โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เปิดบทเรียนเจรจา 3 ประเทศฟิลิปปินส์ ผุด ‘รัฐมินดาเนา’

Posted: 12 Jan 2012 10:55 AM PST

เสวนาเรื่องกระบวนการสันติภาพในเอเชีย ผู้แทนจากมินดาเนา มานิปูร์ และอาเจะห์ เผยประสบการณ์ในการเจรจาัสันติภาพกับรัฐบาลกลาง โดยขบวนการเรียกร้องเอกราชของอาเจะห์หลังหยุดยิงกับรัฐบาลอินโดนีเซียได้เข้าสู่การต่อสู้ผ่านเวทีการเมือง ขณะที่ในมินดาเนา ข้อเสนอให้มีรัฐมินดาเนา ยังอยู่ในระหว่างเจรจากับรัฐบาลฟิลิปปินส์

เมื่อเวลา 09.00-16.00 น.วันที่ 12 มกราคม 2555 ที่ห้องมะปราง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี มูลนิธิทรัพยากรเอเชีย/เครือข่ายมุสลิมเอเชีย และคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี จัดโครงการเสวนาทางวิชาการ “กระบวนการสันติภาพในเอเชีย”

Emran G. Mohamad

Mr. Emran G. Mohamad จากมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า การเจรจาครั้งล่าสุดระหว่างนายนอย นอย อาคัโน่ ประธาณาธิบดีฟิลิปปินส์กับนายมูราด อิบราฮิม หัวหน้าขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร เมื่อปีที่แล้วที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นการเจรจาครั้งประวัติศาสตร์ เพราะยังไม่เคยมีผู้นำสูงสุดของทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจา โดยฝ่ายขบวนการขอให้มินดาเนาเป็นรัฐย่อย (Sub State) ในฟิลิปปินส์

Mr. Emran กล่าวว่า ในการเจรจาดังกล่าว ขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร มีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล 3 ข้อ คือ ขอให้มิดาเนามีอำนาจในการพัฒนาพื้นที่ได้ด้วยตัวเอง ขอให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีการทางการเมือง และขอให้เขียนเนื้อหาประวัติศาสตร์มิดาเนาในตำราเรียนด้วย

Mr. Emran กล่าวว่า แม้ขณะนี้ยังไม่มีการตอบสนองจากฝ่ายรัฐบาลฟิลิปปินส์ แต่มีท่าทีผ่อนคลายขึ้น และไม่มีการสู้รบตามมาเหมือนกับการเจรจาในอดีต ส่วนเหตุที่ยังไม่เอื้อให้เกิดรัฐย่อยดังกล่าว เนื่องจากรัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์ยังไม่เปิดโอกาส

Mr. Jiten Yumnam นักสันติวิธี จากเมืองมานีปู ประเทศอินเดีย กล่าวว่า ความขัดแย้งในของมานีปูร์ เกิดขึ้นหลังจากอังกฤษให้เอกราชกับอินเดีย โดยรัฐบาลอินเดียบังคับให้กษัตริย์ของมานีปูร์ลงนามในสัญญาว่าจะอยู่ภายใต้อินเดีย ทำให้คนมานีปูร์ไม่พอใจจนเกิดขบวนการเรียกร้องเอกราชขึ้นมา รัฐบาลอินเดียจึงส่งกำลังเข้ามาปราบปรามภายใต้ใช้กฎหมายพิเศษ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิและการสังหารหมู่ประชาชนมานีปูร์หลายครั้ง แต่ไม่สามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้

Mr. Jiten กล่าวว่า ชาวมานีปูร์พยายามเรียกร้องเอกราชจากอินเดีย โดยระบุว่าสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลอินเดียกับกษัตริย์มานีปูร์เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โดยมีการต่อสู้โดยสันติวิธี แต่กลับถูกปราบปรามจากรัฐบาลอินเดียอย่างหนัก ขณะเดียวกันรัฐบาลอินเดียยังได้ยึดทรัพยากรของมานีปูร์ไปด้วย

Mr. Jiten กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการเจรจาเพื่อแก้ปัญหากันหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากแต่ละฝ่ายก็ไม่ยอม เนื่องจากรัฐบาลอินเดียต้องการให้มานีปูร์อยู่ภายใต้ปกครอง ขณะที่มานีปูร์เองก็ต้องการเป็นอิสระ ปัญหาความขัดแย้งก็ยังคงมีอยู่ แม้ว่า มีการทำประชามติตามข้อเสนอของกลุ่มเรียกร้องเอกราช ซึ่งผลออกมาปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่ต้องการแยกเป็นอิสระ แต่รัฐบาลอินเดียไม่ยอมรับผลการทำประชามติดังกล่าว

Mr. Mushtaq จากแคว้นแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย กล่าวว่า สหประชาชาติเข้ามาแก้ปัญหาแคว้นแคชเมียร์โดยสั่งให้ทั้งรัฐบาลปากีสถานและอินเดียถอนทหารของจากพื้นที่ที่แต่ละฝ่ายยึดครองในแคว้นแคชเมียร์ทั้งหมด แต่อินเดียปฏิเสธ อ้างว่าสหประชาชาติไม่มีศักยภาพพอ ทำให้ประเทศสมาชิกไม่ยอมทำตาม จึงเกิดขบวนการต่อสู้กับการยึดครองของอินเดียขึ้นมา แต่รัฐบาลอินเดียระบุว่า ไม่สามารถให้อิสระกับแคชเมียร์ได้ เพราะจะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ

Mr. Mushtaq กล่าวว่า ชาวแคชเมียร์มีข้อเสนอต่อรัฐบาลอินเดีย 5 ข้อ คือ ให้ยกระดับปัญหาความขัดแย้งในแคชเมียร์ขึ้นสูงนานาชาติ เพื่อให้ต่างประเทศเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ให้ถอนกำลังทหารออกให้หมด ให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษที่ใช้ในแคชเมียร์ทั้งหมดและปกป้องชีวิตประชาชน นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ และให้นิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าว ก็ยังไม่ไปถึงไหน เพราะไม่มีตัวกลางในการเจรจาระหว่างรัฐบาลอินเดียกับขบวนการต้อสู้ในแคชเมียร์

Mr. Kamaruzzaman Bustamam Ahmad จากบันดา อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า กลุ่มขบวนการต่อสู้กับรัฐบาลอินโดนีเซียมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ต้องการให้ใช้กฎหมายอิสลามบริหารอาเจะห์กับกลุ่มที่ต้องการเอกราชจากอินโดนีเซีย คือ ขบวนการ GAM ช่วงหลังเหลือแต่ขบวนการ GAM ปัจจุบันกลุ่มนี้ได้เข้ามาต่อสู้ทางการเมืองโดยลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

Mr. Kamaruzzaman กล่าวว่า หลังการทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลกับขบวนการ GAM เมื่อปี 2004 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 4 ประการ คือ จากขบวนการจับอาวุธกลายเป็นพรรคการเมืองอาเจะห์ จากการจับอาวุธมาเป็นการต่อสู้ในสภา จากการโฆษณาชวนเชื่อมาเป็นอำนาจบริหาร เป็นจากยุควางระเบิดมาสู่ยุคการพัฒนา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ร้องรัฐเยียวยาเท่าเสื้อแดง ถกตั้ง 12 ทีมช่วยดับไฟใต้

Posted: 12 Jan 2012 10:20 AM PST

รัฐมนตรียุติธรรมนำประชุมกรรมการเยียวยา เหยื่อไฟใต้ร้องช่วยเท่าผู้ชุมนุมทางการเมือง พล.ต.อ.ประชา รับไปคุยกับนายกฯ ถกตั้งอนุกรรมการ 12 ชุดช่วยดับไฟใต้

เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. วันที่ 12 มกราคม 2555 ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในการประชุมกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีกรรมการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม ประมาณ 100 คน

นางคอดีเยาะ หะหลี หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งบิดาเสียชีวิตในเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 กล่าวในที่ประชุมว่า ตนคิดจะเลิกต่อสู้ให้มีการช่วยเหลือเยียวยาจากกรณีที่ได้รับผลกระทบแล้ว แต่เมื่อทราบว่ารัฐบาลจะมอบเงินช่วยเหลือเยียวยากลุ่มคนเสื้อแดง เสื้อเหลืองที่เสียชีวิตรายละเกือบ 8 ล้านบาท ทำให้ตนต้องลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้ว่า คนในพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้าจะเยียวยาก็ต้องให้เท่าเทียมกัน

พล.ต.อ.ประชา กล่าวตอบเรื่องนี้ รับที่จะนำเรื่องนี้ไปคุยกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน แต่มติในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 เห็นชอบให้ช่วยเหลือกรณีเสียชีวิตรายละ 4.5 ล้านบาท ไม่ทราบว่าทำไมข่าวออกมาว่าเกือบ 8 ล้านบาท

นอกจากนี้ในที่ประชุมได้มีการหารือถึงการตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ที่มีการร่างรายชื่อไว้เป็นกรอบในการพิจารณา รวม 12 ชุด เช่น คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การเยียวยา คณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์การเยียวยา คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาข้าราชการ คณะอนุกรรมการการสื่อสร้างเพื่อสร้างความเข้าใจ คณะอนุกรรมการฮัจย์ คณะอนุกรรมการระบบการรักษาความเป็นธรรม คณะอนุกรรมการป้องกันผู้บริสุทธิ์ เป็นต้น

ที่ประชุมได้มีการแสดงความเห็นกันอย่างหลากหลายถึงการตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ เช่น คณะอนุกรรมการระบบการรักษาความเป็นธรรม โดยนายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ถ้าระบบความยุติธรรมหมายถึงกระบวนการยุติธรรม น่าจะไม่เข้ากับเรื่องกฎหมายอิสลาม

พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า คณะอนุกรรมการชุดนี้ยังไม่ต้องการให้แตะไปถึงกระบวนการยุติธรรมปกติ เพราะอาจเป็นการละเมิดอำนาจศาล ส่วนพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นเรื่องการรักษาความเป็นธรรม ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม

พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ในฐานะกรรมการ กล่าวว่า ถ้าไม่แตะไปถึงกระบวนการยุติธรรมก็น่าจะแก้ปัญหาความยุติธรรมไม่ได้ ดังนั้นคณะอนุกรรมการจึงน่าจะประมวลปัญหาทั้งหมดแล้วเสนอให้รัฐบาลเป็นผู้แก้ไข

ส่วนประเด็นการตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์การเยียวยา พล.ต.อ.ประชา ได้มอบให้ศอ.บต.นำมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการเยียวยาผู้เสียหายและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองมาใช้ในการพิจารณาในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ด้วย

ส่วนประเด็นการตั้งคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาข้าราชการ พล.ต.อ.ประชา ได้มอบหมายให้พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศชต.)รับดำเนินการเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาข้าราชการที่ได้รับผลกระทบที่ได้ย้ายออกนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว

นายอับดุลรอซัก อาลี ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า การช่วยเหลือเยียวยาของรัฐไม่มีการติดตามประเมินผล ทำให้ไม่ทราบว่าผู้ได้รับการช่วยเหลือเยียวสามารถช่วยเหลือตัวเองแล้วหรือไม่ เช่น กรณีคนร้ายกราดยิงในมัสยิดไอร์ปาแย จังหวัดนราธิวาส จึงควรติดตามประเมินผลด้วย

นายแพทย์อนันต์ชัย ไทยประทาน ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานด้านยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงชุดเดียว คือ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ หรือ กอส. ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นก็ไม่มีคณะกรรมการที่ทำงานลักษณะนี้ จึงเสนอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการลักษณะนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยให้ทำงานในระยะยาวไม่ใช่ 1 ปี

พล.ต.อ.ประชา ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อจะกำหนดแนวทางการทำงานของคณะกรรมการเยียวยาฯ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 2 โดยเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมทางการเมือง โดยในส่วนของพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ใช้มาตรการช่วยเหลือเยียวยากับผู้ที่ได้รับผลกระทบอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ได้ผลเป็นรูปธรรมอย่างถูกต้องต่อไป

พ.ต.อ.ทวี ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ มีหลักการส่วนหนึ่งคือ ต้องให้สอดรับกับหลักศาสนา ซึ่งหลังจาก ศอ.บต.ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้ง 5 จังหวัด เมื่อหลายวันก่อน คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือเยียวยาว่า ควรมีการพิจารณาคดีความที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดกอิสลาม และขอให้หน่วยงานภาครัฐส่งเสริมการใช้ภาษามลายูในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ศอ.บต.มีนโยบายเร่งด่วนในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบ โดยเน้นครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน เด็กกำพร้า ทั้งในเรื่องทุนการศึกษา การส่งเสริมอาชีพ โดยการเยียวยาในด้านต่างๆ ต้องสอดคล้องกับหลักศาสนา เป็นการเยียวยาอย่างเร่งด่วน ทั้งด้านเงินและด้านจิตใจอย่างยั่งยืน

สำหรับคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชุดนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ให้ถ่ายโอนภารกิจการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไปเป็นของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

สำหรับรายชื่อคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ส่วนกรรมการประกอบด้วย - พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายธงทอง จันทรางศุ อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม พล.อ.ขวัญชาติ กล้าหาญ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดลนางจิราพร บุนนาค อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายเจริญ หมะเห ประธานชมรมสรรหาคนดีศรีทักษิณ นายถิรชัย วุฒิธรรม โฆษกกระทรวงยุติธรรม นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์

ผศ.ปิยะ กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) แพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ดร.เมตตา กูนิง อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี และศูนย์ประสานงานวิชาการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ จังหวัดชายแดนใต้ (ศว.ชต.)

