โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เรื่องไม่ชอบมาพากลกรณีเผาช้างแก่งกระจาน

Posted: 20 Jan 2012 10:08 AM PST

ข่าวดังเรื่องช้างโดนยิงเผานั่งยางเพื่อเอางาและอวัยวะเพศที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนั้น มีเค้าไม่ชอบมาพากล ส่งกลิ่นทะแม่งๆเข้าทุกที 
 
ที่ว่าไม่ชอบมาพากล จะขนาดไหนก็ลองมาไล่เรียงเหตุการณ์กันดู
 
หลังจากปีใหม่ที่ผ่านมา มีข่าวพบซากช้างสองตัว ถูกคนร้ายยิงตาย ตัวหนี่งโดนเผาจนไหม้เกรียม ไม่ห่างไปมากนักอีกตัวนอนตายอืด ทั้งสองตัวโดนตัดเอางาและอวัยวะเพศไป บริเวณที่เกิดเหตุเป็นเส้นทางเดินของฝูงช้างป่า โดยในบริเวณนี้ยังมีช้างป่าอยู่มาก ไม่น้อยกว่าสองร้อยตัว 
  
ถ้าชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านป่าเด็งในอำเภอแก่งกระจานไม่ได้เข้าพบซากช้าง เรื่องก็คงไม่ได้มาสู่สายตาสาธารณชน
 
หลังจากข่าวแพร่สะพัดออกไป  นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯได้กล่าวว่าน่าจะเป็นฝีมือการฆ่าและเผาของพวกนายพรานป่าชาวเวียดนามที่ทำงานให้ขบวนการค้างาช้างและอาหารป่า
 
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ออกมาฟันธงทันที โดยกล่าวหาว่าเป็นฝีมือของชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรียงที่อาศัยในแก่งกระจาน
 
ความเกลียดชังคนพื้นเมืองกะเหรี่ยงที่อยู่ในป่าแก่งกระจานของนายชัยวัฒน์ ไม่ใช่เรื่องลับอะไร เมื่อปีที่แล้ว หัวหน้าอุทยานฯนำเจ้าหน้าที่จำนวนมากไปเผาบ้านเผายุ้งข้าวของชาวกะเหรี่ยงในป่าลึกแก่งกระจานและยังกล่าวหาชาวบ้านกะเหรี่ยงว่าเป็นพวกทำไร่เลื่อนลอย ตัดไม้ทำลายป่า ล่าสัตว์และยังปลูกกัญชาอีก
 
เพราะโดนเผาและไล่ออกจากป่า ให้ไปอยู่ที่ใหม่ที่ไม่มีอะไรรองรับ ไม่มีที่ทำกิน ชาวบ้านกะเหรี่ยงที่ต้องหนีภัยมาอยู่ที่หมู่บ้านโป่งลึกบางกลอยต้องอยู่อย่างลำบากเพราะไม่มีข้าวกิน  จนมีกลุ่มสิทธิมนุษยชนเข้ามาให้ความช่วยเหลือและเป็นตัวแทนชาวบ้านฟ้องหัวหน้าอุทยานอยู่ในขณะนี้
 
ไม่เท่านั้น นายชัยวัฒน์ยังโดนข้อหาจ้างวานฆ่านายทัศน์กมล โอบอ้อม ซึ่งเป็นผู้นำในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน นายทัศน์กมลได้ออกมาขู่ว่าจะเปิดเผยความไม่ชอบมาพากลในอุทยานแก่งกระจาน หลังจากนั้นเพียงอาทิตย์เดียวนายทัศน์กมลก็โดนยิงตาย 
 
ทั้งที่ถูกข้อกล่าวหาร้ายแรงขนาดนี้ นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็ยังปฎิเสธที่จะย้าย นายชัยวัฒน์ออกนอกพื้นที่เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสอบสวน
 
ล่าสุดเมื่อเกิดเรื่องฆ่าเผาช้างล่าจนเป็นข่าวดัง นายชัยวัฒน์ก็ยังยืนกรานว่าช้างถูกไฟป่าเผาคลอกตาย ทั้งที่ตอนนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้พบแล้วว่าในที่เกิดเหตุมีการใช้ยางรถยนต์กว่า 20 เส้นเป็นเชื้อเพลิงเผาซากช้าง  ขณะเดียวกันอธิบดีดำรงค์ ก็ออกมาปฎิเสธทันควันไม่มีเจ้าหน้าที่อุทยานเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยแน่นอน
 
ดูเหมือนว่า เรื่องทำท่าจะปิดง่ายๆเมื่อชาวบ้านป่าเด็งคนหนึ่งถูกจับเพราะซากของป่าอยู่ในครอบครอง แต่ก็ไม่เป็นอย่างที่หลายคนต้องการเมื่อเริ่มมีคำให้การของพยานโผล่ขึ้นมาโต้แย้ง
    
ชาวบ้าน  นายผวน  ท้วมทรัพย์ อายุ 58 ปี ได้ให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า เขาเป็นคนพบซากช้างนอนตายอืดอยู่ใกล้หนองน้ำ ขณะที่เขากำลังเลี้ยงแพะอยู่ในบริเวณนั้น ช้างทั้งสองตัวยังมีงาและอวัยวะครบทุกอย่าง วันนั้นเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2554 วันรุ่งขึ้นเขาไปที่นั่นอีกครั้งกับเจ้าหน้าที่อุทยาน เจ้าหน้าที่บอกให้เขาตัดงาช้างให้ แต่เขาได้ปฎิเสธไป
   
เมื่อตำรวจเริ่มสอบสอนเจ้าหน้าที่อุทยาน นายชัยวัฒน์ก็ออกมาติติงว่าตำรวจกำลังหลงทาง โดยยืนยันว่าเขามีพยานรู้เห็นว่าในวันที่ 26  ธันวาคมนั้น มีรถนอกพื้นที่นำพวกขบวนการล่าช้างเข้ามาในที่ช้างตายเพื่อมารับเอางาและอวัยวะเพศไป
 
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่อุทยานก็ให้การกับตำรวจว่าช้างโดนยิงจากพวกพรานป่า โดยยิงมาจากนั่งร้านบนต้นไม้สูงในบริเวณนั้น  เมื่อตำรวจไปตรวจดูที่เกิดเหตุก็พบว่าไม่มีต้นไม้ดังกล่าว 
 
ในที่สุดตำรวจได้ออกหมายจับเจ้าหน้าที่อุทยาน 5 คน รวมถึง นายสุริยนต์ โพธิบัณฑิต ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในข้อหาทำลายหลักฐานช้างที่ถูกฆ่า และนายชัยวัฒน์ก็โดนคำสั่งให้ออกจากพื้นที่เพื่อเปิดทางให้ตำรวจสอบสวนในพื้นที่ได้สะดวกขึ้น ตำรวจได้เปิดเผยต่อมาว่าเจ้าหน้าที่อุทยานบางคนได้สารภาพแล้วว่าได้มีส่วนร่วมในการเผาศพช้างและตัดงา โดยได้มอบงาช้างนั้นให้กับนายสุริยนต์ 
 
เมื่อเป็นที่แน่ชัดว่าลูกน้องตนเองเป็นคนเผาช้าง นายดำรงค์ก็รีบออกมาให้ข่าวว่า การเผาช้างนั้น ถ้าจะผิดก็เล็กน้อย แค่ผิดขั้นตอน และตำรวจควรไปโฟกัสว่าใครเป็นคนฆ่าช้างมากกว่า หลังจากนั้นเขาก็พานักข่าวลงพื้นที่ดูสถานที่เกิดเหตุ  แล้วก็ใช้โอกาสนั้นเอาจดหมายของนายสุริยนต์ขออนุญาตเผาช้างออกมานักข่าวดู 
 
เมื่อมีคนถามว่าทำไมถึงใช้เวลานานมากกว่าจดหมายฉบับนี้จะปรากฎตัวออกมา  นายดำรงค์ก็อธิบายว่าเป็นเพราะนายสุริยนต์กำลังยุ่งกับการทำงานที่อื่นอยู่   
  
หลังจากที่ยอมมามอบตัว นายสุริยนต์ก็ยังยืนกระต่ายขาเดียวว่า ไม่มีงาอยู่ในครอบครองเพราะได้นำเอางานั้นกลับไปเผาพร้อมกับซากช้างไปแล้ว
 
นายชัยวัฒน์ก็ออกมาสนับสนุนคำให้การของนายสุริยนต์ โดยลืมไปว่าตนเองได้เคยพูดเสียงแข็งว่า ทั้งงาทั้งอวัยวะเพศของช้างนั้นมีคนไปรับแล้วที่ที่เกิดเหตุตั้งแต่ก่อนที่จะมีคนไปเจอซากช้าง 
    
ทั้งหมดดูไม่ค่อยจะชอบมาพากลเลย
   
คำให้การของเจ้าหน้าที่อุทยานกลับไปกลับมา ไม่ตรงความจริง เหมือนมีอะไรปิดบัง ทำให้ห่วงว่าจะไว้ใจให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้รักษาป่า รักษาสัตว์ป่า ของเรา ของชาติได้อย่างไร
 
หรือว่าท่านไม่ห่วง?
     
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดรายงาน ‘สภาพัฒน์’ ผลการทบทวนแผนใต้ ย้ำชัดพัฒนา‘อุตสาหกรรมหนัก-ปิโตรเคมี’

Posted: 20 Jan 2012 09:50 AM PST

เปิดผลทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ สภาพัฒน์ แบ่ง 3 กลุ่มจังหวัด "สงขลา-สตูล" เน้นอุตสาหกรรมหนัก-ปิโตรเคมี ชายฝั่งอันดามันพื้นที่ท่องเที่ยว ยกเว้นสร้างท่าเรือยุทธศาสตร์

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้รายงานการศึกษา เรื่อง การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ แล้วเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2554 ซึ่งเกิดจากการสังเคราะห์ผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ที่บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด เป็นที่ปรึกษา และโครงการศึกษาเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษา

รายงานการศึกษาดังกล่าว ระบุทิศทางและแนวทางการพัฒนา 3 กรณี กรณีแรก การพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ โดยกำหนดให้ฝั่งอ่าวไทย สนับสนุนให้พัฒนาแบบผสมผสานทั้งด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและการท่องเที่ยว ส่วนฝั่งทะเลอันดามัน เป็นแนวพื้นที่การท่องเที่ยว/ผักผ่อน โดยไม่มีอุตสาหกรรมหนักและท่าเรือขนาดใหญ่ ยกเว้นสำหรับท่าเรือยุทธศาสตร์ที่จะสนับสนุนการเชื่อมโยงสองฝั่งทะเล

นอกจากนี้ยังกำหนดให้สร้างศูนย์กลางอุตสาหกรรมในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน การพัฒนาสะพานเศรษฐกิจระหว่างสตูลและสงขลา จะส่งผลให้เกิดศูนย์กลางความเจริญ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

กรณีที่ 2 การพัฒนาตามความเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อย ระบุว่า ผู้เข้าประชุมไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก การสร้างสะพานเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรม แต่ต้องการให้การเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหลัก พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาคนโดยให้ความสำคัญกับการศึกษาและการสาธารณสุข

กรณีที่ 3 การพัฒนาแบบบูรณาการ มีทิศทางและแนวทางที่น่าสนใจ คือ กำหนดให้พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดนใต้ เป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เช่น อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล อุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราและแปรรูปการเกษตร นอกจากนี้ยังมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

รายงานการศึกษาดังกล่าว ระบุว่า ผลการระดมความคิดเห็นของประชาชนและภาคีการพัฒนา มาจากการประชุมกลุ่มย่อยช่วงวันที่ 19 – 22 กรกฎาคม 2554 มีผู้เข้าร่วมประมาณ 500 คน ครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ และช่วงวันที่ 21-22 สิงหาคม 2554 ในจังหวัดพัทลุงและนครศรีธรรมราช ประมาณ 140 คน และจากการสอบถามความคิดเห็นกลุ่มเป้าหมาย 6,000 คน เน้นพื้นที่แนวจังหวัดสตูล – สงขลา และพื้นที่ต่อเนื่อง ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2554

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยดันเด็กอุบลฯรู้เท่าทันสื่อผ่านหนังสั้น

Posted: 20 Jan 2012 09:14 AM PST

ศูนย์ประสานงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนภาคอีสาน (ศสอ.) แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับหลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การผลิตหนังสั้น เพื่อการรู้เท่าทันสื่อ” เมื่อวันที่ 6-8 มกราคม 2555 ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี วิทยาเขตบ้านยางน้อย 

 
การอบรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาหลักสูตรเพื่อการรู้เท่าทันสื่อให้กับเด็กและเยาวชน โดยต่อเนื่องจากความร่วมมือระหว่าง ศสอ.,สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี กับหลักสูตรนิเทศศาสตร์ ที่ได้พัฒนากระบวนการเรียนรู้จากการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ประกาศรู้เท่าทันสื่อ และการอบรมทักษะสื่อสารการแสดง 
 
อ.จีณัฐชะญา จีปะณัฐิกาญจน์ อาจารย์ประจำหลักสูตรนิเทศศาสตร์ผู้รับผิดชอบโครงการ เปิดเผยว่า “ปัจจุบันสื่อมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อผู้บริโภคสื่อในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคสื่อที่อาจกล่าวได้ว่ายังมีวุฒิภาวะในการบริโภคสื่อไม่มากนัก เป็นผลให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อของสื่อที่ขาดจริยธรรมในการนำเสนอ และเกิดผลกระทบตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ความรุนแรงที่ปรากฏในสื่อ การขาดวิจารณญาณในการรับชมเป็นผลให้หลงเชื่อคำโฆษณาต่างๆ หรือแม้กระทั่งการสอดแทรกความคิดที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน การอบรมหนังสั้นรู้เท่าทันสื่อ จึงมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้กระบวนการการทำสื่อ และสร้างภูมิคุ้มกันและรู้เท่าทันจากสื่อที่ดีและที่ไม่ดี” 
 
ด้านนายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์และผู้ผลิตหนังสั้นที่ได้รับรางวัลรัตน์ เปสตันยี(นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย) วิทยากรหลักในการฝึกอบรมกล่าวว่า “เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กและเยาวชนควรทำความรู้จักเทคนิควิธีต่างๆที่ผู้ผลิตสื่อทั้งหลายนำมาใช้ เพื่อให้เกิดความตระหนักในวัตถุประสงค์แอบแฝงที่ผู้ผลิตสื่อสอดแทรกอยู่ในสื่อที่ปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวัน และกระบวนการที่จะสร้างการตระหนักรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือการเปลี่ยนบทบาทของเด็กและเยาวชน จากผู้บริโภคสื่อ มาเป็นผู้ผลิตสื่อ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เด็กและเยาชนเกิดความตระหนักรู้ถึงเบื้องหลังการผลิตสื่อ แต่ยังจะเป็นการปลูกฝันทัศนคติแนวคิดที่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งในอนาคตอาจเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสื่อ ในยุคที่การผลิตสื่อได้เปิดพื้นที่อย่างเสรีสำหรับสาธารณะ” 
 
