โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

นักวิจัย TDRI เผยการวิเคราะห์ข้อมูลกรมศุลการกร ครบ 2 ปี ไม่มีนำเข้าขยะอันตราย ภายใต้ JTEPA

Posted: 15 Nov 2010 11:27 AM PST

 
วันนี้ (15 พ.ย.53) มีการเผยแพร่งานเขียนโดยทีมสื่อสารข้อมูลสาธารณะ TDRI ชื่อ “ความตกลง JTEPA กับปัญหาขยะมีพิษจากญี่ปุ่น: ความวิตกกังวลและความเป็นจริง” โดย  ณัฐวุฒิ ลักษณาปัญญากุล นักวิจัยอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า หลังการบังคับใช้ความตกลง JTEPA ครบ 2 ปี ผู้เขียนได้วิเคราะห์การนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทยโดยใช้ข้อมูลของกรมศุลกากร พบว่า นับตั้งแต่ความตกลง JTEPA มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 จนถึงเดือนธันวาคม 2552 ไม่มีการนำเข้าขยะ/ของเสียอันตรายภายใต้ JTEPA เลย
 
ทั้งนี้ งานเขียนดังกล่าวระบุเนื้อหา ดังนี้
 
ในช่วงการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ JTEPA (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement) มีประเด็นหนึ่งที่กลุ่มสิ่งแวดล้อมมีความเป็นห่วงกันมากคือ การที่ความตกลง JTEPA นี้อาจทำให้ญี่ปุ่นนำเข้าขยะ/ของเสียอันตราย รวมทั้งขี้เถ้าที่เหลือจากการเผาขยะเทศบาล (municipal waste) จำนวนมาก มาทิ้งในประเทศไทย เนื่องจากไทยได้ลดภาษีศุลกากรให้แก่สินค้าใช้แล้วหรือของเสียบางรายการ
 
ในช่วงนั้น รัฐบาลไทยชี้แจงว่า ในทางกฎหมาย รัฐบาลไทยยังสามารถบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศได้อย่างเต็มที่ โดยความตกลง JTEPA ก็ยืนยันสิทธิของไทยในเรื่องการควบคุมการนำเข้าขยะ/ของเสียอันตรายตามกฎหมายไทย ดังนั้นขยะ/ของเสียอันตรายที่ไทยห้ามนำเข้า ก็ไม่สามารถนำเข้าได้เมื่อมีการทำความตกลง JTEPA นอกจากนี้ นักวิชาการก็ชี้ว่า การลดภาษีศุลกากรตามข้อผูกพันภายใต้ความตกลง JTEPA ก็น่าจะไม่ทำให้เกิดการไหลบ่าของขยะ/ของเสียเข้าสู่ประเทศไทย เนื่องจากเป็นการลดภาษีศุลกากรเพียงแค่ร้อยละ 1-5 เท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะคุ้มกับค่าส่งและค่าจัดการเพื่อขอใช้สิทธิพิเศษด้านภาษี 
 
หลังการบังคับใช้ความตกลง JTEPA ครบ 2 ปี ผู้เขียนได้วิเคราะห์การนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทยโดยใช้ข้อมูลของกรมศุลกากร พบว่า นับตั้งแต่ความตกลง JTEPA มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 จนถึงเดือนธันวาคม 2552 ไม่มีการนำเข้าขยะ/ของเสียอันตรายภายใต้ JTEPA เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขี้เถ้าที่เหลือจากการเผาขยะเทศบาลที่เคยเป็นห่วงกันมาก ทั้งนี้ ในหมวดที่เกี่ยวข้อง มีเฉพาะการนำเข้าสินค้าที่ใช้แล้วบางรายการ ได้แก่ ตู้แช่แข็งแบบเปิดด้านบน 2 เครื่อง (ปี 2550) โทรทัศน์สี 1 เครื่อง (ปี 2551) กล้องถ่ายภาพดิจิทัล/กล้องถ่ายบันทึกวิดีโอ 2 เครื่อง (ปี 2551) แบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว 40 กิโลกรัม (ปี 2551) และยางที่ใช้แล้ว 6.87 ตัน (ปี 2552) เท่านั้น (ดูตารางประกอบในส่วนของปริมาณการนำเข้าภายใต้ JTEPA) 
 
ตารางดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า มีการนำเข้าขยะ/ของเสีย/ของที่ใช้แล้วบางประเภทเช่น ขยะ/ของเสียเคมีภัณฑ์ ขยะพลาสติก และยางที่ใช้แล้วโดยชำระภาษีศุลกากรในอัตราปรกติเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การนำเข้าดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับความตกลง JTEPA แต่อย่างใด 
 
ข้อมูลดังกล่าวน่าจะชี้ว่า ความวิตกกังวลที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเจรจาทำความตกลง JTEPA นั้น น่าจะเกินเลยจากความเป็นจริงมาก และในกรณีนี้ การทำความตกลงการค้าเสรีไม่ได้มีผลต่อการทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในลักษณะที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด ในทางทฤษฎี แม้การค้าระหว่างประเทศอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้จริงก็ตาม แต่หลักฐานทางวิชาการที่มีอยู่ก็ยังไม่มีความชัดเจน การให้ความคิดเห็นต่อสาธารณะของฝ่ายต่างๆ จึงควรมีข้อมูลและหลักฐานต่างๆ สนับสนุน ความคิดเห็นดังกล่าวจึงจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะสูงสุด
 
 
สรุปการนำเข้าสินค้าใช้แล้ว/ขยะจากญี่ปุ่นในช่วงปี 2548 ถึงปี 2552
 
 
ประเภท
 
หน่วย

ปริมาณการนำเข้าทั้งหมด
ปริมาณการนำเข้าภายใต้ JTEPA
2548
2549
2550
2551
2552
2550
2551
2552
ขี้เถ้า
ตัน
0
0
0
0
0
0
0
0
เศษน้ำมัน
ตัน
554.36
409.39
367.99
244.55
156.14
0
0
0
ขยะ/ของเสียเคมีภัณฑ์
ตัน
0
0.05
5.13
12.08
5.38
0
0
0
ขยะพลาสติก
ตัน
368.21
383.64
690.23
1,491.30
950.23
0
0
0
ยางที่ใช้แล้ว
ตัน
62.24
114.77
51.59
121.68
412.29
0
0
6.87
แบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว
ตัน
4,098.59
160.85
54.85
58.86
82.25
0
0.04
0
เครื่อง
235.08 ล้าน
304.57 ล้าน
266.85 ล้าน
111.64 ล้าน
35.93 ล้าน
2
 
3
0
 
ที่มา: รายงานฉบับสมบูรณ์ “โครงการเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมภายใต้นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทย (ระยะที่ 1)” เสนอต่อสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“น้ำท่วมชีวิตก็เลยวุ่นวาย” ประสบการณ์ (มันส์ๆ) จากโรงพยาบาลจะนะ

Posted: 15 Nov 2010 10:10 AM PST

จดหมายจากนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ถึงพรรคพวกเพื่อนฝูงและมิตรสหาย บอกเล่าถึงประสบการณ์จากน้ำท่วมครั้งล่าสุด เรื่องของคนกับศพ จะไปด้วยกันได้อย่างไร

000 
 
แจ้งข่าวครับ สุภัทรหายไปนานครับ
 
ไม่ได้หายไปไหน น้ำท่วมชีวิตก็เลยวุ่นวายมากขึ้น กว่าจะได้เขียน mail อย่างยาวก็วันนี้เอง
 
ที่โรงพยาบาลจะนะน้ำเข้ามาที่สุดในประวัติศาสตร์การตั้งโรงพยาบาล นับตั้งแต่ปี 2516 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 น้ำเข้านาทวี (อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา) โรงพยาบาลนาทวี ทยอยขนคนไข้กับรถทหารมาที่โรงพยาบาลจะนะรวม 35 คน กว่าจะเสร็จก็ตกเย็น จะนะฝากข้าวกล่องกลับไปกับรถทหารให้เจ้าหน้าที่นาทวี 100 กล่องเป็นอาหารเย็นที่กินตอนค่ำ
 
ยอดวันนั้นคนไข้อยู่ที่ประมาณ 80 เตียง โชคดีที่จะนะน้ำขึ้นตอนค่ำ และส่วนใหญ่รู้ตัวล่วงหน้าว่าน้ำนาทวีมาแล้ว คนไข้ส่วนหนึ่งก็รีบสมัครใจกลับบ้าน ไม่มีใครอยากทิ้งบ้านในสถานการณ์วิกฤต คนไข้คนเฝ้าคงอยากกลับไปขนของหนีน้ำกัน ก็ถือว่าโรงพยาบาลขนาด 60 เตียงมีคนไข้ไม่แน่นเกินไป ตอนนั้นหมอเภสัชพยาบาลจะนะก็ปั่นป่วนกับคนไข้ที่ทะลักเข้ามาเหมือนน้ำป่า พอตกค่ำเรื่องคนไข้ก็เข้าที่เข้าทาง
 
ช่วงเช้ามีการประสานรถเติมออกซิเจนเหลวให้เข้ามาเติมออกซิเจนเหลวให้เต็มเป็นกรณีพิเศษโดยที่ยังไม่ถึงระดับที่ต้องเติม ซึ่งบริษัทเขาอยู่ที่หาดใหญ่ก็ยินดีมาเติมให้ 
 
ช่วงบ่ายเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไปตลาดตุนอาหารสดเพิ่มขึ้นอีก เผื่อว่าจะท่วมหลายวัน ตุนน้ำมันสำหรับรถทุกคันให้เต็มถัง สั่งก๊าซหุงต้มถังใหญ่มาเพิ่มอีก 2 ถัง น้ำมันสำหรับเครื่องปั่นไฟพร้อมแล้ว ข้าวสารอาหารแห้งพร้อมนานแล้ว เงินสดในมือก็พร้อมมีเงินอยู่เกือบ 50,000 บาท เพราะช่วงน้ำท่วมไฟดับ ธนาคารปิด ATM ไม่ทำงาน เงินสดเท่านั้นที่จะจับจ่ายได้
 
ข่าวน้ำจะท่วมจะนะ ในบ่ายวันนั้น ญาติคนไข้ก็พาคนไข้ขาประจำ 3-4 คน เช่นคนไข้ถุงลมโป่งพอง คนไข้สูงอายุที่บ้านชั้นเดียว พามาฝากนอนที่โรงพยาบาล แบบนี้เรียกว่า ชาวบ้านเขาทีการเตรียมตัว
 
ตอนเย็นเลิกงาน เป็นช่วงวัดใจ น้ำกำลังเข้าจะนะ ใครจะกลับบ้านเพราะห่วงบ้านก็คงเดาได้ว่า คงกลับมาไม่ได้แล้วในวันพรุ่งนี้ แต่ถ้าไม่รีบกลับก็คงไม่ได้กลับ 
 
ผมเองก็ตัดสินใจแล้วว่า ปีนี้ดูท่าน้ำสูงกว่าทุกครั้ง หมอที่อยู่เวรก็เป็นน้องๆ ใช้ทุน ภรรยากลับบ้านแล้ว คงไปขนของที่ร้านขายยา (ที่หาดใหญ่) ขออยู่เป็นกำลังใจและอำนวยการตามหน้าที่ให้โรงพยาบาลแล้วกัน ก็เลยนอนที่โรงพยาบาล
 
ตกค่ำน้ำขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นอย่างน่ากลัว ในตลาดท่วมหมดแล้ว แต่ตัวโรงพยาบาลตั้งในที่ที่สูงที่สุดของตลาด  มองไปเห็นโรงพัก อำเภอ ท่วมแล้ว น้ำเข้าโรงพยาบาลเริ่มท่วมโรงซักฟอก เครื่องซักผ้าเริ่มจม ไปสัก 1 ฟุต ก็พอไหว
 
สัก 3 ทุ่ม ผู้คนในโรงพยาบาลแตกตื่น เพราะกลัวว่าน้ำที่ท่วมถนนในโรงพยาบาล ซึ่งสูงกว่าถนนภายนอกเป็นฟุต แต่น้ำที่สูงขึ้นจนน่ากลัวว่าจะท่วมรถ จึงต้องมีการจัดระเบียบการจอดรถกับอย่างโกลาหล ทั้งรถส่วนตัวและรถโรงพยาบาล เอาขึ้นจอดตรงทางเชื่อมบ้าง ขึ้นที่สูงสักนิดบ้าง จนเรียกว่ามีรถจอดเต็มทางลาดที่เอาผู้ป่วยเข้าตึกบริการ 
 
หากมีคนไข้มาต้องกางร่มแล้วหามมาขึ้นทางบันได เพราะรถจอดเต็มหมดแล้ว แต่คืนนั้นคนไข้น้อยมาก  ส่วนใหญ่คงโกลาหลกับการขนของหนีน้ำ และถนนเส้นหลักน้ำท่วมจนยากที่จะเดินทางแล้ว
 
ตกค่ำนั้นเองไฟฟ้าก็ดับลงทั้งอำเภอ เครื่องปั่นไฟของโรงพยาบาลดังกระหึ่มในท่ามกลางความเงียบสงัด แสงไฟทั้งอำเภอมีแต่โรงพยาบาลเท่านั้นที่สว่าง มองไปจากชั้น 4 ของอาคารผู้ป่วยใน เห็นแต่โรงแยกก๊าซจะนะ และโรงไฟฟ้าจะนะ ที่มีท้องฟ้าสีสว่าง ซึ่งแปลว่าทั้งอำเภอน่าจะมีเพียง 3 แห่งที่มีไฟฟ้า เรียกว่า โคตรน่าอิจฉาที่สุดในอำเภอ 
 
ส่วนโรงพักและที่ว่าอำเภอที่ควรเป็นศูนย์อำนวยการช่วยเหลือประชาชนนั้นมืดสนิท
 
การสื่อสารถูกตัดขาดหลังไฟฟ้าดับไม่นาน เข้าใจว่าเสารับส่งสัญญาณมือถือคงแบตเตอรี่หมด โทรศัพท์พื้นฐานใช้ไม่ได้ เป็นคืนที่เงียบสงบ ดึกน้ำทรงตัว ไม่ท่วมสูงจนเข้ารถที่จอดไว้ ท่าทางจะไม่วิกฤตกว่านี้แล้ว
 
มื้อเช้าทุกคนไปกินข้าวต้มไก่ได้ที่โรงครัว โรงครัวเลี้ยงอาหารทุกมื้อกับทุกคนในโรงพยาบาลทั้งคนไข้ ญาติและเจ้าหน้าที่ ถนนไม่มีรถวิ่ง มีแต่คนเดินลุยน้ำระดับเอวเดินชมเมืองในอีกบบรรยากาศ
 
หมอในโรงพยาบาลวันนี้มีตั้ง 4 คน ช่วยกันไป round ward 2 คน อีก 2 คนก็อยู่เฝ้าห้องฉุกเฉิน เป็นวันที่มีคนไข้มาโรงพยาบาลน้อยที่สุด คือประมาณ 30 คน
 
ไม่น่าเชื่อว่า ยังมีคนเดินลุยน้ำมาโรงพยาบาลตั้ง 30 คน เกือบครึ่งหนึ่งคือคนไข้กลุ่มสำคัญที่โรงพยาบาลจะนะให้บริการเขามายาวนาน คือคนไข้กลุ่มที่ติดเฮโรอีน แล้วมารับยาเมธาโดนทดแทนทุกวัน ไม่เว้นเสาร์อาทิตย์ 
 
ไม่น่าเชื่อคนกลุ่มนี้แม้น้ำจะท่วม แต่เขาก็บากบั่นลุยน้ำมากินยา แสดงว่าโรคสมองติดยานี้ทรมานจริงๆ น้ำท่วมหากพอมาได้ก็ยังมาดีกว่าขาดยา
 
ตอนเช้านั้นเอง ผมไปดูคนไข้บนตึก เป็นผู้ป่วยชายสูงอายุที่มาจากนาทวี เป็นโรคเส้นเลือดในสมองแตก  ส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์แล้ว กลับมานอนรักษาต่อที่นาทวีได้ 1 วัน ก็ต้องย้ายหนีน้ำมาที่โรงพยาบาลจะนะ
 
ผู้ป่วยอาการแย่ลง ซึม หายใจติดๆ คุยกับญาติว่าคงไม่ไหว ญาติเข้าใจลงความเห็นร่วมกับหมอว่าไม่ส่งต่อ ผมเห็นแล้วไม่นานคงไปแน่ เลยถามหาฟอร์มาลีนจากห้องยา ปรากฏว่าไม่มี ไม่ได้เตรียมไว้ ไปได้จากห้อง lab ที่เขาไว้ดองชิ้นเนื้อมาแค่ 400 ซีซี ก็ยังดี
 
โรงพยาบาลชุมชนไม่มีตู้เย็นเก็บศพ หากเสียชีวิตอีกวันเดียวก็เน่าเหม็นแล้ว พอเที่ยงเขาจากไป เราก็หยดฟอร์มาลีนทางน้ำเกลือ รักษาศพไว้ ไม่รู้เมื่อไรจะกลับบ้านได้
 
ช่วงบ่าย 3 รถทหารคันใหญ่มาส่งยาน้ำท่วม แล้วเขาจะไปนาทวีต่อ มีคนไข้และญาติขอติดรถเสี่ยงไปลงกลางทางหลายคน ผมเลยขอฝากศพนี้ไปกับญาติฝากไปให้ถึงตลาดนาทวีด้วย
 
ปรากฏว่าคนอื่นที่จะพลอยไปกลับรถขอลงหมดทั้งคัน ไม่มีใครยอมไปด้วยเลย โวยวายกันบ้าง ผมก็บอกว่า คนเป็นไม่เน่ารอได้ คนตายรอไม่ได้ กลับไปที่ตึกคนไข้ไปพักและหาข้าวกินก่อนแล้วกัน แล้วรถทหารที่ขนยาและศพก็ออกไปจากโรงพยาบาล
 
ผมได้คุยกับหมอที่อำเภอรัตภูมิ เขาบอกว่า ที่โรงพยาบาลรัตภูมิก็มีคนไข้เสียชีวิตตอนน้ำท่วมอำเภอ โรงพยาบาลต้องให้คนลุยน้ำไปยืมโลงเย็นมาจากวัดมาเสียบไฟฟ้าที่โรงพยาบาลก่อนที่น้ำจะลด แต่ผมลืมวิธีนี้ไปเลย
 
ในวันที่ 2 โรงพยาบาลตึกหน้าไม่มีน้ำใช้ เพราะเครื่องสูบน้ำบาดาลขึ้นหอถังสูงจมน้ำเมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งเราไม่เคยนึกถึง มอเตอร์จมน้ำ แต่ตึกผู้ป่วยในยังมีน้ำใช้เพราะเป็นคนละระบบกัน ความเดือดร้อนจึงไม่มาก เครื่องปั่นไฟยังทำงาน 24 ชั่วโมง น้ำมันที่มีพอใช้อีก 2 วัน โรงพยาบาลกลายเป็นที่รับบริการชาร์จแบตเตอรี่มือถือประจำอำเภอ
 
คืนที่ 2 น้ำเริ่มลดลงในช่วงค่ำ ฝนไม่ตกเพิ่ม น้ำท่วมลดลงคนไข้ก็เพิ่มขึ้นทันที น้ำลดแล้ว การส่งต่อผู้ป่วยก็เริ่มขึ้น แต่การสื่อสารยังแย่มาก ทำให้การตรวจสอบเส้นทางการส่งต่อยากลำบากว่า เส้นทางไหนไปได้ไปไม่ได้ หลักๆก็ส่งต่อไป โรงพยาบาลสงขลา เพราะหาดใหญ่ยังจมน้ำอยู่
 
ตกดึกการไฟฟ้าเริ่มปล่อยกระแสไฟฟ้า  แต่การสื่อสารยังยากลำบาก
 
ภาพรวมโรงพยาบาลก็มีอาคารซักฟอกจ่ายกลาง อาคารกายภาพบำบัด ศาลาละหมาด ซึ่งเป็นอาคารแนวเดียวกันที่ตั้งในที่ลุ่มที่สุดของโรงพยาบาลท่วมระดับเกือบหัวเข่า ความเสียหายมีเล็กน้อยคือ เครื่องซักผ้าเสีย เครื่องสูบน้ำ และเครื่อง compressor เป่าลมของยูนิตทำฟัน แต่ทั้งหมดนี้ซ่อมได้
 
วันที่ 3 น้ำในโรงพยาบาลแห้งสนิทแล้ว ถนนเส้นหลักเดินทางได้ มีแต่บ้านที่อยู่ในที่ลุ่มที่ยังมีน้ำท่วม คนไข้เริ่มมาโรงพยาบาลมากกว่าปกติ โดยเฉพาะคนไข้เรื้อรังเบาหวานความดันที่ยาลอยไปกับสายน้ำแล้ว 
 
หมอที่ติดน้ำอยู่หาดใหญ่ก็มาโรงพยาบาลได้แล้ว เจ้าหน้าที่เพิ่มจำนวนขึ้นพอรับมือกับผู้ป่วยไหว คนที่อยู่เวรสลับกันเฝ้าโรงพยาบาลมาตลอด 2 วันก็ไปพัก คนใหม่มาทำหน้าที่ทดแทน
 
ในวันที่ 3 ผมก็ได้กลับบ้าน ไปช่วยที่บ้านล้างร้านขายยาที่ท่วมระดับเหนือเข่าเล็กน้อย ยาที่ร้านขนทันครับ ภรรยากับน้องสาวขนกัน 2 คน ไม่รู้ขนทันได้ไง 
 
สุดท้ายก็ได้คำตอบว่า ที่ขนนั้นไม่ใช่ยา ขนเงิน เงินทั้งนั้นก็เลยขนทัน จะมีก็เครื่องเสียง ตู้เย็น ของเล่นลูก โซฟาจมน้ำ และจิปาถะสมบัติที่สะสมไว้หลังบ้านจมน้ำไปพอสมควร เพราะขนไม่ไหว ขนจนปวดเมื่อยไปหมดทั้งตัว
 
การกลับบ้านของผมในวันนั้น เป็นความหวังของคนที่บ้านเลย เพราะแต่ละขนปวดเมื่อยจนไม่มีแรงจะล้างบ้านแล้ว ต้องรีบล้างก่อนน้ำแห้ง จะได้เอาโคลนออกให้มากที่สุด แต่น้ำประปาไม่ไหล ทำให้การล้างบ้านยากเย็น เช้าไปทำงาน ตกเย็นก็กลับมารับหน้าที่ช่วยล้างขัดบ้านเก็บขยะจัดของอีกหลายวัน กว่าจะเป็นปกติ
 
ครั้งนี้จึงกลายเป็น 5 ส.จำเป็นกันทั้งเมืองหาดใหญ่ หรืออาจจะเกือบทั้งประเทศ
 
เพราะหมอในโรงพยาบาลจะนะมีน้อย  และชาวบ้านต้องการยาพื้นฐานมากกว่าต้องการหมอ ทางโรงพยาบาลและสาธารณสุขอำเภอเลยจัดหน่วยพยาบาลออกไปกับรถพยาบาลฉุกเฉินไปแจกจ่ายยา ออกไปเป็น 3 สาย แวะเป็นจุดจุดละสัก 1 ชั่วโมง แล้วก็ไปต่อจุดอื่น บางส่วนก็ฝากยาสามัญประจำบ้านไว้ที่บ้าน อสม.ให้เป็นจุดกระจายยา จัดบริการแบบนี้สัก 3 วันก็หยุดลง เพราะน้ำลด
 
ชาวบ้านส่วนใหญ่พึ่งตนเองและเดินทางสะดวกแล้ว จะมีก็แต่ชาวบ้านที่บ้านชั้นเดียวที่น้ำท่วมสูงจนข้าวของเสียหายหมด โดยเฉพาะรถเครื่องและเครื่องใช้ไฟฟ้าจมน้ำหมด ซึ่งน่าเป็นห่วงมากเป็นพิเศษ แต่ละชีวิตก็ต้องดิ้นรนกันต่อไป
 
