โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ทหารพม่าเคลียร์พื้นที่จุดผ่านแดนช่องหลักแต่งโดยไม่ทราบสาเหตุ

Posted: 05 Jan 2012 11:13 AM PST

ทหารพม่าฐานวัดฟ้าเวียงอินทร์ ชายแดนไทย-พม่า ด้านอ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ รุดเคลียร์พื้นที่จุดผ่านแดนหลักแต่ง ที่ถูกปิดตายมาเกือบสิบปีโดยไม่ทราบสาเหตุ ชาวบ้านคาดอาจเตรียมเปิดจุดผ่านแดน ด้านทหารไทยเชื่อเป็นการป้องกันฐานมากกว่า

 

 

มีรายงานว่า ในช่วงวันที่ 3-4 ม.ค. ที่ผ่านมาทหารพม่าที่ประจำอยู่บนฐานฝั่งตรงข้ามวัดฟ้าเวียงอินทร์ บ้านหลักแต่ง ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ จำนวน 9-10 นาย ลงมาแผ้วถางหญ้าและเก็บกวาดสิ่งรกร้างบริเวณจุดผ่านแดน ช่องทางหลักแต่ง ในฝั่งพม่า (รัฐฉาน) โดยที่ไม่ได้มีการบอกกล่าวหรือแจ้งเจ้าหน้าที่ทหารไทยที่ประจำอยู่บริเวณนั้นทราบถึงสาเหตุ โดยทหารพม่าที่ประจำอยู่บริเวณชายแดนตรงข้ามบ้านหลักแต่ง บ้านเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ อยู่ในสังกัดกองพันทหารราบเบาที่ 360 มีบก.อยู่ที่เมืองเป็ง รัฐฉานภาคตะวันออก ผู้บังคับบัญชาฐานตรงข้ามบ้านหลักแต่ง ที่นำทหารลงมาแผ้วถางหญ้า ล้อมรั้ว และเก็บกวาดสิ่งรกร้างบริเวณจุดผ่านแดนทราบชื่อคือ ร.อ.แต้ดอ่อง

ชาวบ้านหลักแต่งคนหนึ่งเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2545 หลังเกิดเหตุสู้รบระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังไทใหญ่ SSA บริเวณชายแดนด้านนี้ จุดผ่านแดน(ช่องทางหลักแต่ง) ได้ถูกปิดตาย ทหารพม่าได้วางกับระเบิดไว้เป็นจำนวนมาก และไม่เคยเห็นทหารพม่าลงมาแผ้วถางหญ้าหรือเก็บกวาดบริเวณใกล้ประตูช่องผ่านแดน การที่ทหารพม่าลงมาเคลียร์พื้นที่บริเวณนี้เหมือนแสดงให้สัญญาณอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจเกี่ยวกับการเตรียมเปิดช่องทางผ่านแดนจุดนี้หรือไม่ก็ไม่ทราบ

ขณะที่ ร.อ.สุริยา พูลภักดี ผู้บังคับบัญชากองกำลังทหารไทย ประจำการชายแดนด้านจุดผ่านแดน (หลักแต่ง) เปิดเผยกับชาวบ้านว่า สาเหตุที่ทหารพม่าลงมาแผ้วถางเก็บกวาดสิ่งรกร้างบริเวณประตูช่องจุดผ่านแดน หลักแต่งครั้งนี้ไม่น่าจะเกี่ยวกับการเตรียมการเปิดจุดผ่านแดน น่าจะเป็นการป้องกันฐานประจำการของเขามากกว่า เนื่องจากสังเกตเห็นทหารพม่าได้มีการเก็บกู้กับระเบิดเก่าออกและนำกับระเบิดใหม่มาฝังไว้แทน นอกจากนี้ยังมีการล้อมรั้วใหม่อย่างแน่นหนา

อย่าง ไรก็ตาม ร.อ.สุริยา กล่าวว่า ทหารพม่าไม่ได้มีการบอกกล่าวหรือแจ้งทหารฝ่ายไทยทราบถึงสาเหตุแต่อย่างใด ซึ่งผิดหลักข้อตกลงสองฝ่ายที่ว่าหากทหารฝ่ายใดจะกระทำการใดบริเวณชายแดนที่ใกล้กันจะต้องแจ้งให้อีกฝ่ายทราบ หากทหารพม่าไม่ชี้แจงสาเหตุเรื่องนี้ อาจต้องตัดน้ำที่ทหารพม่าต่อจากฝั่งไทยเข้าไปใช้ในฐานไว้ชั่วคราว พร้อมกันนั้น เขาได้กล่าวเตือนชาวบ้านฝั่งไทยว่า อย่าได้ข้ามไปตัดไม้หรือหาของป่าในฝั่งพม่า โดยเฉพาะฝั่งตรงข้ามสุสานนายพลกอนเจิงอดีตผู้นำไทใหญ่ เนื่องจากทหารพม่ามีการวางกับระเบิดไว้หลายจุด หากเกิดอันตรายเกรงจะเข้าไปให้การช่วยเหลือลำบาก

สำหรับช่องทางผ่านแดน (หลักแต่ง) ถูกทหารพม่าปิดตายมาตั้งแต่ปี 2545 หลังเกิดเหตุทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA บุกโจมตีฐานทหารพม่าที่ตั้งอยู่บริเวณนี้พร้อมกันหลายแห่ง การสู้รบสองฝ่ายยืดเยื้อนานกว่า 1 เดือน ฝ่ายทหารพม่าได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก หลังเหตุการณ์สงบทหารพม่าได้ขับไล่ชาวบ้านกว่า 4-5 หมู่บ้าน รวมจำนวนคนเกือบพันคนอพยพเข้ามาอยู่ในฝั่งไทย จากนั้นทหารพม่าได้ทำการปิดช่องผ่านแดนโดยวางกับระเบิดไว้โดยรอบ และได้ยึดเอาอุโบสถของวัดฟ้าเวียงอินทร์ เป็นที่ตั้งฐานประจำการทหารมาจนถึงปัจจุบั

ชมภาพ/อ่านข่าวย้อนหลัง
www.khonkhurtai.org

-----------------------------------------------------------------------------------------------

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน(SHAN- Shan Herald Agency for News)มี วัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.orgและภาคภาษาไทยทีwww.khonkhurtai.org

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เมืองไทย 2555 อะไรรอเราอยู่ ตอน 6: ไทยในเวทีระหว่างประเทศกับ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

Posted: 05 Jan 2012 10:46 AM PST

จับตานโยบายระหว่างประเทศรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปี 2555 บทบาทมหาอำนาจจีน-สหรัฐในภูมิภาค และโอกาสของรัฐบาลในการเยือน “อินเดีย” ปลาย ม.ค. นี้พร้อมแนะ “ยิ่งลักษณ์” หากจะเดินการทูตแบบยุค “ทักษิณ” ต้องเน้นกรอบอาเซียนด้วยเพราะเป็นหัวใจนโยบายต่างประเทศของไทยมานับตั้งแต่ยุคก่อตั้ง

สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ “ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์” นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ย้อนมองนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลที่เปลี่ยนผ่านจาก “รัฐบาลอภิสิทธิ์” ถึงยุค “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” และทิศทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอุษาคเนย์ในปี 2555 ชาติมหาอำนาจที่ขยายอิทธิพลเข้ามาในภูมิภาค จนถึงความพร้อมของไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

 

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ (แฟ้มภาพ)

000

ประชาไท: ทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในปีนี้ อาจารย์มองว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงไปจากรัฐบาลชุดก่อนหรือไม่ และมองกรณีที่นายกรัฐมนตรีของไทยเตรียมเยือนอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านมหาอำนาจประเทศหนึ่งอย่างไร

ปวิน: ก่อนอื่นต้องดูนโยบายต่างประเทศของไทยก่อน ซึ่งผมกล่าวในหลายโอกาสมาแล้วว่าจริงๆ แล้วไทยแทบไม่มีนโยบายต่างประเทศเลย ตั้งแต่สิ้นยุคทักษิณในปี ค.ศ. 2006 หลังจากนั้นก็เกิดปัญหาภายในของไทย เกิดปัญหามากมายตลอดเวลา จนกระทั่งเราไม่มีเวลาที่จะให้ความสนใจกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับด้านการต่างประเทศ

พอถึงยุคของอภิสิทธิ์ซึ่งอยู่นานนิดหนึ่ง แทนที่จะให้ความสนใจกับประเด็นด้านการต่างประเทศ กลับใช้ประเด็นด้านการต่างประเทศเป็นเครื่องมือทางการเมืองภายใน ก็ไม่ได้ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างที่เราเห็นกันอยู่ในกรณีความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาก็เป็นกรณีที่เด่นขึ้นมา ผมคิดว่าคุณยิ่งลักษณ์ขึ้นมาตามวิถีแบบประชาธิปไตย เป็นรัฐบาลที่ได้รับความชอบธรรม ผมคิดว่าคุณยิ่งลักษณ์น่าจะหันมาให้ความสนใจกับนโยบายด้านการต่างประเทศมากขึ้น มากกว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมา ผมเห็นว่าคุณยิ่งลักษณ์อาจจะทำอะไรได้หลายๆ อย่าง แต่ก็อีกล่ะ คุณยิ่งลักษณ์เพิ่งขึ้นมาอยู่ในอำนาจได้เป็นเดือนที่ 5 ก่อนหน้านี้ก็มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม และปัญหาวุ่นวายเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ก็ยังไม่มีเวลาให้การดูแลด้านการต่างประเทศอย่างจริงจัง

แต่ว่าในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมาหลายๆ ครั้งจะเห็นว่ารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เริ่มหันมาให้ความสนใจกับประเด็นด้านการต่างประเทศดีพอควร ผมคิดว่าหลังจากนี้เป็นต้นไป ถ้ารัฐบาลให้ความใส่ใจขึ้นมา เราก็อาจจะเห็นความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะนโยบายที่เรามีกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีความเป็นมิตรมากขึ้น ซึ่งสาเหตุที่มีความเป็นมิตรมากขึ้น มาจากสองเหตุผลสำคัญ

เหตุผลแรกผมคิดว่า เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งต่างไปจากรัฐบาลชุดที่แล้ว คงเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ที่พยายามเอาตัวเองออกจากรัฐบาลชุดที่แล้ว นี่เป็นธรรมชาติของรัฐบาลทั่วโลก โดยเฉพาะในประเด็นของไทยที่มันขัดแย้งด้านการเมือง และการที่รัฐบาลชุดที่แล้วมีความขัดแย้งเยอะกับเพื่อนบ้าน รัฐบาลชุดนี้คงต้องทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม เผอิญว่าสิ่งที่ทำตรงกันข้ามมันกลายเป็นผลดีก็คือ ความพยายามผูกมิตรกับประเทศเพื่อนบ้าน ผมคิดว่าอันนี้จะเป็นแนวโน้มที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะดำเนินนโยบายแบบสร้างมิตรภาพ กระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือตามกรอบความร่วมมือทวิภาคีที่มีอยู่ ฟังดูแล้วก็เป็นเบสิก แต่ผมคิดว่าอันนี้ก็คงจะเป็นแนวโน้มซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์คงจะทำต่อไป

อีกประเด็นหนึ่งคือ คุณยิ่งลักษณ์อาจจะกลับไปใช้นโยบายต่างประเทศแบบยุคคุณทักษิณซึ่งอยู่ในอำนาจมา 6 ปี ซึ่งผมเขียนหนังสือเรื่องเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศคุณทักษิณไว้ โดยมี Character หลักอยู่บางประการ ยกตัวอย่างเช่น เน้นด้านธุรกิจเป็นหลัก ไม่เน้นด้านการเมือง ไม่ส่งเสริมเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตย หรือสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ พยายามไม่เข้าไปก้าวก่ายในกิจการต่างประเทศของประเทศอื่น เน้นความเป็นไทย เน้นความเป็นอัตลักษณ์ของไทย ส่งเสริมความเป็นชาตินิยม ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ อาจจะให้อำนาจกับเอกอัครราชทูตของไทยมากขึ้น เหมือนกับในยุคของคุณทักษิณที่มี CEO Ambassador

เนื้อหลักคงเป็นเรื่องนโยบายที่เน้นด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งเราได้เห็นแล้วว่าทุกครั้งที่คุณยิ่งลักษณ์ไปเยือนต่างประเทศโดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาเยือนประเทศอาเซียน ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาเป็นเรื่องการกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก มีอันเดียวที่ผมเห็นว่าแตกต่างไปนิดหนึ่งคือกรณีของพม่า ซึ่งคุณยิ่งลักษณ์เพิ่งไปเยือนกลับมา และมีโอกาสหารือพบปะกับนางออง ซาน ซูจี และคุณยิ่งลักษณ์พูดถึงความพร้อมของไทยในการส่งเสริมการปรองดองแห่งชาติของพม่า รวมถึงการส่งเสริมประชาธิปไตยของพม่า แต่ผมว่ากรณีนี้เป็นกรณีพิเศษ ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่คุณยิ่งลักษณ์พูดไป ไทยจะนำไปปฏิบัติจริงจัง ผมคิดว่าทุกๆ ประเทศที่ต้องไปพม่าก็ต้องพูดแบบเดียวกัน

โดยสรุปแล้ว จากคำถามที่ถามมา ผมคิดว่าจะมีความเปลี่ยนแปลง เราจะเห็นเทรนด์ที่มีการผูกมิตรมากขึ้น มีการกระชับความสัมพันธ์ ความร่วมมือมากขึ้น และเน้นธุรกิจเป็นหลัก

 

000

ในการติดต่อสัมพันธ์ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในกรณีพม่า เราจะเห็นว่าก่อนหน้าการเยือนของยิ่งลักษณ์ ทักษิณจะเข้าไปเยือนพม่าก่อนและพบกับตานฉ่วย อาจารย์คิดว่าเทรนด์แบบที่ ก่อนที่รัฐบาลจะเดินทางไปเยือนประเทศไหนๆ ก็ตาม จะมีการไปเยือนล่วงหน้าโดยทักษิณ จะเป็นโมเดลแบบนี้ในทุกกรณีหรือเปล่า

มันก็เป็นไปได้ ผมให้ความสนใจกับเรื่องนี้เหมือนกัน กับเรื่องที่คุณทักษิณได้เดินทางไปล่วงหน้าในหลายๆ ทริป ก่อนทริปที่คุณยิ่งลักษณ์จะไป ผมคิดว่ามันมีนัยยะทางด้านการเมืองหลายๆ อย่าง มากกว่านัยยะในด้านการต่างประเทศ

ถ้าเป็นนัยยะทางการเมือง ผมคิดว่าคุณทักษิณก็เหมือนเดิม เราก็รู้อยู่ว่าทักษิณเนี่ย ปากพูดว่าไม่สนใจการเมือง แต่ความเป็นจริงแล้วก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตลอด เรารู้อยู่ว่าคุณยิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิดให้คุณทักษิณ มันก็เป็นจริง ในที่สุดแล้วคนที่บริหารรัฐบาลชุดนี้ก็ยังเป็นคุณทักษิณ ยังไม่พอ คนที่บริหารการต่างประเทศยังเป็นคุณทักษิณอีก นี่ก็เป็นความจริงที่เราต้องยอมรับกัน

ผมคิดว่ามันมีนัยยะทางการเมืองที่เราต้องพิจารณากันคือ ทักษิณต้องการบอกให้รู้ว่า ทักษิณเป็นคนตัดสินใจ เป็นคนกำหนดนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ อีกเรื่องหนึ่งคือ มันเป็นผลประโยชน์ของตัวคุณทักษิณเอง อย่าลืมว่าทักษิณเพิ่งได้พาสปอร์ตคืน การไปเยือนต่างประเทศโดยใช้พาสปอร์ตไทยหรือก่อนหน้านี้ที่ไม่มีพาสปอร์ตไทยก็ตาม ทักษิณต้องการจะชี้ให้ประชาคมโลกเห็นว่า ในความเป็นจริงแล้วทักษิณคือผู้นำของไทยที่มีความชอบธรรม แต่ต้องถูกกระทำต่างๆ นานา โดยเฉพาะถูกรัฐประหาร คือทักษิณต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมคืนในเวทีระหว่างประเทศ

เพราะฉะนั้นก็มีวาระซ่อนเร้นของตัวคุณทักษิณเอง

คราวนี้ที่ย้อนกลับมาถึงเรื่องว่ามันจะมีผลกับนโยบายการต่างประเทศหรือไม่ ผมคิดว่าก็คงจะต้องมี หนึ่ง ก็อย่างที่บอกว่า ทักษิณเป็นผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศเอง เผลอๆ ทักษิณเป็นคนกำหนดด้วยซ้ำว่า คุณยิ่งลักษณ์ควรไปเยือนประเทศไหนก่อน เป็นคนลำดับความสำคัญหรือ Priority ให้รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์

สอง อาจจะเน้นว่า อย่างที่ผมพูดไปแล้วว่า มันอาจเป็นการกลับคืนมาของการทูตแบบทักษิณที่เอาเศรษฐกิจนำเป็นหลัก และการเมืองเป็นเรื่องรองถัดลงไป จะเห็นว่าผลการเยือนต่างประเทศทุกครั้ง ผลเป็นเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก ในเรื่องของพม่าเองเราต้องทำความเข้าใจว่า คุณทักษิณมีผลประโยชน์ในพม่าเยอะมาก และกรณีที่คุณทักษิณไปลงทุนส่วนตัวโดยผ่านชินคอร์ปในอดีต ซึ่งมันกลายเป็นปัญหาวุ่นวายเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน เรื่องนี้จึงชี้ให้เห็นว่ายังมีความเกี่ยวข้องเรื่องผลประโยชน์และธุรกิจคุณทักษิณด้วย

และการที่คุณยิ่งลักษณ์พบกับออง ซาน ซูจี ก็น่าจะเป็นความคิดของคุณทักษิณ แต่อย่างที่ผมบอก มันไม่ได้หมายความว่า Suddenly (จู่ๆ) คุณทักษิณเกิดรักประชาธิปไตย หรือรัฐบาลชุดนี้อยากส่งเสริมประชาธิปไตย ผมคิดว่าการจัดให้พบกับออง ซาน ซูจี ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับคุณยิ่งลักษณ์ในแง่ที่ว่าคุณยิ่งลักษณ์เข้าใจการเมืองภายในพม่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพม่า สนใจความเป็นไปของประเทศเพื่อนบ้าน ต้องการส่งเสริมประชาธิปไตย และในที่สุดแล้วก็นำไปสู่ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากพม่า อีกเรื่องคือเรื่องท่าเรือน้ำลึกในทวาย ซึ่งเป็นผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของไทยโดยตรง ผมคิดว่าในที่สุดแล้ว มันก็กลับมาสู่การทูตแบบทักษิณเหมือนเดิม

 

000

ต่อบทบาทของมหาอำนาจอย่างจีนหรือสหรัฐอเมริกาในภูมิภาค ปีนี้มีสิ่งที่จะต้องจับตาหรือไม่ และบทบาททางการทหารของจีนในภูมิภาค นอกจากเรื่องพิพาทในทะเลจีนใต้ เรื่องหมู่เกาะสแปรตลีย์แล้ว กรณีทะเลด้านมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจีนกับพม่าพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารมาในระดับหนึ่งและล่าสุดเรื่องฐานทัพเรือของจีนในมหาสมุทรอินเดียจะมีผลต่อภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค และมีผลกับไทยอย่างไรบ้าง

ขอย้อนกลับไปที่คำถามแรกก่อนที่จะกลับมาคำถามใหม่ เรื่องเกี่ยวกับที่คุณยิ่งลักษณ์จะไปเยือนอินเดีย ผมคิดว่าไทยกับอินเดียเป็นประเทศที่สำคัญมาก เป็นประเทศมหาอำนาจเกิดใหม่พร้อมๆ ไปกับจีน มีคนพูดถึง The Rise of China เราก็ควรต้องพูดถึง The Rise of India เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เสียสติสิ้นดี ถ้าเราไม่ให้ความสนใจกับประเทศอินเดีย

ที่ผ่านมาในยุคคุณทักษิณ ได้ให้ความสำคัญพอสมควร คุณทักษิณไปเยือนอินเดีย 2-3 ครั้ง อย่าลืมว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ลงนามร่วมกับอินเดียในความตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรี เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีนัยยะสำคัญ ที่เราไม่ควรมองข้าม แต่ในยุคคุณทักษิณเมื่อไปเยือนแล้วก็ไม่ได้ให้ความสำคัญต่ออินเดียเท่าไหร่ กรณีที่คุณยิ่งลักษณ์ไปน่าจะไปต่อความสัมพันธ์ที่ดี ที่เรามีกับอินเดีย ความสัมพันธ์โดยพื้นฐานยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้าเป็นหลัก เรื่องเกี่ยวกับการจัดตั้งเขตการค้าเสรี มีเรื่องเกี่ยวกับข้อตกลงด้านการบินระหว่างสองประเทศที่ผมคิดว่ายังพัฒนากันไปได้ เรื่องเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระหว่างกันเมืองหลักๆ ของไทยกับของอินเดียโดยภาคการบิน

ที่สำคัญไม่ใช่เรื่องความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี คืออินเดียเองตั้งแต่ปี 1992 ก็ใช้นโยบาย Look East คืออินเดียแต่เดิมมัวแต่วุ่นวายกับนโยบาย Look West หรือไม่ก็วุ่นวายอยู่ในอนุทวีปของตัวเอง โดยไม่มองความสำคัญ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 1992 ก็เป็นปีหลักที่อินเดียหันมามองความสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าไทยในจุดนี้น่าจะพัฒนาบทบาทของตัวเองในการเป็นสะพานเชื่อมอินเดียกับ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เพราะฉะนั้นเรื่องไม่ได้จำกัดแค่ผลประโยชน์แบบทวิภาคี แต่มีบทบาทอื่นที่คุณยิ่งลักษณ์สามารถเล่นได้ ในแง่บทบาทของเราในภูมิภาค ผมคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญ และการเข้าไปพูดในรัฐสภาของอินเดียก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เพราะว่าผู้นำหลักๆ ของโลก รวมถึงประธานาธิบดีโอบาม่าที่ไปเยือนอินเดียเมื่อคราวที่แล้วก็ไปพูดที่รัฐสภาอินเดียเหมือนกัน ผมหวังว่าคุณยิ่งลักษณ์คงจะไปพูด และคงไม่ตะกุกตะกักเหมือนที่พูดครั้งที่ผ่านๆ มา และคงต้องดูกันต่อไปว่าประเด็นที่คุณยิ่งลักษณ์จะไปพูดเป็นอย่างไร

คืออินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยก็จริง ส่งเสริมประชาธิปไตยมาตลอด แต่หลังๆ อินเดียก็เปลี่ยนไปเยอะพอสมควรหันมาสนใจเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการที่อินเดียหันมาสนใจด้านเศรษฐกิจ ก็น่าจะสอดคล้องกับนโยบายของคุณยิ่งลักษณ์

ย้อนกลับมาคำถามเรื่องมหาอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐ ผมคิดว่าก็คงเป็นตัวแปรสำคัญในปีที่จะถึงนี้ การแข่งขันในภูมิภาคบอกได้เลยว่าเป็นการแข่งขันทางอำนาจระหว่างสองมหาอำนาจคือจีนกับสหรัฐเป็นหลัก  และการแข่งขันนี้มีส่วนในการกำหนดระเบียบของภูมิภาค หรือ Regional Order

อาเซียนเหมือนกับเป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง เป็นเหมือนตัวแปรหนึ่ง ผมคิดว่าเป็นอาวุธด้วยซ้ำที่แต่ละฝ่ายต้องการดึงอาเซียนมาเป็นพวกของตัวเอง แต่ความเป็นจริงแล้ว ความเป็นไปของภูมิภาคนี้ยังต้องถูกกำหนดด้วยสองมหาอำนาจหลัก ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือสหรัฐอเมริกา เมื่อสองเดือนที่ผ่านมาได้เข้าการประชุม EAF (East Asia Summit) เป็นครั้งแรกที่เข้าร่วมการประชุมอย่างเป็นทางการ ในฐานะสมาชิก EAF หนึ่ง ผมคิดว่าจีนลึกๆ ก็รู้สึกหวั่นใจในเรื่องเกี่ยวกับการที่สหรัฐเข้ามามีบทบาทโดยตรงผ่าน EAF กลายเป็นตัวคานตัวหนึ่งของจีน ก็คงจะมีอะไรน่าติดตามชม น่าติดตามดูภายในปีนี้

