โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

อนุสรณ์ อุณโณ: คุกกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง

Posted: 09 Nov 2010 12:00 PM PST

 
คอลัมน์ คิดอย่างคน เขียนโดย อนุสรณ์ อุณโณ ในหนังสือพิมพ์รายสัปห์ดา มหาประชาชน  ปีที่ 1 ฉบับที่ 10 วันที่ 5-11 พฤศจิกายน 2553

 
 
 
[บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อส่งความรักและความระลึกถึงไปยัง "นักโทษการเมือง" จำนวนมากที่ถูกจองจำอยู่ และเพื่อต้อนรับคุณวิษณุ กมลแมน (เล้ง) อายุ 19 ปี ซึ่งถูกทหารจับกุมเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลาประมาณ 16.30 น. บริเวณใกล้กับปั๊มน้ำมันเอสโซ่ ปากซอยรางน้ำและถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนพรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ศาลตัดสินจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญาซึ่งจะครบกำหนดพ้นโทษในวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน 2553 นี้]
 
 
คุกกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง
คุกมักถูกวาดภาพให้มีลักษณะต่างกันอย่างสุดขั้ว ในด้านหนึ่ง คุกได้รับการประชาสัมพันธ์ในฐานะสถานที่กักขังบุคคลอันตรายไม่ให้สามารถออกไปทำร้ายใครได้ ขณะเดียวกันก็มีหน้าที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและฝึกฝนบุคคลเหล่านี้ให้มีความพร้อมและทักษะที่จำเป็นในการหวนคืนสู่โลกภายนอกเมื่อถึงเวลา ในอีกด้าน คุกถูกถ่ายทอดในฐานะ “แดนเถื่อน” ซึ่งถูกปกครองโดย “ขาใหญ่” กิจวัตรภายในคุกหากไม่เป็นเรื่องของการข่มเหงรังแกหรือการทะเลาะวิวาทระหว่างพวกเหลือขอก็เป็นเรื่องของการฝึกฝนการกระทำผิดและการสร้างเครือข่ายอาชญากรรม แทนที่จะเป็นสถานที่ดัดนิสัย คุกคือ “โรงงานผลิตอาชญากร”
 

อย่างไรก็ดี เราสามารถทำความเข้าใจคุกได้ในอีกลักษณะ นักคิดฝรั่งคนหนึ่งเสนอว่าคุกเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับอำนาจในการลงทัณฑ์ ซึ่งไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่ผู้พิพากษาที่อาศัยความรู้ทางนิติศาสตร์แต่ผู้เดียวอีกต่อไป แต่กระจายออกสู่ผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่นๆ เช่น จิตแพทย์ ขณะเดียวกันอำนาจนี้ก็ไม่ได้มีร่างกายของผู้กระทำผิดเป็นเป้าหมาย หากแต่เป็นสิ่งมีค่าอย่างอื่น เช่น เสรีภาพ ฉะนั้น แทนที่จะเป็นศิลปะแห่งการสร้างความสะเทือนขวัญ การลงทัณฑ์ผ่านคุกจึงเป็นเรื่องของการคำนวณว่าจะพรากเสรีภาพไปจากนักโทษแค่ไหนอย่างไร โดยอาศัยเทคนิควิธีจำพวกระเบียบวินัย การสอดส่อง และการคงไว้ซึ่งผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน นักโทษมีกิจวัตรประจำวันให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันก็ถูกสอดส่องอย่างเข้มงวด แต่ไม่ใช่ในฐานะอาชญากร หากแต่ในฐานะผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่ต้องถูกควบคุมตรวจตราอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น การที่คุกปล่อยผู้กระทำผิดออกมาภายนอกด้วยพฤติกรรมเดิมจึงไม่ใช่เรื่องของความล้มเหลวอย่างที่มักเข้าใจ หากแต่เป็นความสำเร็จในการขยายพื้นที่ของการควบคุมตรวจตราให้ครอบคลุมทั่วทั้งสังคม ผ่านทางผู้กระทำผิดที่มีอันตรายทางการเมืองน้อยที่สุดเหล่านี้
 

คุกจึงสัมพันธ์กับปฏิบัติการของอำนาจและการเมืองโดยตรง และคุกในเมืองไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ในยุคก่อนๆ คุกมักถูกใช้เป็นสถานที่คุมขังผู้เป็นภัยคุกคามอำนาจส่วนกลางกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าเมืองที่แข็งข้อ โจรที่ทำให้การปกครองนอกเขตเมืองหลวงระส่ำระสาย หรือว่าผู้ก่อการกบฏต่างๆ ในสมัยต่อมาคุกถูกใช้เป็นที่ควบคุมตัวของผู้ที่เป็นภัยต่อรัฐบาล เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกคุมขังที่เรือนจำลาดยาวในปี พ.ศ. 2501 ในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และสมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ แต่ด้วยความที่เป็น “นักโทษการเมือง” เขาจึงได้รับการปฏิบัติต่างจากนักโทษสามัญ ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาสามารถศึกษาค้นคว้าและผลิตงานเขียนออกมาจำนวนมาก เขาถูกปล่อยตัวในปลายปี พ.ศ. 2507 เพราะศาลกลาโหมยกฟ้อง เขาใช้ชีวิตอยู่ในคุกเป็นเวลา 7 ปีโดยไม่มีความผิด
 

คุกในเมืองไทยถูกใช้คุมขัง “นักโทษการเมือง” มาอย่างต่อเนื่อง การจับกุมคุมขังผู้นำนักศึกษาต้นเดือนตุลาคม 2516 ในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผู้นำนักศึกษาเหล่านี้ได้รับการปล่อยตัวหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย ขณะที่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาจำนวนหนึ่งถูกจับกุมตัวและนำขึ้นศาลทหารในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พวกเขาถูกควบคุมตัวในระหว่างการพิจารณาคดีเป็นเวลา 3 ปี ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเพราะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ขณะที่หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากถูกนำไปควบคุมตัวในเรือนจำและสถานคุมขังอื่นๆ โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวในไม่กี่วันถัดมาเพราะมีการเจรจาระหว่างทหารและแกนนำการชุมนุมซึ่งเป็นอดีตนายทหารเช่นกัน

คุกไทยว่างเว้นจากการเป็นสถานที่คุมขังผู้เป็นภัยคุกคามต่อผู้อยู่ในอำนาจมาเป็นเวลากว่าทศวรรษก่อนจะได้รับการปัดฝุ่นเพื่อรองรับผู้ท้าทายระลอกใหม่ ทว่าผู้ท้าทายเหล่านี้ไม่ถูกนับเป็น “นักโทษการเมือง” ให้สามารถค้นคว้าขีดเขียนอะไรได้ หากแต่ได้รับมาตรการลงทัณฑ์ที่รุนแรงขึ้น เช่น นอกจากจะต้องปฏิบัติตามระเบียบต่างๆ ของเรือนจำเหมือนเช่นนักโทษคนอื่น “ดา ตอปิโด” ซึ่งถูกคุมขังในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกให้ “นั่งเดี่ยว” ในฐานะ “พิธีรับน้อง” เป็นเวลา 3 เดือน จากปกติ 1 เดือน ต่อมาเรือนจำได้ออกระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังซึ่งส่งผลให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ญาติประสบความยากลำบากในการเข้าเยี่ยมเธอยิ่งขึ้น ขณะที่ช่วงก่อนและหลังการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมามีการจับกุมคุมขังผู้คนจำนวนมาก พวกเขาถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เผาสถานที่ราชการ และบางรายถูกตั้งข้อหาก่อการร้ายซึ่งมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการประกันตัว หลายคนไม่มีทนาย และต้องใช้ชีวิตในเรือนจำอย่างเข้มงวดกว่าปกติจนกว่าจะครบกำหนดการปล่อยตัว     

 

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าผู้ต้องขังเหล่านี้ไม่เข้าข่ายนักโทษสามัญที่อำนาจในการลงทัณฑ์ถูกออกแบบมาให้เกี่ยวข้องด้วย พวกเขาไม่ได้กระทำผิดอย่างไม่ตั้งใจ ไม่ใช่ประเภทหากเลือกได้ก็ไม่อยากทำผิด รวมทั้งไม่ได้เป็นพวกว่านอนสอนง่ายที่จะเสริมทักษะการประกอบอาชีพต่างๆ ให้ ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่ได้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนจำพวกปล้นชิงวิ่งราวลักเล็กขโมยน้อยที่จะปล่อยออกไปเพื่อขยายพื้นที่การควบคุมตรวจตรานอกคุก การฝ่าฝืนกฎหมายของพวกเขาไม่ได้หนุนเสริมให้อำนาจเบื้องหลังการลงทัณฑ์มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นเหมือนอย่างเช่นในคดีอาชญากรรมทั่วไป หากแต่เป็นการท้าทายอำนาจที่อยู่เบื้องหลังกฎหมายว่าขาดความถูกต้องชอบธรรม การปล่อยพวกเขาออกจากคุกจึงเท่ากับเป็นการขยายพื้นที่ของการต่อต้านอำนาจครอบงำออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  
 

นอกจากนี้ อำนาจที่ผู้ต้องขังเหล่านี้ท้าทายก็ยอกย้อนซ่อนเงื่อนเกินกว่าจะเจรจากันได้โดยง่าย ผู้ต้องขังคดีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ถูกจัดให้เป็น “นักโทษการเมือง” ส่วนหนึ่งเพราะผู้อยู่ในอำนาจไม่รู้สึกว่าถูกคุกคามเป็นการส่วนตัว การท้าทายอำนาจของพวกเขาจึงสามารถทำให้กลายเป็นสิ่งที่พ้นไปจากตัวบุคคลและมีสิ่งที่ไม่เป็นบุคคลเป็นคู่ปะทะ แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงถูกจับตามองจากผู้มีอำนาจว่าท้าทายพวกเขามาตั้งแต่ต้น ความผิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเผาศาลากลาง หรือว่าการก่อการร้าย จึงไม่สามารถที่จะได้รับอนุญาตให้เป็นการกระทำผิดหรือการละเมิดกฎหมายที่พ้นไปจากตัวบุคคลได้ หากปล่อยให้ผู้ต้องขังคดีเหล่านี้มีสถานะเป็น “นักโทษการเมือง” ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้อาศัยหลักการนามธรรมเป็นเกราะกำบังในการโค่นล้มพวกเขา สถานภาพที่กำกวมและยากลำบากในคุกจึงเหมาะที่จะจัดการกับผู้ท้าทายเหล่านี้  
 

แต่การใช้อำนาจในลักษณะเช่นนี้จำเป็นต้องได้รับการต่อต้าน เพราะนอกจากมีผู้ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงที่ถูกจับกุมคุมขังจำนวนมาก การคลี่คลายปัญหาทางการเมืองต้องอาศัยการเจรจาที่เสมอกัน ไม่ใช่อาศัยระบบการลงทัณฑ์เป็นเครื่องมือขจัดฝ่ายตรงข้าม ซึ่งรังแต่จะทำให้ปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น ประเทศจะเดินต่อไปข้างหน้าไม่ได้หากผู้ต้องขังเหล่านี้ไม่ได้รับการปล่อยตัวออกมาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมในฐานะผู้คิดต่างทางการเมือง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวโนนป่าก่อไม่ย้ายออกหลังเส้นตายสั่งพ้นเขตรักษาพันธุ์ฯ สะพัดข่าวอุ้มแกนนำ

Posted: 09 Nov 2010 10:54 AM PST

บ้านโนนป่าก่อ จ.มุกดาหารสถานการณ์ยังสงบ แม้พ้นเส้นตายที่ทางการให้อพยพออกจากพื้นที่แล้ว แต่ชาวบ้านราว 60 คนยืนยันสิทธิยังอยู่ต่อ ขณะข่าวลือสะพัดเรื่องการอุ้ม-จับแกนนำ ชาวบ้านหวั่นสงบก่อนพายุใหญ่

 
 
 
 
เมื่อวันที่ 8 พ.ย.53 หลังเส้นตายที่จังหวัดมุกดาหารขีดไว้ให้ชาวโนนป่าก่อที่เหลืออยู่แจ้งความประสงค์ที่จะอพยพขนย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน ลงมายังพื้นที่ที่ทางราชการจัดให้ ซึ่งกำหนดไว้ระหว่างวันที่ 3-7 พ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่ายังคงมีคนที่ปักหลักอยู่ในพื้นที่ และยืนยันในสิทธิที่จะทำมาหากินในพื้นที่เดิม หรือจนกว่าจะมีการจัดที่ทำกินและจ่ายค่าชดเชยที่เหมาะสมให้จำนวนทั้งสิ้น 11 หลังคาเรือน หรือนับครัวเรือนได้ทั้งสิ้น 22 ครอบครัว จำนวน 60 คน
 
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านั้นในวันที่ 7 พ.ย.ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ระบุไว้ในคำสั่ง ได้มีกฐินมาทอดที่วัดก่อธรรมเมตตา  ประกอบกับมีการลงมารับทราบข้อมูลของอนุกรรมการป่าไม้-ที่ดิน ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเดินทางลงมาพบชาวโนนป่าก่อทั้งที่ยังไม่ยอมย้ายออก และส่วนที่ได้อพยพไปยังบ้านด่านช้างแล้ว ทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดและข่มขู่คุกคามคลี่คลายลงอย่างเห็นได้ชัด ด่านที่ปิดกั้นไม่ให้ราษฎรและบุคคลภายนอกผ่านเข้า-ออกตามปกติในช่วงวันที่ 6 พ.ย.ก็เปิดตามปกติ มีการถอนกำลังเจ้าหน้าที่ลงตามลำดับ โดยการเคลื่อนย้ายโดยรถ 6 ล้อ ยังเหลืออาสาสมัครรักษาดินแดนประมาณ 20 นาย อยู่ในบริเวณโรงเรียน ซึ่งในช่วงเช้าของวันที่ 8 พ.ย.ก็ไม่มีการถืออาวุธเดินลาดตะเวนในบริเวณหมู่บ้าน หรือเข้าไปข่มขู่ชาวบ้านดังเช่น 3-4 วันที่ผ่านมา แต่พบข้อความปริศนาเขียนต่อท้ายข้อความในป้ายคัดค้านการโยกย้ายที่ชาวบ้านติดไว้ในหมู่บ้านว่า “ทนไม่ได้ออกไป”
 
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่เริ่มมีข่าวลือแพร่สะพัดเรื่องการอุ้มและการจับกุมแกนนำ รวมถึงข่าวลือว่ามีกำลังทหารอยู่ในรัศมี 2 กม.ทำการลาดตระเวนตรวจหายาเสพติด และพร้อมจะบุกเข้ายึดเครื่องผลิตยาบ้าในชุมชน ซึ่งคนในพื้นที่คาดว่าหวังผลให้ชาวบ้านที่หวาดกลัวเรื่องการยัดยาและยัดข้อหายาเสพติดต้องตัดสินใจโยกย้ายออกไป อีกทั้งในวันที่ 6 พ.ค.ตัวแทนทางการที่นำโดยนายปรัชญา จินต์จันทรวงศ์ ปลัดจังหวัดมุกดาหารได้นิมนต์หลวงพ่อยาวซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดก่อธรรมเมตตา และเป็นที่พึ่งทางใจของชาวโนนป่าก่อไปพูดคุยที่บ้านด่านช้างเป็นเวลานาน ทำให้ชาวบ้านที่ยังยืนยันอยู่ที่เดิมวิตกกังวลว่าความสงบที่เกิดขึ้นในตอนนี้จะเป็นเพียงฉากบังหน้าของสงครามจิตวิทยาในรูปแบบต่างๆ เพื่อกดดันให้ชาวบ้านอยู่ไม่ได้
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อนุกรรมการป่าไม้-ที่ดิน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเดินทางลงไปรับทราบข้อมูลในพื้นที่บ้านโนนป่าก่อ – บ้านด่านช้าง คือ นายจักรพงศ์ ธนวรพงศ์. ซึ่งหลังจากกลับออกมาจากบ้านโนนป่าก่อในบ่ายวันที่ 8 พ.ย.นี้แล้ว ได้เดินทางเข้าพบนายปรัชญา จินต์จันทรวงศ์ ปลัดจังหวัดมุกดาหาร ที่ศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร เพื่อนำข้อมูลของทั้งสองฝ่ายรายงานต่อที่ประชุมอนุกรรมการป่าไม้ – ที่ดิน ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 10 พ.ย.นี้ เพื่อให้คณะอนุกรรมการป่าไม้ – ที่ดิน พิจารณาหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป
 
นายจักรพงศ์ เปิดเผยหลังการเข้าพบปลัดจังหวัดมุกดาหารว่า นายปรัชญายืนยันที่จะอพยพชาวบ้านออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐานให้หมด โดยใช้มาตรการกดดันไปเรื่อยๆ เมื่อไรที่ชาวบ้านโยกย้ายออกมาจนเหลือ 2 ครอบครัวสุดท้าย จึงจะใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าจับกุม โดยจะไม่มีการเจรจาใดๆ กับชาวบ้านอีกต่อไป ส่วนเรื่องพื้นที่รองรับที่มีปัญหาว่ามีไม่เพียงพอสำหรับจัดสรรให้กับครอบครัวที่ขยายแยกครอบครัวออกมานั้น นายปรัชญากล่าวว่าเมื่ออพยพราษฎรออกมาได้หมดจึงค่อยมาหาทางแก้ปัญหากันต่อไป
 
เปิดข้อเรียกร้องของชาวโนนป่าก่อ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงข้อเรียกร้องของราษฎรบ้านโนนป่าก่อซึ่งทำเป็นบันทึกข้อความส่งถึงนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการป่าไม้ – ที่ดินในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 พ.ย.53 โดยชี้แจงสาเหตุที่ไม่อพยพออกมายังพื้นที่รองรับที่ทางราชการจัดหาไว้ให้ เนื่องจากการจัดสรรพื้นที่ไม่เป็นไปตามพันธะสัญญาเดิมที่ได้มีการให้ไว้ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าว ทั้งในโครงการ 1 บ้านฟ้าประทาน ต.กกตูม ด.ดงหลวง และโครงการ 2 บ้านด่านช้าง ต.บ้านค้อ อ.คำชะอี ไม่เหมาะสม และไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ มีการส่งเสริมอาชีพที่ขาดตลาดรองรับ ตลอดจนการจัดสาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่พร้อม ชาวบ้านจึงมีมติร่วมกันเสนอทางออกในการแก้ปัญหา โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรพื้นที่รองรับใหม่ให้แก่ราษฎรในบริเวณแก้งวังสาน พร้อมทั้งจัดสรรให้มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบป่าชุมชน และตั้งคณะกรรมการ 2 ฝ่าย เพื่อจัดสรรที่ดินทำกินร่วมกัน เพื่อให้เกิดความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ การอพยพรื้อถอนจะมีขึ้นเมื่อชาวบ้านโนนป่าก่อบรรลุตามข้อเรียกร้องดังกล่าว
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เอ็นจีโอเสนอ 9 แนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

Posted: 09 Nov 2010 10:08 AM PST

 
สำนักงานปฏิรูประบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคม (สปกช.) ภายใต้คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ ร่วมกับ สมาคมชาวนาไทย, มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ชุมชนธรรมเกษตร และมูลนิธิเพื่อบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ได้จัดประชุมวาระพิเศษ “น้ำท่วม: ทุกข์ซ้ำเกษตรกรรมไทย – ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมและข้อเสนอเพื่อหลุดพ้นจากวงจรวิกฤต” โดยมีข้อเสนอหลายประการ ดังนี้
 


ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขและเยียวยาปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน
 
สำนักงานปฏิรูประบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคม (สปกช.) ภายใต้คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ ร่วมกับ สมาคมชาวนาไทย, มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ชุมชนธรรมเกษตร และมูลนิธิเพื่อบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ได้จัดประชุมวาระพิเศษ “น้ำท่วม: ทุกข์ซ้ำเกษตรกรรมไทย – ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมและข้อเสนอเพื่อหลุดพ้นจากวงจรวิกฤต” เพื่อประมวลความทุกข์ที่เกษตรกรประสบอยู่ และรัฐบาลอาจมองข้ามไป ตลอดจนเสนอแนะทางออกในการแก้และเยียวยาปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน โดยมีข้อเสนอดังต่อไปนี้
 
