โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ร่วมกันผนึกกำลัง ทำให้ข้อเสนอนิติราษฎร์เป็นจริง จากห้องสัมมนาสู่ภาคสนาม

Posted: 29 Jan 2012 07:13 AM PST

ในสังคมการเมืองไม่มีอะไรหยุดนิ่งคงที่ อันนี้เป็นหลักวิภาษวิธีมาร์คซิสต์ และหลักศาสนาพุทธด้วย หลังการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วที่นำไปสู่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย และหลังการจับมือกันเสมือนมิตรแท้ระหว่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์กับทหารมือเปื้อนเลือด พร้อมกับการคล้อยคลานตามก้นรัฐบาลของแกนนำเสื้อแดง นปช. เส้นแบ่งในสังคมไทยระหว่าง “คนก้าวหน้าที่รักเสรีภาพประชาธิปไตย” กับ “คนล้าหลังที่อยากให้ไทยเป็นทาสต่อไป” ไม่ใช่ระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อเหลืองอีกต่อไป เส้นแบ่งอยู่ระหว่างผู้ที่สนับสนุนข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์รวมถึงข้อเสนอของคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) กับทุกคนที่ต้องการปกป้องความมืดป่าเถื่อนล้าหลังของสังคมเผด็จการไทย

เป็นที่น่าเสียดาย (แต่เราไม่ควรแปลกใจ) ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่ในกลุ่มหลัง ที่น่าเสียดายมากกว่านั้นคือดูเหมือนแกนนำ นปช. ก็อยู่ในกลุ่มที่ปกป้องความมืดด้วย แต่ประเด็นสำคัญคือเสื้อแดงทุกคนต้องตั้งคำถามว่าตัวเองยืนอยู่ตรงไหน

แต่ละคนที่คลานเข้าไปในที่มืด คงมีข้อแก้ตัวต่างๆ นานา ในที่นี้ผมไม่ได้พูดถึงทหารมือเปื้อนเลือดหรือพวกเสื้อเหลือง เพราะเขาเหล่านั้นมีส่วนในการสร้างที่มืดแต่แรก และในกรณีทหารที่ฆ่าประชาชนเป็นประจำ เขาได้ดิบได้ดีจากการสร้างยุคมืดและการใช้กฏหมาย 112 ในการปกป้องสิ่งที่เขาทำมาตลอด

ผมพูดถึงคนเสื้อแดงที่เลิกสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย และเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของขบวนการเสื้อแดงให้กลายเป็นว่าเสื้อแดงสู้และเสียสละเสียชีพเพื่อให้ยิ่งลักษณ์ เฉลิม และณัฐวุฒิ เป็นรัฐมนตรีเท่านั้น เพราะลองย้อนกลับไปคิดว่า ในช่วงที่ชุมนุมใหญ่ที่ราชประสงค์ พวกเราทุกคนรวมถึงคนที่เสียสละในพื้นที่ คิดและพูดแบบนั้นหรือไม่ ไม่เลย มีการพูดถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยมากกว่า

ถ้าเราเขี่ยข้อแก้ตัวไร้สาระต่างๆ นานาของฝ่ายที่จับมือกับขบวนการยุคมืดออกไป จะเห็นว่าข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์กับ ครก.112 เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยพื้นฐาน เพราะถ้าเราไม่ลบผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยา และไม่นำคนที่สั่งฆ่าประชาชนและฉีกรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยด้วยความรุนแรงมาลงโทษ รัฐประหารและการเข่นฆ่าประชาชนจะเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก และถ้าเราไม่แก้หรือยกเลิก 112 ประเทศไทยก็จะยังคงมีกฏหมายเผด็จการที่ปิดปากประชาชนไม่ให้พูดในเรื่องสำคัญๆ ทางการเมือง และไม่ให้วิจารณ์พฤติกรรมของกองทัพที่อ้างกษัตริย์ตลอด

นอกจากนี้คนบริสุทธิ์ที่โดนขังในคุกป่าเถื่อนของไทยด้วยกฏหมายนี้ก็จะไม่มีวันถูกปล่อย มันเข้าใจง่ายครับ ดังนั้นการอ้าง “ปรองดอง” เพื่อไม่แตะ 112 และไม่แตะทหารของนักการเมืองเพื่อไทยทั้งหมด และเสื้อแดงบางคน เป็นเพียงการนำใบบัวเล็กๆ มาปิดไดโนเสาร์ที่ตายทั้งตัว

อาจารย์ในกลุ่มนิติราษฎร์ และแกนนำ ครก. 112 เขาก้าวเข้ามาเพื่อจุดไฟนำทางไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตย ถ้ามองว่าเป็นกิฬาวิ่งแข่ง อาจมองว่ารับหน้าที่ต่อจาก บก.ลายจุด และแกนนำเสื้อแดงก่อนหน้านั้นที่เคยนำการต่อสู้แต่ตอนนี้ล้มไปข้างทางแล้ว

ประเด็นสำคัญคือ ท่านผู้อ่าน และกลุ่มเสื้อแดงหรือกลุ่มนักกิจกรรมที่คุณคลุกคลีด้วย กำลังเลือกข้างไหน คุณและพรรคพวกจะเลือกอยู่กับคนที่ต้องการปกป้องความมืดป่าเถื่อนล้าหลังของสังคมเผด็จการไทย หรือคุณจะเลือกข้าง นิติราษฎร์ กับ ครก.112? และผมขอเน้นคำว่า “พรรคพวก” เพราะการเปลี่ยนสังคมไม่เคยเป็นเรื่องที่ปัจเจกทำได้ด้วยการนั่งคิด หรือแค่ไปนั่งฟังสัมมนาในฐานะผู้บริโภคความรู้ เราต้องมีพลังที่มาจากการรวมกลุ่มกับคนอื่น และลงภาคสนาม

เราจะร่วมผนึกกำลังเพื่อทำให้ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์และ ครก. 112 เป็นจริงได้อย่างไร? ผมไม่มีสูตรวิเศษอะไร และมันเป็นเรื่องที่เราต้องเร่งคิด ผมเพียงแต่รู้ว่าถ้าเสื้อแดงทุกคนไม่ถามตัวเองว่าเลือกข้างไหน แล้วถามกลุ่มเสื้อแดงที่รู้จักกันว่าพวกเรามีจุดยืนอย่างไร พลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิด ถ้านิสิตนักศึกษาและนักวิชาการที่สนับสนุน นิติราษฎร์และ ครก. 112 ไม่จงใจรวมกลุ่มเพื่อเคลื่อนไหวกับคนอื่น พลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิด และถ้านักสหภาพแรงงานที่มีอำนาจซ่อนเร้นทางเศรษฐกิจ ไม่ถามตนเองและเพื่อร่วมขบวนว่าจะเลือกข้างไหน พลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เกิดเช่นกัน ....แต่แค่นั้นก็ไม่พอ

การเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ว่าจะเป็นในไทย อียิปต์ ยุโรป หรือในกลุ่ม Occupy ที่สหรัฐ ไม่เคยเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีการชุมนุมเดินขบวน ถ้าไม่มีการประท้วงโดยหลากหลายวิธี และถ้าไม่มีความพยายามที่จะนัดหยุดงานด้วย ซึ่งแน่นอนสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ปัจเจกที่ไม่สังกัดกลุ่มอะไรทำได้

และเมื่อเราต้องทำงานเป็นกลุ่ม มันแปลว่าเราต้องพร้อมจะประนีประนอมบ้างเพื่อสามัคคีขบวนการภายใต้จุดยืนร่วมที่จะนำไปสู่เสรีภาพและประชาธิปไตย ผมเองมองว่าในเรื่อง 112 ควรยกเลิกเลยโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะเป็นกฏหมายเผด็จการ แต่ผมพร้อมจะร่วมขบวนกับคนที่มีข้อเสนอแบบ ครก. 112 โดยไม่เสียเวลาในการทะเลาะอะไรเล็กน้อยๆ ที่ไม่สร้างสรรค์ในขั้นตอนนี้

สุดท้ายนี้ฝ่ายคลั่งสถาบันชอบเบี่ยงเบนประเด็นด้วยข้อกล่าวหาและคำถามโง่ๆ เพื่อไม่ต้องมาถกในเนื้อเรื่องจริง คำถามหนึ่งคือเขาถามพวกเราว่า “พ่อแม่ไม่สั่งสอนในทางที่ถูกหรือยังไง” ในกรณีผมพ่อแม่ผมสั่งสอนให้เคารพประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของพลเมืองทุกคนโดยไม่มีข้อแม้ คือไม่ควรมีสูงมีต่ำ และพ่อแม่ผมสอนให้คัดค้านเผด็จการทหารมือเปื้อนเลือดมาตลอด แต่จริงๆ แล้วมันไม่สำคัญ คนที่มองว่าเรื่องแบบนี้สำคัญคงจะเป็นคนที่พ่อแม่สอนให้ตอแหลทางการเมือง ปิดกั้นประชาธิปไตย และสนับสนุนทหารมือเปื้อนเลือดมั้ง? และผมก็สงสัยว่าพ่อแม่ของคนเหล่านี้มีส่วนในการเข่นฆ่าประชาชนที่สนามหลวงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หรือมีส่วนในการไล่อาจารย์ปรีดีออกจากประเทศก่อนหน้านั้นหรือไม่

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'พ.ร.ก.โอนหนี้' กับ 'มาตรฐานที่พึงมี' ของศาลรัฐธรรมนูญ

Posted: 29 Jan 2012 06:58 AM PST

ผู้ใดที่เชื่อว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตัดสินคดีสองมาตรฐาน โปรดจับตาให้ดีอีกครั้ง!

 

ล่าสุด “พรรคประชาธิปัตย์” ประกาศจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชกำหนด หรือ “พ.ร.ก.”  (กฎหมายฉุกเฉินที่ตราโดยฝ่ายบริหารโดยไม่ผ่านสภา) ที่ “รัฐบาลเพื่อไทย” ตราขึ้นหลังวิกฤตน้ำท่วมนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

พ.ร.ก. ที่พรรคประชาธิปัตย์จะยื่นให้ศาลพิจารณา ตามข่าว มีสองฉบับ คือ

- พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 (กรณีวงเงินกู้ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท); และ

- พระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555  (กรณี “โอนหนี้” กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาทให้ธนาคารแห่งประเทศไทย)

ข้อสังเกตคือ เมื่อไม่นานมานี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็เคยวินิจฉัยคดีที่คล้ายคลึงกัน แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

คดีที่ว่าเกิดขึ้นใน สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งได้ตรา “พ.ร.ก. กู้เงิน 4 แสนล้านบาท” (พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552) โดยไม่ผ่านสภา

ฝ่ายค้าน ซึ่งนำโดย “พรรคเพื่อไทย” ในเวลานั้น ก็ได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มี คำวินิจฉัยที่ 11/2552 (โดยมติเอกฉันท์) ว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ได้ดำเนินการตรา “พ.ร.ก. กู้เงิน 4 แสนล้านบาท” โดยถูกต้องแล้ว จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ (http://bit.ly/xO4XOu)

มาวันนี้เมื่อ “รัฐบาลเพื่อไทย” เป็นผู้ตรา พ.ร.ก. และ “ประชาธิปัตย์” เป็นฝ่ายค้าน สถานการณ์จึงกลับกัน (ในขณะที่ตุลาการผู้พิจารณาคดีทั้ง 9 ท่านนั้นยังเป็นชุดเดิม แม้จะมีการสลับตำแหน่งประธานศาลกันได้อย่างน่าลึกลับยิ่งนักก็ตาม)

หากมองกรณีการฟ้องคดี พ.ร.ก. ทั้งสองกรณี จะพบว่า สิ่งที่เหมือนกัน ก็คือ “บริบทในทางกฎหมาย” แต่สิ่งที่ต่างกัน ก็คือ “บริบท ในทางข้อเท็จจริง”

“บริบทในทางกฎหมาย” ซึ่งศาลจะต้องนำมาใช้พิจารณาเหมือนกัน ก็คือ หลักเกณฑ์ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ซึ่งใน คำวินิจฉัยที่ 11/2552 ศาลได้กำหนดประเด็นวินิจฉัยเป็นสองประเด็นด้วยกัน คือ:

- ประเด็นที่หนึ่ง: พ.ร.ก. นั้น ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ?

- ประเด็นที่สอง: พ.ร.ก. นั้น  ตราขึ้นเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ หรือไม่ ?

