โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สยามประชาภิวัฒน์เชื่อแนวคิด "นิติราษฎร์" จะทำให้เกิดความวุ่นวาย

Posted: 24 Jan 2012 08:04 AM PST

"คมสน โพธิ์คง" เชื่อการเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์สอดคล้องกับความต้องการของ "ทักษิณ" ส่วน "ศาสตรา โตอ่อน" ชี้แนวคิด "นิติราษฎร์" ต้องการสืบทอด "ปรีดี พนมยงค์" แต่ไม่พิจารณาจารีต-สังคมไทย เผยมีหลายกลุ่มทนพฤติกรรมนิติราษฎร์ไม่ไหว-เล็งยื่นศาล รธน. สั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว และให้ ปชช. ดำเนินคดีอาญาในหมวดความมั่นคง

หลังจากที่คณะนิติราษฎร์มีข้อเสนอยกร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมานั้น (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) วันนี้ (24 ม.ค. 55) ในเว็บไซต์สุทธิชัย หยุ่น รายงานความเห็นของนายศาสตรา โตอ่อน และ นายคมสัน โพธิ์คง นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ต่อข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะนิติราษฎร์

ศาสตราชี้ข้อเสนอนิติราษฎร์ขัด รธน.

โดยนายศาสตรา โตอ่อน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สมาชิกกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ กล่าวถึงข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ของคณะนิติราษฎร์ว่า ในทางกฎหมาย ถือว่า การกระทำที่เป็นการลดสถานะของพระมหากษัตริย์นั้น เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ 2550 หลายมาตรา

ทั้งนี้ ได้แก่ มาตรา 2 ระบุว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข , มาตรา 8 ระบุว่าบุคคลใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้ององค์พระมหากษัตริย์ไม่ได้ ไม่ว่าทางใด ๆ

และ มาตรา 68 ที่ระบุห้ามไม่ให้บุคคลใดใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญล้มล้างการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญ

เชื่อต้องการสืบทอด "ปรีดี" แต่ไม่พิจารณาในจารีต-สังคมไทย

นายศาสตรา กล่าวว่า แนวคิดของคณะนิติราษฎรฺ ต้องการสืบทอดเจตนารมย์ของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎร พ.ศ.2475 โดยไม่พิจารณาในจารีต ประเพณี และวิถีของสังคมไทย

"ขณะนี้ ทราบว่า มีหลายกลุ่มที่ทนกับพฤติกรรมดังกล่าวไม่ไหว และจะหาช่องทางตามกฎหมายดำเนินการกับกลุ่มนิติราษฎร์ เบื้องต้นมีช่องทางตามมาตรา 68 วรรค 2 โดยให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุด ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ยกเลิก การกระทำดังกล่าว และยังเปิดให้ประชาชนสามารถดำเนินคดีอาญาในหมวดความมั่นคงของรัฐ" นายศาสตรา กล่าว

อดีต สสร. 50 โจมตี "นิติราษฎร์" ต้องการล้มระบอบการปกครองไทย

นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ฐานะสมาชิกกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ กล่าวถึงข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ต่อประเด็นองค์กรยกร่าง, กระบวนการยกร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงข้อเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล และกองทัพว่า “ข้อเสนอนี้ต้องการเปลี่ยนระบบปกครอง มีแนวคิดคล้ายกับแนวคิดของคณะราษฎร์ ที่ได้ทำการปฏิวัติ เมื่อพ.ศ.2475 ซึ่งกระบวนการของคณะนิติราษฎร์นี้เหมือนจะต่อยอดจากการกระทำเมื่อ พ.ศ.2475 โดยใช้หลักวิชาการมาครอบงำวิธีคิดของคนสังคม และนำมวลชนมากดดันซึ่งการ เคลื่อนไหวนี้เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่มีภาควิชาการนำหน้า ประเด็นนี้ผมมองว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ปมปัญหาของสังคม แต่ปัญหาเกิดจากกลุ่มทุนที่เข้ามาครอบงำพรรคการเมือง” นายคมสัน กล่าว

เรื่องสภาตั้งผู้ตรวจการกองทัพเป็นโมเดล "คอมมิวนิสต์"

นายคมสัน กล่าวว่าสำหรับการตั้งผู้ตรวจการกองทัพที่ถูกแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎรนั้น ทางนิติราษฎร์ ได้ใช้โมเดลของการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ มาใช้ โดยคอมมิวนิสต์ เรียกว่าเป็นผู้ชี้นำทางการเมือง

“ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ สังคมต้องคุยกันให้เยอะ เพราะคิดว่าคงเป็นเพียงตุ๊กตาเท่านั้น แต่ผมมองว่าหากแนวคิดนี้ถูกนำมาใช้ จะทำให้เกิดความวุ่นวาย เพราะเป็นการหักดินระบอบการปกครอง แบบ 360 องศา เมื่อพิจารณาในสถานการณ์ปัจจุบันแล้วข้อเสนอนี้อาจเกิดเป็นข้อถกเถียงของ ทั้งฝ่ายศาล ทหาร และกระบวนการยุติธรรม สุดท้ายอาจทำไปสู่ความแตกแยกได้” นายคมสัน กล่าว

เชื่อการเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์สอดคล้องกับความต้องการของ "ทักษิณ"

นายคมสัน กล่าวด้วยว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สอดคล้องกับแนวคิดและความต้องการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และกลุ่มคนเสื้อแดง ดังนั้นตนขอเรียกให้คณะนิติราษฎร์ ชี้แจงต่อสังคมให้ชัดว่านำเงินที่ใช้ในการเคลื่อนไหวมาจากไหน เพราะการจัดเสวนาที่ต่อเนื่องเป็นประจำ รวมถึงทำเอกสารแจก ต้องมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง หากได้มาจากการบริจาค เปิดเผยผู้ให้บริจาคได้หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และให้สังคมเห็นว่าการเคลื่อนไหวนี้ไม่มีผลประโยชน์ใดแอบแฝง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิพากษ์ 'มีชัย ฤชุพันธุ์' กรณี ม.112

Posted: 24 Jan 2012 07:11 AM PST

"อันว่านักกฎหมายที่เชี่ยวชาญในด้านการตีความเข้าข้าง หาช่องว่างของกฎหมาย ผู้คนเขาให้การยกย่องว่าเป็นคนที่ฉลาดหลักแหลม อยากได้เอาไว้ใช้งาน ในขณะเดียวกันผู้คนเขาก็มักจะดูถูกเหยียดหยามว่าเป็นคนเจ้าเล่ห์ ไว้ใจมากนักไม่ได้"

อนุสนธิบทความของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ในไทยโพสต์วันที่ 20 มกราคม 2555 ในเรื่อง “ปัญหาการแก้ไขมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา” ซึ่งกองเชียร์ของฝ่ายตรงข้ามกับนิติราษฎร์ออกมาแสดงความยินดีกันเสียยกใหญ่ว่า ขนาดกูรูทางด้านกฎหมายยังไม่เห็นด้วยจนต้องออกมาโต้ตอบสั่งสอนพวกนิติราษฎร์ แต่สำหรับผมที่ถึงแม้ว่าจะเห็นด้วยกับนิติราษฎร์ แต่ก็มิใช่เห็นด้วยไปเสียทั้งหมดในทุกประเด็น เมื่ออ่านบทความชิ้นนี้ของ“มีชัย ฤชุพันธุ์” แล้ว ผมเห็นว่าถ้าเป็นการตรวจข้อสอบคัดเลือกหรือการสอบแข่งขันที่ตัดหัวกระดาษออกโดยไม่ให้รู้ว่าเป็นของใครแล้ว ผมให้สอบตก เพราะไม่ได้ตอบโจทย์ในปัญหากฎหมายที่นิติราษฎร์ยกขึ้นมาเลย แต่กลับไปยกเรื่องอื่นอ้อมไปอ้อมมา

แต่หากเป็นข้อสอบเก็บคะแนนในห้องเรียนที่เห็นชื่อชั้นของผู้ตอบแล้ว แม้จะไม่สามารถตอบถูกตามธงคำตอบ แต่ก็ให้ผ่านในฐานะที่ยังพยายามเขียนให้เต็มหน้ากระดาษเข้าไว้โดยไม่ส่งกระดาษเปล่า ที่สำคัญคือสามารถโน้มน้าวชักจูงผู้ที่อ่านไม่ละเอียดพอ เพียงแต่เห็นชื่อผู้เขียนบทความก็เคลิ้มได้

ที่ผมกล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่าเมื่ออ่านบทความของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ชิ้นนี้เผินๆแล้วก็ดูน่าเชื่อถือ เพราะเกริ่นเสียดูดีว่า

“เพราะขึ้นชื่อว่า "กฎหมาย" เมื่อล้าสมัย หรือไม่เหมาะสมกับสังคม หรือขัดต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ ก็สมควรยกเลิกหรือปรับปรุงแก้ไขได้เสมอ”ต่อด้วย “คนที่มีความจงรัก ภักดีอย่างเหลือล้น ก็อาจกล่าวหาคนที่จงรักภักดีอย่างธรรมดาได้ สุดแต่ใครจะหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นข้อกล่าวหาเชือดเฉือนใคร และในที่สุดก็เลยกลายเป็นอาวุธทางการเมือง”

 และยังเสริมอีกว่า

“การที่มนุษย์มีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูดหรือการแสดงความคิดเห็นนั้น มิได้หมายความว่าจะพูดหรือแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็ได้ เพราะสิทธินั้นมาควบคู่กับหน้าที่ คือในการใช้สิทธิ ก็ต้องคำนึงถึงหน้าที่ที่จะต้องเคารพถึงสิทธิของคนอื่นด้วย อยู่ๆ ใครจะลุกขึ้นใส่ร้ายใคร หรือดูหมิ่นใคร หรืออาฆาตมาดร้ายใคร แล้วอ้างว่าเป็นการใช้เสรีภาพในการพูดหรือการแสดงความคิดเห็นได้เสียเมื่อไหร่กัน”

โดยไม่เพียงแต่อ้างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 8 แล้วบอกว่าไม่ควรแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้วยังยกเอากฎหมายอื่นมาอ้างอีก เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 133,134 ซึ่งเกี่ยวข้องกับประมุขต่างประเทศหรือผู้แทนรัฐต่างประเทศ /มาตรา 135 ความผิดเกี่ยวกับธงหรือเครื่องหมายของรัฐต่างประเทศ/มาตรา 136 การดูหมิ่นเจ้าพนักงาน/มาตรา 206 เกี่ยวกับวัตถุหรือสถานที่อันเป็นที่เคารพของศาสนา ฯลฯ แล้วสรุปปิดท้ายว่า

“ในเมื่อกฎหมายปัจจุบันให้ความคุ้มครองสถาบันหลักทั้ง 3 สถาบัน คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทั้งยังให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ อื่นๆ ที่กระทำการตามหน้าที่ ทำไมจึงสมควรยกเลิกการคุ้มครองแต่เฉพาะพระมหากษัตริย์ โดยไม่พูดถึงหรือแตะต้องการคุ้มครองสถาบันผู้นำสูงสุดของต่างประเทศ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ชาติ และศาสนา ที่กฎหมายไทยให้ความคุ้มครองอยู่ ทำไมสถาบันอื่นๆยังสมควรได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ ทำไมจึงจะยกเลิกแต่เฉพาะการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองว่าเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดมิได้ เหตุผลคืออะไร หรือตั้งใจจะยกเลิกการคุ้มครองเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือเจ้าพนักงาน ก็ไม่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองกันเป็นพิเศษ ก็พูดมาเสียให้ชัด เพื่อประชาชนจะได้เข้าใจได้ถูก และแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยได้อย่างถูกต้อง”

ซึ่งเมื่ออ่านอย่างพินิจพิเคราะห์แล้วจะพบว่านอกจาก“มีชัย ฤชุพันธุ์” จะอ้างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 8 แล้วบอกว่าไม่ควรแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งผมเห็นว่าการแก้ไขให้ติชมโดยสุจริตไม่ใช่การ ล่วงละเมิดแต่อย่างใด และ“มีชัย ฤชุพันธุ์” ยังตีขลุมรวมๆไปกับความผิดบุคคลหรือเจ้าพนักงานอื่นๆ โดยไม่ได้ตอบปัญหาของความไม่สมเหตุสมผลหรือหลักของความได้สัดส่วนของโทษกับการกระทำความผิดในลักษณะใกล้เคียงกันว่าเหตุใดถึงมีความแตกต่างในความหนักเบากว่ากันอย่างมากมายมหาศาล และไม่ได้ตอบปัญหากรณีการใช้กฎหมายอย่างฉ้อฉล เช่น ใครก็ได้ที่สามารถเป็นผู้เสียหายนำไปใช้กลั่นแกล้งกันแต่อย่างใด ฯลฯ แต่ไปยกเอาเหตุผลด้านประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งไม่ใช่ประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย โดยเฉพาะประโยคที่ว่า

“ที่สำคัญต้องไม่นำเอาความรู้สึกของประเทศอื่นมาเป็นมาตรฐาน เพราะแต่ละประเทศย่อมมีประเพณี วัฒนธรรม
 ที่สำคัญต้องไม่นำเอาความรู้สึกของประเทศอื่นมาเป็นมาตรฐาน เพราะแต่ละประเทศย่อมมีประเพณี วัฒนธรรม หรือความอ่อนไหว แตกต่างกันไป”

ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน ไทย จีน ฝรั่ง สูง ต่ำ ดำ ขาว ไพร่ ผู้ดี ก็ล้วนแล้วแต่มีสิทธิพื้นฐานในความเป็นมนุษย์เหมือนกันตามปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่บัญญัติว่า

"มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระ เสรีและเท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิ์ประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง ( All human beings are born free and equal in dignity and rights.They are endowed with reason and conscience and should act towards one another in a spirit of brotherhood)”

ไม่ใช่เลือกเอาเฉพาะที่เข้าข้างความเห็นของตนเองเท่านั้นจึงจะถือว่าถูกต้อง พอไม่ตรงกับที่ตนเองต้องการก็อ้างเอาลักษณะเฉพาะตัวของประเทศไทยตามความเห็นของหมู่หรือของพวกตนเองกำหนดขึ้นไปเป็นข้อยกเว้น

ผมไม่ได้แปลกใจอะไรมากนักที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ซึ่งเป็น “เนติบริกรต้นแบบ” ตัวจริง จะเขียนบทความออกมาในทำนองนี้ เพราะมีภูมิหลังเกี่ยวข้องกับอำนาจนิยมและเป็นมือเป็นไม้ของคณะรัฐประหารมาโดยตลอด ล่าสุดก็ออกมายุให้เชิญจอมเผด็จการโรเบิร์ต มูกาเบ แห่งซิมบับเวมาเยือนไทยเสียอีกแน่ะ โดยอ้างว่าคนไทย (???) ยินดีต้อนรับอยู่แล้ว ไม่รู้ว่าเป็นความหวังดีแต่ประสงค์ร้ายเพื่อให้รัฐบาลพังเร็วขึ้นหรือเปล่า

และในกรณีปัญหาการแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญานี้อีกก็เช่นกัน แทนที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” จะออกมาบอกกันตรงๆเลยว่า หมั่นไส้และไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข แต่กลับเบี่ยงประเด็นเพื่อทำให้ผู้อ่านเข้าใจไขว้เขวไปว่าผู้ที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112 นั้น ต้องการที่จะยกเลิกการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือตั้งใจจะยกเลิกการคุ้มครองเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือเจ้าพนักงาน ซึ่งไม่เป็นความจริงในทั้งสองประเด็น

อันว่านักกฎหมายที่เชี่ยวชาญในด้านการตีความเข้าข้างเจ้านายหรือนายจ้างของตนเอง หรือเชี่ยวชาญในการหาช่องว่างของกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงนั้น ผู้คนเขาให้การยกย่องว่าเป็นคนที่ฉลาดหลักแหลม อยากได้เอาไว้ใช้งานเพื่อเป็นมือเป็นไม้ ในขณะเดียวกันผู้คนเขาก็มักจะดูถูกเหยียดหยามว่าเป็นคนเจ้าเล่ห์เพทุบาย ไว้ใจมากนักไม่ได้ และกรณีนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นสัจธรรมดังกล่าว ไม่ว่านักกฎหมายผู้นั้นจะมีผู้คนยกย่องว่าเป็นถึง “กูรู”ก็ตาม

 

 

--------------------

เผยแพร่ครั้งแรก ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 25 มกราคม 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความมั่นคงของรัฐและความมั่นคงของประมุขแห่งรัฐ: มายาภาพในสังคมไทย

Posted: 24 Jan 2012 04:50 AM PST

ยอดพล เทพสิทธา<1>

 

“ที่เสนอให้เอาเรื่องหมิ่นสถาบันออกจากเรื่องความมั่นคง ผมไม่รู้ว่าเขาเกิดและเติบโตมาจากประเทศไหน เพราะถ้าเป็นคนไทยแท้ๆจะรู้ว่าความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติคือความมั่นคงของประเทศ ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และที่อ้างว่าการไม่ปล่อยให้มีการวิจารณ์อย่างเสรีจะทำให้สถาบันเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย ผมก็อยากรู้ว่านักวิชาการคณะนี้ไปศึกษาหาความรู้มาจากไหน เพราะสถาบันไม่เคยเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย”<2>

ข้อความดังกล่าวข้างต้นกล่าวโดย นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์จากข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่บกพร่องในเรื่องเกี่ยวกับรัฐและประมุขของรัฐ

บทความนี้ไม่ได้ต้องการกล่าวถึงความมั่นคงของรัฐในทางการทหารการเศรษฐกิจหรือการสังคมในด้านต่างๆแต่ต้องการมุ่งเน้นให้เห็นถึงมายาภาพที่อยู่ในมโนสำนึกของพลเมืองไทยที่ถูกผลิตซ้ำมานานว่าสถาบันกษัตริย์และสถาบันรัฐเป็นสิ่งที่ต้องอยู่คู่กันและไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด

บทเกริ่นนำ

รัฐเป็นสิ่งที่มนุษย์สมมุติขึ้นมาเพื่อสถาปนาให้เป็นสถาบันที่ทรงอำนาจทางการเมืองโดยทฤษฎีทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำเนิดรัฐนั้นมีมากมายหลายทฤษฎีไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีที่ว่ารัฐเกิดจากสัญญาประชาคมหรือรัฐเกิดจากความขัดแย้ง(สำนักมาร์กซิส)และรัฐเกิดจากการจัดตั้งสถาบัน การอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่มีการหยิบโยงเอาความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์มาเป็นจุดเชื่อมต่อกับความมั่นคงของรัฐนั้นจึงเป็นการเชื่อมโยงที่ค่อนข้างผิดฝาผิดตัว เพราะสถาบันกษัตริย์นั้นเป็นเพียงสถาบันการเมืองหนึ่งหรือเป็นหน่วยการเมืองหนึ่งที่อยู่ภายในรัฐไม่ได้อยู่เหนือรัฐหรือเป็นสถาบันที่เป็นปัจจัยถึงความมั่นคงของรัฐดังที่เข้าใจกัน

อำนาจทางการเมืองกับรัฐ

ในสังคมบุพกาลอำนาจทางการเมืองนั้นไม่ปรากฎว่าอยู่ที่ตัวบุคคลใบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะอำนาจทางการเมืองในสังคมบุพกาลนี้เป็นอำนาจที่เกิดจากความหวาดกลัวพลังของธรรมชาติดังนั้นผู้ที่ทรงอำนาจทางการเมืองในสังคมบุพกาลนี้จะเป็นผู้ทรงอิทธิฤทธิ็ที่สามารถติดต่อกับธรรมชาติได้เช่นผีปู่ผีย่าหรือผู้อาวุโสในเผ่าต่างๆที่เชื่อกันว่าพลังที่ติดต่อกับพระเจ้าและควบคุมธรรมชาติได้ อำนาจทางการเมืองในสังคมบุพกาลในสังคมบุพกาลนี้เราเรียกกันว่าเป็นอำนาจนิรนาม(pouvoir anonyme)ซึ่งไม่อาจระบุได้ว่าใครเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงเนื่องจากไม่สามารถระบุได้ว่าใครกันแน่ที่มีอำนาจสูงสุดในเผ่า

