โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

TCIJ: สืบพยานคดีฟ้องชาวบ้าน 1.12 ล้านเหตุค้านโรงไฟฟ้าชีวะมวล วันนี้

Posted: 23 Jan 2012 12:21 PM PST

คดีชาวบ้านเชียงรายถูกฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหาย 1,120,000 บาทกรณีคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ศาลจังหวัดเชียงรายนัดสืบพยานโจทก์ 24-25 ม.ค.นี้

 
วานนี้ (23 ม.ค.54) เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แจ้งว่า ในวันที่ 24-25 ม.ค.55 เวลา 09.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 8 ศาลจังหวัดเชียงรายนัดสืบพยานโจทก์ คดีชาวบ้าน ต.เวียงเหนือ ถูกฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหาย 1,120,000 บาทกรณีคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด และศาลนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 26-27 ม.ค.55
 
สืบเนื่องจากชาวบ้าน ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย, ต.ริมกก อ.เวียงเมือง, ต.ทุ่งก่อ อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย ได้ร่วมกันคัดค้านการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลมาตั้งแต่ปี 2551 ด้วยเหตุผลว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลอาจส่งผลกระทบต่อวิถีชาวบ้านในชุมชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ทั้งเรื่องการแย่งชิงแหล่งน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ สุขภาพอนามัยที่อาจต้องรับฝุ่นละอองจากกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง
 
 
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระบุด้วยว่า การเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างโครงการดังกล่าวเป็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิชุมชนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้รับรองไว้ในมาตรา 66 และ 67 จนทำให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัดผู้ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้า ทั้งคดีแพ่ง และคดีอาญา
 
อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1160/2553 ซึ่งบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ยื่นฟ้องนายบุญซ่น วงค์คำลือ กับพวกรวม 9 คน ซึ่งเป็นชาวบ้าน ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ที่ศาลจังหวัดเชียงราย ในฐานความผิดละเมิดและเรียกค่าเสียหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จากการคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2553
 
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 29 ส.ค.54 ศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีชั่วคราวก่อนการพิพากษา ตามที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย 100 คน ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งและการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวต่อศาล เมื่อวันที่ 23 พ.ค.54 โดยสั่งให้ทุเลาการบังคับตามใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ออกเมื่อปี พ.ศ.2553 ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานออกให้กับบริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด
 
ผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้บริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด จำต้องหยุดการดำเนินการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลหรือเข้าไปเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ศาลชี้การออกใบอนุญาตมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายและกระทบต่อสิทธิชุมชนของชาวบ้านจำนวนมาก
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

Posted: 23 Jan 2012 11:20 AM PST

"ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ไม่สำเร็จแล้วจะทำอย่างไร ผมคิดว่าก็เหมือนจุดไฟ ถ้ามันดับก็ต้องจุดใหม่ ให้มันรู้ไปว่ามันจะไม่ติดสักวันหนึ่ง"

เสวนา 'ลบล้างผลพวงรัฐประหาร – นิรโทษกรรม- ปรองดอง', 22 ม.ค. 55, หอประชุมศรีบูรพา ม.ธรรมศาสตร์

TCIJ:12 ปี ราศีไศล เพื่อสิทธิชุมชน...วิถีสายน้ำ วิถีชีวิตคนจน...คือคุก

Posted: 23 Jan 2012 11:13 AM PST

 
ป้าย เพื่อนร่วมต่อสู้เพื่อสายน้ำ ต่อสู้เพื่อสายธารแห่งหมู่บ้าน ต่อสู้เพื่อคืนฤดูกาล ฤ ท่านตอบแทนโดยการจองจำ” นี่คือคำที่เพื่อนๆ มอบให้ ป้าย  ไพจิตร ศิลารักษ์ ก่อนเวลาที่จะมาถึงในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้
 
“ผมไม่รู้ว่าคำพิพากษาศาลฎีกา จะตัดสินออกมาอย่างไร ในวันที่ 24 มกราคม นี้ แต่สิ่งที่ต้องบอกเพื่อรับรู้ร่วมกันว่ายังมีคนจนอีกจำนวนมาก ที่กำลังถูกรัฐใช้กระบวนการยุติธรรมเล่นงานอยู่กว่า 3,800 คดี บทลงโทษที่มักเกิดขึ้นกับคนจนเหล่านี้ มันเป็นความยุติธรรมของใคร กระบวนการยุติธรรมใช้เพียงปรากฏการณ์และมองการเดินขบวนของประชาชน เท่านั้นหรือ ? ผมยืนยันว่าหากไม่มีการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2543 ของชาวบ้านราษีไศล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดประตูเขื่อนราษีไศล และการเรียกร้องในครั้งนั้นก็เป็นเหตุที่นำมาสู่คดีนี้ ผมก็คงไม่ต้องตกเป็นนักโทษเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตรงกันข้ามเพราะมีการชุมนุมในครั้งนั้น ซึ่งนำไปสู่การเปิดประตูระบายน้ำ จึงทำให้ชาวบ้านจำนวนกว่า 70,000 ชีวิต สามารถประกอบอาชีพเดิมอยู่ในชุมชนเดิมได้อย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน” ป้ายบอกเล่าให้เราฟัง อาจเป็นคำบอกเล่าต่อกระบวนการต่อสู้ของป้าย ก่อนเดินเข้าสู่การจองจำหากสังคม หรือกระบวนการยุติธรรมมีมาตรการลงโทษคนที่ปกป้องวิถีชีวิตตนเอง
 
“หากเวลาหมุนกลับได้ โดยไม่มีเขื่อนราษีไศล ชุมชนก็ไม่ต้องมีความขัดแย้ง ไม่มีความแตกแยก ครอบครัวจะอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก มีที่ดินทำกินอย่างพอเพียงกับสมาชิกในครอบครัว มีป่าบุ่ง – ป่าทามให้เลี้ยงวัว – ควาย มีปลาสดๆ จากแม่น้ำมูนกินอย่างเต็มอิ่ม และผู้คนมีรอยยิ้มให้กันจากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลา 19 ปี (เขื่อนราษีไศลสร้างเสร็จและเริ่มกักเก็บน้ำตั้งแต่ปี 2536 – 2555) ใครบ้างได้ทำนาปีละ 2 ครั้ง ใครบ้างได้งานทำ ใครบ้างที่ร่ำรวยเงินทอง สิ่งเหล่านี้ไม่เห็นว่าจะเกิดขึ้นเลย เห็นมีแต่ความยากจน ปนความขัดแย้ง ชุมชนแตกแยก วิถีชีวิตล่มสลาย บ้านช่องเหลือแต่คนแก่กับเด็กอยู่เฝ้า คนหนุ่มสาว คนวัยทำงานอพยพไปรับจ้างขายแรงงานในต่างถิ่น เพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัว” ป้าย ย้ำกับพวกเรา ในขบวนประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove)
 
บรรยากาศเวที 'คนดีติดคุก คนทุกข์นอนตะราง' เพื่อรอฟังคำตัดสินคดี ไพจิตร ศิลารักษ์ (คนถือไมโครโฟน)
 
23 มกราคม 2555 เวลา 17.00 น.ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) ร่วมสร้างพลังในการส่งต่อคนหนึ่งคนขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมหน้าศาลศรีษะเกษ พี่น้องจะไปนอนรอให้กำลังใจและเปิดเวทีการเรียนรู้ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนหน้าศาลากลางศรีษะเกษ ในหัวข้อ “คนดีติดคุก คนทุกข์นอนตะราง” โดยจะมีผู้เข้าร่วมเสวนาที่มาจากทั่วประเทศ ทุกคนผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น ทุกคนนั่งนับเวลารอ ไม่วันใดก็วันหนึ่งเขาและเธอเหล่านั้นอาจกลายเป็นนักโทษ ที่ถูกกักขังอิสรภาพ แต่ไม่อาจกักขังอุดมการณ์เขาและเธอเหล่านั้นได้
 
พี่วัยศรี เล่าว่า “ฉันถูกฟ้องข้อหาทำให้โลกร้อน ฉันไม่รู้จะเอาอะไรมาจ่ายให้เขา ฉันคงต้องล้มละลายแน่นอน ลูกฉันจะเอาอะไรไปเรียน ครอบครัวฉันจะอยู่อย่างไรให้รอดจากภาวะเช่นนี้”
 
วิทยา อดีตนักโทษจากคดีบุรุกและทำให้เสียทรัพย์ “ที่ดินของปู่ ยกให้พ่อผม และตกทอดมาถึงผม มีใบจับจองเป็นของเรา วันดีคืนดีมีคนเอาไปออกเอกสารสิทธิ์ และแจ้งจับดำเนินคดีกับผม ผมติดคุกอยู่เป็นปี สุดท้ายได้พักโทษ และกระบวนการตรวจสอบยืนยันว่าเอกสารสิทธิ์ออกโดยมิชอบ DSI ก็ยืนยันเช่นนั้น ผมเลยต้องกลายเป็นนักโทษข้อหาบุกรุที่ดินตนเอง”
 
วิทยาบอกเราในเครือข่ายฯ บุญมี เป็นผู้ถูกกล่าวหาอีกคนจากกรณีต่อสู้เพื่อปกป้องสายน้ำ ชีวิตของตนเองและชุมชนกรณีเขื่อนปากมูล แต่เขากลับกลายต้องถูกยัดเยียดข้อหา กบฏ เวทีจึงสะท้อนสังคมและกระบวนการยุติธรรมของไทย ตอบโจทย์การปรองดอง ของรัฐ และลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยได้ ฤา
 
เช้าวันที่ 24 มกราคม 2555 เริ่ม 10.00 น. เปิดเวทีเรียนรู้ กรณีความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่เกิดขึ้นเพื่อตอกย้ำรัฐบาลที่กล่าวอ้างเรื่อง สองมาตรฐาน เรื่องความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย แต่แล้วไซร้กรณีที่จะยกขึ้นมาเพื่อให้สังคมสาธารณะได้เรียนรู้ร่วมกันให้ประจักษ์แก่สายตาเชิงประจัก ใน 4 กรณี กรณีชุมชนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคใต้ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เอกชนฟ้องแย่งสิทธิในที่ดินกับ สปก.โดยที่มีชุมชนอยู่ในพื้นที่และสร้างบังเกอร์ ที่ใช้แนวป้องกันการสู้รบขึ้นในชุมชนเพราะเอกชนใช้อาวุธสงครามในการข่มขู่คุกคามชุมชน เพื่ออยู่รอดเขาอาจต้องสร้างหลุมหลบภัย เกษตรกรไทยภายใต้รัฐบาลคนจน กรณีคดีคนจนในสวนป่าคอนสาร กรณีที่ดินในภาคเหนือ กรณีการออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบของจังหวัดอุบล
 
“สังคมไทยควรเรียนรู้จากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในพื้นที่ ที่ขาดการนำเสนอผ่านสื่อ ขาดการเชื่อมต่อทางการเมือง แต่ละกรณีผ่านกระบวนการเสนอการแก้ปัญหากับรัฐบาล ยังขาดการเหลียวแล”
 
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) เคลื่อนขยับ เจรจากับการเมืองมากว่า 5 เดือน ตั้งแต่เริ่ม หาเสียง ลงปฏิญญาร่วมกันว่าเมื่อท่านเยียบย่างขึ้นสู่อำนาจ ท่านจะเร่งแก้ปัญหาคนจนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้หมดสิ้นไป
 
“พวกเราเริ่มตั้งแต่รณรงค์ด้วยมอเตอร์ไซด์ จากภาคเหนือ และขบวนประชาชนจากทุกภาคในนาม Pmove ได้เคลื่อนเข้าเมืองหลวงและเจรจากับตัวแทนรัฐบาลในวันที่ท่านขึ้นรับตำแหน่งนายก และวันที่ 3 ตุลาคม 2554 เรามาทวงสัญญาอีกครั้งจากคนจนทั่วประเทศเพราะสาเหตุท่านไม่เหลียวแลคนจนเลย กว่า 5 พันคน แต่ได้แค่สัญญากลับมาอีกครั้ง สุดท้ายเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2555 เพราะเราประจักชัดว่าท่านไม่เหลียวชายตาหาคนจนตามที่ท่านกล่าวอ้างเลย เราเลยรุกคืบอีกครา ขบวนประชาชนทั่วประเทศหลั่งไหลไปเชียงใหม่ ครม.สัญจรคือเป้าหมาย ไม่มีสัญญาณอะไรจากรัฐบาล ที่เพียงแค่ข้อเสนอเพื่อให้ท่านมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการเพื่อแก้ปัญหาคนจน พลังคนจนจึงสำแดงโดยไม่จำเป็น กว่าสามสิบคนได้รับบาดเจ็บเพื่อแลกกับคำสั่ง” นี่หรือรัฐบาลเพื่อคนจน
 
บ่าย13.00 น.ส่ง ป้าย นายไพจิตร ศิลารักษ์ ขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาล จังหวัดศรีษะเกษ เพื่อรับคำพิพากษาศาลฎีกา กักขัง หรือ ยกฟ้อง พร้อมน้อมรับคำพิพากษา
 
คนจนจะอับจน หรือคนจนควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้แก่สังคมสาธารณะ จากการแก้ปัญหาของรัฐบาลและควรเป็นบทเรียนต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย สื่อมวลชนจะสื่อสารให้สังคมเข้าใจได้อย่างไร  
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Disco(ver)graphy : โมเดิร์น ด๊อก

Posted: 23 Jan 2012 09:06 AM PST

คนที่โตมาในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 ยังจำกันได้ไหมว่า ณ ช่วงเวลานั้นเพลงไทยสากลประเภทไหนกันที่หล่อเลี้ยงชีวิตยามค่ำคืนผ่านทางเสียงวิทยุและเทปคลาสเซทท์ เชื่อว่าไม่น้อยคงรำลึกถึงดนตรีเต้นรำ candy pop ของศิลปินบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ปลูกครึ่งหน้าตาดีแต่ร้องเพลงไม่ชัด ไม่ก็วงดนตรีเฮฟวี่เมทัลของนักร้องผมยาวสลวยที่โยกสบัดอย่างเมามันยามเล่นคอนเสิร์ต

ณ เวลานั้นตลาดวงการเพลงไทยสากลต่างถูกยึดด้วยแนวดนตรีเพียงไม่กี่แนวที่ทำวิจัยการตลาดแล้วว่า ‘ล้านตลับ’ จากค่ายดนตรีค่ายใหญ่เพียงไม่กี่ค่ายทั้ง แกรมมี่ อาร์เอส และคีตา รายการเพลงทางโทรทัศน์และวิทยุต่างโปรโมตซิงเกิลที่ค่ายตนสังกัดอย่างหนักหน่วงตลอดเช้าสายบ่ายเย็นยันดึก เด็กนักเรียนมัธยม นักศึกษามหาวิทยาลัยไปถึงคนทำงานต่างดำรงชีวิตโดยมีเพลงของค่ายใหญ่เหล่านี้หล่อเลี้ยงชีวิตเป็นซาวด์แทรคอยู่เบื้องหลัง

แต่แล้วในปี 2537 วงการเพลงไทยก็ได้รู้ว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีเพลงจากค่ายใหญ่เท่านั้น!!!

