โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง หลักและอุดมการณ์ในร่างแก้ไข ม.112 ของนิติราษฎร์

Posted: 06 Jan 2012 12:03 PM PST

ชื่อบทความเดิม: อธิบายหลักและอุดมการณ์ในร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์

 

ประเด็นปัญหาของกฎหมายอาญามาตรา 112 สองประการสำคัญที่สุดคือ

1. การตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น และใช้สถาบันกษัตริย์เพื่อประโยชน์ทางการเมือง 

2. ความไม่ได้สัดส่วนกันระหว่างบทลงโทษและฐานการกระทำผิด

ประการแรก การตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น  

ไม่เพียงปรากฏว่ามีการใช้ข้อกล่าวหานี้ในการเล่นงานคู่แข่งทางการเมืองในหมู่นักการเมืองเท่านั้น  ในหมู่ประชาชนทั่วไปที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันทางการเมือง ก็มีการใช้กฎหมายดังกล่าวมาร้องทุกข์กล่าวโทษกันด้วยเช่นกัน  ดังกรณี I pad ผู้นิยมกลุ่มพันธมิตร แจ้งความ สุรพศ ทวีศักดิ์ นักเขียน-อาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งอภิปรายแสดงความคิดเห็นท้ายบทความ จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม-การเมืองไทยอย่างไร? ในเว็บไซต์ประชาไท  เป็นต้น

แม้ว่าจะมีการพยายามปฏิเสธจากฝ่ายต่าง ๆ เช่น นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยืนกรานว่าไม่มีการใช้กฎหมายดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ก็ดูเป็นเพียงการพยายามแก้ตัวมากกว่า เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคหนึ่งที่หยิบยกเรื่องสถาบันกษัตริย์มาโจมตีคู่แข่งทางการเมืองบ่อยครั้งที่สุด กรณี “ผังล้มเจ้า” ของ ศอฉ. ซึ่งมีนักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ 2 คน คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุด ก็ปรากฏคำให้การในชั้นศาลของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ในเวลาต่อมาว่า ขบวนการล้มเจ้าเป็นเพียงการขยายความไปเองของสื่อมวลชน ทั้งที่ในระหว่างที่นำเสนอนั้น ฝ่ายรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ และ ศอฉ. ประโคมข่าวเรื่องดังกล่าวไปทั่ว และพยายามโน้มน้าวสาธารณชนให้เชื่อว่ามีขบวนการดังกล่าวอยู่จริง

การที่พรรคการเมืองทุกพรรคต่างเห็นพ้องต้องกันในเรื่องงดเว้นการนำเรื่องสถาบันกษัตริย์มาใช้ในการหาเสียง และ กกต.มีมติออกมาเป็นข้อควรปฏิบัติ ย่อมสะท้อนให้เห็นอย่างบ่ายเบี่ยงไม่พ้นว่า ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลาหลายปีมานี้ มีการนำสถาบันกษัตริย์เข้ามาพัวพันกับการเมืองจนแยกไม่ออกจากความขัดแย้ง ซึ่งหากจะยกกรณีตัวอย่างก็คงทำได้ยาวยืด อีกทั้งยังมีการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการโจมตี และแจ้งความดำเนินคดีกัน จนสถิติคดีความความผิดเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 ไต่ขึ้นสูงตามลำดับ และขึ้นไปในจุดสูงสุด คือ เกือบ 500 คดี ในปี 2553 ที่มีการล้อมปราบคนเสื้อแดงที่สี่แยกราชประสงค์ กระทั่งมีผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ประการที่สอง เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ที่ผ่านมา การตัดสินลงโทษผู้ถูกกล่าวหาตามความผิดในกฎหมายนี้ มีคำตัดสินจำคุกตั้งแต่ 2 ปี 6 เดือน ไปจนถึง 20 ปี 

เมื่อพิจารณาจากฐานของการกระทำผิด ซึ่งเป็นการกระทำผิดโดยวาจา โดยการแสดงออกผ่านการพูด การเขียน การแปลหนังสือ หรือแม้กระทั่งการพิมพ์ข้อความทีเล่นทีจริงของเด็กวัยรุ่นในอินเตอร์เน็ต

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ขัดกับทั้งหลักการและอุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งยังขัดกับหลักกฎหมายที่การกระทำผิดและการลงโทษ ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม สัมพันธ์ และได้สัดส่วนกัน

การลงโทษประชาชนอย่างรุนแรงในโทษฐานความผิดจากการแสดงออกทางวาจา หรือทางตัวหนังสือ อย่างไม่ได้สัดส่วนนี้ ก่อให้เกิดวิกฤตอันรุนแรงต่อเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น และสะท้อนให้เห็นปัญหาที่อยู่ลึกลงไปกว่าบทกฎหมาย  นั่นคืออุดมการณ์ความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังกฎหมาย และคอยขับเคลื่อนความรู้สึกนึกคิดของผู้คนและเจ้าหน้าที่รัฐ ให้ต้องดำเนินคดีจนมีผลปรากฏออกมาดังที่เห็น ทั้งที่กรณีจำนวนมากหรือเกือบทั้งหมด ไม่สมเหตุสมผล ไม่ว่าจะมองจากหลักกฎหมาย หรือจากสามัญสำนึกความรู้สึกธรรมดาทั่วไปก็ตาม

ในท่ามกลางปัญหาที่ทวีความรุนแรงและไร้ความเป็นธรรมขึ้นทุกวัน มีข้อเสนอต่าง ๆ จากหลายฝ่าย  เช่น ข้อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปเลย   ข้อเสนอแก้ไขในสองประเด็นของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)  และข้อเสนอ ร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์ ซึ่งประกอบด้วย 7 ประเด็นสำคัญ  โดย ร่างแก้ไขของนิติราษฎร์นี้ จะมีการอภิปรายและเชิญชวนประชาชนให้ลงรายชื่อยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร์ ให้พิจารณาแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะดำเนินการโดย คณะรณรงค์แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 (ครก. 112)

ในบทความนี้ ผมจะกล่าวเฉพาะร่างแก้ไขของคณะนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ผมเห็นด้วยที่สุด

ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ประกอบด้วย 7 ประเด็น  ผมจะไม่นำข้อเสนอมากล่าวซ้ำทั้งหมด สามารถดูตัวร่างแก้ไขพร้อมทั้งหลักการและเหตุผลได้ที่เว็บไซต์ของคณะนิติราษฎร์  ทั้ง 7 ประเด็นในร่างแก้ไขของคณะนิติราษฎร์นี้ สามารถสรุปรวบเป็น 4 ประเด็นสำคัญ ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112  ให้สอดคล้องกับหลักการและอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่เพียงแต่ตัวบทกฎหมาย แต่ยังเป็นการกำหนดแนวทางในการทำความเข้าใจ แนวทางในการตีความ และแนวทางในการดำเนินคดี เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค

ประเด็นแรก แยกแยะฐานการกระทำผิดให้ถูกต้องเหมาะสม ไม่ให้บิดเบือน ขยายความเกินกว่าเหตุ เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง

ประเด็นนี้ก็คือการย้ายหมวดของบทบัญญัติการกระทำผิดให้ออกจากหมวด “ความมั่นคง” และนำไปบัญญัติใหม่ในหมวดที่ว่าด้วย เกียรติยศ ชื่อเสียงของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งก็ประกอบไปด้วย   กษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  ในทางปฏิบัติก็ต้องยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  ในหมวดความมั่นคงเดิม  และบัญญัติขึ้นในหมวดใหม่ ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับ ชื่อเสียง เกียรติยศของ กษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

การย้ายหมวดดังกล่าวจะช่วยไม่ให้ทั้งผู้กล่าวโทษ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ศาล และประชาชน เข้าใจผิด และขยายการตีความความผิดไปจนเกินกว่าเหตุ  ลากโยงการดูหมิ่น หมิ่นประมาท ไปสู่การสั่นคลอนการดำรงอยู่ของรัฐ  ลำพังการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย นั้น ไม่สามารถสั่นคลอนการดำรงอยู่ของรัฐได้  ไม่มีผลต่อความมั่นคง  การตีความให้ไปเกี่ยวกับความมั่นคงเป็นแนวคิดที่มองเห็นรัฐเปราะบางและอ่อนแออย่างไร้เหตุผล เพียงแค่มีการหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นก็กลายเป็นรัฐที่ไม่มั่นคงได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง และไม่มีเหตุผล  แนวการตีความดังกล่าวนอกจากจะไร้เหตุผลแล้ว ยังผิดเพี้ยน บิดเบี้ยว และเป็นที่หัวเราะเยาะของนานาประเทศ คงไม่มีประเทศใด รัฐใดในโลกที่จะขาดความมั่นคงเพียงเพราะคำพูดหรือตัวหนังสือที่ดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย เพียงแค่นั้น  ตรงกันข้าม รัฐที่เอาผิด ลงโทษ การดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท อย่างรุนแรงจนเกินกว่าเหตุต่างหาก ที่ดูเป็นรัฐที่อ่อนไหว เปราะบาง อ่อนแอ และสั่นคลอนง่าย

การดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท นั้น ไม่สามารถสั่นคลอนการดำรงอยู่ของรัฐได้ หากแต่การเอาผิดลงโทษอย่างรุนแรง และถือเป็นจริงเป็นจังกับการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นเพียงการกระทำผิดโดยคำพูด โดยวาจา ซึ่งไร้พิษสงใด ๆ  ต่างหากที่ทำให้รัฐขาดความมั่นคง ขาดความสุขุมและมั่นใจในตัวเอง กลายเป็นรัฐที่ขี้ตกใจ และเปราะบาง

นอกจากนี้แล้ว การเชื่อมโยงการดูหมิ่น หมิ่นประมาทเข้ากับความมั่นคงยังเอื้อให้มีการนำกฎหมายไปขยายความเล่นงานกันทางการเมือง จนส่งผลให้สถาบันกษัตริย์ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ดังเช่นในกรณี ผังล้มเจ้า เป็นต้น