ส่วน “บริบทในทางข้อเท็จจริง” ที่แตกต่างกัน ก็คือ สภาพปัญหาทางเศรษฐกิจและรายละเอียดของมาตรการที่กำหนดโดยสองรัฐบาล คือ:

รัฐบาลประชาธิปัตย์ได้อ้างเหตุสภาพวิกฤติเศรษฐกิจของโลกที่ตกต่ำ จึงจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อรักษาความมั่นคงของเศรษฐกิจไทย

- รัฐบาลเพื่อไทย ได้อ้างถึงความจำเป็นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังมหาวิกฤตอุทกภัย โดยการกู้เงินและโอนหนี้จำนวนมหาศาลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับผิดชอบ 

ผู้เขียนเห็นว่า แม้ “ข้อเท็จจริง” จะต่างกัน แต่ศาลย่อมต้องวินิจฉัยโดยอาศัย “ข้อกฎหมาย” มาตรฐานเดียวกัน อีกทั้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2552 กรณี  “พ.ร.ก. กู้เงิน 4 แสนล้านบาท” ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์นั้น ถือเป็นคำวินิจฉัยที่มีมาตรฐานดีในระดับหนึ่ง ซึ่งศาลพึงรักษาและพัฒนาเป็นแนววินิจฉัยที่หลักแหลม ลึกซึ้ง และแยบยลได้ต่อไป โดยเฉพาะในประเด็นต่อไปนี้

1. “ฝ่ายตุลาการ” พึงระลึกว่าตนไม่ใช่ “ฝ่ายบริหาร”
“มาตรฐานที่ดี” ที่ปรากฏจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2552 นั้น คือการที่ศาลได้วางหลักวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 โดยศาลพึงใช้อำนาจตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยคำนึงถึงหลักการแบ่งแยกและดุลคานแห่งอำนาจเป็นสำคัญ (คำวินิจฉัยหน้าที่ 30)

แต่สิ่งศาลอาจไม่ได้กล่าวไว้ชัด ก็คือ การที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจให้ “ฝ่ายตุลาการ” ตรวจสอบการใช้อำนาจตรา พ.ร.ก. ซึ่งเป็นอำนาจของ “ฝ่ายบริหาร” ได้นั้น เป็นกรณีที่ “ฝ่ายตุลาการ” พึงใช้อำนาจอย่างระมัดระวังและละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง เพราะอำนาจตุลาการเป็น “อำนาจเชิงวินิจฉัยตรวจสอบ” ไม่ใช่ “อำนาจเชิงวางแผน ปฎิบัติ จัดการ” กล่าวโดยง่ายก็คือ เมื่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของปากท้องที่ได้รับผลจากสภาพเศรษฐกิจเป็นผู้คัดเลือกรัฐบาลมาเป็นผู้นับเงิน หาเงิน จ่ายเงินและรับผิดชอบใช้หนี้ โดยธรรมชาติ รัฐบาลย่อมต้องเข้าใจการเงินของประเทศดีกว่าตุลาการที่มาจากการสรรหาแต่งตั้งซึ่งไม่ได้รับผิดชอบหรือเชี่ยวชาญเรื่องการเงินการคลังของประเทศ

ความแตกต่างอันละเอียดอ่อนดังกล่าวเห็นได้จาก การที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 185 วรรคสี่ มิได้วางใจให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดี พ.ร.ก. โดยมติเสียงข้างมากเท่านั้น แต่กำหนดว่า หากศาลจะวินิจฉัยว่า พ.ร.ก. นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม กล่าวคือ ตุลาการอย่างน้อย 6 คนจาก 9 คน ต้องเห็นตรงกันว่า พ.ร.ก. นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น ศาลจึงไม่อาจคำนึงเพียงว่าตนมีอำนาจปกป้องรักษาหลักการแบ่งแยกและดุลคานแห่งอำนาจเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจโดยไม่ชอบแล้วหรือไม่ แต่ศาลยังจะต้องระลึกถึงความละเอียดอ่อนของอำนาจตุลาการที่แตกต่างจากอำนาจบริหารด้วยเช่นกัน

กล่าวให้ชัดก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญพึงไม่ใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางว่า พ.ร.ก. นั้น มีเหตุผลหรือเหมาะสมในสายตาของศาลเพียงใด แต่ศาลพึงวินิจฉัยอย่างเจาะจงเฉพาะในประเด็นว่า พ.ร.ก. ที่ว่า “ตราขึ้นเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ หรือไม่ ?” และ “ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ?” เท่านั้น

มิฉะนั้น หากศาลนึกว่าตนกลายเป็นผู้สวมบทบริหารประเทศเสียเอง ศาลย่อมกลับกลายเป็นผู้ทำลายการแบ่งแยกและดุลคานแห่งอำนาจที่ตนพร่ำจะรักษาในที่สุด

2. “ฝ่ายตุลาการ” พึงระลึกว่าตนไม่ใช่ “ผู้ผูกขาดการตรวจสอบ” เรื่อง พ.ร.ก.
“มาตรฐานที่ดี” อีกประการที่ปรากฏจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2552 นั้น ก็คือการวางหลักวินิจฉัยโดยคำนึงถึง “องค์กรอื่น” ที่มีบทบาทตรวจสอบฝ่ายบริหารในการที่เกี่ยวกับ พ.ร.ก ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ “รัฐสภา” สามารถพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ได้ หรือ “ฝ่ายองค์กรอิสระ” เช่น  คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งสามารถตรวจสอบการใช้เงินหรือปฎิบัติตาม พ.ร.ก. ได้โดยอ้อมอีกทางเช่นกัน (คำวินิจฉัยหน้าที่ 30-31)

แต่สิ่งศาลอาจไม่ได้กล่าวไว้ชัด ก็คือ การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีผู้ร่วมตรวจสอบ พ.ร.ก. ไว้หลายองค์กร ก็ด้วยเหตุว่า ธรรมชาติและภารกิจขององค์กรที่แตกต่างกัน ย่อมเป็นปัจจัยทางกฎหมายที่กำหนดให้องค์กรดังกล่าวมี “รูปแบบ” หรือ “วิธีการ” ตรวจสอบฝ่ายบริหารที่แตกต่างกันและไม่ควรก้าวล่วงซึ่งกันละกัน

