โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

บิ๊กจิ๋วชี้ 4 เสามีปัญหา-แนะวิธีแก้ขัดแย้ง จาตุรนต์เชื่อปชป.ไม่ยุบ-จี้ ตลก.รับผิดชอบคลิป

Posted: 12 Nov 2010 03:57 AM PST

 
12 พ.ย.53 โรงแรมเรดิสัน เวลา 9.00 น. พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทยกล่าวปาฐกถาในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “วิกฤตการณ์การเมืองกับทางรอดประเทศไทย” ว่า การพัฒนาทางสังคม การเมืองการปกครองของไทยทุกสังคม จำเป็นต้องมีหลัก 5 ข้อ คือ ความเป็นประชาธิปไตย เสรีภาพ กฎหมายที่มีมาตรฐานเดียว ความเสมอภาค และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สำหรับประเทศไทย หลังปี พ.ศ.2475 ประชาธิปไตยค่อยๆ พัฒนาเหมือนหลายๆ ประเทศ โดยสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือแก้ไขปัญาบ้านเมืองมาตั้งแต่อดีต เมื่อมีปัญหาถ้าสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จลงมาก็จบง่าย แต่ทุกคนเข้าใจว่าพระองค์ท่านอาจทรงลังเล เนื่องจากหากเสด็จลงมาอาจมีคนต่อว่า แต่ขอให้เชื่อว่าสิ่งมหัศจรรย์ในประเทศเกิดขึ้นเสมอ
 
อย่างไรก็ตาม หากสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เคลื่อนไหวสถาบันต่อมาที่จะเคลื่อนไหวดังที่เห็นมาโดยตลอดคือ สถาบันทหาร ที่ผ่านมาพวกเขาล้วนทำรัฐประหารด้วยความบริสุทธิ์ใจ ดูจากแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ก็เขียนเหมือนกันหมดทั้ง 27 ครั้ง
 
“ผมเสียดายเป็นบ้า รู้อย่างนี้ผมยึดอำนาจเสียเลยดีกว่า ถ้ายึดอำนาจแล้วรู้วิธีทำคือสร้างประชาธิปไตย ไม่ใช่ยึดทีไรทำเป็นอย่างเดียวคือฉีกรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่”
 
พล.อ.ชวลิตยกตัวอย่างกรณีร่างรัฐธรรมนูญ 40 สมัยที่เขาเป็นนายกฯ สังคมก็มีทั้งส่วนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สุดท้ายก็มีการอธิบายฝ่ายไม่เห็นด้วยให้เข้าใจว่าประเทศที่กำลังพัฒนาประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม เรามักให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญมากเกินไป เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญคือเครื่องมือในการสร้างประชาธิปไตย ซึ่งเป็นมรดกทางความคิดมาจากคณะราษฎร
 
“รัฐธรรมนูญไม่ใช่ไม่สำคัญ สำคัญ แต่อย่าหัวปักหัวปำมากนักจนจะฆ่ากันเพราะรัฐธรรมนูญ แม้แต่วันนี้จะแก้รัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้ช่วยเรื่องปรองดองแม้แต่น้อย...จะแก้ปัญหาได้ต้องทำให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริง”
 
พล.อ.ชวลิตยังเรียกร้องให้ทหารอยู่ในกรมกองและทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดโดยไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองแม้จะมีเจตนาดี ปล่อยให้การแก้ไขปัญหาเป็นหน้าที่ของรัฐบาลเช่นเดียวกับเมื่อ 20 ปีที่แล้วซึ่งมีสภาพเป็นสงครามกลางเมือง แต่ตอนนั้นแก้ได้โดยไม่ชี้หน้าว่าอีกฝ่ายคือผู้ก่อการร้ายเพียงเสนอใช้หลักเสรีภาพส่วนบุคคลก็เป็นที่ยอมรับ
 
“ทหารเป็นองค์กรที่มีทุกอย่างพร้อมและเป็นเครื่องมือ กลไกหลักของรัฐที่สำคัญามาก วันนี้น่าห่วง ตำรวจ ทหาร ศาล คุก สี่เสาหลักของบ้านเมืองมีปัญหาพอสมควร”พล.อ.ชวลิตกล่าวและว่า ตอนนี้เป็นหน้าที่ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ต้องรับผิดชอบว่าประเทศชาติจะไปทางไหน ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยเคยเสนอตอนรัฐบาลออกโรดแมพเมื่อต้นปีแล้วว่าควรเร่งแก้ปัญหาก่อนจะปะทะกัน แต่รัฐบาลก็ไม่สนใจ จนเกิดการสูญเสียซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหายากขึ้น ทั้งยังเสนอว่านายกฯ ต้องมีจิตใจความเป็นผู้นำ มองเห็นพี่น้องร่วมชาติแม้คนละพวก คนละสีว่าเป็นพี่เป็นน้อง อย่ามองเป็นอย่างอื่น แต่สุดท้ายก็ยังชี้หน้าว่าเป็นผู้ก่อการ แม้วันนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นแต่ก็ยังช้าไป
 
“วันนี้สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดในหัวใจของคนเสื้อแดง ท่านครับ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เขาเจ็บที่สุด คือการว่าเขาว่าไม่จงรักภักดี...ผมมาอยู่ตรงนี้ได้พิสูจน์แล้ว ฟังแล้ว ต่อสู้ทางความคิดแล้ว สรุปได้ว่าทุกคนจงรักภักดี แต่ความจงรักภักดีไม่ใช่ต้องป่าวประกาศและบอกว่าจะปกป้องท่าน เอ็งไปปกป้องอะไรท่านมีแต่ท่านมาคุ้มกะลาหัวเอ็ง” พล.อ.ชวลิตกล่าวพร้อมเรียกร้องว่า วิถีทางที่จะปกป้องสถาบันได้ทีที่สุดคือ มุ่งมั่นทำงานถวาย และการต่อว่าเรื่องการไม่จงรักภักดีเป็นเรื่องการเมืองที่ควรเลิกเสียที
 
เพื่อไทยชูนโยบายเศรษฐกิจ “สามหก”
สุชาติ ธาดาธำรงค์เวช อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย หากได้รับเลือกเป็นรัฐบาลจะทำอะไรบ้างในเวลา 18 เดือน โดยเริ่มต้นชี้ความต่างระหว่างรัฐบาลซึ่งตั้งโดยกลุ่มขุนนางและมาเฟีย กับรัฐบาลประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งว่า รัฐบาลขุนนางชอบให้ทาน สร้างบุญคุณ แต่รัฐบาลประชาธิปไตยเน้นให้โอกาส  รัฐบาลขุนนางและมาเฟีย มีโอกาสโกงได้ก็โกงชัดเจนกว่ารัฐบาลประชาธิปไตย รัฐบาลขุนนางมาเฟียไม่พอใจประชาชนสามารถเอาปืนมายิงได้ แต่รัฐบาลประชาธิปไตยทำแบบนี้ไม่ได้ ทำแล้วก็จะอยู่ไม่ได้ ส่วนเรื่องเศรษฐกิจรัฐบาลขุนนางและมาเฟีย เน้นโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอยู่อย่างพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ เน้นการกู้ จนกระทั่งหนี้สาธารณะปัจจุบันเทียบกับจีดีพีขึ้นมาอยู่ที่ 50% ขณะที่สมัยนายกฯ สมชายยังอยู่ที่ 34%
 
ในส่วนของพรรคเพื่อไทย สุชาติกล่าวว่ามีนโยบาย 3 เรื่องใหญ่ ซึ่งทักษิณเป็นผู้เสนอและผ่านการหารือกันบ้างแล้วคือ 1.ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน 2.ข้าวเปลือกเจ้า 5% รับจำนำเกวียนละ 15,000 บาทจากราคาปัจจุบันอยู่ที่ 7,000 บาทบวงค่าส่วนกลาง 1,000 บาท 3.คนจบปริญญาตรีรับราชการเงินเดือน 15,000 บาท
 
