โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

กวีประชาไท : ปัญญาชนน่ะหรือ? มีที่ไหน?

Posted: 18 Nov 2010 09:29 AM PST

ปัญญาชนน่ะหรือ? มีที่ไหน?

นี่คือเมืองไทย! อย่าได้ฝัน!

ตื่น! ตื่น! อย่าหลับกลางวัน

ติดคุกสักหมื่น-พัน ก็ปล่อยไป

 

กฎหมายหมิ่น? น่ะหรือ คือปัญหา?

เฮ้ย! บ้า! พูดเป็นเล่นไปได้!

ไม่เห็นนักวิชาการเมืองไทย

ติดคุก-เข้าข่าย สักคนหนึ่ง!

 

ตาสี-ยายสา นั่นน่ะหรือ?

ขันติธรรมไม่ถือเป็นที่พึ่ง

เอะอะ ก็โวย นี่ นั่น มึง!

สอดบัตรกันอึง ไม่กลัวใคร

 

สมควรแล้วที่เกิดมาโง่

ไม่มีปัญญาอวดโวได้!

ติดคุกประหน่อยสักเป็นไร

คุณค่าเทียบไม่ได้เท่าขี้ผง!

 

มาเถิด! คนชั้นปัญญาชน

อย่าได้สนการเมืองเรื่องของไพร่

ปล่อย! ปล่อย! ให้มันดำเนินไป

แล้วตีกินตอนท้ายจึงคุ้มทุน!
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวบ้าน 545 รายฟ้องสนามบินสุวรรณภูมิให้หยุดบินช่วงดึกพร้อมเรียกค่าเสียหายพันล้าน

Posted: 18 Nov 2010 08:04 AM PST

ผู้ได้รับผลกระทบจากการบิน 545 ราย ทวงค่าเสียหาย และเรียกร้องให้สั่งหยุดบินช่วง 5 ทุ่มถึงตี 5 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล พร้อมสั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษและเขตควบคุมมลพิษ เพื่อกำหนดแผนและมาตรการลดและขจัดมลพิษ

 

วันนี้เวลา 11.00 น.ที่ศาลปกครองกลาง นายศรีสุวรรณ  จรรยา  นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า สมาคมได้รับการร้องขอจากชาวบ้านโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิจำนวน 545 คน ให้ร่วมเป็นผู้ฟ้องคดีร่วมกับชาวบ้าน เพื่อฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ  6  หน่วยงานต่อศาลปกครองกลาง ประกอบด้วย บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่ 1 กรมการบินพลเรือน ที่ 2 กระทรวงคมนาคม ที่ 3 กระทรวงการคลัง ที่ 4 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ 5 และคณะรัฐมนตรี ที่ 6  ในคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายโดยมิชอบ

ทั้งนี้สืบเนื่องจากรัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม และบริษัท การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด หรือ ทอท. ได้เปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิมาตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2553 เป็นต้นมา แต่ได้สร้างความเดือดร้อนและเสียหายให้กับชาวบ้านในพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศและเสียงที่เกิดจากสายการบินต่าง ๆ ที่บินประจำกว่า 96 สายการบิน รวมกว่า 273,702 เที่ยวบินต่อปีที่ขึ้น-ลงสนามบิน ทำให้บ้านเรือนชาวบ้านเสียหาย อันเนื่องมาจากแรงตกกระทบของคลื่นการบินและมักมีสิ่งของหรือวัสดุล่วงหล่นใส่หลังคาบ้านเป็นประจำทั้งที่ปรากฏเป็นข่าวและไม่ปรากฏเป็นข่าว รวมทั้งการเกิดมลพิษทางเสียงและทางอากาศตลอดเวลาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

ชาวบ้านเรียกร้องให้รัฐบาลโดย ทอท. ชื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามแนวเส้นเสียงที่ NEF 30-40 ทั้งหมดมาโดยตลอด เพื่อลดและป้องกันปัญหาในอนาคต แต่ ทอท.ก็ปฏิเสธ ถึงแม้คณะรัฐมนตรีจะได้เคยมีมติเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2552 มาแล้วโดยกำหนดให้ ทอท.จ่ายเงินชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงบริเวณรอบสนามบินสุวรรณภูมิ จำนวนถึง 11,233 ล้านบาท โดยสั่งให้จ่ายชดเชยในปี 2552 จำนวน 8,897.215 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 5,336.485 ล้านบาท แต่ขณะนี้จวนจะสิ้นปี 53 แล้ว ทอท. ยังไม่ดำเนินการใด ๆ ให้เสร็จสิ้นเลยตามมติคณะรัฐมนตรี

ชาวบ้านทั้ง 545 รายไม่มีหนทางอื่นใดจึงต้องมาขอพึ่งอำนาจศาลปกครองในวันนี้ เพื่อสั่งให้รัฐบาลและ ทอท. กระทรวงคมนาคม รีบเร่งเจรจาซื้อบ้านพร้อมที่ดินหรือจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านที่มีที่ดินหรือบ้านพักอาศัยอยู่ในพื้นที่พิพาทในรัศมีตามเส้นเสียง NEF 30-40 ทั้งหมดตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 เสียโดยเร็ว 

ทั้งนี้ในคำฟ้องระบุขอให้ศาลพิพากษาให้ ทอท.ระงับการให้บริการการขึ้น-ลงของเครื่องบินทุกประเภทในช่วงเวลา 23.00 น.จนถึงเวลา 05.00 น.ของทุกวันด้วย เพื่อคุ้มครองสิทธิในการพักผ่อนของผู้ฟ้องคดีและสาธารณะชนโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ และเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศรับรองหรือกำหนด พร้อมทั้งกำหนดให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษและเป็นเขตควบคุมมลพิษด้วย นายศรีสุวรรณกล่าวในที่สุด

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผกก. Insects in the Backyard ยื่นขอจัดเรทใหม่ในนามตนเอง

Posted: 18 Nov 2010 07:41 AM PST

หลังจากเกิดกรณี คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พิจารณาไม่ผ่านและไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ไทยเรื่อง Insects in the Backyard ซึ่งกำกับการแสดง โดย นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ นั้น

ล่าสุดวันที่ 18 พ.ย. 2533 ทางเว็บบล็อกเครือข่ายคนดูหนัง รายงานว่า ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผกก. Insects in the Backyard เดินทางไป สำนักพิจารณาภาพยนตร์ พร้อมด้วย โสฬส สุขุม โปรดิวเซอร์จาก ป๊อป พิคเจอร์ส และ ทรงยศ สุขมากอนันต์ นายกสมาคมสมาคมผู้กำกับ เพื่อขอจัดเรตใหม่อีกรอบ โดยเปลี่ยนชื่อผู้ยื่นจากบริษัทป๊อป พิคเจอร์ส เป็นตัวธัญญ์วารินเอง

จุดประสงค์ในการยื่นจัดเรตใหม่ครั้งนี้เพื่อนำไปสู่กระบวนการอุทธรณ์ที่ ธัญญ์วารินสามารถใช้สิทธิของผู้กำกับเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ โดยมีกำหนดจัดเรตอีกรอบในช่วงบ่ายของวันอังคารที่ 23 พ.ย. ซึ่งธัญญ์วารินคาดว่าหนังจะไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายเช่นเดิม เนื่องจากคณะกรรมการชุดที่จะพิจารณาหนังเป็นชุดเดียวกับที่แบนในรอบแรก (คณะกรรมการพิจารณามีทั้งหมด 5 ชุด)

หากผลการตัดสินเป็นไปอย่างที่ทีมผู้สร้างคาดไว้ ธัญญ์วารินก็จะเดินทางไปยื่นอุทธรณ์พร้อมทรงยศทันทีในวันพุธที่ 24 พ.ย. นี้

ที่มา
https://thaiaudience.wordpress.com/2010/11/18/insects18nov/

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน : ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน "ทางเลือกที่มีไม่มาก"

Posted: 18 Nov 2010 06:40 AM PST

ทันทีที่การเลือกตั้งทั่วไปในประเทศพม่าได้สิ้นสุดลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พย. 2553 เสียงปืนก็ได้ดังขึ้นในเมืองเมียวดี ประเทศพม่า ฝั่งตรงข้ามด้าน อ. แม่สอด จ. ตาก การยิงต่อสู้ระหว่างทหารพม่าและกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ DKBA (Democratic Karen Buddhist Army) ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ภาพของพี่น้องประชาชนที่อยู่ในเมืองเมียวดีและบริเวณใกล้เคียง ต่างอุ้มลูกจูงหลาน วิ่งหนีกระสุนปืนข้ามแม่น้ำเมยมายังฝั่งไทย และจำนวนผู้ลี้ภัยสงครามก็ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเกินกว่าหมื่นคนในเวลาชั่วข้ามคืน

ทางฝั่งไทยด้าน อ. แม่สอด เจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรระหว่างประเทศได้ให้ความช่วยเหลือตามมนุษยธรรม มีการจัดที่พักให้ผู้ลี้ภัยได้อยู่ในบริเวณเดียวกันในวัด ภายใต้การดูแลของทหาร แต่ดูเหมือนว่าจำนวนผู้ลี้ภัยก็ทะลักเข้ามาเพิ่มมากขึ้น บ้างกระจัดกระจายอยู่ตามบ้านเรือนของญาติพี่น้องหรือคนรู้จัก ทำให้หน่วยงาน (รัฐ) และองค์กรต่าง ๆ (เอกชน) ต้องเร่งหาวิธีการให้ความช่วยเหลือกันอย่างฉุกละหุก แม้จะมีการฝึกอบรมรับมือกับการทะลักของผู้ลี้ภัยชายแดนบ่อยครั้งก็ตามที  แต่ครั้งนี้ก็มิได้เป็นผลแต่อย่างใด

หลังจาก “ลี้ภัย” อยู่ทางฝั่งไทยได้ประมาณ 48 ชม. ผู้ลี้ภัยก็ได้รับแจ้งว่าสถานการณ์ในเมืองเมียวดีได้สงบลงแล้ว กองกำลังทหารพม่าและกองกำลังทหารกะเหรี่ยง DKBA ได้ตกลงทำความเข้าใจกันได้และเจรจาหยุดยิง ผู้ลี้ภัยทั้งหมดจึงถูกทางการไทยส่งกลับทันที แม้ก่อนหน้านั้นจะมีข่าวว่าทางเมืองเมียวดีมีผู้ถูกลูกหลงเสียชีวิตไปกว่า 30 คน

พลันที่ผู้ลี้ภัยที่ อ. แม่สอด ถูกส่งกลับในวันที่ 9 พย. ชายแดนอีกแห่งหนึ่งด้านตะวันตกของประเทศไทย ก็ได้มีผู้ลี้ภัยหนีตายข้ามมาทางด้านด่านเจดีย์สามองค์ อ. สังขละบุรี จ. กาญจนบุรี เช่นกัน การสู้รบระหว่างกองกำลังทหารทหารพม่า DKBA ก็ยังดำเนินตลอดแนวชายแดน ภาพของผู้หนีภัยสงครามที่ต้องเดินเท้าเข้ามาฝั่งไทยนั้น มิแตกต่างจากภาพผู้ลี้ภัยทางด้าน อ. แม่สอด จ. ตาก ภาพของพ่อแม่ต้องหอบลูกจูงหลาน ภาพผู้หญิงอุ้มลูก และภาพคนชราที่ต้องหลบหนีกระสุนปืนของ “ผู้หิวกระหายสงคราม” บ่งบอกชะตากรรมหลังเสียงปืนได้เป็นอย่างดี

การหลบหนีภัยสงครามและความตาย มักเกิดขึ้นในประเทศที่มีผู้นำเผด็จการ ที่ไม่ได้คำนึงถึงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ประเทศพม่าก็ไม่มีข้อยกเว้นเช่นกัน กว่าค่อนครึ่งศตวรรษที่พี่น้องชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ต้องทนทุกข์ทรมานกับการปกครองด้วยกระบอกปืนได้ส่งผลกระทบหลายด้านต่อการดำรงชีวิตอยู่ในฐานะมนุษย์ ที่ถูกละเมิด “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ “สิทธิมนุษยชน” อยู่ตลอดเวลา พี่น้องประชาชนและชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ที่อยู่ในประเทศพม่านั้นไม่ค่อยมีทางเลือกในชีวิตมากนัก พวกเขาถูกกดขี่ ข่มเหง ถูกบังคับให้ต้องเชื่อฟัง “ทุกอย่าง” หากไม่ทำตามก็ต้องถูกลงโทษด้วยการขังคุก หรือทำร้ายด้วยวิธีต่าง ๆ เราจึงเห็นภาพของ “ผู้ลี้ภัย” หลบหนีมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาบ่อยครั้ง

ทางเลือกที่แม้มีไม่มาก แต่สิ่งที่พี่น้องประชาชนชาวพม่า และชนกลุ่มน้อยในพม่าทุกชาติพันธุ์ได้เลือกก็คือ เลือกที่จะต่อสู้ตามแนวทางของตนเอง เพื่อสันติภาพและประชาธิปไตยในประเทศพม่า แม้ว่าการเลือกตั้งได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ก็ยังคงเรียกร้อง “การมีส่วนร่วมทางการเมือง” อยู่ ซึ่งหลายครั้งที่การเรียกร้องหรือการเจรจาต่อรองไม่สำเร็จ จนเกิดการสู้รบขึ้น และทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่อยู่ใกล้แนวสู้รบต้องได้รับผลกระทบอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

ในครานี้ก็เช่นกัน (พย. 53) พลันที่การสู้รบกันของทหารพม่าและชนกลุ่มน้อยได้เริ่มขึ้น ผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมากต้องหนีภัยความตายข้ามมาฝั่งไทย และกลายเป็น “ผู้ลี้ภัย” ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงเช่นเดียวกันกับพื้นที่ชายแดนด้านด่านเจดีย์สามองค์ ต.หนองลู อ. สังขละบุรี จ. กาญจนบุรี ที่โรงเรียน วัด และโบสถ์คริสต์ (คริสตจักร) ต้องรองรับให้ผู้หนีภัยความตายเหล่านั้นได้มาพักพิง และช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน


ณ โบสถ์เล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ห่างจากชายแดนประมาณ 700 เมตร มีผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่เป็น “มิชชันนารี” ของสภาคริสตจักรในประเทศไทย ชื่อว่า อาจารย์เหมยฟ้า (อรุณรัตน์ คู่สุขมา) ได้เปิดประตูโบสถ์รองรับบรรดา “ผู้ลี้ภัย” จำนวนหนึ่งกว่า 300 คน ให้เข้ามาพักพิงในอาณาบริเวณของโบสถ์ พร้อมทั้งได้จัดน้ำดื่ม ข้าวปลาอาหาร และเครื่องนอนเท่าที่จะหาได้ให้ผู้ลี้ภัยที่ระหกระเหินมา

“คืนแรกที่พวกเขาวิ่งข้ามมาฝั่งเรา พวกเขาไม่มีที่นอน  ดิฉันก็ให้พวกเด็กๆ นอนในตัวโบสถ์ ส่วนคนอื่นๆ ก็นอนบนพื้นดินแข็ง ๆ ที่สนามหญ้านี่แหละ ไม่มีเต็นท์คลุม ไม่มีเสื่อ ไม่มีผ้าห่ม ไม่มีอะไรรองนอนเลย ต้องนอนตากน้ำค้างกันหมด” อ. เหมยฟ้า เล่าถึงความลำบากในคืนแรกให้ฟัง

“คืนที่สองนี่ดีหน่อยค่ะ มีผู้ใจบุญซื้อเต็นท์ ซื้อเสื่อ ซื้ออาหาร ซื้อน้ำ ซื้อนมมาให้ พอที่เราจะดูแลคน 300 กว่าคนได้ แต่ก็ยังไม่ดีนัก เพราะพื้นที่จำกัด และไม่มีอุปกรณ์ทำอาหาร”

โบสถ์แห่งนี้ดูแล “ผู้ลี้ภัย” ได้เพียงสองคืนเท่านั้น (9-10 พย.) เพราะเมื่อเข้าสู่เช้าวันใหม่ ทหารก็ได้มาสั่งให้ “ผู้ลี้ภัย” รีบไปรวมกันที่วัดและให้เดินกลับพม่า หลังจากที่ได้รับแจ้งว่าการสู้รบสงบลงแล้ว แต่ในความเป็นจริงเช้าวันนั้นเสียงปืนยังดังระรัวไม่ขาดสาย เสียงปืน 80 กว่านัด ไม่ได้หยุดยั้ง “คำสั่ง” ของทหารแม้แต่น้อย

