โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สมัชชาสุขภาพไม่รับผลศึกษา จี้รัฐทบทวนพัฒนาภาคใต้อีก

Posted: 14 Jan 2012 12:28 PM PST

ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพ ตั้งกรรมการทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ ชี้เหตุสภาพัฒน์ไม่ทำตามมติ จี้รัฐปรับแก้อีกรอบ

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 14 มกราคม 2554 ที่ห้องลิบง ตึกรัษฎา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ตรัง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง มีการประชุมสมัชชาสุขภาพภาคใต้ ในระเบียบวาระติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้ มีผศ.สอรัฐ มากบุญ ประธานคณะทำงานวิชาการ เครือข่ายสุขภาพภาคใต้ เป็นประธาน มีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน

นางศยามล ไกยูรวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) ในฐานะคณะทำงานวิชาการ รายงานต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้มีรายงานการศึกษาเรื่องการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2554 โดยว่าจ้างบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด เป็นที่ปรึกษา และให้สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำโครงการเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเมื่อครั้งบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ได้ระบุในเอกสารโครงการว่า เป็นการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2552 แต่วิธีการดังกล่าว ไม่เป็นไปตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งดังกล่าว ที่ตั้งคณะกรรมการทบทวนร่างแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน

นางศยามล รายงานต่อไปว่า เพื่อติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 คณะทำงานวิชาการ เครือข่ายสุขภาพภาคใต้ มีข้อเสนอเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณา ได้แก่ ให้ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพภาคใต้และคณะกรรมการสุขภาพภาคใต้ ตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาภาคใต้อีกชุดหนึ่ง เพื่อทบทวน ปรับปรุงทุกแผนพัฒนาเสนอไปยังรัฐบาล คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทบทวนปรับแผน และเป็นแนวทางกำหนดนโยบาย แผน และโครงการของกระทรวงต่างๆที่จะดำเนินการในภาคใต้ให้สอดคล้องกับความต้องการของคนใต้

นางศยามล รายงานต่อไปว่า คณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย ผู้แทนจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และภาควิชาการ ในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยให้คณะกรรมการชุดนี้มีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายของรัฐ

นายกิตติภพ สุทธิสว่าง จากเครือข่ายชาวจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวในที่ประชุมว่า ตนได้อ่านรายงานการศึกษาเรื่องการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ฉบับดังกล่าวมาแล้ว พบว่า ยังไม่มีอะไรแต่ต่างจากแผนพัฒนาภาพใต้ฉบับที่ผ่านๆ มา เนื่องจากรายงานฉบับนี้ระบุให้พื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันเป็นพื้นที่พัฒนาด้านการท่องเที่ยว ยกเว้นพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน ซึ่งจะต้องมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมตามมา จึงยังมีเนื้อหาที่ตรงกันข้ามกับความเห็นของสมัชชาสุขภาพที่ต้องการให้มีการพัฒนาภาคใต้อย่างยังยืนสอดคลองกับความต้องการของคนในภาคใต้

ว่าที่ร.ต.กำพล จิตตะนัง ผู้ประสานงานศูนย์จัดการภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า เมื่อยังไม่มีการทำตามมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2552 ที่ให้ตั้งคณะกรรมการทบทวนร่างแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ก็ควรตั้งกลไกในการผลักดันให้มีการทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้อีกต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทบทวนหรือทบทวนปรับแผนพัฒนาภาคใต้

ที่ประชุมจึงได้เสนอให้คณะกรรมการชุดนี้ มีกลไก เฝ้าระวังเพื่อการพัฒนาภาคใต้ภายใต้บริบทและความสอดคล้องกับความต้องการของคนใต้ รวมทั้งมีบทบาทในการพัฒนากลไกการชะลอแผนงานและโครงการที่อาจสร้างความขัดแย้งหรือมีผลกระทบต่อสังคมและชุมชนทั้งปัจจุบันและอนาคต

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เยียวยา แดง – มลายู

Posted: 14 Jan 2012 12:03 PM PST

 
ครม.รัฐบาลปู อนุมัติงบ 2,000 ล้านบาท เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบคนเสื้อแดง อ้างว่าช่วยทุกกลุ่มทุกสี เฉลี่ยรวมรายละ 7.75 ล้าน  ฝ่ายค้าน รมว.ยุติธรรมเงา ถาวร พรรคประชาธิปัตย์ ร้องรัฐบาลทบทวนการจ่ายเงินเยียวยาชายแดนใต้ ตั้งแต่ปี 47  “อภิสิทธิ์  หัวหน้าฝ่ายค้าน ปชป. ข้องใจนำภาษีจ่ายเยียวยาคนเผาเมือง” “เฉลิม รองนายกฯ ชงจ่ายเยียวยา 3 จว.ใต้ ปัดให้แต่เสื้อแดง”  นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการพาดหัวข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์  ข่าวออนไลน์  เพื่อประชาชน  หรือ  เพื่อคนของตน  หรือ  แค่“เล่น”การเมือง
 
หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 55 ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอคณะกรรมการประสานงานและติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นประธาน  ให้ชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองก่อนปี 49 ถึง 53  วงเงิน 2,000 ล้านบาท หรือจะได้รับการเยียวยาสูงสุดรวมรายละ 7.75 ล้านบาท
 
ถือว่าเป็นการเยียวยาจิตใจประชาชนคนไทยของรัฐบาลปู 1 ที่สามารถสร้างคะแนนเสียงต่อคนเสื้อแดงให้พุ่งสูงขึ้นได้ในพริบตา แต่ในประเทศที่ถูกเรียกว่า “ไทย” ไม่ได้มีเพียงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นเพียงเหตุการณ์รัฐประหาร และการชุมนุมของคนเสื้อเหลือง – เสื้อแดง เท่านี้  การตัดสินใจให้ความช่วยเหลือชดเชยในครั้งนี้ ไม่ได้มองออกไปยังพื้นที่ที่ห่างไกลจากเมืองหลวง พื้นที่ชายแดน ความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน มีมากมายหลายเท่า  ซึ่งชีวิตของวีรชนที่ถูกสละวิญญาณออกจากร่างทิ้งไว้ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้นับหลายพันคน เพียงพริบตาเดียวเช่นกันคะแนนเสียงรัฐบาลปู 1 ก็ตกลง  การมอบเงินหลักล้านแก่ผู้ที่สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่อ้างว่าจากเหตุการณ์ชุมนุมเหลือง-แดง รัฐบาลไม่สามารถควบคุมความคิดของประชาชนได้ว่า เงิน 7.75 ล้านบาท ว่าเป็นการปูนบำเหน็จแก่คนเสื้อแดงที่ต่อสู้เพื่อพรรคเพื่อไทยจนสามารถจัดตั้งรัฐบาล
 
สังเกตได้จากการออกมาให้ข่าวของ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. ที่ออกมาเรียกร้องเงินเยียวยาให้กับผู้เสียชีวิตเป็นประเด็นที่พูดกันมาในช่วงของการหาเสียงพรรคเพื่อไทยก็ได้เปิดประเด็นและพูดถึงในเรื่องเอาไว้เช่นกัน มันเป็นเหมือนกับการสัญญา ซึ่งเป็นการคุยกันกับบางกลุ่มที่สนับสนุนพรรค แต่ไม่ได้เป็นนโยบายที่ครอบคลุมทั่วทุกกลุ่มสี และพื้นที่ขัดแย้งทางการเมือง  สอดคล้องกับนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช. ที่ออกมากล่าวถึง เรื่องเดียวกันว่าเป็นเรื่องที่ทางพรรคเพื่อไทยเคยคุยกันตั้งแต่หลังการสลายการชุมนุมว่า หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตรายละ 10 ล้านบาท  2 แกนนำ นปช. ออกมาพูดบนผลประโยชน์ของคนเสื้อแดงถือเป็นผู้มีบุญคุณต่อแกนนำคนเสื้อแดงที่สามารถเข้าไปนั่งในสภาอันทรงเกียรติ และพรรคเพื่อไทยให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลและกุมเสียงข้างมากในสภาได้อีกด้วย
 
แต่ยังไม่ทันข้ามวันของการแถลงทางพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีเงา ก.ยุติธรรม กล่าวในประเด็นที่มติครม.ปู อนุมัติชดเชยเงินเยียวยา2,000 ล้านบาท ว่า เป็นการกำหนดกรอบไว้เฉพาะแก่ผู้ชุมนุมปี 47 เป็นต้นมา ถาวร ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนเงินเยียวยาแก่เหยื่อความรุนแรงจากเหตุการณ์ใต้ตั้งแต่ปี 47 ที่มีการเสียชีวิตจำนวนมากในสมัยรัฐบาลทักษิณอีกด้วย เช่นเดียวกับ หัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มองประเด็นนี้ว่ารัฐบาลต้องสร้างความชัดเจนว่าเหยื่อที่จะได้รับการเยียวยาจากนโยบายของรัฐบาล หากเป็นการเยียวยาเหยื่อทางการเมืองแล้วอีก 5,000 ชีวิตจากเหตุการณ์ชายแดนใต้ รวมทั้ง 2,000 ศพจากการฆ่าตัดตอนยาเสพติด ต้องให้เกิดความเสมอภาคกันทุกกลุ่มกรณี จะให้นำเงินภาษีประชาชนไปจ่ายแจกแก่กลุ่มคนบางกลุ่มไม่ได้
 
สงครามน้ำลายในการเล่นเกมการเมืองของ 2 พรรคใหญ่ เป็นการนำเอาความสูญเสียของประชาชนทั้งที่มีเชื้อชาติ  ศาสนาที่ต่างและคล้ายกัน เป็นการเดินเกมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เพิ่มคะแนนเสียง และก็เป็นเครื่องมือในการลบภาพลักษณ์ของอีกฝ่ายได้อีกด้วย  การลงมติของครม. เพื่อช่วยเหลือเยียวยา จ่ายค่าชดเชย ค่าปลงศพ ค่ารักษาพยาบาล และค่าอื่นๆรวมรายละ 7.75 ล้านบาท เห็นได้ชัดถึงให้ความช่วยเหลือที่มีมาตรฐานที่ต่างกัน  หรือที่ได้ยินกันบ่อยคือ “2 มาตรฐาน” ระหว่างเหตุการณ์ชุมชนของกลุ่มคนเสื้อเหลือง และการชุมนุมของคนเสื้อแดง ที่เกิดการสูญเสียต่อประชาชนผู้ร่วมชุมนุม และประชาชนบริเวณโดยรอบของสถานที่ชุมนุม  ร้านค้า  บ้านเรือน  ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โครงสร้างทางสังคม  สภาพจิตใจ  เหตุการณ์จากทั้งสองกลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็นความคิดเห็นต่างทางด้านการเมือง และถือว่าส่วนใหญ่เป็นคน “ไทย” ที่มีเชื้อชาติเดียวกัน การให้ความช่วยเหลือจึงเป็นการมอบสิทธิประโยชน์เฉพาะกลุ่มที่ส่งผลให้ตนได้สามารถยืนเด่นในฐานะนักการเมือง รัฐมนตรีได้เท่านั้น  แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่ “พวกเดี่ยวกัน” คงต้องรอส่วนที่เหลือจากอภิสิทธิ์ชนเสียก่อน
 