Disco(ver)graphy : โมเดิร์น ด๊อก

--------------------------------

กว่าวงการเพลงไทยนอกกระแสจะตั้งหลักปักฐานได้อย่างมั่นคงแบบในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาต่างต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะในยุคเริ่มต้นที่สื่อในการโปรโมตนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นศูนย์ ว่ากันว่าวงดนตรีผู้บุกเบิกตอกหมุดหมายแห่งยุคสมัย ‘อัลเทอร์เนทีฟ’ มีอยู่ 3 ผลงานจาก 3 วง คือ ไข้ป้าง โดย นครินทร์ กิ่งศักดิ์, วิว ผลงานแนว บริทร๊อคจาก ครับ และ อัลเทอร์เนทีฟร๊อคโดยโมเดิร์นด๊อก

ในบรรดาสามศิลปินนี้ โมเดิร์นด็อกได้รับเครดิตมากที่สุดในฐานะผู้บุกเบิกวงการ ผลงานดนตรีของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสี่คนช่างสดและสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการเพลงไทยในเวลาได้ชนิดต้องจดจำไปอีกนาน เพราะก่อนหน้านั้นคนฟังเคยเห็นแต่ลูกครึ่งหนุ่มหล่อสาวสวยและวงร๊อคแฮร์แบนด์ แต่ไม่เคยเห็นวงดนตรีไหนหรือนักร้องคนใดที่ร้องเพลงไปพร้อม ๆ กับการกลิ้งบนพื้น

ทั้งโมเดิร์นด๊อกและเบเกอรี่มิวสิคต้นสังกัดต่างถือเป็นหน้าใหม่ของวงการ เครดิตที่ทางวงมี ณ เวลานั้นคือการชนะโค้กมิวสิคอวอร์ด ซึ่งโดนใจ กมล สุโกศล แคลปป์ หรือ สุกี้ หนึ่งในผู้บริหารค่ายเบเกอรี่มิวสิคเป็นอันมาก สุกี้จึงชักชวนให้ทำงานเพลงโดยนั่งแท่นตำแหน่งโปรดิวเซอร์ให้กับทางวง จนในที่สุดก็มีผลงานออกมาให้ฟังในปี 2537

แม้จะมีเครดิตทางเวทีประกวดแต่ในห้วงเวลาที่สื่อกระแสหลักต่างมุ่งเสนอเพลงจากค่ายใหญ่ เครดิตเหล่านั้นแทบไม่ได้เป็นจุดขายช่วยการขายเลยแม้แต่น้อย โมเดิร์นด๊อกสร้างชื่อจากทั้งฝีมือและภาพลักษณ์ที่ไม่เสแสร้ง ระบายความรู้สึกออกมาผ่านเสียงเพลงและท่าทางยามเล่นคอนเสิร์ต บวกกับผลงานเพลงและอาร์ทเวิร์คที่ชวนจดจำตั้งแต่ครั้งแรกที่คลี่ออกอ่านและฟังในครั้งแรก

ซิงเกิล ‘บุษบา’ และ ‘ก่อน’ คือเพลงสองเพลงที่ทำให้คนทั่วประเทศได้เริ่มรู้จักพวกเขาและเบเกอรี่มิวสิค เพลงแรกเต็มไปด้วยความพุ่งพล่านชวนกระโดด เนื้อหาโดยเฉพาะท่อนฮุคชวนให้แหกปากร้องตาม ในขณะที่เพลงหลัง ผลงานการแต่งของพราย ปฐมพร ก็ช่างแสนไพเราะชวนประทับใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ฟัง ลำพังเพียงผลงานสองเพลงก็สร้างฐานคนฟังได้จากสองกลุ่มทั้ง ‘เด็กอัลเตอร์ฯ’ ชอบเพลงมันส์ ๆ และคนฟังที่ชอบเพลงเพราะ ๆ

ไม่มีผลงานอัลบั้มเพลงไหนที่จะได้รับการกล่าวขานว่ายอดเยี่ยมโดยมีเพลงดีแค่สองเพลง ผลงานอื่น ๆ ในอัลบั้มล้วนน่าชื่นชม เนื้อเพลงทุกเพลงต่างมีแง่มุมให้ได้วิพากษ์ หรือขบคิด อาทิ การดูคนให้ดูที่ข้างใน ในเพลงทุเรียน การต่อสู้ฝ่าฟันในเพลงชีวิต และบางเพลงอย่าง ‘บางสิ่ง’ ก็มีการถกเถียงกันว่าจริง ๆ แล้วเพลงสื่อถึงการถูกเฉยชาหรือการปล่อยวางจากบางสิ่งกันแน่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงเวลาที่เพลงไทยวัยรุ่นมีแต่เพลงประเภท ‘รักใคร่’ การเขียนเนื้อเพลงในผลงานของโมเดิร์นด๊อกถือเป็นความแปลกใหม่ แถมไม่ใช่ในลักษณะ Angry Young Men ที่เกรี้ยวกราดพาลโทษสังคมโดยไม่สนดูตัวเองแบบที่หลายวงดนตรีวัยรุ่นชอบทำ ใคร ณ เวลานั้นจะคิดว่าเพลงวัยรุ่นที่เขียนเนื้อจริงจังโดยใช้สัญลักษณ์อุปมาอุปมัยจะขายได้ นอกจากนั้นพวกเขาเลือกการบันทึกเสียงสดในทุก ๆ เพลง เว้นแต่เพลงบางสิ่ง ที่มีเสียงสังเคราะห์ประกอบ เป็นอีกหนึ่งจุดขายที่เขียนไว้ในปก ซึ่งมองได้สองทาง คือต้องการบอกคนฟังถึงความสามารถ ไม่ก็เป็นการประหยัดต้นทุน

ผลงานเพลงหน้าปกภาพคัลลาจตัดแปะเน้นเด่นชัดในภาพของสตรีนางหนึ่งนี้กลายเป็นของกำลังใจให้กับวัยรุ่นไทยอีกจำนวนมากที่ไม่นิยม Candy Band แรงบันดาลใจจากงานชุดนี้เป็นปฐมบทแห่งการผลิตผลงานเพลงโดยคนทำเพลงหน้าใหม่ออกมามากมายในช่วงเวลาปี 38 – 39 ก่อนจะล่มสลายอย่างรวดเร็วและเงียบเหงาในปี 40 – 44

ความคลาสสิคของงานชิ้นนี้ยังไม่คลายมนต์เสน่ห์ แม้หยิบมาฟังหลังจากวางจำหน่ายมาแล้วเกือบ 19 ปี ฝุ่งผงบางเบาเศษเสี้ยวของกาลเวลามิอาจพรากเอาความยอดเยี่ยมไปได้เลยแม้แต่น้อย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รองโฆษก ปชป. หวั่น นศ.มธ.เหมือนผ้าขาวอาจถูกนิติราษฎร์ชี้นำไปในทางที่ผิด

Posted: 23 Jan 2012 08:19 AM PST

อยากให้อธิการบดี มธ. ดูแลด้วย เพราะมีการใช้พื้นที่ธรรมศาสตร์เคลื่อนไหวบ่อยครั้ง พร้อมระบุการตั้งคณะบุคคล 25 คนยกร่าง รธน. จะเอื้อพรรคเพื่อไทยเพราะมีเสียงข้างมากในสภา จึงน่ากลัวว่าจะล็อกสเป็ก

เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานวันนี้ (23 ก.พ.) ว่านายสกลธี ภัททิยกุล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรค ประชาธิปัตย์ ไม่มีปัญหา แต่อยากถามถึงรูปแบบในการแก้ไข เพราะเป็นห่วงว่าจะมีการหมกเม็ดเพื่อช่วยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือลบล้างความผิดต่างๆหรือไม่ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ ที่เสนอให้ตั้งคณะบุคคล จำนวน 25 คน ประกอบด้วย ส.ส. 20 คน และส.ว. 5 คน เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญชี้ให้เห็นชัดว่าเอื้อพรรคเพื่อไทย เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีเสียงข้างมากในสภา ซึ่งถือว่าน่ากลัวเหมือนเป็นการล็อกสเป็ก

ส่วนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นายสกลธี กล่าวว่า การเคลื่อนไหวต่างๆ มักใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บ่อยครั้งจึงอยากให้อธิการบดีมหาลัยธรรมศาสตร์ ตรวจสอบด้วย ว่าคณะอาจารย์ที่มีแนวคิดแบบนี้จะมีปัญหาหรือไม่ เพราะนักศึกษาที่เข้ามาเรียนใหม่ก็เหมือนผ้าขาวอาจถูกชี้นำไปในทางที่ผิดได้ จึงอยากให้ดูแลด้วย

นายสกลธี ยังกล่าวถึง นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย เป็นพวกโง่ขยัน เพราะมีการกดดันนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เร่งจ่ายเงินชดเชยเยียวยากลุ่มคนเสื้อแดง จำนวน 7.5 ล้านบาท ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวยังไม่จบเพราะฝ่ายกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นศาลปกครองให้ระงับเรื่องนี้แล้ว เพราะอยากให้จ่ายอย่างถูกต้อง เป็นธรรม พร้อมทั้งขอให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ดูแลมวลชนเสื้อแดงด้วย เพราะที่ผ่านมามีม็อบคนเสื้อแดงมาปิดประตูสภาด่าส.ส.ประชาธิปัตย์ ด้วยถ้อยคำหยายคาย จนต้องให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสภาเข้ามาดูแล ดังนั้นจะปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคเพื่อไทยกับคนเสื้อแดงไม่เชื่อมโยงกัน เพราะคนทั่วประเทศก็รู้ว่าเป็นเนื้อเดียวกัน สิ่งที่ทำกำลังนำประเทศไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงในปีนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มอง “ความบ้า” ผ่านความคิดทางการเมือง

Posted: 23 Jan 2012 07:43 AM PST

                ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา หากผู้ใดสนใจข่าววงการบันเทิงก็คงไม่มีใครที่จะไม่ติดตามข่าวของ นักร้องหนุ่มชื่อดังที่มีข่าวเกี่ยวกับปัญหาครอบครัวและเรื่องราวของยาเสพย์ติด แน่นอนว่าบางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะในความรู้สึกนึกคิดของคนเป็นจำนวนมากมองว่า ยาเสพย์ติดกับนักดนตรี เป็นของคู่กันราวกับน้ำเต้าหู้ที่เกิดมาคู่กับปาท่องโก๋

                หากมองถึง ความอยากรู้ คำชม คำว่ากล่าว กำลังใจ ที่มีนักร้องหนุ่มผู้นั้น ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเพลง  “ได้อย่างเสียอย่าง” ของอัสนีและวสันต์มาทันที เพราะมันก็ใช้ได้กับทุกเรื่องจริงๆ หากเป็นธรรมดาทั่วไปมีเรื่องแบบนี้ก็คงไม่แปลกและไม่มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจ แต่หากคุณเป็นคนที่สังคมจับตามอง (หรือกล่าวว่าเป็นคนของสังคมอย่างที่เขาเรียก) คุณก็ต้องยอมแลกกับเสรีภาพบางส่วนในชีวิตคุณก็เท่านั้น

                หลายคนอาจมองว่าเขาผู้นั้น เพี้ยน เสียสติ คนไม่ดี และจนสุดท้ายหลายคนก็อาจมองว่า “เขาบ้า” ไปแล้ว จากเหตุนี้ทำให้ผู้เขียนอยากที่จะสนใจมองถึงทรรศนะที่มีต่อคำว่า “บ้า” ขึ้นมาทันที ว่าสิ่งใดที่เป็นตัวแบ่งว่าใครบ้า หรือ ไม่บ้า ใช้อะไรเป็นตัวแบ่งและแนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลจากสิ่งใด

                หากศึกษาถึง แนวคิดทางการเมืองและสังคมของตะวันตก  ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ได้อธิบายความถึง “คนบ้า” ผ่านแนวคิดของ Logos ที่นำไปสู่ Reason หรือ Rationality กล่าวโดยรวบรัดคือ เมื่อ Reason ทำให้เกิดแนวความคิดแบบความเป็นศูนย์กลางและกระบวนการรวมศูนย์ (Centralization) ทำให้ทุกคนมีมาตรฐานเดียวกันในชีวิต เมื่ออยู่รวมกันในสังคมทุกคนก็มีเป้าหมายเดียวกัน มีเพียงมาตรฐานเดียวเท่านั้นในสังคม เมื่อเป็นเช่นนั้นหากผู้ใดมีแนวความคิดที่ต่างไปจากผู้ที่มี Reason ปกติในสังคมก็มักจะถูกทำลายล้างออกไปจากสังคม

                แนวคิดของ Reason ในลักษณะความเป็นศูนย์กลางถูกอธิบายผ่านการก่อเกิดของสถานกักกันคนบ้าของชาวยุโรปตะวันตก โดยหากกล่าวอย่างสรุปโดยอ้างงานเขียนของ Michel Foucault กล่าวคือ คนปกติที่อยู่ในสังคมนั้นถูกจัดกลุ่มให้อยู่ในผู้ที่มี Reason ส่วนคนบ้าก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของผู้ที่ไม่มี Reason ดังนั้นวิธีการในการจัดการเขาเหล่านั้นก็คือการกันให้เขาออกจากสังคมปกติไปอยู่ในสถานที่ที่เขาควรจะอยู่ เป็นการแบ่งแยกบุคคลออกจากกันอย่างชัดเจน ไม่เพียงแต่เรื่อของคนบ้าเท่านั้นที่ถูกแบ่งแยก แต่หลักคิดของ Reason นี้ยังดำเนินต่อมาในส่วนของ อาชญากร คนจรจัด หรือแม้แต่การจัดการกับผู้ที่เป็นโรคเรื้อน เป็นต้น

                การจัดการกับผู้ที่มี Reason ต่างจากคนอื่นสมัยแรก อาจจะทำด้วยวิธีการที่รุนแรงก็ได้ เช่น การลอยทะเลเพื่อให้ผู้คนเหล่านั้นหา Reason ของตนเอง จนในศตวรรษที่ 17 ก็อาศัยการสร้างสถานกักกันให้คนเหล่านี้อยู่รวมกัน เพราะผู้คนมีความกลัวคนบ้าหากใช้วิธีการแบบสมัยแรก (กลัวว่าจะพบกันอีกและเกิดอันตราย) แต่มาสู่ศตวรรษที่ 18 ความบ้าก็สามารถจัดการได้โดยการเปลี่ยน Reason ของคนเหล่านั้นให้เป็นดั่งเช่นคนปกติด้วยการพูดคุย

                หากว่ากรอบคิดแบบ Reason นี้ได้รวมกับแนวความคิดแบบ รัฐชาติ ด้วยแล้วยิ่งทำให้การแบ่งแยกทรงพลังมากยิ่งขึ้นไปกันใหญ่ ตามแนวคิดแบบเสรีนิยม รัฐชาติ พยายามสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคมแม้ในความเป็นจริงแล้วจะทราบเป็นอย่างดีว่าสังคมนั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้งก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ (Normal) ที่จะคิดในลักษณะนี้เพราะความปกตินั้นขึ้นกับสถานการณ์เฉพาะหน้าและความคาดหวังในอนาคต โดยในที่นี้ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถือว่าเป็นเรื่องปกติ (Normal) ตามความคาดหวังในอนาคต

                หากนำเอาแนวคิดสองแนวทางดังกล่าวผนวกกันแล้ว ก็จะยิ่งเป็นพลังอันน่าสะพรึงกลัวในการจัดการกับคนที่มีแนวความคิดผิดแปลกไปจากแนวทางของสังคมที่ถูกกำหนดโดยกรอบของ รัฐชาติ โดยผู้ที่มีแนวคิดต่างจากชาติพันธุ์หนึ่งที่เป็นตัวแทนชาติพันธุ์ของรัฐก็มักจะถูกกล่าวหาเสมอว่า คุณเป็นคนของรัฐนั้นหรือเปล่า

                หากอยากให้เห็นภาพก็คงเปรียบได้กับว่า เมื่อคุณได้ยินเพลงชาติแล้วคุณไม่ยืนตรง (อาจจะด้วยเหตุผลใดก็สุดแล้วแต่) ก็จะมีเสียงแว่วๆดังลอยตามหลังมาว่า “คนไทยหรือเปล่า” แต่ในความคิดของผู้เขียนแล้วการจะทำอะไรควรจะเกิดจากความตั้งใจจริงมากกว่าการยืนเพราะเขายืนกันทั้งนั้น ในสังคมไทยหลายครั้งที่ใครคิดต่างจากประเพณี ขนบธรรมเนียม ความเชื่อหรือสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่น ก็จะถูกกล่าวหาไปต่างๆนานา หรือบางครั้งก็ถูกขับให้ออกจากสังคมไปเลยก็ได้

               กลับมาถึงเรื่องของ “คนบ้า” อีกครั้ง หากคิดกันเล่นๆ วันหนึ่งหากเราหลับใหลอยู่ในค่ำคืนอันแสนวิเศษ เมื่อตื่นมาสู่โลกความเป็นจริงแล้วพบว่าตนเองอยู่ในที่ใดก็ไม่ทราบ ก็ไม่ต้องแปลกใจเพราะคนที่เรากล่าวว่าเขาคือ “คนบ้า” เขาอาจจะวางแผนทำอะไรบางอย่างเสมือนหนึ่งเป็น Pinky and the Brain ที่วางแผนยึดครองโลก จับคุณสู่สถานที่กักกันบ้าง ในข้อหามี Reason ไม่ปกติดั่งพวกเขา หรือหมายความสั้นๆว่า “เราบ้า” ก็ได้ใครจะไปรู้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แถลงการณ์สหพันธ์นิสิตนักศึกษาอีสาน สนับสนุน ครก.112

Posted: 23 Jan 2012 07:33 AM PST

23 มกราคม 2555  สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.)  ออกแถลงการณ์ลงนามโดยนายศรายุทธ ศิลา สนับสนุนการเคลื่อนไหวของคณะรณรงค์แก้ไข ม.112 (ครก.112) ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ เรียกร้อง เพื่อนนิสิต นักศึกษา นักวิชาการต่างๆ รวมทั้งรัฐบาลที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เร่งแก้ไข ม.112 ที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยย้ำในแถลงการณ์ว่า  มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาอิสระเสรีและเท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิทุกคน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดบทสัมภาษณ์ ‘เต็งเส่ง’ กับสื่อต่างประเทศครั้งแรก

Posted: 23 Jan 2012 06:52 AM PST

ประธานาธิบดีพม่า ‘เต็งเส่ง’ ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศครั้งแรก ถึงการพัฒนาการทางการเมืองและประชาธิปไตยในพม่าที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในขณะนี้ พร้อมแย้มอนาคตทางการเมือง "ออง ซาน ซูจี" ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งซ่อมเดือนเมษายนนี้

เปิดบทสัมภาษณ์ของ ‘เต็ง เส่ง’ ประธานาธิบดีพม่า กับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ซึ่งเป็นการให้สัมภาษณ์ประธานาธิบดีพม่ากับสื่อต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยเปิดเผยถึงอนาคตของพม่าด้านการพัฒนาทางการเมือง-ประชาธิปไตย ความสัมพันธ์พม่า-สหรัฐ และเสรีภาพสื่อในประเทศ

0000


วอชิงตันโพสต์: ทางโลกตะวันตกได้จับตาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศของคุณ ไม่ว่าจะการปล่อยตัวนักโทษการเมือง การอนุญาตให้พรรคการเมืองของนางออง ซาน ซูจี ลงเลือกตั้งในเดือนเมษายน และการประกาศหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อย คุณได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ธรรมดาในระยะเวลาอันสั้น อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องการเปลี่ยนประเทศของคุณ และเริ่มกระบวนการปฏิรูปดังกล่าว?

