โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

เลื่อนสืบพยานปากแรกออกไปอีก หลัง 'แหวน วัดปทุม' ติดคุกมาแล้ว 3 ปี 4 เดือน

Posted: 13 Jul 2018 05:45 AM PDT

พิจารณาคดีลับอีกอ้างเป็นคดีความมั่นคง พยานโจทก์ ม.112 เบี้ยวไม่มาศาล ทนายโวยลูกความถูกกลั่นแกล้ง แหวนป่วย ซึมเศร้า เยี่ยวเป็นเลือด อาจเป็นกรวยไตอักเสบและติดเชื้อในกระแสเลือด ไม่ได้รับการตรวจรักษาจากราชทัณฑ์ แถมหลักทรัพย์ยังไม่พอยื่นประกัน

12 ก.ค.2561 ศาลทหาร กรุงเทพ ได้มีการพิจารณาคดีสืบพยานโจทก์คดีดำ 19ก./2560 กรณี'แหวน' ณัฎฐริดา มีวังปลา พยาบาลอาสาฯ พยานคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ที่ได้ถูกฟ้องว่ามีการกระทำความผิดตามประมวล ก.ม.อาญา ม.112 จากการสื่อสารในกลุ่มไลน์ในช่วงต้นปี 2558 โดยวันนี้เป็นการสืบพยานโจทก์ครั้งแรก โดยโจทก์จะได้นำ พลตรีวิจารณ์ จดแตง และ พล.ต.ต.สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ เข้าเบิกความ

เบื้องต้นศาลได้สั่งให้เป็นการพิจารณาคดีลับเนื่องจากเป็นคดีที่มีความที่มีความอ่อนไหวเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ หากมีการเผยแพร่ออกไปอาจทำให้เกิดความเสื่อมเสีย ขณะที่ทนายได้แย้งไปว่า ข้อความในไลน์ที่ได้ถูกนำมาเป็นข้อกล่าวหานั้นมีเพียงแค่ข้อความเดียว ไม่ได้นำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อสถาบัน แต่ศาลก็ยังยืนยันให้พิจารณาลับโดยอ้างว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง

วิญญัติ ชาติมนตรี ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี อัยการได้ชี้แจงต่อศาลว่าวันนี้พยานได้มาเพียงผู้เดียวคือ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ส่วน พล ต.ต.สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ ไม่ได้มา จึงขอให้สืบ พล ต.วิจารณ์ก่อน แต่ทางทนายความได้แย้งว่าในกรณีนี้ เป็นการสืบพยานคู่ ซึ่งหมายความว่าพยานทั้งสองคนในอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน คือในการสอบจำเลยทั้งที่ในเรือนจำชั่วคราว  มทบ.11 และที่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) ซึ่งหากสอบพยานเพียงปากใดปากหนึ่งก่อนฝ่ายจำเลยจะเสียเปรียบ เนื่องจากพยานโจทก์อาจนำรายละเอียดในการถามค้านพยานโจทก์ไปบอกเล่าเพื่อให้พยานอีกปากฟังเพื่อจะได้มีการเตรียมการมา

ศาลได้พิจารณาจากเหตุผลของโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่าจำเลยเสียเปรียบจริงจึงให้เลื่อนการสืบพยานโจทก์ไปเป็นวันศุกร์ที่ 20 ก.ค.2561 


ภาพของแหวนขณะทำการปฐมพยาบาล อัฐชัย ชุมจันทร์ หนึ่งในผู้เสียชีวิต
บริเวณวัดปทุมฯ ขณะที่คนขวาสุดสวมชุด ปอเต็กตึ๊ง คือ มงคล เข็มทอง
และคนที่ยืนด้านหลังของ แหวน คือ อัครเดช ขันแก้ว อาสาพยาบาล
ซึ่งต่อมาทั้งคู่ถูกยิงเสียชีวิต รวมอยู่ใน 6 ศพวัดปทุมฯ เช่นกัน

วิญญัติ ได้กล่าวอีกว่า ณัฏฐริดา มีวังปลา หรือ แหวน มีปัญหาด้านสุขภาพ ซูบผอมลงมาก แหวนเล่าว่าแหวนมีอาการปวดท้องและปัสสาวะมีเลือดปนออกมา คาดว่ามีอาการกรวยไตอักเสบและติดเชื้อในกระแสเลือด โดยที่ไม่ได้รับการดูแลตรวจรักษาจากกรมราชทัณฑ์ และสภาพจิตใจของแหวนค่อนข้างย่ำแย่เนื่องจากติดคุกมาสามปีกว่าแล้วโดยที่ไม่ได้ประกันตัว แหวนเริ่มมีอาการทางประสาท พูดน้อยลง มีอาการซึมเศร้า นั่งพูดบ่นแต่คำว่า"เมื่อไหร่จะได้ออกไป เมื่อไหร่จะได้ประกัน"

ทนายความของ แหวน พยานปากสำคัญในกรณีสังหารหมู่ 6 ศพ วัดปทุม ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า แหวนถูกกลั่นแกล้งทางคดีไม่ได้รับความเป็นธรรม ในคดี ม.112 ที่แหวนถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดตั้งแต่ 8 มีค.2558 แต่ทางเจ้าหน้าที่กลับไม่ดำเนินคดี รอจนแหวนได้รับการประกันตัวในคดีระเบิดศาลอาญาหลังจากติดคุกมา 2 ปี 4 เดือนแล้ว จนท.จึงได้ขออายัดตัวมาคุมขังและดำเนินคดี ม.112 ต่อ แทนที่จะดำเนินคดีตั้งแต่ที่แหวนถูกจับกุมครั้งแรกเลย สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สภาพจิตใจของแหวนย่ำแย่ลง

วิญญัติ กล่าวว่าจะยื่นประกันตัวแหวนอีกครั้งหลังจากที่สามารถรวบรวมเงินสดและหลักทรัพย์เพื่อยื่นประกันตัวทั้งสองคดีรวม 900,000 บาทได้ครบและรอสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นปากสำคัญให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งหากไม่มีการเลื่อนอีกก็อาจยื่นประกันได้

หมายเหตุ: ท่านที่มีความประสงค์จะบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือ "แหวน" ณัฎฐธิดา มีวังปลา สามารถติดต่อได้ที่ สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) Facebook United Lawyers For Rights & Liberty หรือสามารถบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนได้ที่ บัญชีธนาคารกสิกรไทย_สาขาศาลยุติธรรม ประเภทบัญชีออมทรัพย์ บัญชีเลขที่ 039-3-80178-6 ชื่อบัญชี นายกัณต์พัศฐุ์ สิงห์ทอง และนายศุภวัส ทักษิณ

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เครือข่ายประชากรข้ามชาติ' ออกข้อสังเกต-ข้อเสนอต่อการดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ

Posted: 13 Jul 2018 05:32 AM PDT

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ออกจดหมายเปิดผนึก 4 ข้อสังเกตและข้อเสนอต่อการดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติหลัง 30 มิ.ย.61 

13 ก.ค.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ออกจดหมายเปิดผนึก เรื่อง ข้อสังเกตและข้อเสนอต่อการดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติหลัง 30 มิ.ย.2561 จำนวน 4 ประเด็น 1. รัฐบาลควรออกมาแถลงว่าเหตุใดตัวเลขที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติถึงไม่ตรงกัน และควรมีทีมสำรวจข้อมูลการหายไปของแรงงาน เนื่องจากแรงงานกลุ่มดังกล่าวนี้เบื้องต้นมีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวแล้ว

2. เปิดพื้นที่ให้แรงงานที่หายไปจากกระบวนการพิสูจน์สัญชาติเข้าสู่กระบวนการแสดงตนอีกครั้ง เพื่อสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้น โดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่อาจจะมีข้อมูลสภาพปัญหาอยู่แล้ว 3. ใช้เครื่องมือทางกฎหมายหรือนโยบายที่รัฐมีอยู่แล้ว เช่น พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 หรือฉันทามติอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงานข้ามชาติ ที่ได้บัญญัติการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่ได้กลายเป็นผู้ไม่มีเอกสารแสดงตนโดยไม่ได้เป็นความผิดของพวกเขา ในการบริหารจัดการสภาพปัญหาของแรงงานที่พบ แทนการปราบปรามโดยการจับกุมและส่งกลับ
 
4. ในระยะยาว เห็นว่ารัฐบาลและกระทรวงแรงงานควรพิจารณาใช้กลไกตาม  พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีกลไกคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เป็นกลไกสำคัญในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และมาตรการบริหารจัดการเพื่อรองรับการจัดการในอนาคต โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ  ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการดำเนินการ

จดหมายเปิดผนึก

วันที่ 7 กรกฎาคม 2561
 
เรื่อง ข้อสังเกตและข้อเสนอต่อการดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติหลัง 30 มิถุนายน 2561
 
เรียน นายกรัฐมนตรี
 
ตามที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายในการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ เพื่อพัฒนาสถานะของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านทุกคนให้เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้มีการขึ้นทะเบียนเพื่อถือเอกสารการทำงานและอาศัยอยู่ชั่วคราว มาตั้งแต่ปี 2557 และให้แรงงานเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ผ่านมติคณะรัฐมนตรี โดยข้อมูลจากการแถลงข่าว ระบุว่า มีแรงงานจำนวน 1,999,240 ล้านคน ที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2560 และต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ให้ขยายระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติออกไปจนถึง 30 มิถุนายน 2561 โดยมีการแถลงข่าวถึงความคืบหน้าในการทำให้แรงงานเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติอยู่เป็นระยะๆ
 
อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ได้ติดตามความคืบหน้าด้านการดำเนินการของรัฐในการนำแรงงานเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ พบว่า รัฐบาลมีการเสนอตัวเลขแรงงานที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการพิสูจน์สัญชาติที่ไม่ตรงกันและรัฐบาลไม่สามารถยืนยันได้ว่ากลุ่มเป้าของจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ต้องผ่านการพิสูจน์สัญชาติจริงๆ เป็นจำนวนเท่าไหร่ เช่น เดือนธันวาคม 2560 รัฐบาลระบุว่ามีแรงงานที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ 1.9 ล้านคน และในเดือนต่อมามีการรายงานตัวเลขของแรงงานที่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติลดลงไปเรื่อยๆ เป็น 1.6 ล้าน และ 1.3 ล้าน  (แถลงข่าวของกระทรวงแรงงานระบุว่า มีแรงงานข้ามชาติจำนวน 1.3 ล้านคนที่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันให้แรงงานมาดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ มีแรงงานที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการพิสูจน์สัญชาติจำนวน 132,232 คน[1])
 