การดึงเอาคนของอาเซียนไปเป็นข้างตัวเอง ผมคิดว่ามันจะสร้างพลวัตพิเศษขึ้นมา ประเทศที่เห็นเด่นชัดว่าเป็นพวกสหรัฐก็อย่างเช่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ก็เห็นได้ชัดว่าเขาต้องการให้สหรัฐเข้ามามีบทบาท และส่วนหนึ่งไม่ใช่แค่เพียงปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น แต่ยังต้องการใช้สหรัฐลดทอนอิทธิพลของจีนที่มีในภูมิภาค พบคิดว่าอย่างไรก็ตามประเทศเหล่านี้ก็ยังมองจีนว่าเป็นภัยตัวหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นภัยทางด้านการเมือง ภัยทางด้านการทหาร ภัยทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหลายๆ คนมองข้ามไป ภัยทางเศรษฐกิจก็ในแง่ที่ว่าจีนเข้ามามีบทบาทครอบงำเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้พอสมควร อีกกลุ่มประเทศหนึ่งซึ่งเข้าข้างจีนอย่างเห็นชัดๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในอินโดจีน พม่า กัมพูชา ลาว กลุ่มประเทศนี้ตกอยู่ใน Satellite ของจีน ไทยเอง ผมคิดว่าก็เหยียบเรือสองแคมมาตลอด คือมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน ขณะเดียวกันเป็นพันธมิตรทางด้านการทหารกับสหรัฐก็คงต้องดูต่อไป

กับคำถามสุดท้าย ที่ถามว่าจีนกับอินเดียคิดว่าอันนี้ก็เป็นพลวัตสำคัญอันหนึ่ง เราไปโฟกัสมากแต่เรื่องทะเลจีนใต้ ซึ่งผมคิดว่าก็ยังเป็นประเด็นสำคัญ และประเด็นทะเลจีนใต้ก็ยังเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาด้วย และผมก็ยังเชื่อว่ามันจะเป็นประเด็น เป็นวาระหลักใน อาเซียน ในการประชุม อาเซียน ทุกๆ ครั้งนับจากนี้ต่อไป เพราะผมคิดว่าปัญหาคงไม่ได้รับการแก้ไขในเร็ววัน มันมีความซับซ้อนมาก มันมีความขัดแย้งกันระหว่างการใช้วิธีแก้ไขปัญหาแบบทวิภาคีหรือจะเอาผ่านกรอบ อาเซียน ซึ่งผมคิดว่าต้องดีเบทกันอีกนานพอสมควร

ทั้งนี้ทั้งนั้นเลยทำให้คนมองข้ามอีกพลวัตหนึ่งที่เกิดขึ้นในอ่าวเบงกอล ในมหาสมุทรอินเดีย มันเป็นการต่อรองทางด้านอำนาจระหว่างจีนกับอินเดีย และผมคิดว่าพม่าก็กลายเป็น Battle Field (สมรภูมิ) ระหว่างจีนกับอินเดีย คือตัวพม่าเองเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญ เป็นแหล่งวัตถุดิบให้กับทั้งจีนและอินเดีย รวมถึงมีความสัมพันธ์ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ มีการพึ่งพากันสูง อินเดียเองก็หวังที่จะขอความช่วยเหลือจากพม่าในการไม่ให้ความช่วยเหลือกลุ่มกบฏที่อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นพรมแดนที่ติดกัน เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เรื่องปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ทางด้านขายน้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ หรือเรื่องเกี่ยวกับวัตถุดิบอย่างเดียว มันก็เป็นประเด็นทางด้านการเมืองด้วย จีนเองก็มีประเด็นการเมืองมากเหมือนกัน ในเรื่องกรณีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน ถ้าเราจำได้เคยมีกรณีชนกลุ่มน้อยโกก้างที่ข้ามไปและก่อให้เกิดปัญหามากมาย

ซึ่งผมคิดว่าการมองพม่าก็ต้องมองให้ชัดๆ ด้วยว่าพม่าอาจจะไม่ได้ถูก Manipulated อย่างเดียว แต่พม่าเองก็ Manipulate สถานการณ์ด้วย พม่าเองก็ใช้จีนในการคานผลประโยชน์อินเดีย ขณะเดียวกันใช้อินเดียคานผลประโยชน์กับจีน ถ้าหากถูกกดดันจากทั้งสองประเทศก็มาหาความช่วยเหลือจากไทย และตอนนี้ก็กำลังจะหาความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ผมคิดว่าพม่าเองจริงๆ ก็น่าสนใจ และไม่ได้ตกอยู่ในสถานะลำบากอย่างที่เราคิดในแง่ของด้านการทูต ผมคิดว่าพม่าไม่ได้เป็น “Passive Player” พม่าเองก็พยายามที่จะ ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Diversify foreign policy option” คือพยายามหาทางเลือกอื่นๆ ในการกำหนดนโยบายต่างประเทศเพื่อที่จะไม่ให้ตัวเองต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ

 

000

ในเรื่องของการปรับตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกรณีของไทย มองว่ามีความพร้อมมากน้อยเพียงใด

ผมคิดว่าเราไม่แน่ใจว่ามีความพร้อมที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนหรือเปล่า มันก็มีปัญหาอยู่หลายๆ ปัญหา เริ่มจากในภูมิภาคนี้ก่อนก็คือว่า ผมเองไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าประเทศอื่นๆ นอกจากประเทศไทยแล้ว เราพร้อมจริงๆ แล้วหรือที่จะกลายไปเป็นชุมชนของอาเซียนทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม และเหลือเวลาอีกแค่ 3 ปีเท่านั้น มันยังมีช่องว่างที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ที่เห็นได้ชัดคือช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน รวมถึงช่องว่างในด้านการเมือง ประเทศบางประเทศยังไม่ให้ความสำคัญต่อกลไกที่มีอยู่ในอาเซียน ไทย-กัมพูชา ยกตัวอย่างนะครับในกรณีของเขาพระวิหาร ก็รู้ว่าไทยไม่ได้ให้ความศรัทธาต่ออาเซียนเลยเมื่อเกิดปัญหาขึ้น

ผมเลยไม่แน่ใจว่าคนไทยเข้าใจอาเซียนหรือเปล่า คนไทยทั่วๆ ไปเข้าใจความสำคัญของเรื่องนี้ไหม รัฐบาลทำพอหรือเปล่าในแง่ของการสร้างความเข้าใจว่าอะไรคือผลประโยชน์ของเราในการเข้าร่วมอาเซียน

มองในแง่ของรัฐบาล ผมก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลพร้อมหรือไม่ เราสามารถ Fulfill Commitment (การบรรลุ ข้อตกลงร่วมกัน) ได้หรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนทางด้านเศรษฐกิจ เราเปิดเสรีพอไหม เรา Need Requirement อะไรหรือเปล่า ผมคิดว่าในเรื่องเศรษฐกิจ แม้มันจะยาก แต่ก็มีความเป็นไปได้ เพราะผมคิดว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจมันเป็นพื้นที่ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Less Controversial” (ก่อให้เกิดข้อโต้แย้งได้น้อย) ถ้าเทียบกับความร่วมมือหรือการสร้างชุมชนในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะในด้านการเมือง ผมคิดว่ามันอาจเป็นเรื่องยาก ปัญหาเขาพระวิหารที่มีอยู่ยังไม่จบสิ้น และเราเองก็ไปสัญญากับกัมพูชาแล้วว่าจะขอความช่วยเหลือจากอาเซียนแก้ไขปัญหา ก็ต้องดูต่อไปว่า เราพูดจริงหรือไม่ แล้วถ้าเกิดเราทำได้ก็อาจจะทำให้อาเซียนมีความหวังขึ้นมาในแง่การสร้างชุมชนด้านการเมืองในปี 2015 ผมคิดว่าในที่สุดเราประกาศไปแล้ว เราก็คงจะต้องก้าวไปสู่จุดนั้น

ถ้าถามผมจริงๆ ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในปี 2015 ผมคิดว่าอะไรที่ทำได้ อาเซียนก็ต้องทำไปก่อน อะไรที่ทำไม่ได้ต้องค่อยๆ ปรับตัวกันต่อไป ค่อยๆ ขยับเขยื้อนไป แต่ผมอยากให้ทุกคนมองอาเซียนในแง่ดีนิดหนึ่ง คือมันก็เป็นเรื่องง่ายถ้าเราจะวิพากษ์วิจารณ์อาเซียนว่าได้แต่พูด ไม่ค่อยทำ สมาชิกก็ไม่ค่อยมีใครให้ความศรัทธาต่อกฎเกณฑ์อะไรต่างๆ ... ผมคิดว่าอยากให้มองในแง่ดีเพราะว่าอาเซียนก็พัฒนามาเร็วพอสมควรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นี่คือปีที่45 ของอาเซียนซึ่งก่อตั้งในปี 1967 มาถึงจุดนี้อาเซียนกฎบัตรอาเซียน และมีคณะกรรมาธิการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน แม้ว่าจะยังไม่มีบทบาทมากนัก แต่ก็มีคณะกรรมการขึ้นมา เพราะฉะนั้นทุกอย่างยังมีความหวังในอาเซียน แม้ว่าในปี 2015 เราจะยังไม่สามารถทำให้เป็นชุมชนแบบสมบูรณ์แบบ แต่ผมคิดว่ามันก็คงจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าพอลงมาถึงระดับ National Level แล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องทำมากกว่านี้ โดยเฉพาะในแง่ของการส่งเสริม ประชาสัมพันธ์เรื่องความเข้าใจต่ออาเซียน เน้นย้ำว่าผลประโยชน์ที่เราจะได้จากอาเซียนคืออะไร เพราะถ้าเรารู้ว่าผลประโยชน์ของเราอยู่ตรงไหน ผมคิดว่าเราควรจะเดินไปตามแนวทางนั้น แต่จะเป็นเรื่องยาก ถ้าเรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผลประโยชน์ของเราในอาเซียนคืออะไร

เรื่องสุดท้ายที่ผมจะฝากไว้กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์คือ ถ้าเกิดคุณยิ่งลักษณ์จะเอานโยบายคุณทักษิณกลับมาใช้ คุณยิ่งลักษณ์ต้องปรับอย่างมากโดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับอาเซียน เพราะว่าทักษิณไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องอาเซียนเลย ในความเป็นจริงแล้วทักษิณมองข้ามอาเซียนด้วยซ้ำ เพราะทักษิณไม่มีความเชื่อมั่นในอาเซียน ทักษิณต้องการสร้างกรอบความร่วมมือขึ้นมาใหม่ และเป็นคนที่ทะเยอทะยานสูง ทั้งๆ ที่อาเซียนเป็นหัวใจของนโยบายการต่างประเทศของไทยตั้งแต่ที่อาเซียนได้รับการก่อตั้งขึ้นมา เพราะฉะนั้นจุดนี้เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าเราหนีอาเซียนไม่พ้น ประเทศเราตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณยิ่งลักษณ์ต้องให้ความสำคัญกับอาเซียน และควรต้องรีบทำ ก่อนที่ประเทศอื่นๆ จะแย่งบทบาทนี้ไป โดยเฉพาะประเทศเกิดใหม่เช่นเวียดนาม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง The Crucible: ภาพสะท้อนสังคมไทยในยุคมืด

Posted: 05 Jan 2012 08:55 AM PST

ประชาไทบันเทิง The Crucible: ภาพสะท้อนสังคมไทยในยุคมืด

ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยอ่านบทความชิ้นหนึ่งกล่าวว่าคนพม่าเวลาอ่านนวนิยายชือก้องโลกเรื่อง 1984 ของ จอร์จ ออร์เวล จะรู้สึกอินและเข้าถึงอารมณ์เนื้อหาของเรื่องเป็นพิเศษราวกับว่าออร์เวลเขียนเรื่องขึ้นจากการได้เห็นประเทศพม่าในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมโดยรัฐบาลเผด็จการ การปิดกั้นสื่อและข้อมูลข่าวสาร สิ่งที่ประชาชนรู้ล้วนผ่านการคัดกรองเฉพาะประเด็นที่ถูกใจ เด็ก ๆ เรียนหนังสือกันบนพื้นฐานอุดมการณ์ความรู้ขวาจัด ถ้าจะกล่าวแบบขำ ๆ 1984 ก็คือหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อทำนายอนาคตของประเทศพม่าก็ว่าได้

ใช่ว่าจะมีแต่พม่าเท่านั้นที่นวนิยายสามารถอธิบายภาพสะท้อนสังคมบางอย่างออกมาได้ ประเทศเพื่อนบ้านทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเมยเมื่อมีการรัฐประหารปี 2549 ภาพสังคมที่เคยคุ้นเคยหลอกกันมานานว่าเป็นดินแดนแห่งรอยยิ้มพังทลายลง เราได้เห็นภาวะ “อวิชชาคือกำลัง” และ “ความจริงก็คือความจริง ความจริงคนไทยฆ่ากัน” ก็ปรากฏให้เห็นขึ้นทุกหัวระแหง

รัฐประหาร 49 ส่งผลให้เกิดความแตกแยกทางความคิดเป็นอันมาก กระบวนทัศน์สองชุดต่างอธิบายปรากฏการณ์ได้อย่างเท่าเทียมไม่สามารถหักโค่นความคิดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลงได้ทันที บางฝ่ายคิดว่ากระบวนการยุติธรรมและเส้นทางประชาธิปไตยไม่สามารถฟื้นคืนประเทศนี้ได้อีกแล้ว เลือกตั้งมาอย่างไรก็ได้แต่คนที่ตนรังเกียจ อำนาจศาลเองก็เชื่องช้าไม่ได้ดั่งใจและไม่เด็ดขาดพอตามใจปรารถนาของตน อย่าว่ากระนั้นเลยใช้วิธีการลงทัณฑ์ทางสังคม เอาชื่อ ที่อยู่ ของอีกฝ่ายมาโพสต์ประจานบนหน้าเฟซบุ๊คเพื่อสร้างความกดดันแก่สังคมรอบตัวบุคคลนั้น หมายมุ่งมิให้เขาใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข เพียงไว้ให้ชีวิตผู้คิดต่างจากตนฉิบหาย โดยมิได้เคยใช้หลักการและเหตุผลในการพิจารณาไตร่ตรองว่าสิ่งที่ตนทำนั้นมีมนุษยธรรมหรือไม่ กระบวนการลงทัณฑ์ทางสังคมนี้มีชื่อเล่นว่า ‘การล่าแม่มด’

การล่าแม่มดเริ่มปะทุความรุนแรงขึ้นในปี 2553 และมิได้มีการเพลากำลังลงเลยแม้แต่น้อย ล่าสุดสื่ออย่างผู้จัดการก็ขุดคุ้นเอาเรื่องของ ‘เด็กหญิงก้านธูป’ ซึ่งเคยถูกมหาวิทยาลัยศิลปากรตัดสิทธิ์การเข้าศึกษาเพียงเพราะว่าแสดงความคิดเห็นเรื่องสถาบันจึงต้องระเห็จกว่าจะได้ที่ศึกษาใหม่ก็ลำบากยากเย็น ผู้จัดการทั้งเสนอชื่อสกุลจริง รหัสนักศึกษาพร้อมเร่งให้ทางมหาวิทยาลัยดำเนินคดีกับนักศึกษาของตนด้วยประมวลอาญามาตรา 112

เหตุการณ์ที่ผ่านมาทำให้ผมเห็นว่า หากพม่ามี 1984 เป็นต้นแบบเส้นทางเดินทาง เมืองไทยก็คงหลีกเลี่ยง เดอะ ครูซิเบิล (The crucible) หรือในชื่อไทยว่า หมอผีครองเมือง ผลงานของอาเธอร์ มิลเลอร์ที่ถูกทำเป็นทั้งละครเวที ภาพยนตร์และหนังสือเป็นแน่

แม้บริบทของ เดอะ ครูซิเบิล ในช่วงเวลาที่มิลเลอร์เขียนขึ้นนั้นจะเป็นโลกที่อเมริกันชนหวาดหวั่นหวาดกลัวต่อภัยคอมมิวนิสต์ แต่สิ่งที่มิลเลอร์ถูกกระทำก็มิได้ต่างจากการล่าแม่มดในเมืองไทยหรือในยุคมืดแต่อย่างใด มิลเลอร์ถูกซัดทอดจากอีเลีย คาซาน ผู้กำกับคนดังแห่งยุคคนหนึ่งว่าเป็นคอมมิวนิสต์ โดยตัวคาซานเองสารภาพว่าเขาเองก็เคยเป็นแต่ ณ เวลานี้ได้หันหลังให้กับโลกสังคมนิยมแล้ว การสารภาพผิดพร้อมเปิดเผยรายชื่ออื่นสร้างความเดือดร้อนให้คนในฮอลลีวูดยุคนั้นรวมถึงมิลเลอร์ไม่น้อย เขาจึงสะท้อนออกมาผ่านบทละครเวทีความยาวสี่องก์ที่อุดมไปด้วยตรรกะอันบิดเบี้ยว

ท้องเรื่องเกิดขึ้นในเมืองเล็กแห่งหนึ่งของสหรัฐในช่วงปี 1692 ที่ชื่อว่า ซาเล็ม เมื่ออยู่ดี ๆ เบ็ตตี้ หลานสาวของหลวงพ่อปารีสดันเกิดสลบไปไม่ฟื้นหลายชั่วโมง หลวงพ่อฯได้คาดคั้นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับอบิเกล หลานสาวอีกคนว่าเกิดอะไรขึ้น พร้อมปักใจเชื่อว่า ซาตานและแม่มดเป็นผู้อยู่เบื้องหลังทุกอย่าง โดยอบิเกลได้ทำการซัดทอดต่อ ขณะที่เธอกำลังเปลือยกายเต้นรำอยู่นั้น แม่มดในหมู่บ้านได้มาหาพวกเธอ สาวน้อยได้บอกชื่อของแม่มดเหล่านั้นต่อบาทหลวงเฮล ผู้เดินทางมาจากอีกหมู่บ้านเพื่อรักษาเบตตี้จากมนต์ดำต่าง ๆ

เรื่องเลวร้ายขึ้นเมื่อคนที่ถูกซัดทอดเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในศาล อบีเกลและบรรดาเพื่อนของเธอ บอกกับศาลว่าเหล่าแม่มดทั้งหลายส่ง "วิญญาณ" ของเธอออกมาทำร้ายทำให้เธอตัวเย็นเฉียบและเมื่อเธอเดินไปที่ไหนและกรีดร้อง เมื่อใด รวมถึงแค่เอ่ยปากบอกว่าเธอเห็นใครเป็นแม่มด ศาลก็จะส่งหมายศาลให้คุมตัวมาไต่สวน

ศาลเลือกที่จะเชื่อคำของอบิเกลและเพื่อน โดยตั้งข้อสันนิษฐานไว้ตั้งแต่แรกว่าเหล่าคุณหญิงสาวผู้ชราที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดนั้นล้วนแล้วคือแม่มดจริง ๆ ศาลเสนอทางเลือกให้เพียงยอมสารภาพว่าตนคือแม่มดและกลับหลังหันให้แก่ซาตานเพื่อศรัทธาในตัวพระผู้เป็นเจ้าอีกครั้ง หรือยอมตายหากปฏิเสธว่าตนมิใช่แม่มด หญิงชราหลายคนต่างยึดมั่นในการพูดความจริง มิไหวหวั่นต่อความตาย

ในยุคมืดนั้นกระบวนการพิสูจน์ว่าหญิงสาวคนใดเป็นแม่มดล้วนแต่เลวร้าย หากใครถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นสาวกซาตานจะถูกดำเนินคดีโดยการเผาไฟ หากผิวกายไม่ไหม้แสดงว่ามีซาตานมาช่วย แต่หากเสียชีวิตในกองเพลิงถือเป็นการยืนยันความบริสุทธิ์ หรือมิเช่นนั้นก็จับถ่วงน้ำหากลอยก็เป็นแม่มด ต้องโดนจับแขวนคอ แต่ถ้าจม แม้ชีวิตจะสูญสิ้นแต่ความบริสุทธิ์จะดำรงอยู่ ไม่ว่าทางไหนก็แย่พอ ๆ กัน!!!

ยุคไหนสมัยใดการล่าแม่มดเป็นเรื่องเลวร้ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่ตรรกะความคิดเรื่องนิติรัฐและนิติธรรมก้าวหน้าไปไกล การล่าแม่มดนั้นคือการใช้อำนาจศาลเตี้ยในการตัดสินคนอื่นว่าเขา ‘ดี’ หรือ ‘เลว’ ตรรกะความคิดในศาลเตี้ยล้วนเกิดจากอวิชชาทั้งสิ้นเพราะโดยมากล้วนกระทำไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก

สิ่งสำคัญที่ศาลเตี้ยที่เหล่าบรรดาผู้ล่าแม่มดมิเคยให้ความสำคัญคือหลักการที่ว่า ‘หากศาลมิได้ตัดสิน ให้ถือว่าผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์’ ไม่เคยมีผู้บริสุทธิ์ขึ้นให้การกับศาลเตี้ยเพราะผู้ที่เผชิญหน้าคือผู้ที่ถูกตราหน้าว่ามีความผิดทั้ง ๆ ที่ยังมิเคยพิจารณาไต่สวนด้วยวิธีอันเป็นธรรม หากคุณคือผู้คิดต่างไปจากกลุ่มล่าแม่มด คุณคือคนผิดทันที ไม่ต้องเสียเวลาพิจารณาความ ส่งไปลงทัณฑ์ได้ทันที แถมกระบวนการลงทัณฑ์ก็รุนแรงราวกับมิต้องการให้ได้ผุดได้เกิด ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อีก ถูกบีบให้กลายเป็นคนนอกที่ใคร ๆ ก็ต่างรังเกียจ

นี่หรือคือการกระทำของผู้ที่อ้างตนว่าศิวิไลซ์ นี่หรือคือการกระทำของผู้ที่เจริญแล้ว นี่คือการกระทำที่สืบเนื่องจากยุคมืดที่ศรัทธาอันมืดบอดสำคัญกว่าตรรกะความคิดและเหตุผลทั้งปวง

เดอะ ครูซิเบิลถือเป็นบทละคร/ภาพยนตร์/หนังสือ ที่สะท้อนวิธีคิดของคนกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยได้อย่างชัดเจน พวกเขาไม่สนใจตรรกะเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้นขอเพียงสามารถกำจัดคนที่คิดต่างจากตนได้ แม้วิธีนั้นจะสามานย์ขนาดใดก็ตาม เขาก็พร้อมจะปฏิบัติและมีรอยยิ้มที่มุมปากด้วยความสุขสมใจ

น่าดีใจเหลือเกินที่ประเทศไทยก็มีคำทำนายจากอดีตถึงอนาคตผ่านนวนิยายเหมือนพม่าไม่มีผิดเพี้ยน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชำแหละจุดอ่อน-แข็ง 6 รูปแบบปกครองชายแดนใต้

Posted: 05 Jan 2012 08:12 AM PST

เวทีสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ ถกประเด็นกระจายอำนาจ วิเคราะห์ 6 รูปแบบการปกครองชายแดนใต้ ไล่ตั้งแต่ ศอ.บต., ทบวงชายแดนใต้, นครปัตตานี, 3 นครยะลา ปัตตานี นราธิวาส, ปัตตานีมหานคร

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 มกราคม 2555 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้นำเสนอรูปแบบทางเลือกการกระจายอำนาจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อที่ประชุมสมัชชาเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้พิจารณาลักษณะเด่นของรูปแบบการบริหาร ข้อสนับสนุน และข้อวิจารณ์ของแต่ละทางเลือก

ในการนี้ ผศ.ดร.ศรีสมภพ ได้ประมวลข้อเสนอรูปแบบการกระจายอำนาจ สรุปได้ว่ามีทั้งสิ้น 6 ทางเลือก แยกเป็น ทางเลือกที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ในปัจจุบัน มีพื้นที่ดูแลครอบคลุม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของเลขาธิการที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลาง มีผู้ว่าราชการจังหวัดจากการแต่งตั้งของกระทรวงมหาดไทย ดูแลรายจังหวัด ถือเป็นหัวใจสำคัญของการปกครองส่วนภูมิภาค ทำหน้าที่ประสานหน่วยงานจากกระทรวงต่างๆ สำหรับการทำงานในพื้นที่ ส่วนองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตั้งแต่ระดับจังหวัด เมือง และตำบลตามลำดับ

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวถึงลักษณะเด่นของ ศอ.บต.ว่า เป็นการบริหารและการปกครองรูปแบบพิเศษที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หน่วยงานราชการส่วนใหญ่ให้การยอมรับ โครงสร้างการบริหาร เลขาธิการมาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ยังคงอยู่เหมือนเดิม

