โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

แถลงจับมือระเบิด ต้นตอสถานทูตสหรัฐเตือนภัยก่อการร้าย เผยล่าอีกราย

Posted: 13 Jan 2012 10:18 AM PST

เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่าวันที่ 13 ม.ค. เมื่อเวลา 23.00 น. พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษก บชน. แถลงข่าวที่ บชน. ว่า จากการประสานของตร. และหน่วยงานข่าวกรองทั้งในและต่างประเทศ จนได้รับการยืนยันแน่ชัดว่าจะมีชาวต่างชาติเข้าประเทศมาเพื่อก่อเหตุในประเทศไทย กระทั่งมีการตรวจพบชาวตะวันออกกลางที่มีรูปพรรณและพฤติกรรมตรงตามการข่าวที่ได้รับมา จึงเชิญตัวผู้ต้องสงสัยดังกล่าวไปสอบปากคำตาม มาตรา 12 อนุ 7 พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง
 
จากการให้การของผู้ต้องสงสัยดังกล่าวพบว่ามีข้อมูลเป็นจริงว่า อาจจะมีการเข้ามาก่อเหตุในประเทศไทย ผู้ต้องสงสัยดังกล่าวยังให้ข้อมูลถึงผู้ต้องสงสัยอีก 1 ราย ที่คาดว่าเป็นบุคลสำคัญในการเตรียมก่อเหตุในประเทศไทย และคาดว่ายังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ กทม. มีลักษณะเป็นชาวชาวตะวันออกกลาง รูปร่างสูงใหญ่ สูงประมาณ 180 ซ.ม.
 
พล.ต.ต.ปิยะ ยังแจกจ่ายภาพบุคลต้องสงสัยที่ต้องการติดตามตัวอยู่ ให้สื่อมวลชนนำไปเผยแพร่ พร้อมฝากถึงประชาชนว่า ให้ช่วยกันระวัง และสอดส่องดูแลหากพบเหตุบุคลดังกล่าวให้รีบแจ้งตำรวจที่อยู่ใกล้เคียง หรือโทร. 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษใน 3 จุดด้วยกันที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชาวต่างชาตินิยม คือ ถนนข้าวสาร ซ.รามบุตรี ย่านบางลำพู และสุขุมวิท ซ. 22 รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ
 
นอกจาก ตามสถานที่ท่องเที่ยวที่ประชาชนต้องช่วยกันสอดส่องดุแลแล้ว หากพบรถหรือคนที่มีลักษณะผิดปกติ จอดซุ่มอยู่ที่ใดนานๆ หรือจอดทิ้งไว้เป็นเวลานานไม่มีคนดูแล หรือบ้านหลังไหนที่มีคนเข้าออกผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
 
โฆษกบชน. กล่าวยืนยันว่า ตร. และผบ.ตร. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ระดมหน่วยงานทั้งหมดให้ลงพื้นที่เพื่อติดตามและป้องกัน รวมถึง อาสาสมัครและ เจ้าของร้านค้าทั้งในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ช่วยสอดส่องดูแลและช่วยแจ้งเบาะแส อาจทำให้เห็นด่านตรวจตราเพิ่มมากขึ้น แต่การดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงการป้องกันเหตุ และติดตามตัวผู้ต้องสงสัย ไม่ได้หมายความว่าเกิดเหตุขึ้นแล้ว ขอให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ
 
ส่วนกระแสข่าวว่าจะมีการวางระเบิดที่สนามบินสุวรรณภูมินั้น พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวปฏิเสธว่า จากการข่าวไม่มีเรื่องดังกล่าว แต่ได้ระดมกำลังเข้าดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงสถานทูตต่างๆ และเหล่งท่องเที่ยวที่เฝ้าระวัง โดยมาตรการป้องกันดำเนินมาตั้งแต่ก่อนช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เพียงเป็นการกระจายกำลังดูแลป้องกันเหตุจากสถานที่จัดฉลองปีใหม่ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทูตอียูเผยอาจเลิกคว่ำบาตรพม่าเร็วๆ นี้

Posted: 13 Jan 2012 09:54 AM PST

สถาบันความมั่นคงและระหว่างประเทศศึกษา เปิดวงวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงในพม่า ทูตอียูเผยอาจยกเลิกการคว่ำบาตรพม่าในเร็วๆนี้ ในขณะที่นักวิเคราะห์มองพม่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบัน - การเมืองยังยึดกับตัวบุคคล

13 ม.ค. 55 – สถาบันความมั่นคงและระหว่างประเทศศึกษา (Institute of Security and International Studies -ISIS) คณะรํฐศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาในหัวข้อ Myanmar’s Progress: Internal Dynamics, Regional Meanings and Global Implications (ความก้าวหน้าของพม่า: พลวัตรภายใน และนัยสำคัญต่อภูมิภาคและสากล) วิทยากรประกอบด้วยตัวแทนจากสหภาพยุโรป นักวิเคราะห์ และนักวิชาการเข้าร่วมอภิปราย โดยหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า ความเปลี่ยนแปลงในพม่าขณะนี้ดำเนินไปทางบวกและรวดเร็ว และคาดการณ์ว่านานาชาติจะได้ผ่อนคลายมาตรการอันเข้มงวดลงในเร็วๆนี้

IMG_1611[1]

ผู้แทนอียูเผย อาจยกเลิกการคว่ำบาตรพม่า

เอกอัครราชทูตประจำคณะกรรมการผู้แทนสหภาพยุโรป เดวิด ลิปแมน  ผู้เคยประจำการในเอเชียตะวันออกหลายประเทศรวมถึงพม่า กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในพม่าว่า “น่าตื่นตาตื่นใจ” (Stunning) โดยเฉพาะในแง่ของเสรีภาพสื่อ ซึ่งเห็นจากการที่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศจำนวนมากสามารถเข้าไปรายงานได้ตามปรกติต่างจากก่อนหน้านี้ และเขายังกล่าวว่า สหภาพยุโรปหวังว่าจะได้ผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการคว่ำบาตรลง หากพม่ายังคงดำเนินการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ต่อไป

ลิปแมนระบุว่า ทางสหภาพยุโรปจะมีการประชุมระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศในวันที่ 23 มกราคมนี้ ซึ่งจะสรุปผลออกมาว่า ยุโรปจะมีมติเรื่องมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าในอนาคตอย่างไร ทั้งนี้ เขาชี้ว่า หากพม่าดำเนินการปล่อยตัวนักโทษทั้งหมด จัดการเลือกตั้งซ่อมที่สะอาดยุติธรรม และสามารถเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยได้ ก็เป็นไปได้สูงว่าสหภาพยุโรปจะยกเลิกการคว่ำบาตรต่อพม่า

นักวิเคราะห์มอง กองทัพพม่าจะไม่รปห. อีก เหตุมุ่งเป็นทหารอาชีพ

แลรี่ จาร์แกน อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซีที่ติดตามความเคลื่อนไหวในพม่ามาราว 40 ปี กล่าวว่า เขามองความเปลี่ยนแปลงในพม่าที่ผ่านมาในแง่ดี (optimistic) โดยเฉพาะในวันนี้ (13 ม.ค.) ที่มีรายงานว่ามีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองจำนวน 651 คน ประกอบด้วยกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เคยประท้วงในปี 1988 (พ.ศ. 2531) กลุ่มผู้นำชนกลุ่มน้อย พระสงฆ์ รวมถึงอดีตเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยข่าวลับด้วย

จาร์แกนมองว่า การเปลี่ยนแปลงในพม่า มักจะเกิดในช่วงเวลาที่เราไม่ทันตั้งตัว และเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราเร็วมาก ซึ่งเขามองว่า การที่ประธานาธิบดีเต็นเส่งเข้าพบกับนางออง ซาน ซูจีในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว เป็นจุดเปลี่ยน (turning point) ที่สำคัญ ซึ่งนับแต่นั้นมา ประธานาธิบดีพม่าก็พยายามทำงานและสร้างความสัมพันธ์กับนางออง ซาน ซูจีอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เขามองว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการช่วงชิงอำนาจในกลุ่มชนชั้นนำ ด้วยการดึงกลุ่มอำนาจต่างๆ มาถ่วงดุลระหว่างรัฐบาล กองทัพ และพรรคเอ็นแอลดี

เขาวิเคราะห์ถึงพลวัตภายในกลุ่มผู้นำรัฐบาลว่า มีการช่วงชิงอำนาจระหว่างรัฐมนตรีสายเสรี (liberal) ซึ่งมีราวร้อยละ 20 และพยายามผลักดันการปฏิรูป ระหว่างรัฐมนตรีสายอนุรักษ์นิยม (hardliner) ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 20 และคัดค้านการปฏิรูปอย่างหัวชนฝา โดยเขาชี้ว่า หากดูจากการปล่อยตัวนักโทษการเมืองจำนวนมากในวันนี้ การยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนมิตโสน และโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย อาจแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายรัฐมนตรีสายเสรีมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายมากกว่า

อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซีกล่าวว่า การยกเลิกการสร้างโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าว อาจมีเหตุผลหลักๆ มาจากการที่ผู้นำพม่าต้องการที่จะแสดงให้ประชาชนโดยเฉพาะฐานเสียงเห็นว่า รัฐบาลพม่ามีความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อม และต้องการที่จะหลุดพ้นจากการเป็นประเทศใต้บริวารของจีน นอกจากนี้ ยังมีส่วนมาจากอุดมการณ์ชาตินิยมของผู้นำพม่าด้วย เนื่องจากกระแสไฟฟ้ากว่าร้อยละ 90 จากโรงงานที่สร้างเสร็จแล้ว จะถูกส่งออกไปจีนและไทยทั้งสิ้น

จาร์แกนยังอ้างถึงแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ภายในกองทัพของพม่าว่า กองทัพเองไม่ต้องการจะโค่นล้มรัฐบาล หรือเข้ามาแทรกแซงการเมืองอีกต่อไป เนื่องจากผู้นำระดับสูงต้องการที่จะกอบกู้ภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียของกองทัพ จากการคอร์รัปชั่น และปรับปรุงให้เป็นทหารอาชีพอย่างเต็มตัว

“ตามที่ผมเข้าใจ ผมค่อนข้างมองในแง่บวกว่า กองทัพจะไม่เป็นสถาบันที่แทรกแซงทางการเมืองอีกต่อไป จากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ในกองทัพ ระบุว่า พล.อ. มิน ออง หล่าย (ผู้บัญชาการกองทัพพม่า) เองก็เห็นด้วยกับเต็นเส่งในการเดินหน้าการปฏิรูป เขาอยากเห็นกองทัพที่เป็นทหารอาชีพ” จาร์แกนกล่าว “เขาได้ริเริ่มการปฏิรูปภายในกองทัพหลายอย่างที่จะส่งเสริมให้ทหารเป็นมืออาชีพและอิสระ และยังติดต่อกับนานาชาติเพื่อส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปฝึกอบรมในต่างประเทศด้วย”

อย่างไรก็ตาม เขามองว่า พม่าเองยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันที่ชัดเจน แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นการเมืองที่ยึดโยงกับตัวบุคคลมากกว่า (personality politics)

ภาคปชช.เสนอรบ.ทำแผนเจรจาชนกลุ่มน้อยอย่างเป็นระบบ

ด้านอ่อง นาย อู รองผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาชุมชนและสร้างความเข้มแข็งพลเมือง (Community Development and Civic Empowerment) ม.เชียงใหม่ วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงภายในพม่าที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของภาคประชาชน ความอับจนทางเศรษฐกิจ แรงกดดันภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งตัวเขาเองกล่าวว่าค่อนข้างแปลกใจในสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะที่ผ่านมา โดยเฉพาะเสรีภาพสื่อซึ่งนับว่าเปลี่ยนแปลงในแง่บวกมากที่สุด แต่เขาก็ชี้ว่าสื่อมวลชนในพม่ายังคงไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเนื่องจากการเซ็นเซอร์ตนเอง (self-censorship)

