โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สุรพศ ทวีศักดิ์: พุทธศาสนาภายใต้ “ความเป็นไทย”

Posted: 22 Jan 2012 09:13 AM PST

ข้อโต้แย้ง (argument) หลักประการหนึ่ง ของฝ่ายคัดค้านการแก้ไขหรือยกเลิก ม.112 คือ การอ้าง “ความเป็นไทย” ซึ่งมี “ลักษณะพิเศษ” ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนใครในโลก 

หากถามว่า “ลักษณะพิเศษ” ที่ว่านี้คืออะไร คำอธิบายที่เรามักพบเสมอ คือความเป็นสังคมที่มีความทรงจำหรือ “สำนึก” ทางประวัติศาสตร์ว่า พระมหากษัตริย์เป็นวีรบุรุษเสียสละกู้ชาติ สร้างชาติ รักษาชาติบ้านเมืองมาให้พวกเราได้มีแผ่นดินอยู่อาศัยในปัจจุบัน ฉะนั้น สถาบันกษัตริย์จึงเป็นสถาบันที่มีบุญคุณต่อสังคมไทย ที่ต้องปกป้องไว้ด้วยเลือดเนื้อและชีวิต

แต่เมื่อเราไปดูประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ ในโลกนี้ ทุกประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์มาก่อน ต่างก็พูดถึง “ยุคกษัตริย์” ของตนเองในทำนองเดียวกันนี้ทั้งนั้น คือกษัตริย์เป็นนักรบ นักปกครอง สร้างชาติชาติบ้านเมืองมาก่อน

ทว่าก็มีข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งว่า ทุกประเทศก็มีทั้งกษัตริย์ที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ภายใต้ระบบกษัตริย์นั้นก็มีการชิงอำนาจกันระหว่างพ่อ แม่ ลูก พี่น้องกันเองบ้าง ขุนพลต่างๆ ล้มบัลลังก์สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์บ้าง ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป เอเชีย แม้แต่ในสยามประเทศเองก็เป็นแบบนี้เช่นกัน ฉะนั้น ข้อโต้แย้งข้างต้น จึงไม่ได้บ่งบอก “ลักษณะพิเศษ” ของสังคมไทยที่ไม่เหมือนสังคมไหนในโลกแต่อย่างใด

เมื่อถูกโต้แย้งกลับเช่นนี้ ก็มักจะมีคำอธิบายต่อมาอีกว่า กษัตริย์ของไทยไม่เหมือนกษัตริย์ที่ไหนในโลก เพราะกษัตริย์ไทยทรงทศพิธราชธรรม ปกครองแผ่นดินโดยธรรมมาตลอดทุกพระองค์ คนไทยจึงศรัทธาเคารพรักกษัตริย์ของตนเองยิ่งกว่าคนชาติไหนในโลก เพราะคนไทยถือว่ากษัตริย์คือ “ศูนย์รวมจิตใจ” ของคนในชาติ

แต่อันที่จริงชาวอังกฤษ ญี่ปุ่นเป็นต้น เขาก็คงศรัทธา เคารพรักกษัตริย์ของพวกเขาไม่น้อยไปกว่า (หรือาจจะมากกว่า?) คนไทย แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว เขาก็มีการทำข้อตกลงที่ถือเป็น “สัญญาประชาคม” ชัดเจนว่า สถานะ อำนาจ บทบาท หรือตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ของเขาต้อง “อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” ตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งหมายความว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ได้อยู่สถานะที่เป็น “เจ้าของอำนาจอธิปไตย” และมี “ความศักดิ์สิทธิ์” ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้เหมือนในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไป

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ในประเทศอารยะสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่ใช่ลดทอนอุดมการณ์ประชาธิปไตยให้อยู่ภายใต้อุดมการณ์กษัตริย์นิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ฉะนั้น หากจะระบุ “ลักษณะพิเศษ” ของสังคมไทยที่ไม่เหมือนสังคมใดๆ ในโลกอย่างตรงไปตรงมา ก็คือ “ความเป็นสังคมที่ลดทอนอุดมการณ์ประชาธิปไตย (และ/หรืออุดมการณ์อื่นใด) ให้อยู่ใต้อุดมการณ์กษัตริย์นิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์” นั่นเอง

รูปธรรมที่เห็นชัดก็เช่น รัฐธรรมนูญมาตรา 8 ป.วิอาญา มาตรา112 การจัดวางระบบอำนาจ เครือข่ายของสถาบันกษัตริย์ เช่น ระบบองคมนตรี กองทัพ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ การประชาสัมพันธ์ “คุณวิเศษ” ด้านเดียว เป็นต้น

ลักษณะพิเศษดังกล่าวนี้เองที่เรียกได้ว่า คือ “ความเป็นไทย” อย่างแท้จริง และไม่ว่าอะไรก็ตามที่เรารับเอามาจากต่างชาติจะต้องถูกปรับให้สอดคล้อง สนับสนุน และ/หรือไม่ขัดแย้ง ไม่เป็นปฏิปักษ์หรือเป็นอันตรายต่อ “ความเป็นไทย” อันถือเป็น “แกนหลัก” ดังกล่าวนี้

จะว่าไป ไม่ว่าพุทธศาสนาที่เรารับมาจาอินเดีย ประชาธิปไตย หรือกระทั่งวิทยาศาสตร์ที่เรานำเข้าจากฝรั่งก็ล้วนแต่ถูกปรับ ถูกลดทอดความหมาย หลักการบางอย่างให้สอดคล้อง และ/หรือสนับสนุน “ความเป็นไทย” อันเป็นลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนใครในโลกดังกล่าวนี้ทั้งสิ้น

ว่าเฉพาะพุทธศาสนาเถรวาทไทยปัจจุบันนั้น ต้องนับว่าเป็น “พุทธศาสนาภายใต้ความเป็นไทย” ในความหมายดังกล่าว เคยมีนักวิชาการหลายคนบอกว่า “ความเป็นไทยคือความเป็นพุทธ” หากนิยามนี้หมายถึง “ความเป็นไทยอยู่ภายใต้ความเป็นพุทธ” ผมว่าน่าจะเป็นนิยามที่ผิดจากความเป็นจริงอยู่มาก

เพราะไม่มี “ความเป็นไทยภายใต้ความเป็นพุทธ” อยู่จริง มีแต่ “ความเป็นพุทธภายใต้ความเป็นไทย” เหมือนประชาธิปไตยภายใต้ความเป็นไทย อย่างที่เราเรียกกันว่าพุทธแบบไทยๆ ประชาธิปไตยแบบไทยๆ (หรือวิทยาศาสตร์แบบไทยๆ เป็นต้น)

พุทธภายใต้ความเป็นไทย หรือพุทธแบบไทยๆ ย่อมมีเนื้อหาและรูปแบบที่ตรงข้ามกับพุทธแบบดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญ

เพราะพุทธแบบดังเดิม (early Buddhism) คือ พุทธที่เกิดขึ้นในบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่เชื่อว่า ระบบชนชั้นศักดิ์สิทธิ์ ธรรมะเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นฐานรองรับความศักดิ์สิทธิ์ของระบบชนชั้น ความดี ความชั่ว หรือบุญ กรรม เป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่มี “อำนาจลึกลับ” กำหนดชะตามกรรมของคน มีปาฏิหาริย์ดลบันดาลสุข ทุกข์ โชคลาภ เจริญ เสื่อม ฯลฯ ในชีวิตของผู้คน และ/หรือในความเป็นไปของโลก

แต่พุทธแบบดั้งเดิมปฏิเสธความเชื่อเหล่านั้นทั้งหมด แล้วนิยามความหมายของ “ธรรม” ใหม่ว่า “ธรรมคือของธรรมดา” ไม่ใช่ของศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจลึกลับดลบันดาลใดๆ ดังพุทธทาสภิกขุสรุปความหมายของธรรมะที่เป็นของธรรมดานั้นว่า ธรรมะคือ ธรรมชาติ กฎธรรมชาติ การปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ และผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ

จะเห็นว่า พุทธแบบดั้งเดิมได้เปลี่ยนความหมายของ “ธรรม” จากความเป็น “ของศักดิ์สิทธิ์” ที่อยู่เหนือเหตุผล ให้กลายเป็นของธรรมดาที่มีความเป็นเหตุเป็นผล ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าธรรมเป็น “เอหิปสฺสิโก” คือ “ทนต่อการพิสูจน์” หมายความว่า ธรรมเป็นของที่สามารถพิสูจน์ซักไซ้ไล่เรียงให้เห็นความสมเหตุสมผลได้ (ในทางตรงข้าม อะไรก็ตามที่คนเชื่อว่า “ศักดิ์สิทธิ” หรือมี “ฤทธิ์ดลบันดาล” ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจซักไซ้ไล่เรียงให้เห็นความเป็นเหตุเป็นผลได้)

ขณะเดียวกันพุทธแบบดั้งเดิม ก็ปฏิเสธความศักดิ์สิทธิ์ของระบบชนชั้น ถือว่าคุณค่า หรือศักดิ์ศรีของมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานะสูง-ต่ำทางชนชั้น แต่ขึ้นอยู่กับ “การกระทำทางศีลธรรม” (กรรม) หรือ การกระทำดี หรือชั่วของแต่ละคน

การกระทำทางศีลธรรม (moral action) หรือ “กรรม” ตามความคิดของพุทธแบบดั้งเดิม มีความหมายกว้างๆ ว่า “การกระทำใดก็ตามที่เป็นการเบียดเบียนก่อโทษทุกข์แก่ตนเองและผู้อื่น และหรือส่วนรวม ย่อมถือเป็นการกระทำที่ไม่ดี หรือผิดศีลธรรม” ส่วน “การกระทำใดก็ตามที่ไม่เป็นการเบียดเบียน และ/หรือเป็นการกระทำที่ส่งเสริมประโยชน์สุขแก่ตนและคนอื่น หรือส่วนรวม ย่อมเป็นการกระทำที่ดี หรือถูกในทางศีลธรรม”

กรรมในความหมายดังกล่าวนี้สอดรับกับความหมายของ “หัวใจ” พุทธศาสนาคือหลัก “อริยสัจสี่” ซึ่งเป็นหลักการเรื่องทุกข์กับความดับทุกข์ กรรมชั่วหรือการกระทำที่ไม่ดีทางศีลธรรม ก็หมายถึงการกระทำที่สร้างทุกข์ก่อปัญหา ส่วนกรรมดี หรือการกระทำที่ถูกทางศีลธรรม ก็คือการกระทำที่เป็นไปเพื่อลดทุกข์ หรือเพื่อความสิ้นทุกข์

ฉะนั้น กรรมในความหมายของพุทธแบบดังเดิม จึงไม่ใช่สิ่งลึกลับที่มีอำนาจดลบันดาลใดๆ แต่เป็นเรื่องความเป็นเหตุเป็นผลระหว่างการกระทำกับผลที่ตามมา และยังรวมเอาความหมายของเสรีภาพในการเลือกการกระทำ ความรับผิดชอบต่อการกระทำ และความเสมอภาคทางศีลธรรมเข้าไว้ในความคิดเรื่องกรรมนี้ด้วย

แต่ “พุทธศาสนาภายใต้ความเป็นไทย” หรือพุทธศาสนาแบบไทยๆ กลับไปรับเอาความคิด ความเชื่อทั้งปวงที่พุทธศาสนาแบบดังเดิมเคยปฏิเสธมาไว้ทั้งหมด คือเป็นพุทธศาสนาที่เชื่อว่าธรรมเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ความดี บุญ กรรม มีอำนาจลึกลับดลบันดาลความเป็นไปในชีวิต และมีอำนาจพิเศษกำหนดสถานะสูง-ต่ำทางชนชั้นของผู้คน

ถามว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบ อาจเป็นเพราะพุทธศาสนายุคหลังพุทธกาลมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดด้วยการ “แปรรูป” ตนเอง โดยการผสมผสานกับความเชื่อในบริบทสังคมวัฒนธรรมในยุคเดียวกันมากขึ้น และพุทธศาสนาที่ “แปรรูป” แล้วนี้ก็ตกทอดมาสู่สังคมสยามยุคราชาธิปไตย  

แน่นอนว่า ในยุคราชาธิปไตยอำนาจในการนิยามความหมาย การตีความ การใช้พุทธศาสนาก็อยู่ในมือของ “วัง” กับ “วัด” ที่เป็นเพื่อนสนิทกัน แต่ว่าอำนาจที่เหนือกว่าย่อมเป็น “อำนาจวัง”

ฉะนั้น “โฉมหน้า” ของพุทธศาสนาภายใต้อำนาจของวัดกับวัง จึงเป็นโฉมหน้าของพุทธที่เน้นการสถาปนาสถานะของพระพุทธเจ้าให้เป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์ธรรมดา สถาปนาให้ธรรมะเป็นของศักดิ์สิทธิรองรับความศักดิ์สิทธิ์ของสถานะแห่งพระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวก ตลอดถึงพระเกจิอาจารย์รุ่นหลังๆ

ซึ่งธรรมอันศักดิ์สิทธิ์นั้น ย่อมรองรับสถานะอันศักดิ์สิทธิของกษัตริย์ในฐานะ “ธรรมราชา” อย่างมีนัยสำคัญด้วย ดังบางยุคกษัตริย์สถาปนาตนเองให้เป็นพระโพธิสัตว์ หรือกระทั้งเป็นพระพุทธเจ้าเลยก็มี ดังนามของกษัตริย์หลายองค์ที่ใช้ฉายานามของพระพุทธเจ้าเป็นชื่อของตนเอง หรือดังคำราชาศัพท์ที่ว่า “ข้าพระพุทธเจ้า” ก็แปลว่า “ข้าฯของพระพุทธเจ้า” นั่นเอง

สรุปว่า “พุทธศาสนาภายใต้ความเป็นไทย” ก็คือพุทธศาสนาที่ถูก “แปรรูป” ในยุคหลังพุทธกาลโดยการไปรับเอาหลักความเชื่อสำคัญที่พุทธแบบดั้งเดิมเคยปฏิเสธ และสังคมไทยยุคราชาธิปไตยก็นำเข้ามาสนับสนุนความเข้มแข็งของระบบศักดินา จนตกทอดมาถึงปัจจุบันที่เราเรียกกันว่า “พุทธเถรวาทไทยมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” นั่นเอง

ปัจจุบันพุทธศาสนาภายใต้ความเป็นไทย นอกจาจะเป็นเครื่องมือสนับสนุน “ความศักดิ์สิทธิ์” ของอุดมการณ์กษัตริย์นิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว นิยามของธรรมะ ความดี บุญ กรรม ที่มีความหมายเป็น “ของศักดิ์สิทธิ์” มีอิทธิฤทธิ์ดลบันดาลยังถูกใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของพระสงฆ์ สร้างความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรม วัตถุมงคลพาณิชย์ ธุรกิจบุญขายตรง ธรรมโฆษณาที่เน้นการใช้ธรรมะ ใช้รูปแบบการปฏิบัติธรรมสร้างภาพลักษณ์ความเป็นคนดี คนอิ่มบุญ คนสงบ สะอาด สูงส่ง เหนือคนธรรมดาทั่วไป

แต่เป็นคนดี คนอิ่มบุญ คนสงบ สะอาด สูงส่ง ที่ไม่ใส่ใจใดๆ กับทุกขสัจจะที่เป็นความอยุติธรรมทางสังคม และ/หรือระบบมอมเมาเชิงความเชื่อ อุดมการณ์ที่ขัดต่อหลักการของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม! 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฐาปนันท์ นิพิฎฐกุล

Posted: 22 Jan 2012 08:19 AM PST

"ท่ามกลางการแย่งชิงอำนาจ นักกฎหมายคือผู้ที่ต้องมองและชี้ให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าอะไรคือกติกาสังคมที่ทุกคนต้องยอมรับ ในท่ามกลางการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองต้องมีกติกาเหมือนกัน"

นิติราษฎร์จัดเสวนา 'ลบล้างผลพวงรัฐประหาร – นิรโทษกรรม- ปรองดอง' 22 ม.ค. 55, หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การจัดการศึกษารัฐไทย ล้มเหลวในแดนมลายู

Posted: 22 Jan 2012 08:13 AM PST

      ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การศึกษา” เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง นับว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ การปรับปรุงระบบการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและความต้องการของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ที่ผ่านมาถือได้ว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

       ที่ผ่านมารัฐบาลมองสภาพสังคม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนกับส่วนกลาง และมองพื้นที่ตรงนี้จำเป็นต้องใช้กฎระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับอันเดียวกัน

       ถ้าเรามองปัญหาด้านคุณภาพทางการศึกษา  พบว่านักเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระดับชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ออกมาต่ำกว่ามาตรฐานและอยู่อันดับท้ายของประเทศ เมื่อเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นก็ต้องตกใจไปตามๆกัน  ทำไมการศึกษาของเด็กในพื้นที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น 

       ปัญหาที่ตัวครูและบุคคลากรทางการศึกษา ช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายอนุญาตให้ครูขอย้ายออกจากพื้นที่ มีผู้แสดงความจำนงขอย้ายออกประมาณ 5,000 กว่าคน แต่สามารถย้ายได้เพียงประมาณ 1,500 คน จากจำนวนครูซึ่งสอน 4 วิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนครู แม้รัฐเปิดให้มีการจ้างครูอัตราจ้าง แต่ความรู้และประสบการณ์ไม่มากพอ จึงส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา และส่งผลไปถึงโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามด้วย เนื่องจากครูส่วนหนึ่งลาออกไปสมัครทำงานในโรงเรียนของรัฐ

       รวมไปถึงปัญหาระบบการอุดหนุนและสนับสนุนงบประมาณมีหลายปัญหา ประกอบด้วย การอุดหนุนรายหัวนักเรียนสามัญ ซึ่งจะเป็นการก่อปัญหาให้กับสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ได้แก่ ความไม่เท่าเทียมในการอุดหนุน โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่เป็นมูลนิธิได้รับการอุดหนุน 100%  ขณะที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามอื่นๆ ได้รับการอุดหนุนเพียง 70% และปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างครูสอนสามัญกับครูสอนศาสนาอย่างเดียวในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

       อีกทั้งปัญหาการอุดหนุนทางกายภาพ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของปอเนาะต่างๆในพื้นที่ เช่น ให้งบประมาณจัดทำเสาธงและป้าย ทั้งที่ต้องการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานมากกว่า เช่น ห้องน้ำ ระบบสาธารณูปโภคและสุขอนามัยรวมไปถึงสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เป็นต้น

       ตลอดจนปัญหาการอุดหนุนงบประมาณพัฒนาบุคคลากร โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะจัดสรรงบให้บุคลากรในสังกัดโดยตรงก่อน ทำให้งบไม่ค่อยเหลือไปถึงข้าราชการในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนที่ช่วยสอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ส่งผลให้บุคลากรเหล่านั้นขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง

       ส่วนการอุดหนุนงบประมาณให้สถานศึกษาเอกชน ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยฝ่ายการศึกษาเห็นว่า การอุดหนุนงบประมาณเพื่อการศึกษาให้กับสถานศึกษาเอกชนไม่เพียงพอ และตั้งข้อสังเกตว่า บางโรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนมากตามจำนวนรายหัวนักเรียน แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่เพียงพอ เพราะโรงเรียนต้องนำไปจัดสรรให้กับครูสอนศาสนาด้วย ซึ่งครูสอนศาสนาจะไม่ได้รับการอุดหนุน ขณะที่เงินอุดหนุนที่ได้ก็น้อยกว่าเมื่อเทียบกับสถานศึกษาของรัฐ ที่ได้รับทั้งเงินเดือนคณะครู บุคคลากร โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคอื่นๆในสถานศึกษา

วิชาสามัญ,อาชีพ ไม่เข้าใจวิถีมลายูมุสลิม
       สำหรับปัญหาการส่งเสริมความรู้วิชาสามัญ ไม่สอดคล้องกับความเชื่อและวิถีชีวิต ของคนในพื้นที่  ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับ เนื่องจากพ่อแม่เป็นคนมลายูมุสลิมและเด็กมลายูมุสลิมในพื้นที่มีความเชื่อและศรัทธาในการเรียนศาสนาแบบดั้งเดิมที่เรียนมาตั้งแต่บรรพบุรุษมากกว่า จึงขัดแย้งกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น หรือแม้แต่การส่งเสริมอาชีพ รัฐสนับสนุนให้ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้าไปสอนและฝึกอาชีพให้กับนักเรียนในสถาบันศึกษาปอเนาะ แต่บางอาชีพก็ไม่ตรงตามความต้องการและไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและสภาพปัจจุบันของท้องถิ่น ไม่สามารถตอบโจทย์ได้