รศ.รัตติยา สาและ อาจารย์คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีมลายูศึกษา นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย น.ส.ศุภวรรณ พึ่งรัศมี จาก ศว.ชต.

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายแพทย์ อนันต์ชัย ไทยประทาน ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ นายอิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีวิทยาลัยอิสลามยะลา ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 

ส่วน เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นกรรมการและเลขานุการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล จากกระทรวงยุติธรรม เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการอื่นจำนวนไม่เกิน 3 คนที่เลขาธิการ ศอ.บต.แต่งตั้ง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เริ่มแล้วสมัชชาสุขภาพภาคใต้ ตั้งวงจี้สศช.ทบทวนแผนพัฒน์

Posted: 12 Jan 2012 10:00 AM PST

“สมัชชาสุขภาพภาคใต้” บุกตรัง ดึง “ชวน หลีกภัย” ปาฐกถาเปิดงาน เครือข่ายสุขภาพ 14 จังหวัดใต้เปิดวงถกสารพัดปัญหา เน้นประเด็น “แผนพัฒนาภาคใต้” เกาะติดมติสมัชชาติสุขภาพแห่งชาติ จี้สภาพัฒน์ทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้

น.ส.สุวณี สมาธิ เลขานุการคณะกรรมการจัดงานสมัชชาสุขภาพภาคใต้ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 13 – 14 มกราคม 2555 เครือข่ายสุขภาพภาคใต้ ได้ร่วมกันจัดงานสมัชชาสุขภาพภาคใต้ และงานวิชาการ “ไอดิน กลิ่นหญ้า” พ.ศ.2554 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ตรัง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ภายในงานมีการจัดนิทรรศการวิชาการ “ไอดิน กลิ่นใต้” ในประเด็นสมัชชาสุขภาพ 14 จังหวัดภาคใต้, การจัดการภัยพิบัติพื้นที่ภาคใต้, นโยบายแห่งชาติเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้, นโยบายแผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมกรณีภาคใต้, นโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะถนนคนเดิน ที่เต้นท์หน้าอาคารดุสิตตรั

น.ส.สุวณี เปิดเผยต่อไปว่า เวลา 19.30 น. วันที่ 13 มกราคม 2555 จะมีการเสวนาวิชาการเรื่อง “แผนพัฒนาภาคใต้กับทางเลือกการพัฒนาภาคใต้: แผนพัฒนาที่ยั่งยืน” ผู้นำเสวนาประกอบด้วย นายแพทย์ไพศาล เกื้ออรุณ, นายไกรวุฒิ ชูสกุล ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจังหวัดสตูล, นายเจริญ โป๊ะอิแซ ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้จังหวัดนครศรีธรรมราช, นางแสงนภา สุทธิภาค ตัวแทนภาคประชาสังคมจังหวัดชุมพร, น.ส.วันสุรีย์ พรหมภัทร ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และตัวแทนนักธุรกิจจังหวัดตรัง ดำเนินการเสวนาโดยนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ ที่ลานถนนคนเดินสถานีรถไฟจังหวัดตรัง

น.ส.สุวณี เปิดเผยอีกว่า ส่วนวันที่ 14 มกราคม 2555 ซึ่งตรงกับวันเด็กแห่งชาติ ตั้งแต่เวลา 09.00–12.00 น. มีการจัดกิจกรรมลานเด็กลานสมัชชา บริเวณลานหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ตรัง และวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธรตรัง ขณะเดียวกันที่หอประชุมเฟื่องฟ้า มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ตรัง มีพิธีกล่าวต้อนรับและปาฐกถาพิเศษ “มุมมองกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมพื้นที่ภาคใต้” โดยนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี

“จากนั้นจะเข้าสู่วาระการประชุมสมัชชาสุขภาพภาคใต้ เริ่มจากพิจารณาระเบียบวาระที่ 1 รับรองระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพภาคใต้ ครั้งที่ 2 และชี้แจงกระบวนการพิจารณาระเบียบวาระ การพิจารณาระเบียบวาระติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 นโยบายแห่งชาติเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้, วาระติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๒ แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้, วาระติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 นโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะ” น.ส.สุวณี กล่าว

น.ส.สุวณี เปิดเผยด้วยว่า ในส่วนของระเบียบวาระที่ 2 ที่จะเริ่มในช่วงบ่ายวันเดียวกัน จะพิจารณาประเด็นการจัดการภัยพิบัติพื้นที่ภาคใต้ จากนั้นจะเปิดห้องวิชาการพูดคุยในประเด็นต่างๆ ดังนี้ ห้องวิชาการ 1 “กลไกและกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ๑๔ จังหวัดภาคใต้” ห้องวิชาการ 2 “การสร้างสุขภาวะในพื้นที่ ด้วยธรรมนูญสุขภาพ” ห้องวิชาการ 3 “ขบวนการขับเคลื่อนของสภาองค์กรชุมชนกับการปฏิบัติการเพื่อพื้นที่พึ่งตนเอง”

ส่วนวันที่ 15 มกราคม 2555 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย น.ส.สุวณี เปิดเผยว่า จะเป็นวาระรับรองมติสมัชชาสุขภาพภาคใต้ ระเบียบวาระที่ 1 และระเบียบวาระที่ 2 รวม 4 มติ ต่อด้วยพิจารณาวาระที่ 3 ระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 ห้องที่ 1 การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง ห้องที่ ๒ ความปลอดภัยทางอาหาร: การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ห้องที่ 3 การจัดการปัญหาโฆษณาและอาหารอ้างสรรพคุณทางยาที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวีและโทรทัศน์ดาวเทียม ห้องที่ 4 การบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคีทุกภาคส่วน และห้องที่ 5 การเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ห้องที่ 6 การจัดการปัญหาฆ่าตัวตาย (สุขใจไม่คิดสั้น)

น.ส.สุวณี เปิดเผยด้วยว่า ช่วงบ่ายของวันสุดท้าย จะเป็นเวทีเสวนา “มุมมองกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม พื้นที่ภาคใต้” วิทยากรประกอบด้วย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นายสมัย รัตนจันทร์ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพภาคเหนือ ดร.กาสัก เต๊ะขันหมาก เครือข่ายสมัชชาสุขภาพภาคกลาง นายวีรพล เจริญธรรม เครือข่ายสมัชชาสุขภาพภาคอีสาน นายชัยพร จันทร์หอม เครือข่ายสมัชชาสุขภาพภาคใต้ ดำเนินรายการโดยนายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนปฏิบัติการพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

“จากนั้นเป็นการรับรองมติระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพภาคใต้ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๔ กลุ่มเครือข่ายพื้นที่ ๑๔ จังหวัดภาคใต้ ต่อด้วยปาฐกถาพิเศษ “มุมมองกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมพื้นที่ภาคใต้” โดยนายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และปิดการประชุมโดย นายแพทย์วิฑูรย์ เหลืองดิลก ประธานจัดสมัชชาสุขภาพภาคใต้ ครั้งที่ 2” น.ส.สุวณี กล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยูนิเซฟเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ปกป้องสิทธิเด็กมากขึ้นเพื่อเป็นของขวัญที่ดีที่สุดในวันเด็ก

Posted: 12 Jan 2012 09:42 AM PST

เนื่องในวันเด็กแห่งชาติในปีนี้ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ ได้เรียกร้องให้ผู้ใหญ่หันมาให้ความสนใจกับเด็กมากขึ้น โดยร่วมกันปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กเนื่องจากยังมีเด็กจำนวนมากที่ยังคงเผชิญ กับปัญหาต่างๆ เช่น ความยากจน ความรุนแรง การถูกทอดทิ้งและการถูกแสวงประโยชน์

กรุงเทพฯ 12 มกราคม 2555 – เนื่องในวันเด็กแห่งชาติในปีนี้ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ ได้เรียกร้องให้ผู้ใหญ่หันมาให้ความสนใจกับเด็กมากขึ้น โดยร่วมกันปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กเนื่องจากยังมีเด็กจำนวนมากที่ยังคงเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่น ความยากจน ความรุนแรง การถูกทอดทิ้งและการถูกแสวงประโยชน์

“ทุกคนในสังคมควรจะเคารพสิทธิเด็กและช่วยกันปกป้องคุ้มครองเด็กๆ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่เสี่ยงต่อการถูกทำร้าย ทอดทิ้งและความรุนแรง” นายโทโมโอะ โฮซูมิ ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยกล่าว “การช่วยกันส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กจะช่วยให้เด็กๆ มีโอกาสพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพและจะเป็นของขวัญที่ดีที่สุดที่เด็กๆ จะได้รับในวันเด็กนี้ด้วย”

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แม้ความเป็นอยู่ของเด็กในประเทศไทยจะได้รับการพัฒนาไปในหลายด้าน แต่เด็กอีกจำนวนมากยังคงมีชีวิตอยู่กับวงจรความยากจน การขาดโอกาสในการศึกษา เอชไอวีและเอดส์ ในขณะที่มีเด็กจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ประสบกับความรุนแรง การถูกทำร้ายและการถูกแสวงประโยชน์ ทั้งนี้สถิติจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนชี้ให้เห็นว่าในประเทศไทย: 

•    มีเด็กวัยประถมศึกษาประมาณ 600,000 คนไม่ได้เข้าเรียนหรือเข้าเรียนช้า
•    ในพ.ศ. 2551 มีเด็กปฐมวัยประมาณร้อยละ 75 เท่านั้นที่ได้เข้าสู่ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยรูปแบบต่างๆ แม้ว่าสมองของเด็กจะพัฒนาได้รวดเร็วที่สุดในช่วงห้าปีแรกของชีวิต
•    มีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 40,000 – 50,000 คนต่อปีที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนเกิด ทำให้ไม่มีตัวตนทั้งในทางกฎหมายและทางสังคม  ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการได้รับการรักษาพยาบาลและบริการอื่นๆ รวมทั้งตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดและถูกแสวงประโยชน์
•    ร้อยละ 3.8 ของหญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อเอชไอวีแพร่เชื้อไปสู่ลูกในท้อง และในปัจจุบันมีเด็กประมาณ 14,000 คนที่มีเชื้อเอชไอวี โดยต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางการถูกรังเกียจและการถูกเลือกปฏิบัติ  
•    ใน พ.ศ. 2553 มีเด็กและผู้หญิงกว่า 25,000 คนเข้ารับบริการจากศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลทั่วประเทศเนื่องจากถูกกระทำรุนแรง โดยร้อยละ 70 ของเด็กถูกกระทำรุนแรงทางเพศ

สิทธิต่างๆ ของเด็กนั้นได้รับการคุ้มครองภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในพ.ศ. 2532  CRC ถือเป็นสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่มีการยอมรับมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมี 193 ประเทศร่วมเป็นภาคี โดยประเทศเหล่านี้มีพันธะสัญญาที่จะต้องดำเนินการต่างๆ เพื่อประกันว่าเด็กทุกคนจะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากอันตราย ได้เข้าถึงการศึกษาและบริการสุขภาพ และสามารถเติบโตและพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความรัก ความเข้าใจ ตลอดจนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตน

ประเทศไทยเองได้ร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเมื่อ พ.ศ. 2535 โดยตกลงที่ดำเนินการทั้งการออกกฎหมาย นโยบาย มาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ และทำให้เกิดการปฎิบัติได้จริง เพื่อประกันสิทธิของเด็กทุกคนในประเทศไทยโดยไม่มีการเลือกปฎิบัติ

“แม้เด็กจะมีสิทธิมนุษยชนทั่วไปเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่เนื่องจากเด็กเป็นวัยที่เปราะบาง จึงจำเป็นต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองเป็นพิเศษ และต้องมีสิทธิบางข้อที่คำนึงถึงความต้องการพิเศษของเด็กด้วย” โฮซูมิกล่าว “ในการที่ประเทศไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รัฐบาลจึงมีพันธะที่จะต้องดำเนินการต่างๆ เพื่อคุ้มครองเด็กและประกันว่าเด็กทุกคนในประเทศไทยได้รับสิทธิที่พวกเขาพึงมี”

ในปลายเดือนมกราคมนี้ คณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงต่างๆ จะเดินทางไปยังกรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อนำเสนอรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นข้อกำหนดภายใต้อนุสัญญาฯ ในการนี้ยูนิเซฟได้สนับสนุนให้ตัวแทนเด็ก 2 คนจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและนราธิวาสเข้าร่วมประชุมเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กด้วย

"ผมตั้งใจจะนำเสนอข้อเท็จจริง ประสบการณ์ในการดำรงชีวิตอยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ว่าเป็นยังไง มันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ผมมีเพื่อนต่างศาสนาและผมอยากบอกว่าเราอยู่ร่วมกันได้และอยู่อย่างมีความสุข" นายภีมระพัฒน์ รองสวัสดิ์ ตัวแทนเด็กจากจังหวัดนราธิวาสกล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