แท้ที่จริงทหารได้สั่งให้ “ผู้ลี้ภัย” กลุ่มนี้กลับไปพม่าในตอนค่ำของวันที่ 10 พย. แต่ อ. เหมยฟ้า ได้ร้องขอทหารว่าขอให้พวกเขานอนอยู่ที่โบสถ์ต่อเพราะการเดินทางกลางคืนนั้นไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะเด็ก ผู้หญิง และคนแก่ แต่เมื่อรุ่งเช้า “ผู้ลี้ภัย” ยังไม่ทันได้กินข้าวปลาอาหาร กลับถูกทหารสั่งให้ไปรวมกันที่วัด เพื่อผลักดันออกไปพร้อมกับ “ผู้ลี้ภัย” อื่น ๆ ที่อยู่กระจัดกระจายกัน รวมทั้งหมดราว ๆ ห้าร้อยคน

แววตา อ. เหมยฟ้าดูหม่นหมองยิ่งนัก พลันที่ถูกทหารสั่งให้ “ผู้ลี้ภัย” ออกไปจากโบสถ์ ภาพ “ผู้ลี้ภัย” ที่กึ่งวิ่ง กึ่งเดิน หอบข้าวของทยอยออกจากบริเวณโบสถ์ ตามด้วยภาพทหารถือปืนเดินคุม ช่างเป็นภาพที่หดหู่เหลือเกิน เธอคิดว่าได้ทำหน้าที่ “มิชชันนารี” อย่างดีที่สุดแล้ว ในการดูแลเอาใจใส่เพื่อนบ้านตามคำสอนของคริสต์ศาสนาที่กำหนดให้ทุกคน “รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง”

ณ ชายแดนเขตเชื่อมต่อไทย-พม่า ด้านด่านเจดีย์สามองค์ ฉันเฝ้ามองคลื่น “ผู้ลี้ภัย” เดินไปรับน้ำคนละขวดจากเจ้าหน้าที่รัฐไทย และเดินข้ามฝั่งกลับไปยังดินแดนที่จากมา พวกเขายังไม่ทันได้พักผ่อนจากการเดินทางที่เหนื่อยล้า แต่ก็ต้องมาเริ่มเดินทางอีกครั้ง แต่ทางเลือกก็คงมีไม่มากนัก

เมื่อคลื่น “ผู้ลี้ภัย” ข้ามไปยังฝั่งพม่าหมดแล้ว นักข่าวกลุ่มหนึ่งก็ได้กรูเข้าไปสัมภาษณ์นายทหารผู้คุมกองกำลังท่านหนึ่ง ทุกคนสนใจใคร่รู้ที่จะทราบข้อมูลรายละเอียดของจำนวนคนที่ข้ามมา ใครรบกับใคร ทำไมถึงรบ ทหารทำอะไรบ้าง ฯลฯ แต่ไม่มีใครสักคนที่จะตั้งคำถามว่า “ทำไมท่านส่งกลับ 'ผู้ลี้ภัย'  ในขณะที่ยังมีการสู้รบกันอยู่และสถานการณ์ยังไม่ปลอดภัย ?"

เฝ้ายืนดู “ผู้ลี้ภัย” เดินจากไปจนลับสายตาแล้ว ฉันก็เดินจากมาอีกทิศทางหนึ่ง ทิ้งภาพของรถถัง ทหารถือปืน ตำรวจ ฝ่ายปกครองและนักข่าวจากสำนักต่าง ๆ ไว้เบื้องหลัง ภายในใจคิดภาวนาอวยพรให้ “ผู้ลี้ภัย” เหล่านั้นปลอดภัย ทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า

“บนทางเดินที่มีขวากหนาม ถ้าเธอคร้ามถอยไปฉันคงเก้อ ฉันยังพร้อมช่วยเธอเสมอ......เพียงตัวเธอไม่หนีไปเสียก่อน....”  เสียงเพลงแว่วมาจากที่ไหนสักแห่ง ทำให้ฉันคิดถึง 'ผู้ลี้ภัย' และผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ รวมทั้งพี่น้องประชาชนชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ที่กำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่  แม้ทางเลือกมีไม่มากนักแต่มิใช่ว่าทางเลือกเพื่อไปสู่สันติภาพและประชาธิปไตยเหล่านั้นจะไม่มี แต่คงมิใช่เรื่องง่ายนัก....

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สวรส. เตรียมจัดเวทีวิชาการช่วยปลดเงื่อนตายกระจายอำนาจด้านสุขภาพ

Posted: 18 Nov 2010 05:55 AM PST

 

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)   จับมือกระทรวงสาธารณสุข และภาคี เตรียมจัดเวทีวิชาการสู่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ครั้งที่ 1 “10 ปีกระจายอำนาจด้านสุขภาพ สังเคราะห์บทเรียนเพื่อหาทางออกร่วมกัน” ชี้ต้องการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายร่วมถกประเด็นอุปสรรค หวังคลายปมคิดที่ติดขัดเกี่ยวกับกระจายอำนาจด้านสุขภาพ พร้อมยกร่างข้อเสนอจากฝ่ายวิชาการ ดันเข้าสู่แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับที่ 3
 
สวรส. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันพระปกเกล้า คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำหนดจัดเวทีวิชาการสู่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ครั้งที่ 1 ขึ้น ในหัวข้อ 10 ปี การกระจายอำนาจด้านสุขภาพ : สังเคราะห์บทเรียนเพื่อหาทางออกร่วมกัน   ในวันพุธที่ 1 ธันวาคม 2553   ณ ห้องประชุมศักดิ์ดิเดชน์ สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ อาคารบี ชั้น 5 โดยจะมี รศ.วุฒิสาร ตันไชย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวปาฐกถาพิเศษ “กระจายอำนาจกับความเป็นธรรมด้านสุขภาพ”   พร้อมการนำเสนอข้อมูลจากงานวิจัย กรณีศึกษา และข้อเสนอเชิงนโยบายจากฝ่ายวิชาการและเปิดอภิปรายรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคลากรจากสถานีอนามัย เป็นต้น
 
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวถึงการจัดเวทีวิชาการในครั้งนี้ ว่าเป็นการเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายได้มีพื้นที่ในการสื่อสารสองทาง ได้พูดคุย ทำความเข้าใจ และหาทางออกร่วมกัน โดยนำข้อมูลทางวิชาการจากงานวิจัยมาเป็นจุดตั้งต้นในการพูดคุย ซึ่งผลงานวิจัยเหล่านี้มาจากศาสตร์และความรู้หลากหลายสาขา ทั้งรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สาธารณสุข จึงทำให้มองเห็นถึงความเชื่อมโยงกันในทุกมิติของสังคมที่จะได้รับผลจากการกระจายอำนาจ   และหวังว่าข้อเสนอที่ได้มาจากการวิจัยเหล่านี้ จะเป็นวิถีทางที่สามารถปลดเงื่อนตายคลายปมคิดเกี่ยวกับการกระจายอำนาจด้านสุขภาพในสังคมไทยได้
 
ผศ. เวียงรัฐ เนติโพธิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงบทสรุปจากงานวิจัยเรื่อง “กระบวนการทางการเมืองในการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข: ศึกษากรณีการถ่ายโอนสถานีอนามัย” ที่ชี้ให้เห็นถึงโจทย์ใหญ่ที่ต้องทบทวนเกี่ยวกับการกระจายอำนาจด้านสุขภาพในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าอุปสรรคสำคัญเกี่ยวข้องกับหลายระดับด้วยกัน ประการแรกคือปัญหาความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมาย ประการที่สอง คือการยึดถือความชำนาญเฉพาะด้านมากกว่าหลักการกระจายอำนาจซึ่งรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมแต่เมื่อใช้หลักเหตุผลด้านความชำนาญนำหน้าทำให้บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องถ่ายโอนอำนาจ   อุปสรรคประการที่สาม คือความไม่เป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งได้รับงบประมาณจากการจัดสรรจากส่วนกลาง โดยพบว่าผลงานพัฒนาด้านสาธารณสุขสามารถใช้เป็นเครื่องมือสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองให้กับนักการเมืองท้องถิ่นได้ แต่ท้องถิ่นยังไม่สามารถตัดสินใจโดยอิสระว่าจะพัฒนางานสุขภาพไปในทางใด
 
ทางด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์   นักวิชาการผู้ศึกษาทางเลือกการกระจายอำนาจ เสริมในประเด็นดังกล่าวว่า ผลจากงานวิจัยยังทำให้ทราบถึงความเข้าใจเรื่องการกระจายอำนาจในสังคมไทย ที่ยังยึดติดอยู่แค่รูปแบบเดียว คือการถ่ายโอนสถานีอนามัยให้ท้องถิ่น ทั้งๆ ที่การกระจายอำนาจนั้นยังมีอีกหลายรูปแบบที่สามารถทำได้

“ วิธีคิด มุมมองและความเข้าใจของฝ่ายต่าง ๆต่อนิยาม ขอบเขต รูปแบบ ของการกระจายอำนาจ ที่คิดเพียงมิติของการยกสถานีอนามัยไปให้อยู่ในสังกัดหรือเป็นของท้องถิ่น กลายเป็นเงื่อนไขหลัก ที่ทำให้การกระจายอำนาจด้านสุขภาพกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากจะขยับทำอะไร ผมคิดว่า ข้อเสนอทางนโยบายที่จะเสนอในครั้งนี้ ต้องเป็นข้อเสนอที่สามารถปลดล็อคอันนี้ได้จึงจะเป็นข้อเสนอที่ทุกฝ่ายรับได้และเดินหน้าไปด้วยกัน” นพ.ปรีดา กล่าว
 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม แถลงจุดยืนกรณีศพทารกวัดไผ่เงิน

Posted: 18 Nov 2010 04:18 AM PST

18 พ.ย. 2553 เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม แถลงจุดยืนต่อกรณีพบชิ้นส่วนตัวอ่อนมนุษย์ (ซากทารก) ที่วัดไผ่เงิน โดยกล่าวว่า กรณีดังกล่าวควรถือเป็นบทเรียนของสังคมไทยต่อความอ่อนแอของมาตรการป้องกันการท้องและการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม สังคมและสื่อมวลชนจึงไม่ควรมุ่งเป้าไปที่ประเด็นในเชิงศีลธรรมต่อผู้หญิงและผู้ให้บริการเท่านั้น แต่ควรเสนอข่าวให้รอบด้าน เพื่อสร้างความเข้าใจต่อปัญหาและหาทางออกร่วมกัน

และยังได้แสดงจุดยืนต่อเรื่องดังกล่าวว่า สังคมไทยควรมีมุมมองต่อผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมในเชิงเข้าใจมากกว่าการประณาม เพราะทำให้ต้องเผชิญปัญหาอย่างหลบซ่อน ขาดข้อมูล เข้าไม่ถึงบริการ, ควรร่วมการสร้างมาตรการป้องกันให้เข้มแข็งขึ้น, ภาครัฐควรพัฒนาบริการปรึกษาทางเลือกที่เป็นมิตรให้ผู้หญิงท้องไม่พร้อม, จัดบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยที่สอดคล้องกับกฏหมาย และควรมีบ้านพักรอคลอด และการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งก่อนและหลังคลอด

นอกจากนี้ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม จะมีการจัดงานเสวนาเรื่อง “ทัศนคติของสังคมต่อเรื่องท้องไม่พร้อม” ในวันอังคารที่ 23 พฤศจิกายนนี้ เวลา 14.00 น. ที่โรงแรมเฟิร์ส ซ.เพชรบุรี 15 กรุงเทพฯ โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล, ดร.เมทินี พงษ์เวช ผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี, ตัวแทนแพทย์ (กำลังดำเนินการประสานงาน) และคุณอุษาสินี ริ้วทอง หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ทางสังคม องค์การแพธ

 


จุดยืนของเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม[1]
ต่อกรณีพบชิ้นส่วนตัวอ่อนมนุษย์ (ซากทารก) ที่วัดไผ่เงิน

          กรณีดังกล่าวควรถือเป็นบทเรียนของสังคมไทยต่อความอ่อนแอของมาตรการป้องกันการท้องและการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม สังคมและสื่อมวลชนจึงไม่ควรมุ่งเป้าไปที่ประเด็นในเชิงศีลธรรมต่อผู้หญิงและผู้ให้บริการเท่านั้น แต่ควรเสนอข่าวให้รอบด้าน เพื่อสร้างความเข้าใจต่อปัญหาและหาทางออกร่วมกัน  เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม จึงมีจุดยืนต่อกรณีนี้ ดังต่อไปนี้
1.    สังคมไทยควรมีมุมมองต่อผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมในเชิงเข้าใจมากกว่าการประณาม เพราะทำให้ผู้หญิงต้องเผชิญปัญหาอย่างหลบซ่อน ขาดข้อมูลและเข้าไม่ถึงบริการ จึงนำไปสู่การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ทำแท้งสูงถึง 300 คนต่อแสนต่อปีหรือราว 1,380 คนจากจำนวนผู้ป่วย 45,990 คนในปี 2542

2.    ภาครัฐ เอกชน และทุกภาคส่วนของสังคมไทย ควรร่วมกันสร้างมาตรการณ์ป้องกันการท้องให้เข้มแข็งขึ้น โดยให้ทั้งชายและหญิงมีบทบาทรับผิดชอบอย่างเสมอกัน

3.    ภาครัฐควรจริงจังต่อการพัฒนาบริการปรึกษาทางเลือกที่เป็นมิตรให้กับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม เพื่อให้ผู้หญิงที่ประสบปัญหามีทางออกที่เหมาะสมและสอดคล้องกับชีวิต

4.    ควรจัดมีบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยที่สอดคล้องกับข้อกฎหมาย ในกรณี 1) ถูกข่มขืน 2) ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี และ 3) การท้องนั้นส่งผลต่อสุขภาพกายและใจของผู้หญิง เพราะการขาดบริการที่เข้าถึงได้นี้ ทำให้ผู้หญิงต้องเข้าสู่การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย

5.    ควรมีบ้านพักรอคลอด และการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งก่อนและหลังคลอด ที่เพียงพอ เข้าใจ เข้าถึงได้ และมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมมีความเชื่อมั่นและไม่พบทางตันต่อทางเลือกในการตั้งครรภ์ต่อไป

 


 

 [1] เป็นเครือข่ายขององค์กรภาครัฐและเอกชน 45 องค์กร มีภารกิจทำงานครอบคลุมทุกมิติชีวิตของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ตั้งแต่เรื่องเพศศึกษา การคุมกำเนิด การปรึกษาทางเลือก การดูแลผู้หญิงที่ตัดสินใจท้องต่อตั้งแต่ก่อน-หลังคลอด และการดูแลแม่และเด็กในระยะยาว รวมทั้งการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย โดยมีเป้าหมายสูงสุดที่คุณภาพชีวิตของผู้หญิงที่ประสบปัญหาและเด็กเป็นหลัก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ธาริต" โต้ศปช.-ยันแถลง89ศพทําอย่างโปร่งใส

Posted: 18 Nov 2010 03:50 AM PST

เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ได้ออกมาชี้แจงข้อกล่าวของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม กรณีเมษา-พฤษภา 53 (ศปช.) ทิ่ออกมาระบุว่า การแถลงของความคืบหน้าของดีเอสไอเกี่ยวกับการเสียชีวิตของทหาร ตำรวจและประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าวว่ายังมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการชี้ว่ามีผู้เสียชีวิตที่เกิดจากการกระทำของนปช. ขณะที่คดีที่สาธารณสงสัยว่าทหาร หรือเจ้าหน้าที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตกลับไม่ชัดเจนนั้น ดีเอสไอยืนยันว่า การชันสูตรพลิกศพเพื่อให้ศาลไต่สวนตามป.วิอาญา 150 โดยเฉพาะ  4 เคส 6 ศพ เป็นหน้าที่ของตำรวจในท้องที่นั้นๆ ซึ่งตามกฎหมายระบุไว้ว่า การที่ศาลจะมีคำสั่งให้ไต่สวนหาสาเหตุการตายจะต้องเกิดจากกรณีหน้าที่รัฐ เข้าไปเกี่ยวข้อง ส่วนการพิสูจน์ว่าจะเป็นทหาร หรือตำรวจ ทำผิดจริงหรือไม่นั้น ดีเอสไอไม่มีสิทธิก้าวล่วง ต้องรอผลการชันสูตรจากตำรวจในท้องที่เกิดเหตุและให้ศาลไต่สวนเสร็จสิ้นก่อน

นายธาริต กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามสำหรับข้อสงสัยว่าทำไมดีเอสไอไม่แถลงรายละเอียดของแต่ละสำนวน คดี ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและไม่เคยมีหน่วยงานไหนแถลง การเปิดเผยก็ทำไม่ได้ถือเป็นเรื่องสำคัญในคดีทั้งสำนวนและอาจจะส่งผลกระทบ ต่อตัวพยานด้วย และในสัปดาห์หน้าจะมีการแถลงความคืบหน้าในคดีดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

“ที่คปช.ระบุว่าการแถลงข่าวของดีเอสไอขาดหายไปเรื่องที่ประชาชนถูกอาวุธ ปืนความเร็วสูงยิงเสียชีวิต ขอชี้แจงว่ามีข้อมูลอยู่ในสำนวนการสอบสวนอยู่แล้ว และข้อมูลไม่ได้หายไปไหน ตอนนี้เราเพิ่งแถลงผลการชันสูตรไปได้ 18 ศพ ส่วนทีเหลือพนักงานสอบสวนกำลังเร่ง คาดว่าภายในสิ้นเดือน พย.นี้ก็จะทราบส่วนที่เหลือทั้งหมด” นายธาริต กล่าว

ที่มา - เว็บไซต์ข่าวสด
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบตองแห้ง...ออนไลน์: แก้ รธน.โจร-เอาวา!