ความไม่ชัดเจนของการนำเสนอตัวเลขของรัฐบาล เครือข่ายฯเห็นว่า อาจจะมีแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้มากถึง 811,437 คน หากพิจารณาจากตัวเลขเป้าหมายเดิม 1.9 ล้านคนตามมติคณะรัฐมนตรี 16 มกราคม 2561 มิใช่จำนวน 132,232 คน ตามที่เป็นข่าวหลังการปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ  นอกจากนั้นแล้วรัฐได้แถลงยืนยันว่าจะดำเนินการจับกุม ดำเนินคดีและส่งกลับกลุ่มแรงงานที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ตามกำหนด และเริ่มมีข่าวด้านการกวาดล้างจับกุมแรงงานมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 โดยมิได้ตรวจสอบสาเหตุของการของการที่แรงงานไม่สามารถเข้าถึงระบบการพิสูจน์สัญชาติได้ตามที่นโยบายได้ขีดเส้นตายไว้ ดังนั้น เครือข่าย จึงมีความเห็นว่า
 
1.       รัฐบาลควรออกมาแถลงว่าเหตุใดตัวเลขที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติถึงไม่ตรงกัน และควรมีทีมสำรวจข้อมูลการหายไปของแรงงาน เนื่องจากแรงงานกลุ่มดังกล่าวนี้เบื้องต้นมีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวแล้ว
 
2.       เปิดพื้นที่ให้แรงงานที่หายไปจากกระบวนการพิสูจน์สัญชาติเข้าสู่กระบวนการแสดงตนอีกครั้ง เพื่อสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้น โดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่อาจจะมีข้อมูลสภาพปัญหาอยู่แล้ว เช่น ที่เป็นกลุ่มแรงงานมุสลิมที่ไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทาง เป็นแรงงานที่ถูกกล่าวหาว่าใช้เอกสารปลอม หรือกลุ่มแรงงานที่นายจ้างไม่นำไปเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เพราะไม่ต้องการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดความเป็นจริง เป็นต้น
 
3.       ใช้เครื่องมือทางกฎหมายหรือนโยบายที่รัฐมีอยู่แล้ว เช่น พระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 หรือฉันทามติอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงานข้ามชาติ (ASEAN Consensus on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers) ที่ได้บัญญัติการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่ได้กลายเป็นผู้ไม่มีเอกสารแสดงตนโดยไม่ได้เป็นความผิดของพวกเขา (บทที่ 1 หลักการทั่วไป ย่อหน้าที่ 15) ในการบริหารจัดการสภาพปัญหาของแรงงานที่พบในข้อที่ 1 และ 2 แทนการปราบปรามโดยการจับกุมและส่งกลับ
 
4.       ในระยะยาว เห็นว่ารัฐบาลและกระทรวงแรงงานควรพิจารณาใช้กลไกตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีกลไกคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เป็นกลไกสำคัญในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และมาตรการบริหารจัดการเพื่อรองรับการจัดการในอนาคต โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ  ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการดำเนินการ
 
ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมัชชาคนจน โวย กฟผ.-จังหวัดอุบล ไม่ยอมเปิดประตูเขื่อนปากมูล

Posted: 13 Jul 2018 04:28 AM PDT

สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล โวย กฟผ.-จังหวัดอุบล ไม่ยอมเปิดประตูเขื่อนปากมูล ประกาศ ขอพบกับนายกฯ ระหว่างประชุม ครม. สัญจร 23 – 24 ก.ค.นี้

 

13 ก.ค.2561 สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ออกแถลงการณ์ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมาได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ปฏิบัติตามข้อตกลง คือการเร่งเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน แต่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ก็ยังไม่ดำเนินการใดเลย พร้อมเรียกร้องด้วยว่า ในวันที่ 23 – 24 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะมีการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ในพื้นที่จังหวัดอบุลราชธานี สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพบกับนายกรัฐมนตรีให้ได้ เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อตกลง ด้วยการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ทั้ง 8 บาน ในทันที

รายละเอียดคำแถลงมีดังนี้ 

แถลงการสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล กฟผ.และจังหวัดอุบล ฉีกข้อตกลงไม่ยอมเปิดประตูเขื่อนปากมูล

นับเป็นเวลากว่า 27 ปี ที่เขื่อนปากมูลได้สร้างปัญหาต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งปัญหาหลักคือการปิดกั้นเส้นทางเดินของปลา ไม่ให้ปลาจากแม่น้ำโขงสามารถเดินทางข้ามเขื่อนปากมูลเข้ามาสู่แม่น้ำมูนได้ จนทำให้ปลาในแม่น้ำมูนลดจำนวนลงเป็นจำนวนมาก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ต้องทำการเรียกร้องให้รัฐบาล เปิดประตูเขื่อนปากมูล เพื่อเปิดทางให้ปลาจากแม่น้ำโขงเดินทางเข้ามาสู่แม่น้ำมูน ได้ ซึ่งการเรียกร้องที่ผ่านมาเป็นไปอย่างยากลำบาก จนกระทั่งปี 2558 คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลได้กำหนดเกณฑ์ในการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล คือ หลักเกณฑ์การเปิด = เมื่ออัตราการไหลที่ M7 เกินกว่า 500 cms หรือ ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำห้วยสะคาม มีระดับตั้งแต่ 95 ม.รทก. อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ดำเนินการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลได้เลย ( ม.รทก. หมายถึง ม. = เมตร ส่วน รทก.= ระดับน้ำทะเลปานกลาง : 95 ม.รทก. หมายถึง = ความสูง 95 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้ปฏิบัติมาทุกปี (ใช้มาแล้วในปี 2558 , 2559 และ ปี 2560)

ในปีนี้ (2561) ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำห้วยสะคามมีระดับที่ 95 ม.รทก. มาตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2561 และในปัจจุบัน (13 กรกฎาคม 2561) ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำห้วยสะคามมีระดับอยู่ที่ 97.51 ม.รทก. สูงกว่าเกณฑ์ 2.51 เมตร และสูงกว่าเกณฑ์มาแล้ว 16 วัน แต่ก็ยังไม่การเปิดประตูเขื่อนปากมูล แต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ปฏิบัติตามข้อตกลง คือการเร่งเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน แต่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ก็ยังไม่ดำเนินการใดเลย

ดังนั้น ในวันที่ 23 – 24 กรกฎาคม 2561 ซึ่งจะมีการประชุม ครม.สัญจร ในพื้นที่จังหวัดอบุลราชธานี สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพบกับนายกรัฐมนตรีให้ได้ เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อตกลง ด้วยการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ทั้ง 8 บาน ในทันที

เชื่อมั่นในพลังประชาชน

สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล

13 กรกฎาคม 2561

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปรากฏการณ์ “หมูป่า” กับ “ตัวตน” ในโลกออนไลน์

Posted: 13 Jul 2018 01:45 AM PDT



ผ่านไปแล้วกับเหตุการณ์เด็กติดถ้ำในประเทศไทย เก้าวันแห่งภารกิจค้นหากับอีกแปดวันแห่งภารกิจกู้ภัย คำถามที่กลายเป็นประเด็นสนใจระดับประเทศก็คือ อะไรทำให้ทั่วโลกสนใจ 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง อะไรทำให้ชาวโลกพุ่งความสนใจมาให้ความช่วยเหลือ 13 ชีวิตนี้ ทั้งๆ ที่โลกใบนี้กลุ่มคนจำนวนมากกว่าที่กำลังเดือดร้อนและใกล้ตาย เพราะภัยธรรมชาติก็ดี หรือเพราะภัยจากน้ำมือมนุษย์ก็ดี ยังมีอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง

เมื่อคำตอบคือ "คุณค่า" และ "ความเป็นมนุษย์" ไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์ข้อนี้ เพราะกรณีนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า 13 ชีวิตนี้มีคุณค่าหรือมีความเป็นมนุษย์มากกว่าชีวิตอื่น กลุ่มเด็กๆ ที่กำลังอดตายภายในหลุมหลบภัยในซีเรีย หรือเด็กๆ ที่อพยพหลบซ่อนในเรือประมงกำลังเสี่ยงตายเพราะพายุในทุกขณะ พวกเขาก็มีคุณค่าและความเป็นมนุษย์ไม่แตกต่างกัน

ถ้าคำตอบคือ "ภาพลักษณ์" อันน่ารักน่าเอ็นดูของเด็กติดถ้ำ และคำกล่าวขอบคุณอย่างใสซื่อเป็นภาษาอังกฤษ ที่ถูกแชร์นับแสนครั้งภายในวันเดียว แม้จะฟังน่าสนใจ แต่นั่นเพียงพอที่จะสรุปว่า ที่เขามาช่วยเพราะเด็กไทยน่ารักและอ่อนน้อมกว่าเด็กชาติอื่นอย่างนั้นหรือ   

บทความนี้ขอเสนอ "สมมติฐาน" เพื่อตอบโจทย์ข้างต้น ผู้เขียนมิได้ต้องการนำเสนอ "บทสรุป" ไม่มีเป้าหมายเพื่อความถูกต้องหรือเพื่อสร้างทฤษฎีอะไร มีเพียงความปรารถนาจะ "แบ่งปัน" และ "แลกเปลี่ยน" มุมมองจากมนุษย์คนหนึ่งสู่มนุษย์คนอื่น

