โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ครม.เยียวยาเหยื่อสลายชุมนุมเสียชีวิต 4.5 ล้านบาทต่อราย

Posted: 10 Jan 2012 11:01 AM PST

10 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามที่คณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีแลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เสนอแนะมาตรการ กลไก และวิธีการในการเยียวยาผู้เสียหาย และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ถึงเมษา-พฤษภาปี 2553 ดังนี้

1.กรณีเสียชีวิต อัตรา 4.5 ล้านบาทต่อราย โดยคำนวณตามฐานข้อมูลรายได้เฉลี่ยประจำต่อคนต่อเดือนตามสถิติรายได้ประชาชาติของประเทศไทย (GDP per Capita) ของปี 2553 ซึ่งเท่ากับ 1.5 แสนบาท ชดเชยค่าเสียโอกาสเป็นเวลา 30 ปี โดยประมาณว่าผู้เสียชีวิตมีอายุเฉลี่ยที่ 35 ปี จะมีโอกาสทำงานไปจนถึงอายุ 65 ปี

2.เงินช่วยเหลือค่าปลงศพ อัตรา 2.5 แสนบาทต่อราย

3.เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพ อัตราเท่ากับเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต

4.เงินชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ สูญเสียอวัยวะสำคัญ อัตราร้อยละ 80 ของกรณีเสียชีวิต (3.6 ล้านบาทต่อราย) สูญเสียอวัยวะไม่สำคัญ อัตราร้อยละ 40 ของกรณีเสียชีวิต (1.8 ล้านบาทต่อราย)

5.กรณีได้รับบาดเจ็บไม่สูญเสียอวัยวะ ได้รับบาดเจ็บสาหัส อัตราร้อยละ 25 ของกรณีเสียชีวิต (1.1 ล้านบาทต่อราย) ได้รับบาดเจ็บไม่สาหัส อัตราร้อยละ 15 ของกรณีเสียชีวิต (6.7 แสนบาทต่อราย) ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย อัตราร้อยละ 5 ของกรณีเสียชีวิต (2.2 แสนบาทต่อราย)

6.เงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล กรณีเสียชีวิตจ่ายไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย กรณีทุพพลภาพและสูญเสียอวัยวะสำคัญจ่ายไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย กรณีรักษาต่อเนื่องไม่เกิน 2 แสนบาทต่อรายต่อปี กรณีได้รับบาดเจ็บสาหัสจ่ายไม่เกิน 5 หมื่นบาท กรณีได้รับบาดเจ็บไม่สาหัสจ่ายไม่เกิน 2 หมื่นบาท กรณีได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจ่ายไม่เกิน 1 หมื่นบาทต่อราย

7.การชดเชยเยียวยาผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง กรณีที่ศาลยกฟ้อง ให้ได้รับเงินชดเชยในอัตราเท่ากับจำนวนระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัว โดยคำนวณจากรายได้ 1.5 แสนบาทต่อปี กรณีถูกศาลตัดสินให้จำคุก แต่ถูกควบคุมหรือคุมขังเกินระยะเวลาที่กำหนด ให้ได้รับเงินชดเชยเท่ากับจำนวนระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัวเกินกว่าระยะเวลาให้จำคุก

และ 8.การชดเชยเยียวยาความสูญเสียทางด้านจิตใจ อาทิ กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ อัตรา 3 ล้านบาทต่อราย กรณีศาลยกฟ้อง แต่ถูกควบคุมหรือคุมขัง เกินกว่า 180 วัน อัตรา 1.5 ล้านบาทต่อราย เกินกว่า 90 วันแต่ไม่ถึง 180 วัน อัตรา 7.5 แสนบาทต่อราย กรณีศาลตัดสินให้จำคุก แต่ถูกควบคุมหรือคุมขังเกินระยะเวลาให้จำคุก เกินกว่า 180 วัน อัตรา 1 ล้านบาทต่อราย และเกินกว่า 90 วันแต่ไม่เกิน 180 วัน อัตรา 5 แสนบาทต่อราย

อย่างไรก็ตาม การชดเชยเยียวยาให้ครอบคลุมถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ทุกเหตุการณ์ นับแต่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เหตุรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เหตุการณ์กลุ่มพันธมิตรฯชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เหตุการณ์ชุมนุมของคนเสื้อแดง ทั้งปี 2552 มาจนถึงเหตุความรุนแรงเมษา-พฤษภาปี 2553 รวมวงเงิน 2 พันล้านบาท โดยไม่รวมถึงความเสียหายจากเหตุการณ์อื่นๆ อาทิ กรณีตากใบหรือกรือเซะ

 

....................
ที่มา:
มติชนออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“เพราะรัก” เสียงจากเหยื่อการสลายการชุมนุมเสื้อแดง เมษายน 53

Posted: 10 Jan 2012 10:48 AM PST

กลุ่ม Redfam Fund เดินทางไปอัมพวา เพื่อเยี่ยมสมจิตต์ เปรมวงษ์ และสามีคือประชา ศรีคุณ คนขับรถแท็กซี่ที่เจ็บป่วยเนื่องจากแก๊สน้ำตา ในการสลายการชุมนุม 10 เม.ย. 53

“รัก” คำสั้นๆ คำเดียวที่ทำให้เราได้เห็น ว่าชีวิตของพวกเขา 3 คน เดินมาถึงจุดนี้ในวันนี้ได้อย่างไร

เพราะภาพและข้อความของ จิตตรา คชเดช [1]  ที่ กึ๋ย รักพี่ต้องหนีพ่อ เสื้อแดงแกนนอน เอามาแชร์ใน FB พร้อมตั้งคำถามง่ายๆ ว่า  “เราจะทำอะไรได้มากกว่าแชร์”  ทำให้เรา Redfam Fund [2] ได้ออกไปพบเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกัน คือ  1 คุณลุง และ 2 คุณป้า ที่อัมพวา [3]  พื้นที่ที่ว่ากันว่าเป็นถิ่นที่ของคนเสื้อเหลือง และ ส.ส.ดาวเด่นของสภาปี 55

แรกเจอ

เที่ยงวันเสาร์ที่ 7 มกราคม  ป้าสมจิตต์ เปรมวงษ์ ยืนรอเราที่หน้าร้าน “อัมพวาตามสั่ง” ร้านอาหารเพิงหมาแหงนเล็กๆ ข้างสถานีตำรวจอัมพวา ตามที่นัดหมายซึ่งจิตตราช่วยประสานให้วันก่อน แล้วเธอก็พาเราไปที่โรงพยาบาลนภาลัย อ.อัมพวา ทันที

ที่นั่น  ป้าจิตตรา ศรีคูณ นั่งเฝ้าสามีที่สมองไม่รับรู้อะไร[4] ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวันของเธอตลอด 20 เดือนที่ผ่านมา

ประชา ศรีคุณ  อายุ 61 ปี ผิวสีขาวซีด นอนเอียงข้างโดยมีหมอนหนุนขาและสะโพกเอาไว้ ทั้งตัว มีเพียงแขนข้างขวาที่ยังมีความรู้สึกและขยับมือเคลื่อนไหวได้ แต่มักใช้ดึงสายยางให้อาหารที่ต่อไว้ที่จมูก พยาบาลจึงใช้อุปกรณ์ดัดแปลงจาก ขวดน้ำเกลือครอบไว้  ดวงตาที่มองมายังเราผู้แปลกหน้านั้นไร้ความรู้สึกตอบสนองใดๆ

 

ป่วยเรื้อรังจากแก๊สน้ำตา

ก่อนหน้านั้นลุงประชาขับรถแท็กซี่อยู่ในกรุงเทพฯ และป้าจิตตรามีร้านขายอาหารตามสั่งร้านเล็ก ๆ ลุงเคยมีรายได้ดี สมัยที่การท่องเที่ยวคึกคัก ทั้งยังเคยเข้าไปคุยกับนายกฯทักษิณสมัยที่ท่านขอพบคนขับแท็กซี่ แต่หลังจากเกิดรัฐประหารทุกอย่างก็ย่ำแย่ลง เมื่อการทำมาหากินฝืดเคืองป้าจิตตราก็เริ่มขยับกลับมาเช่าห้องที่อัมพวาและ ปรับปรุงเพิงร้านเก่า ๆ ที่หน้าสถานีตำรวจซึ่งครอบครัวเคยใช้ประโยชน์มานาน 15 ปี และไม่นานต่อมาลุงก็เลิกขับแท็กซี่และย้ายตามกลับมา

พอเริ่มมีการชุมนุม นปก. ตั้งแต่ 19 กันยายน 49  ลุงและป้า และป้าสมจิตต์ก็เข้าร่วมด้วยเสมอเพราะว่าเห็นว่ามีความไม่ถูกต้องและความไม่ ยุติธรรมเกิดขึ้น แม้จะกลับมาอยู่อัมพวาแต่ทั้งลุงและป้าก็ยังไปร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และบ่อยครั้งที่ลุงแอบไปร่วมชุมนุมในกรุงเทพฯ ทั้ง ๆ ที่มีเงินติดตัวไม่กี่สิบบาท

วันที่ 10 เมษายน 53  ที่มีการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา  ลุงประชาและป้าสมจิตต์อยู่ในที่ชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน ทั้งคู่ถูกแก๊สน้ำตา และสัมผัสอาการปวดแสบปวดร้อนตามเนื้อตัวไม่ต่างจากคนอื่น

“ตอนอยู่ ที่ราชดำเนิน น้องชายเราเป็นตำรวจ บอกว่าให้เรากลับ  ฝ่ายนั้นเขาเตรียมไว้แล้วจะสลาย   แต่เราก็ไม่กลับ กลับได้ไง ไม่ชนะเราไม่กลับ  มาถึงขั้นนี้แล้ว”  ป้าสมจิตต์กล่าวด้วยใจนักเลง

วันรุ่งขึ้นป้าสมจิตต์ส่งลุงประชากลับบ้านที่อัมพวาให้ไปพักผ่อนเพราะเกรงว่า โรคภูมิแพ้ที่เป็นโรคประจำตัวจะกำเริบ แต่แล้ว  ตีหนึ่งของวันที่ 12 เมษายน ลุงมีอาการชักและหมดสติ ป้าจิตตราซึ่งอยู่กับลุงเพียงลำพังจึงต้องเรียกรถฉุกเฉินของโรงพยาบาลแม่ กลองมารับเข้าห้องไอซียู

ลุงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแม่กลอง 2 เดือน  โดยที่ทางโรงพยาบาลไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของลุงมากนัก นอกเสียจากจะบอกให้มารับลุงกลับกลับไปดูแลเองที่บ้านและให้เตรียมใจรับสภาพ...  อีก 1 เดือนถัดมาลุงประชาก็ชักและเข้าโรงพยาบาลด้วยรถฉุกเฉินอีกครั้ง และต่อมาทางโรงพยาบาลแม่กลองก็ส่งตัวลุงมาโรงพยาบาลที่อัมพวา

“ตอนที่เอาลุง เข้าโรงพยาบาลตอนแรกไม่ได้บอกเขาว่าเราเป็นเสื้อแดง  เพราะที่นี่เป็นที่ของคนเสื้อเหลืองกันทั้งจังหวัด  จนกระทั่งลุงป่วยนานถึง 7 เดือนแล้วจึงค่อยทำเรื่องแจ้งไปยัง นปช. ที่เขาเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ได้เงินมา 10,000 บาทหลังจากนั้นก็ไม่ได้อะไรอีก  เราก็ดูแลกันเองมาโดยตลอด 20 เดือนแล้ว”  ป้าสมจิตต์กล่าว

หลังจากที่ส่งเรื่องร้องเรียนกับศูนย์ฯ แล้ว  รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้จ่ายค่าดูแลให้กับลุงประชาอีกวันละ 200 บาท เป็นเวลา 365 วัน และค่าชดเชยความเสียหายอื่นๆ อีก 30,000 บาท รวมทั้งสิ้น 103,000 บาท  แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลของคนเสื้อแดง เงินช่วยเหลือในส่วนนี้ก็ขาดหายไป

ปัจจุบัน เนื่องจากต้องดูแลลุง และด้วยอาการปวดแข้งปวดขาของตนเองทำให้ป้าจิตตราไม่สามารถทำร้านอาหารต่อไป ได้ จึงให้พี่หมูน้องสาวทำแทน[5]

 

สู้เพื่อให้รู้ว่ารักทักษิณ

ก่อนหน้านี้ป้าสมจิตต์มีอาชีพค้าขายเสื้อผ้า ในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงเธอมีหน้าที่รวบรวมคนรักทักษิณในเขตคู้บอน 27 และมีกลุ่มเสื้อแดงแม่กลองซึ่งเป็นญาติพี่น้องมาร่วมสมทบ

“มันไม่ถูกต้อง  อะไรๆ ที่ทางฝ่ายนี้ทำ ที่ทักษิณทำ ฝ่ายนั้นว่าทำผิดหมด มันไม่ยุติธรรมเลย  เราเองก็เป็นลูกตำรวจน้ำดีเหมือนกัน เราก็ต้องออกไปสู้ เลือดตำรวจเหมือนกัน"

ป้าสมจิตต์ชื่นชมผลงานของรัฐบาลทักษิณ โดยเฉพาะนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค  พี่สาวของเธอที่กลับมาจากต่างประเทศก็ใช้สิทธินี้ผ่าตัดรักษาโรคหัวใจ  และโรคเรื้อรังที่ต้องดูแลรักษาต่อเนื่องอย่างโรคภูมิแพ้และสะเก็ดเงิน  ทุกวันนี้ลุงประชาเองก็รักษาด้วยสิทธิดังกล่าวด้วยเช่นกัน

หลังการชุมนุมปิดสนามบินของคนเสื้อเหลืองทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ การค้าขายของป้าสมจิตต์ก็ย่ำแย่ตามไปด้วย แต่นั่นยังไม่เท่ากับที่ทำให้นายกทักษิณฯผู้ที่ทั้งเธอ พี่สาว และพี่เขย  รักและชื่นชอบไม่ได้กลับมาเมืองไทยอีก

“รักทักษิณมาก ฉันรักมาก ฉันสู้มาตลอด สู้เพื่อให้กลับมา” เสียงป้าจิตตราขาดหายเป็นห้วง ๆ ก่อนจะก้มลงซับน้ำตา

 

คำฝากจากคนรักทักษิณ นปช. และเพื่อนเสื้อแดงที่ยังถูกจำคุก

จนถึงวันนี้ป้าสมจิตต์รับภาระดูแลพี่สาวและพี่เขย  ที่ผ่านมาเธอต้องวิ่งเต้นอย่างหนักเพื่อจะทำให้ลุงประชาได้รับการช่วยเหลือ เยียวยา แต่เงินที่ได้มาก็เป็นจำนวนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระยะเวลาที่ลุงเจ็บป่วย

ป้าสมจิตต์กล่าวซ้ำ ๆ ว่าอยากให้ลุงประชาได้รับการดูแลที่ดีกว่านี้  อยากให้มีคนมาช่วยดูแลกันบ้าง เพราะไม่รู้ว่าจะป่วยแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน

ความจริงเธอจะไม่อยากเรียกร้องอะไรมากเพราะเข้าใจดีว่าพี่น้องเสื้อแดงก็ร่วม ต่อสู้ด้วยกันมา ไม่อยากกล่าวหาว่าร้ายเพราะเชื่อว่าแต่ละคนก็เต็มที่กันแล้ว และพวกเธอก็ยอมเสียสละไปร่วมต่อสู้กันเองจะเรียกร้องอะไรก็คงไม่เหมาะไม่ควร แต่เธอก็รู้สึกไม่ค่อยชอบใจเมื่อไปศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาฯแล้วถูกทำให้มี ลักษณะเหมือนขอทาน

ป้าสมจิตต์และป้าจิตตราฝากบอกถึงรัฐบาล ชุดนี้ว่าปัญหาใหญ่ๆ อย่างน้ำท่วมผ่านไปแล้ว พวกเธอจึงอยากให้รัฐบาลที่มาจากคนเสื้อแดงได้หันมาช่วยเหลือดูแลสองพันกว่า คนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53  ได้แล้ว ทั้งยังจะต้องตามเรื่องการสะสางหาผู้รับผิดชอบต่อคนที่เสียชีวิตจากการสลาย การชุมนุมทั้ง 91 ศพ

การเฝ้าติดตามข่าวสารของพี่น้องเสื้อแดงจากเอเชียอัพเดท ทำให้ป้าสมจิตต์และป้าจิตตราทราบข่าวทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้ต้องขัง เสื้อแดง น้องก้านธูป คุณสมยศ ฯลฯ  ทั้งสองคนรู้สึกเห็นใจทั้งฝากความห่วงใยและกำลังใจไปถึงทุกคน และอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือพวกเขา และพี่น้องเสื้อแดงที่ยังถูกจับกุมคุมขังอยู่ได้รับอิสรภาพด้วย

ส่วนป้าจิตตรานั้น   ถึงตอนนี้   หวังเพียงแค่อยากให้ทักษิณรับรู้เรื่องของลุงประชา  ศรีคูณ  คนที่ลุงกับป้าไปต่อสู้เพื่อให้ได้กลับมาประเทศไทย  ว่ายังรักและเป็นห่วง  แม้จะอยากให้กลับประเทศไทยโดยไวๆ แต่... ถ้ายังไม่ปลอดภัยก็ยังไม่ต้องกลับมา

 

ดูคลิปสัมภาษณ์ เพราะรัก (1) ลุงประชา-ป้าจิตตรา-ป้าสมจิต ความยาว:: ‎5:57

 

 

หมายเหตุ

[1]
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10150458331067895&set=a.115714592894.102440.657712894&type=1

[2] Redfam Fund  :   กลุ่มผู้ช่วยเหลือญาติผู้ต้องหาคดีการเมือง จ.อุบลราชธานี และ จ.เชียงใหม่

[3] หลังจากการที่จิตตรา คชเดช พบกับพี่สมจิตโดยบังเอิญที่อัมพวา เมื่อ 2 มกราคม 55  ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ก็ไปเยี่ยมลุงประชาและป้าจิตตรา ศรีคูณ ในวันรุ่งขึ้น พร้อมเงินช่วยเหลือส่วนตัว 5,000 บาท   แต่ที่มากกว่านั้นสำหรับป้าจิตตราคือกำลังใจที่ได้รับกับคนที่แกบอกว่ารัก มาก เหมือนลูกชายคนโต จนพี่สมจิตต้องปรามว่าอย่าดึงเขาลงมา

[4] สมทบทุนช่วยเหลือ ลุงประชา – ป้าจิตตรา  ศรีคูณได้ที่บัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาตลาดแม่กลอง ชื่อบัญชี นางจิตตรา ศรีคูณ   เลขที่บัญชี 709-012-764-8  

[5] เพื่อนเสื้อแดงที่ไปเที่ยวอัมพวา แวะไปอุดหนุนและให้กำลังใจกันได้ที่ ร้านอัมพวาตามสั่ง  ข้างสถานีตำรวจอัมพวาได้ทุกวัน ศุกร์ – เสาร์ – อาทิตย์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความอึดอัด

Posted: 10 Jan 2012 10:29 AM PST

 

ผมนั่งทบทวนอยู่นานกว่าจะตัดสินใจเขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงเพื่อนผู้เป็นกัลยาณมิตร คนหนึ่งเพื่อให้เขาช่วยแนะนำและพิจารณาความคิดของผม เพียงเพราะความคิดของผมนั้นสั้นจนเกินควร แม้ลักษณะความคิดทางการเมืองตามที่เรากำหนดไว้นั้น ไม่ได้ระบุจำนวนประเด็นขั้นต่ำเอาไว้ หรือแม้แต่โดยหลักการตามที่เราตกลงไว้ร่วมกันนั้น มันก็ไม่ควรจะสั้นเหมือนกับความคิดของผมนี้ มันเป็นความอึดอัดที่ต้องตกอยู่ในกรอบบางอย่างแม้จะไม่ผิด หากแต่มันไม่ควรในความรู้สึกของผม ผมจึงต้องเขียนปกป้องตัวเองก่อน ก่อนที่จะฝืนความรู้สึกดังกล่าวออกมาโดยเผยแสดงให้เห็นผ่านความคิดสั้นๆนี้

กรอบบางอย่างที่ว่านั้น ผมไม่เคยอยากจะรู้จักมันสักเท่าไหร่ตั้งแต่เด็ก ดูได้จากการที่ผมไม่เคยตั้งคำถามกับมันเลยว่าจริงๆแล้ว มันคืออะไรและทำไมผมจึงต้องเชื่อมันโดยไม่ตั้งข้อสงสัยหรือสังเกต ผมก็แค่ใช้ชีวิต แค่ใช้ชีวิตก็ลำบากแล้ว แล้วยังจะต้องสงสัยกับสรรพสิ่งเพื่อให้ชีวิตยุ่งยากไปมากกว่าเดิมทำไม จนวันนี้ความคิดบางส่วนของผมเปลี่ยนไป เมื่อผมเข้าใจในความรู้สึกอึดอัดจนต้องเสียน้ำตา เมื่อไม่มีเสรีภาพแม้แต่การจะพูดแสดงความคิดเห็นของตนเอง เช่น เมื่อผมแสดงความคิดเห็นกับผู้ใหญ่ แล้วผู้ใหญ่มักจะไม่รับฟังด้วยแนวคิดและคำพูดที่ว่า "เถียงผู้ใหญ่" สำหรับผมแล้ว เหตุผลเพียงน้อยนิดนี้ ประเทศนี้มันจึงเป็นประเทศที่ดีสำหรับผู้ใหญ่ และมันเป็นประเทศที่หนุ่มสาวถูกกัดกิน (ด้วยจารีต) ผมวิพากษ์แนวคิดของสิ่งนั้น เพื่อให้สิ่งนั้นมีอยู่ เพียงเพราะเราต้องใช้ชีวิตร่วมกัน ผมใช้ชีวิตร่วมกับสิ่งนั้นที่เป็นโครงสร้างหลักของประเทศนี้มาพอควร และกรอบบางอย่างที่ว่ามันกดทับผมเอาไว้ แม้จะเข้าใจว่าการรื้อมันง่าย การสร้างมันยาก แต่ผมไม่ได้คิดที่จะรื้อเพื่อสร้างสิ่งใด ผมแค่ต้องการการรับฟังอย่างมีเหตุมีผลและใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสมดุลในลักษณะการวิพากษ์กันและกันเพื่อให้กันและกันมีอยู่ ก็เท่านั้น    

และนี้คือจดหมายฉบับนั้นที่ผมเขียนถึงเขา และผมก็ได้แต่เฝ้ารอเขาตอบกลับมาโดยหวังว่าคำตอบหรือคำแนะนำนั้นจะเลิกกดทับผมไว้กับความคิดที่ปิดกั้น

“อ้อม อ้อม” แม่ตะโกนเรียกผมจากชั้นล่าง ผมวิ่งลงมาตามเสียงนั้น

“มีไรเหรอ แม่”

“ล้างจานให้ที เดี๋ยวนี้เลย แม่จะออกไปแล้ว” แม่ผมพูด ขณะที่ผมเหลือบไปเห็นพี่ชายที่นั่งเล่นเกมอยู่หน้าคอมพิวเตอร์อย่างเมามันส์ และควันสีเทาของบุหรี่ล่องลอยขึ้นจากบุหรี่ที่ถูกวางไว้กับที่เขี่ย

“แต่ อ้อมทำ…” ผมไม่ได้พูดคำว่า “งาน” ออกไปเพราะ

“แม่บอก ก็ทำ แค่นั้น” ผมตั้งใจเหลือบมองไปที่พี่ชายให้แม่เห็น ก่อนจะเดินไปที่ครัวและล้างจานกองโตเพียงลำพัง หากแต่ในใจก็ครุ่นคิดแต่เพียงว่า แม้กระทั่งบ้านยังมีความเป็นการเมืองแบบนี้ ประเทศนี้จะเป็นอย่างไร

“แย้…ชนะแล้ว” เสียงพี่ชายดังจนถึงครัว

 

 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักเศรษฐศาสตร์อังกฤษเผยผู้อพยพไม่ได้แย่งงานคนท้องถิ่น

Posted: 10 Jan 2012 10:24 AM PST

The Independent ของอังกฤษรายงานผลการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์ พบว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรอพยพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น

10 ม.ค. 2012 - สำนักข่าว The Independent ของอังกฤษรายงานผลการศึกษาวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ที่พบว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรอพยพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ขัดกับที่นักกิจกรรมต่อต้านผู้อพยพและนักการเมืองอ้างว่าการอพยพเข้ามาในอังกฤษของชาวต่างชาติในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ทำให้ชาวอังกฤษประสบภาวะว่างงาน

สถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์และสังคมแห่งชาติของอังกฤษศึกษาพบว่า "ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ" ระหว่างการเพิ่มขึ้นของผู้อพยพและการว่างงาน แม้ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจถดถอยหรือมีการเติบโตต่ำที่อังกฤษกำลังประสบอยู่ในตอนนี้

นักวิจัยจากสถาบันดังกล่าวเสนอว่าผลอาจจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือการที่ผู้อพยพเข้าประเทศกลายเป็นผู้ที่กระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกิดอัตราการจ้างงานโดยรวมสูงขึ้น และจำนวนของผู้ที่บอกว่าตนว่างงานมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

"จริงๆ แล้ว ผลออกมาน่าแปลกใจ" นักเศรษฐศาสตร์กล่าว "ว่าความสัมพันธ์ระหว่างกระแสการอพยพเข้าเมืองและผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเป็นไปในทางบวก ชี้ให้เห็นว่าในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเจริญเติบโตช้า การอพยพเข้าประเทศจะทำให้การว่างงานชะลอตัวลง แทนที่จะเป็นไปในทางตรงข้าม" โดยผู้วิจัยยอมรับว่าในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย การอพยพย้ายถิ่นน่าจะส่งผลต่อตลาดการจ้างงานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 9 ม.ค. กลุ่มต่อต้านการอพยพเข้าเมืองที่ชื่อ MigrationWatch อ้างว่าการที่ชาวตะวันออกและชาวยุโรปกลางอพยพเข้ามาในอังกฤษมากขึ้นนับตั้งแต่มีการขยายตัวของสหภาพยุโรปในปี 2004 ส่งผลให้เกิดการว่างงานในหลุ่มคนหนุ่มสาวของอังกฤษ ซึ่งในตอนนี้มีมากกว่า 1 ล้านคน MigrationWatch ได้ออกรายงานระบุว่า "กลุ่มคนหนุ่มสาวในอังกฤษที่ว่างงานเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 450,000 ราย นับตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี 2004 มาจนถึงช่วงไตรมาสที่สามของปี 2011 แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวนแรงงานของกลุ่มประเทศ A8 (ประเทศยุโรปตะวันออก 8 ประเทศที่เข้าร่วมสหภาพฯ ในปี 2004 เช่น โปแลนด์, ฮังการี, สโลวิเนีย เป็นต้น) กลับเพิ่มขึ้นถึง 600,000 ราย"

"ความเกี่ยวเนื่องนี้ไม่ได้เป็นข้อพิสูจน์สาเหตุที่ทำให้เกิดการว่างงาน แต่เมื่อพิจารณาการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงานและความสัมพันธ์กับการอพยพของคนหนุ่มสาวจากประเทศเหล่านี้แล้ว การบอกว่ากระแสอพยพของประเทศ A8 ไม่ได้มีผลกระทบต่อการว่างงานของหนุ่มสาวชาวอังกฤษ มันคงน่าเหลื่อเชื่อและผิดธรรมชาติเกินไป" 

อย่างไรก็ตามนักวิจารณ์จาก MigrationWatch ชี้ว่าอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวในอังกฤษเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ก่อนหน้าปี 2004 แล้ว ในช่วงที่ชาวโปแลนด์และกลุ่มประเทศจากอดีตสหภาพโซเวียตได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในอังกฤษได้อย่างเสรี

โจนาธาน ปอร์เตส ผู้อำนวยการของสถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์และสังคมแห่งชาติของอังกฤษและอดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ออกมาโต้ข้ออ้างของ MigrationWatch ว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของการว่างงานส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงปี 2008 ถึง 2009 ช่วงเดียวกับที่จำนวนชาวยุโรปตะวันออกที่เข้ามาหางานทำในอังกฤษลดลง

