โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ เตรียมเรียกชาวพม่าให้ข้อเท็จจริงกรณีเลือกตั้ง 7 พ.ย.

Posted: 14 Nov 2010 08:22 AM PST

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเตรียมเรียกนักกิจกรรมชาวพม่าให้ข้อมูลกรณี "การเมืองในประเทศพม่าหลังการเลือกตั้ง" และ "การละเมิดสิทธิประชาชนในประเทศพม่าซึ่งส่งผลให้ต้องอพยพหนีภัยการสู้รบเข้ามาในประเทศไทย" โดยเรียกเข้าพบวันจันทร์นี้ที่ห้องประชุมคณะกรรมการสิทธิฯ แจ้งวัฒนะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (15 พ.ย.) ตั้งแต่เวลา 14.00 น. นักกิจกรรมพม่ากลุ่ม Forum of Burma’s community based organizations (FCBOs) นำโดย พญ.ซินเธีย หม่อง เจ้าของรางวัลแมกไซไซ จะเข้าให้ข้อเท็จต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณี การเมืองในประเทศพม่าหลังการเลือกตั้ง  การละเมิดสิทธิประชาชนในประเทศพม่าซึ่งส่งผลให้ต้องอพยพหนีภัยการสู้รบ เข้ามาในประเทศไทย โดยจะให้ข้อมูลที่ห้องประชุมชั้น ๖ คณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  อาคารศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. ตั้งแต่เวลา 14.00 น.

โดยการเรียกให้ข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดขึ้น 1 สัปดาห์หลังการเลือกตั้งในพม่า และการปะทะกันระหว่างทหารรัฐบาลพม่ากับกะเหรี่ยงดีเคบีเอกองพลน้อยที่ 5 ที่เมืองเมียวดี จนทำให้มีผู้อพยพข้ามมาในประเทศไทยหลายพันคน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“ออง ซาน ซูจี” เผยต้องการสนทนากับ “ตาน ฉ่วย”

Posted: 14 Nov 2010 07:49 AM PST

ออง ซาน ซูจี แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลังการปราศรัยเรื่องการปรองดองแห่งชาติ ระบุต้องการพูดกับ “ตาน ฉ่วย” โดยตรง ยืนยันพรรค NLD อยู่ในสถานะถูกกฎหมาย ตราบใดที่ยังอยู่ในหัวใจของประชาชน พร้อมเลี่ยงวิจารณ์จีนในการแถลงข่าว ขณะที่บุตรชาย “คิม อริส” ยังไม่ได้อนุมัติวีซ่า

ภายหลังการปราศรัยของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ช่วงกลางวันนี้ (14 พ.ย.) (อ่านข่าวย้อนหลัง) นางออง ซาน ซูจีได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและตอบคำถามเป็นเวลา 30 นาที ภายในที่ทำการพรรค NLD โดยรายละเอียดจากเว็บไซต์ อิระวดี ได้รายงานดังนี้

ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งในที่แถลงข่าว แจ้งกับอิระวดีว่า “ในการแถลงข่าวมีการเริ่มต้นคำถามเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของพรรค NLD ในฐานะพรรคการเมือง” จากนั้น ออง ซาน ซูจี ตอบว่า “พรรค NLD ยังคงเป็นพรรคที่ถูกกฎหมาย ตราบใดที่ NLD ยังอยู่ในหัวใจของประชาชน (พรรค) ก็ยังมีความหมาย”

สื่อมวลชนที่อยู่ในที่แถลงข่าว ระบุว่า นางออง ซาน ซูจี ได้กล่าวว่าต้องการสนทนากับ พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า “ฉันต้องการพบและพูดกับเขา (ตาน ฉ่วย) โดยตรง จะดีมากถ้าฉันได้สนทนากับเขาว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ฉันห่วง”

ทั้งนี้ การกล่าวถึงการพบกับ พล.อ.อาวุโสตานฉ่วย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า เกิดขึ้นหลังจากการปราศรัยต่อผู้สนับสนุนในวันนี้ ที่เธอกล่าวว่า กระบวนการปรองดองแห่งชาติจะเป็นทางออกให้กับวิกฤตกาลของพม่า

โดยออง ซาน ซูจี เคยพบกับตานฉ่วยก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2537 และปี พ.ศ. 2545 การพบกันแต่ละครั้งเป็นการพบกันในช่วงที่เธออยู่ระหว่างกักบริเวณในบ้าน โดยอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองพม่าให้ข้อมูลกับอิระวดีว่า ในการพบกันครั้งแรกเหมือนการพบกันของสองผู้นำ ขณะที่การพบกันครั้งหลังมีการสนทนากับเล็กน้อย และเหมือนเป็นกิจกรรมประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลทหารพม่ามากกว่า

ต่อคำถามเรื่องการเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่า ที่กระทำโดยสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกนั้น ออง ซาน ซูจี กล่าวว่า เธอจะทบทน ถ้าประชาชนมีข้อเสนอและมีข้อพิสูจน์ที่หนักแน่นว่าการเลิกมาตรการคว่ำบาตรจะมีประโยชน์

มีผู้ถามเกี่ยวกับความปลอดภัยของเธอ นางออง ซาน ซูจีตอบว่าเธออยู่เคียงข้างกับพลเมืองพม่ากว่า 50 ล้านคน ความปลอดภัยของเธอก็เป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ทางการ