“จุดเด่นอยู่ตรงที่มีความเป็นเอกภาพในการบริหารราชการ และเป็นนิติบุคคล เลขาธิการมีอำนาจสั่งย้ายข้าราชการฝ่ายพลเรือน ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมออกนอกพื้นที่ได้ทันที โครงสร้างบริหารราชการและอำนาจหน้าที่ยังคงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ส่วนข้อวิจารณ์นั้น นักวิชาการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ผู้นี้ระบุว่า พื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมจังหวัดที่ไม่ได้มีความขัดแย้งรุนแรงคือ จังหวัดสตูลและพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดสงขลาด้วย ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่มีอำนาจจริง มีงบประมาณจำกัด ขาดความเป็นอิสระ คนในพื้นที่ไม่ได้มีโอกาสเลือกผู้บริหารศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับทางเลือกที่ 2 คือ ทบวงการบริหารพื้นที่ชายแดนใต้ มีสถานะเทียบเท่ากระทรวงจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐมนตรี มีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้ง ทำหน้าที่เป็นรองปลัดทบวง และมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวถึงลักษณะเด่นว่า อยู่ที่เป็นการบริหารปกครองรูปแบบพิเศษ ที่มีสถานะเทียบเท่ากระทรวง เป็นรูปแบบที่มีลักษณะประนีประนอมระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น ยึดหลักการถ่ายโอนอำนาจ ในส่วนของโครงสร้างการบริหาร มีรัฐมนตรีว่าการทบวงเป็นผู้บริหารสูงสุด ปลัดทบวงเป็นข้าราชการประจำ โดยให้รองปลัดทบวงที่มาจากผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส กำกับดูแลการบริหารงานในแต่ละจังหวัด มีสมัชชาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งตัวแทนภายในกลุ่มอาชีพ มีอำนาจให้ความเห็นชอบต่อนโยบายและงบประมาณของทบวงฯ นอกจากจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ยังคงอยู่เหมือนเดิมแล้ว ยังมีสภาท้องถิ่นที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งในแต่ละเขตท้องถิ่น และผู้นำศาสนาที่สรรหามาจากท้องถิ่นอีกด้วย

“นับเป็นข้อเสนอรูปแบบการปกครอง ที่มีการถ่วงดุลกลุ่มพลังทุกฝ่าย มีลักษณะประนีประนอมระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น และระหว่างคนทุกกลุ่มในท้องถิ่น โดยมีฝ่ายการเมืองเป็นผู้ทำหน้าที่บริหารพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

สำหรับจุดอ่อนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การปกครองรูปแบบทบวงว่า เป็นรูปแบบที่ไม่มีการกระจายอำนาจสู่ประชาชน เนื่องจากยังยึดติดอยู่กับระบบบริหารราชการ ไม่มีหลักประกันว่ารัฐมนตรีว่าการทบวง จะสะท้อนความเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ได้จริง ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่มีอำนาจจริง มีงบประมาณจำกัด และขาดความเป็นอิสระ

สำหรับทางเลือกที่ 3 ‘สามนคร 1’ ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเป็นรายจังหวัด ยังคงเหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแค่ 2 ระดับคือ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล

ลักษณะเด่นของ ‘สามนคร 1’ อยู่ตรงที่ประชาชนในพื้นที่ได้เลือกตั้งผู้ว่าราชการโดยตรง เป็นรายจังหวัด ยกเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด แต่ยังคงมีเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และยุบเลิกราชการส่วนภูมิภาค ในส่วนของโครงสร้างการบริหาร มีผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรง สมาชิกสภาจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากเขต (อำเภอ) มีคณะกรรมการประสานงานระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลยังคงอยู่

ส่วนข้อที่ได้รับการสนับสนุนคือ ประชาชนสามารถเลือกผู้นำที่ตนเองต้องการได้ ในขณะที่ผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้ง มีความเป็นตัวแทนสูง และมีพันธะรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้คนที่เลือกเข้ามา ลดแรงต้านจากองค์กรปกครองท้องถิ่นในปัจจุบัน เพราะเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลยังคงอยู่ พร้อมกับยกฐานะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง และมีอำนาจมากขึ้น ประชาชนในพื้นที่มีโอกาส ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในท้องถิ่นมากขึ้น

โดยข้อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ผศ.ดร.ศรีสมภพมองว่า อยู่ตรงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจจริง มีงบประมาณจำกัด ขาดความเป็นอิสระ การเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้กลุ่มอิทธิพลเข้ามามีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น ส่งผลเกิดการทุจริตสูงขึ้น และประชาชนยังไม่พร้อมที่จะเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด

สำหรับทางเลือกที่ 4 ‘สามนคร 2’ เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเป็นรายจังหวัด ปรับจังหวัดให้เป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษคล้ายกรุงเทพมหานคร

“ลักษณะเด่นของรูปแบบนี้คือ ประชาชนในพื้นที่เลือกตั้งผู้ว่าราชการโดยตรงเป็นรายจังหวัด ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลโครงสร้างการบริหาร มีผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรง สภาจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากเขต หรืออำเภอต่างๆ มีคณะกรรมการประสานงานระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ผศ.ดร.ศรีสมภพ อภิปรายว่า ประเด็นที่รูปแบบนี้ได้รับการสนับสนุนคือ ประชาชนสามารถเลือกผู้นำที่ตนเองต้องการได้ ในขณะที่ผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งก็มีความเป็นตัวแทนสูง และมีพันธะรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้คนที่เลือกเข้ามา ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจเต็มในการบริหารและจัดการทั้งจังหวัด อัตรากำลังข้าราชการในท้องถิ่นจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในท้องถิ่นมากขึ้นตามไปด้วย

ข้อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์คือ รูปแบบนี้จะเกิดแรงต่อต้านจากนักการเมืองท้องถิ่น ที่เคยมีบทบาทในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิม การเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด จะทำให้กลุ่มอิทธิพลเข้ามามีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น แนวโน้มการทุจริตจะมากตามไปด้วย และความไม่พร้อมของประชาชนในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

สำหรับทางเลือกที่ 5 ‘มหานคร 1’ เป็นการปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ รวมพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอำเภอเทพา อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลาเข้าด้วยกัน เป็นหนึ่งหน่วยการปกครอง มีผู้ว่าราชการมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดย่อย

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวถึงลักษณะเด่นว่า อยู่ที่ผู้ว่าราชการมหานครมาจากการเลือกตั้ง รับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ในขณะเดียวกัน ยังคงไว้ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเดิม โครงสร้างการบริหาร ผู้ว่าราชการมหานครมาจากการเลือกตั้งโดยตรง สภามหานครมาจากการเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้ง สภาเขตมาจากการเลือกตั้งโดยตรงภายในเขต และมีคณะกรรมการประสานงานระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น

“จุดเด่นอยู่ตรงที่ประชาชนสามารถเลือกผู้นำที่ตนเองต้องการได้ ในขณะที่ผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งก็มีความเป็นตัวแทนสูง และมีพันธะรับผิดชอบโดยตรงต่อคนที่เลือกมา และลดแรงต้านจากองค์กรปกครองท้องถิ่นในปัจจุบัน เพราะองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ยังคงอยู่ อัตรากำลังข้าราชการในท้องถิ่นจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในท้องถิ่นมากขึ้นตามไปด้วย” ผศ.ดร.ศรีสมภพ

ส่วนข้อที่ถูกวิจารณ์ ผศ.ดร.ศรีสมภพมองว่า อยู่ตรงที่อำนาจของผู้ว่าราชการมหานคร อาจจะทับซ้อนกับขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ การเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด จะทำให้กลุ่มอิทธิพลเข้ามามีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะมีการทุจริตมากตามไปด้วย และยังมีข้อวิจารณ์ถึงความไม่พร้อมของประชาชนในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย

ทางเลือกที่ 6 ‘มหานคร 2’ เป็นการปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ รวมจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และอำเภอเทพา อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลาเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งหน่วยการปกครอง มีผู้ว่าราชการมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และยกเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล

โดยมีลักษณะเด่นตรงที่ผู้ว่าราชการมหานครมาจากการเลือกตั้ง รับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ โดยยกเลิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเดิม ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล โครงสร้างการบริหาร ผู้ว่าราชการมหานครมาจากการเลือกตั้งโดยตรง สภามหานครมาจากการเลือกตั้งโดยตรงตามเขตเลือกตั้ง และสภาเขตมาจากการเลือกตั้งโดยตรงภายในเขต สภาประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งตามสาขาอาชีพ และมีคณะผู้อาวุโสทางจริยธรรม ซึ่งมาจากผู้รู้ทางศาสนาในพื้นที่

“จุดเด่น ประชาชนสามารถเลือกผู้นำที่ตนเองต้องการได้ ในขณะที่ผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งก็มีความเป็นตัวแทนสูงและมีพันธะรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้คนที่เลือกมา การรวมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าด้วยกันสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ อัตรากำลังข้าราชการในท้องถิ่นจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในท้องถิ่นมากขึ้นตามไปด้วย” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ส่วนข้ออ่อนที่ถูกวิจารณ์ คือมีแรงต้านจากองค์กรปกครองท้องถิ่นในปัจจุบัน เพราะองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล จะถูกยกเลิก การเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการนครปัตตานี ทำให้กลุ่มอิทธิพลเข้ามามีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะมีการทุจริตมากตามไปด้วย และมีข้อวิจารณ์ถึงความไม่พร้อมของประชาชนในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ลัทธิก็อปปีอิสม์

Posted: 05 Jan 2012 08:00 AM PST

ข้อมูลข่าวสารมีคุณค่าทั้งในตัวมันเองและเนื้อหาที่บรรจุ และคุณค่าดังกล่าวจะทวีคูณเพิ่มขึ้นด้วยการก็อปปี

แถลงการณ์ของลัทธิก็อปปีอิสม์ซึ่งรัฐบาลสวีเดนรับรองให้เป็นศาสนาอย่างเป็นทางการ

ค้าน “โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย” ชู 3 คำถามจี้รัฐบาลตอบ

Posted: 05 Jan 2012 07:45 AM PST

กลุ่มทวายวอชต์ ร่วมเครือข่ายภาคประชาสังคม ร้องรัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์จากโครงการฯ ท้วงใช้ทุนสาธารณะมูลค่า 5.2 หมื่นล้านบาท-เวนคืนที่ดิน เอื้อโครงการเอกชน ซ้ำเจรจาซื้อขายไฟฟ้าพม่าเพิ่ม ชี้อาจกระทบความมั่นคงระบบไฟฟ้าของไทย 

 
วันนี้ (5 ม.ค.54) กลุ่มทวายวอชต์ ร่วมเครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งไทยและระหว่างประเทศ 17 องค์กร ร่วมกันออกแถลงการณ์ “โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย รัฐบาลต้องฟังประชาชนก่อนถลำสู่ความผิดพลาด” เรียกร้องให้รัฐบาลไทยพิจารณาถึงผลประโยชน์และผลกระทบที่จะได้รับจากโครงการดังกล่าวอย่างรอบคอบ
 
สืบเนื่องจากกำลังจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีไทยและพม่า 5 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม) ที่เมืองทวาย ในวันที่ 7 ม.ค.55 และจากรายงานข่าวทางสื่อมวลชนจะมีการประชุม “ความร่วมมือโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย” เป็นหนึ่งในสามหัวข้อหลักของการประชุม ซึ่งเครือข่ายภาคประชาชนมองว่ารัฐบาลไทยกำลังพิจารณาสนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างจริงจัง
 
แถลงการณ์ดังกล่าวตั้งคำถามและแสดงความห่วงใยต่อปัญหาธรรมาภิบาลของโครงการท่าเรือนำลึกทวาย 3 ข้อ คือ 1.สมควรหรือไม่ที่รัฐบาลจะพิจารณาใช้ทุนสาธารณะมูลค่า 5.2 หมื่นล้านบาท เพื่อก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร จากท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังไปยังชายแดนไทยที่ จ.กาญจนบุรี รวมถึงการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างถนนสายนี้ เพื่อรองรับโครงการของเอกชน
 
2.การให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เจรจาทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นการดำเนินนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชนที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของไทย กล่าวคือไฟฟ้า 3,600 MW จากโรงไฟฟ้าถ่านหินภายในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เป็นสัดส่วนการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศที่สูงถึง 30% จากปริมาณ 11,669 MW ที่วางแผนจะซื้อจากต่างประเทศในช่วงปี 2553-2573 และหากรวมการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อน ฮัตจี และท่าซาง ประมาณ 8,000 MW ที่จะมีการหารือในครั้งนี้ด้วยแล้ว ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากพม่าเพียงประเทศเดียวอาจสูงถึง 11,600 MW หรือเกือบ 100% ของปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศของไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า
 
3.การป้องกันและควบคุมผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการนี้มีแนวโน้มที่จะมีมาตรฐานที่ต่ำกว่าที่บังคับใช้ในประเทศไทย เสมือนเป็นการผลักภาระด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหากมีการก่อสร้างโครงการนี้ในไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งโครงการนี้จะนำไปสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า และผลที่อาจติดตามมาคือการอพยพย้ายถิ่นของชาวทวายที่สูญเสียวิถีชีวิตดั้งเดิม เพื่อมาเป็นแรงงานรับจ้างในประเทศไทย
 
“พวกเราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยพิจารณาถึงผลประโยชน์และผลกระทบต่างๆที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ด้วยการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์จากโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม และกิจการเกี่ยวเนื่องทั้งหมด และรับฟังความเห็นของประชาชนทุกกลุ่ม ก่อนการตัดสินใจใดๆ” แถลงการณ์ระบุ
 
ทั้งนี้ โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายซึ่งมีการระบุว่านี่คือเส้นทางสายตะวันออก-ตะวันตกสายใหม่ของอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง จะตั้งอยู่ทางตอนใต้ของพม่า โดยโครงการประกอบด้วยการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมครอบคลุมพื้นที่รวม 250 ตารางกิโลเมตร (156,250 ไร่) โรงไฟฟ้าถ่านหิน และถนนเชื่อมระหว่างไทยและพม่า จากเมืองทวาย ผ่าน จ.กาญจนบุรีไปยังท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังของไทย โดยรัฐบาลพม่าได้ให้สิทธิสัมปทานโครงการนี้แก่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัทสัญชาติไทย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 พ.ย.53 อายุสัมปทาน 60 ปี
 
 
แถลงการณ์ดังกล่าวะบุรายละเอียดดังนี้
 
 
 
แถลงการณ์
5 มกราคม 2555
โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย รัฐบาลต้องฟังประชาชนก่อนถลำสู่ความผิดพลาด
 
ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่กรุงเนปิดอร์ ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 19-20 ธันวาคม 2554 ได้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าเพื่อผลักดันการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ทางตอนใต้ของพม่า โครงการนี้ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าถ่านหิน ระบบโลจิสติกส์เชื่อมระหว่างเมืองทวาย ผ่านจังหวัดกาญจนบุรีไปยังท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังของไทย มีการระบุว่านี่คือเส้นทางสายตะวันออก-ตะวันตกสายใหม่ของอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง อย่างไรก็ตาม โดยข้อเท็จจริงโครงการนี้เป็นของเอกชนโดยสมบูรณ์ เพราะรัฐบาลพม่าได้ให้สิทธิสัมปทานโครงการนี้แก่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัทสัญชาติไทย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 อายุสัมปทาน 60 ปี โดยโครงการประกอบด้วยการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมครอบคลุมพื้นที่รวม 250 ตารางกิโลเมตร (156,250 ไร่) และถนนเชื่อมระหว่างไทยและพม่า แต่การณ์กลับปรากฏว่า รัฐบาลไทยกำลังพิจารณาสนับสนุนโครงการนี้อย่างจริงจัง เพราะจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีไทยและพม่า 5 กระทรวง (การต่างประเทศ, อุตสาหกรรม, พลังงาน, การคลัง และคมนาคม) ที่เมืองทวาย ในวันที่ 7 มกราคม 2555 สื่อมวลชนรายงานว่า มี “ความร่วมมือโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย” เป็นหนึ่งในสามหัวข้อหลักของการประชุม
 
พวกเราองค์กรตามรายนามท้ายแถลงการณ์นี้ขอตั้งคำถามและแสดงความห่วงใยต่อปัญหาธรรมาภิบาลของโครงการท่าเรือนำลึกทวายในสามประการ ดังนี้
 
ประการแรก ควรหรือไม่ที่รัฐบาลจะพิจารณาใช้ทุนสาธารณะมูลค่า 5.2 หมื่นล้านบาท เพื่อก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร จากท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังไปยังชายแดนไทยที่จังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างถนนสายนี้ เพื่อรองรับโครงการของเอกชน
 
ประการที่สอง การให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เจรจาทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 3,600 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าถ่านหินภายในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายอันเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จะดำเนินการโดยบริษัทเจ้าของสัมปทาน เป็นการดำเนินนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชนที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของไทย กล่าวคือไฟฟ้า 3,600 เมกะวัตต์ เป็นสัดส่วนการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศที่สูงถึง 30% จากปริมาณ 11,669 เมกะวัตต์ ที่วางแผนจะซื้อจากต่างประเทศในช่วงปี 2553-2573 และหากรวมการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ฮัตจี และท่าซาง ประมาณ 8,000 เมกะวัตต์ (ทั้งสองเขื่อนนี้ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ได้สิทธิสัมปทานด้วย) ที่จะมีการหารือในครั้งนี้ด้วยแล้ว ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากพม่าเพียงประเทศเดียวอาจสูงถึง 11,600 เมกะวัตต์ หรือเกือบ 100% ของปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศของไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า และยังถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศที่ต้องพึ่งไฟฟ้าจากโครงการเดียวในประเทศพม่าถึงร้อยละ 8-10 ของระบบไฟฟ้าทั้งหมดด้วย
 
ประการที่สาม มีแนวโน้มที่การป้องกันและควบคุมผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมต่างๆภายใต้โครงการนี้จะมีมาตรฐานที่ต่ำกว่าที่บังคับใช้ในประเทศไทย เสมือนเป็นการผลักภาระด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหากมีการก่อสร้างโครงการนี้ในไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีมาตรฐานการคุ้มครองทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ต่ำกว่า อีกทั้งโครงการนี้จะนำไปสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า และผลที่อาจติดตามมาคือการอพยพย้ายถิ่นของชาวทวายที่สูญเสียวิถีชีวิตดั้งเดิม เพื่อมาเป็นแรงงานรับจ้างในประเทศไทย
 
พวกเราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยพิจารณาถึงผลประโยชน์และผลกระทบต่างๆที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ด้วยการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์จากโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม และกิจการเกี่ยวเนื่องทั้งหมด และรับฟังความเห็นของประชาชนทุกกลุ่ม ก่อนการตัดสินใจใดๆ
 
 
กลุ่มทวายวอชต์ (Tavoy Watch)
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ
โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขงและพม่า
มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
มูลนิธิศักยภาพเยาวชน (ไทยัพ)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลุ่มเขลางค์เพื่อการพัฒนา จ.ลำปาง
กลุ่มฮักเมืองก๊ก
คณะกรรมการองค์กรเอกชนด้านเอดส์
ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน
Burma Rivers Network
Burma Environment Working Group
Ethnic Community Development Forum
Karen Environment and Social Action Network
Karen Rivers Watch
Shw
e Gas Movement
Salween Watch
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สวีเดนรับรอง “การแชร์ไฟล์” เป็นศาสนาทางการ

Posted: 05 Jan 2012 04:48 AM PST

รัฐบาลสวีเดนรับรอง “การแชร์ไฟล์” ให้เป็นศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ววานนี้ ภายใต้ชื่อ ‘Church of Kopimism’ นับเป็นประเทศแรกที่รับรองให้การเชิดชู “ข้อมูลข่าวสาร” และการ “ก็อปปี้” เป็นการกระทำทางศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (4 ม.ค.) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลสวีเดนรับรองให้การแชร์ไฟล์เป็นศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศแล้ว หลังจากอิซัค เกอร์สัน ชาวสวีเดนผู้ก่อตั้งลัทธิมิชชันนารีแห่งก็อปปีอิสม์ (The Missionary Church of Kopimism) ถูกปฏิเสธจากขอยื่นคำร้องขอจดทะเบียนแล้วสองครั้งตั้งแต่ปี 2553

เว็บไซต์ torrentfreak ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวเกี่ยวกับการแชร์ไฟล์และบิตทอร์เรนท์รายงานว่า ลัทธิ ‘Kopimism’ ซึ่งนับถือเครื่องหมาย CTRL+C และ CTRL+V เป็นสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ หวังว่าการจดทะเบียนให้การแชร์ข้อมูลมีสถานะเป็นศาสนาทางการ จะช่วยป้องกันการดำเนินคดีทางกฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์และการแชร์ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต

อิซัค ผู้ก่อตั้งลัทธิดังกล่าว ให้สัมภาษณ์เว็บ torrentfreak ว่า เขาหวังว่าจะมีคนเปิดเผยตัวออกมาในฐานะคนนับถือศาสนาก็อปปีอิสม์ (Kopimists) มากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันการ “ก็อปปี้” หรือการแชร์ข้อมูลถูกมองว่าอาจส่งผลกระทบทางข้อกฎหมาย ทำให้หลายคนเกรงว่าอาจถูกจับกุมจากการก็อปปีและเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งเขาหวังว่าการก่อตั้งศาสนานี้จะทำให้ความคิดดังกล่าวเปลี่ยนไป

แถลงการณ์ของลัทธิก็อปีอิสม์ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ ระบุว่า สำหรับลัทธิก็อปปีอิสม์ ข้อมูลข่าวสารนับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการก็อปปีถือเป็นพิธีกรรมอันสูงสุด โดยชี้ว่า ข้อมูลข่าวสารมีคุณค่าทั้งในตัวมันเองและเนื้อหาที่บรรจุ และคุณค่าดังกล่าวจะทวีคูณเพิ่มขึ้นด้วยการก็อปปี ดังนั้น การก็อปปี ถือเป็นหลักการสำคัญที่สุดขององค์กรและศาสนิกชนดังกล่าว ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุว่า การเข้าเป็นสมาชิกในศาสนาก็อปปีอิสม์ไม่จำเป็นต้องมีขั้นตอนที่เป็นทางการแต่อย่างใด เพียงแต่ผู้นับถือต้องระลึกถึงการกระทำที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด นั่นคือข้อมูลข่าวสารและการก็อปปี

ถึงแม้ว่าสถานะอย่างเป็นทางการของลัทธิดังกล่าวจะไม่อนุญาตให้การละเมิดลิขสิทธิ์สามารถทำได้โดยอัตโนมัติ แต่ผู้ก่อตั้งลัทธิก็หวังว่า ความเชื่อของพวกเขาจะส่งผลต่อการร่างกฎหมายเกี่ยวกับการแชร์ข้อมูลข่าวสารในอนาคต

“พวกเราชาวก็อปปีอิสม์ ไม่เพียงแต่หวังพึ่งซึ่งกันและกันในการต่อสู้นี้เท่านั้น แต่ยังหวังพึ่งพาต่อคนทุกคนที่ก็อปปีและแชร์ข้อมูลข่าวสาร ดังนั้น ทุกคนที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ จงก็อปปีต่อไป และสดุดีการก็อปปี” เกอร์สันกล่าว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อุ่นเครื่องเรื่องศาลโลก: ความคืบหน้าคดีปราสาทพระวิหาร

Posted: 05 Jan 2012 03:52 AM PST

ข่าวที่กัมพูชาขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) “ตีความ” คำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 เริ่มกลับมาอุ่นตัวอีกครั้งในต้นปี พ.ศ.2555 แต่เมื่อรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสื่อมวลชนดูจะยังไม่สร่างจากการพักปีใหม่ ผู้เขียนจึงจำต้องฝากข้อมูลให้ประชาชนเตรียมอุ่นเครื่องเรื่องศาลโลกไว้ 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1: ศาลโลกจะมีคำพิพากษาในเดือนกุมภาพันธ์นี้จริงหรือ ?
เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา สื่อมวลชนไทยหลายสำนักได้รายงานคำสัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำนองว่า เนื่องจากจะมีการเปลี่ยนแปลงองค์คณะผู้พิพากษาศาลโลกในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และเพื่อไม่ให้การพิพากษาคดีคาบเกี่ยวกับช่วงการเปลี่ยนแปลงองค์คณะ จึงคาดว่าศาลโลกจะมีคำพิพากษาภายในเดือนกุมภาพันธ์ (ดูข่าว เช่น http://bit.ly/yyofVV, http://bit.ly/umw72E, http://on.fb.me/tgYHAP, http://bit.ly/rtZARS)