ส่วนนโยบายหลักวันนี้สุชาติกล่าวว่าเป็นนโยบายที่เรียกว่า 4 ปีมาร่วมสร้างความสุขกันใหม่เพื่อไทยทุกคน โดยเน้นการสร้างความปรองดอง ฟื้นฟูประชาธิปไตย แก้ไขรัฐธรรมนูญ สร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาในเวทีโลก ประกาศสงครามยาเสพติดรอบใหม่  ขณะที่วิธีการนั้นเรียกว่า “นโยบายสามหก” คือ 6 เดือนแรกเน้นลดรายจ่าย เช่น พักชำระหนี้ให้แก่ประชาชนที่มีนี้ไม่ถึง 3 แสนบาทเป็นเวลา 5 ปี ลดภาษีน้ำมัน เป็นต้น  6 เดือนที่สองเน้นเพิ่มรายได้ และ 6 เดือนสุดท้ายเน้นขยายโอกาส
 
ส่วนการจัดการน้ำอันเนื่องมาจากสถานการณ์น้ำท่วมนั้น สุชาติเสนอนโยบายเรื่องการดูแลระบบน้ำของชาติโดยไม่กู้เงินคือ  1.สร้างเขื่อนและประตูกั้นน้ำทะเลหนุนและประตูระบายน้ำรอบกทม.และปริมณฑล เพิ่มพื้นที่สีเขียว 2.สร้างแก้มลิงตามพระราชดำริบริเวณแม่น้ำสายหลัก 3.ขุดเชื่อมแม่น้ำสายหลักที่ไม่ไกลกันเพื่อผันน้ำ 4.สร้างป่าชุมชน 1 หมู่บ้าน 1 ป่าชุมชนเพื่อให้เกิดพื้นที่ชุ่มน้ำมากขึ้น 5.ปลูกหญ้าแฝกพื้นที่ต้นน้ำตามแนวทางพระราชดำริ
 
‘อชิรวิทย์’เสนอรัฐผลิตยาเสพติดดั๊มราคาเอกชน จัดโซนนิ่งผู้ใช้ยา
พล.ต.อ.อชิรวิช สุพรรณเภสัช อดีตรองผบ.ตร. กล่าวว่าในปีนี้ปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และหนักขึ้นกว่าเดิม ช่วงที่มีนโยบายชัดเจนเด็ดขาดในการปราบปรามก็กล่าวหาว่าเป็นการฆ่าตัดตอน เจ้าหน้าที่จึงพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าจับกุม เนื่องจากรัฐบาลนี้ประกาศชัดว่าจะไม่รับผิดชอบ ไม่มีการสั่งฆ่าผู้ค้ายา ขณะที่การเข้าจับกุมผู้ค้ายาแต่ละครั้งทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเสียชีวิตเฉลี่ยแล้วเดือนละ 1.5 คน นอกจากนี้ปัญหายาเสพติดก็เป็นตัวเร่งปัญหาอาชญากรรมที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี จึงขอเสนอหลักการแก้ปัญหา คือ 1.ถึงเวลาหรือยังที่รัฐจะผลิตยาเสพติดแข่งกับคนค้ายา แล้วดั๊มพ์ราคาให้เหลือ 1-2 บาท แล้วจัดโซนนิ่ง จัดเขตที่จะอนุญาตในการเสพยา เพื่อทำให้เกิด low risk low return มีการขึ้นทะเบียน ตรวจสอบได้ง่าย
 
2.หากมาตรการแรกถูกต่อต้านหนัก ขอให้มุ่งเน้นมาตรการหมู่บ้านและชุมชนเข้มแข็ง โดยต้องแก้กฎหมายลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ขยายอำนาจคณะกรรมการหมู่บ้านในการตัดสินคดีความต่างๆ จากเดิมที่กำหนดเพียงความผิดอันยอมความได้ทางคดีแพ่งให้ขยายคลุมทุกเรื่องที่เป็นโทษไม่เกิน 3 ปี เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาตัวเอง และรัฐจะสามารถประหยัดงบประมาณได้มากเนื่องจากปัจจุบันนักโทษกว่าครึ่งหนึ่งในเรือนจำมีโทษไม่เกิน 3 ปีทั้งสิ้น 3.พื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ควรใช้การศาสนานำการปกครอง 4.เน้นการสร้างครู เพื่อให้ครูไปสร้างคนที่มีคุณภาพ เพราะมันเกี่ยวโยงกับปัญหาสังคม
 
‘จาตุรนต์’ เชื่อไม่มีแก้รธน. ไม่ยุบพรรค ปชป.
จาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวว่าจุดเริ่มต้นของปัญหาเกิดจากคนส่วนน้อยที่เป็นคนสำคัญของสังคมไม่เชื่อมั่นในประชาชน ไม่ใช้วิถีทางประชาธิปไตยมาแก้ปัญหา แต่ใช้วิธีการรัฐประหารทำให้ประเทศถอยหลัง รัฐประหารครั้งนี้มีลักษณะพิเศษที่ยืดเยื้อมีกระบวนการต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ มีกลไกซึ่งมีที่มาไม่เป็นประชาธิปไตยส่วนใหญ่มาจากฝ่ายตุลาการซึ่งไม่พึงมาก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ หน่วยงานอย่าง สตง. กกต. ปปช. ยังเป็นคณะบุคคลเดิมที่ตั้งสมัยคมช. และวิฤตที่สำคัญคือ การใช้สถาบันมาทำลายฝ่ายตรงข้าม ความขัดแย้งไม่ยุติก็เพราะแบบนี้ ตอนนี้ใช้กลไกต่างๆ เกือบทุกชนิดที่มีอยู่ทำลายฝ่ายตรงข้ามและป้ายสีความผิดนี้ แต่ขบวนการประชาธิปไตยกลับขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ส่วนกลไกต่างๆ เสื่อมลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในแวดวงตุลาการ
 
ด้านการปรองดอง จาตุรนต์กล่าวว่า มีความพยายามจากหลายฝ่าย ทั้ง คอป. ทั้งการคุยกันระหว่างพรรคการเมืองกับฝ่ายความมั่นคง แต่ปรากฏว่ารัฐบาลมาเกี่ยวข้องน้อยมากอย่างน่าตกใจ การประกันตัวแกนนำและประชาชนไม่เกิดขึ้น แกนนำที่อยู่ในคุกส่วนใหญ่คือคนทีประกาศแนวทางสันติวิธี และยังมีผุ้ถูกจับกุมจำนวนมาก เพิ่งจะมีการประกันตัวไม่กี่คน
 
จาตุรนต์กล่าวต่อว่า การเลือกตั้งก็ยังมีประโยชน์ในการช่วยตัดสินว่าใครจะเป็นรัฐบาล การเลือกตั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญ ประชาชนไทยก็ติดกับการเลือกนโยบาย เลือกพรรคการเมืองแล้ว ไม่สามารถย้อนกลับไปเป็นการซื้อเสียง เลือกพรรคเล็กแล้ว แต่สุดท้ายการเลือกตั้งก็จะมีความหมายไม่เท่ากับการเลือกตั้งปกติ ในสภาพการณ์เช่นนี้ไทยกับพม่าไม่แน่ว่าการเลือกตั้งของใครจะมีความหมายมากกว่ากัน
 
แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นคือ ถ้าพรรคเพื่อไทยได้ไม่ถึงครึ่งคงได้เป็นฝ่ายค้าน เพราะคงถูกผู้มีอำนาจบังคับพรรคเล็กไปรวมกับประชาธิปัตย์ เสื้อแดงก็ต่อต้านยากขึ้น ต้องรอเขาคอรัปชั่นมากๆ รัฐบาลอยู่ได้นานหน่อย แต่บริหารประเทศไม่ได้ แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง เชื่อได้ว่าต้องมีใครโดนใบแดง ยุบพรรค ล้มรัฐบาลนั้นอีก อาจมีคนบอกว่าเขาไม่กล้าทำเพราะประชาชนไม่ยอม แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาเขาก็ทำ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าสุดท้ายจะไม่ถูกตัดสินยุบพรรค ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า “ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วอีกสักเรื่องจะเป็นไร”
 
ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญจะแก้ได้ไหม มีประโยชน์กับการปรองดองไหม จาตุรนต์ระบุว่าไม่เกี่ยวกันเลย ความคิดแก้รัฐธรรมูญก่อนการเลือกตั้งนั้นคณะกรรมการสมานฉันท์ทั้ง 2 ชุดมีแนวคิดง่ายๆ ว่ามาตราไหนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเป็นเรื่องเร่งด่วนในการแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งน่าเชื่อถือจึงเสนอแก้เรื่องการยุบพรรคไม่ให้ยุบง่ายๆ ปรากฏว่านายกฯ คัดกรองเหลือ 2 ประเด็น เรื่องเขตเลือกตั้ง และม.190 ซึ่งไม่เกี่ยวกับการแก้วิกฤตเลย นอกจากนี้การแก้รัฐธรรมนูญก็จะไม่เกิดเพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วย มีแต่นายกฯ รับปากอยู่คนเดียว ดังนั้น คงแก้รัฐธรรมนูญกันหลังเลือกตั้ง และเลือกตั้งคราวนี้พรรคต้องแข่งกันเรื่องประชาธิปไตย การปรองดอง และนโยบาย
 
หนุนพรรคเพื่อไทยทำโรดแมพปรองดองให้ชัดเจน
สำหรับการปรองดองนั้น จาตุรนต์ระบุว่าหลายเรื่องเจรจาได้ เช่น เรื่องคดีทำให้มีความยุติธรรมกับทุกฝ่าย การเจรจาปรองดองนั้นแก้ 2 ปัญหาคือ ความรุนแรง กับ การกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  แต่เรื่องที่เจรจากันไม่ได้คือ การเลือกตั้งว่าใครเป็นรัฐบาล รัฐธรรมนูญทั้งฉบับควรเป็นอย่างไร ต้องให้ประชาชนตัดสิน
 
“พรรคเพื่อไทยควรทำโรดแมพของตัวเองขึ้นมาก่อนเลือกตั้ง อธิบายเป็นข้อๆ ระหว่างนี้ก็ร่วมกับกระบวนการปรองดองไป นี่ไม่ใช่การยอมแพ้ แต่เป็นการลดเงื่อนไขความรุนแรง แต่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็ต้องทำต่อไป การพยายามของพรรคเพื่อไทยให้ได้รับการเลือกตั้งก็ต้องดำเนินต่อไป” จาตุรนต์กล่าว
 
ย้ำ ตลก.ต้องรับผิดชอบกรณีคลิปฉาว แม้ดึงคดียุบ ปชป.ยืด
เมื่อมีผู้ฟังถามถึงความคิดเห็นว่าหากเรียกร้องความรับผิดชอบให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นไปแล้วจะส่งผลให้การยุบพรรคปชป.ล่าช้านั้น จาตุรนต์กล่าวว่า ถ้าพบว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่เหมาะทำหน้าที่ก็ไม่ควรให้ตัดสินคดีใดๆ ต่อไป เราต้องคิดบนพื้นฐานหลักการยุติธรรม ไม่สามารถเอาพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวตั้งได้ ส่วนจะเกิดอะไรขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ก็ว่ากันไป
 
“จริงๆ ปล่อยให้พิจารณากันไปมีแนวโน้มรอดมากกว่ายุบ แต่ถ้าปล่อยไปมันจะเสื่อมเสียกับระบบยุติธรรมมากและจะไม่หวังพึ่งระบบอีกแล้ว”
 
ส่วนคำถามเรื่องการปรองดองกับรัฐบาลสำหรับการสูญเสียไปแล้ว 91 ศพจะเป็นไปได้อย่างไรนั้น จาตุรนต์อธิบายว่า การปรองดองคือการเจรจาว่าบ้านเมืองจะสงบคุณต้องยุติธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ไปจับมือกันเป็นรัฐบาล แฮปปี้เอ็นดิ้ง แต่มันคือทำอย่างไรให้คนบาดเจ็บ คนถูกฆ่าได้รับความยุติธรรม ทำอย่างไรให้รัฐบาลไม่จับคนส่งเดชหนักเข้าไปอีก
 
“พรรคต้องไปทำนิยามให้ชัดเจนว่าเข้าใจอย่างไร และถ้าทำให้ตรงอย่างที่ควรจะเป็นแล้วไม่ต้องห่วงว่าคนรักประชาธิปไตยเขาจะไม่เห็นด้วย” จาตุรนต์กล่าว
 
ทั้งนี้ ในงานสัมมนาช่วงนี้ขาดวิทยากร 1 คน คือ รศ.ดร.กนลา สุขพานิช ขันธปราบ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบตองแห้งออนไลน์: ตุลาการในสวนหลังบ้าน

Posted: 12 Nov 2010 02:08 AM PST

คลิปศาล รธน.ชุด 3 ร้อนๆ มาแล้วจ้า เชิญพ่อแม่พี่น้องทัศนาได้เลย......

อ้าว เฮ้ย! เรื่องของ ศรธน. มันเกี่ยวอะไรกับ ศอฉ. ละเนี่ย

อ.สาวตรี สุขศรี ดักคอเอาไว้แล้วเชียวว่าไอซีทีมีอำนาจอะไรมาบล็อกคลิป และถ้าใช้ พรก.ฉุกเฉิน ก็ถือว่ารัฐกำลังใช้อำนาจในทางมิชอบด้วยกฎหมาย และมั่วซั่วมากๆ

รัฐก็ยังอุตส่าห์มั่วซั่วใช้อำนาจ ศอฉ. ควบไอซีที ก็ตอบไม่ได้อยู่ดีว่าคุณใช้อำนาจอะไร เพราะไอซีทีไม่ได้ใช้คำสั่งศาล ตามข่าวยังบอกว่าต้องใช้เวลาอีก 1 สัปดาห์จึงจะไปขอหมายศาล

ที่บ้านผมใช้ True เจอการปิดกั้นอย่าง พยายาม เนียน ตามที่คุณทิวสน สีอุ่น เขียน ถ้ามีคำสั่งศาลชัดเจน True ก็ต้องอ้างคำสั่งศาลสิ ชิมิชิมิ

ที่ผ่านมา ศอฉ. ไอซีที ใช้อำนาจเผด็จการบล็อกเว็บจนเคยตัว ไม่ว่าการบล็อกเว็บเสื้อแดง เซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสาร คำวิพากษ์วิจารณ์การสลายม็อบเสื้อแดง แบบ ผมเห็นคนตายที่ราชประสงค์อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ โดยยังขยายความไปถึงการเซ็นเซอร์เว็บโป๊ตามระเบียบ (ของใครไม่ทราบ แต่ถือเป็นประเพณีไปแล้วที่อำนาจเผด็จการต้องปกป้องศีลธรรมอันดีงาม ทั้งที่พวกเมริงก็ไม่ได้มีศีลธรรมสูงส่งกว่าชาวบ้าน)

ทั้งหมดนั้นเรียกได้ว่าเป็นอำนาจ เผด็จการรูทีน ซึ่งไอซีทีใช้ข้อความว่า

"URL นี้ได้ถูกปิดกั้นแล้ว เนื่องจากมีคำสั่งศาลให้ปิดกั้นหรือมีลักษณะเข้าข่ายที่อาจกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรืออาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ. 2550"

อาจ ทั้งนั้นเลย อาจกระทบต่อความมั่นคง อาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ถามว่าใครเป็นผู้พิจารณาว่า อาจ ก็แค่เจ้าหน้าที่ไอซีทีหรือทหาร (ในกรณี ศอฉ.) ที่ไม่ได้มีสติปัญญาความคิดความรับรู้เหนือ netizen ทั่วไป เผลอๆ จะล้าหลังกว่าหลายโยชน์ด้วยซ้ำ ไม่ต่างจากกรรมการเซ็นเซอร์หนัง Insects in the Backyard