1 แท็บเล็ต 1 นักเรียน : ต้องไม่ใช่แค่ของเล่น

Posted: 12 Jan 2012 09:33 AM PST

ทีดีอาร์ไอประเมินผลกระทบโครงการ 1 แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน จากนักเรียนกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 6,192 คน เฉพาะในวิชาวิทยาศาสตร์และวิชาคณิตศาสตร์ พบการใช้คอมพิวเตอร์มีผลต่อคะแนนสอบของนักเรียนแตกต่างกันตามลักษณะการใช้ สิ่งสำคัญอยู่ที่การออกแบบสื่อการเรียนการสอน มาตรการควบคุมการใช้ให้เหมาะสม และมีการติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ โรงเรียนและผู้ปกครองต้องทำให้แท็บเล็ตเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียนการสอนอย่างแท้จริงไม่ใช่แค่ของเล่นชิ้นใหม่

 

ชัดเจนแล้วว่าในปีการศึกษา 2555 นี้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้านโยบายประชานิยมเร่งด่วนด้านการศึกษาตามที่หาเสียงไว้อย่างแน่นอนนั่นคือ โครงการ “1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน (One Tablet Pc per Child)” โดยเริ่มแจกจริงให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 บางส่วนก่อน  แม้นโยบายนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างเกรงว่าจะเป็นการใช้งบประมาณแบบไม่ถูกทาง และอาจไม่เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนด้วย

เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนว่า เนื้อหาสื่อการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์

แทบเล็ต รวมถึงครู และโรงเรียนมีความพร้อมเพียงใด จะมีแผนการพัฒนาต่อไปอย่างไร และจะมีการวัดและประเมินผลกระทบของโครงการต่อความสามารถของเด็กหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องมีการจัดเก็บและเปิดเผยเพื่อก่อให้เกิดความรับผิดรับชอบ (Accountability)ต่อการใช้จ่ายที่เกิดจากโครงการนี้

หากดูในขั้นแรก โครงการนี้ใช้งบประมาณราว 1,600 ล้านบาทเศษ สำหรับการแจกคอมพิวเตอร์

แท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้น ป.1 ในรอบนี้ แต่เมื่อทำการแจกจ่ายให้ครอบคลุมกับนักเรียนในระดับชั้นประถมและมัธยมจนเสร็จสิ้นโครงการจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมถึงงบประมาณที่จะต้องใช้ในการขยายเครือข่ายระบบ internet ที่มีความเร็วพอสมควรไปยังทุกโรงเรียนในทุกพื้นที่ของประเทศอีกด้วย  ดังนั้นความคุ้มค่าต่อการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลนี้กับผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในตัวเด็กจึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนให้ความสนใจมาก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อเป็นการตอบคำถามเรื่องผลกระทบของการใช้คอมพิวเตอร์ในบริบทของประเทศ

ไทย ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำการศึกษาประเมินผลกระทบโครงการหนึ่งคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อหนึ่งนักเรียน โดยได้ใช้ข้อมูลที่เก็บโดย OECD Programme for International Student Assessment หรือ PISA ซึ่งทำการวัดความสามารถทางด้านการใช้ภาษา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ของนักเรียนอายุ 15 ปี ใน 65 ประเทศ ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย (นักเรียนไทยถูกจัดอยู่ประมาณลำดับที่ 50 ในทุกวิชา)

          จำนวนนักเรียนในกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิเคราะห์มี 6,192 คน โดยการสุ่มตัวอย่างของ PISA ถูกออกแบบให้สะท้อนถึงนักเรียนทั่วประเทศ การศึกษานี้แบ่งนักเรียนออกเป็น 4 กลุ่ม โดยแยกตามลักษณะการใช้คอมพิวเตอร์ดังนี้

1.      ใช้เกือบทุกวันเพื่อการศึกษาเพียงอย่างเดียว เช่นใช้ software เพื่อการเรียน ใช้ spreadsheet หรือใช้ในการค้นคว้าหาข้อมูล เป็นต้น (945 คน)

2.      ใช้เกือบทุกวันเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว เช่น ใช้เพื่อเล่นเกมส์ หรือ download เพลงเป็นต้น (351 คน)

3.      ใช้เกือบทุกวันเพื่อการศึกษา และความบันเทิง (1,473 คน)

4.      ใช้เพียงไม่กี่ครั้งต่ออาทิตย์ หรือไม่ใช้เลย (3,423 คน)

อย่างไรก็ตาม การวัดผลกระทบของการใช้คอมพิวเตอร์นั้นไม่สามารถทำได้โดยการนำคะแนนเฉลี่ยของแต่ละกลุ่มมาเปรียบเทียบกันตรงๆ  เนื่องจากเด็กที่ไม่มีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่เสียเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ครอบครัวยากจน พ่อแม่มีการศึกษาต่ำ หรือมาจากโรงเรียนที่มีทรัพยากรน้อย เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีความสัมพันธ์อย่างมากต่อความสามารถทางการศึกษาของเด็ก การศึกษาจึงต้องนำเทคนิคทางเศรษฐมิติมาใช้ เพื่อปรับลักษณะสำคัญต่างๆที่กล่าวมาของเด็กใน 4 กลุ่มให้มีความทัดเทียมกันก่อน  จึงจะสามารถวัดผลกระทบจากการใช้คอมพิวเตอร์ในลักษณะต่างๆที่กล่าวมาแล้วได้ และในงานวิจัยนี้วัดผลกระทบต่อคะแนนสอบ PISA ในวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์เท่านั้น

ดร.ดิลกะ เปิดเผยว่า ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าผลกระทบของการใช้คอมพิวเตอร์ต่อคะแนนสอบ

นั้นมีความแตกต่างกันตามลักษณะการใช้ โดยการใช้เพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียวบ่อยๆมีผลในทางลบต่อคะแนนเฉลี่ยในวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์เท่ากับ 16 และ 11 คะแนนตามลำดับ    ทั้งนี้สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถในระดับมัธยฐานของประเทศ (หรือเปอร์เซ็นไทล์ที่ 50) ผลกระทบในทางลบดังกล่าวเทียบเท่ากับ 10 เปอร์เซ็นไทล์สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์ และ 6 เปอร์เซ็นไทล์สำหรับวิชาคณิตศาสตร์ ในทางกลับกัน พบว่าการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาเพียงอย่างเดียวมีผลในทางบวก 1 คะแนนสำหรับวิชาวิทยาศาสตร์และ 2 คะแนนสำหรับวิชาคณิตศาสตร์ แต่ผลดังกล่าวไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

ผลการศึกษาในต่างประเทศส่วนมากก็ไม่พบว่าการใช้คอมพิวเตอร์ หรือ software เพื่อการเรียนการ

สอนมีผลกระทบในทางบวกต่อคะแนนสอบของนักเรียนเช่นกัน หรือถ้ามีก็ไม่มาก หรือจะมีเพียงบาง software เท่านั้น

ประเด็นที่สำคัญคือหากการออกแบบสื่อการเรียนการสอนของไทยไม่ดีเพียงพอ หรือโรงเรียนและผู้ปกครองไม่สามารถควบคุมการใช้ให้ถูกวิธีได้ การดำเนินโครงการนี้โดยไม่มีการวางแผนที่ดีจะไม่ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเด็ก การใช้จ่ายงบประมาณในครั้งนี้จะเป็นการสูญเปล่าอย่างน่าเสียดาย  โดยเฉพาะระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเป็นระบบที่ล้มเหลว และต้องการการปฏิรูปรอบด้านอย่างจริงจังและถูกทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพครู การออกแบบหลักสูตร ความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษาที่มีอยู่มาก และแม้แต่การออกข้อสอบกลางเพื่อใช้ประเมินคุณภาพนักเรียนและโรงเรียนทั่วประเทศก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ดังนั้นผลสำเร็จของการแจก 1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การใส่อะไรไว้ในแท็บเล็ต และครูและผู้ปกครองจะมีส่วนร่วมควบคุมให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร  จึงจะทำให้แท็บเล็ตเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียนการสอนที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการศึกษาของเด็กได้.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปิดห้องจัดโผตั้งอนุการเงิน สปสช. หวั่นทำบัตรทองเป็นระบบอนาถา

Posted: 12 Jan 2012 09:11 AM PST

บอร์ด สปสช. วุ่น วิทยาตั้งคณะอนุกรรมการการเงินการคลังและอนุบริหารไม่สำเร็จ ภาคเอกชนและส่วนราชการค้านหวั่นตั้งกลุ่มผลประโยชน์ล้วงลูกกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและการบริหารภายใน สปสช. จับตานายทุนพรรคจับมือผู้แทนสมาคม รพ.เอกชน ปิดห้องจัดโผตั้งอนุกรรมการชุดต่างๆ เปิดทางล้มระบบบัตรทองที่อดีตนายกทักษิณ หมอสงวน และภาคประชาชนเริ่มต้นไว้

 (11 ม.ค. 54) นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชมรมแพทย์ชนบท อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า แผนล้มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 4 ขั้นตอน ของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ กำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยทางชมรมได้รับข้อมูลจากข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นห่วงการล้วงลูกของฝ่ายการเมืองและกลุ่มไม่หวังดีต่อระบบบัตรทองว่าเมื่อบ่ายวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา โดย นพ.อารักษ์อ้างว่ามีการปิดห้องปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมลับระหว่าง นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์  นายทุนพรรคเพื่อไทย และนพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ ผู้แทนสมาคมรพ.เอกชน เพื่อจัดโผแต่งตั้งอนุกรรมการการเงินการคลัง ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการที่มีความสำคัญที่สุดของบอร์ด สปสช. เพราะเป็นผู้เสนองบประมาณเหมาจ่ายรายหัวและการจัดสรรงบ สปสช.ให้แต่ละพื้นที่ และในวันนี้ยังมีการจัดรายชื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เข้าสู่คณะอนุกรรมการ สปสช. อีก 12 ชุด เพื่อยึดครองกำหนดนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแบบเบ็ดเสร็จตามแผนขั้นที่หนึ่งนำไปสู่การล้ม พรบ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่อดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ร่วมกับนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และภาคประชาชนได้เริ่มต้นไว้

“เคลื่อนไหวล้มระบบบัตรทองโดยนักการเมืองของพรรคเพื่อไทยที่บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกลุ่มแพทย์พาณิชย์และบริษัทยาข้ามชาติเพื่อหวังล้มระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทำกันมาเกือบสิบปี จะได้รับการคัดค้านจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายผู้ป่วยต่างๆ ทั่วประเทศรวมทั้งชมรมแพทย์ชนบท และเครือข่ายอย่างเต็มที่ โดยชมรมจะประชุมกรรมการทั้งเก่าและใหม่ทั่วประเทศ ในวันที่ 20 มค. นี้ และจะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านความพยายามที่จะล้มระบบหลักประกันสุขภาพอย่างเต็มที่ อยากให้ท่านนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาดูเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยโรคไต หัวใจ มะเร็ง คนพิการ และผู้สูงอายุที่เป็นโรคต้อกระจกทั่วประเทศต้องลำบากไปที่ทำเนียบรัฐบาล” นพ.อารักษ์ กล่าว

อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสมัย นายวิทยา บูรณศิริ รมว.สธ.เป็นประธานมีการประชุมเพียงแค่สองครั้ง และแต่ละครั้งมีปัญหาการยื่นหนังสือคัดค้านจากกลุ่มต่างๆ รวมทั้งปัญหาเรื่องการฟ้องศาลปกครองเกี่ยวกับการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่าผิดกฎหมาย และเหมือนเดิมไม่สามารถผลักดันให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ตามที่ต้องการได้ เพราะมีเสียงคัดค้านจากกรรมการภาคประชาชน และส่วนราชการบางกระทรวงทำให้งานของ สปสช. หยุดชะงัก ต่างจากอดีตที่ผ่านมา ขณะเดียวกันมีความวิตกของนักวิชาการว่าระบบหลักประกันสุขภาพของไทยจะล่มสลายเพราะจะมีการกดดันให้เสนอเพิ่มงบเหมาจ่ายให้ใกล้เคียงกับระบบประกันสังคมที่พรรคเพื่อไทยกำกับอยู่และเพิ่มขึ้นสูงกว่าสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งจะทำให้งบประมาณเฉพาะผู้ป่วยในของระบบบัตรทองต้องเพิ่มขึ้นจากขณะนี้ 34,000 ล้านบาทเป็น 82,500 ล้านบาทเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว กระทบต่อระบบการเงินของประเทศครั้งใหญ่ จนต้องล้มระบบบัตรทอง กลับไปเป็นระบบสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ผู้ป่วยอนาถา ในที่สุด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เม้าท์มอย: ควันจางๆ จากน้องปลาบู่ การเมืองมาเลย์ และงบกองทัพ

Posted: 12 Jan 2012 08:28 AM PST

เม้าท์มอยเทปแรกของปี 55 หลิ่มหลีกับชามดองมาชวนคุยถึงควันหลงคำทำนายของน้องปลาบู่ แล้วแวะไปดูการเมืองเพื่อนบ้านที่มาเลเซีย ปิดท้ายด้วยงบกองทัพไทยปี 55 ว่ามหึมาแค่ไหน

 

ช่วงที่ 1

คุยกันถึงควันหลงจากคำทำนายของเด็กชายปลาบู่ โอเคไหมที่โทษจำคุก 15 วัน รอลงอาญา และปรับเงินอีก 500 บาท มาตกอยู่ที่พ่อน้องปลาบู่เพียงผู้เดียว, บ่ายวันที่ 15 ม.ค.มีงานใหญ่ หลิ่มหลี-ชามดอง ชวนกันไปหอประชุมเล็กธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เค้ามีอะไรกันหนอ ?