ประเด็นที่สอง อัตราโทษและตำแหน่งที่ได้รับความคุ้มครอง

อันที่จริงตำแหน่งที่ต้องได้รับความคุ้มครองมีเพียงกษัตริย์เท่านั้น  ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์นั้น แท้จริงแล้วก็คือระบอบประชาธิปไตยที่ยอมให้มีกษัตริย์อยู่ต่อไปในทางสัญลักษณ์และพิธีการในโลกสมัยใหม่   โลกก่อนสมัยใหม่นั้น รัฐส่วนใหญ่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ อำนาจสูงสุดในการปกครองนั้นอยู่ที่กษัตริย์ กล่าวคือ กษัตริย์ถือเป็นองค์อธิปัตย์โดยตัวเอง สมัยดังกล่าวยังไม่มีคำว่า “ประเทศ” ในความหมายปัจจุบัน  เพราะตัวกษัตริย์นั่นแหละคือตัว “รัฐ” ร่างกายของกษัตริย์ก็คือ “ประเทศ” ไม่ใช่ผืนดิน ปราสาทราชวัง สิ่งปลูกสร้าง หรือประชากร (สังเกตว่าในพงศาวดารโบราณของไทย หรือจีน เมื่อบ้านเมืองแตกแยกแปรปรวน แบ่งเป็นก๊กต่าง ๆ คนที่อยากครองอำนาจสูงสุดก็ต้องแย่งชิงเอาตัวกษัตริย์มาอยู่กับตนให้ได้ จึงจะมีความชอบธรรมเหนือผู้อื่น)  ต่อมาเมื่อเกิดความสำนึกในเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคแล้ว  อำนาจอธิปไตยจึงเป็นของปวงชน ไม่ใช่ของกษัตริย์อีกต่อไป  แน่นอนว่าอำนาจสูงสุดนั้น สามารถจะอยู่ได้ในนิยามเดียวเท่านั้น ในเมื่ออยู่ในนิยาม “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” แล้ว ก็ไม่อาจจะอยู่กับกษัตริย์ หรือเป็นตัวกษัตริย์ได้อีกต่อไป กษัตริย์จึงไม่ใช่องค์อธิปัตย์ดังที่เคยเป็นมา  หากแต่รัฐที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย (อำนาจเป็นของปวงชน) ที่มีกษัตริย์นั้น ยังคงมีความรู้สึกผูกพันกับกษัตริย์ ยังคงให้เกียรติกษัตริย์ จึงยินยอมให้กษัตริย์ดำรงอยู่ต่อไปในฐานะของสัญลักษณ์ของอำนาจอธิปไตย ยินยอมให้เป็นภาพแทนหรือตัวแทนในทางสัญลักษณ์ และพิธีการ แทนปวงชน

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเองก็บัญญัติไว้ชัดเจนในมาตรา 3 ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

ในทางกฎหมาย กษัตริย์ไทยจึงไม่ได้มีความแตกต่างจากกษัตริย์อื่น ๆ โดยทั่วไปของประเทศประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ คือทรงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจอธิปไตยแทนปวงชน แต่ไม่ใช่เป็นองค์อธิปัตย์ด้วยตนเองอีกต่อไปเหมือนเช่นในสมัยโบราณ

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ กษัตริย์ซึ่งเป็นประมุข และถือเป็นตัวแทนอำนาจอธิปไตยของปวงชน ซึ่งอาจจะต้องเป็นประธานในพิธีการ ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในเชิงประเพณีก็ดี ในเชิงวัฒนธรรมก็ดี  ก็อาจจะมีเหตุขัดข้องให้ไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ เช่น อาจจะล้มป่วย หรือมีกิจกรรมสำคัญที่ต้องทำในเวลาใกล้เคียงหรือซ้ำซ้อนกัน ดังนั้น ราชินี รัชทายาท (ไม่ได้หมายถึงลูกหลานแต่เป็นตำแหน่งของผู้ที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป) หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ชื่อก็บอกอยู่ในตัวว่าคือผู้ที่มาทำราชการแทนกษัตริย์) ก็สามารถเป็นผู้ทำหน้าที่แทนกษัตริย์ได้ในวาระต่าง ๆ และในระหว่างที่กำลังทำหน้าที่หรือราชการนั้น ๆ ก็ต้องถือว่าเป็นผู้ที่กำลังทำหน้าที่แทนปวงชน หรือกำลังเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจอธิปไตยของปวงชนเช่นเดียวกัน  จึงสามารถมีบทบัญญัติให้คุ้มครองได้เช่นเดียวกับกษัตริย์ ให้สังเกตว่า บุคคลทั้งสี่นี้คือ “ตำแหน่ง” ที่อาจจะเป็นบุคคลเดียวกันก็ได้ เช่น อาจมีการแต่งตั้งให้ ราชินี หรือรัชทายาท เป็น “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ด้วยก็ได้ หรือจะแต่งตั้งคนอื่นมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ในร่างแก้ไขของนิติราษฎร์นั้น ได้แยกแยะโทษของบุคคลตามตำแหน่งทั้ง 4 โดยให้โทษของกษัตริย์สูงกว่าบุคคลตามตำแหน่งอีก 3 ตำแหน่ง ซึ่งก็เป็นไปตามหลักสากล และเป็นไปตามหลักการและความเป็นมา ดังที่กล่าวมาแล้ว คือ ตำแหน่งของผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนในเชิงสัญลักษณ์ หรือองค์อธิปัตย์แทนนี้ แท้จริงแล้วก็คือกษัตริย์เพียงพระองค์เดียว

ในส่วนของอัตราโทษได้มีการแก้ไขลดโทษลงให้ได้สัดส่วนกับการกระทำผิด เพิ่มโทษปรับ และไม่ระบุโทษขั้นต่ำ แยกแยะการดูหมิ่น และหมิ่นประมาทให้เกิดความชัดเจน ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชน หรือศาลค่อย ๆ เรียนรู้ปรับตัวเพื่อตีความกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักการและอุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งโดยทั่วไปในทางสากลแล้ว การกล่าวโทษดำเนินคดีหมิ่นประมาทมักไม่ปรากฏ โดยเฉพาะกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว แทบไม่มีการฟ้องร้องกันเลย ไม่ใช่เพราะไม่มีการหมิ่นประมาทกษัตริย์ในต่างประเทศ ไม่ใช่เพราะไม่มีกฎหมายคุ้มครองกษัตริย์ในต่างประเทศ แต่เป็นเพราะผู้คนในประเทศเสรีส่วนใหญ่ มีความอดทนอดกลั้นสูง เห็นเรื่องการดูหมิ่นล่วงเกินทางวาจาเป็นเรื่องไม่ใหญ่โตหรือสลักสำคัญ แต่คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญและเอาจริงเอาจังกับเรื่องการละเมิดสิทธิ เสรีภาพมากกว่า  ที่ต่างประเทศไม่มีปัญหาเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ไม่ใช่เพราะไม่มีการหมิ่น หรือไม่มีกฎหมายหมิ่น  กฎหมายนั้นมี แต่เขาไม่ฟ้องกันเองต่างหาก เพราะเขาเห็นว่าเป็นเรื่องเด็ก ๆ ขี้ผง ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงอะไร ไม่ควรจะต้องตีโพยตีพายละลายน้ำพริกจิกตีกันไปเปล่าปลี้ไม่มีสาระ

ประเด็นที่สาม เหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษ

ในร่างแก้ไขของคณะนิติราษฎร์ ได้เพิ่มบทบัญญัติของเหตุยกเว้นความผิด และเหตุยกเว้นโทษเข้ามา โดยบทบัญญัติดังกล่าวก็สอดคล้องต้องกันกับบทบัญญัติการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น บุคคลทั่วไป ซึ่งเป็นการสมควรและสมเหตุสมผลอย่างยิ่งที่จะบัญญัติขึ้นมา เพราะวิจารณญาณของคนจำนวนมากในปัจจุบัน ยังไม่สามารถแยกแยะการดูหมิ่น หมิ่นประมาท กับการวิจารณ์ออกจากกันได้ ทั้งนี้ เห็นได้จากทั้งฝ่ายวิจารณ์ และฝ่ายที่ไม่ต้องการให้แก้กฎหมาย ก็มักปรากฏความเห็นที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่สามารถแยกแยะสองเรื่องออกจากกันได้

แม้ว่าในโลกเสรี การล้อเลียน หรือแสดงความเห็นที่อาจจะคาบลูกคาบดอกระหว่างการดูหมิ่น หมิ่นประมาท กับการวิจารณ์ หรือแม้แต่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นอย่างชัดแจ้ง มักจะไม่ถือสาหาความ หรือไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษกัน แต่ในกรณีของไทย ยังมีวัฒนธรรมการตีความในเรื่องนี้ในลักษณะของอำนาจนิยมอยู่สูง ขณะเดียวกัน กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอยู่ก็เป็นเสมือสิ่งปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุดมการประชาธิปไตย ผู้คนที่ถูกปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นยิ่งนานวันเข้า ก็ยิ่งสั่งสมความไม่พอใจ ในขณะเดียวกัน ความขัดแย้งทางการเมืองก็ยังคงดำรงอยู่ และสถาบันกษัตริย์ก็กลายเป็นประเด็นที่พัวพันกันอยู่ในความขัดแย้ง

ในภาวะการณ์เช่นนี้ ที่ต่างฝ่ายต่างหวาดระแวง จึงควรแยกแยะการวิจารณ์และการหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย ให้ชัดเจน  ผู้ที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย ก็ควรถูกลงโทษอย่างสมเหตุสมผล และยุติธรรม  ในขณะเดียวกัน ผู้ที่วิจารณ์โดยใช้เหตุผล เพื่อประโยชน์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็ควรได้รับการสนับสนุน เพื่อบังคับความขัดแย้งให้คลี่คลายไปในทิศทางของการสร้างความเข้าใจ แลกเปลี่ยนเหตุผล และมีความอดทนอดกลั้นต่อกัน