Posted: 18 Nov 2010 02:50 AM PST

สลอร์กตัดหน้ามาร์ค! ชิงปล่อยอองซานซูจี ขณะที่อภิสิทธิ์เพิ่งสร้างภาพให้กองทุนยุติธรรมประกันตัวมวลชนเสื้อแดงออกมาได้…ตั้ง 2 คน

โถ อ้างว่าจะช่วย 40-50 คนที่ไม่ได้รับการเหลียวแล เมริงจับเขาคุมขังมา 6 เดือน เพิ่งรู้หรือว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม (DSI ยังสรุปผลการสอบสวนแบบไม่ผิดความคาดหมาย คือเสื้อแดงฆ่าทหาร แต่ไม่รู้ใครฆ่าเสื้อแดง พูดแค่ 6 ศพวัดปทุม ที่ตายเกลื่อนไม่นับ)

เมื่อเผด็จการทหารพม่าสร้างเซอร์ไพรส์ เผด็จการไทยก็งงเป็นไก่ตาแตก เรื่องขำๆ คือทั้งรัฐบาล ทั้งสื่อ ทั้งนักสิทธิมนุษยชนไทย ยังไม่ทันจะได้โหนกระแสซูจี ก็โดนทักษิณตัดหน้า เลยต้องหันมารวมหัวด่าทักษิณ ว่าทักษิณไม่ใช่ซูจี ประณามเกาะชายผ้าถุง

ซึ่งก็ไม่ผิดหรอก แต่ไอ้พวกเกาะชายโสร่งสลอร์ก ไม่ยักตักน้ำใส่กระโหลกชะโงกดูตัวมั่ง

พม่าปล่อยซูจีแล้ว ต่อไปนักสิทธิมนุษยชนไทยจะทำมาหากินอะไร เพราะอาชีพหลักที่ผ่านมาคือ หนึ่ง รณรงค์ให้ปล่อยซูจี สอง เรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกใน 3 จังหวัดภาคใต้ กับสาม สนับสนุนให้คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ

วันนี้ซูจีออกมาพูดเองได้แล้ว เคลื่อนไหวเอง ต่อสายตรงไปโลกตะวันตก ไม่ต้องผ่านสถานี relay ที่กรุงเทพฯ พวกแอมเนสตี้หอมลออจึงตกงานไปหนึ่งอย่าง ขณะที่ทางภาคใต้ก็ไม่เห็นจะกล้าแตะทหาร (ซึ่งเพิ่งซื้อกริพเพนอีก 1.6 หมื่นล้าน) ฉะนั้น คงเหลือแต่กลับมาช่วยกันด่าทักษิณ เรียกร้องให้ยอมติดคุกเหมือนซูจีดีกว่ามั้ง

ครั้นจะหันไปด่าทหารพม่าว่าเป็นประชาธิปไตยจอมปลอม ก็ด่าไม่ออก เพราะพม่าทำเหมือน ตั้งแต่ลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ตัดสิทธิฝ่ายค้าน ตั้งพรรคร่างทรง คงโควต้าอำนาจกองทัพ แม้อาจจะไม่เนียนเท่า (เพราะไม่มีตุลาการภิวัตน์ช่วย)

สื่อ นักสิทธิมนุษยชนไทย เลยเชียร์ซูจีไม่ได้เต็มปาก แต่ต้องชมว่าบางท่านก็กล้าดี เช่น “ท่านขุนน้อย” เขียนในไทยโพสต์ว่า “ประชาธิปไตยตะวันตก” ไม่ใช่คำตอบของพม่า (และของไทย?) ก็ดีไปอย่าง แสดงจุดยืนชัดเจนดี ไม่เป็นอีแอบ ขณะที่ส่วนใหญ่ยังฉวยโอกาสอ้างตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตย กลบพฤติกรรมในประเทศที่เป็นกระบอกเสียงระบอบอภิสิทธิ์ชน

คอยดูสิ หยุ่นต้องหาทางไปสัมภาษณ์ซูจี สร้างภาพเป็นนักประชาธิปไตยจ๋า

หันมาดูประชาธิปไตยในประเทศมีแต่เรื่องจริตจะก้านมารยา เช่น บีบให้รัฐมนตรีลาออกก่อนลงเลือกตั้งซ่อม กฎเหล็กกฎแหลอะไร มันก็แค่ดูดีในเชิงนามธรรม แต่ความจริงคือดัดจริตลวงตาคนชั้นกลาง ดูง่ายๆ ว่าฝ่ายค้านที่จะลงสนามสู้กันเขายังไม่เรียกร้องให้ลาออก กลับเป็นรัฐบาลด้วยกันเรียกร้อง

ถึงเวลาลงสนามจริงๆ ต่อให้ไม่เป็นรัฐมนตรี แต่มีนายกฯ ค้ำประกันว่า ชนะกลับมาเมื่อไหร่ตั้งใหม่ทันที ดูซิว่านายอำเภอจักราชจะกล้าหืออีกไหม

อันที่จริงเรื่องมันไร้สาระตั้งแต่ตีความให้ ส.ส.พ้นตำแหน่งเพียงเพราะไปซื้อหุ้นบริษัทที่มีสัมปทานรัฐ ซึ่งเปิดขายอยู่ในตลาดหุ้น ชาวบ้านร้านช่องเขาซื้อกันทั่วไป เช่นหุ้น ปตท.มีมากมายมหาศาล ซื้อกี่พันกี่หมื่นหุ้นก็ไม่มีสิทธิครอบงำกิจการ แต่มาร่าง รธน.และตีความให้เถรตรงไปซะงั้น (แก้เกี้ยวทำกับข้าวตกเก้าอี้นายกฯ)

ความพยายามผูกเงื่อนมัดคอนักการเมืองเนี่ยไม่เคยสรุปบทเรียนกันซักทีว่า “เมืองบุรีรัมย์ไม่เคยสิ้นคนดี” นักการเมืองเขี้ยวลาก วางกฎเกณฑ์อย่างไรมันก็หนีได้หมด สุดท้ายจับได้แต่คนที่หนีไม่ทัน ตัวอย่างเช่น กฎหมายเลือกตั้งกำหนดให้ต้องส่งบัญชีค่าใช้จ่าย คนที่โดนตัดสิทธิคนแรกเพราะไม่ส่งบัญชีคือลุงแคล้ว นรปติ นักการเมืองน้ำดีที่สุดในประเทศไทย กฎหมายเลือกตั้งห้ามสัญญาว่าจะให้ คนที่โดนรายแรกคือ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่เผลอไปเอ่ยปากว่าจะยกเงินเดือน ส.ส.เป็นประโยชน์สาธารณะ

รัฐธรรมนูญ 50 ร่างด้วยความพยายามกำจัดทักษิณ ยกทักษิณเป็นแม่แบบ เห็นว่าเป็นปัญหาตรงไหนก็ร่างสกัดตรงนั้น โดยไม่แยกแยะว่าอะไรคือพัฒนาการของประชาธิปไตย ทั้งที่ความจริง ถ้าทักษิณกลับมาเกิดใหม่ หรือมีทักษิณคนใหม่ ไอ้กฎเกณฑ์หยุมหยิมพวกนี้ มันก็หาช่องลอดได้แบบแมวเก้าชีวิตลอดบ่วง ในทางตรงข้าม รัฐธรรมนูญ 50 กลับสร้างผลเสียลิดรอนสิทธิประชาธิปไตยของปวงชนชาวไทย ริบอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง ปล้นอำนาจไปให้ตุลาการภิวัตน์และองค์กรอิสระ ที่เป็นเครื่องมือของอำมาตย์ คอยสกัดกั้น บงการ หรือเตะถ่วงอำนาจบริหาร

กระทั่งรัฐบาลมาร์คที่รับของโจรมา ก็ยังอยู่ไม่ได้ต้องขวนขวายแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 190 ซึ่งรัฐบาลจะออกแถลงการณ์ระหว่างประเทศซักฉบับก็อาจต้องเอาเข้าสภา ทั้งที่จุดเริ่มต้นมาจากเรื่อง FTA ซึ่งควรทำแบบอารยะประเทศ อย่างอเมริกา ที่เขาต้องขออนุมัติสภาก่อนเจรจา แต่รัฐธรรมนูญ 50 ทำให้ยุ่งเข้าไว้ โดยเขียนว่ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่เจรจาทำสัญญาระหว่างประเทศ แต่มีข้อยกเว้นดังนี้ 1-2-3-4-5 ถึงอินฟินิตี้..... คือข้อยกเว้นกว้างเป็นทะเลจนไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นข้อไม่ยกเว้นที่ควรจะเป็นสาระหลัก

อันที่จริงตัวมาตราก็ยังไม่เท่าไหร่ ถ้ารีบออกกฎหมายลูกมากำหนดเสียให้ชัดว่าอะไรบ้างต้องเอาเข้าสภา แต่พอดี๊ เกิดกรณีแถลงการณ์ร่วมปราสาทพระวิหาร เข้าศาลปกครองโกเอนก้า และศาลรัฐธรรมนูญคลิปๆ แล้วมีการตีความขยายข้อยกเว้นเป็นมหาสมุทร คือตีความว่า “อาจจะ” เสียดินแดน แค่ “อาจจะ” ก็ต้องเอาเข้าสภา พอไม่เอาเข้าสภา ออหมักกับออเหล่เลยโดนคดีอาญา

“อาจจะ” ใครจะไปตรัสรู้ละครับ การมองปัญหา การตีความกฎหมาย เป็นเรื่องที่มองต่างกันได้ ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ กับศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ทีศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ยังเห็นต่างกันได้ ไม่ต้องติดคุก แต่ทำไมรัฐบาลเห็นต่างกับศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญกลับจะเอาเข้าคุก

ฉะนั้น ปชป.ก็เสียวเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อคุณพ่อพันธมิตรออกมาฮึ่มๆ เรื่อง MOU ปี 43 เรื่องการเจรจาปักปันเขตแดน ไว้ใจไม่ได้ เพราะคุณพ่อเล่นตั้งกล่องบริจาค 2 กล่อง เอเอสทีวีกล่องหนึ่ง วีระ-ไชยวัฒน์ อีกกล่องหนึ่ง หยอดผิดกล่องเดี๋ยวเป็นเรื่อง

รัฐบาลมาร์คอยากแก้ ม.190 มานานแล้ว ถึงสะกิดให้ตั้งกรรมาธิการชุดดิเรก ถึงฝั่ง แต่ไปเอาสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ มาก็ยังไม่ถึงฝั่งซะที จนต้องทำน่าเกลียดแบบเสนอมา 5 ประเด็นแก้แค่ 2 ประเด็นในเรื่องที่เป็นประโยชน์กับตัว (อ้างว่าไม่แก้เรื่องยุบพรรคเพราะคดียุบ ปชป.อยู่ในศาล แต่มันคนละเรื่องกันเลยกับแก้มาตรา 237)

ที่ผมกังขาก็คือ เมื่อเสนอมา 5 ประเด็นแล้วรัฐบาลแก้แค่ 2 ประเด็น แถมยังเอาไปยำในที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์แบบนี้แล้ว 19 อรหันต์ชุดสมบัติ ธำ’ ยังแบกหน้าอยู่บนคอได้อย่างไร

คือการที่ใน 19 อรหันต์มีอดีต สสร.และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 50 อยู่ แล้วมาเสนอแก้รัฐธรรมนูญที่ตัวเองร่างมากับมือ ทั้งที่ตอนลงประชามติก็ดีเบตกันคอเป็นเอ็น มาตอนนี้ไม่ยักมีเหตุผลชี้แจงสาธารณชน ว่าทำไมถึงเปลี่ยนใจ มันก็แบกหน้าร้อนผ่าวได้ยากอยู่แล้ว

’จารย์สมคิดครับ ทำไมตอนนั้น ’จารย์เห็นด้วยกับเขตใหญ่ ตอนนี้ไหงเห็นด้วยเขตเดียวเบอร์เดียว ทำไมตอนนั้นให้ปาร์ตี้ลิสต์แบ่งเขต ตอนนี้ปาร์ตี้ลิสต์เขตรวม แบบนี้ต่อไป นศ.ที่เรียนกฎหมายกับ’จารย์ จะรู้ได้ไงว่าอันไหนที่’จารย์สอนไว้มันถูกหรือผิด

เปล่า ไม่ใช่แค่รายสองรายด้วยนะ เพราะสิบกว่ารายใน 19 ก็ปกป้องเป็นกองเชียร์ รธน.50 มาทั้งนั้น

อ้าว ซ้ำร้ายร่างมาแล้ว ปชป.ยังสะบัดก้นเย็นเฉียบ กระทั่งมาร์คยังไปพูดในพรรคว่าผิดหวัง นึกว่าสมบัติมีแนวทางเดียวกัน โห ศักดิ์ศรีความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองของนักวิชาการหายไปไหนหมดครับ

ผมสิกลับชอบใจคำพูดบัญญัติ ที่พูดได้ตรงไปตรงมาดีว่ากรรมการปฏิรูปชุดอานันท์-ประเวศ ไม่ได้ทำอะไรเลย (แต่ได้งบไป 600 ล้าน แล้วพอร่างมา 50 ข้อ รัฐบาลก็คงเอาแค่ 20 ข้ออีกนั่นแหละ)

เข็มมุ่ง: ป่วนแม่มเลย

ในสถานการณ์ที่ระบอบอภิสิทธิ์กำลังกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถามว่าฝ่ายประชาธิปไตยหรือรวมทั้งฝ่ายตรงข้ามระบอบอภิสิทธิ์ควรจะมีท่าทีอย่างไร จะเอาแบบพรรคเพื่อไทย ไม่ยุ่ง ไม่แก้ ไม่เอาด้วย ยังงั้นหรือ

ในเบื้องต้น ในแง่เนื้อหา เราต้องยอมรับว่าการแก้รัฐธรรมนูญกลับมาเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียว เป็นสิ่งที่ถูกต้องสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่สุดแล้ว ไม่ว่ามันจะทำให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้

เช่นเดียวกับการกลับไปเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์รวมทั้งประเทศ ซึ่งดีกว่าการแบ่งเป็น 8 เขตโดยไม่มีคำอธิบายว่าทำไมจึงต้องเอาสระบุรีไปรวมกับชุมพร โดยที่คนในแต่ละจังหวัดแทบไม่มีจุดร่วมกันทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และเป็นการให้อำนาจ 5 อรหันต์ กกต.จัดแบ่งโดยอาจจะเข้าทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

เพียงแต่อาจจะต้องมาดีเบทกันอีกว่า ที่จะลด ส.ส.เขตลงเหลือ 300 นั่นมันเหมาะสมจริงหรือไม่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 150 สมควรหรือไม่

นั่นมองในแง่เนื้อหา ซึ่งรวมมาตรา 190 ด้วยก็ยิ่งน่าแก้

ถ้าหันมามองในแง่การเมือง เราก็ควรสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปีศาจฟันดำ ไม่ว่าจะแก้มากแก้น้อยหรือแก้มาตราไหนก็ตาม เพื่ออะไร เพื่อทำลายความ “ศักดิ์สิทธิ์” ที่อำมาตยาและพันธมิตรพยายามปกป้องว่ามาจากการลงประชามติของประชาชนทั้งประเทศ (ที่ถูกบังคับให้เลือกเพื่อพ้นๆ จาก คมช.และรัฐบาลขิงแก่)

การแก้รัฐธรรมนูญ 50 ต่อให้แก้มาตราเดียว ไม่สลักสำคัญอะไร ก็เปรียบเหมือนสว่านเจาะทะลุเขื่อน แล้วแรงดันน้ำก็จะทำให้รูรั่วขยายตัวจนไปสู่การพังทลาย

ฉะนั้น ท่าทีของเรา – เรา ที่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซูจีหรือฝ่ายทักษิณ แต่อยู่ตรงข้ามระบอบอภิสิทธิ์ ในกรณีนี้จึงต้องเล่นเป็น นั่นคืออาจจะต้องเล่นตีสองหน้า เล่นเป็นช้างสามเศียร หรือเป็นพรหมสี่หน้าไปโน่น

หน้าที่หนึ่งคือจะต้องประณามการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงแค่ 2 ประเด็น ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นความต้องการของพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะใช้กระสุนเจาะฐานเสียงพรรคเพื่อไทยในภาคเหนือภาคอีสาน

