โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ประกาศ 5 ลักษณะสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์

Posted: 16 Jul 2018 09:01 AM PDT

กก.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ออกประกาศ 5 ลักษณะสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ตั้งแต่ขัดต่อศีลธรรม ยุยงปลุกปั่น ส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขัดต่อกฎหมาย รวมทั้งขัดต่อหลักจรรยาบรรณสื่อด้วย
 
 
16 ก.ค.2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เรื่อง กําหนดลักษณะของสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ พ.ศ.2561 ระบุว่า ประกาศ ณ วันที่ 10 ก.ค.2561 โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทน นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
 
รายละเอียดประกาศระบุว่า โดยที่ พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 กําหนดให้คณะกรรมการประกาศกําหนดลักษณะของสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแล กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้ดําเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็ก เยาวชนและครอบครัวมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อเฝ้าระวังสื่อ ที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ และสามารถใช้สื่อในการพัฒนาตนเอง ชุมชนและสังคม อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 21 (2) แห่ง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ พ.ศ.2558 ประกอบกับมติที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ ในการประชุมครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2561 คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จึงกําหนดลักษณะของสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ไว้ ดังต่อไปนี้
 
1. สื่อที่มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรมอันดีของสังคม หรือส่งผลกระทางลบต่อจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน ครอบครัว ชุมชน และสังคมอย่างร้ายแรง
 
2. สื่อที่มีเนื้อหาก่อให้เกิดความแตกแยก ยั่วยุ และสร้างความเกลียดชังต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลจนอาจก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ
 
3. สื่อที่มีเนื้อหาส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
4. สื่อที่มีเนื้อหาขัดต่อกฎหมาย
 
5. สื่อที่มีเนื้อหาขัดต่อหลักจรรยาบรรณสื่อ หรือแนวปฏิบัติของวิชาชีพสื่อนั้นๆ
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: แยกศาสนาจากรัฐเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย

Posted: 16 Jul 2018 08:54 AM PDT


การตายของโสเครตีส โดยจาค์หลุยส์ ดาวิด พ.ศ. 2330
ที่มา https://www.metmuseum.org/art/collection/search/436105

ถ้าถามว่าทำไมต้อง "เสรีภาพและประชาธิปไตย" ก็เพราะว่าเดิมทีสองสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ไม่ได้พูดถึงเสรีภาพในความหมายแบบที่รับรู้กันในโลกสมัยใหม่ แต่ประชาธิปไตยสมัยใหม่หรือเสรีประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีเสรีภาพเป็นกรอบจำกัดอำนาจรัฐ หรืออำนาจของเสียงข้างมาก

เมื่อเปิดอ่าน "On Liberty" (ว่าด้วยเสรีภาพ) ของจอห์น สจ๊วต มิลล์ จะพบการให้เหตุผลที่รัดกุมมากว่า หากไม่ใช้หลักเสรีภาพเป็น "กรอบจำกัดอำนาจรัฐ" ย่อมเป็นไปได้เสมอที่จะเกิดทรราชโดยบุคคล, กลุ่มบุคคล หรือทรราชเสียงส่วนใหญ่

ตัวอย่างในประวัติศาสตร์มีให้เห็นมามาก เช่นโสเครตีสผู้ทำให้สิ่งที่เรียกว่า "ปรัชญา" เริ่มขึ้นจริงๆ ด้วยการสร้างวิธีสนทนา ตั้งคำถาม และโต้แย้ง ซักไซ้ไล่เรียงเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานต่างๆ เพื่อนำไปสู่ความชัดเจนว่า จริงๆ แล้วเรารู้หรือไม่รู้อะไร อย่างไรแน่ เช่นที่เขาถามยูธีเดมุส (Euthydemus) ว่า "การเป็นคนไม่ซื่อถือว่าผิดศีลธรรมหรือไม่" ยูธีเดมุสตอบอย่างมั่นใจว่า "ผิดแน่นอน" แต่โสเครตีสถามแย้งว่า "ถ้าเพื่อนของคุณกำลังรู้สึกท้อมากและอาจฆ่าตัวตาย แต่คุณต้องการป้องกันไม่ให้เขาฆ่าตัวตาย จึงขโมยมีดเขามา นี่เป็นการกระทำที่ไม่ซื่อ แต่ไม่ผิดศีลธรรมมิใช่หรือ" ยูธีเดมุสงวยงง แต่ก็ต้องตอบว่าใช่

วิธีการแบบโสเครตีสทำให้หลายคนหมั่นไส้ เพราะขณะที่พวกเขาแสดงบทของ "ผู้รู้" ในเรื่องต่างๆ นั้น (เหมือนพระสมัยนี้เลย) เมื่อถูกโสเครตีสตั้งคำถามและโต้แย้ง ในที่สุดก็มักจะเปิดเผยให้เห็น "ความไม่รู้" ของบรรดาผู้รู้เหล่านั้นเสมอ แต่นี่ยังไม่เป็นปัญหาเท่ากับการที่โสเครตีสตั้งคำถาม วิพากษ์เกี่ยวกับเรื่องศาสนา ศีลธรรม ที่เผยให้เห็นว่าศาสนากับศีลธรรมไม่ใช่สิ่งเดียวกัน หรือแยกจากกันไม่ได้ดังที่คนส่วนใหญ่เชื่อ เพราะเขาชี้ให้เห็นว่า หลายๆ ครั้งคนทำผิดศีลธรรมได้ด้วยความเคร่งศาสนา และปรัชญาศีลธรรมเกิดขึ้นได้จริงเมื่อคนเราไม่ถูกครอบงำด้วยความเชื่อที่ไร้เหตุผลทางศาสนาและจารีตประเพณี ยิ่งกว่านั้นเขายังสอนให้เยาวชนมีความคิดอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ให้เชื่อถือคำสอนใครเพียงเพราะเขาเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ หรือมีอำนาจเหนือหัว แต่ควรเชื่อถือเพราะเขามีเหตุผลที่น่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันโสเครตีสก็กระแนะกระแหนประชาธิปไตยของชาวเอเธนส์อีกด้วย จึงนับเป็น "เหลือบตัวพ่อ" โดยแท้