แต่ครั้งนี้การบล็อกคลิปศาล รธน.มันก้าวข้ามไปไกลกว่า เผด็จการรูทีนเพราะรัฐข้ามเส้นมาห้ามเผยแพร่ข้อกล่าวหาหรือข้อครหาที่มีต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นตัวบุคคล โดยเฉพาะคลิปชุด 2 ชุด 3 ที่ทำให้เต้นต้องออกมาเซ็นเซอร์อยู่ตอนนี้ มันเป็นข้อครหาต่อพฤติกรรมส่วนบุคคล โดยอ้างว่ามีการสอบเข้ารับราชการในศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ว่าข้อกล่าวหาจะจริงหรือเท็จก็แล้วแต่ นี่คือการ “แฉ” พฤติกรรมส่วนบุคคล ไม่ใช่ตัวองค์กรหรือตุลาการทั้งคณะ

รัฐยกเรื่องกล่าวหาตัวบุคคล ที่แม้จะเป็นตุลาการศาลสูงสุด มาอ้างว่า อาจกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรืออาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ได้อย่างไรครับ

การกล่าวหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามีส่วนทุจริตในการสอบเข้ารับราชการ ถือเป็นกระบวนการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่ง ในทำนองเดียวกับการตรวจสอบนักการเมือง หรือข้าราชการระดับสูง ไอซีทีอ้างได้อย่างไรว่าอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของศาลรัฐธรรมนูญ และมีผลต่อความมั่นคงของประเทศ

อ้าว ที่ผ่านมาภาพลักษณ์ศาลรัฐธรรมนูญในคดีซุกหุ้นเป็นอย่างไรล่ะ เสียไหม แล้วต้องเซ็นเซอร์การวิพากษ์วิจารณ์ไหม

ถ้าใช้เกณฑ์อย่างนี้มาปิดกั้นการตรวจสอบ ก็แปลว่าต่อไปสมมติมีคลิปลับ แฉรัฐมนตรีหรือหน้าห้องรัฐมนตรี ไปเจรจาฮั้วค่าหัวคิวถุงยังชีพ 30% หรือมีคลิปลับแฉนายทหารระดับสูง เจรจาค่าเปอร์เซ็นต์ซื้ออาวุธ แล้วผู้ถูกแฉโวยวายอ้างว่าเป็นความเท็จ ถูกใส่ร้าย รัฐโดย ศอฉ.หรือไอซีที ก็จะอ้าง ความมั่นคงต่อราชอาณาจักร มาปิดเว็บได้เช่นกัน (ชิมิชิมิ)

ที่จริงกรณีคล้ายกันนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว ในเรื่องคลิปเสียงมาร์คสั่งสลายการชุมนุมปี 52 แต่ตอนนั้นรัฐตีลูกมั่ว อาศัยกระแสสังคมไม่เชื่อว่ามาร์คสั่งการจริง อ้างว่ามีการตัดต่อ แล้วก็สรุปเองว่าเป็นความเท็จเข้าข่ายความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์

เท็จไม่เท็จใครตัดสิน ไอซีทีตัดสินเองเลยหรือ เท็จไม่เท็จต้องศาลตัดสิน และไม่ใช่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกมาปั้นหน้าขรึมขลังตัดสินเองด้วย เพราะท่านพูดในฐานะตัวบุคคลไม่ใช่ศาลบนบัลลังก์

แน่นอนว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ถูกกล่าวหา มีสิทธิที่จะโวยว่าท่านถูกใส่ร้ายป้ายสี มีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดี และมีสิทธิปกป้องเกียรติยศชื่อเสียงของตน ด้วยการร้องต่อศาลยุติธรรม ขอให้มีคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ดังกล่าว

แต่ไม่ใช่ว่า ศอฉ.หรือไอซีที ใช้อำนาจปิดกั้นให้ หรือกระทั่งไปขอคำสั่งศาลให้แบบรับเหมาทำแทน เพราะรัฐต้องไม่ก้าวล่วงเข้ามาปกป้องความเสียหายที่เป็นพฤติกรรมส่วนบุคคล ถ้าไม่อย่างนั้นทำไมคุณไม่บล็อกเว็บให้ เป๊ก-ธัญญ่า-พิ้งกี้ หรือฟิล์ม-แอนนี่ ทำไมต้องบล็อกให้เฉพาะตุลาการระดับสูง

ยิ่งไปกว่านี้นะครับ ถ้าแยกแยะให้ดีว่า คลิปศาล รธน.ทั้งหมดมี 8 คลิป คลิปที่ 6-8 เป็นการกล่าวหาตุลาการที่เป็นตัวบุคคล คลิปที่ 3-5 เป็นบันทึกการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหารือคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ แต่คลิปที่ 2 เป็นบันทึกการหารือลับระหว่าง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์กับเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ซึ่งไม่ว่าใครจะกล่าวหาอย่างไรว่าจัดฉากให้ร้ายหรือเป็นสปายเสื้อแดง แต่มันก็คือพฤติกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียต่อกระบวนการยุติธรรม โดยบุคคล 2 คน หนึ่งในนั้นเป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์

คลิปที่ 6-8 ตุลาการผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งปิดกั้น คลิปที่ 3-5 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งปิดกั้น แต่ถามว่าคลิปที่ 2 เนี่ยใครควรจะเป็นผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่ง สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญหรือ ศาลรัฐธรรมนูญเสียหายตรงไหน ถ้ามองว่าการเปิดเผยเรื่องนี้ช่วยรักษากระบวนการยุติธรรม

ฉะนั้นไอซีทีมีอำนาจอะไรไปบล็อกคลิปที่ 2 โดยเฉพาะเมื่อรัฐมนตรีไอซีที จุติ ไกรฤกษ์ คือคนของพรรคประชาธิปัตย์ และในคลิปนั้น ส.ส.ของตัวเองไปเจรจาหารือคดียุบพรรคกับเลขานุการประธาน

แฉตุลาการ=หมิ่นพระมหากษัตริย์?

เรื่องพิลึกพิลั่นที่สุดก็คือ การที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไปแจ้งความดำเนินคดี น้องปอย กับผู้ร่วมจัดทำและเผยแพร่คลิปวีดิโอ ว่าเป็นการหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม และสถาบันการเมืองการปกครองของไทย

อะไรมันจะขนาดนั้นครับ คนทั้งประเทศเขาได้ดูหมดทุกคลิปแล้ว (ปิดไม่ได้หรอก) ไม่เห็นมีตรงไหนพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่มีแหล่งข่าวศาลรัฐธรรมนูญอ้างตามหลังในมติชนว่า เพราะมีการนำไปเผยแพร่ซ้ำและปรากฎภาพ เสียงแทรกไปในคลิป ที่ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ด้วย

ถ้าจะอ้างกันขนาดนั้นก็ตามใจ แต่อยากถามว่าได้คิดถึงความเหมาะสมบ้างไหม

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกครหา ถูกโจมตี แทนที่จะยืดอกสามศอกยืนซดด้วยตัวเอง ท่านกลับไปดึงข้อหา หมิ่นพระมหากษัตริย์ ลงมาใช้

ด้วยวิจารณญาณระดับท่าน ไม่รู้หรือว่า ไม่สมควร

ถ้ามันมีภาพ เสียง แทรกเช่นนั้นจริง และถ้าท่านรู้จักแยกแยะ ท่านก็ควรแจ้งความดำเนินคดีเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับท่าน ส่วนที่ว่าหมิ่นพระมหากษัตริย์ พสกนิกรผู้จงรักภักดีมีมากมาย เดี๋ยวเขาก็มีคนแจ้งความเองนั่นแหละ (สะกิดจ่าดับ จำเปาะ มาแจ้งก็ได้) แต่การที่ท่านเอาข้อหามารวมกันหมด มันกำลังทำให้ผู้คนเขารู้สึกอย่างไร ถ้าไม่ใช่รู้สึกว่าท่านกำลังอ้างสถาบันเพื่อปกป้องตัวเอง

