โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ธเนศวร์ เจริญเมือง: ข้อเสนอเรื่องการรับปริญญา

Posted: 18 Jan 2012 10:51 AM PST

 ช่วงเดือนมกราคมทุกๆปี อากาศกำลังเย็นสบาย สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งจัดพิธีรับปริญญาผมได้เห็นนักศึกษาถ่ายรูปในชุดบัณฑิต-มหาบัณฑิต ก็ชื่นใจครับ ยินดีกับพวกเขาและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง

ผมคิดว่าคนสอนหนังสือระดับอุดมศึกษา มีความสุขกับ 2-3 เรื่อง 1. ได้เห็นคนหนุ่มสาวที่เข้าเรียนจบการศึกษา ได้รับปริญญาสมความตั้งใจ 2. จบออกไปเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าทั้งต่อตนเอง-ครอบครัวและสังคมโดยรวม และ 3. เป็นสุขมากขึ้น เมื่อรู้ว่าพวกเขาทำอะไรเพื่อให้ตัวเขา-ครอบครัว-สังคม ยกระดับความนึกคิด-การทำงาน-คุณธรรม-และปฏิบัติการบางอย่าง ที่สังคมนั้นขาดหาย แต่พวกเขานำมันกลับคืนมา หรือพยายามที่จะยกระดับตนเอง-ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติให้สูงขึ้น มุ่งมั่นที่จะทำสิ่งเหล่านั้น แม้ว่าจะยังไม่สำเร็จก็ตาม 

ถ้าผมออกแบบมหาวิทยาลัยได้สำหรับประเทศนี้ โดยเฉพาะถ้ามหาวิทยาลัยนั้นมีบัณฑิต-มหาบัณฑิตนับหมื่นคน ผมจะเสนอจัดรายการรับปริญญา 2 วัน เสาร์และอาทิตย์เพื่อไม่ให้มีคนร่วมงานมากเกินไป เป็นรายการที่ไม่ต้องมีซ้อมอะไร เริ่มตอนสายๆ สัก 9.30 น. ผู้ปกครอง-ญาติมิตรไปนั่งที่ด้านข้างทั้งสองของด้านหน้าเวที ที่นั่งตรงกลางหน้าเวทีทั้งหมดให้ผู้จบการศึกษาทั้งหมดนั่ง

เริ่มพิธีด้วยการเชิญธงมหาวิทยาลัยและธงของคณะต่างๆ ตามด้วยคณาจารย์ในชุดครุยเต็มยศ เดินนำหน้าขบวนดุษฎีบัณฑิต-มหาบัณฑิต-บัณฑิตเข้ามา พร้อมเพลงมหาวิทยาลัยที่ดังกึกก้องตลอดเวลาที่ขบวนแถวอันทรงเกียรติเดินเข้ามาในงาน ครอบครัว-ญาติมิตรทั้งสองด้านลุกขึ้นยืนให้เกียรติต้อนรับ คณาจารย์ขึ้นไปนั่งบนเวที ส่วนเหล่าบัณฑิตนั่งตรงกลางทั้งหมด

พิธีการเริ่มต้นอย่างเรียบง่าย ด้วยคำกล่าวของคณาจารย์จำนวนหนึ่ง ตามสูจิบัตรที่แจกให้ผู้เข้าร่วมงานทุกคน จากนั้น ก็จะเป็นปาฐกถาเกียรติยศของบุคคลสำคัญที่คณะผู้บริหารและบัณฑิตร่วมกันคัดสรรตลอดหลายเดือนก่อนหน้า มากล่าวให้ความรู้และทัศนะบางประการ ตลอดจนแง่คิดบางอย่างแก่บัณฑิตใหม่ 

ต่อจากนั้น อธิการบดีก็จะขึ้นกล่าววาระสำคัญ คือการมอบปริญญา เช่น มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (ซึ่งมักจะมีไม่กี่คน) และรางวัลยอดเยี่ยมด้านต่างๆ แก่บัณฑิต-มหาบัณฑิตหรือบางคน (ที่ควรจะเป็นรางวัลที่ทรงคุณค่าจริงๆ ไม่ใช่มอบรางวัลที่มากจนเกินไป)

จากนั้น ก็จะประกาศให้มหาบัณฑิตยืนขึ้น อธิการบดีก็จะกล่าวประกาศว่าพวกเขาที่ยืนเบื้องหน้าบัดนี้คือผู้จบการศึกษาเป็นมหาบัณฑิตเต็มภาคภูมิแล้ว หรืออาจจะให้บัณฑิตยืนขึ้นพร้อมๆกัน หรือแยกกันคนละกลุ่ม หรือแยกกันจัดคนละงาน สิ้นเสียงประกาศ ผู้จบการศึกษาทั้งหลายก็จะไชโยโห่ร้อง ขานรับด้วยเสียงปรบมือแสดงความยินดีของครอบครัว-ญาติมิตรรอบๆ อาจมีการโยนหมวกและช่อดอกไม้ขึ้นท้องฟ้า เป็นช่วงเวลาที่สุขสันต์และเป็นกันเองอย่างที่สุด งานดังกล่าวก็เสร็จสิ้นลง

จากนั้น ก็จะถ่ายรูปร่วมกันภายในงาน หรือบนเวที (บางส่วนก็ถ่ายไปมากแล้วในตอนเช้าก่อนที่จะเริ่มงานอย่างเป็นทางการ) 11.45 น. งานน่าจะจบ คนจบก็เดินไปรับใบปริญญาบัตรที่สำนักทะเบียน หรือสำนักทะเบียนอาจมาตั้งโต๊ะ รอมอบใบปริญญา ณ จุดนั้น ทั้งนี้ล้วนขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบัน 

หมายความว่าพิธีศักดิ์สิทธิ์ มีความหมาย มีสาระ และมีความสุขถ้วนหน้านี้ ไม่ต้องมีใครซ้อมอะไรสักอย่าง ไม่ต้องลางาน ทุกคนมาร่วมงาน แต่งตัวสวยกันหมดครึ่งเช้าหรือครึ่งบ่ายของวันหนึ่งในวันสุดสัปดาห์ ใช้เวลา 2 ชั่วโมง ทุกอย่างก็จบหมด ไปฉลองอาหารมื้อเที่ยงกันอย่างยิ่งใหญ่ แล้วต่างก็แยกย้ายกันกลับบ้าน แทบไม่ต้องมีใครที่ลางานหลายวัน 

 

ป.ล. คนมีการศึกษาสูงสุดของประเทศทั้งคณาจารย์และเหล่าบัณฑิตย่อมต้องใช้เวลาอย่างคุ้มค่าในการทำงานสร้างสรรค์สังคม และแก้ไขปัญหาสังคมอย่างเต็มที่ 

สำหรับงานอันยิ่งใหญ่และมีความหมาย นี้ ครึ่งวันก็พอแล้วนี่ครับ ทำไมต้องซ้อมอะไรมากมาย ถึง 3-4 วัน นี่เอาคนระดับ ดร. รศ.ดร. ศ.ดร. คณบดี มาซ้อมอ่านชื่อคน อ่านอยู่นั่นแล้ว 3-4 วัน แล้วเอาบัณฑิตลางานมา 5-6-7 วัน เสียเงินหลายหมื่นบาท เสียเวลาก็ประเมินไมได้เลยว่าเสียหายเท่าใด

ทุกวันนี้ ที่สถาบันอุดมศึกษาในสังคมไทยจัดงาน รับปริญญาวันทำงาน ก็เพราะมีจุดหมายแอบแฝง เช่น ให้รุ่นน้องมาโรงเรียน ได้พบพี่บัณฑิต ได้คุยกัน ขอเงินบริจาค หรือรับเลี้ยง ได้ขายของหาเงินเข้าชมรม แต่เราคิดบ้างไหมว่าตลอดวันรับปริญญานั้น มีนับพันครอบครัวที่ขนกันมาเต็มมหาลัย นั่งๆนอนๆใต้ต้นไม้ บ้างก็หลับ บ้างก็เดินไปมาทั้งวัน 

จริงๆ ก่อนจะไปถึงงานรับปริญญาแบบครึ่งวันเสร็จทุกอย่างที่ผมเสนอไปตอนต้นนั้น สำหรับแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เราก็สามารถปรับบางอย่างได้ เช่น ทำไมไม่ให้นักศึกษาแต่ละคณะหยุดเรียน จัดกลุ่มออกมาต้อนรับพาครอบครัวของบัณฑิตและผู้สนใจเข้าไปชมกิจการต่างๆ ของคณะ ไปดูห้องเรียน ห้องสมุด ห้องแล็บ ห้องวิจัย ห้องน้ำ โรงอาหาร ฯลฯ เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัย (ที่หลายแห่งมี แต่แทบไม่เคยเปิดเลย) 

ตกลงที่ผ่านมา และจนถึงเวลานี้ เราเอาคนมีการศึกษาสูงเป็นกะทิของทุกๆ หมู่บ้านตำบล-อำเภอมาซ้อมๆๆ เพื่อรับปริญญากันถึง 3-4 วัน ทั้งวัน ลางานกันเป็นอาทิตย์มาเพียงเพื่อทำงานพิธีบางอย่าง คือการนั่งนานๆ แล้วก็ซ้อมเดินๆๆๆ แล้วก็ยังไม่พอ เอาญาติมิตรพี่น้องมานั่งๆ นอนๆ ทั้งวันใต้ร่มไม้ โดยไม่ได้ทำอะไรเลย

ทำอย่างไร เราจึงจะไม่ต้องซ้อมมากมาย เสียเวลาทุกฝ่ายขนาดนี้ และทำอย่างไร เราจะทำให้ครอบครัวญาติมิตรได้สาระอะไรกลับบ้านบ้าง ไม่ใช่มานั่งๆนอนๆรอภายในรั้วมหาลัย แล้วได้ถ่ายรูปกับคนที่เขาภาคภูมิใจไม่กี่สิบรูป แล้วจากนั้น ก็นั่งรถกลับบ้าน มีแต่ความอิ่มเอมกลับไป แต่เสียเวลาทั้งวัน แล้วไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยว่าสถาบันที่ลูกหลานของตนเองมาเรียนนั้น เขาสอนอะไรบ้าง

สำหรับมันสมองของประเทศทั้งหมดนี้ ได้เวลาหรือยังครับที่คนมีการศึกษาอย่างเราๆ จะคิดใหม่ และกล้าเปลี่ยนแปลงด้วยการทำอะไรดีๆ มีสาระกว่านี้ให้แก่ประเทศของเรา.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดรากเหง้าปัญหามลายู ตัวอย่างที่ปอเนาะ ‘ปือดอ’

Posted: 18 Jan 2012 10:18 AM PST

“เมื่อสิบปีที่แล้ว มีนักเรียนที่มาสมัครเรียนที่นี่ไม่กี่คน ที่อ่านภาษามลายูไม่ออก ทั้งภาษามลายูที่ใช้อักษรรูมีหรืออักษรยาวี แต่ถ้าคนไหนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ก็จะรู้ได้ทันทีว่า เด็กคนนั้นไม่ได้เรียนโรงเรียนตาดีกามาก่อน

“ทว่า ปัจจุบันมีนักเรียนที่เก่งภาษามลายู กลับหาตัวยากขึ้น”

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

นายอับดุลเลาะ หะยียามา ผู้จัดการโรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส หรือปอเนาะปือดอ สะท้อนปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งนี้

อับดุลเลาะ อธิบายว่า ผลการเรียนวิชาศาสนาของนักเรียนมีแนวโน้มแย่ลงทุกวัน อันเนื่องมาจากพื้นฐานทางด้านภาษามลายู ซึ่งใช้ในการเรียนการสอนวิชาศาสนาเป็นหลักลดน้อยถอยลง

“พื้นฐานทางด้านภาษามลายูเหล่านั้น มาจากการเรียนการสอนในโรงเรียนตาดีกา นั่นเอง”