อย่างไรก็ตาม เขามองว่า ยังคงมีความท้าทายที่รัฐบาลพม่าต้องแก้ไขหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนักโทษการเมืองที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ การทำสงครามกับชนกลุ่มน้อย กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิประชาชนที่ยังคงอยู่ รวมถึงระบบเศรษฐกิจแบบอุปถัมป์ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีพิมพ์เขียวในอนาคตที่ชัดเจน ซึ่งออง นาย อู ได้เสนอให้รัฐบาลจัดทำแผนการเจรจากับชนกลุ่มน้อยที่เป็นระบบและครอบคลุม เพื่อการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ค่ายสิ่งแวดล้อมที่ ‘ปากบารา’ กับปฏิบัติการเด็กรักษ์บ้านเกิด

Posted: 13 Jan 2012 09:52 AM PST

 

 

5 โมงเย็น ของวันที่ 6 มกราคม 2555 บริเวณจุดชมวิวลาน 18 ล้านปากบารา คราคร่ำไปด้วยผู้คนที่มาผักผ่อนหย่อนใจ ขณะอาทิตย์อัศดงลับเหลี่ยมเกาะเขาใหญ่ส่องประกายแดดสุดท้ายบรรจบกับท้องทะเล 

เด็กกลุ่มหนึ่งกำลังสนุกอยู่กับการเล่นน้ำ ขุด ก่อกองทราย ไล่จับปูลม ที่ชายหาด ส่วนเด็กอีกกลุ่มหนึ่งเล่นฟุตบอล และวิ่งไล่กันริมป้ายงานวันเด็กแห่งชาติ 14 มกราคม 2555 ขององค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ติดประกาศเชิญชวนเด็กๆ ร่วมกิจกรรม

ขณะเดียวกันที่โรงเรียนบ้านตะโละใส ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก ชาวบ้านจำนวนหนึ่งกำลังชุลมุนวุ่นอยู่กับการกางเต็นท์ จัดเตรียมสถานที่ ข้าวปลาอาหาร และลงทะเบียนเพื่อรองรับเด็กที่จะมาเข้าค่าย โดยมีผู้ปกครองขับรถจักรยานยนต์นำเด็กๆ นั่งซ้อนท้ายหอบหิ้วสัมภาระ ข้าวสารมาคนละถุง สองถุง อยู่ตลอดเวลา

“รับเด็กเข้าค่ายอีกหรือเปล่า?” เป็นคำถามจากแม่ของเด็กคนหนึ่งต่อชาวบ้านที่ร่วมกันจัดค่าย ขณะที่สะพายกระเป๋ามาด้วยแล้ว

ชาวบ้านคนหนึ่งวิ่งไปถามชาวบ้านอีกคน หันหน้ามองกันเชิงจะหยั่งถามว่าจะรับเด็กคนนี้หรือไม่  ก่อนจะพยักหน้ารับ 

ทว่าหลังจากนั้นกลับมีคำถามซ้ำๆ“ยังรับเด็กเข้าค่ายอีกหรือเปล่า?” จากพ่อแม่ที่ที่พาเด็กมาร่วมเข้าค่าย ท้ายสุดก็จำยอมรับเด็กร่วมกิจกรรมทุกคน

“เฮ้ เตรียม เฮ้ๆๆๆ เตรียมๆๆๆ”

“เตรียม เฮ้ เตรียมๆๆๆ เฮ้ๆๆๆ”

“ปฏิบัติการเด็กรักษ์บ้านเกิด เฮ้”

เป็นเสียงประสานของเด็กๆ ในหอประชุมภายใต้การนำของ “มังฟู” นายสุไลมาน บือราเฮง นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ฝึกงานกับมูลนิธิอันดามัน ถูกมอบหมายให้ทำงานในพื้นที่จังหวัดสตูล กำลังทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ พลางชะเง้อเฝ้ารอคณะเพื่อนนักศึกษาที่จะตามมาสมทบแบ่งเบาภาระการจับปูใส่กระด้ง

กระทั่ง 16.30 น. รถสองแถวคันสีส้มซึ่งยัดนักศึกษา 20 คนไว้จนแน่นเอี้ยด ก็มาถึง ท่ามกลางการโล่งอกของชาวบ้านและตัว “มังฟู” เอง ที่จะมีเพื่อนมาช่วยแบ่งเบาภาระดูแลเด็กกว่า 140 คน อันหนักอึ้ง

พวกเธอและเขาเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่รวมตัวในนามเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ ที่เดินสายทำกิจกรรมกับชุมชนต่างๆ ในหลายพื้นที่จังหวัด

เท่านั้นแหละ เพลงเธอวันนี้ ที่เด็กๆ และกลุ่มนักศึกษาซึ่งเป็นพี่เลี้ยง ร้องประสานเสียงก็ดังลั่นหอประชุม “เธอคือมวลพลังผู้กล้าและแกร่ง เธอร้อนแรงเช่นแสงตะวัน....มองดูรอบกาย มองดูรอบกาย มองดูสังคม สังคมโสมม  เธอสุขอยู่ได้อย่างไร เมื่อผองชนทุกข์ยากลำเค็ญ...” 

ครู่ต่อมาเด็กๆ จึงได้กินข้าว ตามด้วยการแสดงดนตรีจากวง“กัวลาบารา” ซึ่งเป็นวงดนตรีที่ทำงานอยู่ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ก่อนปล่อยให้ไปนอนในเต็นท์และห้องเรียนที่เตรียมไว้

“มังฟู” บอกกับคณะเพื่อนนักศึกษาว่า สาเหตุที่ตนเชิญชวนคณะนักศึกษามาทำค่ายสิ่งแวดล้อมที่จังหวัดสตูล ก็เพราะจังหวัดสตูลเป็นจังหวัดที่แผนพัฒนาขนาดใหญ่จากรัฐจ่อลงพื้นที่หลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่มีการผลักดันจากรัฐ และเอกชนอย่างหนัก 

“ผมอยากให้พวกเราทุกคนช่วยกันปลูกจิตสำนึกเด็กที่นี่ ให้พวกเขารู้สึกหวงแหนรักษ์บ้านเกิด ภูมิใจในวิถีชีวิตของตัวเอง ตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม” มังฟู บอกถึงจุดประสงค์อย่างตรงไปตรงมา

สำหรับค่ายเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อมครั้งที่ 1 ปฏิบัติการเด็กรักษ์บ้านเกิด เป็นการจัดขึ้นโดยกลุ่มชุมชนคนรักษ์ถิ่น และเครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ ในระหว่างวันที่ 6 – 8 มกราคม 2555 ที่โรงเรียนบ้านตะโละใส ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยใช้งบประมาณจำนวน 3 หมื่นบาท จากมูลนิธิอันดามัน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และผู้ปกครองของเด็กเอง

เช้าตรู่ของอีกวัน หลังจากเสียงอาซานจากมัสยิดจบลงสักชั่วระยะหนึ่ง อาณาบริเวณบ้านตะโละใส บ้านปากบารา บ้านท่ามาลัย ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ก็ดังสนั่นด้วยเสียงประสานของเด็กๆ อีกครั้ง

“เฮ้ เตรียม เฮ้ๆๆๆ เตรียมๆๆๆ”

“เตรียม เฮ้ เตรียมๆๆๆ เฮ้ๆๆๆ”

“ปฏิบัติการเด็กรักษ์บ้านเกิด เฮ้” ขณะออกกำลังกายในตอนรุ่งสาง หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการละหมาดซุบฮิ์ ท่ามกลางการออกมามุงดูจากชาวบ้านอย่างสนใจ

09.30 น. ที่หอประชุมโรงเรียนบ้านตะโละใส เด็กในเสื้อสีเขียวใบไม้อ่อน กว่า 140 คน และผู้ปกครองที่มาสังเกตุการณ์อยู่นอกหอประชุม ต้องทำตัวเป็นพิเศษ เนื่องจากนายเอกรัฐ หลีเส็น นายอำเภอละงู จังหวัดสตูล มาเปิดค่ายเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อมดังกล่าว

ก่อนจะตามด้วยการให้สลาม “อัสลามูอาลัยกุมวารอมาตุลลอฮีวาบารอกาตุ” แก่นายเอกรัฐ หลีเส็น นายอำเภอละงู นายวีระ ขุนไชยรักษ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา นายวินัย นุ้ยไฉน ผู้ใหญ่บ้านตะโละใส นายเจ๊ะตาด กองบกผู้ใหญ่บ้านท่ามาลัย นายสนั่น มัจฉา โต๊ะอีหม่ามมัสยิดบ้านตะโละใส นายอดุลย์ ประเสริฐดำ โต๊ะอีหม่ามมัสยิดท่ามาลัย และนายไกรวุฒิ ชูสกุล ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่

ตามด้วยเพลงพลังใจ ที่ดังกระหึ่ม “ดังสายลมที่พัดผ่านลานป่า พาใบไม้พลัดถิ่น ดังสายน้ำที่ไหลรินพัดพา นำดวงใจฉันมาใกล้เธอ ความหวังดีที่เธอให้สังคม ฉันชื่นชมเธอเสมอ เพื่อพี่น้องผู้ที่ยากไร้ รวมดวงใจของเราฟันฝ่า...” 

นายหุดดีน อุสมา ประธานโครงการค่ายเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อมครั้งที่ 1 ปฏิบัติการเด็กรักษ์บ้านเกิด บอกถึงจุดประสงค์ของการจัดค่ายกิจกรรมครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการให้เยาวชนในตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ได้เรียนรู้เพื่อรู้จักชุมชนของตัวเองมากยิ่งขึ้น 

“อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมร่วมกันให้สอดคล้องกับศักยภาพ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชน” นายหุดดีน กล่าว

นายเอกรัฐ หลีเส็น นายอำเภอละงู เป็นประธานกล่าวเปิดงานว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนของตัวเอง เพราะบางสิ่งในชุมชนอาจจะเห็นแค่เพียงผิวเผิน ผ่านตา ผ่านหู แต่ไม่ได้สังเกตุ ไม่รู้ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัว

จากนั้น นายวีระ ขุนไชยรักษ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ได้กล่าวกับเด็กๆ ว่า กิจกรรมเป็นกิจกรรมดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งเป็นค่ายสิ่งแวดล้อมตรงกับหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ในการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และลงวิจัยในพื้นที่ชุมชน

“ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีการปลูกเมล็ดกล้าสีเขียวที่ในอนาคตจะเจริญเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในวันข้างหน้า” นายวีระ กล่าว

ปิดท้ายด้วยการร่วมอ่านดุฮ์อาโดยนายสนั่น มัจฉา โต๊ะอีหม่ามมัสยิดบ้านตะโละใส และนายอดุลย์ ประเสริฐดำ โต๊ะอีหม่ามมัสยิดบ้านท่ามาลัย

15.30 น. แสงแดดทอแสงประกายระยับ ลมทะเลพัดในบางช่วง นายนันพล เด็นเบ็ญ มัคคุเทศน์อิสระ นำกลุ่มเด็กลงพื้นที่สำรวจปูทหารปากบารา บริเวณชายหาดปากบารา นายไกรวุฒิ ชูสกุล ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในท้องถิ่น เดินนำหน้าเด็กที่อยู่ในฐานป่าชายเลนไปสำรวจป่าชายเลนที่บ้านท่ามาลัย ส่วนฐานประมงพื้นบ้าน และฐานทรัพยากรชายฝั่ง เด็กๆ ต่างแห่ไปฟังเรียนรู้ที่ท่าเรือประมงที่ปากบารา โดยให้ชาวบ้านบอกเล่า

สำหรับที่เด็กที่อยู่ในกลุ่มฐานซากดึกดำบรรพ์ (ฟอสซิล) ขึ้นรถยนต์ไปใกล้ๆ กับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ที่ “ครูนก” นายธรรมรัตน์ นุตะธีระ และคณะนักเรียนจากโรงเรียนกำแพงวิทยา เตรียมพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่มาให้ศึกษาถึงที่ ถึงขนาดจะลงสำรวจจริงในถ้ำใกล้ๆ แต่น้ำทะเลเกิดหนุนสูงไม่สามารถเข้าไปได้

“ราๆๆ ปากบารา อิทำท่าอิราร่วงโรย เลๆๆ สตูล อิสูญอิหม๊อดแล้วเหว้อ...อุตสาหกรรมที่ทำลายมันย่างกรายมาแล้วเหว้อ...” เป็นบทเพลงชื่อ ไม่เอา ของดำ สตูล ที่มาขับกล่อมให้ฟังเป็นการโหมโรงในช่วงกลางคืน

ตามด้วยบทเพลง อย่าทำร้ายปากบาราสงสารเภตรา ของแอม ฟอมาลีน “...อุทยานเกาะเภตราเขาสั่งมาให้ยกเจ้าออกไป เพื่อท่าเรือแสนยิ่งใหญ่...หยุดทำร้ายปากบารา หยุดเข่นฆ่าทะเลอันดามัน เพื่อท่าเรือที่ใหญ่ดั่งฝัน ให้นายทุนนั้นเข้ามากอบโกย...” 