สำหรับเหยื่อจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่ตกเป็นเหยื่อซ้ำซ้อนต่อเกมการเมือง ที่ประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยเป็นคนเชื้อสายมลายู และนับถือศาสนาที่ต่างกันกับคนส่วนใหญ่และรัฐบาลจากส่วนกลาง  ผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม  เชื้อสายมลายู  รวมทั้งคนไทยจากนอกพื้นที่ทั้งพุทธและมุสลิม  ในประเด็นการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่แห่งนี้ถือได้ว่ามีระเบียบของการช่วยเหลือเป็นต้นฉบับสำหรับการเยียวยากรณีอื่นในประเทศไทย แต่หลังการออกมาแถลงมติของครม.ที่มีการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มคนเสื้อแดงที่ได้มากกว่าสองเท่ากับการช่วยเหลือเหยื่อจากเหตุการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ เป็นการย้ำการแบ่งระดับชั้นของ“รัฐไทย” ไม่ว่าจะมีใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ตาม การมองเห็นความต่างทางด้านเชื้อชาติ  ภาษา  วัฒนธรรม  ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง และปัจจัยอื่น เป็นตัวชี้วัดการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนงบประมาณด้านการพัฒนา การเยียวยา และในด้านอื่นๆ
 
และการออกมาแสดงความคิดเห็นต่อมติครม.รัฐบาลปู ของสองแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ที่พยายามนำประเด็นการเยียวยาคนเสื้อแดง เชื่อมกับการเยียวยากรณีเหตุการณ์ใต้ เป็นเกมการเมืองที่สลับสับเปลี่ยนการเล่นมาตลอด พรรคใดเป็นรัฐบาลอีกฝ่ายจะหยิบยกประเด็นชายแดนใต้ขึ้นมาโจมตี เมื่อตนมีคะแนนมากและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็จะถูกอีกฝ่ายกล่าวหาในประเด็นเดียวกัน  แต่สิ่งที่ตนเองได้พูดในสมัยที่เป็นฝ่ายค้านกลับไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติแต่อย่างใดเมื่อได้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรี   ไม่ใช่เพียงความจริงใจในกรณีของการจ่ายเงินเยียวยาเท่านั้น ที่ทั้ง “รัฐไทย” และ “รัฐบาลไทย” สามารถแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่มลายูเท่านั้น  การยอมรับในความคิดเห็นต่างทางการเมือง  ความต่างทางวัฒนธรรม  ความเชื่อทางศาสนา  ถือเป็นการเยียวยาความเข้าใจของรัฐไทยต่อชาวมลายูในพื้นที่ เพื่อที่จะสามารถยุติ  เหตุร้าย  ความสูญเสีย เด็กกำพร้า  หญิงหม้าย  ผู้ต้องสงสัย  จำเลย  และการคอรัปชั่นในโครงการของรัฐเองได้อีกด้วย
 
แต่เกมที่รัฐบาลปู พยายามลดกระแสการออกมาวิจารณ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาคนเสื้อแดง คือ การออกมาประกาศให้วันตรุษจีน เป็นวันหยุดราชการประจำปีสำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีประชากรเชื้อสายจีนอยู่จำนวนหนึ่งแต่น้อยกว่าชาวมลายูที่เป็นคนส่วนมาก และชาวไทยที่รองลงมา  ถือว่าเป็นการมองเห็นความสำคัญในความต่างทางด้านเชื้อชาติของรัฐบาลชุดนี้  แต่การเรียกร้องให้มีการปิดในวันสำคัญทางวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่เคยมีการยื่นเสนอต่อรัฐบาลหลายรัฐบาลรวมทั้งรัฐบาลทักษิณอีกด้วย แต่ข้อเรียกร้องของคนส่วนมากในพื้นที่ที่มีความต่างในหลายๆด้าน ได้รับการตอบรับน้อยและช้ามาก แต่สำหรับกลุ่มคนที่สามารถให้ผลประโยชน์แก่รัฐได้ รวมทั้งมีความเชื่อและเหมือนกันหลายๆด้านแล้วย่อมได้รับการตอบรับที่เร็วกว่า
 
การมองเห็นความสำคัญของวันสำคัญๆทางวัฒนธรรมของคนมลายูในพื้นที่ชายแดนใต้ แม้ว่าจะประกาศให้เป็นวันหยุดหรือไม่  และการมองเห็นความคิดเห็นที่ต่างทางด้านการเมืองการปกครอง หรือ ระบอบการปกครอง ที่เป็นแนวคิดที่สันติ หรือ รุนแรง รัฐจำเป็นที่ต้องเปิดพื้นที่การยอมรับในใจตนเอง(ผู้ปกครอง)เสียก่อนว่า  มีแนวคิดที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง  และพื้นที่เวทีทางการเมือง  หรือเวทีพูดคุย  เจรจากับกลุ่มแกนนำตัวจริงของขบวนการที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ก็จะเกิดขึ้นตามมา  จะส่งผลให้การทิ้งงบประมาณลงมาไม่สิ้นเปลืองหรือศูนย์เปล่า และไม่จำเป็นที่ต้องทุ่มเงินเยียวยาเพื่อพวกพ้องให้เกิดปัญหาตามมาจนเกิดเป็นเกมการเมืองสาดน้ำลายใส่กันเกิดขึ้น
 
การเยียวยาสังคมด้วยความจริงใจ  และยอมรับ คือ จิ๊กซอว์หนึ่งที่จะต่อให้เห็นคำว่า “สันติภาพ” ในพื้นที่ได้  
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เมื่อ “กรอบคิดแบบเรขาคณิต” ออกแบบกรอบของสังคม

Posted: 14 Jan 2012 11:15 AM PST

บทความชิ้นนี้เป็นบทความที่ผู้เขียนนำเสนอต่อ คุณเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ครั้งเมื่อสมัยศึกษาอยู่ในระดับบัณฑิตศึกษา ได้รับคำแนะนำจากท่านเป็นอย่างดี ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนเป็นอย่างมาก อาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มของการเริ่มเขียนบทความเชิงวิชาการก็ว่าได้  แต่ความสำคัญของเรื่องไม่ได้อยู่ที่เรื่องนั้นแต่มันอยู่ที่ประเด็นที่นำเสนอมากกว่า ซึ่งผู้เขียนนำมาเรียบเรียงและนำเสนอใหม่อีกครั้งในที่นี้

“กรอบคิด” เป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมากต่อการที่จะกำหนดแนวทางต่างๆของสังคมหรือโลกนี้ก็ว่าได้ การกระทำสิ่งใดของมนุษย์นั้นก็มักจะอิง “กรอบคิด” ที่ตนเองได้รับและถูกปลูกฝังมา ซึ่งอาจจะมาจากวัฒนธรรม ศาสนา หรืออะไรก็ได้ที่มากระทบตัวเราหรืออยู่รอบๆตัวเรา

ที่มาที่ไปของ “กรอบคิด” นั้น มาจากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ขนบธรรมเนียม ประเพณี ไม่เว้นแม้เรื่องที่กำหนดโดย การเมือง (การเมืองเชิงวัฒนธรรม) หากแต่มีการผลิตซ้ำของข้อมูลเหล่านี้เรื่อยๆและต้องเป็นที่เห็นควรของสังคมโดยรวมแล้วละก็ สิ่งต่างจะค่อยๆซึมผ่านและตกผลึกเป็น “กรอบคิด” ฝังอยู่ในความคิดไปในที่สุด และจะอยู่ไปจนกว่ามีข้อมูลใหม่ที่สังคมยอมรับเข้ามาแทนที่

หากจะยกตัวอย่างในสังคมไทยแล้วละก็ ผู้เขียนก็จะพูดถึง “การเมืองเชิงวัฒนธรรม” แล้วกัน ซึ่งตรงนี้ทุกคนจะได้เห็นภาพว่ากรอบคิดถูกกำหนดและสร้างขึ้นมาและก็กลายเป็นรากฐานของสังคมที่จะปฏิบัติสืบต่อกันมาในที่สุด

ครั้งเมื่อสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยยุคนั้น คณะราษฎร์ฯ ยังมีอำนาจอยู่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีแนวคิดที่ให้นำรูปของตนติดบนฝาผนังขึ้นเป็นการบ่งบอกซึ่งความศรัทธาที่มีต่อผู้นำและแสดงพลังให้เห็นว่าตนเองสำคัญ เพื่อที่จะลดอำนาจของฝ่ายตรงข้ามลง (คงไม่สะดวกในการอธิบายรายละเอียด) จน “กรอบคิด” เรื่องรูปที่ติดฝาผนังนั้นมีมาจนถึงปัจจุบันโดยที่จุดมุ่งหมายก็ยังมิได้เปลี่ยนไปแต่ประการใด ซึ่งเห็นได้ว่า “กรอบคิด” มีความสำคัญมาก ยิ่งหากผู้ใดสร้างจนนำไปสู่การกำหนดเป็น “กรอบคิด” ของสังคมได้แล้วถือว่าผู้นั้นมีความสามารถเป็นอย่างมาก

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า การที่เราจะเปลี่ยนอะไรของสังคม สิ่งแรกที่ควรจะเปลี่ยนเหนือสิ่งอื่นใด นั่นก็คือ การเปลี่ยนแปลง “กรอบคิด” นั่นเอง หากพูดกันให้เห็นภาพก็ต้องบอกว่า คงต้องทำลาย “กรอบคิด” เดิมๆที่กำหนดสังคมให้อยู่ในรูปแบบที่ตายตัว ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งผู้เขียนเรียกว่า “กรอบคิดแบบเรขาคณิต”

