โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กิตติศักดิ์ ปรกติ

Posted: 28 Jan 2012 10:05 AM PST

ผู้ที่กล้าแสดงความคิดเห็นในเรื่องประโยชน์ส่วนรวมอย่างตรงไปตรงมา แม้เราจะไม่เห็นด้วยหรือคัดค้านอย่างเต็มที่ ก็ควรได้รับความเคารพ และปฏิบัติด้วยเยี่ยงมิตร เพราะต่างก็เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเหมือนกัน แม้จะคิดต่างจากเราเพียงใดก็ตาม

28 ม.ค. 55, "กิตติศักดิ์ ปรกติ" เขียน "นิติราษฎร์คิดต่าง-ฟังเขาเถิด!" ชี้ไม่เห็นด้วยได้แต่อย่าข่มขู่, มติชนออนไลน์

ต่างชาติขาดข้อมูลวิจัยปาตานี ชี้แนวโน้มโลกมุ่งศึกษาประวัติท้องถิ่น

Posted: 28 Jan 2012 06:46 AM PST

 นักวิชาการออสเตรเลีย เผยต่างชาติขาดข้อมูลประวัติศาสตร์วัฒนธรรมปาตานี เหตุนักวิจัยมุ่งศึกษาความรุนแรง จนกลบภาพพลวัตรสังคม ชี้แนวโน้มโลกมุ่งศึกษาประวัติท้องถิ่น

 


แพทริค โจรี

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 มกราคม 2555 ที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ดร.แพทริค โจรี อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ตะวันออกเฉียงใต้ สถาบัน School of History, Philosophy Religion and Classics Faculty of Arts มหาวิทยาลัยควีนแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวปาฐกถาเรื่อง Problem of Modernity in Patani and Thailand : The Emergence of the people in Patani’s Past and Present ในงานเสวนาวิชาการเรื่องสภาวะความสมัยใหม่อันแตกกระจายของปาตานี

ดร.แพทริค กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ปาตานีที่ถูกนำเสนอผ่านงานวิจัยส่วนใหญ่นำเสนอประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้คนทั่วไปเห็นแต่มุมความขัดแย้งเหมือนภาพหลอน แต่ไม่ค่อยพบงานวิจัยที่นำเสนอชีวิตของคนในพื้นที่ ซึ่งสามารถพบได้จากการวิจัยประวัติศาสตร์วัฒนธรรม

ดร.แพทริค กล่าวต่อไปว่า การอ่านเอกสารวิชาการเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจะเป็นการสร้างความเข้าใจสังคม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ความขัดแย้งได้ดีกว่า การนำเสนอในเชิงประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองหรือความรุนแรง

ดร.แพทริค กล่าวอีกว่า ในช่วง 2 – 3 ปีมานี้ นักวิชาการและนักวิจัยมีแนวโน้มให้ความสนใจประวัติศาสตร์ที่ลงย่อยลงมากขึ้น จากเดิมที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ของกษัตริย์ ต่อมาเริ่มสนใจในบริบทความเป็นชาติ และลงย่อยมาจนถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แต่ประวัติศาสตร์ปาตานี ก็ยังถูกมองข้ามจากสังคมโดยรวม

ดร.แพทริค กล่าวว่า ยกตัวอย่างเช่น สำนักอันนานซ์ ประเทศฝรั่งเศส ที่เปลี่ยนแนวทางการศึกษาวิจัยจากประวัติศาสตร์ความรุนแรงทางการเมือง มาเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์สังคม เป็นอีกตัวอย่างแนวโน้มที่มีการเปลี่ยนการศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศในยุโรป

“เงื่อนไขเกี่ยวกับการเขียนประวัติศาสตร์ปาตานีในสังคมไทยมีหลายประการ อย่างการพูดถึงตัวตนของปาตานีหรือ Geo-body ที่ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย แต่เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธว่าไม่มีปาตานีในแผ่นดินไทย” ดร.แพทริค กล่าว

ดร.แพทริค กล่าวว่า ปัจจุบันนักวิชาการต่างประเทศสนใจศึกษาประวัติศาตร์ปาตานีมากขึ้น เนื่องจากได้รับข้อมูลจากงานวิชาการถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ มากขึ้น

ดร.แพทริค กล่าวอีกว่า ประวัติศาสตร์ปาตานี แม้มีความใกล้ชิดกับความเป็นอิสลามมาก แต่ยังไม่มีงานเขียนทางวิชาการเรื่องอิสลามกับความเป็นสมัยใหม่ในสังคมปาตานีเลย แต่งานเขียนลักษณะนี้มักพบเห็นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'จิตภัสร์' นำหลากสีต้านแก้ 112 'นิติ มธ.2501' จี้ปลด 'อาจารย์นิติราษฎร์'

Posted: 28 Jan 2012 04:11 AM PST

จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี' และแกนนำเสื้อหลากสีลั่นชุมนุมทุกเสาร์ต้านข้อเสนอ 'กลุ่มนิราษฎร์' ด้านกลุ่ม 'นิติ มธ. 2501' จี้ปลดอาจารย์ 'นิติราษฎร์' ลั่น ห้ามใช้สถานที่ มธ. จัดกิจกรรมจาบจ้วง ด้าน 'ชวน' เชื่อ ม.112 แก้ไม่ได้แน่นอน

28 ม.ค. 55 - เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่าที่ลานพระบรมรูปทรงม้า น.ส.จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี หรือ "ตั๊น" อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกลุ่มเยาวชนคนไทยหัวใจรักสถาบัน และ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี รวมทั้งประชาชนประมาน 200 คน ได้ออกมารวมตัวแสดงจุดยืนในการปกป้องสถาบัน และต่อต้านกลุ่มนิติราษฎร์ที่ออกมาเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 นั้น โดยกิจกรรมในครั้งนี้ มีการสักการะพระบรมรูปทรงม้า และอ่านแถลงการณ์ของกลุ่มต่างๆ เพื่อแสดงจุดยืน ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมถอย ต่างยืนฟังแถลงการณ์กลางสายฝน อีกทั้งยังได้ตั้งโต๊ะแจกเอกสารสำหรับลงชื่อคัดค้านการแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 ด้วย

นพ.ตุลย์ เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เพื่อมาแสดงจุดยืนคัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 และต่อต้านการแสดงความคิดเห็นที่บิดเบือนของกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งเกินความเป็นจริง โดยมีข้อสังเกตหลายอย่างที่มีความน่าสงสัย โดยมีคนโพสต์ข้อความไปในทางที่ผิดของการให้ร้าย และเข้าเกี่ยวข้องกับสถาบัน รวมถึงการเข้าใจผิดของหลักการประชาธิปไตย ซึ่งเป็นของคนหมู่มาก ไม่ใช่ของคนมีอำนาจเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น แต่ตัวแทนที่ได้รับคัดเลือกจากระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นตัวแทนทำเพื่อประเทศ ขาติ ไม่ใช่มาเปลี่ยนแปลง หรือลดบทบาทอำนาจของสถาบันลง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทั้งนี้ เราได้ล่ารายชื่อแล้วประมาน 3,000 กว่ารายชื่อ ซึ่งต้องหาให้ได้กว่า 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอการคัดค้านในครั้งนี้ให้รัฐสภาพิจารณา โดยเราจะมีการนัดชุมนุมทุกวันเสาร์ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ด้าน น.ส.จิตภัสร์ กล่าวว่า ตนในฐานะตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ มีความไม่สบายใจในสิ่งที่เกิดขึ้นในการออกมาเคลื่อนไหวของบางกลุ่มที่มีความ บิดเบือนในเรื่องข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบัน จึงได้ออกมารวมตัวกันในครั้งนี้ เพื่อต้องการให้ทุกคนเห็นและทราบข้อมูลอันเป็นจริง เพื่อนำไปแก้ไขและเผยแพร่ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งการรวมตัวในครั้งนี้ตนมิได้นัดอย่างเป็นทางการ แต่ได้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นสื่อนัดรวมตัว โดยกลุ่มของตนไม่ใช่กลุ่มเดียวกับกลุ่มเสื้อหลากสี เป็นเพียงกลุ่มที่มีความคิดเห็นตรงกันเท่านั้น จึงมาร่วมชุมนุมในครั้งนี้ด้วย

“การออกมารวมตัวกันครั้งนี้ เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ร่วมกันต่อสู้ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ส่วนการเคลื่อนไหวนี้ ทางพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างใด เพราะทำในฐานะส่วนตัวที่รักสถาบัน ซึ่งคิดว่าพรรคก็คงจะมีการแถลงแสดงจุดยืนในส่วนของพรรคอีกทาง” น.ส.จิตภัสร์ กล่าว

 

นิติ มธ.2501 จี้ปลดอาจารย์ 'นิติราษฎร์'

ด้านเว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่าชมรมนิติ มธ. 2501  นำโดย นายสุเทพ นิรันดร และนายสุชาติ สหัสโชติ ประธานชมรม ได้ออกแถลงการณ์ และทำจดหมายเปิด ผนึกเรียกร้องอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการห้ามไม่ให้มีการใช้สถานที่ ของ ม.ธรรมศาสตร์ รณรงค์ยกเลิกหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 อันเป็นพฤติกรรมเหิมเกริมจาบจ้วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด

นอกจากนี้ ยังให้กลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์  ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ชายหญิง คณะนิติศาสตร์ 5 คน และคณะอื่นอีกบางคณะ ให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ทันที เพื่อไม่ให้นักศึกษารับความคิดมิจฉามาเป็นแบบอย่างต่อไป

นิติมธ.2501 ยังเรียกร้องให้มีการดำเนินการสอบสวน เพื่อลงโทษทางวินัยกลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์ ซึ่งมีการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า เป็นผู้ไม่นิยมเลื่อมใสการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ข้าราชการไทยทุกคนจะต้องมีด้วย

ด้านนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ และประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในเพื่อนร่วมรุ่นนิติ มธ. 2501กล่าวว่า จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว รณรงค์ยกเลิก หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 8 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 ของกลุ่มนิติราษฎร์

"แม้ว่า พวกเขาจะมีสิทธิเสนอความเห็นทางวิชาการได้ แต่การแก้ไขแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 8 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 จะต้องดำเนินการผ่านรัฐสภา ซึ่งผมคิดว่า เรื่องดังกล่าว ไม่มีทางการผ่านสภา ออกมาบังคับใช้ทางกฎหมายได้แน่นอน" นายชวน ระบุ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22 - 28 มกราคม 2555

Posted: 28 Jan 2012 03:56 AM PST

ผู้ใช้แรงงานบุกทำเนียบร้องคัดค้านแปรรูป"ปตท.-การบินไทย"

ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 23 มกราคม ชมรมผู้ใช้แรงงานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ประมาณ 20 คน นำโดยนายเพียร ยงหนู ตัวแทนพนักงาน สมาชิกชมรมผู้ใช้แรงงานการไฟฟ้านครหลวง เดินทางมายื่นหนังสือผ่านนายพันธุ์ศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการส่วนรับเรื่องราวร้องทุกข์ ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยในหนังสือดังกล่าวระบุถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามแนวคิดของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อลดภาระการค้ำประกันหนี้สาธารณะ

(มติชน, 23-1-2555)

 

กสร.เผย รง.99 แห่งลอยแพลูกจ้าง 2.8 หมื่นคน

วันนี้ (23 ม.ค.) นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลของ กสร.วันนี้ (23 มกราคม) มีแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมถูกเลิกจ้าง 28,195 คน ในสถานประกอบการ 99 แห่ง เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา จำนวน 4 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 805 คน ใน 7 จังหวัดได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา สระบุรี นครปฐม นนทบุรี และกรุงเทพฯ
      
โดยขณะนี้มีสถานประกอบการที่ถูกน้ำท่วมและยังไม่เปิดกิจการอีก 351 แห่ง ลูกจ้าง 167,644 คน และมีสถานประกอบการเปิดกิจการแล้ว 28,316 แห่ง ลูกจ้างได้กลับเข้าทำงานแล้ว 822,341 คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวได้สมัครเข้าร่วมโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้างของ รัฐบาล 1,480 แห่ง ครอบคลุมลูกจ้าง 276,621 คน เพิ่มขึ้นจากวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา จำนวน 30 แห่ง ลูกจ้าง 2,242 คน และในจำนวนนี้มีสถานประกอบการได้รับการอนุมัติแล้ว 277 แห่ง ลูกจ้าง 1แสนคน
      
ส่วนสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ในการส่งลูกจ้างที่ประสบภัยน้ำท่วมไปทำงานที่อื่นชั่วคราวและถาวร มี 694 แห่ง จำนวนที่ต้องการรับ 79,131 คน ขณะที่มีลูกจ้างที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเข้าร่วมโครงการ 13,251 คน ในสถานประกอบการ 110 แห่ง

(มติชน, 23-1-2555)

 

กสร.เร่งสร้างพนักงานตรวจความปลอดภัย เน้นความรู้เฉพาะทางมากขึ้น

นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ขณะนี้ กสร.กำลังเร่งอบรมพนักงานตรวจความปลอดภัยในการทำงานให้มีคุณภาพมากขึ้น หลังจากพบว่า พนักงานตรวจแรงงานซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 630 คน มีความเชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์มากกว่าทางเทคนิค อีกทั้งยังมีปัญหาสำคัญคือผู้สำเร็จการศึกษาเฉพาะทางด้านไฟฟ้า เคมี สารพิษ  รังสี ปรมาณู มีน้อยมาก ทำให้บางสาขา เช่น สาขารังสี มีเจ้าพนักงานตรวจความปลอดภัยเพียงแค่ 1 คน ดังนั้น เตรียมแผนที่จะรับเจ้าพนักงานตรวจความปลอดภัยเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดได้มีการขออัตรากำลังไปแล้วจำนวน 530 คน ในแผนระยะยาว 5 ปีของรัฐบาล

นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า ส่วนการตั้งสถาบันความปลอดภัยในการทำงานให้เป็นองค์กรอิสระ ตาม พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำให้แล้วเสร็จตามกฎหมาย ขณะเดียวกันจะต้องมีการตั้งกองทุนความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานขึ้น โดยนำงบส่วนหนึ่งจากกองทุนเงินทดแทน เงินเปรียบเทียบปรับ และเงินของภาครัฐมาตั้งกองทุน ทั้งนี้ เพื่อสร้างความคุ้มครอง และความปลอดภัยให้กับแรงงานได้มากขึ้น 

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2554 มีการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จำนวน 17,426,319 บาท ส่วนใหญ่ได้กระทำความผิดในการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ได้แก่ การไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด เงินประกันการทำงาน และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน ฯลฯ

(สำนักข่าวไทย, 24-1-2555)

 

ก.แรงงาน เล็งส่งแรงงานเพิ่มกว่า 1 หมื่นคน บุกตลาด ตอ.กลาง-แอฟริกา

24 ม.ค.55 - ที่กระทรวงแรงงาน นางสาวส่งศรี บุญบา รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงทิศทางตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศของปีนี้ ว่า มี 3 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มสภาพการจ้างงานคงที่ เช่น สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย บูรไน ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องรักษาโควตาเดิมที่ได้รับไม่ให้น้อยลง หรือหากเป็นไปได้ก็อาจจะมีการได้รับโควตาเพิ่มเล็กน้อย 2.กลุ่มแนวโน้มขยายตัวได้ ที่ต้องการจ้างแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือ ในกิจการก่อสร้าง เช่น แถบตะวันออกกลาง กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ แอฟริกาใต้ และ แอลจีเรีย และ 3.กลุ่มตลาดแรงงานใหม่ที่มีความต้องการแรงงานในภาคการเกษตร เช่น สวีเดน ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ อย่างไรก็ตาม ทิศทางตลาดแรงงานในกลุ่มที่ 2 และที่ 3 มีแนวโน้มดีขึ้นและค่อยๆขยายตัว แต่ประเทศไทยยังคงติดปัญหาเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการเข้าไปเฟ้นหาตลาดแรง งาน จึงต้องร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ ในการหาตำแหน่งงาน เนื่องจากในบางประเทศไม่มีสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ
      
อย่างไรก็ตาม นโยบายในปีนี้ของกระทรวงแรงงาน เน้นหาตำแหน่งงานฝีมือและกึ่งฝีมือ ในต่างประเทศให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนของแรงงานฝีมือ/กึ่งฝีมือ และแรงงานไร้ฝีมืออยู่ที่ 40 ต่อ  60 หากเป็นไปได้อยากให้อยู่สัดส่วนที่เท่ากัน โดยตั้งเป้าจะขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศให้เพิ่มขึ้นอีก ร้อยละ 10 ของจำนวนปัจจุบัน ของแรงงานที่เดินทางไปใหม่ 9 หมื่นคน ซึ่งแรงงานที่เคยเดินทางแล้ว และกลับมาต่อใบอนุญาตทำงานไปใหม่อีก 6 หมื่นคน และเมื่อรวมกับแรงงานที่มีอยู่เดิมอีก 4 แสนกว่า จะมีแรงงานไทยในต่างแดนกว่า 602,261 คน
      
รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ได้เพิ่มโควตาแรงงานต่างชาติที่จะเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้เพิ่มอีก 5,000 คน แต่จำนวนดังกล่าวไม่ใช้ของไทยทั้งหมด เนื่องจากต้องรอการจัดสรรจากเกาหลีใต้อีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานไทยในเกาหลีใต้กว่า 4.2 หมื่นคน
      
นอกจากนี้ แถบยุโรปและประเทศญี่ปุ่นก็มีความต้องการพนักงานนวดสปาจำนวนมาก แต่ประเทศไทยผลิตส่งได้ไม่มาก เนื่องจากติดด้วยเงื่อนไขของแต่ละประเทศที่มีหลักเกณฑ์ไม่ตรงกัน ขณะที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็พยายามเร่งฝึกพนักงานนวดสปาอย่างเต็มที่ แต่ก็ยัง ได้ไม่มากพอ เพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูง ทั้งนี้ หากจะเน้นกลุ่มอาชีพนี้จะต้องมีการเจาะเป็นประเทศ เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์ต่างๆ และนำมาวิเคราะห์ว่าประเทศไหนควรจัดส่งแรงงานไทยไป จะได้ผลิตและป้อนได้ตรงจุด เพราะในปัจจุบันสาขาอาชีพนี้จะเป็นการติดต่อตรงมากกว่าติดต่อผ่านกรมการจัด หางาน
      
รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวด้วยว่า สำหรับปี 55 จะเน้นส่งในอาชีพฝีมือ โดยเฉพาะก่อสร้าง เกษตร และสาขาช่างต่างๆ แต่ประเทศคู่แข่งที่น่ากลัว ซึ่งไทยต้องเร่งยกระดับตนเองนอกจากทักษะฝีมือแล้วยังต้องเน้นเรื่องภาษาด้วย คือ ประเทศเวียดนาม จีน อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 24-1-2554)

 

พิษน้ำท่วม ปทุมฯเลิกจ้างอีก 7 พันคน

นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กล่าวถึง วิกฤตน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อแรงงานในพื้นที่ ว่า ในวันที่ 11 ก.พ.นี้ ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งของจังหวัดปทุมธานีจะมีการเลิกจ้างแรงงานกว่า 7 พันคน ในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยสถานประกอบการได้มีการประกาศล่วงหน้าเพื่อให้มีการลาออกโดยสมัครใจ ซึ่งบางส่วนอาจจะมีการปลดคนงาน
      
นายอาทิตย์ กล่าวว่า ทางภาครัฐได้มีมาตรการช่วยนายจ้างจ่ายค่าแรง 2,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งจะจ่ายช่วยเหลือถึงวันที่ 31 ม.ค. นี้ เป็นเดือนสุดท้าย ซึ่งจะทำให้นายจ้างต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จึงต้องทำการปรับลดขนาดกิจการลง โดยคาดว่าบางสถานประกอบการยังรอดูท่าทีอยู่ เช่น อยู่ในระยะเวลารับส่งเครื่องจักรเพื่อใช้ทดแทนแรงงาน หรืออยู่ในระหว่างการปรับปรุงโรงงาน เป็นต้น
      
“เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีนิคมฯทางภาคตะวันออก เช่น ระยอง ชลบุรี เข้าติดต่อขอรับแรงงาน ซึ่งมีความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก โดยแรงงานที่อายุน้อยก็มีโอกาสได้เข้าทำงานสูง ส่วนแรงงานที่มีโอกาสน้อยคือแรงงานที่มีอายุมาก จึงอยากให้นายจ้างคำนึงถึงประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำงานด้วย” นายอาทิตย์กล่าว
      
นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า ในพื้นนิคมอุตสาหกรรม จ.ปทุมธานี เป็นจังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บ. ในเดือน เม.ย. นี้ จึงกังวลว่าแรงงานบางส่วนอาจจะไม่ยอมย้ายไปทำงานในพื้นที่อื่นที่ค่าแรงต่ำ กว่า 300 บ. อีกทั้งยังติดปัญหาไม่ยอมเคลื่อนย้ายพื้นที่ในการทำงาน
      
“ในสถานประกอบการใหญ่ๆ อย่างในนิคมฯ ที่แรงงานอยู่ในระบบประกันสังคม การจ่ายค่าแรง 300 บาท จะไม่คิดรวมกับค่าสวัสดิการต่างๆ แต่คิดว่าในจังหวัดที่ห่างไกลหรือกิจการขนาดเล็กอาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะ มีการตกลงกับลูกจ้าง ในการนำค่าสวัสดิการต่างๆ มาคิดรวมกับค่าแรง ซึ่งเป็นการยินยอมร่วมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง” นายอาทิตย์ กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 24-1-2555)

 

เผย 12 อาชีพเสี่ยงวิกฤตเลิกจ้างแรงงาน

กระทรวงแรงงาน - นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในการประชุมผู้บริหารสำนักงาน ปลัดกระทรวงแรงงาน สำนักเศรษฐกิจการแรงงานได้วิเคราะห์ระบบเตือนภัยด้านแรงงานในภาพรวม พบว่าในเดือนพ.ย.2554 มีดัชนีชี้วัดที่ส่งสัญญาณเตือนภัยการจ้างงาน 8 ตัว จาก 13 ตัวชี้วัดที่อาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการเลิกจ้าง ได้แก่ 1.ข้อมูลการจำหน่ายรถยนต์ลดลงร้อยละ 79.99 จากวิกฤตน้ำท่วม 2.การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 78.86 3.อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 40.43 ลดลงร้อยละ 36.48 4.ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเท่ากับร้อยละ 97.9 ลดลงร้อยละ 48.59 5.ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเท่ากับ 39 ลดลงร้อยละ 25.71 6.ข้อมูลการใช้กระแสไฟฟ้าลดลงร้อยละ 4.67 7.ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนอยู่ที่ 135.06 ลดลงร้อยละ 1.90 และ 8.มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 15,496.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 12.46

จากข้อมูลทั้งหมดเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักของสภาวะการจ้างงานและ การเลิกจ้าง ซึ่งคาดว่ามีโอกาสเกิดวิกฤตร้อยละ 50 ตั้งแต่เดือนพ.ย. 2554 - พ.ย. 2555 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ช่วงการเกิดวิกฤตไม่น่าจะใช้เวลาที่นานนัก เนื่องจากมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของกระทรวงแรงงานและภาครัฐอื่นๆ มารองรับ พร้อมตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานต่อสัญญาณ โดยมีนายปกรณ์ อมรชีวิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงเป็นประธานเข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ประกอบการใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเสี่ยง ได้แก่ การผลิตยานยนต์ เครื่องจักรสำนักงาน อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องจักรที่ใช้ในงานทั่วไป โทรทัศน์และวิทยุ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยาง เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ในบ้านเรือน และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม

(ข่าวสด, 25-1-2555)

 

แอฟริกาใต้จ้างคนไทย1แสน/เดือน

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ภาพรวมของผู้ว่างงานในพื้นที่น้ำท่วมตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 27,000 คน ซึ่งกรมการจัดหางานกำลังช่วยประสานให้นายจ้างที่ต้องการแรงงานได้พบปะกับ ลูกจ้างโดยตรง โดยการจัดงานนัดพบแรงงานในพื้นที่ต่างๆ

ส่วนตลาดแรงงานในต่างประเทศนั้นหลายประเทศต้องการแรงงานไทย อย่างในแอฟริกาใต้ต้องการแรงงานฝีมือด้านช่างเชื่อมและก่อสร้างกว่า 3,300 อัตรา โดยช่างเชื่อมฝีมือดีนั้นจะมีค่าจ้างสูงถึงเดือนละประมาณ 100,000 บาท ซึ่งในเดือน ก.พ. นี้จะนำคณะเดินทางไปแอฟริกาใต้เพื่อดูสภาพการจ้างงาน ดูเรื่องความปลอดภัยและสวัสดิการต่างๆ ที่แรงงานไทยควรได้รับ

สำหรับนักเรียนนักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษาก็จะมีการจัดงานเพื่อเตรียม ความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน การอบรมแนะแนวอาชีพอิสระ พร้อมสาธิตอาชีพอิสระกว่า 25 สาขา ให้คำปรึกษาการประกอบอาชีพ การแนะนำการสมัครงานทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนจัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3% ต่อปี สำหรับผู้ทำงานที่บ้าน ผู้สนใจสอบถามได้ที่กรมการจัดหางาน สายด่วนโทร.1694

(โลกวันนี้, 25-1-2555)

 

เกาหลีใต้ต้องการแรงงานไทยเพิ่มอีกเท่าตัว

 (25 ม.ค.) นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เอกอัครราชทูต สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ประจำประเทศไทย ได้เข้าหารือถึงความต้องการจ้างแรงงานไทยในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24 เป็นร้อยละ 53 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้โควตาในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานปีละกว่า 5 พันคน แต่สามารถจัดส่งได้ไม่ครบตามจำนวน เนื่องจากติดเรื่องการทดสอบภาษาเกาหลี รวมไปถึงระยะเวลาในการทำงานไม่มาก

ทั้งนี้ ตนจึงได้เสนอให้มีการขยายระยะเวลาการทำงานในเกาหลีของแรงงานไทยให้มากขึ้น จากเดิม 1 คน ทำงานได้ไม่เกิน 5 ปี คือ ครั้งแรก 3 ปี ต่อได้อีก 2 ปี ซึ่งเป็นการทำงานที่ไม่ยาวนานมากนัก จนส่งผลให้แรงงานไทยต้องมีการลักลอบทำงาน โดยนายจ้างเกาหลีก็ยินยอมด้วย เพราะแรงงานไทยมีทักษะฝีมือ ขณะที่ปัญหาการส่งแรงงานไทยไม่ครบตามเป้าหมายก็จะส่งผลกระทบกับโควตาใหม่ที่ เกาหลีใต้ได้เพิ่มให้แรงงานต่างชาติเข้าไปทำงานอีก 5,000 คน ซึ่งในเรื่องนี้ได้ขอความร่วมมือจากประเทศเกาหลีในการส่งอาจารย์มาฝึกทักษะ ภาษาเกาหลีให้แก่แรงงานไทยก่อนการเข้าสอบภาษาเกาหลี และตนได้ยืนยันว่า หากแก้ปัญหาเรื่องภาษาได้การส่งแรงงานไทยไปทำงานเกาหลีจะมีจำนวนมากขึ้น
      
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานจะเปิดเป็นศูนย์อบรมภาษาต่างประเทศ เช่น เกาหลี เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานไทยก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ขณะที่ยอดแรงงานไทยในเกาหลีใต้มีกว่า 6 หมื่นคน เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 2.4 หมื่นคน และที่เหลือเป็นการลักลอบทำงาน ส่วนใหญ่ทำงาน ก่อสร้าง เกษตร และโรงงานอุตสาหกรรม ขนาดกลางและขนาดย่อม
      
“จุดอ่อนของแรงงานไทยที่สู้แรงงานเวียดนาม ฟิลิปปินส์ไม่ได้ ก็คือ ในเรื่องของทักษะด้านภาษาต่างประเทศ ส่วนเรื่องทักษะฝีมือนั้นเป็นที่ยอมรับของประเทศต่างๆ ผมจะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ แก้ไขจุดอ่อนของแรงงานไทยในเรื่องนี้” นายเผดิมชัย กล่าว
      
นายเผดิมชัย กล่าวด้วยว่า วันนี้ (25 ม.ค.) ได้หารือกับผู้แทนสมาคมจัดหางานในต่างประเทศของบังกลาเทศโดยตัวแทนสมาคมฯได้ แสดงความจำนงที่จะจัดส่งแรงงานบังกลาเทศทั้งในส่วนของแรงงานประเภทไร้ฝีมือ กึ่งฝีมือและมีฝีมือเข้ามาทำงานในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันบังกลาเทศที่มีประชากรกว่า 160 ล้านคนได้มีทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) จัดส่งแรงงานไปทำงานใน 110 ประเทศ ทั้งนี้ หากประเทศไทยเปิดโอกาสให้เข้ามาทำงานในไทย ทางชาวบังกลาเทศก็ยินดีจะฝึกฝนทักษะภาษาไทย
      
อย่างไรก็ตาม ตนได้ตอบกลับไปว่าไม่ขัดข้องในการที่จะให้แรงงานชาวบังกลาเทศเข้ามาทำงานใน ไทย แต่ขอให้สมาคมนำรายละเอียดเอ็มยูโอการจัดส่งแรงงานไปทำงานในประเทศต่างๆ เช่น สิงคโปร์มาให้ศึกษารายละเอียดก่อน เพื่อจะได้รู้ถึงหลักเกณฑ์การจัดส่ง ประเภทแรงงานและอัตราค่าจ้าง จะได้นำมาเป็นข้อมูลในการจัดทำเอ็มโอยูนำเข้าแรงงานชาวบังกลาเทศเสนอขอความ เห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)
      
“ปัจจุบันประเทศต่างๆ ให้การตอบรับแรงงานชาวบังกลาเทศที่เข้าไปทำงาน เช่น งานบ้าน งานก่อสร้าง เชื่อว่า การนำเข้าแรงงานชาวบังกลาเทศมาทำงานในไทย จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคประมงและเกษตร รวมทั้งยังช่วยสร้างอำนาจต่อรองในการนำเข้าและจัดระบบแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติทั้งพม่า ลาว และ กัมพูชา ให้ดีและง่ายขึ้นด้วย” รมว.แรงงาน กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25-1-2555)

 

สรส.เดินหน้าคัดค้านรัฐบาลแปรรูป "การบินไทย-ปตท." 27 ม.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมกันระหว่างสหภาพแรงงานบริษัท การบินไทย บริษัท ปตท.และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์กว่า 4 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปว่า จะคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจใหญ่ 2 แห่ง คือ บริษัท ปตท. และการบินไทย โดยรัฐบาลมีแนวคิดลดสัดส่วนหุ้นร้อยละ 2 เพื่อเข้ากองทุนวายุภักษ์ โดยอ้างว่า จะช่วยลดหนี้สาธารณะ

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า วันศุกร์ที่ 27 มกราคมนี้ จะเดินทางไปยังกระทรวงคมนาคมและกระทวงการคลัง เพื่อแสดงจุดยืนการคัดค้านการเตรียมแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 หน่วยงาน พร้อมขอความชัดเจนจากรัฐมนตรี

นายสาวิทย์ กล่าวว่า ข้ออ้างของรัฐที่ระบุว่าการลดสัดส่วนหุ้นร้อยละ 2 เพื่อทำให้หนี้สาธารณะที่มีอยู่ลดลง เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการลดหุ้นบริษัท ปตท.จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง นอกจากนี้ สรส.เตรียมจัดเวทีสาธารณะในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้ความรู้กับภาคสังคมเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยจะเชิญนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมด้วย

(มติชน, 25-1-2555)

 

รมว.แรงงาน ระบุการปรับค่าจ้างขั้นต่ำกระทบต้นทุน 1%

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ออกมาระบุว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ส่งผลให้นักลงทุนแบกรับต้นทุนไม่ไหวจนต้องมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศ เพื่อนบ้าน เนื่องจากมีค่าแรงที่ถูกกว่าไทยถึง 4 เท่า ว่า เรื่องนี้นายธนิตพูดมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งการปรับค่าจ้างเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น อีกทั้งการปรับค่าแรงรัฐบาลไม่ได้ให้ภาคเอกชนปรับโดยไม่มีอะไรตอบแทน เนื่องจากรัฐบาลยอมลดภาษีขาดรายได้ไปถึงร้อยละ 10 ทั้งนี้ไม่อยากให้ออกมาพูดในสิ่งที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศ ในเรื่องต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น นักบัญชีจะตอบได้ดีที่สุดว่ากระทบจริงหรือไม่ ส่วนนักลงทุนหรือผู้ประกอบการที่จะย้ายฐานการผลิตนั้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม ที่มีแผนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งไม่เกี่ยวกับการปรับค่าแรง หากมีนักลงทุนย้ายฐานการผลิตจริงก็ขอให้นำข้อมูลมาพูดคุยกัน อย่างไรก็ตามเร็วๆ นี้ จะมีการนัดพูดคุยกับผู้บริหาร ส.อ.ท. ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีการคาดการณ์ว่าค่าแรงจะปรับถึง 500 บาทภายใน 5 ปีนั้น ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะปัจจุบันราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปรับค่าแรงต้องดูภาวะเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงดัชนีของผู้บริโภคและค่าครองชีพต่างๆ ด้วย

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 26-1-2555)

 

ม็อบแรงงานอยุธยา บุกกระทรวงแรงงาน จี้หามาตรการช่วยชะลอเลิกจ้าง

ก.แรงงาน 27 ม.ค.- สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย นำคนงานบริษัท ลาพิส เซมิคอนดัคเตอร์ จำกัด ( ชื่อเดิม โอกิ เซมิคอนดัคเตอร์) ภายในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา กว่า 200 คน มาประท้วงที่ด้านหน้ากระทรวงแรงงาน เรียกร้องให้นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เร่งหาทางช่วยเหลือลูกจ้างจำนวนนับแสนคนที่กำลังจะถูกเลิกจ้าง ภายหลังสิ้นเดือนมกราคมนี้ โรงงานที่เคยเข้าร่วมโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้างในช่วงน้ำท่วม แลกกับการจ่ายเงินร้อยละ 75 จะ ครบกำหนดระยะเวลาและหลายโรงงานเตรียมที่จะเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก

นายธงชัย คนแรงดี ประธานสหภาพ โอกิ เซมิคอนดัคเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ คนงานบริษัทที่มีกว่า 900 คน กำลังเดือดร้อน เพราะนายจ้างยังไม่มีความชัดเจนว่า เปิดงานหลังสิ้นเดือนมกราคมนี้หรือไม่ แม้น้ำจะลดลง จนแห้งสนิทแล้วกว่า 2 เดือน ล่าสุดมีข่าวลือว่าโรงงานจะประกาศเลิกกิจการ และเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด ก่อนเปิดกิจการใหม่ ซึ่งพวกตนมองว่าเป็นการฉวยโอกาสเลิกจ้างพนักงานที่ทำงานมานาน จึงเรียกร้องให้รมว.แรงงาน เร่งหาทางช่วยเหลือ เพราะมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่มีการลงโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผ่านมา ไม่สามารถช่วยคนงานได้จริง เช่น โครงการจ้างงานเร่งด่วนวันละ 150 บาท ซึ่งไม่พอต่อการครองชีพ ขณะที่หลายมาตรการก็เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองอยู่แล้ว

(สำนักข่าวไทย, 27-1-2555)

 

แรงงานเมินเข้าอบรมยกระดับฝีมือ

นายประพันธ์ มนทการติวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับงบประมาณ 61 ล้านบาท ที่รัฐบาลอนุมัติให้ดำเนินโครงการยกระดับฝีมือแรงงาน เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกจ้างและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใน จังหวัดต่างๆ มาจากสำนักงบประมาณแล้ว โครงการนี้มีเป้าหมายจัดอบรมลูกจ้างให้ได้ 15,000 คน แบ่งเป็น 750 รุ่น รุ่นละ 20 คน ระยะเวลาอบรม 10 วัน ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 120 บาท

“ขณะนี้มีผู้สนใจเข้ารับการอบรมในสาขาวิชาชีพต่างๆ ที่มาลงทะเบียนไว้ประมาณ 2,000 คน ซึ่งเรายังเปิดรับผู้ต้องการเข้าอบรมไปถึงเดือน มี.ค. ซึ่งมีหลักสูตรที่จะจัดอบรมมากกว่า 20 หลักสูตร เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม ช่างยนต์”

ด้านนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังผู้แทนสมาคม Bangladesh Association of International Recruiting Agencies (BAIRA) ซึ่งเป็นสมาคมจัดหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศของบังกลาเทศ ได้เข้าพบหารือเพื่อขอเปิดตลาดแรงงานชาวบังกลาเทศในประเทศไทยว่า เขาต้องการส่งคนมาทำงานในไทย โดยแรงงานชาวบังกลาเทศมีความพร้อมที่จะทำงานในลักษณะแรงงานไร้ฝีมือ แรงงานกึ่งฝีมือ และแรงงานมีฝีมือ และพร้อมที่จะฝึกอบรมแรงงานให้ก่อนที่จะส่งเข้ามาทำงานในประเทศไทย

“เรายังต้องการแรงงานในส่วนของประมง ก่อสร้าง แม่บ้าน และเกษตร ซึ่งเป็นงานที่คนไทยไม่ทำ อย่างไรก็ตาม คงต้องพิจารณารายละเอียดกันอีกพอสมควร”

นายเผดิมชัยยังเปิดเผยข่าวดีว่า นายลิม แจ-ฮอง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย แจ้งให้ทราบว่าเกาหลีต้องการแรงงานไทยเข้าไปทำงานเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมามีปัญหาแรงงานไทยขาดทักษะด้านภาษา เวลาไปทดสอบมักไม่ผ่านการอนุมัติ กระทรวงแรงงานจึงมีแผนจะจัดฝึกภาษาและขนบธรรมเนียมต่างๆของเกาหลีให้แรงงาน ไทยก่อนเข้ารับการทดสอบไปทำงาน

(โลกวันนี้, 27-1-2555)

 

แรงงานไทยถูกหลอกไปลิเบียร้องขอความช่วยเหลือ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย

กลุ่มแรงงานไทยในลิเบีย นำโดย นายมานะ พึ่งกล่อม เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายจักริน พัฒน์ดำรงจิตร ส.ส.ขอนแก่น เขต 1 พรรคเพื่อไทย เพื่อให้เร่งรัดการติดตามข้อเรียกร้อง และให้การช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ถูกหลอกจากบริษัทจัดหางาน จากกระทรวงแรงงาน และการคุ้มครองหลังถูกข่มขู่ปองร้ายหมายเอาชีวิต นายมานะ ระบุว่า ได้ถูกส่งตัวกลับประเทศไทย พร้อมกลุ่มผู้ใช้แรงงานกว่า 100 คน หลังบริษัทนายจ้างผิดสัญญา ตั้งแต่ปี 2553 แต่เรื่องเงียบหาย รวมทั้งยังคงไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ กับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน จนกระทั่งมาเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศลิเบีย เรื่องก็เงียบหาย จึงเข้าร้องเรียนเพื่อให้เร่งติดตามและให้ความช่วยเหลือในเรื่องที่เกิดขึ้น

(ไอเอ็นเอ็น, 27-1-2555)

 

สรส.จี้รัฐยุติขายหุ้น ปตท.-บินไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ยื่นหนังสือถึงนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอให้รัฐบาลยุตินโยบายแปรรูปบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมี พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รับหนังสือแทน โดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า การที่กระทรวงการคลังจะขายหุ้น ปตท. และการบินไทย 2% จะส่งผลให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง เป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้าง ในขณะที่กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคมก็ยังไม่ออกมาชี้แจง ทาง สรส.ซึ่งมีสมาชิกเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ 43 แห่ง จึงต้องการให้รัฐบาลชี้แจงให้ชัดเจน และขอให้หยุดแนวทางการดำเนินการดังกล่าว โดยสัปดาห์หน้าจะไปยื่นหนังสือต่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้พิจารณาเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ สรส.ยืนยันจะคัดค้านการดำเนินการดังกล่าว และจะมีการเคลื่อนไหวหากรัฐบาลยังเดินหน้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งรอบ 2 ด้วยการขายหุ้นออกไป ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุตินโยบายดังกล่าว โดยในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ จะจัดแสดงความคิดเห็นครั้งใหญ่ ที่โรงแรมมิราเคิล เพื่อให้ร่วมกันพิจารณาในเรื่องดังกล่าวด้วย

พล.ต.ท.ชัจจ์ กล่าวว่า สาเหตุของเรื่องดังกล่าวมาจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลต้องหาเงินมาป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมอีก จึงต้องปลดล็อกเรื่องหนี้สาธารณะ โดยเห็นว่าวิธีการดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับพนักงานของการบินไทยที่มีอยู่ ประมาณ 14,000 คน และ ปตท. 4,000 คน ดังนั้นจะเสนอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับทราบก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 31 มกราคมนี้ ทั้งนี้ เห็นว่าการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจะต้องโปร่งใส ชัดเจน อธิบายและหารือร่วมกันได้ บุคลากรในองค์กรต้องทราบรายละเอียด โดยมั่นใจว่านายกรัฐมนตรีจะไม่ปฏิเสธที่จะทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว เพราะในกรณีของตลาดนัดจตุจักรนายกฯ ก็กำชับไม่ให้ส่งผลกระทบกับทางผู้ค้ามาอย่างต่อเนื่อง