เมื่อสังคมพัฒนาจากสังคมบุพกาลมาสู่ยุครัฐชาติ ชาติต่างๆในยุโรปตะวันตกเริ่มมีแนวคิดในการจัดสร้างชาติขึ้น สังคมในยุคนี้พัฒนาขึ้นมาอีกระดับจากสังคมศักดินาโดยกษัตริย์ในยุโรปเริ่มที่จะสะสมกำลังอำนาจเป็นของตัวเองและพยายามที่จะลดอำนาจของขุนนางในยุคศักดินาแม้จะดูเหมือนว่ากษัตริย์จะเป็นผู้ทรงอำนาจทางการเมืองแท้จริงแล้วกษัตริย์ไม่ได้มีอำนาจที่สูงสุดอย่างแท้จริงเนื่องจากอำนาจของกษัตริย์นั้นเป็นอำนาจที่ผูกพันกับลักษณะส่วนบุคคลกล่าวคือหากกษัตริย์มีลักษณะเข้มแข็งอำนาจของกษัตริย์ก็จะเข้มแข็งตามไปด้วยแต่หากกษัตริย์นั้นอ่อนแออำนาจของกษัตริย์ก็จะอ่อนแอตามลงไปด้วยอันเนื่องมาจากเหล่าบรรดาขุนนางหรือผู้มีอำนาจจากที่อื่นอาจเข้ามาท้าทายพระราชอำนาจได้จึงทำให้อำนาจของกษัตริย์นั้นไม่ใช่อำนาจสูงสุดที่แท้จริงหากเปรียบเทียบกับกรณีของเมืองไทยลองนึกย้อนกลับไปถึงสมัยอยุธยาที่มีการช่วงชิงราชบัลลังก์กันอยู่เป็นประจำไม่ว่าจะเป็นแย่งชิงกันระหว่างสายเลือดเดียวกันหรือเกิดจากบุคคลภายนอก ลักษณะเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นคงและความไม่ต่อเนื่องของสถาบันทางการเมืองดังนั้นในยุคที่ยังมีการนำเอาอำนาจผูกติดกับคุณสมบัติของบุคคลนี้รัฐ(สมัยใหม่)จึงยังไม่ถือกำเนิดขึ้น

จากสภาพสังคมในยุครัฐชาตินี้ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงและความไม่มีสเถียรภาพของอำนาจทางการเมืองภายในรัฐจึงได้มีความพยายามที่จะแยกอำนาจทางการเมืองออกจากตัวบุคคลแต่ปัญหาที่ตามมาคือเมื่อแยกอำนาจทางการเมืองออกจากตัวบุคคลไปแล้วนั้นจะนำอำนาจนั้นไปมอบให้แก่ผู้ใดเพราะหากมอบให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้วก็ย่อมที่จะต้องวนกลับไปหาปัญหาเดิมคือความไม่ต่อเนื่องและมั่นคงของอำนาจทางการเมืองดังนั้นจึงมีการจัดตั้งสถาบันหนึ่งขึ้นมาโดยให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลและให้สถาบันนั้นเป็นสถาบันที่ทรงอำนาจทางการเมืองซึ่งเรียกสถาบันนั้นว่ารัฐ เมื่อมีการแยกอำนาจทางการเมืองออกจากตัวบุคคลและนำมาให้แก่รัฐแล้วสิ่งที่ตามมาคือกษัตริย์หรือผู้ปกครองนั้นไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจทางการเมืองนั้นต่อไปหากแต่เป็นเพียงบุคคลที่เข้ามาใช้อำนาจนั้นแทนรัฐ<3>

ปัจจัยที่แสดงถึงการแยกอำนาจทางการเมืองจากตัวบุคคลมาให้แก่รัฐนั้นมีหลายปัจจัยได้แก่ปัจจัยในการเข้าสู่อำนาจกล่าวคือการเข้าสู่อำนาจของผู้ปกครองจะถูกกำหนดโดยกฎหมายและจะไม่ใช่การเข้าสู่อำนาจโดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว ปัจจัยต่อมาคือเรื่องของความต่อเนื่องของอำนาจทางการเมืองกล่าวคือเมื่อผู้ใช้อำนาจทางการเมืองหมดสภาพลงหรือตายไปอำนาจทางการเมืองไม่ได้สิ้นสุดลงตามไปด้วยเนื่องจากผู้ปกครองเป็นเพียงผู้ที่เข้ามาใช้อำนาจแทนรัฐเท่านั้นไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจทางการเมืองดังเช่นในสังคมยุคโบราณตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากปัจจัยเรื่องความต่อเนื่องได้แก่ เมื่อกษัตริย์(ในยุโรป) สวรรคตลงจะมีการร้องว่า The King is dead,Long live the King<4> ซึ่งเป็นการแสดงถึงสัญลักษณ์ว่าเมื่อกษัตริย์สวรรคตแล้วน้นย่อมจะมีกษัตริย์องค์ต่อไปเข้ามาใช้อำนาจทางการเมืองแทนเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของอำนาจและปัจจัยสุดท้ายได้แก่เรื่องเหตุผลของรัฐ(raison d'Etat)กล่าวคือในทุกๆกิจกรรมที่ผู้ปกครองได้ทำลงไปนั้นต้องเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ส่วนรวมไม่ใช่ทำไปเพื่อผลประโยชน์แห่งตน <5>

ความต่อเนื่องของรัฐและเหตุผลของรัฐ

รัฐทุกรัฐกำเนิดขึ้นมาโดยมีเหตุผลของตนเองกล่าวคือเพื่อเป็นสถาบันแห่งอำนาจทางการเมืองและเป็นสถาบันที่มีหน้าที่ในการตอบสนองความต้องการอันหลากหลายของพลเมืองภายในรัฐหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเพื่อทำหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะนั่นเองซึ่งหลักสำคัญในการจัดทำบริการสาธารณะหลักหนึ่งคือหลักแห่งความต่อเนื่องของบริการสาธารณะซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่สอดรับกับหลักความต่อเนื่องของรัฐ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเหตุผลของรัฐนั้นต้องเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมหรือพลเมืองภายในรัฐ หากรัฐไม่มีความต่อเนื่องของอำนาจแล้วการจัดทำบริการสาธารณธย่อมจะสะดุดหรือชะงักทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนตัวผู้ปกครองดังนั้นการที่รัฐจำเป็นต้องมีความต่อเนื่องของอำนาจนั้นก็เป็นไปเพื่อความต่อเนื่องของารจัดทำบริการสาธารณะนั่นเอง


ความมั่นคงของรัฐและผู้ปกครอง

เมื่อมีการสถาปนารัฐขึ้นสถานะพิเศษของผู้ปกครองที่เคยมีอำนาจเด็ดขาดได้ถูกยกเลิกลงอันเนื่องมาจากหลักการว่าด้วยเหตุผลของรัฐนอกเหนือจากนั้นเมื่อผู้ปกครองไม่ได้มีสถานะที่เชื่อมโยงกับรัฐนั้นย่อมก่อให้เกิดความมั่นคงของรัฐในฐานะนิติบุคคลที่ไม่มีจุดเชื่อมโยงกับผู้ปกครองอีกต่อไปดังนั้นการที่กล่าวว่าเมื่อผู้ปกครองตายลงนั้นรัฐจะต้องล่มสลายลงไปด้วยหรือเมื่อประมุขของรัฐเกิดความไม่มั่นคงขึ้นในสถานะของตนเองแล้วนั้นจึงไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ(ในทางกฎหมาย)แต่อย่างใด ตัวอย่างเช่นเมือมีการประหารพระเจ้าหลุยส์ที่สิบหกแห่งราชวงศ์บูรบงนั้นรัฐฝรั่งเศสไม่ได้ล่มสลายหรือไม่มั่นคงแต่อยางใดเพราะมีการสถาปนาผู้ปกครองและการปกครองรูปแบบอื่นขึ้นมาแทนที่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชญ์หรือในกรณีของพระเจ้าไกเซฮร์วิลเฮมล์ที่สองแห่งเยอรมนีเมื่อถูกโค่นล้มลงโดยกลุ่มนายทหารรัฐเยอรมันก็ยังคงอยู่ได้แม้อาจจะไม่มีความมั่นคงในทางเศรษฐกิจก็ตาม (ปัจจัยจากการแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง)หรือตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิ์ฮิโรฮิโต เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สองสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาจัดระเบียบใหม่ในญี่ปุ่นและสร้างระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้นรัฐญี่ปุ่นก็ไม่ได้เกิดความไม่มั่นคงขึ้นแต่กลับมั่นคงมากขึ้นเสียมากกว่าเมื่อรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นได้กำหนดเกณฑ์ในการเข้าสู่การเป็นจักรพรรดิ์อย่างชัดเจน จากตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการที่ผู้ปกครองหมดคุณสมบัติไปนั้นไม่ได้ส่งผลกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐแต่อย่างใดเพราะระบบกฎหมายและระบบการเมืองของแต่ละรัฐนั้นจะสถาปนาการปกครองและผู้ปกครองใหม่ขึ้นมาแทนที่เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการใช้อำนาจ

การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา112กับความมั่นคงของรัฐ

ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา112โดยให้แยกออกจากหมวดว่าด้วยความมมั่นคงของรัฐนั้นเป็นข้อเสนอที่ตรงตามหลักวิชาการเรื่องรัฐดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าผู้ปกครองและรวมถึงประมุขของรัฐนั้นได้ถูกแยกออกจากสถาบันรัฐตั้งแต่มีการสถาปนารัฐขึ้นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา112โดยแยกออกมาจากหมวดความมั่นคงแห่งรัฐจึงเป็นข้อเสนอที่ไม่ขัดกับหลักวิชาใดๆทั้งสิ้น

อีกทั้งข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา112ของกลุ่มนิติราษฎร์ยังเป็นการสร้างหมวดใหม่ขึ้นมาในประมวลกฎหมายอาญาคือหมวดความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติยศของประมุขของรัฐจึงเป็นข้อเสนอที่ต้องรับฟังและเปิดกว้างทางความคิดอย่างมากเพราะป็นข้อเสนอที่ช่วยประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่าจะไม่ถูกกลั่นแกล้งโดยใช้ความผิดตามมาตรานี้และนอกจากนั้นยังเป็นการแก้ความเข้าใจที่สับสนมาอย่างยาวนานระหว่างความมั่นคงของประมุขของรัฐและความมั่นคงของรัฐว่าแท้จริงแล้วเป็นคนละเรื่องเดียวกันมิฉะนั้นเราอาจได้เห็นสภาพของประเทศไทยที่เป็นสังคมอุดมแห่งความครอบงำไม่ต่างจากเกาหลีเหนือ

        

===========================                                         

เชิงอรรถ

 

<1> นักศึกษาปริญญาเอก สาขากฎหมายปกครอง มหาวิทยาลัย Paul CEZANNE

<2>      http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=13141

<3> บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, แม่บทความคิดว่าด้วยรัฐ, เอกสารโรเนียวประกอบคำบรรยาย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์

        มหาวิทยาลัย

<4> บวรศักดิ์ อุวรรณโณ,กฎหมายมหาชนเล่มหนึ่ง,วิญญูชน

<5> เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์,รัฐ รัฐธรรมนูญและกฎหมาย, พิมพ์ครั้งที่ห้า, วิญญูชน หน้า 46

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นัดพิพากษา ‘สุรชัย แซ่ด่าน’ 28 ก.พ.นี้ หลังตัดสินใจรับสารภาพคดีหมิ่น

Posted: 24 Jan 2012 03:35 AM PST

24 ม.ค.55 ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญา ถนนรัชดา ศาลนัดสืบพยานโจทก์คดีหมายเลขดำที่ อ.1620/2554 ที่พนักงานอัยการ ฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้องนายสุรชัย แซ่ด่าน หรือด่านวัฒนานุสรณ์ เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำเลยได้กลับคำให้การที่ปฏิเสธในชั้นสอบสวน เป็นรับสารภาพ ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 28 ก.พ.55 โดยมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติไปสืบเสาะประวัติของจำเลยเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาภายใน 30 วัน

นายคารม พลพรกลาง ทนายความของนายสุรชัย ให้สัมภาษณ์ว่า คดีนี้เหตุเกิดในงานสัมมนาที่อิมพีเรียล ลาดพร้าว ท้องที่ สน.โชคชัย ขณะที่ยังมีอีกคดีหนึ่งที่ศาลรับฟ้องแล้วคือคดีที่ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ศาลออนุญาตตามที่จำเลยร้องขอให้หยิบคดีหลังซึ่งนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 30 ม.ค.55 นี้มาพิจารณาโดยผู้พิพากษาคณะเดียวกันเลยในวันนี้ เนื่องจากจำเลยจะรับสารภาพทั้งหมด ดังนั้น ในวันที่ 28 ก.พ.นี้จะมีการพิพากษาทั้งสองคดี

ทั้งนี้ เว็บไซต์ศาลอาญาระบุคำฟ้องของโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ อ.1620/2554 ว่า “เมื่อวันที่  18 ธันวาคม  พ.ศ.2553  เวลาประมาณ 1830 นาฬิกา  ถึงเวลากลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน  จำเลยพูดกล่าวข้อความ  ใส่ความ  อันเป็นการหมิ่นประมาท  ดูหมิ่น  และแสดงความอาฆาตมาตร้าย  พระมหากษัตริย์  พระราชินี  รัชทายาท  ต่อประชาชนผู้มาฟังการชุมนุมปราศรัย  “เสวนาตาสว่างกว่าเดิม ครั้งที่ 2  โดย 4 ส.”  ว่ามีส่วนบงการหรืออยู่เบื้องหลังทางการเมือง  และเป็นเหตุให้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองอย่างรุนแรง โดยจำเลยมีเจตนาที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปเสื่อมศรัทธา  ไม่เคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  เหตุเกิดที่  แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์  เขตวังทองหลาง  กรุงเทพมหานคร และทั่วราชอาณาจักรเกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตาม   ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  112”

ส่วนคดีที่ดอยสะเก็ดนั้น คือคดีหมายเลขดำที่ อ.3187/2554 ระบุว่า “วันที่ 11 กันยายน 2553 เวลากลางคืนหลังเที่ยง  จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น  แสดงความอาฆาตมาดร้าย  ต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ด้วยการพูดปราศรัยต่อประชาชน ณ เวทีปราศรัยชั่วคราว  บริเวณสนามกีฬาเทศบาลตำบลดอยสระเก็ด ต.เชิงดอย  อ.ดอยสะเก็ด  จ.เชียงใหม่ เหตุเกิดที่ ต.เชิงดอย  อ.ดอยสะเก็ด  จ.เชียงใหม่  ขอให้ลงโทษตาม  ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 112”

นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยานายสุรชัย กล่าวว่า ทราบว่ายังมีคดีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนอีกอย่างน้อย 2 คดี ซึ่งที่ผ่านมาตนเองได้เรียกร้องไปยังคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดอง (คอป.)  ให้ประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้รวมคดีทั้งหมด เพื่อให้คดีสิ้นสุดโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นก็จะทยอยฟ้องต่อไปได้เรื่อยๆ แม้ว่าจะรับสารภาพไปแล้ว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปัญหาการแต่งตั้ง รมต. ดร.นลินี กับการสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้อง

Posted: 24 Jan 2012 03:28 AM PST

ผมติดตามข่าวสารกรณีปัญหาการแต่งตั้ง ดร.นลินี ทวีสิน ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งได้มีพระบรมราชโองการโปรกเกล้าเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วยความสนใจยิ่งในฐานะที่เป็นพลเมืองคนหนึ่ง ที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองหลักประกันสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยอยากจะทราบว่าท้ายที่สุดแล้วผลจะออกมาเป็นเช่นไร แต่กระนั้นก็ตามขณะรอการเข้าถวายสัตย์และปฏิญาณเพื่อเข้าทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในฐานะรัฐมนตรี ได้มีการเปิดเผยภายหลังว่า ดร.นลินี ทวีสิน ถูกขึ้นบัญชีดำ หรือ blacklist จากหน่วยงานหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นบุคคลที่ห้ามมิให้ติดต่อทำธุรกิจกับสหรัฐอเมริกา สืบเนื่องจากถูกกล่าวหาว่า ดร.นลินี ให้การสนับสนุนด้านการเงินทำธุรกิจกับภรรยาผู้นำซิบบับเว นายโรเบริ์ต บูกาเบ้ ต่อมา ดร.นลินี ได้ออกมาปฏิเสธทันทีว่าเป็นความเข้าใจผิดไม่เป็นความจริงว่าตนไม่ได้ทำธุรกิจอย่างที่สหรัฐอเมริกากล่าวหา ขณะเดียวกันกับมี ส.ส.จากพรรคการเมืองเก่าแก่ พรรคประชาธิปัตย์รวมถึงผู้นำฝ่ายค้าน ออกมาแสดงความคิดเห็นทักท้วงให้นายกรัฐมนตรีทบทวนการแต่งตั้ง ดร.นลินี บางคนเสนอว่าให้ลาออกภายหลังการถวายสัตย์ปฏิญาณ ทั้งยังมี ส.ว. บางคนบอกว่าควรทบทวนเนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศใหญ่ เป็นสมาชิกถาวรสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ บางกลุ่มถึงกับยื่นเรื่องร้องขอต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา โดยว่าการแต่งตั้ง ดร.นลินี นั้นมีปัญหาด้านจริยธรรม ขณะที่มี ส.ส. บางกลุ่มบอกว่าการตั้ง ดร.นลินี ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไม่สง่างาม เพราะเหตุแห่ง “ข้อกล่าวหา” ดังกล่าว..