ขณะที่รัฐบาลอังกฤษเองก็เคยพูดถึงความเกี่ยวข้องระหว่างการอพยพและการว่างงานว่า "การควบคุมการอพยพเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เช่นนั้นเราก็เสี่ยงต่อการที่คนรุ่นต่อไปจะต้องจมกับความสิ้นหวังและพึ่งพาตัวเองไม่ได้" เอียน ดันแคน สมิทธ์ รัฐมนตรีกระทรวงการทำงานและบำเหน็จบำนาญ กล่าวปราศรัยไว้เมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว (2011)

พรรคร่วมรัฐบาลได้ออกมาตรการจำกัดการอพยพจากประเทศนอกสหภาพยุโรปและสัญญาว่าจะลดจำนวนคนเข้าเมืองลงเหลือ "ราวหมื่นคน" ต่อปี จนกระทั่งหมดวาระของสภาในปี 2015

ขณะที่ สำนักงานรับผิดชอบงบประมาณ (Office for Budget Responsibility : OBR) สงสัยว่ารัฐบาลจะสามารถทำได้ตามเป้าจริงหรือไม่ จากการที่มีการประมาณการณ์ว่าจะมีผู้อพยพเข้าประเทศ 140,000 คนต่อปีไปจนถึงปี 2016

ปริมาณสุทธิของผู้อพยพเข้าออกประเทศพุ่งสูงถึง 252,000 ในปี 2012 แต่จริงๆ แล้วเป็นเพราะจำนวนชาวอังกฤษที่ออกนอกประเทศมีน้อยลง ไม่ใช่ว่าผู้อพยพเข้าเมืองมีมากขึ้น

เพื่อเป็นการวิเคราะห์ผลของการอพยพที่มีต่อตลาดแรงงาน ผู้วิจัยจากสถาบันฯ ได้เปรียบเทียบจำนวนตัวเลขของผู้อพยพจากต่างชาติที่มีหมายเลขประกันสังคม (National Insurance Numbers) กับจำนวนผู้ที่บอกว่าไม่มีงานทำในเขตพื้นที่เดียวกัน




กรณีตัวอย่าง : ผู้อพยพที่ประสบความสำเร็จ

"ทีแรกผมมาตัวเปล่า ตอนนี้ผมเป็นนายจ้างของลูกจ้าง 4 คน"
ดัทซา เกลล์, นอร์ทแฮมตัน, อายุ 39 ปี

"ภายในเจ็ดปี จากที่ฉันอาศัยอยู่ในห้องเดี่ยว ลากตัวเองไปทั่วประเทศเพื่อหางาน มาจนถึงวันนี้ฉันกลายเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ของตัวเองและจ้างงานคนเข้ามาช่วย ตอนที่ฉันมาอยู่ในอังกฤษเมื่อปี 2006 ฉันกับเพื่อนเคยติดต่อกับเอเยนต์ในแลทเวียเรื่องที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกมาก่อน แต่พอเข้ามาที่ลอนดอน มันไม่มีอะไรเลย พวกเราคิดว่าเราคงต้องกินนอนกันบนถนนเสียแล้ว ฉันเริ่มคิดว่าเราคงต้องทำอะไรด้วยตัวเอง พวกเราเริ่มเขียนประวัติย่อของตนเอง แล้วก็ได้งานมา จากนั้นฉันจึงมาลูกมาที่อังกฤษ ในปี 2009 ฉันเริ่มเรียนวิชาบริหารธุรกิจที่นอร์ทแฮมตัน ในมหาวิทยาลัยฉันได้ทำหนังสือพิมพ์สำหรับชุมชนชาวแลทเวีย พวกเรามียอดพิมพ์ 10,000 ต่อเดือน"

"ฉันไม่เชื่อว่าฉันมาแย่งงานคนอื่นทำ"
อกาธา วาสซีวิค-ชมิดต์ ดอส ซานโทส, ล่ามจากเมืองนิวเควย์, อายุ 29 ปี

"ฉันกับสามีมาจากโปแลนด์ในปี 2008 ตอนแรกฉันทำงานที่สตาร์บัคส์เพราะฉันไม่ได้ทำงานในสายภาษาทั้งๆ ที่ฉันพูดได้ทั้งภาษาโปแลนด์, โปรตุเกส และอังกฤษ แต่พอฉันเริ่มเปลี่ยนชื่ออีเมลล์เป็นชื่อที่ดู 'ต่างชาติ' น้อยลง ฉันก็ถูกเชิญให้ไปสัมภาษณ์ ฉันไม่เชื่อว่าฉันจะมาแย่งงานคนอื่นทำ เพราะว่ามีคนไม่มากที่พูดได้ทั้งภาษาโปแลนด์ และโปรตุเกส ฉันตอบแทนชุมชนของฉันด้วยการทำงานในโรงเรียนและสถานพยาบาล สามีของฉันมีกิจการสอนศิลปะการป้องกันตัว เขาคอยสอนครูฝึกคนอื่นๆ แล้วหนึ่งในนั้นก็เป็นคนอังกฤษที่ว่างงาน"




ที่มา

Immigration does not cause unemployment, The independent, 10-01-2012
http://www.independent.co.uk/news/uk/home-news/immigration-does-not-cause-unemployment-6287404.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เลขา ศอ.บต.คนใหม่ และสันติภาพในชายแดนใต้

Posted: 10 Jan 2012 10:19 AM PST

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการคนใหม่ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จัดเวทีพบปะกับ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา นักกิจกรรม นักวิชาการ นักการเมือง และข้าราชการในท้องถิ่น กว่า 100 คนจากจังหวัดยะลา เพื่อพูดคุยปัญหาชายแดนใต้เมื่อเร็วๆนี้

แนวคิดของการจัดงานแบบเปิดบ้าน (open house) ครั้งนี้ก็เพื่อที่จะย้อนกลับไปมองอดีตใน 8 ปีที่ผ่านมา และร่วมกันขบคิดหาทางที่จะขับเคลื่อนเดินหน้าไปด้วยกัน เป็นที่น่าสนใจว่า วันที่จัดงานเพื่อพบปะพูดคุยในครั้งนี้คือวันที่ 4 มกราคม ซึ่งเป็นวันครบรอบ 8 ปีของเหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายทหารของกองพันพัฒนาในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่นำพานายตำรวจหนุ่ม ทวี สอดส่อง มาสู่ใจกลางชายแดนใต้

อาจจะกล่าวได้ว่าทวีไต่เต้าในอาชีพราชการของเขาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้โดยแท้ การไล่ล่าผู้ต้องหาในคดีความไม่สงบในภาคใต้ การออกหมายจับครูสอนศาสนาหลายคนและผู้นำทางจิตวิญญาณคนสำคัญอย่างเช่น ซาแปอิง บาซอร์ อดีตครูใหญ่โรงเรียนอิสลามธรรมวิทยาจังหวัดยะลา เกิดขึ้นในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ การดำเนินการแบบนี้อาจจะทำให้ผู้นำท้องถิ่นหลายคนเกิดความรู้สึกไม่สู้ดีต่อเขาเท่าใดนัก แต่มันเป็นผลดีในทางอาชีพราชการเพราะอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เห็นเขาเป็นมือดีคนหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาภาคใต้

ถึงวันนี้ ทวี สอดส่อง เติบโตอย่างมากในอาชีพราชการของเขาและได้กลับมาภาคใต้อีกครั้ง หลายคนเชื่อว่าเขาจะพยายามที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง 

หลายคนที่เข้าร่วมเวทีในวันนั้นพูดด้วยใจเกี่ยวกับอนาคตของพื้นที่ชายแดนใต้ พวกเขาพูดถึงการปรับปรุงการศึกษาเพื่ออนาคตของลูกหลานในรุ่นต่อไป และพูดถึงว่าคนในภูมิภาคที่พูดภาษามาเลย์จะปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างของกลุ่มอาเซียนกันอย่างไร

นายตำรวจจากสถาบันการศึกษาท้องถิ่นคนหนึ่ง พูดว่า เขาคิดถึงวันเก่าๆที่ชาวไทยพุทธและชาวมาลายูมุสลิมเคยอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุขโดยปราศจากความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน เขาอยู่ในพื้นที่นานพอจะเห็นว่าความรุนแรงที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนสองเชื้อชาติอย่างไร

อีกข้อเสนอแนะก็คือการให้ใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษาราชการของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน  รองจากภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่เลวเพราะว่ากว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในภูมิภาคอาเซียน ตั้งแต่จังหวัดสงขลาไปจนถึงมินดาเนา (Mindanao) ทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์นั้นพูดภาษามาเลย์ แต่รัฐบาลไทยในช่วงการบริหารของทักษิณ ชินวัตร ได้ปฎิเสธความคิดของการให้ใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษาทำงานในจังหวัดของภาคใต้ที่มีการพูดภาษานี้กันเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นความคิดที่จะบอกให้ประเทศไทยเสนอให้ภาษามาเลย์เป็นภาษาราชการภาษาที่สองของอาเซียนดูจะห่างไกลความจริงอยู่สักหน่อย การจะพูดว่าเห็นคุณค่าของภาษาในระดับภูมิภาคแต่ไม่สนใจจะนำพาการใช้งานในระดับท้องถิ่นนั้นเป็นเรื่องหน้าไหว้หลังหลอกเอามากๆเลย

สำหรับคนในพื้นที่นั้น, ภาษายาวี (ภาษามาเลย์ที่เขียนด้วยอักษรอาราบิค) เป็นมากกว่าถ้อยคำทางภาษาเหมือนที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันในความหมายที่แคบๆ แต่มันคือความภูมิใจในวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ เหนือสิ่งอื่นใด ภาคใต้สุดของไทยนั้นน่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ที่ในโลกนี้ที่ยังใช้ตัวอักษรยาวีอยู่ ที่อื่นๆส่วนใหญ่ใช้ตัวอักษรโรมันกันหมดแล้ว

ในที่ประชุมวันนั้นส่วนใหญ่ก็จะเห็นตรงกันว่าคนมาลายูแถบนั้นไม่ต้องการแบ่งแยกดินแดน พวกเขาอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติที่เราเรียกกันว่าชาติไทยนี่แหละ เพียงแต่ว่าเขาก็อยากจะสร้างในแบบของเขาเท่านั้นเอง และเวทีแบบนี้ก็เป็นส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งที่จะมาคุยกันว่าแบบที่เขาจะสร้างนั้นเป็นอย่างไร

คนไทยไม่กี่คนที่จะเข้าใจว่าทำไมสิ่งเหล่านี้ถึงเป็นเงื่อนไขของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ความขัดแย้งที่มีพื้นฐานมาจากความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์อย่างที่เห็นในภาคใต้นั้นไม่ได้มีแต่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ในหลายที่ในโลกนี้ ความขัดแย้งอันเกิดจากกระบวนการในสร้างชาติก่อให้เกิดความรู้สึกแบบการผนวกดินแดนเพื่อเข้ายึดครอง คนไทยจำนวนมากมองว่า การที่คนมาลายูปฏิเสธที่จะผสมกลมกลืนเข้ากับคนส่วนใหญ่ในชาติว่าเป็นความอตัญญูต่อสิ่งที่ชาติไทยได้หยิบยื่นให้ และพวกนี้ขอบแว้งกัดคนที่ป้อนข้าวป้อนน้ำอยู่เรื่อย

สิ่งที่รัฐบาลไทยหลายต่อหลายชุดที่ผ่านมาไม่เข้าใจก็คือ การให้ทานนั้นไม่เหมือนกับการมอบอำนาจ รัฐบาลชอบคิดว่าส่งคนดีๆไปทำงานในภาคใต้นั้นก็เพียงพอแล้ว แต่รัฐบาลไม่ค่อยเข้าใจว่าคนที่เขาคิดว่าตัวเองตกเป็นอาณานิคมนั้นมองเจ้าอาณานิคมว่า ต่อให้เป็นเจ้าอาณานิคมที่ใจบุญแค่ไหน ก็เป็นเจ้าอาณานิคมอยู่วันยันค่ำ ความตั้งใจอันดีนั้นไม่ใช่นโยบาย

บางที ส่วนที่น่าสนใจที่สุดของการประชุมวันนั้นก็คือคำกล่าวปิดพิธีของเลขาธิการ ศอ.บต.คนใหม่นั่นเอง เมื่อทวีพูดถึงข้อเรียกร้อง 7 ข้ออันโด่งดังของ ฮัจจี สุหลง โต๊ะมีนา ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวมาเลย์ปัตตานีที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าถูกฆ่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐเพราะกล้าที่จะออกมาพูดถึงข้อตกลงสำหรับการอยู่ร่วมกันอย่างสงบ นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 60 ปีผ่านมาแล้ว

ทวี พูดว่า เมื่อไม่นานมานี้การพูดถึงข้อเรียกร้อง 7 ประการนี้ถูกมองว่าเป็นกบฎ มันก็จริง แต่กาลเวลาก็เปลี่ยนแปลงไป หลายต่อหลายคนพูดว่าจะต้องมีการเจรจากับผู้ก่อความไม่สงบ เมื่อสักสองปีที่ผ่านมาเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่พูดไม่ได้อีกเช่นกัน แต่มาวันนี้บรรดา เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักวิชาการ นักการเมือง ทหาร ตำรวจ เอ็นจีโอทั้งนอกและในประเทศต่างหาทางที่จะคุยกับผู้นำขบวนการก่อความไม่สงบเหล่านี้

เด็กหนุ่มจากจังหวัดนราธิวาสคนหนึ่งได้ยืนขึ้น และซักถามข้อสงสัยว่ารัฐจะเต็มใจยอมรับฝ่ายการเมืองของผู้ก่อความไม่สงบหรือไม่ ถ้าหากพวกเขาปรากฏโฉมหน้าขึ้นมาสักวันหนึ่ง  สิ่งที่ชายผู้นี้ไม่รู้หรืออาจจะแกล้งไม่รู้ก็คือว่า มีการประชุมลับอย่างต่อเนื่องระหว่างกลุ่มที่เรียกว่า ผู้ไกล่เกลี่ย และ กลุ่มที่เรียกว่า ผู้นำการแบ่งแยกดินแดน แต่ไม่มีใครที่จะทำให้ใครเชื่อได้ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลสั่งการกับนักรบผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ได้จริง

ทวียอมรับว่าเขาอาจไม่เป็นตัวเลือกแรกหากว่าคนในท้องถิ่นมีหนทางบอกได้ว่าใครควรจะเป็นผู้นำศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้  แต่เขาได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำงานอย่างเต็มความสามารถที่เปลี่ยนสิ่งต่างๆ และจะพยายามให้ในสิ่งที่คนในพื้นที่ร้องขอแต่ไม่เคยได้รับมาก่อน แต่ก็คงไม่ง่ายนักเพราะหลายคนที่นี่คงยังไม่ให้อภัยกับการที่เขาเคยไล่ล่าครูสอนศาสนาและผู้ก่อความไม่สงบอย่างที่เขาเคยทำในปี 2547 มากกว่านั้นก็คือว่าเจ้าหน้าที่หลายคนยังแอบกระซิบกระซาบว่าสิ่งที่ชาวมาเลย์ในพื้นที่เชื่อมาตลอดก็คือว่า ข้อกล่าวหาต่อ ซาแป อิง เป็นการสร้างเรื่องที่ไม่มีมูลความจริง

ทวี ได้พูดถึงมหาวิทยาลัยอิสลามของรัฐในชายแดนภาคใต้ และประกาศว่ารัฐบาลเพิ่งได้อนุมัติเงิน 175 ล้านบาทเพื่อ ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมสันติภาพ กล่าวว่า การอนุมัติเงินช่วยเหลือของรัฐบาล แสดงให้เห็นว่าพวกเขายังคงไม่เข้าใจพลวัตรของสังคม รัฐมีความจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจสิ่งที่ชุมชนตั้งคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมของรัฐ และจับอาวุธต่อต้านมัน

คำพูดของทวีอาจจะฟังดูปรองดอง แต่อังคณาบอกว่าคนควรจะตัดสินเขาจากการกระทำไม่ใช่คำพูด เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้
 

 

อ่านเรื่องเกี่ยวกับความไม่สงบในภาคใต้ของประเทศไทยเพิ่มเติมได้ที่เว็ปไซต์ www.seasiainconflict.com



สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทวงสัญญาปฏิรูปที่ดิน

Posted: 10 Jan 2012 10:12 AM PST

“ประเทศไทยโชคดีที่ไม่ค่อยประสบกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงเหมือนอย่างประเทศอื่นๆ” เป็นประโยคที่ได้ยินบ่อยครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  ทว่าวันนี้ประโยคดังกล่าวกลับจางหายไป เพราะตลอด 2-3 ปีมานี้ คนไทยต้องประสบกับภัยทางธรรมชาติทั้งอุทกภัย และดินโคลนถล่มในเกือบทุกพื้นที่อย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ขณะที่ผู้รอดชีวิตบางรายต้องสินเนื้อประดาตัวเพราะทรัพย์สินที่เก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิตได้ถูกกระแสน้ำกวาดหายไปในชั่วพริบตา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำไปสู่การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลทยอยออกมาเป็นระยะๆ  แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะดูเหมือนไม่มีหน่วยงานใดหยิบยกสาเหตุหลักที่เป็นต้นตอของการเกิดภัยทางธรรมชาติมาหารือเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

“เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์” หนึ่งในกรรมการปฏิรูปและอนุกรรมการปฏิรูปที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และน้ำ  ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ระบุ ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่มมาจากปัญหาโครงสร้างของที่ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปมการกระจายถือครองที่ดิน และการวางผังเมืองสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในเวลานี้จึงถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าถึงเวลาที่ที่จะต้องมีการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ

โดยในห้วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยสูญเสียป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ถึง 80 ล้านไร่ ซึ่งทำให้ระบบนิเวศป่าซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพ ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก ผ่าน “กลโกง” ของนายทุน ทั้งการถางป่าแล้วนำไปสร้างหลักฐานกู้เงินจากสถาบันการเงิน เมื่อที่ดินถูกยึดขายทอดตลาด ก็สามารถซื้อกลับมาได้เป็นที่ดินที่ถูกกฎหมาย รวมไปถึงการกว้านซื้อที่ดิน “ผ่านนอมินี”ของชาวต่างชาติ

ที่สำคัญยิ่งคือปัญหาการจัดสรรที่ดินโดยโครงการจัดที่ดินเพื่อช่วยเหลือคนจนที่ไร้ที่ดินต่างๆ ของรัฐ ถูกเปลี่ยนมือมาเป็นของนายทุน และผู้ครอบครองที่ไม่ได้ไร้ที่ดินทำกินมากกว่าครึ่ง ทำให้เกษตรกรผู้เคยได้รับการจัดสรรที่ดินจากรัฐ ต้องกลับไปถางป่าใหม่เมื่อพื้นที่ป่าถูกทำลายทำให้ไม่มีต้นไม้ที่คอยชะลอการไหลของน้ำจึงทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากอย่างที่เกิดขึ้น   “เพิ่มศักดิ์” ยังมองว่า การที่อำนาจการจัดการทรัพยากรที่ดินอยู่ในอำนาจของรัฐหรืออยู่ในกลไกตลาด โดยที่ไม่ได้อยู่ในมือของเกษตรกร ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำทำได้ลำบาก

“เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ต้องเช่าที่นายทุน เมื่อเป็นเพียงคนเช่าที่นา ก็ทำให้ไม่มีอำนาจที่จะตัดสินใจเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ขณะเดียวกันกลไกของการชลประทานอยู่ในมือของกรมชลประทาน ซึ่งไม่ได้รับฟังความเห็นของเกษตรกรแต่อย่างใด ซึ่งการจะดำเนินการผันน้ำหรือใดๆ มาจากความคิดของคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น”กรรมการปฏิรูปและอนุกรรมการปฏิรูปที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และน้ำ  ในคณะกรรมการสมัชาปฏิรูประบุ

อย่างไรก็ตาม อาจารย์เพิ่มศักดิ์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อขาดข้อมูลรอบด้าน ขาดการคานอำนาจระหว่างเกษตรกรและผู้ตัดสินใจ ทำให้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจึงเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นระบบ

นอกจากกรณีดังกล่าวแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ดินในประเทศไทยอีกประเด็นหนึ่งคือ
ข้อพิพาทในการถือครองที่ดินวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการจัดการที่ดินของรัฐและปัญหาในเชิงกฎหมายที่เรื้อรังมานาน ที่ดินวังน้ำเขียวในทุกวันนี้มีทั้งที่ดินที่บุกรุกเขตอุทยาน และพื้นที่ที่ผู้ครอบครองไม่มีสิทธิตามกฎหมายต้องถูกเพิกถอนสิทธิ ซึ่งปัญหาดังกล่าวยังเกิดขึ้นในพื้นที่ทั่วประเทศ ในลักษณะคล้ายๆกันนั่นก็คือชาวบ้านได้ที่ ส.ท.ก. หรือที่ส.ป.ก.แล้วขายสิทธิให้แก่นายทุน โดยผู้มีอิทธิพลที่มีนักการเมืองหนุนหลัง จะนำเอาที่ ส.ป.ก.ไปออกหนังสือเอกสารสิทธิโดยมิชอบ ซึ่งถือเป็นการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์เดิม โดยภาระก็ต้องกลับมาตกอยู่ที่รัฐที่ต้องหาที่ดินทำกินใหม่ให้กับเกษตรกร ทรัพยากรของชาติก็จะตกไปอยู่ในมือนายทุน และผู้มีอิทธิพล  วงจรนี้จะหมุนเวียนไปไม่มีที่สิ้นสุด

วงจรปัญหาที่เกิดขึ้นนี้คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปได้เสนอทางออกผ่านข้อเสนอการปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรไว้ หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายและการกำหนดเพดานการถือครองที่ดินที่จะสามารถจำกัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้และขจัดปัญหานายทุนครอบครองที่ดินโดยมิชอบได้

“หัวใจสำคัญคือมาตรการจำกัดการถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ที่ถือครองที่ดินได้ทำการถือครองและใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรอย่างแท้จริง อันจะส่งผลให้เกิดแรงจูงใจในการผลิต มีความเป็นธรรม มีความสามารถในการแข่งขันและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเกษตรรายย่อยและเกษตรกรรายใหญ่หรือกลุ่มธุรกิจให้น้อยลง” อาจารย์เพิ่มศักดิ์กล่าวย้ำถึงหัวใจของการปฏิรูปที่ดิน

ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวจะควบคู่ไปกับการส่งเสริมสนับสนุนการเกษตรทั้งระบบอย่างครบวงจร ด้วยการจำกัดการถือครองที่ดินให้เป็นมาตรฐานเดียวอย่างจริงจังและไม่เลือกปฎิบัติ แต่หากจะมีการทำการเกษตรขนาดใหญ่ในรูปของสหกรณ์หรือบริษัทก็สามารถทำได้เพียงแต่ต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า กล่าวคือแทนที่กลุ่มนายทุนจะถือครองที่ดินจํานวนมากแล้วใช้วิธีจ้างเกษตรกรเป็นลูกจ้างโดยจ่ายค่าแรงราคาถูก สามารถปรับเปลี่ยนมาเป็นวิธีกระจายที่ดินออกไปให้เกษตรกรรายย่อยในท้องถิ่นเป็นผู้ถือครองที่ดิน  แล้วบริษัทใช้หลักธุรกิจในการบริหารจัดการให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน มีการเสนอแผนการผลิตการตลาดที่จูงใจเกษตรกรทําการผลิต ทําสัญญาว่าจ้างที่เป็นธรรมและไม่เอารัดเอาเปรียบ

วิธีการดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรรายย่อยมีอํานาจต่อรอง เพราะมีการกระจายที่ดินให้เกษตรกรผู้ผลิตเป็นเจ้าของที่ดิน ทั้งบริษัทและเกษตรกรรายย่อยมีฐานะเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน ส่วนมาตรการทางภาษีเพื่อจัดเก็บภาษีที่ดินที่ถือครองเกินขนาดจํากัดในอัตราก้าวหน้านั้น ได้กำหนดไว้ว่าที่ดินขนาดต่ำกว่า 10 ไร่ ซึ่งเป็นขนาดที่จําเป็นต่อการทํากินยังชีพให้เสียภาษีในอัตราต่ำ  ร้อยละ 0.03 ต่อไร่ ที่ดิน 10-50 ไร่ เสียภาษีอัตราปานกลางร้อยละ 0.1 สําหรับที่ดินปล่อยทิ้งร้างหรือส่วนที่เกินจาก 50 ไร่ ให้เสียภาษีอัตราก้าวหน้าสูงร้อยละ 5  ซึ่งมาตราการดังกล่าวเป็นมาตรการสากลที่ทั่วโลกใช้กัน

ข้อเสนอดังกล่าวนี้ ได้ถูกบรรจุไว้ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร” ในนโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำพร้อม โดยการปฏิรูปการจัดการที่ดินให้มีการกระจายสิทธิที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยใช้มาตรฐานทางภาษี ควบคู่ไปกับการจัดตั้งธนาคารที่ดินให้แก้คนจนและเกษตรกรรายย่อย ตลอดจนพิจารณาให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ที่ดินทิ้งร้างทางราชการ ปกป้องที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินทุ่งเลี้ยงสัตว์ ห้ามการปิดกั้นชายหาดสาธารณะ และผลักดันกฎหมายในการรับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ และทะเล ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน

นโยบายดังกล่าวอยู่ในแผนการทำงานภายในช่วงระยะเวลา 4 ปีของรัฐบาลชุดนี้ ถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จในก้าวแรกของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปในการผลักดันเรื่องนี้ ดังนั้นต่อจากนี้ไปจึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะร่วมกันทวงถาม “สัญญา” ที่รัฐบาลให้เอาไว้ ก่อนที่สถานการณ์ที่ดินในประเทศไทยจะเลวร้ายยากเกินที่จะเยียวยา!!!