ในที่สุดโสเครตีสก็ถูกกล่าวหาว่า ไม่เคารพต่อเทพเจ้าของรัฐ นำเสนอเทพเจ้าของตนเอง และสั่งสอนเด็กหนุ่มในกรุงเอเธนส์ให้ประพฤติผิด เสียงข้างมาก (เกินครึ่งเพียงเล็กน้อยจากทั้งหมด 501 เสียง) ของคณะลูกขุนตัดสินประหารชีวิตโสเครตีส ขณะที่โสเครตีสยังได้รับโอกาสต่อรองที่จะไม่รับโทษประหารก็ได้ แต่เขาก็ยังกวนประสาทชาวเอเธนส์ด้วยการกล่าวว่า "ข้าพเจ้าไม่ได้ทำอะไรผิด สิ่งที่ข้าพเจ้ากระทำไปคือความถูกต้อง สมควรที่จะได้รับรางวัลตอบแทนเป็นอาหารฟรีทุกมื้อจากชาวเอเธนส์ไปตลอดชีวิต แทนการถูกลงโทษเสียด้วยซ้ำ" นี่ก็ยิ่งเป็นการประชดว่า "พวกคุณช่างทำอะไรโง่ๆ เสียนี่กระไร" จึงทำให้บรรดาคนที่ชิงชังวิธีการแบบโสเครตีสอยู่แล้วยิ่งเห็นว่าเขาสมควรตาย

แต่ถ้ามองตามทัศนะของมิลล์ที่ถือว่า "เสรีภาพคือกรอบจำกัดอำนาจรัฐ" เสียงข้างมากของประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ก็ย่อมไม่อาจประหารโสเครตีสได้ เพราะภายใต้หลักเสรีภาพถือว่า ถ้ามีคนเพียง 1 คน คิดต่างจากคนทั้งหมดในสังคม เขาย่อมมีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ คนทั้งหมดไม่อาจใช้อำนาจปิดปากเขาได้ และถ้าหากคน 1 คนนั้นเกิดมีอำนาจขึ้นมา เขาก็ไม่อาจใช้อำนาจปิดปากคนทั้งหมดที่คิดต่างจากเขาได้เช่นกัน การแสดงความคิดเห็นใดๆ ของบุคคลจะถูกยับยั้งก็ต่อเมื่อมันก่ออันตรายทางกายภาพ (เช่นอันตรายต่อร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน เสรีภาพ) แก่บุคคลอื่นเท่านั้น จะอ้างอะไรที่มีความหมายคลุมเครือ เช่นอ้างเรื่องกระทบกระเทือนความรู้สึก กระทบต่อศีลธรรมอันดี ศาสนา ประเพณีใดๆ มาเป็นเหตุผลยับยั้งเสรีภาพในการแสดงออกไม่ได้

จะเห็นได้ว่า แม้เอเธนส์จะไม่ใช่รัฐศาสนาแบบรัฐโบราณอื่นๆ แต่การที่เอเธนส์ยังยอมรับการใช้ความเชื่อทางศาสนามีอำนาจบังคับคน เช่นการหมิ่นเทพเจ้าของรัฐเป็นความผิดถึงตาย นี่จึงเป็นเหตุให้เสียงข้างมากผิดพลาดกรณีประหารชีวิตโสเครตีส

เมื่อไม่ใช้หลักเสรีภาพเป็นกรอบจำกัดอำนาจรัฐ แม้ผู้ปกครองที่เป็นคนดีมีคุณธรรมสูงก็อาจกระทำชั่วร้ายอย่างทรราชได้ เช่นจักรพรรดิมาร์คัส ออเรเลียส แอนโตนินัส (Marcus Aurelius Antoninus) ที่มีคุณธรรมความเมตตาและถ่อมตนแบบสโตอิก แต่เพราะเห็นว่าบรรดาผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์เป็นภัยคุกคามสังคมศาสนาที่นับถือเทพหลายองค์ของชาวโรมัน จึงต้องปราบรามชาวคริสต์อย่างโหดร้าย เช่นเดียวกัน (หากเรื่องเล่าใน "อโศกาวทาน" เป็นจริง) ธรรมชาราอย่างอโศกมหาราชก็ทำสิ่งชั่วร้ายด้วยการสั่งฆ่าชาวอาชีวกร่วม 80,000 คน พร้อมกับเผาหมู่บ้านพวกเขาทั้งหมด ด้วยความผิดฐาน "หมิ่นศาสนา" เพียงเพราะมีอาชีวกแค่คนเดียววาดภาพพุทธะก้มกราบศาสดาของพวกเขา

มิลล์จึงเห็นว่า ศาสนา ศีลธรรม ประเพณีเป็นเรื่องของความเชื่อ ความพึงพอใจหรือความชอบใจของบุคคลหรือกลุ่มคนในสังคมต่างๆ มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของความมีเหตุผลที่อธิบายได้ว่ามันยุติธรรมสำหรับทุกคนในฐานะคนเท่ากัน ศาสนา ศีลธรรม ประเพณีจึงใช้เป็น "กฎทั่วไป" ในการบังคับคนไม่ได้ อำนาจรัฐในอดีตที่ตั้งอยู่บนฐานของศาสนา ศีลธรรม ประเพณีตามความเชื่อของคนส่วนใหญ่มักเป็นอำนาจที่ขัดแย้งกับเสรีภาพ และจึงเป็นอำนาจที่หลีกเลี่ยงความเป็นทรราชไม่ได้

ต่อเมื่อใช้เสรีภาพเป็นกฎทั่วไปหรือเป็นกรอบจำกัดอำนาจรัฐ คือรัฐจะใช้อำนาจแทรกแซงขัดขวางเสรีภาพในการกระทำหรือการใช้ชีวิตส่วนตัวของปัจเจกบุคคลไม่ได้ และจะขัดขวางเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การแสดงออกในทางสังคมและการเมืองไม่ได้เท่านั้น การใช้อำนาจรัฐจึงจะไม่กลายเป็นทรราช

