โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กรรมการ อมธ. วอนผู้บริหารทบทวนมติห้ามใช้พื้นที่เคลื่อนไหว ม.112

Posted: 31 Jan 2012 11:45 AM PST

 คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ชี้มติผู้บริหารห้ามใช้พื้นที่เคลื่อนไหว ม.112 กระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการไม่อนุญาตให้บุคลากรแสดงความคิดเห็นย่อมไม่ต่างอะไรกับการทำลายเสาค้ำยันในความเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเสรีภาพในทางความคิดทิ้งไป

วันนี้ (1 ก.พ.) คณะกรรมการบริหาร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เผยแพร่แถลงการณ์ "กรณี มติคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อเคลื่อนไหว มาตรา ๑๑๒..." ลงในเฟซบุคของกลุ่ม โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กรณี มติคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อเคลื่อนไหว มาตรา ๑๑๒

ตามที่ได้มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เขียนข้อความผ่านทาง Facebook ว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ซึ่งมีข้อความว่า “ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาลัยเพื่อเคลื่อนไหวกรณีมาตรา ๑๑๒ อีกต่อไป เพราะมหาลัยเป็นสถานที่ราชการ การอนุญาตต่อไปอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาลัยหรือมหาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในบริเวณมหาลัย จนมหาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาลัยได้” นั้น องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ในฐานะผู้แทนของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่ามติที่มีผลผูกพันดังกล่าวมีเนื้อหาที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) จึงขอแสดงจุดยืนที่มีต่อมติดังกล่าว ดังนี้

1) อมธ. ร้องขอให้ทบทวนมติของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ตามที่ท่านอธิการบดีได้ระบุไว้ข้างต้น เพราะมติดังกล่าวมีเนื้อหาที่กระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

2) มหาวิทยาลัยเปรียบได้กับห้องทดลองในทางสังคมศาสตร์ เป็นสถานที่หลักในการขับเคลื่อนพัฒนาการในทางวิชาการ เปรียบได้กับพัฒนาการในทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องอาศัยห้องทดลองเป็นสำคัญ การไม่อนุญาตให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยแสดงความคิดเห็นย่อมไม่ต่างอะไรกับการทำลายเสาค้ำยันในความเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเสรีภาพในทางความคิดทิ้งไป

3) เพื่อความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว จึงขอเรียกร้องให้ท่านอธิการบดี ชี้แจงถึงมติดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นการทั่วไป ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจโดยทั่วกัน

สุดท้ายนี้ อมธ. ยังคงยืนยันในจุดยืนแห่งการมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเรายังคงเคารพในความเห็นที่แตกต่างไม่ว่าจะมาจากกลุ่มใดก็ตาม ตราบเท่าที่ความคิดเห็นเหล่านั้นยังคงอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย

ทั้งนี้ อมธ. ในฐานะผู้แทนของนักศึกษาซึ่งมีความหลากหลายทางความคิด ขอรับรองว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ใช่กลุ่มทางการเมืองใด และไม่มีกลุ่มทางการเมืองใดเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากแต่ความสวยงามในความคิดเห็นที่แตกต่างคือภาพสะท้อนแห่งความเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่แท้จริง

ด้วยจิตคารวะ

คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้เชี่ยวชาญสื่อกังวลไทยหนุนนโยบายใหม่ทวิตเตอร์

Posted: 31 Jan 2012 11:12 AM PST

สืบเนื่องจากกรณีการที่นางจิราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ถึงการสนับสนุนนโยบายการ “เลือกเซ็นเซอร์” (selective censorship) ของทวิตเตอร์ที่ประกาศเมื่อเร็วๆนี้ ที่จะเซ็นเซอร์ข้อความที่ไม่เหมาะสมตามกฎหมายภายในตามคำร้องขอจากทางการประเทศต่างๆ ทำให้เกิดความกังวลจากหลายฝ่ายว่านโยบายดังกล่าวอาจถูกใช้โดยรัฐเพื่อปิดกั้นข้อมูลข่าวสารมากกว่าเดิมนั้น

ทาง Gayathry Venkiteswaran ผู้อำนวยการองค์กร “พันธมิตรสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Southeast Asian Press Alliance - SEAPA) ซึ่งรณรงค์เรื่องเสรีภาพสื่อในระดับนานาชาติ ได้ให้ความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า ถึงแม้นโยบายการเลือกเซ็นเซอร์ของทวิตเตอร์จะไม่ใช่สิ่งใหม่ในหมู่โซเชียลมีเดียรายอื่นๆ เพราะกูเกิ้ลหรือเฟซบุ๊กก็ใช้วิธีแบบเดียวกัน แต่การที่ประเทศซึ่งมีกฎหมายริดรอนสิทธิเสรีภาพนำนโยบายดังกล่าวไปใช้ อาจทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเสี่ยงต่อการเผชิญการปิดกั้นข้อมูลที่เข้มข้นมากขึ้น

Gayathry มองว่า ถึงแม้ทวิตเตอร์จะยืนยันในหลักการความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยคำร้องขอจากรัฐบาล และเนื้อหาที่ถูกปิดกั้น แต่ในท้ายที่สุด รัฐบาลอาจจะหาข้ออ้างเพื่อปิดกั้นข้อมูลดังกล่าวได้อยู่ดี เช่น อ้างว่าเป็นข้อมูลในระหว่างการสืบสวนคดี เป็นต้น

“เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง ภาคประชาสังคมควรจับตาดูนโยบายนี้อย่างใกล้ชิด” Gayathry กล่าว

ทั้งนี้ ทางเว็บไซต์ทวิตเตอร์ได้ประกาศเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมาว่า จะเริ่มใช้นโยบาย “เลือกเซ็นเซอร์” ข้อความที่ไม่เหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับความอ่อนไหวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ เช่น การแบนเนื้อหาที่สนับสนุนนาซีในเยอรมนี และฝรั่งเศส เป็นต้น โดยทวิตเตอร์ระบุถึงข้อดีนโยบายนี้ว่า จะปิดกั้นการเข้าถึงข้อความนั้นๆ เฉพาะจากภายในประเทศ แต่ผู้ใช้จากประเทศอื่นๆ ยังคงสามารถเข้าถึงได้อยู่ ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่ผู้ให้บริการจำเป็นต้องลบข้อความออกจากฐานข้อมูลสากลทั้งหมด

Twitter selective censorship

หลังจากที่ทวิตเตอร์ประกาศนโยบายดังกล่าว ก็เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใช้ทวิตเตอร์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองในประเทศที่มีเสรีภาพสื่อและการแสดงออกจำกัด พร้อมกับการนัดประท้วงออนไลน์เพื่อคัดค้านนโยบายนี้ด้วย อ้าย เหว่ย เหว่ย ศิลปินวิพากษ์สังคมชื่อดังของจีน ก็ได้ทวีตข้อความที่ระบุว่า “หากทวิตเตอร์จะเซ็นเซอร์ ผมก็จะหยุดใช้”  

“ทวิตเตอร์นั้นถูกนำเข้ามาใช้ในขบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองอย่างแยกไม่ออก มันเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันไปแล้ว ฉะนั้น ทวิตเตอร์ก็ไม่ควรจะแยกตัวเองออกไปจากหลักการขั้นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน นั่นคือเสรีภาพในการแสดงออก” Gayathry ให้ความคิดเห็น

สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง เช่น The Guardian, The Next Web ก็ได้รายงานกรณีที่ทางการไทยกลายเป็นที่แรกในโลกที่ออกมาขานรับนโยบายใหม่นี้อย่างเปิดเผย และตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนโยบายการปิดกั้นข้อมูลและเสรีภาพการแสดงออกรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

ทางด้านปลัดกระทรวงไอซีทียืนยันว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้าหากเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตไปกระทบกับสถาบันฯ และหมิ่นเบื้องสูง ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องใช้กฎหมายเข้ามาจัดการ

"เรายืนยันว่ายังให้สิทธิ์แสดงเสรีภาพ แต่หากการแสดงนั้นไปละเมิดเรื่องที่คนไทยเคารพ หรือเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือเชื้อพระวงศ์ ก็เป็นสิ่งที่กระทรวงยอมไม่ได้ที่จะปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น เราได้อธิบายกับผู้ดูแลทวิตเตอร์รับทราบอย่างดีถึงสถาบันกษัตริย์ของไทยที่ ใครจะละเมิดไม่ได้  เรายอมรับว่าได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือไปให้ผู้ดูแลทวิตเตอร์จริง และทางนั้นก็ยินดีจะให้ความร่วมมือกับเรา แต่อาจบังเอิญว่าเป็นจังหวะเดียวกับที่ทางทวิตเตอร์ได้ประกาศจะเข้มข้นกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมด้วย ส่วนบางคนที่โพสต์ด้วยถ้อยคำหรือสำนวนที่ทางทวิตเตอร์แปลแล้วไม่เข้าใจ ก็จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงไอซีทีในการติดตามและเอาผิดทางกระบวนการยุติธรรม" นางจิราวรรณ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นัดประท้วงนิติราษฎร์ แสดงพลังหน้า "ลานปรีดี" 2 ก.พ. นี้

Posted: 31 Jan 2012 08:56 AM PST

 กนก รัตน์วงศ์สกุลปัดไม่ได้เป็นแกนนำเดินขบวน แต่ขอต้านนิติราษฎร์ด้วยโดยเรียกร้องให้คว่ำบาตรนิติราษฎร์ ขณะที่ "ธรรมศาสตร์เสรีฯ" เตรียมวางหรีดรูปปั้นป๋วย-ปรีดี ส่วน "ชาญวิทย์-เกษียร-พนัส" เตรียมบรรยาย "ปรีดี พนมยงค์ กับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"

"วารสารฯ ต้านนิติราษฎร์" เตรียมแสดงพลังที่ลานปรีดี

มีรายงานว่าในเฟซบุ๊ก "วารสารฯ ต้านนิติราษฎร์" ซึ่งมีสมาชิกเพจเกิน 2,000 คน (เวลา 23.30 น. วันที่ 31 ม.ค.) ได้นัดหมายกันที่หน้าคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการกระทำของคณะนิติราษฎร์ โดยระบุว่า "นัดรวมพลที่หน้าคณะวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 14.00 น. (บ่ายสองโมง)"