 

ช่วงที่ 2

มาดูข่าวใหญ่ของมาเลเซีย เมื่อ อันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้าน พ้นโทษจากข้อหาหนัก และมาดูพรรคการเมืองของมาเลย์ “อัมโน” และ “Bersih” การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน และผลจากการแบ่งชนชั้นทางสังคมด้วยนโยบาย “ภูมิบุตรา” ส่งผลอย่างไรกับประชาชน 3 เชื้อชาติใหญ่ๆ ในมาเลเซีย

 

ช่วงที่ 3

คุยกันถึงอาชีพของทหารไทยที่ทำอะไรได้สารพัดอย่าง แวะดูงบประมาณกองทัพไทยปี 55 ว่ามากหรือน้อย เมื่อเทียบกับงบอื่นๆ และปฏิกิริยาของ สส.เสื้อแดง จากพรรคเพื่อไทย ใครทำอะไรในวันอภิปรายงบ 1.68 แสนล้านบาทของพี่ๆ ตะหาน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จดหมายคณะ 'แสงสำนึก' ถึงเพื่อนนักเขียน เชิญร่วมงาน ครก.112

Posted: 12 Jan 2012 07:49 AM PST

วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

เรียนเพื่อนนักเขียนผู้ได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึก ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2554

 

หลังจากที่ได้มีการเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักเขียนไทยทั่วประเทศ เรื่อง ขอเชิญร่วมลงชื่อให้มีการแก้ไขมาตรา 112 และยุติการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 ได้มีการลงนามจากเพื่อนนักเขียนตลอดจนถึงออกคำประกาศ 359 นักเขียน เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 แม้ว่าตลอดสองเดือนของการเคลื่อนไหวของนักเขียนดังกล่าว จะได้ผลักดันประเด็นปัญหาในมิติต่าง ๆ เกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปไม่น้อย ให้ได้รับความสนใจจากทั้งในและต่างประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ขององค์การสหประชาชาติเข้ามาจับตาดูปัญหาการละเมิดสิทธิ เสรีภาพในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งได้มีการแถลงอย่างเป็นทางการถึงความกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ของประเทศไทย แต่ดูเหมือนว่าการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 จะมิได้ลดความรุนแรงลงแม้แต่น้อย อีกทั้งรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใดก็ยังคงแสดงความเฉยเมยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว และไม่ตระหนักถึงปัญหาของการละเมิดสิทธิ เสรีภาพ สิทธิมนุษยชนอันเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ปรากฏการดำเนินคดีโดยกฎหมายอาญามาตรา 112 เฉพาะตามที่ปรากฏเป็นข่าวถึง 5 กรณี

22 พฤศจิกายน ตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ดออกหมายเรียกนายสุรพศ ทวีศักดิ์ เนื่องจากถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ในการโพสต์ข้อความแสดงความเห็นท้ายบทความ จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม-การเมืองไทยอย่างไร? ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไท

23 พฤศจิกายน ผู้พิพากษาชนาธิป เหมือนพะวงศ์อ่านคำตัดสินพิพากษาจำคุกนายอำพล 20 ปี จากกรณีส่งข้อความสั้นหมิ่นประมาทสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสถาบันกษัตริย์ 4 ครั้ง ไปยังเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

25 พฤศจิกายน อัยการ สำนักงานพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 ยื่นฟ้องนายสุรภักดิ์ เนื่องจากโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พร้อมกับคัดค้านการขอประกันตัว

8 ธันวาคม ศาลตัดสินจำคุกโจ กอร์ดอน 5 ปี แต่สารภาพจึงลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือน ข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และกระทำให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบล็อกซึ่งใส่ลิงก์ให้ดาวน์โหลดหนังสือ The King Never Smiles และมีส่วนเกี่ยวข้องในการแปลหนังสือดังกล่าวเป็นภาษาไทย หนังสือดังกล่าวเขียนโดย Pual Handley เป็นหนังสือวิชาการจัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย Yale เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2549 โดยระหว่างถูกจับกุมศาลปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่าเป็นข้อหาที่กระทบต่อความมั่นคง และกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งมีโทษสูง

15 ธันวาคม ผู้พากษาชนาธิป เหมือนพะวงศ์อ่านคำตัดสินจำคุกนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล กระทำผิดโดยกล่าวปราศรัย 3 ครั้งที่ท้องสนามหลวง จำคุก 15 ปี 

คดีความทั้งหมดดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นผลจากกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยประเด็นสำคัญที่สุดคือ ความไม่ได้สัดส่วนกันระหว่างโทษและการกระทำผิด ซึ่งเป็นการกระทำฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แต่กลับมีการลงโทษอย่างรุนแรงจนสูงกว่าคดีที่ร้ายแรงกว่าเช่น การพยายามฆ่า และการฆ่าคนตายในบางกรณี ความผิดสัดส่วนนี้รุนแรงจนกระทั่งสามารถรู้สึกได้โดยสามัญสำนึกธรรมดา และมิต้องมีความรู้หรืออ้างอิงหลักกฎหมายแต่ประการใด

กรณีของนายอำพล ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสำคัญที่กระทบต่อหลักการพิจารณาคดีอาญา ซึ่งรัฐธรรมนูญระบุอย่างชัดเจนว่า ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยไม่มีความผิด หากแต่คำพิพากษาในคดีนี้ กลับสวนทางกับหลักคดีอาญา และผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 39 อีกทั้งยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับหลักฐานที่ใช้ระบุความผิด และกระบวนการนำสืบของโจทก์ อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดบรรทัดฐานการดำเนินคดีที่นำข้อมูลอันเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีมาใช้เป็นหลักฐานในการระบุตัวผู้กระทำผิดอย่างไม่รัดกุม

การตัดสินคดี 112 สะท้อนให้เห็นว่า ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพของบุคคลที่ถูกดำเนินคดีอาญา ไม่ว่าจะเป็นการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว การได้รับการตรวจสอบพยานเอกสารอย่างถูกต้องครบถ้วน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 26 มาตรา 39 มาตรา 40 (2) มาตรา 40 (7) เป็นต้น เป็นเพียงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่บนกระดาษเท่านั้น หาได้มีอยู่ในสำนึกของผู้บังคับใช้กฎหมายแต่อย่างใด

นอกจากนี้ คดีตัวอย่างทั้ง 5 กรณีซึ่งมีการดำเนินการในเวลาไล่เลี่ยกันทั้งหมดนี้ เกิดขึ้น หลังจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้มีหนังสือลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2554 แนะนำให้ชะลอคดีอาญาที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองทั้งหมดไว้ก่อน ซึ่งประกอบด้วย คดีอาญาในคดีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ตามมาตรา 215 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและคดีที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหลายก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมทั้งคดีที่เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

ความเคลื่อนไหวของคดีความระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน ถึง 15 ธันวาคม ตามที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เห็นถึงพฤติการณ์ที่สวนทางกับข้อเสนอของ คอป. และทำให้เรารู้สึกสิ้นหวังต่อหนทางคลี่คลายวิกฤตการเมืองด้วยการปรองดอง และเชื่อว่ายากที่ผู้ต้องหาคดีอันเนื่องมาจากกฎหมายอาญามาตรา 112 จะได้รับความเป็นธรรม ไม่ว่าขั้วการเมืองสองฝ่ายจะสามารถปรองดองกันได้หรือไม่

ด้วยเหตุที่กล่าวมาทั้งหมด อดีตเจ้าภาพผู้ริเริ่มเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนักเขียนได้หารือกับคณาจารย์คณะนิติราษฎร์ นักวิชาการกลุ่มสันติประชาธรรม กลุ่มเคลื่อนไหวรณรงค์อาร์ติเคิล 112 ไอลอว์ และปัญญาชนกลุ่มอื่น ๆ อีกหลายกลุ่ม มีความเห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยตัวเอง ผู้เข้าร่วมหารือ

ทั้งหมดจึงได้ตั้ง คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 (ครก.112) ขึ้น เพื่อผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภา ด้วยการร่วมกันรณรงค์และขอความเห็นชอบจากประชาชนมากกว่าหนึ่งหมื่นคนขึ้นไป การรณรงค์แก้กฎหมายครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 163 ซึ่งระบุว่า ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด 3 และหมวด 5 แห่งรัฐธรรมนูญนี้ โดยการลงชื่อดังกล่าวมีเพียงการกรอกแบบฟอร์มและแนบสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และการเซ็นรับรองความถูกต้อง

การผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 คือการเปลี่ยนเจตนารมณ์ในจดหมายเปิดผนึกที่พวกเรานักเขียนทั้งหมดได้ลงนามไว้ ให้เป็นรูปธรรมในการปฏิบัติโดยใช้สิทธิตามกฎหมาย และเป็นการกระตุ้นนักการเมืองให้ต้องหันมาใส่ใจปัญหานี้อย่างแท้จริง

ในวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม คณะนิติราษฎร์ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมเพื่อแนะนำ ครก.112 ในงานจะมีการอธิบายรายละเอียดในร่างแก้ไขอีกครั้ง พร้อมทั้งอภิปรายเหตุผลในการที่ต้องแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และกิจกรรมอื่น ๆ อันเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่จะแก้กฎหมาย

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งโต๊ะลงชื่อเพื่อแก้กฎหมาย มีการเตรียมแบบฟอร์มราชการ และเครื่องถ่ายเอกสารไว้พร้อมสำหรับการลงชื่อ งานดังกล่าวเริ่มตั้งแต่เวลาบ่ายโมงตรงเป็นต้นไป ที่ห้องประชุมเล็ก (ศรีบูรพา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เราขอเรียนเชิญเพื่อนนักเขียนเข้าร่วมลงนามและร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าว หรือเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวตามแต่ความสะดวกของท่าน หากไม่สามารถไปร่วมกิจกรรมได้ก็สามารถลงชื่อได้ภายหลัง โดยทางคณะนักเขียนแสงสำนึกจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบในโอกาสต่อไป

                                                                            เรียนมาด้วยความนับถือและสวัสดีปีใหม่

                                                                                      คณะนักเขียนแสงสำนึก

 

                                                                                      ปราบดา หยุ่น
                                                                                       วาด รวี
                                                                                       วรพจน์ พันธุ์พงศ์
                                                                                       ซะการีย์ยา อมตยา
                                                                                       กิตติพล สรัคคานนท์
                                                                                       ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง
                                                                                       ธิติ มีแต้ม
                                                                                       อติภพ ภัทรเดชไพศาล
                                                                                       บินหลา สันกาลาคีรี
                                                                                       ศุภชัย เกศการุณกุล
                                                                                       สุจิตต์ วงษ์เทศ
                                                                                       เรืองรอง รุ่งรัศมี
                                                                                       อุทิศ เหมะมูล

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง: เซเลปออนไลน์ - เรื่องยากที่ต้องเจอของคนเดินดินที่บังเอิญดัง

Posted: 12 Jan 2012 05:51 AM PST

Christ you know it ain't easy, You know how hard it can be.
The way things are going. They're gonna crucify me.

ประโยคข้างต้นคือเนื้อเพลงในท่อนฮุคของเพลง Ballad of John and Yoko ผลงานยุคปลายของสี่เต่าทองที่เล่าเรื่องบรรยายความชีวิตของจอห์น เลนนอน และ โยโกะ โอโนะ ในช่วงเริ่มต้นอินเลิฟเดินทางไปฮันนีมูนตามที่เมืองในอังกฤษและประเทศข้างเคียง การเดินทางครั้งนี้ของทั้งคู่กลายเป็นภารกิจที่นักข่าวติดตามด้วยความสนใจ แน่นอนว่าเมื่อถูกนักข่าวตามมาก ๆ ความอึดอัดย่อมบังเกิด จอห์นถึงกับบ่นออกมาเป็นเพลงประหนึ่งว่าเขากำลังถูกจ้องมองจับผิดเพื่อจะตรึงกางเขนเขาอยู่ร่ำไป

ปี 2554 ที่ผ่านมามีหลายช่วงเวลาที่ผมรู้สึกอินกับท่อนฮุคของเพลงนี้เป็นพิเศษ ชีวิตของผมบังเอิญพลิกผันจากการเป็นคนธรรมดาเดินดินในสายตาคนเดินถนนสู่การเป็น ‘น้าช้าง’ ผู้ช่วยเชฟหมีแห่งรายการครัวกาก ๆ รายการทำครัวที่โด่งดังจากการทลายโครงสร้างรายการครัวด้วยวาจาอันหยาบคายของเชฟ วัตถุดิบที่เป็นของเหลือกินทิ้งแห้งเกือบเน่าในตู้เย็น รวมไปถึงการใช้รองเท้าเป็นอุปกรณ์ในการทำครัว

รายการนี้เริ่มต้นจากทำขำ ๆ ด้วยธรรมชาติของทีมงานที่เป็นพวกชอบเรียกเสียงหัวเราะในหมู่เพื่อนฝูงอยู่แล้ว สมัยเวบบอร์ดยังเป็นที่นิยม งานอดิเรกที่ทำแก้เครียดจากธีซีสคือการเขียนเรื่องราวอุปโลกน์พลิกผันเพื่อนกลายเป็นตัวละครต่าง ๆ ทำเอาน้ำหูน้ำตาไหล ครัวกาก ๆ เกิดขึ้นเพียงเพราะเทคโนโลยีมันเปลี่ยน การอัดวิดีโอเป็นเรื่องสามัญประจำที่ใครก็ทำได้ เมื่อเผยแพร่ในเวบ youtube แล้วปรากฎว่ามีการแบ่งปันในสังคมออนไลน์กันแพร่หลาย กลายเป็นว่าเรามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในช่วงเวลาข้าม (หลาย) คืน