(บ้านเมือง, 27-1-2555)

 

รมว.แรงงานสั่งตรวจสอบคนตกงานหลังน้ำลด

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน กล่าวว่า หลังน้ำลดมีแรงงานบางส่วนหันไปประกอบอาชีพอิสระ เพราะไม่มั่นใจว่าจะถูกเลิกจ้างหรือไม่ จึงให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำรวจยอดแรงงานที่กลับเข้าทำงานและไม่กลับเข้าทำงาน สถานประกอบการที่ปิดกิจการ และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาชีพใด ซึ่งในส่วนที่เปิดกิจการมีความต้องการแรงงานเท่าใด ประเภทไหน เพื่อนำไปตรวจสอบกับยอดที่ตกงานว่า มีคุณสมบัติตรงกันหรือไม่ เพื่อนำแรงงานกลุ่มนี้กลับสู่ตลาดแรงงาน
         
ส่วนความคืบหน้าในการจัดตั้งธนาคารแรงงาน รมว.แรงงาน กล่าวว่า อยู่ระหว่างการรออนุมัติงบประมาณดำเนินการของรัฐบาล คาดว่าจะมีความชัดเจนในเดือนกุมภาพันธ์นี้

(โพสต์ทูเดย์, 28-1-2555)

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พิพากษากรณีที่เจ้าหน้าที่ซ้อมทรมาน 'อัสฮารี สะมะแอ' 30 ม.ค. นี้

Posted: 28 Jan 2012 02:33 AM PST

28 ม.ค. 55 - มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเปิดเผยว่าในวันที่ 30 มกราคม 2555 เวลา 10.00 น.  ศาลปกครองสงขลา นัดฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 39/2553  โดยคดีดังกล่าว  นางแบเดาะ สะมาแอ ในฐานะผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดจากกระทรวงกลาโหม ที่ 1 กองทัพบก ที่ 2 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 3 และสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 4 เป็นผู้ถูกฟ้องคดี  เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้กระทำละเมิดในระหว่างปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกควบคุมตัวนายอัสฮารี สะมาแอ บุตรชายของผู้ฟ้องคดี กับพวก และได้ซ้อมทรมานทำร้ายร่างกายในระหว่างการควบคุมตัวจนเป็นเหตุให้นายอัสฮารี สะมาแอ  เสียชีวิตในเวลาต่อมา  จึงขอเชิญท่านที่สนใจเข้าฟังคำพิพากษาของศาลร่วมกันตามวันและเวลาดังกล่าวข้างต้น
 
อนึ่ง  คดีนี้เป็นคดีที่โอนมาจากศาลแพ่ง  โดย เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2550  เวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 กับหน่วยเฉพาะกิจที่ 13  ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ร่วมกันปิดล้อม ตรวจค้น และควบคุมตัวนายอัสอารี  สะมาแอ  กับพวก  บริเวณสวนยางพารา หมู่ที่ 5  บ้านจาเราะซีโป๊ะ  ต.สะเอะ  อ.กรงปินัง  จ.ยะลา โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก ปรากฏว่าเวลาประมาณ 19.00 น. เจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายอัสฮารีฯ ไปส่งที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี  เนื่องจากนายอัสฮารีฯ ได้รับบาดเจ็บสาหัส  และแพทย์ได้ส่งไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลศูนย์ยะลาตามลำดับ โดยได้เสียชีวิตในวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 เวลาประมาณ 05.20 น. ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา  โดยใบความเห็นแพทย์ระบุว่า เสียชีวิตเนื่องจากสมองบวม ตามร่างกายมีรอยฟกช้ำ  ต่อมาผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวพร้อมนายอัสฮารีฯ ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายในระหว่างการควบคุมตัวทำให้ได้รับบาดเจ็บ และเจ้าหน้าที่ได้ทำร้ายร่างกายนายอัสฮารีจนเป็นเหตุให้นายอัสฮารีฯเสียชีวิต
 
นางแบเดาะ สะมาแอ มารดา จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ต่อศาลแพ่ง แต่เนื่องจากคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองสงขลา ศาลแพ่งจึงมีคำสั่งโอนคดีไปศาลปกครองสงขลา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนไทยพลัดถิ่นร้องยกเลิกแก้ไขมาตรา 3 พ.ร.บ.สัญชาติ

Posted: 28 Jan 2012 02:27 AM PST

28 ม.ค. 55 - เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยได้ออกจดหมายเปิดผนึกเรื่อง  "ขอเรียกร้องให้  ส.ว. ยกเลิกการแก้ไขมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติสัญชาติ เพราะที่ผ่านมากรมการปกครองยังไม่เคยมีการประกาศสำรวจคนไทยพลัดถิ่นเป็นการเฉพาะ" โดยมีรายละเอียดดังนี้

...............................

เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จังหวัดระนอง, ประจวบคีรีขันธ์,ตราด
25 ถนนชลระอุ ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง  รหัสไปรษณีย์ 85000
โทรศัพท์/โทรสาร 077-825-086 www.thaipladthin.org

วันที่ 28 มกราคม  2555

เรื่อง ขอเรียกร้องให้  สว.  ยกเลิกการแก้ไขมาตรา 3  ของพระราชบัญญัติสัญชาติ  เพราะที่ผ่านมากรมการปกครองยังไม่เคยมีการประกาศสำรวจคนไทยพลัดถิ่น  เป็นการเฉพาะ

เรียน สื่อมวลชน  ที่เคารพทุกท่าน

ตามที่ เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยฯ ร่วมกับเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฎิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)  ใช้เวลาถึง 10  ปีในการหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อ คืนสัญชาติไทยให้กับคนไทยพลัดถิ่น ที่กลับมาอยู่ในประเทศไทยนานแล้วแต่ไร้สิทธิทุกด้าน รวมทั้งยังถูกคุกคามเอาเปรียบรีดไถ และเด็กๆขาดโอกาสทางการศึกษา   นั้น

ในปี 2554 ขบวนคนไทยพลัดถิ่น ได้เดินเท้าจากด่านสิงขร ถึงรัฐสภา เพื่อผลักดันร่างกฎหมายสัญชาติ  ว่าด้วยการคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่น   จนผ่านวาระ 1-2-3   ของสภาผู้แทนราษฏร์  (สส.)  สามวาระรวด

ปัจจุบันกฎหมายดังกล่าว กำลังอยู่ในการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา ฯ  และ กรรมาธิการ ฯ ได้มีการ ตัดออกและเพิ่มเติม ในมาตรา 3  จนทำให้ พวกเรา คนไทยพลัดถิ่นที่พยายามผลักดันกฎหมายนี้ ต้องตกหล่นและไม่มีโอกาสได้สัญชาติไทยอีก  โดยมีรายละเอียด ดังนี้

มาตรา ๓ ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “ คนไทยพลัดถิ่น ” ระหว่างบทนิยามคำว่า “ คนต่างด้าว ” และบทนิยามคำว่า  “ คณะกรรมการ”  ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘  ““ คนไทยพลัดถิ่น  ”     หมายความว่า     ผู้ซึ่งมีเชื้อสายไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่น  โดยเหตุอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยในอดีต   ซึ่งปัจจุบันผู้นั้นมิได้ถือสัญชาติของประเทศอื่น และได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่งและมีวิถีชีวิตเป็นคนไทย โดยได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรือเป็นผู้ซึ่งมีลักษณะอื่นทำนองเดียวกันตามที่กำหนดในกฎกระทรวง  ก่อนวันที่พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีผลใช้บังคับ”

โดย เครือข่ายฯ ขอชี้แจงข้อเท็จจริง  ดังนี้

1. ที่ผ่านมากรมการปกครองไม่เคยมีการออกประกาศสำรวจ “ คนไทยพลัดถิ่น “ เป็นการเฉพาะ มีแต่การสำรวจชนกลุ่มน้อย และคนไร้สถานะทางทะเบียน ฯ เท่านั้น ซึ่งอาจจะมีชื่อคนไทยพลัดถิ่นบางส่วน อยู่ในนั้นบ้างแต่ยังไม่ชัดเจน   ดังนั้น การตัดออกและเพิ่มเติม  เนื้อความในมาตรา 3  ดังกล่าว ทำให้คนไทยพลัดถิ่น ที่ออกมาผลักดันกฎหมายนี้  ตกหล่นเกือบ ทั้งหมด

2. กรณีข้อกังวลของ  สว. ที่ว่าจะมีคนนอกที่ไม่ใช่คนไทยเข้ามาจำนวนมากนั้น  ขอเรียนชี้แจงว่า

-  กฎหมายนี้ระบุให้เฉพาะ  “ ผู้มีเชื้อสายไทย....และได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่ง ”  แล้วเท่านั้น ซึ่งสามารถตรวจสอบจากบ้านที่อยู่อาศัยจริงได้ชัดเจนในทุกชุมชน   

- กฎหมายนี้มีความก้าวหน้าเพราะยังกำหนดให้มี  คณะกรรมการที่มาจากหลายฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ฝ่ายความมั่นคง  นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ  ทำหน้าที่ออกหลักเกณฑ์ / พิจารณารับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น  ซึ่งจะเป็นกระบวนการและกลไกในการแก้ไขปัญหาที่โปร่งใส่และสร้างความเป็นธรรมได้มากกว่าที่ผ่านมา

เครือข่าย ฯ  จึงชี้แจงมาเพื่อโปรดทราบ และขอเรียกร้องให้  สว.  ยกเลิกการแก้ไขมาตรา 3  ของพระราชบัญญัติสัญชาติ ที่ท่านกำลังพิจารณา ทั้งนี้ เพื่อให้กฎหมายสามารถแก้ปัญหาได้อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์: น้ำท่วมปากเกษตรกร

Posted: 28 Jan 2012 01:53 AM PST

หลังภาวะภัยพิบัติธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สายน้ำได้พัดพาเอาความฝันความหวังของเกษตรกรในปีที่ผ่านมาลอยไปกับตา เปรียบเสมือน คนเอาเงินแสนใส่กระเป๋าแต่มารู้ตัวอีกทีเงินก็หายไปแล้วเพราะก้นกระเป๋าขาด

เกษตรกรจำนวนมากอยู่ในภาวะน้ำปริ่มจะท่วมปากท่วมจมูกด้วยภาวะหนี้สินที่ต้องพยายามปลดเปลื้องกันปีต่อปี และหากปีใดเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือจับสัตว์เลี้ยงไม่ได้แม้แต่ฤดูกาลเดียว นั่นหมายถึงหนี้สินก้อนโตที่จะเข้ามาทับถมเพิ่ม จนอาจจะต้องสูญเสียปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ออกไป   เพราะเกษตรกรต้องใช้ที่ดินของตนจำนองหรือค้ำประกันหนี้สินที่กู้ยืมมาเพื่อลงทุนทำการผลิตในฤดูกาลนั้นแล้วหวังว่าสิ้นฤดูกาลจะมาเก็บผลผลิตเพื่อใช้หนี้แล้วเหลือเงินบางส่วนได้ใช้จ่ายในครอบครัว หรือสะสมเอาไว้เป็นทุนส่งเสียลูกหลานเรียนต่อเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันตามระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

หลังวิกฤตน้ำท่วมสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่กับเกษตรกรจึงมิใช่เพียงเรื่องการสูญเสียรายได้และมีหนี้สินพอกพูนขึ้นมากเท่านั้น   แต่ปัญหาที่สำคัญกว่าถึงขั้นต้องเลิกทำเกษตรกรรมกันเลยทีเดียว ก็คือ การสูญเสียปัจจัยการผลิต

การสูญเสียปัจจัยการผลิตที่สังคมตระหนักดีและเป็นห่วงกันอยู่มาก ก็คือ ปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกิน  รัฐบาลก็ได้เล็งถึงปัญหาเหล่านี้มาต่อเนื่องทุกยุคทุกสมัยโดยมีการผลักดันกฎหมาย นโยบาย และงบประมาณจำนวนมากมาแก้ไขปัญหาผ่านโครงการร่วมกับสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรโดยตรง หรือแม้กระทั่งการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูหนี้สินให้แก่เกษตรกร

อย่างไรก็ดีปัจจัยการผลิตที่เกษตรกรกำลังสูญเสียไปและอาจจะหมายถึงการสูญเสียความสามารถในการดำรงวิถีชีวิตเกษตรกรที่สามารถพึ่งพากันเองไปตลอดกาลก็คือ การสูญเสียสิทธิในพันธุกรรมพืช และสัตว์ที่ใช้ทำการผลิตทางการเกษตร   ทั้งนี้บรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรทั่วโลกเล็งเห็นความสำคัญของพันธุกรรมทางการเกษตรมายาวนานโดยลงทุนวิจัยและจดสิทธิบัตรเพื่อหวงกันสิทธิเพื่อขายต่อให้เกษตรกรในราคาที่ตนกำหนดโดยกดดันให้รัฐทั้งหลายออกกฎหมายมารับรองสิทธิบัตรเหนือสิ่งมีชีวิตให้กับเอกชน   ซึ่งประเด็นนี้เป็นการคุกคามสิทธิเกษตรกร และอธิปไตยเหนืออาหารของคนทั้งโลกอย่างร้ายแรง

เมื่อผนวกเข้ากับภาวะภัยพิบัติน้ำท่วมที่กวาดเอาพืชและสัตว์รวมทั้งเมล็ดพันธุ์ตัวอ่อนที่เกษตรกรรักษาหายไปกับน้ำจนหมดเกลี้ยง   เกษตรกรจึงตกในภาวะเสี่ยงที่จะไม่มีปัจจัยการผลิตมากยิ่งขึ้น

จะด้วยความโชคดีหรือโชคร้ายก็ไม่อาจทราบได้ ความหวังดีของภาครัฐและเอกชนที่ต้องการจะช่วยเหลือเกษตรกรให้พ้นจากภาวะล้มละลายและพลิกฟื้นกลับมาทำการผลิตได้อีกครั้ง ด้วยการระดมเมล็ดพันธุ์พืช และตัวอ่อนสัตว์มารวมกันแล้วนำไปมอบให้เกษตรกรเป็นการกุศล อาจทำให้เกิดปัญหาอย่างที่ผู้หวังดีคาดไม่ถึง

หากคิดในเชิงสมคบคิดก็อาจจะเห็นความแยบคายของกลยุทธ์ที่บรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรกรฉกฉวยเอาวิกฤตมาพลิกเป็นโอกาสอย่างชัดเจน   เนื่องจากบรรษัทเหล่านี้หวังที่จะนำเมล็ดพันธุ์ และตัวอ่อนของบรรษัทตนไปขายให้เกษตรกรใช้จนติดและต้องมาซื้อไปผลิตซ้ำๆแล้วซ้ำเล่าในฤดูกาลต่อไป   แต่เกษตรกรจำนวนมากที่มีการเก็บรักษาพันธุกรรมเหล่านั้นหลุดรอดพ้นบ่วงมาได้ด้วยพันธุกรรมที่ตนสะสมไว้หลายชั่วอายุคน   

เมื่อน้ำท่วมขังต่อเนื่องยาวนานทำให้พันธุกรรมเหล่านี้สูญหายไปอย่างมาก  บรรษัทเกษตรสามารถยื่นพันธุกรรมพืชและสัตว์ของตนให้ภาคเอกชนและภาครัฐนำไปทำการกุศลโดยแจกจ่ายไปยังเกษตรกรหลายพื้นที่ จนเกษตรกรต้องใช้พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ของบรรษัทที่ตัดแต่งพันธุกรรมให้เป็นหมันทำให้ต้องซื้อใหม่ทุกฤดูกาลเพราะของบรรพบุรุษก็สูญหาย ส่วนของบรรษัทก็เก็บมาใช้ในฤดูกาลถัดไปไม่ได้เพราะเป็นหมัน   หรือต้องเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชซึ่งเหมาะที่จะเลี้ยงด้วยอาหารและยาของบรรษัทและเป็นหนี้สินกับบรรษัทมากยิ่งขึ้น มีอำนาจต่อรองน้อยลงไปทุกที 

หากเราเป็นห่วงเกษตรกรจริงก็ขอความกรุณาทุกท่านที่มีจิตอันเป็นกุศลช่วยนำพาพันธุ์พืชพันธ์สัตว์ของเกษตรกรในพื้นที่อื่นมามอบให้แก่เกษตรกรด้วยกันเพื่อรักษาสายใยเกษตรกรรมที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและธรรมชาติ แทนที่จะนำพันธุกรรมของบรรษัทมามอบให้เกษตรกร   

ไม่อย่างนั้นความหวังดีของทุกท่านก็อาจเป็นความประสงค์ร้ายต่อเกษตรกรเมื่อท่านได้อ่านและรับรู้เรื่องราวผ่านบทความนี้แต่ยังไม่เปลี่ยนวิธีการส่งมอบพันธุกรรมให้แก่เกษตรกร

น้ำที่ท่วมเรือกสวนไร่นาของเกษตรกรที่แห้งไปแล้ว ก็จะเปลี่ยนเป็นหนี้สินที่จะพอกพูนเพิ่มขึ้นมาท่วมปากเกษตรกรต่อไป

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธรรมศาสตรา: สนทนาธรรมกับ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งคณะนิติราษฎร์ (ตอนที่ 1)

Posted: 28 Jan 2012 01:19 AM PST

"วิจักขณ์ พานิช" สนทนาธรรมกับ "อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์" แห่งคณะนิติราษฎร์ ชวนคุยในประเด็นธรรมะกับการเมือง ตอนที่ 1 ศรัทธาที่เป็นเหตุเป็นผล

 
(๑) ศรัทธาที่เป็นเหตุเป็นผล
 
วิจักขณ์: วันนี้มาแปลกนิดนึงนะครับ คืออยากชวนอาจารย์คุยในประเด็นธรรมะกับการเมือง ก่อนอื่นอยากถามว่า อาจารย์วรเจตน์มีความสนใจเรื่องศาสนาอยู่บ้างไหมครับ 
 
วรเจตน์: ตอนสมัยเรียนอยู่มัธยม หรือสมัยมหาวิทยาลัยช่วงที่สนใจการเมืองเยอะๆ  ผมก็แอนตี้เรื่องศาสนาอยู่เหมือนกันนะ คือ การสอนศาสนาในโรงเรียนเป็นเรื่องของการให้ท่องจำ แล้วก็บังคับให้เชื่อ พอดีผมก็เป็นพวกที่ไม่ค่อยชอบเชื่ออะไรง่ายๆ ประกอบการเรียนในชั้นเรียนวิชาพุทธศาสนา ก็มีแต่สอนให้ท่องธรรมะข้อนั้นข้อนี้ แล้วก็เวลาสอบก็ท่องไปตอบ เช่น พรหมวิหาร 4 มีอะไร... ผมเลยไม่ค่อยชอบ เพียงแต่ว่าการไม่ชอบก็อยู่ในใจ ไม่ได้แสดงออกมาทางภายนอกมาก ก็อาจมีถกเถียงกับเพื่อนที่สนใจเรื่องนี้บ้าง
 
ที่นี้พอเราโตมากขึ้น เห็นโลกมากขึ้น สงสัยมากขึ้น ก็ศึกษามากขึ้น  จุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตของผมครั้งหนึ่ง ก็คือ คุณพ่อผมเสียตอนที่ผมกำลังจะขึ้นปี 2 ซึ่งก็กระทบกับทางบ้านเยอะ  พูดง่ายๆ คือ ต้องรีบเรียนหนังสือให้จบออกมาทำงาน  มันก็เป็นธรรมดา พอเราเสียเสาหลักไป... คือ ผมรักคุณพ่อมาก สนิทกันมากเลย... เราก็รู้สึกเหมือนว่าอะไรบางส่วนของเราหายไป ก็เลยพยายามแสวงหาว่า โลกมันคืออะไร ชีวิตคืออะไร ทำไมมันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นกับเรา ที่นี้ทางบ้านเค้าก็เชื่อแบบในแง่วิญญาณอะไรไป แต่สำหรับผม การตายของพ่อก็ทำให้ผมเริ่มสนใจอะไรในด้านนี้ขึ้นมาบ้าง
 
