใช้ ณ วันนี้ จำนวนกว่า 3,700,000 คน เพิ่มขึ้นมาจากเดือนกันยายนปีที่แล้วซึ่งมีผู้ใช้เพียง 1,100,000 คน เทียบกับสถิติล่าสุดปลายปีที่ผ่านมา มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ททั่วประเทศจำนวน 16,000,000 คน ดังนั้น เกือบจะเป็นจำนวน 1 ใน 4 ที่ใช้เวบไซต์เฟซบุ๊ค โดยมีผู้แลกเปลี่ยนความคิดที่ใช้ชื่อ แดงไทย หรือ เสื้อแดง ในการรวมตัวกันตั้งแต่ช่วงต้น ๆ ของความขัดแย้งทางการเมือง มีนับหลายร้อย กระทั่งกลุ่มละหลายพันคนที่เป็นสมาชิกในกลุ่มเดียวกัน ยังมีนักศึกษาที่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งใหม่ กลุ่มต่อต้านฝ่ายนปช. ทั้งสองกรณี ผู้ใช้นำเสนอวิดีโอที่มีเพลงชาติไทยประกอบ ฟอรั่มหนึ่งอย่าง Panthip.com ก็เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนทัศนะทางการเมืองที่ใช้มากที่สุด ในช่วงที่ความขัดแย้งพุ่งสูงสุด มีหัวข้อสนทนาถึง 1,000 เรื่องต่อวัน มีภาพถ่ายและวิดีโอจากทั้งสองฝ่าย (ทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล) มีการใช้คำพูดถกเถียงรุนแรงขึ้นจนกระทั่งฟอรั่มการเมืองถูกปิดก่อนวันที่ 19 พฤษภาคม วันที่ทหารใช้กำลังกับผู้ชุมนุม
การเซ็นเซอร์และการติดตามของฝ่ายรัฐบาลยังคงดำเนินต่อไป รายงานจากนักข่าวไร้พรมแดน (RSF) บอกว่า มีเวบไซต์เกือบ 1,150 แห่งที่ถูกปิดตัวลงนับแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพราะถูก ศอฉ. ให้ข้อหาว่า ยุยงให้เกิดความขัดแย้ง วันที่ 19 พฤษภาคม เฟซบุ๊ค (FACEBOOK) และทวิตเตอร์ (TWITTER) ถูกระงับใช้งานเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ทั้งที่เป็น วิธีการน้อยเดียวที่หลงเหลือให้ใช้ในการส่งข้อมูลข่าวสารในช่วงบ่าย ในขณะที่เวลานั้น ข่าวผ่านรายการโทรทัศน์ถูกควบคุมโดยรัฐบาล ปากคำของสมาคมปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อสิ่งพิมพ์ อย่างไรก็ตาม การระงับการใช้เวบไซต์ทั้งสองแห่งไม่ง่าย รัฐบาลจึงหันไประงับหน้าอื่น ๆ ของกลุ่มที่ให้การสนับสนุน นปช. กลุ่มอื่น ๆ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการรักษาความมั่นคงของชาติ ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลยังมีคำฟ้องบุคคลบางคนว่ามีคดีความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อันมีผลให้เจ้าของเว็บไซต์ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อถ้อยคำความคิดเห็นของผู้ใช้เวบไซต์ อย่างผู้อำนวยการเวบไซต์ Prachatai.com จีรนุช เปรมชัยพร ซึ่งต้องไปศาลอาญารัชดาวันนี้ โดยถูกกล่าวหาว่าไม่ดึงหรือลบข้อคิดเห็นของผู้ใช้เวบไซต์ให้เร็วเท่าที่ควรจะเป็น ข้อคิดเห็นดังกล่าวมีถ้อยความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คุณธีรนุชจึงเสี่ยงที่จะต้องรับโทษจำคุก 15 ปี เว็บไซต์นี้ก่อตั้งขึ้นปี 2547 มีผู้เยี่ยมชมประมาณ 20,000 คนต่อวัน เว็บไซต์นี้ก็ถูกเซ็นเซอร์เป็นระยะมาอย่างต่อเนื่องนับแต่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง กระทั่งเปลี่ยนชื่อเวบไซต์หลายต่อหลายครั้ง ดังนี้ จาก prachatai.com เป็น prachatai.net ตามด้วย prachatai.info ตามด้วย prachatai1.info และนับแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาใช้ชื่อว่า prachatai2.info อนึ่่ง เวบไซต์ของกลุ่มเรียกร้องอิสรภาพในการใช้อินเตอร์เน็ท ต่อต้านการเซ็นเซอร์ก็ยังถูกปิดชั่วคราวจาก ศอฉ. และยังใช้การไม่ได้จนบัดนี้
สงครามเทคโนโลยีและการเคลื่อนไหว นปช. ยังคงคืบหน้าต่อไป เมื่อรัฐบาลระงับเวบไซต์ของกลุ่ม นปช. ผ่าน URL กลุ่ม นปช. ก็ตอบรับด้วยการพัฒนาระบบที่ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข่าวความเคลื่อนไหวของตนโดยใช้แถบเครื่องมือที่ชื่อ "นปช" หรือ "Norporchor" ก็เข้าไปในเว็บไซต์ห้องทัศนะความเห็น รายการ และดูวิดีโอต่างๆ ที่สามารถเซฟเก็บไว้ได้โดยเวบไซต์อาศัยเซอร์เวอร์ของสหรัฐอเมริกา การตั้งระบบที่ชื่อว่า UDD Thailand Player ก็สามารถเข้าถึงโทรทัศน์เสื้อแดงได้ แถม UDD ยังตั้งระบบ Proxy นิรนาม ซึ่งเมื่อเราเข้าอินเตอร์เน็ท ก็ซ่อนที่อยู่ IP ได้ของคอมพิวเตอร์ อีกทั้งยังสามารถเข้าไปในเวบไซต์ที่ถูกระงับได้ด้วย โดยใช้วิธีเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ทนอกประเทศ การสืบกรองอินเตอร์เน็ทของรัฐบาลจึงหาไม่พบ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศอฉ. หรือ Capothai ก็ได้เห็นเว็บไซต์ของตน (www.capothai.org) ถูกระงับโดยรัฐมนตรีเทคโนโลยีโทรมนาคมและข่าวสาร โดยให้เหตุผลว่าเป็นการใช้คำสั่งพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินต่อสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับสื่อ อย่างไรก็ดี วันนี้ Capothai ใช้ได้แล้ว หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังเคลื่อนไหวให้เกิดสำนักงานความปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ทแห่งชาติเพื่อสู้กับการบุกรุกทางอินเตอร์เน็ทผ่านทางต่างชาติ ซึ่งจะเป็นที่น่าเสียดาย สื่อวิดีโอต่างประเทศอย่าง Dailymotion และ Youtube และอื่น ๆ ก็จะถูกเซ็นเซอร์และดึงทิ้งได้ง่าย ๆ ในเมืองไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นมีสำนักงานประเภทนี้ในแล้ว
หมายเหตุ: *เวบไซต์ชื่อว่า « หนังสือพิมพ์เล็กๆ » สำหรับชาวฝรั่งเศสและผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสในต่างประเทศ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||
ยูเอ็นประณามอิสราเอลถล่มเรือบรรเทาทุกข์ Posted: 01 Jun 2010 10:11 AM PDT กลุ่มนักกิจกรรมสนับสนุนปาเลสไตน์ นำขบวนเรือขนสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้ชาวฉนวนกาซาซึ่งถูกอิสราเอลล้อม ก่อนถูกอิสราเอลโจมตีจนมีผู้เสียชีวิต อย่างน้อย 10 ราย ด้านยูเอ็นและนักกิจกรรม ประณามอิสราเอล ขณะที่ทางการอิสราเอลบอกว่าทำไปเพื่อป้องกันตัว อ้างขบวนเรือบรรเทาทุกข์เอี่ยวก่อการร้าย <!--break--> วิดิโอจาก AljazeeraEnglish
โจมตีเรือลำเลียงของบรรเทาทุกข์ จับกุมนักข่าวและนักกิจกรรม เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา ผู้คนที่โดยสารมากับขบวนเรือขนาดเล็ก (flotilla) 6 ลำ ซึ่งเป็นเรือขนส่งความช่วยเหลือมายังฉนวนกาซา ถูกสังหารเสียชีวิตไปสิบกว่าราย ซึ่งทางกองทัพของอิสราเอลรายงานว่ามี ทหารบาดเจ็บด้วย 4 ราย และเกิดการโจมตีขบวนเรือดังกล่าวขึ้นหลัง จากที่กองเรือไม่ฟังคำเตือนของเจ้าหน้าที่ท่าเรือแอซดอดของ อิสราเอล ซึ่งเป็นสถานที่ลำเลียงสิ่งของช่วยเหลือไปยังฉนวนกาซ่า อัลจาซีร่ารายงานว่ากองเรือดังกล่าวลำเลียงผู้โดยสารที่เป็นนักกิจกรรมสนับสนุนปาเลสไตน์ราว 700 ราย และลำเลียงสิ่งของช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ให้กับฉนวนกาซาซึ่งถูกปิดล้อมโดยกองทัพอิสราเอลนับหมื่นตัน ขบวนเรือชุดนี้ถูกทหารอิสราเอลโจมตีขณะอยู่ในน่านน้ำสากลห่างจาก ชายฝั่งของฉนวนกาซาราว 65 กม. ทางการอิสราเอลยืนยันว่ากองทัพอิสราเอลทำไปเพื่อป้องกันตนเอง หลังจากถูกผู้ที่อยู่บนเรือโจมตี แต่ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่า จามาล เอลเชย์ยัล ซึ่งเดินทางไปกับเรือนำขบวนที่ชื่อมาวี มาร์มารา บอกว่ากองทัพยิงใส่ขบวนเรือหลังจากที่ผู้โดยสารโบกธงขาว กองทัพอิสราเอลนำเรือจอดที่ท่าเรือแอซดอดหลังยึดเรือได้ มีนักกิจกรรมได้รับบาดเจ็บรับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล นักกิจกรรมอีก 480 รายถูกจับกุมตัวและต้องเข้ารับการไต่สวน นักกิจกรรมอีก 48 รายถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศของตนเอง ส่วนจา มาล ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่า ได้รับรายงานว่าถูกควบคุมตัวเอาไว้ที่สนาม บิน เบน กูเรียน ใน เทล อะวีฟ กับเพื่อร่วมงานอีก 2 ราย ผู้สื่อข่าวของอัลจาซีร่าอีกราย