มีรายงานว่า ออง ซาน ซูจี ระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นต่อประเทศจีน โดยมีผู้สื่อข่าวคนหนึ่งพยายามถามว่าจีนขโมยทรัพยากรของพม่าหรือไม่ เธอตอบว่า “เราไม่สามารถกล่าวเช่นนั้นได้”

ต่อเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า ออง ซาน ซูจี กล่าวกับนักข่าวว่า เธอต้องการเรียกร้องให้มีการประชุม “ปางโหลง” (Panglong Conderence) ครั้งที่สอง อันจะเป็นการประชุมของชนชาติต่างๆ ซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์ในศตวรรษที่ 21

ทั้งนี้การประชุมปางโหลง ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1947 หรือ พ.ศ. 2490 โดยนักการเมืองพม่าและผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์โดยรวมกันเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษซึ่งเป็นผู้ปกครองพม่าสมัยนั้น

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเธอจะไปที่เดปายิน (Depain) อีกหรือไม่ เธอตอบว่า เธออยากไป แต่ยังไม่ใช่เวลานี้

ทั้งนี้เดปายิน ในภาคสะกายน์ (Sagaing Division) ทางเหนือของพม่า เป็นสถานที่ๆ นางออง ซาน ซูจีและผู้สนับสนุนถูกโจมตีเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2546 การโจมตีนี้กระทำโดยสมาชิกสมาคมสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Association – USDA) ซึ่งปัจจุบันคือพรรคการเมืองที่ชื่อ USDP ครั้งนั้นมีผู้สนับสนุนของนางออง ซาน ซูจีเสียชีวิตมากกว่าหนึ่งร้อยคน และหลังจากนั้นมาเธอถูกรัฐบาลทหารพม่าสั่งกักบริเวณภายในบ้านพักจนกระทั่งเพิ่งได้รับการปล่อยตัวดังกล่าว

มีผู้สื่อข่าวพูดว่า สิ่งที่เธอปราศรัยและแถลงข่าวไม่ได้รับอนุญาตให้พิมพ์ในสื่อท้องถิ่น นางออง ซาน ซูจี หัวเราะ และพูดว่า นี่คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหลังการเลือกตั้ง

ในการแถลงข่าว ออง ซาน ซูจี กล่าวกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า ลูกชายของนางคือ คิม อริส ยังไม่ได้รับการอนุมัติวีซ่าให้เดินทางเข้าพม่า

นอกจากนี้ ภายหลังการแถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าว ออง ซาน ซูจี ยังให้สัมภาษณ์กับวิทยุบีบีซีเป็นเวลา 9 นาทีเศษด้วย (คลิกที่นี่)

 

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
Suu Kyi Calls for Talks with Than Shwe, By WAI MOE Irrawaddy, Monday, November 15, 2010 http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=20080

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“ออง ซาน ซูจี” ปราศรัยครั้งแรก สนับสนุนการปรองดองแห่งชาติ

Posted: 14 Nov 2010 04:45 AM PST

คนหลายพันแห่ฟัง “ออง ซาน ซูจี” ปราศรัย ณ ที่ทำการพรรคเอ็นแอลดี โดยเรียกร้องกระบวนการปรองดองแห่งชาติ และเชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนและหลักนิติรัฐ พร้อมทำงานกับประชาชนทุกกลุ่มเพื่อให้กระบวนการปรองดองแห่งชาติบรรลุ โดยการปราศรัยครั้งแรกหลังการปล่อยตัวนี้ ซูจีเลี่ยงพูดประเด็นละเอียดอ่อน เช่น การเลือกตั้งที่ไม่ชอบมาพากลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ภาพการปราศรัยต่อหน้าผู้สนับสนุนหลายพันคนของนาง ออง ซาน ซูจี ที่หน้าที่ทำการพรรคเอ็นแอลดี เมื่อ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา สำหรับภาพการปราศรัยของนางออง ซาน ซูจีเพิ่มเติมสามารถคลิกชมได้ที่เว็บนี้

 

เว็บไซต์อิระวดี รายงานว่า เมื่อเวลา 11.30 น. วันนี้ (14 พ.ย.) ตามเวลาในพม่า หรือ 12.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ผู้นำฝ่ายค้านพม่า นางออง ซาน ซูจี พบกับคณะทูตต่างประเทศอย่างน้อย 30 คน ณ ที่ทำการพรรคเอ็นแอลดี ในย่างกุ้ง ขณะที่เมื่อเวลา 12.00 น. มีผู้สนับสนุนหลายพันคนรอฟังการปราศรัยของนางออง ซาน ซูจี มีรายงานด้วยว่ามีสนับสนุนส่วนหนึ่งเดินทางมาจากพื้นที่อื่นทั่วประเทศพม่าด้วย โดยผู้สนับสนุนต่างตะโกนคำขวัญว่า “เรารักซูจี” ระหว่างรอฟังคำปราศรัยของเธอ

ทั้งนี้ในช่วงปราศรัย เว็บไซต์อิระวดี รายงานว่า นางออง ซาน ซูจี ได้กล่าวปราศรัยดังนี้

“ฉันจะใช้ความพยายามของฉันผลักดันกระบวนการปรองดองแห่งชาติ และฉันต้องการการสนับสนุนจากประชาชนของเรา”

“ข้าพเจ้ายังเชื่อในกระบวนการปรองดองแห่งชาติเสมอมา เชื่อในสิทธิมนุษยชน และหลักนิติรัฐ”

“ข้าพเจ้าไม่มีความบาดหมางใจต่อผู้สั่งคุมขัง”