อับดุลเลาะ สังเกตเห็นว่า 5 ปีให้หลังมานี้ มีนักเรียนที่เรียนจบมัธยมปลายไปพร้อมๆ กับเรียนจบวิชาศาสนาชั้นชั้น 10 หรือระดับชั้นสูงสุดในสายวิชาศาสนา มีจำนวนลดลงอย่างมาก

เด็กนักเรียนพวกนี้ มักมีพื้นฐานทางด้านศาสนาและภาษามลายูที่เรียนมาจากโรงเรียนตาดีกาดีพอสมควร จึงมักจะเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในสายศาสนาที่ชั้น 3 หรือชั้น 4 พร้อมๆ กับการเข้าเรียนสายสามัญในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1

ทว่า ปัจจุบัน เด็กที่เข้าเรียนในชั้น 3 หรือ 4 หรือตำกว่านั้น ยังเรียนซ้ำชั้น

อับดุลเลาะ บอกว่า “ไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อนเลย”

เมื่อนักเรียนมีพื้นฐานต่ำ ทางโรงเรียนก็ต้องใช้ตำราศาสนา หรือที่เรียกว่า กีตาบ ที่ชั้นต่ำลงมา เพื่อให้นักเรียนสามารถสอบผ่านไปได้

“สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็คือ เพียงแค่สอนให้เด็กสอบผ่านเท่านั้น” อับดุลเลาะ เล่าพร้อมแสดงสีหน้าเศร้า

อีกปัญหาที่เจอ คือ เด็กมีนิสัยก้าวร้าว ซึ่งอับดุลเลาะเล่าว่า “บางครั้งถึงขั้นจะทำร้ายครูผู้สอน เพราะไม่พอใจที่ถูกว่ากล่าวตักเตือน”

“นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในสังคมมุสลิมตอนนี้” อับดุลเลาะ ย้ำ

เขาอธิบายว่า ที่เป็นเช่นนั้น น่าจะมาจากเพราะเด็กไม่เรียนตาดีกาหรือการเรียนการสอนในโรงเรียนตาดีกาไม่เข้มแข็งพอ

“การบ่มเพาะคนมลายูมุสลิมที่ดี ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ช่วยวัยเด็ก ซึ่งในสังคมมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสถาบันบ่มเพาะเยาวชนขั้นพื้นฐานก็คือ โรงเรียนตาดีกา”

“เมื่อไม่ได้เรียนตาดีกา พื้นฐานทางด้านจริยธรรมของเด็กก็ไม่แข็งแรง ส่งผลให้เด็กมีคุณธรรมศีลธรรมแย่กว่าเด็กที่ผ่านการอบรมบ่มนิสัยจากโรงเรียนตาดีกา”

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน เคยมีนักเรียนค้ายาเสพติดภายในโรงเรียน เมื่อสืบประวัติแล้วก็พบว่า เป็นนักเรียนที่มีพื้นฐานทางด้านศีลธรรมต่ำ

มันยิ่งน่าช้ำใจมาก ในเมื่อโรงเรียนแห่งนี้ เคยมีชมรมตาดีกาภายใต้การดูแลของโรงเรียน ที่เคยมีบทบาทสำคัญในการส่งนักเรียนศาสนาชั้นสูงไปเป็นครูสอนตาดีกาในเครือข่ายถึง 48 แห่ง

เป็นชมรมที่เรียกในภาษามลายูว่า PERTANAM ย่อมาจาก Persatuan Tadika Nahdzah Maju แปลเป็นภาษาไทย คือ ชมรมโรงเรียนตาดีกานะห์ฎอตุสูบานก้าวหน้า ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2528

ปัจจุบันชมรมที่เคยมีบทบาทในการควบคุมมาตรฐานการเรียนการสอนตาดีกาแห่งนี้สลายตัวไปแล้ว จากพิษปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

อับดุลเลาะ เล่าว่า เมื่อไม่มีชมรมตาดีกา ทางโรงเรียนเองก็ไม่กล้าที่จะส่งนักเรียนไปสอนตามโรงเรียนตาดีกาในชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ทั้งๆที่การส่งนักเรียนไปสอน มีส่วนช่วยให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนศาสนามากขึ้น เพราะต้องใช้ความรู้ทางด้านศาสนาที่ได้ ไปถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ฟังอีกทอดหนึ่ง

แม้กระนั้น อับดุลเลาะ หะยียามา ในอีกฐานะหนึ่งคือ นายกสมาคมปัญญาชนมุสลิมชายแดนใต้ พยายามสะท้อนปัญหาเหล่านี้ในหลายเวทีสาธารณะ ด้วยความหวังที่จะให้การศึกษาทางด้านศาสนาอิสลามในชายแดนใต้ ได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เช่นเดียวกับความพยายาของอีกหลายคน

สถานการณ์เช่นนี้ คงไม่เพียงแต่ที่โรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน เท่านั้น ทว่า น่าจะเป็นภาพสะท้อนของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามอีกหลายแห่งในชายแดนใต้วันนี้

เปิดรากเหง้าปัญหามลายู ตัวอย่างที่ปอเนาะ‘ปือดอ’
ตารางสอนวิชาสายศาสนาของโรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

เปิดรากเหง้าปัญหามลายู ตัวอย่างที่ปอเนาะ‘ปือดอ’ -- อับดุลเลาะ หะยียามา
นายอับดุลเลาะ หะยียามา ผู้อำนวยการโรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน

เปิดรากเหง้าปัญหามลายู ตัวอย่างที่ปอเนาะ‘ปือดอ’
โรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน หรือ ปอเนาะปือดอ
โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามชื่อดังในอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มาเลย์ขึ้นทะเบียนมรดกชาติ เสาหลักปันแดนสยาม–บริติช

Posted: 18 Jan 2012 10:09 AM PST

มาเลย์ขึ้นทะเบียนมรดกชาติ เสาหลักปันแดนสยาม–บริติช
หลักฐาน - เสาหลักปักปันเขตแดนสยาม–บริติช ที่บ้านตือรัตบาตู รัฐเคดาห์ อายุเกือบ 200 ปี
ที่กรมศิลปากรมาเลเซียเตรียมขึ้นทะเบียนเป็นมรดกแห่งชาติ

 

กรมศิลปากรมาเลเซียเตรียมขึ้นทะเบียน เสาหลักปักปันเขตแดน สยาม – บริติช ที่บ้านตือรัตบาตู รัฐเคดาห์ เป็นมรดกแห่งชาติ

เสาหลักดังกล่าว รัฐบาลสยามและรัฐบาลอังกฤษร่วมกันสร้างมาตั้งแต่สมัยมาเลเซียอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ เพื่อเป็นเขตแดนระหว่างเคดาห์หรือไทรบุรีที่อยู่ในการครอบครองของสยาม กับรัฐปีนังที่อยู่ในการครอบครองของอังกฤษ

บนเสาหลักดังกล่าว มีการจารึกข้อความ 3 ภาษา คือ อังกฤษ ไทยและยาวี โดยเชื่อว่า สร้างมาตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ. 1831

นายคาลิด เชด อาลี ผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและข้อบังคับ กรมศิลปากรมาเลเซีย เปิดเผยว่า การขึ้นทะเบียนเสาหลักปักปันเขตแดนแห่งนี้ ดำเนินการตามมาตรา 76 พระราชบัญญัติมรดกแห่งชาติ ปี ค.ศ. 2005 โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เพื่อเรียนรู้ถึงสายสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียกับต่างชาติในอดีต

นายบุญสม อินอง สมาชิกวุฒิสภามาเลเซีย กล่าวว่า เสาหลักแห่งนี้สามารถยืนยันได้ถึงการมีอยู่ของชุมชนชาวมาเลเซียเชื้อสายสยามในบริเวณนี้ ที่มีมาเป็นร้อยปีแล้ว และไม่ได้เป็นกลุ่มชนที่เพิ่งอพยพเข้ามา หรือถูกทางการอังกฤษนำเข้ามาก่อนที่มาเลเซียจะได้รับเอกราชตามที่เคยเข้าใจกัน

นายอิทธิพร บุญประคอง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศของไทย กล่าวว่า มีความยินดีที่มาเลเซียอนุรักษ์เสาหลักปักปันเขตแดนแห่งนี้ไว้เป็นมรดกแห่งชาติ เพราะเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและมาเลเซีย ถึงแม้ในปัจจุบันเสาหลักแห่งนี้ไม่ได้ใช้แบ่งเขตแดนแล้วก็ตาม แต่มันยังคงคุณค่าในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในพื้นที่แห่งนี้

ที่มา: สำนักข่าวอูตูซันมาเลเซีย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: เรือนจำชั่วคราว/ คุกการเมือง/ คุกวีไอพี ? เสียงสะท้อนจากคนอยู่

Posted: 18 Jan 2012 09:38 AM PST

 
 “เนื่องจากผู้ต้องหาและจำเลยมิใช่เป็นผู้ร้ายหรืออาชญากรดังเช่นในคดีอาญาตามปกติ
แต่เป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอันมีมูลเหตุเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในทางการเมือง
หากผู้ต้องหา และจำเลยนั้นไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว
รัฐบาลสมควรจัดหาสถานที่ในการควบคุมที่เหมาะสมที่มิใช่
เรือนจำปกติเป็นสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาและจำเลย
ดังเช่นที่เคยใช้กับนักโทษทางการเมืองในอดีต”

ข้อเสนอในรายงานครั้งที่ 2 ของ คอป.
 
 
วานนี้ (17 ม.ค.55) ผู้ต้องขัง 47 คน เป็นชาย 46 คน และหญิง 1 คน เดินทางมายังเรือนจำแห่งใหม่ ‘เรือนจำชั่วคราวหลักสี่’ โดยมีญาติผู้ต้องขัง กลุ่มนักกิจกรรม แกนนำ นปช. รวมถึงผู้สื่อข่าวไปรอทำข่าวกันอย่างหนาแน่น

แนวทางนี้รัฐบาลดำเนินการตามที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้มีข้อเสนอเมื่อราวปลายปีที่แล้ว ซึ่งหน่วยงานรัฐอย่างกรมราชทัณฑ์เป็นเจ้าภาพหลักในการหาหลักเกณฑ์ในการดำเนินการรูปธรรม

 
หลังเหตุการณ์หลังการสลายการชุมนุมปี 2553 มีผู้ถูกจับกุมคุมขังจำนวนมากกว่าพันคนทั่วประเทศ (ข้อมูล ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม เม.ย.- พ.ค.53 หรือ ศปช.) โดยส่วนใหญ่มีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำนวนมากถูกขังเพียง 1-2 เดือน อีกไม่น้อยออกจากเรือนจำไปแล้วเพราะอยู่จนครบตามคำพิพากษา 6 เดือน ถึง 1 ปี บางส่วนสามารถประกันตัวได้ ขณะที่อีกหลายกรณีศาลพิพากษายกฟ้องทั้งที่ติดคุกมานาน 6 เดือนถึงปีครึ่ง จนนำมาสู่ข้อเสนอของคอป.ที่ระบุชัดเจนให้เยียวยาบุคคลที่ศาลยกฟ้อง
 
กระทั่งกรมคุ้มครองสิทธิฯ กระทรวงยุติธรรมระบุว่าปัจจุบันเหลือผู้ต้องขัง ‘เสื้อแดง’ อันมีเหตุสืบเนื่องจากการเมืองที่อยู่ในเรือนจำทั่วประเทศราว 57 คน และทางกรมได้รับงบประมาณมาช่วยดำเนินการยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทั้งหมดอีกครั้งในวงเงิน 43 ล้านบาท
 
วันเดียวกันกับการย้ายผู้ต้องขังไปเรือนจำชั่วคราวแห่งใหม่ กลุ่ม ‘เพื่อนนักโทษการเมือง’ รายงานในเฟซบุ๊คว่า ยังมีรายชื่อผู้ต้องขังที่ตกหล่อนอีกอย่างน้อย 5 คน บางรายทราบข่าวอยู่ก่อนแล้ว่าจะไม่ได้ย้าย เนื่องจากเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นคดีเด็ดขาดจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์การย้าย ทั้งนี้ ผู้ต้องขัง 5 รายดังกล่าวได้แก่  1.นายพิทยา แน่นอุดร เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ 2.นายจรูญ บุญเรือง เรือนจำจังหวัดนนทบุรี 3.นายสมนึก แช่เฮง เรือนจำจังหวัดนนทบุรี 4.นายวัลลภ พิธีพรหม เรือนจำจังหวัดเชียงราย 5.นายแดง ปวนมูล เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่