ผู้เขียนเห็นว่ารายงานข่าวดังกล่าวเป็นการนำเสนอที่ผิดพลาดและหละหลวม เพราะข้อเท็จจริงปรากฎชัดเจนว่าศาลโลกจะยังไม่มีคำพิพากษาภายในเดือนกุมภาพันธ์ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

ประการแรก ศาลโลกได้แจ้งให้ทั้งไทยและกัมพูชาทราบแล้วว่า ศาลได้อนุญาตให้ไทยและกัมพูชายื่นบันทึกคำอธิบายเพิ่มเติม (further written explanations) โดยฝ่ายกัมพูชายื่นได้ภายในวันที่ 8 มีนาคม 2555 และฝ่ายไทยยื่นได้ภายในวันที่ 21 มิถุนายน 2555 กล่าวให้เข้าใจโดยง่ายก็คือ กระบวนพิจารณาของศาลในคดีนี้จะยังคงใช้เวลาอย่างน้อยไปถึงปลายปี 2555 หลังที่ไทยได้ยื่นเอกสารดังกล่าว (ซึ่งหลังจากนั้นทนายความอาจขอให้ศาลอนุญาตให้คู่ความแถลงชี้แจงเป็นวาจาต่อศาลอีกรอบก็เป็นได้)

ทั้งนี้ การที่ศาลอนุญาตให้มีการส่งเอกสารเพิ่มเติมดังกล่าว ถือเป็นเรื่องปกติที่ถูกต้องตามระเบียบศาล (Rules of Court) ข้อที่ 98 วรรคสี่ โดยศาลอาจอนุญาตเห็นว่ายังมีประเด็นที่คู่ความต้องโต้เถียงหักล้างกันต่อเนื่องจากบันทึกข้อสังเกต (written observations) ซึ่งไทยและกัมพูชาได้ยื่นต่อศาลไปแล้ว โดยฉบับของไทยมีรายละเอียดกว่าพันหน้า หรืออีกนัยหนึ่งก็อาจเป็นความพยายามของคู่ความในการเพิ่มเวลาการเจรจานอกศาล เช่น เจรจาถอนคดีเพื่อลดความเสี่ยงของผลคำพิพากษาก็เป็นได้ ทั้งนี้ ศาลโลกได้ออกเอกสารข่าวดังกล่าวไปตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2554 (http://www.icj-cij.org/docket/files/151/16843.pdf)

ประการที่สอง เหตุผลของนายอภิสิทธิ์ (ตามรายงานข่าว) ที่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงองค์คณะผู้พิพากษาศาลโลกในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ก็เป็นเหตุผลที่คลาดเคลื่อนกับความเป็นจริงเช่นกัน เพราะระเบียบวิธีพิจารณาของศาลโลกไม่มีเรื่อง “การเปลี่ยนองค์คณะ” ในเดือนกุมภาพันธ์ตามที่ข่าวอ้าง กล่าวคือ ผู้พิพากษาศาลโลกที่เข้ารับตำแหน่งตามวาระก็ต้องร่วมเป็นองค์คณะพิจารณาทุกคดีจนครบวาระเว้นมีเหตุเฉพาะ เช่น ถอนตัวจากคดี หรือ มีกระบวนพิจารณาเร่งด่วน (Chamber of Summary Procedure) ศาลโลกจึงแตกต่างจากศาลในประเทศที่อาจมีการจ่ายสำนวนให้ผู้พิพากษาสามคนจากหลายคนเป็น “องค์คณะ” ในคดีหนึ่งคดีใดเป็นการเฉพาะ

ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ในเดือนกุมภาพันธ์ตามระเบียบของศาลโลกก็คือ “การสิ้นวาระดำรงตำแหน่ง” ของผู้พิพากษาศาลโลกบางรายซึ่งไม่ได้เข้าออกจากตำแหน่งในศาลโลกพร้อมกัน กระนั้นก็ดี องค์การสหประชาชาติได้ดำเนินการคัดเลือกผู้พิพากษาที่จะมีวาระดำรงตำแหน่งเริ่มจากเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ครบถ้วนเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ปลายปี 2554 แล้ว (http://bit.ly/tNSTEF) ทั้งนี้ ผู้พิพากษาที่ดำรงตำแหน่งครบวาระมีทั้งสิ้นห้าราย แต่มีสามรายในนั้นที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่ออีกวาระ และมีสองรายที่พ้นจากวาระ (ทั้งสองรายเป็นฝ่ายเสียงข้างมากที่ลงมติให้ไทยและกัมพูชาถอนกำลังทหารตามคำสั่งมาตรการชั่วคราว) อย่างไรก็ตาม ธรรมนูญศาลโลก ข้อ 13 วรรคสาม ประกอบกับระเบียบศาลข้อที่ 33 โดยทั่วไปก็เปิดช่องให้ผู้พิพากษารายเดิมที่พิจารณาคดีค้างอยู่สามารถนั่งพิจารณาจนช่วงคดีเสร็จสิ้นแม้ตนจะพ้นวาระไปแล้วก็ตาม

ประการที่สาม แม้หากจะไม่พิเคราะห์ให้ลึกซึ้งถึงเหตุผลสองประการที่กล่าวมา บุคคลธรรมดาที่แม้จะไม่ได้เป็นนักการเมืองหรือสื่อมวลชน หากสำรวจตรรกะเบื้องต้นให้ดีสักครู่ ก็จะพบว่าการที่ศาลจะเร่งพิจารณาคดีของศาลให้เสร็จภายในไม่กี่เดือนเพื่อให้คดีจบทันการสิ้นวาระของผู้พิพากษานั้น ฟังจะขัดแย้งกับความเป็นจริงที่ว่า ปัจจุบันมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาโดยศาลโลกอยู่ไม่น้อยกว่าสิบคดี และแต่ละคดีใช้เวลาไม่น้อยกว่าสองถึงสามปี ดังนั้น ตรรกะที่ว่าศาลจะพยายามทำให้ทุกคดีเสร็จสิ้นภายในเวลาอีกไม่กี่เดือนได้นั้นย่อมน่าเคลือบแคลงยิ่งนัก

จากเหตุผลสามประการที่กล่าวมา หากนายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ตรงตามข่าวจริง คงต้องเห็นใจที่ปรึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศของนายอภิสิทธิ์ที่หละหลวมจนทำให้บุคคลระดับผู้นำฝ่ายค้านและอดีตผู้นำประเทศ “ปล่อยไก่” ต้อนรับปีใหม่มาทั้งเล้า อย่าลืมว่านายอภิสิทธิ์คนเดียวกันนี้เคยได้ให้สัมภาษณ์เรื่อง “การถอนตัวภาคีอนุสัญญามรดกโลกฯ” ไปก่อนการเลือกตั้ง แต่หลังเลือกตั้งพอน้ำท่วมมรดกโลกที่อยุธยากลับปรากฎว่าไทยไม่เคยถอนตัวดังที่หลายคนเข้าใจ (http://on.fb.me/mJX3b2 )

ส่วนที่ปรึกษาฝ่ายรัฐบาลเองก็น่าเห็นใจเช่นกัน เพราะดูท่าจะยังไล่ไก่เข้าเล้าไม่ทัน เห็นได้จากการที่ นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาตอบโต้คำสัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ โดยเน้นโจมตีแต่เรื่องรัฐบาลชุดเก่า แต่กลับไม่มีรายงานว่านางฐิติมาได้แก้ไขข้อมูลคลาดเคลื่อนชุดใหม่ให้ประชาชนเข้าใจให้ถูกต้องหรือไม่ (เช่น http://bit.ly/A3mgyP และ http://bit.ly/yLhnj7) ยิ่งหากจะมีข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่รู้และเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี แต่กลับสงวนเนื้อสงวนคำหรือไม่มีการประสานงานระหว่างกันจนปล่อยให้โฆษกรัฐบาลทำงานอย่างไร้ข้อมูล ก็น่าเห็นใจอยู่ไม่น้อย

ยังมิพักที่ต้องเห็นใจสื่อมวลชนไทยที่ทำข่าวเหนื่อยมาตลอดช่วงปลายปี ยังไม่ทันสร่างจากพักปีใหม่ ก็พลาดท่าไม่ได้ตรวจสอบเนื้อหาข่าวย้อนหลังจนรายงานข่าวขัดแย้งให้ประชาชนสับสนแต่ต้นปี

ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนโปรดอุ่นเครื่องและรู้ให้ลึกยิ่งกว่านักการเมืองและสื่อมวลชนไทยว่า ศาลโลกจะยังไม่พิพากษาคดีในเดือนกุมภาพันธ์นี้อย่างแน่นอน

ประเด็นที่ 2: ไทยยังมีข้อพิพาทอยู่กับกัมพูชาในศาลโลกจริงหรือ ?
คำถามนี้อาจฟังดูแล้วน่าฉงน แต่ขอฝากให้บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล ตลอดจนสื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ทั้งหลายนำไปอุ่นเครื่องเตรียมการกล่าวอ้างให้ระมัดระวังว่า ในทางกฎหมายนั้น หากจะกล่าวอ้างให้ถูกต้องตรงกับสิ่งที่ไทยได้แถลงต่อศาลไปก่อนหน้านี้ ย่อมต้องถือว่าไทยไม่มีข้อพิพาทกับกัมพูชาที่เกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษา พ.ศ. 2505 แต่อย่างใด เพราะสำหรับไทยแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวมีความชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้องกับเส้นเขตแดน และไทยก็เห็นว่ากัมพูชาได้รับทราบและเข้าใจคำพิพากษาชัดเจนต้องตรงกัน และอยู่ร่วมกันมาอย่างสงบโดยยึดแนวรั้วลวดหนามรอบปราสาทมากว่าสี่สิบปี แต่ฝ่ายกัมพูชากลับมาตีประเด็นให้ศาลหลงเข้าใจว่าไทยและกัมพูชาอ่านคำพิพากษาคนละแบบมาตลอด ซึ่งไทยย่อมปฎิเสธว่าไม่เป็นความจริง

ผู้เขียนย้ำว่า แม้คำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2554 ย่อหน้าที่ 31 จะสรุปประเด็นการตีความคำพิพากษา “ที่มีมูล” (appears to exist) ไว้สามประเด็น คือ (1) เรื่องบริเวณใกล้เคียงรอบตัวปราสาท (vicinity) (2) เรื่องความต่อเนื่องของพันธกรณีในการถอนทหารและเคารพอธิปไตย และ (3) เรื่องสถานะของแผนที่และเส้นเขตแดน แต่กฎหมายก็เปิดช่องให้ศาลยังคงสามารถปฎิเสธที่จะรับตีความประเด็นใดประเด็นหนึ่งหรือทั้งหมดได้ หากศาลพบว่าแท้จริงแล้วคู่ความได้มีความเข้าใจคำพิพากษาตรงกัน หรือประเด็นที่กัมพูชาขอให้ตีความนั้นเกินเลยไปจากขอบเขตของคำพิพากษาเดิม

ดังนั้น หากผู้ใดต้องการจะร่วมสงวนท่าทีของไทยให้สอดคล้องกับข้อต่อสู้ที่ไทยแถลงไปต่อศาลโลก แทนที่จะไปกล่าวหรือรายงานว่าไทยกับกัมพูชามีข้อพิพาทเกี่ยวกับคำพิพากษา หรือเห็นไม่ตรงกันจนทำให้ศาลโลกต้องกลับมาตีความ ก็ควรจะเปลี่ยนเสียใหม่เป็นว่า ไทยเห็นว่าไทยกับกัมพูชาเข้าใจขอบเขตและความหมายของคำพิพากษาตรงกันมาโดยตลอด แต่กัมพูชามากลับลำตีประเด็นเรื่องเขตแดนภายหลัง ดังนั้น เมื่อไทยกับกัมพูชาเข้าใจขอบเขตและความหมายของคำพิพากษาตรงกัน อีกเรื่องเขตแดนยังเกินเลยขอบเขตของคำพิพากาษเดิม ศาลโลกย่อมไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปตีความคำพิพากษาได้

ประเด็นที่ 3: การถอนกำลังทหารให้เป็นไปตามคำสั่งศาลโลกละเมิดอธิปไตยไทยจริงหรือ ?
เมื่อมีข่าวว่าไทยและกัมพูชาพร้อมจะร่วมมือกันปฏิบัติตาม “คำสั่งมาตรการชั่วคราว” ของศาลโลก โดยการถอน (หรือ “ปรับ”) กำลังทหารออกจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ก็มีผู้ห่วงใยเริ่มทักท้วงว่าหากไทยปฏิบัติตาม ย่อมถือเป็นการละเมิดอธิปไตยของไทยเพราะการถอนทหารกินบริเวณมาในเขตของไทยอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีผู้ห่วงใยท้วงติงว่า ก่อนที่รัฐบาลจะไปดำเนินการตกลงกับกัมพูชาเพื่อถอนหรือปรับกำลังทหารนั้น รัฐบาลจะต้องดำเนินการขอความเห็นชอบจากรัฐสภาและรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เสียก่อน

ผู้เขียนเกรงว่าความห่วงใยและหวังดีดังกล่าวอาจไม่ได้ตั้งอยู่บนความแตกฉานในข้อกฎหมาย ดังนี้

ประการแรก การปฏิบัติตามคำสั่งศาลเพื่อเคารพเขตปลอดทหารชั่วคราวดังกล่าว เป็นเพียงเรื่องมาตรการชั่วคราวที่มุ่งป้องกันการปะทะกันด้วยอาวุธ ซึ่งไทยและกัมพูชามีสิทธิขอให้ศาลแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้หากมีเหตุผลจำเป็น ที่สำคัญ พิกัดที่ศาลใช้กำหนดเขตปลอดทหารชั่วคราวดังกล่าว มิได้มีผลทางกฎหมายต่อเขตแดนแต่อย่างใด ดังที่ศาลได้ย้ำอย่างชัดเจนในคำสั่งหลายครั้ง (เช่น ย่อหน้าที่ 21, 38 และ 61) ว่าการพิจารณาออกคำสั่งครั้งนี้ ศาลย่อมไม่ก้าวเข้าไปวินิจฉัยประเด็นที่กัมพูชาอ้างว่าดินแดนส่วนใดเป็นของใครหรือเขตแดนจะต้องเป็นไปตามเส้นหรือแผนที่ใด (ประเด็นที่คนไทยควรรู้เกี่ยวกับคำสั่งศาลโลก โปรดดู http://on.fb.me/ovWF6a) นอกจากนี้ เพียงการที่ทหารไทยยืนหรือไม่ยืนอยู่ ณ จุดใด มิได้เป็นเครื่องวัดว่าไทยมีอธิปไตยเหนือพื้นที่นั้นหรือไม่แต่อย่างใด

ประการที่สอง รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ไม่ได้บัญญัติถึงกรณีการปฎิบัติตามคำสั่งศาลโลก และแม้จะมีผู้ตีความว่าไทยและกัมพูชาจะถอนหรือปรับกำลังตามข้อตกลงระหว่างสองประเทศก็ดี แต่หากการดำเนินการดังกล่าวเป็นการทำข้อตกลงเพื่อประสานงานในทางบริหารเป็นการชั่วคราว โดยการอาศัยอำนาจของฝ่ายบริหารโดยแท้ เช่น การควบคุมเคลื่อนย้ายกำลังพล การดังกล่าวก็มิต้องด้วยกรณีของมาตรา 190 ในทางกลับกัน การพยายามยัดเยียดให้อำนาจของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะการใช้อำนาจที่เป็นของฝ่ายบริหารโดยแท้ เช่น การควบคุมเคลื่อนย้ายกำลังพลทหาร ตกอยู่ภายใต้อำนาจนิติบัญญัติหรือตุลาการตามมาตรา 190 จะกลับกลายเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจและความรับผิดชอบในทางประชาธิปไตย และชักนำให้เกิดภาวะความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินในที่สุด

ประการที่สาม การยก “อำนาจอธิปไตย” ขึ้นอ้างอย่างพร่ำเพรื่อโดยที่ผู้อ้างไม่เข้าใจถึงความหมายของคำดังกล่าวย่อมเป็นกับดักที่อันตรายยิ่งนัก ในโลกปัจจุบันแทบจะไม่มี “อำนาจอธิปไตยเด็ดขาด” หลงเหลืออีกแล้ว มีแต่เพียง “อำนาจอธิปไตย” ภายใต้กฎหมายและความร่วมมือระหว่างประเทศ การที่ไทยและกัมพูชายอมปฎิบัติตามคำสั่งศาลโลกก็ไม่ใช่เพราะถูกบังคับหรือเพื่อสมยอมแก่ใคร แต่เพื่อยินยอมให้เจ้าของ “อำนาจอธิปไตย” ทุกหมู่เหล่าอยู่ร่วมบนโลกใบนี้ได้อย่างสงบสุข ตามที่ไทยและกัมพูชาได้ตกลงผูกพันทางกฎหมายไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ การที่ไทยเข้าทำสนธิสัญญาดังกล่าวเสียอีก กลับเป็นเครื่องยืนยันว่าไทยพร้อมที่จะใช้ “อำนาจอธิปไตย” ตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อรักษา “อำนาจอธิปไตย” ของไทยไว้ให้คงอยู่ร่วมกับ “อำนาจอธิปไตย”  ของผู้อื่น อย่างเสมอภาค ยุติธรรมและไม่เบียดเบียนกัน (รายละเอียดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย และมาตรา 190 โปรดดู http://bit.ly/AbacnL

 

หมายเหตุ: ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหาร ศึกษาได้ที่ https://sites.google.com/site/verapat/temple

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสียงจากอดีตนักศึกษา: ถึง...เธอ, ผู้นำเชียร์งานบอล

Posted: 05 Jan 2012 03:24 AM PST

โหวกเหวกส่งเสียงดัง

ด้วยมุ่งหวังยังจุดหมาย

ซักซ้อมเหงื่อโทรมกาย

ฝันเฉิดฉายหมายชื่นชม

 

เร้าเรียกเสียง "รุ่นพี่"

ทั้งพูดดีทั้งพูดข่ม

"รุ่นน้อง" เหนื่อยตรอมตรม

ยืนแทบล้มยังสู้ไป

 

ป๊าบหนึ่ง-ป๊าบสอง-ป๊าบสาม [1]

ทำซ้ำทำตามมิสงสัย

มือตรงหน้าคงไว้

จะเด่นไกลใน "งานบอล"

 

โสภาแลงามงด

คือทั้งหมดที่พร่ำสอน

เหนือ "จุฬาลงกรณ์"

ไม่ง้องอนประชาชน

 

บ้านเมืองเป็นอย่างไร

ไม่สนใจไม่ใคร่สน

ขอทำหน้าที่ตน

สูงส่งล้นแห่ง "แดนโดม"

 

 

                               ปุจฉาชน 

                               ณ ตึกกิจกรรมนักศึกษา ธรรมศาสตร์ ท่าพรจันทร์

                               4 มกราคม 2554

 


[1]"ป๊าบ" คือการทำเสียงในการฝึกซ้อมแทนการปรบมือให้จังหวะของกลุ่มผู้นำเชียร์ในธรรมศาสตร์ (เข้าใจว่าจุฬาฯก็ใช้คำเดียวกัน)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กระจายอำนาจ สู่การปฏิรูปโครงสร้างรัฐชายแดนใต้ (5)

Posted: 05 Jan 2012 03:02 AM PST

 

ในงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ในวันที่ 5 มกราคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่สองของงาน ที่กำหนดให้มีการนำเสนอเรื่องการกระจายอำนาจในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น

สาระสำคัญที่คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรให้ความสนใจอย่างเป็นพิเศษคือ ทางเลือกการกระจายอำนาจรูปแบบพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีอยู่ 6 ทางเลือก คราวนี้มาว่ากัน 2 ประเด็นสุดท้าย 

ทางเลือกที่ 5 มหานคร 1
เป็นการปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่รวมพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอำเภอเทพา อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลาเข้าด้วยกัน เป็นหนึ่งหน่วยการปกครอง มีผู้ว่าราชการมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดย่อย

ลักษณะเด่นของรูปแบบนี้ ผู้ว่าราชการมหานครมาจากการเลือกตั้ง รับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ในขณะเดียวกัน ยังคงไว้ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเดิม

โครงสร้างการบริหาร ผู้ว่าราชการมหานครมาจากการเลือกตั้งโดยตรง สภามหานครมาจากการเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้ง สภาเขตมาจากการเลือกตั้งโดยตรงภายในเขต และมีคณะกรรมการประสานงานระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น

จุดเด่นอยู่ตรงที่ประชาชนสามารถเลือกผู้นำที่ตนเองต้องการได้ ในขณะที่ผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งก็มีความเป็นตัวแทนสูง และมีพันธะรับผิดชอบโดยตรงต่อคนที่เลือกมา และลดแรงต้านจากองค์กรปกครองท้องถิ่นในปัจจุบัน เพราะองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ยังคงอยู่

อัตรากำลังข้าราชการในท้องถิ่นจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในท้องถิ่นมากขึ้นตามไปด้วย

ข้อที่ถูกวิจารณ์คือ อำนาจของผู้ว่าราชการมหานคร อาจจะทับซ้อนกับขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างเต็มที่

การเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด จะทำให้กลุ่มอิทธิพลเข้ามามีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะมีการทุจริตมากตามไปด้วย และยังมีข้อวิจารณ์ถึงความไม่พร้อมของประชาชนในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย

หน้าตาของปัตตานีมหานคร 1 รูปแบบใกล้เคียงกับร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการนครปัตตานี พ.ศ. ... ของพรรคเพื่อ

สาระสำคัญระบุว่า การบริหารนครปัตตานี ประกอบด้วย สภานครปัตตานี และผู้ว่านครปัตตานี สมาชิกสภานครปัตตานีมาจากการเลือกตั้งจากตัวแทนอำเภอ โดยให้อำเภอเป็นเขตเลือกตั้งมีสมาชิกสภาฯได้ 1 คน ให้มีผู้ว่านครปัตตานีหนึ่งคน และรองผู้ว่านครปัตตานีได้ไม่เกิน 3 คน ผู้ว่านครปัตตานี มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี

ให้นครปัตตานีปฏิบัติภารกิจในการจัดทำ และบูรณาการแผนงานโครงสร้างด้านการพัฒนาของหน่วยงานของรัฐต่างๆ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและเอกชน

ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างและอัตรากำลังของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มาเป็นของนครปัตตานี

นโยบายเสริมสร้างสันติสุข ยุทธศาสตร์การแก้ไขความมั่นคงและการรักษาความมั่นคงภายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐบาล

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติราชการของนครปัตตานี

ให้ดำรงตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี ยังคงอยู่

ทั้งนี้จะต้องยกเลิกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 โดยให้นครปัตตานี เป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษทำหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาจังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานีอย่างบูรณาการ และให้ใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการนครปัตตานีมหานคร พ.ศ. ...แทน

ทางเลือกที่ 6 มหานคร 2
เป็นการปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ รวมจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และอำเภอเทพา อำจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลาเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งหน่วยการปกครอง มีผู้ว่าราชการมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และยกเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล

ลักษณะเด่น ผู้ว่าราชการมหานครมาจากการเลือกตั้ง รับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ โดยยกเลิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเดิม ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล

โครงสร้างการบริหาร ผู้ว่าราชการมหานครมาจากการเลือกตั้งโดยตรง สภามหานครมาจากการเลือกตั้งโดยตรงตามเขตเลือกตั้ง และสภาเขตมาจากการเลือกตั้งโดยตรงภายในเขต สภาประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งตามสาขาอาชีพ และมีคณะผู้อาวุโสทางจริยธรรม ซึ่งมาจากผู้รู้ทางศาสนาในพื้นที่

จุดเด่น    ประชาชนสามารถเลือกผู้นำที่ตนเองต้องการได้ ในขณะที่ผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งก็มีความเป็นตัวแทนสูงและมีพันธะรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้คนที่เลือกมา

การรวมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าด้วยกันสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่

อัตรากำลังข้าราชการในท้องถิ่นจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในท้องถิ่นมากขึ้นตามไปด้วย

ข้ออ่อนที่ถูกวิจารณ์คือ มีแรงต้านจากองค์กรปกครองท้องถิ่นในปัจจุบัน เพราะองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล จะถูกยกเลิก

การเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการนครปัตตานี ทำให้กลุ่มอิทธิพลเข้ามามีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะมีการทุจริตมากตามไปด้วย และมีข้อวิจารณ์ถึงความไม่พร้อมของประชาชนในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