กล่าวคือ รัฐธรรมนูญ มุ่งหมายให้รัฐสภาในฐานะ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” เป็นผู้มีหน้าที่ตรวจสอบ พ.ร.ก. เป็นการทั่วไปว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ (ดังที่ศาลใช้คำว่า “ตรวจสอบโดยทางการเมือง”) แน่นอนว่าฐานทางเหตุผลของฝ่ายนิติบัญญัติย่อมคำนึงถึงทั้งหลักประโยชน์สาธารณะและความจำเป็นเร่งด่วนตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 184 แต่รัฐธรรมนูญก็มิได้บัญญัติถ้อยคำที่แคบเหมือนกรณีการตรวจสอบโดยตุลาการตาม มาตรา 185 แต่อย่างใด สมาชิกรัฐสภาจึงชอบที่จะอภิปรายหลักความถูกต้องเหมาะสมของ พ.ร.ก. ไม่ว่าจะตามหลักการเงิน การคลัง การค้า การเกษตร การต่างประเทศ หรือการอื่นใดที่ผู้แทนประชาชนอันหลากหลายพึงจะอภิปรายลงมติกัน

ส่วน “องค์กรอิสระ” อื่นก็มีรูปแบบหน้าที่การตรวจสอบเป็นการเฉพาะ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ย่อมอาศัยความชำนาญในทางบัญชีและการตรวจสอบการเงิน หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ก็ย่อมมีอำนาจสืบสวนสอบสวนการทุจริตประพฤติมิชอบตามกระบวนการของกฎหมาย เป็นต้น

ดังนั้น การตรวจสอบโดยศาล ย่อมพึงกระทำในกรอบที่ รัฐธรรมนูญ มาตรา 185 วรรคสาม กำหนดไว้อย่างเฉพาะเจาะจง และศาลจะใช้อำนาจพิจารณาตรวจสอบได้ทุกเรื่อง ทุกลักษณะ ทุกรูปแบบ ประหนึ่งศาลเป็นทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและองค์กรอิสระภายในเวลาเดียวกัน ย่อมหาสมควรไม่

3. “ฝ่ายตุลาการ” พึงระลึกว่า “ความน่าศรัทธาในมาตรฐาน” คือฐานแห่งอำนาจตุลาการ
“มาตรฐานที่ดี” อีกข้อที่ปรากฏจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2552 คือ การที่ศาลวางหลักว่าการตรวจสอบ พ.ร.ก. นั้น “ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นแต่ละกรณีไป” (คำวินิจฉัยหน้าที่ 31)

คำถามที่สำคัญ คือ เมื่อข้อเท็จจริงแต่ละกรณีย่อมต่างกัน ศาลจะรักษามาตรฐานความเป็นธรรมได้อย่างไร?

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 วรรคสาม ประกอบกับ รัฐธรรมนูญ มาตรา 184 สองวรรคแรก ได้กำหนดกรอบอำนาจให้ศาลตรวจสอบ พ.ร.ก. ตามหลัก “ประโยชน์สาธารณะ” และ “ความจำเป็นเร่งด่วน” ไว้เป็นการทั่วไป อีกทั้งไม่ได้บัญญัติเจาะจงรายละเอียดไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาลควรจะต้องตีความรัฐธรรมนูญอย่างไร จึงจะไม่ละเมิดหลักที่อธิบายมาสองข้อแรก คือ ไม่ใช้ดุลพินิจกว้างจนกลายฝ่ายบริหาร หรือ ผูกขาดการตรวจสอบเสียเอง ?

เรื่องนี้ตอบได้ว่า แม้หลักเกณฑ์ “เชิงเนื้อหาสาระ” ที่นำมาตีความว่า พ.ร.ก. ฉบับใดชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 184 สองวรรคแรกหรือไม่อาจหยืดหยุ่นได้ตามกรณี แต่กระนั้นก็ดี ศาลพึงรักษามาตรฐาน “เชิงนิติวิธี” เพื่อเป็นแนวทางในการวินิจฉัย พ.ร.ก. ในทุกคดีให้เสมอกัน

กล่าวคือ ศาลไม่อาจตีความ มาตรา 184 โดยกำหนดหลักเกณฑ์ “เนื้อหาสาระ” ที่สมบูรณ์และครอบคลุมทุกกรณีได้ว่า พ.ร.ก. ฉบับใดต้องมีเนื้อหาสาระแบบใดจึงจะเข้าลักษณะ “จำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้” หรือ “รักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ” และหากศาลจะนำเนื้อหาสาระของ พ.ร.ก. สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ มาเปรียบเทียบกับ พ.ร.ก. ในสมัยรัฐบาลเพื่อไทย เพื่อจะอ้างว่า เมื่อ พ.ร.ก. เนื้อหาต่างกัน ผลการวินิจฉัยย่อมต้องต่างกัน ย่อมเป็นการป่วยการ

แต่มาตรฐานที่ศาลพึงมี คือ มาตรฐาน “เชิงนิติวิธี” ที่วางระดับขั้นตอนว่า ไม่ว่าเนื้อหาสาระของ พ.ร.ก. ในแต่ละคดีจะเป็นแบบใด ศาลนั้นจะใช้ “แนววิธี” หรือระดับความเข้มงวดในการพิจารณาเนื้อหาสาระของ พ.ร.ก. อย่างไร

เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2552 ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ จะพบว่า ศาลได้วางหลัก“เชิงนิติวิธี” เกี่ยวกับการตรวจสอบ พ.ร.ก. ไว้ ก็คือ “หลักเหตุผลที่เพียงพอ” กล่าวคือ ศาลใช้วิธีจัดวางระดับการตรวจสอบดุลพินิจและเหตุผลของฝ่ายบริหารในการตรา พ.ร.ก. ไว้เป็นการเบื้องต้นอย่างไม่เข้มงวดเคร่งครัด โดยหากฝ่ายบริหารสามารถชี้แจงและอธิบายเหตุผลที่เพียงพอให้ศาลเห็นถึง “ประโยชน์สาธารณะ” และ “ความจำเป็นเร่งด่วน” ตามมาตรา 184 สองวรรคแรกได้แล้ว ศาลย่อมพึงอาศัยเหตุผลดังกล่าวเพื่อวินิจฉัยว่า พ.ร.ก. ดังกล่าว ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แม้ว่าศาลหรือผู้อื่นอาจเห็นเหตุผลหรือแง่มุมอื่นที่แตกต่างก็ตาม (นิติวิธีนี้อาจใกล้เคียงกับหลัก rational basis หรือ deferential rule ที่ใช้โดยศาลต่างประเทศ)