ดังนั้นเวลาเราพูดว่า "เสรีภาพและประชาธิปไตย" จึงหมายความว่า อำนาจของเสียงข้างมากต้องถูกจำกัดด้วยหลักเสรีภาพเสมอ คืออำนาจเสียงข้างมากจะละเมิดสิทธิของเสียงข้างน้อยไม่ได้ หรือกล่าวรวมๆ คือละเมิดเสรีภาพในการใช้ชีวิตส่วนตัวของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางสังคมและการเมืองไม่ได้

หากเสียงข้างมากละเมิดหลักเสรีภาพ เสียงข้างมากย่อมกลายเป็นทรราชได้ และทรราชเสียงข้างมากอาจใช้อำนาจผ่านกฎหมายก็ได้ เช่นเอาหลักศาสนาของคนส่วนใหญ่ในรัฐมาออกกฎหมายบังคับคนทุกคน หรือใช้อำนาจผ่านกระแสสังคมที่อ้างศาสนา ศีลธรรม ประเพณีละเมิดเสรีภาพของปัจเจกบุคคลก็ได้ เช่นอินเดียมีกฎหมายรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของพลเมือง แต่ความเชื่อเรื่องวรรณะตามหลักศาสนาฮินดูยังถูกใช้เป็นข้ออ้างทางสังคมและวัฒนธรรมในการกีดกันสิทธิของคนจัณฑาล ดังที่ปรากฏเป็นข่าวบ่อยๆ

ด้วยเหตุนี้ เมื่อใช้หลักเสรีภาพมาเป็นกรอบจำกัดอำนาจรัฐ จึงจำเป็นต้องแยกศาสนาจากรัฐ เพื่อตัดปัญหาการเอาหลักศาสนามาเป็นหลักการปกครองหรือออกฎหมายบังคับคน ขณะเดียวกันรัฐก็ต้องคุ้มครองปัจเจกบุคคลจากการถูกกระแสสังคมอ้างศาสนา ศีลธรรม ประเพณีละเมิดเสรีภาพของเขาด้วย จะเป็นเช่นนี้ได้รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา ไม่อุปถัมภ์ส่งเสริมศาสนาใดๆ รัฐเพียงรักษาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาและการไม่นับถือศาสนาเท่านั้น

ส่วน "เสรีภาพทางศาสนา" ไม่ได้กินความเพียงว่า แต่ละคนเลือกนับถือศาสนาใดๆ ก็ได้ เปลี่ยนศาสนาได้ ไม่นับถือศาสนาก็ได้เท่านั้น แต่ยังกินความครอบคลุมถึง "สิทธิในการปกครองตนเองทางศีลธรรม" ของปัจเจกบุคคลด้วย ซึ่งหมายถึงสิทธิในการเลือกศีลธรรมและการมีชีวิตที่ดีตามที่ตนเองพึงพอใจของแต่ละคน รัฐจึงบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนไม่ได้ และเสรีภาพทางศาสนายังคาบเกี่ยวกับ เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกด้วย เสรีภาพทางศาสนาจึงหมายถึงเสรีภาพในการวิจารณ์ศาสนาด้วย จึงมีกฎหมายหมิ่นศาสนาไม่ได้ หรือรัฐจะอ้างศีลธรรมอันดีทางศาสนาเป็นเหตุผลจำกัดเสรีภาพไม่ได้ หากการใช้เสรีภาพนั้นไม่เป็นการทำอันตรายแก่ผู้อื่น

สังคมไทยไม่ได้แยกศาสนาจากรัฐ และรัฐก็อุปถัมภ์ศาสนาพร้อมกับบังคับเรียนปลูกฝังศีลธรรมศาสนาในโรงเรียน สังคมไทยจึงไม่มีเสรีภาพทางศาสนาอย่างแท้จริง เพราะการบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐก็คือการทำให้ศาสนามีอำนาจบังคับคน อันเป็นการไม่เคารพสิทธิปกครองตนเองทางศีลธรรมของปัจเจกบุคคล

แน่นอนว่า การบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนต่างจากการทำให้ศาสนามีอำนาจบังคับคนอย่างกฎหมายชารีอะฮ์ที่อ้างการผิดหลักศาสนาในการลงโทษคนรักร่วมเพศ และคนไทยส่วนใหญ่ที่เป็นชาวพุทธอาจไม่ได้รู้สึกว่าถูกบังคับ หรือแม้จะเห็นว่าเป็นการบังคับเรียนก็เชื่อว่าเป็นการบังคับเรียนสิ่งที่ดีงาม มีประโยชน์ต่อผู้เรียน เพราะถ้าผู้เรียนนำหลักคำสอนศาสนาไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันก็จะเกิดประโยชน์ต่อตัวเขาเอง และเขาก็ย่อมเป็นคนดีของสังคม

แต่ความเป็นจริงคือ ภายใต้สภาวะที่มีการบังคับเรียนปลูกฝังศีลธรรมศาสนาในโรงเรียนดังกล่าว ส่งผลให้คนไทยยึดติดกับศีลธรรมระบบเดียว คือศีลธรรมแบบพุทธศาสนาซึ่งเป็นศีลธรรมส่วนบุคคลที่เน้นการเป็นคนดี และเชื่อว่าเมื่อเป็นคนดีมีศีลธรรมแล้วจะกระทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอ แต่ศีลธรรมบนกรอบคิด "คนดี" เช่นนี้กลายเป็น "ระบบศีลธรรมหลัก" ของรัฐไทยที่มีโครงสร้างชนชั้นชัดเจน

กล่าวคือ ระบบศีลธรรมดังกล่าวถือว่า ผู้ปกครองที่ทรงคุณธรรมย่อมทำการปกครองเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมแก่ประชาชน โดยไม่จำเป็นว่าประชาชนต้องมีเสรีภาพตรวจสอบผู้ปกครอง และประชาชนที่เป็นคนดีมีคุณธรรมจะต้องจงรักภักดีเชื่อฟังผู้ปกครอง เพราะผู้ปกครองที่ทรงคุณธรรมไม่เพียงแต่เป็นผู้ปกครองธรรมดา หากเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติด้วย