ในอนาคตภายภาคหน้า หากอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้รับการพัฒนา ความขัดแย้งในสังคมคลี่คลาย บัญญัติกฎหมายในร่างแก้ไขของนิติราษฎร์นี้ก็จะเป็นเช่นเดียวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในนานาประเทศที่มีกษัตริย์ คือ มีกฎหมายที่สมเหตุสมผลอยู่ แต่ไม่ค่อยมีการฟ้องร้องกล่าวโทษกัน เนื่องจากสังคมมีวุฒิภาวะมากขึ้น

ประเด็นที่สี่ ผู้มีอำนาจกล่าวโทษ

ร่างแก้ไขของคณะนิติราษฎร์ บัญญัติให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

บทบัญญัติดังกล่าว จะช่วยแก้ไขปัญหาการนำกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างตรงประเด็นที่สุด  เนื่องจากปัจจุบันที่เป็นอยู่ ใครจะร้องทุกข์กล่าวโทษก็ได้ จะไปแจ้งความที่ไหนก็ได้ ก่อให้เกิดการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ไม่แต่เพียงในทางการเมือง แต่ยังใช้กลั่นแกล้งกันเนื่องจากความขัดแย้งในทางส่วนตัวด้วย เช่น การกลั่นแกล้งคู่กรณีด้วยการไปแจ้งความที่สถานีตำรวจซึ่งอยู่ห่างจากที่อยู่อาศัยหลายร้อยกิโลเมตร

สำนักราชเลขาธิการ มีกองนิติการ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นหน่วยงานราชการ กินเงินเดือนจากรัฐบาล และเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมาย และดูแลเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง จึงเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นตัวแทน เพราะอยู่ใกล้ชิดสถาบันกษัตริย์ ดูแลกิจการเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อยู่แล้ว โดยหน้าที่ของหน่วยงานเหมาะแก่การใช้ดุลยพินิจในเรื่องนี้ที่สุด อีกทั้งในกรณีที่ต้องการสอบถามความเห็นจากพระมหากษัตริย์โดยตรง ก็สามารถทำได้โดยสะดวก

ผู้ที่ไม่เห็นด้วยและคิดว่าจะเป็นการทำให้พระมหากษัตริย์ต้องมาฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยตนเองนั้น แสดงให้เห็นความไม่เข้าใจในสองส่วน  ส่วนแรกคือ ไม่สามารถแยกแยะสถาบันกษัตริย์ ออกจากตัวบุคคลได้  การดำเนินการโดยสำนักราชเลขาธิการ มีความแตกต่างจากการที่กษัตริย์เป็นผู้ดำเนินการเอง  สำนักราชเลขาเป็นหน่วยงานที่อาจจะถือว่าเป็นส่วนประกอบหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์โดยตัวเอง และยิ่งไม่ใช่องค์กษัตริย์โดยตัวเอง ไม่สามารถเป็นตัวแทนอำนาจอธิปไตยของปวงชนได้ แต่สามารถเป็นบุคคลที่สามในการดำเนินการต่าง ๆ แทนกษัตริย์ได้  

ความไม่เข้าใจในส่วนที่สองคือ ในหลายประเทศที่มีกษัตริย์ก็ให้กษัตริย์เป็นผู้กล่าวโทษเอง ในกรณีของการหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่น เนื่องจากเป็นเรื่องส่วนพระองค์  การที่ให้กษัตริย์เป็นผู้กล่าวโทษเอง ก็คือให้กษัตริย์เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจเอง เพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับตัวของพระองค์เองโดยตรง จึงสมควรที่จะเป็นผู้ใช้อัตวิสัย ไม่สมควรที่จะมีผู้อื่นมาวินิจฉัยแทนจนพร่ำเพรื่อไปหมด แต่ในทางปฏิบัติแล้ว กษัตริย์ก็กล่าวโทษเองในนามเท่านั้น เพราะถึงที่สุดก็จะมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเข้ามาดำเนินการให้อยู่ดี

ประเด็นเรื่องใครก็ฟ้องได้นี้เป็นปัญหาของกฎหมายอาญามาตรา 112 ในปัจจุบันที่แทบจะยอมรับร่วมกันทุกฝ่าย อาจจะเหลือแต่ฝ่ายที่เสียประโยชน์คือ ผู้ที่ยังต้องการใช้สถาบันกษัตริย์และกฎหมายนี้เป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ในทางการเมืองเท่านั้นที่ยังคงคัดค้านอยู่

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ห้ามแก้ไขมาตรา 112 : ความคิดกับความแค้นของอำมาตย์หลงยุค

Posted: 06 Jan 2012 11:44 AM PST

 

กระแสการเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญากำลังขยายตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยมีความเห็นว่าเป็นกฎหมายที่มีขอบเขตกว้างและบทลงโทษที่รุนแรงเกินไป กลายเป็นเครื่องมือการทำลายทางการเมืองและการลิดรอนสิทธิมนุษยชน โดยที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เองได้แถลงจุดยืนไม่มีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ในขณะที่นายทหารและพรรคการเมืองมีปฏิกิริยาอย่างรุนแรง อาทิเช่น พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกกล่าวว่า พวกที่อยากแก้ไขมาตรา 112 “ก็ไปอยู่ต่างประเทศก็แล้วกัน” เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์นายอรรถพร  พลบุตร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงกรณีกลุ่มนิติราษฎร์รณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาว่า ให้โอนสัญชาติไปเคลื่อนไหวในต่างประเทศ

การที่คนเหล่านี้มีความยึดมั่นถือมั่นในแนวคิดจารีตนิยมสุดขั้ว หวาดกลัวการเปลี่ยนแปลงถึงกับดาหน้าออกมาตะโกนไล่ตะเพิดคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างไปจากจารีตดั้งเดิมให้ไปอยู่ต่างประเทศเป็นทัศนะคับแคบ ล้าหลัง แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าในยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งเชื่อมโยงทุกประเทศ ทุกมุมโลกเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีประเทศหนึ่งประเทศใดอยู่โดดเดี่ยวได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับประเทศอื่น

ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ ซึ่งทั่วโลกในขณะนี้อยู่ในกระแสเสรีประชาธิปไตยที่เน้นความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชน แม้แต่ในแวดวงการค้าระหว่างประเทศยังกำหนดมาตรฐานสากลทั้งในด้านคุณภาพสินค้า และการเคารพสิทธิมนุษยชนของคนงาน

ในอีกด้านหึ่งประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ (UN) ได้ร่วมให้สัตยาบรรณในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และยังเป็นภาคีในอนุสัญญาสิทธิพลเรือน และสิทธิทางการเมืองอีกด้วยจึงไม่อาจปฏิเสธแรงกดดันจากนานาชาติที่เห็นว่าประเทศไทยยังมีกฎหมายล้าหลังละเมิดสิทธิมนุษยชนดังที่นาย Frank La Rue ผู้ตรวจการพิเศษด้านเสรีภาพการแสดงออกได้ส่งแถลงการณ์ให้รัฐบาลไทยแก้ไขมาตรา 112 และให้ปล่อยนักโทษการเมืองซึ่งถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพรวมไปถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนจากภาคเอกชน 8 แห่งในเอเชีย ยุโรป คานาด ซึ่งออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายสมยศ  พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสาร RED POWER ผู้ถูกกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และไม่ได้รับสิทธิประกันตัว

การมีกฎหมายล้าหลังละเมิดสิทธิมนุษยชนย่อมไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ การกีดกัน การเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม การใช้ดุลยพินิจของศาลที่ใช้บทลงโทษรุนแรง จึงถูกนานาชาติดูถูกประเทศไทยว่ายังป่าเถื่อน ล้าหลัง แม้แต่พม่าซึ่งปกครองด้วยเผด็จการทหารมายาวนานยังต้องผ่อนคลายสิทธิมนุษยชน เช่น ปล่อยตัวนักโทษการเมือง เพราะแรงกดดันจากนานาชาติ

หรือว่า...เราจะทำการปิดประเทศ ไม่ต้องคบหาสมาคมกับใครในโลกนี้ ประเทศไทยจะได้มีอัตลักษณ์ที่แสนภูมิใจกันไปตลอดเหมือนกับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคยเสนอกันมาก่อนว่า ประเทศไทยควรปิดประเทศแล้วจัดระเบียบภายในสังคมกันใหม่

การเอ็ดตะไร ไล่ตะเพิดคนที่มีความเห็นแตกต่างจากจารีตเดิมให้ไปต่างประเทศนอกจากสะท้อนความคับแคบ และความเห็นแก่ตัวที่โง่เขลาแล้วยังสะท้อนแนวคิดสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอีกประการหนึ่ง ใครคือเจ้าของประเทศ ?  อำนาจอธิปไตยเป็นของใคร ?