ไอมาน โมห์เยลดิน รายงานจากแอซดอดว่า พวกเขากำลังพยายามติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของผู้โดยสารขบวนเรือ "ในตอนนี้กำลังมีกระบวนการไต่สวนและสอบถามข้อมูลส่วนตัว เพื่อระบุว่าผู้ที่ถูกจับกุมแต่ละคนเป็นใคร และให้เลือกว่าจะให้ส่งตัวกลับโดยทันทีหรือจะให้กุมขังอยู่ในคุกของอิสราเอล" ไอมานกล่าว รัฐบาลอิสราเอลโยงผู้โดยสารเรือกับกลุ่มก่อการร้าย อัลจาซีร่ารายงานอีกว่าการโจมตีขบวนเรือให้ความช่วยเหลือ ทำให้เกิดการประท้วงตามเมืองต่างๆ หลายแห่งทั่วโลก มีผู้ประท้วงหลายพันคนในกรุงอิสตันบูล กรุงลอนดอน และกรุงอัมมานในจอร์แดน แสดงการต่อต้านการโจมตีเรือให้ความช่วยเหลือ ที่มุ่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือคนในกาซา แต่ทางโฆษกรัฐบาลอิสราเอล มาร์ก เรเยฟ ยืนยันว่า "ภายใต้กฏหมายนานาชาติอิสราเอลมีสิทธิโต้ตอบเรือที่มาเข้าฝั่งยัง ท่าเรือแอซดอด" เขาบอกอีกว่าคนที่มากับขบวนเรือให้ความช่วยเหลือไม่ใช่ นักกิจกรรมที่มาอย่างสันติ "พวกเขาเป็นกลุ่ม IHH ซึ่งเป็นกลุ่มชาวอิสลามหัวรุนแรงของตุรกี ซึ่งได้รับการสืบสวนจากรัฐบาลตะวันตกและรัฐบาลตุรกีแล้วว่าในอดีต กลุ่มนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย" แต่ทางด้านประธาน กรรมการฝ่ายต่างประเทศของตุรกี มูรัท เมอแคน บอกว่าการที่รัฐบาลอิสราเอลกล่าวหาว่าขบวนเรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับ การก่อการร้ายนั้น ทำไปเพื่อเป็นการกลบเกลื่อนความผิดพลาดของตัวเอง "ข้อกล่าวหาที่ว่าสมาชิกของขบวนเรือให้ความช่วยเหลือนั้นมี ส่วนเกี่ยวข้องกับอัล-เคดา เป็นการโกหกคำโต เนื่องจากในขบวนนั้นมีประชาชน ชาวอิสราเอล, เจ้าหน้าที่ชาวอิสราเอล, ส.ส.อิสราเอล รวมอยู่ด้วย" ยูเอ็นประณามอิสราเอลใช้กำลังกับพลเรือน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ในวันที่ 1 มิ.ย. เรียกร้องให้มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงในกรณีที่กองกำลังของ อิสราเอลจู่โจมเรือให้ความช่วยเหลือกาซา โดยบอกว่าขอให้การสืบสวนนั้นเป็นไปอย่าง "ทันที, ไม่ลำเอียง, น่าเชื่อถือ และโปร่งใส" นอกจากนี้ยังได้ประณามการกระทำที่ทำให้นักกิจกรรมซึ่งเป็นพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 10 ราย จากการปฏิบัติการณ์ และจากเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าวทำให้นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล เบนจามิน เนธานยาฮู ยกเลิกการพบปะกับประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า นายกรัฐมนตรีตุรกี เรเซป เทย์ลิป กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ในสภาระบุว่าเป็น "การสังหารหมู่นองเลือด" บาร์บาร่า เพลทท์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีกล่าวว่า แถลงการณ์ของสหประชาชาติมาจากการประนีประนอมกันระหว่างตุรกีและสหรัฐฯ ซึ่งทางตุรกีมีท่าทีรั้งรอ ในการลดความรุนแรงของคำที่ใช้วิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ ลง ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรของอิสราเอลต้องการให้ปรับภาษาที่ใช้ ทางด้านว่าการเอกอัครราชฑูตประจำสหประชาชาติของอิสราเอล ค้ดค้านว่าปฏิบัติการของทหารเป็นไปเพื่อป้องกันตนเอง บอกว่า "ขบวนเรือเป็นอะไรอย่างอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มผู้ให้ความช่วยเหลือด้าน มนุษยธรรม" โดยบอกอีกว่ากลุ่มนักกิจกรรมบนเรือมีอาวุธจำพวกมีด, กระบอง และอื่น ๆ ในการทำร้ายเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้ามาในเรือมาวิ มาร์มารา ร.อ.อาเรีย ชาลิเกอร์ ของกองกำลังอิสราเอลผู้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการบอกว่าหน่วยคอมมานโดเริ่มปฏิบัติการโดยใช้ปืนเพนท์บอล โดยบอกว่าพวกเขาเข้าไปยังตัวเรือโดยมีอาวุธเพนท์บอลที่จะใช้ในการสลายประชาชนหากมีความรุนแรง และไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดความ รุนแรง นอกจากนี้ยังเล่าอีกว่าพอทหารจะสลายประชาชนก็มีการยิงโต้ ตอบมาจากอีกฝั่ง ทำให้ไม่มีทางอื่นนอกจากเปลี่ยนจากอาวุธเพนท์บอลเป็นอาวุธกระสุนจริง ที่มา: Israeli assault on Gaza-bound flotilla leaves at least 9 dead, CNN UN decries Israeli flotilla raid, Al Jazeera UN urges inquiry into Israel convoy raid, BBC สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||
ศาลนัดพร้อมคดีผอ.ประชาไทถูกฟ้องผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สืบพยาน ก.พ.54 Posted: 01 Jun 2010 09:45 AM PDT <!--break--> เมื่อวันที่ 31 พ.ค.53 เวลา 13.00 น. นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท (prachatai2.info) เดินทางไปยังศาลอาญา ถนนรัชดา ตามกำหนดการนัดพร้อม สอบคำให้การจำเลย ตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย กรณีที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากการโพสต์ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของผู้อ่านในเว็บบอร์ดของประชาไท ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จำเลยแถลงขอให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ศาลรับคำร้องและสอบคู่ความเกี่ยวกับพยานหลักฐาน ได้ข้อสรุปว่า โจทก์ประสงค์จะสืบพยาน 14 ปาก ขอนัดสืบ 4 นัด ขณะที่จำเลยประสงค์จะสืบพยาน 13 ปาก จะขอนัดสืบ 4 นัดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นายชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาผู้นั่งบัลลังก์ เห็นควรว่าน่าจะตัดออกไปบ้าง คัดเลือกพยานเฉพาะที่อยู่ในประเด็น สืบเพียง 2 นัดก็น่าจะเพียงพอ จะได้ไม่เสียเวลาทุกฝ่าย แต่ทนายจำเลยและจำเลยยืนยันว่าทุกปากมีความจำเป็น ผู้พิพากษาจึงขอให้ระบุในรายงานไว้ให้ชัดเจนว่าต้องสิ้นสุดภายใน 4 นัด หากพยานรายใดไม่มาให้เป็นอันตกไป ไม่มีการเลื่อนสืบ ทนายจำเลยยินยอมต่อข้อผูกมัดดังกล่าวแต่ขอให้ผู้พิพากษาระบุเงื่อนไขเช่นเดียวกันนี้กับฝ่ายโจทก์ แต่ผู้พิพิกษาไม่เห็นด้วย ท้ายที่สุดทนายจำเลยและจำเลยยังคงยืนยันอย่างแข็งขัน ศาลจึงไม่ระบุเงื่อนไขดังกล่าวทั้งสองฝ่าย และนัดสืบพยาน 4 นัดเท่ากัน โดยจะนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 4, 8, 9, 10 ก.พ.54 สืบพยานจำเลย 11, 15, 16, 17 ก.พ.54 เป็นการนัดพิจารณาคดีแบบต่อเนื่อง ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 6 มี.ค.52 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกจับกุมผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทที่สำนักงาน เนื่องจากพบว่ามีผู้อ่านโพสต์ข้อความในเว็บบอร์ดประชาไท 1 ข้อความ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และได้รับการประกันตัวในชั้นตำรวจ ต่อมาในวันที่ 7 เม.ย.52 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 9 ข้อหา โดยระบุถึง 9 ข้อความอันมีฐานความผิดเดียวกัน ซึ่งมีการโพสต์ระหว่างเดือน เม.ย.-ต.ค.52 อย่างไรก็ตาม ข้อความทั้ง 10 ข้อความถูกลบไปแล้วก่อนที่จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดี จากนั้นวันที่ 1 มิ.ย.52 พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนไปยังอัยการ จนกระทั่งวันที่ 31 มี.ค.53 พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจีรนุชเป็นจำเลยต่อศาลอาญา ในฐานความผิด เป็นผู้ให้บริการ จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำผิดโดยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและประชาชน, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้ว่าเป็นข้อมูลที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นความผิดตามมาตรา 14, 15 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||
