โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ประมวลภาพงานล่าชื่อแก้ไข 112 – นานาทัศนะประชาชนผู้เข้าร่วม

Posted: 15 Jan 2012 12:47 PM PST

 

 

ประชาชนเข้าชื่อเสนอแก้กฎหมายอาญา ม.112 บริเวณหน้าห้องประชุมศรีบูพา มธ. ท่าพระจันทร์

 
นานาทัศนะจากผู้ร่วมงาน: ทำไมต้องแก้ 112 ?
 
พระฉันทะสาโร  พระวัดไผ่ตัน กรุงเทพมหานคร บวช 15 พรรษา กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 บ้านเมืองวุ่นวายก็เพราะเรื่องนี้ ดูจากสมุทัยก็รู้ แต่ข้อเสนอของทางนิติราษฎร์จะปรับปรุงอย่างไรก็ว่ากันไป แต่อย่างไรก็น่าจะต้องปรับปรุง ไม่เช่นนั้นหากใครไม่พอใจใครก็จะใช้เหตุนี้ให้ผู้อื่นติดคุกได้
 
ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ไม่ควรกล่าวหากันด้วยข้อหานี้ แต่ถึงที่สุด คิดว่าการแก้ไขน่าจะสำเร็จได้ยากมาก เพราะมีคนอีกกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้
 
ไม่ชอบสังคมแบบศักดินา แม้แต่ในแวดวงพระสงฆ์ก็ยังมีลักษณะแบบนั้น ที่ผ่านมาได้อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเสื้อแดงด้วย โดยในวันสลายกำลังสวดมนต์อยู่ในวัดปทุม และมีระเบิดลงบริเวณใกล้ๆ ทำให้แก้วหูกระทบกระเทือน ปัจจุบันได้ยินอะไรไม่ค่อยถนัด
 
“ก็ในเมื่อท่านสอนให้ญาติโยมรู้จักถูกจักผิด แล้วจะบอกว่าท่านไม่ยุ่งเกี่ยว มันไม่ได้ เพราะท่านก็มองเห็นอยู่ว่าอะไรถูกอะไรผิด”
 
 
เที่ยง (ขอไม่เปิดเผยชื่อ นามสกุลจริง) อายุ 78 ปี อาชีพครูเคยผ่านช่วงสงครามเกาหลี และถูกจับข้อหาคอมมิวนิสต์ในยุคจอมพล ป.
 
“เราเคยผ่านคุกตารางมาแล้ว เรื่องนี้ถูกตีความเป็นอื่นได้ง่าย และหากจะต้องติดคุกอีกครั้งคงต้องตายในคุก” ลุงเที่ยงกล่าวถึงเหตุผลของการไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ
 
เที่ยงกล่าวว่า กลุ่มคนเสื้อแดงเป็นรากหญ้าใหม่ที่ทำงานไม่ต่างกับนักศึกษาสมัย 14 ตุลา และทำได้ดีกว่าเสียอีก แม้ว่าลุงเที่ยงจะอยู่กรุงเทพฯ แต่รับรู้เรื่องราวการเคลื่อนไหวตลอดผ่านทีวีดาวเทียม และการเล่นอินเตอร์เน็ต โดยมีหลานคอยสอนให้เข้าไปอ่านข่าวตามเว็บไซต์ และดูวีดิโอในยูทูป
 
เที่ยงแสดงความเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 ในครั้งนี้ และมาร่วมฟังการอภิปรายตั้งแต่บ่าย โดยยืนฟังจากลำโพงด้านนอกเพราะไม่สามารถฝ่าฝูงชนเข้าไปฟังภายในหอประชุมได้
 
“อาจารย์วรเจตน์คิดได้รอบคอบ ลุ่มลึก ผมยังคิดไม่ทันอาจารย์วรเจตน์ที่ทั้งลึกและนุ่มนวล และถึงจะมีคำค้านเยอะแต่ก็สามารถโต้ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลในทุกประเด็น”
 
สำหรับการเคลื่อนไหวในครั้งนี้เชื่อได้ว่าต่อไป ส.ส.ต้องรับเอาความคิดของนิติราษฎร์เข้าไปดำเนินการพิจารณากันในสภา ส่วน่วาจะถูกค้านตกไปหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อหนึ่ง ส่วนการยกเลิกนั้นคิดว่าคงเป็นไปไม่ได้เพราะเกี่ยวโยงกับหลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยคงจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตัวเองนับจากนี้ไปให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น และในระยะเปลี่ยนผ่านเชื่อว่าจะไม่มีการนองเลือด เพราะกำลังประชาธิปไตยในทางสากล ในกระแสโลกนั้นเป็นตัวหนุนเสริม
 
 
 
 
ชญานิน เตียงพิทยากร  อายุ 24 ปี นักเขียนอิสระ – นักวิจารณ์ภาพยนตร์กล่าวว่า เริ่มให้ความสนใจประเด็นมาตรา 112 เมื่อ 3-4 ปีก่อน จากการที่คู่ขัดแย้งทางการเมืองนำมาใช้เล่นงานฝ่ายตรงข้าม ทำให้ตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมต้องใช้การต่อสู้โดยหันหลังพิงสถาบัน อีกทั้งมีการนำมาเล่นงานไม่เฉพาะกับนักการเมือง นักวิชาการ แต่ลงมาถึงประชาชนทั่วไปด้วย และในกระบวนการพิจารณาคดีดังกล่าวผู้ต้องหาส่วนใหญ่ไม่ได้สิทธิในการประกันตัว ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งไม่ชอบธรรม ในขณะที่แนวคิดของมาตรานี้ที่บอกว่าคนธรรมดามีกฎหมายปกป้อง สถาบันกษัตริย์ก็ควรมีกฎหมายปกป้องด้วยเช่นกัน แต่ตัวกฎหมายสุดท้ายไม่ได้มีการปกป้องคนโดยเท่าเทียมกัน อีกทั้งการตีความในการบังคับใช้ก็มีปัญหา
 
สำหรับการรณรงค์เพื่อแก้ไขมาตรา 112  มีอุปสรรค์ใหญ่จากการผลิตซ้ำความคิดที่ว่า มาตรา 112 มีไว้ปกป้องสถาบัน คนที่ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกฎหมายนี้คือคนที่ไม่ปกป้อง ทำให้คนส่วนหนึ่งแม้เห็นด้วยก็จะไม่เข้าร่วมเพราะกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ส่วนการผลักดันจะไปได้ถึงแค่ไหนส่วนตัวประเมินไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม กิจกรรมรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ เพื่อแก้ไขกฎหมายนี้ ถือเป็นครั้งแรกสำหรับมาตรา 112 
 
ส่วนตัวเขาเห็นด้วยกับแนวความคิดในการยกเลิกมาตรา 112 และให้ใช้กฎหมายปกป้องเทียบเท่าบุคคลธรรมดา ส่วนข้อเสนอแก้ไขยังเป็นการปกป้องสถาบันกษัตริย์มากกว่าคนธรรมดา แต่เขาก็จะร่วมลงชื่อตามข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร และ ครก.เพราะอย่างน้อยตรงนี้เป็นความเคลื่อนไหวที่ส่งผลสะเทือน ทำให้เกิดความคิดต่อเรื่อง 112 ส่งไปถึงคนในวงกว้างมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้ทิ้งข้อเสนอเรื่องการยกเลิก ความเปลี่ยนแปลงคงไม่เกิดขึ้นในทันที เรื่องนี้ต้องมีการเคลื่อนไหวกันต่ออีกยาว
 
 

สรธัญ เหมพิพัฒน์ อายุ 27 ปี เพิ่งจบการศึกษาจาก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวลัยลงกรณ์ ปัจจุบันเป็นผู้สื่อข่าวอิสระ ผู้ชำนาญาการด้านนิเทศศาสตร์ และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง New Generation Channel ( ngch-tv.com) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ เนื่องจากถูกนำมาใช้อย่างสะเปะสะปะ โดยเฉพาะคดีของอากง ส่วนที่บางส่วนเห็นว่าอยากให้ยกเลิก มองว่าสถาบันนี้อยู่เป็นรากเหง้าของประเทศ ถ้ายกเลิกมันค่อนข้างเป็นปัญหา คนจะพาลไปคิดว่าจะเป็นการทำร้ายสถาบัน จึงเห็นว่าเริ่มจากปรับแก้น่าจะเหมาะว่า
 
สำหรับการปรับแก้ เห็นด้วยกับแนวทางที่นำเสนอว่าต้องให้สำนักพระราชวังเป็นผู้แจ้งความ และอยากให้เพิ่มเติมไปด้วยว่า นอกจากพระบรมวงศานุวงศ์ หรือสำนักพระราชวังแล้ว คนอื่นๆ ไม่มีสิทธิจะมาฟ้องร้อง และควรกำหนดโทษให้กับคนที่ฟ้องร้องคนอื่นด้วยมาตรานี้โดยอ้างความจงรักภักดีด้วย
 
“ทำไมการพูดถึงเรื่องนี้ถึงถูกกล่าวหาตลอด ทั้งที่ควรเปิดให้การวิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผล หรือการนำเสนอทางวิชาการ”
 
 
อนุกูล (ขอไม่เปิดเผยนามสกุล) อายุ 31 ปี อาชีพประกอบธุรกิจส่วนตัว กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่ได้จริงจังกับการเมืองมาก แต่สำหรับประเด็นนี้เห็นด้วยกับการแก้ไข เพราะถ้าเปรียบเทียบโทษกับทางสากลแล้วรู้สึกว่าของเราแรงไป ส่วนการจะให้ยกเลิกนั้นเป็นเรื่องยาก น่าจะแก้ไขมากกว่า เอาตามสากลที่เขาก็มีประมุขและมีกฎหมายคุ้มครองประมุขเหมือนกัน
 
ถามว่าจะสำเร็จไหม ก็อยากให้มันสำเร็จ ถ้าช่วงนี้ไม่สำเร็จก็คงยากแล้ว เพราะถ้าอีกขั้วอำนาจหนึ่งเป็นรัฐบาลก็คงไม่สามารถจะแก้ไขกฎหมายนี้ได้
 
“ถ้ามาตรานี้ลดความรุนแรงลง ประชาชนจะมีทางเลือกในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากกว่านี้”
 
 
มะลิ  (ขอไม่เปิดเผยนามสกุล) อายุ 50 ปี แม้ค้าจากจังหวัดสมุทรปราการ พื้นเพเป็นจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายนี้เพราะรู้ว่าเป็นปัญหา โดยเฉพาะคดีอากง ซึ่งมีคนเถียงกันเยอะว่าส่งจริงหรือเปล่า แล้วเราก็ไม่รู้ว่าส่งว่าอะไร แล้วมันหมิ่นจริงไหม แต่เรื่องนี้เขาจะแก้อะไรกันยังไง ไม่ค่อยเข้าใจนักเพราะเป็นเรื่องกฎหมาย 
 
ส่วนการประเมินการรณรงค์ครั้งนี้ มะลิเห็นว่า น่าจะสำเร็จ เพราะข่าวนี้คนรู้เยอะแยะ แต่ก็ยังมีข้อกังวลเพราะกลัวว่ากลุ่มอื่นจะนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็น
 
“เราเห็นแต่กฎหมายนี้ลงโทษอีกกลุ่ม แต่อีกกลุ่มไม่โดนอะไรเลยทั้งที่ผิดเหมือนกัน มันรู้สึกเหมือนไม่ยุติธรรม” มะลิกล่าว
 
 
xx(ขอไม่เปิดเผยนามสกุล) เจ้าของธุรกิจส่วนตัว อายุ 28 ปี ระบุว่า มาร่วมเข้าชื่อครั้งนี้ แม้จะเห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรา 112 เพราะเห็นว่าเป็นการทำเท่าที่ทำได้ในสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม กลุ่มนิติราษฎร์ถือเป็นกลุ่มที่มีคนให้ความสนใจและคิดว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อมาตรา 112 ไปได้ไกลที่สุด แต่กลับเรียกร้องเพียงแค่แก้ไข ซึ่งตามหลักการต่อรองสุดท้ายสิ่งที่ได้ก็จะต่ำกว่าข้อเสนอที่ยื่นไปดังนั้นส่วนตัวจึงอยากให้เรียกร้องไปให้ไกลกว่านี้
 
เจ้าของธุรกิจวัน 28 ปี กล่าวด้วยว่า การร่วมลงชื่อครั้งนี้ส่วนตัวก็รู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ว่าจะส่งผลกับกิจการทำอยู่ ทั้งที่เป็นการร่วมลงชื่อแก้ไขกฎหมายไม่ได้เป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาเคยเป็น 1 ในพันกว่ารายชื่อ ที่ร่วมลงชื่อยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 แล้วถูกนำชื่อไปเผยแพร่โจมตีในอินเตอร์เน็ต และมีคนโทรศัพท์มาคุกคาม ทำให้เห็นว่าการออกมาเคลื่อนไหวตรงนี้เป็นเรื่องอันตราย เรียกได้ว่าเป็น “ภารกิจเสี่ยงตาย” ซึ่งส่วนตัวเธอคิดว่าไม่ได้อยากเป็นฮีโร่ และไม่อยากให้ใครเป็นฮีโร่ อย่างผลที่มันเกิดขึ้นแล้วกับ ดา ตอปิโด แต่เธอก็ยังคงยืนยันที่จะร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
 
 
 
บรรยากาศในห้องประชุม
 


 
อรรถาธิบายจากวรเจตน์ ภาคีรัตน์
 





คณะรณรงค์แก้ไข ม. 112 ร่วมตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการรณรงค์ให้แก้ไขมาตรา 112
 
 
ถ่ายรูปร่วมกับ โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมทนายความคนดัง 
 


ส่งรายชื่อแก้ไขกฎหมาย ครก.112 ตู้ปณ.112 ปณฝ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ


 
ร่วมเขียนป้ายผ้ายาว 3 เมตร ร้องเสรีภาพ ปลดโซ่ตรวน ม.112
 


เคลื่อนขบวนสู่ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ร่วมกิจกรรม "กลับสู่แสงสว่าง"
 