จากนั้นก็เป็นการเรียกให้แต่ละกลุ่มที่ลงพื้นที่ออกมานำเสนอโดยการแสดงในรูปแบบละคร “บุมละบุมๆๆ แม่เนื้อนุ่มบัวบาน...เจ้าดอกเอยเจ้าดอกหลิว ขอเชิญกลุ่มฟอสซิลออกมาแสดงเอย” 

กลุ่มฟอสซิลนำเสนอว่า มีอาจารย์สอนนักเรียนและเข้าไปสำรวจฟอสซิลภายในถ้ำ ส่วนกลุ่มปูทหารนำเสนอว่า มีนักข่าวลงมาทำข่าวการค้นพบปูทหารพันธุ์ใหม่ของโลกที่ชายหาดปากบารา สำหรับกลุ่มประมงพื้นบ้านนำเสนอในเชิงที่ชาวบ้านมานั่งบ่นถึงทรัพยากรที่ลดน้อยลงจากเรือประมงขนาดใหญ่ และเหมารวมถึงท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่จ่อจะสร้าง เป็นต้น

เด็กหญิงสุวรรณา แก้วรัตนะ นักเรียนจากโรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล บอกถึงสิ่งที่ได้รับการการเข้าค่ายสิ่งแวดล้อมว่า ตนได้รู้จักเพื่อนๆ จากหลายชุมชน ได้ลงหมู่บ้านมากขึ้น ได้เรียนรู้ถึงทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นว่ามีคุณค่าอย่างไร ทำให้เกิดความรักษ์และหวงแหนสิ่งที่เคยมองข้ามมากยิ่งขึ้น

บ่าย 3 โมง ของวันที่ 8 มกราคม 2555 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของค่ายสิ่งแวดล้อมมาถึง บรรยากาศกลับเต็มไปด้วยความหมองเศร้า อาวรณ์ ผูกพันธ์ระหว่างเด็กกับเด็ก เด็กกับรุ่นพี่นักศึกษา ชาวบ้านกับนักศึกษา 

คำซอลาวัต (สรรญเสริญ) นบี (มูฮัมหมัด) ดังประสานเสมือนเป็นการร่ำลา พร้อมๆ กับน้ำตาที่ไหล เสียงร้องไห้ระงมของเด็ก ขณะนักศึกษา และชาวบ้านพยายามกลั้นน้ำตา ทว่าปริ่มเบ้า “ซอลลอลลอฮูอาลามูฮัมหมัด ซอลลอลลอฮูอาลัยวาซัลลัม ซอลลอลลอฮูอาลามูฮัมหมัด...”

นั่นคือบรรยากาศค่ายเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อมครั้งที่ 1 ปฏิบัติการเด็กรักษ์บ้านเกิด ซึ่งจัดโหมโรงก่อนวันเด็กแห่งชาติ 14 มกราคม ขณะที่นโนบายของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชัดเจนยืนยันเดินหน้า “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” 

ย้อนมองเหตุการณ์ที่ลานหอยเสียบ “จะนะ” และหน้าโรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ กรณีท่อก้าซไทย – มาเลเซียแล้วใจหายวาบ ทว่ามองไปข้างหน้าถึงความน่าจะเป็นที่จุดชมวิวลาน 18 ล้านปากบาราน่ากลัวยิ่งกว่าหลายร้อยเท่าทวี

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: เครือข่ายชาวบ้านเพชรบูรณ์ จี้สอบ จนท.ป่าไม้อ้างโครงการตามแนวพระราชดำริทำลายป่า

Posted: 13 Jan 2012 08:39 AM PST

 เครือข่ายชาวบ้าน จ.เพชรบูรณ์  ชุมนุมเรียกร้องหน่วยงานรัฐลดความเหลื่อมล้ำ แก้ไขปัญหาสองมาตรฐานด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้ - ที่ดิน จี้การตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ป่าไม้อ้างโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ตามแนวพระราชดำริทำลายป่า
 
 
เมื่อวันที่ ๑๒ ม.ค. ๒๕๕๕ ที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๑ จ.พิษณุโลก  เวลา ๑๓.๓๐ น.  เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูผาแดง  อ.หล่มสัก  จ.เพชรบูรณ์  ประมาณ ๖๐ คน  ได้ชุมนุมเรียกร้องให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารฯ เร่งรัดแก้ไขปัญหาการดำเนินงานสองมาตรฐานของเจ้าหน้าที่ป่าไม้  โดยเครือข่ายฯ ได้เดินรณรงค์จากวัดนางพญาถึงหน้าสำนักบริหารฯ 
 
สืบเนื่องจากเครือข่ายองค์กรชาวบ้านฯ ได้ทำหนังสือร้องเรียนและให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเจ้าหน้าที่ป่าไม้อ้างโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ตามแนวพระราชดำริบ้านวังยาว – ห้วยระหงส์ ที่มีการแผ้วถางพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์ เก็บหาของป่า บริเวณหน้าปากทางเข้าหมู่บ้านห้วยระหงษ์ ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ จำนวน ๙๙ ไร่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๒ ไปยัง นายสุวิทย์  คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ ซึ่งทางรัฐมนตรีฯ ได้ให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๑ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว 
 
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๔ เครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อติดตามเรื่องดังกล่าวและเรียกร้องให้ย้ายหัวหน้าโครงการคือ นายพจน์  ชินปัญชนะ ออกจากพื้นที่ เนื่องจากการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ โดยอ้างโครงการพระราชดำริทำลายป่า ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ไม่มีความโปร่งใส ทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน  แต่ผลการเรียกร้องของชาวบ้านไม่เกิดผลอะไรในการปฏิบัติ 
 
หลังจากนั้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔  เครือข่ายฯ ได้เข้าไปติดตามผลการสอบสวนของสำนักบริหารฯ และมีผลสรุปที่ทางเครือข่ายได้วิเคราะห์และตั้งข้อสังเกตร่วมกันดังนี้ 
 
๑.คณะกรรมการสอบสวนและผู้ถูกสอบสวนอาจจะมีส่วนได้เสียกันในการดำเนินงาน เนื่องจากคณะกรรมการสอบสวนเป็นหัวหน้าส่วนบังคับบัญชาของนายพจน์ ชินปัญชนะ ดังนั้นผลการสอบสวนจึงเข้าข้างกัน
 
๒.การตัดไม้ทำลายป่า ถูกอ้างว่าเป็นไม้ขนาดเล็ก และพื้นที่ที่ดำเนินการดังกล่าวเป็นป่าเสื่อมโทรม ซึ่งข้อสังเกตคือ สภาพป่าในพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าเบญจพรรณ รวมถึงเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวก็มีสภาพป่าที่เหมือนกัน ผืนป่าเหล่านี้เป็นป่าชุมชนที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันในชุมชน  เช่นเลี้ยงสัตว์ เก็บหาของป่า เป็นต้น หากจะอ้างว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม ในพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปจับกุมเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านทำกินมาแต่ดั้งเดิมกลับถูกข้อหาบุกรุก และเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งเป็นจำนวนเงินหลายแสนบาท โดยเฉพาะชาวบ้านห้วยกลฑา ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ที่ไปรับจ้างหักข้าวโพดในหมู่บ้านของตัวเองกลับถูกข้อหาบุกรุกเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเป็นจำนวนเงิน ๔๗๐,๐๐๐ บาท ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านทำกินในที่ตัวเองไม่ถึง ๕ ไร่ กลับถูกจับกุม แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตัดไม้เองกลายเป็นว่าพื้นที่นั้นเป็นป่าเสื่อมโทรม และมีกฎหมายมารองรับการกระทำ ถือว่าสองมาตรฐาน และไม่มีความเป็นธรรมปกป้องลูกน้องตัวเอง ละเมิดสิทธิชุมชน
 
๓.หากมีการยึดหลักการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ไม่ทำลายทรัพยากรป่าไม้ ทำไมเมื่อเริ่มดำเนินโครงการจึงมีการตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งการเข้าไปวางอำนาจในชุมชน ขาดการทำงานอย่างมีส่วนร่วม ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ สร้างความเสียหายให้เกิดความขัดแย้งในชุมชนและพยายามเข้าไปยุแหย่ให้เกิดความแตกแยก
 
ดังนั้นเครือข่ายฯ จึงมีข้อเรียกร้องต่อผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๑ ดังนี้ 
 
กรณีโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ
 
๑.ให้ย้ายนายพจน์  ชินปัญชนะ หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ตามแนวพระราชดำริบ้านวังยาว - ห้วยระหงส์ ออกจากพื้นที่ โดยระงับการดำเนินงานโครงการไว้ก่อน
 
๒.ให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการดำเนินงานโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริบ้านวังยาว - ห้วยระหงส์ ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน โดยให้มีตัวแทนเครือข่ายฯ และองค์กรภายนอก ร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
 
๓.ให้มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริบ้านวังยาว - ห้วยระหงส์ 
 
กรณีการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง
 
๑.ให้สนับสนุนแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดิน ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง ให้มีการจัดการที่ดินโดยชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชน 
 
๒.กรณีพื้นที่อพยพห้วยหวาย ให้เร่งรัดการเยียวยาชดเชยค่าเสียหายกับชาวบ้านตามผลการสำรวจข้อมูลของคณะทำงาน ๘๘๔ / ๒๕๔๘ ที่ได้มีการรับรองผลการสำรวจร่วมกัน และมติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
 
หลังการเปิดห้องประชุมเพื่อรับฟังปัญหาและข้อเรียกร้องจากเครือข่ายฯ นายธงชัย  ศิริพัฒนานุกูลชัย  ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๑ ได้รับพิจารณาข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ โดยขอเวลา ๑๕ วัน  เพื่อตรวจสอบข้อมูล  และแนวทางแก้ไขปัญหาตามข้อเสนออีกครั้ง  
 
ทั้งนี้  ทางเครือข่ายฯ ได้รับข้อเสนอดังกล่าว  และจะติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด  หากไม่มีผลในทางปฏิบัติก็จะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องต่อไป
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ก้านธูปกลางความมืดในสังคมไทย

Posted: 13 Jan 2012 08:15 AM PST

“แค่คิดต่างก็ต้องฆ่ากันให้ตาย ต้องประจานกันให้อาย ทั้งๆที่น้องเขาเป็นแค่เด็กผู้หญิง ไม่รู้สึกละอายแก่ใจกันบ้างหรือ รุมทำร้ายเด็กผู้หญิง ขาดศีลขาดธรรม เห็นชีวิตคนเป็นของเล่น นี่แหละหนาประเทศไทย น่าเบื่อที่สุด!!”
นี่เป็นความเห็นของคุณinwashura2012 ซึ่งสะท้อนข้อเท็จจริงกรณีก้านธูปในสังคมไทยได้ชัดเจนที่สุด
 
ก้านธูปเป็นนามแฝงของเด็กหญิงคนหนึ่ง ที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการล่าแม่มดในสังคมไทย จนต้องเผชิญปัญหาอย่างหนัก ก้านธูปมีชื่อเดิมว่า “ณัฐกานต์ สกุลดาราชาติ” เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ เธอเป็นนักเรียนหญิงธรรมดาที่ชอบอ่านหนังสือ ในวัยมัธยม เธอเรียนอยู่ที่โรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ต่อมา ในชั้นมัธยมปลาย ก็ได้ย้ายตามบิดามาศึกษาต่อที่โรงเรียนธารปราสาทเพชรวิทยา จังหวัดนครราชสีมา ในระหว่างเรียนอยู่ชั้น ม.๕ เธอได้รับรางวัลชนะเลิศในโครงการประกวดเรียงความส่งเสริมประชาธิปไตย หัวข้อ "ประชาธิปไตยสมบูรณ์" ซึ่งเป็นความภูมิใจอย่างยิ่ง
 