กระบวนการในวันแรก (วันที่ 6 มกราคม 2555) ผู้เข้าร่วมอบรม ได้เรียนรู้ การเขียนพล็อตเรื่องให้น่าสนใจน่าติดตาม และเสริมในเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อในบท เทคนิคของการใช้มุมกล้อง ส่วนวันที่สอง(วันที่ 7 มกราคม 2555) ผู้เข้าร่วมอบรมได้แบ่งเป็นสามกลุ่มและลงพื้นที่ทำโปรดักชั่น (ถ่ายทำจริง)และวันสุดท้าย (วันที่ 8 มกราคม 2555) ผู้เข้าร่วมอบรมได้ฝึกปฏิบัติการตัดต่อและนำเสนอผลงาน 
 
นายกริช  พรมศรี  (แอล) นักศึกษาสาขาภาษาไทย “ค่ายนี้ได้ประโยชน์มาก ทั้งเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ และการทำหนัง และยังมีประโยชน์ต่อการทำไปใช้ในวิชาเรียนคือการเขียนบท เขียนวรรณกรรม   และได้เรียนรู้วิธีในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในการทำงาน จะนำความรู้ในครั้งนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเองและครั้งหน้าถ้ามีอีกสนใจเข้าร่วมเป็นอย่างมาก”  
 
นางสาวกัญญาณี   เอี่ยมทศ  (ศร) นักศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ ผู้เข้าร่วมอบรม “เสียดายที่ค่ายนี้มีระยะเวลาน้อยทำให้เก็บความรู้จากวิทยากรได้ไม่หมด  แต่สิงที่ได้คือกระบวนการการทำหนังนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด”
 
นายศราวุธ  เหลืองเรือง (นิว) นักศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ ผู้เข้าร่วมอบรม  “ อยากให้จัดกระบวนการแบบเป็นห้องเรียนรู้กระบวนการต่าง อย่างเช่นการตัดต่อ  การเขียนบท เทคนิคการถ่ายทำ ตามความสนใจของผู้เข้าร่วมอบรมแล้วนำมาแชร์ความรู้กันในกลุ่มเพื่อที่จะทำเป็นผลงานออกมา” 
 
นางสาวสวนีย์ สายยาง (แอน) อยากเข้าไปเรียนรู้ในกองถ่ายเพื่อที่จะเรียนรู้กระบวนการและเห็นวิธีการผลิต จากมืออาชีพ      
 
นายธัญญ์วารินทร์  สุขะพิสิษฏ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่เราจะรู้เท่าทันสื่อได้รู้จำเป็นต้องรู้ที่มาและกระบวนการผลิตเพื่อที่จะได้รู้เท่าทัน  จากการอบรมในครั้งนี้เป็นการจุดประกายของผู้เข้าร่วมอบรมหลายๆคนที่อยากจะทำหนังและอยากเข้าไปมีส่วนร่วมในกองถ่ายเพื่อทีจะผลิตสื่อดีๆออกมาเผยแพร่แก่สาธารณะชน ต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ธาริต" แย้มส่งฟ้องคดีหมิ่นอีก 2 คนจากแผนผังล้มเจ้า 39 รายชื่อ

Posted: 20 Jan 2012 07:52 AM PST

สัปดาห์หน้าลุ้นอีก 2 ราย แผนผังล้มเจ้าคืนชีพ "ธาริต" แย้มส่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหา 2 คน กรณีกระทำความผิด ม. 112 โดยผู้ที่ถูกฟ้องเป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ใน 39 รายชื่อของแผนผังล้มเจ้า
 
20 ม.ค. 55 - มติชนออนไลน์รายงานว่าที่ศูนย์การเรียนรู้เชิงนิเวศ บ้านท่ามะปรางค์ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าพนักงานสอบสวนคดีความผิดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งรัฐ ฐานล่วงละเมิดสถาบัน (คดีล้มเจ้า) ตามแผนผังล้มเจ้าของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ จะสรุปสำนวนส่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหา 2 คน กรณีกระทำความผิดตามมาตรา 112 ตามแผนผังศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยผู้ที่ถูกฟ้องเป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ใน 39 รายชื่อของแผนผัง ศอฉ. ยืนยันว่ากรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่าดีเอสไอจะเปลี่ยนจุดยืนและล้มคดี ซึ่งไม่เป็นความจริง ตนขอยืนยันว่าจะไม่มีการยกเลิกคดีนี้ จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ทั้ง 39 รายชื่อในผัง ศอฉ.มีทั้งกลุ่มคนสีดำและกลุ่มคนสีขาว  ดังนั้น จะต้องมีทั้งคนที่กระทำความผิดและคนที่ไม่ได้กระทำความผิด เป็นไปไม่ได้ที่รายชื่อทั้งหมดจะหลุดพ้นจากข้อกล่าวหา โดยในการตรวจสอบจะทำอย่างตรงไปตรงมา ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ที่ผ่านมาดีเอสไอได้สรุปสำนวนส่งให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องไปแล้วหลายสำนวน
 
"ในสัปดาห์หน้าจะหารือร่วมกับพนักงานอัยการ เพื่อวิเคราะห์คำให้การของนายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งเข้าให้การกับดีเอสไอก่อนหน้านี้ว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอหรือไม่ รวมถึงจำเป็นต้องเชิญนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เข้าให้การชี้แจงที่มาของผัง ศอฉ.หรือไม่" นายธาริตกล่าว
 
ส่วนที่ดีเอสไอทยอยสั่งไม่ฟ้องกรณีวิทยุชุมชนเผยแพร่คำปราศรัยของนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.ในวันที่ 10 เม.ย.2553 นายธาริตกล่าวว่า การสอบสวนเรื่องวิทยุชุมชนมีปัญหาเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเจตนาในการกระทำความผิด เนื่องจากเป็นการถ่ายทอดสดการปราศรัยของนายจตุพร ทำให้ไม่สามารถทราบล่วงหน้าว่าจะมีการใช้คำพูดหมิ่นสถาบันเบื้องสูง แต่หากมีหลักฐานว่าวิทยุชุมชนใดรู้เห็นเป็นใจ ก็ต้องถือว่ามีความผิดและถูกดำเนินคดี คดีอาญาต้องดูเจตนาเป็นสำคัญ
 
ผู้สื่อข่าวถามถึงความจำเป็นในการเดินทางไปสอบปากคำพยานในต่างประเทศเกี่ยวกับคดีล้มเจ้า นายธาริตกล่าวว่า ในหลายคดียังมีความจำเป็นต้องเดินทางไปสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานในต่างประเทศ เนื่องจากคดีล้มเจ้าไม่ได้มีการกระทำผิดเพียงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่มีลักษณะเป็นขบวนการ และมีข้อเท็จจริงว่ามีคนในต่างประเทศร่วมกระทำความผิดด้วย ซึ่งคดีนี้ดีเอสไอไม่ได้ทำเพียงลำพังแต่มีอัยการร่วมสอบสวนทุกขั้นตอน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สนธิ ลิ้มทองกุล

Posted: 20 Jan 2012 07:51 AM PST

มีพลังของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะค้ำจุนประเทศชาติได้ ทหารอย่านั่งเฉย รีบออกมาปฏิวัติเสีย แล้วพันธมิตรฯ ทั่วประเทศจะออกมาร่วมกับทหาร ยึดประเทศไทยคืนมาจากไอ้พวกชั่วๆ ก็เท่านี้แหละครับพี่น้อง

"สนธิ" ยุทหารให้รีบปฏิวัติแล้วพธม.จะมาร่วมยึดประเทศคืน

งานแรกสมาคมมุสลิมพุทธจีน จิบน้ำชายามเช้าที่โคกโพธิ์กันเอง

Posted: 20 Jan 2012 06:52 AM PST

ครั้งแรกที่สมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี ลงพื้นที่หลังการรวมตัวของกลุ่มคนทั้ง 3 เชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม กับกิจกรรมจิบน้ำชายามเช้า ของชมรมโคกโพธิ์ ที่ศูนย์เด็กเล็กพรุจงเปลือย ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

ภาพบรรยากาศกิจกรรมจิบน้ำชายามเช้า ของชมรมโคกโพธิ์ ที่ศูนย์เด็กเล็กพรุจงเปลือย ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เมื่อเช้าวันอังคาร 10 มกราคม 2555 

น้ำชายามเช้า กลายเป็นวิถีวัฒนธรรมปกติของคนชายแดนใต้มาช้านาน แต่ในช่วงที่ความไม่สงบปะทุขึ้น บรรยากาศความรื่นเริงและเรียบง่ายยามเช้าก็ถูกความหวาดระแวงสงสัยคืบคลานก้าวเข้ามาแทนที่ แต่เชื่อว่าไม่นาน ทุกอย่างจะกลับมาปกติ ด้วยความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งที่มีฐานที่มาแตกต่างกัน

ทุกวันนี้ ก่อนเวลาราชการ 7.30 ถึง 9.00 น. ทุกวันอังคาร บรรดาข้าราชการและพ่อค้าประชาชนกลุ่มหนึ่ง ต่างมานั่งจิบน้ำชา พูดคุยแลกเปลี่ยนในวงล้อมอย่างเป็นกิจจะลักษณะ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ในนามของชมรมโคกโพธิ์กันเอง

10 มกราคม 2555 เป็นคิวขององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) นาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เป็นเจ้าภาพ โดยมีนายคอซีย์ มามุ นายกอบต.คนปัจจุบันเป็นแม่งาน

งานจิบน้ำชาเช้านี้ มีความพิเศษแตกต่างไปจากปกติ เพราะมีแขกสำคัญกลุ่มหนึ่งประมาณ 10 คน ในนามสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี เข้ามาร่วมวงด้วย งานที่จัดขึ้นในศูนย์เด็กเล็กพรุจงเปลือย ใกล้ที่ทำการ อบต.นาประดู่ จึงคึกคักขึ้นมาทันที

นี่เป็นครั้งแรกที่สมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี ลงพื้นที่หลังการรวมตัวของกลุ่มคนทั้ง 3 เชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม ได้ร่วมก่อตั้งขึ้นได้ไม่นาน

หลังนายก อบต.หนุ่ม อย่างนายคอซีย์ กล่าวต้อนรับแล้ว ก็ถึงคราวที่ นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ในฐานะนายกสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานีคนแรก กล่าวแนะนำสมาคม

“น้ำชายามเช้าผมถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะการรักษากิจกรรมนี้ไว้ ก็เหมือนกับการรักษาความสัมพันธ์ของเราทั้งสามพี่น้องไว้ด้วย ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ การพบปะแลกเปลี่ยนทุกข์สุขกอย่างนี้ได้ เป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้” นั่นคือคำทักทายแรกของ นายกฯ เศรษฐ์ อัลยุฟรี

จากนั้นนายกฯ เศรษฐ์ อัลยุฟรี ต่อด้วยการอธิบายถึงที่มาของสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีนจังหวัดปัตตานีว่า ถ้าไม่มีลุงเคลื่อน (นายเคลื่อน พุ่มพวง) และบอบอเซ็ง (นายเซ็ง ใบหมัด) ที่เป็นคนคิดริเริ่มที่จะให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยพุทธ มุสลิมและจีน ฟื้นกลับคืนมาอย่างเช่นในอดีต สมาคมนี้ก็ไม่เกิด

“ลุงเคลื่อนเสนอให้ผู้นำทั้งสามเชื้อสายมานั่งคุยกัน จนกระทั่งได้ตัวแทนจากสามเชื้อสาย ฝ่ายละ 7 คน มาเป็นกรรมการ และได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมแล้ว รวมทั้งได้เชิญผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัดและเป็นที่เคารพนับถือมาเป็นที่ปรึกษา”

จุดประสงค์การตั้งสมาคมนี้ขึ้นมา ก็เพื่อสร้างพื้นที่พูดคุยเสวนาระหว่างกลุ่มคนที่แตกต่างกัน อันจะช่วยกันหาหนทางสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ให้ได้

นายกฯ เศรษฐ์ อัลยุฟรี ย้ำว่า กิจกรรมที่จะจัดภายใต้สมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีนจังหวัดปัตตานี ต้องเป็นกิจกรรมที่ทั้ง 3 ฝ่ายยอมรับ

“ภารกิจสำคัญของสมาคมฯ นอกจากการสานสัมพันธ์ระหว่างสามพี่น้องแล้ว ยังมีภารกิจช่วยเหลือสังคม เช่น มีแผนการเยี่ยมเยือนและดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชน หญิงหม้าย เด็กกำพร้าเป็นการสานต่องานจากภาครัฐ สมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี จะเริ่มสร้างสันติภาพภาคประชาชนให้เกิดขึ้นให้ได้” นายกฯ เศรษฐ์ อัลยุฟรีทิ้งท้าย

ขณะที่ตัวแทนจากภาครัฐ อย่างนายเสรี ศรีหะไตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ที่ร่วมวงน้ำชาด้วย แสดงความเห็นว่า น่าจะเปลี่ยนชื่อจากสมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี เป็นสมาคมพี่น้องคนไทยปัตตานี ซึ่งเป็นที่ที่คน 3 เชื้อชาติศาสนาที่อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นพี่น้องอยู่แล้ว

รวมทั้งเสนอให้มีตัวแทนจากทุกตำบลและให้รับเยาวชนเข้ามาเป็นสมาชิกด้วย เพื่อสร้างคนที่จะมาสานงานต่อ เนื่องจากเห็นว่า อนาคตของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นอยู่กับเยาวชนรุ่นปัจจุบัน

“ขอให้สมาคมไทยมุสลิม พุทธ จีน จังหวัดปัตตานี เป็นต้นแบบในการสร้างความเป็นปึกแผ่นของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านแนวคิดครอบครัวเดียวกัน สร้างความรู้สึกกลมเกลียวของคนปัตตานีและขยายไปสู่พื้นที่อื่นในสังคมต่อไป”

บรรยากาศริมคลองในพรุจงเปลือยยังเย็นสบาย เพราะโอบล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่กับร่องรอยสายฝนที่ตกกระหน่ำเมื่อกลางดึก เมื่อใกล้ถึงเวลาทำงาน แต่ละคนก็แยกย้ายกันไป โดยหวังว่า ความสัมพันธ์ต่างศาสนาและเชื้อสาย จะแนบแน่นกลมเกลียวดังเดิม

จิบน้ำชายามเช้า ทลายช่องว่างรัฐกับชาวบ้าน

นายนิพนธ์ อินทรสกุล นายอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ในฐานะเจ้าภาพเลี้ยงน้ำชาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบงานเลี้ยงน้ำชานี้ เป็นเสมือนการลดช่องว่างระหว่างประชาชนกับราชการ

“สิ่งที่ยังแก้ไม่ตก คือ ความห่างเหินระหว่างข้าราชการกับประชาชน ซึ่งมันเกิดขึ้นโดยตัวมันเองโดยตัวระบบราชการที่ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึง ประชาชนยังรู้สึกว่าการเดินไปหาข้าราชการเป็นเรื่องยุ่งยาก”

นายนิพนธ์ พูดถึงข้อดีของวงน้ำชาว่า การให้ข้าราชการมานั่งจิบน้ำชากับชาวบ้าน จะทำให้รับรู้ปัญหามากขึ้น เพราะจะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น นำมาสู่การถกแถลงถึงทางแก้ไปด้วย ข้อมูลที่ได้ก็จะมีผู้นำไปสานต่อและปัญหาได้ถูกจุดเร็วขึ้น

“บางครั้งบางปัญหาที่ดูเหมือนเล็กมาก กลับกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต ถ้าไม่คุยกัน เช่น ความขัดแย้งระหว่างพี่น้องพุทธกับมุสลิม ที่อาจเริ่มต้นมาจากปัญหาส่วนตัว แต่กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสองศาสนาไป ถ้าไม่คุยทำความเข้าใจกันก่อน”

อำเภอโคกโพธิ์ โชคดีที่ยังรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ เพราะมีพื้นที่ที่ให้ทั้งสองฝ่ายมานั่งคุยกัน และผู้ใหญ่ของทั้งสองศาสนาก็ร่วมมือกัน ปัญหาจึงไม่มีโอกาสขยายกว้างออกไป

กิจกรรม “จิบน้ำชายามเช้า” ทุกวันอังคารแล้ว ไม่ได้จบไปเพียงแค่แต่ละคนแยกย้ายกันไป หากแต่ยังมีกิจกรรมครื้นเครงยามเย็นเดือนละครั้งด้วย เป็นกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันอีกกิจกรรมหนึ่งด้วย

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นายจ้าง บ.เซอร์คิท ยังไม่ยอมจ่ายตามข้อเรียกร้องพนักงาน

Posted: 20 Jan 2012 06:19 AM PST

 นายจ้างบริษัท เซอร์คิท อิเลคโทรนิคส์ อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) ไม่ยินยอมตกลงทำตามข้อเรียกร้องของพนักงานที่ถูกเลิกจ้างในการเจรจาไกล่เกลี่ยวันที่ 19 ม.ค. 55 นัดไกล่เกลี่ยกันอีกในวันที่ 21 ก.พ. 55
 
 
 
รูปภาพ : เข้าร้องเรียนที่กระทรวงแรงงาน 20 ม.ค. 55 เวลา 12.30 น.
 