ณ จุดเริ่มต้นตั้งแต่การสูญหายกลายเป็นข่าว สื่อมวลชนคือกลุ่มแรกที่จุด "กระแส" ของ "พลังทางจิต" จนติด จากนั้น "กระแส" นี้ก็ถูกโหมพัดให้ขยายวงกว้างอย่างมีนัยสำคัญ เพราะมันได้สร้างมิติใหม่ให้เกิดขึ้นกับ "ตัวตน" ทั้งหลายในโลกออนไลน์ที่ถูกกระแสนี้ดึงดูดเข้ามาเกาะติดพัวพัน ก่อนหน้านี้ "ตัวตน" ทั้งหลายในโลกออนไลน์เป็นเพียงคลื่นพลัง "เฉื่อย" ที่มองอยู่ข้างนอก ครั้งนี้มันถูกปลุกให้มีชีวิตชีวา มีสีสัน และมีอารมณ์ความรู้สึก ผ่าน "การมีส่วนร่วมทางจินตนาการ" ในภารกิจข้างใน

การ "เกาะติด" กระแสครั้งนี้ "ตัวตน" ทั้งหลายในโลกออนไลน์มิได้เป็นเพียงผู้ "ดู" แต่เป็นผู้ "แสดง" หนึ่งในภารกิจการค้นหาและการกู้ภัย แต่ละคนได้ "ปลุก" ชีวิตออนไลน์ของตนขึ้นมา และทำให้มัน "โลดแล่น" ผ่านฉากคิดและจินตนาการของตนเอง เก้าวันแรกแห่งการค้นหานั้น 13 ชีวิตจะเป็นอย่างไร เผชิญชะตากรรมเช่นไร เป็นสิ่งที่ "ตัวตน" ออนไลน์ทั้งหลายได้สร้างทฤษฎีไว้แล้วเพื่อรอเวลาพิสูจน์ ถ้ำหลวงกลายเป็นโลกในตำนานที่ไม่มีใครรู้จักจริง แต่มีอยู่จริง 

หากเปรียบเหตุการณ์เด็กติดถ้ำหลวงเป็นเหมือน "เกมชีวิต" ฉากใหญ่ ผู้คนที่ถูก "กระแส" ดึงดูดเข้ามา กลายเป็นผู้เล่นเกมที่มี 13 ชีวิตในถ้ำเป็น "วัตถุ" ของการค้นหา มีถ้ำหลวงเป็นอีกโลกที่ไม่ใช่ทั้งโลกมายา และไม่ใช่โลกกลมแบบวิทยาศาสตร์ แต่เป็นโลกเสมือนจริงของสื่อออนไลน์ เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยจินตนาการ มีความตื่นเต้นให้ลุ้นระทึกอยู่ตลอดเวลา มีอภินิหาร มีเพื่อนที่ไม่รู้จักเล่นด้วยมากมาย มีความรู้สึกร่วมอยู่ในภารกิจ เกมมือถือทั่วไปสนุกได้เฉพาะคนเล่น ฉากทั้งหลายก็แค่ภาพที่ถูกสร้างขึ้น แต่ถ้ำหลวงคือสถานที่จริง มีพิกัดในทางภูมิศาสตร์ แต่ก็เป็นโลกของจินตนาการ 

ในบรรดา "ตัวตน" ออนไลน์หลักแสนที่ถูกดึงดูดเข้ามาให้เป็นผู้ร่วมแสดง อาจมีเพียงแค่หลักร้อยที่เคยเห็นถ้ำหลวงด้วยตาเนื้อจริงๆ ที่เหลือล้วนสร้างฉากของถ้ำหลวงขึ้นมาจากจินตนาการของตนเองทั้งสิ้น 

จุดสุดยอดของเหตุการณ์คือคืนที่ 13 ชีวิตถูกค้นพบ การค้นพบเด็กทั้งหมดทำให้เป้าหมายของการค้นหามีจุดร่วมที่ "วัตถุ" เดียวกัน เด็กติดถ้ำกลายเป็น "สื่อ" ที่เชื่อมตัวตนทั้งหลายในโลกออนไลน์ ซึ่งถูกปลุกให้ขึ้นมาเป็น "คลื่นเงา" ของผู้มีส่วนร่วมในภารกิจแล้ว จำต้องทำภารกิจนั้นให้เสร็จสิ้น การช่วยเด็กติดถ้ำให้ได้จึงเป็นเป้าหมาย "ร่วม" และเป้าหมาย "หลัก" ของผู้ที่ถูกกระแสเกาะกุมและยึดเหนี่ยวกันไว้แล้วอย่างเหนียวแน่น

จากนั้นอีกแปดวันต่อมา กระแสนี้ก็ถูกโหมกระพือให้แรงจัดจาก "กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ ระดับชาติ" ผ่านทุกช่องทางและเครือข่ายประชาสัมพันธ์ดิจิทัล ภาพของเด็กติดถ้ำและพระเอกนานาชาติที่ถูกแชร์ออกไปอย่างกว้างขวาง สร้างมิติของการมีส่วนร่วมในระดับโลก ซึ่งการมีส่วนร่วมในครั้งนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการมีส่วนร่วมในภารกิจจริงๆ แต่เป็นการมีส่วนร่วมในจินตนาการ

ตัวตนในโลกออนไลน์ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาร่วมแสดงอยู่ในฉากแห่งจินตนาการมากขึ้นและมากขึ้น พร้อมๆ กับการชื่นชมพระเอกต่างชาติคนแล้วคนเล่า ตัวตนออนไลน์แต่ละหน่วยถูกเชื่อมต่อ ไม่ว่าจะโดยไม่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ไปสู่เป้าหมายของภารกิจร่วมกัน ซึ่งเป็นภารกิจที่มีความสำคัญมากกว่าแค่ช่วยชีวิตคน แต่เป็นภารกิจของการสร้างอัตลักษณ์ให้แก่ประเทศชาติ        

ภารกิจคู่ขนานนี้ดำเนินไปตลอดเวลา ด้านนอกเป็นภารกิจของ "มนุษย์" ที่ปฏิบัติการอยู่ตามข่าว ด้านในเป็นภารกิจของ "ตัวตนออนไลน์" ที่ปฏิบัติการอยู่ในโลกจินตนาการของตน โดยอัตลักษณ์ของประเทศชาติ คือ "ความสามัคคี" "ความมีน้ำใจ" และ "ความเป็นมิตร" ถูกสร้างขึ้น ตอกย้ำ และยึดโยงอยู่กับชีวิตของ 13 คนในถ้ำอยู่ตลอดเวลา เป็นทั้งเป้าหมายร่วม เป้าหมายหลัก และเป้าหมายสำคัญ

เพราะเป้าหมายของชาตินั้นยิ่งใหญ่ จินตนาการของตัวตนออนไลน์ที่ถูกเชื่อมต่อกับภารกิจสร้างอัตลักษณ์ของชาติจึงได้รับการปกป้องและประคับประคองอย่างเต็มที่ ในกรณีนี้ "จินตนาการ" จึงไม่เพียงสำคัญกว่า "ความรู้" แต่มันยังทำให้ "ความประมาท" กลายเป็น "เรื่องสุดวิสัย" ทำให้ "เหตุผล" กลายเป็น "เรื่องบังเอิญ" และทำให้ "การคาดคะเน" กลายเป็น "ความรู้" ได้

ยกตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ การยกให้โค้ชหมูป่ากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญการทำสมาธิ เพียงเพราะเขาเคยบวชเรียน และ "สมาธิ" ของเขานั้นอยู่ในระดับที่สามารถสื่อออกมาให้โลกภายนอกรับรู้และให้การช่วยเหลือได้ทัน เด็กติดถ้ำเป็นเด็กดีเพราะร่างกายแข็งแรง น่ารัก ดูแล้วมีคุณภาพ หรือบังเอิญที่เหตุการณ์นี้เกิดในประเทศไทย เราจึงรู้จักและรับรู้ว่าถ้ำหลวงสวยงามขนาดไหน      

ในความเป็นจริง เด็กติดถ้ำทั้งหมดไม่ได้รู้เรื่องอะไรในภารกิจที่ "มนุษย์" และ "คลื่นเงาของตัวตนออนไลน์" กระทำอยู่นอกถ้ำหลวงเลย พวกเขาเป็นเพียง "วัตถุ" "สื่อ" หรือ "หมาก" ที่เกมนี้ต้อง "รักษา" ไว้ให้ได้ ในฐานะเป็น "วิถี" ให้ภารกิจนี้บรรลุ "เป้าหมาย" ระดับชาติ ภารกิจของการช่วยเหลือ 13 ชีวิตจึงเป็นภารกิจที่มนุษย์ต้อง "พิชิต" หรือ "เอาชนะ" ธรรมชาติ มากกว่าจะคำนึงถึง "คุณค่า" หรือ "ความเป็นมนุษย์" ของพวกเขา  

ด้วยเหตุนี้ มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กติดถ้ำเมื่อออกมาแล้วจะได้รับการชดเชย เยียวยา หรือให้รางวัล ไม่ใช่ในฐานะของ "พระเอก" แต่ในฐานะของ "สื่อ" ที่ทำให้เป้าหมายระดับชาติบรรลุผลสำเร็จ รางวัลที่พวกเขาได้รับไม่ได้ถูกกำหนดจาก "ความต้องการ" ของพวกเขาเอง แต่ถูกกำหนดจาก "ความพอใจ" ของ "ผู้ใหญ่" และ "หน่วยงาน" ที่รับผิดชอบภารกิจ ความดีความน่ารักของพวกเขาก็ถูกกำหนดจากรูปถ่ายที่ถูกเผยไปทั่วโลกโดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าตัว จากนี้ไปชีวิตส่วนตัวของพวกเขาอาจสูญหาย ทั้งความบริสุทธิ์ทางจิตใจก็อาจถูกทำลาย 

ไม่เคยมีของฟรีในโลกใบนี้ บางสิ่งที่ได้รับมาจะต้องมีบางอย่างที่สูญเสียไป ในสายตาของผู้เขียนซึ่งขอมองต่างมุม เด็กกลุ่มนี้อาจน่าสงสารยิ่งกว่าน่าอิจฉา เพราะพวกเขาได้รับการปฏิบัติในฐานะเป็น "วิถี" มากกว่าเป็น "เป้าหมาย" ที่ผ่านมามีใครบ้างที่คำนึงถึงเด็กติดถ้ำกลุ่มนี้ในฐานะเป็น "มนุษย์" ผู้เป็นเป้าหมายสุดท้ายในตัวเอง มีใครบ้างที่สนใจ "ความเป็นมนุษย์" และ "คุณค่า" ของพวกเขาในฐานะเป็นเป้าหมายสูงสุดในตัวพวกเขาเอง