ไม่ว่าข้อทักท้วงหรือการขยายผลให้เป็น “ปัญหาทางการเมือง” เพื่อหวังผลสืบเนื่องต่อไปอย่างไรก็สุดแล้วแต่ กรณีการแต่งตั้ง ดร.นลินี ที่เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันในเวลานี้ จริง ๆ ไม่ได้เป็น “ปัญหา” แต่มีคนบางกลุ่มพยายามทำให้เป็น “ปัญหา” ถ้าหากเป็นปัญหาจริงจึงเป็นปัญหาที่ต้องใคร่ควรต่อไปว่า ระหว่างปัญหาจากหน่วยงานหนึ่งในสหรัฐที่กล่าวหา กับ ปัญหาจากสังคมการเมืองฝั่งของประเทศไทยนั้น อย่างไหนเป็น “ปัญหาที่แท้จริง” ที่สมควรพิจารณาทบทวนมากกว่ากัน

ผมฟันธงได้เลยว่าเมื่อได้สำรวจตรวจสอบ ทัศนคติข้อคิดความเห็นต่อเรื่องนี้จาก ส.ส. ส.ว. หรือกลุ่มการเมืองที่ออกมาเรียกร้องในเวลานี้แล้ว ปัญหาจากฝั่งของประเทศไทยหรือปัญหาทางสังคมวิทยาทางการเมืองไทยต่างหากที่เป็นปัญหามากสุด ๆ ในสายตาผมปัญหาที่ว่านี้ยิ่งใหญ่มากถึงขนาดว่าหากสังคมการเมืองไทยผ่านเหตุการณ์นี้ไปไม่ได้ ไม่มีแม้บรรทัดฐานที่ถูกต้อง ประเทศไทยจัดว่าเป็นรัฐที่ล้มเหลว (failure state) จริง ๆ ทั้งนี้หากจะต้องพิเคราะห์ให้ถึงที่สุดมองจากทางฝั่งหน่วยงานของสหรัฐอเมริกา หรือ ประเทศสหรัฐอเมริกาเอง เขาย่อมดำเนินการทุกวิถีทางที่จะรักษาผลประโยชน์ของเขาในทุก ๆ กรณี โดยเฉพาะต่อนโยบายระหว่างประเทศ รวมถึงหน้าตาประเทศด้วย ไม่ว่าจะมองผ่านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ ความมั่นคง หรือ การเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ก็ตาม เขาย่อมทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อ “ผลประโยชน์” ของชาติเขาเป็นหลักใหญ่ใจความ  ดูกรณีตัวอย่างการก่อสงครามในตะวันออกกลางเพื่อ น้ำมัน แม้แต่การผลักดันให้มีการลงโทษพม่าด้วยการบอยคอต (boycott) ไม่ให้ทำมาค้าขายกับพม่าจากปัญหาประชาธิปไตยในพม่า แต่กลับมีบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกามิใช่หรือ ที่แพ้คดีในศาลสูงสหรัฐอเมริกาที่ต้องจ่ายเงินให้ชาวกระเหรี่ยงในจำนวนมากมายมหาศาล จากการถูกลงโทษโดยคำพิพากษาศาลในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการถูกกล่าวหามีส่วนร่วมเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวกระเหรี่ยงในประเทศพม่า

ผมเองโดยส่วนตัวเคยมีประสบการณ์เล็กๆ กรณีคล้ายๆ ไม่แตกต่างจากรณี ดร.นลินี มากนักเหตุเกิดราวปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ ขณะที่ผมและคณะช่วยกระทรวงสาธารณะสุข ริเริ่มกฎหมาย (Law Initiative)  พระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิภูมปัญญาการแพทย์แผนไทย พุทธศักราช ๒๕๔๒ ที่ใช้บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน กฎหมายซึ่งสร้างหน่วยงานสำคัญในกระทรวงสาธารณะสุขที่รู้จักในนาม สถาบันการแพทย์แผนไทย ปัญหาเกิดขึ้นโดยมีหน่วยงานหนึ่ง ของสหรัฐอเมริกาไม่พอใจที่ประเทศไทยจะมีการตรากฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับ คงเป็นเพราะหน่วยงานดังกล่าวของสหรัฐอเมริกาเกรงว่าจะกระทบกระเทือนสร้างผลกระทบต่อนโยบายด้านทรัพย์สินทางปัญญา ที่สหรัฐพยายามผลักดันอยู่ในองค์การการค้าโลก โดยมีจดหมายโดยตรงมาทางสถานทูตสหรัฐอเมริกาและสถานทูตสหรัฐอเมริกา ได้ส่งจดหมายดังกล่าวต่อรัฐบาลไทยเพื่อขัดขวางการจัดทำกฎหมายดังกล่าว โชคดีที่คุณหมอเพ็ญนภา ลาภเจริญทรัพย์ รมต. กระทรวงสาธารณะสุข รวมถึงรัฐบาลที่ผ่านมาถึงสองรัฐบาลคือ รัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ์ และ รัฐบาลคุณชวน หลีกภัย ที่สืบต่อมาไม่ยอมทำตามแรงกดดันจากหน่วยงานของสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้พวกผมในฐานะกลุ่มที่ริเริ่มได้รณรงค์เผยแพร่การแทรกแซงกิจการภายในของสหรัฐอเมริกาสู่สากล ผลปรากฏว่ามีองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า ๒๐๐ องค์กร สนับสนุนข้อริเริ่มร่างกฎหมายที่สหรัฐอเมริกาคัดค้านไทย เรื่องไปไกลถึงเวทีองค์การการค้าโลก WTO (World Trade Organization) สมาชิกในองค์การการค้าโลกต่างสนับสนุนจุดยืนของไทยในการมีกฎหมายดังกล่าวในทุกทวีป จนยกย่องข้อริเริ่มกฎหมายของไทยเป็นตัวอย่างในการปกป้องทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น เหตุผลเบื้องหลังความยุ่งยากและความยากลำบากในการทำให้มี พระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิภูมปัญญาการแพทย์แผนไทย พุทธศักราช ๒๕๔๒

ที่กล่าวมา ซึ่งถูกหน่วยงานของสหรัฐอมริกามากดดันรัฐบาลไทยไม่ให้ทำนั้น มีท่าทีท่วงทำนองไม่ต่างจากกรณีการขึ้นบัญชีดำ ดร.นลินี นั่นก็คือ การบริหารประเทศ รัฐบาลต้องฟังและระมัดระวังไม่ทำอะไรที่สวนทางกับผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา แต่รัฐบาลในอดีตได้สร้างบรรทัดฐานที่ดี ในการดำรงรักษาความถูกต้อง การดำรงรักษาอิสรภาพอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ ผลที่ตามมาคือประเทศได้กฎหมายปกป้องทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และเป็นข้อริเริ่มที่ประเทศต่าง ๆ ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติระหว่างประเทศ ความต่างอาจจะมีบ้างเมื่อครั้งสหรัฐกดดันรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐบาลไทยกรณีการจัดทำ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิภูมปัญญาการแพทย์แผนไทย พุทธศักราช ๒๕๔๒ ไม่มีคนไทย ส.ส. และ ส.ว. ตลอดจนกลุ่มการเมืองใดพยายามปกป้องให้ยอมทำตามที่หน่วยงานสหรัฐอเมริกาต้องการ

แต่กรณีบัญชีดำ ดร.นลินี กลับมี ส.ส. จากพรรคการเมืองเก่าแก่ ผู้นำฝ่ายค้าน และ ส.ว. ออกมาแสดงออกในเชิงให้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ ดร.นลินี ยอมและถือเอาข้อกล่าวอ้างและการขึ้นบัญชีดำจากหน่วยงานสหรัฐอเมริกามาเป็นหลักเกณฑ์ ยกเว้นไม่ต้องคำนึงถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้ในปัจจุบัน แม้ไม่มีมูลเหตุใด ๆ อันเข้าลักษณะขัดจากคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

ผมยังเชื่อต่อไปอีกว่าคงมีมาตรการทางการเมืองตามมาอีกหลากหลายอย่างแน่ โดยมิพักต้องพิจารณาใคร่ครวญถึง หลักการความถูกต้องตามกฎหมาย บรรทัดฐาน และ นิติธรรมระหว่างประเทศ (International Rule of Law) ดังนั้นผมจึงขอสรุปฟันธงเลยว่าปัญหา หากจะเป็นปัญหาจริง ๆ นั้นเป็นปัญหาของเราเอง ที่ไม่ช่วยกันสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้อง หลักการที่ถูกต้อง เพื่อนำไทยสู่การเผชิญหน้าต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่นับวันยิ่งสลับซับซ้อน หลงใหลวกวนอยู่แต่การเล่นการเมืองไปวัน ๆ และดีแต่พูดคำที่สวยหรูหลอกคนไทยไปวัน ๆ  

ผมอยากให้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เอากรณีการแต่งตั้ง ดร.นลินี เป็นการแสดงภาวะผู้นำ (leadership) ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดในทางบริหาร ที่จะเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ฯ มาดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อการนี้ ขอให้เข้าใจและพึงระลึกอยู่เสมอว่าประเทศไทยเป็นรัฐที่มีเอกราชอธิปไตย (sovereign state) มีความเป็นอิสระ (Independence) และ มีความสามรถในการใช้อำนาจสูงสุดของรัฐ (Autonomous State) ในการดำเนินการใด ๆ ตามเงื่อนไขแห่งรัฐธรรมนูญ ถูกต้องสอดคล้องกับหลักนิติธรรมระหว่างประเทศ (International Rule of Law)ในประการสำคัญการที่หน่วยงานหนึ่งในรัฐ ๆ หนึ่งประกาศขึ้นบัญชีดำใด ๆ ออกมา จะไปสร้างข้อผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ (International legal binding) กับรัฐอีกรัฐหนึ่งให้ปฏิบัติตาม หรือไปมีผลบังคับเหนือบุคคลหรือยับยั้งสิทธิของพลเมืองของรัฐอีกรัฐหนึ่งมิให้ใช้สิทธิหรือยกเลิกเพิกถอนสิทธิใด ๆ ที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญต้องเสียไปนั้น ยังไม่มีรัฐประเทศใดในโลกใช้หลักการนี้ให้มีผลการกำหนดเป็นหลักเกณฑ์บังคับใช้ หรือแม้จะเป็นกรณีจารีตธรรมเนียมระหว่างประเทศ (International Norms) ในทางตรงกันข้ามกรณีของประเทศไทย ตามประมวลกฎหมายอาญา กำหนดลักษณะความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร บัญญัติไว้ความว่า มาตรา ๑๑๙ “ผู้ใดกระทำการใด ๆ เพื่อให้ราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักร ตกไปอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ต้องระวางโทษ ประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต”

สุดท้าย ดร.นลินี ในฐานะที่ได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยชอบตามรัฐธรรมนูญ ก็อย่าหลีกหนีถอดใจลาออกตามข้อเรียกร้อง เพราะเท่ากับท่านมีส่วนในการทำลายอธิปไตยที่รัฐทุกรัฐมีเท่าเสมอกันตามกฎบัตรสหประชาชาติ อีกทั้งการเดินตามหนทางเสียงเรียกร้องดังกล่าวนั้นมาจากความคิดที่ป่วยหนัก....

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หมดความหมาย..ประชาธิปไตยแบบนี้

Posted: 24 Jan 2012 03:15 AM PST

    หรือประเทศนี้มีเจ้าของ

     หรือเลือดที่ไหลนองหมดความหมาย

     หรือประชาชนเมืองนี้ล้วนเป็นควาย

     ชี้ถูกผิดชี้นำให้คนเดินตาม

    หรือคนคิดต่างต้องถูกแขวนคอ

     หรือสุนัขสอพลอต่างได้โล่ห์

     ความจริงเสรีภาพผลุบๆ โผล่ๆ

     แล้วพูดอย่างโง่ๆ ว่าประชาธิปไตย

    ประชาธิปไตยในแบบ ม.112

    คงถอยหลังเข้าคลองทีละก้าว

     ต่อชีวิตศักดินาให้ยืนยาว

     กลบฝังชนชั้นเราอย่างถาวร

     แม้น้อยนิดมืดมิดจะลุกสู้

     นิติราษฎรตื่นรู้จึงเล่าขาน

     ให้เมืองมืดตื่นจากรัตติกาล

    ดับไฟจากคนพาลให้นานยาว

   

ปราโมทย์  แสนสวาสดิ์


สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผลประเมิน 'หลักประกันสุขภาพ' พบช่วยลดจำนวนคนจนลงกว่า 8 หมื่นครัวเรือน

Posted: 24 Jan 2012 03:12 AM PST

ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศรายงานผลประเมิน “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” พบครอบคลุมประชากร 75% แนะนานาประเทศศึกษาประสบการณ์ประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องรอให้ประเทศร่ำรวยก่อนจึงจะเริ่มนโยบายนี้ได้

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา  ทีมผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศนำเสนอรายงานประเมินผลระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยในช่วงทศวรรษแรก (พ.ศ. 2545 - 2554)  ภายใต้กรอบการประเมิน 5 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนานโยบายและการออกแบบระบบ บริบทด้านนโยบายรัฐ  การดำเนินนโยบาย ระบบอภิบาล และผลกระทบของนโยบาย  ซึ่งผลประเมินชี้ให้เห็นว่า  ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยประสบ “ความสำเร็จ” ในหลายด้าน แต่ “มีความท้าทายที่จำเป็นต้องพัฒนาต่อไปในทศวรรษหน้า” 

ทั้งนี้  Dr.Timothy Grant Evans หัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ กล่าวในเรื่องนี้ว่า “ผลจากการศึกษาพบว่า ระบบหลักประกันสุขภาพสามารถครอบคลุมประชากรไทยได้ถึง 47 ล้านคน หรือ 75%  ของประชากรทั้งหมด  ซึ่งระบบนี้เกิดขึ้นในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย (พ.ศ. 2540)  ในขณะที่ประเทศมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพียง 1,900 เหรียญสหรัฐ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศจำนวนหนึ่ง แต่ระบบนี้ยังสามารถขยายความครอบคลุมได้อย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องรอให้ประเทศร่ำรวยก่อนจึงจะเริ่มนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ได้  ทั้งนี้ยังพบว่าประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถลดภาระรายจ่าย และปกป้องครัวเรือนไม่ให้ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลที่สูง หลักฐานชิ้นสำคัญ คือ จำนวนการใช้บริการผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 2.41 ครั้ง/คน/ปี ในปี พ.ศ. 2546 เป็น 3.64 ครั้ง/คน/ปีในปี พ.ศ. 2554 ขณะที่อัตราการนอนรักษาตัวในรพ.เพิ่มจาก 0.067 ครั้ง/คน/ปี เป็น 0.119 ครั้ง/คน/ปี ในช่วงเดียวกัน ข้อมูลปี พ.ศ.2553 พบจำนวนประชาชนไทยที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น (unmet need) อยู่ในระดับต่ำมาก  ครัวเรือนที่ล้มละลายเพราะค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลลดลงจากร้อยละ 6.8 ในปี พ.ศ. 2538  เหลือร้อยละ 2.8 ในปี พ.ศ. 2551 ป้องกันครัวเรือนไม่ให้ยากจนลงได้กว่า 8 หมื่นครัวเรือน นอกจากนั้น ระดับความพึงพอใจที่สูงของประชาชนซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 83 ในปี พ.ศ. 2546 เป็นร้อยละ 90 ในปี พ.ศ. 2553  โดยกลุ่มผู้ให้บริการที่เคยมีระดับความพึงพอใจต่อระบบดังกล่าวค่อนข้างต่ำในระยะแรก คือเพียงร้อยละ 39 ในปี พ.ศ. 2547 กลับเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 79 ในปี พ.ศ. 2553”   

Dr.Timothy Grant Evans กล่าวเพิ่มเติมว่า “การที่ประเทศไทยขยายความครอบคลุมได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากมีความพร้อมด้านโครงสร้างการให้บริการที่ครอบคลุมเต็ม มีหน่วยงานวิจัยนโยบายและระบบสาธารณสุขและการบริหารที่มีศักยภาพ และมีระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ที่พร้อมใช้งาน ทั้งนี้การจะทำให้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดความยั่งยืนต่อไปในทศวรรษหน้ายังมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป”

Dr.Maureen E.Birmingham ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ให้ความเห็นในเรื่องเดียวกันนี้ว่า “ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยยังให้บทเรียนที่มีประโยชน์ต่อนานาประเทศที่กำลังมุ่งไปสู่การจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่ประชาชนของตน เช่น ความจำเป็นที่ต้องการการสนับสนุนจากการเมืองระดับสูงในการดำเนินนโยบาย ศักยภาพเชิงวิชาการในการออกแบบระบบและชุดสิทธิประโยชน์ที่รอบด้าน ศักยภาพของระบบสาธารณสุขที่จะดำเนินนโยบาย การปฏิรูปด้านการเงินการคลัง รวมถึงความโปร่งใสของโครงสร้างการอภิบาลระบบ เป็นต้น”

ทั้งนี้ ดร.นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) เครือสถาบันของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า “ข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญ จากการสรุปบทเรียน 10  ปีการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยในครั้งนี้  คือ  1) นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องเป็น“วาระแห่งชาติ” ที่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากฝ่ายการเมือง ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ซึ่งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแสดงให้เห็นแล้วว่า นอกจากจะช่วยทำให้สุขภาพประชาชนดีขึ้นแล้ว  ยังเป็น “มาตรการ” ลดปัญหาความยากจนได้อย่างเป็นรูปธรรม 2) การพัฒนาโครงสร้างระบบบริการสุขภาพโดยเฉพาะที่ระดับปฐมภูมิให้ครอบคลุมโดยมีกำลังคนด้านสุขภาพที่พอเพียง และ 3) การออกแบบระบบที่ดี เช่น ระบบงบประมาณและการจ่ายเงินสถานพยาบาลแบบปลายปิด ระบบคู่สัญญา (contact model) ที่แยกบทบาทความรับผิดชอบชัดเจน  รวมทั้งการกำหนดสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมรอบด้านให้แก่ประชาชน”

นพ.พงษ์พิสุทธิ์  จงอุดมสุข  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผลการประเมินนี้ยังได้ระบุความท้าทายใหม่ กับการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสู่ทศวรรษหน้า คือ การแก้ไขปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสถานพยาบาลต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน การสร้างความเป็นธรรมระหว่างกองทุนประกันสุขภาพหลัก 3 กองทุน การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนและระบบบริการสุขภาพ โดยมุ่งเน้นที่สิทธิด้านการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคเพิ่มขึ้น  การสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิให้มีความเข้มแข็ง พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะยาวในชุมชนและครอบครัว การประเมินเทคโนโลยีและยาต่างๆ ก่อนรับเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิประโยชน์ นอกจากนั้น กระทรวงสาธารณสุขควรเป็นผู้นำผลักดันให้เกิดการกระจายบุคลากรด้านสุขภาพ โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ประกอบการพัฒนานโยบาย และการสร้างความเข้มแข็งกลไกอภิบาลระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยการพัฒนากระบวนการสรรหาผู้แทน การพัฒนาระบบให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ที่สำคัญคือ การพัฒนาระบบที่ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนในระดับนโยบายต่างๆ ทั้งนี้เพื่อมุ่งให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในทศวรรษหน้าของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รัฐบาลพม่าขอเจรจาสันติภาพกับกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ"

Posted: 24 Jan 2012 03:03 AM PST

รัฐบาลพม่าแจ้งกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSPP/SSA ขอเจรจาสันติภาพยุติศึกสองฝ่าย ด้าน SSPP/SSA รับเจรจาเฉพาะการทหาร ส่วนเจรจาการเมืองให้เป็นหน้าที่สภาสหชาติสหภาพ UNFC

พ.อ.เจ้าจายทู รองเลขาธิการที่ 2 ของพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP) กองทัพรัฐฉาน (SSA) หรือ กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSPP/SSA เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทางการพม่าได้แจ้ง SSPP/SSA เพื่อเจรจาสร้างสันติภาพระหว่างกัน ซึ่งทางSSPP/SSA ได้ตอบรับข้อประสงค์ดังกล่าวและขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะเจรจาไว้แล้ว โดยกำหนดวันเจรจาของสองฝ่ายจะมีขึ้นในวันที่ 28 ม.ค. นี้ ที่เมืองตองจี เมืองหลวงรัฐฉาน

ทั้งนี้ คณะเจรจาของ SSPP/SSA จะพบกับคณะเจรจารัฐบาลพม่าซึ่งมีอูอ่องตอง เป็นแกนนำ อย่างไรก็ตาม SSPP/SSA แจ้งจะเจรจาเฉพาะด้านการทหารเท่านั้น ส่วนเรื่องการเมืองจะเป็นหน้าที่สภาสหชาติสหภาพ (United Nation Federal Council – UNFC) ซึ่ง SSPP/SSA เป็นสมาชิกอยู่

พ.อ.เจ้าจายทู เปิดเผยถึงการเคลื่อนไหวทหารพม่าด้วยว่า ระยะหลังนี้ทหารพม่าไม่มีการเสริมกำลังหรือออกลาดตระเวนในพื้นที่ SSPP/SSA และการสู้รบสองฝ่ายก็ไม่มีมานานกว่า 1 เดือนแล้ว ขณะที่ผู้อพยพหนีภัยสู้รบส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนา เหลือเพียงผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือหมู่บ้านอยู่ใกล้ค่ายทหารพม่าเท่านั้นที่ยังไม่กลั

ส่วนการเจรจาด้านการเมืองกับรัฐบาลพม่า พ.อ.เจ้าจายทู กล่าวว่า สภาสหชาติสหภาพ (Unite Nation Federal Council – UNFC) ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วย กองกำลังอิสรภาพคะฉิ่น KIA, สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU, พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี KNPP, พรรครัฐมอญใหม่ MNSP, แนวร่วมแห่งชาติชิน CNF และกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSPP/SSA จะพบเจรจากับตัวแทนรัฐบาลพม่าในเดือนกุมภาพันธ์นี้

ทั้งนี้ กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSPP/SSA ภายใต้การนำพล.ต.ป่างฟ้า อดีตกลุ่มหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่ามาตั้งแต่ปี 2532 ได้ถูกกองทัพพม่าเข้าโจมตีอย่างหนักตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2554 เหตุเนื่องจากปฏิเสธรับข้อเสนอเปลี่ยนสถานะกองกำลังเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF (Border Guard Force) นับจากนั้นทั้งสองฝ่ายพยายามเจรจาสงบศึกกันหลายครั้งแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลพม่า ทาง SSPP/SSA ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ก่อนหน้านี้ SSPP/SSA ได้สำรวจความเห็นประชาชนหลายสาขาอาชีพเพื่อร่วมหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งประชาชนกว่า 70 เปอร์เซ็นต์จากการสำรจสนับสนุนให้ใช้แนวทางสันติแก้ไขปัญหาการเมืองด้วยวิธีการทางการเมือง

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


 

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ป่าไม้ในประเทศไทย: การจัดการดูแลโดยชุมชน และ อปท.