“ประชาธิปไตยเป็นระบบที่ให้คนส่วนใหญ่ชี้นำคนกลุ่มเล็กที่อยู่ในอำนาจ”

“ถ้าพวกเราต้องการบางอย่าง เราต้องกล้าหาญที่จะทำ และมีความสามารถที่จะทำ และมีประสิทธิภาพพอที่จะทำสิ่งนั้น”

“ถ้าพวกเราใช้ความเข้มแข็งของเราในทางที่ถูกต้อง ไม่มีใครหยุดยั้งเราได้”

“การเมืองมีความสำคัญกับประชาชนทุกคน อย่าคิดว่าไม่ใช่เรื่องของคุณ”

“ความกล้าหาญหมายถึงทำในสิ่งที่เธอเชื่อด้วยความอุตสาหะ และด้วยความเข้มแข็ง และด้วยไมตรีจิต ความกล้าหาญไม่ใช่การที่ใครคนใดคนหนึ่งใช้ความเข้มแข็งทางร่างกาย และไม่ใช่การตะโกนเสียงดัง”

นางออง ซาน ซูจียังกล่าวด้วยว่า จะทำงานกับประชาชนทุกคน รวมทั้งกลุ่มประชาธิปไตย เพื่อทำให้กระบวนการปรองดองแห่งชาติบรรลุ “ฉันไม่ได้ตั้งใจที่จะไปตามอำเภอใจฉันเอง”

ในเว็บไซต์มิซซิมา ยังรายงานด้วยว่า นางออง ซาน ซูจี ได้กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอสดุดีต่อเพื่อนร่วมงานของฉัน ที่ยังคงทุกข์ระทมในเรือนจำ ข้าพเจ้าหวังว่าพวกเขาจะได้รับการปล่อยตัวทันที”

ทั้งนี้ ในการปราศรัยครั้งแรกหลังได้รับการปล่อยตัวของนางของนางออง ซาน ซูจี กินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ โดยนางได้หลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงเรื่องละเอียดอ่อน รวมทั้งเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการเลือกตั้ง 7 พ.ย.

ก่อนหน้านี้ เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ MRTV ของรัฐบาลพม่ารายงานข่าวการปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจีด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า ผู้บัญชาการตำรวจ พลจัตวาขิ่น ยี (Khin Yi) เข้าพบกับนางออง ซาน ซูจี โดย พลจัตวาขิ่น ยีกล่าวด้วยว่ารู้สึกยินดีที่สุขภาพของนางแข็งแรงดี โดยพลจัตวาขิ่นยี ได้อ่านคำแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของพม่าที่ระบุว่านางออง ซาน ซูจี “ได้รับการนิรโทษกรรม โดยไม่มีข้อแม้” พลจัตวาขิ่นยี ยังกล่าวว่า เขาหวังว่าจะได้เห็นสันติภาพและความมีเสถียรภาพในพม่า ในรายงานข่าวยังระบุด้วยว่านางออง ซาน ซูจีได้กล่าวว่ามีความปรารถนาดังกล่าวเช่นกัน

ทั้งนี้จากคำแถลงของรัฐมนตรีมหาดไทยพม่า ระบุว่า นางออง ซาน ซูจี กับผู้ช่วยสองคนคือ ขิ่น ขิ่น วิน (Khin Khin Win) และ วิน มะ มะ (Win Ma Ma) ได้รับอิสรภาพหลังถูกกักบริเวณ 18 เดือน

นอกจากนี้ภายหลังการปราศรัย นางออง ซาน ซูจี ยังมีกำหนดเยี่ยมบ้าน อู ลวิน ผู้นำพรรค NLD อาวุโส ซึ่งภรรยาเพิ่งเสียชีวิตเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

ขณะที่นายวินติน (Win Tin) เลขาธิการพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งได้เข้าพบกับนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรค NLD คนอื่นๆ เมื่อคืนวานนี้เป็นเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ได้กล่าวเมื่อคืนวันเสาร์ (13 พ.ย.) ว่านางออง ซาน ซูจีระบุว่าเธอจะฟังประชาชนก่อนที่ตัดสินใจอนาคตของเธอ “เมื่อวาน ผมพบกับเธอเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี” นายวินตินกล่าว “เธอยังเป็นคนเดิมที่ผมเจอเมื่อปี 1988 (พ.ศ.2531) มีพลัง กระตือรือร้น เช่นเคย เธอเหมาะที่จะนำ (พรรคเอ็นแอลดี) และผมชื่นชมในความคิด ทัศนะ และความดีงามของเธอ เธอจะเรียกคืนหัวใจของผู้คน” นายวินตินยังกล่าวว่ามีความกังวลในความปลอดภัยของเธอ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“เทพไท” แนะทักษิณเอาอย่าง “ออง ซาน ซูจี” หรือกระโดดหน้าผาแบบ ปธน.เกาหลีใต้

Posted: 14 Nov 2010 01:23 AM PST

เทพไท เสนพงศ์” แนะนักการเมืองทุกคนโดยเฉพาะ “ทักษิณ ชินวัตร” เอาอย่าง “ออง ซาน ซูจี” ที่ถูกจำกัดสิทธิ 20 ปี แต่ใช้แนวทางสันติวิธี หรือเอาอย่างอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่กระโดดหน้าผาหลังมีข้อหาทุจริต ชี้หากทักษิณควรสำนึกในความเป็นผู้นำ ยอมรับกติกา สังคมโลกสรรเสริญ