เต็งเส่ง: กระบวนการปฏิรูปดังกล่าวที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศของเรา มีแรงสนับสนุนมาจากประชาชน มาตรการการปฏิรูปนี้ดำเนินการตามความต้องการของประชาชนที่ต้องการเห็นประเทศของเรามีสันติภาพ เสถียรภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และในการได้มาซึ่งเสรีภาพภายใน เสถียรภาพ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ มันสำคัญมากที่จะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคการเมืองในประเทศของเรา นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงได้หารือกับออง ซาน ซูจี และในการประชุมของผมกับนางออง ซาน ซูจี เราก็สามารถที่จะบรรลุซึ่งความเข้าใจซึ่งกันและกัน
ประชาชนต้องการที่จะเห็นสันติภาพและความมีเสถียรภาพ และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงได้เข้าไปพูดคุยกับกลุ่มติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย และนี่เองเป็นเหตุผลที่การปฏิรูปของเราดำเนินตามความต้องการและประสงค์ของประชาชน

วอชิงตันโพสต์: ประชาชนไม่สามารถจะมีการปฏิรูปนี้ได้หากไม่มีคุณเริ่มดำเนินการ คุณได้ตัดสินใจปล่อยตัวนักโทษการเมือง พบปะกับนางออง ซาน ซูจี แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป คุณจะยังคงปฏิรูปต่อไปด้วยอัตราเช่นนี้หรือไม่

เต็งเส่ง: ในส่วนของอนาคต เราต้องการจะเห็นความโปร่งใส ผมหวังว่าเราจะสามารถดำรงความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรกับประเทศอื่นๆ ในโลกได้

วอชิงตันโพสต์: คุณช่วยเล่าถึงขั้นตอนต่อไปในกระบวนการปฏิรูปได้หรือไม่ คุณมีวิสัยทัศน์อย่างไรบ้าง

เต็งเส่ง:  ผมเชื่อว่าคุณต้องรู้เป้าหมายของเราก่อน ซึ่งก็คือการบรรลุถึงสันติภาพและความมีเสถียรภาพ รวมถึงการพัฒนาทางการเมืองในประเทศของเรา ส่วนในอนาคต เราก็ยังคงต้องกระทำสิ่งที่จำเป็นในการบรรลุถึงเป้าหมายนั้น

วอชิงตันโพสต์: คุณได้ปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ปล่อยตัวนักโทษการเมือง และสามารถเจรจาหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อยบางส่วนได้แล้ว คุณมีก้าวต่อไปที่แน่นอนหรือยัง

เต็งเส่ง: รัฐสภาได้แก้ไขกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อให้ออง ซาน ซูจีลงสมัครในการเลือกตั้งที่จะมาถึงได้ (วันที่ 1 เมษายน) ในคณะนี้ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนาง ได้จดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองทางการแล้ว และนางออง ซาน ซูจีก็จะลงสมัครในการเลือกตั้งซ่อมที่จะมาถึงด้วย และหากว่าประชาชนเลือกเธอ นางก็จะได้รับการเลือกตั้งและกลายเป็นสมาชิกของรัฐสภา ผมแน่ใจว่ารัฐสภาจะต้อนรับเธออย่างดี และนี่ก็เป็นแผนของเรา

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมต้องการจะพูดถึง คือกลุ่มชนกลุ่มน้อยติดอาวุธที่อยู่ในประเทศของเรา อย่างแรก เราจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจในทั้งสองฝ่าย เราได้บรรลุข้อตกลงแล้วในบางเรื่อง ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องลงนามในข้อตกลงและกลับสู่เรื่องทางกฎหมาย (legal fold) โดยปราศจากอาวุธ

วอชิงตันโพสต์: คุณได้ตกลงการหยุดยิงกับกลุ่มกะเหรี่ยงแล้ว

เต็งเส่ง: มีกลุ่มติดอาวุธทั้งหมด 11 กลุ่มในประเทศของเรา ซึ่งเราก็ได้ทำการหารือกับกลุ่มต่างๆ ทั้งหมดแล้ว เรายังได้ทำข้อตกลงกับบางกลุ่ม แต่นี่ก็ยังไม่จบลง การเจรจายังคงดำเนินอยู่

วอชิงตันโพสต์: คุณหมายความว่าอะไรเมื่อคุณบอกว่าพวกเขาจำเป็นต้องกลับสู่แง่มุมทางกฎหมาย (legal fold) อันนั้นจะเกิดขึ้นหลังจากได้ทำการตกลงกับรัฐบาลแล้วหรือ

เต็งเส่ง: นี่เป็นสิ่งที่เกิดจากข้อตกลงทั้งสองฝ่าย อีกไม่นาน เราจะพยายามบรรลุเสรีภาพอันยั่งยืนในประเทศของเรา อย่างไรก็ตาม มันเป็นเรื่องที่ยังคงต้องใช้เวลา

วอชิงตันโพสต์: ถ้าหากนางออง ซาน ซูจีได้เสียงตอบรับที่ดีในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ คุณจะให้ตำแหน่งนางในคณะรัฐมนตรีหรือไม่

เต็งเส่ง: มันขึ้นอยู่กับผลของการเลือกตั้ง และขึ้นอยู่ว่านางจะได้รับเลือกจากประชาชนหรือไม่ เมื่อเธอได้รับการเลือกตั้งแล้ว เธอจะกลายเป็นสมาชิกของรัฐสภา ส่วนคณะรัฐมนตรีที่มีในตอนนี้ มาจากการแต่งตั้งของข้อตกลงกันในรัฐสภา

วอชิงตันโพสต์: คุณอยากเห็นนางได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่

เต็งเส่ง: หากได้รับการแต่งตั้ง หรือตกลงร่วมกันในรัฐสภาแล้ว เราก็จำเป็นจะต้องยอมรับให้เธอเป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรี

วอชิงตันโพสต์: วิสัยทัศน์ของคุณต่อความสัมพันธ์สหรัฐ-พม่าเป็นอย่างไรในอนาคต ความหวังของคุณต่อความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นอย่างไร และอยากจะเห็นมันพัฒนาต่อไปอย่างไร

เต็งเส่ง: ต่อเรื่องความสัมพันธ์สหรัฐ-พม่า ผมอยากจะกล่าวถึงสามประเด็น อย่างแรก เราได้หารือกับสหรัฐแล้ว รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐได้มาเยือนประเทศเรา และสมาชิกวุฒิสภามิตช์ แม็คคอนเนลล์ก็ได้มาเยี่ยมเราวันนี้ด้วย อย่างที่สองคือ เราเองไม่มีตัวแทนทางการทูตในระดับเอกอัครราชทูตในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเราก็หวังว่าความเป็นตัวแทนนี้อาจจะถูกยกระดับให้ดีขึ้น และอย่างที่สามที่ผมอยากกล่าว คือการที่สหรัฐ และสหภาพยุโรปได้ทำการคว่ำบาตรประเทศของเรามาเกือบ 20 ปีแล้ว ผมอยากจะเห็นมันผ่อนคลายลง และจะยุติการคว่ำบาตรไปในที่สุด
วอชิงตันโพสต์: รัฐมนตรีคลินตันได้ประกาศอาทิตย์ที่แล้วว่า ความสัมพันธ์จะกลับคืนสู่ปกติ และสหรัฐกับพม่าจะแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตระหว่างกัน

วอชิงตันโพสต์: ใช่ ผมก็ได้ยินข่าวนั้นมาเช่นกัน จนกระทั่งถึงวันนี้ ยังคงไม่มีการประกาศเรื่องการแต่งตั้งเอกอัครราชทูต

เต็งเส่ง: มีข้อตกลงสามข้อที่ชาติตะวันตกอยากจะให้เรากระทำ หนึ่งคือปล่อยตัวนักโทษการเมือง สองคือให้มีการจัดการเลือกตั้ง (ระดับรัฐสภา) อย่างที่สาม คือให้นางออง ซาน ซูจีและคนอื่นๆ มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง ผมเชื่อว่าเราได้บรรลุในสิ่งที่ว่ามาแล้ว สิ่งที่ต้องการจากชาติตะวันตกในตอนนี้ ก็คือความร่วมมือจากฝั่งของเขา และในการที่เราได้ปฏิบัติตามสามข้อนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะเราถูกกดดัน แต่เป็นเพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องทำเพื่อประเทศของเรา

วอชิงตันโพสต์: การปฏิรูปของคุณไม่ได้เกิดมาจากแรงกดดันในการคว่ำบาตร แสดงว่าการคว่ำไม่ได้ผลหรือ

เต็งเส่ง: การคว่ำบาตรมีจุดประสงค์เพื่อกดดันรัฐบาล แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชนของเรา และมันก็ไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อรัฐบาลก่อน ซึ่งเป็นผู้วางขั้นตอนที่จะนำไปสู่ระบบประชาธิปไตยในประเทศของเราด้วย

วอชิงตันโพสต์: คุณกำลังพูดถึงขั้นตอนเจ็ดข้อที่ได้วางไว้เมื่อปี 2004 ใช่ไหม

เต็งเส่ง: รัฐบาลก่อนหน้าได้วางโครงการเจ็ดข้อเอาไว้ เพื่อจะได้ดำเนินระบบประชาธิปไตยในประเทศของเรา และพวกเขาได้เริ่มมาตรการที่จำเป็นที่ละขั้นตอน

วอชิงตันโพสต์: พวกเขาได้วางแผนดังกล่าวเพื่อที่จะดำเนินไปสู่ประชาธิปไตยอย่างนั้นหรือ

เต็งเส่ง: ใช่ ถูกต้อง

วอชิงตันโพสต์: ประชาชนต่างสงสัยว่า ทำไมคุณมาเริ่มปฏิรูปเอาตอนนี้ คุณกำลังบอกว่าแผนนี้ได้วางไว้นานแล้ว และมันกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ

เต็งเส่ง: เมื่อใดที่ระบบจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง มันไม่สามารถจะเปลี่ยนได้ข้ามคืน บางประเทศที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างข้ามคืนก็ได้เสื่อมถอยลง นี่คือเหตุผลที่ทำไมเราถึงได้วางแผนเจ็ดขั้นตอน และค่อยๆ ดำเนินการไปทีละขั้น คุณจะเห็นได้ว่าเราเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย

วอชิงตันโพสต์: แต่ร้อยละ 25 ของรัฐบาลถูกสงวนไว้ให้ทหาร และสมาชิกส่วนใหญ่ของรัฐบาล รวมถึงคุณด้วย ก็เป็นสมาชิกเก่าของกองทัพ สำหรับเรา ประชาธิปไตยหมายถึงรัฐบาลพลเรือนที่มีอำนาจเหนือกองทัพ

เต็งเส่ง: กองทัพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารอีกต่อไปแล้ว เมื่อคุณดูที่รัฐสภาของเรา ก็จะเห็นว่าหนึ่งในสี่นั้นสงวนให้กับกองทัพ เราไม่สามารถทิ้งกองทัพไว้ข้างหลังได้เพราะเราต้องการการมีส่วนร่วมของกองทัพในการพัฒนาประเทศของเรา

วอชิงตันโพสต์: ในมุมมองของสหรัฐก็คือว่า คุณจำเป็นต้องมีกองทัพที่เข้มแข็ง แต่รัฐบาลพลเรือนต้องมีอำนาจด้วย ประธานาธิบดีของเรามีอำนาจมากกว่าหัวหน้ากองทัพ นั่นคือประชาธิปไตยในแบบของเรา ฉะนั้นคุณจะดำเนินการปฏิรูปไปได้ไกลเพียงใด

เต็งเส่ง: หวังว่าคุณจะได้ศึกษารัฐธรรมนูญประเทศเรา ในนั้นได้ระบุว่า ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งผู้บัญชาการกองทัพของประเทศ

วอชิงตันโพสต์: สหรัฐยังกังวลถึงความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ สมาชิกวุฒิสภาริชาร์ด ลูการ์ กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่าประเทศของคุณอาจจะกำลังพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ที่ได้รับความช่วยเหลือจากเกาหลีเหนือ คุณช่วยให้ความคิดเห็นหน่อยได้ไหม คุณพร้อมจะทำลายความสัมพันธ์ทางทหารกับเกาหลีเหนือหรือ?