“หลักเหตุผลที่เพียงพอ” ซึ่งเป็นหลัก “เชิงนิติวิธี” ดังกล่าว ปรากฏชัดจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2552 เช่น

- ในหน้า 27-28 ศาลได้ยกเหตุผลของรัฐบาลประชาธิปัตย์เกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกมาพิจารณาและสรุปว่า “จึงมีเหตุผลเพียงพอที่รัฐบาลจะตราพระราชกำหนดดังกล่าว”  โดยมิได้เข้าไปพิจารณาถึงรายละเอียดข้อโต้แย้งที่ฝ่ายค้านพยายามชี้แจงคัดค้าน

- ในหน้า 28-29 ศาลได้ยกสาระสำคัญห้าประการของ พ.ร.ก มาพิจารณาและสรุปว่า “ย่อมเห็นได้ว่า การที่คณะรัฐมนตรีตราพระราชกำหนด....ก็เพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ...” กล่าวคือ ศาลพิจารณาที่สาระของกฎหมายว่ามีเหตุผลสอดคล้องกับที่รัฐบาลประชาธิปัตย์กล่าวอ้างหรือไม่ โดยไม่ได้นำข้อพิจารณาภายนอกมาเป็นสาระสำคัญในการหักล้างคัดค้านเหตุผลของรัฐบาล แม้ฝ่ายค้านที่ยื่นเรื่องต่อศาลจะได้อธิบายชี้แจงไว้ก็ตาม

- ในหน้า 32 ศาลก็ได้ยกเหตุผลตามสถานการณ์เป็นการทั่วไป เพื่อสรุปว่า “ถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีความฉุกเฉิน” และตรวจสอบการกระทำของรัฐบาลประชาธิปัตย์เป็นการทั่วไปว่า “ยังไม่มีมูลกรณีให้เห็นว่า คณะรัฐมนตรีได้ตราพระราชกำหนดขึ้นมาโดยไม่สุจริตหรือใช้ดุลพินิจบิดเบือนหลักการของรัฐธรรมนูญ”

ดังนั้น หาก “ศาลรัฐธรรมนูญชุดเดียวกัน” จะรักษา “มาตรฐาน” ที่ได้วางหลักไว้ในสมัย “รัฐบาลประชาธิปัตย์” วันก่อน ให้สม่ำเสมอและน่าศรัทธาในสมัย “รัฐบาลเพื่อไทย” วันนี้แล้วไซร้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ย่อมต้องไม่ทำตนเป็น “ศาลการคลัง” หรือ “ศาลเศรษฐศาสตร์” อีกทั้งย่อมต้องไม่สำคัญผิดว่าตนเป็นฝ่ายบริหาร หรือผูกขาดการตรวจสอบความเหมาะสมของ พ.ร.ก. ที่รัฐบาลตราขึ้นไปทุกเรื่องทุกกรณี  

ในทางตรงกันข้าม “ศาลรัฐธรรมนูญ” พึงอาศัย “นิติวิธี” ในการตรวจสอบว่า รัฐบาลเพื่อไทยนั้นมี “เหตุผลที่เพียงพอ” เพื่ออธิบายได้ว่า พ.ร.ก. นั้นเป็นไปเพื่อ “รักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” และ “จำเป็นเร่งด่วน” หรือไม่ ส่วนจะเหมาะสมทุกแง่ทุกประการอย่างไรย่อมไม่เป็นประเด็นวินิจฉัย ดังนั้น หากไม่ใช่กรณีที่เหตุผลของรัฐบาลถูกหักล้างโดยสิ้นเชิงหรือเป็นเท็จโดยชัดแจ้ง และหากรัฐบาลไม่ได้ใช้อำนาจโดยไม่สุจริตเพื่อบิดเบือนรัฐธรรมนูญแล้วไซร้ ศาลย่อมชอบที่จะอาศัย “เหตุผลที่เพียงพอ” ของรัฐบาลเพื่อไทยเพื่อวินิจฉัยว่า พ.ร.ก. ดังกล่าว ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

เมื่อ “ความน่าศรัทธาในมาตรฐาน” คือฐานแห่งอำนาจตุลาการ ผู้เขียนก็ขอส่งกำลังใจให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยคดี พ.ร.ก. ของรัฐบาลชุดนี้โดยคำนึงถึงหลักวินิจฉัยในคดีรัฐบาลชุดก่อน ให้สมกับ “มาตรฐานที่พึงมี” เพื่อให้อำนาจตุลาการเป็นอำนาจแห่งกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์โดยแท้

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ออง ซาน ซูจี" หาเสียงที่ทวาย เสนอแก้ รธน.ทหาร

Posted: 29 Jan 2012 06:44 AM PST

ที่มาของภาพ: http://www.facebook.com/daweicity

วันนี้ (29 ม.ค.) นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี พรรคฝ่ายค้านสำคัญในพม่า ได้เริ่มต้นภารกิจการตระเวนหาเสียงอย่างเป็นทางการแล้วที่เมืองทวาย เมืองริมทะเลทางตอนใต้ของย่างกุ้ง ในภูมิภาคตะนาวศรีของพม่า ห่างจาก อ.เมือง จ.กาญจนบุรีไปราว 180 กิโลเมตร โดยมีผู้สนับสนุนหลายพันคนออกมาต้อนรับนางออง ซาน ซูจี ตั้งแต่สนามบินเมืองทวาย จนถึงบริเวณหาเสียงกลางเมือง

โดยออง ซาน ซูจี ปราศรัยด้วยว่าต้องหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2551 ที่ร่างขึ้นโดยกองทัพเพราะให้อำนาจกองทัพอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่การแต่งตั้งรัฐมนตรี การควบคุมประเทศในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการสงวนที่นั่งในรัฐสภาให้ทหารถึง 1 ใน 4  นอกจากนี้ นางออง ซาน ซูจี ยังระบุด้วยว่าต้องแก้ปัญหาการสู้รบระหว่างทหารกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์