หน้าที่สองคือต้องยุยงส่งเสริมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เรื่องนี้เป็นประเด็น เป็นกระแส ให้พันธมิตรออกมาต้าน ให้ FTA Watch ออกมาต้าน ให้มัน “ป่วน” ที่ไม่ได้หมายความถึงป่วนด้วยกำลังหรือด้วยม็อบ แต่ป่วนในทางเนื้อหา ในการต่อสู้ถกเถียงทางความคิด ให้แพร่หลายไปสู่ประชาชนมีส่วนร่วม

พูดง่ายๆ คือต้องไม่ใช่เสนอเข้าสภาแล้วจบเห่ สภาไม่รับ ไม่ได้แก้ซักมาตรา อย่างน้อยก็ต้องให้มีการตั้งกรรมาธิการขึ้นถกเถียง ถ้าสามารถผลักดันไปสู่การลงประชามติ ยิ่งเป็นเรื่องดี เป็นการ “ป่วน” ที่มีสาระ

นั่นจะนำไปสู่หน้าที่สามคือ ถ้าสามารถปลุกกระแสดีเบตแก้รัฐธรรมนูญ จาก 2 ประเด็นนี้ก่อน ฝ่ายประชาชนก็จะสามารถแทรกเข้ามาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น

ประเด็นนี้บัญญัติ บรรทัดฐาน ดักคอไว้แล้วว่า กลุ่มคนเสื้อแดงที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะเข้ามาแทรกให้เกิดวิกฤติ ขอบคุณบัญญัติที่กรุณาชี้แนะ เหลือแต่จะทำอย่างไรให้ปรากฏเป็นจริงได้

นั่นต้องอาศัยการผลักดัน สร้างกระแส โดยเริ่มจากแก้ 2 ประเด็นนี้ก่อน มองยาวอย่ามองสั้น แบบพรรคเพื่อไทยที่คิดแค่ว่าแก้เขตเดียวเบอร์เดียวแล้วจะเสียเปรียบในการเลือกตั้ง ไม่คิดถึงการทลายเขื่อน พัง “รัฐธรรมนูญโจร” ทั้งฉบับในวันข้างหน้า

ล้มฐานอำมาตย์

ถ้าสามารถสร้างกระแสและแทรกเข้าไปเสนอแก้รัฐธรรมนูญได้ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงคือ ต้องปรับแนวความคิดใหม่ มองในเชิงยุทธวิธี ไม่ใช่คิดแต่จะเอารวดเดียวหมดทั้งก้อน เอาชนะทางยุทธศาสตร์ในครั้งเดียว

ที่จริงผมก็ไม่ค่อยรู้เรื่องศัพท์วิชาการยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีหรอก แต่เขาสอนกันว่ายุทธศาสตร์คือกินข้าวให้หมดจาน ยุทธวิธีคือกินข้าวทีละคำ ซึ่งถ้าเอามามองในกรณีนี้ ก็อยากเสนอว่า เรา-ไม่ว่าฝ่ายซูจีหรือฝ่ายทักษิณ ไม่จำเป็นจะต้องไปเสนอแก้รัฐธรรมนูญให้เอาปี 40 กลับมาแบบเอาชนะทั้งก้อน แต่ทำอย่างไรให้มีการแก้ไขทีละคำ เอาจุดสำคัญที่แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ทีละจุดๆ

ซึ่งถ้ามองโดยส่วนตัวผม เห็นว่าประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญ 50 ที่ต้องแก้ และอยู่ใน timing ที่สามารถจุดชนวนให้แก้ไขได้คือ แก้มาตรา 111-120 ยกเลิก ส.ว. สรรหา

ส.ว. สรรหาชุดนี้จะหมดวาระลงในวันที่ 18 ก.พ.2554 คืออีกไม่ถึง 3 เดือน เป็น timing ที่เหมาะเจาะ หากจะมีการรณรงค์ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิก ส.ว. สรรหา 74 คนที่มาจากการลากตั้งโดยที่ประชุมประธานศาลและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งไม่มีที่ใดยึดโยงกับประชาชน

ที่จริง 19 อรหันต์ชุดสมบัติ ธำ’ ก็เสนอแก้ประเด็นนี้ แต่เสนอแก้เนื่องจากประเทศไทยมีจังหวัดบึงกาฬ้เพิ่มขึ้นมาเป็นจังหวัดที่ 77 โดยยังไม่มีวุฒิสมาชิกประจำจังหวัด ต้องลด ส.ว. ลากตั้งลงเหลือ 73 (โจ๊กสุดๆ เพิ่มจังหวัดทีก็แก้รัฐธรรมนูญที)

ไอ้การมีจังหวัดที่ 77 มันก็เลยเป็นเงื่อนให้เกิดปัญหาอยู่แล้วตอนจะลากตั้งกันใหม่ในเดือน ก.พ.ปีหน้า

ตรงนี้น่าจะเป็นประเด็นที่สามารถรณรงค์เคลื่อนไหวได้อย่างกว้างขวาง คือไม่ต้องไปเสนอแก้มาตรา 237 มาตรา 309 ให้บิดเบือนกันอีกว่าแก้เพื่อตัวเอง ถามว่าแก้ให้คนกรุงเทพฯ เลือก ส.ว. ได้ 17-18 คนเหมือนเดิม เมริงจะเอาอะไรมาคัดค้านไม่อยากเลือก แน่จริงมาลงประชามติแข่งกันสิ พวกนักรบศรีวิชัยแถวเมืองคอน สุราษฎร์ ยังอยากมี ส.ว. มากกว่า 1 คนเท่าระนอง มันเรื่องไร มีเหตุผลตรงไหนที่จังหวัดใหญ่มี ส.ว. เท่าจังหวัดเล็ก เราเป็นราชอาณาจักร ไม่ได้เป็นสหพันธรัฐเหมือนอเมริกา (ใครค้านด่าแม่มเลยว่านิยมชมชอบระบอบประธานาธิบดี ฮิฮิ)

ถ้าสามารถจุดกระแสแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิก ส.ว. สรรหา ก็จะเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลืองเสื้อแดง เสื้อมาร์คเสื้อทักษิณ ได้อำนาจคืนไปเท่ากันหมด ถ้าไม่อยากได้ก็แล้วไป ลองดูว่าใครจะค้านมั่ง ประสารรึ คำนูณรึ สมชายรึ จะด่าสภาผัวสภาเมีย ร่างทรงรึ เชิญดูถูกประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตามสบาย เพราะการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ไม่มีใครเถียงออก นอกจากจะบอกว่า “ประชาชนยังโง่อยู่” จึงต้องพึ่งตุลาการอำมาตย์มาเลือก ส.ว. ให้ เรื่องแบบนี้เอาไปรณรงค์ในทางสากลได้ด้วย เช่น เอาไปลง “สาละวินโพสต์” ขอความช่วยเหลือซูจีเพื่อประชาธิปไตยไทย เพราะไม่แน่ว่าต่อไปเราอาจต้องพึ่งพม่า

3 เดือนนะครับ เป็นช่วงเวลาที่รณรงค์ก่อกระแสได้สบาย ต่อให้แก้รัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ ก็เป็นการสร้างกระแสต่อต้าน ส.ว. ลากตั้งชุดใหม่ ตรวจสอบ ไต่สวน การทำหน้าที่ของกรรมการสรรหา คุณจะเอาใครจากไหนมาเป็น มีประวัติอย่างไร มีมาตรฐานหรือไม่ หรือมีหลายมาตรฐาน มีญาติพี่น้อง เลขา ที่ปรึกษา ของใครบ้าง และมีคลิปหรือไม่

รับรองดูไม่จืด เขย่าตรงนี้ก่อน กินทีละคำ แต่คำใหญ่ดี
 

ใบตองแห้ง 95
18 พ.ย.53

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ : การตั้งครรภ์ของวัยรุ่น

Posted: 18 Nov 2010 02:42 AM PST

กระแสข่าวการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นค่อนข้างมาแรงในระยะนี้จนอาจทำให้คนทั่วไปคิดว่ามันเพิ่งเป็นปัญหาสำหรับสังคมไทย แต่ที่จริงแล้วแนวโน้มของการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นนั้นเพิ่มขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544

เด็กไทยที่เข้าสู่วัยรุ่นในช่วงปี พ.ศ. 2542 ถึง 2552 เป็นเด็กที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2529-2533 เป็นยุคที่เศรษฐกิจไทยเติบโดมากที่สุดคือ ประมาณ 10% ต่อปี สูงที่สุดนับตั้งแต่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วัยรุ่นเหล่านี้เกิดในยุคเริ่มต้นของการสร้างครอบครัวของพ่อแม่ยุคเศรษฐกิจใหม่ที่ใช้เงินเป็นตัวนำในการสร้างครอบครัว เด็กของพ่อแม่เหล่านี้เป็นผู้ทำสถิติใหม่ของการตั้งครรภ์ในวัยเรียน ปัญหาการตั้งครรภ์ของเด็กวัยเรียนเป็นปัญหาที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้นมา โดยมีเด็กเป็นสื่อในการสะท้อนปัญหา

การใช้เงิน เป็นหลักในการสร้างครอบครัว (ต้องมีวัตถุอุปกรณ์โน่นนี่ให้ลูกพร้อมเพรียง) ทำให้พ่อแม่สร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ให้แก่ลูก สิ่งแวดล้อมที่ประหยัดเวลาของพ่อแม่เพื่อหาเงินมาซื้อสิ่งของต่างๆ ในที่สุดเด็กจึงนั่งมองทีวีมากกว่าการพูดคุยกับพ่อแม่

พ่อแม่อาจจะคาดหวังว่า ตนได้ส่งลูกไปโรงเรียน ก็น่าจะเป็นหน้าที่ของครูในการอบรมสั่งสอนลูก

ด้วยภาวะการเรียนการสอนแบบปัจจุบัน พ่อแม่คาดหวังเช่นนี้ไม่ได้อีกแล้ว เพราะที่โรงเรียนนั้นครูมีแต่ความวุ่นวายหาเงินสร้างครอบครัวเช่นกัน ต้องวิ่งเต้นเพื่อทำผลงานขยับวิทยฐานะของตนให้สูงขึ้น แม้แต่ในโรงเรียนประจำจังหวัดที่มีชื่อเสียงนั้น มีเด็กห้องคิงห้องเดียวเท่านั้นที่ได้เรียนหนังสือครบตามหลักสูตร เพราะเป็นหน้าตาที่จะทำชื่อเสียง ให้แก่โรงเรียน เด็กห้องอื่นๆ นั่งคุย เล่น หลับ เล่นเกมส์ อ่านนิยาย หนีเรียน และอื่นๆ ตามอัธยาศัยของเด็ก เด็กได้ใช้เวลาเรียนจริงๆ ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเวลาที่อยู่ที่โรงเรียน ถ้าใครอยากได้ความรู้ก็ต้องหาเงินไปเรียนกวดวิชาตอนเย็นหรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เอาเอง

พอครูไม่สอนหนังสือเด็กก็ออกมาเพ่นพ่านนอกโรงเรียน แรกเริ่มก็จับกลุ่มใหญ่ๆ ไปสุมหัวสนุกสนานที่บ้านเพื่อน การมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วยเป็นเรื่องปกติ สุมหัวบ่อยๆ เข้าก็เริ่มแบ่งเป็นกลุ่มย่อยเป็นคู่ๆ ต้องเข้าใจว่าเด็กอยู่ในวัยรุ่นเป็นวัยที่มองเพศตรงข้าม ธรรมชาติสั่งให้หญิงชายวิ่งเข้าหากัน การที่เด็กไม่เคยได้รับการอบรมสั่งสอนให้เข้าใจธรรมชาติ เค้าก็ปล่อยทุกอย่างไปตามธรรมชาติเรียกร้องเช่นกัน ผลก็คือ อัตราการมีบุตรของเด็กวัยรุ่นแซงหน้าผู้ใหญ่ไปเรียบร้อยแล้ว

เด็กบางคนไม่ได้มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงตั้งแต่ต้น แต่ก็อาจจะมีปัญหาได้เช่นกัน สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กเอื้ออำนวยให้มีความเสี่ยงมากขึ้น

ยุคนี้เด็กทำการบ้านโดยใช้อินเทอร์เน็ต การค้นหาคำว่า “กติกาตะกร้อ” เพื่อทำรายงานส่งครู ก็นำไปสู่เว็บไซด์ที่พูดถึงการเล่นตะกร้ออยู่ 5% ของหน้า ที่เหลือเป็นรูปหญิงชายในท่าทางต่างๆ ที่แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยังอยากรู้ว่าคลิกเข้าไปแล้วจะเจออะไร พ่อแม่ยุคใหม่ก็แสนใจดี มีทั้งทีวีและคอมพิวเตอร์แถมอินเทอร์เน็ตตลอด 24 ชม. วางไว้พร้อมในห้องนอนของลูก

สิ่งแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยงไม่ว่าที่บ้านหรือที่โรงเรียน ล้วนเป็นการสร้างโดยผู้ใหญ่ทั้งสิ้น

จากการสัมภาษณ์โรงพยาบาลของรัฐจำนวน 20 แห่งทุกภาคของประเทศ เราพบว่า การตั้งครรภ์และคลอดบุตรของวัยรุ่นนั้นมีฤดูกาล ไม่เหมือนกับฤดูกาลวางไข่ของปลา แต่เป็นฤดูกาลที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ฤดูกาลของการตั้งครรภ์จะเริ่มรอบประมาณช่วงลอยกระทง วันขึ้นปีใหม่ ต่อมาถึงวันวาเลนไทน์ ทำให้การคลอดบุตรของเด็กวัยรุ่นจะชุกมากช่วงตั้งแต่กันยายนถึงปลายปี ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกับที่สถานสงเคราะห์เด็กต้องรับเด็กถูกทอดทิ้งจำนวนมากเช่นกัน

การป้องกันคงไม่ใช่การห้ามเด็กวัยรุ่นออกจากบ้านไปเที่ยว แต่ต้องให้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติ ของร่างกาย การให้กำเนิดโดยที่ยังไม่พร้อม พาไปดูเด็กกำพร้าถูกทอดทิ้ง ชี้ให้เห็นปัญหาอื่นๆ ที่ตามมา ข้อมูลเหล่านี้ควรอยู่ในหัวเด็กเพื่อให้เกิดการยั้งคิดก่อนที่จะสร้างปัญหาต่ออนาคตตนเองและผู้อื่น

จากการสัมภาษณ์ยังพบว่า เด็กวัยรุ่นกลุ่มเสี่ยงอีกกลุ่มคือ เด็กที่อยู่ในอำเภอที่ติดต่อกับหัวเมืองใหญ่ เช่นตัวเมืองเชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี เป็นต้น เด็กนอกอำเภอเมือง มักจะเข้ามาศึกษาต่อระดับมัธยมในตัวเมืองใหญ่ บางคนไปเช้า กลับเย็น แต่ก็มีจำนวนมากที่มาอยู่หอพัก ความอิสระในการเดินทางไปไหนมาไหน การใช้เวลาเข้าเรียนแบบอิสระพ่อแม่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ทำให้สิ่งเร้าเข้ามารบกวนได้ง่ายยิ่งนัก

พ่อแม่บางคนอาจจะบอกว่า ตนโชคดีที่มีลูกชายไม่ต้องกลัวตั้งครรภ์ การคิดเช่นนั้นเป็นการปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม วัยรุ่นชายมีโอกาสติดเชื้อ HIV ถ้ามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน

ปัญหาเหล่านี้ เป็นความล้มเหลวในการทำงานเชิงรุกของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปล่อยให้วัยรุ่นมีอัตราการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 โดยไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง ที่ผ่านเรามัวแต่ทะเลาะกันว่าการให้ความรู้เพศศึกษาเป็นการชี้โพรงให้กระรอก ในขณะที่กระรอกเกือบทุกตัวต่างก็วิ่งเข้าโพรงกันสนุกสนานโดยหลอกให้คนชี้นั้นชี้ไปทางอื่น เด็กต่างก็มีจิตวิทยาตามประสาเด็ก เค้ารู้ว่าผู้ใหญ่ฟังเรื่องอะไรได้และฟังเรื่องอะไรไม่ได้ เด็กเลือกสาระที่จะสื่อสารให้ผู้ใหญ่รับรู้แล้วมีความสุข

ถึงเวลาแล้วที่โรงเรียนมัธยมควรจะเป็นศูนย์กลางที่ให้พ่อแม่ได้มีโอกาสเรียนเรื่องเพศศึกษาไปพร้อมๆ กับเด็ก โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ให้ความรู้ และมีโอกาสเรียนรู้การสร้างครอบครัวอบอุ่นโดยมีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ให้ความรู้

แต่ด้วยการที่ราชการแบบไทยๆ ทำงานใครงานมัน กระทรวงใคร กระทรวงมัน จึงทำให้โอกาสการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นเป็นไปได้ยากนัก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศปช.อัดรัฐใช้การประกันตัวเป็นเครื่องมือการเมือง จี้ DSI เผยผลชันสูตร