รายละเอียดรูปแบบการบริหารราชการดูได้จากร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการปัตตานีมหานคร พ.ศ. ... ที่จัดทำเครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะกรรมการประชาสังคม สภาพัฒนาการเมือง

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการปัตตานีมหานคร พ.ศ. ... ระบุให้การบริหารปัตตานีมหานคร ประกอบด้วย สภาปัตตานีมหานคร และผู้ว่าการปัตตานีมหานคร โดยสภาปัตตานีมหานคร  ประกอบด้วย สมาชิก 43 คน มาจากการเลือกตั้งตามเขตพื้นที่ 37 คน และกลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธ 3 คน ศาสนาอื่น 1 คน สตรี 1 คน และผู้พิการ 1 คน ทำหน้าที่เสนอและพิจารณาข้อบัญญัติ ตั้งกระทู้ถาม และตั้งคณะกรรมการด้านต่างๆ

ผู้ว่าราชการปัตตานีมหานคร มีอำนาจในการบริหารและกำหนดนโยบาย โดยมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง มีวาระ 4 ปี และมีรองผู้ว่าราชการเป็นคนไทยพุทธไม่น้อยกว่า 1 ใน 3

ผู้ว่าฯ มีอำนาจแต่งตั้งปลัดปัตตานีมหานครทำหน้าที่บริหารราชการประจำตามนโยบาย แต่งตั้ง “ผู้อำนวยการเขต” ทำหน้าที่ประสานงานกับสภาเขต และแต่งตั้งหัวหน้าแขวง 290 คน ทำหน้าที่ประสานงานกับสภาเขต กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

ขณะเดียวกันก็มี “สภาเขต” ประกอบด้วย สมาชิกอย่างน้อยเขตละ 7 คน มาจากการเลือกตั้งตามเขตพื้นที่ มีหน้าที่จัดทำแผนพัฒนาเขต จัดสรรงบประมาณพัฒนาเขต

 มี “สภาประชาชน” ประกอบด้วย สมาชิก 51 คน มาจากการเลือกตั้งของกลุ่มอาชีพ กลุ่มวัฒนธรรม และองค์กรประชาสังคม ทำหน้าที่เสนอแนะ ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานของผู้ว่าฯ และสมาชิกปัตตานีมหานคร พร้อมจัดทำรายงานประจำปี เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิต่อสภาปัตตานีมหานคร เพื่อเป็น กรรมาธิการด้านต่างๆ แนะนำรายชื่อผู้เหมาะสมจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ ด้วยกระบวนการปรึกษาหารือ

อีกทั้งยังมี “คณะผู้แทนส่วนกลาง” 22 คน จากผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ประสานงานและแก้ไขข้อขัดแย้ง ระหว่างรัฐบาลกับปัตตานีมหานคร กำกับดูแลการบริหารให้เป็นไปตามกฎหมาย และมาตรฐานกลาง ให้คำปรึกษาในแง่ของข้อกฎหมาย และระเบียบต่างๆ

รวมถึง “คณะผู้อาวุโสทางจริยธรรม” 15 คน มาจากการเลือกตั้งของผู้นับถือศาสนาอิสลาม ที่จบการศึกษาระดับซานาวีขึ้นไป ทำหน้าที่วินิจฉัยหลักการอิสลาม ตามที่ผู้ว่าฯ หรือประธานสภาฯ ร้องขอ คำวินิจฉัยดังกล่าวต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของศาสนิกอื่น และไม่ขัดต่อบทบัญญัติตามกฎหมาย

นี่คือ ประเด็นที่จะมีการพูดคุยกัน ในที่ประชุมสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ที่มหาวิทยลัยราภัฏยะลา ตลอดวันที่ 5 มกราคม 2555 นี้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สาวมุสลิมหนีตามทหารอีสานเป็นพัน กอ.รมน. รับแก้ หวั่นบานปลาย

Posted: 05 Jan 2012 02:49 AM PST

กอ.รมน.ภาค 4 เผยกลางเวทีสมัชชาปฏิรูป ชี้ความไม่เป็นธรรมเพียบ สามีต้องขึ้นไปสู้คดีไฟใต้ที่ขอนแก่น เหตุทหารไม่ยอมมาขึ้นศาลปัตตานี สุดท้ายยกฟ้อง

พ.อ.ฐกร เนียมรินทร์

 

เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 4 มกราคม 2554 มีการอภิปราย หัวข้อ มุมมองข้อคิดเห็นต่อข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและการใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเวทีสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ ครั้งที่ 1 “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน

เวทีอภิปรายมีนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม นายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี และพ.อ.ฐกร เนียมรินทร์ ผู้อำนวยการกองงานมวลชนและกิจการพิเศษ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ร่วมอภิปราย โดยมีนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะกรรมการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นชายแดนใต้ สำนักงานปฏิรูป (สปร.) ดำเนินรายการ

พ.อ.ฐกร กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ยังจำเป็นต้องใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) อยู่ แต่โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการการใช้กฎหมายพิเศษฉบับนี้ หากส่งผลกระทบกับคนจำนวนมาก แม้ว่าเป็นกฎหมายที่จะมาใช้กับคนจำนวนน้อย คือกลุ่มก่อความไม่สงบก็ตาม และเห็นด้วยที่จะให้ทยอยยกเลิกทีละอำเภอ โดยจะมีการใช้มาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ที่ให้ผู้ต้องหาอบรมแทนการถูกจำขังขึ้นมาแทน

สตรีผู้เข้าร่วมรายหนึ่งกล่าวในการแสดงความเห็นว่า การนำทหารจากนอกพื้นที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมาก ส่งผลให้สาววัยรุ่นมุสลิมในพื้นที่เสียคนจำนวนมาก เพราะทหารทำให้สาวมุสลิมท้อง จึงขอให้ถอนทหารออกนอกพื้นที่

พ.อ.ฐกร กล่าวตอบเรื่องนี้ว่า ทหารได้ออกกฎระเบียบสำหรับทหารที่มาปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า แค่การมองสาวในเชิงชู้สาวก็ผิดวินัยแล้ว เพราะเรื่องเป็นมีปัญหามาก เมื่อปีที่แล้วมีหญิงสาวจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หนีตามทหารที่มาจากภาคอีสานถึงหนึ่งพันคน แต่ตามไปแล้วก็ต้องกลับมา เพราะทหารพวกนั้นมีลูกมีเมียแล้ว เหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะสาวๆ ชอบทหารเพราะแต่งตัวหล่อ

“เรื่องนี้เป็นปัญหาของทหารเอง ผมรับที่จะไปแก้ไขเพราะผมดูแลเรื่องนี้อยู่ จะไม่ให้มีการละเมิดและมีการดูถูกดูหมิ่นคนในพื้นที่” พ.อ.ฐกร กล่าว

นางคำนึง ชำนาญกิจ ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ตนเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากสามีถูกควบคุมตัวจากนั้นถูกดำเนินคดีความมั่นคง แต่ปัจจุบันศาลยกฟ้อง แต่ขณะคดีขึ้นศาล พยานที่เป็นทหารได้กลับไปอยู่ที่ภาคอีสานแล้ว ไม่ยอมมาขึ้นศาลที่ปัตตานี แต่โอนไปพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดขอนแก่น และนครศรีธรรมราชทำให้ต้องสามีเดินทางไปขึ้นศาลที่นั่น ซึ่งทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการสู้คดีสูงมากจนต้องขายบ้าน ถามว่ายุติธรรมหรือไม่

นางมุมตัส หีมมินะ จากกลุ่มด้วยใจ ได้นำสตรีมุสลิมคนหนึ่งมาแสดงพร้อมกับกล่าวว่า สามีเธอถูกศาลตัดสินประหารชีวิตจากคดีอุบัติเหตุรถยนต์ทหารพลิกคว่ำ มีทหารเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 1 นาย เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้หักพวงมาลัยเพื่อหลบหนี ระหว่างเดินทางด้วยรถยนต์ซึ่งทหารเป็นคนขับ โดยขณะนั้นสามีเธอถูกควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยสามีเธอยืนยันว่า ขณะเกิดอุบัติเหตุกำลังหลับอยู่ ส่วนสาเหตุของอุบัติเหตุเพราะทหารขับรถเร็วและประมาท ไม่ได้หักพวงมาลัยตามที่ถูกกล่าวหา คำถามคือพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยไม่มีนำหนักพอรับฟังเท่ากับพยานของโจทก์หรือ

ส่วนผู้เข้าร่วมอื่นๆ มีข้อเสนอเช่น ให้มีการทำประชามติในการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคงไว้ในสถานที่เดียวกัน เป็นต้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมาคมต่อต้านโลกร้อนฟ้องนโยบายใช้ไฟฟ้าฟรี

Posted: 05 Jan 2012 02:40 AM PST

เผยผลักภาระให้กับประชาชนและผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 90 หรือ 50 หน่วย โวยคิดอยากจะใช้ประชานิยม แต่ไม่มีปัญญาหาเงินมาดำเนินการเอง

5 ม.ค. เวลา 10.00 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า สมาคมฯได้รับมอบอำนาจจากประชาชนและผู้ประกอบการเอกชน ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐรวม 5 หน่วยงานต่อศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)  คณะรัฐมนตรี (ครม.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ในความผิดฐานเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริตหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ  จากกรณีที่หน่วยงานต่าง ๆ ดังกล่าวร่วมกันมีมติให้ประชาชนผู้ด้อยโอกาสใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยต่อเดือนและภายหลังมีมติปรับลดเหลือ 50 หน่วยต่อเดือน เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 54 ที่ผ่านมา

นโยบายดังกล่าวถือว่าเป็นนโยบายที่ดี ซึ่งรัฐบาลในอดีตเคยเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง แต่พอมาในรัฐบาลยุคนี้กลับดำเนินการผลักภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ไฟฟ้าฟรีดังกล่าวไปให้ประชาชนทุกครัวเรือน ผู้ประกอบการขนาดเล็ก จนถึงขนาดใหญ่ทุกรายที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 90 หน่วยหรือเกิน 50 หน่วย ให้ร่วมรับผิดชอบต่อค่าไฟฟ้าฟรีดังกล่าว นอกจากนั้นพบข้อมูลจากสมาคมแช่เยือกแข็งไทยรายงานว่าผู้ประกอบการบางจังหวัดถูกเรียกเก็บค่าไฟฟ้าสูงขึ้นกว่าอัตราที่ใช้ในแต่ละรอบเดือนตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา อาทิ จังหวัดสงขลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จังหวัดระนองเพิ่มขึ้นร้อยละ 58 จังหวัดจันทบุรีเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 นอกจากนี้ประชาชนบางครัวเรือนช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมามีการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าสูงกว่าปกติมาก ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านไม่ได้อยู่บ้านเลยตลอดช่วงน้ำท่วม การดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องถือได้ว่า เป็นการดำเนินการโดยมิชอบ มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 30 และขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน 2550 มาตรา 7 (4) โดยชัดแจ้งนายศรีสุวรรณ  กล่าวในที่สุด

 

คำขอท้ายฟ้อง
1) ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 เพิกถอนคำสั่งหรือมติเกี่ยวกับมาตรการค่าไฟฟ้าฟรี เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการผลักภาระค่าการใช้ไฟฟ้าฟรี สำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกินครัวเรือนละ 90 หรือ 50 หน่วยต่อเดือน ไปให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง และองค์กรที่ไม่แสดงหากำไร หรือประชาชน ผู้ประกอบการ หรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วประเทศ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่ 5 คืนเงินที่เรียกเก็บไปแล้วจากนโยบายดังกล่าวคืนให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ถูกรับภาระค่าไฟฟ้าดังกล่าวทั้งหมดตั้งแต่เริ่มเก็บเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554 มาจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา พร้อมอัตราดอกเบี้ยตามที่ศาลกำหนด

2) ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และหรือผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมด ยกเลิกการจำแนกประเภทของผู้ใช้ไฟฟ้าออกเป็นประเภทต่าง ๆ และให้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่เท่าเทียมกันทั้งประเทศโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

3) ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แก้ไขคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการกำกับอัตราค่าพลังงาน ให้เกิดความเป็นธรรม โดยแต่งตั้งตัวแทนของผู้ใช้ไฟฟ้าประจำเขตทั้งประเทศ หรือตัวแทนภาคประชาชนชนผู้ใช้ไฟฟ้า เข้าไปเป็นคณะกรรมการดังกล่าวเสีย และหรือในคณะทำงานทุก ๆ คณะฯ ตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550

4) ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำประชาพิจารณ์หรือจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายบัญญัติทุกครั้งอย่างทั่วถึง ทั่วประเทศ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที ต่อผู้ใช้ไฟฟ้าที่จะต้องได้รับผลกระทบต่อการประกาศค่าเอฟทีดังกล่าว

5) ด้วยปรากฏว่าขณะนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้ดำเนินการเรียกเก็บค่าใช้ไฟฟ้าจากผู้ฟ้องคดีและประชาชน ผู้ประกอบการต่าง ๆ ทั่วประเทศแล้ว ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและเสียหายเกิดขึ้นกับผู้ฟ้องคดีและผู้ใช้ไฟฟ้าเกิน 90990 และหรือ 50 หน่วยทั่วประเทศ ผู้ฟ้องคดีจึงใคร่มีคำขอมายังศาลในข้อนี้ เพื่อศาลได้โปรดเปิดการไต่สวนและมีเมตตากำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีโดยมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีระงับการผลักภาระการเก็บค่าการใช้ไฟฟ้าส่วนเกินจากการใช้ไฟฟ้าฟรี ไปเก็บผู้ที่ใช้ไฟฟ้าเกินครัวเรือนละ 50 หน่วยต่อเดือน ให้กับผู้ฟ้องคดี และหรือผู้ใช้ไฟฟ้า และหรือผู้ประกอบการ หรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วประเทศที่ต้องเสียหรือจ่ายเงินดังกล่าวแล้วด้วย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปาฐกถาชลิดาภรณ์: จาก “หลังบ้าน” ถึงนายกฯหญิง: ความเป็นหญิง พื้นที่ทางการเมืองและชีวิตทางสังคม

Posted: 05 Jan 2012 02:39 AM PST

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ รองศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "จากหลังบ้าน ถึงนายกรัฐมนตรีหญิง: ความเป็นหญิง พื้นที่ทางการเมืองและชีวิตทางสังคม" ในงานธรรมรำลึก 100 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เมื่อวันที่ 2 ม.ค.54 ที่ผ่านมา โดยได้เผยแพร่ไว้ในบล็อกส่วนตัว ประชาไท เห็นว่าน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ

00000

จาก “หลังบ้าน” ถึงนายกรัฐมนตรีหญิง: ความเป็นหญิง พื้นที่ทางการเมือง และชีวิตทางสังคม


ภาพจาก http://www.pridi-phoonsuk.org

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ถูกจดจำในฐานะผู้หญิงคนสำคัญที่มีตำแหน่งแห่งที่ใน “ประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์ไทย” พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ได้กล่าวถึงความสำคัญของท่านว่า “มิใช่เป็นเพียงบุคคลหนึ่งที่มีชื่อผ่านเข้ามาในประวัติศาสตร์ ในฐานะเป็นภริยาของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เท่านั้น แต่ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งด้วยทีเดียว”

ท่านผู้หญิงพูนศุขทิ้งมรดกเกี่ยวกับบทบาทที่ทางของผู้หญิงในฐานะผู้หญิงที่ยืนเคียงข้างผู้นำทางความคิดและการเมืองคนสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย และได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับบทบาททางตรงของผู้หญิงในการเมืองให้เราได้คิดใคร่ครวญต่อ วาระ 100 ปีชาตกาลของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นโอกาสให้ทบทวนตำแหน่งแห่งที่ของผู้หญิงในระบบการเมือง ผลกระทบของความเป็นหญิงต่อชีวิตทางสังคมการเมือง

ผู้หญิงมีบทบาทหรือส่งอิทธิพลทางการเมืองได้จากหลายตำแหน่งแห่งที่ ผู้คนในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 คุ้นเคยกับการมองผู้หญิงในฐานะพลเมืองและ/หรือผู้มีตำแหน่งหรือมีส่วนร่วมโดยตรงในกระบวนการกำหนดกติกาและจัดสรรทรัพยากรส่วนรวม แต่ผู้หญิง (และผู้ชายอีกจำนวนไม่น้อย) ส่งอิทธิพลต่อความเป็นไปของสังคมของตน “โดยอ้อม” ผ่านความสัมพันธ์กับผู้ชายที่พวกเธอเกี่ยวข้อง ในฐานะแม่ เมีย ลูกสาว ฯลฯ

คนในหลายสังคมการเมืองได้รับรู้เรื่องราวของผู้หญิงที่ไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่หรืออำนาจที่เป็นทางการ แต่สามารถส่งอิทธิพลต่อความเป็นไปในระบบการเมืองและการกำหนดกติกาและนโยบายสาธารณะ ผ่านความสัมพันธ์กับผู้ชายในตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่ ผู้หญิงเหล่านี้ถูกจดจำในทางบวกบ้างลบบ้าง บางคนถูกประณาม บางคนได้รับการยกย่องเชิดชู ขึ้นอยู่กับบทบาทของพวกเธอและภาพที่คนในสังคมมองเห็น

สังคมไทยตระหนักถึงบทบาทโดยอ้อมของผู้หญิงในการเมืองเช่นนี้ คนไทยพูดถึง “หลังบ้าน” ในความหมายของภรรยาผู้นำ ผู้มีอำนาจ หรือบุคคลสำคัญ” เพื่อสื่อให้เห็นที่ทางของผู้หญิงและช่องทางในการใช้อำนาจหรือส่งผลกระทบต่อความเป็นไปในอาณาบริเวณสาธารณะของพวกเธอ

เมื่อมองชีวิตและทัศนะของท่านผู้หญิงพูนศุขผ่านกรอบความเข้าใจเกี่ยวกับเพศสภาพในการเมืองเช่นนี้ จะเห็นความพิเศษของท่านผู้หญิงมากขึ้น ทัศนะและประสบการณ์ชีวิตของท่านผู้หญิงสะท้อนแง่มุมน่าสนใจเกี่ยวกับสอนความเชื่อและบทบาทของผู้หญิงในการเมืองไทย ทำให้เราได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเพศสภาพกับชีวิตทางสังคม และได้ใคร่ครวญถึงฐานคติเกี่ยวกับการเมืองและความเป็นชุมชนทางการเมืองที่น่าสนใจ ท่านผู้หญิงได้ทิ้งโจทย์ไว้ให้เราได้คบคิดต่อในประเด็นเหล่านี้

ท่านผู้หญิงพูนศุขให้ภาพของผู้หญิงไทยว่า “เมื่อก่อนนี้ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ผู้ชายเดินนำหน้า แต่ปัจจุบันควรเดินคู่กันไป ผู้หญิงไหนจะต้องช่วยครอบครัวทำมาหาเลี้ยงชีพ ไหนจะต้องเลี้ยงลูก..”

“แต่ทั้งนี้ผู้หญิงไทยก็ต้องยกระดับตนเองทุกๆ ด้าน พร้อมที่จะรับตำแหน่งรับผิดชอบบ้านเมือง ผู้หญิงเป็นเพศที่ละเอียดอ่อน แต่ก็เข้มแข็ง สามารถผนึกกำลังกันตรวจสอบการบริหารบ้านเมืองของทุกกลุ่มที่เข้ามาแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ เป็นประตูขวางกั้นมิให้เกิดการคอร์รัปชั่น หรือทุจริตในตำแหน่งหน้าที่การงานของสามีและบุคคลต่าง ๆ ที่จะแทรกแซงเข้ามาในครอบครัวของผู้บริหาร สิ่งนี้ฉันคิดว่าสำคัญมากที่จะทำให้การเมืองของบ้านเราก้าวไปสู่ยุคของคุณธรรมครองเมือง”

ความรู้สึกของคู่ชีวิตของท่านคือ อาจารย์ปรีดี ต่อท่านผู้หญิงพูนศุข บอกเราเกี่ยวกับการทำหน้าที่ “หลังบ้าน” ของท่านผู้หญิง เห็นได้จากข้อความตอนหนึ่งในจดหมายของ อ.ปรีดี พนมยงค์ ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2512 ถึงท่านผู้หญิงเนื่องในโอกาสครบรอบแต่งงานวันที่ 16 ครบรอบ 41 ปี

“พี่มิใช่เพียงระลึกถึงวันนั้นตามพิธีการเท่านั้น หากระลึกถึงคุณความดีของน้องที่ได้ซื่อสัตย์ต่อพี่ทั้งในการงานที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติไทยและในความเปนอยู่ส่วนตัวและครอบครัว น้องต้องพลอยได้รับความลำบากเนื่องจากศัตรูข่มเหงพี่ แต่น้องมิได้เสื่อมคลายในความรักและความเห็นใจพี่ตลอดมา น้องมิเพียงแต่เปนภรรยาที่ดีเท่านั้นแต่เปนเพื่อนที่ดีที่สุดของพี่”

ข้อความ/ทัศนะที่ยกมาข้างต้นทำให้เราเห็นแง่มุมสำคัญเกี่ยวกับผู้หญิงในสังคมการเมืองหลายประการ ที่สำคัญยิ่งคือบทบาทที่ซับซ้อนของผู้หญิง และความสำคัญของ “หลังบ้าน” ในระบบการเมือง

บทบาทของผู้หญิงไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในครัวเรือน คอยทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการบ้านช่อง การดูแลความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวและเลี้ยงดูลูก แต่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพดังที่ท่านผู้หญิงพูนศุขได้กล่าวถึงไว้ การให้ภาพบทบาทของผู้หญิงเช่นนี้ดูไม่น่าตื่นเต้นสำหรับคนทั่วไปที่คิดว่าใครๆ ก็รู้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่คนคิดว่ารู้กันอยู่แล้วนี้กลับไม่มีผลในการกำหนดนโยบายสาธารณะและทิศทางของสังคมโดยรวม การเคลื่อนไหวเพื่อปรับภาพของพลเมืองในกระบวนนโยบายสาธารณะดำเนินต่อเนื่องมายาวนาน เพื่อจะทำให้นโยบายของรัฐรองรับบทบาทของผู้หญิงไทยหลายกลุ่มที่ทำงานนอกบ้านและต้องรับผิดชอบการดูแลครัวเรือนไปด้วยพร้อมกัน โดยเฉพาะการเลี้ยงดูเด็ก การทึกทักตามความเชื่อเรื่องการแบ่งบทบาทระหว่างเพศสภาพว่าการดูแลครัวเรือน การเลี้ยงดูเด็กและการดูแลคนป่วย/คนชราทำโดยผู้หญิงในครัวเรือน โดยรัฐ บริษัทห้างร้าน หรือชุมชน ไม่ต้องแทรกแซง ดูจะคลาดเคลื่อนจากประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงจำนวนมาก

บทบาทหน้าที่ทั้งในบ้านและนอกบ้านของผู้หญิงทำให้กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็ก คนชรา และคนป่วย ทำได้ลำบากมากขึ้น และถูกส่งต่อให้ภาคบริการในระบบตลาด การดูแลเด็ก คนป่วยและคนชรากลายเป็นกิจกรรมที่คนนอกครัวเรือนทำเพื่อแลกเปลี่ยนกับค่าจ้าง กิจกรรมการดูแลจำนวนมากไม่ได้ทำ “ฟรี” โดยผู้หญิงในครัวเรือนอีกต่อไป แม้ว่าผู้หญิงจำนวนหนึ่งจะยังทำหน้าที่ “แม่บ้าน” หรือทำงานอยู่ที่บ้านที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมด้านการดูแลครัวเรือนไปด้วย การพาผู้หญิงหลายกลุ่มออกจากครัวเรือนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ การเมืองหรือการศึกษา ด้วยเหตุผลตั้งแต่การเรียนรู้ฝึกฝนเพื่อบรรลุศักยภาพและการเพิ่มพูนความสามารถในการเลือก (ตามค่านิยมแบบเสรีนิยมที่ยึดกุมความเชื่อของคนมากมายในหลายสังคม) หรือความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่ผู้หญิงต้องทำมาหาเลี้ยงชีพและเกื้อกูลคนในครอบครัว ทำให้กิจกรรมว่าด้วยการดูแลผู้คนในครอบครัวไม่ตรงกับความเข้าใจว่าด้วยการแบ่งบทบาทระหว่างเพศ การคิดใคร่ครวญถึงบริการสาธารณะและสวัสดิการของรัฐควรมีภาพที่เปลี่ยนไปนี้ด้วย ประเด็นนี้ถูกนำเสนอและแลกเปลี่ยนกันมานาน แต่ผลเชิงการเปลี่ยนแปลงดูจะไล่ไม่ทันการเปลี่ยนในเชิงซ้อนทับของบทบาทผู้หญิง