       ทั้งหลายทั้งปวงรัฐมองการศึกษาของคนในพื้นที่ อย่างมีอคติ แปลกแยกออกไปจากสังคมส่วนใหญ่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงต่อชาติ ทั้งที่จริงสถาบันศึกษาปอเนาะ โรงเรียนตาดีกา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา  ยังเป็นสถาบันที่ให้การอบรมบ่มเพาะมุสลิมให้คนเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม แต่รัฐยังมีความพยายามในการควบคุมบทบาทของสถาบันการศึกษาปอเนาะ โรงเรียนตาดีกา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม  เพื่อมิให้เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาด้านสังคมหรือการเมืองที่เป็นการกดทับความเป็นมุสลิมลงจนเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งแม้ว่าในปัจจุบัน

       เหตุผลที่เด็กมลายูมุสลิมต้องเรียนต่อในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเพราะในโรงเรียนรัฐไม่ได้ส่งเสริมการเรียนการสอนศาสนาอิสลามและภาษามลายู ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ปกครองจะต้องส่งบุตรเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม เพราะไม่ต้องการปะปนกันระหว่างหญิงและชาย เหมือนกับโรงเรียนสามัญของรัฐ อันเป็นการขัดต่อหลักการศาสนาอิสลามเป็นสิ่งที่จะต้องหลีกเลี่ยงอย่างชัดเจน

       จากกระแสความขัดแย้งทั้งในต่างประเทศและเหตุการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คนไทยมุสลิมเต็มไปด้วยความรู้สึกหวาดระแวงและชิงชังในอำนาจรัฐโดยสรุป ปัญหาการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่อดีตและแม้จะมีการปรับปรุงบ้างในปัจจุบัน แต่ปรากฏว่ายังขาดความเข้าใจวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนมลายูมุสลิม โดยอยู่ภายใต้การตัดสินจากส่วนกลางที่กำหนดนโยบายบนพื้นฐานของกรอบความมั่นคงของชาติเป็นหลัก จึงทำให้การจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และยังกลายเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ได้อีกด้วย

แนวทาง ข้อเสนอแนะ
       การพัฒนาคุณภาพการศึกษา เช่น  จัดการเรียนรู้ในระดับปฐมวัยด้วยระบบสองภาษา คือ ไทย – มลายูถิ่น พัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา พัฒนาบุคลากรอิสลามศึกษาของรัฐ โรงเรียนตาดีกา ศูนย์การศึกษาประจำมัสยิดและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามให้ได้ใบประกอบวิชาชีพ สนับสนุนงบประมาณและค่าตอบแทนอย่างเพียงพอ

       การส่งเสริมศาสนศึกษา เช่น ปรับปรุงระเบียบ หลักเกณฑ์ในการจัดและอุดหนุนงบประมาณสำหรับสถานศึกษาด้านศาสนา ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมการสอนอัลกุรอาน เช่น กีรออาตี อิกเราะ เป็นต้น

       การเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา เช่น เร่งแก้ปัญหาเด็กออกกลางคัน เนื่องจากปัญหาความไม่สงบ ขยายการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย เช่น ศูนย์อบรมเด็กก่อนวัยในวัด มัสยิดและชุมชน พัฒนาสถาบันอุดมศึกษา ทั้งวิทยาลัยชุมชนให้เข้มแข็งและสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น

       การพัฒนาการบริหารจัดการ โดยพัฒนาโครงสร้างการบริหารจัดการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีอิสระ สนับสนุนให้นักศึกษามุสลิมได้เรียนต่อในประเทศ  ทบทวนการอุดหนุน ศูนย์การศึกษาอิสลาม โรงเรียนตาดีกา สถาบันศึกษาปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพื่อความเป็นธรรม

      นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทางรัฐบาลควรเอาใจใส่ ดูแล ดีกว่ามาประหัตประหารกัน เนื่องจาก การศึกษาพัฒนาคน  คนพัฒนาชาติ  ประชาชนมั่นคงประเทศชาติมั่งคั่ง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ราชดำเนินเสวนา: เสนอจัดเวทีระดับตำบล ระดมไอเดียแก้ รธน.

Posted: 22 Jan 2012 08:05 AM PST

ถกแก้ รธน. ลิขิต ธีรเวคิน เสนอแก้ ม.237-309 เหตุขัดหลักนิติธรรม ด้านลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เสนอจัดเวทีระดับตำบล ระดมไอเดียแก้ รธน. สุนี ไชยรส เล็งแก้ที่มาองค์กรอิสระ-ส.ว.เหตุเลือกกันเองในวงจำกัด  

22 ม.ค.54 ในราชดำเนินเสวนา  ซึ่งจัดโดยสมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ เรื่อง "ทางเลือกยกร่างรัฐธรรมนูญ: เลือกตั้ง สสร. หรือตั้งกรรมการ?" ที่ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน 

ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ กล่าวว่า หากจะแก้รัฐธรรมนูญจะต้องแก้มาตรา 291 ให้มี สสร.เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ก่อน โดยหากจะแก้ มองว่ามี 2 มาตราซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักนิติธรรมคือ มาตรา 237 ที่เปิดโอกาสให้มีการใช้กฎหมายย้อนหลัง ยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมือง ซึ่งผิดหลักสากลและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และมาตรา 309 ที่เป็นเหมือนรัฐธรรมนูญเหนือรัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัว มองว่าลึกๆ แล้วมาตรานี้คือการคงอำนาจ คตส. เพราะหากไม่มีมาตรานี้ เท่ากับต้องเลิกล้ม คตส. กลับไปใช้กระบวนการศาลแพ่งและอาญา รวมถึงต้องแก้ไขเรื่องที่มาของ กกต. และ ปปช.ซึ่งแต่งตั้งโดย คมช. และอยู่ในวาระนานถึง 9 ปี

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวว่า เมื่อดูตัวเลขพบว่าประชาชน 57.81% เท่านั้นที่ลงมติรับรัฐธรรมนูญ 2550 ขณะที่ผลสำรวจของเอแบคโพลล์ พบว่าประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 28 จังหวัด จำนวนมากไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญเลย จึงตั้งคำถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นตัวแทนความเห็นของประชาชน หรือเป็นกลไกของประชาชนทั้งประเทศจริงหรือไม่  ดังนั้น ส่วนตัวเห็นว่าควรแก้รัฐธรรมนูญ โดยเน้นที่กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของ รู้สึกว่าใช้เป็นเครื่องมือได้ ซึ่งจะทำให้รัฐธรรมนูญมีความยั่งยืน 

ลัดดาวัลย์เสนอว่า ให้จัดเวทีระดับตำบล โดยอาจทำผ่านกลไกระดับตำบล อย่าง อบต. กรรมการหมู่บ้าน สภาวิชาการเมือง กกต. ปปช. ระดับจังหวัด ให้ประชาชนพูดคุยกันให้ตกผลึกว่าอยากเห็นรัฐธรรมนูญแบบใด เอาข้อเสนอมาประมวล และเลือกคนที่สามารถแสดงความเห็น เพื่อไปเสนอระดับจังหวัด ขึ้นไปถึงระดับประเทศ เมื่อทุกคนมีส่วนร่วม จะจดจำได้ว่าเป็นเจ้าของความคิดอะไร จะใช้เครื่องมืออย่างไร ในกรณีมีความเห็นต่าง ควรใช้กระบวนฉันทามติและใช้การโหวตระดับประเทศกรณีที่เห็นต่างกันมาก แล้วนำร่างรัฐธรรมนูญไปออกเสียงประชามติ

สุนี ไชยรส กรรมการปฏิรูปกฎหมาย แสดงความเห็นด้วยว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญซึ่งเกิดจากการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 นี้ก่อให้เกิดข้อโต้แย้งทางการเมืองที่ดุเดือดมาก อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยหากกระบวนการแก้ไขจะเป็นไปด้วยความรวบรัด เพราะหากกระบวนการไม่ชอบ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม จะนำสู่ปัญหาไม่จบสิ้น

สุนีกล่าวว่า กระบวนการร่างนั้น เห็นด้วยว่าต้องมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่มาของ สสร. ต้องจำแนกออกจากกระบวนการทางการเมือง ไม่ใช่เป็นรูปแบบการเลือกตั้งทั่วไปแบบ สส. สว. ก่อนกระบวนการร่าง ต้องกำหนดประเด็นให้ประชาชนถกเถียงโดยไม่มีเงื่อนเวลา หากทุกคนยอมรับว่าต้องแก้ไข ต้องมีเป้าหมายร่วมกันว่าแก้เพื่ออะไร เพื่อนำไปสู่การยอมรับที่กว้างขวาง โดยมีเงื่อนไขว่า สภาต้องไม่มีส่วนแก้ไขรายมาตรา และนำสู่ประชามติ

ทั้งนี้ สุนีเสนอว่า ประเด็นใหญ่ที่ควรมีการแก้ไขคือ กระบวนการเลือกองค์กรอิสระ และ ส.ว. ซึ่งเดิม มีที่มาจากภาคประชาชนบ้าง แต่ตอนนี้กลายเป็นมีที่มาจากศาลเป็นหลักและนักการเมืองบางส่วน เลือกกันไปมาในวงจำกัด แต่มีสิทธิแต่งตั้งและถอดถอน ส.ส. นอกจากนี้ บางหมวดของรัฐธรรมนูญที่ดีอยู่แล้ว เช่นเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ควรแก้ไข และอยากให้ส่งเสริมการกระจายอำนาจด้วย

วิรัตน์ กัลยา คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สิ่งที่พวกตนเองยืนยันมาตลอดคือแก้รัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องดูช่วงเวลาว่าเหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้ ตั้งคำถามไว้ว่าขณะนี้ประชาชนรู้เรื่องรัฐธรรมนูญดีแค่ไหน และจะแก้เพื่อใคร เพื่อประชาชนหรือใครบางคน ดังนั้น หากจะแก้รัฐธรรมนูญ ขอให้มีกระบวนการให้ความรู้กับประชาชนโดยเท่าเทียมกัน จากนั้นตั้งคณะกรรมการอิสระศึกษาทั้งผล
ดีและผลเสีย สอบถามประชาชนว่าอยากแก้ประเด็นอะไร 

ทั้งนี้ วิรัตน์เน้นว่า สิ่งที่ต้องคงอยู่คือการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะการแทรกแซงองค์กรอิสระยังมีอยู่ พร้อมเตือนว่า แต่หากการแก้รัฐธรรมนูญเร่งรัดเกินไป ไม่เปิดให้ศึกษา หรือสังคมเคลือบแคลงว่าจะแก้เพื่อใคร จะทำให้เกิดความขัดแย้ง บ้านเมืองลุกเป็นไฟ 

วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญนั้นไม่ว่าเขียนอย่างไรก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้ทั้งหมด การจะแก้ปัญหาการแทรกแซง-ซื้อเสียงต้องแก้ที่วัฒนธรรมการเมือง ทั้งนี้ บางเรื่องเช่น การแก้มาตรา 237 ว่าด้วยการยุบพรรค อาจมีคนได้ประโยชน์ในอนาคต ไม่ควรตั้งแง่ว่าทุกคนได้ประโยน์ แต่บางคนได้ประโยชน์ไม่ได้ เหมือนการตัดถนน ที่คนทุกคนได้ประโยชน์ แต่คนที่บ้านอยู่แถวนั้นย่อมได้ประโยชน์ไปด้วย

วุฒิสารเสนอว่าควรรู้ก่อนว่าจะแก้สาระอะไร ถึงจะรู้ว่าที่มาของผู้ร่างฯ ควรเป็นใคร โดยต้องได้ข้อตกลงระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ และไม่ควรรังเกียจตัวแทนทางการเมือง เพราะคนร่าง ไม่ว่าเป็นใครก็เป็นกลุ่มผลประโยชน์ทั้งนั้น 

พงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เสนอว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อไม่ให้มีข้อครหาว่านักการเมืองมาร่าง ทั้งนี้ต้องมีกลไกรับฟังความเห็นประชาชนให้มากที่สุด โดยช่วง 4 เดือนก่อนมี สสร. ควรมีการโยนประเด็นให้ประชาชนถกเถียง เพื่อเตรียมข้อมูลให้ สสร.ที่จะมีขึ้น เมื่อได้ร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วให้ลงประชามติ เพื่อแสดงถึงการยอมรับจากประชาชน

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อ่านกรอบเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยนิติราษฎร์ ที่นี่

Posted: 22 Jan 2012 02:51 AM PST

นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ เสนอกรอบเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ระบุหวังการปฏิรูปกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ใช้รัฐธรามนูญ 3 ฉบับแรกของไทยเป็นรากฐานการวางร่างเนื้อหา

22 ม.ค.55 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ เสนอกรอบเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นตัวแทนในการนำเสนอ โดยกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนี้เป็นการปฏิรูปกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ยาวมากนัก แต่เปิดโอกาสให้มีกฎหมายกำหนดรายละเอียดในแต่ละเรื่องเพื่อให้รัฐธรนรมนูญที่ทำขึ้นมีมีคุณค่าสูงสุด และสถาพรตลอดไป

รากฐานจากรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรก + รัฐธรรมนูญ 2540
จันจิรา เอี่ยมมยุรา กล่าวว่า กรอบเนื้อหาการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้น ใช้รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรกเป็นกรอบในการยกร่างฯ และพิจารณานำรัฐธรรมนูญปี 2540 ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ สถาบันทางการเมืองและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมาประกอบ

เหตุผลที่นำรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรกมาเป็นกรอบนั้น เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่วางรากฐานประชาธิปไตยของไทย คือธรรมนูญชั่วคราวปี 2475 ที่เป็นฉบับแรกนั้นบัญญัติว่า อำนาจสูงสุดเป็นของราฎรทั้งหลาย เป็นการปักหมุดลงไปวางรากฐานว่าอำนาจสูงสุดซึ่งเดิมนั้นเป็นของกษัตริย์ บัดนี้ได้ถูกถ่ายโอนมาสู่ประชาชน

ก่อนหน้า 2475 เราไม่เคยมีแนวคิดที่จะถ่ายโอนอำนาจมาเป็นของประชาชน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่ได้มีแนวคิดที่จะถ่ายโอนอำนาจให้แก่ประชาชนด้วยพระองค์เอง หลักฐานนี้ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่พระบาทสมเด็จพระปกเกหล้าฯ ได้โปรดฯ ให้พระยากัลยาณไมตรี ร่างรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งเขียนเอาไว้ว่าอำนาจสูงสุดตลอดทั่วราชอาณาจักรเป็นของกษัตริย์ นี่คือหลักฐานว่ากษัตริย์ในรัชกาลนั้นยังคงสงวนอำนาจสูงสุดไว้เป็นของสถาบันกษัตริย์ แต่รัฐธรรมนูญปี 2475 เป็นการถ่ายโอนอำนาจดังกล่าวมาสู่ประชาชน

สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับ 2 คือรัฐธรรมนูญปี 2475 เป็นฉบับที่ระบุว่าสถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สถาปนารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย สยามเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวที่แบ่งแยกไม่ได้ เป็นการยอมรับหลักราชารัฐ คือรัฐนั้นมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

นี่เองที่เป็นการประกาศระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะหลังจากนั้นพระมหากษัตริย์จะไม่มีอำนาจในการตรากฎหมายลำพังโดยพระองค์เอง แต่ต้องทำโดยการแนะนำและยินยอมขององค์กรที่ใช้อำนาจแทนราษฎร

ในรัฐรรมนูญฉบับที่ 3 คือ รัฐธรรมนูญปี 2489 เป็นการสถาปนาระบบสองสภา ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นการแสดงรูปธรรมของหลักการที่รัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับที่สองประกาศเอาไว้ โดยกำหนดให้สภาผู้แทนและพฤฒิสภามาจากการเลือกตั้ง

สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นการสถาปนาโดยระบอบสภาผู้แทนและผสมผสานประชาธิปไตยโดยตรงด้วย  คือให้ประชาชนสามารถเสนอแก้ไขกฎหมายได้ และเป็นผู้ตัดสินใจชี้ขาดบางประเด็น เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์เลือกประกาศคณะราษฎร์เป็นจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญ เพราะว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 คณะราษฎร์ได้อ่านประกาศ 6 ประการ ซึ่งข้อ 4 คือ ให้ประชาชนมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่เจ้ามีสิทธิเหนือกว่า เป็นการลงหลักปักฐานหลักความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย และหลักความเสมอภาคนี้เองเป็นรากฐานของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ

สำหรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นการรับรองสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหลักรัฐธรรมนูญทั่วไป เพราะไทยได้ลงนามรับรองแล้ว

ในส่วนของประเด็นเนื้อหาของรัฐธรรมนูญนั้น จันทจิรา กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์จะเป็นการนำกลับมาซึ่งเจตจำนงของคณะราษฎร์ ซึ่งจะเริ่มต้นในโอกาสครบรอบ 80 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ประเด็นสถาบันกษัตริย์ ถึงเวลาพูด ควรจะต้องพูด
วรเจตน์กล่าวว่า หลังจากฟังข้อเสนอแล้ว เหมือนนิติราษฎร์เปิดแนวรบ 10 ทิศจะไปไหวหรือ ซึ่งเขากล่าวว่า จะเป็นการดีหากเปิดให้กลุ่มทางสังคมได้แสดงจุดยืน และหากเห็นด้วยกับนิติราษฎร์ก็จะห็นว่าข้อเสนอนั้นเป็นการแก้ปัญหาเหมือนผ่าตัดใหญ่ ซึ่งถ้าไม่ทำแบบนี้ก็แก้ปัญหาไม่ได้

เขากล่าวถึงข้อกล่าวหาเรื่องล้มเจ้า หรือล้มสถาบันที่หลายคนพยายามโยนข้อกล่าวหาเพื่อทำลายการเคลื่อนไหวทางความคิดของนิติราษฎร์ ซึ่งเขาระบุว่าขอให้ฟังให้เข้าใจ โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่มองนิติราษฎร์เป็นศัตรูว่า รัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นรัฐธรรมนูญในราชอาณาจักร ไม่ใช่การเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ ดังนั้นเลิกการกล่าวหาดังกล่าวได้แล้ว แต่แม้จะเป็นราชอาณาจักร ก็ต้องมีการปฏิรูปให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ แม้จะมีความเข้าใจ หรือการบัญญัติว่ารัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์นั้นห้ามแตะต้อง แต่หมวดดังกล่าวกลับถูกแตะต้องมาโดยตลอด เช่น ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ก็มีการแก้ไขในหมวดดังกล่าว

“บางเรื่องควรพูดกัน เมื่อถึงเวลาก็ควรจะพูด แล้วเปิดใจฟังกันว่าแต่ละฝ่ายมีเหตุผลอย่างไร เพื่อให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่และสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยต่อไป” วรเจตน์กล่าว

อีกประการคือ ความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยขององค์กรตุลาการ วรเจตน์กล่าวว่า มีการให้ผู้พิพากษาศาลสูงเสนอโดย ครม. โดยรายละเอียดในทางกฎหมายจะมีกระบวนการเพื่อสร้างความชอบธรรมมาเป็นตัวกำหนด และตัวพิพากษาในศาลสูงควรเป็นแบบสากลคือไม่ควรจะมีจำนวนมากเกินไป

การรัฐประหารและการต่อต้านการรัฐประหาร
ปิยบุตร แสงกนกกุล อธิบายถึงเนื้อหาร่างฯ ดังกล่าวว่า มีการกำหนดให้ประมุขของรัฐต้องสาบานตนว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและพิทักษ์ไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญก่อนเข้ารับตำแหน่ง ประการที่หนึ่งเพื่อเป็นสัญลักษณ์ แสดงให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์ในฐานะเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ถือเป็นองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงต้องแสดงความเคารพในรัฐธรรมนูญ อีกประการหนึ่งคือ กษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐที่เป็นศูนย์รวมจิตใจคนในชาติ จึงมีหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ

“ในประเทศที่เป็นราชอาณาจักร และเป็นประชาธิปไตยทั่วโลกมีบทบัญญัติเช่นนี้ทั้งสิ้น”  เขากล่าวและว่าสังคมไทยเคยพูดเรื่องนี้มาแล้วใน พ.ศ. 2475 แต่สังคมไทยถูกทำให้ลืม จึงต้องรื้อฟื้น