แน่นอนหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญหลายฉบับระบุตรงกันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย หรือประเทศไทยเป็นของราษฎรทั้งหลายนั่นเอง

การไล่ตะเพิดคนอื่นที่เรียกร้องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นโดยไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112 ให้มีการปรับปรุง หรือบางกลุ่มเสนอให้ยกเลิกไปเลยแบบนี้ เท่ากับว่าพวกเขาเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จะให้ใครอยู่อาศัยหรือไล่ตะเพิดใครย่อมทำได้ กระทั่งหากยึดอำนาจ ก่อการรัฐประหารก็ย่อมทำได้ตลอดเวลา ดังที่พวกนายทหารกองทัพบกเคยร่วมมือกันยึดอำนาจเมื่อคราวรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา

พวกเขามีความคิดมิติเดียวโดยไม่เข้าใจว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีมาตั้งแต่สมัยรัฐกาลที่ 5  ซึ่งขณะนั้นมีโทษสูงสุดแค่ 3 ปีเท่านั้น ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มโทษเป็น 7 ปี และสุดท้ายรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ได้แก้ไขเพิ่มโทษเป็น 3 – 15 ปี โดยศาลในขณะนี้จะพิพากษาโทษอยู่ในระหว่าง 6 – 15 ปี หมายความว่ามาตรา 112 นั้นมีการแก้ไขมาแล้วถึง 3 ครั้งด้วยกัน

จึงเป็นเรื่องเหลวไหลและพิกลพิการสำหรับใครก็ตามที่ตะหวาดลั่นห้ามแตะต้อง ห้ามแก้ไข หรือบางคนถึงกับกล่าวว่าใครที่คิดแก้ไขมาตรา 112 เป็นพวกสติไม่ดี

การห้ามแก้ไข หรือห้ามคิดไปเป็นอย่างอื่นต้องคงความเป็นมาตรา 112 ตราบชั่วฟ้าดินสลาย คือการมองกฎหมายอย่างหยุดนิ่ง มองกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการเมืองส่วนตนเพื่อการปราบปรามผู้มีความคิดเห็นแตกต่างให้หมดไป

ประเทศไทยจึงไม่อาจสร้างนิติรัฐ และไม่อาจไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ หากผู้ปกครอง และนักการเมืองยังขาดความกล้าหาญในการับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหรือท้าทายและพึงพอใจแต่เพียงการประจบสอพลอ การเชื่อฟัง ยอมจำนน และสิโรราบต่อผู้มีอำนาจ

เป็นอันว่าประเทศไทยต้องอยู่กับ “จารีตประเพณี” อยู่กับโครงสร้างเดิมเก่าแก่ อยู่กับกฎหมาย และกลไกอันล้าหลัง หากใครคิดเห็นเป็นอย่างอื่นต้องพบกับคุกตะราง หรือไม่ก็ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างแดน ไปเสียให้พ้นจากแผ่นดินไทย

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คำเทศนาบนหอคอยงาช้าง!

Posted: 06 Jan 2012 11:25 AM PST

เบื่อข้อเขียนเชิงเทศนา
ว่าต่างฝ่ายต่างแบ่งสี
และต่างฝ่ายต่างโจมตี
ไม่เคารพสิทธิ์เสรีกันและกัน

บ้างหยามใครๆ ที่ไม่เลือกสี
เอาแต่โจมตีไม่สร้างสรรค์
ถือโกรธเกลียดกันและกัน
สมานฉันท์ปรองดองไม่ต้องการ

เห็นเทศนากันแบบนี้
สี่ห้าปีแล้วนะท่าน
มองปัญหาแค่เรื่อง “ทะเลาะกัน”
กวักมือเรียกให้หันมาปรองดอง

คำเทศนาบนหอคอยงาช้าง
เมื่อประชาชนข้างล่างไม่ตอบสนอง
หาใช่เขาไม่เปิดใจไตร่ตรอง
แต่เขามองแก่นความหมายไร้สาระ

หยุดสั่งสอนหยุดหอนเห่า
พูดให้เข้าประเด็นเห็นปัญหา
ปมความขัดแย้งที่เป็นมา
อยุติธรรมตำตาแก้อย่างไร?!!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง"พระองค์ภา"อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคุ้มครองสิทธิฯ

Posted: 06 Jan 2012 08:46 AM PST

มติชนออนไลน์ รายงานว่า วันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๕ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการอัยการ

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา รองอัยการจังหวัดหนองบัวลำภู (ข้าราชการอัยการชั้น ๓) ให้ทรงดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัด ประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน(ข้าราชการอัยการชั้น ๔) ตั้งแต่วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๔

ประกาศ ณ วันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เมืองไทย 2555 อะไรรอเราอยู่ ตอน 7: คุยกับ “ซี.เจ. ฮิงกิ” ว่าด้วยเสรีภาพอินเทอร์เน็ตและการเซ็นเซอร์

Posted: 06 Jan 2012 08:35 AM PST

ตรวจสอบสถานการณ์เสรีภาพอินเทอร์เน็ตในปี 2555 กับ “ซี.เจ. ฮิงกิ” (C.J. Hinke) ผู้ก่อตั้งกลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ในประเทศไทย (Freedom against Censorship Thailand – FACT) นักเคลื่อนไหวชาวอเมริกันผู้ถูกจับมาแล้วกว่า 30 ครั้งจากการรณรงค์ต่อต้านสงครามเวียดนามในสหรัฐช่วงทศวรรษ 1960 และภายหลังผันตัวมาเป็นนักวิชาการและนักรณรงค์เพื่อขับเคลื่อนเรื่องเสรีภาพในประเทศไทย โดยก่อตั้งกลุ่มรณรงค์ต่อต้านการเซ็นเซอร์ในประเทศไทยเป็นกลุ่มแรก ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า “FACT” ในปี 2549

ทั้งนี้ ข้อมูลที่รวบรวมโดย “FACT” และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 รัฐบาลไทยได้บล็อกเว็บไซต์ไปแล้วทั้งหมด 777,286 เว็บเพจ (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2554) โดยกระทรวงไอซีทีใช้งบประมาณในการดำเนินการเฉลี่ยวันละ 1.5 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นคิดเป็นราว 950 ล้านบาทในระยะเวลาสองปี อาจกล่าวได้ว่า แต่ละเว็บเพจมีราคา 1,210 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้มาจากที่อื่นใดนอกจากภาษีประชาชน...

เมืองไทย 2555 อะไรรอเราอยู่ ตอน 7: คุยกับ “ซี.เจ. ฮิงกิ” ว่าด้วยเสรีภาพอินเทอร์เน็ตและการเซ็นเซอร์
ภาพโดย ขวัญระวี วังอุดม

คิดว่าแนวโน้มเรื่องเสรีภาพอินเทอร์เน็ตในปี 2555 จะเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับรอบปีที่ผ่านมา คิดว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร

ซี.เจ. ฮิงกิ: เมื่อเราก่อตั้งกลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ในประเทศไทย ในประเทศไทยขึ้นเมื่อปี 2549 การเซ็นเซอร์ไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยกำลังพูดถึงนัก ไม่มีใครถกเถียงในเรื่องนี้เลยแม้แต่ในมหาวิทยาลัย มันค่อนข้างเป็นประเด็นที่ปิดทีเดียวในขณะนั้น ผู้คนยังไม่เห็นว่าการเซ็นเซอร์จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาอย่างไร แต่ทันใดที่เราเริ่มเปิดประเด็นนี้ขึ้นมา มันก็เสมือนว่าเรื่องนี้ถูกอัดอั้นอยู่ในจิตใจประชาชนมานาน เมื่อประตูเขื่อนได้เปิดออกและผู้คนเริ่มพูดคุยเรื่องการเซ็นเซอร์มากขึ้น มันก็กลายเป็นประเด็นร้อนเนื่องจากในเวลานั้นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารได้สั่งปิดกั้นอินเทอร์เน็ต เพราะอินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งอันตรายต่ออำนาจของพวกเขา

อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่เอื้อให้เกิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และการพูดคุยระหว่างมุมมองต่างๆ ของสาธารณะ ซึ่งรัฐบาลกลัวเรื่องนี้มาก พวกเขากลัวว่าเมื่อเขาอนุญาตให้เราพูดคุยกัน มันจะทำลายฐานอำนาจของรัฐบาลทหาร

หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลทหารก็บล็อกเว็บไซต์ยูทิวบ์อย่างสมบูรณ์เป็นเวลาเจ็ดเดือน และนั่นก็ทำให้ประชาชนไทยตื่นตัวมากขึ้นในเรื่องการเซ็นเซอร์ ต่อมา หนังสือทางวิชาการว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ของพอล แฮนด์ลีย์ “เดอะ คิง เนเวอร์ สไมลส์” (The King Never Smiles) ก็ถูกสั่งแบน ที่มันน่าสนใจเพราะว่าหนังสือดังกล่าวนี้สามารถหาได้ทางออนไลน์อยู่แล้ว และรัฐบาลไทยก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อบล็อกหนังสือเล่มนี้ อย่างไรก็ตาม ฉบับแปลภาษาไทยก็ได้กระจายไปทั่วอินเทอร์เน็ต และมันก็ไม่เคยถูกสั่งแบนเลยด้วย ถึงแม้ว่าโจ กอร์ดอน ชาวไทย-อเมริกันจะถูกตัดสินจำคุกเนื่องจากทำลิงค์ไปยังฉบับแปลภาษาไทยก็ตาม

จริงๆ แล้ว กรณีของโจ กอร์ดอนนั้นน่าสนใจมากเพราะนี่เป็นคดีแรกที่ศาลเอาผิดกับตัวกลางในเรื่องพื้นฐานที่สุดเช่นการไฮเปอร์ลิงค์ ในตอนแรก เขาถูกตั้งข้อหาด้วยการกระทำสองอย่าง คือการทำลิงค์ไปยังบทความสามตอนและบทนำของหนังสือ “เดอะ คิง เนเวอร์ สไมลส์” จากบล็อกของเขา และการถูกกล่าวหาว่าเป็นเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์นปช. ยูเอสเอ ทีนี้ คุณอาจจะจำได้ว่าไม่กี่เดือนก่อนที่โจ กอร์ดอนจะถูกจับ ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ก็ถูกตัดสินจำคุก 13 ปี ด้วยข้อหาเป็นเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์ นปช. ยูเอสเอ ฉะนั้น ใครเป็นเว็บมาสเตอร์ตัวจริงกันแน่? จะเป็นไปได้อย่างไรก็ที่คนสองคนถูกตั้งข้อหาเดียวกันในเวลาเดียวกัน มันเป็นเรื่องน่าขันที่สุด