เต็งเส่ง: เรามีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ แต่เราไม่มีความสัมพันธ์ในด้านโครงการนิวเคลียร์หรือความร่วมมือทางการทหาร นั่นเป็นเพียงข่าวลือ ในเวทีระดับโลก ประเทศเราจัดอยู่ในฝ่ายที่ไม่สนับสนุนการใช้อาวุธนิวเคลียร์ เราได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของสหประชาชาติ และนั่นก็เป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น เราไม่มีความร่วมมือใดๆ ด้านนิวเคลียร์หรืออาวุธกับเกาหลีเหนือ และเกาหลีเหนือก็มิได้อยู่ในสถานการณ์ที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือต่อประเทศของเราได้ และเราก็ไม่ได้มีช่องทางทางการเงินเพื่อที่จะดำเนินโครงการทางนิวเคลียร์แต่อย่างใด

วอชิงตันโพสต์: คุณพร้อมที่จะยอมให้ผู้ตรวจสอบจากหน่วยงานพลังงานอะตอมระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency) เข้าไปในประเทศของคุณหรือไม่

เต็งเส่ง: เราอยู่ในขั้นตอนระหว่างการเซ็นข้อตกลงเพิ่มเติมกับ IAEA ซึ่งต้องการการศึกษาเพิ่มเติม และจำเป็นต้องส่งต่อไปยังรัฐสภาเพื่อการอนุมัติ

วอชิงตันโพสต์: มีอะไรที่คุณอยากจะกล่าวกับผู้อ่านชาวอเมริกันหรือไม่

เต็งเส่ง: สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือว่า เราเดินมาถูกทางไปยังประชาธิปไตยแล้ว เพราะเราเดินมาถูกทาง เราสามารถเดินหน้าต่อไปได้เท่านั้น และเราก็ไม่มีประสงค์ใดๆ ที่จะถอยหลังกลับ รัฐบาลของเรามีอายุเพียงเก้าเดือนครึ่งเท่านั้น ในแง่ของประสบการณ์และแง่ปฏิบัติเรื่องประชาธิปไตย เรายังมีน้อยมากๆ ผมไม่คิดว่าเราสามารถไปเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยมากว่าร้อยปีแล้ว

เพื่อให้ประชาธิปไตยในประเทศของเราได้เติบโตนั้น มีความจำเป็นสองอย่าง อย่างแรกคือ ต้องมีสันติภาพและความมีเสถียรภาพภายในประเทศ อย่างที่สองคือ เราจำเป็นต้องมีการพัฒนาการทางเศรษฐกิจและเราก็ได้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้เศรษฐกิจของเราพัฒนา และประชาชนจะได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีประชาชนประมาณ 3 ล้านคนที่ทำงานในประเทศอื่นๆ พม่ามีอัตราความยากจนอยู่ราวร้อยละ 26 และนั่นก็เป็นผลมาจากการคว่ำบาตรต่อประเทศของเรากว่า 20 ปี การคว่ำบาตรกระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชนของเรา และเพราะเหตุนั้น ทำให้ไม่มีงานในประเทศของเรา หากคุณอยากจะเห็นประชาธิปไตยเติบโตในประเทศนี้ คุณควรต้องกระทำในสิ่งที่จำเป็น โดยการสนับสนุนให้มีการผ่อนคลายการคว่ำบาตรต่อประเทศของเรา

วอชิงตันโพสต์: หากคุณต้องการสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจ คุณจะยินยอมแปรรูปกิจการบางประเภทและยอมให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาหรือไม่

เต็งเส่ง: เราต้อนรับนักลงทุนต่างประเทศและเราก็ได้แก้ไขข้อกฎหมายบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของต่างชาติ แต่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาก็ต่อเมื่อการคว่ำบาตรต่อประเทศเราผ่อนคลายลง

วอชิงตันโพสต์: แต่นักลงทุนก็จะร้องขอหลักกฎหมายและระบบตุลาการ

เต็งเส่ง: ผมไม่คิดว่าจะมีข้อยากลำบากอะไรในการที่ชาวต่างประเทศจะเข้ามาลงทุนในประเทศของเรา สิ่งที่ยากอยู่อย่างเดียวก็คือเรื่องการคว่ำบาตร

วอชิงตันโพสต์: คุณจะยินยอมให้มีสื่อที่เสรีในประเทศนี้ ยกเลิกกฎหมายสื่อปี 1962 อนุญาตให้มีการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ และอนุญาตให้เอกชนเป็นเจ้าของสื่อหรือไม่

เต็งเส่ง: ในเรื่องเสรีภาพของสื่อ คุณจะเห็นได้ว่าตอนนี้ไม่เหมือนกับที่เป็นมา เรามีวารสารที่ตีพิมพ์รายวันในประเทศของเรา และสื่อก็สามารถแสดงออกได้อย่างเสรี อย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงต้องการการปฏิบัติที่เป็นประชาธิปไตย สื่อจำเป็นจะต้องมีความรับผิดชอบและมีการกระทำที่เหมาะสม เสรีภาพสื่อจำเป็นต้องอยู่บนฐานของความรับผิดชอบที่พวกเขามี

ที่มา: แปลจาก Washington Post. Burma’s president gives his first foreign interview. 20/01/12.
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โปรแกรมเมอร์ชาวอิหร่านถูกตัดสินประหารชีวิต เหตุถูกเว็บโป๊เอาซอฟท์แวร์ไปใช้

Posted: 23 Jan 2012 06:23 AM PST

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาศาลสูงสุดอิหร่านยืนยันคำตัดสินลงโทษประหารชีวิตโปรแกรมเมอร์ชาวอิหร่าน-แคนาดา เหตุซอฟท์แวร์ที่เขาผลิตถูกเว็บโป๊นำไปใช้ โดยศาลระบุในคำตัดสินว่าเป็นการละเมิดความศักดิ์สิทธิ์และหมิ่นศาสนาอิสลาม

ข้อมูลจากองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ซาอีด มาเลคปูร์ (Saeed Malekpour) โปรแกรมเมอร์ชายสัญชาติอิหร่าน-แคนาดาวัย 35 ปี ซึ่งผลิตซอฟท์แวร์อัพโหลดรูปภาพที่ภายหลังเว็บโป๊ได้นำไปใช้ ถูกทางการอิหร่านจับกุมในขณะที่เขาเดินทางมาเยี่ยมครอบครัวในเดือนตุลาคมปี 2008 (พ.ศ. 2551) และต่อมาถูกศาลปฏิวัติตัดสินประหารชีวิตในปี 2010 (พ.ศ.2553)

หลังจากการพิจารณาคดีเพิ่มเติมโดยศาลสูงสุด เขาก็ได้รับการยืนยันโทษประหารชีวิตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 ม.ค. 55) มีรายงานด้วยว่าเขาถูกขังเดี่ยวกว่าหนึ่งปีและถูกทรมานให้รับสารภาพ

"ในการยืนยันโทษประหารชีวิตของซาอิด มาเลคปูร์ ด้วยการพิจารณาคดีอย่างไม่เป็นธรรม ทางการอิหร่านกำลังส่งข้อความไปยังชาวอิหร่านไม่ให้พวกเขากล้าแสดงความคิดเห็น หรือให้ความช่วยเหลือใครก็ตาม รวมทั้งในทางอินเทอร์เน็ตด้วย" แอน แฮร์ริสัน รองผู้อำนวยการองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฝ่ายตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือกล่าว

ศาลสูงสุดยืนยันว่า มาเลคปูร์มีความผิดจริงในการสนับสนุนเว็บโป๊ เนื่องจากชื่อของเขาอยู่บนซอฟท์แวร์ที่เว็บดังกล่าวนำไปใช้ ในขณะที่น้องสาวของเขา ยืนยันว่าการตัดสินคดีเป็นไปอย่างไม่ยุติธรรม และพี่ชายของเธอบริสุทธิ์

"สิ่งที่ซาอิดได้กระทำลงไปอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย" มาร์ยัม มาเลคปูร์ให้สัมภาษณ์กับ Radio Free Europe "เขาไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมายเลย ซาอิดเพียงแค่เขียนโปรแกรมที่อาจจะถูกเว็บไซต์อื่นๆ นำไปใช้ โชคไม่ดีที่โปรแกรมดังกล่าวถูกขายต่อและนำไปใช้อัพโหลดรูปภาพในเว็บที่ไม่เหมาะสมโดยที่เขาไม่รู้เรื่องเลย" น้องสาวของเขากล่าว

เว็บไซต์ mashable.com รายงานว่า ท่าทีของรัฐบาลอิหร่านต่อเสรีภาพอินเทอร์เน็ตเป็นที่เลืองลือในทางลบมาก โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลอิหร่านได้ประกาศโครงการ "อินเทอร์เน็ตฮาลาล" เพื่อระงับอิทธิพลจากโลกตะวันตก โดยมุ่งจะตัดต้นเหตุของการประท้วงซึ่งมีส่วนมาจากโซเชียลมีเดีย เช่นในช่วงการเลือกตั้งอิหร่านปี 2009 (พ.ศ.2552)

นอกจากนี้ รัฐบาลอิหร่านยังกล่าวด้วยว่า ซีไอเอได้ใช้วีดีโอเกมส์ที่ผลิตโดยสหรัฐอเมริกาเป็นโฆษณาชวนเชื่อเพื่อส่งเสริมภารกิจของสหรัฐในต่างประเทศ ทางการอิหร่าน ยังได้ใช้"กองทัพไซเบอร์อิหร่าน" (Iranian Cyber Army) เพื่อปิดกั้นประชาชนชาวอิหร่านไม่ให้เข้าถึงเว็บไซต์ต่างประเทศด้วย 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ประกาศเขตอุทยานทับที่ดินทำกิน’ มรสุมอีกระลอกที่นบพิตำ ‘นครศรีธรรมราช’

Posted: 23 Jan 2012 06:23 AM PST

 

ป้ายหนังสือเลขที่ ทส 0915.503/1142 ที่ออกประกาศเตือนจากอุทยานแห่งชาติเขานันซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ อ.นบพิตำ อ.ท่าศาลา และอ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช  ระบุเรียนถึงบุคคล หรือกลุ่มบุคคลผู้กระทำความผิดพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และให้ดำเนินการรื้อถอนทำลายสวนยางพาราอันเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน บ้านเขาโพธิ์ หมู่ 9 ต.นบพิตำ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ภายในวันที่ 26 มีนาคม 2555 สร้างความฉงนใจและรู้สึกสูญเสียให้กับชาวบ้านที่นี่ไม่น้อยไปกว่าเมื่อครั้งเกิดอุทกภัยทางธรรมชาติที่ผ่านมา แต่ภัยทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่ชาวบ้านที่นี่ใช้ชีวิตและเรียนรู้ที่จะอยู่ให้ได้บนความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น เพราะเชื่อว่าเมื่อระยะเวลาผ่านไป สภาพความเสียหายต่างๆจะยังสามารถฟื้นฟูเข้าสู่สภาพเดิมได้ แต่ทันทีที่มีการติดประกาศดังกล่าวจากอุทยานแห่งชาติเขานันให้ทำลายสวนยางพาราอันเป็นความหวังและหัวใจสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิต คนที่นี่บอกว่าเหมือนเป็นการฆ่ากันให้ตายทั้งเป็น

ย้อนรอยที่มาของปัญหา
อุทยานแห่งชาติเขานัน มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ อ.นบพิตำ อ.ท่าศาลา และอ.สิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขานครศรีธรรมราช ตามลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสูงทอดยาวตามแนวเหนือ-ใต้ ที่ซับซ้อน มีเนื้อที่ประมาณ 256,121 ไร่ หรือ 409.79 ตารางกิโลเมตร

ตามคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 1627/2532 ให้ นายลือสัก สักพันธ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 กองอุทยานแห่งชาติ ไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ากรุงชิง ป่าเขานัน และป่าคลองเผียน ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่อ.ท่าศาลา และอ.สิชล และเนื่องจากอุทยานแห่งชาติเขาหลวง และอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น มีพื้นที่ติดต่อกันเป็นผืนเดียว ประมาณ 388,232 ไร่ หรือ 601 ตารางกิโลเมตร จึงได้มีการสำรวจเพื่อประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติแต่ก็ไม่ได้จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแต่อย่างใด เนื่องจากมีสวนยางพาราและสวนผลไม้ของชาวบ้านอยู่ในพื้นบริเวณดังกล่าวด้วย

จากนั้นทางอุทยานแห่งชาติเขานันได้จัดทำรายการสำรวจเพิ่มเติม และกำหนดบริเวณ พื้นที่พร้อมทั้งจัดทำแผนที่ แสดงแนวเขตที่จะประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามหนังสือของกองอุทยานแห่งชาติที่ กษ 0713(ขน)/30 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2535 และให้จัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขานัน จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามหนังสือของสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ กษ 0712.3/2822 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2537

และตามมติคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2535 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2535 ตามระเบียบวาระที่ 4 เห็นชอบให้จัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขานันในท้องที่ ต.กรุงชิง ต.นบพิตำ อ.นบพิตำ ต.ตลิ่งชัน อ.ท่าศาลา และต.เขาน้อย ต.ฉลอง ต.เทพราช ต.เปลี่ยน อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และดำเนินการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2552 อุทยานแห่งชาติเขานันได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 113 ของประเทศไทย โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนที่ 96 ก ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2552

แผ่นดินปู่ แผ่นดินย่า เขาอยู่มาก่อน “มหาสงครามเอเชียบูรพา”
นายโพธิ์ เพชรพุทธ ในวัย 80 ปี เล่าถึงเมื่อครั้งตนและครอบครัวขึ้นมาตั้งทำมาหากินที่บ้านเขาโพธิ์ หมู่ 9 ต.นบพิตำ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ว่าได้ขึ้นมาอาศัยทำสวนยางและสวนผลไม้ตามคำชักชวนของ เกลอพ่อ (เพื่อนสนิทของพ่อ) ในปี พ.ศ.2486 ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามมหาเอเชียบุรพา (25 ม.ค. พ.ศ.2485 ไทยประกาศเข้าร่วมสงครามมหาเอเชียบูรพา)แต่ขณะที่ตนมาตั้งรกรากทำสวนยางพารานั้น เกลอของพ่อได้ทำสวนยางมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว

“เดิมผมอยู่ที่ อ.พรหมคีรี ตอนปี พ.ศ.2484 มีเริ่มมีสงครามเกิด มีคนญี่ปุ่นมาที่เมืองนคร ช่วงนั้นบ้านเมืองวุ่นวาย เกลอพ่อชวนขึ้นมาทำสวนยางด้วยกันที่นี่ ก็เลยตัดสินใจย้ายครัวมาจาก อ.พรหมคีรี สมัยนั้นยังไม่มีการเรียกชื่อหมู่บ้าน จนกระทั่งอยู่มานานๆเข้า เขาก็เรียกบ้านนี้ว่าบ้านเขาโพธิ์ตามชื่อผม เพราะอยู่ที่นี่มานาน นับไปนับมาก็เกือบ 70 ปีแล้ว”นายโพธิ์กล่าว

ประเทศไทยมีการออกประกาศพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติขึ้น ครั้งแรกในปี พ.ศ.2504 ในขณะที่ชาวบ้านเขาโพธิ์อาศัยอยู่ที่นี่มาก่อนแล้ว 18 ปี

จนกระทั่งเมื่อวันที่  16 พฤษภาคม  2551 ได้มีการดำเนินคดีต่อชาวบ้าน และทางอุทยานแห่งชาติได้ออกหนังสือในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2555  เพื่อให้ชาวบ้านโค่นทำลายสวนยางพาราในพื้นที่ของตนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 26 มีนาคม 2555

“คนที่นี่ถูกแจ้งความบุกรุกป่าอุทยาน  ทั้งที่อุทยานประกาศมาประกาศทับที่ทำมาหากินของเรา  แล้วยังมาออกหนังสือสั่งให้เราโค่นต้นยางและทำลายล้างสวนผลไม้ที่ปลูกมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าของเราอีก” นายชัยโย เพชรพุทธ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านเขาโพธิ์  ต.นบพิตำ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราชกล่าว

เคราะห์กรรมที่นบพิตำวันนี้  ไม่ได้มีแต่เรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ

นายชัยโยบอกเล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกบ้านของเขาในขณะนี้ว่า  “ตอนนี้ลูกบ้านผม 50 กว่าครอบครัว ได้รับผลกระทบจากอุทยาน คนที่นี่เพิ่งประสบปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติยังไม่ทันฟื้นฟูเข้ารูปเข้ารอย ก็มาเจอภัยจากอุทยานซ้ำเข้าอีกรอบ  นี่จำนวนผู้เดือดร้อนยังไม่รวมลูกบ้านที่ถูกโค่นสวนผลไม้ โค่นสวนยางไปก่อนล่วงหน้าอีก 10 ราย  ผมโทรศัพท์ไปหาทางหัวหน้าอุทยาน เขาก็บอกว่ายังไม่ทราบเรื่อง และจะยังไม่ดำเนินการใดๆ แต่ก็มีประกาศจากอุทยานมาติดเอาไว้บนที่ดินของชาวบ้านแล้ว”

“ตอนนี้ที่ดินของชาวบ้าน 50 กว่าครัวเรือนมีการออกประกาศจากทางอุทยาน ชาวบ้านทุกคนจะได้รับผลกระทบแน่นอน หากทางอุทยานมาโค่นล้มต้นยางและสวนผลไม้ที่เป็น แหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน ทั้งที่ชาวบ้านอยู่มาก่อนประกาศอุทยานหลายอายุคนแล้ว ผมคิดว่าต้องหาทางออกเรื่องนี้ให้ชัด เพราะมันกระทบกับชาวบ้านโดยตรง”นายชัยโยกล่าว

นายประยุทธ วรรณพรหม ผู้ประสานงานเครือข่ายที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้โครงการคิดดี ทำดี ที่เมืองนคร กล่าวถึง ปัญหาการประกาศเขตทับที่ทำกินของชาวบ้านไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคม และสร้างความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างมาก

“อย่างกรณีที่เกิดขึ้น ต้องยุติการโค่นและทำลายสวนยางและสวนผลไม้ของชาวบ้านก่อน ซึ่งผมคิดว่าผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชจะต้องเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่อ.นบพิตำ และควรมีคณะกรรมการ อันประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วนขึ้นมาตรวจสอบข้อมูล  นอกจากนี้ ผมเสนอให้ทำแผนที่ชุมชนประกอบกับการเดินตรวจจับวัดพิกัดด้วยเครื่อง GPRS.เพื่อระบุพื้นที่อุทยานและพื้นที่ของชาวบ้านที่ถูกต้อง”นายประยุทธกล่าว

นายประยุทธยังระบุด้วยว่า โดยทั่วไปชาวบ้านทางภาคใต้ซึ่งประกอบอาชีพทำสวนยางพารามักจะปลูกผลไม้อื่นๆแซมระหว่างต้นยางพาราไปด้วย คนในพื้นที่จึงเรียกว่า “ป่ายาง” มากกว่า “สวนยาง” เพราะป่ายางของชาวบ้านมีทุกอย่างที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตที่อิงอาศัยกับธรรมชาติ ตามวิถีดั้งเดิม

“หน่วยงานรัฐมักจะมองอย่างมีอคติว่าชาวบ้านทำลายป่า ทั้งที่ชาวบ้านเองนั่นแหละเป็นผู้ดูแลรักษาป่าตามวิถีชีวิตที่ต้องอาศัยทำมาหากินร่วมกับธรรมชาติ ผมว่าการที่รัฐให้สัมปทานทำเหมืองแร่ตามเขตต้นน้ำบนเนื้อที่กว่าพันไร่ น่าจะเป็นการเรื่องทำลายป่า ทำลายธรรมชาติมากกว่ากลุ่มชาวบ้านที่อาศัยทำมาหากินร่วมกับธรรมชาติมาตลอดทั้งชีวิตของเขา” นายประยุทธกล่าว

วันนี้ที่เทือกเขานครศรีธรรมราช ซึ่งยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ ทั้ง ดีบุก แบไรต์ วุลแฟรมจนมีการให้สัมปานแก่บริษัทเอกชนในการทำเหมืองแร่บนเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ ในขณะเดียวกันกับที่ประชาชนที่อาศัยทำสวนผลไม้และสวนยางพาราที่สืบทอดกันมาเกือบ 60 ปี ถูกดำเนินคดีบุกรุกที่ดินของตนเองนั้น ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่รอการแก้ไข ก่อนจะเป็นมหัตภัยที่นำความเดือดร้อนมาให้ประชาชนมากยิ่งกว่าการเกิดพิบัติภัยทางธรรมชาติเมื่อครั้งที่ผ่านมา .