สำหรับหลักรัฐบาลพลเรือนเหนือทหารนั้น รัฐสภาต้องมีกรรมาธิการชุดหนึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบกองทัพทั้งในแง่งบประมาณและรักษาสิทธิและหน้าที่ให้ทหารชั้นผู้น้อย

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องสิทธิหน้าที่ของทหารชั้นผู้น้อยในการปฏิเสธคำสั่งที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถนำสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนุญยกขึ้นต่อสู้กับคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนประเด็นสุดท้ายคือ การต่อต้านการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชน ซึ่งคณะนิติราษฎร์ได้เสนอมาตลอด และแม้รัฐรรมนูญที่ผ่านมาจะมีการเขียนถึงสิทธิในการต่อต้านรัฐประหาร แต่ต้องทำโดยสันติวิธี เขากล่าวว่าประเทศกรีซมีการรัฐประหารบ่อยมาก ล่าสุดมีการเขียนในรัฐธรรมนูญว่าประชาชนมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชน ซึ่งการต่อต้านนี้คือ “ทุกวิธีการ” หลังการบัญญัติเช่นนี้ กรีซไม่มีการรัฐประหารอีกเลย เขากล่าวว่าแนวคิดเช่นนี้ หากนำมาปรับใช้กับไทยก็น่าจะได้ผลเช่นกัน

วรเจตน์กล่าวเสริมว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ประชาชนต่อต้านได้โดยสันติวิธี แต่เขาเห็นว่าในบรรยากาศของการแย่งชิงอำนาจนั้น การเรียกร้องให้ประชาชนใช้สันติวิธีเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น

“คือการต่อต้านรัฐประหารทุกวันนี้ ท่านต้องไปกราบคนทำรัฐประหาร หรือไปทำสมาธิหน้ารถถังเพราะถ้าท่านใช้วิธีอื่นมันไม่สันติวิธี ผมแปลกใจมากเลยว่าทำไมเวลาจะต่อต้านอะไรแบบนี้คุณเรียกร้องสันติวิธี ถึงตอนนั้นมันเป็นการแย่งชิงอำนาจ ถึงเวลานั้นประชาชนทุกคนมีหน้าที่และสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญเอาไว้ ไม่จำเป็นต้องสันติวิธี” วรเจตน์กล่าว

ท้ายสุด วรเจตน์กล่าวถึงการโจมตี การกล่าวร้ายนคณะนิติราษฎร์ว่ามีมาอย่างต่อเนื่อง เรื่องแรกคือ เรื่องการรับเงิน หรือการได้ผลประโยชน์จากอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

“หลายคนที่โจมตีนั้นใช้จิตใจของเขาประเมินจิตใจของเรา เราทุกคนที่เป็นนิติราษฎร์นั้นมีศักดิ์ศรี เรามุ่งหวังอย่างเดียวอยากให้ประเทศเป็นนิติรัฐและเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

เขากล่าวว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวปัจจุบันแทบไม่มีแล้ว เพราะไม่มีมูลความจริง แต่ถูกยกระดับไปอีกชั้นหนึ่งคือ เรื่องทางความคิด

“สังคมนี้กำลังมีผู้วิเศษเข้าไปในสมองของเรา แล้วบอกว่ารู้นะ คิดอะไรอยู่ บางคนอ้างว่ารู้จักนิติราษฎร์ดี การที่เขาพูดแบบนั้นคือการที่เขาไม่รู้ว่าเราเป็นอย่างไร นี่คือความพยายามที่จะดิสเครดิต ใช้วิธีการแบบนี้มาทำลาย และมีการพูดจาไปต่างๆ นานา ซึ่งเป็นเท็จ เป็นการพูดมุสา แต่สังคมไทยเราก็อยู่กับความเท็จมานานหลายปีแล้ว ผมไม่มีปัญหากับใครเลย กับสื่อมวลชน หรือเพื่อนร่วมวิชาชีพ ใครจะตั้งกลุ่มอะไรตามไม่มีปัญหา แต่ขอให้สู้กันแบบแฟร์ๆ ทางความคิด อย่าทำร้ายกันด้วยวิธีการอันสกปรกต่างๆ ที่พยายามทำกันมาโดยตลอด”

วรเจตน์กล่าวว่า อีกประเด็นคือ นี่เป็นครั้งแรกที่เป็นการจัดงานที่หอประชุมเล็ก จากเดิมที่จัดที่คณะนิติศาสตร์ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่าย แต่วันนี้ย้ายมาจัดที่หอประชุมเล็ก เพราะทางคณะแจ้งว่าไม่สะดวกให้ใช้สถานที่เนื่องจากเกรงจะเสียงดังรบกวนการเรียนการสอน การย้ายสถานที่มีค่าใช่จ่าย แต่นิติราษฎร์จะยังไม่รับเงินบริจาคจากใครทั้งสิ้น ไม่ใช่เพราะร่ำรวย แต่อยากให้งานที่ทำเป็นกิจกรรมที่บริสุทธิ์ในทางวิชาการ จนถึงวันนี้ยังมีกำลังพอที่จะทำกันได้ และจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

 

กรอบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์

กรอบเนื้อหาโดยสังเขปของรัฐธรรมนูญตามความคิดของคณะนิติราษฎร์ มีดังต่อไปนี้

รัฐธรรมนูญและเอกสารทางการเมืองที่ใช้เป็นพื้นฐานของการจัดทำรัฐธรรมนูญ

  • พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 254๐ ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัย
  • ประกาศคณะราษฎร
  • ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declarati0n 0f Human Rights) ลงวันที่ 1๐ ธันวาคม 1948 ของสหประชาชาติ

คำปรารภของรัฐธรรมนูญ

  • การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475
  • ความเลวร้ายของรัฐประหารอันก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์ในการเมืองไทย
  • การหวนกลับไปหาเจตนารมณ์ของคณะราษฎร และอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบคณะราษฎร
  • ประกาศหลักการพื้นฐานของราชอาณาจักรไทย

ประเด็นเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิรูป “สถาบันกษัตริย์ – ศาล – กองทัพ –สถาบันการเมือง” ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยและนิติรัฐ ดังนี้

1. หลักราชอาณาจักร

  • ประมุขของรัฐ คือ พระมหากษัตริย์ 
  • ปฏิรูปกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
  • จัดวางโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประมุขของรัฐกับองค์กรผู้ใช้อำนาจอื่นๆ

2. หลักประชาธิปไตย

  • อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชน
  • อำนาจสูงสุดของประชาชนเป็นฐานแห่งอำนาจของระบบการปกครองประเทศและองค์กรผู้ใช้อำนาจทั้งหลาย
  • เจตจำนงของประชาชนแสดงออกโดยการเลือกตั้งอย่างแท้จริงที่กำหนดให้มีขึ้นตามระยะเวลาที่แน่นอน โดยทั่วไป โดยเสมอภาค โดยเสรี และโดยลับ
  • เคารพเสียงข้างน้อย และเปิดโอกาสให้เสียงข้างน้อยสามารถกลับมาเป็นเสียงข้างมาก

3. หลักนิติรัฐ

  • การปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรม
  •  กฎหมายที่ใช้ปกครองประเทศต้องมาจากความเห็นชอบของผู้แทนประชาชนหรือประชาชนโดยตรง
  • หลักการแบ่งแยกอำนาจ การประกันสิทธิเสรีภาพ

4. ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ

  • รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
  • กำหนดให้มีองค์กรควบคุมกฎหมายมิให้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
  • หน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของกษัตริย์
  • กำหนดให้ประมุขของรัฐต้องสาบานตนว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและพิทักษ์ไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง

5. ความเป็นรัฐเดี่ยวแบบกระจายอำนาจ

  • ราชอาณาจักรไทยเป็นรัฐเดี่ยว แบ่งแยกมิได้
  • รัฐต้องเคารพหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น

6. หลักประกันสิทธิและเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

  • กำหนดให้สิทธิและเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นมีผลโดยตรง และผูกพันองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งปวง
  • รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค และสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนสิทธิมนุษยชนที่รับรองไว้ในกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี

7. การแบ่งแยกอำนาจให้ได้ดุลยภาพระหว่างสถาบันการเมือง

  • แบ่งแยกองค์กรผู้ใช้อำนาจสูงสุดของประชาชนเป็น 3 องค์กร ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
  • กำหนดให้วิธีการใช้อำนาจเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
  • ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารเป็นระบบรัฐสภา

8.  โครงสร้างของสถาบันทางการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

  • กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งโดยตรง โดยใช้ระบบเลือกตั้งที่มีความยุติธรรมและเสมอภาคแก่ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งทั้งในแง่จำนวนคะแนนเสียงและค่าของคะแนนเสียง
  • กำหนดให้มีการปฏิรูปกฎหมายรัฐสภา
  • กำหนดให้มีพระราชบัญญัติรัฐมนตรี และข้อบังคับการประชุมคณะรัฐมนตรี
  • ยุบเลิกองค์กรตามรัฐธรรมนูญในปัจจุบันที่ไม่มีสถานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญในทางเนื้อหา
  • ประกันความเป็นสถาบันขององค์กรอิสระในทางปกครอง
  • กำหนดให้ใช้ระบบสภาเดี่ยว แต่หากต้องการให้ใช้ระบบสองสภา ที่มาของสภาทั้งสองต้องมาจากการเลือกตั้ง

9. ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยขององค์กรตุลาการ

  • ผู้พิพากษาศาลสูงและตุลาการศาลสูง ต้องได้รับการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
  • กำหนดให้มีผู้พิพากษาสมทบที่ได้รับการเลือกจากประชาชนหรือองค์ที่มีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยในศาลระดับล่าง
  • การแจ้งบัญชีทรัพย์สินของผู้พิพากษาศาลสูงและตุลาการศาลสูง และเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ
  • คณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาและตุลาการต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชน
  • ปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยกระบวนการได้มาซึ่งผู้พิพากษาตุลาการและว่าด้วยหน่วยธุรการของศาล

10. การยอมรับความเป็นสังคมพหุนิยม

  • รับรองความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความคิด ความเชื่อ

11. การตรวจสอบใช้อำนาจรัฐของทุกองค์กรให้ได้ประสิทธิภาพและดุลยภาพ

  • ปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการตรวจสอบอำนาจรัฐ

12. หลักประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

  • เคารพหลักเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมโดยกลไกตลาด
  • ส่งเสริมให้มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม และจัดให้มีระบบสวัสดิการอย่างทั่วถึง

13. หลักความสูงสุดของรัฐบาลพลเรือนเหนือทหาร

  • กำหนดให้มีผู้ตรวจการกองทัพที่แต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร
  • รับรองสิทธิและหน้าที่ของทหารในการปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและละเมิดกฎหมายอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง
  • การแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งระดับสูงในกองทัพเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี

14. ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยในกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่าย

  • การเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารเท่านั้น
  • การพิจารณาและให้ความเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา
  • องค์กรอื่นใดไม่อาจเสนอหรือแปรญัตติงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้

15. การต่อต้านการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชน

  • กำหนดให้มีบทบัญญัติในหมวดว่าด้วย “การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549” โดยมีเนื้อหาสาระตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์เรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
  • กำหนดให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านโดยวิธีการใดๆต่อการแย่งชิง (usurpation) อำนาจสูงสุดของประชาชน
  • กำหนดให้การแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนเป็นความผิดอาญา ภายหลังการรื้อฟื้นอำนาจที่ชอบธรรมกลับมาได้แล้ว ก็ให้ดำเนินคดีต่อบุคคลที่แย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนดังกล่าว โดยให้อายุความเริ่มนับตั้งแต่มีการรื้อฟื้นอำนาจอันชอบธรรมนั้น

  

คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ท่าพระจันทร์, 22 มกราคม 2555 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนเชียงใหม่ร่วมรณรงค์ แก้ 112 ชี้แดงมีหลายเฉด ‘กลัว-กล้า’ ต่างกัน

Posted: 22 Jan 2012 02:24 AM PST

คนเชียงใหม่ทยอยลงชื่อแก้ไข ม.112 ชี้เสื้อแดงมีหลายเฉดมีความกลัวความกล้าต่างกัน เพราะได้รับข้อมูลและมีความเข้าใจหลายระดับ ดีเจวิทยุชุมชนชี้ต้องเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกับกิจกรรมอย่างแท้จริง ส่งแบบฟอร์มกระจายไปตามที่ต่างๆ เช่น สถานีวิทยุชุมชน ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านลาบ อู่ซ่อมรถ และแผงหวย ของคนเสื้อแดง อำเภอและจังหวัดข้างเคียงเช่น ลำพูน, ลำปาง และเชียงราย

 

ชาวเชียงใหม่สนใจเริ่มทยอยมาลงชื่อสนับสนุนการรณรงค์แก้ไข ม.112 โดยทางสถานีได้กระจายแบบฟอร์มไปตามร้านค้า เช่น สถานีวิทยุชุมชน ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านลาบ อู่ซ่อมรถ และแผงหวย ของคนเสื้อแดง อำเภอและจังหวัดข้างเคียงเช่น ลำพูน, ลำปาง และเชียงราย

22 ม.ค. 55 – ที่ร้านเร้ดค้อฟฟี่ ถ.ศรีดอนไชย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรม รับฟังการถ่ายทอดเสียง งานอภิปราย “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร-นิรโทษกรรม-ปรองดอง” (รวมถึงไลน์สัญญาณเสียงออกอากาศทางคลื่น 99.15 MHz) และลงชื่อเพื่อแก้ไข ม.112 โดยมีผู้สนใจทยอยมาลงชื่อตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 55 ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์

ลุงมังกร ชาวบ้านป่าตัน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าอยากให้มีการจัดกิจกรรมของนิติราษฎร์ในหัวเมือง เช่น อุบล ขอนแก่น เชียงใหม่ และเมืองใหญ่ตามต่างจังหวัด เพื่อที่จะได้เผยแพร่แนวคิดนี้ในวงกว้างมากขึ้น เมื่อถามว่ามีความกลัวในการลงชื่อครั้งนี้หรือไม่ ลุงมังกรกล่าวว่าไม่กลัวเพราะตนก็ทำตามกรอบกฎหมายทุกอย่าง

พี่มีน ชาวบ้านจาก อ.สันทราย อายุ 41 ปี ทำอาชีพค้าขาย กล่าวว่าในด้านกฎหมายไม่กลัวที่จะลงชื่อครั้งนี้ เพราะคิดว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ประสบการณ์ที่ได้ร่วมนำแบบฟอร์มไปให้เพื่อนบ้านที่เป็นเสื้อแดงลงชื่อสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายนี้ พบว่าหลายรายยังไม่กล้าลงรายชื่อ เพราะยังไม่เข้าใจกระบวนการนี้ ที่ต้องมีการเตรียมเอกสาร เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน อาจมีความกลัวว่าข้อมูลของตัวเองจะถูกนำไปเผยแพร่แล้วมีผลกระทบต่อหน้าที่การงานหรือเป็นที่จับตาของทางการ และถึงแม้คนเสื้อแดงแถวบ้านจะมีจานดำ ได้ดูว๊อยซ์ทีวีหรือเอเชียอัพเดท พูดคุยประเด็นนี้ (ม.112) กันบ้าง แต่คนเสื้อแดงก็มีหลายเฉด มีความเข้าใจและความกล้าต่างกัน มีทั้งที่กล้าลงชื่อและไม่สะดวกที่จะลงชื่อ

นายจักรพันธ์ บริรักษ์ ผู้จัดรายการคลื่นสร้างสรรค์สังคมเชียงใหม่ (FM 99.15 MHz) ให้ความเห็นว่าหลังจากที่ทางสถานีร่วมรณรงค์ร่วมกับส่วนกลางมาตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 55 เป็นต้นมา ก็มีชาวบ้านที่รับฟังคลื่นทยอยมาลงชื่อกว่า 50 คนแล้ว และอาสานำเอกสารจากส่วนกลางไปให้เพื่อนบ้านร่วมลงชื่ออีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะมีคนร่วมแก้กฎหมายนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากมีการประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

จักรพันธ์ตั้งเป้าว่าจะมีการจัดรายการผ่านสถานีให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแก้ไข ม.112 อย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของสถานีก็ทำหน้าที่นี้มาตั้งแต่ตั้งสถานีแล้ว (ธันวาคม 2553) ตั้งแต่สถานการณ์ทางการเมืองยังมีความซุ่มเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งด้วยข้อหาความมั่นคง จนมาถึงปัจจุบันที่ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังจะมีการจัดเวทีเสวนาเรื่องนี้ทุกเดือน โดยเชิญวิทยากรจากส่วนกลางมาให้ความรู้ความเข้าใจแก่ชาวบ้านที่ฟังวิทยุชุมชนอีกด้วย รวมทั้งต้องกระจายแบบฟอร์มการแก้ไข ม.112 นี้ในวงกว้างมากที่สุดเพื่อให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมกับการณรงค์นี้อย่างแท้จริง

โดยทางสถานีได้กระจายแบบฟอร์มไปตามสถานที่ต่างๆ เช่น สถานีวิทยุชุมชน ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านลาบ อู่ซ่อมรถ และแผงหวย ของคนเสื้อแดง อำเภอและจังหวัดข้างเคียงเช่น ลำพูน, ลำปาง และเชียงราย (มีทั้งสะดวกให้ประชาสัมพันธ์ทางเว็บไซต์และไม่สะดวกประชาสัมพันธ์)

 

……

สำหรับผู้สนใจร่วมรณรงค์ในภาคเหนือในขณะนี้ (ณ เดือนมกราคม 2555 เตรียมสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน ไปลงชื่อได้ที่ …

ร้าน Book Re:public ถนนเลียบคันคลอง ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ร้าน 9 บรรทัด ซ.ชมจันทร์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ร้านเร้ดคอฟฟี่ ถ.ศรีดอนไชย อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ร้านก๋วยเตี๋ยวราษฎร ซ.ขนมบ้านอาจารย์ (หลังมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่) อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ร้ายบัวเทพก๋วยเตี๋ยวน้ำตก ต.ท่ากว้าง อ.สารภี จ.เชียงใหม่

จ.เชียงราย ที่วิทยุชุมชน FM 100.5 MHz อ.เมือง จ.เชียงราย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดโมเดลรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ ร่างใหม่คาดใช้เวลา 9 เดือน

Posted: 22 Jan 2012 02:13 AM PST

 

22 ม.ค.55 ที่หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ตัวแทนนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ เสนอโมเดลการจัดำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยวิจารณ์ว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นั้นมีคนได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในช่วงร่างรัฐธรรมนูญก็มีการบอกให้รับไปก่อนแก้ทีหลัง พอจะแก้ก็บอกไม่ให้แก้

“บ้านเราจะแก้อะไรก็ยากเหลือเกิน อาจจะถูกขู่ว่า อย่าแก้นะ เดี๋ยวปฏิวัติ ผมว่าเราเป็นอารยะมากพอ เราไม่ได้อยู่กันแบบอันธพาล ไม่ใช่ว่าไม่ได้ดั่งใจแล้วก็ใช้กำลังห้ำหั่นกัน”

วรเจตน์อธิบายต่อไปว่า ข้อเสนอของนิติราษฎร์เพื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มี 2 ประเด็น คือ หนึ่ง วิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และสอง คือ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะมีหน้าตาอย่างไร จะตอบคำถามแก้ปัญหาการเมืองการปกครองของไทยอย่างไรเพื่อให้เราพ้นไปจากวงจรที่เกิดขึ้นมาหลายสิบปีเสียที

วิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญ

วรเจตน์ กล่าวถึงวิธีการจัดทำว่า ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 และจัดทำขึ้นมาใหม่ ซึ่งการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว และสร้างปัญหาหลายประการ การเนิ่นช้าต่อไปเท่าไรยิ่งส่งผลเสียต่อสาธารณะมากขึ้นเท่านั้น

อีกประการคือ ต้องการให้รัฐธรรมนูญใหม่นั้นมีความชอบธรรมสูงสุด คือ ให้ประชาชนออกเสียงประชามติ แต่การออกเสียงประชามติที่จะทำ จะไม่เป็นการออกเสียงแบบกำมะลออย่างทาผ่านมา ที่ว่าเป็นกำมะลอนั้นเพราะประชาชนที่ไปออกเสียงประชามตินั้นเขาไม่มีทางเลือก เพราะมีการเขียนไว้ว่า ถ้าไม่เอา คมช. กับครม. จะไปปรึกษากันว่าจะเอาอะไรมาใช้