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงกันดีไหม (อีกครั้ง)

Posted: 10 Jan 2012 10:05 AM PST

ในขณะที่กระแสของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อนำมาใช้แทนรัฐธรรมนูญปี ๕๐ กำลังมาแรง และผมเชื่อว่าถึงอย่างไรฝ่ายที่ออกมาต้านการแก้รัฐธรรมนูญปี ๕๐ คงต้านทานกระแสไม่ไหวอย่างแน่นอน คงเพียงสามารถต้านทานได้บางประเด็นเท่านั้น ที่น่าสนใจก็คือเริ่มมีการพูดถึงการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงกันบ้างแล้ว ผมจึงอยากเสนอการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงต่อผู้อ่าน เพื่อเป็นทางเลือกอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เคยนำเสนอในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๐ เพื่อเสนอต่อ สสร.ปี ๕๐ ไปแล้ว โดยจะขอเสนอต่อเนื่องไปจนถึง สสร.ปี ๕๕ และจะเสนอต่อไปเรื่อยๆหากยังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครับ

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่าในการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracy) ในโลกบูด ๆ เบี้ยว ๆ ของเราที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มี ๒ ระบบใหญ่ ๆ คือ ระบบรัฐสภา (parliamentary system) และระบบประธานาธิบดี (presidential system) กับอีก ๑ ระบบเล็ก คือระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี (semi-parliamentary system)

ระบบรัฐสภา เป็นการปกครองที่เป็นวิวัฒนาการมาจากการช่วงชิงอำนาจระหว่างกษัตริย์กับรัฐสภาของอังกฤษ อาทิ ไทย ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย สิงค์โปร์ ฯลฯ มีหลักการสำคัญ ดังนี้

1)  ตำแหน่งประมุขของประเทศแยกออกจากตำแหน่งบริหาร ในระบบรัฐสภานี้ ประมุขของประเทศซึ่งอาจเป็นกษัตริย์หรือประธานาธิบดีมีฐานะเป็นประมุขเพียงอย่างเดียว ไม่มีบทบาทหรืออำนาจในการบริหาร โดยประธานาธิบดีจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง แต่กษัตริย์จะไม่มีวาระการดำรงตำแหน่ง ยกเว้นมาเลเซียที่กษัตริย์หรือสมเด็จพระราชาธิบดี(Yang Di-Pertuan Agong)ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “อากง (Agong) ” จะได้รับเลือกจากที่ประชุมของสุลต่านของรัฐ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนดำรงตำแหน่งคราวละ ๕ ปี

2) รัฐสภาจะเป็นผู้เลือกรัฐบาลขึ้นมาทำหน้าที่บริหาร เมื่อถึงเวลาที่รัฐสภาไม่ไว้วางใจรัฐบาล รัฐบาลจึงต้องออกจากตำแหน่ง แต่ในขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้ารัฐบาลก็มีสิทธิที่จะยุบสภาได้  

ระบบประธานาธิบดี เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาเป็นแห่งแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ใครใช้อำนาจมากเกินไป อาทิ  ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และประเทศแถบลาตินอเมริกา ฯลฯ โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้

1)  มีการแบ่งแยกอำนาจ (separation of powers) ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกมากจากประชาชนจะเป็นผู้สรรหาและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีจะไม่สามารถเป็นสมาชิกรัฐสภาได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตรงข้ามกับระบบรัฐสภาที่สมาชิกรัฐสภาเป็นกลุ่มเดียวกับรัฐบาล

2)  ประมุขของรัฐและประมุขของฝ่ายบริหารเป็นคนๆ เดียวกัน ระบบนี้กำหนดให้หัวหน้าฝ่ายบริหารได้แก่ประธานาธิบดีเพียงคนเดียวเท่านั้น (ไม่มีนายกรัฐมนตรี)

3)  รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อประธานาธิบดี เนื่องจากประธานาธิบดีเป็นประมุขของฝ่ายบริหารแต่เพียงผู้เดียว จึงหมายความว่าประธานาธิบดีมีอำนาจในการแต่งตั้งถอดถอนรัฐมนตรีได้ รัฐมนตรีในระบบประธานาธิบดีจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา

4)  ใช้หลักการคานอำนาจ (balance of power) เนื่องจากทั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาต่างได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน ดังนั้น จึงมีการแบ่งแยกอำนาจกันอย่างเด็ดขาดทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยใช้วิธีการตรวจสอบอำนาจซึ่งกันและกัน (check and balances)ทั้งสามอำนาจ ทั้งนี้ เพื่อไม่ใช้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจมากเกินไปนั่นเอง

ระบบกึ่งรัฐสภา หรือกึ่งประธานาธิบดี หรือรู้จักกันทั่วไปว่า"ประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศส" เพราะฝรั่งเศสนำสองระบบข้างต้นมาผสมกันและเริ่มต้นใช้ที่ฝรั่งเศสแล้วแพร่ไปยังประเทศเกิดใหม่ทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่แตกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตเดิม มีหลักการสำคัญ ดังนี้

1)  ประธานาธิบดีเป็นผู้ที่แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและฝ่ายบริหาร ด้วยเหตุนี้ประธานาธิบดีจึงมีอำนาจทางการเมือง ส่วนนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ด้านบริหาร แต่อำนาจในการอนุมัติ ตัดสินใจ ลงนามในกฎหมาย ยังคงอยู่ที่ประธานาธิบดี

2)  นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาและประธานาธิบดี โดยทั้ง ๒ องค์กรสามารถปลดนายกรัฐมนตรีออกได้ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอาจเข้าร่วมการประชุมในรัฐสภาได้ แต่ไม่มีสิทธิในการออกเสียง

จากรูปแบบที่กล่าวมานั้นจะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงที่ผมเสนอจึงเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆเพราะไม่เหมือนใคร การที่ผมเสนอให้มีการเลือกตั้งนายกฯโดยตรงนั้นเหตุก็เนื่องเพราะนายกฯได้รับฐานอำนาจจากประชาชนโดยตรง ย่อมที่จะทำให้กลุ่มทหารหรือกลุ่มบุคคลใดก็ตามที่จะใช้กำลังเข้ายึดอำนาจต้องคิดหนักและคงไม่ทำรัฐประหารได้ง่ายๆเหมือนดั่งเช่นที่ผ่านมา

ส่วนคำถามที่หรือข้อกังวลที่ว่านายกฯที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจะมีอำนาจวาสนาหรือมีบารมีมากถึงขนาดกระทบต่อสถาบันกษัตริย์นั้น เห็นว่าเป็นข้อกังวลที่ไกลเกินเหตุ เพราะ       คนไทยสามารถแยกแยะออกว่าการเป็นหัวหน้ารัฐบาลกับการเป็นประมุขของประเทศนั้นมันคนละเรื่องกัน และถึงแม้ว่านายกฯจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงก็ตามก็ย่อมต้องได้รับการ    โปรดเกล้าฯเพื่อรับรองความชอบธรรมเสียก่อนตามประเพณีการปกครองของไทยอยู่ดี

สำหรับผู้ที่เป็นโรคกลัวทักษิณ(Thaksinophobia)เกรงว่าจะกลับมาเป็นนายกฯอีกนั้น เพราะยังมีคดีที่ค้างคาอยู่ในโรงในศาลอีกมากมาย อีกไม่รู้กี่ปีจึงจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากไม่มีการนิรโทษกรรมเสียก่อน ซึ่งก็คงทำได้ไม่ง่ายนักหรอก

แน่นอนว่าผู้ที่เป็นนายกฯโดยตรงย่อมต้องผ่านกลไกการคัดกรองและตรวจสอบอย่างเข้มข้นละเอียดยิบ ประเภทสร้างบ้านรุกเขตป่าสงวนหรือจดทะเบียนสมรสซ้อน แม้กระทั่งคนที่วิปริตผิดเพศผิดลูกผิดเมียเขา ตลอดจนคนที่ซุกหุ้นให้คนอื่นถือแทนเพื่อเลี่ยงกฎหมายนั้นคงยากที่จะผ่านด่านเข้ามา ไม่ใช่ว่าใครก็ได้ที่พูดเก่ง หน้าตาดี มีทุนหนา ก็มาเป็นผู้นำพรรค แล้วกวาดต้อน ส.ส.เข้าคอกเพื่อที่ตนเองจะได้เป็นนายกฯหรือต่อรองตำแหน่งต่างๆดังเช่นที่ผ่านๆมา

ที่สำคัญคือเมื่อเลือกตั้งนายกฯแล้ว นายกก็ไปเลือกคณะรัฐมนตรีเอง ไม่ต้องยุ่งยากต่อโควตาพรรคหรือมุ้งต่างๆ จะเอาขิงแก่ขิงอ่อนแค่ไหนก็ไม่มีใครว่าเพราะเป็นอำนาจของนายกฯและเชื่อว่าจะได้คณะรัฐมนตรีที่มีคุณภาพตามที่ต้องการด้วย ส่วนสมาชิกรัฐสภาก็คานอำนาจด้วยการทำหน้าที่ออกกฎหมายและถอดถอนฝ่ายบริหารหากว่าเป็นความผิดร้ายแรง(impeachment) มิใช่เที่ยวยุ่งเขาไปทั่วเช่นในปัจจุบันนี้

แต่ก่อนเราเคยกังวลเรื่องหัวหน้าฝ่ายบริหารขององค์กรปกครองท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องให้เลือกตั้งโดยอ้อมหรือแม้กระทั่งกำหนดให้ข้าราชการประจำไปเป็นเสียเองเลยก็มี แต่เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็น กทม. อบจ. อบต.เทศบาล ฯลฯ รวมทั้งเชียงใหม่มหานครที่กำลังจะเสนอร่าง พรบ.กลางปี ๕๕ นี้ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการเลือกตั้งโดยตรงทั้งนั้น

ในเมื่อฝรั่งเศสหรือมาเลเซียแหวกรูปแบบหลักแล้วเหมาะสมกับประเทศตนเอง  เราก็น่าจะลองเลือกตั้งนายกฯโดยตรงกันดูสักครั้งจะดีไหม เผื่อจะเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆตามที่เราแสวงหามากันกว่าค่อนศตวรรษ เพราะผมเชื่อว่านอกจากจะป้องกันการรัฐประหารได้อย่างชะงัดแล้ว ยังได้รัฐบาลที่เข้มแข็งและมีคุณภาพมากกว่าที่ผ่านๆมาอีกด้วย

 

---------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 11 มกราคม 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้แทน 'ยูเอ็น’ ด้านเสรีภาพการแสดงออก เยือน ‘ประชาไท’

Posted: 10 Jan 2012 10:04 AM PST

‘แฟรงค์ ลา รู’ ผู้ตรวจการพิเศษด้านเสรีภาพการแสดงออกแห่งยูเอ็น เข้าเยี่ยมสำนักข่าวประชาไทในวาระการมาเยือนไทยอย่างไม่เป็นทางการ ระบุจะยังคงสนับสนุนให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และพร้อมให้ความช่วยเหลือตามต้องการ

10 ม..ค. 55 แฟรงค์ ลา รู ผู้ตรวจการพิเศษด้านเสรีภาพการแสดงออกของสหประชาชาติ ได้เข้าเยี่ยมสำนักข่าวประชาไท ในวาระการมาเยือนประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการ ก่อนจะเดินทางไปเข้าร่วมเวทีสัมมนาด้านเสรีภาพการแสดงออกที่สิงคโปร์ในวันพรุ่งนี้ โดยลา รู ย้ำว่า ทางยูเอ็นจะยังคงหนุนให้รัฐบาลไทยทำการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อไปในอนาคต

ลา รู กล่าวกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่สามแล้วที่เขาได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย และเขาหวังว่าจะได้กลับมาอีก เพื่อตรวจดูสถานการณ์ที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทยในทุกแง่มุม ไม่เพียงแต่ในแง่ของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงเรื่องการแสดงออกทางวัฒนธรรม, สิทธิในการชุมนุมโดยสันติ, การคุ้มครองผู้สื่อข่าว, สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล

IMG_1202

 แฟรงค์ ลา รู ผู้ตรวจการพิเศษด้านเสรีภาพการแสดงออก เข้าเยือนสำนักข่าวประชาไท

ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เขาได้แถลงผ่านทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติว่า ทางยูเอ็นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ เนื่องจากการบังคับใช้และบทลงโทษที่สูงเกินไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล

“ผู้ตรวจการพิเศษ ไม่ได้จะมุ่งแต่วิจารณ์ติติงรัฐบาล แต่ผู้ตรวจการพิเศษมีหน้าที่เพื่อให้การสนับสนุนทางเทคนิคแก่รัฐบาลตามต้องการ เพื่อที่จะปรับปรุงมาตรฐานทางสิทธิมนุษยชนและพัฒนาประชาธิปไตย” ลา รู กล่าว

ต่อข้อวิจารณ์ที่ว่า ข้อเสนอดังกล่าวของยูเอ็น เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยนั้น ลา รู กล่าวว่า ไม่ว่าในประเทศใดๆ หลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนต่างมีผลบังคับใช้เท่ากันทั้งสิ้น เนื่องจากหลักสิทธิมนุษยชนเป็นหลักสากล และศักดิ์ศรีของมนุษย์ก็มีเท่าๆ กัน เขาจึงอยากจะให้ประชาชนทุกคนได้รับการประกันในสิทธินี้

“ผมยังคงยืนยัน (ในสิ่งที่ได้แถลงไป) และนี่ก็ไม่ใช่เป็นการแทรกแซงด้วย เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องในทางระหว่างประเทศ และเป็นความรับผิดชอบของประเทศที่ทันสมัย มีอารยะ และเป็นประชาธิปไตย ซึ่งมีแต่ประเทศที่ต้องการจะกลับไปสู่ระบอบอำนาจนิยม ไร้อารยะ และไม่ตามครรลองประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะปฏิเสธหลักสิทธิมนุษยชน” ผู้แทนจากยูเอ็นกล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มองจากฝั่งมาเลย์ มุสลิมชายแดนใต้ต้องเปิดสมองมองโลก

Posted: 10 Jan 2012 09:58 AM PST

เฟาซี นาอิม บี.หะยี เนาะห์ (Fauzi Naim B.HJ Noh) ประธานสภาธุรกิจมาเลเซีย (JBC Malaysia)

 

ในแวดวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย ภายใต้สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย–มาเลเซีย–ไทย หรือ IMT–GT (Indonesia–Malaysia–Thailand Growth Triangle) เป็นที่รับรู้กันว่า ภาคเอกชนมาเลเซียมีความกระตือรือร้นมากที่สุดตลอดระยะเวลา 18 ปี ของการก่อเกิด IMT – GT ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

เฟาซี นาอิม บี.หะยี เนาะห์ (Fauzi Naim B.HJ Noh) ประธานสภาธุรกิจมาเลเซีย (JBC Malaysia) ในฐานะหัวหน้าคณะภาคเอกชนของมาเลเซียในการประชุม IMT–GT ให้สัมภาษณ์ หลังเสร็จสิ้นการประชุม IMT–GT ครั้งล่าสุด ระหว่างวันที่ 5–7 ธันวาคม 2554 ที่โรงแรมเจดับเบิ้ลยู แมริออท เมืองเมดาน จังหวัดสุมาตราเหนือ ประเทศอินโดนีเซีย

0 0 0

ทำไม่ฝ่ายมาเลเซียจึงมีความกระตือรือร้นมากใน IMT–GT
มาเลเซียเป็นประเทศเล็ก ต้องพึ่งพาวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมจากประเทศไทยและอินโดนีเซีย เช่น ปลา สำหรับอุตสาหกรรมอาหารทะเล ไก่ แป้งมันสำปะหลัง และอาหารอีกหลายชนิดจากไทย เช่น ข้าวสาร เรานำเข้าวัวจากไทย 250,000 ตัวต่อปี

ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องพึ่งทุกอย่างจากไทย ต้องทรัพยากรจากไทยมาสนับสนุนอุตสาหกรรมและอาหารของมาเลเซีย

ปัจจุบันมาเลเซียมีโรงงานอุตสาหกรรมยาง ก็ต้องพึ่งพาวัตถุดิบยางพาราจากไทย เราต้องพึ่งพาผลไม้จากไทย และเราต้องพึ่งแรงงานก่อสร้างจากไทย ต้องพึ่งพาแรงงานประมงจากไทย แต่ขณะนี้ก็ยังไม่พอ

เพราะฉะนั้น หลักการของ IMT–GT ย่อมไม่ใช่หลักการที่จะปล่อยให้ใครอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นหลักการที่เราจะอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่หลักการของแข่งขันกัน เราเชื่อเรื่องนี้ว่า ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย คิดเหมือนกัน

มาเลเซียต้องพึ่งพาไทยและอินโดนีเซียในทุกด้าน เพราะเราเป็นประเทศเล็ก ทรัพยากรของเรามีไม่พอกินไม่พอใช้ซักอย่าง

บางเรื่องไทยก็ต้องพึ่งมาเลเซียเหมือนกันนะ
ประเทศไทยมีทางเลือกมากกว่า มีทางเลือกที่จะนำเข้าทรัพยากรจากประเทศต่างๆ มาใช้ได้มากกว่า ขณะที่ไทยต้องการน้ำมันจากมาเลเซีย ประเทศไทยก็หาซื้อน้ำมันจากที่อื่นได้ ก๊าซธรรมชาติประเทศไทยก็หาซื้อจากประเทศอื่นได้

ขณะที่สิ่งของที่มาเลเซียต้องพึ่งจากไทย มาเลเซียไม่สามารถหาจากที่อื่นได้ เช่น ปลา พืชผัก ข้าวสาร ไก่ เป็นต้น 

มองพัฒนาการของ IMT–GT ที่มีมา 10 กว่าปีแล้ว มาถึงวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ให้ประโยชน์กับมาเลเซียเยอะ สิ่งที่มาเลเซียได้รับโดยตรงก็คือ ด้านอาหารและการเกษตรตามที่กล่าวมาแล้ว ในด้านการท่องเที่ยว คนที่มาเที่ยวที่ภูเก็ต ก็จะเดินทางมาเที่ยวต่อที่มาเลเซีย

ในสาขาผลิตภัณฑ์ฮาลาล ผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่ผลิตในประเทศไทย เช่น สับปะรด มาเลเซียนำเข้าจากไทยแล้วส่งออกต่อไปยังตะวันออกกลาง เราเป็นพ่อค้าคนกลาง เรานำเข้ามาแล้วใช้ตราฮาลาลของมาเลเซียส่งออกต่อ

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือปีนังของมาเลเซีย สินค้า 15 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 1 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ต่อปีมาจากประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นยางพารา 

ความร่วมมือในสาขาผลิตภัณฑ์ฮาลาลระหว่างไทยกับมาเลเซียในกรอบ IMT–GT ลงตัวหรือยัง
ความร่วมมือในด้านฮาลาล สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับสาขานี้คือ การรับรองและมาตรฐานฮาลาล 2 อย่างนี้ เราทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยกับสำนักงานพัฒนาอิสลามของมาเลเซีย หรือ JAKIM ไทยกับมาเลเซียทำงานร่วมกันในเรื่องการรับรองและมาตรฐานฮาลาล

ในด้านอุตสาหกรรมภายใต้ฮาลาล มีการริเริ่มทำงานร่วมกัน ทั้งด้านการรับรองและด้านมาตรฐาน การตรวจสอบโรงงานระหว่างการผลิตและหลังการผลิต การตราผลิตภัณฑ์ ทั้ง 3 อย่างนี้ เราทำงานร่วมกัน

ปัญหาคือเรื่องการตราผลิตภัณฑ์ บริษัทที่ได้รับตราฮาลาลบางส่วน เราเข้าไปตรวจสอบปีละครั้ง เวลาที่เราไม่ได้เข้าไปตรวจ เขาก็มักจะทำงานไม่ตรงไปตรงมา ไม่ปฏิบัติตามระเบียบและหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งมักเป็นปัญหาของฝ่ายไทย

ดังนั้น ในการตรวจรับรอง เราจำเป็นต้องมีความเข้มแข็งมากกว่านี้ เวลาที่เราเข้าไปตรวจในโรงงาน ทุกอย่างถูกต้องตลอด แต่พอเวลาเราไม่เข้าไปตรวจโรงงานก็หย่อนยาน เราตรวจตั้งแต่โรงงาน กระบวนการผลิต วัตถุดิบและคนงาน

ปัจจุบันนี้ เรามีมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ทำงานร่วมกันในเรื่องฮาลาล ไม่ว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยปุตรามาเลเซีย มหาวิทยาลัยไซน์มาเลเซีย ทั้งหมดทำวิจัยฮาลาลได้ดีมาก รวมทั้งเรื่องการศึกษาและการฝึกอบรม

นอกจากความร่วมมือที่ได้กล่าวถึงแล้ว ผลดีที่มาเลเซียและไทยได้รับร่วมกันคือ เราได้ทำงานร่วมกันในการเพาะพันธุ์ยางพารา โดยเพาะต้นกล้ายางไปแล้ว 56 ล้านต้น เพื่อนำไปปลูกในภาคอีสานของไทย ปลูกไปแล้ว 7–8 หมื่นไร่

อีกอย่างที่เป็นผลดีคือ จะมีโครงการตั้งฟาร์มไก่ที่ปัตตานี ผลิตไก่ให้ได้ 50 ล้านตัว เป็นการร่วมทุนระหว่างเอกชนไทยกับมาเลเซีย ผลดีที่ไทยได้รับแน่ๆ คือ ร้านต้มยำของคนไทยในมาเลเซีย ที่มีถึง 2 พันแห่ง

การมาถึงของ AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) กระทบกับบทบาทของ IMT – GT อย่างไรบ้าง
แน่นอนมีผล เพราะ IMT–GT เป็นพื้นที่นำร่องของ AEC เป็นตัวสร้างสรรค์ให้ AEC ถ้า IMT–GT ประสบความสำเร็จ AEC ก็จะประสบความสำเร็จด้วย

ในอาเซียนมีถึง 10 ประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาก็มีปัญหา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าก็มีปัญหา แต่ไทยกับมาเลย์ไม่มี 

ถ้าพื้นที่ IMT–GT มีความเข้มแข็ง ก็จะสามารถกำหนด AEC ได้ แต่มองดูแล้ว AEC จะมาครอบพื้นที่ IMT–GT มากกว่า
ไม่ใช่ เพราะ AEC เป็นหลักการใหญ่ แต่ของจริงคือ IMT–GT เพราะ IMT–GT คือ ธุรกิจการค้าข้ามแดน คือครอบครัวเดียวกัน คือประวัติศาสตร์เดียวกัน จะเปรียบเทียบกับประเทศฟิลิปปินส์กับพม่า ก็ไม่ได้เพราะทั้งสองประเทศนั้นอยู่ไกลกันมาก เพราะฉะนั้น IMT–GT มีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะชายแดนติดกัน

ดังนั้น IMT–GT ประชาชนในอนุภูมิภาคนี้ไปมาหาสู่กัน วันเสาร์ อาทิตย์ เป็นวันหยุดคนมาเลย์ไปเที่ยวเมืองไทยกันเยอะ อย่างผมเดินทางไปปีนังลำบากรถติด ไม่รู้จะไปไหน ผมก็พาครอบครัวไปเที่ยวหาดใหญ่ หรือไม่ก็กระบี่

สัปดาห์หนึ่งมีนักท่องเที่ยวมาเลย์ไปหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 3 หมื่นคน ตอนนี้โรงแรมในหาดใหญ่เต็มหมด หาดใหญ่กลายเป็นที่ท่องเที่ยวสำหรับครอบครัว เป็นแหล่งช็อปปิ้งของนักท่องเที่ยว เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางอาหาร 

ในฐานะที่สภาธุรกิจมาเลเซียเข้มแข็งที่สุดใน IMT–GT มองสภาธุรกิจของฝ่ายไทยและอินโดนีเซียอย่างไร
สภาธุรกิจมาเลเซียคือเบอร์หนึ่ง เหตุผลก็ตามที่ผมได้บอกไปแล้ว เพราะเราต้องขวนขวาย เราต้องค้นหาเพื่อความอยู่รอด ส่วนไทยเป็นประเทศใหญ่ มีธุรกิจใหญ่ๆ อย่างคุณสุทิน (นายสุทิน พรชัยสุรีย์ นายกสมาคมไม้ยางพาราไทย และกรรมการผู้จัดการบริษัท เขามหาชัยพาราวู้ด จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช) ทำธุรกิจไม้ยางพารากับมาเลเซียแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ อีก 90 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ประเทศจีน

ส่วนคุณโอฬาร (นายโอฬาร อุยะกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องสยาม จำกัด จังหวัดสตูล) ทำธุรกิจกับมาเลเซียแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 95 เปอร์เซ็นต์ทำธุรกิจกับญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป

ไทยเป็นประเทศใหญ่ มาเลเซียต้องพึ่งไทย ดังนั้น เราจึงต้องการ IMT–GT

IMT – GT เป็นเหมือนทางเดิน เหมือนสะพานของมาเลเซีย เพราะฉะนั้นมาเลเซียจึงต้องผลักดันให้เข้มแข็ง

ขณะที่ประเทศไทยสบายๆ ไทยไม่ต้องกระตือรือร้นก็ได้ เพราะธุรกิจของไทยใน IMT–GT มีปริมาณแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลือไปที่จีน ไปที่อื่นๆ ในสายตานักธุรกิจไทย IMT–GT จึงไม่สำคัญ

ประเทศไทยเชื่อมกับโลก มาเลเซียเชื่อมแค่ระดับภูมิภาค สินค้าไทยส่งไปทั่วโลก ทั้งอาหารทะเล ไม้ยางพารา ข้าวสาร ทุกอย่างเลย

มีอะไรบ้างที่ไทยนำเข้าจากมาเลเซีย น้ำมันดีเซล น้ำมันพืช ขนม เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น 

แล้วมองสภาธุรกิจอินโดนีเซียอย่างไร
อินโดนีเซียมีเศรษฐกิจภายในประเทศที่เข้มแข็งมาก ทรัพยากรเยอะ ตลาดใหญ่ ประชากรมาก พวกเขาไม่ต้องพึ่งการส่งออก ยกเว้นน้ำมันกับทอง ทำให้เขาขาดความกระตือรือร้น

ในด้านผลิตภัณฑ์ฮาลาล อินโดนีเซียผลิตขึ้นมาบริโภคภายในประเทศก็เพียงพอ ไม่ต้องส่งออกก็อยู่ได้ เพราะจำนวนผู้บริโภคภายในประเทศมีมากมายเกินพอ เพราะฉะนั้นตรงไหนมีความร่วมมือ มาเลเซียก็จะไปตรงนั้น ด้วยเหตุนี้ มาเลเซียจึงต้องการ IMT–GT 

มองอย่างนี้ IMT – GT น่าจะให้ประโยชน์กับมาเลเซียมากที่สุด
ถ้าเราดูในด้าน SMEs (วิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม) สำหรับพวกที่เพิ่งทดลองเรียนรู้ในการทำธุรกิจ IMT–GT จำเป็น เพราะไม่ใช่ว่าเขาจะทำธุรกิจไปสู่ระดับโลกได้ทันที พวกเขาต้องเริ่มในภูมิภาคก่อน

สิ่งที่สำคัญสำหรับไทยมากกว่ามาเลเซียคือ การศึกษาภาษาอังกฤษ นักศึกษาหลายคนก่อนที่จะเดินทางไปเรียนที่ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย พวกเขาก็มาเรียนภาษาอังกฤษที่ปีนัง ของประเทศมาเลเซียก่อน 1–2 ปี

แน่นอนมาเลเซียให้ความสำคัญกับไทย เพราะไทยมีทรัพยากรหลากหลายและมีสินค้าที่ดี ขณะที่มาเลเซียมีความร่วมมือที่เข้มแข็งกับหลายประเทศ เช่น ประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับมาเลเซียดีมาก และประเทศในเครือจักรภพ ที่มาเลเซียเป็นสมาชิก

บริษัทของมาเลเซียและของไทย จึงควรร่วมมือกัน 

ขณะนี้ความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างไทยกับมาเลเซียเป็นอย่างไรบ้าง
ดี ไม่มีปัญหาอะไร รวมทั้งในเรื่องการศึกษา การนำเข้าและส่งออกในกลุ่มประเทศเครือจักรภพ ที่ตอนนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้น มากกว่าทางตะวันออกกลาง

ประเทศในเครือจักรภพ หรือประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมอังกฤษ มีหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ส่วนประเทศในตะวันออกกลางก็คือประเทศสมาชิก OIC หรือกลุ่มประเทศสมาชิกที่ประชุมอิสลาม ซึ่งต่อไปจะมีความสำคัญต่อประเทศไทย

เพราะฉะนั้น IMT–GT จึงมีความสำคัญกับมุสลิมในภาคใต้ของไทยด้วย เพราะพวกเขาเข้ามาทำธุรกิจในมาเลเซีย จนทำให้คนมาเลเซียต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ไปปลูกยางพารากับปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซีย อย่างร้านต้มยำในก็เป็นของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเขาเข้ามาทำธุรกิจนี้หลายปีแล้ว

ในประเทศไทยไม่มีร้านต้มยำกุ้งโดยเฉพาะ มีแต่ร้านอาหารทั่วไป ที่มีต้มยำกุ้งเป็นหนึ่งในรายการอาหาร ตอนนี้ต้มยำกุ้งจึงเป็นตราสินค้า (แบรนด์) ของมาเลเซียไปแล้ว เพราะในไทยมีแต่ภัตตาคารอาหารไทย ไม่มีภัตตาคารต้มยำกุ้ง

มุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ต้องเข้ามาเรียนรู้เรื่องกองทุนฮัจย์ของมาเลเซีย (Tabong Haj) คนมาเลเซียจะฝากเงินเข้ากองทุนนี้ เพื่อเตรียมเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นกองทุนที่ใหญ่มาก จนสามารถทำธุรกิจได้

มุสลิมไทยควรต้องมาเรียนรู้ว่ากองทุนนี้ทำอะไรบ้าง กองทุนนี้มีโรงแรมของตัวเอง ตั้งอยู่ใกล้กับสนามบิน นี่เป็นโอกาสที่คนมุสลิมจากประเทศไทยเข้ามาศึกษาได้ รวมทั้งโอกาสทางอาชีพการงาน เพราะฉะนั้นคนมุสลิมในไทยต้องไขว่าคว้าหาโอกาส คนมุสลิมในไทยต้องเปิดสมอง