จากสมมติฐานเหล่านี้ ต่อคำถามที่ว่า "อะไรทำให้ทั่วโลกมุ่งความสนใจมาที่เด็กติดถ้ำและให้ความช่วยเหลือพวกเขาอย่างเต็มกำลังยิ่งกว่าเด็กกลุ่มอื่น" ดูเหมือนว่า "ภาพลักษณ์" "คุณค่าแห่งชีวิต" ตลอดจน "ความเป็นมนุษย์" ของพวกเขาไม่น่าจะเป็นคำตอบที่เพียงพอเสียแล้ว 

แต่ "การจุดกระแสพลังจิต" "การมีส่วนร่วมในจินตนาการ" ของ "ตัวตนออนไลน์" หน่วยย่อยต่างๆ และ "กระบวนการสร้างอัตลักษณ์แห่งชาติ" ที่สามารถเชื่อมโยง "ตัวตน" หน่วยย่อยเหล่านั้นไปสู่เป้าหมายของภารกิจเดียวกัน โดยมีเดิมพันของเกมคือชีวิตของมนุษย์จริงๆ เป็นแรงขับเคลื่อนกำลังสูง เพื่อให้งานนี้ถ้า "เล่น" แล้วมนุษย์ทั้งหลายต้องชนะ แพ้ธรรมชาติไม่ได้ มนุษย์ทั้งหลายในที่นี้ไม่ได้หมายเฉพาะคนไทย แต่หมายถึงคนทั้งโลกที่ถูกดึงเข้ามาเพื่อ "ต่อสู้" และ "เอาชนะ" ธรรมชาติไปพร้อมกัน โดยใช้ความเป็นคนไทยใจดี "ร้อยรัด" คนต่างชาติต่างภาษาเข้าด้วยกัน  

ในฐานะที่กำลังสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์เช่นกัน ผู้เขียนเองก็ต้องพิจารณาว่า สิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่นี้ เป็นการหลุดเข้าไปมีส่วนร่วมในภารกิจจินตนาการนี้อยู่หรือไม่ และตนเองถูกกระแสนี้เกาะเกี่ยวผูกพันอยู่เพียงไร ซึ่งโจทย์ของการใช้ชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบันนั้น มีความซับซ้อนและตอบยากขึ้นทุกที 

"สติ" "ความเข้าใจ" และ "การรู้เท่าทัน" โดยไม่ตัดสินอะไรไปก่อนล่วงหน้า จึงเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์ยุคนี้      


 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำแนะนำสำหรับการรายงานข่าวในสถานการณ์ฉุกเฉิน

Posted: 13 Jul 2018 01:08 AM PDT

คอลัมน์ "Ask a Mentor" (ถามผู้รู้) เป็นความร่วมมือระหว่าง J-Source และสมาคมนักข่าวแคนาดา

วัตถุประสงค์ของคอลัมน์นี้ คือการให้คำแนะนำแก่นักข่าว และนักศึกษาวารสารศาสตร์ที่อาจไม่ได้รับคำปรึกษาโดยตรงจากผู้เชี่ยวชาญ

ผู้อ่าน J-Source ขอคำแนะนำให้กับนักศึกษาวารสารศาสตร์สำหรับการรายงานข่าวเหตุการณ์ฉุกเฉิน และต่อไปนี้คือคำตอบของฮิวโก้ รอดริกัส (Hugo Rodrigues) ประธานสมาคมนักข่าวแคนาดา และเป็นบรรณาธิการบริหารของสแตนดาร์ต-ฟรีโฮเดอร์ ในเมืองคอร์นวอลล์

0000

คำถาม:  คุณมีคำแนะนำอะไรสำหรับนักศึกษาวารสารศาตร์ที่กำลังรายงานข่าวสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ

ฮิวโก้ รอดริกัส:  การรายงานข่าวประเภทฉุกเฉิน อาจเป็นหนึ่งในงานที่ชวนตื่นเต้นติดตามที่สุดสำหรับนักข่าว  เพราะมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย มีทั้งภาพและคำพูดต่างๆ ที่ดึงดูดผู้ติดตาม ทั้งหมดทั้งมวลที่ถูกกระตุ้นด้วยอะดรีนาลีนที่หลั่งออกมาเมื่อยืนอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉิน  ในฐานะนักข่าว การทำงานท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้อาจต่างกันมาก ระหว่างอยู่ท่ามกลางศูนย์กลางของเมืองใหญ่ กับในชุมชนเล็กๆ

ในฐานะนักข่าว ปกติคุณจะไม่ได้รับสิทธิ์ให้เข้าไปในสถานที่เกิดเหตุการณ์มากไปกว่าคนทั่วไปที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง  หมายความว่า การรายงานเกี่ยวกับทุกสิ่งที่คุณสามารถสังเกตจากสถานที่ภายนอก (เช่น ถนน, ข้างทาง, สวนสาธารณะ) นั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ คุณอาจตีสนิทกับชาวบ้านละแวกนั้น หากพวกเขายินยอมให้คุณเข้าไปในบริเวณบ้านของเขา คุณก็สามารถเก็บข้อมูลได้ด้วยเช่นกัน

ขณะที่กำลังเกิดเหตุการณ์อยู่นั้น จะมีบุคคลที่เป็นผู้รับผิดชอบควบคุมสถานการณ์ทั้งหมด บุคคลนี้ (มักเป็นตำรวจ หรือบางครั้งเป็นพนักงานดับเพลิง หรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์) ที่รับผิดชอบในเรื่องความปลอดภัยของทุกคนที่มีสิทธิ์เข้าออกบริเวณที่เกิดเหตุการณ์ รวมทั้งนักข่าวและผู้สนใจทั่วไป

ขึ้นอยู่กับรูปการณ์นั้น และนักข่าวจะไม่ได้รับสิทธิ์ให้ทำข่าวเกินกว่าบริเวณที่ถูกกำหนดไว้ เพื่อกันทุกคนให้ออกจากบริเวณนั้นยกเว้นบรรดาผู้ควบคุมสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์

กรมตำรวจในเมืองใหญ่ๆ มักมีเจ้าหน้าที่สื่อมวลชนสัมพันธ์หรือชุมชนสัมพันธ์ ที่คุณสามารถติดต่อได้ และอาจให้สิทธิ์คุณเข้าไปในสถานที่เกิดเหตุหรือให้ข้อมูลแก่คุณ  หากไม่เช่นนั้น บุคคลที่มีอำนาจในเหตุการณ์ (เช่น นายตำรวจ, หัวหน้าทีมดับเพลิง หรือนายอำเภอ) เป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่คุณสามารถปรึกษาหารือหรือต่อรองสิทธิ์การเข้าไปในสถานที่เกิดเหตุได้

คุณไม่เสียอะไรในการที่จะแจ้งว่าคุณคือใคร และถามอย่างสุภาพว่าคุณสามารถผ่านเข้าไปใกล้กับสถานที่เกิดเหตุมากกว่านี้ได้หรือไม่

เป็นเรื่องสำคัญที่พึงรำลึกไว้ว่าบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เป็นมนุษย์และการปฏิบัติที่ดีที่สุดตามหลักจรรยาบรรณของเราจะบังคับเราในฐานะสื่อมวลชนในการที่จะนำเสนอภาพพวกเขาด้วยความเคารพและคำนึงถึงศักดิ์ศรี เพียงเพราะว่าคุณถ่ายภาพหรือเก็บภาพไว้ในโน๊ตบุ้คของคุณนั้น ไม่ได้หมายความว่าคุณจำเป็นต้องใช้มันหรือแบ่งปันให้ผู้อ่านผู้ชมของคุณ  "หากเกิดเลือดตกยางออก นั่นคือข่าวพาดหัว" ยังคงเป็นถ้อยคำที่สมเหตุผล แต่นักข่าวที่มีความรับผิดชอบนั้นเรียนรู้เส้นแบ่งระหว่างการนำเสนอข้อมูลที่จำเป็นเพื่อที่จะเข้าใจเรื่องราว กับการสร้างเรื่องให้ใหญ่โตหรือนำเสนอเพื่อสร้างความตื่นเต้นกับโศกนาฏกรรม

เราไม่ต้องการรายงานข่าวเพื่อที่จะฉวยประโยชน์จากผู้ที่เพียงอยู่ผิดที่ผิดเวลา นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่เราใคร่ครวญในฐานะนักข่าวซึ่งอาจไม่ได้เป็นอันดับแรกๆ ในใจสำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟนโดยเฉลี่ย

พึงรำลึกไว้ถึงความเป็นมืออาชีพ - คุณกำลังทำงานของคุณ ถ่ายรูปและบันทึกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์และข้อมูลสำหรับผู้อ่านผู้ชม ผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ฉุกเฉินก็กำลังทำงานของพวกเขา ง่วนอยู่กับการจัดการเหตุการณ์และผู้ที่ได้รับผลกระทบ หากคุณไม่รบกวนการทำงานของพวกเขา และคุณเคารพพื้นที่ที่พวกเขาจำเป็นต้องทำงานให้ลุล่วง โดยปกติแล้วพวกเขาจะไม่ต่อต้านการที่คุณอยู่ตรงนั้นและงานที่คุณจำเป็นต้องทำให้ลุล่วง

ท้ายสุด เตรียมตัวเตรียมใจไว้สำหรับเวลาที่คุณทำงานลุล่วงแล้วในการรายงานเหตุการณ์เหล่านั้น นักข่าวจำนวนมากได้เห็นโศกนาฏกรรมที่คนทั่วๆ ไปจะไม่เคยพบเจอในชีวิต หลายคนจำเหตุการณ์ครั้งแรกเมื่อพวกเขาทำข่าวในสถานการณ์ที่เห็นผลพวงจากเหตุการณ์ร้ายแรงถึงชีวิต และมักไม่รื่นรมย์ เราเป็นเพียงมนุษย์ปุถุชนและเป็นเรื่องสำคัญที่จะตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้ทิ้งบาดแผลไว้กับเราด้วยเช่นกัน