 
พนักงานบริษัทเซอร์คิท อิเลคโทรนิคส์ อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) (CEI)  นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยาประมาณ 100 คน เจรจาไกล่เกลี่ยกับนายจ้างเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2555 เวลา 13.00-20.00 น. ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  พร้อมกับมีผู้สังเกตการณ์และให้คำแนะนำคือ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย และนักสหภาพแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ซึ่งก่อนหน้านี้เคยไปร้องเรียนที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2555
 
ผลการเจรจากับฝ่ายนายจ้าง ปรากฎว่า ไม่สามารถตกลงกันได้ และนัดไกล่เกลี่ยกันอีกในวันที่ 21 ก.พ. 55  ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทส่งเสมียนฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์และฝ่ายบัญชีมาเป็นตัวแทนเจรจา ซึ่งไม่มีอำนาจการตัดสินใจใดๆ  ดังนั้นในวันนี้ (20 ม.ค. 55) คนงานจึงรวมตัวกันอีกครั้งในช่วงเช้าที่หน้าศาลากลางจังหวัดอยุธยา และตระเตรียมรถบัสเพื่อไปร้องทุกข์ที่กระทรวงแรงงาน  ทว่าก่อนที่รถกำลังจะออก ฝ่าย HR ขอขึ้นรถและเจรจากับพนักงานบนรถ แต่ตกลงกันไม่ได้  จึงออกเดินทางมาร้องที่กระทรวงแรงงานในเวลา 11.30 น. เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่รัฐช่วยกดดันให้นายจ้างยินยอมตามข้อเรียกร้อง ดังต่อไปนี้ 
 
1. นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยงวดที่ 2 ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้
2. นายจ้างต้องจ่ายค่าพักร้อนที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิให้จ่ายเป็นเงินค่าจ้าง
3. นายจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
4. นายจ้างต้องจ่ายเงินกองทุนให้คนงานทันที
 
พนักงานเข้าร้องเรียนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 20 ม.ค. 55
 
เวลา 13.00 น. พนักงานกว่า 50 คนพร้อมกับโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยและนักสหภาพแรงงานจังหวัดอยุธยาได้ขอความช่วยเหลือให้ กสร.และแรงงานจังหวัดอยุธยาเจรจากับนายจ้างให้จ่ายเงินให้ครบภายใน 31 มี.ค.นี้ 
 
ผลการไกล่เกลี่ย ปรากฏว่า กระทรวงแรงงาน โดยนายทศพล กฤตวงศ์วิมาน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการคุ้มครองแรงงาน และแรงงานจังหวัดอยุธยาประสานกับฝ่ายนายจ้างทางโทรศัพท์ และฝ่ายนายจ้างโดย นางทิพชญาณ์ สุตตปัญญา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหารบริษัทเซอร์คิทอีเลคโทรนิคส์อินดัสตรีย์ จำกัด (มหาชน) ยอมรับข้อเสนอของกลุ่มลูกจ้าง จ่ายเงินสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายฯ งวดที่ 2 เป็นวันที่ 21 มี.ค. 55  (บันทึกคำให้การ เขียนที่ ส.น.ง.สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 20 ม.ค.55)
 
ความจำเป็นที่พนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและอยู่ต่างจังหวัด ต้องออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง เพราะนายจ้างไม่ยอมประกาศเลิกจ้างพนักงานอย่างเป็นทางการเพื่อให้มีจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 2541โดยทันที แต่กลับส่งเอกสารเลิกจ้างและใบคำนวณค่าชดเชยให้แก่แรงงานจังหวัดอยุธยาเท่านั้น และแจ้งการเลิกจ้างทางเฟซบุ๊ก พร้อมกับติดประกาศไว้ที่ป้อมยาม ซึ่งพนักงานมองไม่เห็น และส่วนใหญ่ก็ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่รู้จักเฟซบุ๊กอีกด้วย (สัมภาษณ์พนักงาน CEI 20 ม.ค. 55 ที่กระทรวงแรงงาน)
 
ส่วนสาเหตุของการเลิกจ้างมาจากการที่บริษัทขอปิดกิจการชั่วคราว เพื่อฟื้นฟูโรงงานหลังประสบอุทกภัย ในช่วง 7 ตุลาคม 2554 โดยจ่ายเงินเดือนพนักงาน 75%  พอมาถึงช่วงวันที่ 4 มกราคม 2555 ผู้แทนบริษัทฯ โทรแจ้งพนักงานว่า ขอเลิกจ้างพนักงานประมาณ 1,400 คน ให้มีผลในวันที่ 21 ม.ค. 55 นี้ โดยจะจ่ายเงินแก่พนักงานเป็น 2 งวด คือ งวดแรกจะจ่ายวันที่ 10 ม.ค. ขอจ่ายเพียง 90 วันด้วยการโอนเงินเข้าบัญชี และงวดที่ 2 จะจ่ายไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย.  ส่วนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะจ่ายในวันที่ 10 มีนาคม 2555 ซึ่งถือว่าบริษัทไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (สำเนาหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมของพนักงาน ลงวันที่ 6 ม.ค. 55)
 
นอกจากนี้ เงินชดเชย 90 วันของงวดแรกที่จ่ายไปเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 55 นั้น คนงานได้คนละประมาณ 20,000 บาท ส่วนก้อนที่เหลือที่นายจ้างพยายามประวิงเวลา อีกจำนวนประมาณ 50,000 บาท ซึ่งเป็นความหวังของพนักงานที่ต้องการนำไปใช้จ่ายเยียวยาหลังจากที่ตนเองได้รับความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วม ถูกลดเงินเดือนเหลือ 75% และนำไปหางานทำใหม่
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มกรีนร้องผู้ตรวจการแผ่นดินค้านตั้ง "นลินี-ณัฐวุฒิ"

Posted: 20 Jan 2012 06:09 AM PST

กลุ่มกรีนนำโดย จาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์, นัสเซอร์  ยีหมะ และประกิต จันทร์สมวงศ์ ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ระหว่างที่ลงพื้นที่ที่อำเภอวังน้ำเขียว คัดค้านตั้ง" นลินี-ณัฐวุฒิ "ผานิต ขอให้นายกฯ ชี้แจงใน 30 วัน
 
20 ม.ค. 55 - มติชนออนไลน์รายงานว่าในระหว่างที่ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่ที่อำเภอวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา  ได้มีตัวแทนจากกลุ่มกรีน (Green Politics)ประกอบด้วย นายจาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์  นายนัสเซอร์  ยีหมะ และนายประกิต จันทร์สมวงศ์  ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องขอให้ตรวจสอบปัญหาทางจริยธรรมของข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ
    
หนังสือร้องเรียนของกลุ่มดังกล่าว ระบุว่า   ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีและนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ โดยได้มีการโปรดเกล้าฯ ลงมาเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555 ทั้งนี้โฉมหน้าของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หรือ “ครม.ปู 2”  ได้ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนและสังคมอย่างกว้างขวางถึงความเหมาะสมและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลที่ต้องทำหน้ากอบกู้ฟื้นฟูประเทศไทยและจำเป็นต้องสร้างสานศรัทธาจากทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง
  
ทั้งนี้ปัญหาจริยธรรมถือว่าเป็นปัญหาวิกฤติเรื้อรังและสะสมมานานในระบบราชการและระบบการเมืองไทย รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 หรือฉบับปัจจุบัน ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาจริยธรรมที่นับวันรุนแรงมากขึ้น จึงเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน  ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ให้มีอำนาจในการตรวจสอบจริยธรรมของ  ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการประจำ และหากพบข้อเท็จจริงผู้ตรวจการมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการถอดถอนบุคคลดังกล่าวได้ทันทีเพื่อสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองและทำให้การเมืองสะอาด มีมาตรฐานทางจริยธรรมและคุณธรรม กลุ่มกรีน (Green Politics) จึงข้อเรียกร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาตรวจสอบข้อเท็จจริงและการกระทำที่ไม่เป็นไปตามประมวลจริยธรรมของข้าราชการเมือง พ.ศ.2551 ของบุคคลทั้ง 4 คนดังต่อนี้
 
1. กรณีการแต่งตั้ง นางนลินี ทวีสิน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่นางนลินี ทวีสิน ยังคงมีชื่อค้างคาอยู่ใน “บัญชีดำ” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551  โดยสำนักงานทรัพย์สินต่างชาติ ของกระทรวงการคลัง สหรัฐอเมริการะบุว่า นางนลินี เป็น 1 ใน 3 นักธุรกิจที่ให้การช่วยเหลือการทุจริตของรัฐบาลนายโรเบิร์ต มูกาเบ อดีตประธานาธิบดีของประเทศชิมบับเว ซึ่งในแถลงการณ์ของกระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่านางนลินี ได้ทำธุรกิจหลายประเภทร่วมกับภรรยา ซึ่งกลุ่มคนที่ถูกขึ้นบัญชีดำ จะถูกทางการสหรัฐดำเนินการยึดทรัพย์สิน และห้ามพลเมืองอเมริกันร่วมทำธุรกิจอีกด้วย  ซึ่งภายหลังรับตำแหน่งรัฐมนตรี นางนลินีก็ยอมรับว่าตนเองมีชื่ออยู่ในบัญชีดำดังกล่าวจริงๆ
 
2. กรณีการแต่งตั้ง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ซึ่งเป็นแกนนำแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. โดยในช่วงชุมนุมเมื่อกลางปี พ.ศ. 2553 นายณัฐวุฒิ ในฐานะแกนนำคนสำคัญมีบทบาทในการจัดการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิเสรีภาพ และสร้างความเสียหายให้เกิดกับผู้อื่น และปราศรัยปลุกระดมยั่วยุจนเป็นเหตุให้เกิดการจลาจลและความรุนแรงขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ภายหลังเหตุการณ์คลี่คลายนายณัฐวุฒิ และแกนนำม็อบครั้งนั้น ได้ถูกตั้งข้อหาร้ายแรงและอุกฉกรรจ์ โดยเฉพาะข้อหาก่อการร้าย ซึ่งศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวและจำคุกนานกว่า 9 เดือน ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลยุติธรรม
 
3.กรณีนายอำพน  กิตติอำพล ในฐานะเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ได้ปล่อยปะละเลย และนำรายชื่อบุคคลทั้ง 2 ขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งเป็นการกระทำระคายเคืองเบื้องพระยุคลละบาท สมควรที่จะได้รับการตรวจสอบพฤติกรรมดังกล่าว
 
4. นายกรัฐมนตรี  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่อ้างว่าเลือกรัฐมนตรีด้วยตัวเองและได้พิจารณาคุณสมบัติเป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งในฐานะผู้นำรัฐบาลเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีที่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้รับสนองพระบรม ราชโองการด้วย  แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลับละเลย ไม่ใส่ใจในการคัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องคำนึงถึงประมวลจริยธรรมของข้าราชการเมืองและข้าราชการประจำ
 
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวถือว่าบุคคลทั้ง 4 ได้ฝ่าฝืนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการเมือง พ.ศ.2551 (ตามเอกสารที่ส่งมาด้วย)  จึงเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 244 (2)  ต้องดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 279 ที่ระบุว่า “มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท ให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้น
 
มาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีกลไกและระบบในการดำเนินงานเพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดขั้นตอนการลงโทษตามความร้ายแรงแห่งการกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นการกระทำผิดทางวินัย ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรายงานต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือสภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี และหากเป็นการกระทำผิดร้ายแรง ให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ โดยให้ถือเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามาตรา 270  การพิจารณา สรรหา กลั่นกรอง หรือแต่งตั้งบุคคลใด  เข้าสู่ตำแหน่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งการโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษบุคคลนั้นจะต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมและคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลดังกล่าวด้วย”
 
รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มกรีน มีสายสัมพันธ์กับนายสุริยะใส กตะศิลา แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
 
นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน  เปิดเผยว่า หลังรับหนังสือร้องเรียน จะได้แจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี เนื่องจากนายกฯ มี 2 บาทบาทคือ เป็นคนแต่งตั้งนางนลินีและนายณัฐวุฒิ และนายกฯต้องเป็นผู้กำกับจริยธรรมทางการเมือง  ทั้งนี้ภายในสัปดาห์หน้า จะประชุมร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดินอีก 2 คน ก่อนจะให้นายกฯมาชี้แจงใน 30 วัน อันเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2547  โดยระหว่างนี้จะทำการรวบรวมข้อมูล พยานหลักฐานคู่ขนานกันไป ทั้งนี้หลังจากนายกฯชี้แจง ถ้ารับฟังได้เรื่องก็จบ แต่ถ้ารับฟังไม่ได้ก็ต้องสอบสวนต่อไป
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ท่องเที่ยวไทย จะก้าวอย่างยั่งยืนได้อย่างไร?