วันนี้ (14 พ.ย.) หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอชื่นชมนางออง ซาน ซูจี ที่ได้รับอิสรภาพ รวมถึงสังคมที่ได้เอาใจช่วยมาโดยตลอด และเชื่อว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีของการเมืองในประเทศพม่า ที่มีหนทางแจ่มใส และต้องยอมรับความจริงอีกว่า การเมืองในประเทศพม่ามีผลกระทบต่อประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียนี้

อย่างไรก็ตาม การชื่นชมนางออง ซาน ซูจี ซึ่งเป็นวีรสตรีของประเทศพม่า และได้รับเกียรติในระดับโลกด้วยการได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งเป็นตัวอย่างของนักการเมืองทุกคนที่ควรเอาแบบอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องการต่อสู้ของนาง เพราะการที่นางออง ซาน ซูจี ถูกจำกัดสิทธิมาเป็นเวลา 20 ปี ก็ได้ต่อสู้ตามแนวทางสันติวิธีมาโดยตลอด จนเป็นที่ยอมรับของสังคมโลก ไม่เคยต่อสู้นอกกติกาหรือกฎหมาย ไม่มีการปลุกระดมประชาชนให้มีการเผาบ้านเผาเมืองตัวเอง

นายเทพไทกล่าวว่า ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้น นักการเมืองไทยทุกคนควรเอาเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นนักการเมืองไทยที่สังคมโลกจับตามอง ยกตัวอย่างกรณีประธานาธิบดีของประเทศเกาหลีใต้ที่โดนข้อหาทุจริต ก็ได้มีการกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตาย ประธานาธิบดีประเทศไต้หวันที่ถูกศาลพิพากษาในข้อหาทุจริตเช่นกัน ก็ยอมถูกจำคุก 19 ปี ซึ่งทั้งหมด พ.ต.ท.ทักษิณควรเอาเป็นแบบอย่าง และ พ.ต.ท.ทักษิณก็ควรสำนึกในความเป็นผู้นำ หากพ.ต.ท.ทักษิณยอมรับกติกา สังคมโลกก็สรรเสริญ แต่เมื่อหลีกเลี่ยงกติกา สังคมโลกก็ไม่สรรเสริญ แต่จะสรรเสริญในฐานะผู้นำเลวของโลก

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“ทักษิณ” แสดงความยินดี “ออง ซาน ซูจี” ได้รับอิสระ

Posted: 14 Nov 2010 01:11 AM PST

ชี้แม้รัฐบาลพม่าจะตัดสินใจล่าช้า แต่ก็ตัดสินใจถูกต้องในการปล่อยตัวซูจี หวังรัฐบาลพม่าปล่อยนักโทษการเมืองในเร็ววัน หวังเหตุการณ์ในพม่าส่งผลให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยอาเซียน และไทยดีขึ้นโดยลำดับ

วันนี้ (14 พ.ย.) หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า นาย นพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่แถลงการณ์ของพ.ต.ท.ทักษิณ กรณีนางออง ซาน ซูจี ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวานนี้ (13 พ.ย.) ว่า

"ในโอกาสรัฐบาลพม่าได้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี ได้รับอิสรภาพเมื่อวานนี้ ผมใคร่ขอแสดงความยินดีต่อนางออง ซาน ซูจี และชาวพม่าผู้รักประชาธิปไตยทุกท่านที่บุคคลผู้เป็นที่รักและสัญลักษณ์ของ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่าได้รับอิสรภาพ ผมขอถือโอกาสนี้ แสดงความยินดีต่อรัฐบาลพม่าที่ตัดสินใจอย่างถูกต้องให้อิสรภาพแก่เธอในครั้ง นี้ แม้การตัดสินใจจะล่าช้าไปก็ตาม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลพม่าจะได้ใช้โอกาสนี้ในการเริ่มปล่อยตัวนัก โทษการเมืองทั้งหลายในประเทศพม่าให้ได้รับอิสรภาพในเร็ววัน

กระแสประชาธิปไตยคือกระแสของโลกที่จะนำความมั่นคงทั้งทางการเมืองและ เศรษฐกิจมาให้กับประชาชน ผมเชื่อมั่นว่าเหตุการณ์ในพม่า จะส่งผลให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในภูมิภาคอาเซียนดีขึ้น เป็นลำดับ โดยเฉพาะสถานการณ์ในประเทศไทย ที่ประชาชนต่างโหยหาประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม เหตุการณ์ในประเทศพม่าแสดงให้เห็นว่า การให้อิสรภาพแก่ผู้ต้องขังในคดีการเมืองจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปรองดอง แห่งชาติ และสร้างความเป็นธรรมในสังคมอย่างแท้จริง" แถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสื้อแดงเชียงใหม่แถลงจัดงานลอยกระทง

Posted: 13 Nov 2010 09:36 PM PST

เสื้อแดงเชียงใหม่แถลงจัดงานลอยกระทง (20 พ.ย.) ช่วงเช้ามอบเครื่องนุ่งห่มของใช้จำเป็นให้พี่น้อง อ.พร้าว และช่วงเย็นจัดกิจกรรม “ลอยกระทงประชาธิปไตย ขับไล่เผด็จการ” เสื้อแดงส่วนกลาง “สุนัย-สมยศ” ร่วมปราศรัย

