โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ไอแอลโอเผยปีนี้ว่างงาน 200 ล้านคน อีก 10 ปีต้องเพิ่มงาน 600 ล้านตำแหน่ง

Posted: 25 Jan 2012 08:50 AM PST

 รายงานฉบับใหม่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ประเมินปีนี้คนเตะฝุ่น 200 ล้านคน เตือนอีก 10 ปี ต้องสร้างตำแหน่งงานอีก 600 ล้านตำแหน่ง

25 ม.ค. 55 องค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอ (International Labour Organization – ILO) เผยแพร่รายงาน Global Employment Trends 2012 Preventing a deeper jobs crisis โดยเนื้อหาที่สำคัญระบุว่าในปี ค.ศ. 2012 นี้จะมีผู้ว่างงาน ประมาณ 200 ล้านคน และอีก 1,100 ล้านคนทั่วโลกกำลังตกอยู่ในความยากจน อัตราการจ้างงานในหลายภูมิภาคมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรป ยกเว้นในประเทศซึ่งเศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างในละตินอเมริกาและภูมิภาคเอเชียตะวันออก และคนหนุ่มสาวจะเป็นกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ ประสบปัญหาการว่างงาน

ทั้งนี้ไอแอลโอเตือนว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า รัฐบาลและภาคเอกชนโลกจำเป็นต้องมีการสร้างตำแหน่งงานใหม่ 600 ล้านตำแหน่ง เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ด้านนายฮวน โซมาเวีย (Juan Somavía) ผู้อำนวยการทั่วไปของไอแอลโอกล่าวว่าเสนอว่าสิ่งแรกที่ทั่วโลกต้องทำในขณะนี้คือการสร้างงานในระบบเศรษฐกิจโลก โดยวิกฤตการจ้างงานจะดีขึ้นหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพนโยบายของรัฐบาลต่างๆ

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: รักในหลวง ห่วงสถาบัน ร่วมผลักดันแก้ไข ม. 112

Posted: 25 Jan 2012 05:54 AM PST

                สรรพสิ่งในโลกล้วนต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย สิ่งที่อยู่ยืนยงคงทนที่สุดในโลก คือสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ปราสาทหินศิลาแลงที่เห็นยืนเด่นเป็นสง่าท้าทายกาลเวลาได้นับพันปี นั่นเพราะผ่านการตกแต่งบูรณะฟื้นฟูอยู่มิได้ขาด หาไม่แล้วปราสาทหินก็อาจจะกลายเป็นฝุ่นทรายในสายลมเมื่อชั่วเวลาผ่านไปไม่นานนัก

                ฉันใดก็ฉันนั้น สถาบันกษัตริย์ที่เราเห็นว่าอยู่คู่สังคมไทยมานานนับแต่ก่อตั้งประเทศก็ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน จากมีอำนาจน้อยสู่ความมีอำนาจมาก จากมีอำนาจมากกลับสู่ความมีอำนาจน้อย จากสถานะของพ่อปกครองลูก สู่ความเป็นเทพแห่งชีวิต จนกลายเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจ จากที่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในรัฐสู่การเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ จากการที่เป็นผู้กำหนดกฎหมายมากลายเป็นผู้อยู่ภายใต้กฎหมาย จากสมบูรณาญาสิทธิราช สู่กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ นั่นผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงและแรงเสียดทานจากความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยมาแล้วทั้งสิ้น

                แล้วใย สังคมไทยจะยังไม่เคยชินกับการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์อีกเล่า การที่มีคณะบุคคลที่เรียกตนเองว่า คณะนิติราษฎร์ และคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ของประมวลกฎหมายอาญา) เสนอให้แก้ไขกฎหมายเรื่องการหมิ่นพระมหากษัตริย์นั้น ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการเล็กๆ ของสังคมที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ ไม่มีใครสักคนในคณะดังกล่าวได้แถลงอย่างเปิดเผยว่า สิ่งที่ตัวเองทำนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อล้มล้างระบอบกษัตริย์ในประเทศไทย ตรงกันข้ามที่สิ่งเขากำลังทำอยู่นั่นคือ การปกป้องสถาบันกษัตริย์มิให้ถูกฉวยใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของพวกคนพาลสันดานหยาบต่างหาก

                ไม่มีใครเลยสักคนที่บอกว่า สถาบันกษัตริย์ องค์พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในฐานะประมุขของรัฐ ไม่พึงต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ดูเหมือนหลายคนจะบอกว่า สถาบันและบุคคลในตำแหน่งเช่นว่านั้น สมควรได้รับการปกป้องคุ้มครองจากกฎหมายเหนือกว่าคนธรรมดาด้วยซ้ำไป

                แรงบันดาลใจ ที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวผลักดันให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้มาจากหลายประการ บ้างก็เกิดจากความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่โดนผลกระทบของกฎหมายมาตรานี้อย่างไม่เป็นธรรม บ้างก็เพื่อทำให้กฎหมายได้มาตรฐานสากล แต่ที่ตรงกันอย่างหนึ่งแน่นอนคือ การแก้ไขกฎหมายมาตรา112 นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ใครฉวยใช้เพื่อประโยชน์ของตัวได้อย่างสะดวกอีกต่อไป และเป็นก้าวสำคัญที่นำมาไปสู่การแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้สถาบันกษัตริย์มีสถานะต้องด้วยยุคสมัยแห่งประชาธิปไตยที่ถูกต้องสมบูรณ์ การปฏิบัติต่อสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยราวกับยังอยู่ในยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชนั้นขัดกับความเป็นจริงของโลกอย่างยิ่ง และนั่นเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อตัวสถาบันเองด้วย

                การเสนอเพื่อแยกตัวบทกฎหมายนี้ออกจากหมวดความมั่นคงก็ดี การเสนอให้ผู้ฟ้องร้องในคดีนี้จำกัดอยู่แต่เฉพาะบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่อันเกี่ยวเนื่องแต่สถาบันกษัตริย์และองค์พระประมุขโดยตรงเท่านั้นก็ดี เหล่านี้ล้วนทำให้กฎหมายนี้ถูกจัดวางอยู่ในที่ซึ่งเหมาะสมและเป็นหลักประกันว่าจะไม่ถูกใครก็ได้นำไปใช้อย่างพร่ำเพรื่อ

                การเสนอให้ลดโทษและเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้พิสูจน์ความจริง นั่นเป็นข้อเสนอสำคัญที่สุดที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ในฐานะอันเป็นที่รักและเคารพสักการะบูชาได้สืบไป เพราะเหตุว่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรงและปิดกั้นผู้ถูกกล่าวหาไม่ให้ต่อสู้อย่างเป็นธรรมได้นั้น สร้างความน่าสะพึงกลัวให้แก่ราษฎรทั้งหลายอย่างมาก ทำให้สถาบันกษัตริย์ซึ่งควรจะเป็นสิ่งอันเป็นที่รักกลายเป็นสิ่งที่น่ากลัว

                พระมหากษัตริย์ของไทยส่วนใหญ่ตลอดระยะแห่งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้พิสูจน์โดยประจักษ์แล้วว่า การปกครองโดยการพระราชทานความรักความเมตตาแก่ผสกนิกรนั้นยังผลให้พระองค์เองและสถาบันกษัตริย์ได้รับความรักและความซื่อสัตย์ภักดีเป็นการตอบแทนอย่างล้นพ้นหาที่เปรียบมิได้ กาลสมัยใดที่กษัตริย์ปกครองด้วยพระเดชมากกว่าพระคุณ กาลสมัยนั้นมักจะพบความกระด้างกระเดื่องในหมู่อาณาประชาราษฏร์ทั้งหลายเกิดขึ้นไปทั่วทุกหัวระแหง

                การแอบอ้างพระนาม พระเกียรติ พระยศ ของพระมหากษัตริย์ บังคับใช้กฎหมายอย่างไร้ความเป็นธรรม มุ่งประสงค์ก่อให้เกิดความยำเกรงหวาดหวั่นนั้นไม่อาจจะทำให้สถาบันกษัตริย์กลายเป็นที่รักได้เลย ตรงกันข้ามหากกลายเป็นที่น่าหวาดกลัว การที่มีราษฏรถวายความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์และต่อองค์พระมหากษัตริย์ นั่นเป็นเพราะผลแห่งความรัก ความเมตตา มากกว่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากความยำเกรงต่อกฎหมาย

                องค์พระมหากษัตริย์ซึ่งกลายที่รักของพสกนิกรนั้นส่วนใหญ่แล้วมิเคยทรงถือสาหาความต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อพระองค์เลย ตรงข้ามกลับทรงรับฟังและแสวงหาช่องทางที่จะรับฟังความเห็นจากราษฎรอยู่เนืองๆ เพื่อให้ทรงทราบถึงพระเนตรพระกรรณว่า พสกนิกรรู้สึกนึกคิดอย่างไรต่อการปกครองของพระองค์ มหาราชาที่ยิ่งใหญ่ของไทยทุกพระองค์ล้วนทรงรับฟังความเห็นราษฎรทั้งสิ้น การวิพากษ์วิจารณ์หรือตำหนิติติงโดยสุจริตนั้น ยังประโยชน์มหาศาลต่อการปกครองยิ่งนัก และสิ่งเหล่านี้ไม่ควรเป็นความผิดตามกฎหมาย

                พระมหาราชาผู้ยิ่งใหญ่ของไทยจำนวนมากทรงหาหนทางสารพัดอย่างที่จะหลีกหนีไปจากเสียงเพ็ดทูลอันประจบสอพลอของเหล่าขุนนางแวดล้อมเพื่อออกไปรับฟังความเห็นของราษฎร บางพระองค์ถึงกับลงทุนปลอมแปลงพระวรกายไปปะปนกับสามัญชน ก็มีวัตถุประสงค์อย่างเดียวคือ ต้องการรับทราบเสียงหรือแม้แต่คำติฉินนินทาจากหมู่ราษฎรด้วยพระองค์เอง

                พระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันถึงกับทรงต้องมีพระราชดำรัสด้วยพระองค์เองเลยทีเดียวว่า การที่ราษฎรพากันแอบอ้างพระนามของพระองค์ไปฟ้องร้องคดีกันนั้น สร้างความเดือดร้อนให้กับพระองค์และสถาบันกษัตริย์อย่างมาก ใยจึงไม่มีผู้ใดน้อมรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมเอามาไตร่ตรองดูว่า พระมหากษัตริย์จะทรงตรอมตรมพระทัยและเจ็บปวดเพียงใดหากราษฎรทั้งหลายฉวยเอาเรื่องของพระองค์ไปฟ้องร้องเป็นคดีความกัน การฟ้องร้องคดีความจำนวนไม่น้อยก็กระทำต่อศัตรูทางการเมืองของตนเองมากกว่าจะมีเจตนาปกป้องพระมหากษัตริย์จริงๆ ใยมิไตร่ตรองกันดูบ้างว่าการกระทำเช่นนี้ก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทเพียงใด เสื่อมเสียพระเกียรติยศเพียงใด ไม่นับว่าพวกฝรั่งต่างชาติจะติฉินนินทาว่าร้ายพระองค์เพียงใดว่าพระองค์ทรงจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน

                ความได้ปรากฎชัดอยู่เนืองๆว่า พระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันทรงพระราชอภัยโทษให้กับบุคคลที่ต้องคดีตามกฏหมายนี้อย่างรวดเร็ว เมื่อมีการร้องขอหรือทรงทราบถึงพระเนตรพระกรรณ พระองค์จึงทรงเป็นกษัตริย์ผู้เป็นที่รักด้วยทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา แต่จะให้พระองค์ต้องทรงมายุ่งเกี่ยวในคดีความแบบนี้ทุกคดีย่อมเป็นไปไม่ได้ สมควรที่สุดคือบรรดาข้าราชบริพารทั้งหลายตลอดจนราษฎรทั่วไปควรจะหาทางจำกัดคดีแบบนี้ให้น้อยที่สุดจะดีกว่า

                การทำให้พระมหากษัตริย์เป็นที่รักจะจรรโลงสถาบันกษัตริย์ได้ยืนยาวกว่าทำให้พระองค์กลายที่เกรงกลัว พระมหากษัตริย์จะเป็นที่รักกระไรได้ หากยังมีการฟ้องร้องในคดีหมิ่นฯพระองค์กันอย่างกว้างขวางเหมือนที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ไม่เว้นแม้แต่คนชราหรือเด็ก เยาวชนผู้ไม่รู้เดียงสา บุคคลผู้ตกเป็นจำเลยในคดีแบบนี้จะมีความรักให้พระมหากษัตริย์ได้อย่างไร ถ้าหากพวกเขาต้องถูกจองจำให้ได้รับความทุกข์ทรมานจากกฎหมายที่ได้ชื่อว่าทำการปกป้องพระเกียรติพระยศของพระมหากษัตริย์

                เจตนารมณ์ของกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นมุ่งควบคุมบุคคลเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นเอง คือ พวกปากพล่อยและมือบอน ที่อาจจะพูดจาหรือขีดเขียนข้อความดูหมิ่นดูแคลนพระมหากษัตริย์ ลำพังคนพวกนี้ไม่ใช่ภัยอันตรายอะไรต่อประเทศชาติหรือสถาบันอันที่เป็นรักของคนทั้งชาติได้เลย ธรรมชาติคนปากพล่อยก็พูดจาเลื่อนเปื้อนไปวันๆ ก็ไม่เคยทำอันตรายต่อใครไปได้มากกว่านี้ คนที่ชอบพูดพล่อยๆส่วนใหญ่มักเป็นคนที่ไม่ค่อยได้รับความเชื่อถือจากสังคม การมุ่งลงโทษคนเหล่านี้อย่างเอาเป็นเอาตาย ก็เสมือนหนึ่งทำให้พระมหากษัตริย์ดูเสมือนไร้ซึ่งพระเมตตาต่อคนเหล่านี้ยิ่งนัก

                ดูก่อน นักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลาย ใยท่านเอาแต่ใส่ใคล้ ใส่ความ ใส่ร้าย ป้ายสี กลุ่มบุคคลผู้เสนอหนทางปกป้องสถาบันกษัตริย์อย่างเอาเป็นเอาตายอย่างนี้ ใยไม่ใช้สติปัญญาอันเฉียบแหลมของท่านนึกตรึกตรองสิ่งที่คณะบุคคลเหล่านี้เสนอขึ้นมา ถกเถียงกันด้วยเหตุผลอันสมควรแก่เรื่องแก่เหตุ บางท่านเป็นถึงราชบัณฑิตใยยกเหตุผลราวกับแม่ค้าปากตลาดที่ไหนก็ไม่ปานมาด่าว่า หาว่าเขาเนรคุณ ยกตนข่มท่านว่าเป็นผู้สนองเบื้องพระยุคลบาทได้ดีกว่าคนอื่น นี่หรือคือวิธีการโต้แย้งทางปัญญาของดุษฎีบัณฑิต ช่างต่ำช้าเสียนี่กระไร ในฐานะราชบัณฑิตท่านเองนั่นแหละที่มีหน้าที่และสมควรจะเป็นผู้นำเสนอวิธีการและแนวทางอย่างที่คณะบุคคลเหล่านี้กำลังทำอยู่เพื่อเป็นการสนองคุณแผ่นดินเกิด  แต่เมื่อไร้สติปัญญาจะทำได้แทนที่จะรู้สึกละอายแก่ใจ กลับชี้หน้าด่าผู้อื่น นี่หาใช่วิธีการของบัณฑิตไม่

                ปัญญาชนผู้อ้างว่ารักสถาบันกษัตริย์ยิ่งชีพทั้งหลายก็ดี ขุนทหารผู้พิทักษ์ราชบัลลังก์ก็ดี ใยพวกท่านไม่ใช้สติปัญญาอย่างที่วิญญูชนพึงกระทำ ใยท่านไม่อ่าน ไม่รับฟังด้วยจิตใจที่เปิดกว้างและเบิกบานเสียก่อนว่า คณะบุคคลเหล่านั้นกำลังเสนออะไร ใยท่านเอาแต่พร่ำเพ้อราวกับคนสติวิปลาสอยู่อย่างนั้นว่ามีคนจ้องล้มสถาบัน แก้ไขกฎหมาย 112 เท่ากับล้มเลิกสถาบัน ผู้บังอาจจะเสนอแก้ไขกฎหมายจะต้องมีความผิดตามกฎหมาย ให้ใช้รัฐธรรมนูญปิดปากพวกเขาเสีย ท่านผู้เจริญ รัฐธรรมนูญมีไว้ประกันสิทธิเสรีภาพมิใช่หรือ ? ใยท่านเสนอให้ใช้ปิดปากคนได้ ท่านไม่ได้ยินได้ฟังสิ่งที่คนอื่นพูดเลย สิ่งที่ท่านพูดออกมามันคือสิ่งที่ก้องอยู่แต่ในหัวของตัวท่านเอง มันเป็นแค่อาการหลอนทางจิตประสาทอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องจริง หากเปิดใจให้กว้างแล้วจะรู้ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร เพื่อว่าบางคนก็จะได้ไม่เลอะเทอะถึงขั้นจินตนาการไปว่ามีฝรั่งต่างชาติสนับสนุนให้แก้กฎหมายนี้ด้วยหวังจะฮุบบ่อน้ำมันในประเทศไทย ท่านผู้ประเสริฐ ไม่เพียงเรื่องนี้ดูไม่มีความเกี่ยวข้องกันเอาเสียเลย หากแต่ประเทศไทยไม่ได้มีน้ำมันมากมายพอจะให้ใครมาฮุบได้ เรามีบ่อแก๊สบ่อน้ำไม่พอจะเอาสำลีชุบให้เปียกได้ด้วยซ้ำ ลำพังจะใช้ในประเทศยังไม่พอเพียง ท่านยังคิดได้อย่างไรว่ามีใครจ้องล้มล้างระบอบกษัตริย์เพราะอยากได้บ่อน้ำมันของเรา ขอพระเจ้าและพระศาสดาในทุกศาสนาจงประทานสติปัญญาแก่บุคคลเหล่านี้ด้วยเถิด อย่าให้พวกเขาต้องระทมทุกข์อยู่กับความเพ้อเจ้อแบบนี้นานนักเลย