พฤษภาอำมหิตกับองค์การนิรโทษกรรมสากล Posted: 01 Jun 2010 08:09 AM PDT <!--break--> คงไม่มีถ้อยคำใดที่จะเรียกขานเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงตั้งแต่ 12 มีนาคม จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 ที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรมแห่งชาติ ที่มีทั้งการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนเกียรติภูมิของชาติในสายตาของนานาอารยประเทศได้เหมาะสมเท่ากับคำว่า “พฤษภาอำมหิต” เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่มีผู้คนล้มตายถึง 89 ศพ บาดเจ็บเกือบสองพันราย และผู้ที่สูญหายอีกจำนวนหนึ่งซึ่งยังไม่ทราบจำนวนที่แท้จริง นอกจากชีวิตที่ต้องบาดเจ็บล้มตายลงแล้วยังมีการเผาอาคารห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ศาลากลางจังหวัด อาคารสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ฯลฯ สร้างความเดือดร้อนและเสียหายแก่ทั้งภาครัฐและประชาชนที่ต้องทำมาหากินและติดต่อราชการงานเมืองต่างๆเหลือคณานับ ความผิดพลาดต่างๆ ของแต่ละฝ่ายถูกโหมกระหน่ำจากฝ่ายตรงข้ามประหนึ่งว่าอีกฝ่ายหนึ่งมิใช่มนุษย์ร่วมโลกเดียวกัน จึงต้องทำลายลงเสียให้ย่อยยับ ฝ่ายรัฐบาลมุ่งเน้นไปที่การเยียวยาและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น แต่คนตาย คนบาดเจ็บที่มิใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารกลับไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร เพราะมองว่าพวกนี้คือศัตรูทั้งๆที่เป็นคนไทยร่วมชาติด้วยกันแท้ๆ มิหนำซ้ำยังฉวยโอกาสสั่งไล่ล่าจับกุมผู้คนอย่างเหวี่ยงแห มีการตั้งข้อหาผู้ก่อการร้ายแบบไม่เลือกหน้า หลังจากที่ใช้ผังล้มเจ้าฉบับขายหัวเราะแล้วไม่ได้ผล ไม่น่าเชื่อว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นธาตุแท้ของผู้คนในสังคมบางส่วนที่เห็นดีเห็นงามกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในใจกลางเมืองหลวง ไม่น่าเชื่อคนที่ปากก็พร่ำแต่การรักษาศีลภาวนากลับปลุกระดมให้รัฐเข้าใช้กำลังปราบปรามเอาชีวิตผู้คน ไม่น่าเชื่อผู้ที่มีอาชีพที่จะต้องรักษาชีวิตคนไข้กลับเรียกร้องให้ทำลายชีวิตผู้ที่คิดเห็นต่างจากตนเอง ในทำนองกลับกันผู้ที่ปากก็พร่ำว่าต่อสู้ด้วยความสันติอหิงสาแต่กลับมีการใช้ความรุนแรงเป็นระยะๆ จนท้ายที่สุดก็คือการเผาทำลายอาคารร้านค้าและสถานที่ราชการ แม้จะอ้างว่าเป็นการต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลที่ใช้กำลังเข้าปราบปราม ก็ไม่อาจยอมรับว่าเป็นการต่อสู้แบบสันติอหิงสาได้ ที่น่าเศร้าที่สุดแม้แต่ในเขตวัดวาอารามที่ถือเป็นเขตอภัยทานแต่กลับถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต จำนวน 6 ศพ 2 คนเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร และ 1 ในนั้นคือ น้องเกดพยาบาลอาสาผู้ยอมเสี่ยงชีวิตเข้าช่วยผู้อื่นจนตัวตาย ซึ่งรัฐบาลก็ออกมาปฏิเสธว่าเป็นฝีมือของโจรมิใช่เสียชีวิตจากฝีมือของเจ้าหน้าที่ทั้งๆที่มีพยานนับ สิบรายและรูปถ่ายยืนยันว่าทั้งหมดถูกยิงมาจากบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่น่าผิดหวังมากที่สุดอีกเช่นกันก็คือท่าทีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกลับออกมาแก้ต่างให้รัฐบาลว่าเหตุฆ่า 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม แค่ภาพทหารขึ้นไปยืนบนรางรถไฟฟ้า ยังบอกไม่ได้ว่าใครยิง ซึ่งพูดอีกก็ถูกอีก แต่ในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนนั้นไม่พูดประโยคนี้ยังจะดีเสียกว่า เช่น อาจพูดว่าเป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์หาความจริงต่อไป ฯลฯ มิใช่รีบออกมาปกป้องรัฐบาลเช่นนี้ แต่ก็เป็นที่น่าดีใจที่ทางองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ซึ่งเป็นองค์การเอกชนก่อตั้งขึ้นในกรุงลอนดอนในปี 2504 มีจุดประสงค์ ในการค้นคว้าและดำเนินการป้องกันและยุติการทำร้ายสิทธิมนุษยชน และเพื่อแสวงหาความยุติธรรมสำหรับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ ได้เข้ามาสืบสวนหาข้อเท็จจริงกรณี “พฤษภาอำมหิต” นี้แล้ว ซึ่งก็เชื่อว่าความจริงไม่น้อยก็มากจะต้องปรากฏขึ้น เพราะความน่าเชื่อถือขององค์การนิรโทษกรรมสากลนั้นเหนือกว่าคณะกรรมการสอบสวนที่รัฐบาลตั้งขึ้นอย่างแน่นอน ดังจะเห็นได้จากการที่คณะกรรมการสอบสวนของรัฐบาลคราวเมษายนคราวที่แล้วยังสรุปไม่ได้เลยว่าใครเป็นผู้ขับรถแก๊สไปจอดแถวแฟลตดินแดง การดำเนินการของขององค์การนิรโทษกรรมสากลซึ่งมีสมาชิกกว่า 2.2 ล้านคนนี้ ใช้วิธีรณรงค์เรียกร้องความเห็นพ้องจากมหาชนเพื่อใช้ในการเพิ่มความกดดันต่อบุคคลหรือองค์การที่ละเมิดสิทธิ ซึ่งองค์การนิรโทษกรรมสากลนี้มีผลงานมากมาย ที่เด่นๆ ก็คือ ในปี 2521 องค์การนิรโทษกรรมสากลได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพสำหรับ "การรณรงค์ต่อต้านการทรมาน" และรางวัลองค์การสหประชาชาติในสาขาสิทธิมนุษยชน (United Nations Prize in the Field of Human Rights) ในปี 2522 ล่าสุดก็คือรายงานประจำปี 2553: เกี่ยวกับสภาวะสิทธิมนุษยชนทั่วโลก (Amnesty International Report 2010: State of the World’s Human Rights) รวบรวมข้อมูลการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ และแน่นอนว่าผลการตรวจสอบที่มีขึ้นในเหตุการณ์ “พฤษภาอำมหิต”นี้ คงจะต้องปรากฏในรายงานประจำปีของปีต่อๆไปอย่างแน่นอน ในชั้นต้นนี้ เมื่อ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา นายเคลาดิโอ คอร์ดัน รักษาการเลขาธิการองค์การนิรโทษสากลได้กล่าวว่ากองทัพยิงใส่ผู้ชุมนุมอย่างไม่เลือกหน้า และมีบางกรณีที่เล็งเป้าหมายใส่ผู้ชุมนุมที่ไม่มีอาวุธ นอกจากนี้ยังไม่ทราบว่ามีผู้ชุมนุมจำนวนเท่าใดที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นทางการพร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้เปิดเผยว่ามีจำนวนคนเท่าใดกันแน่ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ ผมเชื่อว่าวิธีที่จะทำให้ความขัดแย้งไม่ขยายตัวรุนแรงออกไปมากกว่านี้ ก็คือการทำความจริงให้ปรากฏขึ้นให้ได้ ผู้คนจะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุขได้ แน่นอนว่าผู้คนในสังคมนั้นต้องอยู่อย่างเท่าเทียมกันใน ”ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” มิใช่ถูกมองอย่างหมิ่นแคลนจากเพื่อนร่วมชาติว่าถูกชักจูงหรือถูกซื้อเหมือนกับวัวควาย และถูกเอารัดเอาเปรียบในหยาดเหงื่อและแรงงานของเขาที่หล่อเลี้ยงความร่ำรวยให้แก่ผู้ที่ดูถูกเหยียดหยามเขาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มิหนำซ้ำยังยังถูกเลือกยิงเหมือนหมูหมากาไก่เสียอีก การทำความจริงให้ปรากฏพร้อมกับหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็น “ไอ้”หรือ”อี”ใด ไม่ว่าจะเป็น”นายกรัฐมนตรี” “รองนายกรัฐมนตรี” “อดีตนายกรัฐมนตรี”หรือ”แกนนำเสื้อแดง” คนใดที่มีส่วนทำให้การการบาดเจ็บล้มตายและความเสียหายแก่ทรัพย์สินและเศรษฐกิจของประเทศอันมีมูลค่ามหาศาล จะต้องถูกนำตัวมาลงโทษ จึงจะนำความสงบสุขที่แท้จริงมาสู่ประเทศของเราได้ สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||
อสังหาริมทรัพย์เพื่อนบ้านกำลังเติบโตใหญ่ Posted: 01 Jun 2010 07:51 AM PDT <!--break--> อสังหาริมทรัพย์ในประเทศเพื่อนบ้านกำลังไปได้ด้วยดี ในขณะที่ของไทยอาจจะยังไม่ “พ้นพงหนาม” เนื่องจากปัจจัยทางการเมือง ทั้งนี้เป็นรายงานจากการเข้าประชุมนานาชาติ FIABCI ในช่วงวันที่ 26-28 พฤษภาคม ศกนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ไปร่วมประชุมสมาคมอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ ซึ่งมีชื่อย่อในภาษาฝรั่งเศสว่า FIABCI ณ เมืองบาหลี ได้พบปะกับผู้เกี่ยวข้องในวงการ รวมทั้งได้รับข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้องในการประชุมเกี่ยวกับตลาด อสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคนี้ จึงได้สรุปเป็น AREA แถลงฉบับที่ 31/2553 นี้
