โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

มติชนสัมภาษณ์ “สมคิด” ยันกรณี “ก้านธูป” ไม่ควรล่าแม่มด

Posted: 04 Jan 2012 10:41 AM PST

พร้อมแจงเหตุรับ “ก้านธูป” เข้าเรียน ชี้ไม่มีกฎข้อใดบอกว่า นศ.มธ. ต้องเคารพชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และอธิการบดีมีเรื่องมากมายที่ต้องทำ ยันไม่ควรล่าแม่มด ถึงเป็นแม่มดจริงก็สามารถอยู่ในสังคมไหนก็ได้ ด้าน “ไชยันต์ ไชยพร” ต้องการให้สถาบันกษัตริย์คงอยู่ต่อไป แต่อยากให้เลิก ม.112 เผยอยากเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เป็น “คู่ต่อสู้ทางความคิด” มาโต้เถียงกับตนอย่างเสรี 

เมื่อวานนี้ (4 ม.ค.) มติชนออนไลน์ ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณีก้านธูป และบทสัมภาษณ์ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สมคิดแจง มติชน” ทำไมจึงรับ “ก้านธูป” เข้าเรียน

โดยในบทสัมภาษณ์ ศ.ดร.สมคิด โดยพันธวิศย์ เทพจันทร์ (อ่านบทสัมภาษณ์ที่นี่) ผู้สื่อข่าวถาม ศ.ดร.สมคิด ว่า “ทำไม มธ. ถึงรับ "ก้านธูป" ให้มาศึกษา ในขณะที่ มศก. และ มก. ต่างปฏิเสธ ที่จะรับเธอเข้าเรียน” ศ.ดร.สมคิดตอบว่า “ไม่เห็นมีกฎข้อบังคับใดของมหาวิทยาลัยบอกว่า นักศึกษา มธ. ต้องเคารพชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถ้าหากมีกฎข้อนี้จริง หมายความว่า มธ. ต้องตรวจสอบว่านักศึกษาคนนี้รักชาติ รักศาสนาหรือเปล่า นับถือศาสนาไหม คำถามเหล่านี้จะเกิดทันที ไม่ใช่แต่เฉพาะก้านธูปคนเดียว ผมจึงสงสัยคนที่มาโพสต์ถามผมในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการรับก้านธูปมาเรียนที่ มธ. ว่า ทำไมถึงตั้งโจทย์กับก้านธูปคนเดียว ไม่ตั้งโจทย์นี้กับนักศึกษาอื่นเลย เพราะใน มธ. ก็มีนักศึกษาอีกมากที่ไปขึ้นเวทีชุมนุมต่างๆ ทั้งเหลืองทั้งแดง ทำไมต้องเป็นก้านธูป นี่คือคำถามของผม”

ต่อมาคือสิ่งที่ก้านธูปทำผมไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ แล้วจะมาอ้างว่าก็ให้อธิการบดีไปตรวจสอบแล้วทำไมไม่ตรวจสอบ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าอธิการบดีมีเรื่องมากมายที่ต้องทำ นักศึกษา 1 ใน 35,000 คนของ มธ. ถือว่าเล็กมาก ที่สำคัญคือสิ่งที่คนพูดว่าก้านธูปโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทนั้นเกิดขึ้นก่อน ที่เธอจะเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ และสิ่งสุดท้ายคือ เราไม่ควรไล่ล่าแม่มดเพราะเราไม่รู้ว่าเขาเป็นแม่มดจริงหรือเปล่า แล้วแม้เธอจะเป็นแม่มดจริงแต่แม่มดก็สามารถอยู่ในสังคมไหนก็ได้ ตัวอย่างเรื่องแวมไพร์ ทไวไลท์ แวมไพร์ยังอยู่กับคนได้เลย”

ศ.ดร.สมคิด ตอบตอนหนึ่งด้วยว่า “... เมื่อเทียบก้านธูปกับนักศึกษาที่เข้าร่วมกลุ่ม พคท. เมื่อหลายปีก่อน เราในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นอธิการบดี เป็นคน มธ. ถ้าเด็กมีความรู้ ความสามารถสอบเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้เธอก็ต้องได้รับการศึกษาจาก มธ. สิ่งที่เธอทำก่อนมาเข้าศึกษาใน มธ. เป็นสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครแจ้งความจับ มีเพียงแต่บอกทำผิดกฎหมาย ซึ่งกฎ ข้อบังคับของ มธ. ระบุชัดว่า หากนักศึกษาผู้ใดต้องโทษหรือมีคำพิพากษาที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ทำผิดลหุโทษ หรือทำความผิดโดยประมาท ถือว่าผิดร้ายแรงถึงมีคำสั่งให้ไล่ออก ดังนั้นผมจะไล่ก้านธูปได้ก็ต่อเมื่อมีคำพิพากษาที่สุดให้จำคุก ต่อให้ถูกแจ้งความวันนี้ผมก็ไล่เขาออกไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมขอร้องว่าอย่าไล่คนให้ไปจนตรอก ผมคิดว่าคนแต่ละคนก็มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ที่ผมคิดก็คือก้านธูปเป็นเด็กที่มีความคิดหัวรุนแรง”

ส่วนกรณีที่มีผู้นำข้อมูลส่วนตัวมาเปิดเผยในที่สาธารณะ และมีสื่อมวลชนสำนักหนึ่งลงบทความเกี่ยวกับก้านธูป ผู้สื่อข่าวถามว่าชี้แจงหรือตอบโต้สื่อดังกล่าวหรือไม่ ศ.ดร.สมคิดตอบว่า “ไม่ครับ อธิการบดีไม่ว่างขนาดนั้น น้ำท่วมเสียหาย 2,800 ล้านบาท ผมมีเรื่องใหญ่ที่ต้องคิดเยอะ มีเรื่องที่ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้อาจารย์ มธ. ทำวิจัย เพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกให้ได้ เรื่องก้านธูปนี้คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ฯ รับเรื่องและเป็นที่ปรึกษาให้เธอด้วย ปกติคณบดีไม่รับเป็นที่ปรึกษาให้แก่นักศึกษาหรอก เรื่องนี้มีคนดูแลเยอะครับ มีคนจับจ้องก้านธูปเยอะไม่ต้องห่วงอะไร ผมขอย้ำว่าถ้าก้านธูปทำอะไรผิดใน มธ. ผมก็ต้องจัดการ ซึ่งผมเองก็ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของก้านธูปตามข้อกล่าวหา เพราะฉะนั้นอย่าบอกว่าผมช่วยเหลือก้านธูปเพราะผมเป็นพวกเดียวกับก้านธูป เรื่องก้านธูปผมก็สนใจเลยเอาเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณบดีซึ่งในที่ ประชุมก็มีการพูดคุยกันว่าจะรับหรือไม่ คณบดีส่วนใหญ่ก็หนุนว่าควรรับทั้งนั้น” (อ่านบทสัมภาษณ์ในมติชนได้ที่นี่)

 

ไชยันต์ ไชยพร เสนอให้ยกเลิก ม.112 เพราะมี ม.8 ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

ส่วนในบทสัมภาษณ์ รศ.ดร.ไชยันต์ โดยฟ้ารุ่ง ศรีขาว (อ่านบทสัมภาษณ์ที่นี่) ซึ่งไชยันต์เป็น1 ใน 15 นักวิชาการผู้ลงชื่อเรียกร้องให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการกลั่นกรองการฟ้องร้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112” โดยตอนหนึ่งในบทสัมภาษณ์ไชยันต์แสดงความเห็นต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า “จุดยืนส่วนตัวของผมในขณะที่มีคนบอกว่าให้แก้ไข แต่ผมเห็นว่าควรยกเลิก มาตรา 112 แต่ต้องประชาพิจารณ์ ที่ผมคิดแบบนี้ เพราะเรามีมาตรา 8 ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้วที่คุ้มครององค์พระมหากษัตริย์ แล้วจำเป็นต้องประชาพิจารณ์ เพื่อให้ประชาชนถกเถียงพูดคุยกันว่า ตกลงแล้วสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบการปกครองที่เรามีอยู่จะเป็น อย่างไร แล้วเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์จะมีแค่ไหน และการวิพากษ์วิจารณ์กับการหมิ่นประมาทต่างกันอย่างไร แล้วคนในสังคมจะวางระเบียบให้ตัวเอง ซึ่งถ้าแก้ไขกันเงียบๆ ก็ไม่ได้ช่วยอะไร

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นว่า กฎหมายนี้คุ้มครองใครบ้าง คำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะรวมใครบ้าง หรือแยกออก เพราะในกรณีพระบรมวงศานุวงศ์ ทำสิ่งซึ่งกระทบกระเทือนสถาบันพระมหากษัตริย์ เราจะทำอย่างไร จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ไหม ถ้าคนที่ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ แต่เป็นคนใกล้ชิดสถาบันพระมหากษัตริย์ แทรกแซงกิจการราชการ หรือมีพฤติกรรมที่ไปเกี่ยวข้องกับระบบราชการแล้วทำให้เกิดความเสียหาย แล้วคนเหล่านี้จริงๆ ต้องถือว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนะ ทำให้คนเป็นห่วงสถาบัน ห่วงองค์พระมหากษัตริย์

ฉะนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ทำให้เกิดการปรับตัว ทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กับประชาชน ในแนวที่ไม่ใช่เป็นแนวดิ่งถึงขนาดต้องรอการเชื่อฟัง แต่ถ้าแนวความสัมพันธ์บนลงล่างที่เอนลง ลดความชันลงมาหน่อย ไม่ถึงขนาดเสมอภาคหรอก แต่พอสื่อสารกันได้ ไม่ได้อยู่ในระนาบสูงเกินไป ก็จะทำให้เกิดความมั่นคง ความปรับตัวขึ้น เพราะมักมีข่าวลือ ที่ทำให้เราไม่สบายใจเกี่ยวข้องกับอนาคตสถาบันด้วย ถ้าเราต้องการให้สถาบันมีความเข้มแข็ง ก็ต้องทำให้คนรอบข้างสถาบันไม่ทำอะไรที่กระทบกระเทือนการปกครองระบอบนี้”

ตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ ไชยันต์ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวด้วยว่า “...คือเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่เอาเจ้า แล้วปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนคิดที่จะเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง เขามีอยู่จริง ทีนี้ ถ้าเราไม่เปิดโอกาสให้เขาอธิบายเหตุผลของเขา เขาไปพูดใต้ดินในช่องทางอินเตอร์เน็ต มันก็จะผสมกับเรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้างหมิ่นประมาทไปใหญ่ แต่ถ้าเราเปิดกว้างให้เขาได้พูดด้วยเหตุผลว่า เขาไม่ต้องการสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะอะไร

ผมต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ต่อไปด้วยเหตุผลทางรัฐศาสตร์ ผมไม่ได้ตอบด้วยแค่คำว่าจงรักภักดี แต่ผมตอบด้วยหลักทางรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทย ฉะนั้น ผมพูดเพื่อให้สถาบันดำรงอยู่ ผมพูดได้อย่างไม่มีอุปสรรค แต่คู่ต่อสู้ทางความคิดของผมสิ (คนที่คิดแตกต่าง) เขาพูดไม่ได้ ผมอยากให้เปิดโอกาสให้เขากับผม มาโต้เถียงกันอย่างเสรี ผมก็มั่นใจในเหตุผลของผมที่จะโต้กับเขา แต่ถ้ายิ่งมีกฎหมายไปห้าม มีเงื่อนไขทางสังคมที่ไปปิดกั้นเขาออกไป มันก็ยิ่งไปยืนยันว่าสิ่งที่เขาต้องการให้เปลี่ยน มันสมควรต้องเปลี่ยน มันยืนยันสิ่งที่เขาตำหนิว่าเราไม่ใช่ประชาธิปไตย แล้วก็เราเป็นระบอบราชาธิปไตยที่กดขี่เป็นเผด็จการ แต่ถ้าเขาหมิ่นประมาทเรื่องส่วนตัวที่ทำให้สาธารณะเสียหาย คนอื่นก็ควรพูดได้ตั้งคำถามได้ แต่ถ้าไม่เกี่ยวกับสาธารณะก็เป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับความเป็นสถาบัน...” (อ่านบทสัมภาษณ์ในมติชนได้ที่นี่)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักปรัชญาชายขอบ

Posted: 04 Jan 2012 08:21 AM PST

เหตุผลเป็นเสียงที่ไร้ “กระบอกเสียง” แต่เสียงของ “ตรรกะวิปริต” เป็นเสียงที่สื่อหลักพร้อมจะเป็นกระบอกเสียงให้ และคนรุ่นใหม่ที่รักชีวิตเสรีแต่ไม่เห็นคุณค่าของเสรีภาพทางการเมืองก็พากันเฮโลตามกันอย่างง่ายๆ

ยิ่งกว่า ม.112

เลื่อนหมายเรียก ‘ก้านธูป’ 11 ก.พ.รอง ผบก.น.2 สั่งสอบเพิ่ม-'เฉลิม'เรียกไอเอสพีเข้าพบ

Posted: 04 Jan 2012 07:07 AM PST

 

4 ม.ค.55 ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณี สน.บางเขนส่งหมายเรียก ‘ก้านธูป’ นักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยธรมศาสตร์ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีการนัดหมายกันในวันที่ 11 ม.ค.นี้นั้น มีการเลื่อนไปเป็นวันที่ 11 ก.พ.55 แล้ว

ส่วนที่รัฐสภา เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ได้เชิญตัวแทนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) หลายบริษัทเข้าพบ อาทิ ดีแทค ทรีบอร์ดแบรนด์ ทีโอที แคท ฯ  เพื่อหารือความร่วมมือในการปิดกั้น URLs ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม โดยเฉพาะส่วนที่มีการหมิ่นเบื้องสูง โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่าในที่ประชุมได้มีการหารือกันเรื่องการสร้างความร่วมมือให้มีการปิดกั้นเว็บที่มีปัญหาให้เร็วขึ้น เพื่อไม่ให้มีการเผยแพร่ขยายวงกว้าง โดยขณะนี้วอร์รูมของตำรวจกำลังสร้างซอฟท์แวร์ที่จะเชื่อมโยงคำสั่งศาลในการปิดกั้น URL มายังไอเอสพีได้โดยตรงเพื่อความแม่นยำและรวดเร็วของข้อมูล โดยรองนายกฯ ได้ย้ำว่าเพื่อให้การจัดการปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจึงต้องการใช้หลักรัฐศาสตร์นำ โดยเฉพาะการขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการ

ขณะที่มติชนออนไลน์รายงานข่าวโดยอ้างแหล่งข่าวเป็นพนักงานสอบสวน สน.บางเขน ระบุว่า เนื่องจากมีการแจ้งความไว้จึงต้องออกหมายเรียกเพื่อสอบปากคำเพิ่มเติม หากผู้ถูกกล่าวหามาพบต่อหน้าเจ้าหน้าที่ก็จะต้องแจ้งข้อกล่าวหาทันที อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวน สน.บางเขน มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง "ก้านธูป" เนื่องจากพบว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ก็ไม่ได้ยืนยันว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้โพสต์ข้อความ สอบพยานหลักฐานแล้วพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นคนโพสต์ข้อความดังกล่าว และช่วงเวลาที่มีการกระทำความผิด ผู้ถูกกล่าวหามีอายุเพียง 13-14 ปี ไม่น่าจะมีความคิดเห็นที่รุนแรงทางการเมือง พนักงานสอบสวนจึงสันนิษฐานว่ามีผู้อื่นไปโพสต์ข้อความแทนโดยใช้ชื่อ "ก้านธูป"

"สำนวนคดีดังกล่าว พนักงานสอบสวนได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องมา 2 เดือนกว่าแล้ว และทำเรื่องเสนอความเห็นเสนอไม่ฟ้องไปยังกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 (บก.น.2) แต่มีรองผบก.น.2 ได้มีความเห็น ให้สอบ ′ก้านธูป′ เพิ่มเติม พนักงานสอบสวนจึงจำเป็นจะต้องออกหมายเรียก ‘ก้านธูป′ มาสอบเพิ่มเติมในวันที่ 11 ม.ค.55 ซึ่งจะต้องแจ้งข้อกล่าวหาทันทีที่ผู้ถูกกล่าวหามาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน ตามข้อกฎหมาย แต่ขึ้นอยู่กับ ′ก้านธูป′ จะแจ้งขอเลื่อน หากมีเหตุจำเป็น ก็เลื่อนไปก่อนก็ได้" แหล่งข่าวกล่าว

 
 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จตุพร พรหมพันธุ์เตรียมออกรายการวู้ดดี้สมใจ

Posted: 04 Jan 2012 07:00 AM PST

"วู้ดดี้" ประกบจตุพร - สุริยะใส สัมภาษณ์ออกรายการ "เช้าดูวู้ดดี้" เทปวันที่ 5 ม.ค. เผยรู้จักกันมานานกว่า 20 ปี ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อการชุมนุม 10 เม.ย. 54 จตุพรเคยปราศรัยอยากให้วู้ดดี้เชิญไปออกรายการบ้าง

มีรายงานว่า ในรายการ "เช้าดูวู้ดดี้" ที่จะออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ในเวลา 8.00 น. วันที่ 5 ม.ค. นี้ นายวุฒิธร มิลินทจินดา หรือ "วู้ดดี้" พิธีกรรายการได้เชิญนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย กับนายสุริยะใส กตะศิลา แกนนำกลุ่มกรีน อดีตผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาออกรายการร่วมกัน โดยเนื้อหาจะเป็นการพูดถึงความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนที่มีต่อกันมานานกว่า 20 ปี แม้ปัจจุบันจะมีความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน

อนึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อ 10 เม.ย. 54 นายจตุพรเคยปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในโอกาสครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุม 10 เมษายน 2553 ว่าอยากให้นายวุฒิธร หรือวู้ดดี้ เชิญไปออกรายการบ้าง “ผมก็อยากให้วู้ดดี้เชิญนายจตุพร หรือนางพะเยาว์ อัคฮาดไปออกรายการบ้าง เพราะเราไม่ได้เกิดมาคุย แต่เกิดมาตาย” (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กระจายอำนาจ สู่การปฏิรูปโครงสร้างรัฐชายแดนใต้ (4)

Posted: 04 Jan 2012 06:09 AM PST

 

 

เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ข้อเสนอรูปแบบการกระจายอำนาจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมากมายหลากหลาย

คณะทำงานคณะทำงานด้านปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ (กระจายอำนาจ) ในการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากสภาประชาสังคมชายแดนใต้ จึงต้องนำข้อเสนอต่างๆ มาพิจารณาจัดหมวดหมู่ เพื่อนำไปเสนอในที่ประชุมสมัชชาเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 5 มกราคม 2555

ในที่สุดก็พบว่าข้อเสนอรูปแบบการกระจายอำนาจ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอยู่ 6 ทางเลือก

2 ใน 6 ทางเลือกคือ ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. และทบวงบริหารราชการพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” ได้นำเสนอไปเมื่อตอนที่แล้ว

ตอนนี้จึงถึงคิวนำเสนอทางเลือกที่ 3 สามนคร 1 และทางเลือกที่ 4 สามนคร 2

อันที่จริงรูปแบบการปกครองที่เรียกว่า “นครปัตตานี” ถูกนำเสนอโดยพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีมาก่อน จากนั้นจึงมีผู้นำเสนอรูปแบบการปกครอง “สามนคร” คือ นครปัตตานี นครยะลา และนครนราธิวาสขึ้นมาประกบ

รู้จักการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษสามนคร
บทความวิจัย “ตัวแบบทางกฎหมายสำหรับการปกครองท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยอำนาจ ศรีพูนสุข ระบุสาระสำคัญของระบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เป็นการเปลี่ยนจาก “จังหวัด” มาเป็น “นคร” หรือ “City” ทั้งในกรณีของนครยะลา นครนราธิวาส และนครปัตตานี โดยให้ทั้ง 3 นครเป็นนิติบุคคล มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกันกับกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา

นครทั้งสามจะมีโครงสร้างสำคัญๆ ดังนี้คือ “สภานคร” ที่จะมีฐานะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ภายใต้ “เขต” หรืออำเภอเดิม และมาจากการคัดเลือกสมาชิกสภาเทศบาลในพื้นที่นั้นๆ

นอกจากนี้ยังมี “คณะกรรมการสังคมและเศรษฐกิจนคร” มีบทบาทเช่นเดียวกับคณะกรรมการในเขตพื้นที่พิเศษ สมาชิกคัดสรรมาจากผู้คนกลุ่มต่างๆ

ส่วนตำแหน่ง “ผู้ว่าราชการนคร” ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในเขตนคร (หรือเขตจังหวัดเดิม) มีข้าราชการประจำคือ “ปลัดนคร” เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการส่วนท้องถิ่นในสังกัดนครนั้นๆ

โครงสร้างต่อมาคือ ในระดับ “เขต” หรืออำเภอในความหมายเดิม จะมี “สภาเขต” เป็นองค์กรที่ปรึกษาของฝ่ายบริหาร ประกอบด้วย สมาชิกที่มาจากการสรรหาตำบลละ 2 คน มี “ผู้อำนวยการเขต” ที่แต่งตั้งจากผู้ว่าราชการนครเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการส่วนท้องถิ่น และทำหน้าที่เป็นผู้แปรนโยบายสู่การปฏิบัติ

มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการประสานการพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้” มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติ เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ รวมถึงการร่วมมือพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค มี “สำนักงานคณะกรรมการประสานการพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้” เป็นหน่วยงานระดับกรม เป็นหน่วยงานเลขานุการ

นั่นเป็นผลงานวิจัยทางวิชาการ ที่นำมาสู่ทางเลือกที่ 3 และทางเลือกที่ 4 ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

ทางเลือกที่ 3 สามนคร 1
เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเป็นรายจังหวัด ยังคงเหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแค่ 2 ระดับคือ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล

ลักษณะเด่นของสามนคร 1 อยู่ตรงที่ประชาชนในพื้นที่เลือกตั้งผู้ว่าราชการโดยตรง เป็นรายจังหวัด ยกเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด แต่ยังคงมีเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล และยุบเลิกราชการส่วนภูมิภาค

ในส่วนของโครงสร้างการบริหาร มีผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรง สมาชิกสภาจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากเขต (อำเภอ) มีคณะกรรมการประสานงานระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลยังคงอยู่

ข้อสนับสนุน   ประชาชนสามารถเลือกผู้นำที่ตนเองต้องการได้ ในขณะที่ผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้ง มีความเป็นตัวแทนสูง และมีพันธะรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้คนที่เลือกเข้ามา

ลดแรงต้านจากองค์กรปกครองท้องถิ่นในปัจจุบัน เพราะเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลยังคงอยู่ พร้อมกับยกฐานะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง และมีอำนาจมากขึ้น

ประชาชนในพื้นที่มีโอกาส ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในท้องถิ่นมากขึ้น

ข้อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจจริง งบประมาณจำกัด ขาดความเป็นอิสระ การเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้กลุ่มอิทธิพลเข้ามามีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น ส่งผลเกิดการทุจริตสูงขึ้น และประชาชนยังไม่พร้อมที่จะเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด

ข้อเสนอที่ใกล้เคียงกับสามนคร 1 “การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ” ของคณะกรรมการปฏิรูป ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน

ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป มีสาระสำคัญตรงให้ยุบเลิกราชการส่วนภูมิภาค ปรับบทบาทหน่วยราชการในระดับจังหวัดให้เหลือเพียง 3 รูปแบบคือ

1.สำนักงานประสานนโยบาย หรือสำนักงานบริการทางวิชาการ เช่น ศูนย์วิจัยข้าว สถานีประมง ศูนย์วิจัยมลพิษสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการทำงานของส่วนกลางหรือท้องถิ่น

2.สำนักงานสาขาของราชการส่วนกลาง เฉพาะในภารกิจที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเอง เช่น การจัดเก็บภาษีรายได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม การจัดทำหนังสือเดินทาง เป็นต้น

3.สำนักงานตรวจสอบและเสนอแนะการบริหารจัดการท้องถิ่น

ส่วนภารกิจอื่นๆ ในการให้บริการของหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคในระดับจังหวัด ยกเป็นอำนาจในการบริหารจัดการขององค์กรปกครองท้องถิ่นในระดับจังหวัด และระดับต่ำกว่าจังหวัด

การปกครองท้องถิ่นแบ่งเป็น 2 ระดับ โดยให้ “องค์การบริหารส่วนจังหวัด” เป็นผู้บริหารท้องถิ่นในระดับจังหวัด และให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้บริหารท้องถิ่นในระดับต่ำกว่าจังหวัด

อนาคตควรยกระดับองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีอยู่เป็นเทศบาล ทั้งนี้การยกระดับควรคำนึงถึงขนาดหรือจำนวนประชากรที่เหมาะสมต่อการให้บริการที่ดีและมีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงรูปแบบการเลือกตั้งผู้บริหารและสภาท้องถิ่น ที่จะไม่ให้เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ระหว่างชุมชนที่อยู่ในเขตเมือง และชุมชนในเขตชนบท

การบริหารจัดการตนเองของท้องถิ่น ประกอบด้วย 2 กลไกหลัก กลไกแรกเป็นการบริหารจัดการตนเองของชุมชน และประชาชนในท้องถิ่น ด้วยรูปแบบและกลไกประชาสังคมซึ่งมีอยู่เดิมและหลากหลายในแต่ละพื้นที่ สอดประสานกับกลไกที่สองคือ การบริหารราชการหรือการปกครองท้องถิ่น ซึ่งได้รับการถ่ายโอนอำนาจมาจากรัฐบาล

ผู้บริหารและสภาท้องถิ่น ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการ ในฐานะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเช่นเดิม แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องรับรอง และสนับสนุนบทบาทของชุมชนและภาคประชาสังคม ในการมีส่วนร่วมบริหารราชการ การจัดบริการ การตัดสินใจที่มีผลสำคัญต่อการวางแผนพัฒนาท้องถิ่น และต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ยังจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่ ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน

คณะกรรมการประชาสังคม ประกอบด้วย ผู้แทนจากองค์กรชุมชน องค์กรอาชีพ องค์กรศาสนา หรือองค์กรประชาสังคมอื่นๆ เพื่อช่วยให้เกิดการปรึกษาหารือและต่อรองร่วมกัน รวมถึงเชื่อมโยงการบริหารราชการผ่านตัวแทนในระบบประชาธิปไตย กับการใช้อำนาจการตัดสินใจโดยตรงของประชาชน อันเป็นประชาธิปไตยโดยตรง เช่น การลงประชามติ หรือการลงลายมือชื่อ เพื่อยับยั้งการตัดสินใจขององค์กรปกครองท้องถิ่น

ทางเลือกที่ 4 สามนคร 2
เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเป็นรายจังหวัด ปรับจังหวัดให้เป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษคล้ายกรุงเทพมหานคร

ลักษณะเด่น ประชาชนในพื้นที่เลือกตั้งผู้ว่าราชการโดยตรงเป็นรายจังหวัด ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล

โครงสร้างการบริหาร มีผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรง สภาจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากเขต หรืออำเภอต่างๆ มีคณะกรรมการประสานงานระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น

ข้อสนับสนุน   ประชาชนสามารถเลือกผู้นำที่ตนเองต้องการได้ ในขณะที่ผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งก็มีความเป็นตัวแทนสูง และมีพันธะรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้คนที่เลือกเข้ามา ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจเต็มในการบริหารและจัดการทั้งจังหวัด

อัตรากำลังข้าราชการในท้องถิ่นจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในท้องถิ่นมากขึ้นตามไปด้วย

ข้อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์คือ จะเกิดแรงต่อต้านจากนักการเมืองท้องถิ่น ที่เคยมีบทบาทในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิม

การเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด จะทำให้กลุ่มอิทธิพลเข้ามามีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น แนวโน้มการทุจริตจะมากตามไปด้วย และความไม่พร้อมของประชาชนในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

รูปแบบที่ใกล้เคียงคือ ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พุทธศักราช ...

มีสาระสำคัญระบุว่า ให้ยกฐานะจังหวัดเชียงใหม่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ทั้งจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล  มีอำนาจในการกำหนดแนวนโยบาย ระเบียบ ข้อบัญญัติ การจัดงบประมาณ การคลัง  การจัดการบริหารบุคลากร กลไกโครงสร้างการบริหารงานภายในท้องถิ่น เพื่อการบริหารราชการท้องถิ่นได้โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นได้ครอบคลุมทุกเรื่อง

ยกเว้น 4 เรื่องหลักคือ ความมั่นคง (การทหาร) การเงิน (อัตราการแลกเปลี่ยน/สกุลเงิน) การต่างประเทศ และการศาล

ให้จัดตั้งการปกครองเชียงใหม่มหานคร เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น แบ่งพื้นที่การปกครองเป็นเขตและแขวง เปลี่ยนอำเภอให้เปลี่ยนเป็นเขต และเปลี่ยนตำบลเป็นแขวง

ให้มีสภาเชียงใหม่มหานคร โดยสมาชิกสภาเชียงใหม่มหานครมาจากการเลือกตั้ง จำนวนสมาชิกสภาเชียงใหม่มหานครขึ้นอยู่กับจำนวนเขตเลือกตั้ง ที่กำหนดโดยจำนวนราษฎรประมาณหนึ่งแสนคนตามทะเบียนราษฎร ทำหน้าที่พิจารณาข้อบัญญัติเชียงใหม่มหานคร และตรวจสอบผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร

ให้มีผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร มาจากการเลือกตั้งของราษฎร ทำหน้าที่บริหารงานเมืองเชียงใหม่มหานคร ให้มีสมาชิกสภาเขตอย่างน้อยเขตละ 7 คน มาจากการเลือกตั้งของราษฎรในเขต

ยกเลิกการปกครองในระบบองค์การบริหารส่วนจังหวัด แต่ยังคงให้มีเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบลต่อไป โดยขึ้นตรงต่อผู้อำนวยการเขต และผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร

โปรดติดตามตอนต่อไป ที่จะมาบอกเล่าถึงรูปแบบทางเลือกที่ 5 มหานคร 1 และทางเลือกที่ 6 มหานคร 2

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จี้ย้าย ‘เจ้าท่าสตูล’ จับเฟอรี่ต้าน ‘ท่าเรือน้ำลึกปากบารา’

Posted: 04 Jan 2012 05:59 AM PST

เมื่อเวลาประมาณ 09.30 น. วันที่ 3 มกราคม 2555 ที่อาคารท่าเรือท่องเที่ยวปากบารา มีการเจรจากรณีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาสตูล เลือกปฏิบัติจับเรือบรรทุกนักท่องเที่ยวของบริษัท หลีเป๊ะเฟอรี่แอนด์สปีดโบ้ท จำกัด โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 หัวหน้าสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาสตูล นายอำเภอละงู กำนันตำบลปากน้ำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ กลุ่มประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว และชาวบ้านเข้าร่วมประมาณ 100 คน

นายไกรวุฒิ ชูสกุล ผู้จัดการฝ่ายบริหารการตลาดของบริษัท หลีเป๊ะเฟอรี่แอนด์สปีดโบ้ท จำกัด เปิดเผยว่า เบื้องต้นนายวิชัย คำคง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 รับข้อเสนอของกลุ่มประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวว่าจะดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาสตูล ภายใน 1 เดือน ถ้าหากพบว่ากระทำความผิดจริงจะย้ายเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวออกจากจังหวัดสตูลทันที

นายไกรวุฒิ เปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 จะชดใช้เงินที่บริษัทหลีเป๊ะเฟอรี่ฯและผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวสำรองเงินให้นักท่องเที่ยวที่ตกรถและตกเครื่องบินเบ็ดเสร็จ 9 หมื่นกว่าบาท รวมถึงสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาสตูลจะต้องออกมายอมรับผิดถึงการกระทำที่ได้เลือกปฏิบัติด้วย

นายไกรวุฒิ เปิดเผยด้วยว่า หากผลการดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาสตูล ภายใน 1 เดือน ปรากฏออกมาว่าไม่มีความผิด ผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวตำบลปากน้ำ จะชุมนุมกดดันที่ศาลากลางจังหวัดสตูล รวมถึงชุมนุมปิดท่าเรือปากบารา ให้ย้ายเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวออกจากจังหวัดสตูลให้ได้

นายไกรวุฒิ เปิดเผยว่า นอกจากนี้จะมีการดำเนินคดีตามกฏหมายกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 จังหวัดสตูลคนดังกล่าว ส่วนกรณีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศแจ้งว่า จะยื่นเรื่องกับกงสุลของแต่ละประเทศ ให้ดำเนินการกับสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 จังหวัดสตูลเช่นกัน

“ขณะเดียวกันเรากำลังร่างหนังสือร้องเรียนเพื่อส่งไปยังกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม สำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูลต่อไปด้วย” นายไกรวุฒิ กล่าว

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ของวันที่ 2 มกราคม 2555 เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาสตูล จับเรือบรรทุกนักท่องเที่ยวของบริษัท หลีเป๊ะเฟอรี่ฯ ที่บริเวณเกาะไข่ ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา หลังจากวิ่งจากท่าเรือเกาะหลีเป๊ะ โดยแจ้งว่าบรรทุกนักท่องเที่ยวเกิน 65 คน ตามจำนวนที่นั่งของเรือ ขณะที่ปล่อยให้เรือของอีกหลายบริษัทให้บริการรับส่งผู้โดยสารต่อไป ทั้งที่บรรทุกผู้โดยสารเรือเกินกำหนดเช่นกัน

โดยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาสตูลให้เรือลอยลำอยู่ในทะเลกว่า 1 ชั่วโมง ก่อนสั่งให้กัปตันขับเรือกลับไปยังเกาะหลีเป๊ะ และสั่งให้นักท่องเที่ยวขึ้นลงเรือถึง 3 ครั้ง โดยมีทหารเรือ และตำรวจน้ำเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยให้เรือของบริษัท หลีเป๊ะเฟอรี่ฯ เดินทางต่อไปได้ ขณะที่ทางบริษัท หลีเป๊ะเฟอรี่ฯ ได้โทรศัพท์พูดคุยกับหัวหน้าสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 จังหวัดสตูลแล้ว แต่เจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 จังหวัดสตูลไม่ยินยอม ยืนยันว่าลูกน้องทำตามกฎหมาย

ก่อนหน้าที่เรือของบริษัท หลีเป๊ะเฟอรี่ฯ ออกจากท่าเรือที่เกาะหลีเป๊ะ กัปตันเรือได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 จังหวัดสตูล ซึ่งประจำอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะว่า มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 9 คน โดยสารเรือเกินจำนวนที่นั่งเพื่อลงที่เกาะตะรุเตา เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวอนุญาต เพราะเห็นว่าเป็นเรือเที่ยวเดินทางเข้าฝั่งเที่ยวสุดท้าย

ต่อมา เวลา 15.00 น. วันเดียวกัน ชาวบ้านและกลุ่มประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวประมาณ 100 คน ได้ชุมนุมปิดทางเข้าท่าเรือปากบารา เรียกร้องให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 จังหวัดสตูล ปล่อยเรือบริษัทหลีเป๊ะเฟอรี่ฯ เพราะไม่เห็นด้วยกับการเลือกปฏิบัติ และการกักตัวนักท่องเที่ยว เป็นผลให้มีการปล่อยเรือลำดังกล่าวในเวลาต่อมา และเดินทางมาถึงฝั่งท่าเรือปากบารา เวลาประมาณ 18.00 น. เบื้องต้นนั้นบริษัท หลีเป๊ะเฟอรี่ฯ ได้สำรองเงิน 6 หมื่นบาทให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 6 คนที่ตกเครื่องบิน รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ตกรถโดยสาร

ต่อมาบริษัทหลีเป๊ะเฟอรี่ฯ และกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว ชมรมมัคคุเทศน์ท้องถิ่น ได้ประสานไปยังผู้อำนวยการเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 หัวหน้าสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 จังหวัดสตูล ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอละงู จังหวัดสตูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายอำเภอละงู เพื่อเจรจาพูดคุยกันในวันที่ 4 มกราคม 2555 ที่ท่าเรือปากบารา

บริษัทหลีเป๊ะเฟอรี่ฯ และกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว ชมรมมัคคุเทศน์ท้องถิ่น มีข้อเสนอให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 จังหวัดสตูลรับผิดชอบ กรณีบริษัทหลีเป๊ะเฟอรี่ฯ สำรองเงินจำนวน 9 หมื่นบาทให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 6 คน ที่ตกเครืองบิน และขอให้ย้ายเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 จังหวัดสตูลที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้โดยด่วน อีกทั้งต้องออกมายอมรับผิดที่เลือกปฏิบัติด้วย

สำหรับนายไกรวุฒิ เป็นหนึ่งในแกนนำคัดค้านการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่มีกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เป็นผู้ดำเนินโครงการ ทั้งนี้ บริษัท หลีเป๊ะเฟอรี่แอนด์สปีดโบ้ท จำกัด เป็นบริษัทที่คนในท้องถิ่นร่วมกันลงทุน