“เราเป็นสุภสาพบุรุษพอ เราไม่ทำแบบนั้น” วรเจตน์กล่าวพร้อมระบุว่า การออกเสียงประชามติจะเป็นการเอาร่างฯ ไปให้ประชาชนเลือกระหว่าง รัฐธรรมนูญ 2550 กับรัฐธรรมนูญที่ทำขึ้นใหม่ว่าจะเอาอันไหน แล้ววัดกันโดยประชามติ

กระบวนการจัดทำ

ในส่วนของกระบวนการจัดทำ เขาเสนอในเบื้องต้นให้แก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบันเพื่อเปิดทางให้มีการตั้งองค์กรที่จัดทำรัฐธรรมนูญ เรียกว่าคณะจัดทำรัฐธรรมนูญนิติรัฐและประชาธิปไตย ประกอบด้วยกรรมการ 25 คนให้สภาผู้แทนเลือก 20 คน วุฒิสภาเลือก 5 คน

ในส่วนของสภาผู้แทนฯ ให้แบ่งโควต้ากันไปตามสัดส่วนผู้แทน พรรคที่มีส.ส. มากได้โควต้ามาก พรรค ส.ส. น้องก็โควต้าน้อย ในส่วนขอวุฒิสมาชิก ก็อยากให้วุฒิสมาชิกที่มาจาการเลือกตั้งเท่านั้นที่มีสิทธิเลือก แต่ก็เพื่อให้วุฒิสมาชิกจากการสรรหามีส่วนร่วมด้วยและมองในแง่ควาเมป็นไปได้ จึงแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส.ว.จากการเลือกตั้งให้ตั้งได้ 3 คน ส่วน ส.ว.จากการแต่งตั้งที่ไม่มีความชอบธรรมตามระบอบประชาธปิไตยก็ให้เลือกได้ 2คน

คุณสมบัติคือ ต้องไม่เป็น ส.ส. หรือ ส.ว. หรือข้าราชการการเมือง การกำหนดแบบนี้เกิดจากการศึกษาเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญที่โดดเด่นของโลกหลายฉบับ

ในส่วนของการมีส่วนร่วมของประชาชนก็กำหนดว่า เมื่อได้ตัวกรรมการแล้วก็มีการกำหนดกรอบการทำรัฐธรรมนูญ 30 วัน เมื่อกำหนดกรอบแล้ว กรรมการฯ มีหน้าที่ไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เสร็จแล้วก็ยกร่างฯ

หลังจากนั้นนำร่างฯ นั้นเข้าสู่รัฐสภาเพื่อรับฟังความคิดเห็น และนำร่างฯ ไปพิจารณาแก้ไข ซึ่งป็นอำนาจของคณะกรรมการ สุดท้ายก็ได้เป็นตัวร่างฯ ฉบับใหม่ แล้วให้ประชาชนลงประชามติ และให้ประกาศเป็นรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 9 เดือน

ทั้งนี้วรเจตน์กล่าวว่า แน่นอนว่าจะมีบางฝ่ายจะเริ่มสกัด คือให้ยุบสภาไปเสีย แต่การยุบสภาจะไม่เป็นอุปสรรคต่อคณะกรรมการชุดนี้

วรเจตน์กล่าวว่า โดยกระบวนการนี้ ประชาชนมีส่วนร่วมได้สองส่วน คือขั้นตอนประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นและขั้นตอนลงประชามติ

ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวเสริมว่า รูปแบบที่นิติราษฎร์เสนออาจจะไม่ถูกใจคนที่คาดหวังเรื่องการมีส่วนร่วมขนาดใหญ่ หรือรูปแบบสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ปี 2540 แต่รูปแบบที่นิติราษฎร์เสนอนั้น เป็นการศึกษาจากการร่างฯ ทั่วโลกซึ่งยอมรับว่า คณะกรรมการขนาดใหญ่ไม่สามารถดำเนินการร่างฯ รัฐธรรมนูญได้สัมฤทธิ์ผล ถึงที่สุดก็ต้องมีการจัดทำโดยคณะทำงานที่เป็นกลุ่มย่อยลงไปอีก

“ไอเดียสภาร่างฯ แบบไทยเกิดขึ้นเพราะรังเกียจนักการเมือง เป็นมายาคติที่เกลียดนักการเมือง บอกว่าเดี๋ยวเขียนเองก็เข้าข้างนักการเมือง และอีกประการหนึ่งคือ ต้องการถ่วงเวลา”  ปิยบุตรกล่าวและว่าเขาเห็นว่าโมเดลแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีจุดอ่อนคือความล่าช้า ถูกเตะถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ

เขาย้ำว่าข้อเสนอการตั้งกรรมการชุดนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานสองข้อ คือความชอบธรรมทางประชาธิปไตยและประสิทธิภาพของการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ

 00000000


ข้อเสนอคณะนิติราษฎร์

เรื่อง รูปแบบองค์กรยกร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

และกระบวนการยกร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

 

ให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม “หมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่” โดยมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

 

ชื่อองค์กรผู้มีหน้าที่ยกร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญ

คณะจัดทำรัฐธรรมนูญนิติรัฐและประชาธิปไตย

 

สถานะ

เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

 

องค์ประกอบ

ประกอบไปด้วยกรรมการ 25 คน

 

ที่มา

  • สภาผู้แทนราษฎร เลือกกรรมการ  20 คน โดยแบ่งตามอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคการเมืองและกลุ่มพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร
     
  • วุฒิสภา เลือกกรรมการ 5 คน โดย 3 คนมาจากการเลือกของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง และ 2 คนมาจากสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา
     
  • การแบ่งให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเลือกกรรมการตามสัดส่วนจำนวนดังกล่าว คำนวณจากฐานจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา 150 คน โดยให้ความสำคัญกับสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าวุฒิสภา และให้ความสำคัญสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่าสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา

 

ลักษณะต้องห้าม

  • กรรมการต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาหรือข้าราชการการเมือง

 

ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง

  • หลังจากออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ให้คณะจัดทำรัฐธรรมนูญนิติรัฐและประชาธิปไตยพ้นจากตำแหน่ง
     
  • ในกรณีที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำรงอยู่และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะจัดทำรัฐธรรมนูญนิติรัฐและประชาธิปไตย

 

กระบวนการยกร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

การยกร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้คณะจัดทำรัฐธรรมนูญนิติรัฐและประชาธิปไตยดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนภายในระยะเวลา ดังต่อไปนี้

  • กำหนดกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ - 30 วัน
     
  • รับฟังความคิดเห็น - 60 วัน
     
  • ยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา - 60 วัน
     
  • นำร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภาเพื่อรับฟังความเห็นและอภิปรายรายมาตรา แต่ไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญได้ ในกรณีที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้วุฒิสภาทำหน้าที่เป็นรัฐสภา - 60 วัน
     
  • นำความเห็นของรัฐสภากลับไปพิจารณาแก้ไข - 30 วัน
     
  • นำร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนศึกษาและรณรงค์ก่อนออกเสียงประชามติ - 30 วัน
     
  • ประชาชนออกเสียงประชามติ ในฐานะประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ผลการออกเสียงประชามติให้ถือเป็นเด็ดขาด
     
  • พระมหากษัตริย์ทรงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยมีประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
     
  • รวมระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 9-10 เดือน

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิติราษฎร์ตอบ 12 คำถามใหญ่ ย้ำข้อเสนอ‘ลบล้างผลพวงรัฐประหาร’

Posted: 22 Jan 2012 01:46 AM PST

22 ม.ค.55  ที่หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ จัดการเสวนาในหัวข้อ ‘ลบล้างผลพวงรัฐประหาร – นิรโทษกรรม- ปรองดอง’ มีนักวิชาการเข้าร่วมเสวนาทั้งหมด 7 คน ได้แก่  จันทจิรา เอี่ยมมยุรา, วรเจตน์ ภาคีรัตน์, สาวตรี สุขศรี, ปิยบุตร แสงกนกกุล, ปูนเทพ ศิรินุพงศ์, ฐาปนันนท์ นิพิฎฐกุล และกฤษณ์ ภูญียามะ โดยมีประชาชนเข้าร่วมรับฟังจนแน่นหอประชุม

ฐาปนันท์ ได้กล่าวปาฐกถาเปิดงานว่า การจัดการงานเสวนาดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากวาระครบรอบ 1 ปี เปิดตัวเว็บไซต์นิติราษฎร์ (enlightened-jurists.com)  ซึ่งได้ทำแถลงการณ์ออกมา 4 ข้อ ได้แก่ การลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร, การเยียวยาผู้เสียหาย,  การแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ และการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112

นอกจากนี้ ปีนี้ยังครบรอบ 100 ปี ร.ศ. 130 ซึ่งมีเจตจำนงเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตย และเป็นวาระครบรอบ 80 ปีการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 และหลังจากนี้นิติราษฎร์จะทำงานวิชาการไปตลอดปี

จากนั้นวรเจตน์ ได้กล่าวถึงเนื้อหาการอภิปรายเรื่องข้อเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหาร ซึ่งหลังจากมีการเสนอในปีที่แล้ว (2554)  ก็มีปัญหาอุทกภัย ทำให้ต้องชะงักไป

วรเจตน์เท้าความว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายนปี 2554 นิติราษฎร์ ได้ออกแลงการณ์ 4 ข้อคือ 1.ลบล้างผลพวงการรัฐประหาร 2. การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112  3.การเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังการรัฐประหาร  4.การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันและจัดทำขึ้นใหม่

ข้อเสนอทั้ง 4 ประการ บางข้อนั้นได้เกิดเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว เช่น ข้อเสนอเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร ส่วนเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขณะนี้กำลังมีการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอต่อรัฐสภาต่อไป โดยใช้เวลา รวบรวม 112 วัน ที่เหลืออีก 2 ประเด็นคือ การลบล้างผลพวงของการรัฐประหารและการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นประเด็นที่นิติราษฎร์จะขับเคลื่อนไปตลอดทั้งปีนี้

สำหรับการลบล้างผลพวงของการรัฐประหารนั้น นิติราษฎร์เสนอให้การกระทำใดๆ ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เสียเปล่า ไม่มีผลทางกฎหมาย และเสนอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 ตกเป็นโมฆะ รวมถึงเสนอให้บรรดาคำวินิจฉัยของศาลที่มีความเชื่อมโยงกับการรัฐประหาร 19 กันยายนนั้นเสียเปล่า ส่วนคดีที่ยังไม่พิจารณาให้ยุติลง ซึ่งผลคือ บรรดาคำวินิจฉัยต่างๆ ที่ศาลเคยตัดสินไปแล้ว ต้องถือว่าไม่เคยมีและต้องเริ่มกระบวนการพิจารณากันใหม่

ส่วนการรัฐประหารที่เป็นโมฆะนั้นให้ถือว่าบรรดาประกาศต่างๆ ไม่มีผล และให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ประชาชนลงประชามติ หากประชาชนลงมติแล้วก็ทำให้การรัฐประหารและบรรดาประกาศของคณะรัฐประหารนั้นเสียเปล่าไป บรรดาบุคคลที่ทำรัฐประหาร บรรดาผู้สนับสนุน ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113

สำหรับในช่วงแรกเป็นการประมวลผลคำถาม-ตอบหลังจากข้อเสนอดังกล่าวออกสู่สาธารณะ โดยคณะนิติราษฎร์จะช่วยกันตอบคำถามคาใจเหล่านั้น  โดยกฤษณ์ ภูญียามา เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในทางหลักวิชานิติศาสตร์ การลบล้างผลพวงของการรัฐประหารสามารถทำได้หรือไม่
ปิยบุตร: ในหลายประเทศใช้กระบวนการตามกฎหมายโดยการประกาศความเสียเปล่าของการกระทำใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นในสมัยเผด็จการ ด้วยการตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อประกาศว่าสิ่งเหล่านั้นเสียเปล่า เสมือนสิ่งนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น ในฝรั่งเศส มีการตรากฎหมายรื้อฟื้นความชอบธรรมของกฎหมายในระบอบสาธารณรัฐ โดยลบล้างการกระทำในระบอบวิชี่ เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้ เมื่อมีการดำเนินการดังกล่าวแล้วก็สามารถกลับสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยได้อย่างปกติ

เหตุผลอีกข้อที่ยืนยันว่าทำได้ คือตอนที่มีการทำรัฐประหารแล้วก็ต้องเข้าสู่ระบบปกติ ไม่สามารถยึดอำนาจไว้เป็นระยะเวลาหลายๆ ปี เมื่อเข้าสู่ระบบปกติ อำนาจที่เป็นของประชาชนซึ่งถูกแย่งชิงเอาไป เมื่อกลับมาสู่มือประชาชนซึ่งทรงอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริง ก็สามารถแสดงเจตจำนงว่าต้องการล้มล้างผลพวงของการรัฐประหารได้

คณะนิติราษฎร์เสนอให้ลบล้างผลพวงของรรัฐประหาร 19 กันยายน มีหลายคนของใจว่าทำไมเจาะจงเฉพาะ 19 กันยายน 2549 ทำไมไม่รวมการรัฐประหารครั้งอื่น
ปูนเทพ: เราประกาศและยืนยันอย่างหนักแน่น คณะนิติราษฎร์ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารทุกครั้ง ดังนั้นรัฐประหารทุกครั้งตั้งแต่ 2490 เป็นต้นมาเป็นรัฐประหารที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่การอภิวัฒร์ 24 มิถุนายน 2475 นั้เนป็นการดึงอำนาจกลับคืนมาสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ใครก็ตามที่แย้งให้ล้มล้าง 24 มิถุนายน 2475 ด้วยก็ควรยอมรับว่าท่านไม่เคารพว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนทั้งหลาย

สำหรับการเริ่มที่การรัฐประหาร 19 กันยา เพราะว่าผลกระทบยังมีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งหากล้มล้างครั้งล่าสุดได้สำเร็จ ก็ย่อมเป็นไปได้ที่จะย้อนกลับไปล้างผลพวงก่อนหน้านั้น และขอถามกลับถึงคนที่ตั้งคำถามด้วยว่า แค่นี้ท่านก็กรีดร้องจะเป็นจะตายแล้ว แต่ถ้าจะให้ย้อนไปล้มล้างผลพวงของการรัฐประหารทุกครั้ง ท่านไม่หัวใจวายตายหรือ

ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ในประเด็นการลบล้างผลพวงของคณะรัฐประหาร ถ้านำไปปฏิบีติจริง ก็ไม่ต่างกับคณะรัฐประหาร เพราะในฐานะรัฎฐาธิปัตย์ก็ย่อมให้อำนาจไปทางใดก็ได้ ใช่หรือไม่
สาวตรี: ต้องขอวิจารณ์คำถามก่อนใน 2 ประเด็น คือ คำถามนี้มีการเอาอำนาจประชาชนไปเปรียบกับการรัฐประหาร เปรียบเหมือนผู้ถามอยู่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย สองคือ คำถามนี้เป็นคำถามที่ดูถูกดูแคลนประชาชนมาก เพราะเป็นการเอาคณะรัฐประหารที่ขโมยอำนาจไปเปรียบกับอำนาจของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยแท้จริง

ส่วนคำตอบนั้น คือ ถ้าเปิดดูรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะพบตั้งแต่มาตรา 3 ต้องดูว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนเป็นของปวงชนชาวไทย ฉะนั้นรัฎฐาธิปัตย์ที่แท้จริงคือประชาชนชาวไทยไม่ใช่คณะรัฐประหาร ฉะนั้นการที่เราจะลบล้างผลพวงของสิ่งที่คณะรัฐประหารทิ้งไว้จึงเอาไปเปรียบเทียบกันไม่ได้ เมื่อการทำรัฐประหารเป็นความผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง การที่เราลุกขึ้นมาและบอกว่านี่คืออำนาจของเรา จะบอกว่าการที่เรารลบล้างผลพวงของการทำรัฐประหารโดยประชาชนโดยการลงประชามติจะบอกว่าเราสุดโต่งได้อย่างไร และเป็นสิ่งที่ไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกันได้เลย

การที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร คณะนิติราษฎร์รู้หรือไม่ว่า เหตุผลที่คณะรัฐประหารต้องก่อการรัฐประหารในขณะนั้นเพราะมีการทุจริตคอร์รัปชั่น เหตุใดคณะนิติราษฎร์จึงไม่คิดกำจัดเหตุของการรัฐประหารด้วย
ปูนเทพ: เหตุผลของคณะรัฐประหารทุกครั้งจะอ้างเหตุว่ารัฐบาลโดยการเลือกตั้งของประชาชนนั้นใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยทุจริต แล้วคณะรัฐประหารทั้งหลายท่านไม่ทุจริตหรือ รัฐบาลที่ประชาชนเลือกมาทุจริตหรือไม่นั้นตรวจสอบได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แต่ภายใต้รถถังหรือกระบอกปืนนั้นตรวจสอบไม่ได้ ดังนั้นการทุจริตคอร์รัปชั่นย่อมไม่ใช่เหตุแห่งรัฐประหาร มันคือข้อบกพร่องในระบอบประชาธิปไตยที่จะแก้ไขได้ภายในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น

ส่วนการรัฐประหารนั้นเป็นการขโมยอำนาจจากประชาชนไป ไม่ต่างกับการกล่าวหาอีกฝ่าย และขอย้ำว่าเราสามารถตรวจสอบรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตยได้ แต่ภายใต้รัฐประหาร มันเป็นไปไม่ได้

การที่นิติราษฎร์เสนอให้การนิรโทษกรรมแก่คณะรัฐประหารเป็นโมฆะนั้น เป็นแนวทางที่สุดโต่งเกินไปหรือเปล่า ไม่ถือเป็นการออกกฎหมายย้อนหลังเพื่อลงโทษอาญาแก่บุคคลหรือ
สาวตรี: การทำให้การนิรโทษกรรมแก่ผู้ทำรัฐประหารเป็นโมฆะนั้น ต้องบอกว่า การทำรัฐประหารเป็นความผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งบัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ซึ่ง ณ วันนี้ยังไม่ได้ถูกยกเลิกไปไหน ยังเป็นกฎหมายที่ยังไม่เคยถูกนำมาใช้จริงๆ

ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อลบล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ ตุลาการ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือแบ่งแยกราชอาณาจักร หรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกบฏ ระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ถ้ายึดถือตามกฎหมายนี้ คณะรัฐประหารนั้นควรมีโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต แต่ความบดเบี้ยวที่เกิดขึ้นคือ มีคนไปยอมรับว่าหลังจากยึดอำนาจแล้ว เขากลายเป็นรัฎฐาธิปัตย์ ออกกฎหมายมานิรโทษกรรมตัวเองได้ ถามว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ ประชาชนย่อมตอบได้ว่านี่เป็นเรื่องผิด ดังนั้น การที่เราจะตรากฎหมายเพื่อลบล้างสิ่งทีเป็นความผิดกฎหมายอยู่ตลอดมาให้หมดไปนั้นย่อมทำได้

ส่วนการออกกฎหมายย้อนหลัง หมายถึง ขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้การกระทำนั้นเป็นความผิด ต่อมามีการตรากฎหมายให้สิ่งนั้เป็นความผิด แต่กรณีการรัฐประหารเป็นความผิดหรือไม่ มันเป็นความผิดอยู่ตลอดเวลา

การลบล้างคำพิพากษาของศาลเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

จันทจิรา: คำถามนี้คงจะมาจากฝ่ายที่มีส่วนได้เสีย คือจากฝ่ายตุลาการ สำหรับคำถามนี้เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าหลักบางแยกอำนาจทำหน้าที่อะไร

ในรัฐประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของสูงสุด การมีหลักแบ่งแยกอำนาจเพื่อทำหน้าที่ปกป้องอำนาจของประชาชน ประกันคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นในแง่นี้ ผู้ได้รับความคุ้มครองจากหลักแบ่งแยกอำนาจก็ต้องทำหน้าที่ให้ตรงกับภารกิจของตัว คือ ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน องค์กรตุลาการได้รับการแต่งตั้งจากอำนาจที่ประชาชนมอบหมายให้ แล้วองค์กรตุลาการได้ประโยชน์จากหลักแบ่งแยกอำนาจ ได้ประโยชน์ คือ ความเป็นอิสระเพื่อตัดสินคดี คุ้มครองสิทธิของประชาชน ในแง่นี้ถ้าองค์กรตุลาการไม่ได้ทำหน้าที่ของตัว (องค์กรตุลาการไม่ได้หล่นมาจากฟ้า) เมื่อเขาไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ คำพิพากษาที่มีไปรับรองประกาศคณะปฏิวัติ ทำลายระบอบประชาธิปไตย ทำลายระบบนิติรัฐ คำพิพากษ์นั้นต้องถูกลบล้างได้ด้วยอำนาจของประชาชน