เราเริ่มเดินสยามได้อย่างไม่เป็นสุข ขึ้นรถเมลได้ไม่สะดวกเพราะมีคนมาขอถ่ายรูปและขอลายเซ็นกันเป็นกิจวัตร ชีวิตที่ไม่คิดว่าชาติหนึ่งอยู่ดี ๆ จะมีสาวน่ารักมาขอถ่ายรูปก็บังเกิดขึ้น ถ้าโดยส่วนตัวแม้ถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ชิน

ตั้งแต่ก่อนมีโลกไซเบอร์ สังคมบันเทิงฉาบหน้าด้วยแสงสีอันสวยงามและหวานเยิ้มด้วยความสำเร็จ ชื่อเสียงเงินทองต่างเป็นเครื่องล่อใจให้ใครต่อใครใฝ่ฝันอยากเป็นดาราดัง ชายหนุ่มหญิงสาวหน้าตาดีย่อมมีทุนดีกว่าคนอื่น ยิ่งหากมีความสามารถการแสดงด้วยแล้วโอกาสทองให้การเขยิบสถานะตัวเองเป็น upper middle class สูงตามไปเท่านั้น ทว่าใช่ว่าทุกคนจะมีพรสวรรค์ ความสามารถ เท่าเทียมและติดตัวจากพระผู้เป็นเจ้ามาเหมือนกันทุกคน เหล่าบรรดา wannabe อันเป็นแสลงเรียกคนที่พยายามอยากเป็นแต่หน้าตา ความสามารถไม่ถึง จึงได้แต่ดิ้นรนก้าวไปสู่ฝันที่ช่างยากเย็นเสียเหลือเกิน

ว่ากันว่าเทคโนโลยีเปลี่ยน พฤติกรรมคนก็เปลี่ยน ยูทูบเวบไซต์ที่ใครก็ได้อัพวิดีโอเผยแพร่แก่ประชาคมโลกกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติวงการสื่อกระจายภาพและเสียง คุณอาจจะมีฝีมือการเล่นกีตาร์ที่ยอดเยี่ยมแต่หน้าตาไม่ขาย คุณอาจจะมีงานเพลงที่ยอดเยี่ยมแต่ไม่มีค่ายเมเจอร์มาสนใจ คุณอาจจะลิ้นไก่สั้นแต่อยากบอกโลกว่าชอบร้องเพลง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเนื้อหาใหม่ที่ไม่มีวันปรากฎได้ในสื่อทีวีซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ชมเป็นอันมาก

แน่นอนว่าใครหลายคนผู้ใฝ่ฝันอยากมีชื่อเสียงย่อมมองเห็นหนทางในการใช้ช่องทางเหล่านี้เป็นบันไดไต่เต้าขึ้นไป

ปี 2554 สังคมไซเบอร์ไทยจึงมีโอกาสได้ผลิตบรรดาเซเลปออนไลน์ หลายคนได้รับตำแหน่งนี้โดยบังเอิญ (โดยเฉพาะสมาชิกชาวครัวกาก ๆ) บางคนก็ตั้งใจและได้ผลลัพธ์ที่งดงาม แต่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจล้วนแต่ต้องประสบชะตากรรมในการปรับตัวต่อคนรอบข้างและภาวะการคาดหวังจากบรรดาผู้ชมที่หลายครั้งก็ประหนึ่งเหมือนซึนามิแห่งนรกซัดสาด

สิ่งแรกที่ต้องเจอคือสายตาของการแอบมองและการซุบซิบ ไม่ต้องเดาให้ยากว่าเขากำลังถามไถ่อย่างซีเรียสว่านั่นคือคนที่เห็นในคลิปหรือเปล่า ถ้าคุณเป็นคนอยากดังก็คงรับกับสภาพนี้ได้ไม่ยากที่ใคร ๆ ก็สนใจ แต่กับคนที่โชคชะตานำพา พฤติกรรมเหล่านี้ชวนให้ตระหนกไม่น้อยคล้ายกับมีคนนินทาเราอยู่ทุกที่ทุกเวลา ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปจะเริ่มชินไปเองและเริ่มตรวจจับได้ว่าใครกำลังพูดถึงเราอยู่

การแอบมองและซุบซิบเป็นเพียงปฐมบท ขั้นต่อมาที่ต้องเตรียมตัวเตรียมใจไม่น้อยคือการต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนไม่รู้จักที่ชื่นชอบในผลงาน ประเภทเข้ามาขอถ่ายรูป มาคุยด้วยดี ๆ นี่ไม่ได้ยากเย็นอะไรเท่าไรจะมีก็เพียงการปั้นรอยยิ้มซึ่งความยากน่าจะแปรผกผันกับ EQ แต่หลายครั้งที่เจอเข้ามาคุยประหนึ่งเป็นเพื่อนหรือแสดงความ ‘กาก’ ด้วยคิดว่าหน้ากากด้านที่เห็นในคลิปนั้นคือความจริงเสียทุกอย่างก็เกินจะรับไหว พูดจามึงมาพาโวยด้วยภาษาระดับที่ ‘คนสนิทกันเท่านั้น’ ถึงจะใช้กัน การรับมือคนกลุ่มนี้ถือว่าต้องใช้พลังอันผลิตจาก EQ เยอะพอสมควรในการไม่ให้เขาเสียน้ำใจที่อุตส่าห์มาทักทายแม้ในใจอยากขย้ำก็ตามที

เรื่องที่ว่าเป็นเพียงสามัญไม่ได้ชวนปวดหัวอะไรมาก ความคาดหวังในผลงานต่างหากที่กลายเป็นเครื่องบั่นทอนให้ใครหลายคนท้อและเสียกำลังใจโดยใช่เหตุ

ปฐมบทต้นเหตุของเหล่าบรรดาเซเลปออนไลน์น่าจะมาจากการทำขำ ๆ โดยไม่ได้คาดหวังอะไร ดังนั้นรายการในครั้งแรก ๆ ย่อมมี ‘ความเด่นชัด’ ทั้งในแง่ของรูปแบบและเนื้อหา ทว่าปัญหาต่อมาที่พบกันถ้วนหน้าคือ ในแง่เนื้อหาอาจจะไม่มีอะไรใหม่และตื่นเต้นเท่ากับครั้งแรก ๆ ใครทำงานสื่อย่อมรู้ดีกว่าการผลิตผลงานเองโดยไม่มีโปรดิวเซอร์และทีมงานค่อยช่วยคิดให้นั้นเหนื่อยหนักขนาดไหน เมื่อต้องคิดเองทำเองจากตัวคนเดียวย่อมทำให้เกิดความแปลกสดใหม่ได้ยาก ด้านแง่การทำงาน จุดเริ่มต้นที่ทำเพียงสนุกมิได้คาดหวังซึ่งรายได้ ในระยะยาวย่อมขาดแรงจูงใจในการผลิตผลงานออกมาด้วยความถี่ที่ต่อเนื่อง

ทว่าความคาดหวังของผู้ชมมิใช่อย่างนั้น ธรรมชาติของผู้ชมในโลกไซเบอร์ของไทยเคยมีการลองสรุปบทเรียนกันดูจากผู้สันทัดด้านสื่อใหม่ว่า ‘ชื่นชอบความแปลกใหม่ ให้โอกาสและทำลายเพียงคลิกเดียว ชอบความจริงใจ ไม่โกหกและรับไม่ค่อยได้การขายวิญญาณ’

คนดูไม่น้อยต่างคาดหวังเนื้อหารายการที่มีความแปลกใหม่ สด สนุก ทุกครั้งที่มีตอนใหม่ออกมา พวกเขายอมรับได้กับทุกรายการที่จริงใจไม่หลอกลวง (อันนี้อาจจะสืบเนื่องไกลกว่าเคสเซเลปออนล์ อย่างกรณีมีดาราทำผิด ถ้ายอมรับผิดจะได้รับคำตอบรับแง่บวกทันที แต่หากปฏิเสธหรือมีแง่มุมที่ไม่เป็นไปตามความคิดของคนส่วนใหญ่ในสังคมออนไลน์นั้น ๆ รับรองได้เลยว่า เละ!) และบางส่วนรับไม่ได้หากรายการเริ่มเปลี่ยนแนวทางทั้งเนื้อหาและรูปแบบ เช่น อาจจะมีเรื่องพานิชย์มาเกี่ยวข้อง หลายคนจะต่อต้านและกล่าวหาว่าขายวิญญาณทันที

ฟีดแบ็คมีทั้งแง่บวกและแง่ลบเสมออันเป็นสามัญของโลก ทว่าแง่ลบที่มักเจอมากับตัวคือการตำหนิถึงอุดมการณ์ที่เลือนลางของผู้ผลิตว่ามิยอมดำเนินไปตามเส้นทางเริ่มต้น ซึ่งเซเลปออนไลน์ไม่น้อยก็คิดว่าสิ่งที่ตนทำคือการทำฟรี ๆ ให้ดู มิได้เรียกร้องเงินทองผลประโยชน์ใด ๆ คำวิจารณ์ส่วนหนึ่งถูกผลิตออกมาจากความรู้สึกต้องการกำหนดให้เป็นไปดั่งใจตน และหลายครั้งเมื่อไม่พอใจก็พาลด่าว่ากลายเป็นเรื่องใหญ่โต คล้ายกับต้องการเอาพวกเราที่เขานึกว่าขายวิญญาณไปตรึงกางเขนเผาไฟให้รู้แล้วรู้รอด

ความเห็นทิศทางนี้อาจจะไม่น้อยนิดเมื่อเทียบกับคำชื่นชมที่ได้รับแต่ก็สามารถสร้างความขุ่นข้องหมองใจอยู่หลายวัน

สำหรับคนที่เกิดมาในชีวิตไม่ได้เจอการคาดหวังมากมายจากคนอื่นถือว่านี่หนักหนาไม่น้อย

ความคาดหวังและการเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันนี้เหล่านี้เมื่อเทียบกับบรรดาซุปเปอร์สตาร์เจอยังถือว่าน้อยนิด ผมเองเคยบอกกับเพื่อนฝูงว่าพอจะเข้าใจนิดหน่อยแล้วว่าทำไม เคิร์ท โคเบน ฟรอนท์แมนแห่งวงกรันจ์ในตำนานอย่างเนอร์วานาถึงฆ่าตัวตายทั้ง ๆ ที่ประสบความสำเร็จมากมาย เข้าใจความรู้สึกของเลนนอนในวันที่สื่อตามจับตาและคาดหวังกับเขาประหนึ่งเหมือนจองจับตรึงกางเขนหากพลาดพลั้ง

ก็คงเป็นเหมือนเนื้อร้องในเพลงข้างต้นที่ว่าไว้

Christ you know it ain't easy, You know how hard it can be.
The way things are going. They're gonna crucify me.

ชีวิตเซเลปออนไลน์นี่มันไม่ง่ายจริง ๆ!!!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ

Posted: 12 Jan 2012 04:52 AM PST

หนทางเยียวยาที่ทำได้ง่าย รวดเร็ว และสามารถทำได้ทันที คือ ภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องประกาศต่อสังคมถึงกำหนดระยะเวลาและกรอบการทำงานเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์แต่ละกรณี และแถลงความคืบหน้าเป็นระยะ มากกว่าจะรอให้ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบตามกดดันเรียกร้องอย่างเช่นทุกวันนี้ เพราะนั่นย่อมเปิดเปลือยกับประชาคมโลกให้เห็นว่าความยุติธรรมไม่เคยมีอยู่ในประเทศแห่งนี้

พ่อน้องเฌอ: ความเห็นต่อกรณี ครม.อนุมัติเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

ดุลยภาค ปรีชารัชช: ทิศทางพม่า 2555: (1) ประชาธิปไตยสไตล์พม่า

Posted: 12 Jan 2012 04:17 AM PST

 

สัมภาษณ์ดุลยภาค ปรีชารัชช นำเสนอเป็นตอนแรก โดยเป็นการวิเคราะห์ทิศทางการปฏิรูปในพม่า ขั้วอำนาจหรือ “มุ้ง” ทางการเมืองในพม่า และแนวโน้มการแก้ไขปัญหาระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์

ดุลยภาค ปรีชารัชช (ที่มา: ประชาไท)

 

เมื่อ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา ประชาไทสัมภาษณ์ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้เขียน "Naypyidaw: New Capital of Burma" ซึ่งพิมพ์ในปี 2551 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงทิศทางของพม่าในปี 2555 โดยเฉพาะทิศทางการปฏิรูปพม่า และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศ โดยประชาไทแบ่งการนำเสนอเป็น 2 ตอน วันนี้นำเสนอเป็นตอนแรก

ดุลยภาค มองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพม่าว่า "การที่พม่าจัดให้มีการเลือกตั้ง เป็นเพราะพม่าปิดประเทศมานาน แต่ด้วยการถาโถมของโลกาภิวัตน์กับทุนนิยม ทำให้พม่าคิดว่า เมื่อโลกเปลี่ยนพม่าก็ต้องเปลี่ยน เพียงแต่ความเปลี่ยนแปลงที่รัฐบาลพม่าจัดให้มีนั้น เป็นความเปลี่ยนแปลงที่รัฐบาลหรือกองทัพต้องสามารถควบคุมได้ เพราะฉะนั้นระบอบการปกครองพม่าในปัจจุบัน ทุกคนต้องอย่าลืมว่าเป็น "ระบอบประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัย" หรือ "ประชาธิปไตยสไตล์พม่า" นั่นหมายความว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างที่โลกตะวันตกคาดคิดนั้น อาจจะผิดหวังในกรณีของพม่า เพราะต้องไม่ลืมว่าตอนนี้แสงไฟหรือสปอร์ตไลท์ได้ฉากแสงพุ่งเป้าไปที่พม่าแล้วบอกว่าเขาให้ความสำคัญกับ Democratization (กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย) อย่างเต็มที่ แต่จริงๆ แล้วต้องอย่าลืมว่า กองทัพยังมีบทบาทในการนำทางการเมือง การดูประชาธิปไตยในพม่าต้องดูความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน”