ภายใต้ระบบศีลธรรมดังกล่าวถือว่า "เสรีภาพต้องมีศีลธรรมกำกับ" เพราะถ้าปล่อยให้มีเสรีภาพตามกิเลส ตามอำเภอใจ ปัจเจกบุคคลก็จะเสียคน และสังคมก็จะวุ่นวาย แต่ศีลธรรมที่ใช้กำกับเสรีภาพคือศีลธรรมบนดุลพินิจของชนชั้นปกครอง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ชนชั้นปกครองที่เป็นหลักของระบบศีลธรรมของสังคมจะกำหนดว่าสังคมไทยควรมีเสรีภาพทางการเมือง ทางศาสนาได้แค่ไหน อย่างไร ตราบที่ไม่กระทบต่อความมั่นคงแห่งสถานะและอำนาจของชนชั้นปกครองเอง

ถ้ามองแบบมิลล์ ก็หมายความว่า "ศีลธรรมที่ถูกกำหนดให้มาโดยชนชั้นไหน ก็เพื่อประโยชน์ของชนชั้นนั้น" เหมือนกับกฎหมายหรือกติกาการปกครองที่บัญญัติโดยชนชั้นไหนก็เพื่อประโยชน์ของชนชั้นนั้น

เมื่อไม่แยกศาสนาจากรัฐก็ไม่มีเสรีภาพและประชาธิปไตย และทำให้ศีลธรรมผิดเพี้ยน เพราะศีลธรรมส่วนบุคคลแบบพุทธแทนที่จะเป็นเรื่องที่แต่ละคนจะเลือกเรียนรู้เอง กลับถูกทำให้เป็น "กฎทั่วไป" ที่มีอำนาจบังคับคน คือบังคับปลูกฝัง และยังใช้เป็นกฎทั่วไปสำหรับกำกับเสรีภาพและประชาธิปไตยอีกที

ดังนั้น เมื่อชนชั้นที่มีอำนาจกำหนดหลักศีลธรรมและบรรดาผู้อ้างศีลธรรมทั้งหลายเห็นว่า ในสถานการณ์แบบนั้นแบบนี้ควรยุติการมีเสรีภาพและประชาธิปไตยไว้ก่อน ให้คนดีมีคุณธรรมมาปกครองแก้ปัญหาของชาติก่อน ก็ทำการยุติเสรีภาพและประชาธิปไตยในนามศีลธรรม ความดี คนดีได้เสมอ


 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใจ อึ๊งภากรณ์: รัฐไทยให้ความสำคัญกับพลเมืองน้อยเกินไป

Posted: 16 Jul 2018 08:46 AM PDT



จากการพูดคุยกับมิตรสหายและการอ่านความเห็นของเพื่อนในโซเชียลมีเดีย ผมได้เรียนรู้และมีข้อสรุปบางอย่างจากกรณีที่ทีมหมูป่าติดอยู่ในถ้ำ และกรณีนักท่องเที่ยวจีนที่เสียชีวิตจากเรือล่มที่ภูเก็ต มันมีหลายประเด็นซ้อนกัน

ผมจะไม่ลงรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับน้ำใจของอาสาสมัครนับร้อย ทั้งไทยและต่างประเทศ ที่ร่วมมือกันเพื่อนำเด็กๆ ออกจากถ้ำ เพราะเป็นเรื่องที่ชัดเจนและใครๆ ก็ทราบกันทั่วโลก แต่จะขอสำรวจประเด็นปัญหาที่มาจากรัฐไทย

ในประการแรกเราจะเห็นว่าเรื่อง "ความปลอดภัยของพลเมือง" เป็นเรื่องรอง (มากๆ) ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเพื่อรักษาความปลอดภัยเด็กๆ หรือความปลอดภัยในการท่องเที่ยว ผมจะไม่โทษโคชของทีมหมูป่า เพราะจะเป็นเพียงการซ้ำเติมความเจ็บปวดของคนนี้ ซึ่งแน่นอนเขาสรุปทบทวนอะไรจากเหตุการณ์ได้เอง และมันไม่ใช่เรื่องความรับผิดชอบปัจเจกด้วย มันเป็นเรื่องความรับผิดชอบของสังคมและรัฐ แต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าในประเทศตะวันตกคนที่ทำงานกับเด็กๆ ในกิจกรรมต่างๆ ต้องผ่านการฝึกฝนในเรื่องความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด กฏระเบียบต่างๆ เรื่องความปลอดภัยมีมากมาย และนอกจากนี้ถ้ามีแหล่งเที่ยวที่อาจเป็นภัยเมื่อฝนตกหนัก มันจะมีประตูกั้นไม่ให้คนเข้าไปในยามที่ไม่ปลอดภัย

สำหรับความปลอดภัยในการเดินเรือ หรือความปลอดภัยบนท้องถนน สังคมไทยมีมาตรฐานต่ำมาก เพราะไม่มีกฏระเบียบที่เคร่งครัด ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบเพียงพอ มีแต่ตำรวจที่คอยดักเก็บส่วย ไม่มีระบบคมนาคมมวลชนที่ปลอดภัย ไม่มีวันหยุดเพียงพอสำหรับคนทำงาน คนเลยเดินทางหนาแน่นในวันสงกรานต์ฯ ลฯ

การที่เรือล่มที่ภูเก็ต ก็เป็นเพราะไม่มีการประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ และไม่มีการคุมลักษณะของเรือท่องเที่ยวและทดสอบระบบความปลอดภัยอย่างดี จึงปล่อยให้บริษัทท่องเที่ยวหากำไรผ่านพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัย

ปัญหามาจากการที่รัฐไทยไม่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของประชาชนธรรมดาเลย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก นักท่องเที่ยว คนงานก่อสร้าง คนงานในโรงงานต่างๆ หรือพลเมืองทั่วไปในชีวิตประจำวัน เพราะรัฐไทยเน้นความสำคัญของคนชั้นสูงเป็นหลักเท่านั้น

