โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

วธ.ประกาศยก สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นศิลปินแห่งชาติ

Posted: 26 Jan 2012 08:38 AM PST

26 มกราคม ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ซึ่งได่รับมอบหมายทำหน้าที่ประธานประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) แทนนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาคัดเลือกศิลปินแห่งชาติปี 2554 แถลงผลการคัดเลือกเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปิน ผู้มีความสามารถ และอุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจนโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2554 ใน 3 สาขา จำนวน 9 คน 

สาขาทัศนศิลป์ 3 คน ได้แก่ นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ (จิตรกรรม) นายเมธา บุนนาค (สถาปัตยกรรม) นายทองร่วง เอมโอษฐ (ประณีตศิลป์-ศิลปะปูนปั้น)

สาขาวรรณศิลป์  2 คน ได้แก่ นายประภัสสร เสวิกุล (นวนิยายและกวีนิพนธ์) นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี (เรื่องสั้นและกวีนิพนธ์)

สาขาศิลปะการแสดง 4 คน ได้แก่ นางรัจนา พวงประยงค์ (นาฏศิลป์ไทย-ละคร) นายนคร ถนอมทรัพย์ (ดนตรีสากล-ประพันธ์และขับร้อง) นายเศรษฐา ศิระฉายา (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) และนางสดใส พันธุมโกมล (ละครเวทีและละครโทรทัศน์)

ทั้งนี้ โครงการศิลปินแห่งชาติริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2527 และประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติในปีแรกเมื่อปี 2528 จนกระทั่งปัจจุบันมีศิลปินสาขาต่างๆ ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติแล้วรวม 221 คน  ผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติจะได้รับเงินตอบแทนเดือนละ 20,000 บาท และสามารถเบิกเงินสวัสดิการเพื่อการรักษาพยาบาลได้ตามระเบียบราชการ รวมทั้งมีค่าช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัย กรณีเสียชีวิต จะมีค่าช่วยเหลืองานศพ 15,000 บาท ค่าจัดทำหนังสือที่ระลึก 120,000บาท

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทนายยื่นขยายเวลาอุทธรณ์คดี ‘อากง’ อีก 30 วัน

Posted: 26 Jan 2012 06:30 AM PST

26 ม.ค.55  พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความของนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือ “อากง” ผู้ต้องขังที่ศาลพิพากษาจำคุก 20 ปีในความผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาเมื่อ 23 พ.ย.54 จากกรณีส่งข้อความสั้น (SMS) ให้อดีตเลขานุการส่วนตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระบุว่า ศาลได้อนุญาตให้ขยายระยะเวลาการอุทธรณ์ไปอีก 30 วันตามที่ทนายจำเลยร้องขอ จากกำหนดเดิม 23 ม.ค.55 เป็น 22 ก.พ.55

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบหน้า ‘พฤษภา 53’: (4) แท็กซี่เสื้อแดงที่บ่อนไก่ “ไปสิเป็นหยัง..ตายก็มีศักดิ์ศรีต๊วะ”

Posted: 26 Jan 2012 05:37 AM PST

เพียงคำ ประดับความ

หมายเหตุ:
สารคดีชุดนี้เป็นร่างแรกของ หนังสือ "วีรชน 19 พฤษภา: คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต" ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมและจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน โดยจะสัมภาษณ์ครอบครัวผู้เสียชีิวิตเพื่ิอรวบรวมเรื่ิิองราวที่สะท้อนถึงตัว ตนของประชาชนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 14-19 พฤษภาคม 2553 ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนข้อมูลเบื้องต้นเป็นอย่างดียิ่งจากคุณพเยาว์ อัคฮาด และประชาไท และยังยินดีเปิดรับข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อติดต่อสัมภาษณ์ครอบครัวของผู้เสีย ชีวิตให้ครบเท่าที่จะเป็นไปได้ หากท่านใดมีข้อแนะนำ สามารถติดต่อได้ที่ readjournal@gmail.com

 

1

“บ่อนไก่” คือพื้นที่ด่านหน้า ซึ่งมีการโจมตีปะทะหนักอีกแห่ง ในช่วงกระชับ/ขอคืนพื้นที่-สลายการชุมนุม-ขอความสุขกลับคืนแก่ประเทศไทย/กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553

ในวันที่เหตุการณ์ผ่านมาแล้วกว่าหนึ่งปี หนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับวันที่ 2 ตุลาคม 2554 บันทึกไว้ว่า

“เมื่อพูดถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 หลายคนนึกถึงย่านราชประสงค์ วัดปทุมวนาราม สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน และแยกคอกวัวแต่ถ้าสำรวจความเสียหาย และความสูญเสียกันจริงๆ แล้ว จะพบอีกพื้นที่จุดยุทธศาสตร์ที่เจ้าหน้าที่ปะทะกับประชาชน ได้แก่ "ย่านบ่อนไก่-พระราม 4" ซึ่งเปรียบเสมือนหน้าด่าน ก่อนจะผ่านไปยังศูนย์กลางที่ราชประสงค์

ตัวเลขจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 (ศปช.) ระบุว่า การเผชิญหน้าบริเวณนี้ตั้งแต่วันที่ 13-16 พ.ค.2553 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 15 รายได้แก่ 1.ชาติชาย ชาเหลา คนขับรถแท็กซี่ ถูกยิงที่ศีรษะ 2.นายบุญมี เริ่มสุข ชาวชุมชนบ่อนไก่ ถูกยิงเข้าช่องท้อง 3.นายอินแปลง เทศวงศ์ คนขับรถแท็กซี่ ถูกยิงที่หน้าอก 4.นายเสน่ห์ นิลเหลือง คนขับรถแท็กซี่ อาศัยอยู่แฟลตตำรวจลุมพินี ถูกยิงที่หน้าอก 5.นายมานะ แสนประเสริฐ ชาวชุมชนบ่อนไก่ อาสาสมัครป่อเต็กตึ๊ง ถูกยิงที่ศีรษะ 6.นายวารินทร์ วงศ์สนิท ชาวสมุทรปราการ ถูกยิงด้านหลังทะลุหัวใจ 7.นายพรสวรรค์ นาคะไชย พนักงานโรงแรมย่านสุขุมวิท ถูกยิงเข้าช่องท้อง 8.นายวงศกร แปลงศรี ชาวศรีสะเกษ ถูกยิงที่หน้าอก 9.นายสมชาย พระสุวรรณ ชาวยโสธร ถูกยิงที่ศีรษะ 10.นายวุฒิชัย วราห์คำ ช่างซ่อมรถยนต์ ถูกยิงหลังทะลุท้อง 11.นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล คนขับจักรยานยนต์รับจ้าง ถูกยิงใต้ราวนม 12.นายประจวบ ประจวบสุข ถูกยิงเข้าหน้าอก 13.นายเฉลียว ดีรื่นรมย์ พนักงานขับรถถูกยิงใต้ราวนม 14.นายสมัย ทัดแก้ว รปภ.อาศัยอยู่ในชุมชนบ่อนไก่ ถูกยิงเข้าด้านหลัง และ 15.นายสุพรรณ ทุมทอง ชาวศรีสะเกษ ถูกยิงที่ศรีษะ” <1>

มีผู้เสียชีวิต 15 ศพ ในการปะทะเพียง 4 วัน ที่บ่อนไก่ หนึ่งใน 15 ศพนั้น คือ “อินแปลง เทศวงษ์” แท็กซี่หนุ่มจากลุ่มแม่น้ำโขง กิ่งอำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเสียชีวิตในบ่ายวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ขณะสงครามการเมืองเดินหน้าสู่จุดแตกหักได้ไม่นาน

เขาไม่ทันได้อยู่ดูว่าพี่น้องร่วมอุดมการณ์ของเขา ใช้มือเปล่า หนังสะติ๊ก ขวดน้ำ และบั้งไฟ สู้กับกองทัพไทยและอาวุธสงครามอย่างน่ารันทดเพียงใด เขาไม่ทันได้อยู่ดูทะเลเลือดและน้ำตาที่หลั่งลงสู่พื้นถนนจนแดงฉาน และมันช่างต่ำต้อยด้อยค่านักในสายตาของผู้คนเมืองนั้น และเขาไม่ทันได้อยู่ดูว่าขบวนการต่อสู้ที่เขามอบกายถวายชีวิตให้นั้น จบลงอย่างน่าร่ำไห้เพียงใด...ในห้วงเวลาที่เสียงปืนนัดสุดท้ายสิ้นสุดลง

 

2
 

“นาตาล” เป็นกิ่งอำเภอเล็กๆ อยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดอุบลราชธานี ห่างชายแดนลาวเพียงลำโขงกั้น ที่นั่นคือดินแดนที่เติบโตมาของ “อินแปลง เทศวงษ์” ชายหนุ่มซึ่งมีเส้นทางชีวิตไม่ต่างนิยายลูกอีสานทั่วไป คือดั้นด้นไปทำงานในเมืองใหญ่ ขายหยาดเหงื่อเพื่อปากท้องตนและคนที่รัก เมื่อเกิดความขัดแย้งแบ่งสีทางการเมือง เขากลายเป็นคนรักทักษิณอย่างไม่มีเหตุผลที่ลึกล้ำหรือพิสดารอันใด นานแรมเดือนแรมปีที่เขาใส่เสื้อแดงออกจากบ้าน ไม่นานจากนั้นก็กลายมาเป็นวีรชนลูกอีสานที่ลุกขึ้นสู้และตายอย่างอาจหาญเพื่อประชาธิปไตย

บ้านสองชั้นกึ่งปูนกึ่งไม้ที่ยังสร้างไม่เสร็จหลังนั้น มีร่องรอยของความตายปรากฏผ่านภาพถ่ายบนผนังบ้าน ปัจจุบันพ่อแม่วัยชราของเขาอาศัยอยู่กับลูกชายสองคนสุดท้องและหลานชายหญิงอีกหลายคน

อินแปลง หรือ “ต๋อง” เกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2518 ที่ฝั่งลาว เขามีอายุครบ 35 ปีพอดีในปีที่เสียชีวิต

นายวัน เทศวงษ์ หรือ “พ่อใหญ่วัน” พ่อของอินแปลงเล่าว่า เมื่อครั้งยังหนุ่ม แกข้ามลำน้ำโขงไปทำมาหากินที่ฝั่งลาวอยู่หลายปี จนได้อยู่กินกับสาวชาวลาวคนหนึ่ง มีลูกด้วยกันหลายคน หลังภรรยาคลอดลูกคนที่ห้า หนุ่มไทยเลือดอีสานตัดสินใจพาลูกเมียย้ายกลับมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเกิด ขณะนั้นอินแปลงซึ่งเป็นลูกคนที่สี่อายุได้สองสามขวบ

 

 

เมื่อกลับมาก็ต้องพบกับความลำบากยากจน เนื่องจากไม่มีที่ดินทำกิน งานรับจ้างในหมู่บ้านก็ไม่ค่อยมี ขณะที่มีลูกเพิ่มมาอีกสาม เป็นทั้งหมดแปดคน

“ผมนี่บ่มีดินดอก มีแต่ที่อยู่นี่แหละ มีแต่ที่บ้าน นารวมของพ่อแม่ก็ขายใช้หนี้หลายปีแล้ว ขายให้น้อง เขาให้เจ็ดพัน เจ็ดพันก็เอา นาบ่หลาย สิบกว่าไร่ สิบเอ็ดสิบสองไร่ ปันกันนั่นแหละ เขาก็ยาก เขาก็ทุกข์คือกัน ว่าตัวทุกข์ เขาทุกข์กว่าตัว เลยบ่ร่ำไรซ้ำ ทุกวันนี้ซื้อข้าวกิน เดือนละสอบปุ๋ย” พ่อเฒ่าวัย 69 ปีกล่าว

อินแปลงเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนบ้านคันพะลานเช่นเดียวกับพี่น้องของเขา หลังจบ ป.6 ก็เดินเข้าสู่ถนนสายแรงงาน ดิ้นรนปากกัดตีนถีบ ช่วยพ่อแม่ทำมาหากินเลี้ยงน้อง

“ออก ป.6 ก็ไปทำงานเลย ไปขับรถ ยังน้อยๆ อยู่เขาขับสิบล้อพู่น ทีแรกขับอยู่บ้าน อยู่โพธิ์ไทร ขับอยู่นำ ส.ส.วิฑูรย์ นามบุตร เฮ็ดคลองน้ำ ขับรถสิบล้อขนดินมา ไปเบิ๊ดทุกแนวนา พอออกโรงเรียนก็ไปเรื่อย หากิน บ่อยู่บ้านสักเทื่อดอก ขับรถอยู่อุบลฯ หลายปี อายุสิบแปดสิบเก้าปีจั้งเข้ากรุงเทพฯ เข้าไปก็ไปเวิ้ด จนหลง บ่มาสักเทื่อ ส่งแต่เงินมาให้พ่อให้แม่เดือนละเทื่อ เดือนหนึ่งสี่ห้าพัน ฝากมาให้ พอได้กินแหละ ไปอยู่พู่นก็ขับแท็กซี่ ฮู้จักเบิ๊ดกรุงเทพฯ บ่ทำงานแนวอื่น ขับรถอย่างเดียว”

แม้ไม่ได้กลับมาเยี่ยมบ้านบ่อยนัก แต่ลูกชายคนนี้คือหัวเรี่ยวหัวแรงหลักที่คอยส่งเงินให้พ่อแม่ได้พอยังชีพอยู่ที่บ้านนอก “เอาเมียแล้วก็ส่งให้พ่อแม่ประจำ ได้กินกับลูกคนนี้ บัดนี้ตายแล้วก็บ่ได้แหล”

ภรรยาของอินแปลงเป็นหญิงจากบ้านป่าก้าว อำเภอนาจะหลวย จังหวัดเดียวกัน แต่ทั้งคู่ได้ไปรู้จักชอบพอกันที่กรุงเทพฯ

“ประมาณซาวนี่แหละเอาเมีย มีลูกสองคน คนโตฮั่น เข้า ป.1 แล้วบ่ คนเล็กฮั่นยังน้อยดอก พ่อเสียมันจักขวบยังฮะ พอแต่หาจักขวบ คนเล็กเพิ่งคลอดได้ประมาณสองสามเดือนก็ลงกรุงเทพฯ ไปขับรถคือเก่า ช่วงลูกคลอด เขากลับมารอเมียคลอดอยู่ที่นาจะหลวย คลอดแล้วก็ไป"

เมื่อถามถึงนิสัยใจคอของลูกชายคนนี้ พ่อใหญ่วันว่า “เพิ่นเป็นคนบ่ปาก บ่ไปอีเรเกหยัง เหล้ายาบ่ได้กินดอก เว่าบ่เก่ง แต่กีฬานี่ดี ว่างแต่มาจากขับรถก็ไปแต่กีฬา”

เรานั่งคุยกันที่แคร่ไม้หน้าบ้าน ไม่นานแม่ใหญ่ตู๋ เทศวงษ์ วัย 63 ปี แม่ของอินแปลง ก็เดินโขยกเขยกออกมาสมทบ แกเดินเหินไม่คล่องนัก เห็นว่ามีปัญหาเรื่องกระดูกตามประสาคนแก่

หลังแต่งงานแล้วอินแปลงกับภรรยาเช่าห้องพักอยู่ที่กรุงเทพฯ ก่อนเสียชีวิตเพิ่งย้ายไปเช่าแฟลตแถวพัฒนาการ ที่เดียวกับพี่สาวและน้องสาว “เซ่าห้องอยู่ แปะกันอยู่นั่นแหละ อยู่นำเอื้อยนำน้อง เซ่าคนละห้อง ห้องใหญ่ สามสี่ชั้น อยู่ชั้นสอง ย้ายอยู่เรื่อยหนา มันบ่ดีก็ย้ายไปบ่อนใหม่ อยู่นั่นได้ปีปลาย ก็มาเสีย”

ทุกปีพอถึงหน้านา อินแปลงจะพักงานกลับมาช่วยพ่อตาแม่ยายทำนาที่นาจะหลวย เก็บเกี่ยวข้าวขึ้นยุ้งเสร็จจึงจะกลับเข้ากรุงเทพฯ ไปขับแท็กซี่ ส่วนบ้านที่คันพะลาน พ่อใหญ่วันว่านานๆ ลูกชายจะกลับมาเยี่ยมสักหน คราวสุดท้ายที่ได้พบหน้ากันคือเมื่อหลายเดือนก่อนลูกชายจะเสียชีวิต

เสียงแม่ใหญ่ตู๋ว่า ทุกคราวที่อินแปลงกลับมาบ้าน พ่อกับแม่ต้องบายสีผูกข้อมือให้ แต่ครั้งสุดท้ายนี้ไม่ได้ทำ “มาบ่ได้เฮ็ดให้ บ่ได้แต่งสีข้อให้ ฮั่นแหละ มันเสียใจอยู่”

 

3

หลังอินแปลง เทศวงษ์ เสียชีวิตหนึ่งวัน มติชนรายงานข่าวเกี่ยวกับเขาไว้ว่า

“เมื่อเวลา 21.00 น.วันที่ 15 พฤษภาคม นายชูวิทย์ (กุ่ย) พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เขต 2 จ.อุบลราชธานี ได้นำศพนายอินทร์แปลง เทศวงศ์ อายุ 33 ปี คนเสื้อแดงซึ่งถูกทหารยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ถึงบริเวณเวทีคนเสื้อแดงบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ท่ามกลางคนเสื้อแดงไปร่วมไว้อาลัยประมาณ 5,000 คน มีอดีต ส.ส.สมบัติ รัตโน นายกิตติพงษ์ เทียมสุวรรณ มีการทำพิธีสวดมาติกาบังสุกุลโดยพระสงฆ์ 4 รูป หลังจากนั้นมีการอ่านประวัติ อ่านบทกลอนสดุดี เล่าสาเหตุการณ์ถูกยิงตาย มอบเงินช่วยเหลือครอบครัวเบื้องต้น จำนวน 50,000 บาท ประกาศให้ทุนการศึกษาแก่ ด.ญ.ดารากร เทศวงศ์ เรียนจนจบปริญญาตรี และจะนำศพนายอินทร์แปลง เทศวงศ์ ไปบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านดอนงิ้ว ต.นาตาล อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี โดยจะทำการฌาปนกิจในวันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคมนี้”<2>

 

ไม่มีใครในครอบครัว แม้แต่ภรรยาของเขา รู้แน่ชัดว่าแท็กซี่หนุ่มชาวอุบลราชธานีคนนี้ มีบทบาทอย่างไรในการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงเมื่อเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 บ้างว่าเขาเป็นการ์ด บ้างว่าเขาเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุมธรรมดา ทว่าสิ่งที่คนในครอบครัวรับรู้และกล่าวถึงตรงกันคือ แท็กซี่หนุ่มผู้นี้ชื่นชอบการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเป็นชีวิตจิตใจ

“โอ๊ย มักเสื้อแดงนี่มักคัก แพรโพกหัวก็ซื้อให้ลูกหมด” แม่ใหญ่ตู๋ว่า

เมื่อถามว่า ลูกชายคนนี้เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่

พ่อใหญ่วันตอบ “บ่จัก ถามมัน มันว่าบ่ได้เข้า แต่บัตร นปช.มันก็มี ตอนนี้อยู่นำ ส.ส.กุ่ย เขาเก็บไว้ ตอนมาทำศพนี่ เห็นแล้วมันบาดตานะตี้ เลยบ่ได้เก็บไว้”

พ่อเฒ่ารู้เพียงว่า ลูกชายชอบเสื้อแดง แกจึงคอยห้ามปรามไม่ให้เข้าไปร่วมชุมนุม

“อย่าเข้าไปฮั่นหนา ย่าน ห้าม บ่แม่นบ่ห้าม บ่อยากให้ไป แล่นรถอยู่กรุงเทพฯ อย่าเข้าไปบ่อนเขาซุมนุมเด้อ โอ้ย ไปสิเป๋นหยัง มันว่าซี่แหละ ตายก็ตายมีศักดิ์ศรีตั๊วะ ฮ่วย! อย่าเว่าจังซั่นหนา สิไปหาไปชนกับเขาเฮ็ดหยัง ผมว่าจังซี่หนา เฮาบ่อยากให้ตายนี่แล้ว คั้นเว่าหลายก็เออ บ่ไปดอก ผมโทรไปเรื่อยๆ หนา ถามว่าได้เข้าไปชุมนุมนำเขาบ่ บอกบ่ได้เข้า บ่แท้ เข้าไปแล้ว รถแท็กซี่เป็นเส้นเข้าไป จังว่ารถคันใด สงสัยไปนำกัน มันหลายปานนั้น เพราะว่ามันเข้าอยู่ชมรมแท็กซี่ เอารถไปเข้าชมรมกับเขา ผมโทรบอกอยู่เรื่อยว่าเขาสิสลายม็อบสลายแม็บอยู่ รัฐบาลก็ดาย เบิ่งอยู่แหละ เบิ่งติดตามข่าว”

เมื่อถามว่า ตัวพ่อใหญ่วันชอบเสื้อแดงด้วยหรือไม่ แกว่า “จัก ซอบบ่ซอบบ่จัก เอาโลด ซื่อๆ นี่” แต่ที่บ้านของแกติดจานดาวเทียมดูทีวีช่องเสื้อแดงได้ “ติดหว่างสองสามเดือน ตะกี้ใจ้มีหยัง มันเบิ่งไสก็ได้ อยากเบิ่งข่าวหลายหม่องหลายที่ ข่าวเหตุบ้านการเมือง” ถามต่อว่า แล้วตอนเลือกตั้งเลือกพรรคไหน แกหัวเราะแล้วว่า “ก็เลือกเพื่อไทย แถวนี้เสื้อแดงหลาย เลือกเพื่อไทยเบิ๊ด ไปซุมนุมก็หลายดิอยู่ในบ้านนี่”

หลังเทียวกำชับลูกชายไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุม และลูกชายก็รับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะ พ่อใหญ่วันกับภรรยาจึงค่อยเบาใจ

แต่แล้วบ่ายวันที่ 14 พฤษภาคม ลูกสาวคนถัดจากอินแปลงซึ่งพักอยู่แฟลตเดียวกัน กลับโทรมาแจ้งข่าวร้าย ขณะพ่อใหญ่วันเองก็กำลังนั่งเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์ติดตามข่าวด้วยใจจดจ่อ

“เบิ่งโทรทัศน์ทีละช่อง จ้องแต่โทรทัศน์อยู่ นั่งเบิ่งอยู่นี่ น้องสาวเพิ่นโทรมาบอก แล้วขึ้นหน้าจอเพ่อเว่อ อินแปลง เทศวงษ์ เสียชีวิตแล้ว เพิ่นไปส่งผู้โดยสาร ลงจากรถเขาก็ยิง นัดเดียว บ่อนมันตายโน่นละ”

เมื่อตั้งสติได้ พ่อใหญ่วันบอกลูกสาวให้เอาศพพี่ชายกลับมาบ้าน “ก็บอกน้องให้เอาอ้ายมาบ้าน..ไปอุบลฯ ไปขอรถนำม็อบเขา ไปเอามาฮั่น เอามาพักอยู่ฮั่น คราวเดียว ประมาณสามสิบนาที ส.ส.จัดการ ผมก็รออยู่อุบลฯ เพิ่นก็เอารถเพิ่นมาส่ง พวกเสื้อแดงมาส่ง เสื้อแดงมาหลาย”

เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ชายชราว่า “ก็บ่คิดจังใด มันเสียแล้ว คิดก็บ่คืนมา ก็คึดฮอดมันแหละ คึดฮอดแฮง” และเมื่อถามว่า แล้วคนในหมู่บ้านคิดอย่างไรต่อการตายของอินแปลง “โอ๊ย บางคนเขาก็บ่นิยมกับเฮา เขาว่า โอ๊ย ไปเสื้อแดง บ่นิยม คนบ่มักเสื้อแดงก็มี แม่นตั๊ว เขาจั้งเว่าแนวนี้ คนตายแล้วคิดจังใด ซอบบ่ซอบก็เฮ็ดไปตามเรื่องมันตั๊ว มันเป็นแล้ว ผมก็บ่เคียดบ่โกรธไผหนา อยู่ซื่อๆ โลด ไผสิผิดสิถูก บ่จัก มันบ่จักว่าสิว่าข้าเจ้าแนวใดสิดี จักไผดีไผบ่ดี เสื้อแดงผิดบ่ผิดก็บ่ฮู้คือกัน มีแต่เบิ่งซื่อๆ จักไปถูกไปผิด บ่จักโลด เบิ่งไป บ่โกรธไผ”