ผมคิดเอาเองว่า ชาวบ้านเขาเผชิญความทุกข์ยากมาทั้งชีวิต ความคิดฆ่าตัวตายหรือเครียดจัดจนต้องมาหาหมอจึงไม่มากเหมือนคนเมือง
 
สุดท้ายต้องขอบคุณบรรพบุรุษที่เลือกทำเลในการตั้งโรงพยาบาลจะนะได้เหมาะสมแล้ว
 
000
 
 
 
 
000
 
หมายเหตุ : งานเขียนข้างต้น คือ เนื้อหาในจดหมายอีเล็คโทรนิคส์ (อีเมล) ที่นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา ที่เขียนถึงพรรคพวกเพื่อนฝูงและมิตรสหาย บอกเล่าถึงประสบการณ์จากน้ำท่วมครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คดีแพร่คลิปฉาว "ตุลาการศาล รธน." ตร.ขอศาลออกหมายจับ "พสิษฐ์-เลขาฯ" ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

Posted: 15 Nov 2010 09:21 AM PST

ตร.สรุปคดีแพร่คลิปตุลาการศาล รธน. ก่อนขอศาลออกหมายจับ “พสิษฐ์-ชุติมา” ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เผยเตรียมสรุปสำนวนส่ง ป.ป.ช. ภายใน 20 พ.ย.นี้ ด้านตุลาการศาล รธน.ตั้ง “บวรศักดิ์” ประธานสอบทุกคลิปฉาว ให้เวลา 30 วัน 

 
 
ตร.ขอหมายจับ "พสิษฐ์-ชุติมา"
 
วันนี้ (15 พ.ย.53) เมื่อเวลา 10.00 น. กองปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ที่ปรึกษา (สบ.10) ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีมีผู้นำคลิปตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาเผยแพร่ ได้เรียกประชุมพนักงานสอบสวนเพื่อติดตามความคืบหน้า โดยมี พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาท รักษาราชการแทน ผู้บังคับการกองปราบปราม (ผบก.ป.) พล.ต.ต.สุรพล หอมชื่นชม ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) และพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง
 
พล.ต.ต.ปัญญา กล่าวว่า เป็นการประชุมครั้งที่ 3 แล้ว ซึ่งในที่ประชุมมีมติที่สำคัญ 3 เรื่อง คือเรื่องแรกจะสรุปสำนวนส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ เนื่องจากพบพยานหลักฐานว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ 1-2 คนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เรื่องที่ 2 ในช่วงบ่ายวันนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้ พ.ต.อ.สุพิศาล เดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอออกหมายจับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 จำนวน 2 คน ซึ่งจะทราบว่าเป็นใครบ้างช่วงบ่าย
 
เรื่องสุดท้าย พล.ต.ต.ปัญญา ระบุว่าพบความผิดบางส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 พนักงานสอบสวนพบว่ามีผู้กระทำผิดบางส่วนอยู่นอกราชอาณาจักร ที่ประชุมจึงมีมติให้ทำหนังสือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อมาเป็นพนักงานสอบสวน ในการติดตามตัวผู้กระทำความผิดนอกราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 หรืออัยการสูงสุดจะมอบหมายให้พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) หรือพนักงานสอบสวน กองปราบปรามอาชญากรรม ทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เป็นพนักงานสอบสวนต่อไป
 
ต่อมาเวลา 18.00 น พ.ต.ท.เกรียงไกร ขวัญไตรรัตน์ พงส.(สบ 3) กก.1 บก.ป. เข้ายื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้อนุมัติหมายจับนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนางชุติมา แสนสินรังสี ข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
 
ข่าวแจ้งว่า นางชุติมาเป็นเลขาฯ นายพสิษฐ์ และอยู่ในเหตุการณ์ที่นายพสิษฐ์พูดคุยกับนายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง พรรคประชาธิปัตย์ ที่ร้านอาหารย่านประชาชื่น
 
 
ตั้ง “บวรศักดิ์” ปธ.สอบคลิปฉาว
 
ด้านที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคลิปวิดีโอที่พาดพิงถึงศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงวันเดียวกัน (15 พ.ย.53) ว่า คณะกรรมการดังกล่าวมีองค์ประกอบ ดังนี้ 1.นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ประธานกรรมการ 2.ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด 3.ผู้แทนสภาทนายความ 4.นายกำชัย จงจักรพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5.นายศักดา ธนิตกุล คณบดีนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกรรมการ 6.นายเชาวนะ เป็นเลขานุการและกรรมการ และ 7.นายธีรพงษ์ ธิติธางกูร ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาบุคลากรและระเบียบสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับทราบคำสั่ง และให้รายงานผลการตรวจสอบต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ
 
“เท่าที่ดูจากคำสั่ง คิดว่าคณะกรรมการน่าจะตรวจสอบครอบคลุมทุกคลิปที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนประเด็นที่จะตรวจสอบนั้น คณะกรรมการจะประชุมและกำหนดกรอบการทำงานอีกครั้งหนึ่ง คิดว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้จะมีความกว้างขวางกว่าคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ที่มีนายสนิท จรอนันต์ ที่ปรึกษาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานก่อนหน้านี้” นายเชาวนะกล่าว
 
 
ยัน "ส." ไม่เกี่ยวออกข้อสอบ
 
นายเชาวนะกล่าวว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ความเป็นอิสระในการตรวจสอบ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจะเห็นว่ามีความจำเป็นหรือต้องการที่จะเรียกบุคคลหรือเอกสารใดมาตรวจสอบสามารถทำได้ ต้องถือเป็นความก้าวหน้าของศาลรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งคนภายนอกเข้ามาตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
 
นายเชาวนะกล่าวว่า ส่วนที่ปรากฏเป็นข่าวว่า พรรคการเมืองหนึ่งได้รับเรื่องจากข้าราชการซี 9 ในศาลรัฐธรรมนูญ อักษรย่อ "ส" แจ้งว่า เป็นคนดำเนินการจัดสอบบรรจุเป็นข้าราชการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2552 และได้ถอนตัวหลังจากรู้ว่าการสอบน่าจะมีปัญหาไม่ชอบมาพากลนั้น จากการตรวจสอบได้ความว่า บุคคลดังกล่าวมิได้รับแต่งตั้งเป็นคณะทำงานในการควบคุมกำกับดูแลการออกข้อสอบ แต่เมื่อข้าราชการคนดังกล่าวรู้ว่า ได้รับแต่งตั้งเป็นเพียงคณะทำงานรับและส่งข้อสอบที่ผลิตเสร็จแล้วเท่านั้น ก็ได้ชิงลาออกก่อนที่การออกข้อสอบและการสอบเกิดขึ้น ดังนั้น บุคคลดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการออกข้อสอบเพียงแต่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่รับและส่งข้อสอบที่ผลิตเสร็จแล้ว และเป็นการเตรียมงานด้านธุรการเพื่อสนับสนุนการสอบที่จะมีขึ้น โดยยังไม่มีการออกข้อสอบหรือการสอบเกิดขึ้น
 
 
"สาโรช" ปัดแจงเหตุถอนตัว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบพบว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีข้าราชการที่มีตำแหน่งสูงกว่าระดับ 9 มี 4 คน ประกอบด้วย นายสนิท จรอนันต์ ที่ปรึกษาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายสาโรช โชติพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคดีและวิชาการ นายสุทธิรักษ์ ทรงศิวไล ผู้อำนวยการสำนักอำนวยกิจการศาลรัฐธรรมนูญ และนายสิทธิพร เศาภายน ผู้อำนวยการกลุ่มงานคดี 6 ทั้งนี้ พบว่านายสาโรชไม่ได้เข้าเป็นคณะกรรมการควบคุมกำกับดูแลการออกข้อสอบในครั้งนั้นเพียงคนเดียว
 
ทั้งนี้ นายสาโรชกล่าวเพียงสั้นๆ กับผู้สื่อข่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า "ไม่ขอพูดอะไร ขอให้ไปสอบถามกับผู้ที่ให้ข่าวก็แล้วกัน ผมเป็นเจ้าหน้าที่พูดอะไรไม่ได้"
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีศรีประชา: ต้อนรับ อองซาน ซูจี สู่เสรีภาพ

Posted: 15 Nov 2010 08:16 AM PST

 
“มนุษย์นั้นเท่าเทียมกัน จะถูกพรากไปไม่ได้ 
ไม่ว่าจะเป็นชีวิต เสรีภาพ และการแสวงหาซึ่งความสุข 
เมื่อใดก็ตามที่ระบอบของการปกครอง 
กลายเป็นตัวทำลายซึ่งจุดหมายปลายทางดังกล่าว 
ก็ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างได้"
(คำประกาศอิสรภาพของเมริกา)
 
คำประกาศอิสรภาพของอเมริกา
เหตุเกิดที่พม่า ตรงกันข้าม
นานมาแล้วเหยียบย่ำกระทำทราม
วันนี้ทำให้งาม เพราะเหตุใด
 
มนุษย์นั้นไม่เคย เท่าเทียมกัน
ถูกพราก ถูกฆ่าฟัน ทุกข์หมองไหม้
ชีวิตสิทธิ์เสรีภาพ ลมหายใจ
ความสุขอยู่ห่างไกลในความจริง
 
จากพม่าถึงไทย มิใช่ฝัน
ย่อมยืนยัน ให้เห็น ชัดเจนยิ่ง
หลายชีวิตถูกฆ่าไล่ล่ายิง
แล้วโลกทิ้งทอดได้อย่างไรกัน
 
อองซาน ซูจี สู่เสรีภาพ
เป็นที่ปลาบปลื้มใจดังใฝ่ฝัน
แต่คุกขังคนไว้อีกหลายพัน
ฝากชีวันพี่น้องกับอองซาน
 
คำประกาศอิสรภาพอเมริกา
กับเรื่องจริง การเข่นฆ่า ล่าสังหาร
ประชาชน ไทย-พม่า อย่างสามานย์
เราต้องการสันติสงบจบด้วยธรรม.
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ผ่านวุฒิสภาแล้ว

Posted: 15 Nov 2010 07:51 AM PST

ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ผ่านขั้นวุฒิสภาแล้ว ด้วยคะแนน 82 งดออกเสียง 4 และไม่ลงคะแนน 1 คาดไม่เกินเดือน ธ.ค.เสนอนายกฯ เพื่อนำทูลเกล้าฯ เดือน ม.ค.พร้อมเริ่มต้นกระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่
 
 
วันนี้ (15 พ.ย.53) ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรมคมนาคม พ.ศ. ... (พ.ร.บ.กสทช.) หลังอภิปรายกันพอสมควร ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตามร่างที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วม 2 สภาพิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยคะแนน 82 ต่อ 4 งดออกเสียง 4 และไม่ลงคะแนน 1 คะแนน
 
ต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 พ.ย.53 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียง 228 คน งดออกเสียง 24 คน ไม่ลงคะแนน 14 คน ไม่เห็นด้วย 2 คน จาก ส.ส.ที่เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 268 คน โดย พ.ร.บ.กสทช.ที่ผ่านการเห็นชอบดังกล่าว 
 
ขั้นตอนหลังจากนี้ จะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอประธานรัฐสภา เพื่อนำร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เสนอให้นายกรัฐมนตรีภายในเดือน ธ.ค.2553 เพื่อนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป โดยหลังจาก พ.ร.บ.กสทช. ประกาศใช้ครบ 180 วันแล้ว กระบวนการสรรหากรรมการ กสทช.จะเริ่มต้นดำเนินการทันที คาดว่าจะเริ่มขั้นตอนการสรรหาได้ภายในเดือน ม.ค.2554 และจะได้กรรมการ กสทช.ภายในเดือนมิ.ย. 2554
 
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างดังกล่าวเป็นการประนีประนอมระหว่างวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ 1.จำนวนกรรมการของ กสทช.มีมติร่วมกันให้ลดจาก 15 คน เป็น 11 คนตามร่างของสภาผู้แทนราษฎร 2.โครงสร้างของ กสทช. เห็นตรงกันให้ตัดตัวแทนของฝ่ายความมั่นคงและการบริหารราชการออก 3.คุณสมบัติของกรรมการ กสทช. ที่วุฒิสภาแก้ไขให้มีอายุ 35-70 ปี นายประสิทธิ์ โพธสุธน ได้ใช้สิทธิประธาน กมธ.ร่วม โหวตเป็น 6 ต่อ 5 เห็นด้วยตามร่างที่วุฒิสภาแก้ไข 4.หน่วยธุรการในการสรรหา กสทช.ให้สำนักเลขาธิการวุฒิสภาทำหน้าที่ดังกล่าว 5.การส่งคืนผลกำไรจากค่าสัมปทาน เสียงข้างมากยืนยันตามร่างของวุฒิสภา ที่ให้ส่งคืนรัฐภายใน 3 ปี
 
6.การจัดสรรคลื่นโทรทัศน์ชุมชนแก่ภาคประชาชน มีข้อถกเถียงว่าควรจะรอจนกว่า กสทช.จัดทำแผนแม่บท และมีการปรับการแพร่ภาพโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอลแล้วจึงจะเริ่มจัดสรรให้ตามร่างของสภาผู้แทนฯ หรือให้จัดสรรคลื่นได้เลยในกรณีที่ยังมีคลื่นความถี่ในพื้นที่ใดว่างอยู่ตามร่างที่วุฒิสภาแก้ไข ซึ่งที่ประชุมประนีประนอมโดยกำหนดในบทเฉพาะกาลว่าภายหลังจัดทำแผนแม่บทเสร็จ อาจใช้เวลาประมาณ 1 ปีหลังมี กสทช.หรือราว 1 ปีครึ่งภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ให้ กสทช.จัดสรรคลื่นทีวีภาคประชาชนได้ชั่วคราว ในพื้นที่ที่มีคลื่นอนาล็อคว่างอยู่ แต่ต้องสามารถเรียกกลับมาจัดสรรใหม่ เมื่อปรับการแพร่ภาพเป็นระบบดิจิตอลแล้ว
 
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ซีรีส์ สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมือง ตอน 9: ‘เสรีภาพออนไลน์’ สื่อหลักต้องร่วมปกป้ิอง

Posted: 15 Nov 2010 07:15 AM PST

 

 ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ส่งผลให้ สื่อทางเลือกหรือ นิวมีเดียมีรูปแบบที่หลากหลายและนับวันจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ เคเบิลทีวี หรือวิทยุชุมชน จนกระทั่งช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาซึ่งประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ก็ทำให้ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ถึงนัยสำคัญที่มีต่อสังคมไทย กระทั่งเป็นที่จับตารอการทำความเข้าใจและอธิบาย

ขณะเดียวกัน สื่อสารมวลชนไทยกระแสหลักเองก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทำหน้าที่ตลอดช่วงความขัดแย้งดังกล่าว ไม่เพียงแต่การตั้งคำถามถึงจริยธรรม จรรยาบรรณ จุดยืน ตลอดจนท่าทีที่มีต่อความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่างๆ ในบริบทของการแบ่งแยกขั้วแบ่งแยกข้างทางการเมือง จนนำไปสู่วิกฤติความน่าเชื่อถือของสื่อ และเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ช่องทางและการสื่อสารใหม่ๆ มีผู้ใช้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนความคิดและความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ประชาไท สัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน และนักปฏิบัติการสื่อออนไลน์ 12 คน เพื่อร่วมถกเถียงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะนำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยความสนับสนุนของมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ซึ่งบทสัมภาษณ์อย่างละเอียดจะนำเสนอเป็นรูปเล่มต่อไป

 

สฤณี อาชวานันทกุล ปัจจุบัน เป็นอาจารย์พิเศษวิชา ธุรกิจกับสังคมในหลักสูตรควบบริหารธุรกิจบัณฑิต (การจัดการแบบบูรณาการ) และวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังเป็นคอลัมนิสต์ในสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับ ในโลกอินเทอร์เน็ต หลายคนอาจเริ่มรู้จักเธอในฐานะบล็อกเกอร์ คนชายขอบแห่งบล็อก http://fringer.org ก่อนจะขยับมาเป็นคอลัมนิสต์ประจำโอเพ่นออนไลน์ (http://www.onopen.com) และเป็นบรรณาธิการของเว็บในเวลาต่อมา นอกจากนั้น เธอยังสวมหมวกกรรมการก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองเน็ตด้วย

ประชาไทพูดคุยกับเธอในฐานะผู้ที่คร่ำหวอดอยู่กับวงการอินเทอร์เน็ต หนึ่งในกรรมการก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองเน็ต ซึ่งแทบจะเป็นองค์กรเดียวที่ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนกรณีมีผู้ถูกจับ ถูกดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ตั้งแต่แรกๆ ที่มีการบังคับใช้ เพื่อเรียกร้องให้ใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม

บทบาทสื่อหลักในพื้นที่ใหม่

ขณะที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีแต่จะมากขึ้นทุกวัน เทคโนโลยีราคาถูกลงเรื่อยๆ เธอมองว่า โดยธรรมชาติ สื่อหลักก็ต้องกระโจนเข้ามาในพื้นที่สื่อใหม่นี้ เพื่อให้คนอ่านของเขารู้สึกว่าได้เห็นเขาทุกแห่งที่ไป ทำให้เธอนึกถึงประเด็นที่่ว่า เมื่อทั้งหมดมาอยู่รวมในพื้นที่เดียวกันแล้ว สื่อหลักจะมีบทบาทช่วยเหลือประชาชนอย่างไร 

สำหรับกรณีแบบนี้ สฤณีเล่าด้วยความผิดหวังว่า ประเด็นที่รู้สึกว่าประเทศไทยล้าหลังกว่าประเทศอื่นก็คือ เรื่องสิทธิเสรีภาพของพลเมือง

เมื่อเอาเข้าจริงแล้วประชาชนเวลาเข้าไปอยู่บนเน็ตแล้วสื่อสารกัน นั่นก็คือเสรีภาพในการสื่อสาร ดังนั้นมันคือคำตอบว่า ทำไมพอบล็อกเกอร์ถูกจับ ถูกบล็อค ถูกเซ็นเซอร์ องค์กรวิชาชีพสื่อในต่างประเทศถึงได้ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ทำไมสื่อต่างชาติถึงได้ทำข่าวเรื่องบล็อกเกอร์เรื่องเฟซบุ๊กพวกนี้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งๆ ที่คนที่โดนไม่ใช่นักข่าววิชาชีพ แล้วทำไมในเมืองไทย มันยังไม่มีเรื่องพวกนี้ องค์กรวิชาชีพยังมองว่าไม่ใช่เรื่องของเขา

เธอเล่าถึงการแลกเปลี่ยนกับสื่อหลักบางสำนักจากประเด็นนี้ ซึ่งได้คำตอบที่น่าหดหู่ หลังตั้งคำถามว่า ทำไมพวกเขาไม่ปกป้องประชาชนเวลาที่ประชาชนโดนข้อหาหมิ่นประมาท หรือข้อหาอื่นๆ แล้วได้คำตอบว่า ขนาดสื่อเองยังปกป้องตัวเองไม่ได้เลย แทนการบอกว่ากลไกที่สื่อมีนั้นแย่และต้องไปซ่อมกลไกให้ครอบคลุมกับคนทุกคน

อย่างไรก็ตาม เธอมองว่ามันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่หนีไม่พ้น อีกหน่อยสื่อกระแสหลักเองก็จะต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของพวกเขาด้วย เพราะพวกเขาเองก็มีสิทธิ์ที่จะโดนด้วยเหมือนกัน เพราะมันเป็นพื้นที่เดียวกัน

การจัดการข้อมูลของสื่อใหม่

ที่ผ่านมา ในช่วงที่มีปัญหาทางการเมืองมากๆ มีเสียงจากสื่อหลักพูดถึงปัญหาของข้อมูลข่าวสารที่ผิดพลาดหรือบิดเบือนในสื่อใหม่ อาทิ การสื่อสารผ่านเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ที่ผู้นำเสนอไม่เป็นมืออาชีพ และทำให้ผู้รับสารได้รับข้อมูลข่าวสารที่ผิดพลาด ก่อให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น

สฤณีบอกว่า เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ แต่ตั้งคำถามต่อว่าจะจัดการอย่างไร พร้อมเสนอว่า วิธีการที่จะตั้งต้นมองตรงนี้ได้ดีก็คือ การเปรียบเทียบว่าในโลกของทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กมันคล้ายๆ กับโลกที่เราคุยกันเอง เวลาที่เราซุบซิบนินทากับเพื่อน ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะให้เรากลั่นกรองตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์เวลาคุยกัน ไม่อย่างนั้นมันก็ไม่ใช่การสื่อสารแบบส่วนตัว

คืออินเทอร์เน็ตมันน่าสนใจตรงที่ว่า เวลาเราสื่อสาร เราสื่อสารส่วนตัว เราคุยกันกับเพื่อน เพียงแต่ว่าผลกระทบมันเป็นสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม เธอไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องให้กลั่นกรองก่อน เหมือนที่สื่อกระแสหลักมีกองบรรณาธิการ เพราะมองว่าวิธีแก้่ปัญหาทำได้โดยการสร้างทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งถือว่าต้องเป็นทักษะพื้นฐานในโลกสมัยใหม่ อาจจะต้องมีการสอนกันในโรงเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เพื่อให้ทุกคนมีระดับการรู้เท่าทันสื่อ สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรควรเชื่อไม่เชื่อ ขณะที่ตัวของคนที่สื่อสารก็ควรคำนึงถึงเรื่องมารยาทหรือข้อควรระวังด้วย เธอมองว่า คนทั่วไปแม้ไม่ได้เป็นสื่อมืออาชีพแต่ก็คงไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้าใจผิด ซึ่งกรณีแบบนี้สามารถป้องกันได้โดยไม่ซับซ้อน เช่นเวลาเล่นทวิตเตอร์ เมื่อรีทวีตข่าวลือ ซึ่งเป็นข้อมูลที่อ่อนไหว ก็อาจจะใส่ข้อความเตือนว่าเป็น ข่าวลือหรือทวีตอะไรไปแล้วต่อมามีการยืนยันข้อมูลใหม่ ก็ควรจะทวีตแก้ไขด้วย เธอมองว่า หากรณรงค์เรื่องพวกนี้ ก็จะช่วยป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้

แหล่งข้อมูลหลากหลายในภาวะสื่อหลักเซ็นเซอร์ตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง สฤณีมีข้อสังเกตว่า ด้านที่ดีของสื่อใหม่โดยธรรมชาติเลยคือ การเปิดให้ข้อมูลที่หลากหลายจริงๆ โดยเฉพาะภาวะที่สื่อกระแสหลักเซ็นเซอร์ตัวเอง รัฐบาลก็เซ็นเซอร์ สื่อรัฐก็พร็อพพากันดาอย่างชัดเจน ถือเป็นการถ่วงดุลกันโดยธรรมชาติ หากไม่มีสื่อเหล่านี้ ก็ไม่รู้ว่าข้อมูลที่ตรงข้ามกับรัฐจะออกมาอย่างไร คงจะยากมาก ประเด็นก็มีแค่ว่าข้อมูลพวกนี้มันจะทำยังไงให้คนที่เขาเกลียด ต่อต้าน หรือไม่เชื่อได้เห็น ซึ่งต้องใช้การคิด

คือตอนนี้ประเด็นก็คือคนที่หมกมุ่นกับฝั่งใดฝั่งหนึ่งหรือความคิดของตัวเองก็แล้วแต่ บางทีเขาจะไม่เปิดหูเปิดตาเลย คือแค่คลิกไปที่อีกเว็บไซต์หนึ่งเขาก็ไม่คลิกแล้ว ทั้งๆ ที่ความจริงมันก็แค่คลิกไปอีกแค่คลิกเดียว แล้วบางทีถ้าเขาแค่ยอมคลิกไป ไม่ตั้งป้อม เขาก็จะได้เห็นข้อมูลของอีกฝั่งหนึ่งที่มีอยู่อย่างมหาศาลใช่ไหม อันนี้มันคือคุณูปการจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของสื่อใหม่ที่ส่งผลในด้านลบก็คือ การที่ทำให้คนที่คิดอะไรที่คล้ายกัน มาเจอกันได้ง่ายมาก สฤณีบอกว่า ฟังดูเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหาก็คือว่า เราจะไม่รู้ตัวเลยว่า มันไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้เราไปฟังเรื่องอื่น มันจะตอกย้ำเราในสิ่งที่เราสนใจ คือพอเราเข้ามาในสังคมนี้ เราก็จะรู้สึกว่า มีคนที่คิดเหมือนกับเราเป็นพันคน เกิดเป็นการตั้งป้อม อยู่กันแต่ในชุมชนของตัวเอง ตรงนี้ทำให้เกิดช่องว่างที่ใหญ่มาก ทั้งนี้ในที่สุดมองว่ามันเป็นเรื่องของคน ไม่ใช่เรื่องของเครื่องมือเท่าไร