ในประกาศระบุว่าจะมีการแสดงพลังเพื่อประกาศเจตนารมณ์ ณ ลานปรีดี โดย กนก รัตน์ วงศ์สกุล ผู้แทนศิษย์เก่า และจะยื่นหนังสือต่ออธิการบดีที่ตึกโดม พร้อมร้องเพลงถวายพระพร หันหน้าไปยังฝั่งศิริราช

 

กนกยันไม่ได้เป็นแกนนำ แต่ขอเรียกร้องให้คว่ำบาตรนิติราษฎร์

ขณะเดียวกัน นายกนก รัตน์วงศ์สกุล ที่ถูกอ้างถึงในประกาศดังกล่าว ได้โพสต์ในเฟซบุค ว่า "เพิ่งเสร็จจากงานแถลงข่าวคอนเสิร์ต Do for Dad ของพี่แต๋ง ภูษิต ไล้ทอง (3 มี.ค.นี้) ออกมาเจอแถลงการณ์ ′กนกนำทีมลูกแม่โดม ตะเพิดนิติราษฎร์ จี้อธิการ มธ.สอบวินัย-อาญา′ เผยแพร่ไปตามเว็บข่าวต่างๆ...ผมงงมาก แต่เดิมคือ พี่ๆเพื่อนๆวารสารฯชวนให้ไป ′ประชุมเพื่อกำหนดท่าทีว่าจะมีมติอย่างไร′ ในวันที่ 2 ก.พ. ผมก็จะไปร่วมประชุมด้วย เพราะเราไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์แน่ แต่ที่จะ ′ตะเพิด - ให้อธิการเอาผิดทางวินัยและอาญา - มีเดินขบวน!!′ ตรงนี้มาได้อย่างไร? ในเมื่อยังไม่ประชุมเลย หรือพวกเราไปประชุมกันตอนไหน? ทำไมกนก..แกนนำคนนี้ ไม่รู้เรื่องเลย! ถามผมหรือยังว่า เห็นด้วยกับมตินี้หรือไม่? ทาง มธ.ก็เพิ่งมีมติห้ามนิติราษฎร์ใช้สถานที่ เห็นที..โดนแม่ด่าอีกแล้ว ทะลึ่งจะไปนำขบวน >.<"

กนก ยังโพสต์ต่อเนื่องด้วยว่า "ผมเป็นลูกแม่โดมคนหนึ่ง คนที่จบออกมาด้วยการรับพระราชทานปริญญาจากพระหัตถ์ในหลวง เหมือนลูกแม่โดมอีกมากมาย จะอย่างไรผมก็ยืนอยู่ข้าง "วารสารฯต้านนิติราษฎร์" ผมและเพื่อนพ้องน้องพี่วารสารศาสตร์ทุกรุ่น ไม่อยากให้คนที่บังอาจ คิดริดรอนพระราชอำนาจของในหลวง..อยู่ในรั้วธรรมศาสตร์! พวกนี้อาศัยคำว่า เสรีภาพทางวิชาการ แสดงความเห็นโดยไม่แยแสหัวใจคนไทย รวมหัวกันย่ำยีความรู้สึกของสังคม ผมขอเรียกร้องให้ลูกแม่โดมทุกคน บัณฑิตจากสถาบันอื่น ประชาชนทุกหมู่เหล่า ร่วมกันปกป้องศูนย์รวมจิตใจของไทย ด้วยการคว่ำบาตรทางสังคมทุกๆ ด้าน ต่อ "นิติราษฎร์" กลุ่มนี้"

 

"ธรรมศาสตร์เสรีฯ" เตรียมวางหรีดไว้อาลัยเสรีภาพ

ขณะเดียวกัน ในวันที่ 3 ก.พ. เวลา 14.00 - 17.00 น. จะมีการบรรยายสาธารณะหัวข้อ "ปรีดี พนมยงค์ กับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ณ ห้องประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ชั้น 2 อาคารเอนกประสงค์ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีผู้ร่วมอภิปรายได้แก่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้านกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยจะทำการวางพวงหรีดเพื่อคัดค้านการห้ามรณรงค์เกี่ยวกับมาตรา 112 และไว้อาลัยให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ทำลายตัวเองด้วยการปิดกั้นเสรีภาพดังกล่าวที่รูปปั้น ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันพฤหัสบดีที่ 2 ก.พ. เวลา 14.00 น. และที่รูปปั้นปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันอาทิตย์ที่ 5 ก.พ. เวลา 14.00 น.

 

สมาคมสถาบันพระปกเกล้า เรียกร้องให้หยุดละเมิดสถาบันกษัตริย์

มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ นายกสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า เป็นประธานแถลงการณ์คณะกรรมการสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้าเรื่องการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ของคณะกลุ่มบุคคลที่ได้อ้างความเป็นนักวิชาการและเสนอต่อสาธารณะในการแก้ไขมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และนำไปสู่การละเมิด พาดพิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันของชาติให้เกิดความเสียหาย และ กระทบกระเทือนต่อจิตใจประชาชนทั่วทุกหมู่เหล่า และขยายวงไปสู่ความขัดแย้งและแตกยกของผู้คนในสังคม

ดังนั้นสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้าในฐานะศูนย์รวมของนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่าของสถาบันพระปกเกล้า และมีวัตถุประสงค์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและสร้างความห่วงใยต่อพฤติกรรมและการกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวที่ก้าวเลยความเป็นนักวิชาการที่แสดงออกอย่างบริสุทธิ์ใจอย่างมีจรรยาบรรณ อย่างที่วิญญูชนพึงแสดงออกและพึงกระทำ คณะกรรมการสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้าจึงขอเรียกร้องต่อสาธารณะดังนี้

1.ให้คณะบุคคลดังกล่าวได้ยุติการกระทำที่ละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

2.ขอให้สถาบันการศึกษาต้นสังกัดของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ได้ดำเนินการควบคุมพฤติกรรมและการกระทำที่สร้างความแตกแยกแก่สังคมและประเทศโดยรวม และพิจารณาถึงการกล่าวอ้างตำแหน่งทางวิชาการของสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงของประเทศไปแสวงหาผลประโยชน์ให้เกิดแก่กลุ่มตนเองและพวกพ้องแห่งตน ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

3.ขอเรียกร้องให้สาธารณะสังคมได้โปรดติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของกลุ่มคณะบุคคลดังกล่าวต่อไปอย่างใกล้ชิด

คณะกรรมการสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้าจึงแถลงมายังสังคมและประชาชนให้ทราบโดยทั่วกัน และขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี ปกป้องเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดฝรั่งเศส แล้วคิดถึงมติ กก.บห.ธรรมศาสตร์

Posted: 31 Jan 2012 08:35 AM PST

กรณีนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตน เผยแพร่ความว่า [๑]

"ที่ประชุมกรรมการบริหารมหาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งประกอบด้วยคณบดี ผู้อำนวยการสำนักสถาบันมีมติเอกฉันท์ว่ามหาลัยคณะสำนักสถาบันจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาลัยเพื่อเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 อีกต่อไป เพราะมหาลัยเป็นสถานที่ราชการ การอนุญาตต่อไปอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนีนการของมหาลัยหรือมหาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในบริเวณมหาลัย จนมหาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาลัยได้"

หลักการพื้นฐานของกฎหมายปกครองประการหนึ่ง  ซึ่งจะให้ความกระจ่างในเรื่องนี้คือ หลักความจำเป็น (Principle of Necessity) บนความคิดเบื้องหลังหลักการนี้มีอยู่ว่า "ในระหว่างสิ่งที่เลวร้ายตั้งแต่สองสิ่งขึ้นไปที่จำต้องเลือก  บุคคลควรเลือกสิ่งที่เลวร้ายน้อยที่สุด" หลักการนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รับรองไว้ในมาตรา 29 วรรคหนึ่ง [๒]

เราอาจเห็นภาพพจน์ได้ดียิ่งขึ้น และสอดคล้องกับเนื้อหาอย่างบริบูรณ์ สำหรับพิจารณาเทียบเคียงกรณี "มติ" ซึ่งนายสมคิดฯ เผยแพร่ ข้างต้น  สมควรพิจารณาโดยอาศัยคำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานศาลปกครองสูงสุดแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่ปรากฏข้อเท็จจริงใกล้เคียงกันและน่าสนใจยิ่ง ดังนี้ [๓]

ศาลปกครองสูงสุดแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (Conseil d'Etat) ได้ใช้หลักแห่งความจำเป็น  บังคับแก่คดีพิพาทหลายคดี  คำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานได้แก่  C.E., 19  mai  1933, Benjamin*

ข้อเท็จจริงในคดีนี้มีว่า  ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งเมือง Nevers ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศสมีดำริที่จะจัดประชุมทางวรรณกรรมขึ้น  และได้เชิญนาย René  Benjamin  มาแสดงปาฐกถาต่อที่ประชุมนี้ด้วย

สหภาพครูได้แจ้งให้นายกเทศมนตรีเมือง  Nevers  ทราบว่าจะทำการต่อต้านการเดินทางมาแสดงปาฐกถาของนาย René  Benjamin ทุกวิถีทาง  ทั้งนี้  เพราะบุคคลผู้นี้ได้เคยกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นเหยียดหยามบรรดาครูผู้สอนในโรงเรียนที่ไม่ขึ้นต่อศาสนาไว้ในข้อเขียนต่าง ๆ ของตนหลายครั้ง  พร้อมกันนั้นก็ได้เรียกร้อง  ทั้งโดยหน้าหนังสือพิมพ์  ใบปลิว  และป้ายโฆษณา  ให้บรรดาผู้สนับสนุนโรงเรียนของรัฐ  สหภาพ  ตลอดจนกลุ่มฝ่ายซ้ายต่าง ๆ มาชุมนุมต่อต้านด้วย

นายกเทศมนตรีแห่งเมือง Nevers  พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการเดินทางมาเมือง Nevers ของนาย René  Benjamin เพื่อแสดงปาฐกถาทางวรรณกรรม  น่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในเมืองนี้ได้  จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙๗ แห่งกฎหมายลงวันที่ ๕ เมษายน ค.ศ.๑๘๘๔  ซึ่งบัญญัติว่า  "นายกเทศมนตรีมีอำนาจหน้าที่ออกมาตรการที่จำเป็นแก่การรักษาความสงบเรียบร้อย"  ออกคำสั่งห้ามมิให้จัดประชุมฟังการแสดงปาฐกถาของนาย René  Benjamin

ศาลปกครองสูงสุดแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส  พิพากษาว่า  คำสั่งของนายกเทศมนตรีแห่งเมือง Nevers  ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ทั้งนี้โดยแสดงเหตุผลประกอบคำพิพากษาสรุปได้ว่า  ความไม่สงบเรียบร้อยอันอาจเกิดขึ้นจากการมาปรากฏตัวของนาย René  Benjamin  ในเมือง Nevers  นั้นมิได้ร้ายแรงถึงขนาดที่นายกเทศมนตรีไม่สามารถป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้ด้วยวิธีอื่นที่มีความรุนแรงน้อยกว่าคำสั่งดังกล่าว  กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือคำสั่งของนายกเทศมนตรีแห่งเมือง Nevers ที่ห้ามมิให้จัดประชุมฟังการแสดงปาฐกถาของนาย René  Benjamin  นั้นเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะของประชาชนเกินขอบเขตแห่งความจำเป็นแก่การรักษาความสงบเรียบร้อยของเมือง  Nevers

คดี Benjamin คงทำให้ท่านผู้อ่านประจักษ์แก่คำตอบว่า "มติที่ประชุมกรรมการบริหาร มธ." ซึ่งห้ามคณะนิติราษฎร์ใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินกิจกรรมทางวิชาการและใช้ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้นั้น ย่อมขัดหลักการพื้นฐานของกฎหมายปกครอง ส่งผลให้มติดังกล่าว เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย.

 

เชิงอรรถ
* M. LONG, P.  WEIL, G.  BRAIBANT,  Les grands  arrêts  de  la  jirisprudence  administrative, 7e édition, Paris,  Sirey, 1978. pp. 217 - 222.

[๑] มติชน (ออนไลน์), ‘"สมคิด" ระบุผู้บริหารมีมติไม่ให้ใช้พื้นที่มธ.เคลื่อนไหว 112 "เกษียร" ชี้น่าเสียใจ นศ.-ศิษย์เก่า ต้าน’ :  http://www.matichon.co.th/news_detail.php newsid=1327920954&grpid&catid=01&subcatid=0100

[๒] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรคหนึ่ง “การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้”

[๓] คัดข้อความจาก :  วรพจน์  วิศรุตพิชญ์. สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2543. หน้า 89 - 90.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักศึกษา ม.มหาสารคามไม่ได้รับอนุญาตใช้พื้นที่จัดเสวนาเรื่องกฎหมายหมิ่น

Posted: 31 Jan 2012 08:24 AM PST

วันที่ 31 ม.ค. นักศึกษาและศิษย์เก่า วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคามส่วนหนึ่งเปิดเพจเพื่อระดมรายชื่อ ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน และบุคคลทั่วไปเพื่อเตรียมยื่นจดหมายต่อคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง กรณีไม่อนุญาตให้ให้สถานที่จัดเวทีเสวนาเรื่อง “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์”

นายโอภาส สินธุโคตร นักศึกษาวิทยาการเมืองการปกครองเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ กลุ่มนักศึกษาได้ร่วมกับอาจารย์ในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีความสนใจที่จะจัดเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” โดยเป็นความพยายามที่จะสร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พูดคุยและถกเถียงปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในสังคม ให้แก่นิสิตและผู้ที่สนใจทั่วไป ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ตึก D วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

อย่างไรก็ตาม เมื่อทีมผู้จัดงานได้ทำเรื่องขออนุญาตขอใช้สถานที่และจัดเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” ผลปรากฏว่า คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครองไม่อนุญาตให้ใช้ ตึก D วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นสถานที่จัดงานดังกล่าว

ทั้งนี้ การรวบรวมรายชื่อดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 2 ก.พ.ที่จะถึงนี้ โดยวันดังกล่าวนักศึกษาและศิษย์เก่าจะร่วมกันอ่านจดหมายเปิดผนึกวางพวงหรีดและทำพิธีสืบชะตาวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ในเวลา 12.12 น. ที่หน้าวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม

รายละเอียดของจดหมายมีดังนี้

จดหมายเปิดผนึก
วันที่ 31 มกราคม 2555

เรื่อง ขอเหตุผลที่ไม่อนุญาตให้จัดเวทีเสวนาวิชาการ
เรียน คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ตามที่กลุ่มนิสิตที่สังกัดวิทยาการเมืองการปกครอง ร่วมกับอาจารย์ในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีความสนใจที่จะจัดเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” โดยเป็นความพยายามที่จะสร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พูดคุยและถกเถียงปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในสังคม ให้แก่นิสิตและผู้ที่สนใจทั่วไป ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ตึก D วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

แต่กระนั้น เมื่อทีมผู้จัดงานได้ทำเรื่องขออนุญาตขอใช้สถานที่และจัดเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” ผลปรากฏว่า คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครองไม่อนุญาตให้ใช้ ตึก D วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นสถานที่จัดงานดังกล่าว

ในขณะที่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะองค์กรทางวิชาการ ดำเนินงานตามพันธกิจด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ที่เกี่ยวกับ การเมืองการปกครองและกฎหมาย รวมทั้งการเมืองท้องถิ่นในอีสาน เพื่อทำหน้าที่ในการสร้างองค์ความรู้ และแสวงหาข้อเท็จจริง (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิติด้านการเมืองการปกครอง) ให้เป็นไปอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น โดยหวังว่าด้วยข้อมูลและองค์ความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจของนิสิตและสาธารณชน

ซึ่งประเด็นเรื่องกฎหมายอาญา มาตรา 112 กำลังเป็นประเด็นทางการเมืองที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง จึงเป็นสิ่งที่สมควรยิ่งที่วิทยาลัยการเมืองการปกครองจะเป็นพื้นที่ที่สร้างความรู้ ความเข้าใจแก่นิสิตและผู้ที่สนใจ ผู้ซึ่งเป็นคณะบริหารและคณาจารย์ควรจะเห็นถึงความสำคัญของมหาวิทยาลัย ในการเป็นพื้นที่เปิดที่สามารถจัดกิจกรรมทางสังคม การเมือง และการวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงอย่างเปิดกว้าง

และยิ่งไปกว่านั้น วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ก่อตั้งขึ้นเพื่อมุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชารัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ เป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้นทางการเมือง และมีจิตสำนึกที่รับใช้สังคม ในขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์กลางทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงที่อำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติ

ดังนั้นในฐานะของนิสิต, คณาจารย์, ศิษย์เก่า แห่งวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้รักในเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ที่ลงมติในการไม่อนุญาตให้ใช้ วิทยาลัยการเมืองการปกครองเป็น พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนในเวทีเสวนาวิชาการหัวข้อ “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” ออกมาชี้แจงและให้เหตุผลประกอบการตัดสินใจดังกล่าวด้วย เพราะการกระทำดังกล่าวถือเป็นการขัดขวางความหลากหลายทางความคิดและปิดกั้นโอกาสในการพูดคุย ถกเถียง ประเด็นทางสังคมและการเมือง ไม่ให้นักศึกษาและคณาจารย์แสดงเสรีภาพทางความคิด

เชื่อมั่นแห่งอุดมการณ์ สิทธิและเสรีภาพเป็นของทุกคน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สื่อหลัก 'มาเลย์-อินโด' ตีข่าว ทหารพรานกราดยิงรถชาวปัตตานี

Posted: 31 Jan 2012 08:21 AM PST

สำนักข่าวเบอร์รีตาฮารียันของมาเลเซียและสำนักข่าวอันตารานิวส์ของอินโดนีเซีย ต่างรายงานข่าวกรณีทหารพรานที่จังหวัดปัตตานีของไทย กราดยิงรถยนต์ของชาวมุสลิมระหว่างเดินทางไปละหมาดเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย โดยหนึ่งในนั้นมีชายชราวัย 70 ปีรวมอยู่ด้วย

ในเนื้อหาของข่าวมีการนำคำสัมภาษณ์ของคนขับรถหนึ่ง ซึ่งเป็นเหยื่อที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยคนขับรถเล่าถึงวินาทีระทึกขณะเกิดเหตุการณ์และระหว่างหลบหนีเพื่อเอาตัวรอด

นอกจากนี้ยังมีการนำบทสัมภาษณ์ของ พ.ต.อ.ชนวีร์ ชมาฤกษ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหนองจิก จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ทางตำรวจจะตรวจสอบอาวุธปืนที่พบในรถของชาวบ้านทั้งสองกระบอกอย่างละเอียดอีกครั้ง หลังคนขับรถปฏิเสธว่าปืนทั้งสองกระบอกไม่ใช่เป็นของคนในรถและยืนยันจะให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย

ในส่วนท้ายของเนื้อหาข่าวได้รายงานสถิติจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(DeepSouthWatch) ถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2547 โดยมีตัวเลขผู้เสียชีวิตถึง 5,000 คนและบาดเจ็บถึง 8,300 คน  

 

 

ที่มา
http://www.bharian.com.my/bharian/articles/4balikmajlispengebumianmaut/Article
http://www.antaranews.com/berita/295153/polisi-empat-orang-ditembak-mati-paramiliter-di-thailand-selatan

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทกวี: ในนามของความรัก

Posted: 31 Jan 2012 08:11 AM PST

ในนามของความรัก

 

คมปากกาตวัดเชือดจนเลือดสาด

คมพยาบาทขมความแค้นแน่นคอหอย

กรามกัดกรามเขี้ยวขบเขี้ยวจนเขียวรอย

ถ่อยสุดถ่อยต่ำสุดต่ำขย้ำกลืน

 

ฝ่าตีนเหยียบส้นตีนย่ำทำทุกท่า

เดรัจฉานผลาญวิชาหน้าระรื่น

ไร้สำนึกไร้สำนักไร้หลักยืน

วิชากลวงวิชากลืนวิชากรรม

 

เนรคุณเนรทุนเนรเทศ

สัญชาติเปรตเศษคนพ่นกระหน่ำ

ข้อมูลเท็จข้อมูลเทียมข้อมูลทำ

เรื่องน้ำเน่าเรื่องน้ำครำยำกันไป

 