1.      ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนเกณฑ์และมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรโดยยึดหลักความเป็นธรรม ความครอบคลุม และความโปร่งใส แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการชดเชยความเสียหายแก่เกษตรกรในกรณีนาข้าวเพิ่มขึ้นซึ่งคิดเป็น 55 % ของต้นทุนเฉลี่ยการผลิตข้าวแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ และยังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ เช่น ปศุสัตว์ เป็นต้น รวมถึงยังไม่ครอบคลุมต้นทุนความเสียหายที่แม้จริงของเกษตรกรกลุ่มต่างๆด้วย ดังนั้นจำเป็นต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์การคิดค่าชดเชยความเสียหายที่เป็นต่อเกษตรกรยิ่งขึ้น โดยให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการกำหนดด้วย
 
2.      การปรับปรุงมาตรการในการรับมือกับภัยน้ำท่วม ทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังและการเตือนภัย การแก้ปัญหาวิกฤติเฉพาะหน้าโดยการระดมความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งจากรัฐ ควรทำอย่างเป็นระบบและประสานงานกับพื้นที่เพื่อมิให้มีผู้ตกหล่นจากการช่วยเหลือ และต้องเร่งกำหนดแนวทางการฟื้นฟูหลังน้ำลดที่เป็นรูปธรรมและสามารถปฏิบัติได้จริง โดยให้สังคมมีส่วนร่วม
 
 
3.      กลไกการบริหารจัดการน้ำ ควรมีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เนื่องจากเป็นที่น่าสังเกตว่าภัยน้ำท่วมในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและกินบริเวณกว้างทั้งที่ปริมาณน้ำฝน และน้ำท่าไม่ได้มากกว่าปีที่มีน้ำมากมากนัก สะท้อนปัญหาความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำอย่างชัดเจน ต้องมีการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง และให้คณะกรรมการลุ่มน้ำเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการอย่างจริงจัง
 
4.      การป้องกันภัยระยะยาว ควรดำเนินการในหลายสิ่งหลายอย่างประกอบกันอย่างเป็นระบบ เช่น การเลือกพันธุ์พืช และระบบเกษตรกรรมที่เหมาะสม การส่งเสริมการจัดปรับสิ่งปลูกสร้างบ้านเรือนให้สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ ตลอดจนการเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากขึ้น การดำเนินนโยบายหรือมาตรการการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร หรือการจัดการความเสี่ยงใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างเป็นระบบ และ รัฐควรสนับสนุนการวิจัยพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำโดยการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยแก่กรมการข้าว เครือข่ายเกษตรกรและชุมชนที่ได้ริเริ่มการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกหลายพันคน  มีพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำต่างๆ ที่ได้รับการคัดเลือกและรับรองพันธุ์แล้ว เช่น ปิ่นแก้ว เล็บมือนาง นางฉลอง และตะเภาแก้ว เป็นต้น โดยทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดศูนย์ขยายพันธุ์ข้าวชุมชน หรือวิสาหกิจชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น และธนาคารพันธุ์พืชระดับครอบครัวและชุมชน เพื่อป้องกันปัญหาการผูกขาดเมล็ดพันธุ์โดยบรรษัท นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ข้าวทนน้ำลึกที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ควรได้รับการสนับสนุนให้มีการดำเนินการต่อไป โดยต้องไม่นำไปสู่การโอนสิทธิในการใช้ประโยชน์จากพันธุ์ข้าวแก่ธุรกิจบางรายเท่านั้น
 
5.      ส่งเสริมมาตรการกระจายความเสี่ยงในการผลิตโดยการประกันภัยพืชผล เนื่องจากในห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตรนั้น ประกอบไปด้วย เกษตรกรผู้ผลิต ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิต การแปรรูป การตลาด ผู้ส่งออก รวมทั้งสถาบันการเงินที่มีส่วนได้เสียกับเกษตรกร แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติกลับมีแต่เกษตรกรที่ต้องรับภาระโดยตรงแต่เพียงผู้เดียว ผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตรและอาหาร ควรมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าประกันภัยพืชผลด้วย รวมทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลในด้านการเฉลี่ยจ่ายเบี้ยประกันภัย อนึ่ง การคุ้มครองภัยควรครอบคลุมภัยน้ำท่วมด้วย และขยายชนิดพืชที่ทำประกันภัยให้มากกว่าเดิม
 
 
6.      การเสนอมาตรการก่อสร้างที่กักเก็บน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนขนาดใหญ่ ต้องมีการทบทวนและวิเคราะห์ผลที่จะเกิดขึ้นอย่างเข้มงวด รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสังคม เนื่องจากมีปัญหาในการจัดการน้ำ ดังที่เห็นได้จากก่อนน้ำท่วมนั้น เขื่อนหลายเขื่อนเก็บกักน้ำไว้ถึง 90% โดยไม่ทยอยปล่อยน้ำในช่วงที่ระดับน้ำในพื้นที่ใต้เขื่อนมีไม่มาก แต่มาเร่งปล่อยน้ำช่วงที่มีปริมาณฝนหนาแน่นในทุกพื้นที่จนท่วมพื้นที่ใต้เขื่อน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงในหลายพื้นที่ นอกจากนี้การบรรเทาปัญหาน้ำท่วมอาจทำได้โดยการรื้อและปรับปรุงสิ่งก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางน้ำหรือเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ รวมทั้งการขุดคลองผันน้ำ ตลอดจนแก้มลิง (ที่ถูกหลักวิชาการ) แต่ต้องทำภายหลังจากมีการศึกษาอย่างเพียงพอและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการลุ่มน้ำซึ่งเป็นกลไกที่มีอยู่แล้วด้วย
 
7.      การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและชุมชนท้องถิ่นในการจัดทำแผนรับมือภัยพิบัติระดับพื้นที่ โดย ภาครัฐควรส่งเสริมบทบาทของชุมชน และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วมแบบบูรณาการ โดยควรให้ผู้นำของชุมชนมีส่วนร่วมพิจารณาการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนต่างๆ
 
 
8.      บทบาทของนักการเมืองในการใช้งบประมาณและการตัดสินใจทำโครงการพัฒนา ทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาติ ที่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพโดยอาศัยข้อมูล สถานการณ์ที่เป็นจริง หลักวิชาการ ในการตัดสินใจโครงการต่างๆ ภายใต้ผลประโยชน์ต่อประชาชน สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน มิใช่หวังประโยชน์เฉพาะหน้าอื่นๆเท่านั้น
 
9.      สื่อมวลชนสามารถมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมในการแก้ไขและเยียวยาปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน โดยเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ จุดประเด็นความคิด ให้สังคมได้ทราบ และเปิดช่องทางให้ชุมชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการที่เป็นอิสระจากการครอบงำของรัฐและเอกชน เข้ามามีบทบาทในการร่วมมือแก้ไขวิกฤตน้ำท่วม (ฝนแล้ง) อย่างเป็นระบบ
 
คณะผู้แถลงตระหนักว่า น้ำใจและความช่วยเหลือของคนไทยด้วยกันเองต่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้เป็นความงดงามและน่าซาบซึ้งใจ แต่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคธุรกิจ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ควรได้ร่วมกันสร้างระบบกลไกเพื่อป้องกันและเยียวยาปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆกันด้วย
 
                                                                                    3 พฤศจิกายน 2553
 
คณะผู้แถลง
นายวิเชียร พวงลำเจียก                  อุปนายก สมาคมชาวนาไทย
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์                 ประธานชุมชนธรรมเกษตร
นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา   รองผู้อำนวยการ มูลนิธิชีววิถี
ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา          ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร
                                                ชุมชนและสังคม (สปกช.)
 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พระราชินีอังกฤษทรงเปิดเฟซบุ๊กของราชวงศ์

Posted: 09 Nov 2010 10:06 AM PST

 

ราชสำนักอังกฤษได้เปิดหน้าเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการ (https://www.facebook.com/TheBritishMonarchy) ตั้งแต่เมื่อเช้าวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยสำนักพระราชวังบักกิงแฮมระบุว่านี่ไม่ใช่หน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว แต่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถกด "ถูกใจ" เพื่อติดตามข่าวสารพระราชกรณียกิจต่างๆ ได้

สำหรับหน้าเฟซบุ๊กดังกล่าวประกอบด้วยข่าวในพระราชสำนัก พระราชกรณียกิจที่ผ่านมา รวมถึงหมายกำหนดการพระราชพิธีต่างๆ

ทั้งนี้ ในข้อมูลหน้าแรกมีการระบุด้วยว่า ความเห็นใดๆ ที่เป็นการโจมตี (offensive) จะถูกลบ โดยล่าสุด (9 พ.ย.) มีผู้เข้ามากด "ถูกใจ" แล้ว 170,704 ราย

ก่อนหน้านี้ ราชสำนักอังกฤษได้เปิดใช้บริการเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมต่างๆ มาแล้ว ได้แก่ ช่อง The Royal Channel บนเว็บไซต์ยูทูบ เมื่อ พ.ศ.2550 เปิดใช้ทวิตเตอร์ในชื่อ @BritishMonarchy เมื่อ พ.ศ. 2552 และการเปิดบัญชีฟลิคเกอร์ ชื่อ The British Monarchy เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

 

แปลจาก: Queen to launch British Monarchy page on Facebook, BBC

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ครม.ไฟเขียวบรอดแบนด์แห่งชาติ คลุมคนไทย 80% ปี58

Posted: 09 Nov 2010 09:40 AM PST

9 พ.ย.53 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติตามที่ไอซีทีเสนอ โดยภายใน 5 ปีนี้ บริษัท ทีโอที และ กสท. จะร่วมมือกันลงทุนเป็นจำนวนเงิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงข่ายบรอดแบนด์ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมประชากร ไม่ต่ำกว่า 80% ภายในปี 2558 และไม่ต่ำกว่า 95% ภายในปี 2563 
 
ขณะเดียวกันยังตั้งเป้าหมายให้มีบริการบรอดแบนด์ความเร็วสูงผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสงในเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ในความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 Mbps ภายในปี 2563 ด้วย นอกจากนั้นยังมีเป้าหมายให้ประชาชนสามารถได้รับบริการผ่านโครงข่ายบรอดแบนด์ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข การเฝ้าระวังและเตือนภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ และบริการสาธารณะอื่นๆ อย่างทั่วถึง เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ ภายในปี2558 ตั้งเป้าหมายให้โรงเรียนในระดับตำบล 3 หมื่นแห่ง และโรงพยาบาลระดับตำบล 1.5 หมื่นแห่ง สามารถเข้าถึงบริการบรอดแบนด์ที่มคุณภาพ 
 
นายจุติ มองว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้คือ การจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในโครงการดังกล่าว เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีของประเทศ ทั้งนี้การขยายโครงข่ายบรอดแบนด์ตามนโยบาย บรอดแบนด์แห่งชาติ จะถูกนำมาใช้เสริมศักยภาพระบบเตือนภัยพิบัติของประเทศ ระบบสาธารณสุข รวมทั้งการให้บริการเครือข่าย 3 จีแก่ประชาชน รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ
 

 

 
ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายอาเซียนเพื่อการเลือกตั้งเสรี เรียกร้องพม่านับคะแนนโปร่งใส

Posted: 09 Nov 2010 09:21 AM PST

 
เครือข่ายอาเซียนเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) แสดงความสนใจต่อการเลือกตั้งและการนับคะแนนในพม่า เมื่อวันที่ 7-8 พ.ย. ที่ผ่านมา และเรียกร้องให้สภาเพื่อฟื้นฟูสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC) และ คณะกรรมการเลือกตั้งของสหภาพพม่า (UEC) เปิดเผยกระบวนการนับคะแนนให้มีความโปร่งใสต่อสื่อและประชาชน โดยเริ่มจากการเลือกตั้งล่วงหน้า
 
แม้ว่าทางคณะกรรมการการเลือกตั้งของพม่าจะไม่ได้แจ้งให้รู้ล่วงหน้าในวงกว้างเกี่ยวกับวันกำหนดการเลือกตั้งล่วงหน้า แต่ก็มีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นจริงในวันที่ 5-6 พ.ย. ที่ผ่านมา แต่ก็โชคไม่ดีที่ว่ามีการลงคะแนนล่วงหน้าจำนวนมากเกิดขึ้นนอกเวลาที่กำหนดไว้อย่างเป็นทางการ การนับคะแนนจากบัตรเลือกตั้ง รวมถึงบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า และจากการเลือกตั้งข้ามประเทศ ก็ชวนให้ตั้งคำถามอยู่หลายข้อ
 
เป็นเรื่องสำคัญที่ UEC และ SPDC ควรทำให้เกิดควมกระจ่างแก่ข้อคำถามจากประชาชนทั้งจากในและนอกประเทศพม่า ดังนี้
 
1. ทำไมถึงมีการลงคะแนนและนับคะแนนเกิดขึ้นก่อนหน้ากำหนดการเลือกตั้งล่วงหน้าอย่างเป็นทางการในวันที่ 5-6 พ.ย. การลงคะแนนเช่นนี้ไม่ถือเป็นการขัดต่อกฏหมายหรือ?
 
2. บัตรลงคะแนนหายไปไหนทั้งจากการเลือกตั้งล่วงหน้า และจากในวันเลือกตั้ง มีการเก็บบัตรเลือกตั้งโดยมีระบบรักษาความปลอดภัยด้วยหรือไม่ มีกลุ่มอื่นที่นอกเหนือจาก USDP ได้รับอนุญาตให้สังเกตการณ์การนับคะแนนตามที่ว่าการเมืองต่างๆ
 
3. เจ้าหน้าที่หน่วยลงคะแนนได้รายงานผลการนับคะแนนจากการเลือกตั้งล่วงหน้า แยกกับผลการนับคะแนนในช่วงวันเลือกตั้งหรือไม่
 
4. การนับคะแนนผลการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 5-6 พ.ย. เสร็จสิ้นเมื่อใดและที่ใด
 
5. คณะกรรมการการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นได้เก็บรักษาบัตรสำหรับลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ในที่ปลอดภัย และมีผู้รักษาความปลอดภัยที่ไม่เข้ากับฝ่ายใดดูแลอยู่หรือไม่
 
6. เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งได้รวมบัตรลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าปนกับบัตรลงคะแนนในวันเลือกตั้ง แล้วนับคะแนนรวมกันโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าถึงปริมาณบัตรลงคะแนนที่ได้รับมาจากหน่วยลงคะแนนหรือจากที่ว่าการส่วนท้องถิ่นต่างๆ หรือไม่
 
7. มีการประกาศให้ผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ขึ้นกับฝ่ายใดได้รับรู้หรือไม่ เกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าผิดกฏ ถูกต้องตามกฏ บัตรใช้ได้ บัตรเสีย บัตรว่าง มีผู้มีผลประโยชน์ร่วมคนใดหรือไม่ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมสังเกตการณ์กระบวนการนี้
 
เครือข่ายอาเซียนเพื่อการเลือกตั้งเสรี ได้เสนอให้มีการนับคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าด้วยความโปร่งใสให้มากที่สุด รวมไม่ถึงไม่นำมาปนรวมกับบัตรลงคะแนนตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ผลการนับคะแนนจากทั้ง 2 แบบควรมีการเปิดเผยออกมาในทุกๆ กระบวนการจัดเรียบเรียง เช่น ก่อนหน้าที่บัตรลงคะแนนจะถูกนำไปยัง หน่วยลงคะแนน ที่ว่าการฯ หรือในระดับรัฐหรือระดับภูมิภาคต่อไป
 
นอกจากนี้เครือข่ายอาเซียนเพื่อการเลือกตั้งเสรี ได้เรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งของพม่าตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประชาชนชาวพม่าและพรรคการเมืองที่ร้องขอให้มีการนับคะแนนอย่างโปร่งใส และเมื่อมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งล่วงหน้า หรือเรื่องความไม่โปร่งใสในกระบวนการนับคะแนน ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ควรตรวจสอบอย่างถึงที่สุด และปฏิเสธที่จะรับรองผลการเลือกตั้งใดๆ จนกว่าการตรวจสอบจะเสร็จสิ้น
 
ถ้าหากเกิดความผิดปกติหรือการบงการผลกรเลือกตั้งล่วงหน้าเกิดขึ้นในเขตใดก็ตาม ควรมีการจัดเลือกตั้งใหม่ และผู้ที่มีส่วนในการบงการผลการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ รัฐบาลส่วนท้องถิ่น พรรคการเมือง หรือกรรมการการเลือกตั้งท้องถิ่น จะต้องอธิบายในสิ่งที่เกิดขึ้น
 
เครือข่ายอาเซียนเพื่อการเลือกตั้งเสรีระบุว่าเรียกร้องด้วยควมเคารพแต่ย้ำว่าทาง UEC และ SPDC ควรเริ่มดำเนินการแต่ตอนนี้ เพื่อช่วยให้การเลือกตั้งที่มีความชอบธรรมเหลืออยู่น้อย ยังคงมีกระบวนการนับคะแนนที่โปร่งใสอยู่ มีการจัดการกับการทุจริตการลงคะแนนล่วงหน้า และถ้าหากจำเป็นก็มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งที่เกิดปัญหา เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดในการลงคะแนนและการนับผลคะแนน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไอซีทีขอความร่วมมือบล็อกคลิปฉาวรอบสาม อ้างกระทบภาพลักษณ์ศาล รธน.-ความมั่นคง

Posted: 09 Nov 2010 07:23 AM PST

ไอซีทีขอความร่วมมือไอเอสพีพิจารณาบล็อกคลิปฉาวระลอกสาม อ้างอาจกระทบภาพศาล-ความมั่นคง "จรัญ" ชี้ถูกใส่ร้ายกรณีมีการอ้าง ตุลาการ "จ" แอบไปตีกอล์ฟที่สิงคโปร์ แจงไม่ค่อยชอบตีกอล์ฟ และไม่ได้เดินทางไปสิงคโปร์ร่วมสิบปีแล้ว

(9พ.ย.53) กรณีมีคลิปหลุดซึ่งอ้างว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตสอบเข้าเป็นพนักงานในศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (8 พ.ย.) ในเว็บไซต์ยูทูปว์ โดยเป็นบทสนทนาระหว่างชายไม่ระบุชื่อ กับ “เบิร์ด” และ “เต้” อัพโหลดคลิปโดย ผู้ใช้นามแฝง Ohmygod3009

ล่าสุด มติชนออนไลน์ รายงานอ้างแหล่งข่าวจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ซึ่งกล่าวว่า กรณีที่ไม่สามารถเปิดคลิปฉาวดังกล่าวได้นั้น กระทรวงไอซีทีได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) โดยให้ไอเอสพีใช้วิจารณญาณในการพิจารณาว่า สมควรจะบล็อกเว็บที่เผยแพร่หรือไม่ เนื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของศาลรัฐธรรมนูญก็จะหมายถึงเรื่องของความมั่นคงของประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม กระทรวงไอซีทีจะใช้ระยะเวลารวบรวมหลักฐานอีกประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อนำไปขอหมายศาลเพื่อประกอบการยื่นให้ศาลพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ทั้งนี้แหล่งข่าวกล่าวว่า การดำเนินการบล็อคเว็บของไอซีทีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติหน้าที่ 2 กรณี คือ

1.หากพบว่าเป็นเว็บหมิ่นสถาบัน ก็จะขอความร่วมมือไปยังไอเอสพีเพื่อปิดกั้นข้อมูล จากนั้นจึงใช้คำสั่งศาลในการปิดกั้นข้อมูลหรือเว็บนั้น

กรณีที่ 2 ที่เว็บลามก อนาจาร ยาเสพติด การพนัน เป็นต้น จะต้องดำเนินการขอหมายศาลก่อนจึงจะดำเนินการปิดกั้นเว็บดังกล่าวได้