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักวิชาการชี้ห้าเดือนผลงานบัตรทองไม่ถึงไหน

Posted: 23 Jan 2012 06:14 AM PST

สั่งประชุมบอร์ด ด่วน 24 มกราคม นี้ เผย 5 เดือนประชุมบอร์ดใหม่เพียง 2 ครั้ง เสนอ 10 วาระ มีมติเป็นชิ้นเป็นอันผ่านเพียง 2 เรื่อง ต่างจากยุค รตอ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็น รมว.สธ. เพียง 2 เดือนผ่านมติ 5 เรื่องสำคัญ

นพ.อารักษ์  วงศ์วรชาติ ผู้ประสานเครือข่ายนักวิชาการด้านประกันสุขภาพ เปิดเผยว่าได้ติดตามผลการประเมิน 10 ปี ระบบหลักประกันสุขภาพของไทย พบว่าที่ผ่านมาประสบความสำเร็จทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการต่างๆ มากขึ้น ระบบมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นตัวอย่างให้กับประเทศต่างๆ เป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก แม้กระทั่ง นายบันคีมูน  เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ยังได้กล่าวชื่นชมความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพของไทย แต่จากการติดตามงานที่ผ่านมาเครือข่ายนักวิชาการมีความเป็นห่วงอนาคตของระบบนี้ เพราะที่ผ่านมา 5 เดือน ตั้งแต่ที่นายวิทยา บูรณศิริ รมว.สธ. มาเป็นประธานคณะกก.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติชุดใหม่สามารถจัดประชุมคณะกก.ได้เพียง 2 ครั้ง มีเรื่องเสนอ 10 วาระเข้าสู่การพิจารณา แต่มีมติผ่านเพียง 2 เรื่องย่อย คือ เห็นชอบผลการประเมินตาม  KPI ของ สปสช.  ปี 2554 และรับทราบผลการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนและผู้ให้บริการต่อระบบบัตรทอง ปี 2554 ส่วนอีก 8 เรื่องสำคัญยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ต่างจากยุคสมัยของนายพินิจ จารุสมบัติ รมว.สธ. พรรคไทยรักไทย ที่ใช้เวลาเพียง 5 เดือนประชุมบอร์ด 8 ครั้ง ผ่าน 22 วาระ ตั้งแต่เรื่องวางระบบ E-service บริการประชาชนบัตรทองทั่วประเทศ อนุมัติงบจัดตั้งระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และจัดตั้งกองทุนบัตรทองร่วมกับ อบต. และเทศบาล เป็นต้น หรือแม้กระทั่งยุค รตอ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็น รมว.สธ. เพียง 2 เดือน ได้ประชุมบอร์ด 2 ครั้ง ผ่านวาระทั้งหมด 5 เรื่อง เช่น ผ่านแนวทางการดำเนินงานกรณีให้ประชาชนใช้บริการที่ใดก็ได้ภายในจังหวัดเดียวกัน เป็นต้น

รายงานข่าวแจ้งว่า นายวิทยา บูรณศิริ รมว.สธ.ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ได้สั่งประชุมด่วนจากเดิมนัดไว้วันที่ 6 กพ. เป็น 24 มค. นี้ โดยมีวาระสำคัญเรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการเงินการคลังและคณะอนุกรรมการอื่นๆ อีก 12 คณะ โดยนพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านแพทย์แผนไทย จะเป็นผู้เสนอโผที่จัดทำขึ้นในห้องปลัดกระทรวงสาธารณสุขโดยจะเสนออนุกรรมการทั้งหมด จำนวน 217 คน เข้าสู่คณะกรรมการทั้ง 13 คณะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของกลไกกำหนดนโยบายของระบบบัตรทอง  โดยเฉพาะคณะอนุกก.การเงินการคลังส่วนใหญ่มาจากเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณและผู้แทนสถาบันการแพทย์ชั้นสูง  ต่างจากชุดเดิมที่มาจากองค์ ประกอบของหน่วยบริการที่หลากหลายและมีตัวแทนผู้ใช้บริการและท้องถิ่นร่วมด้วย

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่าการเอาพวกพ้องที่สั่งได้และไม่มีประสบการณ์ด้านระบบหลักประกันสุขภาพและไม่เปิดให้มีส่วนร่วมจากผู้ป่วยรวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นการทำให้ระบบบัตรทองถอยหลังเข้าคลองและล่มสลายในที่สุดสอดคล้องกับแผนล้มระบบหลักประกันสุขภาพขั้นตอนที่สอง ที่มุ่งทำให้ระบบอ่อนแอลงทำให้กลุ่มผลประโยชน์เข้าช่วงชิงเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพได้ง่ายมากขึ้น นำไปสู่การผลักดันให้เพิ่มงบประมาณครั้งใหญ่ในปีงบประมาณหน้า 

“ทางชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายผู้ป่วยและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพทุกกลุ่ม จะไม่ยอมปล่อยให้ฝ่ายการเมืองและแพทย์พาณิชย์ล้มระบบที่คุณหมอสงวนสร้างไว้อย่างแน่นอนและ รมว.สธ.จะต้องรับผิดชอบกับผลงานชิ้นโบว์ดำนี้” ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่าการประชุมตั้งคณะอนุกรรมการการเงินและคณะอนุกรรมการอื่นๆ อีก 12 คณะในวันที่ 24 มค.นี้ หลายฝ่ายโดยเฉพาะทางกรรมการตัวแทนองค์กรเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งสภาวิชาชีพหลายสภาจะเคลื่อนไหวคัดค้านและคาดว่าจะหาข้อยุติได้ยาก ยกเว้นทางรมว.สธ.จะทบทวนเรื่องนี้กันใหม่ และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตทิศทางของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ใบตองแห้ง’ Voice TV: สัปดาห์สีข้างถลอก

Posted: 23 Jan 2012 03:09 AM PST

ก่อนอื่นต้องขอยกย่องความกล้าหาญของนิติราษฎร์ คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 และบรรดานักวิชาการ นักกิจกรรม ผู้ลงชื่อเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ชุดแรก ซึ่งแสดงให้เห็นพลังอันเข้มแข็งของผู้รักสิทธิเสรีภาพ รักประชาธิปไตย ต้องการเห็นประเทศนี้ก้าวไปสู่ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ” อย่างแท้จริง

การลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 ต้องใช้ความกล้าหาญมากนะครับ เพราะต้องเสี่ยงสูญเสียสถานะที่ทุกคนดำรงอยู่ ยกตัวอย่างง่ายๆ อนุสรณ์ ธรรมใจ เป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ กับคณาจารย์เกือบทั้งมหาวิทยาลัย เป็นพันธมิตรพันธุ์แท้ อนุสรณ์ยังเคยเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ บางจาก อสมท. จัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งการลงชื่อแก้ 112 เสี่ยงที่จะถูกกดดัน ถูกต่อต้าน จนสูญเสียสถานะและโอกาสต่างๆ
 
คนอื่นๆก็เผชิญความเสี่ยงหลากรูปแบบกันไป ผมยังหวั่นใจแทนอาจารย์หลายมหาวิทยาลัย ที่บรรยากาศคงไม่เปิดกว้างเหมือนจุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ เช่น อาจารย์เกษตรฯ ศิลปากร สงขลานครินทร์ หรืออาจารย์คมลักษณ์ ไชยยะ ที่อยู่สถาบันราชภัฏ พระนครศรีอยุธยา
 
ที่พูดนี่ไม่ใช่จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ จะสบายนะครับ มีคลื่นใต้น้ำเหมือนกัน อย่างน้อย อ.วรเจตน์ ก่อนเคลื่อนไหวเรื่องนี้ก็ต้องปลงไว้ก่อนว่าชีวิตนี้อาจไม่ได้เป็นศาสตราจารย์ อ.ธีระ อ.สาวตรี อ.ปิยบุตร ฯลฯ ถูกกาหัวไว้ อาจไม่ได้เป็น ผศ.รศ. พวกนักเขียน ก็อาจจะมียอดขายหนังสือลดลง ลุงคำสิงห์ ศรีนอก “ลาว คำหอม” ก็อาจต้องออกจากค่าย “อมรินทร์”
 
คือถ้าเปรียบเทียบกัน ถ้าใครเอาเอกสารมาให้ลงชื่อต่อต้านการแก้ไข ม.112 วิสัยคนไทยย่อมลงง่ายกว่า โดยเฉพาะพวกที่เป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ลงชื่อแก้มีแต่จะหาเหาใส่หัว ลงชื่อต้าน ถึงไม่ก้าวหน้าก็เสมอตัว อยู่ฝ่ายแก้มีแต่จะโดนข้อกล่าวหา อยู่ฝ่ายต้านไม่จำเป็นต้องใช้เหตุผล
 
ผู้กำกับหนังอย่าง เจ้ย, วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง ก็กล้าหาญมากนะครับ เพราะคนในวงการบันเทิง ดารานักร้อง คนที่ทำมาหากินกับกระแสนิยม เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องต้องห้าม แต่ถ้ามีเรื่องโหนเจ้าเมื่อไหร่ โดดใส่ทันที ย่อมเป็นผลดีกับอาชีพ ถ้าได้แสดงละครเฉลิมพระเกียรติ ได้ร้องเพลงเฉลิมพระเกียรติ ก็ถือเป็นการอัพเกรด ความฝันอันสูงสุดคือซักวันจะได้เป็นพี่เบิร์ด แม้แต่พวก NGO ก็เหมือนกัน พวกนักอนุรักษ์ที่ต่อสู้พิทักษ์ป่าอย่างโดดเดี่ยวมานาน ตอนหลังก็อาศัยพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จฯ มาอัพเกรดการต่อสู้
 
ฉะนั้น ถ้าผลการรวบรวมรายชื่อออกมาเท่าไหร่ เราสามารถประเมินได้ว่านั่นคือ 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 ของผู้ที่อยากลงชื่อจริง เพราะผู้ที่อยากลงชื่อแต่มีสถานะต้องกริ่งเกรง หรือผู้ที่เห็นว่าการรณรงค์ครั้งนี้มีเหตุผล แต่ไม่กล้าแสดงความเห็นของตน คงมีมากกว่า 3-4 เท่า
 
แบบว่าแม้แต่ชาวบ้านธรรมดา ก็ยังกลัวลงชื่อแล้วจะมึความผิดฐาน “ล้มเจ้า” ต้องปลุกปลอบใจกันหลายยก
 

อะไรมันจะไร้สาระ

หลังจากนิติราษฎร์และ ครก.เปิดการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ผมสำรวจกระแสมาตั้งแต่ต้นสัปดาห์จนปลายสัปดาห์ พบว่าไม่มีใครเสนอความเห็นทางกฎหมายตอบโต้นิติราษฎร์อย่างเป็นสาระแม้แต่รายเดียว
 
ที่พอเป็นชิ้นเป็นอันก็มีแต่แถลงการณ์สยามประชาภิวัฒน์ กับข้อเขียนของ “กูรู” สำนักเนติบริกร มีชัย ฤชุพันธ์ ในไทยโพสต์
 
ที่เสนอหน้ามารายแรกแล้วหงายเลย ก็คือสมคิด เลิศไพฑูรย์ ที่อยู่ๆ ก็ไปเขียนลงเฟซบุคว่า ไม่สบายใจ มธ.ให้เสรีภาพนิติราษฎร์มาล่ารายชื่อในมธ. แต่นิติราษฎร์ให้สัมภาษณ์ว่าใครคัดค้านขัดขวางนิติราษฏร์ผิดกฏหมายเข้าชื่ออาจถูกจำคุก ทำไมนิติราษฎร์เรียกร้องให้มีเสรีภาพในการวิจารณ์สถาบัน แต่ไม่เห็นด้วยกับการมีเสรีภาพในการวิจารณ์นิติราษฎร์
 
โหย เพิ่งได้เสียงเชียร์จากกรณีก้านธูปไปหมาดๆ ไม่น่ามาเสียรังวัดเลย ท่านอธิการ นิติราษฎร์พูดชัดเจนว่า ถ้าใครขัดขวางการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เป็นความผิดตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายพ.ศ. 2542 แต่นิติราษฎร์ไม่เคยพูดว่าห้ามวิจารณ์นิติราษฎร์หรือข้อเสนอ
 
ผมไม่เข้าใจ ทำไมสมคิดตายน้ำตื้นอย่างนี้ ที่ให้สัมภาษณ์มติชนก็หาสาระมิได้ ท่านบอกว่าท่านเข้าไปเขียนรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ คมช.พ้นตำแหน่ง อย่างนี้จะหาว่าเชียร์รัฐประหารได้อย่างไร เป็นไอเดียท่านนะ ที่ให้ คมช.พ้นตำแหน่ง ผมอ่านแล้วหัวร่อกลิ้งเลยครับ ท่านอธิการ สีข้างยังอยู่ดีหรือเปล่า
 
สยามประชาภิวัฒน์ทำท่าจะดี ตั้งการ์ดสวย แต่พอออกรูปมวยเท่านั้น เละไม่เป็นท่า อ.พิชาย รัตนดิลก อ.สุวินัย ภรณวลัย ท่านแรกไปพูดออก ASTV ท่านหลังเขียนลงเฟซบุค อ้างเป็นตุเป็นตะคล้ายกันว่า นี่เป็นแผนทักษิณ หวังจะยั่วยุให้ทหารรัฐประหารแล้วใช้มวลชนตอบโต้ ล้มล้างระบอบ
 
อ.สุวินัยเลยโดน อ.เกษียร เตชะพีระโต้ มติชนออนไลน์เอาไปลงให้เฮฮากันข้ามโลก เพราะตอนท้ายยังแถมให้อ่านข้อความในเฟซบุค อ.สุวินัย ที่ท่านเห็นพระธาตุเสด็จลงมา 25 องค์
 
ที่ฮาได้ใจคือ อ.ศาสตรา โตอ่อน ไปออก ASTV กับคุณปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตร แล้วเห็นพ้องกันว่าอเมริกาหนุนให้แก้ ม.112 เพื่อทำลายสถาบัน เพื่อแสวงหาแหล่งพลังงาน อ.ศาสตรายังยกย่องกัดดาฟี เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของลิเบีย
 
เทปนี้ฮาโคตรๆ เลยครับ โก๊ะตี๋ชิดซ้าย ให้อาจารย์นิติศาสตร์ อยากถามว่าท่านจะยกย่องโรเบิร์ต มูกาเบ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของซิมบับเวไหม
 
อ.เกษียรบอกว่านี่คือตรรกของ “คนเห็นผี” เพราะคนธรรมดาไม่เห็นผี มีแต่หมอผีที่อ้างว่าเห็นผี
 