สิ่งแรกที่จะนำไปสู่การปรองดองได้ หรือนำไปสู่ความสามัคคีได้ ผมว่าเลิกยุ่งเกี่ยวกับสถาบันทั้งสิ้น ยกพระองค์ท่าน ยกสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไว้เหนือเส้นที่ผมเคยบอกไว้ มันมีเส้นอยู่เส้นหนึ่ง แล้วจะต้องยกทุกอย่างขึ้นไว้เหนือเส้นนั้น ไม่อย่างนั้นเอามาสู้กันข้างล่างแบบนี้ ก็สูญเสีย เสียหาย

อันนี้ ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน พลเอกประยุทธ์พูดเอง สิ่งที่พูดน่ะถูก แต่ถามว่าใครที่ชอบดึงลงมา-ก็ทหารด้วยนั่นแหละ เพราะตั้งแต่มีคลิปแฉศาลรัฐธรรมนูญ ทหารก็ออกมาพูดเรื่อง ล้มเจ้า ทั้งที่ไม่เกี่ยวกันเลย มีแค่คลิปเดียวที่ไปเกี่ยวกับพลเอกเปรม แต่องคมนตรีเป็นตัวบุคคลไม่ใช่สถาบัน และคลิปนั้นถ้าว่ากันตามเนื้อผ้าก็อ่อนเหตุผล ไร้น้ำหนัก ไม่ใช่เรื่องที่ทหารจะต้องมาออกเอ็กเซอร์ไซส์แบบกินปูนร้อนท้อง

ร้อนท้อง เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าเรื่องมันพันพัวนะสิ (ชิมิชิมิ) ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 50 ที่วางกับดักไว้ แล้วทหารผู้สืบทอดอำนาจ คมช.ก็มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ตอนนี้ งูที่ขว้างไปมันกำลังจะกลับมาพันคอ แต่ถ้าเป็นผู้กล้าผู้จงรักภักดีที่แท้จริง ก็ยืนซดกันแบบตรงไปตรงมาสิครับ แล้วยกสถาบันไว้ เหนือเส้น อย่างที่พูด

ข้อกล่าวหาที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไปแจ้งความ ถัดจากข้อหาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เหลือก็ยังเป็นข้อหาที่พิลึกพิลั่นอยู่ดี นั่นคือหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญ หมิ่นศาลยุติธรรม และสถาบันการเมืองการปกครองของไทย

อะไรคือสถาบันการเมืองการปกครองของไทย ท่านยกตนเป็นสถาบันการเมืองการปกครองของไทยไปแล้วหรือ ใครก็แตะต้องไม่ได้เลยใช่ไหม

ตามข่าวบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญแจ้งความดำเนินคดีกับคลิป 4 ตอน ไม่ได้บอกว่าตอนไหนบ้าง ผมอนุมานว่าเป็นคลิป 2-5 เพราะคลิป 6-8 ควรให้ตุลาการ 3 คนแจ้งเป็นส่วนตัว

ถามว่ามีตรงไหนในคลิป 2-5 หมิ่นศาลยุติธรรม หมิ่นสถาบันการเมืองการปกครองของไทย ผมยังงงไม่หาย แล้วที่ว่าหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญ คลิป 2 หมิ่นตรงไหนครับ อย่างที่เขียนข้างต้นว่ามันคือการเปิดโปงพฤติกรรมเสื่อมเสียของเลขานุการประธานกับ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ซึ่งควรเป็นผลดีกับศาลด้วยซ้ำ คลิป 3-5 อาจเข้าข่ายการเผยแพร่ความลับทางราชการหรือความลับในการประชุมพิจารณาคดี แต่ถึงยังไง มันก็ไม่ใช่เรื่องของการดูหมิ่นแน่ๆ เพราะเป็นภาพสดเสียงสดของตุลาการท่านพูดคุยกันเอง (อันที่จริงคนที่ฟ้องหมิ่นได้น่าจะเป็นเจ๊สดเสียมากกว่า ฮิฮิ)

ถ้าท่านจะอ้างข้อความที่บรรยาย ก็ว่าไปอย่าง แต่ถ้าอ้างอย่างนั้น มีคนลบคำบรรยายเดิมแล้วเอาไปเผยแพร่ใหม่ ก็ไม่ผิดใช่ไหม (เหมือนคลิปป๋าเปรม สมมติมีคนเอาไปเผยแพร่ใหม่ เขียนว่าประธานองคมนตรีพบปะสนทนากับประธานศาลรัฐธรรมนูญในงานมอบรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็เผยแพร่ได้ ไม่ผิดตรงไหน)

แต่ที่ยังไม่เข้าใจจริงจริ๊ง ก็คือข้อหาหมิ่นสถาบันการเมืองการปกครองของไทย เพราะสถาบันการเมืองการปกครองมีทั้งอำนาจตุลาการ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ แปลว่าถ้าใครกล่าวหาวิพากษ์วิจารณ์ศาล รัฐบาล รัฐสภา ก็หมิ่นสถาบันการเมืองการปกครองไทยอย่างนั้นหรือครับ

โธ่ สถาบันการเมืองการปกครองไทยน่ะตายไปแล้ว ตั้งแต่ประชาธิปไตยถูกปล้น โดยความร่วมมือของกองทัพ ตุลาการ กับคนชั้นกลาง

จริยธรรมกับอาญา

สิ่งที่นักกฎหมายวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด เกี่ยวกับคดีความผิดทักษิณคือความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งมีด้วยกัน 3 ส่วนคือ ความผิดทางจริยธรรม ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ และความผิดทางอาญา

การตัดสินความผิดทักษิณที่ผ่านมา มีปัญหาตรงที่เอาความผิด 3 ส่วนนี้ไปปะปนจนสับสนกัน เช่น คดีที่ดินรัชดาเป็นความผิดทางจริยธรรม ที่ควรถูกตำหนิติเตียน เป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม คนเป็นผู้นำประเทศไม่ควรกระทำ แต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กลับตัดสินเป็นความผิดอาญา มีโทษถึงจำคุก ทั้งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าทุจริต

คดียึดทรัพย์เป็นความผิดทางจริยธรรม ที่คาบเกี่ยวกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งควรถูกถอดถอน ในฐานะที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการดำรงตำแหน่ง แต่การที่จะลงโทษริบทรัพย์สินบุคคล ต้องมีองค์ประกอบทางอาญาในการทุจริตประพฤติมิชอบ มิใช่เพียงวินิจฉัยว่า ได้ประโยชน์มาโดย ไม่สมควร ซึ่งก็ยังมีข้อถกเถียงได้อีกมากว่า ไม่สมควร จริงหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องที่ได้ประโยชน์ล้วน ไม่สมควร

แต่ข้อสำคัญคือคำว่า ไม่สมควร ชี้ชัดอยู่ในตัวมันเอง (โดยไม่ต้องเปิดพจนานุกรม) ว่า เป็นความผิดทางจริยธรรม คาบเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมต่อตำแหน่ง โดยถ้าเป็นความผิดอาญา ก็จะต้องใช้คำว่า โดยทุจริต

ฉันใดก็ฉันนั้น เรากำลังมองกลับด้านเข้าไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ไม่เพียงแต่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเปิดให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน เกี่ยวกับตุลาการที่ถูกกล่าวหา ไม่ใช่ว่าเที่ยวไปแจ้งจับคนปล่อยคลิป แล้วคนที่ถูกพาดพิงในคลิปลอยนวล ไม่ถูกสอบสวน ไม่ใช่ว่าเที่ยวไปดำเนินคดีอาญาผู้อื่น แล้วตัวเองหลบเลี่ยงการถูกดำเนินคดี

ขณะเดียวกัน มาตรฐานของการพิจารณาก็ต้องแยกแยะเป็น 3 ส่วนคือ ความผิดทางอาญา เช่น ถ้ามีการทุจริตจริงมีพยานหลักฐาน ผู้ที่กระทำก็ต้องติดคุก ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ก็ต้องถูกถอดถอน