แต่เมื่อถามว่า แกชอบทักษิณหรือไม่ “อื้อ ซอบอยู่มักอยู่ บริหารประเทศดีอยู่ อภิสิทธิ์ก็ดีคือกัน มันดีไปคนละแนว” เมื่อถามว่าอภิสิทธิ์ดีอย่างไร พ่อใหญ่วันว่าพลางหัวเราะ “ดีก็สู้ดีเพิ่น นักสู้งัวกระทิง ฟังแต่ข่าวก็ดาย เบิ่งไปซื่อๆ บ่สนใจไผดีบ่ดีบ่จัก บ่สนใจไผ มันตายไปแล่ว คั้นบ่ตายสิเว่า โอ้ย จังซั่นจังซี่ ตายไปแล้วครอบครัว โอ๊ย ลำบาก ลูกเมียเขาก็สิลำบากคือกัน ตะกี้เมียเขาบ่ได้ทำงานอิหยัง อยู่แต่เลี้ยงลูก บัดนี้กลับมาอยู่บ้านพ่อกับแม่เพิ่น เขาก็ขายของอยู่โรงเรียน”

ปัจจุบันพ่อใหญ่วันกับแม่ใหญ่ตู๋มีหลานที่ต้องเลี้ยงดูอีกหลายคน พ่อแม่ของเด็กเหล่านี้เข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ ส่งเงินกลับมาให้บ้างตามกำลังที่แต่ละคนมี เรื่องขัดสนก็มีบ้างเป็นธรรมดา แต่ที่หนักหนาคืออาการป่วยของพ่อใหญ่วันที่เพิ่งปรากฏเมื่อไม่นานมานี้

“เพิ่นว่าเป็นตับ หมอก็ดาย เป็นมะเร็งมะเริงนั่นแล่ว สิตายไวแท้ เบิ๊ดเงินหลายหมื่น เจ็บมานี่ สี่ห้าเดือนแล้ว”

ตลอดเวลาที่นั่งคุยกัน พ่อใหญ่วันบ่นเจ็บชายโครงข้างขวา พลางเอามือกุมอยู่เป็นระยะ “หมอบอกว่าปกติแล้วก็เลยเซาไปหาหมอ แต่พอเจ็บๆ ก็ไปอีก หมอก็ให้ยาระบายกับยาแก้อักเสบ เหมิดเท่านั้น ปวดแฮงใคร่กิน บ่ปวดบ่กิน ไปโรงบาลเขาก็ว่าคือเก่า ทีแรกไปหาหมอใหญ่ เขาว่าดีซ่าน ไปมาว่าเป็นมะเร็ง ส่งไปอุบลฯ เขาบ่รักษา ว่าหายแล้ว ปกติดี ใบหยังก็เฮ็ดให้หมด เอายาให้รักษาอยู่บ้าน ผมก็เลยบ่ไป ไปคลินิกก็เทื่อละแปดร้อย เทื่อละพัน ก็เจ็บทุกมื้อ เจ็บอยู่นี่ มันยึ่งจั้งเจ็บ คั้นบ่ยึ่งก็บ่เจ็บ อยู่บ้านห้าหกเดือนแล้ว จักหายบ่หาย ว่าจะไปตรวจอยู่กรุงเทพฯ” ทุกวันนี้พ่อใหญ่วันซื้อยาสมุนไพรมาต้มกินเองทุกเช้า ราคาชุดละแปดพันบาท

ระหว่างนั้นแม่ใหญ่ตู๋ลุกเดินหายเข้าไปที่โรงครัว ซึ่งเป็นโรงเรือนเล็กๆ ยกพื้นสูงราวหนึ่งเมตร ติดกับยุ้งฉาง แยกออกจากตัวบ้าน ตกค่ำแม่เฒ่าให้หลานชายวัยรุ่นสองคนช่วยกันยกสำรับมาตั้งบนพื้นปูนหน้าจอโทรทัศน์ เรานั่งกินข้าวพลางดูข่าวจากช่องเอเชียอัพเดต ช่วงหนึ่งข่าวรายงานเรื่องคนเสื้อแดงที่ชนะคดี กรณีสลายการชุมนุมที่สามเหลี่ยมดินแดงเมื่อปี 2552 ศาลสั่งให้ทหารต้องชดใช้เงินนับล้านบาทโทษฐานยิงคนมือเปล่า

เสียงพ่อใหญ่วันว่า “คดีเฮาสิชนะบ่ แท้แล้วยุบสภาก็จบแล้ว เฮ็ดหยังต้องรอให้มีคนตาย”

แม่ใหญ่ตู๋เสริมว่าลูกชายแกโดนยิงที่หน้าอก แต่รัฐบาลกลับออกข่าวว่าทหารไม่มีเจตนาทำร้ายประชาชน “มันบอกยิงต่ำๆ บอกเสื้อแดงฆ่ากันเอง ไผสิฆ่ากันเอง”

เรานอนค้างที่นั่นหนึ่งคืน ตื่นมาเห็นพ่อใหญ่วันนั่งดูเอเชียอัพเดตอยู่หน้าจอแต่เช้ามืด

หลังอาหารเช้า เรานั่งสนทนากับพ่อเฒ่าแม่เฒ่าอีกเป็นเวลาสั้นๆ ก่อนลากลับเสียงพ่อใหญ่วันว่า “ความจริงค่อยๆ ปรากฏออกมาแล้ว เขาจะให้รัฐบาลเราอยู่นานรึเปล่าไม่รู้”

...เขาจะให้รัฐบาลของเราจะอยู่นานรึเปล่าไม่รู้!!!

 

 

4

หลังสามีเสียชีวิต “นิตยา พาเชื้อ” หม้ายประชาธิปไตยวัย 32 ปี หอบลูกชายวัยไม่ถึงขวบ กลับมาอาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่บ้านป่าก้าว เลขที่ 49 หมู่ 4 ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ ขณะลูกสาวคนโตวัย 7 ขวบ ฝากให้อยู่กับตายายที่นี่อยู่ก่อนแล้ว

เมื่อเราไปถึงบ้านสองชั้นหลังนั้น พบนายแสวง พาเชื้อ วัย 57 ปี พ่อของนิตยา นั่งเลี้ยงหลานชายวัยราวสองขวบอยู่หน้าบ้าน “ขนมตาล” หรือ เด็กชายนาราภัทร เทศวงษ์ คือลูกคนเล็กของวีรชนแท็กซี่เดือนพฤษภา
 

นิตยาไปขายของจำพวกชานมไข่มุกและน้ำหวานรสชาติต่างๆ ที่โรงเรียนประถมในหมู่บ้าน ซึ่งลูกสาวคนโตของเธอเรียนอยู่ ลุงแสวงว่ากว่าจะเก็บร้านเสร็จกลับมาถึงก็คงบ่ายแก่

เราจึงนั่งคุยกับพ่อของนิตยาไปพลางๆ

ลุงแสวงเล่าว่า บ้านป่าก้าวเป็นชุมชนใหญ่ มีบ้านเรือนกว่า 300 หลัง อาชีพหลักของชาวบ้านคือทำนาและทำไร่มันสำปะหลัง มีทำสวนยางพาราบ้างประปราย ชาวนาทำนาได้ปีละครั้ง มีงานรับจ้างบ้างเล็กน้อย คนหนุ่มสาวมักเข้าไปหางานทำในกรุงเทพฯ

เมื่อถามถึงเรื่องการเมือง ลุงแสวงว่า “เสื้อแดงทั้งหมู่บ้าน นาจะหลวยไม่ต้องพูดถึงหรอก คู่แข่งอื่นๆ ไม่ได้เกิน 10 คะแนน”

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แม้ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยจะไม่เป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้าน คนที่ชื่นชอบและคุ้นเคย (และเคยลงสมัครในนามพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชนสมัยที่แล้ว) ย้ายไปลงพรรคอื่น ชาวบ้านเกิดความลังเลอยู่บ้างในช่วงต้น แต่เมื่อถึงเวลาเดินเข้าคูหา พวกเขาก็ตัดสินใจกาเบอร์หนึ่งกันอย่างพร้อมเพรียง เพราะกลัวไม่มีคนยกมือให้ยิ่งลักษณ์ในสภา

“เขาชอบเบอร์สอง แต่มันจำเป็นต้องเลือกเบอร์หนึ่ง ทุกหมู่บ้าน ทุกหน่วยเลือกตั้ง เบอร์หนึ่งกินหมด ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีซักคะแนนหรอก เวลาพรรคเพื่อไทยมาหาเสียง มากินน้ำก่อน แต่เวลาประชาธิปัตย์ ป้ายหาเสียงนี่ปักเมื่อไหร่ก็พังแล้ว แต่คนใต้เขาว่าของเขาดีนะ แต่เราไม่ว่าเขานะ แพ้ก็เอาไป คนอีสานยอมรับนะ แพ้ก็ว่าแพ้”

ถามว่าทำไมคนที่นี่ถึงชอบเสื้อแดง ลุงแสวงร่ายนโยบายที่ชาวบ้านประทับใจได้ยืดยาว

“พอทักษิณมาเขาก็ติดใจเลย คนอีสาน คนรากหญ้า พอมาเห็นทักษิณให้ปุ๊บ เวลาน้ำท่วมก็ให้เป็นเงินมาเลย แต่ก่อนได้แต่ผักบุ้งผักชีมาปลูก สมัยนายชวน ไม่มีใครให้เงินเลย มาทักษิณนี่แหละ อย่างกองทุนหมู่บ้าน หรือสมัยก่อนนี่เป็น สปก. เอาไปทำอะไรไม่ได้ แต่พอทักษิณมา แปลงสินทรัพย์เป็นทุน เขาก็มีช่องทาง อีกที่เด่นๆ ก็เรื่องยาเสพติด พอทักษิณมา หายไปหมด สบาย แต่เดี๋ยวนี้มีทุกหมู่บ้าน ยาบ้า ถ้าทักษิณทำไม่ดีใครจะไปสนใจ จะไปอยู่ไหนก็ไป นี่มันไปขัดผลประโยชน์เขาหรอกถึงอยู่ไม่ได้ บอกว่าแกนนำมาปลุกระดมคนอีสาน ถ้าไม่จริงมันปลุกไม่ขึ้นหรอก แต่ก่อนมีแต่นักศึกษาสู้กับรัฐบาล แต่เดี๋ยวนี้มีแต่ชาวบ้าน คนกรุงเทพฯ ยังนิ่งอยู่”

นายแสวงไม่วายบ่นเรื่องที่คนกรุงเทพฯ ดูถูกคนอีสาน “ไม่ชอบเลย เขาว่าคนต่างจังหวัดเลือกนายกฯ แต่คนกรุงเทพฯ ไล่นายกฯ คำนี้ที่เขาพูดกันประจำๆ คนกรุงเทพฯ มันยอมปาก แต่ใจมันไม่ยอม เขาว่าคนต่างจังหวัดโง่ แต่ผมว่ามันกลับกัน คนกรุงเทพฯ โง่กว่าคนต่างจังหวัด คนภาคอีสานเขารู้แล้วว่ามันเป็นเผด็จการ ถ้าบ้านไหนมีคนไปชุมนุมนี่ ยิ่งกว่าดูโทรทัศน์อีก คนที่ไปชุมนุมไปได้ลูกปืนมา เขาเล่ากันปากต่อปาก คนที่เขาสูญเสีย จะให้มันแล้วๆ ไป มันง่ายไป”

ด้วยเหตุนี้ เมื่อลูกเขยของลุงแสวงเสียชีวิตในเหตุสลายการชุมนุมโดยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ชาวบ้านที่นี่จึงไม่พอใจกันมาก

“พอไอ้ต๋องตายชาวบ้านเขาก็โกรธ เพราะเขาก็เบิ่งข่าวกันตลอด ถ้ามีใครมาเถียงว่าทหารทำถูก รัฐบาลทำถูกนี่ อย่าเลย ไม่ต้องมาคุยกันเลย เพราะเขาเห็นเหตุการณ์ เขาเห็นชัดๆ เลยว่าทหารนั่นแหละเป็นคนยิง เวลาสุเทพออกมาพูด เขาไม่อยากดูหรอกโทรทัศน์ ปิดเสีย ลูกไอ้ต๋องคนโตนี่ก็เหมือนกัน เวลามันเห็นหน้าสุเทพ อภิสิทธิ์ มันด่าเลย ไอ้เหี้ย มึงสั่งฆ่าพ่อกู จริงๆ เราก็ไม่อยากให้เขาพูดแบบนั้นหรอก เขายังเด็กอยู่ กลัวคนอื่นไม่เข้าใจจะหาว่าเป็นเด็กก้าวร้าวไป” ลุงแสวงว่าอย่างมีริ้วรอยกังวล “เราไม่ได้รับความยุติธรรม หวานอมขมกลืนอยู่ น้ำท่วมปาก มันอึดอัด แต่ก็เตือนกัน พูดไปมันก็ไม่ดี แต่ว่าตำรวจมันก็เสื้อแดงเยอะนะ”

ในตอนท้ายลุงแสวงพูดถึงลูกเขยว่า เป็นคนขยันทำมาหากิน “เพิ่นบ่เกี่ยงงานหนักงานเบา ไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เวลาเกี่ยวข้าวก็ขึ้นมาช่วย เกี่ยวข้าวเสร็จก็ลงไป พ่อกับแม่ก็ว่าจะปลูกบ้านให้อยู่ บ่ทันจังใดซ้ำ กำลังเอาลูกเอาเมียไปอยู่นำ เอาลูกคนเล็กไปตอนสี่เดือน”

 

5

นิตยากลับมาถึงบ้านราวบ่ายสามโมง เธอง่วนอยู่ในครัวเพียงลำพังตั้งแต่บ่ายถึงค่ำ เนื่องจากต้องเตรียมต้มชาและน้ำหวานไว้ขายในวันรุ่งขึ้น

หลังอาหารมื้อเย็นผ่านไป เราจึงได้สนทนากับแธอ ระหว่างนั้นน้ำหวานและขนมตาลวิ่งเล่นหยอกล้อกันอยู่หน้าจอโทรทัศน์ โดยมีตาแสวงนั่งคอยดูอยู่ห่างๆ ส่วนยายของเด็กทั้งสองออกไปประชุมกลุ่มแม่บ้านตั้งแต่กินข้าวเย็นเสร็จ

นิตยาเปิดตู้หยิบภาพถ่ายของสามีออกมา แล้วชวนเราไปนั่งคุยกันที่แคร่หน้าบ้าน จากนั้นเธอเริ่มต้นเล่า

“เขาชอบเสื้อแดงตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุม ตอนนั้นเรายังอยู่ที่บ้านนอกอยู่เลย เขาไปขับแท็กซี่ที่กรุงเทพฯ พี่ท้องตัวเล็กอยู่ที่บ้าน ตอนนั้นเขาก็เริ่มไปร่วมชุมนุมแล้ว แต่ไม่เล่าให้เราฟัง พอเราคลอดลูกแล้วลูกโตขึ้นมาหน่อย ไอ้น้ำหวานก็ปิดเทอม เขาเลยมารับไปอยู่กับเขาที่กรุงเทพฯ นั่นน่ะ ถึงรู้ว่าเขาเข้าร่วม”

เท่าที่นิตยารู้ คือสามีของเธอเข้าไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงตั้งแต่ปี 2552  

“ตอนแรกเขาก็ไม่กล้าเล่าให้ฟัง กลัวเราเป็นห่วง ไปๆ มาๆ เขาทนไม่ไหวก็เลยเล่าว่าเขาขับรถไปรับเพื่อนๆ มา วันนี้ไม่ได้ตังค์นะ เขาก็จะบอก”

อินแปลงเคยทำงานกับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ยึดกุมฐานเสียงในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีมายาวนาน นั่นทำให้นิตยาไม่รู้มาก่อนว่าเขาชอบทักษิณ “เขาเคยเล่าให้ฟังว่าเคยทำงานกับ ส.ส.วิฑูรย์ นามบุตร ตั้งแต่เขาเป็นหนุ่มๆ เขาก็ไม่เคยเล่าให้ฟังว่าเขาชอบทักษิณ มาตอนที่โดนรัฐประหารน่ะ เขาจะแอนตี้มากเลย เขาจะแสดงออกมาก เมื่อก่อนเขาก็ไม่ได้ไปขนาดนั้น พอท่านทักษิณโดนปฏิวัติ เขาบอกว่ามันไม่ยุติธรรมเลย ก็เริ่มเชียร์มาตลอดเลย”

เมื่อการชุมนุมใหญ่ปี 2553 เริ่มขึ้น อินแปลงเข้าไปร่วมชุมนุมอย่างจริงจัง “ช่วงปีห้าสามเขาไปทุกวัน ไปทุกที่ด้วย ซักประมาณสี่ห้าทุ่ม เขาจะแว้บไป เพราะว่ารถนี่เขาขับคนเดียว เป็นรถของแฟนน้องสาวเขา เมื่อก่อนขับเป็นกะ ขับกลางวัน ทีนี้พอมีรถคันนี้เขาก็จะออกไปหลายรอบ บางทีถ้าไปตอนเช้าไม่ได้ตังค์ เขาก็จะกลับมา แล้วก็ออกไปใหม่ ตอนดึกหน่อย คงจะแว้บไปชุมนุมช่วงนั้น”

“เขาเคยบอกว่าลูกพี่มาชวนไปเป็นการ์ดด้วย แต่เราไม่ได้เข้าไปยุ่ง เขาจะไม่ให้เราเข้าไปยุ่ง เพราะว่าเราต้องเลี้ยงลูก ดูแลลูกๆ เล็กๆ อยู่ เขาจะไปของเขาคนเดียว บางทีกลับมาก็จะเล่าให้ลูกเขาฟัง วันนี้พ่อไปสร้างวีรกรรมมานะ เขาเคยพาเพื่อนเอาแท็กซี่ปิดรถทหาร เขาบอกแพทย์เหวงมาจับมือพ่อด้วยนะ ตอนนั้นที่เขาเอารถทหารเข้ามากี่คัน เจ็ดคันหรือไง แล้วพี่ต๋องเขาเอาแท็กซี่เข้าไปห้าสิบคัน ปิดรถทหารไว้หมดเลย นั่นแหละ เขาเป็นคนนำไป”

“บางทีก็จะมีเพื่อนโทรมาบอกเขาให้ไปรับน้องตรงนั้นตรงนี้ให้หน่อยนะ เขาก็ไป ไปช่วยรับคน ไม่ได้คิดค่าโดยสาร เขาบอกว่าเราไม่มีเวลาจะไปชุมนุมช่วยเขา เพราะต้องหาเงิน เราก็ต้องช่วยเหลือคนที่เขามีโอกาสไป ถ้าวันไหนเขาไปเขาก็จะบอก บางทีเราโทรไปเขาก็จะบอกว่าอยู่ตรงนั้นนะตรงนี้นะ เราก็บอกเขาว่าระวังตัวนะ ลูกยังเล็กอยู่ เขาจะคอยติดตามข่าวของเขาตลอด แล้วก็จะมีคนคอยโทรมารายงาน เวลาจะออกไปชุมนุมก็จะมีคนโทรมาเรียก บางทีก็ต้องรีบแต่งตัวออกไป ได้ยินเขาเรียกลูกพี่ๆ เราก็ไม่รู้จัก เขาบอกลูกพี่เป็นการ์ดนะ แต่เราก็ไม่รู้ว่าเขาชื่ออะไร เพราะว่าไม่ได้ไปกับเขาไง ก็ได้แต่บอกเขาว่าระวังตัวด้วย เขาจะเป็นคนที่มีอุดมการณ์มาก รักความถูกต้อง แล้วก็รักครอบครัวมาก”

 

นิตยาว่าสามีของเธออาสารับภาระเรื่องการทำมาหากินเพียงลำพัง เพื่อให้เธอมีเวลาเลี้ยงดูลูกอย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ แม้ใจจดจ่ออยู่กับการชุมนุมสักเพียงใด อินแปลงก็พยายามแบ่งเวลาไปหาเงินเลี้ยงครอบครัว หลังเสร็จงานจึงจะเป็นช่วงเวลาของการชุมนุม นิตยาไม่เคยห้ามสามี ด้วยความที่เธอเองก็มีใจสนับสนุนการต่อสู้ของคนเสื้อแดง สิ่งที่เธอทำคือนั่งรอสามีทุกคืน จนกว่าเขาจะกลับ

“บางทีเขาก็กลับมาตีหนึ่ง บางทีก็หกทุ่ม เร็วสุดก็ห้าทุ่ม เราก็ยังไม่นอนทุกวัน รอ พอกลับมาเขาก็จะ โฮ้ย จะใส่อารมณ์มากเลย บางทีเปิดข่าวดู ที่ห้องเช่าดูข่าวช่องเสื้อแดงไม่ได้ ต้องดูช่องรัฐบาล เขาก็จะบ่น ไม่รู้มันจะออกมาทำไมข่าวแบบนี้ เขาจะโมโห ไม่อยากดู บางทีกลับมาเขาก็จะเล่าให้ฟังว่าวันนี้ไปที่ไหนยังไง ไปเจอใครมามั่ง ไปเจอเพื่อนฝูงก็กลับมาเล่าให้ฟัง อย่างเพื่อนที่อู่เขาเนี่ย จะเป็นแกงค์ของเขา เป็นกลุ่มของเขา จะจับกลุ่มกันไป หรืออย่างที่แฟลต ก็จะมีห้องข้างๆ เป็นเสื้อแดง พอถึงตอนบ่ายเขาก็จะแต่งตัวออกไปกัน ใส่เสื้อแดง ผ้าโพกผม แล้วก็เสื้อแดงจงเจริญ ออกไปพร้อมกัน แต่พี่ต๋องเขาไม่ค่อยได้ใส่เสื้อแดงหรอก ปกติก็คือชุดแท็กซี่ แต่เขาจะมีเสื้อให้ลูกเขาทุกคนเลย ทั้งสองคน คนละตัว แล้วก็ผ้าโพกหัวก็มี มัดข้อมือด้วย แล้วก็ผ้าผูกคอด้วย เขาบอกนิดเอาไว้ก่อนนะ ยังไม่มีไซซ์” นิตยาซึ่งเป็นคนรูปร่างท้วม ค่อนข้างเจ้าเนื้อเล่า

“เขาจะเป็นคนรักความยุติธรรมากๆ เวลาดูข่าวดูอะไร เขาจะบ่นว่าไม่อยากดูหรอก ไอ้พวกขี้โกง เขาบอกเขาจะสู้ไปตลอด มีเพื่อนสู้เขาก็จะสู้ แต่เพื่อนฝูงเขาเราไม่เคยรู้จัก ไม่เคยมาที่ห้อง ญาติพี่น้องเขาห้ามเขาทุกคน พ่อเขาก็โทรมาหาเราทุกวัน อย่าให้ไอ้ต๋องไปนะ พี่ก็บอก ห้ามไม่ได้หรอก”

 

6

ชีวิตของอินแปลงและนิตยาดำเนินไปเช่นนั้น ตลอดช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดง คือเมื่อสามีออกจากบ้าน ภรรยาก็นั่งรอจนกว่าสามีจะกลับ

กระทั่งพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือ “เสธ.แดง” ถูกยิงเสียชีวิต ในเย็นวันที่ 13 พฤษภาคม 2553