หากเปรียบแล้ว “กรอบคิด” ก็คงเหมือนกับสี่เหลี่ยมทรงเรขาคณิตที่คงตัวและไม่มีวันที่จะเปลี่ยนรูปร่างได้ ขาดซึ่งความยืดหยุ่นและความเป็นธรรมชาติราวกับเป็นหุ่นยนต์ที่ไม่มีการเคลื่อนไหว หากจะยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ เอาที่ใกล้ตัวเราๆมากที่สุดก็คือ หากเรากล่าวถึงชาวนา ลองจินตนาการดูว่าคุณเห็นอะไรในสมองของคุณ  เชื่อแน่ว่าร้อยทั้งร้อยก็คงหนีไม่พ้นภาพ ชาย หรือ หญิง แต่งตัวซอมซ่อ ถือเคียว พร้อมควายและคันไถ หรือหากนึกถึง พนักงานธนาคาร ก็จะนึกถึงภาพ ชาย หรือ หญิง ใส่สูทผูกไทด์ ทำงานอยู่ในห้องแอร์ เป็นแน่

หากกล่าวถึงโครงสร้างทางสังคมในที่สุดแล้วกรอบคิดแบบนี้ เป็นสิ่งที่ถือว่าเป็นกระดูกชิ้นโตต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมไทยเลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อผู้คนพอใจที่จะมีกรอบคิดแบบนั้นก็ย่อมส่งผลต่อสังคมว่า ชาวนา ก็ต้องเป็นแบบที่เขาคิดเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดแล้ว เมื่อคุณเป็นชาวนาคุณก็ต้องยอมรับหลักนี้ เพราะแม้แต่ตัวชาวนาเอง ก็ยอมรับหลักนี้เช่นกันไม่เช่นนั้นก็คงไม่จำเป็นต้องส่งลูกส่งหลานมาเรียนหนังสือในเมือง จนถึงกระทั่งการขายหรือจำนองที่ดินเพื่อให้ลูกหลานของตนได้เรียนสูง  จะได้ไม่ลำบากเช่นตน

ดังนั้นการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น สิ่งแรกที่ควรทำคือ การทำลายกรอบคิดรูปทรงเรขาคณิตที่อยู่ในสมองก่อนเป็นสิ่งแรก โดยส่งเสริมให้คนลบภาพที่นิยามในสมองทิ้งไป เลิกใช้ภาพเดิมๆแทนคำเหล่านั้น เลิกจำกัดความคิดว่า สิ่งนี้ต้องคู่กับสิ่งนี้เท่านั้นจึงจะเหมาะสม ชาวนาควรจะคู่กับความจนเท่านั้นจึงจะเหมาะสม หรือแม้แต่ความคิดที่ว่าเราผลิตข้าวก็ควรกินข้าวราคาถูก เราบ่นกันมากเมื่อข้าวขึ้นราคาโดยที่เราไม่เคยบ่นเลยในยามที่ กระเป๋าหลุยส์ มันจะแพงมากแค่ไหน ลองเปิดกว้างทางความคิด ชาวนาควรจะเป็นอะไรก็ได้ ชาวนาเป็นคนจนก็ได้ เป็นผู้ที่มีเครื่องบินส่วนตัวก็ได้ มีรถยนต์หรูๆขับก็ได้ สรุปแล้วก็คือ เป็นได้ทุกอย่างนั่นเอง 

ต้องไม่ลืมว่ากรอบคิดแบบเรขาคณิตนี่แหละเป็นตัวการสำคัญที่ผู้เขียนเชื่อว่าทำให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก หากไม่เปลี่ยนความคิดเหล่านี้ความเหลื่อมล้ำก็จะมีอยู่ต่อไป กรอบของสังคมถูกบล็อกด้วยกรอบทางความคิด จนในที่สุดแล้วไม่อนุญาตให้ผู้ใดออกจากกล่องความคิดสี่เหลี่ยมนี้ไปได้ เป็นการแสดงถึงสังคมนั้นๆยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ แต่ก็ต้องบอกว่าการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ยากมาก ยากมากกว่าการแก้รัฐธรรมนูญ ยากมากกว่าการแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯเสียอีก สิ่งต่างๆเหล่านี้คงไม่ได้เปลี่ยนกันง่ายๆภายในวันเดียงเป็นแน่ เพราะแม้แต่ประชาธิปไตยของบ้านเราผ่านมา 78 ปี ก็ยังคงไม่สมบูรณ์นัก 

และปัญหาอีกประการที่สำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงกรอบคิดนี้ ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตและสงสัยล่วงหน้าว่า แล้วผู้คนที่อยู่ในสังคมที่สูงกว่าชาวนาเล่าจะยอมรับและเปลี่ยนแปลงกรอบคิดแบบเรขาคณิตนี้หรือเปล่า หรือว่าจริงๆแล้วเขาเหล่านั้นไม่อยากที่จะให้ชาวนาขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวหรือสูงกว่าเขา เขาพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ นั่นก็แสดงให้เห็นว่าเขาก็พอใจเช่นกันที่จะปล่อยให้สังคมเหลื่อมล้ำอยู่ต่อไป ?

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โฆษก KNU ยันยังอยู่ในขั้นเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า

Posted: 14 Jan 2012 11:08 AM PST

ผลเจรจาพม่า-กะเหรี่ยงรอบแรกยังไม่บรรลุข้อตกลงหยุดยิง แต่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบหลักการเบื้องต้นและเตรียมหารือต่อ เผยข้อเสนอ 11 ข้อของกะเหรี่ยงถึงรัฐบาลพม่า เรียกร้องให้พม่ายุติปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย และรับรองสิทธิและความปลอดภัย

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา คณะเจรจา 19 คนของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union) หรือเคเอ็นยู ได้เจรจากับคณะผู้แทนจากรัฐบาลนำโดยรัฐมนตรีการรถไฟ อ่อง มิน (Aung Min) ที่เมืองผาอัน รัฐกะเหรี่ยง เพื่อเจรจาเรื่องข้อตกลงหยุดยิง

โดยโฆษกของเคเอ็นยูกล่าวว่าการเจรจาประสบผลสำเร็จ "คณะของเคเอ็นยูได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับรัฐบาลพม่า เพื่อที่จะนำไปสู่ข้อตกลงหยุดยิง เมื่อคณะเจรจากลับไปยังฐานที่มั่นจะเริ่มหารือกันในข้อตกลงปลีกย่อยที่จะเจรจากับรัฐบาลพม่า"

โฆษกของเคเอ็นยูระบุว่า เคเอ็นยูยินดีต่อข้อเสนอพื้นฐาน 11 ข้อ ที่รัฐบาลพม่าตอบรับพวกเขาที่เมืองผาอัน โดยฝ่ายกะเหรี่ยงเคเอ็นยูจะดำเนินการหารือต่อไปว่าจะทำให้ข้อเสนอเหล่านี้เป็นจริงขึ้นมาหลังทั้งสองฝ่ายตกลงหยุดยิงได้อย่างไร

ทั้งนี้ข้อเสนอพื้นฐาน 11 ข้อที่เคเอ็นยูเสนอรัฐบาลพม่า เช่น การเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุติปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ เริ่มต้นการหยุดยิงทั่วประเทศให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้ รับรองสิทธิมนุษยชนและความปลอดภัยของพลเรือน ทำให้เกิดความไว้วางใจ วางแผนในโครงการพัฒนาที่ประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมและตัดสินใจอย่างเต็มที่ ยุติการบังคับเกณฑ์แรงงานทันที ยุติการเก็บภาษีเกินอัตราและข่มเหงชาวบ้าน

เคเอ็นยูยังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด ออกมาตรการเพื่อให้มีการคุ้มครองสิทธิในที่ดิน ออกมาตรการเพื่อเกิดกระบวนการสันติภาพ เปิดให้มีสำนักงานประสานงานเพื่อให้มีการเจรจาสันติภาพ อนุญาตให้ทหารซึ่งไม่ติดอาวุธเดินทางและเคลื่อนไหวในรัฐกะเหรี่ยง และกำหนดพื้นที่ควบคุมของชนกลุ่มน้อยให้ชัดเจน

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
KNU and Burma government agree to further talks, 13 Jan 2011,
Karen News

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ‘เอามั้ย! ทำแผนพัฒนาภาคใต้ฉบับพหุภาคี’

Posted: 14 Jan 2012 04:32 AM PST

สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ

หลังจากอุ่นเครื่องด้วยวงเสวนาวิชาการเรื่อง “แผนพัฒนากับทางเลือกการพัฒนาภาคใต้ แผนพัฒนาที่ยั่งยืน” เมื่อตอนค่ำของวันที่ 13 มกราคม 2555

เช้าของวันที่ 14 มกราคม 2555 งานสมัชชาสุขภาพภาคใต้ และงานวิชาการ “ไอดิน กลิ่นใต้” พ.ศ. 2554 ที่จัดโดยเครือข่ายสุขภาพภาคใต้ ก็เริ่มเข้าสู่เนื้อหาด้วยปาฐกถาเรื่อง “กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม พื้นที่ภาคใต้” โดยนายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ คณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่และสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น

ข้อคิดแนวทางที่นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เสนอแนะต่อสมัชชาสุขภาพภาคใต้ มีอะไรและเป็นอย่างไร มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังปรากฏต่อไปนี้

0 0 0

ผมมาถึงเมื่อวานนี้ (วันที่ 13 มกราคม 2555)ได้มาเห็นพิธีเมื่อเช้านี้ (วันที่ 14 มกราคม 2555) ผมมั่นใจว่าสมัชชาสุขภาพภาคใต้ ไม่มีวันตกต่ำ เวลาคนทำงานร่วมกันนะครับ หมอประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส มักจะเตือนให้ยึดหลักอปริหายธรรม แปลว่าธรรมะที่ป้องกันความเสื่อมในการทำงานร่วมกัน ข้อหนึ่งคือให้หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ สมัชชาสุขภาพภาคใต้ที่ผมเฝ้ามอง ในฐานะสมัชชาแห่งชาติ และในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่และสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ได้เฝ้ามองพื้นที่นี้เป็นพิเศษ