                ท่านทั้งหลายโปรดพิจารณา คนในรัฐบาลยิ่งแสดงอาการของผู้ขาดสติสัมปชัญญะหนักกว่าใครทั้งหมด เพียงเพราะได้ยินว่ามีคนพูดถึงกฎหมายนี้แต่เพียงผิวเผินและแผ่วเบา ท่านก็พากันร้องเสียงหลงราวกับถูกผีเข้าสิงก็ไม่ปาน รัฐบาลที่มาจากการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากมหาประชาชนไฉนเลยไม่มีความกล้าหาญสักเพียงน้อยนิดที่จะริเริ่มทำสิ่งที่จะนำพามาซึ่งความก้าวหน้าและวัฒนาถาวรของสถาบันหลักของชาติ เราจะมีรัฐบาลที่ขลาดเขลาเยี่ยงนี้ไปทำไปกัน

                ทอดตาไปทั่วแผ่นดินจะหาใครเป็นที่พึ่งก็ไม่ได้ เห็นทีราษฎรผู้จงรักภักดีทั้งหลาย ควรจะได้รวมตัวกัน เข้าชื่อกันให้มาก เสนอร่างแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้คนพาลสันดานหยาบแอบอ้าง พระนาม พระยศ พระเกียรติมาเป็นเครื่องมือของตนห้ำหั่นราษฎรด้วยกันเองให้เป็นที่เสื่อมเสียได้อีกต่อไป

                หากแม้นในวันนี้จักต้องประสบกับความล้มเหลว แต่ทั่วพิภพก็จะรับรู้ว่าบัดนี้กลจักรแห่งความเปลี่ยนทางสังคมได้อุบัติขึ้นแล้ว และจะดำรงอยู่เพื่อความวิวัฒนาถาวรของโลกสืบไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทกวีจากคุกแดนสวรรค์ สมยศ พฤกษาเกษมสุข: 'อนิจจา'

Posted: 25 Jan 2012 05:38 AM PST

'อนิจจา'

 

 

อนิจจาครานี้นะตัวกู

มาอ้างว้างค้างอยู่กลางคุกใหญ่

เหมือนเป็นเหยื่อเสือสางกลางไพร

เป็นหรือตายไม่รู้หมู่หรือจ่า

 

ถูกจับโยนมานครสวรรค์

สารพันคนคุกทุกข์หนักหนา

แออัดยัดเยียดเบียดบีฑา

ตายห่าบ้าบอขอสู้ต่อไป

 

มีหลายคนให้พลังยังชีวิต

มีมิ่งมิตรปลอบขวัญปันน้ำใจ

ทั้งไทยเทศติดต่อก่อสายใย

คือหลักชัยที่หมายปองของคนไทย

 

แม้สองตีนติดตมจมโคลนอยู่

สองตายังแหงนดูดวงดาวได้

ถึงตกอับดับขันธ์อายุขัย

ไม่หวั่นไหวแม้มืดไกลยาวนาน

 

 

หมายเหตุ : สมยศ พฤกษาเกษมสุข เขียนกวีบทนี้ขณะทำการสืบพยานที่ศาลจังหวัดนครสวรรค์เมื่อวันที่ 16 ม.ค.55 และมอบเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่มาให้กำลังใจในวันนั้น โดยในวันที่ 13 ก.พ.ศกนี้ สมยศมีนัดสืบพยานอีกครั้งที่ศาลจังหวัดสงขลา

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สนธิมอบตัวศาล-หลังไม่ไปฟังคำพิพากษา

Posted: 25 Jan 2012 05:37 AM PST

ทนายสนธิขอเลื่อนอ่านคำพิาพากษาคดี พ.ร.บ.หลักทรัพย์เมื่อ 19 ม.ค. ศาลเห็นว่าเลื่อนฟังคำพิพากษามาแล้วหลายครั้ง จึงมีคำสั่งออกหมายจับ เจ้าตัวรีบเข้ามอบตัว ศาลมีคำสั่งปรับ 4 พัน พร้อมกำชับให้ไปฟังคำพิพากษา 28 ก.พ. นี้

เว็บไซต์ นสพ.ข่าวสด รายงานว่า ศาลอาญาเมื่อวันที่ 23 ม.ค. นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เข้ามอบตัวต่อศาล หลังถูกศาลออกหมายจับในคดีหมายเลขดำ อ.1036/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1 เป็นโจทก์ ฟ้อง นายสนธิ กับพวกรวม 4 คน เป็นจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรณีร่วมกันลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัทเมเนเจอร์ มีเดียร์ กรุ๊ป เหตุเกิดระหว่างวันที่ 8-31 ต.ค.39

โดยเมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา ศาลนัดอ่านคำพิพากษาในคดีดังกล่าว แต่ปรากฏว่านายสนธิ ส่งทนายมาขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษา อ้างว่าต้องเดินทางไปรักษาตัวด้วยวิธีฝังเข็มที่ประเทศจีน แต่ศาลเห็นว่าจำเลยเลื่อนฟังคำพิพากษามาแล้วหลายครั้ง จึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับนายสนธิ พร้อมนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 28 ก.พ.55 เวลา 09.00 น. ภายหลังเข้ามอบตัวศาลมีคำสั่งปรับนายสนธิ จำนวน 4,000 บาท พร้อมกำชับให้ไปฟังคำพิพากษาตามวันที่นัดหมาย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วาด รวี: ซ้าย–ขวา กับตำแหน่งของจุดยืนทางการเมือง

Posted: 25 Jan 2012 05:31 AM PST

คำว่า “ซ้าย” และ “ขวา” เป็นคำเรียกทั่วไปเพื่อระบุตำแหน่งของแนวคิดทางการเมือง หรือกลุ่มการเมือง ว่ามีความโน้มเอียง หรือเข้าใกล้ขั้วความคิดใดระหว่างการผูกขาดอำนาจอย่างเด็ดขาด (ขวาสุด) และไม่มีการผูกขาดอำนาจเลย (ซ้ายสุด)

ในประวัติศาสตร์การเมืองของโลก เมื่อเอ่ยถึง “ขวาสุด” ก็มักจะนึกถึง เผด็จการฟาสซิสม์ เช่น นาซี เป็นต้น ซึ่งนอกจากมีลักษณะผูกขาดอำนาจอย่างเด็ดขาด และมีอุดมการณ์ชาตินิยมอย่างเข้มข้นแล้ว ยังเชื่อว่าหนทางดังกล่าวคือวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการขยายสิทธิในการถือครองกรรมสิทธิ์ของเอกชน  ส่วนฝ่าย “ซ้ายสุด” นั้น ก็มักจะนึกถึง คอมมูนิสต์ ซึ่งต้องการสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมกันในมิติทางเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องการให้มีระบบการถือครองกรรมสิทธิ์หลงเหลืออยู่เลย ซึ่งก็ถูกมองว่าสุดขั้วไปอีกทางหนึ่ง

“ซ้าย” และ “ขวา” จึงเป็นคำกว้าง ๆ ที่ใช้เป็นกรอบในการกล่าวถึงกลุ่มการเมือง และแนวคิดทางการเมือง เพื่อไล่ระดับให้เห็นตำแหน่งของสิ่งเหล่านั้นในท่ามกลางบริบทที่ขัดแย้งกันอยู่ในสังคมนั้น ๆ ว่าแต่ละกลุ่มอยู่ตรงจุดใดของเส้นซึ่งปลายข้างหนึ่งอาจจะคือ ฟาสซิสม์ และ ปลายอีกข้างอาจจะคือ คอมมูนิสต์  การเรียกกลุ่มการเมืองหรือแนวคิดทางการเมืองใด ๆ ว่า ซ้าย หรือ ขวา จึงขึ้นอยู่กับบริบทของกลุ่มการเมืองนั้น ๆ หรือบริบทของแนวคิดนั้น ๆ เป็นหลัก และไม่มีความหมายตายตัว เช่น ในสังคมที่มีเพียงแนวความคิดคอมมูนิสต์กับสังคมนิยมอยู่เพียงแค่สองแนวคิด ก็ต้องนับว่า คอมมูนิสต์คือปีกซ้าย ขณะที่สังคมนิยมคือปีกขวา

คำว่า ซ้าย และ ขวา ในยุโรปปัจจุบันมีชนชั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการแบ่งแยก  ฝ่ายซ้ายมักหมายถึงแนวคิดที่ใฝ่หาความเป็นธรรมในสังคม ขณะที่ฝ่ายขวามักหมายถึงแนวคิดที่ต้องการปกป้องทรัพย์สินเอกชนและระบบทุนนิยม

นิยามดังกล่าวข้างต้นของยุโรปนี้ มีความแตกต่างจากสถานการณ์ดั้งเดิม อันเป็นจุดกำเนิดของคำว่า ซ้าย และ ขวา ที่แท้จริงเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน

รากเหง้าของคำว่า ซ้าย และ ขวา นั้น กำเนิดขึ้นระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส  โดยคำนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี 1789  ซึ่งเป็นปีแรกของการปฏิวัติฝรั่งเศส  เมื่อมีการประชุมสภาฐานันดรทั่วไป

การประชุมสภาฐานันดรทั่วไปเกิดขึ้นจากการกดดันของ “ฐานันดรที่สาม” ซึ่งเป็น “คนกลุ่มใหม่” ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิทางการเมือง คนกลุ่มนี้ประกอบไปด้วย พ่อค้า นายธนาคาร นักอุตสาหกรรม เกษตรกร ลูกจ้าง

ฝรั่งเศสขณะนั้นปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ โดยฐานันดรที่มีสิทธิทางการเมือง และมีสิทธิ์ออกเสียงในสภามีเพียง ขุนนาง และ พระ เท่านั้น เมื่อกลุ่มคนที่เรียกว่าฐานันดรที่สามลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิทางการเมือง ในที่สุดพระเจ้าหลุยส์ก็ยินยอมให้มีการเลือกตั้งซึ่งก็มีผู้แทนฐานันดรที่สามได้รับเลือกตั้งถึง 579 คน (จากสมาชิกสภา 1,154 คน)

ในการประชุมสภาฐานันดรทั่วไป (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสภาแห่งชาติ) นั้นเองที่ ผู้ที่เลือกที่นั่งทางฝั่งขวาส่วนใหญ่เป็นตัวแทนของขุนนาง พระ และข้าราชการ ซึ่งมีจุดยืนอยู่ที่การปกป้องระบบทรัพย์สินของตน และมีความเห็นว่าขุนนางและพระจะต้องมีสิทธิทางการเมือง “มากกว่า” คนอื่น ส่วนผู้ที่นั่งทางฝั่งซ้ายส่วนใหญ่คือผู้แทนฐานันดรที่สามที่สนับสนุนนโยบายเสรีนิยมของพระเจ้าหลุยส์ ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบทรัพย์สิน ขจัดอภิสิทธิ์ของขุนนางและพระ  และต้องการจำกัดอำนาจทางการเมืองของกษัตริย์

“เราเริ่มที่จะจำกันได้ สำหรับผู้ที่ภักดีกับศาสนาและกษัตริย์ไปนั่งทางฝั่งขวา เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงเสียงตะโกน, สบถสาบาน และความสัปดนซึ่งครื้นเครงกันอยู่ที่ฝั่งตรงข้าม”

ข้างต้นคือคำพูดที่มีชื่อเสียงของ Baron de Gauville ซึ่งกล่าวในสภาแห่งชาติ

คำว่า ซ้าย ในสังคมไทยมักใช้กันอย่างสับสน โดยส่วนใหญ่มักจะหมายถึงมาร์กซิสม์ หรือไม่ก็ปัญญาชนที่เคยเคลื่อนไหวและหนีเข้าป่าในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาคมระห่าง ปี 2516 – 2519 และพรรคคอมมูนิสต์แห่งประเทศไทย

จริง ๆ แล้วปัญญาชนในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาคมที่เป็นมาร์กซิสม์ขณะนั้นอาจจะแทบไม่มีเลย ขณะเดียวกันคนที่เป็นเสรีนิยมก็มีเป็นจำนวนน้อยเท่านั้น

ฝ่ายซ้ายของไทยโดยภาพรวม นับจากอดีตถึงปัจจุบัน ก็คือทั้งฝ่ายที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยม มาร์กซิสม์ และคอมมูนิสต์ ขณะที่ฝ่ายขวาคือคนที่มีแนวคิดแบบจารีตนิยม กษัตริย์นิยม ส่วนฝ่ายที่อยู่กลาง ๆ หน่อยอาจจะเรียกได้ว่าเป็นคนที่มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งคนที่เป็นฝ่ายซ้ายในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลา ในปัจจุบันก็มีเป็นจำนวนไม่น้อยที่กล่าวได้ว่ามีแนวคิดทางการเมืองที่ตั้งอยู่ตรงพิกัดเดียวกับอนุรักษ์นิยม คืออยู่ระหว่าง ผู้ที่มีแนวคิดเสรีนิยมและสังคมนิยมซึ่งเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง กับ ผู้ที่มีแนวคิดแบบจารีตนิยม กษัตริย์นิยม ซึ่งต้องการรักษาอำนาจและระบบเดิมเอาไว้

ปัญหาสำคัญที่สร้างความสับสนในการทำความเข้าใจกับตำแหน่งของแนวคิดทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่ความสับสนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง และทำให้เกิดวิธีคิดวิธีนิยามที่สะเปะสะปะ ก็คือ คนส่วนใหญ่มักใช้คำว่า ซ้าย ให้เป็นความหมายเดียวกับ มาร์กซิสม์ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ และเป็นคนละเรื่องกัน

ดังที่กล่าวไปแล้ว คำว่า ซ้าย นั้นเกิดตั้งแต่ปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนที่มาร์กซจะเกิดหลายสิบปี  ซึ่งรากเหง้าของคำว่าฝ่ายซ้ายในทางการเมือง ก็คือ ฝ่ายที่เรียกร้องให้มีสิทธิทางการเมืองเท่ากัน ในสถานการณ์ที่ กษัตริย์ ขุนนาง พระ ข้าราชการ มีสิทธิทางการเมืองแต่เพียงฝ่ายเดียว  พร้อมกันนั้นฝ่ายซ้ายก็ต้องการที่จะจำกัดอำนาจของกษัตริย์จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy)  ซึ่งนิยามต้นกำเนิดนี้ นับว่าแตกต่างจากคำว่า “ซ้าย” และ “ขวา” ในสังคมการเมืองยุโรปปัจจุบันดังที่กล่าวมาข้างต้น

เหตุที่นิยามของคำในยุโรปปัจจุบันไม่ได้มีความหมายเดิมเหมือนตอนปฏิวัติฝรั่งเศสอีกต่อไป ก็เพราะประเทศเหล่านี้ได้ข้ามผ่านปัญหาเรื่องสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย  บางประเทศผ่านไปโดยที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์อีกต่อไป ขณะที่บางประเทศก็ผ่านไปโดยที่สถาบันกษัตริย์สามารถปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับระบอบประชาธิปไตยได้อย่างราบรื่น ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างแท้จริง และปล่อยให้หลักการของระบอบประชาธิปไตยทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อม ๆ กับยอมรับและยอมอยู่ใต้อาณัติของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ซึ่งเป็นหลักการที่สถาปนาความเป็นสมัยใหม่

ส่วนเหตุที่คำว่า “ซ้าย” ในสังคมไทยมักจะใช้กันอย่างสับสนก็เพราะหลงคิดว่าสังคมของเราได้ก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่เช่นเดียวกับยุโรปแล้ว ซึ่งไม่จริง และเป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่สำนึกในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ไม่ได้เป็นสำนึกที่แท้จริงของสังคม และยังไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยได้ ความเป็นสมัยใหม่นั้นเป็นไปไม่ได้พอ ๆ กับความเป็นมาร์กซิสม์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักปรัชญาชายขอบ: คู่มือปกป้องสถาบัน

Posted: 25 Jan 2012 05:22 AM PST

เป็นความจริงว่า คนไทยส่วนใหญ่รักเจ้า แต่ก็อาจมีคนบางส่วนไม่รักเจ้า ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เราสามารถเข้าใจได้ และควรยอมรับความรู้สึกที่แตกต่างกันของผู้คนในสังคมได้  

ในสถานการณ์ปัจจุบันความเห็นต่างในเรื่อง “การปกป้องสถาบัน” มีสองฟาก คือ

ฝ่ายที่เห็นว่า ควรแก้ไข ม.112 และปฏิรูปกติกา โครงสร้าง อุดมการณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์ 2475 ทั้งนี้เพื่อให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง หรือพ้นไปจากการเมือง ปิดประตูการใช้สถาบันเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง และ/หรือเป็นเครื่องมือทำรัฐประหารโดยสิ้นเชิง

อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ม.112 ไม่มีปัญหา ไม่ควรแก้ และไม่ควรปฏิรูปกติกา โครงสร้างใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และเห็นว่าเป็น “ภารกิจ” ที่พวกตนต้องออกมาคัดค้านข้อเสนอของฝ่ายแรก ภารกิจนี้ คือ “ภารกิจปกป้องสถาบัน”

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมองอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ฝ่ายแรกก็ไม่ได้คิดจะล้มเจ้า ก็ยังยืนยันว่าสถาบันกษัตริย์ยังมีคุณค่าต่อสังคมไทย สถาบันกษัตริย์ต้องดำรงอยู่ต่อไป แต่ต้องอยู่เหนือการเมืองจริงๆ แบบอารยประเทศ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น เป็นต้น และฝ่ายหลังก็ยืนยันว่าต้องมีสถาบันเช่นกัน

แล้วทำไมจึงขัดแย้งกันเรื่องปกป้องสถาบัน?

