โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

2555 องค์กรด้านสิทธิเดินหน้า ล่าชื่อเสนอกฎหมายต้านทรมาน

Posted: 08 Jan 2012 07:27 AM PST

 

นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ

 

นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ เจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและสมาชิกเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่า ในปี 2555 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) จะร่วมกันล่ารายชื่อประชาชนจากทั่วประเทศให้ได้ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ป้องกันและต่อต้านการทรมาน พ.ศ....ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการออกกฎหมายฉบับนี้

นางสาวพูนสุข เปิดเผยต่อไปว่า การล่ารายชื่อดังกล่าว จะมีขึ้นพร้อมกับการรณรงค์ต่อต้านการซ้อมทรมานในทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย โดยในเดือนมกราคม 2555 จะเริ่มรงณรงค์และล่ารายที่ภาคเหนือ เดือนภุมภาพันธ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเดือนมีนาคมในภาคกลาง ส่วนในภาคใต้ยังไม่ได้กำหนด

นางสาวพูนสุข เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมามีการซ้อมทรมานเป็นระยะในประเทศไทย โดยมีการเก็บข้อมูลสถิติที่ชัดเจน โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการเก็บข้อมูลชัดเจนมากที่สุด แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดโดยการซ้อมทรมานได้รับโทษแต่อย่างใด หรือมีการลงเพียงอย่างมากก็แค่ถูกสั่งย้ายไปอยู่ที่อื่น

นางสาวพูนสุข กล่าวว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักในการรนณรงค์และล่ารายชื่อ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการซ้อมทรมานมากที่สุด

“เราไม่คาดหวังว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นร่างที่สมบูรณ์ได้ แต่สิ่งที่คาดหวังจากกฎหมายฉบับนี้ คือต้องการให้กลไกในการดูแลแก้ไขเรื่องการซ้อมทรมานโดยเฉพาะ เช่น มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล จึงไม่ใช่เพียงแค่การเพิ่มมาตราในกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น ประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้น” นางสาวพูนสุข กล่าว

ก่อนหน้า ระหว่างวันที่ 10-11 ธันวาคม 2554 เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เมื่อจัดโครงการอมรบเชิญปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เรื่อง ปัญหาและความสำคัญของการมีกฎหมายป้องกันการทรมานในประเทศไทย ที่ห้องไทรงาม โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

นางสาวหทัยกาญจน์ กำเนิดเพชร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า การรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนยอมรับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ สิ่งแรกคือ ต้องปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องว่า การซ้อมทรมานเพื่อจะให้ได้ข้อมูลนั้น เป็นเรื่องผิดกฎหมายและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคล และต้องให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปว่า ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ถึงแม้จะเป็นนักโทษก็ตาม และการซ้อมทรมานนั้นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย

นางสาวหทัยกาญจน์ กล่าวว่า คาดหวังหากพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้ประกาศใช้จริงๆ คิดว่าปัญหาการซ้อมทรมานน่าจะลดลงในระดับหนึ่ง ที่สำคัญเจ้าหน้าที่รัฐอาจจะตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น

นายอิสมาแอล เต๊ะ อดีตนักศึกษาจากจังหวัดยะลา ผู้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ซ้อมทรมานตน กล่าวในเสวนาว่าด้วย “บทบาทของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต่อการป้องกันการทรมาน”ว่า แรงจูงใจที่ตนสู้คดีเพราะพอมีความรู้ในการเรียกร้องความยุติธรรมอยู่บ้าง แต่ประชาชนทั่วไปไม่มีรู้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและกลัวที่จะฟ้องรัฐ จึงต้องการให้คดีของตนเป็นคดีตัวอย่างสำหรับคนที่ถูกซ้อมทรมาน

“เรื่องเงินค่าเสียหาย ผมไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก แต่เรื่องที่สำคัญคือความยุติธรรม” นายอิสมาแอล กล่าว

นายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การซ้อมทรมานเป็นกระบวนการยุติธรรมนอกระบบ ไม่ว่ากฎหมายใดๆ ก็ไม่อาจอนุญาตให้กระทำได้ คนที่ทำอาจมีเจตนาเพื่อแสวงหาข้อมูล แต่ก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่ต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐ จนกระทั่งผู้ถูกซ้อมทรมานยอมกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ

นายแพทย์อนันต์ชัย ไทยประทาน จากเครือข่ายกลุ่มการเมืองภาคพลเมือง กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาการซ้อมทรมาน คือ ต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษต่างๆ เพราะตราบใดที่กฎหมายพิเศษยังใช้อยู่ ก็จะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นายแพทย์อนันต์ชัย กล่าวด้วยว่า รัฐควรตั้งกองทุนประกันตัวผู้ต้องหา เพราะผู้ต้องหาส่วนใหญ่ มีฐานะยากจน ส่วนการเลือกตำรวจมาทำงานในพื้นที่ ต้องเป็นคนในพื้นที่ เพราะมีความเข้าใจในพื้นที่ สำหรับตำรวจมุสลิม ต้องกำหนดเงื่อนไขว่า ต้องจบการศึกษาศาสนา ส่วนอัยการและศาลต้องลงพื้นที่พบกับภาคประชาชนด้วย

ในเอกสารโครงการอบรมเชิญปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ระบุว่า สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้รับรองอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดไร้มนุษยชน หรือยำยีศักดิศรี เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2527 และอนุสัญญามีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2530 มีการบังคับใช้ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งอนุสัญญาฉบับนี้มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ ในการระงับและยับยั้งการทรมาน เป็นผลให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญานี้ และนำมาตรการในทางกฎหมาย ตลอดจนสามารถนำเครื่องมือต่างๆ ที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฯ มาใช้ในการแก้ไขปัญหาการทรมานที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

เอกสารโครงการยังระบุอีกว่า ปัญหาการซ้อมทรมานจะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหากยังไม่มีการตรากฎหมายเฉพาะขึ้นมาเพื่อป้องกันและแก้ไข เพราะประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีข้อจำกัดทั้งในแง่เนื้อหาและกระบวนการขั้นตอนในการสืบสวนสอบสวน มาตรการคุ้มครองและป้องกันการทรมาน ตลอดจนการเยียวยาผู้เสียหายและการลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิด ปัจจุบันจึงไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ครอบคลุมเพียงพอจะแก้ไขปัญหาการทรมานทั้งระบบ เพื่อคุ้มครองป้องกันประชาชนจากการถูกทรมานได้   

“เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรมตระหนักถึงความสำคัญของการมีกฎหมายเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทรมาน จึงได้ร่วมกันร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทรมานขึ้นเพื่อนำเสนอต่อภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” เอกสารโครงการระบุ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประวัติศาสตร์ เหรียญด้านเดียว

Posted: 08 Jan 2012 05:37 AM PST

 

วันที่ 7 ม.ค. ที่วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม พร้อมครอบครัวได้ร่วมกันทำบุญถวายสังฆทานเนื่องในวันครบรอบวันเกิดปีที่ 75 พร้อมกล่าวถึงกรณีที่ทุกพรรคการเมืองมีมติไม่ควรแก้ไขมาตรา 112 ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับเรื่องนี้ และที่ผ่านมาก็เคยแสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดของบรรดานักวิชาการที่เห็นว่าเป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง

"ขอให้คนที่คิดเรื่องนี้ศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยให้ลึกและมากหน่อยว่า เรามีชาติไทยมาได้ถึงทุกวันนี้ เพราะเรามีพระมหากษัตริย์เป็นผู้กอบกู้ประเทศชาติมาตลอดเวลา ดังนั้นจึงสมควรให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับชาติตลอดไป" รมว.กลาโหม กล่าว

ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ชิ้นนี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกบางอย่างในหัวใจและอาจจะระบายออกไปว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ท่านเอ่ยอ้างมานั้นเป็นประวัติศาสตร์ในตำราไหน การเอ่ยอ้างเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เต็มไปด้วยแนวคิดราชาชาตินิยมที่ไม่ได้เป็นไปตามประวัติศาสตร์อันแท้จริงที่เกิดขึ้น ตำราวิชาประวัติศาสตร์ใหม่ที่ถูกเขียนขึ้นโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมเต็มไปด้วยแนวคิดเข้าข้างตัวเองของสยามประเทศ เช่น พม่าศัตรูตลอดกาล ลาว เขมรต้องเป็นประเทศที่ต้องพึ่งบุญสยามมาโดยตลอด สยามเป็นลูกแกะที่โดนรังแกโดยหมาป่าฝรั่งเศส และอังกฤษ

แนวคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์เช่นนี้ปิดกั้นความคิดของคนในชาติ ส่งผลให้คนในชาตินั้นหลงใหลได้ปลื้มในประวัติศาสตร์แบบวรรณกรรมชนช้าง การสอนประวัติศาสตร์แบบนิทานปรัมปราที่ส่งผลหลายอย่างแก่ผู้เรียนมาจนส่งผลให้เห็นได้จากแนวคิดของคนในสังคมปัจจุบันนี้ อาจอธิบายการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยได้ดังนี้ “ประวัติศาสตร์ไทย” นั้นมักจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกตัดตอน คือเอามานำเสนอแค่ด้านเดียว เป็นประวัติศาสตร์แบบ “ราชาชาตินิยม” ศูนย์กลางเรื่องอยู่ที่พระมหากษัตริย์ อยู่ที่ชนชั้นปกครอง ไม่เห็นความสำคัญของราษฎร ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมนี้ให้ข้อมูลแต่ด้านเดียว ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมนั้น มักจะได้รับการเอาใจใส่จากชนชั้นปกครอง ให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เช่นเรื่อง เสียดินแดน 14 ครั้ง, เขาพระวิหารเป็นของไทย อะไรประมาณนี้ หรือแม้กระทั่งเนื้อเพลงชาติที่ร้องกันทุกวันนี้ ถ้าตั้งคำถามแล้วจะโดนหาว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า? ประวัติศาสตร์แบบนี้นั้นมักจะสอนให้ซาบซึ้งและ “กล่อมประสาท” ไปวันๆ กล่อมประสาทจนไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น

 “ในขณะที่เราเรียกร้องให้ระบบการศึกษาผลิตคนที่คิดเป็น เรากลับเรียกร้องให้เยาวชนเสพประวัติศาสตร์เป็นยากล่อมประสาทหนักเข้าไปอีก” (ธงชัย วินิจจะกูล)

ผู้เขียนเชื่อโดยสุจริตใจเป็นส่วนตัวว่า ผู้ที่เคลื่อนไหวแก้มาตรา 112 นั้นมีความหวังดีต่อสถาบันกษัตริย์ มุ่งหวังในสถาบันดำรงคงอยู่อย่างยั่งยืน ยาวนาน และมั่นคง และนักวิชาการที่ต้องการแก้ไขมาตรานี้หลายๆ ท่านเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีความรู้ประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง เป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าที่เรียนกันในโรงเรียนที่ท่านรัฐมนตรีเรียนอย่างแน่นอน การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อที่จะนำข้อผิดข้อพลาดในอดีตนั้นมาปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งๆขึ้น มิใช่การศึกษาเพื่อการควบคุมความคิดประชาชน และสิ่งสำคัญที่การศึกษาประวัติศาสตร์ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์ขึ้น คือความสงสัย สงสัยในประวัติศาสตร์ที่ถูกบอกเล่ามาว่ามันเป็นจริง(realistic) หรือไม่ นี่คือกระบวนการเริ่มต้นในการศึกษาประวัติศาสตร์ให้เป็นวิทยาศาสตร์ เมื่อได้ความจริงทางประวัติศาสตร์ออกมาแล้ว จึงต้องมาถอดบทเรียนจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเพื่อการพัฒนาในสิ่งต่างๆ ที่ประวัติศาสตร์ได้ให้บทเรียนนั้นไว้ วิชาประวัติศาสตร์ที่สอนในตำราเรียนก็สะท้อนได้ว่าประเทศนั้นๆ เป็นเช่นไร เราควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการสอนประวัติศาสตร์แบบด้านเดียว เพราะเสมือนกับการบอกคนว่า เหรียญนั้นมีเพียงด้านเดียว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่บ้านเรากำลังบังคับบอกทุกๆ คนในประเทศว่า เหรียญนั้นมีเพียงด้านเดียว ถ้าใครไม่เชื่อก็ไปอยู่ประเทศอื่น วันหนึ่งผู้คนก็จะรู้ว่าเหรียญที่มีด้านเดียวนั้นเป็นเหรียญที่ไม่ใช่ของจริงเป็นเหรียญเก๊

ขอฝากข้อความจากปัญญาชน 3 ท่าน เพื่อสะท้อนสังคมในปัจจุบันได้ดี

                “สิ่งใดบังคับให้เทิดทูนสักการะ สิ่งใดลวงให้ซาบซึ้งน้ำตาไหล สิ่งใดถูกตั้งคำถามและตรวจสอบมิได้ สิ่งนั้นคือมายา-อวิชชา-มิจฉาทิฐิ”                                                                         

                                                                                                  (มุกหอม วงษ์เทศ)

               “การศึกษาประวัติศาสตร์ตามจารีตของไทยไม่ได้มีไว้เพื่อยกระดับการคิดการใช้สมองของประชากร ไม่ได้มุ่งหมายผลิตปัจเจกชนที่อิสระ หัวแข็ง ไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายๆ” 

                                                                                                  (ธงชัย วินิจจะกูล)

               “ก็มนุษย์นั้น ถ้าไม่มั่นในสัจจะ และไม่มุ่งในความยุติธรรมเสียแล้ว อาจเลวกว่าเดรัจฉานก็ได้ มิใช่หรือ”

                                                                                                  (สุลักษณ์ ศิวรักษ์)

                แต่คำที่โดนใจข้าพเจ้ามากๆคือ ข้อความที่ผู้ใช้นามว่า ศาสดา ในโลกสังคมออนไลน์ได้เขียนไว้ว่า

               “ประเทศเรานี้ คิดเอง เออเอง ครื้นเครงอยู่ในกะลา”

 

 

                                                                                                

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลสั่งรับฟ้องกรณีหัวหน้าอุทยานแก่งกระจานจ้างวานฆ่าอดีตผู้สมัครเพื่อไทย

Posted: 08 Jan 2012 05:27 AM PST

ศาลจังหวัดเพชรบุรีรับฟ้องคดีจ้างวานฆ่านายทัศน์กมล โอบอ้อม โดยมีจำเลย นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ แก่งกระจานและพวกทั้ง 5 ในข้อหาจ้างวานฆ่า และร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ในขณะที่ชาวกะเหรี่ยงและเครือข่ายประชาสังคมภาคเหนือจัดคอนเสิร์ตระดมทุนและลำเลียงข้าวไปช่วยพี่น้องกะเหรี่ยงแก่งกระจาน

จากกรณีที่เฮลิคอปเตอร์ตก 3 ลำที่แก่งกระจานซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปราบปรามชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงของอุทยานฯ นำโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน ซึ่งนายทัศน์กลม โอบอ้อม หรือ อ.ป๊อด เป็นแกนนำในการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับกลุ่มกะเหรี่ยงที่ถูกเจ้าหน้าที่ผลักดันและเผาบ้าน ตลอดจนยุ้งฉางไปกว่า 100 หลัง