 
ประชาชนหลายร้อยเดินขบวนร่วม 'กวีราษฎร' หนุนข้อเสนอนิติราษฎร์
 
15 ม.ค.55 น.กลุ่ม "กวีราษฎร์" และประชาชนราว 400 คน ร่วมเดินขบวนรณรงค์จากหอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปยังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว เพื่อแสดงความสนับสนุนต่อข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ พร้อมเปิดวันแรกของกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม "กลับสู่แสงสว่าง"
 
หลังจากที่ขบวนรณรงค์ดังกล่าวเดินทางมายังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ได้มีการจัดเวทีทางวัฒนธรรม เช่น การอ่านกวี เล่นดนตรี และการจัดนิทรรศการศิลปะจัดวางและภาพถ่าย โดยมีประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกว่า 100 คน กลุ่ม "กวีราษฎร" ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวอย่างหลวมๆ ของกวี นักเขียน ผู้กำกับภาพยนตร์ และบุคคลในแวดวงศิลปะ เพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนต่อข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ โดยเฉพาะจากกลุ่มคนที่ทำงานในสายศิลปะ
 
"เราจัดงานนี้เพื่อให้คณะนิติราษฎร์รู้ว่า พวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว เพราะเรื่องพวกนี้มวลชนก็คิดกันอยู่แล้ว เช่นเดียวกัน มวลชนเองก็จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะเขาก็สามารถมาร่วมกับคณะนิติราษฎร์ได้ จึงอยากให้มาร่วมสนับสนุนข้อเสนอให้เป็นแนวทางเดียวกัน" รางชาง มโนมัย หนึ่งในกวีผู้ร่วมจัดงานกล่าว และเสริมว่าในตอนนี้เขาก็เห็นด้วยกับการให้แก้ไข ม.112 แต่หากในอนาคตสถานการณ์และเงื่อนไขทางการเมืองเปลี่ยนไป เขาก็อาจจะรณรงค์ให้มีการยกเลิก ม.112 ก็เป็นได้
 
ทั้งนี้ กิจกรรม "กลับสู่แสงสว่าง" จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15-22 ม.ค. 55 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ผู้สนใจสามารถชมกำหนดการกิจกรรมได้ที่ http://prachatai.com/activity/2012/01/38769
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อิตัลไทยเตรียมเปลี่ยนประเภทเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าที่ทวาย

Posted: 15 Jan 2012 11:33 AM PST

ผู้บริหารอิตัลไทยระบุการที่รัฐบาลพม่าระงับก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทวาย "ไม่มีอะไรดราม่า" และไม่มีผลต่อข้อตกลงก่อสร้างโรงไฟฟ้า 4,000 เมกะวัตต์ โดยอาจเปลี่ยนประเภทเชื้อเพลิงที่จะป้อนโรงไฟฟ้าแทน

เว็บไซต์อิระวดี ภาคภาษาอังกฤษ รายงานเมื่อ 13 ม.ค. 55 ที่ผ่านมาว่า บริษัทอิตาเลียน-ไทย เดเวล็อปเมนท์ ผู้พัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายและเขตอุสาหกรรมทวาย ทางตอนใต้ของพม่า ซึ่งมีมูลค่ากว่า 8.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ อาจเปลี่ยนประเภทเชื้อเพลิงที่จะป้อนให้กับโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าว หลังจากรัฐบาลระงับแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์

โดยเว็บไซต์อิระวดีรายงานคำให้สัมภาษณ์ของนายสมเจตต์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการโครงการทวาย ดีเวลอปเมนต์ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ ในฐานะผู้ดำเนินการโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ซึ่งระบุว่าการตัดสินใจของพม่าที่ปรากฏในสื่อมวลชนในรอบสัปดาห์นี้ "ไม่มีอะไรดราม่า" และไม่มีผลต่อข้อตกลงก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่บริษัทได้ทำกับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ไทยพลัดถิ่น’เตรียมบุกรัฐสภา จี้เลิกม.7/1 ‘ร่างพ.ร.บ.สัญชาติ’

Posted: 15 Jan 2012 09:46 AM PST

เวลาประมาณ 11.30 น, วันที่ 13 มกราคม 2555 ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยจังหวัดระนองและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 130 คน ได้เดินทางเข้าพบรศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผู้ยกร่างร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .. เพื่อทำความเข้าใจมาตรา 7/1 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... วุฒิสภา แปรญัติเพิ่มเติมจากร่างเดิมที่เสนอให้รัฐสภาพิจารณา

ต่อมา เวลา 16.00 น. วันเดียวกัน ทั้งหมดได้เดินทางเข้าพบนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา และคณะที่อาคารรัฐสภา เพื่อคัดค้านการเพิ่มเติมเนื้อหามาตรา 7/1 เข้ามาในร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... และขอให้สมาชิกวุฒิสภาไม่รับรองร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ฉบับที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. …  วุฒิสภา ที่จะนำเข้าพิจารณาของวุฒิสภา วาระที่ 2 และ 3 ในวันที่  16 มกราคม 2555 โดยนายสมชาย รับว่าจะประสานกับสมาชิกวุฒิสภาไม่ให้รับร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … วุฒิสภา ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3

นายภควิน แสงคง ที่ปรึกษาเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยจังหวัดระนองและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า จากการแลกเปลี่ยนกับรศ.ดร.บรรเจิด ทำให้ชัดเจนขึ้นว่ามาตรา 7/1 ของร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ผู้ที่จะได้รับสัญชาติไทย จะต้องเป็นผู้ที่จดทะเบียนเป็นคนไทยพลัดถิ่น ก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ....ใช้บังคับเท่านั้น กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ยังไม่ได้จดทะเบียนก่อนวันที่กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ จะไม่มีโอกาสได้สัญชาติไทยตลอดไป

“จะทำให้มีกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ในบัตรไม่ได้ระบุเชื้อชาติไทย บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และคนไทยพลัดถิ่นสัญชาติพม่า หรือคนไทยพลัดถิ่นสัญชาติกัมพูชา รวมทั้งคนไทยพลัดถิ่นที่ไม่ระบุเชื้อชาติกว่า 80% จะไม่มีสิทธิได้สัญชาติไทย” นายภควิน กล่าว

นายภควิน  เปิดเผยด้วยว่า วันที่ 16 มกราคม 2555 นี้ เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นพร้อมเครือข่ายภาคี จะร่วมกันชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เพื่อกดดันไม่ให้วุฒิสภาผ่านร่าง พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่มีการเพิ่มเติมมาตรา 7/1 เข้ามา ถ้าหากวุฒิสภาผ่านร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. วาระที่ 2 และ 3 เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นจะชุมนุมประท้วงยืดเยื้อ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... วุฒิสภา ได้แปรญัติเพิ่มเติมมาตรา 7/1 ในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีเนื้อหาว่า “การสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ตามบทนิยามคำว่า “ไทยพลัดถิ่น” ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายถึง การสำรวจจัดทำทะเบียนของคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมัชชาสุขภาพใต้ เสนอให้หยุดราชการวันรายอทั่วประเทศ

Posted: 15 Jan 2012 07:37 AM PST

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 14 มกราคม 2555 ห้องดุสิตตรัง ตึกดุสิตตรัง มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ศูนย์ตรัง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ที่ประชุมพิจารณาระเบียบวาระติดตามสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 นโยบายแห่งชาติเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนายแพทย์ไพศาล เอื้ออรุณ ประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชุม เป็นประธาน

ที่ประชุมมีข้อเสนอเปลี่ยนแปลงข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการปฏิรูปสังคม ประเพณี วัฒนธรรม ให้กำหนดวันฮารีรายอ ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาอิสลามและวันปีใหม่อิสลามเป็นหยุดราชการทั่วประเทศ

ข้อเสนอดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายแห่งชาติเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งที่ประชุมสมัชชาสุขภาพภาคใต้มีมติรับรองเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2555

ปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดให้วันรายออีดิ้ลฟตรีและวันรายออิดิ้ลอัฎฮาเป็นวันหยุดราชการในจังหวัดสตูล ปัตตานี ยะลาและนราธิวาสแล้ว 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

Posted: 15 Jan 2012 06:35 AM PST

ประเทศเราอ่อนไหวเหลือเกินกับความขัดแย้ง เราเสแสร้งกันเหลือเกินแล้ว ผมไม่อยากจะใช้คำที่มันรุนแรงไปกว่านี้ ขอความกรุณาเถิดว่าเลิกเสแสร้ง ความขัดแย้งในสังคมประชาธิปไตยเป็นของธรรมดาเป็นของสามัญอย่างยิ่ง ขอเพียงให้คนที่เห็นต่างกันมีโอกาสพูด มีโอกาสเสนอความเห็นอย่างตรงไปตรงมา อย่าไปไล่เขา อย่าไปบอกให้เขาไปอยู่ที่อื่น อย่าไปบอกให้เขาต้องเปลี่ยนสัญชาติ สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในกรอบของกฎหมายทั้งปวง

15 ม.ค. 2555

FAQ กับ “ครก. 112”

Posted: 15 Jan 2012 06:33 AM PST

นักวิชาการและนักเขียนซึ่งร่วมกันเสนอแก้ไข ม.112 ในนาม “คณะรณรงค์แก้ไข ม. 112 (ครก. 112)” ร่วมตอบคำถามที่พบบ่อย (FAQ) เกี่ยวกับการรณรงค์ให้แก้ไขมาตราดังกล่าว เช่น “พวกคุณเป็นคนไทยหรือเปล่า” “ขนาดมีกฎหมายยังเหิมกริมขนาดนี้ ถ้าไม่มีไม่ยิ่งหมิ่นกันทั่วหรือ” “ถ้าไม่ได้ทำผิดจะกลัวทำไม” ฯลฯ

ตามที่มีการจัดกิจกรรมเปิดตัว "คณะรณรงค์แก้ไข ม. 112" หรือ "ครก. 112" เพื่อเสนอการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุาภาพในวันนี้ (15 ม.ค.) ที่ห้องประชุมศรีบูพา (หอประชุมเล็ก) มธ.ท่าพระจันทร์นั้น

ในช่วงหนึ่ง คณะนักวิชาการและนักเขียนซึ่งร่วมขับเคลื่อนการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในนาม "คณะรณรงค์แก้ไข ม. 112" หรือ "ครก. 112" ได้กันร่วมตอบคำถามที่พบบ่อย (FAQ) เกี่ยวกับการรณรงค์ให้แก้ไขมาตราดังกล่าว โดยผู้ร่วมตอบคำถามประกอบด้วย พวงทอง ภวัครพันธุ์ นักวิชาการจากคณะรัฐศ่าสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ยุกติ มุกดา วิจิตร จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ., สาวตรี สุขศรี นักกฎหมายอาญา จากกลุ่มนิติราษฎร์ และวาด รวี นักเขียน โดยเวียงรัฐ เนติโพธิ์ นักสิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬา.ฯ เป็นผู้รวบรวมคำถามพบบ่อยและทำหน้าที่พิธีกร

000

 

การแก้ไข ม. 112 จะทำให้สถาบันฯ มั่นคงได้อย่างไร

พวงทอง ภวัครพันธุ์: ประเด็นสำคัญในที่นี้ คือ การดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ จะต้องสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย นั่นคือ สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยไม่อยู่ภายใต้ความกลัว เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่สถาบันฯ ดำรงอยู่ได้ เนื่องมาจากการปรับตัวเข้ากับคุณค่าของสังคมสมัยใหม่คือประชาธิปไตย ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน คือ มาตรา 112 ซึ่งหากดำรงอยู่ ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย และหากจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน จำเป็นต้องทำภายใต้หลักประชาธิปไตย

ในต่างประเทศเอง ประชาชนสามารถวิพาษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้โดยไม่ถือว่าเป็นความผิด และไม่ถูกคุกคามจากฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพราะเขามองว่า การวิพากษ์วิจารณ์จะทำให้สถาบันฯ เรียนรู้ถึงคุณค่าของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และเป็นหัวใจของการปรับตัวและการอยู่รอดของสถาบัน ทั้งนี้ ไม่มีสถาบันใดที่จะอยู่ได้อย่างมั่นคงโดยไม่มีการปรับเปลี่ยน

นอกจากนี้ เวลาสื่อต่างประเทศเขียนถึงมาตรา 112 ที่เป็นไปอย่างกว้างขวาง จะกล่าวว่ากฎหมายดังกล่าวมีบทลงโทษสูงสุด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ต่อประชาคมโลกอย่างแน่นอน

ที่สำคัญ ต้องเข้าใจว่า การวิจารณ์โดยสุจริตมีเหตุผล ไม่เท่ากับเป็นการล้มล้างสถาบัน จึงเป็นที่หวังว่า การแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะไม่เพียงแต่เป็นการรักษาความมั่นคงให้สถาบันฯ แต่ต้องเป็นการประกันสิทธิกับเสรีภาพของประชาชนด้วย

 

ขนาดมีกฎหมายยังเหิมกริมขนาดนี้ ถ้าไม่มีไม่ยิ่งหมิ่นกันทั่วหรือ

พวงทอง: ปัจจุบันอาจจะมีการหมิ่นฯ มาก แต่เชื่อว่าหากมีการแก้ไขมาตรา 112 สำเร็จ เชื่อว่าการวิพากษ์วิจารณ์ของสถาบันที่จะลดลง คือ การวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะใช้อารมณ์ ดูหมิ่น หรือคำวิพากษ์วิจารร์ที่ปรากฏในทางลับจะลดลง เพราะหลังจากเรามีตัวกฎหมายที่จะคุ้มครองการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสุจริต มีหลักฐานชัดเจนไม่ต้องกลัวว่าจะถูกคุกคาม เราจะสามารถเปิดเวทีให้ประชาชนได้แลกเปลี่ยน การหมิ่นฯ ในทางลับ ไม่เปิดเผย เพราะการหมิ่นฯ ลักษณะนั้นป็นผลมาจาการที่ประชาชนมีข้อสงสัย แต่ไม่มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนรับฟังข้อมูลต่างๆ ถาเรามีเวทีที่ถูกต้องชอบธรรม มีเหตุผล การกระทำที่ใช้อารมณ์ก็จะลดน้อยลงไป ไม่มีการไปติดตามข้อมูลที่เป็นการใช้อารมณ์หรือหยาบคาย