Posted: 24 Jan 2012 02:54 AM PST

1) คำจำกัดความของป่า
“ป่าไม้” ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและสงวนป่า พุทธศักราช2481 มาตรา 4 ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้บัญญัติว่า “ป่า หมายความว่าสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่า” พ.ร.บ. ป่าไม้ พุทธศักราช2484   “ป่า  หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน” ต่อมาตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507   “ป่า หมายความว่า ที่ดิน รวมตลอดถึง ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเลที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมาย”จะเห็นว่าตามความหมายข้างต้น “ป่าไม้”  มีความหมายกว้างขวางมาก  เกินกว่าที่ชาวบ้านทั่วไปจะเข้าใจซึ่งถ้าเราถ่ายถอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในรูปแบบอื่นๆ เช่น โฉนดที่ดิน สค.1 นส.3ก นสล.(หนังสือสำคัญที่หลวง) หรือที่ราชพัสดุ  สปก-401 ฯลฯ ก็จะถือว่าพื้นที่เหล่านั้นจะกลายสภาพเป็นพื้นที่ “ป่า” และอยู่ในการดูแลของกรมป่าไม้ 

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อนุรักษ์ เช่น พื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจะอยู่ภายใต้กฎหมายที่เข้มงวดและจำกัดกิจกรรมของมนุษย์มากกว่า พื้นที่ป่าสงวน  หลักในการจัดการอุทยานแห่งชาติ ก็คือ  การรักษาและฟื้นฟูสภาพป่าและสิ่งมีชีวิตในป่าไว้ตามธรรมชาติและเปิดพื้นที่บางส่วนเพื่อให้ราษฎรเข้าไปชมความงามของธรรมชาตินั้นด้วยเหตุนี้กฎหมายจึงอนุญาตให้ราษฎรเข้าไปในเขตดังกล่าวได้แต่ต้องปฏิบัติตนมิให้เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือกระทบต่อความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า  [2]

 โดยมีมาตรา 16 ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติเป็นมาตราสำคัญที่ห้ามทำกิจกรรมที่จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ เช่น ครอบครอง แผ้วถาง เผาป่า เก็บหาผลประโยชน์ ฯลฯ [3]

  จะเห็นว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ราษฎรไม่สามารถที่จะเข้าไปหาของป่า  นำสัตว์ไปเลี้ยง  จัดทำเหมืองฝายหรือใช้ประโยชน์ในเขตพื้นที่อุทยานในกรณีใดๆ ได้เลย

ซึ่งจะเห็นว่าป่าอยู่ในการครอบครองของรัฐในหลากหลายรูปแบบแต่ป่าไม้ในประเทศไทยก็มีจำนวนลดลงอย่างน่าตกใจในช่วงหลายสิบปี่ที่ผ่านมาโดยในปี พ.ศ. 2507 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 171 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 53.7 ของพื้นที่ประเทศ ในปี พ.ศ. 2528 ลดลงเหลือ 93.2 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 29.4 ของพื้นที่ประเทศ ในปี พ.ศ. 2541 เหลืออยู่เพียง 80.8 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 25.2ของพื้นที่ประเทศ(ในปี พ.ศ. 2553 เหลือประมาณ  80 ล้านไร หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ)และมีแนวโน้มว่าป่าไม้ในประเทศไทยจะมีจำนวนลดลงทุกปี

สาเหตุของการลดลงของป่าไม้ในประเทศเนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ ประการแรก คือ ช่วงก่อนปี พ.ศ.2532 มีการให้สัมปทานป่าไม้เพื่อใช้สอยในประเทศและส่งออก   ทำให้ป่าส่วนใหญ่ที่ถูกสัมปทานเป็นป่าเสื่อมโทรม  ประการที่สอง คือ การบุกรุกแผ้วถางของราษฎรและนายทุน เพื่อเป็นที่ทำการเกษตรและที่อยู่อาศัย  ประการที่สาม คือ เกิดจากนโยบายของรัฐที่มุ่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน  เขื่อน  อ่างเก็บน้ำ  รวมถึงการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำให้เกิดการบุกรุกป่าเพิ่มมากขึ้น  จะเห็นได้ว่าจำนวนป่าไม้ในประเทศไทยลดลงจากหลายสาเหตุ (ผจญ  สิทธิกัน,2544 : 1-2 และ ตะวัน  อินต๊ะวงศ์,2548 : 1-2)  และสาเหตุที่สำคัญที่สุด คือ การไม่มีประสิทธิภาพขององค์กรภาครัฐ คือ กรมป่าไม้ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  

จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ “รัฐ” เป็นผู้ดูแลป่าไม้แต่เพียงผู้เดียว  ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง  เพราะระยะเวลา 50 ปี  ป่าไม้ของประเทศไทยลดลงกว่าครึ่ง  นำมาสู่การเสนอแนวคิดการจัดการป่าโดยประชาชน  ทั้งในรูปแบบประชาชนในรูปคณะกรรมการ  หรือถ่ายโอนการดูแลป่าให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ซึ่งตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่และงบประมาณอยู่แล้ว

2) การจัดการป่าชุมชน
ป่าชุมชนเป็นการจัดการป่าที่มีมาแต่เดิมในทุกท้องถิ่นของประเทศไทย  เช่น ในภาคเหนือเรียกว่าป่าหน้าหมู่ หรือของหน้าหมู่  ภาคอีสานมีป่าดอนปู่ตา  ภาคใต้ มีป่าพรุ ที่ทุกคนในชุมชนมีสิทธิในการเข้าไปใช้ประโยชน์ตราบที่ไม่ทำให้ป่าเสียหาย  ป่าชุมชนสามรถจำแนกได้เป็น 2 รูปแบบคือ

1. ป่าชุมชนดั่งเดิม  คือ  ป่าประชาชนที่ได้รักษาไว้โดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน คือ

            1.1 เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมตามประเพณี  เช่น  การรักษาป่าดอนปู่ตาในภาคอีสาน ป่าช้าในภาคเหนือ ซึ่งป่าดังกล่าวจะไม่ถูกทำลาย

            1.2 เพื่อเป็นแหล่งซับน้ำให้พื้นที่นาหรือพื้นที่ประกอบการเกษตรกรรม หรือป้องกันการพังทลายของหน้าดิน  พบพื้นที่ป่าชนิดนี้ในกลุ่มชาติพันธุ์ในที่สูง  เช่น กระเหรี่ยง หรือคนพื้นราบบางกลุ่ม  ป่าชนิดนี้จะถูกรักษาเป็นอย่างดีเพราะนอกจากเป็นพื้นที่ซับน้ำแล้ว  ป่าชนิดนี้ยังเป็นแหล่งอาหาร แหล่งเก็บหาสมุนไพรของชุมชนด้วย

            1.3 เพื่อเป็นเขตอภัยทาน  เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ตัดชีวิตตามหลักศาสนา  ป่าชนิดนี้จะอนุรักษ์ไว้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ  เป็นที่พักพิงของมนุษย์และสัตว์ ไม่มีการตัดต้นไม้ในบริเวณนี้ จะพบว่ามีป่าชนิดนี้แทบทุกภูมิภาค

            1.4 เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ  ป่าชนิดนี้ส่วนมากจะมีความงดงามตามธรรมชาติ เช่น มีถ้ำ  มีน้ำตก เป็นต้น

            1.5 เพื่อเป็นแหล่งอาหารและใช้สอย  ป่าชนิดนี้จะอยู่ใกล้หมู่บ้าน เป็นที่หาของป่า เช่น เห็ด  หน่อไม้  สมุนไพร  เป็นต้น

2. ป่าชุมชนแบบพัฒนา  คือ  ป่าที่เกิดจากการส่งเสริมให้สร้างป่าขึ้นสำหรับหมู่บ้านเพื่อเป็นแหล่ง ทรัพยากรที่ชาวบ้านพึ่งพาอาศัยเนื่องจากป่าไม้ที่มีแต่เดิมขาดแคลน โดยมีหลายรูปแบบ เช่น

            2.1 ป่าชุมชนเพื่อการใช้สอย  เป็นป่าที่ได้รับการการสร้างขึ้นในที่ดินประเภทต่างๆ เช่น ที่   สาธารณะ ที่สองข้างทาง  สันอ่างเก็บน้ำ  เพื่อใช้ประโยชน์จากไม้

            2.2 ป่าโรงเรียน  คือ ป่าที่ปลูกบริเวณโรงเรียน  เพื่อการศึกษาด้านเกษตร และสิ่งแวดล้อม

            2.3 ป่าที่ปลูกในวัด  หรือ สำนักสงฆ์  ป่าในลักษณะนี้คล้ายเขตอภัยทาน

            2.4 การกันพื้นดินสาธารณะประโยชน์ร้อยละ 20 เพื่อเป็นแหล่งใช้สอยของหมู่บ้าน

            2.5 การจัดป่าชาติ(รัฐ)ให้เป็นป่าชุมชน  ตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ครั้งที่ 4/2530  เมื่อวันที่ 8  กรกฎาคม  2530 ให้กันพื้นที่ป่าที่มีอยู่ไม่เกิน 500 ไร่ ไม่ติดกับเขตป่าสงวนแห่งชาติ  อุทยานแห่งชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  ให้เป็นป่าชุมชน  โดยให้องค์กรหมู่บ้าน ตำบล เช่น คณะกรรมการหมู่บ้าน สภาตำบล(สภา อบต. ในปัจจุบัน) เป็นผู้ดูแล (โกมล  แพรกทอง,2533: 6-8 อ้างใน, ตะวัน  อินต๊ะวงศ์,2548 : 10-12)

การจัดการชุมชนในแต่ละท้องถิ่นจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน  แต่เงื่อนไขที่สำคัญที่ทำให้ชุมชนจัดการ  รักษา อนุรักษ์ป่าได้นั้น  ชุมชนในบริเวณนั้นๆต้องมีลักษณะร่วมสำคัญบางประการ  เช่น 

            1. มีความเป็นชุมชนสูง  ความเป็นชุมชนของชาวบ้านมาจากพื้นฐานของการใช้ประโยชน์จากดิน  น้ำ  ป่า  และผลิตผลจากป่าร่วมกัน

            2. มีทรัพยากร  น้ำ ป่า ที่อยู่ในสภาพใช้งานได้

            3. มีผู้นำที่เข้มแข็งและมีภูมิปัญญาเดิมที่จะนำมาใช้ในการออกกฎ  ระเบียบ  เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์จากป่า

            4. มีองค์กรชุมชน หรือหมู่บ้าน ที่เข้มแข็งในรูปแบบใดรูปแบหนึ่ง เช่น องค์กรเหมืองฝาย สภา อบต.  คณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นต้น

            5. มีจารีตการจัดการทรัพยากร  ที่ถือว่าเป็นทรัพยากรส่วนรวม

            6. ชุมชนมีความเสถียรด้านสังคม  วัฒนธรรม  และการจัดองค์กร

            7. มีเครือข่ายความสัมพันธ์การใช้ หรือร่วมใช้ทรัพยากรในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง (เสน่ห์  จามริก และยศ  สันตสมบัติ,2536: 175-178/เล่ม 2)

นอกจากปัจจัยข้างต้นที่ทำให้เกิดป่าชุมชนแล้ว  ยังพบว่าป่าชุมบางท้องที่มีลักษณะเฉพาะ  เช่น  ป่าชุมชนในเขต อบต. เชียงดาว  เกิดจากชุมชนมีผู้นำที่เข้มแข็ง  เห็นความสำคัญของป่าชุมชน  โดยอาศัยประเพณีวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องมือในการจัดการป่าชุมชน  เช่น การเลี้ยงผีฝาย การบวชป่า มาเป็นเครื่องมือไม่ให้คนทำลายป่า สอดคล้องกับการจัดการป่าของบ้านทุ่งยาว  อบต.ศรีบัวบาน (ประชัน  พิบูรย์,2544 : 89 และ  อุบลวรรณ สุภาแสน,2543 : 50) ป่าชุมชนในเขต อบต. แม่นะ เกิดจากความเป็นคนพื้นที่สูง  คนในชุมชนมีความสัมพันธ์เหนี่ยวแน่น  มีจิตสำนึกการอนุรักษ์ป่า  รวมถึงอาศัยทรัพยากรป่าไม้ในการดำรงชีวิต  เช่น หาหน่อไม้ เห็ด  และไม้ในการสร้างบ้าน ทำให้มีการจัดการป่าชุมชนที่เข้มแข็ง  ส่วนป่าชุมชนในเขต อบต.ปิงโค้ง ป่าชุมชนเกิดจากประชาชนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์  ถูกกีดกันในเรื่องที่ดินทำกินและได้รับความเดือดร้อนร่วมกัน จึงได้รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายลาหู่ในการจัดการป่าชุมชนร่วมกันระหว่างชุมชนต่างๆ โดยอาศัยวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อมาใช้ในการจัดการป่าชุมชน (ประชัน  พิบูรย์,2544 : 89) 

จะเห็นว่าการจัดการป่าชุมชนของชาวบ้านมีหลากหลายรูปแบบและต้องมีลักษณะสำคัญบางประการที่ทำให้สามารถรักษาป่าไว้ได้  นอกจากองค์กรชาวบ้านจะมีบทบาทอย่างสำคัญในการจัดการป่าชุมชนแล้ว อปท. บางแห่งก็มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการอนุรักษ์ และจัดการทรัพยากรป่าไม้ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทของ อปท.  แต่ละแห่ง  ว่ามีบทบาทมากน้อยแค่ไหน อย่างไร  การที่ อปท. (ในที่นี้ คือ อบต.)เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในการจัดการทรัพยากรป่าเนื่องด้วย พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ได้ให้อำนาจในการปกครองท้องถิ่นไว้อย่างกว้างขวาง  ยังได้กำหนดบทบาทหน้าที่คุ้มครอง  ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ (ผจญ  สิทธิกัน,2544 : 5 และ อุบลวรรณ สุภาแสน,2543 : 1-3)นอกจากนี้

“ตามมติคณะรัฐมนตรีเมือวันที่ 22 เมษายน 2540 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต.  หรือสภาตำบลและชุมชน เข้าร่วมดูแลรักษาป่าไม้ไม่ให้มีการบุกรุก  ทำลาย หรือการใดอันเป็นการกระทบกระเทือนต่อการรักษาป่าและหรือสิ่งแวดล้อมต่อไป  ถ้ามีการกระทำการใดๆ อันเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่หรือเป็นการทำลาย หรือกระเทือนต่อการรักษาป่าและหรือสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด” (กรมป่าไม้ : 2540 อ้างใน, ผจญ  สิทธิกัน,2544 : 12) รวมถึงหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท 0305/ว 1789 ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2540  เรื่อง

“มาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและบุกรุกป่าไม้  แจ้งให้จังหวัดดำเนินการแจ้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล  องค์การบริหารส่วนตำบล  ให้มีหน้าที่คุ้มครองดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยให้รวมถึงป่าไม้  ตามกฎหมายอันเกี่ยวกับหน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้นๆ และร่วมกับส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ให้เป็นไปอย่างมีระบบโดยพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนส่วนราชการนั้นๆ...” (กรมป่าไม้ : 2540 อ้างใน, ผจญ  สิทธิกัน,2544 : 13) จะเห็นได้ว่า อปท. มีบทบาทและหน้าตามที่กฎหมาย และระเบียบรองรับอย่างกว้างขว้างทำให้ อปท. บางเห็นมีบทบาทเด่นมากในการจัดการทรัพยากรป่าไม้  รวมถึง อปท. แต่ละแห่งก็จะมีรูปแบบ  จุดเด่น และข้อจำกัดที่ต่างกัน  ดังจะเสนอต่อไปข้างหน้า

3) บทบาท  อบต. กับการจัดการป่าชุมชน
บทบาทของ อปท.(ในที่นี้ คือ อบต.) แต่ละพื้นที่ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้  มีมากบ้างน้อยบ้างตามบริบทของแต่ละพื้นที่  แม้ว่า อปท. จะมีอำนาจ และหน้า  แต่จากสภาพของพื้นที่ที่แตกต่างกัน  ทำให้ อปท. ส่วนมากมีหน้าที่เป็นตัวกลาง  หรือผู้ประสานงานมากกว่าที่จะเป็นผู้จัดการป่าโดยตรง  แต่จะมี อปท. บางแห่งมีบทบาทสูงก็เกิดจากความสัมพันธ์ก่อนที่จะมาเป็นสมาชิก  หรือผู้บริหาร อปท. หรือความสัมพันธ์ส่วนตัวมากกว่าเกิดจากบทบัญญัติของกฎหมาย   การจัดการทรัพยากรป่าไม้ของ อปท. มีอุปสรรค ปัญหาในหลายๆด้าน  ทำให้การจัดการไม่บรรลุเป้าประสงค์ตามที่การถ่ายโอนอำนาจต้องการ  โดยการจัดการป่าชุมชนมีลักษณะร่วมกันบางประการ ไม่ว่าเป็นการจัดการโดยชาวบ้าน  หรือ อบต. คือ

1. มีการจำแนกประเภทของป่าชุมชน และกำหนดขอบเขตของพื้นที่ป่าต่างๆ  ไว้อย่าชัดเจน เช่น ป่าอนุรักษ์  ป่าใช้สอย  เป็นต้น

2. มีการร่างระเบียบกฎเกณฑ์  แนวทางการใช้ประโยชน์จากป่า  และมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎระเบียบ  รวมถึงแจ้งให้สมาชิกทราบและถือปฏิบัติ

3. มีการประชุมปรึกษาหารือระหว่างสมาชิกเป็นครั้งคราว  เพื่อทบทวนกฎเกณฑ์ และแนวทางการจัดการป่าชุมชน (ประชัน  พิบูรย์,2544 : 89, อุบลวรรณ สุภาแสน,2543 : 46-50, วรัญญาศิริอุดม,2551 : 254 และ ณัฐวุฒิ  พิมพ์ลัดดา,2551: 117-119) 

การจัดการป่าของ  อบต. ในเขต จ.เชียงใหม่
พื้นที่ป่าในเขตรับผิดชอบของ อบต. ใน จ.เชียงใหม่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ขาดเล็ก  ทำให้ อบต. อยู่ในฐานะผู้ประสานงาน หรือจัดกิจกรรมอนุรักษ์มากกว่าจะเป็นผู้ดูแลผืนป่า การจัดการส่วนใหญ่ของ อบต. อย่างเช่น

1. จัดทำโครงการประชาสัมพันธ์  ปลูกจิตสำนึกเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้(อบต. หนองจ๊อม, อบต.โหล่งขอด)

2. อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก่คนในท้องถิ่น  (อบต. หนองจ๊อม, อบต.โหล่งขอด) ให้เจ้าหน้าที่ อบต. สมาชิก อบต. เป็นตัวจักรสำคัญในการเชื่อมโยงนโยบาย  และโครงการต่างๆให้ประชาชนชนในท้องถิ่น (กิติศักดิ์   ปานะโปย,2544: 61)

3. พื้นที่ใดที่มีพื้นที่สาธารณะก็ได้มีการจัดตั้งป่าชมชนในเขตหมู่บ้านนั้นๆ(อบต.ดอยหล่อ อบต. ป่าแดด (กิติศักดิ์   ปานะโปย,2544: 61)

4. ดำเนินการร่วมกับหมู่บ้านในการทำแนวป้องกันไฟ (อบต.โหล่งขอด)

5. ปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่ป่าที่มีมาแต่เดิม  เพื่อเพิ่มจำนวนต้นต้นไม้ให้มากขึ้น (อบต.โหล่งขอด)

6. มีโครงการจัดตั้งอาสาสมัครดูแลป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในเขตพื้นที่ อบต. (อบต.โหล่งขอด)

7. สนับสนุนงบประมาณในการดูแลป่าไม้ (อบต.โหล่งขอด)

จะเห็นว่า อบต. ใน จ. เชียงใหม่  ที่มีพื้นที่ป่าชุมชนขนาดเล็กและบางพื้นที่ไม่มี  ทำให้ อบต.  ไม่ค่อยใส่ใจต่อการจัดการป่าไม้  แต่ในทางกลับกันกับสะท้อนปัญหาการบริหารจัดการ และอุปสรรคในการดำเนินงาน เช่น

1. ความไม่สอดคล้องระหว่างกฎหมายป่าไม้และกฎหมาย อบต.