มุสลิมใต้ต้องออกเดินทางไปข้างนอก ไม่ใช่อยู่แต่นราธิวาส ปัตตานี ยะลา อยู่เหมือนกบในกะลา ไม่ใช่แต่ละวันอยู่กับการเล่นนก มุสลิมต้องเปิดสมอง ต้องมองออกไปทั่วโลก ต้องเดินทางไปกรุงเทพมหานคร ต้องเดินทางไปที่อื่นๆ

 ไม่ต้องไปถึงกรุงเทพมหานคร แค่ข้ามแดนมาดูฝั่งมาเลเซียก็พอ
ถ้ามาที่มาเลเซียก็ไม่มีอะไรแตกต่าง พวกเขาต้องไปกรุงเทพฯ เพื่อให้รู้ว่าคนมุสลิมในชายแดนใต้ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ต้องไปดูมุสลิมปาทานที่กรุงเทพฯ พวกนี้กษัตริย์ไทยไปเอามาจากอินเดีย เอามาเป็นทหารรับจ้าง

พวกเขาต้องไปดูมุสลิมในมลฑลยูนนานของจีน ที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พวกเขาต้องเปิด ถ้ามุสลิมไม่ออมออกมาข้างนอก มัวแต่อยู่ในนราธิวาสก็ไม่ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ อยู่แต่ในโลกแคบๆ

ผมบอกกับมุสลิมในภาคใต้ของไทยว่า คุณต้องไปทำสวนยางพาราทั่วประเทศไทย ผมเคยไปที่จังหวัดชัยภูมิ ตราด พิษณุโลก ถ้าพวกคุณไปด้วยคุณก็ได้เปิดสมอง รัฐบาลไทยดีมาก เปิดโอกาสให้กับทุกคน

มาประชุมคราวนี้ ผมพาเพื่อนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้บางคนมาร่วมประชุมด้วย เพื่อเปิดมุมมองพวกเขา พวกเขาต้องเปิดสมองก่อนเป็นอันดับแรก เพราะปัญหาอยู่ที่หัว ถ้าเปิดหัวได้ทุกอย่างก็จะเปิดตาม

นี่คือความสำคัญอันดับหนึ่งของ IMT–GT ความสำคัญอันดับที่สองคือ เปิดโอกาสทางการค้าผ่านแดน

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเปิดความคิดให้คนมุสลิม นี่คือความสำคัญของ IMT–GT ที่มีต่อประเทศไทย

มาเลเซียยังต้องทำงานอีกมาก ทั้งใน IMT–GT ความร่วมมือ 5-5-5 หรือลีมอดาซาร์ ซึ่งเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกับ 5 รัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย ใน 5 สาขา

5 แรก คือ 5 จังหวัดของไทย ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล ส่วน 5 ที่ 5 คือ 5 รัฐของมาเลเซียคือ เคดะห์ เปอร์ลิส ปีนัง เปรัก และกลันตัน และ 5 สุดท้าย คือ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล และโลจิสติกส์

ลีมอดาซาร์ เริ่มขึ้นในสมัยที่นายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ดังนั้นสภาธุรกิจของไทยต้องมีความเข้มแข็งเพื่อให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น

เราไม่เชื่อว่ามาเลเซียด้อยกว่าไทยในหลายเรื่องอย่างที่คุณบอก
มาเลเซียเป็นประเทศเล็ก เศรษฐกิจของมาเลเซียขึ้นอยู่กับสินค้าที่ใช้ทักษะสูง แต่ปริมาณการค้าก็ยังสู้ไทยไม่ได้ ไทยมีบริษัท ซีพี ซึ่งยิ่งใหญ่มาก มีบริษัท ป.ต.ท. เป็นบริษัทปิโตรเลียมระดับโลก ทิ้งห่างเปโตรนาสของมาเลเซียหลายขุม

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปิยบุตร แสงกนกกุล

Posted: 10 Jan 2012 07:24 AM PST

ขอย้ำว่าที่ผมอดทนอดกลั้นต่อความคิดที่แตกต่าง ต่อการกระทำของพวกล่าแม่มด พวกบิดเบือนข่าวเพื่อปลุกระดมความเกลียดชัง ไม่ใช่เพราะ "กลัว" พวกคุณเลย แต่เพราะ ผมเชื่อว่าสังคมประชาธิปไตยมันต้องมีความอดทนอดกลั้น ก็พยายามทำในสิ่งที่ผมเชื่อให้ได้มากที่สุด

ปิยบุตร แสงกนกกุล

สำนักข่าวฉาน: สรุปข่าวเด่นรัฐฉาน - ไทใหญ่ รอบปี 2554

Posted: 09 Jan 2012 11:53 PM PST

สำนักข่าวฉานประมวลข่าวเด่นที่เกิดขึ้นในรอบปี 2554 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่รัฐฉาน

มกราคม 2554

สำนักพิมพ์สยามรัฐตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือเกี่ยวกับรัฐฉานและคนไทใหญ่ ในชื่อ "จดหมายจากรัฐฉาน" เป็นหนังสือคลี่คลายคำถามคาใจเกี่ยวกับรัฐฉานและคนไทใหญ่เป็นอย่างดี ในหนังสือเล่มนี้มีบันทึกประวัติศาสตร์รัฐฉาน การปกครองสมัยเจ้าฟ้า การต่อสู้กู้ชาติของไทใหญ่ ความสัมพันธ์ไทย-ไทใหญ่ ตลอดจนเรื่องราวเมืองเชียงตุง ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ภายใต้การปกครองของไทยสมัยญี่ปุ่นบุกพม่า หนังสือแต่งและแปลโดย ภราดร ศักดา ผู้มีประสบการณ์ค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับไทใหญ่ รัฐฉาน กว่า 30 ปี

นายโจวคุน วัย 35 ปี ชาวจีนสิบสองปันนา เจ้าของบริษัท Yunnan Hai Cheng Industrial Group Stock Co.ltd ผู้สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับชาวไตรวมถึงเรื่องราวขุนส่า ยอมควักเงินนับสิบล้านบาทเตรียมก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ชาวไตสิบสองปันนาและ พิพิธภัณฑ์เจ้าขุนส่า อดีตผู้นำกองทัพเมืองไต (MTA) ที่เมืองเชียงรุ้ง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ประเทศจีน

กุมภาพันธ์ 2554

(2 ก.พ.) ทหารพม่า 6 นาย จากฐานส่วนแยกตั้งอยู่บนเส้นทางระหว่างบ้านน้ำหม่อเงิน-ท่าก้อ สังกัดกองพันทหารราบเบาที่ 574 ประจำเมืองเชียงตอง รัฐฉานภาคใต้ ก่อเหตุรุมข่มขืนหญิงสาวชาวปะหล่อง วัย 16 ปี ชาวบ้านหลอยฮาง ตำบลผางลาง เหตุเกิดขณะเธอเดินทางจากหมู่บ้านไปยังหมู่บ้านน้ำหม่อเงิน

มีนาคม 2554

(13 มี.ค.) กองทัพพม่าเปิดฉากโจมตีกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSA 'North' ภายใต้การนำของพ.ต.ป่างฟ้า ในพื้นที่รัฐฉานภาคเหนือ เหตุเนื่องจาก SSA 'Notrh' ไม่ยอมรับข้อเสนอเปลี่ยนสถานะกองกำลังเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF (Border Guard Force) เป็นเหตุให้สัญญาหยุดยิงสองฝ่ายที่มีมานานกว่า 20 ปี สิ้นสุด โดยกองทัพพม่าใช้กำลังนับสิบกองพันเข้าโจมตีอย่างหนัก ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบและพากันอพยพนับหมื่นราย ขณะที่ SSA 'Norht' สูญเสียฐานที่มั่นสำคัญหลายแห่ง

(24 มี.ค.) เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ขนาด 6.8 ริคเตอร์ มีจุดศูนย์กลางลึกลงไปใต้ดินราว 10 กิโลเมตร ในเขตอำเภอท่าเดื่อ จังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉานภาคตะวันออก สร้างความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือน วัดวาอาราม โรงเรียน ถนน เป็นจำนวนมากและมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตนับร้อยคน นับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของรัฐฉาน

(27 มี.ค.) พ.อ.ต้าตึ้กเมือง วัย 59 ปี ผู้นำกองทัพแห่งชาติว้า (Wa National Army – WNA) ประธานองค์การแห่งชาติว้า (Wa National Organization – WNO) ถึงแก่กรรมที่บ้านพักส่วนตัวที่หมู่บ้านแม่ออน้อย ตรงข้ามบ้านรักไทย ต.หมอกจ่ำแป่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จากเหตุป่วยเป็นโรคมะเร็งในลำคอ พ.อ.ต้าตึ้กเมือง ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำกองทัพแห่งชาติว้า WNA / WNO ต่อจากพ.อ.มหาซาง ที่เสียชีวิตไปเมื่อปี 2550

เมษายน 2554

(19 เม.ย.) ทหารพม่าสังกัดกองพันทหารราบที่ 43 ประจำเมืองเป็ง อยู่ทางทิศตะวันตกเมืองเชียงตุง ในภาคตะวันออกของรัฐฉาน ก่อเหตุเผาทำลายหมู่บ้านชาวลาหู่ และหมู่บ้านชาวปะหล่อง วอดเสียหาย 7 หมู่บ้าน เหตุสงสัยชาวบ้านให้การสนับสนุนทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA ขณะเดียวกันทหารพม่าได้จับกุมชาวบ้านหลายคนไปทำการทารุณสอบสวนได้รับบาดเจ็บ สาหัส

พฤษภาคม 2554

(21 พ.ค.) กองทัพรัฐฉาน "ใต้" (SSA 'South') ภายใต้การนำของพล.ท.ยอดศึก และ กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" (SSA 'North') ภายใต้การนำพล.ต.ป่างฟ้า ประกาศเป็นพันธมิตรทั้งด้านการเมืองและการทหารระหว่างงาน “วันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน" ครบรอบปีที่ 53 ที่ฐานที่มั่นดอยไตแลง รัฐฉาน ตรงข้าม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ขณะที่ประชาชนชาวรัฐฉานต่างแสดงความยินดีกับการรวมตัวของสองกองทัพรัฐฉาน ที่ประกาศร่วมกันต่อต้านกองทัพพม่าอย่างเป็นทางการ

(17 พ.ค.) เกิดเหตุชาวจีน 3 คน เชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าซาง บนแม่น้ำสาละวิน ในรัฐฉานตอนใต้ ถูกกองกำลังไม่ทราบฝ่ายจับตัวไปขณะนั่งเรือจากศูนย์ที่พักที่บริเวณใกล้กับ ต้างป่าเลา ตอนเหนือของสะพานท่าซาง ขึ้นสำรวจตามลำน้ำสาละวิน ทหารพม่าเชื่อถูกกองกำลังไทใหญ่ SSA กลุ่มพล.ท.เจ้ายอดศึกจับตัวไป ด้านพล.ท.เจ้ายอดศึก ปฏิเสธในพื้นที่เกิดเหตุไม่มีกองกำลังไทใหญ่ SSA เคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม

มิถุนายน 2554

(3 มิ.ย.) เจ้า ฟ้าดัง หรือ เจ้าฟ้าลั่น หรือ จางซูเฉียน วัย 84 ปี อดีตเสนาธิการกองทัพเมืองไตย Mong Tai Army (MTA) ภายใต้การนำของขุนส่า ถึงแก่กรรมด้วยโรคประจำตัวขณะพำนักอยู่ที่บ้านพักส่วนตัวในกรุงย่างกุ้ง สหภาพพม่า เจ้าฟ้าดัง เป็นอดีตนายทหารกองกำลังจีนก๊กมินตั๋ง หรือ "จีนขาว" จบโรงเรียนนายทหารจากใต้หวัน เข้าร่วมกองกำลังขุนส่าราวปี พ.ศ. 2503 เจ้าฟ้าดัง ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำกับกองกำลังภายใต้การนำของ ขุนส่า และเป็นผู้ได้รับความไว้วางใจจากขุนส่าเป็นพิเศษ

(28 มิ.ย.) เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นที่ตลาดหลวง หรือ ตลาดหมายเลข 1 ซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดของเมืองหมู่แจ้ รัฐฉานภาคเหนือ อยู่ติดชายแดนจีน โดยเพลิงลุกไหม้จากโกดังเก็บผ้าของร้านขายผ้าแห่งหนึ่งและได้ลุกลามไปอย่าง รวดเร็ว ส่งผลให้ร้านค้าได้รับความเสียหายจำนวนมากรวมมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านจั๊ต

กรกฎาคม 2554

(11 ก.ค.) ชาวไทใหญ่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ จัดพิธีรำลึกครบรอบ 20 ปี การถึงแก่อสัญกรรมของนายพลกอนเจิง หรือ เจ้าโมเฮง อดีตผู้นำกู้ชาติไทใหญ่ ที่บ้านเปียงหลวงและบ้านหลักแต่ง ที่ตั้งอดีตบ้านพักและที่ตั้งสุสานของเจ้ากอนเจิง โดยเจ้ากอนเจิง ถือเป็นผู้นำไทใหญ่ที่ต่อสู้กู้ชาติจากการรุกรานของทหารพม่าอย่างอาจหาญและ มีอุดมการณ์ เป็นศูนย์รวมจิตรใจของชาวไทใหญ่กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคมะเร็ง ณ หอศีลปฏิบัติธรรมส่วนตัวบนวัดฟ้าเวียงอินทร์ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2534 สิริรวมอายุ 65 ปี

(14 ก.ค.) เครือ ข่ายปฏิบัติงานผู้หญิงไทใหญ่ (SWAN – Shan Women Action’s Network) และ มูลนิธิสิทธิมนุษยชนรัฐฉาน (Shan Human Rights Foundation - SHRF) ซึ่งได้เข้าไปเก็บข้อมูลในรัฐฉานจัดแถลงการณ์เผยทหารพม่าใช้วิธีการข่มขืน ตอบโต้กองทัพรัฐฉานภาคเหนือ SSA 'North' ทั้งการทารุณต่อชาวบ้านในพื้นที่อย่างกว้างขวาง รวมถึงมีการใช้ความรุนแรงทางเพศ เป็นเหตุให้ชาวบ้านหลายพันคนต้องอพยพทิ้งถิ่นฐาน โดยเหยื่อมีทั้งเด็กอายุ 12 ปี และหญิงมีครรภ์รวมอยู่ด้วย

สิงหาคม 2554

(23 ส.ค.) ทหารกองทัพพม่า ฐานประจำการบ้านหนองเขียว เขตเมืองเกซี บุกเผาทำลายบ้านเรือนชาวบ้านในหมู่บ้านนาปืน ตำบลบ้านพุย อยู่ห่างจากเมืองเกซีไปทางทิศตะวันออกประมาณ 7 ไมล์ ส่งผลให้บ้านเรือนชาวบ้านเสียหายวอด 6 หลัง ยุ้งข้าวและคอกสัตว์เลี้ยงในหมู่บ้านถูกเผาเสียหายทั้งหมด ชาวบ้านเผยสาเหตุมาจากทหารพม่าสงสัยชาวบ้านสนับสนุนกองกำลังไทใหญ่ และไม่พอใจที่ผู้บังคับบัญชาเสียชีวิตจากการสู้รบกับทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA/SSPP

กันยายน 2554

(6-7 ก.ย.) กอง กำลังว้า UWSA และกองกำลังเมืองลา NDAA ลงนามข้อสัญญาสันติภาพกับรัฐบาลทหารพม่าอีกครั้ง หลังพบหารือกับคณะเจรจาของรัฐบาลตามคำเชิญ ทำหลายฝ่ายสับสนงุนงงเนื่องจากก่อนหน้านั้นรัฐบาลประกาศทั้งสองกลุ่มเป็น กลุ่มนอกกฎหมาย หลังปฏิเสธตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF (Border Guard Force)

(15 ก.ย.) จายแสงจื้น (ซะคะฮะ) รองบรรณาธิการสำนักข่าวฉาน SHAN "กอนขอ" นักเคลื่อนไหวเพื่ออิสระภาพรัฐฉานอย่างมีอุดมการณ์ เคยร่วมงานกู้ชาติทั้งเป็นทหาร นักการเมือง ตลอดจนเป็นนักแต่งเพลง นักร้อง ได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่ตับ ที่โรงพยาบาลศูนย์ศรีพัฒน์ (สวนดอก) เมืองเชียงใหม่ สิริอายุ 59 ปี การเสียชีวิตของ ซะคะฮะ สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับครอบครัวและผู้ร่วมอุดมการณ์กู้ชาติรัฐฉาน เป็นอย่างยิ่ง

ตุลาคม 2554

กลุ่มเครือข่ายเพื่อประชาธิปไตยและการพัฒนา (Network for Democracy and Development – NDD) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า เผยแพร่หนังสือรายงานผลการวิจัยเกี่ยวกับการทหารกองทัพพม่า ชื่อ “การบริหารด้านพลเรือนและกำลังทหารในพม่า” (Civil and Military Administrative Echelon) มีความหนา 450 หน้า ให้รายละเอียดเกี่ยวกับที่ตั้งกองทัพภาค ที่ตั้งกองพล และกองพัน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่า ระบุในรัฐฉาน ที่มีพรมแดนติดกับประเทศจีน ไทย และลาว มีกำลังทหารพม่าประจำการมากกว่า 200 กองพัน และเป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพภาคถึง 4 กองทัพภาค

(28-30 ต.ค.) เครือ ข่ายพี่น้องชาวไทใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่จากหลายกลุ่มองค์กรรวมตัวกันจัดงาน ระดมทุนและรับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในประเทศไทย ใช้ชื่องาน “งานคอนเสิร์ต: พี่น้องไทยใหญ่รวมใจ ช่วยภัยน้ำท่วม” ที่วัดป่าเป้า ถ.มณีนพรัตน์ ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีศิลปินนักร้องชื่อดังจากรัฐฉานหลายคนมาร่วมแสดง ได้เงินบริจาครวมกว่า 2 แสนบาท

พฤศจิกายน 2554

(16 พ.ย.) กลุ่มจับตายาเสพติดในรัฐฉาน (Shan Drug Watch) โครงการสำนักข่าวฉาน (SHAN) แถลงเปิดตัวรายงานสถานการณ์ยาเสพติดในรัฐฉานประจำปี 2554 ในชื่อ “เจ้าพ่อยาเสพติดในสภา” (Druglords in Parliament) ร่วมกับองค์กรสตรีปะหล่อง PWO ซึ่งแถลงรายงานในชื่อ "ยังมีพิษ" (Still Poisoned) เป็นรายงานเปิดเผยตัวเลขการปลูกฝิ่นที่เพิ่มขึ้นในรัฐฉาน และการพัวพันยาเสพติดของผู้นำกองกำลังอาสาสมัครหลายกลุ่มที่มีตำแหน่งเป็น สมาชิกในสภารัฐบาลใหม่ของพม่า

ธันวาคม 2554

ต้นเดือนธันวาคม กองกำลังเมืองลา (NDAA) ภายใต้การนำของเจ้าจายลืน มีพื้นที่ครอบครองในรัฐฉานภาคตะวันออก ติดชายแดนจีน ร่วมกับตำรวจปราบปรามยาเสพติดจีน สกัดจับผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ท่าเรือสบหลวย (ตรงแม่น้ำหลวยไหลลงสู่แม่น้ำโขง) ซึ่งเดินทางออกจากแถบพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ สามารถตรวจยึดสารตั้งต้นสำหรับใช้ผลิตยาเสพติดหลายรายการรวมน้ำหนักกว่า 12 ตัน

(10 ธ.ค.) กองทัพรัฐฉาน (Shan State Army - SSA) ภายใต้การนำของพล.ท.ยอดศึก แถลงชี้แจงกองทัพและประชาชน กรณีลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง อย่างเป็นทางการเมื่อ 2 ธ.ค. ที่เมืองตองจี เมืองหลวง ของรัฐฉาน พล.ท.เจ้ายอดศึก กล่าวหวังว่า หลังการสงบศึกประชาชนในรัฐฉานที่อพยพเพราะสงครามจะได้กลับบ้าน ประชาชนทุกคนในรัฐฉานจะได้รับการพัฒนาเฉกเช่นประชาชนในประเทศอื่น ขณะเดียวกันยังกล่าวต่อหน้ากำลังพลว่าแม้จะหยุดยิงแล้วแต่ทหารของกองทัพรัฐ ฉานยังคงติดอาวุธและยังอยู่ภายใต้วินัยของกองทัพ

(16 ธ.ค.) ทางการพม่าส่งข้าราชการพลเรือน 3 หน่วยงาน ได้แก่ ข้าราชการครู 26 คน ข้าราชการสาธารณสุข 19 คน และฝ่ายการสื่อสาร 4 คน กลับเข้าไปประจำในเขตพื้นที่ครอบครองกองกำลังเมืองลา NDAA เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามเดิมตามที่สองฝ่ายได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้า ก่อนนั้นในพื้นที่ NDAA มีข้าราชการพลเรือนพม่าประจำอยู่ 10 หน่วยงาน ทั้งหมดถูกเรียกกลับหลังเกิดความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลพม่าและกองกำลัง เมืองลา NDAA

(26 ธ.ค.) เยาวชนไทใหญ่หลายสาขาอาชีพจากหลากหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศ รวม 98 คน จาก 35 เมืองของรัฐฉาน รวมตัวเขียนจดหมายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตการเมืองของรัฐฉานถึงสภากอบ กู้รัฐฉาน (RCSS) องค์กรการเมืองกองทัพรัฐฉาน SSA (ใต้) และ พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP) องค์กรการเมืองกองทัพรัฐฉาน SSA (เหนือ) เรียกร้องให้กองทัพรัฐฉาน SSA เหนือและใต้ สร้างความเป็นเอกภาพ สร้างความเชื่อมั่นแก่ชนในชาติ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“ธรรม” คำเดียวสั้นๆ แต่อาจอันตราย!

Posted: 09 Jan 2012 07:39 PM PST

พระพุทธเจ้าเคยเตือนว่า การเรียนรู้ธรรมนั้นต้องระมัดระวังเหมือนการถอนหญ้าคา คนที่ใช้มือกำรวบถอนหญ้าคาขึ้นอย่างไม่ถูกวิธีอาจถูกใบหญ้าคาที่คมกริบบาดมือเลือดสาดได้ง่ายๆ เช่นเดียวกันการเรียนรู้และใช้ธรรมอย่างไม่เข้าใจถ่องแท้ อาจก่ออันตรายอย่างร้ายแรง (แก่ตนเอง และ/หรือแก่สังคม) ได้

คำเตือนนี้พึงสังวรแค่ไหน โปรดนึกถึงวาทกรรม “ธรรมนำหน้า” การอ้างประชาธิปไตยต้องอยู่ภายใต้ “ธรรมาธิปไตย” (ผมก็เคยอ้าง “ธรรมาธิปไตย” อย่างไม่เข้าใจชัดเจนพอ ขอโทษคนที่บังเอิญได้อ่านด้วย) การอ้าง “เผด็จการโดยธรรม” เป็นต้น นี่เป็นวิธีคิดอย่างหนึ่ง (ในหลายๆ อย่าง) ที่เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การสนับสนุนรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วก็เลยมาสู่การเชียร์ให้ล้อมปราบคนเสื้อแดงในปี 2553

เมื่อไม่นานมานี้ก็มีเรื่องของสุภาพสตรีคนหนึ่งเป็นที่วิจารณ์ในเฟซบุ๊ก ที่บอกว่าตนอยู่ในครอบครัวอบอุ่น มีบุญได้ปฏิบัติธรรมจนละความโกรธได้ แต่ทนไม่ได้แทบจะฆ่าให้ตายเมื่อเห็นคนอื่นไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์

และเร็วๆ นี้เช่นกัน ผมได้อ่านบทความชื่อ “ทำไมคนทั้งประเทศรักผู้นำเผด็จการ” ของพระพยอม กัลยาโณ ใน “โลกวันนี้วันสุข” (ฉบับ 24-30 ธันวาคม 2554) ตอนหนึ่งท่านเขียนว่า

“การเสียชีวิตของ คิม จอง-อิล ผู้นำเกาหลีเหนือทำให้มีเรื่องน่าศึกษาประวัติการทำงานปกครองของบุคคลท่านนี้ว่า ปกครองประชาชนอย่างไรประชาชนถึงได้รักนักรักหนา แสดงว่า 17 ปีที่เป็นผู้นำท่านทำหน้าที่ให้ประชาชนรู้สึกพึงพอใจ แม้จะถูกปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ หรือจะเข้าหลักอย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสเคยกล่าวว่า การปกครองแม้จะเป็นเผด็จการ แต่ถ้าเป็นเผด็จการโดยธรรมประชาชนก็อยู่ได้...”

นี่เพียงแค่ “ตัวอย่างบางตอน” ของการอ้าง “ธรรม” ที่อันตราย แม้ผู้อ้างจะอ้างด้วย “เจตนาดี” ก็ตาม หรือแม้จะอ้างด้วยความศรัทธาซาบซึ้งว่า “ธรรม” เป็นที่สูงส่งดีงามก็ตาม จึงน่าสนใจว่าคำว่า “ธรรม” มีที่มา มีความหมาย และมีการใช้กันอย่างไร

จริงๆ แล้วคำว่า “ธรรม” คือคำที่นิยมใช้กันมานานากว่าห้าพันปีในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธู หรือในดินแดนที่เรียกกันว่า “ชมพูทวีป” ที่มีศาสนาพราหมณ์ ฮินดู พุทธ เชน และอื่นๆ เป็นภูมิปัญญาหลัก ซึ่งอาจสรุปความหมายของ “ธรรม” ตามที่ใช้กันมาเป็นสองความหมายหลักๆ คือ

ความหมายแรก “ธรรม” หมายถึง “ของศักดิ์สิทธิ์” ที่ละเมิดมิได้ เนื่องจากธรรมหมายถึง “หน้าที่” ของคนในชนชั้นต่างๆ ที่พระเจ้าหรือพระพรหมเป็นผู้กำหนด เช่น ธรรมหรือหน้าที่ของวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร เป็นหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ก้าวก่ายกันไม่ได้ การก้าวก่ายหรือละเมิดหน้าที่กันถือว่ามีความผิดอย่างร้ายแรง เพราะเป็นการละเมิดความศักดิ์สิทธิ์ของธรรม เช่น ถ้าศูทรไปสาธยายพระเวท (ซึ่งเป็นหน้าที่ของพราหมณ์) จะต้องถูกตัดลิ้น หรือถูกเอาน้ำทองแดงร้อนๆ กรอกปาก เป็นต้น

จะเห็นว่า ธรรมในความหมายที่เป็น “ของศักดิ์สิทธิ์” คือธรรมในความหมายของวัฒนธรรมพราหมณ์ ฮินดู ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการแบ่งชนชั้นทางสังคม ซึ่งแน่นอนว่า ผู้มีอำนาจ “นิยาม” ความหมายของธรรมดังกล่าวนี้ก็คือชนชั้นสูง หรือชนชั้นที่ได้เปรียบในสังคม

ความหมายที่สอง “ธรรม” หมายถึง “ความจริง” เกี่ยวกับความทุกข์ของชีวิต (ทุกขสัจจะ) เกี่ยวกับสาเหตุของทุกข์ในชีวิต (สมุทัยสัจจะ) เกี่ยวกับความดับทุกข์ (นิโรธสัจจะ) และเกี่ยวกับทางดับทุกข์ (มรรคสัจจะ)

ธรรมในความหมายที่สองนี้ต่างจากธรรมในความหมายแรกตรงที่ว่า ธรรมที่เป็นของศักดิ์สิทธิ์นั้นไม่เรียกร้องการใช้เหตุผลตรวจสอบ หรือใช้เหตุผลตรวจสอบไม่ได้ เนื่องจากอธิบายด้วยเหตุผลให้เห็น “ความศักดิ์สิทธิ์” ไม่ได้ ความศักดิ์สิทธิ์เรียกร้องศรัทธาหรือความเชื่อที่ปราศจากข้อสงสัย

แต่ธรรมในความหมายที่สองเรียกร้องการตรวจสอบด้วยเหตุผล เนื่องจาก “ความจริง” เป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ให้ “เห็น” ไม่ใช่ต้อง “เชื่อ” ดังที่พุทธศาสนาถือว่าคุณสมบัติธรรมธรรมคือ เป็น “สิ่งที่มีเหตุผลสามารถตรองตามให้เห็นจริงได้”

ดูเหมือนว่า “ธรรม” ในวาทกรรม “ธรรมนำหน้า” และธรรมในความหมายของผู้ที่ทนไม่ได้เมื่อเห็นใครไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญฯ นั้น น่าจะเป็นธรรมในความหมายที่เป็น “ของศักดิ์สิทธิ์” แบบวัฒนธรรมพราหมณ์ไม่ใช่พุทธ เพราะเป็นธรรมที่ผูกโยงอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ หรือเป็นธรรมที่ใช้สนับสนุนความศักดิ์สิทธิ์ที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งได้แก่ธรรมศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้แบ่งชนชั้นทางสังคมนั่นเอง

ส่วนธรรมในวาทกรรม “เผด็จการโดยธรรม” นั้น หมายถึง “ธรรมคืออำนาจ” แต่เผด็จการโดยธรรมหรือธรรมคืออำนาจนี้ ไม่มีศัพท์บัญญัติในพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม มีแต่คำว่า “ธมฺมาธิปเตยฺย” ที่แปลทับศัพท์ว่า “ธรรมาธิปไตย” ความหมายก็คือ การถือความจริง ถือความถูกต้องเป็นหลักในการตัดสินใจ ซึ่งไม่ใช่ “ระบบการปกครอง” ที่อ้างธรรมหรือความถูกต้องใดๆ โดยเฉพาะที่ต่างจากระบบอื่นๆ เพื่อปกครองด้วยวิธี และ/หรือ “ระบบเผด็จการ”

เมื่อท่านพุทธทาสใช้คำว่า “เผด็จการโดยธรรม” ท่านอธิบายทำนองว่า กฎธรรมชาติมีความเด็ดขาดในตัวมันเอง การกำจัดกิเลสก็ต้องใช้วิธีเฉียบขาด ฉะนั้น ถ้าใช้วิธีเฉียบขาดรวดเร็วเพื่อทำให้บ้านเมืองสงบสุข มีความเจริญได้โดยธรรม ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ (แต่ท่านคงไม่คิดว่าการปกครองของ คิม จอง-อิล เป็น “เผด็จการโดยธรรม” ?)