ครั้งแรกที่จัดสมัชชาสุขภาพภาคใต้ขึ้นมา ต้องขออภัย ผมคิดว่าพื้นที่นี้จะทำกันไปได้สักกี่น้ำ แต่นี่จัดมาเป็นครั้งที่ 4 แล้วนะครับ ภาคใต้มีการประชุมกันเป็นเนืองนิตย์ ไม่ใช่แค่ประชุม 14 จังหวัดเท่านั้น ทราบว่าแกนนำอื่นๆ ก็เข้ามาประชุมด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เข้าประชุมพร้อมเพรียงกัน เลิกประชุมพร้อมเพรียงกัน ไม่มีที่ว่าเข้ามาร่วมประชุมกัน ทีละคนสองคน พอประชุมไม่ทันเลิกก็หายไปแล้ว เพราะอันนี้เป็นอุปสรรคที่สำคัญ

ลักษณะที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง เคารพในประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม ที่เห็นชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นเลย งานวันนี้พูดถึงประวัติศาสตร์ภาคใต้ย้อนหลังไปไกลเลย  รวมทั้งศิลปวัฒนธรรม

ประเด็นที่สามอยากยกขึ้นมา ที่คิดว่าท่านคงไปได้แน่ๆ คือ เคารพในอาวุโส และเคารพในสตรี เชื่อฟังสตรี 14 ท่าน ที่ผมเห็นเมื่อเช้านี้ มีสตรีอยู่ 4 ท่าน ซึ่งเป็นหนึ่งสาม มากกว่า ส.ส.ในสภาเสียอีก แปลว่าสมัชชาของเรา มีแนวโน้มไปได้ดีแน่ๆ จุดแข็งที่ผมเห็นเมื่อวานนี้ คือ การจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบ มีกลไกที่เป็นระบบ บางเรื่องผมเห็นว่าดีกว่าสมัชชาชาติเสียอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วก็คงจะมีวิวัฒนาการค่อยๆ ปรับจนกระทั่งเหมาะสมกับภาคใต้ที่สุด

หลายท่านที่มาจากประชาชน จากภาคประชาสังคม อาจจะมองว่ารูปแบบนี้เป็นราชการจ๋า มันเหมือนเป็นระบบเกินไป ก็อาจจะลดความเป็นระบบลงได้ ค่อยคุยกับคนที่ทำงานทั้งหลาย ท้ายที่สุดแล้วค่อยทำไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร อาจจะไม่มีกฎไม่มีระเบียบอะไรเลย แต่กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร โดยผู้นำของท่านทั้งหมด ทั้ง 14 ท่าน และคนอื่นๆ ที่อยู่ในที่นี้ด้วย อาจจะช่วยกันปรับปรุงและพัฒนา และอยากจะเรียนว่าภาคใต้ เมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ แล้ว ถือว่าเป็นระเบียบที่สุด พร้อมเพรียงกันที่สุด วันนี้เราก็มีตัวแทนจากภาคอื่นๆ มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย ท่านจะต้องมีการแลกเปลี่ยนกันเป็นระยะ เมื่อเช้าผมมาเดินดูนิทรรศการ ยังไม่ได้ดูทุกจังหวัด หลังจากนี้เช้าๆ บ่ายๆ ผมจะเดินดูให้หมด เพราะผมคิดว่าจะได้เรียนรู้จากจังหวัดต่างๆ มากมาย ทุกจังหวัดไม่เหมือนกัน ทุกอำเภอๆเหมือนกัน ทุกตำบลไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการที่มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของจังหวัดต่างๆ เป็นสิ่งที่เป็นจุดแข็งของภาคใต้

ที่ผมเห็นเป็นจุดแข็งอีกข้อหนึ่งของสมัชชาสุขภาพภาคใต้คือ มีทั้งการขับเคลื่อนจนกระทั่งได้มติ นำมาขับเคลื่อนเป็นนโยบาย เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ อย่างที่ผมเรียนไว้ว่า การเอาเรื่องต่างๆ มาเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพ เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจนะครับ ประเด็นหลักในการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปี 2555 เป็นประเด็นที่เสนอขึ้นมาจากสมัชชาภาคใต้ นั่นคือเรื่องภัยพิบัติ อันนี้แสดงถึงภาวะความเป็นผู้นำของทุกท่าน ที่เป็นคนภาคใต้

พวกท่านได้นำประเด็นของท่านขึ้นเป็นประเด็นของภาค สู่ประเด็นระดับชาติได้สำเร็จ เอาข้อตกลงระดับชาติลงมาสู่การปฏิบัติในพื้นที่ได้ มีทั้งขาขึ้นและขาเคลื่อนไปพร้อมกัน 

ทั้งหมดนี้ เป็นกระบวนการที่เราเห็นว่า เป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะที่มีส่วนร่วมจริงๆ เราเห็นภาคประชาชน เราเห็นภาคประชาสังคม เราเห็นภาครัฐและภาควิชาการ แต่มีภาคธุรกิจเข้าร่วมน้อยไปหน่อย แต่เราก็ใช้กระบวนการพัฒนาข้อเสนอไปเรื่อยๆ 

ผมเรียนอย่างนี้ ท่านผู้ฟังอาจจะต้องคิดย้อนหลังสักนิดนะครับ เราจัดเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ  ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้วนะครับ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ประธานสมัชชาแห่งชาติคนแรกเป็นข้าราชการเป็นภาครัฐนะครับ ทำงานในระดับนโยบาย เป็นบุรุษ ส่วนคนที่ 2 เป็นสตรีนะครับ มาจากภาควิชาการ ประธานคนที่ 3 เป็นสตรีอีก เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เป็นนักธุรกิจที่มีความเป็นมนุษย์สูงมาก เป็นผลิตผลของผู้ที่ประสบความสำเร็จท่านหนึ่งนะครับ ซึ่งสร้างตนจากความไม่มีอะไร สู่ความสำเร็จสูงสุดได้คือ นางศิรินา โชควัฒนา ซึ่งเป็นประธานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จะเห็นว่าเรามีประธาน ทั้งที่มาจากภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคธุรกิจ

ผมอยากจะท้าทายต่อไปครับว่า ยุคต่อไปให้ประธานมาจากภาคประชาสังคม จะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ เพราะที่ผ่านมามีผู้หญิงมาแล้วสองคน คนที่สี่จะเป็นผู้หญิงผู้ชายก็ได้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ขอให้มาจากภาคประชาสังคมก็พอ เพื่อจะทำให้เห็นว่า กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะโดยสมัชชาสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นระดับพื้นที่ หรือเฉพาะประเด็น หรือระดับชาติ สามารถทำได้โดยคนในสาขาใดก็ได้ ไม่ใช่ทำได้เฉพาะผู้มาจากภาครัฐเท่านั้น ภาคประชาสังคมก็ทำได้ ภาคธุรกิจก็นำได้ แปลว่าเราทำงานร่วมกันได้

สมัชชาสุขภาพ ไม่ใช่สมัชชาของรัฐที่จะเอาคนของรัฐเข้ามาใส่ ไม่ใช่สมัชชาของประชาชนอย่างเดียว ที่จะเอาแต่เรื่องของประชาชน ไม่ใช่สมัชชาธุรกิจ ที่จะเอาเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจมาใส่ แต่เป็นกลไกกระบวนการที่ทุกภาคส่วน มีเวทีพูดคุยกันอย่างฉันท์มิตร

ธุรกิจของคุณศิรินามูลค่าไม่ใช่ร้อยล้าน แต่เป็นหมื่นล้าน เป็นธุรกิจของครอบครัวคือ บริษัท สหพัฒนพิบูลย์ จำกัด ในห้องนี้รับรองเลยว่า มีคนใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัท สหพัฒน์พิบูลย์ จำกัดมากมายมหาศาล ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ คุณศิรินาได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า ตั้งแต่เข้ามาอยู่ในกระบวนการของเรา 3–4 ปี ในนามของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ท่านได้แสดงจุดยืนยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เราเห็นได้ว่าปัจจุบันภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมกับภาคสังคมมากขึ้น 

จุดที่ภาคใต้ 14 จังหวัดเข้มแข็งอยู่แล้ว และจะต่อยอดต่อไปได้มีอยู่ 2–3 ประเด็นคือ ประเด็นการขับเคลื่อนด้วยตัวเอง อยากจะย้ำนะครับ ถ้าภาคประชาชนเราสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง รวมตัวทำอะไรด้วยกันเอง อันนี้สุดยอดมาก ไม่ต้องมีใครมารับรอง เป็นการจัดการตัวเองโดยภาคประชาสังคม

ขณะเดียวกันเราก็มีกลไกสมัชชา ที่มีกฎหมายรองรับ แม้จะเป็นกฎหมายที่ออกมาในสมัยรัฐบาลรัฐประหาร แต่กระบวนการต่างๆ เริ่มมาก่อนหน้านั้นเยอะแล้ว ถึงไม่มีรัฐบาลจากการรัฐประหาร กฎหมายนี้ก็คงมาถึงสักวัน เพราะผ่านกระบวนการพูดคุยมาทั่วประเทศ

เราจะทำอย่างไร ที่จะให้ภาคใต้กำหนดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้เอง เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ช่วยกันต่อยอดกันขึ้นมา สไลด์ที่ฉายเมื่อคืนนี้ เป็นงานวิชาการเชิงสังคมที่ดีมากชิ้นหนึ่ง เป็นการถอดแผนพัฒนาภาคใต้ออกมาให้เห็นกันชัดๆ ดูแล้วไม่ทราบว่าเป็นแผนพัฒนาฉบับนักธุรกิจหรือเปล่า ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมแค่ไหน เห็นภาพง่ายๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ทีนี้ถ้าเราจะต่อยอดขึ้นไปอีก ก็ตั้งคำถามว่า สมัชชาสุขภาพ 14 จังหวัดภาคใต้ หรืออาจจะจัดตั้งตัวเองเป็นสมัชชาปฏิรูปแห่งประเทศไทย เพื่อทำแผนพัฒนาภาคใต้ได้หรือไม่ จะต้องมีมติสมัชชารับรองอีกหรือไม่ ภาคใต้ 14 จังหวัด จะจัดตั้งเป็นสมัชชาปฏิรูป 14 จังหวัดภาคใต้ได้หรือเปล่า แล้วมีมติตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อทำแผนพัฒนาภาคใต้ โดยไม่ต้องรอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้ง

