โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

วรเจตน์ ภาคีรัตน์: หลักการและเหตุผลในการแก้ไข ม.112

Posted: 16 Jan 2012 10:14 AM PST

การอภิปรายทางวิชาการ "ข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112" โดย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาครัตน์ จากคณะนิติราษฎร์ ในเวทีวิชาการ-ศิลปวัฒนธรรม "แก้ไขมาตรา 112" รณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จัดโดย คณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติม ม.112 หรือ "ครก.112" ที่ห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2555

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ทำไมจึงต้องแก้ไขมาตรา 112?

Posted: 16 Jan 2012 09:39 AM PST

เมื่อ 15 ม.ค. 55 - ในเวทีวิชาการ-ศิลปวัฒนธรรม "แก้ไขมาตรา 112" ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือ "ครก.112" นำเทปบันทึกปาฐกถาหัวข้อ "ทำไมจึงต้องแก้ไขมาตรา 112" โดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มาเปิดในงาน โดยมีรายละเอียดดังนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง: เปิดเผยแต่ปกปิด- เรื่องราวของเกย์ในเพลงร่วมสมัย

Posted: 16 Jan 2012 09:18 AM PST

มีหลายคนพูดว่า เพลงสตริง (ใช้คำนี้จะดูโบราณไปไหม?) ในบ้านเรามีเรื่องราววนเวียนอยู่มี่พล็อต ฉันรักเธอ เธอไม่รักฉัน ฉันเสียใจ อกหัก ร้องไห้ อะไรประมาณนั้น เหมือนๆ กับที่มิวสิค วิดีโอเพลงอกหักทั้งหลายชอบเดินตากฝน หรืออาบน้ำฝักบัวทั้งๆ ที่ใส่เสื้อผ้าอยู่ แต่จากปากคำนักแต่งเพลงทั้งหลายก็จะบอกว่า เรื่องราวความรัก การอกหัก แอบรัก ไม่สมหวังในความรักด้วยเหตุนานาประการ มันเป็นเรื่อง ‘ทั่วไป’ ที่คนเราเคยผ่านประสบการณืนั้นมา และสามารถมีอารมณ์ร่วม (กับเพลง) ได้ง่ายที่สุด

แต่เพลงส่วนมากตามท้องตลาดในวัฒนธรรมสมัยนิยมก็มีแต่เรื่องราวความรักแบบ ‘เพศตรงข้าม’ (Heterosexual) เสียเป็นส่วนใหญ่ ในขณที่กลุ่มคนรักเพศเดียวกันนั้นไม่ค่อยจะมีเพลงแทนตัวสำหรับตัวเองอย่างแท้จริง (ถ้าเป็นเพลงที่ช้ำคำพูดแบบ ‘ฉัน’ กับ ‘เธอ’ ก็ยังพอสมาทานเรื่องราวตัวเองเข้าสู่บทเพลงนั้นได้บ้าง แต่ถ้าเพลงใดบ่งบอกเพศอย่างชัดเจน เช่น มีคำว่าผู้ชายในฝัน ผู้หญิงในฝัน ฉันจะปเนผู้ชายของเธอ เธอจะเป็นผู้หญิงของฉัน การสมาทานอารมณ์ของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันในเพลงนั้นๆ ก็คงหายไปหลายเปอร์เซ็นต์) แต่จะว่าไป เรื่องราวของคนที่เป็นคนรักเพศเดียวกันก็มีปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ ในเพลงสมัยนิยม

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2541 เพลง ‘ประเทือง’ ของไท ธนาวุฒิ ถือเป็นเพลงฮิตที่ลูกเด็กเล็กแดง พี่ป้า น้าอา หรือแม้กระทั่งยายตารู้จักกันทั้งประเทศ ด้วยลูกเล่นของการเล่าเรื่องที่แปลกออกไปจากเนื้อหาเพลงร่วมสมัย (ซึ่งก่อนหน้านั้นอาจเคยมีเพลง ‘เกลียดตุ๊ด’ ของวง ซีเปีย ที่โด่งดังและเป็นที่พูดถึงตั้งแต่หน้าปกอัลบั้มไปจนถึงเนื้อหาของเพลง แต่เพลงนั้นก็ยังถือว่าไม่ ‘แมส’ พอ) โดยเพลงนี้มีเนื้อหากล่าวถึงเพื่อนชายสมัยเด็กที่ชื่อ ‘ประเทือง’ ซึ่งต่อมากลายเป็น ‘สาวประเภทสอง’ ที่แปลงเพศมาแล้ว หน้าตาสะสวยจนจำไม่ได้ แต่พอมองดีๆ นั่นคือ ‘ไอ้ประเทือง’ เพื่อนผู้ชายสมัยเด็ก

เรื่องราวของสาวประเภทสองหรือ Transexual นั้น ปรากฏขึ้นในบทเพลงร่วมสมัย ซึ่งอาจจะไม่ใช่ครั้งแรก แต่ในฐานะเพลงป๊อปกระแสหลัก มันก็สื่อถึงเรื่องราวในสังคมที่เกิดขึ้นได้ว่า ในสังคมนั้นมีสาวประเภทสองที่แปลงเพศแล้วมากมาย และสวยงามจนดูไม่ออกว่าเป็นชายมาก่อน แต่เพลงนี้ก็ไม่ได้เล่า ‘เรื่อง’ ของคนรักเพศเดียวกันแต่อย่างใด มีเพียงเรื่องของผู้ชายคนหนึ่ง ที่มีสาวประเภทสองเป็นหัวข้อในการเล่าเรื่องเท่านั้นเอง

จากนั้นก็ดูเหมือนว่าเราจะไม่ค่อยได้ยินเรื่องราวของคนรักเพศเดียวกันในบทเพลงสักเท่าไหร่ ตามมาด้วยเพลง ‘ความลับ’ ของมัม ลาโคนิค ซึ่งเนื้อเพลงถ่ายทอดชีวิตรักในแบบคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งหากมองที่ ‘เพศ’ ของตัวนักร้องผู้ถ่ายทอดเพลงนี้ก็พอบอกได้ และไม่มีอะไรที่ฮือฮามากนัก

ความน่าสนใจอยู่ที่เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเพลง 3 เพลง ปล่อยออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน 2 เพลงนั้นเป็นเพลงสตริง ร้องโดย ‘ผู้ชาย’ (Straight) เนื้อหาของเพลงนั้นกลางๆ ไม่ระบุเพศ แต่ที่ฮือฮาคือมิวสิค วิดีโอนั้น กลับถ่ายทอดเรื่องราวของรักของเกย์ (Gaymen) ส่วนอีกหนึ่งเพลงเป็นเพลงลูกทุ่ง ยังไม่มีมิวสิค วิดีโอ ที่เป็นเรื่องราวออกมาให้ดู แต่เนื้อหานั้นพูดถึง ‘เกย์’ โดยตรง

ประชาไทบันเทิง: เปิดเผยแต่ปกปิด- เรื่องราวของเกย์ในเพลงร่วมสมัย

เพลงแรกชื่อเพลง ‘secret love’ (ความรักความลับ) แค่ชื่อเพลงก็บอกใบ้อะไรบางอย่าง เหมือนเพลง ‘ความลับ’ ของมัม ลาโคนิค และเนื้อเพลงก็มีความหมายไม่ค่อยจะต่างกัน แต่ความน่าสนใจอยู่ที่มิวสิค วิดีโอ ที่เล่าเรื่องราวความรัก 3 รูปแบบ คือหนึ่งสาวสวยกับรักแบบ one night stand, เด็กหนุ่มวัยมัธยมกับสาวสวยวัยมหาวิทยาลัย, และสุดท้ายที่น่าสนใจคือ เกย์หนุ่ม 2 คน ซึ่งมีเรื่องราวอยู่ว่า อีกหนึ่งเกย์หนุ่มนั้นต้องตกลงปลงใจแต่งงานกับ ‘สาว’ อีกคน (ทั้งๆ ที่ทั้งสองมีความสัมพันธ์กัน) ยังความเสียใจและเจ็บช้ำมาให้อีกเกย์หนุ่มอีกคน ที่ถูกคนรักของตัวเองมองเหมือนไม่เคยรู้จักกัน (เวลาอยู่กับผู้หญิงคนนั้น)

เพลงต่อมาคือเพลง ‘นาที’ เพลงช้าสุดซึ้งของหนุ่มหล่อ ว่าน ธนกฤต เนื้อหาของเพลงนั้นไม่ระบุเพศ ว่าด้วยการจากลาอันเจ็บปวดของคนที่ต้องสูญเสียคนรักคนหนึ่งไป แต่ความน่าสนใจอยูที่มิวสิค วิดีโอ ที่เล่าเรื่องชายหนุ่มสองคน ที่เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก โดยหนุ่มคนหนึ่ง (Gaymen) นั้นแอบรักเพื่อนหนุ่มตัวเองอีกคนที่เป็นผู้ชาย (Straight) โดยที่อีกฝ่ายไม่เคยเอะใจ รู้ตัวมาก่อน และก็คงไม่มีวันได้ล่วงรู้ เมื่อเขาต้องเสียชีวิตลง

เพลงสุดท้าย ที่ถึงแม้จะเป็นเพลงลูกทุ่งได้ได้รับความสนใจจากวัฒนธรรมวลชนกระแสหลักไม่แพ้กัน เห็นได้จากการแชร์ในเฟซบุ๊ก ซึ่งก็คือเพลง ‘ผัวข้อยเป็นเมียเขา’ ของสาวเสียงพิณ จินตหรา พูนลาภ (หลายเสียงบอกว่าเพลงนี่แหละ จะเป็นเพลงฮิตแห่งปี) โดยความน่าสนใจของเพลงนี้อยูที่เนื้อเพลงล้วนๆ โดยมีเนื้อหา ราวกับว่ามาจากปากคำของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีสามีเป็น ‘ผู้ชาย’ ดูภายนอกอย่างไรก็ปเนผู้ชายไม่เคยระแวดระวังหรือต้องสงสัยอะไรเลย แต่แล้วสามีผู้ชายของเธอนั้นกับนอกใจแอบไปมี ‘ผัว’ โดยนำเสนอในท่วงทำนองสนุกสนาน

มีคนบอกว่าอะไรที่ดังจริง และดังในระดับทุกหย่อมหญ้ารู้จัก ดูได้จากว่านักร้องลูกทุ่ง หรือเพลงลูกทุ่งทั้งหลายจับมาเล่าไว้ในเพลงของตัวเองหรือยัง เพราะเพลงลูกทุ่งถือเป็นวัฒนธรรมที่กว้างขวาง ลงลึกสู่ประชาชนทุกระดับชั้นมากที่สุด เช่น ก่อนหน้านี้ คำว่า ‘ริงโทน’ อาจสร้างความงงงวยให้แก่ชาวบ้าน ชนชั้นล่าง (ไมได้มีนัยดูถูกดูหมิ่นะคะ) ผู้ห่างไกลเทคโนโลยี แต่เพลงลูกท่งก็สามารถสร้างความเข้าใจให้แก่ชนชั้นล่างได้ ด้วยเพลง มิวสิค วิดีโอที่นำเสนอเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ ริงโทน เสียงเรียกเข้าที่กระหน่ำกันมาเป็นชุดอยู่พักหนึ่ง หากคิดสมอ้างเอาตามนี้ ก็เท่ากับว่าคำว่า ‘เกย์’ นั้นเป็น ‘สิ่ง’ ที่ ‘ฮิต’ มากพอที่จะถูกหยิบยกมาพูดถึงได้ในเพลงลุกทุ่งแล้ว (ซึ่งแต่ก่อนอาจจะรู้จักเพียงคำว่า กะเทย ตุ๊ด สาวประเภทสอง) แม้ในตัวเพลงจะได้ได้มีคำว่า ‘เกย์’ ปรากฏออกมา แต่ด้วยการบรรยายภาพ ‘ผัว’ ที่แอบไปมี ‘ผัว’ ในเพลงนี้ที่กล่าวว่า ‘มีท่าทางแมนๆ สมชายชาตรี มีกล้ามบึกบึน มีหนวดมีเครา เคร่งขรึม’ (ซึ่งแน่ละ...คนในสังคมเมืองอาจจะบอกว่า แบบนี้ก็เรียกว่าตุ๊ดได้!) ซึ่ง Stereotype นี้นั้นแตกต่างจากภาพ ‘กะเทย’ หรือ ‘ตุ๊ด’ หรือ ‘สาวประเภทสอง’ ที่เคยรู้จัก ว่าต้องมีลักษณะเหมือนผู้หญิง ความน่าสนใจตรงนี้คือการเปิดให้เห็นถึงความหลากหลายทางเพศใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่ โดยเพลงลูกทุ่งที่เพลงลูกทุ่งเองก็มี Stereotype ว่าเป็นเพลงสำหรับอีกชนชั้นหนึ่ง ที่อาจตามเรื่องแบบนี้ไม่ค่อยทัน