Posted: 20 Jan 2012 05:29 AM PST

 
ข่าวผู้ก่อการร้ายที่ประสงค์จะป่วนกรุงเทพฯ สร้างความระส่ำระสายในระดับรัฐบาลอย่างชัดเจน รัฐมนตรีบางท่านแสดงอาการหงุดหงิดจนเห็นได้ชัด ที่จริงก็น่าเห็นใจที่ว่ามีปัญหาความไม่สงบทีไรก็จะสูญเสียนักท่องเที่ยวทุกที ดูกราฟรูปที่ 1 
 
รูปที่ 1 จำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติระหว่างปี พ.ศ. 2513-2552 
 
 
ในช่วงที่การท่องเที่ยวไทยกลายเป็นภาคเศรษฐกิจที่รัฐให้ความสำคัญมากขึ้นๆ ก็เกิดปรากฎการณ์ที่เป็นช็อก (Shock) ทั้งด้านบวกและลบที่ทำให้การขยายตัวของนักท่องเที่ยวนานาชาติต้องชะลอตัวหลายครั้ง (ตารางที่ 1) เช่น โรคอุบัติใหม่เช่น โรคซาร์ส ซึ่งได้กลายมาเป็นโรคประจำถิ่น ความไม่สงบทางการเมืองซึ่งในอดีตเกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น การก่อการร้ายในสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่ส่งผลกระทบมายังไทย แต่ใน 2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดความไม่สงบทางการเมืองอย่างรุนแรงในประเทศ โดยเฉพาะการยึดสนามบินสุวรรณภูมิและการบุกเข้าประชิดห้องประชุมของผู้นำนานาประเทศในการประชุมที่พัทยา ทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง และยังถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยการถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลก เนื่องจากความล้มเหลวของสถาบันการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในประชาคมยุโรป เหตุการณ์เหล่านี้ยิ่งทำให้รัฐบาลโหมการลงทุนในด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์มากขึ้น
แต่ความจริง ก็คือ นักท่องเที่ยวกลัวโรคระบาดมากกว่า การศึกษาของคุณอัครพงศ์ อั้นทอง สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ พบว่า การสูญเสียสูงสุดจะเกิดจากโรคระบาดต่างๆ มากกว่าวิกฤตทางการเมือง (ตารางที่ 1)
 
ตารางที่ 1 จำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูญเสียจากเหตุการณ์วิกฤตสำคัญระหว่างปี พ.ศ. 2544-2552 
 
 
ที่ผ่านมามุมมองของผู้กำหนดนโยบายท่องเที่ยวไทย เป็นมุมมองที่สนใจแต่ผู้ประกอบการเพราะเป็นมุมมองที่หวังรายได้ โดยมีผู้ประกอบการเป็นฐานเสียง ไม่ใช่มุมมองของคนไทยทั้งปวงในฐานะเจ้าของทรัพยากรท่องเที่ยว มุมมองนโยบายดังกล่าว ก่อให้เกิดผลกระทบด้านการกระจายรายได้ ความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม และความร่อยหรอของทรัพยากรท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน
 
หากเราปล่อยให้การท่องเที่ยวไทยพัฒนาไปในรูปแบบปัจจุบัน คือเน้นด้านการตลาดและการหารายได้แต่เราปล่อยให้การบริหารจัดการท่องเที่ยวยังแยกส่วนดังเช่นปัจจุบัน หากเราปล่อยให้ใครมือยาวสาวได้สาวเอาจากทรัพยากรท่องเที่ยว อนาคตการท่องเที่ยวไทยจะเป็นอย่างไร? ซึ่งในวันศุกร์ที่ 27 มกราคม 2555 จะมีการประชุมเรื่อง“ท่องเที่ยวไทย: ก้าวย่างอย่างไรเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” 
 
นโยบายสาธารณะของไทยที่ผ่านมาเน้นด้านการตลาดหรือด้านอุปสงค์ (Demand) เป็นหลัก และเป็นนโยบายที่เน้นผลประโยชน์ให้แก่ธุรกิจ ดังนั้นประชาชนคนไทยทั่วไปมีความเห็นต่อนโยบายสาธารณะในด้านการท่องเที่ยวอย่างไรจึงเป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะคนไทยเป็นองค์ประกอบสำคัญของการท่องเที่ยว การศึกษาของสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่ พบว่า อัธยาศัยคนไทยเป็นองค์ประกอบการท่องเที่ยวที่คนต่างชาติพอใจมากที่สุด การที่ประชาชนคนไทยไม่เห็นด้วยกับนโยบายการท่องเที่ยวจะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถยืนหยัดในการแข่งขันระหว่างประเทศด้านการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน การประชุมนี้ยังตอบคำถามด้วยว่าสถานภาพและความสามารถในการแข่งขันของไทย (Competitiveness) เทียบกับคู่แข่งนานาประเทศเป็นอย่างไร 
 
การประชุมสัมมนาทางวิชาการในครั้งนี้ก็เพื่อตอบคำถามหลักๆ ว่า คนไทยได้อะไรจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว ภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวสร้างผลประโยชน์และต้นทุนอะไรให้แก่ประเทศไทย ภาคท่องเที่ยวจะคืนทุนให้แก่สังคมอย่างไร ประเด็นเชิงนโยบายที่ควรระมัดระวังในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในอนาคตจะเป็นอย่างไร การสัมมนาครั้งนี้ยังได้เน้นการศึกษาความสามารถในการแข่งขันของไทยกับนานาประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้เชิญผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ Branding ของสเปน อีกด้วย ซึ่งการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นที่ โรงแรม รามา การ์เด้น กรุงเทพฯ เวลา 08.00 - 16.30 น. จองที่นั่งฟรี เหลือจำนวน 50 ที่นั่ง สามารถติดต่อเข้าร่วมการประชุมได้ที่สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0-5332-7590-1 ต่อ 11 โทรสาร 0-5332-7590-1 ต่อ 16 หรือ E-mail:aunapaporn99@gmail.com
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์: อมตภาพของสมบูรณาญาสิทธิราชย์

Posted: 20 Jan 2012 05:05 AM PST

การปฏิวัติที่ไม่เสียเลือดเนื้อในปี 2475 ทำให้ประเทศสยามสามารถล้มเลิกระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีอายุนับร้อยปีแล้วแทนที่ด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ ในฐานะที่เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคม (อย่างเป็นทางการ) ของมหาอำนาจตะวันตก สิ่งนี้เองที่ทำให้สยามมีความภาคภูมิใจในอิสรภาพเป็นอย่างมาก นักประวัติศาสตร์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมส่วนใหญ่เห็นว่าเกียรติยศของสยามประเทศดังกล่าวล้วนได้มาด้วยพระปรีชาสามารถและวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของบูรพกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (2411 - 2453) ซึ่งปกครองราชอาณาจักรในช่วงที่กระแสการล่าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ขึ้นสู่จุดสูงสุด กลยุทธ์อันแยบคายในการบริหารความสัมพันธ์กับมหาอำนาจนอกราชอาณาจักรของพระองค์นั้นได้รับการยกย่องสรรเสริญเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม พระปรีชาสามารถที่ยากจะหาผู้เปรียบได้ของพระองค์กลับก็ไม่สามารถรับประกันความยั่งยืนของระบอบราชาธิปไตยได้ เพียง 22 ปีหลังการสวรรคตของพระจุลจอมเกล้าฯ ประเทศไทยก็ได้พานพบกับการล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในสองรัชสมัยถัดมาคือ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (2453-2468) และพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (2468-2478) ได้แสดงให้เห็นว่าไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวการณ์ทางการเมืองได้ จนถึงวันนี้เกือบ 80 ปีผ่านไปแล้วนับจากการล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้พระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันจะทรงประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการฟื้นฟูและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานภาพและพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่การแปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2549 นั้น ได้สร้างความสั่นคลอนให้กับสถาบันกษัตริย์ คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ สถาบันกษัตริย์จะสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงความยืดหยุ่น และที่สำคัญกว่าคือความยึดโยงกับสังคมไทยสมัยใหม่อยู่ต่อไปได้หรือไม่ ทั้งนี้ หากมองไปรอบๆ ตัวเราจะพบว่า ระบบราชาธิปไตยของหลายๆ ประเทศในโลกต่างประสบชะตากรรมในทำนองเดียวกันเพียงเพราะว่าไม่สามารถอยู่ร่วมกับระบอบประชาธิปไตยได้

บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่ออธิบายถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ไทยต่อบริบททางการเมือง โดยต้องการคลายปมปัญหาสำคัญข้อหนึ่งที่ว่า : อะไรคือมรดกตกทอดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสิ่งนี้ได้หล่อหลอมวัฒนธรรมทางการเมืองไทยในหลายปีที่ผ่านมาอย่างไร เราอาจพูดได้ว่า ถึงแม้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะได้ล่มสลายไปหลายทศวรรษ แล้ว แต่ยังคงมีผลกระทบครอบงำองคาพยพทางการเมืองไทยอย่างยิ่งยวด อาจถึงขนาดที่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการประชาธิปไตย และตอกย้ำให้ความแตกแยกทางการเมืองที่กำลังขยายตัวแตกร้าวหนักยิ่งขึ้น นี่คือหนึ่งในมูลเหตุเบื้องหลังความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงไม่ กี่ปีที่ผ่านมานี้ การก้าวขึ้นสู่อำนาจของ พตท ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2544 ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่ออมาตยชน วิธีหนึ่งที่ใช้จัดการกับภัยคุกคามนี้ได้คือการกล่าวหาว่าทักษิณกำเริบเสิบสาน และไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ในกระบวนการนี้ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อจัดการกับฝ่ายตรงข้ามและผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง แต่การใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมืองนั้นกลับส่งผลในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ ได้ส่งผลให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอลงอย่างมาก บทความนี้เสนอแนะว่า การจะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ยืนยงสืบไปได้นั้น ฝ่ายราชานิยมต้องยินยอมพร้อมใจให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง รวมถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีความล้าหลัง กลุ่มราชานิยมจะต้องเลิกสมมติอย่างทึกทักไปเองฝ่ายเดียวว่า สถาบันกษัตริย์ยังได้รับความจงรักภักดี (โดยปราศจากคำถาม) จากคน ไทยทุกคน—ซึ่งนี่อาจจะไม่เป็นความจริงอีกต่อไปแล้ว

 

วิญญาณหลอนของสมบูรณาญาสิทธิราชย์

แม้ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะจบสิ้นไปนานแล้ว แต่อิทธิพลของระบอบนี้ยังคงมีอยู่อย่างท่วมท้นและทรงพลานุภาพยิ่ง หากมองย้อนกลับไป จุดประสงค์ดั้งเดิมของการเลิกล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นก็เพื่อยกเลิกรูปแบบการปกครองที่ถือว่าไม่มีอารยะ และเพื่อให้สยามรับแนวคิดการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ฝ่ายราชานิยมกลับตระหนักถึงความจำเป็นที่จะรักษาไว้ซึ่งลักษณะบางประการของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพื่อช่วยปกป้องสถานะทางอำนาจที่พวกเขาเคยมี ปัจจุบัน มีมุมมอง 2 ด้านของสถาบันกษัตริย์ที่ขัดแย้งกันอยู่ –ซึ่งมุมมองเหล่านี้เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับพสกนิกร ในด้านหนึ่งเป็นมุมมองแบบมาตรฐานทั่วไปต่อสถาบันกษัตริย์ ในด้านนี้จะเน้นให้เห็นถึงคุโณปการของสถาบันกษัตริย์ที่มีต่อประเทศ โดยหลักก็คือ การเป็นศูนย์รวมใจชาวไทยทั้งชาติและเป็นผู้ปกป้องบูรณภาพของแผ่นดิน จากงานวิจัยที่ชื่อ Saying the Unsayable: Monarchy and Democracy in Thailand (2010) ของ Soren Ivarsson และ Lotte Isager อธิบายว่า ในมุมมองแบบปกติทั่วไปนั้นกษัตริย์คือผู้ปกปักษ์รักษาทั้งจารีตประเพณี ชาติ และ ประชาธิปไตย; คือนักพัฒนาของคนไทยทุกหมู่เหล่าที่ทรงมีความเป็นสมัยใหม่ คอยให้คำแนะนำแก่รัฐบาล ให้ความดูแลทุกข์สุขแก่พสกนิกรของพระองค์ และเป็นสถาบันที่หล่อหลอมวัฒนธรรมการเมืองและสังคมไทยเฉกเช่นเดียวกับที่ “ข้าว”เป็นอาหารหลักของคนไทยมาช้านาน แต่ในขณะเดียวกันพระราชอำนาจอันทรงพลานุภาพที่ถูกปกป้องไว้ด้วยเกราะกำบังของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ก่อให้เกิดมุมมองอีกด้านหนึ่งต่อสถาบันกษัตริย์ ด้านนี้สะท้อนถึงความเชื่อที่ว่า พระราชอำนาจที่ยิ่งใหญ่อาจเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการทางประชาธิปไตย การยกย่องสรรเสริญพระราชอำนาจของฝ่ายราชานิยมอย่างล้นเกินนั้นถูกมองว่าอาจ เป็นการลดความสำคัญของสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง กลุ่มราชานิยมได้ร่วมมือจากนักประวัติศาสตร์อนุรักษ์นิยมและสื่อที่ทรงอิทธิพลในการสร้างภาพด้านลบต่อสภาพการเมืองของไทย ซึ่งแปดเปื้อนไปด้วยนักการเมืองเลวร้ายและไร้ศีลธรรม สำหรับพวกเขาแล้ว ข้อบกพร่องของระบบการเมืองไทยไม่ได้เกิดจากการเข้ามาแทรงแซงของสถาบันอำนาจนอกระบบรัฐสภา แต่เกิดจากการบรรดานักการเมืองที่ไร้ความรับผิดชอบและไร้จริยธรรมต่างหาก จากทัศนคติที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์นี้ จุดจบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงไม่ได้หมายถึงการจบสิ้นของ พระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ในทางตรงข้ามกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ซึ่งฝ่ายราชานิยมได้อ้างสิทธิโดยธรรมในการเข้าแทรกแซงทางการเมืองอย่างต่อเนื่องเมื่อใดก็ตามที่พวกเขาเห็นว่ามีความจำเป็น แม้ว่าสิ่งที่พวกทำ (อาทิ การปกป้องผลประโยชน์ทางการเมืองของตน) นั้นอาจจะมีความเลวร้ายไม่น้อยไปกว่าสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามของพวกเขาทำก็ตาม วิญญาณของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงยังคงตามหลอกหลอนการเมือง ไทยตราบจนทุกวันนี้