อะไรมันจะไร้สาระซะปานนั้น กับการทำตัวเป็นหมอผี ของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ท่านอ้างว่านิติราษฎร์ตกเป็นเครื่องมือ (หรือยอมเป็นเครื่องมือ) ของทักษิณและอเมริกา
 
ถ้างั้น ผมก็ควรจะกล่าวหาบ้างว่า สนธิ ลิ้ม เป็นเครื่องมือของทักษิณและอเมริกา ที่ยุให้ทหารทำรัฐประหารร่วมกับพันธมิตร เพื่อทักษิณและมวลชนเสื้อแดงจะได้ตีโต้ ล้มล้างระบอบ
 
ข้อกล่าวหาที่สยามประชาภิวัฒน์ ปลุกปั่นใส่นิติราษฎร์และผู้ลงชื่อสนับสนุนการแก้ไข ม.112 เปรียบเหมือนวัวสันหลังหวะกล่าวโทษคนอื่น เพราะพวกท่านทั้ง 26 คน เอ่ยชื่อมาล้วนแต่หน้าเก่าขาประจำ อ.บรรเจิด สิงคะเนติ ทั่วโลกรู้จักว่าหลังรัฐประหารท่านเข้าไปเป็น คตส. ส่วน อ.คมสัน โพธิ์คง กับ อ.จรัส สุวรรณมาลา ก็เป็น สสร. ในราย อ.จรัสนี่ เคยรับงบ คมช.มาทำ “วิจัยประชาธิปไตย” แล้วใช้งบเดินทางไปบรรยายตามมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ใช้สถานะคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แก้ต่างให้การทำรัฐประหารว่าถูกต้องชอบธรรมแล้ว
 
อ.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ นี่เป็น “หน้าห้อง” อ.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ตั้งแต่ที่ ม.สุโขทัย จนเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วก็ไปอยู่หน้าห้อง เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง คือเลขาของสุเทพ เทือกสุบรรณ ในรัฐบาลประชาธิปัตย์
 
พวกท่านมีภูมิหลังที่ใช้วิชาการรองรับการเลือกข้าง แต่กลับมากล่าวหานิติราษฎร์และนักคิดนักเขียนนักวิชาการที่ลงชื่อ ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่เคยรับตำแหน่งรับผลประโยชน์ใดใดจากรัฐบาลไทยรักไทย พลังประชาชน มาจนเพื่อไทย ในนั้นยังมีหลายท่านที่เคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณอย่างเข้มข้น หนักหน่วง ยิ่งกว่า 26 คนนี้เสียอีก เช่น อ.พนัส ทัศนียานนท์ สมัยเป็น สว.ก็เป็นคู่หูกับ อ.แก้วสรร อติโพธิ์ ต่อสู้ความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลทักษิณหลายต่อหลายเรื่อง อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ก็เป็นเจ้าของผลงานที่พวกนักวิชาการพันธมิตรชอบคาบไปอ้าง โดยเฉพาะ อ.เกษียร เตชะพีระ เป็นผู้บัญญัติคำว่า “ระบอบทักษิณ” ให้พวกแกนนำพันธมิตรเอาไปทำมาหากินโดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นี่ก็ซือแป๋ของคำนูณ สิทธิสมาน (แน่จริงลองด่าสิ)
 
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าลองย้อนปูมหลังของสยามประชาภิวัฒน์ไปอีก เราจะพบว่า อ.สุวินัย สมัยกลับจากญี่ปุ่นใหม่ๆ ท่านก็โด่งดังเพราะเขียนตำรามาร์กซิสม์ฉบับเกียวโต แต่ตอนนี้ไหงท่านกลับมากล่าวหานิติราษฎร์เป็นฝ่ายซ้าย อ.บรรเจิด สิงคะเนติ ก็มีบทบาทที่น่าชื่นชมตรงที่ท่านเคลื่อนไหวช่วยเหลือคนไทยพลัดถิ่น ให้ได้สัญชาติไทย มาโดยตลอด
 
นี่มันน่าประหลาดใจนะครับ คนที่อุทิศตนช่วยเหลือคนไทยพลัดถิ่น กลับไปเห็นดีเห็นงาม กับการไล่คนไทยด้วยกันที่มีความเห็นต่าง ออกไปอยู่ต่างประเทศ ผมไม่เข้าใจว่าท่านคิดได้ไง
 
อ.สุวินัยแจ้งข่าวล่าสุดในเฟซบุคสยามประชาภิวัฒน์ว่า สำนักข่าวทีนิวส์จะให้เวลาออกอากาศทางทีวีดาวเทียม สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ทีนิวส์ของสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ไหลไปเข้ากันตามคำพังเพย

 
อะไรคือความเป็นไทย
คราวนี้มาพูดถึงแถลงการณ์ของสยามประชาภิวัฒน์ และข้อเขียนของมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งมีสาระบางประการคล้ายกัน
 
ประเด็นแรก คือการโต้แย้งว่า ถ้าแก้ไขมาตรา 112 ก็จะลดคุ้มครองพระมหากษัตริย์ลงในระดับเดียวกับบุคคลทั่วไป กำหนดบทลงโทษต่ำกว่าประมุขของรัฐต่างประเทศ และผู้แทนรัฐต่างประเทศ ตามมาตรา 133 และมาตรา 134 เจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 136 และผู้พิพากษาหรือตุลาการมาตรา 198
 
ซึ่ง “กูรู” มาสเตอร์ไมน์ของการรัฐประหาร 19 กันยา ผู้ออกแบบให้เอา “ตุลาการภิวัฒน์” มาจัดการทักษิณ อย่างมีชัย บรรยายให้ฟังละเอียดยิบ ว่ามาตรา 133,134,136,198 เป็นอย่างไร
 
ลงทุนซะขนาดนั้นท่านไม่ได้อ่านข้อเสนอของนิติราษฎร์เลยหรือครับ ข้อเสนอของนิติราษฎร์มีหมายเหตุตอนท้ายชัดเจนว่า
 
“ข้อเสนอนี้ นอกจากจะเป็นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ แล้ว คณะนิติราษฎร์ยังมุ่งหวังให้เป็นมาตรฐานในการปฏิรูปกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความผิด ฐานหมิ่นประมาทและ ดูหมิ่นกรณีอื่นๆ ในประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายประมุข หรือผู้แทนรัฐต่างประเทศ (มาตรา ๑๓๓ และมาตรา ๑๓๔) ความผิดฐานดูหมิ่น เจ้าพนักงาน (มาตรา ๑๓๖) ความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา (มาตรา ๑๙๘) และความผิดฐาน หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา (มาตรา ๓๒๖ และมาตรา ๓๒๘) ให้เป็นระบบและสอดคล้องกับข้อเสนอนี้ในโอกาสต่อไปด้วย”
 
อ่านเข้าใจไหมครับ หรือไม่ได้อ่าน เขาหมายความชัดเจนว่าถ้าจะแก้ 112 ก็ต้องแก้ไขทุกมาตราที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดโทษลงมาให้ต่ำกว่า โดยยังพูดถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาด้วย ซึ่งก็ควรจะลดโทษลงหรือไม่มีโทษอาญาอีก
 
ยังจำได้ไหมสมัยหนึ่งที่ทักษิณไล่ฟ้องสื่อ นักกฎหมายก็ร้องแรกแหกกระเชอกันว่า ควรเอาอย่างอารยะประเทศ ความผิดฐานหมิ่นประมาทเขาไม่มีโทษจำคุกแล้ว มีแต่ความผิดทางแพ่ง จะฟ้องเรียกค่าเสียหายกันหนักๆ อย่างไรก็เชิญ
 
แต่มาตอนนี้นักกฎหมายพวกนี้ที่ไปอยู่ข้างพันธมิตร ข้างสลิ่ม ปิดปากเงียบ
 
บางคนอ่านเข้าใจ เช่น ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าว เขียนลงไทยรัฐออนไลน์ แต่อ้างว่าการที่นิติราษฎร์เสนอแก้ไขแบบแยกส่วนโดยไม่ได้มองทั้งระบบ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าจะมีเจตนาอื่นแอบแฝงมากับข้อเสนอหรือไม่
 
โห เขียนชี้นำกันซะขนาดนี้ คนอ่านก็คล้อยตามท่านอยู่แล้วว่านิติราษฎร์มีเจตนาแอบแฝง
 
ประเด็นที่สอง ทั้งสยามประชาภิวัฒน์และมีชัย อ้างตรงกันว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 8 “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะ อันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”
 
แล้วท่านก็บอกว่าเพราะเหตุนี้จึงต้องมีมาตรา 112 เพื่อไม่ให้ “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย”
 
เอ๊ะ ผมถามหน่อยว่านิติราษฎร์เสนอให้ยกเลิกความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย หรือครับ นิติราษฎร์เสนอให้ยังบัญญัติความผิดนี้อยู่ และคุ้มครองสูงกว่าคนธรรมดาด้วย ถ้าอย่างนั้นท่านตั้งใจจะโต้แย้งตรงไหน
 
ผมเข้าใจว่าท่านจะโต้แย้งตรงที่นิติราษฎร์เสนอบทยกเว้นความผิด และยกเว้นโทษ แต่ไม่พูดออกมาตรงๆ เพราะรู้ว่าจะเป็นจุดอ่อน “กูรู” ก็เลยตีขลุม เขียนให้การเสนอแก้ไขเป็นเหมือนยกเลิก
 
โปรดเข้าใจนะครับว่า ทุกประเทศในโลกที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ล้วนมีบทบัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ” หรือบางประเทศก็ใช้คำว่า “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” แต่มีไม่กี่ประเทศ (เข้าใจว่าเราประเทศเดียว) ที่บัญญัติเข้ามาทั้งสองประโยค
 
แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะทุกประเทศ ซึ่งล้วนมีกฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์ เขาตีความว่าประชาชนสามารถแสดงความเห็น ติชมโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่มีความผิด
 
เพราะอะไร เพราะนั่นไม่ใช่การละเมิด ไม่ใช่การลบหลู่ ไม่ใช่การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท
 
แต่มีชัยเขียนเหมือนกับว่า การแสดงความเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ คือการลบหลู่ดูหมิ่นไปเสียหมด ไม่ควรจะที่จะให้มี แม้แต่การแสดงความเห็นโดยสุจริต
 
มีชัยพูดให้มั่วไปหมดว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่ใช่ใครจะใส่ร้ายใคร ดูหมิ่นใครก็ได้ ต้องเคารพสิทธิคนอื่น พูดเหมือนกับว่าถ้าแก้ไขมาตรา 112 แล้วจะเปิดโอกาสให้ใส่ร้าย ดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้ บิดเบือนไปขนาดนั้นเลยหรือครับ กูรู
 
ทั้งมีชัยและสยามประชาภิวัฒน์พยายามอ้างว่าต้องคุ้มครองพระมหากษัตริย์เหนือคนธรรมดา ในแง่ของโทษ ใช่ครับ แต่ในลักษณะความผิด ไม่ใช่ครับ เพราะการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ไม่ว่าคนธรรมดาหรือพระมหากษัตริย์ก็เหมือนกันคือต้องเป็นการใช้ถ้อยคำลบหลู่ ดูหมิ่น จาบจ้วง ใส่ความให้เสียหาย ส่วนการแสดงความเห็นโดยสุจริต แสดงความเห็นที่ไม่ได้ทำให้เสียหาย หรือแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ตามมาตรา 329,330 ก็ไม่เป็นความผิดเช่นกัน
 
พูดง่ายๆว่า การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ก็คือการกระทำที่เข้าลักษณะความผิดตามมาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง”
 
นี่คือฐานทางกฎหมาย ที่เหมือนกัน แต่การคุ้มครองคือต้องกำหนดโทษสูงกว่า
 
แต่มีชัยพูดเหมือนกับว่า 112 ต้องตีความต่างจาก 326 โดยต้องไม่มีข้อยกเว้นตามมาตรา 329,330 ถึงจะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 8 อย่างนั้นหรือครับ
 
มาตรา 326 มาตรา 329 มาตรา 320 คือหลักประกันสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย นี่ผมยังต้องอธิบายให้กูรูเข้าใจอีกหรือ ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ต้องไม่กระทบสิทธิผู้อื่น เว้นเสียแต่กรณีที่การแสดงความคิดเห็นพาดพิงนั้นเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งในที่นี้ก็คือบุคคลสาธารณะ
 
นี่คือหลักการประชาธิปไตย ที่ต้องใช้กับทุกองค์กรสถาบัน เช่นเดียวกับความผิดฐานหมิ่นเจ้าพนักงาน หมิ่นศาล ท่านยกตัวอย่างว่าหมิ่นเจ้าพนักงานนั้นรวมกระทั่งกำนันผู้ใหญ่บ้าน ใช่ครับ แต่ถ้าเป็นการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านก็ย่อมทำได้ นั่นคือสิทธิประชาธิปไตย
 
สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์กรหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ แม้มีลักษณะพิเศษ เป็นองค์ประมุขที่ได้รับความเคารพเทิดทูน แต่ในการทำหน้าที่ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่งผลต่อส่วนรวม ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องรับฟังความคิดเห็น เสียงสะท้อน ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่จึงพยายามวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจให้น้อยที่สุด ตามหลัก The King can do no wrong เพราะ The King can do nothing ยกตัวอย่างบางประเทศ เช่นอังกฤษ สมเด็จพระราชินีไม่เคยมีแม้แต่พระบรมราโชวาทของตัวเอง เมื่อเปิดประชุมรัฐสภา ก็เป็นรัฐบาลร่างถวาย
 
อีกประการหนึ่งที่มีชัยพยายามอ้าง คืออ้างความเป็นไทย อ้างว่าอย่าเอาความรู้สึกของประเทศอื่นมาเป็นมาตรฐาน เพราะแต่ละประเทศย่อมมีประเพณี วัฒนธรรม หรือความอ่อนไหว แตกต่างกันไป
 
ผมไม่ปฏิเสธนะครับว่า แต่ละประเทศมีประเพณี วัฒนธรรม ที่แตกต่างกัน แต่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ก็มีความเป็นสากล นั่นคือ เปิดให้ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างมีเหตุผล
 
ท่านยกตัวอย่างฝรั่งด่าพ่อแม่ไม่ว่ากัน คนไทยยอมไม่ได้ นั่นคือประเพณี แต่ในเรื่องเสรีภาพของความคิดเห็น ไม่ว่าฝรั่งหรือไทย ก็ย่อมมีสิทธิเห็นต่างจากพ่อแม่ แม้จะเคารพรักพ่อแม่เพียงใด นั่นคือประชาธิปไตย
 
ถ้ายกตัวอย่างให้ชัดเจนกับมาตรา 112 คือผมคิดว่าต่อให้แก้ไขอย่างไร วิสัยคนไทย ก็จะไม่เอาในหลวงหรือพระบรมวงศานุวงศ์มาวาดการ์ตูนล้อ เหมือนอังกฤษ เหมือนยุโรป นี่คือความเป็นไทย แต่ถ้าเราจะพูดถึงบทบาทของสถาบัน แสดงความเห็นว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ นั่นคือประชาธิปไตย
 
มีชัยยกความเป็นไทยมาโต้นิติราษฎร์ แล้วก็ทำให้ผมงุนงง ตรงที่วันถัดมา ท่านกลับปกป้องรัฐบาลที่แต่งตั้งนลินี ทวีสิน ทั้งที่ถูกอเมริกาขึ้นแบล็กลิสต์ ไม่ทราบว่าท่านต้องการแสดงออกว่าท่านไม่ได้เลือกข้างทางการเมืองหรือเปล่า แต่ตรรกของท่านก็เลอะเทอะอีกเช่นกัน บอกว่าไม่ขัดคุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้าม ไม่บกพร่องตามวัฒนธรรมประเพณีไทย เป็นอันใช้ได้ จะไปคิดตามอเมริกาได้อย่างไร
 
ท่านยังด่าอเมริกาว่าเหมือนเด็กเกเร ยกกรณีพม่าว่าสองมาตรฐาน (อ้าว พูดเหมือนสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล) แถมยังยุส่งว่าว่างๆ ให้เชิญมูกาเบมาเล่นสงกรานต์เมืองไทย
 
“บอกให้ชาวบ้านรู้ล่วงหน้าด้วยก็แล้วกัน คนไทยจะได้พร้อมใจกันไปต้อนรับให้เอิกเกริก เพราะนิสัยคนไทยนั้นถ้าเป็นประมุขของประเทศมาเยือนแล้ว ไม่ว่าจะรักหรือเกลียด เราก็ต้อนรับเต็มที่เสมอ ซึ่งยากที่คนอเมริกันจะเข้าใจได้ เพราะที่อ้างว่าเป็นผู้นำสิทธิและเสรีภาพนั้น ใจยังไม่กว้างพอที่จะเข้าใจหรือยอมรับวัฒนธรรมประเพณีของประเทศทั้งหลายที่แตกต่างไปจากความเชื่อของตนได้”
 