ในเรื่องทัศนะทางการเมืองสมัยมัธยม เธอก็เหมือนคนไทยจำนวนในขณะนั้น ที่ไม่ได้นิยมชมชื่นในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินว้ตร มากนัก และมีแนวโน้มทางความคิดที่สนับสนุนฝ่ายพันธมิตรในการต่อต้านรัฐบาลไทยรักไทย จนกระทั่งเมื่อหลังจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ บ้านเมืองไทยถอยหลังไปสู่เผด็จการ ภายใต้การควบคุมของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ก้านธูปเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เธอจึงเริ่มสนใจการเมืองมากขึ้น และเข้าร่วมในการเคลื่อนไหวไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นเรื่องแรก ด้วยอายุเพียง ๑๕ ปี จากนั้น ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๒ เธอจึงสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง จากการที่เธอมีความสนใจและใช้คอมพิวเตอร์ได้ เธอจึงเริ่มโพสข้อความแสดงความเห็นในโลกอินเตอร์เนต แน่นอน ความเห็นที่เธอโพสย่อมแตกต่างกับฝ่ายกระแสหลัก ซึ่งเต็มไปด้วยความคับแคบ เพราะบีบบังคับให้คนคิดและเชื่อสิ่งเดียวกันในแบบเดียวกัน ในกรณีที่มีผู้คิดต่าง ก็มักจะต้องถูกเล่นงาน และทำร้ายในลักษณะเดียวกับการล่าแม่มดในยุโรปสมัยกลาง
 
ด้วยเหตุนี้ เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๒ ขณะที่ก้านธูปอายุได้เพียง ๑๗ ปี เธอก็ตกเป็นเหยื่อของขบวนการล่าแม่มด เมื่อสื่อในเครือผู้จัดการได้โจมตีก้านธูปอย่างหนักว่า เป็นพวกไม่รักสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่ไม่มีหลักฐานเลยว่า ก้านธูปดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ แต่การโจมตีประนามก้านธูปโยงเข้ามากับการที่เธอเคยขึ้นเวทีเสื้อแดงในนามตัวแทนเยาวชน ทั้งที่มีเยาวชนหลายคนขึ้นเวทีฝ่ายพันธมิตรเช่นเดียวกัน ในการโจมตีก้านธูป มีการใช้ข้อมูลเท็จด้วยว่า เธอถูกไล่ออกจากโรงเรียนที่บ้านโป่งเพราะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเมื่ออยู่โรงเรียนใหม่ ก็ถูกตักเตือนเสมอเรื่องไม่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การใส่ร้ายเช่นนี้ของสื่อในเครือผู้จัดการ ได้รับการขานรับจากเว็บไซด์ และสื่อฝ่ายขวาทั้งหมด
 
ผลจากความคับแคบทางความคิดในสังคมไทยเริ่มส่งผลร้ายต่อก้านธูป เมื่อเธอสอบเข้ามหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๕๓ เธอสอบผ่านข้อเขียนที่จะเข้าศึกษาต่อในโครงการเอเชียศึกษา ของคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่คณะอักษรศาสตร์ไม่รับเข้าศึกษา โดย รศ.ดร.มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์ คณบดีอักษรศาสตร์ในขณะนั้น อธิบายว่า ก้านธูปสามารถทำข้อสอบได้ สอบสัมภาษณ์ผ่าน หลังจากที่สังคมไทยทราบว่าเยาวชนผู้มีทัศนคติต่อต้านสถาบันฯ รายนี้สอบเข้ามาได้ ก็มีผู้ส่งข้อมูล และประวัติ เพื่อคัดค้านการรับเธอเข้าศึกษาต่อเป็นจำนวนมาก และเมื่อพิจารณาเอกสารหลักฐาน ก็พบว่า ก้านธูปขาดคุณสมบัติในข้อที่ว่า นักศึกษาต้องมีความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของประเทศ อันถือเป็นกฎหลักของมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังพบว่า เป็นผู้ที่บุคลิกภาพมีปัญหา หากเข้ามาเรียน อาจเข้ากับเพื่อนไม่ได้ จึงจำเป็นต้องตัดสิทธิ์ ไม่ให้เข้าเรียน
 
ในปี พ.ศ.๒๕๕๓ เช่นกัน เธอยังได้สิทธิ์สัมภาษณ์ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่พวกล่าแม่มดในมหาวิทยาลัยเกษตรเปิดเฟสบุ๊คชื่อ “มั่นใจชุมชนชาวเกษตรฯไม่ยินดีต้อนรับคนหมิ่นพ่อชื่อณัฐกานต์มาร่วมเรียนด้วย” และมีการเคลื่อนไหวต่อต้านก้านธูปอย่างหนัก โดยประกาศกันว่าจะมีการนัดชุมนุมประท้วงในวันที่ก้านธูปสอบสัมภาษณ์ มีการปล่อยข่าวเท็จอีกว่า ถ้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่รับก้านธูป คนเสื้อแดงจะบุกมาเผามหาวิทยาลัย ทำให้เกิดการตื่นกลัวกันทั่วไป ในที่สุด ก้านธูปต้องตัดสินใจสละสิทธิ์ ไม่สอบสัมภาษณ์ และมีข่าวว่า เธอจะไปศึกษาต่างประเทศแทน ซึ่งก็ถูกตามใส่ร้ายป้ายสีอีกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนจ่ายเงินให้ก้านธูปไปเรียนต่างประเทศ
 
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า กรณีเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความคับแคบในวงการศึกษาไทย ที่ตัดโอกาสในอนาคตของเด็กผู้หญิง ๑ คน เพียงเพราะหวาดกลัวในเรื่องความคิดที่แตกต่างเท่านั้น
 
ปรากฏว่า ขบวนการล่าแม่มด ยังไม่ได้ละเว้นก้านธูป เพราะมีผู้ไปแจ้งความดำเนินคดีด้วยข้อหามาตรา ๑๑๒ ที่ สน.บางเขน จากกรณีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัว ตั้งแต่เมษายน พ.ศ.๒๕๕๓ ทางการตำรวจจึงได้ทำการสอบสวน และได้ออกหมายเรียกให้ก้านธูปไปให้การกับทางการตำรวจแล้ว
 
ในวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ที่ผ่านมานี้เอง เครือข่ายผู้จัดการ ได้นำเอาเรื่องของก้านธูปมาเปิดเผย เพื่อตอบสนองจิตวิญญานล่าแม่มดอีกครั้ง ในบทความชื่อ "ธรรมศาสตร์ในวันที่อ้าแขนรับก้านธูป" โดยเปิดเผยข้อมูลว่า ก้านธูปได้เปลี่ยนชื่อ และได้เข้าศึกษาที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเปิดเผยชื่อใหม่กับเลขประจำตัวนักศึกษาของเธอ จากนั้นได้อธิบายย้อนหลังไปถึงความเป็นมาของก้านธูปอย่างอคติ เช่น ใช้คำว่า ย้อนรอยแดงปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม เมื่อกล่าวถึงภูมิหลังของเธอ เป็นต้น และยังกล่าวร้ายว่า ก้านธูปยังมีพฤติกรรมที่ไม่เคารพพระมหากษัตริย์อย่างสม่ำเสมอ
 
ดังนั้น ในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ที่ผ่านมา กลุ่มนักศึกษา ๖ กลุ่มนำโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ได้ออกแถลงการณ์ประณามเครือผู้จัดการกรณีเสนอข่าวละเมิดสิทธิ "ก้านธูป" โดยเสนอข่าวอันเป็นเท็จ อันนำไปสู่การสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน แต่การเสนอข่าวของกลุ่มผู้จัดการ ยังได้รับการโจมตีต่อไปจากโอเคเนชั่น ซึ่งยังสร้างข่าวเท็จในลักษณะที่ว่า ญาติผู้พี่ของก้านธูปที่เรียนอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับงานเป็นหญิงบริการ โจมตีว่า บิดามารดาของก้านธูปเป็นคนเสื้อแดง ที่ล้างสมองให้ก้านธูปไม่รักสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งที่บิดามารดาของเธอไม่เคยเป็นคนเสื้อแดงเลย นอกจากนี้ ยังโจมตีก้านธูปว่า เป็นต้นไม้พิษ แล้วตั้งคำถามต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงความชอบธรรมที่รับก้านธูปเข้าศึกษา
 
จากนั้น ในวันที่ ๕ มกราคม เสรี วงษ์มณฑา นักพูดชื่อดังและอาจารย์คณะวารสารศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่า การล่าแม่มดนำมาใช้กับก้านธูปไม่ได้ เพราะไม่ใช่แม่มด แต่คือ อาชญากร เพราะมีหลักฐานของการทำผิด ซึ่งกรณีนี้มีหลักฐานชัดเจนอยู่แล้ว จะเป็นกรณีเดียวกับแม่มดไม่ได้
 
ต่อกรณีดังกล่าว ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงทัศนะและจุดยืนไว้ว่า "ไม่เห็นมีกฎข้อบังคับใดของมหาวิทยาลัยบอกว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์ต้องเคารพชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถ้าหากมีกฎข้อนี้จริง หมายความว่า ธรรมศาสตร์ต้องตรวจสอบว่านักศึกษาคนนี้รักชาติ รักศาสนาหรือเปล่า นับถือศาสนาไหม คำถามเหล่านี้จะเกิดทันที" และว่า "สิ่งสุดท้ายคือ เราไม่ควรไล่ล่าแม่มดเพราะเราไม่รู้ว่าเขาเป็นแม่มดจริงหรือเปล่า แล้วแม้เธอจะเป็นแม่มดจริง แต่แม่มดก็สามารถอยู่ในสังคมไหนก็ได้"
 
ในที่นี้คงจะต้องขอกล่าวสนับสนุนทัศนะของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่คิดอย่างให้โอกาสแก่นักศึกษา ไม่ตกอยู่ใต้กระแสขวาจัด ไล่ล่าบุคคลคิดต่าง ส่วนทัศนะเสรี วงษ์มณฑา นั้นคงไม่อาจจะยอมรับได้
 
กล่าวโดยสรุปแล้ว จะเห็นได้ว่า กรณีของก้านธูปนั้น สะท้อนภาวะยุคมืดแห่งพุทธปัญญาในสังคมไทย แสงสว่างแห่งเหตุผล และหลักประชาธิปไตย ก็จะขับไล่ความมืดเช่นนี้ในโอกาสต่อไป
 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ซีเรียกั้นไม่ให้คณะเดินทางนำสิ่งของเข้าไปช่วยเหลือผู้ประท้วงในประเทศ

Posted: 13 Jan 2012 07:22 AM PST

เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของซีเรียสกัดกั้นไม่ให้คณะเดินทางชาวซีเรียที่อยู่นอกประเทศ 150 คน เดินทางข้ามชายแดนตุรกีเพื่อนำสิ่งของช่วยเหลือไปให้กับกลุ่มผู้ประท้วงในซีเรีย
 
13 ม.ค. 55 - สำนักอัลจาซีร่ารายงานว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของซีเรียได้สกัดกั้นกลุ่มชาวซีเรียนอกประเทศ 150 คนที่ต้องการเดินทางข้ามพรมแดนตุรกีมายังฝั่งซีเรียเพื่อนำสัมภาระจำพวกผ้าห่ม, ยารักษาโรค และอาหาร มามอบให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามโดยรัฐบาล
 
"รัฐบาลซีเรียปฏิเสธที่จะให้พวกเรานำยารักษาโรคเข้าไป ปฏิเสธไม่ให้แพทย์เข้าไปรักษาอาการบาดเจ็บ แล้วพวกเขาก็ยังปฏิเสธไม่ให้นำอาหารเข้าไปด้วย พวกเขาปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่าง" เบลาล ดาลาตี นักธุรกิจชาวซีเรียที่เดินทางมาจากแคลิฟอร์เนียกล่าว หลังจากที่ตัวแทนคณะเดินทางถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปในประเทศ
 
กลุ่มคณะเดินทางนี้รวมตัวกันจากแคมเปญที่ตั้งขึ้นในเฟสบุ๊ค พวกเขาเดินทางด้วยรถโดยสารและรถยนต์จากเมืองกาเซียนเทปทางตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 12 ม.ค.
 