ต่างกันกับสภากาแฟในชีวิตจริง สฤณีบอกว่า การจับกลุ่มตัวในอินเทอร์เน็ตนั้นสุดขั้วมากกว่า ขณะที่ในร้านกาแฟ อาจมีการรวมตัวกันได้อย่างมาก 10 หรือ 20 คน หากโต๊ะข้างๆ พูดอะไรมา ก็อาจจะต้องฟังเขาบ้าง แต่ในอินเทอร์เน็ตรวมตัวกันทีได้เป็นพัน  และไม่จำเป็นต้องสนใจอะไรเลย เมื่อมีกลุ่มของตัวเอง เจอใครแหลมมาก็เตะเขาออกไป ทั้งนี้ การจะสร้างให้เกิดการเปิดรับข้อมูลใหม่หรือฟังกันมากขึ้น คงต้องเริ่มจากในกลุ่มกันเองที่ชักชวน

สฤณียกตัวอย่างการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นในโลกออนไลน์ ที่ส่งผลกระทบต่อโลกจริง อย่างการล่าแม่มด ที่มีการนำเอาข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่คิดเห็นต่างกันกับกลุ่มของตนมาเผยแพร่ มีการโทรศัพท์ไปขู่คุกคาม ก้าวเข้าสู่การไล่ล่าในโลกจริง

การใช้สื่อใหม่ในทางสร้างสรรค์

สฤณีเปรียบเทียบว่า สื่อใหม่เป็นเหมือนกับเครื่องขยายเสียง เวลาเราพูดอะไรมันก็จะถูกขยายออกไปอีก เพราะฉะนั้น หากเป็นเรื่องสร้างสรรค์ ก็จะขยายผลในเรื่องที่สร้างสรรค์ หากเป็นเรื่องไม่สร้างสรรค์ มันก็จะขยายผลที่ไม่สร้างสรรค์ ตอนนี้จึงมีคำถามที่ว่า เราจะรณรงค์หรือมีวิธีการที่จะใช้อย่างไรให้สร้างสรรค์กว่าเดิม

ก่อนอื่นมีความเข้าใจผิด 2 เรื่องใหญ่ที่ต้องแก้ไข เรื่องแรกคือ การคิดว่าการมารวมตัวกันได้ก็เจ๋งพอแล้ว และคิดว่ามันคือการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ใช่ เธอเล่ากรณีที่รุ่นน้องของเธอที่ตั้งกลุ่มต่างๆ ในเฟซบุ๊กขึ้นมาในช่วงที่มีวิกฤติทางการเมือง ซึ่งก็มีคนเข้ามากด ถูกใจจำนวนหลายพัน สร้างความตื่นเต้นดีใจให้พวกเขาอย่างมาก แต่เมื่อลองจัดกิจกรรมชวนคนไปบริจาคเลือด ปรากฏว่ามีคนไป 5 คน

การที่คุณได้แฟนเยอะ มีคน follow (ติดตาม) เยอะบนทวิตเตอร์ อย่าไปคิดว่าการที่เป็นแบบนี้คุณได้สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขึ้น ซึ่งมันไม่ใช่ อย่างดีที่สุดเลย คุณได้สร้างพื้นที่ของข้อมูลมาพูด แต่มันก็อยู่ที่ตัวคุณเอง

เธอเน้นว่า อยู่ที่การออกแบบเป้าหมายและการบริหารจัดการว่าต้องการอะไร ในขั้นนี้เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือ

กรณีของสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ที่สื่อสารและนัดแนะการทำกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดงผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวจนเกิดเป็นกิจกรรมหลากหลายในทุกวันอาทิตย์ สฤณีมองว่าน่าสนใจ คืออย่างน้อยเขาชัดเจน เขาเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ได้จะปรองดองอยู่แล้ว ก็สามารถที่จะแปลง คือแกไม่ได้มีแค่เพื่อนเยอะ มีคน follow เยอะ แต่เขาสามารถดึงเอาผู้ที่ติดตาม follow ไปทำกิจกรรมในโลกจริงได้ มันคือความสามารถของการใช้โซเชียลมีเดีย ที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำแบบนี้ได้ ไม่ใช่ว่าคุณมี follow เยอะเท่าคุณหนูหริ่ง แล้วคุณจะสามารถจัดกิจกรรม แล้วมีคนมาร่วมเยอะขนาดนี้ได้ นี่คือการจัดการการใช้

เรื่องที่สองคือ การแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์นั้นเป็นเรื่องของอารมณ์ชั่ววูบที่ไม่ควรเก็บมาเป็นอารมณ์   เธอว่า อารมณ์มันจะออกมาแหล่มๆ เบี้ยวๆ หรือแรงๆ กว่าโลกจริงเพราะมันง่าย บางคนอาจจะใส่ชุดนอน สบถและแสดงความเห็นด้วยความสะใจ แต่พอเจอหน้ากันในโลกนอกอินเทอร์เน็ต อาจจะเป็นคนสุภาพเรียบร้อยไปเลยก็ได้

ในระดับที่รุนแรงหน่อย สฤณีมองว่า การไม่เข้าใจธรรมชาติตรงนี้ อาจนำไปสู่การฟ้องหมิ่นประมาท ซึ่งเธอมองว่าไม่เป็นสาระเท่าไร

มันเป็นเรื่องวัฒนธรรมเน็ต ถามว่าคนที่ด่าๆ อยู่ ลองจับมานั่งโต๊ะอย่างนี้สิ ก็ถามว่าใครรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ นะ คืออย่าลืมว่าอินเทอร์เน็ตปัญหามันก็คือว่า บางทีมันก็ชั่วแล่นออกไปใช่ป่ะ เวลาคุณพิมพ์อะไรไป แล้วคุณก็ไปทำอย่างอื่นแล้ว แล้วมันก็อยู่ไปอย่างนี้

รัฐกับการควบคุมโลกออนไลน์

ระหว่างทางที่อินเทอร์เน็ตกำลังเติบโต เธอมองว่า เกิดกระแสทั่วโลกที่รัฐบาลอยากจะเข้ามาควบคุม ไม่ว่าด้วยการกลั่นกรองเนื้อหาก่อนเผยแพร่สู่อินเทอร์เน็ต หรือปิดกั้นการเข้าถึงกันตั้งแต่ต้นทาง

เธอแสดงความไม่เห็นด้วยกับวิธีเหล่านี้ เพราะการกรองหรือปิดกั้นตั้งแต่ต้นทางเป็นการสอดส่องความเป็นส่วนตัว ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาลตั้งแต่ต้น โดยเท่ากับได้ละเมิดสิทธิคนจำนวนมาำกและมีความเสี่ยงที่ข้อมูลส่วนบุคคลของใครก็ตามจะหลุดออกไปได้

สฤณีย้ำว่าสิ่งที่ควรจะทำคือ การตามไปจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้น หากจะมีการอ้างว่าถ้าไม่ป้องกันก่อนก็อาจจะแก้ไขปัญหาที่อาจตามมาไม่ทันการ สฤณีตั้งคำถามกลับว่า หากไม่มีการปิดกั้นก่อน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริงคืออะไร เธอบอกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีคำตอบ

อย่างบล็อคเว็บไซต์ตั้งสี่หมื่นกว่าเว็บ ความเสียหายคืออะไร จริงๆ แล้ว ถ้าคุณไม่บล็อคสี่หมื่นกว่าเว็บมันจะเกิดอะไรขึ้น เราจะมีสงครามกลางเมืองพรุ่งนี้หรือ ตรงนี้มันเป็นประเด็นที่มันไม่เคยชัด

บทบาทเครือข่ายพลเมืองเน็ต

แม้ว่าเครือข่ายพลเมืองเน็ตจะรวมตัวกัน โดยมีหนึ่งในเป้าประสงค์เพื่อปกป้องเสรีภาพของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต แต่ดูเหมือนว่า การรวมตัวเข้ามาเป็นเครือข่ายจะยังไม่เข้มแข็งเท่าใดนัก สฤณีบอกว่า มีปัญหาหลายรูปแบบ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ เช่นว่า มีเรื่องวิกฤตการเมืองที่เข้ามา โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นคู่กรณีกับรัฐบาล ทำให้จะรณรงค์ประเด็นอะไรก็ยากขึ้น หรือถูกจับไปอยู่ในขั้วสีด้วย

"ประเด็นใหญ่ของเราก็คือเสรีภาพเน็ต แต่เมื่อมีเรื่องมาตรา 112 (ป.วิอาญา) มาตรา 15 (พรบ.คอม) มันก็เลยทำให้พูดถึงเรื่องพวกนี้ยากมาก ประเด็นที่เราพยายามจะอธิบายก็คือ การที่คุณบล็อคเว็บ หนึ่ง มันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร สอง ถ้ามันมีปัญหาในเรื่องกฎหมายเช่น เรื่องละเมิดสิทธิหรืออะไรก็แล้วแต่ คุณก็ไปใช้กฎหมายอื่นจัดการ อย่างถ้ามีเนื้อหาละเมิดลิขลิทธิ์มันก็ถูกจับอยู่แล้ว หรือมีหลักการบางอย่าง เช่น คนที่โพสต์เนื้อหา ไม่ควรจะถือว่าเขาผิดอัตโนมัติ ทีนี้พอมันมีปัญหาเรื่องวิกฤติทางการเมือง มันก็เลยชัดเจนว่าเว็บที่รัฐบาลเล่นงานก็เพราะมีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมืองออกไป แต่ว่าพอปิดเว็บเหล่านั้น ด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วมีการสร้างวาทกรรม "ผู้ก่อการร้าย" มันก็เลยทำให้พูดยาก คือทุกอย่างมันปนๆ กันไปหมด

"ถ้าเกิดจะบอกว่าไม่ควรปิดเว็บ ก็ต้องมาอธิบายก่อนว่า พวกนี้ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายอย่างไร ก็กลายเป็นว่าก็ต้องต้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กลายเป็นว่าแทนที่จะต้องต่อต้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อย่างเดียว ก็ต้องมาต่อต้านว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ไม่ควรใช้ คนพวกนี้ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่ถ้าทำอย่างนั้น ก็กลายเป็นถูกสรุปแล้วคุณไม่เห็นด้วยหรือที่ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย กลายเป็นว่าเราเป็นพวกเสื้อแดง มันกลายเป็นว่ามันซ้อนทับไง มันก็น่าเสียดาย ที่ทำให้พูดอะไรไม่ได้

สฤณีย้ำว่า เครือข่ายพลเมืองเน็ตไม่ได้จะเลือกปฏิบัติ

"ถ้าเว็บเสื้อเหลืองถูกปิดเราก็จะบอกว่าไม่ควรปิด แต่เผอิญว่าเป็นเว็บเสื้อแดง นี่เป็นปัญหาของการที่รัฐบาลเป็นคู่กรณี ถ้ารัฐบาลไม่ใช่คู่กรณี แล้วสองฝ่ายตีกันมันก็อาจจะง่ายขึ้น สมมติว่าสองฝ่ายตีกันแล้วรัฐบาลเปิดอย่างเท่าเทียมกัน แต่พอเป็นแบบนี้ มันก็เลยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองว่าเป็นกลุ่มทางการเมือง

"ปัญหาใหญ่ก็คือทั้งๆ ที่จุดยืนของเรามันไม่ใช่เรื่องการเมือง แล้วก็คิดว่ากลุ่มที่เคลื่อนแบบนี้ทั่วโลกมันก็ไม่ใช่กลุ่มที่จะไปเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เนื่องจากว่าบริบทและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็จะบอกว่านี่คือการเคลื่อนไหวทางการเมือง นี่คือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะภาพก็จะออกมาอย่างนั้นซึ่งก็ทำให้ลำบากเหมือนกัน

และแม้ว่างานของเครือข่ายพลเมืองเน็ตจะมีทั้งงานร้อนและงานเย็น แต่ที่ผ่านมา สฤณีบอกว่า เครือข่ายฯ มักต้องเจอกับการแก้ปัญหาเรื่องร้อนๆ ที่เกิดขึ้นอย่างการบล็อกเว็บหรือการจับกุม ที่ทำให้ต้องคิดเรื่องทนายหรือการช่วยเหลือ แทนการรณรงค์ในประเด็นต่างๆ  อย่างเช่นเรื่องการใช้สิทธิส่วนตัว ข้อมูลส่วนบุคคล อันตรายบนเน็ต หรือจรรยาบรรณของสื่อพลเมือง

อินเทอร์เน็ตกับประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม แม้ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ สฤณียังเชื่อว่า อินเทอร์เน็ตยังเป็นความหวังที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตย ในลักษณะที่เป็นไปเองโดยธรรมชาติ โดยยกตัวอย่างการเซ็นเซอร์ในจีนที่มี Great Firewall ที่ใหญ่มหาศาล และจับบล็อกเกอร์แบบเข้มข้น จนมีคนบอกว่าคนจีนเองในหลายๆ พื้นที่ก็เซ็นเซอร์ตัวเองแล้ว

ในแง่หนึ่งถ้าคุณเซ็นเซอร์ตัวเอง คุณก็จะรู้สึกว่าคุณเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่ แต่ถ้าถามว่าคุณมีจิตสำนึกเรื่องเสรีภาพไหม คุณก็มีอยู่แล้ว คุณรู้แล้วว่าคุณมีเรื่องอยากพูด อยากรู้แต่คุณรู้ไม่ได้

เพราะฉะนั้นมันก็แค่น้ำเดือดๆ แล้วคุณก็ปิดฝาเท่านั้นเอง แต่ถ้าถามว่าน้ำมันหายเดือดไหม มันก็ไม่หายเดือดสฤณีบอกก่อนจะย้ำว่าสุดท้าย รัฐบาลคงจะรู้แล้วว่า ด้วยความที่อินเทอร์เน็ตเป็นอย่างที่มันเป็น มันเซ็นเซอร์ไม่ได้หรอก มันไม่ได้ช่วยคุณเลย ไม่ว่าคุณอยากจะทำอะไร มันก็ไม่ได้ช่วยคุณเลย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สธ.ตั้งสถาบันอาชีวเวชศาสตร์ฯ ดูแลผลกระทบสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม

Posted: 15 Nov 2010 07:02 AM PST

สธ.ยกระดับศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ ขึ้นเป็นสถาบันอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม พร้อมยกระดับ รพ.มาบตาพุด ตั้งงบประมาณกว่า 172 ล้านบาท ขยายบุคลากรเพิ่มอีกกว่า 200 อัตรา 

 
สธ. 15 พ.ย.- นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงฯ ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการยกระดับศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ ขึ้นเป็นสถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยให้จัดตั้งสถาบันดังกล่าวขึ้นภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงฯ เชื่อมโยงหน่วยงาน 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการแพทย์ กรมอนามัย และกรมควบคุมโรค ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงฯ ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป จะต้องเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อขอความเห็นชอบจัดตั้งหน่วยงานใหม่ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
 
ทั้งนี้ สถาบันอาชีวเวชศาสตร์ฯ มีภารกิจสำคัญคือการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อเป้าหมายในการป้องกันและแก้ปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และทำหน้าที่ประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ หรือเอชไอเอ (Health Impact Assessment :HIA) และเป็นองค์กรหลักในการแก้ปัญหาสาธารณภัยจากสารเคมีและสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เป็นต้น นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลมาบตาพุดซึ่งเป็นโรงพยาบาล 30 เตียง ยกระดับขึ้นเป็นโรงพยาบาลขนาด 200 เตียง ตั้งงบประมาณไว้ 172 ล้านบาท ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว แต่ยังมีปัญหาในเรื่องกำลังคน ซึ่งขณะนี้ รพ.มาบตาพุดมีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ 91 อัตรา มีความจำเป็นจะต้องขออัตรากำลังคนเพิ่มอีก 238 อัตรา ที่ประชุมวันนี้ความเห็นชอบให้เพิ่มอัตรากำลังคน และจะส่งเรื่องต่อไปยัง ก.พ.ร.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ซีรีส์ สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมือง ตอน 8: สื่อใหม่อนุญาตให้คนธรรมดาสะสมต้นทุนทางสังคม

Posted: 15 Nov 2010 06:50 AM PST

 

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ส่งผลให้ สื่อทางเลือกหรือ นิวมีเดียมีรูปแบบที่หลากหลายและนับวันจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ เคเบิลทีวี หรือวิทยุชุมชน จนกระทั่งช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาซึ่งประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ก็ทำให้ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ถึงนัยสำคัญที่มีต่อสังคมไทย กระทั่งเป็นที่จับตารอการทำความเข้าใจและอธิบาย

ขณะเดียวกัน สื่อสารมวลชนไทยกระแสหลักเองก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทำหน้าที่ตลอดช่วงความขัดแย้งดังกล่าว ไม่เพียงแต่การตั้งคำถามถึงจริยธรรม จรรยาบรรณ จุดยืน ตลอดจนท่าทีที่มีต่อความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่างๆ ในบริบทของการแบ่งแยกขั้วแบ่งแยกข้างทางการเมือง จนนำไปสู่วิกฤติความน่าเชื่อถือของสื่อ และเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ช่องทางและการสื่อสารใหม่ๆ มีผู้ใช้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนความคิดและความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ประชาไท สัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน และนักปฏิบัติการสื่อออนไลน์ 12 คน เพื่อร่วมถกเถียงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะนำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยความสนับสนุนของมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ซึ่งบทสัมภาษณ์อย่างละเอียดจะนำเสนอเป็นรูปเล่มต่อไป

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล หรือชื่อออนไลน์ "bact" เจ้าของบล็อก http://bact.blogspot.com ในด้านหนึ่งเขาเป็นนักพัฒนาระบบจากบริษัทโอเพ่นดรีม (http://opendream.co.th) ขณะเดียวกันก็เป็นนักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นกรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ตในเวลาเดียวกัน

อาทิตย์สนใจเรื่องการทำให้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ต้องการได้สะดวกที่สุด ก่อนหน้านี้เคยร่วมพัฒนาซอฟต์แวร์เสรีหลายตัว เช่น ปลาดาวออฟฟิศ/OpenOffice.org และ Mozilla Firefox เคยดูแลวิกิพีเดียไทยอยู่ช่วงหนึ่ง รวมถึงเคยเป็นพิธีกรร่วมใน duocore.tv รายการทีวีออนไลน์ว่าด้วยเรื่องไอทีด้วย

การเล่าเรื่องของคนธรรมดา กับปัญหาโครงเรื่องที่ถูกขโมย

ประเด็นหลักๆ ที่อาทิตย์สนใจเกี่ยวกับบทบาทของนิวมีเดีย ก็คือเครือขายสังคมออนไลน์ ซึ่งเขาเห็นว่า นี่คือพื้นที่ที่สร้างอำนาจการสื่อสารให้กับมนุษย์ธรรมดา และยังเป็นช่องทางให้คนธรรมดาๆ ได้สร้างเนื้อหาข่าวสารด้วยตัวเอง ไม่ขึ้นกับสื่อหลักแต่เพียงด้านเดียว

“ผมคิดเรื่องการที่คนทั่วไปสามารถสื่อสารได้ เวลาที่เราพูดถึง Media literacy คือการไม่ได้รับสารอย่างเดียว แต่คือการที่คนทั่วไปสามารถทำสื่อได้เองด้วย เมื่อก่อนอาจจะมีการสะท้อนความเห็น เช่น ส่งจดหมายหรือเอสเอ็มเอสไปยังรายการโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ แต่จากความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม เราจะสังเกตได้ว่ามีคลิปเยอะมาก ซึ่งเมื่อก่อนก็อาจจะมีบ้างแต่ช่องทางในการนำเสนอไม่เยอะ แต่ตอนนี้เยอะขึ้น คนเอาไปแปะในเฟซบุ๊ก ทีวีก็ได้เอาไปใช้”

อย่างไรก็ตาม อาทิตย์ กล่าวว่า การทำสื่อด้วยตัวเองได้ก็ไม่ได้นำมาซึ่งความเท่าทันสื่อเสมอไป และการพูดเรื่องการรู้เท่าทันแต่เพียงด้านของผู้รับสื่อ แต่ในความจริงแล้ว ในฐานะผู้ผลิตสื่อ ที่กำลังฮิตกันในนามนักข่าวพลเมือง ก็ต้องการความรู้เท่าทันในฐานะคนผลิตเช่นกัน

“อย่างคนเสื้อแดง ช่วงเมษา-พฤษภา ถ่ายคลิปเยอะมาก ถ่ายไว้เยอะไปหมด ขึ้นเฟซบุ๊ก ขึ้นยูทูปว์ แต่ ศอฉ. เลือกมาห้าคลิป แล้วอธิบายแบบ ศอฉ. คนที่ดูส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ดูคลิปต้นฉบับซึ่งอาจจะมีเป็นร้อยๆ คลิป แต่ศอฉ. ก็เลือกมาแค่ห้าอันเพื่อมาแก้ต่าง”

อาทิตย์อธิบายต่อไปว่า ปัญหาที่ทำให้เกิดการ “บิดเบือน” หรือการ “ใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด” จากคลิปต้นฉบับของบรรดานักข่าวพลเมืองเสื้อแดงทั้งหลายนั้น เป็นเพราะคลิปต่างๆ ที่ถูกอัพโหลดขาดโครงเรื่อง ขาดคำอธิบาย ซึ่งคือหัวใจสำคัญของการสื่อสารให้ได้ประสิทธิภาพ

“การพูดว่าคนทำสื่อเองได้มันอาจจะยังเป็นเรื่องระดับย่อย คือการอัดเสียง ถ่ายรูปได้ แต่คนที่แต่งเรื่องมีใครบ้าง เช่น ศอฉ. มีคนแต่งเรื่องให้ แต่คนทั่วไปไม่มีงบประมาณ ไม่มีคนทำ เหมือน ศอฉ.เป็นผู้กำกับ เขียนบท ไม่ต้องลงทุนถ่ายเอง ฉะนั้นการพูดว่าทำสื่อเองก็ได้ง่ายจัง บางทีก็อันตราย เราคิดว่าภาพคลิปหลายๆ อันของเสื้อแดงเป็นการจับเหตุการณ์ปัจจุบัน ไม่สามารถใส่เรื่องของตัวเองลงไปได้ พอเป็นภาพลอยๆ ก็ถูกเอาไปใส่ในเรื่องอะไรก็ได้ ฉะนั้นถ้ามีเรื่องมารองรับอย่างแข็งแรงพอก็จะไม่ถูกภาพนั้นเอาไปใช้นอกจุดประสงค์”

“โครงเรื่อง” คือประเด็นปัญหาใหญ่ในสายตาของอาทิตย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ “สื่อภาคพลเมือง” ออนไลน์ทั้งหลายพึงต้องตระหนักว่านอกเหนือจากการมีเทคโนโลยี มีเครื่องมือใหม่ มีอุปกรณ์ทำบล็อก อัดเสียง ถ่ายภาพ

ความน่าเชื่อถือของสื่อใหม่

แม้อาทิตย์จะชี้จุดอ่อนของการใช้สื่อใหม่ ในแง่ของการนำเสนออย่างไม่มีโครงสร้างของเรื่องราวทั้งหมด แต่อาทิตย์ไม่กังวลนักกับข้อวิตกเรื่องความน่าเชื่อถือของสื่อใหม่ โดยกล่าวว่าสื่อใหม่ก็มีเงื่อนไขที่ต้องยอมรับในข้อจำกัด นั่นคือสื่อชนิดนี้ตอบสนองต่อเวลาจริง มากกว่าเรื่องความถูกต้องครบถ้วน