Posted: 18 Nov 2010 02:02 AM PST

18 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุม  ร.102 คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณีเมษายน-พฤษภาคม 2553 และกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.53(ศปช.) เนื่องในกรณีครบรอบ6เดือน การล้อมปราบประชาชนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นางสาวกฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์ประจำสถาบันประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะกรรมการ ศปช.ได้แถลงว่า ในกรณีที่รัฐบาล โดยกระทรวงยุติธรรม ได้เข้าไปช่วยประกันตัวผู้ที่ถูกคุมขังสืบเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค. 53  โดยเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ที่ถูกคุมขังสืบเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายธีรเดช สังขทัต นายสมหมาย อินทนาคา และนายบุญยฤทธิ์ โสดาคำ โดยกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ยื่นประกันตัวและใช้กองทุนยุติธรรมวางหลักทรัพย์ค้ำประกันให้ ซึ่งต่อมาวันที่ 11 พ.ย. นายกฯ อภิสิทธิ์ก็ได้เชิญนายสมหมายและนายบุญยฤทธิ์เข้าพบที่รัฐสภา

 
ภายหลัง นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ย. 53 ว่า ผู้ที่ถูกคุมขังสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดนั้น เป็นการดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย เพียงแต่ว่าจากการสำรวจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกระทรวงยุติธรรม พบว่าปัจจุบันมีผู้ถูกคุมขังอยู่ประมาณ 180 ราย ซึ่งจำนวนหนึ่งมีปัญหา เช่น ปัญหาสุขภาพ ผลกระทบต่อการศึกษา สมควรจะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ และจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการดูแลทางด้านกฎหมายเท่าที่ควร ดังนั้น นายกฯ จึงมอบหมายให้ทางกระทรวงยุติธรรมไปดูรายละเอียดเป็นรายบุคคล หากกรณีไหนเป็นความผิดไม่ร้ายแรง ดูแล้วไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคง ก็จะขอให้มีการยื่นประกันตัวต่อศาล แล้วถ้ากรณีไหนขาดแคลนทุนทรัพย์ กองทุนยุติธรรมสามารถนำเงินกองทุนไปช่วยเหลือได้
 
สำหรับเหตุผลที่ได้เชิญผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากกลไกของกระทรวงยุติธรรมจนได้ประกันตัวออกมา 2 ราย พร้อมครอบครัว ไปพบที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น นายอภิสิทธิ์บอกว่า เนื่องจากการประกันตัวครั้งนี้ดำเนินการโดยกองทุนของรัฐ ซึ่งทำให้เป็นการเพิ่มน้ำหนักเวลาไปขอประกันตัวจากศาล ฉะนั้นจึงขอความร่วมมือว่าเมื่อได้รับการประกันตัวแล้ว ขอให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการประกันตัวอย่างเคร่งครัด ไม่ทำเช่นนั้น หากไปทำผิดเงื่อนไขของศาลก็จะต้องถูกจับกุมคุมขังอีก และที่สำคัญ ถ้ารายที่ได้ประกันตัวออกมาแล้วมีปัญหา จะส่งผลกระทบต่อรายอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการประกันตัว
 
ทั้งนี้ นายกฯ ยังได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นผลงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการปฏิรูปและการปรองดอง
 
ต่อกรณีดังกล่าว ศปช. มีความเห็นและข้อสังเกต ดังนี้
 
1) นายกฯ อภิสิทธิ์ย้ำตั้งแต่ต้นว่า ผู้ที่ถูกคุมขังทั้งหมดนั้น เป็นการดำเนินการตามกฎหมาย รัฐบาลเพียงแต่เข้าไปพิจารณาช่วยเหลือเป็นรายกรณีเท่านั้น ตามนโยบายปรองดอง อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ ศปช. ลงไปสำรวจ พบว่า หลายกรณีมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าการจับกุมนั้น อาจมีปัญหาละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย รวมทั้งหลักสิทธิมนุษยชนสากล หลายกรณีมีลักษณะการจับกุมแบบเหวี่ยงแห ไม่มีพยานหลักฐานที่หนักแน่นเพียงพอ หรือมีการตั้งข้อหาที่รุนแรงกว่าความเป็นจริง หลายกรณีผู้ที่ถูกจับกุมถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทรมาน ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม ลักษณะวิธีการจับกุมไม่เป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งมีบางกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมหรือหลอกล่อให้ยอมรับสารภาพ ตัวอย่างกรณีของนายวิษณุ กมลแมน ซึ่งถูกจับกุมบริเวณปากซอยรางน้ำตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 53 และเพิ่งจะพ้นโทษอ อกมาเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังต้องจำคุก 6 เดือนว่า ตนเองถูกทหารจับกุมและซ้อมเพื่อให้รับสารภาพว่ามาร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง ปัญหาเหล่านี้มีต้นเหตุสำคัญมาจากการที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การที่กลไกของรัฐเข้ามาช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุมขังนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่สืบเนื่องจากการกระทำของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐเอง รัฐบาลไม่ควรสำคัญผิดว่าเป็นผลงานปรองดองของตน
 
2) สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวนั้น ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญก็รับรองไว้ด้วยว่า ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ เมื่อพิจารณาตามหลักการดังกล่าว ประกอบกับปัญหาของการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ แล้ว ดังนั้น ผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 ต้องได้สิทธิในการประกันตัวเป็นกรณีทั่วไป การไม่ได้รับสิทธิปล่อยตัวชั่วคราวต้องพิจารณาเป็นกรณียกเว้นเป็นรายๆ ไป มิใช่จะพิจารณาในการช่วยเหลือให้ได้รับการประกันตัวเป็นรายบุคคลเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือการศึกษาในลักษณะสงเคราะห์ดังที่นายกฯ แถลง แม้กระทั่งกรณีที่มีข้อหาร้ายแรงหรือดูแล้วมีอันตรายต่อความมั่นคงในสายตาของรัฐบาลก็สมควรได้รับการประกันตัวด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วเป็นการตั้งข้อหารุนแรงเกินกว่าความเป็นจริง เหวี่ยงแห ขาดพยานหลักฐานที่มีน้ำหนัก
 
3) มีข้อสังเกตว่า นอกจากการที่รัฐบาลจะฉวยโอกาสนำมาเป็นผลงานของตนแล้ว รัฐบาลกำลังใช้การเข้ามาช่วยเหลือให้ได้รับประกันตัวนี้ เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของตนหรือไม่ ในการประกันตัวรัฐบาลมียื่นเงื่อนไขทางการเมืองต่อผู้ถูกคุมขัง นอกเหนือจากเงื่อนไขของศาลหรือไม่ ดังเช่นในวันเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์เรียกนายสมหมายและนายบุญยฤทธิ์เข้าพบ นายเทพไท เสนพงศ์ ในฐานะโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า นายกฯ ฝากให้ญาติของผู้ที่ได้รับการประกันตัวช่วยดูแลไม่ให้ทำความผิดซ้ำอีก ให้ปฏิบัติอยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่ทำผิดเงื่อนไขประกันตัว รวมไปถึงการไม่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองด้วย หากคนที่ออกมาก่อนทำผิดเงื่อนไข คนที่เหลืออาจเสียสิทธิได้รับการประกันตัวจากกระทรวงยุติธรรม
 
 
ต่อกรณีการแถลงความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษเกี่ยวกับการเสียชีวิตของทหาร ตำรวจ และประชาชน ในเหตุการณ์ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นางสาวกฤตยา อาชวนิจกุล กรรมการ ศปช.ได้แถลงว่าเมื่อวันที่ 16 พ.ย. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ได้แถลงถึงผลการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษเกี่ยวกับการเสีย ชีวิตของทหาร ตำรวจ และประชาชน 89 ราย ในเหตุการณ์ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 โดยมีสาระสำคัญคือ หลังจากพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายให้ดีเอสไอ พนักงานสอบสวนได้ใช้เวลาสืบสวนมาระยะหนึ่ง ได้ข้อสรุปว่าสามารถแยกคดีได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
 
                 
ประเภทที่สอง คือคดีที่ยังไม่เป็นที่ยุติว่าการเสียชีวิตเกิดจากการกระทำของกลุ่ม นปช.หรือกลุ่มติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งสมควรดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม โดยการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพตามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 จำนวน 6 ศพ ประกอบด้วย (1) กรณีผู้เสียชีวิตในวัดปทุมวนารามฯ จำนวน 3 ศพ จากจำนวน 6 ศพได้แก่ นายรพ สุขสถิต นายมงคล เข็มทอง นายสุวัน ศรีรักษา (2) กรณีพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ถูกยิงเสียชีวิต บริเวณแยกอนุสรณ์สถานแห่งชาติ จำนวน 1 ศพ(3) กรณีผู้เสียชีวิตบริเวณสวนสัตว์ดุสิต คือ นายมานะ อาจรญ จำนวน1 ศพ และ (4) กรณีผู้สื่อข่าวสัญชาติญี่ปุ่นเสียชีวิต บริเวณถนนดินสอ คือ นายฮิยูกิ มูราโมโต้ จำนวน 1 ศพ
จากกรณีดังกล่าว ศปช. มีความเห็นและข้อสังเกต ดังนี้
 
1)    การแถลงข่าวของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ในลักษณะนี้ เป็นการให้ข่าวที่ไม่ชัดเจน คลุมเครือ ก่อให้เกิดความสับสน  ศปช. เห็นว่า เราสามารถแบ่งเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 ได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่ (1) เหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 53 (2) เหตุการณ์วันที่ 13-18 พ.ค. 53 และ (3) เหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค. 53   ดีเอสไอควรแถลงให้ชัดในแต่ละเหตุการณ์ว่า สำนวนคดีแต่ละเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร ซึ่งจากการแถลงของดีเอสไอจะพบว่า เหตุการณ์ช่วงที่ 2 ซึ่งประชาชนจำนวนมากถูกอาวุธปืนความเร็วสูงหรือสไนเปอร์ยิงเสียชีวิตนั้น หายไป  ขณะที่สไนเปอร์เป็นอาวุธที่มีใช้เฉพาะในกองทัพและหน่วยงานของรัฐบางแห่งเท่านั้น รวมทั้งปรากฎภาพและคลิปวิดีโอชัดว่ามีทหารใช้สไนเปอร์ในปฏิบัติการ “กระชับวงล้อม” จริง ทำไมการพิสูจน์หาพยานหลักฐานในช่วงนี้ถึงหายไป
 
2)    นับตั้งแต่ ศอฉ. ใช้กำลังทหารเข้า “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับวงล้อม” การควบคุมดูแลพื้นที่ใน กทม. โดยเฉพาะบริเวณที่ชุมนุมของ นปช. นั้น อยู่ภายใต้ความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฎิบัติราชการตามหน้าที่ทั้งหมด  ดังนั้น ศพทุกศพที่เกิดขึ้นจะต้องทำการชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการตาย ตาม ป.วิ.อาญา ม. 150  ไม่ใช่เลือกเฉพาะเป็นบางกรณีดังที่ดีเอสไอเสนอ
 
3)    ในคดีประเภทที่ 1 ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ระบุว่ามีพยานหลักฐานตามสมควรว่ามีผู้เสียชีวิตเกิดจากการกระทำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ต้องอธิบายให้ชัดเจนว่า เป็นใคร กลุ่มไหน ไม่ใช้ระบุแบบเหมารวมโดยไม่แยกแยะ และจำเป็นต้องระบุพฤติกรรมด้วยว่ามีอะไรบ้างที่สามารถระบุได้เช่นนั้น
 
4)    เห็นได้ชัดเจนว่า หลังจากผ่านเหตุการณ์มาถึง 6 เดือนแล้ว ในการสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอ มีความคืบหน้าชัดเจนเฉพาะคดีที่รัฐบาล ศอฉ. และดีเอสไอเอง อ้างมาตลอดว่าเป็นฝีมือของฝ่าย นปช. หรือฝ่ายสนับสนุนเท่านั้น  แต่คดีที่สาธารณะสงสัยว่าทหารหรือเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำให้ประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากนั้น กลับไม่มีความชัดเจนใดใดเลย  ขณะที่ในการดำเนินคดีกับแกนนำ นปช. ในข้อหาก่อการร้ายนั้น ตามสำนวนฟ้อง แกนนำ นปช. ถูกกล่าวหาโดยเชื่อมโยงว่ามีส่วนทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 90 ศพ   แต่หากการสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอมีความคืบหน้าเพียงแค่นี้ การฟ้องร้องดำเนินคดีกับแกนนำ นปช. ก็น่าจะมีปัญหาในเชิงพยานหลักฐาน
 
5)    ปัญหาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า การทำงานของดีเอสไอเลือกที่จะมุ่งไปที่การสนับสนุนการดำเนินคดีต่อแกนนำ นปช. และหวังสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้แก่รัฐบาล-ศอฉ. เป็นด้านหลัก มากกว่าที่จะดำเนินการอย่างเที่ยงธรรมในทุกกรณีที่มีการเสียชีวิต  
 
6)    ศปช. เห็นว่า บทบาทหน้าที่ของดีเอสไอนั้น ควรเน้นไปที่การสืบสวนสอบสวนอย่างเที่ยงธรรมในเวลาอันเหมาะสม ไม่ใช่บทบาทที่ที่จะมาให้ข่าวที่ก่อให้เกิดความสับสนคลุมเครือและออกมาไต่สวนทางสาธารณะว่าฝ่ายใดหรือใครเป็นผู้กระทำให้เกิดการเสียชีวิตเพื่อหวังผลทางการเมือง หากควรเป็นบทบาทของศาลที่เป็นผู้ไต่สวนและทำคำสั่งแสดงถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย นอกจากนี้ ศปช. ยังเห็นว่าดีเอสไอควรจะต้องทำอย่างยิ่งก็คือ การเปิดเผยรายงานการชันสูตรศพต่อญาติของผู้เสียชีวิต ซึ่งมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูล
 
7)    อันที่จริง ศปช. ยังมีความสงสัยในความสามารถของดีเอสไอที่จะทำการสืบสวนสอบสวนอย่างสุจริตเที่ยงธรรม เนื่องจากดีเอสไอ โดยเฉพาะอธิบดี เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงต่อกรณีนี้ เนื่องจากอธิบดีดีเอสไอมีบทบาทสำคัญใน ศอฉ. มาโดยตลอด ซึ่งหากการสืบสวนสอบสวนพบว่ามีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำให้ประชาชนเสียชีวิต ศอฉ. ก็จะตกเป็นจำเลยด้วย
 
8)    สุดท้าย ศปช. เห็นว่า นอกจากเรื่องกรณีผู้เสียชีวิตแล้ว เราต้องไม่ลืมว่ามีประชาชนที่บาดเจ็บ บางกรณีถึงขั้นพิการ อีกจำนวนมาก สืบเนื่องจากเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค. 53   ดังนั้น เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องยังต้องรับผิดชอบทำการสืบสวนสอบสวนว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุด้วยหรือไม่  มีส่วนในการกระทำให้ประชาชนบาดเจ็บนับพันรายหรือไม่  และจะชดใช้ให้กับคนเหล่านั้นอย่างไร  ประเด็นเรื่องการกระทำที่เกินกว่าเหตุนี้ ดีเอสไอจะต้องนำเอาข้อมูลปฏิบัติการของ ศอฉ. และกองทัพมาให้สาธารณะร่วมตรวจสอบว่ามีการใช้กำลังทหารอย่างไรใช้อาวุธเท่าไร อย่างไร สมควรแก่เหตุหรือไม่
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนงานกู๊ดเยียร์ 500 คนประท้วงโดนห้ามเข้าพื้นที่

Posted: 18 Nov 2010 01:45 AM PST

คนงานกู๊ดเยียร์ 500 คนประท้วงหน้าโรงงานหลังเจรจาสภาพการจ้างงานไม่สำเร็จและนายจ้างห้ามคนงาน ที่เกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงานเข้าพื้นที่ตั้งแต่เช้า

18 พ.ย. 53 - นายวาสุเทพ บุญคุ้ม คณะกรรมการกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต เปิดเผยกับโพสต์ทูเดย์ว่าคนงานบริษัท กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประมาณ 400-500 คนได้รวมตัวประท้วงนายจ้างหน้าโรงงานย่าน กม.ที่ 35 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานีเนื่องจากถูกนายจ้างปิดประตูไม่ให้เข้าพื้นที่ตั้งแต่ 07.00 น.จนถึงขณะนี้( 16.00 น.)