ด้านนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า สำนักงานได้รับทราบการเผยแพร่คลิปชุดใหม่แล้ว โดยฝ่ายบริหารของสำนักงานได้มีการประชุมหารือถึงเรื่องดังกล่าว มีแนวทางในหลายแนว แต่ยังไม่สามารถที่จะเปิดเผยได้ เพราะยังเป็นชั้นของความลับที่ต้องพิจารณาให้เกิดความรอบคอบ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากคณะตุลาการเห็นควรดำเนินการเช่นไรจะนำมาแถลงต่อสื่อมวลชนโดยทันที ขอยืนยันว่า การดำเนินการเรื่องนี้จะไม่ล่าช้าอย่างแน่นอนและเชื่อว่าน่าจะมีข้อยุติโดยเร็ว

"จรัญ"ไม่ฟ้องประชาชน ถ้าไม่จนตรอกจริงๆ
นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงคลิปชุด 3 ที่มีการโพสต์ข้อความใต้คลิป ว่าตุลาการ อักษรย่อ "จ" แอบไปตีกอล์ฟที่ประเทศสิงคโปร์ แล้วมีรายการตีกอล์ฟหลุม 19 ต่อว่า ปกติตนไม่ค่อยชอบตีกอล์ฟ เพราะเห็นว่าเป็นกีฬาที่เบาไป รวมทั้งตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้เดินทางไปที่ประเทศสิงคโปร์เลย การที่ออกมาระบุเช่นนี้ถือเป็นการใส่ร้ายกัน แต่ส่วนตัวไม่รู้สึกหนักใจที่มีการนำคลิปที่เป็นผลเสียกับศาลรัฐธรรมนูญออก มาเผยแพร่เป็นระยะ เพราะถือเป็นการนำความเท็จมากล่าวหากัน ส่วนหลังจากนี้จะมีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เผยแพร่คลิปดังกล่าวหรือไม่นั้น ในเรื่องนี้ยังไม่มีการหารือกันของตุลาการ

"ขณะนี้ขอให้เราได้มีโอกาสชี้แจงต่อสาธารณะ ให้รับทราบบ้าง ซึ่งตอนนี้เราก็พอทนได้ แต่เราไม่มีช่องทางที่จะไปสู้กับเขา ได้แต่หาทางพิสูจน์ความจริงกันไป อีกทั้งผมไม่อยากดำเนินคดีกับประชาชน ถ้าไม่จนตรอกจริงๆ และผมก็ไม่อยากใช้กฎหมายไปเล่นงานประชาชน เพราะอาจถูกมองว่าเราไม่เป็นศาล ซึ่งที่ผ่านมาผมก็ยังไม่เคยฟ้องร้องดำเนินคดีกับใคร" นายจรัญกล่าว

 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กองทุนยุติธรรมขยับ ศาลปล่อย 3 ผู้ต้องหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 2 แห้วพ่อแม่เข่าอ่อน

Posted: 09 Nov 2010 07:18 AM PST

 

9 ..53 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ศาลอาญาใต้ได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมข้อหาฝ่าฝืน พ...ฉุกเฉินฯ จำนวน 3 คน โดยมีกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้รับการอนุมัติวงเงินในการประกันตัวผู้ต้องหา นปช.ทั่วประเทศ เป็นผู้วางหลักทรัพย์ค้ำประกัน ขณะที่อีก 2 คน ซึ่งญาติได้รับการติดต่อจากกระทรวงยุติธรรมว่าจะได้รับการปล่อยชั่วคราวนั้น ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

ผู้ที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวได้แก่ นายธีระเดช สังขทัต อายุ 44 ปี นายสมหมาย อินทนาคา อายุ 32 ปี โดยให้กองทุนยุติธรรมวางหลักทรัพย์ค้ำประกันรายละ 60,000 บาท ส่วนนายบุญยฤทธิ์ โสดาคำ อายุ 24 ปี ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ศาลเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันในวงเงิน 200,000 บาท เนื่องจากต้องคดีครอบครองอาวุธปืนร่วมด้วย สำหรับผู้ต้องหาอีก 2 ราย คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้กองทุนยุติธรรมไปยื่นคำร้องขอประกันตัวกับศาลอุทธรณ์

ขณะที่ผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้แก่ นายสุรชัย พริ้งพงศ์ อายุ 19 ปี และนายกฤษณะ ธัญชยพงศ์ ซึ่งนายระเบียบ และ นางสุรีย์พร พริ้งพงศ์ บิดาและมารดาของสุรชัยที่เดินทางมาจากจังหวัดนครราชสีมาเพื่อรอรับนายสุรชัยเมื่อทราบว่าลูกชายไม่ได้รับการปล่อยตัวถึงกับเป็นลมล้มพับทั้งคู่ เจ้าหน้าที่ต้องช่วยกันปฐมพยาบาล

นางสุรีย์พรกล่าวว่า ตนและสามีมีอาชีพขายถั่วต้ม มันต้มตามหมู่บ้าน ขณะนี้น้ำที่ท่วมบ้านจนเกือบมิดหลังคาเพิ่งลดระดับลง เมื่อได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมว่าลูกจะได้รับการประกันตัวก็ดีใจมาก เพราะเจ้าหน้าที่บอกว่านายกฯ อภิสิทธิ์ อนุมัติแล้ว แต่เมื่อมาทำเอกสารแล้วปรากฏว่าศาลไม่ให้ประกันตัวเนื่องจากมีการระบุว่านายสุรชัยมีอาวุธจำพวกหนังสติ๊ก ลูกแก้ว ไฟแช็ค น้ำมัน ซึ่งตนสอบถามลูกก็ยืนยันว่าไม่มีอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ทางผอ.กองทุนยุติธรรมรับปากว่าจะให้การช่วยเหลือเต็มที่และจะเขียนสำนวนยื่นขอปล่อยชั่วคราวใหม่อีกครั้ง หลังจากทางพรรคเพื่อไทยเคยยื่นประกันตัวมาแล้ว 2 ครั้งแต่ไม่ได้รับการอนุญาตจากศาล หากยื่นสำนวนเดิมหลักฐานเดิมศาลก็คงไม่อนุญาตเช่นเดิม

เรากำลังถูกไล่ที่ กลับไปยังไม่รู้จะไปอยู่ไหน น้ำท่วมบ้านก็เพิ่งจะลดลง แต่ถ้าเขาเรียกให้ขึ้นมาอีกก็ต้องมา จะกี่ครั้งก็ต้องมาเพราะสงสารลูก เวทนาเขา อยากให้เขาได้ออกจากคุกไวๆ ค่ารถที่ขึ้นมานี้ก็ต้องหาเงินไปคืนเพื่อนบ้าน ยืมเขามา 500 บาท” นางสุรีย์พรกล่าว

นายระเบียบ พ่อของนายสุรชัย กล่าวว่า นายสุรชัยเป็นลูกชายคนเล็กและบวชเรียนมาตั้งแต่เด็กถึง 8 พรรษา ในช่วงหลังมาจำวัดที่วัดไชยมงคลที่กรุงเทพมหานคร และเพิ่งศึกออกมาก่อนเกิดเหตุเพียงไม่กี่วัน

ขณะที่กลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้าได้บันทึกการเข้าเยี่ยมพูดคุยกับทั้งสองคนเคยบันทึกไว้ในบล็อก http://thailandsolidarity.blogspot.com/2010/10/blog-post.html ระบุว่าทั้งสองถูกทหารที่จับกุมซ้อมและบังคับให้ยอมรับว่ามีอาวุธซึ่งทหารนำมากองและเรียกให้สื่อมวลชนมาถ่ายรูป

นักศึกษาจากกลุ่มเสรีปัญญาชนคนหนึ่งซึ่งไปร่วมรอรับสุรชัยและกฤษณะด้วยกล่าวว่า ญาติผู้ต้องหารู้สึกเครียดมากเนื่องจากเจ้าหน้าที่จากกระทรวงยุติธรรมให้ความหวังไว้สูง ระบุว่านายกฯ และรมว.ยุติธรรมเป็นห่วงคดีเหล่านี้มาก และอนุมัติให้มาช่วยประกันตัวแล้ว และยังกำหนดเงื่อนไขด้วยว่า หากออกจากเรือนจำได้ห้ามเกี่ยวข้องกับการเมืองเด็ดขาด ต้องรายงานตัวทุก 30 วันเป็นเวลา 1 ปี รวมทั้งต้องเขียนคำขอบคุณนายกรัฐมนตรี ซึ่งญาติผู้ต้องหายังปรึกษากับตนว่าควรเขียนอย่างไรดี

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 ..ที่ผ่านมา นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารกองทุนยุติธรรมเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุน ยุติธรรม ซึ่งมี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธานช่วยเหลือผู้ต้องขังกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่ง ชาติ หรือ นปช.ในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขัง 11 ราย เป็นเงิน 2,010,000 บาท โดย นางสุวณา กล่าวว่า ผู้ต้องขังกลุ่ม นปช. ที่ขอความช่วยเหลือเงินประกันปล่อยตัวชั่วคราวมี 48 ราย จาก 14 เรือนจำ ทั่วประเทศ ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาว่าเป็นผู้เข้าหลักเกณฑ์กองทุนหรือไม่ โดยกระทรวงยุติธรรม ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องขัง 5 ชุด ลงพื้นที่ตรวจสอบผู้ต้องขัง 180 ราย มีผู้ขอรับความช่วยเหลือ 151 ราย ทั้งในเรื่องการประกันตัว การรักษาพยาบาล ทนายความ รวมถึงความเป็นอยู่ภายในเรือนจำ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จรรยา ยิ้มประเสริฐ: จดหมายถึงเพื่อนและสหาย

Posted: 09 Nov 2010 01:49 AM PST

ชื่อบทความเดิม
สลายหมอกควันแห่งการคอรัปชั่น – จดหมายถึงเพื่อนและสหาย

 

 

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้เขียนจดหมายและบทความหลายชิ้นเกี่ยวกับวิกฤติการเมืองในประเทศไทย แต่จดหมายฉบับนี้เขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวถึงผลสะเทือนต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งด้านส่วนตัวและในงานต่างๆ

ข้าพเจ้าเดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 เมษายน ตามคำเชิญของสหภาพแรงงานที่ฟินแลนด์ และจากอีกสองสามองค์กร พร้อมกับวีซ่าเดินทางเข้าออกยุโรป หลังจากข้าพเจ้าเดินทางมายุโรปได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์การปราบปรามคนเสื้อแดงอย่างเหี้ยมโหด

หลังจากการพยายามเกาะติดเหตุการณ์การปราบปราบที่สะเทือนขวัญครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้เผยแพร่งานเขียนที่เปิดเผยถึงความรู้สึกของตัวเองต่อการเมืองในประเทศไทย และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ข้าพเจ้าได้รับคำแนะนำว่าอย่าเพิ่งเดินทางกลับประเทศไทย (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ท้ายจดหมาย)

เพื่อนบางคนถามว่า “มันคุ้มกันหรือกับการลุกขึ้นมาเขียนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เมื่อต้องเผชิญกับความกดดันต่างๆ ทำไมไม่มุ่งหน้าทำงานที่สำคัญของคุณต่อไป โดยไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อการเมืองไทย?”

ขอบคุณอย่างยิ่ง แม้แต่ในประเทศไทย ยิ่งมีความพยายามจะทำให้ไพร่หุบปากมากเท่าไร เสียงของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกลับยิ่งดังมากขึ้นเรื่อยๆ  แม้ว่าผู้ทรงภูมิปัญญาในบ้านเมืองส่วนใหญ่จะยังคงนิ่งเฉย แต่เราก็เห็นนักวิชาการที่ละคนสองคนได้ทยอยลุกขึ้นมาทำลายความเงียบงันเหล่านี้
 

อะไรทำให้ประเทศไทยเดินทางมาถึงจุดนี้?
การสูญเสียชีวิตถึง 90 ชีวิตและกว่า 2,000 คนได้รับบาดเจ็บจากการปราบปรามเมื่อเดือนเมษายน และพฤษภาคมที่ผ่านมา นำมาซึ่งคำถามสำคัญ “ทำไม NGO และสหภาพแรงงานถึงได้เงียบเฉยต่อความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐบนท้องถนนที่กรุงเทพ?” ความอดกลั้นต่อการกดขี่ทางการเมืองในประเทศไทยกำลังจะสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่?

ความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐครั้งนี้ ไม่เหลือทางเลือกใดให้ข้าพเจ้า แทบจะทันทีหลังการปราบปราม ข้าพเจ้าได้เรียกร้องให้ขบวนการแรงงานในหลายประเทศร่วมสมานฉันท์กับประชาชนคนไทย เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการปราบปรามคนเสื้อแดง และได้จัดทำหนังสือถึงสหประชาชาติ โดยเปิดให้มีการลงชื่อทางอินเตอร์เนท พร้อมกับการกลั้นใจเฮือกใหญ่กับการลุกขึ้นมาเขียน “ทำไมถึงไม่รักในหลวง” และปรับปรุงบทความเรื่อง “ไพร่สู้ บนเส้นทาง 78 ปีประชาธิปไตย” ที่เขียนเมื่อเดือนเมษายน 2552

ข้าพเจ้าพบว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าเขียนในสองบทความนั้น แม้ว่าขณะนี้จะสิ้นเดือนตุลาคมแล้วก็ตาม สะท้อนอยู่ใน “รายงานเบื้องต้นการการะทำที่อาจถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในราชอาณาจักรไทย” ที่มีจำนวน 61 หน้า เพื่อยื่นต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) โดยสำนักกฎหมายโรเบิรต์ อัมเตอร์ดัม ในนามแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) สำหรับรายละเอียดของรายงานโปรดอ่าน http://robertamsterdam.com/thailand/

กระแสตอบรับจากงานเขียนได้แสดงให้เห็นว่า มันช่วยในการให้คนไทยบางคนหลุดออกมาจากม่านหมอกแห่งความกลัวกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ปกคลุมทั่วประเทศไทยมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ

แต่ที่น่าประหลาดใจยิ่งนักคือ รัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่จมอยู่ท่ามกลางความผิด กลับโหมกระหน่ำใช้กฎหมายหมิ่นฯ อย่างรุนแรงและเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ใช้อย่างพร่ำเพรื่อกับใครก็ตามที่สร้างความไม่พอใจให้รัฐบาลและผู้บัญชาการ กองทัพบก นอกจากการเพิ่มงบทหารอีกเกือบเท่าตัว รัฐบาลชุดนี้ได้เทเงินกว่าพันล้านบาทให้กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์สถาบัน ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะระดมอาสาสมัคร 800,000 คนทั่วประเทศไทย และอีกหลายร้อยล้านไปกับการจัดตั้งลูกเสือไซเบอร์กว่า 200 คนเพื่อตรวจจับทางอินเตอร์เนท ซึ่งตัวเลขล่าสุด มีการบล๊อกเวบไซด์กว่า 250,000 แห่ง คงไม่จำเป็นต้องกล่าวว่า เวบไซด์ที่เปิดใหม่ 82% ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อพูดคุยกันเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์

มีผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อของกรมสอบสวนพิเศษ (DSI) ที่ทะยอยถูกจับ สอบสวน และส่งเข้าคุกในข้อหาหมิ่นฯ โดยไม่มีการออกหมายเรียก ซึ่งหลายกรณีมีการข่มขู่ คุกคามญาติพี่น้องของพวกเขาด้วย

เพราะว่ามีภัยอยู่จริงในความมืด และอันตรายที่อาจจะเกิดกับคนรอบข้าง ข้าพเจ้าตัดการสื่อสารเกือบทั้งหมดกับเพื่อนร่วมงานในโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (TLC) และญาติพี่น้อง และหยุดใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือที่ใช้มานานกว่า 10 ปี

ไม่ใช่ว่าข้าพเจ้าจะไม่เจ็บปวดไปกับการตัดสินใจเหล่านี้
 

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ความยุ่งเหยิงเช่นนี้ได้อย่างไร?
ประเทศไทยเริ่มเผชิญกับวิกฤติการเมืองที่รุนแรงมากขึ้น นับตั้งแต่ต้นปี 2549 ด้วยการประท้วงบทท้องถนนที่แม้จะไม่รุนแรงในระยะแรก แต่ได้กลายเป็นการปะทะกันอย่างดุเดือดในเวลาต่อมา  ความวุ่นวายทางการเมืองที่ส่งผลสะเทือนต่อทุกชีวิตในประเทศไทย

คุณเป็นสีเหลืองหรือสีแดง?
นอกจากสองสีนี้แล้ว ยังมีประชาชนสีเขียวที่ออกมาเดินบนท้องถนนเพื่อประท้วงการสร้างโรงงานไฟฟ้า และขยะพิษจากนิคมอุตสาหกรรม และก็ยังมีขบวนแรงงานในเสื้อหลากสีที่เรียกร้องให้รัฐบาลให้สัตยาบัน ILO 87และ98 เพื่อเปิดเสรีภาพในการรวมตัวและต่อรองร่วม TLC ร่วมขับเคลื่อนกับสหภาพแรงงานในเรื่องเหล่านี้มาหลายปี

สำหรับผู้ที่ไม่ใช่คนไทย การเมืองที่จมอยู่ในปลักโคลนเช่นที่ประเทศไทย อาจจะดูซับซ้อนและสับสน  แน่นอนมันยากจะเข้าใจ และเรายังต้องเผชิญกับสภาวะแทรกซ้อนเข้าไปอีก เมื่อภาพลักษณ์ของทักษิณไม่ดีนักในสายตาของโลกตะวันตก เป็นหนึ่งในตัวช่วยให้ขบวนการฝ่ายนิยมกษัตริย์ กลุ่มคนเสื้อเหลือง – ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ บุคคลที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย นักวิชาการ สหภาพแรงงาน และ NGO แถวหน้า สามารถปล้นอำนาจจากทักษิณไปได้โดยไม่มีความละอาย และโดยปราศจากการประท้วงจากโลกตะวันตก และไร้ซึ่งเสียงคัดค้านจากกลุ่มชาติ ASEAN

นับตั้งแต่ปี 2549 ปวงชนชาวไทยได้อยู่ภายใต้แรงกดดันให้ต้องรับมือกับรัฐบาล 6 ชุด ทักษิณที่มาจากการเลือกตั้ง คณะรัฐประหาร (พลเอกสนธิ) รัฐบาลที่ตั้งโดยคณะรัฐประหาร (พลเอกสุรยุทธ) รัฐบาลจากค่ายทักษิณ 2 คณะ (สมัครและสมชาย) และแม้ว่าจะแพ้ในการเลือกตั้งถึงสามครั้งติดต่อกัน รัฐบาลอภิสิทธิ์สามารถเลื้อยขึ้นสู่อำนาจได้สำเร็จในเดือนธันวาคม 2551

สงครามสีที่เริ่มโดยพันธมิตร เย้ยหยันและส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกในสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ตั้งแต่ในครอบครัว จนถึงในองค์กร NGO และสหภาพแรงงาน

ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การแตกแยกเหล่านี้เริ่มปรากฎชัดเจนขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2549 เมื่อ NGO และสหภาพแรงงานที่ต่อต้านการทำข้อตกลงการค้าเสรีและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ได้ตัดสินใจเข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เพื่อร่วมโค่นทักษิณ “ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม”

ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งต่อการตัดตอนทางการเมืองด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ และถึงแม้ว่าพวกเราจะเคยร่วมต่อสู้ในหลายเรื่องร่วมกันมาหลายปี แต่การตัดสินใจของ NGO และสหภาพแรงงานในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่รับไม่ได้  แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ TLC มีสิทธิ์ส่วนบุคคลที่จะเลือกว่าจะอยู่การเมืองสีไหน แต่ในฐานะองค์กร TLC ยืนหยัดในหลักการ “ประชาธิปไตยที่ต้องมีส่วนร่วมของประชาชน” และไม่ได้เข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองใด ไม่ว่าสีเหลืองหรือสีแดง ข้าพเจ้าไม่เคยเข้าร่วมในกิจกรรมเสื้อเหลืองเลยแม้แต่ครั้งเดียว และขาดการติดต่อกับเพื่อนไปจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากยิ่ง ผู้คนจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยต้องเสียมิตรภาพเพราะสงครามสี