ข้อเสนอของนิติราษฎร์ไม่ได้เสนอให้ลบล้างทันที แต่ให้ผลนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่จะเสนอในวันนี้ ซึ่งจะมีการลงประชามติ และถ้าประชาชนรับรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็เท่ากับประชาชนใช้อำนาจสูงสุดไปลบล้างคำพิพากษา ซึ่งตรงกับหลักการประชาธิปไตย เมื่อตุลาการมาจากประชาชน ประชาชนก็ลบล้างคำพิพากษาที่ไม่เคารพหลักประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐได้ ถือเป็นการรักษาไว้ซึ่งหลักการแบ่งแยกอำนาจด้วยซ้ำไป

นิติราษฎร์เอาศาลไทยไปเปรียบเทียบกับศาลนาซีของเยอรมัน เป็นการเปรียบเทียบที่ผิดฝาผิดตัวหรือไม่
ปิยบุตร: 19 กันยาและเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องมานั้นไม่หนักหน่วงเท่ากับนาซี ผมเดาได้แต่แรกแล้วว่าจะมีการเปรียบเทียบแบบนี้ แต่ผมตอบได้ว่าที่เรายกมาเพื่อบอกให้เห็นว่ามันมีความเป็นไปได้ที่จะใช้อำนาจของประชาชนกลับไปลบล้างการกระทำใดๆ ในสมัยเผด็จการ หรือคำพิพากษาใยนสมัยเผด็จการ เมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ หมัดต่อหมัดแล้วนาซีหรือวิชี่องฝรั่งเศสมันต่างกับเรามาก

ประเด็นคือท่านวิพากษ์วิจารณ์ระบอบวิชี่และนาซีได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าท่านอยู่ในแผ่นดินแห่งนี้ท่านวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาลไทยได้อย่างเต็มที่หรือไม่ การวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษา ท่านวิจารณ์ได้พอๆ กัน เปิดเผย หรือมากกว่าระบอบนาซีไหม แล้วท่านจะรู้ได้อย่างไรว่า คำพิพากษาที่เป็นผลพวงของ 19 กันยา มันแย่กว่าหรือไม่ เมื่อเทียบกับสมัยนาซี เพราะท่านสุ่มเสี่ยงที่จะโดนข้อหาต่างๆ เต็มไปหมด ไหนจะมีคนในศาลบางกลุ่มชอบเอาเรื่องการพิพากษาภายใต้พระปรมาภิไธยมาอ้าง ฉะนั้นเราเปรียบเทียบไม่ได้หรอกว่าคำพิพากษาภายใต้ระบอบไหนดีกว่ากัน

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผ้ดำรงตำแนห่งทางการเมือง หรือกฎหมายที่ศาลดังกล่าวหยิบมาใช้ มีมาก่อนการรัฐประหารอยู่แล้ว จะบอกว่าเป็นผลพวงจากการรัฐประหารได้อย่างไร
จันทจิรา: คำถามนี้เรารู้ไต๋ว่าต้องการเอานิติราษฎร์ไปทะเลาะกัยบศาลฎีกา เราอธิบายได้ว่า จริง ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีมาก่อนการรัฐประหาร แต่ในคดีอาญานั้น มีกระบวนการผู้รวบรวมข้อเท็จจริง ผู้ตั้งประเด็นข้อกล่าวหา ก่อนที่จะมาถึงมือศาลฎีกา ซึ่งในคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อน 19 กันยานั้นเป็นไปตามระบบกระบวนการตามปกติ คือเจ้าพนักงานสอบสวนดำเนินการไป ยื่นต่ออัยการ หรือมาจากประชาชนก็ตาม  

แต่หลัง 19 กันยา มีการตั้งองค์กรพิเศษที่ทำหน้าที่เฉพาะ ที่เรียกว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานซึ่งทำให้กระบวนการในการทำคดีตั้งแต่หลัง 19 กันยามีความผิดปกติไป เพราะองค์ประกอบและที่มาของ คตส. ตั้งโดยคณะรัฐประหาร และองค์ประกอบเป็นการเลือกเป็นรายบุคคล ท่านคงจะได้ข่าวว่ามีผู้ได้รับการทาบทามเป็น คตส. บางคน ได้ลาออกไปก่อนที่จะปฏิบัติหน้าที่ และมีการแต่งตั้งบุคคลบางคนเข้ามา

ในรายชื่อของคนที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคนที่มีข่าวคราวว่ามีความขัดแย้งกับบุคคลที่ถูกฟ้องทั้งสิ้น ในแง่นี้ ความยุติธรรมทางอาญา ถือว่า ต้นน้ำของการฟ้องคดีมาจากองค์กรพิเศษที่ประกอบด้วยบุคคลที่มีข้อสงสัยถึงควาเป็นกลาง มีข้อสงสัยว่าจะมีอคติต่อผู้ถูกฟ้อง กรณีอย่างนี้แม้ศาลฎีกาอยากจะพิจารณาคดีให้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างไร เราก็ถือว่าคดีนั้นมีข้อบกพร่องเสียแล้ว

ดังนั้น เราจึงเห็นว่าคำพิพากษานั้นไม่ชอบด้วยระบบนิติรัฐและระบอบประชาธิปไตย

และข้อเสนอของเราไม่ได้เสนอให้ลบล้างคำพิพากษาแล้วไม่ทำอะไรอีก ต่างจากอภัยโทษหรือนิรโทษกรรม เราเสนอว่าเมื่อลบล้างคำพิพากษาแล้ว ให้กลับไปเริ่มกระบวนการพิจารณาใหม่ ด้วยระบบปกติที่ใช้กับประชาชนคนอื่นๆ ข้อเสนอนิติราษฎร์เป็นการรักษาหลักการเรื่องความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย อันเป็นหลักการพื้นฐานของระบบนิติรัฐนั่นเอง

แม้ข้อเสนอของนิติราษฎร์จะเอาไปให้ประชาชนลงประชามติ แต่ประชามิตของประชาชนไม่ได้เด็ดขาดเสมอไป ตุลาการยังมีอำนาจชี้ขาดประชามตินั้นได้  ตัวอย่างเช่น คดี Perry V.Schwarzenegger (2010) ศาลสูงสหรัฐอเมริกาพิพากษาให้ผลการออกเสียงประชามติในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 2008 ที่ประชาชนเสียงขางมากในมลรัฐลงมติให้บัญญัติในรัฐธรรมนูญของมลรัฐว่าการสมรสจะทำได้เฉพาะหญิงกับชายเท่านั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
วรเจตน์: คนถามจะถามแบบนี้เพื่อบอกว่าประชามติไม่ได้ใหญ่สุด เพราะศาลจัดการได้อยู่ดี เพราะประชาชนอาจจะหลงผิด  ผมทราบว่าคำถามแบบนี้เป็นที่ฮือฮามากในเฟซบุ๊ค นิติราษฎร์เจอคำถามแบบนี้คงไปไม่เป็น

ผมตอบว่า บางอย่างมันดูดีแต่ซ่อนความมั่วอยู่ข้างใน ความมั่วของคำถามนี้คือการยกคดีที่เกิดขึ้นในอเมริกาเรื่องนี้ซึ่งยังไม่เป็นคำพิพากษาสูงสุดของอเมริกา เป็นการให้ข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง และตัวอย่างที่มีการยกมาว่าศาลใช้อำนาจตุลาการชี้ว่าการออกเสียงประชามติขัดต่อกฎหมาย ต้องไปดูรายละเอียดของคดีที่ยกตัวอย่างมา คือ ในอเมริกาเขาปกครองระบอบสหพันธรัฐ ซึ่งเป็นคนละระบบกับบ้านเรา (บ้านเราเป็นรัฐเดี่ยว) ระบบกฎหมายแบบนั้น แต่ละมลรัฐจะตกอยู่ใต้กฎหมายสหพันธรัฐ การที่ศาลบอกว่าประชามติไม่ชอบ เป็นการกระทำระดับมลรัฐ แล้วศาลบอกว่ามันขัดกับกฎหมายที่สูงกว่า คือกฎหมายของสหพันธรัฐ

อีกอย่าง การที่ผู้พิพากษาจะตัดสินเรื่องการลงประชามตินั้นทำได้เพราะในระบบนั้นศาลเขามาจากประชาชน เวลาเปรียบเทียบต้องดูด้วยว่าบ้านเราผู้พิพากษามาจากไหน มีจุดเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกับประชาชนทางไหน

รัฐธรรมนูญ 2549 ได้ถูกยกเลิกแล้ว จะถูกยกเลิกซ้ำได้หรือไม่
วรเจตน์: นักกฎหมายบ้านเรามีความช่ำชองและเชี่ยวชาญมาก จากรุ่นสู่รุ่น มีการสั่งสมประสบการณ์ในการทำกฎหมายไม่ให้เอาผิดกับคนที่เอาปืนเอารถถังมาปล้นอำนาจประชาชน และพัฒนาทักษะมากขึ้นเป็นลำดับ จนถึงขีดสูงสุดในการรัฐประหาร 2549

เทคนิคในทางกฎหมาย เมื่อยึดอำนาจได้เรียบร้อย ก็มีการจัดทำรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้นมา เรียกว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราว  พ.ศ.2549 ซึ่งมีมาตรา 36 ให้นิรโทษกรรมผู้ยึดอำนาจ และมาตรา 37 ให้บอกว่าการกระทำที่ผิดกฎหมายให้ถือว่าไม่ผิด พ้นความรับผิดโดยสิ้นเชิง

รัฐธรรมนูญสองมาตรานี้ใช้ไปเรื่อยๆ จนมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ซึ่งมีมาตรา 309 เป็นมาตราสุดท้ายที่บอกว่าการกระทำใดๆ ที่กระทำขึ้นและรับรองในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2549 นั้นชอบด้วยกฎหมาย พูดง่ายๆ คือ มาตรา 309 บัญญัติรับรองการกระทำให้ถูกต้องไปตลอดกาล ซึ่งหากเขาทำได้เขาคงเขียนว่าการกระทำของ คปค. นั้นให้ชอบด้วยกฎหมายทั้งภพนี้และภพหน้า

เทคนิคทางกฎหมายแบบนี้ต้องลบล้างด้วยความถูกต้อง ถ้าการกระทำอันเป็นการนิรโทษกรรมเป็นสิ่งที่ผิดเพราะเป็นการลบล้างความผิดให้คนผิด มันต้องมีการกระทำที่ถูกต้องไปลบล้างมันได้ ดังนั้นเราจึงเสนอให้ประกาศความเสียเปล่าของมาตรา 36-37 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2549 เสีย

คนที่ตั้งคำถามคือบอกว่านิติราษฎร์เพี้ยนไปแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญดังกล่าวยกเลิกไปแล้ว ปัญหาคือ แม้เราจะยกเลิกมาตรา 309 ได้ เขาก็จะบอกว่าการกระทำนิรโทษกรรมนั้นเสร็จสิ้นไปแล้วตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2549 แต่แบบนี้ตบตาเราไม่ได้หรอก

เราไม่ยกเลิกรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2549 หรอก แต่เราจะใช้อำนาจไปประกาศว่าบทบัญญัติมาตรา 36-37 นั้นถือว่าเสียเปล่า ไม่มีผลทางกฎหมาย เราก็พุ่งตรงไปทำลายกล่องดวงใจคณะรัฐประหารเสีย ผลของมันคือ ไม่เคยมีการนิรโทษกรรม ดังนั้นบทบัญญัติมาตร 309 ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันก็ไม่มีผลอะไร เพราะเท่ากับไม่เคยมีการนิรโทษกรรม ดังนั้นการรัฐประหารที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ก็ยังมีอยู่ และผู้กระทำการนั้นแม้วันนี้จะไปเป็นประธาน กมธ.ปรองดองอะไรก็ตาม ก็ต้องมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะบทบัญญัติที่คุ้มครองท่านนั้นถูกทำลายลงแล้ว

ขอย้ำว่าเขียนกฎหมายแบบนี้ตบตาเราไม่ได้หรอก

ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เหตุใดนิติราษฎร์เสนอให้หยิบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรกมาเป็นต้นแบบ
ฐาปนันนท์: ถ้าจะให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยฝังรากลึกในแผ่นดินไทย ก็ต้องย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ที่ผู้นำคณะราษฎร์ประกาศในรัฐธรรมนูญ ฉบับแรก มาตรา 1 ว่าอำนาจสูงสุดนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย การย้อนกลับไปสู่อุดมการณ์นี้จะทำให้เราเห็นคุณค่าของการที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง จะเป็นแนวทางที่ทำให้บ้านเมืองเดินไปอย่างถูกต้อง

จากนั้นการรัฐประหาร ปี 2490 ได้เป็นจุดเริ่มต้นวงจรอุบาทว์และทำลายอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ฝังอยู่ในรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรก วงจรอุบาทว์ที่เริ่มจากการรัฐประหาร 2490 มาถึงการรัฐประหาร 2549

ตอบง่ายๆ คือ เพื่อทำอุดมการณ์ในรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรก (ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489 และอาจนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็นแนวทาง -ประชาไทสรุปเพิ่มเติมจากเอกสารการสัมมนา) กลับมาสู่ปัจจุบันเป็นความพยายามนำระบอบการเมืองการปกครองปัจจุบันกลับไปเชื่อมโยงอุดมการณ์ประชาธิปไตยของคณะราษฎร และประเด็นนี้ยิ่งสำคัญมากขึ้นอีก เพราะปีนี้เป็นครอบรอบ 80 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยจาก 2475 เป็นต้นมา จะช่วยเป็นพื้นฐานเป็นแนวทางเป็นคบไฟให้เราได้เดินต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ซึ่งประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

ถามแบบเปิดอก ที่เสนอให้ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 2549 ทำเพื่อทักษิณหรือเปล่า
ฐาปนันท์: ฟังคำถามแล้วเกิดความคิดและความรู้สึก หนึ่งคือของขึ้น และสองคือเสียดายถ้าคนถามเป็นนักกฎหมาย เพราะท่ามกลางการแย่งชิงอำนาจ นักกฎหมายนั้นคืผู้ที่ต้องมองและชี้ให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าอะไรคือกติกาสังคมที่ทุกคนต้องยอมรัย ในท่ามกลางการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองต้องมีกติกาเหมือนกัน สิ่งที่เป็นข้อกล่าวหาพวกเราว่าเราสนับสนุนทักษิณ ทำเพื่อทักษิณ พวกเราพูดถึงทักษิณมากมายขนาดนั้นเลยหรือ ที่เราพูดทุกวันคือหลักการของบ้านเมือง ประชาธิปไตย นิติรัฐ และผมอยากถามกลับไปเหมือนกันว่าคุณเป็นนักฎหมายแล้วคุณไม่ได้เรียนสิ่งนั้นมาเลยนหรือ ถ้าเป็นนักฎหมายแล้วคุณไม่เห็นความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของบ้านมืองนั้น ผมว่าคืนปริญญาบัตรไปดีกว่า คุณทักษิณนั้เนป็นเรื่องเล็กน้อยมาก พวกเรานี่แหละที่จะจัดการกับคุณทักษิณเอง แต่ไม่ใช่ว่ามีหนูตัวเดียวแล้วเผาบ้าน

พวกเราชัดเจนว่า คุณทักษิณนั้นเป็นนายกฯ ได้ ถ้าประชาชนยินยอม อายุ 80-90 ปี ก็ไปแล้ว แต่ระบบต้องอยู่ นิติรัฐต้องอยู่ นี่คือสิ่งที่นิติราษฎร์ทำ 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Road to deep-South Resolution เมื่อนโยบายความมั่นคงเปิดทางเจรจา

Posted: 21 Jan 2012 05:56 PM PST

รายงานเวทีเสวนายุทธศาสตร์รัฐดับไฟใต้ปี 2554 – 57 สมช.ร่างนโยบายความมั่นคงฉบับใหม่ หนุนกระจายอำนาจปรับโครงสร้างการปกครอง พร้อมเปิดทางเจรจาเพื่อสันติภาพ เผย 6 ยุทธศาตร์ศอ.บต. เน้นสร้างคนพื้นที่จัดการปัญหาของตัวเอง

คงมีไม่กี่เวทีสาธารณะที่เปิดเผยแนวทางหรือทิศทางการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเสมือนลายแทงดับไฟใต้ ที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้ หนึ่งในนั้นคือเวทีสัมมนา เรื่อง ยุทธศาสตร์ของภาครัฐปี 2554-2557 เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Road to deep-South Resolution : Government Concerns and Policy Responses 2011 - 2014)

เป็นเวทีที่จัดขึ้น เมื่อช่วงค่ำวันที่ 11 มกราคม 2555 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับ British Embassy Bangkok   European  Union (European Regional Development fund)  Konrad Adenauer Stiftung จัดขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งไทยและเทศกว่า 100 คน

เป็นเวทีที่ ผู้มีส่วนชี้อนาคตชายแดนใต้ได้มานั่งร่วมกัน เริ่มจากนายดนัย มู่สา จาก สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน จากพรรคเพื่อไทย และพล.ต.อัคร ทิพย์โรจน์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เนื้อหาเป็นอย่างไร อ่านได้ดังนี้

.................................................

 


ดนัย มู่สา 
ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ



ผศ.ปิยะ กิจถาวร 
รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ 



พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน 
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย 



พล.ต.อัคร ทิพย์โรจน์ 
รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า

 

ดนัย มู่สา 
ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กำลังร่างนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ค.ศ.2012 - 2014 ซึ่งพรุ่งนี้จะนำร่างนโยบายฉบับนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายของสภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณา ผมนำมาพูดก่อน เพราะยังมีโอกาสปรับปรุงแก้ไขได้อีก

ทุกท่านมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขและสถาปนาสันติภาพที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมจึงนำร่างนโยบายนี้มาแลกเปลี่ยน ทั้งประสบการณ์ ข้อมูล องค์ความรู้ ความคิดเห็น ที่นำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

ร่างนโยบายนี้ เป็นเรื่องอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า แต่การมองอนาคตนั้นจำเป็นต้องย้อยอดีต

การจัดทำนโยบายนี้ อยู่ภายใต้กรอบพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 โดยตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหน่วยงานจัดทำนโยบาย 3 ปี ต่างจากที่ผ่านมา ที่เป็นนโยบาย 5 ปี

เหตุที่กำหนด 3 ปี เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็วมากและมีบริบทที่ซับซ้อนขึ้น

ใน 3 ปีนี้ หากประเมินว่า นโยบายที่กำหนดไว้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ก็สามารถทำนโยบายใหม่ก่อนถึง 3 ปีได้ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรี

ส่วนเนื้อหาของนโยบายฉบับนี้ กำหนดให้ครอบคลุมทั้งนโยบายด้านการพัฒนาและด้านความมั่นคง โดยครอบคลุมยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 6 ด้านของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.4.สน.) และยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เมื่อมีการออกนโยบายฉบับนี้ไปแล้ว จะเห็นได้ว่า ต้องทำอะไรบ้าง

นโยบายความมั่นคงทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

ประเด็นต่อมา สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้ความสำคัญสูงสุดในเรื่องกระบวนการทำนโยบายสาธารณะ ที่จะต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนรวม โดยพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 กำหนดให้สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สภาที่ปรึกษาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีสมาชิกมาจากทุกภาคส่วนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 49 คน เป็นผู้ให้ความเห็น มาจัดทำหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ต้องปรับยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับนโยบายฉบับนี้ ซึ่งในความเป็นจริงก็อยู่ในทิศทางเดียวกันแล้ว 

ส่วนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ต้องนำนโยบายนี้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

จะเห็นได้ว่าสถานะของนโยบายนี้ จะเป็นตัวเชื่อมทั้งหมด หากเป็นตัวเชื่อมก็จำเป็นต้องมองในภาพรวมให้ได้ ต้องมองปัญหาให้ชัด ที่มาของการจัดทำนโยบายจึงต้องทำหลายเรื่อง  เพื่อสะท้อนการมีส่วนร่วม เช่น ต้องประเมินผลการแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐในอดีต และผลการดำเนินนโยบายที่ผ่านมา

ต้องประเมินว่า นโยบายที่ใช้อยู่ปัจจุบันคือ นโยบายเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 206/2549 เป็นอย่างไรบ้าง ควบคู่กับการทำวิจัย เพื่อให้มีงานวิชาการรองรับ