ภาพของผู้หญิงที่ท่านผู้หญิงพูนศุขได้กล่าวถึงไว้ น่าจะเป็นอีกแรงหนึ่งที่กระตุ้นเตือนให้ตระหนักรู้ถึงการแบ่งงานและบทบาทนอกบ้าน – ในบ้านที่ไม่ตรงกับความเข้าใจทั่วไปเกี่ยวกับที่ทางและกิจกรรมที่เกี่ยวกับการดูแลครัวเรือนและผู้คนในครอบครัว

นอกจากบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงไทยที่ไม่ได้จำกัดแต่ในครัวเรือนแล้ว ทัศนะของท่านผู้หญิงที่ได้หยิบยกมาข้างต้นให้ภาพที่น่าสนใจเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ของผู้หญิงในฐานะ “หลังบ้าน” เรื่องราวของท่านผู้หญิงทำให้คนรุ่นหลังได้เห็นตัวอย่างของ “หลังบ้าน” ที่ไม่ได้เป็น “ช้างเท้าหลัง” แต่คือคู่ชีวิต (ตามความหมายของคำ ไม่ได้เป็นเพียงคู่สมรสตามพิธีกรรมหรือการรับรองของรัฐ) ของรัฐบุรุษซึ่งมีชีวิตทางการเมืองที่ไม่ธรรมดา ผู้หญิงที่จะเล่นบทบาทเช่นนี้ได้ต้องมีคุณลักษณ์หลายประการที่เอื้อให้ทำเช่นนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจ ความอดทนและอดกลั้น ไปจนถึงความตั้งใจที่จะไม่แทรกแซงหรือใช้อำนาจของสามีในทางเอื้อประโยชน์ของครอบครัวพวกพ้อง

แม้ว่าวิถีปฏิบัติเช่นนี้สอดคล้องกับภาพของ “หลังบ้าน” ในอุดมคติ หลายคนคงยอมรับว่าเป็นเรื่องยากเย็นที่จะทำ ด้วยเหตุนี้ท่านผู้หญิงพูนศุขจึงได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในฐานะ“หลังบ้าน” ที่เป็นแบบอย่างให้ผู้คน

โดยทั่วไป “หลังบ้าน” ที่คนไทยจำได้มักออกไปในทางการแทรกแซงอำนาจที่เป็นทางการของสามีเพื่อแสวงหาประโยชน์ บางกรณี “หลังบ้าน” ใช้อำนาจอยู่ “หลังฉาก” จนกลายเป็นผู้มีอำนาจนอกระบบที่ถูกติฉินนินทาหรือประณามทางสังคมขึ้นอยู่กับการกระทำและผลกระทบ “หลังบ้าน” ที่คนจำได้และกล่าวขวัญถึงมักออกไปในทางร้ายและโกงมากกว่าจะเป็นแง่มุมที่ดีงาม การประณามนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการกระทำที่ดูจะละเมิดความเชื่อความเข้าใจว่าด้วยเส้นแบ่งสมมติระหว่างพื้นที่ต่างๆ ของชีวิตทางสังคม และขอบเขตกับรูปแบบของของการแสวงหาและการใช้อำนาจที่เหมาะสมของแต่ละอาณาบริเวณของชีวิต ประเด็นนี้จะได้ขยายความต่อไป

ท่ามกลางการติฉินนินทาและประณาม “หลังบ้าน” ของผู้มีบทบาทและอำนาจทางการเมือง การถูกจดจำในฐานะ “หลังบ้าน” ที่มีภาพลักษณ์งดงามเป็นที่เคารพนับถือของท่านผู้หญิงพูนศุข จึงถือได้ว่าพิเศษและควรทำความเข้าใจ ที่สำคัญคือการไม่หาประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่และอำนาจของชายที่เป็นสามี และไม่สนับสนุนให้สามีฉ้อราษฎร์บังหลวง ดังที่ท่านผู้หญิงให้ภาพของภรรยาในฐานะประตูขวางกั้นคอร์รัปชั่น การเล่นบทบาทที่พอเหมาะพอควรของหลังบ้านในอุดมคติ การเป็น “หลังบ้าน” ในลักษณะนี้ได้ต้องมีคุณลักษณ์หลายประการ

สิ่งที่ท่านผู้หญิงพูนศุขพูนศุขทิ้งไว้ให้เรา คือการเป็นตัวอย่างของ “หลังบ้าน” ที่คนให้คุณค่า ความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตเฉพาะของ “หลังบ้าน” ของผู้นำทางการเมืองและความคิดคนสำคัญ ทัศนะและประสบการณ์ของท่านผู้หญิงพูนศุขเกี่ยวกับผู้หญิงกับการเมืองไทย ให้ภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทที่ทางของผู้หญิงในฐานะ “หลังบ้าน” ขณะเดียวกันก็ได้ทิ้งโจทย์สำคัญให้ได้คิดใคร่ครวญต่อเกี่ยวกับความเชื่อ/ความหมาย/ค่านิยมที่กำกับความเข้าใจของเราเกี่ยวกับผู้หญิงในการเมือง และเลยไปถึงลักษณะที่เชื่อมโยงกับความเป็นหญิง-ความเป็นชายกับความเข้าใจโลกทางการเมืองของเรา
 

เพศสภาพ: ผู้หญิงกับความเป็นหญิง

การทำความเข้าใจ “หลังบ้าน” และบทบาททางการเมืองของผู้หญิงตามโจทย์ที่ท่านผู้หญิงพูนศุขทิ้งไว้ให้เราคบคิด อาศัยกรอบคิดว่าด้วยการแบ่งคนออกเป็นสองเพศสภาพอย่างเคร่งครัด คือผู้หญิงหรือผู้ชายเท่านั้น โดยการนิยามเชื่อมโยงลักษณะที่ต่างกันเข้ากับแต่ละเพศสภาพ และการให้คุณค่ากับลักษณะเหล่านั้นแตกต่างกัน การแบ่งประเภท บทบาท ที่ทาง และการให้ค่าที่ต่างกันนี้ ส่งผลต่อชีวิตทางสังคมของคน

โปรดสังเกตว่ากรอบคิดเช่นนี้ไม่ได้พูดถึงผู้หญิงและผู้ชายในฐานะบุคคลหรือกลุ่มคน และไม่ได้โต้เถียงว่าผู้หญิงดีกว่าผู้ชาย เพราะหญิงชายแต่ละคนไม่ได้มีลักษณะครบถ้วนเต็มที่ตามการกำหนดลักษณะเพศสภาพเหมือน ๆ กัน แต่ดูจะมีความต่างอยู่มากในหมู่คนที่มองตนเองหรือถูกจัดให้เป็นผู้มีเพศสภาพหญิง แต่การพยายามทำความเข้าใจนี้ดูจากกรอบการแบ่งลักษณะและการให้คุณค่าในระบบสองเพศสภาพ ว่ามีผลต่อชีวิตทางการเมืองของคนอย่างไร

ลำดับการชวนคิดในประเด็น “หลังบ้าน” และผู้หญิงในการเมือง จะเริ่มจากความเชื่อเกี่ยวกับการแบ่งพื้นที่ หลักการที่ต่างกันของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน และการเชื่อมโยงกับความเป็นชายหญิง การจัดแบ่งเช่นนี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์และประสบการณ์ของผู้หญิงในฐานะผู้มีส่วนร่วมทางการเมืองในฐานะพลเมืองและในฐานะ “หลังบ้าน” อย่างไร ผู้หญิงออกไปมีบทบาทในพื้นที่นอกบ้านเผชิญกับอะไร แล้วจึงยกระดับไปสู่การตั้งคำถามและข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับและเปิดรับหลักการที่ต่างกันของระบบสองเพศสภาพในชุมชนทางการเมือง

การแบ่งพื้นที่ชีวิตทางสังคม เพศสภาพและการเมือง

แม้ว่ารัฐไทยจะสมาทานหลักการความเสมอภาคเท่าเทียมระหว่างชายหญิง โดยใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับตั้งแต่ฉบับปีพ.ศ. 2517 เป็นต้นมา ทำให้คนหลายกลุ่มในสังคมไทยเข้าใจว่าผู้หญิงกับผู้ชายทำกิจกรรมประเภทต่าง ๆ ในชีวิตได้เหมือนๆ กันและถูกตัดสินภายให้มาตรฐานเดียวกัน แต่แท้ที่จริงเราสมาทาน “หลักการ” ความเสมอภาคเท่าเทียม วิถีปฏิบัติและความเชื่อค่านิยมหลายประการของคนไทยไม่ได้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว แม้ว่าเมื่อเวลาผ่านไปเราได้เห็นการหยิบยกหลักการดังกล่าวนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้ผลักดันประเด็นทางการเมือง ความเสมอภาคเท่าเทียมเป็นอุดมคติที่บางคนอยากเห็นปรากฏเป็นจริง แต่หลักการความเสมอภาคนี้ได้รับผลกระทบจากการแบ่งแยกผู้คนบนฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชนชั้น ชาติพันธุ์ ศาสนา ฯลฯ โดยมิติของการแบ่งนี้พาดทับกันอย่างซับซ้อนและมีความเฉพาะเจาะจงในแต่ละบริบทและกรณี

คนไทยได้เห็นผู้หญิงมากมายออกมามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจและการเมือง แต่ดูเหมือนที่ทางของผู้หญิงในระบบการเมืองยังเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดหลายประการ วิธีการมองและตัดสินผู้หญิงในระบบการเมืองผูกพันอยู่กับการมองบทบาทผู้หญิงโดยเชื่อมโยงกับครัวเรือนอยู่มาก

ผู้หญิงกับการเมืองดูเหมือนจะเป็นคนละเรืองที่ไม่เกี่ยวกันสำหรับคนจำนวนไม่น้อย ท่านผู้หญิงพูนศุขพูดถึงการเข้าไปมีบทบาทของผู้หญิง หลายคนพูดถึงการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาทมากๆในทางการเมือง สะท้อนความเข้าใจว่าผู้หญิงไม่ได้อยู่ในพื้นที่การเมืองมาแต่เดิม (เช่นเดียวกับคนอีกหลายกลุ่ม) แต่ผู้หญิงไม่เคยมีอิทธิพลในทางการเมืองจริงหรือ เราได้ยินเรื่องราวของผู้หญิงที่มีอิทธิพลมากมายที่ไม่ได้ปรากฏให้เห็นในพื้นที่การเมืองอย่างเปิดเผย แต่คนรู้สึกได้ถึงอำนาจ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทที่ทางของผู้หญิงตามความเชื่อและวิถีปฏิบัติของผู้หญิงหลายคนที่ไม่สอดคล้องจึงเป็นเรื่องน่าสนใจ ความไม่สอดคล้องนี้ส่งผลอย่างไรบ้างในทางสังคม และกลไกในการกำกับเพื่อให้วิถีปฏิบัติของผู้คนเป็นไปตามอุดมคติเป็นอย่างไร

ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยส่งผลต่อการเมืองและความเป็นไปของสังคมมาจากพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่กระบวนการทางการเมืองที่เป็นทางการ การศึกษาผู้หญิงในการเมืองตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับช่องทางในการแสวงหาอำนาจและใช้อำนาจโดยอ้อมของผู้หญิงหลายคน ที่อาศัยความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชายผู้มีอำนาจในฐานะคู่รัก ภรรยา ลูกสาว ฯลฯ ช่องทางเช่นนี้ดูไม่เหมาะควรเพราะเป็นการข้ามพื้นที่และใช้อำนาจโดยคนที่ไม่ได้มีอำนาจโดยตรง นอกจากนี้ยังยากแก่การตรวจสอบที่ทำให้หลักการความโปร่งใสและพร้อมรับผิดของผู้ใช้อำนาจทางการเมืองเป็นไปได้ยาก แม้ว่ากระบวนการตรวจสอบในหลายระบบการเมืองจะพยายามครอบคลุมคู่สมรสและบุตรธิดาของผู้มีอำนาจทางการเมืองด้วย ข้อเท็จจริงที่ว่า “หลังบ้าน” จำนวนมากไม่ใช่ “คู่สมรส” ตามกฎหมายหรืออยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์แบบผัวเดียว – เมียเดียว ประกอบกับการแบ่งพื้นที่ที่ทำให้ความสัมพันธ์และการกระทำมากมายซ่อนเร้นอย่างมิดชิดในอาณาบริเวณส่วนตัวที่ไม่ได้เปิดเผยให้เป็นที่รับรู้ ทำให้การตรวจสอบติดตามบทบาทและอิทธิพลของ “หลังบ้าน” ทำได้ยากเย็น

ประเด็นเหล่านี้สะท้อนความเชื่อว่าด้วยการแบ่งพื้นที่ที่จำกัดความเข้าใจและการให้คุณค่ากับบทบาทและหลักการที่กำกับกิจกรรม/กิจการต่าง ๆ ในพื้นที่นั้น แต่คนและหลักการไม่ได้เคารพการแบ่งและเส้นแบ่งสมมตินี้อย่างเคร่งครัด การข้ามพื้นที่ของคนและหลักการที่กำกับพฤติกรรมของคนเกิดขึ้นเสมอและทำให้หลายคนอึดอัดคับข้องใจอยู่ไม่น้อย

การเรียกภรรยาบุคคลสำคัญหรือผู้นำว่า “หลังบ้าน” สะท้อนความเข้าใจเกี่ยวกับที่ทางของผู้หญิง ในฐานะแม่และเมีย บทบาทหน้าที่หลักของผู้หญิงอยู่ในบ้าน ไม่ต้องออกมาปฏิบัติหน้าที่การงานที่ต้องปะทะสังสรรค์กับโลกนอกบ้าน ความเชื่อนี้เผชิญกับการข้ามพื้นที่ของผู้คนและหลักการที่ถูกมองว่าเป็นปัญหา


- เพศสภาพ การแบ่งบทบาทหน้าที่ทางเพศ และพื้นที่ของชีวิตทางสังคม

ความเป็นหญิง – ความเป็นชายเกี่ยวข้องกับการแบ่งบทบาทตามแง่มุมการเจริญพันธุ์ เนื่องจากผู้หญิงเป็นผู้ตั้งท้อง คลอดลูก และให้นมทารก หน้าที่การเลี้ยงดูเด็กจึงถูกมอบหมายให้ผู้หญิงไปด้วย นักคิดคนสำคัญหลายคนเชื่อมโยงผู้หญิงเข้ากับครัวเรือนโดยดูจากการแบ่งบทบาทตามเพศที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์ ครัวเรือนเป็นพื้นที่ของผู้หญิงและนักคิดจำนวนมากเห็นว่าผู้หญิงไม่ควรมีบทบาทในการเมือง ในฐานะกิจกรรมเพื่อจะกำหนดกติกาของชุมชนทางการเมือง เพราะผู้หญิงขาดคุณสมบัติสำคัญสำหรับการแสดงบทบาททางการเมือง[1]

ข้อสังเกตที่น่าสนใจของนักทฤษฎี/นักเคลื่อนไหวแนวสตรีนิยมในประเด็นความเป็นหญิง – ความเป็นชาย ได้แก่ การนิยามความเป็นหญิงโดยเชื่อมโยงกับความเป็น “วัตถุทางเพศ” ที่ดำรงอยู่เพื่อสนองความต้องการทางเพศของผู้ชายและความเป็นแม่[2] สองแง่มุมที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกันเองนี้ต่างก็เกี่ยวกับการนิยามตัวตนของผู้หญิงในความสัมพันธ์กับผู้อื่น ใส่ใจกับความต้องการของผู้อื่นการเลี้ยงดูกล่อมเกลาเด็กในระบบที่แบ่งมนุษย์ออกเป็นสองเพศสภาพอย่างเคร่งครัด โดยผู้เลี้ยงดูเด็กมีเพศสภาพหญิง ส่งผลต่อวิธีการเลี้ยงให้เด็กโตขึ้นเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงด้วย การเลี้ยงดูทำให้ผู้หญิงหลายกลุ่มมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับอารมณ์และความต้องการของคนอื่น[3]

ภาพความเป็นหญิงในใจของผู้คน ณ เวลานี้ยังเกี่ยวข้องกับการใช้อารมณ์ การดูแลและให้ความสำคัญกับความเห็นและความต้องการของผู้อื่นเป็นหลัก ในขณะที่ผู้ชายถูกมองเชื่อมกับการใช้เหตุผล อึดอัดกับอารมณ์และความผูกพันทางอารมณ์ การนำและความเป็นผู้นำ การทำความเข้าใจผู้หญิง-ผู้ชายมักตั้งอยู่บนฐานความต่างนี้และเปรียบเปรยว่าหญิงชายในระบบการแบ่งคนออกเป็นสองเพศสภาพอย่างเคร่งครัดมาจากดาวคนละดวง แตกต่างกันมากและต้องอาศัยการทำความเข้าใจหลายประการ

การเน้นความต่างระหว่างชายหญิงและตีขลุมว่าผู้หญิงเป็นเช่นนั้น/ผู้ชายเป็นเช่นนี้ มักจะเผชิญกับกรณียกเว้นมากมายในชีวิตทางสังคม กล่าวคือคนมีเพศสภาพชายและเพศสภาพหญิงจำนวนมากไม่ได้มีลักษณะ การกระทำและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับความเป็นหญิงและความเป็นชายอย่างที่ยึดถือกัน ผู้คนในสังคมทำให้เราพอจะเห็นได้ว่าผู้หญิงทุกคนไม่ได้เอื้ออาทรหรือมีความเป็นแม่ ผู้ชายทุกคนไม่ได้ละเลยอารมณ์หรือไม่ใส่ใจกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแล แท้ที่จริงการแบ่งหญิงชายในลักษณะขั้วตรงข้ามไม่สอดคล้องกับการต่อรองของผู้คนที่มีผลให้คนจำนวนมากมีลักษณะผสมผสานหรือไม่เป็นไปตามความเป็นชายหญิงแบบสุดขั้วหรือเต็มร้อย

ผลที่สำคัญของระบบสองเพศสภาพต่อชีวิตทางสังคมอาจคือการจำกัดความคิดการมองโลกและการตัดสินตนเองตามความเชื่อแบบสองเพศสภาพอย่างเคร่งครัด จนมองไม่เห็นโลกที่ผู้คนมีความซับซ้อนและเลื่อนไหลมากกว่าจะหยุดนิ่งและชัดเจนด้านลักษณะและบทบาทของเพศสภาพ ดูเหมือนว่าคนจะไม่ได้เป็นชายจริง – หญิงแท้อย่างที่เราเข้าใจเสียเลยทีเดียว สิ่งที่กำกับความเชื่อ การเห็นโลกและวิถีชีวิตของเราคือการนิยามความเป็นหญิงและการให้คุณค่ากับลักษณะที่เราเชื่อมโยงกับความเป็นชายหญิงมาก

ความเชื่อเรื่องการแบ่งบทบาทหน้าที่ตามเพศสภาพและการจัดพื้นที่ให้กับบทบาทเหล่านั้น โดยมีค่านิยมหรือหลักการที่แตกต่างกันเพื่อกำกับกิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงในแต่ละพื้นที่ ส่งผลต่อการดำเนินการทางการเมือง รวมไปถึงบทบาทและรูปแบบการส่งอิทธิพลหรือผลักดันความเป็นไปในพื้นที่การเมืองของผู้คนต่างเพศสภาพด้วย

ความเข้าใจการเมืองในฐานะกิจกรรมเพื่อกำหนดทิศทาง กติกา และการจัดสรรทรัพยากรส่วนรวม เพื่อประโยชน์สุขสาธารณะ ทำให้การเมืองดูเหมือนจะไม่ใช่กิจกรรมของผู้หญิง เพราะเป็นเรื่องสาธารณะและเกิดในพื้นที่สาธารณะซึ่งไม่ใช่พื้นที่หลักของผู้หญิง นอกจากนี้ผู้หญิงยังขาดลักษณะสำคัญที่จำเป็นต่อการดำเนินการทางการเมืองในความหมายที่ได้หยิบยกมานี้

การเมืองกับเพศสภาพหญิงจึงดูเหมือนจะต่างคนต่างอยู่ โดยพื้นที่การเมืองให้คุณค่าหรือดำเนินการตามหลักการของการใช้เหตุผล การแข่งขันและอำนาจ หลักการและกติกาของการเมืองในพื้นที่สาธารณะไม่ได้รวมเอาลักษณะที่ถูกเชื่อมโยงกับความเป็นหญิงไว้ด้วย


- ครัวเรือนกับการเมือง

ถ้าเราเชื่อนักปราชญ์กรีก ผู้หญิงไม่ควรมีบทบาทในการเมืองซึ่งเป็นกิจกรรมการโน้มน้าวชักจูงด้วยเหตุผลเพื่อให้เห็นด้วยกับแนวทางหรือข้อเสนอของเรา เพราะผู้หญิงด้อยหรือพร่องในเรื่องเหตุผล และไม่มีเวลาในชีวิตเหลือเพื่อจะเข้าร่วมในการแลกเปลี่ยนโต้เถียงด้วยเหตุผลเนื่องจากบทบาทหน้าที่ในครัวเรือนที่เป็นงานต้องใช้เวลาในชีวิตมากมายเพื่อจะปฏิบัติ กิจกรรมทางการเมืองในความหมายนี้จึงเป็นเรื่องของผู้ที่มีเวลาพอจะทำได้ คนหลายกลุ่มรวมทั้งผู้หญิงไม่มีเวลาจะคิดใคร่ครวญและร่วมในการแลกเปลี่ยนโน้มน้าวโดยใช้เหตุลในประเด็นสาธารณะต่าง ๆ ถ้ามองเช่นนี้ผู้หญิงจึงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง

อาณาบริเวณที่ผู้หญิงมีบทบาทหน้าที่คือครัวเรือน ซึ่งมีกฎกติกาและหลักการคนละชุดกับการเมือง ในขณะที่การเมืองเป็นกิจกรรมเพื่อประโยชน์สุขสาธารณะ ครัวเรือนเป็นพื้นที่ที่สมาชิกมีเป้าหมายเดียวกันคือความร่มเย็นเป็นสุขของครัวเรือนเอง[4] เมื่อหลักที่ต่างกันนี้ถูกใช้ในอีกพื้นที่หนึ่งจะถูกมองว่าเป็นปัญหา เช่นคนที่ไม่สนใจช่วยเหลือเกื้อกูลญาติพี่น้อง หรือปฏิบัติต่อพี่น้องเท่าเทียมกับคนนอกครอบครัว จะถูกมองว่าเป็นคนไม่เอาไหนจากเครือญาติ แต่การเอื้อประโยชน์กับเครือญาติในการทำงาน ในการเมืองหรือระบบเศรษฐกิจ กลายเป็นบาปผิดใหญ่ที่กฎหมายของหลายรัฐห้าม สังคมประณาม หรือกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ถูกขับไล่ในทางการเมืองได้

ความเชื่อว่าผู้หญิงเหมาะกับบทบาทในบ้าน และหลักของความสัมพันธ์ในครัวเรือนกับการเมืองไม่เหมือนกัน ความเป็นหญิงที่ถูกนิยามตามหน้าที่ของการดูแลและความเอื้ออาทร แต่เป็นความเอื้ออาทรและการดูแลที่จำกัดอยู่เฉพาะสมาชิกในครัวเรือน การคิดถึงประโยชน์สุขของสมาชิกครัวเรือนทำให้ไม่เหมาะกับกิจกรรมทางการเมืองที่เป็นเรื่องประโยชน์สุขส่วนรวม และเป็นพื้นที่ของหลักการสากลไม่ใช่ความเฉพาะเจาะจง[5]

การยึดหลักและค่านิยมที่ต่างกันสำหรับสองพื้นที่ ทำให้การข้ามพื้นที่ของคนหรือหลักการถูกมองว่าเป็นปัญหา ความคาดหวังให้คนต่างเพศสภาพตั้งมั่นอยู่ในพื้นที่ของตน เคารพการแบ่งบทบาทและพื้นที่ รวมไปถึงการปฏิบัติตนตามเพศสภาพ ตั้งแต่เรื่องเสื้อผ้าหน้าผม กิริยา และวิถีชีวิต คนจำนวนไม่น้อยไม่ชอบใจเมื่อเห็นหรือได้ยินร่องรอยของการแทรกแซงอำนาจของผู้ชายในตำแหน่งทางการเมือง ราชการหรือธุรกิจ เพราะเห็นว่าอำนาจนั้นเป็นของผู้ชาย (โดยเฉพาะเมื่อผู้ชายขึ้นสู่อำนาจและครองอำนาจโดยการคัดสรรเลือกตั้งของประชาชน) ผู้ชายที่มีตำแหน่งหน้าที่ควรจะเป็นผู้ใช้อำนาจนั้น และในเวลาที่ค่านิยมอย่างความโปร่งใสและพร้อมรับผิดชอบ ยึดกุมความเชื่อของคนจำนวนมาก การใช้อำนาจหน้าที่ต้องเป็นไปในลักษณะที่ผู้คนติดตามครวจสอบได้