เพื่อแก้ปัญหานี้ ผมจึงขอเสนอ “คู่มือการปกป้องสถาบัน” ซึ่งมีหลักปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

ก. มาตรการเชิงลบ (negative) ต้องไม่ทำต่อไปนี้
1. ต้องไม่ใช้สถาบันเป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น ไม่อ้างสถาบันทำลายศัตรูทางการเมือง ไม่เรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหารเพื่อปกป้องสถาบัน

2. ต้องไม่ใช้ข้อหา “ล้มเจ้า” กับฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมือง และ/หรือใช้ ม.112 ไล่ล่าแม่มด

3. ต้องไม่กล่าวหากันในเรื่องเนรคุณ ไม่จงรักภักดี ไม่เข้าใจความเป็นไทย ไม่ใช่คนไทย หรือไล่คนเห็นต่างออกนอกประเทศ และ/หรือหยิบยกเรื่องส่วนตัวใดๆ ของฝ่ายคิดต่างเห็นต่างมาโจมตี 

4. ทหารต้องหยุดอ้างสถาบันทำรัฐประหารตลอดไป ต้องเข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์ในโลกสมัยใหม่จะมั่นคงอยู่ได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ “ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย” อย่างแท้จริงเท่านั้น การอ้างสถาบันเพื่อสร้างระบอบเผด็จการเป็นการทำลายสถาบันและประชาธิปไตยอย่างอำมหิตที่สุด!

ข. มาตรการเชิงบวก (positive) ต้องทำต่อไปนี้
1. ต้องมีขันติธรรม (tolerance) ในการเผชิญกับความเห็นต่างทางการเมือง พยายามฟังความคิดต่าง เห็นต่าง ฟังให้ได้ศัพท์ จับประเด็น ข้อเสนอ หลักการ เหตุผล ของอีกฝ่ายให้ชัด แล้วโต้แย้งกันด้วยเหตุผลเท่านั้น ไม่หาช่องทางเอาผิดทางกฎหมายกับฝ่ายตรงข้ามโดยเด็ดขาด

2. ต้องเปิดเวทีสาธารณะถกเถียงกันด้วยเหตุผลอย่างถึงที่สุดว่า สังคมไทยควรอยู่กันด้วยอุดมการณ์แบบไหน ระหว่าง “อุดมการณ์กษัตริย์นิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์กำกับประชาธิปไตย” (หมายถึง อุดมการณ์ของการปกครองที่สถาบันกษัตริย์แตะต้องไม่ได้แบบกษัตริย์ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีอำนาจเหนือประชาธิปไตย และถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง และการทำรัฐประหารอย่างที่เป็นมาตลอด) กับ “อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” (หมายถึงอุดมการณ์ของการปกครองที่สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและการทำรัฐประหารอีกต่อไป ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง ตามเจตนารมณ์ 2475)

3. ต้องนำข้อสรุปที่ได้จากการถกเถียงตามข้อ 2 เข้าสู่กระบวนการทำประชาพิจารณ์ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอของฝ่ายใด กระบวนการของรัฐสภาต้องรับไปดำเนินการต่อตามเจตจำนงทั่วไปของประชาชน  

ถ้าทุกฝ่ายยึดถือปฏิบัติตาม “คู่มือปกป้องสถาบัน” ฉบับนี้อย่างเคร่งครัด สถาบันกษัตริย์จะดำรงอยู่อย่างมั่นคงคู่กับความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และประชาชนเป็น “เจ้าของอำนาจอธิปไตย” อย่างแท้จริง ตลอดไป

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การผูกขาดธุรกิจพลังงานไทยของ ปตท. และชะตากรรมคนไทย

Posted: 25 Jan 2012 05:16 AM PST

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา  มีการถกเถียงกันอย่างมากเกี่ยวกับการขึ้นราคาก๊าซ NGV โดยส่วนตัวของผู้เขียน  เห็นด้วยว่า  นโยบายการอุดหนุนก๊าซ NGV และ LPG นั้นไม่ยั่งยืน เพราะราคาขายปลีกที่ถูกกว่าราคาตลาดทำให้มีการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง  รวมทั้งมีการลักลอบนำก๊าซ LPG ออกนอกประเทศทำให้เป็นรูรั่วทางการเงินที่อุดเท่าไรก็ไม่พอ

แต่ประเด็นที่เป็นข้อกังขาของสาธารณชน คือ ต้นทุนของก๊าซ NGV และ LPG ที่แท้จริงนั้นคือเท่าไร  เพราะดูเหมือนประชาชนจะถูกมัดมือชกเนื่องจากราคาขายปลีกที่ทางกระทรวงพลังงานอ้างถึงนั้นล้วนเป็นราคาที่ “บวกต้นทุน” ของผู้ประกอบการ  มิใช่ราคาตลาดเนื่องจากตลาดพลังงานไทยเป็นตลาดที่ผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำแบบเบ็ดเสร็จโดย ปตท. และ บริษัทในเครือ ทำให้ไม่มีราคาตลาดที่สามารถอ้างอิงได้  มีแต่ตัวเลขต้นทุนที่ “ที่ปรึกษา” ของ กระทรวงพลังงานคำนวณขึ้นมา  ซึ่งในกรณีของราคา NGV ที่เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ คือ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย  ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ชั้น 18 ของตึก ปตท.ที่ถนนวิภาวดีรังสิต และมีอดีตผู้บริหาร ปตท. รวมถึง คุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เป็นกรรมการมูลนิธิสถาบันแห่งนี้อีกด้วย

โดยหลักการแล้ว  รัฐควรทำหน้าที่ในการกำกับดูแลธุรกิจผูกขาดเพื่อคุ้มครองประชาชน  แต่แนวนโยบายด้านพลังงานตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันกลับสะท้อนว่ารัฐอยู่ข้างผู้ประกอบการซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็น (1) การงุบงิบโอนโครงข่ายท่อก๊าซที่ผูกขาดให้แก่ บมจ. ปตท. (รวมทั้งสิทธิประโยชน์ทุกประการที่ ปตท. เคยได้รับ) ในช่วงที่มีการนำ ปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี พ.ศ. 2544 (2) การขึ้นราคาก๊าซ LPG เพียงกิโลกรัมละ 1 บาทสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ จัดเก็บเพิ่มขึ้นถึง 12 บาท และ (3) การเปิดทางให้ ปตท. เข้าเทกโอเวอร์ธุรกิจกลั่นน้ำมันหลายแห่งจนกระทั่ง ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทกลั่นน้ำมัน 5 แห่งใน 6 แห่ง (เหลือเพียง เอสโซ่ แห่งเดียวเท่านั้นที่ยังไม่ถูกเทคโอเวอร์)  ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทในเครือผูกขาดธุรกิจการกลั่นน้ำมันโดยมีส่วนแบ่งตลาดการกลั่นน้ำมันสูงถึงร้อยละ 85  อนึ่ง การผูกขาดธุรกิจกลั่นน้ำมันส่งผลให้เกิดการผูกขาดในธุรกิจต่อเนื่องคือ ธุรกิจปั๊มน้ำมันด้วย  ทุกวันนี้  ท่านผู้อ่านแทบจะไม่พบเจอปั๊มน้ำมันอิสระเลย  ที่เหลืออยู่ก็อยู่ในสภาพที่ร่อแร่เพราะไม่มีโรงกลั่นน้ำมันของตนเอง  ต่างกับแต่ก่อนที่เราจะเห็นปั๊มน้ำมันที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เชลล์ Jet คาลเท็กซ์ หรือ เอสโซ่ ก็ดี

การที่รัฐบาลเลือกที่จะเข้าข้าง ปตท. ตลอดมาเป็นสิ่งที่คาดเดาได้  (สำหรับระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบไทยๆ) เนื่องจากกำไรอันมหาศาลของ ปตท. (ปี พ.ศ. 2553 กำไร 167,376 ล้านบาท) นั้นเป็นขุมทรัพย์ของผู้กุมอำนาจนโยบายทั้งที่เป็นนักการเมืองและข้าราชการประจำ  หากท่านเข้าไปดูโครงสร้างกรรมการ ปตท. ทุกยุคทุกสมัย  ก็จะพบแต่ข้าราชการกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ สำนักงานอัยการ เป็นหลัก [1] โดยมีนักธุรกิจที่มีสายโยงใยกับการเมืองเข้ามาร่วมด้วย  เช่นในปัจจุบันก็มีนักธุรกิจสายโทรคมนาคมเข้าเป็นกรรมการ ปตท.  ไม่น่าเชื่อว่าธุรกิจที่มีรายได้เกือบล้านล้านบาท จะไม่มี “มืออาชีพ” ทางด้านพลังงาน กฎหมายพลังงาน หรือ ธุรกิจพลังงานที่เข้ามาบริหารจัดการเลย 

นอกจากนี้แล้ว รายงานการวิจัยของ ดร. ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ [2] ยังระบุว่าค่าตอบแทนคณะกรรมการของ ปตท. ในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งสูงถึง 42 ล้านนั้น (หรือกรรมการท่านละเกือบ 3 ล้านบาท) สูงกว่าของค่าใช้จ่ายในหมวดเดียวกันนี้ของ Statoil ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของนอร์เวย์ซึ่งมีรายได้ธุรกิจเป็นสองเท่าของ ปตท. และมีการประชุมกรรมการถึง 27 ครั้งต่อปี  ทำให้เกิดความสงสัยว่าค่าตอบแทนสูงลิ่วนั้นเป็นไปเพื่อที่จะ “ซื้อใจ" กรรมการซึ่งล้วนแต่เป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของ ปตท. หรือไม่ 

ผู้เขียนมีความเห็นว่า  การ “ผูกขาดโดยเสรี” ของ ปตท. เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของเศรษฐกิจของประเทศไทย  ยิ่งในยุคที่ราคาน้ำมันแพง  ประเทศยิ่งต้องขวนขวายในการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดหาแหล่งพลังงานเพื่อที่จะประหยัดเงินตรา  แต่ระบบที่ผูกขาดแบบสมบูรณ์ที่เป็นอยู่ไม่เอื้อต่อสิ่งเหล่านี้เลย  ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นคือ ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานที่กำกับดูแลต่างก็ดูเหมือนจะไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับปัญหานี้เลย  ผู้กำหนดนโยบายและกำกับดูแลก็ดูเหมือนจะเข้าไปมีส่วนได้เสียกับ ปตท. เกือบหมด ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในฐานะผู้ซื้อก๊าซรายใหญ่ก็ไม่แยแสต่อราคาค่าก๊าซที่รับซื้อเพราะต้นทุนทั้งหมดสามารถ “ผ่านต่อ” ไปยังค่าไฟฟ้าซึ่งผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระ  ในขณะที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลมิให้เกิดการผูกขาดในธุรกิจพลังงานก็มิได้ดำเนินการแต่อย่างใดเพื่อที่จะสลายอำนาจผูกขาดของ ปตท. เช่น โดยการออก กฎ กติกาเพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถเชื่อมต่อและเช่าใช้โครงข่ายท่อก๊าซที่ ปตท. ผูกขาดในปัจจุบันแม้จะปฏิบัติหน้าที่มาแล้วถึง 4 ปี

ผู้เขียนยังไม่เห็นว่าจะมีรัฐบาลไหนที่จะกล้าหรืออยากที่จะสลายขุมทรัพย์ของ ปตท. เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ  แต่ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าการผูกขาดของ ปตท. นั้นเป็นเพียงระเบิดเวลา  เพราะความไม่พอใจนั้นยิ่งนับวันยิ่งแพร่หลายในกลุ่มประชาชนในวงกว้างมากขึ้นดังที่สะท้อนจาก blog ต่างๆ หรือ comment ในบทความในสื่อที่เกี่ยวกับ ปตท. ไม่ว่าจะหนังสือพิมพ์ฉบับใดๆ เป็นมุมมองในด้านลบเกือบทั้งหมด  ความไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้นก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนแล้วเมื่อแผนที่จะลดการถือหุ้นของภาครัฐใน ปตท. ให้เหลือร้อยละ 49 นั้นเป็นอันต้องพับไป 

ผู้เขียนหวังว่ารัฐบาลคงจะตระหนักถึงปัญหาที่กล่าวมานี้ และคลายข้อกังขาของสาธารณชนโดยการให้กระทรวงพลังงานออกมาชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการคำนวณต้นทุนก๊าซ NGV และ หลักเกณฑ์ในการขึ้นราคาก๊าซ LPG ที่ดูเหมือนจะเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจปิโตรเคมีโดยเฉพาะ  ตามที่ คุณ รสนา โตสิตระกูล สว. กทม. และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ตั้งคำถาม  ชะตากรรมของคนไทยและธุรกิจไทย (ที่ไม่ผูกขาด แต่ต้องแข่งขัน) จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทนอยู่กับระบบที่มีอยู่ไปได้อีกนานเพียงใด.

 



[1] เมื่อปลายปี พ.ศ. 2553 ปปช. ได้มีข้อเสนอแก่ ครม. มิให้แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุม กำกับ ทั้งด้านนโยบายและด้านการปฏิบัติ เป็นประธานกรรมการ และ เจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเป็นประธานหรือกรรมการรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทในเครือ ด้วยเหตุผลของการทับซ้อนของบทบาทหน้าที่และผลประโยชน์ทางการเงิน

[2] บทที่ 5 กรณีศึกษาบริษัท ปตท (มหาชน) จำกัด ใน รายงานฉบับสมบูรณ์  “ธรรมาภิบาลในองค์กรของรัฐ: กรณีศึกษารัฐวิสาหกิจไทย” สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 2552               

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ ‘ชิ’ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ : พี่น้องกะเหรี่ยงแก่งกระจานจะไม่ถูกโดดเดี่ยว

Posted: 25 Jan 2012 05:02 AM PST

 

ร้อง ‘แก่งกระจาน’ ขับไล่โหด เผาบ้านกะเหรี่ยง
"กรมอุทยาน" รับ เผาจริง บ้านชาวกะเหรี่ยง "อุทยานแก่งกระจาน"                               

หลายคนคงจำข่าวนี้กันได้ ว่ากันว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีนโยบายขับไล่และจับกุมชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน ฝั่งติดชายแดนพม่า โดยใช้วิธีเผาบ้าน เผายุ้งข้าว และสิ่งปลูกสร้างของชาวกะเหรี่ยง มาตามลำดับ กระทั่งช่วงวันที่ 5-9 พ.ค. 2554 มียุ้งข้าวของชาวกะเหรี่ยงถูกทำลาย 98 หลัง และวันที่ 23-26 มิ.ย. 2554เผาเพิ่มเติมอีก 21 หลัง ใน 14 จุด ทั้งยังยึดทรัพย์สินต่างๆ ด้วย อาทิ มีด แห เคียว เกลือ ขวานเงิน สร้อยลูกปัด กำไลข้อมือ และเครื่องดนตรีของชาวกะเหรี่ยง จนถึงปฏิบัติการเมื่อวันที่ 11-14 ก.ค. 2554ที่ผ่านมา ยังคงใช้วิธีเผาบ้าน เผายุ้งข้าว และสิ่งปลูกสร้างของชาวกะเหรี่ยงเหมือนเดิมจากเหตุการณ์นั้น นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ออกมาชี้แจงยอมรับกับสื่อว่า การเผาบ้านหรือกระท่อมของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานว่า เผาจริง!                  

ต่อมา นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า ปฏิบัติการดังกล่าวของทางอุทยานแก่งกระจานเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายอาญาและขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอของบุคคล เพราะมีการเผาทำลายที่พักและผลักดันชาวกะเหรี่ยงออกนอกพื้นที่อยู่อาศัย ทั้งๆ ที่มีหลักฐานว่า ชาวกะเหรี่ยงแถบป่าแก่งกระจานเป็นชนพื้นเมืองอาศัยอยู่บริเวณนี้มาหลายร้อยปี                     

ที่สำคัญและเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้ นั่นคือเมื่อพี่น้องกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก บางกลอย จำนวนประชากรมากถึง 1,048 คน ต้องกลายเป็นคนไร้ที่อาศัยและขาดแคลนอาหาร เมื่อชีวิตตกอยู่ในความหิวและความหวั่นหวาดขลาดกลัว ยากยิ่งที่พี่น้องกะเหรี่ยงทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทยจะทนดูดายนิ่งเฉยต่อไปไม่ได้ ทำให้หลายชุมชนบนดอยทางภาคเหนือ ได้ระดมขนข้าวสาร ข้าวเปลือกลงจากดอยวันแล้ววันเล่า เอามารวมกันในเมืองเชียงใหม่ มากกว่า 40 ตัน ก่อนจะหาทางขนส่งลงไปช่วยเหลือพี่น้องกะเหรี่ยงแก่งกระจานต่อไป จนกลายเป็นที่มาของ ‘คอนเสิร์ตเสียงเผ่าชน 3.5  เพื่อพี่น้องกะเหรี่ยงแก่งกระจาน’ ขึ้นเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ณ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จังหวัดเชียงใหม่                          

‘ชิ’ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินหนุ่มปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยงที่หลายคนรู้จักมักคุ้นกันดี เป็นหนึ่งในกำลังหลักที่ทำให้เกิดกิจกรรมวัฒนธรรมในครั้งนี้  โดยมีนักดนตรีประกอบด้วย ทอดด์ ทองดี, วงทิพย์, วงสุดสะแนน และนิรมล เมธีสุวกุล จากรายการพันแสงรุ้ง เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วยความเต็มใจ

อยากทราบที่มาของการจัดคอนเสิร์ตเสียงเผ่าชน 3.5 ว่าเกิดขึ้นได้ยังไง ?
หลังจากที่ผมกลับจากต่างประเทศ ผมก็ได้ติดตามเรื่องการเผาบ้าน เผายุ้งข้าวพี่น้องกะเหรี่ยงแก่งกระจานมาโดยตลอด และผมก็ทราบว่ามีพี่น้องกลุ่มกะเหรี่ยงภาคเหนือพยายามระดมข้าวเพื่อจะเอาไปให้พี่น้องกะเหรี่ยงที่แก่งกระจาน พอผมกลับมาถึง ก็คุยกันว่า จะส่งข้าวไปยังไง มีงบประมาณในการขนส่งข้าวไปส่งให้พี่น้องที่แก่งกระจานอยู่เท่าไหร่ เขาก็บอกว่ามีเงินอยู่สามพันบาท แล้วข้าวเปลือกที่ระดมกันมีทั้งหมดเท่าไหร่ เขาก็บอกว่ามีข้าวเปลือกจำนวน 37 ตัน และกำลังทยอยนำมาเพิ่มอีกเกือบ 40 ตัน