จาการ์ตา กรุงจาการ์ตาก็คล้ายกับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คือมีเมืองบริวารซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของมหานครจาการ์ตาอีก 5 เมืองรวมประชากรเกือบ 10 ล้านคน ที่ผ่านมาการพัฒนาที่อยู่อาศัยราคาถูกยังมีไม่มากนัก เพราะความสามารถในการซื้อของประชาชนยังค่อนข้างจำกัด และเทคโนโลยีการก่อสร้างยังไม่ทันสมัยเท่าของไทย โดยเฉพาะเทียบกับกลุ่มพฤกษาเรียลเอสเตท ที่มีเทคโนโลยีดังกล่าว อย่างไรก็ตามการพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงจาการ์ตาในปัจจุบันขยาย ตัวเป็นอย่างมาก โดยสังเกตได้จากการพัฒนาอาคารสำนักงานใหม่ ๆ ในกรุงจาการ์ตาจำนวนมาก แตกต่างจากไทยที่มีการพัฒนาอาคารใหม่ ๆ ไม่มากนักในปัจจุบัน ในเมืองบริวารยังมีการสร้าง “เมืองใหม่” หรือโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในย่านชานเมือง รวมทั้งการสร้างศูนย์ธุรกิจขนาดใหญ่ใจกลางเมืองบริวารต่าง ๆ เช่น เมืองบริวารที่ชื่อว่าเบอร์กาซี ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงจาการ์ตา
บาหลี บาหลีที่บอบช้ำจากระเบิดสังหารนักท่องเที่ยวไปมากมายในปี พ.ศ. 2545 และ 2548 กำลังเป็นคู่แข่งของไทย แต่เดิมบาหลีมีนักท่องเที่ยวเพียงปีละไม่ถึง 2 ล้านคน ในขณะที่ภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวถึง 4 ล้านคน แต่ขณะนี้กำลังเปลี่ยนแปลง บาหลีมีชาวต่างประเทศไปเยือนมากกว่ากรุงมะนิลา ซึ่งมีผู้ไปเยือนประมาณ 0.7 ล้านคนต่อปีเท่านั้น บาหลีมีสายการบินที่บินตรงจากทั่วโลก และยังมีแผนที่จะสร้างสนามบินแห่งใหม่ทางด้านเหนือของเกาะอีกด้วย โรงแรมในบาหลีมีส่วนแบ่งถึง 22% ของโรงแรมทั่วประเทศอินโดนีเซีย จึงถือเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากที่สุดในบาหลี นอกจากนั้นในขณะนี้บาหลียังกำลังขยายตัวในอสังหาริมทรัพย์เชิงพัก ผ่อนในรูปแบบการขายบ้านพักตากอากาศในแนวราบเช่นที่พบเห็นตามเนิน เขาต่าง ๆ รอบเกาะภูเก็ตเช่นกัน ไม่แน่ว่าอุตสาหกรรมสร้างบ้านตากาอากศขายจะมุ่งสู่บาหลีแทนที่ ภูเก็ตหรือไม่ ปีนัง เมื่อ 50 ปีที่แล้ว อาจถือเป็นศูนย์กลางการเรียนแห่งหนึ่งสำหรับลูกหลานชาวจีนในประเทศไทย แต่ภายหลังได้เสื่อมความนิยมไปบ้าง ปีนังเป็นเมืองท่าสำคัญทางเหนือของมาเลเซีย มีชาวจีนอาศัยอยู่มากกว่าชาวมาเลย์ ปีนังในทุกวันนี้เน้นการพัฒนา อาคารสูง จนดูคล้ายฮ่องกงขนาดเล็ก นับตั้งแต่ปี 2545-2552 ราคาบ้านในมาเลเซียเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด และไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามอัตราผลตอบแทนในการลงทุนของปีนังเป็นเพียง 5% ต่อปี หากมีโอกาสไปดูงาน ปีนังนับเป็นแหล่งที่น่าสนใจในการดูงานทั้งอสังหาริมทรัพย์ประเภท สำนักงาน อาคารชุดพักอาศัยและบ้านแนวราบ คณะกรรมการสมาคม FIABCI ประจำปีนัง ซึ่งเคยมาดูงานที่ ดร.โสภณ จัดขึ้น ฝากแจ้งข่าวว่ายินดีต้อนรับคณะอสังหาริมทรัพย์จากไทยไปดูงานเป็น อย่างยิ่ง มะนิลา กล่าวได้ว่า ฟิลิปปินส์เลียนแบบไทยในการพัฒนากองทุนหมู่บ้าน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับตำบลทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในกรุงมะนิลาก็มีการก่อสร้างสาธารณูปโภคกันอย่างขนานใหญ่ รวมทั้งการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเอาที่ดินของรัฐโดยเฉพาะเขตทหารเดิมมาก่อสร้างในเชิงพาณิชย์ เพื่อการส่งเสริมการลงทุนในท้องถิ่น ผลที่ตามมาก็คือ มีการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ทั้งที่อยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และอื่น ๆ กันขนานใหญ่ จำนวนหน่วยที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉลี่ยไตรมาสละ 25,000 หน่วย และราว 20,000 หน่วยเป็นที่อยู่อาศัย หลังจากการเลือกตั้งใหญ่ที่รัฐบาลปัจจุบันสามารถกุมเสียงข้างมาก ประเทศฟิลิปปินส์ก็มีความมั่นคงยิ่งขึ้น ในสมัยนางอาโรโยเป็นประธานาธิบดีก็ได้สร้างการเมืองที่เข้มแข็ง ทำให้ประเทศได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผู้นำในวงการอสังหาริมทรัพย์ในกรุงมะนิลายังให้ความเห็นว่านครมา กาตี ซึ่งเป็นนครเศรษฐกิจหลักในกรุงมะนิลา ยังถือเป็นเป้าหมายในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะ อาคารชุดพักอาศัยใจกลางเมือง สิงคโปร์ รัฐบาลสิงคโปร์สร้างที่อยู่อาศัยถึง 80% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมดในสิงคโปร์ ในขณะที่การเคหะแห่งชาติของไทยมีส่วนแบ่งในตลาดไม่ถึง 1% ดังนั้นประเด็นที่พึงพิจารณาสำหรับสิงคโปร์คงเป็นอสังหาริทรัพย์ เชิงพาณิชย์ ที่มีลูกค้าสำคัญคือนักลงทุนจากต่างประเทศ อาจกล่าวได้ว่าอสังหาริมทรัพย์สิงคโปร์ขึ้นกับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ที่ขึ้นกับประชาชนในท้องถิ่น เป็นหลัก ตลาดอาคารสำนักงานสิงคโปร์มีค่าเช่าเฉลี่ยประมาณ 2,100 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน แต่ก็ยังน้อยกว่าฮ่องกงและโตเกียวที่ค่าเช่าอาคารสำนักงานชั้นดี เป็นเงิน 4,500 และ 6,000 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือนตามลำดับ ในขณะที่ของไทยตกเป็นเงินเพียงตารางเมตรละ 500-800 บาท รัฐบาลได้จัดสรรที่ดินริมทะเลมาให้เอกชนประมูลไปสร้างอาคารสำนัก งานใหม่ ๆ ทำให้อุปทานเพิ่มขึ้นมาก แต่ก็มีนักลงทุนจากต่างประเทศย้ายสำนักงานเข้าไปในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น เช่นกัน อาจกล่าวได้ว่าอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเพื่อนบ้านกำลังเติบโตเข้า สู่นิมิตหมายใหม่ตามศักราชใหม่ ทั้งผิลิปปินส์และอินโดนีเซียก็มีการเลือกตั้งใหม่ ได้รัฐบาลเสียงข้างมากที่เข้มแข็ง ส่วนรัฐบาลในมาเลเซียและสิงคโปร์ก็เข้มแข็งมากอยู่แล้ว ดังนั้นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงไม่ต้องพะวงกับประเด็นทางการ เมืองเช่นในประเทศ ผู้แถลง: สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||
ประเทศไทยจะหลีกพ้นวังวนจลาจลครั้งใหม่ได้อย่างไร? Posted: 01 Jun 2010 07:39 AM PDT <!--break--> ภัควดี ไม่มีนามสกุล
สถิติที่น่าหดหู่ใจที่สุดในสัปดาห์นี้ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจากแหล่งข่าวในรัฐบาลไทยที่ไม่ระบุชื่อคนหนึ่ง ซึ่งอ้างไว้ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post แหล่งข่าวผู้นี้เปิดเผยว่า กองทัพยินดีที่จะฆ่า “ประชาชนระหว่าง 200-300 คน” และทำให้บาดเจ็บ “หลายพันคน” ในปฏิบัติการกระชับพื้นที่สัปดาห์ที่แล้ว เพื่อสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในย่านการค้าของกรุงเทพฯ หากเปรียบเทียบกับตัวเลขประเมินนี้ ตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงในวันที่ 19 พฤษภาคม กล่าวคือ เสียชีวิต 15 ศพ บาดเจ็บหลายร้อยคน ดูเหมือนเกือบจะน่าพอใจ แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการจากการปะทะและการโจมตีด้วยระเบิดทั้งหมดนับตั้งแต่วันที่ 10 เมษายนเป็นต้นมา เมื่อกองทัพปฏิบัติการอย่างมักง่ายและไร้ประสิทธิภาพในการสลายฐานการชุมนุมอีกแห่งหนึ่งของคนเสื้อแดงในย่านเมืองเก่าของกรุงเทพฯ เมื่อรวมกันแล้วก็ไม่ใช่ตัวเลขที่ควรเป็นเหตุให้ฉลองชัยเลยแม้แต่น้อย เพราะมีผู้เสียชีวิตถึง 85 คน และบาดเจ็บถึง 1,402 ราย (คลิปวิดีโอเกี่ยวกับการประท้วง http://www.time.com/time/video/player/0,32068,86413453001_1990167,00.html) คนไทยจำนวนมากเปรียบเทียบเหตุการณ์ครั้งนี้กับเหตุการณ์ “พฤษภาเลือด” พ.