ขณะที่ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นั้นยังไม่ได้รับการโยกย้าย ทางราชทัณฑ์ให้เหตุผลว่ากำลังรอคำตอบจาก คอป.ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นเรื่องว่า จะนับรวมคดีเหล่านี้ด้วยหรือไม่ ทั้งที่ในข้อเสนอของ คอป.นั้น ระบุหมายรวมอย่างชัดเจนถึงผู้ต้องขังกลุ่มนี้ <1>

 
ยังไม่นับรวมปัญหาผู้ต้องขังในคดีหมิ่นฯ ถูกทำร้ายในเรือนจำเมื่อแรกเข้า จนกระทั่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนต้องเข้าไปตรวจสอบและคลี่คลายปัญหา อันเป็นที่มาให้หลายกลุ่มเรียกร้องตั้งแต่ช่วงแรกๆ ให้มีการแยกผู้ต้องขังคดีการเมืองออกจากผู้ต้องขังคดีอาญาทั่วไป

0 0 0
หลังจากนอนเรือนจำชั่วคราวได้ 1 คืน วันรุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่จาก ศปช. ได้เดินทางเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือจำแห่งใหม่และเปิดเผยว่า ระเบียบปฏิบัติของที่นี่เหมือนเรือนจำปกติ ซึ่งต้องมีการเขียนใบเยี่ยมและพูดคุยผ่านโทรศัพท์ มีกระจกใสกั้น เหมือนในเรือนจำเดิม แต่เวลาในการเยี่ยมอาจยืดหยุ่นกว่า
 
พินิจ จันทร์ณรงค์ ผู้ต้องขังข้อหาเผาเซ็นทรัลเวิร์ลและข้อหาปล้นทรัพย์ภายในห้าง (ข้อหาหลังศาลยกฟ้องแล้ว) เล่าว่า เรือจำแห่งนี้มี 4 ชั้น สามารถเปิดให้บริการได้เพียงชั้น 3 ซึ่งผู้ต้องขังชาย 46 คนจะแบ่งกันนอนภายใน 2 ห้องใหญ่ ขณะนี้ได้รับแจกผ้าห่มคนละผืน หมอนคนละใบ ภายในห้องมีพัดลม และมีห้องโถงกลางสำหรับเดินไปมาได้ แต่ไม่มีพื้นที่ภายนอกเหมือนเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่เคยอยู่ ห้องน้ำยังคงเป็นห้องแบบเดียวกับเรือนจำ ซึ่งไม่มีประตู มีผนังกั้นเพียงแค่นั่งขับถ่ายแล้วเห็นหัวโผล่ออกมา ส่วนอาหารนั้นก็เป็นอาหารที่ส่งมาจากเรือนจำ ที่นี่ไม่มีร้านค้าหากผู้ต้องขังจะซื้อของก็จะต้องสั่งไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งของจะเดินทางมาถึงในวันรุ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ญาติสามารถฝากเงินเข้าบัญชีที่นี่ได้โดยตรง  
 
ถามว่าการได้อยู่รวมกันของผู้ต้องขังในคดีที่มูลเหตุจูงใจเหมือนๆ กันนั้นส่งผลดีหรือไม่ พินิจบอกว่า ยังไม่ได้คุยกับเพื่อนผู้ต้องขังมากนัก และรู้สึกเหมือนไม่มีอะไรจะคุยกันมาก ที่เป็นประโยชน์หน่อยก็จะเป็นการช่วยกันดูแลผู้ต้องขังจากมุกดาหารที่มีอาการเครียดจัด มีสภาพป่วยทางจิต ซึมเศร้า และเคยมีประวัติพยายามฆ่าตัวตาย กับผู้ต้องขังที่พิการตาบอดสองข้าง
 
“ที่ผู้ต้องขังเขาอยากได้มากที่สุดตอนนี้คือ การดูแลครอบครัวพวกเขาซึ่งส่วนใหญ่ยากจน และยิ่งลำบากเมื่อเสาหลักมาติดคุก ที่ผ่านมาก็ไม่มีใครดูแล” พินิจกล่าว
 
ส่วน ปัทมา มูลนิล ผู้ต้องขังหญิงจากอุบลฯ ที่เป็นผู้หญิงคนเดียวนั้นถูกกันไว้อีกฟากตึกเพื่อรอให้ชั้น 2 ปรับปรุงเสร็จแล้วจึงจะย้ายลงมาชั้นสอง  
 
ปัทมา อายุ 25 ปี เป็นสาวผิวขาวร่างใหญ่ ตัดผมสั้นเกรียนเหมือนนักโทษชาย เธอเล่าเรื่องราวของเธอพร้อมเหงื่อที่ไหลโทรมกายตลอดระยะเวลาเยี่ยม โดยระบุว่า ข้อกังวลของเธอในตอนนี้คือ การจะถูกย้ายลงไปชั้น 2 ตามกฎของเรือนจำ ซึ่งนั่นหมายความว่าเธอจะต้องอยู่คนเดียวกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หญิง ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่ถ้าอยู่ชั้น 3 แม้ถูกกันให้อยู่คนละฟากตึกกับผู้ชาย แต่ยังได้เห็นคนเดินไปเดินมา และได้ยินเสียงคนพูดคุยกันบ้าง
 
“มันเหงามาก ไม่รู้หนูจะไหวไหม มันเหงาจนบ้าได้ บางทีเรื่องศักดิ์ศรีก็อาจต้องเอาไว้ทีหลัง ถ้าไม่ไหวจริงๆ อาจขอย้ายกลับอุบลฯ”
 
ปัทมาบรรยายความรู้สึกอีกว่า การได้แยกส่วนออกเป็น “นักโทษการเมือง” อาจสำคัญกับเธอในฐานะที่จะบอกสังคมว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากร และต้องคดีจากผลสืบเนื่องทางการเมือง แต่ปัญหาคือเธอปรับตัวกับเรือนจำที่อุบลราชธานีได้แล้ว ที่นั่นมีเพื่อนๆ มากมาย มีญาติพี่น้องคอยเยี่ยมและนำอาหารมาให้ทุกวันอังคารและวันศุกร์
 
“หนูเป็นคนเดียวที่จะไม่ลงชื่อมา แต่คู่คดี พี่ผู้ชายอีกสามคนเขาบอกว่า ลงเรือลำเดียวกันแล้ว จะทิ้งกันได้อย่างไร ก็เลยลองมาดู”
 
ปัทมาถูกศาลอุบลฯ ตัดสินจำคุก 33 ปี 12 เดือน ในข้อหาร่วมกันวางเพลิง (ศาลากลางจังหวัด) และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เธอเล่าว่าในวันนั้นซึ่งเป็นวันสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ คนเสื้อแดงในจังหวัดอุบลฯ ไปรวมตัวกันประท้วงที่ศาลากลางจังหวัด มีการเผายาง ปราศรัย และกำลังจะสลายตัว แต่เห็นทหารอาวุธครบมือออกมาจากศาลากลาง กลุ่มผู้ชุมนุมที่กำลังโกรธแค้นทหารจึงไม่ยอมสลายตัว ประกอบกับมีการยิงปืนออกมาจากศาลากลางจนทำให้มีคนได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์จึงเริ่มโกลาหล กลุ่มชาวบ้านบุกเข้าไปในศาลากลางเพื่อตามหาคนยิง เมื่อไม่พบจึงถอยออกมา ไม่กี่นาทีถัดจากนั้นไฟก็เริ่มลุกไหม้
 
เธอตั้งข้อสังเกตว่า หลักฐานที่เจ้าหน้าที่ใช้คือภาพถ่ายของเธอในที่เกิดเหตุ ซึ่งหากเธอทำจริงเธอคงไม่เปิดเผยใบหน้าและไปยืนอยู่นานสองนานให้ถ่ายรูป คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์
 
สำหรับประวัติส่วนตัว ปัทมาเป็นลูกคนสุดท้ายของครอบครัวแม่ค้าขายอาหารตามสั่ง วันที่เธอถูกตัดสิน แม่ของเธออาการย่ำแย่ เธอบอกกับแม่ว่าหากแม่มาเยี่ยมแล้วร้องไห้ก็ไม่ต้องมาอีก จากนั้นแม่จึงเลิกร้องไห้เพื่อจะได้มาเยี่ยมเธอ
 
ก่อนจะมาเป็น ‘คนเสื้อแดง’ เธอเคยร่วมอุดมการณ์กับกลุ่ม ‘คนเสื้อเหลือง’ และติดตามข่าวสารผ่านช่องเอเอสทีวีมาโดยตลอดแม้จะไม่มีโอกาสเดินทางมาร่วมชุมนุม จนกระทั่งมีการยุบพรรคและเลือกตั้งใหม่ ได้รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เธอเริ่มตั้งคำถามกับขบวนหลังจากนั้น เพราะถือว่าผลเลือกตั้งออกมาเป็นอย่างไรก็ควรยอมรับ จากนั้นเธอจึงติดจานดาวเทียมที่มี ‘ช่องเสื้อแดง’ ก่อนที่ความคิดจะค่อยๆ เปลี่ยนไป
 
“เราคิดเองได้นี่ว่าความจริงคืออะไร ดูสองช่องเปรียบเทียบกัน แล้วก็เริ่มรู้สึกไม่เห็นด้วย ยิ่งมายึดสนามบินอะไรอีก ก็จบเลย” ปัทมาว่า
เย็นวันเดียวกัน นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ แซ่ด่าน ผู้ต้องหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แจ้งข่าวว่า สุรชัยรู้สึกผิดหวังอย่างมากที่ผู้ต้องขังในข้อหามาตรา 112 ไม่ได้รับการพิจารณาย้ายไปเรือนจำชั่วคราว
 
“แกบอกว่า ที่แกทำมาตลอดชีวิต ไม่ใช่เรื่องการเมืองหรืออย่างไร” นางปราณีกล่าว

 
ติดตามเรื่องเล่า ชีวิตในเรือนจำไทย ได้ในรายงานฉบับหน้า
 
 
....................................
 