ต่อมานายทัศน์กมล โอบอ้อม อายุ 55 ปี อดีตผู้สมัครส.ส. พรรคเพื่อไทย จ.เพชรบุรี ได้ถูกยิงตายบนถนนเพชรเกษม อ.บ้านราช จ.ราชบุรี ในวันที่ 10 ก.ย. 54 โดยจากการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่สอบสวนได้นำไปสู่การออกหมายจับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ แก่งกระจานกับพวกอีก 4 คน  

ต่อมาพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนส่งต่อพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรีในวันที่ 22 ธ.ค. 2554 และอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี จนกระทั่งล่าสุด วันที่ 29 ธ.ค. 2554 ศาลจังหวัดเพชรบุรีได้ประทับรับฟ้องคดีหัวหน้าอุทยาน ในข้อหาจ้างวานฆ่า กับพวกอีกทั้ง 4 คน ซึ่งประกอบด้วย นายศักดิ์ พลับงาม มือปืน, นายชูชัย สุขประเสริฐ อดีตสมาชิกอบต.บางเก่า อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี, นายธวัชชัย ทองสุข หรือ ส.ท.ต่อ สมาชิกสภาเทศบาล ต.หนองจอก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และนายดวง สังข์ทอง ลูกจ้างอุทยาน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นคดีอาญา คดีดำ 4653/2554 และนัดพร้อมในวันที่ 6 ก.พ.2555 เพื่อที่จะนัดสืบพยานหรือสอบคำให้การโจทก์และจำเลยเป็นการต่อไป

ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ได้ให้ความเห็นกรณีศาลรับฟ้องในเรื่องนี้ว่า “กระบวนการได้ผ่านการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีมูลและข้อเท็จจริงเพียงพอจึงทำความเห็นส่งพนักงานอัยการ เมื่อพนักงานอัยการเห็นพ้องตามพนักงานสอบสวนเสนอ เห็นควรสั่งฟ้อง จึงนำมาสู่การยื่นฟ้องหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและพวก ผู้บังคับบัญชา คือ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติและพันธุ์พืช จะต้องพิจารณาว่าควรดำเนินการกับข้าราชการผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีจ้างวานฆ่า เป็นคดีอาญาและมีโทษร้ายแรงอย่างไร ทั้งนี้มีตั้งแต่ ย้าย – ให้ออกหรือพักราชการไว้ก่อน”

“ส่วนคดีความซึ่งชาวบ้านกะเหรี่ยงที่เกือบทั้งหมดเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยถูกต้องยื่นต่อสภาทนายความ ให้ช่วยเหลือฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากอุทยานฯ และกรมอุทยานแห่งชาติและพันธุ์พืช ปัจจุบันอยู่ระหว่างสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมข้อมูล ซึ่งคาดว่าจะสามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้ในอีกไม่นาน” นายสุรพงษ์กล่าว

ในขณะเดียวกัน นายสุวิชาน หรือ ชิ พัฒนาไพรวัลย์  ศิลปินเตหน่า ปกาเกอะญอแห่งป่าสนวัดจันทร์ จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า “มีการจัดคอนเสิร์ตเสียงเผ่าชนคนต้นน้ำ ครั้งที่ 3.5 ในวันอาทิตย์ที่ 8 ม.ค. 55 ที่จะถึง เพื่อระดมทุนและลำเลียงข้าวจากพี่น้องกะเหรี่ยงเหนือไปให้พี่น้องกะเหรี่ยงแก่งกระจานในวันที่ 11 ม.ค. 55 เนื่องจากชาวบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจานได้รับความสูญเสียจากการเผาบ้านและยุ้งฉางโดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แก่งกระจานดังกล่าว และขาดแคลนอาหารโดยเฉพาะข้าว จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน”

คอนเสิร์ตจัดที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ถึง 20.00 น. โดยมีศิลปินมากมายมาขับกล่อมดนตรีสไตล์โฟลก์กันในงาน อาทิ ทอดด์ ทองดี, วงทิพย์ มหาวิทยาลัยพ ายัพ, สุดสะแนน  และ นายสุวิชาน หรือ ‘ชิ’  ศิลปินเตหน่า แห่งป่าสนวัดจันทร์ และมี นิรมล เมธีสวกุล จากรายการพันแสงรุ้ง เป็นผู้ดำเนินรายการ นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายอาหารชนเผ่าต่างๆ อาทิ ปกาเกอะญอ อาข่า และลาหู่ บัตรคอนเสิร์ตจำหน่ายราคา 150 บาท โดยนอกจากจะได้สุทรียภาพจากดนตรีโฟลก์เบาๆ ยังได้ลิ้มลองอาหารพื้นเมืองและชนเผ่าต่างๆ ตามสโลแกน “ฟังดนตรี จิบชา และชิมอาหารชนเผ่า” งานนี้ ได้รับการสนับสนุนโดยภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย ละครกั๊ฟไฟ ละคร Hiso ร้านหนังสือ Book Republic ร้านหนังสือ ‘เล่า’ มูลนิธินา โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา กลุ่ม Made In Chiangmai เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสียงจาก ADB "IMT–GT คือหัวหอก ASEAN"

Posted: 08 Jan 2012 05:20 AM PST

 

 

อีริค ซิดจ์วิค

 

โครงการความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย–มาเลเซีย–ไทย หรือ IMT–GT (Indonesia–Malaysia–Thailand Growth Triangle) กำลังจะค่อยๆ พลิกโฉมหน้าภูมิภาค โดยมี ‘ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย’ หรือ ADB เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนพื้นที่อนุภูมิภาคแห่งนี้ ให้กลายเป็นหัวหอกของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community)

ตลอด 3 วัน ของการประชุมโครงการความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย–มาเลเซีย–ไทย หรือ IMT–GT (Indonesia–Malaysia–Thailand Growth Triangle) ครั้งล่าสุด ระหว่างวันที่ 5–7 ธันวาคม 2554 ที่โรงแรมเจดับเบิ้ลยู แมริออท เมืองเมดาน จังหวัดสุมาตราเหนือ ประเทศอินโดนีเซีย

อันประกอบด้วย การประชุมสภาธุรกิจ IMT–GT ครั้งที่ 31 การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส IMT–GT ครั้งที่ 18 และการประชุมระดับผู้ว่าราชการจังหวัดและมุขมนตรี IMT–GT ครั้งที่ 8

มีนายอีริค ซิดจ์วิค (Eric Sidgwick) นักเศรษฐศาสตร์หลัก (ความร่วมมือระหว่างภูมิภาค) แผนกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB ร่วมนำเสนอโครงการที่ทั้ง 3 ประเทศ จะดำเนินการให้แล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า จำนวน 25 โครงการ จาก 33 โครงการ มูลค่ากว่า 713 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

นั่นหมายความว่า IMT–GT จะกลายเป็นภูมิภาคนำร่องของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) หรือ AEC

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ต่อไปนี้คือคำตอบจากนายอีริค ซิดจ์วิค

0 0 0

ADB เข้ามามีบทบาทใน IMT–GT ด้วยการทำ IMT–GT Roadmap 2007–2011 มีหลายโครงการที่ถูกกำหนดให้เป็นโครงการจำเป็นเร่งด่วน (PRIORITY CONNECTIVITY PROJECTS: PCPs) แต่หลายโครงการก็ยังไม่เป็นจริง ADB จะทำอย่างไรต่อไป
แนวทางการดำเนินงานของ ADB คือ ช่วยทำโรดแมป IMT–GT โรดแมปดังกล่าวไม่ได้เป็นของ ADB แต่เป็นแนวทางการดำเนินงานของ IMT–GT สำหรับรัฐบาลแต่ละประเทศใน IMT–GT ได้ดำเนินการตามแนวทางและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง

ผมคิดว่า ในพิมพ์เขียวการดำเนินงาน หรือ IB 2012–2016 (Implementation Blueprint 2012–2016) เน้นไปที่การปฏิบัติการ มีทั้งแนวทางการดำเนินงาน มีโครงการ มีกิจกรรม แต่รัฐบาลเห็นข้อผิดพลาดในระดับจังหวัด จึงยังไม่นำโครงการในระดับจังหวัดเข้ามา

บางโครงการใน IB 2012–2016 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล บางโครงการได้รับเงินสนับสนุนจากภาคเอกชน และบางโครงการได้รับเงินสนับสนุนจาก ADB บางส่วน

ADB ได้ช่วยคัดสรรโครงการและกิจกรรมที่จะถูกรวมไว้ใน IB 2012–2016 เมื่อทุกอย่างเข้าที่ และรัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ตกลงใจร่วมกัน บางโครงการมีการจัดงบประมาณสนับสนุนไปแล้ว โครงการดังกล่าวจะถูกนำเข้าไปอยู่ในแผนดำเนินงานต่อเนื่อง 2 ปี หรือ RP 2012–2013 (Rolling Pipeline 2012–2013) ของ IB 2012–2016

จึงชัดเจนว่า โครงการดังกล่าว จะได้รับการดำเนินงานในปี ค.ศ.2012 หรือ ค.ศ. 2013

จุดประสงค์ที่กำหนดเช่นนี้ ก็เพื่อให้แน่ใจว่า โครงการต่างๆ ที่เข้าไปอยู่ใน RP 2012–2013 มีความเป็นไปได้สูงว่า จะได้รับการดำเนินงานแน่ๆ ไม่ใช่เป็นเพียงความคิด และไม่ใช่แค่รายการความปรารถนา แต่เป็นสิ่งที่ได้รับการคัดสรรแล้ว มีการให้ทุนสนับสนุน และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

สิ่งที่ทุกฝ่ายไม่ต้องการคือ โครงการที่อยู่ใน IB แล้ว ไม่ได้ถูกดำเนินงานจริง

ผมคิดว่าทั้ง 3 ประเทศโดยการช่วยเหลือจาก ADB กำลังพยายามทำให้แน่ใจว่า โครงการและกิจกรรมที่ถูกเลือกขึ้นมา จะเกิดขึ้นได้จริงในอีก 3 ปีหรือ 2 ปีหลังจากนี้

เมื่อเราทบทวน RP ทุกปี เราก็จะเพิ่มโครงการใหม่ๆ เข้ามาในอีก 2 ปีถัดไป และเราจะได้ประเมินโครงการที่ทำสำเร็จไปแล้ว

คำถาม มีอยู่ว่า ADB กำลังทำอะไรเพื่อช่วย IMT–GT คำตอบคือ ADB กำลังช่วยทำให้แน่ใจว่า โครงการที่ทั้ง 3 ประเทศสมาชิกต้องการ ได้รับการเตรียมการจริง และมาถึงขั้นตอนที่จะได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณ และเพื่อให้แน่ใจว่า โครงการจะดำเนินการสำเร็จได้จริง

ดังนั้น เรากำลังช่วยพวกเขา เราไม่ได้เป็นฝ่ายจัดการ แต่ขึ้นอยู่กับประเทศดังกล่าว ขึ้นอยู่กับกระทรวงที่รับงานไป ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลัง ขึ้นอยู่กับกระทรวงเพื่อการวางแผน หรือขึ้นอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรากำลังช่วยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

อะไรคือเกณฑ์คัดสรรโครงการเข้าสู่ IB
มี 2 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง IB เป็นพิมพ์เขียวสำหรับการดำเนินงาน เริ่มปี ค.ศ.2012 ถึง ค.ศ.2016 ระยะเวลา 5 ปี

ถ้าโครงการสัมพันธ์กับการพัฒนาชาติของแต่ละประเทศ หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ถูกให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ หมายถึงมีการคำนวณค่าใช้จ่ายและเป็นโครงการที่ทำได้จริง ใครที่มีศักยภาพก็สนับสนุนงบประมาณได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ภาคเอกชน องค์กรเพื่อการพัฒนา รวมถึง ADB หรือหน่วยงานอื่นๆ

รวมทั้งต้องเป็นโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ IMT–GT สอดคล้องการพัฒนาตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจและพื้นที่ต่อเนื่อง หรือ IMT–GT Connectivity Corridors (มี 5 เส้นทาง) และ กรอบความร่วมมือรายสาขา 6 สาขาของ IMT–GT โครงการนั้นจึงจะเข้ามาอยู่ IB ได้

ถ้าโครงการใดต้องการเข้ามาอยู่ใน RP 2012–2013 โครงการเหล่านั้นต้องเข้าข่าย 3 หลักเกณฑ์ หลักเกณฑ์แรก มีความมั่นคงด้านเงินทุนสนับสนุน โดยรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือ คณะรัฐมนตรี แจ้งว่ามีงบประมาณสำหรับโครงการนั้นแล้ว ถ้าเป็นโครงการร่วมระหว่างรัฐกับเอกชน หรือ PPP (Public Private Partnership) ADB หรือภาคเอกชนก็สามารถให้งบประมาณสนับสนุนโครงการนั้นได้

ถ้าโครงการไหนที่ ADB ต้องการสนับสนุน เราจะขออนุมัติต่อที่ประชุมคณะกรรมการใหญ่ของ ADB

หลักเกณฑ์ต่อไปคือ การปฏิบัติการ มีการกำหนดกรอบเวลาดำเนินงาน เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จ

ดังนั้น คุณควรเตรียมโครงการอย่างดี มีหลายอย่างที่คุณจำเป็นต้องทำเมื่อดำเนินโครงการ เช่น ถ้าต้องอพยพเคลื่อนย้ายผู้คนออกไปจากพื้นที่โครงการ คุณต้องทำแผนการเคลื่อนย้าย หรือโครงการเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม คุณก็ต้องทำตามเกณฑ์กฎหมายสิ่งแวดล้อม หรือถ้าเป็นโครงการทางเทคนิค คุณก็ต้องผ่านเกณฑ์ทางเทคนิค หรือเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น คุณจำเป็นต้องมีรายละเอียดแผนปฏิบัติงาน  เพื่อให้โครงการได้รับการอนุมัติ จากนั้นคุณเริ่มดำเนินงานได้ทันที โดยไม่ต้องรอ

เกณฑ์สุดท้ายคือ กรอบผลลัพธ์ เป็นกลุ่มตัวชี้วัดที่ช่วยให้ตัดสินได้ว่า โครงการประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่คุณต้องการหรือไม่

คุณจำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ 3 ข้อคือ การสนับสนุนเงินทุน แผนปฏิบัติงาน และกรอบผลลัพธ์ ถ้าโครงการและกิจกรรมมีพร้อมทั้ง 3 เกณฑ์ โครงการนั้นก็เข้าข่ายที่จะได้รับคัดเลือกเข้าสู่ RP

ทางภาคใต้ของไทยกับตอนเหนือของมาเลเซีย มีกรอบความร่วมมือ JDS (คณะกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย–มาเลเซีย Thai–Malaysia Committee on Joint Development Strategies for Border Area: JDS) อยู่แล้ว แต่ IMT–GT เป็นภาพที่ใหญ่กว่า เพราะรวมเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียด้วย