ศ. 2535 ซึ่งครั้งนั้นกองทหารสาดกระสุนใส่ผู้ประท้วงชาวกรุงเทพฯ ในตอนนั้นมีผู้เสียชีวิต 48 คน เป็นไปได้ว่าอาจมีมากกว่านั้น (ตัวเลขยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่) แต่อันที่จริง มีตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้อีกตัวอย่างหนึ่งที่กองทัพไทยฆ่าพลเมืองในประเทศของตนเอง และเป็นตัวอย่างที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะพึงสังวรไว้เมื่อเขาพยายามจะเยียวยาประเทศที่แตกเป็นเสี่ยงๆ มันเป็นความรุนแรงที่เริ่มต้นด้วยการประท้วง ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ประชาชนหลายร้อยคนรวมตัวกันหน้าสถานีตำรวจอำเภอตากใบในจังหวัดนราธิวาส เพื่อประท้วงการจับกุมตัวชาวบ้านไปหกคน ประเทศไทยมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธพูดภาษาไทย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นชาวมุสลิมพูดภาษามลายู ซึ่งมีความคับข้องใจต่อการปกครองจากกรุงเทพฯ อันห่างไกลมาเนิ่นนานกว่าศตวรรษ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 การปล้นค่ายทหารใน จ.นราธิวาส จุดชนวนให้เกิดการแข็งข้อต่อรัฐบาลไปทั่วพื้นที่ในภูมิภาคนั้น เหตุการณ์ที่ตากใบเลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประท้วงขว้างก้อนหินและมีรายงานว่าพยายามบุกเข้าไปในสถานีตำรวจ ตำรวจและทหารเปิดฉากยิง สังหารประชาชนไป 7 คน จากนั้นก็จับกุมตัวผู้ประท้วงหลายร้อยคน ส่วนใหญ่เป็นชายมุสลิมที่ยังหนุ่ม พวกเขาถูกจับมัดมือไพล่หลัง แล้วถูกโยนเข้าไปสุมทับกันถึงห้าหกชั้นในรถบรรทุกทหาร มีผู้เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจหรือถูกทับจนตายถึง 78 คน ถึงแม้มีกลุ่มกบฏหลายกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลที่กรุงเทพฯ โดยใช้ความรุนแรงมาหลายสิบปีแล้วก็ตาม แต่เหตุการณ์ที่ตากใบจุดชนวนให้เกิดนักสู้รุ่นใหม่ที่น่าจะเหี้ยมเกรียมยิ่งกว่าเดิม คลิปแสดงความโหดร้ายของทหารที่ทุบตีและเตะผู้ประท้วง แล้วโยนพวกเขาเข้าไปในรถบรรทุก ถูกทางการสั่งห้ามเผยแพร่ทันที แต่ยังคงแพร่หลายอย่างลับๆ ตามบ้านเรือนของผู้คนในภาคใต้ หกปีหลังจากนั้น ความขัดแย้งที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 4,100 ราย เกือบทั้งหมดเป็นพลเรือน เหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้นภายใต้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งนโยบายโหดร้ายของเขากระตุ้นให้เกิดความไม่สงบในภาคใต้ (ในวันพุธที่ผ่านมา ศาลในกรุงเทพฯ ออกหมายจับทักษิณด้วยข้อหาก่อการร้าย โดยกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังการต่อต้านรัฐบาลด้วยความรุนแรงของฝ่ายเสื้อแดง) แต่มันน่าจะเป็นบทเรียนสอนใจผู้นำคนปัจจุบันของประเทศไทยด้วยเช่นกัน การล้อมปราบที่ราชประสงค์จะผลักให้คนเสื้อแดงหันไปใช้ความรุนแรงแบบเดียวกับที่ตากใบกระตุ้นให้เกิดผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้หรือไม่? ฐานที่มั่นของคนเสื้อแดงในภาคเหนือและภาคอีสานจะกลายเป็นเขตห้ามเข้าสำหรับทหารและเจ้าหน้าที่รัฐบาล เช่นเดียวกับที่เป็นอยู่แล้วในหลาย ๆ เขตในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่? หลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งล่าสุดในกรุงเทพฯคราวนี้ ความเป็นไปได้ทั้งสองประการดูเหมือนไม่ไกลจนเกินเอื้อม การเมืองแตกเป็นขั้ว และเห็นได้ชัดว่าทั้งสองฝ่ายต่างเต็มใจที่จะใช้กำลัง จนคนไทยจำนวนมากหวาดเกรงว่า พื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศของตนอาจกลายเป็น “เหมือนภาคใต้” นอกจากนี้ ยังมีภาพเทียบเคียงได้อีกประการหนึ่ง ข้อหนึ่งในแผนการปรองดองของนายอภิสิทธิ์หลังเหตุการณ์นองเลือดที่ราชประสงค์ก็คือ การตั้งสิ่งที่รัฐบาลของเขาเรียกว่า “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง” เพื่อสอบสวนความรุนแรงที่เกิดขึ้น นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะความยุติธรรมคือการเยียวยาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด อันเป็นสิ่งที่อภิสิทธิ์เองก็ยอมรับเมื่อหกเดือนที่ผ่านมาในการปราศรัยเกี่ยวกับความไม่สงบในภาคใต้ “การมีกองกำลังรักษาความสงบอยู่ในพื้นที่มากมายไม่ใช่คำตอบเดียวในการแก้ไขความขัดแย้ง” เขากล่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว “เราเชื่อในการพัฒนาและระบบยุติธรรมที่ไม่ลำเอียง” แต่ความยุติธรรมที่ลำเอียง ซึ่งที่แท้แล้วก็คือการไม่มีความยุติธรรมเลย ย่อมไม่ช่วยเยียวยาอะไรได้ มันรังแต่จะเป็นยาพิษ ประเด็นนี้ยิ่งเป็นความจริง เมื่อหน่วยงานหลักในการรักษากฎหมาย ทั้งทหารและตำรวจ ต่างอยู่เหนือกฎหมายเสียเอง ลองพิจารณากรณีตากใบอีกสักครั้ง เมื่อปีที่แล้วนี้เอง ในวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ศาลจังหวัดได้วินิจฉัยว่า ทหารและตำรวจไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ต่อความตายของผู้ประท้วง ทันทีที่มีคำตัดสินของศาลออกมา คาดหมายได้เลยว่าจะต้องมีความรุนแรงตามมาอีกเป็นระลอก ทั้งจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชาวมุสลิมและกลุ่มชาวพุทธที่ติดอาวุธ ไม่ถึงสองสัปดาห์ถัดมา ความรุนแรงก็มาปะทุด้วยการสังหารหมู่ชาวมุสลิมที่กำลังละหมาดถึง 11 คนในมัสยิดอัลฟุรกอนในจังหวัดนราธิวาส (หมู่บ้านไอปาแย อ.เจาะไอร้อง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552 แต่ตามข่าวของไทยบอกว่ามีผู้เสียชีวิต 10 คน อาจมีผู้เสียชีวิตเพิ่มในภายหลัง—ผู้แปล) ซึ่งถือเป็นการสังหารหมู่ที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในภาคใต้ การสอบสวนของตำรวจชี้ให้เห็นว่า กองกำลังติดอาวุธที่สนับสนุนรัฐบาลอาจมีส่วนพัวพันกับการโจมตีครั้งนี้ ด้วยการให้คำมั่นสัญญาถึง “ความยุติธรรมที่ไม่ลำเอียง” แต่นั่งเป็นประธานเหนือความรุนแรงครั้งต่อมาเสียเอง อภิสิทธิ์จึงสูญเสียพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไป หากปล่อยให้การปะทะที่ก่อให้เกิดความสูญเสียครั้งล่าสุดในกรุงเทพฯ ผ่านไปโดยปราศจากการสอบสวนอย่างเต็มที่และเที่ยงตรงไม่ลำเอียงแล้วไซร้ เกรงว่าอภิสิทธิ์อาจสูญเสียพื้นที่ที่เหลือในประเทศนี้ไปด้วย นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศไทยและสากล รวมทั้งองค์กร Human Rights Watch ในนิวยอร์ก ต่างออกมาเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนอิสระเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ ที่ยังเป็นข้อโต้แย้งกันอย่างหนัก ซึ่งรวมถึงการใช้อาวุธร้ายแรงทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายเสื้อแดงที่ติดอาวุธด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามเป็นการส่วนตัวแล้ว นักสิทธิมนุษยชนต่างยอมรับว่า การสอบสวนแบบนี้คงไม่คืบหน้าไปไหน ตอนนี้อภิสิทธิ์ตกอยู่ในสมรภูมิสองด้าน ด้านหนึ่งคือผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกด้านหนึ่งคือฝ่ายเสื้อแดงในภาคเหนือและภาคอีสาน ในทั้งสองสมรภูมินี้ อภิสิทธิ์พึ่งพิงแต่กำลังทหารกองทัพไทยอันทรงอำนาจเพียงอย่างเดียว นั่นคือเหตุผลที่เขาอาจไม่กล้าขัดใจนายทหารระดับสูงด้วยการสอบสวนปฏิบัติการของทหาร นี่คือความผิดพลาด “การสอบสวนอย่างน่าเชื่อถือจะช่วยให้ประเทศไทยกลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันได้” คือคำพูดของสุนัย ผาสุก นักวิจัยขององค์กร Human Rights Watch ในนิวยอร์ก “ไม่มีความยุติธรรมและการรับผิด ก็ไม่มีทางเกิดการปรองดอง” (ดูรูปหลังสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง http://www.time.com/time/photogallery/0,29307,1990882_2141116,00.html) นี่คือตัวเลขนับศพอีกตัวเลขหนึ่ง: 19 ศพ นี่คือจำนวนชีวิตที่สังเวยในความขัดแย้งภาคใต้ที่จังหวัดนราธิวาส ยะลาและปัตตานี นับจากวันที่ 10 เมษายน ถึง 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวนผู้เสียชีวิตในกรุงเทพฯ มีมากกว่านั้น 4 เท่า แต่ก็เป็นจำนวนที่เกิดขึ้นในช่วง 6 สัปดาห์อันคุกรุ่น ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยล้มตายไปหลายพันคนตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ในเมื่อรัฐบาลในกรุงเทพฯ อันแสนห่างไกลต้องมัวพะวงอยู่กับความอยู่รอดทางการเมืองของตัวเอง ประชาชนคงต้องตายกันอีกมากในหลายปีข้างหน้านี้