ก่อนอื่น มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องอธิบายให้กระจ่าง ณ จุดนี้ว่า เมื่อพูดถึง “สถาบันกษัตริย์” คำนี้ไม่ได้หมายความถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือพระบรมวงศานุวงศ์ ในเชิงบุคคลแต่อย่างเดียว แต่คำนี้มีหมายความถึงองคาพยพทั้งหมดที่เกาะเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งหมายรวมถึง ราชนิกุล องคมนตรี (ที่ปรึกษาและผู้ปฏิบัติงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาท) รวมถึงฝ่ายราชานิยมซึ่งได้ปวารณาตัวที่จะปกป้องสถาบันกษัตริย์ในทุกภาคส่วน ของสังคม เช่น กองทัพ หน่วยงานราชการ พรรคการฝ่ายเมืองฝ่ายราชานิยม และกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ด้วย กลุ่มราชานิยมนี้แม้ว่าจะมีจุดยืนร่วมกันในการรักษาไว้ซึ่งพลานุภาพของพระราชอำนาจ แต่ก็ไม่ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พวกเขามีผลประโยชน์ มีแนวคิด มีมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างกันออกไป ในงานวิจัยที่ชื่อ “Network Monarchy and Legitimacy Crisis in Thailand” ซึ่งจัดพิมพ์โดย Pacific Review ในปี 2548 ศ. Duncan McCargo นักวิชาการชาวอังกฤษได้เรียกองคาพยพทั้งหมดนี้ว่า “Network Monarchy” หรือ “เครือข่ายสถาบันกษัตริย์” McCargo เสนอว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะเข้าใจการเมืองไทยก็คือการมองผ่านมุมมองของเครือข่ายอำนาจหลากหลายที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน มีการต่อรองอำนาจกัน หรือแม้แต่มีการขัดแย้งกันต่อกัน ซึ่งสำหรับเขาแล้ว ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานี้ เครือข่ายอำนาจที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประเทศไทยคือเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์อยู่บนส่วนยอดของเครือข่าย มีฝ่ายบริหารที่นำโดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตผู้บัญชาการกองทัพและอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งในปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี อย่างไรก็ดี แม้แต่ก่อนที่จะมีการก่อตั้งเครือข่ายสถาบันกษัตริย์นี้ กลุ่มกษัตริย์นิยมในรุ่นก่อนได้มีความพยายามรักษาไว้ซึ่งมรดกของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ควบคู่ไปกับความต้องการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ หรือที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทย (Thai-style democracy) ที่ยังวนเวียนอยู่รอบพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หรือพูดให้ง่ายก็คือ แม้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะสิ้นชีพไปแล้ว แต่คุณลักษณะหลายด้านของระบอบนี้ยังคงอยู่รอดปลอดภัย และได้รับการปกป้องรักษาไว้เป็นอย่างดี จากบทความเรื่อง “มรดกของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ของ ศ. ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ที่ปรากฏในวารสารฟ้าเดียวกัน ได้กล่าวไว้ว่า จนถึงปัจจุบัน คตินิยมทางสังคมและทางการเมือง ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ชุดความคิด และสถาบันพระมหากษัตริย์เองนั้น ต่างก็ฝังรากยึดโยงอยู่กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนให้สถาบันกษัตริย์มีบทบาทเป็นแบบอย่างของวิถีชีวิตคนไทยนั้นเปรียบเสมือนดาบสองคมที่ส่งผลทางลบต่อพัฒนาการการเมืองของประเทศไทย

เนื่องจากการสรรเสริญเยินยอพระเกียรติและกระบวนการยกสถาบันให้มีความศักดิ์สิทธิ์เยี่ยงเทวราชอย่างไม่หยุดหย่อน ตลอดรัชสมัยของรัชกาลปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดสายใยที่แนบแน่นระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสังคมและการเมือง ทำหน้าที่เสมือนราวกับว่าเป็น “เรือนจำ” ที่กักขังไม่ให้คนไทยสามารถแสดงความคิดเห็นที่ต่างไปจากกรอบคิดกระแสหลัก “การคิดนอกกรอบ” กลายเป็นสิ่งต้องห้ามเนื่องจากมันอาจคุกคามต่อสถานะของเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ คนที่ละเมิดข้อห้ามดังกล่าวมากมายถูกลงทัณฑ์ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปีตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งมีบทลงโทษรุนแรงที่สุดในโลก ซึ่งเป็นเรื่องน่าขันที่คุณจะพบการลงโทษแบบนี้เฉพาะในประเทศที่อ้างตัวเองว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ (“ประเทศไทย”มีความหมายตามตัวอักษรว่า “ดินแดนแห่งเสรีภาพ”) เท่านั้น กรอบดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่เรื่องสัพเพเหระไปจนถึงกฎเกณฑ์สำคัญ จากต้องยืนตรงในโรงภาพยนตร์เมื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีบรรเลงขึ้น จนถึงการยืนตรงเคารพธงชาติทุกๆ 8 โมงเช้า และ 6 โมงเย็นเมื่อเพลงชาติถูกบรรเลงออกอากาศ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ประชาชนจักต้องไม่แสดงการขัดขืนหรือต่อต้านเมื่อต้องเผชิญกับการแทรกแซงทางการเมืองอย่างโจ่งแจ้งของฝ่ายราชานิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ล่มสลายลงแล้วแต่กลุ่มราชานิยมและกลุ่มชนชั้นสูงสามารถเอาตัวรอดได้อย่างปลอดภัย ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์การเอาตัวรอดของคนกลุ่มนี้คือการสร้างความเชื่อที่ว่า ประเทศชาติจำเป็นต้องเลือกรับเฉพาะแนวคิดที่เหมาะสมกับประเทศเท่านั้น โดยเฉพาะแนวคิดที่มีต้นกำเนิดจากต่างชาติ แนวคิดจากชาติตะวันตก เช่นว่า ประชาธิปไตยนั้นจะต้องถูกนำมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความเชื่อ วัฒนธรรม ชุดความคิด และขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นดั้งเดิม ไม่อย่างนั้นแล้วประเทศไทยจะสูญเสียเอกลักษณ์ที่เรียกว่า “ความเป็นไทย” แต่เราต้องตั้งข้อสังเกตว่า หลักการเรื่องความเป็นไทยนี้ที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบหลักของประเทศไทย ได้แก่ ชาติ ศาสนาพุทธ และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ได้รับการสร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลพระมงกุฎเกล้าฯ นั้น ก็ถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองมาตลอด โดยเฉพาะในการอนุรักษ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้ยืนนานต่อไป

 

เหล้าเก่าในขวดใหม่

หลังจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์มานั้น ไทยประกาศใช้การปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ก็เป็นประชาธิปไตยแค่เปลือกนอกเท่านั้น แก่นแท้ในนั้นยังคงมีอุดมการณ์แบบกษัตริย์นิยมฝังไว้ต่างจากภาพที่เห็นจากภายนอก นี่คือสิ่งที่คนไทยส่วนมากเรียกว่า “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” กล่าวคือ แม้จะมีรูปแบบที่เป็นประชาธิปไตยแต่ฝ่ายราชานิยมก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในทางการเมือง ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นได้ถูกนฤมิตขึ้นให้สอดรับกับทัศนะของคนกรุงเทพฯ เป็นหลัก รวมถึงการสร้างประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม และความเชื่อที่ว่าพุทธศาสนาคือศาสนาประจำชาติ โดยความเชื่อเหล่านี้ ล้วนมีสถาบันกษัตริย์เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ ทำหน้าที่ผูกโยงชุด ความคิดที่ต้องการให้ประชาชนยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข ผลที่ตามมาก็คือ ฝ่ายราชานิยมประสบความสำเร็จเบื้องต้นในการสร้างรัฐไทยที่เป็นหนึ่งเดียว (unitary state)ซึ่งให้ความสำคัญกับสถาบันกษัตริย์อย่างท่วมท้น ยกตัวอย่างเช่น บทบาทของกษัตริย์ในการปกป้องอิสรภาพและอธิปไตยของชาติ ที่ได้ถูกปลูกฝังในจิตสำนึกของประชาชน มีการสรรเสริญบูรพกษัตริย์ในอดีตอย่างไม่หยุดหย่อนในเรื่องพระปรีชาสามารถในการปกป้องผืนแผ่นดิน ไทย (และมักใช้เป็นข้ออ้างในการขับไล่ผู้ไม่เห็นด้วยทางการเมืองออกจากประเทศด้วยเหตุของการ “เนรคุณ” บูรพกษัตริย์) ดังนั้น บ่อยครั้งที่กลุ่มราชนิยมได้กระตุ้นให้เกิดกระแสชาตินิยม โดยการเน้นย้ำถึงการสูญเสียในดินแดนบางส่วนที่เชื่อว่าเคยเป็นผืนแผ่นดินไทย ทั้งๆ ที่ในความจริงนั้น วาทกรรมเรื่องการเสียดินแดนจะเป็นเพียงมายาคติ ชุดความคิดนี้ไม่เพียงแต่กระตุ้นให้เกิดกระแสชาตินิยมอย่างรุนแรง แต่ยังรวมถึงกระแสราชานิยมด้วย ถึงระดับที่ว่า ประชาชนต้องพร้อมที่จะยอมสละชีพเพื่อปกป้องชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยปรัชญาเหล่านี้เอง จึงทำให้ไม่เหลือพื้นที่ให้กับประชาชนที่มีความคิดต่าง โดยเฉพาะกลุ่มที่ตั้งคำถามถึงบทบาทที่แท้จริงของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กระบวนการยกย่องสรรเสริญสถาบันพระมหากษัตริย์ได้เพิ่มความเข้มข้นขึ้นจนถึงระดับที่น่าเป็นกังวลใจ พระมหากษัตริย์ได้กลายเป็นมากกว่าประมุขของประเทศ โดยถูกยกให้กลายเป็นเสมือนเทพเจ้าที่ใครจะล่วงละเมิดมิได้ ในขณะเดียวกันก็มีภาพลักษณ์อีกด้านหนึ่งของของการเป็น “พ่อของแผ่นดิน” ภาพลักษณ์ในด้านนี้ได้ปรากฏอย่างชัดเจนในช่วงต้นของรัชสมัยปัจจุบัน เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จฯ เยือนเกือบทุกแห่งหนตำบลในประเทศนับครั้งไม่ถ้วน โดยทรงมุ่งหวังจะสร้างความผูกพันกับพสกนิกรของพระองค์ อาจเรียกได้ว่า ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะสามารถเทียบทันสถาบันกษัตริย์ได้ในการเอาชนะใจปวงชน พิสูจน์ได้จากการที่ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อมั่นเสมอว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นคำตอบสุดท้ายในทุกวิกฤติการณ์ของชาติ แต่ความขัดแย้งระหว่างภาพลักษณ์สองด้านข้างต้นทำให้เกิดความสับสนยิ่ง แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะมีพระราชประสงค์ในการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพสกนิกรมากเท่าใด แต่ภาพลักษณ์ด้านที่เป็นเสมือนเทวราชากลายมาเป็นกำแพงกั้นกลางระหว่างกษัตริย์กับพสกนิกรอยู่เสมอ ธรรมเนียมปฏิบัติเก่าแก่ไร้อารยะมากมายได้ถูกรื้อฟื้นขึ้น อาทิ การหมอบคลาน เป็นต้น เป็นเรื่องน่าคิดที่ว่า การหมอบคลานนี้ได้ถูกยกเลิกมาตั้งแต่ปี 2416 ในสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ พระอัยกาของรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งทรงเห็นว่าการปฏิบัติดังกล่าวเป็นเรื่องป่าเถื่อนและล้าสมัย การฟื้นฟูธรรมเนียมเหล่านี้นับว่าเป็นความประสงค์ให้มีการยกสถานะของพระมหากษัติรย์ในลักษณะของการเป็นเทวาธิราช มากกว่าการเป็นธรรมราชาธิราช สถานะที่แตกต่างนี้มีความซับซ้อนยิ่งเมื่อมีการพิจารณาถึงบทบาทของกษัตริย์ในบริบททางการเมือง เกี่ยวกับเรื่องนี้ นาย Paul Handley ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The King Never Smiles ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ฝ่ายราชานิยมมีบทบาทเด่นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้ดูเสมือนราวกับว่า พระมหากษัตริย์ลงมาเป็นผู้เล่นในเกมการเมืองเสียเอง และก่อให้เกิดคำถามต่อความเข้าใจที่ว่า สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองจริงหรือไม่ เมื่อใดก็ตามที่สถาบันกษัตริย์ถูกดึงเข้ามาสู่พื้นที่สาธารณะในบทบาทของการเป็นตัวแสดงทางการเมือง ก็ย่อมนำไปสู่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางอำนาจ (conflict of interest) หากมองเช่นนี้ เมื่อใดก็ตามที่ไทยมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง ก็มักถูกมองว่าเป็นภัยต่อสถาบันกษัตริย์ นับตั้งแต่ทักษิณ สมัคร สมชาย และอาจรวมถึงยิ่งลักษณ์ ดังที่กล่าวข้างต้น หนทางหนึ่งของการกำจัดภัยเหล่านี้คือการใช้มาตรา 112 ในการห้ำหั่นคู่ต่อสู้ ตามสถิตินั้น ในปี 2548 มีคดีที่เกี่ยวกับกฏหมายหมิ่นฯ ขึ้นสู่ศาลชั้นต้นทั้งสิ้น 33 คดี ซึ่งได้รับการยกฟ้องในเวลาต่อมา 18 คดี ในปี 2550 จำนวนคดีเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าเป็น 126 คดี และยังเพิ่มขึ้นเป็น 164 คดีในปี 2552 ก่อนจะเพิ่มขึ้นอีกสามเท่าตัวเป็น 478 คดีในปี 2553 ช่วงเวลาที่จำนวนคดีดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจอยู่ภายใต้รัฐบาลของพรรค ประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ(2551-2554) จากการศึกษาของ ดร. David Streckfuss นักวิชาการชาวอเมริกันพบว่าอาจมีผู้ถูกจำคุกเนื่องจากคดีหมิ่นฯ เหล่านี้รวมแล้วนับหลายราย

ความ พยายามที่จะสร้างความมั่นคงเข้มแข็งให้กับสถาบันกษัตริย์ส่วนมากนับเป็นผลงาน ของฝ่ายราชานิยม แต่จำนวนไม่น้อยก็เป็นผลอันเนื่องมาจากพระราชกรณียกิจของพระองค์เอง โดยเฉพาะในฐานะของกษัตริย์นักพัฒนาผู้มีบทบาทอย่างสูงกับสังคมไทย ในงานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับราชานิยมล้นเกิน (hyper-royalists) ที่ชื่อ “The Monarchy and Anti-Monarchy: Two Elephants in the Room of Thai Politics” ดร. ธงชัยได้กล่าวถึงการกลับมาของลัทธิราชานิยมในฐานะวัฒนธรรมสาธารณะว่า การเพิ่มขึ้นของความนิยมต่อพระมหากษัตริย์จะเห็นได้ชัดในช่วงหลังการจราจลในปี 2516 โดยความนิยมนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า สถาบันกษัตริย์ได้มีส่วนเข้ามายุติวิกฤตการณ์ทางการเมืองในครั้งนั้น รวมถึงครั้งต่อมาในปี 2535 ด้วย นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองในภูมิภาคก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้สถาบันกษัตริย์เข้ามามีบทบาทสำคัญทางการเมือง โดยในช่วงที่แนวคิดระบอบคอมมิวนิสต์กำลังแพร่กระจายทั้งในและนอกเขตแดนไทย สถาบันกษัตริย์ได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์ แม้กระทั่งหลังจากที่สงครามเย็นจบสิ้นลงแล้ว ขณะที่รัฐบาลหลายชุดถูกโค่นล้มจากกระดานการเมือง แต่ตำแหน่งและสถานะของสถาบันกษัตริย์กลับมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นมาโดยตลอด การเข้ายุติจลาจลในปี 2535 เปรียบเสมือน “trophy” อีกชิ้นหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ในฐานะของผู้รักษาเสถียรภาพให้กับระบบการเมืองไทย จึงเห็นได้ชัดว่าเป้าหมายของฝ่ายราชานิยมนั้นยากที่แยกออกจากการเมือง แต่คำถามสำคัญก็คือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนี้เหมาะสมกับประเทศไทยมากน้อยเพียงใด (Does it really work?) จากที่ได้ย้ำไปข้างต้นว่า มีลักษณะหลายด้านของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ได้รับการปลูกฝังให้เข้ากับระเบียบการเมืองแบบใหม่ในปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริง ลักษณะเหล่านั้นไม่สามารถอยู่ร่วมกับคุณค่าสมัยใหม่ของระบอบประชาธิปไตย นำไปสุ่ความขัดแย้งทางด้านกรอบความคิด อาทิ ความขัดแย้งระหว่างอำนาจของพระมหากษัตริย์และอำนาจที่มาจากเสียงข้างมากของประชาชน (Royal power VS Popular mandate) ดร. ธงชัยเห็นว่าที่จริงแล้ว คำว่าประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนี้มันเป็นคำปฏิพจน์ที่มีความหมายขัดแย้งในตัวเอง (oxymoron) เหมือนกับหลุมดำขนาดใหญ่ที่จะดูดกลืนระบบการเมืองทั้งหมดเข้าไปในตัวมัน