แต่สิ่งที่ผมสนใจมากๆ ก็คือ ปรัชญา ที่นี้พอสนใจปรัชญา ก็หนีไม่พ้นที่ต้องมาสนใจศาสนาด้วย เหมือนเป็นของคู่กัน ผมชอบมากๆ ตอนที่หลุดออกจากโรงเรียนในชั้นมัธยมมาได้ ตอนนั้นผมสอบเทียบแล้วได้เข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ พอเข้ามหาวิทยาลัย เราก็ได้เรียนวิชาที่เราอยากเรียน วิชานึงที่ผมเลือก ก็คือ วิชาปรัชญาพื้นฐาน เพื่อนๆ ก็พยายามท้วงว่าอย่าไปเรียน วิชานี้มันยาก คือปกติในมหาวิทยาลัยรุ่นพี่ก็พยายามช่วยจัด แนะนำว่าให้ลงวิชานี้สิง่าย ลงเซ็คชั่นนี้กับอาจารย์คนนี้นะ จะได้เกรดดี  แต่ผมเป็นคนไม่สนใจรุ่นพี่ ผมก็เลยจัดวิชาที่ผมอยากเรียนเอง...  คือมหาวิทยาลัยมันก็ดีอย่างนี้ เราได้เรียนในสิ่งที่เราชอบ แล้วมันก็เสรีในแง่ที่ไม่มีใครมาบังคับเรา มันเปลี่ยนจากการอยู่ในกรอบแบบโรงเรียน ที่บังคับให้ต้องตัดผมสั้นเท่านี้ ต้องเรียนร.ด. ซึ่งบางเรื่องผมรู้สึกว่ามันไร้สาระ แล้วมันก็ไม่ได้ช่วยพัฒนาอะไรในตัวเรา สิ่งแวดล้อมแบบมหาวิทยาลัยทำให้ผมมีความสุขมากๆ พอเราเรียนแบบมีความสุขก็เรียนได้ดี
 
ด้วยรูปแบบการเรียนช่วงมหาวิทยาลัย ท้ายๆ ผมก็เริ่มสนใจศาสนาพุทธแล้ว แต่จุดที่ทำให้ผมสนใจศาสนาพุทธมาก ก็คือตอนที่ผมได้รับทุนอานันทมหิดลไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมัน ตอนนั้นผมเรียนที่เมืองกัทธิงเน่น  ก่อนรวมประเทศเมืองนี้จะอยู่เกือบๆ ชายแดนระหว่างฝั่งเยอรมันตะวันออกกับเยอรมันตะวันตก แต่พอรวมประเทศแล้ว กัทธิงเน่นก็อยู่ตรงกลาง ที่นี้ที่เมืองนี้ คือ ตอนแรกผมก็ไม่รู้หรอก พอไปเรียนก็ได้รู้ว่า มันเป็นศูนย์กลางของการศึกษาพุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่ง โปรเฟสเซอร์ทางด้านพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงก็อยู่ที่นี่  ในเมืองจะมีศูนย์พุทธศาสนาอยู่บนเขา ผมก็จะชอบขี่จักรยานขึ้นเขาไปที่นี่  มันเป็นบ้านของโปรเฟสเซอร์ที่เค้าเคยสอนอยู่ที่นี่ แล้วภายหลังก็อุทิศให้กับมหาวิทยาลัย  แล้วก็เหมือนเป็นห้องสมุดที่มีหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาค่อนข้างเยอะ ผมก็เริ่มศึกษา เริ่มอ่าน บางทีก็ซีร็อกซ์เก็บไว้ก็มี
 
การศึกษาพุทธศาสนาแบบตะวันตกจะมีลักษณะที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นศาสตร์มากขึ้น ซึ่งเราก็เข้าสู่ความรู้สึกนึกคิดทางพุทธศาสนาผ่านในแง่ความมีเหตุมีผลเชิงวิชาการเข้าไป อ่านทั้งหนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์พระพุทธเจ้า และหนังสือที่อธิบายคำสอนพระพุทธเจ้าในแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจ 
 
จริงๆ ผมก็เอาหนังสือจากเมืองไทยไปด้วยหลายเล่มเหมือนกัน เล่มหนึ่งคือ หนังสือพุทธธรรม ของท่านพระธรรมปิฎก และหนังสือบางเล่มของ อ.สมภาร พรมทา ช่วงนึงตอนที่ผมจบปริญญาโทแล้วกลับมาเมืองไทย ผมก็เริ่มมีความสนใจมากขึ้น ทำให้ผมศึกษาค้นคว้า แล้วก็พบว่า คำสอนในศาสนาพุทธหลายๆ เรื่องก็มีเหตุมีผลในเชิงที่ทำให้เราเข้าใจโลกและเข้าใจชีวิตมากขึ้น  แต่ผมก็ไม่ได้เป็นคนที่สนใจพุทธศาสนาในลักษณะปฏิบัติธรรมแบบเคร่งครัด ก็อยู่แบบโลกย์ๆ นี่แหละ ก็ใช้ข้อธรรมบางข้อที่พระพุทธเจ้าสอนแล้วรู้สึกกินใจเรา เวลาที่เรามีปัญหาทุกข์ใจ เราก็ใช้การระลึกเอา อย่างเช่น เจริญมรณานุสติ ระลึกดูว่าจริงๆ ชีวิตเรามันก็สั้น วันนึงก็ต้องตาย สุดท้ายก็เอาอะไรไปไม่ได้หมด เราเกิดมาชั่วเวลาหนึ่งก็ต้องตาย โลกนี้เป็นของชั่วคราว คือ ผมว่าเวลามีปัญหาเกิดขึ้นกับตัวเรา แล้วเราสามารถมองโลกและจักรวาลในมิติที่มันกว้าง เราก็จะรู้สึกว่าเราก็เป็นแค่สิ่งเล็กมากๆ ในจักรวาล ปัญหาที่เรารู้สึกว่ามันใหญ่มาก เกิดขึ้นในชั่วพริบตาเดียว เดี๋ยวมันก็จะหายไป  คือในแง่นี้ เวลาที่มีปัญหาหลายอย่างรุมเร้า มันก็ช่วยในแง่ของจิตใจทำให้เราเข้มแข็ง ศาสนาก็จะช่วยผมในแง่นี้มากกว่า แต่ถึงขนาดนั่งสมาธิ ลงลึกไปในทางจิตวิญญาณ ผมยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะว่ามันก็ยังถูกร้อยรัดกับเรื่องของโลกย์ๆ  ก็พยายามทำบ้าง แต่ก็ไม่ได้ถึงขนาดประสบความสำเร็จอะไร และส่วนตัวมีความรู้สึกว่า เรื่องในทางจิตเนี่ยเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน มันยาก แล้วก็หลงทางได้ง่าย  ถ้าเราไปผิดทางเนี่ย มันก็จะผิดไปเลย การทดลองอะไรกับเรื่องจิตเป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวังมากๆ เพราะว่าถ้าหลงทาง มันก็อาจจะหลงไปไกลจนกู่ไม่กลับ 
 
อีกอย่างนึง คือเวลาที่พูดว่าผมสนใจเรื่องพุทธเนี่ย ผมก็ไม่ได้ติดว่าตัวเองต้องเป็นคนดีอะไรมากมาย  คือความรู้สึกของผม การเป็นคนดีก็คือ แค่เราไม่ทำอะไรให้คนอื่นเดือดร้อน แล้วก็ทำอะไรให้คนอื่นบ้าง แต่ว่าชีวิตที่ใช้ ก็เป็นชีวิตแบบโลกย์ๆ ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่บริสุทธิ์อะไรเลย เป็นคนธรรมดามากๆ  สำหรับผมถ้าก้าวไปสูงกว่านั้นได้ก็ดี แต่ถ้าไม่ถึงขั้นนั้น เราอยู่กับโลกย์ๆ เราก็ไม่ควรจะต้องรู้สึกผิดอะไร ตราบที่เราไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน และเบียดเบียนตัวเองมากจนเกินไป 
 
วิจักขณ์: ถึงตอนนี้ความรู้สึกแอนตี้ศาสนามันหายไปมั๊ยครับ
 
วรเจตน์: ตอนนี้ก็ไม่ได้รู้สึกอะไรแล้ว เพราะพอเราได้ศึกษาเองมากขึ้น เราก็เห็นเหตุเห็นผลในคำสอนพระพุทธเจ้าด้วยตัวเราเองมากขึ้น คือบางทีพุทธศาสนามันอาจจะมาพร้อมกับการเติบโตของชีวิตด้วย  แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ยึดติดกับมันมากเกินไป 
 
มองย้อนกลับไป สิ่งที่ผมมีปัญหากับพุทธศาสนาในบ้านเรา มันอาจจะไม่ใช่ตัวพุทธศาสนาเอง แต่เป็นรูปแบบการนำเสนอหรือการสอนบางอย่างที่มันเป็นตำนานเสียมาก แล้วเวลาสอนก็เป็นลักษณะท่องจำ ผมไม่รู้สึกว่าเราจะได้อะไรจากการจำธรรมะได้เยอะๆ  อีกอย่างคือในเรื่องความเชื่อทำไมต้องบังคับ ทำไมไม่ปล่อยให้คนศึกษา แล้วตัดสินใจเอง ผ่านการคิดตรึกตรองของเขา แล้วรู้สึกว่าเหมาะกับจริตของเขา
 
ประสบการณ์ของผมในโลกตะวันตก อย่างในชั้นเรียนที่เยอรมัน ก็มีคนถามผมว่าผมเชื่อพระเจ้ามั๊ย ผมก็บอกว่าผมไม่เชื่อพระเจ้า โดยผมบอกเขาไปว่า ถ้าพระเจ้ามีจริงแบบตำนานว่าไว้เนี่ย แล้วพระเจ้าสร้างโลก สร้างมนุษย์อะไรจริง ทำไมถึงสร้างให้มันมีความแตกต่างกันเยอะแยะขนาดนี้ ทำไมถึงสร้างให้มันมีความดีความชั่ว ทำไมไม่สร้างโลกนี้ให้มันดีพร้อมไปเลย แล้วผมก็รู้สึกว่าคำอธิบายนี้มันไม่ค่อยตรงกับจริตของผมเท่าไหร่ แต่สุดท้ายผมก็มองว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน  ผมก็มองว่าพระเจ้าอาจจะมีในหลายความหมายก็ได้  อาจจะไม่ได้มีความหมายในแบบที่เป็นอะไรบางอย่างซึ่งมีเจตจำนงในการเนรมิตทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างที่สอนๆ กันมา แต่อาจจะมีหลายๆ นัยยะ เพราะฉะนั้น พระเจ้าในลักษณะที่เป็นพระผู้สร้างนั้นผมไม่เชื่อ แต่ในเซ้นส์อื่นนั้นผมไม่รู้  คืออย่างในทางพุทธเนี่ย ทุกอย่างมันก็เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยทั้งนั้น หากจะสืบสาวหาจุดเริ่มต้น และจุดจบก็ไม่ได้ เอาเข้าจริงมันก็อยู่ตรงระหว่างทั้งสิ้น แต่ถ้ามากไปกว่านั้นเกี่ยวกับโลก กับชีวิต ผมก็ไม่รู้หรอก ก็รู้เท่านี้แหละ แต่ถ้าถามว่าผมเชื่อมั๊ยว่ามีใครเป็นคนบงการ สร้างโลกอะไรแบบนี้ ผมไม่เชื่อ
 
 
(บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้มี 5 ตอน โปรดติดตามตอนที่ 2 เร็วๆ นี้)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยูนิเซฟเผย มีเด็กเสียชีวิตในเหตุรุนแรงซีเรียแล้ว 384 ราย

Posted: 28 Jan 2012 01:06 AM PST

เหตุรัฐบาลสังหารหมู่ประชาชนในซีเรียระลอกล่าสุดเกิดขึ้นตามเมืองสำคัญต่างๆ โดยฝ่ายรับบาลใช้อาวุธหนักอย่างปืนกล ปืนครก จรวด ยิงถล่มเข้าใส่ ด้านองค์กรพิทักษ์เด็กเผยมีเด็กเสียชีวิตรวมแล้ว 384 ราย และมีถูกกุมขังอีก 380 รายนับตั้งแต่การลุกฮือ 10 เดือน
 
 
องค์กรพิทักษ์สิทธิเด็ก (UNICEF) กล่าวเมื่อวันที่ 27 ม.ค. ว่านับตั้งแต่การลุกฮือในซีเรีย มีเด็กถูกสังหารรวมแล้วอย่างน้อย 384 ราย และมีจำนวนใกล้เคียงกันที่ถูกกุมขัง (ที่มาภาพ:  Aljazeera)
 
27 ม.ค. 2012 - นักกิจกรรมในซีเรียเปิดเผยว่ากองกำลังฝ่ายรัฐบาลได้ทำการล้อมปราบประชาชนในเมืองฮอมของประเทศซีเรียจนมีผู้เสียชีวิตอีกราว 30 ราย
 
โดยกองกำลังฝ่ายรัฐบาลได้ใช้ปืนครกและปืนกลยิงเข้าใส่ ซึ่งถือเป็นความรุนแรงครั้งหนักสุดนับตั้งแต่มีการลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลอัสซาด 10 เดือนที่ผ่านมา
 
นอกจากนี้แล้วยังมีรายงานว่าเกิดเหตุระเบิดรถยนต์ที่จุดตรวจนอกเมืองอิดหลิบ โดยทางองค์กรเฝ้าระวังเรื่องสิทธิมนุษยชนในซีเรีย (SOHR) รายงานเรื่องนี้ผ่านผู้พบเห็นเหตุการณ์โดยยังไม่ทราบข้อมูลความเสียหาย
 
กลุ่มตัวแทนสันนิบาตชาติอาหรับที่เข้ามาสังเกตการณ์เหตุในซีเรียเปิดเผยว่ามีเหตุรุนแรงสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อช่วง 3 วันที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเมือง ฮอม, ฮามา และ อิดลิบ
 
นายพล โมฮัมเมด อาห์เมด มุสตาฟา อัล-ดาบี ตัวแทนสันนิบาตฯ จากซูดาน แถลงว่า สถานการณ์ความรุนแรงในปัจจุบันนี้ไม่ได้ทำให้เกิดบรรยากาศที่ทุกๆ ฝ่ายลงมานั่งพูดคุยเจรจากัน และนายพลจากซูดานยังได้เรียกร้องให้หยุดการกระทำรุนแรงเพื่อปกป้องประชาชนชาวซีเรียและหาหนทางแก้ปัญหาอย่างสันติ
 
 
เหตุสังหารหมู่ที่น่าหวาดผวา
 
เหตุสังหารหมู่ในเมืองฮอมเริ่มต้นในช่วงก่อนรุ่งสาง โดยเริ่มโจมตีจากย่าน คาม อัล-เซตุน ผู้อยู่อาศัยในเมืองประสบความยากลำบากเนื่องจากมีเสียงปืนยิงอยู่ตลอดเวลา
 
"มันเป็นการสังหารหมู่ที่น่าหวาดกลัว" รามี อับดุล-ราห์มัน ผู้อำนวยการ SOHR กล่าว และเรียกร้องให้มีการสอบสวนเหตุสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. ด้วย
 
กลุ่ม LCC ซึ่งเป็นกลุ่มแนวร่วมผู้ประท้วงต่อต้าน ปธน. อัสซาด เปิดเผยว่าฝ่ายรัฐบาลได้ใช้ปืนใหญ่และจรวดขีปนาวุธยิงถล่มย่าน บับ เซบา นอกจากนี้ยังได้ยินเสียงสู้รบเกิดขึ้นที่เขต บาบา อัมโร ด้วย
 
SOHR บอกอีกว่าในใจกลางเมืองฮามา ก็ถูกโจมตีในช่วงเช้าวันที่ 27 ม.ค. โดยมีการยิงปืนกลหนักและมีเสียงระเบิดให้ได้ยิน
 
 
ยูนิเซฟเผย มีเด็กเสียชีวิตในเหตุรุนแรงซีเรียแล้ว 384 ราย
 
ที่เขตชานเมืองของดามากัส มีเด็กอายุ 11 ปีถูกสังหารที่จุดตรวจในฮามูริเยห์ และในอเลปโป เมืองที่ใหญ่รองจากกรุงดามากัสก็มีประชาชนเสียชีวิต 2 รายเมื่อเจ้าหน้าที่สั่งว่า "ยิงไม่เว้น"
 
องค์กรพิทักษ์สิทธิเด็ก (UNICEF) กล่าวเมื่อวันที่ 27 ม.ค. ว่านับตั้งแต่การลุกฮือในซีเรีย มีเด็กถูกสังหารรวมแล้วอย่างน้อย 384 ราย และมีจำนวนใกล้เคียงกันที่ถูกกุมขัง
 
"จนถึงวันที่ 7 มกราคม มีเด็กถูกสังหารแล้ว 384 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชาย มีเด็กถูกกุมขัง 380 ราย บางคนอายุต่ำกว่า 14 ปี" ริมา ซาลาห์ รักษาการผู้อำนวยการ UNICEF กล่าว โดยบอกอีกว่าทาง UNICEF มีพันธะต้องปกป้องและรักษาสิทธิเด็กในซีเรีย
 
"ที่ทำการของพวกเราในซีเรียยังคงทำงานอยู่ พวกเราคอยปรึกษาหารือกับรัฐบาลและภาคประชาสังคมอยู่ตลอดเวลา" ริมากล่าว
 
ก่อนหน้านี้การสำรวจตัวเลขเด็กผู้เสียชีวิตในซีเรียอยู่ที่ 307 ราย ซึ่งเป็นข้อมูลจากการแถลงข่าวของข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ นาวี พิลเลย์ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2011
 
ที่มา: 
Syria activists report 'massacre' in Homs, Aljazeera, 27-01-2012
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/01/2012127132326703799.html
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: พัดลมนิติราษฎร์

Posted: 28 Jan 2012 12:56 AM PST

สถานการณ์วันนี้ ดูเหมือนถ้าใครไม่รุมกระทืบนิติราษฎร์ ก็จะกลายเป็นตกกระแส ไม่ทันแฟชั่น เอาเป็นว่าแม้แต่ออเหลิม ยังอัดนิติราษฎร์ว่าคิดสุดโต่ง ทำบ้านเมืองวุ่นวาย กินยาผิดซอง คิดว่าตัวเองหล่อ ฯลฯ ขณะที่ยิ่งลักษณ์ก็บอกปัดว่าอย่าเอาสถาบันมาเกี่ยวข้องกับเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่ก็ถือเป็นเรื่องดีนะครับ พูดกันเข้าไปเหอะ จะได้ชัดเจนว่าทุกฝ่ายไม่สนับสนุนนิติราษฎร์ เหลือแต่มวลชนจริงๆ ที่สนับสนุนนิติราษฎร์ ฉะนั้นคนที่จะร่วมลงชื่อแก้ ม.112 ก็จะเป็นมวลชนที่เข้าใจและเชื่อถือ อ.วรเจตน์มากกว่านักการเมืองอย่างออเหลิม ใจผมอยากให้ทักษิณโฟนอินมาขอร้องคนเสื้อแดงไม่ให้ลงชื่อกับนิติราษฎร์ด้วยซ้ำ จะได้ชัดเจนแจ่มแจ้งว่ามวลชนพร้อมจะ “ก้าวข้าม” ทักษิณหรือไม่

รีบๆ ทำนะครับ เพราะถึงอย่างไร ฝ่ายตรงข้ามเขาก็จะกล่าวหาว่าทักษิณและ นปช.แอบสนับสนุน ล่ารายชื่อให้นิติราษฎร์อยู่ดี
 
ผมไม่ได้แปลกใจอะไรที่นักการเมืองอย่างออเหลิม เสธหนั่น ออกมาด่าทอนิติราษฎร์ เพราะสถานการณ์ขณะนี้ ชนชั้นนำทั้งสองฝ่าย “เกี้ยเซี้ย” กันชั่วคราว แบบกึ่งจับมือ กึ่งแย่งยื้ออำนาจ มหาภัยน้ำท่วมใหญ่ทำให้ทั้งทุนเก่าทุนใหม่ กลัวต่างชาติถอนการลงทุน จึงต้องพักรบมาร่วมมือกัน แบบมือหนึ่งประสานกัน อีกมือหนึ่งไขว้มีดไว้ข้างหลัง
 
วิสัยนักการเมืองเมื่อเล็งเห็นว่าจะได้อยู่ในอำนาจยาว ได้เสวยผลประโยชน์อำนาจวาสนา ก็อยากจะให้สภาพแบบนี้ดำรงอยู่นานๆ ไม่อยากเห็น “บ้านเมืองวุ่นวาย” พรรคเพื่อไทยอาจต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจมากขึ้น แต่วิธีแสวงหาอำนาจของนักการเมืองไม่จำเป็นต้องพึ่งกติกาแต่อย่างเดียว พวกเขายังแสวงอำนาจได้ด้วยพวกพ้อง ผลประโยชน์ อิทธิพล ที่จะเอาไว้ใช้ต่อรองกับขั้วตรงข้าม
 
ฉะนั้น เมื่อนิติราษฎร์เป็นหัวหอกของพลังที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มันก็ไปกระทบสถานภาพของนักการเมืองที่กำลังจะ “เข้าที่เข้าทาง”
 