พวกเขาถูกสกัดกั้นที่ด่าน ออนคูปิน่า ห่างออกไปราว 15 กม. ทางตอนใต้ของเมืองคิริส ประเทศตุรกี พวกเขามีชื่อกลุ่มว่า "กลุ่มคณะเดินทางแห่งเสรีภาพสู่ซีเรีย" และได้ตั้งแคมป์กันที่สนามบาสเกทบอลที่เป็นพื้นโคลนเฉอะแฉะ
 
มูเยห์ดิน ลาซิคานิ นักเขียนซีเรียที่ร่วมในคณะเดินทางบอกว่า พวกเขามาเพื่อนำอาหาร ยารักษาโรคและผ้าห่มมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ถูกล้อมปราบในซีเรีย และบอกว่าพวกเขาจะยังคงปักหลักตั้งเต้นท์ไปเรื่อยๆ
 
ดาลาตี บอกว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วลูกพี่ลูกน้องของเขาถูกยิงเสียชีวิตในเมืองซาบาบิน่า เมืองของซีเรียที่มีชายแดนติดกับเลบานอน
 
"พวกเรากำลังมองเห็นคนค่อยๆ ล้มตายลง ทั้งเด็ก สตรี และคนชรา พวกเขาต่างถูกสังหารในความขัดแย้งนี้ ...เพียงเพราะรัฐบาลต้องการจะรักษาอำนาจตัวเองไว้" เดลาตีกล่าว "พวกเราเรียกร้องให้มีการแทรกแซงทางทหารจากต่างชาติ สร้างเขตปลอดภัยไว้ให้ประชาชนผู้ลี้ภัย และเพื่อให้มีการจัดตั้งกลุ่มต่อสู้เพื่อเสรีภาพ"
 
การปฏิวัติกำพร้า
 
ทางด้านรัฐมนตรีต่างประเทศของตุรกีบอกว่าพวกเขาตอบติดต่อกับคณะเดินทางชาวซีเรียอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ไม่ได้บอกว่าทางตุรกีให้การสนับสนุนพวกเขาหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีของตุรกีได้กล่าวประมาณการปราบปรามผู้ชุมนุมในซีเรียและเรียกร้องให้ประธานาธิบดีอัสซาดของซีเรียลงจากตำแหน่ง รวมถึงมีการคว่ำบาจรซีเรียด้วย
 
ตุรกีเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับซีเรียยาว 900 กม. มีผู้อพยพลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวถึงหลายพันคนรวมถึงสมาชิกของกองกำลังปลดปล่อยชาวซีเรียด้วย
 
ซาเมียร์ จีสรี ครูสอนวิชาคอมพิวเตอร์กราฟฟิกผู้เป็นสมาชิกรายหนึ่งในคณะเดินทางบอกว่า เขาต้องการเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดที่เขาจากมาตั้งแต่ยังแบเบาะ
 
"การปฏิวัติซีเรียเป็นการปฏิวัติกำพร้าที่ถูกทอดทิ้ง เพราะไม่มีใครช่วยยกชู แม้กระทั่งสันนิบาตชาติอาหรับ" ซาเมียร์กล่าว "ความหวังสุดท้ายของเราคือตุรกี"
 
โมอาเยด สกาฟ นักข่าวชาวซีเรียที่มาจากกาตาร์บอกว่า พวกเขาต้องการเข้าไปในซีเรียเพื่อบอกให้โลกรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในซีเรีย อัสซาดไม่ต้องการให้ความจริงปรากฏออกมา
 
หวั่นสงครามกลางเมืองกระทบประเทศเพื่อนบ้าน
 
ขณะเดียวกัน นาบิล เอล-อราบี ประธานสันนิบาตชาติอาหรับก็กล่าวผ่านโทรทัศน์ อัล-ฮายัท ของอียิปต์ว่า เขากลัวว่าสถานการณ์ในซีเรียจะนำไปสู่สงครามกลางเมืองและส่งผลกระทบต่อประเทศข้างเคียง
 
โดยเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2011 สันนิบาตชาติอาหรับได้ส่งตัวแทนสังเกตการณ์เข้าไปในซีเรียเพื่อดูว่าซีเรียปฏิบัติตามแผนการสันติวิธีที่ทางสันนิบาตฯ วางไว้หรือไม่ แต่ทางคณะสังเกตการณ์ก็พบว่าแผนสันติวิธีของพวกเขาไม่สามารถยับยั้งการปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลซีเรียได้
 
และเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา กิลเลส จากเคอ ช่างภาพข่าวของสถานีโทรทัศน์ฝรั่งเศสที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้เดินทางเข้าไปในซีเรียก็ถูกสังหาร โดยในเหตุการณ์มีการขว้างปาระเบิดหลายลูกในผู้สื่อข่าวจากฝรั่งเศส 15 รายที่เดินทางเข้าไปในซีเรีย
 
จากเคอ ทำงานให้กับสถานีโทรทัศน์ France-2 เขาถูกสังหารในขณะที่กำลังถ่ายทำการเดินขบวนประท้วงของกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลซีเรียในเมืองฮอมส์ เขากลายเป็นผู้สื่อข่าวจากชาติตะวันตกรายแรกที่ถูกสังหารนับตั้งแต่การลุกฮือของซีเรียตั้งแต่ 10 เดือนที่ผ่านมา
 
รัฐบาลฝรั่งเศส, กลุ่มสิทธิมนุษยชน และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลต่างก็เรียกร้องให้มีการสืบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเป็นอิสระ แต่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านในซีเรียต่างก็กล่าวหาว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงในครั้งนี้
 
 
ที่มา:

Syria blocks entry of protest convoy, Aljazeera, 13-01-2012
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/01/2012112132827128857.html
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พ่อค้าชาวรัฐฉานภาคเหนือเฮ.! พม่ายกเลิกตั้งด่านตรวจรีดไถ

Posted: 13 Jan 2012 06:43 AM PST

มีรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา ทางการพม่าได้มีคำสั่งยกเลิกการตั้งด่านตรวจบ้านน้ำฮูขุ่น บนเส้นทางระหว่างเมืองล่าเสี้ยว - เมืองแสนหวี รัฐฉานภาคเหนือ ด่านตรวจดังกล่าวเป็นด่านตรวจถาวรตั้งมานาน มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่หลายหน่วยงาน ทั้งทหาร ตำรวจ หน่วยปราบปรามยาเสพติด เจ้าหน้าที่ศุลกากร
 
การสั่งยกเลิกด่านตรวจดังกล่าว ทำให้ประชาชนรวมถึงกลุ่มพ่อค้าที่สัญจรเส้นทางดังกล่าวเป็นประจำต่างพากันดีอกดีใจ เหตุเนื่องจากทำให้การเดินทางพวกเขาสะดวก ไม่ต้องถูกตรวจค้นสิ่งของทรัพย์สินเข้มงวด และไม่ต้องถูกเจ้าหน้าที่รีดไถเงินเช่นที่ผ่านมา
 
พ่อค้าขับรถบรรทุกคนหนึ่งเผยว่า คำสั่งยกเลิกด่านตรวจดังกล่าวมีขึ้น หลังดร.จายหมอกคำ รองประธานาธิบดีที่ 2 ของพม่า เดินทางเยือนรัฐฉานภาคเหนือเมื่อ 13-14 ธ.ค. ระหว่างนั้นมีชาวบ้านและกลุ่มพ่อค้ารวมตัวกันยื่นหนังสือร้องเรียนเปิดเผยพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจ ซึ่งอาจเป็นเหตุนำไปสู่การสั่งยกเลิกการตั้งด่านแห่งนี้
 
"ก่อนหน้านี้การเดินทางสัญจรเส้นทางสายเมืองล่าเสี้ยว – แสนหวี ต้องเสียเวลาที่ด่านตรวจมากเกินเหตุ เหตุเจ้าหน้าที่มีการตรวจตราข้าวของทรัพย์อย่างเข้มงวด รถยนต์แต่ละคันต้องจอดรออย่างน้อย 45 นาที บางคันต้องเสียเวลานานถึง 2 ชั่วโมง แต่หากรถคันใดยอมจ่ายเงินก็จะไม่ต้องเสียเวลาตรวจค้นมาก" แหล่งข่าวพ่อค้าคนเดิมเผย
 
ทั้งนี้ เส้นทางสายเมืองมัณฑะเลย์ (พม่า) - เมืองหมู่แจ้ (รัฐฉานภาคเหนือ) ติดชายแดนจีน มีด่านตรวจถาวรของพม่าอยู่ 3 จุด จุดแรกอยู่ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ประมาณ 16 ไมล์ จุดที่สองคือด่านน้ำฮูขุ่น ที่ถูกยกเลิก และจุดที่ 3 ตั้งอยู่ตรงหลักไมล์ 105 เมืองหมู่แจ้ ด่านแต่ละแห่งมีการตรวจค้นเข้มงวดและมีการรีดไถเงินผู้สัญจรไปมาบ่อยครั้ง
 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"Burma VJ" ยังถูกทางการพม่าจองจำนับสิบ

Posted: 13 Jan 2012 05:33 AM PST

ในจำนวนนักโทษ 651 ราย ที่ทางการพม่ามีคำสั่งปล่อยตัวมีผู้สื่อข่าวดีวีบี 5 คนรวมอยู่ด้วย โดยพวกเขาถูกจับกุมระหว่างรายงานข่าวในพม่า โดย "ซิตตู่ เซยะ" หนึ่งในผู้ได้รับการปล่อยตัวเผยแม้จะเป็นอิสระแต่ก็เหมือนมีเชือกรั้งที่คอ ชี้ประธานาธิบดีคนเดียวไม่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างประชาธิปไตยในพม่า

ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า หรือ ดีวีบี จำนวน 5 คนจากจำนวนนักโทษการเมืองทั้งหมด 651 คน ซึ่งได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ (จากซ้ายไปขวา) ซิตตู่ เซยะ, อู เซยะ, งเว ซอ ลิน, ละละ วิน และ วิน หม่อ (ที่มาของภาพ: Free Burma VJ)

ตามที่หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ กระบอกเสียงของรัฐบาลพม่า ฉบับวันนี้ (13 ม.ค. 55) รายงานว่าประธานาธิบดีเต็งเส่ง ของพม่ามีคำสั่งนิรโทษกรรม นักโทษทั้งชายและหญิงจำนวน 651 คน ซึ่งได้รับโทษจำคุกในเรือนจำ โดยหนังสือพิมพ์ดังกล่าวระบุว่าคำสั่งปล่อยตัวนี้เป็นไปเพื่อ "เป็นหลักประกันเสถียรภาพและสันติภาพอันถาวรของรัฐ สนับสนุนกระบวนการปรองดองแห่งชาติ และเพื่อให้ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง บนพื้นฐานของมนุษยธรรมและ และให้พวกเขาได้เข้ามาเป็นพลเมือง มีส่วนร่วมในสิ่งที่พวกเขาจะสามารถร่วมได้เพื่อการสร้างชาติ โดยตระหนักถึงความเอื้อเฟื้อของชาติ" โดยวันนี้สื่อมวลชนพม่ารายงานข่าวนักโทษการเมืองได้รับการปล่อยตัวตลอดทั้งวัน (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โดยในจำนวนผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ มีทั้งผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 8888 ผู้นำพระสงฆ์ในการประท้วงปี 2550 ผู้สื่อข่าว โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (Democratic Voice of Burma หรือ ดีวีบี) สถานีโทรทัศน์ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสวีเดน ซึ่งมีรายงานว่าผู้สื่อข่าวดีวีบี หรือ "Burma VJ" ได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ 5 คน จากจำนวนที่ถูกจับกุมทั้งหมด 17 คน