เกี่ยวกับผู้เขียน: ฮิวโก้ รอดริกัส เริ่มงานแรกในฐานะนักข่าวสายตำรวจ ข่าวฉุกเฉิน ของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์เล็กๆ แห่งหนึ่ง ทางตอนเหนือของเมืองวอร์เตอร์ลู ปัจจุบันเป็นประธานสมาคมนักข่าวแคนาดา และเป็นบรรณาธิการบริหารของสแตนดาร์ต-ฟรีโฮเดอร์ ในเมืองคอร์นวอลล์

หมายเหตุ: มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ แปลจาก http://j-source.ca/article/ask-a-mentor-how-to-cover-police-fire-and-other-emergencies/

เผยแพร่ครั้งแรกใน: https://mediainsideout.net/world/2018/07/293

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘คณิต’ ชี้ประหารไม่แก้ปัญหา ผอ.ศูนย์วิจัยนิติฯ ย้ำการลงโทษควรเน้นที่การพัฒนามนุษย์

Posted: 13 Jul 2018 12:28 AM PDT

คณิต ณ นคร ชี้ประหารชีวิตไม่แก้ปัญหา ระบุคนไม่ได้กลัวโทษแต่กลัวประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรม แต่เรายังมีความผิดเพี้ยนของกระบวนการยุติธรรม เผยเคยดันยกเลิกโทษประหาร เมื่อครั้งเป็นสสร. 40 เหตุมันขัดแย้งกับการยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะที่ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทางนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ปรีดีฯ  แนะการลงโทษควรเน้นที่การพัฒนามนุษย์

เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้องสัจจา เกตุทัต อาคารสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ "โทษประหารชีวิตแก้ปัญหาสังคมไทยหรือไม่" โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.คณิต ณ นคร ที่ปรึกษาคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และอดีตประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทางนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ปรีดีฯ ร่วมเสวนา  จิรวุฒิ ลิปิพันธ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขานิติศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

รายละเอียดดังนี้

ประหารไม่แก้ปัญหา คนไม่ได้กลัวโทษแต่กลัวประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรม

คณิต กล่าวว่า คำถามที่ขึ้นในหัวข้อการเสวนาในวันนี้ตอบได้เลยว่าไม่ช่วยแก้ปัญหา กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราจะพูดถึงวันนี้มีอยู่ 3 กฎหมายคือกฎหมายอาญา, กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายว่าด้วยการบังคับโทษ ซึ่งตนจะพูดในมิติของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่าคำถามในหัวข้อวันนี้ช่วยแก้ปัญหาไม่ได้เลย คือมนุษย์เราหรือคนที่กระทำความผิดเขาไม่ได้กลัวโทษแต่เขากลัวประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม แต่กระบวนการยุติธรรมของเราไม่เข้าท่า การปฏิรูปตำรวจถ้าฟังดูก็ไปไม่ถึงไหน อัยการเองก็ไม่ค่อยได้เรื่องและรวมถึงศาลด้วย เพราะฉะนั้นแล้วตอบได้เลยว่าผู้กระทำความผิดนั้นเขากลัวกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ กระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพหมายความว่าการทำงานของกระบวนการยุติธรรมต้องถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมาย

กฎหมายวิธีพิจารณาความหรือว่ากฎหมายอาญาของเรานั้นมีการปฏิรูปสองครั้งในอดีต ครั้งแรกก็คือในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการตั้งศาลยุติธรรม ครั้งที่สองปฏิรูปขนานใหญ่คือรัฐธรรมนูญปี 40 ในกรณีของครูจอมทรัพย์นี่คือเหยื่อของกฎหมายฉบับนี้ ความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมนั้นมันผิดพลาดโดยรัฐ รัฐเท่านั้นที่จะแก้ไข รัฐก็คือพนักงานอัยการที่จะแก้ไข ซึ่งคุณจอมทรัพย์ท่านรู้สึกว่าไม่ถูกต้องเลยฟ้องให้รื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่แล้วท่านก็ถูกดำเนินคดี เมื่อคุณจอมทรัพย์ถูกดำเนินการอย่างนี้แล้วอัยการควรจะสั่งไม่ฟ้องครูจอมทรัพย์ คนในกระบวนการยุติธรรมก็มีข้อด้อยอีกอันหนึ่งคือมีความกลัว ทำงานก็ไม่ลงลึก

ลองเปรียบเทียบกระบวนการยุติธรรมเราเหมือนการเล่นฟุตบอล ฟุตบอลจะมีสูตร 4:3:3 และในกระบวนการยุติธรรมก็มีสูตรคือสูตร 3:3:3 โดยที่ 3 ตัวแรกก็คือการทำงานของกระบวนการยุติธรรมไม่มีประสิทธิภาพ 3 ที่สองประจบการเมือง ส่วน 3 สุดท้ายคือกฎหมาย นักกฎหมายและการศึกษากฎหมาย ซึ่งกล้ายืนยันว่ากฎหมายเราทันสมัยไม่แพ้ประเทศใด แต่นักกฎหมายเราแย่เพราะการเรียนการสอนมันแย่เพราะฉะนั้นจึงมองว่ามีความแย่อยู่ 3 ประการ แย่แรก คือประสิทธิภาพแย่ จะลงโทษได้นั้นน้อยมาก สองคือกระบวนการยุติธรรมคุกคามสิทธิมากที่สุดแม้กระทั้งคนที่เป็นทนายความยังโดนจับ สามคือแพงมาก ประเทศอื่นๆ มีผู้พิพากษาแค่ไม่กี่คนแต่ของไทยมีเป็นร้อยเพราะฉะนั้นถึงแพงมาก ดังนั้นคำตอบก็คือโทษประหารช่วยสังคมไม่ได้แต่เราก็ไม่ใช่ว่าจะปล่อยเลยตามเลยต้องมีการปรับปรุงกัน

เคยดันยกเลิกโทษประหาร เมื่อครั้งเป็นสสร. 40

คณิต กล่าวว่า ตอนที่ตนเป็น สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 40 ตนเคยผลักดันให้มีการยกเลิกโทษประหารเพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 40 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ของโลกที่พูดถึง Human Dignity หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อเรายอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้วเราก็จะต้องยกเลิกโทษประหารเพราะมันขัดแย้ง จึงเสนอว่าให้ยกเลิกแต่คณะกรรมการยกร่างไม่เห็นด้วย หลังจากรัฐธรรมนูญปี 40 ของปี 50 ก็ยังมีอยู่แม้กระทั้งปีรัฐธรรมนูญปี 60 ก็ยังคงมีอยู่ เท่าที่ติดตามข่าวที่มีการประหารชีวิตเมื่อเร็วๆนี้รู้สึกว่าญาติๆเขาไม่รู้เรื่องเลยนี่ก็คือจุดบกพร่องอีกประการหนึ่ง ของเยอรมันมีมาตรา 1 เขาบอกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่สามารถละเมิดได้ และในมาตรา 120 หรือ 122 ก็บอกว่าโทษประหารชีวิตให้เป็นอันยกเลิกซึ่งเขายกเลิกโดยรัฐธรรมนูญในต่างประเทศเขาทยอยยกเลิกไปเหลืออยู่ประมาณ 20 ประเทศ แต่ของเรานั้นยังมีติดกันมา 3 ฉบับ แต่สิ่งที่น่าเศร้าสำหรับบ้านเราคือคนที่เป็นทนายความสู้อยู่เรื่องเดียวคือข้อเท็จจริงไม่คิดหาข้อกฎหมายมาต่อสู้ด้วย

ความผิดเพี้ยนของกระบวนการยุติธรรม

อดีตประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า อัยการจริงๆ แล้วมีบทบาทสูงมากในทางกฎหมาย เป็นผู้รับผิดชอบก่อนคดีถึงศาลไม่ใช่ปล่อยให้พนักงานสอบสวนทำไปอย่างในบ้านเรา เพราะในความเป็นจริงประเทศที่เจริญแล้วอัยการจะมีบทบาทมากเพื่อให้การตรวจสอบความจริงขั้นต้นสมบูรณ์แบบ พอพิพากษาเสร็จแล้วบทบาทอัยการอีกแบบหนึ่งคือเป็นผู้ขอให้มีการลงโทษ ของไทยคือปล่อยให้ผู้พิพากษาทำหมด ความจริงบทบาทของอัยการในกระบวนการยุติธรรมจะสูงมาก ผู้พิพากษาจะมุ่งไปที่ (concentrate) เฉพาะการพิจารณาพิพากษาเท่านั้น มีผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาท่านหนึ่งบอกไว้ว่าเขาสามารถประกอบอาชีพอะไรได้หมดยกเว้นพนักงานอัยการเพราะอัยการทำงานคนเดียว ของเรามีเรื่องหนึ่งที่ยังบกพร่องอยู่ในวิธีการพิจารณาอาญา คือความผิดที่ร้ายแรงและเป็นผู้เยาว์รัฐจะจัดหาทนายให้ แต่ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นคนหูหนวก ตาบอดคือไม่ได้จัดหาให้ ซึ่งต่อไปน่าจะต้องแก้ไขให้สมบูรณ์ เพราะที่แก้ไขกันไปไม่ค่อยได้เรื่อง อัยการควรจะเข้าไปสอบสวนดูแลไม่ใช่ให้ตำรวจทำจนเสร็จ อัยการเองเป็นผู้บริหารงานคดี ศาลเป็นผู้พิจารณาพิพากษา จริงๆศาลไม่มีอำนาจหน้าที่บริหารงานคดี การที่จะให้ศาลลงโทษคืออัยการต้องมีบทบาท การที่จะแก้ไขกฎหมายให้เกิดความถูกต้องดีงามมีอยู่น้อยมาก แต่ที่ยังผิดเพี้ยนอยู่ก็เพราะความผิดพลาดของมนุษย์หรือของกระบวนการยุติธรรม