ท้ายที่สุดจนปัญญาหาเหตุผล

ไล่ปราบคนไล่ปิดคำทำไม่ได้

จึงข่มขู่คุกคามไปตามไท

ด้วยอำนาจด้วยบาตรใหญ่ด้วยศักดา

 

เพราะเหตุนี้ประตูนั้นจึงถูกปิด

มิตรไร้มิตรศิษย์ไร้ครูครูไร้ค่า

เสรีภาพน้ำใจแลปัญญา

จึงถูกฆ่า...ในนามของความรัก

 

                                                                                                           

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

Posted: 31 Jan 2012 08:10 AM PST

"บ่อยครั้งที่การยืนบนที่สูงที่สุดเพื่อให้คนเห็นหน้าว่าตนจงรักภักดีกว่าใครนั้น ก็ยืนขึ้นโดยเหยียบหัวผมขึ้นไป พร้อมกับร้องว่าผมเนรคุณ บางคนแสดงความจงรักภักดีไปพร้อมกับการเหยียดหยามคนอื่น หรือบางกลุ่มก็แสดงความอาฆาตมาดร้าย ก่นด่า ประณามนิติราษฎร์ไปด้วยเพื่อให้ความจงรักภักดีที่คนๆ นั้นกำลังแสดงอยู่นั้นมีน้ำหนักในหน้าสื่อสารมวลชนมากขึ้น"

มติชนออนไลน์, 31 ม.ค. 55

‘โคทม’ จับมือนักการเมืองสามจังหวัด ตั้งวงเสวนาถกปัญหาชายแดนภาคใต้

Posted: 31 Jan 2012 08:08 AM PST

ส่งสัญญาณเอกภาพนักการเมืองชายแดนใต้ รวมหัวถก เสนอ 4 ข้อ แก้ปมไฟใต้ ทลายพรรคพวก ผู้จัดพื้นที่ชี้ นักการเมืองจชต. ขอพื้นที่กลาง กล้าคิด แต่ยังไม่เคยร่วมโต๊ะถกเถียงกันเอง

เวลา 9.00 น. วันที่ 30 มกราคม 2555 ที่ห้องฟาตอนี โรงแรม ซีเอส ปัตตานี จังหวัดปัตตานี นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดเวทีสานเสวนาแลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกกับนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นเวทีปิดเฉพาะนักการเมืองเข้าร่วม 12 คน ประกอบด้วย นายเด่น โต๊ะมีนา อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ นายนัจมุจดีน อูมา อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส พรรคมาตุภูมิ นายอับดุลเลาะห์มาน อับดุลสมัด อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส พรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา พรรคประชาธิปัตย์

นายเจะอามิง โตะตาหยง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ นายแวมาฮาดี แวดาโอะ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส พรรคแทนคุณแผ่นดิน นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ นายบูรฮานูดิน อูเซ็ง อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา พรรคเพื่อไทย นายสุทธิพันธ์ ศรีริกานนท์ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส พรรคเพื่อไทย นายมุข สุไลมาน อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี พรรคมาตุภูมิ นายมูฮำมัดอารีฟีน จะปะกิยา ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี พรรคมาตุภูมิ นายสมพงษ์ สระกวี อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยน จนถึงเวลาที่ 13.00 น. วันเดียวกัน ทั้งหมดได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการเสวนาได้ข้อสรุปทั้งหมด 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.รัฐบาลควรมอบหมายให้รัฐมนตรีอย่างน้อย 1 คน รับผิดชอบการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง 2.ควรผลักดันร่างพระราชบัญญัติศาลชารีอะห์ ร่างพระราชบัญญัติกิจการฮัจญ์ ร่างพระราชบัญญัติอาหารฮาลาล และพระราชบัญญัติกองทุนซะกาต ที่ตกไปจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

3.รถยนต์ที่ใช้ในพื้นที่ จะต้องมีป้ายทะเบียนรถทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดความหวาดระแวงว่าเป็นรถที่ไม่ปรากฏที่มา และอาจมีความประสงค์ร้าย เรื่องนี้ควรแจ้งให้ฝ่ายราชการ โดยเฉพาะด่านตรวจให้ความสนใจและกวดขัน 4.รัฐบาลควรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระศึกษาและพัฒนากระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้ ที่ประชุมกำหนดคร่าวๆ ครั้งต่อไปจะจัดในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555 ที่โรงแรมอิมพีเรียล จังหวัดนราธิวาส ประเด็นที่จะนำขึ้นมาพูดคุยคือ การเตรียมความพร้อมของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยอาจจะเป็นเวทีเปิดให้หลายภาคส่วนเข้าร่วมรับฟัง

สำหรับงานสานเสวนาครั้งนี้ เป็นข้อเสนอจากวงเสวนานักการเมือง ที่ทางสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา จัดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2554 ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี ซึ่งต้องการให้มีวงเสวนาในลักษณะนี้ทุกเดือน เพื่อให้เป็นพื้นที่กลาง สำหรับการถกเถียงของนักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแสดงบทบาทการร่วมแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้ชัดเจน พร้อมกับให้มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบความเคลื่อนไหวข้อเสนอของวงเสวนา รับรู้ว่านักการเมืองในพื้นที่มีท่าทีอย่างไรต่อเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนรับทราบว่า นักการเมืองไม่ได้นิ่งนอนใจ หรือไม่ได้ทำอะไรอย่างที่มีผู้วิจารณ์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โวยทหารพรานยิงชาวบ้านดับ 4 เจ็บ 5 กอ.รมน.โต้! อ้างค้นร้ายแฝงในรถ

Posted: 31 Jan 2012 08:04 AM PST

ญาติผู้ตายโวยถูกเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้ง หลังไล่สกัดคนร้ายที่ถล่มยิงฐานบ้านน้ำดำ ดักยิงชาวบ้านดับ 4 ราย เจ็บอีก 5 โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. แถลงอ้างคนร้ายใช้ชาวบ้านเป็นโล่มนุษย์ พยายามสร้างเงื่อนไขให้เข้าใจผิดว่าเจ้าหน้าที่ทำ

เช้าวันที่ 30 มกราคม 2555 เจ้าหน้าที่ทยอยส่งผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุเจ้าหน้าที่ทหารพรานหน่วยพัฒนาสันติ บ้านน้ำดำ ตำบลปูโล๊ะปูโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ใช้กำลังพร้อมอาวุธไล่สกัดคนร้ายไม่ทราบจำนวนที่ใช้อาวุธสงครามยิงเข้าใส่ฐานปฏิบัติการบ้านน้ำดำ ส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลปัตตานี

สืบเนื่องจากเมื่อเวลา 20.30 น.คืนวันที่ 29 มกราคม 2555 เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบกลุ่มและจำนวนใช้ปืนเอ็ม 79 ยิงใส่ฐานชุดปฏิบัติการทหารพราน 4302 หมู่ที่ 3 บ้านน้ำดำ เป็นเหตุให้ทหารพรานบาดเจ็บเล็กน้อย 1 นาย หลังเกิดเหตุทหารพรานหน่วยพัฒนาสันติบ้านน้ำดำไล่สกัดคนร้าย เมื่อมาถึงบริเวณ หมู่ที่ 1 บ้านกาหยี ตำบลลิปะสาโง อำเภอหนองจิก พบรถยนต์กระบะตอนครึ่งขับมาบนถนนสายบ้านน้ำดำ-บ้านกะหยี มีผู้โดยสารเต็มคัน จึงตั้งจุดสกัด ก่อนถึงแยกทางหลวงสาย 418 เมื่อรถยนต์คันดังกล่าวชะลอความเร็ว เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธสงครามกราดยิงใส่ตัวรถยนต์กระบะคันดังกล่าวพรุนทั้งคัน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที 4 ราย และบาดเจ็บอีก 5 ราย

หลังเกิดเหตุ พ.ต.ท.วีรชาติ คูหามุ รองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร(ผกก.สภ.)หนองจิก นำกำลังตำรวจพร้อมชุดพิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุทันที พบรถยนต์กระบะตอนครึ่ง สีบรอนซ์เงิน มีผู้เสียชีวิต 4 ราย เจ็บสาหัส 3 ราย เจ้าหน้าที่จึงประสานรถเพื่อนำส่งโรงพยาบาลหนองจิก นอกจากนี้ จากการตรวจสอบภายในรถพบปืนสงครามอาก้า 1 กระบอก และปืนพกสั้นขนาด 11 มม.อีก 1 กระบอก

นายแวเตะ อาแวกือจิ บิดาผู้เสียหายโวยว่าถูกเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้งหาว่าผู้ตายนั้นเป็นโจร เพราะก่อนเกิดเหตุ ผู้เสียหายทั้งหมดได้นั่งรถออกมาจากบ้านจำนวน 9 คน เพื่อมุ่งหน้าไปร่วมละหมาดคนตายที่บ้านทุ่งโพธิ์ โดยมีนายยา ดือราแม อายุ 58 ปี ตำแหน่งคอเต็บ เป็นคนขับ เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุทหารพรานตะโกนให้จอด เมื่อรถชะลอความเร็วกลับถูกเจ้าหน้าที่ยิงใส่จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ บางส่วนกระโดดหนีไปหลบที่บ้านญาติ ก่อนที่บรรดาญาติและชาวบ้านในละแวกดังกล่าวช่วยกันนำส่งโรงพยาบาลหนองจิกเป็นการด่วน

นายมะรูดิง แวกะจิ อายุ 15 ปี หนึ่งในผู้บาดเจ็บ เปิดเผยว่า ก่อนเกิดเหตุได้ยินเสียงปืนและเสียงคล้ายลูกระเบิดดังขึ้นฝั่งตรงข้ามของหมู่บ้าน จากนั้นหลังเสร็จจากละหมาดอีชาที่มัสยิดในหมู่บ้าน นายยา ดือราแม ได้ชวนไปละหมาดคนตายที่บ้านโพธิ์ เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุซึ่งมืดมาก มีคนร้ายไม่ทราบจำนวนบอกเป็นภาษาไทยให้หยุดรถทันที ในระหว่างที่รถชะลอความเร็วได้เกิดเสียงปืนดังขึ้นไม่รู้มาจากทิศทางไหน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันทีและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ตนจึงกระโดหนีหลบที่ใต้รถ แต่ก็ถูกยิงเข้าที่แขนขวา 1 นัด จากนั้นจึงได้พยายามหลบหนีเข้าป่า ก็ยังถูกยิงไล่ตามหลังเป็นชุดใหญ่อีก แต่โชคดีกระสุนพลาด ตนจึงเข้าไปหลบอาศัยบ้านของเพื่อนบ้านก่อนที่จะถูกพาส่งโรงพยาบาลต่อไป