14 พ.ย. 53 – เวลา 10.00 น. ที่สวนราชพฤกษ์เชียงใหม่ กลุ่มคนเสื้อแดงเชียงใหม่ (ศูนย์ประสานงาน นปช.แดงเชียงใหม่, แนวร่วมพลเมืองไทแดงเชียงใหม่ และกลุ่มนักศึกษา) ได้จัดงานแถลงข่าวการจัดงานกิจกรรมช่วยผู้ประสบภัยหนาว “มอบไออุ่น ให้กับคนที่ยังไม่ตาย แต่กำลังจะหนาวตาย” และงาน “ลอยกระทงประชาธิปไตย ขับไล่เผด็จการ” ในวันที่ 20 พ.ย. 53 ที่จะถึงนี้

โดยกิจกรรม “มอบไออุ่น ให้กับคนที่ยังไม่ตาย แต่กำลังจะหนาวตาย” นั้นทางกลุ่มคนเสื้อแดงเชียงใหม่ได้เปิดรับบริจาคเครื่องนุ่งห่มกันหนาวทั้งเสื้อผ้า ผ้าห่ม ของใช้ ที่จำเป็นในช่วงฤดูหนาว โดยจะนำไปมอบให้กับพี่น้องที่ยากจนใน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ในช่วงเช้าของวันที่ 20 พ.ย. 53

ส่วนกิจกรรมในช่วงเย็นของวันเดียวกัน (20 พ.ย. 53) จะมีการจัดงาน “ลอยกระทงประชาธิปไตย ขับไล่เผด็จการ” ที่สี่แยกสะเมิง (เลยทางเข้าสวนราชพฤกษ์เชียงใหม่) ถนนคลองชลประทาน ซึ่งนอกจากจะมีงานเชิงวัฒนธรรม เช่น ขบวนกระทงแดง การแสดงกลองสะบัดชัย การประกวดนางนพมาศแล้ว ยังจะมีการปราศรัยของ สุนัย จุลพงศธร และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในเวลา 18.00 น.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘วรเจตน์’เสนอปฏิรูปตุลาการยึดโยงประชาชน-‘สถิตย์’ชี้ถ้าคลิปจริง โทษ 20 ปี

Posted: 13 Nov 2010 02:36 PM PST

นิติราษฎร์จัดอภิปราย ‘วรเจตน์’ฟันธงตุลาการภิวัตน์ผิดทาง ถึงเวลาปฏิรูปทุกศาลให้ยึดโยงประชาชน สร้างระบบเปิดตรวจสอบได้ ‘พนัส ทัศนียานนท์’ เรียกร้องตุลาการเป็นแนวหน้าปชต.เหมือนอังกฤษ‘สถิตย์ ไพเราะ’ นอนยันไม่มีทางเป็นไปได้ ชี้คลิปฉาวศาลรธน. ถ้าจริงตุลาการผิดกม.อาญาโทษสูง 20 ปี

13 พ.ย.53 ‘คณะนิติราษฎร์’ จัดอภิปรายเรื่อง “ตุลาการ-มโนธรรมสำนึก-ประชาธิปไตย” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยมีผู้ร่วมอภิปรายได้แก่ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. สถิตย์ ไพเราะ ผู้พิพากษาอาวุโส จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตอาจารย์ผู้บรรยายวิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมาย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. ผู้ร่วมก่อตั้งคณะนิติราษฎร์ ทั้งนี้ คณะนิติราษฎร์เปิดตัวเมื่อ 19 ก.ย.53 ประกอบด้วย 7 อาจารย์จากนิติศาสตร์ มธ. มีสโลแกนว่า “นิติศาสตร์ เพื่อราษฎร”

วรเจตน์ กล่าวว่า การทบทวนระบบตุลาการเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากคำอธิบายเกี่ยวกับสถานะและอุดมการณ์ของตุลาการนั้นละเลยคุณค่าพื้น ฐานของประชาธิปไตย หากไม่กลับไปสู่คุณค่าพื้นฐานก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ข้อแย้งสำคัญของฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ตุลาการเชื่อมโยงกับประชาธิปไตยคือเกรง จะกระทบต่อความเป็นอิสระของตุลาการ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โครงสร้าง 3 เสามีการเปลี่ยนแปลงยกเว้นอำนาจตุลาการที่รับโครงสร้างจากระบอบเก่ามาสวมทับ กับระบบใหม่ทั้งหมด และเป็นประเด็นที่ไม่เคยอภิปรายกันเลยตลอดมา

เขา กล่าวถึงตัวอย่างของการขาดความเข้าใจในหลักการของระบอบประชาธิปไตยโดยยกกรณี ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแจ้งความกับผู้เผยแพร่คลิปศาลรัฐธรรมนูญเมื่อเร็วๆ นี้ในความผิดหมิ่นสถาบันตามมาตรา 112 ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ ตุลาการซึ่งตัดสินคดีในพระปรมาภิไธยว่า การพิพากษาคดีของศาลต้องดำเนินการตามกฎหมายและ “ในนามพระมหากษัตริย์” คำนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร จนกระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2489 จึงใช้คำว่า “ในพระปรมาภิไธย” ความหมายของคำนี้คือ การที่พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจแทนปวงชนผ่านองค์กรของรัฐ อันหนึ่งคือศาล ที่สุดแล้วเป็นการใช้อำนาจของราษฎรทั้งหลายเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการอยู่ ร่วมกันเป็นรัฐ