หมายเหตุผู้แปล: หลังจากที่เรามีวัน “วีรชน 14 ตุลา” “พฤษภาเลือด” และคงมี “พฤษภาอำมหิต” เราน่าจะมีคำเรียกเหตุการณ์ที่ตากใบ เพื่อระลึกถึงผู้คนจำนวนมากที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นั้น ซึ่งก็เป็นราษฎรที่อาศัยอยู่ “ใต้ฟ้าเดียวกัน” กับพวกเราทุกคน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||
สรุปข่าวพม่ารอบสัปดาห์ (25-31 พ.ค. 53) Posted: 01 Jun 2010 06:43 AM PDT อาเซียน – อียูร้องพม่าจัดการเลือกตั้งโปร่งใส - 5 ชนกลุ่มน้อยผนึกกำลัง เตรียมรับมือกองทัพพม่า - บริษัทใกล้ชิดรัฐบาลพม่าตัดไม้ในเขตป่าสงวนส่งขาย - ตำรวจบังกลาเทศทำลายที่พักผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยา - ทหารพม่ายิงเด็กชายขัดขืนเป็นทหาร <!--break--> 27 พ.ค.53 ในแถลงการณ์ยังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าเจรจากับนานาชาติมากขึ้น นอกจากนี้ อียูและอาเซียนเห็นด้วยที่จะยังใช้แนวทางเจรจากับรัฐบาลพม่า และการช่วยเหลือพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจในพม่า ขณะที่นักวิเคราะห์เรียกร้องให้อียูและอาเซียนควรจะดำเนินการเรื่องพม่าให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่ออกมาเรียกร้องเพียงอย่างเดียว (Irrawaddy) 28 พ.ค. 53 การประชุมในครั้งนี้ได้ ซึ่งจัดขึ้นตรงบริเวณชายแดนไทย – พม่าแห่งหนึ่ง ขณะที่กองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army-UWSA) และกองกำลังรัฐฉานภาคเหนือ (Shan State Army-North- SSA -N) ไม่สามารถเข้าร่วม ทั้งนี้ จะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้งในเร็วๆ นี้ เพื่อให้กลุ่มติดอาวุธกลุ่มอื่นสามารถเข้าร่วมประชุมด้วย นอกจากนี้ กลุ่มหยุดยิงและกลุ่มติดอาวุธที่ยังไม่หยุดยิงกับรัฐบาลพม่ามีแผนจะจะตั้งกองกำลังร่วมกันในอนาคต (Mizzima) บริษัทใกล้ชิดรัฐบาลพม่าตัดไม้ในเขตป่าสงวนส่งขาย โดยบริษัททูได้ส่งไม้สักไปขายยังมาเลเซีย สิงคโปร์และอินเดีย ขณะที่ไม้พันธุ์ชนิดอื่นๆ จะถูกส่งออกไปยังบังกลาเทศที่มีชายแดนติดกับ รัฐอาระกัน ทั้งนี้ บริษัททูได้รับสัมปทานไม้ในเขตป่าสงวนมายูตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่นักธุรกิจชาวอาระกันในท้องถิ่นเปิดเผยว่า รัฐบาลไม่ได้เปิดให้นักธุรกิจรายอื่นยื่นประมูล แต่ถึงแม้รัฐบาลจะเปิดให้มีการประมูลก็เชื่อว่า นักธุรกิจในพื้นที่ไม่สามารถแข่งขันกับบริษัททูได้เพราะมีความ ใกล้ชิดกับผู้นำพม่า (Narinjara)
มีรายงาน เช่นเดียวกันว่า ผู้ลี้ภัยจำนวนมากไม่กล้าออกไปรับจ้างหางานทำนอกค่าย เนื่องจากหวั่นเจ้าหน้าที่ตำรวจบังกลาเทศจับกุม เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 24 ที่ผ่านมา ทางการบังกลาเทศเริ่มใช้มาตรการกวาดล้างชาวโรฮิงยาอย่างเข้ม งวด โดยจนถึงขณะนี้มีผู้ลี้ภัยถูกจับแล้วจำนวนกว่า 100 คน (Kaladan) ทางการพม่าได้มอบเงินให้กับพ่อแม่ของติ่นมินหน่ายเป็นค่าทำขวัญจำนวน 5 แสนจั๊ต (16,722 บาท) และกำชับว่าห้ามนำเรื่องดังกล่าวไปร้องเรียนอีก โดยสัญญาว่าจะนำตัวนายทหารที่ก่อเหตุมาลงโทษให้ได้ ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ยูเอ็นได้ออกมาเปิดเผยว่า กองทัพพม่ายังคงเดินหน้าเกณฑ์เด็กชายเข้า กองทัพ (DVB) สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||
ฮิวแมนไรทส์วอช-มสพ. ห่วงแรงงานข้ามชาติถูกเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ Posted: 01 Jun 2010 04:09 AM PDT ฮิวแมนไรทส์วอช และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ออกแถลงการณ์ร่วมต่อผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นแห่งองค์การสหประชาชาติ ห่วงสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ รัฐบาลยังขาดแผนปกป้องสิทธิ ซ้ำถูกเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ถูกจำกัดการเข้าถึงบริการสุขภาพ <!--break--> วันนี้ (1 มิ.ย.) ฮิวแมนไรทส์วอช (HRW) และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ร่วมกันออก "แถลงการณ์ด้วยวาจา" ต่อผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นแห่งองค์การสหประชาชาติ แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ ที่รัฐบาลไทยยังขาดแผนปกป้องสิทธิ แรงงานข้ามชาติถูกพิจารณาเป็นพลเมืองชั้นสอง ถูกเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ถูกจำกัดการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยรายละเอียดข้อถ้อยแถลงมีดังนี้
000 ฮิวแมนไรทส์วอช ท่านประธาน ฮิวแมนไรทส์วอช และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (ประเทศไทย) ขอขอบคุณท่านผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นแห่งองค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับรายงานที่แสดงถึงสถานการณ์อันเลวร้ายของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย มีแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยประมาณ 2-3 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า รองลงมาคือแรงงานข้ามชาติจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและกัมพูชา แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ต้องทำงานที่เสี่ยงอันตรายและได้รับอัตราค่าจ้างต่ำ มีส่วนทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเติบโตร้อยละ 6-7 อีกทั้งยังคิดเป็นแรงงานร้อยละ 5-10 ในตลาดแรงงานของประเทศไทย สิ่งที่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ต้องเผชิญอยู่ เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลมุ่งเน้นเรื่องความมั่นคงของประเทศและความจำเป็นทางเศรษฐกิจมากกว่าการเคารพสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยยังคงขาดแผนระยะยาวที่จะผสานแรงงานข้ามชาติให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมหรือปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของคนเหล่านี้ การให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิในการพักอาศัยและสุขภาพ อันเป็นสิ่งที่ได้รับการส่งเสริมอยู่ในรายงานของผู้รายงานพิเศษก็ยังคงเป็นสิ่งที่ห่างไกลความเป็นจริง นโยบายที่ส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นเพียงคำมั่นสัญญา แต่แรงงานข้ามชาติเองก็ยังคงถูกพิจารณาเป็นพลเมืองชั้นสองและถูกเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ และถูกจำกัดการเข้าถึงบริการเหล่านี้ในทางความเป็นจริง ในปี 2546 ประเทศไทยและประเทศพม่าได้ตกลงที่จะดำเนินการเรื่อง “พิสูจน์สัญชาติ” เพื่อให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่เดินทางเข้าประเทศไทยอย่าง “ผิดกฎหมาย” ต้องเดินทางกลับสู่ประเทศพม่าเพื่อพิสูจน์สัญชาติ หลังจากนั้นแรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราวที่จะทำให้พวกเขาสามารถทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย นโยบายที่ดูเป็นสิ่งที่ดีในการจัดการกับการย้ายถิ่นที่ผิดปกตินี้ ได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2552 โดยไม่ได้มีการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง แต่กลับเป็นการคุกคามแรงงานข้ามชาติโดยการส่งกลับครั้งใหญ่ซึ่งเริ่มมีปรากฏให้เห็นได้ชัดขึ้น อีกทั้ง