ปริมาณข้าวที่พี่น้องกะเหรี่ยงภาคเหนือรวบรวมได้นั้นมีจำนวนมากขนาดนั้น แล้วจะขนส่งไปให้พี่น้องกะเหรี่ยงแก่งกระจานได้ยังไง ?
ตอนแรก พี่น้องกะเหรี่ยงทางเหนือ ก็บอกว่าจะไปเรี่ยไรเงิน ขอคนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง ผมก็บอกว่า โอ้ย...ถ้าอย่างนี้คงลำบากละ เพราะกว่าจะได้  ผมก็บอกว่า เราต้องสื่อสารกับพี่น้องเครือข่ายชนเผ่า กลุ่มภาคีที่เคยทำงานร่วมกัน ไม่ว่าคนทำงานศิลปวัฒนธรรม บางคนทำงานภาคประชาชน ให้มาช่วยกันลงขัน ฮอมแรง ฮอมบุญกัน ผมก็เลยเสนอไอเดียว่า น่าจะจัดเป็นกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมขึ้นมา จนกลายเป็นคอนเสิร์ตเสียงเผ่าชนคนต้นน้ำขึ้นมา โดยเราจะนำเงินที่ได้จากการขายบัตรเข้าชมงานไปเป็นค่าพาหนะขนส่งข้าวสารข้าวเปลือกไปให้กับพี่น้องกะเหรี่ยงแก่งกระจาน แล้วเราตอบแทนด้วยเสียงเพลง และแสดงศิลปวัฒนธรรมของคนกะเหรี่ยงให้กับทุกคนที่มาร่วมงานได้ชมกัน

ทราบมาว่าศิลปินนักดนตรีที่มาร่วมงานนั้นต่างมากันด้วยใจและไม่ได้คิดค่าตัวอะไรกันเลย ?
ใช่ครับ คือผมพอจะมีเพื่อน มีสหายที่เป็นนักดนตรีที่พอจะมาร่วมขบวนกับผมได้บ้าง ทุกคนก็บอกว่าถ้าจะจัด คุณลุยแล้วกัน เพราะทุกคนก็บอกว่า หนึ่ง ไม่มีเวลา สอง ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมด้านนี้ ผมก็บอกว่าโอเค ถ้างั้นขอให้ร่วมกับผม ผมทำคนเดียวไม่ได้ ดังนั้น จะเห็นว่า เรามีทั้งเครือข่ายพี่น้องกะเหรี่ยงด้วย ขอแรงจากพี่น้องคนทำงานสื่อ คนทำงานศิลปวัฒนธรรมในเชียงใหม่มาร่วมกัน จึงทำให้เกิดงานนี้ขึ้นมา

แล้วผลการจัดงานเป็นยังไงบ้าง พอจะประเมินได้ไหม ?
ก็รู้สึกว่าหายเหนื่อยเลยครับ เพราะว่ายอดรวมที่ได้มาตอนนี้รวมทั้งค่าบัตรชมงานกับเงินบริจาคก็ได้ประมาณห้าหมื่นหกหมื่นบาท ถ้าเทียบกับงานระดมทุนงานอื่น งานนี้ก็ถือว่ามีพี่น้องมาร่วมลงแรงลงขันกันเยอะ ผมก็รู้สึกหายเหนื่อยเหมือนกันครับ

ในฐานะที่คุณมีเชื้อสายกะเหรี่ยง คุณมองกรณีปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐเผาบ้าน เผายุ้งฉางชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานยังไงบ้าง ?
สำหรับผม ผมมองว่าปัญหาการเผาบ้าน เผายุ้งฉางพี่น้องกะเหรี่ยงแก่งกระจานโดยคนของรัฐนั้น มันเกิดจากการที่เขามองความเป็นมนุษย์ในตัวคนไม่เห็น  เขามองมนุษย์แค่เป็นทรัพยากรหนึ่ง  มองมนุษย์เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง  มองแบบเลือกปฏิบัติ มองแบบพวกเขาไม่ใช่พวกเรา ว่าเขาเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง มองแบบอคติ มองว่าวิถีที่ไม่ตรงตามสิ่งที่เขาคิด ไม่ตรงตามสิ่งที่เขารู้มา ไม่ตรงตามสิ่งที่เขาเรียนมานั่นคือผิดหมด

เพราะการมองแบบนั้น จึงทำให้เขาต้องกระทำในสิ่งที่ขัดและค้านในสายตาของสังคมทั่วไป ?
ใช่ครับ นั่นมันก็เลยส่งผลต่อการกระทำอะไรบางอย่างที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐตัดสินว่า คนอีกกลุ่มหนึ่งมีความผิด คนอีกกลุ่มหนึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการที่เขาได้กำหนดมา แต่แท้ที่จริงแล้ว  ความถูกต้องมันอาจจะมีหลายความถูกต้องก็ได้  มันอาจจะไม่มีความถูกต้องเดียว เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น  ผมคิดว่าเพราะเราไม่ได้มองความเป็นมนุษย์บนฐานของความเป็นมนุษย์เป็นที่ตั้ง จึงทำให้เรามองมนุษย์เชิงเลือกปฏิบัติเยอะเกินไป

ดูเหมือนว่าคุณจะบอกว่าปัญหามันอยู่ที่คนของรัฐและนโยบายของรัฐไทยด้วยใช่ไหม?
แน่นอน ว่า ปัญหามันอยู่ที่ หนึ่งนโยบายของรัฐ สองอคติของสังคมไทย และอคติของคนทำงานของรัฐไทย

แต่ถ้ามองไป กรณีแก่งกระจาน นี้เป็นเพียงกรณีหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายๆ พื้นที่ที่รัฐกระทำกับพี่น้องชนเผ่า คนชายขอบ อยู่ซ้ำๆ?
ถูกต้อง กรณีกะเหรี่ยงแก่งกระจานนั้นเป็นเพียงกรณีศึกษา กรณีหนึ่งเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา มันยังเกิดอีกหลายพื้นที่ และมันอาจจะเกิดประเด็นอื่นอีกก็ได้ อาจจะเป็นปัญหาเรื่องการเกษตร ปัญหาการจัดการที่ดิน หรือแม้กระทั่งเรื่องธุรกิจ  แน่ละ ว่ามันจะมีการเลือกปฏิบัติอย่างนี้เกิดขึ้น ใช้อำนาจของรัฐกีดกันให้คนบางกลุ่มให้ออกไป คล้ายจะบอกว่าในโลกใบนี้ไม่มีหรอก ความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม แล้วก็บอกว่า อยากให้มันออกไปจากสิ่งที่ตัวเองต้องการจะบรรลุ  สิ่งที่ตนเองเชื่อว่า ถ้าทำแล้วมันจะเกิดผลสำเร็จบางอย่าง หรือถ้ามีคนอีกกลุ่มหนึ่งทำอะไรบางอย่างที่แตกต่างจากตนปุ๊บ  ต้องกำจัดมันออกไป         

อย่างไรก็ตาม ผมก็ยอมรับ แล้วก็ดีใจที่ประเทศไทยในช่วงหลังๆ มาโดยเฉพาะยุคนี้ เป็นยุคปฏิรูปหลายสิ่งหลายอย่าง  มันเปลี่ยนแปลงเยอะ แต่ว่าความคิดเดิมๆ อคติเดิมๆ การเลือกปฏิบัติเดิมๆ ก็ยังมีอยู่เยอะเช่นกัน

คุณมองว่าทางออกควรจะเป็นยังไงเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนชนเผ่าในประเทศไทยนับจากนี้ ?
ในความเห็นของผม ทางออกก็คือ หนึ่ง มาสร้างแนวคิดการรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยให้กับคนทำงานภาครัฐให้มากขึ้น คำว่ารวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยในเนื้อเพลงชาติไทยนั้นมันคืออะไร ว่าประเทศไทยแท้ที่จริงแล้วเป็นประเทศวัฒนธรรมเดี่ยวหรือว่าเป็นพหุวัฒนธรรม แล้วก็อีกอย่างหนึ่ง ผมคิดว่าทางออกกรณีเฉพาะของพี่น้องกะเหรี่ยงแก่งกระจาน จะต้องมานั่งคุยกัน มาดูว่า แท้จริงแล้วปัญหาอย่างนี้มันเคยเกิดขึ้นที่ภาคเหนือเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาแล้ว ก็ควรจะมาดูกันสิว่า ฝ่ายรัฐ ฝ่ายทางการได้มีกระบวนการจัดการแก้ไขปัญหาในภาคเหนือกันแบบไหน  มาค้นหาดูสิว่า คุณสามารถจัดการกับป่าได้จริงหรือเปล่า แล้วก็มันมีวิธีการจัดการ องค์ความรู้ การทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและประชาชน ประสบผลสำเร็จที่ไหนบ้าง ที่ไหนที่เป็นรูปธรรม ทำแล้วสำเร็จเอาแม่แบบตัวนั้นมาเรียนรู้ซึ่งกันแล้วกัน แล้วมาจัดการมาดูวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงว่าเป็นยังไง

และกระบวนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะต้องไม่ใช้ความรุนแรงเหมือนกรณีแก่งกระจาน ?
ใช่  คุณจะต้องเข้ามาจัดการแก้ไขตามความเป็นจริงโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง เพราะเรารู้ว่าความรุนแรงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน  แต่มันเป็นแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ  แล้วยิ่งกว่านั้น มันกลับส่งผลร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากขึ้น ดังนั้น วิธีการที่ถูกต้อง คือรัฐจะต้องยุติความรุนแรงทุกประการ

ในฐานะที่คุณเป็นศิลปินชนเผ่าของไทย และมีโอกาสได้เดินทางไปแสดงดนตรีแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในหลายๆ ประเทศ คุณได้เห็นความหลากหลายของเชื้อชาติว่ามีความเหมือนความต่างจากสังคมไทยไหม ?
ผมคิดว่า อย่างประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะทางยุโรป เขาเห็นความเป็นมนุษย์ของคนอื่นๆ พอเขามองเห็นอะไรบางอย่างที่มีความเฉพาะตัว เฉพาะตนและพิเศษกว่าตัวเขา เขาไม่ได้มองความแตกต่างหรือมองว่าเป็นความแปลก แต่เขาจะมองว่านี่คือสิ่งพิเศษและมองว่าคนๆ นั้นมีความพิเศษเฉพาะกว่าคนอื่น เขาจะตื่นเต้น และเขาอยากจะเรียนรู้  ว่ามันคืออะไรก่อน

อย่างปัจจุบัน คนยุโรป ที่ผมได้เดินทางไปมา เช่น อิตาลี สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส แม้กระทั่งเยอรมันที่เคยมีแนวคิดแบบนาซี  แต่พอเขาเห็นปุ๊บ เขาก็ตื่นเต้นที่จะไปเรียนรู้ว่ามันคืออะไร หลังจากนั้น ถ้าเขาเจอสิ่งที่เป็นองค์ความรู้ต่างๆ เขาพร้อมที่จะหนุนเสริม พร้อมที่จะให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

แต่ในขณะที่คนในสังคมไทยจะไม่ใช่อย่างนั้น  จะไม่มองแบบนั้น แต่จะมองคนนั้นว่าคนนั้นมีอะไรที่แตกต่าง เอ๊ะ…เขาเป็นคนอื่น เขาไม่ศิวิไลซ์ เป็นคนดอย เป็นคนนอก เป็นคนชายขอบ ซึ่งผมคิดว่า ประเทศไทยไม่ค่อยเปิดใจสำหรับจะเรียนรู้เท่าไหร่ ประเทศไทยส่วนใหญ่ต้องการให้คนอื่นเปลี่ยนมาเป็นแบบตัวเองมากกว่า ภูมิใจในความเป็นไทย ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ว่าต้องการให้คนอื่นมีความภูมิใจเหมือนตนเองภูมิใจในความเป็นไทยเหมือนกันทุกคนที่อยู่ในประเทศนี้ นอกจากต้องภูมิใจในความเป็นไทยแล้ว ต้องมาเป็นไทยเหมือนเขาด้วย

หมายความว่าลึกๆ ลงไปข้างใน คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังคไม่ยอมรับความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ?
ใช่ครับ ยังไม่ยอมรับความต่าง ความหลากหลายเท่าไหร่ คุณไม่ยอมรับ คุณจึงต้องกระทำความรุนแรงเช่นนั้น โดยไม่ยอมเปิดใจเรียนรู้

แต่ในขณะเดียวกัน หลายหน่วยงานของรัฐมักหยิบเอาความเป็นชนเผ่า ฉวยเอาความเป็นชาติพันธุ์มาเป็นจุดขาย มาโฆษณาจนกลายส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวไปแล้ว?
แน่ละ ในทางตรงกันข้าม บ่อยครั้ง รัฐกลับมองและรู้ว่าความแตกต่างเหล่านั้นมันสามารถขายได้ ขายในเชิงการท่องเที่ยวได้ รัฐก็พยายามส่งเสริมเฉพาะในส่วนที่ขายได้  แต่ไม่ส่งเสริมที่จะเรียนรู้กระบวนการพัฒนาชุดความรู้  จนกลายมาเป็นแบบนี้ ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมืองนั้นมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร มีคุณค่าความหมายอย่างไรไม่สน  สนแต่ว่าตัวนั้นมันขายได้ หยิบตรงใบ ตรงดอก ตรงผลที่มันขายได้ คุณผลิตเอามาให้ผม ผมเอาไปขายอย่างเดียว  แต่เรื่องจิตวิญญาณ เรื่องรดน้ำอย่างไร พรวนดินย่างไร มีสารอาหารอย่างไร ดูแลรักษาอย่างไร ปลูกยังไงไม่สน นี่คือความเป็นไทยในสายตาของสังคมไทย ของรัฐไทยในขณะนี้

หลังจากนี้ คุณและเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย จะขับเคลื่อนยังไงต่อไป กับกรณีปัญหาพี่น้องกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ?
เบื้องตนตอนนี้ เราไม่รู้ว่าพี่น้องกะเหรี่ยงแก่งกระจานได้ทำผิดกฎหมาย หรือถูกกฎหมาย เป็นคนดีหรือคนไม่ดี ยังไงเราไม่สนแล้ว เราสนแค่ว่า ตอนนี้พี่น้องหิวโหย พี่น้องขาดแคลนอาหาร พี่น้องขาดความอบอุ่นทางใจ พี่น้องขวัญหนีดีฝ่อ เบื้องต้น เราจะทำอย่างไรเพื่อปันความอิ่มปันอาหารไปให้เขา                       

ผมอยากจะบอกว่า...คนที่ฆ่าคนตาย ติดคุก ถูกประหารชีวิตนั้น แต่ก่อนที่เขาจะถูกตัดสินจำคุก ประหารชีวิต ยังได้กินข้าวแดงแกงเย็นอย่างน้อยวันละสองมื้อ แต่พวกนี้ พี่น้องกะเหรี่ยงแก่งกระจาน เขายังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ทำไมแม้กระทั่งบ้าน กระท่อมที่อยู่ยังไม่มี ข้าวยังไม่มีจะกิน ดังนั้น เบื้องตนในฐานะกะเหรี่ยงด้วยกัน เราต้องทำให้เขาได้กินก่อน หลังจากนั้น  ก็จะเป็นการเยียวยาทางวัฒนธรรมกันต่อไป

คุณจะเยียวยาด้วยวัฒนธรรมได้อย่างไรบ้าง?
ก็จะไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เรามีเตหน่า แคน มีบทธา(ปรัชญาคำสอนของคนกะเหรี่ยง) อย่างน้อยเราจะเอามาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน อย่างน้อยให้เขารู้ว่า เขาไม่โดดเดี่ยว หลังจากนั้น การพิสูจน์ตัวเอง การทำตามกฎหมาย ค่อยว่ากันอีกขั้นตอนหนึ่ง

จากนั้นคุณและเครือข่ายจะรณรงค์เรียกร้องต่อสู้ในเรื่องสิทธิชนเผ่าอย่างไรต่อไป ?
ผมคิดว่า เราอยากเรียกร้องให้มีการปราศจากความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น นี่คือสิ่งที่เราพยายามจะเรียกร้อง แล้วเราจะนำเสนอข้อมูลสู่สาธารณะว่า มันไม่ใช่เวลาที่จะต้องใช้ความรุนแรง แต่เราเจรจากันด้วยเหตุด้วยผล ใช้หลักการของความจริงมาว่ากัน  คุณสามารถอยู่กับป่าได้ แต่ว่าจะต้องมีวิธีการจัดการเรียนรู้จากอดีตที่ผ่านมา ทั้งในพื้นที่อื่นและในพื้นที่ตรงนั้นด้วย

จากนั้นต่อไป เราอยากขับเคลื่อน ก็คือ การพยายามสร้างพื้นที่ในการเจรจากันระหว่างพี่น้องกะเหรี่ยงแก่งกระจานกับหน่วยงานของทางการ เราไม่ได้บอกว่าหน่วยงานทางการผิด เรารู้ว่าเขาทำหน้าที่ของเขา เขาก็ปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง แต่พี่น้องกะเหรี่ยงก็มีวิถีแบบนั้น ซึ่งเป็นวิถีที่เอื้อต่อทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งพี่น้องกะเหรี่ยงทางเหนือก็ได้พิสูจน์ตัวเองมาเป็นร้อยๆ ปีมาแล้วว่า คนกับป่านั้นอยู่ร่วมกันได้                                       

เพราะฉะนั้นทั้งรัฐกับชาวบ้านจะต้องกลับมาคุยกัน เพราะปัญหาตรงนี้ มันหาทางออกร่วมกันได้.