วรเจตน์ กล่าวว่า หลักประชาธิปไตยอันหนึ่งคือ ผู้ปกครองปกครองโดยมีระยะเวลาจำกัด มีแต่ฝ่ายตุลาการเท่านั้นที่ไม่มีวาระในการทำงาน แม้เข้าใจได้โดยสภาพของงาน แต่ต้องไม่ละเลยว่าตัวเองเชื่อมโยงกับประชาชน ไม่ต้องกลัวว่าการยึดโยงนี้จะกระทบต่อความอิสระ เนื่องจากความเป็นอิสระของตุลาการนั้นหมายถึง 1.เป็นอิสระในทางเนื้อหา หมายความว่า พิพากษาคดีไปตามกฎหมาย ความรู้ในวิชาชีพ ไม่รับใบสั่งจากใคร 2. อิสระต่ออำนาจนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการด้วยกันเอง กรณีหลังหมายความว่าศาลไม่จำเป็นต้องผูกพันกับคำตัดสินของศาลสูงที่เคยตัดสินแล้ว หากไม่เห็นด้วย มีเหตุผลดีกว่าจะกลับคำพิพากษาก็ได้ 3. ต้องเป็นอิสระต่ออิทธิพลในทางสังคม อย่างไรก็ตาม หลักนี้ใช้เฉพาะการกระทำการในทางตุลาการเท่านั้น ถ้าทำงานอย่างอื่นที่ไม่ใช่การตัดสินคดีก็ไม่สามารถอ้างหลักการนี้มาป้องกันการตรวจสอบได้ และไม่ทำให้ผู้พิพากษาพ้นไปจากกฎหมาย

“ในต่างประเทศเป็นเรื่องปกติ ถ้าไม่เห็นด้วยเดินขบวนประท้วงคำพิพากษาก็ได้ เพียงแต่มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลของคดีได้หากศาลตัดสินไปแล้ว แต่เจ้าของอำนาจมีสิทธิที่จะแสดงออกได้ว่าคิดเห็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าถูกกดทับ ปิดปากในนามของการละเมิดอำนาจศาล” วรเจตน์กล่าวและว่า ตุลาการจำเป็นต้องอดทนต่อการวิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณะ ตราบเท่าที่ไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาทตัวผู้พิพากษา

วรเจตน์ ย้ำว่า การกำหนดการเข้าสู่ตำแหน่งผู้พิพากษาโดยเชื่อมโยงกับประชาชนไม่ขัดแย้งอะไรกับหลักความเป็นอิสระ เพราะการะบวนการคัดคนไม่ควรเป็นระบบปิด หลายประเทศสร้างระบบเปิดให้กับตุลาการในหลายรูปแบบ เช่น 1.เลือกตั้งโดยตรง ดังเช่นบางมลรัฐในสหรัฐอเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ 2.คัดเลือกและเสนอชื่อโดยฝ่ายบริหาร 3.คัดเลือกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ 4.รูปแบบผสมให้ตุลาการและฝ่ายนิติบัญญัติร่วมกันคัดเลือก ขณะที่บางประเทศใช้ระบบลูกขุน ให้คนธรรมดาเป็นผู้พิพากษาสมทบในศาลชั้นต้น เช่น เยอรมนี เพื่อทำให้กระบวนการดำเนินคดีอยู่ในสายตาของสาธารณชนด้วย แต่เมื่อเสนอแนวทางนี้ในสังคมก็มักจบด้วยข้ออ้างว่าการทำเช่นนี้ทำให้คนทั่วไปมีอิทธิพลกับตุลาการได้ อันเป็นมุมมองที่เห็นว่าราษฎรไทยยังไม่ฉลาด ไม่มีความสามารถในการจัดการปกครองตนเอง เรื่องนี้เป็นปัญหาพื้นฐานที่สุดของสังคมไทย

“บางคนบอกปัญหาเกิดกับศาลใหม่ๆ อย่างศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ขอเรียนว่า นี่เป็นเรื่องอำนาจตุลาการทั้งหมด เราควรใช้โอกาสนี้พูดถึงทั้งระบบ ดังจะเห็นได้ว่าหลายปีมานี้คำตัดสินของทุกศาลล้วนถูกตั้งคำถาม”

วรเจตน์กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของตุลาการ คือ การขาดอุดมการณ์ประชาธิปไตย ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้จะแก้ปัญหาอื่นไม่ได้เลย เพราะผู้พิพากษาไม่รู้สึกว่าการตัดสินคดีไม่ใช่ใช้อำนาตตัวเองแต่เป็นอำนาจประชาชน จำเป็นต้องปลูกฝังอุดมการณ์ประชาธิปไตย นิติรัฐลงไป และเปลี่ยนโครงสร้างตุลาการให้ทนทานต่อการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม หากดูรัฐธรรมนูญ 50 จะพบแนวโน้มที่กลับกัน โดยสร้างอำนาจให้ศาลมากขึ้น เป็นระบบปิดมากขึ้น และอ้างถึงกระแสตุลาการภิวัตน์ซึ่งเห็นว่าศาลเป็นองค์กรเดียวที่จะแก้ปัญหาการเมืองไทยได้ แต่วันนี้ผ่านมาหลายปีแล้วน่าจะพิสูจน์ได้แล้วว่าผลเป็นอย่างไร เพียงแต่จะกล้ายอมรับไหมว่าแนวทางนี้ผิดและสร้างปัญหา

