ประชาไท | Prachatai3.info |
- สมาคมนักข่าวนสพ.ฯ ให้ปี 54 เป็น “ปีแห่งความท้าทายบทบาทหน้าที่สื่อมวลชน”
- [คลิป] ธงชัย วินิจจะกูล: เมื่อความจริง (นิยาย) โดนดำเนินคดีฯ
- ส่งท้ายปี Quotes of the Year (4): ‘เราคืออากง’ และ ‘ขอแชร์นะ’
- เมืองไทย 2555 อะไรรอเราอยู่ ตอน 2: จับชีพจรสิทธิมนุษยชนไทยกับ ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ
สมาคมนักข่าวนสพ.ฯ ให้ปี 54 เป็น “ปีแห่งความท้าทายบทบาทหน้าที่สื่อมวลชน” Posted: 01 Jan 2012 08:40 AM PST (31 ธ.ค.54) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่รายงานสถานการณ์สื่อมวลชนในรอบปี 2554 ผ่านเว็บไซต์ tja.or.th ระบุปี 2554 เป็น “ปีแห่งความท้าทายบทบาทหน้าที่สื่อมวลชน” รายละเอียดมีดังนี้ ...................................
สืบเนื่องจากปี 2554 ท่ามกลางสถานการณ์ที่ความแตกแยกทางความคิดและอุดมการณ์ยังดำรงอยู่ การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจึงยังคงถูกตั้งคำถามถึงความเป็นกลางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อประชาชน ขณะเดียวกันการเติมโตของสื่อใหม่ๆ ทั้งเคเบิลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม เว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงบริบทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่สื่อมวลชนถูกท้าทายถึงบทบาทการทำหน้าที่ ขณะที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยยังมองว่า สื่อมวลชนคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นปีที่คนทำสื่อต้องยึดในหลักการแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน และยึดมั่นในการนำเสนอข้อมูลที่รอบด้าน รวมทั้งการเปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงได้จัดทำรายงานสรุปสถานการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนไทยในรอบปี 2554 ที่กำลังจะผ่านไปไว้ดังนี้ 1. การแทรกแซงการทำหน้าที่สื่อมวลชน จากกรณีที่มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มไม่พอใจการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง จากจุดเริ่มต้นพบว่ามีการส่งอีเมลและมีการโพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพในเชิงคุกคามและหวังทำร้ายร่างกาย ทำให้ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวรู้สึกไม่ปลอดภัย และขาดเสรีภาพในการทำหน้าที่ กลุ่มผู้สื่อข่าวภาคสนามจึงยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบต้นตอของข้อความดังกล่าว จากนั้นผู้สื่อข่าวที่ถูกโพสต์ข้อความคุกคาม จึงได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้โพสต์ข้อความ แต่ปรากฏว่ามีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งไปเรียกร้องยังสถานีโทรทัศน์ต้นสังกัด เพื่อขอให้ปลดผู้สื่อข่าวคนดังกล่าว นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจในรัฐบาล ทำให้การเข้าไปแทรกแซงเปลี่ยนแปลงผังรายการในสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยหรือ NBT เกิดขึ้นอีกครั้งด้วยการถอดรายการที่ออกอากาศในช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์ออกจากผังรายการเกือบทั้งหมด 2.