วัฒนธรรมประเพณีอีกแล้ว ไม่ทราบว่าได้อิทธิพลความคิดพันธมิตร ว่าอเมริกาจ้องล้มสถาบัน เพื่อแสวงหาแหล่งพลังงาน อย่างนั้นหรือเปล่า
 
ขอเรียนว่ามันไม่ใช่เรื่องวัฒนธรรมประเพณีนะครับ ที่อเมริกาเขาต่อต้านมูกาเบ มันเป็นเรื่องที่มูกาเบเป็นเผด็จการ คอรัปชั่น เข่นฆ่าประชาชน มันคือเรื่องประชาธิปไตย ท่านจะว่าอเมริกา 2 มาตรฐาน ก็ว่าได้ แต่ทำไมเราไม่ยึดมาตรฐานประชาธิปไตยให้ดีกว่าอเมริกา
 
หรือว่าท่านมีมาตรฐานเดียว คือสนับสนุนเผด็จการ
 
ผมยังขำเรื่องนี้ไม่หายว่าทำไมพวกสลิ่มถึงไม่เข้าไปเชียร์อเมริกาในเฟซบุคของสถานทูตบ้าง ทีเขาอ้างคำกล่าวของลินคอล์น กลับเข้าไปโวยวายจะเป็นจะตาย ใครเป็นพวกสองมาตรฐานกันแน่ครับ เพราะกลุ่มนักเขียนนักวิชาการ ที่ร่วมลงชื่อแก้ 112 อย่างคุณพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ ก็ยังเขียนลงเฟซบุค ประณามรัฐบาลว่าไม่ควรแต่งตั้งนลินี เพราะเธอถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับเผด็จการ เป็นเผด็จการที่โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม เคยยกมาเทียบกับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสียด้วยซ้ำ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ได้รับกำลังใจจากนานาชาติ ให้พัฒนาประชาธิปไตย จะแต่งตั้งคนที่ถูกกล่าวหาเช่นนี้ไม่ได้
 
เห็นไหม ฝ่ายเราก็มีมาตรฐานเดียว คือไม่เอาเผด็จการ ไม่ได้เลือกข้างว่ารัฐบาลไหน
 
                                                                                 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

งานใหญ่สมัชชาสุขภาพ#4 เขาคุยอะไรกัน

Posted: 23 Jan 2012 02:45 AM PST

 

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 2-4 กุมภาพันธ์นี้  ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เพื่อพิจารณา 6 ร่างมติขาขึ้น และติดตามมติขาเคลื่อน เน้นการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยท้องถิ่นเป็นฐาน

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดยนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๔ (คจ.สช.) ประกาศความพร้อมในการจัดประชุม “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ระหว่างวันที่ ๒-๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิดหลัก “รับมือภัยพิบัติ จัดการภัยสุขภาวะ”

การประชุมครั้งนี้ มีระเบียบวาระที่มาจาก 206 กลุ่มเครือข่ายทั่วประเทศ โดยสมาชิกสมัชชาสุขภาพกว่า 1,500 คน จะหยิบยกระเบียบวาระมาถกแถลงกันรวม 6 เรื่อง ได้แก่ 1.การจัดการปัญหาโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี โทรทัศน์ ดาวเทียม และอินเตอร์เน็ต 2.ความปลอดภัยทางอาหาร : การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ 3.การเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ 4.การจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง 5.การบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคีทุกภาคส่วน และ 6.การจัดการปัญหาฆ่าตัวตาย (สุขใจ...ไม่คิดสั้น)

นอกจากนี้ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ยังมีการนำเสนอผลการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติของปีที่ผ่านมารวม 8 เรื่อง ได้แก่ 1.ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม : เพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสุขภาพของผู้ป่วย 2.ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ 3.โรคติดต่ออุบัติใหม่ 4.การพัฒนาการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก ให้เป็นระบบบริการสุขภาพหลักของประเทศ คู่ขนานกับการแพทย์แผนปัจจุบัน 5.การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน 6.การพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง 7.มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน    8.การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ในบริเวณงานยังจัดสรร “ลานสมัชชา” สำหรับกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายที่สนใจในการขับเคลื่อนมติสมัชชาฯ และการประชุมวิชาการอีก 12 หัวข้อ ซึ่งแต่ละเรื่อง สมาชิกสมัชชาสุขภาพจะได้ร่วมเรียนรู้และเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนมติและการปฏิบัติร่วมกัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อ่านประวัติศาสตร์ 'การสาบานตนของประมุขแห่งรัฐ' เรื่องที่เคยพูดกันมาแล้วเมื่อ พ.ศ. 2475

Posted: 23 Jan 2012 02:18 AM PST

คณะนิติราษฎร์ นำเสนอ กรอบเนื้อหาเบื้องต้นในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น โดยมีหลักการในข้อ 4 ระบุว่า

กำหนดให้ประมุขของรัฐต้องสาบานตนว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและพิทักษ์ไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง

หลักการและเหตุผลของคณะนิติราษฎร์ตามที่ได้แถลงคือ เป็นเงื่อนไขการเข้าสู่ตำแหน่ง *เพื่อก่อตั้งหน้าที่ในฐานะประมุขของรัฐ ที่สถาปนาขึ้นโดยอำนาจแห่งรัฐธรรมนูญ ต้องเคารพและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ตามแนวทางนานาอารยประเทศที่เป็นราชอาณาจักร (มีประมุขของรัฐ เป็น กษัตริย์ หรือ สืบตำแหน่งโดยวิธีสืบสายโลหิต)

*ข้อสังเกต : เป็นกรณีแตกต่างเล็กน้อยกับการสาบานตนที่เป็นข้อถกเถียงในคราวร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 2 (10 ธันวาคม 2475) เพราะในคราวนั้นเป็นการถกเถียงว่าจะกำหนดให้กษัตริย์สาบานตน "ก่อนเข้ารับหน้าที่" หรือไม่ ไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเงื่อนไข "การใช้อำนาจในตำแหน่ง"

ด้วยเหตุที่ เคยมีข้อถกเถียงในคราวอภิปรายในการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ก็สมควร พิจารณาข้อถกเถียงในสมัยนั้น ดังนี้

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 36/2475 วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2475 (ตอนบ่าย) ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เริ่มเปิดประชุมเวลา 14.10 นาฬิกา [1]

นายหงวน ทองประเสริฐ : "ในหมวดสภาผู้แทนราษฎรว่า ผู้แทนราษฎรต้องปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ อยากทราบความประสงค์ของท่านประธานอนุกรรมการว่า พระมหากษัตริย์ต้องทรงปฏิญาณไหม

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ : "ผู้ที่เป็นสมาชิกสภานี้ก่อนที่จะเข้ามารับหน้าที่ ต้องปฏิญาณและตามประเพณีราชาภิเศกก็มีการปฏิญาณอยู่แล้ว

นายหงวน ทองประเสริฐ : "ควรบัญญัติไว้"

พระยาราชวังสัน : "ในประเทศเด็นมารคถึงเป็นรัชชทายาทก็ต้องปฏิญาณเหมือนกัน เพราะในโอกาสบางคราวต้องทำการเป็นผู้แทนพระเจ้าแผ่นดิน แต่ความคิดของเรานี้ก็เพื่อวางระเบียบว่า สิ่งใดที่เป็นแบบธรรมเนียมอยู่แล้ว เราไม่อยากพูดมากนัก ตามความคิดเดิมในการร่างรัฐธรรมนูญนี้ ประสงค์ไม่ให้ยาวเกินไป สิ่งใดที่มีและพิจารณาแล้วเห็นว่าเหมือนกัน ฉะนั้นจึ่งไม่บัญญัติไว้ เพราะความคิดเช่นนั้นเราวางไว้เห็นว่าไม่เป็นอะไร ทั้งเห็นความสะดวกกว่าการบัญญัติเช่นนี้จะดีกว่า"

นายหงวน ทองประเสริฐ : "ความจริงเห็นด้วย แต่ธรรมเนียมนั้นไม่ใช่บทบังคับ อีกประการหนึ่งสิ่งนี้เป็นคราวแรกไม่เคยใช้มา"

พระยามนธาตุราช : "ประเทศอื่น ๆ ที่จะผัดเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดิน เขามีในรัฐธรรมนูญ"

พระยาราชวังสัน : "ในธรรมนูญบางฉะบับได้บัญญัติคำไว้ว่าจะปฏิญาณอย่างนั้น ของเราทราบว่า พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงปฏิญาณต่อหน้าเทวดาทั้งหลายและพระพุทธรูป เป็นต้น เราอยากจะเงียบเสีย"

นายหงวน ทองประเสริฐ : "ขอเรียนถามว่าควรจะแก้ไขอย่างไรหรือไม่"

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ : "ไม่เห็นจำเป็นเพราะไม่ทำให้ดีขึ้นหรือเลวลง มีอยู่แล้วจะไปล้างเสียทำไม ถ้าแม้ว่าความข้อนี้ตัดความหรือเพิ่มสิทธิก็ควรอยู่ การที่บัญญัติไว้เช่นนี้เพื่อเขียนไว้ให้หรู ๆ ถึงไม่เขียนก็รู้อยู่แล้ว"

นายหงวน ทองประเสริฐ : "เพื่อความเข้าใจของราษฎรทั้งหลาย ให้ลงมติว่าสมควรหรือไม่"

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม : "ข้าพเจ้าขอแถลงให้ที่ประชุมทราบ เท่าที่นายหงวน ทองประเสริฐ ได้ร้องให้เติมร่างว่าพระมหากษัตริย์ต้องทรปฏิญาณนั้น การที่ไม่เขียนไว้ก็ดี ให้ถือว่าเวลาขึ้นเสวยราชย์ต้องทรงกระทำตามพระราชประเพณี การที่ไม่เขียนไว้นี้ไม่ใช่เป็นการยกเว้นที่พระองค์จะไม่ต้องทรงปฏิญาณ ขอให้จดบันทึกข้อความสำคัญนี้ไว้ในรายงาน"

นายจรูญ สืบแสง : "เป็นที่เข้าใจแล้วว่า พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงปฏิญาณตามนี้ แต่นี่เป็นรัฐธรรมนูญสำคัญอย่างยิ่ง เท่าที่ได้จดบันทึกรายงานยังน้อยไป ถ้าอย่างไรให้มีไว้ในธรรมนูญจะดียิ่ง"

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม : "สภาผู้แทนราษฎรต้องเห็นชอบในการอัญเชิญพระมหากษัตริย์ขึ้นเสวยราชย์หรือในการสมมตรัชชทายาท ถ้าองค์ใดไม่ปฏิญาณเราคงไม่ลงมติให้"

นายจรูญ สืบแสง : "องค์ต่อ ๆ ไปอาจไม่ปฏิญาณ"

พระยาราชวังสัน : "ตามหลักในที่ประชุมต่าง ๆ ถ้ามีคำจดในรายงานแล้ว เขาถือเป็นหลักการเมือนกัน"

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ : "แถลวให้สมาชิกลงมติมาตรา 9 ว่า การสืบราชสมบัติท่านว่าให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎมนเทียรบาล หรือให้เติมคำว่า "จะต้องปฏิญาณ""

ประธานสภาฯ : "บัดนี้มีความเห็น 2 ทาง คือทางหนึ่งเห็นว่า ควรคงตามร่างเดิม อีกทางหนึ่งเห็นว่า ควรเติมความให้ชัดยิ่งขึ้น"

ที่ประชุมลงมติตามร่างเดิม 48 คะแนน ที่เห็นว่าให้เติมความให้ชัดขึ้นมี 7 คะแนน เป็นอันตกลงว่าไม่ต้องเติมความอีก"

อย่างไรก็ตาม ท่านผู้อ่าน จะเห็นได้ว่า ในสมัยนั้น ในโครงสร้างความคิดอาจจะยังไม่เป็นระบบอย่างในวิชาการกฎหมายมหาชนยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สภาผู้แทนราษฎร กลายสภาพในทางนิตินัยเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะนั้น) ไม่เห็นความสำคัญอย่างยิ่งของแบบพิธีในต่างประเทศที่อนุญาตให้กษัตริย์เป็นประมุข และทำลายกฎเกณฑ์ทางอำนาจของผู้ทรงอำนาจในระบอบเก่า

เงื่อนไขเรื่องความยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรกรณีกษัตริย์ไม่ปฏิญาณ ก็ได้ถูกทำลายสิ้นตั้งแต่คณะรัฐประหารโดย รสช. รัฐธรรมนูญ ปี 34 กำหนดในมาตรา 21 กำหนดให้กรณีกษัตริย์ สวรรคต และกษัตริย์ตั้งรัชทายาทไว้ ให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ รัฐสภา "รับทราบ" ซึ่งดั้งเดิม นับแต่ 2475 เป็นต้นมา สภาผู้แทนราษฎร (กรณีรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค.2475) หรือรัฐสภา (นับแต่ รัฐธรรมนูญ 2489) ต้องได้รับความ "เห็นชอบ/ยินยอม" จากรัฐสภา นั่นหมายความว่า ดั้งเดิม รัฐสภา มีอำนาจลงมติไม่เห็นชอบด้วยองค์รัชทายาท แล้วคัดเลือกขึ้นได้เอง เป็นว่า การตั้งรัชทายาทและการเข้าสู่ตำแหน่งประมุขของรัฐ เป็นไปโดยอำนาจตามอัธยาศัยของกษัตริย์พระองค์ก่อน หรือกรณีอื่น เป็นอันตัดขาดความสัมพันธ์จากผู้แทนปวงชน ซึ่งอำนาจให้ความเห็นชอบนี้ เป็นเหตุผลสำคัญในการอภิปราย 2475 ของฝ่ายสนับสนุนไม่ต้องบัญญัติ "การปฏิญาณหรือสาบานตน" ในคราวนั้น กล่าวคือ ยกข้อนี้ขึ้นอ้าง ว่า ถึงอย่างไรเสีย สภาฯ ก็ต้อง "ให้ความเห็นชอบ" อยู่ดี ดังนั้น หากพระองค์ไม่ปฏิญาณ ก็ต้อง "ไม่เห็นชอบการเข้าสู่ตำแหน่งกษัตริย์" จึงเป็นเงื่อนไขที่ตกไป

นอกจากนี้ วิวัฒนาการของกฎหมายพัฒนาไปข้างหน้า ในเชิงบังคับองค์กรของรัฐทุกสถาบันองค์กร ต้องผูกพันกับ ความสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และมีความชอบด้วยธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งในทางเนื้อหา และในทางแบบพิธี ป้องกันการใช้อำนาจโดยทางตรง โดยทางอ้อม ในวิถีทางล้มล้างรัฐธรรมนูญ ดั่งปรากฎในยุคสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลอดจนระบบตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ถูกบรรจุเพิ่มขึ้นมาในรัฐธรรมนูญที่สถาปนาขึ้นใหม่ของบรรดารัฐต่างๆ ร่วมสมัยหลังสงคราม เป็นวิวัฒนาการหนึ่งของหลักนิติรัฐที่ถูกทำให้ปรากฎในทางรูปธรรม.