โดยที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ความผิดทางจริยธรรม หรือการประพฤติตัวที่ไม่เหมาะสม ไม่สมควร เป็นที่ถูกครหา โลกะวัชชะ ซึ่งสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการแล้ว ท่านควรจะมีมาตรฐานสูงกว่านักการเมืองพ่อค้าอย่างทักษิณหลายเท่า

ตุลาการศาลยุติธรรมมีจารีตข้อห้ามทางศีลธรรมจรรยาที่เข้มงวด กระทั่งการไปสังสรรค์เฮฮากับพ่อค้านายทุน ซึ่งสักวันหนึ่งจะต้องมีคดีขึ้นสู่ศาล เขายังถือว่าไม่เหมาะสม คดีใดที่โจทก์จำเลยเป็นวงศาคณาญาติ จำไม่ได้แล้วว่านับไปกี่ชั่วโคตร ขนาดไม่เคยรู้จักไม่เคยไปมาหาสู่ ยังต้องถอนตัว

เพราะนั่นคือที่มาแห่งความเชื่อมั่นเชื่อถือต่อคำวินิจฉัย

ตุลาการมีลูกมีหลาน วงศาคณาญาติ ก็ไม่ควรให้มาสอบเป็นเจ้าหน้าที่เป็นข้าราชการในหน่วยงานที่ตนมีอำนาจอยู่ เพราะเป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงเสียงครหานินทา เว้นเสียแต่ว่า เออ ลูกผู้พิพากษาคนนี้จบเกียรตินิยม สอบเนติบัณฑิตได้อันดับต้นๆ มาสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา ก็ไม่มีใครกังขา

ตุลาการมีลูกมีหลาน มีวงศาคณาญาติ มีคนใกล้ชิด คนรู้ใจ เอามาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ยิ่งแล้วใหญ่ เมื่อเรื่องมันฉาวโฉ่ขึ้นมา เมื่อมีคนไปประพฤติเสื่อมเสีย (หรือจะว่าเป็นสปายสายลับก็ตามแต่) จะยังแบกหน้าอยู่ได้ไงไหว

นี่คือเรื่องที่ไม่ติดคุกหรอกครับ แต่เป็นเรื่องจริยธรรมที่ต้องถามใจตัวเองว่าจะฝืนทนโลกะวัชชะไปได้แค่ไหน และจะทำหน้าที่ต่อไปได้อย่างไร

จะรักษาตัวเอง หรือรักษาสถาบันตุลาการ

 

ใบตองแห้ง 95

12 พ.ย.53

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปราบต์ บุนปาน: สิ่งที่เราทำไปไม่มีอะไรผิดในฐานะคนทำสื่อ

Posted: 12 Nov 2010 01:42 AM PST

ปราบต์ บุนปาน บ.ก.มติชนออนไลน์ เปิดใจกับประชาไท กรณีถูกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญร้องทุกข์กล่าวโทษ ระบุแม้จะมีการฟ้องร้องก็ไปพิสูจน์กันต่อตามกระบวนการยุติธรรม ยันไม่หยุดติดตามกรณีคลิป เพราะเป็นประเด็นสาธารณะ เพิกเฉยไม่ได้ เพียงแต่ต้องระมัดระวังมากขึ้น

12 พ.ย. - ประชาไทสัมภาษณ์ ปราบต์ บุนปานในฐานะหัวเรือใหญ่ผู้ดูแลเว็บไซต์มติชนออนไลน์ ที่กำลังถูกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญร้องทุกข์กล่าวโทษ จากการเผยแพร่คลิปและถอดความที่ปรากฏในคลิปอื้อฉาวที่ถูกกล่าวอ้างว่าเกี่ยวข้องกับคดียุบพรรคในการเผยแพร่ระลอกแรก และอ้างว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตสอบรับพนักงานของศาลรัฐธรรมนูญในการเผยแพร่ระลอก 2-3

“ในภาพรวมสิ่งที่เราทำไปก็ไม่มีอะไรผิดในฐานะคนทำสื่อ และถึงแม้จะจะมีการฟ้องร้องก็ไปพิสูจน์กันตามกระบวนการยุติธรรม แต่ผมก็เชื่อว่าเราไม่ได้ทำผิดหรือทำอะไรเกินเลยไป ส่วนของการถอดเทป เราก็เอามาจากหนังสือพิมพ์”

เมื่อถามว่า ผลของการถูกร้องทุกข์กล่าวโทษโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้มติชนออนไลน์ต้องระมัดระวังมากขึ้นหรือไม่เขาตอบว่า

“สำหรับตัวคนทำงานเมื่อวานก็พูดคุยกัน ผมคิดว่าแต่ละคนก็คงรู้สึกว่าต้องระมัดระวังมากขึ้น ในส่วนของมติชนออนไลน์ที่แยกกอง บ.ก.ออกมาแล้ว ก็ต้องถือว่านี่เป็นคดีแรกเลย ในส่วนของผู้บริหารยังไม่ได้คุยอะไรกันมาก แต่เราก็ติดตามกรณีคลิปเพราะเป็นประเด็นสาธารณะ เราก็คงไม่อาจเพิกเฉยได้ เพียงแต่ระมัดระวังมากขึ้น”

สำหรับข้อร้องทุกข์กล่าวโทษที่ระบุว่าการนำเสนอข่าวของมติชนนั้นมีท่าทีรุกไล่ เขาอธิบายว่า

“พูดในฐานะคนทำงาน เราก็รู้สึกว่าเป็นกระบวนการติดตาม เป็นกระบวนการทำข่าวอย่างหนึ่ง จะเรียกว่ารุกไล่หรือ เราก็พยายามทำหน้าที่ของเรา หรือแม้แต่ช่วงของการนำเสนอคลิปชุดแรก เรานำเสนอในแนวทางที่เป็นห่วงในความรัดกุมของระบบความปลอดภัยของศาลด้วยซ้ำไป เพราะว่า หากว่ามีคนสามารถถ่ายคลิปในศาลได้ ก็น่าเป็นห่วงเรื่องของระบบการรักษาความปลอดภัยในศาล...นี่คือแนวทางการนำเสนอในช่วงแรกๆ ที่มีการปล่อยคลิป แต่หลังจากมีคลิประลอก 2 ระลอก 3 เราก็ติดตามนำเสนอไปตามกระแสข่าว”

ต่อข้อร้องทุกข์ที่ว่าการนำเสนอของมติชนนั้น มีลักษณะชักจูงให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเรื่องราวที่ปรากฏในคลิปเป็นเรื่องจริงนั้น ปราบต์ตอบว่า

“เราไม่มีส่วนใดในการนำเสนอที่ระบุว่าเนื้อหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องจริง เรานำเสนอมันในฐานะคลิปๆ หนึ่งเท่านั้น และเราไม่สามารถบังคับให้คนเชื่อได้ว่าคลิปเหล่านั้นเป็นเรื่องจริง เราไม่ได้ตัดสินใคร เพราะว่าประชาชนมีวิจารณญาณของตัวเอง ผมเชื่อว่าเราไม่ได้เทคไซด์อะไรจนเกินไป และผมไม่เชื่อว่าจะมีใครยึดกุมความจริงสูงสุด” บ.ก. เว็บไซต์มติชนออนไลน์กล่าว

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงาน กรณีนายจรูญ อินทจาร นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และนายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มอบอำนาจให้นายณพล อรุณอาศิรกุล ทนายความผู้รับมอบอำนาจ 3 ตุลาการเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองกำกับการ1(กก.1) กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ที่นำคลิปวิดีโอชุดที่ 3 ที่ใช้ชื่อ "คำสารภาพของเด็กฝากเจ้าหน้าที่ระดับสูงศาลรัฐธรรมนูญ" ไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูบเป็นการกระทำผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นั้น