“ตอนเสธ.แดงโดนยิง เขาบอกดูซิน่ะ มันฆ่าได้แบบไม่มีความผิด ฆ่าทิ้งเหมือนไม่ใช่คน ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้มีอาวุธอะไร เขารับไม่ได้ เขาโกรธ เขาก็ก่นด่าของเขา เขาบอกเขาอยากจะมีอาวุธ จะไปบุกเดี่ยวเลย เขาโมโหมากๆ ฟังแล้วเราก็กังวล ก็บอกเขาว่าระวังตัวนะพี่นะ ลูกเรายังเล็ก เขาก็บอกเขาก็รู้ตัวน่า ทำอะไรเขารู้ตัว เขาบอกเขาจะดูแลตัวเองให้ดีตลอด ตอนที่ลูกพี่เขาชวนไปเป็นการ์ด ก็ยังถามเขาว่า แล้วพี่จะไปเหรอ เขายังว่า บอกให้ลูกพี่เอาตังค์มาให้ลูกกับเมียใช้ก่อนสองแสนแล้วจะไป เพราะว่าถ้าไปแล้วจะไม่ค่อยได้กลับบ้าน”

หลังจากนั้นเพียงชั่วข้ามคืน ชีวิตของนิตยาก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง การรอคอยที่เคยจบลงคืนต่อคืน กลายเป็นสิ่งยาวนานไม่รู้จบ

“วันนั้นเขาออกจากบ้านไปตอนเช้า ประมาณเจ็ดโมงกว่า ก็อุ้มลูกลงไปด้วยเหมือนทุกวัน ปกติเขาจะไปขับรถออกมาจากซอย แล้วจะรอเราอยู่ปากซอย พอเก็บกวาดห้องเสร็จพี่ก็จะลงไปรับหนมตาล เขาก็หอมแก้มลูกแล้วก็ออกไป แต่ก่อนจะออกไปวันนั้น เห็นว่าเขาไปบ่นกับคนในห้องเช่าใกล้ๆ น้องสาวเขาว่าไม่รู้เป็นไร ห่วงลูกห่วงเมียจัง คนนั้นเขาก็ว่า จะห่วงทำไม ตัวเองก็อยู่ เขาก็ว่า เกิดเขาไม่อยู่ล่ะ เมียผมยิ่งทำอะไรไม่ค่อยเป็นอยู่ เขาไม่ให้พี่ทำอะไรเลย ให้เลี้ยงแต่ลูกอย่างเดียว เขารับผิดชอบหมด หน้าที่พี่ก็คือเลี้ยงลูกอย่างเดียว เป็นคนรักครอบครัวมากๆ”

นี่คือสิ่งที่นิตยาได้มารับรู้ทีหลัง ในวันที่อินแปลงเสียชีวิตแล้ว

“ปกติตอนบ่ายเขาจะมาแอบดูตรงบานเกร็ดห้องทุกวัน เพราะพี่เปิดบานเกร็ดเอาไว้กว้างๆ เขาจะมาแอบดูว่าเราเลี้ยงลูกดีรึเปล่า บางทีถ้าไม่ต้องรีบไปไหนเขาก็จะพาลูกไปเที่ยว วันนั้นเราก็รอ ก็ไม่เห็นเขามา” นิตยาย้อนเล่าเหตุการณ์ในวันนั้น “น้องสาวเขาก็มานั่งเล่นอยู่ที่ห้องด้วย กำลังนอนเล่นกัน แล้วก็มีโทรศัพท์เข้ามาประมาณบ่ายสอง บอกว่าโทรมาจากโรงพยาบาล ถามหาญาติคุณอินแปลง พี่ก็บอกว่าพี่เป็นภรรยาเขา เขาบอกให้รีบมาที่โรงพยาบาลเดี๋ยวนี้ คุณอินแปลงประสบอุบัติเหตุ พี่ก็คิดว่าเขาขับรถเร็ว คงจะไปชนไปอะไร แล้วทีนี้พอขึ้นรถ แฟนพี่สาวเขาบอกว่า ไอ้นิด ทำใจดีๆ ไว้นะ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด”

ช่วงเวลานั้นนิตยาไม่เข้าใจคำพูดของพี่เขย มารู้ทีหลังว่าเขาเห็นจากภาพข่าวในทีวีว่าแท็กซี่สีชมพูแบบเดียวกับของอินแปลงขับเข้าไปจอดบริเวณนั้น พอคนขับลงรถ เดินอ้อมประตูมาก็ถูกยิงร่วงลง ทีแรกพี่เขยก็ไม่คิดว่าชายคนดังกล่าวจะเป็นน้องเมีย แต่เมื่อมีโทรศัพท์สายตรงมาจากโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท จึงมั่นใจว่าใช่

“พี่เขยเขาเห็นภาพช่องทีวีไทย ไล่เลี่ยกันกับตอนที่โรงพยาบาลโทรมา ตอนแรกเขายังไม่เล่าให้เราฟัง บอกแค่ว่า อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดนะ เราก็บอก ไอ้นี่มาแช่งผัวกู เราไม่เชื่อ คิดว่ายังไงก็คงจะรถชนแหละ เพราะเขาเป็นคนค่อนข้างใจร้อน ขับรถเร็ว ทีนี้พอไปถึงโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท คุณหมอเขาก็มาถามว่า มาหาใคร พี่ก็บอกมาหาคุณอินแปลง เขาก็เดินมาโอบไหล่เลยนะ ก็รู้แล้ว เขาก็ถามว่าเป็นอะไรกับคุณอินแปลงครับ เราก็บอกเป็นภรรยา เขามาโอบไหล่เสร็จแล้วก็บอก นี่นะ พอมาถึงนี่ก็นะ เขาพูดแค่นี้ แล้วพี่ก็ทำอะไรไม่ถูก แต่ก็ยังหวังอยู่ หวังว่าจะได้คุยกับเขาอยู่ พี่สงสารเขามาก ตอนที่คนพาเขามาเล่าให้ฟังว่า เขาเจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก เขายังไม่เสียชีวิตทันทีนะ”

นิตยารับรู้เหตุการณ์ในนาทีสุดท้ายของสามี จากคำบอกเล่าของแสงจันทร์ กาษา น้องสาวของอินแปลง ที่ได้คุยกับชายคนที่ขับรถพาอินแปลงไปส่งโรงพยาบาลว่า วันนั้นมีคนกลุ่มคนเสื้อแดงวิ่งข้ามฝั่งถนนมายังจุดที่สามีของนิตยาขับรถเข้าไปจอด “เขาจะลงจากรถไปถามว่าวิ่งหนีอะไรมา พอลงจากรถแล้วเดินอ้อมมาก็โดนยิงเลย คนที่วิ่งมาก็มาพยุงเขาลุกขึ้น เขาก็ถามคนนั้นว่า พี่ขับรถเป็นมั้ย คนนั้นก็บอกเป็น งั้นช่วยพาผมไปโรงพยาบาลหน่อย เขายังพูดได้อยู่เลยนะ แต่ไปไม่ถึงโรงพยาบาล เขาบอก พี่...ผมเจ็บหน้าอก เขาคงจะเจ็บมากๆ แล้วตอนนั้นน่ะ แล้วก็เสียชีวิต ยังไม่ถึงโรงพยาบาลเลย” นิตยาน้ำตาไหล

“พอหมอพูดเสร็จพี่ก็เข้าไปดูเขาในห้อง เขาเหมือนคนนอนหลับ” นิตยาหยุดพูด พลางพยายามกลั้นสะอื้น ครู่หนึ่งจึงพูดต่อ “พี่ก็ได้แต่สัญญากับเขาว่าจะดูแลลูกให้ดี เขาจะเป็นห่วงลูกเขามาก บอกไม่ให้ดุให้ด่าไม่ให้ตีลูก เขาจะสั่งมาตลอดเลย จะสั่งทุกวันๆ ว่าอย่าดุลูก อย่าด่าลูก อย่าตีลูกเลยนะ”

ข่าวที่ออกมาคือ อินแปลง เทศวงษ์ ขับแท็กซี่ไปส่งผู้โดยสารแถวบ่อนไก่แล้วถูกยิง ขณะที่นิตยาได้ฟังข้อมูลอีกด้าน “มีคนเล่าให้ฟังว่าวันนั้นมีคนให้เขาไปดูลาดเลา เห็นว่าลูกพี่เขาสั่งให้ไปดูลาดเลาแถวบ่อนไก่ เขาไปคนเดียว แต่ตอนแรกเรายังพูดไม่ได้ เวลาใครถามว่าเขาได้ไปชุมนุมมั้ย เราก็ได้แต่บอกว่าไม่เคยไป เรายังพูดไม่ได้”

 

7

 นิตยาอยู่กินกับอินแปลงมาตั้งแต่ปี 2547

“ตอนนี้น้ำหวานก็จะเจ็ดขวบแล้ว พออยู่ด้วยกันก็มีน้ำหวานเลย เราไปเจอกันที่กรุงเทพฯ ไปทำงาน เขาออกจากบ้านมาทำงานตั้งแต่เป็นวัยรุ่น เป็นคนที่พึ่งพาตัวเองตลอด ขับรถสิบล้อ ขับทุกรถ เขาเป็นคนที่น่าสงสารนะ ครอบครัวเขาฐานะไม่ค่อยดี ก็เลยทำให้เขาดิ้นรนมาก พึ่งพาตัวเองมาตั้งแต่เด็ก พอเขามีครอบครัว มีพี่ มีลูก เขาก็ไม่ให้พี่ลำบาก ให้ดูแลแต่ลูก งานทุกอย่างเขารับเองหมดเลย อย่างมาทำนาเขาก็จะทำแบบไม่ได้กลัวเหนื่อยเลย ทำเต็มที่มาก คือทำเผื่อ เพราะว่าพี่ไม่ได้ทำ เขาต้องเป็นคนทำ เขาเคยบอกอยากให้ลูกเขาเรียนสูงๆ เรียนดีๆ เรียนโรงเรียนดีๆ จะได้ไม่ต้องลำบากเหมือนเขา”

ระหว่างนั้นเด็กหญิงน้ำหวานกับเด็กชายขนมตาล วิ่งตามกันออกมาหาแม่ ขนมตาลร้องไห้จ้า เหมือนทะเลาะอะไรบางอย่างกับพี่สาว นิตยาบ่นว่าน้ำหวานชอบแกล้งน้อง พลางอุ้มขนมตาลขึ้นนั่งบนตัก แล้วบอกให้น้ำหวานเข้าไปอยู่กับตา น้ำหวานกระเง้ากระงอดงอแงอยู่พักหนึ่ง ก่อนเดินกลับเข้าไปในบ้าน นิตยาปลอบเด็กชายตัวป้อมบนตักจนหยุดร้องไห้ แล้วจึงค่อยเล่าต่อ
 

“ตอนเขาตาย อีกสี่วันหนมตาลจะครบสิบเดือน เขาเรียกพ่อแล้วนะ แต่ยังไม่เรียกแม่ เขาติดพ่อมาก เขาจะเรียกพ่อเขา อ้อ อ้อ พ่อตายเขาก็ยังไม่รู้เรื่อง ป้าเขาเอารูปไปขยายมา พอมองเห็นรูป เขาก็คว้าใหญ่เลย อ้อ อ้อ เรียกใหญ่ แล้วก็จับรูปมาพลิกท่าโน้นท่านี้ ทำไมพ่อไม่พูดด้วย พอไปที่บ้าน ไปงานศพที่บ้านปู่เขา เห็นรูปพ่อเขาตั้งอยู่ เขาก็เรียกอีก อ้อ อ้อ ชี้มือเรียก อ้อๆๆ ตอนยังอยู่พ่อเขาชอบพาไปขับรถ เวลานั่งรถไปเขาจะร้องนั่งตรงพวงมาลัย พอพ่อเขามาเสียไปก็แย่ทุกอย่าง ทั้งจิตใจ แย่ไปหมด เราก็ต้องกลับมาอยู่กับพ่อกับแม่ เวลาอยู่กับลูกกับใครก็ธรรมดา แต่เวลาที่เราต้องอยู่คนเดียว อย่างพี่อยู่ในครัว มันก็อดคิดขึ้นมาไม่ได้” ระหว่างนั้นขนมตาลจับภาพถ่ายสมัยยังมีชีวิตของอินแปลงมาถือไว้อย่างง่อนๆ แง่นๆ ในมือ แล้วเรียก “พ่อต๋อง พ่อต๋อง” อยู่หลายครั้ง นิตยายิ่งน้ำตาไหล

“เราเคยรอเขากลับบ้านทุกวันๆ แล้วอยู่ๆ เขาก็หายไป ไม่กลับมาอีกเลย ทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกอย่างนั้นอยู่ รู้สึกว่าเรายังรอเขาอยู่ ตอนที่ลูกหัดพูดหัดเดินก็อยากจะบอกเขาว่า นี่ลูกพูดได้แล้วนะ เราก็อยากบอกเขาว่า พี่ลูกพูดได้แล้วนะ ลูกเดินแล้วนะ ลูกวิ่งแล้วนะ คือบอกทุกอย่างเลย ทำไมพี่ไม่โทรมาเลย บางทีเราเหมือนคนบ้า เรานั่งอยู่คนเดียว เหมือนกับรอโทรศัพท์เขาอยู่ ทำไมเขาไม่โทรมา เราจะได้เล่าให้เขาฟังว่าวันนี้ลูกเราทำอะไรมั่ง ลูกเราเดิน ลูกเราวิ่ง ลูกเราพูดว่าอะไร น้ำหวานเขาได้เต้นได้อะไรด้วยนะ วันเด็กวันครูเขาจะมีการแสดง อยากเล่าให้เขาฟัง ทุกวันนี้น้ำหวานน่ะ บางทีเขาก็จะร้องไห้คนเดียว บางทีก็บอกว่าคิดถึงพ่อต๋อง ลูกติดพ่อกันมาก ครบรอบที่เขาเสียหนึ่งปี พี่ยังโทรไปหาพ่อเค้า บอกพ่อ วันนี้แล้วนะ พี่ก็อดร้องไห้ไม่ได้” น้ำตานิตยาร่วงพรูลงมาอีก “เราอยากไปงานรำลึก แต่ก็ไปไม่ได้ ติดลูก เลี้ยงลูกคนเดียว ก็หนัก”

เมื่อถามถึงสิ่งที่ยังติดค้างอยู่ในใจ นิตยาว่า

“สำหรับคนที่เขาฆ่าสามีเรา พี่แช่งไปหมดแล้ว ตั้งแต่ช่องสามมาสัมภาษณ์วันที่ไปดูศพ ให้ตายตกไปตามสามีพี่ ให้มันล่มจมยิ่งกว่าอีก โกรธมาก เสียใจมาก ก็อย่างที่บอก เรารอเขากลับบ้านทุกๆ วัน ตอนนั้นมันคิดอะไรก็ไม่ออก กลับมาถึงห้อง มองไปตรงไหนเขาก็จะอยู่กับเราตรงนั้นตรงนี้ตลอด มันแย่มากๆ พวกพี่ๆ พวกญาติๆ โทรมาให้กำลังใจ บอกว่าเขาทำตามอุดมการณ์ของเขา เราต้องยอมรับนะ เราต้องยอมรับอุดมการณ์ของเขา เขาทำเพื่อความถูกต้อง เขาทำเพื่อประชาธิปไตย เราก็ยอมรับ แต่ก็คิดว่ามันไม่ยุติธรรม เขาผิดอะไร แค่เรียกร้องประชาธิปไตย ข้อเดียวเอง ขอให้มาจากประชาชน ทำไมต้องถึงกับฆ่ากันด้วย ไม่คิดว่าจะทำกันถึงขนาดนี้ บอกว่าเขาฆ่าคนเพื่อความสงบสุข แล้วจะมาถามหาความปรองดอง พี่ไม่เคยดูทีวีทุกวันนี้ สื่อมีแต่ของเขา”

เสียงของหม้ายประชาธิปไตยแห่งจังหวัดอุบลราชธานี ที่วันนี้คราบน้ำยังไม่แห้ง

 

8

 แสงจันทร์ กาษา วัย 32 ปี น้องสาวซึ่งเช่าห้องพักอยู่แฟลตเดียวกับอินแปลงและนิตยา และเป็นเจ้าของรถแท็กซี่ที่อินแปลงเช่าขับ เล่าให้ฟังทางโทรศัพท์ว่า เธอไม่รู้รายละเอียดมากนักว่าพี่ชายเข้าไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงตั้งแต่เมื่อไหร่ มารู้ก็ช่วงหลังๆ ที่พี่ชายไม่มีเงินมาจ่ายค่าเช่ารถให้เธอ

“ช่วงเดือนเมษา-พฤษภาคม ไม่ค่อยได้เงินให้ค่าเช่ารถเลย ไปขับรถทุกวันแต่ไม่ค่อยได้เงิน เราก็ไม่รู้ว่าเขาไป ได้แต่สงสัยว่าทำไมไม่ได้ตังค์มาให้ มีแต่ติดค่าเช่า เวลาบ่น เขาก็ว่า ก็มันหาไม่ได้” แสงจันทร์ว่าก่อนหน้านี้พี่ชายไม่เคยติดค้างค่าเช่ารถ แล้วทำไมเพิ่งมาหาไม่ได้ในช่วงนั้น

“คิดว่าเขาเริ่มไปประมาณวันที่เขาโปรยแก๊สน้ำตา เขาสงสาร เขาบ่นอยู่ว่าโปรยแก๊สน้ำตา คนแก่ก็โดน ไปล้างหน้าล้างตากันใหญ่ ตอนนั้นแหละ เขาว่าใครๆ ก็ไปร่วมชุมุม เขาก็เลยอยากไปช่วยเหลือกัน”

วันที่พี่ชายเสียชีวิต แสงจันทร์มานั่งคุยเล่นกับพี่สะใภ้ ระหว่างนั้นโรงพยาบาลกล้วยน้ำไทโทรมาแจ้งว่าอินแปลงประสบอุบัติเหตุ จึงพากันไปที่โรงพยาบาล แสงจันทร์ได้คุยกับชายคนที่ขับรถพาอินแปลงมาส่งหมอ

“ผู้ชายคนนั้นเล่าให้ฟังว่า วันนั้นพี่ต๋องขับรถผ่านไปบ่อนไก่ ไปจอดใต้สะพาน แล้วก็เดินออกไปยืนคุยกับเพื่อนที่วิ่งหนีตายออกมา ตอนนั้นเขาส่งผู้โดยสารเสร็จแล้ว ผู้โดยสารลงไปแล้ว พี่ต๋องเขาก็เปิดประตูรถ จะลงไปถามว่าวิ่งหนีอะไร พอเดินอ้อมมาก็โดนยิงเลย”

ชายคนดังกล่าวเล่าอีกว่าเขากำลังยืนคุยกับเพื่อนอยู่บริเวณนั้น “พอเห็นพี่ต๋องถูกยิงเขาก็วิ่งไปช่วยพยุง พี่ต๋องก็ถามเขาว่า ขับรถเป็นมั้ย ช่วยพาเขาไปส่งโรงพยาบาลหน่อย เขาก็พาไป อยู่กลางทางยังไม่ถึงโรงพยาบาล เขาบอก พี่ขับรถเร็วๆ หน่อย ผมอยากไปถึงมือหมอ พี่คนนั้นเขาก็ว่า ผมก็ขับแร้งแรง แต่ไปไม่ได้ รถมันติด พี่ต๋องเขาก็ร้องไห้ น้ำตาไหล เขาว่าเขาสงสารลูกเขา ลูกเขายังเล็ก เขารู้ตัวว่าเขาไม่รอดแล้ว เขาบอก ผมคงไม่รอดแล้ว พี่คนนั้นเขาก็ว่า ผมก็ช่วยเต็มที่แล้ว ไม่ทันถึงโรงพยาบาลก็หมดก่อน”

“อินแปลง เทศวงษ์” จบชีวิตลงบนรถแท็กซี่ที่เขาใช้ทำมาหากินหล่อเลี้ยงชีวิตตนและทุกคนที่เขารักนั่นเอง

 

=======================

เชิงอรรถ

<1> วิภาวี จุฬามณี. ปากคำบ่อนไก่ ที่นี่ 15 ศพ.http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdNVEF5TVRBMU5BPT0=&sectionid=TURNeE53PT0=&day=TWpBeE1TMHhNQzB3TWc9PQ==

<2>http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1273938570&grpid=03&catid=

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "กระพรวนแมว 555"

Posted: 26 Jan 2012 05:29 AM PST

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "กระพรวนแมว 555"

บอร์ดใหม่ สปสช.วุ่น ชี้ถูกการเมืองแทรกแซง แพทย์ชนบทกร้าวค้านแผนล้มบัตรทองอย่างถึงที่สุด

Posted: 26 Jan 2012 02:53 AM PST

 

(26 ม.ค.55) ข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า นางวรานุช หงสประภาส อดีตที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ ที่นายวิทยา บูรณศิริ รมว.สาธารณสุขเสนอให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังในบอร์ด สปสช.ได้ยื่นใบลาออกจากกรรมการ สปสช.และประธานคณะอนุกรรมการการเงินการคลัง ใบลาออกได้ถึงมือนายวิทยาแล้ว และในที่ประชุมเมื่อวันที่ 24 มค. ที่ผ่านมา นางวรานุช ก็ไม่ได้เข้าร่วมประชุมทั้งที่มีวาระสำคัญในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ และการเตรียมสรรหาเลขาธิการ สปสช.ใหม่ ข่าวไม่ได้แจ้งว่าการลาออกนี้เกิดจากสาเหตุอะไรและจะถูกยับยั้งหรือไม่

ขณะที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน และนายนิมิตร์ เทียนอุดม บอร์ด สปสช.ในสัดส่วนองค์กรภาคประชาชนประกาศถอนตัวจากการเป็นอนุกรรมการ สปสช.ทุกคณะ เพราะรับไม่ได้ที่ฝ่ายการเมืองใช้อำนาจและเสียงข้างมากผลักดันการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านว่าผิดหลักการของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ต้องการสร้างความสมดุลแยกให้ผู้ใช้บริการสาธารณสุขออกจากผู้ให้บริการโดยมี สปสช.เป็นผู้แทนและมีความสุ่มเสี่ยงกับการทำผิดกฎหมายในการเปิดโอกาสให้คณะอนุกรรมการและบอร์ดเข้าล้วงลูกการทำงานของ สปสช.และการตรวจสอบของ สตง.