นายมะรูดิง แวกือจิ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าใครเป็นยิง และช่วงที่คนร้ายดักยิงนั้นเราไม่ได้มียิงตอบสู้กับคนร้ายแต่อย่างใดเพราะเราไม่มีอาวุธปืนแม้สักกระบอกเดียว จึงได้แต่วิ่งหนีตายอย่างเดียว ตนไม่รู้จริงๆ ว่าทำไมเขาต้องมายิง เพราะจะไปช่วยละหมาดคนตาย ทำไมเขาต้องดักสกัดยิงอย่างเลือดเย็นเช่นนี้

ส่วนรายชื่อผู้เสียชีวิต ได้แก่ นายรอปา บือราเฮง อายุ 18 ปี (ลูกอิหม่าม) อยู่บ้านเลขที่ 37/2 ม.1 บ้านกะหยี ต.ลิปะสาโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี, นายอิสมัน ดือราแม อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 93 ม.1 บ้านกะหยี ต.ลิปะสาโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี, นายสาหะ สาแม อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 93/2 ม.1 บ้านกะหยี ต.ลิปะสาโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี, นายหะมะ สะนิ อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 14 ม.1 บ้านกะหยี ต.ลิปะสาโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยสภาพศพทั้งถูกยิงเข้าที่บริเวณลำตัวและขาเป็นแผลฉกรรจ์

ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บได้แก่ นายยา ดือราแม อายุ 58 ปี ตำแหน่งคอเต็บมัสยิดบ้านกะหยี มีบาดแผลถูกอาวุธเฉียดจำนวน 1 แผล และมีรอยฟกช้ำตามลำตัวเป็นจำนวนมาก, ด.ช.มะรูดิง แวกือจิ อายุ 15 ปี ถูกยิงเข้าที่แขนขวา หัก จำนวน 1 นัด, นายมะแอ ดอเลาะ อายุ 76 ปี และ นายฐอบรี บือราเฮง อายุ 19 ปี โดยทั้งหมดเป็นชาว ต.ลิปะสาโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

ต่อมาเวลา 10.00 น. ที่มัสยิดบ้านตันหยงบูโล๊ะ ตำบลปุโล๊ะปุโย ญาติได้นำร่างของผู้เสียชีวิตประกอบพิธีทางศาสนา ประกอบด้วยศพนายอิสมัน ดือราแม อายุ 55 ปี, นายสาหะ สะแม อายุ 70 ปี, นายรอปา บือราเฮง อายุ 18 ปี และ นายหามะ สะนิ อายุ 65 ปี โดยมีประชานชนจำนวนมากเดินทางมาร่วมละหมาดให้กับผู้เสียชีวิต ก่อนที่จะช่วยกันแบกร่างของผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ไปฝั่งยังกุโบร์ บ้านตันหยงบูโล๊ะ โดยมีชาวบ้านร่วมเดินไปยังกุโบร์กันเป็นจำนวนมาก หลายคนเชื่อว่า ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นผู้บริสุทธิ์ และอยากให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลให้ความช่วยเหลือ

ทหารโต้! อ้างค้นร้ายแฝงตัวในรถ
พล.ต.อัคร ทิพย์โรจน์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในฐานะโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เปิดเผยว่า คนร้ายก่อเหตุใช้เครื่องยิงกระสุนเอ็ม 79 ยิงใส่ฐานชุดปฏิบัติการทหารพราน 4302 บ้านน้ำดำ พยายามจะใช้พี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นโล่มนุษย์กำบัง โดยการอาศัยรถยนต์ของชาวบ้านที่แล่นผ่านมา แฝงตัวเพื่อใช้เป็นเส้นทางในการหลบหนี เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นท่าทางมีพิรุธเข้าตรวจสอบ คนร้ายได้ยิงตอบโต้ใส่เจ้าหน้าที่ ทิ้งหลักฐานแล้วหลบหนีเอาตัวรอดไป

พล.ต.อัคร กล่าวว่า ส่วนเจ้าหน้าที่ได้ทำการตอบโต้กลุ่มคนร้าย ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์รับเคราะห์ ซึ่งเป็นกลลวงของกลุ่มคนร้ายที่พยายามสร้างสถานการณ์ว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างความแตกแยกระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับพี่น้องประชาชน เบื้องต้นขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์อย่างละเอียดก่อน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเชื่อมโยงการก่อเหตุร้ายของกลุ่มคนร้ายในครั้งนี้ ซึ่งจะสามารถระบุได้แน่ชัดว่ามีใครที่เกี่ยวข้องบ้าง

พล.ต.อัคร เปิดเผยด้วยว่า ในที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่สามารถยึดปืนอาก้า AK47 ได้ 1 กระบอก และปืนพกสั้นขนาด 11 ม.ม. 1 กระบอก ซึ่งเป็นอาวุธที่คนร้ายใช้ในการก่อเหตุ โดยทางเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบที่มาของอาวุธปืนว่าคนร้ายเคยนำไปก่อเหตุสร้างสถานการณ์ในพื้นที่ใดบ้าง และเชื่อมโยงไปสู่ผู้ที่ครอบครองต่อไป

พล.ต.อัคร เปิดเผยว่า ด้านการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น ขณะนี้ทางหน่วยศูนย์สันติสุข และทางหน่วยทหารพราน 4302 บ้านน้ำดำ ได้ลงพื้นที่เพื่อพะปะพูดคุยและทำความเข้าใจกับญาติพี่น้องของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ในครั้งนี้ ท่าทีในเบื้องต้นชาวบ้านและญาติพี่น้องยังตกอยู่ในสภาวะโกรธแค้นเจ้าหน้าที่ ยังไม่อยากฟังคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

 

 

ที่มา:  ประมวลจาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักปรัชญาชายขอบ: ความคิดมิจฉาทิฐิ!

Posted: 31 Jan 2012 08:00 AM PST

แรกๆ ที่ตกเป็นเหยื่อ ม.112 และถูกกดดันอย่างหนัก ผมรู้สึกอิจฉาอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และกลุ่มนิติราษฎร์อยู่ไม่น้อยที่พวกเขาเป็นอาจารย์ “ธรรมศาสตร์” ที่ถือกันว่าเป็น “พื้นที่เสรีภาพทุกตารางนิ้ว”
 
แต่พลันที่ปรากฏแถลงการณ์ของชมรมนิติ มธ.2501 เรียกร้องอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้าม “นิติราษฎร์” ใช้สถานที่ของธรรมศาสตร์รณรงค์ยกเลิกหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม. 8 และประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และให้กลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์ ยุติการปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ทันที เพื่อไม่ให้นักศึกษารับ “ความคิดมิจฉาทิฐิ” มาเป็นแบบอย่างต่อไป พร้อมทั้งให้มีการดำเนินการสอบสวนเพื่อลงโทษทางวินัยกลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์ ดังที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น
 
และต่อมา นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 30 มกราคมว่า

"ที่ประชุมกรรมการบริหารมหาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งประกอบด้วยคณบดี ผู้อำนวยการสำนักสถาบันมีมติเอกฉันท์ว่ามหาลัยคณะสำนักสถาบันจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาลัยเพื่อเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 อีกต่อไป เพราะมหาลัยเป็นสถานที่ราชการ การอนุญาตต่อไปอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาลัยหรือมหาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในบริเวณมหาลัย จนมหาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาลัยได้"

 
จึงเป็นที่มาของภาพและข้อความข้างล่างนี้

 
 
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ผมเลิกอิจฉาเลยครับ และตระหนักถึงความเป็นจริงชัดขึ้นว่า ทุกมหาวิทยาลัยในประเทศนี้ไม่มีพื้นที่เสรีภาพแม้แต่ตารางนิ้วเดียวที่จะอภิปรายถกเถียง “ประเด็นสถาบันกษัตริย์” ด้วยเหตุด้วยผลกันเลย
 
แต่คำถามคือ อะไรคือ “ความคิดมิจฉาทิฐิ” ระหว่างความคิดของชมรมนิติ มธ.2501 ที่ยืนยัน “สถานะข้าราชการ” และความคิดของนายสมคิดที่ยืนยันความเป็น “สถานที่ราชการ” ของธรรมศาสตร์เพื่อปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง กับความคิดของนิติราษฎร์ที่ยืนยันเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของ “ราษฎร” และยืนยันความเป็น “บ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร...” ของธรรมศาสตร์ ตามคำประกาศของ ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
 
ข้ออ้างชมรมนิติ มธ.2501 ที่ว่านิติราษฎร์จาบจ้วงสถาบัน ไม่เลื่อมใสในการปกครองระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ไม่ใช่เหตุผล แต่เป็น “การกล่าวหา” ซึ่งก็เป็นพฤติกรรมเดียวกันกับกลุ่มอื่นๆ ที่แทนที่จะแสดงเหตุผลหักล้างข้อเสนอของนิติราษฎร์ ก็ใช้วิธีกล่าวหา (ซึ่งนายสมคิดก็เคยใช้) เช่นว่า เนรคุณทุนอานันทมหิดล ล้มเจ้า เปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง จนกระทั่งด่าหยาบคาย เผาหุ่น ฯลฯ
 
ส่วนเหตุผลของนายสมคิดเรื่องกลัวคนจะเข้าใจผิดว่า ธรรมศาสตร์สนับสนุนการแก้ ม.112 ยิ่งเป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น เพราะเท่ากับสรุปว่า “ชาวบ้านโง่” ไม่มีปัญญาแยกแยะว่าอะไรเป็นเรื่องของคนบางกลุ่ม อะไรเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัย
 