โดยสถานีโทรทัศน์ดีวีบีรายงานว่าเมื่อเวลา 9.50 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซิตตู่ เซยะ(Sithu Zeya) ซึ่งต้องโทษ 18 ปีหลังรายงานเหตุระเบิดในย่างกุ้งเมื่อเดือนเมษายนปี 53 ได้รับการปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำเฮ็นซาดา โดยเขาถูกซ้อมทรมานให้เผยข้อมูลว่าอู เซยะ (U Zeya) พ่อของเขาก็เป็นนักข่าวดีวีบีเช่นกัน ต่อมาในเวลา ต่อมาเวลา 10.10 น. อูเซยะ ซึ่งต้องโทษจำคุก 13 ปี ก็ได้รับการปล่อยตัวเช่นกัน

ทั้งนี้อู เซยะ ถูกจับที่บ้านเมื่อวันที่ 16 เมษายนปี 53 ในตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายการสมาคมที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากเขาติดต่อกับรัฐบาลพม่าพลัดถิ่นในประเทศไทย โดยเขาถูกตัดสินจำคุก 13 ปี เมื่อ 1 เมษายนปี 54 1 วันก่อนที่เต็งเส่งจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี

ด้านซิตตู่ เซยะ ให้สัมภาษณ์ด้วยว่าทางการพม่าได้ตั้งเงื่อนไขว่า เขาจะต้องรับโทษ 18 ปี หากกระทำผิดกฎหมายอีกในอนาคต "นี่เหมือนกับพวกเราได้รับอิสระ แต่ยังมีเชือกรั้งคออยู่ ดังนั้นผมยังมีความสุขโดยมีเชือกรั้งอยู่ที่คอ"

ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลว่ารัฐบาลพม่าตั้งเงื่อนไขเช่นนี้กับผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ทุกคนหรือไม่

ซิตตู่ เซยะ ให้สัมภาษณ์กล่าวถึงประธานาธิบดีเต็ง เส่งว่า "ในฐานะที่เขาเป็นประธานาธิบดี ผมคิดว่าเขายังน่านับถืออยู่บ้าง ในขณะที่เขาพยายามปฏิรูปท่ามกลางแรงกดดันอย่างยิ่ง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่อยู่เบื้องหลังเขาด้วย มีคนดีคนเดียวไม่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เราต้องการความร่วมมือทุกๆ ด้านจากทุกฝ่ายเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตย"

เวลา 10.40 น. นาย งเว ซอ ลิน (Ngwe Soe Linn) ได้รับการปล่อยตัว โดยเขาเป็นผู้สื่อข่าวดีวีบีมาตั้งแต่ปี 2551 และเดินทางไปทำข่าวทั่วพม่า โดยเขาถูกสายลับพม่าจับในร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เมื่อ 26 มิ.ย. 52 และในวันที่ 27 ม.ค. 53 ศาลทหารได้ตัดสินจำคุกเขาเป็นเวลา 13 ปี ในข้อหา ละเมิดกฎหมายว่าด้วยการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และละเมิดกฎหมายคนเข้าเมือง

ผลงานสำคัฐของ งเว ซอ ลิน คือเขาได้บันทึกภาพวิดีโอเด็กกำพร้าเนื่องจากสูญเสียพ่อแม่จากเหตุพายุไซโคลนนาร์กีสในปี 2551 โดยผลงานของเขาได้รับรางวัล Rory Peck Award  ในปี 2552 รางวัลซึ่งมอบให้กับผู้สื่อข่าวซึ่งทำงานในพื้นที่เสี่ยงอันตราย โดยเขาได้รับรางวัลในขณะที่ยังถูกจองจำ

ต่อมาในเวลา 12.15 น. ละละ วิน (Hla Hla Win) ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำกะทา ในภาคสะกาย เธอถูกตัดสินจำคุก 27 ปี หลังจากถูกจับกุมเมื่อ 11 ก.ย. 52 ขณะเดินทางไปสัมภาษณ์พระสงฆ์ที่วิจารณ์การสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นในปี 2550

หัวหน้าบรรณาธิการดีวีบี กล่าวว่า "ดีใจมากที่มีนักข่าวดีวีบีได้รับการปล่อยตัว หวังว่าผู้สื่อข่าวทุกคนจะได้รับการปล่อยตัววันนี้"

ในเวลา 13.40 น. ตามเวลาท้องถิ่น วิน หม่อ (Win Maw) นักข่าวดีวีบีอีกคนหนึ่งก็ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำจ็อกผิ่วในรัฐอาระกันหรือยะไข่ เขาเป็นนักข่าวดีวีบีคนสุดท้ายของวันนี้ที่ได้รับการปล่อยตัว ขณะที่ยังคงมีผู้สื่อข่าวดีวีบีซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยชื่ออีกอย่างน้อย 12 คน ที่ยังคงถูกทางการพม่าจับกุม

นอกจากนี้ในเวลา 14.05 น. ถั่น ซิน อ่อง (Thant Zin Aung) ผู้สื่อข่าวอิสระในพม่าซึ่งถูกจับกุมขณะเตรียมโดยสารเครื่องบินมายังประเทศไทยเมื่อปี 2552 โดยเจ้าหน้าที่ข่าวกรองพม่าได้ค้นพบวิดีโอในตัวเขาบันทึกภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพายุไซโคลนนาร์กีสเมื่อปี 52 โดบเขาเป็นหนึ่งในนักโทษการเมืองจำนวน 7 คนที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำในเมืองผาอัน รัฐกะเหรี่ยง

ข้อมูลจากกลุ่มรณรงค์ปล่อยตัวนักข่าวในพม่าหรือ "Free Burma VJ" ระบุว่ามีผู้สื่อข่าววิดีโอหรือ VJ ในพม่ากว่า 17 คน ถูกทางการพม่าจับกุมและตัดสินจำคุกเป็นระยะเวลาหลายสิบปี โดย VJ เหล่านี้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทันเหตุการณ์จากใน พม่าออกสู่สายตาชาวโลก โดยเฉพาะในช่วงการประท้วงใหญ่ของพระสงฆ์ในปี 50 ที่จบลงด้วยการที่รัฐบาลออกมาปราบปรามผู้ที่ออกมาประท้วง จนทำให้มีประชาชนเป็นจำนวนมากต้องล้มตายและได้รับบาดเจ็บ และการรายงานข่าวในช่วงพายุไซโคลนนาร์กีสถล่มพม่าในปี 51

ในปี 2551 มีการฉายภาพยนตร์ "Burma VJ" เป็นภาพยนตร์แนวสารคดีโดยผู้กำกับชาวเดนมาร์ก Anders Hogsbro Ostergaard ฉายครั้งแรกเมื่อปี 2551 ที่เดนมาร์ก มีความยาว 90 นาที ถ่ายทอดเรื่องราวการของ จ่อ ซอ (นามสมมติ) ผู้สื่อข่าววิดีโอ หรือ Video Journalist ของสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (Democratic Voice of Burma หรือ DVB) และเพื่อนร่วมทีมของเขาที่ลักลอบใช้กล้องดิจิตอลบันทึกภาพเหตุการณ์ในพม่า ช่วงการชุมนุมของนักกิจกรรมและพระสงฆ์ในปี 2550 และแอบส่งออกมาเผยแพร่ในโลกภายนอก ซึ่งการกระทำนี้ถือเป็นสิ่งต้องห้ามในพม่า โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลมาแล้วหลายครั้ง และยังเข้าชิงรางวัลออสการ์ประเภทภาพยนตร์สารคดีในปี 2553 (ดูตัวอย่างภาพยนตร์ที่นี่)


ที่มา: แปลและเรียบเรียงบางส่วนจาก
Burma prisoner amnesty – 13 Jan releases,
DVB, 13 Jan 2012

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สหภาพโฮยาพบผู้ว่าและ กมธ.แรงงานทวงความคืบหน้าเลิกจ้าง

Posted: 13 Jan 2012 03:28 AM PST

13 ม.ค. 55 - คณะกรรมการสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ ได้เข้าพบท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายสุรชัย ขันอาสา เพื่ออวยพรปีใหม่และได้ยื่นหนังสือเพื่อขอความช่วยเหลือให้ บริษัทโฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย)จำกัด ได้รับพนักงานกลับเข้าทำงาน  หลังจากบริษัทฯได้ให้พนักงานหยุดงาน 2 เดือน และประกาศว่าจะเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด 1,609 คน ในวันที่ 21 และ 31 มกราคม 2555 นี้
 
พร้อมกันนั้นคณะกรรมการสหภาพแรงงานฯ ได้แจ้งให้ท่านผู้ว่าราชการ ทราบถึงเรื่องการจะเดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อขอความช่วยเหลือต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนได้กล่าวว่าพร้อมให้ความช่วยในด้านต่างๆตามขั้นตอนของราชการ
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนได้กล่าวว่า หลังจากรับหนังสือจากทาง สออส.ในวันนี้แล้ว พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆตามขั้นตอนของทางราชการต่อไป 
 
จากนั้นในเวลา 16.30 น.คณะกรรมการสหภาพฯได้เข้าพบท่าน ส.ส.สถาพร มณีรัตน์ กรรมาธิการแรงงานเพื่ออวยพรปีใหม่และติดตามกรณีปัญหาเลิกจ้าง ที่ต้องการให้นายจ้าง บ. โฮยา รับกลับเข้าทำงานภายใน 31 มค.2555 นี้
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“เฉลิม” เสนอเพิ่ม กม.อาญา เอาผิดคนโอ้อวดจงรักภักดีแล้วใส่ร้ายผู้อื่น

Posted: 13 Jan 2012 03:12 AM PST

 “เฉลิม” เผยในที่ประชุม กมธ.การสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาศึกษาความเป็นไปได้ เพิ่มโทษในกฎหมายอาญา เอาผิดคนอ้างจงรักภักดี แล้วใส่ร้ายผู้อื่น ขณะที่ “วรพงษ์ ชิวปรีชา” แจง ตั้งแต่ 7 ธ.ค. ปิดเว็บไซต์หมิ่นไปแล้ว กว่า 700 เว็บไซต์ แต่ยังแอบเปิดใหม่
  
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 55 ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทยรายงานว่าที่ประชุมคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร วันนี้ มี ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช เป็นประธาน ได้เชิญ   ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง  รองนายกรัฐมนตรี และ ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นสถาบัน  มาชี้แจงความคืบหน้าคดีหมิ่นสถาบัน    โดย พล.ต.อ.วรพงษ์  ชิวปรีชา ที่ปรึกษา สบ. 10 ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกำหนดนโยบายปราบปรามข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสม ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร    ชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ ว่า ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2554   ได้ปิดเว็บไซต์ที่มีลักษณะหมิ่นสถาบัน ประมาณ 757 เว็บไซต์  แต่เมื่อปิดแล้วก็มีการแอบไปเปิดใหม่  ผู้ทำเป็นมืออาชีพ อยู่ต่างประเทศ และไม่ทิ้งร่องรอยไว้
 
ขณะที่ นายศิริโชค โสภา  ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ 1 ใน กรรมาธิการ  แฉข้อมูลว่า มีเฟสบุ๊ก ที่ใช้ชื่อว่า “หน่วยงานรัฐแดงใต้ดิน”  มีสมาชิก 4,944 คน บางส่วนอ้างว่า เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เขียนข้อความหมิ่นสถาบัน    จึงตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เร่งดำเนินการปิดเว็บไซต์ดังกล่าว เพราะได้ติดตามดูความเคลื่อนไหวของเว็บไซต์นี้มานานกว่า 1 เดือนแล้ว  
 
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม ยืนยันว่า หากมีเว็บไซต์ใดทำผิดกฎหมาย จะปิดทันที ไม่ไว้หน้าใครใครทั้งสิ้น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า   เป็นไปไม่ได้ที่คนทำผิดจะใช้ชื่อจริง   จึงต้องให้ความเป็นธรรมว่า เป็นการใส่ร้ายฝ่ายตรงข้ามหรือไม่  และว่า “ผมกำลังให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปศึกษาว่า จะเพิ่มข้อกฎหมายอาญา  ระบุให้ชัดเจนว่า หากใครใส่ร้ายผู้อื่นเรื่องความจงรักภักดี และโอ้อวดตัวเองว่า จงรักภักดี แล้วใส่ร้ายผู้อื่น จะมีความผิด  แต่ยังไม่ระบุชัดว่า จะทำได้หรือไม่  และจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับพรรคเพื่อไทยด้วย” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สหรัฐอเมริกาเตือนพลเมืองระวังเหตุก่อการร้ายในกรุงเทพฯ