ดังนั้น โครงการต่างๆ ของไทย ต้องให้ประโยชน์ทั้งต่อไทยและประเทศอื่นด้วย ต้องเป็นโครงการระดับภูมิภาคย่อย ไม่ใช่เป็นแค่ของไทย หรือมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย แต่เป็นโครงการที่ให้ประโยชน์มากกว่าหนึ่งประเทศ นั่นคือความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง JDS กับ IMT –GT

ทำไมยังต้องมี IMT–GT ในเมื่อขณะนี้มีกรอบใหญ่คือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อยู่แล้ว
นั่นเป็นคำถามสำหรับรัฐบาล ไม่ใช่ ADB

ทั้ง 3 ประเทศตัดสินใจให้มีการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคย่อย เพราะพวกเขาเห็นประโยชน์สำหรับทั้ง 3 ประเทศ และเห็นประโยชน์ที่มีต่อภูมิภาค กิจกรรมบางอย่างที่ดำเนินไปในภูมิภาคย่อย ได้ช่วยสร้างอาเซียน (ประชาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN) ในชุมชนของพวกเขาเช่นกัน

คุณต้องถามรัฐบาลถึงลำดับความสัมพันธ์ระหว่าง AEC หรือ IMT–GT เพราะพวกเขาเป็นผู้ตัดสินใจ ส่วน ADB ไม่มีความคิดเห็นเรื่องนี้

เรากำลังพยายามที่จะให้อาเซียนต่อเชื่อมกัน ผ่านแผนแห่งชาติที่เรามีในระดับภูมิภาคย่อย และผ่านแผนระดับภูมิภาคย่อย ที่ต่อเชื่อมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจ

ยกตัวอย่าง โครงการมะละกา–เปกันบารู เป็นโครงการต่อเชื่อมระหว่างรัฐมะละกาของมาเลเซียกับจังหวัดเรียวของอินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับความสำคัญลำดับต้นๆ ที่สนับสนุนโดย ADB ภายในปี 2015

ผมไม่รู้ว่ามอเตอร์เวย์ (ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง) สายหาดใหญ่–สะเดา (หนึ่งในโครงการที่อยู่ใน RP 2012–2013) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางหลวงอาเซียนหรือไม่ แต่ทางหลวงอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของ AEC แน่นอน

ดังนั้น IMT–GT เป็นทั้งตัวช่วยเสริมสร้างภูมิภาคย่อย และเสริมสร้างอาเซียนไปด้วย ถึงแม้จะไม่ทุกโครงการ IMT–GT จึงเป็นเหมือนโครงการนำร่องของ AEC เพราะสิ่งที่ดำเนินการในระดับภูมิภาคย่อย อาจจะเป็นการดำเนินการสนับสนุนความร่วมมือในระดับภูมิภาคด้วยเช่นกัน

สำหรับประเทศต่างๆ ที่กำลังตัดสินใจโครงการเร่งด่วนต่างๆ เราก็เข้าไปช่วยเหลือ เราช่วยตั้งแต่ในระดับประเทศ ในระดับภูมิภาคย่อย และระดับอาเซียน

ใน IB 2012–2016 โครงการไหนที่คิดว่าเป็นดาวเด่น
ADB ไม่ได้คัดสรรโครงการเอง แต่ประเทศต่างๆ เป็นผู้คัดสรรโครงการที่พวกเขาต้องการ ประเทศเหล่านั้นไม่ต้องขออนุญาต ADB ในการดำเนินโครงการต่างๆ แต่สามารถขอคำแนะนำจาก ADB ได้

คำแนะนำของเราคือ ถ้าโครงการที่เราทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันในระดับภูมิภาคย่อย เป็นไปตามหลักเกณฑ์ มันก็มีเหตุผลที่จะให้เกิดโครงการนั้นขึ้นมา แต่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ADB ว่า จะให้เกิดหรือไม่ให้เกิด นั่นไม่ใช่งานของเรา

โครงการไหนที่คิดว่าดี มันก็ขึ้นอยู่กับโครงการนั้น คุณอาจจะมีโครงการที่เล็กมาก รับเงินสนับสนุนจากเอกชน แต่มันก็ช่วยให้เกิดการต่อเชื่อมกันระหว่างหนึ่งประเทศหรือมากกว่าก็ได้ เช่น โครงการเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น

ขณะเดียวกัน คุณสามารถทำโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ได้ เช่น โครงการเชื่อมต่อพลังงานระหว่างมะละกา–เปกันบารู หรือโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์หาดใหญ่–สะเดา ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ให้ประโยชน์ทั้งคนไทยและคนมาเลเซียได้

หลักการสำคัญของเราคือ ช่วยลดความยากจนในเอเชีย ลดความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ ลดช่องว่างระหว่างผู้มีรายได้น้อยกับผู้มีรายได้มาก เราประสงค์ช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อย โดยทำให้ช่องว่างของการพัฒนาแคบลง ทั้งการปรับปรุงรายได้ สุขภาพ การศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดี โดยเฉพาะคนยากจน

ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือพวกเขา เราจึงสนับสนุนโครงการที่มีเป้าหมายดังกล่าว แต่จะทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ขึ้นอยู่กับโครงการเหล่านั้นที่ต้องเตรียมการอย่างดี เพื่อให้แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นจริง

ถ้าพัฒนาถนนสายใหญ่จากจุด A ในมาเลเซีย ไปยังจุด B ในไทย ทำแล้วไม่มีใครใช้ถนนสายนั้น มันก็ไม่ส่งผลใดๆ กับผู้คนสองฝั่งถนน แต่ถ้าสร้างถนนสายเล็กๆ แต่มีการจราจรมาก สองข้างทางเต็มไปด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีการสร้างธุรกิจมากขึ้น ธนาคารเปิดให้บริการ คนได้รับการจ้างงานมากขึ้น การพัฒนาเอกชนขยายวงกว้างมากขึ้น โครงการเล็กๆ ก็ทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ใหญ่ๆ ขึ้นมาได้

ดังนั้น ขนาดของโครงการไม่ใช่สาระสำคัญ แต่อยู่ที่ผลได้จากโครงการที่มีต่อผู้คนมากมาย โดยที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนที่จนที่สุด หรือคนที่มีโอกาส หรือความสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้น้อยที่สุด

หากโครงการทั้งหมดได้รับการดำเนินการ  คาดหวังว่าภาพที่เกิดขึ้นในภูมิภาคย่อยแห่งนี้จะเป็นอย่างไร

เป็นคำถามที่ดี ผมคิดว่าคุณต้องวางบริบทภูมิภาคย่อยก่อน สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นใน IMT–GT ขึ้นอยู่กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอาเซียน และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอาเซียน ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลก

เรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ เรากำลังมีปัญหาสำคัญมากมาย ในยุโรปและสหรัฐ กำลังอยู่ในภาวะถดถอย แต่เอเชียเองก็พึ่งพาการส่งออกไปยังยุโรปและสหรัฐเป็นอย่างมาก

ถ้าตลาดในสหรัฐและยุโรปมีปัญหา พวกเขาก็จะซื้อสินค้าจากอาเซียนน้อยลง ถ้าพวกเขาซื้อจากอาเซียนน้อยลง พวกเขาก็จะซื้อสินค้าจาก IMT–GT น้อยลงด้วย

ตอนนี้ เรายังจำเป็นต้องส่งออกอยู่ แต่เราก็จำเป็นต้องพัฒนาตลาดภายในให้มากขึ้นด้วย เพื่อจะมีโอกาสมากขึ้น ไม่หวังพึ่งการส่งออกอย่างเดียว ต้องมีการบริโภคและการลงทุนในอาเซียนและใน IMT–GT

ถ้าคุณเพิ่มการบริโภค เพิ่มการลงทุน เพิ่มการส่งออก คุณก็ได้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้น ได้อัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น ได้ความเจริญเติบโตของประเทศมากขึ้น