 
รายชื่อผู้ต้องขังประกอบไปด้วยรายชื่อผู้ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
1 นายเอนก สิงขุนทด
2 ส.ต.ต.บัณฑิต สิทธิทุม
3 นายเอกชัย มูลเกษ
4 นายเพชร แสงมณี
5 นายสายชล แพบัว
6 นายประสงค์ มณีอินทร์
7 นายโกวิท แย้มประเสริฐ
8 นายพินิจ จันทร์ณรงค์
9 นายคำหล้า ชมชื่น

รายชื่อผู้ถูกคุมขังในเรือนจำธนบุรี
10 นายชาตรี ศรีจินดา 

รายชื่อผู้ถูกคุมขังในเรือนจำมหาสารคาม
11 นายคมกฤษ คำวิแสง
12 นายภานุพงษ์ นวลเสน
13 นายสมโภชน์ สีกากุล
14 นายอุทัย คงหา
15 นายไพรัช จอมพรรษา
16 นายมนัส วรรณวงศ์
17 นายสุชล จันปัญญา
18 นายชรัญย์ เอกสิริ
19 นายเดชอดุลย์ เดชบุรัมย์

รายชื่อผู้ถูกคุมขังในเรือนจำอุดรธานี
20 นายอาทิตย์ ทองสาย
21 นายบัวเรียน แพงสา
22 นายกิตติพงษ์ ชัยกัง
23 นายวันชัย รักสงวนศิลป์
24 นายเดชา คมขำ

รายชื่อผู้ถูกคุมขังในเรือนจำอุบลราชธานี
25 น.ส.ปัทมา มูลมิล
26 นายธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ
27 นายสนอง เกตุสุวรรณ
28 นายสมศักดิ์ ประสานทรัพย์

รายชื่อผู้ถูกคุมขังในเรือนจำมุกดาหาร
29 นายดวง คนยืน
30 นายทวีศักดิ์ แข็งแรง
31 นายณัฐวุฒิ พิกุลศรี
32 นายไมตรี พันธ์คูณ
33 นายนพชัย พิกุลศรี
34 นายพระนอม ก้นนอก
35 นายวิชัย อุสุพันธ์
36 นายวินัย ปิ่นศิลปะชัย
37 นายสมัคร ลุนริลา
38 นายวิชิต อินตะ
39 นายประครอง ทองน้อย
40 นายแก่น หนองพุดสา
41 นายทิณวัฒน์ เมืองโคตร 

รายชื่อผู้ถูกคุมขังในเรือนจำเชียงใหม่
42 นายนพรัตน์ แสงเพชร
43 นายประยุทธ์ บุญวิจิตร
44 นายบุญรัตน์ ไชยมโน
45 นายสมศักดิ์ อ่อนไหว
46 นายพะยอม ดวงแก้ว 

รายชื่อผู้ถูกคุมขังในเรือน อำเภอธัญบุรี
47 ไม่ทราบชื่อ

 
<2> ข้อเสนอส่วนหนึ่งในรายงานความคืบหน้าคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ครั้งที่ ๒ (๑๗ มกราคม ๒๕๕๔ – ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔)
 
“ด้วยเหตุนี้ คอป. จึงมีความเห็นว่าการดำเนินคดีอาญาในคดีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปตามมาตรา ๒๑๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา และคดีที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองทั้งหลายทั้งก่อนและหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ รวมทั้งคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ล้วนเป็นเรื่องที่มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง รัฐบาลสมควรดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีในความผิดดังกล่าว ดังนี้
 
๕.๓.๑ เร่งรัดตรวจสอบให้ชัดเจนว่าการแจ้งข้อหาและการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาและจำเลยสอดคล้องกับพฤติการณ์แห่งการกระทำหรือไม่ และทบทวนว่ามีการตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินสมควรหรือการดำเนินคดีที่พยานหลักฐานอ่อนไม่เพียงพอต่อการพิสูจน์ความผิดหรือไม่
 
๕.๓.๒ ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้มีการปล่อยชั่วคราวอันเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย เพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยสามารถต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัวอันเกิดจากการถูกจำกัดเสรีภาพ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาและจำเลยว่ามีเหตุที่จะหลบหนี เหตุที่จะทำลายพยานหลักฐาน หรือเหตุที่จะเป็นอันตรายต่อสังคมหากได้รับการปล่อยชั่วคราวหรือไม่ หากไม่มีสาเหตุดังกล่าว ให้ยืนยันหลักกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการปล่อยชั่วคราว และในการปล่อยชั่วคราวนั้น แม้ตามมาตรา ๑๑๐ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จะไม่เรียกร้องหลักประกันก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมยังมีการกำหนดให้มีหลักประกันอันเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายเสมอมานั้น ทำให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างมาก กล่าวคือ ได้เป็นช่องทางให้ “นายประกันอาชีพ” ซึ่งเป็นองค์กรเถื่อนในกระบวนการยุติธรรมฉวยโอกาสเข้าไปแสวงหาประโยชน์กับสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตลอดมา และ “บริษัทประกันภัย” ซึ่งก็เข้าไปแสวงหาประโยชน์กับสิทธิและเสรีภาพของบุคคล
 
ทำนองเดียวกัน ซึ่งการปล่อยให้ “บริษัทประกันภัย” เข้าไปแสวงหาประโยชน์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากนโยบายรัฐบาล ในยุคสมัยหนึ่งที่มีความไม่เข้าใจหลักกฎหมายเช่นเดียวกัน แต่การที่จะแก้ไขปัญหาที่ ต้นเหตุคือความเข้าใจหลักกฎหมายที่ถูกต้องที่ยังไม่อาจกระทำได้ในขณะนี้ เพราะปัญหาเกี่ยวข้องกับทั้งการศึกษากฎหมายและทัศนคติของผู้ใช้กฎหมายและอื่น ๆ นั้น ในกรณีที่ศาลอนุญาตให้มีการปล่อยชั่วคราวแต่กำหนดให้มีหลักประกันด้วยนั้น ก็ชอบแล้วที่รัฐบาลจะจัดหาหลักประกันดังกล่าวให้แก่ผู้ต้องหาและจำเลยทุกคนที่ไม่สามารถจัดหาหลักประกันได้ตามทางปฏิบัติที่ผ่านมา อนึ่ง ต้องพึงตระหนักว่าการที่ผู้ต้องหาและจำเลยถูกตั้งข้อหาร้ายแรงนั้นไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่อนุญาตให้มีการปล่อยชั่วคราวตาม
กฎหมาย
 
๕.๓.๓ เนื่องจากผู้ต้องหาและจำเลยมิใช่เป็นผู้ร้ายหรืออาชญากรดังเช่นในคดีอาญาตามปกติแต่เป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอันมีมูลเหตุเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในทางการเมือง หากผู้ต้องหาและจำเลยนั้นไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว รัฐบาลสมควรจัดหาสถานที่ในการควบคุมที่เหมาะสมที่มิใช่เรือนจำปกติเป็นสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาและจำเลย ดังเช่นที่เคยใช้กับนักโทษทางการเมืองในอดีต
 
๕.๓.๔ เนื่องจากคดีอาญาเหล่านี้เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาโดยผู้กระทำผิดมีมูลเหตุจูงใจในทางการเมือง และปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีรากเหง้าที่สำคัญมาจากสภาพสังคมไทยอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่าน (Transition) การนำเอาหลักความยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice) ที่มีเพียงมาตรการการฟ้องคดีอาญาในเชิงลงโทษมาใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง จึงไม่เหมาะสมกับสภาพของปัญหา ดังนั้น จึงสมควรที่จะนำเอาหลักวิชาการเกี่ยวกับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มาศึกษาและปรับใช้ เพื่อนำหลักการและแนวทางของหลักวิชาการดังกล่าว ตลอดจนประสบการณ์ของต่างประเทศที่เคยเผชิญความขัดแย้งอย่างรุนแรงมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทย
 
ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างที่มีการศึกษาถึงแนวทางในการนำมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศไทยมาใช้ สมควรขอความร่วมมือให้อัยการชะลอการดำเนินคดีอาญาเหล่านี้ไว้ โดยยังไม่พิจารณานำคดีขึ้นสู่ศาล โดยรอให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนในทุกๆ ด้าน ทั้งข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้เกี่ยวกับพฤติการณ์แห่งคดี ข้อมูลในภาพรวมของสาเหตุของปัญหา ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางในด้านวิชาการเกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมายในกรอบของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เพื่อให้อัยการมีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ในการประเมินความเหมาะสมทางด้านประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งมาตรการทางอาญาที่เหมาะสมก่อนการสั่งคดี”
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ธาริต" ชี้แจงเหตุสหรัฐฯ ไม่อนุมัติวีซ่า จนท.ดีเอสไอ

Posted: 18 Jan 2012 09:28 AM PST

"พ.ต.อ.ประเวศน์" ยื่นเรื่องขอเข้าสหรัฐไปทำคดีละเมิดสถาบันกษัตริย์ แต่วีซ่าไม่ผ่าน ด้าน "ธาริต" แจงเหตุไม่ได้วีซ่าเป็นเรื่องถ้อยคำในเอกสารไม่สมบูรณ์ ไม่เกี่ยวกับเรื่องไปทำคดี เผยเตรียมยื่นเรื่องใหม่แล้ว

รายงานว่า พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีว่าด้วยการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ วางแผนเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาเพื่อเข้าไปสอบสวนคนไทยที่ร่วมฟังการปาฐกถาของนายจักรภพ เพ็ญแข ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เพื่อให้ได้หลักฐานที่ชัดเจนว่าในวันเวลาดังกล่าวมีการจัดปาฐกถาจริงหรือไม่ และมีการพูดจาบจ้วงสถาบันหรือไม่ อย่างไรก็ตามเมื่อทำหนังสือแจ้งไปยังสถานทูตสหรัฐฯ ว่าดีเอสไอต้องการไปสอบสวนคนไทยในประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้สถานทูตสหรัฐฯ ชี้แจงกลับมาว่าหากจะสืบสวนสอบสวนประเด็นนี้ สหรัฐฯ ไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งขณะนี้ดีเอสไอได้ยื่นเรื่องไปใหม่แล้วว่าจะเป็นการขอเข้าไปพูดคุยธรรมดา ไม่ใช่การสอบสวน

โดย ฐานเศรษฐกิจ รายงานการให้สัมภาษณ์ของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีที่ พ.ต.อ.ประเวศน์ ไม่ได้รับวีซ่าว่า "เป็นปัญหาเรื่องของถ้อยคำที่ไม่สมบูรณ์หรือไม่ครบถ้วน ไม่ใช่ประเด็นที่ว่า พ.ต.อ.ประเวศน์ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีล้มเจ้า เนื่องจากไม่ได้มีประวัติอยู่ในแบล็กลิสต์" โดยขณะนี้ได้มีการปรับปรุงถ้อยคำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเพื่อนำไปยื่นขออนุมัติทำวีซ่าใหม่แล้ว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรพศ ทวีศักดิ์: คัดค้านการเยียวยาเท่ากับคัดค้านความก้าวหน้าของ “จริยธรรมทางสังคม”

Posted: 18 Jan 2012 09:28 AM PST

เป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมาย สำหรับการออกมาคัดค้านการเยียวยาผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ จากการสลายการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ถึง 2553 ตามมติคณะรัตมนตรี เพราะฝ่ายที่คัดค้านคือพรรคประชาธิปัตย์ หมอตุลย์ และ/หรือฟากตรงข้ามคนเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย ที่มักคัดค้านบนจุดยืนของความเป็นฝักฝ่ายอยู่แล้ว ส่วนเหตุผลที่นำมาอ้างก็เป็นเหตุผลที่ “เบาหวิว” และ “เข้าตัวเอง” ตามเคย

เช่นที่ว่าทำไมต้องเอาเงินภาษีประชาชนตั้ง 2,000 ล้าบาท ไปปูนบำเหน็จให้ “พวกเดียวกัน”  (หมายความว่า ปชป.ใช้ภาษีประชาชนร่วม 6,000 ล้านบาท สลายการชุมนุมจนทำให้ “พวกอื่น”ตาย 92 ศพ บาดเจ็บร่วม 2,000 คน เป็นสิ่งที่ชอบธรรม?)
 