การที่รัฐไทยจะให้ความสำคัญกับพลเมืองธรรมดา ย่อมมาจากพลังประชาชน เราหวังพึ่งผู้นำใจดีไม่ได้

ในประการที่สองรัฐไทยไม่มีการพัฒนาโครงสร้างและหน่วยงานต่างๆ ของสังคมเพื่อปกป้องพลเมือง ไม่มีองค์กรกู้ภัยที่นำโดยทีมคนในท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ ทุกอย่างมักกระจุกที่ส่วนกลาง เราขาดอุปกรณ์ต่างๆ และเราไม่ควรต้องอาศัยทหารในเรื่องนี้ เพราะทหารธรรมดาไม่ได้ถูกฝึกในเรื่องการกู้ภัย และนายพลระดับสูงที่คุมกองทัพก็ไม่สนใจผลประโยชน์ของพลเมืองธรรมดาเลย หน่วยกู้ภัยควรจะเป็นหน่วยพลเรือนที่มีความเชี่ยวชาญเสมอ

เราไม่มีระบบรถพยาบาลสาธารณะในทุกท้องถิ่นที่สามารถวิ่งไปมาทุกวันในขณะที่รถคันอื่นต้องหยุดและหลีกทางให้ เรามีแต่ตำรวจที่คอยบังคับให้รถธรรมดาหลีกทางหรือหยุดจอดเพื่อให้คนชั้นสูงเดินทางไปมาเท่านั้น

ลักษณะความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ ฐานะในสังคม และทางเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่รัฐไทยส่งเสริมมานาน และการทำรัฐประหาร การดูถูกคนจนและคนส่วนใหญ่โดยผู้นำรัฐกับคนชั้นกลาง แปลว่าไม่มีการให้ความสำคัญกับสิทธิพลเมืองธรรมดาที่จะได้รับการบริการอย่างดีจากรัฐและสังคม ไทยเลยไม่มีระบบรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าและครบวงจร ซึ่งอาศัยงบจากการเก็บภาษีคนรวยและกลุ่มทุนในอัตราก้าวหน้า

หลายคนได้ชมบทบาทของผู้ว่าฯ จังหวัดในการประสานงานการนำเด็กหมูป่าออกจากถ้ำ และก็มีเหตุผลในการชม แต่ถ้าฟังการแถลงข่าวจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้รับอิทธิพลจากสังคมที่เหลื่อมล้ำ คือพูดขอบคุณ "ความห่วงใย" ของคนชั้นสูง ในขณะที่คนธรรมดาในไทยและทั่วโลกเป็นล้านๆ คนก็ห่วงใยติดตามสถานการณ์มาตลอด และอาสาสมัครคนธรรมดาที่มาช่วยงาน ก็ลงมือทำจริง เช่นชาวบ้านที่ซักผ้าให้นักดำน้ำเป็นต้น แต่สังคมไทยบังคับให้ต้องเริ่มต้นพูดถึงคนชั้นสูงและละเลยพลเมืองธรรมดา

ในประการที่สาม แนวคิดชาตินิยมในไทย สร้างอคติกับคน "ต่าง" ไม่ว่าจะเป็นอคติกับนักท่องเที่ยวจีนหรือเจ้าของกิจกรรมที่เป็นคนจีน หรือเรื่องการที่ไม่ยอมให้สัญชาติกับคนเป็นล้านๆ ที่อาศัยอยู่ในไทย รวมถึงเด็กบางคนและโคชในทีมหมูป่าอีกด้วย

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเรียกร้องให้รัฐบาลมอบสัญชาติให้ทุกคนที่ไร้สัญชาติแต่พักอยู่ในไทย

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องช่วยกันรณรงค์ให้คนในสังคมไทยเลิกการเหยียดสีผิวหรือเชื้อชาติของคนอื่น และเลิกใช้คำที่ไม่เคารพคนต่าง

แนวคิดชาตินิยม ที่เน้น "ชาติ ศาสนา กษัตริย์" เป็นการกล่อมเกลาพลเมืองโดยทหารเผด็จการ นักการเมือง นายทุน สื่อกระแสหลัก และระบบการศึกษา เพื่อให้พลเมืองธรรมดาเคารพคนชั้นสูง แต่ละเลยเพื่อนมนุษย์คนส่วนใหญ่ มันนำไปสู่การใช้งบประมาณสำหรับกองทัพ กับคนชั้นสูงในขณะที่ละเลยคนส่วนใหญ่ มันนำไปสู่การมองว่าชาติไทยเป็นของ "ผู้ใหญ่ที่ปกครองเรา" และมันนำไปสู่การกราบไหว้คนข้างบน ในกรณีทีมหมูป่า ยังนำไปสู่การเห่อเศรษฐีต่างประเทศที่อยากดังเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวอีกด้วย เหมือนกับที่คนจำนวนมากเคารพอำนาจเงินของเศรษฐีไทย

ถ้าเราจะค่อยๆ แก้ปัญหาดังกล่าว เราจะต้องร่วมกันสร้างทั้งประชาธิปไตยและระบบสังคมนิยม เพื่อให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน และเพื่อให้สังคมเราเน้นความสำคัญของชีวิตพลเมือง ผ่านการทำงานเพื่อส่วนรวม

บางคนเสนอว่าน้ำใจ ความสามัคคี และมิตรภาพของคนที่เกี่ยวข้องกับการนำเด็กๆ ออกจากถ้ำ แสดงว่าคนไทยสามัคคีกันได้เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง แต่นั้นเป็นข้อเสนอของคนที่อยากให้เรายอมจำนนต่อเผด็จการและการทำลายประชาธิปไตย แท้จริงแล้วน้ำใจ ความสามัคคี และมิตรภาพของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการนำเด็กๆ ออกจากถ้ำ แสดงให้เห็นว่าเราสามารถสร้างสังคมใหม่ได้ภายใต้ประชาธิปไตยและความเท่าเทียม

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: https://turnleftthai.wordpress.com/2018/07/15