 

ปรากฏการณ์ “ตาสว่าง”

ช่วงก่อนและหลังรัฐประหารในปี 2549 ได้เกิดปรากฏการณ์บางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อมรดกของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทางการเมือง และได้เริ่มส่งสัญญาณของ “การเสื่อมความนิยมของแนวคิดราชนิยม” ออกมา ความเสื่อมนี้เกิดมาจากน้ำมือของกลุ่มราชานิยมเอง ตัวอย่างเช่น กรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือกลุ่มเสื้อเหลืองนิยมเจ้า ออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนและใช้สัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือในการโค่นระบอบทักษิณ คำขวัญอย่างเช่น “สู้เพื่อในหลวง” ได้ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับเป้าหมายทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า ความท้าทายที่แท้จริงต่อมรดกตกทอดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ใช่การเคลื่อนไหวของทักษิณ หรือจากฝ่ายที่ถูกเรียกว่าเป็นพวกต่อต้านสถาบันแต่อย่างไร แต่กลับกลายเป็นกลุ่มพวกราชาชาตินิยมล้นเกิน (Hyper-Royalists) เสียเองต่างหาก พวกเขาได้ยังคงปฏิเสธที่จะเผชิญหน้ากับความจริงใหม่ๆ ทางการเมือง ฤาประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้ง? ความไม่สามารถของสถาบันพระมหากษัตริย์ (และเครือข่ายพระมหากษัตริย์) ที่จะปรับตัวให้ทันกับกับความ เปลี่ยนแปลงของสภาวการณ์ทางการเมืองเป็นสาเหตุเดียวกันของการล่มสลายของ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2475 จะต่างกันบ้างก็ที่การเสื่อมถอยในวันนี้ถูกเร่งเครื่องด้วยปรากฏการณ์ล่าสุดทางการเมืองไทยที่เรียกว่า ปรากฏการณ์ “ตาสว่าง” สรุปโดยสั้น “ตาสว่าง” เป็นปรากฏการณ์ที่คนไทยจำนวนมากตระหนักและเข้าใจว่าประเทศไทยไม่เคยก้าวข้ามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันระบอบประชาธิปไตยของเราก็ได้ถูกตีรวนมาโดยตลอด หากสถาบันกษัตริย์ต้องการแสดงบทบาททางกาเมือง ประชาชนก็ควรจะมีสิทธิ์ในการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบบทบาทเหล่านั้น การขยายตัวของกระแส “ตาสว่าง” ดังกล่าวไม่ว่าจะในที่ลับหรือที่แจ้ง จะชักนำให้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มากขึ้น เสียงของผู้วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ดังกึกก้องขึ้น ชัดเจนขึ้น ยิ่งกว่าช่วงเวลาใดในประวัติศาสตร์ไทยในอดีต

ในการวิเคราะห์เรื่องบทบาทของสถาบันกษัตริย์นั้น การสืบสันตติวงศ์ย่อมเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ บทความนี้ขอกล่าวส่งท้ายว่า กระบวนการยกย่องสรรเสริญพระเกียรติที่ขาดความพอเพียงในขณะนี้นั้น ไม่เพียงแต่จะเผยให้เห็นถึงความกังวลใจ (anxiety) ของกลุ่มราชานิยมที่พยายามจะยึดติดกับอดีตอันรุ่งโรจน์แล้ว ยังมีผลข้างเคียงต่อรัชกาลถัดไปที่จะต้องแบกรับความกดดันอันยิ่งใหญ่ ทางออกของวิกฤตการณ์นี้จึงขึ้นอยู่กับความเข้าใจของบุคคลในเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ต่อสถานการณ์การเมืองที่เป็นจริง และความยินยอมพร้อมใจที่จะปฏิรูปตัวเองโดยการยอมสละซึ่งมรดกตกยุคที่ตกทอดมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปให้ได้ในที่สุด

หมายเหตุ: บทความนี้แปลจากบทความภาษาอังกฤษของผู้เขียน: Pavin Chachavalpongpun, “Thailand: The Die-Hard Absolute Monarchy?”, Harvard International Review, Vol. 23, Issue 3 (24 December 2011)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดมติสมัชชาสุขภาพภาคใต้ (5) คุมเข้มโฆษณาอาหารและยา–ผลิตภัณฑ์สุขภาพ

Posted: 20 Jan 2012 04:45 AM PST

มาถึงวันนี้ งาน “สมัชชาสุขภาพภาคใต้” กลายเป็นอีกงานใหญ่ประจำปีของกลุ่มกิจกรรมใน 14 จังหวัดภาคใต้ ที่รวมตัวกันในนาม “”เครือข่ายสุขภาพภาคใต้” ไปแล้ว

คราวนี้ “เครือข่ายสุขภาพภาคใต้” จัดงาน “สมัชชาสุขภาพภาคใต้” ระหว่างวันที่ 13–15 มกราคม 2555 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ใต้ จังหวัดตรัง 

ที่ประชุมที่มีแกนนำเครือข่ายจากจังหวัดต่างๆ เดินทางเข้าร่วมกันอย่างคับคั่งหลายร้อยคน ร่วมกันพิจารณาและลงมติในหลากหลายประเด็น ซึ่ง  “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” ขอนำรายละเอียดในแต่ละมติมานำเสนอเรียงเป็นรายประเด็น ดังต่อไปนี้

 

……………………………………………………..

 

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 ระเบียวาระที่ 2.1  วันที่ 2–4 กุมภาพันธ์ 2555

การจัดการปัญหาโฆษณาอาหารและยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม และอินเทอร์เน็ต

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พิจารณารายงานเรื่องการจัดการปัญหาโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม และอินเทอร์เน็ต

กังวล ต่อสถานการณ์ที่เลวร้ายของการโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพในปัจจุบันที่อวดอ้างสรรพคุณทางสุขภาพเกินจริง ผ่านทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม และอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย มีอิทธิพลต่อผู้บริโภค และมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว

ห่วงใย ว่าระบบและกลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ไม่ทันสมัยและขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้ 

ตระหนัก ถึงโทษภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค รวมถึงความสูญเปล่าด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากอิทธิพล ของการโฆษณาดังกล่าว รวมทั้งความสำคัญของระบบและกลไกการควบคุมและเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพ

ชื่นชม ต่อความพยายามของทุกภาคส่วน ที่ต้องการพัฒนาระบบและกลไกการควบคุมและเฝ้าระวังการ โฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ปราศจากการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เป็นเท็จและหลอกลวงผู้บริโภค

เห็นว่า การแก้ปัญหาการโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้ผล ควรให้ความสำคัญแก่การพัฒนาศักยภาพของผู้บริโภคและสังคม ให้รู้เท่าทันการโฆษณา และมุ่งจัดการปัญหาด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

จึงมีมติดังต่อไปนี้

1.ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการสนับสนุนการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาที่ทันต่อสถานการณ์ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชน และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ เช่น ข้อมูลการอนุญาต และข้อเท็จจริงเชิงวิชาการของผลิตภัณฑ์

ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพิ่มบทลงโทษ กับการโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย

เฝ้าระวัง จัดการ และดำเนินคดีกับโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอย่างมี ประสิทธิภาพ โดยกำหนดเป็นแนวทางมาตรฐานและใช้ปฏิบัติร่วมกัน และประกาศข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคและสังคมไทยรู้เท่าทันปัญหา

สนับสนุนให้คำปรึกษาการดำเนินคดีแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ที่รวดเร็วทันต่อการแก้ปัญหา

2.ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการประกาศและบังคับใช้หลักเกณฑ์การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งกำหนดกลไกการกำกับดูแลอย่างชัดเจน

กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการฯ จัดสรรเวลาอย่างชัดเจน ให้หน่วยงาน หรือองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ได้นำเสนอข้อมูลเพื่อให้เท่าทันการโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ

จัดสรรงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการ โทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ สนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้และทักษะในการรับสื่ออย่างเท่าทัน

3.ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

จัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางสื่อต่างๆ ด้วยกระบวนการที่มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางให้แล้วเสร็จ ภายในปี 2555 และนำเสนอเพื่อรับรองในสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น หรือสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่อไป

ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาสังคม ศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบและกลไกการจัดการกับการโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับพื้นที่เป็นการเร่งด่วน แล้วดำเนินการทดลองระบบและกลไกดังกล่าว

สนับสนุนให้องค์การวิจัยและหน่วยงานสนับสนุนการวิจัย เช่น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม พัฒนาระบบการ เฝ้าระวังการโฆษณาและการประเมินผลกระทบจากการโฆษณา และให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

เร่งดำเนินการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายการโฆษณา และตระหนักในเรื่องการใช้สิทธิผู้บริโภค รวมทั้งให้รู้เท่าทันการโฆษณา ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

4.ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บูรณาการการเฝ้าระวังโฆษณาอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเอกภาพ และพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ให้สามารถจัดการกับช่องทางการสื่อสาร ที่อยู่ในบังคับของกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

5.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ สนับสนุนงบประมาณและการดำเนินงานขององค์กรภาคีเครือข่ายในพื้นที่ รวมทั้งการจัดตั้งกลไกการควบคุมและเฝ้าระวังที่มีส่วนร่วม โดยองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและองค์กรสื่อ ในการดำเนินการให้ได้ผลอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

6.ให้องค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชนเป็นหน่วยงานหลัก ดำเนินการร่วมกับวิชาชีพสุขภาพ สถาบันการศึกษา องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และวิชาชีพอื่นๆ เช่น ครู ทนายความ กำหนดมาตรการ และแนวทางการกำกับดูแล จริยธรรมและจรรยาบรรณ ในการสื่อสารเรื่องอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพสู่ผู้บริโภค

7.ให้ สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เข้าร่วมอย่างเข้มแข็งในกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ และร่วมเป็นเครือข่ายในการควบคุมและเฝ้าระวังสื่อในพื้นที่

8.ให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 หมวด 8 การคุ้มครองผู้บริโภค ข้อ 74 และหมวด 9 การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ ด้านสุขภาพ ข้อ 85 และรายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กองกำลังไทใหญ่ SSA พบประชาชนแจงเลิกเก็บภาษี-เกณฑ์ทหาร

Posted: 20 Jan 2012 04:33 AM PST

เจ้าหน้าที่กองกำลังไทใหญ่ SSA พบประชาชนอำเภอเมืองโต๋น รัฐฉานตะวันออก หลังสงบศึกพม่า ชี้แจงวัตถุประสงค์ เผยจะยกเลิกเก็บภาษี-เกณฑ์ทหาร 
 
มีรายงานว่า เมื่อวานนี้ (19 ม.ค.) เจ้าหน้าที่จากกองทัพรัฐฉาน หรือ กองกำลังไทใหญ่ SSA สังกัดกองพลน้อยที่ 727 ฐานดอยสามสิบ รวม 7 นาย พบปะกับประชาชนตำบลปุ่งป่าแขม อ.เมืองโต๋น (ตรงข้ามอ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่) ชี้แจงทำความเข้าใจกรณีลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า
 
ชาวบ้านที่เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงของเจ้าหน้าที่ SSA คนหนึ่งเปิดเผยว่า คณะเจ้าหน้าที่ SSA ที่ลงพบประชาชนมีร.อ.อ่องศึก เป็นแกนนำ โดยเขากล่าวว่า นับจากนี้กองทัพรัฐฉาน SSA จะยกเลิกการเก็บภาษีต่างๆ จากประชาชน รวมทั้งจะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร  พร้อมกันนั้นเขาได้กล่าวเชิญชวนประชาชนไปร่วมงานวันชาติรัฐฉาน ที่ SSA จะจัดขึ้นในวันที่ 7 ก.พ. นี้ ที่ดอยไตแลง กองบัญชาการใหญ่ของ RCSS/SSA ด้วย
 
ชาวบ้านคนเดิมเผยอีกว่า การพบปะประชาชนของเจ้าหน้าที่ SSA ที่บ้านปุ่งป่าแขม มีประชาชนทั้งไทใหญ่ ลาหู่ และลีซอ เข้าร่วมฟังนับร้อยคน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าคอยอำนวยความสะดวกให้ จากการที่เจ้าหน้าที่ SSA บอกว่า จะไม่เก็บภาษีและเกณฑ์ทหารนั้นทำให้ประชาชนต่างพากันดีใจเป็นอันมาก
 
มีรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 17-19 ม.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กองกำลังไทใหญ่ SSA ชุดดังกล่าว ได้ตระเวณพบปะชี้แจงประชาชนในอำเภอเมืองโต๋น เมื่อวันที่ 17 ม.ค. พบประชาชนตำบลเมืองหาง วันที่ 18 ม.ค. พบประชาชนตำบลนากองมู และวันที่ 19 ม.ค. พบประชาชนตำบลปุ่งป่าแขม
 
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับการยกเลิกการเก็บภาษีประชาชนรวมถึงการยกเลิกการเกณฑ์ทหารนั้น ทางสภากอบกู้รัฐฉาน RCSS กองทัพรัฐฉาน SSA ยังไม่ได้มีการแถลงอย่างเป็นทางการ
 
กองทัพรัฐฉาน SSA ภายใต้การนำของพล.ท.ยอดศึก ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 54 และเมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา สองฝ่ายนัดเจรจาเรื่องกำหนดเขตพื้นที่ปกครองอีกครั้งที่เมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน จากนั้นคณะตัวแทนเจรจาของ SSA ซึ่งนำโดยพ.อ.ป๋องเครือ ได้ตระเวนพบผู้นำชุมชนและแกนนำการเมืองไทใหญ่ในหลายเมืองใหญ่ เช่นเมืองตองจี มัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง และเมืองหมู่แจ้ น้ำคำ ของรัฐฉานด้วย
 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คำตัดสินที่ต้องยอมรับ แต่ขอไม่จำนนต่อความอยุติธรรมที่เราไม่ได้เป็นคนก่อ

Posted: 20 Jan 2012 04:19 AM PST

บทความของคนกำลังจะติดคุก "ไพจิต ศิลารักษ์" เขียนบทความนี้ขึ้น ในช่วงเวลาของการนับถอยหลังสำหรับการที่จะมีอิสรภาพต่อไปหรือจะต้องสูญเสียอิสรภาพ ผมอาจจะติดคุกด้วยความผิดจากความเสียหายมูลค่า 800 บาท

ผมเขียนบทความนี้ขึ้น ในช่วงเวลาของการนับถอยหลังสำหรับการที่จะมีอิสรภาพต่อไปหรือจะต้องสูญเสียอิสรภาพ ผมอาจจะติดคุกด้วยความผิดจากความเสียหายมูลค่า 800 บาท ซึ่งผมคงต้องบอกเล่าเรื่องนี้ไปอีกนานแสนนาน

7 กันยายน 2547 เวลา 10.00 น เศษ ที่ศาลจังหวัดศรีสะเกษ ห้องพิจารณาคดี ที่ 2 เป็นสถานที่นัดหมาย “พยานหลักฐานที่โจทย์นำสืบรับฟังได้ โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นผู้นำกลุ่มผู้ชุมนุมในการพังประตูทางเข้าฝายราษีไศล และบุกรุกเข้าไปภายในฝายราษีไศล ปิดกั้นประตูไม่ยินยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของฝายราษีไศลออกไปภายนอก อันเป็นความผิดตามฟ้อง

พิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก 360 , 365, (2)(3) ประกอบ 364 , 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 เนื่องจากความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ และฐานร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน เป็นความผิดบทหนักที่มีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ จำคุก 2 ปี/.” เสียงผู้พิพากษาอ่านคำตัดสินบน

20 มีนาคม 2551 เวลา 10.00 น. ที่ศาลจังหวัดศรีสะเกษ  “จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358,365,(2) (3) ประกอบมาตรา 362 ,83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 362 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก”

อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวได้ ในชั้นฎีกา โดยใช้หลักประกันเดิม และตีราคาเป็น 400,000 บาท....... 