ในคำร้องทุกข์กล่าวโทษที่นายณพลได้ยื่นต่อพนักงานสอบสวนนั้นทาง3 ตุลาการในฐานะผู้เสียหายให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายจนถึงที่สุด โดยผู้เสียหายทั้ง 3 คนประสงค์ที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับ

1.นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ
2.กลุ่มบุคคล
และ3.หนังสือพิมพ์มติชนกับพวก

ทั้งนี้เหตุที่เชื่อว่าหนังสือพิมพ์มติชนมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิด ด้วย เนื่องจากวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมาต่อเนื่องทั้งเวลากลางวันและกลางคืน เว็บไซต์มติชนชื่อ "Matichon online" ได้นำคลิปวิดีโอที่ผ่านการตัดต่อภาพและเสียงอันเป็นเท็จมาเผยแพร่ โดยถอดข้อความในคลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นตัวอักษรและระบุชื่อย่อของผู้เสียหายทั้งสามว่า จ. ฉ. และส. โดยย่อหน้าในเว็บไซต์มติชนก่อนที่ระบุข้อความตามถอดเทปจากข้อความได้มีการ จัดทำระบบเชื้อเชิญให้บุคคลทั่วไปมาเปิดคลิปดังกล่าวได้ ต่อมาวันที่ 9 พฤศจิกายน หนังสือพิมพ์มติชนได้เผยแพร่ข้อความผ่านเว็บไซต์ว่า

Matichon Online ระบุชื่ออันกับผู้เสียหายทั้งสามอย่างชัดเจน อันเป็นการย้ำและแสดงให้เห็นว่าชื่อย่อตามที่เคยเผยแพร่ไว้เป็นชื่อใครบ้าง

"หนังสือพิมพ์มติชนได้นำข้อความดังกล่าวผ่านทาง สื่อสิ่งพิมพ์และเว็บไซต์ในระบบคอมพิวเตอร์ของตน ตลอดจนมีการนำเสนอข่าวต่อสาธารณชนเป็นระยะๆในลักษณะรุกไล่ กดดัน อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนโดยปกติ เพื่อให้สาธารณชนหลงเชื่อว่าข้อความและเสียงในคลิปวิดีโอเป็นความจริงอัน เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การกระทำของกลุ่มบุคคล และนายพสิษฐ์ นำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่คอมพิวเตอร์จนมีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบ คอมพิวเตอร์และเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของหนังสือพิมพ์มติชนด้วยวิธีการตี พิมพ์จำหน่ายให้กับประชาชนและเผยแพร่คลิปดังกล่าวผ่านเว็บไซต์มติชนออนไลน์ จึงเป็นการร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1),(5) นอกจากนี้การกระทำของหนังสือพิมพ์มติชนที่เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ด้วยการตีพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์รายวันและเว็บไซต์ยังเป็นความผิดฐาน ร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาอีกฐานความผิดหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ,328 และ 83"

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มติชนโดนด้วย ตุลาการศาล รธน. ฟ้องกรณีแพร่คลิปฉาว

Posted: 12 Nov 2010 12:19 AM PST

คำร้องทุกข์กล่าวโทษของ 3 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระบุ หนังสือพิมพ์มติชนนำเสนอข่าวต่อสาธารณชนเป็นระยะๆในลักษณะรุกไล่ กดดัน อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนโดยปกติ เพื่อให้สาธารณชนหลงเชื่อว่าข้อความและเสียงในคลิปวิดีโอเป็นความจริง

เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงาน กรณีนายจรูญ อินทจาร นายสุพจน์ ไข่มุกด์  และนายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มอบอำนาจให้นายณพล อรุณอาศิรกุล ทนายความผู้รับมอบอำนาจ 3 ตุลาการเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองกำกับการ1(กก.1) กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ที่นำคลิปวิดีโอชุดที่ 3 ที่ใช้ชื่อ "คำสารภาพของเด็กฝากเจ้าหน้าที่ระดับสูงศาลรัฐธรรมนูญ" ไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูบเป็นการกระทำผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นั้น

ในคำร้องทุกข์กล่าวโทษที่นายณพลได้ยื่นต่อพนักงานสอบสวนนั้นทาง3 ตุลาการในฐานะผู้เสียหายให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายจนถึงที่สุด โดยผู้เสียหายทั้ง 3 คนประสงค์ที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับ

1.นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ

2.กลุ่มบุคคล 

และ3.หนังสือพิมพ์มติชนกับพวก

ทั้งนี้เหตุที่เชื่อว่าหนังสือพิมพ์มติชนมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิด ด้วย เนื่องจากวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมาต่อเนื่องทั้งเวลากลางวันและกลางคืน เว็บไซต์มติชนชื่อ "Matichon online" ได้นำคลิปวิดีโอที่ผ่านการตัดต่อภาพและเสียงอันเป็นเท็จมาเผยแพร่ โดยถอดข้อความในคลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นตัวอักษรและระบุชื่อย่อของผู้เสียง ทั้งสามว่า จ. ฉ. และส. โดยย่อหน้าในเว็บไซต์มติชนก่อนที่ระบุข้อความตามถอดเทปจากข้อความได้มีการ จัดทำระบบเชื้อเชิญให้บุคคลทั่วไปมาเปิดคลิปดังกล่าวได้   ต่อมาวันที่ 9 พฤศจิกายน หนังสือพิมพ์มติชนได้เผยแพร่ข้อความผ่านเว็บไซต์ว่า

Matichon Online ระบุชื่ออันกับผู้เสียหายทั้งสามอย่างชัดเจน อันเป็นการย้ำและแสดงให้เห็นว่าชื่อย่อตามที่เคยเผยแพร่ไว้เป็นชื่อใครบ้าง

"หนังสือพิมพ์มติชนได้นำข้อความดังกล่าวผ่านทาง สื่อสิ่งพิมพ์และเว็บไซต์ในระบบคอมพิวเตอร์ของตน ตลอดจนมีการนำเสนอข่าวต่อสาธารณชนเป็นระยะๆในลักษณะรุกไล่ กดดัน อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนโดยปกติ เพื่อให้สาธารณชนหลงเชื่อว่าข้อความและเสียงในคลิปวิดีโอเป็นความจริงอัน เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การกระทำของกลุ่มบุคคล และนายพสิษฐ์ นำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่คอมพิวเตอร์จนมีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบ คอมพิวเตอร์และเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของหนังสือพิมพ์มติชนด้วยวิธีการตี พิมพ์จำหน่ายให้กับประชาชนและเผยแพร่คลิปดังกล่าวผ่านเว็บไซต์มติชนออนไลน์ จึงเป็นการร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1),(5) นอกจากนี้การกระทำของหนังสือพิมพ์มติชนที่เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ด้วยการตีพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์รายวันและเว็บไซต์ยังเป็นความผิดฐาน ร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาอีกฐานความผิดหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ,328 และ 83" คำร้องทุกข์ระบุ

สำหรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษผู้เผยแพร่คลิปเป็นความผิดอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นความผิดต่อสถาบันกษัตริย์ด้วยนั้น รายงานข่าวจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเปิดเผยว่า กรณีคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจ้ง ความดำเนินคดีบุคคลที่กระทำการเผยแพร่คลิปวิดีโอในยูทูบชุดที่ 3 ที่เป็นคำสารภาพของเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญที่ยอมรับอาจได้ข้อสอบล่วงหน้า โดยเป็นการการกระทำที่ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม และสถาบันการเมืองการปกครองของไทย ซึ่งเป็นการร่วมกันกระทำความผิดในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 , 198 ,326 และ 328นั้น ทั้งนี้ที่สำนักงานต้องแจ้งความในฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ด้วยซึ่งต่างจาก ที่ผ่านมาเป็นเพราะคลิปวิดีโอชุดล่าสุดได้มีการนำไปเผยแพร่ซ้ำต่อนั้นได้ ปรากฏภาพ เสียงแทรกไปในคลิปดังกล่าวที่ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ด้วยทำให้สำนักงานต้อง แจ้งความในความผิดดังกล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารพม่าเข้าโจมตี ทหาร SSA-เหนือ วานนี้