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

งานเยียวยาไฟใต้ของภาคประชาสังคม

Posted: 04 Jan 2012 05:53 AM PST

แม้ 8 ปีแห่งเหตุการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้จะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 4,557 ราย และบาดเจ็บ 8,096 ราย หากแต่ในวันนี้ ยังมีผู้คนอีกไม่น้อยที่พร้อมจะลุกขึ้นทำงานช่วยเหลือเยียวยาท่ามกลางความยากลำบากนานัปการ เพราะไม่ยอมที่จะเป็นเพียง ‘เหยื่อ’ จากสถานการณ์บ่อนทำลายชีวิตปกติดังกล่าว

ทำไมต้องเยียวยา?
ท่ามกลางเสียงปืน เสียงระเบิด ที่ยังคงเกิดขึ้นตลอดต่อเนื่องมาเป็นเวลา 8 ปี และดูเหมือนจะยาวนานไม่มีที่สิ้นสุด จนเกิดมีผู้สูญเสียมากมาย อีกทั้งยังมีหญิงหม้ายและเด็กกำพร้า ที่ต้องให้การช่วยเหลือดูแล การมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก จึงทำให้ต้องมีการเยียวยาหรือการให้ความช่วยเหลือ ให้กำลังใจ เพื่อให้ผู้สูญเสียสามารถก้าวข้ามความเจ็บปวด แล้วลุกขึ้นยืนได้

งานเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบเป็นภารกิจที่กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมริเริ่มดำเนินการก่อนที่รัฐจะเห็นความสำคัญ หรือในอีกแง่หนึ่งคือก่อนที่รัฐจะมีจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กยต. ในปี 2548

การเยียวยาของกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมในช่วงแรกๆ จะไม่มีกฎเกณฑ์กติกามากมาย ใช้หลักมนุษยธรรม มีลักษณะเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ที่ทุกข์ยากลำบาก พ่อเด็กเป็นใครไม่สนใจ แต่ว่าเมื่อตายหรือเมื่อติดคุกไปแล้ว ชีวิตที่เหลืออยู่คือภรรยาและลูกๆ ซึ่งถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ พวกเขาเดือดร้อน พวกเขาได้รับผลกระทบ กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมหลายๆ กลุ่ม จึงเข้าไปเยี่ยมเยียน พูดคุย ให้กำลังใจ อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือเยียวยา แบบไม่เลือกฝ่าย

ดังนั้น การเยียวยาขององค์กรภาคประชาสังคมในช่วงเวลาแรกๆ จึงครอบคลุมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่เข้าเกณฑ์ที่รัฐจะช่วย อย่างเช่นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบในกรณีเหตุการณ์ 28 เมษายน กลุ่มครอบครัวผู้ต้องขัง เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นการเยียวยาจิตใจที่ไปช่วยลดความคับแค้นขมขื่น ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีอยู่สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ นอกจากนั้นก็ยังเน้นการช่วยเหลือเยียวยา เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว ส่งเสริมให้เขามีการรวมกลุ่ม ช่วยเหลือเยียวยากันเอง ทั้งในเรื่องของอาชีพและเรื่องของจิตใจ

คุณลม้าย มานะการ คณะทำงานผู้ประสานงานภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ลุกขึ้นมาทำงานเยียวยาในยุคแรกๆ ได้ให้ความสำคัญของงานเยียวยาว่า “คิดว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความทุกข์ที่สุด กลุ่มนี้ถือว่าความทุกข์ซ้ำซ้อนมาก นี่คือเหตุผลสำคัญควรจะมีเพื่อนดูแลเขา ให้เขาได้เข้มแข็งด้วยตัวของเขาเอง แล้ววันหนึ่งเขาจะยืนขึ้นมาได้ แล้วอาจจะได้ช่วยเหลือคนอื่นด้วย”

ผู้ที่ทำงานในด้านการเยียวยาล้วนเชื่อว่า การเยียวยาเป็นเรื่องจำเป็นในพื้นที่ความขัดแย้ง หลายคนที่ทำงานด้านเยียวยาเชื่อว่า งานด้านนี้จะลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

คุณนารี เจริญผลพิริยะ นักฝึกอบรมสันติวิธี และเป็นประธานคณะทำงานประสานงานหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ภายใต้คณะอนุกรรมการโครงการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านจิตใจจากสถานการณ์ความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า “เวลาที่ความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว ไม่เยียวยาไม่ได้ เพราะว่าทุกฝ่ายบาดเจ็บ นอกจากทางร่างกายแล้ว มันบาดเจ็บทางจิตใจด้วย การเยียวยาทางจิตใจ มันก็จะช่วยลดความรุนแรงที่อาจจะเกี่ยวเนื่องไปในอนาคตได้ด้วย”

คุณโซรยา จามจุรี หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาสังคม จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มเพื่อนครอบครัวผู้สูญเสีย ก็มีความเห็นเหมือนกันว่า “งานเยียวยาเป็นงานสันติวิธีอย่างหนึ่ง เป็นการบรรเทา ไม่ใช่แค่เฉพาะความโศก ความเศร้า แต่ว่าเป็นการบรรเทาความคับแค้น ความขมขื่นของคนที่เขารู้สึกว่าเขาถูกกระทำอย่างไร้เหตุผล และก็ยังช่วยระงับยับยั้งความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย”

คุณปาตีเมาะ เปาะอีแตดาโอะ ผู้อำนวยการกลุ่มผู้หญิงเพื่อสันติภาพ หรือ We Peace ก็แสดงความเชื่อมั่นในพลังของการเยียวยาว่า “การทำงานเยียวยา เหมือนการสร้างให้คนที่ได้รับผลกระทบ มีพลังที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น อันนั้นคือเป็นกำลังที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ด้วย”

แม้วันนี้เราไม่อาจบอกได้ว่า เหตุการณ์มันจะยุติลงเมื่อไหร่ แต่เชื่อเหลือเกินว่า เราทุกคนสามารถระงับการสูญเสียไม่ให้ขยายวงกว้างไปกว่านี้ ด้วยการเยียวยา และให้กำลังใจแก่ครอบครัวผู้สูญเสีย งานภาคประชาสังคมจึงเป็นส่วนหนึ่งของการคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น
 

เสียงสะท้อนจากครอบครัวผู้สูญเสีย
“อยู่แต่ในบ้าน ไม่อยากพบใคร ไม่อยากพูดคุยกับใคร”

“เครียด แล้วก็คิดมาก ไปไหนมาไหน รู้สึกว่าไม่มีพลัง”

“ไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิงสามีเรา เพราะว่าสามีเราเป็นคนดี ไม่มีศัตรูกับใครที่ไหน รู้สึกแย่มาก เพราะว่าเราเป็นแม่บ้าน ต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง เราก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง รายได้เราก็ไม่มี รู้สึกว่าเครียดมากตอนนั้น ถึงขั้นต้องพึ่งยานอนหลับ”

“ทางด้านจิตใจมีมาก ในช่วงนั้นคือรู้สึกว่าครอบครัวตัวเอง เจอกับความสูญเสียที่ซ้ำซากมาก ใจมันหดหู่ และมองโลกในแง่ร้าย มองโลกในแง่ลบหมดเลย”
 

เสียงสะท้อนจากผู้ที่ได้รับการเยียวยา
คุณดวงสุดา นุ้ยสุภาพ สูญเสียปู่และพ่อจากเหตุร้ายรายวันไปเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา แต่มาวันนี้ เธอได้ก้าวข้ามความเจ็บปวดและความยากลำบากจนสามารถขับเคลื่อนงานและมาช่วยกันสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ และร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ อีกทั้งยังเป็นพลังสำคัญในการสื่อสารเรื่องราวเพื่อสร้างความเข้าใจสู่ชุมชนและสังคม

ดวงสุดากล่าวว่า “ตอนเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ เครียดแล้วก็กลัวชาวมุสลิมที่อยู่ในหมู่บ้าน เรารู้สึกว่ายังมองในด้านลบอยู่ แต่พอหลังจากที่ได้รับการเยียวยาจากหลายๆ กลุ่ม ความรู้สึกด้านลบตรงนั้นมันก็เริ่มหายไป จิตใจเราสามารถดึงความรู้สึกที่มีความผูกพันสมัยก่อน ทำให้เรากับครอบครัวรู้สึกว่าได้ออกมาสู่โลกกว้างได้มีทัศนคติที่ดีต่อสังคมรอบข้าง”

“การเยียวยาที่ได้รับจากกลุ่มองค์กรต่างๆ ก็มีทั้งลักษณะการเยียวยาทางด้านอาชีพ เยียวยาทางด้านจิตใจ และเข้ามาช่วยเหลือทางด้านทุนการศึกษาให้กับน้องๆ มันเป็นการลดภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัวด้วย เป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย”

คุณมารีนา ดือเระ เป็นอีกคนหนึ่งที่สูญเสียสามีจากเหตุร้ายรายวัน เธอบอกว่า “ถ้าสมมุติไม่มีการเยียวยา เราจะอยู่ในโลกมืด คิดคนเดียวทำคนเดียว เราก็ไม่มีที่ปรึกษา แต่เมื่อการเยียวยาเข้ามา เขาเป็นที่ปรึกษาให้เรา เขาพาเราออกสู่สังคม มองเห็นในโลกกว้างที่ว่ายังมีชีวิตอีกหลายๆ ชีวิตที่ว่าประสบกับเหตุการณ์ที่แย่กว่าเรา”

“เราจะเห็นว่าการที่เรามีเพื่อนฝูงให้กำลังใจเรา ทำให้เรามีกำลังใจที่จะต่อสู้กับชีวิตของเรา มีความมั่นใจในการดำเนินชีวิตของเราต่อไป”
 

จากเหยื่อสู่คนทำงานภาคประชาสังคม
วันนี้ เราจะเห็นว่ามีกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบตั้งกลุ่มเพื่อช่วยเหลือเยียวยากันเองหลายกลุ่ม นอกจากนั้นบางคนที่เขาเข้มแข็งแล้ว ก็พร้อมที่จะเล่าเรื่องราวของตนเองสู่ชุมชนสังคม

คุณสม โกไศยกานนท์ สูญเสียสามีที่เป็นตำรวจตั้งแต่ปี 2547คุณสม ตระหนักดีว่าผู้สูญเสีย ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร ก็ล้วนมีความทุกข์ยากร่วมกัน เธอจึงก่อตั้ง “กลุ่มหัวอกเดียวกันแบ่งปันน้ำใจ” เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นหญิงหม้าย โดยไม่แบ่งข้าง แบ่งฝ่าย หรือแบ่งศาสนา งานที่กลุ่มทำคือสร้างอาชีพให้แก่หญิงหม้าย และออกเยี่ยมเยียนผู้ได้รับผลกระทบด้วยกัน

คุณสมทำงานด้านนี้มา 5-6 ปีแล้ว เธออยากเห็นคนทำงานด้านนี้ขยายวงให้กว้างขึ้นอีก เพราะเชื่อว่ามีคนต้องการความช่วยเหลืออีกเยอะ เธอคิดว่าการช่วยเหลือคนอื่น ก็คือ การเยียวยาตัวเองไปด้วยในตัว

“อย่างน้อยเราก็ได้ดูแลคนรอบข้าง และมีความรู้สึกภาคภูมิใจมากที่ได้ทำ เพราะตรงนี้เราทำด้วยใจ ด้วยจิตอาสา เราไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีใครมาจ้าง แต่เราต้องทำด้วยใจ ซึ่งอยากจะฝากให้กับเพื่อนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบที่ว่ามีโอกาส อยู่สบายแล้ว ไม่เดือนร้อนแล้ว น่าจะเผื่อแผ่โอกาสที่ตัวเองมีอยู่ ดูแลช่วยเผื่อแผ่คนรอบข้างด้วย เพราะว่า ยังมีผู้ได้รับผลกระทบอีกเยอะมาก”

ทุกวันนี้ คุณสม ยังทำงานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบรายใหม่ๆ เธอได้รับมอบหมายให้เป็นประธานผู้ได้รับผลกระทบของจังหวัดยะลา เป็นคณะกรรมการกองทุนด้วยรักและห่วงใยของตำรวจ และยังเป็นแกนนำเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้อีกด้วย