การพิสูจน์สัญชาตินี้อนุญาตให้เฉพาะแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนแล้วเท่านั้นที่ได้รับสิทธิในการพิสูจน์สัญชาติ และนายหน้าที่ไม่ได้รับการควบคุมยังคงเรียกเก็บค่าบริการที่สูงลิ่ว ฮิวแมนไรทส์วอชขอชมเชยผู้รายงานพิเศษที่เข้ามาตรวจสอบในประเด็นนี้และขอให้ท่านดูแลการดำเนินการต่างๆ ตามนโยบายนี้อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาแรงงานข้ามชาติยังคงเผชิญหน้ากับการถูกแสวงหาประโยชน์จากการทำงานโดยนายจ้างอย่างต่อเนื่องและการกลไกด้านการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิแรงงานอย่างเป็นมีประสิทธิภาพ สภาพการทำงานที่เสี่ยงอันตราย การถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพด้านการเดินทางและการรวมกลุ่มอย่างรุนแรง และการตกเป็นเป้าหมายของการจับกุมและการกรรโชกทรัพย์โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่กรมการขนส่งเคยให้สัญญาไว้ว่าจะอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำใบขับขี่ได้ (ถึงแม้ว่าในขณะนี้พวกเขาจะสามารถเป็นเจ้าของได้อย่างถูกต้องก็ตาม) ฮิวแมนไรทส์วอชได้แถลงในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเมื่อปีที่แล้วเรื่องการให้การดูแลแรงงานข้ามชาติที่ทุพพลภาพจากอุบัติเหตุจากการทำงาน ถึงแม้ว่าจะมีหนังสือโต้ตอบในเรื่องนี้ระหว่างผู้รายงานพิเศษและประเทศไทย และมีรายงานของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่สรุปว่าประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศภาคีได้ละเมิดอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 19 แรงงานข้ามชาติยังคงถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงกองทุนเงินทดแทนและถูกกีดกันไม่ให้ได้รับการจดทะเบียนคนพิการและได้รับบริการเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพจากการประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน การเลือกปฏิบัติดังกล่าวถือเป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบและขัดกับหน้าที่ของประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนที่จะต้องไม่เลือกปฏิบัติและต้องเคารพสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ท่านประธาน เราทราบว่าผู้รายงานพิเศษยังไม่ได้รับการตอบรับในการขอเดินทางมาประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ฮิวแมนไรทส์วอชขอสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการเดินทางมาประเทศไทยของท่าน อันเป็นการสนับสนุนอย่างสร้างสรรค์ให้กับประเทศไทยในความพยายามที่จะยึดมั่นในกติการะหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติและเป็นการเคารพต่อหน้าที่ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||
สสส.ร่วมองค์กรสิทธิฯ เผยขบวนการหักหัวคิว "กองทุนสุขภาพ" คนไร้สถานะ Posted: 01 Jun 2010 03:21 AM PDT สสส. ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน จัดเวทีสร้างการมีส่วนร่วมการทำ งานกองทุน “คืนสิทธิ” พื้นฐานด้านสุขภาพ แก่ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล เผย มีกลุ่มชาติพันธุ์รู้เรื่องสิทธิของตนไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากรัฐอ่อนซ้อมสื่อสารประชาชน แฉขบวนการเหลือบสังคมอาศัยช่องทาง รวยเก็บค่าหัวคิวขึ้นทะเบียน ชี้ทาง 4 ข้อเสนอแก้ปมกองทุน <!--break--> เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 31 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมสหกรณ์การเกษตร ต.สันป่าข่อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง (คชส.) ร่วมกับ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คพรส.) ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเวทีต่อเนื่อง "การสร้างการมีส่วนร่วมทำงานกองทุนการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณะสุขกับบุคลที่มีปัญหาสถานะ" นางชุติมา มอแลกู่ นายกสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) จากการลงสอบถามข้อมูลในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงรายพบว่า มีผู้นำชุมชนและประชาชนไม่รู้ ไม่เข้าใจถึงประเด็นเรื่อง "กองทุนการให้สิทธิด้านสาธารณะขั้นพื้นฐานแก่พี่น้องที่มีปัญหาเรื่องสถานะ" "บางหมู่บ้านผู้นำรู้แต่ไม่ชัดในรายละเอียดจึงไม่สามารถที่จะนำเสนอประเด็นในเรื่องสิทธิต่างๆ ได้ถูกต้องครอบคลุมซึ่งถ้าเมื่อ เทียบเป็นอัตราส่วนในพื้นที่พบว่ามีพี่น้องชนเผ่าที่ทราบถึง ประเด็นดังกล่าวได้เพียงร้อยละ 5 เท่านั้นซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก" นางชุติมา กล่าว นางชุติมากล่าวต่อไปว่า ซึ่งเท่าที่สอบถามพี่น้องพบว่าไม่มีใครบอกเนื่องจากมีการประชาสัมพันธ์และการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ทั่วถึงซึ่งอาจสืบเนื่องมาจากทางองค์กรหรือหน่วยงานด้านสุขภาพของรัฐในบางพื้นที่ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์หรือเผยแพร่ข้อมูลตรง ส่วนนี้ และขาดความชัดเจนในการปฏิบัติเพราะพบว่าบางพื้นที่ให้พี่น้องได้ ขึ้นทะเบียนใช้สิทธิแต่บางพื้นที่กลับไม่ให้ขึ้น นางชุติมายังกล่าวอีกว่าจาการลงพื้นที่ยังพบว่ามีการเรียกเก็บค่าหัวคิวในการขึ้นทะเบียนใช้สิทธิจากของกองทุนคืนสิทธิ์ โดยพนักงานของรัฐและผู้นำชุมชนบางพื้นที่โดยจะเรียกเก็บประมาณหัวละ 5 พันซึ่งพบว่ามีทั้งพี่น้องที่มีสิทธ์และไม่ มีสิทธิ์ยอมเสียเงินจำนวนนี้เพื่อแลกกับการได้เข้าถึงบริการด้าน สุขภาพของภาครัฐทั้งที่ข้อเท็จจริงยังมีพี่น้องที่ยังไม่มีสิทธิ ในกองทุนอยู่ซึ่งปรากฏการณ์ในลักษณะดังกล่าวถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ ดีอย่างยิ่งเป็นเหมือนการหาช่องทางทำมาหากินบนความไม่รู้ของ เพื่อนมนุษย์ ตามจริงแล้วกองทุนดังกล่าวไม่ควรจำกัดเลขบัตรประจำตัวของ พี่น้องในการให้สิทธิเพื่อเข้าถึงการบริการสุขภาพแต่ควรให้สิทธิกับ ทุกคนเพราะอย่างไรทางภาครัฐก็มีข้อมูลของพี่น้องเหล่านี้อยู่แล้ว ซึ่งถ้าเป็นประเด็นในเรื่องสุขภาพก็ควรจะให้สิทธิอย่างเสมอภาค กัน “ถ้าภาครัฐจะมีการประชาสัมพันธ์ประเด็นเหล่านี้ก็ถือว่าเป็น สิ่งที่ดีแต่อยู่ที่ว่าจะมีความเอาใจใส่มากน้อยแค่ไหนเท่านั้น เอง เนื่องจากขณะนี้เวลาในการจดทะเบียนก็มีความกระชั้นชิดเข้ามา ซึ่งถ้ามีความเป็นไปได้ทางภาครัฐจะต้องร่วมมือกับทางประชาชนและ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานในพื้นที่เข้ามาร่วมในการประชาสัมพันธ์ ได้เพื่อความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเนื่องจากหน่วยงานภาครัฐอาจ จะมีอุปสรรคในเรื่องภาษาและการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เพราะมีพี่ น้องที่ไม่มีสถานะหลายเผ่าบางครั้งก็สื่อสารเป็นภาษาคำเมืองและ ภาษาไทยไม่ได้เลยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีอาสาเป็นพี่น้องชนเผ่าโดยตรงเพื่อง่ายในการสื่อสารข้อมูลเพื่อความถูกต้องและชัดเจน” นายกสมาคม IMPECT กล่าว ด้านนายศักดา แสนมี่ประธานกรรมการเครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง กล่าวว่า การมาร่วมในการหารือในวันนี้เป็น การร่วมในการทำความเข้าใจเรื่องการแก้ปัญหาเรื่องกองทุนที่เกิด ขึ้นเพราะเนื่องจากการปฏิบัติในส่วนของภาคประชาชนในทางปฏิบัติตาม มติของคณะรัฐมนตรีนั้นยังมีหลายภาคส่วนยังไม่เข้าใจ ซึ่งตัวแทนที่มาร่วมการประชุมก็เป็นบุคคลที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกับ การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลซึ่งมาช่วยกันแสดงความคิดเห็นร่วมกัน โดย ตนก็ต้องเข้าร่วมเวทีเพื่อเรียนรู้การทำงานรวมถึงแนวทางในการแก้ ปัญหาจากคนทำงานที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ เนื่องจากที่ผ่านมาได้ถูกเสนอ ให้เป็นคณะกรรมการในภาคส่วนต่างๆและคาดหวังว่าจะได้นำแนวทางไปใช้ ในการปฏิบัติงานต่อไป สำหรับประเด็นในการประชาสัมพันธ์ เรื่องกองทุนคืนสิทธิซึ่งภาครัฐมอบหมายให้ในส่วนสาธารณะสุขอำเภอ ทำประชาสัมพันธ์ข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งอยากจะให้มีการทำงานร่วมกันกับ ประชาชนโดยอาจจะใช้ช่องทางสื่อสารจากพี่น้องชนเผ่าที่มีสื่อเป็น วิทยุชุมชนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารร่วมกัน ซึ่งถ้ามองเรื่องกลไกหลักการดำเนินงานของภาครัฐก็ดูดีในการให้ สิทธิเรื่องสุขภาพแก่ผู้มีปัญหาสถานะแต่ในทางปฏิบัติไม่ค่อยเชื่อ ว่าจะไหลลื่นไปได้ ด้านนางวนิจชญา กันทะยวง สมาชิกกลุ่มดอยหมอกเพื่อการพัฒนา ต.