ความน่าสนใจทั้งหมดจาก 3 เพลงที่เพิ่งได้ยินได้ฟังกันในเวลาไล่เลี่ยกันนี้ คือเรื่องราวที่ส่งผ่านทั้งมิวสิค วิดีโอ (เพลงความลับความรักและเพลงนาที) หรือเนื้อหาในบทเพลง (ผัวข้อเป็นเมียเขา) ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมากๆ ที่นักร้องชาย เลือกนำเสนอบทเพลงของตัวเองผ่านเรื่องราวความรักในแบบเกย์ หรือเพลงลูกทุ่งที่พูดถึงเรื่องเกย์อย่างเปิดเผย เป็นเพลงๆ หนึ่งเลยทีเดียว จนทำให้คิดไปว่าสังคมนี้ ‘เปิดเผย’ (ยอมรับ ?) เรื่องราวของคนรักเพศเดียวกันมากขึ้น ไกลขึ้น ลึกซึ้งขึ้น แต่เมื่อหันหลับมาดูในเนื้อหาในการพูดถึงนั้น (ทั้งเนื้อเพลงและมิวสิค วิดีโอ) กลับเห็นว่า เรื่องราวความรักของคนรักเพศเดียวกันก็ยังเป็นเรื่องราวที่ต้อง ‘ปกปิด’ โดยเฉพาะในเพลง ‘ความรักความลับ’ ที่นอกจากจะต้องปกปิดจากสังคมแล้ว เกย์หนุ่มอีกคนยังต้องปกปิดรสนิยมทางเพศของตัวเองโดยการแต่งงาน หรือมีแฟน (ที่ออกหน้าออกตา) เป็นผู้หญิงอีกด้วย ไม่ต่างกันกับเรื่องราวที่เล่าในบทเพลง ‘ผัวข้อยเป็นเมียเขา’ ของจินตหรา พูนลาภ

หรือเกย์ในสังคมไทยยังเป็นเรื่องที่เปิดเผยแต่ปกปิด...

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รองโฆษก ปชป. เชื่อนิติราษฎร์มีเป้าหมายที่ไกลกว่าแก้ ม.112

Posted: 16 Jan 2012 09:18 AM PST

ชี้บ้านเมืองวิกฤติรอบด้าน การเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์เป็นการซ้ำเติมประเทศ อัดนักวิชาการกลุ่มนี้ทนมีชีวิตอยู่ไม่ได้ที่ถูกกฏหมายห้ามวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ แต่กลับมีชีวิตอย่างปกติเมื่อเห็นผู้นำบางคนเอาสัมปทานไปขายให้ต่างชาติ แทรกแซงองค์กรอิสระ หรือฆ่าหมู่ที่กรือเซะ-ตากใบ วอนอย่าทำร้ายหัวใจคนไทยอีกเลย

เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานวานนี้ (16 ม.ค.) ว่า นายอรรถพร  พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีกลุ่มนิติราษฎร์เปิดตัวคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) เพื่อผลักดันการแก้ไขประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 รวมทั้งการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อแก้ไขกฏหมายดังกล่าวว่า ขอให้สาธาณะชนจับตาเจตนาที่แท้จริงของกลุ่มนิติราษฎร์ ว่าต้องการแก้ไขมาตรา 112 หรือมีเป้าหมายที่ไกลไปกว่านั้น

นายอรรถพรกล่าวว่า การรณรงค์ของกลุ่มนิติราษฎร์อาจมองได้ว่าเป็นเสรีภาพในเชิงวิชาการหรือการเคลื่อนในมุมของสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ในภาวะที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยวิกฤติการรอบด้าน เช่น ปัญหาความขัดแย้งจากกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเยียวยาคนเสื้อแดง ความตกต่ำทางเศรษฐกิจจากมหาอุทกภัย และราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำลงทุกชนิด ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ประเทศไทย ก้าวสู่วิกฤติการที่รุนแรงอย่างยิ่งในปี 2555 การเร่งรีบเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ก็จะยิ่งทำให้สังคมเกิดความขัดแย้งร้าวลึกมากยิ่งขึ้นและอาจรุนแรงกว่าทุกประเด็นความขัดแย้งในขณะนี้ ซึ่งเป็นการซ้ำเติมประเทศไทย สาธารณชนจึงควรตั้งคำถามว่าเป้าหมายของกลุ่มนิติราษฎรที่แท้จริงคืออะไร

“กลุ่มนิติราษฎร์ก็รู้ว่าการแก้ไขมาตรา 112 เป็นเรื่องยากที่จะทำสำเร็จเพราะสังคมไทยยอมรับไม่ได้และ พวกเขาก็รู้ต่อไปด้วยว่า การผลักดันในเรื่องนี้ต่อไปก็จะยิ่งทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และความขัด แย้งในสังคมทุกระดับลุกลามบานปลายออกไปจึงอาจกลายเป็นภาวะความรุนแรง แต่กลุ่มนิติราษฎร์ก็ยังเดินหน้าต่อไปไม่ยอมหยุด ผมจึงมองเจตนาของคนกลุ่มนี้ได้เพียงประการเดียว คือต้องการให้สถาบันหลักของบ้านเมืองเกิดความสั่นคลอน และเมื่อประสานแผนกับคนกลุ่มอื่นๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกันสถานการณ์ก็อาจนำไป สู่วิกฤติการณ์รุนแรงถึงขั้นเปลี่ยนแปลงระบบของประเทศ และนั่นผมเชื่อว่าคือเป้าหมายที่แท้จริง” นายอรรถพรกล่าว

รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อไปว่าในขณะที่คนกลุ่มนี้ทนมีชีวิตอยู่ไม่ได้ที่ถูกกฏหมายห้ามมิให้วิพากษ์วิจารณ์ ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายสถาบันเบื้องสูง แต่กลับมีชีวิตอย่างปกติเมื่อเห็นผู้นำบางคน เอาสัมปทานของชาติไปขายให้ต่างชาติ แทรกแซงองค์กรอิสระ หรือฆ่าหมู่ที่กรือเซะ-ตากใบ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์บางคนยังเข้าร่วมเคลื่อนไหวและมีผลประโยชน์ร่วมในขบวนการของผู้นำคนนั้นอย่างไม่รู้สึกรู้สาอะไร

“ผมจึงขอเรียกร้องให้อาจารย์เหล่านี้ พอเถอะครับ อย่าทำร้ายหัวใจของคนไทยและประเทศไทยมากไปกว่านี้เลย” นายอรรถพรกล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยพลัดถิ่นล้ม ม.7/1 สำเร็จ วุฒิสภาถอนร่างพ.ร.บ.สัญชาติ

Posted: 16 Jan 2012 08:20 AM PST

เครือข่ายไทยพลัดถิ่นจากหลายจังหวัด เดินทางไปชุมนุมกันที่หน้ารัฐสภา เรียกร้องให้วุฒิสภาถอดมาตรา 7/1 ออกจากร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่..) ได้สำเร็จ

 

 

เมื่อเวลาประมาณ 05.30 น. วันที่ 16 มกราคม 2555 เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นจากจังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ตราด แม่ฮ่องสอน พร้อมภาคีเครือข่ายประมาณ 130 คน เดินทางไปรวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

ต่อมา เวลา 07.00 น. ทั้งหมดได้เคลื่อนขบวนไปยังรัฐสภา รวมตัวกันที่บริเวณหน้าสวนสัตว์ดุสิต เพื่อเรียกร้องไม่ให้วุฒิสภา รับร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่มีการแปรญัตติเพิ่มเติมมาตรา 7/1 จากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. วุฒิสภา ที่จะนำเข้าที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาวาระที่ 2

เวลาประมาณ 10.15 น. ตัวแทนเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นประมาณ 30 คน ได้เข้าพบนายมงคล ศรีกำแหง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. และคณะประมาณ 10 คน เพื่อชี้แจงและอธิบายผลว่า ถ้าหากร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. ที่มีการเพิ่มเติมมาตรา 7/1 ประกาศใช้บังคับ จะทำให้คนไทยพลัดถิ่นถึง 80% ไม่มีสิทธิได้สัญชาติไทยตลอดไป แต่นายมงคลไม่เข้าใจคำอธิบายของตัวแทนเครือข่ายไทยพลัดถิ่น จากนั้นได้ขอตัวเข้าห้องประชุมวุฒิสภา

ต่อมาเวลาประมาณ 11.30 น. ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ.... ในวาระ 2 โดยมีนางพรทิพย์ โล่ห์วีระ จันทร์รัตนปรีดา รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธาน ในวาระ 2 บรรยากาศเป็นไปอย่างเคร่งเครียด เมื่อสมาชิกวุฒิสภาต่างลุกขึ้นอภิปรายคัดค้านนิยามคนไทยพลัดถิ่น ในมาตรา 3 และไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในมาตรา 7/1

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่า มาตรา 7/1 ของร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. .... ทำให้คนไทยพลัดถิ่น 80% หมดสิทธิได้สัญชาติไทย ทั้งๆ ที่ได้ต่อสู้เพื่อให้ได้สัญชาติไทยมาหลายปี ขณะที่มาตรา 3 นิยาม “คนไทยพลัดถิ่น” ก็มีความคลุมเครือ อาจหมายความรวมไปถึงคนต่างด้าวด้วยก็ได้

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาประเภทสรรหา อภิปรายว่า นิยามในมาตรา 3 ยังถือว่าไม่มีความชัดเจน และอาจจะทำให้เกิดความสับสนได้ในอนาคต ตนขอเสนอญัตติให้กรรมาธิการวิสามัญฯ ถอนร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ.... ออกไปพิจารณาใหม่

เวลา 15.15 น. นายมงคล จึงขอให้ประธานในที่ประชุมสั่งพักการประชุมประมาณ 20 นาที เพื่อให้กรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาในเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. .... อีกครั้ง

กระทั่ง เวลา 15.35 น. จึงมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. ... ต่อ โดยนายมงคล กล่าวต่อที่ประชุมว่า หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. มีมติตัดมาตรา 7/1 ออก และเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้มาขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้น ในมาตรา 3 ให้นำข้อความ “คณะรัฐมนตรีกำหนดก่อนวันที่พระราชบัญญัติสัญชาติจะมีผลบังคับใช้” Žมาต่อท้าย

นายคำนูณ กล่าวว่า แม้จะมีการยกเลิกมาตรา 7/1 และแก้ไขนิยามคนไทยพลัดถิ่นในมาตรา 3 แต่เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับ หลังจากที่รับฟังความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาแล้ว ถ้าเห็นว่าควรปรับปรุง กรรมาธิการฯ ควรถอนและนำกลับไปพิจารณาใหม่ ค่อยนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภามีเวลาในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ...อีกครั้ง

จากนั้น เวลาประมาณ 16.40 น. ที่ประชุมได้ลงมติให้ถอนร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. ….หรือไม่ ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติให้ถอน 50 เสียง ไม่เห็นด้วย 41 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง ท่ามกลางเสียงเฮของคนไทยพลัดถิ่นและภาคีเครือข่ายที่รอฟังผลอยู่ที่หน้ารัฐสภา ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับ ในเวลา 17.30 น.