แต่เราก็ต้องยอมรับว่าการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตก็จะเปิดกว้างมากขึ้น เพราะการรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์เป็นการปรับตัวที่สำคัญของสถาบันการเมืองทุกสถาบันในโลกนี้

 

การแก้ไข ม. 112 จะช่วยฟื้นฟูประชาธิปไตยได้อย่างไร

ยุกติ มุกดาวิจิตร: ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ พ.ศ.2475 การฟื้นฟูประชาธิปไตย จึงหมายถึงการฟื้นฟูหลักการสำคัญของคณะราษฎรตามคำประกาศฉบับที่ 1 ได้แก่ เอกราช ความปลอดภัยภายในประเทศ ความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ ความเสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา หลักการดังกล่าวสามารถมีได้ตามหลักประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ การฟื้นฟูหลักดังกล่าว จึงเป็นการยืนยันตามหลักที่คณะราษฎรได้ประกาศไว้

จะเห็นว่ากฎหมายอาญามาตรา 112 ในปัจจุบัน ไม่ได้ให้หลักประกันกับประชาชนในหลักสิทธิเสรีภาพ เนื่องจากเราไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้เท่าๆ กัน เนื่องจากเมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์แล้วคนๆ นั้นก็จะถูกจับ ในขณะที่มีคนบางกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันแต่กลับถูกยกเว้นจากการดำเนินคดีด้วยอภิสิทธิ์บางอย่างในสังคม

 

การแก้ไข 112 ต้องการดูหมิ่นเจ้าอย่างเสรี เป็นข้ออ้างของพวกไม่เอาเจ้า

ยุกติ:  เรื่องเอาเจ้าไม่เอาเจ้าเป็นภาษาชาวบ้าน มันไม่เป็นประเด็น ผู้ที่เสนอให้แก้ไขไม่ได้เสนอให้ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่เป็นการปกครองที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เป็นข้อตกลงที่เราเห็นพ้องร่วมกัน ที่กล่าวหาว่าเรากลับไปใกล้ 2475 ซึ่งตลกมากคือจริงๆ เราต้องก้าวต่อไป แต่เราต้องกลับไปรื้อฟื้นเพราะที่ผ่านมาประวัติศาสตร์การเมืองไทยทำลายมติของคณะราษฎร์

ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า สิทธิในการแสดงออกเรามีไม่เท่ากัน ถ้ามีไม่เท่ากันแสดงว่ากฎหมายนี้ไม่ได้ให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอยู่ตลอดเวลา คือถ้าคุณไปอ่านข้อมูลในวิกิลีกส์ คุณจะพบว่าคนบางกลุ่มในสังคมสามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันได้อย่างเปิดเผยโดยวิธีของเขา แสดงว่ามีคนบางคนเท่านั้นหรือเปล่าที่จะมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ควรจะเปิดเผย และถึงที่สุดมันไม่ได้มีผลในการทำลายสถาบันกษัตริย์ เพราะรัฐธรรมนูญรับรองสถานะของสถาบันอยู่ และทุกคนที่ดำเนินการเรีบกร้องให้แก้ไขกฎหมายนี้ก็เพราะเหตุผลว่า เราต้องการรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยและปกป้องสถาบันกษัตริย์

 

บุคคลทั่วไปยังมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองเกียรติยศชื่อเสียง เมื่อเป็นถึงกษัตริย์ย่อมต้องมีกฎหมายคุ้มครองเป็นพิเศษหรือไม่

สาวตรี สุขศรี: ในที่สุดแล้ว ประเทศประชาธิปไตยต่างๆ มีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่บุคคลพิเศษ โดยมาจากหลักการที่ว่า บุคคลที่เป็นประมุข มีความรับผิดชอบต่อสาธารณะที่มากกว่า มีสิ่งที่ต้องแบกรับมากกว่า จึงต้องได้รับการคุ้มครองที่มากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองดังกล่าวต้องห้ามมาจากฐานันดร หรือชาติกำเนิดพิเศษ เพื่อยืนยันหลักการว่าบุคคลนั้นมีความเท่าเทียมกัน

เช่น ในสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายคุ้มครองประธานาธิบดี ซึ่งโดยความคุ้มครองพิเศษนี้ หมายถึงการมีโทษที่หนักกว่า ซึ่งมิได้ใช้กับพระมหากษัตริย์เพียงเท่านั้น แต่หมายถึงประมุขของรัฐในทุกรูปแบบ และหากว่าเรากลับไปดูข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ก็จะพบว่ามีข้อที่ให้ความคุ้มครองพิเศษแก่ประมุขด้วย ทั้งนี้ มีข้อสังเกตสองประการคือ ความคุ้มครองพิเศษดังกล่าวจำเป็นต้องเหมาะสมแก่เหตุ และสอดคล้องกับประชาธิปไตย ซึ่งในประเทศไทย บทลงโทษบุคคลธรรมดาในข้อหาหมิ่นประมาท มีจำนวน 1 ปี ในขณะที่บทลงโทษของกฎหมายอาญามาตรา 112 คือ 3-15 ปี ซึ่งจะเห็นว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

 

จริงๆ แล้วกฎหมายไม่ได้มีปัญหาที่ตัวบท แต่มีปัญหาที่การบังคับใช้ แก้ที่การบังคับใช้ไม่ดีกว่าเหรอ

สาวตรี: คำพูดแบบนี้มักจะออกมาจากนักกฎหมาย เรียนว่าที่ตอบแบบนี้ ณ ปัจจุบัน ไม่ต้องตอบก็ได้ เพราะตอบยังไงก็ถูก เหมือนการพูดว่าประชาชนคนไทยต้องกินข้าว แต่ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ได้มีกับมาตรา 112 เท่านั้น เมื่อมีปัญหาก็มักจะบอกว่ามีปัญหาที่การบังคับใช้เท่านั้น แต่มันจะแย่มากๆ เลยถ้านักกฎหมายตอบเพื่อจะกลบปัญหาว่าปัญหานั้นเป็นปัญหาในระดับตัวบทบัญญัติเช่นกัน อย่างน้อย 3 ประการ

หนึ่ง อัตราโทษ ถ้าเราย้อนกลับไปบทบัญญัติคุ้มครองพระมหากษัตริย์ก่อนที่จะแก้ไขในปี 2519 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีเท่านั้น นี่ปัญหามากกับยุคปัจจุบันที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

โทษที่กำหนดไว้มีอัตราโทษขั้นต่ำด้วย มีปัญหาแน่นอน เพราะผู้บังคับใช้กฎหมาย คือศาล ไม่สามารถใชดุลพินิจลงโทษน้อยกว่า 3 ปี ได้เลย

ประเด็นที่ 2 คือ การไม่มีบทยกเว้นความผิดและบทยกเว้นโทษ เรื่องนี้อาจารย์วรเจตน์ได้พูดแล้ว และข้อเสนอนี้นิติราษฎร์ได้เสนอเช่นเดียวกัน คือเราต้องเพิ่มบทยกเว้นความผืดขึ้นมา คือ ถ้าเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แต่ วันนี้ไม่มีบทบัญญัตินี้เลย

ประเด็นที่ 3 มาตรา 112 เป็นอาญาแผ่นดิน เปิดโอกาสให้ใครก็ได้ฟ้อง หรือกล่าวโทษต่อเจ้าพนักงาน

จากปัญหาที่กล่าวมา นักกฎหมายก็ต้องตอบว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาบทบัญญัติต่างหาก

 

ทำไมต้องคิดตามฝรั่ง คนไทยก็มีสิ่งที่เราศรัทธาในแบบของเราเอง?

วาด รวี: ถ้าหากใช้ข้อโต้แย้งนี้ ก็อาจบอกได้ว่า ประเทศไทยเดินตามฝรั่งมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 คือตั้งแต่มีการคำนวนสุริยุปราคา อย่างไรก็ตาม ไทยก็มิได้เอาความทันสมัยของฝรั่งมาทั้งหมดโดยยังตกค้างสิ่งที่ล้าหลังเอาไว้ ทั้งนี้ เขาชี้ว่า ประชาธิปไตยเป็นหลักการสากลที่ทันสมัย เป็นภูมิปัญญาของมนุษยชาติ เพราะฉะนั้น จึงไม่เกี่ยวกับการเดินตามฝรั่ง และประชาธิปไตยเป็นหลักการขั้นพื้นฐานที่เคารพสิทธิและเสรีภาพ ซึงที่มาของอำนาจมาจากประชาชน มิใช่กษัตริย์

 

คนไทยด้วยกัน หยวนๆ อยู่แล้ว แม้ว่าโทษแรงมากๆ ในที่สุดก็อภัยโทษทำไมต้องรณรงค์ขอให้ลดโทษ

วาด รวี: คนต้องมีสิทธิเสรีภาพ การอภัยโทษทีหลังแต่ลงโทษก่อนแบบไม่ได้สัดส่วนความผิด ถือว่าผิดหลักยุติธรรม ละเมิดสิทธิเสรีภาพ

(เวียงรัฐสรุปว่า เราไม่ต้องการอภัยโทษ เราต้องการเสรีภาพ)

 

ทำไมไม่รณรงค์ให้ยกเลิก 112 ไปเลย

พวงทอง:ในช่วงปีที่ผ่านมา ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ทำให้ต้องเผชิญกับแรงปะทะเยอะมากทั้งหลายภาคส่วน ทั้งนี้  คณะรณรงค์ฯ ไม่มีปัญหากับกลุ่มที่เรียกร้องให้ยกเลิก และสนับสนุนด้วยซ้ำ ให้ช่วยกันจัดเวทีรณรงค์และเคลื่อนไหวให้ยกเลิก แต่สังคมไทยยังเป็นสังคมที่มีความหลากหลายและความขัดแย้งยังรุนแรง ทำให้จำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ความเชื่อที่ถูกปลูกฝังในสังคมไทยนานนับศตวรรษ ทำให้จำป็นต้องคิดถึงกระแสสังคมด้วย

 

เอามาตรา 112 ไปเทียบกับต่างประเทศได้อย่างไรเพราะสถาบันกษัตริย์ไทยมีลักษณะเฉพาะ

พวงทอง: สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษ หรือของญี่ปุ่นก็มีลักษณะเฉพาะ สถาบันกษัตริย์ประเทศไหนก็มีลักษณะเฉพาะของเขา มีประเพณี วัฒนธรรมที่เฉพาะของเขาไป และประชาชนที่เคารพยกย่องกษัตริย์ของเขาก็มีด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ เสปน หรือประเทศอื่นๆ แต่สิ่งที่สถาบันกษัตริย์ทประเทศอื่นๆ มีก็คือความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ให้เข้ากับสังคมประชาธปิไตย และสถาบันกษัตริย์เหล่านั้อยู่เหนือการเมือง ไม่มีบทบาททางการเมืองเพราะการมีบทบาททางการเมืองนั้นอยู่ในฐานะที่เสี่ยงต่อตัวสถาบันเอง ถ้าเราจะพูดถึงลักษณะเฉพาะของสถาบันกษัตริยไทย ก็ต้องเป็นคุณค่าทางบวก ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม แต่อย่าเอากฎหมายที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน อย่าเอากฎหมายที่ทำให้เกิดความกลัวมาเป็นลักษณะเฉพาะของสถาบันกษัตริย์ของไทย

 

เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก เกิดกับคนกลุ่มน้อย เหตุใดไม่เอาเวลาไปแก้เรื่องอื่น

ยุกติ: ลักษณะแบบนี้จะทำให้เกิดพิษภัยสังคมสองประการ อย่างแรกคือ ทำให้เกิดความกลัวในการแสดงความคิดเห็น กลัวการใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ เช่น ในกรณีการประท้วงระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง โดยนายจ้างได้ใช้กลไกทางกฎหมายหมิ่นฯ ทำให้ลูกจ้างกลัว โดยการเปิดเพลงสรรเสรญพระบารมีทุกๆ 15 นาทีเพื่อกดดันลูกจ้าง และอย่างที่สองคือ ปัญหาควาไม่เป็นธรรม ด้วยการเปิดโอกาสให้ใครก็ได้เอากฎหมายนี้ไปฟ้องร้อง และยังเป็นการสร้างความกดดันในสังคม เช่น การไม่กล้าอภิปรายเรื่องนี้โดย ส.ส. หรืออาจารย์ นักศึกษา

 

เมื่อไม่ศรัทธา ทำไมไม่ไปอยู่ที่อื่น

ยุกติ:  อันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องมาคิดกันให้มาก คือมีคนวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่ากลุ่มของ ครก. และนิติราษฎร์ มักจะเคลื่อนไหวในลักษณะใช้เหตุผลเป็นหลัก คือเราเป็นนักวิชาการเป็นนักเขียน เราพูดถึงกฎหมาย กฎหมายก็เป็นเรื่องของความเป็นเหตุเป็นผล แต่การอยู่ในสังคมไม่ได้อยู่ด้วยความเป็นเหตุเป็นผลอย่างเดียว นั้นเป็นเรื่องรับได้ แต่ปัจจุบันนี้เราอยู่ในสังคมที่มีความรักสถาบันเกินกว่าที่จะรับฟังเหตุผลและคำวิพากษ์วิจารณ์ได้ นี่คือความรักที่เป็นความศรัทธา เราต้องเข้าใจว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย เรามีพระมหากษัตริย์ที่มีคนรักในลักษณะศรัทธา และมีคนรักในฐานะประมุขด้วยความเป็นเหตุเป็นผล ในขณะที่ฝ่ายเชื่อมั่นในลักษณะศรัทธา เขาอยากจะให้เรารักแบบเขา มันเป็นคนละเรื่องกัน เป็นคนละเรื่องกับความเป็นเหตุเป็นผล แล้วจะอยู่ด้วยกันอย่างไร ผมขออนุญาตอ้างถึงคุณวสิษฐ เดชกุญชร ที่มีความเห็นเรื่องการเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 โดยกล่าวถึงคนที่เรียกร้องให้แก้ไขมาตราดังกล่าว ก็ขอพื้นที่ใหความศรัทธาบ้าง ผมอยากเรียนกลับว่าคนที่รักเทิดทูนสถาบันศรัทธาเกินเหตุผลก็ขอพื้นที่ให้คนที่เคลื่อนไหวในเชิงเป็นเหตุเป็นผลบ้าง ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็จะอยู่ด้วยกันครับ