“เราคิดว่ามันใช้ได้ คือถ้าเราคิดในกรอบเวลา ห้านาทีนั้น หรือหนึ่งนาทีนั้นมันอัพเดทที่สุด มันก็น่าจะพอใช้ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปครึ่งชม. ครึ่งวัน ก็มีข้อมูลอันใหม่ขึ้นมา มันตอบในแง่เรียลไทม์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องพูดถึงแต่ทวิตเตอร์ก็ได้ เรื่องนี้ก็มีในสื่อหลัก เช่น เบรกกิงนิวส์ แต่ถ้าคุณจะให้ถูกต้องแบบสารคดี ก็เป็นคนละเรื่องแล้ว เหมือนกรณีสึนามิ การรายงานข่าวครั้งแรกอาจจะบอกว่ามีคนตายที่อินโดนีเซีย 4,000 คน แต่อีกห้านาทีต่อมา ข่าวรายงานว่าตายเป็นหมื่น จะบอกว่าอันแรกผิดพลาดหรือ ก็ไม่ใช่ แต่มันเป็นข้อมูลที่ยังไม่ครบ”

ข้อเสนอของเขาก็คือ การเปลี่ยนมุมมองและลักษณะนิสัยในการติดตามข่าวจากสื่อออนไลน์เสียใหม่ว่า คือการอัพเดทข้อมูลเป็นระยะๆ และไม่ได้จบในตัวเอง

“ข่าวคือเหตุการณ์ และบางอย่างกำลังดำรงอยู่ มันไม่ได้จบในตัวเอง ถ้าเรารู้ธรรมชาติของมันแล้วว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ได้จบในตัวเอง เราก็อย่าไปรับรู้มันเป็นท่อนๆ ต้องดูลำดับพัฒนาการของเรื่อง อย่าไปมองมันแบบชิ้นที่จบในตัว การไปเรียกร้องเรื่องความน่าเชื่อถือของมันก็เป็นคนละเรื่อง อาจจะไม่แฟร์ เหมือนเราบอกว่าคอมพิวเตอร์อันนี้เป็นเขียงที่ดีด้วยหรือเปล่า...ก็พอใช้หั่นได้ แต่มันไม่ใช่เรื่อง มันอาจจะผิดตั้งแต่คำถามแล้ว”

อย่ามั่นใจเกินไป

แม้อาทิตย์จะมองสื่อใหม่ในแง่ที่เปิดใจให้กับข้อจำกัดและพยายามทำความเข้าใจ แต่เมื่อเราถามว่า อะไรที่น่าเป็นห่วงกังวลเกี่ยวกับสื่อใหม่ซึ่งหลายๆ คนกำลังเห็นว่าเป็นอำนาจในการสื่อสารที่หลุดมาถึงมือคนธรรมดาๆ เขาตอบว่า

“สื่อใหม่ให้ความมั่นใจกับคนมากเกินไป ทุกคนอาจจะคิดว่านี่คือยุคอินเทอร์เน็ตแล้ว ปิดกั้นเราไม่ได้แล้ว ประชาชนต้องชนะแน่ๆ เราได้ถือความจริงส่วนหนึ่งไว้ในมือแล้ว สุดท้าย...ศอฉ. ก็เอาไปตัดต่ออีกอยู่ดี ถ้าคิดว่าได้ดาบวิเศษอันหนึ่งมา แล้ววิ่งเข้าไปกองทัพ ก็อาจจะตายออกมา อาจจะถูกเอาไปบิดเบือนโดยสื่อหลักหรือผู้มีอำนาจได้”

สื่อใหม่อนุญาตให้คนสะสมต้นทุนทางสังคมได้ง่ายขึ้น

“ด้วยเครื่องมือเดียวกัน คนที่ต้นทุนทางสังคมต่างกันก็สามารถใช้มันอย่างมีพลังต่างกัน ที่ผ่านมาก็ใช่ ทักษิณทวิตอะไรนักข่าวก็เอาไปเล่นแน่ๆ แต่ว่าในอีกด้านหนึ่ง ด้วยศักยภาพของนิวมีเดียมันอนุญาตให้คนสะสมต้นทุนทางสังคมตัวเองได้ง่ายขึ้น นิวมีเดียให้ความหวังในแง่ที่ว่ามันอนุญาตให้คุณสะสมทุนทางสังคมของคุณได้”

อาทิตย์กล่าวถึงแง่บวกที่สื่อใหม่สร้างพลังในการสื่อสารอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ในทางกลับกันก็ยอมรับว่า ถึงกระนั้น เมื่อเทียบต้นทุนทางสังคมกับพลังการสื่อสารอย่างจริงๆ จังๆ แล้ว ก็จะพบว่า คนที่มีต้นทุนทางสังคมอยู่แล้วมีโอกาสมากกว่า-เป็นเงื่อนไขความได้เปรียบที่ใช้ได้กับทุกๆ อย่างในโลก

“อย่างของไทย บล็อกอย่าง http://biolawcom.de/หรือ http://www.fringer.org/ เป็นคนธรรมดาเหรอ ไม่ใช่หรอก เขามีทุนทางสังคมอย่างอื่นอยู่ ซึ่งสามารถเปลี่ยนผ่านต้นทุนเหล่านั้นมาสู่นิวมีเดียได้ แต่อย่างน้อยออนไลน์ก็เปิดได้กว้างกว่า ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็อาจจะมีวิธีขยันเขียนคอลัมน์ไปลงหนังสือพิมพ์เหรอ มันก็ทำได้ แต่พื้นที่ก็จำกัดมากกว่า”

คนชายขอบและกับดักของพื้นที่

เมื่อนิวมีเดียเปิดพื้นที่ให้คนธรรมดาได้สะสมต้นทุนทางสังคมแล้ว สำหรับคนที่โอกาสน้อยกว่าธรรมดาทั้งหลายล่ะ อาทิตย์มองว่าอย่างไร

“ผมคิดว่ามีการเปิดพื้นที่แบบแปลกๆ แน่นอน นิวมีเดียเปิดให้ทุกคนโดยธรรมชาติตัวสื่อเองไม่ได้ปิดกั้นอะไร ปรากฏว่าทุนทางสังคมของคนเหล่านี้คือการที่เขาเป็นคนชายขอบ ฉะนั้นสิ่งที่ทำให้เขาเข้ามาสู่แวดวงสื่อได้ ก็คือการบอกว่าเขาเป็นคนชายขอบ แต่ก็กลายเป็นว่าสุดท้ายคนเหล่านี้ไม่สามารถพูดประเด็นอื่นได้ เช่น คนตาบอดก็พูดแต่เรื่องคนตาบอด และถ้าบอกว่าเป็นเด็กและเยาวชน ก็จะต้องเป็นเด็กและเยาวชนต่อไปแม้จะอายุ 31 แล้ว ก็ต้องเป็นคนรุ่นใหม่ต่อไป เป็นผู้หญิงก็ต้องเป็นผู้หญิงตลอดไป”

อาทิตย์ตั้งข้อสังเกต พร้อมยกตัวอย่างที่เขาเพิ่งประสบพบเจอหมาดๆ จากการไป Internet Governance Forum ที่ประเทศลิธัวเนีย เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

“มีกลุ่มที่เป็นเยาวชนจากเอเชีย ส่วนใหญ่มาจากฮ่องกง อีกกลุ่มมาจากฝั่งยุโรป ฟินแลนด์ ไอส์แลนด์ สวีเดน เยอรมนี กลุ่มเยาวชนจากฮ่องกงก็จะพรีเซนส์ตัวเองเป็นเยาวชน จะต้องเปิดพื้นที่ให้เยาวชน แต่ไม่รู้ว่าเยาวชนจะพูดประเด็นอะไร ขณะที่เยาวชนจากเยอรมนีเขาจะพูดเลยว่าเขาต้องการพูดเรื่องอะไร มันต่างกันไง กลับไปที่คำถามเดิม ไม่ว่าสื่อไหนก็ตาม เช่น รายการสำหรับเด็ก ให้เด็กพูดว่าตัวเองเป็นเด็ก หรือการให้เขาได้พูดเรื่องตัวเอง มันไม่เหมือนกัน และสิ่งที่เราพบคือผู้ใหญ่เองก็เล่นการเมืองกับเด็ก ให้เด็กเป็นพร็อกซี เป็นร่างทรงของประเด็นนั้นๆ อย่างเดียวกันกับคนชายขอบ”

อย่างไรก็ตาม อาทิตย์บอกว่าข้อสังเกตของเขาในเรื่องนี้ แท้จริงแล้วก็ไม่ได้ขึ้นกับนิวมีเดียอย่างเดียว แต่มันเกิดกับสื่อหลักแต่ดั้งแต่เดิมด้วย

“เด็กบางคนออกมาพูดเรื่องอะไรบางอย่างอาจะถูกมองว่าแก่นแก้ว ถ้านิวมีเดียจะมีพลังสำหรับคนเหล่านี้ คือถ้าสังคมคาดหวังว่าคุณต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สื่อกระแสหลักเขามีพื้นที่จำกัด นิวมีเดียอาจจะช่วยคุณในแง่ที่ว่าถ้าคุณอยากเสนอสิ่งที่สังคมไม่ได้คาดหวังคุณก็ทำได้นะ แต่คนจะดูหรือไม่ดูก็อีกเรื่อง”

สำหรับหลายๆ คน สิ่งที่เขาเห็นในเฟซบุ๊กก็เป็นสิ่งที่เขาพอใจเท่านั้น

อาทิตย์ไม่ได้เชื่อว่าการหลั่งไหลของข้อมูลที่มากขึ้น ผ่านช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้นจะเป็นการแลกเปลี่ยนหรือเปิดให้เกิดถกเถียงกันเชิงลึกได้ ในทางกลับกัน เขาคิดว่า โลกออฟไลน์ต่างหากที่เป็นตัวกำหนดการแสดงออกและการเลือกสรรข้อมูลข่าวสารในการนำเสนอ

สำหรับเขาซึ่งนิยามตัวเองเป็นชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ซึ่งเครือข่ายทางสังคมในโลกออฟไลน์หล่อหลอมมาจากสถาบันการศึกษา ทำให้เพื่อนๆ ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ของเขาเต็มไปด้วยเพื่อนที่หลากหลาย และนั่นเป็นสิ่งที่พึงระวังในการแสดงความเห็น

“จากประสบการณ์ของผม ผมก็มีรสนิยมในการเลือกข่าวของผม แม้ว่าข่าวจะเกือบเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์บนหน้าวอลล์เฟซบุ๊กของผมจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเสื้อแดง ซึ่งเพื่อนในเครือข่ายของผมที่ไม่สนับสนุนเสื้อแดงก็คงมีอาจจะไม่แอคทีฟ แต่ปัญหาก็อยู่ที่ว่า คนที่ลบชื่อเพื่อนออกจากลิสต์ ข่าวของเพื่อนที่ถูกลบออกไปจะไม่โชว์ให้เห็นแล้ว ซึ่งมันก็เป็นไปแล้วสำหรับหลายๆ คน สิ่งที่เขาเห็นในเฟซบุ๊กก็เป็นสิ่งที่เขาพอใจเท่านั้น แต่สำหรับผมมันยังไม่เกิด ผมได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนซึ่งเจอปัญหาเดียวกัน คือเรียนโรงเรียนชนขั้นกลาง อยู่ในแวดวงไอที ก็มีปัญหาประมาณเดียวกัน คือมีกลุ่มเพื่อนที่มีทัศนคติทางการเมืองที่หลากหลาย บางครั้งเขาก็เลือกที่จะไม่โพสต์ความเห็นเพราะเกรงใจเพื่อน การนำเสนอก็ถูกกรอง ไม่ว่าจะกรองเพื่อโพสต์หรือไม่โพสต์ แต่บางทีถ้าอยากจะโพสต์มากๆ ก็จะไปยืมปากชาวบ้าน ไปโคว้ทมา ว่าคนนั้นคนนี้กล่าวว่าอย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้นเพื่อนรับได้ แม้จะเป็นคำเดียวกันพูด การรับได้มันต่างกัน ซึ่งก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้คนหันมาอ่าน ก็อาจจะไม่ตรงไปตรงมา แต่ก็เป็นวิธีที่เราเล่นกับมัน เป็นการสร้างบทสนทนาแบบแนบเนียนและคัดกรองแล้ว”

ถึงจะต้องกลั่นกรอง หรือพูดง่ายๆ ว่ามีการเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยเหตุผลเรื่องความสัมพันธ์ต่อเครือข่ายออฟไลน์ แต่อาทิตย์มองว่า นี่ไม่ใช่ข้อจำกัดของเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพราะในโลกออฟไลน์นั้น ทุกคนล้วนต้องกลั่นกรองและเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยเหตุผลต่างๆ กันอยู่แล้ว

“สุดท้ายแล้วหน้าตาของเฟซบุ๊กเป็นยังไงขึ้นกับเพื่อนที่เราแอด ซึ่งมันก็สะท้อนตัวตนเราบางแบบ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ทำไปทำมาเฟซบุ๊กมันไม่ได้มีอะไรพิเศษเลยไง ซึ่งในโลกจริงก็เป็นอย่างนี้มีการคัดกรองเรื่องบางเรื่องพูดได้เรื่อง บางเรื่องพูดไม่ได้ แต่โอเคสิ่งที่เฟซบุ๊กต่างไปก็คือ บางครั้งเราสามารถรู้ได้ว่า คนบางคนสนใจในเรื่องเดียวกัน ก็สามารถเชื่อมโยงได้ กึ่งๆ สาธารณะกึ่งส่วนตัว เป็นการอยู่ในวงจรเพื่อน แต่ทำให้เกิดการผสมปนเปกันมากขึ้น เชื่อมโยงกันมากขึ้น”

อาทิตย์ย้ำว่า เมื่อพูดถึงเครือข่ายออนไลน์แล้ว ไม่สามารถแยกขาดจากเครือข่ายออฟไลน์ได้อย่างเด็ดขาด เพราะแท้จริงแล้ว เครือข่ายออนไลน์ก็พึ่งพิงปัจจัยของโลกออฟไลน์ ซึ่งไม่ได้หมายความเพียงแค่ “เพื่อน” เท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเด็นในการสนทนาด้วย ที่ต้องหยิบยกมาจากสื่อกระแสหลักนั่นเอง

“ในช่วงเหตุการณ์ทางการเมืองเราไม่สามารถพูดถึงเฟซบุ๊กที่แยกออกมาจากสื่อกระแสหลักได้หรอก เพราะสิ่งที่เอามาคุยกันในเฟซบุ๊กก็มาจากสื่อกระแสหลัก คือเราอาจจะพูดจากประสบการณ์จริงจากตาตัวเราเอง แต่อีกส่วนก็มาจากสื่อ หรือหากย้อนกลับไปที่ทวิตเตอร์กจะพบว่าช่วงที่ผ่านมา ประมาณสองทุ่มหรือห้าทุ่ม ก็จะมีแต่เรื่องที่บอกว่ากำลังดูวนิดา ดูเกมโชว์อยู่ แม้จะโต้ตอบกับทีวีไม่ได้แต่คุยกับคนอื่นที่ดูทีวีช่องเดียวกันได้ ซึ่งเมื่อก่อนมันทำไม่ได้ แต่บทสนทนาเหล่านี้อยู่ด้วยตัวทวิตเตอร์เองไหม ไม่ได้ มันต้องมีทีวี ซึ่งเป็นสื่อชักจูงบให้เกิดการสนทนาได้ และอีกส่วนคือ เราพูดตรงๆ ไม่ได้ต้องใช้บทความหรือคลิปเป็นตัวสื่อสาร”

อาทิตย์บอกว่าทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กเข้ามาเติมเต็มสิ่งที่ประชากรออนไลน์ทั้งหลายต้องการนั่นคือ การพูดคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ทันที ไม่ต้องผ่านระบบที่ยุ่งยาก เช่น ไม่ต้องล็อกอินเพื่อจะเข้าไปโพสต์ตามเว็บบอร์ด ตัวอย่างที่เขาเห็นชัดเจนก็คือ กรณีการรายงานสถานการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงทั้งที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน-พฤษภาคม และที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

อิสระกลายเป็นข้อจำกัด!?

อีกประเด็นที่อาทิตย์เห็นว่าเป็นจุดต่างของเครือข่ายสังคมออนไลน์ก็คือ การไม่จำกัดประเด็นในการถกเถียง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่างจากการใช้งานเว็บบอร์ด “ทวิตเตอร์มันไม่มีเจ้าของ คุณอาจจะเป็นคนจุดประเด็น แต่มันฟรีกว่า อย่างเว็บบอร์ดพันทิปจะมีการแตกประเด็น ในกรณีที่คนคุยเยอะๆ แล้วอยากลงรายละเอียดในเรื่องที่ถกเถียง ซึ่งก็อาจจะดูเป็นหลักเป็นฐาน แต่ทวิตเตอร์มันจะฟุ้งไป อาจจะมีอิสระ แต่สุดท้ายไม่รู้จบตรงไหน ซึ่งมันก็เป็นข้อจำกัด แต่ก็เพราะมันอาจจะไม่ได้ถูกออกแบบมาแบบนั้น มันอาจจะเป็นวาบความคิด แต่หากอยากทำอะไรให้เป็นจริงเป็นจัง ก็ต้องไปเขียนที่อื่นแล้วค่อยลิงก์กลับมา อย่างเฟซบุ๊กก็มีโน้ต มีสเตตัสธรรมดา คือตอนที่อยากขยายความคิดก็ใช้โน้ต ก่อนหน้านี้อาจจะมีบล็อก ก็ขยายความคิด แต่บางครั้งเราแว๊บคิดขึ้นมา จะเขียนบล็อกก็ดูอย่างไรอยู่”

 ความง่ายก็มีโทษ

สำหรับอาทิตย์ ทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์นั้น นอกเหนือจากรายงานข่าวสถานการณ์อย่างทันท่วงทีแล้ว ในอีกด้านก็เป็นเวทีนำเสนอความคิดที่ยังไม่ตกผลึก ซึ่งเขาเรียกมันว่า เป็นการ “ทด” เอาไว้ก่อน

“มันเป็นการรายงานสิ่งที่เราคิดอยู่ แม้จะไม่เสร็จ ได้ทดเอาไว้ นั่นคือประโยชน์ของมัน แต่โทษของมันคือ คนบางคนอาจจะไม่รู้ว่านี่คือการทดของเรา แล้วเอาไปใช้ บางทีก็เป็นโทษกับตัวคนที่นำไปใช้ หรือเป็นโทษกับคนที่ทวีตเอง”

เขาบอกว่านี่คือสิ่งที่คนใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ทั้งผู้ใช้และผู้อ่านไม่ควรหลงลืมไป ไม่เช่นนั้นก็จะมีปัญหาในเรื่องการของปักใจเชื่อข้อมูลข่าวสารที่ไม่ครบถ้วน ไม่ผ่านการคัดกรองได้

“แต่ปัญหาคือเราไม่สามารถป้องกันให้คนอื่นคิด และมันก็เป็นปัญหาของทุกสื่ออยู่แล้วนะ”

มารยาทออนไลน์ จำเป็นไหม

แม้ว่าอาทิตย์จะเป็นกรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต ซึ่งผ่านมาก็มีการรณรงค์เรื่องของมารยาทหรือกฎกติกาออนไลน์ แต่ความเห็นส่วนตัวของเขาคือ ไม่มีความจำเป็น

“ผมไม่เชื่อว่าพื้นที่ออนไลน์มันเหมือนกันทั้งหมด เมื่อเราพูดถึงจริยธรรมหรือมารยาท เราก็ต้องคิดเรื่องกาลเทศะ มีเวลามีสถานที่ ดังนั้น เมื่อออนไลน์มันไม่เหมือนกันหมด มันก็ต้องมีมารยาทที่ต่างๆ กันไป เราโดยส่วนตัวเราก็ไม่เห็นด้วย เรารู้สึกว่ามันอันตรายเหมือนกันที่จะกำหนดมารยาทอะไรขึ้นมาเพราะมารยาทของสถานที่หนึ่งมันเอาไปใช้กับสถานที่หนึ่งไม่ได้ แล้วในอินเทอร์เน็ตมีสถานที่อีกไม่รู้ตั้งกี่ที่ และมีของใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีกเยอะแยะเต็มไปหมด แล้วมันจะมีหรือมารยาทที่ใช้ได้เหมือนกันหมด”

อาทิตย์กล่าวว่า แม้แต่กรณีที่มักถูกหยิบยกเป็นตัวอย่าง เช่น Hate Speech หรือการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง สำหรับเขาก็ไม่ได้มีมาตรฐานเดียว

“เรื่องนาซี เยอรมนีห้ามพูด ไทยไม่ได้ห้ามพูดนะ และการพูดแบบนาซีกับพูดเรื่องนาซีก็ไม่เหมือนกัน และผมเชื่อว่าพูดถึงนาซีได้ แต่ถ้าพูดแบบนาซีมันก็เป็นเรื่องกฎหมายอื่นแล้ว ผมคิดว่าเราไม่ควรไปป้องกันไม่ให้คนพูด ก็น่าจะให้เขาพูดไปก่อน แต่ว่าคนพูดต้องรู้แล้วนะว่ามีกฎหมายเรื่องนี้อยู่แล้วเขาต้องรับผลตามกฎหมายนั้น”  

โดยคำอธิบายแบบนี้ อาทิตย์บอกว่าเขายอมรับกฎหมาย พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ แต่เขาจะไม่ยอมรับระบบป้องกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

“เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณไปตั้งฟิลเตอร์ นั่นเป็นเรื่องที่ยกเว้นมากๆ ซึ่งเราไม่คิดว่าเราควรต้องคิดเรื่องยกเว้นนั้นมากเสียจนกระทั่งการเอาเรื่องว่าเดี๋ยวจะเกิดนั่นนี่มาเป็นเหตุผลใช้ทั่วๆ ไป เพราะไม่อย่างนั้นเราก็อาจจะบอกว่า ถ้าเดินออกจากบ้านแล้วอาจจะมีสะเก็ดดาวหางตกใส่หัว ฉะนั้นประชาชนทุกคนต้องใส่หมวกกันน็อก คือเราคิดว่า หากคิดจากจุดที่เป็นข้อยกเว้นมากๆ มันอันตราย มันทำให้สิทธิเสรีภาพในการทำเรื่องอื่นๆ ถูกวางกรอบไปหมดเลย เพราะทุกอย่างมีข้อยกเว้นได้”

แต่แม้อาทิตย์จะเปิดใจให้กับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ค่อนข้างมาก แต่เมื่อพูดถึงมาตรา 14 ที่กำหนดขอบเขตเนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายแล้ว อาทิตย์บอกว่า นี่คือการเอาเรื่องที่เป็นข้อยกเว้นมากๆ ไปกำหนดป้องกันเอาไว้ก่อน

“ผมคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกันนะเรื่องข้อยกเว้นมากๆ กับการกลัวไปเอง มันอยู่ด้วยกันคือความคิดไปเองมันก็จะสร้างข้อยกเว้นซึ่งมันมาด้วยกัน ในกรณีมาตรา 14 เรื่องความมั่นคง ในแง่กฎหมายก็อาจจะพูดได้ว่าต้องคงภาษานี้ไว้ แต่ว่าเวลาเราพูดถึงกฎหมายมันก็คงไม่ใช่แค่ตัวกฎหมาย แต่มันคือระบบกฎหมาย ตัวบทน่าจะแฟร์ที่เขียนแบบนี้ แต่ก็ต้องอยู่บนความเข้าใจร่วมกันนะว่าระบบการใช้ของเรา ระบบยุติธรรมของเราโอเค แต่ถ้าพูดถึงตอนนี้เราคิดว่าหลายคนพูดได้ว่าตัวบทไม่โอเค