แต่อย่างไรก็ตาม วิธีเด็ดขาด เฉียบขาด ไม่ใช่เผด็จการในตัวมันเอง เพราะในระบอบประชาธิปไตยก็ต้องใช้วิธีเฉียบขาดเช่นกัน เช่นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาด เด็ดขาด เป็นต้น แต่ “เผด็จการ” ตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป หมายถึงการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยบุคคลคนเดียว หรือคณะบุคคลที่ไม่ฟังเสียประชาชน หรือไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครอง

ในสมัยพุทธกาลพระเทวทัตเคยอ้าง “ธรรม” หรือ “ความถูกต้อง” (ตามความเชื่อของตน) เพื่อให้พระพุทธเจ้าบังคับให้พระสงฆ์ต้องปฏิบัติ เช่น ห้ามพระภิกษุฉันเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต เป็นต้น แต่พระพุทธเจ้าไม่ทำตามข้อเสนอนั้น เพราะเห็นว่าการบังคับเช่นนั้นเป็นวิธีเผด็จการ

ส่วนเรื่องบัญญัติวินัยต่างๆ เป็นกติกาในการอยู่ร่วมกันของคณะสงฆ์นั้น เมื่อทราบว่ามีพระทำผิด พระพุทธเจ้าก็เรียกมาสอบถามข้อเท็จจริงท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ และพระองค์ก็บัญญัติกติกาต่างๆ ขึ้นโดยความเห็นชอบของที่ประชุมสงฆ์ ไม่ใช่กำหนด “ธรรม” หรือความถูกต้องล่วงหน้าโดยอัตโนมัติของตนเอง แล้วบังคับให้พระสงฆ์ต้องทำตามด้วยวิธีเผด็จการ

แม้แต่โทษทางวินัยที่แรงที่สุดก็เพียงแค่การให้สละสมณเพศ หรือสละสถานะความเป็นสมาชิกของสังคมสงฆ์เท่านั้นเอง ไม่มีการลงโทษด้วยวิธีรุนแรงอื่นๆ เช่น การประจานต่อสาธารณะ การปาหินให้ตาย หรือการลงโทษความผิดทางศาสนาโดยการเอาน้ำทองแดงกรอกปาก เป็นต้น อย่างที่บางศาสนาในยุคเดียวกันกระทำ

จะว่าไปแล้วความคิดเรื่อง “ธรรมคืออำนาจ” ก็คือความคิดที่ถือว่า “ธรรมเป็นของศักดิ์สิทธิ์” นั่นเอง ดังที่อ้างธรรมศักดิ์สิทธิ์กำหนดสถานะสูง-ต่ำทางชนชั้น เป็นต้น

แต่ความคิดที่ถือว่าธรรมคือความจริงเกี่ยวกับทุกข์และความดับทุกข์ ธรรมไม่ใช่อำนาจ แต่ธรรมเป็นเรื่องของ “เหตุผล” และ “เสรีภาพ” เพราะว่าความสัมพันธ์ระหว่างความจริงตามหลักอริยสัจสี่ คือความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุเป็นผล และผลลัพธ์ของการเข้าถึงอริยสัจสี่ก็คือ “เสรีภาพ” จากความทุกข์

พูดอีกอย่างว่า การเรียนรู้ หรือการจะเชื่อถือความจริงนี้หรือไม่ก็ไม่เรียกร้องศรัทธาหรือบังคับศรัทธา หากแต่เป็นเสรีภาพของแต่ละบุคคล และเมื่อใครเข้าถึงความจริงนี้ด้วยปัญญา จิตใจของเขาก็จะมีเสรีภาพจากทุกข์

ฉะนั้น ธรรมในความหมายของพุทธศาสนาที่เป็นเรื่อง “เหตุผล” และ “เสรีภาพ” จึงไปด้วยกันได้กับความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่จะสนับสนุนเผด็จการ

การอ้างธรรมในนามพุทธศาสนาในการต่อสู้ทางการเมือง หรือแสดงทัศนะทางการเมือง แต่ยึดถือธรรมเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ยึดถือธรรมเป็นอำนาจ น่าจะไม่สอดคล้องกับความหมายของ “ธรรม” ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และสอนจริงๆ

และน่าจะเป็นการอ้างที่อันตราย อย่างที่เห็นกันมาในประวัติศาสตร์ และเห็นกันอยู่ดาษดื่น!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศยามล ไกยูรวงศ์: โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ ถึงไม่มีก็ยังพัฒนาประเทศได้

Posted: 09 Jan 2012 07:32 PM PST

ศยามล ไกยูรวงศ์: โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ ถึงไม่มีก็ยังพัฒนาประเทศได้

สถานการณ์วันนี้ ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เดินสายหาที่ดินตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วภาคใต้ บางพื้นที่มีการซื้อที่ดินไปแล้ว และหลายพื้นที่ประชาสัมพันธ์ว่าโรงไฟฟ้ามีผลดีอย่างไร มีการพาคนในพื้นที่ไปดูงานที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ล่าสุดถูกคนจังหวัดนครศรีธรรมราชไล่ออกจากพื้นที่ และกำลังมาเดินสายหาที่ตั้งของโรงไฟฟ้าที่จังหวัดกระบี่ และจังหวัดตรัง

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ 9 โรง เฉลี่ยกำลังการผลิตไฟฟ้าโรงละ 700 เมกะวัตต์ หรือบางจังหวัด เช่น จังหวัดกระบี่ 800 เมกะวัตต์ เป็นการสร้างโรง ไฟฟ้าเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก ตามที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาภาคใต้ของรัฐบาล

เมื่อมีโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องมีอีกหลายอย่างที่ต้องพิจารณาดังนี้

  1. ท่าเรือขนส่งถ่านหิน
  2. โรงไฟฟ้าซึ่งใช้ความร้อนประมาณ 1,050–1,100 องศาเซลเซียส อุณหภูมิภายในห้องเผาไหม้
  3. ลานกองถ่านหิน ปริมาณสำรองประมาณ 45 วัน ประมาณ 300,000 ตัน ใช้เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่
  4. น้ำหล่อเย็น ระบบสูบและทิ้งน้ำหล่อเย็นในทะเล
  5. สารเคมีที่ใช้ในระบบเสริมการผลิตหรือระบบสาธารณูปโภคของโครงการ
  6. ระบบบำบัดน้ำเสียจากโรงไฟฟ้า กิจกรรมของคนงาน และการใช้น้ำดักหรือกำจัดฝุ่น สารอันตราย
  7. แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งต้องมีการรอนสิทธิในที่ดินที่เป็นเส้นทางสายส่งไฟฟ้า

 

 

โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดมีจริงหรือ

การผลิตไฟฟ้าต้องใช้ถ่านหินบิทูมินัส นำเข้าจากอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย มีองค์ประกอบของ สารซัลเฟอร์ ร้อยละ 0.1–1 แต่มีสารหนู 0.73 – 0.85 แคดเมียมต่ำกว่า 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปรอทต่ำกว่า 0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วต่ำกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นอกจากนี้มีโครเมียม ซีรีเนียม องค์ประกอบแบบนี้ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยบอกว่า มีโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด แต่ก็ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแน่นอน

โรงไฟฟ้าจะใช้ถ่านหินมีกำลังผลิตไฟฟ้า 700 เมกกะวัตต์ ต้องใช้ถ่าน 1.968,600 ตันต่อปี ถ้าผลิตไฟฟ้า 800 เมกกะวัตต์ ต้องใช้ถ่านหินเพิ่มมากขึ้น

 

เกิดก๊าซพิษกระทบต่อปอดและกระแสเลือด

การเผาไหม้ของถ่านหินจะก่อให้เกิดเถ้าหนัก 22,500 ตันต่อปี เถ้าลอย 202,000 ตันต่อปี

เถ้าลอยเป็นฝุ่นขนาดเล็กมาก กระจายได้ไกล มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีเครื่องมือตรวจวัดได้ ฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถผ่านเข้าไปในปอดและกระแสเลือดได้

ฝุ่นขนาดเล็กต่ำกว่า 10 ไมครอน ประกอบด้วย ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,78 ฝุ่นละออง และมีสารโลหะหนัก เช่น ปรอท สารหนู ตะกั่ว แคดเมียม เจือปนอยู่

ความเสี่ยงจากการโรงไฟฟ้าและสารเคมีที่ใช้ ก่อให้เกิดฝนกรด จากการปลดปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ที่เกิดจากการเผาไหม้ และเมื่อสัมผัสกับน้ำฝนจะเกิดเป็นฝนกรด ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ โดยฝนกรดจะส่งผลกระทบด้านต่างๆ ได้แก่ ดินเสื่อมคุณภาพ การเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของพืช การสะสมโลหะหนักในดิน และกระทบต่อสุขภาพ น้ำกินน้ำใช้ และอาหาร

นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการเผาน้ำมัน 29% และมากกว่าก๊าซธรรมชาติถึง 80% ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งต่อการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และเกิดภัยธรรมชาติตามมา

สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย ก็จะเกิดขึ้นจากกระบวนการเผาไหม้ถ่านหินหลายชนิด ซึ่งบางชนิดมีรายชื่ออยู่ในการควบคุมของประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 30 (พ.ศ.2550) เรื่องกำหนดมาตรฐานค่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา 1 ปี ในบรรยากาศ เช่น Benzene Chloroform และ Tetrachloroethylene ซึ่งหากมีการดำเนินโครงการ คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณ Benzene เพิ่มขึ้นในบรรยากาศ

 

ปริมาณสารพิษที่เกิดจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเก็คโค่–วัน กำลังการผลิต 700 เมกกะวัตต์ ที่ตั้ง นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

วัตถุดิบ และสารพิษ ตัน/ปี
ถ่านหินที่ใช้ 1,968,500
ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน 2,111.88
ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,780.78
คาร์บอนไดออกไซด์ จากการเผ้าไหม้ของถ่านหินและการใช้น้ำมันดีเซล 1,700 ลูกบาศก์เมตร 5,989,151
ฝุ่นละอองรวม 1,102.56
Benzene เพิ่มขึ้นในบรรยากาศ ปริมาณ 114,000 กิโลกรัม/ปี

หมายเหตุ : จำนวนวันเดินเครื่องของโรงไฟฟ้า 330 วัน/ปี

 

สารพิษจากสารเคมี

สารเคมีที่ใช้ในโครงการประกอบด้วย

  1. กรดซัลฟูริก ใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำ บำบัดน้ำทิ้ง บำบัดนำชะจากกองถ่านหิน 41 ตันต่อปี
  2. โซเดียมไอดรอกไซด์ ปรับปรุงคุณภาพน้ำ บำบัดน้ำทิ้ง บำบัดน้ำชะจากกองถ่านหิน 41 ตันต่อปี
  3. สารสร้างตะกอน บำบัดน้ำทิ้งน้ำชะลานกองถ่านหิน 1 ตัน ต่อปี
  4. โซเดียมไฮโปรคลอไรด์ ปรับปรุงน้ำทะเลที่ใช้ในการหล่อเย็น 1,225 ตันต่อปี
  5. แอมโมเนีย/แอมโมเนียมแอนไฮดรัส ปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนป้อนเข้าหม้อไอน้ำ ควบคุมมลพิษทางอากาศ 1,187 ตันต่อปี
  6. น้ำมันหล่อลื่น 15 ตัน ต่อปี

 

กองถ่านหิน

กองถ่านหินต้องใช้น้ำดิบเพื่อฉีดพ่นประมาณ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นและควบคุมอุณหภูมิของถ่านหิน ไม่ให้ลุกไหม้ น้ำพ่นถ่านหินใช้หมุนเวียนแต่ต้องมีการเติมเพิ่มในระบบวันละ 360 ลูกบาศก์เมตร น้ำชะกองถ่านหินปนเปื้อนสารโลหะหนักและอื่นๆ ซึ่งต้องบำบัดด้วยสารเคมีหากจะระบายออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจำเป็นต้องระบายน้ำทิ้ง

 

ผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

โรงไฟฟ้าต้องสูบน้ำทะเลใช้ในการหล่อเย็นอุปกรณ์ต่างๆ ปริมาณการใช้น้ำทะเล 42 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือ 3.621.720 ลูกบาศก์เมตร/วัน หรือ 3.621.720,000 ลิตรต่อวัน

ส่วนที่ 1 ใช้หล่อเย็นที่เครื่องควบแน่นไอน้ำเพื่อทำให้น้ำที่ใช้ประโยชน์แล้วเป็นน้ำคอนเดนเสทก่อนหมุนเวียนมาผลิตไอน้ำอีก (ประมาณ 40–41 ลูกบาศก์เมตร/วินาที)

ส่วนที่ 2 ใช้หล่อเย็นที่อุปกรณ์ต่างๆ (ประมาณ 1–2 ลูกบาศก์เมตร/วินาที)

น้ำทะเลที่ใช้แล้วบางส่วนประมาณ 6–7 ลูกบาศก์เมตร/วินาที) ใช้ประโยชน์อีกครั้งที่ระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เกิดจากหม้อไอน้า

น้ำทะเลที่ผ่านการใช้หล่อเย็นทิ้งลงทะเลจำนวน 3,078,462 ลูกบาศก์เมตร/วัน หรือ 3,078,462,000 ลิตรต่อวัน ที่อุณหภูมิสูงกว่าระดับน้ำทะเล 2–6 องศาเซลเซียส

การสูบน้ำทะเลจะมีตระแกรงกรองน้ำขนาด 1 เซนติเมตร อาจสูบในระดับลึก 2 เมตร จะมีแพลงตอนพืชและสัตว์เข้าสู่ระบบและตายเนื่องจากความร้อน ปริมาณน้ำร้อนที่ทิ้งสู่ทะเลจำนวนมากโดยอาจต่อท่อออกไปในทะเล 500 ถึง 1,000 เมตร จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำเป็นบริเวณกว้างหรือไม่ที่ต้องพิจารณา

โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำในภาคใต้ เช่น แม่น้ำตรัง แม่น้ำปะเหลียน เป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของพะยูน โลมา เต่าทะเล หญ้าทะเล และสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ปูม้า หอยชักตีน หอยปะ หอยนางรม เป็นต้น ปะการังซึ่งอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 0.5 องศาเซลเซียสในเวลาประมาณ 1 เดือน จะทำให้เกิดปะการังฟอกขาว

โรงไฟฟ้าถ่านหินมีการดึงน้ำทะเลมาใช้ เพื่อดูดซึมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากอากาศ ที่เกิดจากหม้อไอน้า หรือเรียกว่า Seawater FGD จึงอาจทำให้โลหะหนักบางส่วนปนเปื้อนลงน้ำทะเล สารหนู แคดเมียม ปรอท และตะกั่ว แม้ว่าการปล่อยทิ้งจะเป็นไปตามค่ามาตรฐาน แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตในทะเลในลักษณะผลกระทบสะสม และผลกระทบระยะยาวได้ เนื่องจากโลหะหนักเป็นสารคงตัว ไม่สามารถสลายตัวได้ในกระบวนการธรรมชาติ เมื่อปนเปื้อนลงสู่ทะเลจะสะสมในตะกอนดิน และอาจเปลี่ยนรูปไปสะสมในเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต เป็นผลต่อห่วงโซ่อาหารสัตว์น้ำต่อไป

ปริมาณของสารคลอรีนหลงเหลือจากกระบวนการปลดปล่อยลงสู่น้ำทะเล ส่งผลกระทบต่อแพลงค์ตอนทำให้ตาย และกระทบทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลง รวมทั้งระบบนิเวศน์ทางทะเล ปริมาณคลอรีนความเข้มข้นเพียง 0.1 มิลลิกรัม/ลิตร ก็จะส่งผลกระทบต่อแพลงค์ตอน และปริมาณสัตว์น้ำได้

 

น้ำจืด

โรงไฟฟ้าต้องใช้น้ำจืดในกระบวนการผลิต 1,062 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เดือนละ 31,860 ลูกบาศก์เมตร หรือ 31,860,000 ลิตรต่อเดือน และต้องมีน้ำจืดอีกจำนวนหนึ่งสำหรับสาธารณูปโภคในโรงงาน สิ่งที่ต้องตั้งคำถามจะเอาน้ำจืดมาจากที่ไหน

 

ท่าเรือและแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง

ท่าเรือและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ยังไม่มีข้อมูลว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะดำเนินการอย่างไร แต่เป็นสิ่งจำเป็นต้องมีเนื่องจากถ่านหินขนส่งทางทะเล และต้องคำนึงถึงผลกระทบจากเรือที่ขนส่งถ่านหินจำนวนมาก จากสภาพความลึกของร่องน้ำบริเวณที่จะก่อสร้าง ต้องใช้เรือที่บรรทุกถ่านหินประมาณลำละ 10 ตัน จะต้องมีเรือขนส่งถ่านหินประมาณ 196,860 เที่ยวต่อปี หรือ 539 เที่ยวต่อวัน อาจทำให้ตะกอนทะเลในช่วงน้ำลงฟุ้งกระจาย หรืออาจจำเป็นต้องมีการขุดลอกร่องน้ำเป็นประจำ หรือในกรณีมรสุมอาจเกิดเรือล่มดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2554

แนวสายส่งไฟฟ้ายังไม่มีข้อมูลว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยออกแบบอย่างไร แต่เป็นองค์ประกอบที่ต้องมี โดยปกติจะมีการรอนสิทธิที่ดินความกว้าง 30 เมตรตามแนวสายส่ง โดยจ่ายค่าชดเชยจำนวนหนึ่งและห้ามเจ้าของที่ดินปลูกไม้ยืนต้นตามแนวสายส่ง การรอนสิทธิมีทั้งโดยความสมัครใจและบังคับโดยกฎหมาย

 

การขนส่งถ่านหิน

มีการขนส่งถ่านหินทางเรือเข้าสู่ท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าเดิม ก่อนลำเลียงผ่านสายพานลำเลียงระบบปิดเข้าสู่พื้นที่ลานกองถ่านหินของโครงการ ความถี่การขนส่ง 33 เที่ยว/ปี ถ่านหินประมาณ 1,968,500 ตัน/ปี หรือเที่ยวละประมาณ 59,700 ตัน/ปี และเมื่อโครงการดำเนินการแล้วจะมีการขนส่งถ่านหินทางเรือ 52 เที่ยว/ปี ขณะการขนส่งจะใช้เวลาขนส่งแต่ละเที่ยวเข้าสู่พื้นที่โครงการประมาณ 5–7 วัน/เที่ยว โดยท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับถ่านหินขนาด 60,000 ตัน

 

ผลกระทบต่อสุขภาพ

การมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ ปอด หอบหืด ปอดบวม เกิดพังผืดในปอด มะเร็งจากสารอินทรีย์ระเหย โรคจากโลหะหนัก จะทำให้ระบบการหมุนเวียนเลือดล้มเหลว ทำลายตับ ไตวายเฉียบพลัน เลือดออกมากผิดปกติ ทำให้กระบวนการเมทาบอลิซึมบกพร่อง เป็นพิษต่อตับ ไต ท่อปัสสาวะ กระเพาะ ลำไส้ ม้าม ไขกระดูก หัวใจ ระบบประสาทส่วนกลาง

ที่มาของข้อมูล: รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนเก็คโค่–วัน (ที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง)

 

ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

โรงไฟฟ้าแม่เมาะได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2515 โดยในปี 2518 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3 โรง ส่วนโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 4–11 มีการก่อสร้างเพิ่มเติมในเวลาต่อมา โรงไฟฟ้าใช้ถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะเป็นเชื้อเพลิง และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 1.6 ล้านตัน/ปี จนทำให้แม่น้ำลำธารเป็นสีดำ เผาไหม้นาข้าว และสร้างปัญหาต่อสุขภาพของคนแม่เมาะที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อย่างรุนแรง

วันที่ 3 ตุลาคม 2535 เมื่อลมหนาวปะทะลมร้อนที่ยังไม่สิ้นฤดูกาล ทำให้ลมเปลี่ยนทิศทางพัดเข้าสู่หมู่บ้านสบป้าด อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะประมาณ 5 กิโลเมตร ด้วยอุณหภูมิของอากาศที่ผกผัน ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะ จึงทำให้เกิดเพดานอากาศแยกเป็น 2 ชั้น มลพิษที่ถูกปล่อยจากปล่องโรงไฟฟ้าจึงถูกดึงกลับลงสู่พื้นดิน

ในวันที่เกิดเหตุ นอกจากการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และฝุ่นจากโรงไฟฟ้าโดยปกติแล้ว ยังมีเครื่องดักจับฝุ่นของโรงไฟฟ้าบางโรงเสีย อีกทั้งสภาพอากาศที่มีลักษณะปิด จึงทำให้มลพิษกระจายตัวไปทั่วบริเวณ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านและพนักงานโรงไฟฟ้าหลายพันคนล้มป่วยด้วยอาการหายใจไม่สะดวก คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ เคืองตาและจมูก เนื่องจากสูดสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เข้าไป ในกรณีกลุ่มคนที่อ่อนแอ เช่น เด็ก คนชรา ผู้ป่วยโรคหัวใจ ภูมิแพ้ และโรคระบบทางเดินหายใจ ก็ปรากฏอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน ไม่ถึง 2 เดือนพื้นที่ไร่นากว่าร้อยละ 50 รอบโรงไฟฟ้าก็ได้รับความเสียหายจากฝนกรด

จากการตรวจสอบคุณภาพอากาศในวันนั้น พบว่าช่วงเวลาที่ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์สูงสุด มีมากถึง 2,200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นเวลานานถึง 45 นาที หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้จ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ป่วยในรายละ 5,000 บาท และผู้ป่วยนอกรายละ 1,000 บาท และค่าเสียโอกาสในการทำงานรายละ 100 บาทต่อวัน รวมเป็นเงินเบ็ดเสร็จกว่า 4 ล้านบาท

หลังจากเกิดปัญหาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศทไย จึงยอมควักกระเป๋าลงทุนติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือเครื่องดักจับออกไซด์ของซัลเฟอร์ (FGD) ในโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 4–11 เพื่อลดผลกระทบของมลพิษทางอากาศ ส่วนหน่วยที่ 1–3 ไม่มีการติดตั้ง เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าเก่า ไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนและภายหลังได้ปิดตัวลง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 2 โรง คือหน่วยที่ 12 และ 13 เริ่มเดินเครื่องใช้งานในปี 2538

ถึงแม้จะมีการติดตั้งเครื่อง FGD แล้วก็ตาม ปัญหามลพิษก็ยังไม่หมดไป เพราะหลังจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เดินเครื่องโรงไฟฟ้าอย่างเต็มพิกัดครบทุกหน่วยในปี 2539 ปัญหามลพิษกลับรุนแรงขึ้นอีกครั้ง และเกิดความรุนแรงซ้ำอีกในปี 2541 ซึ่งทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยยอมรับว่า เครื่อง FDG ของโรงไฟฟ้าในวันเกิดเหตุ ใช้การได้เพียง 2 เครื่อง จากจำนวน 10 เครื่อง

กรมอนามัยระบุว่า แม่เมาะมีปัญหาฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน จากการศึกษาในปี 2538–2543 พบว่าฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนโดยเฉลี่ยแต่ละจุดจะอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ถ้าเจาะเป็นพื้นที่จะพบว่าบางจุดมีค่าสูงเกินกว่า 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานคือ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) แม้ในระยะหลังปัญหาเรื่องฝุ่นละอองจะบรรเทาลง แต่ในวันที่ 4 มีนาคม 2550 ค่าฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ที่แม่เมาะก็ขึ้นไปสูงถึง 209 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

จากปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ในที่สุดจึงนำไปสู่ข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ต้องการอพยพออกจากพื้นที่ เมื่อปี 2539 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตกลงที่จะอพยพโยกย้ายราษฎร 4 ตำบล 16 หมู่บ้านคือ ตำบลนาสัก ตำบลสบป้าด ตำบลแม่เมาะ ตำบลบ้านดงประมาณ 3,500 ครอบครัว แต่ไม่มีการดำเนินการ กระทั่งในปี 2544 คณะรัฐมนตรีมีมติให้อพยพโยกย้ายชาวบ้านก่อนเพียงหมู่บ้านเดียวคือ บ้านหางฮุงราว 400 หลังคาเรือน แต่ปัจจุบันกระบวนการอพยพชาวบ้านก็ยังไม่แล้วเสร็จ

ในส่วนของการฟ้องร้อง เพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยชดเชยค่าเสียหาย ชาวบ้านในอำเภอแม่เมาะ 437 คน ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ในปี 2546 โดยคำฟ้องระบุว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ใช้ถ่านหินลิกไนต์คุณภาพต่ำในการผลิตกระแสไฟฟ้า และมิได้บำบัดอากาศเสียให้ได้มาตรฐานก่อนปล่อยออกสู่บรรยากาศ จนทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 ศาลปกครองได้วินิจฉัยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ชดเชยค่าเสียหายเป็นค่าเสื่อมสุขภาพและจิตใจให้แก่ชาวบ้าน โดยส่วนใหญ่ชดเชยให้กับชาวบ้านรายละ 246,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้อง รวมทั้งให้จัดหาพื้นที่อพยพให้ชาวบ้านหมู่บ้านห้วยคิง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คดีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ที่มาข้อมูล: “แม่เมาะเมืองในหมอก(มลพิษ)” โดยเสมอชน ธนพัธ จากนิตยสารโลกสีเขียว ปีที่ 12 ฉบับที่ 5, “จากเชียงใหม่ถึงแม่เมาะ วิกฤตหมอกควันของเมืองในแอ่งกระทะ” โดยสุเจน กรรพฤทธิ์ จากหนังสือเมื่อปลาจะกินดาว 7, “กฟผ.พ่ายคดีชดเชยแม่เมาะหัวละ2.4แสน” ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 มีนาคม 2552

 

ถึงหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไฟฟ้าก็ไม่ดับ

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2550–2564 หรือแผน PDP2007 ซึ่งได้รับการอนุมัติในปี พ.ศ.2550 มีการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงเกินความต้องการไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริง ดังข้อมูลในตารางที่ 1 นำมาสู่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่างๆ มากเกินความจำเป็น และเป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้ามากขึ้นทั้งประเทศ

ปัญหาการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้ากับค่าจริงในช่วงปี 2551–2554

ปี PDP2007 PDP2010 ความต้องการสูงสุดที่เกิดขึ้นจริง (MW) การพยากรณ์กับค่าจริง (MW)
PDP2007 PDP2010
2551 23,957 - 22,568 1,389 -
2552 22,886 - 22,045 841 -
2553 23,936 23,249 24,010 (74) (761)
2554 25,085 24,568 23,900 1,185 668

อ้างอิง: 1) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, 2550, แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2550–2564 (PDP 2007), ฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

2) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, 2552, แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2551–2564 (PDP 2007: ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2), ฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

3) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, 2553, สรุปแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553–2573 (PDP 2010), ฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

 

ปัญหาการพยากรณ์ล้นเกินที่นำมาสู่การก่อสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินไป ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องมาสู่แผนซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2553–2573 (PDP2010) ซึ่งได้รับอนุมัติในปีที่แล้ว (พ.ศ.2553) แต่ผ่านมาเพียงปีเดียว ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นจริงในปี 2554 ก็ต่ำกว่าการพยากรณ์ในแผน PDP2010 ไปแล้ว 668 เมกะวัตต์

 

ความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดของระบบ เดือนมกราคม–กันยายน 2554

ศยามล ไกยูรวงศ์: โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ ถึงไม่มีก็ยังพัฒนาประเทศได้

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย - เข้าเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554

เมื่อนำค่าจริงของปี 2554 ไปคำนวณตามอัตราการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าตามแผน PDP2010 จะทำให้ค่าการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าต่ำลง โดยในปี 2573 มีค่าลดลง 1,436 เมกะวัตต์ และเมื่อรวมกับกำลังผลิตสำรองอีกร้อยละ 15 จะส่งผลให้ลดความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไปได้ 1,652 เมกะวัตต์ ซึ่งลดภาระในการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้อย่างน้อย 50,000 ล้านบาท

 

หยุดโรงไฟฟ้ายังพัฒนาประเทศได้

การปรับค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า โดยใช้ค่าจริงของปี 2554 และใช้อัตราการเติบโตตามแผน PDP2010

การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า 2554 2560 2565 2570 2573
1.แผน PDP2010 24,568 32,225 39,308 47,344 52,890
2. การปรับค่าพยากรณ์โดยใช้ค่าจริงในปี 2554 23,900 31,346 38,236 46,056 51,454
3. ค่าพยากรณ์ลดลง 668 879 1,072 1,288 1,436

ดังนั้นโครงการโรงไฟฟ้าในช่วงปี 2554–2559 ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าเก็คโค่–วัน โครงการโรงไฟฟ้าในภาคใต้ โครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของเอกชนอีก 2 โครงการ และโครงการโรงไฟฟ้าลิกไนท์ในลาวและพม่า สามารถเลื่อนออกไปได้ถึงปี 2560 หรือยกเลิกโครงการ เพื่อไม่ให้เป็นภาระทางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นภาระส่วนเกินของผู้บริโภคที่เกิดจากค่าไฟฟ้า เมื่อเลื่อนหรือยกเลิกโครงการเหล่านี้แล้ว กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศยังคงสูงมากกว่าระดับมาตรฐานที่ร้อยละ 15

การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการจัดการด้านความต้องการไฟฟ้า เป็นทางเลือกที่มีต้นทุนต่ำที่สุด และมีผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และสุขภาพ ต่ำกว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงต่างๆ

ล่าสุด กระทรวงพลังงานและรัฐบาล เห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ.2554–2573) ซึ่งศึกษาโดยบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งระบุศักยภาพการประหยัดไฟฟ้าภายในปี 2573 ของภาคอุตสาหกรรม, ภาคอาคารธุรกิจขนาดใหญ่, และภาคอาคารขนาดเล็กและบ้านเรือน รวม 84,140 ล้านหน่วย หรือร้อยละ 24.2 ของแผน PDP2010

ทั้งนี้ แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ได้กำหนดเป้าหมายของแผนฯ ประมาณร้อยละ 82 ของศักยภาพ หรือประมาณ 69,000 ล้านหน่วย ซึ่งเท่ากับการลดความต้องการไฟฟ้าประมาณ 10,500 เมกะวัตต์ และสามารถลดความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลงได้ 12,000 เมกะวัตต์ เทียบเท่ากับโครงการโรงไฟฟ้าเก็คโค่–วัน รวมกับโรงไฟฟ้าถ่านหินอื่นๆ อีก 8 โรง และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 5 โรง

เป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานในแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปีของกระทรวงพลังงาน

ศยามล ไกยูรวงศ์: โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ ถึงไม่มีก็ยังพัฒนาประเทศได้

ที่มา: กระทรวงพลังงาน, 2554, แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ.2554-2573), หน้า 5

การดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี จะนำไปสู่การประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน272,000 ล้านบาทต่อปี และหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมเฉลี่ย 49 ล้านตันต่อปี รวมทั้งยังลดการใช้น้ำ ลดการปล่อยมลพิษจากการผลิตไฟฟ้า และลดผลกระทบต่อสุขภาพอีกด้วย โดยแผนฯ ได้กำหนดกรอบงบประมาณในช่วง 5 ปีแรกประมาณ 29,500 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 5,900 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีความคุ้มค่าในการลงทุนคิดเฉลี่ยเท่ากับ 2,000–6,000 บาทต่อตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ

 

พัฒนาพลังงานหมุนเวียนประเทศไทยรุ่งโรจน์

สำหรับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) อันเป็นทรัพยากรภายในประเทศ และมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพน้อยกว่า จากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานในเดือนมิถุนายน 2554 มีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) และขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนหลายประเภทเสนอขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันรวมเป็นกำลังผลิตทั้งหมด 7,837 เมกะวัตต์ โดยมีโครงการที่มีความแน่นอนพอสมควร คือ เป็นโครงการที่ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว กับได้ตอบรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ แล้ว รวม 5,602 เมกะวัตต์ ซึ่งในจำนวนนี้คิดเป็นกำลังผลิตพึ่งได้ 2,892 เมกะวัตต์ ซึ่งได้พิจารณาความผันผวนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไว้แล้ว

 

ข้อเสนอ

  1. กระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ควรยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีแผนจะดำเนินการในภาคใต้ รวมทั้งโครงการอื่นๆ ออกจากแผน PDP ซึ่งหากไม่ดำเนินการ จะเป็นภาระทางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นภาระส่วนเกินของผู้บริโภคที่เกิดจากค่าไฟฟ้า ดังนั้นจึงไม่ควรอนุมัติโครงการ หรือดำเนินการอื่นใด ที่จะกลายเป็นการผูกมัด หรือเอื้อประโยชน์แก่ผู้ลงทุนก่อนที่จะปรับแผน PDP ใหม่
  2. กระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ควรเร่งดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ.2554–2573) อย่างเต็มที่ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนทั้งภาคเอกชนในรูปแบบ SPP และ VSPP และภาคชุมชน ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ซึ่งมีศักยภาพ เป้าหมาย และโครงการ มากกว่ากำลังผลิตของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายเท่า และมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และสุขภาพน้อยกว่า

ที่มาของข้อมูล: รายงานความเห็นประกอบส่วนตนโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม บริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด โดยนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ นายศุภกิจ นันทะวรการ และนายสัญชัย สูติพันธ์วิหาร กรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (เฉพาะกาล)

ภาพประกอบจาก : กรีนพีช

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน: เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์

Posted: 09 Jan 2012 06:55 PM PST

ชื่อบทความเดิม

หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน :
เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ไทย ทศวรรษ 1980-ปัจจุบัน
[1]

 

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
ราษฎรหัวใจซุกซน

 

แด่เหยื่อความไม่เป็นธรรมของกฎหมาย 112
การดูหนังโป๊ไม่ใช่อาชญากรรม ขบถทางเพศไม่ใช่อาชญากร

 

ข้อถกเถียงของคนหัวเก่าฝั่งฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ใช้เป็นคัมภีร์อุดปากเสรีชนอยู่เสมอก็คือ สื่อลามกอนาจารโป๊เปลือยอุจาดทั้งหลายเป็นภัยสังคม การดำรงอยู่ของสิ่งอุบาทว์เหล่านี้จะกระตุ้นเร้าประสาทสัมผัสก่อให้เกิดอาชญากรรมทางเพศ จะออกบัตรเชิญให้คนออกมาร่วมรักกันอย่างบ้าคลั่ง ส่งผลศีลธรรมปั่นป่วน โลกจะวุ่นวายและอาจถึงขั้นล่มสลาย ก่อนที่จะฝันเปียกไปมากกว่านี้ ยังถือว่าเราโชคดีที่สามารถจะหยุดครุ่นคริดกันบ้าง ด้วยงานวิจัยที่ออกมาตบหน้าและยันกลับข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าด้วยอาชญากรรมทางเพศ อยู่อย่างน้อย 2 เปเปอร์ 2 แห่ง นั่นคือ “Porn Up, Rape Down” ฝั่งอเมริกาในปี 2006 โดย D’Amato, A. (1980/2523-2004/2547 รวมเวลากว่า 24 ปี) และญี่ปุ่นในปี 1999 คืองาน “Pornography, Rape and Sex Crimes in Japan” โดย Diamond, M. and A. Uchiyama (ศึกษาปี 1972/2515-1995/2538 รวมเวลากว่า 23 ปี) งานทั้งสองชี้ว่า ปริมาณสื่อลามกที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้อาชญากรรมทางเพศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เผลอๆ อาจทำให้คดีต่างๆน้อยลงเสียด้วยซ้ำ [2] ในประเทศไทยที่ยึดมั่นศีลธรรมจรรยาอันดีงามนั้น ไม่ต้องไปไกลถึงหนังโป๊หรอก เพียงแค่การฉายภาพยนตร์บนดินยังถูกตัดสิน “ห้ามฉาย” ไม่ว่าคุณจะมีลูก มีผัว มีเมียมากกว่าหนึ่ง มีประสบการณ์ทางเพศอันโชกโชนเพียงใด คุณก็ไม่ได้รับอนุญาตให้รับชมมัน “อย่างถูกกฎหมาย”

แม้ว่าสมัยนี้เราตระหนักกันบ้างแล้วว่า ความรู้คืออำนาจ แต่ผู้มีอำนาจในสังคมไทย ใช้ความรู้น้อยมากในการตัดสินใจ บทความนี้คงทำอะไรได้ไม่มากไปกว่าคลี่คลายภาพเชิงสังคมของมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่อยู่กับหนังโป๊อย่างเป็นปกติในชีวิตประจำวัน พวกเขาปฏิบัติกับมันดังเพื่อนคลายเหงา การสะสมและการรับชมหนังโป๊ถือเป็นงานอดิเรก ไม่ต่างจากการแสวงหาอาหารเลิศรส การชมภาพศิลปะที่สร้างแรงบันดาลใจ การบำรุงผิวพรรณ การฟังคอนเสิร์ต การเข้าสปาเพื่อขัดผิวและผ่อนคลายอารมณ์ ฯลฯ ผู้เขียนสงสัยว่า การเรียกร้องให้คนรู้จักเพียงพอทางเพศ โดยเอามาตรฐานเฉพาะตัวเองไปบังคับใช้ และตัดสินพิพากษาคนอื่นราวกับว่าตนเป็นเจ้าของชีวิตของพวกเขาเสียเอง มันเป็นมาตรฐานของสังคมแบบไหนกัน

 

- 1 -

สเต็ปแรกของหนังโป๊ [3]

‘…Fanny Hill is considered "the first original English prose pornography, and the first pornography to use the form of the novel." It is an erotic novel by John Cleland first published in England in 1748. It is one of the most prosecuted and banned books in history. The authors were charged with "corrupting the King's subjects." …’ [4]

วิกิพีเดียพูดถึง นิยายที่ชื่อว่า Memoirs of a Woman of Pleasure หรือ Fanny Hill ที่เขียนขึ้นในปี 1748/2291 ก่อนเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 เป็นเวลา 19 ปี ก่อนปฏิวัติฝรั่งเศสเพียง 41ปี

หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์

Memoirs of a Woman of Pleasure หรือ Fanny Hill อันอื้อฉาว ที่เขียนขึ้นในปี 1748/2291

 

อดีตเจ้าสำนักมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนภาคเว็บไซต์ สมเกียรติ ตั้งนโม(2501-2553) ได้นิยามคำว่า “โป๊” (Pornography) ว่า “การนำเสนอเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เป็นไปในลักษณะกามวิสัย(erotic) ในสื่อประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะในหนังสือ สิ่งพิมพ์ ภาพถ่าย ภาพเขียน รูปปั้น ภาพยนตร์ หรืออื่นๆ. ถ้าจะพูดให้ชัดก็คือ สื่อเหล่านี้เป็นผลงานต่างๆที่ทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ต้องการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวหรือความเร่าร้อนทางเพศนั่นเอง(cause sexual excitement)” [5]

ในที่นี้เราจะหยิบส่วนน้อยนิดอันมหาศาลมาหนึ่งสื่อ สื่อที่เรียกว่า “หนังโป๊” (Pornographic film) แน่นอน โดยจะมุ่งเน้นไปโฟกัสที่หนังโป๊แบบฮาร์ดคอร์ (Hardcore Porn Movie ) ที่เน้นกิจกรรมทางเพศอันโจ่งแจ้ง เน้นการสอดใส่ เสียดสี ถูไถ เป็นหลักใหญ่ โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นการร่วมเพศระหว่างทั้งสองเพศตามจารีตประเพณีเท่านั้น อย่างไรก็ตามต้องขอสารภาพก่อนว่ามุมมองของผู้เขียนนั้นมีอคติของ หนังโป๊ที่ชายเป็นใหญ่และจินตนาการความสัมพันธ์ทางเพศแบบชายหญิง

อาจกล่าวได้ว่า หนังโป๊ เติบโตมาพร้อมกับทุนนิยมร่วมกับความกระหายอยากทางเพศ กว่าที่หนังโป๊จะกลายเป็นสินค้าหมุนเวียนอย่างคึกคักในตลาดก็ต้องรอถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนหน้านี้ หนังโป๊ยังอยู่ในวงจำกัดตามซ่องโสเภณีทั้งหลาย สิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือ เทคโนโลยีกล้องถ่ายหนัง 8 มิลลิเมตร ทำให้เกิดนักถ่ายหนังสมัครเล่นจำนวนมาก และพบว่าเริ่มเกิด “ผู้ประกอบการ” หนังโป๊ อย่างเป็นล่ำเป็นสัน อย่างไรก็ตาม 60 กว่าปีที่แล้วหนังโป๊ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ทศวรรษ 1960/2503-2512 ถือว่าเป็นการเปลี่ยนของ “หนังโป๊” ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนทัศนคติของสังคมที่มีต่อเซ็กส์ที่เปลี่ยนไป คือ เปิดกว้างมากขึ้น แต่ด้วยความระแวดระวังในช่วงแรกยังเป็น “หนังโป๊” ที่ต้องมีส่วนผสมของความเป็น “หนังสารคดี” เพื่อที่จะเลี่ยงบาลีกฎหมาย เช่นเรื่อง I Am Curious (Yellow) (1967/2510-Sweden) และ Language of Love (1969/2512-Sweden)

ตราบจนปี 1969/2512 เดนมาร์กเป็นประเทศแรกที่ประกาศให้ “หนังโป๊” แบบฮาร์ดคอร์ เป็นเรื่องถูกกฎหมาย เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ที่ต้องกินปี้ขี้นอน ปีเดียวกันเนเธอร์แลนด์ก็เป็นอีกประเทศที่ประกาศเย้ยฟ้าท้าพวกมือถือสากปากถือศีลเช่นกัน การทำให้หนังโป๊อยู่ “บนดิน” เปิดทางให้นักลงทุนเข้ามาร่วมวงไพบูลย์อย่างไม่ขาดสายหนังโป๊กลายเป็นสินค้าแมสโปรดักท์ ราคาถูก แถมยังมีคุณภาพเสียอีก ซึ่งอานิสงส์นี้เผื่อแผ่ไปยังวงการแมกกาซีนโป๊อีกด้วย ในทางกลับกันประเทศที่ผิดกฎหมายที่ถูกปิดกั้นกลายเป็นเป้าหมายอย่างดีในการลักลอบสินค้าผิดกฎหมายเช่นนี้เข้าไป

หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์

ซ้าย I Am Curious (Yellow) (1967-Sweden) และ ขวา Language of Love (1969-Sweden)

 

ขณะที่ญี่ปุ่นเริ่มเกิดหนังที่เรียกว่า Roman Porno ที่เน้นภาพฝันแฟนตาซีมากกว่า “การสอดใส่” Roman Porno นี้รุ่งเรืองในอีกสิบปีต่อมา [6] (จึงขอเดาว่า โปสเตอร์หนังโป๊ ที่ติดอยู่ร้านขายของชำใน 20th Century Boys น่าจะเป็นหนัง Roman Porno นี่แหละ)

ทศวรรษ 1970/2513-2522 ความเข้มงวดของกฎหมายหัวโบราณเริ่มคลายตัว ได้เปิดฟ้าใหม่ของโรงหนังโป๊ (adult theatres) ขึ้นทั้งในอเมริกาและหลายแห่ง จึงเกิดการขยายตัวของหนังโป๊ในฐานะส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างคึกคัก แต่หนังโป๊ก็ยังมีข้อจำกัด หนังโป๊อย่าง Deep Throat (1972/2515) ก็ถูกดึงไปอยู่ในสมรภูมิการเมืองในยุคประธานาธิบดีนิกสันอันอื้อฉาวในคดีวอเตอร์เกต รัฐได้ทำการจับกุม ยึดฟิล์ม ปิดโรงหนังเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นที่ประธานาธิบดีโจมตีอย่างหนัก แต่นั่นก็ยิ่งทำให้หนังเรื่องนี้เป็นที่สนใจ และนิกสันเองก็หลุดจากตำแหน่งในปี 2514 Deep Throat ยังถูกใช้เป็นชื่อรหัสลับของคนที่เผยข้อมูลอันฉ้อฉลของนิกสัน นอกจากนั้นยังมีกรณีที่ Marvin Miller หนึ่งในผู้จัดการของบริษัทธุรกิจขนส่งพัสดุไปรษณีย์ ได้ทำการโฆษณาสินค้าโดยทำการติดฉลากบอกอย่างชัดเจนว่าเป็นวัสดุเย้ายวนทางเพศซึ่งถือว่าละเมิดกฎหมาย ทำให้เขาถูกฟ้องศาลรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 1973/2516 โดยมีผลตัดสินว่า สื่อลามกอนาจารแบบนี้จะไม่ถูกรับรองในฐานะ “ฟรีสปีช” (Free Speech) [7] ตามมาตราแรก ของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา แต่ศาลก็ได้เปิดช่องไว้ โดยการตั้งเกณฑ์ 3 ประการของการพิจารณาว่าการแสดงออกแค่ไหนถึงจะเรียกได้ว่า ลามกอนาจาร ที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะ ฟรีสปีช เกณฑ์นี้เรียกกันว่า Miller test

หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์

 

ทศวรรษ 1980/2523-2532 เมื่อเทคโนโลยีวิดีโอขึ้นมาเป็นใหญ่ และสยายปีกอาณาจักรของมันไปทั่วโลก ข้อดีของมันคือ มันได้ทำให้เกิดโรงหนังโป๊ขนาดย่อมได้ย้ายไปตั้งที่ไหนก็ได้ในโลกที่จะหาเครื่องเล่นและวิดีโอเทปได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็คือ ทำให้คุณภาพการถ่ายทำตกต่ำลง เนื่องจากเดิมการถ่ายทำหนังโป๊ จะเป็นการถ่ายทำในระบบอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งคุณภาพจะแตกต่างอย่างมากจากการถ่ายทำด้วยสื่อวิดีโอเทป อย่างไรก็ตามแม้คุณภาพจะต่ำลง ก็หาได้เป็นอุปสรรคในเมื่อข้อดีดังกล่าวทำให้หนังโป๊ถูกส่งผ่านไปฉายยังที่ต่างๆได้สะดวก และชัยชนะที่สำคัญก็คือการทำให้หนังโป๊ก้าวเข้าไปสู่ในพื้นที่ครัวเรือนของคนธรรมดาที่พอจะมีเงินซื้อได้ ขณะที่ดาราหนังโป๊และผู้กำกับแห่งวงการก็ได้ทยอยถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

การปฏิวัติด้วยวิดีโอเทปยังนำสิ่งที่ผู้เขียนนิยามว่า “ประชาธิปไตยของการทำหนังโป๊” (Democratization of Pornography) ขึ้นในโลกเสรี เนื่องจาก กล้องวิดีโอมือถือ (camcorder) สามารถทำให้การทำหนังโป๊ในครัวเรือนเป็นไปได้ ไม่ว่าจะทำเองดูเองกินเอง หรือจะเป็นการเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ก็ตามที ว่ากันว่าการผงาดขึ้นของวิดีโอเทประบบ VHS ที่มีชัยชนะเหนือระบบ Sony Betamax ก็เพราะว่า อุตสาหกรรมหนังโป๊เลือกที่ใช้ระบบเทปของ VHS และหมุดหมายสำคัญที่ถูกปักตรงหน้าสำคัญอีกแห่งหนึ่งก็คือ คำพิพากษาของศาลแคลิฟอร์เนียในปี 1989/2532 ที่ประชาชนแคลิฟอร์เนียได้ฟ้องร้องต่อ Harold Freeman ในข้อหาว่าจ้างนักแสดงหนังโป๊ แต่ในกาลเวลาที่สังคมได้เปิดกว้างมากขึ้นแล้วได้ทำให้ศาลได้ตัดสินให้การสร้างหนังโป๊แบบฮาร์ดคอร์เป็นเรื่อง “ถูกกฎหมาย” [8] การเติบโตของหนังโป๊ด้วยฤทธิ์ของวิดีโอโป๊ในสังคมญี่ปุ่นก็ขยายตัวด้วยเช่นกัน ดารา AV ระดับไอดอลเริ่มแจ้งเกิดในยุคนี้ นั่นหมายความว่า ดาราหนังโป๊ไม่ใช่หญิงค้าบริการใน Soap land (คล้ายอาบอบนวด) เหมือนก่อนอีกต่อไป

หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์

เครื่องเล่นวิดีโอเทป และ วิดีโอเทประบบ VHS

 

ทุนนิยมและเทคโนโลยียังเป็นตัวจักรสำคัญที่หมุนฟันเฟืองของอุตสาหกรรมอันแสนสยิวนี้ ในทศวรรษ 1990/2533-2542 พระเอกทั้ง 2 ที่แท็คทีมกันสร้างอาณาจักรใหม่ก็คือ เครื่องเล่น DVD และอินเตอร์เน็ต DVD ยกระดับคุณภาพจากวิดีโอเทปขึ้นมาใหม่ และยังมีนวัตกรรมที่ “ตอบโต้ได้” (interactive) ที่ยุให้ผู้ชมเพลิดเพลินไปกับมุมกล้องที่หลากหลาย แม้แต่ฉากจบที่มีได้มากกว่าหนึ่ง หาก DVD หมายถึง คุณภาพสินค้าชั้นเยี่ยมแล้ว อินเตอร์เน็ตได้ทำหน้าที่เสมือนเป็นยานอวกาศที่ย่นมิติของเวลาให้สั้นลง ผู้ชมไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเดินทางไปร้านหนังสือผู้ใหญ่ ไม่ต้องสั่งซื้อทางพัสดุ พวกเขาสามารถเข้าถึงได้ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ของพวกเขาเอง สื่อโป๊ที่เป็นภาพนิ่งก็ใช้เวลาไม่กี่วินาทีก็ล่วงถึงฝั่ง การเริ่มต้นของนวัตกรรม World Wide Web ในปี 1991/2534 อย่างที่รู้ๆกัน สำหรับคนที่มีทุนทรัพย์มากพอก็สามารถจ่ายเงินทางอินเตอร์เน็ตเพื่อเข้าถึงการโหลดหนังโป๊ได้สบายๆภายในไม่กี่นาที ส่วนใครเบี้ยน้อยหอยไม่มีก็อาศัยของฟรีจากสาธารณะนั่นคือ การแชร์ไฟล์ ไม่ว่าจะโดยการโหลดบิต (BitTorrent), การโหลดจากไฟล์โดยตรง หรือกระทั่งเว็บไซต์ที่มีลักษณะคล้ายยูทูป เช่น Redtube, Xtube ฯลฯ ที่ในปัจจุบันสามารถดูดภาพเคลื่อนไหวเอาไว้ดูอีกรอบได้ และนี่เองทำให้ฮาร์ดดิสก์ลูกใหญ่แค่ไหนก็ไม่พอสักที สำหรับมหาสมุทรของหนังโป๊ที่กว้างขวาง ยังไม่นับคุณูปการของอินเตอร์เนตสำหรับการถ่ายทอดสดการแสดงกิจกรรมทางเพศสำหรับผู้ชื่นชอบแสดงนิทรรศการส่วนตัวผ่านโปรแกรมประเภท Camfrog ได้อีก

ที่เล่ามาทั้งหมดส่วนใหญ่เก็บความมาจากวิกิพีเดีย เพื่อทำให้เห็นโครงสร้างการพัฒนาทางเทคโนโลยี ระบบทุน และความพร้อมทางสังคมที่เปิดเสรีมากขึ้น

ผู้เขียนในยามไม่ประสีประสาแทบช็อคเมื่อพบกับวิดีโอโป๊ที่เป็นเนื้อหาของการมีเซ็กซ์ระหว่างผู้หญิง 1 คน กับผู้ชาย 251 คนในเวลา 10 ชั่วโมงกลางโรงยิมแห่งหนึ่งจากเรื่อง The World’s Biggest Gangbang (1994/2537) นำแสดงโดย Anabel Chong หรือ Grace Quake สาวจีนสิงคโปร์ [9] ดารานำที่ไม่รู้จักชื่อในขณะนั้น กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไร้คำจำกัดความในจิตสำนึกผมมาตั้งแต่นั้น จนกระทั่งผู้เขียนได้ทำความรู้จักกับเสรีภาพในการแสดงออกของมนุษย์

หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์

ปกหน้า The World’s Biggest Gangbang (1994/2537) และ ปกหลัง

 

- 2 -

หนังโป๊ พื้นที่และกาลเวลาในสายตา 1980s BOYS

ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่เติบโตในสังคมไทยอันดีงาม สังคมที่เต็มไปด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่พระพุทธเจ้า เทพโน่นเทพีนี่ พ่อปู่นั่น แม่ย่านี่ สังคมเรานับถือตั้งแต่สิ่งที่ไร้ตัวตนอย่างนิพพานไปจนถึงอวัยวะเพศเทียมอย่างปลัดขิก จะว่าไปของโป๊ๆ เปลือยๆ ถ้าอยู่ได้ถูกกาลเทศะ มันก็อาจจะกลายเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์”ขึ้นมาก็ได้ ใครจะรู้ว่าหากเราจัดวางกันดีๆ หนังโป๊ และสื่อโป๊ๆทั้งหลายอาจมีพื้นที่ในกาลเวลาที่เหมาะสมสักวันในประเทศไทยที่ไม่เหมือนใครในโลกนี้

ในเวลาอันจำกัดผู้เขียนของเล่าพัฒนาการของ “กระบวนการแสวงหาและรับชมหนังโป๊” ผ่านประสบการณ์ผู้เขียนที่มีลักษณะของชนชั้นกลางที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองในต่างจังหวัด โดยเติบโตแบบจำความได้มากับยุค 1980/2523-2532 ซึ่งตรงกับยุคสวรรค์ของวิดีโอโป๊ดังที่กล่าวมา