ต้องไม่ลืมว่า ทั้งประธานาธิบดีเต็งเส่ง รองประธานาธิบดี ทิน อ่อง มิ้น อู เหล่านี้คือนายพลทั้งนั้นเลย เพียงแต่ถอดเครื่องแบบมาได้ปีกว่าๆ คือแปลงร่างเป็นพลเรือน ยังไม่นับร้อยละ 25 โดยตรงที่เป็นทหารโดยตรงเข้าไปนั่งในสภา ส่วนอีกเกือบร้อยละ 75 ก็เป็นพรรค USDP (พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา) ซึ่งเป็นแนวร่วมของรัฐบาลพม่าอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นองค์ประกอบในรัฐสภาหรือรัฐบาลพม่า แท้จริงแล้วคือทหารในคราบพลเรือน และพลเรือนที่ฝักใฝ่ทหาร รวมถึงทหารเพรียวๆ ผสมปนเปกันไป เพราะฉะนั้น ระดับดีกรีการเป็นประชาธิปไตยยังมองยากอยู่ คิดว่าสักร้อยละ 15-20 เท่านั้นที่รัฐบาลพม่าเริ่มเปิดวิถีทางการเมืองให้มีอิสระมากขึ้นเท่านั้นเอง แต่จริงๆ แล้วเรื่องนักโทษทางการเมืองนั้น คนที่สำคัญ ที่เคยเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลพม่า ถ้ารีบปล่อยตัวมาจะเป็นสัญญาณอันตรายต่อเสถียรภาพในการปกครอง เขาก็ยังถูกกักอยู่ เพราะฉะนั้นระดับการเป็นประชาธิปไตย พม่าทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้มั่นคง ให้เป็นวิถีที่กองทัพสามารถควบคุมได้อยู่ ไม่ให้เปลี่ยนแปลงฉับพลันแล้วสังคมการเมืองพม่ารู้สึกว่าระส่ำระสาย”

ดุลยภาคยังเสนอด้วยว่าต้องจับตาบทบาทของกองทัพพม่าซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีอำนาจสูงมาก “เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยพม่า ต้องจับตาดูกองทัพ ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญปี 2008 ระบุไว้เลยว่าเมื่อใดก็ตามที่ประเทศชาติมีภาวะสุ่มเสี่ยงวุ่นวาย สุ่มเสี่ยงต่ออธิปไตยและความมั่นคงในชาติ ประธานาธิบดีต้องถ่ายโอนอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคือ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย เพราะฉะนั้น ผบ.สส. จริงๆ อาจจะมีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดีพม่าด้วยซ้ำ แต่คนไม่ค่อยพูดถึงเพราะแสงไฟหรือสื่อต่างๆ พุ่งเป้าไปที่เต็งเส่ง เท่านั้นเอง คำถามที่ตามมาคือ เต็งเส่ง มีอำนาจแท้จริงหรือไม่ในระบบการเมืองพม่า"

นอกจากนี้ดุลยภาค ยังได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางอำนาจของชนชั้นนำพม่าภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. ปี 53 ซึ่งเกิด "มุ้งทางการเมือง" ที่ทับซ้อนกันมากขึ้น แตกต่างจากโครงสร้างชนชั้นนำแบบยอดพีรามิดที่แต่เดิมมีเพียงนายทหารระดับสูงเป็นชนชั้นนำเท่านั้น ทั้งนี้ขั้วอำนาจต่างๆ ในปัจจุบันนั้น แต่ละกลุ่มต่างมีฝ่ายสนับสนุนของตนเอง โดยมีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนให้พม่าเปลี่ยนแปลงแบบเสรีนิยม กลุ่มที่สนับสนุนให้พม่าเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป และกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่รับไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่บทบาทของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ซึ่งแม้จะมีการคุยกับออง ซาน ซูจี และพบกับทูตต่างประเทศ และทำประเทศให้เสรีมากขึ้นในอนาคต แต่บทบาทของรองประธานาธิบดี ทิน อ่อง มิ้น อู ก็คัดค้านบทบาทของเต็งเส่งในหลายโอกาส นอกจากนี้ต้องจับตาดูด้วยว่า ผบ.สส. อย่าง พล.อ.มิน อ่อง หล่าย และผู้มีอำนาจนอกวงรัฐบาลพม่าอย่าง พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ซึ่งเพิ่งลงไปเมื่อปีกว่าๆ จะรับได้กับบทบาทของเต็งเส่ง หรือไม่

ต่อคำถามเรื่องบทบาทของ พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย หลังการเกษียณนั้น ดุลยภาคอธิบายว่า บทบาททางการเมืองของทหารพม่า ก็เหมือนกับหลายประเทศในอุษาคเนย์ทั่วไป พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ครองอำนาจมานาน มีอายุมากเกือบ 80 ปี มีอิทธิพล เป็น Moderator (ผู้ไกล่เกลี่ย) ไม่ให้ผู้นำพม่าอีกรุ่นหนึ่งตีกันมากนัก ตานฉ่วยเป็นคนคุมให้ผู้นำพม่าเล่นไปตามรางที่ตานฉ่วยวางไว้ แต่ปัญหาของตานฉ่วยคือจะคุมได้อีกนานเท่าไหร่ ปล่อยไว้นานๆ ปัญหาการไม่เชื่อฟัง พล.อ.อาวุโส ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ และปัญหาสุขภาพของ พล.อ.ตานฉ่วย ซึ่งมีอายุมากแล้ว

โดยบทบาทของ พล.อ.อาวุโสตานฉ่วย และรอง พล.อ.อาวุโส หม่องเอ ยังคงมีบทบาทในช่วงเร็วๆ นี้ แต่ถ้ามองในอนาคตต่อไปก็พูดยาก เพราะระดับการปกครองในพม่าถ้าจะพิจารณาให้แม่นต้องดูที่ทหารว่ามีกี่รุ่นแล้ว ซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 3 โดยรุ่นแรกคือ นายพลเนวิน ที่มาพร้อมกับนายพลออง ซาน ในช่วงเรียกร้องเอกราชพม่า รุ่นที่สองคือ ตานฉ่วย และหม่องเอ ซึ่งทำสงครามสู้รบกับกลุ่มชาติพันธุ์ และให้ความสำคัญกับความมั่นคงสูงมาก และรุ่นที่ 3 คือ เต็งเส่ง หรือ ทิน อ่อง มิ้น อู ซึ่งเป็นผู้นำรุ่นใหม่

ส่วนแนวโน้มเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐต่างๆ นั้น ดุลยภาคกล่าวว่า พม่าเป็นรัฐพหุชนชาติ หนึ่งรัฐมีหลายชาติ เมื่อผ่าโครงสร้างออกมาก็มีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง กะเหรี่ยง คะยาห์ มอญ พม่า ไทใหญ่ ฯลฯ จะเห็นว่ามีโครงสร้างทางชาติพันธุ์ที่หลากหลายสลับซับซ้อน ที่ผ่านมาพม่าใช้กลไกของกองทัพและความเด็ดขาดทางทหารเข้าไปสัประยุทธ์กองกำลังต่างๆ ตามแนวชายแดน ขณะที่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ก็ใช้การซุ่มโจมตี สงครามจรยุทธ์สู้รบ ทหารพม่าก็เสียกำลังพลไปเยอะ

เพราะฉะนั้นการสู้รบมีมาอย่างเนิ่นนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 สิ่งสำคัญที่ต้องมองให้ออกคือ ทั้งตัวรัฐบาลพม่าเองและกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มมีโลกทัศน์เกี่ยวกับโมเดลทางการปกครอง หรือสถาปัตยกรรมแห่งรัฐพม่าที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะรัฐบาลพม่ามุ่งความสนใจไปที่รัฐเดี่ยว ต้องเป็นรัฐเดี่ยว แบ่งแยกไม่ได้ อย่างเก่งก็ให้มีเขตปกครองพิเศษที่รัฐบาลพม่าจะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป แต่กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มขอเป็นสหพันธรัฐ ในหนึ่งรัฐ ก็ต้องมี 8 รัฐ มีรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 7 และรัฐพม่า แต่รัฐพม่าไม่ตอบรับ เพราะมองว่าไปทำให้เขาไปมีสถานะเท่าเทียมกับรัฐเล็กๆ ก็อาจจะรับไม่ได้”

เพราะฉะนั้นความขัดแย้งระหว่างระหว่างแนวคิด เอกรัฐนิยม กับ สหพันธรัฐนิยม ก็จะตีกันเป็นวิกฤตการณ์ด้านการปกครองในพม่า ยังไม่นับกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่ไม่ต้องการทั้งเอกรัฐ และสหพันธ์รัฐ แต่เป้าหมายที่สู้รบมาตลอดชีวิตคือสถาปนารัฐเอกราชสมัยใหม่ กรณีแบบสหภาพโซเวียต ยูโกสลาเวีย เป็นโมเดลที่นักความมั่นคงพม่าหวาดเกรงเป็นพิเศษ จึงต้องทำทุกวิถีทางให้กลุ่มต่างๆ ให้เข้ามาร่วมธงเดียวกัน โดยเทคนิควิธีใหม่ที่นำมาใช้คือการหยิบยื่นให้มีเขตปกครองพิเศษให้ชนชาติบางกลุ่มเช่น ว้า ปะโอ ปะหล่อง แทนวิธีการเดิมที่ใช้กองทัพเข้ามากดดันปราบปราม”

"ในปี 2555 จะเห็นการเคลื่อนไหวหลายประการ การสู้รบอาจจะเกิดขึ้นประปราย อาจจะมีลดทอนในหลายพื้นที่ แต่จะมีดำรงอยู่หลายพื้นที่ จะเห็นการเคลื่อนไหวของผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้นทั้ง KNPP (พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี) KNU (สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง) SSA-S (กองทัพรัฐฉาน) ในการเดินสายเพื่อการปรองดองทางการเมือง เห็นผู้นำเหล่านี้พูดคุยกับผู้นำระดับสูงของพม่ามากขึ้น แม้กระทั่งการพูดคุยกับออง ซาน ซูจี แม้กระทั่งกับผู้นำมหาอำนาจประเทศต่างๆ ก็จะหันมาพูดคุยกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวกับกลุ่มชาติพันธุ์ก็ดี หรือการประชุมเจรจาระหว่างรัฐบาลพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ก็ดี จะมีเวทีการต่อสู้ ควบคู่กับความร่วมมือในบางจุดที่ล้ำลึกเป็นพิเศษ และอาจมีมหาอำนาจทางการเมืองโลกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย” โดยดุลยภาคมองว่าในช่วงนี้จะเป็นช่วงปรับบรรยากาศพูดคุยระหว่างกองทัพพม่าและชนกลุ่มน้อย พร้อมๆ กับการสะสมอำนาจเพิ่มอำนาจต่อรอง และเจรจาให้ได้ผลประโยชน์แต่ละฝ่าย ซึ่งคงยังไม่จบอย่างง่ายดาย

[สำหรับตอนต่อไปจะเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ที่กองทัพพม่ายังคงเสริมขยายความเข้มแข็งทางการทหาร การขยายอำนาจของจีนในพื้นที่อ่าวเบงกอล-มหาสมุทรอินเดีย รวมถึงโครงการพัฒนาของพม่า โดยเฉพาะกรณีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่เมืองทวาย และบทบาทของมหาอำนาจตะวันตกในพม่า]

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

KNU เจรจากับพม่าครั้งแรกในรอบ 8 ปี

Posted: 12 Jan 2012 03:08 AM PST

ตัวแทนของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู เจรจาสันติภาพกับรัฐบาลพม่าที่เมืองผาอัน รัฐกะเหรี่ยง นับเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี ที่ตัวแทนจากเคเอ็นยูเดินทางไปในพื้นที่ควบคุมของรัฐบาลพม่า โดยก่อนหน้านี้ในปี 47 นายพลโบเมี้ยะ เคยเจรจากับพม่ามาแล้ว แต่ผลการเจรจาล้มเหลว

กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KNLA ภายใต้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ที่มา: สาละวินโพสต์

เว็บไซต์สาละวินโพสต์ รายงานว่า ตัวแทนของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (The Karen National Union -KNU) หรือเคเอ็นยู เดินทางไปยังเมืองผาอัน รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งอยู่ในเขตควบคุมของรัฐบาลพม่า เพื่อเดินทางไปเจรจาสันติภาพกับตัวแทนรัฐบาลพม่าจากกรุงเนปีดอว์ หลังทั้งสองฝ่ายรบกันเป็นเวลา 64 ปี

นับเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี ที่ตัวแทนจากเคเอ็นยูเดินทางไปในพื้นที่ควบคุมของรัฐบาลพม่า ก่อนหน้านี้ในปี 2004 นายพลโบเมี้ยะ อดีตผู้นำเคเอ็นยูเคยเดินทางไปกรุงย่างกุ้งเพื่อเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลพม่า โดยขณะนั้น มีพลเอกขิ่นยุ้นต์เป็นผู้ร่วมเจรจาจากฝ่ายรัฐบาล แต่ต่อมาการเจรจาก็ล้มเหลว