 

 

หมายเหตุ : งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 20 มกราคม 2555

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรรมการสิทธิมอบรางวัลบุคคลดีเด่นแห่งปี 54 ด้านสิทธิมนุษยชน

Posted: 25 Jan 2012 04:59 AM PST

สุทธิ อัชฌาศัย - ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ - สหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ได้รางวัลด้านส่งเสริม-ปกป้อง-คุ้มครองสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้มีการมอบรางวัล “นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เสียชีวิต” โดยปีนี้มี 7 ราย รวม ทนง โพธิ์อ่าน - สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ฯลฯ ด้วย

เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม ประจำปี 2554 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล ในวันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2555 ณ ห้องเสวนา ชั้น 6 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยจะมีการมอบรางวัลแด่บุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2554 ได้แก่รางวัล “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน” รางวัล “นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เสียชีวิต” รางวัล “สื่อสร้างสรรค์สิทธิมนุษยชน” ดังมีรายชื่อ ดังนี้

1. ประเภทบุคคลชาย ได้แก่ นายสุทธิ อัชฌาศัย
2. ประเภทบุคคลหญิง ได้แก่ นางสาวปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ
3. ประเภทเด็กและเยาวชนชาย ได้แก่ นายนพดล อยู่พรหมแดน
4. ประเภทเด็กและเยาวชนหญิง ได้แก่ นางสาวนริศราวัลณ์ แก้วนพรัตน์
5. ประเภทบุคคลสื่อมวลชน ไม่มีผู้เสนอชื่อ
6. ประเภทองค์กรภาครัฐ ไม่มีองค์กรใดได้รับการคัดเลือก
7. ประเภทองค์กรภาคเอกชน จำนวน ๒ องค์กร ได้แก่

1) กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่
2) ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย

8. ประเภทองค์กรสื่อสารมวลชนหรือรายการที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ได้แก่ รายการคุยกับแพะ

9. รางวัล “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน”
บุคคลชาย จำนวน ๓ คน ได้แก่

1) รองศาสตราจารย์ โคทม อารียา
2) บาทหลวง โจเซฟ เอช ไมเออร์
3) นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว

บุคคลหญิงจำนวน ๒ คน ได้แก่
1) รองศาสตราจารย์ กฤตยา อาชวนิจกุล
2) รองศาสตราจารย์ วไล ณ ป้อมเพชร

10. รางวัล “นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เสียชีวิต” จำนวน ๗ คน ได้แก่

1) นายทนง โพธิ์อ่าน
2) นายทองนาค เสวกจินดา
3) นายทองใบ ทองเปาด์
4) นายนิคม จันทรวิทุร
5) นายสมชาย นีละไพจิตร
6) นายสงวน นิตยารัมภ์พงศ์
7) นางสาววนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์

11. รางวัล “สื่อสร้างสรรค์สิทธิมนุษยชน” จำนวน ๖ รางวัล ได้แก่

1) รายการคนค้นฅน
2) รายการสถานีประชาชน
3) รายการสิทธิวิวาทะ
4) โฆษณาชุด Silence of Love
5) สื่อออนไลน์ Deep South Watch (www.deepsouthwatch.org)
6) สื่อออนไลน์ Thaiflood (www.thaiflood.com) 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กนก รัตน์วงศ์สกุล

Posted: 25 Jan 2012 04:25 AM PST

"อยากถามคนกลุ่มนี้จริงๆว่า พ่อแม่คุณอบรมสั่งสอนหรือเปล่า?"

25 ม.ค. 55, สเตตัสในเฟซบุค ตั้งคำถามต่อกลุ่มที่สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

โพลล์เผย “นักเศรษฐศาสตร์” มอง 5 เดือนรัฐบาล นโยบายพลังงาน “แย่ถึงแย่มาก”

Posted: 25 Jan 2012 04:05 AM PST

ผลสำรวจกรุงเทพโพลล์ ชี้นักเศรษฐศาสตร์ 62.5% ประเมินผลงานด้านพลังงานของรัฐบาลพบอยู่ในระดับ “แย่ถึงแย่มาก” 80.6% เชื่อมีโอกาสมากที่การปรับราคาพลังงานรอบนี้จะสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อระลอกใหม่

 
วันนี้ (25 ม.ค.55) ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ32 แห่ง จำนวน 72 คน เรื่อง “5 เดือนรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ กับนโยบายพลังงาน” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 17 – 24 ม.ค. ที่ผ่านมา พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 66.7 เห็นว่าตลาดน้ำมันสำเร็จรูปของไทยในปัจจุบันยังคงเป็นตลาดผู้ขายน้อยราย (oligopoly) แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยคิดเป็นร้อยละ 22.2 เชื่อว่าเป็นตลาดผูกขาด (monopoly) ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ได้บัญญัติไว้
 
เมื่อสอบถามถึงความเป็นธรรมในระบบการปรับราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในปัจจุบันที่มีต่อผู้บริโภค นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 44.4 เห็นว่าไม่เป็นธรรม โดยให้เหตุผลที่สำคัญว่า ผู้บริโภคไม่ทราบที่มาที่ไปอย่างชัดเจนในการปรับขึ้นราคาน้ำมันแต่ละครั้ง อีกทั้งยังสังเกตเห็นว่าช่วงที่ราคาน้ำมันปรับขึ้นก็จะขึ้นเร็วแต่หากปรับราคาลงก็จะปรับช้า หรือปรับขึ้นครั้งละ 60 สตางค์ต่อลิตรแต่ปรับลงแค่ 50 สตางค์ต่อลิตร ทำให้สามารถสรุปได้ว่าการบิดเบือนราคายังคงมีอยู่ ขณะที่ร้อยละ 23.6 เชื่อว่าระบบการปรับราคาดังกล่าวมีความเป็นธรรม
 
เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับขึ้นราคาก๊าซ NGVเพื่อให้สอดคล้องกับกลไกตลาดและต้นทุนที่แท้จริง นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 66.7 ระบุว่า “เห็นด้วย” ในจำนวนนี้ร้อยละ 50.0 ยัง เห็นด้วยกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 54 ที่ให้ทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซ NGV เดือนละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. ถึง ธ.ค. 55 ขณะที่ร้อยละ 23.6 ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นราคาก๊าซ NGV อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 41.7 เชื่อว่านโยบายการปรับราคาก๊าซ NGV ของกระทรวงพลังงานดังกล่าวมุ่งสนองเป้าหมายเพื่อภาคธุรกิจเป็นหลัก รองลงมาร้อยละ 33.3 เชื่อว่ามุ่งให้เกิดความเป็นธรรมทั้งภาคธุรกิจกับผู้บริโภค
 
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ได้มีการประเมินผลการดำเนินนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 62.5 เห็นว่ามีผลงานอยู่ในระดับแย่ถึงแย่มาก มีเพียงร้อยละ 13.9 เท่านั้นที่เห็นว่ามีผลงานอยู่ในระดับดี
 
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์มากถึงร้อยละ 80.6 เชื่อว่ามีโอกาสมากที่การปรับราคาพลังงาน (น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซ NGV และ LPG) จะสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อระลอกใหม่
 
 
รายละเอียดของผลสำรวจมีดังต่อไปนี้
 
1. ตลาดน้ำมันสำเร็จรูปของไทยในปัจจุบันเป็นตลาดประเภทใด (จัดตามลักษณะการแข่งขัน)
ร้อยละ 0.0        ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (perfect competitive market) ซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก
ร้อยละ 22.2       ตลาดผูกขาด (monopoly) ตลาดที่มีผู้ขายอยู่เพียงคนเดียว ทำให้ผู้ขายมีอิทธิพลเหนือราคาและปริมาณสินค้า อย่างสมบูรณ์ในการที่จะเพิ่มหรือลดราคาและควบคุมจำนวนขายทั้งหมด (total supply) ได้ตามต้องการ
ร้อยละ 66.7      ตลาดผู้ขายน้อยราย (oligopoly) ตลาดประเภทนี้จะมีผู้ขายเพียงไม่กี่ราย และผู้ขายแต่ละรายจะขายสินค้าเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับปริมาณสินค้าทั้งหมดในตลาด ถ้าหากว่าผู้ขายรายใดเปลี่ยนราคาหรือนโยบายการผลิตและการขายแล้วก็จะกระทบกระเทือนต่อผู้ผลิตรายอื่น ๆ
ร้อยละ 4.2       ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (monopolistic competition) ตลาดประเภทนี้มีลักษณะที่สำคัญ คือ มีผู้ซื้อและผู้ขายเป็นจำนวนมาก และทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างมีอิสระเต็มที่ในการที่จะวางนโยบายการขายและการซื้อของตนโดยไม่กระทบกระเทือนคนอื่น
ร้อยละ 6.9        ไม่ตอบ/ไม่มั่นใจ/ไม่ทราบ
 
2. ระบบการปรับราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในปัจจุบันเป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่
ร้อยละ 23.6      เป็นธรรมเพราะ ราคามีการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับกลไกตลาดและต้นทุนที่แท้จริงก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริโภคน้ำมัน
ร้อยละ 44.4    ไม่เป็นธรรม เพราะ
1.          ผู้บริโภคไม่ทราบที่มาที่ไปอย่างชัดเจนในการปรับขึ้นราคาน้ำมันแต่ละครั้ง อีกทั้งยังสังเกตเห็นว่าช่วงที่ราคาน้ำมันปรับขึ้นก็จะขึ้นเร็วแต่หากปรับราคาลงก็จะปรับช้า หรือปรับขึ้นครั้งละ 60 สตางค์ต่อลิตร แต่ปรับลงแค่ 50 สตางค์ต่อลิตร ทำให้สามารถสรุปได้ว่าการบิดเบือนราคายังคงมีอยู่ แม้จะอ้างว่าปรับตามราคาน้ำมันตลาดโลก
2.          ปัจจุบันราคาน้ำมันไม่ได้มีการเคลื่อนไหวเสรีอย่างแท้จริง เพราะ ภาครัฐยังอุดหนุนดีเซล มีการเก็บภาษีหลายประเภท เป็นต้น
3.          ราคาน้ำมันปัจจุบันไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง การอิงราคาน้ำมันตามตลาดสิงคโปร์ก็ไม่มีตัวบ่งชี้ว่าถูกต้องหรือเป็นธรรมหรือไม่ ทำให้ผลประโยชน์ตกแก่คนบางกลุ่มโดยเฉพาะผู้ประกอบการน้ำมัน
ร้อยละ 32.0      ไม่ตอบ/ไม่มั่นใจ/ไม่ทราบ
 
3. การเห็นด้วยเกี่ยวกับการปรับขึ้นราคาก๊าซ NGVเพื่อให้สอดคล้องกับกลไกตลาดและต้นทุนที่แท้จริง (ตามที่ ปตท.และรัฐบาลกล่าวอ้าง)
ร้อยละ 66.7    เห็นด้วย
(ถ้าเห็นด้วย) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 54 ที่ให้ทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซ NGV เดือนละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค ถึง ธ.ค. 55
ร้อยละ            50.0     เห็นด้วย                       
ร้อยละ 6.9        ไม่เห็นด้วย                     
ร้อยละ 9.8        ไม่ตอบ/ไม่มั่นใจ/ไม่ทราบ
ร้อยละ 23.6      ไม่เห็นด้วยเนื่องจาก
1.          รัฐบาลเคยสนับให้ธุรกิจเปลี่ยนมาใช้ NGV แต่กลับมีการปรับเปลี่ยนนโยบายส่งผลต่อการลงทุน
2.          รัฐบาลไม่สามารถอธิบายต้นทุนที่แท้จริงได้ประกอบกับไทยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติค่อนข้างมากต้นทุนจึงไม่น่าจะสูง เป็นเหตุทำให้มีความสงสัยและคำถามเกิดขึ้น
3.          รัฐบาลสนองประโยชน์ให้ปตท. เป็นเหตุให้ประชาชนต้องเดือนร้อน ข้าวของแพง
ร้อยละ 9.7        ไม่ตอบ/ไม่มั่นใจ/ไม่ทราบ
 
4. นโยบายการปรับราคาก๊าซ NGVของกระทรวงพลังงาน มุ่งสนองเป้าหมายใดเป็นหลัก
ร้อยละ 33.3      มุ่งให้เกิดความเป็นธรรมทั้งภาคธุรกิจ(ปตท.) กับผู้บริโภค
ร้อยละ 1.4        มุ่งสนองความต้องการของผู้บริโภค(ประชาชน) เป็นหลัก
ร้อยละ            41.7     มุ่งสนองภาคธุรกิจ (ปตท.) เป็นหลัก
ร้อยละ 23.6      ไม่ตอบ/ไม่มั่นใจ/ไม่ทราบ
 
5. การดำเนินนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา มีผลงานอยู่ในระดับใด
ร้อยละ 0.0        ดีมาก    
ร้อยละ 13.9      ดี                     
ร้อยละ            41.7     แย่       
ร้อยละ 20.8      แย่มาก              
ร้อยละ 23.6      ไม่ตอบ/ไม่มั่นใจ/ไม่ทราบ
 
6. มีโอกาสมากน้อยเพียงใดที่การปรับราคาพลังงาน (น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซ NGV และ LPG) จะสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อระลอกใหม่
ร้อยละ            80.6     มีโอกาสมาก     
ร้อยละ 13.9      มีโอกาสน้อย      
ร้อยละ 0.0        ไม่มีโอกาสเลย   
ร้อยละ 5.5        ไม่ตอบ/ไม่มั่นใจ/ไม่ทราบ
 
 
หมายเหตุศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) : รายงานผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ฉบับนี้ เป็นการสำรวจความเห็นส่วนตัวของนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมิได้สื่อถึงแนวนโยบายขององค์กรที่นักเศรษฐศาสตร์สังกัดอยู่แต่อย่างใด
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"กนก" ถามฝ่ายหนุนแก้ ม.112 "พ่อแม่คุณอบรมสั่งสอนหรือเปล่า?"

Posted: 25 Jan 2012 02:51 AM PST

ด้าน ผบ.ทบ.เชื่อ "นิติราษฎร์" อาจไม่ปกติ-ไม่รู้เกิดเมืองไทยหรือไม่ แต่เชื่อเยาวชนจะไม่สับสน ถ้าผู้ใหญ่สอนลูกหลานให้เข้าใจ ด้าน สตช.เล็งเอาผิดผู้ละเมิด ม.112 แน่นอน แต่ตอนนี้ยังไม่พบการกระทำผิด

"กนก" ถามกลุ่มขอแก้ไข ม.112 "พ่อแม่คุณอบรมสั่งสอนหรือเปล่า?"

วันนี้ (25 ม.ค.) นายกนก รัตน์วงศ์สกุล ผู้ประกาศข่าวเครือเนชั่น ได้โพสต์ลงในเฟซบุค "Kanok Ratwongsakul" วิจารณ์กลุ่มที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า "ทุกๆ 10 นาที จะมีคนโพสต์ต่อต้าน กลุ่มที่จะขอแก้มาตรา 112 ลงที่เฟซบุ๊คนี้ ผมก็ตามอ่านตลอด บางคนลงรูปของอาจารย์นิติฯ ธรรมศาสตร์ ที่เป็นหัวหอกแก้มาตรานี้ ซึ่งผมจะลบออกทุกครั้ง เพราะไม่อยากเห็นหน้าคนกลุ่มนี้บนเฟซบุ๊คผม ถ้าพวกนี้อายุ 30 – 40 กว่าปี ตามที่เสธ.หนั่นไล่ให้ไปอ่านประวัติศาสตร์ ผมสงสัยว่า พ่อแม่เขายังอยู่หรือเปล่า รุ่นพ่อรุ่นแม่น่าจะทันได้เห็น”ในหลวง” ทรงงานมาตลอด ถ้าลูกไม่ใส่ใจในความเป็นกษัตริย์นักพัฒนา มัวแต่ดื้อด้านจะแก้กฎหมายท่าเดียว แล้วพ่อแม่พวกนี้ทำอะไรอยู่..ไม่ห้ามปรามเลยหรือ? หรือวายชนม์ไปหมดแล้ว? ผมขอโทษนะครับ อย่าหาว่าผมก้าวล่วง แต่อยากถามคนกลุ่มนี้จริงๆว่า พ่อแม่คุณอบรมสั่งสอนหรือเปล่า?"