กระนั้นก็ตาม การสังหารหมู่ประชาชนใจกลางกรุงเทพมหานคนเป็นเรื่องจริง และขณะนี้พวกเราได้ประจักษ์ถึงคำถามที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า “ทำไม NGO สหภาพแรงงาน และนักวิชาการที่ออกมาเรียกร้องไม่ให้ค่ายทักษิณใช้ความรุนแรงในการปราบปรามคนเสื้อเหลือง กลับเงียบเฉยเมื่อค่ายอภิสิทธิ์ ส่งกองกำลังทหารกิตติมศักดิ์เข้าปราบปรามเสื้อแดงในปี 2552 และ 2553”

ขอยกตัวอย่าง FTA Watch ที่ตัดสินใจเข้าร่วมกับขบวนการคนเสื้อเหลืองเมื่อเดือนธันวาคม 2548 ในที่ประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนเมื่อเดือนกันยายน 2553  และเวทีประชุมภาคประชาสังคมเอเชีย-ยุโรปเมื่อเดือนตุลาคมนี้ ตัวแทนจาก FTA Watch ยังคงกล่าวถึงความสำเร็จของพวกเขาที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่จัดทำโดยรัฐบาลของคณะรัฐประหาร

ความสับสนจนผิดพลาดอย่างมหันต์นี้ เป็นคุณลักษณะพิเศษของ “คนไทย” จริงๆ -การผสมผสานระหว่างขบวนการภาคประชาสังคมต่อต้านเสรีนิยมโลกาภิวัตน์กับกองทหารแห่งชนชั้นสูง ในนิยามแห่งคำว่า “ความมั่นคงของชาติ”

มันเป็นตลกร้าย ที่ต้องเฝ้ามองผู้คนที่มีชื่อเสียงทางสังคมพากันไหลบ่าเข้าสู่ขบวนการเสื้อเหลืองที่บ้าคลั่ง การกระทำของพันธมิตรสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ในความพยายามที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับการปฏิวัติ 2549 ทำให้การปฎิวัติที่ไม่สูญเสียเลือดเนื้อ กลายเป็นเหตุการณ์เลือดนองท้องถนน

โศกนาฎกรรมที่ได้รับการตบรางวัลกันถ้วนหน้า เมื่อแกนนำพันธมิตรได้รับรางวัลจากจากฝ่ายกษัตริย์นิยมด้วยตำแหน่งรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา และอีกมากมาย

ในความพยายายามที่จะยิ่งใหญ่ พันธมิตรที่น่าพิศวงได้จัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ และแล้ว แม้แต่ในกรุงเทพมหานคร ที่ควรจะเป็นพื้นที่หัวใจของพันธมิตร พรรคการเมืองใหม่กลับไม่ได้เลือกเข้าไปนั่งอยู่ใน สก. และ สข. ที่ผ่านมาแม้แต่คนเดียว

ผู้นำ NGO หลายคนที่เข้าร่วมกับพันธมิตร ขณะนี้นั่งอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย และคณะอนุกรรมการ ด้วยงบประมาณปีละ 200 ล้านบาท ซึ่งบริหารโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มีอภิสิทธิ์เป็นประธาน

กลุ่มคนกลุ่มแรกๆ ที่เข้าทำเนียบหลังจากการปราบปราบเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา – โดยการทำหนังสือเข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาลอย่างเป็นทางการ – คือกลุ่มผู้นำสหภาพแรงงาน ที่ไม่ได้ใส่ใจแม้แต่น้อยที่จะพูดถึงชนชั้นกรรมาชีพ 90 คนที่ถูกสังหาร และคนร่วม 2,000 คนที่ถูกยิงจากทหาร พวกเขาเข้าพบรัฐบาลเพื่อเจรจาค่าเสียหายให้กับคนงานที่ไม่สามารถทำงานในระหว่างการประท้วงของคนเสื้อแดง (ดูรายละเอียด http://www.prachatai.com/journal/2010/05/29813)

เงินจำนวนไม่น้อยที่สหภาพแรงงานจากโลกเหนือส่งมาสนับสนุนกิจกรรมของสหภาพแรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะนับต้ังแต่ปี 2513 เป็นต้นมา มีจำนวนไม่มากนักที่ตกถึงมือคนงานรากหญ้าอย่างแท้จริง  ในทุกวันนี้สหภาพแรงงานในประเทศไทยทยอยของบสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งในทางปฏิบัติยิ่งลดทอนความสำคัญของความจำเป็นที่ขบวนการแรงงานจะทำงาน “ด้านสิทธิการรวมตัว” และการลงทำงานจัดตั้งในวิถีการเมือง “ล่างขึ้นบน”

สำหรับท่านที่ใส่ใจในประเด็นที่กล่าวมาข้างบน จะเข้าใจยิ่งขึ้นถ้าย้อนกลับไปดูว่า เพราะเหตุใดสมศักดิ์ โกศัยสุข (แกนนำพันธมิตรและหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่) ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนประจำปี 2549 จากมูลนิธิฟรีดริก เอแบรท (FES)

เพราะเหตุใด ผู้นำสหภาพแรงงานและ NGOs จำนวนมากถึงกระทำการที่ขัดต่อหลักการของตัวเองที่มุ่งสร้างความเป็นธรรมในสังคม?

บางคนกล่าวกับข้าพเจ้าว่า “คุณอาจจะวิเคราะห์การเมืองไทยได้อย่างถูกต้อง แต่คุณจะสนับสนุนเสื้อแดงไปทำไมกัน เพราะถ้าเสื้อแดงชนะ ทักษิณกลับมาแน่ คุณต้องการเช่นนั้นหรือ?”

คนเสื้อแดงเริ่มปรากฎกายจำนวนเรือนแสนเมื่อต้นปี 2552 พวกเขาไม่มีทีท่าว่าจะพ่ายแพ้ แม้ว่าอภิสิทธิ์จะปราบปราบอย่างเหี้ยมโหดเมื่อเดือนเมษายน 2552 และ 2553 แน่นอนว่าพวกเขาจะยังคงไม่หยุดต่อสู้จนกว่าจะมีการประกาศวันเลือกตั้ง และจะไม่หยุดจนกว่าจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม

บุคคลที่มีชื่อเสียงและชี้นำในภาคสังคมทั้งหลายในประเทศไทย ได้ใช้ชีวิตอย่างหมิ่นเหม่บนหลังเสือ ที่พวกเขาขึ้นไปขี่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือเพราะความกลัวในกฎหมายหมิ่นฯ ก็ตาม เมื่อพวกเขาน่ังอยู่บนหลังเสือ ถ้าไม่อยากตกเป็นเป้านิ่งของสไนเปอร์ก็ต้องพูดภาษาเดียวกับค่ายกษัตริย์นิยม และถ้าพวกเขาตกจากหลังเสือ พวกเขาก็ต้องจ้องตากับเสือ

การที่ทักษิณได้รับความนิยมสูงมากทำให้สถานภาพของพวกเขาอยู่ในสภาวะที่ไร้ความหมาย  ดังนั้นพวกเขาจึงเข้าร่วมกับฝ่ายกษัตริย์นิยมและเสื้อเหลืองในทุกช่องทางเพื่อช่วยพรรคประชาธิปัตย์โค่นทักษิณ และผลที่เกิดขึ้นคือ? ประชาธิปไตยที่เปราะบางอยู่แล้วของประเทศไทยถูกพัดปลิวว่อน

การโค่นผู้นำคนหนึ่งในสังคมที่ปกครองด้วยการคอรัปชั่นไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้อย่างแท้จริง

อนาคตแห่งประชาธิปไตยในประเทศไทยขึ้นอยู่กับว่าพวกเราจะซื่อสัตย์กับตัวเองมากพอที่จะดึงสรรพกำลังของเราออกมา เพื่อสลัดไล่อำนาจแห่งกลุ่มทหาร-กษัตริย์นิยมที่ฉ้อฉลและครอบงำสังคมไทยมาตั้งแต่ปี 2490 ให้หลุดออกไปให้จงได้ได้อย่างไร? พวกเราจะสร้างระบบที่โปร่งใสมากพอที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับหลักการประชาธิปไตยได้มากพอที่จะล้างระบบรัฐสภากันอีกครั้งหน่ึงและเป็นครั้งสุดท้ายไดหรือไม่?

คนที่กล้าลุกขึ้นสู้ จำเป็นจะต้องได้รับการพูดถึงอย่างชื่นชมในความมุ่งมั่นของพวกเขาที่ขอมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นการกระทำที่สมควรได้รับการยกย่อง เป็นความจำเป็นที่ต้องทำและสำคัญอย่างยิ่งในสภาวะการเมืองในปัจจุบัน ประชาชนจำต้องตระหนักว่า พวกเขาจำต้องกำกับ ตรวจสอบ และแสดงความเป็นเจ้านายที่แท้จริงของเจ้าหน้าที่รัฐในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับชาติ

ทำไมทั้งผู้นำ NGO และนักวิชาการจำนวนมากจึงยังไม่ยอมตื่นมาสู่โลกของความจริง? พวกเขายังคงเชื่ออยู่อีกหรือว่าคนเสื้อแดงเป็นแค่ชาวนาผู้โง่เขลา? คำว่า “เที่ยงธรรม” สูญสิ้นความหมายไปหมดแล้วหรือในประเทศไทย?

หลังจากที่ข้าพเจ้าส่งจดหมายประนาณรัฐประหารทันทีหลังจากที่ทหารทำรัฐประหารในปี 2549 เจ้าหน้าที่ระดับสูงชาวไทยของแหล่งทุนแห่งหนึ่งได้เขียนอีเมลมาบอกข้าพเจ้าว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าเขียน “ไม่ใช่จุดยื่นร่วมของขบวนการ NGO ในประเทศไทย”  หนึ่งเดือนหลังการทำรัฐประหาร 19 กันยา ที่เวทีภาคประชาสังคมไทย มีการถกเถียงกันอย่างเข้มข้นระหว่าง NGO ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ในประเด็นว่า เราจะสามารถเดินขบวนภายใต้รัฐบาลทหารหรือไม่ ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่ได้รับการสนับสนุนโดย สสส. (ที่มาร่วมประชุมด้วยเสื้อสีเหลือง) ​ตัดสินใจไม่เดินขบวนกับพวกเรา  และอีกครั้งหนึ่งหลังจากเหตุการณ์พฤษภาเลือดปี 2553 เจ้าหน้าที่ไทยในองค์กรที่ทำงานระดับภูมิภาคเขียนถึงข้าพเจ้าว่า “พวกคุณไม่รักประเทศไทย และไม่สมควรจะเกิดเป็นคนไทย”

นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2543 แหล่งทุนเพื่อการพัฒนาได้ถอนประเทศไทยออกจากประเทศที่สมควรได้รับความช่วยเหลือ ทำให้ NGO ต่างๆ ต้องแสวงหาผู้สนับสนุนกลุ่มใหม่ พวกเขาจำนวนไม่น้อยหันมาขอทุนจากงบประมาณของกรม กระทรวงต่างๆ  โดยเฉพาะจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ก่อตั้ง 2544) มีบทบาทสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้การกำกับและตรวจสอบของ สสส. NGO จำนวนมากต้องปรับกลยุทธการทำงานจากการทำงาน “ต่อสู้เรื่องสิทธิ” มาสู่การทำงาน “แบบสังคมสงเคราะห์” เมื่อองค์กรที่รับเงินทุน สสส. ต้องลดบทบาททางการเมือง และห้ามขับเคลื่อนบนท้องถนน NGO จำนวนมากยุติบทบาท อันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก คือบทบาทการรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย

องค์กรแหล่งทุนที่ยังคงสำนักงานอยู่ในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย ใช้ประเทศไทยเพราะความสะดวกต่อการบริหารจัดการโครงการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างก็พากันปิดหูปิดตาที่จะรับรู้เรื่องราววิกฤติการเมืองที่ปกคลุมทั้งสังคมไทย และก็ทำงานของพวกเขาไปตามหน้าที่ ตราบใดที่ยังมีผัดไทย อาหารจานโปรดเป็นอาหารกลางวัน มันก็เพียงพอแล้วกับการอยู่ในประเทศไทย

แม้แต่ภายใต้รัฐบาลทักษิณ องค์กรพัฒนาเอกชนก็ทำงานกันได้ลำบากเพราะถูกตรวจสอบหรือต้องเซนเซอร์ตัวเอง และยังต้องส่งรายงานกิจกรรมหรือขออนุญาตทำกิจกรรมไปยังกระทรวงมหาดไทยหรือตำรวจ ฯลฯ

องค์กรที่ให้ทุนสนับสนุนงานที่ส่งเสริมเรื่องสิทธิ มักจะเผชิญกับการกดดันและข่มขู่อยู่บ่อยครั้ง – บางครั้งมีตำรวจมาขอตรวจสำนักงาน หรือสั่งปิดสำนักงาน เป็นต้น ทำให้มันจำเป็นที่ถ้าไม่อยากมีเรื่อง พวกเขาจำต้องยอมจำนนใต้อำนาจแห่งทรราชย์ไดโนเสาร์ – และประนีประนอมต่อหลักการสิทธิมนุษยชน

อย่างค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เจ้าหน้าที่ขององค์กรภูมิภาคและองค์กรสากลเหล่านี้ ตามวีถีแห่งการขยับฐานะ ได้กลายเป็นคนเส้ือเหลือง

สำหรับองค์กรพัฒนาเอกชนเล็กๆ ที่ยังยืนหยัดทำงานเรื่องสิทธิ การหาทุนทำงานเป็นเรื่องยากลำบากมาก และหลายองค์กรก็ไม่สามารถหาทุนทำงานต่อได้
 

ใครบอกว่าเราจำเป็นจะต้องปรองดองกับรัฐบาล?
นับตั้งแต่ปี 2549 NGO ที่ไม่ใช่เฉพาะ TLC พบว่า มันเป็นเรื่องยากลำบากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะขับเคลื่อนงานไปข้างหน้าให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ สงครามสีที่บ้าคลั่งในประเทศไทย ไม่ได้สร้างให้เกิดการแบ่งแยกเฉพาะองค์กรของเราเท่านั้น แต่ได้ทำร้ายศักยภาพในการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของพวกเราลงไปด้วย

หลายองค์กรได้ใช้ทรัพยากรของตัวเองไปกับการระดมคนเข้าร่วมการประท้วงกับคนเสื้อเหลือง มันได้สร้างแรงกดดันอันมหึมาต่อการที่องค์กรเหล่านั้นจะดำรงไว้ซึ่งศักยภาพที่จะทำงานสอดประสานรับกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชนได้ต่อไปหรือไม่

พวกเรามาถึงจุดที่จะต้องทำความเข้าใจว่า สงครามสีอันบ้าคลั่งนี้กำลังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อการพยายามดำรงไว้ซึ่งฟางเส้นสุดท้ายแห่งการครองสติสัมปชัญญะทางการเมืองไทยของคนไทยเอาไว้ ยามนี้เราจำเป็นจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นำพาประเทศให้สามารถปีนป่ายขึ้นไปจากหลุมดำอันมืดมิดนี้แห่งนี้ให้จงได้ แต่จะทำอย่างไร?

ทั้ง NGO ไทยและสากลจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้เลยถ้ายังหลอกตัวเอง และจินตนาการอยู่ว่าจะสามารถขับเคลื่อนงานต่อไปได้ถ้ายอมเล่นไปกับเกมส์การเมืองที่ฉ้อฉล

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อภิสิทธิ์ได้แต่งตั้งอดีตนายกอานันท์ ปัญญารชุน เป็นหัวหน้าคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย พร้อมทั้งงบประมาณ 600 ล้านบาทสำหรับการดำเนินงาน 3 ปี (ปีละ 200 ล้านบาท) ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว อานันท์ได้เลือกผู้นำ NGO และนักวิชาการที่มีชื่อเสียงหลายคนมานั่งอยู่ในคณะกรรมการของเขา

ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจเลย ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2553 คณะกรรมการปฎิรูปฯ ต้องเผชิญหน้ากับการประท้วงด้วยข้อความ “น่าเสียดายที่คนตายไม่ได้ปฏิรูป”

การประท้วงแบบนี้เป็นสัญญาณที่ดีว่า การฝ่าด่านวัฒนธรรมแห่งระบบ “อุปถัมภ์” ที่เป็นดังยาพิษที่กัดกร่อนสังคมไทย และลดทอนความสำคัญของคำว่าความ “เที่ยงธรรม” และ “ประสิทธิภาพ” ของเครือข่าย NGO มาหลายทศวรรษ ขณะนี้ -นับว่าในระดับหนึ่ง- ได้ถูกท้าท้ายและทำให้อยู่ภายใต้เลเซอร์ตรวจจับ โดยเฉพาะจากกลุ่มนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่


กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย 
(Thai Social Movement Watch)

นักวิชาการและนักกิจกรรมรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับความชอบธรรมของผู้นำ NGO และนักวิชาการที่มีชื่อเสียง กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย จึงได้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2553 เพื่อช่วยนำเสียงของกลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงาน และชาวบ้านที่เห็นและตระหนักอย่างถ่องแท้ถึงความหมายของคำว่า “ความอยุติธรรม” เช่นที่มันเป็น คือ “ความอยุติธรรม”

NGO จำเป็นต่อสังคม เพราะมีการดำเนินงานที่คล้ายกับบริษัท – ทำให้บ่อยครั้งพวกเขาสามารถระบุและนำเสนอปัญหาในวิธีการที่กลไกรัฐไม่อาจกระทำได้หรือไม่ต้องการจะทำ ปัญหาของ NGO คือ เมื่อพวกเขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ พวกเขามักจะมีแนวโน้มที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนเสียเอง แทนที่จะจัดการศึกษาและดำเนินการให้ประชาชนได้ช่วยเหลือตัวเอง

ระบบ “อุปถัมภ์” ของไทย เข้ากันได้ดีกับรูปแบบการทำงานของ NGO ที่ไม่ใส่ใจมากนักในเรื่องการปรับตัวให้ทันสมัย และยังส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรม ”พี่เบิ้ม”  ซึ่งได้สะท้อนผ่านการทำงานที่ไม่ต้องใช้กลไกประชาธิปไตย และหยั่งรากลงลึกมากขึ้นเรื่อยๆ จนยากจะถอนตัวออกจากเกมการเมืองกระแสหลักที่แสนสกปรกในประเทศไทยที่สอดรับกับแนวคิด “คนดี”

ถ้าประเทศไทยจะปีนป่ายขึ้นมาจากปลักโคลน เราจำเป็นจะต้องต้อนรับ กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดการเปิดพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์ที่มุ่งเพื่อการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของ NGO

ด้วยการยอมรับเข้าไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปผู้นำ NGO และนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ได้มอบความชอบธรรมให้กับรัฐบาลที่ไม่สมควรได้รับความชอบธรรมแม้แต่น้อย พวกเขากลายเป็นผู้ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการประกาศใช้พระราชบัญญัติในสถานการณ์ฉุกเฉินของอภิสิทธิ์ และความพยายามอย่างสุดลิ่มทิมประตูของเขาที่จะทำให้การกำหนดวันเลือกตั้งสามารถเลื่อนออกไปได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เวลาที่นานพอจะช่วยให้เขาทำลายหลักฐานแห่งความผิดพลาดจากการกระทำอันโหดร้ายของรัฐบาลของเขา และช่วยให้ประชาธิปัตย์์สามารถเตรียมมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้สามารถเอาชนะการเลือกตั้งให้จงได้

เพื่ออนาคตของประชาธิปไตยทั่วทั้งคาบสมุทรอินโดจีน เพื่ออนาคตของประชาชนพม่าและประชาชนอาเซียน องค์กรนานาชาติ สหภาพแรงงานสากล และองค์กรให้ทุนเพื่อการพัฒนาทั้งหลายจำต้องมองให้ลึกซึ้ง รอบด้าน และตรงไปตรงมา ถึงต้นตอที่มาว่า ทำไมบัน คี มูน ถึงกล่าวว่า “ปัญหาของไทยเป็นเรื่องภายในประเทศ” ปัญหาอันสกปรก “ปัญหาภายในประเทศ” ที่มีความชอบธรรมที่ได้ถูกนำฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ


เมื่อไรกันที่จดหมายลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องมีการเขียนกันอีกต่อไป?