เสรีภาพภายใต้ความรับผิดชอบ เห็นได้ชัดจากกรณี “อีเมลฉาว” ที่ได้กลายเป็นประเด็นร้อนในวงการสื่อ โดยในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2554 เว็บไซต์ข่าวแห่งหนึ่ง รายงานว่า มีผู้ส่งข้อความในอีเมลส่วนตัว 2 ฉบับ หัวข้อ “จดหมายถึงท่านพงษ์ศักดิ์” และ “ข้อเสนอ วิม” ไปยังสื่อมวลชนฉบับต่างๆ เนื้อหาระบุถึงการให้เงินกับคนในสื่อหนังสือพิมพ์ 4 ฉบับ และสถานีโทรทัศน์ 1 ช่อง เพื่อขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์ข่าวการหาเสียงเลือกตั้งของพรรค จนทำให้สภาวิชาชีพ ทั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน และแม้ว่าที่สุดแล้วจะไม่พบหลักฐานว่า มีการรับเงินตามที่มีการกล่าวอ้าง แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ก็ถือว่าสั่นสะเทือนวงการสื่อมวลชนไม่ใช่น้อย 3.ความพยายามจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีความพยายามของข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรมบางส่วนหมกเม็ดยัดไส้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ เพราะให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกคำสั่งห้ามพิมพ์ เผยแพร่ สั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักรฯ แต่เมื่อรัฐมนตรีทราบว่าถูกข้าราชการหมกเม็ด จึงมีการประสานงานให้คณะ กรรมการกฤษฎีกาได้ทำความเห็นกลับมาว่า เนื้อหาบางส่วนใน พ.ร.บ.ดังกล่าวอาจขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ครม.จึงได้มอบให้กระทรวงวัฒนธรรม นำ พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับไปพิจารณาใหม่ 4.การปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หลังจากที่รอการเกิดขึ้นของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาเป็นเวลานาน เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง กสทช. 11 คน และล่าสุด กสทช.ได้มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทบริหารจัดการคลื่นความถี่และแผน แม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับ พ.ศ.2555 – 2559 ซึ่งจะนำเข้าสู่ขั้นตอนการประชาพิจารณ์และเปิด รับฟังความคิดเห็นกับประชาชนและผู้เกี่ยวข้องได้ในต้นปีหน้า และหากสามารถประกาศใช้ได้จะมีผลให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ ทั้งโทรทัศน์และวิทยุที่ตกอยู่ในสภาพสูญญากาศไร้การกำกับดูแลมาเป็นเวลานาน 5.สื่อจมน้ำกับบริการสาธารณะ เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าจากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงปลายปีที่ผ่าน มาได้สร้างความเดือดร้อนในกับพี่น้องคนไทยนับล้านคน และในจำนวนนั้น สื่อมวลชนก็มีสถานะเป็นผู้ประสบภัยเช่นกัน ทั้งในส่วนของบุคคลและสำนักพิมพ์และสถานีโทรทัศน์หลายแห่ง และจากสถานการณ์อุทกภัยครั้งร้ายแรงนี้เอง ทำให้สื่อมวลชนทุกแขนงตื่นตัวโดยมีส่วนสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยคู่ขนานกับภาครัฐ ทั้งทำหน้าที่หลักในการรายงานข่าวอย่างแข็งขัน และเปิดสำนักงานเป็นจุดรับบริจาคสิ่งของและนำสิ่งของเข้าไปแจก เมื่อไปทำข่าวในพื้นที่น้ำท่วม ทั้งยังทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนและประสานความช่วยเหลือด้วยความรวดเร็ว จนกลายเป็นอีกบทบาทหนึ่งของสื่อที่นอกเหนือจากการรายงานข่าวแล้ว ยังคงทำหน้าที่จิตอาสาได้อย่างเข้มแข็งเช่นกัน 6.สุดเศร้าอาลัยเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อ เป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจวงการสื่อในรอบปี 2 เหตุการณ์ กรณีแรกคือ นายศรวิชัย คงตันนิกูล ช่างภาพสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง5 ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์แบล็คฮอว์กตกที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่สร้างความเศร้าเสียใจให้กับคนในวง การสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก ส่วนอีกกรณีเป็นเหตุรถข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำที่ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ทำให้ น.