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: ขึ้นเงินศาลทำไม

Posted: 16 Jul 2018 08:39 AM PDT



รัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ. 5 ฉบับ ขึ้นเงินเดือนศาล องค์กรอิสระ โดยอ้างเหตุผล "เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพ" ชาวบ้านได้ฟังก็เกิดดราม่า ศรีสุวรรณ จรรยา โวยว่ารัฐบาลไม่แยแสความทุกข์ยากประชาชน ที่ต้องระทมทุกข์เศรษฐกิจซบเซา

อันที่จริง ก็เป็นแค่เหตุผลแปะตัวร่าง เพราะตามมติ ครม.วันที่ 14 ก.พ.2561 ที่ขึ้นเงินเดือนให้ศาล องค์กรอิสระ 10% โฆษกไก่อูพูดชัดเจนว่า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากตอน คสช.เข้ามาใหม่ๆ ได้ขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการประจำไปแล้ว เหลือแต่ศาล องค์กรอิสระ "เป็นพวกตกสำรวจ" จึงขึ้นให้ย้อนหลัง เช่น ศาลยุติธรรม มีผลตั้งแต่ 1 ธ.ค.2557

เม็ดเงินที่ขึ้นให้ศาล ความจริงก็ไม่เยอะ เพราะคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ออกระเบียบจ่ายเงินเพิ่มค่า ครองชีพชั่วคราว ให้ผู้พิพากษาอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งก็จะไม่จ่ายอีก เอามารวมไว้ในการขึ้นเงินเดือนครั้งนี้ โดยระเบียบฉบับนี้เพิ่มเงินให้ผู้พิพากษาชั้น 5 เดือนละ 12,000 บาท ชั้น 4 เดือนละ 7,300 บาท ชั้น 3 เดือนละ 6,800 บาท

ฟังไปฟังมา เหตุที่เกิดดราม่า น่าจะเพราะคนส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจระบบเงินเดือนศาล ซึ่งต้องย้อนที่มาว่า ตั้งแต่อดีต ผู้พิพากษาก็เงินเดือนสูงกว่าข้าราชการอื่น เพราะจริยธรรมศาลเคร่งครัด ต้องสันโดษ สมถะ ห้ามมีรายได้เสริมเว้นแต่สอนหนังสือหรือเขียนตำรา

แต่เงินเดือนผู้พิพากษามาปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เมื่อแยกศาลจากกระทรวงยุติธรรม แล้วมี พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ซึ่งกำหนดให้เงินเดือนผู้พิพากษามี 5 ชั้น ชั้น 5 มีคนเดียว คือประธานศาลฎีกา ได้รับเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งเท่านายกรัฐมนตรี และประธานรัฐสภา ตามหลักอำนาจ 3 ฝ่าย

ที่แตกต่างจากข้าราชการอื่น คือแต่ละชั้นเงินเดือนต่างกันไม่มาก ตามบัญชีปัจจุบัน ประธานศาลฎีกาเงินเดือน 75,590 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท ชั้น 4 เงินเดือน 73,240 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท เทียบเท่ารัฐมนตรีว่าการ โดยผู้ได้เงินเดือนชั้น 4 ตามที่กฎหมายบัญญัติ ได้แก่ รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค ขณะที่รองประธานศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อธิบดีศาลชั้นต้น มีทั้งเงินเดือนชั้น 3 ชั้น 4

ไม่ทราบเหมือนกันว่าผู้พิพากษาที่ได้เงินเดือนชั้น 4 เทียบเท่ารัฐมนตรีนี้มีกี่ท่าน แต่เฉพาะที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ตอนเลือก กกต.ก็มี 176 ท่าน

สรุปคร่าวๆ คือศาลฎีกาทั้งหมดได้เงินเดือนชั้น 4 ผู้บริหารศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นส่วนใหญ่เป็นชั้น 4 ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีทั้งชั้น 3 ชั้น 4 ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมีทั้งชั้น 2 ชั้น 3 ผู้พิพากษาประจำศาลได้เงินเดือนชั้น 1 โดยชั้น 3 ก็ต่างจากชั้น 4 ไม่มาก มี 2 ขั้น ขั้นสูงได้เงินเดือน 69,810 บาท เงินประจำตำแหน่ง 41,500 บาท

นอกจากนี้ ยังมีค่าตอบแทนเหมาจ่ายการจัดหารถประจำตำแหน่ง ซึ่งชั้น 4 จะได้เท่าปลัดกระทรวง 41,000 บาท ชั้น 3 ได้เท่าอธิบดี 31,800 บาท

หลักการสำคัญของการกำหนดอัตราเงินเดือนที่ดูเหมือนสูงปรี๊ด แต่เท่าเป๊ะ คือหลัก "ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา" ซึ่งมาตรา 20 ยังล็อกการเลื่อนชั้นไว้ เช่นเมื่อเป็นชั้น 3 ขั้นสูงครบเจ็ดปีให้เลื่อนเป็นชั้น 4

เจตนารมณ์ของกฎหมายคือไม่ให้มีใครสั่งใครได้ ให้ ผู้พิพากษามีอิสระในการวินิจฉัยคดี ไม่ต้องกลัวถูกย้าย ไม่ต้องกลัวไม่ได้ขึ้นเงินเดือน เพราะถ้าเป็นชั้น 4 ก็เท่ากันหมด ตั้งแต่รองประธานศาลฎีกาคนที่หนึ่งไปถึงผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ หรือเป็นชั้น 3 ยังไงก็ได้ขึ้นชั้น 4 แหงๆ แถมประเพณีศาลยังเลื่อนตำแหน่งตามอาวุโส ใครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาได้ที่ 1 เมื่ออายุ 25 ก็จะได้เป็นประธานศาลฎีกาเมื่ออายุ 63 เพราะบรรจุเข้ารับราชการคนแรกในรุ่น