“เรื่องที่บอกว่าความมั่นคงของชาติถ้าตีความแบบไม่ให้งี่เง่าก็คงไม่เป็นปัญหา แต่คำมันกว้าง และแปลว่ามันเป็นอะไรก็ได้ แล้วถ้าเราคิดบนพื้นฐานที่กลัวไปทุกอย่าง แตะต้องธงชาติก็ไม่ได้ เดี๋ยวคนจะกระด้างกระเดื่อง มันก็จะเป็นปัญหา เราคิดว่าตัวบทแบบนี้อยู่ในประเทศที่คนพารานอยด์ (ประสาท) น้อยกว่านี้ หรือระบบยุติธรรมดีกว่านี้ ก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าตัวบทแบบนี้มาอยู่บนระบบยุติธรรมปัจจุบันนี้และความคิดที่คนละเอียดอ่อนต่อประเด็นความมั่นคง ในบริบทที่มีประชาชนอยากให้ปิดเฟซบุ๊ก นี่ไม่ใช่แค่รัฐ แต่คนในสังคมพารานอยด์ กฎหมายนี้จึงไม่โอเค สุดท้ายเป็นแบบนี้แล้วจะทำอย่างไร จะแก้ที่สังคมก็ยาก แก้ที่ระบบยุติธรรมก็ยาก หลายคนจึงบอกว่าแก้กฎหมายก็ง่ายดี”

กฎหมายแบบนี้ ถ้าอยู่ในประเทศที่คนพารานอยด์น้อยกว่านี้ก็ไม่เป็นปัญหา

“มันก็เป็นปัญหาอยู่แล้วแหละ คือตอนเราโตมา ตอนเราเด็กๆ เราก็ไม่รู้ว่าคำไหนสำหรับใช้ตอนนี้ คำนี้สำหรับพระใช้ คำนี้สำหรับราชาศัพท์ มันก็ต้องเรียนรู้ คนจำนวนมากก็เพิ่งมาใช้อินเทอร์เน็ต มันเป็นปัญหา แต่เราไม่คิดว่าการที่ให้รัฐเข้ามาควบคุมมันไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา มันสามารถค่อยๆ เรียนรู้กันไป ถ้ามันเกิดความเสียหายขึ้นมาก็เป็นเรื่องที่...ตอนเด็กๆ เราถูกน้ำร้อนลวก เราก็จะระวังไปเอง ถ้าถามว่าพฤติกรรมคนใช้อินเทอร์เน็ตมีปัญหาไหม ผมคิดทุกที่มีปัญหา แต่ไม่ได้แปลว่ารัฐจะเข้าไปจัดการได้ทุกที่ โอเค จะบอกว่าอินเทอร์เน็ตเป็นแค่สื่อเหมือนทีวีไม่กี่ช่อง แล้วจะมีกรรมการเช่นศาลเกี่ยวกับสื่อ อย่างในประเทศเดนมาร์ก คือมีคนฟ้องเข้าไปก่อน แต่รัฐก็ไม่ได้เข้ามาจัดการนะ เขาใช้กระบวนการอื่น นี่ถ้าเราพูดในแง่ออนไลน์เป็นสื่อ แต่ถ้าพูดในแง่ที่ว่าเราใช้ชีวิตประจำวันหลายอย่างหลายด้าน มันก็ประหลาดๆ ที่จะใช้กลไกสื่อ แล้วปกติกลไกของรัฐจะมาจัดการมันต้องมีเหตุเกิดขึ้นแล้วค่อยมายุ่ง ไม่ใช่คิดเผื่อแล้วจัดการไว้ก่อน แน่นอนเราคงต้องมีรัฐเอาไว้ เพราะรัฐก็มีฟังก์ชั่นของมัน แต่ต้องให้มีเรื่องเดือดร้อนก่อน เช่นคดีหมิ่นประมาท ก็ให้คนที่เขาเดือดร้อนมาฟ้อง มาฟ้อง ไม่ใช่แค่คดีหมิ่นนะ แต่คืออีกหลายๆ อย่างคือการไปทำแทนเขาน่ะ”

ในมุมมองของอาทิตย์ ดูเหมือนว่าเขาจะยอมรับในเงื่อนไขข้อจำกัดของข้อกฎหมายได้พอสมควร แต่ที่สำคัญก็คือวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ที่กำกับการแสดงออกของคนในสังคมได้อย่างแข็งแกร่งกว่ากฎหมาย ในขณะเดียวกันหากจะมองจุดอ่อนของการแสดงออกของประชาชนผ่านสื่อใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ชื่อว่าเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์แล้วล่ะก็ คำถามสำคัญของอาทิตย์อาจจะกลับไปอยู่ที่ว่า แล้วสื่อแต่ดั้งแต่เดิมที่มีอยู่นั้น ไม่ได้มีข้อจำกัดเป็นอย่างเดียวกัน ภายใต้วัฒนธรรมเดียวกันหรอกหรือ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“เครือข่ายคนดูหนัง” ชวนร่วมลงชื่อร้อง ก.วัฒนธรรม แจงเหตุแบนหนัง “Insects in The Backyard”

Posted: 15 Nov 2010 05:40 AM PST

เครือข่ายคนดูหนังชวนคนร่วมลงชื่อในจดหมายเรียกร้องให้มีการชี้แจงเหตุผล กรณีหนัง “Insects in The Backyard” ได้เรตห้ามฉาย แจงหนังมีประเด็นที่แรง ไม่เหมาะสมกับผู้ชมทุกวัย แต่แค่ห้ามคนดูอายุต่ำกว่า 20 ปี น่าจะเพียงพอแล้ว 

 
 
สืบเนื่องจากกรณีที่ Facebook ของ Bioscope Magazine แจ้งข้อมูลว่าภาพยนตร์ในโครงการ Indy Spirit Project หมายเลข 2 เรื่อง Insects in the Backyard โดยการกำกับของธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยได้เรตห้ามฉาย เนื่องจาก “มีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” และขณะนี้ทีมผู้สร้างกำลังทำเรื่องอุทธรณ์อยู่นั้น
 
วันนี้ (15 พ.ย.) เว็บบล็อกเครือข่ายคนดูหนัง ได้เปิดช่องทางให้ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ชี้แจงเหตุผลการแบนภาพนตร์ดังกล่าว โดยแจ้งว่าชื่อของผู้ที่ลงนามจะได้รับการพิมพ์ส่งไปเรียกร้องต่อกระทรวงวัฒนธรรมอีกครั้งหนึ่ง พร้อมขอให้ช่วยกระจายข่าวต่อไปด้วย
 
“หลังจากทางเครือข่ายคนดูหนังได้รับทราบข่าวการได้เรตห้ามฉายหนังไทยเรื่อง Insects in The Backyard ซึ่งขณะนี้หนังอยู่ระหว่างการส่งเรื่องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ทางเราจึงอยากให้มีการเรียกร้องให้มีการชี้แจงเรื่องการแบนหนังเรื่องนี้จากทางกระทรวงวัฒนธรรม อาจจะมีผล หรือไม่มีผลใดๆ เลย แต่ย่อมดีกว่าเรานิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว” ผู้ดูแลบล็อกเครือข่ายคนดูหนัง ระบุ
 
ด้าน Facebook ของ Bioscope Magazine แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่า สมาคมผู้กำกับยินดีเสนอตัวยื่นอุทธรณ์ให้ภาพยนตร์ Insects in the Backyard แล้ว และตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษากระบวนการทำงาน 
 
ทั้งนี้ จดหมาย เรียกร้องให้มีการชี้แจงเรื่องการแบนภาพยนตร์ Insects in The Backyard ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้ 
 
 
เรียน กระทรวงวัฒนธรรม
 
ทาง Facebook ของนิตยสาร Bioscope แจ้งว่าภาพยนตร์ในโครงการ Indy Spirit Project หมายเลข 2 เรื่อง Insects in the Backyard ไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ซึ่งก็คือได้เรตห้ามฉาย เนื่องจาก “มีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” และขณะนี้ทีมผู้สร้างกำลังทำเรื่องอุทธรณ์กันอยู่
 
Insects in the Backyard เป็นหนังอิสระว่าด้วยชีวิตของคนในครอบครัวหนึ่งประกอบด้วย เจนนี่ และจอห์นนี่ พี่น้องกำพร้าพ่อแม่ พวกเขาถูกดูแลโดย ทันย่า พี่สาวคนโตซึ่งเป็นเพศที่สาม เธอแต่งตัว กินอาหาร สูบบุหรี่ และทำตัวเหมือนดาราที่ชื่นชอบ ซึ่งสร้างบรรยากาศอึดอัดให้กับคนทั้งสอง และทำให้พวกเขาค่อยๆ ห่างเหินจากบ้านที่พวกเขาอาศัยอยู่จนหนีออกไปในที่สุด
 
เราเชื่อว่าแม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีภาพ หรือประเด็นที่แรง ซึ่งไม่เหมาะสมกับผู้ชมทุกวัย แต่การจัดเรตหนังภายใต้ พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.2551 การให้เรต ฉ 20- หรือ ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งเป็นเรตเดียวที่ต้องมีการตรวจบัตรประชาชนก็น่าจะเพียงพอแล้ว ทั้งนี้ ในการแจ้งดังกล่าวไม่มีการบอกรายละเอียดว่าการขัดต่อความสงบ เรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนคืออะไร ฉากไหน เราจึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ชี้แจงเหตุผลการแบนภาพยนตร์ เรื่องนี้
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใต้เท้าขอรับ: ได้โปรดปล่อยนักโทษการเมือง

Posted: 14 Nov 2010 11:50 PM PST

ผมไม่มีเรื่องใหม่มาเสนอ แต่ขอถือโอกาสที่การเมืองของเพื่อนบ้านฝั่งตะวันตกของไทยมีความเคลื่อนไหว เอาเรื่องเก่าคาใจมาทวงถาม

การปล่อยตัวอองซาน ซูจี หลังการเลือกตั้งในสหภาพพม่าเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เป็นแผนการสร้างภาพประชาธิปไตยให้กับพม่าและรัฐบาลพม่าใต้เงื้อมมือกองทัพที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น เพื่อหวังจะคุยกับประเทศอื่นๆ ในประชาคมโลกได้บ้าง และเชื่อได้ว่า หากเสรีภาพของนางอองซาน ซูจี ไม่ไปสร้างความหวาดกลัวหรือเขย่าความมั่นคงของเหล่าทหารในกองทัพพม่า การทยอยปล่อยนักโทษการเมืองหลายพันคนในพม่าก็จะเกิดตามมาตามแรงกดดันของประชาคมโลก

เรื่องนักโทษการเมืองที่มาจากความคิดต่าง ไม่ว่าจะโดยถูกกฎหมาย หรือโดยอำนาจของศาลนั้น เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เพราะมันขัดและแย้งกับหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างที่สุด เราจึงเห็นประเด็นการกดดันให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองในทุกประเทศทั่วโลก เป็นประเด็นหลักขององค์การนิรโทษกรรมสากล และขณะที่โลกเฝ้าดูและยินดีกับการปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี ความยินดีนั้นก็มาพร้อมกับการกดดันให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองคนอื่นๆ ด้วย

แต่ข่าวสารความเป็นไปในประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันตกของไทยนั้น มันไม่ได้โลดแล่นอย่างปราศจากความเกี่ยวข้องกับประเทศไทย เพราะไม่ว่าเราจะเรียกคนเสื้อแดงจำนวนมาก และแกนนำ นปช. ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำของบ้านเราในเวลานี้ว่าอย่างไร 'ผู้ก่อการร้าย' หรือ 'ผู้ต้องคดีอาญา' ด้วยอำนาจจากคำสั่งของศาล แต่สาระสำคัญ ความผิดที่เขาถูกกล่าวหา และต้องกล่าวหา ก็มีฐานมาจากความคิดต่างทางการเมืองทั้งสิ้น

จำนวนมากพิสูจน์ตัวเองมาตลอดว่า ไม่เคยมีความคิดจะใช้ความรุนแรงด้วยวิธีใดๆ จำนวนมากเคยพูดจาปราศรัยที่ดูเหมือนเป็นการยุยงให้ใช้ความรุนแรงทำลายทรัพย์สิน กระนั้น เราต่างรู้ว่า มันเป็นกลวิธีในการปราศรัย ที่ทุกคนที่ฟังล้วนแต่ชัดเจนว่า เป็นแค่มุข และจำนวนมาก ไม่เคยแม้แต่จะพูด ไม่เคยแม้แต่จะคิด หรือกระทั่งไม่เคยแม้แต่จะไปร่วมชุมนุม

มิหนำซ้ำ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีและตัดสินแล้วนั้น รัฐก็ไม่เคยพิสูจน์ได้ว่าใครคือผู้กระทำความรุนแรงนั้น มีแต่การใช้อำนาจตามกฎหมายที่ชี้ว่าเขาทำ ด้วยคำสั่งของศาล ที่ 'เชื่อว่า-เห็นว่า-วินิจฉัยว่า-พิพากษาว่า' แม้เราจำต้องยอมรับในคำพิพากาษา แต่จำนวนมากคดีที่ไม่เคยทำให้เกิดการยอมรับ หรือทำให้เกิดสภาพ 'ธรรมอันเป็นที่ยุติ' ได้เลย

ในประเทศพม่า กองทัพและรัฐบาลย่อมไม่เรียกนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังว่า 'นักโทษการเมือง' เช่นเดียวกับบ้านเราที่กองทัพและรัฐบาลก็ไม่เรียกเช่นนั้น สื่อ ประชาชนส่วนหนึ่งก็ไม่เรียกเช่นนั้น เพราะจะอย่างไรก็ยังสนับสนุนรัฐบาลและกองทัพอยู่ หรือไม่เช่นนั้นก็มองและเห็นฝ่ายผู้ชุมนุมอย่างปราศจากความเข้าใจ เราจึงไม่เห็น นักโทษการเมืองในประเทศไทย เมื่อไม่เห็นก็ไม่เกิด 'กระแส'

แต่นั่นย่อมไม่ได้หมายความว่า ไม่มีนักโทษการเมืองในประเทศไทย

ดังนั้น ในขณะที่โลกกำลังกดดันพม่าให้ปล่อยนักโทษการเมือง ผู้มีความละอายต่อบาปย่อมตระหนักได้ถึงภาวะที่คล้ายๆ กัน นั่นคือ โลกก็กดดันไทยด้วย เพียงแต่น้ำหนักที่ให้นั้นเบาบางกว่า แต่ยิ่งพม่าลดความกดดันเรื่องนี้ลงเท่าไร ไทยก็จะเป็นเป้าสายตามากขึ้นเท่านั้น

เราอาจจะมีข้อถกเถียงจำนวนมากถึงความผิดที่แกนนำ นปช. และคนเสื้อแดงจำนวนมากที่ถูกคุมขังอยู่ในเวลานี้ แต่ถามกันแบบสามัญสำนึกดูเถิดว่า ท่านเชื่อจริงๆ หรือว่า แกนนำ นปช.และคนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมอยู่ในเวลานี้เป็นผู้ก่อการร้ายที่สมควรถุกคุมขังอยู่นานเกือบ 6 เดือนแล้ว เหมือนกับที่เราเคยตั้งคำถามนั่นแหละว่า เราเชื่อจริงๆ หรือว่า แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ปิดสนามบินนั้นเป็นผู้ก่อการร้าย

หลายคนที่ถูกคุมขังอยู่ในเวลานี้ เป็นได้อย่างมากก็แค่นักการเมือง ที่จะอย่างไรก็หวังคะแนนนิยม และไม่มีทางที่จะมีแรงจูงใจจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐ

กล่าวสำหรับการปรองดอง รัฐพึงเข้าใจด้วยว่า 'คนเสื้อแดง' นั้นไม่เคยได้สิ่งที่เขาเรียกร้องเลยสักข้อ ข้อเรียกร้องให้ 'ล้มอำมาตยฯ' นั้น ไกลเกินหวัง และเปลี่ยนมาเป็นให้ประชาชนตัดสินอนาคตบ้านเมืองด้วย 'การยุบสภา' เลือกตั้งใหม่ ซึ่งพ่วงมากับข้อเรียกร้องความรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของคนเสื้อแดงจากการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553

มาขณะนี้ เขาไม่ได้เรียกร้องอะไรมากมาย ทว่าเขากลับตะโกนก้องจากหัวใจด้วยเสียงอันแหบสนิท เรียกร้องในสิ่งที่เป็นพื้นฐานความเป็นมนุษย์อันสำคัญ คือเรียกร้องให้ปล่อยตัวเพื่อนของเขา ครอบครัวของเขา

รัฐไทยที่ใช้อำนาจอธิปไตยของเขา ทั้ง รัฐบาล รัฐสภา และศาล จะไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องอันเป็นหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของเจ้าของอำนาจที่แท้จริงบ้างเลยหรือ

แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร

เราเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขาเหล่านั้น หรืออย่างน้อยก็ประกันตัวออกมาก่อน

เราไม่ได้เรียกร้องเพื่อให้ท่านเป็นวีรบุรุษปรองดอง ไม่ได้เรียกร้องท่านในฐานะนักการเมืองของประชาชน ไม่ได้เรียกร้องท่านในฐานะผู้สถิตความยุติธรรม เราแค่เรียกร้องให้ท่านได้ละอายต่อบาป และซือตรงต่อความรู้สึกของตัวเอง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิรโทษกรรมสากลจี้พม่าปล่อย 2,200 นักโทษด้านมโนธรรมสำนึกด้วย

Posted: 14 Nov 2010 08:46 PM PST

(13 พฤศจิกายน 2553) แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์แสดงความยินดีที่มีการปล่อยตัวนางอองซานซูจี แต่เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษด้านมโนธรรมสำนึกในประเทศทุกคนโดยทันที

ทั้งนี้ นางอองซานซูจีเป็นนักโทษด้านมโนธรรมสำนึกซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากสุดในพม่า ในช่วง 21 ปีที่ผ่านมา เธอถูกกักบริเวณในบ้านกว่า 15 ปี เธอเคยเป็นหนึ่งในนักโทษการเมืองกว่า 2,200 คน รวมทั้งนักโทษด้านมโนธรรมสำนึกซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังในสภาพที่เลวร้าย

“แม้ว่าเราจะยินดีกับการปล่อยตัวนางอองซานซูจี แต่ก็เป็นเพียงการสิ้นสุดของคำสั่งลงโทษที่ไม่เป็นธรรมที่มีการใช้กฎหมายเพื่อขยายการบังคับใช้ก่อนหน้านี้ และไม่อาจถือเป็นความริเริ่มของทางการได้เลย” ซาลิล เชตตี (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว “ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า ทางการไม่ควรจับกุมเธอหรือนักโทษด้านมโนธรรมสำนึกคนอื่น ๆ อีกมากในพม่าตั้งแต่แรก ทั้งไม่ควรกีดกันพวกเขาจากการเข้าร่วมในการเมือง”

ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพผู้นี้ ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2546 หลังจากกลุ่มอันธพาลที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ โจมตีทำร้ายขบวนรถของเธอที่เมืองเดปายิน ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปจำนวนหนึ่งและบาดเจ็บอีกมาก ครั้งนั้นถือเป็นครั้งที่สามที่เธอถูกกักบริเวณในบ้าน หลังจากเคยถูกควบคุมตัวเช่นนี้มาก่อนระหว่างปี 2532 - 2538 และ 2543 - 2545

“ในครั้งนี้ ทางการต้องรับประกันความปลอดภัยให้กับนางอองซานซูจีด้วย” ซาลิล กล่าว

“เป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่รัฐบาลพม่าต้องยุติความไม่เป็นธรรมเนื่องจากการคุมขังนักโทษการเมืองในประเทศ ในขณะที่ประชาคมนานาชาติ ทั้งจีน อินเดีย อาเซียน และองค์การสหประชาชาติ ต้องร่วมมือกันเพื่อป้องกันไม่ให้ทางการพม่าใช้ระบบกฎหมายอย่างมิชอบเพื่อลงโทษผู้ประท้วงอย่างสงบและสันติ การปล่อยตัวนางอองซานซูจีต้องไม่ทำให้พวกเขาลืมนักโทษด้านมโนธรรมสำนึกคนอื่น ๆ”

ปัจจุบันยังมีนักโทษการเมืองกว่า 2,200 คนที่ถูกคุมขังเนื่องจากตัวบทกฎหมายที่คลุมเครือ ที่รัฐบาลใช้เพื่อเอาผิดกับฝ่ายต่อต้านอย่างสันติ พวกเขาถูกจองจำในสภาพที่ยากลำบาก ขาดแคลนทั้งอาหารและสุขอนามัย นักโทษหลายคนมีสุขภาพไม่ดีและไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม หลายคนถูกทรมานระหว่างการสอบสวนและควบคุมตัวในเบื้องต้น และเมื่อถูกส่งเข้าเรือนจำก็เสี่ยงจะถูกทรมานและถูกลงโทษจากเจ้าหน้าที่ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่าผู้ที่ถูกจองจำส่วนใหญ่เป็นนักโทษด้านมโนธรรมสำนึก ซึ่งถูกลงโทษเพียงเพราะใช้สิทธิในการแสดงความเห็น การชุมนุมและการรวมตัวอย่างเสรีและสันติ

ผู้ต้องขังหลายคนถูกจับกุมเพราะเข้าร่วมในการปฏิวัติชายจีวรเมื่อปี 2550 ซึ่งเป็นการประท้วงซึ่งเริ่มต้นจากการขึ้นราคาเชื้อเพลิงและโภคภัณฑ์อย่างขูดรีด ในช่วงสามปีที่ผ่านมา นักโทษการเมืองหลายร้อยคนได้ถูกโยกย้ายไปอยู่ในเรือนจำที่ห่างไกลมาก ทำให้ญาติและทนายความมาเยี่ยมได้ลำบากและทำให้ยากต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ทั้งยังมีรายงานการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างอื่นอีกมากมาย คณะกรรมการกาชาดสากล (International Committee of the Red Cross) ก็ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเยี่ยมเรือนจำในพม่าตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548

แถลงการณ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลายปีก่อน เพียงสองสัปดาห์ก่อนที่คำสั่งควบคุมตัวจะหมดอายุลงในปี 2552 ทางการก็ได้จับกุมตัวนางอองซานซูจีและตั้งข้อหาเธออีกครั้งว่าละเมิดเงื่อนไขการกักบริเวณในบ้าน ในวันที่ 11 สิงหาคม 2552 ภายหลังการไต่สวนที่ได้รับการประณามอย่างกว้างขวางจากประชาคมนานาชาติ เธอก็ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลาสามปี แต่มีการเปลี่ยนโทษเป็นการกักบริเวณในบ้าน 18 เดือน

การปล่อยตัวของเธอเกิดขึ้นเพียงหกวันหลังการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีของพม่า ในขณะที่การปราบปรามทางการเมืองยังดำเนินอยู่ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางอองซานซูจี ได้รับที่นั่งเป็นส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2533 แต่ผู้นำทหารที่ปกครองประเทศเป็นเวลาหลายทศวรรษ กลับไม่ยอมให้พรรคของเธอเข้าบริหารประเทศ

ทั้งนี้ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษด้านมโนธรรมสำนึกทุกคน รวมทั้ง

* มินโกนาย อดีตผู้นำนักศึกษาและผู้เรียกร้องประชาธิปไตย อายุ 47 ปี ต้องโทษจำคุก 65 ปีฐานเข้าร่วมการประท้วงเมื่อปี 2550
* พระคัมภีร์ จากกลุ่มพันธมิตรพระภิกษุแห่งพม่า (All Burma Monks Alliance - ABMA) ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุก 63 ปี ฐานเข้าร่วมการประท้วงที่นำโดยพระภิกษุเมื่อปี 2550
* อู ขุนตุนอู่ อายุ 67 ปี ประธานพรรคสันนิบาตชาติพันธุ์ไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย (Shan Nationalities League for Democracy - SNLD) ต้องโทษจำคุก 93 ปีเพราะไม่เห็นด้วยกับแผนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของรัฐบาล เขาป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง

อนึ่ง นางอองซานซูจีได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2534 แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2520

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ศ.เจมส์ ซี สก็อตต์ (1) เกษตรกรรมในฐานะการเมือง

Posted: 14 Nov 2010 07:23 PM PST

ศาสตราจารย์เจมส์ ซี สก็อตต์พูดถึงเกษตรกรรมในฐานะการเมือง (Agriculture as politics) อันตรายจากการทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ( Dangers of Standardization) และการไม่ถูกปกครอง (Not being governed)* 

  

ตาม ความเห็นของอาจารย์ อะไรคือข้อท้าทายในปัจจุบันหรือข้อถกเถียงหัวใจของสังคมศาสตร์ที่เน้นการ เมือง จุดยืนและคำตอบของอาจารย์ต่อข้อท้าทาย/ ข้อถกเถียงนั้นคือ?