ส.อิสราวรรณ จำลองเพ็ง ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ส่วนช่างภาพและผู้ช่วยช่างภาพได้รับบาดเจ็บ ทั้ง 2 กรณีถือว่าเป็นการเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงขอสรุปว่า ในปี 2554 ที่กำลังจะผ่านไปถือว่าเป็น “ปีแห่งความท้าทายบทบาทหน้าที่สื่อมวลชน” ซึ่งในอนาคตสื่อมวลชนจะต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างครบถ้วน รอบด้าน และยังคงยึดมั่นในหลักของจริยธรรมวิชาชีพอย่างเคร่งครัด สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
[คลิป] ธงชัย วินิจจะกูล: เมื่อความจริง (นิยาย) โดนดำเนินคดีฯ Posted: 01 Jan 2012 08:28 AM PST วิดีโอการอภิปรายของธงชัย วินิจจะกูล เกี่ยวกับหนังสือของเดวิด สเตร็คฟัส และภาวะ "Hyper Royalism" ที่ร้าน Book Re:public เมื่อ 17 ธ.ค. นำเสนอพร้อมการแนะนำผู้อภิปรายโดย "ภัควดี ไม่มีนามสกุล" เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 54 ร้าน Book Re:public จ.เชียงใหม่ จัดเสวนา “เมื่อความจริง (นิยาย) โดนดำเนินคดีในยุคกษัตริย์นิยมล้นเกิน” มีผู้อภิปรายคือธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ดำเนินรายการโดยภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลอิสระ เนื้อหาเป็นการอภิปรายหนังสือ “Truth on Trial in Thailand: Defamation, Treason, and Lese-Majeste” ของเดวิด สเตร็คฟัส แนวคิดเรื่องการดำเนินคดีหมิ่นประมาทและคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และอภิปรายภาวะ Hyper Royalism หรือภาวะกษัตริย์นิยมล้นเกินในประเทศไทย โดยที่ผ่านมาประชาไทได้นำเสนอในส่วนที่เป็นการอภิปรายไปแล้ว [ตอนที่ 1] [ตอนที่ 2] และในวันนี้ขอนำเสนอวิดีโอการอภิปรายในวันดังกล่าว [เพลย์ลิสต์ของวิดีโอทั้งหมด คลิกที่นี่]
ตอนที่ 1 ตอนที่ 2
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
ส่งท้ายปี Quotes of the Year (4): ‘เราคืออากง’ และ ‘ขอแชร์นะ’ Posted: 01 Jan 2012 07:21 AM PST ส่งท้ายปี ทีมประชาไท รวบรวมคมคำเด็ดๆประจำปีที่กลายเป็นวลีและประโยคฮิตทั้งในสังคมออฟไลน์และออนไลน์ ย้อนความทรงจำที่มาที่ไป และแรงกระเพื่อมจากถ้อยคำ ซึ่งหลายคำกลายเป็นผลสะเทือนต่อคนพูดเอง ขณะที่อีกหลายถ้อยคำ ก่อให้เกิดการอภิปรายอย่างหลากหลาย แต่ที่แน่ๆ ล้วนถูกพูดขึ้นมาในจังหวะร้อนและสะท้อนความสนใจของสังคมไทยในสถานการณ์ที่ช่วยก่อกำเนิดถ้อยคำเหล่านี้ขึ้นมา 0 0 0 สำหรับ Quotes of The year ประจำปีนี้ ประชาไทขอยกให้กับวลี/ประโยคเหล่านี้
เราคืออากง “อากง” คือคำเรียกติดปาก หมายความถึง “อำพล” ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ วัย 61 ปี แต่สภาพดูแก่ชราราวอายุ 70 ปี ผู้ริเริ่มเรียกอากงคนแรกคือ อานนท์ นำภา ทนายความของเขาเอง ซึ่งเป็นการเรียกเลียนแบบหลานๆ ของอำพลทั้ง 5 คน กรณีของอากงเป็นคดีหมิ่นพระบรมเดชานาภพที่สร้างความสั่นสะเทือนในสังคมได้สูงสุดเท่าที่เคยมีมาก็ว่า โดยเฉพาะใน Social Network อย่าง Facebook มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเรื่องโทษจำคุก 20 ปีจาก 4 ข้อความ SMS ซึ่งหลักฐานสำคัญคือ EMEI เครื่องโทรศัพท์ ซึ่งยังเถียงกันไม่จบว่าน่าเชื่อถือเพียงใด แค่ไหนจึงจะน่าเชื่อถือ น่าเสียดายที่พยานจำเลยในคดีนี้ไม่มีผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความเพื่อให้ข้อมูลทางเทคนิคสู้กันจนสุดลิ่มทิ่มประตู เหตุเพราะไม่มีใครกล้ามาเป็นพยานให้คดีลักษณะนี้ “เราคืออากง” คนที่เริ่มต้นคำนี้เห็นจะเป็นแอนดรูว์ แมกเกรเกอร์ มาแชล อดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ ผู้กุมข้อมูลลับของสังคมไทยผ่านเอกสารวิกิลีกส์ เขาโพสต์ข้อความนี้สั้นๆ ในเฟซบุ๊คส่วนตัว จากนั้นมันเริ่มระบาดเหมือนเพลี้ยในนาข้าว คำนี้ได้ผนวกเอาตัวผู้พูด (หรือผู้ที่คิดจะพูด) เข้ากับตัวของ “อากง” ซึ่งถูกจำคุก 20 ปี เพื่อสะท้อนถึงเพดานของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ต่ำมาก รวมทั้งคุกที่อาจรอ “เรา” ทุกคนอยู่เหมือนๆ กันเมื่อมาตรา 112 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง “กลุ่มเราคืออากง” เป็นกลุ่มนักกิจกรรมที่สนใจเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงออก มีฐานที่มั่นอยู่ใน facebook และมีการจัดกิจกรรม เช่น จัดแสดงศิลปะกลางแจ้ง “แท่งอัปลักษณ์” เพื่อแสดงสถิติคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “ฝ่ามืออากง” ไม่นานหลังจากนั้น ปวิณ ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการไทยที่ไปเป็นนักวิจัยที่สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์ ก็ลุกขึ้นมาทำการรณรงค์ง่ายๆ ที่ทุกคนร่วมทำได้นั่นคือ การเขียน คำว่า “อากง” หรือบางคนก็เขียน “ปล่อยอากง” บนฝ่ามือตนเองแล้วเผยแพร่บน facebook โดยการรณรงค์นี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากโครงการ “ก้าวข้ามความกลัว” (abhaya-อภยาคติ-fearlessness) ของพม่า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอองซาน ซูจี เพื่อสนับสนุนความกล้าหาญให้แก่นักโทษทางการเมืองจำนวนมากในพม่า ฝ่ามืออากงได้แพร่ระบาดออกไปนอกเหนือจากแวดวงนักกิจกรรม นักวิชาการหรือคนที่สนใจเรื่องมาตรา 112 เป็นทุนเดิม “ก้าวข้ามความกลัว” ผลงานจากการรณรงค์ของปวิณ ถูกรวบรวมนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ “Thailand’s Fearlessness Free Akong ก้าวข้ามความกลัว” ซึงปรากฏภาพของฝ่ามือนับร้อยที่รวบรวมได้จาก facebook รวมถึงข้อเขียนของปวิณ และบทความเกี่ยวกับสถิติคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของ เดวิด สเตร็คฟัส นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยปกหลังของหนังสือเล่มนี้เขียนไว้ว่า “โครงการ ‘Thailand’s Fearlessness: Free Akong’ มีจุดมุ่งหมายเบื้องต้นในการเรียกร้องให้ปล่อยตัวอากง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด และผลักดันให้มีการปฏิรูปหรือยกเลิกมาตรา 112 เพื่อให้ไทยได้เป็นอายะประเทศสมบูรณ์แบบ” “อาม่า สยบอากง” ผลสืบเนื่องเล็กน้อยในอีกฝั่งหนึ่ง เห็นจะเป็นการเขียน “อาม่าสยบอากง” บนฝ่ามือเช่นกัน ซึ่งแม้จะเป็นเพียงการแสดงออกที่ไม่ได้มุ่งเน้นเป็นการรณรงค์ให้เป็นกระแส แต่ก็สะท้อนให้เห็นความคิดเห็นที่ยังแตกต่างอย่างสุดขั้วภายในสังคมไทย ซึ่งน่าจะต้องใช้เวลาในการถกเถียงกันอีกยาว (ถ้าคนเถียงไม่ถูกจับติดคุกหมดไปเสียก่อน) ข่าวที่เกี่ยวข้อง
0 0 0 0 0 0
"ขอแชร์นะ" ในปีที่โซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊กกำลังเฟื่องฟู เช้า-สาย-บ่าย-เย็น หลายคนเป็นต้องแวะเข้ามาอัพสเตตัส กดไลค์ กดแชร์ หรือมาดูว่ามีใครมาไลค์ มาเม้นต์อะไรบ้าง เกิดประโยคติดปาก-ติดนิ้วของผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวไทย "ขอแชร์นะ/นะคะ" เมื่อเห็นลิงก์-ข้อความที่สนใจ และอยากนำไปเผยแพร่ต่อให้เพื่อนของตัวเองรับรู้ แม้ว่าเฟซบุ๊กจะมีปุ่ม share หรือ แบ่งปัน ให้กดได้ทันทีอยู่แล้วก็ตาม ช่วงพีคสุดของภาวะ "ขอแชร์นะ" ในปีนี้คือ ช่วงน้ำท่วมใหญ่ที่ข้อมูล-ข่าวสารท่วมจอมาตามๆ กัน ข้อมูลบางเรื่องเกิดจริง ณ จุดเวลาหนึ่ง แต่ถูกสรุปไปแบบหนึ่ง บางเรื่องเป็นเรื่องแต่งล้วนๆ บวกภาพประกอบถูกรสนิยม