ขณะที่การเจรจาสันติภาพรอบใหม่ที่จะเกิดขึ้น จะเป็นการพบการระหว่างนายอองมิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงขนส่งทางรถไฟพม่าและนายพลมูตู เซ โพ เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของเคเอ็นยู รวมไปถึงคณะกรรมการกลางของเคเอ็นยูอีกหลายคนและตัวแทนจาก 7 กองพลของเคเอ็นยู ยกเว้นกองพลที่ 5 จะร่วมไปเจรจาในครั้งนี้ด้วย

“เราจะเน้นในเรื่องการทำสัญญาหยุดยิงที่ยั่งยืน และเงื่อนไขที่ทั้งสองฝ่ายควรที่จะเคารพและเชื่อฟัง” เดวิด ทะคะพอกล่าว โดยยังกล่าวเพิ่มเติมว่า จะมีการหารือในประเด็นเรื่องการบังคับใช้แรงงาน การกดขี่และละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อพลเรือนในรัฐกะเหรี่ยงด้วย

“คนกะเหรี่ยงได้ต่อสู้มาเป็นเวลามากกว่า 60 ปี คนกะเหรี่ยงทั่วโลกต่างกังวลการที่เราเจรจากับรัฐบาลพม่าในครั้งนี้ แต่เราอยากจะบอกว่า สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว หากรัฐบาลพม่าต้องการที่จะสร้างสันติภาพจริงๆ ก็ถึงเวลาที่จะต้องทำข้อตกลงกัน นั่นก็เพื่อผลประโยชน์ของคนกะเหรี่ยง ถึงแม้เราจะไม่ทำข้อตกลงกับรัฐบาลในตอนนี้ แต่เราก็ยังหวังว่า วันหนึ่งในอนาคตเราจะทำข้อตกลงกับรัฐบาลพม่า” เดวิด ทะคะพอกล่าว

ด้านเจ้าหน้าที่ทหารจากเคเอ็นแอลเอ (Karen National Liberation Army - กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง)กองกำลังทหารภายใต้เคเอ็นยูเปิดเผยว่า ได้รับคำสั่งจากเคเอ็นยูว่าให้ยุติสู้รบและโจมตีทหารพม่าตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา “เราทั้งหมดต่างเห็นด้วยที่จะให้เคเอ็นยูพูดคุยเจรจากับรัฐบาลพม่า เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาทางการเมือง เพราะว่าตลอด 60 กว่าปีที่ผ่านมาของการสู้รบระหว่างทหารพม่าและกะเหรี่ยง ไม่มีการพัฒนาทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและด้านศาสนาในชุมชนท้องถิ่นของเรา และผลของการสู้รบยาวนานกว่า 60 ปี ยังทำให้ ประชาชนชาวกะเหรี่ยงของเราต้องทนทุกข์ทรมานมากมายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษย ชน”

แปลและเรียบเรียงจาก Irrawaddy 10 มกราคม 55

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน" อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

8 ราชนิกูล ยื่นจม.ถึงนายกฯ แก้ไขม.112 ยิ่งลักษณ์ปัด ยังไม่ทราบเรื่อง

Posted: 12 Jan 2012 02:30 AM PST

กลุ่มราชนิกูล 8 คน ยื่นจดหมายให้นายกฯ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา แนะรบ. แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมองส่งผลเสียมากกว่าผลดีต่อสถาบัน ด้านยิ่งลักษณ์แจง ยังไม่ได้รับจดหมายดังกล่าว

มติชนออนไลน์ รายงานโดยอ้างถึงข่าวในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 55 ว่า ราชนิกูลกลุ่มหนึ่งได้ออกมาเรียกร้องให้มีการปรับปรุง แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากมองว่าส่งผลเสียต่อสถาบันกษัตริย์

โดยราชนิกูลผู้มีชื่อเสียงจำนวน 8 คน ได้แก่ หม่อมราชวงศ์สายสวัสดี สวัสดิวัตน์ (ธิดาในหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิ วัตน์ หรือ ท่านชิ้น - มติชนออนไลน์), หม่อมราชวงศ์สายสิงห์ ศิริบุตร (ธิดาในหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ - มติชนออนไลน์), หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ (ธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ - มติชนออนไลน์), นายวรพจน์  สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (อดีตเอกอัครราชทูต - มติชนออนไลน์), พลเอก หม่อมราชวงศ์กฤษต กฤดากร, หม่อมราชวงศ์ภวรี สุชีวะ  (รัชนี), หม่อมราชวงศ์โอภาส กาญจนะวิชัย และนายสุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา  ได้ลงนามในจดหมายที่ส่งไปถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  เมื่อวันเสาร์ที่ 7 มกราคม ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายมาตราดังกล่าว

จดหมายที่ส่งไปถึงนายกรัฐมนตรีมีเนื้อหาระบุว่า จำนวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้เพิ่มขึ้นอย่างสำคัญในช่วงเวลา 7 ปี จากจำนวน 0 คดี ในปี พ.ศ.2545 มาเป็น 165 คดี ในปี พ.ศ.2552 ซึ่งข่าวคราวเกี่ยวกับคดีความเหล่านั้นได้ถูกรายงานไปทั่วโลก และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมากขึ้นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

จดหมายของราชนิกูลกลุ่มนี้ยังได้อ้างถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2548 ซึ่ง ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่าการลงโทษจับกุมคุมขังบุคคลผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันนั้น มีแต่จะก่อปัญหาให้แก่พระองค์เอง  ("แต่อย่างไรก็ตาม เข้าคุกแล้ว ถ้าเป็นการละเมิดพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เองเดือดร้อน เดือดร้อนหลายทาง ทาง หนึ่งต่างประเทศเขาบอกว่าเมืองไทยนี่พูดวิจารณ์พระมหากษัตริย์ไม่ได้ ว่าวิจารณ์ไม่ได้ก็เข้าคุก มีที่เข้าคุก เดือดร้อนพระมหากษัตริย์" - พระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2548)

"นับแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสดังกล่าว มีรัฐบาลหลายชุดหมุนเวียนกันเข้ามาบริหารประเทศ แต่ไม่มีรัฐบาลชุดใดเลยที่จะริเริ่มดำเนินการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน" จดหมายที่ส่งถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ

"เมื่อครั้งที่รัฐบาลจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 7 รอบ ในปี  พ.ศ.2554 รัฐบาลควรใช้โอกาสนั้นทำความเข้าใจในพระราชประสงค์ของในหลวงต่อประเด็นดังกล่าวด้วย" นายสุเมธ หนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อในจดหมายกล่าวและว่า ราชนิกูลกลุ่มนี้ได้พบปะกันในช่วงสิ้นปี 2554 เพื่อร่วมครุ่นคิดในประเด็นว่าด้วย "การบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ในทางที่ผิดซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายเช่นนั้นที่มีต่อประเทศไทย ทั้งภายในไทยเองและภายนอกประเทศ"

"ที่สำคัญสุดเหนือสิ่งอื่นใด พวกเราต้องการให้มีการคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายมาตราดังกล่าว" นายสุเมธ ให้สัมภาษณ์

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ราชนิกูลกลุ่มนี้ออกมาเสนอให้รัฐบาลปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่กลับไม่มีการระบุอย่างเด่นชัดว่าเนื้อหาของกฎหมายในส่วนใดที่ควรได้รับการแก้ไข

"พวกเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย เราคิดว่านี่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลซึ่งต้องแสวงหาหนทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น"  นายสุเมธกล่าวและว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดนี้ที่จะทำการปกป้องสถาบัน และในกรณีนี้ ยังถือเป็นการเอาใจใส่ต่อความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สังคมไทยกำลังแตกแยก ประชาชนแบ่งออกเป็นฝักฝ่ายอย่างสุดขั้ว รัฐบาลจึงควรให้ความสนใจกับคำแนะนำของในหลวงก่อนจะดำเนินมาตรการอื่นใด

ในขณะที่วอยซ์ทีวี รายงานในวันเดียวกันว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธการตอบคำถามเรื่องนี้ โดยระบุว่ายังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว

 ที่มา: มติชนออนไลน์, วอยซ์ทีวี 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนงานจีนในโรงงาน Foxconn สุดทนสภาพการทำงาน ขู่ฆ่าตัวตายหมู่

Posted: 12 Jan 2012 01:10 AM PST

แรงงานจีนกว่า 100 คนในโรงงานผลิตอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ Foxconn ขู่จะกระโดดตึกฆ่าตัวตาย หลังจากถูกเอาเปรียบสวัสดิการการทำงานและทนสภาพการทำงานในโรงงานไม่ไหว

หนังสือพิมพ์เทเลกราฟของอังกฤษรายงานว่า เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (11 ม.ค. 55) คนงานจีนราว 150 คน ในโรงงาน Foxconn ซึ่งผลิตอุปกรณ์อิเล็กโทรนิคแก่บริษัทชั้นนำ เช่น แอปเปิล โซนี นินเทนโดและเอชพี ได้ขู่ฆ่าตัวตายหมู่ หลังจากทนกับสภาพการทำงานที่ถูกเอาเปรียบและไร้สวัสดิการในการทำงานต่อไปไม่ไหว

รายงานข่าวระบุว่า คนในโรงงานดังกล่าวที่ตั้งอยู่ในรัฐวูฮ่าน เริ่มประท้วงเมื่อวันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่ฝ่ายผลิตได้โยกย้ายคนงานราว 600 ไปทำงานในสายพานการผลิตใหม่เพื่อผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้แก่บริษัทเอเซอร์ ทำให้คนงานรู้สึกถูกเอาเปรียบจากสภาพการทำงาน

"เราถูกจับให้ทำงานโดยไม่มีการฝึกอบรมใดๆ และได้รับค่าแรงน้อยมากๆ" หนึ่งในคนงานที่ประท้วงกล่าว "สายพานการผลิตหมุนเร็วมาก และเพียงแค่ตอนเช้าวันเดียว เรามีบาดแผลเต็มมือและผิวหนังเราก็ดำไปหมด โรงงานก็ปกคลุมไปด้วยฝุ่นทึบ ไม่มีใครที่ทนสภาพได้เลย" 

หลังจากผู้จัดการโรงงาน Foxconn และเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้เจรจาไกล่เกลี่ยกับคนงานซึ่งขู่จะกระโดดฆ่าตัวตายบนชั้นสามของโรงงาน สถานการณ์ก็ได้สงบลง

มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้โรงงาน Foxconn ต้องประสบกับสถานการณ์ที่คล้ายกันมาแล้วในปี 2553 เมื่อคนงานจีน18 คนได้ฆ่าตัวตายหมู่ด้วยการกระโดดลงมาจากตึกของบริษัท ทำให้มีผู้เสียชีวิต 14 ราย ทำให้ต่อมาโรงงานติดตั้งตาข่ายรองรับเพื่อความปลอดภัย และจ้างผู้ให้ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือคนงาน

ถึงแม้ว่ารายงานหลายฉบับจะระบุว่า โรงงาน Foxconn มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากกว่าคู่แข่งอื่นๆ แต่กล่าวกันว่าวิธีที่โรงงานดังกล่าวจัดการกับคนงานเป็นไปอย่างเหลือทนสำหรับคนงานมาก รายงานระบุว่า โรงงานใหญ่ของ Foxconn ที่เมืองลองหัว มีคนงานถึงร้อยละ 5 ของโรงงาน หรือ 24,000 คนลาออกทุกๆ เดือน

"เพราะพวกเราทนต่อไปอีกไม่ไหว เราจึงประท้วงหยุดงาน" คนงานกล่าว "มันไม่เกี่ยวกับเรื่องเงิน แต่เรารู้สึกว่าเราไม่เหลือทางเลือกใดๆ อีกต่อไปแล้ว ในตอนแรก ผู้จัดการบอกว่าใครที่ต้องการลาออกจะได้ค่าชดเชยหนึ่งเดือน แต่ตอนหลังเขาก็ไม่ทำตาม เราจึงขึ้นไปบนหลังคา และขู่จะฆ่าตัวตายหมู่"

โฆษกของโรงงาน Foxconn ได้ยืนยันว่ามีการประท้วงดังกล่าวจริง และระบุว่า เหตุดังกล่าวผ่านไปอย่างเรียบร้อยหลังจากสามารถเจรจาระหว่างคนงาน เจ้าหน้าที่โรงงาน Foxconn และตัวแทนจากรัฐบาลท้องถิ่นได้สำเร็จ

"สวัสดิภาพของลูกจ้างของเรามาก่อนเป็นอันดับแรก และเรามุ่งมั่นที่จะปฏิบัติต่อลูกจ้างของเราอย่างเป็นธรรม" เขากล่าว

แปลจาก The Telegraph. 'Mass suicide' protest at Apple manufacturer Foxconn factory. 11/01/12.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข่ายเกษตรพันธสัญญาภาคเหนือ เสนอ ครม.สัญจร หยุดดำเนินคดีกับเกษตรกร

Posted: 12 Jan 2012 01:10 AM PST

เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญาเพื่อความเป็นธรรม(ภาคเหนือ) ยื่นข้อเสนอผ่านผู้ว่าฯเชียงใหม่ เสนอประเด็นแก้ไขปัญหาจากระบบเกษตรพันธสัญญาต่อที่ประชุมครม.สัญจร