ผู้หญิงในฐานะ “หลังบ้าน” ที่พยายามจะกำกับการใช้อำนาจของผู้ชายที่ตนสัมพันธ์หรือส่งอิทธิพลผ่านผู้ชายในตำแหน่งทีมีอำนาจ ถูกมองอย่างหวาดระแวงเพราะความเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการแทรกแซงกิจกรรมในพื้นที่ที่ไม่ใช่ของตน ถ้ามองจากความเชื่อเกี่ยวกับรูปแบบการได้มาซึ่งอำนาจที่ต้องผ่านการรับรองของพลเมืองในรัฐผ่านการเลือกตั้ง บรรดา “หลังบ้าน” ไม่ได้เป็นผู้ถูกเลือกโดยประชาชน แต่เป็น “ของแถม” ที่มากับผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตนเองชื่นชอบอยากให้เป็นตัวแทนทางการเมืองหรือเข้าไปทำหน้าที่ในสถาบันทางการเมือง

การก้าวก่ายอำนาจของสามีหรือชายที่ใกล้ชิดโดยบรรดา “หลังบ้าน” ถูกมองเป็นเรื่องปกปิดซ่อนเร้นอยู่ใน “บ้าน” ที่สาธารณะไม่มีโอกาสติดตามรับรู้ (แท้ที่จริงพอจะรับรู้ได้บ้างไม่มากก็น้อย ผ่านเครือข่ายการนินทาที่พัฒนาไปตามการเติบโตของสื่อหลากหลายรูปแบบ แม้ว่าเนื้อหาของการนินทามักจะถูกเติมสี บิดเบือนหรือขยายขอบเขตมากบ้างน้อยบ้าง คนในหลายสังคมมีแนวโน้มจะเชื่อเรื่องราวที่ตนเองได้ยินผ่านการสื่อสารแบบบอกเล่าเชิงกระซิบเช่นนี้ว่าน่าจะเป็นเรื่องจริง เพราะเรามักเชื่อว่าอะไรปิดๆบังๆ มักมีมูล และการประณามผู้มีอำนาจผ่านการนินทาเป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อสู้ขัดขืนของผู้มีอำนาจน้อย) แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การก้าวก่ายอำนาจมักถูกมองในทางลบ มาจากฐานความเชื่อว่าผู้หญิงมักใส่ใจกับครอบครัวมากกว่าจะให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคม

ความเป็นหญิงที่นิยามโดยมอบหมายหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลครัวเรือนให้ผู้หญิง ทำให้ “หลังบ้าน” คิดถึงแต่ความร่ำรวยหรือผลประโยชน์ของครอบครัวตนเองเท่านั้น กลายเป็นแรงผลักให้เกิดการเบียดบังผลประโยชน์สาธารณะได้ ผู้หญิงในฐานะภรรยาถูกมองในฐานะปัจจัยเร้าหรือกดดันให้ชายที่เป็นสามีเกิดพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ เพราะผู้หญิงสนใจแต่ประโยชน์สุขเฉพาะของครอบครัวตนเอง ความเห็นแก่ตัวของผู้หญิงกับความต้องการจะสร้างครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความเสื่อมถอยของผู้ชายที่มีบทบาททางเพื่อประโยชน์ส่วยรวม

เมื่อผู้นำต้องการจะครอบครองทรัพย์สิน เพื่อสะสมความร่ำรวยและสร้างฐานะครอบครัว ผู้นำก็จะหมดสภาพความเป็นผู้ปกป้องประชาชน แรงกดดันต่อผู้นำยังมาจาก “หลังบ้าน” เมื่อภรรยาบ่นว่าดูแคลนเขาถึงความไม่เอาไหนอันเนื่องมาจากไม่สนใจแสวงหาทรัพย์สินทำให้ไม่มีหน้ามีตาเมื่อเทียบกับภรรยาในครอบครัวอื่น “หลังบ้าน” ในฐานะแม่ตำหนิสามีให้ลูกฟัง ทำให้ลูกไม่เห็นคุณค่าในความซื่อสัตย์และดูแคลนพ่อของตนเอง ลูกชายเริ่มท้าทายพ่อที่แม่บอกว่าไม่เอาไหนและพยายามแสดงว่าตนเองเป็น “ผู้ชาย” มากกว่า[6]

ภาพของภรรยาในฐานะ “หลังบ้าน” จึงกลายเป็นปัจจัยบ่อนทำลายความดีงามของผู้ชายโดยกระตุ้นให้ผู้ชายคำนึงถึงผลประโยชน์ของครัวเรือนเครือญาติมากกว่า เพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งและหน้าตาของครัวเรือนเอง[7]

คุณสมบัติที่ทำให้ผู้หญิงเป็นที่รักและยกย่องในครัวเรือนในฐานะแม่และเมีย ได้แก่การให้ความสำคัญกับประโยชย์สุขของสมาชิกในครัวเรือนและเครือญาติ กลับเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงถูกมองอย่างหวาดระแวงและดูแคลน ลักษณะที่เชื่อมโยงกับความเป็นหญิงไม่เหมาะกับกิจกรรมทางการเมือง ในความหมายของการกำหนดกติกาและการจัดสรรทรัพยากรเพื่อประโยชน์สุขสาธารณะ

ในขณะที่ “หลังบ้าน” ถูกมองอย่างหวาดระแวง หลายคนเชื่อว่า “หลังบ้าน” สามารถจะเล่นบทบาทคู่คิดของผู้ชายที่มีอำนาจ และเหนี่ยวรั้งไม่ให้เกิดการใช้อำนาจในทางที่ผิดได้เช่นเดียวกัน โดยสนับสนุนสามีให้อยู่ในร่องในรอยของหลักจริยธรรมและความดีงามสำหรับผู้ครองอำนาจ ประเด็นนี้ถูกหยิบยกโดยนักทฤษฎีสตรีนิยม เช่น Mary Wollstonecraft ว่าผู้หญิงควรมีโอกาสหาความรู้และฝึกฝนผ่านการเรียนหนังสือเพื่อที่จะเล่นบทบาทคู่คิดของสามีได้ เพราะการอบรมให้ผู้หญิงเล่นบทบาทผู้หญิงเพื่อเป็นแม่และเมียในครัวเรือนอย่างสมบูรณ์แบบไมได้เตรียมให้ผู้หญิงทำหน้าที่คู่คิดและคู่ชีวิตของสามี[8]

มุมมองนี้บอกเราว่าการเป็นเพื่อนและที่ปรึกษาของสามีไม่ใช่เรื่องที่ผู้หญิงทุกคนจะทำได้เพียงเพราะเป็นผู้หญิงหรือเป็นภรรยา แต่ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายประการของผู้หญิงแต่ละคน รวมทั้งลักษณะของความสัมพันธ์ของแต่ละคู่ อาจกล่าวได้ว่าลักษณะการเป็นเพื่อนคู่คิดและคู่ชีวิตที่ผ่านความยากลำบากและภัยอันตรายระดับเดียวกับที่สามีอย่างท่านอาจารย์ปรีดีต้องเผชิญ เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่พิเศษยิ่ง

ความรัก ห่วงใย ใส่ใจทุกข์สุข และการดูแลทีถูกจัดให้เป็นเรื่องหลักของความสัมพันธ์ในครัวเรือน กลายเป็นปัญหาในพื้นที่สาธารณะ หลายคนเชื่อว่าความเอื้ออาทรจะทำให้ความสามารถในการคิดถึงประโยชน์สุขส่วนรวมน้อยลง และไม่สามารถรักษาการคิดและตัดสินโดยยึดหลักการความเป็นสากลไว้ได้ เพราะคนมีแนวโน้มจะย่อหย่อนการบังคับใช้กติกาหรือเอื้อประโยชน์ให้กับคนที่เราผูกพันหรือมีความหมายในเชิงส่วนตัว ความเอื้ออาทรควรถูกกันออกจากกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะที่ควรยึดหลักความยุติธรรมที่เป็นสากลและไม่เลือกข้างหรือเข้าข้างใคร
 

ผู้หญิงในการเมือง – การข้ามพื้นที่ของผู้หญิง

การมีบทบาทในครัวเรือนหรือทำหน้าที่ปกครองดูแลครัวเรือนอาจจะต่างจากความเข้าใจของภาพ “แม่บ้าน” ที่ดูแลบ้านโดยมีสามี (ที่ออกไปทำงานนอกบ้าน) หาเลี้ยง ในเวลาที่ครัวเรือนเป็นหน่วยการผลิตด้วย การถูกจัดบทบาทหน้าที่ให้อยู่ในครัวเรือนอาจไม่ใช่เรื่องลำบากยากเย็น แต่เมื่อการผลิตย้ายออกจากครัวเรือนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจการค้า “สมัยใหม่” รูปแบบการหาเลี้ยงชีพต้องพึ่งพิงรายได้นอกบ้าน คนที่อยู่ติดกับครัวเรือนต้องเผชิญกับปัญหาการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจดังที่เราได้เห็นจากประสบการณ์ของหญิงชนชั้นกลางหลายกลุ่ม

ภาพของผู้หญิงในฐานะ “แม่บ้าน” ที่ถูกจำกัดบทบาทให้เป็นแม่และเมียในครัวเรือน ไม่มีบทบาทโดยตรงในระบบการเมืองถูกมองว่าเป็นเรื่องของอดีต การเปลี่ยนแปลงเชิงความคิดในทางการเมืองและเศรษฐกิจทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับที่ทางของผู้หญิงบางกลุ่มที่ไม่มีโอกาสเลือกวิถีชีวิตของตนเอง ข้อเรียกร้องสำคัญจากการวิพากษ์การจำกัดที่ทางของผู้หญิงไว้ในครัวเรือน คือผู้หญิงควรมีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ออกมามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตซึ่งย้ายออกจากครัวเรือนไปมีพื้นที่แยกต่างหาก เพื่อจะทำมาหาเลี้ยงชีพได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงผู้อื่นในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการรวมผู้หญิงเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองที่เป็นทางการ

ในขณะที่ผู้หญิงบางกลุ่มเป็นแรงงานในระบบเศรษฐกิจอยู่แล้ว ผู้หญิงอีกหลายกลุ่มต่างชนชั้นเข้ามามีบทบาทในลักษณะต่าง ๆ ในระบบการเมืองและเศรษฐกิจ ผู้หญิงในหลายสังคมในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ถูกคาดหมายให้มีบทบาทในพื้นที่สาธารณะด้วยเหตุผลเรื่องปากท้อง ความพึงพอใจในชีวิต ฯลฯ

การแบ่งพื้นที่และการนิยามเพศสภาพเช่นนี้ ทำให้เราเข้าใจผู้หญิงกับการเมืองไทยได้อย่างไร หญิงสามัญชนชาวสยามมีบทบาทในทางเศรษฐกิจมาโดยตลอดและดูจะแยกไม่ออกชัดเจนจากบทบาทหน้าที่ในครัวเรือนนัก ภาพของหญิงที่เป็นผู้ตามหรือ “หลังบ้าน” ดูจะเป็นวิถีของหญิงชนชั้นสูงบางกลุ่ม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหญิงชั้นสูงจะเล่นบทบาท “หลังบ้าน” ที่น่ารักไร้พิษสงกันไปทุกคนการจำกัดบทบาทและพื้นที่ของผู้หญิงเช่นนี้ไม่ได้ผลเสียเลยทีเดียว เราได้ยินเรื่องราวของ “หลังบ้าน” ผู้ทรงอิทธิพล สามารถผลักดันความเป็นไปทางการเมืองและสังคมผ่านความสัมพันธ์กับชายที่มีอำนาจ

ในหลายสังคมมีเรื่องเล่า (นินทาที่มีวัตถุประสงค์ที่ปะปนระหว่างความเป็นอาวุธทางการเมืองเพื่อโต้ตอบผู้มีอำนาจมากกว่าในรูปแบบที่ผู้มีอำนาจน้อยกว่าทำได้กับความสนุกไว้ด้วย) เกี่ยวกับผู้หญิงหลังฉากผู้ทรงอิทธิพล ความทรงจำร่วมระดับโลกของ “หลังบ้าน” เหล่านี้ได้แก่ ซูสีไทเฮา (ชื่อของพระนางกลายเป็นคำเรียกการแทรกแซงทางการเมืองและการใช้อำนาจของหลังบ้าน) เป็นต้น

อันที่จริงไม่ว่าคนที่จะด่าหรือชม “หลังบ้าน” ส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นหรือรับรู้โดยตรงว่าผู้หญิงหลังฉากเหล่านี้ทำอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น เรื่องราวของผู้หญิงทรงอิทธิพลตั้งแต่ท้าวศรีสุดาจันทร์ มาจนถึงป้าย่ายายและนายใหญ่/นายหญิง มาจากการบอกเราปากต่อปากที่น่าจะเติมสีจนพวกเธอมีอิทธิฤทธิ์น่าหวาดกลัวโดยน้อยคนจะได้เห็นการกระทำหรือการใช้อำนาจของพวกเธออย่างเปิดเผย แต่ผู้คนก็เชื่อว่าพวกเธอกำกับทิศทางของการเมืองจากหลังฉากหลังบ้าน โดยไม่เคยเห็นเต็มตา บางคนถูกเล่าถึงความเมตตา เฉลียวฉลาด บางคนในฐานะนางมารหาประโยชน์ ไม่ว่าจะอย่างไรพวกเธอเหมือนเทพหรือปีศาจที่ไม่เคยมีใครรู้ด้วยตา แต่พลังอำนาจเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวาง

ผู้หญิงในฐานะ “หลังบ้าน” ถูกมองอย่างหวาดระแวงเพราะพวกเธออาจทำให้เกิดการข้ามพื้นที่ของค่านิยมให้ความสำคัญกับครัวเรือน-เครือญาติเข้ามาสู่พื้นที่สาธารณะ ภาพลักษณ์เช่นนี้เปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่สำหรับผู้หญิงที่เข้าสู่การเมืองในฐานะ “นักการเมือง” หรือ “นักเลือกตั้ง”

การเมืองในฐานะกระบวนการกำหนดกติกาและนโยบายสาธารณะ เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รวมเอาผู้หญิงและคนหลายกลุ่มไว้ด้วย แต่ถูกผูกขาดโดยผู้ชายกลุ่มเล็กที่มีภูมิหลังทางสังคมใกล้เคียงกันมายาวนาน ผู้หญิงและคนหลายกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อจะถูกรวมเข้าสู่ระบบการเมืองต้องแข่งขันและทำงานในบริบทที่วิถีปฏิบัติ กติกาและภาษาที่ใช้ถูกกำหนดและผลิตซ้ำโดยผู้ชายและเพื่อผู้ชายกลุ่มเล็ก ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะอยู่รอดในบริบทเช่นนี้

ผู้หญิงในระบบการเมืองที่เป็นทางการจำนวนหนึ่งเรียนรู้และรับกติกาและหลักการแบบผู้ชาย เพื่อจะให้สู้ได้และเป็นที่ยอมรับ แปลว่าผู้หญิงต้องกลายเป็นผู้ชายเพื่อจะให้ประสบความสำเร็จในกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่สาธารณะ

แม้เมื่อผู้หญิงจำนวนมากมายได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่สาธารณะ ดูเหมือนพวกเธอไม่ได้นำหลักและวิธีการที่ถูกเชื่อมโยงกับความเป็นหญิงมาด้วย ผู้นำหญิงหลายคนที่มักถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างความสำเร็จของผู้หญิงในการเมืองเพราะพวกเธอก้าวขึ้นเป็นผู้นำรัฐได้ มีลักษณะความเป็นหญิงเหล็กที่เข้มแข็ง พร้อมใช้ความรุนแรงในการจัดการความขัดแย้งและการบริหารงานมากกว่าผู้นำชายหลายคน ฯลฯ

แล้วผู้หญิงสามารถจะเป็นผู้หญิงในความหมายของการทำงานโดยอาศัยลักษณะหรือยึดหลักการที่เชื่อมโยงกับความเป็นหญิงได้หรือไม่ ตัวอย่างเช่น แทนที่จะยึดลีลามหานิยมที่เชิดชูลักษณะที่เชื่อมโยงกับความเป็นชายอย่างความเป็นอิสระไม่เชื่อมโยงหรือพึ่งพิงใคร เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้นำหญิงจะเปลี่ยนความหมายของอำนาจและการใช้อำนาจให้เป็นเรื่องของการแบ่งปันอำนาจมากกว่าการยึดกุมอำนาจไว้ที่ตนเอง หรือดึงและสนับสนุนลักษณะดี ๆ ของคนให้ได้แสดงออกมากกว่าจะเน้นความสำคัญของตนเองในฐานะคนเก่งที่ใครต่อใครเป็นได้เพียงลูกน้องหรือผู้ตาม[9]

การมีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะของผู้หญิงอาจจะไม่ได้เปลี่ยนกติกา หลักการและวิถีปฏิบัติของพื้นที่ได้ชัดเจนนัก แต่ผู้หญิงต่างหากเป็นฝ่ายต้องปรับและเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้เข้ากับพื้นที่นั้น ๆ ได้

ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแบ่งพื้นที่และหลักการที่แตกต่างของแต่ละพื้นที่ที่สัมพันธ์กับเพศสภาพ คือการแบ่งนี้ทำให้ค่านิยมบางเรื่องเท่านั้นกำกับการมองโลกและการกระทำของคนในพื้นที่เฉพาะ ผลที่ตามมาคือการขาดดุลยภาพในวิธีคิดของมนุษย์หรือไม่ การตั้งคำถามทำนองนี้ที่หลายท่านคุ้นเคยกันคือ การที่วิธีการมองโลกโดยมีมนุษย์ที่มุ่งแสวงประโยชน์ด้านวัตถุและการพิชิต-แข่งขัน-เอาชนะเป็นศูนย์กลาง นำไปสู่การทำลายล้างโลกธรรมชาติและการใช้ความรุนแรงระหว่างมนุษย์อย่างกว้างขวาง

ประเด็นที่ถูกหยิบยกเสมอคือ การมองโลกและให้คุณค่าเฉพาะบางแง่มุม โดยไม่รวมลักษณะที่ถูกเชื่อมโยงกับความเป็นหญิงไว้ด้วย กลายเป็นผลเสียต่อมนุษย์โดยรวมหรือไม่ มนุษยชาติและชุมชนทางการเมืองอยู่ได้โดยการแข่งขัน การเอาชนะ การยึดกุมอำนาจ และความเป็นอิสระหรือการไม่พึ่งพิง? หรือแท้ที่จริงแล้วการให้คุณค่ากับลักษณะเหล่านั้นแต่เพียงอย่างเดียวต่างหากที่ทำให้มนุษย์โดยรวมยากลำบาก และการอยู่รอดของมนุษย์ต้องอาศัยความเอื้ออาทรที่ถูกเชื่อมโยงกับความเป็นหญิงด้วย

การที่กติกาและหลักการของพื้นที่สาธารณะนอกครัวเรือนไม่เปลี่ยนนัก กระทบการดำเนินการต่าง ๆ ของผู้หญิงมากมายในพื้นที่สาธาณะอยู่มาก ความคาดหวังเกี่ยวกับบทบาทที่ทางที่เหมาะสมของผู้หญิงในฐานะแม่-เมียในครัวเรือน ที่มีคุณลักษณ์ต่างจากผู้ชายซึ่งมีบทบาทหน้าที่หลักในพื้นที่สาธารณะเพื่อหาเลี้ยงและเป็นผู้นำครัวเรือน ทำให้ผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ มีตำแหน่งที่เป็นทางการเมืองในการเมืองและระบบเศรษฐกิจต่างก็เผชิญกับความคาดหวังหรือการตัดสินโดยมาตรฐานที่ขัดแย้งกันเอง

ผู้นำทางการเมืองและนักบริหารหญิงถูกเรียกร้องและคาดหวังให้ทำงานด้วยลีลาแบบผู้ชาย อยากให้ผู้หญิงเป็นเหมือนผู้ชาย แต่ก็ต้องการให้แสดงความเป็นหญิงด้วย การสำรวจของนิตยสารฟอร์บส (Forbes) พบว่าคนจำนวนไม่น้อยอยากให้ผู้หญิงในตำแน่งผู้นำพร้อมแข่งขัน เด็ดขาดห้าวหาญ แต่ก็ไม่ชอบเมื่อพวกเธอเจ้าเล่ห์และแสวงหาอำนาจเต็มที่โดยละเลยจะแสดงความใส่ใจหรือเห็นใจผู้อื่น คนไม่ชอบที่ผู้นำหญิงเข้มแข็งเกินไป แต่ก็ไม่ชอบเมื่อเธอแสดงอาการที่ถูกจัดว่าเป็นความอ่อนแอ คนไม่ชอบที่ผู้หญิงเจ้าอารมณ์แต่ก็ไม่ชอบเมื่อเธอไม่แสดงอารมณ์[10]

กติกาและหลักการของพื้นที่สาธารณะทำให้การแสดงอารมณ์ของผู้หญิงเป็นปัญหา ร้องไห้ก็ถูกมองว่าอ่อนแอ น้ำตาของผู้หญิงทำให้หลายคนอึดอัดเพราะไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร เมื่ออารมณ์หลายประเภทปรากฏในพื้นที่สาธารณะจึงดูผิดที่ผิดทางสำหรับกติกาที่เรียกร้องการใช้เหตุผล ไม่หวั่นไหวด้วยอารมณ์

นอกจากนี้ ผู้หญิงในตำแหน่งที่มีอำนาจบางคนถูกมองว่าขึ้นสู่ตำแหน่งนั้นได้เพราะสิทธิพิเศษ หรือเส้นสายดีมากกว่าความสามารถของตนเอง ภาพลักษณ์และความคาดหวังที่ขัดแย้งกันเองนี้เพิ่มความยุ่งยากให้ผู้หญิงในการทำงานในพื้นที่สาธารณะ

ในสังคมไทยแม้เมื่อมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยเชื่อว่าที่ทางของผู้หญิงและผู้ชายในทางการเมืองไม่เหมือนกัน ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทที่ทางของผู้หญิงในชุมชนทางการเมืองยังเป็นไปโดยสอดคล้องกับความเชื่อว่าด้วยการแบ่งพื้นที่ชีวิตออกเป็นอาณาบริเวณสาธารณะและอาณาบริเวณส่วนตัว – ผู้หญิงกับบ้าน หรือคาดหวังให้ผู้หญิงเล่นบทบาทคล้าย ๆ ในครัวเรือนในพื้นที่สาธารณะ เช่นชอบให้ผู้หญิงเล่นบทบาทแม่/ป้า/พี่สาวที่คอยดูแลเรื่องกินอยู่และความรู้สึกของคนในที่ทำงาน เป็นต้น

การเล่นบทบาทดูแลและเป็นฝ่ายสนับสนุนปนสงเคราะห์โดยผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะอาจจะได้รับการชี่มชมชื่นชอบจากบางคน (แม้ว่าหลายเวลาจะปนอาการรำคาญและอึดอัด เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างแม่-ลูกหลายคู่) แต่ไม่ใช่ลักษณะที่ถูกให้ค่าว่าเป็นผลดีต่อการปฏิบัติงาน สำหรับคนที่หวังจะก้าวหน้าในองค์กรหรือสถาบันในระบบตลาดหรือการเมืองที่เป็นทางการแบบนักเลือกตั้ง ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยไม่สามารถจะเล่นบทบาทดูแลคนอื่นเช่นนั้นได้ จึงถูกประณามเมื่อการกระทำและการสัมพันธ์กับผู้อื่นของเธอไม่สอดคล้องกับความคาดหวังเกี่ยวกับบทบาทเชิงเพศสภาพ

ภาพรวมของชีวิตทางสังคมของคนทำให้เราเห็นว่า การจัดแบ่งและจำกัดลักษณะ บทบาทและหลักการเฉพาะของแต่ละกลุ่มที่ทำให้โลกดูมีระบบระเบียบตามจินตนาการหมู่ของคน แท้ที่จริงไม่ได้เป็นระเบียบและแบ่งแยกกันเด็ดขาดชัดเจนในเรื่องการดำเนินชีวิต กิจกรรมและปฏิสัมพันธ์ของผู้คนมากมาย