ถ้าพูดถึงวงการพระแนะนำให้ไปอ่านนิติศาสตร์แนวพุทธ ศีลกับกฎหมายอันเดียวกันศีลคือข้อฝึก กฎหมายก็คือข้อฝึกเอาไว้ใช้ฝึกมนุษย์ เรื่องโทษประหารในอนาคตไม่น่าจะมีประเทศไหนใช้แล้วน่าจะลดลงเรื่อยๆ ในอังกฤษเป็นประเทศที่แปลก เขาจะรักตำรวจมากจะสังเกตได้ว่าตำรวจจะไม่พกปืนจะพกเป็นกระบองแทน เพราะตำรวจคือเพื่อนของประชาชน ต่อมาอังกฤษก็มีการตัดสินให้ฆ่าตำรวจ ชาวบ้านก็เรียกร้องว่ามาฆ่าเพื่อนทำไม สุดท้ายก็ต้องยกเลิกอย่างถาวร ดังนั้นจึงคิดว่าการประหารชีวิตมันเป็นอารมณ์ของคนเราจึงควรทำใจให้เป็นกลาง

การลงโทษควรเน้นที่การพัฒนามนุษย์

ธานี กล่าวว่า ตนมีความคิดเห็นตรงกันกับ อ.คณิต ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทางวิชาการในเชิงความคิดเห็นนั้นถามว่าโทษประหารชีวิตช่วยให้เกิดประโยชน์อะไรในสังคม คำตอบยังคงเหมือนกันว่าไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรในทางสังคมเลย ลองมาดูในมุมมองทางศาสตร์ในการบังคับโทษ ในส่วนแรกลองคิดไปในช่วงนับหนึ่งกันก่อนเพราะไม่ค่อยมีคนคิดกัน โดยเฉพาะนักกฎหมายเราชอบไปออกกฎบังคับมนุษย์ด้วยกันโดยที่เราไม่รู้จักว่ามนุษย์นั้นเป็นยังไง สิทธิหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืออะไร ในทางนิติปรัชญาสิ่งสำคัญอันหนึ่งก็คือเรื่องของธรรมชาติที่ออกแบบแล้วมีมนุษย์เกิดขึ้นมาบนโลกสิทธิของความเป็นมนุษย์สำคัญยิ่ง

มนุษย์เกิดมาตามธรรมชาติและตายไปตามธรรมชาติ มีรักโลภโกรธหลง มีความขัดแย้งกันเองได้ ถ้าเราลองมองอะไรที่ต่ำลงไปกว่ามนุษย์ในตามธรรมชาติ เช่น เสือฆ่ากวาง ซึ่งก็เป็นธรรมชาติและเป็นสมดุลของโลกมนุษย์ แต่มนุษย์จะสามารถพัฒนาได้มากกว่า จึงมีมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมา กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและโทษคือสิ่งที่มนุษย์คิด คนที่คิดกฎหมายนี้ขึ้นมาแรกๆ เพื่อให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย จึงเริ่มคิดว่าคนจะมีโทษยังไง มนุษย์ยุคก่อนเขายังใช้ความรุนแรงกันแต่ก็ค่อยๆ พัฒนามา มีการวางทฤษฎีวางรัฐธรรมนูญออกมาเรื่อยๆ จากความโหดร้ายทารุณป่าเถื่อนก็ค่อยๆ ศิวิไลซ์เพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นช่วงเปลี่ยนผ่านของโลกที่มีการใช้ความรุนแรงก็เริ่มเปลี่ยนไปใช้เหตุใช้ผล เพราะฉะนั้นกระบวนการยุติธรรมหรือกฎหมายต้องมีไว้เพื่อฝึกมนุษย์หรือแก้ไขมนุษย์ทำให้มนุษย์ดีขึ้นถึงจะตรงกับแนวทางที่มนุษย์ออกแบบมา

หลายๆ ประเทศได้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงโทษที่ทำลายมนุษย์ โทษที่ทำลายมนุษย์โทษแรกเลยคือการประหารชีวิตนั้นเริ่มหมดไปจากหลายประเทศ อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญมากในการพัฒนาประเทศพัฒนามนุษย์ โทษจำคุกแต่ก่อนบอกให้จำคุกแรงๆ โหดร้าย แต่วันนี้โทษจำคุกก็เปลี่ยน มันเป็นการพัฒนาโทษช่วงเปลี่ยนผ่าน มีบางประเทศที่เขายกเลิกไปหมดเลยเพราะเขามีการพัฒนาความรู้ความคิดไปไกลกว่าคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันหลายประเทศก็ยังมีอยู่หรือยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน มันอยู่ในนโยบายของรัฐ อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ของเรานั้นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยาวมา 9 ปี ต้องยอมรับว่ามันก็ถูกเบรกไปเรื่อยๆ แต่พอถึงยุคนี้อาจจะมีผู้เกี่ยวข้องบางท่านมุมมองความคิดยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ถ้ากฎหมายดีสมดุลก็สร้างสมดุลให้กับสังคมและไม่ไปทำร้ายสังคมทำร้ายมนุษย์ พื้นฐานโครงสร้างทางสังคมไทยก็เป็นปัญหามากและเป็นส่วนสำคัญที่มารับกับกฎหมายกับกระบวนการยุติธรรมที่ยังต้องการการพัฒนาอีกมากจึงทำให้การลงโทษมีการคลาดเคลื่อน

การตรวจสอบค้นหาความจริงไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ในยุคสมัยก่อนยังคิดเรื่องแก้แค้นเป็นหลัก ความคิดนี้เป็นความคิดที่ยังติดอยู่ในกฎหมายหลายฉบับแล้วยังถูกสอนไปยังผู้ที่เรียนกฎหมายคือเน้นเรื่องแก้แค้นทดแทน การลงโทษข่มขู่ทำให้กลัว แต่ก็ไม่ได้แก้แค้นเสมอไปยังมีบอกไว้ว่ามีไว้แก้ไขคนที่กระทำความผิดให้ดีขึ้น ซึ่งวัตถุประสงค์ของการบังคับโทษนั้นต้องกระทำเพื่อให้เขาดำเนินชีวิตในอนาคตได้ ดำรงไว้ซึ่งการดำรงเผ่าพันธุ์ความเป็นมนุษย์ ดังนั้นการลงโทษควรเน้นที่การพัฒนามนุษย์หรือเพื่อความเปลี่ยนแปลงดีกว่า คือใช้โทษเพื่อการสร้างสรรค์พัฒนามนุษย์ไม่ควรใช้โทษเพื่อไปทำลายมนุษย์ด้วยกันเอง เหนือสิ่งอื่นใดประเทศใดก็ตามที่จะมั่นคงและนำไปสู่การบังคับโทษที่มีประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมต้องมีประสิทธิภาพด้วย

เรื่องใหญ่คือนักกฎหมายยิ่งคนที่จะมารับไม้ต่อต้องศึกษามากเรียนรู้มากใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ กระบวนการยุติธรรมเป็นเส้นสำคัญที่จะทำให้ประเทศชาติมั่นคงทุกคนมีชีวิตที่ดี มันสะท้อนถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ถ้าเกิดกระบวนการยุติธรรมไม่เข้าแข็งก็เพราะนักกฎหมายเพราะฉะนั้นการพัฒนาในกระบวนการยุติธรรมต้องพัฒนาที่ตัวมนุษย์หรือตัวนักกฎหมาย วันนี้คนที่เกิดมาในยุคปัจจุบันอยู่ในทุนนิยมไม่เหมือนกับอดีต ดังนั้นการที่จะเข้าถึงแก่นแท้ของชีวิตเด็กรุ่นใหม่จะไม่ค่อยเข้าใจ ยึดวัตถุนิยม ยึดเงินเป็นตัวตั้งของชีวิต จนล้ำศีลธรรมที่อยู่ในตัวล้ำเกินเส้นของกฎหมายถ้าคนในกระบวนการยุติธรรมจัดการกับคนที่ล้ำเส้นไม่ได้หรือจัดการได้แต่ผิดวิธีสังคมก็จะมีปัญหาแน่นอน ยิ่งถ้าเป็นคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมแล้วติดกับดักพวกนี้จะยิ่งแย่ กระบวนการยุติธรรมที่ซื้อด้วยเงินมันทำลายประเทศชาติเพราะฉะนั้นนักกฎหมายควรจะมีสติปัญญาและความกล้าหาญคุณธรรมจริยธรรมเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง โทษประหารควรทำให้ถูกต้อง ถ้าเลือกระหว่าง

จิรวุฒิ กล่าวโดยสรุปว่า ถูกใจแต่ไม่ถูกต้องคือถูกใจประชาชนแต่ไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายในการลงโทษหรือหลักสากล หรือว่าถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ สิ่งที่เราพยายามทำคือพยายามนำเสนอสิ่งที่เชื่อว่าน่าจะจรรโลงสังคมน่าจะแก้ไขสังคมได้แต่ในเมื่อไม่ถูกใจ เราคงต้องต่อสู้กันต่อไป ในที่สุดแล้วเรามีสิ่งที่น่าจะทดแทนสิ่งที่เรียกว่าประหารชีวิตได้ทั้งในทางปฏิบัติและทางทฤษฎี อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ไปศึกษาว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไรไม่ใช่ไปฟังกระแสสังคม ศึกษาว่าจริงๆแล้วทาประหารชีวิตเขามีไว้ทำไมและมีในบริบทไหนและไม่มีในบริบทไหน เพราะฉะนั้นอยากให้ลองคิดดูว่าจริงๆ แล้วโทษประหารชีวิตแก้ปัญหาสังคมได้แค่ไหน

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมยศ พฤกษาเกษมสุข: รัฐบาลตูดขาด รีดภาษีปะผุเต็มที่

Posted: 13 Jul 2018 12:12 AM PDT



หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549เป็นต้นมา งบประมาณด้านการทหารเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เฉพาะในช่วง 4 ปี ของรัฐบาลเผด็จการประยุทธ์ ได้ถลุงงบประมาณแหลกลาญ ซื้ออาวุธยุธโธปกรณ์ พร้อมทั้งเพิ่มเงินเดือน-ตำแหน่งปูนบำเหน็จให้กับพรรคพวก-บริวารกันเต็มที่ จนงบประมาณขาดดุล สร้างหนี้สินให้กับประชาชน ด้วยการรีดภาษีนานาชนิดทุกช่องทางเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายปรนเปรอพวกพ้องและสมุน ในขณะที่ประชาชนทุกข์ยากแสนสาหัสจากภาวะข้าวยากหมากแพงสูงสุดเป็นประวัติการณ์