วันนั้นศาลอุทธรณ์พิพากษาลดโทษจาก 2 ปี เหลือ 1 ปี 6 เดือน ซึ่งควรที่หลักประกันควรที่จะลดลงตามส่วนของโทษที่ลดลง อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไป แต่ผู้พิพากษาศาลศรีสะเกษ ซึ่งเป็นผู้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์กลับเพิ่มหลักประกันขึ้นอีก จาก 350,000 บาท เป็น 400,000 บาท เช่นนี้แหละผมจึงเข้าใจได้อย่างเดียวว่า “เขาเลือกแล้วว่าจะเอา” และ “ยังไงก็จะเอาให้ได้” 

และในวันที่ 24 มกราคม 2555 ศาลจังหวัดศรีสะเกษนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งคงไม่ต้องคาดการณ์อะไรมาก เตรียมลุ้นต่อจะดีกว่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมตอกย้ำความจริงที่ว่า ไม่มีความเป็นกลางสำหรับชาวบ้าน อำนาจไม่เคยมีไว้เพื่อรับใช้คนจน เมื่อใดก็ตามที่คุณพลาด อำนาจก็จะจัดการคุณทันที

ผมหวนคิดถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2550 ขณะที่หลายคนกำลังชุมนุมกันเพื่อรอเผาศพพี่มด ที่วัดวชิรธรรมสาธิต อีกด้านหนึ่งที่ศาลจังหวัดอุบลฯ นัดตัดสินคดีอยู่ ผลการตัดสิน (คดีพี่มด ยึดเขื่อนปากมูล) ก่อนควันไฟจากเตาเผาศพพวยพุ่ง ศาลจังหวัดอุบลฯ สั่งจำหน่ายคดีออกจากสาระบบเพราะจำเลยเสียชีวิต 

นี่ไง คือคำตอบของอำนาจที่จัดการกับผู้ที่ท้าทาย เป็นเรื่องยากที่จะ หรือเรียกหาความยุติธรรมความตายไม่ใช่ทางออกที่เลือกไว้ และการยอมรับโทษตามคำตัดสินก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการยอมจำนน หากแต่เป็นเส้นคั่นระหว่างทาง ที่บางครั้งก็น่าจะเสียเวลาบางเล็กน้อยเพื่อก้าวผ่านมันไป 

ผมไม่รู้ว่าคำพิพากษาศาลฎีกา จะตัดสินออกมาอย่างไร ในวันที่ 24 มกราคม นี้ แต่สิ่งที่ต้องบอกเพื่อรับรู้ร่วมกันว่ายังมีคนจนอีกจำนวนมาก ที่กำลังถูกรัฐใช้กระบวนการยุติธรรมเล่นงานอยู่กว่า 3,800 คดี บทลงโทษที่มักเกิดขึ้นกับคนจนเหล่านี้ มันเป็นความยุติธรรมของใคร กระบวนการยุติธรรมใช้เพียงปรากฏการณ์และมองการเดินขบวนของประชาชน เท่านั้นหรือ ? ผมยืนยันว่าหากไม่มีการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2543 ของชาวบ้านราษีไศล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดประตูเขื่อนราษีไศล และการเรียกร้องในครั้งนั้นก็เป็นเหตุที่นำมาสู่คดีนี้ ผมก็คงไม่ต้องตกเป็นนักโทษเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตรงกันข้ามเพราะมีการชุมนุมในครั้งนั้น ซึ่งนำไปสู่การเปิดประตูระบายน้ำ จึงทำให้ชาวบ้านจำนวนกว่า 70,000 ชีวิต สามารถประกอบอาชีพเดิมอยู่ในชุมชนเดิมได้อย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน

หากเวลาหมุนกลับได้ โดยไม่มีเขื่อนราษีไศล ชุมชนก็ไม่ต้องมีความขัดแย้ง ไม่มีความแตกแยก ครอบครัวจะอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก มีที่ดินทำกินอย่างพอเพียงกับสมาชิกในครอบครัว มีป่าบุ่ง – ป่าทามให้เลี้ยงวัว – ควาย มีปลาสดๆ จากแม่น้ำมูนกินอย่างเต็มอิ่ม และผู้คนมีรอยยิ้มให้กัน

จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลา 19 ปี (เขื่อนราษีไศลสร้างเสร็จและเริ่มกักเก็บน้ำตั้งแต่ปี 2536 – 2555) ใครบ้างได้ทำนาปีละ 2 ครั้ง ใครบ้างได้งานทำ ใครบ้างที่ร่ำรวยเงินทอง สิ่งเหล่านี้ไม่เห็นว่าจะเกิดขึ้นเลย เห็นมีแต่ความยากจน ปนความขัดแย้ง ชุมชนแตกแยก วิถีชีวิตล่มสลาย บ้านช่องเหลือแต่คนแก่กับเด็กอยู่เฝ้า คนหนุ่มสาว คนวัยทำงานอพยพไปรับจ้างขายแรงงานในต่างถิ่น เพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัว

เมื่อคุณเป็นนักโทษด้วยเหตุแห่งการใช้สิทธิในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตชุมชน

เมื่อคุณเป็นนักโทษเพราะพฤติกรรมที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาของรัฐบาล ด้วยเหตุว่าโครงการที่ก่อสร้างขึ้นมานั้น ได้ไปทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้าน รวมทั้งยังไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม คุณได้ร่วมกับชาวบ้านซึ่งเป็นเหยื่อของโครงการพัฒนานั้น เรียกร้องความเป็นธรรมที่สมควรได้รับจากเจ้าของโครงการ กลไกการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนตามโครงสร้างการทำงานของรัฐ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เวลาผ่านไปหลายปี ความเดือดร้อนไม่ได้รับการเยียวยา ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ชาวบ้านไปติดตามทวงถามถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา ไป 3 – 5 คน ก็เจอแค่ภารโรงเฝ้าประตู ไป100 – 200 คน ก็เจอเสมียนหน้าห้อง แต่เมื่อไปเป็น 1,000 คน ก็ได้เจอเจ้าผู้ว่า เจออธิบดี หากไปติดตามการแก้ไขปัญหา 5,000 – 10,000 คน ก็ถึงจะมีโอกาสได้เจอรัฐมนตรี แต่เมื่อชาวบ้านไปกันมากๆ รัฐบาลและราชการก็จะมองว่า “ไอ้พวกม๊อบ” ไม่ยอมทำมาหากิน วัน ๆ คิดแต่เรื่องเดินขบวน ทัศนคติเช่นนี้เกิดกับชาวบ้านตลอดเวลาที่มีการเคลื่อนไหวของชาวบ้านผู้เดือดร้อน

จากนั้นรัฐบาลก็จะใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อมาจัดการกับผู้ชุมนุม เช่น 1.การใส่ร้ายป้ายสี ทำลายความชอบธรรม 2.ส่งคนมาการแทรกแซงในการเคลื่อนไหว 3.จัดม๊อบชนม๊อบ 4.การข่มขู่คุกคามผู้นำ (แกนนำ) และครอบครัว 5.การใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม 6.ปล่อยหมากัด 7.การจับกุม 8.การดำเนินคดีกับผู้นำ และ9.การฆ่าผู้นำขาวบ้านในการเคลื่อนไหว ทุกกลุ่มขบวนการประชาชน จะต้องเจอกับมาตรการเช่นนี้อย่างทั่วถึงกันทุกกลุ่ม 

วิธีการที่รัฐใช้เหล่านี้เพียงเพื่อที่จะไม่ให้มีการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน ในขณะที่รัฐไม่ได้ใส่ใจในการแก้ไขปัญหาเลย ไม่มีใครหรอกที่จะเอาอนาคต เอาชีวิตมาแลกกับการเดินขบวน แต่มันไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เพราะครอบครัวและชุมชนที่ล่มสลายลงด้วยน้ำมือของรัฐ ที่ได้ยัดเหยียดความทุกข์ยากให้ เมื่อออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ก็มีโอกาสเจอกับวิธีการป่าเถื่อนของรัฐ จะกลับไปชุมชนก็ไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ การเดินขบวนจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จำต้องทำ และเมื่อคุณก้าวเท้าออกมาเดินขบวนคุณจะต้องเตรียมใจรับกับสิ่งที่รัฐจะยัดเหยียดให้ อย่างไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้

มีชาวบ้านจำนวนมากที่ต้องเดินขบวน เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากนโยบายของรัฐ โครงการพัฒนาของรัฐอีกมากมาย และจะต้องมีนักโทษการเมืองเช่นนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการจับกุมคุมขังไม่ได้ทำให้ปัญหาความเดือดร้อนหมดไป แต่ตราบใดที่ความไม่เท่าเทียมของคนในสังคม การเอาเปรียบเพื่อแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติไปจากท้องถิ่น ยังรุนแรงอยู่เช่นนี้ การเดินขบวนก็ยังต้องมีต่อไป

หากคุณเป็นชาวบ้านที่ต้องสูญเสียที่ดินทำกิน เพราะน้ำจากเขื่อนมาท่วมนา โดยที่รัฐบาลไม่ให้การช่วยเหลืออะไรเลย และผู้สูญเสียที่ทำกินมีจำนวนหลายพันครอบครัว รวมทั้งญาติพี่น้องคนในชุมชนเดียวกับคุณ คุณจะทำอย่างไร ที่ไม่ต้องเดินขบวน ที่ไม่ต้องเป็นนักโทษการเมือง และไม่ต้องติดคุกด้วย

สงครามแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ระหว่างรัฐผู้มาปล้นชิง กับชาวบ้านในชุมชน ผู้ที่ต่อสู้ปกป้องวัฒนธรรมวิถีชีวิตที่สืบทอดต่อมาจากบรรพบุรุษ อย่างเต็มกำลังความสามารถมันจะต้องดำเนินไป ผ่านมาแล้ว 19 ปี และต้องเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกกี่ปี ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าบทสรุปจะเป็นอย่างไร

จำต้องยอมรับ แต่จะให้ยอมจำนนต่อความอยุติธรรมที่พวกเราไม่ได้ก่อขึ้นได้อย่างไร

หากคำพิพากษาว่าต้องติดคุก ซึ่งเป็นคำตัดสินของศาลฎีกา ผมก็ต้องเข้าคุก เข้าไปอยู่ในคุกเดียวกันกับนักโทษ ปล้น ฆ่า ค้ายาบ้า และนักโทษคดีซึ่งเราเรียกว่า คดีอาชญากรรม โดยที่ผมเป็นนักโทษหนึ่งเดียวที่ติดคุกเพราะบังอาจกระทำการไม่เห็นด้วยการโครงการพัฒนาของรัฐ ผมยังพยายามคิดหาเรื่องเล่าเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกับนักโทษในเรือนจำ แต่ก็ยังคิดไม่ออก เพราะไม่มีประสบการณ์ในการปล้น ฆ่า และอื่น ๆ แต่จำต้องพยามเพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่นให้ได้ หากต้องติดคุกจริง

คำตัดสินที่จะมีขึ้นย่อมถือว่า สิ้นสุดของกระบวนการยุติธรรม แต่ผมยังคงมีคำต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือ กระบวนการยุติธรรม ได้ทำหน้าที่ในการอำนวยความเป็นธรรมอย่างที่ควรจะเป็นหรือยัง เพราะผมมองว่าเป้าหมายของการอำนวยความเป็นธรรม คือการให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข แต่หลังคำตัดสินจะออกมาอย่างไรก็ตาม คนจนถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการอยู่ร่วมในสังคมอย่างปกติสุขหรือยัง ซึ่งเป็นเรื่องที่กระบวนการยุติธรรมจะต้องสำรวจ การทำหน้าที่อำนวยความเป็นธรรมของตนเอง

ติดคุกอย่างไง ผมมั่นใจว่าต้องมีวันถูกปล่อยตัว เมื่อวันนั้นมาถึงหากการกดขี่ยังมีอยู่ ความเดือดร้อนของชาวบ้านยังไม่ได้รับการแก้ไขดังที่เป็นอยู่ ผมก็คงไม่อาจนิ่งเฉยได้ ก็จำต้องร่วมกับพี่น้องเพื่อสู้กับรัฐให้ได้ความเป็นธรรมต่อ ผมยอมรับได้ในคำพิพากษาที่จะมีขึ้น แต่คงมิอาจจำนนต้องความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนจนซึ่งเป็นพี่น้องของผมได้ แล้วผมจะกลับมาอยู่กับพี่น้องของผมอีกครั้ง.......