กำหนดมาเลยว่า ประธานเป็นใคร เอาคนจากที่ไหนมาก็ได้ จากส่วนกลางก็ได้ จากภาคใต้ก็ได้ ที่เราเห็นว่าเป็นคนที่น่าเชื่อถือ แล้วเอาหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วม คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็เข้ามาได้ เพราะเขาทำแผนพัฒนาภาคใต้ฉบับทางการ ให้เขาเข้ามาเป็นกองเลขาฯ เอาสถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมด้วย เอาภาคประชาสังคมมาร่วมด้วย เอามาร่วมกันทำแผนพัฒนาภาคใต้ฉบับพหุภาคี ประเด็นไม่ได้อยู่ที่จะได้แผนหรือไม่ แต่อยู่ที่กลไกและกระบวนการ ที่นำไปสู่การมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง สร้างความร่วมมือ สร้างความร่วมแรงร่วมใจ แผนพัฒนาฉบับนี้จะไปถึงคณะรัฐมนตรีหรือไม่ ไปถึงที่ไหนหรือเปล่า เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

กลไกและกระบวนการที่ทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมนี่แหละคือที่มาของแผน ที่คนภาคใต้จะยึดเป็นแผนพัฒนาภาคใต้ ไม่ใช่ภาคประชาชนนะครับ แต่เป็นแผนของคนทุกภาคส่วน ใครจะเข้ามาทำอะไรที่นี่ เขาต้องดูแผนพัฒนาฉบับนี้ ถ้าเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของแผนจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ผู้รับผิดชอบในส่วนกลาง จนมาถึงคนในพื้นที่ ก็ไม่น่าจะมีใครมาสงสัยว่า ทำไมเราไม่เอาแผนพัฒนาชาติ อันนี้ผมอยากจะเสนอไว้นะครับ

กลไกของพวกเราจะรุกต่อไปได้หรือไม่ ผมคิดว่าเราต้องเริ่มจากการไม่ตั้งธงไว้ก่อนว่า อันนี้เอาหรือไม่เอา เรามาทำงานเชิงรุกกันต่อ เรามาทำงานด้วยกันดีกว่า เราทำทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่เราอยากได้ ผมอยากจะย้ำกับทุกคน รวมทั้งกับภาคธุรกิจด้วย กับสภาอุตสาหกรรมทั้งหมด ที่เราคุยกันสภาอุตสาหกรรมนี่แหละคือ ผู้เข้ามาลงทุนโครงการต่างๆ เราเอาเข้ามาร่วมกระบวนการจัดทำแผนเลย บอกให้เขารู้ว่าจะมาทำอะไรต้องนึกถึงพวกฉัน อันนี้ก็อยากเสนอไว้ว่า จะทำต่อไปหรือเปล่า 

อันหนึ่งที่ผมอยากจะเสนอให้ 14 จังหวัดภาคใต้ต่อยอดก็คือ การพัฒนาผู้นำ ทั้งสมัชชาปฏิรูปและสมัชชาสุขภาพ เพื่อให้เราสามารถขับเคลื่อนเรื่องอื่นได้ด้วย ผมใช้คำว่าพัฒนาผู้นำ ไม่ได้หมายความว่าท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่นี่ไม่ได้เป็นผู้นำ แต่เพื่อให้ทุกคนสามารถต่อยอดไปทำเรื่องอื่นๆ ได้อีก สามารถทำงานที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ เหมือนกับเราเรียนหนังสือ เริ่มมาจากการบวกลบคูณหาร แล้วค่อยมาเรียนหารเชิงซ้อน ตามมาด้วยคำนวณอย่างอื่น ต่อด้วยแคลคูลัส ซึ่งหลายท่านไม่รู้เรื่อง รวมทั้งผมด้วย จะได้ทำงานยากขึ้นเรื่อยๆ ได้ โดยค่อยๆ ต่อขีดความสามารถขึ้นมาจากพื้นฐาน

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ เพราะผมเห็นว่าตอนนี้เราสร้างผู้นำได้มากขึ้น ผมเห็นภาวะผู้นำเกิดขึ้นมากมาย เราจะต่อยอดศักยภาพการเป็นผู้นำขึ้นไปเรื่อยๆ การต่อยอดไม่ได้แปลว่า ไปจัดหลักสูตรให้ท่านไปเข้าเรียน ถ้าหากเรายอมรับการขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคใต้โดยพหุภาคี ตัวกระบวนการทำแผนทั้งหมดของทุกภาคส่วน ที่ต้องรับฟังความคิดเห็น ต้องผ่านกิจกรรมต่างๆ เมื่อทำอย่างนี้ผู้นำต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นตามมา ภายใต้กระบวนการทำงานร่วมกัน

อีกอย่างหนึ่งที่ผมเห็นคนภาคใต้ทำได้ดี คิดว่าสามารถต่อยอดได้ แล้วยังเป็นตัวอย่างภาคอื่นได้ด้วยก็คือ การเข้ามามีส่วนร่วมในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอย่างเข้มแข็ง ผมใช้คำว่าอย่างเข้มแข็ง ไม่ได้หมายความว่าเข้ามาเฉยๆ แต่เข้าไปแล้วต้องแสดงความเห็น ต้องร่วมปรับปรุงระเบียบมติต่างๆ ที่มีการร่างมาอย่างจริงจัง มีข้อมูลพื้นฐานประกอบข้อเสนอ มี 14 จังหวัดสมาชิกยืนอยู่ข้างหลัง แปลว่าเรามีกระบวนการกลุ่ม คราวนี้เป็นกระบวนการกลุ่มที่สำคัญ ท่านเอาระเบียบวาระมาร่วมกันพิจารณาหามติในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

เรามาคุยกันครั้งนี้ ผมเห็นได้ชัด นี่คือตัวอย่างที่ดีในการขับเคลื่อนของตัวแทนแต่ละจังหวัด เมื่อกระบวนการนี้เดินไปถึงการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ผมเชื่อว่าจะมีการมอบหมายระเบียบวาระต่างๆ ให้ตัวแทนจากภาคใต้รับผิดชอบ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ตัวแทนจาก 14 จังหวัดภาคใต้ สามารถเรียกประชุมตกลงกันตรงนั้นได้เลยว่า ประเด็นนั้นๆ เราจะเอาอย่างไร อันนี้ผมเชื่อว่าเราเคยทำกันมาแล้ ว

เราจะทำอย่างไรให้กระบวนการการทำงานร่วมกันเป็นเรื่องปกติ ทำให้เป็นตัวอย่าง พอคนภาคใต้ 14 จังหวัดพูดปั๊บ คนนี้สนับสนุน คนนั้นสนับสนุน ต่างจากภาคอื่นที่พอลุกขึ้นพูดขึ้นมา คนฟังก็เงียบๆ ถ้าวันหนึ่งถูกรุกจนอยู่กันไม่ได้ จะทำกันอย่างไร

ผมขอเปรียบเทียบกับการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ภูมิภาคที่เข้มแข็งที่สุด ไม่น่าเชื่อว่าเป็นแอฟริกา ด้วยสภาพภูมิภาคที่มีความล้าหลัง ด้อยพัฒนา จึงมีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น  โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญจะมีเหตุการณ์ Africa one voice เกิดขึ้นตลอด ทุกวันตอนเช้าก่อนการประชุมสมัชชาสุขภาพโลก รัฐมนตรีจากแอฟริกา 40 ประเทศ จะประชุมกันทุกเช้า นำเอาประเด็นสำคัญต่างๆ มาพูดคุยกัน

ประเด็นใดที่แอฟริกาต้องการ มีโอกาสน้อยมากที่เขาจะไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะเขามีสมาชิกมากกว่า 40 ประเทศ เป็นภูมิภาคที่ใหญ่มาก นอกจากนี้เขายังล็อบบี้ภูมิภาคอื่นๆ ที่ไม่ค่อยมีการร่วมตัวให้สนับสนุน พอภูมิภาคอื่นสนับสนุนแอฟริกาเราก็เอาด้วย ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเรา มีประเทศสมาชิก 10 ประเทศเท่านั้น เราต้องร่วมมือกับภูมิภาคอื่นในบางเรื่อง ก็หวังว่าทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จะหาผู้นำจากภาคใต้ไปดูการประชุมสมัชชาอนามัยโลกสักครั้ง จะได้เห็นว่าเขามีวิธีการทำงานอย่างไร

ผมเคยพูดว่า ผมกลัวการทำงานของภาคใต้ ผมกลัวว่าจะสมัชชาสุขภาพภาคใต้จะไปยึดสมัชชาแห่งชาติ แต่เป็นความกลัวที่มีความสุข ที่บอกว่าสมัชชาภาคใต้จะยึดสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินั้น ท่านทำอยู่แล้ว การเตรียมตัวให้พร้อมที่เข้าร่วมประชุมพิจารณามติ นั่นคือการเตรียมการเข้าไปยึดสมัชชาชาติ ไม่ใช่เอามาเป็นสมบัติส่วนตัว แต่เป็นการเข้าไปมีบทบาท ด้วยความเข้มแข็ง

เหมือนประเทศไทยเรา ส่งทีมไปประชุมสมัชชาอนามัยโลกเยอะประมาณ 40–50 คน เราเอาคนเข้าร่วมประชุมทุกระเบียบวาระ ต้องทำงานกันอย่างหนัก เราใช้เวทีตรงนี้พัฒนาศักยภาพผู้นำ ถ้าท่านเป็นผู้นำเข้าไปพูดในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก สิ่งที่จะได้รับก็คือ ภาวะผู้นำจะเกิดขึ้นทันที

ท่านสามารถเตรียมการส่งคนเข้าไปนำการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งไม่ผิดหลัก อีก 2 ปีข้างหน้าคนจากภาคประชาสังคม น่าจะเป็นประธานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในส่วนของภาคใต้ผมเห็นผู้นำอยู่หลายคน แม้แต่คุณเจริญ โต๊ะอีแต ผู้นำชาวประมงพื้นบ้านจากอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็สามารถเป็นประธานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้

ถ้าหากเราสามารถผลักดันให้คุณเจริญ โต๊ะอีแต เป็นประธานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ อันนี้เป็นเรื่องเลย เพราะคณะเจริญ โต๊ะอีแต ไม่ใช่ตัวแทนจากภาคประชาสังคมธรรมดา แต่เป็นคนจากภาคประชาสังคมที่เข้าถึงข้อมูลในชุมชน เป็นประชาชนที่มาจากชุมชนจริงๆ ผมดูจากภาวะผู้นำแล้ว คุณเจริญ โต๊ะอีแต เป็นได้ 