เรื่องโจ๊กปนสังเวชคือ พรรคประชาธิปัตย์ดันออกมาค้านโมเดลคณะจัดทำรัฐธรรมนูญ 25 คนของนิติราษฎร์ ซึ่งเสนอให้จัดโควตาจากสภาผู้แทนราษฎร 20 คน จาก สว.เลือกตั้ง 3 คน และจาก สว.สรรหา 2 คน
 
สกลธี ภัททิยะกุล ลูกชาย คมช.อ้างว่าเป็นการล็อกสเปกให้พรรคเพื่อไทยซึ่งมีเสียงข้างมาก ขณะที่จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ อ้างว่าต้องการให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อล้างผิดให้ทักษิณ
 
ผมไม่แปลกใจที่พรรคเพื่อไทยค้าน เพราะโมเดลนี้แปลว่ารัฐบาล 300 เสียงจะมีตัวแทนในคณะร่างรัฐธรรมนูญแค่ 12 คน ต้องไปลุ้นใน สว.เลือกตั้งว่าจะได้ฝ่ายรัฐบาลเข้ามากี่คน แต่ถ้าเลือกตั้ง สสร.77 จังหวัด ตามโมเดลของออเหลิม รัฐบาลกวาดมาแหงๆ เกินครึ่ง พอมาเลือก สสร.วิชาชีพอีก 22 คน รัฐบาลก็ล็อกสเปกได้เกือบหมด
 
คอลัมนิสต์หัวสีบางรายด่านิติราษฎร์ว่า จะให้ตัวแทนนักการเมืองเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง โห ทำข่าวมาจนหัวหงอกหัวดำกันแล้ว ทำไมยังไร้เดียงสา คิดว่าเลือก สสร.แล้วจะได้ตัวแทนประชาชนอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมอยู่หรือ (หรือแกล้งไร้เดียงสา) สื่อพวกนี้สมองคิดเป็นแต่ว่า ไม่ควรให้นักการเมืองร่างรัฐธรรมนูญ ต้องให้รัฐประหารร่างรัฐธรรมนูญ
 
ถ้ามองตามความเป็นจริงอย่างนี้ จึงสังเวชพรรคแมลงสาบว่า นิติราษฎร์โมเดลอุตส่าห์วางหลักประกันไม่ให้เสียงข้างมากฮุบหมด ก็ยังโดน ปชป.ด่า นิติราษฎร์โมเดลรับประกันว่า ปชป.มี ส.ส.159 คน จะมีตัวแทนอย่างน้อย 6 คน ฝ่ายค้าน 200 คน จะมี 8 คน แถมยังมีตัวแทนอำมาตย์จาก สว.สรรหาอีก 2 คน ที่เหลือไปวัดใจกันใน สว.เลือกตั้ง ขนาดนี้ก็ยังโดน ปชป.ด่า
 
แมลงสาบแพ้เลือกตั้ง แมลงสาบก็ต้องมีเสียงน้อยกว่าอยู่แล้ว มาโวยวายได้ไงว่าให้เพื่อไทยได้เสียงข้างมาก หรือต้องออกแบบให้แมลงสาบมีตัวแทนมากกว่า ถึงจะพอใจ
 
โมเดลนี้ผมรู้ตั้งแต่แรกว่าไม่มีใครยอมรับหรอกครับ แม้แต่มวลชนเสื้อแดง แต่คอยดูเถอะ หลังเสียเงินเลือกตั้ง 2 พันล้าน เสียเวลาเพิ่ม 3-4 เดือน เราก็จะได้ สสร.ออกมาในสัดส่วนคล้ายๆ กัน เผลอๆ รัฐบาลจะฮุบได้มากกว่าด้วยซ้ำ
 
จรรยานักวิชาการ
ผมไม่ค่อยแปลกใจที่ อ.วรเจตน์ ถูกพาดพิงว่า “เนรคุณทุนอานันท์” เพราะก่อนหน้านี้ วรเจตน์เคยกล่าวว่านักกฎหมายมหาชนถ้ายอมรับรัฐประหารก็เท่ากับศีลขาด ต้องอาบัติปาราชิก
 
ใครเนรคุณ ใครปาราชิก วรเจตน์กับบวรศักดิ์รู้แก่ใจดี
 
บวรศักดิ์รับใช้รัฐบาลทักษิณมาก่อน บวรศักดิ์-วิษณุ เป็นคู่หูเนติบริกรที่ร่างและตีความกฎหมายสนองอำนาจ “ทุนผูกขาด” (อย่างที่พวกสยามประชาภิวัฒน์เขาเรียก) ยกตัวอย่างเช่น บวรศักดิ์เป็นเลขาธิการ ครม.เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ให้องค์ประชุมคณะรัฐมนตรีมีเพียง 1 ใน 3 และให้นายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 1 คนขึ้นไปออกมติ ครม.ได้ในกรณีที่เป็นเหตุจำเป็นฉุกเฉิน
 
ครั้งนั้น ผมสัมภาษณ์วรเจตน์ลงไทยโพสต์แทบลอยด์ ฉบับวันที่ 6 มีนาคม 2548 วิพากษ์ “พรฎ.กึ่งประธานาธิบดี” ว่าเป็นการตีความแบบศรีธนญชัยที่ว่าไม่เคยมีกฎหมายกำหนดให้องค์ประชุม ครม.ต้องเกินกึ่งหนึ่ง ทั้งที่หลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งอยู่ในสามัญสำนึกของผู้คน องค์ประชุมระดับบริษัท ระดับหมู่บ้าน ไปถึงระดับชาติ อย่างน้อยต้องเกินกึ่งหนึ่ง
 
วรเจตน์ยังกล่าวคำคมไว้หลายตอน ที่ย้อนอ่านแล้วผมอึ้ง เช่น
 
"แน่นอนว่าวันนี้เราไปได้   แต่วันหนึ่งระบบอย่างนี้มันอาจจะไปไม่ได้เสมอ  เป็นจุดซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะหันมาเห็นด้วยกับฝ่ายข้างน้อยวันนี้  แล้วเมื่อวันนั้นอำนาจอยู่กับอีกกลุ่มหนึ่ง  ซึ่งในวันนั้นเป็นข้างน้อยไปแล้วล่ะ  น่าวิตก  วันนี้มันยังไม่เป็นอะไร  มันก็อยู่กันไป  อย่างผมเป็นฝ่ายข้างน้อยอยู่เนืองๆ   ผมก็รับสภาพไป   อย่างเรื่องนี้อีกไม่กี่วันมันก็สลายไปกับสายลม  ไม่มีใครพูดถึง   แต่หลักกฎหมายได้ถูกกัดเซาะ    ผมถึงบอกว่ามันมีบาดแผลเพิ่มขึ้นอีกบาดแผลหนึ่ง   ทิ้งริ้วรอยความบอบช้ำให้กับกฎหมายไทย  จนถึงวันหนึ่ง  เมื่อสภาพเสียงมันเปลี่ยนและอำนาจอยู่ในมือฝ่ายข้างน้อย  มันมีแรงกดดันแบบนั้นแล้วยังไม่ทำอะไรอีก  มันอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากข้างนอกระบบกฎหมายเข้ามา    ผมไม่อยากให้เป็นแบบนั้นในฐานะที่ผมเป็นนักกฎหมาย  ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในระบบโดยสันติ"
 
"ตอนกลับมาจากเมืองนอกใหม่ๆ  มีคดีท่านนายกฯ  ทักษิณ  ผมพูดในรายการยูบีซี  ผมบอกว่าคดีซุกหุ้นมันไม่ทำให้บ้านเมืองพังพินาศลงไปในวันนี้หรอก  เรื่องในทางกฎหมายที่หลักมันผิดมันเพี้ยนไป  มันไม่ทำให้บ้านเมืองพังพินาศไปหรอก  แต่มันจะค่อยๆ  กัดเซาะกัดกร่อนไป  รากฐานการปกครองโดยเอากฎหมายเป็นกติกาของสังคม  มันจะไม่หยั่งลึกลงไป  มันจะอ่อนแอ   ถ้าเป็นต้นไม้ก็คือมันจะไม่แข็งแรง  มันมีโรคมันถูกชอนไชตลอด   มันอาจจะไม่ตายแต่ไม่โตไม่งอกงาม   ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ  แทนที่ไม่โตไม่งอกงาม   มันจะตายด้วย  ผมบอกว่าไม่ต้องตกใจหรอกที่ผมออกมาพูดอย่างนี้  บ้านเมืองไม่พังไปในวันสองวัน  แต่ผมเตือนเอาไว้ว่ามันทำให้การปกครองโดยนิติรัฐของเราหยั่งลึกลงไปไม่ได้”
 
ก่อนรัฐประหาร ไม่ทราบว่ามีการส่ง sign อะไร วิษณุ-บวรศักดิ์ ลาออก โดดหนี “เรือโจร” ที่ร่วมหัวจมท้ายกันมานาน แล้วหลังการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ที่บวรศักดิ์ร่างมากับมือ บวรศักดิ์ก็ไปเป็น สนช.พร้อมกับสะด๊วบตำแหน่งเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่ อ.นรนิติ เศรษฐบุตร ลาออกไปเป็นประธาน สสร. ต่อมา เมื่อรัฐธรรมนูญ 50 กำหนดให้มีสภาพัฒนาการเมือง สนช.ก็ผ่านร่างสภาพัฒนาการเมือง ให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นหน่วยงานดำเนินการ โดยมีเงินอุดหนุน
 
ตอนนั้นเครือข่าย NGO พวกคุณรสนา คุณสารี อ๋องสมหวัง คุณสมชาย หอมละออ รวมทั้งหมอตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ก็ยื่นคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี้ โดยมีหลายสาเหตุ แต่ประเด็นหนึ่งคือมีผลประโยชน์ทับซ้อน
 
“การแต่งตั้งคณะผู้พิจารณาร่างกฎหมายนี้ในการทำหน้าที่ไม่มีความเหมาะสม ขาดความชอบธรรม และมีผลประโยชน์ทับซ้อน คือ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) ที่พิจารณาร่างกฎหมายนี้ เป็นประธาน สนช. ด้วย ในขณะเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม เป็นกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ.สภาพัฒนาการเมืองของ สนช. มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นเลขาธิการคนแรก และเลขาธิการคนปัจจุบันของสถาบันพระปกเกล้า และยังมีนางถวิลวดี บุรีกุล เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในขณะเดียวกันเป็นผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา ของสถาบันพระปกเกล้าอยู่ด้วย รวมทั้งกรรมาธิการส่วนใหญ่ชุดนี้เคยได้รับการอบรมและมีความใกล้ชิดกับสถาบันพระปกเกล้ามาก่อนด้วย ดังนั้น การที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และบรรดาผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสถาบันพระปกเกล้าซึ่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญฯ ทำการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่สถาบันพระปกเกล้าทั้งที่ภารกิจของสถาบันไม่เกี่ยวข้องกับสภาพัฒนาการเมืองและแก้ไขให้ตนมีอำนาจมากขึ้นทั้งการเข้าไปบริหารจัดการในสภาพัฒนาการเมืองและกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองจึงเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับอำนาจหน้าที่หรือผลประโยชน์ของประชาชนอันเป็นผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างชัดแจ้ง”
 
แต่กฎหมายฉบับทับซ้อนนี้ก็ผ่านออกมาบังคับใช้เรียบร้อย
 
ตลอดเวลา 7 ปีที่บวรศักดิ์สวิงกิ้งไปมาบนตำแหน่งต่างๆ วรเจตน์ก็ยังเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับแต่เงินเดือนกับเบี้ยประชุมไม่กี่บาทในฐานะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
 
แต่เมื่อเป็นข่าวปรากฏในสื่อโสมม วรเจตน์กลับถูกกล่าวหาว่ารับเงินทักษิณ ครั้งหนึ่งพวกพันธมิตรยังเอาไปลือกันว่าทักษิณจะยกลูกสาวให้
 
ถามว่าทำไมพวกพันธมิตร สื่อ นักวิชาการ ที่สนับสนุนรัฐประหาร จึงจงเกลียดจงชังวรเจตน์และนิติราษฎร์ ก็เพราะวรเจตน์และนิติราษฎร์คือก้างขวางคอชิ้นโตในการจัดการกับทักษิณด้วยรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ที่ขัดกับหลักนิติรัฐ
 
วรเจตน์และนักคิดนักเขียน นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย ที่ร่วมกันลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 ล้วนเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ “ระบอบทักษิณ” มาก่อนทั้งสิ้น คำว่า “ระบอบทักษิณ” อ.เกษียร เตชะพีระ เป็นผู้บัญญัติ ให้พันธมิตรเอาไปใช้โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ แถมยังย้อนกลับมาด่าเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยซ้ำ เมื่อให้ความเห็นไม่ถูกใจ
 
ทางแยกระหว่างเรากับพันธมิตรมาถึงเมื่อมีการเรียกร้องนายกพระราชทาน ม.7 จากนั้นก็คือการรัฐประหาร รัฐประหาร 49 แตกต่างจากครั้งก่อนๆ เพราะมีการออกแบบให้ใช้ตุลาการภิวัตน์จัดการกับทักษิณและพรรคไทยรักไทยอย่างแยบยล วางยาต่อเนื่องมาในรัฐธรรมนูญ 2550 และกลไกตุลาการฝ่ายต่างๆ
 
นักนิติศาสตร์จึงมีบทบาทสูงทั้งสองข้าง โดยเสียงข้างน้อยอยู่ฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร มีวรเจตน์เป็นหัวหอก ยืนซดกับรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ด้วยหลักการ ตั้งแต่ออกแถลงการณ์คัดค้านรัฐประหาร วิพากษ์ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคไทยรักไทย ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคย้อนหลัง เป็นหลักสำคัญในการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มาจนวิพากษ์คำพิพากษาคดีที่ดินรัชดาและคดียึดทรัพย์
 
ความมีหลักการและเหตุผลของวรเจตน์ทำให้การโต้แย้งของเขาทรงพลัง ลองคิดดูว่าถ้า ดร.เหลิมออกมาโต้แย้งแทนทักษิณในคดีที่ดินรัชดา จะมีใครซักกี่คนเชื่อ ใครเชื่อพ่อไอ้ปื๊ดก็กินยาผิดซอง
 
วรเจตน์ให้สัมภาษณ์ผมว่าคดีที่ดินรัชดาไม่ผิด ตั้งแต่ให้สัมภาษณ์ไทยโพสต์แทบลอยด์ ฉบับ 30 พ.ค.2547 “ขาประจำหัวหน้าเผ่า” วิพากษ์ทักษิณคู่กับสุรพล นิติไกรพจน์ คณบดีในขณะนั้น หลังจากคณาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 5 คนได้แก่ สุรพล, วรเจตน์, จันทจิรา เอี่ยมมยุรา, บรรเจิด สิงคะเนติ, สมศักดิ์ นวตระกูลพิสุทธิ์ เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการระดมทุนซื้อหุ้นลิเวอร์พูล
 
“ผมเองเห็นว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายอาญา   การตีความต้องจำกัดเพราะถ้ากว้างเกินไปก็ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตัวกฎหมาย   จึงเรียนว่าที่มีอำนาจกำกับดูแล  ถ้าเป็นนายกฯ  คงไม่หมายถึงว่าคนที่เป็นภรรยาทำสัญญาอะไรกับรัฐไม่ได้เลย  มันต้องมีระดับความเข้มข้นในการกำกับดูแลตามสมควร  อันที่สองที่จะต้องพิจารณาก็คือลักษณะของสัญญา  ตรงนี้ยาก  มันมีข้อจำกัดว่าจะขีดเส้นตรงไหน   ส่วนตัวผมเห็นว่าสัญญาที่จะเข้ามาตรา 100 ต้องเป็นสัญญาที่หน่วยงานสามารถใช้ดุลพินิจเอื้อประโยชน์แก่คู่สัญญาได้  เช่น  เวลามีการประมูลงาน   มีคนยื่นข้อเสนอเข้ามา  คนยื่นข้อเสนอไม่ได้เป็นคู่สัญญาทันที  แต่จะต้องผ่านการตัดสินใจของหน่วยงาน  หัวหน้าหน่วยงานมีดุลพินิจที่จะตัดสินใจเข้าทำสัญญาหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนี้กรณีย่อมต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 100 นี่คือการขจัดประโยชน์ที่ทับซ้อนกันหรือป้องกันไม่ให้เกิดประโยชน์ทับซ้อน แต่ถ้าเป็นการขายทอดตลาดทั่วไปแล้วหน่วยงานไม่มีดุลพินิจอะไร   ใครที่เสนอราคาสูงสุดก็จะได้ที่ดินนั้นไป  ผมมองว่าไม่น่าจะเข้า เพราะหัวหน้าหน่วยงานไม่มีดุลพินิจในการตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำสัญญา"
 
ฉะนั้น ถ้าถามว่าวรเจตน์กลับไปกลับมาหรือไม่ ก็มีบันทึกเป็นหลักฐานว่าวรเจตน์ยืนหยัดในหลักการ ไม่ว่าตอนที่เขาวิพากษ์ทักษิณหรือวิพากษ์รัฐประหาร
 
วรเจตน์จึงทำให้พวกพันธมิตร สื่อ นักวิชาการ ที่เกลียดชังทักษิณโกรธแค้นจนคลั่ง เพราะความมีหลักการเหตุผลของเขาทำให้รัฐประหารตุลาการภิวัตน์ล้มเหลว คนพวกนี้กรีดร้องใส่วรเจตน์ นักคิด นักวิชาการประชาธิปไตย ที่คัดค้าน ม.7 และรัฐประหารว่า “พวกเมริงไม่รู้หรือว่าทักษิณมันเลว มันจะทำให้ประเทศชาติพินาศ ต้องใช้ทุกวิถีทางจัดการมัน”
 
จากข้อกล่าวหาว่าไร้เดียงสา เมื่อไม่สามารถตอบโต้ด้วยเหตุผล คนเหล่านี้-ที่อ้างศีลธรรมจรรยา อ้างว่ารักชาติรักประชาชน ก็ใช้วิธีการให้ร้ายป้ายสี ดิสเครดิต ตั้งแต่รับเงินไปจนล้มเจ้า
 
คมสัน โพธิ์คง กล่าวหาว่านิติราษฎร์และ ครก.112 เอาเงินมาจากไหน ให้แสดงบัญชีค่าใช้จ่าย โห ค่าเช่าหอประชุม 2 ครั้งราว 3 หมื่นบาท กับค่าพิมพ์แบบเข้าชื่อเสนอกฎหมายเนี่ยนะ ขายเสื้อ ครก.แป๊บเดียวก็ได้แล้ว
 
เงินจิ๊บจ๊อยแค่นี้ ไม่เท่ากับที่คมสันเข้าไปเป็น สสร.เงินเดือนเงินประจำตำแหน่งแสนกว่าบาท ศาสตรา โตอ่อน เข้าไปเป็นที่ปรึกษา TOT เงินเดือนแสนห้า นี่ผมจำได้แล้วไปค้นข่าวย้อนหลัง สมัยผู้จัดการ ASTV ไม่พอใจบอร์ด TOT ยุคสพรั่ง (ไม่ทราบว่าเขาเหยียบตาปลาอะไรกัน) แล้วสหภาพไปฟ้อง พ.อ.นที ศุกลรัตน์ (ผู้จัดการยังด่ากราด พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ไว้เหมือนกัน ลอง search อาจารย์กูดูได้)
 
ไม่ว่ารัฐบาลไทยรักไทย รัฐบาลพลังประชาชน รัฐบาลเพื่อไทย วรเจตน์ นิติราษฎร์ นักคิด นักเขียน นักวิชาการ ที่ลงชื่อแก้ไข 112 ไม่มีใครเข้าไปรับตำแหน่งในรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือกระทั่งรับงานวิจัย
 
พวกพันธมิตรเว็บเสรีไทยไปค้นข้อมูลย้อนหลังพบว่า อ.ชาญวิทย์ อ.พวงทอง อ.พนัส ทัศนียานนท์ อ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อ.อัครพงษ์ ค้ำคูณ ร่วมกับนักวิชาการอีกหลายคน รับงานวิจัยและจัดทำสื่อ กล่อมคนไทยให้เห็นใจเพื่อนบ้าน ในนามมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ จากกระทรวงการต่างประเทศ มูลค่า 7.1 ล้านบาท
 
แต่กลายเป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ พันธมิตรเลยกรี๊ดหาว่ามาร์คจับมือกับนักวิชาการแดงขายชาติ
 
นักวิชาการเหลืองที่ไปรับงานวิจัยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีใครบ้าง ผมว่าน่าสนใจนะครับ แต่ผมเจาะข่าวไม่เก่ง คงต้องฝากประสงค์ดอทคอมไปค้นหา ได้ยินมาว่าบางรายรับงานวิจัยมูลค่าหลายล้าน จากหน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระ เป็นค่าตอบแทนที่สนับสนุนรัฐประหาร
 
ที่แน่ๆ จรัส สุวรรณมาลา เคยถูกอาจารย์ใจแฉว่า รับงาน “วิจัยประชาธิปไตย” จากรัฐบาล คมช.มูลค่า 42.6 ล้าน ในฐานะคณบดี แล้วนำทีมอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬา ไปโรดโชว์รัฐประหารในต่างประเทศ บรรยายให้ฝรั่งฟังว่าทำไมนักรัฐศาสตร์ไทยจึงพลิกตำราประชาธิปไตยสากล มาสนับสนุนรัฐประหาร (งามหน้าแท้)
 
อ.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ ก็คือ “หน้าหอ” ของ อ.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ผู้พยายามเน้นตอนผมไปสัมภาษณ์ ว่าทักษิณก่อตั้งพรรคเพื่อไทยตรงกับวันที่ 14 กรกฎา วันปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งต่อมา อ.ธีรภัทร์ก็เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีทีมงานเช่น ประสาร มฤคพิทักษ์ (ที่ต่อมาเป็น สว.สรรหา) จากนั้น อ.วรรณธรรมก็มาเป็นรองเลขานายกฯ (สุเทพ เทือกสุบรรณ) ในรัฐบาล ปชป.
 