Posted: 13 Jan 2012 01:10 AM PST

สถานทูตสหรัฐอเมริกาเตือนพลเมืองให้ระวังผู้ก่อการร้ายโจมตีสถานที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ แนะนำให้หลีกเลี่ยงพื้นที่พลุกพล่าน พื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกอยู่เป็นจำนวนมาก ระวังหีบห่อหรือกระเป๋าที่ถูกนำมาวางทิ้งไว้ และเตือนชาวอเมริกาอย่าทำตัวให้เป็นจุดสนใจ

เว็บไซต์สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำกรุงเทพมหานคร วันนี้ (13 ม.ค.) ได้เผยแพร่คำเตือนไปยังพลเมืองสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย หัวข้อ "Emergency Message to U.S. Citizens: Possible Terrorist Threat" โดยระบุว่า ผู้ก่อการร้ายชาวต่างประเทศอาจเตรียมการโจมตีสถานที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ในเร็วๆ นี้ พลเมืองสหรัฐอเมริกาได้รับการเตือนให้ระมัดระวังการเดินทางไปยังพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ที่มีนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกอยู่เป็นจำนวนมาก

ในการเตือนดังกล่าว ยังแนะนำให้พลเมืองสหรัฐอเมริกาเพิ่มความระมัดระวังเมื่อออกไปยังพื้นที่สาธารณะ ให้ระวังหีบห่อหรือกระเป๋าที่ถูกนำมาวางทิ้งไว้ในพื้นที่สาธารณะหรือที่ๆ มีคนพลุกพล่าน หากพบเห็นเหตุการณ์น่าสงสัยให้แจ้งเหตุกับตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในบริเวณใกล้เคียงทันที นอกจากนี้ ยังเตือนให้ชาวอเมริกันไม่ทำตัวเป็นจุดสนใจในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติหนาแน่นด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้นำไทใหญ่ "ขุนทุนอู" ได้รับอิสระ หลังถูกพม่าขังลืม

Posted: 13 Jan 2012 12:28 AM PST

เจ้าขุนทุนอู ผู้นำพรรค SNLD ได้รับอิสรภาพแล้วพร้อมกับนักการเมืองรัฐฉานที่ถูกจับพร้อมกันเมื่อปี 48 ถือเป็น 1 ในจำนวนนักโทษ 651 คนที่ประธานาธิบดีพม่ามีคำสั่งนิรโทษกรรม "เพื่อกระบวนการปรองดองแห่งชาติ" นอกจากนี้ยังมีผู้นำ น.ศ. จากเหตุการณ์ 8888 บรรดา "Burma VJ" และ "พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์" ได้รับการปล่อยตัวด้วย

ขุนทุนอู (Khun Htun Oo) ผู้นำพรรคสันนิบาติแห่งชาติรัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย (SNLD) ได้รับอิสรภาพแล้วในวันนี้ (13 ม.ค. 55) โดยเขาเป็นหนึ่งในนักโทษจำนวน 665 คนที่รัฐบาลพม่า โดยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง มีคำสั่งนิรโทษกรรมเพื่อ "การปรองดองแห่งชาติ" (ที่มาของภาพ: thithtoolwin)

ภาพขุนทุนอู จากเอกสารรณรงค์ที่เผยแพร่เนื่องในวันเกิดครบรอบ 66 ปีของขุนทุนอู เมื่อ 11 ก.ย. 52 (บน) (ที่มา: burmadigest.info/) ถูกนำมาเป็นภาพปก "Blogzaine หัวไม้ story" ตอน 'ขุนทุนอู' และนักโทษการเมืองรัฐฉานใต้การจองจำของรัฐบาลทหารพม่า ตีพิมพ์ในประชาไทเมื่อ 13 ก.ย. ปี 52 (ล่าง) ล่าสุดขุนทุนอูได้รับการปล่อยตัวแล้วในวันนี้ (13 ม.ค. 55)

หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ฉบับวันที่ 13 ม.ค. 55 รายงานข่าวประธานาธิบดีพม่ามีคำสั่งนิรโทษกรรมนักโทษ 651 คน

สถานีโทรทัศน์เสียงประชาํิํธิปไตยพม่า หรือ ดีวีบี เผยแพร่คลิปข่าวขุนทุนอูให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังได้รับการปล่อยตัว โดยระบุว่าไม่มีความรู้สึกใดๆ ทั้งสิ้นที่ได้รับการปล่อยตัว เพราะตนไม่ควรที่จะถูกจับตั้งแต่แรกแล้ว

 

หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ กระบอกเสียงของรัฐบาลพม่า ฉบับวันนี้ (13 ม.ค. 55) รายงานว่าประธานาธิบดีเต็งเส่ง ของพม่ามีคำสั่งนิรโทษกรรม นักโทษทั้งชายและหญิงจำนวน 651 คน ซึ่งได้รับโทษจำคุก หนังสือพิมพ์ดังกล่าวระบุว่าคำสั่งปล่อยตัวนี้เป็นไปเพื่อ "เป็นหลักประกันเสถียรภาพและสันติภาพอันถาวรของรัฐ สนับสนุนกระบวนการปรองดองแห่งชาติ และเพื่อให้ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง บนพื้นฐานของมนุษยธรรมและ และให้พวกเขาได้เข้ามาเป็นพลเมือง มีส่วนร่วมในสิ่งที่พวกเขาจะสามารถร่วมได้เพื่อการสร้างชาติ โดยตระหนักถึงความเอื้อเฟื้อของชาติ"

โดยตลอดทั้งวันนี้ สื่อพม่าได้รายงานข่าวนักโทษการเมืองผู้ได้รับการปล่อยตัว โดยมีรายงานว่า ขุนทุนอู (Khun Htun Oo) ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติรัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย (SNLD) ได้รับการปล่อยตัวแล้วในวันนี้ หลังถูกจับกุมในข้อหาสมคบพรรคการเมืองนอกกฎหมายและบ่อนทำลายชื่อเสียงประเทศ หลังขุนทุนอูร่วมประชุมกับนักการเมืองอาวุโสในรัฐฉานที่เมืองตองจีในวันที่ 7 ก.พ. 48 ซึ่งตรงกับวันชาติรัฐฉาน และถูกจับระหว่างการกวาดจับนักการเมืองรัฐฉานระหว่างวันที่ 8-9 ก.พ. ปี 48 และถูกตัดสินลงโทษจำคุก 93 ปี โดยในครั้งนั้นมีการจับกุมผู้นำทางการเมืองกว่า 30 คน และต่อมามีการทยอยปล่อยตัวจนเหลือแต่ผู้นำระดับสำคัญรวม 7 คนในจำนวนนี้มีขุนทุนอูรวมอยู่ด้วย

ทั้งนี้ จากรายงานของสำนักข่าวฉาน (S.H.A.N.) มีรายงานด้วยว่า นักการเมืองรัฐฉานที่ถูกจับกุมพร้อมกับขุนทุนอู ได้รับการปล่อยตัวในวันนี้หลายคน ได้แก่ 1.จายยุ้นลวิน (Sai Nyunt Lwin) หรือ จายนุต (Sai Nood) ปัจจุบันอายุ 61 ปี เป็นเลขาธิการพรรค SNLD เคยถูกตัดสินจำคุก 85 ปี

2. จายละอ่อง (Sai Hla Aung) กรรมการบริหารพรรค SNLD ปัจจุบันอายุ 67 ปี เคยถูกตัดสินจำคุก 79 ปี

3.จายทุนโหย่ (Sai Tun Nyo) สมาชิกกลุ่ม (New Generation Shan State - NGSS) ปัจจุบันอายุ 63 ปี เคยถูกตัดสินจำคุก 79 ปี

4.จายเมียววินทุน (Sai Myo Win Tun) สมาชิกกลุ่ม (NGSS) ปัจจุบันอายุ 47 ปี เคยถูกตัดสินจำคุก 79 ปี

ผู้ต้องขังที่เหลือคือ จายหยี่หยี่โม (Sai Nyi Nyi Moe) กรรมการบริหารพรรค SNLD ปัจจุบันอายุ 41 ปี ต้องโทษจำคุก 75 ปี โดยสำนักข่าวฉานเชื่อว่าจะได้รับการปล่อยตัวในวันนี้เช่นกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการยืนยันข้อมูล

ส่วน พล.ต.เสือแท่น (Maj-Gen Hso Ten) ผู้นำระดับสูงของกองทัพรัฐฉานเหนือ (Shan State Army North – SSA/N) และประธานคณะกรรมการสันติภาพรัฐฉาน (Shan State Peace Council – SSPC) ของกลุ่มหยุดยิง ปัจจุบันอายุ 75 ปี เคยต้องโทษจำคุก 106 ปี แต่ได้รับการปล่อยตัวมาก่อนหน้านี้ เมื่อ 12 ต.ค. 54

ในเฟซบุคของ "สาละวินนิวส์ ออนไลน์" รายงานคำให้สัมภาษณ์ของขุนทุนอู หลังได้รับการปล่อยตัวว่า ‎"สิ่งแรกที่ผมอยากจะบอกก็คือ มันสำคัญมากที่ต้องปล่อยนักโทษการเมืองที่เหลือทั้งหมด มันคงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ถ้าต้องไม่มีใครถูกจองจำ ผมไม่มีความรู้สึกใดๆ ทั้งสิ้นที่ได้รับการปล่อยตัว เพราะผมไม่ควรที่จะถูกจับตั้งแต่แรกแล้ว ผมไม่ได้ก่ออาชญากรรมตามที่พวกเขากล่าวหา ผมไม่ได้ทรยศชาติ ผมสูญเสียเวลาเปล่าถึง 7 ปีของชีวิตผมให้กับในสิ่งที่ผมไม่ได้ทำ และไม่มีอะไรที่จะต้องมีความสุขในตอนนี้ "

ก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้งปี 2533 ขุนทุนอูนำพรรค SNLD ชนะการเลือกตั้งทั่วรัฐฉานได้ ส.ส. ทั้งหมด 23 ที่นั่ง โดยเจ้าขุนทุนอูได้รับเลือกเป็น ส.ส. เขตสี่ป้อ โดยเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงเป็นอันดับสองทั่วประเทศรองจากพรรคสันติบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่นำโดยนางออง ซาน ซูจีซึ่งได้รับเลือก 392 ที่นั่ง จากทั้งหมด 492 ที่นั่งในสภา ขณะที่พรรคการเมืองที่หนุนหลังโดยทหารคือพรรคเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Party - NUP) แพ้การเลือกตั้งย่อยยับ โดยได้รับเลือก 10 ที่นั่งเท่านั้น แต่รัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนั้น

นอกจากนี้ในวันนี้ยังมีรายงานข่าวนักโทษการเมืองคนสำคัญได้รับการปล่อยตัวด้วย เช่น พระอะชิน กัมบิระ ผู้นำพระสงฆ์ในการประท้วงเมื่อปี 2550 ชิตตู่ เซยะ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว DVB ผู้นำนักศึกษาในการประท้วง 8888 เมื่อปี 2531 รวมทั้ง พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ อดีตหัวหน้าแผนกข่าวกรอง อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกโค่นอำนาจและถูกจับกุมในข้อหาคอรัปชั่นเมื่อปี 2547 ด้วย โดยประชาไทจะรายงานความคืบหน้าต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข้อเสนอนิติราษฎร์ก้าวหน้าหรือไม่?