สตช.เล็งเอาผิดผู้ละเมิด ม.112 แน่นอน แต่ตอนนี้ยังไม่พบการกระทำผิด

ด้านสำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ยืนยันว่า หากพบการละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตำรวจจะดำเนินคดีอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นใครหรือกลุ่มบุคคลใด ส่วนกรณีที่คณะนิติราษฎร์ ออกมาเคลื่อนไหว ให้มีการแก้ไขกฎหมายมาตราดังกล่าวหากละเมิดกฎหมาย ตำรวจก็จำเป็นต้องดำเนินคดีเช่นกัน โดยมองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนหากต่างฝ่ายต่างพูด มีแต่จะสร้างความขัดแย้ง

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการสามารถทำได้  แต่ได้มีการสั่งการให้ตำรวจสันติบาลจับตามองอย่างใกล้ชิด  หากล้ำเส้นหรือละเมิดกฎหมาย ตำรวจจะดำเนินการทันทีไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด หรือการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อใดก็ตาม  แต่ขณะนี้ยังไม่พบการกระทำผิดเพิ่มเติมในสื่ออินเทอร์เน็ต หลังมีกระแส วิพากษ์วิจารณ์การแก้ข้อกฎหมายอาญามาตรา 112

ประยุทธ์ชี้กลุ่มหนุนแก้ ม.112 อาจไม่ปกติ-ไม่รู้เกิดเมืองไทยหรือไม่ แต่เชื่อเยาวชนจะไม่สับสน

ด้านเอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์กรณีของกลุ่มนิติราษฎร์ว่า เป็นเรื่องของความพยายามซึ่งมีคนอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน กลุ่มหนึ่งอาจจะไม่ปกติ อยากจะทำโน่นทำนี่ โดยไม่คิดว่าอะไรควรไม่ควร แต่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น กลุ่มที่ 2 คือ นักวิชาการบางกลุ่ม ซึ่งเป็นนักวิชาการส่วนใหญ่กว่า 90% ยังรักและเทิดทูนสถาบัน อยากจะเรียนไปยังบางส่วนว่า ต้องกลับไปทบทวนว่าตลอดระยะเวลาที่พระองค์ท่านครองราชย์มาจนมีพระชนมายุ 84 พรรษามาแล้ว แต่คนที่เป็นนักวิชาการอายุเพียงแค่ 30-40 ปี เรียนหนังสือจบมาแล้วไปเรียนต่อ เคยได้ทำคุณประโยชน์อะไรให้แก่แผ่นดินบ้างหรือไม่ เพียงแค่เรียนหนังสือจบมาแล้วเอาความรู้ต่างๆ เหล่านั้นมาเพื่อจะแก้โน่นแก้นี่ ซึ่งยังไม่เคยลองปฏิบัติอะไรสักอย่าง

“ต้องเข้าใจว่าสถาบันทรงมีคุณต่อแผ่นดินอย่างไร เป็นประเด็นสำคัญ ผมไม่สามารถไปบังคับใครได้ ถ้าพูดแรงไปก็จะหาว่าไปบังคับ หรือผูกขาดความจงรักภักดี ไม่ใช่ แต่ต้องการให้ทุกคนระลึกอยู่เสมอว่าบ้านเมืองมีชื่อเสียงเกียรติยศในโลกนี้ ส่วนใหญ่ที่รู้จักประเทศไทย รู้จักมาจากสถาบันก่อนทั้งสิ้น ท่านทรงครองราชย์ เสด็จแปรพระราชฐาน เสด็จเยี่ยมเยียนประเทศต่างๆ จนเขารู้จักประเทศไทยตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ และถึงวันนี้ไม่รู้ว่าใครมาจากไหนเหมือนกัน ชาติตระกูล เกิดประเทศไทยหรือไม่ ไม่รู้ ถ้าท่านพูดจาแรง พูดไม่ดีต่อสถาบัน ผมจำเป็นต้องใช้คำพูดที่ไม่ดีกับท่าน เพราะท่านไม่เคยสำนึกในผืนแผ่นดินไทยเลย ผมเคยบอกไปหลายครั้งแล้วว่าไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง คนทั้งแผ่นดินเคารพเทิดทูน แต่ท่านมาทำลายความรู้สึกของคนทั้งแผ่นดิน ขอถามว่าท่านจะได้อะไร อย่าให้ว่า ผมใช้คำรุนแรง เมื่อท่านรุนแรง ผมก็รุนแรงกับท่าน แต่ผมอยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่มีการทำอะไรนอกกฎหมายทั้งสิ้น ท่านอย่าทำผิดกฎหมายก็แล้วกัน”

ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นห่วง เยาวชนที่มีวุฒิภาวะน้อยที่อาจเกิดความสับสนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ห่วงทุกเรื่อง แต่คิดว่าไม่สับสน ถ้าผู้ใหญ่สอนลูกหลานและญาติพี่น้องให้เข้าใจ จะสับสนได้อย่างไร ง่ายจะตาย เกิดมารู้จักพระเจ้าแผ่นดินหรือยัง ถ้ารู้จักแล้วจากวันนั้นถึงวันนี้ ท่านไม่เคยทำอะไรเสียหาย ท่านทำทุกอย่างเพื่อให้บ้านเมืองเป็นถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นพวกที่สับสน มันคงไม่รู้ว่าเกิดมาจากไหนมากกกว่า

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดจดหมาย เรื่องเล่าชีวิตในเรือนจำ (ฉบับละเอียดที่สุดในประเทศไทย)

Posted: 25 Jan 2012 02:34 AM PST

ชื่อเดิม: เรื่องที่คนในอยากเล่า... คนนอกอยากรู้ของคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

 
 

แม้เรือนจำในประเทศไทยจะพัฒนามาตรฐานและตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนมากแล้วก็ตาม แต่ภายใต้งบประมาณอันจำกัด ระบบปิด การรองรับผู้ต้องขังล้นเกิน ฯลฯ จึงยังมีเรื่องราวอีกมากที่คนนอกยังไม่รู้และเป็นความยากลำบากที่คนในต้องเผชิญเพียงลำพัง

‘ประชาไท’ เปิดจดหมายจาก ‘เล่าซัน’ นักโทษคดีการเมืองผู้มีประสบการณ์ตรงในเรือนจำแห่งหนึ่งของประเทศไทย เราบอกเล่าอะไรเกี่ยวกับเขาไม่ได้มากนัก นอกจากความพยายามอย่างน่านับถือในการรวบรวมและส่งต่อข้อมูล ด้วยความหวังของทั้งเขาและเราว่า การรับรู้ของสังคมจะทำให้เกิดการปรับปรุง “ระบบ” ยุติธรรมไทย โดยเฉพาะพื้นที่คุมขังประชาชนชายขอบที่สุดกลุ่มหนึ่งของสังคม

หมายเหตุ: จดหมายนี้ส่งมาก่อนที่จะมีการย้ายผู้ต้องขังเสื้อแดง (ยกเว้นคดี 112) ไปเรือนจำชั่วคราวหลักสี่

 

0000000

 

มีคนถามกันมาเยอะ เกี่ยวกับเรื่องความเป็นอยู่ของคนเสื้อแดงที่อยู่ในคุกว่าในแต่ละวันใช้ชีวิตกันอย่างไร ทำอะไรบ้างตั้งแต่ตื่นนอน มีความยากลำบากมากน้อยแค่ไหน จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง จากประสบการณ์ของคนเสื้อแดงที่เคยอยู่ในคุกมาก่อนคนหนึ่ง

ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า ผู้ที่เคยติดตามข่าวสารของแกนนำในเรื่องราวที่พวกเขาเคยผ่านคุกมาก่อนที่เคยมีการเผยแพร่กันไปบ้างแล้วในช่วงที่แกนนำ ปนช.ถูกจองจำอยู่ จนกระทั่งปล่อยประกันออกไป มีความคล้ายกันบางอย่าง แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ค่อนข้างจะแตกต่างกันมาก อันมาจากการได้รับการปฏิบัติดูแลที่ต่างกัน ที่แกนนำ นปช.จะได้รับสิทธิพิเศษมากกว่า ได้รับเกียรติมากกว่า ส่วนผู้ต้องขังคดีเสื้อแดงรายอื่นๆ ได้รับการดูแลปฏิบัติเหมือนนักโทษทั่วไป ซ้ำร้ายไปกว่านั้น หลายรายถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจจากเจ้าหน้าที่ที่สนับสนุนฝ่ายตรงข้าม ถูกทำร้ายจากผู้ต้องขังด้วยกัน ทั้งจากการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ และทั้งแบบลับหลังที่เจ้าหน้าที่ไม่รู้

ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราไม่แตกต่างจากนักโทษคนอื่นๆ สิ่งที่ทำในแต่ละวัน เช่น การทำงาน, การกินอาหาร, การหลับนอน ก็เหมือนนักโทษทั่วไปทุกอย่าง ซึ่งพอจะแยกเป็นเรื่องๆ ได้ เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาจนตะวันตกดิน

วันปกติที่ไม่ใช่วันหยุดเสาร์อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ

พวกเราจะตื่นกันประมาณ 6 โมงเช้า ก่อนออกจากห้องนอน จะมีการตรวจนับจำนวนคนก่อน เมื่อครบแล้ว ผู้คุมก็จะเปิดประตูให้ออกไปทำภารกิจส่วนตัว เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน เข้าห้องน้ำ เรามีเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการทำภารกิจให้เสร็จเพื่อให้ทันอาหารหลวงมื้อเช้า ซึ่งส่วนใหญ่อาหารเช้าจะเป็นแกงจืดกับข้าวสวย เมื่อทานอาหารเสร็จแล้ว เสียงออดก็ดังเพื่อเรียกรวมแถวตามห้อง เวลาประมาณ 7.30 น. เพื่อเตรียมตัวเคารพธงชาติและสวดมนต์

ภายหลังจากเข้าแถวเคารพธงชาติแล้ว ทุกคนจะแยกย้ายกันไปตามกองงานต่างๆ ที่ทุกคนจะได้รับมอบหมาย ตอนเข้ามาอยู่ในแต่ละแดน มีกองงานอยู่หลายกองงานไม่ซ้ำกัน ทุกคนจะถูกบังคับให้ทำ เช่น กองงานปั่นถ้วย เย็บรองเท้า ปลั๊กไฟ ฯลฯ ด้วยเหตุผลที่เจ้าหน้าที่อ้างว่า ต้องให้ผู้ต้องขังทำเพื่อจะได้ไม่ต้องคิดมาก (แต่ความจริงจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ขอเล่าในลำดับต่อไป)

ในระหว่างวัน ผู้ต้องขังที่มียอดงานจะต้องทำให้เสร็จและในวันธรรมดาอย่างนี้ ผู้ต้องขังทุกคนมีสิ่งที่เฝ้ารอที่จะได้รับ นั่นคือ “การได้รับใบเยี่ยมญาติ” ที่จะมีการประกาศชื่อผู้ที่มีญาติมาเยี่ยมอยู่ตลอดช่วงเวลาทำงาน การได้เยี่ยมญาติคือโอกาสของพวกเราในการได้ออกไปจากกำแพงสี่เหลี่ยมที่แสนจะอึดอัด ไปชมโลกภายนอกบ้าง และนี่คือสิ่งที่มีความสุขที่สุดของผู้ต้องขังทุกคน

เวลาประมาณ 11.00 น. จะมีพักเบรกกินข้าวต้มหรือขนม มื้อนี้ฟรีเช่นกัน ช่วงบ่ายพวกเราก็ยังทำงานไปเรื่อยๆ ใครทำเสร็จก็สามารถพักผ่านได้ตามอัธยาศัยได้ ไม่เสร็จก็ทำกันต่อไปจนกระทั่งหมดเวลาเยี่ยมญาติ เวลา 15.00 น.โดยประมาณ ก็จะถึงเวลาอาบน้ำกันก่อนขึ้นนอนและจะมีอาหารเย็นให้กินอีกครั้งก็ประมาณเวลา 15.00 น. มื้อนี้เป็นมื้อหนัก คนจะกินกันเยอะเพราะต้องอยู่บนห้องนอนประมาณ 14 ชั่วโมง เมื่อกินข้าวเสร็จก็ได้เวลาขึ้นเรือนนอน 15.30 น. เราจะอยู่ในเรือนนอนกันแล้วใครจะดูหนัง อ่านหนังสือ ฯลฯ ก็ทำกันไป ทีวีจะปิดตอนประมาณ 3 ทุ่มครึ่ง ถือเป็นอันจบสิ้นทุกอย่างในวันนั้น

วันหยุดเสาร์อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ

ทุกอย่างตามตารางเวลาจะดำเนินไปตามปกติ ตื่น 6 โมงเช้า อาบน้ำ กินข้าวเช้า กลางวัน เย็น เหมือนวันปกติทุกอย่าง ที่แตกต่างก็คือ “ไม่มีเยี่ยมญาติ และไม่ต้องทำงาน” เท่านั้น พวกเราไม่มีใครชอบวันหยุด โดยเฉพาะนักโทษ/ผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุดเพราะไม่ได้พบทนาย ประกันตัววันหยุดไม่ได้ แต่ที่ทุกคนไม่ชอบวันหยุดเลยคือ “ไม่มีการเยี่ยมญาติ”

ถัดจากนี้ไปผมจะขอชี้แจงรายละเอียดเป็นข้อๆ ในส่วนต่างๆ ที่น่าสนใจ (แต่จะมีใครอยากรู้หรือเปล่า ไม่รู้) ดังนี้

1.

การอาบน้ำ/แปรงฟัน และภารกิจส่วนตัว

ที่นี่เราอาบน้ำกันกลางแจ้งครับ จะมีบ่อน้ำกว้างประมาณ 1x4 เมตรอยู่หลายบ่อ บางแดนจะมีระบบสปริงเกอร์คือปล่อยน้ำออกจากท่อที่วางไว้สูงประมาณ 2 เมตร ในบริเวณบ่อน้ำทุกคนสามารถใช้น้ำได้อย่างเต็มที่ ไม่มีการจำกัดการใช้ ส่วนใหญ่การอาบน้ำมักจะทำควบคู่กันไปกับการซักผ้า โดยเฉพาะตอนเช้า อาบน้ำเสร็จ ซักผ้าต่อแล้วก็ตากเลยเพื่ออาศัยแดดตอนเช้าทำให้เสื้อผ้าแห้ง สำหรับใครที่มีฐานะไม่ดีสักหน่อยอาจซักด้วยตัวเอง ซักเอง ตากเอง เก็บผ้าเอง แต่ถ้าพอมีทุนอยู่บ้าง (เรียกกันว่า “ญาติถึง”) ก็อาจใช้บริการซักผ้าจากผู้ต้องขังด้วยกันที่มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่เดือนละ 100-500 บาท (จ่ายเป็นบุหรี่ก็ 2-10 ซอง) ยิ่งแพงยิ่งสะอาดมีออฟชั่นเยอะ เช่น แยกน้ำซัก ใช้แฟบมียี่ห้อ ตบท้ายด้วยปรับผ้านุ่ม ฯลฯ

ส่วนตัวแล้วคิดว่าการจ้างเป็นวิธีที่ดีที่สุด ดีกว่าซักเอง เพราะโอกาสที่ผ้าจะหายน้อยมาก (แต่ไม่ใช่ไม่มี) ผู้รับจ้างซักผ้าส่วนใหญ่จะพอมีบารมี มักไม่มีใครกล้าขโมยเพราะอยู่มานาน การถูกขโมยเสื้อผ้าถือเป็นเรื่องใหญ่มากในคุก เพราะเราไม่สามารถมีชุดเสื้อผ้าได้มาก เนื่องมาจากล็อกเกอร์ที่ใช้ใส่ของมีขนาดเล็ก ประมาณ 30x50x50 cm ที่เราจะต้องใส่ของใช้ส่วนตัวเราทั้งหมด เช่น เสื้อผ้า ขัน กล่องสบู่ แปรงสีฟัน รวมถึงของฝากที่คนข้างนอกซื้อเข้ามา ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ล็อกเกอร์ของเราแต่ละคนในวันที่ญาติมาเยี่ยมและซื้อของมาให้จะถูกยัดเข้าไปจนแน่น แทบไม่มีพื้นที่หายใจเลยก็มี

การอาบน้ำของที่นี่ เราอาบรวมกัน ไม่มีการแยกระหว่างคนปกติกับคนป่วย ซึ่งทุกแดนเราอาศัยรวมอยู่กับผู้ต้องขังที่ป่วยสารพัดโรค เช่น โรควัณโรค ที่เราเรียกกันติดปากว่า โรคทีบี (TB) โรคเอดส์ โรคผิวหนังต่างๆ ที่ฮิตที่สุดคือโรคหิด หรือที่ภาษาคุกเรียกว่า “ตะมอย” โรคเหล่านี้สามารถแพร่กันได้ผ่านทางน้ำที่ใช้ เราทุกคนจึงมีโอกาสที่จะเสี่ยงติดโรคเหล่านี้ได้ทุกคนและทุกเวลา และสามารถติดได้ง่ายมากๆ ด้วย สิ่งที่เราจะทำได้นั่นคือ การป้องกันตัวเอง เช่น ใช้สบู่ฆ่าเชื้อโรคแทนสบู่ธรรมดา และยาสระผมที่มีตัวยาป้องกันเชื้อราแทนยาสระผมธรรมดา และพยายามอยู่ให้ห่างผู้ป่วยที่เป็นโรคเหล่านี้ที่เดินกันปะปนกับคนทั่วไปโดยไม่มีการแยก นับเป็นความตื่นเต้นอีกอย่างหนึ่งที่พวกเราต้องเผชิญกัน

ในช่วงที่แกนนำยุค นปก. ถูกจับเข้าไปในคุกใหม่ๆ ในช่วงปีไหนผมไม่ทราบได้ จำได้ว่าแกนนำคนหนึ่งกล่าวติดตลกว่า ประสบการณ์ที่เขาประทับใจที่สุดก็คือ “การถ่ายทุกข์ในคุก” เพราะส้วมที่นี่เป็นแบบเปิด เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงและขอยืนยันเลยว่านี่คือสิ่งที่น่าหนักใจที่สุดสำหรับผู้ต้องขังหน้าใหม่ทุกคน หลายคนในช่วงสัปดาห์แรกๆ แทบไม่ได้ถ่ายเลยก็มี

ลักษณะส้วมในนี้เคยมีคนบอกว่าเหมือนส้วมในประเทศจีน ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าเหมือนหรือเปล่าเพราะไม่เคยไป แต่พอจะบรรยายให้เห็นลักษณะได้ก็คือ จะเป็นส้วมแบบที่ไม่มีประตู แต่ทำกำแพงล้อมซ้ายขวาและด้านหลังสูงประมาณ 80 cm ด้านบนโล่งไม่มีหลังคา ด้านหน้าเป็นทางเข้า เป็นกำแพงสูงประมาณ 40 cm สำหรับเดินข้ามเข้าไปนั่ง เป็นส้วมแบบนั่งยอง วางต่อๆ กันไป โดยใช้กำแพงร่วมกัน (ดังรูป)

เวลาใช้ก็เข้าไปนั่งทำธุระท่ามกลางคนที่เดินไปเดินมา สำหรับคนที่ไม่เคยเข้าคุกมาก่อนอาจจะอาย (แน่นอนล่ะ ต้องอาย) แต่นานๆ ไปก็จะชิน และถือเป็นเรื่องปกติ ทำยังไงได้ในเมื่อมันไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า อ้อ .. สำหรับส้วมที่ว่านี้ ในนี้มีอีกชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกแทนคือคำว่า “บ๊อก” เข้าใจว่ามาจากคำว่า “บ็อกซ์” (BOX) ที่แปลว่า “กล่องสี่เหลี่ยม” เวลาจะไปเข้าส้วม เขาจะพูดว่า “ไปเข้าบ็อก” แทน และส้วมที่เราใช้ในห้องนอนก็จะแบบเดียวกัน คือเป็น “บ็อก” เหมือนกัน บางห้อง บางแดน จะมี 1-2 บ็อก แต่ส่วนใหญ่จะมีเพียง 1 บ๊อกเท่านั้น

ยังมีอีกเรื่องที่ไม่ได้กล่าวถึงข้างต้น นั่นคือ ความสกปรกหรือความเสี่ยงที่จะติดโรคผิวหนังจากการอาบน้ำ บ่อยครั้งที่เราตักน้ำขึ้นอาบ เราจะพบว่าเกิดอาการคันขึ้นมาในทันที และถ้าคันแล้วไม่ฟอกสบู่ด้วยสบู่ยาหรือล้างอีกทีให้สะอาด หลังอาบน้ำเสร็จจะเกิดตุ่มขึ้นมาทันที เป็นเรื่องที่แย่มากๆ เลยจริงๆ

 

2.