“เป็นการก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของ สปสช.และ สตง.ที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจน เปิดโอกาสให้เกิดการแสวงหาประโยชน์จากฝ่ายการเมืองในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ง่ายขึ้น ทำให้ภาคีภาคประชาชนและเครือข่ายผู้ป่วยในฐานะผู้เสียหาย และต้องรับผลจากมติและการแต่งตั้งดังกล่าว กำลังเตรียมการและปรึกษาฝ่ายกฎหมาย เพื่อขออำนาจศาลปกครองในการเพิกถอนมติการแต่งตั้งดังกล่าว” นพ.วิชัย โชควิวัฒน กล่าว

การลาออกของนางวรานุช หงสประภาส จากบอร์ด สปสช.และลาออกจากประธานคณะอนุกรรมการการเงินการคลังครั้งนี้ จะกระทบต่อการทำงานของบอร์ด สปสช.ที่มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนั่งเป็นประธานอย่างมาก เพราะจะต้องมีการพิจารณาเสนองบเหมาจ่ายรายหัวของปี 2556 ต่อคณะรัฐมนตรีในเร็วนี้ ซึ่งถ้านางวรานุชยังคงเป็นประธานคณะอนุกรรมการอยู่จะต้องรับกับแรงกดดัน จากฝ่ายต่างๆ เพราะมีแนวโน้มว่าจะมีการผลักดันให้เพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวครั้งใหญ่ให้ใกล้เคียงกับระบบประกันสังคมที่ชิงเพิ่มในอัตราสูงกว่าระบบสวัสดิการข้าราชการแล้ว รวมทั้งแรงกดดันในการจัดสรรงบประมาณลงสู่พื้นที่ของฝ่ายการเมือง โดยที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการชุดนี้มี ดร.โอฬาร ไชยประวัติ และ ดร.อัมมาร สยามวาลา เคยเป็นประธาน

ก่อนหน้านี้มีเสียงคัดค้านจากเครือข่ายผู้ป่วยและกลุ่มรักหลักประกันสุขภาพรวมทั้งชมรมแพทย์ชนบทในเรื่องความไม่ชอบมาพากลและการแต่งตั้งกลุ่มแพทย์ที่เคยคัดค้านนโยบายบัตรทอง โดยฝ่ายการเมืองเปิดโอกาสให้กลุ่มเหล่านี้เข้ายึดครองการกำหนดนโยบายของบอร์ดใหม่ สปสช. และเกรงว่าจะมีการเปลี่ยนหลักการของระบบบัตรทองที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ร่วมกับภาคประชาชน โดยการสนับสนุนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะนี้ ได้สร้างไว้ แรงกดดันนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นางวรานุช ตัดสินใจลาออก
 

แพทย์ชนบทย้ำคัดค้านแผนล้มบัตรทองอย่างถึงที่สุด
ด้านชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 คัดค้านการผลักดันให้นางวรานุช หงสประภาส ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณเป็นประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม รวมทั้งคัดค้านปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ละเลยอำนาจหน้าที่ของตนในการปกป้องระบบบริการและการเงินของหน่วยบริการในสังกัด ด้วยการยอมตามอำนาจฝ่ายการเมือง พร้อมเรียกร้องให้ร่วมจับตาและคัดค้านความพยายามในการทำลายระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ จากกลุ่มแพทย์พาณิชย์และกลุ่มการเมือง โดยย้ำว่า ชมรมแพทย์ชนบทจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการยับยั้งแผนร้ายดังกล่าวอย่างถึงที่สุดและต่อเนื่อง

///////////////////


แถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบทฉบับที่ 2
คัดค้านการเปลี่ยนหลักการและล้มระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มแพทย์พาณิชย์และการเมือง

ตามที่ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายผู้ป่วยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้เปิดโปงแผนสี่ขั้นตอนเพื่อล้มระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของกลุ่มแพทย์พาณิชย์ ที่ได้เข้ายึดครองแพทย์สภาไว้ก่อนหน้าแล้ว ร่วมกับกลุ่มข้าราชการระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขที่กลัวสูญเสียอำนาจและกลุ่มการเมืองขาดวิสัยทัศน์และกำกับกระทรวงสาธารณสุขอยู่ในขณะนี้ กลุ่มเหล่านี้แม้จะได้รับการคัดค้านอย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่ละความพยายามที่จะผลักดันให้มีการออกนโยบายเปลี่ยนหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ร่วมกับภาคประชาชนภายใต้การสนับสนุนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้น

ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 20 มกราคม นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาลปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพใหม่ ให้ล้มการรวมเงินเดือนบุคลากรของหน่วยบริการต่างๆ หรือหักเงินเดือนระดับประเทศ และจัดสรรงบประมาณรวมให้เขตตรวจราชการแทนการจัดสรรตรงให้โรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนหลักการสำคัญที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูประบบกำลังคนโดยการกระจายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ไปในพื้นที่ชนบทที่ขาดแคลน หรือข้อเสนอของ นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ ผู้แทนสมาคม รพ.เอกชนเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติชุดใหม่ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมา เสนอให้ยกเลิกโครงการผ่าตัดต้อกระจกในผู้สูงอายุที่คณะกรรมการชุดเดิมได้ริเริ่มไว้และเป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุปีละกว่าหนึ่งแสนราย ช่วยลดค่าผ่าตัดต้อกระจกลงคนละหลายหมื่นบาท กระทบกับรายได้ของ รพ.เอกชน และเหล่าแพทย์พาณิชย์ที่ได้ประโยชน์จากราคาส่วนเกินค่าเลนส์ตา

ล่าสุดยังได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งและแต่งตั้งคนภายนอกของตนที่ไม่มีประวัติหรือประสบการณ์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบบริการทางการแพทย์และระบบหลักประกันสุขภาพเข้ายึดครองกลไกคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังและคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ โดยหวังจะทำให้กลไกกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของ สปสช. ไร้ประสิทธิภาพเปิดโอกาสให้กลุ่มแพทย์พาณิชย์และการเมืองเข้าแสวงหาประโยชน์จากกองทุนหลักประกันสุขภาพได้ง่ายขึ้น

ชมรมแพทย์ชนบทขอคัดค้าน รมว.สธ. ในการผลักดันให้นางวรานุช หงสประภาส ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณเป็นประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม รวมทั้งขอคัดค้านปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ละเลยอำนาจหน้าที่ของตนในการปกป้องระบบบริการและการเงินของหน่วยบริการในสังกัด ด้วยการยอมอำนาจฝ่ายการเมืองให้ตัดผู้แทน นพ.สสจ. ผู้แทน รพศ./รพท. ผู้แทน รพช. และ รพ.สต.ออกจากคณะอนุ กก.ชุดนี้ ทั้งที่อดีตที่ผ่านมาผู้แทนหน่วยบริการเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการกำหนดและเสนอนโยบายการเงินการคลังของระบบหลักประกันสุขภาพร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ

ขณะเดียวกันชมรมแพทย์ชนบทขอเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ ผู้บริหารของหน่วยบริการทุกระดับในพื้นที่และเครือข่ายผู้ป่วยร่วมจับตาและร่วมคัดค้านความพยายามในการทำลายระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย จากกลุ่มแพทย์พาณิชย์และกลุ่มการเมืองตามแผนล้มระบบหลักประกันสุขภาพสุขภาพสี่ขั้นตอน โดยชมรมแพทย์ชนบทจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการยับยั้งแผนร้ายดังกล่าวอย่างถึงที่สุดและต่อเนื่อง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: ร้องรัฐบาลทบทวนออกประทานบัตรโรงโม่หินที่ภูผารวก เผยยื้อกันมานานกว่า 19 ปี

Posted: 26 Jan 2012 02:25 AM PST

แกนนำชมรมอนุรักษ์ภูผาป่าไม้ บุกรัฐสภายื่นหนังสือร้องทุกข์ขอให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทบทวนการออกประทานบัตรสร้างโรงโม่หินที่ภูผารวก จ.หนองบัวลำภู เผยการต่อสู่กับนายทุนมายาวนานกว่า 19 ปี ทำแกนนำเสียชีวิต 4 คน

เมื่อวันที่ 25 ม.ค.55 เวลา 10.00 น. นายเอกชัย ศรีพุทรา และแกนนำชมรมอนุรักษ์ภูผาป่าไม้จำนวน 10 คนเดินทางมายังรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้ทบทวนการออกใบอนุญาตสร้างโรงโม่หินที่ภูผารวก บ้านโชคชัย หมู่ที่ 8 ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู

 
นายเอกชัย  ศรีพุทรา หนึ่งในแกนนำชมรมอนุรักษ์ภูผาป่าไม้ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู กล่าวว่าชาวบ้านร่วมกันต่อสู้เพื่อคัดค้านการทำโรงโม่หินมาตั้งแต่ปี 2536 ที่ผ่านมาการต่อสูกับนายทุนโรงโม่หินส่งผลให้แกนนำชาวบ้านเสียชีวิตและจับมือใครดมไม่ได้รวม 4 คน ถูกจับดำเนินคดีและติดคุกมาแล้วนับสิบราย และเขาเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่พึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา 
 
“พวกเรามาวันนี้เพื่อขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้ทบทวนการออกประทานบัตรแก่นายทุนในการสร้างโรงโม่หินในบริเวณดังกล่าว เพราะชาวบ้านพบว่า นายทุนโรงโม่หินได้มีการเดินเสาไฟฟ้าเข้าบริเวณโรงโม่เพื่อเตรียมประกอบการอีกรอบ หลังจากที่เงียบหายไปนาน อันเป็นผลจากการคัดค้านของคนในชุมชนครั้งแล้วครั้งเล่า ”
 

ถ้ำภูผายา แหล่งภาพเขียนสีอายุกว่า 3,000 ปี

 
นายเอกชัย กล่าวถึงความสำคัญของพื้นที่ว่า ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ผาจันได เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชาวบ้าน มีเห็ด หน่อไม้ ให้เก็บกินตลอดปี เป็นแหล่งยาสมุนไพร เช่นจันท์ผา จันดา เหมือดแอ่ ม้ากระทืบโรง อีกทั้งภูผายาเป็นแหล่งภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ยุคเดียวกับภาพเขียนสีบริเวณผาแต้ม จ.อุบลราชธานี นอกจากนี้บริเวณถ้ำเสือ ถ้ำพระทางทิศตะวันออกของภูผายายังเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ ที่ชาวบ้านและพระใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมตลอดมา 
 
“รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่นมากกว่าให้ความสำคัญกับนายทุนเพียงบางกลุ่ม ซึ่งชาวบ้านจะดำเนินการทุกรูปแบบในการปกป้องรักษาสถานที่สำคัญเหล่านี้ไว้ และบ่ายวันนี้เราจะยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีกด้วย” นายเอกชัยกล่าวทิ้งท้าย
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฟอร์บส์วิเคราะห์ สนง.ทรัพย์สินฯ แย้งตัวเลขในหนังสือ ‘A Life’s Work’

Posted: 26 Jan 2012 01:43 AM PST

นิตยสาร ‘ฟอร์บส์’ วิเคราะห์งบประมาณของ สนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยดึงข้อมูลจากพระราชประวัติกึ่งทางการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเล่มล่าสุด ‘King Bhumibol Adulyadej: A Life’s Work’

ฟอร์บส์ซึ่งเป็นนิตยสารด้านการเงินและธุรกิจของสหรัฐ ตีพิมพ์บทความว่าด้วยรายได้และการลงทุนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยวิเคราะห์จากข้อมูลในหนังสือพระราชประวัติกึ่งทางการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเล่มล่าสุด ‘King Bhumibol Adulyadej: A Life’s Work’ ชี้ สนง. ทรัพย์สินฯ ประเมินทรัพย์สินเป็นมูลค่าเพียงหนึ่งในสามของที่ฟอร์บส์เคยวิเคราะห์ไว้

นิตยสารฟอร์บส์ซึ่งก่อนหน้านี้ได้จัดลำดับให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา วิเคราะห์ว่า อัตชีวประวัติเล่มดังกล่าวได้ท้าทายตัวเลขทรัพย์สินที่ฟอร์บส์เคยประมาณไว้ และถึงแม้ทางวังจะยอมรับว่า สนง. ทรัพย์สินฯ เป็นเจ้าของที่ดินในกทม. และในต่างจังหวัดจำนวนมากก็จริง แต่ฟอร์บส์ก็ชี้ว่า อัตราการให้เช่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ของสนง. ทรัพย์สินฯ ก็อยู่ในอัตราที่ต่ำมากด้วยการอุดหนุนจากรัฐ จนไม่มีองค์กรพาณิชย์ไหนๆ สามารถมาแข่งขันได้

หนังสือ ‘King Bhumibol Adulyadej: A Life’s Work’ ซึ่งมีอานันท์ ปันยารชุน เป็นที่ปรึกษาบรรณาธิการยืนยันจำนวนที่ดินที่ฟอร์บส์เคยประมาณไว้ว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีที่ดินในครอบครองในกรุงเทพจำนวน 3,320 เอเคอร์ (1 เอเคอร์ = ประมาณ 4,050 ตารางเมตร)  และเมื่อรวมที่ดินในต่างจังหวัดแล้วจะคิดเป็น 13,200 เอเคอร์ อย่างไรก็ตามฟอร์บส์ชี้ว่า สนง. ทรัพย์สินฯ กลับประเมินมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็น 1 ใน 3 ของที่ฟอร์บส์เคยประเมินไว้เท่านั้น

ฟอร์บส์ประเมินว่า รายได้สุทธิที่ สนง.ทรัพย์สินฯ ได้จากที่ดินในปี 2010 คิดเป็น 2.5 พันล้านบาท (ราว 80 ล้านดอลลาร์) ซึ่งหนึ่งในรายได้หลักมาจากห้างเซ็นทรัลเวิร์ลด์ และโรงแรมโฟร์ซีซัน โดยมีร้อยละ 7 ของที่ดินทั้งหมดเท่านั้นที่นำออกให้เช่าในทางพาณิชย์ ซึ่งคิดค่าเช่ามากถึงร้อยละ 4 ของราคาตลาด ส่วนที่ดินที่เหลือ บ้างก็ถูกใช้โดยหน่วยงานของรัฐ ชุมชนแออัด สลัม ตลาด และร้านค้า

ทั้งนี้ ข้อมูลของสำนักงานทรัพย์สินฯ เปิดเผยว่า สนง. ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีสัญญาเช่าที่ดินรวมทั้งหมด 40,000 ฉบับ และ 17,000 ฉบับของจำนวนนั้นอยู่ในกรุงเทพฯ

ฟอร์บส์ยังระบุว่า การที่ สนง. ทรัพย์สินฯ ถือหุ้นร้อยละ 23 ในธนาคารไทยพาณิชย์ ร้อยละ 32 ในสยามซีเมนต์กรุ๊ป ซึ่งมีมูลค่าทั้งหมดราว 7 พันล้านดอลลาร์ ยังทำให้ได้รับเงินปันผลจากบรรษัทดังกล่าวราว 184 ล้านดอลลาร์ในปี 2553 นอกจากนี้ หนังสือ ‘King Bhumibol Adulyadej: A Life’s Work’ ยังเปิดเผยด้วยว่า รายได้ของ สนง. ทรัพย์สินตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา คิดเป็นจำนวนระหว่าง 9 -11 พันล้านบาทต่อปีโดยเฉลี่ย

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากการถือหุ้นในบรรษัทที่กล่าวมาแล้ว ฟอร์บส์ชี้ว่าหนังสือเล่มนี้ละเลยการพูดถึงการถือหุ้นของสำนักงานทรัพย์สินฯในกลุ่มโรงแรมเยอรมัน ‘เคมพินสกี้ เอจี กรุ๊ป’ และบริษัทประกัน ‘Deves’ (เทเวศประกันภัย) ซึ่งรวมกันมีมูลค่าราว 600 ล้านดอลลาร์ (มูลค่าประเมินในปี 2551) ด้วยการลงทุนทั้งหมดนี้ ทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กลายเป็นกลุ่มบรรษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 

ฟอร์บส์เปรียบเทียบรายได้ของ สนง. ทรัพย์สินฯ นักธุรกิจที่รวยที่สุดของประเทศไทย คือธนินทร์ เจียรวนนท์เจ้าของบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพีกรุ๊ป ผู้มีทรัพย์สินมูลค่า 7.4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีความแตกต่างกันหลายเท่ามาก นิตยสารฟอร์บส์จึงต้องจัดลำดับให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นกษัตริย์อันดับหนึ่งของโลก ทำให้ต่อมาทางการไทยรวมถึงคณะผู้เขียนหนังสืออัตชีวประวัติกึ่งเป็นทางการเล่มนี้ต้องออกมาชี้แจงว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มิได้เป็นทรัพย์สินส่วนตัว หากแต่เป็นทรัพย์สินของสถาบัน ซึ่งจะสืบทอดไปอยู่ในความรับผิดชอบพระมหากษัตริย์องค์ต่อไปตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ฟอร์บส์ก็ได้ตั้งคำถามถึงสถานะและความโปร่งใสของ สนง. ทรัพย์สินฯ ซึ่งหนังสือ ‘King Bhumibol Adulyadej: A Life’s Work’ เองก็ยอมรับว่ามีความคลุมเครืออยู่มากเช่นกัน

ถึงแม้หนังสือเล่มดังกล่าวจะระบุว่า งบประมาณที่ใช้ในการใช้จ่ายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์จะรับผิดชอบโดยสนง. ทรัพย์สินฯ เอง แต่ฟอร์บส์ก็ได้นำเอาข้อมูลงบประมาณปี 2554 มาชี้ให้เห็นว่า สำนักพระราชวังได้รับการจัดสรรงบประมาณต่อปีจำนวน 84 ล้านดอลลาร์ และอีก 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับแผนกที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อรวมกับงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความปลอดภัยของราชวงศ์แล้วจะคิดเป็น 194 ร้อยล้านดอลลาร์ต่อปี ทั้งนี้ ฟอร์บส์ชี้ว่า หากนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวรวมกับรายได้ของสนง. ทรัพย์สินต่อปีแล้ว (ราว 300 ล้านดอลลาร์) จะหมายความว่าราชวงศ์ไทยใช้งบประมาณราว 500 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ฟอร์บส์สรุปบทวิเคราะห์โดยเปรียบเทียบกับสถาบันกษัตริย์ของประเทศในยุโรป เช่นในกรณีของสเปนซึ่งปกครองในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลใช้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ราว 12 ล้านดอลลาร์ ส่วนสถาบันกษัตริย์ของประเทศอังกฤษ ใช้ราว 50 ล้านดอลลาร์ แต่ยกรายได้ส่วนใหญ่ที่เข้ามาทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้กับกรมคลังของประเทศ และประชาชนเองก็สามารถตรวจสอบข้อมูลด้านการเงินดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม ในกรณีของประเทศไทย ความโปร่งใสในสถาบันดังกล่าว เห็นจะเป็นหนทางที่ยังต้องใช้เวลาอีกนาน ฟอร์บระบุ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวอียิปต์ชุมนุมครบรอบ 1 ปีปฏิวัติ

Posted: 26 Jan 2012 01:19 AM PST

ประชาชนชาวอียิปต์กว่าแสนคนมารวมตัวที่จัตุรัสทาห์เรีย บางส่วนชุมนุมแสดงความไม่พอใจต่อการปกครองของทหารซึ่งขึ้นมามีอำนาจแทน ขณะเดียวกันก็มีผลสำรวจบอกว่าประชาชนร้อยละ 85 มั่นใจในการทำงานของสภาทหารฯ

สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2012 ที่ผ่านมาประชาชนหลายแสนคนรวมตัวกันที่จัตุรัสทาห์เรียในกรุงไคโรเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปฏิวัติอียิปต์ในฐานะครบรอบ 1 ปี การลุกฮือของประชาชนจนสามารถโค่นล้ม อดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ลงได้

การลุกฮือของประชาชนอียิปต์ได้รับแรงบันดาลใจจากการประท้วงของประชาชนชาวตูนีเซีย โดยเมื่อปีที่แล้วประชาชนชาวอียิปต์ได้ออกมาตามท้องถนนและเรียกร้องให้มูบารัคผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอียิปต์ยาวนานถึง 30 ปีออกจากตำแหน่ง และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปอียิปต์

การชุมนุมที่จัตุรัสทาห์เรีย เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา มีส่วนหนึ่งของประชาชนตะโกนคำขวัญว่า "การปกครองของทหารจงพินาศ" และ "เราจะปฏิวัติจนกว่าจะชนะ ปฏิวัติทั่วท้องถนนของอียิปต์" ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ชุมนุมคนหนุ่มสาว

เชรีน ทาดรอส ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่ารายงานที่จัตุรัสว่า สำหรับประชาชนส่วนหนึ่งในนี้แล้ว กองทัพได้ฉวยโอกาสยึดครองการปฏิวัติของพวกเราไป และคิดว่ากลุ่มพรรคการเมืองและการเคลื่อนไหวของอิสลามกำลังได้ผลประโยชน์แทนที่จะเป็นกลุ่มคนที่ริเริ่มปฏิวัติจริงๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า มีประชาชนรายอื่นๆ อีกที่บอกว่ามันเป็นการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่มีอุปสรรค แต่อย่างน้อยการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ก็ทำให้อียิปต์มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี และสภาประชาชนก็ได้ช่วยสะท้อนความนึกคิดของประชาชนได้

ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า ประชาชนที่ได้รับการอภัยโทษจากผู้นำทหารในฐานะครบรอบ 1 ปีนี้ก็เดินออกจากเรือนจำโทรา ที่อยู่แถบชานเมืองกรุงไคโร โดยการปล่อยตัวครั้งนี้เป็นการที่ผู้นำทหารพยายามประนีประนอมกับข้อเรียกร้องของกลุ่มปฏิรูป

ทางฝ่ายกองทัพเองก็มีแผนจะเฉลิมฉลองด้วยขบวนกองทัพเรือในอเล็กซานเดรีย เมืองแถบเมดิเตอเรเนียน มีการแสดงเครื่องบินในกรุงไคโร ซึ่งในวันที่ 11 ก.พ. ปีที่แล้ว (2011) อดีตประธานาธิบดีมูบารัคก็ได้ลงจากตำแหน่งและทหารได้ขึ้นมามีอำนาจแทน

กองทัพอียิปต์ยังได้ออกออกเหรียญที่ระลึกในโอกาสนี้ และหลายจะมอบให้ข้าราชการที่ได้รับการยกย่อง

ทหารยังได้เรียกร้องให้ประชาชนชาวอียิปต์รักษาจิตวิญญาณของวันที่ 25 ม.ค. ไว้ จากที่มันได้รวมใจของประชาชนชาวอียิปต์เป็นหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย เด็กหรือคนชรา ชาวมุสลิมหรือชาวคริสเตียน

โดยในวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา จอมพล ทันทาวี กล่าวให้สัญญาว่าจะจำกัดกฏหมายสถานการณ์ฉุกเฉินให้กินความแคบลง และหากมีการเลือกตั้งในเดือน มิ.ย. ที่จะถึงนี้จนกระทั่งมีประธานาธิบดีคนใหม่แล้ว ทหารจะกลับไปอยู่ในค่ายทหารตามเดิม

"แต่คำถามใหญ่คืออะไรคือสิ่งที่พวกเขาจะทิ้งเอาไว้ พวกเขาจะตั้งกฏอะไรขึ้นมาเพื่อปูทางให้กับพวกเขาเอง พวกเขาจะมีการตกลงเบื้องหลังอะไรกับกลุ่มเสียงข้างมากในสภา (พรรคของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม) ที่จะทำให้พวกเขาได้รับการงดเว้นโทษ"

กรณีที่มีคนส่วนหนึ่งคิดว่าทหารฉวยโอกาสยึดครองการปฏิวัติของประชาชนนั้น ดาเลีย โมกาเฮด ผู้อำนวยการและนักวิเคราะห์จากศูนย์อาบูดาบีกัลลับ ให้ความเห็นว่า ประชาชนอียิปต์ส่วนใหญ่มองอนาคตของอียิปต์ในทางที่ดีกว่าก่อนหน้านี้

กลุ่มของดาเลียทำการสำรวจพบว่า ประชาชนชาวอียิปต์ส่วนมากคิดว่าอนาคตของอียิปต์จะดีขึ้น และส่วนใหญ่ก็มีศรัทธาต่อกองทัพและสภาคณะทหารสูงสุดของอียิปต์ (SCAF) ดาเลียกล่าวว่าจัตุรัสทาห์เรียเป็นส่วนสำคัญในเรื่องราวการลุกฮือของปียิปต์ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะผลสำรวจระบุว่าชาวอียิปต์ร้อยละ 85 เปิดเผยว่าพวกเขายังคงมีความมั่นใจในสภาทหารฯ

ที่มา
Egyptians mass in Tahrir to honour uprising, Aljazeera, 25-01-2012
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/01/201212535836564645.html

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: กลุ่มอนุรักษ์ฯ จี้ ประธานสภาฯ หนองไผ่ ถอนญัตติเหมืองโปแตช

Posted: 26 Jan 2012 12:47 AM PST

ประธานสภาเทศบาลตำบลหนองไผ่เปิดห้องคุย กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีจี้ถอดญัตติประชุมโครงการเหมืองโปแตช ชี้ยังอยู่ในขั้นตอนรอฟังผลยื่นรายชื่อคัดค้าน ด้านประธานสภาฯ ยันเรื่องเหมืองโปแตชต้องมีการพูดคุย
 
 
 
วานนี้ (25 มกราคม) เวลา 09.00 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 30 คน ได้ร่วมกันเดินทางมายื่นหนังสือต่อ ประธานสภาเทศบาลตำบลหนองไผ่ ณ ที่ทำการเทศบาลตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เพื่อเรียกร้องให้ถอดญัตติการประชุมในประเด็นโครงการเหมืองโปแตช จังหวัดอุดรธานี ออกจากวาระการประชุมสามัญของสภาเทศบาลตำบลหนองไผ่ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 26 มกราคม
 