นี่ไม่ใช่คำถามที่ผมถามตัวเองบ่อยนัก มีอยู่หนึ่งครั้งที่ผมเคยถาม แต่ก็หลายปีผ่านมาแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าคุณรู้จัก "กลุ่มเคลื่อนไหวเปเรสทรอยกา (Perestroika movement)" ในสายรัฐศาสตร์รึเปล่า ในช่วงที่ผ่านมามีแถลงการณ์ที่ไม่ลงชื่อแต่เซ็นต์ลงท้ายว่า "นายเปเรสทรอยกา" ปรากฎขึ้น ซึ่งเริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า (ศาสตราจารย์) เบเนดิก แอนเดอร์สันและผมไม่เคยอ่าน American Political Review (วารสารวิชาการกระแสหลักด้านรัฐศาสตร์: ผู้แปล) และก็ยังถามต่อไปถึงเหตุผล โดยอ้างว่าบางทีวารสารนี้และองค์กรทรงอิทธิพลซึ่งสนับสนุนวารสารนี้อาจจะไม่สอดคล้องและเป็นอุปสรรคอย่างแท้จริง ต่อการขยับขยายความรู้   ตอนนี้กลุ่มเปเรสทรอยกาเชื่อมต่อกับกลุ่มเศรษฐศาสตร์โพสออทิสติก (Post- Autistic Economics movement)  ทางฝั่งยุโรปที่พยายามเผยแพร่เศรษฐศาสตร์กระแสรองเพื่อทัดทานกับเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ กลืนกินทุกอย่าง อันที่จริง ที่พวกเขาเชิญผมไปนั่งอยู่ในสภาบริหารของสมาคมรัฐศาสตร์ก็เป็นผลมาจากการ แข็งขืนของเปเรสทรอยกา และนั่นเป็นครั้งเดียวที่ผมได้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างจริงจังกับความพยายามหา คำตอบว่ารัฐศาสตร์ควรจะเป็นอย่างไร  โดยภาพรวมแล้วผมได้ทำตามหน้าที่ของผมโดยไม่ได้กังวลกับผลที่จะตามมา ผมเลือกที่จะไม่เสียเวลาอยู่ในหลุมของวิวาทะเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกขุดอยู่รอบๆตัวผม
 

อย่างที่คุณเห็น ผมไม่ค่อยได้คิดจริงจังว่ารัฐศาสตร์ควรจะถูกปฏิรูปยังไง แต่ผมเชื่ออย่างแท้จริงว่าคนในรัฐศาสตร์พวกที่ชอบเสแสร้งเรื่อง "ความเป็นวิทยาศาสตร์" จริงๆ แล้วกำลังยุ่งมากอยู่กับการเรียนรู้สิ่งต่างๆ น้อยลงไปเรื่อยๆ ความจริง มีจุดเปลี่ยนในลักษณะแนวทดลองกับรัฐศาสตร์ ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งกำลังทำสิ่งที่เขาเรียกว่า "การทดลองบริสุทธิ์" ที่มีการออกแบบอย่างที่ทำกันในการทดลองจิตวิทยา ที่มีการควบคุมกลุ่มตัวอย่างและอื่นๆ แต่คำถามที่พวกเขาถามกลับแคบอย่างน่าตกใจ! พวกเขาจินตนาการว่าคนทั่วไปจะคิดถึงคำถามพวกนี้มากเท่าที่จะเป็นไปได้และพวก เขาจะค่อยๆ สร้างป้อมปราการที่ไม่สามารถทำลายได้ของสังคมศาสตร์ ทั้งที่ผมเองคิดว่ามันเป็นแค่กองอิฐที่ไม่ได้เติมต่อยอดให้กับอะไรเลย

ผมเองประทับใจกับคนที่ค่อยๆ ขยับไปข้างหน้ากับประเด็นที่มีความสำคัญ มากกว่าพวกที่สร้างความรุดหน้าในคำถามที่โดยปกติแล้วไม่ควรค่ากับการถาม เท่าใด ตัวผมเองมักจะพยายามทุ่มเทงานไปยังประเด็นที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญมาก อย่างเช่น ต้นกำเนิดของรัฐหรือพลวัตรของความสัมพันธ์อำนาจ ไม่ว่าระหว่างรัฐและประชาชนหรือความสัมพันธ์โดยทั่วไปก็ตาม ยกตัวอย่าง หนังสือของผมสองเล่ม (Domination and the Arts of Resistance and Weapons of the Weak) นั้นคือความพยายามที่จะเข้าใจความสัมพันธ์อำนาจในโครงสร้างแบบจุลภาค (แทนที่จะเป็นมหภาค) ตอนนี้ เรากำลังให้ความสนใจต่อเงื่อนไขทางการเมืองแบบที่เอื้อต่อนโยบายเศรษฐกิจ มหภาคที่ไม่สร้างความหายนะและนี่เป็นคำถามที่ผมถือว่ามีความสำคัญมาก ไม่เพียงแต่สำหรับนักสังคมศาสตร์เท่านั้น แต่คนทั่วไปก็สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างคำถามที่สำคัญกับคำถามพื้นๆ ได้

 

คุณมาถึงจุดที่คุณอยู่นี้ ในเรื่องแนวคิดได้อย่างไร?

ย้อนหลังกลับไปนานมาแล้ว ก่อนที่ผมจะเรียนต่อ เพื่อนคนหนึ่งได้พูดว่า "ก่อนแกจะเรียนต่อ ต้องอ่าน The Great Transformation ของคาร์ล โปลันยี" ผมอ่านมันในช่วงซัมเมอร์ก่อนที่จะกลับไปเรียนต่อ และผมคิดว่าในบางแง่มุม มันเป็นหนังสือที่สำคัญที่สุดที่ผมเคยได้อ่าน หนังสืออีกเล่มที่มีอิทธิพลต่อผมอย่างมากคือ The Making of the English Working Class (1963) ของอี พี ธอมสัน (E. P. Thomson) ผมยังจดจำเก้าอี้ตัวที่ผมนั่งอ่านทั้ง 1,000 หน้ากระดาษหนาเตอะได้อย่างดี หนังสือเล่มนี้ขุดลงไปถึงต้นกำเนิดของจิตสำนึกชนชั้นแรงงานในช่วงเวลาเดียว กับที่โปลันยีได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดเพื่ออธิบายการดึงเศรษฐกิจออกจากการ กำกับของสังคม หนังสืออีกเล่มที่มีอิทธิพลคือ Primitive Rebels ของอิริก ฮอบสบอว์ม (Eric Hobsbawm) เพราะ เขาได้ชี้ไปที่รูปแบบต่างๆ ของอาชญากรรมและการฝ่าฝืนกฎหมายในฐานะปรากฏการณ์การเมืองซึ่งควรจะถูกอธิบาย อย่างนั้นในแง่ของระเบียบวิธี เพราะมักถูกวิเคราะห์ไปในลักษณะอื่น
 

ทำไม ผมถึงชอบนักวิชาการเหล่านี้ พวกเขาได้สอนผมว่าการเสนอแนวคิดใหม่ที่เปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนต่อสิ่งต่างๆ นั้นถือเป็นคุณูปการณ์ที่สำคัญต่อวงการสังคมศาสตร์  คุณคงรู้จักกล้องคาเลโดสโคปที่พอเขย่าแล้วมันจะเปลี่ยนเป็นสีต่างๆ และทำให้คุณเห็นโลกแตกต่างออกไป  งานทั้งหมดที่มีผลต่อผมคืองานมีผลต่อการมองโลกของผม  คือเมื่อผมมองโลกผ่านกล้องที่นักวิชาการเหล่านี้ยื่นให้ ผมเห็นโลกที่ต่างออกไปอย่างน่าทึ่ง และเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่ผมไม่เคยเข้าใจมาก่อน
 

มาถึงในแง่ของเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นและมีผลต่อตัวผม   แน่นอนว่าสงครามเวียตนาม ซึ่งเกิดขึ้นขณะที่ผมเริ่มงานแรกเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอน ที่อยู่มหาวิทยาลับวิสคอนซินในปี 1967  คือหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญ ผมได้เข้าไปอยู่ท่ามกลางการชุมนุมประท้วงและได้ให้สัมภาษณ์รวมทั้งสอนเกี่ยว กับปรากฏการณ์เหล่านี้   ในช่วงเวลานั้น ผมยังค้นพบว่าผมได้ทำวิทยานิพนธ์ที่น่าเบื่อซึ่งจมหายไปอย่างไร้ร่องรอย (ไร้คุณค่าในสายตาของผู้พูดและไม่ก่อให้เกิดผลอะไรตามมา: ผู้แปล) ผมจึงตัดสินใจในตอนนั้นว่า ในเมื่อชาวนาเป็นชนชั้นที่มีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ผมรู้สึกว่าการศึกษาชาวนาน่าจะทำให้เรามีคุณค่าในชีวิตมากขึ้น ถ้าหากการพัฒนาจะมีความหมายอะไรสักอย่าง มันก็ควรจะหมายถึงการพัฒนาวิถีชีวิตของชาวนาและการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของ พวกเขาในภาพรวม นอกจากนี้ พวกเขายังมีส่วนร่วมในจุดกำเนิดของสงครามการปลดปล่อยชาติ อย่างที่สงครามเวียตนามทำหน้าที่นั้นสำหรับคนเวียตนาม หนังสือของผม The Moral Economy of the Peasant เกิดขึ้นจากการต่อสู้ในสงครามเวียตนามโดยตรง มันเป็นความพยายามของผมที่จะทำความเข้าใจกับการต่อต้านของชาวนา

 

เพื่อที่จะเป็นนักวิชาการที่ชำนาญและสามารถเข้าใจโลกในมุมมองที่กว้างขวาง นักศึกษาต้องการอะไร?

เรื่องนี้ผมมีคำตอบที่ชัดเจน (เมื่อเปรียบเทียบกับคำถามแรก: ผู้แปล) เราคงพอนึกภาพได้ว่าทุกคนจะเป็นนักวิชาการที่ถูกฝึกให้เชี่ยวชาญในความชำนาญ และสาขาของตน ในความหมายทำนองเดียวกับแรงงาน ดังนั้นผมจะไม่พูดเรื่องนั้น แต่สิ่งที่ผมรักที่จะเล่าให้นักศึกษาในปัจจุบันฟังก็คือ ถ้า 90% ของเวลาที่พวกคุณใช้อ่านตำรานั้น ถูกใช้ไปในตำรารัฐศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยากระแสหลักและถ้าพวกคุณใช้เวลาส่วนใหญ่อีกเช่นเดียว กันไปในการพูดคุยกับคนอื่นที่อ่านตำราประเภทเดียวกัน อย่างนั้นแล้วคุณก็จะผลิตซ้ำแต่รัฐศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยากระแสหลัก ความคิดก็ผมก็คือ ถ้าคุณทำได้ไม่เลวนัก อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของสิ่งที่คุณอ่านควรจะมาจากนอกสาขาของคุณ อย่างที่แรงขับเคลื่อนที่น่าสนใจมักมาจากชายขอบของสาขาหรือแม้กระทั่งจาก ข้างนอก งานวิจัยที่น่าสนใจในสังคมศาสตร์เกิดขึ้นเมื่อคุณมองเห็นแนวความคิดแปลกๆ ซึ่งสามารถปรับใช้และต่อยอดให้กับสาขาของคุณ ที่ผมแนะนำอยู่นี่ก็เป็นการสร้างทฤษฎีจากสิ่งที่ผมทำ ตอนที่ผมเขียน The Moral Economy of the Peasant  ผมอ่านวรรณกรรมชาวนาทั้งหมดที่ผมพอจะหาได้ อ่านประวัติศาสตร์บอกเล่าทั้งหมด โดยสรุปก็คือ ผมจับยัดทุกอย่างจากนอกรัฐศาสตร์มากเท่าที่จะทำได้ ถ้าคุณลองดูงานที่มีอิทธิพลในช่วงเวลาต่างๆ คุณจะบอกได้เลยจากดัชนีหรือบรรณานุกรมคนเขียนได้อ่านงานจำนวนมากที่อยู่นอก ข่ายงานกระแสหลักทั่วไป
 

แต่ ถ้าคุณเลือกที่จะทำอะไรบางอย่างที่กว้างขวางและท้าทาย คุณก็จะพบกับอุปสรรคและการต่อต้านบางอย่างจากเครื่องจักรกลวิชาการที่แข็ง ตัวไปแล้ว ลองดูตัวอย่างของ The Social Origins of Dictatorship and Democracy ของบาร์ริงตัน มัวร์ (Barrington Moore) ที่เป็นอีกงานที่ยิ่งใหญ่  หนังสือเล่มนี้ถูกปฏิเสธถึงหกครั้งจากสำนักพิมพ์  เพราะผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาที่เขาพูดถึงมีปัญหากับแต่ละบทที่เกี่ยวข้องกับสาขาเหล่านั้น   ในทางตรงกันข้าม มันสำคัญแค่ไหนที่จะตีพิมพ์บทความเหล่านั้น?   เพื่อนร่วมงานของผมวิจัยเกี่ยวกับจำนวนของคนที่อ่านบทความวิชาการจริงๆ และจำนวนเฉลี่ยก็ต่ำกว่าสามคน  ดังนั้นโดยพื้นฐานแล้ว บทความส่วนใหญ่ที่ถูกตีพิมพ์กันก็เป็นเสมือนฟันเฟืองที่ปฏิเสธการเมืองขนาดใหญ่  ซึ่งประกอบกันขึ้นเพื่อให้คนได้รับตำแหน่งวิชาการ  อันนี้รวมถึงพวกบทความที่เป็น peer-reviewed ด้วย  ความก้าวหน้าทางวิชาชีพนั้น ขึ้นอยู่กับประเภทของระบบประเมินที่ทำให้ได้จำนวนของบทความ peer-reviewed และอื่นๆเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งเป็นกลไกของระบบที่ปฏิเสธความเป็นการเมืองหรือเป็นความพยายามที่จะ ปฏิเสธการตัดสินเชิงคุณภาพเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ว่าดีเพียงใด   มันเป็นอะไรที่ดูจะเป็นเรื่องปกติในประชาธิปไตยที่คุณจำเป็นต้องโน้มน้าวให้ผู้คนมีภววิสัย  คุณต้องไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่มีการตัดสินใจเชิงคุณภาพและคุณก็แค่เปรียบเทียบจำนวนเท่านั้น   ดังนั้นถ้าคุณจะผลิตบทความสักอันที่จะมีคนอ่านเพียงสามคนแล้วละก็   แล้วคุณจะคิดทำมันทำไมตั้งแต่ต้น?  คุณควรจะทำอะไรอย่างอื่นที่พอจะมีผลกระทบอะไรกับโลกบ้างจะดีกว่า   ถ้าคุณทำมันเพื่อเอาอกเอาใจสาขาวิชาที่กำลังเฝ้ามองคุณด้วยความวิตกกังวล   งานของคุณก็จะกลายเป็นแค่กำลังแรงงานที่แปลกแยกและผมพูดอย่างนี้   ผมเองก็ยอมรับว่าคุณไม่มีทางก้าวหน้าได้ถ้าคุณไม่ทำอย่างนี้ มันง่ายสำหรับผมที่จะพูด เพราะผมมาจากช่วงเวลาที่มีความรู้สึกโรแมนติกกับประเทศโลกที่สาม อะไรก็ตามที่พูดถึงโลกที่สามก็มีแนวโน้มว่าจะได้รับตีพิมพ์ ดังนั้น ผมค่อนข้างจะตระหนักถึงข้อเท็จจริงว่าผมมีชีวิตที่ง่ายเมื่อเปรียบเทียบกับ นักศึกษาในปัจจุบัน ยังไงก็ตาม นอกจากคุณจะปรารถนางานเสมียนแบบเข้าเก้าโมงเช้าออกห้าโมงเย็นที่ต้องตอกบัตร แล้ว คุณก็น่าจะทำอะไรที่มันน่าตื่นเต้นถึงมันจะขายยากก็ตาม

 

(จบตอนที่ 1/3)

 

บทความภาษาอังกฤษ http://www.theory-talks.org/2010/05/theory-talk-38.html

 

*หมาย เหตุ เนื่องจากสัมภาษณ์มีความยาวมาก ผู้แปลจึงขอตัดแบ่งออกเป็นสามตอน เพื่อให้ผู้อ่านไม่ต้องรอนาน โดยตอนแรกนี้จะเกี่ยวข้องกับประเด็นของการยึดตัดกับสาขาวิชาและวงการวิชาการ เป็นสำคัญ

 

ที่มา:ประชาธรรม สถานีข่าวประชาชน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อานนท์ นำภา:ไอ้บ้า นี้ใช่ ไอ้"สาย"

Posted: 14 Nov 2010 04:45 PM PST

 

ลมหนาว คราวนี้ นานนัก

ลมรัก พัดโรย นาไร่

ลมว่าว พัดว่าว วิ่งไว

หัวใจ ไหวหวาน วานวัน

 

 

หมอกหม่น ละเมอ ลอยมา

ซบหน้า ลงนอน หรือนั่น

ต้องยอด ใบหญ้า หยาดพลัน

คงเหลือ แค่นั้น น้ำค้าง

 

 

รักเจ้า ทั้งใจ ให้เจ้า

รังรัก ของเรา เกินกว้าง

นุ่งลม ห่มฟ้า นอนฟาง

กับนาง ผู้เป็น ดวงใจ

 

 

รู้ดี มีสิทธิ คิดถึง

รู้ซึ้ง ดึงเจ้า มิได้

รู้ว่า วันนี้ มีใคร

คอยไล่ คอยล่า ฆ่าเรา

 

 

อยู่ห่าง เพียงดิน กลบหน้า

ไยไกล เกินกว่า บอกเล่า

ควันธูป เคว้งคว้าง บางเบา

กลิ่นเหล้า ยังหลอน อ่อนล้าฯ

 

 

จำภาพ จำเสียง ปืนสาด

ที่ราช- ประสงค์ ดงฆ่า

เราวิ่ง จับมือ หนีมา

ทหาร โหดห่า ราวี

 

 

เจ้าบอก ถ้อยคำ จำได้

"ทิ้งน้อง วิ่งไป เถิดพี่

ตัวน้อง แรงน้อย เพียงนี้

รีบหนี ก่อนตาย ด้วยกัน"

 

 

พี่หัน มองหา หน้าน้อง

เจ้าร้อง ท้องอาบ เลือดนั่น

ร่างทรุด ลงสู่ พื้นพลัน

เสียงลั่น ปืนรัว ตามมา

 

 

พี่อุ้ม เจ้าโอด ปวดร้อง

ตามอง หน้าพี่ ก่อนว่า

"สู้นะ เพื่อมวล ประชา

ชาติหน้า ขอครอง รักเรา"

 

 

สิ้นเสียง เพียงสิ้น ลมสาว

เจ็บร้าว ราวใจ ไฟเผา

กอดร่าง จูบร่าง บางเบา

" รักเจ้า เท่านั้น ที่รัก"

 

 

มือมืด จับมือ เชือกมัด

ตีนมืด เตะอัด หลังหัก

ยิ่งดิ้น ยิ่งโดน แน่นัก

ปืนชัก จ่อหัว กลัวมั้ย!

 

 

กำหมัด หมายสู้ เพียงตาย

ตีนเสย หน้าหงาย เลือดไหล

ฆ้อนทุบ ยุบหัว รัวไป

โลกพลัน มืดไหม้ ในตา

 

ฯลฯ

 

 

หอมกลิ่น บุหงา มาลัย

เจ้าร้อย คล้องให้ ใฝ่หา

ทัดดอก ไม้แดง ชบา

เริงร่า ร่ายรำ เริงรมณ์

 

 

หัวเราะ แล้วร้อง ร่ำไห้

หัวใจ สับสน สะสม

ร่อนเร่ เดินพล่าม ตามลม

แล้วก้ม จูบดิน กินทราย

 

 

ยินเสียง จอแจ แต่ไกล

"ไอ้บ้า นี้ใช่ ไอ้ "สาย"

ได้ข่าว เมียมัน ดันตาย

วันสาย ฟ้ามืด พฤษภา"

 

 

ลมหนาว คราวนี้ นานนัก

ลมรัก พัดหวน เสน่หา

กอดเจ้า นุ่งลม ห่มฟ้า

พรอดพร่ำ น้ำตา อาลัย ฯ )))------

 

 

 

 

ปล: หลายคนเสียสติกับเหตุการณ์พฤษภา ๕๓

นี่เป็นความจริงที่หลายคนอยากลืม แต่ยิ่งอยากลืม มันยิ่งจดจำ

ขอไว้อาลัยแด่การสูญเสียทุกชีวิต

 

อานนท์ นำภา

11 พฤศจิกายน 53 ณ จังหวัดสงขลา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงานจากหน้าเรือนจำ:"แสงสว่างเล็กๆ ...ในใจที่ไม่มืดมน"

Posted: 14 Nov 2010 03:14 PM PST

บันทึกจากส่วนหนึ่งในความทรงจำของผู้ที่ได้ติดตามผลกระทบของ19 ผู้ต้องขังที่ถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพอยู่ภายในเรือนจำมุกดาหารจากเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา 

 

ช่วงเวลาบ่ายแก่ๆ จนถึงเย็น หากใครแวะไปจ่ายตลาดเพื่อเป็นอาหารมื้อเย็นที่ตลาดสดเทศบาล 1 ในอำเภอเมืองมุกดาหาร ก็จะได้พบเห็นแม่ค้าลูกชิ้นทอดกับมอเตอร์ไซค์พ่วง ซึ่งมีตู้บรรจุลูกชิ้นหลากหลายชนิดไว้คอยบริการลูกค้า หลังหม้อสแตนเลสใส่น้ำมันตั้งอยู่บนเตาแก๊สนั้น เป็นที่สะดุดตาต่างจากแม่ค้าคนอื่นๆ เนื่องจากหญิงที่ยืนทอดลูกชิ้นอยู่ในภาวะ “หญิงมีครรภ์” ขนาดของครรภ์บ่งบอกได้ไม่ยากว่า อีกไม่นานเธอคงไม่สามารถมาขายลูกชิ้นได้ เนื่องจากต้องทำหน้าที่ “แม่”ของทารกแรกเกิด ไอที่ขึ้นมาจากหม้อบรรจุน้ำมัน เราผู้ซื้อเองยังรู้สึกได้ถึงความร้อน และอดไม่ได้ที่จะถามว่า “เค้าไม่บ่นว่าร้อนมั่งหรือไง ในท้องน่ะ”
 

“ก็ดิ้นถีบอยู่เหมือนกันนะพี่ หนูก็ตีเอา ทำไงได้ ไม่ทำก็ไม่มีคนหาให้ ขายอย่างอื่นหนูก็ทำไม่เป็น ตอนนี้ยังดีหนูยังพอหาได้ แต่ถ้าท้องแตกแล้วนี่ซิ ใครจะหาให้หนู”
 
นี่คงไม่ใช่ถ้อยคำร้องขอความเห็นใจจากใครๆ แต่เป็นคำบอกเล่าข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้
 
พระนม กันนอก สามีของ “อ้อย” หรือ อ้อยทิพย์ กันนอก ถูกจับกุมด้วยข้อหาบุกรุกและเผาศาลากลาง จ.มุกดาหาร เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม หลังเหตุการณ์เผาศาลากลางได้ 2 วัน ตำรวจเข้าจับกุมตัวที่บ้านโดยมีหลักฐานเป็นรูปรถสามล้อบรรทุกยางจอดอยู่นอกรั้วศาลากลางวัน พร้อมทั้งยึดเครื่องมือหากินของเขาและครอบครัวไปเป็นของกลาง
 