นั่นคือโครงสร้างเงินเดือนศาล ซึ่งวางไว้ตั้งแต่ปี 2543 ปรับอัตรา 2 ครั้งในปี 2550, 2554 แต่ที่งอกเงยตาม คือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอิงโครงสร้างศาลยุติธรรม โดยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้เท่าประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรอิสระและอัยการสูงสุดได้เท่ารองประธานศาลฎีกา ที่เหลือก็ลดหลั่นกันไป

ปัญหาคือองค์กรงอกเงย ยิ่งมายิ่งเยอะและยิ่งใหญ่โต เงินเดือน สิทธิประโยชน์ อำนาจ ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็สูงกว่าข้าราชการทั่วไป ทั้งที่ไม่ต้องอยู่ในหลักความเป็นอิสระหรือจริยธรรมแบบผู้พิพากษา นี่ยังไม่นับองค์กรพิเศษ เช่น กสทช. คปภ. กกพ. ซึ่งเงินเดือนสูงยิ่งกว่าองค์กรอิสระ ทำให้ข้าราชการธรรมดากลายเป็นข้าราชการชั้นสอง ชั้นสาม ชั้นสี่ โดยปริยาย

ฝากข้อสังเกตไว้ว่า เมื่อขึ้นเงินเดือนประธานศาลฎีกา 10% เงินเดือนนายกฯ ประธานรัฐสภา ก็ต้องขึ้นด้วยใช่ไหม เพียงแต่จะขึ้นเมื่อไหร่เท่านั้นเอง


 

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/hot-topics/news_1337583

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: สื่อไทยมุงสังคมดราม่า

Posted: 16 Jul 2018 08:32 AM PDT

 

ไชโย 13 ชีวิตทีมหมูป่า ออกจากถ้ำมาได้แล้ว ต้องชื่นชมความสำเร็จคนไทย รักกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว จนทำได้เป็น ครั้งแรกของโลก แม้ต้องพึ่งพาอาศัยนักดำน้ำนานาชาติ 13 คน

สื่อไทยที่เกาะติดปฏิบัติการ 18 วัน ได้ภาพได้ข่าวล้นหลาม ทั้งลุ้นระทึก ตื้นตัน อิทธิปาฏิหาริย์ นิยาย วีรกรรม ดีใจ เศร้าใจ พระเอก ผู้ร้าย

พียงแต่รายสุดท้าย ผู้ร้ายในสายตาสังคม กลับกลายเป็น สื่อนั่นเอง ที่โดนรุมกระหน่ำ ว่าแข่งขันกันทำข่าวขายข่าวจนล้ำเส้น เช่น แอบคุ้ยชื่อเด็ก ส่งโดรนขึ้นบิน และใช้ข่าวจาก ว.แดงกู้ภัย

ว่าตามเนื้อผ้า สรรพสิ่งมีสองด้าน ผู้สื่อข่าวภาคสนาม มีจำนวนตั้งมากมาย ที่ไปทำข่าวอย่างอุตสาหะ สนองความอยากรู้อยากเห็นของสังคม โดยไม่เคยล้ำเส้นละเมิดสิทธิ แต่ถูกเหมาด่าไปหมด ก็ไม่เป็นธรรมเท่าไหร่

หรือว่าตามหลักวิชาข่าว จะให้สื่อนั่งเอี้ยมเฟี้ยม รอฟังคำแถลงจากผู้มีอำนาจหน้าที่ มันก็คงไม่ใช่ สื่อมีหน้าที่หาข้อมูล ตรวจสอบไปในตัว เพียงแต่กรณีนี้เป็นปฏิบัติการช่วยชีวิต ก็ต้องขีดเส้นไม่ให้กระทบการกู้ภัย และไม่ละเมิดสิทธิ

ยกตัวอย่างเทียบกัน ครั้งม็อบอยากเลือกตั้ง ตำรวจห้าม นักข่าวไปยืนฝั่งม็อบ ก็เชื่อฟังไม่ได้ ครั้งนี้ก็มีข้อมูลหลายอย่างที่สื่อต้องแสวงหาเอง เช่น ใช้วิธีอะไรนำทีมหมูป่าออกจากถ้ำ ซึ่ง ศอร.ไม่ยักแถลง ทั้งที่ไม่ใช่ความลับต้องปิดบัง ดังนั้นบางเรื่อง เช่นสื่อหาข้อมูลจาก ว.แดง ก็ไม่ผิด แต่ตอนนำเสนอต้องใช้ วิจารณญาณ

กระนั้นในภาพรวม ก็ต้องยอมรับกันว่า "สื่อเสื่อม" ไม่ใช่เฉพาะพฤติกรรมล้ำเส้นช่วงช่วยชีวิต และไม่ใช่เฉพาะ Media Crisis ครั้งนี้ ที่มีสื่อไทยสื่อเทศไปลงทะเบียนพันกว่าคน จนเกิด การเปรียบเทียบอย่างช่วยไม่ได้ เช่น ทำไมสื่อญี่ปุ่นทำโมเดลทำหนังสั้นจำลองสถานการณ์ถ้ำหลวงอย่างที่คนดูยกนิ้วให้ ขณะที่สื่อไทยมัวแต่เร้าอารมณ์ เวิ่นเว้อ ฟูมฟาย "รู้สึกอย่างไรคะ"

อ.พิจิตรา สึคาโมโต้ นิเทศจุฬาฯ พูดไว้ตั้งแต่ก่อนปฏิบัติการช่วยชีวิตแล้วว่า สื่อไทยยังเน้นเนื้อหาลักษณะ "ไทยมุง" ซึ่งไม่ได้สร้างความรู้ให้คน ไม่ได้เป็นประโยชน์สาธารณะ มิหนำซ้ำยังละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เพราะเน้นเรื่องส่วนตัว ผู้ประสบภัย สื่อไทยทำตัวเหมือนคนธรรมดาที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็น ทั้งที่ควรมีชั้นเชิงที่ลึกซึ้งกว่า มีความเป็นมืออาชีพ มีความน่าเชื่อถือ

อ.พิจิตรายังทำสถิติให้ดูว่า ข่าวที่มียอดไลก์ยอดแชร์สูง ได้แก่ข่าวความเสียสละหรือการแสวงหาฮีโร่ ข่าวหาแพะ หาคนผิด ข่าวไสยศาสตร์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และข่าวเรานับถือน้ำใจคนไทย (ตื้นตัลล์น้ำตาไหลล์ล์ล์)