ทั้งนี้ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เข้าพบประธานสภาฯ แล้วทำการชี้แจงถึงสถานการณ์โครงการเหมืองแร่โปแตชฯ โดยนำหลักฐานแสดงและอธิบายรายละเอียดต่อประธานสภาฯ ให้ได้พิจารณาว่า เหตุผลของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ชาวบ้านได้มีการร่วมกันรวบรวมและนำมาเผยแพร่ออกสู่สาธารณะว่าขั้นตอนการดำเนินการของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และบริษัท เอเซียแปซิฟิคโปแตซคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ เอพีพีซี ขาดความชอบธรรม เพราะดำเนินการผิดขั้นตอนของกฎหมายแร่
 
นายอดุลย์ ธรศรี ประธานสภาเทศบาลตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี กล่าวถึงเหตุผลที่มีการบรรจุญัตติการประชุมเรื่องโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ไว้ในวาระการประชุมสภาเทศบาลตำบลหนองไผ่ในครั้งนี้ว่า การจัดประชุมและบรรจุญัตติเข้าเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานสภาอยู่แล้ว ส่วนตัวเองอยากให้แต่ละฝ่ายได้มีโอกาสมาพูดคุยกัน จึงได้เชิญตัวแทนจาก กพร. อุตสาหกรรมจังหวัด บริษัท และชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ มาพูดคุยกัน เพราะได้รับการติดต่อให้ดำเนินการมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ต้องเลื่อนออกไป ในครั้งนี้จึงบรรจุญัตติเรื่องเหมืองโปแตชเข้าไปด้วย
 
“ผมขอรับรองว่าจะไม่เกิดความขัดแย้งใดๆ ขึ้นมา เพราะจะเชิญตัวแทนจากบริษัทเหมืองแร่โปแตชมาให้ข้อมูล ซึ่งก็ให้เข้ามาเพียง 3 คน เท่านั้น” นายอดุลย์ กล่าว
 
ด้าน นายบุญเลิศ เหล็กเขียว กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ตำบลหนองไผ่ กล่าวถึงการมายื่นหนังสือและเข้าพบกับประธานสภาเทศบาลตำบลหนองไผ่ ของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี นั้น เพราะต้องการให้ประธานสภาถอดญัตติการประชุมประเด็นโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ออกจากวาระการประชุม เพราะในขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผลการตอบกับจาก กพร. ต่อการยื่นรายชื่อคัดค้านการประกาศเขตคำขอประธานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี
 
“ปลายเดือนธันวา เมื่อปีที่แล้ว ทางกลุ่มได้ร่วมกันรวบรายชื่อชาวบ้าน ถึง 5,765 รายชื่อ  ส่งไปยัง กพร. เพื่อคัดค้านการขอประทานบัตรโครงการเหมืองโปแตช เพราะการดำเนินการ ของ กพร. และ บริษัทฯ ในหลายขั้นตอนขาดความชอบธรรม และผิดระเบียบของกฎหมาย พวกเราจึงไม่อยากให้มีการดำเนินการใดๆ ในขณะนี้ เกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตช เพราะต้องรอฟังผลจากที่พวกเรายื่นรายชื่อคัดค้าน ไปยัง กพร. ว่า ผลจะออกมาเป็นอย่างไร” นายบุญเลิศ กล่าว
 
นายบุญเลิศ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อประธานสภายังยืนยังที่จะบรรจุญัตติการประชุมเรื่องเหมืองโปแตชในการประชุมวันที่ 26 มกราคม ทางกลุ่มก็ยืนยันที่จะเข้าร่วมรับฟังด้วย แต่ถ้าหากว่ามีฝ่ายชาวบ้านที่สนับสนุนโครงการมาเข้าร่วมแล้วเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ 
 
“สิ่งที่อยากจะตั้งคำถามคือว่าในเมื่อชาวบ้านยื่นรายชื่อคัดค้านตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว แต่ทำไมกระบวนการผลักดันโครงการเหมืองยังไม่ยุติ จึงเป็นที่น่าสงสัยว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังในการบรรจุญัตติเรื่องเหมืองโปแตช เพื่อที่จะเกื้อหนุนให้เหมืองได้เดินหน้าต่อไป” นายบุญเลิศกล่าว
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มุกหอม วงษ์เทศ: อาถรรพ์แห่งศัพท์

Posted: 26 Jan 2012 12:44 AM PST

ศัพท์บางประเภทมีอาถรรพ์ คำบางวงศ์วานมีอาคม

ช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ความนิยมใช้คำว่า “เจ้า” พวยพุ่งรุ่งโรจน์อย่างเป็นปรากฏการณ์ สวนทางกับความนิยมในสามานยนามและวิสามานยนามเกี่ยวกับเจ้าที่ตกต่ำลง ข้าพเจ้าลองนั่งนึกสลับกับสืบค้นแบบลวกง่ายไม่ทรมานสังขารอันไม่เที่ยง ก็พบว่าคำว่า “เจ้า” มีความหมายและการใช้ตามสมัยนิยมที่รุ่มรวย หลากหลาย เหลื่อมซ้อน ย้อนแย้ง อินุงตุงนัง อาทิเช่น

(1) ผู้มีอำนาจในปริมณฑลหรือกิจการต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่, เจ้าพนักงาน, เจ้าเมือง, เจ้าสำนัก, เจ้าอาวาส, เจ้าพ่อ

(2) เหล่าพระราชวงศ์และราชนิกูลในสถาบันกษัตริย์ นับตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป (หมายเหตุ: ตามกฎนี้ ผู้มีฐานันดรศักดิ์ต่ำกว่าหม่อมเจ้า จึงไม่ใช่ “เจ้า” อย่างไรก็ดี ผู้ไม่ใช่เจ้ามาแต่กำเนิดก็สามารถถูกแต่งตั้งให้เป็น “เจ้า” ได้ หรือในกรณีที่มีการเปลี่ยนราชวงศ์ สามัญชนก็ตั้งตนเป็นเจ้าได้ เช่น รัชกาลที่หนึ่งผู้สถาปนาราชวงศ์จักรี)

(3) ผี เทพ เทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น เจ้าที่, ศาลเจ้า, ไหว้เจ้า, ทรงเจ้า

(4) God - พระเจ้า, พระผู้เป็นเจ้า

(5) ความเป็นเจ้าของ หรือผู้เป็นใหญ่เหนือสิ่งของ เช่น เจ้าหนี้, เจ้าทรัพย์, เจ้าบ้าน

(6) ผู้มีความเชี่ยวชาญช่ำชองในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น เจ้าเล่ห์, เจ้าชู้, เจ้าคารม, เจ้ากี้เจ้าการ

(7) สรรพนามบุรุษและสตรีที่สองและสาม ใช้แทนผู้ที่เราพูดด้วยและพูดถึง โดยมีนัยยะถึงคนที่มีสถานะต่ำกว่าหรือเท่ากัน เช่น

“ชายชาติอาชาไนยอย่างข้า ไม่เอาเจ้าด้วยกำลังหรือเล่ห์เพทุบายดอก” “วันหลังคุณอย่าพาเจ้าหนูมาที่นี่อีกนะ ดิฉันรำคาญเด็ก” “เจ้าหล่อนนึกยังไงหนอ ถึงยอมไปไหนมาไหนกับเจ้าราฟาเอล”

นอกจากนี้ยังเกิดความนิยมใช้ “เจ้า” นำหน้าสิ่งไม่มีชีวิตหรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่คน นัยว่าเพื่อแสดงตนเป็นคนสุภาพน่ารัก จิตใจดี มีความเอ็นดูอันเหลือเฟือให้กับสรรพสิ่ง เช่น “อพยพออกจากบ้านเป็นเดือนแล้ว ทำไมเจ้ามวลน้ำไม่เห็นมาเสียที” “อนิจจา, พวกใจบาปจะมากำจัดน้ำเน่ากันแล้ว เรามาร่วมสวดมนต์ให้เจ้าแบคทีเรียกันเถอะ”

(8) ผู้ประกอบการ เช่น “ลูกชิ้นปิ้งเจ้านี้อร่อยที่สุด ใส่บอแรกซ์ไม่อั้น” “เจ้านี้ก็ห่วย เจ้าโน้นก็ห่วย เจ้าที่คนมะรุมมะตุ้มแย่งกันยิ่งห่วย แถวนี้ห่วยทุกเจ้า”

(9) คำอุทาน คำสบถ คำร้องเรียกความสนใจ หรือคำลงท้ายขานรับ เช่น “อุแม่เจ้า!” “แม่เจ้าโว้ย!” “เจ้าข้าเอ๊ย!” “สั่งสอนพวกไม่รู้จักที่ต่ำที่สูงเสร็จเรียบร้อยแล้วเจ้าค่ะ!” “จะให้บ่าวเชือดไก่ให้ลิงดูอีกตัวไหมเจ้าคะ?”

น่าประหลาดที่คำว่า “เจ้า” ตามอักขรวิธีและการสะกดในปัจจุบันมีนัยความหมายและการใช้มากมายและวุ่นวายขนาดนี้ ในบางกรณี ความหมายแบบหนึ่งทำลายความหมายอีกแบบหนึ่งจนย่อยยับอย่างไม่น่าให้อภัยโทษและอยู่ร่วมราชอาณาจักรกันได้
 

ศัพท์กำราบ สาปด้วยศัพท์

นับตั้งแต่กระแสเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ การปฏิรูปและการวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ทวีความเข้มข้นพร้อมส่งสัญญาณไม่ยอมจำนน บรรดาสาวกและอัศวินแห่งลัทธิเทวราชากลายพันธุ์ (รวมทั้งพวกโหนเจ้าทั้งที่อาจไม่ได้นิยมเจ้าด้วยใจจริง) ต่างกระวีกระวาดสาดถ้อยคำเข้าใส่ปีศาจแห่งความเป็นสมัยใหม่อย่างเมามัน

“กำเริบเสิบสาน” “เหิมเกริม” “เห่อเหิม” “ลบหลู่” “จาบจ้วง” “ล่วงละเมิด” “ล่วงเกิน” “ก้าวล่วง” “อาจเอื้อม” “บังอาจ” “ตีตนเสมอ” “มักใหญ่ใฝ่สูง” “หมิ่นเบื้องสูง” “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” “หลู่พระเกียรติ” “ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท” “มิบังควร” “ดึงฟ้าต่ำ” “อกตัญญู” “เนรคุณ” “ทรยศ” “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” “ล้มเจ้า” “ล้มล้างราชบังลังก์” “ไม่จงรักภักดี” “ไม่สำนึกบุญคุณ” “ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง” “ไม่เจียมกะลาหัว” “เหาจะกินหัว” “ขี้กลากจะขึ้นหัว” “นรกจะกินกบาล”

ศัพท์แสงสำนวนโวหารหรูหราเหล่านี้ล้วนร้อยรัดอยู่กับแก่นแกนอุดมการณ์โบราณเดียวกัน (“โบราณ” แต่ก็เป็นการผสมผสานอย่างไม่สถิตของ “มรดก-ซากเดน-เพิ่งสร้าง-ประดิษฐ์ใหม่-กลายพันธุ์”) อุดมการณ์ศักดินาที่ทรงฤทธิ์นี้อ้างอิงปนบิดผันอุดมการณ์พุทธปนพราหมณ์ว่าด้วยการแบ่งแยกลำดับชั้นตามชาติกำเนิด สิทธิธรรมและบุญญาบารมี ด้วยลักษณะสังคมแบบ “ยศช้างขุนนางพระ” และ “นายว่าขี้ข้าพลอย” ภาษาไทยจึงมีคำ “ด่า-แดกดัน” เกี่ยวกับการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ลำดับชั้นมากมายหลายเฉดให้เลือกใช้ตามแต่อกุศลจิต ภาษา “คุณไสย” จำพวกนี้มีหน้าที่ตำหนิติเตียน ผรุสวาท เหยียดหยาม เยาะหยัน ข่มขู่ และสาปแช่งการ “ละเมิด” หลักการและคุณค่าว่าด้วยความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของสถานภาพบุคคลที่ฝ่ายต่ำศักดิ์กว่า (คนสามัญ ไพร่ ฆราวาส) กระทำต่อฝ่ายสูงศักดิ์กว่า (คนชั้นสูง เจ้านาย พระสงฆ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์)

ภายใต้ระเบียบสังคมแนวดิ่ง เมื่อใดที่คนสถานะต่ำไม่ประพฤติตนทั้งกาย วาจา ใจตามกติกาที่บังคับให้นอบน้อมสวามิภักดิ์ต่อคนสถานะสูง สังคมไทยถือว่าเป็นการแหกจารีตแบบแผนที่อัปมงคลและชั่วช้าสามานย์อย่างยิ่ง จำต้องประณาม ประจาน ประชด และกดปราบพฤติกรรมที่สั่นคลอนโครงสร้างอำนาจและอุดมการณ์ “คนต้องไม่เท่ากัน” แบบไทยให้สิ้นพิษสง ในโลกทัศน์และขอบฟ้าจินตนาการของคนรุ่นเก่าหัวโบราณ คนรุ่นใหม่ที่คร่ำครึกว่าคนหัวก้าวหน้าเมื่อร้อยกว่าปีก่อน หรือกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่ของคนทั่วไปที่นิยมเจ้า “เจ้า” แม้จะเชื่อได้ยากแล้วว่าเป็นอวตารของเทพแขก แต่ก็ยังเชื่อได้ง่ายว่าเป็นผู้สั่งสมบุญญาบารมีมามากและไม่มีทางจะเป็นคนธรรมดาได้ดังความเชื่อที่แพร่หลายว่า “พระมหากษัตริย์ อย่างไรก็อยู่สูงกว่าคนทั่วไป”

นอกจากข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดหลักแห่ง hierarchy แล้ว การปิดปากการวิจารณ์และสกัดกั้นการปฏิบัติต่อเจ้าในฐานะบุคคลแบบเดียวกับสามัญชนอีกแบบที่ร้ายกาจยิ่งกว่าคือการอ้างว่าเป็นเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจเหล่าผู้รักและศรัทธา ซึ่งเป็นวิธีให้เหตุผลชนิดเดียวกันของเหล่าศาสนิกชนหัวรุนแรงที่ไม่อาจทนให้ศาสนาและศาสดาของตนถูกแตะต้องได้ ยิ่งใช้ข้ออ้างนี้เป็นรากฐานมากเท่าใดก็ยิ่งทำให้ “Head of State” กลายเป็น “God, Prophet, Spiritual Leader” มากขึ้นเท่านั้น ขันติธรรมซึ่งเป็นคุณค่าสำคัญในสังคมประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏในสังคมที่ปราศจากขันติต่อการแตะต้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้

ขัดกับคุณค่า “มนุษยนิยม” ของนานาอารยะชน, ลักษณะกึ่ง “เทวสถานะ” ดังที่เป็นอยู่จริงเห็นประจักษ์ชัดแจ้งได้จากความเชื่อเกี่ยวกับคุณงามความดีอันบริสุทธิ์ไร้ข้อด่างพร้อย (ซึ่งลดหลั่นกันไปไม่เท่ากัน และซึ่งสะท้อนว่าไม่ใช่ “เทวนิยม” แบบโบราณที่สามารถใช้พระเดชโดยไม่จำเป็นต้องใช้พระคุณ) พิธีกรรมทั้งแบบรัฐพิธีและลัทธิพิธี แบบแผนอากัปกิริยา กฎหมายลายลักษณ์อักษร กฎหมู่ที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร กิจกรรมเทิดไท้ ประเพณียอพระเกียรติ และธรรมเนียมคำราชาศัพท์
 

ราชาศัพท์: ศัพท์ศักดินาแห่งลัทธิเทวราชา

“ความสำคัญของราชาศัพท์
1. ราชาศัพท์เป็นระเบียบการใช้คำพูดของไทยให้สุภาพตามชั้นของบุคคล
2. ราชาศัพท์บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมอันดีของชาติไทย
3. การเรียนรู้ราชาศัพท์ถึงขั้นสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ บ่งบอกถึงระดับการศึกษาของผู้ใช้
4. การพูดราชาศัพท์ได้ถูกต้องและเหมาะสม นอกจากแสดงถึงการรักชาติแล้ว ยังเป็นการแสดงถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ไทยอีกด้วย”
                                                                      คติความเชื่อทั่วไปเกี่ยวกับราชาศัพท์


“การใช้ “ราชาศัพท์” นี้ ไม่ใช่ใช้เมื่อกราบบังคมทูลหรือกราบทูลเฉพาะพระองค์ท่านเท่านั้น แม้จะเป็นการกล่าวถึงหรือกล่าวลับหลังก็ต้องใช้ราชาศัพท์ อย่าคิดว่าเป็นการพูดกันเองหรือประสงค์จะพูดเร็ว จึงใช้คำธรรมดาแทนใช้ราชาศัพท์ ซึ่งจะเป็นการไม่ถวายความเคารพไป”
                                                                                     จำนงค์ ทองประเสริฐ, 2528

“ความจริงราชาศัพท์เป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ก็เป็นของที่ยังตัดไม่ขาดในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์...ในที่นี้ก็จะต้องขอวางหลักไว้ว่า ราชาศัพท์นั้นถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงเสียดีกว่า พึงใช้เฉพาะในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้นเอง”
                                                                                      คึกฤทธิ์ ปราโมช, 2495

วันเวลาสมัยประถมเป็นอดีตอันแสนสุขที่ข้าพเจ้าหวนหาอาลัยอยู่เสมอ นอกจากต้องเรียนคัดลายมือด้วยดินสอบ้างปากกาหมึกซึมบ้างเพื่อเอาดีในวิชาชีพเสมียน, ฝึกทักษะเย็บปักถักร้อยเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน และหัดคลานเข่าไปหาคุณครูตามประเพณีศักดินาในโรงเรียนแล้ว ข้าพเจ้ายังได้สนุกสนานเพลิดเพลินกับการท่องจำคำราชาศัพท์เพื่อการสอบเลื่อนชั้นแต่ไม่เลื่อนสถานะอีกด้วย

ในบรรดาหมวดหมู่วิชาภาษาไทยทั้งหมด ข้าพเจ้าชอบหมวดคำราชาศัพท์ที่สุด เพราะเต็มไปด้วยภาษาแปลกใหม่ที่ข้าพเจ้าไม่เคยพบไม่เคยเห็นและไม่เคยใช้ในชีวิตมาก่อน อย่างไรก็ดีคำศัพท์เกี่ยวกับอากัปกิริยาพื้นๆ อย่างเสด็จ เสวย ตรัส ทูล จำพวกนั้นไม่มีอะไรดึงดูดใจนัก อาณาจักรที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดกลับคือหมวดอวัยวะ ศัพท์แสงอันวิจิตรพิสดารและยากแก่การจดจำทำให้สมัยนั้นข้าพเจ้าเชื่อว่าผู้เป็น “เจ้า” จะต้องมีอวัยวะชนิดวิเศษผิดแผกแตกต่างจากคนธรรมดาเป็นแน่แท้ หู ตา คอ จมูก ตับ ไต ไส้ ปอด ไหปลาร้า รักแร้ ไม่มีทางจะเป็นอวัยวะชนิดเดียวกันกับพระกรรณ พระเนตร พระศอ พระนาสิก พระยกนะ พระวักกะ พระอันตะ พระปัปผาสะ พระรากขวัญ พระกัจฉะเป็นอันขาด ตับก็คือตับ, just ตับ, แต่พระยกนะคือตับศักดิ์สิทธิ์ เมื่อชันสูตรในเชิงเทวชีววิทยา “ตับ” จึงเป็นอวัยวะชนิดเดียวกันกับ “liver” แต่คนละชนิดกับ “พระยกนะ”

เหมือนบทสวดมนต์ที่เราถูกสอนให้ท่องจำอย่างไม่ประสีประสา เป็นเวลานานกว่าที่ข้าพเจ้าจะเข้าใจสำนวนที่ได้ยินบ่อยในโทรทัศน์จนไม่เคยเฉลียวใจว่ามันจะใช้การอุปมาอุปไมยที่น่าตื่นตะลึงอย่างเหลือเชื่อ ตัวอย่างเช่นวลี “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” นั้นเมื่อถอดรหัสก็จะได้ความว่า “ขอให้อำนาจบารมีละอองฝุ่นใต้ฝ่าเท้า (ของผู้ที่พูดด้วย) ปกป้องคุ้มครองหัวและกระหม่อม (ของผู้พูด)” ด้วยสมรรถภาพอันจำกัดของมนุษย์ ถึงจะเข้าใจโครงสร้างประโยคแล้วแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะนึกภาพตามได้ง่ายๆ เลย ข้าพเจ้าคิดว่าการใช้เทคนิคทางด้าน graphic หรือ animation น่าจะช่วยได้เยอะทีเดียว

ต่อเรื่องการพูดกับอวัยวะ ไม่ใช่การพูดระหว่างคนกับคนด้วยกัน คึกฤทธิ์, รอยัลลิสต์คนสำคัญในอดีตผู้ทำให้รอยัลลิสต์รุ่นใหม่ทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญสมัยนี้ดูจะเป็นเผ่าพันธุ์ที่เชาว์ปัญญาและไหวพริบปฏิภาณถูกทำลายจนเสียหายไปมาก, เปรียบเปรยได้กระจ่างแจ้งแก่กระหม่อมดียิ่งว่า “ธรรมดาคนเราเมื่ออยู่ใกล้อะไรก็ต้องติดต่อกับสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด ฉะนั้นเมื่อเราอยู่ใต้เท้าของท่าน เราจะไปพูดกับอวัยวะส่วนอื่นของท่านที่อยู่สูงขึ้นไปกว่าฝ่าเท้าได้หรือ? เราก็ได้แต่พูดกับ “ใต้เท้า” ของท่านที่กดตัวเราไว้นั่นเอง” แต่เนื่องจากการไขข้อข้องใจนี้เป็นการตอบผู้อ่านที่ถามเรื่องคำสรรพนาม “ใต้เท้า” มิใช่ “ฝ่าบาท” หรือ “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท” คึกฤทธิ์จึงเหน็บ (ใครก็ไม่รู้) ต่อไปราวกับไม่ได้ฉุกใจไปถึงราชาศัพท์ว่า “แต่บังเอิญหนังเท้าของคนนั้น ธรรมชาติมิได้สร้างมาให้มีโสตประสาท คือมิได้สร้างมาให้ใช้ฟังเสียง เราจะพูดกับ “ใต้เท้า” ของท่านสักเท่าไรท่านจึงไม่ค่อยได้ยิน เพราะเท้ากับหูมันไกลกันนัก...”