เว็บไซต์สำนักข่าวประชาธรรมรายงานว่า วันนี้ (12 ม.ค.55) เวลาประมาณ 10.00 น. ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญาเพื่อความเป็นธรรม(ภาคเหนือ) ประกอบไปด้วยตัวแทนเกษตรพันธสัญญาจากการเลี้ยงสุกร แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.)และกลุ่มข้าวโพด จำนวน 10 คน ยื่นหนังสือแก่ มล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อผลักดันเป็นประเด็นในการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีสัญจรในจังหวัดเชียงใหม่

นายโชคสกุล มหาค้ารุ่ง เลขานุการเครือข่ายเกษตรพันธสัญญาเพื่อความเป็นธรรม(ภาคเหนือ) กล่าวว่า การยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่าฯ เพื่อให้มีการผลักดันประเด็นนี้เข้าสู่การประชุม ครม.สัญจรที่เชียงใหม่ เพราะผู้ว่าฯเป็นพ่อเมือง ต้องนำความเดือดร้อนของลูกบ้านลูกเมืองไปพูดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ แม้ไม่อำนาจจัดการในเชิงนโยบาย แต่สามารถส่งผ่านได้

"เครือข่ายพันธสัญญาเพื่อความเป็นธรรม ทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ ได้ไปยื่นข้อเสนอรอบแรกต่อนายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทยที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเขาก็รับข้อเสนอและรับปากว่าจะผลักดันเรื่องนี้ โดยจะไปตั้งกระทู้สดในสภา แต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เรื่องนี้เลยเงียบหายไป"

"หลังจากนั้นก็ได้ไปยื่นกับนายนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเขาก็รับปากว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสส.ภาคเหนือ เพื่อจะผลักดันเข้าสู่ ครม." นายโชคสกุล กล่าว

"ปัญหาเกษตรพันธสัญญาเป็นปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมมานาน และก็ไม่มีใครกล้านำมาเปิดเผย แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน เกษตรพันธสัญญาเป็นระบบผลิตอาหารเพื่อคนทั้งหลาย คนทั้งหลายต้องพึ่งการผลิตในระบบเกษตรพันธสัญญา แต่มันเป็นการทำลายล้างสังคม โดยที่สังคมไม่รู้สึกตัว จะรู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อตัวเองเจอปัญหา ที่ดินดินถูกยึด ถูกขายทอดตลาด ครอบครัวแตกแยกถึงขั้นบ้านแตกสาแหรกขาด ลูกก็ไม่ได้เรียนหนังสือ ต้องออกกลางคันเพราะไม่มีรายได้ของพ่อแม่ อันนี้คือความโหดร้ายของเกษตรพันธสัญญา"

"ถ้าไม่มีการแก้ไข ทั้งเรื่องที่ดิน ชีวิต ครอบครัว จะล้มสลายไปโดยอัตโนมัติ เพราะว่ามันเป็นระบบที่เหมือนกับผีดิบดูดเลือด ที่ค่อยๆสูบไปทีละน้อย มีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน โดยมีการร่วมมือจากนโยบายของรัฐเปิดช่องให้กลุ่มทุนที่ผลิตทางด้านอาหาร เข้ามาฮุบทางอ้อม ถ้าใครไม่ได้มาศึกษาตรงนี้จะไม่รู้ว่ามันเป็นการทำลายล้างสังคมโดยที่สังคมไม่รู้สึกตัว"

"บ้านเราปกครองด้วยกฎหมาย จะแก้ปัญหาได้ ก็ต้องเริ่มจากกฎหมาย และคนที่มีอำนาจแก้ก็คือรัฐ เวลาจะแก้กฎหมายรัฐต้องฟังเสียงของคนที่มีปัญหาถึงจะแก้ปัญหาได้ถูกจุด ถ้าไม่ฟังก็เหมือน "เกา ไม่ถูกที่คัน" เมื่อรัฐออกกฎหมายคุ้มครองเกษตรกรแล้ว เราก็ผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกกฎระเบียบให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป" นายโชคสกุล กล่าวทิ้งท้าย

/////////////
ข้อเสนอต่อรัฐบาลของเครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญาเพื่อความเป็นธรรม (ภาคเหนือ)

1. เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเร่งด่วนแก่เกษตรกรเกษตรพันธสัญญาจึงเสนอให้รัฐบาลดำเนินการดังนี้

1.1 จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเกษตรระบบพันธสัญญา โดยมีองค์ประกอบของตัวแทนเกษตรกรผู้เสียหายเกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการ ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากนักวิชาการด้านกฎหมาย ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเกษตรพันธสัญญา และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

1.1.1 ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหยุดการดำเนินคดีทางกฎหมายกับเกษตรกรเกษตรพันธสัญญา

1.1.2 ให้บริษัทดำเนินการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากระบบเกษตรพันธสัญญา

2. เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนแก่เกษตรกรเกษตรพันธสัญญา โดยรัฐบาลจะดำเนินการสร้าง "กลไกกลางทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นเพื่อคุ้มครองสิทธิเกษตรกรเกษตรพันธสัญญาให้เกิดความเป็นธรรม" กลไกดังกล่าวที่มีองค์ประกอบและสัดส่วนของตัวแทนกลุ่มเกษตรกรเกษตรพันธสัญญา 40% ตัวแทนผู้ประกอบการ 20% ตัวแทนภาครัฐ 20% ตัวแทนนักวิชาการ 10% และตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเกษตร 10% กลไกดังกล่าวทำหน้าที่ดังต่อไปนี้

1) ส่งเสริมการทำธุรกิจแบบหุ้นส่วน

2) เตรียมความพร้อมเกษตรกรให้มีความเท่าทันโดยการสนับสนุนความรู้ ความเข้าใจ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ด้านต่างๆ ให้แก่เกษตรกรที่ต้องการทำเกษตรพันธสัญญา

3) กำหนดนโยบาย กฎหมาย สัญญาที่เป็นมาตรฐานกลางที่เป็นธรรม

4) กำกับ ดูแล และบังคับใช้การคุ้มครองสิทธิเกษตรกร ในการทำสัญญาเพื่อเป็นหลักประกันทางด้านรายได้ที่ถูกต้องเหมาะสมกับการถูกใช้ทรัพยากรของเกษตรกรและรวมทั้งการสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งด้านวัตถุดิบแก่ภาคอุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร และพลังงาน

5) รับเรื่องร้องเรียน ดำเนินการฟ้องแทน ไกล่เกลี่ย และเยียวยาเกษตรกรผู้เสียหาย

เหตุผล

1) เนื่องจากระบบเกษตรพันธสัญญาในปัจจุบันเป็นไปในลักษณะที่กลุ่มทุนสร้างช่องว่างทางสัญญา เพื่อความได้เปรียบในการลงทุน เนื่องจากเกษตรกรต้องเป็นฝ่ายแบกรับภาระต่างๆ ได้แก่ ภาระจากการถูกใช้ทรัพยากร เช่น ที่ดิน โรงเรือน รวมถึงอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร เป็นต้น ภาระทางสังคม เช่น ปัญหาการถูกต่อต้านจากชุมชน การรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ให้กระทบกับชุมชน เป็นต้น ซึ่งรายได้ที่ได้จากข้อสัญญาจะอยู่ในรูปแบบ 2 รูปแบบ คือ

1. ราคาประกันในการรับซื้อ ซึ่งจะต่ำกว่าราคาตลาดที่กลุ่มทุนคาดการณ์ ซึ่งถ้าเกิดกรณีราคาประกันสูงกว่าราคาตลาด กลุ่มทุนจะยกเลิกการรับซื้อ เพราะเป็นข้อตกลงทางวาจาเท่านั่น

2. ค่าจ้างที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตและการบริหารจัดการของเกษตรกรและต้องลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เครื่องมือ เครื่องจักรที่ทางกลุ่มทุนกำหนด

ทั้ง 2 รูปแบบ เกษตรกรต้องเสาะหาหรือนำทรัพยากรที่มีอยู่ มาเพื่อผลิตผลผลิตให้กับกลุ่มทุน โดยไม่มีการตอบแทนหรือชดเชยการถูกใช้ทรัพยากรนั้นๆเลย ซึ่งการทำสัญญาระหว่างเกษตรกรกับกลุ่มทุน ไม่มีการกำหนดเรื่องดังกล่าวในข้อสัญญาใดๆเลย เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่นึกถึงและไม่รู้ถึงวิธีการทำสัญญา ทำให้เสียเปรียบและประสบปัญหาหนี้สินกับกลุ่มทุนและสถาบันการเงินที่ขอสินเชื่อมาลงทุน จึงต้องมีหน่วยงานกลางซึ่งควรเป็นภาครัฐทำหน้าที่ช่วยเหลือและดูแลการทำสัญญาให้เป็นธรรม

เนื่องจากรูปแบบสัญญาแบบเดิม เกษตรกรเสียเปรียบและแบกรับภาระต้นทุนการผลิตครึ่งหนึ่งแทนกลุ่มทุน จึงควรเปลี่ยนรูปแบบและเนื้อหาสัญญาให้เป็นไปในลักษณะของการร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มทุนกับเกษตรกร โดยให้ประเมินราคาทรัพยากรและปัจจัยการผลิตที่เกษตรกรมีเป็นทุนของเกษตรกร วัตถุดิบต่างๆ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ เทคโนโลยี การบริหาร การตลาด ตลอดจนปัจจัยการผลิตที่เป็นของกลุ่มทุนให้ประเมินราคาเป็นทุน และให้แบ่งส่วนรายได้ตามสัดส่วนของทุนแต่ละฝ่ายอย่างเป็นธรรม

2) ตามข้อเสนอปฏิรูปการเกษตรเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ข้อที่ 3) ว่าด้วยเรื่อง การเข้าถึงและการคุ้มครองสิทธิและโอกาสของเกษตรกร ข้อย่อย ข้อที่ 3.2 เกษตรกรในระบบพันธสัญญา ซึ่งกล่าวว่าโดยพฤตินัยยังมีเกษตรพันธสัญญาจำนวนมากที่ทำกันแบบปากเปล่าไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้เป็นช่องทางให้บริษัทธุรกิจการเกษตรที่ไร้ธรรมาภิบาลฉวยโอกาสขูดรีดเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรได้โดยง่าย จึงมีข้อเสนอให้รัฐ

3.2.1 เตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกร ช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องการทำเกษตรพันธสัญญาให้มีความพร้อม ด้วยการจัดระบบการให้ความรู้ความเข้าใจในพันธสัญญาด้วยวิธีการต่างๆ เช่นฝึกอบรม ทำคู่มือให้ศึกษา มีโทรศัพท์สายด่วนให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรอย่างพอเพียงก่อนที่จะเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา

3.2.2 ปรับปรุงแก้ไขพันธสัญญาให้มีความเป็นธรรม ด้วยหลักปฏิบัติที่สำคัญ ดังนี้
- "ความเป็นหุ้นส่วน" โดยบริษัทผู้ประกอบการและเกษตรกรร่วมกันทำข้อตกลง ร่วมกันรับความเสี่ยงอย่างเท่าเทียมกัน และมีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม"

- "ความโปร่งใส" โดยให้มีตัวแทนหน่วยงานของรัฐและองค์กรท้องถิ่น หรือองค์กรที่เกษตรกรเห็นสมควร ร่วมเป็นพยานรับรู้ในการทำพันธสัญญา และเกษตรกรถือสัญญาคู่ฉบับไว้ด้วย

3.2.3 พัฒนาระบบการตรวจสอบติดตามการปฏิบัติตามพันธสัญญา
- ให้มีการจดทะเบียนบริษัทผู้ประกอบการเกษตรพันธสัญญา และแจ้งรายการทำพันธสัญญากับหน่วยงานด้านยุติธรรม

- ให้มีหน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นกลางของรัฐดูแลตรวจสอบการทำสัญญาและการปฏิบัติตามสัญญาที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพโดยหน่วยงานด้านยุติธรรมและกลุ่มองค์กรเกษตรกร

- ศึกษาวิจัยข้อมูลห่วงโซ่ต้นทุนและกำไรเพื่อการกำหนดต้นทุนการผลิต ราคารับซื้อผลผลิต และราคาขายที่เป็นธรรมระหว่างเกษตรกร บริษัท พ่อค้าคนกลาง และผู้บริโภค

3.2.4 พัฒนากลไกทางกฎหมาย
- จัดตั้งกลไกกลางระดับชาติ เพื่อไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ในรูปแบบอนุญาโตตุลาการ ประกอบด้วยตัวแทนเกษตรกรพันธสัญญา ตัวแทนบริษัทผู้ประกอบการ ตัวแทนภาคประชาสังคม และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง และมีมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่เสียเปรียบ หรือต้องการออกจากระบบพันธสัญญา

- ศึกษาและพัฒนาระบบกฎหมายเพื่อจัดความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกร บริษัทและภาคีอื่นๆ ภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาให้มีความเป็นธรรม

เสนอไว้ ณ วันที่ 8 มกราคม 2555

(นายสากล จินะกาศดี)
ประธานเครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญาเพื่อความเป็นธรรม (ภาคเหนือ)

(นายปภาวิน มิ่งขวัญ)
รองประธานเครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญาเพื่อความเป็นธรรม (ภาคเหนือ)

(นายโชคสกุล มหาค้ารุ่ง)
เลขานุการเครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญาเพื่อความเป็นธรรม (ภาคเหนือ)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น