ทั้งนี้นางออง ซาน ซูจี วัย 66 ปี เป็นบุตรสาวของ นายพลออง ซาน ผู้ก่อตั้งประเทศพม่า ซึ่งในรอบ 23 ปีมานี้ออง ซาน ซูจีถูกรัฐบาลทหารสั่งกักบริเวณในบ้านพักหลายหน เป็นระยะเวลารวมกันกว่า 15 ปี โดยล่าสุดนางออง ซาน ซูจี และสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีได้ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส. พม่า ซึ่งมีกำหนดจัด 1 เมษายนนี้ โดยซูจีลงสมัครในเขตบ้านเกิดที่ย่างกุ้ง โดยการเลือกตั้งซ่อมที่จะมีขึ้นนี้จะเป็นการชิงชัยทั้งหมด 48 ที่นั่ง เนื่องจากมี ส.ส. เดิม 48 คน ลาไปรับตำแหน่งรัฐมนตรี

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“สุรชัย แซ่ด่าน” เขียนจดหมายร้องนำผู้ต้องหา 112 ไปคุกพิเศษ แดงเชียงใหม่ส่งโปสการ์ดให้กำลังใจ

Posted: 29 Jan 2012 03:52 AM PST

เปิดจดหมาย “สุรชัย แซ่ด่าน”  ถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้นักโทษ 112 ควรจะถูกส่งไปยังสถานควบคุมพิเศษ ไม่เพียงแต่ผู้อยู่ระหว่างพิจารณาคดีแต่รวมถึงผู้ที่ถูกตัดสินเด็ดขาดแล้วด้วย ด้านแดงเชียงใหม่ยังไม่ลืม ส่งโปสการ์ดให้กำลังใจ

 

29 ม.ค. 55 – สถานีวิทยุชุมชนสร้างสรรค์สังคมเชียงใหม่ FM 99.15 MHz จัดรายการซีรี่ย์ “นักโทษการเมืองที่ชื่อ ‘สุรชัย แซ่ด่าน’ …เราจะไม่ทอดทิ้งกัน” ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. – 2 ก.พ. 55 โดยในวันนี้  (29 ม.ค.) ทางสถานีได้จัดการเสวนาและไลน์สัญญาณทางวิทยุชุมชน โดยมีดีเจซาร่าตัวแทนแดงสยามจากส่วนกลาง มาพูดคุยกับผู้ฟังทางเชียงใหม่

นายจักรพันธ์ บริรักษ์ (ดีเจหนึ่ง) กล่าวว่าอาจารย์สุรชัยได้เดินทางมาเชียงใหม่หลายครั้ง และมีบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงกลุ่มต่างๆ เชิญไปปราศรัยบ่อยครั้งไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย กลุ่มย่อยต่างๆ สุรชัยไม่เคยปฏิเสธ ก่อนหน้านี้สุรชัยเคยเดินสายพูดคุยเรื่อง ม.112 ที่ จ.เชียงใหม่ มีการลงชื่อเพื่อร่วมแก้ไขมาก่อนหน้านี้ แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่ากิจกรรมนั้นหายไปไหนเมื่อกระแสสุรชัยเงียบไป

ด้านดีเจซาร่ากล่าวว่าอาจารย์สุรชัยจะขึ้นศาลอีกครั้งในวันที่ 28 ก.พ. 55 ซึ่งจะเป็นการพิพากษาหลังจากที่การนัดสืบพยานที่ผ่านมาไม่มีการสู้คดีที่รวมไว้ที่ดีเอสไอ 5 คดี (รวมทั้งหมดทั้งหมดมี 6 คดี) แต่คดีที่ สน.ชนะสงคราม ที่เป็นการปราศรัยที่สนามหลวงเมื่อปี 51 นั้นอาจารย์สุรชัยจะต่อสู้คดีอยู่

โดย 5 คดีที่ไม่มีการสู้คดีนั้นประกอบไปด้วยคดีที่ สน.โชคชัย เป็นการปราศรัยที่อิมพีเรียล, คดีที่ สน.วังทองหลาง เป็นการปราศรัยที่วัดสามัคคีธรรม, คดีที่ จ.อุดร, คดีที่ จ.ราชบุรี และคดีที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการปราศรัยที่ อ.ดอยสะเก็ด

ในด้านขวัญกำลังใจนั้น ยังมีพี่น้องเสื้อแดงทยอยไปเยี่ยมอาจารย์สุรชัยอยู่ตลอด และถึงแม้ใน 5 คดีที่กล่าวไปนั้นสุรชัยจะแถลงไม่สู้คดี แต่ดีเจซาร่ากล่าวว่าสุรชัยยังยึดมั่นในหลักการเดิมคือเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนอยู่เช่นเดิม

โดยหลังการเสวนาได้มีการมอบโปสการ์ดที่เสื้อแดงเชียงใหม่ได้ทยอยมาเขียนให้สุรชัยตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมาให้ตัวแทนแดงสยามนำไปมอบให้สุรชัยที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป

ทั้งนี้ตัวแทนแดงสยามได้มีการเปิดเผยจดหมายร้องขอความเป็นธรรม ถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ (เขียนในวันที่ 20 ม.ค. 55) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ …

 

 

 

แดน 6 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555

เรื่อง ร้องขอความเป็นธรรม
เรียน อธิบดีกรมราชทัณฑ์

กระผม นช. สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ผู้ต้องหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กราบเรียนขอความเป็นธรรมในกรณีการตีความเรื่อง “สถานภาพการเป็นผู้ถูกกล่าวหาทางการเมือง” เพื่อนำไปควบคุมขังสถานควบคุมพิเศษ ดังต่อไปนี้

การพิจารณาว่า ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นผู้ต้องหาทางการเมืองมีเหตุจูงใจทางการเมือง ในการกระทำผิดอยู่ในข่ายจะถูกนำไปควบคุมยังสถานควบคุมพิเศษหรือไม่

เรื่องนี้ต้องพิจารณาที่กระบวนการทางความคิดของผู้กระทำผิด และพฤติกรรมของการกระทำผิด รวมทั้งสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองในขณะนั้นด้วย

ข้อ 1 ผู้กระทำผิดมีความคิดทางการเมืองหรือไม่ ต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน เพราะถ้าเป็นความผิดทางความคิดก็จะเป็น “นักโทษทางมโนธรรม” ถือได้ว่าเป็นการเมืองขั้นสูง เหนือกว่าแค่การมาชุมนุมทางการเมืองเสียอีก

ข้อ 2 พฤติกรรมการกระทำผิดเกิดจากอะไร ถ้าเกิดจากการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นระบบถึงปัญหาของบ้านเมือง ชี้เหตุชี้ผลและหนทางการแก้ไขปัญหา ไม่มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาทหรืออาฆาตมาดร้ายแต่อย่างใด เพียงผิดพลาดในการนำเสนอ จึงย่อมไม่ใช่อาชญากรที่ชั่วร้าย แต่เป็นการกระทำผิดทางการเมือง