ทำไมการเยียวยาจึงไม่ครอบคลุมกรณี 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 ฆ่าตัดตอนยาเสพติด กรือเซะ ตากใบ (อันนี้ อ.พวงทอง ตอบไปแล้วว่า ถ้า ปชป.เห็นว่าสิ่งที่สร้างสรรค์เช่นนี้ควรจะทำ ตอนที่ตนเองมีอำนาจทำไม่ไม่คิดจะทำ พอคนอื่นจะทำแล้วมาคัดค้านทำไม)
 
ส่วนที่ว่า ทำไมต้องไปจ่ายให้ให้พวกผู้ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง วางระเบิด ฯลฯ (ก็ต้องถามว่า ตอนที่ ปชป.เป็นทั้งผู้กล่าวหา เป็นทั้งผู้มีอำนาจรัฐนั้น ได้จับ “ผู้ก่อการร้าย” ที่ว่าแฝงตัวอยู่ในที่ชุมนุมคนเสื้อแดง 500 คน ได้กี่คน ที่ตาย บาดเจ็บ พิการ พิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมืองกี่คน)
 
แต่ที่น่าตั้งข้อสังเกตไว้เป็นพิเศษคือ บรรดาผู้ที่ออกมาคัดค้านต่างเคยอวดอ้าง “คุณธรรมจริยธรรม” และความเป็น “คนดี” ของตนเองในการต่อสู้ทางการเมือง และประณามฝ่ายตรงข้ามว่าไร้จริยธรรม
 
ฉะนั้น การคัดค้านการเยียวยาจึงสะท้อนถึงความเป็นคนมีคุณธรรมจริยธรรม หรือความเป็น “คนดี” ของพวกเขาอย่างชัดแจ้งว่า ความมีคุณธรรมจริยธรรม หรือความเป็นคนดีของพวกเขามี “ความหมาย” อย่างไร
 
เราจะตอบคำถามนี้ได้ ถ้าเราพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า การเยียวยาครั้งนี้เป็นการแสดงถึง “ความก้าวหน้าทางจริยธรรม” อย่างไร
 
เนื่องจากการสลายการชุมนุมเป็นปัญหาทางสังคมการเมือง ฉะนั้น ความก้าวหน้าของจริยธรรมที่แสดงให้เห็นในการเยียวยาปัญหาดังกล่าว จึงต้องเป็น ความก้าวหน้าของ “จริยธรรมทางสังคม” (social morality)
 
สำหรับผู้อ่านที่เบื่อคำว่า “จริยธรรม” โปรดเข้าใจว่า ผมกำลังใช้ความหมายของคำว่า “จริยธรรม” กว้างๆ ตาม concept ทางจริยศาสตร์ (ethics) ไม่ใช่ concept ทางศาสนา ในจริยศาสตร์สังคม หรือปรัชญาสังคมการเมืองนั้น ไม่มีสังคมการเมืองใดๆ ในโลกนี้ (หรือโลกใดๆ ที่เราอาจจินตนาการถึงได้) ที่จะดำรงอยู่โดยปราศจากระบบ “คุณค่า” (value) ใดๆ หมายความว่า  ระบบหรือกติกาการอยู่ร่วมกันของสังคมการเมืองใดๆ ก็ตาม จะต้องวางอยู่บนรากฐานของระบบคุณค่าบางอย่างเสมอ
 
เช่น ระบบสังคมการเมืองแบบสังคมนิยมเน้นคุณค่าเรื่องความเสมอภาคเป็นหลัก ขณะที่มองเรื่องสิทธิ  เสรีภาพ เป็นเรื่องรอง ส่วนระบบสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตยให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก ขณะที่ให้ความสำคัญกับ “ความเสมอภาคในความเป็นคน” แต่ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจอาจไม่ได้ให้ความสำคัญในความหมายเดียวกับสังคมนิยม เป็นต้น
 
และโดยที่สังคมเราได้เลือกแล้ว ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 ว่า เราจะเป็นสังคมประชาธิปไตย ฉะนั้น ความก้าวหน้าของ “จริยธรรมทางสังคม” ในการเยียวยาครั้งนี้ จึงหมายถึงความก้าวหน้าของการยอมรับ และปฏิบัติตามหลักจริยธรรมแห่งสังคมประชาธิปไตย คือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรมใน “มาตรฐานเดียวกัน”
 
ซึ่งการเยียวยาในครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นความก้าวหน้าของจริยธรรมทางสังคมดังกล่าว เช่น
 
1. เป็นการเคารพคุณค่าของความเสียสละเพื่อปกป้องประชาธิปไตย ที่ผ่านมาสังคมเรามักมองไม่เห็นคุณค่าของความเสียสละดังกล่าวนี้ เพราะอำนาจที่กุมชัยชนะทางการเมือง หรืออำนาจที่กำหนดการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองได้ “สร้างภาพ” ให้ผู้เสียสละเพื่อประชาธิปไตย เป็น “บุคคลอันตราย” ต่อความมั่นคงของชาติ ศาสน์ กษัตริย์
 
เมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเสียสละชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนอีกครั้ง จึงถึงเวลาที่รัฐบาลและสังคมนี้ต้องแสดงความเคารพต่อการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ทุกครั้งที่ผ่านมา เริ่มจากการเยียวยาเฉพาะหน้าครั้งนี้ก่อน หากจะมีการศึกษาเพื่อเยียวยาย้อนไปถึงเหตุการณ์พฤษภา 35 6 ตุลา 14 ตุลา ได้ ก็สมควรทำต่อไปอย่างยิ่ง
 
2. เป็นการสร้างบรรทัดฐานความรับผิดชอบด้าน “มนุษยธรรม” ของรัฐต่อประชาชนที่มีสำนึกสูงในความเป็นประชาธิปไตย นับแต่นี้รัฐจะเพิกเฉยปล่อยให้ประชาชนที่มีจิตสำนึกทางการเมืองสูงเช่นนั้นต้องตาย บาดเจ็บ พิการ อย่างโดดเดี่ยว ไร้การเหลียวแลไม่ได้อีกต่อไป
 
3. เป็นการยกมาตรฐานการปกป้องสิทธิมนุษยชนของประเทศให้ก้าวหน้าขึ้น เมื่อรัฐผิดพลาดละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน รัฐต้องรับผิดชอบต่อประชาชนผู้ถูกละเมิดอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
 
การเยียวยาครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างมาตรฐานที่สูงขึ้นของ “ความรับผิดชอบ” แห่งรัฐที่แสดงออกให้เห็นถึงความเคารพต่อการเสียสละของประชาชน ยกระดับบรรทัดฐานความรับผิดชอบด้านมนุษยธรรม และการเคารพสิทธิมนุษยชนของรัฐให้สูงขึ้น นี่คือสิ่งบ่งบอกถึงความก้าวหน้าของจริยธรรมทางสังคม
 
แต่นอกจากตอนมีอำนาจรัฐ พรรคประชาธิปัตย์จะไม่แสดงความรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวแล้ว เวลารัฐบาลอื่นกล้ารับผิดชอบยังออกมาคัดค้านเสียอีก ทั้งที่ควรจะมีวุฒิภาวะพอที่จะเข้าใจได้ว่า การคัดค้านการเยียวยา ก็คือการคัดค้านความก้าวหน้าของจริยธรรมทางสังคม
 
ซึ่งหมายถึง การปฏิเสธที่จะให้ความเคารพต่อความเสียสละเพื่อประชาธิปไตยของประชาชน และปฏิเสธการแสดงความรับผิดชอบด้านมนุษยธรรม และสิทธิมนุษยชนที่รัฐต้องมีต่อประชาชน
 
มันจึงสะท้อนให้เห็นว่า บรรดาคนที่เคยอวดอ้างความมีคุณธรรมจริยธรรม หรือความเป็นคนดีของตนเอง พวกตนเองในการต่อสู้ทางการเมือง และประณามฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นคนเลว ไร้คุณธรรมจริยธรรมนั้น เอาเข้าจริงคุณธรรมจริยธรรม หรือความเป็นคนดีที่พวกเขาอ้างถึงมันเป็นคนละเรื่องกับ “จริยธรรมทางสังคม” ตามระบอบประชาธิปไตย
 
เพราะความเป็น “คนดี” ซึ่งเกิดจากการมีคุณธรรมจริยธรรมที่ไม่ยึดโยงอยู่กับ และ/หรือไม่ได้ส่งเสริมสนับสนุนหลักจริยธรรมทางสังคม คือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรมในมาตรฐานเดียวกันอย่างหนักแน่น จึงทำให้บทบาทของบรรดาคนที่มีภาพลักษณ์เป็นคนดี คนมีคุณธรรมจริยธรรมทั้งหลายในประเทศนี้ มีความกระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะแสดงบทบาทคัดค้านความความก้าวหน้าของจริยธรรมทางสังคมอยู่เสมอๆ ตลอดมา (รวมทั้งคัดค้านการแก้ ม.112 และการล้างรัฐประหารด้วย)
 
เช่นที่ฝ่ายคัดค้านการเยียวยากำลังทำกันอย่างจริงจังในขณะนี้!
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมานฉันท์แรงงานไทยทวง รบ.ขึ้นค่าจ้าง 300 บาททันที ขู่พร้อมเคลื่อนไหวทั่วประเทศ

Posted: 18 Jan 2012 09:17 AM PST

(18 ม.ค.55) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จัดแถลงข่าวทวงปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แถลงว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ได้ประกาศนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปี 2554 โดยการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ สร้างความสมดุลและความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจ ดำเนินการให้แรงงานมีรายได้วันละ 300 บาท ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีรายได้เดือนละ 15,000 บาท ภายในวันที่ 1 มกราคม 2555 แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติอุทกภัย คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เลื่อนการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นวันที่ 1 เมษายน 2555 เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาทุกข์ผู้ประกอบการ โดยให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 39.5% นำร่อง 7 จังหวัด และปรับให้ครบทุกจังหวัดในวันที่ 1 มกราคม 2556 และไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขึ้นต่ำอีกเป็นเวลา 2-3 ปี

นายชาลี ลอยสูง กล่าวอีกว่า พฤติกรรมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยแสดงเจตนาไม่ปฏิบัติตามนโยบายของตนเองที่ได้ให้สัญญาประชาคมไว้กับผู้ใช้แรงงานกว่า 37 ล้านคน เพียงเมื่อมีเสียงคัดค้านจากภาคธุรกิจอุตสาหกรรม พรรคเพื่อไทยได้กลับคำแถลงเปลี่ยนแปลงนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายได้ ทั้งยังฉวยสถานการณ์ภัยพิบัติอุทกภัยซ้ำเติมผู้ใช้แรงงานที่เข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ เสี่ยงจากการถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ยังชีพจากค่าล่วงเวลาและได้รับเงินเดือนไม่ครบ ด้วยการเลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นเวลา 3 เดือน และจะไม่ปรับขึ้นค่าจ้างอีก 2-3 ปี

ในทางกลับกัน สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ รวมทั้งสถานประกอบการนอกเขตภัยพิบัติน้ำท่วม ต่างได้รับประโยชน์จากการเลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนี้

ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ขอย้ำจุดยืนต่อนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนี้

1. ให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ โดยทันที และคำนึงถึงความเท่าเทียมในมาตรฐานค่าจ้างขั้นต่ำ ตามหลักการตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศจะต้องเป็นค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี รวมทั้งคำนึงถึงความเสมอภาคของแรงงานกับข้าราชการ ที่มีอัตราเงินเดือนเท่ากันทั่วประเทศ

2. คัดค้านมติคณะกรรมการไตรภาคี ในการไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2-3 ปี ภายหลังการปรับค่าจ้าง 300 บาท และให้มีโครงสร้างค่าจ้างเพื่อความเป็นธรรมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และมีการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีทุกสถานประกอบการ

3. รัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่น ค่าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากผลการสำรวจค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของผู้ใช้แรงงานโดยคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 พบว่า มีค่าใช้จ่ายวันละ 561.79 บาท จึงขอย้ำเตือนรัฐบาลพรรคเพื่อไทยว่า การไม่รักษาสัจจะประชาธิปไตย จะเป็นจุดเริ่มของความเสื่อมศรัทธาต่อพรรคเพื่อไทย บทเรียนประชาธิปไตยที่ผ่านมาได้ตอกย้ำว่า ขบวนการแรงงานไม่อาจปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมือง และไม่อาจปล่อยให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นของข้าราชการแต่ฝ่ายเดียว ในขณะที่ผู้ใช้แรงงานเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ที่ดำรงสัมมาชีพอยู่ในโครงสร้างสังคมที่ไม่เท่าเทียมนี้ ทั้งนี้ หากไม่มีการปฏิบัติตามข้อเสนอข้างต้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จะทำการรณรงค์เคลื่อนไหวกับพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า การเลื่อนปรับค่าจ้างตามนโยบายรัฐบาลที่เคยกำหนดการปรับค่าจ้างในเดือนมกราคม 2554 เป็นปรับขึ้นในเดือนเมษายน 2554 ซึ่งผู้ใช้แรงงานรู้สึกผิดหวังกันอย่างมาก ยังจะมีการล็อคไม่ให้มีการปรับค่าจ้างอีกอย่างน้อย 3 ปี รัฐบาลไม่สนใจเรื่องปากท้องของผู้ใช้แรงงานเลยหรืออย่างไร เขาจะอยู่กันได้อย่างไรหากไม่มีการปรับค่าจ้างเลย รัฐควรมองผู้ใช้แรงงานเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเศรษฐกิจประเทศ ค่าจ้างคือ ชีวิตของผู้ใช้แรงงาน การปรับขึ้นค่าจ้างทำให้ผู้ใช้แรงงานมีกำลังใจในการทำงาน และการที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีเวลาพักผ่อน มีเงินใช้หนี้สิน

นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐควรมีการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างในการปรับค่าจ้างประจำปื แรงงานในกิจการอุตสาหกรรมยานยนต์เองค่าจ้างวันละ 200กว่าบาท สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเพียงเล็กน้อย การปรับค่าจ้างขึ้น 300 บาทอาจทำให้แรงงานที่ทำงานมานานกับคนงานที่เข้ามาทำงานใหม่มีค่าจ้างที่เท่ากัน และการปรับค่าจ้างควรมีการปรับเป็นระบบขั้นบันได เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมเป็นค่าประสบการณ์ และฝีมือของแรงงานที่ทำงานมานานหลายสิบปี และขอย้ำว่าค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการทำงานของแรงงานแรกเข้าเท่านั้น และค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทไม่ใช่รวมการทำงานล่วงเวลา

นายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง กล่าวว่า รัฐบาลต้องทำตามนโยบาย และมีการตรวจสอบการทำตามประกาศปรับขึ้นค่าจ้างด้วย รัฐต้องระวังนายจ้างศรีธนนชัย ที่อ้างค่าจ้าง 300 บาทรวมถึงสวัสดิการต่างๆ ทำให้ไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างให้กับแรงงาน
ภายใต้ปัญหาค่าจ้างที่ไม่ได้มีการปรับขึ้นตามที่ได้กำหนดไว้ในเดือนมกราคม 2555 ทำให้ผู้ใช้แรงงานกระทบถึง 2 เด้ง คือ

1. การที่รัฐบาลเลิกอุดหนุนงบประมาณพลังงานส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้น ทำให้ผู้ใช้แรงงานต้องแบกรับภาระที่สูงขึ้น ภายใต้ค่าจ้างที่ต่ำ 2. การเลื่อนปรับค่าจ้างเป็นเดือนเมษายน 2555 ทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้นอีกครั้ง ผลกระทบจากราคาสินค้าที่สูงขึ้นรัฐบาลต้องมีมาตรการที่ควบคลุมราคาสินค้า ไม่เช่นนั้นการปรับค่าจ้างขึ้นก็ไม่ได้ส่งผลให้ชีวิตแรงงานดีขึ้น และการที่เสนอปรับค่าจ้างขึ้น 300 บาทเพียง 7 จังหวัด ไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงาน และไม่ใช่นโยบายของรัฐบาลที่เสนอไว้

นางสาวธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีกล่าวว่า รัฐบาลมีแนวคิดนโยบายในการส่งเสริมการส่งออกอย่างเดียว ไม่มีแนวคิดในการทำงานสร้างหรือมองตลาดภายในประเทศ เมื่อมีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแต่ละครั้งส่งผลให้ประเทศประสบปัญหาทางเศรษฐกิจทุกครั้ง และต้องมีการเลิกจ้างแรงงานทุกครั้ง วันนี้ยังมีนายจ้างออกมาบอกให้รับรู้ไว้ว่าหากรัฐปรับขึ้นค่าจ้างจะมีการเลิกจ้างแรงงาน ส่วนตัวไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้รัฐบาลต้องให้ความเป็นธรรมกับแรงงานด้วย เพราะน้ำท่วมก็เลิกจ้าง วิกฤตเศรษฐกิจ ปรับขึ้นค่าจ้าง ถูกเอามาต่อรองกับการเลิกจ้างแรงงาน การหันไปใช้แรงงานข้ามชาติ อันนี้เป็นคำถามที่สังคมต้องถามนายจ้างกลับเหมือนกันว่า กำไรไม่แบ่ง กระจายรายได้กำไรนิดหน่อย เลิกจ้าง อันนี้ไม่เป็นธรรม ไม่มีความมั่นคงในการทำงานเลยหรือ การที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการการลงทุน ลดการจัดเก็บภาษี แม้กระทั่งการปรับค่าจ้างก็ยังลดต้นทุนด้านภาษีให้ ทำให้นายจ้างขนาดนี้แล้ว ยังจะข่มขู่สร้างกระแสเลิกจ้าง ตอนนี้ก็เลิกจ้างกันทุกวันอยู่แล้ว
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กองทุนยุติธรรม เตรียมประกันตัว 57 เสื้อแดง

Posted: 18 Jan 2012 08:38 AM PST

18 ม.ค.เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานคำเปิดเผยของนายถิรชัย วุฒิธรรม เลขานุการ รมว.ยุติธรรมว่า กองทุนยุติธรรม มีมติประกันตัวผู้ต้องขังจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง จำนวน 57 ราย สืบเนื่องจาก ครม.มีมติ ที่ 25 ต.ค.เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ประเด็นช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง แต่ที่ผ่านมา กองทุนยุติธรรมยังขาดแคลนงบประมาณ ซึ่งการประกันตัวต้องใช้เงิน 43,840,000 บาท เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ครม.จึงอนุมัติเงินงบกลางจำนวนดังกล่าวมาให้กองทุนยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จะรับไปดำเนินการต่อไป

ด้านนายพิทยา จินาวัฒน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ประสานกับศาล และสำนักงานยุติธรรมจังหวัด และ นปช.เนื่องทนายความ ญาติพี่น้องผู้ต้องขัง คาดว่า ไม่เกิน ม.ค.จะสามารถดำเนินการยื่นประกันตัวในเรือนจำ ทั้ง 8 แห่ง จำนวน 57 ราย ได้ ปกติกองทุนยุติธรรมได้ช่วยเหลือประกันตัวไม่ใช่แต่เฉพาะกลุ่มเสื้อแดง หรือคดีการเมือง ตั้งแต่ก่อตั้ง ได้ช่วยเหลือวงเงินในการประกันตัวไปแล้วกว่า 6 พันราย รวมทั้งคดีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

 


ที่มา:
เว็บไซต์ไทยรัฐ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โปรดเกล้าฯ ครม.'ยิ่งลักษณ์2'

Posted: 18 Jan 2012 08:03 AM PST

18 มกราคม 2555 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 5 สิงหาคม พุทธศักราช 2554 และแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหาราชการแผ่นดิน ตามประกาศลงวันที่ 9 สิงหาคม พุทธศักราช 2554 นั้น

บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า สมควรปรับปรุงรัฐมนตรีบางตำแหน่ง เพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 171 และมาตรา 183 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี และแต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้

๑. ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นางสาวกฤษณา สีหลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นางบุญรื่น ศรีธเรศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี

 

๒. ให้แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นรองนายกรัฐมนตรี
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นางนลินี ทวีสิน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายศักดา คงเพชร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
หม่อมราชวงศ์พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 18 มกราคม พุทธศักราช 2555 เป็นปีที่ 67 ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กสม.แถลง เปล่าสนับสนุนแก้ 112

Posted: 18 Jan 2012 07:41 AM PST

กรรมการสิทธิ์ปฏิเสธ ไม่ได้สนับสนุนการแก้ ม.112 ยันจะยึดความสมดุลระหว่างสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับการรักษาพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

18 มกราคม 2555 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกแถลงการณ์ ปฏิเสธไม่ได้สนับสนุนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ระบุชัดเป็นบทบัญญัติที่ปกป้องพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขของประเทศ เฉกเช่นเดียวกับประมุขของรัฐต่างประเทศ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 133 แห่งกฎหมายนี้ และเป็นหลักสากลที่นานาอารยประเทศให้การปกป้องประมุขของประเทศในหลักการเดียวกัน  ดังนั้น ข่าวที่ปรากฏต่อสื่อมวลชนหรือสาธารณะโดยทั่วไปว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสนับสนุนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น จึงเป็นข่าวที่คลาดเคลื่อนและไม่มีมูลความจริงแต่ประการใด

อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ลงท้ายว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอยืนยันว่าจะปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยยึดหลักความสมดุลระหว่างสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับการรักษาพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณี “ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒”

แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสื่อมวลชนหรือสาธารณะโดยทั่วไป ในทำนองว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สนับสนุนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ นั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอเรียนว่า เรื่องนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เป็นบทบัญญัติ ที่ปกป้องพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขของประเทศ

เฉกเช่นเดียวกับประมุขของรัฐต่างประเทศ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๓ แห่งกฎหมายนี้ และเป็นหลักสากลที่นานาอารยประเทศให้การปกป้องประมุขของประเทศในหลักการเดียวกัน ดังนั้น ข่าวที่ปรากฏต่อสื่อมวลชนหรือสาธารณะโดยทั่วไปว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสนับสนุนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ นั้น จึงเป็นข่าวที่คลาดเคลื่อนและไม่มีมูลความจริงแต่ประการใด จึงขอทำความเข้าใจต่อทุกฝ่าย มา ณ โอกาสนี้

อนึ่ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอยืนยันว่าจะปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยยึดหลักความสมดุลระหว่างสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับการรักษาพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๑๘ มกราคม ๒๕๕๕

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: นอนประท้วง "หมอตุลย์" หน้าทำเนียบ

Posted: 18 Jan 2012 02:14 AM PST

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 55 ที่ผ่านมา นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดินหรือกลุ่มเสื้อหลากสี พร้อมผู้สนับสนุน เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายสมภาส นิลพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านการจ่ายเงินชดเชยให้ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการชุมนุมทางการ เมือง ในช่วงปี 2548-2553 โดยผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินกว่า 7 ล้านบาท รวมต้องใช้งบประมาณกว่า 2 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มีผู้สนับสนุนคนเสื้อแดงเดินทางมาคัดค้านการยื่นหนังสือของ นพ.ตุลย์ โดยมีการประท้วงเชิงสัญลักษณ์บริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล มีการเดินสลับการหมอบกราบเป็นระยะทางประมาณ 100 เมตร พร้อมชูป้าย "ไม่อยากให้จ่ายเยียวยา? แล้วยุให้ "ฆ่า" กันทำไม?" "ไม่มีใครสมควรตายเพราะคิดต่างทางการเมือง" จากนั้นมีการล้มตัวลงนอนราบไปกับพื้นเพื่อแสดงการคัดค้านการยื่นหนังสือของ กลุ่ม นพ.ตุลย์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อำมาตย์ภาคประชาสังคมกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

Posted: 18 Jan 2012 01:30 AM PST

หากยังจำกันได้ หลังจากที่ได้สั่ง “กระชับพื้นที่” จนเป็นผลให้ผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเสียชีวิตและสูญหายนับร้อยรายและบาดเจ็บพิการอีกนับพันราย รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เดินหน้าแผน “ปรองดอง” ที่กำหนดให้การปฏิรูปประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของแผน โดยมีชนชั้นนำของภาคประชาสังคมไทย คือ นายอานันท์ ปันยารชุน และนายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธานคณะกรรมการกำกับการปฏิรูปและประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปตามลำดับ ทั้งนี้ โดยมีบุคคล กลุ่ม และองค์กรต่างๆ จากภาคประชาสังคมเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปนี้อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ดี การปฏิรูปประเทศในครั้งนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นเพียงเครื่องมือที่รัฐบาลและกองทัพใช้เบี่ยงเบนความสนใจของสังคมต่อข้อเรียกร้องที่ให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่การเข้าร่วมของภาคประชาสังคมไทยก็ถูกคัดค้านจากนักกิจกรรมและนักวิชาการบางส่วนเนื่องจากเห็นว่าเป็นการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลและทหารต่อการใช้ความรุนแรงและใช้อำนาจรัฐอย่างไร้ความเป็นธรรม เป็นการเพิกเฉยต่อการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนและต่อกระบวนการอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมซึ่งนับเป็นความอำมหิตแบบหนึ่ง จนมีคำเรียกการปฏิรูปนี้ว่า ‘กระบวนการปฏิรูปประเทศไทยอำมหิต’ และมีสโลแกนการคัดค้านที่คุ้นหูว่า ‘เสียดายคนตายไม่ได้ปฏิรูป’ อนึ่ง การเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปประเทศนี้ได้สะท้อนถึงอุดมการณ์ของภาคประชาสังคมไทยที่ค่อนไปในทางอนุรักษ์นิยมและการสนับสนุนสถาบันการเมืองหรืออำนาจแบบจารีต รวมถึงท่าทีที่ไม่ไว้วางใจและหวาดระแวงต่อระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนและการเลือกตั้ง