สาเหตุที่นายจ้างปิดประตูเนื่องจากกลุ่มคนงานได้ยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยว กับสภาพการจ้างงาน 15 ข้อ เช่น ขอให้ จ่ายเงินโบนัสกลางปีเป็นจำนวน 2.5 หมื่นบาท ขอให้จ่ายเงินสมนาคุณพิเศษเป็นจำนวน 2 หมื่นบาท ขอให้บริษัทจัดสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลให้กับพนักงานที่เกษียณอายุต่ออีก 5 ปี ฯลฯ

การเจรจาเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ค.ผ่านมา 4 เดือนเจรจาไป 12 ครั้งแต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ และการไกล่เกลี่ยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมาก็ไม่มีความคืบหน้าเพราะนายจ้างไม่ยอมส่งตัวแทนที่มีอำนาจในการ ตัดสินลงมาเจรจา

ดังนั้นกลุ่มคนงานจึงเตรียมตัวนัดหยุดงานประท้วงในเวลา 17.00 น.ของวันนี้ แต่นายจ้างได้สั่งให้ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานที่มาทำงานกะเช้า ไม่ต้องเข้าโรงงาน โดยยินดีจ่ายค่าจ้างโดยไม่ต้องทำงาน ทำให้คนงานต้องชุมนุมชี้แจงกันอยู่หน้าบริเวณบริษัทฯรอการเจรจากับทางนาย จ้างเพื่อหาข้อยุติต่อไป โดยขณะนี้แรงงานจังหวัดปทุมธานีกำลังเข้าไปเจรจาหาข้อยุติกับนายจ้างภายในโรงงานแล้ว

ที่มาข่าว:

คนงานกู๊ดเยียร์ 500 คนประท้วงโดนห้ามเข้าพื้นที่ (โพสต์ทุเดย์, 18-11-2553)
http://bit.ly/chFOLR

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ซีรีส์สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมือง ตอน 11: โลกอนาคตที่ไม่มีการผูกขาดความจริง

Posted: 18 Nov 2010 12:49 AM PST

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ส่งผลให้ ‘สื่อทางเลือก’ หรือ ‘นิวมีเดีย’ มีรูปแบบที่หลากหลายและนับวันจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ เคเบิลทีวี หรือวิทยุชุมชน จนกระทั่งช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาซึ่งประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ก็ทำให้ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ถึงนัยสำคัญที่มีต่อสังคมไทย กระทั่งเป็นที่จับตารอการทำความเข้าใจและอธิบาย
 
ขณะเดียวกัน สื่อสารมวลชนไทยกระแสหลักเองก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทำหน้าที่ตลอดช่วงความขัดแย้งดังกล่าว ไม่เพียงแต่การตั้งคำถามถึงจริยธรรม จรรยาบรรณ จุดยืน ตลอดจนท่าทีที่มีต่อความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่างๆ ในบริบทของการแบ่งแยกขั้วแบ่งแยกข้างทางการเมือง จนนำไปสู่วิกฤติความน่าเชื่อถือของสื่อ และเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ช่องทางและการสื่อสารใหม่ๆ มีผู้ใช้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนความคิดและความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ประชาไท สัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน และนักปฏิบัติการสื่อออนไลน์ 12 คน เพื่อร่วมถกเถียงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะนำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยความสนับสนุนของมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ซึ่งบทสัมภาษณ์อย่างละเอียดจะนำเสนอเป็นรูปเล่มต่อไป

 
มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ นับเป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนของนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนของไทยที่เริ่มหันมาสนใจและศึกษานิวมีเดียอย่างจริงจัง ในอดีตเขาเคยเป็นนักข่าวในเครือผู้จัดการในยุคพฤษภาเลือดปี 2535 ก่อนจะไปศึกษาต่อและมาเป็นอาจารย์สาขาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จนกระทั่งปัจจุบัน และใช้เครือข่ายทางสังคม หรือโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กสื่อสารกับผู้คน รวมถึงนักศึกษาของตัวเองอย่างใกล้ชิด
 
 
นิยาม ‘นิวมีเดีย’
มานะเริ่มต้นด้วยนิยามของนิวมีเดียว่าในแวดวงวิชาการปัจจุบันก็ยังเถียงกันอยู่ว่าควรจะใช้คำนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหากอ้างอิงกับเทคโนโลยี เมื่อมีเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า สิ่งที่เรียกว่าใหม่ในขณะนี้ก็กลายเป็นเก่าได้เสมอ อย่างไรก็ตาม ในความเข้าใจทั่วไป คำว่า นิวมีเดีย หมายถึงสื่อดิจิตอลซึ่งเป็นเว็บไซต์แบบ 2.0 คือ เป็นยุคที่ผู้รับสารสามารถเป็นผู้ผลิตเนื้อหาและเผยแพร่เองได้ด้วย อีกทั้งยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้ระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิต ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการสื่อสารแทบทุกวงการ ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยเฉพาะในแวดวงสื่อที่กำลังเผชิญความท้าทายและต้องปรับตัวอย่างหนัก  

ที่ผ่านมา กรอบเดิมของ “สื่อสารมวลชน” นั้นอยู่บนฐานที่เห็นผู้บริโภค 
passive คอยรับอย่างเดียว ถ้าหากมีความไม่เห็นด้วยกับผู้ส่งสารก็อาจมีช่องทางสื่อสารเสียงของตนบ้างเพียงเล็กน้อย ทั้งยังขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ส่งสารเป็นหลักว่าจะให้ความสนใจแค่ไหน แต่เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นได้เพิ่มอำนาจให้ผู้รับสารชนิดที่ในต่างประเทศถึงกับใช้คำว่า We’re the media. เพราะตัวเราสามารถเป็นสื่อได้ด้วยตัวเอง การทำเว็บไซต์ก็ไม่ยากเหมือนสมัยก่อนแล้ว หน้าที่ของคนทำสื่อแบบเดิมๆ ที่เป็นผู้กำหนดว่าอะไรถูก อะไรผิด เหตุการณ์ไหนสำคัญพอที่จะเป็นข่าว หรือเรียกว่าการเป็น gate keeper จึงถูกลดบทบาทลงอย่างสำคัญ
 
 
เมื่อ ‘ความจริง’ ไม่ใช่ ‘เอกพจน์’ อีกต่อไป
“ปัญหาต่อเนื่องตามมาก็คือ ในอนาคตหรือกระทั่งตอนนี้จึงไม่มีใครผูกขาดความจริงชุดเดียวอีกต่อไป เมื่อผู้บริโภคโดยเฉพาะคนชั้นกลางสามารถส่งสารได้มากขึ้น เรื่องหรือเหตุการณ์หนึ่งๆ จึงไม่มีความจริงชุดเดียว ไม่แปลกว่า ในอนาคต ความขัดแย้งในสังคมไทย ถ้าเรายังมองในลักษณะของการถูก การผิด ทุกเรื่องก็จะมีปัญหา”

“ฉะนั้น ในอนาคต เราจะอยู่ได้อย่างไรในเมื่อมีความจริงหลายๆ ชุด เราจะเรียนรู้ได้อย่างไร ที่จะเคารพความจริงอีกชุดหนึ่งหรืออีกหลายๆ ชุดที่แตกต่างจากเรา และจะเรียนรู้ได้อย่างไรว่าความจริงของเรามีจุดบกพร่องตรงไหน สามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากกว่าจะบังคับคนอื่นบอกว่าความจริงของคุณนั้นผิดของฉันถูกคนเดียว ซึ่งในอนาคตเป็นเรื่องยากแล้ว และจะเป็นปัญหามากขึ้นถ้าเรายังไม่สามารถบริหารจัดการความต่างตรงนี้ได้” มานะกล่าวและยกตัวอย่างว่า ดูจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ทุกคนพยายามบอกว่า ข้อมูลฉันถูก ข้อมูลเธอผิด ทุกฝ่ายเหมือนกันหมด และทำให้เถียงกันไม่จบ

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยไม่ใช่ “ข้อยกเว้น” ที่ต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งรูปแบบใหม่ในสังคมผ่านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นอยู่เพียงสังคมเดียว มานะบอกว่าในต่างประเทศก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน เพียงแต่เขาเรียนรู้ในบางเรื่องจนผ่านการยอมรับ มีการถกเถียงอย่างเป็นเหตุเป็นผล ขยายขอบฟ้าการวิพากษ์วิจารณ์ และยอมรับซึ่งกันและกันมากกว่าสังคมไทย

ทางออกเพียงอย่างเดียวที่เขานำเสนอ คือ ทำอย่างไร “เรา” จึงจะยอมรับว่ามันอาจมีความจริงที่หลากหลายมากกว่าความจริงหนึ่งเดียว เพราะเทคโนโลยีมันเปิดให้พื้นที่กับคนจำนวนมากสามารถให้ข้อมูล ทัศนคติ ความคิดเห็นที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอนาคตอันใกล้นี้ เครื่องมืออย่างนิวมีเดียจะขยายตัวทั่วถึงมากขึ้น ไม่ใช่ของคนชั้นกลางเท่านั้น คนชั้นล่างจะมีโอกาสใช้มันสื่อสารได้มากขึ้น ซึ่งจะยิ่งเพิ่มพลังหรือเปิดความจริงได้อีกมากมายหลายชุด ซึ่งนั่นอาจยิ่งท้าทายสังคมไทยหนักกว่าเดิม

ขณะที่หลายคนกังวลว่าสื่อใหม่อาจเป็นตัวกระพือความขัดแย้งให้หนักหน่วงขึ้น มานะมองว่าเป็นเรื่องปกติและต้องอาศัยระยะเวลาในการเรียนรู้ แม้ไม่มีใครรู้ว่าช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านด้านการสื่อสารนี้จะกินเวลายาวนานเท่าใด

“มันต้องเรียนรู้ และคงมีช่วงเปลี่ยนผ่านอยู่เหมือนกัน พอมีสื่อใหม่ ความจริงไม่ได้มีชุดเดียว ความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่แล้ว ยิ่งยึดกุมความจริงแน่นหนาเท่าไรยิ่งมีปัญหา สงครามในเฟซบุ๊กเกิดขึ้นก็เกิดจากการยึดกุมความจริงของแต่ละฝ่าย ผ่านคลิป ยูทูป ยังไม่นับการดัดแปลง ตัดต่อ ล้อเลียน ที่นิวมีเดียสามารถทำได้หมด นั่นคืออีกระดับ ต้องเรียนรู้เรื่องการเท่าทันสื่อดิจิตอลมากขึ้นด้วย” อาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์กล่าว
 
 
โลกเปลี่ยน สื่อเปลี่ยน...รัฐไม่ (เคย) เปลี่ยน
ในสถานการณ์ความขัดแย้งอันแหลมคม แม้ว่าหลายคนจะมองว่า สื่อใหม่มีบทบาทในการทำความจริงให้หลากหลาย แต่ความน่าเชื่อถือก็ยังคงรวมศูนย์อยู่กับสื่อดั้งเดิม เสมือนมวยคนละรุ่นโดยเฉพาะในเรื่องความน่าเชื่อถือของสื่อใหม่ มานะไม่กังวลกับประเด็นดังกล่าวเพราะเห็นว่าสื่อใหม่ไม่ได้มีกลุ่มเดียว เช่นเดียวกับสื่อกระแสหลักก็ไม่ได้มีกลุ่มเดียวเช่นกัน ดังนั้น ต้องมองกว่ามันไม่ใช่การต่อสู้กันระหว่างสื่อใหม่กับสื่อกระแสหลัก ในความขัดแย้ง แต่สื่อใหม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของทุกฝ่าย

แม้แต่รัฐเองก็กระโดดเข้ามาพยายามควบคุมในโลกใหม่ใบนี้ เช่น การออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.
2550 และกำลังอยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายเพื่อควบคุมโลกออนไลน์อีกหลายฉบับ แต่เขามองว่า อย่างไรเสียรัฐก็ยังคงตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และไม่มีทางประสบความสำเร็จในการควบคุม

“ถึงที่สุดรัฐยังใช้ตรรกะในการควบคุมข้อมูลข่าวสารแบบเดิม เหมือนหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี แต่สื่อใหม่มันไม่ใช่ มันขยายตัวเร็วมาก ปากต่อปาก เป็น
viral ต่อให้มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็ยังถูกใช้ด้วยตรรกะแบบเดิม ซึ่งมันไม่สามารถหยุดความคิดเห็นที่แตกต่างได้อยู่แล้ว พอเป็นไปไม่ได้ ยิ่งกระพือให้ความขัดแย้งมากขึ้น แสดงความคิดเห็นรุนแรงขึ้น หรือสร้างเป็นเครือข่ายได้มากขึ้นด้วยซ้ำไป อันนี้ต้องบอกว่ารัฐทุกยุคสมัย เพื่อความแฟร์ว่าไม่ใช่เฉพาะรัฐยุคนี้ เป็นกรอบคิดของคนมีอำนาจที่พยายามควบคุมไม่ให้มีความเห็นที่แตกต่าง เชื่อว่าความจริงต้องมีชุดเดียว ประวัติศาสตร์ต้องมีชุดเดียว โดยอ้างว่าเพื่อความสุขสงบของสังคม ในอนาคตมันจะไม่ใช่แบบนี้อีกต่อไป”

อีกสิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ว่ารัฐไม่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยก็คือ การกระโดดเข้ามาเล่นและแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบกันเองภายในสังคมไซเบอร์ ซึ่งมานะเห็นว่าสื่อใหม่มีการควบคุม ตรวจสอบกันเองอย่างเข้มข้นอยู่แล้วโดยธรรมชาติของการสื่อสารสองทาง แม้ว่าในช่วงแรกๆ จะมีการสร้างบรรยากาศการตรวจสอบกันเองที่น่าห่วงกังวล เช่น ขบวนการล่าแม่มด หรือโซเชียลแซงชั่นที่ไล่ล่านำข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่สังคมนั้นเห็นว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงมาเปิดเผยเพื่อหามาตรการจัดการทางสังคม แต่ถึงที่สุด มานะเห็นว่าปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่กลายเป็นต่างคนต่างล่ากันและกัน โดยมีรัฐเข้ามาขยายปัญหาด้วยการนำข้อมูลดังกล่าวไปทำการจับกุมดำเนินคดี

“มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่พอเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านมันก็เป็นเรื่องที่คนลองผิดลองถูก ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นกับฝ่ายเดียวอย่างที่เข้าใจ คำถามคือ ไม่ว่าฝ่ายไหนทำมันก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องทั้งคู่มากกว่า ผมเชื่อว่าถึงที่สุดแล้วเขาก็จะเรียนรู้กัน ฉันทำเธอได้ก็จะถูกทำบ้าง ถึงจุดหนึ่งจะเรียนรู้ว่าไม่ควรทำแบบนี้ ควรจะเถียงกันดีกว่า แต่ปัญหามันเกิดเพราะรัฐเข้ามายุ่ง”

 
ความท้าทายต่อ “มืออาชีพ”
ไม่เฉพาะกับรัฐ สื่อใหม่หรือโซเชียลมีเดียยังท้าทายต่อบทบาทของนักข่าวและความเป็นสถาบันของสื่อสารมวลชนอีกด้วย
 
เขามองว่าเครดิตของนักข่าวก็ถูกตั้งคำถามเยอะ เนื่องจากความจริงเกิดจากการกลั่นกรองของนักข่าว ผ่านทัศนคติส่วนตัว หรืออุดมการณ์ทางเศรษฐกิจที่ครอบงำโดยโฆษณา องค์กรรัฐ ทำให้ที่ผ่านมาผู้บริโภคไม่แฮปปี้กับข้อมูลข่าวสารที่ออกมานัก และมีการวิพากษ์วิจารณ์ กระแทกกันหนักๆ อยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่อผู้บริโภคเสียงดังขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ที่ใครๆ ก็สามารถทำเสนอข้อมูล มุมมองตัวเองขึ้น จนกระทั่งปัจจุบัน citizen journalist หรือนักข่าวพลเมืองถูกสถาปนาขึ้นมาอย่างเป็นทางการและเป็นที่จับตามองอย่างยิ่งในแวดวงการสื่อสาร แม้ว่าในระยะแรกจะโดนดูถูกจากสื่อกระแสหลักในเรื่องความเป็นมืออาชีพ ความเที่ยงตรงของข้อมูล ความเป็นกลาง ความสมดุลของข่าว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักข่าวพลเมืองทุกแห่งในโลก
 
แต่ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา นักข่าวพลเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางเริ่มขยายตัวขึ้นมาก พร้อมๆ กับมีการพัฒนาการทำข่าวอย่างเป็นมืออาชีพมากขึ้น ทุกประเทศมีแนวโน้มเช่นนี้ กระทั่งสำนักข่าวระดับโลกอย่าง CNN หรือหลายๆ แห่งก็ต้องมีพื้นที่เฉพาะรองรับนักข่าวพลเมือง
 