การได้สังเกตการณ์ถึงความสับสนและความขัดแย้งที่บ่งบอกถึงความรุนแรงของสงครามสีที่มีต่อการเมืองไทย TLC ตัดสินใจที่จะมุ่งเป้าไปที่การเดินทางศึกษาปัญหาในพื้นที่

นับตั้งแต่ปี 2549 พวกเราได้เดินสายลงพื้นที่กันหลายครั้ง ทั้งชายแดนไทย-พม่า เรียบแม่น้ำโขง และทั่วทั้งภาคอีสาน ทำงานเกี่ยวกับเรื่องคนงานต่างชาติในประเทศไทยและคนไทยที่ไปทำงานที่ต่างประเทศ ผลที่ได้จากการลงพื้นที่คือการประสบความสำเร็จในการจัดตั้งเครื่องข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศเมื่อต้นปี 2550 และเมื่อปลายปี 2552 พวกเราประสบความสำเร็จในการจัดตั้งสหภาพคนทำงานต่างประเทศ

สามปีที่ผ่านมา งานเกี่ยวกับเรื่องสิทธิคนงานต่างชาติที่พวกเราทำมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก (รวมทั้งการสมานฉันท์คนงานต่างชาติในประเทศไทยกับคนงานไทยที่ไปต่างประเทศ)   ทั้งความรวมมือกับหลายองค์กรเพื่อยับยั้งขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติ เรามุ่งเป้าสู่การพัฒนาแนวคิดการฟื้นคืนถิ่นผ่านกระบวนการสร้างทางเลือกเพื่อการดำรงชีวิตในพื้นที่  ผ่านทางการส่งเสริมวิถีเกษตรอินทรีย์ ซึ่ง (ในที่สุด) เริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ จากทั่วทุกมุมโลกว่า เป็นเส้นทางหนึ่งที่จะทำให้คนหลุดพ้นจากความยากจน ที่ช่วยเสริมสร้างความสามารถที่จะพึ่งพิงตนเอง การพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับพวกเขา

เพราะการทำงานให้กับสหภาพคนทำงานต่างประเทศนี่เอง ที่ข้าพเจ้าเดินทางมายุโรปเมื่อปลายเดือนเมษายน เพื่อมาศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้เกษตรกรรายย่อยชาวอีสานหลายพันคนต้องมาตกทุกข์ได้ยาก เพราะหลงเชื่อในคำโฆษณาที่เกินจริงจากธุรกิจเก็บลูกเบอรรี่ที่กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียร์ และติดตามกรณีที่คนงานไทยถูกหลอกมาทำงานที่โปร์แลนด์และสเปน

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ปราบปรามประชาชน การตัดสินใจพูดเกี่ยวกับปัญหาการคอรัปชั่นทางการเมืองไทยอย่างรุนแรงกว่าที่เคยทำมา ได้ส่งผลสะเทือนต่อชีวิตของข้าพเจ้า – รวมทั้งกระทบต่องานและแผนงานเกือบทั้งหมด

ข้าพเจ้าพยายามอย่างเต็มกำลังความสามารถที่จะสานงานต่อจากยุโรป นับตั้งแต่เดือนเมษายน ข้าพเจ้าและทีมงานที่นี่ได้เดินทาง 4,000 กิโลเมตร รอบกลุ่มประเทศบอลติกถึง 2 รอบ – รวมทั้งเข้าร่วมประชุมที่กรุงบูคาเรสต์ ตูริน เจนีวา และบรัสเซล

ในประเทศไทยเจ้าหน้าที่ TLC ยังคงมุ่งม่ันทำงานอย่างหนัก แต่การที่ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่เมืองไทย และไม่สามารถร่วมลงมือทำงานกับทุกคนได้ เป็นเรื่องที่รบกวนจิตใจมาก ภายในสภาพการณ์เช่นนี้ พวกเราไม่สามารถคาดหวังได้มากเกินไป แต่ TLC เช่นเดียวกับองค์กรรากหญ้าอื่นๆ ในยามนี้ ต้องการความสมานฉันท์ต่อเนื่องจากเพื่อนและสหายทั้งหลาย เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถขับเคลื่อนงานผ่านความยากลำบาก และความสับสนทางการเมืองในประเทศไทยไปให้ได้

* * *

นี่เป็นจดหมายขนาดยาวถึ่งเพื่อนซึ่งอาจจะประหลาดใจว่า จรรยาอยู่ที่ไหน? และหรือว่า ทำไมเธอถึงเขียนอะไรที่ใช้ภาษาที่ดูแรงขึ้นมาก

ข้าพเจ้าไม่รู้สึกก้าวร้าว แต่แน่นอนข้าพเจ้ารู้สึกโกรธ มันมีความแตกต่างในคำสองคำนี้ ความลึกและขอบเขตที่กว้างใหญ่ของผลกระทบที่เกิดจากการเมืองและการคอรัปชั่นในรูปแบบต่างๆ ในประเทศไทยทำให้ประชาชนรู้สึกโกรธแค้น ไม่ใช่เฉพาะข้าพเจ้าเท่านั้น ความฟอนเฟะเหล่านี้จะต้องถูกเปิดโปงและจัดการด้วยพลังที่เข้มแข็ง

หลังจากหลายทศวรรษที่พวกเราปล่อยให้หลักการแห่งประชาธิปไตย ตกอยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของคำว่า “ความมั่นคงของชาติ” ที่ถูกปลุกปั่นโดยทหารกษัตริย์นิยม (หนุนหลังโดยสหรัฐอเมริกา) ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวว่า พวกเราคนไทยกำลังอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ที่แท้จริง เพื่อกู้และฟื้นคืนประชาธิปไตยของเราคืนมา

ข้าพเจ้าหวังว่า การนำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับวิกฤติการเมืองของไทยอย่างต่อเนื่อง – กับสาธารณชนคนไทย ประชาคมนานาชาติ และประชาชนแห่งโลกทั้งหลาย  อาจจะทำให้พวกเราค้นพบวิถีแห่งสันติวิธีที่จะลดช่องว่างประชาธิปไตยติดลบของไทย และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับรากฐานของประชาธิปไตยของเรา

เพื่อสร้างให้เกิดการนำเสนอข้อมูลในวงกว้าง ข้าพเจ้าได้เปิดแผนรณรณรงค์ “แอ็คชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย”  ซึ่งพวกเราคนทำงานได้รับการสนับสนุนที่เห็นด้วยในหลักการจากผู้คนหลายพันคน ซึ่งมากกว่าที่ข้าพเจ้าได้รับในช่วงเริ่มแรกแห่งการจัดตั้งโครงการรรณรงค์เพื่อแรงงานไทยเมื่อต้นปี 2543 ทำให้ข้าพเจ้ามั่นใจว่าไม่ได้สู้อยู่ตามลำพัง

การจะพูดอะไรได้อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมาในฐานะมนุษยชาติ และในฐานะปุถุชนคนไทยคนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในท่ามกลางสภาวะการเมืองที่ยุ่งเหยิงและเสแสร้งในประเทศไทย

แอคชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย ขอกล่าวกับมิตรสหายหลายล้านคนในประเทศไทยที่พยายามลุกขึ้นสู้ กับสภาพการเมืองที่ไร้จุดหมายของไทย ว่าพวกท่านทุกคนมีเหตุผลดีๆ มากมายที่จะไม่ยอมแพ้ ทั่วทั้งโลกอยู่ในภาวะสับสน ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่ “ถ้าสู้รวมกันเราจะชนะแน่นอน!”

ในเวลานี้ ข้าพเจ้าคงต้องอยู่ที่ยุโรปสักระยะหนึ่ง แต่การทิ้งทั้งชีวิตที่เมืองไทยโดยไม่มีใครดูแล – ทั้งงาน TLC  ครอบครัว และเพื่อน และโดยเฉพาะการทดลองวิถีเกษตรอินทรีย์เพื่อการพึ่งตนเองที่ไร่เปิดใจ นำความเจ็บปวดมาสู่ข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง

ไร่เปิดใจ ได้ต้อนรับเพื่อนฝูงและสหายหลายคณะ แม้ว่าโครงการนี้จะยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่มันก็ได้สอนอะไรพวกเรามากมายเกี่ยวกับความมั่นคงเรื่องอาหารและการพึ่งตนเอง ถ้าเพื่อนๆ ท่านใดมีโอกาสไปเยือนไร่เปิดใจ ในขณะที่ข้าพเจ้าไม่อยู่ โปรดบอกข้าพเจ้าได้เลย  ข้าพเจ้าจะเขียนเกี่ยวกับไร่เปิดใจในจดหมายฉบับหน้า

ข้าพเจ้าขอจบจดหมายฉบับนี้ว่า ข้าพเจ้าต้องกล่าวว่า คงไม่สามารถดำเนินชีวิตให้ผ่านมาได้ในช่วงสี่ปีแห่งความหนักหน่วงทางการเมืองไทย โดยปราศจากการสนับสนุนและช่วยเหลือจากเพื่อนฝูงหลายคน และถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากริกู

ขอให้ทุกท่านสนับสนุนการต่อสู้ของแอ็คชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย
 

                                                                                                                         ด้วยความสมานฉันท์
                                                                                                                                        เล็ก 

 

.............
หมายเหตุ – กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
นับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 จำนวนของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มสูงขึ้นถึง 2,000%

คำถามสำคัญที่ว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องมีสถาบันกษัตริย์หรือไม่ หรือมีสถาบันกษัตริย์ในรูปแบบใด คำตอบอาจจะขึ้นอยู่กับการเลือกตั้ง และการตัดสินใจของคณะรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมืองด้วยกระบวนการเลือกตั้ง ฯลฯ แต่ปีนี้เป็นปี 2553 คงไม่ยากนักที่จะทำความเข้าใจได้แล้วว่า ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์และประเทศชาติ ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ในประเทศไทยกฎหมายหมิ่นฯ เป็นเพียงเครื่องมือที่จะปิดปาก กดทับ และปิดกั้นแรงบันดาลใจของชนชั้นล่างในสังคม มันมีประโยชน์ต่อคนกลุ่มเล็กที่่เห็นแก่ตัว ได้รับอภิสิทธิอันสูงยิ่ง และกลุ่มชนช้ันสูงที่กุมอำนาจเท่านั้นเอง มันไม่ได้ส่งผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ประการใดเลย เป็นเพียงเครื่องมือที่จะสร้างหลักประกันว่าทั้งประชาธิปไตยและการพัฒนาเพื่อคนส่วนใหญ่ในประเทศไม่สามารถจะกระทำได้อย่างยั่งยืน

การยังคงใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพรังแต่จะยิ่งกีดก้ันสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ออกห่างจากประชาชนมากยิ่งขึ้น – มันเป็นเพียงหลักประกันว่า จะทำให้สถาบันกษัตริย์ตกต่ำลงไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง

 

 

 

 

ที่มา : จากบล็อก http://hirvikatu10.net/timeupthailand/?page_id=425&lang=th
อ่านฉบับภาษาอังกฤษ ได้ที่ : http://hirvikatu10.net/timeupthailand/?p=416

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 1-7 พ.ย. 2553

Posted: 08 Nov 2010 11:58 PM PST

กกร.เสียงแตกตีกลับข้อเสนอเข้าร่วม กก.ไตรภาคี

1 พ.ย. 53 - นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการไตรภาคี คงต้องพิจารณาว่าคณะกรรมการชุดนี้ทำงานอย่างไร มีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงตรงไหน บ้าง ซึ่งการให้กกร.เข้าไปมีส่วนร่วมต้องเข้าไปเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง แต่ขณะนี้ก็เห็นว่าคณะกรรมการยังทำงานดี จึงไม่เห็นด้วยที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม และเอกชนเองก็คงเข้าไปทำทุกอย่างไม่ได้

"คนที่ต้องการเข้าไปคงจะมีเหตุผล อาจจะเข้าไปรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง แต่กกร.ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และการจะเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกเรื่องก็คงจะเป็นไปไม่ได้"นายดุสิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ให้กลับไปศึกษาข้อเสอนมาใหม่ โดยให้พิจารณาว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการไตรภาคีมีความเหมาะสมและ เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือไม่ เพราะหากเห็นว่าคณะกรรมการชุดเดิมมีจุดอ่อนอะไรค่อยเสนอมาแล้วจึงเข้าไป เสริม เพื่อให้การทำงานมีความเข้มแข็งขึ้นมากกว่า

สำหรับข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอ ของส.อ.ท. เพื่อให้กกร.หาแนวทางผลักดันให้ผู้แทนจากกร. ได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการไตรภาคี ทำหน้าที่ดูแลบริหารจัดการแรงงานของประเทศ

ขณะเดียวกันที่ประชุมได้หารือถึง มาตรการเยียวยาผลกระทบหลังน้ำลด โดยให้แต่ละหน่วยงาน เช่น หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และสมาคมธนาคารไทยไปสำรวจดูว่าในแต่ละจังหวัดมีปัญหาอะไรและต้องการให้ช่วย เหลืออะไรบ้าง โดยจะเริ่มต้นเงินช่วยเหลือด้วยวงเงินจำนวนหนึ่งเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่ เกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การช่วยเหลือเฉพาะหน้าที่ผ่านมาได้ทำไปแล้ว ต่อจากนี้ก็จะให้แต่ละจังหวัดไปสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้นมาต้องการให้ช่วยเหลือ อะไรบ้างแล้วจัดลำดับความสำคัญมา คาดว่าน่าจะเห็นผลภายใน 2 สัปดาห์นี้ ซึ่งเรื่องนี้สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องรอเข้าที่ประชุม กกร.ครั้งหน้า เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเพราะถ้าต้องรอรัฐบาลช่วยเหลือคงไม่ทันเพราะรัฐบาลเองก็ มีงานเยอะ แต่คงจะค่อยไปประสานในเรื่องของข้อมูลกันมากกว่า

ส่วนเรื่องการดูแลค่าจ้างของลูกจ้าง รายวันที่ให้มีการจ่ายค่าจ้างเต็ม 100%นั้น ไม่ได้มีการหารือกันในที่ประชุม เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่แต่ละบริษัทที่จะต้องเข้าไปดูแล และคิดชื่อว่าคงไม่มีใครเอาเปรียบผู้ที่เดือดร้อน

นอกจากนี้ ที่ประชุมจะเสนอรัฐบาล เรื่องภาษีสิ่งแวดล้อมที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการในแต่ละจังหวัด ว่าก็ควรนำเงินภาษีที่เก็บได้ในแต่ละจังหวัดมาบริหารจัดการแก้ปัญหาใน จังหวัดนั้นๆไม่ใช่นำมาเฉลี่ยแล้วกระจายไปจังหวัดอื่น เพื่อมห้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ชขัดเจน และทั่วถึงพื้นที่ที่เกิดปัญหาอย่างแท้จริง

(โพสต์ทูเดย์, 1-11-2553)

ขู่ลอยแพคนงาน 2 แสนราย รง.อ้างเจ๊งค่าบาท-จี้รัฐอัดยาแรง

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในไตรมาส 1 ของปี 2554 มีแนวโน้มที่แรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และรองเท้าไม่ต่ำกว่า 1-2 แสนคน อาจถูกเลิกจ้าง เพราะผู้ประกอบการเริ่มประสบปัญหาขาดทุนจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้บริษัทเริ่มปฏิเสธคำสั่งซื้อ(ออเดอร์) จากประเทศคู่ค้า เพราะปรับขึ้นราคาสินค้าในรูปแบบสกุลเงินสหรัฐไม่ได้

นอกจากนี้บริษัทหลายแห่ง โดยเฉพาะทุนข้ามชาติได้ทบทวนแผนขยายกำลังผลิตในไทย ซึ่งเกรงว่าจะกระทบต่อการจ้างงานของไทย โดยนักลงทุนรอความชัดเจนเกี่ยวกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ถ้าเงินบาทยังแข็งค่ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาคคงไม่มีรายใดกล้าผลิตสินค้า เพราะยิ่งผลิตเพื่อส่งออกมากก็ยิ่งขาดทุนเพิ่มขึ้น โดยวิกฤติค่าเงินครั้งนี้ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องลดต้นทุนและกำลังผลิตลง รวมทั้งจำเป็นต้องปลดคนงานเพื่อประคองกิจการไว้สู้ใหม่ในอนาคต

"ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศ ไทย(ธปท.) ได้ใช้เงินแทรกแซงค่าบาทไปมหาศาลแล้ว แต่สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการตอนนี้ คือ ให้กระทรวงการคลังและ ธปท.เร่งประกาศใช้มาตรการที่รุนแรงขึ้นในการสกัดค่าบาท เพราะถ้านำเงินไปแทรกแซงมากเกินไปก็อาจจะเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติเหมือนปี 2540" นายสมมาต กล่าว

ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ในฐานะเลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ถ้าภาครัฐไม่มีมาตรการในการสกัดเงินทุนไหลเข้า และการแข็งขึ้นของค่าเงิน คาดว่าผู้ประกอบการสิ่งทอที่เป็นขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี 40% หรือราว 500 ราย ซึ่งมีการจ้างงานราว 2 แสนคนคงต้องปิดกิจการในไตรมาส 1 ของปี 2554 แน่นอน เพราะขณะนี้ต้องจำหน่ายสินค้าในราคาขาดทุนแล้ว แม้จะต่อรองขอขึ้นราคาสินค้าแล้ว แต่คู่ค้ายังปฏิเสธ และยังหันไปสั่งซื้อสินค้ากับประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม นอกจากนี้ต้นทุนวัตถุดิบก็สูงขึ้น 5% ล้วนเป็นปัจจัยที่กระทบต่อการส่งออกสิ่งทอ

"ปีนี้เรากำหนดราคาส่งออกที่ 32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ปีหน้าต้องขายที่ 29 บาท เฉือนกำไร 5-10% ทิ้งไป เพื่อรักษาลูกค้าและตลาด ถ้าเงินบาทยังแข็งค่าอย่างนี้ปี 2554 มูลค่าส่งออกเครื่องนุ่งห่มจะหายไป 8,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้ลดลงแล้ว 1,000 ล้านบาท" นายวัลลภ กล่า

(แนวหน้า, 1-11-2553)

เชียงรายกวาดล้างต่างด้าว 193 คนที่แม่สาย

3 พ.ย. 53 - ที่ สภ. อ.แม่สาย จ.เชียงราย นายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าฯ เชียงราย พร้อมด้วย พล.ต.ต.ทรงธรรม อัลภาชน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.เชียงราย และกำลังเจ้าหน้าที่ ทหารชุดเฉพาะกิจกองกำลังผาเมือง กองทัพภาคที่ 3 ร่วมกันแถลงกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรวจคนเข้าเมือง ในการกวาดล้างแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ก่อนช่วงของเทศกาลท่องเที่ยว โดยทางเจ้าหน้าที่ ได้รับการร้องเรียนว่า มีแรงงานต่างด้าว ชาวพม่า ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองเข้ามาทำงาน ใน อ.แม่สาย เป็นจำนวนมาก ผลการกวาดล้างตามพื้นที่ต่างๆ สามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวชาว พม่า ลาว ที่ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองถึง 193 คน โดยส่วนใหญ่มี อายุ 15-45 ปี และไม่มีใบอนุญาตในการทำงาน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะมีการสอบปากคำและทำประวัติ จากนั้น จะทำการผลักดัน ตามขั้นตอนของทางเจ้าหน้าที่ต่อไป

(ไอเอ็นเอ็น, 3-11-2553)