“วันนั้น หนูก็ขายลูกชิ้นอยู่ พี่เขาก็ไปอยู่ที่วิน เห็นว่าประมาณเที่ยงๆ มีคนมาจ้างให้ไปที่ประตูทางเข้าศาลากลางด้านทิศตะวันตก พอขนเสร็จ พี่เขาก็กลับบ้าน ไม่ได้เข้าไปที่ศาลากลางอีก อีก 2 วัน ตำรวจก็มาที่บ้าน เอารูปมาให้ดู แล้วก็พาตัวไปโรงพัก”
 
ผู้เขียนไปเยี่ยมผู้ต้องข้งที่เรือนจำมุกดาหารหลังเหตุการณ์เผาศาลากลางผ่านไปได้ 1 เดือน ได้พบกับอ้อยหน้าห้องเยี่ยม  หลังจากพูดคุยไถ่ถามกันจึงได้รู้ว่า การถูกจับกุมของพ่อบ้าน ทำให้เหลืออ้อยในวัย 28 ปี เพียงคนเดียวที่ต้องหาเลี้ยงลูก 2 คน คนหนึ่งเป็นลูกติดสามีมากำลังเรียน ป.4 อีกคนเป็นลูกตัวเองอยู่อนุบาล 3 พร้อมๆ กับที่ในท้องมีอีก 1 ชีวิตให้โอบอุ้ม อายุครรภ์ได้ 2 เดือนกว่าแล้ว ความรู้สึกของผู้เขียนในวันนั้นแม้เห็นใจในความยากลำยาก แต่ประกายความหวังในดวงตาพวกเรายังสดใสอยู่ ถ้อยคำให้กำลังใจกันจึงมีว่า “อดเอา เดี๋ยวยกเลิก พรก.ก็ได้ออกมาแล้ว”
 
เช่นเดียวกันเมื่อถึงรอบเข้าเยี่ยม ผู้เขียนได้พูดคุยกับทวีศักดิ์ แข็งแรง 1 ใน 15 ผู้ต้องหาที่ถูกทำร้ายร่างกายและถูกจับกุมในวันที่มีการเผาศาลากลาง   เขาไม่ได้พูดถึงความทุกข์ของตนเองในการสูญเสียอิสรภาพ หากเอ่ยถึงแต่ความห่วงใยครอบครัว เมียของเขาตั้งท้องได้ 4 เดือน ต้องดูแลลูกสาววัย 9 ขวบ กับพ่อและแม่วัยชราของเขาเพียงลำพัง โดยไม่มีรายได้ คนมีภาระอย่างเขา ซึ่งคิดดูแล้วไม่น่ามีแจงจูงใจให้ไปก่อการร้ายใดๆ ฝากผู้เขียนให้ช่วยดูแลครอบครัว เขาพูดอย่างกังวลใจว่า “ผมกลัวจะออกไปไม่ทันลูกคลอด” ในวันนั้นผู้เขียนจำได้ว่าได้พูดกับเขาอย่างมั่นใจว่า “ได้ออกทันอยู่แล้ว”
 
 

แทบทุกคนที่ถูกจับคดีบุกรุกและเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหารอยู่ในวัยที่มีครอบครัวต้องรับผิดชอบ บางคนแถมพ่วงด้วยพ่อแม่ที่แก่ชรา การที่เสาหลักในการหารายได้ ถูกจับ 1 คน หมายถึง มีคนต้องตกระกำลำบากอีก 2,3,4...ชีวิต ไม่ต้องพูดถึงความทุกข์ใจ ขาดที่ปรึกษา ขาดคนช่วยตัดสินใจ
 
นี่ยังไม่นับว่า บางคนพกพาเอาโรคร้ายเข้าเรือนจำไปด้วย มีทั้ง ไวรัสตับอักเสบ ไตอักเสบ หอบหืด เบาหวาน ติดเชื้อในมดลูก มีแม้กระทั่งโรคประสาท โรคพวกนี้ต้องได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์เป็นประจำ สภาพในเรือนจำที่มียาพาราฯ เป็นยาสารพัดนึก ครอบจักรวาล กับหมอที่แวะเวียนมาเพียงเดือนละครั้ง 
 
สิ่งที่ผู้เขียนนึกถึงหลังการเยี่ยมในครั้งนั้น คือสิทธิในการได้รับการประกันตัว เพื่อที่พวกเขาจะได้ออกมารักษาตัวอย่างต่อเนื่องตามปกติ และดูแลครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตตามที่ควรจะเป็น แต่ก็อย่างที่บอก ตอนนั้นเราเชื่อว่า ยกเลิก พรก.เมื่อไหร่ ก็คงได้ประกันตัว
 
แต่แล้ว ถึงเวลายกเลิก พรก.เข้าจริงๆ หลักทรัพย์ที่ยื่นขอประกันตัวก็ถูกตีกลับพร้อมคำวินิจฉัยจากศาลว่า ไม่อนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากเป็นข้อหาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง
 
กระนั้นญาติๆ (และผู้เขียน) ก็ยังตั้งความหวังต่อไปอีกว่า ครบ 7 ฝาก คงได้ปล่อยตัว
 
ครบ 7 ฝากก็แล้ว ส่งฟ้องก็แล้ว ตั้งทนายก็แล้ว ยังดีบางคนที่ถูกฟ้องข้อหาบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพียงข้อหาเดียวได้ประกันตัว 7 คน แต่พวกที่โดนคดีเผายังคงถูกจองจำ ไม่ได้รับสิทธิปล่อยตัวชั่วคราวต่อไป
 
 
ผู้เขียนแวะเวียนไปเยี่ยมพวกเขาอีกหลายครั้ง เรากลับมาอยู่ในโลกความจริงกันมากขึ้น และยอมรับว่าหนทางในการได้ปล่อยตัว คงไม่ง่ายนัก
 
ตอนนี้คนในเรือนจำก็พูดอย่างทำใจแล้วว่า “คงต้องรออภิสิทธิ์ลงจากนายกฯ นะพี่ เราถึงจะได้ออกไป”
 
ผู้เขียนเองก็บอกกับพวกเขาและญาติว่า “ทำใจไว้เลยว่าได้อยู่ยาว ถ้าอยู่ยาวจริงก็จะได้ไม่ผิดหวัง ถ้าออกไวๆ ก็ได้กำไร”
 
ถึงอย่างนั้น เราก็ยังไม่เลิกตั้งความหวัง และไม่ละความพยายาม
 
และแล้ว...เราก็ได้ทราบข่าวเรื่องศาลจังหวัดอุบลฯ อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลาง พร้อมๆ กับการยื่นมือเข้ามาของทีมทนาย ศปช.(ศูนย์ข้อมูลประชาชนฯ) ทำให้ทนายในพื้นที่ซึ่งดูเหมือนไม่ค่อยอยากจะทำงานเท่าไหร่ ตื่นตัวกันขึ้นมา
 
ในวันนี้เมื่อสิ่งที่ผู้เขียนเองไม่ได้คาดคิดคราวไปเยี่ยมครั้งแรกก็เกิดขึ้นแล้ว ลูกชายของทวีศักดิ์ ลืมตาดูโลกเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน และอ้อยก็ดูเหมือนจะให้กำเนิดลูกแก่พระนมก่อนกำหนดในเร็ววันนี้ ขณะที่ผู้เป็นพ่อยังสูญเสียอิสรภาพอยู่ในเรือนจำ
 
เราก็คาดหวังว่า แสงสว่างเล็กๆ ที่ผู้พิพากษาศาลจังหวัดอุบลฯจุดขึ้น ประกอบกับความเอาจริงเอาจังของทนาย จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ศาลจังหวัดมุกดาหารเมตตาปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลางอีก19 คนบ้าง
 
เป็นความหวังเล็กๆ แต่มีความหมายสำหรับชีวิตอีกกว่า 100 ชีวิตเหลือเกิน...
 
สุดท้าย ผู้เขียนเดาได้ว่า ต้องมีคนที่ปิดหูปิดตาตัวเอง ไม่ยอมเปิดใจรับรู้ความจริง เข้ามาถากถางเยาะเย้ยว่า นี่เป็นกฎแห่งกรรมที่พวกเผาบ้านเผาเมืองสมควรได้รับ กรรมใดใครก่อคนนั้นก็รับไป
 
แต่สิ่งที่อยากบอกก็คือ ในยุคสมัยที่พวกคุณยอมรับนายกฯ ที่พร่ำพูดเรื่องนิติรัฐ คุณก็ต้องเชื่อในหลักนิติรัฐที่ทุกคนต้องเสมอกันภายใต้กฎหมาย
 
อย่าลืมว่า คนพวกนี้ไม่ได้ถูกจับซึ่งหน้าเมื่อมีการจุดไฟเผาศาลากลาง
 
สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นคือการไล่จับใครก็ตามที่ขวางหน้า และเป็นการจับเมื่อไฟลุกไหม้ไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมงแล้ว
 
เพราะฉะนั้น ตามกฎหมาย(ปกติ) พวกเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งมีสิทธิในการได้รับการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง เท่าๆ กับที่ผู้ต้องหาคดียึดสนามบินได้รับ
 
ใช่หรือไม่

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วาด รวี:เสือเพลินกรง การอ่านสิ่งที่ไม่ได้เขียน และทัศนวิพากษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

Posted: 14 Nov 2010 02:47 PM PST

บทวิจารณ์ชิ้นนี้ผมเขียนขึ้นจากกระทู้ที่เคยอภิปรายไว้ที่ ห้องสนทนา “เสวนากับดอนเวียง”[1]กระดานสนทนา “ใจดี” เว็บไซต์ใจดีฮับ[2] ซึ่งเป็นร้านหนังสือออนไลน์ที่น่าสนใจมาก

เสือเพลินกรง เป็นนิยายขนาด 734 หน้า เขียนด้วยภาษาเล่าเรื่องที่เจนจัด ชวนติดตาม อ่านได้เพลินโดยไม่สะดุด มีบางช่วงบางตอนที่อืดไปสักนิด เพราะตัวละครพูดเรื่อยเปื่อยมากไป แต่โดยรวมแล้วเป็นนิยายที่อ่านได้สนุกทีเดียว
 
เสือเพลินกรงเปิดโปงตีแผ่เรื่องราวยอกย้อนในวงการโฆษณาได้อย่างคมคายและวิพากษ์สื่อได้อย่างเผ็ดร้อน ซึ่งนำไปสู่การชี้ให้เห็นโลกที่โสมมของผู้ใหญ่ ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนที่คบหากันมาตั้งแต่วัยเรียน ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่บริสุทธิ์ มีแต่ความจริงใจให้กัน ราวกับเป็นด้านตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อตัวละครหลักเล่าถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับเพื่อนร่วมงาน ตนเองกับการงาน หรือตนเองกับสังคม ก็เล่าผ่านมุมมองที่กลิ้งกลอกยอกย้อน เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว แต่ทว่าเมื่อหันมาเล่าเรื่องราวของเพื่อน ๆ มุมมองก็กลับกลายเป็นความซื่อใส สนุกสนาน และมีแต่ความจริงใจ นี่คือสองภาพตัดที่ดำเนินไปตลอดนิยาย ซึ่งผู้เขียนก็สามารถใช้น้ำเสียงเล่าเรื่องที่ทำให้ทั้งสองมุมมองดังกล่าวผสมผสานกันอย่างกลมกลืน
 

นวนิยายเรื่องนี้ปิดประกาศไว้ที่หน้าปกว่า “นวนิยายเพื่อชีวิตที่ติดบาร์โค้ด” หลังจากที่ผมได้วิจารณ์ในกระทู้ที่กล่าวถึงข้างต้น ต่อมา ผาด กสิกรณ์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้ให้สัมภาษณ์[3] ขยายความหมายของข้อความดังกล่าวว่า

ก็หมายความว่าอย่างนั้นละครับ ชีวิตของเราทุกวันนี้มันถูกฝานออกขายเหมือนชิ้นแฮม ทุกชีวิตมีวันเวลา จำกัด แต่ละวันที่เราฝานชีวิตออกขายนั้น เราขายในราคาเท่าไร ขายให้ใคร เพื่อประโยชน์อะไร เราทุกคนกำลังขายตัวเพื่อเอาตัวรอด ขายชีวิตเพื่อเอาชีวิตรอด 

          เสือเพลินกรงไม่ใช่นวนิยายเพื่อชีวิตนะ อย่าตีความผิด แต่มันเป็น ‘นวนิยายเพื่อชีวิตที่ติดบาร์โค้ด’            

          ผม-คุณ-เรา กำลังขายตัวกันอยู่

 
ก่อนหน้าที่จะได้รับทราบการขยายความข้อความดังกล่าวจากผู้เขียน ผมมีความเห็นต่อข้อความดังกล่าวดังนี้
 
เข้า ใจว่าผู้เขียนคงตีความคำว่า “เพื่อชีวิต” ไว้ทำนองว่าเป็นเรื่องสร้างสรรค์ สะท้อนสังคม อย่างที่เข้าใจกันดาดาษในวงการเพลงเพื่อชีวิต ส่วนคำว่า “ที่ติดบาร์โค้ด” นั้นก็อาจจะหมายถึงแนวความคิดเพื่อชีวิตดังกล่าวในยุคสมัยที่ทุกสิ่ง ทุกอย่างตกเป็นสินค้าไม่เว้นแม้แต่ความคิดสร้างสรรค์นั่นเอง ความเข้าใจเกี่ยวกับวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่กล่าวมานี้เป็นความเข้าใจทั่ว ๆ ไป ซึ่งมองไม่เห็นประวัติศาสตร์ความเป็นมาของวรรณกรรมเพื่อชีวิต ซึ่งประเด็นสำคัญที่เป็นคุณลักษณะเฉพาะก็คือ การวิพากษ์หรือเปิดโปงการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้น
 
จากการอธิบายของผาด กสิกรณ์ ทำให้เห็นว่าคำว่า ‘นวนิยายเพื่อชีวิตที่ติดบาร์โค้ด’ สามารถ “อ่าน” แยกได้ 2 ลักษณะคือ
 
นวนิยายเพื่อชีวิต  ที่ติดบาร์โค้ด และ นวนิยายเพื่อ  ชีวิตที่ติดบาร์โค้ด
 
ซึ่งจะส่งให้เกิดความหมายที่แตกต่างกันดังที่ผมในฐานะผู้อ่าน และผาดในฐานะผู้เขียนตีความแตกต่างกัน
 
ตามความเห็นของผม เป็นไปได้ยากที่ผู้เขียนจะเขียนข้อความดังกล่าว โดยไม่ทราบถึงนัยของคำว่า “เพื่อชีวิต” ที่มีอยู่แล้วในฐานะของชื่อเรียกวรรณกรรมประเภทหนึ่ง หากผู้เขียนรู้อยู่ก่อนจะเขียนข้อความดังกล่าว นัยของคำว่า “เพื่อชีวิต” นี้ ย่อมดำรงอยู่ในขณะที่ผู้เขียนเขียนข้อความนี้ ไม่ว่าผู้เขียนจะรู้ตัวหรือไม่ จะจงใจหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนย่อมมีสิทธิ์จะยืนยันการให้น้ำหนักตามที่ได้อธิบายมา ขณะที่ผมในฐานะผู้อ่านและผู้วิจารณ์ก็สามารถสงวนสิทธิที่จะใช้กรอบ “เพื่อชีวิต” ในการวิจารณ์นิยายเล่มนี้ โดยใช้เกณฑ์ที่เป็นสาระสำคัญของ “เพื่อชีวิต” นั่นก็คือประเด็นการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้น เป็นเครื่องมือในการวิพากษ์ ทั้งนี้ จำเป็นต้องอธิบายก่อนว่า การใช้กรอบเพื่อชีวิตในการวิจารณ์งานที่อาจจะใช่หรือไม่ใช่เพื่อชีวิตนี้ หาได้เป็นความปรารถนาที่จะกีดกันหรือละเลย “รสชาติ” ในการอ่านแบบอื่น ๆ หรือวิธีการตีความแบบอื่น ๆ รวมทั้งแบบที่ผู้เขียนปรารถนาที่จะให้ผู้อ่านรับ แต่เป็นการยืนยัน “อำนาจของการอ่าน” ในกรอบที่ผู้อ่านพึงใจ โดยในกรณีของผมก็คือ กรอบ “เพื่อชีวิต” ซึ่งสาระสำคัญที่แท้จริงของมันได้ถูกละเลยมาเป็นเวลาร่วม 30 ปี
 
1. เสือในกรง
โลกในนวนิยายเรื่องเสือเพลินกรงนั้นเป็นโลกของคนชั้นกลางระดับสูงขึ้นไป เป็นโลกที่ห่างไกลและไม่ตระหนักถึงการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้น ชีวิตวนเวียนอยู่กับออฟฟิศโอ่อ่า คอนโดหรูหรา และเมืองในต่างประเทศ แน่นอนว่าหลายสิ่งหลายอย่างน่าจะเป็นประสบการณ์จริงของผู้เขียน เพราะสามารถเขียนได้อย่างมีชีวิตชีวา แต่ในนิยายเรื่องนี้ผู้เขียนก็ได้ใช้ตัวเรื่องและตัวละครวิพากษ์สังคม รวมถึงการเมืองปัจจุบัน ซึ่งเป็นวิกฤติที่ต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่การอ่านตัวบทอย่างตรงตัวเช่นนี้ ก็ไม่สามารถอธิบายความซับซ้อนของการเมืองได้ และมองไม่เห็นประเด็นการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้นซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางการเมืองและทางวัฒนธรรม
 

ผู้เขียนมีความเจนจัดในการเล่าเรื่อง ทำได้ชวนติดตามอย่างยิ่ง คำพูดที่ เวียง วชิร ะกล่าวว่า “แม่นยำในจังหวะจะโคนที่เต็มไปด้วยแรงเร้า” หากนับเฉพาะการเล่าเรื่องแล้ว ผมค่อนข้างเห็นด้วย แต่มีบางช่วงตอนคำพูดของตัวละครทำให้จังหวะเสีย หรืออืดไปบ้าง แต่ไม่มาก โดยรวมแล้วคำจำกัดความสั้น ๆ ที่กล่าวมาก็ต้องถือว่าจริงทีเดียว ส่วนที่แหลมคมที่สุดในนิยายเรื่องนี้คือประเด็นในเรื่องสื่อ นิยายเรื่องนี้สามารถวิพากษ์สื่อและโฆษณาได้อย่างเผ็ดร้อนอย่างที่ไม่เคย ปรากฏในนิยายไทยเรื่องอื่นมาก่อน แน่นอน ผมคิดว่าประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียนนั้นมีส่วนอย่างยิ่ง

แต่ทว่านิยายเรื่องนี้กลับมีจุดน่าสังเกตในความเห็นของผมประการหนึ่ง ก็คือการเสนอภาพตัดที่ “เลวสุดขั้ว” ของวงการโฆษณาและสื่อ รวมไปถึงสังคมโดยรวม กับ “ดีสุดขั้ว” เมื่อฉายภาพความสัมพันธ์กับเพื่อนที่คบหากันมาแต่วัยเรียน มุมมองที่ผู้เขียนใช้ในการเล่าถึงเรื่องทั้งสองด้านดังกล่าวแทบจะเป็นคนละมุมมอง เป็นขาวกับดำ แต่แม้จะต่างกันจนเป็นขาวกับดำขนาดนั้น แต่ผู้เขียนก็สามารถตะล่อม กลบเกลื่อนรอยตัดดังกล่าวได้ด้วยทักษะในการเล่า ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าผู้เขียนมีทักษะในเรื่องดังกล่าวที่สูงทีเดียว โดยเฉพาะในเรื่องจังหวะจะโคน หากผู้อ่านถูกการเล่าเรื่องชักจูงจนจมไปกับเรื่องราวแล้ว ก็ยากที่จะมองเห็นความจขัดแย้งดังกล่าว

มุมมองที่ผู้เขียนใช้เล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงาน การงาน สังคมในที่ทำงาน ความสัมพันธ์กับลูกค้า กระทั่งสังคมการสื่อสารโดยรวม จนมาถึงเรื่องการเมือง เป็นมุมมองที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง กลับกลอก มากเล่ห์ร้อยเหลี่ยม ใส่หน้ากากเข้าหากัน ขณะเดียวกัน มุมมองที่ผู้เขียนใช้เล่าถึงเรื่องราวที่เกี่ยวกับเพื่อนนั้น กลับเต็มไปด้วยความใสซื่อ บริสุทธิ์ จริงใจ สนุกสนาน และชวนฝัน

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือภาพอันอัปลักษณ์ของแวดวงโฆษณาและการสื่อสาร รวมถึงการเมือง กับภาพอันปลอดโปร่ง อบอุ่น และปลอดภัยเมื่ออยู่กับเพื่อนฝูง ซึ่งทั้งสองภาพนี้เป็นสิ่งที่เกินจริง และหนุนให้เกิดวาทกรรมที่มีอำนาจเหนือความรู้สึกของผู้อ่าน ให้เมื่อเผชิญหน้ากับความซับซ้อนของปัญหาสังคมหรือการเมืองก็จะเบือนหนี และรู้สึกว่าเป็นความอัปลักษณ์ และหันมาคาดหวังกับภาพของมิตรภาพระหว่างเพื่อนไว้อย่างสวยหรูเช่นในนิยาย

 
2. กรงที่มองไม่เห็น
สำหรับ คนที่ผ่านชีวิตมาย่อมรู้ดีว่าภาพดังกล่าวไม่เป็นความจริง ที่ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนในวัยเด็กนั้นดูใสซื่อบริสุทธิ์เมื่อหวนระลึก ถึงก็เป็นเพราะว่าในเวลานั้นมีเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องในความสัมพันธ์ น้อยมาก หรือแทบไม่มี ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนจะซับซ้อนหรือเรียบง่ายนั้น ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ระหว่างกันที่ความสัมพันธ์นั้นวางเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางวัตถุเงินทองที่เป็นรูปธรรม หรือผลประโยชน์ทางใจที่เป็นนามธรรมต่าง ๆ เช่น ความคิดเห็นที่สอดพ้องต้องกัน เกียรติยศและความนับถือที่ต่างหวังจากกัน หรืออื่น ๆ อีกมากมาย ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนนั้นเป็นสิ่งที่สามารถซับซ้อนได้ และก็สามารถมีด้านมืดได้เช่นกัน ไม่ได้เป็นความใสซื่อไปตลอด ไม่ว่าเพื่อนสองคนนั้นจะคบกันมายาวนานขนาดไหน วรรณกรรมที่เปิดโปงให้เห็นความซับซ้อนในความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนหรือแม้ แต่ระหว่างพ่อกับลูกก็มีอยู่ เช่น พี่น้องคารามาซอฟ แม้แต่ในเรื่อง พันธุ์หมาบ้า ของ ชาติ กอบจิตติ ก็แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนไว้ได้ซับซ้อนและมีน้ำหนักกว่าเรื่องเสือเพลินกรง
 
ส่วน ในเรื่องโฆษณา การสื่อสารในสังคม และการเมืองนั้น เป็นเรื่องของผลประโยชน์และอำนาจโดยตรง การจะมองหรือเปรียบคุณค่าความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้ให้เป็นสิ่งจริงแท้ เช่นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนในวัยเด็กนั้น จึงเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว คำว่า “ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร” ในการเมืองนั้น สะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในเรื่องการเมืองเป็นเรื่องของข้อ ตกลง อุดมการณ์ และผลประโยชน์ ที่สอดพ้องต้องกัน มากกว่าความต้องการเป็นเพื่อนเล่นกันเฉย ๆ อย่างวัยเด็ก ดังนั้น ความสัมพันธ์ของบุคคลในวงการเหล่านั้น ย่อมต้องแปรผันไปตามสิ่งดังกล่าว การเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องของปัจเจก แต่เป็นเรื่องส่วนรวม เป็นข้อตกลงที่คนจำนวนมากต้องใช้เพื่อการอยู่ร่วมกัน เราจึงไม่สามารถมองให้การเมืองเป็นเรื่องเดียวกับเพื่อนไปได้ ไม่สามารถเอาคุณค่าของเพื่อนไปแทนที่เรื่องการเมืองได้ นอกเสียจากเราจะสามารถออกแบบระบอบขึ้นใหม่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องผ่านการเวลาพิสูจน์มายาวนาน เพราะแม้แต่ระบอบประชาธิปไตยที่เราคิดว่ามีกันมาแล้วถึง 70 กว่าปี แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่เรามีมาตลอดกลับไม่เคยใช่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงเลย

ในส่วนของการวิพากษ์สื่อนั้นผู้เขียนทำไว้ได้อย่างแหลมคม และมีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง ข้อนี้ขอแสดงความยกย่องชื่นชมในฐานะที่เป็นผู้สังเกตการณ์สื่อ แต่หลายอย่างที่คาบเกี่ยวไปถึงเรื่องการเมืองนั้น บางอย่างผมคิดว่าเกินจริง และออกจะเป็นมุมมองที่หวือหวาสำเร็จรูปมากไปสักนิด แต่ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ การพรอพเพอร์กานดาในประเทศไทยที่เก่าแก่ แนบเนียน และทรงอานุภาพที่สุดในสังคมไทยนั้น หาใช่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลหรือนักการเมืองไม่ ยังมีวาทกรรมที่เป็นวาทกรรมหลักของประเทศไทย คือสิ่งที่ทรงพลังและมีอำนาจเหนือผู้คนมากที่สุด แต่เสือเพลินกรงไม่เอ่ยถึงเลยแม้แต่น้อย

หากเราเพียง “อ่านเฉพาะสิ่งที่เขียนในนิยายเรื่องนี้” กรงที่เห็นในเสือเพลินกรงก็จะเป็นกรงที่คนมองเห็นได้ไม่ยาก แต่ “กรงที่มองไม่เห็น” ซึ่งเป็นกรงจริงนั่นต่างหาก ไม่ถูกแตะต้องหรือสั่นสะเทือนเลย และการวิพากษ์ “สื่อ” ในนิยายเรื่องนี้ ก็กลายเป็นการละเลยสิ่งสำคัญที่สุดอันเป็นลักษณะเฉพาะของประเทศไทยที่ถูกสื่อออกมาตลอด
 
กระนั้นเมื่อนำลักษณะทวิภาวะของสองมุมมองที่ดำรงอยู่ในนิยายเรื่องนี้ มาเป็นกรอบในการอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน นิยายเรื่องนี้กลับสะท้อนความจริงได้อย่างถึงราก เพราะแท้ที่จริงแล้ว มุมมองที่ขัดแย้งของตัวละครหลักที่มีต่อชีวิตและสังคม โดยเฉพาะลักษณะ “พาฝัน” แบบปัจเจกนิยม เชิดชูความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนกับเพื่อนว่าเป็นสิ่ง “จริงแท้” มีแต่ความบริสุทธิ์ ไร้เล่ห์เหลี่ยมและปราศจากด้านมืดที่ซับซ้อน ขณะเดียวกันก็มองความสัมพันธ์กับสังคม สื่อ และการเมือง ว่าล้วนเป็นสิ่ง “จอมปลอม” และน่ารังเกียจ นั้น คือเครื่องมือชั้นดีในการมองปรากฏการณ์จริงที่เกิดขึ้นในหมู่คนชั้นกลางและคนชั้นนำจำนวนมากในสังคมไทย ซึ่งได้แสดงออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดในช่วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา
 
3. สิ่งที่อยู่นอกกรง
ความขัดแย้งอันรุนแรงในวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นในรอบ 4 ปีที่ผ่านมานี้ ลักษณะสำคัญประการหนึ่งก็คือ มีการใช้กฎหมายในหมวดที่เป็นความผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาร้องทุกข์กล่าวโทษกันเป็นจำนวนมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าคดีความจำนวนมากเหล่านั้น ส่วนใหญ่แล้วมีผลมาจากความขัดแย้งทางการเมือง
 
อย่างไรก็ตาม เฉพาะในบทความชิ้นนี้ ผมอยากจะชี้ให้เห็นความย้อนแย้งกันระหว่างพฤติกรรม 2 ลักษณะที่เกิดขึ้น
 
พฤติกรรมแรก คือ ขบวนการเชิดชูวาทกรรม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างเข้มข้น จนกระทั่งกลายเป็นสิ่งที่ “แตะต้องไม่ได้เป็นอันขาด” ในความรู้สึกของผู้คน พฤติกรรมนี้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการปลุกระดมกระแสที่เป็นการกล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ภายใต้คำที่เรียกกันทั่วไปว่า “ขบวนการล้มเจ้า”   พฤติกรรมนี้ยังมีลักษณะเกินเลยไปสู่การ “กล่าวอ้าง” สถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อสนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมายของตนและพวก[4]
 
พฤติกรรมที่สอง คือ ขบวนการเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาแทรกแซงยุ่งเกี่ยวทางการเมือง ซึ่งในอีกความหมายหนึ่งก็คือ เรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้อำนาจและมีความรับผิดชอบทางการเมือง (political accountability)[5] พฤติกรรมดังกล่าวนี้ปรากฏขึ้นหลายครั้งหลายคราในลักษณะของ ขบวนการถวายคืนพระราชอำนาจ, ขบวนการเรียกร้องนายกฯ พระราชทาน, ขบวนการเรียกร้องรัฐบาลพระราชทาน หรือแม้แต่ ขบวนการถวายฎีกา ของคนเสื้อแดง ก็กล่าวว่าจัดอยู่ในลักษณะของพฤติกรรมนี้
 
ความขัดแย้งระหว่างพฤติกรรมที่หนึ่ง และพฤติกรรมที่สองก็คือ ข้อเรียกร้องทั้ง 2 ลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันได้ในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมีหลักการสมดุลความรับผิดชอบทางการเมือง หรือการควบคุมทางการเมือง (political accountability) หมายความว่า ถ้าคุณเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องลงมายุ่งเกี่ยว ตัดสินใจ และมีความรับผิดชอบทางการเมืองนั้น ก็จะเป็นไปไม่ได้ที่จะเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่แตะต้องไม่ได้ ตามหลักการ The King can do no wrong[6] เพราะเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องลงมาตัดสินใจทางการเมือง ก็เท่ากับว่าได้เข้ามาถืออำนาจ และใช้อำนาจ ซึ่งตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว ก็ทำให้ต้องมีความรับผิดชอบตามมาด้วย ความรับผิดชอบนี้ก็คือ จะต้องให้มีการอภิปรายในเรื่องเกี่ยวกับการใช้อำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่ามีความถูกต้องเหมาะสมอย่างไร และมีกลไกที่เป็นมาตรการในการควบคุมการใช้อำนาจดังกล่าว ดังนั้น กรณีนี้ก็จะไม่อยู่ในหลักการ The King can do no wrong แต่ถ้าเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่พ้นไปจากความรับผิดชอบตามระบอบประชาธิปไตยนี้ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาใช้อำนาจ และทำการตัดสินใจทางการเมือง เพราะหากทั้ง 2 สิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันเมื่อใด เราก็ไม่อาจเรียกระบอบการปกครองดังกล่าวว่าระบอบประชาธิปไตยได้อีกต่อไป
 
วาทกรรม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้รับการปลูกฝังให้อยู่ในจิตสำนึกของคนไทยมาเป็นเวลาหลายสิบปี บางทีอางถึงครึ่งศตวรรษ หรือเกือบชั่วอายุของคน ๆ หนึ่ง ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีงานศึกษาทางวิชาการเกี่ยวข้องกับวาทกรรมนี้อยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่เคยเป็นหัวข้อถกเถียงในสังคมวงกว้าง หรือสื่อสาธารณะอย่างเป็นระบบเพื่อค้นหาคำตอบว่า วาทกรรมดังกล่าวได้ขับเคลื่อนสังคมไทยไปในทิศทางใด และส่งผลอย่างไร กระทั่งในวิกฤตการเมืองรอบปัจจุบัน ที่เราจะเห็นการขับเคลื่อนของวาทกรรมดังกล่าวได้อย่างชัดเจน และอาจจะมีส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงที่ผ่านมาหลายครั้ง การปลูกฝังสำนึกเกี่ยวกับวาทกรรมนี้ในแบบเรียนก็ดี การตีความกฎหมายมาตรา 112 อย่างเข้มงวด เช่น การตัดสินให้การไม่ยืนถวายพระพรเมื่อมีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์เป็นความผิดก็ดี หรือแม้แต่การถ่ายทอดพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ของพระบรมวงศานุวงศ์ และรายการเฉลิมพระเกียรติต่าง ๆ ทางโทรทัศน์ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะเป็นการถวายพระเกียรติให้กับองค์พระมหากษัตริย์ เป็นการแสดงความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตรยิ์ตามปรกติวิสัยของประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ได้เคยมีการอภิปรายกันหรือไม่ ถึงข้อเสียของกิจกรรม ซึ่งอาจจะเป็นการฝังหัวผู้คนให้คลั่งวาทกรรม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างรุนแรง จนขาดการใช้สติและเหตุผล แม้กระทั่งเมื่อได้เกิดพฤติกรรมหลายพฤติกรรม ทั้งการแสดงออกโดยการกระทำและการแสดงออกโดยวาจา ที่เกิดขึ้นระหว่างวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา ให้เห็นแนวโน้มที่อันตราย ซึ่งอาจถูกขับเคลื่อนโดยวาทกรรมดังกล่าว สังคมนี้ยังไม่ควรอภิปรายกันถึงผลดีผลเสีย หรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับท่าทีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ผิดไปจากการแสดงความเคารพโดยปรกติทั่วไปอีกหรือ
 
เมื่อผมอ่านนิยายเรื่องเสือเพลินกรง ซึ่งเปิดโปงให้เห็นการโฆษณาชวนเชื่อในสังคมและการเมือง โดยนักการเมืองก็ดี โดยสื่อและองค์กรเอกชนก็ดี สิ่งที่ผมประหวัดคิดถึงเป็นอันดับแรกก็คือ วาทกรรมชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังที่กล่าวมา ซึ่งเป็นสำนึกที่ถูกปลูกฝังกันมาช้านานในสังคมไทย และดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งปรกติของสังคมไทย แต่ในระยะหลัง คือช่วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา กลับมีลักษณะที่น่ากลัว และคล้ายว่าจะขับเคลื่อนผลักดันผู้คนไปสู่ความรุนแรง และนี่คือสิ่งที่แม้นิยายเรื่องนี้ไม่ได้เขียนไว้ แต่มันก็ช่วยให้ผม “อ่าน” ได้อย่างน่าประหลาด
 
4. อ่านในสิ่งที่ไม่ได้เขียน 
แต่ว่าความจริง ก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน แล้วก็ไม่กลัวถ้าใครจะวิจารณ์ ว่าทำไม่ดีตรงนั้น ๆ  จะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัว ไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน ไม่วิจารณ์ เราก็กลัวเหมือนกัน ถ้าบอกไม่วิจารณ์แปลว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ดี รู้ได้อย่างไร ถ้าเขาบอกว่า ไม่ให้วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว ไม่วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว เพราะพระเจ้าอยู่หัวดีมาก ไม่ใช่อย่างนั้น บางคนอยู่ในหัวสมองว่า พระเจ้าอยู่หัวพูดชอบกล พูดประหลาด ๆ ถ้า ขอเปิดเผยว่า วิจารณ์ตัวเองได้ ว่าบางทีก็อาจจะผิด แต่ให้รู้ว่าผิด ถ้าเขาบอกว่าวิจารณ์พระเจ้าอยู่หัวว่าผิด งั้นขอทราบว่าผิดตรงไหน ถ้าไม่ทราบ เดือดร้อน
       
ฉะนั้นก็ ที่ บอกว่า การวิจารณ์ เรียกว่าละเมิด พระมหากษัตริย์ ละเมิด ให้ละเมิดได้ แต่ถ้าเขาละเมิดผิด เขาก็ถูก ถูกประชาชน บอมบ์ คือเป็นเรื่องของขอให้รู้ว่าเขาวิจารณ์อย่างไร ถ้าเขาวิจารณ์ถูก ก็ไม่ว่า แต่ถ้าเขาวิจารณ์ผิดไม่ดี แต่เมื่อบอก ไม่ให้วิจารณ์ ไม่ให้ละเมิด ละเมิดไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญว่าอย่างนั้น ก็ลงท้ายก็เลย พระมหากษัตริย์ก็เลยลำบาก แย่ อยู่ในฐานะลำบาก เพราะแสดงให้เห็นว่าถ้าไม่ให้วิจารณ์ ก็หมายความว่า พระเจ้าอยู่หัวนี่ก็ต้องวิจารณ์ ต้องละเมิด แล้วไม่ให้ละเมิด พระเจ้าอยู่หัวเสีย พระเจ้าอยู่หัวเป็นคนไม่ดี ซึ่งถ้าคนไทยด้วยกัน ก็หนึ่งไม่กล้า สองไม่เอ็นดูพระเจ้าอยู่หัว ไม่อยากละเมิด แต่มีฝ่ายชาวต่างประเทศ มีบ่อย ๆ ละเมิด พระเจ้าอยู่หัว ละเมิด THE KING แล้วเขาก็หัวเราะเยาะว่า THE KING ของไทยแลนด์ THE KING  ของยู พวกคนไทยทั้งหลายนี่ เป็นคนแย่ ละเมิดไม่ได้ ในที่สุดถ้าละเมิดไม่ได้ ก็เป็นคนเสีย เป็นคนที่เสีย
[7]
 
ในบริบทการเมืองร่วมสมัย การอ่านสิ่งที่เขียนไว้ในนิยายเรื่อง เสือเพลินกรง ไปพร้อม ๆ กับการอ่าน “สิ่งที่นิยายเรื่องนี้ไม่ได้เขียน” นั้น กล่าวได้ว่าสร้างความเพลิดเพลินและรื่นรมย์ในการอ่านอย่างยิ่ง อีกทั้งยังทำให้เห็นมุมมองที่แหลมคมในการวิพากษ์เหตุการณ์การเมืองร่วมสมัย ซึ่งนิยายเรื่องนี้ได้อำนวยให้เกิดขึ้น
 
ก่อนจะกล่าวถึงในส่วนนี้ ผมขออธิบายการตีความพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่ยกมาข้างต้น เสียก่อน
 
ตรงส่วนที่ผมเน้นตัวดำไว้ ซึ่งทรงตรัสว่า
 
...ก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน แล้วก็ไม่กลัวถ้าใครจะวิจารณ์ ว่าทำไม่ดีตรงนั้น ๆ  จะได้รู้...
...ถ้าเขาบอกว่า ไม่ให้วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว ไม่วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว เพราะพระเจ้าอยู่หัวดีมาก ไม่ใช่อย่างนั้น...
...ฉะนั้นก็ ที่ บอกว่า การวิจารณ์ เรียกว่าละเมิด พระมหากษัตริย์ ละเมิด ให้ละเมิดได้ แต่ถ้าเขาละเมิดผิด เขาก็ถูก ถูกประชาชน บอมบ์...
 
ผมเห็นว่าพระราชดำรัสของในหลวงในส่วนที่ยกมานี้ มีความสำคัญและทรงคุณค่าอย่างเหลือประมาณ เพราะเป็นการแยกแยะให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “การมีทัศนวิพากษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” กับ “การกระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตามกฎหมาย” (เช่น ดูหมิ่น, อาฆาตมาดร้าย ฯลฯ)
 
ในหลวงทรงตรัสว่า “ก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน” ต่อมาก็ทรงตรัสว่า “ไม่วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว เพราะพระเจ้าอยู่หัวดีมาก ไม่ใช่อย่างนั้น...” และต่อมาก็ทรงตรัสอีกว่า “ให้ละเมิดได้ แต่ถ้าเขาละเมิดผิด เขาก็ถูกประชาชนบอมบ์”
 
ผมคิดว่า พระราชดำรัสนี้ระบุชัดเจนว่าทรงปรารถนาให้มีวัฒนธรรมการวิจารณ์ และทัศนวิพากษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ คือทรงมีความเห็นว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์นั้น เป็นคนละเรื่องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ขณะเดียว แม้ว่าการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ๆ อาจจะไม่ถูกต้อง ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่ดี (ให้ละเมิดได้) ไม่ใช่เรื่องของกฎหมายที่จะเข้ามาแทรกแซงการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนจะวิพากษ์กันเอง (เขาก็ถูกประชาชนบอมบ์)
 
หากเราทำความเข้าใจพระราชดำรัสนี้อย่างสร้างสรรค์ ก็จะเห็นว่า ท่าทีที่ถูกที่ควรที่ในหลวงทรงปรารถนาจะทอดพระเนตรก็คือ ประชาชนควรมีทัศนวิพากษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่การวิพากษ์วิจารณ์นั้น จะผิดถูกอย่างไร ก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรมการวิจารณ์ ที่ประชาชนผู้ร่วมวิจารณ์และร่วมอภิปราย จะถกเถียงโต้แย้งกันเองด้วยเหตุด้วยผล เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ถูกที่ควร
 
ในวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา ผลลัพธ์จากพฤติกรรมขัดแย้งกัน 2 อย่างดังที่ผมได้กล่าวไปข้างต้น ได้ก่อให้เกิดท่าทีที่ไม่สร้างสรรค์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย ใน 2 ลักษณะเช่นกัน กล่าวคือ ลักษณะหนึ่ง เทิดทูนเคารพรักจนกระทั่งแตะต้องไม่ได้ หากใครแตะต้องหรือวิพากษ์วิจารณ์ ก็จะต้องโกรธคลั่ง และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อคนผู้นั้น  กับอีกท่าทีหนึ่งคือในทางตรงกันข้าม ซึ่งแน่นอนว่าเป็นท่าทีที่ไม่สามารถแสดงออกโดยเปิดเผย และเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย
 
ปรากฏการณ์เช่นนี้เองซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันที่มุมมองของตัวละครหลักในเรื่องเสือเพลินกรง ได้สำแดงออกมา คือสองมุมมองที่ขัดแย้งกันและแสดงออกในลักษณะพาฝันดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ท่าทีของคนไทยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีลักษณะ “พาฝัน” เช่นเดียวกับท่าทีของตัวละครหลักในเรื่องเสือเพลินกรง คือ เมื่อมองไปยังสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จะมีแต่ความรักความเทิดทูนสุดขั้ว และปราศจากซึ่งทัศนวิพากษ์โดยสิ้นเชิง แต่ขณะเดียวกัน เมื่อมองไปยัง “การเมือง” หรือ “นักการเมือง” หรือ “กิจกรรมทางการเมือง” ก็เห็นแต่ความมากเล่ห์ร้อยเหลี่ยม ความกลับกลอกยอกย้อน โดยไม่เข้าใจว่าความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของนักการเมือง และกิจกรรมทางการเมืองนั้น ยืนอยู่บนผลประโยชน์ ทั้งของส่วนรวมและส่วนตัว และสามารถแปรผันไปตามความขัดแย้งทางอุดมการณ์ และผลประโยชน์ แต่ทั้งที่มอง “การเมือง” ด้วยความชิงชังเช่นนั้น คนไทยกลุ่มที่มีสายตาพาฝันต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็กลับเป็นฝ่ายเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาถืออำนาจ และรับผิดชอบต่อเรื่องทางการเมือง
 
ความบิดเบี้ยวดังที่กล่าวมานี้ แท้จริงแล้วก็ไม่ต่างจาก “กรง” ที่มองไม่เห็น ซึ่งกักขังคนไทยส่วนใหญ่เอาไว้ และไม่สามารถหาหนทางออกไปจากวิกฤตความขัดแย้งอันรุนแรงและต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็น “การกดขี่ขูดรีดทางชนชั้น” ของผู้ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยวาทกรรมดังกล่าว คนเหล่านี้ชอบที่จะกล่าวอ้างตนประหนึ่งว่ามีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ คนเหล่านี้มักนิยามตัวเองว่าเป็น “ลูก” ของสถาบันพระมหากษัตริย์ และแย่งกันเสนอตัวขึ้นเป็น “ลูกที่รักพ่อที่สุด” ใช้ข้ออ้างดังกล่าวไปพร้อมกับผูกขาดการถือครองวาทกรรม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยกตัวเองว่า “รักชาติ” มากกว่าใครอื่น ขณะเดียวกันก็แสดงออกถึงความรักอย่างวิปริต เอาความเทิดทูนมาขูดรีดและกดขี่การแสดงออกทางการเมืองของผู้อื่น กดเหยียด และละเมิดสิทธิผู้อื่น ไม่พร้อมที่จะมองความขัดแย้งทางการเมืองตามปรากฏการณ์ที่เป็นจริง ไม่พร้อมจะหาทางออกด้วยเหตุด้วยผล แต่กลับเรียกร้องการนองเลือด ลักษณะพาฝันโรแมนติกที่โหดเหี้ยมดังกล่าวนี้ แท้ที่จริงแล้วคือความวิกลจริตและคลั่งบ้า กล่าวอ้างการสละชีพเพื่อพระมหากษัตริย์ต่อคนร่วมแผ่นดิน ไม่ยอมรับการมีส่วนในอำนาจทางการเมืองของเพื่อนร่วมชาติ
 
ใช่หรือไม่ว่า วาทกรรมชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้ก่ออารมณ์ความรู้สึกโรแมนติกพาฝันให้กับผู้คนจำนวนไม่น้อย และพร้อมกันนั้น ก็อาศัยอารมณ์ดังกล่าวขับเคลื่อนคนเหล่านั้นไปสู่ความคลั่ง ในขณะเดียวกัน เบื้องหลังความวิกลจริตดังกล่าวนี้ ก็แฝงฝังไว้ด้วยผลประโยชน์ของคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งวางท่าทีจงรักภักดีเพื่อบดบังจุดยืนแห่งผลประโยชน์ ปรารถนาที่จะรักษาสถานะอันได้เปรียบของตนในทางการเมือง เพื่อกดขี่ขูดรีดเพื่อนมนุษย์ต่อไป แม้เมื่อเหตุการณ์รุนแรงได้เกิดขึ้นหลายครั้งหลายครา แม้เมื่อมีการสูญเสียชีวิต ก็หาได้รู้สึกรู้สาอันใดไม่ ยังคงพอใจกับการสถาปนาตัวเองให้เป็น “ชนชั้นลูกคนโปรด” ยินดีที่จะหวงแหนสถานะความเป็นผู้กดขี่ของตนต่อไป โดยกล่าวอ้างการกระทำเช่นนั้นว่าคือ “การเป็นลูกที่รักพ่อที่สุด”
 
 
 


[1] ดูการอภิปรายได้ที่ http://www.jaideehub.net/forum/viewtopic.php?f=14&t=345
[2] http://www.jaideehub.net/bookshop/index.php
[3] ดู “บทสนทนาว่าด้วยชีวิตและวรรณกรรม กับผาด กสิกรณ์” , OCTOBER 8, openbooks: 2553. หน้า 427
[4] ดูรายงานข่าวที่ผมยกมาในบทความ “รำลึก 7 ตุลา และจดหมายเปิดผนึกถึงอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์และอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย เรื่องบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองของไทย” - http://www.prachatai3.info/journal/2010/10/31400
[5] ดู หยุด แสงอุทัย, “อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย” - http://politicalbase.in.th/index.php/%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%94_%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A2
และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลรำลึกย้อนหลัง-ประสบการณ์ในอดีต deja vu จากประเวศ วะสี ถึง ประมวล รุจนเสรี - http://www.midnightuniv.org/midnight2545/document9542.html
[6] ดู ปิยบุตร แสงกนกกุล, “หยุด แสงอุทัย กับหลัก The King can do no wrong”, openbooks: 2552. หรือ http://www.prachatai.com/journal/2008/06/17092
[7] พระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2548, ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 6 ธันวาคม 2548 -  http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9480000166941
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น