 

ทำไมต้องให้สำนักราชเลขาเป็นผู้สั่งฟ้อง

สาวตรี: ถ้าใช้ข้อโต้แย้งนี้ ก็อาจจะต้องบอกกลับไปว่า เป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่ให้ประชาชนมาฟ้องร้องในเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง นอกจากนี้ การฟ้องร้องด้วยกฎหมายหมิ่น จำเป็นต้องใช้วิจารณญาณและความอดทนส่วนบุคคลเป็นตัวตัดสิน ว่าบุคคลนั้นรู้สึกว่าถูกดูหมิ่นเหยียดหยามหรือไม่ และเนื่องจากความอดทนของแต่ละบุคคลแตกต่างกันไปตามภูมิหลังทางสังคม จึงไม่ควรให้ใครก็ได้นำกฎหมายนี้ไปฟ้องร้องกันเอง

เมื่อกลับมาที่ข้อเสนอของนิติราษฎร์ นับว่าเป็นข้อเสนอขั้นต่ำที่สุดแล้วที่ให้สำนักราชเลขาเป็นผู้ฟ้องร้อง เมื่อเทียบกับข้อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษหรือฟ้องร้องด้วนตนเอง ด้วยข้อจำกัดทางสังคมต่างๆ ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์จึงกำหนดให้สำนักราชเลขาเป็นผู้ฟ้องเอง

 

อุดมการณ์ราชาชาตินิยม จะเปลี่ยนเป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้อย่างไร

เวียงรัฐ เนติโพธิ์: ขอตอบเองว่า ก็ทำอย่างที่ทำ คือทำให้กฎหมายสอดคล้องกับประชาธิปไตยเสีย

 

ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐหรือไม่

วาด รวี: ความผิด 112 เป็นการกระทำโดยวาจา มันไม่เป็นเหตุเป็นผลเพราะการเป็นอยู่ของรัฐจะไม่ถูกสั่นคลอนเพราะตัวหนังสือ แต่การเอาผิดอย่างรุนแรงและไม่ได้สัดส่วนเพราะตัวหนังสือนั้นต่างหากที่สะท้อนว่ารัฐนี้ไม่มั่นคงในตัวเอง

รัฐที่มั่นคงในระบอบประชาธปิไตย ไม่มีรัฐไหนถือสาหาความความผิดด้วยวาจาโดยการลงโทษอย่างรุนแรง

 

ถ้าบริสุทธิ์จริง ทำไมไม่ไปต่อสู้ตามกระบวนการกฎหมาย ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทยหรือ

วาด รวี: ที่ผ่านมาศาลไทยไม่เคยต่อต้านการรัฐประหารเลยนะ นอกจากไม่ต่อต้านยังคล้อยตามและยอมรับ นอกจากคล้อยตามและยอมรับแล้วยังมีผู้พิพากษาระดับสูงไปรับใช้ เพราฉะนั้นพฤติกรรมของศาลไทยสะท้อนอุดมการณ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ในฐานะที่คดีความที่เกิดจากการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกลับถือสาเอาความและลงโทษอย่างรุนแรง มันสะท้อนว่าศาลไทยมีอุดมการณ์กษัตริย์นิยมแบบเก่า เราไม่มีความเชื่อมั่นในความยุติธรรมของศาลไทยหรอก จนกว่าศาลไทยจะมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยและเคารพเสรีภาพของประชาชน

 

มาตรา 112 เกี่ยวพันกับมาตรา 8 ถ้ายกเลิกมาตรา 112 ก็ต้องยกเลิก มาตรา 8 ด้วย

สาวตรี: คำถามนี้เป็นคำถามที่ค่อนข้างซีเรียส คือ ความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงของมาตรา 8 และมาตรา 112 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำตอบ ว่าสองมาตรานี้มีความเกี่ยวข้องกัน มักจะมาจากคำตอบของนักกฎหมายทั้งหลาย รวมถึงนักการเมืองที่เข้าใจผิด

หากเราดูให้ดี มาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญ จะเขียนไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์จะดำรงไว้ด้วยสถานะที่เป็นที่เคารพสักการะ และ ละเมิดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงวรรคแรก โดยมีวรรคที่สองของมาตรา 8 ในรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ผู้ใดจะกล่าวหรือฟ้อง ร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ นั้นมิได้  

ตรงนี้ต้องเรียนว่า หากเราไปดูรัฐธรรมนูญฉบับแรกในประเทศไทย สมัยพ.ศ. 2475 รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่มีวรรคแรก กล่าว คือไม่มีข้อความที่บอกไว้ว่า พระมหากษัตริย์ดำรงไว้ซึ่งฐานะเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ แต่จะมีวรรคสองเพียงเท่านั้นที่เขียนว่า ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางคดีมิได้ ตรงนี้ ต้องการสื่อว่า วรรคแรกที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ว่าด้วย เรื่องสถานะของพระมหากษัตริย์เกิดขึ้นมาในรัฐธรรมนูญฉบับที่สอง คือฉบับ 10 ธันวาคม 2475  

เจตนารมย์ของมาตรา 8 ต้องการเขียนไว้เพื่อให้สอดรับกับหลักการที่บอกว่า The King can do no wrong คือให้พระมหา กษัตริย์พ้นไปจากความรับผิดใดๆ แต่พระมหากษัตริย์จะพ้นจากความรับผิดใดๆ ไปก็ต่อเมื่อท่านพ้นไปจากการเมืองอย่างแท้ จริง และที่กล่าวเช่นนี้ ไม่ได้บอกว่ามีการเกี่ยวพันทางการเมืองเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ต้องการกล่าวถึงเจตนารมย์ของกฎหมายว่า เป็นแบบนั้น เอาเข้าจริงแล้ว  มาตรา 8 ต้องการเพียงจะบอกว่า จะมีการกล่าวโทษฟ้องร้องพระมหากษัตริย์มิได้ เพราะว่า ทรงมิได้ทำอะไรในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากมีคนอื่นทำให้ คือใช้อำนาจแทนในทางตุลาการ นิติบัญญัติ และบริหาร ถ้าเกิดข้อผิดพลาดขึ้นเมื่อใดในทางการบริหารประเทศ นั่นหมายความว่า ไม่ใช่เรื่องของกษัตริย์ แต่เป็นเรื่องของหน่วยงานที่ทำหน้าที่เหล่านั้น 

เพราะฉะนั้น มาตรา 8 มีความหมายเพียงเท่านี้ คือ ห้ามฟ้องร้อง ห้ามกล่าวหา อย่างไรก็ตาม มาตรา 8 ไม่ได้เป็นบทที่จะคุ้มครองหรือปกป้องไม่ให้ประชาชนทั่วไปวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯได้ ในเชิงสถาบันหรือสัญลักษณ์ ฉะนั้น ใครที่ตีความเอามาตรา 8 มาเกี่ยวพันกับมาตรา 112 แล้วบอกว่า ถ้ามีมาตรา 8 และมาตรา 112 แล้ว จึงไม่สามารถพูดถึง กล่าวถึง หรือวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตมิได้เลย อันนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง ฉะนั้นจึงต้องทำความเข้าใจให้ดี

มีตัวอย่างกรณีการฟ้องร้องกันไปที่ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป โดยคนฟ้องร้องนั้นเป็นคนสเปน กรณีของศาลรัฐธรรมนูญ แห่งยุโรป ซึ่งเกิดขึ้นในยุคของฮวน คาร์ลอส กษัตริย์สเปน ซึ่งได้เสด็จไปเปิดศูนย์การไฟฟ้าที่แคว้นบาสก์ในปี ค.ศ. 2003 ผู้กล่าวหากษัตริย์ เป็นโฆษกของกลุ่มสมาชิกรัฐสภา ซึ่งให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวโดยกล่าวว่า กษัตริย์ฮวน คาร์ลอส เป็นความ น่าละอายทางการเมืองอย่างแท้จริง ที่ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยความปลอดภัยสูงสุดของฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหารของเส ปน และรัฐบาลได้จำคุกผู้ร่วมขบวนการปลอดปล่อยแคว้นบาสก์ และมีการทรมาณด้วย โดยเขาได้พูดเชิงกล่าวหาว่า กษัตริย์สเปนได้สนับสนุนรัฐบาลในการทำการกดขี่นักโทษชาวบาสก์ที่ถูกกักขังอยู่

รัฐบาลสเปนจึงได้ฟ้องร้องบุคคลผู้นี้ในฐานะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อย่างร้ายแรง และต่อมาศาลสเปนได้ตัดสินลงโทษจำคุกหนึ่งปี ตัดสิทธิการสมัครการลงเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวและรอลงอาญา และถึงแม้ว่าจำเลยจะได้ขออุทธรณ์และฎีกาขึ้นไป ศาลฎีกาก็ได้ยืนยันตามคำตัดสินนี้ว่า จำเป็นต้องลงโทษในข้อหาหมิ่นพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนุญก็ยืนยันด้วยว่าการตัดสินนี้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม จำเลยผู้นี้ก็ได้ร้องเรียนคำตัดสินของศาลสเปนต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป ปรากฎว่าศาลสิทธิฯ ยุโรปได้ตัดสินให้กรณีนี้ขัดต่อสิทธิ เสรีภาพและสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และสั่งให้ศาลสเปนต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับจำเลยดังกล่าว โดยเขาให้เหตุผลที่น่าสนใจและอาจเทียบเคียงได้กับมาตรา 8 ของไทยว่า 

"วันที่ 3 กรกฎาคม ปี 2006 [สืบเนื่องจาก] ศาลรัฐธรรมนูญของประเทศสเปน ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปพิจารณาเห็นว่า หลักการที่ปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้ ในปัญหาว่าด้วยการให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดแก่การคุ้มครองประมุขแห่งรัฐนั้น ย่อมมีผลบังคับได้ในระบอบราชาธิปไตยเช่นที่เป็นอยู่ในสเปน ซึ่งพระองค์ดำรงอยู่ในสถาบันอันมีลักษณะพิเศษ แม้ว่ากษัตริย์สเปนทรงดำรงพระองค์ในทางเป็นกลางในทางการเมือง ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งรัฐ แต่สถานะที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายนี้ ย่อมไม่อาจปกป้องพระองค์จากข้อวิจารณ์อันชอบธรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางรัฐธรมนูญแห่งรัฐสเปนได้ ศาลแห่งรัฐบาสก์ได้อ้างเเหตุผลในเรื่องนี้ไว้ว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นั้น ย่อมมีได้ในการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องโครงสร้างที่ว่านี้ แต่ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปยืนยันว่า เสรีภาพดั่งว่านี้ย้อมมีค่ามากขึ้นไปอีก ในกรณีการแสดงความเห็นที่กระทบอย่างรุนแรงที่คัดค้านต่อระบบที่มีอยู่ของสเปน 

ข้อเท็จจริงที่ว่า กษัตริย์ย่อมปราศจากความรับผิดใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรับผิดในทางอาญา โดยผลของรัฐธรรมนูญสเปนที่บัญญัติไว้แล้ว จักให้มีผลรวมถึงการจำกัดคำวิพากษ์วิจารณ์โดยอิสระต่อความรับผิดของกษัตริย์ อันมิมีขึ้นได้ในเชิงสถาบัน หรือแม้ในเชิงสัญลักษณ์ด้วยนั้น หาอาจกระทำได้ไม่ ทั้งนี้ ภายในขอบเขตอันเป็นไปเพื่อปกป้องพระเกียรติในฐานะประมุข ซึ่งเป็นบุคคลคนหนึ่ง"

โดยสรุปแล้ว ศาลยุโรปจึงตัดสินว่า กฎหมายยืนยันปกป้องกษัตริย์ในฐานะที่เป็นสถาบันกษัตริย์เท่านั้น แต่ไม่ได้ป้องกันจากป้องกันจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน ประชาชนคนไทย จึงมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้ตามกรอบของกฎหมายและอยู่ในหลักของกฎหมาย

 

 

การร่วมเสนอชื่อ ผิดกฎหมาย ม. 112 หรือเปล่า

สาวตรี: นี่เป็นคำถามที่สะท้อนว่ามาตรา 112 เป็นปัญหาจริงๆ เราไปตีความว่าการไม่ยืน เป็นความผิดตามาตรา 112 มาถึงวันนี้ไปตีความว่าการขอให้ยกเลิก การขอให้แก้ไขเป็นความผิด ซึ่งไม่ใช่ เพราะมาตรา 112 ไม่ใช่ตัวสถาบัน สิทธิในการเข้าชื่อแก้ไขกฎหมายเป็นสิทธิตามรัฐธรมนูญนะคะ รัฐธรรมนูญยังแก้ไขได้ ทำไม กฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายอาญา จะแก้ไขไม่ได้

การพูดว่าการแตะต้องมาตรา 112 เท่ากับการหมิ่นสถาบันฯ ถ้าเป็นคำพูดที่ออกจากปากนักการเมือง ทหาร อดีตนายทหาร ต้องไล่ให้กลับไปอ่านกฎหมายให้เข้าใจเสียก่อนว่าสิทธิในการแก้ไข หรือสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิทธิตามกฎหมายไม่ผิดอะไร แต่ถ้าคนที่พูดแบบนี้เป็นนักกฎหมาย จะบอกว่า ขอให้ท่านคืนปริญญาบัตรนิติศาสตร์เลยค่ะ

 

พวกมึงเป็นคนไทยหรือเปล่า

ยุกติ: คือผมคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีคนหลากหลาย มีความคิดหลากหลาย จะเปลี่ยนให้ทุกคนคิดเหมือนกัน ให้ทุกคนแต่งตัวเหมือนกัน ไปอยู่เกาหลีเหนือดีกว่าครับ