ทีนายสมคิดไปร่างรัฐธรรมนูญให้กับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารโดยบอกว่า “ตนเองไม่ได้สนับสนุนรัฐประหาร” ทำไมไม่แคร์ว่า สังคมจะเข้าใจผิดว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สนับสนุนรัฐประหาร ส่งเนติบริกรของธรรมศาสตร์ไปรับใช้รัฐประหาร ที่ไม่แคร์แสดงว่า สมคิดเชื่อว่าประชาชนมีวุฒิภาวะแยกแยะได้ใช่ไหมว่า อะไรคือความเป็นธรรมศาสตร์ อะไรคือความเป็นสมคิด และถึงสมคิดจะสนับสนุนรัฐประหารหรือไม่ก็เป็นเรื่องของสมคิด ไม่ใช่เรื่องของธรรมศาสตร์
 
ส่วนเรื่องความปลอดภัย นายสมคิดย่อมรู้ว่าการเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์ใช้เหตุผลและสันติวิธีมาตลอด กลุ่มคนที่เข้าร่วมฟังก็ไม่เคยก่อความวุ่นวายหรือความรุนแรงใดๆ มีแต่ฝ่ายที่เห็นแย้งกับนิติราษฎร์อย่างนายสมคิดและฝ่ายอื่นๆ เท่านั้นที่ไม่ได้ใช้เหตุผล แต่ใช้การกล่าวหา ใส่ร้าย ใช้อำนาจ และการข่มขู่คุกคาม เช่น การเผ่าหุ่นอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นต้น
 
แทนที่คณะผู้บริหารจะออกมาปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ และป้องปรามฝ่ายที่คุกคามนิติราษฎร์ กลับใช้อำนาจอำนวยต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของฝ่ายกล่าวหา ใส่ร้าย และข่มขู่คุกคามนิติราษฎร์!
 
หรือว่า “ความแหลมคม” ของเหตุผลในการลบล้างรัฐประหารของนิติราษฎร์มัน “ทิ่มแทง” จรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์สอนกฎหมาย และความชัดเจนในอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนพึงมีอย่างยิ่ง ของคนบางคน บางกลุ่ม
 
ผมเองแม้ไม่ใช่ชาวธรรมศาสตร์ แต่ในฐานะคนไทยคนหนึ่งก็ภูมิใจในประวัติศาสตร์อันงดงามของธรรมศาสตร์ที่เป็นสถานที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยตลอดมา “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” มีอยู่จริงหรือไม่ นั่นอาจเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ แต่ในสถานการณ์ที่สังคมกระหายความรู้ ต้องการ “พื้นที่เหตุผล” ในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยสันติวิธี แล้วนิติราษฎร์ก็ปรากฏขึ้น ข้อเสนอของพวกเขาคือทางออกที่ควรจะเป็น และน่าจะเป็นไปได้ในการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างสันติ
 
พูดอีกอย่างว่า นิติราษฎร์คือนักวิชาการที่ลุกขึ้นมาแสดงความรับผิดชอบต่อการเสนอทางออกจากความขัดแย้งอย่างเป็นรูปธรรมแก่สังคม ซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่มีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งกว่าที่สมคิดเคยแสดงออกมาแล้วในคราวร่างรัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์รัฐประหาร 19 กันยาแน่ๆ
 
แต่น่าอนาถใจที่มติกรรมการบริหารของธรรมศาสตร์ชุดนี้ ปิดทางการเปลี่ยนผ่านสังคมคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างสันติลง พวกเขากำลังทำให้ธรรมศาสตร์กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่ “แปลกแยก” จากวิถีทางการใช้เหตุผล เสรีภาพ และสันติวิธีในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
 
คำถามคือ ถ้าแม้แต่ในมหาวิทยาลัยก็ยัง “ปิดพื้นที่” การใช้เสรีภาพและเหตุผลในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หากวันข้างหน้าความขัดแย้งที่ดำรงอยู่นี้ขยายไปสู่การเกิดความรุนแรงนองเลือดขึ้นอีก ฝ่ายปิดพื้นที่เหตุผลและเสรีภาพ ยังจะมีน้ำยาแสดงความรับผิดชอบอะไรไหม?! 
 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การตั้ง รมต. ดร.นลินี ทวีสิน กับข้ออ้างทางจริยธรรม

Posted: 31 Jan 2012 07:55 AM PST

เป็นที่ทราบกันดีในทางการเมืองในขณะนี้ว่า ในที่สุดกรณีการแต่งตั้ง ดร.นลินี ทวีสิน ซึ่งถูกหน่วยงานหนึ่งในกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำ ห้ามมิให้ทำธุรกิจกับพลเมืองสหรัฐ แม้จะมีการปฏิเสธจาก ดร.นลินี ว่าเป็นความเข้าใจผิดกรณีถูกกล่าวหาจากหน่วยงานดังกล่าวว่าทำธุรกิจกับภริยาของนายโรเบริ์ต บูกาเบ ประธานาธิปดีแห่งซิมบับเว ซึ่งไม่เป็นที่ชื่นชอบของรัฐบาลสหรัฐผู้กล่าวหานั้น กำลังนำไปสู่ปัญหาการเมืองได้ เมื่อมีความพยายามใช้เหตุจากการที่นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่งตั้ง ดร.นลินี ทวีสิน ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็นปัญหาทางการเมืองโดยเริ่มจากมี สส. ฝ่ายค้านตั้งกระทู้สอบถามนายกรัฐมนตรีขณะที่อยู่ระหว่างการเดินทางไปทำหน้าที่ในต่างประเทศ จนเกิดความวุ่นวายในการประชุมสภาผู้แทนราษฏร์ โดยที่พรรคฝ่ายค้านต้องการให้นายกรัฐมนตรีมาตอบกระทู้ด้วยตนเอง    

ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองนายกฯ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ที่มีอีกหนึ่งฐานะคือตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยว่าได้รับรู้ถึงการเสนอชื่อ ดร.นลินี ทวีสิน มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตั้งแต่ต้นเพราะเป็นหัวหน้าพรรคมาตอบกระทู้แทน โดยอ้างเหตุจำเป็นว่านายกฯไม่สามารถตอบกระทู้ได้เพราะอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ  แต่ท้ายที่สุดพรรคฝ่ายค้านไม่ยอมโดยยืนยันที่จะให้นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  มาตอบคำถามด้วยตัวเอง ในที่สุดจึงต้องเลื่อนวันตอบกระทู้ของนายกรัฐมนตรีต่อสภาฯออกไปในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งที่โดยแม้ว่าจะยอมรับการแต่งตั้ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ว่ามีความถูกต้องตามกฎหมาย (รัฐธรรมนนูญ ฯ ปัจจุบัน) เพราะว่าผู้ถูกแต่งตั้งมีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด  แต่กระนั้นก็ตาม ผู้ตั้งกระทู้จากพรรคประชาธิปัตย์ยังชี้ว่าแม้การแต่งตั้งจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นการตั้งที่ขัดต่อจริยธรรม  เช่นเดียวกันกับที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา แสดงความกระตือรือร้นในการเข้าไปตรวจสอบว่าการแต่งตั้ง ดร.นลินี ทวีสิน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่าเป็นไปตามบทบัญญัติในหมวด ๑๓ ว่าด้วยจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๗๙ หรือไม่ ภายหลังจากมีบุคคลได้ร้องเรียนต่อสำนักงานผู้ตรวจการฯ

คำถามหรือกระทู้ของ สส. พรรคฝ่ายค้านต่อนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อการแต่งตั้งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.นลินี ทวีสิน ว่าแม้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญปัจจุบัน หรือพูดอีกนัยคือชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่เป็นไปตามจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามความในมาตรา ๒๗๙ แห่งรัฐธรรมนูญปัจจุบัน  ทำให้เกิดความเข้าใจได้เป็นสองนัยว่า  ๑) ที่ว่าการแต่งตั้งชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามที่ฝ่ายค้านผู้ตั้งกระทู้ยอมรับนั้นหมายถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯทั้งฉบับ ซึ่งรวมถึงบทบัญญัติว่าด้วยจริยธรรม ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐในหมวด ๑๓ ด้วยหรือไม่กรณีหนึ่ง และ ๒) หากการแต่งตั้งชอบด้วยรัฐธรรมนูญปัจุบัน แต่ไม่ถูกต้อง ขัดหรือสวนทางกับหมวด ๑๓ ว่าด้วยจริยธรรม  ตามที่กล่าวอ้าง  เรื่องการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าได้หรือไม่ได้ ชอบหรือไม่ชอบ จะต้องดูจากหมวดที่ ๑๓ เป็นหลักหรือไม่ ในประการสำคัญมีรัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดหลักการไว้อย่างไร กรณีหลักเกณฑ์การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าขัดหรือสวนทางกับหมวดที่ ๑๓ แล้วให้ถือเอาหมวดที่ ๑๓ เป็นหลักในการวินิจฉัยการแต่งต้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองการหาคำตอบทั้งสองกรณีหากเราไม่ทำความเข้าใจ หรือ จำแนกแยกแยะไม่ได้ หรือไม่มีความเข้าใจสิ่งที่รัฐธรรมนูญรับรองกรณีจริยธรรม (Ethics) ก็จะเข้าใจไปในทิศทางที่สส.พรรคฝ่ายค้านตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีคือ

หนึ่ง. จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกิดจากการชี้นิ้วของบุคคลโดยเฉพาะผู้เป็น สส. หรือ นักการเมือง ที่สามารถใช้อัตวินิจฉัยส่วนตนที่ชี้กล่าวหาบุคคลอื่นได้หากเกิดความรู้สึกว่าไม่ถูกต้องตามจริยธรรม ทั้ง ๆ ที่เรื่องใดจะเป็นเรื่องทางจริยธรรมหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับบรรทัดฐานของสังคม (Social Norms) สังคมไม่ใช่ผู้สร้างบรรทัดฐาน การเกิดหรือการก่อตัวของจริยธรรม เกิดขึ้นเหมือนการบัญญัติหรือเขียนขึ้นเหมือนกฎหมายแต่เรียกต่างกัน หรือ กรณีเกิดจากการเลือกวินิจฉัยตีความเอาเองตามคำที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญ อันเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อนมาก ๆ