แม้การส่งออกยังไม่กระเตื้องขึ้นในตอนนี้ แต่มันก็ยังคงมีความสำคัญ และยังจะมีความสำคัญต่อไป ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร การบริโภคและการลงทุนภายในก็จำเป็นต้องเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภค

ภูมิภาคอาเซียนและพื้นที่ส่วนนี้ของโลก มีการเก็บออมเงินกันมาก มีการลงทุนที่ไม่สูงมากในทุกๆ ที่ ดังนั้นจำเป็นต้องนำเงินออมมาลงทุนด้านการผลิต การลงทุนจะก่อให้เกิดการเติบโต การเติบโตจะทำให้มีการสร้างงาน ดังนั้น คุณต้องสร้างสมดุลระหว่างการออมกับการลงทุน

ถ้าโครงการจำนวนมากใน IB ได้ดำเนินการ มันจะช่วยการต่อเชื่อมทั้งทางกายภาพ เช่น การสร้างถนน การต่อเชื่อมทางอากาศ การต่อเชื่อมของผู้คนและบริการต่างๆ เคลื่อนไปรอบๆ พื้นที่ IMT–GT อย่างอิสระมากขึ้น และสามารถขยายความเติบโตให้มากขึ้น เพราะเงินลงทุนและแรงงานจะเคลื่อนย้ายเข้าไปยังพื้นที่ที่ต้องการได้อย่างง่ายดายที่สุด นั่นจะเปิดโอกาสให้มีการเติบโตในพื้นที่ IMT–GT มากขึ้น

IMT–GT ไม่ใช่เพียงแค่การรวมกลุ่มดำเนินโครงการ แต่สิ่งที่รัฐบาลต่างๆ ทำอยู่ เป็นสาระสำคัญ เช่นเดียวกับสิ่งที่อาเซียนกำลังทำอยู่ ก็เป็นสาระสำคัญ

IMT-GT เป็นโอกาสสำหรับทั้ง 3 ประเทศที่จะพัฒนาการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศด้วยกัน เพื่อสร้างโอกาสต่างๆ ในการเจริญเติบโตและการพัฒนาของภาคเอกชนให้มากขึ้น และให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น เมื่อมีการจ้างงานมากขึ้น คนระดับล่างก็มีรายได้สูงขึ้น

 

.........................................................................

ทำความรู้จักIMT–GT

สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (Indonesia–Malaysia–Thailand Growth Triangle: IMT–GT)  เกิดขึ้นเมื่อปี 2536 หลังจากที่ผู้นำทั้ง 3 ประเทศเห็นชอบให้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ประเทศ

ปัจจุบันพื้นที่ IMT – GT ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 3 ประเทศ ดังนี้

อินโดนีเซีย มี 10 จังหวัด ได้แก่ อาเจห์(เขตปกครองตนเอง) บังกา-เบลิตุง เบงกูลู จัมบี ลัมปุง สุมาตราเหนือ เรียว เรียวไอแลนด์ สุมาตราใต้ สุมาตราตะวันตก

มาเลเซีย มี 8 รัฐ ได้แก่ รัฐเคดาห์ กลันตัน มะละกา เนกรีเซมบิลัน ปีนัง เประ ปะลิส และสลังงอร์

ไทย มี 14 จังหวัด คือ สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง ภูเก็ต พังงา และกระบี่

 

วัตถุประสงค์

เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่าง 3 ประเทศ ให้มีการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเน้นความร่วมมือทางด้านการผลิต การส่งเสริมการลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในพื้นที่ IMT–GT

 

ยุทธศาสตร์

ทั้งสามฝ่าย ได้เชิญธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB จัดทำ IMT–GT Roadmap ระยะ 5 ปี (2550–2554) ประกอบด้วยยุทธศาสตร์หลักๆ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

1.ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการค้าและการลงทุนทั้งภายในและระหว่างพื้นที่ IMT–GT และระหว่างพื้นที่ IMT–GT กับภายนอก มีแผนงานที่จะต้องปฏิบัติการ ดังนี้

               1) การอำนวยความสะดวกการค้าข้ามแดนและการลงทุน

               2) การส่งเสริมด้านการค้าและการลงทุน

               3) การรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ

2.ยุทธศาสตร์ส่งเสริมภาคเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรและการท่องเที่ยว มีแผนงานที่จะต้องปฏิบัติการ ดังนี้

               1) การการเกษตร(รวมทั้งประมง ปศุสัตว์ ป่าไม้) และอุตสาหกรรมการเกษตร

               2) การท่องเที่ยว

3.ยุทธศาสตร์เสริมสร้างความเชื่อมโยงทางด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบูรณาการด้านพื้นที่ IMT–GT เข้าด้วยกัน มีแผนงานที่จะต้องปฏิบัติการ ดังนี้

               1) การเชื่อมโยงด้านการขนส่ง (ถนน ทางรถไฟ การขนส่งทางทะเล ท่าอากาศยาน)

               2) การสื่อสารโทรคมนาคม

               3) พลังงาน

4.ยุทธศาสตร์ให้ความสำคัญต่อประเด็นความร่วมมือที่เชื่อมโยงในความร่วมมือทุกด้าน ได้แก่ ด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทักษะและความเชี่ยวชาญ ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายแรงงาน ส่งเสริมด้านบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่ IMT–GT มีแผนงานที่จะต้องปฏิบัติการ ดังนี้

               1) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการเคลื่อนย้ายแรงงาน

               2) การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

5.ยุทธศาสตร์เสริมสร้างการจัดการด้านสถาบันและกลไกความร่วมมือในพื้นที่ IMT–GT รวมทั้งความร่วมมือภาครัฐ/ภาคเอกชน การมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาในระดับท้องถิ่น ตลอดจนการนำความสนับสนุนจากพันธมิตรการพัฒนาอื่นๆ มีแผนงานที่จะต้องปฏิบัติการ ดังนี้

               1) การจัดการด้านสถาบันภายใต้กรอบ IMT–GT Roadmap

               2) การขยายการเข้าไปมีส่วนร่วมภายในกลุ่ม IMT–GT

               3) การดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

 

ความร่วมมือ

ขอบเขตความร่วมมือตามกรอบ IMT–GT มี 6 สาขา มีการปรับปรุงจากเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ IMT–GT Roadmap ดังนี้

1. สาขาโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่ง มีจุดมุ่งหมายในการบูรณาการทางด้านกายภาพของพื้นที่ IMT–GT ประเทศที่ประสานงานหลักคือ มาเลเซีย

2. สาขาการค้าและการลงทุน เป็นการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า การลงทุนในพื้นที่ IMT–GT ลดขั้นตอน มาตรการกีดกันทางการค้า โดยมุ่งเน้นลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ การส่งเสริมการไหลเวียนของสินค้าและบริการในภูมิภาค ประเทศที่ประสานงานหลักคือ มาเลเซีย

3. สาขาการท่องเที่ยว ส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ประเทศที่ประสานงานหลักคือ ไทย

4. สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มุ่งเน้นความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเคลื่อนย้ายแรงงาน รวมไปถึงการใช้มาตรการในการยกระดับคุณภาพแรงงาน ประเทศที่ประสานงานหลักคือ อินโดนีเซีย

5. สาขาการเกษตร อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม สร้างความร่วมมือในการเพิ่มพูนการค้า การลงทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และเน้นการจ้างงานในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม รวมทั้งร่วมมือพัฒนาทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ IMT–GT ประเทศที่ประสานงานหลักคือ อินโดนีเซีย

6.  สาขาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล ประเทศที่ประสานงานหลักคือไทย

 