เราอยู่ด้วยกันบนพื้นฐานของความแตกต่าง นอกจากนั้นสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ได้หยุดนิ่ง มีความเปลี่ยนแปลงเสมอ แต่เราไม่รู้สึก วันนี้เป็นวันหนึ่งที่ผมคิดว่าเรา คือสีงคมไทยกำลังรู้สึกถึงควาเปลี่ยนแปลง จะปฏิเสธว่าคนจำนวนมากที่นั่งอยู่ที่นี่ไม่ใช่คนไทยไม่ได้

ตอนนี้สังคมกำลังเกิดความไม่ไว้วางใจ ชนชั้นสูงไม่ไว้วางใจชนชั้นล่าง ชนชั้นล่างไม่ไว้วางใจชนชั้นสูง ในภาวะแบบนี้ หลักการที่สำคัญในการเคลือ่นไหว คือ หลักการของ "อภัยยะ" คือการวางใจกัน ไม่ใช่แค่ในความหมายที่ว่า “อย่ากลัว” แต่ “วางใจกัน” ผมอยากจะบอกว่า “ไว้ใจเราเถอะครับ” เรายังไม่เปลี่ยนแปลงไวขนาดนั้นหรอกครับ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หมอตุลย์ชุมนุมอนุสาวรีย์ชัย ค้าน "ครก.112" ล่าชื่อ

Posted: 15 Jan 2012 02:34 AM PST

นพ.ตุลย์ลั่นไม่ได้ขวาง-แต่คัดค้านการล่าชื่อแก้ ม.112 จึงไม่ถือว่าผิดกฎหมาย อัด "วรเจตน์" นั่นแหละที่ทำผิดกฎหมายเอง ด้านโฆษก ปชป. เรียกร้องคนไทย ชาว ม.ธรรมศาสตร์ แสดงจุดยืนต่อต้าน เพราะการล่าชื่อแก้ ม.112 ถือเป็นการกำเริบเสิบสาน จงใจปล่อยให้เกิดความอาฆาตต่อสถาบันฯ

นพ.ตุลย์ชุมนุมอนุสาวรีย์ชัย คัดค้านนิติราษฎร์ล่าชื่อ

ตามที่วันนี้ (15 ม.ค.) ที่ห้องประชุมศรีบูพา (หอประชุมเล็ก) มธ.ท่าพระจันทร์ มีการเปิดตัวคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือ "ครก.112" นั้น ในขณะเดียวกัน มีความเคลื่อนไหวของเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน หรือ "กลุ่มเสื้อหลากสี" นำโดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ รวมตัวกันในเวลา 16.00 น. ที่อนุสาวรืย์ชัยสมรภูมิ โดยในเฟซบุคของกลุ่มระบุว่า เพื่อเคลือนไหวเพื่อแสดงพลังปกป้องสถาบัน พระมหากษัตริย์ โดยมีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อคัดค้านการแก้ไข หรือ การยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในทุกกรณี ยังระบุด้วยว่า "จะคัดค้านการนำเงินภาษี ไปแจกจ่ายให้กับผู้ทำผิดกฎหมายที่ออกมาเผาบ้านเผาเมือง"

"ถ้าทุกคนไม่ออกมาคัดค้านมติคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ ต่อไปพวกเราจะกลายเป็นคนที่ทำมาหากินแล้วจ่ายภาษีเลี้ยงโจรแดงให้มันมาเผาบ้านเผาเมืองอีก ขอเชิญออกมาคัดค้านกันเยอะๆ และ วันอังคารที่ 17 มกราคม 2555 เวลา 9.00 น. เรียนเชิญทุกท่านร่วมยื่นหนังสือคัดค้านการนำเงินภาษีไปเยียวยาผู้กระทำผิดกฎหมายให้กับนายกรัฐมนตรี ณ. ทำเนียบรัฐบาล พบกันบริเวณ หน้าประตู 4" เว็บไซต์ของกลุ่มระบุ

 

เผยถ้าล่าได้ครบหมื่นจะไปยื่นที่รัฐสภา - คานข้อเสนอ "นิติราษฎร์"

โดยหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ยังรายงานว่า นพ. ตุลย์ ให้สัมภาษณ์ว่าขณะนี้ล่ารายชื่อเพื่อคัดค้านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  ได้ 1,000 คนแล้ว โดยจะล่าให้ครบ 1 หมื่นคนภายในสิ้นเดือนนี้ จากนั้นก็จะยื่นหนังสือต่อไปที่รัฐสภา เพื่อให้สภาได้พิจารณาประกอบกับร่างของคณะนิติราษฎ์ว่าควรไม่ควรอย่างไร รวมถึงจะมีการชุมนุมคัดค้านไปด้วย ซึ่งจะชุมนุมกันในทุกๆ วันศุกร์ ที่สวนลุมพินี ส่วนจะออกมาชุมนุมใหญ่เมื่อไรนั้น ตนขอรอดูสถานการณ์ไปก่อน

 

ลั่นกฎหมายไม่ห้ามการคัดค้านการล่าชื่อ อัด "วรเจตน์" นั่นแหละทำผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ หากกลุ่มของคณะนิติราษฎ์ล่ารายชื่อได้ครบก่อนกลุ่มตนก็ไม่เป็นไร ก็ให้เขาส่งไปที่สภาก่อน เพราะยังมีเวลาเหลือเยอะ ไม่ใช่ว่าใครเสนออะไรเข้าไปแล้วรัฐสภารับหลักการเลยทันที เขาก็ต้องมาพิจารณาดูก่อนว่าจะรับหรือไม่รับยังไง

ส่วนที่นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ใครที่ขัดขวางการล่ารายชื่อนั้นมีความผิดตามพระราชบัญญัติเรื่องการเข้ารายชื่อเสนอกฎหมาย มีโทษทั้งจำทั้งปรับนั้น นพ.ตุลย์กล่าวว่า การคัดค้านไม่มีข้อห้ามเอาไว้ ตัวนายวรเจตน์เองนั่นแหละที่ทำผิดกฎหมายเอง

 

"ประสงค์" ลั่นคนล่าชื่อไม่สำนึกบุญคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 กล่าวว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่จะฟ้องร้องประชาชนของพระองค์ท่านมิได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายคุ้มครอง ฉะนั้นการคิดแก้ไขหรือยกเลิกก็ตาม อยากถามว่ากฎหมายที่วางไว้ หากไม่ได้กระทำผิดลักษณะอย่างนี้ คุณจะเดือดร้อนทำไม กฎหมายก็จะกลายเป็นเพียงกฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์

“การกระทำดังกล่าวไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจ หากมีการล่ารายชื่อ ผมจะบอกว่าเป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง นักวิชาการในกลุ่มนี้ไม่สำนึกในบุญคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ทรงสร้างประเทศขึ้นมาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นมาจนถึงทุก วันนี้ และอยากบอกว่าบุคคลเหล่านี้เนรคุณต่อแผ่นดินที่มีพระมหากษัตริย์ทรงสร้าง ขึ้นมา”

น.ต.ประสงค์กล่าวต่อว่า พ่อแม่บางคนมาจากประเทศอื่น แต่ให้กำเนิดลูกที่นี่ พ่อแม่ยังสำนึกบุญคุณของประเทศมากกว่าลูกหลานบางคนเสียอีก เพราะฉะนั้นบุคคลที่ดำเนินการเรื่องดังกล่าวควรได้รับการประฌาม หากเป็นคนไทย รักผืนแผ่นดินนี้ ก็ไม่ควรทำ

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุผลในการแก้ ม.112 เป็นการแก้ไขให้ดีขึ้น กันสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกดึงมาใช้ทางการเมือง น.ต.ประสงค์กล่าวว่า เรื่องจะใช้เป็นเครื่องมือหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ ต้องไปดูตรงนั้น หากเจ้าหน้าที่ไม่ดีเขาก็จะดำเนินการอย่างเก่าได้ และตนอยากถามเหมือนกันว่า เหตุใดจึงไม่แก้กฎหมายอาญาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ทำไมเฉพาะเจาะจงแต่ ม.112

 

โฆษก ปชป. แจงใช้งบ 6 พันล้านสลายชุมนุม
เพื่อไม่ให้ ปชช.ถูกหลอกเป็นโล่มนุษย์

ขณะเดียวกัน เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานความเห็นของนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กรณีที่มีกล่าวว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ใช้เงินถึง 6พันล้านบาท ในการสลายการชุมนุม โดยนายชวนนท์ขอชี้แจงว่า เป็นการใช้เงินเพื่อปกป้องประชาชนไม่ให้ถูกหลอกให้เป็นโล่มนุษย์ ป้องกันแกนนำ ให้ปลอดภัยและถ้ามี่การใช้เงินก้อนนี้เชื่อว่า จะมีคนเสื้อแดงอีกจำนวนมาต้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ตามความต้องการของแกนนำ

 

อัดนิติราษฎร์กำเริบเสิบสาน

นายชวนนท์กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มนิติราษฎร์ เตรียมล่ารายชื่อผู้สนับสนุนให้มีการแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า "ขอเรียกร้องให้คนไทย โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกันแสดงจุดยืน และแสดงปฏิกิริยาว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะถือเป็นการกำเริบเสิบสาน จงใจปล่อยให้เกิดความอาฆาตต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อนำสู่การล้มล้างและเปลี่ยนแปลงหรือไม่"

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฟังบรรยายวิชาแก้ ม.112 โดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์

Posted: 15 Jan 2012 01:27 AM PST

อ่านข้อเสนอฉบับเต็มของนิติราษฎร์เพื่อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่นี่ พร้อมอรรถาธิบายจากวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แก้ทำไมและอย่างไร

 

วันที่ 15 ม.ค. 2555 ที่ห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์อธิบายโดยละเอียดถึงหลักการและเหตุผลในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเขากล่าวว่าจริงๆ เราไม่จำเป็นต้องมาอยู่กันตรงนี้ ถ้าสภาฯ รับที่จะแก้ไขมาตราดังกล่าว เป้าหมายเบื้องต้นคือนำร่างฯ ฉบับนี้ไปถึงมือของประธานรัฐสภา และให้สภาฯ พิจารณาไปตามลำดับ เราไม่มีอำนาจแก้ไขกฎหมายเอง ที่ทำได้คือการรวบรวมรายชื่อ ระยะเวลาที่เราจะใช้เบื้องต้นคือ 112 วัน
 

ผลแห่งผลไม้พิษรัฐประหาร 2519
“จากนี้เราจะต้องประสบพบเจอบุคคลที่ไม่เห็นด้วย พรรคการเมืองหลายพรรคการมืองก็แสดงเจตจำนงชัดเจนแล้วว่าจะไม่แก้ไขมาตรา 112” ตัวแทนนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์กล่าวและเท้าความถึงกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2519 มีการล้อมปราบนักศึกษา ท้องสนามหลวง เป็นสถานที่ประหัตประหารนักศึกษา ในเวลานั้น นักศึกษาของหลายมหาวิทยาลัยถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ วิทยุยานเกราะที่เป็นกระบอกเสียงภาครัฐได้ปลุกระดมให้ประชาชนเกลียดชังนักศึษาและนำไปสู่ความรุนแรง สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์สมัยใหม่

ผลพวงครั้งนั้นเกิดการรัฐประหาร และมีการออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมป.อาญา 112 การแก้ไขในคราวนั้นเป็นการแก้ไขกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำ 3 ปี ถึง 15 ปี หลังจากนั้นก็มีการเอากฎหมายฉบับนี้ไปใช้ เช่น คุณวีระ มุสิกพงศ์ หรือบุคคลที่ไม่ยืนขณะเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี และการใช้กฎหมายนี้รุนแรงมากขึ้น หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 และปรากฏสถิติสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ

ผมในฐานะนักเรียนเก่าเยอรมัน นึกไปถึงช่วงที่เยอรมนีปกครองโดยจักรพรรดิ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และมีการฟ้องร้องด้วยข้อหาหมิ่นฯ จำนวนมาก หลังสงครามสงบลง ก็มีการยกเลิกกฎหมายมาตราดังกล่าวด้วย

ปัจจุบันเยอรมนีมีความผิดฐานหมิ่นประมาทประธานาธิบดีเช่นกัน ซึ่งต่างจากคนทั่วไป แต่ในการขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีจะมีเอกสารให้ประธานาธิบดีลงนามสละสิทธิการใช้มาตราดังกล่าว หลายคนรู้ว่ากฎหมายแบบนี้ยิ่งใช้มากเท่าไหร่ยิ่งเป็นอันตราต่อสถาบันที่กฎหมายต้องการคุ้มครองมากเท่านั้น

สำหรับกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ พระราชินีและรัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่ได้มีปัญหาแค่โทษเกินกว่าเหตุ หรือเปิดโอกาสให้บุคคลใดๆ ก็สามารถฟ้องร้องได้ แต่ปัญหาลึกกว่านั้น เพราะในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ คือ เมื่อเกิดการร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษนั้น ในทางสังคมก็จะถูกรังเกียจ และอาจจะถูกตัดสินจากสังคมไปแล้ว ในการดำเนินคดีบ่อยครั้งบุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับการประกันตัว มีกรณีเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยศาลมักให้เหตุผลว่า บทบัญญัติในมาตรานี้กำหนดโทษไว้สูง และการกระทำดังกล่าวกระทบกระเทือนจิตใจพสกนิกรประชาชนชาวไทยเพราะเป็นการหมิ่นเบื้องสูง

สำหรับกระบวนการเข้าสู่การพิจารณาของศาล เขาจะสู้ว่าเขากระทำไม่ครบองค์ประกอบความผิด ไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย

ครั้นถึงกระบวนการพิจารณาคดีของศาล หากเขาจะต่อสู้ว่าการกระทำของเขาเป็นการพูดวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต เพื่อให้ต่อสู้ในคดี ศาลก็จะไม่ยอมให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง รวมทั้งการพิสูจน์ว่าแม้ที่กล่าวไปจะหมิ่นประมาทแต่ก็เป็นความจริง เป็นประโยชน์สาธารณะ แต่เขาก็ไม่มีสิทธิในการขอพิสูจน์ความจริงนี้ในชั้นศาล เพราะบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีเหตุยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ ซึ่งต่างจากบุคคลธรรมดา ซึ่งระบบกฎหมายจะเปิดโอกาสให้ผู้กระทำการหมิ่นประมาทได้กล่าวไปด้วยความสุจริต หรือข้อความที่กล่าวนั้นเป็นความจริงและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ไม่ใช่แค่ปัญหาตัวบทและการใช้ แต่คือปัญหาระดับอุดมการณ์
ปัญหาลำดับถัดไปคือ ปัญหาระดับอุดมการณ์ หลายคนยังเรียกว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นความผิดที่ไม่มีอยู่แล้ว นับแต่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติ ถ้าเปิดดูคำอธิบายกฎหมายอาญาที่บรรดานักวิชาการเขียนอธิบายคือ ความผิดตามมาตรา 112 จะไม่เปิดโอกาสให้โต้แย้งว่าการพูดวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นไปโดยสุจริตเพราะสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์

คำอธิบายเหล่านี้ฝังอยู่ในสำนึกของนักกฎหมาย ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติเรื่องนี้เลย บรรดาองค์กรที่ปฏิบัติการตามกฎหมาย ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ไปถึงผู้พิพากษามีแนวโน้มในการตีความบทบัญญัติดังกล่าวไปในลักษณ์ที่กว้างและไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ มีแนวโน้มที่จะตีความไม่สอดคล้องกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช นี่คืออุดมการณ์ที่กำกับบรรดาองค์การที่ปฏิบัติตามกฎหมาย

“ทุกท่านที่มาร่วมรณรงค์แก้ไขมาตรานี้ สมมติว่ามีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นว่าสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา รับไปพิจารณาและจะไปแก้ไข ท่านก็อย่าดีใจว่าปัญหาของการใช้กฎหมายนี้จะได้รับการแก้ไข หรือแม้แต่การยกเลิกไปเลย ท่านก็อย่านึกไปว่าการปรับใช้กฎหมายจะปรับใช้ไปอย่างเท่าเทียมกันระหว่างการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์กับบุคคลธรรมดา ตราบเท่าที่อุดมการณ์ระบอบประชาธิปไตยยังไม่ได้ฝังลงไปในกระบวนการตามกฎหมาย”

นี่จึงเป็นเพียงก้าวแรกที่จะไปปรับเปลี่ยน หลังจากรณรงค์เรื่องนี้แล้ว บรรดากฎเกณฑ์ทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวพันกับสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญยังจะต้องมีการอภิปรายต่อไปอย่างกว้างขวางในสังคมไทย การนำเสนอกฎหมายนี้จึงเป็นเพียงก้าวแรกในการพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่จบอยู่ที่การนำเสนอเรื่องต่อประธานรัฐสภาแล้วจบแค่นั้น แต่เป็นการพูดถึงการที่ระบอบกษัตริย์อยู่อย่างสง่างามในระบอบประชาธิปไตยและในเวทีระหว่างประเทศ

สำหรับมาตรา 112 เราถูกปิดล้อมโดยสื่อมวลชนกระแสหลัก ว่าจะถูกป้ายสีว่าเป็นการกระทำที่ไม่หวังดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมเรียนว่าที่สุดแล้วเรื่องแบบนี้ต้องการการอธิบาย การเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ยังอยู่ในกรอบของรัฐที่เป็นราชอาณาจักร คือมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพียงแต่เป็นการนำประเด็นนี้เข้าสู่พื้นที่สาธารณะ และทำให้เกิดการอภิปรายอย่างกว้างขวางและตรงไปตรงมา และไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นความผิดตามาตรา 112 เสียเอง

ในการเสนอแก้ไขนี้ เสนออะไร และทำไมไม่เสนอยกเลิกไปเลย
วรเจตน์อธิบายว่า เหตุผลที่นิติราษฎร์เสนอในแนวทางแก้ไข ไม่ยกเลิก เพราะเป้าประสงค์หลักอยู่ที่การพยายามทำให้บทบัญญัติในเรื่องนี้ได้มาตรฐานสากล คือในบรรดาประเทศที่เป็นราชอาณาจักร พบว่าประเทศเหล่านั้นแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มแรกไม่มีกฎหมายคุ้มครองพระเกียรติของกษัตริย์ ราชินี และรัชทายาทเป็นพิเศษ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งเคยมีกฎหมายลักษณะดังกล่าว แต่ยกเลิกไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ขณะเดียวกันมีอีกหลายประเทศในยุโรป เช่น นอร์เวย์ สเปน มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ บางประเทศจำกัดไว้เฉพาะพระมหากษัตริย์ และผู้สำเร็จราชการ บางประเทศครอบคลุมถึงบรรดาพระราชโอรส แต่ประเทศเหล่านี้ไม่มีประเทศใดเลยที่กำหนดโทษเอาไว้สูงเท่าที่มีในประเทศไทย

เมื่อผลการศึกษาออกมาเป็นเช่นนี้ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อทำให้บทบัญญัติมาตรานี้ไม่เป็นบทบัญญัติในหมวดความมั่นคงอีกต่อไป และเพื่ออนุวัตรให้เป็นไปตามบทกฎหมายในประเทศที่มีบทบัญญัติลักษณะนี้ เราจึงเสนอหมวดใหม่ เพื่อค้มครองกษัตริย์ รัชทายาทและผู้แทนพระองค์

หลัก 2 ประการ ในการกำหนดโทษและความผิด
หนึ่ง ต้องสอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยและได้มาตรฐานสากล
สอง ต้องอ้างอิงจากฐานความผิดที่บุคคลธรรมดากระทำต่อกัน คือเราจะไม่บัญญัติหลุดลอยไปจากกรณีที่บุคคลธรรมดากระทำต่อกัน โดยมุ่งคุ้มครองตัวบุคคล เมื่อเป็นเช่นนี้ ในการจัดทำกฎหมาย ในหมวดที่ทำขึ้นใหม่จึงเสนอให้มีการแยกตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ออกจากการคุ้มครองตำแหน่งพระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นั่นหมายความว่า 4 ตำแหน่งนี้จะไม่อยู่ในกฎหมายมาตราเดียวกันอีกต่อไป

ในส่วนที่เกี่ยวกับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ เราเสนอให้แยกความผิดฐานหมิ่นประมาท ออกจากความผิดฐานดูหมิ่นและแสดงความอาฆาตมาดร้าย

ในแง่ของโทษที่กำหนดขึ้นใหม่ กำหนดทุกฐานความผิดไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ หมายความว่า ในการกระทำความผิดทุกฐานความผิด ศาลจะลงโทษน้อยเพียงใดก็ได้ ไม่สามารถอ้างต่อไปว่าลงโทษขั้นต่ำ 3 ปี บางกรณี 5 ปี ถ้าผิด 4 กระทงก็คูณเข้าไป เป็น 12 ปี หรือ 20 ปี

และกำหนดโทษขั้นสูงสุดเอาไว้เรากำหนดเฉพาะตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แตกต่างจากบุคคลธรรมดาเล็กน้อย คือบุคคลธรรมดา 1 ปี โทษสำหรับการหมิ่นประมาทกษัตริย์ 2 ปี ส่วนพระราชินี รัชทายาท กำหนดไว้เท่ากับบุคคลธรรมดา

การกำหนดเหตุยกเว้นความผิด
แม้กระทำครองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการ ผู้ถูกกล่าวหาสามารถพิสูจน์ได้ว่าได้วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ ประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์แห่งรัฐธรรมนูญ และข้อความนั้นเป็นความจริง บุคคลนั้นไม่ต้องรับผิด แต่หากเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์และความเป็นอยู่ส่วนตัวแล้วแต่กรณี ไม่เป็นเหตุยกเว้นความผิด

เสนอสำนักราชเลขาธิการผู้มีอำนาจกล่าวโทษ
ปัญหาปัจจุบันคือ บุคคลใดก็สามารถกล่าวโทษได้เพราะมาตราดังกล่าวบัญญัติไว้ในหมวดความมั่นคง เป็นอาญาแผ่นดิน

วรเจตน์เล่ากรณีที่เกิดขึ้นใน อบต. แห่งหนึ่ง ซึ่งมีการแข่งขันกันในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ขณะที่มีการเทิดพระเกียรติ บ้านของคู่กรณีไม่ได้ประดับธงสัญลักษณ์ มีการส่งจดหมายมาถามว่า จะสามารถแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 ได้หรือไม่ เพราะไม่ได้แสดงความดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่ใครจะเป็นคนรับรองว่าเมื่อไปแจ้งความแล้วตำรวจจะไม่รับแจ้ง

วรเจตน์กล่าวต่อไปว่า ในการต่อสู้ทางการเมืองมักจะกล้าวอ้างว่าบุคคลอื่นไม่จงรักภักดี นักการเมืองหลายคนที่ต้องการอภิปรายถึงสถานะของสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาเพราะเกรงจะถูกกล่าวโทษว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

“เพื่อขจัดการใช้กฎหมายแบบนี้ เราจะไม่ยอมให้บุคคลใดก็ตามสามารถแจ้งความดำเนินคดี ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ”

โดยวรเจตน์กล่าวว่ามีการเสนอหลายความเห็น บางส่วนเสนอให้อัยการ หรือการตั้งบุคคลคณะหนึ่งขึ้นมาดำเนินการ ในส่วนของนิติราษฎร์นั้นเสนอโดยมุ่งตรงไปยังหน่วยงานที่ควรทำหน้าที่โดยตรง คือ สำนักราชเลขาธิการ

แม้ว่าจะมีข้อโต้แย้งว่าการเสนอเช่นนี้จะทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน แต่ยังยืนยันว่าต้องเป็นสำนักราชเลขาธิการ เพราะหากปล่อยให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งขึ้นมากลั่นกรอง หรือปล่อยให้บุคคลอื่นดำเนินการ ก็จะไม่พ้นไปจากแรงกดดันทางการเมืองอยู่ดี เช่น รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้วมีการหมิ่นประมาทกษัตริย์ขึ้น แล้วคณะกรรมการตกอยู่ภายใต้การกดดัน สุดท้ายก็ไม่แก้ปัญหาที่ต้องการแก้ จึงต้องหาหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งต้องเป็นสำนักราชเลขาธิการเพราะทำหน้าที่เป็นเลขาธิการในพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท ซึ่งการตัดสินใจที่ฟ้องร้องเป็นการตัดสินใจภายใน โดยสำนักราชเลขาฯ นั้น ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นการเชื่อมโยงสถาบันกษัตริย์กับสถาบันการเมือง

ในเรื่องนี้ คอป. ได้มีการเสนอขอแก้ไขมาตรา 112 เช่นกัน ใน 2 ประเด็น คือ ให้กลับไปใช้อัตราโทษก่อนการแก้ไขปี 2519 คือโทษไม่เกิน 7 ปี แต่นิติราษฎร์เห็นว่ายังไม่ได้ระดับมาตรฐานสากล

ประเด็นที่ 2 คอป. เสนอว่า ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษควรเป็นสำนักพระราชวัง ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้ว สำนักพระราชวังไม่ได้รับผิดชอบในด้านนิติการโดยตรง ขณะที่สำนักราชเลขาฯ มีกองนิติการ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ร่างนี้จะไปสู่สภาฯ แต่....
วรเจตน์ กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่าจะสามารถรวบรวมรายชื่อได้ 10,000 รายชื่อแน่นอน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะมีผู้แย้งแน่นอน คือ ในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 8 ว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ การเสนอนี้จะขัดแย้งกับมาตรา 8

วรเจตน์อธิบายว่า ไม่ขัดแย้งกันเลย เพราะยังมีบทกำหนดโทษอยู่ เพียงแต่ปรับให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

อีกเหตุผลหนึ่งคือ การกำหนดในมาตรา 8 ว่าพระมหากษัตริย์จะล่วงละเมิดมิได้ องค์พระมหากษัตริย์ต้องไปพ้นจากการเมือง เพราะการเมืองมีคนรักและคนชัง จึงต้องทำให้รับกับระบอบประชาธิปไตยคือพระมหากษัตริย์นั้นอยู่เหนือการเมือง

ข้อโต้แย้งประการต่อมา จะมีข้อโต้แย้งว่า ในประมวลกฎหมายอาญาจะมีการคุ้มครองประมุขต่างประเทศฯ และโทษสูงกว่าที่นิติราษฎร์เสนอ วรเจตน์อธิบายว่า ข้อเสนอของนิติราษฎร์คือ เอาหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองประมุขของประเทศ ไปปรับแก้กับการคุ้มครองประมุขต่างประเทศไปในคราวเดียวกันซึ่งรัฐสภาทำได้อยู่แล้ว

“หวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการปฏิรูปว่าด้วยการดูหมิ่น หมิ่นประมาทในกฎหมายไทย แต่ในช่วงทางเดิน 112 วันต่อไป คงจะมีปัญหาบ้าง ก่อนที่เราจะทำร่างฯ นี้ออกมา เราได้ตรึกตรองว่าร่างฯ นี้ทำในกรอบที่จำกัดในกรอบรัฐธรรมนูญของเรา มีกฎเกณฑ์ที่ร้อยรัดอยู่ แต่เชื่อว่าข้อเสนอนั้นสอดรับกับบรรดากฎเกณฑ์ที่มีอยู่” และเชื่อว่า ต่อไปหากกฎเกณฑ์รัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกันได้รับการแก้ไข ก็อาจจะมีการแก้ไขมาตรานี้อีก นิติราษฎร์จึงเสนอการแก้ไขภายใต้ข้อจำกัดอย่างรัดกุมที่สุด

วรเจตน์กล่าวถึงขั้นตอนต่อไป คือ พ.ร.บ. เข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยให้สิทธิแก้บุคคลในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายซึ่งต้องตีความให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญปัจจุบันนี้ โดยกำหนดให้ทำโดยประชาชนจำนวน 50,000 คน แต่บทบัญญัตินี้ถูกทับโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ซึ่งกำหนดไว้ 10,000 คน

“ที่เราต้องการคือ 10,000 คน เกินหนึ่งหมื่นคนคือสิ่งที่เราปรารถนา”