Posted: 11 Nov 2010 11:45 PM PST

ทหารพม่ากองพันที่ 33 เข้าโอบล้อมโจมตีกองพันที่ 24 ภายใต้กองพลที่ 1 กองกำลัง SSA – เหนือ (Shan State Army - North) ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านหลวย กุ๋นแกง ทางภาคเหนือของรัฐฉาน วานนี้

สำนักข่าวฉานรายงานว่า เมื่อเวลา 17.00น.ของวานนี้ (11 พ.ย.53) ทหารพม่ากองพันที่ 33 เข้าโอบล้อมโจมตีกองพันที่ 24 ภายใต้กองพลที่ 1 กองกำลัง SSA – เหนือ (Shan State Army - North) ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านหลวย กุ๋นแกง ทางภาคเหนือของรัฐฉาน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของกองพลที่ 1 ของกองกำลัง SSA-เหนือ ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะหยุดปะทะกันเมื่อเวลา 19.00 อย่างไรก็ตาม ยังมีการเพิ่มกำลังทหารจากทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้ มีรายงานว่า กองทัพพม่าได้เพิ่มกำลังทหารและอาวุธเข้าไปใกล้กับเขตควบคุมของกองพลที่ 1 ของ SSA – เหนือ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองใหย เมืองเกซี เมืองสู้และเมืองต้างยาน ในภาคเหนือของรัฐฉานอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ก่อนช่วงการเลือกตั้ง โดยทางทหารพม่าอ้างว่า การเพิ่มกำลังทหารในครั้งนี้ เพราะต้องการรักษาความปลอดภัยในช่วงเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม แม้เสร็จสิ้นการเลือกตั้งแล้ว ทางทหารพม่าก็ยังไม่ถอนกำลังทหารออกจากในพื้นที่แต่อย่างใด

ขณะที่กองพลที่ 1 ของกองกำลัง SSA – เหนือ ภายใต้การนำของพลตรีป่างฟ้า เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมแปรสภาพเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border Guard Force) ภายใต้กองทัพพม่า ทั้งนี้ ทหาร SSA – เหนือ จากกองพลที่ 1 เองระบุว่า ได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์สู้รบที่อาจเกิดขึ้น โดยคาดว่า ขณะนี้ มีทหารพม่าราว 1 พันนายที่เข้าประชิดเขตควบคุมของกองพลที่ 1 ของ SSA – เหนือ

นอกจากการเพิ่มกำลังทหารเข้าไปในเขตควบคุมของกองพลที่ 1 แล้ว พม่าได้ส่งกำลังทหารเข้าไปในเขตควบคุมโกกั้งด้วย รวมถึงพยายามตัดเส้นทางการติดต่อสื่อสารระหว่างกองกำลัง SSA –เหนือ และกองกำลังสหรัฐว้า (United Wa State Army - UWSA) ขณะที่มีการวิเคราะห์ว่า อาจเกิดความไม่สงบขึ้นในพื้นที่จากการสู้รบกัน

ในอีกด้านหนึ่ง การปะทะกันระหว่างทหารพม่าและดีเคบีเอยังคงเกิดขึ้นในช่วงเช้าของวานนี้(11 พ.ย.53) ตรงบริเวณด่านเจดีย์สามองค์ มีรายงานด้วยว่า กองทัพพม่าได้เสริมกำลังทหารเข้าไปในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ขณะที่เคเอ็นยู (Karen National Union) ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลพม่าและการเลือกตั้งพม่าที่ทำให้เกิดการสู้รบตรงแนวชายแดน

แถลงการณ์ของเคเอ็นยูที่ออกมานี้ก็เพื่อตอบโต้หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลพม่าที่พาดหัวข่าวโจมตีเคเอ็นยู ว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ยึดเมืองเมียวดีและเมืองพญาตองซู จนทำให้ชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ได้รับความเดือดร้อนและบาดเจ็บ (SHAN /Mizzima /www.mongloi.org)

 

------------------------------------- 

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์http://twitter.com/salweenpost 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตำรวจพม่าไปบ้าน "ออง ซาน ซูจี" คาดปล่อยตัววันนี้

Posted: 11 Nov 2010 11:41 PM PST

เจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าเดินทางไปบ้านนางออง ซาน ซูจี ในย่างกุ้ง หลังครบระยะเวลากักบริเวณ ขณะที่มีนักข่าวจำนวนมากรอทำข่าวทั้งที่หน้าบ้าน และที่ทำการพรรคเอ็นแอลดี คาดจะได้รับการปล่อยตัวเร็วๆ นี้ ส่วนลูกชาย “คิม อริส” ได้วีซ่าเข้าพม่าแล้ว คาดแม่ลูกจะได้พบกันเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี

ย่างกุ้ง - (12 พ.ย.) เมื่อเวลา 12.00 น. ตามเวลาในพม่า หรือ 12.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าได้เดินทางไปที่บ้านพักริมทะเลสาบอินยา ถนนมหาวิทยาลัย ของนางออง ซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของพม่า ขณะที่มีประชาชน และผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งไปยืนรอหน้าบ้านพักของนาง ทั้งนี้คาดกันว่านางออง ซาน ซูจี ซึ่งครบระยะเวลากักบริเวณภายในบ้าน จะได้รับการปล่อยตัวในเวลาอันใกล้นี้

ด้าน เว็บไซต์อิระวดี มีรายงานด้วยว่า ในวันนี้ พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ผู้นำรัฐบาลพม่า ได้ลงนามในคำสั่งปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี ขณะที่ทางการพม่าวางแผนเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับนางออง ซาน ซูจี มีการส่งตำรวจสันบิบาลจำนวนหนึ่งมาอารักขาภายนอกบ้านพักด้วย ขณะที่นักข่าวในย่างกุ้งขณะนี้ไปยืนรอทำข่าวการปล่อยตัวผู้นำพรรค NLD ทั้งที่ภายนอกบ้านพักของนาง และที่ทำการพรรค NLD

ในวันเดียวกันนี้ ที่กรุงเทพฯ นายคิม อริส (Kim Aris) บุตรชายคนเล็กของนางออง ซาน ซูจี ได้รับการอนุมัติวีซ่าประเภทนักท่องเที่ยว จากสถานทูตพม่า ประจำกรุงเทพมหานครแล้ว โดยนายคิมวางแผนที่จะไปย่างกุ้งเพื่อพบกับผู้เป็นมารดา ซึ่งคาดว่าจะได้รับการปล่อยตัวเร็วๆ นี้ โดยจะถือเป็นการพบกันครั้งแรกในรอบ 10 ปี ระหว่างนางออง ซาน ซูจี กับบุตรชาย

ขณะที่เมื่อวานนี้ (11 พ.ย.) เว็บไซต์อิระวดี เผยแพร่ภาพสมาชิกพรรค NLD ทำความสะอาดห้องทำงานของนางออง ซาน ซูจี ในที่ทำการพรรค NLD เพื่อเตรียมรับนางออง ซาน ซูจี ซึ่งคาดหมายว่าจะได้รับการปล่อยคัวเร็วๆ นี้ โดยนายวินติน เลขาธิการพรรค NLD กล่าวถึงอนาคตถามการเมืองของนางซูจีว่า เขาไม่สามารถตัดสินใจแทนนางได้ แต่ตนเชื่อว่านางยังคงให้ความสำคัญกับการเมืองและพวกเราจะเรียกร้องให้เธอเป็นผู้นำของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้นำในช่วงที่การเมืองของประเทศนี้ยังอยู่ในภาวะฉุกเฉิน

ทั้งนี้ คาดหมายว่า นางออง ซาน ซูจี จะได้รับการปล่อยตัวในเวลาประมาณ 16.00 น. ตามเวลาประเทศพม่าวันนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น