การกินอาหาร

 

อยู่ในคุกไม่มีทางอดตาย ถ้าไม่เลือกที่จะกิน ทีนี้มีอาหารให้กินวันละ 3 มื้อ คือ ข้าวเช้า ประมาณ 7.00 – 7.30 น. มื้อเที่ยงเป็นข้าวต้ม ขนมหวาน เวลา 11.00 – 11.30 น. มื้อเย็นก็ประมาณ 15.00 น. เป็นแบบนี้ทุกวัน อาหารก็ถือว่าใช้ได้ ไม่ถึงกับว่าดีหรืออร่อย แต่สำหรับผู้ต้องขังที่ไม่เคยติดคุกมาก่อน รับรองกินไม่ลงแน่ๆ ที่นี่จะมีข้าวสวยให้กิน ใครที่ไม่ชอบแกงหลวงสามารถซื้อกับข้าวจากร้านค้าสงเคราะห์ที่อยู่ภายในเรือนจำต่างหากได้ โดยมื้อกลางวันจะเปิดให้กินเวลา 13.00 น. มื้อนี้เป็นมื้อสำหรับผู้ที่พอมีเงินซื้อ ซึ่งจะต้องใช้ถ้วยชามของตัวเอง มื้อเช้าส่วนใหญ่จะเป็นแกงจืด ต้มจับฉ่าย ประเภทอาหารที่ไม่เผ็ด มื้อกลางวันหลักๆ จะเป็นข้าวต้มกับกับข้าวเช่น ยำผักกาดดอง กระเทียมดอง หัวไชโป๊วผัดไข่ ปลาเค็ม (ปลาอะไรก็ไม่รู้ถ้าเห็นข้างนอกคงไม่กล้ากิน แต่มาอยู่ในนี้แล้วอร่อยแฮ *0*) บางมื้อ บางวัน จะมีพ่วงขนมหวาน เช่น ต้มถั่วแดง ต้มสาคู พอกินได้ แต่เหม็นสาบมากๆ มื้อเย็นส่วนใหญ่จะเป็นแกงเผ็ดที่เน้นหนักไปทางมะเขือเปราะ มะละกอ แตงร้าน ต้มหัวปลา (หางปลาไม่ค่อยมี) หมูไม่เป็นหมู ไก่ไม่เป็นไก่ เพราะจะสับให้มองไม่ออกว่าเป็นส่วนไหน รวมๆ แล้วก็ถือว่าพอกินได้ประทังชีวิตได้

 

3.

มีที่ให้ซื้อของเองมั้ยภายในเรือนจำ

 

ส่วนใหญ่ญาติผู้ต้องขังจะสงสัยว่า ผู้ต้องขังจะสามารถซื้อของใช้ ขนม นมต่างๆ ได้ภายในเรือนจำหรือเปล่า คำตอบคือ มีครับ เขาเรียกว่า “ร้านค้าสงเคราะห์” มีอยู่ในทุกแดน คล้ายๆ กับร้านเซเว่นอีเลฟเว่นข้างนอก แต่สินค้าน้อยกว่า เดินหยิบซื้อเองไม่ได้ จะซื้อทีต้องเขียนใส่กระดาษแล้วไปต่อคิวซื้อเอา ซึ่งจะชุลมุนมากๆ ก่อนจะเล่าเรื่องวุ่นๆ ในการซื้อของที่ร้านค้าสงเคราะห์ คงต้องชี้แจงเรื่องการซื้อสินค้าภายในเรือนจำก่อน สำหรับนักโทษทุกคนแล้ว จะมีกฎระเบียบเหมือนกันหมด ไม่ว่าคุณจะเส้นใหญ่แค่ไหน รวยมากเท่าไหร่ ที่นี่จะอนุญาตให้เราใช้ได้เต็มที่ วันละ 200 บาท เกินแม้แต่บาทเดียวก็ไม่ได้ ระบบจะไม่อนุมัติ การจ่ายเงินจะทำผ่านบัตรประจำตัวที่เรียกว่า “บัตรสมาร์ทการ์ด” ลักษณะบัตรก็เหมือนบัตรเอทีเอ็มที่เราใช้กันอยู่ทั่วไป ด้านหน้าบัตรจะมีรูปเราที่ถ่ายตอนเข้ามาในคุกใหม่ๆ มีหมายเลขนักโทษ รายละเอียดต่างๆ แล้วก็ชื่อคดี ด้านหลังจะเป็นแถบแม่เหล็ก แบบเดียวกับบัตรเอทีเอ็มเปี๊ยบ

การซื้อของที่ร้านสงเคราะห์จะแบ่งเป็นการซื้อของแห้ง เช่น สบู่ ยาสีฟัน กาแฟ น้ำอัดลม เป็นสินค้าสำเร็จรูป การซื้อของแห้งทำได้โดยการเขียนใส่กระดาษ โดยระบุรายการของที่ต้องการเสร็จแล้วเอากระดาษใบนี้ไปต่อคิวซื้อ วันธรรมดาร้านค้าจะเปิดให้ซื้อของแห้งตอน 11.00 – 13.00 น. วันหยุดจะเปิดขายเร็วหน่อย อยู่ที่ความพร้อมของสินค้าที่เบิกเข้ามาในร้าน

อันต่อมา คือการเบิกอาหารสำหรับคนที่พอมีเงินอยู่บ้าง ไม่อยากกินข้าวหลวงก็สามารถเลือกซื้ออาหารจากร้านค้าสงเคราะห์ได้ ความจริงแล้วมีอาหารที่เราสามารถเลือกซื้อได้ถึง 4 ทางด้วยกัน และมีความแตกต่างกัน ได้แก่

ทางที่ 1.การสั่งซื้ออาหารหน้าร้านค้า อาหารที่ขายผ่านหน้าร้านคืออาหารที่ไม่ต้องจดเพื่อสั่งซื้อทางร้านค้า จะเอามากองให้เลือกซื้อกันสดๆ เลย สนใจอันไหนก็หยิบแล้วรูดปื้ดได้เลย จุดเด่นของอาหารหน้าร้านคือ ไม่แพง ถุงละ 20 บาท แต่ถุงเล็กชะมัด มีแกงต่างๆ ขนมหวาน ขนมปัง ตามแต่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลร้านค้าจะวัดดวงเอามาขาย ผมคิดว่าอันนี้เป็นผลประโยชน์พิเศษของผู้คุมร้านค้านะ เพราะสินค้าจะแพงเป็นพิเศษ อย่างโยเกิร์ตที่เราซื้อที่เซเว่นข้างนอก 12 บาท หน้าร้านจะขาย 20 บาท ยาคูลท์ผมไม่รู้ว่าเวลานี้ข้างนอกขายเท่าไหร่ แต่ในนี้ขาย 10 บาท ใครอยากกินก็ต้องทนซื้อเอา เรียกร้องไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้บังคับให้ซื้อของหน้าร้านนี้ ผมอยากให้มีการตรวจสอบมากที่สุด เขาขายเกินราคามากๆ โดยสรุปจุดเด่นของการซื้อของหน้าร้านคือ สะดวก รวดเร็ว มีอาหารของกินแปลก แต่ข้อเสียคือแพง

อ้อ.. สินค้าหน้าร้านนี้หมดแล้วหมดเลยนะครับ เขาเอาเข้ามาจำกัดใครที่คิดจะซื้อกับข้าวแต่ไม่ได้สั่งล่วงหน้า ถ้าพลาดสินค้าหน้าร้านแล้วละก็ ไม่มีอะไรกินเลยล่ะ

ทางที่ 2. การสั่งซื้อสินค้า (อาหาร) ล่วงหน้าจากร้านค้าสงเคราะห์หรือที่เราเรียกกันว่า “การสั่งออเดอร์” อาหารจากร้านสงเคราะห์มีมากมายหลายอย่าง เกือบทั้งหมดจะราคา 25 บาท ได้ของเยอะกินได้จุใจ แต่ต้องสั่งล่วงหน้าคือสั่งวันนี้ได้วันรุ่งขึ้น วิธีการคือ ถ้าเราจะกินอะไรพรุ่งนี้ วันนี้เราจะต้องจดรายการอาหารที่เราต้องการใส่เศษกระดาษ แล้วเอาไปใส่ในกล่องรับใบออเดอร์ วันรุ่งขึ้นก็รอจ่ายเงินแล้วรอรับของ ซึ่งการซื้อของ รับของออเดอร์นี้วุ่นวายมากๆ ใครไปรับของช้า ก็จะถูกคนอื่นที่มาก่อนเอาไป โดยรวมแล้วอาหารออเดอร์นี้ใช้ได้เลย แต่น่าเบื่อตรงกระบวนการซื้อและรับของเท่านั้นเอง

ทางที่ 3. ทางนี้คือทางที่เรียกว่าไฮโซสุดๆ ถือว่ามีระดับมากๆ นั่นคือ สั่งซื้อสินค้าจาก “สโมสร” ที่นี่จะสั่งเช้าได้เย็นไม่ต้องคอยข้ามวัน จะสั่งซื้อของจากสโมสรได้ ต้องมีเงินฝากไว้กับสโมสร โดยญาติต้องไปติดต่อเพื่อเปิดบัญชีกับทางสโมสรในชื่อของผู้ต้องขัง เมื่อมีการสั่งซื้อก็จะตัดบัญชีเงินที่ฝากไว้กับทางสโมสรออกไป การใช้เงินที่สโมสรนั้นไม่จำกัดวงเงินนะครับ จะซื้อเท่าไหร่ก็ได้ ตราบใดที่ยังมีเงินฝากกับทางสโมสรอยู่ อยากกินพิซซ่าฮัท เอ็มเค เอสแอนด์พี เคเอฟซี สั่งได้หมด แต่ขอบอกก่อนนะครับว่าที่นี่ชาร์จโหดมากๆ เช่น สั่งเคเอฟซี 100 บาท ค่าส่ง 30 บาท สโมสรโทรสั่งให้ พอของมาส่ง สโมสรจะคิดค่าบริการ 30% จากค่าสินค้าเบ็ดเสร็จ ซื้อของ 100 จ่าย 160 บาท ถ้าสั่ง 500 ค่าส่ง 30 สโมสรบวก 150 รวมค่าของ 680 บาท ถือเป็นกำไรอย่างงามของสโมสร แต่เป็นเวรกรรมของผู้ต้องขัง อย่างไรก็ตาม การสั่งซื้อสินค้า อาหารจากสโมสรจะนิยมเฉพาะในหมู่ผู้ต้องขังที่มีอันจะกินเท่านั้น กับชาวต่างชาติที่มีเงินเยอะๆ ตอนแกนนำ นปช.ถูกจับเข้ามาก็ใช้บริการของทางสโมสรนี่แหละ อาหารของทางสโมสรจะเนื้อเป็นเนื้อ หมูเป็นหมู ค่อนข้างมีคุณภาพดี แต่แพงชะมัด ถุงนิดเดียวราคา 50 บาทขึ้นทั้งนั้น โดยรวมแล้วอาหารที่สั่งทางสโมสรจะแพงมากๆ มีเงินเสียอย่างสโมสรจัดให้ได้หมด เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ต้องขังระดับ 5 ดาวเท่านั้น

ทางที่ 4 ทางสุดท้ายที่เรียกได้ว่าโลคลาสสุดๆ คือการซื้ออาหารจากพ่อค้า (นักโทษด้วยกันเองที่สั่งสินค้ามาขายเองจากร้านค้าสงเคราะห์) ความจริงแล้วทางเรือนจำไม่สนับสนุนให้มีพ่อค้า บางแดนถ้าจับได้ถือว่ามีความผิดทางวินัยเลย พ่อค้าที่ว่าจะสั่งซื้ออาหารที่คิดว่าขายดีๆ มาไว้ จากนั้นนำมาวางเร่ขายโดยแลกกับนมหรือบุหรี่ ซึ่งจะบวกกำไรพอสมควร ในความคิดผม ผมคิดว่าทางเลือกนี้เหมาะมากกับผูต้องขังที่ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีที่ไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าด้วยวิธีธรรมดาได้ แต่อาจมีบุหรี่ นมที่ได้จากการรับจ้าง บริการต่างๆ ก็สามารถนำของเหล่านั้นมาแลกเป็นอาหารกับพ่อค้าได้

ขอชี้แจงเรื่องสิ่งของที่ใช้เป็นตัวกลางแทนเงินในคุกสักหน่อย ที่เห็นชัดเจนและได้รับความนิยมเห็นจะมี 2 อย่าง นั่นคือ นมกับบุหรี่ นม 1 กล่องแทนเงิน 10 บาท บุหรี่ 1ซอง (กรองทิพย์,สายฝน,LM,มาร์โบโล) ไม่ว่าข้างนอกจะมีราคาเท่าไหร่ แต่ในนี้แทนเงิน 50 บาท ซึ่งเราสามารถใช้บุหรี่แทนเงินได้เลย เช่น ค่าซักผ้าเดือนละ 300 บาท ก็เอาบุหรี่จ่าย 6 ซอง เป็นที่รู้กัน สำหรับอาหารที่พ่อค้านำมาขายมักจะจัดเป็นชุด เช่น อาหาร 1 อย่าง (25บาท) กับขนม 1 อย่าง(10บาท)  รวม 35 บาท พ่อค้าจะขาย 1 ซอง(50บาท) หรือขนม 2 อย่าง(20บาท) พ่อค้าจะขาย 3 กล่อง(นม) นมในที่นี่คือนมอะไรก็ได้ ที่นิยมก็นมแลคตาซอย, ไวตามิลค์ ที่เวลาเยี่ยม พวกท่านซื้อให้แพ็คละ 6 กล่องนั่นแหละครับ

ถึงตอนนี้ท่านคงจะพอรู้แล้วนะครับว่า อาหารในนี้ซื้อหากันอย่างไร สำหรับเพื่อนๆ นปช.ที่ถูกจับเข้ามาที่กำลังถูกจองจำอยู่ที่มีทุนน้อยหน่อยก็สามารถเลือกบริโภคอาหารจากร้านค้าสงเคราะห์ได้ แต่จากข้อมูลที่มีอยู่พบว่ามีเพื่อนๆ นปช.เกินกว่าครึ่งหรืออาจจะ60-80% ที่แทบไม่มีโอกาสได้กินอาหารดีๆ เลย จึงไม่แปลกใจที่ผมเคยบอกกับผู้ที่มาเยี่ยมว่า มาม่าเป็นอาหารที่วิเศษสุดๆ รวมถึงปลากระป๋องด้วย ทั้งๆ ที่เป็นอาหารที่เวลาเราอยู่ข้างนอกคุก เราแทบไม่มองมันเลยด้วยซ้ำ และจากโครงการเลี้ยงอาหารกลางวันผู้ต้องขังที่ทางกลุ่มราษฎรประสงค์ร่วมกับพี่น้องเสื้อแดงหลายๆ กลุ่มที่เห็นใจและห่วงใยผู้ต้องขังที่ทางกลุ่มฯ ซื้อให้นั้นคืออาหารในระดับสโมสร และเชื่อได้เลยว่าพวกเราในนี้มีโอกาสได้กินอาหารอย่างนี้น้อยมาก อย่าสงสัยว่าผมจะเขียนบรรยายโอเว่อร์เกินไปนะครับ นี่คือความจริงเลยล่ะ

 

4.

เรื่องการทำงานในเรือนจำ

 

เรื่องนี้ก็มีคนถามกันมาเยอะ เพราะเป็นเรื่องที่มีการกล่าวถึงเป็นอันมาก จากการเข้าเยี่ยม นปช.ที่เรือนจำ และจากการสอบถามแต่ละคนพบว่าเรื่องงานนี่แหละเป็นปัญหาและทำให้เพื่อนๆ ผู้ต้องขัง นปช.ทุกข์ใจ ลำบากใจมากที่สุด สำหรับผู้ต้องขังทุกคนแล้ว เมื่อต้องเข้ามาอยู่ในนี้ทุกคนจะต้องถูกจำแนกไปตามกองงานต่างๆ กองงานก็จะแบ่งอย่างกว้างๆ ได้เป็น 2 อย่าง คือ กองงานที่มียอดงาน และไม่มียอดงาน ที่มียอดงานได้แก่ กองงานปั่นถ้วยกระดาษ กองงานเย็บรองเท้า เป็นต้น กองงานถ้วยกระดาษ ถือเป็นกองงานที่ใช้ในการลงโทษก็ได้ เช่น กรณีถ้ามีนักโทษคนไหนทำผิดวินัยก็จะถูกย้ายไปลงกองงานปั่นถ้วย นักโทษที่เด็ดขาดแล้ว หรืออยู่ในระหว่างก็จะต้องทำงานเหมือนกัน พวกที่ยังหนุ่มยังแน่นอยู่มักจะถูกจับให้ทำหน้าที่ปั่น ที่มีอายุหน่อยหรือพิการหรือป่วยเป็นโรคก็จะถูกจับทำด้านถอดเสียบ

อย่าเพิ่งงงนะครับ ถ้วยกระดาษที่ว่าก็คือถ้วยกระดาษรูปกรวย ที่เราเห็นเราใช้กันตามสถานที่ราชการ โรงพยาบาล ธนาคาร ห้างสรรพสินค้านั่นแหละครับ วันๆ พวกเรา นปช.และผู้ต้องขังคนอื่นๆ จะต้องทำ (เรียกว่า “ปั่นถ้วย”) ให้ได้อย่างน้อยวันละ 4-5 กิโลกรัม ถ้านับเป็นใบแล้วก็ประมาณ 2,000-2,500 ใบ (1 กิโลกรัม ประมาณ 500 ใบ) ทำไม่เสร็จโดนเฆี่ยนครับ หรือทำไม่ทันก็ต้องจ้างเค้า หรือตัดยอดงานกับนายที่เป็นหัวหน้ากองงานอยู่ โดยจ่ายเป็นรายเดือน เดือนละ 1,000 บาทโดยประมาณ หรือคิดเป็นบุหรี่ก็เดือนละ 2 แถว (20ซอง) จ่ายแล้วก็เดินเซิ้งได้เลยครับ ไม่มีจี้ ไม่มีเรียก หรือวุ่นวายใดๆ เพื่อนๆ เราบางคนที่พอจะมีทุนทรัพย์อยู่บ้างก็จะจ่ายครับ โธ่ ใครจะไปทนไหว นั่งหลังขดหลังแข็งแต่เช้าทุกวัน ยังไงก็ไม่ไหว หลายครั้งที่ได้ไปเยี่ยมเพื่อนๆ มีหลายคนบอกว่าต้องรีบกลับไปปั่นงานต่อ คำว่าปั่นงานก็นี่แหละครับ ออกมานานกลับไปไม่ทัน บางทีเพื่อนๆ มาเยี่ยมกันด้วยน้ำใจลืมซื้อของฝาก พอเรากลับแดนก็ต้องหานมไปจ้างงานออก ลำบากแท้จริงๆ