__________________________

เชิงอรรถ

[1] นรนิติ เศรษฐบุตร (รวบรวม). เอกสารการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 (โดยสภาผู้แทนราษฎร). กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542. หน้า 48 - 50.
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: Irony (ตลกร้าย) ของการเคลื่อนไหว 112 ของ “นิติราษฎร์-ครก.112”: เกิดจาก “อากง” แต่คงไม่ได้ช่วยอะไร “อากง”

Posted: 23 Jan 2012 01:45 AM PST

 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่การเคลื่อนไหวเรื่อง 112 ของ “นิติราษฎร์-ครก.112” ในขณะนี้ ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางนั้น เป็นผลสะเทือนมาจากการตัดสินกรณี “อากง” เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2554 (คือ 2 เดือนมาแล้ว)

ความ “ช็อก” ที่เกิดจากคำตัดสินนั้น บวกกับการตัดสินคดี โจ กอร์ดอน และการยืนยันคำตัดสินกรณี ดา ตอร์ปิโด ที่ตามมาในระยะเวลาไล่เรี่ยกัน บวกกับการตั้งข้อหาอาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ และ “ก้านธูป” และ บวกกับการที่สหรัฐอเมริกา (รวมทั้งรอยัลลิสต์บางคนเองอย่าง อานันท์ ปัญยารชุน ฯลฯ) ได้ออกมาแสดงท่าทีเรียกร้องให้มีการแก้ไข 112.... เหล่านี้ ทำให้เกิดเป็นกระแสที่ทำให้การเคลื่อนไหว 112 ของ “นิติราษฎร์-ครก.112” คราวนี้ ดูเหมือนจะได้รับเสียงตอบรับอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ถ้าลองเปรียบเทียบกับเมื่อ “นิติราษฎร์” เสนอร่างแก้ไข 112 ครั้งแรก เมื่อเดือนมีนาคม ปีกลาย แม้จะเกิดขึ้นในระยะใกล้กับที่ สุรชัย แซ่ด่าน และ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกจับกุมตัว แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดเป็นกระแสอะไรมากนัก .... ต้องยอมรับว่า สำหรับชนชั้นกลางบ้านเรา แม้แต่ผู้ที่เอนเอียงไปในทาง “เสรีนิยม” รวมทั้งบรรดานักวิชาการต่างๆ กรณีสุรชัย-สมยศ ไม่สามารถทำให้เกิดความไม่พอใจกันได้มากนัก (เป็นความจริงว่า ส่วนหนึ่งมาจากการที่ทั้งคู่ “เพียงถูกจับ” ไม่ได้ถูกตัดสิน – “อากง” เอง ถูกจับเข้าคุกเป็นปี ก่อนที่จะมีคำตัดสิน ก็ไม่ได้มีคนให้ความสนใจมากนัก – แต่การตัดสินลงโทษหนัก โดยตัวเอง ก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้คนไม่พอใจกันเหมือนกรณี “อากง” ถ้าเราดูกรณีก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น “ดา ตอร์ปิโด” หรือ “หนุ่ม นปช.usa.” ซึ่งโดนโทษจำคุกไปคนละหลายๆปี)

โดยสรุปแล้ว กรณี “อากง” เป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญ ที่ทำให้การเคลื่อนไหว 112 ของ “นิติราษฎร์-ครก.112” ครั้งนี้ ได้รับการตอบรับในลักษณะนี้

แต่ irony (ตลกร้าย) ของเรื่องนี้คือ การเคลื่อนไหวที่เกิดจากกรณี “อากง” นี้ ในที่สุด คงจะไม่สามารถช่วยอะไร “อากง” ได้ (อย่างน้อย ขณะนี้ ก็ผ่านมา 2 เดือนเต็มๆแล้ว “อากง” ที่ทำให้หลายคนโกรธ และเสียใจ กับ คำตัดสินที่ไม่ยุติธรรม ก็ยังคงอยู่ในคุกต่อไป ... และถ้าจะว่าไปแล้ว ก็ไม่ค่อยมีคนพูดถึงโดนตรงนักแล้ว โดยเฉพาะ ไม่มีการพูดกันว่า ตกลงจะมีทางช่วย “อากง” ผู้ซึ่งความทุกข์สาหัสจากคำตัดสิน เป็น “ต้นเหตุ” ของ “ความตื่นตัว” เรื่อง 112 ครั้งนี้ได้อย่างไร แม้แต่ในระหว่างการ “เปิดตัว” รณรงค์ของ “นิติราษฎร์-ครก.112” เอง

ตั้งแต่ที่เริ่มมีคำตัดสินกรณี “อากง” และ อาจารย์ ดร.ปวิน (ชัชวาลพงศ์พันธ์) ออกมารณรงค์ เรื่อง “ฝ่ามืออากง” และมีคนเข้าร่วมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะชนชั้นกลางเสรีนิยมในเมือง ผมก็ได้เสนอต่อ ดร.ปวิน ว่า แม้การเคลื่อนไหว “ฝามืออากง” จะเป็นเรื่องดี แต่ในที่สุด เราต้องมีมาตรการ หรือ ข้อเสนอ รูปธรรมว่า จะทำอย่างไร ให้ “อากง” เป็นอิสระ หลุดพ้นคดีโดยสิ้นเชิง (คือหมายความว่า ต่อให้ศาลเห็นการเคลื่อนไหวในลักษณะ “ฝ่ามืออากง” แล้ว จะเปลี่ยนใจ ยอมให้ “อากง” ประกันตัว มาสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ผมก็เห็นว่า เป็นเรื่องไม่ยุติธรรม ต้องหาทางให้คดียุติโดยสิ้นเชิงมากกว่า) ซึ่งผมก็เสนอว่า มีอยู่ทางเดียวเท่านั้น คือ น่าจะรณรงค์ ผลักดันเสนอให้มีการ “ออก พรบ.นิรโทษกรรม” แก่ “อากง” และผู้ตัองหาคดี 112 คนอื่นๆ (ถ้าไม่นับการที่ผู้ต้องหา “สารภาพ” ซึ่งก็ไมใช่การสิ้นสุดคดีโดยแท้จริง แม้จะรอ “อภัยโทษ” ออกมา ก็มีคำตัดสินผิด ติดตัว)

ผมได้เสนอด้วยว่า การเสนอให้ออก พรบ.นิรโทษกรรม ดังกล่าว น่าจะทำในลักษณะเป็นการ “นิรโทษกรรมทั่วไป คดีการเมือง หลัง รัฐประหาร 19 กันยา” โดยให้ แยก คดีของคนธรรมดาทั่วไป คือ คนที่โดนคดี 112 ทุกคน บวกกับทั้งเสื้อแดงและพันธมิตร ระดับที่ไมใช่แกนนำ (คือไม่นับรวมเอากรณีทักษิณ หรือ แกนนำพันธมิตร หรือ ผู้นำรัฐบาลและทหาร ไว้ด้วย) ซึงก็จะทำให้สามารถช่วยเหลือ คนเสื้อแดง ระดับชาวบ้านธรรมดา ทีหลายคนถูกตัดสินจำคุกคนละหลายสิบปีไปแล้ว (เช่น คดีเผาจวน) อีกหลายคนก็ยังถูกคุมขัง โดยทีทั้งหมดนี้ ทั้ง นปช. และรัฐบาลเพื่อไทย ไม่มีทีท่าว่าจะสนใจทุ่มเทหาทางช่วยให้เป็นอิสระโดยแท้จริงแต่อย่างใด

น่าเสียดายว่า ข้อเสนอของผม ไม่ได้รับการตอบรับจากทั้ง ดร.ปวิน และบรรดาท่านที่กำลัง “ฮือฮา” กับการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวในลักษณะ “ฝ่ามืออากง” หรือ “อภัยยาตรา” เป็นต้น

แล้วก็มาถึงกรณีการเคลื่อนไหว 112 ของ “นิติราษฎร์-ครก.112” ในขณะนี้ ที่มีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงจำนวนมากเข้าร่วมอย่างไม่เคยมีมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ความจริงคือ เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหว “ฝ่ามืออากง”, การรณรงค์ 112 ของ “นิติราษฎร์-ครก.112” นี้ จะไม่มีทางทำให้ “อากง” เป็นอิสระได้เลย เพราะไม่มีทางที่สภาจะผ่านร่างกฎหมายที่กำลังล่ารายชื่อนี้อยู่เลย ผมได้เสนอว่า ถ้าประเมินแบบ realistic (สมจริง) จริงๆ อย่างมากที่สุด ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกี่ยวกับ 112 ก็คงได้แค่ระดับที่ “คอป.” เสนอ แต่แม้ข้อเสนอ “คอป” เอง (ทีให้กลับไปใช้โทษแบบก่อน 6 ตุลา) ถ้าจะเป็นไปได้จริง ก็จะต้องมีเหตุการณ์ “ระดับปาฏิหาริย์” เกิดขึ้นก่อน ซึงในขณะนี้ ก็ไม่มีทีท่าว่าจะมีแต่อย่างใด (ผมเขียนประเด็นนี้ ก่อนที่ “คอ.นธ.” จะเสนอเรื่อง 112 ออกมา ซึ่งแย่กว่าข้อเสนอของ “คอป.” เสียอีก)

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ผมเสียดายที่ ในการ “เปิดตัว” ครก.112 เมื่อวันที่ 15 ที่ผ่านมา นักวิชาการบางท่าน เช่น ดร.พวงทอง พูดราวกับว่า ร่างของ “นิติราษฎร์-ครก.112” มีความเป็นไปได้ของการผ่านสภา (“ถ้าร่างฉบับนี้ ผ่านสภา ก็เชื่อว่า จะทำให้การอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์ อย่างมีเหตุผล เพิ่มมากขึ้น ...” อะไรทำนองนี้) ผมเห็นว่า นี่เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง การพูดในลักษณะ “ให้ความหวัง” แบบลมๆแล้งๆหรือ ประเมินแบบ ไม่สมจริงเช่นนี้ ยังดี ที่เมื่อวันที่ 22 ที่ผ่านมา ดร.วรเจตน์ ได้พูดในลักษณะที่ realistic หน่อย คือ ได้ยอมรับกับประชาชนตรงๆว่า ถ้าร่างไปถึงสภาแล้ว ถูกปฏิเสธ หรือ ตกไป ก็คงทำอะไรไม่ได้

ที่ผมเสียใจและเสียดายมากๆคือ “กระแสสูง” เรื่อง 112 อันเกิดจากกรณี “อากง” ในครั้งนี้ ในที่สุด จะไม่สามารถช่วยอะไร “อากง” ได้

ผมเอง มีความเห็นว่า สิ่งที่ความจริง “นิติราษฎร์-ครก.112” น่าจะทำ คือเรื่องในลักษณะต่อไปนี้

(1) “นิติราษฎร์” น่าจะเสนอให้เลิก กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยสิ้นเชิง ไมใช่เสนอให้แก้ ในลักษณะที่เสนอไป

[* ความเห็นนี้ ถ้าใครได้ตามอ่าน facebook ของผม ที่ปิดไปแล้ว ก็คงทราบกันดี ในที่นี้ ผมจึงไม่ขออธิบายละเอียด แต่จะขอเรียนเพิ่มเติมเพียงว่า ก่อนการ “เปิดตัว” ครก.112 ไม่กี่วัน อาจารย์ “นิติราษฎร์” คนสำคัญท่านหนึ่ง ได้กรุณาให้เกียรติเขียนจดหมายถึงผมเป็นส่วนตัว อธิบายชี้แจงข้อที่ผมไม่เห็นด้วยกับร่าง “นิติราษฎร์” ... อย่างไรก็ตาม หลังจากอ่านทบทวนจดหมายดังกล่าวแล้ว ประกอบกับติดตามการแถลงในวัน “เปิดตัว” ของ “นิติราษฎร์” และนักวิชาการ นักเขียน ที่ร่วมใน “ครก.112” ตังแต่วันที่ 15 มาจนบัดนี้ ผมขออภัยที่จะแจ้งว่า ผมยืนยันไม่เปลี่ยนความเห็นเรื่องนี้ ... ผมจะหาโอกาสอธิบายเรื่องนี้โดยละเอียดในโอกาสอื่น]

สำหรับนักวิชาการ นักเขียน ฯลฯ ที่เข้าร่วมเป็น “ครก.112” สนับสนุน ร่าง “นิติราษฎร์” อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ หาก “นิติราษฎร์” หันมาเสนอให้เลิกกฎหมายหมิ่นฯ โดยสิ้นเชิงตามที่ผมเสนอเช่นนี้ ถ้าบรรดานักวิชาการ นักเขียน ฯลฯ เหล่านั้น จะให้การสนับสนุนด้วย ก็คงเป็นการดี แต่หาก “ไม่พร้อม” จะให้การสนับสนุน “นิติราษฎร์” ก็ควรเสนอไปเอง

ไม่ว่าอย่างไร การเสนอให้เลิก กฎหมายหมิ่นฯ โดยสิ้นเชิง เช่นนี้ ไม่ควรทำในลักษณะ ล่ารายชื่อ เสนอต่อสภาฯ เพราะไม่มีประโยชน์ ไม่มีทางจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอะไรในขณะนี้ได้ (แต่ต้องย้ำว่า ที่ทำอยู่ขณะนี้ ก็ไม่มีทางเช่นกัน ดังกล่าวแล้วข้างต้น) “นิติราษฎร์” (และนักวิชาการ, นักเขียน ฯลฯ ที่ “พร้อม” จะสนับสนุน) ควรเพียงแต่เสนอเรื่องนี้ ในลักษณะเป็น “ไอเดีย” สำหรับรณรงค์ทางความคิดในระยะยาว (ทำนองเดียวกับที่เสนอเมื่อปีกลาย ที่ไม่ได้ทำการล่ารายชื่อ)

และที่สำคัญ เพราะผมมีข้อเสนออื่น สำหรับการรณรงค์ล่ารายชื่อ ที่คิดว่ามีประโยชน์-ได้ผลกว่าในขณะนี้ แทน นั่นคือ

(2) “นิติราษฎร์” และนักวิชาการ นักเขียน ฯลฯ ควรหันมารณรงค์ ทำเป็น “ร่าง พรบ.นิรโทษกรรมทั่วไป คดีการเมือง” ทีจะครอบคลุมถึงผู้ต้องหา 112 ทุกคน (ดา ตอร์ปิโด, อากง, โจ, หนุ่ม นปช.usa, สมยศ, สุรชัย ... ย้อนหลังไปถึงสุวิชา ท่าค้อ และคนอื่นๆที่ตัดสินไปแล้ว และออกจากคุกหลังการ “สารภาพ-ขออภัยโทษ” ไปแล้ว เพื่อให้ไม่มีประวัติคดีติดตัวเลย) และบรรดาคนระดับธรรมดาๆ ของทั้งเสื้อแดง และพันธมิตร (คดีเผาจวน, คดีปล้นห้างเซ็นทรัลเวิร์ล ฯลฯ)

โดยที่ ควรทำการล่ารายชื่อ เพื่อเสนอ “ร่าง พรบ.นิรโทษกรรมทั่วไป” ที่ว่านี้ เข้าสู่สภาฯ

ผมเชื่อว่า แม้โอกาสสำเร็จในเรื่องนี้ จะไม่ถึงกับมาก แต่รับประกันว่า มากกว่าการล่ารายชื่อเรื่อง 112 ที่กำลังทำกันอยู่นี้ อย่างชนิดเทียบกันไม่ได้แน่นอน เพราะกรณีที่กำลังทำกันนี้ ต้องการ “ยิ่งกว่าปาฏิหาริย์” เสียอีก (ซึ่งคงไม่เกิดแนนอน ดังที่เสนอข้างต้นว่า อย่างมากที่สุด “ปาฏิหาริย์” อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบที่ “คอป.” เสนอ แต่ก็ยังไม่มีวี่แววเลย แม้แต่ระดับนี้)

คงจะจำกันได้ว่า ก่อนหน้านี้ “พรรคเนวิน” เคยเสนอไอเดียทำนองนี้มาก่อน (แม้จะคงไม่ได้คิดจะรวมคดี 112 ไว้ด้วย) ผมจึงเห็นว่า ไอเดียเรื่อง “นิรโทษกรรมทั่วไป” ไม่ถึงกับเป็นไอเดียที่ เป็นไปไม่ได้เลยในขณะนี้ (ต่างกับสิ่งที่ ครก.112 กำลังทำอยู่) ปัญหาที่อาจจะเป็น “จุดสะดุด” ที่ใหญ่ที่สุด คือเรื่องคดี 112 นั่นแหละ คดีการเมืองอื่นๆ ถ้าจะเรียกร้องให้ นิรโทษกรรม คนธรรมดา ไม่รวมทักษิณ, แกนนำพันธมิตร, ผู้นำรัฐบาล-ผู้นำทหาร อาจจะมีความเป็นไปได้สูงไม่น้อย แต่นี่เป็นอะไรที่เราต้องช่วยกันรณรงค์ ให้ต้องรวมคดี 112 ไว้ด้วย ...

ขอย้ำอีกครั้งว่า การรณรงค์ของ “นิติราษฎร์-ครก.112” ในขณะนี้ ที่ได้รับความสนใจอย่างมากเช่นนี้ ก็เพราะเป็นผลมาจากความทุกข์ยากสาหัสของ “อากง” (และผู้ต้องขัง 112 คนอื่นๆ) แต่เป็นเรื่อง irony (ตลกร้าย) และเป็นเรื่องน่าเสียดาย และน่าเสียใจอย่างยิ่งว่า การรณรงค์นี้ ดูทีท่าแล้ว จะไม่สามารถช่วยอะไร “อากง” (และผู้ต้องขัง 112 คนอื่น) ได้เลย
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น