นายภควิน แสงคง ที่ปรึกษาเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยจังหวัดระนองและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ต่อนี้ไปเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นต้องติดตามการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. …อย่างใกล้ชิด ถ้ามีโอกาสจะมีการจัดวงคุยเสวนาร่วมระหว่างชาวบ้านกับคณะกรรมาธิการฯ เพื่อให้คณะกรรมาธิการฯ รับรู้ปัญหาของคนไทยพลัดถิ่นมากขึ้น

“ผมและเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นโล่งใจเป็นอย่างมาก ที่วุฒิสภามีมติให้ถอนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. ออกไปก่อน รวมทั้งกรรมาธิการฯ ก็มีมติให้ตัดมาตรา 7/1 ทิ้ง ส่วนมาตรา 3 นิยามของคนไทยพลัดถิ่นนั้น ผมและเครือข่ายฯ ไม่สนใจเท่าไหร่” นายภควิน กล่าว

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พม่า: การปล่อยนักโทษการเมืองเป็น 'ก้าวย่างสำคัญ' แต่ประตูต้องเปิด 'กว้างกว่านั้น'

Posted: 16 Jan 2012 08:08 AM PST

การปล่อยตัวนักโทษการเมืองอย่างน้อย 130 คนในพม่าในวันนี้ รวมทั้งฝ่ายค้านที่มีชื่อเสียงอย่างเช่น  เตเกว (Htay Kywe) ขุนตุนอู (U Khun Htun Oo) มินโกนาย (Min Ko Naing) และพระคัมภีระ (U Gambira) นับเป็นก้าวย่างสำคัญ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

ถือเป็นการอภัยโทษครั้งที่สองในรอบปีนี้ และเป็นครั้งที่สี่สำหรับรัฐบาลพม่าภายหลังการเลือกตั้ง ทำให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองแล้วอย่างน้อย 477 คน

แต่ยังคงมีนักโทษการเมืองอีกกว่าพันคนที่ยังถูกจองจำ หลายคนเป็นนักโทษทางความคิด รัฐบาลจึงต้องดำเนินการให้อภัยโทษต่อไปเพื่อให้นักโทษการเมืองทุกคนได้รับการปล่อยตัว ทั้งนี้ตามความเห็นของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

“การปล่อยนักโทษการเมืองเป็นก้าวย่างสำคัญ แต่ประตูต้องเปิดกว้างกว่านั้นเพื่อให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางความคิดที่เหลืออยู่ทุกคน” เบนจามิน ซาวัคกี้ (Benjamin Zawacki) นักวิจัยด้านพม่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล กล่าว “ทางการต้องทำงานนี้ให้ลุล่วงไปทันที และไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีก”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงข้อกังวลต่อรายงานว่า ทางการกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวนักโทษบางคน ทั้งยังเรียกร้องให้ทางการอนุญาตให้นักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวสามารถเข้าสู่การเมืองได้อีกครั้ง และสามารถใช้สิทธิของตนอย่างเต็มที่ รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมโดยสงบ

“การเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งเป็นเหตุให้ฝ่ายค้านเหล่านี้ต้องติดคุก ก็เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่จังหวะการเปลี่ยนแปลง และเป็นผลให้มีการปล่อยตัวพวกเขาในวันนี้” เบนจามิน ซาวัคกี้ (Benjamin Zawacki) กล่าว “ทางการจะต้องไม่หวนกลับไปใช้วิธีปราบปรามอีก แต่ต้องเดินหน้าต่อไป”

มีข้อถกเถียงกันว่าในพม่ามีจำนวนนักโทษการเมืองอยู่เท่าไรกันแน่ ตัวเลขของรัฐบาลกับตัวเลขของฝ่ายค้านบางกลุ่มแตกต่างกันค่อนข้างมาก

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้กระตุ้นให้ทางการพม่าขอความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติเพื่อจัดการอภิปรายโดยให้มีตัวแทนของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy - NLD) เข้าร่วม ทั้งนี้เพื่อสังคายนาตัวเลขและนิยามที่เกี่ยวข้องให้ตรงกัน

ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2554 มีรายงานข่าวว่าประธานาธิบดีเต็งเส่งระบุว่า “เขา “ไม่เห็นด้วย” กับนิยามบางประการเกี่ยวกับการเป็นนักโทษการเมือง”

“ในขณะที่มีรายงานข่าวว่า โกโกเล็ง (Ko Ko Hlaing) ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการเมืองของเขาได้กล่าวเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ว่า ยังคงมีนักโทษทางความคิดเหลืออยู่ในพม่า “ประมาณ 600 คน” ซึ่งอาจจะตรงกับจำนวนนักโทษ 651 คนที่ทางการประกาศว่าได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ เขายังกล่าวด้วยว่าความแตกต่างของตัวเลขอาจ “ขึ้นอยู่กับวิธีนิยามความหมายนักโทษทางความคิดกับนักโทษทั่วไป”

“รัฐบาลพม่าในระดับสูงสุดควรยอมรับว่ามีการคุมขังด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเพื่อประกันว่าจะไม่มีการคุมขังบุคคลด้วยข้อหาที่ไม่เป็นธรรมอีกในอนาคต และมีสาเหตุมาจากการตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับนิยามความหมาย” เบนจามิน ซาวัคกี้ (Benjamin Zawacki) กล่าว

“’คุณภาพ’ ของการปล่อยตัวครั้งนี้ถือว่าสูงมาก แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญกว่าคือปริมาณ แม้เรายินดีกับการปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนสำคัญ แต่เรากระตุ้นให้ทางการปล่อยตัวนักโทษทางความคิดที่เหลือโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข”

ความเป็นมา
เตเกวและพระคัมภีระเป็นผู้นำ “การปฏิวัติชายจีวร” ซึ่งเป็นการประท้วงเมื่อเดือนกันยายน 2550 ขุนตุนอูเป็นประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยในรัฐฉาน (Shan National League for Democracy) ส่วนมินโกนายเป็นผู้นำกลุ่มนักศึกษาปี 88 (88 Generation Student group)

ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2554 รัฐบาลพม่าได้ลดโทษหนึ่งปีสำหรับนักโทษทุกคนในประเทศ และมีการเปลี่ยนโทษประหารให้เป็นจำคุกตลอดชีวิต ส่งผลให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองอย่างน้อย 72 คนซึ่งได้รับโทษจนเกือบจะครบกำหนด

ในวันที่ 12 ตุลาคม 2554 รัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมือง 241 คนเป็นการอภัยโทษร่วมกับนักโทษทั้งหมด 6,359 คน ในวันที่ 2 มกราคม 2555 มีการลดโทษจำคุกเป็นเวลาแตกต่างกันขึ้นอยู่กับระยะเวลาของโทษคุมขัง และยกเว้นไม่รวมกรณีจำคุกตลอดชีวิต ทั้งยังมีการเปลี่ยนโทษประหารให้เป็นจำคุกตลอดชีวิตทั้งหมด ในครั้งนี้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองอย่างน้อย 34 คน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จัดให้มีการรณรงค์โดยจดหมายระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม – พฤศจิกายน 2554 เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางความคิดทุกคนในพม่า มีผู้ลงนามในจดหมายกว่า 30,750 จาก 77 ประเทศทั่วโลก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กับ ม.112 ของ “สยาม” vs “ไทย” ถอยหลัง หรือเดินหน้าเข้าคลอง

Posted: 16 Jan 2012 08:01 AM PST

ปัจจุบันนี้ ถ้ากล่าวตามกฎหมายลายลักษณ์อักษรแล้ว ราชอาณาจักรไทยไม่มี “กฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” แต่อย่างใด ทั้งนี้ เพราะมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา (ปัจจุบัน) กำหนดไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปี ถึงสิบห้าปี”

ดังนั้น “ราชอาณาจักรไทย” จึงมีแต่ “กฎหมายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย”

ส่วนที่เรียกกันว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” (สมัยโบราณ) นั้น

ก็มีแต่เพียงในสมัย “ระบอบราชาธิปไตย” หรือ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์”

และได้ยกเลิกไปเมื่อเกิด “การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475” ให้เป็น “ระบอบประชาธิปไตย” (สมัยใหม่)

สรุป ดังนั้น แต่เดิม “ราชอาณาจักรสยาม” (สมัยโบราณ) จึงเคยมี “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ” ที่มีโทษจำคุกระหว่าง 3 ถึง 7 ปี

ส่วน “ราชอาณาจักรไทย” (สมัยใหม่) ต่อมา มี “กฎหมายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” ขึ้นมาแทน และก็มีโทษจำคุกสูงกว่า คือ ระหว่าง 3 ถึง 15 ปี (นับได้ว่าสูงสุดในมาตรฐานสากล และนานาอารยประเทศโลก และ “ราชอาณาจักรไทย” สมัยใหม่ของเรา ก็มีคดีขึ้นโรงศาล มากที่สุดเป็นประวัติการในระดับมาตรฐานสากล ของนานาอารยประเทศ เช่นกัน)

หมายเหตุ
หนึ่ง) หนังสือเล่มใหม่สุด King Bhumibol Adulyadej: A Life's Work, หนา 383 หน้า ราคา 1, 235 บาท 40 US$ พิมพ์ 10,000 เล่ม มี ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานที่ปรึกษา มีนักเขียนดัง 9 ท่าน เช่น คริส เบเกอร์ พอพันธุ์ อุยยานนท์ เดวิด สเตร็กฟุส ฯลฯ สอง) ในบทว่าด้วย กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หน้า 303-313 The Law of Lese Majeste มีข้อความ ถอดเป็นภาษาไทย (ไม่เป็นทางการ) ดังนี้ (ดูภาษาอังกฤษ ด้านล่างสุด)

สาม) จากปี 2536/1993 ถึงปี 2547/2004 โดยเฉลี่ยแล้ว จำนวนคดีหมิ่นฯ ใหม่ๆ ลดลงครึ่งหนึ่ง ไม่มีคดีหมิ่นฯ เลยในปี 2545/2002.......

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ จำนวนคดีหมิ่นฯ ที่ผ่านเข้ามาในระบบศาลของไทยนั้น เพิ่มขึ้นอย่างน่าสังเกต ในปี 2552/2009 มีคดีฟ้องร้องที่ส่งไปยังศาลชั้นต้น สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 165 คดี ขณะนี้ ประเทศไทย มีกฎหมายหมิ่นฯ ที่มีโทษรุนแรงที่สุดในรอบหนึ่งร้อยปี เทียบได้ก็แต่ระบบกฏหมายของญี่ปุ่นในยามสงคราม (โลก) เท่านั้น

โทษขั้นต่ำสุด (ของไทย) เท่ากับโทษสูงสุดของจอร์แดน และเป็นสามเท่าของโทษในประเทศระบอบกษัตริย์โดยรัฐธรรมนูญในยุโรป....

สี่) ข้อความภาษาอังกฤษ จากต้นฉบับ

From 1993 to 2004 the average number of new cases of lese majeste dropped by half, with no cases at all in 2002. In recent years, however, the number of lese majeste cases passing through the Thai judicial system has increased markedly. And all-time high of 165 charge of lese majeste were sent to the Court of First Instance in 2009.

Thailand currently has the most severe lese majeste law seen anywhere in more than a century, comparable only to Japanese wartime legislation.

The minimum sentense equals the maximum sentense in Jordan, and the maximum sentence is three times that found in most European constitutional monarchies.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตัวแทนกองทัพรัฐฉาน SSA พบพม่าหารือแผนสันติภาพอีกรอบ

Posted: 16 Jan 2012 07:52 AM PST

คณะตัวแทนกองทัพรัฐฉาน (SSA) เดินทางไปเจรจาตัวแทนรัฐบาลพม่าอีกครั้งตามแผนสร้างสันติภาพขั้นที่สองเกี่ยวกับด้านการพัฒนา ขณะที่มีรายงานหลังลงนามหยุดยิงทหารสองฝ่ายยังคงปะทะกัน

มีรายงานว่า คณะตัวแทนเจรจาสันติภาพของสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) กองทัพรัฐฉาน (SSA) 10 คน เดินทางจากชายแดนไทยไปยังเมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน เมื่อวานนี้ 15 ม.ค. เพื่อพบเจรจากับตัวแทนรัฐบาลพม่าตามที่สองฝ่ายได้นัดกันไว้ก่อนหน้า โดยการเจรจาสองฝ่ายมีกำหนดในวันนี้ (16 ม.ค.) แกนนำคณะเจรจาฝ่าย (RCSS/SSA) มีพลจัตวาจายลู พ.อ.จายละ และพ.ท.ป๋องเครือ โดยจะพบหารือกับคณะเจรจาฝ่ายรัฐบาลพม่าซึ่งมีนายอูอ่องมิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการรถไฟ เป็นแกนนำ

พ.อ.จายละ คณะเจรจาสันติภาพจาก (RCSS/SSA) เปิดเผยว่า การเจรจาครั้งนี้เป็นการหารือรายละเอียดแผนสันติภาพขั้นที่ 2 คือเกี่ยวกับด้านการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งทางฝ่ายสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) กองทัพรัฐฉาน (SSA) เตรียมเสนอขอเขตพื้นที่ครอบครอง รวมถึงการตั้งสำนักงานประสานงานใน 5 เมืองของรัฐฉาน และสิทธิด้านการพัฒนา

"พื้นที่ครอบครองที่ (RCSS/SSA) จะเสนอขอเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวเดิมของกองทัพเมืองไตย (MTA) อดีตกลุ่มขุนส่า อยู่ติดชายแดนไทยตั้งแต่ปางใหม่สูง เมืองต้อ เมืองทา (ตรงข้ามอ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่) หัวเมือง เมืองใหม่ ลงไปจนถึงชายแดนติดกับรัฐคะยาห์ (ตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน) แต่ไม่ทราบว่ารัฐบาลพม่าจะรับข้อเสนอนี้หรือไม่" พ.อ.จายละ กล่าว

สภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) กองทัพรัฐฉาน (SSA) ภายใต้การนำพล.ท.ยอดศึก ได้เจรจาสันติภาพกับรัฐบาลพม่าที่มีนายเต็งเส่ง เป็นประธานาธิบดี ครั้งแรกเมื่อ 19 พ.ย. 54 จากนั้นในวันที่ 2 ธ.ค. 54 สองฝ่ายได้ลงนามหยุดยิงอย่างเป็นทางที่เมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน และนับจากนั้นสองฝ่ายได้ส่งตัวแทนพบหารือรายละเอียดแผนสันติภาพหลายครั้ง โดยแผนสันติภาพที่รัฐบาลพม่ากำหนดไว้มี 3 ขั้นตอน คือ 1. เจรจาหยุดยิง 2. ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ และ 3.เจรจาทางการเมือง ขณะนี้ (RCSS/SSA) กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาขั้นที่ 2

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลพม่าและกองทัพรัฐฉาน (SSA) จะลงนามหยุดยิงระหว่างกัน แต่ยังคงเกิดการปะทะของทหารทั้งสองฝ่าย มีรายงานเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา ทหารทั้งสองฝ่ายได้เกิดการปะทะกันบริเวณพื้นที่เมืองปู อำเภอเมืองเป็ง รัฐฉานภาคตะวันออก การปะทะเกิดจากทหาร (SSA) นายหนึ่งซึ่งเข้าไปซื้อเสบียงในเมืองปู ถูกทหารพม่าจับกุมและถูกบังคับให้บอกที่ตั้งฐานจนนำไปสู่การปะทะกัน แต่ไม่มีรายงานการสูญเสียของทหารทั้งสองฝ่าย

หลังเกิดเหตุกองทัพรัฐฉาน (SSA) ได้ติดต่อรัฐบาลพม่าขอให้ชี้แจงสาเหตุที่เกิดขึ้น ซึ่งทหารพม่าในพื้นที่รายงานอ้างว่าเป็นการเข้าใจและการปะทะเกิดจากการลาดตระเวนพบเจอกัน ขณะที่กองทัพรัฐฉาน (SSA) ได้ร้องขอให้กองทัพพม่าปฏิบัติตามข้อสัญญาหยุดยิงสองฝ่ายอย่างเคร่งครัด โดยระบุ หากทหารพม่ายังมีการโจมตี (SSA) การหยุดยิงสองฝ่ายจะไม่เกิดผล พร้อมกันนั้น (SSA) ได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวทหารจับกุมไป ซึ่งล่าสุดมีรายงานว่า ทหาร (SSA) ที่ถูกทหารพม่าจับตัวไปได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สงครามกลางเมือง ภูเขา คนหนุ่ม: สงครามเกิดเพราะมันมีโอกาส

Posted: 16 Jan 2012 07:46 AM PST

 

การก่อกบฏ (rebellion) และสงครามกลางเมือง (civil war) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั่วโลก แต่มักได้รับความสนใจศึกษาอย่างจำกัด คือเป็นงานที่มีลักษณะเชิงคุณภาพ, งานระดับจุลภาค และผู้ที่ศึกษามักอยู่ในสาขารัฐศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ กระทั่งเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมาจึงเริ่มมีการบุกเบิกศึกษาด้วยวิธีการเชิงปริมาณโดยนักรัฐศาสตร์ปริมาณและนักเศรษฐศาสตร์ นักคิดที่มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการพัฒนาแนวคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับสงครามกลางเมือง  (economic theory of civil war) ได้แก่ Paul Collier และ Anke Hoeffler ซึ่งเขียนงานเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1998

พัฒนาการทางทฤษฎีในระยะเริ่มต้นนั้นมักมองว่า การเกิดสงครามกลางเมืองเป็นเรื่องของความคับข้องใจทางประวัติศาสตร์ (historical grievance) อาทิ การถูกกดขี่ทางชาติพันธุ์วรรณนา เป็นต้น ทว่าเมื่อนักเศรษฐศาสตร์ได้เข้ามาร่วมพิจารณาและพัฒนาทฤษฎีที่จะอธิบายถึงการก่อตัวของสงครามกลางเมือง ก็ได้เกิดแนวคิดในระยะที่สองได้แก่ แนวคิดเรื่องแรงจูงใจ (motivation) แนวคิดนี้เชื่อว่า การจะเกิดสงครามกลางเมืองได้นั้น จะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ก่อการมากกว่าโทษ แนวคิดนี้แท้ที่จริงแล้วไม่ได้ขัดแย้งกับแนวคิดแรก (เรื่องความคับข้อใจ) แต่กว้างขวางครอบคลุมไปถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น เพื่อการปล้นสะดมและซาดิสม์ (predation and sadism) หรือ ผลประโยชน์ทางการเงิน

ดังนั้น ภายใต้แนวคิดเรื่อง “แรงจูงใจ” การก่อสงครามกลางเมืองอาจเป็นการจัดตั้งแบบแสวงหาผลกำไรหรือไม่แสวงหาผลกำไรก็ได้ ทว่า, ปัญหาสำคัญของการตีความสงครามกลางเมืองว่าเป็นเรื่องของแรงจูงใจนั้นยังมีข้อจำกัดสำคัญบางอย่างอยู่ อาทิ เราอธิบายไม่ได้ว่าทำไม การก่อกบฏ (rebellion) จนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองจึงยังเกิดขึ้น ทั้งๆที่จริงแล้วหลังการต่อสู้อันยาวนานฝ่ายกบฏมีต้นทุนที่สูงมากและมักเป็นฝ่ายพ่ายแพ้โดยส่วนใหญ่ [3] เว้นเสียแต่ว่าฝ่ายกบฏจะได้รับประโยชน์ระหว่างการต่อสู้อันยาวนานเหล่านั้น

ตัวอย่างเช่น กรณีการต่อสู้ของกลุ่มพยัคทมิฬ (Tamil Tigers) ในศรีลังกา ซึ่งใช้งบประมาณในการจัดตั้งต่อสู้กับรัฐราว 200-350 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นับเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 20-34 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทางอีสานของศรีลังกา เทียบกับรายจ่ายของพรรคฝ่ายค้านในอังกฤษแล้วยังมากกว่าหลายเท่าตัว (พรรคฝ่ายค้านอังกฤษใช้จ่ายราว 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การต่อสู้ทางการเมืองในระบบ ใช้ต้นทุนถูกกว่าการต่อสู้ด้วยการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ ทว่าฝ่ายกบฏก็ไม่สนใจที่จะใช้ทางเลือกดังกล่าว

การศึกษาเพื่อยืนยันถึงทฤษฎีแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์กับสงครามมกลางเมือง นำมาสู่การพิสูจน์ความสัมพันธ์ของตัวแปรสำคัญๆ อาทิ มูลค่ารายได้ประชาชาติต่อหัว (Per capita income), อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) และโครงสร้างรายได้ (income structure)

เฉพาะสองปัจจัยแรก, งานศึกษาจำนวนมากยืนยันว่า ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ มีความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามกลางเมืองมากกว่าประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง ผลการศึกษายังชี้อีกว่า หลังสงครามกลางเมืองสงบลงรายได้ต่อหัวมักลดลงมากด้วย ซึ่งจะทำให้โอกาสในการเกิดสงครามกลางเมืองซ้ำซ้อนเกิดขึ้นได้อีก (conflict trap)

ในส่วนของโครงสร้างรายได้ ประเด็นหลักถูกเน้นไปที่เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวคือ ประเทศใดมีทรัพยากรธรรมชาติมากโอกาสที่จะเกิดสงครามกลางเมืองเพื่อแย่งชิงทรัพยากรเหล่านั้นก็มีมาก และเมื่อเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นแล้วทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เหล่านั้นก็จะเป็นแหล่งการเงินที่จะทำให้ฝ่ายกบฏ (ในความหมายของกำลังติดอาวุธที่อยู่ตรงข้ามรัฐ) สามารถต่อสู้ได้ยืดเยื้อยาวนานยิ่งขึ้น เช่น ปล้นน้ำมันจากท่อส่งน้ำมัน ขนเพชรไปขาย เป็นต้น ซึ่งหมายความว่า การกระจายตัวของทรัพยากรธรรมชาติก็ยังมีผลต่อความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นด้วย โดยหากรัฐบาลเป็นผู้ครอบครองทรัพยากร/แหล่งรายได้ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ความขัดแย้งจะรุนแรงน้อยกว่าการที่กลุ่มกบฏมีแหล่งทรัพยากรเป็นของตนเอง

ทั้งนี้ประเด็นทรัพยากร “อาจ” มีความสัมพันธ์กับจำนวนประชากรอย่างมาก เพราะยิ่งประชากรมีน้อยเท่าไหร่การแบ่งสรรทรัพยากรให้เกิดความพึงพอใจต่อทุกฝ่ายยิ่งทำได้ง่าย และจะทำให้สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาสงครามกลางเมืองจากปัจจัยความขัดแย้งทางทรัพยากรไปได้มาก จึงเป็นเหตุให้งานศึกษาจำนวนหนึ่งพบว่า ประเทศใหญ่ๆ อย่างอาฟริกามีโอกาสเกิดสงครามกลางเมืองได้ง่ายกว่าประเทศเล็กๆ อย่างบรูไน แม้ว่าจะมีมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติใกล้เคียงกันก็ตาม (โดยให้ตัวแปรอื่นคงที่ – status quo)

การค้นพบข้างต้นที่ได้กล่าวมานี้ทั้งหมด เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง (อย่างน้อยก็สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ค่อยได้ประสีประสาทางการเมืองอย่างผู้เขียน) ทว่า ล่าสุด Collier Hoeffler and Rohner (2006) ได้เสนอแนวคิดล่าสุดเกี่ยวกับการเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมา คือแนวคิดที่เรียกว่า “feasibility hypothesis” ซึ่งไม่แน่ใจนักว่าจะแปลแนวคิดนี้ออกมาเป็นคำสวยๆ อย่างไรดี จึงขอเรียกง่ายๆ ว่าทฤษฎี “สงครามเกิดเพราะมันมีโอกาส” หมายความว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ต้องพิจารณานอกเหนือไปจากเรื่องแรงจูงใจตามทฤษฎีระยะที่สองแล้ว Collier Hoeffler and Rohner ยังชี้ชวนให้เราพิจารณาด้วยว่า “เงื่อนไข” ของการก่อกบฏและสงครามกลางเมืองมีความพร้อมไหม... ถ้ามี มันจะเกิดขึ้น!

ในการพัฒนาทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยสงครามกลางเมืองระยะที่สามนี้ นักวิจัย ได้นำข้อมูลสงครามกลางเมืองนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 – 2004 มากกว่า 1,000 ครั้งทั่วโลกโดยใช้ข้อมูลของ Correlates of War (COW) project ของ Kristian Gleditsch (2004) มาทำการทดสอบตัวแปรสำคัญ 3 ตัวอันได้แก่ การคุ้มครองทางทหารของฝรั่งเศส (French security umbrella), สัดส่วนของคนหนุ่มในประชากรทั้งหมด และ สัดส่วนทางภูมิศาสตร์ที่เป็นภูเขา

ทั้งสามปัจจัยนี้ถูกมองว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญที่การก่อกบฏจะเกิดขึ้นได้ เพราะการที่มีกองกำลังทหารของประเทศมหาอำนาจ (ในกรณีนี้คือฝรั่งเศส) ช่วยค้ำประกันความมั่นคงของรัฐบาลอยู่ ทำให้โอกาสเกิดสงครามกลางเมืองมีน้อยลง ในขณะที่สิ่งสำคัญของการต่อสู้ยืดเยื้อแบบสงครามกลางเมืองนั้นก็คือ กำลังทหาร (สัดส่วนประชากรที่เป็นคนหนุ่ม ระหว่าง 15-29 ปี) เพราะหากคนหนุ่มมีน้อย การหากำลังรบที่จะต่อสู้กับรัฐบาลก็จะมีไม่เพียงพอ-ไม่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้, ที่หลบภัย (ในที่นี้คือภูเขา) มีส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะกลุ่มกบฏมักไม่ได้ถูกฝึกฝนมาให้รบเต็มรูปแบบ ดังนั้นจึงต้องการที่กำบังตนเองจากการโจมตีทางทหาร และภูเขาก็เป็นที่กำบังธรรมชาติที่ดี ซึ่งยืนยันโดยผลการศึกษาที่ชี้ว่า พื้นที่ซึ่งมีภูเขามากมีความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามกลางเมืองมากกว่าพื้นที่ราบโล่ง