ส่วน อ.สุรพล นิติไกรพจน์ ล่าสุดก็เป็นบอร์ด ปตท.รายงานประจำปีบอกว่าได้โบนัสเบี้ยประชุม 2.7 ล้าน (แต่ยังติดดินนะ วันก่อนเจอท่านที่ร้านก๋วยเตี๋ยวท่าพระจันทร์ เลยได้กินเกาเหลาฟรี 1 ชาม)
 
นี่คือสิ่งที่เห็นกันโต้งๆ โอเค พวกท่านอาจจะอ้างว่ารับตำแหน่งเพื่อชาติ แต่ลองวรเจตน์ นิติราษฎร์ ได้ตำแหน่งอะไรซักนิดสิครับ พวกเมริงมีหวังด่าทอดิสเครดิตกันครึกโครม แต่พอหาจุดโจมตีไม่ได้ ก็พูดหน้าตาเฉยว่า รับเงิน
 
ในทางตรงกันข้าม ผมว่าเราเห็นกันชัดเจนแล้วว่า แม้แต่รัฐบาลเพื่อไทย ก็คงไม่กล้าดึงวรเจตน์หรือนิติราษฎร์เข้าไปเป็น สสร.เป็นที่ปรึกษากฎหมาย หรือเป็นบอร์ดต่างๆ ไม่ใช่เพราะกลัวข้อหา “ล้มเจ้า” แต่เพราะนักการเมืองไม่ต้องการนักนิติศาสตร์ที่ยึดมั่นในหลักการ พวกเขาต้องการเนติบริกรที่ตีความรับใช้มากกว่า
 
วิษณุก็กลับไปช่วยงานแล้วนี่ครับ
 
สมัคร-อุทาร-อุทิศ
ดาวสยาม-ยานเกราะ
หลังพรรคเพื่อไทยได้ชัยชนะถล่มทลาย ฝ่ายต่อต้านทักษิณอยู่ในภาวะคลั่ง หางด้วน ไม่มีทางระบายออก ไม่สามารถทำอะไรยิ่งลักษณ์และรัฐบาลได้ ซ้ำยังมีสัญญาณของการ “เกี้ยเซี้ย” กันระดับหนึ่งระหว่างทักษิณกับอำมาตย์
 
การเสนอแก้ไข ม.112 จึงกลายเป็นที่ระบายของพวกเขา โหมความโกรธแค้นชิงชังมาใส่นิติราษฎร์ มีการให้ร้ายป้ายสีก่นด่าประณาม อย่างไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น “เศษสวะ” “เนรคุณ” “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” (ซึ่งกลายเป็นเรื่องฮากลิ้งในตึกเนชั่น นี่ถ้ากนกถูกถอดรายการ องค์กรสื่อคงออกมาโวยวายว่า คุกคามเสรีภาพสื่อ... เสรีภาพที่จะด่าคนอื่นว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน)
 
หรือกระทั่งเอาไปตัดต่อภาพเป็น “วรเจี๊ยก” ผมไม่ทราบว่าเรามีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติไว้ทำตะหวักตะบวยอะไร (สื่อรวันดาสภาฯไม่สนใจ เพราะไม่ได้รับเงินใครมา เหมือนที่จ้องจับผิดมติชน)
 
ไม่น่าเชื่อว่านี่คือการยุยงส่งเสริมของสื่อและนักวิชาการที่เคยอ้างว่าต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อพิทักษ์ความเป็นไทย ความมีศีลธรรมจรรยา บ้างก็เคยเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (ไทยโพสต์ ผู้จัดการ ล้วนเป็นสื่อที่เคยเป็นปากเสียงให้สมัชชาคนจนและคนด้อยโอกาส)
 
แต่วันนี้พวกเขายุยงส่งเสริมจนเกิดการขู่ฆ่า เผาหุ่น แขวนคอหุ่นวรเจตน์ และแพร่ภาพปิยบุตร ส่อความหมายว่าเจอที่ไหนให้ทำร้าย
 
นี่ไม่ต่างกันเลยกับ 6 ตุลา ที่สมัคร สุนทรเวช, อุทาร สนิทวงศ์, อุทิศ นาคสวัสดิ์ ดาวสยาม และวิทยุยานเกราะ กระพือความเกลียดชังใส่ขบวนการนักศึกษา
 
ถามว่าสื่อ นักวิชาการ แกนนำสลิ่มและพันธมิตร รู้หรือไม่ว่านิติราษฎร์บริสุทธิ์ใจ ไม่ได้รับเงินใครมา รู้สิครับ พวกเขายังรู้ด้วยว่าพวกที่ร่วมกันก่อรัฐประหาร หรือสนับสนุนรัฐประหาร บางคนทำมาหากิน หาผลประโยชน์ ฉวยโอกาส แต่พวกเขาเพิกเฉยต่อคนกันเอง กลับมาให้ร้ายป้ายสีคนบริสุทธิ์
 
พวกที่อ้างว่ามีคุณธรรมจริยธรรมเหล่านี้คงไชโยโห่ร้อง ถ้าปิยบุตรถูกอุ้ม หรือวรเจตน์ถูกม็อบลากไปแขวนคอสนามหลวงแล้วเอาเก้าอี้ฟาด
 
นี่คือพวกที่ทำอะไรทักษิณไม่ได้ ทำอะไรยิ่งลักษณ์ไม่ได้ แล้วมาระบายใส่นิติราษฎร์ หนำซ้ำยังเยาะเย้ยสะใจที่ออเหลิม “ตัดหาง” นิติราษฎร์ ถ้าทำลายนิติราษฎร์ได้ เผลอๆ พวกนี้คงมีความสุข ยิ่งกว่าโค่นทักษิณ
 
เพราะนิติราษฎร์และนักวิชาการประชาธิปไตย ไปทำให้พวกเขาเสียหน้า เสียเครดิต สถาบันนักวิชาการที่เคยได้รับการยกย่องนับถือจากสังคม กลายเป็นสถาบันต่ำทรามเพราะความไม่มีหลัก สถาบันสื่อที่เคยชี้นำสังคมได้ นักการเมืองผู้มีอำนาจจากไหนต้องซูฮก กลายเป็นกระดาษเปื้อนหมึกระบายอารมณ์
 
พวกเขาทำตัวเอง แต่โทษคนอื่น
 
ธีรยุทธพูดเรื่องมาตรา 7 อ้างว่าเป็นเรื่องในทางปฏิบัติ ไม่ใช่หลักกฎหมาย “ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเราแข็งเกินไป เพื่อยืนยันความคิดของตัวเอง” ขอเรียนว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องหลักกฎหมายตายตัว แต่เป็นหลักการที่มีเหตุผล เมื่อเกิคความขัดแย้งทางการเมือง ประชาชนแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คุณจะไปดึงในหลวงลงมาตัดสิน ดึงลงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง กับความขัดแย้ง มันก็ส่งผลกระทบต่อสถาบัน แม้ในหลวงทรงพระปรีชา ท่านไม่เอาด้วย ก็ยังมีความพยายามดึงลงมาจนเกิดปัญหาจนปัจจุบัน
 
ซึ่งเมื่อเกิดแล้วก็ต้องปรับ ต้องแก้ แต่พวกเขาก็ขัดขวางไม่ยอมให้มีการปรับเปลี่ยน
 
6 ปีแล้วยังไม่ตระหนักอีกหรือ
 
"ผมอยากให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ อยู่เหนือความรักและความชังของบุคคล  ผมคิดว่านี่คือความพยายามของคณะผู้ก่อการ  2475  ให้พระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง โดยประสงค์ไม่ให้พระมหากษัตริย์ลงมาวินิจฉัยปัญหาทางการเมือง  เพราะชี้ไปทางไหนมันมีคนได้และมีคนเสีย  มีคนชอบและมีคนชัง  เราไม่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างนั้น เราต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีแต่คนรักคนเทิดทูน  และเมื่อมีวิกฤติของประเทศอย่างรุนแรงเกิดขึ้น   ประเทศเรายังมีสถาบันอีกสถาบันหนึ่ง  ซึ่งประเทศอื่นไม่มี  มาคอยปัดเป่าและคลี่คลายวิกฤตการณ์แบบนี้  แต่ในช่วงที่ยังไปไม่ถึงจุดนั้น  ถ้ามันยังไม่ไปถึงแล้วเราดึงพระองค์ลงมาชี้  ในที่สุดแทนที่จะเป็นเทิดทูนสถาบัน  ผมว่าระยะยาวไม่เป็นผลดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์"
 
นี่จากคำให้สัมภาษณ์ของวรเจตน์ “นักเรียนทุนอานันท์” ในไทยโพสต์แทบลอยด์ ฉบับวันที่ 12 มีนาคม 2549
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: กลุ่มอนุรักษ์ฯ ค้านผู้ว่าฯ อุดร ส่อชง ‘เหมืองโปแตช’ เข้า ‘ครม.สัญจร’

Posted: 28 Jan 2012 12:54 AM PST

 ‘อุตสาหกรรมอุดรฯ’ ปูดผู้ว่าฯ เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูล ‘โครงการเหมืองโปแตช’ เตรียมชงให้ ‘ประชา’เสนอเข้าประชุม ครม.สัญจรอุดร 21-22ก.พ.นี้ กลุ่มอนุรักษ์ฯ รุดยื่นหนังสือจี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน 

 
 
วานนี้ (27 ม.ค.55) เวลาประมาณ 10.30 น. ที่ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ประมาณ 60 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือให้กับนายแก่นเพชร ช่วงรังษี ผู้ว่าราชการจังหวัด หลังทราบข่าวว่าในวันที่ 28 ม.ค.นี้ ผู้ว่าฯ ได้เชิญส่วนราชการประชุมเพื่อเตรียมงานการจัดประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 21-22 ก.พ.55 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี พร้อมกันนี้ก็ได้เรียกหน่วยงานจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) มาร่วมชี้แจงให้ข้อมูลกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตชด้วย
 
นายเตียง ธรรมอินทร์ กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ชาวบ้านทราบมาว่าขณะนี้มีความพยายามผลักดันจากฝ่ายนายทุนผู้ประกอบการ นักการเมือง และส่วนราชการ เพื่อนำกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในการประชุมครม.สัญจรที่อุดร จึงมายื่นหนังสือผู้ว่าฯ เพื่อคัดค้านเอาไว้ เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ทั้งนี้ ควรปล่อยให้กระบวนการเป็นไปตามกฎหมายแร่
 
“ถ้าหากมีเรื่องโปแตชเข้าสู่การประชุมครม.สัญจร กลุ่มอนุรักษ์ฯ จะเคลื่อนไหวคัดค้านทันที เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านได้รวบรวมรายชื่อผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ จำนวนกว่า 5.7 พันราย และผู้มีที่ดินในเขตเหมืองประมาณ 1.6 พันแปลง ยื่นคัดค้านไปตามขั้นตอนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.แร่ แล้ว ดังนั้น ควรให้กระบวนการค้านของชาวบ้านดำเนินไปตามกฎหมาย” นายเตียงกล่าว
 
จากนั้นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้มอบหนังสือข้อเรียกร้องให้กับนายนพวัชร สิงห์ศักดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี แทนผู้ว่าฯ ซึ่งติดราชการ และรับว่าจะนำเสนอผู้ว่าฯ ให้
 
นายนพวัชร กล่าวว่า ผู้ว่าฯ และเขาเพิ่งเข้ามาทำหน้าที่ จึงไม่ทราบข้อมูลเรื่องเหมืองแร่โปแตช ดังนั้น การประชุมในวันพรุ่งนี้ (28ม.ค.55) ผู้ว่าฯ จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาชี้แจงด้วย เพื่อจะได้เตรียมข้อมูลเอาไว้ ซึ่งหากว่ามีการสอบถามเรื่องโปแตชมาทางจังหวัดก็จะชี้แจงได้
 
ต่อมากลุ่มชาวบ้าน ได้เดินขบวนไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี เพื่อสอบถามถึงความชัดเจนของการผลักดันกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เข้าสู่วาระการประชุม ครม.สัญจร กับฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
 
นายวรากร บำรุงชีพโชต หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้ชี้แจงกับกลุ่มชาวบ้านว่า กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช ผู้ว่าฯ กำลังเตรียมข้อมูลไว้ เพื่อเสนอให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เผื่อมีการซักถามในการประชุมครม.สัญจร แต่ไม่ได้มีวาระเพื่อให้มีการพิจารณาอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือถ้าจะมีก็เป็นเพียงการเสนอของบประมาณมาเพื่อทำการประชาสัมพันธ์ จัดเวทีสร้างความรู้ ความเข้าใจ เนื่องจากคนอุดรส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องโปแตช ซึ่งหากได้งบประมาณมาทำการประชาสัมพันธ์ในส่วนนี้กับพี่น้องก็จะเป็นการดี
 
ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า โดยทั่วไปการประชุมครม.สัญจรจะเป็นการอนุมัติงบประมาณเกี่ยวกับโครงการพัฒนาที่จำเป็นเร่งด่วน สำหรับโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีกระบวนการยังอยู่ที่ท้องถิ่น หลังจากชาวบ้านคัดค้านตามกฎหมาย แต่นักการเมืองพยายามผลักดันสอดไส้เข้าไป ซึ่งผู้ว่าฯ ควรวางตัวเป็นกลางต่อเรื่องนี้ และจะต้องกำชับให้ส่วนท้องถิ่นปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายแร่
 
“การจัดเวทีให้ข้อมูลของทางราชการ เป็นการเผยแพร่ข้อมูลด้านเดียว และจะทำให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งหากมีความจริงใจราชการควรจัดตามกระบวนการปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสีย ในมาตรา 88/9 ของพ.ร.บ.แร่ ปี 45 หรือกลับไปดูคณะทำงานระดับจังหวัดชุดที่ผ่านๆ มา” นายสุวิทย์กล่าว
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศึกษาโซลิดาริตี้ในโปแลนด์: บทเรียนสำหรับผู้รักประชาธิปไตย-คนเสื้อแดง

Posted: 28 Jan 2012 12:22 AM PST

สำหรับผู้รักเสรีภาพ และยุติธรรมแล้ว การลุกขึ้นสู้ของขบวนการโซลิดาริตี้ ที่มีแกนนำหลักคือสหภาพแรงงานอู่ต่อเรือในเมืองกดั๊งสก์ของโปแลนด์ คือแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ระบอบโซเวียตตามแนวทางลัทธิเลนินนั้น ยังไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับสังคมมนุษย์

ผลพวงการลุกขึ้นสู้ของขบวนการถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยบั่นทอนอย่างรุนแรงให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย สิ้นสุดยุคของสงครามเย็นในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1991(พ.ศ. 2534) นั้น ปัจจุบันได้คลี่คลายไปจากขบวนการทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่สั่นสะเทือนโลก กลายเป็นพลังทางสังคมที่แตกซ่านไปจนเหลือสภาพเดิมค่อนข้างน้อย ในขณะที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ-สังคมของโปแลนด์กำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมโลกที่เชื่อมติดกับสหภาพยุโรปอย่างลึกซึ้ง

การทบทวนสถานการณ์ของขบวนการโซลิดาริตี้ทั้งระหว่างการต่อสู้และหลังจากการล่มสลายของโซเวียต จึงเป็นบทเรียนที่ผู้รักเสรีภาพ ยุติรรม และประชาธิปไตยไทย ไม่ว่าจะสวมเสื้อสีอะไร จำต้องศึกษาทบทวนอย่างจริงจัง มิใช่ปล่อยให้ผ่านเลยไปกับสายลม

โซลิดาริตี้ เกิดขึ้นจากการรวมตัวสร้างเอกภาพของการต่อสู้อำนาจเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อคอมมิวนิสต์ล่มสลายเอกภาพดังกล่าว ก็แปลงสภาพเป็นเอกภาพของความหลากหลายภายใต้สังคมประชาธิปไตยที่โซลิดาริตี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของพลัง มิใช่ในฐานะพลังหลักอีกต่อไป

 

เอกภาพของการต่อต้านคอมมิวนิสต์

การถือกำเนิดของขบวนการโซลิดาริตี้(เอกภาพ)ในเมืองกดั๊งสก์ เกิดขึ้นท่ามกลางความเสื่อถอยอย่างรุนแรงของระบอบอำนาจของสหภาพโซเวียตที่ประสบปัญหาถดถอยทางเศรษฐกิจและการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงต่อเนื่อง จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกที่อยู่ใต้เขตอิทธิพลของโซเวียตตามสนธิสัญญวอร์ซอร์มานับแต่สงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมในอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างเข้มข้น

อำนาจรัฐโปแลนด์ ภายใต้เผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ในเขตอิทธิพลโซเวียต ก็ถูกท้าทายเป็นกระแสเช่นเดียวกัน คำถามใหญ่ก็คือ อำนาจรัฐที่อ้างว่าเป็นเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพนั้น แท้ที่จริงแล้ว มีผลประโยชน์ที่ไปกันไม่ได้เลยกับชนชั้นกรรมกรของสังคม

ความคุกรุ่นของสถานการณ์ ปะทุขึ้นมาเมื่อสหภาพแรงงานท่าเรือของเมืองกดั๊งส์ก์ เมืองท่าใหญ่ที่สุดในทะเลบอลติก ได้ลุกฮือขึ้นมา ทำการนัดหยุดงานหลายครั้ง แม้จะเผชิญหน้ากับการปราบปรามครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งได้ 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้กรรมการท่าเรือลุกฮือขึ้นมา ก็ด้วยเหตุผล 3 ประการหลัก นั่นคือ

 รัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ผลักดันนโยบายทำให้ประเทศเป็นอุตสาหกรรมใหม่อย่างรวดเร็ว โดยใช้เมืองกดั๊งสก์เป็นศูนย์กลางการพัฒนา อุตสาหกรรมหลักของเมืองนี้ได้แก่การต่อเรือ ซึ่งในยุโรปแล้วเป็นรองเฉพาะยูโกสลาเวียในทะเลเอเดรียติกเท่านั้น ทำให้เมืองนี้เป็นแหล่งชุมนุมของกรรมกรจากทั่วทั้งประเทศโดยเฉพาะคนหนุ่มสาว

 ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ ทำให้ราคาสินค้าพุ่งพรวดอย่างรุนแรงเกินกว่ารายได้ของผู้ใช้แรงงานจะตามได้ทัน สร้างแรงกดดันคุกรุ่นมายาวนานมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 ซึ่งมีการนัดหยุดงานหลายครั้ง แต่ละครั้งถูกทั้งปราบรุนแรงจากอำนาจรัฐ และปลอบด้วยถ้อยคำโฆษณาชวนเชื่อลมๆแล้งๆที่หาคนเชื่อได้น้อยเต็มที

 ความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนส่วนใหญ่ของประเทศ และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่กลายสภาพเป็นอภิสิทธิ์ชนในสังคม จนกระทั่งได้รับการขนานนามว่าเป็นพวก”กระฎุมพีแดง”มายาวนาน จนกระทั่งความพยายามสร้างทีมฟุตบอลที่แข็งแกร่งขึ้นมากลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำทางสังคมไม่สามารถปิดบังได้อีกต่อไป

การลุกฮือนัดหยุดงานของกรรมกรอู่ต่อเรือเลนินที่เมืองกดั๊งสก์ เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1980คือจุดชนวนสำคัญที่ทำให้กรรมกรท่าเรือและโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆในเมืองเดียวกันและใกล้เคียงนัดหยุดงานต่อเนื่องลุกลาม สร้างความตระหนกตกใจให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ขณะนั้นอย่างรุนแรง