การร่างนโยบายฉบับใหม่ มีการจัดประชุมกลุ่มเฉพาะ (Focus Group) กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ

ที่สำคัญนำข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตาม เร่งรัด ประเมินผลการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา รวมทั้งข้อเสนอของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) มาศึกษาด้วย 

มีการประชุมกับหน่วยข่าวกรอง ที่ประเมินว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น มีการประชุมเฉพาะกลุ่มนักวิชาการ เราไปแม้กระทั่งที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ประชุมกลุ่มย่อยกับนักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และในอีกหลายพื้นที่

เราประชุมเฉพาะกลุ่มกับนักวิชาการส่วนกลาง สถาบันพระปกเกล้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีการรับฟังความเห็นของพี่น้องมุสลิมที่อยู่ต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะคนไทยมุสลิมที่อยู่ในประเทศ ซาอุดีอาระเบียและมาเลเซีย

มีการใช้กระบวนการวิจัยภาคประชาชนเป็นการเฉพาะ จัดเวทีรับฟังทุกภาคส่วน ทั้งสตรีและเยาวชน

หลังจากนั้น เข้าสู่กระบวนการจัดทำนโยบาย โดยนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำร่างนโยบาย ร่างเสร็จแล้ว จึงเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายสภาความมั่นคงแห่งชาติ หลังจากนั้นจึงจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีก 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 

ทำไมต้องจัดเวที 2 ครั้ง เพราะต้องนำร่างนโยบายที่ได้ให้สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้พิจารณา

สุดท้ายคัดเลือกคนที่ผ่านกระบวนการจัดเวทีรับฟังความเห็นทั้งหมด มาพิจารณาร่างนโยบายที่ได้ว่า เป็นอย่างไร เป็นเวทีของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมาพิจารณาร่างนโยบาย มีขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2554

หลังจากนั้นนำร่างนโยบายที่ได้ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในวันที่ 12 มกราคม 2555 เมื่อผ่านความเห็นชอบแล้ว สภาความมั่นแห่งชาติก็จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 กำหนดให้นำนโยบายนี้ไปรายงานให้ประชุมรัฐสภาทราบ ก่อนที่จะให้หน่วยงานต่างๆ รับไปดำเนินการตามกรอบนโยบายที่กำหนดไว้

นี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นนโยบายเฉพาะและเป็นนโยบายความมั่นคงฉบับแรกที่ต้องรายงานให้รัฐสภาทราบ

นโยบายความมั่นคงหนุนกระจายอำนาจ

การกำหนดโครงสร้างนโยบาย พิจารณาจากสถานการณ์ในภาพรวม มุมมองต่อสถานการณ์ เงื่อนไขความรุนแรงและกรอบแนวคิด รวมทั้งวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาในอีก 3 ปี

การร่างนโยบายฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ 9 ข้อ และมีนโยบาย 3 - 4 ข้อ ตามด้วยปัจจัยแห่งความสำเร็จ

การร่างนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีองค์ความรู้ ความคิดเห็นเยอะมาก อันไหนคือปัญหาที่แท้จริง เราต้องมาพูดกัน 

เรามองว่า สถานการณ์มีการเคลื่อนตัวเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายรัฐ

หมายความว่า เมื่อการดำเนินนโยบายมาถูกทางและมีประสิทธิภาพ สามารถลดความรุนแรงลงได้ แต่หากไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาเพิ่มขึ้น เชื่อมโยงกับปัจจัยแทรกซ้อนทั้งจากในและนอกพื้นที่

รากเหง้าของปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาจากเงื่อนไข 3 ชั้น ซึ่งเอื้อและพัฒนาไปด้วยกัน

ชั้นที่ 1 เงื่อนไขระดับบุคคล มาจาก 4 ส่วนสำคัญ คือ ขบวนการก่อความไม่สงบ กลุ่มอิทธิพลอำนาจมืด ภัยแทรกซ้อน อารมณ์ความแค้น ความเกลียดชังส่วนตัว และเจ้าหน้าของรัฐบางส่วนที่สร้างเงื่อนไขความรุนแรง

ชั้นที่ 2 เงื่อนไขระดับโครงสร้าง มีความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเลือกจากการปฏิบัติจากโครงสร้างอำนาจจากส่วนกลาง

ชั้นที่ 3 ซึ่งลึกที่สุด คือ เงื่อนไขระดับวัฒนธรรม มีความรู้สึกแปลกแยก ไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ว่าในเชิงศาสนา ประวัติศาสตร์และชาติพันธ์ เป็นรากเหง้าที่ผสมหรือซ้อนทับกันอยู่

หากแก้เงื่อนไขในระดับบุคคลได้ แต่เงื่อนไขระดับวัฒนธรรมยังมีอยู่ ปัญหาก็ไม่จบ และหากระดับโครงสร้างยังไม่รองรับ ปัญหาก็ไม่จบด้วยเช่นกัน

เมื่อนโยบายมองอย่างนี้ แนวคิดการแก้ปัญหาในอีก 3 ปีข้างหน้า จึงต้องอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมจากทุกส่วนอย่างแท้จริง ภายใต้ยุทธศาสตร์ปรัชญา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และเศรษฐกิจพอเพียง

เป็นการเปิดพื้นที่เพื่อร่วมกันแปรเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ ที่ผ่านมาเราต่อสู้เพื่อเอาชนะตัวบุคคล ด้วยความคิดความเชื่อ เราจึงต้องการแปรเปลี่ยนมาเป็นการต่อสู้ด้วยสันติวิธี สร้างสมดุลทางโครงสร้างอำนาจการปกครองระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่ ภายใต้ความหลากหลายของสังคมและภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญของไทย การเคารพสิทธิมนุษยชน หลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม ให้เกียรติอัตลักษณ์ และระมัดระวังผลกระทบระดับสากล

มีการรับรู้ร่วมกันว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องร่วมกันแก้ไข การดำเนินนโยบายที่ประสานสอดคล้องและส่งเสริมในทุกมิติอย่างสมดุล นี่เป็นกรอบวิธีคิดในการกำหนดนโยบาย

ปรับโครงสร้างการปกครองชายแดนใต้

สำหรับวิสัยทัศน์ในอีก 3 ปีข้างหน้า มุ่งให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย ปราศจากเงื่อนไขของความรุนแรง มีสภาพแวดล้อมที่พร้อมและต่อการเอื้อต่อการหาทางออกของความขัดแย้ง ทุกภาคส่วนมีความเข้าไว้วางใจ และมีส่วนร่วมในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพร่วมกัน 

เพราะฉะนั้นผมพูดได้อย่างตรงไปตรงมา ว่านโยบายนี้จะพูดเรื่องการปรับโครงสร้างอำนาจ การพูดคุยเพื่อสันติภาพ ซึ่งต่างจากนโยบายที่ผ่านมา

ส่วนวัตถุประสงค์ของนโยบายฉบับนี้ ประกอบด้วย การเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ทุกคนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข

การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เอื้อต่อการพูดคุยเพื่อหาทางออกของความขัดแย้ง และเป็นหลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพ อันนี้มุ่งไปที่การขจัดเงื่อนไขความรุนแรงระดับบุคคล

ดำรงนโยบายการเมืองนำการทหาร ปรับเปลี่ยนวิธีคิดของทุกฝ่ายจากการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหามาสู่การยึดมันในกระบวนการสันติวิธี

เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติข่าวเชิงรุก พัฒนาระบบการรักษาความปลอดภัยชุมชน เร่งขจัดปราบปรามกลุ่มอำนาจอิทธิพลเถื่อน เพื่อขจัดปัญหาความรุนแรงที่แทรกซ้อน

พูดคุยเพื่อสันติภาพ เปิดทางเจรจา

สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุยเพื่อสันติภาพ (Peace dialogue) ส่งเสริมการพูดคุยระหว่างกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องหลักการและรูปแบบการกระจายอำนาจ ที่เหมาะสมบนพื้นฐานพหุวัฒนธรรมสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นหลักสากลที่มีการยอมรับ ไม่ใช่เป็นเงื่อนไขในการแบ่งแยกดินแดน

ส่งเสริมความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ กับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันนี้เป็นกรอบทิศทางกับสัญญาณต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้

จัดการฐานทรัพยากรให้สมดุล

ส่วนนโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหน้าที่ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสริมสร้างความเข้าใจและฟื้นคืนความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน ทำให้สังคมภายนอกประเทศให้การสนับสนุน และมีบทบาทเพื่อเกื้อกูลในการแก้ปัญหา

บริหารจัดการแก้ไขนโยบายตามหลักธรรมาภิบาล มีเอกภาพและมีการบูรณาการ

ขจัดเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความรุนแรง

การขจัดเงื่อนไขระดับโครงสร้าง อันแรกคือ พัฒนาเสริมสร้างเศรษฐกิจระดับพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารฐานทรัพยากรธรรมชาติให้มีความสมดุล ระหว่างการใช้กับการรักษาอย่างยังยืน

ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เร่งรัดขับเคลื่อนพัฒนาระบบกระบวนการศึกษาในทุกระดับ ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ วิถีชีวิต ประเพณีของพื้นที่อย่างแท้จริง

ส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน ให้สามารถรองรับบุคคลกรในพื้นที่ ซึ่ง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ทำไปเยอะแล้ว

ขจัดเงื่อนไขที่หล่อเลี้ยงความรุนแรง โดยส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐมีความรู้ ความเข้าใจศาสนา อัตลักษณ์ วิถีชีวิตอย่างแท้จริง เร่งรัดกระบวนการค้นหาความจริงในทุกเหตุการณ์ที่กังขาของประชาชนและต่างประเทศให้ปรากฏ

ฟื้นความไว้วางใจ สร้างความเชื่อมันในกระบวนการยุติธรรม ความโปร่งใส ความเชื่อมันในกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม หลักสิทธิมนุษยชน ปรับปรุงระบบกระบวนการเยียวยา

ส่วนเรื่องต่างประเทศ เพิ่มระดับการปฏิสัมพันธ์และส่งเสริมการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหากับต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศเพื่อให้สนับสนุนการแก้ปัญหา

ส่งเสริมการสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อมโยงกับการติดต่อกับประชาชนในพื้นที่กับสังคมมุสลิมภายนอกประเทศ

บริหารจัดการให้การดำเนินนโยบายการแก้ปัญหาของรัฐมีประสิทธิภาพ สร้างความเข้าใจกับหน่วยงานของรัฐและข้าราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรง

สร้างจิตสำนึกต่อข้าราชการทุกฝ่ายในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ส่งเสริมภาคีเครือข่ายสนับสนุนนโยบาย จัดกลไกและระบบจัดการนโยบายที่สอดคล้องและส่งเสริมทุกมิติอย่างประสิทธิภาพและครบวงจร

ส่งเสริมการเรียนรู้ท่ามกลางความหลากหลาย

สุดท้ายที่เป็นเงื่อนไขระดับวัฒนธรรม มี 2 เรื่อง คือ ส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างความตระหนักในคุณค่าการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายวิถีชีวิต วัฒนธรรม

เสริมสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับสังคมไทยเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เป็นจริง ตระหนักถึงความรักผิดชอบร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียนรู้ ตระหนักให้ดำเนินวิถีชีวิตตามหลักศาสนาทุกศาสนาโดยไม่มีอุปสรรค

สร้างเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดูแล  ปกป้อง ทุกวิถีชีวิต ทุกทุกศาสนา ทุกวัฒนธรรม

เสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่มบุคคลที่แตกต่างให้เกิดการยอมรับ ในการอยู่ร่วม ทั้งกลางความแตกต่างและหลากหลาย

ส่งเสริมการเรียนรู้ ภาษามลายู ภาษาไทย ทุกระดับการศึกษา และ ภาษาอื่นๆ

ส่งเสริมบทบาทของผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน เด็ก สตรี เยาวชน

ส่งเสริมคุณค่าและการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายในพื้นที่

สำหรับสังคมไทย เสริมสร้างความเข้าใจแก่สังคมไทยและผู้ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

เสริมสร้างช่องทางการสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจของสถานการณ์ที่เป็นจริงต่อสาธารณชน โดยใช้งานข่าวสารและงานมวลชนสัมพันธ์ ผ่านสื่อรัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา ตลอดจนเวทีสาธารณะ แล้วเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนของไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ปิดท้ายด้วยปัจจัยของความสำเร็จ คือ นโยบายนี้จะประสบความสำเร็จได้ต้องมีความมุ่งมั่นในการจัดการกลไกและระบบที่มีประสิทธิภาพ มีเครือข่ายสนับสนุนตามนโยบาย มีการส่งสัญญาณจากรัฐบาลอย่างจริงจังชัดเจนอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 

มีการเปิดพื้นที่และช่องทางในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในปรัชญาความคิดและสาระสำคัญที่เป็นหัวใจหลักของนโยบาย มีงานทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหา 

ที่พูดมาทั้งหมดเป็นกรอบทิศทางของนโยบายที่นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีอีก 6 – 8 คน เป็นกรรมการ

ให้ กอ.รมน. ประเมิน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เรื่องพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ผมเข้าใจว่า จะมีการต่ออายุอีกครั้งในวันที่ 29 มีนาคม 2555 ซึ่งจะเป็นครั้งที่ 26 

ท้ายสุดของมติคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด บอกว่า การต่อพระราชกำหนดฯครั้งต่อไป ต้องประเมินผลอย่างเข้มข้น โดยใช้ข้อมูลของภาคประชาชนและภาคประชาชนสังคมมาร่วมด้วย โดยมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้ดำเนินการ ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน 

ผมมองจากกรอบนโยบายว่า เวลาที่เราเจอปัญหาความรุนแรงที่ใหญ่ ต่อเนื่องและซับซ้อนมากขนาดนี้ เราต้องการพลังร่วมกัน ลำพังภาครัฐอย่างเดียว ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ ถ้าปราศจากการให้ร่วมมือของภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม

ที่สำคัญคือ เราประเมินพบข้อดีในความรุนแรงว่า 2 – 3 ปี ที่ผ่านมาว่า บางเรื่องหากพูดก่อนหน้านี้เป็นเรื่องที่อันตราย เช่น Peace Dialogue, Peace Process และเขตปกครองพิเศษ ในขณะที่ปัจจุบันมีการพูดคุยอย่างกว้างขวาง ในนโยบายก็เขียนอย่างชัดเจนว่า จะต้องเปิดพื้นที่พูดคุยอย่างปลอดภัยในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งแน่นอนในทางปฏิบัติก็ต้องไปดำเนินการต่อไป

เรื่องที่ 2 บทบาทของภาคประชาสังคมมีน้ำหนักสูงมากต่อการนำไปสู่การสนับสนุนการแก้ไขปัญหา

ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมมักถูกจับตา แต่ปัจจุบันไม่ใช่ แต่สามารถขับเคลื่อนไปทางที่ดีขึ้น สภาประชาสังคมชายแดนภาคใต้มียุทธศาสตร์หรือไม่ว่าจะแก้ปัญหาร่วมกับภาครัฐ เพราะภาครัฐมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะทำงานร่วมกัน แต่ไม่ใช่มาเป็นเครื่องมือให้รัฐ

 

ผศ.ปิยะ กิจถาวร
รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

ยุทธศาสตร์ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีดังนี้

ประการที่ 1 ทำอย่างไรที่จะทำให้หล่อหลอมความคิด ความเข้าใจของข้าราชการ ซึ่งขณะนี้มี 17,000 คน อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งหมด ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงข้าราชการที่มาจากส่วนกลาง

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้มีภารกิจในการดูแล หล่อหลอมข้าราชการฝ่ายพลเรือนให้เข้าใจ และยอมรับนำนโยบายของรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติได้อย่างไร จะทำอย่างไรให้หน่วยงานต่างๆส่งคนดี คนที่มีความสามารถมา และจะปรับเปลี่ยนทักนคติมุมมองได้อย่างไร

ประการที่ 2 ด้วยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2553 เปิดช่องไว้ว่า เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะด้านพลเรือนหรือการพัฒนา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีดำริในการจัดให้มีเขตพิเศษด้านการศึกษา เพราะตระหนักว่า วันหนึ่งความขัดแย้งต้องยุติลงแน่นอน แต่อนาคตข้างหน้า ต้องฝากไว้กับเด็กเยาวชน ที่จะมาสืบทอดการดูแลบ้านเมืองต่อไป

สิ่งสำคัญที่สุด คือการจัดการศึกษาให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับพี่น้องในท้องถิ่น แต่สิ่งที่ละเลยไม่ได้ คือต้องมีคุณภาพ ทั้งสามัญศึกษา อิสลามศึกษา หรือด้านภาษา เช่น ภาษามลายูกลาง ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ เป็นต้น เพื่อเตรียมก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า

ประการที่ 3 เราจะร่วมมือกับทุกฝ่ายในการเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เพื่อการสร้างงาน กระจายรายได้ แก้ปัญหาความยากจน 

ในส่วนนี้เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้หารือกับแม่ทัพภาคที่ 4 เห็นตรงกันว่า พื้นที่สีเขียวทางกองทัพก็จะส่งมองให้ฝ่ายพลเรือน เข้าไปเร่งระดมพัฒนา อาจนำทหารช่างมาช่วยเหลือ เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับหมู่บ้านให้ได้

ประการที่ 4 การอำนวยการความเป็นธรรม การช่วยเหลือเยียวยา ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ประการที่ 5 เราตระหนักดีว่า จากการสำรวจทางวิชาการ พบว่า ใน 26 กลุ่มอาชีพ ผลการสำรวจชี้ชัดว่า กลุ่มที่ประชาชนเชื่อและศรัทธาสูงสุด คือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด คือผู้นำทางจิตวิญญาณ 

ดังนั้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำอย่างไรที่จะสนับสนุนให้องค์กรเหล่านี้สามารถทำหน้าที่ได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างเต็มศักยภาพ เช่น การพัฒนาศักยภาพของโต๊ะอิหม่ามในเรื่องความรู้ บทบาทหน้าที่ การปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีของสับบุรุษในท้องถิ่น

จะทำอย่างไรให้ผู้นำศาสนา คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้ทำหน้าที่  เช่น การจัดอบรมก่อนแต่งงาน โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้จะช่วยเรื่องการเพิ่มความรู้ทางสาธารณสุขแก่ผู้เข้าอบรม เนื่องจากเราพบอัตราการตายของแม่และเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 80 ต่อหนึ่งแสนคน สูงที่สุดในประเทศไทย ขณะที่อัตราเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ 18 ต่อหนึ่งแสนคน

เราพยายามจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะตระหนักดีว่า ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น อาจเป็นส่วนหนึ่งของความล้มเหลวของสถาบันครอบครัว เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรที่ดึงศักยภาพของผู้ศาสนามาช่วยในเรื่องนี้  เพื่อที่จะทำให้สถาบันครอบครัวเข้มแข็งตั้งแต่เริ่มต้นจับคู่แต่งงานของหนุ่มสาวในพื้นที่ ร่วมทั้งเข้าพัฒนาโรงเรียนตาดีกา  สถาบันการศึกษาปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

โรงเรียนตาดีกาถูกกล่าวหามาตลอดว่า เป็นแหล่งบ่มเพาะอุดมการณ์ต่อต้านรัฐ ยืนยันว่ามีจริง แต่มันใจว่าเป็นส่วนน้อยเท่านั้น ทำอย่างไรที่เราจะไปดูแลให้พื้นที่เหล่านี้ได้รับการพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ เพราะโรงเรียนตาดีกา เป็นสถานที่วางรากฐานแก่เด็กที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม

ประการที่ 6 เราจะส่งเสริมกิจการฮัจญ์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้จะร่วมมือกับกระทรวง ทบวน กรม ปรับปรุงพัฒนาเรื่องกิจการฮัจญ์ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ให้ได้ไปประกอบพิธีอย่างมีเกียรติและได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ร่วมทั้งการสร้างสัมพันธ์กับโลกมุสลิม 

วิธีหนึ่งที่เรียกว่า Thailand over sea คือโครงการสอนภาษาไทยและวิชาสามัญแก่คนไทยที่อยู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะคนไทยที่อยู่ในประเทศตะวันออกกลาง เผื่อวันหนึ่งบุคคลเหล่านั้นจะกลับมาตูภูมิอย่างมีเกียรติและมีคุณภาพ และจะเป็นกำลังหลักของประเทศต่อไป