จะส่งสารไปถึงใครก็ช่างคุณชาย แต่คนชั้นผู้น้อยอย่างเราก็เก็บเกร็ดความรู้มาประดับตัวว่า เมื่อต้องวิสาสะกับคนชั้นสูงหรือคนมีอำนาจบารมี คนสามัญชั้นต่ำต้องพูดกับฝ่าเท้าบ้าง ฝุ่นใต้ฝ่าเท้าบ้าง ไม่สามารถจะอาจเอื้อมเผยอตัวไปพูดกับตัว หัว หรือใบหน้าของคนที่มีสถานภาพสูงกว่าแบบเสมอกันหรือแม้แต่ใกล้กันได้

แน่นอนว่าหลักเกณฑ์ในการใช้ราชาศัพท์ยังมีความสลับซับซ้อนต่อไปอีกมากเฉกเช่นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่ทำหน้าที่เสกสรรปั้นแต่งความมหัศจรรย์มลังเมลืองแก่เทพยดา ตามอรรถาธิบายอย่างเป็นทางการ ราชาศัพท์หมายถึง “ระเบียบการใช้คำพูดของไทยให้สุภาพตามชั้นของบุคคล” โดยหลักเกณฑ์ในการใช้นั้นขึ้นอยู่กับผู้ที่พูดด้วยเป็นสำคัญ อันสรุปได้ว่า ราชาศัพท์ใช้กับบุคคลที่มีฐานันดร-อิสริยยศสูงกว่าผู้พูด คำราชาศัพท์มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะศัพท์ที่ใช้กับราชาเท่านั้น แต่หมายถึงแบบแผนการใช้ภาษาสุภาพระดับต่างๆ ตามระดับชั้นของบุคคล แต่ถึงกระนั้น เมื่อพูดถึงราชาศัพท์ ก็เป็นที่เข้าใจทั่วกันว่าหมายเฉพาะถึงศัพท์ที่ใช้กับเจ้า

ราชาศัพท์ปรากฏดกดื่นที่สุดในบทกวีเทิดพระเกียรติ, ข่าวในราชสำนัก, การบรรยายพระราชพิธี, ภาษาราชการ,​ ข้อเขียนทั่วไป-วิชาการ, ถ้อยคำแสดงความจงรักภักดีผ่านมัลติมีเดีย ฯลฯ

ตำราทั่วไปอธิบายที่มาของคำราชาศัพท์ว่ามีขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติบุคคลในสถาบันกษัตริย์ให้สูงกว่าคนทั่วไป ตำรามักอ้างอย่างสบายอกสบายใจว่าภาษาบาลี-สันสกฤตเป็นภาษาในคัมภีร์ศาสนา จึงเป็นภาษาสูงส่งศักดิ์สิทธิ์ในตัวเองที่จะหยิบยืมมาใช้เป็นราชาศัพท์ แต่ตำรามักอึดอัดคับข้องในการอธิบายว่าทำไมราชาศัพท์ไทยจึงใช้ภาษาเขมร และหลบหลีกเฉไฉให้คำอธิบายที่ไม่ได้อธิบายอะไรเลยทำนองว่า “เป็นการเทิดพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวไทยในฐานะทรงเป็นผู้ปกครองแผ่นดิน”

มรดกทางศิลปวิทยาการและวัฒนธรรมไทยโดยเฉพาะในราชสำนักเต็มไปด้วยร่องรอยที่มาจากวัฒนธรรมเขมร (ซึ่งรับวัฒนธรรมอินเดียอย่างพราหมณ์-ฮินดู พุทธมหายาน คติเทวราช-สมมติเทพ) ไม่ว่าจะตัวอักษร ตัวเลข คำศัพท์ ระบบความเชื่อ ประเพณีพิธีกรรม เครื่องนุ่งห่ม ดนตรี นาฏศิลป์ แต่วัฒธรรมไทยในยุคหลังและร่วมสมัยก็ส่งอิทธิพลต่อประเทศกัมพูชาหลายด้านด้วยเช่นกัน การรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมกันไปมาตามเงื่อนไขทางสังคมการเมืองของแต่ละยุคสมัยจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เรื่องที่โคตรแปลกกลับคือการรับแล้วไม่ยอมรับว่ารับ แถมกลับยักยอกเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองคนเดียว

นอกจากคำบาลี-สันสกฤตแล้ว ศัพท์จำนวนมากที่ประกอบกันขึ้นเป็น “ราชาศัพท์” คือ คำเขมรหรือขอม ผู้สันทัดกรณีให้ทัศนะว่า กษัตริย์และชนชั้นสูงในราชสำนักในรัฐทวาราวดี-ละโว้-อโยธยาก่อนสมัยอยุธยาใช้ภาษาขอมหรือเขมรเป็นภาษาราชสำนัก ในขณะที่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินหลากหลายเผ่าพันธุ์อาจพูดไทย ลาว มอญ เขมร ชวา มลายู ฯลฯ ภาษาเขมรจึงถือเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ในราชสำนักและในวรรณคดีพิธีกรรมนับแต่บัดนั้น ครั้นเมื่อกลุ่มชนชั้นนำใหม่ซึ่งพูดภาษาไทยในสมัยอยุธยาเข้ามามีอำนาจและอิทธิพลแทนที่ชนชั้นนำเก่าที่พูดเขมร ภาษาไทยก็กลายเป็นภาษากลางในการสื่อสารทั่วไปทั้งในและนอกราชสำนัก โดยที่ภาษาเขมรที่เคยใช้ในราชสำนักก็มิได้ถูกยกเลิกไป แต่กลับถูกยกเทิดเป็น “ราชาศัพท์” หรือภาษาพิเศษสำหรับใช้กับพระราชาและเหล่าเจ้านายชั้นสูง ต่อมาบรรดาปราชญ์ราชสำนักสมัยหลังก็พัฒนาศัพท์แสงและกฎเกณฑ์เกี่ยวกับราชาศัพท์ให้ทวีความซับซ้อนขึ้น เป็นกลอุบายสร้างภาษา “เทพ” เพื่อเนรมิตความขรึมขลังมหัศจรรย์น่ายำเกรงให้ท่วมท้นล้นพ้น และเพื่อที่พวกไพร่ทาสจะได้ประหวั่นพรั่นพรึงไปตลอดกาล

(ข้อโต้แย้งเรื่องเขมร กับขอม อาจยังไม่ยุติ แต่ในชั้นนี้คือการยืนยันข้อเท็จจริงพื้นฐานเพียงว่า “คำราชาศัพท์ไม่ใช่ภาษาไทย” - คำไทยซึ่งอยู่ในตระกูลภาษาคำโดดคือ “กู-มึง” ไม่ใช่ “กระหม่อม-ฝ่าบาท” เมื่อรับคติวัฒนธรรมศาสนาจากภายนอกเพื่อเทิดทูนสถานะชนชั้นปกครองให้ทะลุถึงยอดเขาพระสุเมรุ-สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คำพื้นเมืองแต่เดิมจึงกลายเป็นคำไม่สุภาพไป)

ภาษาเขมรซึ่งเป็นภาษาพูดของกษัตริย์และชนชั้นสูงในราชสำนักก่อนสมัยอยุธยา กลายมาเป็นภาษาที่กษัตริย์และชนชั้นสูงในราชสำนักสมัยต่อมาไม่ได้พูดในชีวิตประจำวัน แต่กลับเป็นภาษาที่คนธรรมดาต้องฝึกฝนศึกษาวิธีใช้เมื่อจะพูด/เขียนถึงเจ้า

พูดอย่างไพร่ๆ แล้ว เนื่องจากเจ้ากับไพร่ไม่ใช่คนเหมือนกัน เจ้าจะพูดกับไพร่ด้วยภาษาปกติธรรมดา (“สบายดีไหม?”) แต่ไพร่ต้องพูดกับเจ้าโดยเฉพาะกษัตริย์และเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ด้วยภาษาพิเศษอันวิจิตรพิสดาร (“ด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้ามีความสุขสบายดีพระพุทธเจ้าข้าขอรับ”) ส่วนการเรียนรู้วิธีที่จะ “เพ็ดทูล” แบบชาววังที่คนนอกวังไม่มีทางสำเหนียก ก็ย่อมจำกัดอยู่ในแวดวงราชสำนักอยู่นั่นเอง

นอกจากนี้เจ้าอาจใช้ราชาศัพท์ไม่คล่อง หรือรู้อย่างจำกัด เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ และดังนั้นจึงอาจฟังไม่เข้าใจ หากพวก “เกินกว่าเจ้า” ระริกระรี้ใช้ราชาศัพท์อย่างวิจิตรพิสดารด้วย

จะว่าไป, กฎพื้นฐานที่ใครก็อาจสังเกตได้ก็คือ ภาษาศักดิ์สิทธิ์มักต้องเป็นภาษาต่างด้าว ไม่ใช่ภาษาพื้นเมืองที่คนพื้นเมืองผู้อยู่ใต้การปกครองใช้กันทั่วไป เพื่อจำกัดผู้รู้ จำกัดผู้ใช้ จำกัดการเข้าถึง เพื่อเสกสร้างความวิเศษสูงส่งอันผิดแผกจากธรรมดา ความศักดิ์สิทธิ์ต้องลี้ลับและแยกขาดออกจากความสาธารณ์

อาจเรียบเรียงเรื่องราวให้รวบรัดอีกลีลาได้ว่า ในอดีต ภาษาเขมรที่ต่อมาเรียกว่า “ราชาศัพท์” เคยเป็นภาษาพูดปกติของเจ้า แต่ในปัจจุบัน “ราชาศัพท์” กลายเป็นภาษาที่เจ้าไม่ได้พูด แต่พวกไม่ใช่เจ้าต้องใช้พูดกับเจ้า อนึ่ง เจ้าต่ำศักดิ์กว่าต้องใช้ราชาศัพท์กับเจ้าสูงศักดิ์กว่าด้วยศัพท์แสงตามระดับของฐานันดรที่บัญญัติไว้เช่นกัน--แต่เราจะละไว้ ไม่กล่าวถึงกรณีเจ้าต่างชั้นหรือเจ้าเสมอกันเหล่านี้อีก

น่าคิดน่าขันพอประมาณที่ในอดีต “คำเขมร” เคยเป็นภาษาพูดแบบ native speaking ของกษัตริย์และชนชั้นนำในราชสำนัก แต่นับจากสมัยอยุธยา รัตนโกสินทร์ กระทั่งทุกวันนี้ “คำเขมร-บาลี-สันสกฤต” กลายเป็น “ศัพท์เฉพาะ” ที่พวก “อเจ้า” ต้องใช้กับ “เจ้า”

โดยที่ “อ” เป็นสัญญะแบบ paradox ที่หมายถึง “ไม่ใช่” และ “เอา” ในเวลาเดียวกัน “อเจ้า” (ไม่ใช่เจ้า + เอาเจ้า) หมายถึงบุคคลผู้ไม่ใช่เจ้าแต่ทว่ามีอัตลักษณ์ยึดโยงกับระบอบเจ้าอย่างแรงกล้า หากถูกสั่นคลอนหรือถูกพรากจากการโอบรัดนี้ก็จะรู้สึกสูญเสียอัตลักษณ์ความเป็นคนไทยและอาจกระทั่งความเป็นคน “อเจ้า” คือผู้ที่ไม่สามารถมีความเป็น “ปัจเจกชน” ได้โดยปราศจากสถาบันอันเป็นศูนย์รวมจิตใจอันยิ่งใหญ่ ความเป็นตัวตนของ “อเจ้า” จึงเกาะเกี่ยวอย่างแน่นแฟ้นอยู่กับ “เจ้า” ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามหรือสิ่งที่เขามิได้เป็น กล่าวอีกนัยหนึ่ง การดำรงอยู่ของ “เจ้า” เป็นสิ่งนิยามตัวตนของ “อเจ้า” และการที่ความเป็น “เจ้า” ดำรงอยู่ได้ก็เพราะการดำรงอยู่ของพวก “อเจ้า” นั่นเอง

ในครรลองคล้ายกับความเป็น “fundamentalism” ที่บูชาลัทธิศาสนาและศาสดาด้วยท่าทียึดมั่นต่อคุณลักษณะอันล่วงละเมิดมิได้และต่อต้านความเป็นสมัยใหม่อย่างสุดขั้ว (สโลแกนล่าสุด: “คนที่ไม่จงรักภักดี ต้องตายก่อนเวลาที่กำหนดไว้” “ล้าหลัง คลั่งเจ้า ดีกว่า ก้าวหน้า เนรคุณ”/ คติธรรมประจำยุคสมัย: ฆ่าคนที่ไม่จงรักภักดีไม่บาป ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ใช่อาชญากรรม) ราชาศัพท์คือพิธีกรรมแห่งถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์แห่งลัทธินิยมเจ้า ด้วยจุดมุ่งหมายอันชัดแจ้งจนแทบไม่ต้องขยายความ ชนชั้นปกครองและบริวารบังคับใช้ราชาศัพท์เพื่อ “ถ่าง-ตรึง” ลำดับชั้น และ “แยก-ยก” หน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ออกจากชนชั้นใต้ปกครอง

ดังที่ชาวพุทธทราบกันดีว่า “พระพุทธเจ้าเสด็จไปตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา แต่เมื่อพระองค์ไม่ทรงพบทางพ้นทุกข์ จึงทรงหันมาบำรุงพระวรกายตามปกติ และในที่สุดพระองค์ก็ทรงตรัสรู้ขณะมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา” ขนบราชาศัพท์นี้ลุกลามไปถึงวงการพุทธศาสนาด้วย พระพุทธเจ้าออกผนวช ละทางโลกย์ ขบถต่อระบบวรรณะฮินดู ทิ้งฐานันดรศักดิ์ของ “เจ้าชายสิทธัตถะ” ในระบอบกษัตริย์แล้ว แต่พุทธแบบไทยกระแสหลักยังพอกหนาด้วยกิเลสตัณหาอุปาทานและความพะรุงพะรังของพัดยศ-สมณศักดิ์-ฐานานุกรม-ราชทินนาม จนดูจะถวิลหาความเป็น “เจ้าชาย” มากกว่าความเป็น “นักบวช” ของ Buddha เสียอีก ยิ่งตรึกตรองก็ยิ่งตลก ทั้งพุทธเจ้าขุนมูลนายและพุทธพาณิชย์ต่างพากันเข้าหาพุทธศาสนาด้วยสำนึกเสน่หาอย่างลึกซึ้งในคุณสมบัติของความเป็น “เจ้า” ในระบอบกษัตริย์ ตั้งแต่ฐานันดร ทรัพย์สฤงคาร พิธีกรรม ไปจนถึงเดชานุภาพ

จารีตราชาศัพท์จึงเป็นเครื่องค้ำพุทธกระแสหลักแบบไทยที่รับใช้ราชสำนัก แต่เป็นเครื่องขวางการบรรลุธรรมอันเนื่องมาจากภาษาที่เต็มไปด้วยการยึดติดในมายาและมิจฉาทิฐิแห่งลัทธิเทวราช คิดแบบเซนแล้ว คงต้องปัดกวาดผงฝุ่นราชาศัพท์ออกจากกระจกเงาแห่งภาษาธรรมและภาษาพรรณนาตถาคตให้หมดสิ้น หนทางแห่งการบรรลุ “พุทธะ” จึงจะปรากฏ ตราบใดที่เหล่าพระเถระซึ่งไม่เพียงเสพติดลาภยศสรรเสริญและอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์หนักกว่าฆราวาส ซ้ำร้ายยังหล่อเลี้ยงตัวตนด้วยญาณวิทยาและจิตใจอันคับแคบ พวกเขาก็จะตกเป็นทาสวัฒนธรรมศักดินา-ชาตินิยมไทยภายใต้ผ้าเหลืองแห่งความหลอกลวงตลอดไป

“ถ้าคนไม่นิยมจะรับคำยกยอนั้นมากขึ้น คำราชาศัพท์ก็คงละลายลบหมดไปเอง”

ในช่วงปี 2484 กรมดำรงฯ ณ “บ้านซินนามอน ปีนัง” และเจ้าฟ้านริศฯ ณ “ตำหนักปลายเนิน คลองเตย” เขียนจดหมายโต้ตอบกันเรื่อง “ราชาศัพท์” ตามความที่คัดมาดังนี้

“เห็นในหนังสือพิมพ์บางกอกไตม์วันที่ 19 กันยายน ลือว่าจะเลิกใช้ราชาศัพท์ หม่อมฉันนึกขึ้นถึงวินิจฉัยมูลของราชาศัพท์ ซึ่งได้เคยคิดมาแต่ก่อน จึงเอามาทูลบรรเลงในจดหมายฉบับนี้ ที่เรียกว่า “ราชาศัพท์” หมายความว่า “คำพูดของเจ้า” หรือ “คำพูดแก่เจ้า” มิใช่แต่เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น แต่ประหลาดอยู่ที่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ -

ก. เจ้าพูดก็ไม่ใช่ราชาศัพท์สำหรับพระองค์เอง เช่นจะว่า “ฉันเสวย” “ฉันบรรทม” หรือ “พระขนงของฉัน” หรือ “พระเขนยของฉัน” หามีไม่ ย่อมใช้ศัพท์ภาษาไทยที่พูดกันเป็นสามัญว่า “ฉันกิน ฉันนอน คิ้วของฉัน และหมอนของฉัน” แม้พระเจ้าแผ่นดินก็ตรัสเช่นนั้น

ข. คำราชาศัพท์ที่เป็นภาษาเขมรเช่น “ขนง เขนย” พวกเขมรแม้มาพูดในเมืองไทยเขาก็ใช้สำหรับคนสามัญ ไม่ได้เรียกว่า ขนง เขนย คิ้ว และหมอนของเจ้า

เค้ามูลดูเป็น 2 ภาษาต่างกัน คือ ภาษาไทยภาษา 1 ภาษาราชาศัพท์อันเป็นคำเอามาจากภาษาเขมรกับภาษามคธและสันสกฤตโดยมากภาษา 1 ลักษณะที่ไทยใช้ราชาศัพท์ก็เป็นคำผู้ที่มิใช่ใช้เรียกกิริยาหรือวัตถุอันเป็นของเจ้า หรือว่าโดยย่อ ราชาศัพท์ดูเป็นคำผู้เป็นบริวารชนใช้สำหรับผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ หรือถ้าว่าอีกอย่าง 1 ดูเป็นเอาภาษาของคนจำพวกอื่นที่ใช้สำหรับไทยที่มาเป็นเจ้านายผู้ปกครองของตน มีเค้าจะสังเกตในคำจารึกและหนังสือเก่า เห็นได้ว่าคำราชาศัพท์ใช้ในกรุงศรีอยุธยาดกกว่าที่อื่น ยิ่งเหนือขึ้นไปยิ่งใช้น้อยลงเป็นลำดับ...

...เมื่อแรกตั้งราชาศัพท์ ภาษาที่ใช้กันในพระนครศรีอยุธยายังสำส่อน เลือกเอาศัพท์ที่เข้าใจกันมากมาใช้ และราชาศัพท์ในครั้งแรกจะไม่มีมากมายนัก ต่อมาภายหลังจึงคิดเพิ่มเติมขึ้น ด้วยเกิดคิดเห็นว่าของเจ้าควรจะผิดกับของไพร่ให้หมด ใช่แต่เท่านั้นยังคิดใช้ราชาศัพท์ผิดกันในเจ้าต่างชั้น เช่น คำว่าตาย ใช้ศัพท์ต่างกันตามยศเป็นหลายอย่าง และคิดคำอย่างราชาศัพท์สำหรับผู้มียศแต่มิใช่เจ้าขึ้นอีก...ถ้ารวมความก็ประสงค์จะแสดงว่าสูงศักดิ์ผิดกับผู้อื่นเท่านั้น...

...ราชาศัพท์นั้น ว่าที่จริงก็มีในภาษามนุษย์ทุกประเทศ เช่นคำว่า His Majesty, His Excellency ก็ราชาศัพท์นั่นเอง แต่ของไทยเราเลอะมาก โดยเฉพาะเมื่อมีผู้คิดตำราขึ้น และพูดเพื่อจะยกยอให้วิเศษไพเราะยิ่งขึ้นไป จึงเลยเลอะ แต่หม่อมฉันเห็นเป็นใหญ่อยู่ที่ความนิยม ถ้าคนไม่นิยมจะรับคำยกยอนั้นมากขึ้น คำราชาศัพท์ก็คงละลายลบหมดไปเอง เพราะใช้ราชาศัพท์นั้นผู้พูดต้องท่องจำและเลือกคำพูดลำบากมิใช่น้อย”

                        สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, วันที่ 29 กันยายน และ 20 ตุลาคม 2484

“...จะเห็นได้ที่คำ “ข้าพระพุทธเจ้า” แต่ก่อนนี้ไม่มีใครเขาใช้แก่เราเลย ทำให้คิดเห็นได้ว่าคำทั้งปวงนั้นค่อยมีค่อยมาตามสาเหตุที่เกิดขึ้น แล้วจึงเก็บทำขึ้นเป็นตำราราชาศัพท์ แต่ก็เก็บไม่หมด ทั้งคำที่เกิดขึ้นทีหลังก็ไม่ได้อยู่ในตำราราชาศัพท์ และตำราราชาศัพท์ก็ไม่ได้ประสงค์จะทำคำของเจ้าใช้อย่างที่เราเข้าใจกันอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นประสงค์เพียงแต่จะพูดกับเจ้าให้เพราะพริ้งเท่านั้น ...แม้หาคำในตำราราชาศัพท์ไม่ได้ก็ผูกขึ้น เช่น “หลอดพระวาตะ” ฝ่าพระบาทเข้าพระทัยหรือไม่ว่าเป็นอะไร หมายความว่าท่อหายใจ แปลเทียบมาจากคำที่เรียกกันตามสามัญว่า “หลอดลม” แต่เชือนไปเป็นลำไส้ เพราะ “วาตะ” คำเจ้าว่า “ ตด”
                                          สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, วันที่ 14 ตุลาคม 2484

พินิจแบบไม่สนเจ้าสนไพร่แล้ว ในยุคก่อนการโหมโฆษณาชวนเชื่อสถาบันกษัตริย์ “เจ้า” อย่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์นั้น (ในห้วงขณะที่ฝ่ายเจ้าถูกลิดรอนอำนาจและควบคุมกิจกรรมหลังการปฏิวัติ 2475) ดูจะมีความเป็น “รอยัลลิสต์” น้อยกว่าบรรดาพวก “อเจ้า” ที่ “เป็นเจ้ายิ่งกว่าเจ้า” ในยุคนี้อย่างไม่ติดผงธุลี

ในความเห็นของ “เจ้า” อย่างกรมดำรงฯ ราชาศัพท์ที่ “เป็นคำผู้เป็นบริวารชนใช้สำหรับผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่” เพื่อ “ยกยอให้วิเศษไพเราะยิ่งขึ้นไป” นั้น เป็นความ “เลอะมาก” (ของพวกสอพลอเจ้า) การดำรงอยู่ของราชาศัพท์ขึ้นอยู่กับความ “นิยม” หากใช้มากก็สร้างความ “ลำบาก” ให้ผู้พูด หากไม่นิยมใช้ ราชาศัพท์ก็ “ละลายลบหมดไปเอง”

เจ้าฟ้านริศฯ ช่วยยกตัวอย่างยั่วล้อให้รู้เช่นเห็นชาติพวก “ประจบเจ้า” ว่า “แม้หาคำในตำราราชาศัพท์ไม่ได้ก็ผูกขึ้น เช่น “หลอดพระวาตะ” ฝ่าพระบาทเข้าพระทัยหรือไม่ว่าเป็นอะไร หมายความว่าท่อหายใจ”!