รายได้หลักของรัฐบาลมาจากการรีดภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ซึ่งเป็น ภาษีเรียกเก็บจากการบริโภคของประชาชนในอัตรา 7% ของราคาขายสินค้าหรือบริการ ดังนั้นทุกครั้งของการจับจ่ายใช้สอยทั้งด้านการซื้อสินค้าหรือบริการมีมากเท่าไร ย่อมหมายถึง ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตรงนี้มากขึ้นตามไปด้วย  ประชาชนทุกคนจึงถูกรีดภาษีมูลค่าเพิ่มกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะยากดีมีจนหรือร่ำรวยมั่งคั่งเพียงไรก็ต้องจ่ายเท่ากันในอัตรานี้ สร้างรายได้เข้ารัฐมหาศาลถึงปีละกว่า 8 แสนล้านบาท ไม่ว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะเพิ่มขึ้นเท่าไรผู้ประกอบการมักจะผลักภาระภาษีมูลค่าเพิ่มนี้มาให้ประชาชน ราคาสินค้าจึงเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว รายได้ที่แท้จริงจะถูกลดค่าลงไป ผลก็คือการบริโภคของประชาชนลดลงตามไปด้วย นำมาซึ่งความทุกข์ยากเดือดร้อนมาให้กับประชาชน เศรษฐกิจจะชะงักงันตามไปเป็นลูกโซ่

ภาษี  เป็นเครื่องมือทางการคลังสร้างรายได้เข้ารัฐ ชนิดหนึ่ง การใช้นโยบายเพิ่มภาษี เรียกกันว่า เป็นนโยบายการคลังแบบหดตัว (Restrictive Fiscal Policy) ซึ่งจะใช้เมื่อต้องการชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ให้ร้อนแรงมากเกินไป ในขณะเดียวกัน การเพิ่มภาษีรัฐบาลจะมีรายได้นำไปลงทุนพัฒนาประเทศและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และยังใช้เป็นมาตรการช่วยในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อไม่ให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้นเกินไป ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้ใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 แต่ในปัจจุบันได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาลดภาษีฯฉบับที่ 549 ให้ลดลงเหลือเพียง 7% ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ภาษีมูลค่าเพิ่มได้เพิ่มขึ้นเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ในปี 2540 ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งแต่ทำให้เศรษฐกิจบอบช้ำอย่างหนักในปลายปีรัฐบาลจึงลดลงมาเหลือ 7 เปอร์เซ็นต์จนถึงปัจจุบันนี้

ภายหลังการรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมาเศรษฐกิจไทยตกต่ำ ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ในขณะเดียวกันรายจ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้จาก ช่วงเวลา 4 ปีรัฐบาล "บิ๊กตู่"  จัดทำงบประมาณขาดดุล รวมทั้งสิ้น 1,517,921.7 ล้านบาท รัฐบาลจึงต้องทำการรีดภาษีให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ทำการกู้เงินมาชดเชยการขาดดุล ทำให้หนี้สาธาณณะเพิ่มขึ้นถึง1.76 ล้านล้านบาท คิดเป็น 42.8 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าปีงบประมาณ 2564 สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศจะอยู่ที่ระดับ 60% ของจีดีพี

เมื่อรัฐบาลสิ้นไร้ไม้ตอก จึงต้องหันมารีดภาษีกันเต็มที่นั่นก็คือการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 9 มี.ค.61 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า " ขณะนี้ประชาชนเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวตอยู่ที่ร้อยละ 7 มาหลายปี แต่หากเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 จะทำให้รายได้ประเทศเพิ่มขึ้นกว่าแสนล้านบาท ถามว่าจะเสียสละกันได้ไหม เพราะที่ผ่านมาละเลย ไม่สุจริต ต้องไล่ให้หมด และขณะนี้รายจ่ายสูงกว่ารายรับ หากไม่ทำเช่นนี้ล้มละลายทั้งประเทศ รัฐบาลจะมีงบประมาณเพิ่มขึ้น เพื่อไปทำในสิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง ขณะที่ราคาสินค้าไม่ควรปรับเพิ่มขึ้นมากนัก ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันเดินด้วยความระมัดระวังและมีภูมิคุ้มกันอยู่ตลอด สามารถบริหารจัดการได้ เงินกู้ต่างๆอยู่ในกรอบทั้งหมด"

ถัดมาไม่นาน ประชาชนทุกสารทิศต่างพากันประณามสาปแช่งคัดค้านการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจนรัฐบาลต้องยอมถอยด้วยการเลื่อนขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มออกมาอีกหนึ่งปี เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศเผยแพร่พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 646) พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560 โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ ให้ประกาศคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7% โดยให้มีผลบังคับในการจัดเก็บออกไปอีกเป็นเวลา 1 ปี ตามวงรอบปีงบประมาณ 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึง 30 กันยายน 2561

ในช่วงเดือนเมษายน 2561 มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีก ว่า หลังวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ให้เก็บอัตรา 9% เป็นความตั้งใจจริงที่จะเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จึงได้มายื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลประยุทธ์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 เป็นจำนวนสามข้อคือ หนึ่ง ให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพื่อตรึงราคาน้ำมันอยู่ที่ลิตรละ 26-28 บาท  ตรึงราคาแก็สหุงต้มถังละ 360 บาท สอง คัดค้านการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจนกว่าความยากจนจะหมดไป สาม ลดงบประมาณรายจ่ายสิ้นเปลืองในเรื่อง กินเงินเดือนสองตำแหน่ง หยุดการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และตำแหน่งนายพลล้นเกินในกองทัพ การเคลื่อนไหวของกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยทำให้ในวันที่ 13 มิย. รัฐบาลประกาศตรึงราคาแก๊สหุงต้มตามข้อเรียกร้องของกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ต่อมาในวันอังคารที่3 ก.ค.61 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้มีมติขยายระยะเวลาเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่อัตรา 7% ต่อไปอีก 1 ปี จากเดิมที่จะหมดอายุวันที่ 30 ก.ย.2561 ไปเป็นสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2562 โดยกระทรวงการคลังคาดว่ารัฐบาลจะสูญเสียรายได้จากมาตรการนี้ ประมาณ 2.58 แสนล้านบาท

การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยในการคัดค้านการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม มาในจังหวะก้าวสำคัญไม่ใช่เพียงแต่เสียงคัดค้านดังกระหึ่มขึ้นแล้วเท่านั้นแต่หมายถึงการรวมตัวของประชาชนอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาอีกด้วย ทำให้รัฐบาลต้องยอมถอยทันที ด้วยการยอมตามข้อเรียกร้องของกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยอย่างรวดเร็ว

แม้ว่ารัฐบาลยอมถอยในการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่รัฐบาลก็ยังหันไปรีดภาษีตัวอื่น เช่น  การเก็บภาษีรับมรดก และยังมียังมีภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่สูบเลือดประชาชนเป็นรายได้ของรัฐอย่างเป็นกอบเป็นกำ ประชาชนจึงต้องจ่ายภาษีน้ำมันซ้ำซ้อนกันหลายตัวอันเป็นต้นเหตุให้ราคาน้ำมันแพงกว่าประเทศบ้าน นอกจากนี้ยังได้ผลักดันพ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. … หรือ พ.ร.บ.ภาษีลาภลอย เป็นการจัดเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินหรือห้องชุดที่ได้รับประโยชน์จากราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นรวมถึงการออกกฎหมายเก็บภาษีสินค้าออนไลน์ และ ภาษีรายได้ของวัดวาอารามทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการยกร่างกฎหมายอยู่ในขณะนี้

ในความเป็นจริงเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งมาก่อน มีทรัพยากรมากมาย และ มีฐานะการคลังที่เข้มแข็ง หากรัฐบาลบริหารงบประมาณเป็นไปตามหลักทฤษฎีพอเพียงแล้ว จะมีเงินเหลืออยู่มหาศาลทีเดียว โดยไม่ต้องรีดภาษีเอาจากประชาชนมากขนาดนี้ แต่ที่งบประมาณขาดดุลและต้องรีดภาษีเอาจากประชาชนในปัจจุบันนี้ก็เพราะการใช้จ่ายสิ้นเปลืองไปกับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ไปมากมายโดยไม่เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง การกินเงินเดือนสองตำแหน่ง ตำแหน่งนายพลล้นเกินในกองทัพ จะเห็นได้ว่า ในปี 2561 ว่า กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 222,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 4.16% นอกจากนี้ยังมีการหว่านเงินในโครงการประชารัฐหลายโครงการรวมทั้ง การขึ้นเงินเดือนให้กับองค์กรอิสระและตุลาการย้อนหลังไปถึงปี 2557 เป็นกรณีพิเศษ เท่ากับว่ารัฐบาลรีดภาษีจากประชาชนนำไปปรนเปรอให้กับกลุ่มข้าราชการที่ทำงานสนับสนุนรัฐบาล

ไม่น่าเชื่อเลยว่า รัฐบาลเผด็จการรีดภาษีกันทุกทางขนาดนี้แต่เสียงคัดค้านกลับแผ่วเบาเป็นอย่างยิ่ง หากรัฐบาลประยุทธ์ สามารถสืบทอดอำนาจของตัวเองต่อไปได้อีกเชื่อได้ว่าการรีดภาษีจะเป็นไปอย่างหนักหน่วงรุนแรงและรวดเร็วกว่าเดิมมาก เพราะจะได้ข้ออ้างในเรื่องการสนับสนุนจากประชาชน แม้ว่าประชาชนทุกวันนี้จะทุกข์ยากแสนสาหัสเพียงไรก็ตามแต่ก็ยังยอมให้รัฐบาลเผด็จการขูดรีดภาษีกันเต็มที่ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลพลเรือนแล้ว ไม่ทันนกกระจอกกินน้ำเป็นแน่ที่จะต้องถูกโค่นล้มลงไปเสียก่อน นับเป็นโอกาสทองของรัฐบาลเผด็จการในขณะนี้แห่งเดียวในโลกที่สามารถรีดภาษีเอาจากประชาชนอย่างง่ายดาย และยังได้สืบทอดอำนาจเผด็จการให้ยาวนานต่อเนื่องไปได้อีก 5 ปีข้างหน้า ได้อย่างสบายใจ ไร้กังวล .