2. การขาดความรู้  ความเข้าใจ  และจิตสำนึกที่ดีเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของสมาชิก  อบต.  และประชาชนในพื้นที่

3. การขาดแผนงานและงบประมาณ  โดยตรงสำหรับกิจการจัดการป่าไม้ในส่วนของ อบต.

4. ความไม่ชัดเจนในบทบาทของ อบต. เกี่ยวกับการจัดการป่าไม้

5. การขาดการประสานงานที่เพียงพอระหว่าง อบต.  กับเจ้าหน้าที่ป่าไม้

6. นายทุนหรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่มีผลต่อการจัดการป่าไม้ รวมถึงการตัดสินปัญหาของ อบต. (ผจญ  สิทธิกัน,2544 : 78)

7. การรวมศูนย์ในการจัดการของภาครัฐ(กรมป่าไม้ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ตะวัน  อินต๊ะวงศ์,2548 : 22)) 

8. เจ้าหน้าที่  และสมาชิก อบต.ได้รับข่าวสารการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้น้อยมาก  เพียงไม่กี่ครั้งต่อปี (กิติศักดิ์   ปานะโปย,2544: 61)

โดย อบต. และประชาชนในพื้นที่ได้เสนอแนวทางที่จะทำให้  อบต. สามารถจัดการทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  คือ

1. ให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรป่าไม้แก่  สมาชิก อบต.  และประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง 

2. ประสานงานและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับเจ้าที่ป่าไม้

3. จัดตั้งหรือจัดหาบุคลากรที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านกิจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ไว้ใน อบต.
4. เรียนรู้และกำหนดบทบาทที่ชัดเจนของ อบต. ในด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้(ผจญ  สิทธิกัน,2544 : 79)

5. มีการวางแผนการจัดการโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการ

6. มีการดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ทุกปี

7. มีการรณรงค์ปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวขึ้นในพื้นที่ป่าและพื้นที่สาธารณะ  เช่น  สองข้างถนน  ลำเหมือง ป่าช้า  เป็นต้น

8. ให้ประชาชนได้เข้ามาร่วมกิจกรรมต่างๆมากขึ้น (ผจญ  สิทธิกัน,2544 : 96  และ กิติศักดิ์   ปานะโปย,2544: 58, 64 )

9. กฎระเบียบในการอนุรักษ์ป่าของทุกหมู่บ้านควรมีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร  เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องข้อตกลง และข้อห้ามการใช้ประโยชน์จากป่า  และทำการเผยแพร่ให้สมาชิกในชุมชนใกล้เคียงได้รับทราบ

10. ควรมีการจัดตั้งกองทุนในระดับตำบลสำหรับการอนุรักษ์ป่า โดยขอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือไม่ อบต. ก็ต้องตั้งงบประมาณประจำปี  เพื่อให้การจัดการทรัพยากรป่าไม้มีประสิทธิภาพสูงสุด

11. ควรมีการร่วมมือในการจัดการป่าไม้ระดับตำบล หรืออำเภอ รวมทั้งพื้นที่มีป่าติดกัน  เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการจัดการป่าไม้  โดย อบต. เป็นศูนย์ประสานงาน

12. ควรมีการออกพระราชบัญญัติป่าชุมชนโดยเร็ว (ตะวัน  อินต๊ะวงศ์,2548 : 50)        

จากการสำรวจพบว่าประชาชนมีความพอใจ  หรือความต้องการให้ อบต. จัดการทรัพยากรป่าไม้แทนรัฐร้อยละ 48.8 เห็นด้วยอย่างยิ่ง 18.4 ไม่แน่ใจร้อยละ 26.2 (ตะวัน  อินต๊ะวงศ์,2548 : 39)จะเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ อบต. เข้ามาจัดการ หรือมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรป่าไม้  เพราะ อบต. เป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนในท้องถิ่น  กิจกรรมของ อบต. ชาวบ้านสามารถจับต้องได้ และตรวจสอบง่ายกว่ากิจกรรมของรัฐส่วนกลาง  อย่างไรก็ตามแม้ว่าปัจจุบัน อบต. ตัวอย่างข้างต้นจะมีบทบาทน้อยในการจัดการทรัพยากรป่าไม้  แต่ในอนาคตอันใกล้  บทบาทหน้าที่ของ อบต. ต้องมากขึ้น   มีความพร้อมทั้งความรู้  และบุลากร  รวมถึงงบประมาณ  เพื่อสอดรับกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น  แต่อย่างไรก็ตามหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ หรือแม้แต่ อบต.  ต้องออกกฎหมาย  ระเบียบข้อบังคับ  เพื่อไม่ให้อำนาจ หน้าที่ซ้อนทับ  หรือแม้อำนาจหน้าที่จะซ้อนทับกัน  ก็ต้องมีหน่วยงานคอยประสานเพื่อให้การจัดการทรัพยากรป่าไม้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

4)  การจัดการป่าชุมชน ที่  อบต.  มีบทบาทสูง กรณี  อบต. ศรีบัวบาน อ.เมือง จ.ลำพูน
อำนาจตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และมติคณะรัฐมนตรี  ที่ได้ให้อำนาจในการจัดการทรัพยากรป่าไม้  รวมถึงออกบทบัญญัติต่างๆ ได้อย่างกว้างขว้างทำให้  อบต. สามารถเข้าไปจัดการอนุรักษ์  รักษา  และจัดการทรัพยากรป่าไม้ได้   ในกรณีนี้ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นองค์กรหลักองค์กรหนึ่งในการจัดการป่าชุมชน  แม้ว่าในช่วงแรกจะมีปัญหาบ้างก็ตามเนื่องจากความไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของ อบต.  

แต่อย่างไรก็ตาม อบต. มีอำนาจตามกฎหมาย และมีงบประมาณ ทำให้ อบต.ศรีบัวบาน เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน และจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในระดับตำบล   บทบาทของ อบต. ศรีบัวบานในการจัดการป่าชุมชน (อุบลวรรณ สุภาแสน,2543 : 130-131)คือ

1. สมาชิก อบต.  ส่วนหนึ่งเป็นผู้นำหมู่บ้านในการอนุรักษ์ป่าชุมชนอยู่แล้ว  คอยเป็นตัวประสานงานระหว่างชุมชนกับ อบต.

2. การที่ อบต. ศรีบัวบานมีหลายหมู่บ้านและแต่ละหมู่บ้านมีป่าชุมชน  ทำให้ อบต. ศรีบัวบาน มีสถานะเป็นศูนย์กลางประสานงานระหว่างคณะกรรมการป่าชุมชนของหมู่บ้านต่างๆ

3. ในเขตพื้นที่ อบต. ศรีบัวบ้านมีป่าชุมชนจำนวนมาก  และมีประวัติศาสตร์การจัดการป่าชุมชนมายาวนานกว่า 80 ปี ทำให้พื้นที่นี้มีความเข้มแข็งในการจัดการ  ผู้นำส่วนหนึ่งของป่าชุมชนได้เข้ามาเป็นผู้บริหาร  และสมาชิก อบต. ทำให้การจัดการระหว่างองค์กรรัฐ (อบต.) และภาคประชาชนเป็นไปได้ด้วยดี (อุบลวรรณ สุภาแสน,2543 : 43-50)  แต่อย่างไรก็ตาม อบต. ศรีบัวบานก็ไม่มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในการเข้าไปจัดการป่าชุมชนที่ชาวบ้านเป็นผู้ดูแล  เป็นแต่เพียง  หน่วยประสานงานกลางเท่านั้น  รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหาร อบต. สมาชิก อบต. กับคณะกรรมการป่าชุมชนก็มีผลอย่างมากต่อการจัดการป่าชุมชน 

การทำงานร่วมมือกันระหว่างชาวบ้านและ อบต.  กรณี  อบต. ศรีบัวบาน  ในการอนุรักษ์ป่าชุมชนในพื้นที่นี้มีมาก่อนการจัดตั้ง อบต.  และเป็นพื้นที่ที่พิสูจน์ให้เห็นความสำเร็จของการจัดการป่าชุมชนโดยชาวบ้าน โดยเริ่มต้นจากการอนุรักษ์ป่าต้นตะเคียนเพียง 60 ไร่ ในปี พ.ศ. 2458  จนในปัจจุบันมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์มากกว่า  3,000 ไร่  โดยการจัดการป่าของชุมชนบ้านทุ่งยาว  อบต.ศรีบัวบาน  ใช้รูปแบบประชาคม  โดยแบ่งป่าออกเป็นป่าอนุรักษ์  และป่าใช้สอย  มีกรรมการป่าชุมชนจำนวน  64  คน จาก 2 หมู่บ้าน คือ บ้านทุ่งยาว และบ้านทุ่งยาวเหนือ  กรรมการมีวาระ 2 ปี  กรรมการเลือกจากผู้อาวุโส  และผู้นำในท้องถิ่น เช่น ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ซึ่งการจัดการป่าชุมชนในบ้านทุ่งยาว ในเขต อบต. ศรีบัวบาน มีรูปแบบที่คล้ายกับป่าชุมชนในเขตพื้นที่อำเภอบ้านหลวง  จังหวัดน่านตามการศึกษาของ มงคล  สุกใส ( 2538 : 66-70  )

การจัดการป่าชุมชนของบ้านทุ่งยาวได้มีการออกกฎ ระเบียบการใช้ป่าชุมชน  เพื่อเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ป่าไม้  กฎระเบียบบางข้อ(อุบลวรรณสุภาแสน,2543 : 46-50 ) เช่น  

1. ห้ามตัดไม้ทุกชนิดในป่าอนุรักษ์และป่าใช้สอย  ยกเว้นได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการป่าไม้

             -  ให้คนยากจน  หรือผู้ที่แยกครอบครัวใหม่  สามารถขออนุญาตตัดไม้มาสร้างบ้านได้เพียงครั้งเดียวโดยขอไม่เกิน  15 ต้น

             -  หากนำมาสร้างที่พักพิงชั่วคราวในไร่ สวน (ห้าง ตูบ)  ขอได้ไม่เกิน   12 ต้น ขนาดของไม้พื้นที่หน้าตัดไม่เกิด 6 นิ้ว และขอได้ปีละไม่เกิน 10 รายเท่านั้น

             -   หากผู้ใดลักลอบตัดไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการป่าไม้ ผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการป่าไม้มีสิทธิโดยชอบธรรมในการปรับไหม  โดยปรับนิ้วละ  2,000 บาททุกๆความยาว  1 เมตร และยึดของกลางเป็นของหมู่บ้าน

2. ไม้ที่ล้มตายตามธรรมชาติให้นำมาใช้ประโยชน์ส่วนรวม

3. ห้ามนำสมุนไพรหายากออกจากป่าก่อนได้รับอนุญาต
4. ห้ามขุดรากผักหวานออกจากป่า แต่นำเมล็ดออกมาได้

5. ห้ามนำกล้วยไม้ทุกชนิดออกจากป่า

6. ห้ามนำหิน  ดิน ออกจากป่าก่อนได้รับอนุญาต และจะอนุญาตให้ชาวบ้านทุ่งยาวเท่านั้น

7. ห้ามคนหมู่บ้านอื่นเข้า มาล่าสัตว์ทุกชนิด  สำหรับคนในหมู่บ้านทุ่งยาว ให้สามารถล่าสัตว์เพื่อบริโภคได้ แต่ห้ามนำไปขาย

8. อนุญาตให้คนในหมู่บ้านอื่นเข้ามาเก็บเห็ดในป่าได้

“กฎระเบียบนี้ เรียกว่า“สัญญาประชาคม”  ของหมู่บ้านทุ่งยาวทั้งหมด ผู้ใดจะกล่าวว่าไม่รู้ หรือไม่ทราบกฎระเบียบนี้  แล้วปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎนี้ มิได้”

สอคล้องกับการจัดการป่าชุมชนของบ้านม้งหนองหอย  ที่มีการจัดแบ่งป่าออกเป็นป่าใช้สอย  และป่าอนุรักษ์  รวมถึงมีการจัดเวรยามเฝ้าระวัง ตรวจตรา  มีการสร้างกฎเกณฑ์ข้อบังคับเข้ามาเป็นเครื่องมือในการจัดการป่าร่วมกัน (วรัญญาศิริอุดม,2551 : 254,ณัฐวุฒิ  พิมพ์ลัดดา,2551: 117-119 และ มงคล  สุกใส,2538 : 66-70) รวมถึงบทบาทของ อบต. ก็เป็นตัวกลางระหว่างชาวบ้านและองค์กรภาครัฐ (วรัญญาศิริอุดม,2551 : 91)  ไม่ได้เป็นผู้จัดการป่าชุมชนโดยตรง  ซึ่งจะแตกต่างจาก อบต. ดอยแก้ว อ.จอมทอง  จ.เชียงใหม่ ที่ อบต. เข้ามามีส่วนอย่างสำคัญ ในการจัดการปัญหาป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม  เนื่องด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ 1. ในเขตพื้นที่ อบต. ดอยแก้วมีความแตกต่างด้านประชากรสูง คือ มีคนเมืองในที่ราบ กะเหรี่ยง และม้งในที่สูง  ทำให้ อบต. มีที่มาจากสมาชิกทุกกลุ่มชาติพันธุ์เป็นผู้ประสานงานประสาน  และจัดการป่าไม้ได้อย่างดี  2. อบต. มีบทบาทและหน้าที่ตามกฎหมาย  รวมถึงเครือข่าย หรือกลุ่มป่าชุมชนในพื้นที่นี้ไม่เข้มแข็งเท่าเครือข่ายป่าชุมชนในพื้นที่ อบต. ศรีบัวบาน โดย อบต. มีบทบาท คือ

1. เป็นตัวเชื่อมหรือผู้ประสานงานระหว่างภาครัฐและหมู่บ้านในด้านต่างๆ
2. ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ภาครัฐและนำข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากภาครัฐมาเผยแพร่แก่ลูกบ้าน  หรือคนในหมู่บ้าน
3. เป็นที่ปรึกษาหรือให้คำแนะนำด้านกฎหมายหรือเรื่องเกี่ยวข้องกับภายนอกชุมชนแก่คนในหมู่บ้าน
4. ดูแลทุกข์ สุข ของประชาชนในหมู่บ้าน
5. บริหารงบประมาณในการพัฒนาหมู่บ้าน  เป็นต้น (ณัฐวุฒิ  พิมพ์ลัดดา,2551: 62)
6. นอกจากนี้นายกองค์การบริหารส่วนตำบล  ยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระดับลุ่มน้ำ  รวมถึงสมาชิก อบต. ก็มีบทบาทเป็นคณะกรรมการที่มีบทบาทสำคัญโดยกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

             - กำหนดนโยบายและแนวทางในการจัดการพื้นที่ป่าลุ่มน้ำ และทรัพยากรอื่นๆ
              - ตัดสินใจอนุมัติ แผนงาน/โครงการและงบประมาณต่างๆในการปกป้องคุ้มครองป่าต้นน้ำทั้งป่าสวนบน(ขุนน้ำ) ป่าสวนกลาง  และป่าตอนล่าง  รวมทั้งบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ต่างๆในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำ
              - เลือกตั้ง แต่งตั้ง ถอดถอน  คณะกรรมการดำเนินงาน  (หรือคณะกรรมการทำงาน)
              - ติดตาม  ตรวจสอบ  กำกับดูแล  แลประเมินผล  การดำเนินงานของคณะกรรมการดำเนินงาน ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
              - กำหนดแนวทางในการดำเนินงาน  และออกระเบียบข้อบังคับของคณะกรรมการจัดการพื้นที่ป่าลุ่มน้ำ
              - แนะนำให้คำปรึกษาสนับสนุน  อำนวยความสะดวกต่างๆในการทำงานของคณะกรรมการดำเนินงาน (ณัฐวุฒิ  พิมพ์ลัดดา,2551: 112-113)

นอกจากนี้เรายังเห็นบทบาทของ อบต. แม่ทา อบต. ทาเหนือ อ.แม่ออน จ. เชียงใหม่ อบต.ทาทุ่งหลวง อ.แม่ทา จ.ลำพูน ที่ได้ออกข้อบัญญัติในเรื่องป่าชุมชน โดยมีการจัดแบ่งป่าไม้ในพื้นที่ออกเป็นป่าชนิดต่างๆ เช่น ป่าอนุรักษ์  ป่าใช้สอย เพื่อให้สามารถใช้ป่าได้อย่างยั่งยื่น และชาวบ้านไม่บุกรุกป่าเพิ่มเติมการจัดการป่าในรูปแบบนี้สามารถรักษาป่าไม้ได้อย่างยั่งยืนเพราะชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดการและเป็น “เจ้าของ” ทำให้เกิดสำนึกและความตระหนักในการดูแลรักษา ซึ่งปรากฏว่าภายหลังจากมีการจัดทำ “ป่าชุมชน” และ “ออกข้อบัญญัติ” แล้วปรากฏว่าชาวบ้านหยุดบุกรุกป่า ไม่ลักลอบตัดไม้ และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น  รวมถึงทรัพยากรอื่นๆ ที่เกิดจากป่า เช่น หน่อไม้ เห็ด พืชสมุนไพร สัตว์ป่า ฯลฯเพิ่มมากขึ้น [4]

 อบต. มีบทบาทอย่างสำคัญในการสนับสนุนด้านงบประมาณ บุคลากร  การรักษากฎระเบียบ  การตรวจตราเฝ้าระวัง ฯลฯ  ทำให้ อบต. ขยายบทบาทหน้าที่ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสำคัญ  แม้ว่าจะมีข้อถกเถียงว่าการออกข้อบัญญัติสามารถทำได้หรือไม่

แม้ว่า อปท. จะยังคงมีอุปสรรคปัญหาอยู่ เช่น ขาดองค์ความรู้  บุคลากร  งบประมาณ  และกฎหมายที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างหน่วยงาน  ทำให้ อปท.ไม่สามารถบริหารจัดการได้เต็มที่   รวมถึง การที่อปท.พึ่งตั้งได้ไม่นานทำให้ขาดความเข้าใจระหว่าง อปท. และชาวบ้าน แต่เราจะเห็นว่า อปท.สามารถรักษาทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างดีอปท. ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ได้ว่า อปท. จะมีบทบาทอย่างสำคัญต่อไปในอนาคตในการดูแลป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ

 

 

เอกสารอ้างอิง

กรมป่าไม้. รายงานการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่ององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทิศทางการ

พัฒนาป่าชุมชน. กรุงเทพฯ: ส่วนป่าชุมชน กรมป่าไม้, 2540.