การเสพสื่อโป๊ๆ นั้น โดยปกติแล้วเรามักเข้าใจว่าจะเป็นการเสพในพื้นที่ส่วนตัว เอาเข้าจริงแล้วสื่อโป๊ๆ ยังปรากฏกายอยู่รอบตัวเราไม่ว่าจะเป็นปฏิทินแม่โขง (ยุติการแจกไปในปี 2539) ปฏิทินน้ำมันเครื่องและหลากผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาแจกจ่าย ปกหนังสือพิมพ์สมัยที่มาลัยไทยรัฐยุคแรกยังดังระเบิด มันติดอยู่ด้านหลังเก้าอี้ร้านตัดผม แปะอยู่ในเพิงซ่อมมอเตอร์ไซค์ วางแอบๆอยู่กับแผงหนังสือ สื่อโป๊ๆจึงกลายเป็นวัตถุแห่งจินตนาการของผู้มีเพศสภาพเป็นชายอยู่ไปทั่วถนนรนแคม ในทศวรรษ 1980 จึงเป็นห้วงเวลาที่ผู้เขียนยังมีขอบเขตที่จำกัดทั้งการเข้าถึงสื่อโดยตรง และด้วยช่วงวัยที่ยังไม่เจริญพันธุ์

 

จินตนาการทางเพศกับแฟนตาซีแบบหญิงยุโรปผิวขาว

วัยเจริญพันธุ์ไทยที่เป็นชนชั้นกลางในเมือง มีชีวิตประจำวันผูกติดอยู่กับโรงเรียนเป็นอย่างมาก กลุ่มทางสังคมที่สำคัญที่สุดและปราศจากอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันมากที่สุดก็คือ สังคมในกลุ่มเพื่อนดังนั้น การพูดคุยถึงเรื่องเพศ เรื่องความเปลี่ยนแปลงของร่างกายจึงมีศูนย์กลางอยู่ที่ “เพื่อน” มากกว่าจะเป็นครู หรือพ่อแม่ (แม้ว่า ครู พ่อแม่ก็อาจมีความช่ำชองเรื่องเพศเป็นล้นพ้นก็ตามที) ในทศวรรษ 1990/2533-2542 ถือกันว่าเป็นยุคที่วัฒนธรรมตะวันตกแบบอเมริกันเถลิงชัยชนะไปแทบทั่วโลก การบุกตะลุยตลาดโลกที่สามด้วยอุตสาหกรรมภาคบริการ ที่กระตุ้นการบริโภคอย่าง สื่อบันเทิง Hollywood, MTV, Walt Disney เชนฟาสต์ฟู้ดต่างๆนานา จึงไม่แปลกที่ภาพฝันของความเจริญรุ่งเรืองทันสมัยจึงมีศูนย์กลางจักรวาลวนรอบอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ความเหนือกว่าทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมนี้ทรงอิทธิพลต่อประเทศไทยด้วย วัฒนธรรมป๊อบแบบอเมริกันนี้ถูกเชื่อมโยงผ่านอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ซึ่งได้สร้างภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่สวยแบบนางเอกภาพยนตร์ นั่นคือ หญิงสาวตะวันตกที่สวยคม รูปร่างสัดส่วนได้รูป มั่นใจในตัวเอง กล้าได้กล้าเสียกับทุกเรื่องโดยเฉพาะในเรื่องเพศ หนังฮอลลีวู้ดอย่างน้อย 3 เรื่องเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมากถึงเรื่องโป๊ๆ เปลือยๆ นั่นคือ Ghost (วิญญาณ ความรัก ความรู้สึก แสดงนำโดย เดมี่ มัวร์ 1990/2533), Pretty Woman (ผู้หญิงบานฉ่ำ แสดงนำโดย จูเลีย โรเบิร์ต 1990/2533), Basic Instinct (เจ็บธรรมดาที่ไม่ธรรมดา แสดงนำโดย ชารอน สโตน 1992/2535)

หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์

ซ้าย โปสเตอร์หนังเรื่อง GHOST และ ขวา โปสเตอร์หนังเรื่อง BASIC INSTINCT

 

ไม่เพียงเท่านั้นลักษณะพิเศษหนึ่งในสังคมไทยก็คือ การให้ความสำคัญกับดารานักร้องลูกครึ่งนับมาตั้งแต่ทูน หิรัญทรัพย์ (เกิดปี 2497 ลูกครึ่ง ไทย-ฟิลิปปินส์) จารุณี สุขสวัสดิ์ (2505 ลูกครึ่ง ไทย-ฝรั่งเศส) ยุรนันท์ ภมรมนตรี (2506 เชื้อสายเยอรมัน) บิลลี่ โอแกน (2509 ลูกครึ่ง ไทย-ฟิลิปปินส์) คริสติน่า อากิล่า (2509 ลูกครึ่ง ฟิลิปปินส์-ฝรั่งเศส) จอห์น นูโว (2510 ลูกครึ่งไทย-อังกฤษ) จอนนี่ แอนโฟเน่ (2512 เชื้อสายฟิลิปปินส์-ไทย-เยอรมัน) สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ (2513 ลูกครึ่ง-ไทยอเมริกัน) มาช่า วัฒนพานิช (2513 ลูกครึ่งไทย-เยอรมัน) พาเมล่า เบาว์เด้น (2515 ลูกครึ่ง-ไทยอเมริกัน) ธัญญาเรศ รามณรงค์ (2519 ลูกครึ่ง ไทย-อเมริกัน) แอน ทองประสม (2519 ลูกครึ่ง ไทย-สวีเดน) แคทรียา อิงลิช (2519 ลูกครึ่ง ไทย-อังกฤษ) ฯลฯ สอดคล้องกับที่ พัฒนา กิตติอาษา ชี้ว่าทศวรรษ 1980เป็นต้นมา มีการค้นพบลูกครึ่งฝรั่งผิวขาวที่เป็นตัวแทนของความทันสมัยบนเวทีโลก ลูกครึ่งฝรั่งผิวขาวนี้ยังเป็นตัวแทนไทยใหม่ในการประกวดนางงาม ธุรกิจการโชว์ตัว วงการโฆษณาและบันเทิง [10]

เมื่อพูดถึงนางงาม การประกวดนางงามจักรวาล Miss Universe ก็ได้ทำหน้าที่ตอกย้ำภาพลักษณ์ของความงามมาตรฐานหญิงสาวตะวันตกที่เชื่อมโยงกับโลกทัศน์จินตนาการความงามแบบฮอลลีวู้ด ใช่แล้ว พวกเราไม่ลืมเธอ “น้องปุ๋ย” ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก (เกิดปี 2511) นางงามจักรวาลปี 1988/2531 แม้น้องปุ๋ยจะไม่ใช่ลูกครึ่ง แต่ความที่เติบโตมาจากแผ่นดินสหรัฐอเมริกา มีบุคลิกมั่นใจ แม้จะพูดไทยไม่ชัด อุปสรรคที่มีมลายสิ้น เมื่อเธอคว้ามงกุฎในฐานะผู้งดงามที่สุดในจักรวาลในปีนั้น ภาพลักษณ์นางฟ้าใจดีในร่างของนางงามของน้องปุ๋ยทำให้เรานึกถึงนางฟ้าแบบทิงเกอร์เบล ตามเทพนิยายตะวันตกมากกว่านางฟ้าในจิตรกรรมฝาผนัง หรือมักกะลีผล ในแบบฉบับไตรภูมิกถา ไม่เพียงเท่านั้นการคว้ารางวัลชนะเลิศในระดับนานาชาติ สำหรับสังคมฉาบฉวยอย่างสังคมไทยก็ถือว่าเป็นคุณูปการอย่างยิ่งยวดในการประกาศศักดาปักธงไตรรงค์บนแผ่นที่โลกให้คนได้รู้จักในฐานะที่มีคนไทยดำรงตำแหน่ง “นางงามจักรวาล”

หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์

น้องปุ๋ย ในมาดผู้หญิงที่มั่นใจแบบฝรั่งเมื่อได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาลแล้ว, อรอนงค์ ปัญญาวงศ์ในตำแหน่งนางสาวไทยในปี 2535 และ จิดาภา ณ ลำเลียง รองนางสาวไทยในปี 2535 (ตามลำดับ)

 

หากใครที่มีอายุมากพออาจจำได้ถึงข้อถกเถียงเรื่อง คำตัดสินค้านสายตาในตำแหน่งนางสาวไทยปี 1992/2535 [11] ปีนั้นอรอนงค์ ปัญญาวงศ์ คว้ามงกุฎนางสาวไทย อนันตริยกรรมของกรรมการที่ถูกรุมประณามก็คือ อรอนงค์มีบุคลิกไม่ถึงขั้นที่จะประกวดนางงามจักรวาล เมื่อเทียบกับ จิดาภา ณ ลำเลียง ที่มีดีกรีมาจากต่างประเทศ รูปร่างได้สัดส่วนจนได้รับ “รางวัลแต่งกายชุดว่ายน้ำงาม” ด้วยใบหน้าที่ออกไปทางฝรั่ง ยิ่งตอกย้ำความงามแบบลูกครึ่งที่ช่วยให้คว้า “รางวัลขวัญใจช่างภาพ” ขณะที่อรอนงค์เป็นสาวเชียงใหม่ที่ถูกเหยียดหยามว่า แม้จะประกวดนางงามเชียงใหม่แต่ก็ตกรอบ 5 คนสุดท้าย แต่ในที่สุดอรอนงค์เข้าวินเพราะหมัดเด็ดจากการ “ฟ้อนสาวไหม” ที่แสดงความอ่อนช้อยความเป็นไทยที่ถอดออกมาจากแบบฉบับความเป็นไทย

ดังนั้นจินตนาการทางเพศของชายหนุ่มส่วนหนึ่งอาจนับว่าถูกครอบงำด้วย ภาพลักษณ์ของผู้หญิงยุโรปผิวขาว หุ่นดี หลายคนอาจจำได้ถึงภาพโปสเตอร์ขนาดยักษ์ที่เป็นภาพของ Phoebe Cates (เกิด 1963/2506) ที่มักจะติดโชว์อยู่ตามร้านถ่ายเอกสาร, ร้านเสริมสวยสตรี แม้เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเธอคือใคร เธอมาจากไหน เธอทำอะไร แต่นั่นคือ ตัวแทนสำคัญของความงามและจินตนาการทางเพศในยุคนั้น อารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้เป็นป้อมปราการทางวัฒนธรรมตะวันตกสำคัญที่ได้เชื่อมโยงมาสู่รสนิยมหนังโป๊ฝรั่งอย่างแนบชิดในเวลาต่อมา

หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์

Phoebe Cates (เกิด 1963/2506) ใครก็ไม่รู้ที่ติดอยู่ตามร้านถ่ายเอกสาร และร้านเสริมสวยในทศวรรษ 1980-1990

 

การเข้าถึงหนังโป๊ และการประกอบสร้างโลกทางเพศที่ชายเป็นใหญ่

การเข้าถึงหนังโป๊ของคนในยุค 1990 นั้นเป็นไปได้หลายทาง ผู้เขียนไม่ทราบข้อมูลว่าจะมีการสั่งซื้อจากต่างประเทศหรือมีระบบเอเย่นต์ที่สามารถสั่งซื้อทางไปรษณีย์อย่างไรหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ในประสบการณ์ของผู้เขียน หนังโป๊ที่รู้จักส่วนน้อยมาจากของพ่อเพื่อน ส่วนใหญ่มาจากร้านเช่าวิดีโอ

ร้านวิดีโอสมัยนั้นมีสถานะสำคัญมาก เพราะเป็นพื้นที่สาธารณะสีเทาอันเป็นจุดกระจายของสื่อเสริมการเรียนรู้ทางเพศ แต่ร้านวิดีโอไม่ทุกร้านที่จะมีหนังโป๊อยู่ใต้เคาน์เตอร์ หรืออยู่หลังร้านอย่างเป็นสัดส่วน เพราะการจะเสนอให้บริการหนังโป๊ได้จำเป็นต้องแบกรับต้นทุนจากผู้รักษากฎหมายไม่น้อย สำหรับคนหน้าบางอย่างผู้เขียนแม้ร้านวิดีโอจะเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่กระบวนการที่ลำบากใจที่สุดก็คือ ห้วงเวลาการรอคอยระหว่างที่พนักงานร้านจดชื่อหนังลงสมุดบันทึก เมื่อหนังโป๊ถูกตราหน้าว่าเป็นสื่อผิดกฎหมายทางโลก ขณะที่วัตถุแห่งความลุ่มหลง ตัณหา ความอยากไม่มีที่สิ้นสุดก็ถือเป็นการนอกรีตนอกรอยศีลธรรมอันดีงาม การรอคอยที่หน้าเคาน์เตอร์ระหว่างที่ลูกค้าคนอื่นๆทยอยเข้าร้านมา จึงเป็นเวลาที่ยาวนานเป็นพิเศษ ด้วยเกรงว่าจะพบคนรู้จักที่ไม่พร้อมจะเข้าใจการกระทำอันกล้าหาญของเรา นี่คือ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับพื้นที่ซึ่งผู้เขียนถูกครอบงำด้วยบรรทัดฐานแบบพุทธเถรวาท-ไทย ลูกค้าทั่วไปอาจไม่ได้คิดอะไรกับผู้ยืมหนังโป๊ แต่ผู้เขียนถูกโจมตีและสยบยอมอย่างราบคาบภายใต้โลกทัศน์เช่นนั้น

ยังโชคดีที่พื้นที่หลังร้านที่แยกเป็นสัดส่วนที่มีประตูปิดมิดชิด (บางร้านไม่ได้แยกชัดเจน แค่เพียงย้ายตำแหน่งไปหลังร้านที่สุดมุมอับที่สุด) แถบกระดาษสีขาวที่ปิดสันม้วนวิดีโอ และถูกเขียนด้วยปากกาเมจิค แบ่งประเภทหนังด้วยสัญชาติ ฝรั่ง-ญี่ปุ่น-จีน-ไทย เรียงรายเป็นตับนอนรอผู้เช่าออกไปอย่างเงียบสงบ หากย้อนระลึกถึงรายชื่อหนังโป๊ที่ปรากฏอย่างรางเลือน คำเหล่านี้ก็ผุดออกมาจาก Final Taboo, Coketeer , คู่กำ, ปลายฝนต้นหนาว, ปลาไหลทองคำ ฯลฯ เท่าที่จำได้ หนังฝรั่งจะมีการระบุชื่อหนังที่ชัดเจน บางเรื่องก็ดัดแปลงมาจากหนังใหญ่ฟอร์มยักษ์ เช่น Rocketeer – Cocketeer ส่วนหนังไทยมีชื่อที่จำได้ติดหู แต่ออกแนวตลกโปกฮา โดยเฉพาะระบบเสียงฟังส่วนใหญ่จะเป็นเสียงพากษ์ที่ใช้ปฏิภาณไหวพริบให้ขำขันมากกว่าจะกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ แต่ที่แทบจะจำไม่ได้เลยก็คือ ญี่ปุ่นและจีน ที่ไม่แน่ใจว่า เพราะไม่มีชื่อ หรือชื่อไม่โดดเด่น ผู้เขียนยังไม่แน่ใจว่า พยาบาลสาวร้อนรัก เป็นชื่อของหนังฝรั่ง หรือหนังญี่ปุ่น แต่เอาเถิด เมื่อเทียบกันทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพม้วนต่อม้วนกับหนังโป๊สัญชาติอื่นๆแล้ว ในยุคนั้นหนังโป๊ฝรั่งกินขาด แน่นอนว่าด้วยโปรดักชั่นที่ลงทุนอย่างมหาศาลของอุตสาหกรรมหนังโป๊ฝรั่งแล้ว หนังฝรั่งยังตอบสนองแฟนตาซีทางเพศอันความงามมีศูนย์กลางอยู่ที่ผู้หญิงยุโรปผิวขาว

นอกจากนั้น หนังโป๊ไม่ได้อยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง การพูดคุยเกี่ยวสื่อลามกของชายหนุ่มวัยเจริญพันธุ์เอาเข้าจริงแล้วมันไม่ได้มีแค่เรื่องตัณหาความกระหายอยากทางเพศเพื่อปลดปล่อยเท่านั้น แต่มันยังประกอบด้วยเรื่องอื่นๆอีก กล่าวคือ มันเป็นกระบวนการสร้างพื้นที่ของความเป็นชาย การกำหนดโลกทัศน์ของเพศชายที่ “ถูกต้อง” นั้นเป็นอย่างไรด้วย กระบวนการดูหนังโป๊นั้นดูราวกับเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในบุพกาลที่ออกไปล่าสัตว์มาทำอาหาร ดังนั้นขั้นตอนทั้งหลายจึงแวดล้อมไปด้วยการหาข้อมูล การเสาะแสวงหาหนังโป๊ การถกเถียงเกี่ยวกับหนังโป๊ การคุยโอ่และทับถมความสามารถทางเพศของตนไม่ว่าจะเป็นการแสดงความอึด ความอดทนในการสำเร็จความใคร่ ขนาดอวัยวะเพศที่ใหญ่โต การแสดงออกถึงอาการเดียดฉันท์รสนิยมทางเพศที่ต่างไปจากความคิดที่ชายเป็นใหญ่ การดูหนังโป๊จึงเป็นการสร้างเถลิงอำนาจบนความรู้ว่า การมีเซ็กซ์ระหว่างผู้ชาย และผู้หญิงเป็นเรื่องปกติ, การมีเซ็กซ์ระหว่างเพศเดียวกันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

กระบวนการเหล่านี้จึงสร้างกรงเหล็กในนามของความจริง ความดีงาม ความถูกต้องทางเพศที่แยกความผิดปกติออกมาอย่างชัดเจน ยังไม่นับถึงหนังโป๊ที่มีจินตนาการแฟนซีอย่างหลุดโลก อย่างเช่น หนังโป๊เอากับสัตว์ หนังโป๊ซาดิสม์ หนังโป๊ที่สร้างความสัมพันธ์กับสิ่งปฏิกูล ฯลฯ หนังโป๊เหล่านี้แทบจะถูกจัดให้เป็นวรรณะจัณฑาลของสื่อลามกอนาจาร ที่ถูกผลักดันให้ตกไปอยู่ใต้หุบเหวที่ไม่เกี่ยวกับรสนิยมทางเพศใดๆ

 

หนังโป๊ทาร์ซานในตำนาน

“ ‘ทาร์ซาน’ เป็นหนังโป๊ที่มีความกลมกล่อมในตัวเองอย่างยิ่ง หมายความว่า มีรายละเอียดหลักๆ ที่ไม่ต่างจากหนังดีๆ สักเรื่อง นั่นก็คือ มันเป็นหนังโป๊ที่มี 'พล็อตเรื่อง' และมีจุดขัดแย้งหรือคอนฟลิกต์ ว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากงานวรรณกรรมอีโรติกเลย แล้วฉากเสพสมที่มีอยู่ในเรื่องทาร์ซานก็ไม่ใช่เซ็กซ์แบบโลว์คลาส แต่เป็นเซ็กซ์ชั้นดีที่ตอบสนองอารมณ์คนดูได้ ...ยิ่งไปกว่านั้น อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทาร์ซานกลายเป็นหนังโป๊คลาสสิกก็คือ พระเอกของเรื่องนี้ แสดงโดย 'ร็อคโค่ ซิฟเฟรดี้' สุดยอดพระเอกหนังโป๊ของโลก” [12]

ข้อความอ้างอิงด้านบนเป็นบทความที่อ้างมาจากสื่อในเครือผู้จัดการที่อ้างศีลธรรมนำหน้านั่นแหละ หนังโป๊ทาร์ซาน ที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Tarzan X: Shame of Jane หรืออีกชื่อว่า Jungle Heat (1995/2538) คือ หนังโป๊ระดับตำนานที่ “ผู้ชายในยุค 1980s” ระลึกถึงอยู่

ส่วนที่อ้างอิงนี้ตอกย้ำให้เห็นปมด้อยของชาวตะวันออกที่สยบต่อความเหนือกว่าชาวตะวันตก ผู้เขียนบทความได้ให้ความสำคัญกับพระเอกหนังโป๊ระดับสตาร์อย่าง ร็อคโค่ ซิฟเฟรดี้ ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ ผู้เขียนบทความกล่าวถึงหนังเรื่องนี้ว่าเป็น “เซ็กซ์ชั้นดีที่ตอบสนองอารมณ์คนดูได้” ไม่ใช่ “เซ็กซ์แบบโลว์คลาส” อะไรคือ “เซ็กซ์แบบโลว์คลาส” คำว่า “ชั้น” หรือ “คลาส” ทำให้เห็นการแบ่งสถานะอย่างชัดเจนของสถานภาพทางเพศ และประกาศให้เราเห็นชัดว่า การเลือกที่เสพเซ็กซ์แบบไหนก็อยู่ที่สังกัดทางชนชั้นและรสนิยมที่คุณเป็นอยู่ อาจเป็นว่า เขาคงไม่แฮปปี้และเสียวซ่านไปกับเพศรสอย่างหนังไทย ปลาไหลทองคำ พล็อตเรื่องทาร์ซานตามปกติอันที่จริงก็เป็นเรื่องที่ชวนจินตนาการอยู่แล้ว ชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง ในป่าเปลี่ยวอันแสนเอ๊กโซติค เนื้อหาที่เล่าถึง ชายคนป่ามีเซ็กซ์กับสตรีในเมือง(ที่ดูจะสูงศักดิ์ด้วย) ก็เป็นการจินตนาการถึงความสูงส่งของเพศหญิงที่ถูกกระทำโดยความต่ำเถื่อนของเพศชาย มิใช่ความหฤหรรษ์ หรือความพึงพอใจในเพศรสระหว่างมนุษย์อันเท่าเทียม ดังชื่อรองของเรื่องว่า Shame of Jane สะท้อนให้เห็นถึง ความผิดบาป ความน่าละอายของ เจน จากการร่วมเพศนอกสถาบันครอบครัว ที่มีกลิ่นอายของการควบคุมทางเพศจากศาสนาและรัฐชาติอยู่

ในด้านหนึ่งแล้วบทความนี้จึงเปลือยให้เห็นท่าทีอำนาจของชนชั้น เพศภาวะและชาติพันธุ์ของคนเขียนได้อย่างล่อนจ้อน อย่างไรก็ตามการจดจำหนังเรื่องนี้ในสังคมสาธารณะถือว่า หนังโป๊เรื่องนี้เป็นหมุดหมายสำคัญที่ผู้เขียนเห็นว่า จักรวรรดิหนังโป๊ตะวันตกถึงจุดสุดยอด ในความรับรู้อันคับแคบของสังคมไทย

หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์

Tarzan X: Shame of Jane หรืออีกชื่อว่า Jungle Heat (1995/2538)

 

เอดส์กับพฤติกรรมทางเพศ

สถานการณ์โรคเอดส์ที่รุนแรงขึ้น จากสถิติรายงานว่าเริ่มมีการเชื้อจากการเที่ยวหญิงบริการในปี1990/2533 และช่วงปี 1991/2534-1996/2539 เป็นช่วงที่เอดส์แพร่ระบาดรุนแรงที่สุดในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อใหม่ในช่วงนั้นประมาณปีละแสนถึงแสนห้าหมื่นคน และมีคนที่เสียชีวิตจากเอดส์ปีละกว่า 6 หมื่นคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคเหนือตอนบน [13] การรณรงค์ประชาสัมพันธ์แบบสาธารณสุขยุคเก่าด้วยข้อความข่มขู่อย่างรุนแรงทำนองว่าโรคนี้รักษาไม่หาย เป็นแล้วตายลูกเดียว โดยชี้สาเหตุหลักๆไปอยู่ที่ เซ็กซ์ที่นอกร่องนอกรอย กลุ่มรักร่วมเพศกลายเป็นเหยื่อสำคัญในขณะนั้น พอๆกับหญิงโสเภณี การกระพืออาการหวาดผวากับภาพลักษณ์ของโรคร้ายดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจความรู้ “ข่มขู่” ทำให้ “หวาดกลัว” เพื่อจะจัดการควบคุมสังคมโดยรัฐ

ความสยองขวัญของมหันตภัยร้ายทำลาย(เจ้า)โลก น่าจะมีผลไม่น้อยต่อพฤติกรรมทางเพศที่เริ่มเปลี่ยนแปลง ภาพลักษณ์ของซ่องโสเภณีที่ถูกระบายให้เกิดภาพลบและเต็มไปด้วยอคติ จึงเป็นจำกัดพื้นที่สาธารณะทางเพศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานไปด้วย ดังนั้น ประสบการณ์การ “ขึ้นครู” จากซ่องของหนุ่มวัยเจริญพันธุ์จึงไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยไม่คิดอะไรอีกต่อไป การตอบสนองและบำบัดความกระหายอยากทางเพศด้วยหนังโป๊ในพื้นที่ส่วนตัวจึงกลายเป็นทางเลือกหนึ่ง

 

สู่จินตนาการทางเพศในโลกแฟนตาซีแบบญี่ปุ่น

ไม่เพียงป้อมปราการฝั่งตะวันตกเท่านั้น เราพบว่าในทศวรรษ 1980 เป็นยุคที่วัฒนธรรมบริโภคแบบญี่ปุ่นครองตลาดในหมู่เด็กและเยาวชนชนชั้นกลางในเมือง สินค้าขายดีได้แก่ หนังสือการ์ตูน การ์ตูนทีวี รวมไปถึงการสถาปนาตัวตนของซูปเปอร์ฮีโร่ต่างๆ เป็นที่นิยมชมชอบ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องอย่างขนมซองแถมการ์ด ของเล่น รูปลอก ขายได้ขายดี แต่สินค้าทางวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นก็เต็มไปด้วยรหัสทางเพศที่น่าสนใจ

การ์ตูนที่ดูไม่มีพิษมีภัยอย่าง โดราเอมอน (โดย ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ 1969/2512-1996/2539) เรามักจะพบเสมอว่า ชิซูกะตกเป็นเป้าสายตาในฉากอาบน้ำในมุมมองของโนบิตะ โดราเอมอนเอง หรือว่าผู้อ่าน ขณะที่โทริยาม่า อากิระ สร้างมหาจักรวรรดิ ดราก้อนบอล (1984/2527-1995/2538) ขึ้นมา เขาปล่อยบูลม่าออกมาเล่นบทเซ็กซี่ยั่วยวน อูลอน ผู้เฒ่าเต่า หยำฉา ในภาคแรกๆ ที่มีกลิ่นอายความทะลึ่งลามกต่อเนื่องจาก ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่ (1980/2523-1984/2527) ดร.เซมเบ้ มีนิสัยลามกจกเปรตชอบอ่านหนังสือโป๊ และจินตนาการถึงสาวเซ็กซี่อยู่บ่อยๆ

หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์

ชิซูกะ ผู้ถูกจ้องมองในเวอร์ชั่นมังหงะ (ซ้าย) และอนิเมะ (ขวา)

หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์

บูลม่า กับผู้เฒ่าเต่า

 

คอบร้า (บูอิชิ เทราซาว่า เริ่มเขียน 1978/2521) ซิตี้ฮันเตอร์ (สึคาสะ โฮโจ้ 1985/2528-1991/2534)ก็เป็นการ์ตูนที่มีจุดขายสำคัญอยู่ที่ส่วนเว้าส่วนโค้งและเนื้อหนังมังสาของสตรีเพศ ด้วยลายเส้นที่งดงาม เสื้อผ้าหน้าผมที่ทะมัดทะแมง เซ็กซี่ มั่นใจ ทั้งนี้เรามิอาจลืมการ์ตูนแนวดราม่าที่สร้างจินตนาการความรักแบบวัยรุ่นที่เน้นพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างเพศชายและหญิงที่มีมุมมองที่ชายเป็นใหญ่ครอบงำอยู่ เจ้าพ่อโรแมนติกคอเมดี้อย่างอาดาจิ มิซึรุ มีผลงานอย่าง ทัช (1981/2524-1986/2529) H2 (1992/2535-1999/2542) รวมทั้งการ์ตูนของนักเขียนคนอื่นอย่าง ออเร้นจ์โรด (อิซูมิ มัตสึโมโตะ 1984/2527-1987/2530) วิดีโอเกิร์ล ไอ (มาซาคาสึ คัตสึระ 1989/2532 – 1992/2535)

หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์

การ์ตูนเรื่อง ซิตี้ฮันเตอร์ และ การ์ตูนเรื่อง H2

 