  

เผยแพร่ครั้งแรกใน: https://prakaifai.com/2018/07/13

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พบแฮ็กเกอร์ทำงานให้รัฐบาลจีนสอดแนม-เก็บข้อมูลเลือกตั้งกัมพูชา

Posted: 12 Jul 2018 10:35 PM PDT

บริษัทความปลอดภัยไซเบอร์สหรัฐฯ รายงาน พบกลุ่มแฮ็กเกอร์เชื่อมกับทางการจีนพยายามแทรกซึม สอดแนมเลือกตั้งกัมพูชาที่จะมีในวันที่ 29 ก.ค. นี้ด้วยการเชิญให้คลิกเนื้อหาในอีเมล์ ทำเว็บปลอมเพื่อหลอกเก็บข้อมูล ล่าสุดมีกลุ่มองค์กรสิทธิฯ สื่อ ส.ส. ฝ่ายค้าน ทูต กกต. และกระทรวงมหาดไทยถูกแฮ็กไปแล้ว

ภาพบัตรลงคะแนนเลือกตั้งที่กัมพูชา (ที่มา: Flickr/ Daniel Littlewood)

สื่อไทม์รายงานว่า บริษัทความปลอดภัยทางไซเบอร์จากสหรัฐฯ 'FireEye' สืบพบปฏิบัติการขนาดใหญ่จากกลุ่มจารกรรมไซเบอร์ของจีนที่พยายามแทรกซึมชาวกัมพูชาเพื่อสอดแนมการเลือกตั้งระดับประเทศของกัมพูชาที่จะมีขึ้นในช่วงวันที่ 29 ก.ค. ที่จะถึงนี้ โดยในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้เคยมีกลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่ม สื่อมวลชน และผู้สังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตว่า มีความพยายามแทรกซึมด้วยการล่อลวงเอารหัสหรือหมายเลขบัตรเครดิตทางไซเบอร์ด้วยเว็บปลอมหรืออีเมลปลอม หรือที่เรียกว่าฟิชชิง (phishing) และมีความพยายามในการแฮ็กระบบด้วย

บริษัท FireEye ออกรายงานเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่ากลุ่มแฮ็กเว็บชื่อ TEMP.Periscope ตั้งเป้าล้วงข้อมูลจากผู้มีชื่อเสียงในกลุ่มฝ่ายค้าน เจ้าหน้าที่กระทรวง นักสิทธิมนุษยชนและองค์กรสื่อต่างๆ โดยกลุ่มที่ถูกแฮ็กไปเรียบร้อยแล้วได้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชา กระทรวงมหาดไทย นักการทูต และ ส.ส.ของฝ่ายค้าน

ก่อนหน้านี้ TEMP.Periscope เคยตั้งเป้าแฮ็กกลุ่มบรรษัท สถาบันการศึกษา และเอกชนผู้รับเหมาด้านกลาโหมในสหรัฐฯ ไต้หวัน ฮ่องกง และทวีปยุโรปมาก่อน บริษัท FireEye เคยศึกษากลุ่ม TEMP.Periscope มาตั้งแต่ปี 2556 แล้ว และระบุว่ามีความเป็นได้สูงมากที่กลุ่มนี้จะทำงานให้กับรัฐบาลจีน

ประเทศจีนเป็นพันธมิตรที่มีความใกล้ชิดกับกัมพูชาและลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนา การช่วยและและการสนับสนุนทางการทหารไปหลายพันล้านดอลลาร์ เบนจามิน รีด ผู้จัดการอาวุโสของฝ่ายวิเคราะห์การจารกรรมไซเบอร์ที่ FireEye กล่าวว่าจากหลักฐานที่พวกเขาเก็บรวบรวมได้แสดงให้เห็นว่าจีนสนใจการเลือกตั้งในกัมพูชาอย่างมาก เพราะถ้าผลการเลือกตั้งพลิกโผแบบที่เกิดขึ้นในมาเลเซียก็จะสร้างปัญหาให้กับการดำเนินโครงการต่างๆ ของจีนได้

อย่างไรก็ตาม สื่อไทม์ระบุว่าโอกาสที่การเลือกตั้งในกัมพูชาจะพลิกโผนั้นมีน้อย เพราะพรรครัฐบาลกัมพูชาเพิ่งสั่งยุบพรรคที่เป็นคู่แข่งและคุมขังผู้นำพรรค แต่นั่นก็ทำให้จีนยังคงเป็นกังวลจนต้องจับตามองสิ่งที่เกิดขึ้นภายในกัมพูชาอย่างใกล้ชิดทั้งมิตรและศัตรู

ในรายงานของ FireEye ระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหนึ่งในตัวอย่างล่าสุดที่รัฐชาติพยายามเก็บข้อมูลการเลือกตั้งของประเทศอื่นๆ นอกจากในกัมพูชาแล้วยังเป็นไปได้ว่าอาจมีปฏิบัติการแบบนี้เกิดขึ้นที่อื่นนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

อู พันนาริธ ประธานฝ่ายความปลอดภัยไอซีทีของกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคมของกัมพูชากล่าวว่า การพิสูจน์เรื่องการโจมตีทางไซเบอร์ในกัมพูชานั้นทำได้ยาก ซึ่งโดยมากก็เกิดขึ้นจากการขาดมาตรฐานและความเข้าใจด้านความปลอดภัยออนไลน์ อย่างไรก็ตามพวกเขามีทีมปฏิบัติการโต้ตอบฉุกเฉินทางคอมพิวเตอร์ (CERT) ที่คอยให้คำปรึกษาในเรื่องนี้และมีการออกคำแนะนำด้านความปลอดภัยให้กับเว็บไซต์ต่างๆ ของกัมพูชาเพื่อช่วยปิดช่องทางที่เสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์

Licadho กลุ่มสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงในกัมพูชาเปิดเผยว่าพวกเขาเผชิญกับการโจมตีทางไซเบอร์หลายครั้งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยมีลักษณะที่ดูซับซ้อนขึ้น และมีการโจมตีซ้ำๆ มากขึ้น พวกเขามีความกังวลเพราะว่าต้องเก็บข้อมูลสำคัญต่างๆ ของเหยื่อและผู้คนที่ให้ข้อมูลในฐานะที่เป็นคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ดังนั้นการโจมตีทางไซเบอร์จึงเป็นเรื่องใหญ่

มีการยกตัวอย่างการโจมตีทางไซเบอร์อีกกรณีหนึ่งคือกรณีของ เข็ม โมโนวิทยา โฆษกของพรรค CNRP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านกัมพูชาที่ถูกโจมตีโดย TEMP.Periscope ด้วยการส่งอีเมลหลอกล่อ อ้างว่ามาจากคนทำงานที่ Licadho โดยชื่อของบุคลากรเป็นคนที่ทำงานใน Licadho จริง ชื่อของอีเมลก็ถูกต้อง ทว่าเบอร์โทรศัพท์ไม่ถูกต้อง และบุคลากรคนดังกล่าวก็ไม่ได้เขียนอีเมล์ในลักษณะนั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่ส่งจดหมายปลอมนี้อาศัยอ้างชื่อคนๆ เดียวกันส่งข้อความร้องขอในเรื่องต่างกันหลายครั้ง เช่น ขอให้เปิดไฟล์ที่แนบมาพร้อมอีเมล (attachment) หรือทำเรื่องอื่นๆ ไปจนถึงแอบอ้างเอาโลโก้องค์กรไปใช้

FireEye ยังสืบพบอีกว่า เคยมีการโจมตีทางไซเบอร์ที่เชื่อมโยงได้กับทางการเวียดนาม เหตุเกิดกับ Licadho ในเดือน พ.ค ที่ผ่านมา ที่มีการส่งอีเมลหลอกลวงแบบเดียวกันให้กับนักข่าว ทูต และนักวิชาการโดยปลอมตัวเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชา ซึ่งในเวลาเดียวกันกับการโจมตีทางไซเบอร์ รัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศว่าจะมีการสอดแนมกิจกรรมในโลกออนไลน์มากขึ้น และมีการจับกุมผู้คนหรือข่มขู่ผู้คนที่โพสต์โซเชียลมีเดียออนไลน์ต่อต้านรัฐบาลแล้วก่อนหน้านี้

นพ วี ผู้อำนวยการด้านสื่อของศูนย์เพื่อสื่ออิสระกัมพูชาและเจ้าของสื่ออิสระวอยซ์ออฟเดโมเครซีกล่าวว่า การที่แฮ็กเกอร์อาจสามารถล้วงข้อมูลการสนทนาระหว่างองค์กรและสื่อมวลชน ไปจนถึงการยึดหน้าเว็บไซต์เพื่อโพสท์ข้อมูลเท็จที่อาจสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดี หรือถูกใช้เป็นข้ออ้างในการดำเนินคดีต่อพวกเขาซึ่งศาลเองก็อาจไม่เข้าใจเรื่องการถูกแฮ็กนั้นเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

องค์กรสิทธิแรงงาน CENTRAL มีการฝึกอบรมนักสหภาพ กลุ่มเยาวชน นักคุ้มครองสิทธิ และนักข่าวในเรื่องความปลอดภัยดิจิทัล โดยหัวหน้าองค์กรเปิดเผยว่าอาจมีการโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นมากกว่านี้อีกในช่วงหนึ่งเดือนก่อนการเลือกตั้ง และเขาก็เป็นห่วงกรณีการใช้บัญชีบุคคล (account) ในโลกออนไลน์เพื่อโพสต์ข่าวปลอมหรือบงการคนในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดการแพร่ข้อมูลผิดๆ หรือเกิดความโกลาหลได้

เรียบเรียงจาก

Chinese State-Linked Hackers in Large Scale Operation to Monitor Cambodia's Upcoming Elections, Report Says, Time, Jul. 11, 2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น