 
โฉมใหม่การสื่อสารโลก นักข่าวอาชีพ + นักข่าวพลเมือง
เขาเล่าเพิ่มเติมว่า ขณะนี้หลายๆ แห่งเริ่มมีการปรับตัวในการร่วมมือกันมากขึ้นระหว่างนักข่าวพลเมืองและนักข่าวอาชีพ ตัวอย่างอันลือลั่นก็เช่น โครงการวิกิลีค (Wikileak) ที่มองกันว่าเป็นการทำงานของแฮกเกอร์หรือพวกเจาะข้อมูล หรืออาจเป็นพวกที่อยู่ในวงราชการของประเทศต่างๆ ส่งข้อมูลมา ผ่านกระบวนการบางอย่างกระทั่งเกิดผลกระทบต่อกระแสสังคมวงกว้าง ทั้งนี้เพราะวิกิลีคไม่ได้เปิดประเด็นบนเว็บไซต์ของตัวเองแล้วจบ แต่เปิดผ่านสื่อกระแสหลัก โดยให้ข้อมูลบางส่วนไปก่อนเพื่อให้นักข่าวไปทำการบ้านต่อ เช็คต่อ ขยายประเด็นต่อ แล้วนัดเวลาในการเปิดข่าวพร้อมๆ กัน ซึ่งนับเป็นการร่วมมือกันในการทำข่าวสืบสวนสอบสวนที่น่าสนใจ ผสานกับนักพัฒนาที่คอยดึงและกระจายข้อมูล กับดีไซเนอร์ที่ทำหน้าที่ย่อยข้อมูลยากๆ ให้เป็นเรื่องง่าย หรือที่เรียกว่า Info Graphic

“ที่อเมริกาเพิ่งประชุมกันเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เรียกว่า data journalism หรือ data driven journalism และที่คุณสุทธิชัย หยุ่น ไปประชุมที่เยอรมนี นั่นก็เป็นการคุยเรื่อง data journalism เกี่ยวกับการจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ ต่อไปจะไม่มีโต๊ะข่าวเศรษฐกิจ การเมือง แต่จะเปลี่ยนเป็นกองได้เงิน กองไม่ได้เงิน กองที่เอาคอนเทนต์มาแล้วแปลงเป็นสารในสื่ออื่นต่อ เช่น สื่อวิทยุ”

เขายังหยิบยกกรณีที่สื่อกระแสหลักในบางประเทศเริ่มเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนทั่วไปมาร่วมมือกันผ่านเทคโนโลยีบางอย่าง ซอฟต์แวร์บางตัว เพื่อร่วมกันทำข่าวสืบสวนบางเรื่อง เช่น สื่อในอังกฤษค้นข้อมูลการใช้เงินของ ส.ส.แล้วก็ออกแบบคล้ายโอเพ่นซอร์สเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมาโหลดไฟล์ไปช่วยกันเช็คดู เพราะข้อมูลมีเยอะมาก หรือบางพื้นที่ก็จัดโครงการขึ้นมาให้คนธรรมดาทั่วไปร่วมมือกับนักข่าวในการนำเสนอข่าวในพื้นที่มากขึ้น นับเป็นการทดลองทางด้านวารสารศาสตร์แบบใหม่ที่กำลังก่อตัว

ถามว่าปลายทางของนักข่าวพลเมืองจะต้องสร้างความน่าเชื่อถือเหมือนนักข่าวอาชีพหรือไม่ มานะตอบว่า “ไม่จำเป็น เสน่ห์ของคุณก็คือแบบนั้นแหละ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหมด ไม่จำเป็นต้องมีความจริงชุดเดียว มีหลักสูตรการเขียนข่าวชุดเดียว มันมีการตั้งคำถามกันในแวดวงวารสารศาสตร์เหมือนกัน แล้วผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ในหลายๆ แห่งก็สรุปออกมาว่า
Journalism ก็คือการเล่าเรื่อง เพียงแค่คุณเล่าเรื่องผ่านอะไร เล่าเรื่องผ่านวิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร นักข่าวก็คือนักเล่าเรื่องนั่นแหละ แล้วก็เอาข้อมูลมา บางคนเล่าแล้วใส่สีตีไข่ บางคนเล่าสั้นๆ บางคนเล่าแล้วมีอารมณ์ แล้วแต่เทคนิค ให้รู้ว่าแก่นของเรื่องมันคืออะไร”

ที่สำคัญ เขายังไม่เชื่อเรื่องฐานันดรของสื่อมวลชนด้วย “ถ้ามันมีก็คงเพราะรู้สึก หรือสถาปนากันไปเองว่ามันมี”

ถึงกระนั้น ในแวดวงสื่อสารมวลชนกระแสหลักก็เริ่มมีการปรับตัวในด้านการควบคุมจริยธรรมที่เข้มข้นมากขึ้นให้เท่าทันกับเทคโนโลยี โดยเขาเพิ่งได้เข้าร่วมในการร่างจริยธรรมผู้สื่อข่าวออนไลน์ร่วมกับสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ เพราะนักข่าวก็เริ่มหันมาใช้สื่อใหม่หรือเครือข่ายทางสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือ ทั้งในการหาข่าว คุ้ยข่าว หรือสร้างข่าว และผู้คนที่ติดตามนักข่าวคนนั้นๆ ก็ไม่ได้ตามในฐานะที่เป็น นาย ก. นาย ข. แต่ติดตามและเชื่อถือในฐานะที่เป็นนักข่าว

ท้ายที่สุด เราถามเขาถึงเรื่องของแวดวงการศึกษาด้านสื่อสารมวลชน คำตอบมีเพียงสั้นๆ ดังคาดว่า ระบบการศึกษาก็เป็นแชมป์รองลงมาจากรัฐ เพราะยังตามไม่ทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลง มีเพียงสถาบันบางแห่งที่เพิ่งเริ่มต้นในการปรับปรุงหลักสูตรให้ทันยุคสมัยทันนักศึกษาของตัวเองมากขึ้น

“หลักสูตรมันปรับไม่ยากหรอก แต่คนสอนน่ะปรับยาก ยากมาก” มานะเล่าขำๆ แต่สะท้อนให้เห็นปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่ยังแก้ไม่ตกและยังขาดแคลนการถกเถียงกันในสังคม

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ยันใส่เสื้อแดงร่วมงานลอยกระทงไม่มีปัญหา

Posted: 18 Nov 2010 12:05 AM PST

ผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ ย้ำทุกสีเสื้อสามารถร่วมงานลอยกระทงหรืองานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ได้ ด้านผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ชี้เสื้อแดงจัดงานลอยกระทงได้หากไม่กระทบต่อความมั่นคง เกย์เชียงใหม่เฮ ศาลให้นั่งกระทงได้

18 พ.ย. 53 - หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยกับสื่อมวลชนท้องถิ่น ถึงกรณีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งได้ลงข่าวใจความว่าผู้ว่าราชการจังหวัด เชียงใหม่สั่งห้ามใส่เสื้อสีแดงร่วมงานกระทง ว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง และไม่มีนโยบายที่จะกีดกันไม่ว่าจะเป็นสีเสื้อใด ทั้งนี้งานลอยกระทงเป็นประเพณี และวัฒนธรรมล้านนาที่สวยงาม ทั้งนี้ในการประชุมเตรียมการจัดงานประเพณีลอยกระทงเชียงใหม่ก็ไม่เคยพูด เรื่องดังกล่าว มีเพียงเรื่องที่เป็นห่วงคืออยากขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้เล่นโคมลอย หรือหากจะลอยต้องเกินเวลา 21.00 น.เป็นต้นไป เนื่องจากเกรงจะไปรบกวนการบินและหากเล่นแล้วก็ต้องระมัดระวังการเกิด อัคคีภัยด้วย ข่าวที่ออกมาคาดว่าน่าจะเกิดจากความเข้าใจผิด ทั้งนี้ยืนยันผู้ว่าราชการจังหวัดทำงานเพื่อประชาชนทุกคนในจังหวัด ทุกสีเสื้อ ประชาชนทุกคนสามารถมาเที่ยวงานลอยกระทงหรืองานยี่เป็งเชียงใหม่ซึ่งเป็น จารีตประเพณี สืบสานวัฒนธรรมของชาวล้านนาได้

ส่วนกรณีที่กลุ่มเสื้อแดงจะไปจัดงานลอยกระทงที่เวียงกุมกามและ ตลาดแม่เหียะนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าการจัดงานลอยกระทง เป็นการสืบสานประเพณีอันดีงามให้อยู่คู่กับชาวเชียงใหม่ และไม่น่าจะมีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ

ผบช.5 และ ผบ.มทบ.33 วางมาตรการรับมือช่วงเทศกาลลอยกระทง

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา พลตำรวจโทชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 พร้อมด้วยพลตรีประตินันท์ สายหัสดี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 นายสุรชัย จงรักษ์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่และคณะ ประชุมร่วมหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อเตรียมการรับเทศกาลลอยกระทงหรือประ เพณียี่เป็งเชียงใหม่ ซึ่งจะบูรณาการทำงานร่วมมือกันทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่อง เที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้มาเที่ยวเชียงใหม่และภาคเหนือได้อย่าง ปลอดภัย โดยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 กล่าวว่า ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความสงบ เรียบร้อยและกวาดล้างแหล่งจำหน่ายประทัดยักษ์ โดยก่อนหน้านี้ก็สามารถตรวจยึดสารโปรแตสเซียมคลอเรทได้ถึง 5 พันกิโลกรัมกลางเมืองเชียงใหม่ ขณะเดียวกันขอความร่วมมือประชาชนร่วมแจ้งเบาะแสหากมีเหตุการณ์ผิดปกติ

สำหรับการจัดประเพณียี่เป็งของกลุ่มเสื้อแดงที่เวียงกุมกาม อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่นั้น ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 กล่าวว่าสามารถกระทำได้หากไม่กระทบต่อความมั่นคง โดยการทำงานไม่ได้ยึดสีเสื้อ หากผู้ใดทำผิดกฎหมายก็จะดำเนินการไม่มีข้อยกเว้นไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีใด

ด้านพลตรีประตินันท์ สายหัสดี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ตัวแทนหน่วยงานด้านความมั่นคงถึงมาตรการรับมือช่วงเทศกาลลอยกระทงว่า ทหารพร้อมจะสนับสนุนการปฏิบัติงานของตำรวจ และทำงานเชิงรุกในการทำความเข้าใจให้ประชาชนหันมาคิดดีทำดี โดยจะไม่ยอมให้มีการทำลายบ้านเมือง สำหรับเทศกาลลอยกระทงเชียงใหม่ไม่มีสิ่งใดน่าเป็นห่วง ก็จะสนับสนุนเจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร เพื่อแสดงออกถึงความพร้อมในการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อร่วม รักษาความมั่นคงภายในพื้นที่

ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ยังขอความร่วมมือประชาชนร่วมแจ้งเบาะแส กรณีเกิดเหตุการณ์ผิดปกติในพื้นที่ และเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวงานลอยกระทงเชียงใหม่อย่างมั่นใจในความ ปลอดภัยด้วย โดยทหารได้เตรียมพร้อมเสริมกำลังตลอดเวลากรณีเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ

เกย์เชียงใหม่เฮ ศาลให้นั่งกระทงได้

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่านายนที ธีระโรจนพงษ์ หรือ "เกย์นที" ประธานกลุ่มเกย์การเมืองไทยและเลขาธิการกลุ่มเชียงใหม่อารยะ ได้นำกลุ่มกะเทย เกย์ และสาวเสริมสวย มารวมตัวยังบริเวณจัดแสดงโคมยี่เป็งหน้าข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ประกอบพิธีกราบไหว้อนุสาวรีย์ จากนั้นได้ใช้วิทยุเทปเปิดเพลงรำวงลอยกระทง พร้อมกับนำสำเนา เรื่องการทุเลาการบังคับตามคำสั่งศาลปกครองออกมาโชว์ให้ผู้คนเห็น และร่ายรำวงตามจังหวะเพลงลอยกระทง โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศจำนวนหนึ่ง ที่มาชมลายโคมยี่เป็งและอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เร่เข้ามายืนดูด้วยสนใจ

นาย นที กล่าวว่า การออกมาร่ายรำครั้งนี้ เป็นการแสดงชัยชนะของบรรดากลุ่มเกย์และกะเทย หลังศาลได้มีคำสั่งทุเลาให้เพศที่ 3 สามารถนั่งกระทงในงานประเพณียี่เป็งเมืองเชียงใหม่ได้ ทางกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ก็ร่วมแสดงความยินดีด้วยและร่วมฟ้อนรำเพลงลอยกระทงอย่างสนุกสนาน โดยทางศาลปกครองได้นัดไต่สวนในกรณีที่พวกเราได้ยื่นฟ้องทางนายกเทศบาลนคร เชียงใหม่ เรื่องข้อที่ระบุว่าผู้ที่นั่งบนกระทงจะต้องเป็นสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีเท่า นั้น ถือว่าเป็นการจำกัดสิทธิของเพศที่ 3 คือ กะเทยจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ จนมีคำตัดสินออกมา

เลขาธิการ กลุ่มเชียงใหม่อารยะ กล่าวต่อว่า ศาลได้มีคำสั่งทุเลาข้อบังคับข้อ 2 ตามคำฟ้องไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น หมายถึงว่าทางเทศบาลฯไม่สามารถจำกัดสิทธิ์เฉพาะสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี ให้นั่งกระทงเท่านั้น แต่ให้หมายถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศใครก็ได้ที่เป็นสุภาพชนสามารถ ขึ้นนั่งบนกระทงได้ จึงเป็นความชื่นใจของพวกเราเพราะเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองอารยะ เป็นเมืองท่องเที่ยวติดอันดับโลก ดังนั้นความแตกแยกที่ทำให้บ้านเมืองปั่นป่วน ตนจึงเห็นว่าเรื่องที่ศาลได้มีคำสั่งในการบรรเทาในครั้งนี้ ทำให้ต่อไปเรื่องการแตกแยกก็คงไม่เกิดขึ้นแล้ว เรื่องอคติต่อกันจะไม่มีก็จะทำให้บ้านเมืองสงบขึ้น และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศก็จะได้กลับคืนมา

"พวก เขาจะได้ทำแต่สิ่งดีๆไม่ได้ไปขายเนื้อขายตัวกัน หรือลดปริมาณที่จะไปทำสิ่งไม่ดี จึงถือเป็นเรื่องที่น่าดีใจถือว่าเป็นสิ่งที่สร้างความปรองดองในบ้านเมือง ขึ้น โดยพวกเราไม่หวังที่จะนั่งเป็นนางนพมาศ เพราะผู้หญิงเท่านั้นที่จะเป็นนางนพมาศ พวกเราเข้าใจในกติกาไม่ไปละเมิดในข้อนี้ หากกะเทยปลอมตัวไปประกวดหากทางตนรู้ก็จะประท้วงเช่นกัน สำหรับข่าวดีที่ศาลปกครองบรรเทาในครั้งนี้ตนก็ได้แจ้งข่าวดีไปตามสื่อต่างๆ ถึงชัยชนะของกะเทยในครั้งนี้แล้ว" นายนที กล่าว

ด้าน นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า เรื่องการที่ศาลปกครองสั่งทุเลาในเรื่องที่ทางผู้ฟ้องไป ตนยังไม่ทราบแต่เมื่อมีคำสั่งตนก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะกฎระเบียบนั้นคณะกรรมการจากหลายองค์กรเป็นผู้ร่วมกันออกกฎระเบียบไว้ หากทางบุคคลหลากหลายเพศจะเข้ามาร่วมขบวนแห่ ก็ขอให้มีการแต่งกายตามประเพณีวัฒนธรรมล้านนาเพื่อส่งเสริมสิ่งทีดีงามของ บ้านเมืองเราด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลเหตุของเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ มาจากการที่คณะกรรมการประกวดกระทงใหญ่ ที่เป็นภารกิจของทางเทศบาลนครเชียงใหม่ ตามพระราชบัญญัติของเทศบาลฯ เกี่ยวกับการบำรุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นซึ่งถือปฏิบัติสืบทอดกันมานาน แล้ว เกี่ยวกับประกาศเทศบาลนครเชียงใหม่ที่พิพาทนั้น ที่มีการแก้ไขระบุเฉพาะสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีเท่านั้น ที่เป็นผู้นั่งประกอบกระทงโดยออกกฎมาเมื่อ พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา เนื่องจากที่ผ่านมาความหลากหลายอาชีพบางคนที่เข้าร่วมประกวดกระทง มีการแต่งกายไม่สุภาพ และแสดงกิริยาไม่เหมาะสม ทำให้เสื่อมเสียประเพณีท้องถิ่น ที่ได้สมญานามว่า "สาวงามเอื้องเหนือ" เมื่อภาพลักษณ์การประกวดกระทางเผยแพร่ออกไป ทางเทศบาลได้รับคำตำหนิจากสาธารณชนและสื่อมวลชน ว่า" หาคนสวยในจังหวัดเชียงใหม่ไม่มีอีกแล้วหรือ" จึงได้มีการประชุมกันจนมีการออกกฎระเบียบออกมาดังกล่าว