ส่วนคึกฤทธิ์ผู้เป็นราชนิกุลเสนอแนวทางก่อนปี 2500 ไว้ว่า “ราชาศัพท์นั้นถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงเสียดีกว่า พึงใช้เฉพาะในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้นเอง”

ในขณะที่พวก “อเจ้า” อย่างเหล่าราชบัณฑิตกลับออกมาสั่งสอนประชาชนถึงขนาดว่า “การกล่าวถึงหรือกล่าวลับหลังก็ต้องใช้ราชาศัพท์” ด้วยอุดมการณ์เดียวกัน คตินิยมเจ้าร่วมสมัยก็ประดิษฐ์ระบบคุณค่าขึ้นว่าการใช้ราชาศัพท์ “บ่งบอกถึงระดับการศึกษาของผู้ใช้” และแสดงถึง “เอกลักษณ์-วัฒนธรรม” “ความรักชาติ” และ “ความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ไทย”

คงไม่ผิดหากจะชมเชยว่า อาการ “ultra-royalism” ของสังคมไทยเป็นผลงานอันงามหน้าน่าชื่นใจของพวก “อเจ้า” หรือที่กรมดำรงฯ เรียกว่า “บริวารชน” นั่นเอง

สำหรับข่าว “ลือว่าจะเลิกใช้ราชาศัพท์” ที่กรมดำรงฯ กล่าวถึงในจดหมายนั้น อ้างถึงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม หนึ่งเดือนก่อนหน้าฉบับนี้
 

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง
ให้ใช้คำว่า “วันเกิด” สำหรับบุคคลทุกคน

ด้วยบัดนี้ คำว่า “วันเกิด” ใช้กันอยู่หลายอย่าง คือ ใช้ “วันเกิด” บ้าง “วันชาตะ” บ้าง “วันประสูติ” หรือ “วันพระราชสมภพ” บ้าง ความจริงคำว่า “เกิด” ในที่นี้เป็นแต่เพียงใช้ประกอบกับคำ “วัน” ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องแปรผันตามราชาศัพท์ อนึ่งในภาษาต่างประเทศเช่นภาษาอังกฤษก็ใช้คำว่า Birthday สำหรับคนทุกชั้น แม้สำหรับพระมหากษัตริย์ก็ใช้ว่า King’s Birthday

ฉะนั้น แต่นี้ไปให้ใช้คำว่า “วันเกิด” สำหรับบุคคลทุกคนตลอดถึงพระบรมวงศานุวงศ์ แต่เฉพาะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี ให้ใช้ว่า “วันเกิดในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และ “วันเกิดในสมเด็จพระราชินี” สำหรับพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีต่างประเทศ ให้ใช้ว่า “วันเกิดใน...” เช่นเดียวกัน

ประกาศมา ณ วันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2484
(ลงนาม) พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

ในชั้นบรรยากาศแบบอาเศียรวาทสดุดีหรือในวัฒนธรรมประจบเจ้าร่วมสมัย คำสั่งของจอมพล ป. ว่า “...ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องแปรผันตามราชาศัพท์...ภาษาอังกฤษก็ใช้คำว่า Birthday สำหรับคนทุกชั้น แม้สำหรับพระมหากษัตริย์ก็ใช้ว่า King’s Birthday...แต่เฉพาะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...ให้ใช้ว่า “วันเกิดในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”...” ดูแข็งกร้าวและเหี้ยมเกรียมจนอาจทำให้พสกนิกรที่ขวัญอ่อนบังเกิดอาการโรคาพยาธิกำเริบเฉียบพลันจนต้องบริกรรมคาถา “เหิมเกริมหนอ ลบหลู่หนอ จาบจ้วงหนอ” แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในสภาพจิตปกติ การลิดรอนอิทธิฤทธิ์ฝ่ายเจ้าในเชิงสัญลักษณ์ (และอื่นๆ) โดยข้อใหญ่ใจความแล้วเป็นนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมเสมอภาคแบบสากลธรรมดาๆ ที่ไม่ได้มีอะไรโหดร้ายทารุณแม้แต่ละอองเกสรเมื่อเทียบกับประเพณีการปกครองแบบ “อาญาไม่พ้นเกล้า” ในอดีตกาล

สองทศวรรษหลังการปฏิวัติ 2475 เป็นช่วงเวลาแห่งการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจและเจรจาต่อรองระหว่างฝ่ายคณะราษฎรและฝ่ายกษัตริย์นิยม มีทั้งการใส่ร้ายป้ายสีบุคคลสำคัญของฝ่ายคณะราษฎรและการลิดรอนอิทธิฤทธิ์และอิทธิพลของฝ่ายกษัตริย์นิยม ด้วยการดึงอำนาจทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรมมาสู่ความเป็นผู้นำเผด็จอำนาจฟาสซิสม์ของตนเอง แม้นโยบายรัฐนิยม-ชาตินิยมที่มุ่งเปลี่ยนวัฒนธรรม จรรยามารยาท และวิถีชีวิตคนไทยให้ทันสมัยเป็น “ไทยอารยะ” จะทิ้งคราบเขม่าลัทธิชาตินิยมและตำนานความอลหม่าน พิลึกพิลั่น ประดักประเดิก อันเปราะบางต่อการถูกชำแหละและหัวเราะขัน ทั้งโดนข้อหา “ตามก้นฝรั่ง” และ “คลั่งเชื้อชาติไทย” ในเวลาเดียวกัน (เช่น “มาลานำไทย”, ห้ามกินหมาก, ให้เลิกนุ่งโจงกระเบน เลิกเปลือยกายท่อนบน, ให้กล่าว “สวัสดี”, จงแต่งกายตามแบบสากล, ยืนตรงเคารพธงชาติ, เปลี่ยนอักขรวิธีภาษาไทยให้ง่ายขึ้น, เปลี่ยนชื่อเพลงไทยเดิม ฯลฯ) แต่จอมพล ป. เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพยายาม “ลดทอน” วัฒนธรรมเจ้าและสัญลักษณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ฝังรากลึกให้เสื่อมคลายลง และชักจูงให้คนไทยรู้จักคุณค่า “สากล” ตามมาตรฐานนานาอารยประเทศ

การลดความสำคัญและความซับซ้อนของราชาศัพท์ก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่ส่งเสริมความเสมอภาค (แต่ต้อง “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” นะจ๊ะ) เช่นเดียวกับการเปลี่ยนวัฒนธรรมการใช้สรรพนามจากเดิมที่ยึดโยงอย่างเข้มงวดกับสถานภาพบุคคลมาเป็น “ฉัน, ท่าน, เรา” แบบฝรั่ง การพยายาม “พลิก” แบบแผนความสัมพันธ์ที่ผูกมัดอย่างแน่นหนาอยู่กับความเหลื่อมล้ำต่ำสูงนี้ถือเป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมในระดับมูลฐานเลยก็ว่าได้ ในขณะเดียวกันประเพณีพิธีกรรมในราชสำนักบางอย่างก็ถูกเพิกเฉยหรือยกเลิกจากรัฐบาลในระบอบใหม่ และความเป็นรัฐชาติก็ได้รับการขับเน้นให้โดดเด่นเหนืออุดมการณ์และบารมีของสถาบันกษัตริย์

แต่หลังจากจอมพล ป. ถูกรัฐประหารโค่นอำนาจจากกลุ่มรอยัลลิสต์ นโยบายสร้างชาติหลายอย่างก็ถูกยกเลิกไป พร้อมๆ กับการฟื้นคืนชีพเพื่อโลดแล่นและวิวัฒน์ในบรรยากาศใหม่ของวัฒนธรรมกษัตริย์นิยมที่ถูกขันชะเนาะจนซบเซาไปชั่วคราว

ในวิถีโคจรเดียวกันกับการหมอบคลาน วัฒนธรรมราชาศัพท์ที่ฟื้นตัวจนแข็งแกร่งและอาจจะมีอาถรรพ์ยิ่งกว่าเดิมคือแบบจำลองของสังคมไทยที่จวบจนวันที่แม่ค้ารถเข็นริมถนนนั่งเขี่ยแท็บเล็ต-อัพสเตตัสเฟซบุ๊กเล่นยามว่างก็ยังคงละม้ายคล้ายจิตรกรรมฝาผนัง ด้วยเทคโนโลยีเคลือบฉาบอันวาววับ มันคือภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบดิจิตอลที่ตอกย้ำคติเดิมๆ ว่าด้วยการจำแนกช่วงชั้นของคนในสังคมตามจักรวาลวิทยาแบบพุทธ-ศักดินา อันประกอบไปด้วยเทวดาที่เหินหาวลอยล่องอยู่บนสรวงสวรรค์ เหล่าชนชั้นปกครองอันได้แก่ กษัตริย์ เครือญาติกษัตริย์ และขุนนางวางท่างามสง่าอยู่ถัดลงมาในเขตพระราชวังภายในกำแพงเมือง ส่วนราษฎรที่วุ่นวายอลเวงอยู่กับกิจกรรมอันหาความสง่างามมิได้อยู่ด้านล่างสุดไม่ห่างไกลจากเหล่าสิงสาราสัตว์

มนต์สะกดแห่งวรรณศิลป์: hegemony without resistance?

หากไม่นับ “ทรง” และ “องค์” ซึ่งปรากฏเพียงครั้งสองครั้ง “ประกาศคณะราษฎร” มีการใช้ราชาศัพท์เพียงคำเดียวเท่านั้นคือ “พระเชษฐา” สปิริตแบบ 2475 และที่ควรจะไปไกลกว่านั้นมิใช่แค่เพียง “สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค รัฐธรรมนูญ” แต่รวมถึงการพยายามใช้ภาษาสามัญและลดทอนภาษาวิสามัญด้วย โครงการ “2475” และช่วงเวลาไม่ถึงสองทศวรรษหลังจากนั้น อาจถือเป็นความ “radical” อย่างเกินอภัยจากจุดยืนแบบ “เจ้าเป็นใหญ่” แต่ก็เป็นการ “compromise” อย่างน่าเสียดายยิ่งจากจุดยืนแบบ “ประชาชนเป็นใหญ่”

ดุจดั่งพระอาทิตย์ย่อมขึ้นทางทิศตะวันออก ฝ่ายอนุรักษนิยม-กษัตริย์นิยมซึ่งเถลิงอำนาจครอบงำวัฒนธรรมไทยฉบับราชการในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาย่อมไม่พลาดโอกาสในการสรรเสริญเยินยอราชาศัพท์ว่าเป็นเครื่องบ่งชี้แบบแผนของอารยธรรมชั้นสูงที่ถึงพร้อมด้วยสุนทรียศาสตร์และเอกลักษณ์ของภาษาไทยอันควรแก่การธำรงรักษาให้อยู่คู่ชาติไทยตลอดชั่วกาลปาวสาน หาใช่เครื่องมือทางอุดมการณ์การเมือง การแบ่งชนชั้นเพื่อจุดหมายในการปกครอง และการกดขี่ให้สยบยอมไม่

นอกจากขึ้นหิ้งเป็นภาษาราชการทั่วไปแล้วก็ได้เกิดความชินและความเชื่อในหมู่นักอักษรศาสตร์หรือนักวิชาการเชื้อสาย “เจ้า” และ “อเจ้า” ว่า การรู้จักใช้คำราชาศัพท์อย่างถูกต้องเหมาะสมเป็นแบบอย่างทางวรรณศิลป์อันล้ำเลิศเพริศแพร้วของการเขียนภาษาไทยร้อยแก้วและร้อยกรอง แม้แต่การแปลภาษาต่างประเทศเป็นไทยก็ต้องใช้ขนบภาษาเทวนิยมด้วยมาตรฐานเดียวกัน (แต่เวลาต่างประเทศเขียนถึงราชวงศ์ไทย เขาก็ใช้วัฒนธรรมภาษาที่ไร้เทวสถานะของเขาด้วยเช่นกัน สร้างความชอกช้ำแก่นักอักษรศาสตร์ไทยมิใช่น้อย)

“William greets fans ahead of wedding.” สำนักข่าว BBC

“เจ้าชายวิลเลียมทรงมีพระปฏิสันถารกับพสกนิกรที่มารอเข้าเฝ้าก่อนจะถึงพิธีอภิเษกสมรส” สำนักข่าวไทยในภาวะไข้สูง

“วิลเลียมทักทายเหล่าแฟนคลับก่อนพิธีแต่งงาน” สำนักข่าวไทยหลังหายไข้

ในทำนองเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม หากศาลพิพากษาไปตามอุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่กำกับความคิดจิตใจ อุดมการณ์เดียวกันนี้ก็กำกับกิจกรรมการแปลด้วยเช่นกัน กระนั้นก็ตาม การทะลวงกรงขังแห่งภาษายากแค้นลำเค็ญกว่าวงการกฎหมาย-ตุลาการมากนัก

กระทั่งเราเองก็ “คุ้นชิน” มาช้านานจนอดจะซาบซึ้งอย่างหักห้ามใจมิได้ว่า คำราชาศัพท์เมื่อถูกประพรมด้วยทักษะอันเจนจัดในที่อันเหมาะอันควรนั้น เพิ่มสง่าราศี ความขรึมขลัง และความไพเราะสละสลวยให้กับข้อเขียน อีกทั้งเป็นสิ่งบ่งชี้ความเป็นผู้มีวัฒนธรรมการศึกษาอันเอกอุของผู้ประพันธ์ด้วย

ในทางตรงกันข้าม การงดเว้นราชาศัพท์ในที่ที่พึงใช้ตามระบอบสุนทรียะทางภาษาที่ลงหลักปักฐานในจิตใต้สำนึกย่อมส่งผลร้ายที่คาดเดาได้ ภาษาธรรมดาที่เข้ามาแทนที่มีแนวโน้มจะถูกวิจารณ์และพิพากษาในทันทีทันใด ไล่ตามระดับการระวางโทษจากเบาไปหนักได้ตั้งแต่ไม่สละสลวย ไม่สวยงาม ไม่ไพเราะ ไม่รื่นหู กระโดกกระเดก เฉิ่ม งุ่มง่าม ชาวบ้าน ไม่เป็นผู้ดี ไม่มีการศึกษา ไม่มีวัฒนธรรม ผิดไวยากรณ์ ผิดธรรมเนียมแบบแผนอันดี ก้าวร้าว เหิมเกริม บังอาจ เนรคุณ หมิ่นเบื้องสูง ไปจนถึงล้มเจ้า

(ยกเว้นชื่อเฉพาะหรือคอนเซ็ปท์ที่ยังไม่มี-หรือไม่สามารถมี-คำธรรมดาหรือคำบัญญัติใหม่จะแทนที่ได้ การปฏิรูปภาษาจึงยังต้องคงคำสวยงามทั้งหลายไว้เป็นมรดกไปพลางๆ อาทิเช่น “พระราชอำนาจ” “ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา” “พยุหยาตราชลมารค” เป็นต้น หากอยู่ในสังคมที่ยึดมั่นคุณค่าเสรีประชาธิปไตย ชื่อเฉพาะและภาษาคอนเซ็ปท์ในระบอบกษัตริย์ที่มีอยู่มากมายเหล่านี้ก็ย่อมดำรงอยู่ได้เป็นปกติธรรมดาไม่มีปัญหาแต่ประการใด ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับภาษาอาเศียรวาทสดุดีที่ไม่จำเป็นในสังคมสมัยใหม่อย่าง “พระเนตร” “ฉลองพระองค์” “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท” “ประสูติ” “ตรัส” ฯลฯ)

หลุมพรางที่ล่อลวงได้อย่างร้ายกาจ เย้ายวน และยืนยาวที่สุดคือหลุมพรางที่สามารถ “มอบ” และ “ริบ” เกียรติภูมิของเราได้อย่างเบ็ดเสร็จประหนึ่งไม่เหลือทางเลือกอื่น ภาษาล้อมครอบความรู้สึกนึกคิดและตอกตรึงแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคม อำนาจในการควบคุมชี้นำที่แยบคายของภาษาทำให้ผู้ใช้ภาษายินยอมและยินดีที่จะตกอยู่ภายใต้การควบคุมชี้นำนั้น วัฒนธรรมความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในระดับจิตใต้สำนึกจะอยู่ดีมีพลังต่อไปได้ก็ด้วยรหัสทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ว่าด้วย “อารยธรรมไทย” “ความงามในภาษาไทย” “เอกลักษณ์ของภาษาไทย” ฯลฯ
สภาวะนี้จะคืออันใดหากมิใช่ “the enchantment of feudal (language) splendor” - มนต์สะกดในความโอ่อ่าตระการตาของ (ภาษา) ศักดินา

ในบรรดาคำราชาศัพท์ทั้งมวล “ทรง” กับ “พระ” (รวมทั้ง “ทรงพระ”) เป็นคำที่น่าสนใจเป็นพิเศษ

“ทรง/พระ” ในฐานะ “magical prefix” ที่ “เปลี่ยน” (transform) คำธรรมดาหรือคำราษฎร์ให้กลายเป็นคำราชาศัพท์หรือคำหลวง เป็นคำที่ปราศจากความหมายในตัวเอง หน้าที่เพียงประการเดียวของ “ทรง/พระ” (เปลี่ยน “profane” (สาธารณ์) เป็น “sacred” (ศักดิ์สิทธิ์) เช่น “ขี่ม้า/ทรงม้า”, “เก้าอี้/พระเก้าอี้”) คือ “เทิดพระเกียรติ” ไม่ว่าจะตั้งใจ จำใจ หรือแม้แต่ไม่ได้คิดอะไร การใช้คำว่า “ทรง/พระ” จึงคือการร่วมสืบทอดและยืนยันสิทธิธรรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ทางภาษา ภายในกรอบของการถูกครอบงำโดยสมยอม หรือ “domination by consent” น่าคิดพินิจนึกด้วยว่า ในความเป็นจริงแล้ว โทษทัณฑ์ของการตกหล่นคำว่า “ทรง/พระ” อาจแค่ถูกองครักษ์พิทักษ์ภาษาไทยขมวดคิ้วติเตียนหรือจีบปากกระแนะกระแหน แต่มิใช่ภยันตรายที่ร้ายแรงไปกว่านั้น

การที่ราชาศัพท์ถูกยกยอให้เป็นขนบอันวิจิตรทางอักษรศาสตร์ราวกับมิได้สำเหนียกหรือสมรู้ร่วมคิดกับอุดมการณ์ศิโรราบต่อระบอบเก่า และมีสถานะเป็น “hegemonic language” หรือภาษาที่ยึดครองความเป็นเจ้าเสียจนทำให้การไม่รู้จักหรือไม่ยอมใช้ในโอกาสอันควรกลายเป็นความบกพร่องในเชิงสุนทรียะและในเชิงทักษะการใช้ภาษาทางการ-วิชาการ กระทั่งการมีท่าทีวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ เราก็ยังต้องปฏิบัติผ่านความช่ำชองในการใช้ราชาศัพท์เพื่อสร้างเกราะกันภัย

ไม่ว่าจะรู้ตัวและเต็มใจหรือไม่ ภายใต้ภาวะกระอักกระอ่วน ผะอืดผะอม กลืนไม่เข้าคายไม่ออก และเป็น irony ในตัวเอง การวิพากษ์มรดกคติเทวราชาของสถาบันกษัตริย์จึงยังคงต้องกระทำ “ด้วย” และ/หรือ “โดยมิอาจเลี่ยง” มรดกภาษาของคตินั้น

อย่างไรก็ตาม การเลี่ยงที่จะไม่ใช้ย่อมทำไม่ได้อย่างถึงที่สุด เนื่องจากคำราชาศัพท์จำนวนไม่น้อยได้แทรกซึมเข้าไปในหลายปริมณฑลจนกลายเป็น “ขนบ” ที่บรรจุนัยยะทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งความนิยมใช้ตามความเคยชิน โดยไม่จำเป็นว่าการใช้นั้นต้องอยู่ในบริบทของการยอพระเกียรติเสมอไป หากอยู่ในวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่มีรากฐานแข็งแกร่ง คำราชาศัพท์ที่เป็นศัพท์เฉพาะในแวดวงต่างๆ ย่อมถูกใช้ในฐานะ “มโนทัศน์ทางประวัติศาสตร์/วัฒนธรรม” หรือแม้แต่เป็นสำนวนลีลาภาษาเพื่อการสื่อสารให้เป็นที่เข้าใจตรงกัน มิได้ใช้เพื่อจรรโลงวัฒนธรรมเทิดไท้อย่างคำศัพท์ในหมวดคำนาม หมวดคำกิริยา หมวดร่างกาย
แน่ล่ะว่า จากอีกมุมมองหนึ่ง มันตลกไร้สาระเกินไปที่จะใส่อัญประกาศกำกับทุกถ้อยกระทงความ การใช้ราชาศัพท์แบบ “ขืนขนบ” และ “บ่อนเซาะ” จึงอาจเหลือรูปแบบเดียวคือใช้ด้วยเจตนาท่าทีที่อยู่ในจักรวาลทัศน์แห่ง irony (วิหารแห่ง humor, satire, sarcasm)

ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญที่จริงแท้ หาใช่เป็นแต่เพียงในนาม ในบทบัญญัติทางกฎหมาย หรือโดยปล่อยให้ความเป็นไทยมาปู้ยี่ปู้ยำแล้วสักแต่แก้ตัวอย่างไม่มียางอายว่าเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ จำต้องแตกหัก, แม้ไม่ต้องโดยเด็ดขาดแต่ก็ต้องโดยมีนัยสำคัญ, กับวัฒนธรรมราชาศัพท์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อันเกรียงไกรของความไม่เสมอภาคที่มิใช่เพียงระหว่าง “คน” กับ “คน” ที่ “ไม่เท่ากัน” เท่านั้น โดยจิตวิญญาณแล้ว “ราชาศัพท์” คือโองการว่าด้วยการดำรงอยู่คนละภพภูมิระหว่าง “คน” กับ “เทวดา”

ทุกสังคมไม่ว่าจะเสรีหรือไม่เสรีล้วนมี “VIP” หรือ “Very Important Person” แต่พร้อมไปกับและเป็นองค์ประกอบของการสร้าง “cult of personality” ให้กับบุคคลในชนชั้นจารีต ราชาศัพท์คือการสร้าง “VSP” หรือ “Very Sacred Person” ที่ไม่สมเหตุสมผล

ประเทศไทยอาจผยองลำพองใจว่าเราไม่มีปัญหาเรื่องภาษาของเจ้าอาณานิคม “แบบ” ประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมทางตรงเป็นเวลานาน ในบ้านเมืองเหล่านั้นคนพื้นเมืองถูกบังคับให้เรียนภาษาเจ้าอาณานิคมในฐานะภาษาที่มีอารยธรรมสูงส่งกว่าเพื่อการซึมซับรับความรู้และค่านิยมของเจ้าอาณานิคม ซึ่งในบางกรณีอาจดำเนินไปพร้อมกับการห้ามไม่ให้ใช้ภาษาพื้นเมืองของตนเอง ทว่าในหลายแห่งหลังการต่อสู้ปลดแอกจนได้รับเอกราช มรดกภาษาของเจ้าอาณานิคมที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของการรุกรานกดขี่ก็ถูกพลิกกลับปรับกลืนให้เป็นภาษาราชการแห่งการศึกษา-สื่อสารในโลกสากล (ยกตัวอย่างเฉพาะภาษาอังกฤษ เช่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ และบางประเทศในแอฟริกา) ถึงที่สุดแล้วประเทศอดีตอาณานิคมอาจไม่ได้จำเป็นต้องต่อต้านและกำจัดภาษาเจ้าอาณานิคมให้สิ้นซากด้วยปมแอกทางประวัติศาสตร์ชาตินิยมคับแคบ แต่สามารถใช้ประโยชน์ด้วยท่าทีที่ระแวดระวังกับอันตรายของการลบเลือนประวัติศาสตร์ความทรงจำก่อนสมัยอาณานิคมผ่านภาษาเจ้าอาณานิคมที่เข้าครองความคิดจิตใจและถ่ายทอดปลูกฝังคุณค่าและความรู้แบบตะวันตก

ความยากลำบากและกระอักกระอ่วนในการเผชิญหน้า สลัดหลุด หรือสร้างสรรค์ใหม่ในสังคมหลังอาณานิคมย่อมมีความหลากหลายแตกต่างกันไป การพยายาม “จัดการ” กับมรดกเจ้าอาณานิคมและสร้างอัตลักษณ์ใหม่อาจกระทำผ่านการรื้อฟื้นศักดิ์ศรีของภาษาพื้นเมือง พร้อมไปกับการจงใจ “ปรับ-ดัดแปลง-เล่น” ภาษาของเจ้าอาณานิคมซึ่งกลายเป็นภาษาราชการและภาษาของคนพื้นเมืองที่มีการศึกษาไปแล้วให้มีกลิ่นอาย ลีลาและวิธีใช้แบบท้องถิ่นที่ผิดแผกไปจากภาษานั้นตาม “มาตรฐาน” ของประเทศแม่ เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่องสะท้อน ขัดขืน เอาชนะและก้าวข้ามประสบการณ์และบาดแผลของการตกเป็นอาณานิคม

น่าสนใจว่าประสบการณ์ของไทย ประเทศกึ่งศักดินาที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นอย่างเป็นทางการ อาจเทียบเคียงได้กับประสบการณ์แบบ post-colonial ในแง่มุมที่กลับหัวกลับหาง ในระบบการศึกษาไทยทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ แม้จะไม่ใช่ภาษาที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันปกติ แต่คนพื้นเมืองที่มีการศึกษาก็ต้องรู้จักเรียนรู้และยอมรับ โดยเฉพาะในความหมายของการ “internalize” หรือรับภาษาศักดิ์สิทธิ์ขั้นพื้นฐานของเจ้าศักดินาให้เข้ามาอยู่ในตัวจนเป็นธรรมชาติ เพื่อว่าเมื่อถึงคราวจำเป็นก็สามารถแสดงถึงทักษะในการใช้ภาษานั้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

หลังการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและหลังการหมดอำนาจของกลุ่มการเมืองฝ่ายคณะราษฎร การที่ราชาศัพท์ถูกสักการะเป็นภาษาชั้นสูงสุด รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีการศึกษาและวัฒนธรรมนั้น (ในทางกลับกัน การไม่กระดิกราชาศัพท์เป็นสัญลักษณ์ของคนด้อยการศึกษาหรือมีการศึกษาแต่ไม่มีวัฒนธรรม) มิใช่ด้วยการตระหนักว่ามรดกที่เคยเป็น “แอก” มีคุณค่าทางสากลล้นเหลือพอที่จะใช้ประโยชน์ต่อไปเพื่อความก้าวหน้าของพลเมือง แต่กลับด้วยความปีติในการเสกสรรปั้นแต่งมรดกแห่งการกดขี่ให้กลายเป็นมรดกแห่งความภูมิใจในความเป็นไทยชั้นสูง โดยที่ความจริงแล้วคือการสืบสานมรดกของระบอบเก่าต่อไปภายใต้การนิยามความหมายใหม่ที่ฝังกลบความจริงดังกล่าว ทั้งนี้มิพักต้องกล่าวถึงว่า “แอก” นั้นหาได้มีคุณประโยชน์แต่ประการใดต่อพัฒนาการของคนพื้นเมือง แม้จะอยู่ภายใต้บรรยากาศแห่งอุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่ปกคลุมทุกภาคส่วน มันก็ออกจะน่าประหลาดใจมิใช่หรือที่ภาษาแห่งเจ้าศักดินากลับได้รับการยอมรับและภักดีโดยผู้มีการศึกษาอย่างแทบจะปราศจากการขัดขืน

หรือเป็นเรื่องของความสุภาพ นอกจากวรรณศิลป์? เหล่าสุภาพชนไม่นิยมภาษาหยาบกระด้างและรังเกียจภาษาหยาบคายแบบชนชั้นล่างและชนชั้นกลางไร้วัฒนธรรม?