เมื่อโจ กอร์ดอนถูกดำเนินคดี เขากลับไม่ได้ถูกตั้งข้อหาว่าทำลิงค์เชื่อมโยงไปยังเนื้อหาหมิ่นฯ แต่เขาถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนแปล “เดอะ คิง เนเวอร์ สไมลส์” ฉะนั้นนี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจสำหรับผม สมมุติก็ได้ว่า การทำลิงค์ไปยังเนื้อหาหมิ่นฯ เท่ากับการผลิตซ้ำเนื้อหาหมิ่นฯ และมีความผิด ถึงแม้ว่าคนทำจะไม่ได้ผลิตเนื้อหาเองก็ตาม แต่ในการที่จะตัดสินว่ามันผิดจริงหรือไม่ คุณจำเป็นต้องอ่านเนื้อหานั้นก่อนเพื่อที่จะดูว่ามีเนื้อหาหมิ่นจริงหรือเปล่า อยู่ดีๆ คุณจะมาพูดไม่ได้ว่า หนังสือ”เดอะคิง เนเวอร์ สไมลส์” เป็นหนังสือที่ไม่ดี ดังนั้นการทำลิงค์ไปยังหนังสือดังกล่าวเป็นอาชญากรรม มันไม่เป็นเหตุเป็นผลเลยแม้แต่น้อย ท้ายที่สุดแล้วเราจึงเห็นว่า รัฐบาลพยายามจะไขว้เขวให้เราเชื่อในเรื่องผิดๆ โดยที่ไม่ได้มองข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง

หลักนิติรัฐควรเป็นเครื่องจักรที่มีความแม่นยำมาก กฎหมายจำเป็นต้องเที่ยงตรง มิฉะนั้นคุณอาจจะเอาคนบริสุทธิ์เข้าคุกหรือแม้แต่ประหารชีวิต ฉะนั้นกฎหมายจำเป็นต้องเที่ยงตรงอย่างที่สุด และจนกว่าเราจะสามารถไปให้ถึงประชาธิปไตยอย่างแท้จริงที่มีหลักนิติรัฐเป็นสิ่งสูงสุด และรัฐบาลเปิดเผยข้อมูลและโปร่งใสต่อประชาชน เราก็คงยังไม่มีประชาธิปไตย หากให้ผมมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ก็พบว่า ในการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะเข้าสู่ระบอบเผด็จการนั้น มันจะถลำลงไปอย่างรวดเร็ว เช่นในสมัยเขมรแดง ก็เป็นไปภายในสองถึงสามเดือน ระบบเผด็จการในพม่า ก็ราวๆ หกอาทิตย์ หรือการล่มสลายของราชวงศ์ในลาว ก็เพียงสามเดือนเท่านั้น

ฉะนั้น สิ่งที่เราเห็นในตอนนี้ มีความคล้ายคลึงกับการเข้าสู่ระบบเผด็จการของประเทศเพื่อนบ้านของเราเป็นอย่างมาก ซึ่งในขณะนี้เรากำลังเห็นพม่าที่เริ่มจะเปิดประเทศมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีนักโทษการเมืองหลายหมื่นคน และเมื่อเรากลับมามองประเทศไทย เราก็กำลังซ้ำรอยความผิดพลาดแบบเดียวกัน ทั้งอำนาจของกองทัพที่เพิ่มสูงขึ้น ความใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลและกองทัพโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นเมื่อรัฐบาลตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ดังนั้น เรากำลังเห็นการพึ่งพาระหว่างรัฐบาลและกองทัพ และยิ่งกองทัพมีอำนาจเพิ่มขึ้นเท่าไร คุณก็ยิ่งเสี่ยงต่อการถูกรวบอำนาจโดยกองทัพ และเสี่ยงต่อการเป็นรัฐทหารมากขึ้นเท่านั้น แต่ผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังแทบไม่รู้ตัวในเรื่องนี้เลยด้วยซ้ำ

 

แสดงว่าสำหรับประเทศไทย ระบอบเผด็จการมีความแนบเนียนกว่าที่อื่น?

ซี.เจ. ฮิงกิ: ใช่ จะว่าอย่างนั้นก็ได้ คือรัฐบาลค่อนข้างระมัดระวังที่จะไม่ทำอะไรให้กระทบกระเทือนต่อกองทัพ และผมคิดว่าการที่กองทัพมีอำนาจและใช้ในทางที่ผิดนี้ ก็เป็นรากฐานของอำนาจของชนชั้นนำด้วย ฉะนั้น ในความเป็นจริง สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเฉพาะที่เริ่มมาจากหนังสือ “เดอะ คิง เนเวอร์ สไมลส์” ก็มาจากสาเหตุที่ว่าสถาบันฯ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพนั่นเอง ความคิดเห็นของผมก็คือว่า ถ้าหากสถาบันฯ ไม่ได้สนิทสนมกับกองทัพขนาดนี้ สถาบันฯ ก็คงจะไม่มีอำนาจสูงเท่าในปัจจุบันและอาจจะไม่สามารถอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ได้ ฉะนั้นในแง่หนึ่งมันก็เป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพากันนั่นเอง

แต่สิ่งที่ทุกรัฐบาลพยายามทำเพื่อปกครองประชาชน ก็คือสร้างความกลัวให้ปกคลุมสังคม ไม่ว่าจะเป็นความกลัวต่อเรื่องการก่อการร้าย สงครามยาเสพติด หรืออะไรก็ตามแต่ พวกเขาพยายามจะทำให้เราเกิดความกลัวเพื่อที่จะควบคุมสาธารณชนได้โดยง่าย ผมคิดว่ามันเริ่มเกิดความเคลื่อนไหวขึ้นมา แต่ไม่ใช่ในแบบที่รัฐบาลกล่าวหา คือ รัฐบาลมักพูดถึงทฤษฎีสมคบคิดที่จะโค่นล้มสถาบันฯ ซึ่งผมคิดว่าไม่จริงเลยแม้แต่น้อย ผมพูดได้เลยว่าคนจำนวนมากที่ผมรู้จัก ที่เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการแสดงออกไม่ได้สนใจจะโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ ความจริงแล้วพวกเราหลายคนกลับเห็นว่าสถาบันฯ กลับเป็นสิ่งที่สร้างเสถียรภาพในสังคมไทย เราไม่เห็นว่ามันจะมีปัญหาอย่างไร เพราะทุกสังคมย่อมควรมีสัญลักษณ์ หรือประมุข ซึ่งประเทศที่ยังคงมีสถาบันกษัตริย์ก็ทำหน้าที่เช่นนั้น ฉะนั้น ผมไม่เห็นว่ามันจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราอย่างไร

ในความเป็นจริง มันไม่มีขบวนการเพื่อที่จะโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ มันไม่มีกระแสที่แรงกล้าเพื่อมุ่งเปลี่ยนประเทศไทยเป็นสาธารณรัฐ ที่จริงแล้ว มันจะมีความแตกต่างแค่ไหนกันเชียวหากเรามีประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรี ผมคิดว่ามันจะไม่มีความแตกต่างใดๆ ทั้งสิ้นต่อการดำเนินไปของสังคมไทยว่าเราจะมีสถาบันกษัตริย์หรือไม่มี อย่างไรก็ตาม สถาบันกษัตริย์ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ค่อนข้างมีพลังและอำนาจ ฉะนั้น ผมจึงคิดว่ามันสำคัญมากที่เราได้ทำให้เรื่องการเซ็นเซอร์เป็นประเด็นร้อน และ FACT ก็เป็นองค์กรแรกในประเทศไทยที่นำเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาพูดคุยในฐานะประเด็นหนึ่งของการเซ็นเซอร์

 

ตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมา แน่นอนว่าอำนาจของทหารก็มีสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างชัดเจน แต่หลังจากการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมปี 2554 และพรรคเพื่อไทยได้เข้ามาเป็นรัฐบาล คุณคิดว่าเราจะสามารถหลุดพ้นออกจากอำนาจเก่าๆ ได้หรือไม่

ซี.เจ. ฮิงกิ: ตรงนี้ผมเห็นด้วยกับนักอนาธิปัตย์ชาวอเมริกัน เอมมา โกลด์แมน ที่พูดว่า “หากการลงคะแนนโหวตสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริง มันคงจะผิดกฎหมายไปแล้ว” ตัวผมเองนั้นไม่มีศรัทธาใดๆ ต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผมไม่คิดว่าการเลือกตั้งจะเท่ากับประชาธิปไตย แต่การสามารถมีส่วนร่วมของประชาชนต่างหากที่หมายถึงประชาธิปไตย และนั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมรัฐบาลถึงเกรงกลัวอินเทอร์เน็ต เพราะมันเป็นรูปแบบของประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วม เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้บทสนทนาระหว่างเราสามารถเกิดขึ้นได้

ฉะนั้น ผมคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลนี้มีคุณูปการต่อสังคมไทย คือการแยกและโดดเดี่ยวตนเองจากฐานเสียง นั่นคือมวลชนเสื้อแดง เวลาผมพูดว่าผมไม่สนใจในการเมืองแบบเลือกตั้ง ผมก็ไม่มีความสนใจในขบวนการเคลื่อนไหวแบบมวลชนเช่นเดียวกัน ผมคิดว่าทั้งขบวนการเสื้อเหลืองและเสื้อแดง มันอาจจะทำให้ประชาชนรู้สึกดีได้ชั่วครั้งชั่วคราว แต่มันไม่อาจจะทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงได้ คือบทสนทนาและการถกเถียง ฉะนั้นเราจึงควรมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

 

แล้วคุณมองว่าแนวโน้มของเสรีภาพอินเทอร์เน็ตในปี 2555 จะเป็นอย่างไร

ซี.เจ. ฮิงกิ: จริงๆ แล้วผมคิดว่ามันจะแย่ลงเรื่อยๆ นะ มันน่าสนใจเพราะว่า ทั้งในรัฐบาลประชาธิปัตย์และรัฐบาลเพื่อไทย เรามีรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นนักเลง (Gangster) พวกเขาเป็นนักการเมืองผู้มีอิทธิพลและกว้างขวาง และถ้าคุณสังเกตดู ก็จะเห็นว่าหน้าที่ของพวกเขาก็คือการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต เพื่อไม่ให้เราสามารถพูดคุยกันได้ และตอนนี้รองนายกฯ เฉลิม อยู่บำรุง ก็พูดเรื่องการใช้งบประมาณ 400 ล้านบาทไปกับเทคโนโลยีล่าสุดเพื่อเอาไว้บล็อกเว็บไซต์ต่างประเทศ

สิ่งที FACT ทำในทันที คือการเขียนจดหมายไปหารัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ฮิลลารี คลินตัน และประธานของสหภาพยุโรป เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลต่างประเทศหยุดขายเทคโนโลยีดังกล่าวแก่รัฐบาลไทย เพราะหากพวกเขาเชิดชูเสรีภาพอินเทอร์เน็ต แล้วเขาจะอนุญาตให้ประเทศตะวันตกขายเทคโนโลยีเหล่านี้แก่ไทยเพื่อจำกัดเสรีภาพอินเทอร์เน็ตของเราได้อย่างไร

โดยรวมแล้วผมคิดว่าสถานการณ์จะยิ่งแย่มากขึ้นเรื่อยๆ ผมเห็นสิ่งที่เป็นลาดเลาในบ้านเราที่คล้ายกับสังคมภายใต้การควบคุมอย่างเคร่งครัดในพม่า อาจจะไม่เท่ากับสมัยเขมรแดง แต่ก็คล้ายกับพม่าหลายอย่าง รวมถึงอำนาจของเผด็จการทหารที่มีมากขึ้น

 

คุณบอกว่าคุณไม่เชื่อในขบวนการเคลื่อนไหวแบบมวลชน แต่เชื่อในบทสนทนาและเสรีภาพในการพูด ทำไม? ช่วยขยายความหน่อยได้ไหม?