นอกจากนี้ยังมีกองงานเย็บรองเท้าที่ต้องรับยอดเต็มวันละ 13-15 คู่ครับ คู่นะครับไม่ใช่ข้าง เวลามาเยี่ยม นปช.ลองให้พวกเขาชูมือให้ดูครับ ถ้ามือเลอะกาวก็มาจากปั่นถ้วย ถ้านิ้วชี้นิ้วกลางเป็นแผลก็มาจากรองเท้าชัวร์ (เย็บรองเท้านิ้วต้องเสียดสีกับด้ายเย็บรองเท้า ในขณะที่ดึงด้ายเข้าออก ดังนั้นนิ้วจึงเป็นแผล)

แล้วสำหรับกองงานที่ไม่มียอดงาน ก็อย่างเช่น กองงานปลั๊กไฟ (จัดเรียงกล่องปลั๊กไฟใส่กล่อง) กองงานโรงเลี้ยง กองงานพัฒนาแดน เหล่านี้ใช้แรงงานอย่างเดียวกครับ แต่ก็งานหนักไม่ใช่เล่น ทั้งนี้ทั้งนั้น จากที่เล่ามาทั้งหมด ตามระเบียบของทางเรือจำ การทำงานของผู้ต้องขังจะไม่มีการบังคับนะครับ ทำด้วยความสมัครใจ ยิ่งโดยเฉพาะผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างพิจารณาคดี ยังไม่ตัดสินที่ถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ตามกฎหมายน่าจะไม่ต้องทำงานเลยด้วยซ้ำ จุดประสงค์ของการทำงานที่แท้จริงคือ การให้ผู้ต้องขังมีอะไรทำบ้าง จะได้ไม่ต้องคิดมากเรื่องคดีความ แต่ในความเป็นจริงแล้วที่เป็นอยู่มันไม่ใช่อย่างนั้นเลย การทำงานกลับทำให้ผู้ต้องขังมีความเครียดเพิ่มเข้าไปอีก เหมือนเป็นการซ้ำเติมผู้ต้องขังที่ทุกข์ทรมานอยู่แล้วในทุกข์มากขึ้น  นี่คือปัญหาที่น่าจะได้รับการแก้ไขโดยด่วนที่สุด ขออีกนิดสำหรับเรื่องผลตอบแทนในการทำงาน จะบอกว่าที่นี่เขามีปันผลให้คนงานด้วยนะครับ เห็นตัวเลขแล้วอย่าตกใจ กองงานเย็บรองเท้าเย็บวันละ 15 คู่ 1 เดือน 4 สัปดาห์ ก็ 300 คู่ (600 ข้าง) ถ้าทำได้เอาไปเลยเดือนละ 95 บาท กองงานปั่นถ้วยปั่นวันละ 5 กิโ (2,500 ใบ) 1 เดือน 4 สัปดาห์ 100 กิโล (250,000 ใบ) ถ้าทำได้เอาไปเลย 90-120 บาท ลองไปเฉลี่ยดูนะครับว่าค่าแรงต่อชิ้นต่อโลเท่าไหร่ และงานที่ทำจำนวนมหาศาลต่อวัน ผลประโยชน์ตกไปอยู่กระเป๋าใคร ขอฝากเอาไว้เป็นข้อมูลให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนใหม่ด้วยครับ *หมายเหตุ เงินที่ผู้ต้องขังได้รับจากการทำงานในแต่ละเดือน ที่นี่เขาไม่เรียกค่าแรง/ค่าจ้าง แต่เรียก “เงินปันผล”

 

 

ติดตามต่อในตอนหน้า

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์เตรียมทำรายการทอล์กโชว์คุยเรื่องอนาคตโลก

Posted: 25 Jan 2012 12:28 AM PST

จูเลียน อัสแซนจ์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ ประกาศจะจัดซีรีส์พูดคุยเชิงลึกกับผู้เล่นหลักทางการเมือง นักคิดและนักปฏิวัติจากทั่วโลก ภายใต้ธีม "โลกในวันพรุ่งนี้"

ซีรีส์ดังกล่าวจะเริ่มออกอากาศกลางเดือนมีนาคม เป็นเวลา 10 สัปดาห์ๆ ละ 1 ตอนๆ ละ 30 นาที ในช่วงต้น การถ่ายทอดสัญญาณครอบคลุมผู้ชมกว่า 600 ล้านรายผ่านเคเบิล ดาวเทียม และเครือข่ายแพร่สัญญาณภาคพื้นดิน

อัสแซนจ์ ระบุในใบแถลงข่าวว่า "ในซีรีส์นี้ ผมจะสำรวจความเป็นไปได้ในอนาคตของพวกเรา ผ่านการสนทนากับผู้ที่กำลังก่อร่างมัน พวกเรากำลังมุ่งหน้าสู่ยูโทเปีย หรือดิสโทเปีย (แนวคิดของสังคมที่กดขี่และเลวร้าย ตรงข้ามกับยูโทเปีย-ประชาไท) และเราจะวางแนวทางของเราอย่างไร นี่เป็นโอกาสที่น่าตื่นเต้นที่จะได้แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์กับแขกรับเชิญในรายการรูปแบบใหม่ ที่จะสำรวจแนวความคิดและการต่อสู้ของพวกเขาในเชิงลึกและชัดเจนกว่าที่เคยมีมา"

 

 

ที่มา: http://wikileaks.org/New-Assange-TV-Series.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"อภิสิทธิ์" ชี้ "ทักษิณ" คือศูนย์กลางความขัดแย้ง

Posted: 25 Jan 2012 12:23 AM PST

เชื่อบ้านเมืองไม่ได้มีปัญหาเพราะ ม.112 และสถาบันกษัตริย์ไม่ได้อยู่ในวังวนความขัดแย้งเลย แต่แนวร่วมทักษิณและทักษิณมีความพยายามที่จะทำให้เกิดความเข้าใจที่สับสนในสังคม ยันถ้าประชาธิปัตย์จะกลับไปเป็นรัฐบาล ต้องผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง ไม่ใช่การมองว่าขณะนี้พรรคเป็นเสียงข้างน้อยในสภาแล้วจะทำอย่างไรจึงจะเป็นรัฐบาล

เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานวันนี้ (25 ม.ค.55) ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel ถึง ที่มาของการออก พรก. 4 ฉบับ ว่าความสับสนในเรื่องการที่มาของตัวเลขหนี้สาธารณะเกิดมาจากการที่รัฐบาลพยายามอธิบายมาตลอดว่าหากไม่พยายามโอนหนี้สาธารณะไป ธปท. แล้ว จะทำให้รัฐบาลไม่สามารถหาเงินมาลงทุน หรือกู้เงินมาลงทุนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ และสิ่งที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ออกมาเปิดเผยก็ตรงกับสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เคยเสนอมาก่อนหน้านี้ว่า การที่รัฐบาลเร่งออกเป็น พรก. เพราะอัตราส่วนหนี้ต่องบประมาณในปี 2555 ใกล้เต็มเพดานที่กำหนดไว้นั้นไม่เป็นความจริง และตัวเลขที่นายธีระชัยออกมาระบุก็เป็นที่ยืนยัน ดังนั้นทำให้ต้องมองไปที่การออก พรก. ดังกล่าวว่า หากไม่ออกเป็น พรก. แล้ว รัฐบาลจะสามารถกู้เงินมาแก้ปัญหาฟื้นฟูน้ำท่วมได้หรือไม่

“เราจะต้องมาพูดกันในประเด็นที่ว่า ตกลงแล้วถ้าไม่ออก พรก.แล้ว รัฐบาลสามารถที่จะกู้เงินมาแก้น้ำท่วมได้หรือเปล่า ซึ่งไม่ว่าตัวเลขจะเป็น 9 หรือ 12 รัฐบาลก็สามารถกู้เงินมาแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ดังนั้นการอ้างความเร่งด่วนเพื่อที่จะโอนหนี้ หรือแก้กติกาเกี่ยวกับการใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น และทำให้การตรา พรก. จะต้องขัดรัฐธรรมนูญ แล้วก็เป็นเหตุผลที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังจะยื่นตีความ”

จากวาน นี้นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าที่มีการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นัดพิเศษนั้น เป็นการประชุมเรื่องทิศทางของบ้านเมือง เพราะเกิดข่าวสับสน และประชาชนเกิดความกังวลในเรื่องเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ รวมถึงความเป็นห่วงในเรื่องความขัดแย้ง โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการของผู้สนับสนุนรัฐบาล หรือแนวร่วมของรัฐบาลกำลังสร้างประเด็นอย่างกรณีของ มาตรา 112 แม้ว่ารัฐบาลออกปฏิเสธก็ตาม

“ปัญหาอันนี้สร้างความสับสนอย่างมากกับประชาชน เพราะฟังแล้วทำให้คนเข้าใจไปว่าบ้านเมืองเรามีปัญหาเพราะมาตรา 112 หรือเปล่า ที่จริงแล้วความขัดแย้งทั้งหมดในบ้านเมืองเมื่อไล่เรียงกันแล้ว ศูนย์กลางจริง ๆ อยู่ที่ตัวคุณทักษิณ ที่เป็นตัวเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้งทั้งหมด และกรณีของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นไม่ได้อยู่ในวังวนของความขัดแย้งเลย แต่แนวร่วมของคุณทักษิณ และคุณทักษิณมีความพยายามที่จะทำให้เกิดความเข้าใจที่สับสนในสังคม”

นายอภิสิทธิ์ยกตัวอย่างกรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศในลักษณะ ที่สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเกี่ยวข้องหรือสามารถเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองเพื่อที่จะทำให้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ได้ และมาตรา 112 ก็เป็นปมปัญหานั้น ซึ่งไม่เป็นความจริง

“เรามองว่าขณะนี้ โจทย์ปัญหาความขัดแย้งนั้นหมุนเวียนอยู่กับความต้องการของคุณทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ การนิรโทษกรรม มาตรา 112 แม้กระทั่งตอนนี้ก็พูดถึงกฎหมายกระทรวงกลาโหมอะไรต่าง ๆ แล้วทำให้ปมเหล่านี้เป็นความขัดแย้ง แต่ความจริงแล้วถ้าประเด็นเหล่านี้ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมา เพราะไม่จำเป็นต้องไปตอบโจทย์คุณทักษิณแล้ว รัฐบาลเดินหน้าตอบโจทย์ประเทศ ตอบโจทย์ประชาชน ผมก็มองไม่เห็นว่าจะมีความขัดแย้งในเรื่องอะไร”

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนี้คนที่จะก้าวข้ามเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณได้ง่ายที่สุดก็คือรัฐบาล เพราะวันนี้รัฐบาลก็คือผู้สนับสนุนเป็นญาติกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และเป็นผู้มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ มีเสียงข้างมากในสภา ก็ควรทำสิ่งที่เคยสัญญากับประชาชน

“ปัญหาก็คือวันนี้คุณทักษิณพยายามจะเอาชนะกฎหมายไทย ศาลตัดสินแล้วไม่ยอมรับ และพยายามจะลากว่า ศาลตัดสินแพ้ มันเป็นผลพวงมาจากการรัฐประหาร แล้วก็มีความพยายามสร้างเรื่องว่าการรัฐประหารไปเกี่ยวข้องกับสถาบันนั้น สถาบันนี้ ขยายวงความขัดแย้งไป เพราะฉะนั้นวันนี้สังคมควรต้องส่งสัญญาณให้ชัดว่าได้เลือกรัฐบาลของพรรค เพื่อไทยเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาของประชาชนไม่ได้ให้มาแก้ปัญหาของคุณทักษิณ และถ้ารัฐบาลไม่หมกมุ่นกับเรื่องคุณทักษิณ สังคมก็ไม่ต้องมาโต้แย้งขัดแย้งอย่างที่เกิดขึ้นรายวันในขณะนี้ บ้านเมืองก็จะเข้าสู่กระบวนการปรองดองได้โดยอัตโนมัติ”

นายอภิสิทธิ์แนะว่า สิ่งใดที่เคยเป็นปมความขัดแย้งในอดีต ก็ควรปล่อยให้องค์กรอิสระ และกระบวนการยุติธรรม ให้เดินหน้าทำงานโดยที่ไม่ให้มีการเมืองเข้าไปแทรกแซง ดังนั้นการก้าวข้ามพ.ต.ท.ทักษิณจึงต้องเกิดขึ้นจากรัฐบาล แต่ไม่ใช่รัฐบาลมาแก้ปัญหาคน ๆ นี้แล้วทำให้เกิดความไม่ถูกต้องในบ้านเมือง

นอกจากนี้ในที่ประชุมพรรคฯ ยังมีการเสนอแนะรัฐบาลมีการทบทวนนโยบายพลังงานเพราะเป็นนโยบายที่สร้างความ เดือดร้อน และเป็นชนวนให้เกิดค่าครองชีพสูงขึ้นเป็นลูกโซ่

“เรายืนยันว่าการบริหารจัดการเรื่องพลังงานตามแนวทางก่อนที่รัฐบาลนี้เข้ามาจะเป็นแนวทางซึ่งแก้ปัญหาได้ ควบคุมราคาน้ำมันดีเซลได้ กองทุนน้ำมันอยู่ในฐานะที่ยังเดินต่อได้ ประชาชนไม่ต้องเดือดร้อนกังวลกับปัญหาค่าไฟ ค่าแก๊ส อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นตัวอย่างของสิ่งที่รัฐบาลควรจะใส่ใจในขณะนี้”

สำหรับในเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าที่ประชุมฯ เสนอให้รัฐบาลต้องมีความโปร่งใสด้วยการเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม เพราะสิ่งที่รัฐบาลต้องใส่ใจคือเนื้องานไม่ใช่เรื่องเงิน และจนถึงวันนี้รัฐบาลก็ยังไม่ชัดเจนในเรื่องแผนบริหารป้องกันน้ำท่วม

“รัฐบาลชุดที่แล้วก็วางแนวทางเรื่องน้ำไว้ เรื่องของรถไฟความเร็วสูง งบประมาณปี 55 นี้ที่ไม่ใช่งบกลาง โครงการที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำทั้งหมดก็คือโครงการที่รัฐบาลที่แล้วเป็น ผู้อนุมัติไว้ ส่วนเรื่องรถไฟความเร็วสูงที่จะต้องดำเนินการนั้น ก็เป็นหัวใจสำคัญในเชิงของระบบโลจิสติกส์ ท่าเรือทวายก็เป็นผลมาจากรัฐบาลที่แล้วประกาศสนับสนุนรัฐบาลพม่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีใครปฏิเสธ แต่สิ่งที่แปลกก็คือ คุณวีระพงษ์ คณะกรรมการฯ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นว่าจะต้องหาวิธีนอกรูปแบบ พูดง่าย ๆ คือเลี่ยงระบบการตรวจสอบ”

ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงการได้พบปะกับผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมาว่า กทม.ยืนยันทำทุกอย่างตามนโยบายของ ศปภ. และเป็นไปตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ที่ได้ทำมาให้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งระบุว่าได้มอบหมายให้ผู้ว่าฯ กทม. ปิดเปิดประตูน้ำ การระบายน้ำเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ว่าฯ จะไปฝ่าฝืนคำสั่ง

“กทม. ทำทุกอย่างที่ผ่านมานั้น ก็เป็นไปตามนโยบายของ ศปภ. และเป็นไปตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย คำสั่งของนายกรัฐมนตรีนั้นเขียนไว้เลยว่ามอบหมายให้ท่านผู้ว่าฯ คุมการปิดเปิดประตูน้ำ การระบายน้ำไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ท่านผู้ว่าฯ จะไปฝ่าฝืนตรงนี้ ถ้าท่านผู้ว่าฯ ฝ่าฝืนตรงนี้รัฐบาลมีสิทธิ์ที่จะปลดได้ เพียงแต่รัฐบาลไม่ยอมรับผิดชอบ เวลาท่านผู้ว่าฯ ตัดสินใจอะไรแล้วมีพี่น้องบางส่วนไม่พอใจ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา เวลาที่จะต้องมีการจัดการเรื่องระบายน้ำ รัฐบาลก็ทำเพิกเฉย แทนที่จะมาช่วยกทม. อธิบายว่าที่ผู้ว่าฯ ตัดสินใจอย่างนั้นเพราะรัฐบาลให้นโยบายไป แต่พอเกิดความไม่พอใจขึ้นก็โยนมาใส่ผู้ว่าฯ กทม.”

ในช่วงท้ายรายการมีการพูดถึงประเด็นที่มีข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการกลับไปเป็นรัฐบาลนั้นนายอภิสิทธิ์กล่าวย้ำเกี่ยวกับเรื่องนี้ตนพูดว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์จะกลับไปเป็นรัฐบาลควรต้องผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่การมองว่าขณะนี้พรรคเป็นเสียงข้างน้อยในสภา แล้วจะทำอย่างไรจึงจะเป็นรัฐบาล

“วันนี้สภาฯ เป็นอย่างนี้ เราถือว่าเขามีเสียงข้างมาก พรรคเพื่อไทยก็ควรเป็นรัฐบาล และทำหน้าที่ไปจนครบวาระ อย่าไปสร้างความขัดแย้ง ความวุ่นวายในบ้านเมือง ทำไปเลยตามนโยบาย ทำให้ได้ และเรามีหน้าที่ติดตามตรวจสอบรักษาผลประโยชน์ของประชาชน การเมืองควรเป็นอย่างนั้น”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น