การอธิบายเรื่องราชาศัพท์ที่แพร่หลายนิยมยกข้อความจากปาฐกถา “กถาเรื่องภาษา” ของพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ว่า “...นอกจากคำพูดและวิธีพูดทั่วไปแล้ว ยังมีคำพูดและวิธีพูดสำหรับชนเฉพาะหมู่เฉพาะเหล่าอีกด้วย เช่น ราชาศัพท์ของเรา เป็นต้น ฝรั่งไม่มีราชาศัพท์เป็นคำตายตัว แต่มีวิธีพูดยกย่องชั้นพระมหากษัตริย์หรือชั้นผู้ดีเหมือนกัน แต่วิธีพูดเช่นนี้ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว โดยมากมักจะเป็นวิธีพูดอย่างสุภาพเท่านั้นเอง”

ข้อความในปาฐกถานี้เอื้อต่อการอ้างอิงในการนิยามราชาศัพท์ว่าเป็นคำสุภาพสำหรับพูดกับและพูดถึงชนชั้นบนสุดของสังคม แต่ความจริงแล้วคำอธิบายของวรรณไวทยากรเองกลับเป็นสิ่งยืนยันว่า “ราชาศัพท์” ไม่อาจเทียบได้กับ “วิธีพูดอย่างสุภาพ” แบบ “ฝรั่ง” ซึ่ง “ไม่มีราชาศัพท์เป็นคำตายตัว...ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว” นั่นคือจริงๆ แล้วราชาศัพท์ไม่ได้มีเป้าประสงค์ที่จะเป็น “code of conduct” ใน “polite society” หรือวงสังคมชั้นสูง แต่ราชาศัพท์คือ “วิธีพูดสำหรับชนเฉพาะหมู่เฉพาะเหล่า” ซึ่ง “วิธีพูดยกย่องชั้นพระมหากษัตริย์หรือชั้นผู้ดี” (หรือ “ยกยอให้วิเศษไพเราะยิ่งขึ้นไป”) นั้นมิใช่การปฏิบัติเพื่อธำรงไว้ซึ่งจรรยามารยาทสังคม แต่เป็นปฏิบัติการเพื่อการค้ำจุนสิทธิธรรมของเหล่าอภิชนในระบอบกษัตริย์ต่างหาก ถ้า “ธรรม” ที่กดปราบมนุษย์บนฐานของฐานันดรย่อมไม่ใช่ธรรมที่แท้ ราชาศัพท์ก็ไม่ใช่ “พิธีกรรม” ในอุดมการณ์ธรรมราชา (“ธรรมราชา” ไม่ใช่อุดมการณ์ที่เรียกร้องภาษาเทพเทวดา) แต่เป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับในอุดมการณ์เทวราชา

ด้วยวัตถุประสงค์และเหตุผลของการดำรงอยู่ดังกล่าว ราชาศัพท์หาใช่ประเภทของคำสุภาพอย่างที่ตำราภาษาไทยนิยมนิยามไว้ แต่คือคำการเมืองที่ยก-แยก-ย้ำสถานะที่แตกต่างห่างลิบลับระหว่างมนุษย์กับเทพตามจักรวาลวิทยาแบบโบราณ

นอกจากความกลัวแล้ว ความเคยชินและการถูกล่อลวงใจในมนตราพลานุภาพแห่งเกียรติยศและสุนทรียะคือสิ่งจรรโลงอุดมการณ์เทวราชาที่หยั่งรากลึกถึงศัพท์ ไวยากรณ์ และกระบวนการเปล่งพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์

ด้วยเจตนารมณ์แห่งการใช้แบบขืนขนบและบ่อนเซาะ บางที “ถ้าคนไม่นิยมจะสมยอมอยู่ในระบอบเกียรติยศนั้นมากขึ้น คำราชาศัพท์ก็คงละลายลบหมดไปเอง”

การขัดขืนต่ออำนาจนำที่ทรงพลังจนซึมซ่านเข้าไปในถ้อยคำสำนวนของเรา คือการยอมที่จะไม่งามตามขนบเก่าเพื่อถากถางทางไปสู่ขนบความงามแบบใหม่ เมื่อทุกแห่งหนฟุ้งตลบอบอวลไปด้วยสุ้มเสียงและอักษรแห่งการสอพลอศิโรราบ เท่าที่จะทำได้และเป็นไปได้, การฝืนใจไม่ยินดีและไม่ยินยอมจะเป็นอักขระตัวแรกที่หยัดยืนบนเทือกบรรทัดที่มุ่งไปสู่ภูภาษาแห่งการปลดปล่อย

อ้างอิง

คึกฤทธิ์ ปราโมช, เก็บเล็กผสมน้อย ชุดที่สอง. สำนักพิมพ์คลังวิทยา. 2502. หน้า 53.
คึกฤทธิ์ ปราโมช, ปัญหาประจำวัน ชุดที่เจ็ด. โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์. 2502. หน้า 162.
จำนงค์ ทองประเสริฐ, “ราชาศัพท์ที่มักใช้กันไม่ถูกต้อง” ใน ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. 2528. หน้า 226 http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1155
สาส์นสมเด็จ. เล่ม 23, คุรุสภา, 2505.
สุจิตต์ วงษ์เทศ, http://www.sujitwongthes.com/

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“กสทช.” แจงกรณีรถประจำตำแหน่ง-ค่าตอบแทน โต้ใช้เงินขาดประสิทธิภาพ

Posted: 25 Jan 2012 11:12 PM PST

สำนักงาน กสทช. เผยกรณีรถประจำตำแหน่งเทียบเคียงกับมาตรฐานรถประจำตำแหน่งของส่วนราชการ ส่วนอัตราค่าตอบแทน กสทช.เท่า กทช.เดิม เงินเดือนรวมเงินประจำตำแหน่งอยู่ที่แสนต้นๆ ยันการใช้จ่ายทำตามกฎหมาย

 25 ม.ค.55 - สำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกหนังสือแจงการใช้จ่ายเงินของสำนักงาน กสทช. ระบุว่า ตามที่ได้ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสารมวลชนหลายแห่งว่า สำนักงาน กสทช. มีการใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย ไม่ประหยัดและขาดประสิทธิภาพเกี่ยวกับรถประจำตำแหน่งของ กสทช. อัตราค่าตอบแทน กสทช. และการใช้จ่ายอย่างอื่นๆ ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ชี้แจงในเบื้องต้นเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมาว่าการใช้จ่ายเป็นไปโดยประหยัด และมีประสิทธิภาพ
 
สำนักงาน กสทช. ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ดังนี้ 1.การใช้รถยนต์ประจำตำแหน่ง ของ กสทช. เป็นการใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ว่าด้วยรถของสำนักงาน พ.ศ.2548 แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบ กทช. ว่าด้วยรถของสำนักงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นระเบียบที่ กทช. ใช้อยู่เดิมที่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงแก้ไขระเบียบฉบับเดิมตามข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยกำหนดให้ใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งตามขนาดซีซี และราคา โดยเทียบเคียงกับมาตรฐานรถประจำตำแหน่งของส่วนราชการ มิได้มีขนาดและราคาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานรถประจำตำแหน่งที่ส่วนราชการกำหนด
 
2.อัตราค่าตอบแทนของ กสทช. ปัจจุบันสำนักงาน กสทช. ยังมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเงินค่าตอบแทนของ กสทช. ตามความในมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ใช้บังคับ สำนักงาน กสทช. จึงได้เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้ กสทช. ได้รับค่าตอบแทนตามพระราชกฤษฎีกาค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นของประธานกรรมการและกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และกรรมการร่วม พ.ศ.2548 ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาเงินค่าตอบแทนฯ ใช้บังคับ ดังนั้นอัตราค่าตอบแทนที่ กสทช. ได้รับจึงเท่ากับ กทช. ที่ได้รับอยู่เดิม คือ
 
2.1 เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งเทียบเคียงกับอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี โดยประธาน กทช. เงินเดือน 64,890 บาท เงินประจำตำแหน่ง 45,500 บาท รวมเงิน 110,390 บาท ส่วนกทช. เงินเดือน 63,860 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท รวมเงิน 106,360 บาท
 
2.2 ค่าตอบแทนพิเศษจากผลการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดหลักเกณฑ์ให้จ่ายค่าตอบแทนพิเศษตามผลการปฏิบัติงานสำหรับ กทช. ให้คำนวณจากรายได้ประจำปีในอัตราร้อยละ 0.5 แต่ไม่เกินเดือนละ 300,000 บาท โดยการจ่ายเงินจะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อ สตง. ตรวจรับรองงบดุลแล้วเท่านั้น ดังนั้น อัตราค่าตอบแทนของ กสทช. จึงยังมิได้มีการกำหนดอัตราใหม่ยังคงใช้อัตราเดิมไปพลางก่อนจนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ใช้บังคับ
 
3.การใช้จ่ายเงินของสำนักงาน กสทช. ในตลอดเวลาการปฏิบัติงานที่ผ่านมา นับแต่เป็นสำนักงาน กทช. ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมา สำนักงาน กทช. ได้ใช้จ่ายเงินตามกฎหมายและระเบียบที่กำหนดด้วยความระมัดระวังและใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสำนักงาน กทช. เป็นหน่วยงานของรัฐต้องรับการตรวจสอบจาก สตง. และปปช. ซึ่งก็ได้ใช้จ่ายงบประมาณปีละร้อยละ 60 ของรายได้ และได้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐร้อยละ 40 
 
ต่อมาเมื่อได้ปรับเปลี่ยนสถานะเป็นสำนักงาน กสทช. พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2555 ได้บัญญัติไว้ให้ใช้จ่ายเงินเป็นไปอย่างประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยนอกจากจะต้องได้รับการตรวจสอบจาก สตง. และ ปปช. แล้ว ยังจะต้องได้รับการประเมินผลการปฏิบัติงานจากคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานที่วุฒิสภาแต่งตั้ง ดังนั้น การใช้จ่ายเงินงบประมาณของสำนักงาน กสทช. จึงต้องดำเนินการตามหลักการที่กฎหมายและระเบียบกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ประหยัด มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวชี้แจงต่อกรณีเดียวกันนี้ว่า การทำงานของสำนักงาน กสทช.นับตั้งแต่เป็นสำนักงาน กทช.รวมเป็นเวลา 8 ปี  ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีรายได้ 24,068 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 12,572 ล้านบาท และนำรายได้ส่งเข้ารัฐ 11,493 ล้านบาท โดยรายได้นั้นมาจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมในอัตรา 4% ของรายได้ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเลขหมายๆ ละ 2 บาทต่อเดือน ค่าธรรมเนียมการใช้คลื่นความถี่ เป็นต้น
 
“ผมขอยืนยันว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการใช้เงินอย่างประหยัด ไม่ได้ฟุ่มเฟือยแต่อย่างใด และการใช้เงินงบประมาณนั้นได้ผ่านการรับรองของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นที่เรียบร้อย แต่ถ้าใครยังมีข้อสงสัยก็สามารถตรวจสอบได้ โดยกสทช.จะประกาศการใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ผ่านเว็บไซต์ทั้งหมด” นายฐากรกล่าว
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มท.1 ระบุไม่มีนโยบายแตะ ม.112 ผบ.ทบ.อยากเว้นวรรคงดพูดกระตุก รบ. ช่วยดู

Posted: 25 Jan 2012 10:13 PM PST

ยงยุทธย้ำไม่แตะ ม.112 ไม่ควรวิจารณ์เรื่องดังกล่าวเพราะไม่เหมาะสม ผบ.ทบ.อยากเว้นวรรคงดพูดแก้มาตรา112 กระตุกรัฐบาลช่วยดู DSI ระบุหากผู้เกี่ยวข้อง ศอฉ.ไม่ชี้แจงแผนผังล้มเจ้า อาจสั่งไม่ฟ้องคดี

26 ม.ค. 55 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่านายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนของรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้พรรคเพื่อไทยมีมติชัดเจนว่าจะต้องให้มีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทิ้งแนวคิดของนายอุกฤษ มงคลนาวิน ซึ่งแล้วแต่ว่าส.ส.ร.จะพิจารณากันอย่างไร

ส่วนมีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโยงกับข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ โดยเฉพาะป.วิอาญา มาตรา 112 และมีกระแสออกมาคัดค้านกันมาก ทำให้มองเหมือนว่าพรรคไปสะกิดให้เครือข่ายของตัวเองออกมาเสนออะไรที่จะยิ่งเป็นการสร้างปัญหานั้น นายยงยุทธ กล่าวว่า ตนได้พูดตั้งแต่ยังเป็นฝ่ายค้านในเรื่องของความจงรักภักดีที่ไม่ได้เป็นเรื่องของผู้หนึ่ง ผู้ใด แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่เป็นคนไทย ซึ่งพรรคเพื่อไทยทั้งหมดก็มีความเห็นตรงกันอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่เหนือเกล้า เหนือกระหม่อม อย่าเอามาวิจารณ์ เป็นสิ่งที่อยู่ในที่สูง

“แต่สำหรับใครก็ตามที่มีความเห็นส่วนตัว ก็เป็นเรื่องของแต่ละคนที่ต้องรับผิดชอบเอง ผมก็พูดได้เฉพาะในนามของพรรค แต่ไม่สามารถพูดในนามของกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิกของพรรค และไม่ใช่ว่าเราจะมีนโยบายหรือไม่มีนโยบายที่จะไปแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 แต่เรื่องนี้ไม่อยู่ในศีรษะเลย” นายยงยุทธ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวตรงนี้อย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า เขามีกฎหมายที่จะดำเนินการอยู่แล้ว ใครทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ต้องรับผิดชอบตัวเองไป และที่ผ่านมาก็มีการลงโทษอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ทั้งนี้คนที่ตัดสินก็คือประชาชนและสื่อซึ่งประชาชนจะได้เข้าใจ แต่ส่วนตัวมั่นใจว่าประชาชนทั่วไปในประเทศไทยไม่มีเรื่องพวกนี้อยู่ในศีรษะอยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องส่วนบุคคลบางคน

 

ผบ.ทบ.อยากเว้นวรรคงดพูดแก้มาตรา112 กระตุกรัฐบาลช่วยดู

ด้านสำนักข่าวทีนิวส์รายงานว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวกรณีคลังแสงกรมสรรพาวุธทหารบก จังหวัดนครสวรรค์ระเบิดและเกิดไฟลุกไหม้วานนี้ว่า ได้สั่งกำชับคลังแสงของกองทัพให้มีความระมัดระวัง ขณะนี้ไม่น่าไม่เป็นห่วงแล้ว ส่วนเหตุที่เกิดขึ้นก็จะมีการตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบอีกครั้ง ส่วนเหตุที่จังหวัดศรีสะเกษบริเวณปราสาทตาควายนั้น ได้สั่งให้ลงโทษทหารที่ทำปืนลั่นจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บแล้วเพราะถือว่าเป็นการประมาท ยืนยันไม่มีการปะทะกับทหารกัมพูชา

ทั้งนี้ผู้บัญชาการทหารบก ยังกล่าวถึงการแก้ไขกฏหมายมาตรา 112 รวมทั้งมาตรา8 ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันว่า ต่อไปนี้ตนจะไม่พูดถึงเรื่องนี้แล้ว แต่จะให้รัฐบาลเป็นผู้ออกมาพูดชี้แจงและดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขกฏหมายซึ่งจะต้องว่าไปตามขั้นตอนกฏหมาย

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงกรณี พ.ต.ปิยะณัฐ เจตน์จำรัส นายทหารสังกัดหน่วยทหารช่าง กองทัพภาคที่ 3ที่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับแก๊งค้ายาเสพติดว่า ขณะนี้ได้ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบแล้ว ส่วนทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการเรียกไปสอบสวนนั้น ก็สามารถนำตัวไปสอบตรวจได้เลย ทางกองทัพจะไม่ปกป้องผู้กระทำผิด

 

ดีเอสไอขู่ช่างภาพทีวีแดง โทษคุก 15 ปี-หมิ่นสถาบัน

ด้านเว็บไซต์บ้านเมืองรายงานว่า พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงกรณีช่างภาพสถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดท ที่ใช้ชื่อล็อกอินว่า Tanan Maneewong โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คในลักษณะจาบจ้วงสถาบันว่า ขอให้ผู้ที่มีข้อมูลหรือบุคคลใกล้ชิดที่มีหลักฐาน ที่ถ่ายภาพ หรือทำสำเนาข้อความดังกล่าวเก็บไว้นำมามอบให้ดีเอสไอเพื่อทำการตรวจสอบ และส่งให้ตำรวจกองบัญชาการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะต้องช่วยกันสอดส่องและควบคุมกันเองด้วย เนื่องจากส่งผลกระทบต่อภาพรวมของสื่อมวลชนทั้งหมด สำหรับการเอาผิดกับผู้โพสต์ข้อความที่ผ่านมาพบว่า คนกลุ่มนี้มักจะแก้ตัวว่าถูกแฮ็กข้อมูล ซึ่งดีเอสไอมีวิธีการตรวจสอบข้อมูลว่าถูกแฮ็กจริงหรือไม่ เช่น การตรวจสอบข้อความการสนทนา การติดต่อพูดคุยกับเพื่อนทางระบบโซเชียลมีเดียทั้งก่อนและหลัง หากอ้างว่าถูกแฮ็กแล้วยังมีการโพสต์ข้อความตอบโต้กัน ก็แสดงว่าเจ้าของล็อกอินไม่ได้ถูกแฮ็ก

การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำความผิดที่เข้าข่ายผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปี จึงอยากขอร้องให้ประชาชนที่พบเห็นสิ่งผิดปกติทางระบบโซเชียลมีเดียช่วยกันปกป้องพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะบุคคลที่โพสต์ข้อมูลอันไม่เหมาะสมแม้จะมีจำนวนมามากแต่จะใช้วิธีปลอมตัวหลายคน แต่หวังผลให้เกิดการสั่นสะเทือนในวงกว้าง ถือเป็นวิธีที่ลงทุนน้อยแต่ได้ผลแรง อยากให้คนที่กระทำผิดในลักษณะนี้ย้อนมองตัวเองว่า ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เท่าเศษเสี้ยวของพลเมืองที่ดีของประเทศหรือไม่ ถ้าทำให้ได้สักเศษเสี้ยวแล้วค่อยวิจารณ์

 

DSI ระบุหากผู้เกี่ยวข้อง ศอฉ.ไม่ชี้แจงแผนผังล้มเจ้า อาจสั่งไม่ฟ้องคดี

คมชัดลึกรายงานว่าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555  พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐหรือคดีล้มเจ้าตามผังศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ( ศอฉ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะพนักงานสอบสวนว่า จะทำหนังสือถึงนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อให้ชี้แจงที่มาและโครงสร้างของหน่วยข่าวที่ร่วมกันจัดทำแผนผังล้มเจ้า เนื่องจากนายถวิลยังไม่แจ้งกลับมายังพนักงานสอบสวนว่าจะให้สอบปากคำบุคคลใดบ้าง

ทั้งนี้หากนายถวิลในฐานะเลขาศอฉ.ไม่สามารถชี้แจงที่มาของแผนผังล้มเจ้าได้ ดีเอสไอจำเป็นต้องเชิญนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศอฉ.เข้าชี้แจงว่าแผนผังดังกล่าวจัดทำขึ้นจากหลักฐานใดบ้าง การเชื่อมโยงถึงตัวบุคคลในผังมีหลักฐานความผิดอย่างไร และกระทำผิดในเหตุการณ์ใด เนื่องจากบางรายชื่อในผังยังไม่มีการกระทำความผิด ทั้งนี้หากนายสุเทพและนายถวิลยังไม่สามารถชี้แจงได้พนักงานสอบสวนอาจพิจารณายกฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานระบุความผิดของบุคคลที่มีรายชื่อตามแผนผังทั้ง 39 คนได้

“การที่นายถวิลระบุว่าผังล้มเจ้าทั้ง 39 รายชื่อ มีบางคนไม่ได้กระทำความผิด ถือว่าขัดแย้งกับคดี เพราะศอฉ.กล่าวโทษทั้งหมดในผัง แต่ที่ผ่านมาพยานฝ่ายทหารที่เข้าให้การระบุตรงกันว่ามีบางคนไม่ได้กระทำความผิด ดังนั้นจึงต้องนำหลักฐานมาพิสูจน์ให้ชัดเจน คดีนี้ยืดเยื้อมาเกือบ 2 ปี ถือว่านานพอสมควรจึงต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้น”พ.ต.อ.ประเวศน์กล่าว

พ.ต.อ.ประเวศ ยังกล่าวว่า ในวันที่ 25 ม.ค.นี้จะมีการประชุมกับพนักงานอัยการฝ่ายคดีต่างประเทศและเจ้าหน้าที่จากกรมการกงสุลเพื่อขออนุมัติวีซ่าเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อไปสอบปากคำพยานคดีความผิดในมาตรา 112 ในส่วนที่มีการกระทำความผิดในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้คดีเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกับคดีล้มเจ้าจำนวนกว่า 30 คดี ได้ทยอยสั่งฟ้องอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้สั่งฟ้องนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน ไปอีก 1 คดี และสั่งไม่ฟ้องคดีวิทยุชุมชน 10 สำนวน ส่วนที่ยังค้างการพิจารณาส่วนใหญ่เป็นคดีความผิดในต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้รับความร่วมมือในการสอบสอน เนื่องจากไม่มีฐานความผิดดังกล่าวในกฎหมายต่างประเทศ

 

ทีมสอบสวนคดีผังล้มเจ้า มีมติเชิญ"สุเทพ"ในฐานะ ผอ.ศอฉ.แจงที่มา

มติชนออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 55 ว่านายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 มกราคม พ.ต.อ.ประเวศ มูลประมุข รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะประธานชุดสอบสวนคดีผังล้มเจ้าของ ศอฉ. ได้มีมติในที่ประชุมว่า ให้เชิญบุคคลอื่น นอกเหนือจากนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช. ที่มาชี้แจงไปแล้วเพิ่มเติมจำนวนหลายคน โดยหนึ่งในนั้นมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศอฉ.รวมอยู่ด้วย โดยขั้นตอนต่อไปดีเอสไอจะส่งหนังสือไปยังอัยการ เพื่อลงนามให้ความเห็นชอบ ก่อนจะกำหนดวันและเวลาที่จะเชิญนายสุเทพมาชี้แจง โดยคาดว่าในวันที่ 25 มกราคมนี้ จะนำหนังสือและมติของดีเอสไอไปให้อัยการพิจารณา

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวทีนิวส์, บ้านเมือง, คม ชัด ลึก, มติชนออนไลน์

 

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น