ซี.เจ. ฮิงกิ: ผมจะยกตัวอย่างให้ฟัง ในช่วงที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เมื่ออำนาจของรัฐบาลในการควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินหมดลงในวันที่ 23 ธันวาคม 2552 มันควรจะยกเลิกการเซ็นเซอร์ทุกอย่างตามกันไปด้วย มันไม่ควรจะมีอะไรถูกเซ็นเซอร์อีกต่อไปแล้วในอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ยังไม่มีเว็บไซต์ใดซักแห่งเดียวที่ถูกยกเลิกการปิดกั้น ฉะนั้น เราจะเห็นว่ามันมาพร้อมกับวาระที่ซ่อนเร้น

ผมคิดว่า พื้นฐานของความคิดที่ก้าวหน้าในสังคมใดๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมันไม่มีการเซ็นเซอร์ หากคุณสามารถพูดอะไรก็ได้ ทุกคำพูดสามารถแสดงออกได้อย่างเสรี มันก็เท่ากับสนับสนุนประชาชนให้ดูถูกหรือเหยียดหยามคนอื่น แต่ถ้าคุณไม่ชอบ คุณก็ไม่ต้องไปมองหรือไปฟังมัน นั่นต่างหากคือการเซ็นเซอร์ที่แท้จริง ถ้าอะไรทำให้คุณโกรธหรือไม่ชอบใจ ถ้าการ์ตูนเกี่ยวกับกษัตริย์ของคุณทำให้คุณไม่ชอบใจ คุณก็แค่ไม่ต้องไปมองมัน แค่นั้นเอง ทำไมคุณจะต้องดิ้นรนในสิ่งที่จะไม่ได้อะไรขึ้นมาด้วย มันไม่มีเหตุผลเลยแม้แต่น้อย

ฉะนั้น ผมอยากจะเห็นเราเริ่มใหม่กันตั้งแต่ศูนย์ และดูว่าสังคมเราจำเป็นจะต้องมีการเซ็นเซอร์ขนาดไหนเพื่อที่จะให้มันทำงานได้ เราอาจจะตัดสินใจว่าเราไม่ต้องการมีการเซ็นเซอร์ใดๆ เลยก็ได้

ดูตัวอย่างสหรัฐอเมริกาซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่เชิดชูสิทธิและเสรีภาพในการพูดสิ แน่นอนว่าสหรัฐมีการเซ็นเซอร์ มีการเซ็นเซอร์กระแสหลักในสหรัฐตั้งมากมาย และก็มีการเซ็นเซอร์ในอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวกับหนังโป๊เด็กหรือเรื่องของลิขสิทธิ์ และอื่นๆ อีกมากมาย ที่จริงแล้ว ผมไม่คิดว่ามีสังคมไหนที่ไม่มีการเซ็นเซอร์อยู่เลย แต่ผมคิดว่าสังคมไทยมันมากเกินไปหน่อย ในที่สุดแล้ว รัฐบาลกำลังบอกพวกเราอยู่ว่าเราโง่เกินกว่าที่จะคิดอะไรได้ด้วยตัวเอง ว่าเราต้องมีพี่เลี้ยงเด็กในรูปแบบของรัฐบาล เสมือนว่ารัฐบาลต้องการจะเล่นบทตำรวจที่คอยควบคุมศีลธรรมอันดี หากแต่พวกเขาไม่สมควรจะเป็นตำรวจศีลธรรม พวกเขาไม่ได้มีจิตใจที่สูงส่งไปกว่าพวกเราเท่าไหร่หรอก

 

แล้วทาง FACT มีข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างไร

ซี.เจ. ฮิงกิ: ผมเคยพูดแล้วว่า ในประเด็นนี้ พวกเรามีความอ่อนไหวกันเกินไป สิ่งที่คนมักยกขึ้นมาพูดในการถกเถียงเรื่องนี้ คือการบอกว่า “พระมหากษัตริย์คือพ่อของเรา และพระราชินีคือแม่ของเรา” เยี่ยม! โอเค คราวนี้คุณลองมานึกแบบเดียวกันกับพ่อแม่ของคุณเองบ้าง คิดถึงพ่อและแม่ของคุณ ว่าหากมีใครมาดูหมิ่นพ่อและแม่ของคุณเองในหนังสือพิมพ์หรือในอินเทอร์เน็ต คุณจะเอาปืนและมายิงพวกเขาหรือจับพวกเขาเข้าคุกหรือเปล่าล่ะ มันคงจะบ้าที่สุดเลย

ฉะนั้น ข้อแนะนำของผมต่อหลายๆ คนก็คือว่า “อย่าหน้าบางมากเกินไป” อย่าอ่อนไหวเกินไปนักเลย ผมหมายถึงว่า มันก็เป็นแค่คำพูดเท่านั้นเอง เมื่อคุณเห็นวีดีโอในยูทิวบ์ที่ทำล้อเลียนราชวงศ์ มันก็เป็นเค่เรื่องไร้สาระ ทำไมเราต้องคิดว่ามันสำคัญอะไรด้วย พวกเรากำลังให้ค่ามันมากเกินไปหรือเปล่า และผมคิดว่าการที่รัฐบาลปฏิบัติต่อเรื่องนี้มากเกินกว่าเหตุ พวกเขาก็กำลังทำลายสถาบันกษัตริย์ด้วย

ผมได้ยินทฤษฎีสมคบคิดในระยะนี้มาว่า รัฐบาลมีวาระมุมกลับที่พยายามจะทำลายสถาบันกษัตริย์ด้วยการทำให้เราพูดถึงเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ มากขึ้น เมื่อคุณมาลองคิดดู มีผู้พิพากษาที่ได้รับการศึกษาสูงๆ ตัดสินจำคุกชายคนหนึ่ง 20 ปี แน่นอนว่าเขาต้องคิดได้ว่ามันต้องมีผลกระทบส่งกลับมาแน่ๆ มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะไม่ได้คิดในแง่นี้ และพิจารณาเรื่องบทลงโทษอย่างเดียว ฉะนั้น ผมฟันธงเลยว่าผู้พิพากษาผู้นั้นต้องมีความผิดด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเช่นเดียวกัน

มันยังทำให้ผมคิดด้วยว่า การวิพากษ์วิจารณ์ศาลที่ถูกนับว่าเป็นการหมิ่นศาลนั้น เป็นเรื่องที่ผิดปรกติอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้พิพากษาก็เป็นคนเหมือนๆ กับเรา ไม่ใช่เทวดาที่ไหน และในความจริงแล้ว มันเป็นบทบาทที่สำคัญของเสรีภาพในการพูดของเราในการกำหนดกลไกทางนิติบัญญัติ ตุลาการ และบริหาร เพื่อที่นักการเมืองจำเป็นต้องปฏิบัติตามในนามของประชาชน และผู้พิพากษาจำต้องปฏิบัติตามประโยชน์ของสาธารณะ

ทาง FACT เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เช่นเดียวกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จริงๆ ในกรณีของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มันเป็นอะไรที่แตกต่างกันนิดหน่อยเพราะก่อนหน้าที่จะมี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มันจะต้องมีอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ เนื่องจากคุณจะสามารถบังคับใช้กฎหมายได้ก็ต่อเมื่อมันมีอาชญากรรมให้ได้จัดการ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์เรียกว่าเป็น “อาชญากรรม” นั้น สามารถใช้กฎหมายอาญาที่มีอยู่แล้วจัดการได้ทั้งหมด และทีจริง การเซ็นเซอร์ก็ไม่ใช่วิธีการที่จะแก้ไขปัญหานั้นด้วย

เช่นในกรณีของหนังโป๊ ปัญหาคือไม่ใช่ตัวของหนังโป๊เอง แต่ปัญหาคือการเอาเปรียบผู้หญิง และมันก็มีกฎหมายที่เพียงพอแล้วในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว ฉะนั้น คุณไม่ควรจะมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คุณไม่ควรจะมาพูดว่า “ปัญหานี้เป็นผลมาจากการเอาเปรียบสตรี ดังนั้นมันจึงต้องถูกเซ็นเซอร์” สิ่งที่ควรจะทำ คือการแก้ปัญหาที่การเอารัดเอาเปรียบเสตรี การพนันออนไลน์ หรืออะไรก็ตามแต่ คุณไม่ควรจะมาเริ่มแก้ที่อินเทอร์เน็ต คุณควรจะเริ่มที่ต้นตอของปัญหาในสังคมต่างหาก

 

คุณจะกล่าวอะไรกับคนที่บอกว่า การเสนอให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เท่ากับการล้มสถาบันกษัตริย์?