อาจารย์กรรณิการ์ บันเทิงจิตร หน้าซีดเลย เพราะหากประธานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มีที่มาหลากหลาย ฝ่ายที่หนักที่สุดคือฝ่ายเลขานุการ ดูแล้วคุณเจริญ โต๊ะอีแต น่าจะเข้าใจกระบวนการสมัชชามากที่สุดด้วย ผมไม่ใช่เชียร์คุณเจริญ โต๊ะอีแต ท่านทั้งหลายในที่นี้นี่แหละ ที่สามารถตกลงกันใน 14 จังหวัดภาคใต้ ขอส่งคนนี้ในนามของภาคประชาสังคมภาคใต้ เข้าประกวดเป็นประธานสมัชชาสุขภาพในอีก 2 ปีข้างหน้า

เตรียมการเลยครับ เมื่อถึงตอนนั้น ท่านจะประสบความสำเร็จ จากการเข้าไปมีส่วนร่วมกันอย่างเข็มแข็ง เป็นความภาคภูมิใจของคนภาคใต้ เป็นตัวอย่างให้ภาคอื่นเห็นว่า ชาวบ้านก็มาเป็นประธานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ ไม่ได้ลดหย่อนศักดิ์ศรีใดๆ ทั้งสิ้น อย่าไปคิดว่าข้าราชการระดับสูงเท่านั้น จะมาเป็นประธานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ หรือต้องเป็นคนรวยเท่านั้นที่จะเป็นได้ ประชาชนเราก็เป็นได้ แล้วก็ไม่ทำให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติกลายเป็นสมัชชาของประชาชน   ขอให้เราเอาภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมด้วย

เมื่อ 2 วันก่อนเราไปประชุมคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยออกมาสนับสนุนการปฏิรูปอย่างเต็มที่ เพราะภาคธุรกิจเริ่มชูธงต่อต้านการคอร์รัปชั่น ผมแปลกใจมาก เพราะปกติถ้าไม่มีระบบส่งส่วยธุรกิจจะลำบาก บ้านผมทำธุรกิจผมทราบดี   ผมเสนอต่อสมัชชาสุขภาพและสมัชชาปฏิรูปว่า เราจะปล่อยให้ภาคธุรกิจเดินหน้าต่อสู้อยู่ฝ่ายเดียวละหรือ พวกเราก็ไม่ต้องการการทุจริตคอรัปชั่นใช่หรือไม่   ถ้าใช่ เราจะทำอย่างไรให้เราได้เข้าไปร่วมกับเขา

ขณะนี้ผมทราบมาว่า พวกเขารวมตัวกันได้ 20 องค์กรแล้ว จะทำอย่างไรให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานปฏิรูปเข้าไปร่วม จะทำอย่างไรให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือสมัชชาปฏิรูป นำภาคีเครือข่ายทั้งหมดทั่วประเทศเข้าไปร่วมกันกับหอการค้าไทยอ ฝ่ายธุรกิจพูดออกมาน่าสนใจมาก ภาคธุรกิจเขากลัวมาก เขาบอกว่าเขากลัวไข้โป้ง 

ช่วงที่ริเริ่มเรื่องนี้  ภาคธุรกิจเองกลัวมาก เขาบอกว่าอย่าไปยุ่งเดี๋ยวอันตราย แต่มีผู้นำภาคธุรกิจหลายคน ค่อยๆ พูด ค่อยๆ ผลักดัน เพราะเห็นว่าหากไม่ออกมาต่อต้านการคอร์รัปชั่น ในระยะยาวธุรกิจเองจะไปไม่รอด   ทั้งหลายลองคิดดูสิครับ งบประมาณแผ่นดินปีละประมาณ 2 ล้านล้านบาท ผมเชื่อว่ามันหายไปเพราะการคอร์รัปชั่น น่าจะไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ไม่รวมการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายอีกประมาณ 4 แสนล้านบาท จากงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท งบประมาณส่วนนี้สามารถนำไปพัฒนาประเทศได้มากมาย

ผมอยากเชิญชวนทุกท่าน ดำเนินการ 2 เรื่องหลักๆ 1.แผนพัฒนาภาคใต้ทำกันเองได้หรือเปล่า ทำโดยกระบวนการการเข้ามามีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ต้องให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำ เราทำเองจะได้เป็นแผนพัฒนาภาคใต้ที่แท้จริง 2.เตรียมผู้นำชุมชนและภาคประสังคมจากภาคใต้ เข้าไปเป็นประธานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

ผมหวังว่ากระบวนการการเรียนรู้ จากการจัดสมัชชาสุขภาพภาคใต้ที่เข้มแข็ง จะนำไปสู่การขับเคลื่อนในระดับชาติต่อไป

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กัมพูชาแถลงไม่พอใจ 'นักชาตินิยมรุนแรงไทย' ประท้วงหน้า UN-ประดิษฐานภูมะเขือ

Posted: 14 Jan 2012 12:50 AM PST

รัฐบาลกัมพูชาโต้ 'นักชาตินิยมรุนแรงไทยกลุ่มหนึ่ง' ชุมนุมยื่นหนังสือหน้ายูเอ็น และประดิษฐานภูมะเขือ โวยขัดคำสั่งศาลโลกและทำตรงข้ามผลประชุม GBC
 
14 ม.ค. 55 - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าเว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เผยแพร่แถลงการณ์ร่วมขององค์การพระวิหารแห่งชาติ 1 และคณะกรรมการมรดกโลกแห่งชาติของกัมพูชา ฉบับลงวันที่ 13 มกราคม 2555 โดยเนื้อหาระบุว่า องค์การพระวิหารแห่งชาติ และคณะกรรมการมรดกโลกแห่งชาติ ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อกิจกรรมเมื่อเร็ว ๆ นี้  ที่ทำขึ้นโดยนักชาตินิยมรุนแรงไทยกลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วย การประท้วงที่นอกบริเวณสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ที่กรุงเทพ และนำพวกนักเคลื่อนไหวกลุ่มใหญ่ มาประดิษฐานพระพุทธปฏิมากร บนภูมะเขือ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ปราสาทพระวิหาร และอยู่ลึกในพื้นที่ปลอดทหาร ตามมาตรการชั่วคราว ที่ออกโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice)  ข่าวกิจกรรมเหล่านี้ ถูกเผยแพร่ในระบบแพร่ข่าวของไทย
 
แถลงการณ์ กล่าวต่อว่า องค์การพระวิหารแห่งชาติ และคณะกรรมการมรดกโลกแห่งชาติ ขอทำการกล่าวโทษอย่างรุนแรงต่อกิจกรรมเหล่านี้ ที่ไม่เพียงแค่ละเมิดอย่างชัดเจนต่อคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่ออกเมื่อ 18 กรกฎาคม 2554 เท่านั้น แต่ยังตรงข้ามกับบันทึกในผลเชิงบวกของการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee)   ระหว่าง รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมกัมพูชา และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในราชอาณาจักรไทย ที่ได้จัดขึ้น เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ในกรุงพนมเปญ
 
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ได้กำหนดให้มีพื้นที่ปลอดทหารเป็นการชั่วคราว และได้ออกมติว่า ภาคีทั้ง 2 ต้องสกัดกั้นทุกกิจกรรม ที่อาจทำให้มีความตึงเครียด  หรือ ขยายความขัดแย้ง ก่อนหน้าศาลตัดสิน หรือ ทำให้มีความยุ่งยากเพิ่มขึ้นในการแก้ปัญหา  ขณะที่ การประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ได้ออกแถลงการณ์ร่วมว่า ภาคีทั้ง 2 เห็นชอบร่วมกันที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่ออกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2554 ด้วยความโปร่งใส เสมอภาค และสามารถตรวจสอบได้ องค์การพระวิหารแห่งชาติและคณะกรรมการมรดกโลกแห่งชาติ มีความกังวลอย่างยิ่งว่า กิจกรรมที่ใช้กระตุ้นประชาชนและสาธารณะนี้ จะถูกมองว่า เป็นความต้องการสร้างเหตุและความพยายามให้เกิดความตึงเครียด และขัดขวางต่อการอนุรักษ์ของปราสาทพระวิหาร ที่มีคุณค่าเป็นมรดกโลก และเป็นมรดกของมนุษยชาติทั้งหมด
 
แถลงการณ์กล่าวในตอนท้ายว่า องค์การพระวิหารแห่งชาติและคณะกรรมการมรดกโลกแห่งชาติ ขอผลักดันให้ภาคีทั้ง 2 เคารพต่อคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และผลของการประชุมเมื่อเร็ว ๆ นี้ ของคณะกรรมการชายแดนทั่วไป แล้วหวังอย่างหนักแน่นว่า นักชาตินิยมรุนแรงชาวไทยทั้งหมด จะไม่ทำกิจกรรมใดอีก ที่อาจเป็นอิทธิพลทางลบต่อความสัมพันธ์อันดีที่ได้เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ระหว่างประเทศข้างเคียง และประชาชนทั้ง 2 ที่ต้องการอยู่อาศัยด้วยความสันติสุขและร่มเย็นในโลกที่ศิวิไลและทันสมัย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: นศ.ค้าน ม.นอกระบบยื่นหนังสือยิ่งลักษณ์

Posted: 14 Jan 2012 12:31 AM PST

แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบยื่นหนังสือนายกยิ่งลักษณ์ เสนอยุติการนำมหาลัยออกนอกระบบ ขอรัฐสวัสดิการเรียนฟรีถึงปริญาตรีเป็นของขวัญวันเด็ก

 

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554 เวลาประมาณ 9.20 น. ตัวแทน แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ จากมหาลัยต่างๆ ประมาณ 30 คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในระหว่างท่านนายกกำลังเยี่ยมชมงานวันเด็กที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพที่สนามเสือป่า โดยมีข้อเสนอสำคัญคือ การยุติการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และการจัดการศึกษาในระบบรัฐสวัสดิการเรียนฟรีถึงปริญญาตรี 