เป็นความพยายามที่จะต้องร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ร่วมทั้งการส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรามั่นใจว่า สุดท้ายแล้ว ประชาชนในพื้นที่ต้องเป็นผู้เข้ามาแบกรับภารกิจเหล่านี้ และแก้ปัญหาด้วยตัวของเขาเอง หน่วยงานต่างๆ คงไม่มีความสามารถที่จะดูแลพื้นที่ได้ตลอดไป ทำอย่างไรที่เราจะถ่ายโอนภารกิจเหล่านี้ให้กับประชาชนในพื้นที่ 

แนวคิดเรื่องการปกครองท้องถิ่นเต็มพื้นที่ เป็นวิธีคิดอย่างหนึ่ง หัวหอกในการเดินหน้าจะต้องเป็นภาคประชาชน ภาควิชาการ ซึ่งต้องมีการศึกษา ตรวจสอบอย่างมีคุณภาพ ก็จะเป็นหลักประกันที่ดีงามของประชาชนในอนาคตต่อไป

ส่วนการกระจายอำนาจ เป็นกระบวนการที่ต้องเกิดขึ้นและมีการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนอย่างต่อเนื่อง จริงๆการกระจายอำนาจมีอยู่แล้ว คือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) แต่ขณะนี้โจทย์ใหญ่ คือ ท้องถิ่นจะสนองความต้องการในวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างไร 

ตามความเข้าใจของผมคือ เป็นโจทย์ที่นำไปสู่การเรียกร้องขอดูแลหรือปกครองตนเองอย่างเต็มพื้นที่ ร่วมทั้งข้อเสนอที่เราควรพิจารณา คือข้อเสนอ 7 ของหะยีสุหลง ซึ่งยืนยันได้ว่า ขณะนี้ยังเป็นความต้องการของคนในพื้นทื่อยู่ เพียงแต่เราจะเปิดใจเข้าหากัน แล้วพิจารณาข้อเสนอในแต่ละข้ออย่างถี่ถ้วนและเป็นธรรม ก็เข้าใจว่ามันน่าจะคลี่คลายไปได้ 

เพราะข้อเสนอเหล่านี้นั้น หัวใจที่สำคัญ ก็คือ จะให้มีการปกครองดูแลตัวเอง เพื่อที่จะให้ตอบสนองต่อปัญหาพื้นฐานของประชาชนที่นั่น ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต อัตลักษณ์ วัฒนธรรม หรือ ให้คนมุสลิมในพื้นที่ได้ดูแลตัวเอง อย่างเหมาะสมได้อย่างไร แต่ต้องคำนึงถึงความเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของสังคมไทยในส่วนร่วมของประเทศด้วย

 

พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย 

พรรคเพื่อไทยกำลังพูดคุยเรื่องการปรับปรุงการปกครองท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะให้มีรูปแบบเหมือนกรุงเทพมหานคร มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง และสภาเหมือสภากรุงเทพมหานคร

สาระสำคัญ คือ ลดอำนาจของผู้ราชการจังหวัดลง และเพิ่มอำนาจให้แก่ท้องถิ่นมากขึ้น ให้ท้องถิ่นสามารถมีรายได้จากภาษีอากรมากขึ้น ทรัพยากรที่ท้องถิ่นมีอาจต้องแบ่งระหว่างรัฐบาลกับท้องถิ่น

รูปแบบการปกครองชายแดนใต้ ขณะนี้มี 2 แนวคิด คือ ให้รวมจังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลาและจังหวัดปัตตานีเป็นนครปัตตานี และแนวคิดที่จะให้แยกแต่ละจังหวัดตามเดิม แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งพรรคเพื่อไทยต้องมีคณะกรรมการศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ

เหตุไม่สงบตั้งแต่ วันที่ 4 มกราคม 2547 เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายรัฐบาล แต่ละรัฐบาลได้แต่งตั้งตำรวจ ทหาร พลเรือน เข้ามาแก้ไขปัญหา

ตั้งแต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มาถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เราคิดว่าเหตุการณ์ไม่สงบน่าจะลดลง หลังจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้สถาปนาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาใหม่ เพื่อแก้ปัญหาด้านพลเรือนหรือด้านการพัฒนา ส่วนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า รับผิดชอบด้านการทหาร แต่เหตุการณ์ก็ยังไม่ลดลง

ทุกรัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อจะให้เหตุการณ์สงบลง เริ่มจากรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และมีเสนอมาแล้ว

ท่านเคยพูดว่า ปัญหาที่เกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ที่จังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ที่แคว้นไอแลนด์เหนือประเทศสหราชอาณาจักร ประเทศเหล่านั้นมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร เราพยายามศึกษา

ในขณะเดียวกัน มีกลุ่มหนึ่งที่ศึกษาว่า พื้นที่ตรงนี้ให้มีการปกครองตนเองมากยิ่งขึ้น 

การปกครองตนเองในมุมมองของพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น คือ น่าจะปรับให้การปกครองท้องถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ ให้อำนาจแก่ท้องถิ่นในการปกครองตนเอง

ในด้านงบประมาณให้สามารถเก็บภาษีอากรได้บางส่วน รายได้จากทรัพยากรในพื้นที่ ให้พื้นที่ได้เข้ามาใช้ การรักษาความสงบเรียบร้อยในเรื่องที่ไม่ใช่ปัญหาระดับชาติ ก็พยายามให้ท้องถิ่นรับผิดชอบ รับผิดชอบว่าจะทำอย่างไรที่จะให้พื้นที่ซึ่งมีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่อยู่ร่วมกับคนที่นับถือศาสนาอื่นอย่างมีความสุข

ข้อสรุปต่อมา ผมและสภาผู้แทนราษฎร มีแนวความคิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร หรือเหตุการณ์ความขัดแย้งอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จะทำอย่างไรที่จะให้เกิดการปรองดอง ทำอย่างไรที่จะให้คนไทยหันหน้าเข้าหากัน แก้ปัญหาด้วยความสมัครใจของทั้ง 2 ฝ่าย

ขณะเดียวกันสภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ศึกษาปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร โดยอาศัยข้อมูลต่างจาก คอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ)

ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการชุดนี้ ยังได้พิจารณาปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งมายาวนาน มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก 

มอบภาระให้คณะกรรมาธิการชุดนี้ นำปัญหาของภาคใต้มาผนวกด้วย โดยตั้งคณะอนุกรรมาธิการเข้าไปศึกษาปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะว่า จะทำอย่างไรที่แก้ปัญหาได้โดยสันติวิธี  

 

พล.ต.อัคร ทิพย์โรจน์
รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า

ผมขอพูดแทนพล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ว่า ต่อไปนี้การควบคุมตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หากปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวหรือมีการดูหมิ่นเหยียดหยาม เจ้าหน้าที่คนนั้นต้องกลายมาเป็นจำเลยเสียเอง ด้วยประมวลกฎหมายอาญาฉบับเดียวกับที่ใช้ลงโทษผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารบกที่ไม่ต้องการให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการเหยียดหยามในความแตกต่างกัน

สำหรับการต่อหรือไม่ต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จะต้องให้มีการพิจารณากันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่กับประชาชน

พื้นที่ใดที่ยังคงต้องมีการต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ก็ขอให้ประชาชนในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนกฎอัยการศึกยังคงใช้ต่อไป

พล.ท.อุดมชัย สนับสนุนผู้เรียกร้องหรือต้องการปกครองตนเองด้วยสันติวิธี ยินดีเปิดเวทีเพื่อให้เกิดการพูดคุยกัน แต่ไม่ยินดีหากจะใช้วิธีการรุนแรงทำร้ายประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าไร้ความสามารถในการดูแลความสงบสุขของพี่น้องประชาชน เรายืนยันจะหน้าที่รักษาความสงบต่อไปภายใต้กรอบของกฎหมายต่อไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จำเลยคดีสุไลมาน แนซาไม่มา ศาลสั่งเลื่อนไกล่เกลี่ยค่าเสียหาย

Posted: 21 Jan 2012 05:39 PM PST

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 20 มกราคม 2555 ที่ห้องพิจารณาคดี 3 ศาลจังหวัดปัตตานี นัดไกล่เกลี่ย คดีแพ่ง กรณีนายสุไลมาน แนซา เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหารในค่ายอิงคยุทธ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โดยนายเจ๊ะแว แนซา กับ นางเมาะแอเชาะ แนซา พ่อแม่ของนายสุไลมานเป็นโจทก์ ยืนฟ้อง สำนักนายกรัฐมนตรี เลยที่ 1 กระทรวงกลาโหม จำเลยที่ 2 กองทัพบก จำเลยที่ 3 ความผิดฐานละเมิด โดยเรียกค่าเสียหายเป็นเงินประมาณ 2 ล้านบาท คดีหมายดำที่ พ.248/2554 

อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งเลื่อนการไกล่เกลี่ยไปเป็นวันที่ 9 เมษายน 2555 เนื่องจากไม่มีผู้แทนของฝ่ายจำเลยทั้ง 3 มาศาล

นายปรีดา นาคผิว ทนายมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทนายความโจทก์ เปิดเผยว่า วันนี้ศาลนัดมาไกล่เกลี่ยหรือชี้สองสถาน หากเจรจาไกล่เกลี่ยกันได้ คดีก็จบ หากไกล่เกลี่ยไม่ได้ศาลจะต้องมีการกำหนดประเด็นในการสืบพยานและกำหนดวันในการสืบพยานต่อไป

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งด้วยว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดยะลาได้นัดไต่สวนการตายนายอัสฮารี สะมะแอ ที่เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ โดยมีการสืบพยานฝ่ายผู้ร้องหรือฝ่ายพนักงานอัยการหนึ่งปาก คือเจ้าหน้าที่พยาบาลโรงพยาบาลศูนย์ยะลา ส่วนอีก 2 ปาก เป็นเจ้าหน้าที่ทหารสองนายไม่มาศาล ศาลจึงเลื่อนการพิจารณาคดีไปวันที่ 10 พฤษภาคม 2555 รวมทั้งมีการนัดหมายการสืบพยานเพิ่ม โดยขอให้ศาลแยกสำนวนส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 19 มีนาคม 2555 สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดเชียงใหม่

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งอีกว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 สหกรณ์ครูจังหวัดยะลาได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ของศาลจังหวัดยะลาที่มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.865/2554 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ให้สหกรณ์ครูจังหวัดยะลารับนายมะยาเต็ง มะรานอ ผู้สูญหายในจังหวัดยะลา กลับเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูยะลา และให้สหกรณ์ฯ ดำเนินการจ่ายเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืน และจ่ายเงินตามสิทธิในฐานะสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ผู้เสียชีวิต ร่วมทั้งจ่ายเงินเรือนหุ้นคืน 

ทั้งนี้ทางโจทก์ต้องชำระค่าหุ้นของนายมะยะเต็งเดือนละ 500 บาทตั่งแต่เดือนเดือน กรกฎาคม 2550 –กันยายน 2552 รวมเป็นเงินจำนวน 13,500 บาท สรุปสหกรณ์ออมทรัพย์ครูยะลามีหน้าที่ชำระเงินคืนทั้งสิ้นไม่เกินจำนวน 967,250 บาทแก่โจทก์ผู้ฟ้องซึ่งเป็นภรรยาและบุตรสองคนของนายมะยาเต็ง โดยมีกำหนดให้ทนายความของนายมะยาเต็ง ยื่นคำแก้อุทธรณ์ในวันที่ 25 มกราคม 2555

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังแจ้งต่อไปว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 ตัวแทนครอบครัวอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ได้เดินทางมารับเงินค่าชดเชยตามคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพจำนวน 5.2 ล้านบาทและได้มอบเงินจำนวน 100,000 บาทให้กับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เพื่อจัดเป็นกองทุนช่วยเหลือเหยื่อและผู้รอดพ้นจากการทรมาน 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เมื่อเค้าสงครามอิหร่านก่อตัว

Posted: 21 Jan 2012 05:27 PM PST

การเผชิญหน้าระหว่างอิหร่านกับสหรัฐและอิสราเอล ที่สืบเนื่องจากการลอบสังหาร นายมุสตาฟา อาห์มาดี-โรชาน นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชาวอิหร่าน ซึ่งเป็นรายที่สี่นับตั้งแต่มีการวางระเบิดสังหารรถยนต์สังหารนักวิทยาศาสตร์อิหร่านตั้งแต่ปี 2553 ทำให้มีความกังวลว่าจะนำไปสู่การทำสงครามระหว่างกัน
 
ความขัดแย้งนี้สืบเนื่องจากการพัฒนาโครงการโรงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของอิหร่านที่ Bushehr สหรัฐและอิสราเอลเชื่อว่าอิหร่านต้องการใช้สำหรับพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ต่อมาค้นพบโรงงานไฟฟ้าปรมาณูอีก 2 แห่งที่ Arak และ Natanz ทำให้มีข้อสงสัยมากขึ้น ด้านอิหร่านได้ลงนามในสนธิสัญญาป้องกันแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ (Nonproliferation Treaty) หรือ NPT ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาและยืนยันสิทธิของรัฐในจุดยืนที่ถูกต้อง ในการพัฒนาพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ รวมทั้งไม่มีหลักฐานว่าอิหร่าน ได้ละเมิดสนธิสัญญา NPT
 
โครงการโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์อิร่าน อาจจะเป้าหมายแฝงเร้นในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เหมือนที่ นอม ชอมสกี้ กล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยคำพูดของ Martin van Creveld นักประวัติศาสตร์การทหารอิสราเอลชั้นนำคนหนึ่งว่า หลังจากสหรัฐรุกรานอิรักแล้ว “ถ้าอิหร่านไม่พยายามสร้างอาวุธนิวเคลียร์ พวกเขาต้องเป็นพวกบ้าบอ” [1]
 
ในการทำความเข้าใจถึงการพัฒนาและความซับซ้อนของสถานการณ์นี้ จะเริ่มจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ Bushehr และอีกสองแห่งของอิหร่าน ที่รวบรวมโดย Mark Gaffney นักวิจัยและนักเคลื่อนไหวต่อต้านสงคราม

เตาปฏิกรณ์ที่ Bushehr

โรงงานไฟฟ้าปรมาณู Bushehr มีประวัติยาวนาน โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2517 โดยชาห์ เรซา ปาลาวี แผนงานดั้งเดิมเป็นการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ขนาด 1200 - 1300 เมกกะวัตต์ทางชายฝั่งทะเลทางใต้ ผู้รับเหมา คือ บริษัทซีเมนต์ ที่มีชื่อเสียงของเยอรมัน เมื่อเกิดการปฏิวัติอิหร่านในปี 2522 โครงการได้เสร็จสิ้นไปประมาณ 85% และโครงงานนี้ต้องหยุดชะงักจากการเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครองจากการปฏิวัติครั้งนี้ ต่อมาช่วงระหว่างสงครามกับอิรัก เตาปฏิกรณ์ที่สร้างไม่เสร็จนี้ ได้ถูกทิ้งระเบิดซ้ำและเสียหายอย่างรุนแรง หลังจากสงครามยุติอิหร่านพยายามเรียกบริษัทซีเมนต์ มาทำการก่อสร้างให้เสร็จสิ้น แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากสหรัฐเข้ามาขัดขวางและกดดันอย่างรุนแรงต่อรัฐบาลเยอรมัน

จนกระทั่งปี 2538 อิหร่านได้ลงนามสัญญามูลค่า 800 ล้านเหรียญกับ Minatom ของรัสเซียในการสร้างเตาปฏิกรณ์ - 1 และได้ทำงานที่โรงงานตั้งแต่นั้นมา โครงการพบปัญหาทางเทคนิคและล่าช้า วิศวกรรัสเซียถูกบังคับให้ ปรับปรุงการออกแบบเดิมของเยอรมัน แต่ปัญหาทั้งหมดได้ปรากฏออกมา เตาปฏิกรณ์ - 1 ได้ลดขนาดลงเล็กน้อยเป็น 1000 เมกกะวัตต์ และเสร็จสมบูรณ์ โดยจะสามารถเดินเครื่องได้ในเดือนธันวาคม 2546 เตาปฏิกรณ์ - 1 เป็นเพียงจุดเริ่มต้น อิหร่านมีแผนเพิ่มเตาปฏิกรณ์ขนาด 1000 เมกกะวัตต์อีก 5 ชุด อิหร่านได้รับเทคโนโลยีนิวเคลียร์จาก จีน รัสเซีย และชาติอื่นๆ อีกหลายชาติ แต่รัสเซียเป็นผู้ส่งมอบหลักตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990
 
รัสเซียต่อต้านความกดดันของสหรัฐที่ให้ยกเลิกโครงการ รัสเซียอ้างว่าต้องการเงินตราต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งของ Minatom อ้างว่า โครงการนี้สร้างงานให้ชาวรัสเซีย 20,000 คนตามสัญญาที่จะมีมากขึ้น รัสเซียมุ่งไปสู่การขยายความสัมพันธ์ด้านนิวเคลียร์และปฏิเสธคำเรียกร้องของสหรัฐ โดยรัสเซียจะให้ความเคารพอย่างชัดเจนกับการค้ากับอิหร่าน ในฐานะชาติที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี
 
รัสเซียปฏิเสธความต้องการของสหรัฐสำหรับการตรวจสอบพิเศษด้วย รัสเซียชี้ว่าเตาปฏิกรณ์จะได้รับการตรวจสอบ จากสำนักงานพลังงานปรมาณูนานาชาติ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) IAEA เยี่ยม Bushehr และสถานที่สงสัยอื่นหลังจากสงครามอ่าวครั้งแรก และล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2546 พร้อมกับรายงานว่าไม่มีการละเมิด แต่สหรัฐยังไม่ยอมรับ IAEA จึงต้องการตรวจสอบโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของอิหร่านเพิ่มเติม แต่อิหร่านปฏิเสธ

ขณะที่ รัสเซียเห็นด้วยกับการตัดวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ของข้อตกลงในการถ่ายทอดเทคโนโลยี gas centrifuge โดยใช้เตาปฏิกรณ์ light water ที่จะใช้เชื้อเพลิงยูเรเนียมเสริมสมรรถนะต่ำ (low enriched uranium) หรือ LEU ที่ส่งมอบโดยรัสเซีย เชื้อเพลิง LEU ไม่เหมาะสมกับการสร้างระเบิด รัสเซียมีอีกข้อเสนอ คือ ส่งคืนเตาปฏิกรณ์เดิมไปเก็บไว้ในรัสเซีย นี่จะเป็นการลดความเสี่ยงของแพร่กระจายพลูโตเนียม (Christine Kucia, “Russia, Iran Finalize Spent Fuel Agreement,” Arms Control Today, January/February 2003)

 
ตั้งแต่การรื้อฟื้นโครงการนี้ในปี 2538 อิหร่านต้องตอบโต้กับข้อสงสัยในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ประธานาธิบดีอิหร่าน อาลี อักบา ราฟซันจานี บอกกับสำนักข่าว ABC ว่าอิหร่านไม่ได้แสวงหาอาวุธนิวเคลียร์ ราฟซันจานีท้าทายผู้วิจารณ์ให้เสนอหลักฐานโครงการระเบิดลับ จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2545 ประธานาธิบดีอิหร่าน โมฮัมหมัด คาตามิ ระบุว่าประเทศของเขามีความมุ่งหวังในการเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิง ไปยังรัสเซียเพื่อแสดงความเชื่อมั่นที่ดี และแสดงว่าประเทศของเขาไม่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เจ้าหนาที่อิหร่านเน้นหนักว่า เตาปฏิกรณ์ Bushehr เป็นความจำเป็นเร่งด่วนในเสริมความขาดแคลนกำลังการผลิตไฟฟ้า อิหร่านเหมือนกับประเทศอื่น ที่ต้องการไฟฟ้าสำหรับการพัฒนา

อิสราเอลและสหรัฐไม่ได้ระงับโทสะ เจ้าหน้าที่อิสราเอลตั้งคำถามว่า ทำไมอิหร่าน ซึ่งมีน้ำมันอย่างเหลือเฟือ จึงต้องการเตาปฏิกรณ์ในการผลิตไฟฟ้า ถ้าพวกเขาเชื่อว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นคำตอบในระยะยาวสำหรับความจำเป็นของเขา พลังงานนิวเคลียร์ไม่มีความเหมาะสมกับอิหร่าน ด้วยเหตุผลเดียวกันว่า ไม่มีความเหมาะสมกับรัฐใดๆ รวมถึงสหรัฐ ทั้งนี้รวมถึงความเสี่ยงของอุบัติเหตุ และการก่อการร้าย ปัญหาการจำกัดกากนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม เชื้อเพลิงปรมาณูสามารถดัดแปลงสำหรับกระบวนการใหม่และการสร้างระเบิด อิหร่านจำเป็นต้องเข้าใจว่าความเบี่ยงเบนเช่นนี้จะนำไปสู่การคุกคาม