ซี.เจ. ฮิงกิ: ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไร้สาระมาก คือผมคิดว่า การที่ผู้นำคนใดๆ จะอยู่รอด มันขึ้นอยู่กับสามารถของเขาเอง ผมคิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงครองราชย์มากว่า 60 ปี และท่านก็ทรงทำหน้าที่ได้อย่างดีมาก โดยส่วนตัว ผมไม่มีปัญหาอะไรต่อสถาบันกษัตริย์ แต่การบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เข้มงวดมากในตอนนี้ เป็นเพราะพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป และเป็นเพราะการสืบสันตติวงศ์ ฉะนั้น รัฐบาลก็พยายามจะแสดงว่าพวกเขาจงรักภักดีต่อราชวงศ์มาก ด้วยการจับกุมประชาชนและเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต

ในแง่หนึ่ง การถกเถียงเรื่องการเซ็นเซอร์ถูกลดทอนให้เหลือแต่เรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งที่จริงแล้ว มันเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของยอดน้ำแข็งเท่านั้น ผมคิดว่าการที่คนไทยยอมรับว่าการเซ็นเซอร์เป็นสิ่งที่จำเป็นในการปกครองโดยรัฐเป็นเรื่องที่อันตรายมาก

FACT จำแนกการเซ็นเซอร์ที่มีอยู่ในสังคมไทยในแง่มุมต่างๆ ได้เกือบ 60 ชนิด ตั้งแต่การเซ็นเซอร์ในเกม การแต่งกาย ไปจนถึงการเซ็นเซอร์ทางศาสนา วัฒนธรม และสังคม เราเองถูกเซ็นเซอร์อยู่เสมอในทุกระดับ และเราแทบไม่รู้ตัวหรือสังเกตเลยด้วยซ้ำ

 

ในรอบปีที่ผ่านมา หากคุณต้องให้รางวัลบุคคลแห่งปีในวงการที่ต่อสู้เรื่องเสรีภาพหนึ่งคน คุณจะยกรางวัลนี้ให้แก่ใคร

ซี.เจ. ฮิงกิ: ผมคงจะยกรางวัลนี้ให้กับ ส.ศิวรักษ์ ผมเองใกล้ชิดกับเขาพอสมควร และผมคิดว่าเขาได้ทำอะไรมากมายเพื่อต่อสู้กับผู้มีอำนาจในสังคม คุณไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาเป็น หรือสิ่งที่เขาพูดทั้งหมด และที่จริงมันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ เลยแม้แต่น้อย ถึงแม้ว่าเขาจะเคยถูกตั้งข้อหาด้วยกฎหมายนี้มาแล้วหลายครั้ง และถึงแม้หนังสือของเขาจะถูกแบนด้วยกฎหมายหมิ่นฯ มันก็ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องนั้น แต่มันเกี่ยวกับไอเดียว่าด้วยเรื่อง “พุทธศาสนาที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม” (Socially engaged Buddhism) ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ต่อสังคมที่มาจากการตระหนักรู้จากมโนสำนึกของตนเอง และผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการไม่เกรงกลัวในการทำตามจิตสำนึกที่ถูกต้อง และสามารถกระทำโดยปราศจากความกลัว

นอกจากนี้ ผมยังคิดว่าในปีที่ผ่านมา การขึ้นมาของแกนนำสันติวิธีในกลุ่มเสื้อแดง นับเป็นเหตุการณ์ที่ความสำคัญตั้งแต่การปราบปรามประชาชนที่ราชประสงค์ เช่น การขึ้นมามีบทบาทของสมบัติ บุญงามอนงค์ของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ผมคิดว่าเขามีความคล้ายกับ ส.ศิวรักษ์โดยบังเอิญ สำหรับผมแล้ว เมื่อคุณเปรียบเทียบสมบัติกับอริสมันต์ (พงษ์เรืองรอง) คุณจะเห็นว่ามันมีความแตกต่าง โดยเขาเป็นคนที่ยินดีที่จะฟังเสียงของประชาชน รับฟังความต้องการของมวลชน และเคารพสาธารณะ จริงๆ ผมหวังว่าสมบัติจะไม่ลงเลือกตั้งเป็นนักการเมืองนะ เพราะว่ามันจะทำลายสิ่งที่เขาสร้างมา ในความเป็นจริง ผมคิดว่า เขาเป็นผู้นำคนหนึ่งที่มีพลังมากทีเดียว และเป็นบุคคลหนึ่งที่ผมให้การเคารพนับถือ

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่าจับตา คือการที่สุภิญญา กลางณรงค์ ได้รับเลือกเป็นกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยทั่วไปแล้ว เมื่อมีใครคนหนึ่งได้รับเลือกเข้าสู่ตำแหน่งเช่นนั้น เขาอาจจะเลือกที่จะสมยอม เหลิงอำนาจ หรือทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจจากภายในองค์กร เพื่อสนับสนุนให้เกิดเสรีภาพในการแสดงออก และผมก็หวังว่าเธอจะทำเช่นนั้น ผมรู้ว่าสุภิญญาได้รับข้อวิพากษ์วิจารณ์จากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิและเสรีภาพพอสมควร แต่ผมเองสนับสนุนเธอเต็มที่ในหน้าที่การทำงาน เมื่อมีใครสักคนที่ตระหนักถึงคุณค่าในเสรีภาพการแสดงออก และอยู่ในตำแหน่งที่มีอิทธิพลเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และสามารถทำให้คนอื่นๆ ในกลุ่มข้าราชการและนักการเมืองตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว มันก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะผมเชื่อว่าพวกเขาไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลยด้วยซ้ำ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โฆษก ปชป. ยันเอาทักษิณเทียบออง ซาน ซูจีไม่ได้

Posted: 06 Jan 2012 06:41 AM PST

การนำมาเปรียบกันทำให้คนสับสนถึงความหมาย "นักโทษการเมือง" และสร้างเงื่อนไขพิเศษให้ "ทักษิณ" ถาม "ออง ซาน ซูจี" เคยได้สัมปทานโทรคมนาคม เคยปลุกปั่นมวลชนให้ต่อต้านรัฐบาลด้วยหรือ

เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานว่าในการแถลงข่าวพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ 4 ม.ค. นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการเปรียบเทียบพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับ นางอองซาน ซูจี โดยเฉพาะความพยายามในการหยิบยกประเด็นนักโทษทางการเมือง  เพื่อสร้างเงื่อนไขพิเศษให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ นั้นนายชวนนท์เห็นว่าเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ถูกต้อง และอาจทำให้สังคมเข้าใจผิดเกิดความสับสนถึงความหมายของคำว่านักโทษทางการเมือง โดยตนอยากถามว่านางอองซาน ซูจี เคยได้รับสัมปทานโทรคมนาคมหรือได้รับสัมปทานผูกขาดใด ๆ จากรัฐบาลทหารของพม่า และนำมาใช้สร้างความร่ำรวยมหาศาลให้กับตนเอง  และปูทางเข้าสู่อำนาจการบริหารประเทศ ก่อนใช้อำนาจตามอำเภอใจเป็นเผด็จการรัฐสภามีการปล่อยให้มีการทุจริต คอรัปชั่นมหาศาล  มีการเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวกเพื่อนพ้อง มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทของตนเองก่อนขายสัมปทานที่ควร เป็นของประเทศให้กับบริษัทต่างชาติ ถามว่านางอองซาน ซูจีมีพฤติกรรมดังกล่าวหรือไม่ รวมทั้งนางอองซาน ซูจี เคยถูกตัดสินศาลอาญาภายในประเทศตัดสินให้มีความผิดตามกฎหมาย แล้วหนีออกไปนอกประเทศ  ถามว่านางอองซาน ซูจี เคยมีพฤติกรรมปลุกปั่นมวลชน สร้างความขัดแย้งให้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาล โดยวิธีการนอกกฎหมายหรือไม่  เพราะฉะนั้นคนที่มีความพยายามหยิบยกประเด็นดังกล่าวต้องกลับไปทบทวนสิ่งนี้ และต้องพูดข้อเท็จจริงกับประชาชน อย่าทำรายระบบนิติรัฐ นิติธรรมของประเทศ  โดยสิ่งที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศนั้น อย่างแรกทุกคนต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ไม่มีสิทธิพิเศษ ไม่มีการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมาบกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่มีไพร่ ไม่มีอำมาตย์ ถ้าทำได้อย่างนั้นแล้ว ประเทศจะนับหนึ่งเข้าสู่ความสมานสามัคคีได้

ประเด็นต่อมานายชวนนท์กล่าวต่อเรื่องการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษออกมาพูดถึงคดีล้มเจ้า พรรคเห็นว่าพนักงานสอบสวนของกรมฯ สามารถสืบสวน และสอบถามข้อมูลได้จากผู้ที่เกี่ยวข้อง  แต่ไม่ควรออกมาให้ข่าวในลักษณะที่ทำให้สังคมเกิดความสับสน  เพราะทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษก็เปิดเผยเองว่ามีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ในการหมิ่นประมาทอาฆาตมาตร้ายพระมหากษัตริย์เป็นรายบุคคล ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วก็ต้องรีบดำเนินการเอาตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ พร้อมทั้งขยายผลหาความเชื่อมโยงของกระบวนการดังกล่าว และรีบป้องกันแก้ไข มิใช่ออกมาพูดในลักษณะของการชี้นำว่ากระบวนการดังกล่าวมีหรือไม่มีอยู่จริง  แต่ควรทำกระบวนการโดยยึดข้อเท็จจริง และทำให้เกิดความกระจ่างต่อสังคมโดยเร็ว