นางสาวศศิประภา ไร่สงวน ตัวแทนนักศึกษา แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ จากม.ขอนแก่นกล่าวว่า ในส่วนม.ขอนแก่นนั้นเราเคยยื่น หนังสือคัดค้านการนำมหาลัยออกนอกระบบมาก่อนหน้านีแล้ว แต่อธิการไม่มีท่าทีตอบรับใดๆ และบอกเพียงว่า มหาวิทยาลัยต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ เราจึงคิดว่าควรมายื่นหนังสือต่อท่านนายก เพื่อให้ท่านรับทราบว่า รัฐบาลควรมีแนวนโยบายที่ชัดเจนในการการยุติการนำมหาวทยาลัยออกนอกระบบ 

ก่อนหน้านี้นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศชัดต่อหน้านักศึกษามรภ.สวนสุนันทานับพันคนที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2554 ว่า “ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายกับนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ”  แต่นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กลับได้ทำหนังสือไปยัง 9 แห่ง ได้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)  มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.)มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.)  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.)  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (มจ.) มหาวิทยาลัยรามคำแหง(มร.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต(มสด.)  มหาวิทยาลัยดังกล่าว เพื่อขอคำยืนยันว่า จะให้สกอ.เสนอเรื่องให้นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)พิจารณาเห็นชอบในการเสนอร่างพ.ร.บ.ขอเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหรือออกนอกระบบหรือไม่ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ต่อมา รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) ได้ออกมา แถลงว่า “ม.ขอนแก่น ม.เกษตร ม.ศิลปากร และมรภ.สวนดุสิตยังยืนยันว่ามีความพร้อม ที่จะออกนอกระบบ” 

จึงทำให้มีการรวมตัวกันของนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่อยู่ในกระบวนการ การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ จัดตั้งเป็น แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพื่อติดตามความคืบหน้าต่างๆ

นายอภิสิทธ์  ทรัพย์นภาพันธ์ อดีตนิสิต ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวในฐานะของศิษย์เก่าม.เกษตร ว่า “ข้อเสียของม.นอกระบบ คือการผลักภาระงบประมาณทางการศึกษาไปใประชาชนเป็นผู้จ่าย จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คนจนจะไม่มีทางเรียนมหาลัยได้เลย”

ด้านนายสุรินทร์  ปัทมาสศนุพงศ์ นิสิตม.บูรพา หนึ่งแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ กล่าวถึงบทเรียนของมหาวิทยาลัยบูรพาซึ่งออกนอกระบบไปแล้ว ว่า “มีการค่าเทอมเหมาจ่ายที่แพงขึ้นกว่าเดิม โดยการทยอยเก็บทีละคณะ ยกตัวอย่างเช่น คณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งมีอัตราค่าเทอมที่แพงถึง 40000 บาท ต่อภาคเรียน”

นายพรชัย  ยวนยี เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สนนท. กล่าวว่า ในส่วนของสนนท.นั้นเห็นด้วยและพร้อมสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิของนักศึกษาในประเด็นการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ 

ภายหลังจากการยื่นหนังสือของตัวแทนนักศึกษา กลุ่มดังกล่าว ท่านนายกได้กล่าวว่ว จะรับเรื่องไว้พิจารณาและส่งต่อไปยังกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

 

 

แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

 

๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๕

เรื่อง วันเด็กปีนี้หนูขอเรียนฟรีถึง ป.ตรีได้ไหมค่ะ/ครับ โดยการไม่นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

สิ่งที่ส่งมาด้วย ๑. รายชื่อกลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาต่อต้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

๒. เอกสารประกอบการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

เรียนฯพณฯนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เนื่องด้วยในงานวันเด็กปีนี้ ซึ่งตรงกับ วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งเลขท้ายปีพุทธศักราช เมื่อมาพูดเล่นกันก็จะได้ว่า “สองห้าห้าห้า” ซึ่งเปรียบเสมือนเสียงหัวเราะของเด็กและเยาวชนที่ดูแล้วมีความสุข สนุกสนานในวัยเยาว์ โดยเด็กและเยาวชนนั้นเปรียบเสมือนผ้าขาวและเป็นอนาคตของชาติและสังคมโดยรวม ซึ่งอนาคตของชาติเหล่านี้ก็ย่อมที่จะต้องได้รับการศึกษา เรียนรู้ และขัดเกลาทางสังคม(socialization) เพื่อเป็นเด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาสังคมต่อไปในอนาคต ดังนั้นแล้วรัฐก็ต้องให้การศึกษากับเด็กและเยาวชนจนเพียงพอสำหรับเด็กและเยาวชนคนหนึ่งๆ ตั้งแต่เข้าเรียนระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยอย่างเท่าเทียมกันของเด็กและเยาวชนไทยทั้งประเทศ โดยไม่แบ่งแยกความรวย-ความจน             

จากที่กล่าวมาข้างต้น เราในนามแนวร่วมนิสิตนักศึกษาต่อต้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ จากหลายกลุ่มมหาวิทยาลัยตามรายชื่อที่แนบมาด้วย ได้ทำการศึกษาร่วมกันของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบกลับพบว่าการแปรรูปมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐหรือ “ม.นอกระบบนั้น” ไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์โดยร่วมของสังคมโดยเฉพาะนิสิตนักศึกษา แต่กลับเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยไม่สนใจพ่อแม่ของเด็กและเยาวชนที่เสียภาษีให้แก่รัฐในการบริหารประเทศโดยเฉพาะด้านการศึกษา เช่นการกล่าวอ้างของท่านอธิการบดีและผู้ที่ต้องการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบว่าเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้วจะทำให้ระบบการบริหารจัดการในมหาวิทยาลัยมีความคล่องตัวในการบริหารมากกว่าการอยู่ในการควบคุมของรัฐ แต่เป็นไปเพื่อจะผลักภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้เรียนในที่สุด โดยการต้องจ่ายค่าเทอมที่สูงลิบลิวให้กับนิสิตนักศึกษา เพื่อการบริหารจัดการให้คล่องตัวขึ้น ซึ่งไม่ทราบว่าจะคล่องตัวกว่าการอยู่ในการควบคุมของรัฐซักเพียงใด และนั้นเป็นเครื่องหมายที่แสดงว่าความไม่เท่าเทียมด้านการศึกษาจะเกิดขึ้นเมื่อลูกคนจนไม่ได้มีโอกาสได้เรียนเท่าลูกคนรวย สิทธิในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาตามหลักสากลจะไม่มีเมื่อมหาวิทยาลัยถูกทำให้เปรียบเสมือนบริษัท ซึ่งจะตรงกับข้อความที่ว่า “จ่ายค่าเทอมครบ เรียนจบแน่” อันเป็นสิ่งที่ลูกคนจนไม่ปรารถนา เมื่อไม่มีเงินที่จะศึกษาในมหาวิทยาลัย

ดังนั้นแล้ว เราในนามตัวแทนเด็กและเยาวชนผู้ที่จะเป็นอนาคตของชาติต่อไป ได้มองเห็นปัญหาของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ จึงอยากขอร้องท่านนายกรัฐมนตรี ได้ตระหนักถึงเด็กและเยาวชนในมหาวิทยาลัยด้วย โดยข้อเรียกร้องจากกลุ่มเรา ในนาม “แนวร่วมนิสิตนักศึกษาต่อต้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ” โปรดรับพิจารณาและช่วยดำเนินการ ดังนี้

๑.ขอร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีช่วยดำเนินการหยุดการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบโดยทันที จนกว่าจะมีการศึกษาเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย และประชาพิจารณ์จากผู้ที่เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัยทั้งครู อาจารย์ นิสิตนักศึกษา พนักงานของมหาวิทยาลัย ให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปและรับรองว่าจะไม่เป็นการผลักภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้เรียนในอัตราที่สูงขึ้น โดยการมอบหมายให้ท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการต่อไป โดยในปัจจุบันขณะนี้จะมีการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ๔ มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยศิลปากร ขอให้ท่านมีคำสั่งดำเนินการยกเลิกทันที

๒.ข้อร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีช่วยพิจารณาดำเนินการตรวจสอบมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยที่กำลังออกนอกระบบ และมหาวิทยาลัยที่ยังไม่ออกนอกระบบ ว่ามีการนำงบประมาณของมหาวิทยาลัยไปใช้ในทางใดบ้าง โดยให้นิสิตนักศึกษาได้รับรู้การใช้จ่ายงบประมาณของมหาวิทยาลัย เพื่อประสิทธิภาพและความโปร่งใส ว่ามีการนำเงินมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเหล่าเด็กและเยาวชนที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือไม่ 

๓.เนื่องในงานวันเด็กปีนี้ กลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาต่อต้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบก็อยากให้ท่านนายกรัฐมนตรีมอบของขวัญให้แก่เด็กและเยาวชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะการศึกษาเล่าเรียน ซึ่งของขวัญที่เราอยากได้คือเรียนฟรีถึงปริญญาตรี เพื่อคุณภาพของเด็กและเยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติของสังคมต่อไปในอนาคต ในการเข้าถึงสิทธิโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของมนุษย์

โดยข้อเรียกร้องนี้ กลุ่มเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะตระหนักเห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นในทางการศึกษา ทั้งเรื่องความเท่าเทียมทางการศึกษา สิทธิในการเข้าศึกษาในการเข้ามหาวิทยาลัยโดยไม่แบ่งแยกความรวย-ความยากจน โดยการไม่นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพียงเพื่อต้องการผลักภาระค่าใช้จ่ายไปให้กับผู้เรียน จึงอยากขอร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีรับไว้พิจารณาและดำเนินการต่อไปอย่างเร่งด่วนที่สุด

ด้วยความเคารพอย่างสูง

 

กลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

 

รายชื่อกลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

๑.แนวร่วมนิสิตนักศึกษาต่อต้าน ม.นอกระบบ

๒.สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

๓.สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน

๔.สภามหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา

๕.ชมรมเสวนาภาษาสิงห์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๖.กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

๗.กลุ่มสะพานสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

๘.กลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา

๙.ซุ้มเหมราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง

๑๐.กลุ่มดาวดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น

๑๑.ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมประชาธิปไตย

๑๒.กลุ่มแสงดาว มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

๑๓.กลุ่มนกกระจอก มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช

๑๔.กลุ่มเถียงนาประชาคม  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

๑๕.กลุ่มปลุกฮัก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

๑๖.กลุ่มคนสร้างฝัน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

๑๗.กลุ่มเกี่ยวดาว มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนใต้ยันไม่เอา ‘เมกะโปรเจ็กต์’ โต้ EIA เชฟรอนบิดเบือนข้อมูล