 
Arak และ Natanz

เมื่อเดือนสิงหาคม 2545 กลุ่มต่อต้านสาธารณรัฐอิสลาม National Council of Resistance of Iran (NCRI) ได้เปิดการแถลงข่าวในวอชิงตันดีซี รายงานว่ามีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์นิวเคลียร์อีก 2 แห่งในอิหร่านที่ไม่ทราบมาก่อนหน้านี้ แห่งแรกที่ Arak ห่างจากเตหะรานไปทางใต้ 150 ไมล์ เชื่อว่าเป็นโรงงานสำหรับผลิต heavy-water อีกแห่งที่ Natanz ประมาณ 100 ไมล์ทางเหนือของ Esfahan อาจจะเป็นโรงงานยูเรเนียมเสริมสมรรถนะ (uranium-enrichment) ทั้ง 2 แห่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง การวิเคราะห์ภาพสถานที่ของ Natanz จากดาวเทียมแสดงว่า บางส่วนของโรงงานกำลังก่อสร้างระดับในดิน และหุ้มด้วยกำแพงคอนกรีตหนา

หลายวันต่อมา เจ้าหน้าที่อิหร่านยอมรับสถานที่นั้น พวกเขาแถลงว่าเป็นแผนระยะยาว สำหรับการผลิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ครบวงจร ในอีกความหมาย อิหร่านมุ่งมั่นในการพัฒนาสมรรถนะกระบวนการเชื้อเพลิงของตัวเอง ประเทศนี้มีแร่ยูเรเนียมดิบมากมาย ในเดือนมีนาคม 2546 เจ้าหน้าที่อิหร่านแถลงว่า โรงงานผลิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ Natanz ใกล้ Esfahan เสร็จแล้ว และจะเริ่มการผลิตในไม่ช้า (Paul Kerr, “IAEA ‘Taken Aback’ By Speed Of Iran's Nuclear Program,” Arms Control Today, April 2003)

 
ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความมุ่งมั่นด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน heavy-water ใช้เป็นตัวกลางของเตาปฏิกรณ์บางประเภท ปัญหาคือ เตาปฏิกรณ์ประเภทนี้ใช้ในการผลิตพลูโตเนียมสำหรับการสร้างระเบิดได้ อิสราเอลทราบถึงการสร้างพลูโตเนียมสำหรับปืนใหญ่นิวเคลียร์จากเตาปฏิกรณ์ประเภทนี้ ขณะที่ เตาปฏิกรณ์ที่ Bushehr ได้รับการออกแบบพิเศษเพื่อใช้ light-water เพื่อทำให้การฟื้นเป็นพลูโตเนียมยากขึ้น ทำไมอิหร่านยังมีความต้องการ heavy-water เมื่อเตาปฏิกรณ์ light-water สามารถให้ไฟฟ้าตามความต้องการได้โปร่งใสกว่า? โรงงาน heavy-water แสดงนัยว่ามีเตาปฏิกรณ์ heavy-water เพียงแต่ยังไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน

เช่นเดียวกัน ทำไมอิหร่านต้องการโรงงานยูเรเนียมเสริมสมรรถนะ ในขณะที่รัสเซียจะให้เชื้อเพลิง LEU สำหรับเตาปฏิกรณ์ Bushehr และสามารถทำแบบเดียวกันกับเตาปฏิกรณ์ในอนาคต? ทำไมการสร้างที่ Natanz เป็นการสร้างใต้ดิน? ทำไมพวกเขาเสริมความแข็งแรง? ความจริง คือ ถ้าอิหร่านกำลังสร้างโรงงานยูเรเนียมเสริมสมรรถนะ หมายความว่าอิหร่านมีเทคโนโลยี gas centrifuge แล้วใครเป็นผู้ส่งมอบ?

ขณะที่ไม่มีหลักฐานว่าอิหร่านละเมิดสนธิสัญญา NPT แต่ความจริง NPT กำหนดให้ผู้ลงนามแต่ละรายต้องทำตามกฎของ IAEA สถานที่ตั้งนิวเคลียร์ทั้งสองที่เปิดเผยจึงเป็นเป้าหมายในการตรวจสอบของ IAEA อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงกับอิหร่าน IAEA ไม่ต้องการตรวจสอบโรงงานใหม่จนกระทั่ง 6 เดือนก่อนที่วัตถุดิบนิวเคลียร์มาถึงครั้งแรก โรงงานที่ Arak และ Natanz ยังห่างจากการสร้างเสร็จสมบูรณ์มากกว่า 6 เดือนในขณะที่เป็นข่าวออกมา ดังนั้น จึงไม่เป็นละเมิดข้อตกลงนี้ แต่ยังคงมีคำถามว่า ทำไมอิหร่านไม่รายงานให้ IAEA เกี่ยวกับโรงงานเหล่านี้ แต่มาจาก NCRI ความจริงถ้าอิหร่านมุ่งสู่การสร้าง LEU ด้วยตัวเองจะสร้างความโปร่งใสมากกว่าปัญหา ถึงแม้ว่า Natanz ได้รับการตรวจตามปกติ อะไรจะหยุดอิหร่านจากพัฒนายูเรเนียมเสริมสมรรถนะเป็นระดับอาวุธได้ เช่น มากกว่า 90% อยู่ในสถานที่ซ่อนเร้น? ผู้นำอิหร่านกำลังเล่นเกมอันตรายอย่างชัดเจนที่ยืนอยู่ตามตัวอักษรของ NPT แต่กำลังสร้างโครงสร้างพื้นฐานนิวเคลียร์ ที่สามารถใช้สร้างระเบิดได้ในอนาคต [2]

 
ความพยายามโจมตีทางทหารของอิสราเอล
 
อิสราเอลเป็นชาติที่ระเบิดนิวเคลียร์มากถึง 100 - 200 ลูกในปี 2546 ซึ่งมากกว่าฝรั่งเศสและอังกฤษ ระบบการโจมตี ได้แก่ เครื่องบิน F-15 และ F-16 ขีปนาวุธพื้นดิน Jericho และขีปนาวุธ Harpoon จากเรือดำน้ำ นักวิจัยตะวันตกประมาณว่า อิสราเอลมีขีปนาวุธ Harpoon 120 ลูกที่สามารถยิงจากเรือดำน้ำ จึงมีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ต่อชาติอาหรับ
 
12 ตุลาคม 2546 สำนักข่าว Haaretz อ้างข้อมูลจาก Der Spiegel ฉบับ 10 ตุลาคม 2546 ที่รายงานว่า อิสราเอลเตรียมตัวโจมตีอิหร่านต่อสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้ในโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศ ตามรายงานนี้กล่าวว่า เจ้าหน้าอิสราเอลกลัวว่า โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านได้มีการวิจัยในระดับสูง และหน่วยพิเศษ Mossad ได้รับคำสั่งให้จัดทำแผนการโจมตี โรงงานของโครงการอาวุธนิวเคลียร์ในอิหร่าน

ตามรายงาน Mossad เชื่อว่า อิหร่านมีความสามารถผลิตอาวุธระดับ ยูเรเนียม และได้สั่งหน่วยพิเศษเมื่อ 2 เดือนก่อนในเตรียมแผนด้านลึก และรายละเอียดสำหรับการโจมตี นิตยสารได้อ้างคำพูดของนักบินเครื่องบินรบ บอกว่า ภารกิจมีซับซ้อน แต่ทางเทคนิคเป็นไปได้ รายงานได้กล่าวอีกว่า อิสราเอลมีสารสนเทศเกี่ยวกับ โรงงานนิวเคลียร์ 6 แห่งในอิหร่าน ซึ่ง 3 แห่งไม่เคยทราบมาก่อน และแผนเป็นการใช้เครื่องบิน F16 โจมตีโรงงานทุกแห่งพร้อมกัน [3]

 
อิสราเอลเคยทิ้งระเบิดทำลายโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ Osirak ใกล้กรุงแบกแดด ในอิรัก ในปี 2524 ด้วยความกังวลต่อการนำไปพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จึงไม่น่าแปลกใจถ้าอิสราเอลจะใช้ปฏิบัติการทางทหารกับอิหร่าน
 
ภายหลังการทดลองขีปนาวุธ Shahab-3 พิสัย 1,250 ไมล์ของอิหร่าน Rupert Cornwell ของ The Independent อังกฤษ เสนอบทวิเคราะห์ในเดือนกรกฎาคม 2551 มีความเป็นได้ว่า อิสราเอลอาจจะโจมตีในช่วงปลายปี เนื่องจากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Ehud Olmert กำลังเผชิญกับข้อหาคอร์รัปชัน การโจมตีอิหร่านอาจจะเป็นทางออก [4]
 
ปัจจุบัน รัฐบาลของ Benjamin Netanyahu กำลังเผชิญกับท้าทายของประชาชนอิสราเอลอย่างรุนแรง ในเดือนกรกฎาคม 2554 มีการเดินขบวนและชุมนุมที่จัดทั่วประเทศในประเด็นความยุติธรรมของสังคมที่ได้ดึงประชาชนหลายแสนคนมาบนท้องถนนในหลายเมือง มีการชุมนุมและปักหลักตั้งเต็นท์ยืดเยื้อประมาณ 5 สัปดาห์ และยุติลงเนื่องจาก การโจมตี Eilat ทางภาคใต้ของฉนวนกาซา จึงเกรงว่าการตั้งเต็นท์ประท้วงต่อไปอาจจะไม่ปลอดภัย [5]
 
ในเดือนกันยายน ชาวอิสราเอลประมาณ 430,000 คนได้ออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมของสังคม ค่าครองชีพต่ำ และรัฐบาลต้องตอบสนองชัดเจนกับความกังวลที่บีบคั้นชนชั้นกลาง [6] การชุมนุมนี้อาจจะได้รับแรงบันดาลมาจาก “ฤดูใบไม้ผลิในอาหรับ” และ “ฤดูใบไม้ร่วงในชิลี” เพราะแกนการเคลื่อนไหวกลุ่มหนึ่งคือ สหภาพนักศึกษาอิสราเอลแห่งชาติ (National Union of Israeli Students)
 
ด้านสหรัฐมีปฏิบัติการลับยาวนานในการแทรกแซงอิหร่าน โดยเน้นไปที่กลุ่มชาวคูร์ด (Kurds) อัสซูรี่ (Azeris) ซึ่งเป็นเชื้อสายของ มูซาวี่ ผู้สมัครแข่งขันประธานาธิบดีครั้งที่แล้วที่นำการเคลื่อนไหว “เขียว” และบาลูชิส (Baluchis) ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในอิหร่านเพื่อสร้างขบวนการต่อต้านรัฐบาลอิหร่าน [7]
 
ปฏิบัติการอิหร่านที่ยังไม่เกิดขึ้นมีคำอธิบายว่ามาจากความกังวล “ผลกระทบอิหร่าน” นอม ชอมสกี้ อ้างรายงานการศึกษาของ “ผลกระทบอิหร่าน” โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้าย Peter Bergen และ Paul Cruickshank โดยการใช้ข้อมูลของรัฐบาลและ Rand Corporation การรุกรานอิรักได้นำไปสู่การเพิ่มการก่อการร้าย 7 เท่า “ผลกระทบอิหร่าน” อาจจะผลกระทบมากกว่าและยาวนาน Corelli Barnett นักประวัติศาสตร์การทหารอังกฤษเตือนว่า “การโจมตีอิหร่านจะมีผลทำให้เกิดสงครามโลก” [8]

แต่การโจมตีอิหร่านจะทำให้อิหร่านหยุดยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้จริงหรือ จากรายงานของผู้ตรวจสอบอาวุธอิรักพิเศษของสหประชาชาติ ภายหลังสงครามอ่าวเปอร์เซีย ปี 2533 กลับพบหลักฐานว่า ซัดดัม ฮุสเซน ได้มีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างลับๆ ตลอดมา หลังจากอิสราเอลทิ้งระเบิดทำลายโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ในกรณีของอิหร่าน เชื่อว่าไม่สามารถหยุดยั้งได้เช่นกัน
 
ผลต่อเนื่องจากการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์อิหร่าน
 
สำนักข่าว YNET ของอิสราเอลรายงานว่า อิหร่าน กล่าวหาว่า สหรัฐและอิสราเอลเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารครั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน Ali Akbar Salehi กล่าวว่า ประเทศของเขาได้รับ “เอกสารน่าเชื่อถือที่พิสูจน์ว่าการโจมตีครั้งนี้มีการวางแผน ควบคุม และสนับสนุนโดยซีไอเอ” นอกจากนี้ เขาได้ทำหนังสือประท้วงอย่างเป็นทางการต่อสถานทูตสวิสในอิหร่าน ซึ่งดูแลกิจการสหรัฐในพื้นที่นี้
 
รวมทั้งกล่าวหาอังกฤษว่ามีส่วนร่วม โดยอ้างว่าการลอบสังหารเกิดขึ้นในช่วงอันสั้น หลังจากอังกฤษประกาศเองว่า “ได้เริ่มต้นปฏิบัติการข่าวกรองต่อต้านอิหร่าน...”
 
ทางด้านสหรัฐ Tommy Vietor โฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่า สหรัฐ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้ นอกจากนี้ Vietor เพิ่มเติมว่า สหรัฐประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ
 
ประธานาธิบดีอิสราเอล Shimon Peres ได้ให้ความเห็นกับเหตุการณ์นี้ ผ่าน CNN Spanish ว่า ในการรับรู้ของเขา อิสราเอลไม่เกี่ยวข้องกับการลอบสังหาร [9]
 
สหรัฐเรียกร้องนานาชาติคว่ำบาตรอิหร่านด้านเศรษฐกิจ ด้วยการเลิกซื้อน้ำมันอิหร่าน แต่ประเทศในเอเชีย คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยังไม่มีความกระตือรือร้น
 
ขณะเดียวกัน สหรัฐยังไม่มีการเคลื่อนไหวทางทหารมากนักที่จะก่อสงคราม ขณะนี้มีเพียง เรือบรรทุกเครื่อง 2 ลำ USS Carl Vinson และ USS John Stennis พร้อมเรือสนับสนุนที่ลาดตระเวนบริเวณนั้น และทหารในคูเวต 15,000 นาย ซึ่งไม่เพียงพอต่อการทำสงครามกับอิหร่าน สงครามอิรักในครั้งที่แล้ว สหรัฐใช้ทหารมากถึง 150,000 นาย
 
ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันกลางเห็นว่า อิสราเอลพยายามกระตุ้นให้อิหร่านโกรธและเป็นฝ่ายโจมตีก่อน
 
Robert Baer อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเออาวุโส ผู้ทำงานในตะวันออกกลางนาน 21 ปี ได้พูดในรายการ “Hardball” ของ MSNBC เมื่อคืนวันที่ 12 มกราคม เขาเชื่อว่าอิสราเอลการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์อิหร่านเป็นความพยายามกระตุ้นอิหร่านให้โจมตีกลับและดึงสหรัฐเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบ
 
ในวันเดียวกัน Baer ได้พูดถึงเรื่องเดียวกันกับ Guardian/UK โดย Baer โต้แย้งว่า ผลกระทบของตัวโครงการนิวเคลียร์เองมีน้อยมาก ไม่น่าจะนำมาสู่เป้าหมายการรณรงค์ลอบสังหาร
 
“นี่เป็นกระตุ้น” เขากล่าวว่า “ทฤษฎีของผมคือ อิสราเอลไม่สามารถทำให้ทำเนียบขาวเห็นด้วยกับการทิ้งระเบิด นี่ไม่ใช่การแทรกแซงน่าพึงพอใจ ดังนั้น อิสราเอลกำลังพยายามกระตุ้นอิหร่านให้เปิดการโจมตีด้วยขีปนาวุธและเริ่มสงคราม” [10] 
 
ผลกระทบกับประเทศไทย
 
ประเทศไทย ได้ตอบสนองต่อคำเตือนเรื่องการก่อการร้ายในประเทศไทยของสหรัฐในทันที ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ด้วยการแถลงข่าวจับกุมผู้ก่อการร้ายฮีสบันเลาะห์ ชาวเลบานอน พร้อมกับการขยายผลด้วยการตรวจค้นอาคารเก็บปุ๋ยที่เป็นวัตถุดิบผลิตระเบิด กลุ่มฮีสบันเลาะห์เป็นกลุ่มที่อิหร่านสนับสนุน ปฏิบัติการของกลุ่มย่อมได้รับการประเมินว่าเชื่อมโยงกับอิหร่าน
 
ข่าวการก่อการร้ายในประเทศไทยเกิดขึ้นในช่วงความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐและอิสราเอลแหลมคม เรื่องนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง จึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ
 
ประการแรก ชาวเลบานอนไม่ใช่สมาชิกกลุ่มฮิสบันเลาะห์ทุกคน สหรัฐก็มีความสัมพันธ์กับซุนหนี่จิฮัด เลบานอนที่เชื่อมโยงกับอัลกออิด๊ะ (ในรายงานของซีไอเอ) ที่ร่วมมือกันปฏิบัติงานในดินแดนอิหร่านอยู่ด้วยเช่นกัน [11] ถ้าสหรัฐจะส่งกลุ่มนี้มาปฏิบัติการในไทยย่อมเป็นได้เช่นกัน ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อลดความชอบธรรมของอิหร่าน
 
ประการต่อมา การป้องกันตัวจากการก่อการร้ายนั้น ไม่หลักประกันในความสำเร็จ 100% เรายังพบว่าเกิดระเบิดในยุโรปหลายครั้ง ทั้งที่มีการป้องกันเข้มแข็ง สำหรับกรณีนี้ การป้องกันที่ดีคือ รักษาสมดุลท่ามกลางความขัดแย้ง ดังนั้น ท่าทีควรเป็น “เราไม่เคยเป็นศัตรูกับใคร ดังนั้น ไม่ควรจะมีใครจะมาก่อเหตุในประเทศของเรา”
 
ภายใต้สถานการณ์ซับซ้อน รัฐบาลควรจะตอบสนองกับสถานการณ์อย่างเหมาะสม แม้กระทั่ง จำเลยของอิหร่าน ยังตอบว่า “ไม่เกี่ยวข้อง” ถ้า ร.ต.อ.เฉลิม ต้องการแสดงบทบาทด้านความมั่นคงแล้ว ไม่ควรจะมีบทบาทในสถานการณ์อันซับซ้อนเช่นนี้ แต่ควรแสดงบทบาทด้านความมั่นคงด้านอื่นที่ไม่ซับซ้อน เช่น ตามจับ “พวกหมิ่นสถาบัน” ก็พอแล้ว
 
 
 
 
อ้างอิง
 
[1] Noam Chomsky, "Preemptive War on Iran", 6 April 2007, http://www.tomdispatch.com/index.mhtml?pid=182214
 
[2] Mark Gaffney, "Will Iran Be Next?", 5 August 2003, http://www.informationclearinghouse.info/article3288.htm
 
[3] Nathan Guttman, Haaretz Correspondent, "Report: IDF planning to attack nuclear sites in Iran", 12 October 2003, http://www.informationclearinghouse.info/article4956.htm
 
[4] Rupert Cornwell, The Independent (UK), "Israel hints at pre-emptive attack on Iran", 11 July 2008, http://www.independent.co.uk/news/world/middle-east/israel-hints-at-preemptive-attack-on-iran-865068.html
 
[5] Harriet Sherwood, "Israel tent protests called off after Eilat attacks", 18 August 2011, http://www.guardian.co.uk/world/2011/aug/18/israel-tent-protests-called-off
 
[6] Harriet Sherwood, "Israeli protests: 430,000 take to streets to demand social justice", 4 September 2011, http://www.guardian.co.uk/world/2011/sep/04/israel-protests-social-justice
 
[7] Tom Engelhardt, "Neocons in Cheney's Office Fund al Qaeda-Tied Groups ... and No One Cares?", 17 March 2007, http://www.alternet.org/waroniraq/49275/
 
[8] Noam Chomsky, อ้างแล้วใน [1]
 
[9] Common Dreams staff, "Report: US Preparing for an Israeli Strike on Iran", 14 January 2012, http://www.commondreams.org/headline/2012/01/14
 
[10] Common Dreams staff, "War Clouds Darken: Russia Warns of US Strike on Iran", 12 January 2012, http://www.commondreams.org/headline/2012/01/12-5
 
[11] Tom Engelhardt, อ้างแล้วใน [7]
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น