โรงงานนรกคนงานขอลากิจไม่ยอมให้ใบลาแต่ให้เขียนใบลาออกแทน

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 ได้รับการเปิดเผยจากนางสาวสุรินทร์ พิมพา เจ้าหน้าที่ฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ของกลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อย-อ้อม ใหญ่ว่า คนงานหญิงแผนกเย็บผ้า บริษัทรัตนาภรณ์ ตั้งอยู่ย่านอ้อมใหญ่ ว่าเมื่อราวปลายเดือนกันยายนเคยถูกใบเตือนเนื่องจากลากิจไปรับลูกที่ภาคใต้ เพื่อที่จะไปส่งให้แม่ที่จังหวัดอุดรแต่ทางบริษัทไม่ยอมให้ใบลาแต่กลับให้ใบ เตือน ต่อมาเมื่อวันที่30ตุลาคมได้ไปขอใบลาเพื่อลาไปส่งลุกที่อุดรทางฝ่ายบุคคลไม่ ยอมให้ใบลาแถมขู่ว่าหากหยุดงานจะให้ออกจากงาน

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนผู้ร้องได้โทรไปแจ้งต่อฝ่ายบุคคลว่าจะเข้ามาทำงานในวันที่ 3 พฤศจิกายนแต่ทางฝ่ายบุคคลตอบกลับมาว่าให้มาเขียนใบลาออกแทนโดยอ้างว่าเป็น การโดนซ้ำใบเตือนถ้าไม่เขียนใบลาออกจะไม่โอนเงินค่าจ้างที่ทำค้างไว้ให้

ผู้ร้องยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ทางบริษัทแห่งนี้ไม่ยอมให้ลูกจ้างใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทน สวัสดิการต่างๆ ก็ไม่มีแถมบังคับให้ทำงานล่วงเวลาถ้าภายใน 15 วันไม่ทำงานล่วงเวลา 3 วัน จะถูกออกใบเตือนหรือตัดไม่ให้ทำงานล่วงเวลาตลอด 1 งวด (15 วัน) การจ่ายเงิน

นางสาวสุรินทร์ พิมพาให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า นายจ้างไม่สามารถอ้างเหตุใดๆในการที่จะไม่จ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเมื่อ ลูกจ้างได้ทำงานไปแล้วส่วนกรณีที่ออกใบเตือนให้ลูกจ้างเหมือนจงใจกลั่นแกล้ง โดยไม่เห็นแก่ความจำเป็นของลูกจ้าง จึงแนะนำให้ลูกจ้างไปทำงานปกติอย่าเขียนใบลาออกเพราะจะเสียสิทธิหลายอย่าง ทั้งค่าชดเชยและประกันว่างงานถ้านายจ้างปฏิเสธไม่ยอมให้เข้าทำงานให้ไปร้อง ต่อสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน จ.นครปฐมและให้บันทึกไว้เป็นหลักฐานเพื่อยืนยันว่า นายจ้างได้เลิกจ้างแล้วจะได้เรียกร้องค่าชดเชยการถูกเลิกจ้างและค่าบอกกล่าว ล่วงหน้า  ส่วนในกรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายทางกลุ่มสหภาพแรงงานย่านฯจะแจ้งให้ สวัสดิการคุ้มครองแรงงาน

รายงานโดยมงคล ยางงาม ศูนย์แรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ (voicelabour.org, 4-11-2553)

อดีตคนงานเรือประมงวอนผู้เกี่ยวข้องยุติอุทธรณ์หลังสู้คดีนาน 11 ปี

3 พ.ย. 53 - อดีตคนงานเรือประมง เรียกร้องกรมการจัดหางานยุติการอุทธรณ์ หลังศาลแพ่งมีคำสั่งจ่ายเงินชดเชยวันนี้ แกนนำคนงานเผยต่อสู้เรียกร้องนาน 11 ปี ชนะทุกศาล แต่ยังไม่ได้รับเงินชดเชย  วอนผู้เกี่ยวข้องเร่งหาทางช่วยเหลือ

อดีตคนงานที่เคยถูกหลอกไปทำงานเรือ ประมงในน่านน้ำสากล ตั้งแต่ปี 2542 กว่า 70 คน เดินทางมาเรียกร้องให้กรมการจัดหางาน ยุติการอุทธรณ์คดี หลังศาลแพ่ง แผนกปกครอง มีคำพิพากษาวันนี้ ให้กรมการจัดหางาน จ่ายเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้คนงาน คนละ 60,000 บาท

นายวิโรจน์ จิตรพรหม แกนนำอดีตคนงาน กล่าวว่า หลังคนงานกว่า 500 คน ถูกหลอกไปทำงานตั้งแต่ปี 2542 โดยเสียค่าใช้จ่ายคนละ 200,000 บาท แต่กลับถูกนำไปทิ้งที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลี  คนงานได้ต่อสู้เรียกร้องมาตลอด ทั้งการฟ้องศาลแรงงาน และศาลปกครอง  ซึ่งทั้ง 2 ศาล มีคำสั่งให้คนงานชนะคดี โดยศาลแรงงานได้ให้ บริษัทจัดหางาน เชิดชัยไพบูลย์ จำกัด และบริษัท เอสพีเอ็น อุดร จำกัด จ่ายเงินค่าใช้จ่ายคืนให้คนงาน 204 คน ๆ ละ 200,000 บาท แต่บริษัท เหล่านี้ไม่มีเงิน จนต้องฟ้องยึดทรัพย์ เพื่อนำทรัพย์สินขายทอดตลาด  แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่เคยได้รับเงินชดเชย ขณะที่ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้กรมการจัด หางานจ่ายเงินชดเชยให้คนงาน เพราะผิดพลาดในการยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันบริษัท แต่กรมการจัดหางานได้ยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุดเมื่อเดือนเมษายนปี 2552

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ล่าสุด วันนี้ฟ้องศาลแพ่ง แผนกปกครอง มีคำสั่งให้กรมการจัดหางานจ่ายเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้คนงาน เฉพาะที่ผู้ฟ้องร้องรวม 70 คน ๆ ละ 60,000 บาท หลังสู้คดีแพ่งนาน 5 ปี จึงอยากเรียกร้องให้กรมการจัดหางาน ยุติการอุทธรณ์ และจ่ายเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้คนงานทันที เพราะตลอดกว่า 11 ปีที่ผ่านมา คนงานต้องประสบกับความทุกข์ยากแสนสาหัส หลายคนต้องเสียชีวิต บางคนครอบครัวแตกแยก ถูกยึดบ้าน และที่ดินทำกินที่นำไปจำนองนายทุน

ด้าน นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า รู้สึกเห็นใจคนงาน แต่ตามระเบียบ กระทรวงการคลัง จะต้องของดูคำพิพากษาศาล และความเห็นจากอัยการอีกครั้ง เพราะหากยุติการอุทธรณ์ และจ่ายเงิน จะต้องมีการฟ้องร้องจากเจ้าหน้าที่ที่บกพร่อง เพื่อนำเงินมาคืนหลวง หากคดียังไม่ถึงที่สุดก็อาจถูกเจ้าหน้าที่ใช้เป็นข้ออ้างฟ้องร้องได้เช่นกัน

(สำนักข่าวไทย, 3-11-2553)

แรงงานพม่าเดินทางกลับไปเลือกตั้ง 7 พ.ย.นี้

แรงงานชาวพม่า ที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศจำนวนมากต่างทยอยเดินทางกลับบ้าน ในจังหวัดท่าขี้เหล็ก ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย หลังจาก ได้ทำการพิสูจน์สัญชาติและลงชื่อสงวนสิทธิ์ เพื่อกลับไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งรัฐบาลพม่า ที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้

ซึ่งจากการสอบถามชาวพม่าหลายคน ระบุว่า ชาวพม่า ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงสิทธิ์และความสำคัญของการเลือกตั้ง ที่จะมีขึ้นครั้งนี้แต่อย่างไร เนื่องจาก ขาดการประชาสัมพันธ์ แม้ก่อนหน้านี้ ทหารพม่า จะเข้าสำรวจชื่อ และจำนวนประชากรในแต่ละครอบครัว แต่ก็ไม่ได้แจ้งให้ทราบถึงการเลือกตั้ง ทำให้เชื่อว่า การเลือกตั้งดังกล่าว ประชาชนอาจไปใช้สิทธิ์จำนวนไม่มากนัก เพราะยังสับสนว่า ใครมีสิทธิ์ที่จะลงคะแนนได้บ้าง และบางส่วนก็ไม่กล้าไปใช้สิทธิ์ เพราะเกรงจะถูกจับ หรือ ตรวจสอบประวัติ โดยเฉพาะการออกจากพื้นที่มาทำงานในประเทศไทยเป็นเวลานาน

แต่อย่างไรก็ตาม ภายในพม่าเอง ก็ได้มีการเสริมกำลังทหาร เข้ามาประจำการ เพื่อดูแลความสงบในการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้มีการบังคับ หรือ จำกัดสิทธิ์ของชาวพม่า ในด้านต่าง ๆ ยังสามารถใช้วิถีชีวิตประจำวันได้ ตามปกติ

(ไอเอ็นเอ็น, 5-11-2553)

ผู้นำแรงงานวอนนายจ้างช่วยเหลือคนงานประสบภัยน้ำท่วม

5 พ.ย. 53 - น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในหลายจังหวัดขณะนี้ ส่งผลผู้ใช้แรงงานจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจากการขาดรายได้เนื่องจากโรง งานหลายแห่งต้องหยุดกิจการชั่วคราว ขณะที่บ้านพักของผู้ใช้แรงงานจำนวนมากถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย จึงขอร้องสถานประกอบการ และนายจ้าง ที่มีความพร้อมให้ช่วยเหลือคนงานในการจ่ายเงินค่าแรง หรือเงินชดเชยบางส่วน ในระหว่างที่สถานประกอบการหยุดกิจการ หรือคนงานไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้เนื่องจากน้ำท่วม แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ จะเปิดช่องให้สถานประกอบที่ประสบภัยพิบัติ ไม่ต้องจ่ายค่าแรง หรือเงินชดเชยก็ตาม  เพื่อให้คนงานสามารถผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ได้

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังขอเสนอให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ให้ครอบ คลุมมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาผู้บริหาร สปส. เตรียมนำเงินไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ เพื่อปล่อยสินเชื่อกับผู้ประกันตนที่ต้องการจะซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับ ความเสียหายจากน้ำท่วมรายละไม่เกิน 50,000 บาท จึงเสนอให้มีการปล่อยสินเชื่อบุคคลให้กับผู้ประกันตนที่แม้จะบ้านเรือนไม่ ได้รับความเสียหาย แต่ได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้เพราะต้องหยุดงาน โดยให้กู้รายละไม่เกิน 5,000 บาท เพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิตด้วย 

ด้าน นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน  เปิดเผยว่า ล่าสุดศูนย์ปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วป้องกันแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน ได้รวบรวมข้อมูลสถานประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ณ วันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีสถานประกอบการประสบอุทกภัยแล้ว  1,891 แห่ง ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน 145,241 คน โดยเป็นผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆรวม  20 จังหวัด อาทิ จ.พระนครศรีอยุธยา ลูกจ้างเดือดร้อนมากที่สุดจำนวน 53,592 คน สถานประกอบการประสบภัย 387 แห่ง รองลงมาคือ นครราชสีมา ลูกจ้างเดือดร้อน 42,165 คน สถานประกอบการประสบภัย 421 แห่ง และปทุมธานี ลูกจ้าง เดือดร้อน 24,264 คน สถานประกอบการ 276 แห่ง  อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้ที่ล่าสุดประสบกับอุทกภัยและวาตภัยอย่างหนัก ยังอยู่ในระหว่างการติดตามสถานการณ์

(สำนักข่าวไทย, 5-11-2553)

วุฒิสภาขยายเวลาลงมติวาระ 2-3 ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย

ในจันทร์ 8 พฤศจิกายน 2553 วุฒิสภาเตรียมพิจารณาเรื่องขอขยายเวลา ลงมติวาระ 2-3 ร่างพรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพ แวดล้อมในการทำงาน พ.ศ….ออกไปอีก จนถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 แม้ว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญ วุฒิสภา จะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ตาม!
 
กว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2553 ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 10 สมัยสามัญนิติบัญญัติ ได้ลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 ร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ…. และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับนี้ จำนวน 29 คน จากเริ่มต้นวันที่ 5, 12, 19, 26 ตุลาคม จนถึง 1 พฤศจิกายน 2553 บัดนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว
 
ทั้งนี้จะมีการบรรจุวาระเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภา อีก ครั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 อย่างไรก็ตามเป็นที่แน่นอนแล้วว่าในวันดังกล่าว ที่ประชุมวุฒิสภาจะยังไม่พิจารณาร่างพรบ.ฉบับนี้เพื่อลงมติในวาระ 2-3 ตามขั้นตอนทางนิติบัญญัติต่อไป แต่จะมีการเสนอให้เลื่อนการพิจารณาออกไปอีกจนถึงวันครบกำหนด คือวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งเป็นวันปิดสมัยประชุมสภานิติบัญญัติพอดี

แต่อย่างไรก็ตามยังถือว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะในหมวด 7 มาตรา 52 ยังคงระบุเหมือนเดิมตามร่างที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรว่า ให้มีสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทั้งนี้ให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรี ทั้งนี้ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ (ดูเอกสารหน้า 38)
 
ดูร่างพรบ.ฉบับคณะกรรมาธิการวุฒิสภาได้ที่ http://voicelabour.org/wp-content/uploads/2010/11/safety_ACT_draft_senate.pdf
 
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :  บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ (ป่าน) ฝ่ายข้อมูลเชิงนโยบายและสื่อสารสังคม แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน และปัจจุบันยังทำหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการ ขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายสาธารณะระดับชาติ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  Email: prachachon_thai@hotmail.com และ policy.communicate@gmail.com 

(นักสื่อสารแรงงาน, 6-11-2553)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เพ็ญ ภัคตะ: ตอบคำถามให้ความชั่ว

Posted: 08 Nov 2010 08:47 PM PST

(๑. คำถามของความชั่ว)

มาจากไหนกันเล่าผู้เฒ่าเอ๋ย เป็นครั้งแรกที่เคยเข้าเมืองหลวง
คนบ้านนอกคอกตื้อสะดือกลวง  ไยมาทวงสิทธิิเสรีธรรม

เป็นผู้ก่อการร้ายมิใช่หรือ  แถมยังถืออาวุธเตรียมกระหน่ำ
พวกบั้งไฟหลาวแหลนไม้ไผ่ลำ  มายี่ย่ำย่านไฮโซให้มัวซัว

นึกอย่างไรถึงจ้องอยากล้มเจ้า   พวกหูเบางี่เง่าถูกเป่าหัว
ไม่เคารพสถาบันชอบพันพัว  คอมมิวนิสต์คิดชั่วไม่ภักดี

รับเงินจากทักษิณมากี่ร้อย  ขนชาวดอยต่างด้าวมาถึงนี่
ทิ้งไร่นาสาโททำไมมี  รีบกลับไปเดี๋ยวนี้ฤดูนา

ฟังปราศรัยรู้เรื่องหรือนั่งหลับ  จ้องขยับเท้าตบเหมือนผีบ้า
หลงคารมณัฐวุฒิสุดระอา  พวกแม่ยกยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุ

ยุบสภาเพื่อใครไม่รู้ชัด  ยอมเบียดเสียดเยียดยัดใต้เต๊นท์ผุ
แผนโรดแมพรับไหมเลิกมุละทุ  กลับสาธุแกนนำให้บงการ

เขาจะยิงกันแล้วยังนั่งอยู่  ทำไม่รู้ไม่ชี้พลีสังขาร
คนอะไรดื้อดันอันธพาล  หรือแกถูกจ้างวานให้มาตาย

(๒) ตอบคำถามให้ความชั่ว

มาจากบ้านภูดอยแดนอีสาน  ถิ่นกันดารปักษ์ใต้จรดเหนือ
คนบ้านนอกคอกดินเคยกินเกลือ รวมตัวเมื่อชาติไถ่ถามความเท่าเทียม

ถูกประณามทรามโฉดชนชั้นชั่ว  หลงหน้ามืดตามัวเขาวัวเสี้ยม
เถอะจึงจนแต่หัวใจจักไม่เจียม  ยิ่งกว่าไฟไหม้เกรียมเพราะโศกกรำ

ใครกันแน่จอมโจรชอบโหนเจ้า  หัวถูกเป่าให้แบ่งคนชนสูง-ต่ำ
เคยเคารพสถาบันพลันฟ้าดำ ถูกปรักปรำคอมมิวนิสต์จิตยินดี

ไม่รู้จักทักษิณรับสินบาท  นับแบ็งค์ขาดโบกรถไฟโหนชั้นสี่
ลัวะกะเหรี่ยงม้งขมุเงาะกุลี  ก็คนดีคนหนึ่งยอมทิ้งนา

ไม่เคยฟังปราศรัยในชีวิต  หูถูกปิดการเมืองเรื่องซ้ายขวา
พลันลิ้มฤทธิ์พิษภัยในสภา  ก่อนนี้เข้าคูหาคิดว่าพอ

ยอมอั้นฉี่อั้นอึแม้อึดอัด  อัตคัตลุกนั่งอยากฟังต่อ
รักโรงเรียนผ่านฟ้าน้ำตาคลอ ชีวิตเรานี่หนอขอเรียนรู้

ห่ากระสุนไอ้โม่งกระหน่ำร่าง  ตีนตบคว้างข้างข้าวกล่องยังกองอยู่
เฮือกสุดท้ายประจักษ์ใจใครฆ่ากู  วิญญาณเศร้าเฝ้าเพ่่งดู..ศัตรูเดียว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

น้ำท่วม (ปาก) ธรรมชาติ (ไม่ได้) ลงโทษ

Posted: 08 Nov 2010 03:26 PM PST

 
ปีนี้น้ำนอง (ล้น) เต็มตลิ่ง มาก่อนวันเพ็ญเดือนสิบสองไปกว่าหนึ่งเดือน สถานการณ์น้ำท่วมมีจังหวัดประสบภัย 39 จังหวัด 381 อำเภอ 2,803 ตำบล 24,294 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,786,804 ครัวเรือน 5,961,812 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 4,128,373 ไร่ พบผู้เสียชีวิต 116 ราย (1) น้ำท่วมครั้งนี้ได้เกิดกระแสวาทกรรมซ้ำซากว่าทุกข์ภัยความเสียหายที่ชาวไทยได้รับกันอยู่นี้เป็นเพราะ “ธรรมชาติลงโทษ” 
 
ที่ธรรมชาติลงโทษเนื่องมาจากการตัดไม้ทำลายป่า ใช้ชีวิตอย่างรังแกวิถีทางธรรมชาติทำให้เกิดความผันผวนปรวนแปรของฤดูกาล ส่งผลให้ฝนตกหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลานานทำให้ขาดแนวกั้นกระแสน้ำหลาก ดินดูดซับไม่ทัน น้ำฝนไหลลงพื้นราบอย่างรวดเร็ว ความแรงของน้ำทำลายต้นไม้ อาคารบ้านเรือน ถนน สะพาน ทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล บางพื้นที่น้ำท่วมขังและเอ่อนอง เกิดจากน้ำล้นตลิ่งมีระดับสูงกว่าปกติ ทำให้การคมนาคมชะงัก เกิดโรคระบาด ทำลายสาธารณูปโภคและพืชผลการเกษตร 
 
อันที่จริง “ธรรมชาติไม่ได้ลงโทษ” เพียงแต่มันเป็นวัฏจักรของธรรมชาติ ที่ต้องปรับสมดุลอยู่เสมอสิ่งใดมากไปหรือน้อยไป ก็จะปรับให้พอดี เป็นการทำให้เหมาะสม ให้พอดีกับธรรมชาติ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างคือธรรมชาติ อาทิ การมีฤดูน้ำหลากนั้นแท้จริงแล้วเป็นเรื่องดี เป็นการปรับสมดุลช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนแผ่นดิน ทำให้ดินได้รับตะกอน หลังน้ำลดการปลูกพืชจะงอกงาม ต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิมจะได้แร่ธาตุสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต
 