คุณแยน๊ะ สะแลแม เคยเป็นผู้ประสานงานคดีตากใบ มีลูกชายต้องโทษในคดีตากใบ (อัยการได้มีคำสั่งถอนฟ้องไปแล้ว) และยังสูญเสียสามีไปจากเหตุร้ายรายวันเมื่อปี 2550

ก๊ะแยน๊ะ บอกว่า “แรกๆ เราไม่สนใจเลย เพราะว่าเรารู้สึกว่าตัวเองได้รับผลกระทบมา เราก็คิดถึงเรื่องที่ผ่านมา เราก็ไม่ยอมรับเขามาเยียวยาเรา หลังจากนั้น หลายๆ เดือนมา หลายๆ ปีมา เราก็รู้สึกว่า เออ ดีนะ ที่เขามาเยียวยาเรา ทำให้เราได้ประสบการณ์ ได้เยียวยาคนอื่นอีก เราจึงมีแรงบันดาลใจมากที่อยากจะช่วยคนยากลำบาก หรือว่าคนจนๆ ที่ได้รับผลกระทบ เช่น สามีเขาถูกยิง แล้วสรุป 3 ฝ่ายว่าคดีส่วนตัว คนเหล่านี้ไม่ได้รับเงินเยียวยา หรือว่าทุนการศึกษาเด็ก”

ทุกวันนี้ก๊ะแยน๊ะยังคงทำงานช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคงหลายคดี และเป็นแกนนำเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้

จากวันนั้นถึงวันนี้ ก๊ะแยน๊ะเป็นผู้รู้จักของบุคคลมากมาย มีรางวัลเป็นเครื่องการันตีการทำงานและความเสียสละ ดังเช่นในปี 2550 ก๊ะแยน๊ะได้รับรางวัลผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ส่วนในปี 2552 ได้รับรางวัลพลเมืองคนกล้า

ท่ามกลางวิกฤติสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เรายังมีคนพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้ แม้ว่าจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก นั่นเพราะเราไม่ยอมจำนน ไม่ยอมพ่ายแพ้ และไม่ยอมที่จะเป็นเพียงเหยื่อจากสถานการณ์
 

สถิติข้อมูลความสูญเสีย ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน
เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ศจฉ.กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้รายงานสรุปตัวเลขความสูญเสียจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 ว่า

มีผู้เสียชีวิตไปแล้วถึง 4,557 ราย ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด แยกเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 1,910 ราย นับถือศาสนาอิสลาม 2,520 ราย ไม่ระบุศาสนา 127 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 8,096 ราย แยกเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ 5,040 ราย นับถือศาสนาอิสลาม 2,555 ราย และไม่ระบุศาสนา 501 ราย ตัวเลขนี้ไม่รวมเหตุการณ์ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

มีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อได้รับผลกระทบทั้งเสียชีวิตแล้วก็บาดเจ็บสูงมากกว่าหนึ่งหมื่นสองพันกว่าราย ถ้าจะว่าไปแล้ว กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบน่าจะสูงมากกว่านั้น

หากนับจำนวนคนที่อยู่ในครอบครัวของผู้เป็นเหยื่อเหตุการณ์ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ภรรยา ลูก หรือญาติพี่น้อง ผู้ได้รับผลกระทบอาจสูงมากถึงประมาณ 50,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้จากบทความของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี จากเว็บไซต์ deepsouthwatch.org

ผู้คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเหล่านี้นั้นต้องขาดที่พึ่งและผู้นำในการหาเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะภรรยาและลูกของผู้ที่เสียชีวิต

สำหรับข้อมูลตัวเลขเด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงเดือนสิงหาคม 2554 มีทั้งสิ้น 4,455 คน แยกเป็นจังหวัดปัตตานี 1,691 คน จังหวัดยะลา 1,027 คน จังหวัดนราธิวาส 1,586 คน และจังหวัดสงขลา 150 คน

ส่วนตัวเลขสตรีหม้ายที่ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงเดือนสิงหาคม 2554 มีทั้งสิ้น 2,295 ราย แยกเป็นจังหวัดปัตตานี  849 ราย จังหวัดยะลา 657 ราย จังหวัดนราธิวาส 714 ราย และจังหวัดสงขลา 75 ราย

สถิติคดีความมั่นคง นับถึง เดือนกรกฎาคม 2554 มีคดีอาญารวม 87,147 คดี เป็นคดีความมั่นคง 8,043 คดี เฉพาะคดีความมั่นคง เป็นคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดมากถึง 6,133 คดี คิดเป็นร้อยละ 76.25 รู้ตัวผู้กระทำความผิด 1,910 คดี คิดเป็นร้อยละ 23.75 จับกุมผู้ต้องหาได้ 1,372 คดี คิดเป็นร้อยละ 17.06 ผู้ต้องหาหลบหนี 538 คดี การดำเนินคดีความมั่นคงจำนวน 8,043 คดี

ในชั้นพนักงานสอบสวน สั่งงดสอบสวนมากถึง 5,473 คดี คิดเป็นร้อยละ 68.05 พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง 1,606 คดี คิดเป็นร้อยละ 19.97 สั่งไม่ฟ้อง 228 คดี คิดเป็นร้อยละ 2.83 อยู่ระหว่างดำเนินคดี 736 คดี คิดเป็นร้อยละ 9.15

ชั้นอัยการมีคดีอยู่ในความรับผิดชอบทั้งสิ้น 7,307 คดี สั่งงดสอบสวน 4,959 คดี คิดเป็นร้อยละ 83.08 สั่งฟ้อง 676 คดี หรือร้อยละ 11.33 สั่งไม่ฟ้อง 334 คดี หรือร้อยละ 5.60 และอยู่ระหว่างดำเนินการ 1,338 คดี หรือร้อยละ 18.31

ชั้นศาล พิพากษาแล้ว 262 คดี จำเลย 484 คน ลงโทษ 143 คดี จำเลย 243 คน คิดเป็นร้อยละ 54.58 ของคดีทั้งหมดที่พิพากษาแล้ว ยกฟ้อง 119 คดี จำเลย 241 คน คิดเป็นร้อยละ 45.42

ในจำนวนคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ เป็นโทษประหารชีวิต 21 คดี จำเลย 21 คน จำคุกตลอดชีวิต 40 คดี จำเลย 56 คน จำคุก 50 ปีลงมา 82 คดี จำเลย 166 คน ข้อมูลจากเว็บไซด์ศูนย์ข่าวอิศรา

จากการศึกษา ข้อมูลสถิติคดีและและประมวลผลคดีความมั่นคง ภายใต้โครงการการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการศึกษาข้อมูลคดีความมั่นคงที่ผ่านการพิพากษาของศาลชั้นต้นระหว่างปี 2553 ถึงต้นปี 2554 จำนวน 100 คดี ข้อสรุปที่สำคัญคือในจำนวนคดีที่ศึกษาทั้งหมดนั้น มีถึง 72 คดีที่ศาลสั่งยกฟ้องด้วยเหตุเพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ มีเพียง 28 คดีที่ถูกพิพากษาลงโทษ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตัวเลขผู้อพยพจากเกาหลีเหนือมาไทย พุ่งสูงลิ่วช่วงหลายปีที่ผ่านมา

Posted: 04 Jan 2012 05:44 AM PST

นับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา จำนวนชาวเกาหลีเหนือที่เข้ามาในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จากแค่ปีละหลายสิบคน เป็นปีละมากกว่า 2,000 คน ที่พากันหลบหนีจากการกดขี่ในประเทศของตน เดินทางอย่างลับๆ ผ่านทางจีนและลาวมาจนถึงประเทศไทย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทางการไทยมักจะไม่ส่งพวกเขากลับประเทศ และมีหลายคนสามารถเดินทางกลับไปใช้ชีวิตในเกาหลีใต้ได้ด้วย

แดเนียล ชเคียฟ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว Voice of Americas (VOA) ได้สัมภาษณ์ โทโมฮารุ เอบิอาระ นักกิจกรรมที่คอยช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเข้ามายังประเทศไทยมาเป็นเวลานานแล้ว ผ่านทางตำแหน่งของเขาคือผู้อำนวยการของ 'สมาคมช่วยเหลือผู้ถูกลักพาตัวชาวเกาหลีเหนือ' (Association for the Rescue of North Korea Abductees) พวกเขาพูดคุยกันถึงสาเหตุที่ทำให้ชาวเกาหลีเหนือเลือกเข้ามาในประเทศไทย ระยะเวลาในการเดินทาง รวมถึงกรณีล่าสุดที่หญิงไทยรายหนึ่งถูกลักพาตัวและกุมขังไว้โดยรัฐบาลเกาหลีเหนือ

0 0 0

คำถาม : อยากให้คุณเล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดของผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย
คำตอบ : ตั้งแต่เมื่อ 5 ถึง 6 ปีก่อน ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญสำหรับผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ เมื่อเดือน ม.ค. ถึงเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมามีมากถึงราวๆ 2,000 คน และถ้านับรวมกับในในอดีต 5-6 ปีที่แล้ว ตอนนี้ตัวเลขผู้อพยพชาวเกาหลีเหนือคงเป็นราวๆ 10,000 คน

มีอะไรเกิดขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อน ถึงทำให้มีคนนิยมใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางลี้ภัย
ก่อนหน้านี้จนกระทั่งถึงเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ผู้อพยพลี้ถียจำนวนมากจะเดินทางผ่านเวียดนาม ซึ่งมีจำนวนมากกว่าที่ผ่านไทย รัฐบาลเวียดนามจะส่งตัวผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต่อไปยังเกาหลีใต้เลยในทีเดียวไม่ว่าจะมี 2 คนหรือ 300 คน แต่ต่อมารัฐบาลเกาหลีเหนือก็ทักท้วงรัฐบ่าลเวียดนามในเรื่องนี้ หลังจากนั้นจุดยืนของรัฐบาลเวียดนามต่อเรื่องผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือก็พลิกด้านไป ทำให้ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือส่วนใหญ่หันมาที่ประเทศไทยแทน มีไม่กี่คนเท่านั้นที่ไปที่เวียดนามในตอนนี้

แล้วทำไมพวกเขาถึงเลือกผ่านประเทศไทย
เส้นทางหลักๆ ของผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือคือเดินทางผ่านจีนตอนเหนือไปสู่มองโกเลีย แต่เส้นทางนี้บางทีก็ยุ่งยากเนื่องจากมีการตรวจรักษาความปลอดภัยของตำรวจจีน และในช่วงฤดูหนาวก็มีสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยให้ผ่านตรงนี้ไปเท่าไหร่ เพราะมันหนาวและอันตรายเกินไป แต่เส้นทางฝั่งใต้ผ่านลาวและไทยเป็นเส้นทางที่สามารถผ่านไปได้ตลอดปี และประเทศไทยก็ไม่เคยส่งตัวผู้ลี้ภัยเกาหลีเหนือกลับประเทศ รัฐบาลไทยมองว่าพวกเขาเป็นผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฏหมาย ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย แต่ก็ไม่เคยส่งตัวพวกเขากลับประเทศเกาหลีเหนือ

เหตุใดผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือถึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้
เหตุผลยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ เหตุผลหนึ่งน่าจะมาจากการที่ตำรวจจีนในเขตทางตอนเหนือใกล้ๆ กับพรมแดนมองโกเลียมีความเข้มงวดในเรื่องผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือมาก แต่เส้นทางผ่านทางจีนตอนใต้ยังไม่เข้มงวดมากเท่า

ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือบอกอะไรคุณบ้าง คนที่คุณช่วยเหลือ พวกเขาพูดอะไรถึงสถานการณ์ในเกาหลีเหนือบ้าง
ผมไม่ได้ติดต่อพวกเขาโดยตรง แต่ถ้าผมพบว่ามีผู้ลี้ภัยถูกตำรวจไทยจับกุมตัวไว้ ผมจะเอาอาหาร เสื้อผ้า กระดาษทิชชู่ และยาไปให้ นี่คือสิ่งที่ผมทำอยู่

ตอนที่คุณนำอาหารและยาไปให้ พวกเขาอยู่ในสภาพอย่างไรบ้าง
พวกเขาไม่ได้ป่วยหนัก แต่ก็มีไข้และมีโรคผิวหนัง กับปวดท้อง ไม่ได้มีอาการขั้นสาหัส แต่แทบทุกคนจะมีปัญหาด้านสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง

แล้วพอคุณได้คุยกับชาวเกาหลีเหนือที่ถูกขังอยู่ในคุกไทยหลังลี้ภัยเข้ามา พวกเขาได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความยากลำบากในการอพยพของพวกเขาอย่างไรบ้าง
ผู้ลี้ภัยที่ผมเจอในเกาหลีใต้บอกผมว่า มีหลายคนใช้เวลาหลายปีในการเดินทางจากเกาหลีเหนือมาจนถึงประเทศไทย ขณะที่บางคนใช้เวลามาถึงไทย 3-4 เดือน แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ใช้เวลาหลายปี พอพวกเขาออกจากเกาหลีเหนือแล้วก็ใช้เวลาอยู่ในทางตอนเหนือของจีนอยู่หลายปี พวกเขาอาจจะหางานทำที่นั่น แต่แน่นอนว่าพวกเขาไม่มีพาสปอร์ตหรือสถานะที่จะทำงานในจีนได้ พวกเขาถึงหวาดกลัว กลัวว่าจะถูกตำรวจจีนจับ และบางครั้งแก็งค์มาเฟียในจีนก็มีการค้ามนุษย์ซื้อขายตัวพวกเขาโดยเฉพาะกับผู้หญิง

มีผู้หญิงชาวเกาหลีเหนือที่เกาหลีใต้คนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า เขาถูกคนจีนขายตัวเธอ 3-4 ครั้งในช่วงที่เธออยู่ในจีน แก็งค์มาเฟียจีนค้าเธอให้แต่งงานกับชาวนาในจีน เธอหนีออกมาได้แต่ก็ถูกจับโดยแก็งค์มาเฟียอีก แล้วพวกเขาก็ขายตัวเธอไปให้ชาวนาจีนอีกคนหนึ่ง เรื่องราวประมาณนี้เกิดขึ้นเยอะมาก

หลังจากการเสียชีวิตของคิม จอง อิล แล้วคุณคิดว่าจำนวนของผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือที่เดินทางผ่านไทยจะเพิ่มมากขึ้นอีกหรือไม่
ในระยะสั้นผมไม่คิดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการควบคุมพรมแดนระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือที่เข้มงวดมาก จีนส่งทหารไปยังชายแดนกว่า 2,000 นาย ดังนั้นในช่วง 2-3 เดือนนี้คงยากมากสำหรับผู้ลี้ภัย แต่หลังจากนี้ไปอีกครึ่งปีข้างหน้า ถ้าหากมีปัญหาทางการเมืองเกี่ยวกับผู้นำคนใหม่อีก พวกเขาอาจเริ่มลี้ภัยจากเกาหลีเหนืออีกครั้ง สิ่งสำคัญคือจุดยืนของจีน ถ้าหากพวกเขาจับกุมตัวผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือในตอนเหนือของจีน ก็จะทำให้ไม่มีใครสามารถลงมาถึงไทยได้ แต่ถ้าหากพวกเขาไม่จับกุม จำนวนก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้น

องค์กรของคุณทำงานเกี่ยวกับประเด็นผู้ที่ลูกลักพาตัวโดยรัฐบาลเกาหลีเหนืออย่างไรบ้าง
ตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมารัฐบาลเกาหลีเหนือก็จับตัวชาวต่างชาติรวมแล้วหลายพันคน ที่มาจาก 12 ประเทศทั่วโลกเป็นอย่างน้อย มันเป็นคำสั่งจากคิม จอง อิล และพวกเราก็ทราบว่าคนที่ถูกจับมาจากประเทศอย่างเช่น ไทย, สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, โรมาเนีย, ฝรั่งเศส เป็นต้น

และมีรายหนึ่งที่ถูกลักพาตัวเป็นหญิงไทยจากเชียงใหม่ (อโนชา ปันจ้อย สงสัยว่าถูกทหารเกาหลีเหนือลักพาตัวจากมาเก๊าเมื่อ 33 ปีก่อน) ผมทราบเรื่องนี้มาจากคำให้การในปี 2005 ของ ชาร์ล โรเบิร์ต เจนกินส์ (ทหารอเมริกันผู้ที่หนีจากค่ายทหารในเกาหลีใต้ไปยังเกาหลีเหนื่อในปี 1965 เพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบในเวียดนาม และไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากประเทศจนกระทั่งในปี 2004) ในเกาหลีเหนือ ซึ่งตอนนี้เขาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น เขาบอกพวกเราว่าในตอนที่เขาอาศัยอยู่ในเกาหลีเหนือนั้นเพื่อนบ้านของเขาเป็นหญิงไทยที่ถูกลักพาตัวจากมาเก๊า และพวกเขาก็อยู่ในบริเวณเดียวกันถึงราว 10 ปี

ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจในเกาหลีเหนือ โทโมฮารุ เอบิฮาระ ก็กำลังพยายามช่วยเหลือครอบครัว อโนชา ปันจ้อย ในการรณรงค์ให้รัฐบาลไทย ผลักดันให้รัฐบาลเกาหลีเหนือให้คำตอบเกี่ยวกับการลักพาตัวในครั้งนี้

 

 

 

ที่มา
North Korean Refugees Seek Freedom Via Thailand, 29-12-2011, Voice of America
http://www.voanews.com/english/news/asia/North-Korean-Refugees-Seek-Freedom-Via-Thailand-136370353.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เมืองไทย 2555 อะไรรอเราอยู่ ตอน 5: คุยกับวาสนา ลำดี ขบวนการแรงงานหลังวิกฤตน้ำท่วม

Posted: 04 Jan 2012 05:41 AM PST

คุยกับ “วาสนา ลำดี” อดีตคนงานที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่มใหญ่ของแรงงานหลากหลายกลุ่ม ในฐานะผู้มองเห็นปัญหาของคนงานกลุ่มต่างๆ ผ่านการบรรณาธิการข่าวนำเสนอในเว็บวอยซ์เลเบอร์ voicelabour.org ที่ถือเป็นเว็บที่มีชิ้นงานจากผู้ใช้แรงงานเองมานำเสนออย่างต่อเนื่องตลอดปีที่ผ่านมา


ปี 55 มีอะไรที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ

เรื่องของการพิพาทแรงงาน ปัญหาการเลิกจ้าง ซึ่งเป็นผลกระทบจากน้ำท่วม การถูกกระทำ-ถูกละเมิดสิทธิของคนงาน การพลิกแพลงการใช้กฎหมายของภาครัฐกับนายจ้าง ข้อกล่าวหานี้อาจดูรุนแรง แต่จากพฤติกรรมการช่วยเหลือคนงานในช่วงน้ำท่วม จะเห็นว่ามีแต่นโยบายที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้คนงาน มีการพยายามชี้ว่าการกระทำของนายจ้างถูกแล้ว ทำให้คนงานต้องยอมรับสภาพ

ต้องดูว่าการเลิกจ้างครั้งใหญ่จะมีวาระซ่อนเร้นในการเลิกจ้างหรือไม่ ที่ผ่านมา กลุ่มแรกที่ถูกเลิกจ้างในย่านอ้อมน้อยอ้อมใหญ่ สมุทรสาคร นครปฐม คือแรงงานข้ามชาติ ขณะที่ในอยุธยา ปทุมธานี กลุ่มแรกที่ถูกเลิกจ้างคือ แรงงานเหมาค่าแรง ตามมาด้วยสหภาพแรงงานและคนแก่ รวมถึงต้องจับตานโยบายขึ้นค่าจ้าง 300 บาทด้วย

นอกจากนี้ยังมีเรื่องแนวคิดการนำเข้าแรงงานข้ามชาติของกระทรวงแรงงาน ด้วยเหตุผลว่าภาคอุตสาหกรรมกำลังขาดแคลนแรงงาน โดยที่ไม่ได้พูดถึงการคุ้มครองเลย คือต้องดูว่าการนำเข้าเป็นแบบผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมายกันแน่ และมีความปลอดภัยแค่ไหน ที่จดทะเบียนแรงงานข้ามชาติกันมาก็ไม่เคยได้ตัวเลขทั้งหมดว่ามีแรงงานข้ามชาติอยู่ในไทยเท่าไหร่

ในช่วงน้ำท่วม ก็จะเห็นว่าแรงงานเหล่านี้ไม่กล้าออกมาจากที่พัก เพราะเขาเข้ามาแบบผิดกฎหมาย บ้างก็กลัวว่าออกมาแล้วจะถูกยึดบัตรไหม บางคนมาร้องเรียนว่านายจ้างไม่ได้เลิกจ้าง แต่ไม่จ่ายค่าจ้าง ไม่ให้บัตร แต่บอกว่าจะหางานที่อื่นก็ไป ให้เวลาคิดอีกสามวัน แล้วกลับมาคุยใหม่ พวกเขาเลยเป็นคนผิดกฎหมาย หางานทำก็ไม่ได้ จะย้ายก็ไม่ได้ เพราะตามกฎหมาย นายจ้างต้องทำใบเลิกจ้างก่อน

ดังนั้น จะต้องจับตารายละเอียดการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ ว่าจะดูแลเขาแบบไหน

นโยบายการลดเงินสมทบประกันสังคม ที่เหมารวมผู้ได้รับผลกระทบจากประมาณล้านคนกลายเป็นเก้าล้าน สถานประกอบจากเพียงพันกว่าแห่งกลายเป็นสามแสนกว่า มันมากเกินไป ไม่จำเป็นต้องทำขนาดนั้น มีคำถามว่าต้องการช่วยคนงานจริงหรือไม่ จะเห็นว่า แรงงานนอกระบบที่ประกันตนเองตามมาตรา 40 ก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับความช่วยเหลืออย่างไร ผู้ประกันตนเองโดยสมัครใจตามมาตรา 39 ก็ยังต้องจ่ายเงินสมทบของตัวเองตั้ง 400 กว่าบาท ดูเหมือนรัฐจะเน้นที่สถานประกอบการมากกว่า

คือมันมีผลกระทบทั้งทางอ้อมและทางตรงก็จริง แต่ควรไปดูแลว่ากระทบจริงไม่จริง ควรมีระบบตรวจสอบและประเมินด้วย แต่อันนี้ใช้วิธีการสุ่ม โยนไปหมดเลย ซึ่งจะกระทบแน่นอนต่อกองทุนประกันสังคมในอนาคต ซึ่งจะต้องเริ่มจ่ายชราภาพในปี 57 และตอนนี้ยังมีผลพวงจากการเลิกจ้าง ที่ไม่แน่ใจว่าคนงานที่อายุมากจะมีความสามารถจ่ายสมทบในมาตรา 39 ได้หรือไม่ และจะมีคนงานเข้าสู่มาตรา 39 หรือ33 อีกได้แค่ไหน เพราะฉะนั้น การลดเงินสมทบจะมีผลกระทบแน่นอน

นอกจากนี้ การมีมาตรการเพิ่มสวัสดิการต่างๆ เช่น จ่ายค่าคลอดบุตร ฯลฯ ก็ไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนงานที่ไม่มีงานทำ ความต้องการของคนงานในปี 55 คือต้องการดำรงชีวิต มีคำถามว่าจะอยู่ยังไง หกเดือนจะหางานได้ไหม มองว่า ประกันสังคมควรเอาเงินไปช่วยประกันการว่างงาน 2-3 เดือนที่ผ่านมามากกว่าการลด แลก แจก แถม

แรงงานกลุ่มอื่นๆ ที่ต้องจับตา
ระบบการเหมาช่วงการทำงาน หรือเกษตรพันธสัญญา ที่เหมือนการรับงานมาผลิตเอง มีที่ดิน สร้างสถานประกอบการของตัวเอง เล้าไก่เล้าหมูเอง การเป็นหนี้เป็นสินจะมากขึ้น เพราะหลังจากน้ำท่วม มีความเสียหายจำนวนมาก และรัฐเองก็ไม่ได้ดูแล แม้แต่เจ้าของสถานประกอบการก็ลอยตัว การแค่เอาข้าวสารไป 1 กระสอบ หรืออาหารสัตว์เท่าจำนวนสัตว์ที่เหลืออยู่ คิดว่าไม่ใช่ความช่วยเหลือที่ควรจะช่วยเหลือกัน บริษัทควรจะช่วยเหลือเขาด้วย ควรจะให้ฟรีด้วยซ้ำไป เพราะเหมือนกับเขาลงทุนที่ดินแล้ว คุณก็ควรจะลงทุนอย่างอื่นๆ ให้เขาด้วยไม่ใช่ขายให้ทุกอย่าง ตั้งแต่ยา ไก่ พันธุ์ อาหาร แล้วก็มานัดเวลาวันจับ เหมือนแค่เขามีคนซื้อประจำ ไม่ต้องไปเร่ขายเอง ซึ่งก็ไม่แน่นอนจริง เพราะถ้าหมูไม่ได้น้ำหนักตามที่กำหนดก็ไม่เอา น้ำหนักเกินก็ไม่ได้ ราคาตก ถามว่าทำไมต้องให้เขาแบกรับทุกอย่าง ภาครัฐก็ต้องดูเรื่องสัญญาที่เป็นธรรมให้เขาด้วย ซึ่งตรงนี้ไม่มี