ประเด็นที่ 3 ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่านายกรัฐมนตรีควรออกมาทำความกระจ่างต่อสังคมโดยเร็ว โดยเรื่องประเด็นรายละเอียด การแก้ไขทั้งในส่วนของเนื้อหาสาระ และกระบวนการร่างรธน.โดยนายกไม่ควรปฏิเสธและโยนความรับผิดชอบให้สภา เพราะพรรคเพื่อไทยก็ได้ใช้ประเด็นการแก้ไขรธน.เป็นนโยบายการหาเสียงก่อนการ เลือกตั้ง รวมทั้งสมาชิกพรรคเพื่อไทยก็ยืนยันที่จะให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญนายกในฐานะผู้นำจึงต้องกล้าแสดงความชัดเจน ระบุรายละเอียดต่าง ๆ มิใช่การโยนความรับผิดชอบทำพฤติกรรมเดิม ๆ คือหนูไม่รู้ หนูไม่ทราบตลอดเวลา เพราะมิเช่นนั้นแล้วประเทศก็ไม่รู้จะมีหนูเป็นนายกรัฐมนตรีทำไม

ประเด็น ที่ 4 ประเด็นเรื่องแผนการสร้างหนี้ตามพรก.กู้เงิน 3.5 แสนล้าน และการให้ธปท. จัดเงินกู้ผ่อนปรน (ซอฟท์โลน) ให้กับธนาคารพาณิชย์แต่รัฐบาลกลับเพิ่มภาระให้กับ ธปท. โดยการโอนหนี้เงินกองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้าน กลับไปยังธปท.ทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลมีทีท่ากระเหี้ยนกระหือรือที่จะดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้ได้โดย ไม่สนว่าจะมีแผนการใช้เงินรองรับหรือไม่  และการดำเนินการดังกล่าวจะกระทบกับระเบียบวินัยการเงินการคลังของประเทศ ไทยอย่างไร แต่ต้องการเอาเงินมากองไว้บนหน้าตักเพื่อสร้างความสบายใจใให้กับตัวเอง ทั้ง ๆ ที่จากคำให้สัมภาษณ์ของนายวีระพงษ์  รามางกูร ประธานคณะกรรมการกยอ.ก็ออกมาระบุว่าแผนเรื่องการแก้ไขเรื่องน้ำนั้นอาจจะ ต้องใช้เวลา 1-2 ปีกว่าจะเสร็จสมบูรณ์จึงอยากถามว่าจะเอาเงินเป็นแสน ๆ ล้านมากองไว้เป็นปี ๆ ทำไมไม่คิดจะสร้างแผนลงรายละเอียดในประเด็นต่าง ๆ ให้ครบถ้วนครอบคลุม การแก้ไขปัญหาให้ครบวงจรเสียกอ่นจึงค่อยประเมินจำนวนเงินที่จะนำมาสนับสนุน แผนดังกล่าวน่าจะเป็นการทำงานที่ครอบคลุมถูกต้องกว่าหรือไม่ รวมทั้งในขณะนี้ยังไม่เห็นแผนที่จะแก้ไขปัญหาอย่างเช่น ดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั้งในภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน ภาคใต้ แต่ไม่เห็นการนำปัญหาดังกล่าวเข้ามารวมบรรจุอยู่ในแผนการดำเนินการของรัฐบาล อยู่ในส่วนนี้แต่อย่างใด จึงอยากให้รัฐบาลได้ทบทวนทั้งวิธีคิด วิธีการทำงาน ตรรกะในการบริหารราชการแผ่นดินให้ถูกต้อง มิเช่นนั้นแล้ว ประเทศจะวนเวียนอยู่กับปัญหาเดิม ๆ ปัญหาของประชาชนจะๆ ไม่มีทางได้รับการแก้ไข

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วรกร จาติกวณิช

Posted: 06 Jan 2012 03:07 AM PST

Q: ทำไมถึงมีคนเรียกพรรคประชาธิปัตย์ว่า "แมงสาบ"   A: เพราะหัวหน้าพรรคเดินไปไหนก็มีแต่เสียงผู้หญิงกรี๊ด......

ที่มา เฟซบุ๊กส่วนตัว

สมเกียรติ อ่อนวิมล ลั่นหยุดซื้อ นสพ.มติชน

Posted: 05 Jan 2012 08:47 PM PST

แต่จะซื้อโพสต์ทูเดย์อ่านฉบับเดียวพอ โอด "มติชนสุดสัปดาห์" "ไร้สาระ" เอาทักษิณขึ้นปกให้เป็น "บุรุษแห่งปี" ยันจะเอียงไปทางไหนก็ได้ แต่การไม่ค้นคว้า-เอาทักษิณมาขึ้นปกถือเป็นฟางเส้นสุดท้าย

เมื่อวานนี้ (5 ม.ค.) นายสมเกียรติ อ่อนวิมล ผู้สื่อข่าววงการโทรทัศน์อาวุโส ได้เผยแพร่บทความ "2555 หยุดซื้อหนังสือพิมพ์มติชน" ในเฟซบุคของตน มีรายละเอียดดังนี้

000

โพสต์ของสมเกียรติ อ่อนวิมลเรื่อง "2555 หยุดซื้อหนังสือพิมพ์มติชน"

“มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับวันที่ 30 ธันวาคม 2554-5 มกราคม 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 เรื่องขึ้นปก ยกย่อง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ให้เป็น “บุรุษแห่งปี” พาดหัวบนหน้าปกว่า :

บุรุษแห่งปี
COMING SOON
ไม่นานเกินรอ

เรื่องอยู่ในหน้า 7 เนื้อหาสั้นมาก ไม่เต็มหน้า ไม่มีสาระรายละเอียดอะไรเลย

“ไร้สาระ” ที่จะนำมาทำเรื่องขึ้นปก

เป็นบทความด้อยคุณภาพในระดับที่เป็นรายงานเรื่องใหญ่จากปก

กองบรรณาธิการมติชนไม่ทำการบ้าน ไม่ค้นคว้า ไม่มีหลักเกณฑ์ในการทำรายงานเรื่องบุรุษแห่งปีอะไรเลย คิดเอาเอง เขียนเอาเอง ตามจินตนาการที่สั้นมาก ๆ ด้วย โดยหลักแล้ว การทำงานเรื่องขึ้นปกนั้น ต้องถือเป็นงานสำคัญ งานใหญ่ ต้องเตรียมงานกันหลายคน หลายวัน อาจนานเป็นเดือน กองบรรณาธิการควรทำงานหนักกว่านี้ ต้องทำงานหนักจริง ๆ การมีความเห็นชื่นชมคุณทักษิณก็เป็นสิทธิและเสรีภาพของมติชน ผมไม่มีอะไรขัดข้องในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าผมจะเห็นด้วยในเนื้อหาสาระหรือไม่ก็ตาม แต่ผมอยากอ่านงานที่มีการค้นคว้าที่ละเอียดลึกซึ้งกว่านี้

อยากรู้ว่าการเป็นบุรุษแห่งปีของคุณทักษิณ ตามมาตรฐานของมติชนนั้นมีอะไรเป็นพิเศษบ้าง แต่ผมก็หาสาระให้คล้อยตามหรือแม้ที่จะให้โต้แย้งก็ยังหาไม่ได้

บทความสั้นมาก จนไม่ควรจะเป็นเรื่องขึ้นปก

หากมติชนมีมาตรฐานงานสื่อสารมวลชนเพียงเท่าที่เห็นนี้ คิดเงินผม 40 บาท สำหรับมติชนสุดสัปดาห์ และ 10 บาท สำหรับรายวัน ก็ไม่สมควรที่ผมจะเสียเงินอุดหนุนมติชนอีกต่อไป

ในช่วงวิกฤติการเมือง 3-5 ปีที่ผ่านมา การทำงานของหนังสือพิมพ์มติชน ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ ผมสรุปเป็นความเห็นส่วนตัวว่า คุณภาพงานข่าวสารของมติชนตกต่ำลงมาก ความคิดของกองบรรณาธิการสับสนอลวน แนวทางหลักเอียงไปทางสนับสนุนคุณทักษิณมาก โดยไม่แสดงนโยบายการบรรณาธิการให้ผู้อ่านได้รับทราบให้ชัดเจน ไม่แสดงความโปร่งใสต่อสาธารณชนในเรื่องการถือหุ้นจากกลุ่มการเมือง วิกฤติการเมืองภายในองค์กรของมติชนเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ละครั้งไม่ได้รับการชี้แจงให้หายกังขา

ผมอ่านมติชนมาตั้งแต่กำเนิดมติชนในปีแรก และซื้ออ่านโดยให้ส่งถึงบ้านทุกเช้าเสมอมาไม่เคยขาด เขียนบทความลงมติชนก็หลายครั้ง มติชนจะลำเอียงไปทางไหนผมไม่เคยถือเป็นเหตุสำคัญ เพราะผมวิเคราะห์ความอิสระหรือความลำเอียงของมติชนได้ ใครถือหุ้นในมติชนเท่าไหร่อย่างไรผมก็พอมีข้อมูล

ไม่ว่ามติชนจะเป็นกลาง หรือ ลำเอียงไปทางไหน ผมยินดีซื้อมติชนอ่านมาโดยตลอด

แต่พอมาพบความไม่ขยันในการทำงานค้นคว้าหาความจริงจากเรื่องขึ้นปกมติชน สุดสัปดาห์ฉบับล่าสุดนี้ ก็เป็นเสมือนฟางเส้นสุดท้าย ทำให้ผมตัดสินใจเด็ดขาดในวันนี้ ว่าจะหยุดซื้อมติชนอ่านจากวันนี้เป็นต้นไป

สาเหตุใหญ่มาจากความไม่ขยันทำงานค้นหาความจริงของมติชน มากกว่าจุดยืนทางการเมืองของกองบรรณาธิการ

เมื่อเย็นวันนี้คนส่งหนังสือพิมพ์มาเก็บเงินที่บ้านพอดี ผมเลยบอกคนส่งหนังสือพิมพ์ให้ทราบว่า:

จากพรุ่งนี้เช้าเป็นต้นไป ขอไม่เอามติชน (10 บาท).
เหลือไว้เพียง “โพสต์ทูเดย์” (15 บาท). ฉบับเดียวพอ.
ประหยัดเงินไปเดือนละ 300 บาท!

สมเกียรติ อ่อนวิมล
5 มกราคม 2555

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น