แต่จากภาพที่ปรากฏดูยังไงก็ไม่ใช่ “น้ำหลาก” การไหล่บ่าตั้งแต่เหนือจรดใต้ครั้งนี้ไม่มีใครเรียกน้ำหลากกันเลย มีแต่เรียกว่า “น้ำท่วม” เพราะกระแสน้ำรุนแรงเกินกว่าที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ น้ำได้พัดพาเอาก้อนหิน ต้นไม้ ท่อนซุง เศษไม้ วัชพืช โคลนตม และเลนลงไปท่วมทับที่อยู่อาศัย โรงเรือนและพืชสวน ความเสียหายของพื้นที่การเกษตรและปศุสัตว์อาจทำให้ชาวบ้านอยู่ในสภาพหมดตัว พื้นที่เศรษฐกิจอย่างอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาสินค้าจำพวกเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ เสียหายย่อยยับ
 
สาเหตุของน้ำท่วมครั้งนี้นอกจากเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ร่องมรสุมกำลังแรงเป็นเหตุให้ฝนตกชุกหนาแน่นแล้ว ปัจจัยหลักยังอยู่ที่มนุษย์เราทำให้มันเกิดขึ้น อาทิ การขยายตัวของเขตชุมชนและการทำลายระบบระบายน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นชุมชน แหล่งอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย โรงแรมและรีสอร์ตมีการถมดินปรับพื้นที่ สร้างถนน สิ่งก่อสร้างต่างๆ ขยายตัวออกไปเป็นบริเวณกว้าง เป็นเหตุให้แอ่งน้ำ หนอง บึง และลำคลองธรรมชาติทั้งหลายถูกทำลายหมดไป ที่สำคัญภายในเขตชุมชนที่ตั้งขึ้นใหม่มักไม่ได้สร้างระบบการระบายน้ำที่เหมาะสม โดยเฉพาะแถวนครราชสีมามีการรุกล้ำลำน้ำลำตะคองและลำพระเพลิง ทำให้พื้นที่ไม่สามารถเก็บกักน้ำเอาไว้ได้ เมื่อฝนตกหนักจึงทำให้เกิดน้ำท่วมขังนาน ความเสียหายย่อมตามมา
 
ยิ่งปัจจุบันเกษตรกรหันมาให้ความสำคัญการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวอาทิ ปลูกยางพารา ขิง ข้าวโพด มันสำประหลัง กระเทียม เกษตรกรมักจะโค่นไม้ยืนต้นในสวนในป่าเพราะกิ่งใบจะไปบดบังการรับแสงอาทิตย์ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชสวน แม้แต่พืชคุมดินจำพวกหญ้าก็ถูกแผ้วถางและพ่นยากำจัดเมื่อพืชหญ้าเหล่านี้แห้งก็จุดไฟเผาทำลายไม่เหลือซาก สร้างมลพิษก่อเหตุรำคราญตามมาอีก
 
โดยหลงลืมไปว่าป่าไม้เป็นแหล่งกำบังภัยช่วยลดภัยพิบัติทางธรรมชาติ นอกจากช่วยซับน้ำชะลอการไหลรุนแรงแล้ว ยังช่วยปะทะแรงฝน และแรงลมพายุให้อ่อนตัวลง ต้นไม้ยังช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์และปรับปรุงคุณภาพของดิน รากไม้ช่วยยึดดินเอาไว้จึงชะลอการทรุดตัวถล่ม ช่วยการชะล้างและสูญเสียหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ ข้อมูลจากองค์การ UNESCO (2) พบว่าถ้ามีป่าไม้ดินจะดูดซับน้ำได้ถึงร้อยละ 98 และปล่อยน้ำฝนออกมาร้อยละ 2 ถ้าไม่มีป่าไม้ดินจะดูดซับน้ำได้เพียงร้อยละ 3 และปล่อยน้ำฝนออกมาร้อยละ 97
 
จึงควรหันกลับมาให้ควรสำคัญกับการปลูกพืชผสมผสาน บริเวณไหนต้องการรักษาดินไม่ให้ถูกกัดเซาะ ก็ปลูกไผ่ ปลูกน้ำเต้าคลุมไว้ พืชจำพวกนี้เพาะง่ายแถมโตไว หากเป็นดินใหม่หรืออยู่ริมอ่างเก็บน้ำก็ใช้หญ้าแฝกปลูกยึดไว้เป็นแนวกันตะกอนสักสามชั้น ถึงฤดูฝนแฝกจะคอยดักตะกอนที่ลอยมากับน้ำให้เป็นปุ๋ย ช่วยสร้างอินทรียวัตถุให้กับพื้นดินแบบง่ายๆ อีกทั้งยังป้องกันการตื้นเขินของแหล่งน้ำได้ด้วย
 
พื้นที่ใดอยู่ติดริมน้ำปลูกพืชชายเลนน้ำจืด น้ำท่วมไม่ตาย เช่น ไผ่หนาม ไผ่นา ก้านเหลือง ไม้พุ่มหรือตะกูน้ำ ต้นไคร้ใบขาว เหมืองฝายแถบอีสานจะชอบปลูกพืชจำพวกนี้เพราะรากเป็นพังผืดแผ่รากฝอยให้น้ำได้ ปลูกง่ายยึดกับดินได้ดี แค่ตัดกิ่งเสียบ บริเวณไหนน้ำท่วมถึงก็ปลูกไม้ทนน้ำประเภทยางนา มะกอกน้ำ ต้นมันปลา ฯลฯ 
 
พื้นที่ที่มีหินทรายหรือหินแผ่นใหญ่หนาต้องปลูกพืชที่รากจะอยู่ข้างบนไม่ต้องมีรากแก้ว เช่น นิโครธ โพธิ์ ไทร ไผ่ จันผา จะเน้นการปลูกตามเชิงเขา ริมถนน ซอกหิน ริมรั้ว เพิ่มความงดงามให้ทัศนียภาพอีกทางหนึ่ง ไม้ยืนต้นหรือไม้ป่าอยู่กลุ่มที่สังเกตได้ว่าเป็นไม้ไม่กลัวร่ม แม้จะมีไม้อื่นปกคลุมมันก็สามารถเจริญเติบโตแทรกซอนแทงยอดขึ้นไปได้และทนความแห้งแล้งได้ดี ฤดูร้อนก็ไม่ผลัดใบคือปรับตัวเข้าได้กับธรรมชาติฤดูกาล ได้แก่ ไม้ตะเคียน เป็นไม้เนื้อแข็งไม่ผลัดใบ รูปทรงสูงเหมือนสน กิ่งก้านไม่รกไม่กาง
 
นอกจากอาศัยธรรมชาติแล้ว ภูมิปัญญาท้องถิ่นการปลูกบ้านในลักษณะยกพื้นสูงให้มีใต้ถุน เป็นการเปิดพื้นที่ให้น้ำผ่านมาผ่านไปได้ เป็นประสบการณ์ตรงที่ชุมชนอาศัยใกล้น้ำเขาเตรียมไว้รับฤดูน้ำหลากที่มักมาเยี่ยมทุกปี
 
ในระยะหลังผู้คนจำนวนไม่น้อยแม้รู้ว่าอยู่ในทำเลที่ลุ่ม แต่พอสร้างที่อยู่อาศัยหรือโรงเรือนกลับไม่ยกพื้นสูง มักง่ายไม่ยอมแบ่งพื้นที่ให้กับธรรมชาติบ้างเลย เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก จะไม่ให้ประสบผลเป็นทุกข์ได้อย่างไร 
 
หลังน้ำท่วมครั้งนี้ การฟื้นฟูซ่อมแซมคงต้องใช้งบประมาณอย่างมหาศาล การชดเชยของภาพรัฐแก่เจ้าของทรัพย์สินที่ถูกน้ำท่วมคงไม่พอบรรเทากับสิ่งที่ต้องสูญไปในด้านมูลค่า ยิ่งด้านสภาพจิตใจยิ่งไม่ต้องกล่าวถึง โศกนาฏกรรมครั้งนี้จึงอาจเป็นแค่เสียงเตือนจากธรรมชาติให้พร้อมรับสถานการณ์ที่อาจเป็นความวินาศครั้งใหญ่อันใกล้มาถึง
 
น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นน้ำใจไมตรีของพี่น้องชาวไทยร่วมบริจาคข้าวของและเงินจำนวนมากช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติผ่านหน่วยงานต่างๆ แม้ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปภาพรวม แต่ดูจากที่ผ่านมากรณีชาวไทยระดมเงินช่วยเหลือชาวเฮติที่ประสบภัยแผ่นดินไหว ถึงขั้นโครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ หรือ WFP ประจำภูมิภาคเอเชีย ได้มีหนังสือแสดงความชื่นชมและขอบคุณชาวไทย ที่ประเทศไทยโดยรัฐบาลไทย บริจาคเงินและข้าวสารจำนวนมากให้ความช่วยเหลือ จึงคาดว่าความช่วยเหลือน้ำท่วมภายในประเทศครั้งนี้ ต้องมียอดที่น่าบันทึกจดจำ และต้องขอยินดีในน้ำใจไมตรีเหล่านั้น
 
ในอีกด้านหนึ่งเราได้เห็นปรากฏการณ์ใหม่ สื่อมวลชนของไทยได้ทำหน้าที่มีบทบาทเป็นสื่อกลางในการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างน่าประทับใจ เรียกได้ว่าทำเอารัฐบาลซึ่งมีเครื่องไม้เครื่องมือมายมากต้องม้วนอายไปตามตามกัน และยังได้เห็นช่องทางที่ผู้คนและองค์กรต่างๆ สบโอกาสได้โชว์ความเป็นผู้ “ใจบุญ” ผสานเหตุการณ์น้ำท่วมเข้ากับการตลาด กอปรกับรัฐบาลส่งสัญญาณให้ผู้ใจบุญทราบว่าสามารถนำเงินบริจาคลดหย่อนภาษีได้ เราจึงเห็นการหลั่งไหลเข้าไป “ยกป้าย” ออกสื่อทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์อย่างมากมาย (ต้องขออภัยสำหรับผู้ที่ไม่มีเจตนาอย่างนั้น) 
 
วิลเลอร์ และแพต บาร์เคลย์ (3) จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ทำการวิจัยพฤติกรรม “การแข่งกันทำเพื่อคนอื่น” ตีพิมพ์ในวารสารพรีซีดดิงส์ ออฟ เดอะ รอยัล โซไซตี้ ออฟ ลอนดอน: ไบโอโลจิคัล ไซนส์ แสดงให้เห็นนัยสำคัญของความเข้าใจของเราที่มีต่อการร่วมมือกันในชีวิตประจำวัน
 
"คนเราให้ความสำคัญกับเงินและทรัพย์สิน รวมถึงชื่อเสียง และเต็มใจที่จะลงทุนเพื่อรักษาชื่อเสียงของตัวเอง เราคิดว่าคนเป็นแบบนี้กัน แต่ไม่เคยมีใครกำหนดเงื่อนไขที่ทำให้สามารถระบุได้ว่า นี่ล่ะคือการแข่งกันทำเพื่อคนอื่น" วิลเลอร์กล่าว
 
วิลเลอร์อธิบายว่า คนเราชอบให้เพื่อเข้าถึงบุคคลที่สาม โดยมักใจกว้างขึ้นถ้ารู้ว่าตัวเองกำลังถูกจับตาอยู่ การกระทำนี้อาจเพื่อเอาชนะใจว่าที่แฟน หรือเพื่อสร้างมิตรภาพ ความใจกว้างอย่างน่าสงสัยเป็นลักษณะหนึ่งของการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งหุ้นส่วนทางสังคม เพราะทั้งผู้ชายและผู้หญิงต่างให้ความสำคัญกับการมีน้ำใจโอบอ้อมอารี
 
งานวิจัยนี้ยังอาจครอบคลุมถึงการบริจาคเงินก้อนใหญ่ของนักธุรกิจ ดังกรณีของบิลล์ เกตส์ ประธานบริหารไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลก ที่มอบเงิน 30,000 ล้านดอลลาร์ให้กับโครงการต่อสู้กับโรคติดต่อในประเทศกำลังพัฒนา และวอร์เรน บัฟเฟตต์ อภิมหาเศรษฐีลำดับที่ 2 (ตอนนี้หล่นมาอยู่ลำดับ 3) ที่กลายเป็นผู้บริจาคเงินมูลค่ามหาศาลที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยการสมทบเงิน 31,000 ล้านดอลลาร์เข้ากองทุนบิลล์ และเมลินดา เกตส์
 
วิลเลอร์ตั้งข้อสังเกตว่า ยุคทองของการบริจาคเงินของนักธุรกิจเกิดขึ้นประจวบกับการแจ้งเกิดของมหาเศรษฐีมหาโจร "ผมไม่ได้จะบอกว่า เกตส์และบัฟเฟตต์ไม่จริงใจ แต่ตระกูลร็อคกี้เฟลเลอร์, แวนเดอร์บิลต์ และคาร์เนอกี้ต่างถูกกล่าวหาว่าเห็นแก่ตัวในประเด็นต่อต้านการผูกขาด"
 
เหตุการณ์น้ำท่วมและการบริจาคเงินเพื่อการกุศล ทำให้นึกถึงข่าวฮือฮาเมื่อไม่กี่วันมานี้ที่มีคนเคยเชื่อว่ามีเงินแล้วอาจเจอทางตัน จึงมีความเห็นตรงข้ามกับ “คนที่มองว่าเงินเป็นเป้าหมายสูงสุด ความสุขทั้งหมดของชีวิตอยู่ที่เงิน พอหมดเงินก็หมดความสุข” เอาเข้าจริง ครั้นบริจาคเงินให้พระไปแล้ว พอมีเรื่องกินแหนงแคลงใจภายหลัง เที่ยวประกาศขอเงินบริจาคคืนกว่า 4 ล้านบาท 
 
ในคำร้องยังระบุว่า (4)..... ผู้ร้องจะใช้ พยานทุกคน หลักฐานทั้งหมด ในทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งทางแพ่งและทางอาญาดำเนินการกับผู้ละเมิดเป็นรายบุคคล ในกรอบของศีลธรรมและกฎหมายจนถึงที่สุด 
 
การบริจาคช่วยแหลือผู้ประสบภัยเป็นเรื่องที่น่ายินดีหากทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และผมเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น สำหรับบุคคลหรือองค์กรที่บริจาคแล้วหวังจะนำไปลดหย่อนภาษีนั้น ขอบอก..ครับ..ขอบอก สามารถนำเงินบริจาคนั้นหักลดหย่อนได้ตามจริง (รวมกับเงินบริจาคอื่นๆ ด้วย) แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว อย่ามือเติบแล้วมาโวยวายเหมือนรายที่เพิ่งกล่าวถึงนะครับ
 
น้ำท่วมหนักครั้งนี้ นอกจากเห็นน้ำจิตน้ำใจเอื้ออารีของคนร่วมชาติ ยังได้เห็นการแย่งชิงพื้นที่สื่อ การแย่งชิงประชาชนของหลายคนหลายองค์กร ภาพบางภาพ เหตุการณ์บางเหตุการณ์ หากนึกตรองให้ดี.....
อื้อ..หือ..น้ำท่วมปาก..ครับ
 
...............................................................................................................................
 
(1) อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2553 จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(2) http://pirun.ku.ac.th/~fagisvtc/buddhism/activity/jungle1.htm
(3) ผู้จัดการออนไลน์ จาก http://board.palungjit.com/f11/%E0%.. 99-64831.html
(4) มติชนออนไลน์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1284099089&grpid=10&catid=17
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายบำนาญภาคประชาชนยื่น 3 ข้อเสนออุดช่องว่างร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ

Posted: 08 Nov 2010 03:01 PM PST

วานนี้ (8 พ.ย.53) นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน เปิดเผยว่าตัวแทนเครือข่ายบำนาญภาคประชาชนได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ... ถึงข้อเสนอต่อ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. .. ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
 
ในหนังสือระบุว่าจากการสัมมนาเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติกับการสร้างระบบบำนาญพื้นฐานที่เป็นจริง” เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมาซึ่งจัดโดยเครือข่ายบำนาญประชาชนคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ได้มีข้อสรุปตรงกันว่า แม้วัตถุประสงค์ของพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อสร้างหลักประกันทางการเงินให้แก่ประชาชนยามชราภาพเพิ่มเติมจากเงินเบี้ยยังชีพ500 บาทต่อคนต่อเดือนสำหรับผู้สูงอายุทุกคนยกเว้นข้าราชการแต่ยังมีบางจุดที่อาจทำให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่สามารถสร้างระบบบำนาญพื้นฐานของประชาชนทุกคนได้อย่างเท่าเทียมได้อย่างแท้จริง
 
นางสุจิน กล่าวว่าที่ประชุมจึงมีข้อเสนอต่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ 1.ให้พิจารณาถึงความครอบคลุมประชาชนทุกคนโดยไม่แบ่งแยกอาชีพหรือสถานภาพการทำงานโดยให้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มลูกจ้างเอกชนในระบบประกันสังคมด้วยเพราะไม่ว่าผู้ออมจะเปลี่ยนงานอย่างไรจะยังคงสามารถสะสมเงินในระบบบำนาญได้อย่างต่อเนื่อง
 
2.ความเป็นสมาชิกกองทุนการออมควรจะสิ้นสุดเมื่อเสียชีวิตเท่านั้นเพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันไปจนวันสุดท้ายของชีวิตแม้ว่าผู้ออมจะออมเงินมาน้อยก็ควรที่จะจ่ายให้เป็นบำนาญชราภาพไปตลอดชีวิตควบคู่ไปกับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเพื่อเป็นหลักประกันที่มั่นคงจนสิ้นอายุขัยเพราะหากอนุญาตให้ผู้ออมลาออกได้ก็เท่ากับหลักประกันที่มั่นคงจะหายไป
 
3.การบริหารจัดการกองทุนและการบริหารนโยบายบำนาญในภาพรวมควรมีคณะกรรมการนโยบายบำนาญแห่งชาติเพื่อกำกับดูแลกองทุนบำนาญแห่งชาติและบริหารนโยบายบำนาญในภาพรวมของประเทศเพื่อให้การสร้างหลักประกันยามชราภาพในอนาคตให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพและสอดคล้องกันในแต่ละระบบบำนาญที่มีอยู่โดยให้พิจารณาถึงการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้ที่เหมาะสมเข้าไปบริหารกองทุนอย่างเต็มความสามารถ
 
“ข้อเสนอดังกล่าวจะช่วยอุดช่องว่างของร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ... ของรัฐบาลให้สามารถสร้างระบบบำนาญพื้นฐานของประชาชนทุกคนได้อย่างเท่าเทียมทุกคนเข้าเป็นสมาชิกร่วมออมได้ ไม่แยกส่วนโดยมีการบริหารจัดการอย่างโปร่งใสและเป็นระบบ” นางสุจินกล่าว
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: ห่าฝน... พฤศจิกา

Posted: 08 Nov 2010 02:31 PM PST

 
ห่าฝน... พฤศจิกา
 
พฤศจิกาห่าถล่ม
เมืองก็จมใต้บาดาล
หรือคนมันสามานย์
ที่สั่งฟ้าถล่มเมือง
 
สายฝนเป็นสายเลือด
พายุเดือดอันครืนคราม
โลกดับชั่วโมงยาม
จึงเห็นแต่ความเป็นจริง
 
สายเลือดที่ไหลหลั่ง
ทลายทั้งเขื่อนกั้นขาม
เจิ่งนองไปทุกทาง
ที่เห็นอยู่แต่ความตาย
 
กี่ทุกข์กี่บรรเทา
ถึงความเศร้าจะเจือจาง
ธรรมชาติเคยถากทาง
นั่นคือทางอันล่มจม
 
กี่คนที่ลอยคอ
กี่คนรอความหวังช่วย
กี่ชีพที่มอดม้วย
กี่ระทวยทุกข์ระทม
 
กี่นาป่าสวนไร่
อุทกภัยถึงจะพอ
น้ำตาก็คลอๆ
จึงเห็นแต่คนยากจน
 
กี่โลภละโมบมาก
กี่ความอยากถึงจะพอ
หายนะที่เฝ้ารอ
จึงตอบโต้การลงทัณฑ์
 
กี่พายุดินถล่ม
เมืองยังจมในฝันร้าย
กี่คลื่นวาตภัย
จึงเห็นแต่ศพเรียงราย
 
กี่ซากปรักหักพัง
กี่ความหลังต้องจดจำ
ซากศพอุตสาหกรรม
นั่นคือซากประจานเมือง
 
ห่าฝนเดือนพฤศจิกา
เหมือนคุณค่าให้จดจำ
ร่องรอยความบอบช้ำ
ใช่หรือไม่…น้ำมือคน!
 