ข้อ 3 สถานการณ์ที่มีการกระทำผิดก็อยู่ในช่วงที่มีการนำสถาบันมาเป็นข้ออ้างสร้างความขัดแย้งทางการเมือง เช่นเรื่อง “ขบวนการล้มเจ้า” จนเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ถึงขั้นกระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

เมื่อรวมสามเหตุผลนี้มาพิจารณา จึงสรุปได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ในปัจจุบันมีสถานภาพทางการเมืองอย่างไม่อาจปฏิเสธได้และควรจะถูกส่งไปยังสถานควบคุมพิเศษยิ่งกว่าคดีทางการเมืองอื่นๆ และไม่เพียงผู้อยู่ระหว่างพิจารณาคดีแต่รวมถึงผู้ที่ถูกตัดสินเด็ดขาดแล้วด้วย

เพราะเป็นคดีที่มีความอ่อนไหว มีแรงเสียดทานสูงอีกทั้งไม่มีความปลอดภัย เพราะที่ผ่านมามีการถูกทำร้าย โดยการรู้เห็นเป็นใจจากเจ้าหน้าที่ มีการกดขี่ ข่มเหงรังแก และแสดงอาการดูถูกเหยียดหยามจากเจ้าหน้าที่ ประเภทที่เรียกว่า “หัวเหลือง” หรือที่นิยมชมชอบพรรคการเมืองต่างขั้วกับรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งกรมราชทัณฑ์ที่ผ่านมาไม่เคยเหลียวแลคุ้มครอง (เรื่องนี้สามารถสอบสวนย้อนหลังได้)

จากการที่กราบเรียนมาทั้งหมดนี้ เป็นเหตุผลในการพิจารณาว่ากระผมและผู้ต้องหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีสถานภาพทางการเมือง และกรมราชทัณฑ์ควรส่งไปควบคุมยังสถานควบคุมพิเศษ

หวังในความกรุณาจากท่านอธิบดีกรมราชทัณฑ์

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ลายเซ็นต์

(น.ช.สุรชัย แซ่ด่าน)

 

 

ทั้งนี้กิจกรรมซี่รี่ "นักโทษการเมืองที่ชื่อสุรชัยแซ่ด่าน เราไม่ทอดทิ้งกัน" ที่ทางสถานีได้จัดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. 55 นั้น เป็นการปูเรื่องก่อนการนัดสืบพยานและตัดสินคดีสุรชัย ส่วนกรณีนักโทษคดี 112 คนอื่นๆ นั้นทางสถานีก็จะจัดกิจกรรมต่อไปเรื่อยๆ รวมถึงกับการพูดถึงการรณรงค์แก้ไข ม.112 ที่ทางสถานีได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: จินตนาการสยามที่ไร้พริกและมะละกอ

Posted: 28 Jan 2012 08:07 PM PST

"เราอาจจะนึกไม่ถึงว่าครั้งหนึ่งในอดีต คนไทยอาจจะไม่ได้กินเผ็ดอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน พริกถูกนำเข้ามาในฐานะที่เป็นพืชสวน ไม่ใช่พืชป่า มีความเป็นไปได้ พวกชวนนิษฐานว่าโปรตุเกสนั่นแหละที่เป็นคนนำ "piri-piri" หรือ พริก เข้ามาในสังคมไทย และทำให้ถูกกลืนให้กลายเป็นไทย จนทุกวันนี้คนโปรตุเกสอาจนึกไม่ถึงว่าคนไทยกินอะไรเผ็ดแบบนี้"

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ 

 

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อภิปรายหัวข้อ "โปรตุเกส-อยุธยา และลัทธิอาณานิคมตะวันตก" ในการสัมมนา "500 ปี ความสัมพันธ์สยามประเทศไทยกับโปรตุเกส และชาติตะวันตกในอุษาคเนย์ 2054-2554" เมื่อ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา

 

ระหว่างวันที่ 26 – 27 ม.ค. มีการจัดสัมมนา "500 ปี ความสัมพันธ์สยามประเทศไทยกับโปรตุเกส และชาติตะวันตกในอุษาคเนย์ 2054-2554" ณ หอประชุมใหญ่ อาคาร 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยงานเสวนาดังกล่าวจะโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คณะศิลปศาสตร์ และโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม. ธรรมศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมจดหมายเหตุสยาม

โดยในวันแรกของงานคือวันที่ 26 ม.ค. ในช่วงอภิปรายหัวข้อ "โปรตุเกส-อยุธยา และลัทธิอาณานิคมตะวันตก" สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสุธาชัยชี้ว่าการที่โปรตุเกสเข้ามายังทวีปเอเชียของโปรตุเกสก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสามด้านใหญ่ๆ ได้แก่ หนึ่ง ก่อให้เกิดการปฏิวัติทางความรู้ในเชิงภูมิศาสตร์ สอง ก่อให้เกิดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และสาม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและอาหารการกิน

ในการเปลี่ยนแปลงด้านวิถีชีวิตและอาหารการกิน สุทธาชัยอภิปรายว่า เราอาจนึกไม่ถึงว่า โลกก่อน ค.ศ. 1500 เผลอๆ อาหารการกินของโลกไม่ได้เป็นแบบปัจจุบันเลย เราอาจจะนึกไม่ถึงว่าได้เกิดการปฏิวัติ หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในด้านอาหารการกิน

ลองนึกดูว่าสิ่งใหม่ที่เข้ามาในชีวิตของชาวยุโรปที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือเครื่องเทศจากเอเชีย คือมันฝรั่ง  ลองนึกถึงฝรั่งที่ไม่มีมันฝรั่ง ไม่มีมะเขือเทศ ฟักทอง ใบชา กาแฟ โกโก้ วานิลลา ยาสูบ ... ทั้งหมดนี้ไม่มีเลยนะครับ

"เราแทบจะจินตภาพไม่ได้เลยว่า เฮ้ย อังกฤษในสมัยกลางนี่มันกินอะไรของมันวะ กินเนื้อต้มกับเกลือ (หัวเราะ) ดังนั้น เราจะเห็นว่าอาหารทั้งหมดมาจากดินแดนอื่นๆ มาจากดินแดนอื่นทั้งนั้น มาจากโลกใหม่ทั้งนั้น สิ่งใหม่ต่างๆ เหล่านี้ถูกนำเข้ามาโดยสเปนกับโปรตุเกส อันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตทั้งหมดของชาวยุโรป"