หากบอกว่าจะไทยเป็นครัวของโลก อาหารต้องมีคุณภาพ คนที่สร้างอาหารก็ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่อยู่บนภาระรุงรังของหนี้สิน ข้าว-เมล็ดพันธุ์ที่หายไปจะมีแนวทางอย่างไร รัฐต้องเข้าไปช่วยเขา ไม่ใช่ให้เขาช่วยตัวเอง หรือไปซื้อจากบริษัทอื่นๆ ที่จะเอาของใหม่มาลงให้เขาพร้อมกับหนี้ที่จะเกิดขึ้น เป็นพันธะที่ทำให้ชีวิตของเขาไม่มีโอกาสหลุดพ้นจากหนี้ได้
 

ก่อนหน้านี้ เคยมีการประมวลข้อเสนอระยะยาวของขบวนการแรงงานว่าต้องยกเลิกการจ้างงานแบบเหมาค่าแรงไปเลย การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ปีนี้จะเป็นอย่างไร (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)
การขับเคลื่อนให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 (เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว) และฉบับที่ 98 (การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง) การปฏิรูประบบประกันสังคม และการแก้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ อาจดูเฉื่อยชา เนื่องจากที่ผ่านมาเจอกับวิกฤตน้ำท่วม จริงๆ ในขบวนยังมีการพูดคุยอยู่ว่าต่อไปจะต้องทำอะไร แต่อาจจะไม่ได้สื่อสารออกไปให้สื่อมวลชนได้รับรู้มากนัก

ในส่วนอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 กับการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ อาจต้องขับเคลื่อนคู่กันไป เพื่อให้เกิดการคุ้มครองแรงงาน เรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงาน การรวมกลุ่มของคนงานจะต้องเกิดขึ้น และโดยเกิดกับแรงงานทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่แรงงานในระบบ

สิทธิการรวมตัวของแรงงานจะทำให้เขาได้รับสวัสดิการ ความเท่าเทียม ความเป็นธรรม และอำนาจในการต่อรอง อย่างกรณีขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ถ้าเป็นคนงานที่มีสหภาพฯ เขาสามารถรวมกลุ่มดูแลตัวเองได้ มีความเท่าเทียมกันในการเจรจาต่อรองแบบมีศักดิ์ศรีระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ไม่ใช่ว่ารัฐจะต้องเข้ามาดูแลตลอด คุณอาจจะปล่อยมือบ้างได้ ถ้ามีการรวมตัวกันแบบเข้มแข็งของแรงงาน บางพื้นที่บางสถานประกอบการอาจจะได้ค่าจ้างมากกว่า300บาทก็ได้

ที่ผ่านมา สถานประกอบการจ้างงานแบบเหมาค่าแรง หรือแรงงานข้ามชาติ เพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อรองกับแรงงานที่มีการรวมกลุ่มกันอยู่แล้ว เช่น ปิดงานสหภาพแรงงาน แล้วเอาคนงานเหมาค่าแรงมาทำงานแทน ซึ่งสภาพการทำงานของแรงงานเหมาค่าแรงตอนนี้เลื่อนลอยมาก ไม่มีหลักแหล่ง ไม่มีความเป็นกลุ่มก้อน ถ้ามีบางสหภาพแรงงานไปจัดตั้งคนงานเหมาค่าแรง นายจ้างก็จะคืนสภาพการจ้างบริษัทนั้นซะ ก็ต้องยกออกมา การจัดตั้งก็หมดไป ตอนนี้มีความพยายามต่อรองของสหภาพแรงงานยานยนต์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ให้ลดจำนวนคนงานจ้างเหมาค่าแรง หรือปรับคนงานเหมาค่าแรงเป็นพนักงานประจำหลังจากพัฒนาฝีมือแล้ว อันนี้ก็พอแก้ปัญหาได้

ถ้าเป็นรัฐมนตรี ก่อนอื่น ต้องตรวจสอบสภาพการจดทะเบียนของบริษัทเหมาค่าแรง ความเป็นหลักแหล่ง การส่งคนเข้าไปทำงานในโรงงานต่างๆ ต้องเข้าไปตรวจสอบว่าเขาเป็นใคร เขาจัดสวัสดิการอย่างไร ค่าหัวที่ได้รับเป็นอย่างไร สิทธิต่างๆ ก็ต้องเข้าไปดูแล ไม่ใช่ปล่อยไปตามเวรตามกรรม
 

ปี 2558 จะเกิดประชาคมอาเซียน มีการเปิดเสรีด้านต่างๆ แรงงานมีการเตรียมการอย่างไรบ้าง
ส่วนของขบวนการแรงงานคุยกันเองน้อย ขณะที่ผลกระทบจากการเปิดเสรีแรงงานจะทำให้ประเด็นปัญหาแรงงานรุนแรงมากขึ้น ทั้งแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ และแรงงานต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในไทย เพราะนโยบายของรัฐมนตรีแรงงานคือการพัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาทักษะภาษาเพื่อส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ และมีแนวคิดคุ้มครองให้สามารถย้ายงานได้หากไปแล้วไม่ประสบผล มีคำถามว่าคุ้มครองทั้งระบบจริงหรือเปล่า แรงงานไทยไปต่างประเทศ ทุกวันก็ยังมีที่ลักลอบไปต่างประเทศ เสียค่าหัวค่อนข้างแพง จะได้รับการคุ้มครองไหม แรงงานต่างประเทศที่มาทำงานในประเทศไทยจะดูแลเขาแบบเดียวกันไหม ฉะนั้น การคุ้มครองแรงงานต้องมีกลไกที่เข้มแข็งมากกว่านี้ และดูกฎหมายระหว่างประเทศให้ดูแลทั้งหมด ระบบประกันสังคมก็ต้องครอบคลุมทั้งหมด ทั้งแรงงานไทย แรงงานต่างชาติที่มาทำงานในไทยและแรงงานไทยไปทำงานที่อื่น ถ้ากลไกยังไม่พัฒนาได้ขนาดนั้น การเปิดเสรีอาเซียนจะทำให้การกดขี่แรงงานหรือละเมิดสิทธิแรงงานแรงขึ้น


จะผลักดันให้เกิดการคุยกันได้อย่างไร

ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานก็ไม่ได้มีแนวคิดที่จะเอาขบวนการแรงงานทั้งหมดมานั่งคิดนั่งคุยกันว่าเปิดประเทศแล้วระบบจะเป็นแบบนี้ๆ นะ มันต้องมีวิสัยทัศน์ทั้งหมด ไม่ใช่ให้แรงงานไปค้นคว้าหาเอาเอง ว่าอาเซียนมีกลไกคุ้มครองแรงงานอย่างไรบ้าง มีอะไรที่บอกว่าจะดูแลกันบ้าง คือแรงงานเขาทำงานในโรงงานมากกว่าแปดชั่วโมงอยู่แล้วต้องไปนั่งดูหรือ ฉะนั้นต้องมีกลไกคุยในส่วนของแกนนำหลักของขบวนการแรงงานทั้งหมด ให้รู้ว่าต่อไปจะคุณต้องเจออะไรบ้าง และเขาคิดยังไง ต้องมีการทำประชาพิจารณ์กันบ้าง พูดคุยกันบ้าง ไม่ใช่กระทรวงแรงงานก็บอกว่าจะทำของฉันอย่างนี้ ต้องพัฒนาฝีมือแรงงาน ฝึกภาษาอังกฤษ มองแค่นี้ไม่ได้

มองกลับไปปีที่แล้ว (54) ปรากฏการณ์อะไรที่ส่งผลกระทบต่อขบวนการแรงงาน
ช่วงการเลือกตั้งใหญ่ ขบวนการแรงงานกระตือรือล้นมากในการใช้สิทธิเลือกตั้ง ด้วยนโยบายประชานิยมต่างๆ ซึ่งไม่เคยเห็นปรากฏการณ์แบบนี้นานแล้ว การที่เขาตั้งใจไปเลือกตั้งโดยนโยบายที่พรรคการเมืองให้ เช่น นโยบาย 300 บาท ซึ่งอาจไม่ต่างจากการขึ้นค่าแรงเป็นเปอร์เซ็นต์ของประชาธิปัตย์มากนัก แต่เห็นตัวเลขชัดเจนกว่า และเรื่องของนโยบายคุณภาพชีวิต เช่นเรื่องประกันสังคม การคุ้มครองสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน มีความชัดในตัวของมันอยู่ ก็ทำให้การทุ่มเทคะแนนเสียงลงไปเยอะ มีการยื่นข้อเสนอของแรงงานครบทุกกลุ่ม ทั้งในระบบ นอกระบบ ข้ามชาติ เกษตรพันธสัญญา มีการทำงานขับเคลื่อนให้ทำตามนโยบาย ล่าลายมือชื่อเสนอกฎหมาย ล่าลายมือชื่อ เพื่อให้ทำตามนโยบายค่าจ้าง 300 บาท เหมือนเตือนว่าภาคประชาชนเริ่มโต เริ่มคิดว่าจะต้องเสนอนโยบายของตัวเองต่อรัฐบาล แต่การตอบรับอาจจะดูน้อย
 

การตื่นตัวนี้จะส่งผลอย่างไรต่อขบวนการแรงงาน
ทำให้ขบวนการประชาธิปไตยเติบโตมากขึ้น จากคนงานที่ไม่เคยใช้สิทธิเลือกตั้งเลย ก็ลุกขึ้นมากา เพราะมีนโยบายแรงงาน ก่อนหน้านี้ พรรคการเมืองไหนก็ไม่เคยมีนโยบายด้านแรงงานเลย อาจมีเรื่องสวัสดิการแบบกว้างๆ แต่ไม่มีอะไรที่เฉพาะเจาะจง อย่างไรก็ตาม หลังจากเป็นรัฐบาลแล้ว หากพรรคเพื่อไทย ไม่สามารถดำเนินนโยบายค่าจ้าง 300 บาทได้ อันนี้จะมีจุดเปลี่ยนแน่นอน ไม่ว่าจะอ้างน้ำท่วม เศรษฐกิจไม่ดีอะไรก็ตาม เพราะเหมือนแรงงานโตแล้ว อาจพลิกผันได้ คิดว่าต่อไปนโยบายจะมีผลต่อการเมือง และเลือกตั้งครั้งหน้านโยบายต่างๆ จะแรงขึ้นในทุกด้าน ยิ่งในอนาคต ที่คนถูกผลักให้เป็นแรงงานจำนวนมาก นโยบายด้านนี้จะสร้างความมั่นคงให้พรรคการเมือง

อีกปรากฏการณ์คือ น้ำท่วม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่กระทบแรงงานจำนวนมาก เริ่มแรก คสรท.ออกมาเสนอข้อเสนอให้ดูแลแรงงาน ตามด้วยการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเรื่องการเลิกจ้าง การถูกละเมิดสิทธิ มีการตั้งศูนย์และระดมสิ่งของไปช่วยแรงงานเอง ซึ่งทำให้ขบวนการแรงงานแน่นแฟ้นมากขึ้น เพราะมีแรงงานหลายๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วม เช่น แรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นอาสาสมัคร มีการส่งต่อความช่วยเหลือให้เกษตรพันธสัญญา แรงงานนอกระบบ หรือแม้กระทั่งแรงงานในระบบซึ่งเป็นประชากรแฝงไม่มีทะเบียนบ้าน ทำให้ไม่ได้รับถุงยังชีพ หรือคนในพื้นที่แต่อยู่ในที่น้ำลึก ความช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึง อาสาสมัครของเราก็ยังลุยเข้าไป นอกจากนี้ ก็มีการดูแลไปถึงผู้หญิง เด็ก รวมถึงสัตว์ ซึ่งก็ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงานที่จะออกมาดูครบขนาดนี้
 

ปรากฏการณ์นี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อขบวนการแรงงาน
ใช่ คิดว่ามันทำให้สังคมส่วนใหญ่รับรู้ว่าการทำงานของแรงงาน ไม่ได้ทำงานเชิงเรียกร้องอย่างเดียว แรงงานพร้อมจะเป็นผู้ให้ถ้ามีโอกาสในการทำบทบาทนั้น แล้วเขาไม่ได้ทำเพื่อสมาชิกกลุ่มของเขา แต่ทำเพื่อคนทุกคน ไม่ได้เลือกปฏิบัติเหมือนคนอื่นๆ หรือภาคการเมืองที่ไม่ควรมองเรื่องการเมืองแต่กลับมอง
 