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สนธิ" ยุทหารให้รีบปฏิวัติแล้วพธม.จะมาร่วมยึดประเทศคืน

Posted: 20 Jan 2012 03:58 AM PST

"สมเกียรติ" เชื่อระบอบทักษิณจ้างนักรบกัมพูชา-เวียดนาม 5,000 คนเพื่อชิงบัลลังก์ "พิภพ" ยัน พธม. ไม่ได้อ่อนแรงลง ถ้าชุมนุมต้องชนะเท่านั้น "สนธิ" โฟนอินลั่นจะไม่ให้ใครตีกินอีก เชื่อมีแต่พลังของ พธม. เท่านั้นที่จะค้ำจุนประเทศชาติได้ พร้อมสั่งทหารอย่านั่งเฉย ให้รีบปฏิวัติ แล้ว พธม. จะมาร่วมยึดประเทศไทยคืนจากพวกชั่ว

วันนี้ (20 ม.ค.) ที่อาคารบ้านเจ้าพระยา มีการเสวนา "ปีใหม่ ตรุษจีน พันธมิตรฯ" โดยถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวีด้วย โดยมีแกนนำพันธมิตรฯ เข้าร่วม 3 คน คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ขณะที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ใช้วิธีโฟนอินเข้ามา ขณะที่นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ไม่ได้เข้าร่วมแล้ว เนื่องจากออกจากการเป็นแกนนำและแยกไปอยู่พรรคการเมืองใหม่ ขณะที่ผู้ดำเนินรายการเสวนาคือนายประพันธ์ คูณมี


พิภพเชื่อระบอบทักษิณอ่อนแอลงแล้ว เพราะยิ่งลักษณ์เหลือแค่ 15 ล้านเสียง

นายพิภพ ธงไชย กล่าวว่า พันธมิตรฯ ไม่ได้อ่อนแรงลง แต่พิสูจน์ให้ถึงทองแท้ และมั่นใจว่าพันธมิตรฯ ที่มาพร้อมกันตรงนี้และที่ฟังรายการอยู่ที่บ้านก็ดีถือเป็นทองเนื้อแท้ ที่พร้อมจะออกมาต่อสู้กับทุนสามานย์ที่จะเข้ามายึดสมบัติชาติ ขณะที่ระบอบทักษิณไม่ได้แข็งแรงขึ้น แต่จริยธรรมอ่อนแอลง ฐานเสียงจาก 19 ล้านเสียง จากเมื่อสมัยพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ขณะนี้เหลือ 15 ล้านเสียงในยุคของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นแล้วเห็นว่าระบอบทักษิณไม่ได้เข้มแข็งขึ้น

 

ลั่นปีนี้จะเคลื่อนไหวอีก และถ้า พธม. ชุมนุม ต้องรับชัยชนะเท่านั้น

บัดนี้สังคมไทย เติบโตมีปัญญารู้เท่าทันเกมการเมือง ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินเกมก็ไม่ถนัด การชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลไม่ว่ารัฐไหนก็ไม่แตกต่างกัน เพราะพันธมิตรฯ ต้องได้รับชัยชนะเท่านั้น สำหรับแกนนำพันธมิตรฯทั้ง 4 คนไม่มีถอดใจ และพร้อมที่จะปกป้องสถาบันชาติต่อไป ส่วนจะแต่งตั้งใครเป็นแกนนำอีกหรือไม่ ขอให้ถึงเวลาชุมนุมเราจะประเมินสถานการณ์กันวันต่อวัน แต่เชื่อแน่ว่าการเคลื่อนไหวจะต้องเกิดขึ้นแน่ในปีนี้

 

สมเกียรติเชื่อทักษิณจ้างนักรบกัมพูชา-เวียดนามเพื่อชิงบัลลังก์

นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ กล่าวว่า การต่อสู้ของระบอบทักษิณในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งสุดท้าย หวังล้มล้างสถาบัน ทราบว่าไปจ้างนักรบจากเขมรและเวียดนามไว้ 5,000 คน เพื่อชิงราชบัลลังก์ และเปลี่ยนการปกครองจากระบบประชาธิปไตยเป็นระบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาบดีเป็นประมุข ก่อนสถาปนาตัวเอง พันธมิตรฯ ต้องเตรียมตัวให้พร้อม หากเมื่อไรมีการแตะต้องเพื่อแก้รธน. 112 ในหมวดสถาบันกษัตริย์ หรือแก้ รธน.เพื่อนิรโทษกรรมให้ นช.แม้ว เราต้องออกมาแน่

 

จำลองลั่น พธม.จะลงจากภูมาเตะหมาเมื่อไหร่อยู่ที่พลังพี่น้อง

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กล่าวชื่นชมว่าไม่มีพลังไหนจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการชุมนุมของพันธมิตร 384 วัน 384 คืน ถือเป็นการชุมนุมที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลกนี้ มีคำถามว่าเมื่อไหร่พันธมิตรฯจะลงจากภู ลงมาเตะหมา ก็อยู่ที่พลังของพี่น้องพันมิตรฯ แต่เราต้องปล่อยให้หมากัดกันให้บอบช้ำ เสียก่อน พร้อมปฏิเสธกระแสข่าวนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ไปรับเงิน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรว่า หากนายสนธิ ทำเช่นนั้นจริง ผมคงลาออกจากแกนำไปนานแล้ว และไม่ช่วยหาเงินบริจาคมาช่วยเหลือพนักงานเอเอสทีวี

 

สนธิลั่นชี้แจงเรื่องรับเงินไปแล้วหลายรอบ ใครที่ไม่เชื่อไปไกลๆ ผมดีกว่า

ขณะที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้โทรศัพท์เข้ามาในที่ชุมนุม (ฟังเสียง) โดยนายสนธิกล่าวว่า "พี่น้องเอ้ย ... พี่น้องครับ ผมพูดสั้นๆ นะครับ ขอบพระคุณ คุณประพันธฺ์ที่ตั้งคำถาม ถามเรื่องผมรับเงิน ผมกราบเรียนพี่น้องอย่างนี้ ผมเคยพูดแล้วหลายครั้ง ผมเบื่อที่จะพูด ไอ้ใครที่ฟังแล้วไม่เชื่อ ไปไกลๆ ผมเลยดีกว่า ผมรำคาญ คือผมไม่อยากพบ ไม่ต้องมาเคารพอะไรผม ผมคบเฉพาะแกนนำเนี่ย 3-4 คน คุณประพันธ์ และพี่น้องที่ยังรักและศรัทธาเชื่อมั่นในตัวผม การกระทำของผม เอเอสทีวี ทุกอย่างมันเป็นบทพิสูจน์"

 

เผยไม่ได้นั่งเฉยๆ แต่เตรียมพร้อมทุกวินาทีเพื่อสู้แตกหัก ยึดอำนาจรัฐ

แล้วผมจะบอกให้รู้ว่าผมไม่ได้นั่งเฉยๆ ผมเตรียมพร้อมทุกวินาทีที่จะออกมาสู้ แล้วสู้ครั้งนี้พี่น้อง ไม่ใช่มาประท้วงที่ถนน จะต้องสู้เพื่อยึดอำนาจรัฐเลย ต้องสู้เพื่อแตกหัก เพราะถ้าไม่แตกหักแล้ว พระเจ้าอยู่หัวเราไปไม่รอด

ผมเป็นคนแรกที่ผมบอกว่า ทหารเท่านั้นที่จะเป็นเสาค้ำพระเจ้าอยู่หัว แต่ถ้าทหารไม่สามารถจะค้ำได้ อีกไม่นานพวกเราคงต้องออกมาค้ำพระเจ้าอยู่หัว และถ้าออกมาครั้งนี้ ต้องชนะอย่างเด็ดขาด ไม่มีการตีงูให้กากิน แล้วก็ไม่มีการที่จะให้พวกแมลงสาปมาตีกินพวกเราอีก

 

ลั่นทหารอย่านั่งเฉย รีบปฏิวัติ แล้ว พธม. จะมาร่วมยึดประเทศไทยคืนจากพวกชั่ว

ผมเชื่อว่าในที่สุดแล้ว มีพลังของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะค้ำจุนประเทศชาติได้ ทหารอย่านั่งเฉย รีบออกมาปฏิวัติเสีย แล้วพันธมิตรฯ ทั่วประเทศจะออกมาร่วมกับทหาร ยึดประเทศไทยคืนมาจากไอ้พวกชั่วๆ ก็เท่านี้แหละครับพี่น้อง ขอบพระคุณพี่น้อง

โดยนายประพันธ์ กล่าวกับนายสนธิว่า "อย่าเพิ่งวางสายนะครับ บอกพี่น้องได้สักนิดไหม ว่าวันนี้ที่ไม่สามารถมาพบพี่น้องในสถานที่แห่งนี้ได้ พอจะอธิบายพี่น้องสักนิดได้ไหมครับ" นายสนธิตอบว่า "ผมไม่สบายครับ ผมเจ็บหลัง ผมจะต้องมานวดและมาฝังเข็ม" นายประพันธ์ถามว่า "ถ้าพี่น้องพร้อม พี่สนธิพร้อมใช่ไหมครับ" นายสนธิตอบว่า "พร้อมครับ" ทำให้ผู้ชุมนุมปรบมือ และนายสนธิได้กล่าวส่งท้ายก่อนวางสายว่า "ขอบพระคุณมากครับ ซินเจียหยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้"

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก เอเอสทีวี

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยกฟ้องคดี “บริษัทโรงไฟฟ้า” ฟ้องหมิ่น “เอ็นจีโอพลังงาน” แฉความไม่โปร่งใสวงการพลังงาน

Posted: 19 Jan 2012 11:50 PM PST

ศาลชี้จำเลยพูดในภาพรวม วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐต่อนโยบายพลังงานซึ่งเป็นเรื่องสาธารณะ ไม่เฉพาะจำเลยเท่านั้นที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ ด้านทนายจำเลยคาดโจทก์ยังอาจยื่นอุทธรณ์ต่อ หวังยืนยันกระบวนการโปร่งใส

 
นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง เอ็นจีโอด้านพลังงาน จำเลยในคดีฟ้องหมิ่นประมาท
และฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายกว่า 300 ล้านบาท
 
วันนี้ (20 ม.ค.55) เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 912 ศาลอาญา รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้อง ในคดีหมายเลขดำ อ.3151/2552 ที่บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โดยนายบุญชัย เจียมจิตจรุง ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ฟ้อง นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง เอ็นจีโอด้านพลังงาน ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
 
คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากการที่นางสาววัชรี ให้สัมภาษณ์ออกอากาศในรายการคมชัดลึก ของสถานีโทรทัศน์เนชั่น ชาแนล โดยมีจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.52 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีสถานการณ์ชาวบ้านบางคล้าชุมนุมปิดถนนเพื่อต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าบางคล้า โดยได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายพลังงาน การวางรูปแบบหลักเกณฑ์การเปิดประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการประมูล และกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโจทก์
 
ศาลพิจารณาเห็นว่า การประมูลโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นเรื่องที่กระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน ย่อมเป็นที่สนใจ ไม่เฉพาะจำเลยเท่านั้นที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าการประมูลโรงไฟฟ้าบางคล้า มีการตกลงทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยไม่มีการเปิดให้มีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน และยังไม่มีการทำอีไอเอซึ่งเป็นขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญมาตรา 67 กำหนดไว้ ทำให้จำเลยและบุคคลทั่วไปเกิดข้อสงสัยว่าการดำเนินการผิดขั้นตอนและอาจเกิดความไม่โปร่งใส ซึ่งข้อสังเกตนี้ตรงกับของ ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้าได้กล่าวไว้ แต่โจทก์ไม่ยื่นฟ้อง โดยยอมรับว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของหน่วยงานรัฐ
 
ส่วนการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการขยายระยะเวลาการยื่นอีไอเอออกไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ตรงกับหนังสือชี้ชวนเข้าร่วมการประมูลโครงการโรงไฟฟ้า ก่อให้เกิดความสงสัยต่อบุคคลทั่วไปได้ว่ากระบวนการอาจมีความไม่โปร่งใส อีกทั้งการยกเหตุผลที่ว่าพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าลดลง ส่งผลให้มีการขยายเวลาการยื่นอีไอเอ เพราะไม่มีความจำเป็นต้องผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ ทำให้เป็นที่สงสัยแก่บุคคลทั่วไปว่าทำไมจึงต้องสร้างโรงไฟฟ้า
 
นอกจากนี้ จากคำเบิกความของนายบุญชัย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่าบิดาของกรรมการของบริษัทโจทก์ท่านหนึ่งเป็นนายพล จึงอาจทำให้เกิดข้อสงสัยกับบุคคลทั่วไปได้ว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติอาจเกิดความเกรงใจในการพิจารณาโครงการได้ สอดคล้องกับข้อมูลของนางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานครพยานจำเลย และเอกสารของคณะกรรมการวุฒิสภาเกี่ยวกับการที่ข้าราชการระดับสูงเข้าไปรับตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนด้านพลังงานซึ่งทำให้เกิดปัญหาการทับซ้อนเรื่องผลประโยชน์ คำพูดของจำเลยจึงมีความน่าเชื่อถือ ไม่ได้มีการกล่าวเฉพาะถึงตัวโจทก์ว่าเป็นผู้ทุจริต เป็นการตั้งข้อสังเกตให้ประชาชนได้รับทราบ และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงระบบ
 
คำพิพากษาโดยสรุประบุว่า ศาลเห็นว่าคำพูดของจำเลยเป็นการพูดในภาพรวม วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐและนโยบายการรับซื้อไฟฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องสาธารณะ อยู่ในความสนใจของประชาชนโดยมีเอกสารข้อมูลสนับสนุนและเป็นประเด็นที่มีเหตุชวนให้ประชาชนเคลือบแคลงเรื่องความโปร่งใส ไม่ได้มุ่งเฉพาะบริษัทโจทก์ อีกทั้งจำเลยติชมด้วยความเป็นธรรม สุจริต และต่อมาไม่ปรากฏว่าบริษัทโจทก์ถูกต่อต้านคัดค้าน ยกเลิกสัญญาที่บริษัทโจทก์ได้ทำไป หรือไม่ได้นำไปสู่การยกเลิกการประมูล การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้อง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอ่านคำพิพากษาในวันนี้มีนักสิทธิมนุษยชน เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม และชาวบ้านในพื้นที่ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าอาทิ โรงไฟฟ้าบางคล้า โรงไฟฟ้าหนองแซง และโรงไฟฟ้าบ่อนอก-บ้านกรูด เข้าฟังการพิจารณาและให้กำลังใจนางสาววัชรีกว่า 30 คน
 
นายกฤษฎางค์ นุตจรัส หนึ่งในทีมทนายความฝ่ายจำเลย กล่าวว่า การพิจารณาคดีครั้งนี้เป็นการรับรองสิทธิของประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการของหน่วยงานรัฐในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ศาลได้พิพากษาแล้วว่า นางสาววัชรีติชม แสดงความเห็นโดยสุจริตเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานรัฐที่กำกับกิจการพลังงานไฟฟ้าว่ากระบวนการประมูลเพื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามีความไม่โปร่งใส มีข้อสงสัย การกระทำของนางสาววัชรีเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่คนทั่วไปสามารถกระทำได้ เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติ
 
ส่วนคดีแพ่ง ที่บริษัท สยาม เอ็นเนอร์จี จำกัด ได้ดำเนินการฟ้องร้องนางสาววัชรี เรียกร้องค่าเสียหายกว่า 300 ล้านบาท จากเหตุการณ์เดียวกัน นายกฤษฎางค์กล่าวว่า กระบวนการต่อไปในคดีแพ่งต้องฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญา ทั้งนี้ในคดีแพ่ง หากการกระทำไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ไม่เป็นความผิด ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย อย่างไรก็ตามในคดีอาญาโจทก์มีสิทธิในการยื่นอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน ดังนั้นในคดีแพ่งจึงต้องรอต่อไป
 
นายกฤษฎางค์กล่าวแสดงความเห็นต่อมาว่า ส่วนตัวคิดว่าทางบริษัทโจทก์จะใช้สิทธิในการอุทธรณ์ต่อ เพราะคดีนี้เกี่ยวข้องกับความโปร่งใสในการประมูลโรงไฟฟ้าเอกชน ซึ่งทางบริษัทฯ คงต้องพยายามยืนยันว่าสิ่งที่ได้มาตามสัญญากับหน่วยงานรัฐนั้นถูกต้องเป็นธรรม และมีความโปร่งใส เนื่องจากปัจจุบันคำพิพากษาของศาลทำให้เห็นได้ว่ากระบวนการถูกตั้งคำถามในเรื่องความโปร่งใส ดังนั้นประชาชนจึงมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ได้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น