กรณีของสยาม เป็นสิ่งที่เรารู้โดยทั่วไปว่าโปรตุเกสได้นำเอาของหวานอย่างฝอยทอง ทองหยอด ลูกชุบเข้ามา และที่ผมดูมาแล้ว ผมคิดว่าเราแน่นะ เราพัฒนาเองก็มีนะ ผมไปอยู่โปรตุเกสไม่เคยเจอ "ทองหยิบ" นะ ทองหยิบที่ใส่ถ้วยเล็กๆ ต้องฝีมือเราเอง ของแท้และแน่นอน เขามีทองหยอด มีฝอยทอง แต่ไม่มีทองหยิบ เราสามารถพัฒนาของเราเองได้

และขนมฝรั่งกุฎีจีน พวกขนมปัง พวกขนมฝรั่ง จริงๆ สิ่งที่โปรตุเกสนำเข้ามาคือการทำขนมด้วยไข่และแป้ง ซึ่งไม่ใช่ลักษณะการทำขนมดั้งเดิมของสยาม มีความเป็นไปได้ว่าสยามดั้งเดิมทำขนมด้วยข้าวเจ้า แป้งข้าวเจ้าเป็นหลัก น้ำตาล ก็ไม่ใช่อย่างที่เราเข้าใจ น้ำตาลคือน้ำของต้นตาล ปัจจุบันน้ำตาลเป็นน้ำตาลปี๊บ

"พืชพรรณ เราอาจจะนึกไม่ถึงนะว่า คราวนี้ผมจะมาตั้งคำถามกับไทยเราบ้าง พริก หรือ  piri-piri นั้นเป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกากลาง เผลอๆ ไม่ใช่พืชพื้นเมืองของเอเชีย หรือถ้าเป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียก็ไม่ใช่พืชพื้นเมืองของไทย เราอาจจะนึกไม่ถึงว่าครั้งหนึ่งในอดีต คนไทยอาจจะไม่ได้กินเผ็ดอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน พริกถูกนำเข้ามาในฐานะที่เป็นพืชสวน ไม่ใช่พืชป่า มีความเป็นไปได้ พวกชวนนิษฐานว่าโปรตุเกสนั่นแหละที่เป็นคนนำ "piri-piri" หรือ พริก เข้ามาในสังคมไทย และทำให้ถูกกลืนให้กลายเป็นไทย จนทุกวันนี้คนโปรตุเกสอาจนึกไม่ถึงว่าคนไทยกินอะไรเผ็ดแบบนี้"

แต่น่าตื่นเต้นว่า คนไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่กินเผ็ด ในอเมริกากลาง พวกเม็กซิโก หลายประเทศก็กินเผ็ด ในแอฟริกา แกมเบีย พวกนี้ก็กินเผ็ด เอธิโอเปียก็กินเผ็ด เพราะฉะนั้นประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่กินเผ็ดในโลกนี้

"มะละกอไม่ได้เป็นพืชพื้นเมืองของสยามและเอเชีย หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย น่าตื่นเต้นนะครับว่าเราไม่เคยกินส้มตำกันมาก่อน มะละกอเป็นพืชพื้นเมืองของเม็กซิโก ยังเป็นไปได้ว่าโปรตุเกสและสเปนเอาไปเผยแพร่ทั่วโลก ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามะละกอเข้ามาในไทยได้อย่างไร แล้วสุดท้ายกลายเป็นพืชประจำชาติของประเทศลาวไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเราลองจินตภาพถึงสังคมไทยที่ไม่มีพริกและมะละกอ หึๆ"

ส่วนผลไม้ต่างๆ ทั้งหมดนั้น เรื่องใหญ่มาก ทั้งฝรั่ง ไม่ใช่เลยนะ เราไม่มีฝรั่งเลย สับปะรด แรกๆ เราเรียกว่า สรรพรส แปลว่าหลายๆ รถ น้อยหน่า เรียกว่าซึ่งเนี่ยภาษาโปรตุเกสเรียกว่า annona ก็อปปี้คำกันมาเลย พวกนี้มาจากอเมริกาทั้งนั้น

ส้ม พวกเรานึกไม่ถึงนะ ไทยไม่มีส้มนะครับ ส้มโอ องุ่น พวกนี้เป็นพืชพื้นเมืองมาจากเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อก่อนคำว่า "ส้ม" ในภาษาไทยเดิมหมายถึงสิ่งที่เปรี้ยวๆ อย่างเช่นส้มมะขาม คำว่า "สีส้ม" ก็ไม่มี เมีแต่สีแสดหรือไม่ก็สีแดงไปเลย จินตภาพเกี่ยวกับส้มหรือสีส้ม และส้มเป็นลูกๆ ที่เรากินในปัจจุบันนั้น เป็นเรื่องใหม่ เป็นสิ่งที่ถูกนำเข้ามาทั้งนั้น

สรุปแล้วผมคิดว่าการปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงเรื่องพืชพันธุ์และอาหารนั้นเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญมากที่ทำให้โฉมหน้าของสังคมเปลี่ยนไป เมื่อสักครู่ผมยกตัวอย่างในเวลาอันจำกัดยุโรปและเอเชียเราเปลี่ยนด้วยกันทั้งคู่ ยุโรปก็ศึกษาเอเชียและก็เปลี่ยนแปลง

ดังนั้น ผมคิดว่า ถ้าเราจะฉลอง 500 ปีความสัมพันธ์โปรตุเกส-ไทย เราจะฉลองอะไรกัน ผมว่าเราน่าจะฉลองเรื่องการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม นี่น่าจะเป็นเรื่องสำคัญและเป็นใจกลางของความสัมพันธ์ที่เป็นจริงมากกว่าในระยะ 500 ปี ถ้าเราพูดกันตั้งแต่ต้นว่าจริงๆ ความสัมพันธ์ทางการเมืองมีน้อยมาก และไม่อยากจะนินทาว่า เมื่อตอนที่ไทยสยามทำสงครามกับพม่านั้น โปรตุเกสเลือกช่วยพม่าไม่ได้ช่วยสยาม ขอบคุณมากครับ

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น