บุคคลแห่งปีในวงการแรงงาน
แนวคิดของประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยอย่างพี่ชาลี ลอยสูง ซึ่งมองเห็นคนงานครบทุกกลุ่ม คลุกคลีกับคนงานตลอด ไม่เคยทิ้งตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายปี 53 ก็เจอเรื่องการเลิกจ้างคนงานแม็กซิส พอเลือกตั้ง ก็ลุยเรื่องการรณรงค์นโยบายแรงงาน พอน้ำท่วมก็ระดมข้าวของบริจาค ประสานงานได้ครบ ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และพร้อมขัดแย้งเพื่อปกป้องคนงาน อีกกลุ่มที่ภูมิใจคือ แนวคิดของกลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยา ซึ่งเป็นที่แรกๆ ที่โดนน้ำท่วม พวกเขาลุกขึ้นมาตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์และลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยไม่ปฏิเสธ
 

บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่ส่งผลต่อขบวนการแรงงาน
นโยบายการเมืองก็ส่งผล ตั้งแต่ได้รัฐบาลชุดใหม่มา ดูเหมือนยังไม่ได้วัดฝีมือการทำงานด้านแรงงานเลย แต่นโยบายต่างๆ กระทบแรงงาน ถูกละเมิดสิทธิถ้วนหน้า ทั้งเรื่องน้ำท่วม และเรื่องขึ้นค่าจ้าง 300 บาท

นอกจากนี้ ก็คือกระทรวงแรงงาน ที่ควรเป็นกระทรวงของคนงานจริงๆ ไม่ใช่กระทรวงของนายจ้าง แต่บทบาทตอนนี้กลับทับซ้อนกับกระทรวงอุตสาหกรรมหรือกระทรวงการคลัง เช่น เรื่องน้ำท่วม กระทรวงแรงงานกลับบอกว่าต้องดูแลสถานประกอบการก่อน ทำหนังสือขอความร่วมมือให้สถานประกอบการจ่ายค่าจ้าง 75% โดยรัฐจะจ่ายให้อีก 2,000 บาท มาตรการเหล่านี้ไม่ใช่มาตรการดูแลลูกจ้างเลย บทบาทของกระทรวงแรงงานกระเทือนต่อการคุ้มครองสิทธิแรงงานในอนาคต

บทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรมต้องดูแลโรงงานต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงการคลังสนับสนุนเรื่องงบประมาณในการฟื้นฟู กระทรวงแรงงานควรจะคุ้มครองลูกจ้าง ว่าที่ว่างงานช่วงน้ำท่วมเป็นอย่างไร ต้องการอะไรบ้าง คนงานออกจากโรงงานหมดหรือยัง ยังอยู่ในห้องเช่าไหม แต่เรากลับไม่เห็นภาพเหล่านั้นเลย มีแต่ไปล้างโรงงาน ทำความสะอาด ลดเงินสมทบ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตำรวจเตรียมออกหมายเรียก "ครรชิต" นำปืน-รถยนต์มาให้ตรวจสอบ

Posted: 04 Jan 2012 12:41 AM PST

คดีสังหารนายก อบจ.สมุทรสาคร ตำรวจเตรียมออกหมายเรียก "ครรชิต ทับสุวรรณ" ส.ส.สมุทรสาคร ส่งมอบอาวุธปืน .40 และรถยนต์ต้องสงสัยมาให้ตรวจสอบเป็นครั้งที่ 3 ตำรวจเผยพยานแล้ว 20 ราย

ความคืบหน้าคดีสังหารนายอุดร ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาครนั้น วอยซ์ทีวีรายงานวันนี้ (4 ม.ค. 55) ว่าเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนคดีสังหาร นายอุดร ไกรวัตนุสสรณ์ นายก อบจ.สมุทรสาคร ได้ประชุมถึงความคืบหน้าของคดี ภายหลังจากที่ทางพนักงานสอบสวน ส่งหนังสือถึงนายครรชิต ทับสุวรรณ สส.สมุทรสาคร  พรรคประชาธิปัตย์ ให้ส่งมอบอาวุธปืนขนาด .40 มม.และรถยนต์ต้องสงสัยมาให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบเป็นครั้งที่ 2 แล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการส่งมอบให้ โดยพ.ต.อ.จำแรง สุขใจ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูรเมืองสมุทรสาคร ระบุว่า ได้มีหนังสือเรียกขอตรวจสอบวัตถุพยานจากนายครรชิต

โดยให้เจ้าหน้าที่นำไปมอบให้ด้วยตนเองยังบ้านพักของนายครรชิต เลขที่ 560/182 ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร แล้วถึง 2 ครั้งโดยภายในวันนี้ทางเจ้าหน้าที่จะทำการส่งหนังสือไปเป็นครั้งที่ 3 แต่ถ้ายังไม่นำมามอบให้กับทางพนักงานสอบสวนจะขอหมายศาลเข้าทำการตรวจค้น ในส่วนของความคืบหน้าในการสอบปากคำพยานที่เห็นเหตุการณ์ในบ้านที่เกิดเหตุ ทางพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำพยานไปแล้ว 20 กว่าราย

ขณะเดียวกัน นายบุญเชิด กันสิงห์ อายุ 34 ปี  ได้นำอาวุธปืนกล๊อคขนาด .40 มม. ที่มีอยู่ในความครอบครองมามอบให้กับทางเจ้าหน้าที่ หลังจากได้รับหนังสือจากการเรียกขอตรวจสอบ โดยในขณะนี้มีการนำอาวุธปืนขนาด .40 มม. ส่งมอบให้ทางพนักงานสอบสวนแล้วจำนวน 3 กระบอกจากทั้งหมด 8 กระบอกรวม ของนายครรชิต ทับสุวรรณด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผบ.ทบ.แนะให้เลิกคบคนหมิ่นฯ

Posted: 04 Jan 2012 12:19 AM PST

ประยุทธ์ชี้ปรามเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต้องใช้รัฐศาสตร์ ใช้นิติศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้เพราะจะทำพระองค์ท่านเดือดร้อน แนะต้องช่วยกันไม่ให้มีคนละเมิด ถ้ายังมีคนกระทำแบบนี้อยู่ต้องเลิกคบ ถ้าคนเลิกคบมากๆ เขาก็จะไม่มีน้ำหนักและไม่มีพลังที่จะไปทำในสิ่งที่ไม่ดีต่อไป

ในการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในเช้าวันนี้ (4 ม.ค.) นั้น ตอนหนึ่งในรายงานของกรุงเทพธุรกิจ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามที่ผู้สื่อข่าวถามเรื่องกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่า บทบาทของทหารก็เฝ้าดูอยู่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของอำนาจนิติบัญญัติดูอยู่ แต่ตนคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ รับรู้ รับทราบแล้วว่าอะไรมันคืออะไร ประเด็นคือว่า จะต้องช่วยกันระมัดระวังให้พระองค์ท่าน ตราบใดถ้าเราดูความเหมาะควร

ทั้งนี้ไม่อยากใช้คำว่าไปยุ่งกับมาตราโน้นมาตรานี้ มันเหมาะหรือไม่เหมาะตนไม่ทราบ แต่ในส่วนของทหารมันมีคำตอบของทหารอยู่แล้ว เพราะเราเป็นทหารมีหน้าที่โดยตรงอยู่แล้ว ถ้าถามทหารก็ ตอบอย่างที่เคยตอบ ดังนั้นจะต้องไปถามคนอื่น แต่ถ้าคิดว่าประเทศไทยเป็นแบบนี้ แล้วเรามีสถาบันที่มีคุณประโยชน์กับเรามาตั้งแต่ยุคพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา และ ยาย เราจะดูแลท่านอย่างไรเมื่อถึงเวลาวันนี้ จะปล่อยให้ทหารดูแล คนเดียวหรือมันไม่ใช้ ทุกคนจะต้องออกมาช่วยดูแล แต่ทั้งหมดก็จะต้องเคารพในกติกาของบ้านเมือง ทั้งหมดจะต้องไปด้วยกันให้ได้เราจะใช้กำลังสู้กันอย่างเดียวก็มีแต่จะแย่กัน ไปทั้งประเทศ ดังนั้นทุกคนมีบทบาทที่จะทำอะไรตรงไหนก็มาช่วยกัน ออกมาแสดงตามรัฐธรรมนูญที่ได้กำหนดไว้

ทั้งคมชัดลึกและกรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า "ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า แต่การพูดจา และการดำเนินการของกลุ่มคนเหล่านี้เริ่มหนักข้อขึ้นทุกวัน" โดย พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า มันผิดกฎหมายหรือเปล่า หรือ ผิดกฎหมายยัง หากผิดกฎหมายเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการ และการใช้กฎหมายอย่างเดียวก็มีปัญหา แต่ขณะนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องก็พยายามใช้นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ในการดำเนินการ เรื่องนี้อยู่ ไม่ใช่พวกเรานิ่งนอนใจ หรือ ไม่ใช่เราไม่ยืนหยัดในการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่พูดไปก็ขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นก็จะต้องดูว่าใครออกมาพูด พูดแล้วได้ประโยชน์กับประชาชน ประเทศชาติหรือไม่ ถ้าไม่ได้กระบวนการก็มีอยู่แล้วว่าจะแก้ด้วยวิธีไหน  ถ้าทุกคนไม่เห็นด้วยมันก็แก้ไม่ได้

ต่อข้อถามว่า อำนาจรัฐบาลจะต้องเข็มแข็งในการดูแลเรื่องนี้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็พยายามอยู่แล้ว ตนบอกว่าแล้วว่าจะต้องใช้หลักนิติศาสตร์ และ รัฐศาสตร์ จะใช้หลักนิติศาสตร์อย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะจะทำพระองค์ท่านเดือดร้อนเหมือนกัน พระองค์ท่านทรงรับสั่งว่าเวลาคนที่มีปัญหาก็ถึงพระองค์อยู่ดี ดังนั้นพวกเราจะต้องช่วยกันว่าทำอย่างไรถึงไม่มีคนไปละเมิด ส่วนจะมีโทษอย่างไรก็ว่าอีกที จริงๆ แล้วพระองค์ท่านมีพระเมตตาอยู่แล้ว ไม่อยากมีโทษกับใครทั้งสิ้น ดังนั้นเราจะต้องช่วยกัน ถ้าเราคนนี้ชอบทำแบบนี้อยู่และยังไปคบค้าสมาคมด้วยก็ไม่ดีก็ต้องเลิกคบค้าไป เพราะเราไม่ชอบคนพวกนี้ เราไม่ชอบใครที่ทำไม่ดีก็อย่าไปคบเขาก็เท่านั้นแต่หากยังคบอยู่แล้วจะแก้ไขอย่างไร จะเอาตำรวจไปจับหรือ มันไม่ใช่ ถ้าใครที่เป็นคนไม่ดีที่ทำให้ประเทศชาติเสียหายก็อย่าไปคบ แต่ตัวเราจะต้องดีพอถึงจะไปตัดสินว่าคนนั้นดีหรือไม่ดี อย่าตัดสินด้วยความไม่ชอบหน้า แต่จะต้องตัดสินว่าดีหรือไม่ดี  หากไม่ดีก็อย่าไปคบ ถ้าทุกคนไม่คบเขามากๆ แล้วเขาจะไปคบกับใคร หรือจะไปทำอะไรได้ เขาก็ไม่มีน้ำหนัก ไม่มีพลังที่จะไปทำในสิ่งที่ไม่ดีต่อไป

ทั้งนี้ จากรายงานข่าวทั้งในเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ และคมชัดลึก ได้ตีพิมพ์คำถามของผู้สื่อข่าวที่ถาม พล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตรงกัน โดยคำถามแรกผู้สื่อข่าวถาม พล.อ.ประยุทธ์ว่า "สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประชาชนไม่สบายใจคือสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่กำลังจะถูกคุกคามจากนักวิชาการ หรือ คนกลุ่มหนึ่ง ในฐานะที่กองทัพดูแลปกป้องสถาบันจะดูแลอย่างไร" และอีกคำถามคือ "แต่การพูดจา และการดำเนินการของกลุ่มคนเหล่านี้เริ่มหนักข้อขึ้นทุกวัน"

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น