กอบกุล  รายะนาคร. องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น : สถานภาพ และช่องว่างการศึกษา. เชียงใหม่ :

สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554.

กิติศักดิ์  ปานะโปย.  ความรู้และทัศนคติของสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลต่อการอนุรักษ์

ทรัพยากรป่า  อำเภอดอยสะเก็ด  จังหวัดเชียงใหม่.  วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรบัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2544.

โกมล  แพรกทอง.  ป่าชุมชนในประเทศไทย คู่มือเจ้าหน้าที่รัฐ. กรุงเทพฯ : ฝ่ายส่งเสริมและพัฒนา

ป่าชุมชน กองจัดการที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, มปป.

ชัยพงษ์  สำเนียง.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ

สิ่งแวดล้อม. สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554.

การจัดการทรัพยากรน้ำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. เผยแพร่ในเว็ปไซด์ประชาไท (23/12/54) http://prachatai.com/journal/2011/12/38463

ชาญยุทธจันทรากุล. ศักยภาพในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประชาชนในลุ่มน้ำแม่อิง

ตอนบน จังหวัดพะเยา.  วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต   สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม  บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2543.

ณัฐวุฒิ   พิมพ์ลัดดา.  ความขัดแย้งและการจัดการความขัดแย้งของทรัพยากรป่าไม้โดยการ

จัดการร่วม : กรณีศึกษาบ้านห้วยขนุน  ตำบลดอยแก้ว  อำเภอจอมทอง  จังหวัดเชียงใหม่.  วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551.

ตะวัน  อินต๊ะวงศ์. บทบาทขององค์กรบริหารส่วนตำบลและประชาชนในการจัดการทรัพยากรป่า

ไม้ : กรณีศึกษาการจัดการป่าไม้แม่หาด  ตำบลโปงทุ่ง อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่. การค้นคว้าแบบอิสระรัฐศาสตรมหาบัณฑิต.  สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2548.

เธียรสกุล บรรหาร. ปัจจัยทางสังคมของกำนันและผู้ใหญ่บ้านที่มีต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการ

อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ : กรณีศึกษาจังหวัดลำปาง.วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต   สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม  บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2544.

นรินทร์ ประทวนชัย. การจัดการทรัพยากรป่าไม้ของชุมชนบนพื้นที่สูงบ้านโป่งฝา อำเภอแม่อาย

จังหวัดเชียงใหม่.วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต   สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม  บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2543.

ประชัน  พิบูลย์. ศักยภาพการพัฒนาป่าชุมชน โดยองค์การบริหารส่วนตำบลใน อำเภอเชียงดาว

จังหวัดเชียงใหม่.วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรบัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2544.

ประวิทย์ เรืองจรัส.การจัดการทรัพยากรป่าไม้โดยชุมชน : กรณีศึกษาชุมชนลุ่มน้ำงาว อำเภอ

งาว จังหวัดลำปาง.  วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต   สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม  บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2544.

ผจญ  สิทธิกัน.  บทบาทองค์การบริหารส่วนตำบลในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ : กรณีศึกษา

จังหวัดเชียงใหม่. การค้นคว้าแบบอิสระรัฐศาสตรมหาบัณฑิต.  สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2544.

มงคล  สุกใส.  การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้  : ศึกษาเฉพาะกรณี กิ่งอำเภอบ้านหลวง  จังหวัดน่าน.

วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2538.

เสน่ห์  จามริก  และยศ  สันตสมบัติ. ป่าชุมชนในประเทศไทย : แนวทางการพัฒนา เล่ม 2 ป่าฝน

เขตร้อนกับภาพรวมของป่าชุมชนในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, 2546.

อุบลวรรณ สุภาแสน.บทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบลและประชาชนในการจัดการ

ทรัพยากรป่าไม้ในตำบลศรีบัวบานอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน.  วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร

มหาบัณฑิต  สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,

2543.

 

 

[1] งานในส่วนนี้เป็นการสำรวจพรมแดนความรู้ของการจัดการทรัพยากรป่าไม้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  จากวิทยานิพนธ์และหนังสือที่ศึกษาอปท. ในพื้นที่ภาคเหนือ  แต่ด้วยเวลาที่จำกัดจึงทำได้ในระดับหนึ่ง  เพื่อชี้ให้เห็นถึงรูปแบบการจัดการ  ข้อจำกัด  และแนวทางที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การศึกษานโยบายสาธารณะเพื่อขับเคลื่อนการกระจายอำนาจสู่ อปท.และชุมชน” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ โครงการ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของภาคประชาชน  และการขยายพื้นที่ทางการเมืองของประชาชน” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อย่างไรก็ตามงานชิ้นนี้ได้รับความเมตตาจาก ศ.ดร.มิ่งสรรพ์  ขาวสะอาด  รศ.ดร.กอบกุล  รายะนาคร  ที่ให้ความรู้ และโอกาสในการทำงาน ร่วมรับฟังการสัมนา และลงพื้นที่ในหลายๆ ที่ซึ่งทำให้เกิดความรู้ ความคิด และความเข้าใจต่อ อปท. อย่างมากมาย ขอบคุณ รศ.ดร.ไชยันต์  รัชชกูล ครูผู้กรุณาในหลายวาระ หลายโอกาส ร่วมแลกเปลี่ยน  พูดคุยอย่างเท่าเทียม  ศ.ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์            รศ.สุรัสวดี  หุ่นพยนต์  ที่ให้โอกาสในการทำงานและข้อเสนอแนะ ขอบคุณเพื่อนร่วมงานทุกๆท่านโดยเฉพาะพี่อร ที่เป็นธุระในหลายเรื่องให้  ชัยนุวัฒน์ ปูนคำปีน, รุ่งเกียรติ กิติวรรณ, อาร์ม, ฟิวส์, ท็อป, แดน, ที่เป็นธุระในเรื่องต่างๆ ให้ อย่างไรก็ตามข้อบกพร่องของงานชิ้นนี้ไม่ว่าเกิดจากปัจจัยใด ย่อมเป็นของผู้เขียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

[2] ณรงค์  ใจหาญ จาก: http://law.tu.ac.th/law_center/law_document/book/b2-10.html

[3] มาตรา 16 ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใด (1)ยึดถือหรือครอบครองที่ดิน รวมตลอดถึงก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า(2)เก็บหา นำออกไป ทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตราย หรือทำให้เสื่อมสภาพ ซึ่งไม้ยางไม้น้ำมันยาง น้ำมันสน แร่หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น (3) นำสัตว์ออกไป หรือทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ (4)ทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ดิน หินกรวดหรือทราย (5) เปลี่ยนแปลงทางน้ำหรือทำให้น้ำในลำน้ำ ลำห้วย หนอง บึงท่วมท้น หรือเหือดแห้ง (6) ปิดหรือทำให้กีดขวางแก่ทางน้ำหรือทางบก (7) เก็บหา นำออกไปทำด้วยประการ  ใดๆ ให้เป็นอันตราย หรือทำให้เสื่อมสภาพ ซึ่งกล้วยไม้ น้ำผึ้ง ครั่งถ่านไม้ เปลือกไม้ หรือมูลค้างคาว (8) เก็บ หรือทำด้วยประการใด ๆให้เป็นอันตรายแก่ดอกไม้ ใบไม้หรือผลไม้ (9)นำยานพาหนะเข้าออกหรือขับขี่ยานพาหนะในทางที่มิได้จัดไว้เพื่อการนั้นเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ (10)นำอากาศยานขึ้นลงในที่ที่มิได้จัดไว้เพื่อการนั้นเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ (11)นำหรือปล่อยปศุสัตว์เข้าไป (12)  นำสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์พาหนะเข้าไปเว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี (13)เข้าไปดำเนินกิจการใดๆ เพื่อหาผลประโยชน์เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ (14) ปิดประกาศ โฆษณาหรือขีดเขียนในที่ต่างๆ  (15)นำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรือจับสัตว์ หรืออาวุธใดๆเข้าไปเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และปฏิบัติตามเงื่อนไขซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้อนุญาตนั้นกำหนดไว้ (16)ยิงปืน ทำให้เกิดระเบิดซึ่งวัตถุระเบิด หรือจุดดอกไม้เพลิง (17)ส่งเสียงอื้อฉาวหรือกระทำการอื่นอันเป็นการรบกวนหรือเป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่คนหรือสัตว์ (18)ทิ้งขยะมูลฝอยหรือสิ่งต่างๆ ในที่ที่มิได้จัดไว้เพื่อการนั้น(19)ทิ้งสิ่งที่เป็นเชื้อเพลิงซึ่งอาจทำให้เกิดเพลิง

[4] สัมภาษณ์นายก อบต.แม่ทา นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน วันศุกร์ที่ 8 เมษายน 2554  ณ ห้องประชุมสถาบันศึกษาศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และนายก อบต. ทาเหนือสมาชิก อบต. และชาวบ้าน ต.ทาเหนือ วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ณ ห้องประชุม  องค์การบริหารส่วนตำบลทาเหนือ

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปิยบุตร แสงกนกกุล

Posted: 24 Jan 2012 02:39 AM PST

"นี่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย สังคมไทยเคยพูดเรื่องนี้มาแล้วตั้งแต่ปี 2475"

เสวนา 'ลบล้างผลพวงรัฐประหาร – นิรโทษกรรม- ปรองดอง', 22 ม.ค. 55, หอประชุมศรีบูรพา ม.ธรรมศาสตร์

ทหารอากาศเยเมน ประท้วงหลังปธน. หนีไปรักษาตัวนอกประเทศ

Posted: 24 Jan 2012 02:33 AM PST

หลังจากที่ ปธน. ซาเลห์ ผู้ถูกประชาชนประท้วงขับไล่มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ออกจากประเทศเพื่อไปรักษาอาการป่วยที่สหรัฐฯ กลุ่มทหารอากาศก็ออกมาประท้วงเรียกร้องให้มีการถอดถอนผู้บัญชาการกองทัพอากาศที่เป็นญาติของซาเลห์

23 ม.ค. 2012 - กลุ่มทหารอากาศใน 4 ฐานทัพอากาศของเยเมนออกมาประท้วงเรียกร้องให้มีการถอดถอนผู้บัญชาการทหารอากาศ หลังจากที่ประธานาธิบดี อาลี อับดุลลา ซาเลห์ เดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปรักษาตัวที่สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา

อับดุล-คาเดอ ซูเฟียน เจ้าหน้าที่อาวุโสของทหารอากาศในฐานทัพอากาศที่ใหญ่ที่สุดในเมือง อัล อนัด บอกว่ากองกำลังของเขาประท้วงเรียกร้องให้มีการถอดถอน พลตรี โมฮัมเมด ซาเลห์ ผู้เป็นญาติของประธานาธิบดี นอกจากอัล อนัด แล้วยังมีการประท้วงในฐานทัพอากาศของกรุงซานา เมืองทาอิซ และโฮเดดา ด้วย

ที่ฐานทัพฯ ในอัล อนัด มีป้ายประท้วงเขียนว่า "ไม่เอาความอยุติธรรม ไม่เอาเผด็จการ ไม่เอาการทุจริต"

ด้านพันเอก โมฮัมเมด อัล-คูบาตี ผู้ประจำการที่ฐานทัพอากาศในกรุงซานาบอกว่าทหารอากาศ 200 นายออกมาประท้วงตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. แล้ว

โดยกลุ่มทหารอากาศได้ถูกกองกำลังของฝ่ายประธานาธิบดีผลักให้ต้องเคลื่อนขบวนประท้วงออกไปในเมือง และพวกเขาก็ยังคงดำเนินการประท้วงต่อไป โดยไปปักหลักชุมนุมใกล้กับที่อยู่ของรองประธานาธิบดี อาเบด แรบโบ แมนเซอร์ ฮาดี ผู้ที่ถูกวางตัวให้เป็นประธานาธิบดีคนถัดไป

ประธานาธิบดี ซาเลห์ ออกจากเยเมนในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาหลังจากที่มอบอำนาจต่อให้กับฮาดี และขออภัยใน "ความบกพร่อง" จากการปกครองประเทศมานานเป็นเวลา 33 ปี

ทางสหรัฐฯ ได้อนุญาตวีซ่าท่องเที่ยวให้กับซาเลห์ แต่ก็บอกว่าเวลาของเขาในสหรัฐฯ มีจำกัด โดยกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า การเดินทางเข้าประเทศสหรัฐฯ ของซาเลห์ เพื่อเป็นการเข้ามารับการรักษาทางการแพทย์เท่านั้น และเขาจะอยู่ได้ในเวลาที่จำกัดตามเวลาที่เขาใช้รักษาตัว

สำนักข่าวของเยเมนรายงานว่าซาเลห์โดยสารเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวออกจากสนามบินไปในตอนเย็นวันที่ 22 ม.ค. และซาเลห์ได้กล่าวต่อสื่อก่อนเดินทางออกจากประเทศว่าเขาจะกลับมาในฐานะหัวหน้าพรรค General People's Congress ที่เป็นพรรครัฐบาลในขณะนี้

ผู้ประท้วงในวันอาทิตย์พยายามเดินขบวนไปยังสถานฑูตสหรัฐฯ แต่ถูกสกัดกั้นโดยกองกำลังของรัฐบาลเยเมนเสียก่อน โดยตะโกนคำขวัญในขณะที่ชุมนุมกันที่จัตุรัสเชนจ์ว่า "มันเป็นหน้าที่ของพวกเรา ...ที่จะประหารฆาตกร" 

โดยประชาชนชาวเยเมนได้ชุมนุมที่จัตุรัสเชนจ์เพื่อเรียกร้องให้ซาเลห์ออกจากตำแหน่งมาตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. ปีที่แล้ว กลุ่มผู้ประท้วงบอกอีกว่า "พวกนักการเมืองทั้งหลาย พวกเราจะไม่ยอมให้มีการงดเว้นความผิด จากการที่ทำให้ผู้เสียสละของพวกเราได้หลั่งเลือด" โดยผู้เสียสละของพวกเขาหมายถึงประชาชนหลายร้อยคนที่ถูกสังหารจากการปราบปรามของรัฐบาล

การงดเว้นโทษให้ซาเลห์เป็นหนึ่งในสิ่งที่กลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับใช้ต่อรองในการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจ เพื่อทำให้ความไม่สงบในประเทศเยเมนจบลง
 

ที่มา
Yemen appointment sparks air force mutiny, Aljazeera, 23-12-2012 
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/01/2012123141624515166.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวไตแดงตั้งพรรคการเมืองเตรียมร่วมเลือกตั้งซ่อมพม่า

Posted: 24 Jan 2012 01:26 AM PST

ชาวไตแดง หรือ ไตแลง เชื้อสายตระกูลไทซึ่งมีมีถิ่นอาศัยอยู่มากในรัฐคะฉิ่น ได้ตั้งพรรคการเมืองเตรียมเข้าร่วมการเลือกตั้งซ่อมในพม่าที่จะมีขึ้นในต้นเดือนเมษายนนี้

มีรายงานว่า ชนชาวไตแดงในพม่าได้ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองกับทางการพม่าเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา ใช้ชื่อพรรคว่า "พรรคพัฒนาแห่งชาติไตแลง" Taileng Nationalities Development Party (TNDP) ก่อตั้งโดยการนำชาวไตแลง 4 คน อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ (SNDP) ซึ่งได้เข้าร่วมการเลือกตั้งพม่าเมื่อ 2552

สมาชิกพรรคไตแดง (TNDP) คนหนึ่งเปิดเผยว่า สาเหตุที่จัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อหวังทำหน้าที่เรียกร้องสิทธิและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชาวไตแดง และชนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในรัฐคะฉิ่น ก่อนนั้นชาวไตแดงไม่เคยตั้งพรรคการเมือง ระยะหลังเห็นว่าการมีพรรคการเมืองมีสมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนอยู่ในสภาอาจจะช่วยเป็นเสียงให้กับประชาชนได้

สำหรับพรรคไตแดง (TNDP) ที่กำลังอยู่ระหว่างยื่นจดทะเบียนมีสมาชิกรวมทั้งหมด 18 คน ยังไม่มีประธานพรรค มีเพียงแกนนำจัดตั้งพรรคคือนายจายเทอ่อง อดีตสมาชิกพรรคการเมืองไทใหญ่ (SNDP) ซึ่งหากได้รับการอนุมัติการจดทะเบียนจะเข้าร่วมแข่งขันเลือกตั้งซ่อมในรัฐคะฉิ่น ในภาคสะกายและภาคมัณฑะเลย์ของพม่า

ทั้งนี้ชาวไตแดง หรือ ไตแลง เป็นชนเชื้อสายเดียวกับไทใหญ่ ปัจจุบันมีถิ่นอาศัยอยู่มากในรัฐคะฉิ่น ตอนเหนือของพม่า เช่นเมืองป่างหล่ายพู, เมืองยาง, อินต่อ และเมืองมอก ในภาคมัณฑะเลย์ของพม่า เช่นเมืองกอลาง, เวียงเสือ และในภาคสะกายพม่าเช่น เมืองโหหมากลาง และคำตี ปัจจุบันประชากรชาวไตแลงมีประมาณ 4 แสนคน

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


 

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: แกนนำค้านเขื่อนราษีไศลรอดคุก ศาลฎีกาให้รอลงอาญา

Posted: 24 Jan 2012 12:10 AM PST

ศาลจังหวัดศรีสะเกษอ่านคำพิพากษาฎีกา คดีแกนนำค้านโครงการเขื่อนราษีไศล ยืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุก 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี พร้อมคุมประพฤติ อีก 1 ปี

 
ภาพ: ชาวบ้านเข้าให้กำลังใจและแสดงความยินดีกับนายไพจิตร ศิลารักษ์ แกนนำค้านโครงการเขื่อนราษีไศล
 
 
วันนี้ (24 ม.ค.55) เมื่อเวลาประมาณ 9.30 น.ศาลจังหวัดศรีสะเกษอ่านคำพิพากษาฎีกาที่ 7644/2555 คดี นายไพจิตร ศิลารักษ์ แกนนำค้านโครงการเขื่อนราษีไศล ถูกตั้งข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการในยามวิกาลและทำลายทรัพย์สิน จากกรณีการชุมนุมเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหาของกลุ่มสมัชชาคนจน และบุกเข้าไปชุมนุมที่หัวงานเขื่อนราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2543 
 
คดีดังกล่าว ศาลชั้นต้น ตัดสินจำคุก 2 ปี ต่อมาชั้นศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ผู้ต้องหา จึงได้ต่อสู้ในชั้นฎีกา โดยในวันนี้ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ก่อน 2 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ มีกำหนด 1 ปี
 
หลังจากได้รับฟังการอ่านคำพิพากษาแล้ว บรรดาชาวบ้านสมัชชาคนจน และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) หลายร้อยคนที่มาให้กำลังใจกับนายไพรจิตร และมาร่วมฟังคำปราศรัยที่บริเวณศาลากลางศรีษะเกษตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ต่างแสดงความยินดี
 
ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะเข้ารับฟังคำตัดสินของศาลฎีกา นายไพจิตรได้เขียนบทความระบุถึงที่มาและความรู้สึกของเขาต่อคดีดังกล่าว มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 
 
 
 
คำตัดสินที่ต้องยอมรับ แต่ขอไม่จำนนต่อความ "อยุติธรรม" ที่เราไม่ได้เป็นคนก่อ
 
ไพจิตร ศิลารักษ์ 
 
"...ยังมีคนจนอีกจำนวนมาก ที่กำลังถูกรัฐใช้กระบวนการยุติธรรมเล่นงานอยู่กว่า 3,800 คดี บทลงโทษที่มักเกิดขึ้นกับคนจนเหล่านี้ มันเป็นความยุติธรรมของใคร..."
 