การพัฒนาการ์ตูนที่ขับเน้นความสัมพันธ์ทางเพศอย่างถึงพริกถึงขิงในเวลาต่อมา HEN (ฮิโรยะ โอคุ 1992/2535 – 1997/2540) 15 หยกๆสิบหกไม่หย่อน (ยาสึฮิโร่ นากานิชิ 1996/2539-1998/2541) Golden Boys (ทัตซึยะ เอกาว่า 1992/2535 – 1997/2540) I"s (มาซาคาสึ คัตสึระ 1997/2540 – 1999/2542) แม้แต่การ์ตูนตลกสัปดน ไข่กวน ของคนเขียน เครยอนชินจัง (โยชิตะ โอซึอิ 1990-2010) ที่เป็นมุขตลกเกี่ยวกับเรื่องใต้สะดือที่จะแจ้งตรงไปตรงมา อย่างเช่นมุข “หมาเล่นเนย” “ชายหนุ่มกับตุ๊กตายาง” “หญิงสาวผู้ถูกลวนลามในรถไฟ” “เซ็กส์ระหว่างผู้ชาย” “เซ็กส์ในครัวเรือน” “สาวออฟฟิศ” “ซามูไรกับม้าสาว”ฯลฯ

หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์

HEN, I”s และ ไข่กวน (ตามลำดับ)

 

หนังสือการ์ตูนจึงเป็นหัวหอกอันทรงพลังที่ค่อยๆสร้างรสนิยมทางเพศแบบญี่ปุ่นขึ้นมา จินตนาการทางเพศนี้ ในเบื้องแรกยังมีวงจำกัดอยู่ในโลกของลายเส้นและน้ำหมึก ในช่วงปี 1995/2538 เริ่มมีการนำเข้าหนังสืออัลบั้มภาพนางแบบจากญี่ปุ่นอาจเรียกได้ว่าเป็นหนังสือขนาดเอสี่ อาร์ตมันสี่สีทั้งเล่ม ภายในเป็นรูปนางแบบสาวที่หน้าตาสะสวย น่ารัก น่าทะนุถนอม หุ่นดี เซ็กซี่ เย้ายวน ที่น่าสนใจก็คือ มีการติดสติกเกอร์สีขาวเพื่อเซ็นเซอร์ของสงวน แน่นอนว่ามันเป็นสติกเกอร์ที่สามารถลอกออกได้ไม่ยากนัก หัวหนังสือเท่าที่พอจะจำได้ในช่วงนั้นก็คือ Annex (เท่าที่มีการขายในอินเตอร์เน็ตพบว่ามีการตีพิมพ์ถึง Volume 11 [14]), Rexy, Big 4

หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์

ยุคนี้ เคียวโกะ ฟุคาดะ ปรากฏตัวอาละวาดไปทั่วตั้งแต่ร้านถ่ายเอกสาร ร้านเสริมสวย, ร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ แม้กระทั่งวอลเปเปอร์คอมพิวเตอร์

 

ในอีกด้านหนึ่งพบว่าพื้นที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นวอลเปเปอร์ร้านถ่ายเอกสาร ร้านเสริมสวย ฯลฯ ต่างถูกยึดครองด้วยภาพของดารานางแบบสาว เคียวโกะ ฟุคุดะ(เกิด 1982/2525) ผู้เขียนอาจนับว่าการขยายตัวของการรับรู้ความงามแบบสาวญี่ปุ่นที่ขาว หน้าตาสะอาดสะอ้าน สวมใส่อาภรณ์ที่หลากหลายอย่างมีสไตล์ และที่สำคัญชุดว่ายน้ำทั้งวันพีซและทูพีซที่ไม่สามารถปฏิเสธกลิ่นหอมอันยั่วยวนของสาวญี่ปุ่นในเชิงกามารมณ์ได้เลย ในวงการดนตรี X-JAPAN ก็เป็นวงที่โด่งดังจากรายการวิทยุของโจ มณฑาณี สันติสุขและทางสื่อบันเทิงสากลต่างๆ ในช่วงปี 1995/2538 [15] หลังจากนั้นก็มีศิลปินญี่ปุ่นอีกไม่น้อยที่สามารถแหกด่านวัฒนธรรมตะวันตกมาสร้างพื้นที่วัฒนธรรมเจป๊อบขึ้นในสังคมไทย เช่น L’arc en cial, นามิเอะ อามูโระ นอกจากนั้นการเกิดขึ้นของการ “คอสเพลย์” ในสังคมไทยของวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ที่พบว่าเริ่มมีการจัดงานรวมตัวกันตั้งแต่ปี 1998/2541 [16] ก็ยิ่งทำให้เห็นถึงกระแสความร้อนแรงของป้อมปราการตะวันออกแห่งนี้ซึ่งโดยรวมแล้วมันได้สร้างอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดใหม่ เป็นแฟนซีทางกามารมณ์รูปแบบที่ขึ้นมาพิชิตวัฒนธรรมป๊อบตะวันตกที่เริ่มไม่ถูกลิ้นกับสังคมร่วมสมัยมากขึ้นทุกที

 

ยุคของคอมพิวเตอร์ส่วนตัวและหนังแผ่น

ปลายทศวรรษ 1990 เป็นช่วงเวลาที่ก่อนถึงตัวเลขหายนะ Y2K ระบบปฏิบัติการของ Windows ทำให้การใช้คอมพิวเตอร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป นักศึกษาและบุคคลทั่วไปเริ่มเป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์ ขณะนั้นคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์เอนกประสงค์ที่ใช้สำหรับพิมพ์งาน ฟังเพลง เล่มเกม ทำงานกราฟิกง่ายๆ และแน่นอนเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ดูหนังแผ่น VCD ห้างดังย่านเพชรบุรีเป็นแหล่งซีดีเถื่อนสำคัญ ต้นทุนการผลิตซีดีถือว่าต่ำมากจึงคุ้มค่ากับการลงทุนมหาศาล ดังนั้นการไปห้างนั้นนอกจากจะไปซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์แล้ว มันยังเป็นการเดินทางไปช็อปปิ้งซีดีเถื่อนไม่ว่าจะเป็นแผ่นโปรแกรมอย่าง Microsoft Windows 98, Microsoft Office 97, Adobe Photoshop, Media Player ฯลฯ แผ่นซีดีเพลงตระกูล ประเทือง, Vampire แผ่นเกมต่างๆนานา แผ่นหนังสารพัดรวมหนังโป๊ด้วย วาทกรรมอมตะอย่าง “พี่ๆ โป๊มั้ยพี่” จึงดังขึ้นอย่างเงียบตามมุมของห้างติดแอร์

ในยุคที่อินเตอร์เน็ตเป็นของใหม่มาก นอกจากหนังโป๊แล้ว แผ่นโป๊ที่รวบภาพสาวญี่ปุ่นทั้งแบบซอฟท์คอร์และฮาร์ดคอร์ขายดิบขายดี ในประเทศญี่ปุ่นดาราหนังโป๊ญี่ปุ่นที่เราเรียกว่า เอวีไอดอล (AV Idol) ที่เรารู้จักกันดีเริ่มเปิดตัว Debut (เล่นหนังเรื่องแรก) กันแล้วในช่วงทศวรรษ 1990 เช่น Maiko Yuki (1995/2538) Madoka Ozawa (1996/2539) Bunko Kanazawa (1997/2540) Azumi Kawashima (1998/2541) เอวีไอดอลเหล่านี้ มีรูปลักษณ์ที่ตรงตามแฟนตาซีทางกามารณ์แบบญี่ปุ่น นางแบบสาวเหล่านี้เพียบพร้อมไปด้วย ความขาว ความน่ารักน่าทะนุถนอม ความเซ็กซี่

หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์

Maiko Yuki (1995/2538), Madoka Ozawa (1996/2539) และ Bunko Kanazawa (1997/2540) (ตามลำดับ)

 

การที่จะเข้าถึงเอวีไอดอลเหล่านั้นเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะว่าไม่ปรากฏว่าผู้นำมาก๊อปปี้ขายรู้จักตลาดผู้ดูหนังโป๊มากน้อยแค่ไหน อาจจะมีคนที่โชคดีอยู่บ้างก็คือ ได้หนังที่ดูแล้วว่าเป็นหนังระดับเอวีไอดอลแสดงแน่ๆ แต่ไส้ในเป็นอีกอย่าง ข้อเสียอย่างแรงสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับหนังโป๊ญี่ปุ่นก็คือ การเซ็นเซอร์ไม่ว่าจะด้วยการเบลออวัยเพศ หรือเทคนิคการใช้โมเสกกับของสงวน บางคนเชื่อคำร่ำลือว่ามีเครื่องมือที่จะลบโมเสกนั้นได้

พอโหมดการผลิตเปลี่ยน สื่อจากวิดีโอเทปกลายเป็นซีดี ที่สามารถทำซ้ำอย่างง่ายดายขอให้มีซีดีที่ write ได้ สื่อวิดีโอเทปก็เริ่มหมดความหมาย คอมพิวเตอร์ที่แทบจะมีอยู่ทุกบ้านจึงทำหน้าที่คล้ายเครื่องเล่นวิดีโอเทป การส่งต่อหนังโป๊แผ่น เพื่อนำไปเปิดดูจากคอมพิวเตอร์ส่วนตัวจึงเป็นไปได้ไม่ยาก นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่สำหรับการดูหนังโป๊ขึ้นอีก เนื่องจากเดิมในบ้านของชนชั้นกลางทั่วไปที่ไม่ได้มีกำลังทรัพย์มาก เครื่องเล่นวิดีโอเทปจะวางอยู่ร่วมกับโทรทัศน์ในห้องรับแขก อันเป็นพื้นที่กลางของบ้าน (เพื่อนผู้เขียนเคยดูวิดีโอโป๊กลางดึกที่ห้องรับแขกชั้น แล้วมีชะตากรรมอันบัดซบคือ แม่ของมันเดินลงมาจากห้องนอนชั้น 2 เพื่อเปิดตู้เย็นหาน้ำดื่ม...เรื่องจะเป็นอย่างไรขอสงวนไว้ไม่ต้องเล่าต่อ) การดูหนังแผ่นจากคอมพิวเตอร์จึงเปลี่ยนพื้นที่ดูหนังโป๊อีกครั้งไปสู่สถานที่ตั้งของคอมพิวเตอร์ ซึ่งสัมพันธ์กับลักษณะการใช้สอยส่วนตัวมากขึ้น (แม้ว่าบางบ้านอาจจะตั้งคอมพิวเตอร์ไว้ในห้องรับแขกเช่นกันในช่วงแรก แต่ไม่นานคอมพิวเตอร์ก็จะกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ส่วนตัวที่จะไม่ใช้ร่วมกันมากขึ้น) ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อสื่อเปลี่ยนเป็นซีดีแล้ว การรับชมจึงเปิดกว้างขึ้นไปสู่ผู้ชมที่ไม่กล้าแสดงออกถึงความต้องการทางเพศในที่สาธารณะด้วย การเปิดกว้างเหล่านี้จึงเป็นพื้นที่ทางเพศให้แก่ หญิงสาวที่ไม่กร้านโลกพอ ชายหนุ่มขี้อาย แม้กระทั่งเด็กหัวเกรียนเห่อเส้นขน

 

ยุคของ Bittorent กับประชาธิปไตยโจรสลัดในโลกอินเตอร์เน็ต

ใครบางคนบอกไว้ว่า ความเร็วเป็นเรื่องของปิศาจ www กลายเป็นตัวย่อที่เชื่อมต่อโลกของข้อมูลเข้าด้วยกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ว่ากันว่าในปี 1999/2542-2001/2544 “ธุรกิจดอทคอม” บูมอย่างสุดๆ สวนทางกับอาการวิตกจริต Y2K ที่ผ่านพ้นมา มีคนเปรียบเปรยไว้ว่า การบูมครั้งนี้เป็นเช่นเดียวกับยุคการขยายตัวของทางรถไฟในทศวรรษ 1840 รถยนต์ต้นศตวรรษที่ 20 วิทยุในทศวรรษ 1920 โทรทัศน์ในปี 1940 [17] อินเตอร์เน็ตที่มีมูลค่าในทางการตลาดมโหฬารทำให้เกิดการพัฒนาดังกล่าวจนทำให้อินเตอร์เน็ตเริ่มเป็นระบบ และแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ คุณภาพที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่อินเตอร์เน็ตใช้สำหรับการส่งอีเมล์ง่ายๆ ก็เริ่มแนบไฟล์รูปภาพที่มีขนาดไม่ใหญ่นักพอได้ Fwd Mail ภาพโป๊จึงเริ่มเป็นที่แพร่หลาย จากเดิมที่อ่านเป็น Fwd Mail ซุบซิบนินทาว่าด้วยเรื่องไฮโซ ลามก

การบูมของเว็บบอร์ดและชุมชนทางอินเตอร์เน็ตในไทยอาจมีหมุดหมายจากการก่อตั้งเว็บไซต์พันทิปในปี 2003/2546 [18] กลายเป็นชุมชนออนไลน์ที่ใหญ่โตและขยายตัวเร็วที่สุดในช่วงเวลานั้น หลังจากนั้นเว็บบอร์ดต่างๆก็เริ่มขยายตัว โดยเฉพาะเว็บบอร์ดใต้ดินที่เป็นชุมชนทางกามในช่วงแรกน่าจะเป็นเพียงการพูดคุยเรื่องใต้สะดือ หรือการแชร์ภาพนิ่ง เช่น hawaiipicpost, Thaisexstory, หลุดโลก ฯลฯ อย่างไรก็ตามในยุคที่การท่องโลกอินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องไม่ยากแล้ว ก็อาจมีคนข้ามห้วยเข้าไปสำรวจภูมิประเทศในเว็บไซต์บริษัททำหนังโป๊ญี่ปุ่นด้วย โดยอาศัยการแกะรอยจากโป๊ที่ติดลิงค์มาด้วย หรือไม่งั้นก็แกะรอยจากชื่อสตูดิโอบนปก สตูดิโอชื่อดังสมัยนั้นก็ยังทำเว็บไซต์ที่เปิดให้โหลดสกรีนช็อต (Screen Shot) ได้ เช่น Moodyz (ก่อตั้งปี 2000/2543) , ค่าย S1 (2004/2547) ฯลฯ

ในเวลาต่อมา Youtube อันเป็นโปรแกรมที่อนุญาตให้คนทั่วไปอัพโหลด Clip ลงไปเพื่อแชร์ต่อสาธารณะได้ ทำการก่อตั้งขึ้นในปี 2005/2548 [19] คลิปต่างๆจำนวนมหาศาลถูกอัพโหลด ในนั้นก็มีการโพสต์คลิปที่ “ลามกอนาจาร” ด้วยจนถูกลบทิ้งไปเสมอๆ อย่างไรก็ตามนวัตกรรมนี้เปิดโลกให้เราได้เห็นว่า เราสามารถดูหนังคุณภาพไม่ดีมากนักผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งในเวลาต่อมาก็มีการทำเลียนแบบเป็น Xtube, Porntube ฯลฯ

ขณะที่เว็บไซต์สำหรับการแชร์ไฟล์ขนาดใหญ่อย่าง Bittorent ก็เกิดขึ้นในปี 2005/2548 [20] การโหลดไฟล์ขนาดใหญ่ในความจุระดับ Gigabyte (GB เท่ากับ 1,000 Megabyte -MB) ทำได้ไม่ยากอีกต่อไป และเว็บไซต์โหลดบิทหนังโป๊ญี่ปุ่นที่ใหญ่โตและเป็นที่กล่าวขานในระดับตำนานนั่นก็คือ JAVtalk เว็บไซต์นี้ยังเป็นเว็บบอร์ดที่มีโครงสร้างใหญ่โต แบ่งเป็นห้องต่างๆ แยกแยะเป็นหนังยุโรป ญี่ปุ่น กระทั่งอะนิเมะ มีทั้งการให้โหลดแบบ Bittorrent และการโหลดแบบอื่นๆ ชุมชนนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ด้วยการที่สมาชิกของเว็บบอร์ดไม่มีหวงของ บางคนขุดเอาหนังโป๊ที่ตัวเองมีมาปล่อยอย่างสม่ำเสมอ บางคนก็คอยอัพเดทหนังใหม่ๆ สมาชิกในตำนานก็ได้แก่ Banana Boy ฯลฯ จุดเด่นสำคัญของเว็บนี้ก็คือ มีหนังหลากหลายปก หลากหลายประเภท ตั้งแต่ประเภทโชว์เนื้อหนังมังสาเฉยๆ ไม่มีสอดใส่ ประเภทฮาร์ดคอร์แบบเซ็นเซอร์และไม่เซ็นเซอร์ ประเภทซาดิสม์ ประเภทรักคนมีอายุ ฯลฯ ใต้ภาพหน้าปกจะระบุด้วยว่า มีการดาวน์โหลดไปแล้วกี่ครั้ง ซึ่งหากปกไหนมีจำนวนดาวน์โหลดมากก็แสดงว่าเป็นหนังที่ได้รับการการันตีว่า ใช้ได้ นอกจากนั้น ยิ่งมีคนดาวน์โหลดมาก อัตราการโหลดจะรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนั้นเราจะเห็นการแชร์คอมเมนต์ด้านล่างด้วยว่า ดีไม่ดีอย่างไร เว็บนี้จึงเต็มไปด้วยของดี แต่กระนั้นเว็บนี้ก็หายไปในปี 2008/2551 อย่างไร้ร่องรอย การหายไปของเว็บนี้ทำให้เกิดการถามไถ่ขึ้นอย่างกว้าง ทำให้พบว่าไปๆมาเว็บแห่งนี้เป็นชุมนุมออนไลน์ที่มีคนไทยเป็นสมาชิกอยู่มากโข

 

- 3 -

ไร้เสรีภาพทางเพศ ไร้เสรีภาพทางความคิด ไร้เสรีภาพทางการเมือง

การไล่ลบหัวนมสีชมพูของชิซูกะ ตูดดำๆของไจแอนท์และซูเนโอะ ใน โดราเอมอน ปากที่คาบดุ้นบุหรี่ของซันจิแห่งวันพีซ ฯลฯ ในการ์ตูนที่ฉายทางทีวี รวมถึงการเบลอภาพบุหรี่ เหล้า เบียร์ ฯลฯ ในโฆษณา ละคร รายการทีวีต่างๆ กำลังสร้างบรรทัดฐานใหม่ทางศีลธรรมสาธารณะให้กับสังคมไทยที่ผู้คิดทำตีนลอยขึ้นจากพื้นไปเรื่อยๆ

หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์

การเซ็นเซอร์หัวนมชิซูกะ เลยเถิดไปจนถึงการเซ็นเซอร์ แม้สรีระในชุดว่ายน้ำทูพีซ

 

คนจำนวนมากอาจเชื่อว่า ตราบใดที่รัฐยังไม่เซ็นเซอร์แทรกแซงสื่อทางเพศ ความรุนแรง อันเกี่ยวข้องกับความบันเทิงในชีวิตประจำวันแล้ว การเซ็นเซอร์ต่อการแสดงออกทางการเมืองก็ไม่นับว่าเป็นปัญหา แต่อาจหลงลืมไปว่า ภายใต้ประเทศที่ไร้เสรีภาพทางการแสดงออกแล้ว ในบางเวลารัฐอาจควบคุมการแสดงออกทางการเมืองอย่างเข้มแข็ง และอาจทำเฉย เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ได้สำหรับเสรีภาพในการเสพสื่อโป๊ แต่อย่าลืมว่า การเซ็นเซอร์ในเมืองไทยนั้นมีมิติที่หยั่งลึกไปกับพุทธเถรวาท-ไทยที่คร่ำครึอนุรักษ์นิยม การปล่อยให้สื่อโป๊ เว็บโป๊ลอยนวลในประเทศนี้จึงเป็นเพียงกลยุทธ์ระยะสั้นเท่านั้น ในระยะยาวสื่อโป๊ เว็บโป๊จะดำรงรอดอยู่ได้ดูแล้วยิ่งไม่มีทาง ทุกวันนี้การเสพสื่อโป๊จึงเป็นไปอย่างลับๆล่อ ๆ การมีพฤติกรรมแบบ “ต่อหน้ามะพลับ หลับหลังตะโก” อย่างนี้ มันทำให้กามวิสัยที่เป็นเรื่องธรรมชาติถูกโบยตีว่าเป็น “เรื่องที่ผิด” มันยังได้โบยตีจิตสำนึกเสรีของเราให้บิดเบี้ยวไปด้วย

การปฏิเสธการมีเสรีภาพในการแสดงออกทางเพศ เท่ากับเป็น การแอบกินแบบลับๆ แม้จะให้รสชาติที่พึงพอใจสำหรับบางคน บางกลุ่ม หรือในบางแห่ง บางเวลามันอาจสร้างความเร้าใจแบบหนึ่ง แต่อย่าลืมว่านั่นเป็นเพียงรสนิยมหนึ่งในการใช้ชีวิต สำหรับคนมหาศาลที่มีความซับซ้อนอยู่ในตัว การตัดสินยัดเยียดให้รสนิยมอยู่สองแบบนั่นคือ ให้ไปบวชแล้วตัดกามารมณ์ออก และการจำนนต่อการบงการเรื่องเซ็กซ์โดยรัฐว่าเมื่อไหร่ควรแสดงออก เมื่อไหร่ไม่ควรแสดงออกนั้นหาใช่เรื่องไม่ เสรีภาพอย่างโลกๆ ต้องเปิดให้คนมีสิทธิเลือกรสนิยมด้วยตนเอง

" นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 รัฐบาลไทยได้บล็อกเว็บไซต์ไปแล้วทั้งหมด 777,286 เว็บเพจ (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2554) โดยกระทรวงไอซีทีใช้งบประมาณในการดำเนินการเฉลี่ยวันละ 1.5 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นคิดเป็นราว 950 ล้านบาทในระยะเวลาสองปี อาจกล่าวได้ว่า แต่ละเว็บเพจมีราคา 1,210 บาท " [21]

นั่นคือสถิติของเว็บไซต์ที่ถูกบล็อกไปแน่นอนว่ามันมีทั้งเว็บที่เป็นภัยต่อความมั่นคง เว็บ “ลามกอนาจาร” ในสายตาของรัฐ แถมยังใช้เงินภาษีของประชาชนเข้าไปอุดเพื่อความสบายใจที่ได้ปิดช่องทางการสื่อสารอันเสรี ต้นทุนมหาศาลอีกด้านที่รัฐลงแรงไปนั่นคือ ปลุกผีลูกเสือชาวบ้านขึ้นมาอวตารใหม่เป็นลูกเสือไซเบอร์ [22] แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยที่น่าอยู่อาศัย ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ยังโง่งมและมืดบอด ทะนุถนอมหาเลี้ยงไพร่ฟ้าให้เป็นเด็กไม่ยอมโตด้วยการปฏิเสธความสามารถในการใช้ความคิดเหตุผลและเรียนรู้ประวัติศาสตร์แห่งหายนะอันเจ็บปวดรุนแรง ขณะที่ท่องคาถาสงบ สันติ สามัคคีไว้ พวกเขาทำราวกับว่า ไม่เคยเกิดเหตุการณ์สยองขวัญขึ้นเลยในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519

หนังโป๊ในชีวิตประจำวัน : เพศ+ภาพ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์

ลูกเสือไซเบอร์น่าจะมีอยู่แห่งเดียวในโลก

 

เราจะมีเสรีภาพทางเพศได้อย่างไร เมื่อยังติดแอกทางการเมือง
เราจะมีเสรีภาพทางการเมืองได้อย่างไร เมื่อยังถูกจองจำทางเพศ

กู ตา ลา ลา ... ซือ ตา ลา ลา

 

อ้างอิง

  1. บทความประกอบการเสวนา "อุตสาหกรรมหนังโป๊ หนังโป๊ในอุตสาหกรรม" วันที่ 9 มกราคม 2554 เวลา 18.00 น. ณ ร้านหนังสือ 9 บรรทัด จ.เชียงใหม่
  2. อิสร์กุล อุณหเกตุ. “โป๊มั้ยพี่? : เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยสื่อลามก” ใน October11 : Sex Issue (กรุงเทพฯ : โอเพ่นบุ๊กส์), 2554 : 182-183
  3. Wikipedia."Pornographic Film". http://en.wikipedia.org/wiki/Pornographic_film (26 ธันวาคม 2554)
  4. Wikipedia."Pornography". http://en.wikipedia.org/wiki/Pornography (1 มกราคม 2555)
  5. สมเกียรติ ตั้งนโม. "ประวัติความเป็นมาของเรื่องโป๊-เปลือย-ลามก-อนาจาร ตั้งแต่ยุคกรีก จนกระทั่งถึงปัจจุบัน" ใน เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน. http://61.47.2.69/~midnight/finearts2544/newpage2.html (4 กรกฎาคม 2544)
  6. ต่อไปในข้อมูลเกี่ยวกับหนังโป๊สายญี่ปุ่นจะนำการอ้างอิงมาจากบทความนี้ เนตรชนก แดงชาติ . "AV ที่รัก - ตอนที่ 1 เปิดโลก AV โลกแห่งความบันเทิง (แบบผู้ใหญ่ๆ)" ใน ประชาไทออนไลน์. http://prachatai.com/journal/2011/09/37081 (26 กันยายน 2554)
  7. ดูคำพิพากษาได้จาก Find Law. "U.S. Supreme Court MILLER v. CALIFORNIA, 413 U.S. 15 (1973)" . http://caselaw.lp.findlaw.com/scripts/printer_friendly.pl?page=us/413/15.html (8 มกราคม 2555)
  8. ดูคำพิพากษาได้จาก Find Law. "U.S. Supreme Court. CALIFORNIA v. FREEMAN, 488 U.S. 1311 (1989)". http://laws.findlaw.com/us/488/1311.html (5 มกราคม 2555)
  9. คำ ผกา. รักไม่เคยชิน (กรุงเทพฯ : ฟรีฟอร์ม, พิมพ์ครั้งที่2), 2552, น.21-22
  10. Kitiarsa, Pattana. "Farang as Siamese Occidentalism." Asia Research Institute Working Paper Series 49 (2005) : 35-36
  11. "จิดาภา ณ ลำเลียง สุดท้ายคือความผิดหวัง" จากคอลัมน์ นางฟ้าจำแลง ใน นิตยสาร ลับเฉพาะสยามดารา ฉบับที่ 5 เดือนเมษายน 2552 อ้างอิงใน "จิดาภา ณ ลำเลียง-สุดท้ายคือความผิดหวัง, จากคอลัมน์ "นางฟ้าจำแลง" โดย อ้วน อรชร". ใน เว็บบอร์ด THAILANDBEAUTIES. http://thailandbeauties.com/board/index.php?showtopic=730 (24 มกราคม 2552)
  12. "โป๊มั้ยเพ่ ! สุดยอด AV นานาชาติ" ใน ASTVผู้จัดการรายวัน. http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000129731 (29 ตุลาคม 2552 )
  13. ประพันธ์ ภานุภาค. "สถานการณ์โรคเอดส์ในปัจจุบัน" ใน ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย. http://www.trcarc.org/index.php?option=com_content&view=article&id=53&Itemid=56 (5 มกราคม 2555)
  14. Aota. "หนังสือภาพวาบหวิว เรต20+ ขายเหมาหนังสือที่เหลืออยู่ 500 บาท ปิดกิจการ26/11/53". http://www.kamoman.com/board/index.php?topic=5733.20 (30 ตุลาคม 2553)
  15. เนตรชนก แดงชาติ. "บันเทิงประชาไท: X-JAPAN 2011 WORLD TOUR IN BANGKOK (Fan Girl Report)". http://prachatai.com/journal/2011/11/37830 (12 พฤศจิกายน 2554)
  16. "คอสเพลย์ครั้งแรกในประเทศไทย". http://shunacho.exteen.com/20070118/entry (18 มกราคม 2550)
  17. "History of the World Wide Web". http://en.wikipedia.org/wiki/History_of_the_World_Wide_Web (9 ธันวาคม 2554)
  18. "พันทิป". http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%9B (25 พฤศจิกายน 2554)
  19. YouTube". http://en.wikipedia.org/wiki/YouTube (7 มกราคม 2555)
  20. "BitTorrent (protocol)" . http://en.wikipedia.org/wiki/BitTorrent_(protocol) (6 มกราคม 2555)
  21. ประชาไทออนไลน์. "LiveScience เผย 10 อันดับงานวิจัยใต้สะดือแห่งปี 2011". http://www.prachatai.com/journal/2012/01/38649 (7 มกราคม 2555)
  22. Cyber Scout. "About US". http://www.cyberscout.in.th/about.php (8 มกราคม 2555)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น