มาตรา 112 เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยตรง ประชาชนย่อมเสนอแก้ไขได้
วรเจตน์กล่าวต่อไปว่า อาจจะมีข้อโต้แย้งว่า การเสนอกฎหมายต้องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน แล้วจะมีคนไปร้องให้ตีตกไป โดยเขาอธิบายว่า ร่างแก้ไขมาตรา 112 นี้เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพโดยตรง เพราะเป็นกฎหมายที่กำหนดยกเว้นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และบทกำหนดโทษนั้นเกี่ยวข้องกับเสรีภาพของประชาชนอยู่แล้ว

“เวลานี้ พรรคการเมืองทุกพรรคปฏิเสธที่จะเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 อย่างชัดเจน แต่หนทางยังอีกยาวไกล เขาอาจจะเปลี่ยนใจก็ได้ แต่ถ้าเขาไม่เปลี่ยนใจเราก็ต้องทำใจ เพราะร่างฯ ของเราก็จะไปตกเมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภา ผมเชื่อว่าสมาชิกสภามีผู้ที่มีจิตใจรักประชาธิปไตยไม่น้อย ในเวลานี้ที่เราต้องทำคือ การรณรงค์เรื่องนี้จะเป็นการนำเอาปัญหานี้เข้าสู่พื้นที่สาธารณะอย่างเต็มรูปแบบ ผมเชื่อว่า กิจกรรมที่เราทำต่อไปจะเป็นกิจกรรมที่จะได้รับความสนใจไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะเป็นกิจกรรมที่นานาชาติสนใจอย่างแน่นอน”

วรเจตน์ กล่าวและส่งข้อความถึงบรรดาผู้ที่ต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112 ว่าในมาตรา 15 ของ พ.ร.บ. เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ว่าผู้ใดกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ความเห็นต่างกันไม่เป็นไร เมื่อเราสู่อยู่ในกรอบของกฎหมาย ก็ขอให้คนที่เห็นต่างนั้นสู้อยู่ในกรอบของกฎหมายด้วย”

และสุดท้าย วรเจตน์กล่าวถึงข้อกล่าวหาว่าสิ่งที่กำลังทำคือการจุดความขัดแย้งว่า “ประเทศเราอ่อนไหวเหลือเกินกับความขัดแย้ง เราเสแสร้งกันเหลือเกินแล้ว ผมไม่อยากจะใช้คำที่มันรุนแรงไปกว่านี้ ขอความกรุณาเถิดว่าเลิกเสแสร้ง ความขัดแย้งในสังคมประชาธิปไตยเป็นของธรรมดาเป็นของสามัญอย่างยิ่ง ขอเพียงให้คนที่เห็นต่างกันมีโอกาสพูด มีโอกาสเสนอความเห็นอย่างตรงไปตรงมา อย่าไปไล่เขา อย่าไปบอกให้เขาไปอยู่ที่อื่น อย่าไปบอกให้เขาต้องเปลี่ยนสัญชาติ สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในกรอบของกฎหมายทั้งปวง และกฎหมายที่เราเคารพนั้นก็เป็นกฎหมายที่ท่านเหล่านั้นรักษาอยู่”

วรเจตน์กล่าวต่อไปว่าสำหรับขั้นตอนจากนี้ไป กระบวนการที่จะดำเนินการต่อไปจะอยู่ในความรับผิดชอบอย่างสิ้นเชิง ของ ครก. 112 ซึ่งจะทำงานและขับเคลื่อนต่อไป “คณะนิติราษฎร์เป็นเพียงหนึ่งใน ครก. 112 โดยจะให้คำแนะนำในประเด็นกฎหมาย ถ้าท่านให้ความสนับสนุนนิติราษฎร์ก็ขอให้สนับสนุน ครก. 112 ด้วย”

วรเจตน์กล่าวทิ้งท้าย โดยแสดงความคารวะต่อผู้ที่รณรงค์ในประเด็นปัญหามาตรา 112 ก่อนหน้านี้ ว่ามีหลายคนที่ในระหว่างการต่อสู้ต้องเผชิญกับการถูกกล่าวหาเช่นนั้นด้วย เช่นกรณีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งหลังจากนิติราษฎร์เสนอหลักการแก้ไขมาตรา 112 โดยนายสมยศได้รณรงค์ต่ออย่างแข็งขัน และต่อมาได้ถูกจับกุม ดำเนินคดีและจนบัดนี้ยังไม่ได้รับการประกันตัว นอกจากนี้ กลุ่มสันติประชาธรรมที่ดำเนินการรณรงค์มาก่อนนิติราษฎร์ ยังมีนักวิชาการอื่นๆ ที่ได้ทำงานมาก่อน ถือว่าทั้งหมดมีส่วนในหน้าประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น แต่วันนี้ ถึงเวลาที่จะทำให้เรื่องนี้เป็นรูปธรรม หมดเวลาที่จะพูดอยู่ในห้อง แต่ต้องทำให้ประเด็นนี้เข้าสู่สาธารณะ

“ผมหวังว่านี่จะเป็นก้าวแรกและเป็นก้าวสำคัญที่สุดก้าวหนึ่งในการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในภาพรวมทั้งหมดในอนาคตในเวลาไม่ช้าไม่นานนี้ ในนามของนิติราษฎร์ ผมขออนุญาตขอบคุณทุกท่านที่ร่วมกิจกรรมวันนี้และหวังว่าเราจะมีความสำเร็จในการรณรงค์เรื่องนี้ต่อไป”


0000000

อ่านฉบับเต็ม ข้อเสนอนิติราษฎร์เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

คณะนิติราษฎร์: นิติศาสตร์เพื่อราษฎร

ข้อเสนอ
เพื่อการรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒

โดยตระหนักว่ามนุษย์ ไม่ว่าจะชาติกำเนิดใด ดำรงตำแหน่งสถานะใด ย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีเสรีภาพ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มีเหตุผล มีความสามารถอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง และในสังคมประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่จะขาดเสียมิได้ หากจะมีการจำกัดเสรีภาพดังกล่าว รัฐต้องกระทำเท่าที่จำเป็น และจะจำกัดจนถึงขนาดกระทบต่อสารัตถะแห่งเสรีภาพนั้นมิได้

กฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีความไม่เหมาะสมทั้งในแง่ของโครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ และการบังคับใช้ ประกอบกับกฎหมายดังกล่าวไม่มีการยกเว้นความผิดในกรณีที่บุคคลติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งในปัจจุบันปรากฏชัดว่ากฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้บุคคลนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริตและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

เพื่อรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ คณะนิติราษฎร์จึงเห็นควรเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนี้
 

 

ประเด็นที่ ๑
การดำรงอยู่ของมาตรา ๑๑๒

ข้อเสนอ
ยกเลิกบทบัญญัติมาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

เหตุผล
๑. มาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้รับการบัญญัติขึ้นโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๑ วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ซึ่งเป็น “กฎหมาย” ของคณะรัฐประหาร บทบัญญัติในมาตรานี้จึงขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
๒. ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบทบัญญัติต่างๆในประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จึงจำเป็นต้องยกเลิกบทบัญญัติมาตรา ๑๑๒ ในลักษณะ ๑. ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เพื่อนำไปบัญญัติขึ้นใหม่เป็นลักษณะ... ความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศและชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


ประเด็นที่ ๒
ตำแหน่งแห่งที่ของบทบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศและชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ข้อเสนอ
๑. เพิ่มเติมลักษณะ... ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา
๒. นำบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปบัญญัติไว้ในลักษณะ...
๓. แยกความผิดในลักษณะ... เป็น ๔ ฐานความผิด คือ

  • ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
  • ความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
  • ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
  • ความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

เหตุผล
โดยสภาพของความผิด ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีสภาพร้ายแรงถึงขนาดกระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ต่อบูรณภาพ และต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร


ประเด็นที่ ๓
ตำแหน่งที่ได้รับการคุ้มครอง

ข้อเสนอ
แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนี้
มาตรา ... “ผู้ใดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษ ...”
มาตรา ... “ผู้ใดดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษ ...”
มาตรา ... “ผู้ใดหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษ ...”
มาตรา ... “ผู้ใด ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษ ...”

เหตุผล
เพื่อให้สอดคล้องกับการแบ่งแยกการคุ้มครองระหว่างตำแหน่งพระมหากษัตริย์กับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในความผิดฐานอื่นๆ กล่าวคือ

  • ความผิดฐานปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ (มาตรา ๑๐๗)
  • ความผิดฐานกระทำการประทุษร้ายพระมหากษัตริย์ (มาตรา ๑๐๘)
  • ความผิดฐานปลงพระชนม์พระราชินี รัชทายาท และความผิดฐานฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา ๑๐๙)
  • ความผิดฐานกระทำการประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา ๑๑๐)

     

ประเด็นที่ ๔
อัตราโทษ

ข้อเสนอ
๑. ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ
๒. ลดอัตราโทษขั้นสูงให้เป็นจำคุกไม่เกิน ๒ ปี สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และกำหนดโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
๓. ลดอัตราโทษขั้นสูงให้เป็นจำคุกไม่เกิน ๑ ปี สำหรับความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และกำหนดโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
๔. ลดอัตราโทษขั้นสูงให้เป็นจำคุกไม่เกิน ๑ ปี สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และกำหนดโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
๕. ลดอัตราโทษขั้นสูงให้เป็นจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน สำหรับความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และกำหนดโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

เหตุผล
๑. ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่มีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงยิ่งไม่ควรมีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำในความผิดฐานดังกล่าว
๒. เปิดโอกาสให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษจำคุกน้อยเพียงใดก็ได้ตามควรแก่กรณี และในกรณีที่ศาลเห็นว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่ไม่ควรลงโทษถึงขั้นจำคุก ศาลอาจใช้ดุลพินิจให้ลงโทษปรับแต่เพียงอย่างเดียวก็ได้
๓. เป็นการคุ้มครองบุคคลในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้สมแก่สถานะแห่งตำแหน่ง จึงกำหนดให้มีอัตราโทษขั้นสูงที่สูงกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลธรรมดา แล้วแต่กรณี และเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความร้ายแรงของการกระทำอันเป็นความผิดกับโทษที่ผู้กระทำความผิดนั้นควรได้รับ อันเป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ จึงกำหนดให้มีอัตราโทษขั้นสูงลดลงจากเดิม
๔. โดยเหตุที่พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ ซึ่งมีสถานะแตกต่างจากพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงกำหนดอัตราโทษให้แตกต่างกัน
๕. โดยเหตุที่ลักษณะของการกระทำความผิดและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท แตกต่างจากลักษณะของการกระทำความผิดและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย จึงสมควรแยกการกระทำความผิดทั้งสองลักษณะออกจากกันและกำหนดอัตราโทษให้แตกต่างกัน


ประเด็นที่ ๕
เหตุยกเว้นความผิด

ข้อเสนอ
เพิ่มเติมเหตุยกเว้นความผิด ดังนี้
มาตรา ... “ผู้ใด ติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หรือหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”

เหตุผล
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔๕ รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมาตรา ๕๐ รับรองเสรีภาพในทางวิชาการ ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อการดังกล่าว จึงไม่สมควรเป็นความผิดทางอาญา


ประเด็นที่ ๖
เหตุยกเว้นโทษ

ข้อเสนอ
เพิ่มเติมเหตุยกเว้นโทษ ดังนี้
มาตรา ... “ในกรณีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามลักษณะ... ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวแล้วแต่กรณี และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ห้ามมิให้พิสูจน์”

เหตุผล
แม้การกระทำนั้นเป็นความผิด แต่หากการกระทำนั้นเป็นการแสดงข้อความที่เป็นจริง และเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ก็สมควรได้รับการยกเว้นโทษ


ประเด็นที่ ๗
ผู้มีอำนาจกล่าวโทษ

ข้อเสนอ
๑.ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
๒.ให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

เหตุผล
๑. เพื่อมิให้บุคคลทั่วไปนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต
๒.โดยเหตุที่สำนักราชเลขาธิการเป็นหน่วยงานของรัฐ มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์ตามมาตรา ๔๖ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๕๔๕ และมีสถานะเป็นกรม อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา ๔๖ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๕๔๕ มีกองนิติการทำหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และงานส่วนพระองค์และดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบในความรับผิดชอบของสำนักราชเลขาธิการ จึงสมควรให้สำนักราชเลขาธิการทำหน้าที่ปกป้องพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

หมายเหตุ ข้อเสนอนี้นอกจากจะเป็นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ แล้ว คณะนิติราษฎร์ยังมุ่งหวังให้เป็นมาตรฐานในการปฏิรูปกฎเกณฑ์ความผิดฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทกรณีอื่นๆในประมวลกฎหมายอาญาให้เป็นระบบและสอดคล้องกับข้อเสนอนี้ในโอกาสต่อไปด้วย


คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ท่าพระจันทร์, ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๔

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวตูนิเซียชุมนุมเรียกร้องแก้ปัญหาว่างงาน ในวันครบรอบไล่อดีต ปธน.