หลายคนกดแชร์ข้อมูลพร้อมแสดงความเห็นสมทบชนิดที่ไม่ได้ตรวจสอบก่อน ก่อให้เกิดวิวาทะกันในวงกว้าง เว็บ "ศัพท์การเมืองไทยร่วมสมัย" เขียนแซวว่า พฤติกรรม "ขอแชร์นะ" ว่า "เกิดขึ้นในเวลาเพียงลัดนิ้วแต่อาจส่งผลกระทบที่ต้องใช้เวลาสะสางยาวนานกว่านั้นหลายเท่านัก" มองในแง่ดี อาจเป็นช่วงเวลาที่ข้อมูลหลากหลายได้ปะทะสังสรรค์ ให้ผู้ได้อ่านไปประมวลตัดสินใจเอาเอง (ถ้าไม่ unfriend กันไปก่อน) อย่างไรก็ตาม ช่วงสิ้นปี การแชร์อาจชะงักไปเล็กน้อย เพราะ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีไอซีที ออกมาขอไม่ให้แชร์นะอยู่หลายครั้ง ด้วยเหตุผลว่า การแชร์หรือกดไลค์ข้อความ-ลิงก์ที่มีลักษณะ "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" อาจเข้าข่ายเผยแพร่ทางอ้อม ทำให้มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ได้ (จนเครือข่ายพลเมืองเน็ตต้องออกมาแถลงไม่เห็นด้วยและชี้แจง รมต.และผู้ใช้เน็ตอย่างละเอียดถึงหลักการและเหตุผลเลยทีเดียว)
///////////// ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
เมืองไทย 2555 อะไรรอเราอยู่ ตอน 2: จับชีพจรสิทธิมนุษยชนไทยกับ ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ Posted: 01 Jan 2012 06:49 AM PST ย้อนมองสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยในปี 2554 และมองสถานการณ์ปี 2555 โดยปกป้อง เลาวัณย์ศิริ นักสิทธิมนุษยชนไทย อดีตผู้ประสานงานภูมิภาค สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ฟอรั่มเอเชีย ซึ่งเขามองว่า ประเด็นสำคัญคือวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิดในการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และเสรีภาพในการแสดงความเห็น ซึ่งทั้งสองประเด็นหลักยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นขณะที่กลไกคุ้มครองสิทธิอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง 0 0 0 0 0 0 ย้อนมองสถานการณ์สิทธิปี 2554 สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยในปีที่ผ่านมามีสี่ประเด็น ประเด็นแรกคือกรณีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทยเป็นประเด็นที่เอ็นจีโอในประเทศไทยและต่างชาติให้ความสำคัญมาก เช่นองค์กรนักข่าวไร้พรมแดนเมื่อต้นปีก็มีการจัดอันดับเสรีภาพ และประเทศไทยก็ร่วงลงมา จากอันดับที่เก้าสิบกว่า มาเป็นอันดับที่ร้อยห้าสิบ และองค์กรฟรีดอมเฮาส์ก็ตัดอันดับว่าไทยเป็นประเทศที่ไม่มีเสรีภาพทางด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในขณะที่ผ่านๆ มาประเทศไทยเคยอยูในอันดับค่อนข้างดี เช่นเดียวกันเมื่อประมาณสองสามเดือนที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษในการตรวจสอบสิทธิเสรีภาพของสหประชาชาติ เซอร์แฟรงก์ ลา รู ก็ออกแลงการณ์ออกมาเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกรณีการใช้พรบ. คอมพิวเตอร์ในการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ในต้นเดือน ธ.ค.2554 ก็มีแถลงการณ์อีกฉบับที่ออกมาค่อนข้างเจาะจงและเป็นครั้งแรกที่โฆษกข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนออกมาท้วงติงเรื่องสถานการณ์สิทธิเสรีภาพในประเทศไทย ทั้งหมดนี้ก็แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์สิทธิเสรีภาพของไทยนั้นลดต่ำลงไปมากในปีที่ผ่านมา ในประเด็นที่สอง คือ ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นได้ชัดว่ากระบวนการและกลไกสิทธิมนุษยชนไทยในประเทศไทยมีความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่สามารถทำงานได้เลยเมื่อเปรียบเทียบกับคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดแรกที่มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิได้ระดับหนึ่ง มีการออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ แต่ว่าคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดนี้ ไม่มีการอกแถลงการณ์ออกมาเลย และรายงานตรวจสอบป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ามีการตรวจสอบประเด็นอะไรไปแล้วบ้าง ประเด็นที่สาม ประเทศไทยในปีที่ผ่านมา เกิดกระแสวัฒนธรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิด เช่นกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเม.ย.-พ.ค. 2553 ผ่านมาแล้วปีครึ่งไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนได้รับโทษ นี่ไม่ใช่กระแสที่เพิ่งเกิดปีทีแล้วแต่มันเกิดมาตั้งแต่ทศวรรษ 2540 ไม่ว่าจะเป็นกรณีสงครามยาเสพติด หรือกรณีภาคใต้ ประเด็นสุดท้ายคือปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเพิ่งได้รับการตรวจสอบ โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในเวลาสี่ปีที่ผ่านมา และรายงานนี้จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์สิทธิในปี2555 เพราะว่ารัฐบาลไทยต้องไปที่เจนีวาอีกครั้งเพื่อจะบอกว่าไทยจะรับข้อเสนออะไรบ้างที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ และสหประชาชาติเสนอมาเพื่อให้พัฒนาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ
มองต่อไปในปี 2555 ประเด็นสำคัญยังอยู่ที่การรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีวัฒนธรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิด ผมคิดว่เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด มันเป็นกระแสที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในปีที่แล้ว แต่เป็นสิ่งทีเกิดขึ้นมาตลอด เราพูดได้ว่าเป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในเมืองไทยไปแล้ว ถ้าเราย้อนกลับไปในเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา หรือ พฤษภา 2535 เจ้าหน้าที่รัฐ ทหารตำรวจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน สังหารประชาชน ไม่ได้รับการดำเนินคดี ซึ่งเวลาเราพูดถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม หรือ Right to Justice มันมีส่วนประกอบหลายส่วน คือ สิทธิที่ประชาชนควรจะได้รับ ข้อเท็จจริง คือ Right to Truth ว่าสถานการณ์นั้นเกิดอะไรไปแล้วบ้าง อย่างกรณี 6 ตุลา เราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนสั่ง เช่นเดียวกับกรณีทีเกิดขึ้นในปีที่แล้ว เราก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ใครเป็นคนสั่ง คนที่ควรจะต้องรับผิดคือใคร โดยส่วนตัวแล้วในฐานะคนที่ติดตามประเด็นนี้ก็ค่อนข้างเป็นห่วง เกี่ยวกับการดำนินการในกรณีนี้ คือถ้าเราพูดถึงกระบวนการปรองดองกัน มันจะเกิดขึ้นได้ไม่เพียงแต่ประชาชนหรือเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจะต้องรู้ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร อีกส่วนที่สำคัญ คือสิทธิที่สามารถได้รับการเยียวยา เท่าที่ผมตรวจสอบดู จากการติดตามข่าว ดูเหมือนว่าบทบาทของรัฐบาลและคอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อความปรองดองแห่งชาติ) ในการตรวจสอบกรณีเมษา-พฤษาปี2553 มันเหมือนกับเพียงแค่หาข้อเท็จจริงแต่ไม่ต้องการหาความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในการตรวจสอบในปีต่อไปจะมีส่วนสำคัญมากในการสร้างบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนของไทย
นักสิทธิมนุษยชนและประชาชนไทยทำอะไรได้มากกว่าแค่ติดตามสถานการณ์ เราต้องมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทขององค์กรหลักในการตรวจสอบ คือคอป. ควรจะมีอำนาจมากกว่าแค่หาข้อเท็จจริง คือควรมีข้อเสนอแนะให้กับศาลได้ว่าควรจะมีการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐคนไหน แต่เท่าที่ดู คอป. มีอำนาจจำกัดมาก คือแค่หาข้อเท็จจริงว่ามีอะไรเกิดขึ้น เพื่อให้กระบวนการปรองดองเกิดขึ้น แต่การปรองดองในโมเดลนั้น ประชาชนที่เป็นเหยื่อ จะไม่ได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมน่ะครับ
เสนอรัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญแก้ไขกระบวนการสรรหากรรมการสิทธิฯ กลไกในการคุ้มครองสิทธิในประเทศไทยโดยเฉพาะ กสม. ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง คือไม่สามารถตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนอะไรได้ จริงๆ สิ่งที่เกิดในปีทีแล้วนั้นควรเป็นอำนาจการตรวจสอบของกรรมการสิทธิฯ เพราะสิ่งที่กรรมการสิทธิฯ มีแตกต่างจากคอป. ก็คือ มี อำนาจในการเชิญพยานวัตถุและพยานบุคคล มาจากหน่วยงานต่างๆ ได้ แต่คอป. ไม่มีอำนาจในส่วนนี้ แต่กรรมการสิทธิฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมา เกิดจากกระบวนการแก้รัฐธรรมนุญ ซึ่งทำให้ศาลเข้ามามีอำนาจมากในการคัดเลือกกรรมการสิทธิ และทำให้กรรมการสิทธิฯ ชุดนี้ทำงานไม่ได้ คือไม่มี Political View คือไม่มีความกล้าหาญในทางการเมืองที่จะดำเนินการตามอำนาจของเขา ซึ่งหากรัฐบาลชุดนี้มีนโยบายที่จะแกรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้นแล้ว ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในปีหน้า รัฐบาลควรจะเอาประเด็นนี้ใส่เข้าไปด้วยว่า ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กระบวนการสรรหากสม. อาจจะต้องเอากระบวนการรธน. 2540กลับมาใช้ คือมีส่วนร่วมของประชาสังคม นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่เพียงแต่ให้อำนาจในการสรรหากับศาลและประธานรัฐสภาเท่านั้น
เสรีภาพในการแสดงความเห็น ดิ่งลง ในยุคของรัฐบาลอภิสิทธิมีรายงานที่ทำออกมาโดยไอลอว์ (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน -iLaw) ว่ามีการบล็อกเว็บไซต์ ประมาณ เจ็ดหมื่นกว่าเว็บไซต์ แต่ภายในระยะเวลาสามเดือนที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารได้มีการบล็อกไปแล้วหกหมื่นกว่า ก็ทำให้มองเห็นได้ว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอาจจะเลวร้ายลงไปอีกภายใต้รัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะการที่มีการทุ่มเงินลงไปสร้างเครือข่ายในการตรวจสอบเว็บไซต์ที่มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็เป็นสิ่งที่อาจจะทำให้สถานการณ์เรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกเลวร้ายลงไป และสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลโดยเฉพาะรองนายกฯ ออกมาพูดว่าจะไม่มีการแก้กฎหมายหมิ่น ก็มีความขัดแย้ง คือมันดำเนินไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาลที่แล้ว คือมันขัดกับข้อเรียกร้องที่ประเทศต่างๆ ในยุโรปและอเมริกาได้ท้วงติงมา และองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศท้วงติงมา ถ้าให้ผมคาดการณ์ สถานการณ์ไม่ดีขึ้น