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ยังคงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยสงครามกลางเมือง / ความขัดแย้งเท่านั้น หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่น่าสนใจอย่างยิ่งไม่ใช่เพราะว่ามันมีความสดใหม่ หรือน่าท้าทายทางวิชาการ หากเพราะความเข้าใจประเด็นเรื่องความรุนแรงจากแง่มุมต่างๆ (ไม่จำกัดเฉพาะด้านเศรษฐศาสตร์เท่านั้น) จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงทางสังคม-สงครามกลางเมืองกับคนในชาติเดียวกันได้, ขอบพระคุณอาจารย์ ธานี ชัยวัฒน์ ที่จุดประกายให้ผู้เขียนได้รู้จักกับ Economics of civil war อีกครั้งครับ

 

 

[1] บทความนี้เขียนขึ้นเนื่องในโอกาสวันครู เพื่อคารวะแด่อาจารย์ธานี ชัยวัฒน์ ผู้ทำให้ผู้เขียนได้สัมผัสเศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นครั้งแรก และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เขียนเสมอมา สาเหตุที่เลือกบทความเกี่ยวข้องกับสงครามกลางเมืองก็เพราะ สงครามกลางเมืองในอาฟริกาเป็นหัวข้อ วิจัยระดับปริญญาเอกของอาจารย์ ธานี ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีการคารวะครูใดใดจะดีไปกว่าการเจริญรอยตามครูและแบ่งปันความรู้ที่ครูสอนมาให้แก่บุคคลอื่นต่อไป

[2] งานชิ้นนี้เป็นการสรุปจาก Collier and Hoeffler and Rohner. Beyond Greed and Grievance: Feasibility and Civil War. 2006

[3] หมายเหตุ: Collier and Hoeffler and Rohner (2006) เขียนงานนี้ก่อนเกิดปรากฏการณ์ต่อต้านรัฐบาลในตะวันออกกลาง (Arab Spring)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ถูกรังแกในที่ทำงาน ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บและการตัดสินใจแย่ลง

Posted: 16 Jan 2012 07:12 AM PST

งานวิจัยของสหรัฐฯ เผย การถูกรังแกในที่ทำงานนำไปสู่โรคเครียดและโรคภัยทั้งร่างกายและจิตใจต่างๆ นานา เช่นน้ำหนักตัวเพิ่มและโรคหัวใจ ขณะเดียวกันก็ทำให้มองไม่เห็นทางออกของปัญหา การตัดสินใจแย่ลง บางรายถึงขั้นฆ่าตัวตาย

หากคุณใช้ชีวิตในที่ทำงานโดยต้องคอยหลีกเลี่ยงเจ้านายช่างเหยียดหยาม คอยย่องหลบเพื่อนร่วมงานที่นินทาคุณลับหลัง หรือต้องนั่งกินข้าวเที่ยงคนเดียวเพราะคุณถูกไสส่งจากเหล่า 'เพื่อนร่วมคอก' งานวิจัยชิ้นล่าสุดเปิดเผยว่าคุณไม่ได้เป็นคนเดียวที่โดนแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณพยายามต่อสู้รับมือกับมัน

งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารการจัดการกับความเครียด (International Journal of Stress Management) เปิดเผยว่า ลูกจ้างที่ถูกเจ้านายรังแกมักจะมีวิธีจัดการกับปัญหาในแบบที่ทำให้พวกเขารู้สึกแย่ลงโดยที่พวกเขาไมได้ตั้งใจ ซึ่งนี้ถือเป็นข่าวร้ายเนื่องจากงานวิจัยเผยอีกว่าการถูกรังแกในที่ทำงานมีส่วนเชื่อมโยงกับโรคเครียด และโรคเครียดก็นำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บทั้งทางกายและทางใจอีกมากมาย รวมถึงน้ำหนักตัวเพิ่มและโรคหัวใจด้วย

ในกรณีศึกษาชั้นรุนแรงรายหนึ่ง การถูกรังแกในที่ทำงานทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย เช่นเดียวกับที่การถูกรังแกในโรงเรียนเป็นเหตุให้วัยรุ่นหลายรายคิดสั้น

แกรี่ นามี นักจิตวิทยาสังคมผู้อำนวยการสถาบันป้องกันการถูกรังแกในสถานที่ทำงาน (WBI) ให้นิยามของการรังแก หรือ Bullying ว่า เป็นการกระทำกดขี่ข่มเหงที่ทำให้เกิดผลร้ายต่อสุขภาพตามมามากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเรียกมันแยกมันจาก 'การบริหารอย่างเข้มงวด' หรือการกระทำอื่นๆ ที่อาจจะดูน่ารักน่าชัง ที่คนมักจะใช้เพื่อลดภาพความรุนแรงของมัน

รับมือกับการถูกรังแก
อย่างไรก็ตามนามี ไม่ได้ร่วมวิจัยงานชิ้นล่าสุด ที่มีการสำรวจลูกจ้าง 500 ราย เกี่ยวกับเรื่องวิธีการที่พวกเขาจัดการกับปัญหาที่เกิดจากพวกฝ่ายตรวจสอบจอมข่มเหงรังแก ดานา ยากิล จากมหาวิทยาลัยไฮฟา ประเทศอิสราเอล ผู้เขียนสรุปงานวิจัยเรื่องนี้กล่าวว่า คนที่ข่มเหงรังแกเป็นหัวหน้างานที่ดูหมิ่นเหยียดหยามลูกจ้างของพวกเขา ไม่เคยยอมให้พวกเขาลืมความผิดพลาด มีการผิดสัญญา และทำให้ลูกจ้างเหินห่างจากเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ

ยากิล เปิดเผยว่ามีชาวสหรัฐฯ ร้อยละ 13-14 ที่ทำงานอยู่ภายใต้หัวหน้างานจอมข่มเหง งานวิจัยของเธอที่ทำการศึกษาคนงานชาวอิสราเอลพบว่าลูกจ้างมักจะจัดการกับปัญหานี้ด้วยการหลีกเลี่ยงการพบเจอเจ้านาย พยายามหาความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน และพยายามปลอบใจตนเอง อาจจะฟังดูเป็นความคิดที่ดี แต่สิ่งเหล่านี้กลับจะทำให้พวกเขารู้สึกแย่ลงกว่าเดิม

"เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าทำไมลูกจ้างถึงอยากหลีกเลี่ยงการพบหน้าเจ้านายผู้ข่มเหงให้น้อยที่สุด แต่วิธีการที่พวกเขาใช้นี้กลับยิ่งเป็นการเพิ่มความเครียดแทนที่จะลดความเครียดลง" ยากิลกล่าว "อาจเป็นเพราะว่าวิธีการเหล่านี้มีส่วนมาจากความรู้สึกอ่อนแอ และทำให้ลูกจ้างรู้สึกกลัวเจ้านายอยู่ตลอด"

เรื่องเศร้าของคนฆ่าตัวตายเพราะถูกรังแกในที่ทำงาน
การหลีกเลี่ยงการถูกรังแกในที่ทำงานอาจฟังดูง่ายกว่าการหลีกเลี่ยงการถูกรังแกในโรงเรียน เพราะลูกจ้างสามารถลาออกจากงานได้ แต่นามีก็บอกว่าลูกจ้างจะถูกกักอยู่ภายใต้วงจรความเครียด การสำรวจล่าสุดของ WBI ที่มีการสำรวจลูกจ้างที่ถูกรังแกพบว่า พวกเขาทนถูกรังแกอยู่เป็นเวลาโดยเฉลี่ย 22 เดือน

นามีบอกอีกว่า ความเครียดจากการถูกรังแกก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจแบบผิดๆ ในงานวิจัยเมื่อปี 2009 จากวารสาร Science ค้นพบว่า สมองส่วน dorsomedial striatum ของหนูที่ถูกทำให้เครียดจะหดเล็กลงเมื่อเทียบกับสมองส่วนเดียวกันของหนูที่มีความผ่อนคลาย การค้นพบนี้ทำให้ทราบว่าความเครียดอาจเปลี่ยนระบบการทำงานในสมอง ทำให้ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้แคบลง นามีบอกว่า กรณีนี้นำมาใช้อธิบายกับลูกจ้างที่ถูกรังแกได้เช่นกัน

"นี่คือเหตุผลที่ทำให้คนเราไม่สามารถตัดสินใจดีๆ ได้" นามีกล่าว "พวกเขาไม่สามารถแม้แต่จะมองหาทางเลือกใหม่ๆ เช่นเดียวกับสามีภรรยาที่ทะเลาะตบตีกัน พวกเขาไม่สามารถมองหาทางออกอื่นๆ ให้กับสถานการณ์ได้ในเวลาที่พวกเขาเครียด และซึมเศร้า และถูกทำร้าย"

บางครั้งเรื่องราวเช่นนี้ก็จบด้วยโศกนาฏกรรม นามีเป็นคนที่ทำงานในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายในกรณีการถูกรังแก เขาเล่าว่ามีอยู่คดีหนึ่งที่มีลูกจ้างผู้หญิงต้องทนอยู่กับการตะโกนด่าทอของเจ้านายเธอทุกวันๆ มาเป็นเวลา 1 ปี จนกระทั่งเธอต้องทำงาน 18 ชั่วโมงต่อวัน พยายามช่วยปกป้องลูกจ้างรายอื่นๆ จากความเผด็จการของเจ้านาย เมื่อทนไม่ไหวเธอและเพื่อนร่วมงานก็ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์ยาว 25 หน้าให้กับฝ่ายบริหารงานบุคคล แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจนกระทั่งเธอถูกผู้บริหารระดับสูงเรียกไปพบ เธอรู้ว่าเธอจะถูกไล่ออกเพราะทำหนังสือร้องทุกข์

"แทนที่เธอจะยอมถูกกำจัด เธอก็นำปืนพกเข้ามาในที่ทำงาน เขียนจดหมายลาตาย 3 ฉบับ ก่อนที่จะปลิดชีพตัวเองในที่ทำงาน" นามีเล่า

"สภาพเธอเหมือนหนูติดจั่น" นามีกล่าว "เธอมองไม่เห็นทางออกอื่นเลยในตอนนั้น"

การรังแกกันเกิดจากอะไร
แซนดี้ เฮิร์ชโควิส ศาตราจารย์ด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยมานิโตบา ผู้ศึกษาเรื่องความรุนแรงในที่ทำงานกล่าวว่า แม้ว่ากรณีการรังแกกันในที่ทำงานโดยทั่วไปจะไม่ได้ร้ายแรงมาก แต่ก็ดูจะเป็นปัญหาที่เกิดโดยทั่วไป เฮิร์ชโควิสเปิดเผยว่า ราวร้อยละ 70-80 ของชาวสหรัฐฯ บอกว่าตนถูกปฏิบัติอย่างหยาบคายและไร้อารยธรรมในที่ทำงาน อีกจำนวนหนึ่งที่น้อยกว่านี้ 'ถูกรังแกอย่างเป็นระบบ' แต่ค่าประมาณการที่ดีที่สุดคือตัวเลขสถิติของลูกจ้างสหรัฐฯ ราวร้อยละ 41 ที่บอกว่าตนถูกข่มเหงทางจิตใจในที่ทำงาน

เฮิร์ชโควิสบอกว่าในองค์กรที่มีลำดับขั้นอย่างเช่นกองทัพมักจะมีอัตราการรังแกกันมากกว่า เช่นเดียวกับในองค์กรที่มีบรรยากาศการทำงานแบบแข่งขันสูง

"แน่นอนว่าบริบทขององค์กรมีส่วนในเรื่องนี้" เฮิร์ชโควิสกล่าว

ศจ. ด้านบริหารฯ บอกอีกว่ากุญแจสำคัญอย่างหนึ่งของคนที่ชอบข่มเหงคนอื่นมาจากบุคลิกของพวกเขา มีงานวิจัยบางชิ้นเปิดเผยว่าคนที่ชอบรังแกคนอื่นตั้งแต่เด็ก โตมาเป็นผู้ใหญ่ก็จะยังเป็นอันธพาล คนที่จะตกเป็นเป้าหมายถูกรังแกคือคนที่มีความวิตกกังวลในการเข้าสังคม มองเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ หรือมีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง (narcissism) "พวกเราไม่ได้อยากจะโทษเหยื่อ แต่พวกเรารู้เรื่องนี้มากขึ้นจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคนรังแกกับคนถูกรังแก"

มีงานวิจัยไม่มากนักที่ค้นคว้าหาวิธีจัดการกับเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานจอมอันธพาล ยากิลบอกว่า ในกรณีเบาๆ ที่เจ้านายไม่รู้ตัวว่าการกระทำของตนเกินเลย การเผชิญหน้าโดยตรงอาจจะได้ผล ขณะที่เฮิร์ชโควิสบอกว่า มีโครงการสนับสนุนการมีอัธยาศัยที่ดี มีการเคารพกัน และรักษาคำมั่นสัญญากันในที่ทำงาน (Civility, Respect and Engagement at Work project) โครงการนี้สามารถพัฒนาให้สถานที่ทำงานเป็นสถานที่มีอัธยาศัยดีต่อกัน ลดการเยาะเย้ยถากถาง และเพิ่มความพึงพอใจในการทำงานและสร้างความเชื่อใจกันในหมู่ลูกจ้างได้ โดยในโครงการมีการให้ลูกจ้างมาร่วมหารือกันในประเด็นเรื่องการแสดงออกหยาบคายและไร้อารยะในที่ทำงาน รวมถึงช่วยกันวางแผนพัฒนา

สำหรับคนที่มีประสบการณ์ถูกรังแกในที่ทำงาน เฮิร์ชโควิสแนะนำว่าควรรายงานพฤติกรรมดังกล่าวให้กับผู้ที่อยู่ในระดับสูงกว่า รวมถึงการสำรวจพฤติกรรมตนเองด้วย เพราะบางครั้งตัวเหยื่อเองก็มีส่วนทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบรังแกกันโดยที่เหยื่อก็ไม่ได้ตั้งใจ นามีเตือนว่า เหยื่อควรกระทำการใดๆ อย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ตามไม่มีกฏหมายใดในสหรัฐฯ ที่ระบุถึงการห้ามรังแกกันในที่ทำงานเอาไว้

"ฝ่ายบริหารงานบุคคล (HR) เองก็ไม่มีอำนาจหรือหนทางที่จะทำให้ผู้บริหารระดับสูงหยุดการกระทำได้" นามีกล่าว "พอไม่มีกฏหมายแล้ว พวกเขาก็ไม่มีอาณัติในการสร้างนโยบาย และเมื่อปราศจากอาณัติตรงนี้แล้ว พวกเขาก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้"

ตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมารัฐ 21 รัฐ ในสหรัฐฯ ก็มีการเสนอร่างกฏหมายต่อต้านการรังแกกันในที่ทำงาน แต่ไม่มีร่างกม. ใดเลยที่ผ่านการพิจารณา เว็บไซต์ healthyworkplacebill.org เปิดเผยว่ามีอีก 12 รัฐที่กำลังรอพิจารณากฏหมายนี้

ขณะเดียวกัน เฮิร์ชโควิสและทีมวิจัยก็ค้นพบอีกว่า คนนอกที่รับรู้เหตุการณ์ในสถานที่ทำงานมักจะรู้สึกเห็นใจฝ่ายที่เป็นเหยื่อมากกว่าฝ่ายที่เป็นผู้รังแก

"คนนอกมักจะรู้สึกอยากยื่นมือเข้ามาช่วย หรืออยู่ในตำแหน่งที่สามารถยื่นมือเข้ามาช่วยได้" เฮิร์ชโควิสกล่าว เธอแนะนำอีกว่า วิธีทางที่ดีคือการส่งเสริมให้เพื่อนร่วมงานลุกขึ้นช่วยปกป้องเพื่อนร่วมงานด้วยกัน

 

 

ที่มา
Work Bully Victims Struggle with Dangerous Stress, LiveScience, 12-01-2012
http://www.livescience.com/17872-workplace-bullying-stress.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รัฐกับการเยียวยาชีวิต (État et l'indemnisation de la vie)

Posted: 16 Jan 2012 07:02 AM PST

"เราถือว่าความจริงต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งอยู่ในตัวเอง นั่นคือ มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน และพระผู้สร้างได้มอบสิทธิบางประการที่จะเพิกถอนมิได้ไว้ให้แก่มนุษย์ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้นได้แก่ ชีวิตเสรีภาพและการเสาะแสวงหาความสุข” [2]

จากข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า คุณค่าของมนุษย์ นั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจตีค่าหรือประเมินราคาได้ และนอกจากไม่สามารถประเมินราคาได้แล้ว ยังไม่สามารถที่จะเพิกถอนสิทธิต่างๆ ที่ประกอบขึ้นในความเป็นมนุษย์ได้อีกเช่นกัน

ในรัฐสมัยใหม่ที่ปกครองโดยหลักนิติรัฐและยึดถืออุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้น เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองร่วมกับรัฐซึ่งถือเป็นหลักการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (la démocratie participative ) กล่าวคือ เมื่อมีสถานการณ์ที่ความคิดเห็นของประชาชนไม่พ้องต้องกับรัฐ ประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย และรวมถึงแสดงความต้องการของประชาชนได้ เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น รัฐต้องยอมอดกลั้นต่อความห็นต่างๆ แม้จะไม่พ้องกับการตัดสินใจของรัฐเองก็ตาม

อย่างไรก็ตามเมื่อมีการใช้เสรีภาพในการแสดงออกในการแสดงความคิดเห็นและความต้องการต่างๆ ไม่ว่าจะโดยวิธีการทางการสื่อสาธารณะ หรือการใช้เสรีภาพในการชุมชุมก็ตาม รัฐก็ยังมีอีกหน้าที่หนึ่งควบคู่ไปด้วยกัน คือหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมเมื่อมีการชุมนุมทางการเมือง เพื่อแสดงออกถึงความต้องการแล้ว ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ซึ่งรัฐมีหน้าที่ในการจัดการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยวิธีการที่ได้สัดส่วนและเป็นสากล

ปัญหาที่เกิดขึ้นและต้องพิจารณาอย่างหนักแน่นในขณะนี้ คือเมื่อมีการใช้อำนาจรัฐไปกระทบต่อสิทธิในชีวิตของผู้ชุมนุมนั้นรัฐจะต้องเยียวยาชดใช้หรือไม่

มติของคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่ให้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 โดยให้ทำการเยียวยาให้เเล้วเสร็จภายใน 5 ปี

มติของ ปคอป.นี้ ย่อมมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อันเนื่องมาจากสภาวะที่ความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันอย่างสุดขั้วในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของการเยียวยาให้แก่ผู้ชุมนุมเสื้อแดง และรวมไปถึงมูลค่าหรือราคาของชีวิต ที่รัฐทำการประเมินให้ เช่น ศพละ 7.5ล้านบาท เป็นต้น

จากการสำรวจข้อความคิดเห็นต่างๆ ในสังคมออนไลน์อย่างเช่นเฟซบ๊ค จะเห็นว่า กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยได้ยกมูลค่าหรือราคาของข้าราชการที่เสียชีวิตในหน้าที่โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐเสียชีวิต ได้รับเงินเยียวยา 5.7แสนบาท เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงในประเด็นเกี่ยวกับความคุ้มค่าของราคาชีวิตที่ถูกตีราคาที่แตกต่างกัน แต่หากผู้อ่านที่สนใจจะหาข้อมูลในเรื่องนี้ ผู้เขียนขอแนะนำให้ไปติดตามอ่านได้ในงานของ ภาคภูมิ แสงกนกกุล [3]

เรื่องมูลค่าของชีวิต และอีกเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้ผู้เขียนต้องละในประเด็นนี้ นั่นคือเหตุผลสามัญที่สุด เนื่องจากผู้เขียนมีความรู้ในวิชาเศรษฐศาสจร์เพียงเล็กน้อยจึงไม่สามารถนำมาใช้ในการวิเคาระห์ปรากฎการณ์นี้ได้

กลับมาเข้าเรื่องต่อในความเห็นของผู้ที่ไม่เห็นด้วยนั้นตัวตั้งตัวตีหลักในสังคมออนไลน์คงหนีไม่พ้นหน้าเพจของคุณวรกร จาติกวณิช ที่ได้ตั้งสถานะว่า เคยได้ยินแต่ปล้นแล้วเผา “แต่เผาแล้วปล้นต่อเพิ่งเคยเห็น[4] นี่แหละ” หรือไม่ว่าจะเป็นการทำภาพปกไทม์ไลน์ในสังคมออนไลน์เฟซบุ๊คมาแจกจ่ายแก่บุคลที่นิยมชมชอบ โดยมีข้อความพาดหัวอย่างสวยหรู (ตามความเห็นของคุณวรกร) ที่ว่า “กูจ่ายภาษีเพื่อพัฒนาชาติไม่ใช่เพื่อสนับสนุนโจรเสื้อแดงเผาเมือง” เป็นต้น

ผู้เขียนขอยกกรณีการเยียวยาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เสียชีวิตมาเปรียบเทียบก่อน เช่น ในกรณีของผู้เสียชีวิตที่เป็นข้าราชการฝ่ายกลาโหมนั้น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 มาตรา14/1 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆในการชดเชยเชยไว้แล้ว ส่วนค่าเยียวยาเพิ่มเติมนั้น อาจต้องไปดูในส่วนของระเบียบกระทรวงกลาโหมต่อไป จะเห็นได้ว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ จะมีกฎหมายมารองรับถึงการเยียวยาในเบื้องต้นแล้ว แต่ในส่วนของประชาชนหรือเรียกกันให้สวยหรูว่าพลเมืองนั้น ยังไม่ปรากฎถึงการชดเชยอย่างเป็นรูปธรรม

หลักเกี่ยวกับความรับผิดชอบของฝ่ายปกครอง (responsabilité de l'administration) ในระบบกฎหมายปกครองของฝรั่งเศสนั้น ถือเป็นหน้าที่ที่ผูกพันของฝ่ายปกครองที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อทุกๆ กิจกรรมที่ได้กระทำลงไป ไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะเกิดจากการใช้อำนาจในการออกคำสั่งทางปกครองหรือเกิดจากความผิดพลาดในการจัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งหลักในความรับผิดของฝ่ายปกครองนั้นได้รับการพัฒนาหลักการมาจากคำวินิจฉัยของศาลคดีขัดกัน (Tribunal des conflits) ในคดี Blanco (TC 8 Février 1873)โดยศาลคดีขัดกันได้ตัดสินในคดีดังกล่าวว่า ให้ศาลปกครองเป็นผู้มีอำนาจในการวินิจฉัยการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากการจัดทำบริการสาธารณะซึ่งเป็นมูลเหตุให้ศาลปกครองฝรั่งเศสต้องตัดสินว่า จะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายปกครองทำการเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับการเสียหายหรือไม[5]

เหตุที่ผู้เขียนยกตัวอย่างของประเทศฝรั่งเศสขึ้นมา ไม่ใช่เพราะผู้เขียนกำลังศึกษาในประเทศฝรั่งเศส หรือเป็นฝรั่งเศสนิยม แต่หากเป็นเพราะหลักกฎหมายปกครองของประเทศไทย โดยเฉพาะหลักการว่าด้วยการจัดทำบริการสาธารณะนั้น เราได้ยอมรับหลักการมาจากประเทศฝรั่งเศเป็นหลัก จึงไม่ผิดหากจะยกหลักของฝรั่งเศสมาเป็นตัวอย่าง และที่สำคัญหัวใจของหลักกฎหมายปกครองคือ การ

กระทำทางปกครองที่ผิดพลาดต้องได้รับการเยียวยา นั่นหมายความว่า หากมีกาารใช้อำนาจรัฐไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนไปแล้ว ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาจากรัฐ

ในส่วนของการเยียวยาผู้เสียหายจากการชุมนุมทางการเมืองนั้น ก่อนอื่นผู้เขียนขอแยกออกเป็นสองประเด็นหลัก ได้แก่

1.สิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของประชาชนซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

2. หน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง

ในประเด็นแรก ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่า เสรีภาพในการชุมนุมนั้นเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของรัฐประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิทธิที่เกี่ยวเนื่องกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออก เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ไม่มีรัฐใดสามารถที่จะชักจูงให้ประชาชนในรัฐเห็นพ้องกันไปในทิศทางเดียวกันได้ ความแตกต่างทางความคิดและสามารถแสดงออกและอยู่ร่วมกันได้ในสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิดซึ่งเป็นข้อดีประการหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยที่ต้องอดทนต่อความคิดเห็นที่หลากหลาย และรัฐเองนั้นมีหน้าที่ในการที่จะรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายนั้น ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง เพราะรัฐคงไม่อาจตอบสนองความต้องการแก่ประชาชนทุกคนในรัฐที่มีความหลากหลายได้

แต่อย่างที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้นว่า การชุมนุมเรียกร้องนั้นย่อมที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ปริมณฑลใกล้เคียงการชุมนุมได้ ซึ่งหากความเสียหายเกิดขึ้นจากตัวผู้ชุมนุมผู้ได้รับผลกระทบ ย่อมที่จะสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้จากมูลเหตุละเมิด [6]