Posted: 14 Jan 2012 11:38 PM PST

ครบรอบ 1 ปี  อดีต ปธน. เบน อาลี หนีออกนอกประเทศ ประชาชนหลายพันคนชุมนุมเรียกร้องแก้ปัญหาว่างงานจากที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 19 ขณะเดียวกันรัฐบาลใหม่ก้ได้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง 9,000 ราย

 

14 ม.ค. 2012 - ชาวตูนิเซียหลายพันคนชุมนุมที่ใจกลางกรุงตูนิส เรียกร้องในเรื่องแก้ปัญหาว่างงาน ในวันเดียวกับที่ครบรอบปีการออกจากประเทศของอดีตประธานาธิบดี ซีเน เอล อบิดีน เบน อาลี ออกจากประเทศ

ผู้ประท้วงพากันเปล่งสโลแกนว่า "งาน เสรีภาพ และศักดิ์ศรี" "งานคือสิทธิ" "พวกเราจะยังคงสู้ต่อไป" โดยพวกเขายังได้พากันชูป้ายอยู่บนท้องถนนใจกลางย่านเดียวกับที่ให้กำเนิดปรากฏการณ์ "ดอกไม้บานในอาหรับ" (Arab Spring)

"พวกเราปฏิวัติต่อต้านเผด็จการเพื่อเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องศักดิ์ศรีในชีวิตของพวกเรา และไม่ต้องการช่วยให้พวกฉวยโอกาสสร้างความทะเยอทะยานทางการเมือง" ซาเลม ซิโตนี หนึ่งในผู้ประท้วงกล่าว

ผู้ประท้วงต่างพากันสวมชุดสีแดงขาวซึ่งเป็นสีของธงชาติตูนีเซีย และเรียกร้องให้นึกถึง "ผู้เสียสละ" ที่ถูกสังหารไปในช่วงที่เกิดความไม่สงบก่อนที่เบน อาลี จะถูกโค่นล้ม

พวกเขาถือป้ายที่อ่านว่า "พวกเราซื่อสัตย์ต่อการหลั่งเลือดของผู้เสียสละ" และ "พวกเราจะไม่ลืมผู้เสียสละ"

หลายคนยังได้ตะโกนคำว่า "ไสหัวไป" กับ "ไปได้เสียที" ซึ่งเป็นคำยอมนิยมที่มีคนใช้ขับไล่เบน อาลี ก่อนที่เขาจะลงจากตำแหน่งไปในวันที่ 14 ม.ค. 2011

คนที่ได้รับบาดเจ็บในช่วงที่มีการปฏิวัติก็พากันมานั่งปักหลักชุมนุมอยู่นอกทำเนียบรัฐบาลในเมืองเก่าคัสบาห์

นักข่าวของอัลจาซีร่า นาซานีน โมชิรี รายงานว่า สถานการณ์ของตูนิเซียในวันนี้ เป็นทั้งวันของการเฉลิมฉลองและวันของการสะท้อนมุมมอง

"มีคนเสียชีวิตกว่า 200 คนในช่วงปฏิวัติ และปัญหาการว่างงานก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ในสัปดาห์นี้เอง มีคนเผาตัวตายไป 4 คนแล้ว แบบเดียวกับที่ โมฮาเม็ด บูวอาซีซี เคยทำ" นาซานีน โมชิรี กล่าว

บูวอาซีซีคือ คนขายผักอายุ 26 ปี จากเมืองซีดี บูวซิด การเผาตัวตายของเขากลายเป็นชนวนให้เกิดการปฏิวัติตูนิเซีย

 

งานฉลอง

การปฏิวัติตูนิเซียกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศในแถบตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศอียิปต์และลิเบีย

มีผู้นำต่างชาติหลายประเทศที่ถูกวางตัวไว้ว่าจะมาเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองในช่วงสุดสัปดาห์ หนึ่งในนั้นมี ชีค ฮาหมัด คาลิฟา อัล ธานี ผู้เป็นหนึ่งในผู้ให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหว "ดอกไม้บานในอาหรับ" และมุสตาฟา อับเดล จาลิล ประธานสภาถ่ายโอนอำนาจของลิเบีย

สิ่งท้าทายรัฐบาลใหม่

เบน อาลี ถูกศาลตูนิเซียตัดสินให้มีความผิดทั้งอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและคดีความอื่นๆ เขาหลบหนีไปอยู่ที่ซาอุดิอาระเบีย หลังจากที่ฝรั่งเศสปฏิเสธไม่ให้เขานำเครื่องบินลงจอด

รัฐบาลใหม่ของตูนิเซียเปิดเผยว่า ทางการซาอุดิอาระเบียปฏิเสธคำขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งจะทำให้เบน อาลี ถูกส่งตัวกลับประเทศ และจะถูกดำเนินคดีหลายคดี

ปัญหาอื่นๆ ที่รัฐบาลใหม่ของตูนิเซียต้องสะสางคืออัตราการว่างงานในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 19 และในบางพื้นที่ซึ่งถูกเมินจากผู้ลงทุนในอดีตก็เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 50 ความไม่พอใจของคนในสังคมก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

เรื่องการทุจริตก็เป็นประเด็นท้าทาย เมื่อองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ลดอันดับประเทศตูนิเซียลงจากอันดับที่ 59 มาสู่อันดับที่ 73 จากตาราง 183 ประเทศ เนื่องจากมีความหวั่นเกรงว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลในอดีตจะปะปนเข้ามาในพื้นที่การเมืองของรัฐบาลใหม่

"พวกเรามองเห็นตูนิเซียที่เปลี่ยนไป" อามีน กาลี จากศูนย์การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย 'อัล คาวาคีบิ' กล่าว

"พวกเราไม่ได้อยู่ในประเทศประชาธิปไตย พวกเราอยู่ในประเทศที่พยายามเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย และมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย"

กาลี กล่าวอีกว่าแม้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจจะยังคงมีอยู่ แต่กลุ่มนักการเมืองก็จัดการกับปัญหานี้ในทางที่ถูก ตูนิเซียเป็นประเทศที่ถูกครอบโดยการเมือง "...ไม่ได้หมายความว่ามีการแบ่งแยกแต่เป็นการถูกทำให้เป็นการเมือง"

ในฐานะครบรอบปี ทางตูนิเซียได้นิรโทษกรรมหรือปล่อยตัวนักโทษ 9,000 ราย อย่างมีเงื่อนไข มีการลดโทษประหารนักโทษ 122 รายให้เหลือเป็นการจำคุกตลอดชีวิต

ที่มา
Tunisians mark one year since Ben Ali fled, Aljazeera, 14-01-2012
http://www.aljazeera.com/news/africa/2012/01/201211414346137290.html

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดตัว "ครก.112" คาดใช้เวลา 112 วัน รวบรวม 10,000 รายชื่อ

Posted: 14 Jan 2012 11:11 PM PST

เปิดตัวคณะรณรงค์ แก้ไขมาตรา 112  ผู้ฟังล้นห้องประชุมศรีบูรพา "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" นำลงชื่อเสนอแก้กฎหมายตามข้อเสนอนิติราษฎร์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ระบุ ต้องแก้ไขมาตรานี้เพื่อแก้ไขการใช้กฎหมายอย่างฉ้อฉล

เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมศรีบูพา (หอประชุมเล็ก) มธ. ท่าพระจันทร์  กฤตยา อาชวนิจกุล กล่าวเปิดตัวคณะรณรงค์ แก้ไขมาตรา 112 โดยกล่าวขอบคุณผู้ร่วมลงชื่อและร่วมฟังการเสวนาในวันนี้ เพราะกระบวนการมีส่วนร่วมนั้นเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานในการสร้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย

จากนั้นอ่านแถลงการณ์ โดยระบุว่านับแต่การรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา สถิติการจับกุมด้วยมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉพาะปี 2553 มีการฟ้องรองถึง 478 ข้อหา  นอกจากนี้ความ “จงรักภักดี” ยังได้กลายเป็นอาวุธสำหรับข่มขู่คุกคามและสร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชน และความอ่อนไหวต่อมาตรานี้มักทำให้ผู้ถูกกล่าวหาถูกกระทำอย่างไม่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น ไม่อนุญาตให้ประกันตน ดำเนินการไต่สวนด้วยวิธีปิดลับ อีกทั้งยังต้องพบกับการกดดันจากสังคมรอบข้างอย่างมาก ทำให้เกิดกรณีล่าแม่มดจำนวนมาก

มาตรา 112 ยังป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สถานการณ์สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประเทศไทยตกต่ำอย่างถึงที่สุด โดยรายงานปี 2554 องค์กรฟรีดอมเฮาส์เปลี่ยสถานะเสรีภาพของไทยจากกึ่งเสรีเป็นไม่เสรี ส่งผลให้เราอยู่ในสถานกาพเดียวกับเกาหลีเหนือ พม่า จีน คิมบา โซมาเลีย ปากีสถาน 

ล่าสุดคดี “อากง” (นายอำพล สงวนนามสกุล)  และนายโจ กอร์ดอนได้ทำให้ชื่อเสียงประเทศไทยดังกระหึ่มไปทั้วโลก จนองค์กรระหว่างประเทศและประเทศต่างๆ ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112

ขณะเดียวกัน ภายในประเทศไทย การเรียกร้องเคลื่อนไหวให้แก้ไขมาตรา 112  ซึ่งในบรรดาการเคลื่อนไหวนี้ กลุ่มนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ได้เสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้สังคมร่วมกันพิจารณา โดยมีสาระสำคัญโดยสรุป คือ 

1. ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร

2. เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

3. แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

4. เปลี่ยนบทกำหนดโทษ โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินสามปีสำหรับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่เกินสองปีสำหรับ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

5. เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

6. เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และ

7. ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิด ให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้น แทนพระองค์”

 สำหรับการผลักดันรณรงค์ครั้งนี้ ต้องการรวบรวมรายชื่อประชาชนจำนวน 10,000 รายชื่อ โดยต่อไปนี้จะรณรงค์โดยคณะรณรงค์ 112 หรือ “ครก. 112”

การรณรงค์นี้ใช้เวลา 112 วัน โดยเอกสารที่ต้องใช้ คือ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ซึ่งลงนามรับรองเอกสารถูกต้อง และแบบฟอร์มขก. 1 โดยสามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ http://www.ccaa112.org/ และส่งเอกสารทั้งหมดได้ที่ ตู้ปณ 112 ไปรษณีย์กรุงเทพฯ 10200


ประชาชนเข้าชื่อเสนอแก้กฎหมายอาญา ม.112
 

‘นิธิ’ ระบุ แก้ 112 เพื่อแก้ปัญหาการใช้กฎหมายอย่างฉ้อฉล

ภายหลังการเปิดตัวครก. 112 มีการเปิดวีดีทัศน์ปาฐกถาโดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งเขาระบุว่าในปัจจุบันนี้ ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะให้สถาบันกษัตริย์เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ระบอบกษัตริย์ที่ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงในหลายๆ ประเทศทั่วโลกล้วนเป็นระบอบกษัตริย์ที่อนุวัตรตามระบอบประชาธิปไตย 

ประเด็นต่อมาคือสัดส่วนของการลงโทษในความผิดมาตรานี้ ไม่สอดคล้องกับความผิดที่กระทำเท่าใดนัก นั่นคือเป็นข้อบังคับแน่นอนตายตัว ไม่มีทางเลือกอื่นอีก คือ

ถ้าจำเลยถูกพิพากษาว่ามีความผิด ต้องถูกจำขัง 3 ปี เป็นอย่างต่ำ 15 ปี เป็นอย่างสูง แล้วเมื่อเอาความผิดนี้ไปเทียบกับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาก็จะพบว่าแตกต่างกันมาก และรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น

ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเพราะเหตุที่เราไปเอามาตรา 112 ไปอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ ผู้กระทำความผิดต้องเกี่ยวข้องหรือมีเจตนาชัดเจนว่ามุ่งทำลายความมั่นคงของรัฐ ถ้าป็นการกระทำที่ไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น โทษก็ยิ่งต้องลดลงไป

อีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อย คือ อำนาจในการกล่าวหาฟ้องร้องบุคคลที่กระทำความผิดตามมาตรานี้ คือให้ทุกคนมีสิทธิที่จะกล่าวหาฟ้องร้องอย่างไรก็ได้ ถ้าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความั่นคงของรัฐ แต่ปรากฏว่า มาตรานี้ถูกใช้พร่ำเพรื่อ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือแม้แต่ใครไม่ชอบหน้าใครก็สามารถนำไปฟ้องร้องกล่าวโทษได้ ฉะนั้น จึงต้องมอบให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่จะวินิจฉัยว่าควรหรือไม่ควรกล่าวโทษฟ้องร้องตามมาตรานี้

สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้ ฉะนั้นคดีที่เกี่ยวกับมาตรา 112 โดยตัวของมันเองจึงมีนัยยะทางการเมืองด้วย การตัดสินใจจะดำเนินคดีหรือไม่ ต้องใช้การพิจารณามากกว่าการบัญญัติของกฎหมาย บางครั้งการไม่ดำเนินคดี อาจจะเป็นผลดีต่อสถาบันฯ มากกว่า ไม่ใช่ใครก็ตามสามารถฟ้องร้องได้ ต้องมีหน่วยนงานที่จะใช้วิจารณญาณ 

ตัวกฎหมายที่มีอยู่ทุกวันนี้ เปิดช่องให้มีการใช้กฎหมายไปในทางที่ฉ้อฉลต่อเจตจำนงค่อนข้างมาก ฉะนั้นพยายามบอกว่า ตัวกฎหมายไม่มีปัญหา ขอให้เราแก้ไขเฉพาะแนวปฏิบัติอย่างเดียว ไม่มีหลักประกันว่า การป้องกันการปฏิบัติที่ฉ้อฉลจะเป็นผลหรือไม่ และผู้ที่พูดว่าปัญหานี้เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ภายใต้รัฐบาลที่กล่าวเช่นนั้นเองก็มีการฟ้องร้องหลายร้อยคดี

เมื่อใช้กฎหมายอย่างฉ้อฉล ภายใต้วัฒนธรรมและการเมืองที่เป็นเช่นทุกวันนี้ ก็ยิ่งทำให้การใช้กฎหมายฉ้อฉลมากขึ้นไปอีก เช่น เจ้าหน้าที่ไม่กล้าตัดสินใจไม่ฟ้อง ดังนั้นจึงต้องแก้ที่ตัวกฎหมายเพื่อให้ในทางปฏิบัติจะไม่มีใครนำมาตรานี้ไปใช้อย่างฉ้อฉลได้

ภายหลังการปาฐกถาของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้ดำเนินรายการได้ประกาศว่า รายชื่อแรกของการร่วมรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ตามข้อเสนอของนิติราษฎร์ คือ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งเข้าร่วมฟังการเสวนาดังกล่าวด้วย โดยได้รับเสียงปรบมือจากประชาชนผู้เข้าฟังการเสวนาอย่างกึกก้องด้วย

 

หมายเหตุ: งานเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน "แก้ไขมาตรา 112 กิจกรรมวิชาการและศิลปวัฒนธรรม" ซึ่งจัดโดย "คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112" เวลา 13.00-17.00 น. ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบไปด้วยการแสดงละครเวที การตอบคำถามทางวิชาการ และการอภิปรายข้อเสนอเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์ ซึ่งประชาไทจะทยอยนำเสนอต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น