กระบวนการปฏิรูปประเทศยังคงดำเนินต่อมาแม้จะเปลี่ยนขั้วรัฐบาลแล้วก็ตามโดยเฉพาะในส่วนคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประเด็นหนึ่งที่คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญและได้เข้ามามีบทบาทเป็น “เจ้าภาพ” ในการระดมความคิดและข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรุนแรงและซับซ้อนมาก เฉพาะในรอบ 8 ปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงเกือบ 5,000 ราย และผู้บาดเจ็บพิการอีกจำนวนมหาศาลขณะที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการจับกุมคุมขังทำร้ายร่างกายและไล่ล่าผู้ต้องสงสัยที่ไม่ถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรมก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ที่ผ่านมานักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และกลุ่มองค์กรต่างๆ ในและนอกท้องถิ่นและระหว่างประเทศ ต่างก็พยายามอย่างมากที่จะแก้ไขปัญหา ทั้งในแง่การเยียวยา การส่งเสริมกระบวนการยุติธรรม การนำเสนอแนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจและรูปแบบการปกครองที่เหมาะสม การรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้กฎหมายความมั่นคง รวมถึงการผลักดันให้มีระบบการศึกษาที่เคารพในประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ทางศาสนาและชาติพันธุ์ของคนท้องถิ่น ทั้งนี้ การแต่งตั้งให้มีสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปเป็นประธาน ดูจะเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของชนชั้นนำภาคประชาสังคมผ่านทางคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป อนึ่ง กระบวนการสมัชชาฯ ได้เริ่มเปิดฉากขึ้นแล้วเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาและจะดำเนินการไปตลอดปี 2555 โดยจะมีการจัดเวทีในระดับต่างๆ เพื่อระดมความคิดจากกลุ่มคนที่หลากหลายในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 200 เวที

อย่างไรก็ดี การที่ชนชั้นนำของภาคประชาสังคมผู้ซึ่งมีบทบาทขับเคลื่อน ‘กระบวนการปฏิรูปประเทศไทยอำมหิต’ ผู้ซึ่งมีอุดมการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย และผู้ซึ่งทำให้ภาคสังคมไทยในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันมีกลายสภาพเป็นเพียงเครื่องมือของการกดทับและการธำรงสถานะเดิมของสถาบันสังคมและการเมืองจารีต ได้เข้ามามีบทบาทในฐานะ “เจ้าภาพ” ในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ได้นำมาสู่คำถามในใจฉันหลายประการ ข้อหนึ่งก็คือว่าปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถแยกออกออกจากปัญหาการเมืองและโครงสร้างอำนาจในระดับชาติ อย่างกรณีอำนาจของกองทัพและของสถาบันหลักได้กระนั้นหรือ เมื่อย้อนกลับไปดูบทสัมภาษณ์ของนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เคยเสนอว่าการแก้ปัญหาแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นไปได้ก็ต้องมี “การส่งสัญญาณจากนอกพื้นที่ลงไปเพื่อให้การต่อสู้หยุดชะงักก่อน ซึ่งผมเสนอ 3 สูตรคือ หนึ่ง ต้องอาศัยพระเจ้าอยู่หัว แต่สูตรที่หนึ่งนี้เป็นไปได้ยาก เพราะเราไปกำหนดท่านไม่ได้ สูตรที่สอง ผู้นำทางความคิด แต่ว่าผู้นำทางความคิดอย่างคุณอานันท์ อาจารย์ประเวศ หรือแม้แต่พลเอกเปรม ระดับนี้ จะมีบารมีทดแทนพระเจ้าอยู่หัวหนึ่งองค์ได้ ต้องใช้ประมาณพันคน ร้อยคนไม่พอ สูตรที่สองนี้จึงเป็นไปได้ยากมาก เพราะต้องส่งสัญญาณเข้าไปทั้งในพื้นที่และสังคมใหญ่” ก็ยิ่งทำให้ทำให้น่ากังวลอย่างมากต่อแนวคิดและอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังสมัชชาฯ นี้ว่าจะนำไปสู่การแก้หรือการเพิ่มปัญหาให้มากขึ้น

คำถามถัดมาที่เกิดขึ้นก็คือว่าปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถแยกขาดจากปัญหาความไม่เท่าเทียมเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายและในกระบวนการยุติธรรมที่ได้เกิดขึ้นกับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มอื่นๆ ในประเทศไทย เช่น มวลชนผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ได้กระนั้นหรือ ข่าวการจัดงานเวทีสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คึกคักและดูมีความหวังถึงการแก้ปัญหาอย่างสันติและไร้ความรุนแรงภายใต้การนำนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานฯ ทำให้ฉันหวนรำลึกถึงบทความหนึ่งของนายแพทย์ผู้นี้ที่ฉันจำได้ฝังใจ บทความนี้ชื่อ “อีกสักเดือนจะเป็นไรไป?” ตีพิมพ์ใน กรุงเทพธุรกิจ ช่วงก่อนการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ในบทความนายแพทย์พลเดชเรียกผู้ชุมนุมเสื้อแดงว่า “กลุ่มผู้ก่อการร้าย” ที่มีอาวุธหนักครบมือ และ “กบฏเสื้อแดงที่มุ่งปฏิวัติล้มล้างด้วยกำลังมวลชนและอาวุธ” เขาเสนอต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่าควร “ปล่อยให้ม็อบฝ่อเหี่ยวกันไปเอง โดยการปิดล้อมทางเข้าออกทุกด้านอย่างแข็งแรง กดดันทั้งทางการเมืองและใช้มาตรการทางคดีเป็นพิเศษ ไม่นานแกนนำจะถูกโดดเดี่ยวจนถึงที่สุดและทิ้งมวลชนหนีไป” นายแพทย์พลเดชยังบอกอีกว่า “พวกกบฏเสื้อแดงจะไม่มีทางยอมแพ้ง่ายๆ และพวกเขาพร้อมที่จะใช้โมเดลการก่อการร้ายแบบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ขยายไปทั่วประเทศ” และ “หากศึกนี้จบลงด้วยการเสมอกัน หรือ ‘วิน-วิน…แบบหน่อมแน้ม’ ทั้งแกนนำและมวลชนกบฏจะยิ่งลำพองใจในชัยชนะทุกสมรภูมิของพวกเขา ขึ้นอยู่กับว่า การชุมนุมที่ราชประสงค์จะจบด้วยการถูกสลายหรือไม่ ซึ่งถ้ามีการสลาย ...ฝ่ายความมั่นคงจะจับตัวแกนนำทั้ง 24 คนได้มากแค่ไหน ส่วนใหญ่หรือส่วนน้อย ตัวใหญ่หรือตัวเล็ก จับเป็นหรือจับตาย” จากบทความนี้ฉันไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินไปบนฐานแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค จะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไรภายใต้การเป็น “เจ้าภาพ” ของบุคคลประเภทนี้ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ยิ่งในการลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นที่มีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างจากกลุ่มตน

นอกจากนั้นฉันก็ยังมีคำถามว่าแล้วแนวคิดและอุดมการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนและการเลือกตั้ง (ซึ่งถือเป็นหลักการขั้นพื้นฐานที่สุดของระบอบประชาธิปไตย) ของชนชั้นนำภาคประชาสังคมไทยที่พยายามเข้ามามีบทบาทแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น จะส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาอย่างที่พวกเขากล่าวอ้างจริงหรือ ทั้งนี้ ในการกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษผ่านวิดิทัศน์เวทีสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ ครั้งที่ 1 “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา นายแพทย์ประเวศ วะสี เน้นย้ำอุดมการณ์นี้อย่างชัดเจนว่าการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น อันจะนำมาสู่ภาวะท้องถิ่น/ชุมชนจัดการตนเองที่เอื้อต่อการเข้ามามีบทบาทของผู้นำตามธรรมชาตินั้น เป็นทางออกสำคัญในการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากผู้นำตามธรรมชาติมีความซื่อสัตย์สุจริตและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผู้นำแบบอื่นๆ ดังที่ว่า “มีสภาผู้นำชุมชนที่มีผู้นำตามธรรมชาติ ที่มีอยู่ในชุมชนมารวมตัว เป็นสภาผู้นำชุมชน ซึ่งท่านทั้งหลายก็มีอยู่จะเป็นโต๊ะครู เป็นอิหม่าม เป็นผู้นำกลุ่มอาชีพอะไรต่างๆ ก็มีอยู่เป็นธรรมชาติในชุมชน และผู้นำตามธรรมชาติจะมีคุณสมบัติสูงกว่าผู้นำโดยการเลือกตั้งและโดยการแต่งตั้ง” และ “ผู้นำที่เกิดจากการเลือกตั้ง หรือโดยการแต่งตั้ง ซึ่งไม่แน่ แล้วแต่เหตุปัจจัยต่างๆ การใช้เงินใช้ทองใช้อำนาจใช้อะไรต่ออะไรต่างๆ ให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง” และ “ถ้าเรามองข้างบนไปที่นักการเมือง เราเกือบจะมองไม่เห็นเลยว่าเราจะมีคนที่สุจริต คนที่มีสติปัญญาสูง มีคนที่เห็นแก่ส่วนรวมจำนวนมาก แต่ว่าที่ชุมชนนั้นมีจำนวนมากทุกแห่งหนเป็นธรรมชาติ มีเป็นล้านๆ คน”

ปาฐกถานี้ของนายแพทย์ประเวศ วะสี สะท้อนให้เห็นถึงการละเลยที่จะใส่ใจถึงชีวิตที่สลับซับซ้อนของชาวบ้านมลายูมุสลิมและความสัมพันธ์ระหว่างการเมือง การเลือกตั้ง และมิติต่างๆ ในชีวิตของพวกเขา จากประสบการณ์ของฉันในหมู่บ้าน บาบอ โต๊ะครู หรืออิหม่าม ซึ่งเป็น’ผู้นำตามธรรมชาติ’ ตามความหมายของนายแพทย์ประเวศ วะสี ส่วนใหญ่ก็มักมีสายสัมพันธ์ในทางใดทางหนึ่งกับผู้นำโดยการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง เช่น เป็นเครือญาติ เป็นพี่น้อง หรือเป็นพ่อลูกกัน อีกทั้งยังไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่บาบอ โต๊ะครู หรืออิหม่ามจะเป็นผู้สนับสนุนหรือหัวคะแนนหรือแม้แต่เป็นกุนซือให้กับผู้สมัครรายใดรายหนึ่งในการเลือกตั้งระดับต่างๆ ขณะที่การเมืองหรือการเลือกตั้งก็ไม่ได้แยกขาดจากชีวิตด้านอื่นๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกันที่ผู้สมัคร สส., สจ., นายก อบจ, หรือ นายก อบต จะเข้าไปละหมาดและหาเสียงในมัสยิดในโอกาสต่างๆ รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายทางสังคมหรือสายสัมพันธ์ของผู้คนในทางการเมืองระหว่างการร่วมกิจกรรมเผยแพร่ศาสนาหรือการออกดาวะห์