สำหรับการ ประกวดกระทงใหญ่ในงานประเพณี เดือนยี่เป็ง เชียงใหม่ในปีนี้ตรงกับวันที่ 22 พ.ย.จะมีกระทงใหญ่ตามหน่วยงานองค์กรต่างส่งเข้าประกวดมากกว่า 30 กระทง โดยแห่จากข่วงประตูท่าแพไปจนถึงหน้าเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศชมขบวนแห่ที่แต่ละขบวนงด งามตระการตา เคลื่อนขบวนไปตามถนนท่าแพ ที่มีความยาวของขบวนกว่า 2 กิโลเมตร เพื่อได้ชมกันโดยจะมีทั้งประเภทสวยงาม และประเภทความคิด มีบางกระทงใหญ่บางขบวนจะลอยโชว์ลงในแม่น้ำปิงด้วย.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงแจ้งความสื่อท้องถิ่น กรณีลงข่าวแกนนำข่มขืนลูกเลี้ยง

Posted: 17 Nov 2010 11:11 PM PST

 

18  พ.ย.  53  ที่ สภ.บางสะพาน เวลาประมาณ 13.00 น. กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงกว่า 300 คน นำโดยนายวิฑูรย์  บัวโรย แกนนำกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับหนังสือพิมพ์ประจวบนิวส์  ฉบับประจำวันที่ 16-30 พ.ย. 53 ที่ลงข่าวหน้าหนึ่งว่า แกนนำกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงข่มขืนลูกเลี้ยง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของกลุ่มฯ โดยการเข้าแจ้งความในครั้งนี้เป็นการแจ้งความในนามกลุ่ม อีกทั้งหนังสือพิมพ์ประจวบนิวส์ยังถือว่าไม่มีจรรยาบรรณในการเสนอข่าวเนื่องจากมีการพิมพ์ชื่อและนามสกุลจริงของผู้เสียหายและมารดาผู้เสียหายอีกด้วย โดยมี พ.ต.ท. ธฤต  เรืองเดชา เป็นร้อยเวรรับเรื่อง

ต่อมาชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงได้เดินรณรงค์บริเวณตลาดบางสะพานเรื่องการเพิกถอนที่ดิน 52 แปลงในเครือสหวิริยากับการบังคับใช้มาตรา 25 ของพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ว่า ได้มีคำสั่งจากอธิบดีกรมป่าไม้ให้มีการบังคับใช้มาตรา 25 ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. 53 แต่จนปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการประสานงานของกรมป่าไม้กับสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี) ที่เป็นไปอย่างล่าช้าไม่มีใครกล้าบังคับใช้กฎหมาย ทั้งที่นโยบายของรัฐบาลก็เน้นเรื่องการจับกุมผู้บุกรุกป่าสงวนและนำป่ากลับคืนเป็นสมบัติของแผ่นดิน

ด้านนายวิฑูรย์  บัวโรย กล่าวว่า การออกมาเดินรณรงค์ของชาวบ้านในครั้งนี้เพื่อต้องการให้พี่น้องประชาชนทั่วไปทราบถึงการทำงานของหน่วยงานรัฐโดยเฉพาะกรมป่าไม้ และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี) ว่ามีการเกี่ยงกันทำงาน ไม่มีหน่วยงานใดกล้าบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ แต่หากเป็นชาวบ้านทั่วไปคงโดนขับไล่รื้อถอนไปนานแล้ว ซึ่งทำให้ชาวบ้านมีคำถามว่านี่เป็นการทำงาน ๒ มาตรฐานหรือไม่

ทั้งนี้กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงได้มีสมาชิกร่วมเป็นคณะกรรมการติดตามการเพิกถอนที่ 52 แปลงนี้ จะเกาะติดและตรวจสอบทุกขั้นตอนของการบังคับใช้กฎหมายอย่างใกล้ชิด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้ค้าแผงลอยสยามสแควร์ เสนอจัดเวลา-วางระเบียบใช้ทางเท้าใหม่ โอดปัญหาไร้การเหลียวแล

Posted: 17 Nov 2010 12:12 PM PST

ประชาคมจุฬาฯ จัดเวที เชิญผู้เกี่ยวข้องถกหาทางออกปมพื้นที่ทางเท้าสยามสแควร์  สำนักงานทรัพย์สินฯ-กทม. เมินร่วม ด้านผู้ค้าเรียกร้องให้จัดเวลาขายของ-วางระเบียบทางเท้าใหม่ พร้อมเผยถูกชายเสื้อชมพูข่มขู่เอาชีวิต
 
 
จากกรณี ความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางเท้ารอบบริเวณสยามสแควร์ บนถนนพระราม 1 ระหว่างกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้า กับสำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาควบคุมพื้นที่ และได้ทำการตั้งแผงรั้วเหล็กตลอดแนวทางเท้าด้วยการเจาะเชื่อมเหล็กยึดติดกับพื้นป้องกันการรื้อถอน
 
ผู้ค้าจับกลุ่มประท้วงบริเวณทางขึ้นลงรถไฟฟ้า สถานีสยาม (17 พ.ย.53)
 
ท่ามกลางคำถามที่ว่าใครคือผู้มีอำนาจในการดูแลจัดการทางเท้าอันเป็นพื้นที่สาธารณะ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้สิทธิอะไรในการตั้งแผนเหล็กกีดขวางทางเดินเท้า ในขณะที่สำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองก็ออกมาอ้างความเป็นเจ้าของพื้นที่ตามโฉนดที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่หน้าอาคารสยามจนถึงกลางถนนพระราม 1 ยาวกว่า 12.2 เมตร 
 
ช่วงเวลาที่ผ่านมา การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้า กับกลุ่มชายสวมเสื้อสีชมพูที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้หาบเร่แผงลอยจำหน่ายสินค้า ตั้งแต่เมื่อ วันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นไปอย่างตึงเครียด และมีทีท่าจะลุลามรุนแรงขึ้น แม้จะมีความพยามในการหาช่องทางเจรจาไกล่เกลี่ย โดยมีตัวกลางทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรุงเทพมหานครฯ และสภาทนายความ
 
ความพยายามหาทางออกของปัญหา ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา ประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน Chula Community for the People (CCP) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเวทีเสวนา “ขอคืนพื้นที่จุฬาฯ : กรณีแผงลอยรอบสยามสแควร์” ณ อาคาร 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเชิญ ตัวแทนจากสำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มผู้ค้าแผงลอย ผู้เช่าที่ภายในสยามสแควร์ และเจ้าหน้าที่จากกรุงเทพมหานคร มาร่วมพูดคุยชี้แจงข้อมูล 
 
อย่างไรก็ตาม การเปิดเวทีครั้งนี้มีเพียงตัวแทนผู้ค้าแผงลอย นักวิชาการอิสระ และกลุ่มนิสิต-นักศึกษา เข้าร่วมพูดคุย แต่ไม่มีตัวแทนจากสำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าบางส่วน เนื่องจากเกรงว่าการพูดคุยจะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาใดๆ  
 
อีกทั้งในช่วงเวลาเดียวกันกับการสัมมนาในวันนี้ กลุ่มผู้ค้าแผงลอยกลุ่มใหญ่ได้นัดรวมตัวกันที่จุฬาซอย 1 บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ เพื่อยืนยันจะเข้าไปดำเนินการค้าขายในพื้นที่ที่ถูกปิดกัน แม้จะต้องเกิดการปะทะกับกลุ่มคนเสื้อสีชมพู
 
สุญญาตา เมี้ยนละม้าย นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะตัวแทนประชาคมจุฬาฯ ชี้แจงว่าเวทีเสวนาครั้งนี้มีจะมีการรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอของกลุ่มผู้ค้าแผงลอย ส่งต่อให้กับสำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยประชาคมจุฬาฯ จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมประสาน และติดตามผลความคือหน้า อย่างไรก็ตามการสัมมนาครั้งนี้ได้ติดต่อไปยังสำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ได้รับคำตอบว่าผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่ว่าง เนื่องจากติดประชุมในเรื่องเดียวกันนี้กับทางกรุงเทพมหานครฯ
 
สุญญาตา กล่าวด้วยว่ากรณีปัญหาที่มีในวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากจากการจัดการพื้นที่ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีความเข้มงวด การจ่ายค่าปรับเป็นเหมือนค่าเช่า ทำให้เกิดมาตรฐานที่ว่าสามารถตั้งแผงลอยได้โดยการจ่ายค่าปรับ อีกทั้งยังตั้งคำถามถึงการที่พื้นที่ทางเท้าบริเวณหน้าสยามสแควร์จะเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นทีของจุฬาฯ จะมีหลักปฏิบัติในการดูแลความเรียบร้อยต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะการนำแผงเหล็กไปวางกีดขวางทางสัญจรนั้นสามารถทำได้หรือไม่  
 
ในส่วนผู้ค้าแผงลอยได้ให้ข้อมูลผ่านวงพูดคุยว่าที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะยื่นเรื่องต่อหลายหน่วยงาน เพื่อประสานให้มีการเจรจาเพื่อแก้ปัญหา ทั้งคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร สภาทนายความ และมีความพยายามในการเข้าไปเจราจากับทางสำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยตรงแต่ก็ไม่ได้รับความสนใจที่จะพบปะเพื่อเจรจาแก้ปัญหา อีกทั้งที่ผ่านมามีความพยายามที่จะเข้าไปค้าขายในพื้นที่เป็นเหตุให้เกิดการปะทะกับคนเสื้อสีชมพู จนทำให้พวกเขาบางคนได้รับบาดเจ็บ และมีกรณีถูกข่มขู่เอาชีวิตด้วย
 
“จุฬามีการศึกษามากกว่าเรา แต่การกระทำนั้นเหมือนกับว่ามีการศึกษาต่ำกว่าเราซึ่งเป็นพ่อค้าแม่-ค้าอีก” ป้าพร แม่ค้าวัยกว่า 50 ปี แสดงความคิดเห็นกรณีการว่าจ้างคนเสื้อชมพูซึ่งเป็นกลุ่มชายฉกรรจ์มาควบคุมพื้นที่ 
 
“หากบอกว่าไม่มีการจัดระเบียบ ก็ออกมาจัดระเบียบให้ เราไม่ใช่ไม่ต้องการให้จัดระเบียบ จะให้ขายกี่โมง เว้นพื้นที่เท่าไหร่ เวลาไหนไม่กระทบคนขายของข้างใน พื้นที่ไหนไม่กระทบคนเดินเท้าก็บอกกัน” ป้าพร กล่าวถึงข้อเสนอ ที่เธอย้ำว่าได้เคยยื่นให้กับทางสำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้วก่อนหน้านี้ 
 
“มาไล่กันอย่างนี้มันต้องให้โอกาส ให้เวลา 2 ปี 3 ปี แจ้งให้รู้ ให้เวลาปรับตัว ปัญหาไม่เจอกับตัวเองก็ไม่รู้ ไล่กันปุ๊บปั๊บใครจะมีทางไป” พ่อค้าแผงลอยอีกคนหนึ่งแสดงความเห็น
 
แอน แม่ค้าเสื้อผ้า ซึ่งเปิดแผงขายที่สยามสแควร์มากว่า 4 ปี เสนอว่า ในส่วนผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการ น่าจะเล็งเห็นประโยชน์การใช้พื้นที่ทางเท้าสยามสแควร์ เหมือนกับในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกงที่มีย่านขายสินค้าริมทางเท้า ทำให้เป็น fashion walk วางระบบบริหารจัดการให้ดี กำหนดเวลาและพื้นที่การขายให้ชัดเจน ให้เป็นพื้นที่เมืองน่าอยู่ของกรุงเทพฯ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เพราะจากประสบการที่ผ่านมาลูกค้าที่มาซื้อของส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างชาติอยู่แล้ว 
 
ส่วนต่าย แม่ค้ากิ๊ฟช็อปซึ่งเปิดขายอยู่หน้าธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ปัญหาของกลุ่มผู้ค้าแผงลอยขณะนี้คือไม่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มที่ชัดเจน หาแกนนำไม่ได้ ซึ่งอาจเนื่องมาจากช่วงเวลาการขายของที่ไม่ตรงกัน เพราะพื้นที่สยามสแควร์จะมีการแบ่งช่วงเวลาการขายสินค้าเป็นรอบๆ และพ่อค้า-แม่ค้ามีจำนวนมาก อีกทั้งยังยอมรับว่ามีกลุ่มผลประโยชน์ที่เขามาเรียกเก็บเงินหลายกลุ่ม จนไม่รู้ว่าใครจ่ายกับใคร
 
“ยอมรับว่าพ่อค้า-แม่ค้าเยอะ มันไม่มีระเบียบ ไม่มีพื้นที่ทางเท้า แต่การมาขีดเส้นตายวันที่ 25 ต.ค.แล้วตัดเลย อย่างที่บอกว่ามันทำไม่ได้ คนเรามันมีความจำเป็น อย่างพี่ก็เพิ่งคลอดลูก แล้วก็ต้องทำงานเลี้ยงพ่อที่เป็นอัมพฤกษ์ มันต้องดิ้นรน” ต่ายเล่า พร้อมย้ำว่าที่ต้องออกมาเรียกร้อง เพราะทุกวันนี้ไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว
 
ต่ายเล่าด้วยว่า จากประสบการณ์ 7 ปี ที่ขายของอยู่ที่สยามสแควร์ ในทุกปีจะมีช่วง 1 เดือน ที่มีการมาขอให้หยุดขายเพื่อจัดการพื้นที่ แล้วจากนั้นก็จะสามารถกลับมาค้าขายได้เหมือนเดิม ซึ่งทุกคนที่ขายที่นี่มานานจะคุ้นเคย แต่มาครั้งนี้มันรุนแรงกว่ามาก โดยไม่มีที่ท่าว่าจะได้กลับไปทำการค้าขายเหมือนเดิน และการพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ ก็ดูไม่เป็นผล ดังนั้นเมื่อมีการจัดเวที่สัมมนาครั้งนี้ขึ้นเธอจึงคาดหวังถึงการหาทางออกร่วมกันหรืออย่างน้อยๆ ก็จะได้รู้ว่ามีการพูดคุยในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
 
ด้านนายเบนจามิน  (นามแฝง) นักวิชาการอิสระกล่าวว่า ในส่วนของการไล่ที่ขายสินค้าจากการเก็บข้อมูลพบมีในอีกหลายพื้นที่ เช่น ราวเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มีกรณีการฟ้องไล่ที่ตลาดสวนลุมไนท์บาซาร์ ของบริษัทในเครือของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ประชาชาติธุรกิจ) จนมีเหตุชายชุดดำทำร้ายพ่อค้าแม่ค้า และกรณีเจ้าหน้าที่รัฐไล่ที่พ่อค้า-แม่ค้า ตลาดโบ๊เบ๊ เมื่อปี 2550 ซึ่งก่อนการเข้าใช้กำลังรื้อถอนพื้นที่ดังกล่าวเพิ่งถูกไฟไหม้ (เดลินิวส์) หรือกรณีไล่รื้อบ้านเรือนที่ชุมชนโรงสูบ ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยชุมชนดังกล่าวชาวบ้านได้ปลูกสร้างบ้านเรือนมากว่า 80 ปี ตั้งแต่ยังไม่มีมหาวิทยาลัย ซึ่งที่ดินดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ข่าวสด
 
นายเบนจามิน กล่าวว่า หากมีการขยายเครือข่ายรวมกลุ่มคนที่มีปัญหาในเรื่องเดียวกันมารวมกัน จะทำให้มีพลังในการเจรจาและการแก้ปัญหา ทั้งนี้ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าควรรวมตัวกันเป็นกลุ่มอย่างมีระเบียบแบบแผน มีทิศทางของกลุ่มที่ชัดเจน
 
นอกจากนี้ วงสัมมนายังมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ย่านสยามสแควร์ด้วยว่า จากการประเมินค่าทรัพย์สินทางด้านอสังหาริมทรัพย์ในไทย โดยทำการสำรวจการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินในเขตกรุงเทพ และปริมณฑล ในปี 2549 พบว่า ที่ดินบริเวณสยามแควร์มีราคาสูงสุดที่ตารางวาละ 640,000 บาท เพิ่มขึ้นถึง 16.4% จากที่ในปี 2548 สำหรับอันดับทำเลที่ดินราคาแพงรองลงมาคือ อันดับ 2 ย่านเยาวราช ซึ่งเคยเป็นบริเวณที่มีราคาที่ดินแพงที่สุดมาโดยตลอดตารางวาละ 630,000 บาท อันดับที่ 3 คือ ถนนสีลม ราคาตารางวาละ 560,000 บาท โดยสาเหตุที่ศักยภาพทำเลย่านสยามสแควร์เติบโตเร็ว เพราะนอกจากมีรถไฟฟ้าผ่านแล้ว ยังมีการพัฒนา มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ มากกว่าทำเลอื่นๆ 
 
จากข้อมูลเดือนกันยายน 2551 ข้อมูลผลสำรวจราคาที่ดินในกรุงเทพโดยการสำรวจของเอเจนซี ฟอร์ เรียลเอสเตท สยามสแควร์ยังมีราคากลางสูงสุดที่ 8 แสนบาท/ตร.วา ส่วนซื้อขายจริง 9.5 แสนบาท/ตร.วา
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น