Posted: 13 Jan 2012 10:41 PM PST

คนใต้ประสานเสียง ไม่เอาเมกะโปรเจ็กต์ “ชาวท่าศาลา” ยันพร้อมปกป้องแหล่งอาหารโลก โต้ EIA เชฟรอน บิดเบือนข้อมูล คนสตูลระบุท่าเรือน้ำลึกปากบาราเกิดเมื่อไหร่ ตรัง สตูล สงขลา เจอผลกระทบเต็มๆ ชี้ขุมทรัพย์เมืองสตูลมีหลากหลาย อยู่ได้ยั่งยืน
 
ไม่เอา – ตัวแทนจากจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ ขึ้นเวทีร่วมกับนักวิชาการ ประกาศไม่เอาเมกะโปรเจ็กต์ ที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาภาคใต้
 
เมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 13 มกราคม 2555 ที่โรงแรมเรือรัษฎา อำเภอเมืองตรัง เครือข่ายสุขภาพภาคใต้ ได้จัดงานสมัชชาสุขภาพภาคใต้เป็นวันแรก ด้วยการเสวนาวิชาการเรื่องแผนพัฒนาภาคใต้กับทางเลือกการพัฒนาภาคใต้แผนพัฒนาที่ยั่งยืน วิทยากรประกอบด้วย นายเจริญ โต๊ะอิแต ชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดนครศรีธรรมราช นายไกรวุฒิ ชูสกุล ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจังหวัดสตูล นายทวีวัตร เครือสาย ตัวแทนภาคประชาสังคมจังหวัดชุมพร นางวันสุรีย์ พรหมภัทร ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ น.ส.ภารณี สวัสดิรักษ์ นักผังเมืองเพื่อสังคม
 
นายเจริญ กล่าวว่า ขณะนี้มีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นที่ชายฝั่งอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราชหลายโครงการ ส่งผลให้ชาวประมงต้องลุกขึ้นมาปกป้องระบบนิเวศน์ ร่วมกันเก็บข้อมูลทางทะเลนำไปผนวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น นำไปต่อสู้กับนโยบายของรัฐ ชาวอำเภอท่าศาลาจะปกป้องแหล่งอาหารหน้าบ้านให้เป็นแหล่งอาหารของชาวโลก จะไม่ยอมให้โครงการขนาดใหญ่ทำลาย เป็นที่น่าสังเกตว่า ในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างท่าเรือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่อำเภอท่าศาลา ข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับชุมชนขาดหายไป เช่น ระบุว่าพื้นที่ที่จะใช้สร้างท่าเรือเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ขณะที่ข้อเท็จจริงเป็นแหล่งที่ชาวประมงใช้ประโยชน์เต็มพื้นที่ เป็นต้น 
 
นายไกรวุฒิ กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดสตูลมี 2 ยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์แรกคือ ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทย–ประเทศมาเลเซีย และจังหวัดสตูล–จังหวัดตรัง ยุทธศาสตร์ที่ 2 เป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่ชอบมาพากลคือ ยุทธศาสตร์ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ยุทธศาสตร์นี้มีการเติบโตของการท่องเที่ยวจังหวัดสตูลขวางอยู่
 
นายไกรวุฒิ กล่าวต่อไปว่า ถ้าหากมีการก่อสร้างท่าเรือปากลบารา จะส่งผลกระทบถึง 3 จังหวัดคือ จังหวัดตรัง จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา เริ่มจากต้องเพิกถอนอุทยานแห่งชาติเกาะเภตรา ที่มีพื้นที่ครอบคลุมจังหวัดตรังถึง 4,700 ไร่ ต้องระเบิดภูเขาใน 3 อำเภอของสตูล เพื่อนำหินมาถมทะเล ต้องใช้ทรายก่อสร้างท่าเรือจากจังหวัดสงขลา ต้องมีโครงการต่อเนื่อง ได้แก่ รถไฟรางคู่ คลังน้ำมัน ในพื้นที่จังหวัดสตูล 5,000 ไร่ และที่จังหวัดสงขลา 10,000 ไร่
 
นายไกรวุฒิ กล่าวอีกว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นโครงการที่นำความแตกแยกมาสู่ชุมชน ระหว่างคนในชุมชนที่ตระหนักถึงผลกระทบที่คนในชุมชนได้รับ กับคนในชุมชนที่รับข้อมูลด้านเดียวจากภาครัฐ หรือจากเจ้าของโครงการ เพื่อลดความขัดแย้งภายในชุมชน รัฐจะต้องเปิดเผยความจริงทั้งหมด
 
“ขณะนี้ภาคประชาชนกำลังทำแผนพัฒนาจังหวัดสตูลที่ยั่งยืน นำเสนอจุดเด่นของจังหวัดสตูล เช่น ความสมบูรณ์ของป่าเทือกเขาบรรทัด ความสวยงามของอุทยานแห่งชาติเกาะเภตรา ที่กินอาณาบริเวณครอบคลุมจังหวัดตรังและจังหวัดสตูล อุทยานแห่งชาติตะรุเตาแหล่งดำน้ำที่สวยงามที่สุดของประเทศ อำเภอละงูแหล่งฟอสซิลสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะเดียวกันเกาะตะรุเตายังมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ เพราะเป็นแหล่งให้กำเนิดดิกชันนารีไทย–อังกฤษ และอังกฤษ–ไทย ของนายสอ เสถบุตร อดีตนักโทษการเมือง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทรัพยากรสำคัญของจังหวัดสตูล ที่จะทำให้ชาวจังหวัดสตูลสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน” นายไกรวุฒิ กล่าว
 
นางวันสุรีย์ กล่าวว่า ภาคใต้เป็นพื้นที่เล็กๆ ที่มีขีดความสามารถเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงคนทั้งโลกได้ ตนเคยลงไปศึกษาความเหมาะสมในการตั้งนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดหนึ่งของภาคใต้ ถูกชาวบ้านกล่าวหาว่ารับจ้างนายทุนเข้าไปศึกษา ตนจึงตั้งคำถามกับชาวบ้านว่า การตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะทำให้ชาวบ้านมีความสุขหรือไม่ จากคำถามดังกล่าว ทำให้ในที่สุดโครงการตั้งนิคมอุตสาหกรรมต้องยุติ โครงการพัฒนาที่จะลงมาในพื้นที่ใดก็ตาม ต้องมีคำตอบชัดเจนว่า โครงการนั้นทำให้ชุมชนมีความสุขได้อย่างไร
 
นพ.ไพศาล เกื้ออรุณ สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวว่า แผนพัฒนาระดับชาติ ระดับประเทศ และระดับจังหวัด ควรตอบได้ว่าไม่ได้ทำลายความสุขของมนุษย์ การนำพาสังคมไปข้างหน้า ไม่ว่าโดยภาครัฐ ภาควิชาการ หรือภาคประชาสังคม จะต้องไม่มีการปกปิดข้อมูล ทุกฝ่ายต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เท่าเทียมกัน และมั่นใจในภาคีทุกส่วน
 
น.ส.ภารณี กล่าวว่า ที่ผ่านมาแผนพัฒนาภาคใต้ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ จึงทำให้คนไม่มีความสุข จากการทำแผนชุมชนของคนในจังหวัดนครศรีธรรมราช แสดงให้เห็นว่าชุมชนมีความสุขที่ได้จัดทำแผนพัฒนาด้วยตัวเอง ขนาดของแผนพัฒนาจะใหญ่หรือเล็ก จึงไม่สำคัญเท่ากับว่าประชาชนมีความสุขกับการพัฒนาตามแผนนั้นหรือไม่ การจัดทำแผนพัฒนาจะต้องดำเนินการด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วม ต้องไม่กระทบต่อปัจจัย 4 โดยเฉพาะไม่กระทบกับแหล่งอาหารของชุมชน ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งต้องคำนึงถึงว่า จะมีผลกระทบต่อพหุวัฒนธรรมอย่างไรหรือไม่ จะทำอย่างไรให้แผนพัฒนาภาคใต้ อยู่ร่วมกับพหุวัฒนธรรมและพหุภาคีได้ ภายใต้หลักธรรมาภิบาล ที่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ทุกฝ่ายเข้าถึงข้อมูล เข้าถึงข้อเท็จจริง มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
 
“การจัดทำแผนพัฒนาใดๆ ก็ตาม ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้ แต่ต้องต่อสู้กันด้วยข้อมูลความรู้ แสดงให้เห็นว่า แผนที่กำหนดขึ้นมามีประโยชน์หรือไม่อย่างใด ความเห็นที่แต่ละฝ่ายแสดงออกมา ไม่ควรตั้งอยู่บนความชอบ หรือไม่ชอบโครงการใดโครงการหนึ่ง” น.ส.ภารณี กล่าว
 
นายทวีวัตร กล่าวว่า จังหวัดชุมพรเป็นอีกจังหวัดหนึ่ง ที่มีโครงการขนาดใหญ่ลงพื้นที่ ตั้งแต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เขื่อน อุตสาหกรรมเหล็ก ส่งผลให้ชาวบ้านในอำเภอละแม อำเภอปะทิว อำเภอสวี และอำเภอท่าแซะ รวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหว เนื่องจากเกรงจะกระทบกับวิถีชีวิต และภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของชาวชุมพร เคยมีการชุมนุมคัดค้านพร้อมกับเชิญนายถาวร เสนเนียม ขณะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มารับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ต่อมาก็ได้เข้าร่วมปฏิบัติการเพชรเกษม 41 จัดเวทีคู่ขนานกับการแถลงนโยบายของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อบอกกับรัฐบาลว่า คนภาคใต้ไม่ต้องการโครงการขนาดใหญ่
 
นายทวีวัตร กล่าวต่อไปว่า การต่อสู้ของชาวจังหวัดชุมพรใช้ 3 กลไกหลัก กลไกแรกเคลื่อนไหวผ่านกิจกรรมสุขภาวะ กลไกที่สองใช้สิทธิชุมชนผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การจัดทำร่างผังเมืองร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร และการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น กลไกที่สาม สื่อสารผ่านนักข่าวพลเมือง นำเสนอประเด็นสู่สาธารณชนให้ได้มากที่สุด
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น