ฉันเห็นว่าตราบใดเรื่องราวและสภาพชีวิตที่เป็นจริงของชาวบ้านมลายูมุสลิมยังไม่ได้รับการใส่ใจและทำความเข้าใจ แม้จะจัดเวทีอีกสักสองพันเวที จัดให้ทั่วทุกหย่อมบ้านทุกตรอกซอกซอย ก็อย่าได้หวังว่าการจับเอาตัวแทนชาวบ้านมานั่งหน้ากระดานแปะด้วยกระดาษปรูฟประกบด้วยกระบวนการเวทีที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีในฐานะพิมพ์เขียวจะนำไปสู่อะไรได้ นอกเสียจากการส่งเสริมสถานะและความชอบธรรมให้กับกลุ่มชนชั้นนำภาคประชาสังคมไทยให้สามารถลอยหน้าลอยตาและสามารถแสดงความเหนือกว่าบุคคลอื่นๆ โดยไม่สำเหนียกเลยแม้แต่น้อยว่าพวกตนนั้นแหละคือต้นตอหนึ่งของปัญหา ทั้งปัญหาโครงสร้างการเมืองในระดับประเทศและปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

[บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ คิดอย่างคน ในหน้งสือรายสัปดาห์มหาประชาชน ประจำวันที่ 13-19 มกราคม 2554]

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาญวิทย์ระบุ "เป็นไปไม่ได้" ภาษาไทยจะสำคัญในอาเซียน

Posted: 18 Jan 2012 12:13 AM PST

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ แสดงความเห็นกรณีงานวิจัยจุฬาฯ ระบุภาษาไทยจะเป็นภาษากลางของอาเซียน ชี้ภาษาไทยกลางใช้ในวงจำกัดมาก ขณะที่ภาษามลายูมีคนใช้ 300 ล้านคน และเคยเป็นภาษาตลาด-ภาษากลางในภูมิภาคมาก่อน แต่เชื่อว่าภาษาอังกฤษน่าจะเป็นภาษากลางของอาเซียน

ตามที่ในเว็บไซต์วอยซ์ทีวีมีรายงานข่าว หัวข้อ "งานวิจัยจุฬาฯ ชี้ ภาษาไทยจะเป็นภาษากลางประชาคมอาเซียน" โดยเผยแพร่งานวิจัยเรื่อง “การเตรียมบุคลากรเพื่อรองรับการเปิดตลาดอาเซียน” ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในงานวิจัยระบุว่าภาษาไทยจะเป็นอีกหนึ่งภาษาที่มีความสำคัญในการสื่อสาร และจะเป็นภาษากลางของกลุ่มประเทศอาเซียนเท่าเทียมกับภาษาอังกฤษ เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางของอาเซียน โดยล่าสุดพบว่า ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กัมพูชา พม่า สนใจมาเรียนภาษาไทยมากขึ้น

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากผลการวิจัยดังกล่าว สิ่งที่ควรเตรียมพร้อมคือ เตรียมส่งออกครูภาษาไทยสำหรับสอนชาวต่างชาติ เผยแพร่ระบบการศึกษาไทยให้แพร่หลายยิ่งขึ้น การเปิดเสรีอาเซียน จะเป็นแรงส่งที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นระบบมากขึ้น

ปัจจุบันประเทศไทยมีครูภาษาไทย และจำนวนนักศึกษาที่กำลังเรียนในคณะ ครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ วิชาเอกภาษาไทยจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า จำนวนบุคลากรด้านภาษาไทยที่มีอยู่นั้น มีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน

ขณะที่ในวันนี้ (18 ม.ค.) ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวทางเฟซบุคของตนว่า "ยากมากๆ ครับ ไม่เชื่อว่า เป็นไปได้ ภาษาไทย (กรุง-กลาง) ใช้ในวงจำกัดมาก เรามักรวมภาษาลาว อีสาน ลื้อ ปักษ์ใต้ ฯลฯ เข้าไปด้วย แต่ความจริง สื่อกันไม่ง่ายขนาดนั้น (ในหมู่คนสัก 100 ล้าน)"

"ถ้าจะเทียบแล้ว อินโดนีเซีย มาเลเซีย มลายู มีคนใช้พูดร่วมกัน สื่อกันได้ 300 ล้าน กว้างกว่า ง่ายกว่าเยอะ (ใช้ตัวโรมันเหมือนๆ กัน) เป็นภาษากลาง ภาษาตลาด ของอุษาคเนย์ ใน ปวศ มาก่อน"

"แต่ผมเชื่อว่า ภาษากลางของอาเซียน คงเป็น อังกฤษ ครับ หลีกเลี่ยง มรดกจักรวรรดินิยมอังกฤษ-อเมริกา ไม่ได้หรอก ครับ (โดยเฉพาะพวกเราๆ ท่านๆ นี่แหละ)"

"ปัญหาอีกอย่าง คือ อาเซียนนั้น เรื่องจริง หรือ อิงนิยาย กว่า ๔๐ ปีแล้ว ยังไปไม่ถึงไหน เลย ที่มาตื่นเต้นกันตอนนี้ เพราะรัฐ ทุ่มงบประมาณ เนื่องจากหลับไหลมานาน ไฟจี้ก้น กับ ไฟไหม้ฟาง เสียมากกว่า ครับ"

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Lana Del Rey ‘Born To Die’: อะเดลหลบไป! ตอนนี้ใครๆ ก็พูดถึงแต่ลาน่า เดล เรย์

Posted: 17 Jan 2012 10:13 PM PST

หลังจากปล่อยซิงเกิ้ลและมิวสิค วิดีโอเพลง ‘Born To Die’ ออกไปได้ไม่นาน โลกใบนี้ก็ได้แซ่ซ้องสรรเสริญศิลปินคนใหม่ที่กำลังมาแรงนามว่า Lana Del Rey

ที่จริงเธอเป็นที่รู้จักมาก่อนหน้านี้แล้ว กับเพลง ‘Video Game’ ในปี 2001 แต่ยังไม่ดังเปรี้ยงป้างเท่าตอนนี้นั่นเอง เหตุที่ดังก็เพราะผลงานเพลง ‘Born To Die’ นี่แหละ แค่ชื่อเพลงก็น่าสนใจแล้ว พอคลิกเข้ามาฟังคุณก็จะได้พบกับผู้หญิงหน้าตาสวยคลาสสิก ตามแบบฉบับ Old Hollywood (หลายคนบอกว่าหน้าเธอสวยเก๋แบบเรโทร และดูดีๆ หน้าตาเธอสวยไม่ต่างจากอะเดลเลย แต่เป็นภาคที่ผอมกว่าสักสองสามเท่าเท่านั้นเอง) แต่พอดนตรีบันเลงขึ้น คุณก็จะแปลกใจกับซาวนด์ที่แปลกประหลาดผสมผสานทั้งงานกอสเปลและดนตรีแบบเวิลด์มิวสิค (แรงบันดาลในงานเพลงของเธอมาจากศิลปินสามคนคือ เอลวิว เพรสลีย์, เคิร์ธ โคเบน และบริตนีย์ สเปียร์ส !) และพอเธอเปิดปาก (ที่หลายคนบอกว่าเบี้ยว) ร้องเพลงเท่านั้น คุณก็จะได้ซาบซึ้งกับน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ ใหญ่ทุ่ม นุ่มนวล และทรงพลัง จากใบหน้าสวยๆ ที่คุณไม่คาดว่าจะร้องเพลงแบบนี้ หนำซ้ำมิวสิค วิดีโอ ก็น่าทึ่งไม่แพ้กัน กับการนั่งร้องเพลงในโบสถ์ (โบสถ์ Palace of Fontainebleau ในฝรั่งเศส) มีเสือสองตัวนอนอยู่ข้างๆ (ส่วนพระเอกมิวสิค ที่เปลือยยืนกอดกันเบื้องหลังเป็นธงอเมริกันนั้นคือแฟนหนุ่มของเธอเอง Bradley Soileau)

Lana Del Rey ‘Born To Die’:  อะเดลหลบไป! ตอนนี้ใครๆ ก็พูดถึงแต่ลาน่า เดล เรย์ Lana Del Rey ‘Born To Die’:  อะเดลหลบไป! ตอนนี้ใครๆ ก็พูดถึงแต่ลาน่า เดล เรย์

เพียงเท่านี้ชื่อของลาน่า เดล เรย์ ก็กลายเป็นชื่อติดหู ที่ทุกคนอยากทำความรู้จัก และเกิดกระแส Love/Hate ขึ้นมาทันที พวกที่เกลียดก็บอกว่าเธอสวยศัลยกรรมชัดๆ ทั้งปาก จมูก ทั้งหน้าตา ผม ทุกอย่างดูเฟคไปหมด เสียงแม้มีเอกลักษณ์จริง แต่ก็ไม่ได้ดีเด่อะไรมากมาย ส่วนพวกที่ชอบก็จะบอกว่าแนวดนตรีของเธอแปลกเปรี้ยว มีเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ และมีการนำเสนอที่แตกต่าง ทั้งเนื้อเพลงและมิวสิควิดีโอ (กำกับฯ โดย Yoann Lemoine ที่มีผลงานก่อนหน้านี้คือ มิวสิค วิดีโอเพลง Teenage Dream ของเคที่ เพอร์รี่) ที่ดูเป็นงานศิลปะมากๆ เธอคือศิลปินที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองตัวจริง!

ไม่ว่ายังไงก็แล้วแต่ ตอนนี้เธอก็ดังเป็นพลุแตกไปแล้ว ไม่ใช่แค่ในเรื่องผลงานเพลงเท่านั้น แต่ความสวยแบบเรโทร ฮอลลีวู้ดคลาสสิกของเธอยังไปเตะตาฝั่งแฟชั่นอีกด้วย เพราะตอนนี้เธอกำลังตระเวณขึ้นปกนิตยสารเป็นว่าเล่น ไม่ว่าจะเป็น i-D, V, Billboard, Q และ Interview ฉบับประเทศรัสเซีย ฯลฯ รวมๆ แล้วก็เกือบ 10 ฉบับแล้ว

และคาดว่าคงไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้...โปรดติดตามตอนต่อไป

Lana Del Rey ‘Born To Die’:  อะเดลหลบไป! ตอนนี้ใครๆ ก็พูดถึงแต่ลาน่า เดล เรย์ Lana Del Rey ‘Born To Die’:  อะเดลหลบไป! ตอนนี้ใครๆ ก็พูดถึงแต่ลาน่า เดล เรย์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิกิพีเดียปฏิบัติการ "จอดับ" แล้ว

Posted: 17 Jan 2012 10:02 PM PST

เมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา ตามเวลาประเทศไทย http://en.wikipedia.org/wiki/Main_Page วิกิพีเดีย เว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์ ภาคภาษาอังกฤษ เริ่มปฏิบัติการจอดับ เพื่อส่งสัญญาณประท้วงร่างกฎหมาย SOPA และ PIPA ของสหรัฐฯ แล้ว

โดยขึ้นข้อความ

"จินตนาการถึงโลกที่ไม่สามารถเข้าถึงความรู้ได้อย่างเสรี

"หลายสิบปีที่ผ่านมา เราใช้เวลาหลายล้านชั่วโมงในการสร้างสารานุกรมที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ขณะนี้ สภาคองเกรสของสหรัฐฯ กำลังพิจารณาร่างกฎหมายที่จะเป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อเสรีภาพและระบบเปิดของอินเทอร์เน็ต เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราได้ทำการดับหน้าจอวิกิพีเดีย เป็นเวลา 24 ชั่วโมง"

 


ภาพจาก http://latimesblogs.latimes.com/entertainmentnewsbuzz/2012/01/wikipedia-craigslist-other-sites-shut-down-in-sopa-blackout.html

ด้าน google.com เว็บเสริชเอนจิ้นก็เข้าร่วมแสดงจุดยืนด้วย โดยเมื่อเข้าเว็บกูเกิล จากสหรัฐฯ มีการคาดดำที่โลโก้ พร้อมขึ้นข้อความ "บอกสภาคองเกรสว่า กรุณาอย่าเซ็นเซอร์เว็บ!" ขณะที่เมื่อเข้าจากประเทศอื่น จะพบข้อความเดียวกัน  พร้อมทำลิงก์ไปที่ https://www.google.com/landing/takeaction/ เพื่อชักชวนให้ประชาชนส่งคำคัดค้านไปยังสภาคองเกรส เพื่อยับยั้งการผ่านร่างกฎหมายทั้งสองฉบับก่อนที่จะสายเกินไป โดยการโหวตจะมีขึ้นในวันที่ 24 ม.ค.นี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น