จับตารัฐบาลไทยรับรองการตรววจสอบสถานการณ์สิทธิจากองค์กรระหว่างประเทศ ปีที่แล้วมีการประชุมกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนโดยสหประชาชาติ แล้วในการประชุมคราวนั้นรัฐบาลหลายๆ ประเทศก็มีข้อเสนอแนะกับรัฐบาลไทยในหลายๆ ประเด็นว่ารัฐบาลไทยควรจะให้สัตยาบันเกี่ยวกับอนุสัญญาการบังคับบุคคลสูญหาย หรือกติการะหว่างประทเศเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย และยอมให้ผู้ตรวจสอบพิเศษของสหประชาชนที่เป็นกลไกอิสระของสหประชาติที่มีผู้ตรวจสอบประเด็นต่างๆ หลายประเด็นสามารถเข้ามาตรวจสอบในประเทศได้ ซึ่งรัฐบาลไทยในการประชุมเดือนตุลาคมที่ผ่านก็มีท่าทีที่ค่อนข้างบวกในการลงนามสัญญาต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมากขึ้น นี่ก็อาจจะเป็นแง่บวก เป็นทิศทางที่ดี ทั้งหมดนี้ สิ่งที่สำคัญคือประชาชนและภาคประชาชนต้องติดตามรัฐบาลต่อไปว่าในการประชุมเดือนมีนาคม 2555 รัฐบาลจะยอมรับข้อตกลงเหล่านี้ไหม นอกเหนือประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เป็นประเด็นย่อยๆ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยได้รับผลกระทบจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เช่นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112) พรบ. คอมพิวเตอร์ พรก. ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน และมีการพยายามจะผ่านร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ในอนาคตก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไป ในขณะที่มีตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในสถานการณ์ปัจจุบน ผมก็ยังตอบไม่ได้ว่าคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจะมีบทบาทแต่ไหน ในการเสนอว่ากฎหมายจะมีการปฏิรูปหรือยกเลิก เพราะคณะกรรมการนี้ยังไม่ได้ทำงานให้เห็นชัดเจนเท่าไหร่ ก็เป็นสิ่งที่เราอาจจะมองต่อไปข้างหน้าในปีต่อไป ว่าคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจะมีบทบาทแค่ไหน และจะดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายเหล่านี้หรือไ่ม่
บทบาทนักสิทธิมนุษยชนไทยทีผ่านมา ต้องจับตาคนรุ่นใหม่ ผมคิดว่าตั้งแต่ช่วงของการรัฐประหาร มีการตื่นตัวค่อนข้างเยอะในหมู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งหลายคนทำงานในประเด็นต่างๆ เช่น พม่า สิทธิเสรภาพหรือประเด็นอื่นๆ แต่เขาไม่ได้เรียกตัวเองว่านักสิทธิมนุษยชน แต่ผมเห็นว่าตั้งแต่ปี 2549 มีคนรุ่นใหม่ที่สนใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจเพราะที่ผ่านมาขอบเขตของคนทำงานประเด็นสิทธิมนุษยชนนั้นค่อนข้างจำกัด คือเรารู้กันว่ามีองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิค่อนข้างเยอะแต่หล่ายๆ องค์กรเป็น 'องค์กรผี' คือมีคนทำงานคนเดียวกันแต่ใช้ชื่อหลายๆ องค์กร ซึ่งการเกิดขึ้นของคนรุ่นใหม่ผมก็มีความคาดหวังว่าคนทำงานสิทธิมนุษยชนมากขึ้นและมีกระบวนการของคนทำงานเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งตอนนี้ผมไม่เห็นว่าประเทศไทยสามารถพูดได้อย่างประเทศฟิลิปปินส์ หรือเกาหลีใต้ หรืออินโดนีเซียว่ามีขบวนการสิทธิมนุษยชนในประเทศจริงๆ
อะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือการเติบโตของการเคลื่อนไหว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า คนที่เป็นเจเนอเรชั่นแรกที่เรียกตัวเองว่านักกิจกรรมที่ดำงวานด้านสิทธิมนุษยชนไม่สามารถขยายแนวคิดด้านสิทธิไปได้ คือเรื่องสิทธมนุษยชนในเมืองไทเยป็นสิ่งที่เรียนรู้ในห้องเยน คือคณะนิติศาสตร์จะมีวิชาสิทธิมนุษยชน แต่คนทำงานกลับน้อยมาก เวลาที่อยากจะสัมภาษณ์นักสิทธิมนุษยชนก็จะมีคนไม่เกิน 10-15 คน ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าคนรุ่นเก่าไม่สามารถขยายแนวความคิดไปสู่คนรุ่นหลัง เปรียบเทียบกับขบวนการแรงงานยังเข้มแข็งกว่า คือมีคนทำงาน เช่น เวลาพูดถึงนักสหภาพ ก็จะมีคนเยอะ แต่พอพูดถึงนักสิทธิมนุษยชนกลับมีค่อนข้างน้อย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น