เพื่อรับมือกับการปราบปรามจากอำนาจรัฐ แกนนำกรรมกรทั้งหลายได้หารือกันและมีมติร่วมกันจัดตั้งขบวนการโซลิดาริตี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรกพร้อมด้วยข้อเรียกร้อง 21 ข้ออันลือลั่น(ซึ่งนักศึกษามาร์กซิสท์บางคนเรียกขานว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ก้าวหน้ากว่าคอมมูนปารีส ค.ศ.1871 หลายเท่า) ทำให้ขบวนการกรรมกรกลายสภาพเป็นขบวนการของมวลชนอย่างรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง

ปรากฏการณ์โซลิดาริตี้ดังกล่าว สร้างความตื่นตระหนก ไม่เฉพาะพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์เท่านั้น แต่เป็นทั่วทั้งเขตอิทธิพลสหภาพโซเวียตและสนธิสัญญาวอร์ซอร์ด้วย เนื่องจากนี่คือ การเคลื่อนไหวที่ชนชั้นกรรมาชีพลุกขึ้นมาทวงอำนาจรัฐที่ถูกปล้นชิงไปจากเทคโนแครตแดงภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ที่จัดตั้งขึ้นตามหลักลัทธิเลนินมายาวนาน

ไม่เคยมีครั้งใดเลยที่ชนชั้นกรรมาชีพที่ถูกอ้างเสมอมาว่าเป็น “ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก”ของพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก จะลุกขึ้นมาต่อต้านพรรคอย่างเปิดเผยเช่นนี้มาก่อน ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ยอมไม่ได้เลยสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์ที่พร้อมจะตั้งข้อหา”พวกปฏิกิริยาต่อต้านการปฏิวัติ”มาปราบปรามศัตรูทางอำนาจของตน แม้จะขาดความสมเหตุสมผลพอสมควร

ยิ่งเมืองกดั๊งสก์ (หรือชื่อเดิมของเมืองคือ ดานซิก หรือฉนวนโปแลนด์) ก็มีชื่อเสียงเป็นเมืองประวัติศาสตร์ยาวนานในระดับโลก รวมทั้งเป็นชนวนสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ยิ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ทางทหารของยุโรปอย่างมาก

พรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการปราบปราม โดยงัดเอากฏอัยการศึกมาใช้ในต้นปี ค.ศ. 1981 พร้อมกับจับกุมแกนนำของโซลิดาริตี้ทั้งที่เปิดเผยและปิดลับเข้าคุกจำนวนมาก แต่มันสายเกินไปที่จะหยุดยั้งได้ องค์กรจัดตั้งแบบปิดลับของโซลิดาริตี้ที่เตรียมพร้อมอยู่แล้ว หลบลงปฏิบัติการใต้ดินอย่างทันท่วงที โดยอาศัยพันธมิตรร่วมสู้ที่สำคัญนั่นคือ ศาสนจักรคาธอลิกที่มีวาติกันอยู่เบื้องหลัง

สำหรับสหรัฐฯ นอกเหนือจากการดำเนินการทางเปิดด้วยการชูประเด็นเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนในโปแลนด์และยุโรปตะวันออกมากดดันให้การบอยคอตต์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอร์ รวมทั้งห้ามการส่งออกเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆทั้งจากสหรัฐฯ สมาชิกนาโต้ และญีปุ่นเพื่อปิดล้อมทางเศรษฐกิจอย่างหนักแล้ว ยังได้เดินเกมทางลับจับมือกับวาติกันเพื่อถ่ายโอนความช่วยเหลือทางการเงินและวัตถุปัจจัยการต่อต้านรัฐคอมมิวนิสต์ให้กับโซลิดาริตี้ผ่านทางจัดตั้งของโบสถ์คาธอลิกทั่วโปแลนด์ (โดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ว่า สันตปาปา จอห์น พอลที่ 2 ในขณะนั้นเป็นคาร์ดินัลจากโปแลนด์ ซึ่งมีบารมีสูงมากในระดับโลก) ทำให้องค์กรใต้ดินของโซลิดาริตี้สามารถปฏิบัติการได้อย่างต่อเนื่องและท้าทายอำนาจรัฐโซเวียตอย่างหนัก

วิทยุใต้ดินโซลิดาริตี้ ที่ส่งกระจายเสียงภายใต้การนำของแกนนำที่หลบลงปฏิบัติการใต้ดินอย่าง สบิกนิว โรมาสซิวสกี้ ทำการเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ และโซเวียตอย่างตรงไปตรงมา กลายเป็นคลื่นที่มีผู้ฟังล้นหลาม ซึ่งพร้อมช่วยกันแพร่กระจายข่าวสารต่อต้านรัฐอย่างมีพลานุภาพ ในขณะที่เอกสารและวรรณกรรมใต้ดิน ได้รับการส่งผ่านเข้าไปอย่างลับๆไม่ขาดระยะ

เมื่อความพยายามใช้อำนาจปราบปรามไม่สามารถหยุดยั้งการเติบโตของโซลิดาริตี้ได้ ประกอบกับอำนาจรัฐโซเวียตในทุกแห่งของประเทศสมาชิกสนธิสัญญาวอร์ซอร์เริ่มเสื่อมสภาพลงไปเพราะปัญหาความล้มเหลวทางการผลิต โดยเฉพาะโซเวียตรัสเซียที่มีการเปลี่ยนตัวผู้นำหลายรุ่นเพื่อแก้สถานการณ์ขาลงอย่างลนลาน จนต้องหันมาใช้นโยบาย”กล้าสน็อส”(ผ่อนคลาย) ก็ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ จำต้องปรับท่าที ปล่อยตัวกลุ่มโซลิดาริตี้ออกจากคุก และหันมาเปิดการเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมอย่างจริงจัง

ในช่วงนี้เอง ที่สมาชิกของโซลิดาริตี้เพิ่มพูนขึ้นมากกว่าล้านคนทั่วประเทศ เป็นการขับเคลื่อนทางการเมืองโดยมวลชนที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดของยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แรงบันดาลใจจากโซลิดาริตี้ที่แพร่กระจายไปยังประเทศในยุโรปตะวันออกทำให้กระแสต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ทั่วประเทศสมาชิกสนธิสัญญาวอร์ซอร์กลายเป็นคลื่นที่ต้านทานไม่ได้ เป็นส่วนหนึ่งของการพังทลายกำแพงเบอร์ลิน และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออกทุกประเทศ

 

การปรับตัวและเอกภาพใหม่ยุคหลังคอมมิวนิสต์

ชัยชนะของผู้รักเสรีภาพ ยุติธรรม และประชาธิปไตยที่ได้รับมา ถูกส่งผ่านไปให้กับมวลชนโปแลนด์อย่างทั่วถึง แต่ในมุมกลับกัน การล้มเลิกระบบวางแผนเศรษฐกิจส่วนกลางมาเป็นทุนนิยมเต็มรูป และการล้มเลิกระบบการเมืองแบบพรรคเดียวของคอมมิวนิสต์มาเป็นพหุนิยม ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชะตากรรมของโซลิดาริตี้อย่างใหญ่หลวงด้วย

การรวมตัวของโซลิดาริตี้ ซึ่งแม้จะมีแกนนำหลักคือกลุ่มสหภาพแรงงานท่าเรือ และอุตสาหกรรมหนัก แต่ก็ยังมีส่วนผสมของปัญญาชน และกลุ่มพลังทางสังคมอื่นๆเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะบุคคลที่มีส่วนในการปฏิบัติงานปิดลับใต้ดินหลังจากใช้กฎอัยการศึก ทำให้หลังจากการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์แล้ว แนวทางการสร้างสังคมใหม่ยุคหลังคอมมิวนิสต์ก็เริ่มกลายเป็นข้อถกเถียงกัน และนำมาซึ่งภาวะ”น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ”ขึ้นมาอย่างเลี่ยงไม่พ้น 

ความแตกต่างที่สำคัญซึ่งนำมาสู่สภาพดังกล่าวได้แก่ แรกสุดคือ การฟื้นฟูอุดมการณ์ชาตินิยม เนื่องจากประวัติศาสตร์ของโปแลนด์อันเก่าแก่ เคยถูกรุกรานด้วยกองทัพของชาติที่เหนือกว่าจากทั้งทางตะวันตกคือเยอรมนี และตะวันออกคือรัสเซียมานับครั้งไม่ถ้วน คนโปแลนด์ยังไม่เคยลืมฝ้นร้ายคงจำได้ดีถึงการรุกรานจากเยอรมนีรวมทั้งค่ายกักกันยิวที่เอ้าสวิทซ์ และการครอบงำและสังหารหมู่ของสตาลินระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง 

คำถามสำคัญของประเทศยุคหลังคอมมิวนิสต์มีอยู่ว่า หากไม่มีสนธิสัญญาวอร์ซอร์และพันธะทางเศรษฐกิจของโคมีคอนแล้ว โปแลนด์จะตกใต้อิทธิพลของนาโต้ที่มีสหรัฐเป็นแกนหลักมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต้องเจรจากับรัสเซียเพื่อถอนกำลังทหารที่มาตั้งฐานในโปแลนด์จำนวนประมาณ 6 หมื่นคนออกไปโดยไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในอนาคต

โจทย์ดังกล่าว เกิดขึ้นพร้อมกับคำถามในหมู่ผู้นำโซลิดาริตี้ด้วยกันว่า ขบวนการพร้อมจะแปลงสภาพกลายเป็นพรรคการเมืองของมวลชนหลายกลุ่มในระบบประชาธิปไตยเต็มรูป หรือจะเป็นแค่ตัวแทนสหภาพแรงงานกรรมาชีพกันต่อไป เมื่อภารกิจต่อต้านคอมมิวนิสต์จบลงไปแล้ว เนื่องจากผลประโยชน์ของกลุ่มพลังที่เข้ามาร่วมในขบวนการหลายกลุ่มไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน

การตอบโจทย์ทั้ง 2 ข้อ ในทันทีเป็นเรื่องยากลำบากในยามที่ประเทศต้องดำเนินการออกแบบการเมือง สังคม และเศรษฐกิจใหม่หลังยุคคอมมิวนิสต์อย่างทุลักทุเล ทำให้ผู้นำของโซลิดาริตี้อย่างเป็นทางการในยามนั้นคิอ เล็ก วาเลซ่า ผู้นำสภาพแรงงานกดั๊งสก์เก่า ซึ่งแม้จะมีฐานะนำในขบวนการอยู่แข็งแกร่ง แต่ก็พบว่าได้รับแรงสนับสนุนทางความคิดน้อยเกินไป จึงมีข้อสรุปส่วนตัวชัดเจนว่าชัยชนะของโซลิดาริตี้ที่มาเร็วเกินคาด ทำให้ความพร้อมจะเป็นพรรคการเมืองของมวลชนจะเป็นอุปสรรคมากกว่าเป็นพลังอันแข็งแกร่ง 

ความพยายามประนีประนอมระหว่างอุดมการณ์กับความเป็นจริง ทำให้โซลิดาริตี้จำต้องยินยอมเจรจากับอดีตแกนนำของพันธมิตรพรรคคอมมิวนิสต์เดิมเพื่อให้ร่วมก่อตั้งรัฐบาลผสมชั่วคราวในระยะเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ทุนนิยมและเสรีภาพ แต่การประนีประนอมกลับปรากฏผลข้างเคียงอันไม่พึงปรารถนา เพราะว่าแกนนำบางส่วนของโซลิดาริตี้กับหลงไหลได้ปลื้มกับอำนาจรัฐใหม่ชั่วคราวนั้นอย่างเอาเป็นเอาตาย ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในขึ้นมาอย่างหนัก

ท้ายสุด โซลิดาริตี้ก็เดินมาถึงทางตันเมื่อแกนนำบางส่วน นำโดยเล็ก วาเลซ่า ตัดสินใจแยกตัวออกจากโซลิดาริตี้ไปสมัครเป็นประธานาธิบดีในการเลือกตั้ง เพื่อหาทางเชื่อมโยงกับกลุ่มพลังทางสังคมอื่นๆ 

ยิ่งไปกว่านั้น ความพยายามยื้อแย่งชื่อของโซลิดาริตี้ไปเป็นชื่อพรรคการเมืองของแต่ละกลุ่มภายในขบวนการเดิม ทำให้เกิดความขัดแย้งจนถึงขั้นที่กลุ่มต่างๆในโซลิดาริตี้ ตัดสินใจแยกตัวออกไปตั้งพรรคการเมืองตามอุดมการณ์ส่วนตัว ซึ่งมีทั้งการต่อสู้กันและร่วมมือกัน ทิ้งชื่อโซลิดาริตี้เอาไว้เป็นอดีตในฐานะส่วนหนึ่งของสหภาพแรงงาน ไม่ใช่ขบวนการทางการเมืองอีกต่อไป

แม้จะแยกตัวกันไปหลายพรรคการเมือง แต่จุดร่วมหลักของแต่ละพรรคซึ่งก่อตั้งขึ้นมาจากอดีตโซลิดาริตี้ล้วนอยู่ในกรอบเป้าหมายร่วมอย่างหลวมๆว่า จะต้องสร้างรัฐที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะขับเคลื่อนโดยกลไกตลาด มีหลักนิติธรรม และรับรองเสรีภาพพื้นฐานของพลเมืองเป็นเสาหลัก โดยมีการชี้นำผ่านวิสัยทัศน์ของแผนการออกแบบเศรษฐกิจการเมืองใหม่ของนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นที่ปรึกษาของโซลิดาริตี้  เลสเซ็ก บาเซโรวิทซ์ ที่อยู่เบื้องหลังแผนสร้างรัฐใหม่ที่เรียกว่า แผนบาเซโรวิทซ์ เป็นเค้าโครง

หลังจากใช้เวลาผ่านความเจ็บปวดมามากกว่า 20 ปีกระทั่งถึงปัจจุบัน โปแลนด์ได้กลายสภาพจากรัฐคอมมิวนิสต์ที่อ่อนแอ และเผด็จการ กลายสภาพเป็นชาติทุนนิยมใหม่ที่แข็งแกร่ง ไม่เคยเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือตกต่ำอย่างยาวนานน่าทึ่ง มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าตื่นใจ และได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปเต็มรูป พร้อมกับเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของเงินยูโร ในขณะที่อุตสาหกรรมหนักของประเทศได้เฟื่องฟูขึ้นเป็นหนึ่งในแกนหลักของทะเลบอลติกทางตอนเหนือของยุโรป  พร้อมกับพัฒนาจากระบอบการเมืองกึ่งประชาธิปไตยมาเป็นมีระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยเต็มรูปที่เข้มแข็งและมีเสถียรภาพภายใต้รัฐบาลผสม โดยที่ทุกพรรคการเมืองทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นล้วนมีรากเหง้าเดิมจากโซลิดาริตี้ทั้งสิ้น

นอกเหนือจากการออกแบบโครงสร้างใหม่เศรษฐกิจ การสร้างสังคมที่อารยะด้วยกติกาใหม่ๆ ทำให้โปแลนด์สลัดทิ้งอดีตไว้เบื้องหลังหมดจด ก้าวสู่อนาคตได้แล้ว โปแลนด์ยังคงสามารถรักษาสัมพันธภาพทางเศรษฐกิจในฐานะกลไกเชื่อมโยงยุโรปตะวันตกเข้ากับอดีตรัฐใต้กลุ่มโคมีคอนได้อย่างมีดุลยภาพ และนำมาซึ่งความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง 

พรรคการเมืองที่แตกแถวออกจากโซลิดาริตี้ไม่น้อยกว่า 8 พรรค โดยมีฐานเสียงสนับสนุนของตนเองที่หลากหลาย ต่างมีแนวทางเฉพาะของตนเอง นับตั้งแต่อนุรักษ์นิยมสุด จนถึงซ้ายสังคมนิยม แต่ไม่มีพรรคไหนมีแนวทางขวาสุด หรือซ้ายสุดอีกเลย แล้วก็ไม่มีพรรคไหนชูแนวทางกีดกันชาติพันธุ์เลย สะท้อนให้เห็นแนวทางโซลิดาริตี้ที่เกิดจากการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ยังคงมีรากลึกอย่างเข้มข้น

การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และนาโต้เต็มรูป พร้อมกับรักษาสัมพันธภาพอันดีกับรัสเซียที่ถอนทหารออกจากประเทศจนหมดสิ้น นอกจากเป็นยุทธศาสตร์ทำให้โปแลนด์ปลอดภัยจากการคุกคามจากภายนอกประเทศแบบที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้ว ยังมีผลข้างเคียงทำให้กองทัพต้องถอนตัวจากการมีบทบาททางการเมืองตามกติกาของสหภาพยุโรปและนาโต้อย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถกลับมาแทรกแซงสร้างกลไกเผด็จการซ้ำรอยยุคคอมมิวนิสต์ครองอำนาจ หรืออย่างชาติกำลังพัฒนาหลายแห่งในเอเชียและละตินอเมริกา

เอกภาพต่อต้านเผด็จการคอมมิวนิสต์ของโซลิดาริตี้ ถูกแปรเปลี่ยนเป็นเอกภาพท่ามกลางความหลากหลายของสังคมอารยะ ซึ่งแม้ว่าจะทำให้สมาชิกจดทะเบียนของโซลิดาริตี้ในปัจจุบันลดหายไปอย่างมากมาย มีฐานะเป็นแค่สหภาพแรงงานที่มีสมาชิกเหลือเพียงประมาณ 4 แสนคนเท่านั้นจากประชากรรวมของประเทศ 38 ล้านคน ไม่สามารถเป็นพลังหลักในการกำหนดอำนาจรัฐได้เต็มที่  เพราะในระยะหลังก็ยังมีสภาพแรงงานใหม่ๆเกิดขึ้นที่แยกตัวออกจากโซลิดาริตี้ 

แม้พลังจะลดลงไปจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง แต่ประวัติศาสตร์การต่อสู้ และขนาดของการเป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ก็ยังทำให้พลังทางสังคมของโซลิดาริตี้แข็งแกร่งต่อไป เป็นพลังถ่วงดุลอำนาจของรัฐ กองทัพ กลุ่มทุนใหญ่ และศาสนจักรคาธอลิกได้เป็นอย่างดี

 

บทเรียนสำหรับผู้รักประชาธิปไตย-คนเสื้อแดงในสังคมไทย

การต่อสู้ของโซลิดาริตี้ เป็นอุทาหรณ์ที่ดีว่า พลวัตของขบวนการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้พ้นจากอำนาจเผด็จการนั้น ไม่เคยหยุดนิ่ง แต่สามารถแปรสภาพไปมาได้ตามความเป็นจริงทางภววิสัย แม้ว่าเจตจำนงนั้นจะไม่เคยแปรเปลี่ยน แต่ก็จำต้องปรับสภาพให้สอดคล้องกับยุคสมัย

ชัยชนะต่อเผด็จการคอมมิวนิสต์โปแลนด์ จะไม่เป็นชัยชนะถาวรได้เลย หากว่า โซลิดาริตี้ไม่สามารถยอมรับการออกแบบใหม่ทางสังคม และไม่คำนึงถึงความต้องการหลักที่เรียกร้องให้จำต้องกระทำซึ่งเกินกว่าความเรียกร้องต้องการของชนชั้นกรรมาชีพในขบวนการอย่างเดียว แต่ต้องรับรองข้อเท็จจริงที่ไม่คาดหมายมาก่อนเช่นความอยู่รอดในฐานะรัฐประชาชาติที่เป็นเอกราชและมั่งคั่ง ซึ่งต้องผ่านการสร้างระบอบอำนาจรัฐที่เหมาะสม

กรณีของผู้รักประชาธิปไตยที่ผนึกกำลังสร้างเอกภาพในนามของคนเสื้อแดงหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดว่าเป็นขบวนการข้ามชนชั้น ที่มีลักษณะของอุดมการร่วมกันอย่างหลวมๆ มีการจัดตั้งและพลังในการขับเคลื่อนอย่างไร้เอกภาพที่เห็นได้ง่ายทั้งจากภายในและภายนอก

ผู้รักประชาธิปไตยในคราบของคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนยากจน เพราะรายได้เฉลี่ยของของสมาชิก ห่างไกลจากเส้นความยากจนตามมาตรฐานทางวิชาการขีดไว้ ให้ไกลโขทีเดียว ดังนั้นจึงไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อรองรับผลประโยชน์ของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง พร้อมกับมีขีดความสามารถในการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านวิธีการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล การชุมนุมทางการเมือง, และการจัดตั้งเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง แต่ยังคงอ่อนด้อยในการจัดตั้ง(การเคลื่อนไหว ประเด็น และเป้าหมาย) ตรวจสอบ และมีลักษณะตามกระแสมากกว่าสร้างกรอบเป้าหมายระยะยาวเพื่อออกแบบสังคมในอุดมคติ แม้ว่าจะเกิดอาการ "ตาสว่าง"ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนจุดยืนทางสังคมอย่างชัดเจน แต่ไม่สามารถยกระดับการต่อสู้ของมวลชนไปสู่ความเข้มแข็งเชิงปริมาณและคุณภาพ ไม่สามารถเก็บรับดอกผลของการต่อสู้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งที่ภววิสัยเอื้ออำนวยมากกว่าครั้งหลังจากการต่อสู้ 14 ตุลาคม 2516 และ พฤษภาคม 2535 หลายเท่า

ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ผู้รักประชาธิปไตย-คนเสื้อแดงของไทย มีความแตกต่างทั้งสาระและรูปแบบกับโซลิดาริตี้อย่างมากมาย เริ่มปรากฏความเคลื่อนไหวในลักษณะ”หลากหลายที่ไร้เอกภาพ”อย่างชัดเจนมากขึ้น แม้ชัยชนะหลังการเลือกตั้งซึ่งทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ก็ทำให้ผู้รักประชาธิปไตย-คนเสื้อแดงบางส่วนได้เข้ามามีบทบาทร่วมในอำนาจรัฐไทยอย่างชอบธรรม แต่ก็อยู่ในวงจำกัด ไม่สามารถมีบทบาทนำในการต่อสู้เพื่อผลักดันให้สังคมมีเสรีภาพและยุติธรรมมากขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อเทียบกับบทบาทของนักเลือกตั้งและนักฉวยโอกาสทางการเมืองที่เข้าไปใช้ประโยชน์จากอำนาจที่ได้มาบางส่วนตะกรุมตะกรามกันอย่างไร้ยางอาย รวมถึงการขับเคลื่อนชี้นำของกลุ่มพลพรรคแวดล้อมทักษิณ ชินวัตรซึ่งมีวาระซ่อนเร้นอยู่

จนถึงวันนี้ ร่างกฏหมายเผด็จการที่กดขี่เสรีภาพของมวลชน โครงสร้างของความอยุติธรรมทางสังคม และทิศทางสร้างทางออกใหม่ที่ปลดปล่อยพลังการผลิตของสังคมให้เป็นประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ก็ยังคงดำเนินไปอย่างเชื่องช้าและวกวน ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนเป้าหมายทางการเมืองได้อย่างมีพลัง

ไม่เพียงเท่านั้น  บทบาทในการกำหนดย่างก้าวของรัฐในเวทีเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศเพื่อสร้างฐานะนำอย่างมีพลังด้วยแล้วยิ่งไม่ปรากฎขึ้นเลยแม้แต่น้อย

รวมทั้งบทบาทการแทรกแซงการเมืองของกองทัพ ก็ยังคงดูเหมือนว่าจะมีอยู่ในระดับเข้มข้นต่อไปอย่างสังเกตได้ ความพยายามใดๆที่จะสร้างเงื่อนไขให้กองทัพต้องถอนตัวจากการแทรกแซงทางการเมือง ลดระดับลงเหลือเพียงแค่การ”เกียเซียะ”ในมุมมืดแบบหมูไปไก่มาเท่านั้นเอง

ที่เลวร้ายไปกว่านั้น คำถามว่าด้วยการสร้างพลังถ่วงรั้งการใช้อำนาจและอิทธิพลของกลุ่มทุนใหญ่ที่ผูกขาดกลไกธุรกิจไทยอย่างเหนียวแน่นที่อยู่เบื้องหลังการสมคบคิดกับอำนาจรัฐมายาวนาน กลับไม่ปรากฏ เสมือนหนึ่งดูเบาว่านี่ไม่ใช่ปัญหาหลักอย่างหนึ่งของสังคมไทย 

ชัยชนะหลังการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ย่อมมีส่วนทำให้พลังของผู้รักประชาธิปไตย-คนเสื้อแดงเปลี่ยนไปจากเดิม แบบเดียวกันกับปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับโซลิดาริตี้ของโปแลนด์เมื่อ 20 กว่าปีก่อน แต่ดูเหมือนไม่เร็วเกินไปที่จะสรุปว่า เส้นทางของการเชื่อมต่อการต่อสู้เพื่อไปบรรลุเป้าหมายสร้างสังคมที่ยกระดับเสรีภาพและยุติธรรมมากขึ้นนั้น โซลิดาริตี้ทำได้ดีกว่าหลายสิบเท่าของผู้รักประชาธิปไตย-คนเสื้อแดงในไทย

หากไม่ศึกษาบทเรียนจากโซลิดาริตี้อย่างจริงจัง และยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการต่อสู้เพื่อแปลงให้เป็นรูปธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน ความเป็นไปได้ที่ชัยชนะจากการต่อสู้จะเป็นได้เพียงแค่ม่านที่อำพรางความอ่อนด้อยภายในของพลังเสรีภาพและยุติธรรม บนเอกภาพที่ไม่ยั่งยืนเท่านั้น 

หากความคาดหมายนี้เกิดขึ้นมาจริง ความหลากหลายที่ไร้เอกภาพและไร้พลัง ย่อมหมายถึงโอกาสเป็นไปได้ที่ชัยชนะจะสูญเปล่า รอเวลาสำหรับการเข้าสู่วงจรอุบาทว์รอบใหม่ ซึ่งเสรีภาพ และยุติธรรมจะถูกปล้นชิงไปได้เมื่อกลุ่มเผด็จการอำมาตย์สมคบคิดซึ่งยามนี้กำลังอำพรางตัวเองกับสถานการณ์ใหม่ สามารถตั้งตัวได้ และกลับมาร่วมตัดสินใจครั้งใหม่ในวันข้างหน้าว่าพร้อมแล้วสำหรับการกลับมาใช้ความรุนแรงของอำนาจดิบกระชากสิทธิ์และผลประโยชน์กลับคืนไป

ถึงตอนนั้น ก็สายเกินไปเสียแล้วที่จะเปลี่ยนสถานการณ์ได้ และอาจจะทำให้ผู้รักประชาธิปไตยไทยตกอยู่ในสภาพยิ่งกว่า”ไก่คุ้ยกองขยะ”เสียด้วยซ้ำ 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ระวังมัสยิดเป็นพื้นที่สังหาร เงื่อนไขต่อต้านรัฐในชายแดนใต้

Posted: 28 Jan 2012 12:05 AM PST

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เปิดผลวิจัย มัสยิด “แดง” ทอนความรู้สึกรุนแรงต่อพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ชี้เหตุรุนแรงที่กรือเซะ-อัลฟุรกอน ขยายความขัดแย้ง เตือนรัฐบาลป้องกันจริงจัง

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

เมื่อเวลา 8.30 วันที่ 27 มกราคม 2555 สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ร่วมกับ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิยาลัยวลัยลักษณ์ และมูลนิธิเอเชีย จัดเสวนาหัวข้อสภาวะความเป็นสมัยใหม่ อันแตกกระจาย การค้นหาประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม ปาตานี Fragmented Modernites : The Quest of a Social and Cultural History of Patani

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถานำและนำเสนอบทความหัวข้อ มัสยิด “แดง”: ทอนความรุนแรงต่อพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในสังคมมนุษย์ว่า สังคมมลายูมุสลิมยึดมั่นว่า มัสยิดคือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะฉะนั้นสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมัสยิด คือ การวิสามัญฆาตกรรมขบวนการต่อต้านรัฐในมัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 และการลอบสังหารผู้กำลังละหมาดในมัสยิดอัลฟุรกอน จังหวัดนราธิวาส ในเดือนมิถุนายน 2552 เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ชาวบ้านไม่ไว้วางใจรัฐ เนื่องจากมองเห็นว่า ศาสนสถานของพวกเขาไม่ได้รับการเคารพจากเจ้าหน้าที่รัฐ

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว ส่งผลให้การต่อต้านรัฐขยายวงกว้างมากขึ้น จึงทำให้ฝ่ายขบวนการที่อาจดูเหมือนแพ้ในการรบ แต่กลับชนะในแง่ของการสามารถทำให้ชาวมลายูรู้สึกว่า พวกเขาตายอย่างไม่เป็นธรรมจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นเหตุให้มีข้ออ้างในการต่อต้านรัฐของฝ่ายขบวนการจนถึงปัจจุบัน

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ไม่เพียงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ที่เจ้าหน้าที่รัฐหวาดระแวงการรวมกลุ่มของชาวมุสลิมในพื้นที่ความขัดแย้ง แต่ยังเกิดในหลายพื้นที่ในโลก เช่น ช่วงปี ค.ศ. 2002 ที่มีกระแสการก่อการร้ายทั่วโลก ตำรวจเยอรมันได้เข้าตรวจค้นมัสยิดกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ เพราะเชื่อว่าเป็นแหล่งซ่องสุ่มของผู้ก่อเหตุไม่สงบในประเทศ แต่ช่วงหลังๆ เจ้าหน้าที่ยอมรับว่ามองผิดพลาดไป ซึ่งเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ความหวาดระแวงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับมุสลิมเกิดขึ้นทั่วโลก

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อสัญลักษณ์ทางศาสนากลายเป็นพื้นที่สังหารหรือถูกทำร้ายโจมตีจากเจ้าหน้าที่รัฐ จนทำให้เกิดความขุ่นเคืองต่อผู้ศรัทธาต่อสถานที่นั้น ประเด็นความขัดแย้งดังกล่าวกลายเป็นเรื่องศักดิ์ศรี ซึ่งจะส่งผลให้ความขัดแย้งยืดเยื้อยาวนานขึ้น

“ผมคิดว่าความรุนแรงต่อศาสนสถานและศาสนบุคคลเป็นความรุนแรงที่กำลังแพร่ขยายไปอย่างกว้าง และยิ่งทำให้ความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์ยืดเยื้อเข้มข้นมากขึ้นและอันตรายยิ่งขึ้น ผมจึงเสนอให้รัฐบาลตระหนักและแสดงถึงความจริงจังในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขในการใช้ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก”ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว

ในวันเดียวกัน ยังมีผู้นำเสนอบทความทางวิชาการอีก 9 ชิ้น ได้แก่ นายพุทธพล มงคลวรวรรณ เรื่องปาตานีผ่านแว่นของจักรวรรดิและดวงตาสมัยใหม่: การสำรวจทางมานุษย วิทยาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในรัฐมลายูของสยาม ค.ศ.1899–1900 (A Modern Gaze, the Imperial Science: the Cambridge Anthropological Survey of Patani, 1899-1900) 

นายนิยม กาเซ็ง เรื่องเส้นทางสู่ความทันสมัย: ประวัติศาสตร์สังคมของถนนทางหลวงสายใหม่สู่ ปาตานี (A Route to Modernity: A Social History of Modern Roads to Patani) นายมูฮัมหมัด อิลยาส หญ้าปรัง เรื่องการตีความความเป็นสมัยใหม่: ต่วนกูรู อิสมาแอล สะปันยัง (2498 - ) อูลามาอ์สายจารีตในสังคมปาตานีสมัยใหม่ (Interpreting Modernity: Tuan Guru Ismael Sapanyang, a Traditional Ulama in a Modern Patani Society)

นางสาวทวีลักษณ์ พลราชม และนายวารชา การวินพฤฒ เรื่อง ณ ระหว่างพื้นที่: ประสบการณ์ || อัตลักษณ์ || มุสลิมมะฮฺปัตตานีบนเส้นทางการศึกษาสมัยใหม่ (In-Between Space: Experiences || Identities || the Pattani Women on a Modern Route of Education)

นางสาวอสมา มังกรชัย เรื่อง ตำรวจมลายู: ลูกผสมของความเป็นสมัยใหม่แบบอาณานิคม ประวัติศาสตร์บาดแผล และความรุนแรง (The Melayu Police: A Colonial Hybridity of Modernity, a Wounded History, and the Violence) นายบัณฑิต ไกรวิจิตร เรื่อง พิธีกรรมและศิลปะการละเล่นพื้นบ้านมลายูปาตานี: วัฒนธรรมลูกผสมกับสภาวะความ เป็นสมัยใหม่อันแตกกระจาย

นายสะรอนี ดือเระ เรื่อง เสียงเพรียกใหม่: นิตยสารอาซานและกลุ่มปัญญาชนใหม่ในปาตานีกลางทศวรรษ 2510 (A New Voice: the Azan Magazine and New Intellectuals in Patani, 1970s) นางสาวปิยะนันท์ นิภานันท์ เรื่อง ความทันสมัยในภาพเรืองแสง: ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของโรงภาพยนตร์ในสังคม ปาตานี (Illuminating Modernities: a Cultural History of Cinema in the Patani Society)

นายบัญชา ราชมณี เรื่อง โมเดิร์นดิเกมิวสิค: อุตสาหกรรมดนตรีและพัฒนาการของสื่อบันเทิงในปาตานี (Modern Dikir Music: Music Industry and Development of Entertaining Media in Patani)

ส่วนในวันที่ 28 มกราคม 2555 จะมีการนำเสนอบทความทางวิชาการอีก 6 ชิ้น

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรณีเสกสรรค์ กับ ครก. 112 และการแก้ปัญหาแบบ top down

Posted: 27 Jan 2012 08:53 PM PST

หลังจากเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษารุ่น 14 ตุลา นามอุโฆษ ออกมาเขียนจดหมายชี้แจงว่า ชื่อเขาไปปรากฏใน 112 ชื่อแรกของคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ได้อย่างไร ซึ่งเสกสรรค์บอกว่า “ถูกขอร้องโดยผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ” แต่ยืนยันว่า เขา “ไม่ใช่แกนนำในการรณรงค์แก้ไข มาตรา 112” หลังจากนั้นผู้คนจำนวนหนึ่งก็เกิดอาการผิดหวัง เศร้าใจ หรือแม้กระทั่งโกรธเสกสรรค์ ทั้งในอินเทอร์เน็ต และนอกอินเทอร์เน็ต และมีการกล่าวหาและวิจารณ์ว่า เสกสรรค์ขี้ขลาด ไร้จุดยืน ชราแล้ว เปลี่ยนไป ฯลฯ

ผู้เขียนเชื่อว่า อาจารย์เสกสรรค์คงต้องรับผิดชอบต่อการที่ชื่อตัวเองไปปรากฏในรายนาม ครก. 112 คน ส่วนจุดยืนของเสกสรรค์เป็นอย่างไรนั้น ไม่ใช่หัวข้อของบทความนี้ หากบทความนี้มุ่งตั้งคำถามว่า การที่เสกสรรค์ออกมาพูดเช่นนี้มันสะท้อนอะไรเกี่ยวกับกระบวนการคัดสรรจัดตั้ง ครก. 112 รวมถึงคำถามที่ว่า แท้จริงแล้ว กระบวนการคัดสรรโปร่งใสและมีส่วนร่วมจากสาธารณะมากน้อยเพียงใดและทำไม ผู้เขียนจึงขอตั้งข้อสังเกตคร่าวๆ ดังนี้

1. กระบวนการคัดสรรรายนาม 112 คนแรกของ ครก. เป็นไปในลักษณะที่ขาดการมีส่วนร่วมอันเป็นประชาธิปไตยของสาธารณะในวงกว้าง ขาดความโปร่งใส

คำถามก็คือ มีใครรู้บ้างว่า เขาคัดสรรคน 112 คนแรกนี้กันอย่างไร และทำไมถึงเกิดเหตุอย่างกรณีของเสกสรรค์ได้ หากการคัดสรรคน 112 คนเน้นคนดัง คนมีชื่อเสียง มากกว่าคนที่มีจุดยืนอย่างชัดเจนต่อเรื่องมาตรา 112 แล้ว ผู้เขียนเกรงว่า มันคงเป็นกระบวนการที่มิอาจช่วยให้สังคมเป็นประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง และมิต่างจากการเน้นการพึ่งพาชนชั้นนำแบบเก่า หรือเซเลบริตี้/เซเล็บ หรือผู้มีบุญบารมี จะต่างกันก็เพียง กลุ่มนี้คนส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้มีเจตนาดีต่อบ้านเมือง (แต่ก็อย่างว่า อีกฝ่ายที่เอา ม.112 ก็อ้างว่า ผู้นำฝ่ายตนเองที่พวกเขาเทิดทูน นับถือ ก็เป็นคนดี และหวังดีต่อสังคมเหมือนกันมิใช่หรือ)

การที่เสกสรรค์บอกว่า มีผู้ใหญ่ที่เขาเคารพนับถือ ‘ขอร้อง’ นั่นก็แสดงถึงการใช้ระบบอุปถัมภ์ ระบบพี่ ระบบน้อง ในการคัดสรรคน 112 คนแรกเช่นกัน ตรงนี้ถ้ามองในแง่กระบวนการก็มิต่างจากพรรคการเมืองหลายพรรค ที่จัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี

2. ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ และ ครก.112 สำเร็จรูปเกินไป?

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ หากคุณเป็นประชาชนธรรมดาคนหนึ่งที่มองเห็นถึงปัญหาของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ไม่มีเส้นสายหรือคอนเนกชั่น (connection) ในการเข้าไปร่วมประชุมปิด ณ วันนี้ สิ่งที่คุณทำได้ก็คือ ตัดสินใจซะว่าจะเซ็นหรือไม่เซ็นเท่านั้นเอง เพราะข้อเสนอในการแก้มาตรา 112 ของนิติราษฎร์และ ครก. นั้น มันออกมาตายตัวอย่างสำเร็จรูปแล้ว โดยที่คนธรรมดาทั่วไปมิได้มีส่วนร่วมในการให้ความเห็น หรือเสนออะไรเลย (โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนขอประกาศไว้เลยว่า ถึงแม้จะตระหนักถึงเจตนาดีของทั้งสองกลุ่ม แต่ก็จะไม่ร่วมลงชื่อ เพราะว่า ผู้เขียนรับไม่ได้กับการร่วมลงชื่อที่ลดโทษกฎหมาย มาตรา 112 แต่ยังคงไว้ซึ่งความชอบธรรมของโทษทางอาญา และไม่รวมถึงข้อกังขาเรื่องความโปร่งใสและกระบวนการในการจัดตั้ง ครก.และตั้งข้อเสนอ)

3. ทั้งข้อ 1. และข้อ 2. ทำให้เราเห็นว่า การพยายามแก้ปัญหา อย่างไม่มีส่วนร่วมโดยสาธารณะอย่างแท้จริง ย่อมนำไปสู่การพึ่งพา (dependency) อีกแบบหนึ่ง ถึงแม้นิติราษฎร์และ ครก. จะมีเจตนาดีแต่ถ้าเราเชื่อมั่นในพลังและสติปัญญาของประชาชน กระบวนการต่างๆ ก็ควรจะเปิดกว้างให้มากที่สุด มิใช่ทำกันเงียบๆ แล้วผลิตข้อเสนอสำเร็จรูปออกมาให้สู่สาธารณะให้ประชาชนเลือกว่าจะเซ็นหรือไม่เซ็น (ดูตัวอย่างตรงกันข้าม กรณีเครือข่ายพลเมืองเน็ต จัดแคมเปญ My Computer Law ที่เริ่มจากการระดมความเห็นจากสาธารณะทั่วประเทศ แล้วจึงนำความเห็นเหล่านั้นมาทำเป็นร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับประชาชน แล้วจึงจะมีการระดมลายเซ็นเพื่อเสนอกฎหมายเข้าสภา ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในชั้นระดมความเห็น)

ตราบใดที่ยังมีการแก้ปัญหาแนวดิ่งแบบบนลงล่าง (top down) แบบสูตรสำเร็จให้ประชาชนเลือกเลย ตราบนั้นประเทศไทยก็ยังคงเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้ยาก ทางเลือกของประชาชนในสังคมประชาธิปไตยควรจะมีมากกว่าการตัดสินใจว่าจะเซ็นหรือไม่เซ็น

ประชาชนในสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อคอยสนับสนุนผู้นำแบบที่เขาเห็นด้วย หากควรมีบทบาทมากกว่าการเป็นกองเชียร์หรือคนลงนามในการรณรงค์แบบแนวดิ่งอย่างสูตรสำเร็จ เราต้องไม่สับสนระหว่างสังคมที่ดีที่อยากเห็น ซึ่งอาจมีการผลักดันสิ่งต่างๆ อย่างไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงกับกระบวนการที่โปร่งใส มีส่วนร่วมและเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเอาเข้าจริง อย่างหลังสำคัญกว่าต่อสังคมไทยในระยะยาว

ประชาชนมิควรต่อสู้เพียงเพื่อเปลี่ยนการพึ่งพาจากชนชั้นกลุ่มหนึ่งไปสู่ชนชั้นนำอีกกลุ่มอีกแบบที่พวกตนเชื่อว่าดีกว่า หากควรต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสำคัญระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น