สอง. การหล่อหลอมทางบรรทัดฐานของสังคมในเรื่องใด ๆ จนส่วนหนึ่งถูกยกระดับพัฒนาเป็นจริยธรรมนั้น  ไม่ต้องพิจารณาถึงความจริง (The Master of Fact) ไม่ต้องสนใจว่าสิ่งนั้น ๆ อย่างน้อยที่สุดจะเกี่ยวข้องกับความถูกต้องตามกฎหมายของสังคม (Laws and Orders) หรือไม่  การที่สังคมเขียนหรือก่อกำเนิดจริยธรรมขึ้นซึ่งสะท้อนออกตาม ประมวลจริยธรรม (Code of Ethics) ในเรื่องใด ๆ นั้น ไม่เป็นความจริงก็ได้  ไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ได้  อย่างกรณีการแต่งตั้ง ดร.นลินี ทวีสิน    โดยนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อันปัญหาจากการที่มีการกล่าวหาทางการเมืองซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับ การเมืองและ ความจริง (Fact)  ความชอบด้วยกฎหมายและนิติธรรมระหว่างประเทศ (International Rule of Laws) โดยปัญหาข้อเท็จจริงดังกรณีการแต่งตั้ง ดร.นลินี ฯ ยังไม่เคยมีบรรทัดฐานมาก่อนว่าอย่างนี้เป็นปัญหาทางจริยธรรม กรณีอาจจะอ้างว่าก็เอาเรื่องนี้เป็นกรณีสร้างบรรทัดฐาน แล้ว ความจริง ความถูกต้องจะว่าอย่างไร จริยธรรมถูกสร้างด้วยเงื่อนไขอย่างนี้จะถูกหรือ และ การเอาความต้องการทางการเมืองมาบังคับผู้อื่นให้ยอมจำนนด้วยข้ออ้างทางจริยธรรมตามมาตรฐานส่วนตนสิ่งนั้นกลายเป็นจริยธรรมเรื่องนั้นทันทีหรือ

สาม. กระทู้ของพรรคฝ่ายค้านส่วนหนึ่ง อ้างยอมรับว่าการแต่งตั้งถูกต้องตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน แต่ไม่ถูกต้องตามจริยธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๒๗๙ ในหมวด ๑๓ เลยไม่รู้ว่าหากชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญจริง แล้วทำไมต้องไม่ถูกต้องตามหมวด ๑๓ อีกหากจะต้องวินิจฉัยตามกระทู้ของ สส.พรรคฝ่ายค้านก็แสดงว่า บทบัญญัติในหมวด ๑๓ มีผลบังคับเหนือ (Over Rule) บทบัญญัติในหมวด ๙ เรื่องคณะรัฐมนตรี ในประการสำคัญโดยมองว่ากรณีจริยธรรมโดยนัยที่กำหนดไว้ตาม มาตรา ๒๗๙ หมวด ๑๓ นั้นมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายในระดับรัฐธรรมนูญ พูดอีกนัยคือ จริยธรรม กับ กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องเดียวกัน ใช้บังคับเหมือนกันก็เป็นความเข้าใจผิด เพราะจริยธรรมเป็นระบบความคุมทางสังคม (Social Control) ขณะที่กฎหมายเป็นระบบความคุมทางกฎหมาย (Legal Control) ซึ่งต่างกัน

ความสับสนที่สะท้อนจากกระทู้ของ สส. พรรคฝ่ายค้าน และหรือ การกระตือรือร้นเข้าไปตรวจสอบของผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาบางท่าน จากกรณีการที่นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่งต้ง ดร.นลินี ทวีสิน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า และ ทำการถวายสัตย์เข้าทำหน้าที่เป็นที่เรียบร้อยไปแล้วโดยว่าไม่ถูกต้องตามจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญนั้น  ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะความเชื่อโดยบริสุทธ์ใจของผู้ตั้งกระทู้ หรือ ความเข้าใจจริง ๆ อย่างนั้นจริง ๆ หรือไม่  เป็นเรื่องที่สังคมการเมืองไทยต้องคอยติดตามการถามกระทู้ และ การตอบกระทู้จากนายกรัฐมนตรีในอนาคตอันไกล้นี้  ในฐานะที่เป็นกรณีปัญหาทางการเมืองหนึ่งที่ถูกจุดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ไป ไม่สำคัญอะไรนักสำหรับสังคมที่จะให้ค่ากับการเล่นการเมือง เพื่อการเมือง โดยการเมืองที่ไม่เคยแปรเปลี่ยนไปจากสังคมการเมืองไทย

แต่กรณีนี้ผู้เขียนกลับมองเห็นเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเมื่อพิจารณาถึงโอกาสทางการเมืองไทยที่จะต้องพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสิ่งสุดท้ายที่จะตกถึงมือประชาชน กอปรปัญหาวิกฤตการณ์การเมืองไทยที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยในอดีตที่ผ่านมา ความยิ่งใหญ่และถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ใจในรอบปีใหม่เมื่อเห็นนักการเมืองหยิบยกเอาเรื่องจริยธรรม  มาเป็นประเด็นสำคัญในการตรวจสอบกันในทาง “การเมือง” หากเป็นเช่นนั้นจริง ๆ การเมืองไทยคงพัฒนาและยกระดับสูงขึ้นและเป็นความหวังของประชาชนไทยที่ตั้งตารอคอยมาเป็นเวลานาน  อย่าลืมและแกล้งไม่เข้าใจว่า จริยธรรม (Ethics) ที่บัญญัติไว้ในหมวด ๑๓ รัฐธรรมนูญปัจจุบันซึ่งกำลังถูกนำไปใช้ในข้อกล่าวหาด้านจริยธรรมนั้น  ในตัวสาระแก่นสารในตัวของจริยธรรมเอง คุณค่าของจริยธรรมได้บอกตัวมันเองว่าผู้ยกเรื่องจริยธรรมมากล่าวหาผู้อื่น ต้องตั้งอยู่บนครองแห่งจริยธรรมด้วย หาไม่แล้วก็จะเป็นเพียงการจับแพะชนแกะ หรือการสร้างวาทะกรรมทางการเมืองเท่านั้น

ผมไม่ปฏิเสธว่าจริยธรรมอาจมีได้ในหลาย ๆ ด้านเช่น จริยธรรมทางการเมือง จริยธรรมของนักวิทยาศาสตร์ จริยธรรมของนักธุรกิจ จริยธรรมของครูอาจารย์ หรือ จริยธรรมของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง  อันเป็นบรรทัดฐานร่วมกันของสังคมที่ก่อร่างสร้างขึ้นมา  ซึ่งขึ้นอยู่กับความจริง ความถูกต้องตามกฎหมายที่ถูกต้อง และ นิติธรรมระหว่างประเทศที่ถูกต้องเทียบเคียงกับกรณีนายกรัฐมนตรีนางสาว ยิ่งลีกษณ์ ชินวัตร แต่งตั้ง ดร.นลินี ทวีสิน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หากจะต้องเป็นเรื่องปัญหาที่ต้องพิจารณาทางจริยธรรมต้องมีฐานที่มาของจริยธรรมในเรื่องนั้น ๆ ที่ถูกต้อง จริยธรรมไม่อาจงอกเงยขึ้นจากการชี้นิ้วของบุคคลใดอาชีพใดกล่าวหาคนอื่น โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์ใด ๆ กับบรรทัดฐานของสังคม หรือไม่จำแนกแยกแยะว่าจริยธรรมกับกฎหมายเป็นสิ่งเดียวกันระดับเดียวกันหรือไม่ หากเรื่องทั้งหมดเป็นเพียงต้องการใช้มันเพื่อต้องการบรรลุผลทางการเมืองเท่านั้น  การผูกโยงจริยธรรมเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง ผู้ถามหรือตั้งกระทู้จำเป็นต้องตรวจสอบตัวเองให้แน่ใจก่อนว่า... คำถามจริยธรรมไม่เป็นการทำลายจริยธรรมของผู้ถามเสียเอง....

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ’ ผ่านวุฒิสภาฉลุย ส.ว.ถอย ตัดทิ้งข้อความกรรมาธิการฯ

Posted: 31 Jan 2012 07:48 AM PST

 

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 30 มกราคม 2555 ที่รัฐสภา ตัวแทนเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติไทยจังวัดระนองและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 40 คน เข้าพบ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เพื่อทำความเข้าใจกรณีกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อความจากร่างที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอ ในมาตรา 3 ของร่างพระราชบัญญัติ เป็น “คนไทยพลัดถิ่น” หมายความว่า ผู้ซึ่งมีเชื้อสายไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่น โดยเหตุอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยในอดีต ซึ่งปัจจุบันผู้นั้นมิได้ถือสัญชาติของประเทศอื่น และได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่ง และมีวิถีชีวิตเป็นคนไทย โดยได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรือเป็นผู้ซึ่งมีลักษณะอื่นทำนองเดียวกันตามที่กำหนดในกฎกระทรวง  ก่อนวันที่พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีผลใช้บังคับ

ตัวแทนเครือข่ายฯ ชี้แจงว่า การเพิ่มเติมข้อความดังกล่าว จะส่งผลให้ชาวไทยพลัดถิ่นเกือบทั้งหมด จะไม่ได้รับสัญชาติไทย ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ เพราะที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยสำรวจและขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎรเฉพาะชนกลุ่มน้อย  คนไทยพลัดถิ่นจึงได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร จากกระทรวงมหาดไทยน้อยมาก

ต่อมา เวลา 13.30 น. วันเดียวกัน ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ในวาระที่ 2 โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ยังคงยืนกรานให้คงมาตรา 3 ตามที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมมาแล้ว แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วย หลังจากถกเถียงกันประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ ที่ประชุมได้มีมติให้ยืนตามร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....ที่คณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอ โดยตัดข้อความ  “ก่อนวันที่ พระราชบัญญัติสัญชาติ จะมีผลบังคับใช้” ออก ด้วยคะแนนเสียง 73 ต่อ 41 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง

ต่อมา เวลา 18.40 น. ที่ประชุมวุฒิสภา ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....  ในวาระที่ 3 โดยลงมติรับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ด้วยคะแนนเสียง 84 เสียง ต่อ 11 เสียง

นายภควิน แสงคง ที่ปรึกษาเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยจังหวัดระนองและจังหวัดประจวบ คีรีขันธ์ แกนนำเครือข่ายไทยพลัดถิ่น กล่าวว่า ตนและชาวบ้านเครือข่ายไทยพลัดถิ่น จะอยู่ที่หน้ารัฐสภาอีก 1 คืน รอเข้าพบเพื่อขอบคุณสมาชิกวุฒิสภา และเฉลิมฉลองที่ร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....ที่คณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอ ผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภา

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

5 องค์กรสิทธิแถลงร่วม วอน มธ.ทบทวนมติขัดเจตนาธรรมศาสตร์ อัดรัฐไม่ปกป้อง

Posted: 31 Jan 2012 07:35 AM PST

แถลงการณ์ องค์กรสิทธิห่วงใยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิในการมีส่วนร่วมในการเสนอแก้ไขกฎหมายตามกรอบรัฐธรรมนูญ กำลังถูกคุกคาม

31 มกราคม 2555 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.), เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (คนส.), โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ออกแถลงการณ์ร่วม กรณีคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพของกลุ่มนิติราษฎร์ ระบุ รัฐมีหน้าที่ต้องปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพดังกล่าวของประชาชนทุกคน กลับปรากฏว่าผู้นำของรัฐบาลทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติบางคนได้แสดงออกไปในทางเสียดสี ข่มขู่ กระทั่งคุกคามเสียเอง

ในแถลงการณ์ยังระบุถึงกรณีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้ามกลุ่มนิติราษฎร์ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมาอาญามาตรา ๑๑๒ ว่า สถาบันการศึกษามีภารกิจในการส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการและสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นเป็นต้นแบบของการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพความเสมอภาคและความเป็นธรรมเสมอมา มติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสถาบัน ตามครรลองของกฎหมายและประชาธิปไตยเป็นการทำลายจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

แถลงการณ์ได้เรียกร้องให้ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทบทวนคำสั่งห้ามกลุ่มนิติราษฎร์ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำกิจกรรมตราบใดที่การทำกิจกรรมดังกล่าวอยู่ในกรอบของสันติวิธีและสิทธิมนุษยชน

 

0 0 0

 

 

แถลงการณ์
 
องค์กรสิทธิห่วงใยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
และสิทธิในการมีส่วนร่วมในการเสนอแก้ไขกฎหมายตามกรอบรัฐธรรมนูญ
กำลังถูกคุกคาม 

 

จากข้อเสนอของนักวิชาการนิติศาสตร์กลุ่มนิติราษฎร์และกิจกรรมของคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา ๑๑๒ เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ หรือที่ทราบกันทั่วไปว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้นำมาซึ่งการถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคม มีทั้งเห็นด้วยและคัดค้านซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย ตราบใดที่การใช้สิทธิดังกล่าวได้ดำเนินไปในกรอบของสันติวิธีและเป็นไปตามตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยรัฐมีหน้าที่ต้องปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพดังกล่าวของประชาชนทุกคน แต่ในขณะที่ปรากฏว่ามีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์บางกลุ่ม ได้แสดงออกในลักษณะของการคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพของกลุ่มนิติราษฎร์นั้น แทนที่รัฐจะได้ทำหน้าที่ดังกล่าวของตน กลับปรากฏว่าผู้นำของรัฐบาลทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติบางคนได้แสดงออกไปในทางเสียดสี ข่มขู่ กระทั่งคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพของกลุ่มนิติราษฎร์

ประเทศไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย ภายใต้บรรยากาศของความแตกต่างทางความคิดทางการเมือง การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างของคณะนิติราษฎร์เป็นเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและความเชื่อ ตลอดจนข้อเสนอต่อการดำเนินการแก้ไขกฎหมายตามกรอบวิธีการที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งปกติ เมื่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่ไม่เห็นชอบด้วยกับความเห็นและข้อเสนอดังกล่าว ก็ย่อมมีสิทธิที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตน และสามารถถกเถียงโต้แย้งได้ด้วยเหตุผล อย่างสันติและอารยะ แต่ต้องเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างจากตน ซึ่งเป็นแก่นของคุณค่าแห่งประชาธิปไตย ดังนั้นเมื่อการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างตามครรลองประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ กลับนำมาซึ่งการคุกคามสิทธิเสรีภาพของคนอื่น รัฐจึงจึงมีหน้าที่ต้องปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างและสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการแก้ไขและการปฏิรูปกฎหมายอันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญคือรัฐจะต้องไม่เป็นผู้คุกคามสิทธิเสรีภาพดังกล่าวนี้เสียเอง ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามหน้าที่ของตนในการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดและยุติการคุกคามสิทธิเสรีภาพดังกล่าวของประชาชนโดยทันที

ยิ่งไปกว่านั้น สถาบันการศึกษามีภารกิจในการส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการและสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีประวัติศาสตร์อย่างยาวนานที่มิใช่พียงแต่เป็นสถาบันซึ่งผลิตปัญญาชนเพื่อรับใช้ประชาชนและสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นแบบของการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพความเสมอภาคและความเป็นธรรม โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นพื้นที่สำหรับสิทธิและเสรีภาพเสมอมา ดังนั้นการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ห้ามกลุ่มนิติราษฎร์ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเองใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมาอาญามาตรา ๑๑๒ อันเป็นสิทธิและเสรีภาพที่กลุ่มนิติราษฎร์และประชาชนทั่วไปสามารถกระทำได้ตามหลักการประชาธิปไตย จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเป็นสถาบันศึกษาของรัฐและประเพณีปฏิบัติอันดีงามของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพความคิดและการแสดงออก ตามครรลองของกฎหมายและประชาธิปไตยเป็นการทำลายจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงขอเรียกร้องให้ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้โปรดทบทวนคำสั่งห้ามกลุ่มนิติราษฎร์ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำกิจกรรมตราบใดที่การทำกิจกรรมดังกล่าวอยู่ในกรอบของสันติวิธีและสิทธิมนุษยชน

อนึ่งพึงตระหนักว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย บุคคลอาจไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของบุคคลอื่น แต่พึงปกป้องสิทธิในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของเขา

         

                                                                        วันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2555
                                                                        มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
                                                                        มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
                                                                        คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
                                                                        เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (คนส.)
                                                                        โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คลังเลือก สปสช.อันดับ 1 ดีเด่นในการบริหารกองทุน

Posted: 31 Jan 2012 07:21 AM PST

กระทรวงการคลังมอบรางวัล สปสช.บริหารกองทุนหมุนเวียนอับดับ 1 จาก 108 องค์กรทั่วประเทศ เลขาธิการ สปสช.เผยได้รับรางวัล 3 ปีซ้อน จากจัด 4 ครั้งเน้นให้ความสำคัญรายหัวประชาชน 

31 ม.ค.55 นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรมบัญชีกลางได้ทำการคัดเลือกกองทุนหมุนเวียนดีเด่นประจำปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่ 4 ที่ได้พิจารณาคัดเลือกกองทุนเงินนอกงบประมาณประเภททุนหมุนเวียนที่มีผลการดำเนินงานในภาพรวมดีกว่าเป้าหมาย โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ รางวัลการพัฒนาดีเด่น รางวัลประสิทธิภาพเฉพาะด้านดีเด่น และรางวัลผลการดำเนินงานดีเด่น โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงจูงใจ ความภาคภูมิใจ และผลักดันให้กองทุนหมุนเวียนต่างๆ พัฒนาการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะทำให้ประชาชนและผู้รับบริการของกองทุนหมุนเวียนต่างๆได้รับประโยชน์สูงสุดจากการดำเนินงานต่อ ซึ่งการพิจารณาคัดเลือกกองทุนดีเด่นประจำปี 2554 นั้น มีรายชื่อทั้งหมด 108 กองทุน โดนมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และว่าจ้างที่ปรึกษาภายนอกในการติดตามประเมินผลและคัดเลือกอย่างเป็นระบบ

“รางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น เป็นรางวัลแห่งเกียรติยศและความภาคภูมิใจ ซึ่งกระทรวงการคลังมอบให้กับทุนหมุนเวียนที่มีผลการประเมินดีเด่น สมควรได้รับการยกย่องและเป็นตัวอย่างในการถ่ายทอดการสร้างสรรค์ผลงาน การพัฒนา และการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินการอย่างเป็นระบบแก่ทุนหมุนเวียนอื่นๆ”อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าว

นอกจากนี้แล้ว สำหรับหลักเกณฑ์ในการตัดสินรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่นมี 3 รางวัล คือ รางวัลผลการดำเนินงานประเภทดีเด่น ซึ่งจะต้องมีผลงานตั้งค่าระดับ 4 ขึ้นไป และประเภทชมเชย รางวัลประสิทธิภาพเฉพาะด้านดีเด่น ตั้งเป้าหมายค่าระดับ 3 และรางวัลการพัฒนาดีเด่นมีประเภทดีเด่นตั้งค่าเป้าหมายค่าระดับ 3และประเภทชมเชย

นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ในฐานะองค์กรบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น มีหน้าที่บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนไทยที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลจากระบบประกันสังคม หรือระบบสวัสดิการข้าราชการ โดยสปสช.บริหารงบประมาณซึ่งให้ความสำคัญกับการกระจายให้เป็นธรรม มุ่งเน้นการกระตุ้นให้เกิดประสิทธิภาพและคุณภาพการจัดบริการ รวมทั้งบริหารเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงบริการของประชาชนกลุ่มที่มีความจำเป็นด้านสุขภาพมาก

ทั้งนี้ในปี 2554 กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีงบประมาณ 101,057 ล้านบาท ครอบคลุมประชากร 48 ล้านคนที่ได้รับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งจากการรักษาพยาบาล การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสุขภาพ และได้รับการประเมินจากบริษัทไทยเรตติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด(ทริส) ให้เป็นกองทุนที่มีผลการดำเนินงานดีเด่นต่อเนื่องมาตลอด 3 ปีซ้อน (ปี 51 ,ปี 52 และปี 54 ซึ่งในปี 53 นั้นสปสช.ได้รางวัลผลการดำเนินงานชมเชย) อย่างไรก็ตาม สำหรับรางวัลในครั้งเป็นความสำเร็จจากการบริหารจัดการกองทุนอย่างเป็นระบบ โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งผู้ให้บริหารและผู้รับบริการ จึงทำให้ได้รับรางวัลผลการดำเนินงานดีเด่นเป็นปีที่ 3 อีกครั้ง

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น