พนัส กล่าวว่า มโนสำนึกในทางที่จะเป็นประชาธิปไตยถ้าจะทำให้เกิดขึ้นได้คงต้องมีการปฏิรูป ไม่ใช่ที่ระบบ แต่ปฏิรูปที่คน ทำอย่างไรให้ผู้พิพากษาไทยมีความสำนึกในประชาธิปไตยขณะที่จารีตประเพณีที่ยึดถือกันมานั้นไม่ต่างจากสมัยอยุธยา ในหมู่ตุลาการคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยอาจไม่ใช่สิ่งที่ได้รับการยอมรับชัดเจนเท่าไรนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีตุลาการผู้พิพากษาที่มีสปิริตนี้เลย แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่กล้าแปลกแยกกับสังคมที่แวดล้อม

พนัส กล่าวต่อว่า ธรรมเนียมตุลาการไทยนั้นรับมาจากอังกฤษ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งไม่ได้เรียนรู้มาด้วย คือประวัติศาสตร์อังกฤษ ถ้าไม่มีตุลาการร่วมต่อสู้ ความเป็นประชาธิปไตยของอังกฤษคงไม่เกิดขึ้น อาจกล่าวได้ว่า ทั้งโลกเป็นหนี้ตุลาการชาวอังกฤษคือ ลอร์ดเอ็ดเวิร์ด คุก เขายอมสละตัวเองต่อสู้กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพื่อหลักการที่ถูกต้อง

สถิตย์ ผู้อภิปรายที่เรียกเสียงหัวเราะผู้ฟังได้เป็นระยะตลอดการอภิปราย กล่าวว่า สำนึกประชาธิปไตยในวงการตุลาการนั้นมีอยู่ในตัวบทกฎหมาย ดังเช่นมาตรา 26 พ.ร.บ.ข้าราชการตุลาการ วรรค 3 ระบุว่าคนที่จะสมัครสอบเป็นผู้พิพากษาจะต้องเป็นผู้เลื่อมใสในการปกครอง ประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญโดยบริสุทธิ์ใจ แต่กลับปรากฏตามข่าวว่าประธานศาลกับเลขาฯ ไปประชุมล้มรัฐบาล และสังคมก็ไม่เอาเรื่อง ไม่มีใครออกมารับผิดชอบแถลงข้อเท็จจริง

ในฐานะที่เป็นผู้พิพากษามายาวนาน เขายังยืนยันด้วยว่า ผู้พิพากษาไม่มีทางที่จะมาเป็นแถวหน้าในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างที่พนัสคาดหวัง หลายเรื่องที่มีคนคาดหวังก็ไม่สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติ เช่นกรณีการไม่รับรองความชอบธรรมภายหลังเกิดการรัฐประหาร เพราะกลไกต่างๆ นั้นเคลื่อนไปหมดแล้ว มีรัฐสภา มีกฎหมาย มีการใช้จ่ายงบประมาณไปแล้วจำนวนมาก

“ศาลเป็นผู้นำไม่ได้ ต้องเป็นผู้ตาม ที่ท่านอ้างอังกฤษ ผมว่ามันเขียนคนละตัว ในความเห็นผม แมกนาคาตา เกิดขึ้นได้จากใคร ไม่ได้เกิดจากผู้พิพากษา ประเทศไทยไม่เคยมีผู้พิพากษาตายเพื่อรักษาความยุติธรรม ระหว่างจำเลยตายกับผมตาย จำเลยต้องตาย (ผู้ฟังหัวเราะ) มันเป็นอย่างนี้ คนที่ตายเพื่อกฎหมาย ความยุติธรรม เป็นทหาร คือ พันท้ายนรสิงห์ ฉะนั้นท่านไปเรียกร้องไม่มีใครได้ยินหรอก ขอบฟ้าอยู่แสนไกล อันนี้กราบเรียนจากหัวใจในฐานะที่เป็นผู้พิพากษามา 40 ปี ไม่มีทางจริงๆ”

“อย่าหวังผู้พิพากษาเป็นแนวหน้า ไม่มีทาง ประชาชนเท่านั้นจะเป็นแนวหน้า บัดนี้เกิดขึ้นแล้ว รอบตัวท่านนี่แหละ” สถิตย์กล่าว ขณะที่พนัสกล่าวในประเด็นนี้ว่า ถึงอย่างไรเขาก็ยังมีความหวังแม้จะริบหรี่ดูได้จากกรณีคำวินิจฉัยส่วนตัวของผู้พิพากษาชื่อกีรติ กาญจนรินทร์ ซึ่งระบุว่าการทำรัฐประหารนั้นผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างของประเทศตุรกีซึ่งต้องการเป็นสมาชิกอียู เพิ่งลงประชามติเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาว่าการรัฐประหารเมื่อ 30 ปีก่อนผิดกฎหมายและการนิรโทษกรรมครั้งนั้นเป็นโมฆะ ส่วนวรเจตน์เห็นว่าการที่ผู้พิพากษาเป็นแนวหน้าไม่ได้นั้นเป็นเรื่องจริง เพราะลักษณะงานตุลาการเป็นงานในเชิงรับมากกว่ารุก แต่ถ้าศาลไม่เป็นกองหน้า ก็เป็นกองหนุนได้ และสามารถแสดงออกถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้ผ่านคำพิพากษา องค์กรตุลาการทำให้กฎเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญเป็นจริงทางปฏิบัติได้