บทบาทและภารกิจหลักของสถาบันภายใต้กรอบ IMT–GT

1. ประชุมสุดยอดผู้นำ IMT–GT (Leaders, Summit)

                                -เป็นองค์กรสูงสุดในการตัดสินใจของกรอบ IMT–GT

                                -กำหนดเป้าหมายหลักและทิศทางความร่วมมือตามกรอบ IMT–GT

2. ประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministers, Meeting: MM)

                                -เป็นหน่วยประสานงานด้านการกำหนดทิศทางและเป็นองค์ประกอบการตัดสินใจของกรอบ IMT–GT

                                -ทำหน้าที่รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการตามกรอบ IMT–GT Roadmap

3. ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials, Meeting: SOM)

                                -เป็นองค์กรประสานงานของแผนงาน IMT–GT โดยรายงานต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรี

                                -จัดเตรียมรายงานความก้าวหน้า IMT–GT Roadmap ต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรี

                                -เสนอแนวนโยบายหรือประเด็นที่ควรดำเนินการต่อองค์กรระดับที่สูงกว่า

4.คณะทำงาน (Working Groups) ทำหน้าที่ประสานงาน อำนวยความสะดวกและให้ความร่วมมือในแต่ละสาขาความร่วมมือ

5. ศูนย์การประสานงาน อำนวยความสะดวก ติดตามผลและอื่นๆ (Coordination and Monitoring Center: CMC) ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างที่ประชุมระดับรัฐมนตรี/ที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส กับสถาบันอื่นๆ ของ IMT–GT รวมทั้งพันธมิตรจากภายนอก

6. ฝ่ายเลขานุการระดับชาติ (National Secretariats) ทำหน้าที่ร่วมดำเนินการ ติดต่อประสานงานระดับภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งติดตามพัฒนาการในพื้นที่ IMT–GT

7. สภาธุรกิจ IMT–GT (Joint Business Council: JBC) เป็นผู้ประสานงานภาครัฐกับภาคเอกชนและเสนอโครงการความร่วมมือภาคเอกชน

8. ที่ประชุมระดับผู้ว่าราชการจังหวัดและมุขมนตรี(Governors, and Chief Ministers, Forum) เป็นผู้ประสานงานสภาธุรกิจ IMT–GT รวมทั้งสนับสนุนส่งเสริมโครงการในพื้นที่ IMT–GT

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดตัว 'คนรักหลักประกันสุขภาพ' ชี้คุณภาพดีกว่ากองทุนอื่น

Posted: 08 Jan 2012 05:01 AM PST

8 มกราคม 2555 เปิดตัว กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 แนะนำวัตถุประสงค์เพื่อจับตาการดำเนินงานของรัฐบาล รัฐมนตรีสาธารณสุข และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และกฎหมายที่ประชาชนร่วมสร้างมาแต่ต้น ระบุจะเปิดโปงความไม่โปร่งใสของการดำเนินงานของระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งการบริหารจัดการส่วนกลาง และการดำเนินการในระดับ จังหวัด อำเภอ ตำบล และสถานพยาบาล รวมทั้งนำเสนอข้อเท็จจริงของการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม มีคุณภาพ มีมาตรฐาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าระบบการรักษาของบัตรทองมีมาตรฐานและคุ้มค่า มากกว่าระบบของข้าราชการที่ผลาญเงินภาษีอย่างมหาศาล และการสร้างมายาภาพของประกันสังคม

ทั้งนี้แถลงการณ์ ระบุรายละเอียดว่า  

นับเป็นเวลา กว่าปีมาแล้ว (ตั้งแต่กลางปี 2543) ที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งจำนวนกว่า 9 หมื่นคน ได้ร่วมกันลงชื่อเสนอกฎหมายประชาชน ”ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ขณะนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องได้ 5 หมื่นชื่อ แต่เนื่องจากประชาชนเครือข่ายต่างๆพบว่าการได้มาซึ่งหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนสมควรได้รับ เช่นเดียวกันเป็นหน้าที่ของรัฐพึงดำเนินการโดยเร่งด่วน  จึงร่วมแรงร่วมใจ ลงทุนลงแรงในการระดมรายชื่อ ซึ่งส่งผลให้มีการกำหนดในนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองจนทำให้ได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 ด้วยการชูนโยบายสนับสนุนให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในชื่อ “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” จากนั้นด้วยแรงประสานภาคีต่างๆ ทำให้รัฐบาล ขบวนประชาชน และนักวิชาการ ผนึกกำลังกันผลักดันให้สามารถออกกฎหมาย “พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เมื่อปลายปี 2545 ปฏิบัติการของกฎหมายฉบับนี้คือก่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษาของประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง ครอบคลุม และเป็นธรรมกับทุกคน

ประวัติศาสตร์ 10 ปีที่ผ่านมามีการยกระดับจากความใฝ่ฝันของประชาชน เป็นกฎหมายของประเทศ ยกเลิกการเก็บเงิน 30 บาททุกครั้งที่ไปรับบริการ พัฒนาระบบการบริหารจัดการรักษาสุขภาพแบบมีมาตรฐาน บนพื้นฐานการคำนวณค่าใช้จ่ายอย่างเป็นจริง เป็นธรรม สำหรับทุกคน ไม่เปิดโอกาสให้การรักษาพยาบาลเป็นธุรกิจเพื่อหวังผลกำไรเกินควร หน่วยงานของรัฐภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ตัองปรับตัวเองให้เป็นนักบริหารระบบสุขภาพอย่างมีคุณภาพ คุ้มค่า คุ้มทุน ทั้งการรักษา การฟื้นฟูเยียวยา และการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ที่ผ่านมากว่าทศวรรษก่อให้เกิดระบบการจ่ายเงินค่ารักษาที่พัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบ อย่างมืออาชีพของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นระบบประกันสุขภาพระบบแรกและระบบเดียวที่ผู้แทนประชาชนส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการบริหารและการควบคุมคุณภาพ 

อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่กำหนดว่ารัฐต้องดำเนินการหลอมรวมระบบหลักประกันสุขภาพทั้งประเทศให้เป็นระบบเดียวกัน มาตรฐานเดียวกัน และคุ้มครองสิทธิการรักษาเท่าเทียมกัน ยังไม่บรรลุผล ปัจจุบันยังมีระบบการรักษาพยาบาลถึง 3 ระบบ ของข้าราชการ ผู้ประกันตนในประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รัฐบาลปัจจุบันซึ่งมาจากพรรคเดียวกันที่สนับสนุนและสร้างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้นมา ยังไม่ได้ปรากฏวิสัยทัศน์ไกลไปกว่าจะ “เก็บเงิน 30 บาทอีกครั้ง แต่การเก็บเงินที่จุดบริการไม่ทำให้เกิดความเท่าเทียม เสมอภาคของคนที่ยังเหลื่อมล้ำกันในเรื่องรายได้ ความยากลำบากในการเดินทางเข้าถึงการรักษา การปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนร่วมมือกับประกันสังคมสร้างภาพการรักษาที่แตกต่าง รวมหัวกันขึ้นค่ารักษาอย่างมีเลศนัย การออกมาประกาศเรื่องการรักษาของผู้ประกันตนรายวัน โดยไม่รู้ว่าทำไมไม่ทำมาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้วปล่อยให้ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมได้รับการรักษาที่ไม่มีการควบคุมคุณภาพมาตั้งนาน การไม่ยอมหลอมรวมระบบประกันสุขภาพทั้งสามภายใต้ระบบการรบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและไม่เปิดโอกาสให้มีการแสวงผลประโยชน์เกินควรของผู้ให้บริการ ตลอดจนการไม่ยับยั้ง ไม่ชลอการมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการรักษาของคนต่างชาติทั้งๆที่คนในประเทศยังต้องรอคิวรับการรักษาเหล่านี้คือ ภัยคุกคามต่อระบบหลักประกันสุขภาพ การยิ่งขาดแคลนแพทย์ พยาบาลมากขึ้น การสร้างภาพค่ารักษาที่สูงเกินจริง การสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างบริการสำหรับคนจน คนรวย ที่อาจทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างถูกทิศถูกทาง หรือเท่าที่ควร เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการบางส่วนสามารถแสวงผลประโยชน์เกินควรบนความลำบากในการเข้าถึงสิทธิอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยของประชาชนส่วนใหญ่