ในเวลานี้ผู้หญิงมากมายเข้าไปมีบทบาทต่างๆ กันในพื้นที่สาธารณะ และไม่ได้จำกัดบทบาทเพียงความเป็น “หลังบ้าน” ผ่านโยงใยความเป็นแม่-เมีย-ลูกสาว-พี่สาว-น้องสาว แต่การให้คุณค่ากับลักษณะที่เชื่อมโยงกับความเป็นหญิงไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก ลักษณะอย่างความเอื้ออาทรถูกให้คุณค่าในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ที่ยังจำกัดอยู่กับวงศาคณาญาติและมิตรภาพ แต่คนหลายกลุ่มไม่ชอบที่ความเอื้ออาทรในโยงใยความสัมพันธ์นี้จะปรากฏในกระบวนนโยบายและการบริหารจัดการสาธารณะ

ปรากฏการณ์ที่เราได้เห็นมาโดยตลอดคือการข้ามพื้นที่ไปมาของผู้คนและหลักการ/ค่านิยมในการกำกับพฤติกรรมและความสัมพันธ์ คนบางกลุ่มได้รับการสนับสนุนให้เข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในบางพื้นที่ เช่นความพยายามเพิ่มจำนวนผู้หญิงในสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการ เป็นต้น แต่หลักการในการกำกับพื้นที่ยังเป็นเช่นเดิม จึงดูเหมือนว่ามีแต่ตัวคนที่ข้ามพื้นที่ไป และถูกบีบบังคับโดยสถานการณ์ให้รับวิถีปฏิบัติของพื้นที่ที่ตนเองได้ข้ามไป การข้ามพื้นที่ของหลักการถูกมองว่าเป็นปัญหา เช่นความเชื่อว่าการครองอำนาจและใช้อำนาจในพื้นที่สาธารณะถูกทำให้อ่อนแอลงได้โดยความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างผู้มีอำนาจมากกว่าและผู้มีอำนาจน้อยกว่า หรือความแตกต่างของอำนาจในความสัมพันธ์ทำให้ความรักดูจริงน้อยลง เป็นต้น
 

ความเอื้ออาทรกับชีวิตทางสังคม

การใคร่ครวญถึงบทบาทของผู้หญิงในการเมืองจากที่ทางในครัวเรือนถึงการมีส่วนร่วมทางตรงในฐานะพลเมืองของรัฐ ทำให้เราได้เห็นการต่อสู้ผลักดันและความพยายามจะรวมผู้หญิงเข้าสู่ระบบการเมือง แต่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนการให้คุณค่าลักษณะและหลักการที่เชื่อมโยงกับความเป็นหญิง เรารวมผู้หญิงเข้าสู่ระบบการเมือง แต่ไม่ได้คิดถึงการรวมเอาแง่มุมหลายประการของความเป็นหญิงเข้าสู่พื้นที่การเมืองด้วย

ในขณะเดียวกันการพิเคราะห์การดำเนินการทางการเมืองเพื่อผลักดันกติกาและนโยบายสาธารณะ ทำให้เราได้เห็นการข้ามพื้นที่ของความสัมพันธ์และหลักการที่กำกับพฤติกรรม เราได้เห็นการเอื้อประโยชน์ต่อครอบครัว พี่น้อง และพวกพ้อง และจัดการกระทำเช่นนั้นว่าเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวง ระบบการเมืองต่างๆ พยายามสร้างและปรับเปลี่ยนกลไกต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบและเอาผิดกับการกระทำเช่นนี้

ความเชื่อว่าด้วยการแบ่งพื้นที่ทางสังคมที่กำกับโดยหลักการต่างชุดกัน และเป็นพื้นที่ของคนต่างเพศสภาพ ทำให้เราคาดหวังและประเมินการกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะตามหลักการของพื้นที่สาธารณะ เมื่อเข้าสู่พื้นที่สาธารณะ เราคาดหวังว่าคนจะวางโยงใยความสัมพันธ์ส่วนตัวอันซับซ้อนของความผูกพันทางอารมณ์และเครือญาติทิ้งไว้ที่บ้าน แล้วปฏิบัติหน้าที่ในฐานะปัจเจกที่คิดใคร่ครวญและเลือกเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม ไม่เอื้อประโยชน์ต่อพี่น้องเพื่อนฝูง

คำถามที่น่าคิดต่อก็คือ แล้วมนุษย์แยกตนเองออกจากโยงใยความสัมพันธ์รอบตัวเขาได้หรือไม่ หรือแท้ที่จริงตัวตนของเขาถูกนิยามโดยโยงใยความสัมพันธ์ที่มีความหมายในชีวิต ที่เขาและเธอพาไปด้วยทุกหนทุกแห่งเมื่อทำกิจกรรมหรือเกี่ยวข้องกับผู้อื้นในพื้นที่ต่าง ๆ ของชีวิตทางสังคม การมองโลกและการเลือกของเราถูกกำกับอยู่โดยโยงใยความสัมพันธ์นี้

เพราะเราแยกตัวตนของเราออกจากโยงใยความสัมพันธ์ที่ทำให้เราเป็นเราไม่ได้ เราจึงมีแนวโน้มจะเห็นญาติเรา เพื่อนเรา ดีกว่าคนอื่น แต่ผู้คนก็ไม่ได้รังเกียจการช่วยเหลือเกื้อกูลและเอื้ออาทรไปเสียทุกเรื่องในพื้นที่สาธารณะ และเห็นประโยชน์ของลักษณะความสัมพันธ์เหล่านี้ในบางสถานการณ์ ตัวอย่างที่น่าจะทำให้หลายคนเข้าใจประเด็นนี้คือ เมื่อวิกฤติน้ำท่วมในปีพ.ศ. 2554 กระทบกรุงเทพมหานคร เกิดการกว้านซื้อของอุปโภคบริโภคจนนำไปสู่สภาพการขาดแคลนสินค้าราวกับเกิดสงครามใหญ่ คำอธิบายที่น่าสนใจว่าทำไมจึงเกิดการกักตุนลักษณะนี้ได้แก่ ความตื่นตระหนกของชนชั้นกลางไทย ที่เป็นห่วงตนเองและครอบครัว พยายามจะทำทุกอย่างเพื่อประกันความอยู่รอดและอยู่ดีเหมือนในเวลา “ปกติ” (หมายถึงเวลาที่ไม่เกิดวิกฤติที่สั่นคลอนโลกและความเคยชินของพวกเธอและเขา)

เราตั้งคำถามว่าทำไมคนไทยไม่เหมือนคนญี่ปุ่นที่เอื้อเฟื้อและคิดถึงผู้อื่นด้วยแม้ในยามประสบภัย และพยายามสื่อ “สาร” สำคัญให้คนไทยคิดถึงคนอื่นด้วย คิดถึงแต่ตนเองและครอบครัวไม่ได้ เราได้เห็นการช่วยเหลือกันของเพื่อนบ้านที่ก่อนน้ำจะท่วมไม่สนใจแม้จะทำความรู้จักกัน เราได้เห็นการอาสาให้ความช่วยเหลือของเครือข่ายภาคประชาชน ที่เข้าถึงผู้ประสบภัยมากมายในหลายพื้นที่ ผู้มีจิตอาสาเหล่านี้ดูจะคิดถึงความอยู่รอดและทุกข์สุขของคนอื่นที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของคนในครอบครัวและเพื่อนฝูงได้ การช่วยเหลือกันทั้งในระดับชุมชนและการอาสาของเครือข่ายภาคประชาชนทำให้หลายคนอยู่รอดได้

เมื่อเผชิญสถานการณ์วิกฤติ เราอยากให้คนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เมื่อเกิดความขัดแย้งใหญ่ที่นำไปสู่การปะทะด้วยความรุนแรง เราอยากให้คนเห็นความเชื่อมโยงกัน เป็นพี่เป็นน้อง เป็นเพื่อนร่วมชาติ ดูเหมือนว่า เราไม่ได้หวาดกลัวความเอื้ออาทรนอกครัวเรือนไปเสียทีเดียว และเห็นประโยชน์ของความเชื่อมโยงกันและดูแลช่วยเหลือกันในหลายสถานการณ์

คำถามที่น่าจะต้องคบคิดต่อในเวลาที่เอื้ออำนวยต่อการชวนคิดในประเด็นนี้คือ เราควรจะใคร่ครวญเกี่ยวกับที่ทางและคุณค่าของความเอื้ออาทรในชีวิตทางสังคมการเมืองหรือไม่ หรือว่าจะกระตุ้นเร้าให้คนเอื้ออาทรต่อกันในยามวิกฤติแล้วก็กลับไปสู่วิธีคิดและการมองโลกแบบเดิมต่อไปเมื่อภัยอันตรายลดลง หรือเราจะคิดใหม่เกี่ยวกับหลักการที่เราจัดวางไว้ในพื้นที่สาธารณะโดยเชื่อมโยงกับบทบาททางเพศสภาพของผู้หญิง เพื่อจะทำให้ความเอื้ออาทรได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธารณะ เช่นเดียวกับความยุติธรรม เสรีภาพ และหลักการอื่น ๆ ที่เราเชิดชูให้คุณค่า

สิ่งที่เราหวาดหวั่นไม่น่าจะใช่ความเอื้ออาทรโดยตัวเอง เราเห็นปัญหาของความเอื้ออาทรที่จำกัดอยู่แต่กับคนในครอบครัว เครือญาติและเพื่อนฝูง แต่ก็เห็นประโยชน์ของความเอื้ออาทรที่ขยายออกนอกวงศ์วานว่านเครือ ไปรวมเอาคนอื่นอีกมากมายไว้ด้วย ความเอื้ออาทร (ที่ไม่ได้เป็นไปโดยงดงามราบรืนและเป็นสุขตลอดเวลา แต่มีความอึดอัด ขัดแย้งและเหน็ดเหนื่อยปะปนอยู่ด้วยมาก คนที่เคยเลี้ยงเด็กหรือดูแลคนชราน่าจะพอนึกภาพออก)[11] ที่เป็นฐานสำคัญของโยงใยความสัมพันธ์ที่มีความหมายในชีวิตเรา ประคับประคองเราให้อยู่รอดและอยู่ดีทั้งทางกายและจิตใจ จำกัดอยู่ในความสัมพันธ์ส่วนตัวนี้ โดยไม่ได้ขยายไปสู่แวดวงที่ใหญ่กว่า จนกลายเป็นเหตุแห่งการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมต่อพวกพ้องพี่น้องของเราและคนอื่น

การจำกัดวงความเอื้ออาทรในความสัมพันธ์ส่วนตัวกลายเป็นข้อจำกัดในเวลาที่ผู้คนเผชิญวิกฤติที่ชีวิตไม่ได้เป็นไปตาม “ปกติ” แต่เผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่กระทบความอยู่รอดของตนและสมาชิกในครัวเรือน น่าสนใจว่าในยามวิกฤติ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันที่ขยายขอบเขตไกลไปกว่าวงศ์วานว่านเครือต่างหากที่ทำให้มนุษย์อยู่รอด

ความเอื้ออาทรในชีวิตทางสังคมไม่ควรจำกัดอยู่ในครัวเรือน แต่น่าจะครอบคลุม “คนอื่น” ไว้ด้วย และทำให้เราคิดถึงความอยู่รอดและอยู่ดีของผู้คนอีกมากมายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องสัมพันธ์เป็นเครือญาติหรือเพื่อนฝูงของเราได้

การพูดถึงที่ทางและการให้คุณค่ากับความเอื้ออาทรอาจถูกมองว่าไร้เดียงสาในสายตาคนทื่เชื่อว่ามนุษย์มีองค์ประกอบที่ไม่น่ารักและเห็นแก่ตัว เราไม่สามารถจะเปลี่ยนความเป็นมนุษย์ได้และควรจะปลดปล่อยผู้คนออกจากกรอบกติกาที่กดดัน กดขี่ บังคับให้คนต้องซ่อนเร้นหรือบิดเบือนความเป็นมนุษย์ของตนเอง ภาพของมนุษย์เช่นนี้อาจจะสะท้อนความเคยชินจากการมองโลกไม่ครบถ้วน ที่เบียดขับลักษณะหลายประการของมนุษย์ไปเก็บไว้ในพื้นที่ส่วนตัวโดยเชื่อมโยงกับความเป็นหญิงและไม่ถูกให้คุณค่า

ข้อเสนอว่าด้วยที่ทางของความเอื้ออาทรที่ถูกเชื่อมโยงกับความเป็นหญิงนี้ ไม่ได้ฝากความหวังให้คนเป็นคนดีเพื่อโลกนี้จะได้ดีขึ้น แต่เสนอให้ปรับเปลี่ยนวิธีการมองและให้คุณค่ากับความเอื้ออาทรที่มีความหมายเชิงครอบคลุมและไม่จำกัดผู้ที่เป็นเป้าหมายของความอาทร ว่าจะต้องเป็นคนในครัวเรือนและแวดวงของเราเท่านั้น จากการมองว่าความเอื้ออาทรไม่มีที่ทางในการต่อสู้แข่งขันเพื่อเอาชนะ เพราะจะทำให้คนพ่ายแพ้ เราน่าจะมองความเอื้ออาทรในฐานะรูปแบบการจัดการความสัมพันธ์ทางสังคมที่ทำให้คนอยู่รอดไปด้วยกัน

การปรับคุณค่าของความเอื้ออาทรในชีวิตทางสังคมการเมืองจะเป็นไปได้ ต้องไม่ติดกรอบและติดกับกรอบการแบ่งเพศสภาพและการให้คุณค่ากับลักษณะที่เชื่อมโยงกับความเป็นชายมากกว่าลักษณะที่เชื่อมโยงกับความเป็นหญิง และมองทะลุการจำกัดหลักการของแต่ละพื้นที่ที่ทำให้ชีวิตทางสังคมของคนขาดดุลยภาพ

การคิดใคร่ครวญถึงประสบการณ์ของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และทัศนะของท่านเกี่ยวกับผู้หญิงในการเมืองทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นหญิง การแบ่งพื้นที่ของชีวิตทางสังคม และหลักการเฉพาะของแต่ละพื้นที่นั้น การข้ามพื้นที่ของคนและหลักการดำเนินไปในรูปแบบต่างๆ เราอยู่ในเวลาที่เชื่อกันว่าผู้หญิงมีบทบาททางการเมืองโดยตรงได้ แต่ก็ไม่หลุดจากกรอบการแบ่งเพศสภาพและพื้นที่

ข้อเสนอของดิฉันไม่ใช่การเพิ่มจำนวนหรือนำผู้หญิงเข้าสู่พื้นที่การเมืองภาครัฐ หรือการกำหนดกติกาของสังคมการเมือง การรวมผู้หญิงเข้าสู่ระบบการเมืองโดยไม่รวมหลักการหลายประการที่เชื่อมโยงกับความเป็นหญิงมาด้วยไม่ทำให้ชีวิตทางสังคมของเราเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่สิ่งที่น่าจะเป็นคือการรวมเอาลักษณะและหลักการที่เชื่อมโยงกับความเป็นผู้หญิงเข้าสู่พื้นที่สาธารณะให้ได้ผสมผสาน ปะทะสังสรรค์ ทัดทานและถ่วงดุล หลักการความยุติธรรมแบบแห้งแล้งไม่เห็นใจคน

 

////////////////////////////////////////////////

[1] งานของ Susan Moller Okin, Women in Western Political Thought (Princeton: Princeton University Press, 1979) ให้ภาพการแบ่งบทบาทหน้าที่ทางเพศและพื้นที่ของชีวิตทางสังคมตามแนวคิดของนักปรัชญาอย่างน่าสนใจ
[2] Allison M. Jaggar, Feminist Politics and Human Nature (Sussex: Harvester Press, 1983).
[3] Carol Gilligan, In a Different Voice (Cambridge: Harvard University Press, 1982).
[4] Arlene Saxonhouse, “Aristotle: Defective Males, Hierarchy and the Limits of Politics,” in Feminist Interpretations and Political Theory, ed. Mary Lyndon Shanley and Carole Pateman (Cambridge: Polity Press, 1991), p. 46.
[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 48-9.
[6] Susan Moller Okin, “Philosopher Queens and Private Wives: Plato on Women and Family,” in Feminist Interpretations and Political Theory, ed. Mary Lyndon Shanley and Carole Pateman (Cambridge: Polity Press, 1991), p. 15.
[7] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
[8] Mary Wollstonecraft, A Vindication of the Rights of Women, http://etext.virginia.edu/toc/modeng/public/WolVind.html.
[9] Birute Regine, “Women CEOs: Bold Enough to Be a Woman? in Huffington Post, http://www.huffingtonpost.com/birute-regine/female-ceos_b_1063671.html?ir=Women.
[10] “The 10 Worst Stereotypes About Powerful Women,” Forbes, 24 October 2011, http://www.forbes.com/sites/jennagoudreau/2011/10/24/worst-stereotypes-powerful-women-christine-lagarde-hillary-clinton/
[11] Joan C. Tronto, “Care as a Political Concept,” in Nancy J. Hirschmann and Christine Di Stefano, Revisioning the Political (Boulder: Westview Press, 1996).

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สธ.สปสช.เจียดพันล้าน พัฒนาศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง ตั้งเป้ามีหมอประจำครอบครัว

Posted: 05 Jan 2012 02:33 AM PST

สธ. และ สปสช.สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ เพื่อลดแออัดในรพ.ใหญ่ ใช้งบ 1,000 ล้านบาท สนับสนุนรพ.ศูนย์และ รพ.ทั่วไปตั้งศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองในพื้นที่รับผิดชอบให้ได้ 2-3 แห่งต่อ รพ. จะทำให้มีศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง 243 แห่งทั่วประเทศ ที่มีแพทย์อยู่ปฏิบัติงานประจำ โดยเน้นความรับผิดชอบด้านการรักษาพยาบาลการเจ็บป่วย การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและ การฟื้นฟูสุขภาพ อย่างต่อเนื่องและผสมผสาน ใกล้บ้าน ใกล้ใจ ซึ่งรับผิดชอบประชากรไม่เกินแห่งละ 30,000 หมื่นคน ตั้งเป้าลดความแออัดรพ.ใหญ่ ประชาชนได้รับบริการสะดวกมีคุณภาพใกล้บ้าน

5 มกราคม 2555 นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนเรื่องการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ มุ่งเน้นการพัฒนาหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิหรือเบื้องต้นทั้งในเขตเมืองและในชนบท ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการตอบสนองนโยบายด้วยการพัฒนาศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง (ศสม.) เพื่อบริการสาธารณสุขในเขตเมือง ลดความแออัดของรพ.ใหญ่ และเป็นศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้านใกล้ใจ โดยกำหนดให้รพ.ศูนย์และรพ.ทั่วไปจัดตั้งศสม. 2-3 แห่ง ดังนั้น เพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลและการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข สปสช.ได้สนับสนุนการพัฒนา ศสม 243 แห่ง โดยใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณจากงบค่าเสื่อม งบสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการและบริการปฐมภูมิ และงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ซึ่ง ศสม.นี้เป็นการจัดตั้งในเขตเทศบาลในพื้นที่รับผิดชอบของ รพ.ศูนย์และ รพ.ทั่วไป  อยู่ในจุดที่ประชาชนเดินทางสะดวก ครอบคลุมประชากรไม่เกิน 30,000 คนต่อ 1 ศูนย์ มีแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวประจำอย่างน้อย 1 คน ทีมสุขภาพ ได้แก่ เภสัชกร ทันตแพทย์ พยาบาล นักกายภาพภาพบำบัดหรือแพทย์แผนไทย เป็นต้น โดยมีเจ้าหน้าที่ 1 คนดูแลประชากรไม่เกิน 1: 1,250 คน ซึ่งรพ.แม่ข่ายจะต้องบริหารจัดการให้มีบุคลากร งบประมาณ เครื่องมือแพทย์และระบบดูแลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

“การสนับสนุนของสปสช.ตามนโยบายของรัฐบาลและการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ก็เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และเหมาะสมกับภาวะสุขภาพและมั่นใจในการไปรับบริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองเป็นที่แรก เพื่อลดความแออัดที่แผนกบริการผู้ป่วยนอกของรพ.ศูนย์และรพ.ทั่วไป และเพื่อให้มีศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองใกล้บ้านใกล้ใจที่มีคุณภาพและมาตรฐานด้วย”นายแพทย์วินัย กล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อมธ. ออกแถลงการณ์กรณี ‘ก้านธูป’ เรียกร้องต่อสื่อมวลชน-มหาวิทยาลัย

Posted: 05 Jan 2012 01:27 AM PST

 

4 ม.ค.55  องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องการทำงานของสื่อมวลชนต้องไม่ละเมิดผู้อื่น อยู่ในหลักวิชาชีพ พร้อมเรียกร้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) อย่าบั่นทอนเสรีภาพทางความคิดแม้เพียงตารางนิ้ว

 

00000000000

 

แถลงการณ์องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรื่อง กรณีบทความ "ธรรมศาสตร์ ในวันที่อ้าแขนรับ ก้านธูป" ทางผู้จัดการออนไลน์

ตามที่ เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ได้ลงบทความ "ธรรมศาสตร์ในวันที่อ้าแขนรับก้านธูป" ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2554 นั้น บทความดังกล่าวนำเสนอเรื่องราวของ ... เป็นที่รู้จักกันในนาม "ก้านธูป" ซึ่งโดยหลักการแล้วการนำเสนอถึงชีวประวัติของบุคคลย่อมกระทำได้ตามสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นหลักการที่ถูกรับรองไว้ใน มาตรา 45 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 แต่บทความดังกล่าวมีการนำเสนอข่าวสารอย่างเป็นไม่เป็นกลาง ไม่ตั้งในกรอบจริยธรรม หากแต่เป็นการนำเสนอความคิดเห็นส่วนตัวที่ขาดความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ถูกพาดพิงโดยมีอคติ มีลักษณะการใช้ภาษาในเชิงดูหมิ่นเหยียดหยามต่อผู้ที่ถูกพาดพิง อันเป็นการกระทำที่ตรงกันข้ามกับอุดมการณ์ของสื่อสารมวลชนที่จะต้องนำเสนอ ข่าวสารอย่างถูกต้องและการวิพากษ์วิจารณ์จะต้องทำอย่างสัตย์ซื่อ ไม่สอดคล้องกับหลักจริยธรรมในงานวารสารศาสตร์ ทั้งหลักการนำเสนอความจริงที่แท้จริง (objectivity) หลักความบังควรและไม่บังควรที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่อกัน (decency) และหลักการไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น (privacy right) รวมถึงขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2541 หมวด 2 ข้อ 6,8,9,11,15,18,20,27 และ 30


ดังนั้นองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะตัวแทนที่ได้รับเลือกตั้งมาจากนักศึกษาธรรมศาสตร์ เห็นว่าบทความดังกล่าวพาดพิงทั้งต่อมหาวิทยาลัย และตัวนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีข้อคิดเห็นและข้อเรียกร้องดังนี้


1. ขอเรียกร้องให้นักสื่อสารมวลชนทุกแขนง ทั้งในกระแสหลักและกระแสรอง ต้องนำเสนอข่าวสารข้อเท็จจริงที่ปราศจากอคติและข้อคิดเห็นส่วนตัว เพื่อคงไว้ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรมอันดีของวิชาชีพ


2. การนำเสนอความคิดเห็นทางการเมืองของเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ เป็นสิ่งที่กระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ ในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอันเป็นสิทธิพึงมีตามมาตรา 45 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 แต่ก็ได้ล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของ "ก้านธูป" อันเป็นผู้พึงได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกระทำที่ไม่ได้สัดส่วนกัน


3. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังคงเคารพต่อสิทธิของบุคคลที่พึงได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาคกัน อันเป็นอุดมการณ์ขั้นต้นในการสถาปนามหาวิทยาลัย และเป็นสิทธิพึงได้รับตามมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550


4. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า "ก้านธูป" เป็นผู้มีสิทธิในการเข้ารับการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่จะลิดรอนสิทธิดังกล่าว


ท้ายสุดนี้ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชื่อมั่นว่าการนำเสนอข่าวสารทั้งสื่อกระหลักและสื่อกระแสรองของสื่อสารมวลชนทุกแขนงจะยึดมั่นในหลักจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน รวมทั้งหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไม่บั่นทอนพื้นที่แห่งเสรีภาพในทางความคิดแม้เพียงตารางนิ้วเดียว





ด้วยจิตคาราวะ
องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
4 มกราคม 2555
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น