 
เที่ยงคืน ริมคลองอู่ตะเภา หาดใหญ่ ในคืนที่เมืองยังร้าง 
๔-๑๑-๕๓
ปราโมทย์ แสนสวาสดิ์ 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บันทึกของ วิสา คัญทัพ (ฉบับที่ 6) ขยายผลวิทยานิพนธ์ “จิตร ภูมิศักดิ์” ตามหาทายาทแดงหรือเหลือง

Posted: 08 Nov 2010 02:16 PM PST

ผมมีความสนใจและครุ่นคิดเกี่ยวกับการนำบทเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ ไปร้องบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ซึ่งแสดงตัวตนแจ่มชัดว่าเป็นพวก “ศักดินานิยม”) มานานแล้วว่าขัดแย้งและขัดข้องหัวใจเป็นที่สุด ทว่าหามุมที่จะอธิบายเหตุผลอย่างวิชาการไม่ได้ จนเมื่อได้อ่านวิทยานิพนธ์ของ คุณธิกานต์ ศรีนารา นิสิตระดับปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความไสวสว่างทางปัญญาก็บังเกิด เพราะมีคนที่ต้องการลบภาพ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่เป็น “นักปฏิบัติปฏิวัติ” นักรบประชาชน ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ให้กลายเป็นนักปราชญ์ นักวิชาการสามัญธรรมดานี่เอง

กล่าวอย่างถึงที่สุดคือ มีกระบวนการกีดกันความเป็นคอมมิวนิสต์ออกจาก จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้ซึ่งแท้จริงแล้วมุ่งปฏิวัติโค่นล้มทั้ง “ทุนนิยม” และ “ศักดินา” ตามประเด็นที่วิทยานิพนธ์พยายามนำเสนอภาพโค่นล้ม โดยเฉพาะ “ศักดินา” ดังกล่าว หากหายไปเสียจากจิตร ภูมิศักดิ์ได้ บทเพลงของจิตร (ซึ่งถูกคัดมาบางเพลง) ก็ย่อมได้รับการร้องรับขับขานบนเวทีพันธมิตรฯเสมือนหนึ่งเป็นพวกเดียวกันได้ และดูจะเป็นการเพิ่มศรัทธาให้องค์กรของตนเป็นอย่างมากที่มี “แสงดาวแห่งศรัทธา” อย่างจิตร ภูมิศักดิ์ อยู่ร่วมกับเสื้อเหลืองข้างเดียวกับพวกเขา หรือกระทั่งทำให้วีรชนของประชาชนเป็นวีรชนของศักดินาไปในที่สุด ขอยกตอนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ ดังนี้
 
“วิกฤตศรัทธา การล่มสลายของ พคท.และทฤษฎี “กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา” นี้ ทำให้นักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายซ้ายจำนวนมาก “ลดบทบาท” ของตนเองลงและต่างพากันหลบหน้าหลบตาผู้คนไปเยียวยาตัวเองในรูปแบบต่างๆ

ผลก็คือ มันได้เปิดพื้นที่ทางสังคมให้กับบรรดาปัญญาชนนักคิดนักเขียนอีกกลุ่มที่ไม่ เคยได้เข้าร่วมการปฏิวัติกับ พคท.ในทางตรงข้าม พวกเขาโน้มเอียงไปในทางที่ “ไม่ชอบ”, “เกลียด” หรือไม่ก็ “ต่อต้าน” พคท.และคอมมิวนิสต์ทุกชนิดด้วยซ้ำ และพวกเขานี่เองที่มีบทบาทสำคัญในการพูดและเขียนถึง จิตร ภูมิศักดิ์ ท่ามกลาง “ความเงียบ” ของบรรดานักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายซ้าย การที่บรรดาผู้ที่มีบทบาทในการพูดถึงจิตรส่วนใหญ่ในยุคนี้ เกลียดคอมมิวนิสต์ แต่ก็ยกย่องชื่นชมในความเป็นอัจฉริยะของจิตรไปพร้อมๆกัน นี่เป็นภาวะอิหลักอิเหลื่อ

ผลก็คือ พวกเขาพยายาม “กีดกัน” ความเป็น “คอมมิวนิสต์” ออกไปจากจิตรเสีย โดยใช้วิธี “เลือก” ที่จะชมเชยยกย่องเฉพาะในด้านที่เป็นอัจฉริยะทางวรรณกรรม, นิรุกติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ของเขา หรือไม่ก็หันไปพูดถึงเฉพาะชีวิตในช่วงวัยเด็กของจิตรแทน และจงใจที่จะไม่พูดถึงประวัติช่วงที่เป็นคอมมิวนิสต์ของเขา”
 
ควรเพิ่มเติมตรงนี้ว่า นักศึกษาปัญญาชนที่เคยเข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์จำนวนหนึ่ง ณ ปัจจุบันก็เข้าร่วมกระบวนการ “กีดกัน” ดังกล่าวด้วย แต่ความพยายามกีดกันเมื่อกระทำไปบนพื้นฐานแห่งการบิดเบือนความจริงมันจึงทำให้ดูไม่เนียนและไม่กลมกลืนฝืดฝืน และทั้งพวกเขาก็ร่วมมือกับศักดินาโดยเปิดเผย ขณะเดียวกันก็ต่อต้าน “ทุนนิยม” เฉพาะคนชื่อทักษิณกับพวกอย่างหน้ามืดตามัวโดยตั้งใจละเลย “ทุนนิยม” และการคดโกง คอรัปชั่นที่กระทำโดยพวกเดียวกันเอง ไปดูวิทยานิพนธ์อีกตอนหนึ่งกล่าวว่า
 
“การที่ปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยหันไปสนใจต่อกระแสลัทธิมาร์กซ์ทั้ง ๔ นี้ แม้ว่าจะทำให้พวกเขามีความขัดแย้งแตกต่างกันทางทฤษฎีอยู่มาก แต่มันก็ทำให้พวกเขามีจุดร่วมเหมือนกันบางอย่าง นั่นคือ พวกเขาเลิกสนใจประเด็น “ศักดินา” และหันไปให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์และต่อต้าน “ทุนนิยม” เป็นหลัก พวกเขามีแนวโน้มที่จะมองเห็นร่วมกันว่า สังคมไทยได้กลายเป็น “ทุนนิยม” แล้ว ไม่ใช่ “กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา” ตามที่ พคท. เสนอ

นี่น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ข้อวิพากษ์ “ศักดินา” อันทรงพลังของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ โฉมหน้าศักดินา ไทย และ ศิลปเพื่อชีวิตศิลปเพื่อประชาชน หมดความสำคัญลงไป อย่างน้อยก็ในสายตาของพวกเขาด้วย 
 
อาจกล่าวได้ด้วยว่า ทั้งปัญญาชนฝ่ายซ้าย และปัญญาชนที่ไม่ใช่ฝ่ายซ้าย ในยุค “หลัง-พคท.” แม้จะมีความแตกต่างกันอย่างมากในเรื่องของทฤษฎี แต่พวกเขามีจุดร่วมกันอันหนึ่งโดยบังเอิญ นั่นคือ เห็นว่าประเด็น “ศักดินา” ไม่สำคัญอีกต่อไป และประเด็นที่ควรครุ่นคิดให้มากคือ “ทุนนิยม” ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลจำเป็นอะไรที่ปัญญาชนยุคหลัง พคท.ที่มุ่งแต่จะวิพากษ์ต่อต้าน “ทุนนิยม” เพียงอย่างเดียว จะต้องปกป้องรักษาความเป็นคอมมิวนิสต์ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในแบบที่มุ่งต่อต้านโค่นล้มทั้ง “จักรวรรดินิยมและศักดินา” เอาไว้"
 
คำว่า “ปัญญาชนฝ่ายซ้าย และปัญญาชนที่ไม่ใช่ฝ่ายซ้าย ยุคหลัง พคท.” หากมีความคิดดังที่กล่าวมา ย่อมเป็นความคิดของปัญญาชนฝั่งเสื้อเหลือง เพราะฝ่ายเสื้อแดงนั้นแม้ชาวบ้านธรรมดาก็ ”ตาสว่าง” มองเห็นอิทธิพลของศักดินาครอบงำสังคมไทยสูงกว่า “กึ่ง” คือเกินครึ่ง เป็นสังคมศักดินาเต็มรูปแบบ ซึ่งต้องรื้อถอนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมบิดเบือนของศักดินากันครั้งใหญ่เมื่อฝ่ายประชาชนได้รับชัยชนะ ฝ่ายเสื้อแดงจึงต้องปกป้องรักษาความเป็นคอมมิวนิสต์ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในแบบที่มุ่งต่อต้านโค่นล้มทั้งจักรวรรดินิยมและศักดินาเอาไว้ 
 
ผมชื่นชม คุณธิกานต์ ศรีนรา ว่าเฉียบคมมากที่จับประเด็นนี้มาทำวิทยานิพนธ์ เพราะนี่เป็นทั้งเรื่องของการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางวัฒนธรรมอันลึกซึ้งละเอียดอ่อน และเป็นทั้งประเด็นการเคลื่อนไหวต่อสู้แบบปฏิวัติด้วยการปฏิบัติที่เป็นจริง 
 
ประเด็นวัฒนธรรมคือ กระบวนการของนักคิดนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ยุค 2500 ที่ขับเคลื่อนโดยบุคคลอย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์.(ศรีบูรพา) สุภา ศิริมานนท์,อุดม สีสุวรรณ,เปลื้อง วรรณศรี,จิตร ภูมิศักดิ์,อิศรา อมันตกุล,เสนีย์ เสาวพงศ์,สุวัฒน์ วรดิลก,(รพีพร),ทวีปวร,คำสิงห์ ศรีนอก และ ฯลฯ พวกเขาเหล่านี้ถึงที่สุดแล้วก็สู้กับศักดินาด้วยงานศิลปวรรณกรรมทั้งสิ้น ดังผลงานการประพันธ์ต่างๆมากมาย ทว่าพวกเขากลับถูกกลุ่มนิยมศักดินาเสื้อเหลือง นำเอาชื่อเสียงบารมีไปใช้เหมือนจงใจจะบิดเบือนให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มตน โดยมิคำนึงถึงข้อเท็จจริง รางวัลด้านศิลปะวรรณกรรมต่างๆนาๆ ในนามของท่านเหล่านี้ ถูกนำไปใช้เพื่อมอบให้กับนักเขียนและศิลปินที่นิยมศักดินาหรืออยู่ฟากฝั่งเดียวกับเขา กระทั่งความพยายามผูกขาดการจัดงานพิธีกรรมตามวาระต่างๆของนักคิดนักเขียนเหล่านี้ก็จงใจบิดเบือน ให้หลงลืมว่านักเขียนเหล่านี้คือผู้ต่อต้าน “ทุนนิยม” และ “ศักดินา” 
 
ประเด็นการเคลื่อนไหวต่อสู้แบบปฏิวัติด้วยการปฏิบัติที่เป็นจริง อธิบายได้ว่าหากไม่เข้าร่วมต่อสู้และลงมือปฏิบัติ อารมณ์ความรู้สึกของท่านจะเป็นอย่างหนึ่ง การออกความเห็นของท่านก็อาจจะใช่เพียงบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำตัวเป็นนักวิชาการบนหอคอยงาช้าง หรือพวกที่นั่งวิพากษ์วิจารณ์อยู่หลังไมค์ หรือซุ่มซ่อนหน้าจอคอมพิวเตอร์ในอินเตอร์เน็ต พวกเก่งแต่ปากแต่ไม่เคยลงมือปฏิบัติ เข้าร่วมชุมนุมในม็อบก็แบบขี่ม้าชมดอกไม้ พวกนี้มีอยู่จริง สนับสนุนความรุนแรง เร่งอารมณ์ให้โกรธแค้น ชอบยุยงโดยไม่ออกหน้า คนพวกนี้ไม่เคยพบกับความเจ็บปวดในชีวิตจริง ไม่มีโยนิโสมนสิการ ขาดพรหมวิหาร ไม่มีมนุษยธรรม ใช้ความรู้สึกที่มาจากจินตนาการตัดสินเหตุการณ์และผู้คน การได้เข้าร่วมการต่อสู้ที่เป็นจริงแม้เพียงครั้งหนึ่งจะทำให้เขาพบว่าจินตนาการกับความจริงเป็นคนละเรื่องกัน จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นตัวอย่างของคนที่ลงมือปฏิบัติการต่อสู้ที่เป็นจริง เป็นการยากที่จะบอกว่าจิตรเป็นนักทฤษฎีเมื่อเขาประสานการปฏิบัติตลอดชีวิตที่เห็น จิตรโดนโยนบก จิตรถูกจับกุมคุมขัง จิตรเข้าป่า จิตรเป็นคอมมิวนิสต์ จิตรสิ้นชีวิตในสภาพทหารป่า ซึ่งนี่คือการดำเนินชีวิต ขณะที่ในอีกส่วนหนึ่งก็ได้ทำงานสร้างสรรค์ทางปัญญาไปพร้อมๆกัน ด้วยงานเขียนประเภทต่างๆมากมาย และผลงานนั้นๆก็ยิ่งยืนยันความเป็นจิตร ภูมิศักดิ์ที่เป็นคอมมิวนิสต์ผู้ต่อสู้กับ “ทุนนิยม” และ “ศักดินา”อย่างชัดแจ้งเกินกว่าที่ใครต่อใครจะบิดเบือนให้เป็นอย่างอื่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พูดเรื่องนี้ไว้ชัดเจน
 
“การที่ เคร็ก บอกว่า งานเขียนของจิตรไม่เคยรับใช้พรรคนั้นก็ “ผิดข้อเท็จจริง” อีกเช่นกัน เพราะ เคร็ก ลืมไปว่า จิตรแต่งเพลงให้พรรคหลายเพลง เช่น “ภูพานปฏิวัติ”, “วีรชนปฏิวัติ” กับ “เลือดต้องล้างด้วยเลือด” ที่จิตรแต่งเพื่อยกย่องและตอบโต้ต่อการประหารชีวิต รวม วงศ์พันธ์ และเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ซึ่งเป็นสรรเสริญพรรคในเชิงสัญลักษณ์ รวมทั้งการที่จิตร แต่งเพลงมาร์ชประจำ “พลพรรคประชาชนไทยต่อต้านอเมริกา” ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี ๒๕๐๘ ตามคำ “มอบหมาย” ของ ธง แจ่มศรี สมาชิกระดับสูงของพรรค ด้วย”
 
การตั้งข้อสังเกตเป็นประเด็นเขียนวิทยานิพนธ์ของ ธิกานต์ ศรีนารา ครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีตรงที่คนเริ่มต้นเปิดประเด็นเป็นคนรุ่นใหม่ นำเสนอในเชิงวิชาการ พุ่งเป้าโต้ตอบเรื่องความสับสนของศิลปวัฒนธรรมประชาชน ในท่ามกลางสถานการณ์ของความขัดแย้งทางการเมืองแบบแบ่งขั้วเป็นเหลืองกับแดง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะกระบวนการเคลื่อนไหวศิลปวัฒนธรรมของประชาชนซึ่งเคยสืบเนื่องเป็นขบวนเดียวกันมาตลอด ได้แตกแยกออกเป็นสองแนวทางแล้วอย่างชัดเจน การหาข้อสรุปเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์อันแท้จริงของจิตร ภูมิศักดิ์ ไม่เอาศักดินา ไม่เอาทุนนิยม ใครคือทายาทศิลปะเพื่อชีวิตศิลปะเพื่อประชาชน เป็นเรื่องที่คนรุ่นต่อไปต้องศึกษาหาเหตุผลในท่ามกลางประวัติศาสตร์ที่ผิดๆมากมายในสังคมไทย ไปดูข้อสรุปสุดท้ายของวิทยานิพนธ์เรื่องนี้
 
“จิตรเป็นคอมมิวนิสต์และตายไปอย่างคอมมิวนิสต์อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ปัญญาชนยุคหลังซึ่งที่เกลียดชังคอมมิวนิสต์แต่ก็ชื่นชมในอัจฉริยภาพของจิตรไปพร้อมๆ กัน ได้ช่วยกัน “กีดกัน” ความเป็นคอมมิวนิสต์ออกไปจากชีวประวัติของจิตรเสียสิ้น หลงเหลือก็แต่เพียงฐานะของการเป็น “นักคิดนักเขียน” ผู้มีอัจฉริยภาพในด้านวรรณกรรม นิรุกติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และ “วิชาการ” เท่านั้น แน่นอนที่ว่า ความเป็นคอมมิวนิสต์ที่ถูก “กีดกัน” ออกไปจากจิตรก็คือ คอมมิวนิสต์แบบ พคท.ผู้ยืดถือในทฤษฎี “กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา” ที่มีนัยของการต่อต้านทั้ง “ทุนนิยมและศักดินา” ไปพร้อมๆ กันนั่นเอง
 
โดยการ “กีดกัน” การเป็นผู้ที่ยึดถือใน “หลักการ” ดังกล่าวออกไปจากจิตรเสีย จึงเป็นการ “ง่าย” ที่ปัญญาชนในยุคปัจจุบันผู้ซึ่งเกลียดชังทุนนิยมและ “คืนดีกับศักดินา” ไปแล้ว จะหยิบใช้จิตรสำหรับหนุนเสริมการต่อสู้ของพวกเขาอย่างไรก็ได้ โดยไม่ต้องคิดให้ตลอดว่า การอ้างจิตรของพวกเขาจะขัดแย้งต่อความเป็น “คอมมิวนิสต์” หรือขัดแย้งต่อความคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยแบบ “ถอนรากถอนโคน” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดที่ต้องการต่อต้านโค่นล้มทั้ง “ทุนนิยม” และ “ศักดินา” ของจิตรหรือไม่”
 
สุดท้าย ธิกานต์ก็ไขข้อสงสัยว่า ผู้ที่กีดกันจิตร ออกจากความเป็นคอมมิวนิสต์ที่ต้องการโค่นล้มทุนนิยมและศักดินาคือ “ปัญญาชนในยุคปัจจุบันผู้ซึ่งเกลียดชังทุนนิยมและ “คืนดีกับศักดินา”ไปแล้ว ซึ่งจะหยิบใช้จิตรสำหรับหนุนเสริมการต่อสู้ของพวกเขาอย่างไรก็ได้...” ตรงนี้คือความชัดเจนและโดนใจคนที่เคารพข้อเท็จจริงแห่งประวัติศาสตร์มากที่สุด 
 
คงไม่ต้องอธิบายว่าคนพวกไหนคือ พวก “คืนดีกับศักดินา” ในวันเวลาที่ชาวบ้าน “ตาสว่าง” แต่ปัญญาชนแกล้ง “ตาบอด” คณะกรรมการปรองดองฯอันมากมีไม่รู้กี่ชุดต่อกี่ชุดสะท้อนให้เห็นตัวตนของปัญญาชนเหล่านั้นเต็มตาอยู่แล้ว น่าชื่นใจเป็นอย่างยิ่งที่นิสิตปริญญาเอกคนนี้ เรียนคณะเดียวและสถาบันเดียวกับจิตร ภูมิศักดิ์ และน่าชื่นชมอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยให้เสรีภาพกับวิทยานิพนธ์ดีๆมีโอกาสได้นำเสนอและเผยแพร่ ขอแสดงความคารวะในวาทกรรม “ปัญญาชนที่เกลียดชังทุนนิยม และคืนดีกับศักดินา” อันทำให้มองเห็นชื่อเสียงเรียงนามของบุคคลดังว่าปรากฎชัดขึ้นในมโนภาพ
 
(5 พฤศจิกายน 2553)
 
 
หมายเหตุ: งานเขียนชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊คส่วนตัวของ วิสา คัญทัพ ประชาไทเห็นว่าน่าสนใจจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น