เครือข่ายประชาชนที่ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเฝ้าติดตาม และให้เวลากับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รัฐบาล รัฐมนตรีสาธารณสุขมาโดยตลอด ตระหนักถึงภาวะคุกคามนี้ จึงต้องออกมาส่งเสียงและแสดงตัวตนว่าเราเป็น “กลุ่มคนที่รักหลักประกันสุขภาพ” พร้อมจะปกป้องให้ระบบนี้เป็นระบบแห่งชาติอย่างแท้จริง ต้องการจับตามองการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่สวนทางกับพัฒนาการก้าวหน้าที่ผ่านมา การชูนโยบายกลับมาเก็บ 30 บาทอีกครั้งทุกครั้งที่รับบริการเพียงเพื่อลบล้าง พัฒนาการที่เกิดขึ้นในระหว่างรัฐบาลชุดอื่นเพื่อ รีแบรนด์ อีกครั้งเป็นการคิดที่ล้าหลัง และไม่รับผิดชอบต่อหลักการที่ถูกต้อง 

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อ

1. จับตาการดำเนินงานของรัฐบาล รัฐมนตรีสาธารณสุข และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และกฎหมายที่ประชาชนร่วมสร้างมาแต่ต้น

2. การเปิดโปงความไม่โปร่งใสของการดำเนินงานของระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งการบริหารจัดการส่วนกลาง และการดำเนินการในระดับ จังหวัด อำเภอ ตำบล และสถานพยาบาล

3. การนำเสนอข้อเท็จจริงของการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม มีคุณภาพ มีมาตรฐาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าระบบการรักษาของบัตรทองมีมาตรฐานและคุ้มค่า มากกว่าระบบของข้าราชการที่ผลาญเงินภาษีอย่างมหาศาล และการสร้างมายาภาพของประกันสังคม

วันนี้ เราซึ่งมาจากทุกจังหวัดของประเทศไทย เป็นตัวแทนของประชาชนที่ร่วมในปฏิบัติการของกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงขอประกาศจัดตั้ง “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” เพื่อดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข้าหลวงใหญ่ยูเอ็นชี้ นิรโทษกรรมผู้นำเยเมนขัด กม.ระหว่างประเทศ

Posted: 08 Jan 2012 01:12 AM PST

นาวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ เผย การนิรโทษกรรมประธานาธิบดีซาเลห์ ผู้ถูกกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงที่มีการประท้วงต่อต้าน ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา นาวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่าการนิรโทษกรรมผู้ที่เป็นอาชญากรสงครามและละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านการปกครองในเยเมนนั้นเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

"ฉันติดตามสถานการณ์ในเยเมนอย่างใกล้ชิดมาก โดยเฉพาะในกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่จะนำเข้าสู่สภาในเร็ววันนี้" นาวี พิลเลย์ กล่าว

"กฎหมายระหว่างประเทศและนโยบายของสหประชาชาติชัดเจนในเรื่องนี้ว่า ไม่อาจอนุมัติให้มีการนิรโทษกรรมได้ หากเป็นการอภัยโทษให้กับความผิดของบุคคลใดๆ ที่อาจมีความผิดอาญาระหว่างประเทศ (international crimes) รวมถึงอาชญากรรมสงคราม, อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ, การสังหารหมู่ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างใหญ่หลวง"

เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีของเยเมน อาลี อับดุลลา ซาเลห์ ได้เซ็นชื่อรับรองข้อเสนอของกลุ่มสภาความร่วมมืออ่าว (GCC) หลังจากที่ถูกประท้วงต่อต้านเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้เขาต้องถูกบังคับให้มอบอำนาจแก่ อับดราบูห์ แมนเซอ ฮาดี รองประธานาธิบดี

ขณะเดียวกัน ฮาดี ก็เคยบอกกับนานาชาติและกลุ่มเจรจาของ GCC ว่าเขาอาจจะออกจากเมืองหลวงหากซาเลห์ยังแทรกแซงการทำงานของเขาอยู่

ก่อนหน้านี้ พิลเลย์ก็เคยตำหนิว่า กองกำลังของรัฐบาลเยเมนใช้กระสุนจริงยิงให้ผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ และบอกว่าซาเลห์ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรมก่อนลงจากอำนาจ อย่างไรก็ตาม โฆษกของพิลเลย์ปฏิเสธจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีนี้

แหล่งข่าวในคณะรัฐมนตรีที่ร่วมหารือการออกกฎหมายบอกว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในตอนนี้กินความเป็นวงกว้างโดย จะทำให้เหล่าผู้ช่วยและพันธมิตรของซาเลห์รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดี

"เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่เราได้รวบรวมมา มีเหตุผลพอให้เชื่อได้ว่า มีการก่ออาชญากรรมบางประเภทในเยเมนช่วงที่ยังคงมีการพิจารณาการนิรโทษกรรมอยู่" พิลเลย์กล่าว

"การนิรโทษกรรมดังกล่าวจะเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของเยเมน"

พิลเลย์ระบุอีกว่า การออกกฎหมายใดๆ ก็ตามจะต้องไม่มีการแบ่งแยกว่าคนผู้นั้นเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลหรือฝ่ายต่อต้าน

การประท้วงในเยเมนตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 2011 ยาวนานมาเรื่อยๆ จนกระทั่งทำให้เยเมนเข้าใกล้สภาพสงครามกลางเมือง ฝ่ายรัฐบาลต่อสู้กับกองกำลังฝ่ายกบฏที่เข้ายึดเมืองไว้หลายเมือง

รัฐบาลเยเมนอ้างว่ากองกำลังกบฏเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวโยงกับกลุ่ม อัล-เคด้า กลุ่มสาขาย่อยในเยเมนซึ่งสหรัฐฯ บอกว่าเป็นกลุ่มที่อันตรายที่สุด

ขณะที่ฝ่ายต่อต้านซาเลห์กล่าวหาว่าซาเลห์ยกพื้นที่บางส่วนให้กองกำลังอัล-เคด้า ยึดครอง เพื่อเป็นหลักประกันว่าเขาจะสามารถควบคุมกลุ่มอัล-เคด้า ไว้ได้

ทั้งสหรัฐฯ และประเทศน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่างซาอุดิอาระเบียกลัวว่าชะตากรรมที่ไม่แน่นอนของซาเลห์จะทำให้ประเทศเยเมนเกิดความโกลาหลและยิ่งเป็นผลดีต่ออัล-เคด้า

ซาอุฯ ให้ความช่วยเหลือแก่ซาเลห์โดยบริจาคน้ำมันดิบและน้ำมันดีเซลให้ ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งคอยหนุนหลังซาเลห์มาเป็นเวลานานในฐานะยุทธศาสตร์ "ต่อต้านการก่อการร้าย" ก็ช่วยซาเลห์ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางอำนาจโดยการให้ความคุ้มครองเขาจากการถูกดำเนินคดี

 

แปลและเรียบเรียงจาก
UN official says Yemen amnesty may be illegal, 07-01-2012, Aljazeera

http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/01/2012177385247485.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น