ผมเขียนบทความนี้ขึ้น ในช่วงเวลาของการนับถอยหลังสำหรับการที่จะมีอิสรภาพต่อไปหรือจะต้องสูญเสียอิสรภาพ ผมอาจจะติดคุกด้วยความผิดจากความเสียหายมูลค่า 800 บาท ซึ่งผมคงต้องบอกเล่าเรื่องนี้ไปอีกนานแสนนาน
 
7 กันยายน 2547 เวลา 10.00 น เศษ ที่ศาลจังหวัดศรีสะเกษ ห้องพิจารณาคดี ที่ 2 เป็นสถานที่นัดหมาย “พยานหลักฐานที่โจทย์นำสืบรับฟังได้ โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นผู้นำกลุ่มผู้ชุมนุมในการพังประตูทางเข้าฝายราษีไศล และบุกรุกเข้าไปภายในฝายราษีไศล ปิดกั้นประตูไม่ยินยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของฝายราษีไศลออกไปภายนอก อันเป็นความผิดตามฟ้อง
 
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก 360 , 365, (2)(3) ประกอบ 364 , 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 เนื่องจากความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ และฐานร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน เป็นความผิดบทหนักที่มีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ จำคุก 2 ปี/.” เสียงผู้พิพากษาอ่านคำตัดสินบน
 
20 มีนาคม 2551 เวลา 10.00 น. ที่ศาลจังหวัดศรีสะเกษ “จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358,365,(2) (3) ประกอบมาตรา 362 ,83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 362 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก”
 
อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวได้ ในชั้นฎีกา โดยใช้หลักประกันเดิม และตีราคาเป็น 400,000 บาท.......
 
วันนั้นศาลอุทธรณ์พิพากษาลดโทษจาก 2 ปี เหลือ 1 ปี 6 เดือน ซึ่งควรที่หลักประกันควรที่จะลดลงตามส่วนของโทษที่ลดลง อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไป แต่ผู้พิพากษาศาลศรีสะเกษ ซึ่งเป็นผู้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์กลับเพิ่มหลักประกันขึ้นอีก จาก 350,000 บาท เป็น 400,000 บาท เช่นนี้แหละผมจึงเข้าใจได้อย่างเดียวว่า “เขาเลือกแล้วว่าจะเอา” และ “ยังไงก็จะเอาให้ได้”
 
และในวันที่ 24 มกราคม 2555 ศาลจังหวัดศรีสะเกษนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งคงไม่ต้องคาดการณ์อะไรมาก เตรียมลุ้นต่อจะดีกว่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมตอกย้ำความจริงที่ว่า ไม่มีความเป็นกลางสำหรับชาวบ้าน อำนาจไม่เคยมีไว้เพื่อรับใช้คนจน เมื่อใดก็ตามที่คุณพลาด อำนาจก็จะจัดการคุณทันที
 
ผมหวนคิดถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2550 ขณะที่หลายคนกำลังชุมนุมกันเพื่อรอเผาศพพี่มด ที่วัดวชิรธรรมสาธิต อีกด้านหนึ่งที่ศาลจังหวัดอุบลฯ นัดตัดสินคดีอยู่ ผลการตัดสิน (คดีพี่มด ยึดเขื่อนปากมูล) ก่อนควันไฟจากเตาเผาศพพวยพุ่ง ศาลจังหวัดอุบลฯ สั่งจำหน่ายคดีออกจากสาระบบเพราะจำเลยเสียชีวิต
 
นี่ไง คือคำตอบของอำนาจที่จัดการกับผู้ที่ท้าทาย เป็นเรื่องยากที่จะ หรือเรียกหาความยุติธรรมความตายไม่ใช่ทางออกที่เลือกไว้ และการยอมรับโทษตามคำตัดสินก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการยอมจำนน หากแต่เป็นเส้นคั่นระหว่างทาง ที่บางครั้งก็น่าจะเสียเวลาบางเล็กน้อยเพื่อก้าวผ่านมันไป
 
ผมไม่รู้ว่าคำพิพากษาศาลฎีกา จะตัดสินออกมาอย่างไร ในวันที่ 24 มกราคม นี้ แต่สิ่งที่ต้องบอกเพื่อรับรู้ร่วมกันว่ายังมีคนจนอีกจำนวนมาก ที่กำลังถูกรัฐใช้กระบวนการยุติธรรมเล่นงานอยู่กว่า 3,800 คดี บทลงโทษที่มักเกิดขึ้นกับคนจนเหล่านี้ มันเป็นความยุติธรรมของใคร กระบวนการยุติธรรมใช้เพียงปรากฏการณ์และมองการเดินขบวนของประชาชน เท่านั้นหรือ ? ผมยืนยันว่าหากไม่มีการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2543 ของชาวบ้านราษีไศล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดประตูเขื่อนราษีไศล และการเรียกร้องในครั้งนั้นก็เป็นเหตุที่นำมาสู่คดีนี้ ผมก็คงไม่ต้องตกเป็นนักโทษเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตรงกันข้ามเพราะมีการชุมนุมในครั้งนั้น ซึ่งนำไปสู่การเปิดประตูระบายน้ำ จึงทำให้ชาวบ้านจำนวนกว่า 70,000 ชีวิต สามารถประกอบอาชีพเดิมอยู่ในชุมชนเดิมได้อย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน
 
หากเวลาหมุนกลับได้ โดยไม่มีเขื่อนราษีไศล ชุมชนก็ไม่ต้องมีความขัดแย้ง ไม่มีความแตกแยก ครอบครัวจะอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก มีที่ดินทำกินอย่างพอเพียงกับสมาชิกในครอบครัว มีป่าบุ่ง – ป่าทามให้เลี้ยงวัว – ควาย มีปลาสดๆ จากแม่น้ำมูนกินอย่างเต็มอิ่ม และผู้คนมีรอยยิ้มให้กัน
 
จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลา 19 ปี (เขื่อนราษีไศลสร้างเสร็จและเริ่มกักเก็บน้ำตั้งแต่ปี 2536 – 2555) ใครบ้างได้ทำนาปีละ 2 ครั้ง ใครบ้างได้งานทำ ใครบ้างที่ร่ำรวยเงินทอง สิ่งเหล่านี้ไม่เห็นว่าจะเกิดขึ้นเลย เห็นมีแต่ความยากจน ปนความขัดแย้ง ชุมชนแตกแยก วิถีชีวิตล่มสลาย บ้านช่องเหลือแต่คนแก่กับเด็กอยู่เฝ้า คนหนุ่มสาว คนวัยทำงานอพยพไปรับจ้างขายแรงงานในต่างถิ่น เพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัว
 
เมื่อคุณเป็นนักโทษด้วยเหตุแห่งการใช้สิทธิในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตชุมชน
 
เมื่อคุณเป็นนักโทษเพราะพฤติกรรมที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาของรัฐบาล ด้วยเหตุว่าโครงการที่ก่อสร้างขึ้นมานั้น ได้ไปทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้าน รวมทั้งยังไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม คุณได้ร่วมกับชาวบ้านซึ่งเป็นเหยื่อของโครงการพัฒนานั้น เรียกร้องความเป็นธรรมที่สมควรได้รับจากเจ้าของโครงการ กลไกการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนตามโครงสร้างการทำงานของรัฐ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เวลาผ่านไปหลายปี ความเดือดร้อนไม่ได้รับการเยียวยา ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ชาวบ้านไปติดตามทวงถามถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา ไป 3 – 5 คน ก็เจอแค่ภารโรงเฝ้าประตู ไป100 – 200 คน ก็เจอเสมียนหน้าห้อง แต่เมื่อไปเป็น 1,000 คน ก็ได้เจอเจ้าผู้ว่า เจออธิบดี หากไปติดตามการแก้ไขปัญหา 5,000 – 10,000 คน ก็ถึงจะมีโอกาสได้เจอรัฐมนตรี แต่เมื่อชาวบ้านไปกันมากๆ รัฐบาลและราชการก็จะมองว่า “ไอ้พวกม๊อบ” ไม่ยอมทำมาหากิน วัน ๆ คิดแต่เรื่องเดินขบวน ทัศนคติเช่นนี้เกิดกับชาวบ้านตลอดเวลาที่มีการเคลื่อนไหวของชาวบ้านผู้เดือดร้อน
 
จากนั้นรัฐบาลก็จะใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อมาจัดการกับผู้ชุมนุม เช่น 1.การใส่ร้ายป้ายสี ทำลายความชอบธรรม 2.ส่งคนมาการแทรกแซงในการเคลื่อนไหว 3.จัดม๊อบชนม๊อบ 4.การข่มขู่คุกคามผู้นำ (แกนนำ) และครอบครัว 5.การใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม 6.ปล่อยหมากัด 7.การจับกุม 8.การดำเนินคดีกับผู้นำ และ9.การฆ่าผู้นำขาวบ้านในการเคลื่อนไหว ทุกกลุ่มขบวนการประชาชน จะต้องเจอกับมาตรการเช่นนี้อย่างทั่วถึงกันทุกกลุ่ม
 
วิธีการที่รัฐใช้เหล่านี้เพียงเพื่อที่จะไม่ให้มีการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน ในขณะที่รัฐไม่ได้ใส่ใจในการแก้ไขปัญหาเลย ไม่มีใครหรอกที่จะเอาอนาคต เอาชีวิตมาแลกกับการเดินขบวน แต่มันไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เพราะครอบครัวและชุมชนที่ล่มสลายลงด้วยน้ำมือของรัฐ ที่ได้ยัดเหยียดความทุกข์ยากให้ เมื่อออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ก็มีโอกาสเจอกับวิธีการป่าเถื่อนของรัฐ จะกลับไปชุมชนก็ไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ การเดินขบวนจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จำต้องทำ และเมื่อคุณก้าวเท้าออกมาเดินขบวนคุณจะต้องเตรียมใจรับกับสิ่งที่รัฐจะยัดเหยียดให้ อย่างไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้
 
มีชาวบ้านจำนวนมากที่ต้องเดินขบวน เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากนโยบายของรัฐ โครงการพัฒนาของรัฐอีกมากมาย และจะต้องมีนักโทษการเมืองเช่นนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการจับกุมคุมขังไม่ได้ทำให้ปัญหาความเดือดร้อนหมดไป แต่ตราบใดที่ความไม่เท่าเทียมของคนในสังคม การเอาเปรียบเพื่อแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติไปจากท้องถิ่น ยังรุนแรงอยู่เช่นนี้ การเดินขบวนก็ยังต้องมีต่อไป
 
หากคุณเป็นชาวบ้านที่ต้องสูญเสียที่ดินทำกิน เพราะน้ำจากเขื่อนมาท่วมนา โดยที่รัฐบาลไม่ให้การช่วยเหลืออะไรเลย และผู้สูญเสียที่ทำกินมีจำนวนหลายพันครอบครัว รวมทั้งญาติพี่น้องคนในชุมชนเดียวกับคุณ คุณจะทำอย่างไร ที่ไม่ต้องเดินขบวน ที่ไม่ต้องเป็นนักโทษการเมือง และไม่ต้องติดคุกด้วย
 
สงครามแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ระหว่างรัฐผู้มาปล้นชิง กับชาวบ้านในชุมชน ผู้ที่ต่อสู้ปกป้องวัฒนธรรมวิถีชีวิตที่สืบทอดต่อมาจากบรรพบุรุษ อย่างเต็มกำลังความสามารถมันจะต้องดำเนินไป ผ่านมาแล้ว 19 ปี และต้องเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกกี่ปี ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าบทสรุปจะเป็นอย่างไร
 
จำต้องยอมรับ แต่จะให้ยอมจำนนต่อความอยุติธรรมที่พวกเราไม่ได้ก่อขึ้นได้อย่างไร
 
หากคำพิพากษาว่าต้องติดคุก ซึ่งเป็นคำตัดสินของศาลฎีกา ผมก็ต้องเข้าคุก เข้าไปอยู่ในคุกเดียวกันกับนักโทษ ปล้น ฆ่า ค้ายาบ้า และนักโทษคดีซึ่งเราเรียกว่า คดีอาชญากรรม โดยที่ผมเป็นนักโทษหนึ่งเดียวที่ติดคุกเพราะบังอาจกระทำการไม่เห็นด้วยการโครงการพัฒนาของรัฐ ผมยังพยายามคิดหาเรื่องเล่าเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกับนักโทษในเรือนจำ แต่ก็ยังคิดไม่ออก เพราะไม่มีประสบการณ์ในการปล้น ฆ่า และอื่น ๆ แต่จำต้องพยามเพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่นให้ได้ หากต้องติดคุกจริง
 
คำตัดสินที่จะมีขึ้นย่อมถือว่า สิ้นสุดของกระบวนการยุติธรรม แต่ผมยังคงมีคำต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือ กระบวนการยุติธรรม ได้ทำหน้าที่ในการอำนวยความเป็นธรรมอย่างที่ควรจะเป็นหรือยัง เพราะผมมองว่าเป้าหมายของการอำนวยความเป็นธรรม คือการให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข แต่หลังคำตัดสินจะออกมาอย่างไรก็ตาม คนจนถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการอยู่ร่วมในสังคมอย่างปกติสุขหรือยัง ซึ่งเป็นเรื่องที่กระบวนการยุติธรรมจะต้องสำรวจ การทำหน้าที่อำนวยความเป็นธรรมของตนเอง
 
ติดคุกอย่างไง ผมมั่นใจว่าต้องมีวันถูกปล่อยตัว เมื่อวันนั้นมาถึงหากการกดขี่ยังมีอยู่ ความเดือดร้อนของชาวบ้านยังไม่ได้รับการแก้ไขดังที่เป็นอยู่ ผมก็คงไม่อาจนิ่งเฉยได้ ก็จำต้องร่วมกับพี่น้องเพื่อสู้กับรัฐให้ได้ความเป็นธรรมต่อ ผมยอมรับได้ในคำพิพากษาที่จะมีขึ้น แต่คงมิอาจจำนนท์ต้องความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนจนซึ่งเป็นพี่น้องของผมได้ แล้วผมจะกลับมาอยู่กับพี่น้องของผมอีกครั้ง.......
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: จิตสาธารณะ

Posted: 23 Jan 2012 11:06 PM PST

 

จิตสาธารณะคือการที่สมาชิกในสังคมตระหนักถึงความสำคัญในการเสียสละแบ่งทรัพยากรหรือผลประโยชน์ส่วนตนให้กับสังคม เพื่อให้สังคมนั้นนั้นนำทรัพยากรหรือผลประโยชน์ส่วนนี้มาใช้ก่อเกิดประโยชน์ให้กับสมาชิกทุกคนในสังคมตลอดจนตัวผู้ให้เอง

เราจะมาเริ่มต้นอธิบายกันว่าเหตุใดมนุษย์จึงมีความเชื่อเช่นนั้น?
มนุษย์มีกรรมสิทธิ์ (property) ในสิ่งที่ตนครอบครองและสามารถใช้ประโยชน์ในสิ่งที่ตนครอบครองได้ตามต้องการ แต่ทว่ามนุษย์เองเป็นสัตว์สังคม และไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ตามลำพัง กรรมสิทธิ์จะไม่มีประโยชน์ใดเลยถ้าไม่มีกรอบของสังคมมารับประกันความเป็นเจ้าของ ยกตัวอย่างเช่น สมมติเราอยู่ในยุคป่าเถื่อนที่ผู้แข็งแรงกว่าย่อมกินผู้ที่อ่อนแอกว่า กรรมสิทธิ์ไม่มีความหมายเมื่อผู้แข็งแรงกว่าสามารถใช้กำลังแย่งชิงสิ่งของจากผู้อ่อนแอกว่าได้เสมอ

ดังนั้นมนุษย์จึงรวมตัวกันอยู่เป็นสังคม และกำหนดกรอบของสังคมเพื่อคุ้มครองสิ่งของที่ตนครอบครอง อย่างไรก็ตามปัญหาต่างๆ จะตามมามากมายยิ่งขึ้นถ้าจำนวนกรรมสิทธิ์ของเอกชนมากขึ้นตามลำดับ เราจะสามารถระบุได้อย่างไรว่า ของที่ใช้ร่วมกันไม่สามารถแยกจากกันได้ อย่างเช่น อากาศที่หายใจนั้นเป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อลดข้อขัดแย้งในสังคม สังคมจึงมีสินค้าสาธารณะขึ้นเพื่อให้ทุกคนในสังคมมีสิทธิร่วมใช้โดยมิได้ระบุว่ามันเป็นของปัจเจกคนใดคนหนึ่ง การกำหนดสินค้าสาธารณะนั้นนอกจากเพื่อลดข้อขัดแย้งแล้ว ยังส่งผลช่วยเกิดประโยชน์ให้กับปัจเจกบุคคลและสังคมโดยรวมมากกว่าการเห็นแก่ตัวครอบครองทุกอย่างเพียงผู้เดียว ยกตัวอย่างเช่น สมมติ นาย ก ต้องการสร้างสะพานข้ามแม่น้า ซึ่งถ้า นาย ก ต้องการสร้างเพื่อใช้คนเดียวแล้วกีดกันไม่ให้ผู้อื่นใช้ นาย ก ต้องสะสมเงินเป็นเวลานานเท่าใดถึงสามารถสร้างสะพานได้ และถ้าคนทั้งสังคมคิดเหมือนนาย ก แต่ละคนคงต้องเก็บเงินเพื่อสร้างสะพานทั้งชีวิต และสมมติเมื่อทุกคนเก็บเงินและสร้างเสร็จแล้ว สังคมนี้จะมีสะพานจำนวนมากโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าทุกคนในสังคมเจียดเงินรวมกันสร้างสะพานหนึ่งเส้นเพื่อให้ทุกคนได้ใช้เป็นสินค้าสาธารณะแล้ว ทุกคนในสังคมก็สามารถมีสะพานใช้ได้ทันใจ และประหยัดทรัพยากรส่วนตัวและส่วนรวมได้มากกว่า

แนวความคิดที่นำทรัพยากรส่วนบุคคลมาเป็นทรัพยากรสาธารณะ หรือการก่อให้เกิดจิตสาธารณะนั้นมีสองแนวความคิดคือ สายอรรถประโยชน์นิยม (utilitarisme) และสายเสรีนิยม (liberal)

Utilitarisme and Liberalisme
สายอรรถประโยชน์นิยม Jeremy Bentham เชื่อว่าในระดับปัจเจกบุคคลสิ่งที่กระทบต่อประโยชน์สำหรับมนุษย์เช่น ความสุข ความเจ็บปวด สามารถวัดค่าเป็นสเกลและเปรียบเทียบได้ ผลประโยชน์เป็นแรงผลักดันของมนุษย์ให้เกิดกิจการต่างๆ มนุษย์ที่มีเหตุผลย่อมหาหนทางเพื่อให้ตนเองได้ผลประโยชน์สูงสุด และเพราะเนื่องจากอรรถประโยชน์ของปัจเจกคนสามารถบวกลบได้ ในระดับสังคม welfare ของสังคมจึงเกิดจากการบวกรวมกันของอรรถประโยชน์ปัจเจกทุกคนในสังคม

ถึงแม้มนุษย์แสวงหาประโยชน์ตนเองสูงสุด แต่ก็ตระหนักถึงความสำคัญในสภาพความเป็นอยู่ของสังคมที่สามารถส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของพวกเขาทั้งทางตรงและทางอ้อม policy maker ที่เป็นพวกอรรถประโยชน์นิยมจึงสนใจที่จะแสวงหาว่าควรจะโอนถ่ายทรัพยากรของแต่ละคนมาเท่าไรเพื่อนำทรัพยากรนี้ไปใช้ผลิตนโยบายสาธารณะที่ส่งผลประโยชน์ให้ทุกคนในสังคมสูงสุดและส่งผลให้ welfare สังคมมากขึ้นตามมา เมื่อเขียนสมการจึงได้ว่า

 
 (1)

 

 

      W คือ welfare ของสังคม,
คือ ทรัพยการที่แต่ละคนควรถูกโอนถ่าย, คือ อรรถประโยชน์ของปัจเจกบุคคล, คือ ทรัพยากรที่ปัจเจกบุคคลมี,  P คือ นโยบายสาธารณะ และ b คืองบประมาณ