สถิตย์ ยังกล่าวถึงกรณีคลิปเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังโด่งดังอยู่ขณะนี้ด้วยว่า มีนักศึกษาถามว่าเขาเชื่อไหมว่าคลิปนี้เป็นเรื่องจริงซึ่งเขาตอบว่าไม่เชื่อ เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระดับหนึ่งทั้งนั้น ไม่มีทางที่จะทำผิดกฎหมายขนาดนั้น เพราะมันผิดทั้ง ม.157 เป็นผู้พิพากษาประชุมปรึกษาช่วยโจทก์จำเลย ผิดฎหมายฐานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ โทษจำคุก 1-10 ปี หากเป็นตุลาการโทษจะเลื่อนไปใน ม. 201 โทษจำคุก 5-20 ปี อีกทั้งประชุมกันเพื่อทำผิดกฎหมายยังมีความผิดฐานซ่องโจรตาม ม. 210 ท่านตุลาการย่อมต้องรู้ ฉะนั้นท่านย่อมไม่ทำ (ผู้ฟังหัวเราะ)

พงศ์เทพ กล่าวว่า ความน่าเชื่อถือของศาลเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แม้การตัดสินคดีไม่เหมือนกันในแต่ละชั้นเป็นเรื่องปกติ หรือต่อให้ตัดสินไม่ถูก แต่โจทก์หรือจำเลยต่างก็ยอมรับได้ เพราะไม่มีความสงสัยเคลือบแคลงในองค์กรตุลาการ แต่ถ้ามีความเคลือบแคลงเสียแล้ว ต่อให้ตัดสินถูกต้องที่สุดคนก็ยังไม่เชื่อ สถานการณ์หลังยึดอำนาจ มีพฤติการณ์ คำพิพากษาหลายฉบับที่ก่อความเคลือบแคลงใจต่อสาธารณชน ประกอบกับหลายเหตุการณ์ทำให้ความเคลือบแคลงนั้นกลับเป็นความแน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นในวงการตุลาการ

พงศ์เทพยกตัวอย่างกรณีคำตัดสินของศาลยุติธรรมที่ก่อความแคลงใจ เช่น อดีต กกต. 4 คนถูกฟ้องคดีอาญา ต่อมาพิพากษาว่า กกต.3 คนมีความผิด มีการขอปล่อยชั่วคราวซึ่งตามปกติแล้วต้องให้ แต่ศาลไม่ให้ จน กกต.เหล่านั้นลาออกจึงได้รับการปล่อยชั่วคราว ต่อมามีการปล่อยเทปบันทึกเสียงผู้พิพากษา 2 คน คุยกับข้าราชการระดับสูง เลขาธิการ ปปง. พูดข้อมูลที่เกี่ยวพันกับคดีนี้ คนปล่อยเทปถูกฟ้องด้วยข้อหาดักฟังโทรศัพท์แล้วแอบอัดเสียง แต่สุดท้ายในแวดวงศาลก็ไม่มีการสอบข้อเท็จจริงใดๆ

ส่วนกรณีคลิปศาลรัฐธรรมนูญที่เพิ่งเกิดขึ้น พงศ์เทพเห็นว่าหากมีการตัดต่อจริงถือเป็นการจงใจทำลายใส่ความศาลรัฐธรรมนูญที่รุนแรงมากต้องดำเนินคดี แต่หากเป็นเรื่องจริง สื่อมวลชนควรไปสัมภาษณ์ตุลาการที่เหลือว่าเห็นควรทำงานร่วมกับคนเหล่านั้นต่อไปหรือเปล่า ที่ผ่านมาศาลฎีกาเคยพิพากษาคดีครูเอาข้อสอบไปให้เด็กดู ตัดสินให้เจ้าพนักงานต้องโทษจำคุกคนละ 9 ปี คนสนับสนุนโดนคนละ 6 ปี

พงศ์เทพ กล่าวถึงสำนึกเรื่องประชาธิปไตยของตุลาการว่าตั้งแต่ในอดีตเราอาจผิดหวังที่ ตุลาการไม่ได้ทำนุบำรุงรักษาระบอบประชาธิปไตยเท่าที่ควร คำพิพพากษาศาลฎีกาปี 2496 ก็รับรองให้ประกาศคณะปฏิวัติเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และปีเดียวกันนั้นเองหนึ่งในผู้พิพากษาคดีนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรียุติธรรม ผ่านมาจนปี 2549 ก็ยังมีผู้พิพากษาที่มีบทบาทก่อนการยึดอำนาจได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายท่านด้วยกัน

“สรุปแล้ว มโนธรรมสำนึก เท่ากับ โน สำนึก ไม่ต้องพูดเรื่องหลักวิชาชีพทางกฎหมาย จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใครต้องบรรยายเรื่องจริยธรรมตุลาการคงปวดหัวมาก เพราะไม่สามารถปรับหลักการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เลย” พงษ์เทพกล่าว

มีผู้ถามว่ากรณีคลิปศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตุลาการสามารถแจ้งข้อหากับผู้เผยแพร่ในความผิดมาตรา 112 หมิ่นสถาบันได้หรือไม่ สถิตย์กล่าวว่า มาตรา 112 ไม่ได้กำหนดขอบเขตรวมถึงศาลแต่อย่างใด ส่วนที่กล่าวกันว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลก็เป็นความเข้าใจผิด เพราะละเมิดอำนาจศาลหมายถึงการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาลเท่านั้น ส่วนการดูหมิ่นศาล ต้องเป็นเรื่องดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี คำว่า “ดูหมิ่น” ก็ต้องตีความอีกว่าเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของคน นอกจากนี้จะเข้าข่ายดูหมิ่นศาลได้ต้องเป็นการพิจารณาพิพากษาคดีที่ชอบด้วยกฎหมาย การปรึกษาคดีเพื่อรับสินบนเป็นเรื่องไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น