ดูตัวอย่างได้จากกรณีการยึดสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการเรียกร้องระหว่างเอกชนและเอกชนด้วยกัน เนื่องจากผู้ชุมนุมไม่ได้ใช้อำนาจรัฐ(ไม่มี) ในการก่อให้เกิดความเสียหาย

ในประเด็นที่สอง หน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ในประเด็นนี้เกี่ยวเนื่องกับประเด็นแรกในส่วนที่ว่า หากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องต่างๆ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ปริมณฑลต่างๆ แล้วนั้น ย่อมเป็นหน้าที่ของฝายปกครองที่จะต้องเข้ามาเพื่อรักษาความสงบเรีบบร้อย แต่ไม่ได้หมายความว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองนั้นจะดำเนินมาตรการใดๆ ก็ได้ในการรักษาความสงบเรียบร้อย และไม่ได้หมายความว่า การเข้ามารักษาความสงบเรียบร้อยนั้นจะต้องเป็นการสลายการชุมนุม การกระชับพื้นที่หรือการขอพื้นที่คืนเสมอไป อาจเป็นเพียงมาตรการเพื่อระงับเหตุแห่งความไม่สงบนั้นชั่วคราวเป็นต้น เป็นที่เข้าใจโดยสากลโลกว่า การใช้อำนาจรัฐเข้าไปจัดการกับการชุมนุมนั้น ย่อมต้องก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น ทั้งกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุม ซึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างความสงบเรียบร้อบของบ้านเมืองและสิทธิที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ นอกจากการปะทะกันของสองหลักการดังกล่าวแล้วนั้น สิ่งที่อาจตามมา คือความสูญเสียทั้งที่สามารถเยียวยาได้ด้วยตัวเงินหรือทรัพย์สินหรือสิทธิประโยชน์อื่น และความเสียหายที่ไม่สามารถเยียวยาได้ไม่ว่าจะในทางใดก็ตาม

เมื่อความเสียหายได้เกิดขึ้น คำถามที่ตามมาเสมอคือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น และรวมถึงควรจะมีการเยียวยาหรือไม่ ในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นที่ชัดเจนว่า มีกฎหมายและระเบียบต่างๆ ในการเยียวยาไว้แล้วและรวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ตกถึงทายาท จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง (ในส่วนของมูลค่า ผู้เขียนขอละไว้เนื่องจากเหตุผลทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่กล่าวไว้ข้างต้น)

แต่ในส่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจรัฐในการจัดการเกี่ยวกับการชุมนุมนั้นไม่มีหลักกณฑ์ใดๆ มารองรับ พูดกันง่ายๆ คือ ความเสียหายของประชาชนที่มาร่วมชุมนุมนั้น ไม่มีราคาหรือมูลค่าใดๆ เมื่อเลือกที่จะเข้ามาชุมนุมแล้วก็ย่อมต้องรับความเสี่ยงเอง ฐานความคิดเช่นนี้เป็นฐานความคิดที่ผิด เพราะหากมองในแง่มุมนี้แล้ว จะพบว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้มาตรการใดๆ ก็ได้ รวมถึงมาตรการที่ไม่จำเป็นในการควบคุมการชุมนุม เช่น อาจใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยแก๊สน้ำตาจากบนฟ้า หรือใช้รถหุ้มเกราะในการสลายการชุมนุม เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความเสียหายโดยไม่จำกัดขอบเขตให้แก่ผู้ชุมนุมด้วยเช่นกัน

หากมองในฐานคิดแบบนี้แล้วย่อมไม่แปลกที่จะมีการสถาปนาอำนาจรัฐตำรวจขึ้นมาเฉพาะการ โดยอ้างเหตุผลของความสงบเรียบร้อยและย่อมส่งผลไปถึงเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนที่จะถูกจำกัดไว้โดยไม่ต้องใช้กฎหมาย หากแต่ใช้ความหวาดกลัวและหวาดระแวงว่า เมื่อออกไปร่วมชุมนุมแล้ว ต้องแบกรับความเสี่ยงภัยเอง ซึ่งอาจจะได้รับตามที่เรียกร้องหรือไม่นั้นก็ยังไม่อาจรับประกันได้ เพราะคงไม่มีใครยอมที่จะเอาชีวิตอันมีค่าของตนเองเพื่อไปเสี่ยงกับจุดหมายที่อาจจจะมองไม่เห็นปลายทาง การเยียวยาต่อผู้เสียหายจึงไม่ใช่การตบรางวัลให้แก่ผู้ชุมนุม แต่เป็นเสมือนกับการชดใช้ความผิดของรัฐที่ได้กระทำลงไปต่อผู้เสียหายซึ่งควรจะได้รับการชดเชย แม้ว่าที่สูญเสียไปอาจจะไม่สามารถเยียวยาได้ด้วยตัวเงินก็ตาม และยังเป็นการบังคับให้รัฐต้องเคารพต่อหลักสากลในการควบคุมไปในตัวอีกด้วยว่า การสั่งการใดๆ นั้นต้องยึดถือหลักแห่งความได้สัดส่วนเป็นหลัก ไม่ใช่การใช้อำนาจตามอำเภอใจจนก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง

ผู้เขียนจึงอยากจะฝากข้อคิดไว้สักนิดว่า ไม่มีใครไม่รักชีวิตของตนเองและชีวิตของแต่ละคนไม่สามารถตีเป็นราคาหรือมูลค่าใดๆได้ ไม่ว่าจะในทางกฎหมายหรือเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นจึงไม่ควรมองเพื่อนมนุษย์ด้วยกันว่า ออกมาชุมนุมเพื่อต้องการเงินชดเชย เพราะนอกจากเป็นการซ้ำเติมผู้เสียหายแล้ว ยังเป็นการลดความเป็นคนในตัวของผู้คิดอีกด้วยเ พราะคิดว่าชีวิตของเพื่อนมนุษย์มีราคาเพียงแค่เจ็ดล้านกว่าบาท



[1] นักศึกษาปริญญาเอก สาขากฎหมายปกครอง มหาวิทยาลัย Paul CEZANNE

[2] คำประกาศอิสระภาพของสหรัฐอเมริกา

[4] http://www.facebook.com/profile.php?id=1046875000  13 มกราคม 2555

[6] มาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลปกครองรับเรื่องฟ้องบอร์ด สปสช.เครือข่ายผู้ป่วยขู่เอาผิดอาญา

Posted: 16 Jan 2012 06:30 AM PST

ศาลปกครองกลางรับเรื่องฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 2395/2554 ให้เพิกถอนการสรรหาและคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้ง 7 คนของบอร์ด สปสช.ที่กรรมการตัวแทนองค์การเอกชนไม่แสวงหากำไรยื่นฟ้องนายวิทยา  บูรณศิริ  รมว.สาธารณสุขว่าทำผิด พรบ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 13 ขณะเดียวกันเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็งขู่จะเอาผิดอาญาถ้าบอร์ดยังเดินหน้ามีมติที่กระทบต่อการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยหรือล้วงลูกการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะการได้มาของบอร์ด สปสช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่ผ่านมา นส.บุญยืน  ศิริธรรม  กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเปิดเผยว่า ตนและนางสุนทรี  เซ่งกิ่ง ได้ยื่นฟ้องให้เพิกถอนมติการสรรหาและคัดเลือก กรรมการการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด สปสช. ทั้ง 7 คน เพราะการสรรหาและคัดเลือกที่ผ่านมามิได้ดำเนินการโดยสุจริต อิสระ โปร่งใส  และผิดกฎหมายเพราะองค์ประกอบของกรรมการที่มีอำนาจในการสรรหาและคัดเลือกไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด  และเมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมาตนได้รับแจ้งจากศาลปกครองกลางว่า   ศาลได้รับเรื่องฟ้องดังกล่าวแล้วตามคดีหมายเลขดำที่ 2395/2554 และตนได้มอบให้นายชำนาญ  พิเชษฐพันธ์  ทนายความจากสำนักงานกฎหมายกิตติพันธ์เป็นผู้แทนในการฟ้องแล้ว  ดังนั้น ต่อจากนี้เป็นต้นไปจนกว่าศาลปกครองกลางจะพิจารณาชี้ขาด การออกมติใดๆ ของคณะกก.หลักประกันสุขภาพที่มี รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน โดยเฉพาะมติที่เกี่ยวกับการปรับนโยบายการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพหรือมติที่เกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ จะทำมิได้

ด้านการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยเมื่อวันที่ 14 มกราคม ที่ผ่านมาที่โรงแรม ทีเค พาเลซ มีการประชุมเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง และนางสายชล ศรทัต ประธานกลุ่มอาสาเพื่อเพื่อมะเร็ง เปิดเผยว่าขณะนี้เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง โรคไต โรคหัวใจและคนพิการกำลังจับตาแผนสี่ขั้นตอนในการล้มระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสปสช.ร่วมกับพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และภาคประชาชน  ได้ริเริ่มสร้างไว้

“ ผู้ป่วยจะไม่ยอมให้นักการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่หวังดีต่อระบบหลักประกันสุขภาพมายึดครองและแสวงหาประโยชน์จากเงินกองทุน  และจะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านทั่วประเทศในเร็วๆ นี้” ประธานกลุ่มอาสาเพื่อเพื่อนมะเร็ง กล่าวและว่าขณะนี้ทางผู้ป่วยมะเร็งได้รวมตัวกันและจัดตั้งกลุ่มเพื่อนมะเร็งรักหลักประกันสุขภาพและจะส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมกับชมรมแพทย์ชนบทในวันที่ 20 มกราคมนี้  และมีมติอย่างไรแล้วทางเครือข่ายผู้ป่วยทุกเครือข่ายจะประชุมกำหนดการเคลื่อนไหวร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 23 มกราคม ก่อนที่จะเคลื่อนไหวไปพบนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ทบทวนการแต่งตั้งกรรมการหลักประกันสุขภาพใหม่ เอาผู้มีความรู้ ความสามารถและมีความตั้งใจที่จะพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมาแทนที่กลุ่มผลประโยชน์และนายทุนพรรคที่ รมว.สาธารณสุข เปิดทางให้เข้ามาตามแผนล้มระบบหลักประกันสุขภาพสี่ขั้นตอน”ประธานกลุ่มอาสาเพื่อเพื่อมะเร็ง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดมติสมัชชาสุขภาพภาคใต้ (1) จี้ตั้งพหุภาคีรื้อแผนพัฒนาภาคใต้

Posted: 16 Jan 2012 06:25 AM PST

มาถึงวันนี้ งาน “สมัชชาสุขภาพภาคใต้” กลายเป็นอีกงานใหญ่ประจำปีของกลุ่มกิจกรรมใน 14 จังหวัดภาคใต้ ที่รวมตัวกันในนาม “”เครือข่ายสุขภาพภาคใต้”

คราวนี้ “เครือข่ายสุขภาพภาคใต้” จัดงาน “สมัชชาสุขภาพภาคใต้” ระหว่างวันที่ 13–15 มกราคม 2555 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ใต้ จังหวัดตรัง

ที่ประชุมที่มีแกนนำเครือข่ายจากจังหวัดต่างๆ เดินทางเข้าร่วมกันอย่างคับคั่งหลายร้อยคน ร่วมกันพิจารณาและลงมติในหลากหลายประเด็น ซึ่ง  “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” จะนำรายละเอียดในแต่ละมติมานำเสนอเรียงเป็นรายประเด็น ดังต่อไปนี้

 0 0 0 

มติการติดตามมติและข้อเสนอเพื่อการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ. ศ. 2552 
กรณี “แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้”

1.ให้คณะรัฐมนตรีสั่งการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ดำเนินการติดตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 ในประเด็น “แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเอง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้” ทุกข้อ

2.ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาทบทวนแผนงานและชะลอโครงการที่อาจสร้างความขัดแย้ง และ/หรือมีผลกระทบต่อสังคมและชุมชนทั้งปัจจุบันและอนาคต โดยการดำเนินงานของคณะกรรมการต้องสอดคล้องกับหลักการต่อไปนี้

             2.1 อยู่บนหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ 12 สิทธิชุมชน หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส่วนที่ 10 แนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น

             2.2 เป็นไปตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 11 บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมินและมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ จากนโยบายสาธารณะบุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐ ก่อนการอนุญาตหรือดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนหรือชุมชน และแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว

             2.3 ให้ใช้หลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment/HIA) และเครื่องมืออื่นๆ ในการประเมินผลกระทบ ตลอดจนกระบวนการรวมพลังทุกภาคส่วน และการดำเนินการตามระบบยุติธรรมเป็นกลไกการชะลอแผนงานและโครงการที่อาจสร้างความขัดแย้ง และ/หรือมีผลกระทบต่อสังคมและชุมชนทั้งปัจจุบันและอนาคต