แม่เงา อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ในส่วนของแม่ฮ่องสอนมีการลงพื้นที่ใน 7 อำเภอ ซึ่งพบว่าชาวบ้านไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องกองทุนการให้สิทธิเหล่านี้ ซึ่งถ้ามีการประชาสัมพันธ์โดยผ่านเจ้า หน้าที่โรงพยาบาลเองก็ไม่สามารถเข้าถึง ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดเวทีเรื่องประเด็น การเข้าถึงสุขภาพในพื้นที่ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ผู้นำชุมชนรวมถึงประชนก็ไม่เข้าใจและไม่รู้เรื่องสิทธิดังกล่าว และในส่วนของโรงพยาบาลในพื้นที่เองก็มีการเข้าไปทำความเข้าใจกันนาน พอสมควรกว่าที่จะมีความเข้าใจที่ตรงกันได้แต่อย่างไรก็ถือว่าเป็น การสร้างความเข้าใจกันมากขึ้นจากการพูดคุยกับภาคส่วนต่างๆอีกด้วย อย่างไรก็ตามในเวทีได้มีการรวบรวมสถานการณ์ในพื้นที่ได้โดยแยกเป็นประเด็นปัญหาคือ 1.กลุ่มผู้รับบริการซึ่งจะมีปัญหา คือจะเข้าไม่ถึงข้อมูลคนและไม่รู้ข้อมูลกองทุนฯ ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนน้อยเกินไป สถานที่และหน่วยงานขึ้นทะเบียนและรับบริการรวมถึงปัญหาการสื่อสาร 2.ผู้ให้บริการ จะพบปัญหาคือ ข้อมูลเรื่องกองทุนฯไม่ชัดเจน การประชาสัมพันธ์ข้อมูลไม่ครอบคลุม เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติไม่เข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่มีสิทธิ์ใช้บริการ หนังสือคำสั่งไม่ชัดเจนทำให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติไม่ปฏิบัติงานและไม่มีเอกสารแนบท้ายเพื่ออธิบายคำสั่ง เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติปฏิเสธจะดำเนินการ ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการให้ข้อเสนอและแนวทางแก้ไขดังต่อไป นี้ 1.ควรมีเวทีสร้างความเข้าใจเรื่องการคืนสิทธิ์ในพื้นที่ รวมถึงอาสาสมัครหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย 2.ให้มีคณะทำงานในการติดตามงานในระดับพื้นที่เป็นตัวบุคคลรวมถึงให้คณะกรรมการกลางแต่งตั้งคณะทำงานซึ่งเป็นคณะทำงานร่วมในระดับภาคและจังหวัดเพื่อไปหนุนเสริมการทำงานปฏิบัติงานในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ หรือใช้กลไกอนุกรรมการบริหารงานหลักประกันสุขภาพระดับเขตและจังหวัดที่มีอยู่โดยให้คำนึงการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีสิทธิ์ 3.สร้างช่องทางในการสื่อสารข้อมูลข่าวสาร เช่นใน เว็ปไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข เว็บไซต์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช )เพื่อที่เป็นการสร้างพื้นที่เพิ่มในการสื่อสารข้อมูลความคืบหน้า ในการดำเนินงาน 4.ให้สามารถขึ้นทะเบียนหลักประกันคืนสิทธิได้ที่โรงพยาบาลและอนามัยสำหรับพื้นที่ที่ต้องไปขึ้นไปทะเบียนจังหวัด เช่น พะเยา ลำปาง น่าน โดยจะต้องมีการประสานงานในส่วนของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลต่อไป สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper | |||
ขบวนการแรงงานโลกกดดันไทยปล่อย “สมยศ-สุธาชัย” Posted: 01 Jun 2010 02:10 AM PDT สหพันธ์แรงงานนานาชาติกิจการเคมี พลังงาน ปิโตรเลียม และแรงงานทั่วไป (ICEM) เรียกร้องให้สมาชิกทั่วโลกร่วมกันส่งจดหมายถึงสถานทูตไทย กดดันรัฐบาลไทยปล่อย “สมยศ-สุธาชัย” <!--break--> 31 พ.ค. 53 – สหพันธ์แรงงานนานาชาติกิจการเคมี พลังงาน ปิโตรเลียม และแรงงานทั่วไป (ICEM) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทย ปล่อยตัว สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (หมายเหตุ : ในรายของสุธาชัย ได้รับการปล่อยตัวไปเมื่อวานนี้แล้ว – ประชาไท) และเรียกร้องให้สมาชิกและพันธมิตรของ ICEM ทั่วโลกทำจดหมายถึงสถานทูตไทยในแต่ละประเทศ กดดันเพื่อให้มีการปล่อยตัวบุคคลทั้งสอง ทั้งนี้ ICEM ระบุว่าบุคคลทั้งสองซึ่งเป็นแนวร่วมกับขบวนการแรงงานนานาชาติ ถูกคุมตัวไว้ที่ค่ายอดิศร จ.สระบุรี นอกจากนี้สมาพันธ์แรงงานทั่วไปแห่งเนปาล (GEFONT) และสหภาพแรงงานดิสทริบิวชั่นแห่งนิวซีแลนด์ (NDU) ก็ได้ทำจดหมายถึงสถานทูตไทยประจำเนปาลและนิวซีแลนด์ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลทั้งสองด้วย อนึ่ง สมยศ พฤกษาเกษมสุข ปัจจุบันทำงานด้านสื่อ-เคลื่อนไหวทางการเมืองและสิทธิแรงงาน เคยเป็นผู้ประสานงานของ ICEM ในประเทศไทย โดย ICEM เป็นสหพันธ์แรงงานระดับโลกที่เป็นการรวมตัวกันของสหภาพแรงงานในกิจการเคมี พลังงาน ปิโตรเลียม และแรงงานทั่วไป มีสมาชิกกว่า 20 ล้านคน จาก 467 สหภาพแรงงาน ใน 132 ประเทศ ทั้งนี้ GEFONT เป็นสมาพันธ์แรงงานที่สำคัญของเนปาลมีสมาชิกกว่า 304,000 คน ส่วน NDU เป็นหนึ่งในสหภาพแรงงานภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของนิวซีแลนด์ มีสมาชิกมากกว่า 20,000 คน
Your Excellency I write to ask you to make immediate representation to your Government for the immediate release of Somyot Pruksakasemsuk and Associate Professor Suthachai Yimprasert. We understand that both men are currently being held at Adisorn Army Base in Saraburi. We know both men, in particular Somyot Pruksakasemsuk, through their work for the international trade union movement. We have come to know them as loyal Thai citizens who have a passionate belief in Human Rights. Both men are very well internationally known and respected. Neither man was part of the core leadership of the “red shirts” and in recent times each has been playing a more independent role as a journalist and academic promoting freedom of speech. We understand that the Criminal Court agreed with the Centre for Resolution of the Emergency Situation (CRES) on Friday to extend the detention of Suthachai and Somyot for another seven days, despite Suthachai’s hunger strike over alleged CRES human rights violations. Both Suthachai and Somyot had surrendered to the CRES when they heard that warrants were out for their arrest. The warrants were issued in regard to the incident on 21 May 2010 at 13.00, when Somyot and Suthachai, in the name of the 24th of June Democracy Group, held a press conference in front of the House No. 111 Foundation. This was a completely peaceful event. The lawyer for Suthachai, Mr Krisdang has said no charges were pressed against them, and no proper inquiry session had been arranged during their detention. We understand that Somyot and Suthachai are now to be held until 6 June 2010. We strongly urge their immediate release. Please urgently respond to this request and inform us of what is happening to these two men. Sincerely Yours Bishnu Rimal Presidentof the General Federation of Nepalese Trade Unions (GEFONT)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น