สมการที่หนึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า หมายถึง งบประมาณสาธารณะมีค่าได้น้อยกว่าหรือเท่ากับทรัพยากรที่รัฐเก็บมาจากปัจเจกบุคคลทุกคน สมการที่หนึ่งมีจุดประสงค์เพื่อหา optimal เพื่อให้เกิด welfare สังคมสูงสุด

อย่างไรก็ตามมนุษย์มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตน ผู้ใดจะมาพรากมิได้ การที่รัฐโอนถ่ายทรัพยากรของเอกชนเพื่อไปใช้นโยบายสาธารณะจึงเป็นการละเมิดกรรมสิทธิ์ แต่ทว่าสังคมต้องการทรัพยากรเพื่อมาทำนโยบายสาธารณะให้เป็นจริง และปัจเจกบุคคลก็ตระหนักผลดีนี้เช่นกัน ปัจเจกบุคคลจึงเข้าร่วมสังฆกรรมนี้โดยการทำสัญญาประชาคม ให้องค์กรทางสังคมเป็นผู้มีอำนาจในการโอนถ่ายทรัพยากร ซึ่งองค์การทางสังคมนี้คือองค์การบริหารที่มีอำนาจทางกฎหมายรองรับ ถ้ารัฐกระทำการยึดกรรมสิทธิ์เอกชนใดๆ โดยปราศจากกฎหมายแล้วมันก็ไม่ต่างอะไรจากการปล้น

ในสายเสรีนิยมมีความเชื่อต่างจากสายอรรถประโยชน์นิยมว่า ปัจเจกบุคคลมีจิตสำนึกสาธารณะได้เองโดยรัฐไม่ต้องแทรกแซง ซึ่งต่างจากสายอรรถประโยชน์นิยมที่เชื่อว่า ปัจเจกบุคคลมีสายตาไม่กว้างไกลไม่สามารถรู้ได้ว่าควรจะถ่ายโอนทรัพยากรเท่าไร และการรอคอยความเมตตาให้คนบริจาคนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ดังนั้นรัฐจึงต้องเข้ามาแทรกแซงกำหนดว่าแต่ละคนควรจ่ายเท่าไร สำหรับสายเสรีนิยมนั้นการถ่ายโอนทรัพยากรของเอกชนเกิดได้เฉพาะกรณีที่เอกชนยินยอมมอบให้เอง เช่นการบริจาค แต่จุดประสงค์ของสายเสรีนิยมนั้นมิใช่ welfare ของสังคม แต่ต้องการ maximize อรรถประโยชน์ของตนเอง และเป็นตัวปัจเจกบุคคลเองที่รู้ว่าควรจะจ่ายให้สาธารณะเท่าไรเพื่อที่ว่าตนเองได้ประโยชน์จากการให้ทั้งทางตรงและทางอ้อม สมการจึงเขียนได้ว่า

(2)

คือ อรรถประโยชน์ของบุคคล, คือ ทรัพยากรที่ปัจเจกบุคคล, คือทรัพยากรที่ปัจเจกบุคคลตัดสินใจโอนถ่าย และ D คือฟังก์ชันผลประโยชน์ที่เกิดจากการโอนถ่ายทรัพยากร

สมการที่สองมีจุดประสงค์เพื่อหา optimal ที่ทำให้ปัจเจกชนได้ประโยชน์สูงสุด โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเขาไม่สามารถบริจาคมากกว่าทรัพย์สินที่เขามี

ภาษีและการบริจาค
การมีจิตสาธารณะเพื่อโอนถ่ายผลประโยชน์หรือทรัพยากรนั้นมีได้หลายแบบ เช่น การโอนแรงงานให้สาธารณะ เป็นต้น แต่เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เราจะดูกรณีเปรียบเทียบกันระหว่างภาษีกับการบริจาคด้วยเงิน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สามารถวัดค่าได้ชัดเจน เมื่อส่วนรวมจำเป็นต้องมีทรัพยากรเพื่อใช้กับนโยบายสาธารณะ การนั่งรอให้ปัจเจกบุคคลนั่งสมาธิเกิดนิมิตจิตสาธารณะขึ้นเพื่อแบ่งทรัพยากรมาให้นั้นอาจไม่เพียงพอ รัฐจึงทำการให้ทุกคนมีจิตสาธารณะขึ้นโดยการจ่ายภาษี

ภาษีคือ จำนวนเงินที่เอกชนมีหน้าที่ต้องจ่ายให้กับรัฐตามหน้าที่ที่กติกากฎหมายบ้านเมืองเขียนเอาไว้ เพื่อที่ว่ารัฐจะได้นำภาษีมาใช้กับนโยบายสาธารณะเพื่อประโยชน์ทั้งต่อคนจ่ายภาษีและทุกคนในสังคม และเมื่อปัจเจกชนตัดสินใจที่จะเซ็นสัญญาประชาคมนี้จึงต้องมีภาระหน้าที่ตามมา ภาษีโดยตัวของมันเองแล้วคือการลดทรัพย์สินของปัจเจกชนอันเป็นการลดกำลังซื้อและอรรถประโยชน์โดยตรง และสิ่งที่แตกต่างระหว่างภาษีกับเงินบริจาคคือ ภาษีนำมาเพื่อใช้กับนโยบายสาธารณะโดยที่รัฐบาลมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดสวัสดิภาพโดยรวมในสังคมสูงสุด ดังนั้นบางนโยบายสาธารณะอาจไม่ส่งผลกระทบต่อ นาย ก แต่อาจจะส่งผลดีกับนาย ข และส่งผลเสียต่อ นาย ค แต่เมื่อรวมผลประโยชน์แต่ละคนรวมกันแล้วปรากฏว่า สวัสดิภาพของสังคมดีขึ้นนโยบายนี้ย่อมสมเหตุสมผล ซึ่งต่างจากเงินบริจาคตรงที่คนให้เป็นคนตัดสินใจยินยอมเองและผลประโยชน์จากการบริจาคก็ให้กับตัวผู้ให้เองโดยตรง จึงไม่แปลกที่การเสียภาษีสร้างความไม่พอใจให้กับคนบางกลุ่ม และคนจำนวนมากจึงทำการหลีกเลี่ยงภาษี หรือออกมาโวยวายจะไม่จ่ายภาษี

แต่ทว่าภาษีเป็นหน้าที่ที่ทุกคนในสังคมต้องจ่ายตามกฎหมาย ข้ออ้างที่จะไม่จ่ายภาษีเพราะว่านโยบายสาธารณะไม่ได้ให้ประโยชน์แก่ตน หรืออวดอ้างว่าภาษีนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของตน ดังนั้นตนควรมีสิทธิในการกำหนดนโยบายสาธารณะเองนั้นย่อมฟังไม่ขึ้น บุคคลย่อมต้องรับผลของการไม่จ่ายภาษีเอง แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจกับเหตุการณ์ในสังคมไทยปัจจุบันชี้ให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากไม่เข้าใจว่าภาษีคืออะไร การอวดอ้างว่า ภาษีเป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้วมีการลำเลิกบุญคุณนั้นจึงเป็นการไร้เหตุผลยิ่ง เพราะ

  • ปัจเจกบุคคลมีกรรมสิทธิ์เฉพาะในทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น ซึ่งถ้าคุณเหมารวมว่าภาษีทั้งหมดเป็นของคุณย่อมเป็นการมั่วซั่วอย่างยิ่ง เช่น ถ้าคุณจ่ายภาษีตลอดทั้งชีวิตรวมทั้งหมดหนึ่งแสนบาท คุณก็ควรเป็นเจ้าของเฉพาะแสนบาท การที่รัฐบาลออกนโยบายเยียวยามูลค่ากว่าพันล้านบาทแล้วคุณไม่พอใจ คุณก็ควรจะเรียกร้องในส่วนที่คุณเสีย ไม่ใช่มาเหมารวมความเป็นเจ้าของทั้งหมด เพราะภาษีเกิดจากรวบรวมเงินจากทุกคนในสังคม มิใช่ว่าคุณไม่พอใจแล้ว คนอื่นจะไม่พอใจตามคุณด้วย

    อย่างไรก็ตาม การคิดแบบนี้เป็นวิธีการคิดที่ผิดอย่างยิ่งและไม่ควรเกิดขึ้นในสมองเลย เพราะมันหมายความว่าคนที่จ่ายภาษีมากกว่าย่อมเสียงดังมากกว่าในสังคม ซึ่งในสังคมประชาธิปไตยมันไม่ใช่ ทุกคนเท่าเทียมกันหมดภายใต้การเลือกตั้ง หนึ่งคนหนึ่งเสียง แค่คุณคิดว่าเพราะคุณจ่ายภาษีจึงเป็นเจ้าของภาษี มันก็เป็นการเริ่มต้นที่ผิดแล้วการไม่พอใจนโยบายสาธารณะแล้วออกมาวิจารณ์นั้นเป็นสิทธิที่ทุกคนทำได้ แต่อย่างน้อยควรอยู่ในกรอบของกฎหมายที่ถูกต้อง และความเข้าใจที่ดีก่อน
     

  • และถ้าวิเคราะห์ให้ลึกซึ้ง ภาษีนั้นไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ถึงแม้รัฐบาลเป็นผู้ใช้จ่ายภาษีก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเจ้าของ รัฐบาลเป็นแค่ตัวกลางที่นำภาษีมาใช้ตามนโยบายสาธารณะที่ตนเองหาเสียงก่อนเลือกตั้งให้เป็นจริง ปัจเจกบุคคลหมดสภาพกรรมสิทธิ์ในเงินภาษีที่จ่ายไปนับตั้งแต่ที่เขาจ่ายไปแล้ว

    การที่รัฐมีนโยบายสาธารณะต่างๆ เป็นหน้าที่ของรัฐ และภาษีที่รัฐใช้ก็ไม่ใช่ของรัฐ ดังนั้นข้อดีของนโยบายสาธารณะคือ บุคคลที่ได้รับประโยชน์นั้นไม่ได้เป็นหนี้ชีวิตใครที่ต้องชดใช้คืน เพราะว่ารัฐไม่ได้มีตัวตนจริง ยกตัวอย่างเช่น กรณีทุนการศึกษาที่ใช้เงินภาษีอากรจ่าย ผู้ที่มีสิทธิได้รับทุนนั้นไม่ได้เป็นหนี้ชีวิตรัฐแต่อย่างใด รัฐเพียงแต่ให้เงินทุนกับคนนี้เพราะเชื่อได้ว่าจะสามารถนำความรู้ที่เรียนมากลับมาผลิตผลประโยชน์ให้ตนเองตลอดจนคนอื่นๆ มากขึ้นและส่งผลให้สวัสดิภาพสังคมโดยรวมมากขึ้นตามมา ส่วนการใช้ทุนนั้นไม่ได้หมายความว่านักเรียนทุนทำการชดใช้บุญคุณของรัฐแต่อย่างใด มันเป็นเพียงแต่ข้อสัญญาระหว่างรัฐกับนักเรียนทุนเท่านั้นว่า หลังจากจบการศึกษาแล้วจะกลับมาทางานในประเทศ การทวงถามบุญคุณจากนักเรียนทุน โดยที่ตนเองไม่ได้ออกเงินสักบาทและภาษีนั้นไม่ได้มีใครเป็นกรรมสิทธิ์ใคร จึงเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง

ส่วนเงินบริจาคนั้น ผลประโยชน์ที่ได้จากการทำบุญมีทั้งทางตรง เช่น ทำบุญเพื่อได้ชื่อเสียง สร้างภาพลักษณ์ ได้การยอมรับในสังคม เพื่อลดภาษี ได้ความอิ่มเอมใจ หรือตลอดจนเพื่อได้ขึ้นสวรรค์เป็นต้น ผลประโยชน์ทางอ้อม เช่น เงินบริจาคให้กับสมาคมหนึ่ง นำไปช่วยให้เด็กมีการศึกษามากขึ้นและลดอัตราการเกิดอาชญากรรมเป็นการส่งผลทางอ้อมให้ผู้ให้สามารถมีชีวิตในสังคมได้อย่างสงบสุข อย่างที่กล่าวไว้แล้ว การบริจาคแตกต่างจากภาษีสองประการคือ การบริจาคมีไว้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และผู้ให้รู้เองว่าจะให้เท่าไรถึงจะดีกับตัวเองที่สุด แตกต่างจากภาษีที่รัฐเป็นคนมาตัดสินโดยที่ไม่รู้ว่าผู้เสียภาษีจะได้ประโยชน์จริงหรือไม่ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่ เราอาจเจอคนที่นิยมชมชอบการทำบุญแต่กลับหลบเลี่ยงหนีภาษี

นอกจากนี้การบริจาคสามารถก่อให้เกิดห่วงโซ่สำนึกบุญคุณขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่สามารถระบุตัวผู้ให้และผู้รับได้ชัดเจน การบริจาคทำให้เกิดสภาพความไม่เท่ากันระหว่างผู้ให้และผู้รับ เมื่อผู้ให้รู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าผู้รับ และสามารถเรียกร้องบุญคุณใดๆ ได้จากผู้รับ แต่ทว่าการทวงลำเลิกบุญคุณเป็นวิสัยที่มนุษย์ปุถุชนที่ดีควรทำหรือ? เพราะการบริจาคนั้นส่งผลดีโดยตรงกับตัวผู้ให้เองอยู่แล้ว แล้วผู้ให้ยังคงหวังผลตอบแทนในอนาคตจากผู้รับอีกหรือ? ถ้าผู้ให้หวังจะให้ผู้รับมาตอบแทนในอนาคตแล้วการบริจาคก็ไม่ได้แตกต่างจากการลงทุนเลยและยังเป็นการลงทุนที่ใช้ทุนต่ำมาก เพียงแค่คุณให้เงินคนอื่นคุณก็สามารถทวงบุญคุณได้ชั่วชีวิต และถ้าวิเคราะห์กันตามจริงแล้วกรรมสิทธิ์ในตัวเงินที่ให้มันถูกโอนถ่ายไปให้ผู้รับตั้งแต่ผู้รับได้เงินบริจาคนั้น
 

บทส่งท้าย
การจะได้ชื่อว่าเป็นคนมีจิตสาธารณะไม่ได้ยากเย็นอย่างที่คิด โดยทุกคนสามารถแบ่งผลประโยชน์บางส่วนให้กับสาธารณะ เพื่อให้สังคมนำกลับมาสร้างประโยชน์ให้กับทุกคน ถ้าทุกคนมีจิตสำนึกได้เองว่าจิตสาธารณะเป็นสิ่งจำเป็น ก็สามารถกระทำการได้เองตามแนวเสรีนิยม หรือถ้าคุณนิยมจิตสาธารณะแบบตามข้อบังคับจากรัฐส่วนกลาง ก็เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการนำธุรกิจใต้ดินมาอยู่บนดินและจ่ายภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย เท่านี้คุณก็ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลมีจิตสาธารณะแล้ว

ไม่เข้าใจอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะเสียเงินเป็นพันล้านให้คณะกรรมการหนึ่งวิจัยเรื่องจิตสาธารณะไปทำไม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Q&A “ล้างผลพวงรัฐประหาร” กับนิติราษฎร์

Posted: 23 Jan 2012 05:24 PM PST

เมื่อวันที่ 22 ม.ค.55 ที่หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ จัดการเสวนาในหัวข้อ ‘ลบล้างผลพวงรัฐประหาร – นิรโทษกรรม- ปรองดอง’ มีนักวิชาการเข้าร่วมเสวนาทั้งหมด 7 คน ได้แก่ จันทจิรา เอี่ยมมยุรา, วรเจตน์ ภาคีรัตน์, สาวตรี สุขศรี, ปิยบุตร แสงกนกกุล, ปูนเทพ ศิรินุพงศ์, ฐาปนันนท์ นิพิฎฐกุล และกฤษณ์ ภูญียามะ

โดยในช่วงแรกเป็นการ “ถาม-ตอบ” โดยเป็นการตอบคำถาม ที่เกิดขึ้นหลังคณะนิติราษฎร์มีข้อเสนอ “ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร” ที่นำเสนอในช่วงครบรอบ 5 ปีรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) เช่น ได้เสนอให้การกระทำใดๆ ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เสียเปล่า ไม่มีผลทางกฎหมาย และเสนอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ตกเป็นโมฆะ บรรดาบุคคลที่ทำรัฐประหาร บรรดาผู้สนับสนุน ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ฯลฯ

12 คำถาม ถาม-ตอบโดยคณะนิติราษฎร์เรื่องข้อเสนอลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร

โดยคณะนิติราษฎร์จะช่วยกันตอบคำถามคาใจเหล่านั้น โดยมีกฤษณ์ ภูญียามา เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยคำถามทั้งหมด 12 ข้อ ได้แก่

หนึ่ง ในทางหลักวิชานิติศาสตร์ การลบล้างผลพวงของการรัฐประหารสามารถทำได้หรือไม่

สอง คณะนิติราษฎร์เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน มีหลายคนของใจว่าทำไมเจาะจงเฉพาะ 19 กันยายน 2549 ทำไมไม่รวมการรัฐประหารครั้งอื่น

สาม ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ในประเด็นการลบล้างผลพวงของคณะรัฐประหาร ถ้านำไปปฏิบัติจริง ก็ไม่ต่างกับคณะรัฐประหาร เพราะในฐานะรัฎฐาธิปัตย์ก็ย่อมให้อำนาจไปทางใดก็ได้ ใช่หรือไม่

สี่ การที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร คณะนิติราษฎร์รู้หรือไม่ว่า เหตุผลที่คณะรัฐประหารต้องก่อการรัฐประหารในขณะนั้นเพราะมีการทุจริตคอร์รัปชั่น เหตุใดคณะนิติราษฎร์จึงไม่คิดกำจัดเหตุของการรัฐประหารด้วย

ห้า การที่นิติราษฎร์เสนอให้การนิรโทษกรรมแก่คณะรัฐประหารเป็นโมฆะนั้น เป็นแนวทางที่สุดโต่งเกินไปหรือเปล่า ไม่ถือเป็นการออกกฎหมายย้อนหลังเพื่อลงโทษอาญาแก่บุคคลหรือ

หก การลบล้างคำพิพากษาของศาลเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

เจ็ด นิติราษฎร์เอาศาลไทยไปเปรียบเทียบกับศาลนาซีของเยอรมัน เป็นการเปรียบเทียบที่ผิดฝาผิดตัวหรือไม่

แปด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือกฎหมายที่ศาลดังกล่าวหยิบมาใช้ มีมาก่อนการรัฐประหารอยู่แล้ว จะบอกว่าเป็นผลพวงจากการรัฐประหารได้อย่างไร

เก้า แม้ข้อเสนอของนิติราษฎร์จะเอาไปให้ประชาชนลงประชามติ แต่ประชามติของประชาชนไม่ได้เด็ดขาดเสมอไป ตุลาการยังมีอำนาจชี้ขาดประชามตินั้นได้ ตัวอย่างเช่น คดี Perry V.Schwarzenegger (2010) ศาลสูงสหรัฐอเมริกาพิพากษาให้ผลการออกเสียงประชามติในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 2008 ที่ประชาชนเสียงขางมากในมลรัฐลงมติให้บัญญัติในรัฐธรรมนูญของมลรัฐว่าการสมรสจะทำได้เฉพาะหญิงกับชายเท่านั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สิบ รัฐธรรมนูญ 2549 ได้ถูกยกเลิกแล้ว จะถูกยกเลิกซ้ำได้หรือไม่

สิบเอ็ด ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เหตุใดนิติราษฎร์เสนอให้หยิบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรกมาเป็นต้นแบบ

และสิบสอง ที่เสนอให้ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 2549 ทำเพื่อทักษิณหรือเปล่า

โดยรายละเอียดของคำถาม-คำตอบทั้ง 12 ข้อมีรายละเอียดในวิดีโอคลิป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น