Posted: 12 Jan 2012 10:18 PM PST


ก. มุมมองต่อปัญหา ม.112

"แต่อย่างไรก็ตาม เข้าคุกแล้ว ถ้าเป็นการละเมิดพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เองเดือดร้อน เดือดร้อนหลายทาง ทางหนึ่งต่างประเทศเขาบอกว่าเมืองไทยนี่พูดวิจารณ์พระมหากษัตริย์ไม่ได้ ว่าวิจารณ์ไม่ได้ก็เข้าคุก มีที่เข้าคุก เดือดร้อนพระมหากษัตริย์"   (พระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2548) 

"การบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ในทางที่ผิดซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายเช่นนั้นที่มีต่อประเทศไทย ทั้งภายในไทยเองและภายนอกประเทศ"  
นายสุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา หนึ่งในแปดราชนิกุลเขียนจดหมายถึงนายกฯยิ่งลักษณ์ให้แก้ ม.112 

“ขอเตือนว่าถ้าคุณไม่แก้ไขมาตรา 112 จะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ในสังคมไทย ผมพูดเสมอสมัยจักรพรรดิไกเซอร์วิลเฮล์มของเยอรมนี มีการใช้กฎหมายหมิ่นมากที่สุดในเยอรมนี แล้วพระองค์ก็สละราชสมบัติไปเป็นสามัญชนอยู่ที่เบลเยี่ยม”
ส.ศิวรักษ์ (ที่มา “โลกวันนี้วันสุข,14-20 มกราคม 2555)

ผมเองตระหนักดีว่า การอ้างพระราชดำรัสในเชิงสนับสนุนการแก้ไข (หรือยกเลิก) ม.112 นั้น ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลนัก แต่นี่เป็น “ข้อเท็จจริง” ที่เราไม่อาจมองข้ามได้ว่า แม้แต่ในหลวงก็ทรงเห็นว่า การใช้ ม.112 ตามที่เป็นมา “เดือดร้อนพระมหากษัตริย์” ฝ่ายกษัตริย์นิยมเองก็เห็นว่า การบังคับใช้ ม.112 ในทางที่ผิดมีผลกระทบ “ต่อประเทศไทย ทั้งภายในไทยเองและภายนอกประเทศ" 

แม้แต่รอยัลลิสต์ที่ยืนยันตลอดมาว่า การรักษาสถาบันที่ถูกวิธีคือ ต้องวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ หรือทำให้สถาบันดำรงอยู่อย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ ก็เตือนอย่างตรงไปตรงมาว่า ถ้าไม่แก้ไข “มาตรา112 จะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ในสังคมไทย” 

แน่นอนว่า เสียงคัดค้านก็มีมากเช่นกัน โดยเฉพาะจาก ผบ.ทบ. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นักการเมืองบางคน สื่อเครือผู้จัดการ เป็นต้น

แต่การเดินหน้าให้แก้ไข ม.112 ก็นับวันจะเข้มข้นและชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ดังจะมีคณะกรรมการรณรงค์แก้ไข ม.112 (ครก.112) ตามข้อเสนอของ “นิติราษฎร์” ที่จะเปิดตัว แถลงจุดยืนและเหตุผลต่างๆ ในวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคมนี้ ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 

ข.ข้อเสนอนิติราษฎร์

ครก.112 สรุปสาระสำคัญ ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ 7 ประเด็น ให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้

1.ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร 

2.เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

3. แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

4. เปลี่ยนบทกำหนดโทษ โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินสามปีสำหรับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่เกินสองปีสำหรับ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

5. เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

6. เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และ

7. ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิด ให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้น 


ค. ข้อเสนอนิติราษฎร์ก้าวหน้าหรือไม่?

1. ประเด็นเรื่องตัวกฎหมาย ต้องถือว่าก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่ ทั้งเรื่องยกเลิก ม.112 ออกจากลักษณะความผิดว่าด้วยความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ที่มีผลให้พระมหากษัตริย์กับรัฐไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนรัฐในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การลดอัตราโทษ ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำ การแบ่งแยกการคุ้มครองพระมหากษัตริย์กับพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ถือว่าก้าวหน้ากว่าเดิม 

โดยเฉพาะข้อ 5,6,7 เป็นการกำหนด “หลักเกณฑ์” ที่ชัดขึ้นว่า การแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ได้รับการยกเว้นความผิด หรือถ้าพูดความจริงที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะก็ได้รับการยกเว้นโทษ และการห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิดก็เป็นการป้องกันไม่ให้มีการใช้ ม.112 เป็น “เครื่องมือ” ทำลายคู่แข่ง หรือผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง 

2. ประเด็นเรื่องหลักการหรืออุดมการณ์ประชาธิปไตย ประเด็นนี้มีข้อถกเถียงกันมาก เพราะถ้ายึดหลักการ คือ “หลักความเสมอภาค” ตามระบอบประชาธิปไตย “พระมหากษัตริย์ย่อมเท่ากับบุคคลธรรมดา” และย่อมได้รับความคุ้มครองใน “มาตรฐานเดียว” กับบุคคลสาธารณะที่เป็นคนธรรมดา การมีกฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่าง “เป็นพิเศษ” กว่าบุคคลธรรมดาจึงขัดแย้งกับหลักการดังกล่าว

และโดยที่เคยมีตัวบุคคล และ/หรือกลุ่มบุคคลต่างๆ ได้ออกมาเคลื่อนไหวให้ “ยกเลิก ม.112” ก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งการยกเลิกย่อมสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยมากกว่า ฉะนั้น ข้อเสนอของนิติราษฎร์จึงถูกตั้งคำถามในแง่ว่า ไป “ดึง” หรือฉุดรั้งอุดมการณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ล้ำหน้าไปแล้ว ทำให้การเสนอ “ยกเลิก” มีพื้นที่แคบลง ยากมากขึ้น หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย (ความเห็นในเรื่องดังกล่าวนี้ที่ “เด่นชัดมาก” คือ ความเห็นของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งมีเหตุผลรายละเอียดค่อนข้างมาก สามารถตามอ่านได้ที่ เฟชบุ๊กส่วนตัวของเขา หรืออีกไม่นานนี้อาจมีการเผยแพร่ในวงกว้าง)

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากคำอธิบายของอาจารย์นิติราษฎร์บางคน ข้อเสนอ 7 ข้อ เป็นข้อเสนอภายใต้ “บริบท” ของระบบกฎหมายปัจจุบันที่มีการกำหนดโทษหมิ่นฯเจ้าหน้าที่รัฐสูงกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไป ฉะนั้น กฎหมายคุ้มครองประมุขแห่งรัฐจึงต้องถูกนำไปเทียบเคียงเพื่อหาข้อสรุปที่เห็นว่าสมเหตุสมผลมากที่สุด

แต่หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงของสถานการณ์ขัดแย้งทางความคิดเห็นที่ดำรงสืบเนื่องมากว่า 5 ปี ประเด็นเรื่องหลักการ หรืออุดมการณ์ อาจต้องถกเถียงกันไปอีกยาว และภายใต้ ม.112 ในปัจจุบันการถกเถียงเรื่องนี้ย่อมสุ่มเสี่ยงอยู่มาก มีคน “ตาสว่าง” จำนวนมากที่อาจไม่กล้า “ปากสว่าง” ในบรรยากาศของการล่าแม่มด และความคลุมเครือของการบังคับใช้กฎหมาย 

ฉะนั้น หากมองในแง่ดี ถ้าแก้ ม.112 ตามที่นิติราษฎร์เสนอได้จริง การวางมาตรการตามข้อ 5,6,7 จะทำให้การถกเถียงปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ (เช่น เรื่องการปรับปรุงข้อความตามรัฐธรรมนูญมาตรา 8 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับสถาบัน การประชาสัมพันธ์ด้านเดียว ฯลฯ) มีความปลอดภัยมากขึ้น หรือมีเสรีภาพมากขึ้น สื่อมวลชนก็น่าจะกล้านำเสนอความเห็นโต้แย้งกันในปัญหาดังกล่าวกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อพัฒนาการประชาธิปไตยในระยะยาว

ผมอาจมองโลกในแง่ดีเกินไปก็ได้ แต่อย่างน้อย ไม่ว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์จะถูกรัฐสภารับไปแก้ไขตามนี้หรือไม่ก็ตาม แต่นิติราษฎร์ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ให้สังคมรับรู้ และเข้าร่วมถกเถียงปัญหา ม.112 กว้างขวางขึ้น ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทางความคิดในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน!

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จดหมายจากชาญวิทย์: วันหยุดราชการ เพื่อความเสมอภาค สมานฉันท์ ปรองดอง รักสามัคคี ในชาติ

Posted: 12 Jan 2012 07:04 PM PST

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี แสดงความชื่นชมที่รัฐบาลกำหนด "ตรุษจีน" เป็นวันหยุดในพื้นที่ชายแดนใต้ พร้อมเสนอว่าควรมีวันหยุดสำหรับมุสลิมด้วย พร้อมแนะรัฐบาลกำหนดวันหยุดราชการให้สอดคล้องกับเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมของคนในชาติ และประเทศเพื่อนบ้าน

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 55 ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนจดหมายเปิดผนึกในเฟซบุคของตนถึงนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดียนายกรัฐมนตรี เรื่อง "วันหยุดราชการ เพื่อความเสมอภาค สมานฉันท์ ปรองดอง รักสามัคคี ในชาติ" โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

Public Holidays in Thailand (Indonesia, Malaysia, Singapore)

เรื่อง วันหยุดราชการ เพื่อความเสมอภาค สมานฉันท์ ปรองดอง รักสามัคคี ในชาติ 

เรียน    ฯพณฯ ปัจจุบันนายกรัฐมนตรี (หญิง) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (สำเนา: ฯพณฯ อดีตนายกรัฐมนตรี (ชาย) พลเอกเปรม ติณสูลานนท์, นายอานันท์ ปันยารชุน, พลเอกสุจินดา คราประยูร, นายชวน หลีกภัย, นายบรรหาร ศิลปอาชา, พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ, พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร, พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 

 
สืบเนื่องจากการที่คณะรัฐมนตรีของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน (หญิง) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีมติให้ "วันตรุษจีน" เป็นวันหยุดราชการในจังหวัดภาคใต้ชายแดนมาเลเซียนั้น กระผมขอแสดงความชื่นชมและยินดี ที่ท่านจะทำให้ประชากรของประเทศ ทั้งที่มีเชื้อสายและความเชื่อแบบจีน กับที่มีเชื้อสายและความเชื่อแบบมุสลิม ได้มีวันหยุดที่เป็นทางการเสมอภาคกันในจังหวัดชายแดน ดังกล่าว 
 
อย่างไรก็ตาม กระผมขอเรียนให้ทราบว่า ในประเทศเพื่อนบ้านของเรา ใน "ประชาคมอาเซียน" ที่มีประชากรหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ นั้น กำหนดให้มีวันหยุดราชการและรัฐการระดับชาติ สำหรับศาสนา และความเชื่อหลักๆ ดังนี้ คือ 
 
วันวิสาขะ/พุทธศาสนา
วันฮารีรายา/ศาสนาอิสลาม
วันทีปวาลี/ศาสนาฮินดูพราหมณ์
วันคริสตมาส/คริสตศาสนา
และวันตรุษจีน 
 
ดังนั้น เพื่อความเสมอภาค สมานฉันท์ ปรองดอง รักสามัคคี ในชาติของเรา ที่ประกอบด้วยประชากร ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อ กระผมจึงขอเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และพิจารณาตามที่ ฯพณฯ เห็นสมควร 
 
(นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ) 
 
ข้าราชการบำนาญ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เกษียร เตชะพีระ:“ให้ใจเพื่อนนิติราษฎร์”

Posted: 12 Jan 2012 03:51 PM PST

 

 

ใช่ที่ว่าจุดหมายยังไม่ถึง

ใช่ที่ว่าเป็นฝันซึ่งยังต้องสร้าง

รัฐธรรมนูญยิ่งใหญ่ใส่พานวาง

แต่ทวยราษฎร์เป็นเบี้ยล่างเสมอมา

แต่หากไร้คณะนิติราษฎร์สู้

ราษฎรคงยังอยู่เป็นไพร่ข้า

ก้าวแรกการแก้ปมสมบูรณาฯ

เป็นก้าวสั้นแต่ทว่ายั่งยืนยาว.....  

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น