3.ให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการขับเคลื่อนตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็น “แผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม   กรณีภาคใต้” มติสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยครั้งที่ 1 พ.ศ.2554 มีมติสมัชชาปฏิรูประดับชาติมติ 2 ประเด็น “การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง”   และให้รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีรายงานผลการติดตามมติและข้อเสนอ เพื่อการขับเคลื่อนมตินโยบายแผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเอง ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กรณีภาคใต้

4.ให้ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพภาคใต้ แต่งตั้งคณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง ทำหน้าที่ในการจัดทำแผนแม่บท เพื่อการพัฒนาภาคใต้ที่ยั่งยืน ให้สอดคล้องกับความต้องการของคนภาคใต้ ทบทวนร่างแผนพัฒนาภาคใต้ ที่จัดทำโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเป็นกลไกในการเฝ้าระวังโครงการที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชน และให้นำเสนอแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาภาคใต้ ที่จัดทำขึ้นเสนอที่ประชุมสมัชชาสุขภาพภาคใต้ และระดับชาติ เพื่อเสนอไปยังรัฐบาลให้ดำเนินการต่อไป

             4.1 คณะกรรมการตามข้อ 4 ประกอบด้วย ผู้แทนจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และภาควิชาการ ในสัดส่วนที่เหมาะสม ทั้งนี้ ภาคประชาชนต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

             4.2 ให้สถาบันการจัดการระบบสุขภาพ ร่วมกับโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการในการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 4

5.แผนแม่บทเพื่อการพัฒนาภาคใต้ มีหลักการสำคัญ เพื่อ “ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ร่วมสร้างสุขภาวะที่เป็นสุข” และมีหลักการสำคัญ 5 ข้อ ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 ทั้งนี้จะต้องมีตัวชี้วัดของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับข้อเสนอของสหประชาชาติ ดังต่อไปนี้

             5.1 มีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจสีเขียว ที่มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
              5.2 มีมาตรฐานการครองชีพที่ทุกครอบครัวมีรายได้พึ่งตนเอง และมีสภาพการดำรงชีวิตตามอัตภาพของแต่ละครอบครัวและชุมชนที่เป็นสุข
              5.3 มีธรรมาภิบาลในการปกครองตนเองในระดับตำบล จังหวัด ภาค และระดับประเทศ
              5.4 มีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์
              5.5 มีการเคารพวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ และความแตกต่างในทางเชื้อชาติ และศาสนา
              5.6 มีระบบการศึกษาที่พัฒนาคนให้รู้เท่าทัน คิดเป็น และปฏิบัติการเป็น โดยตระหนักถึงความรู้ของชุมชนและสังคมไทย  พร้อมทั้งพัฒนาความรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาสุขภาวะที่ดีในทุกระดับ
             5.7 มีการใช้เวลาอย่างมีคุณค่าและสมดุลกับการใช้ชีวิตครอบครัวและชุมชน ในสิ่งแวดล้อมที่ดี
             5.8 มีความเข้มแข็งของชุมชนที่พึ่งตนเองได้ โดยรู้คุณค่าและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัด และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
             5.9 มีระบบสาธารณสุขที่พึ่งตนเองได้ จากการดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน และมีระบบของรัฐที่รองรับได้อย่างเพียงพอ

6. ให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานปฏิรูป และภาคีเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนกระบวนการทำแผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนาภาคใต้ที่ยั่งยืน ตามข้อ 4 โดยสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธนารักษ์เตรียมสำรวจรังวัดที่ตั้งศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ 24 ม.ค. นี้

Posted: 16 Jan 2012 02:35 AM PST

16 ม.ค. 55 - ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ (Creative Urban Solutions Center) เปิดเผยว่าสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาเขต 1 ได้ส่งจดหมายถึงมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง (เชียงใหม่) และได้รับหนังสือวันที่ 14 มกราคม 2555 เรื่องการใช้ที่ราชพัสดุและอาคารบ้านพักศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่
 
โดยมีรายละเอียดว่า ด้วยธนารักษณ์พื้นที่เชียงใหม่จะเข้าสำรวจรังวัดตรวจสอบสภาพที่ดินและอาคารที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม.6 ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีอาคารบ้านพักศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่และอาคารประกอบตั้งอยู่ ขณะนี้มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง (เชียงใหม่) ใช้ประโยชน์อยู่ ยังไม่ได้ส่งคืนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 โดยจะเข้าตรวจสอบในวันที่ 24 มกราคม 2555 เวลา 10.00 น.
 
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 1 จึงแจ้งมาเพื่อทราบเพื่อให้เข้าร่วมตรวจสอบสภาพที่ดินและอาคารที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าว ตามวันเวลาดังกล่าว
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดรายชื่อ 112 นักวิชาการ นักเขียน ศิลปินหนุนแก้ ม.112

Posted: 16 Jan 2012 01:54 AM PST

 

ในการเปิดตัวคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา112 (ครก.112) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2555 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงนามสนับสนุนให้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญามาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์ เข้าสู่รัฐสภา ได้มีการเปิดเผยรายชื่อนักวิชาการ 112 คนแรกที่ร่วมลงนามสนับสนุนการรณรงค์ครั้งนี้ 

รายชื่อผู้ร่วมรณรงค์ที่น่าสนใจ อาทิเช่น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, ผาสุก พงษ์ไพจิตร, สุจิตต์ วงษ์เทศ, รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, เกษียร เตชะพีระ, คำสิงห์ ศรีนอก และ ปราบดา หยุ่น   เป็นต้น ซึ่งหลายคนในนี้ เราไม่ค่อยเห็นพวกเขาลงนามในแถลงการณ์กับกลุ่มใดเลย 

               
นอกจากนี้ ยังมีรายชื่อน่าสนใจอีกมาก โปรดดูกันอีกครั้ง
 
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ               อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นิธิ เอียวศรีวงศ์                      นักวิชาการอิสระ
ผาสุก พงษ์ไพจิตร                  เศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุจิตต์ วงษ์เทศ                      นักวิชาการ  นักเขียน
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์                 เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พนัส ทัศนียานนท์                   อดีตคณบดีนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ วุฒิสมาชิกและอัยการ
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล             อดีตคณบดีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทักษ์ เฉลิมเตียรณ                  มหาวิทยาลัยคอร์แนล
อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล      ผู้กำกับภาพยนตร์/ศิลปิน
ชัยศิริ จิวะรังสรรค์                   ศิลปิน 
ธงชัย วินิจจะกูล                     มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน
ธเนศวร์ เจริญเมือง                 คณะ รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อานันท์ กาญจนพันธุ์              สังคมและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ยศ สันตสมบัติ                        สังคมและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ              วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เกษียร เตชะพีระ                     รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์             สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สิงคโปร์
กฤตยา อาชวนิจกุล               สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ศรีประภา เพชรมีศรี               โครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาม.มหิดล
ขวัญระวี วังอุดม                    โครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาม.มหิดล
เอกกมล สายจันทร์               รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โกสุมภ์ สายจันทร์                 รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สมชาย ปรีชาศิลปกุล          นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ฉลาดชาย รมิตานนท์            สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี         สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช    คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี          สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วัฒนา สุกัณศีล                      สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชัชวาล ปุญปัน                      อดีตอาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ ม.เชียงใหม่
วรเจตน์ ภาคีรัตน์                   นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จันทจิรา เอี่ยมมยุรา              นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ธีระ สุธีวรางกูร                       นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปิยบุตร แสงกนกกุล            นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สาวตรี สุขศรี                         นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล               นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปูนเทพ ศิรินุพงษ์                  นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประจักษ์ ก้องกีรติ                 รัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อภิชาต สถิตนิรมัย                เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันรัก สุวรรณวัฒนา               ศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์            ศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์       ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร                   สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อนุสรณ์ อุณโน                      สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นลินี ตันธุวนิตย์                     สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มรกต ไมยเออร์                     วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อัครพงษ์ ค้ำคูณ                    วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์             เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วาด รวี                                  นักเขียน
ปราบดา หยุ่น                       นักเขียน
วรพจน์ พันธุ์พงศ์                   นักเขียน
ภัควดี วีระภาสพงษ์               นักเขียน นักแปล
มุกหอม วงษ์เทศ                  นักเขียน
สุรพศ ทวีศักดิ์                       นักวิชาการ
ไอดา อรุณวงศ์                      วารสาร “อ่าน”
 คำสิงห์ ศรีนอก                     นักเขียน
ดวงมน จิตร์จำนง                  นักเขียน นักวิชาการ
วัฒน์ วรรลยางกูร                  นักเขียน
วชิระ บัวสนธ์                        นักเขียน
อธิคม คุณาวุฒิ                     นักเขียน
วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง                ผู้กำกับภาพยนตร์
พิเชฐ แสงทอง                    นักเขียน
อนุสรณ์ ติปยานนท์              นักเขียน
ทองธัช เทพารักษ์               นักเขียน
เรืองรอง รุ่งรัศมี                   นักเขียน
อุทิศ เหมะมูล                      นักเขียน
ซะการีย์ยา อมตยา              นักเขียน
วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล        นักเขียน
เดือนวาด พิมพนา                นักเขียน
ประกาย ปรัชญา                 นักเขียน
กฤช เหลือลมัย                    นักเขียน
วินัย ปราบริปู                       นักเขียน
บินหลา สันกาลาคีรี              นักเขียน
อติภพ ภัทรเดชไพศาล         นักเขียน
ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง        นักเขียน
ธิติ มีแต้ม                             นักเขียน
ศุภชัย เกศการุณกุล             นักเขียน
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์               นักแปลอิสระ
วิจักขณ์ พานิช                     นักเขียน นักแปล
สฤณี อาชวานันทกุล            นักเขียน-นักวิชาการอิสระ
นิธินันท์ ยอแสงรัตน์              สื่อมวลชน
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี         สื่อมวลชน
นพ. กิตติภูมิ จุฑาสมิต           ผู้อำนวยการรพ. ภูสิงห์ จ.ศรีษะเกษ
อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์               นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน
จีรนุช เปรมชัยพร                  ผู้อำนวยการ สำนักข่าวประชาไท
จิตรา คชเดช                         ผู้นำแรงงาน, กลุ่ม Try Arm
สมบัติ บุญงามอนงค์              นักกิจกรรมสังคม
แดนทอง บรีน                        ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
เยาวลักษณ์ อนุพันธ์               ทนายความ
ส. รัตนมณี พลกล้า                  ทนายความ
พูนสุข พูนสุขเจริญ                  ทนายความ
ภาวิณี ชุมศรี                           ทนายความ
ประเวศ ประภานุกูล                 ทนายความ
อนุสรณ์ ธรรมใจ                      เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
อันธิฌา ทัศคร                         ปรัชญาและศาสนา ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 
กานดา นาคน้อย                     เศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยเพอร์ดู (Purdue) สหรัฐอเมริกา
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ                 สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พฤกษ์ เถาถวิล                        คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ดร.พงศาล มีคุณสมบัติ             นักวิชาการอิสระด้านพลังงานนิวเคลียร์
ไชยันต์ รัชชกูล                        มหาวิทยาลัยพายัพ
คมลักษณ์ ไชยยะ                     มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
ชัชวาลย์ ศรีพาณิชย์                 อดีตนายกสมาคมธรรมศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย
ชาตรี ประกิตนนทการ               สถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ชาญณรงค์ บุญหนุน                 คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เชษฐา พวงหัตถ์                      คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
โกวิท แก้วสุวรรณ                    คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์        คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
พิพัฒน์ สุยะ                              คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เอมอร นิรัญราช                       คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
พวงทอง ภวัครพันธุ์                  รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เวียงรัฐ เนติโพธิ์                       รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นิติ ภวัครพันธุ์                            รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นฤมล ทับจุมพล                       รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สิริพรรณ นกสวน สวัสดี             รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ฉลอง สุนทรวาณิชย์                 อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุวิมล รุ่งเจริญ                          อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ธนาพล ลิ่มอภิชาต                    อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ                  อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุดา รังกุพันธุ์                            อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เกษม เพ็ญภินันท์                      อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วินัย ผลเจริญ                            วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ                  อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จรัล ดิษฐาอภิชัย
 
 
 
หมายเหตุ: เพิ่มเติมรายชื่อ เมื่อ 16 ม.ค.54 18.50น.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น