เดี๋ยวๆ อันนี้ไม่ได้ผิดที่สื่อนะ เธอบอกว่าเป็นภาพสะท้อนวัฒนธรรมและสังคมไทย คือข่าวเนื้อหาสาระก็มีอยู่ แต่ไม่กดไลก์กดแชร์

ฉะนั้นตอนที่มีสื่อนิรนามเกรียนอิสระออกมาโต้ (แล้วถูกด่าอื้ออึง) ว่านักข่าวไทยมุงก็เสือกแทนสังคมดราม่าละวะ ก็พูดถูกด้านหนึ่ง แต่อีกด้านคืองั้นทำไมสื่อต้องยกตนเป็นตะเกียง เป็นฐานันดรที่ห้า ถ้าไม่มีความเป็นมืออาชีพและวุฒิภาวะ

ในภาพรวมจึงเห็นได้ว่า "สื่อเสื่อม" มานานแล้ว ตั้งแต่มีทีวีดิจิตอลดาวเทียมไลฟ์สดนับร้อยช่อง แข่งกันขายข่าวดารา ข่าวดราม่า มีพิธีกรข่าวปากกว้างๆ นับสิบคนแข่งกันเป็นสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา แต่มีประสบการณ์ข่าวน้อยกว่า วุฒิภาวะน้อยกว่า ต้องแข่งกันปลุกเร้า บิลด์อารมณ์ แข่งฟันธง หาฮีโร่หาคนผิด

ในภาพรวมยังเห็นได้ว่า สื่อไม่ใช่กระจกตั้งนานแล้ว ตั้งแต่สื่อกระแสหลักเลือกข้าง ทำลายล้างเสรีภาพประชาธิปไตย อ้างความดีปลุกความเกลียดชัง ไม่เอาเลือกตั้ง ไม่เว้นแม้พวกอวดตัวว่ามีจรรยาบรรณ ตามองค์กรวิชาชีพทั้งหลาย

เมื่อสังคมเปลี่ยน สู่ยุคโซเชี่ยลออนไลน์ ประชาชนทุกคนเป็นสื่อได้ ก็เกิดเพจดังหลากหลายตั้งตัวเป็น Influencer ปลุกอารมณ์สังคมแข่งกับสื่อ โดยไม่ต้องมีข้อจำกัด ไม่ต้องคาบจรรยาบรรณ หรือความรับผิดชอบเชิงองค์กรสถาบัน ดราม่าสนุกสนาน มีคนติดตามมากกว่าสื่อด้วยซ้ำไป

ความเสื่อมของสื่อ ยังอยู่ในกระแส antie-establishment เหมือนกระแสต่อต้านระบบที่เกิดขึ้นทั่วโลกทั่วทุกปริมณฑล สื่อเป็นฐานันดรที่ห้า มีความเป็นอภิสิทธิ์ชน เราได้อภิสิทธิ์นั้นเพื่อเป็นปากเสียงทวงสิทธิเสรีทวงความเป็นธรรมให้สังคม เมื่อใด ที่สังคมเห็นว่าสื่อไม่ทำหน้าที่ เมื่อนั้นก็ไม่ควรมีฐานันดร

เพียงแต่กระแสวิพากษ์สื่อก็มีด้านกลับ ภายใต้สังคมดราม่าที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ค่อนไปทางนิยมอำนาจ อาจเข้าทางอำนาจที่อยากกำกับควบคุมสื่อ ซึ่งมุ่งปิดปากสื่อ ที่มีเหตุผล ที่เหลือก็ปล่อยให้สาละวนทำข่าวผัวเมียดาราไป

 

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/hot-topics/news_1333134

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จาตุรนต์ ฉายแสง: เรือล่มที่ภูเก็ต มนุษยธรรม ความรับผิดชอบและการรู้จักขอโทษ

Posted: 16 Jul 2018 08:26 AM PDT




กรณีนักท่องเที่ยวชาวจีนหลายสิบคนประสบอุบัติเหตุเรือล่มเสียชีวิตที่ภูเก็ตกำลังเป็นเรื่องบานปลายและเสียหายใหญ่หลวง มีข่าวต่อเนื่องกันว่าชาวจีนหลายล้านคนแสดงความไม่พอใจต่อท่าทีของทางการไทยและล่าสุดธุรกิจท่องเที่ยวก็เปิดเผยว่าชาวจีนจำนวนมากยกเลิกการเดินทางมาเที่ยวในไทยทำให้รายได้อาจหายไปหลายหมื่นล้านบาท

ดูเหมือนหลายๆ ฝ่ายจะมีความเห็นต่อเรื่องนี้ต่างๆ กันไปและยังไม่มีการแก้ปัญหาที่ตรงจุด

ก่อนหน้านี้ผมไม่ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้เพราะไม่อยากทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านมาถึงขั้นนี้ ดูเหมือนเรื่องนี้จะเป็นทั้งปัญหาทางการเมืองและก็เป็นปัญหาของบ้านเมืองที่หลายฝ่ายน่าจะช่วยกันคิดแก้ปัญหา จึงขอร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยคน

ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะมีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจำนวนมาก คนย่อมนึกถึงความเศร้าโศกเสียใจของครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้ที่เสียชีวิตเป็นอันดับแรก ถัดมาก็เป็นเรื่องของมาตรการดูแลความปลอดภัยและอีกเรื่องก็คือท่าทีของทางการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบที่แสดงออกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

การที่นักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากเรือล่มในวันที่ฝนตกมีพายุ ต้องตั้งคำถามว่ามีการเตือนภัยหรือไม่ ถ้าเห็นว่าจะเป็นอันตรายมีการห้ามหรือไม่ ห้ามโดยใคร จะว่ามีคนบอกแล้วแต่คนจัดทัวร์ไม่เชื่อคงไม่ได้เพราะมาตรการดูแลความปลอดภัยเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องมีความเด็ดขาด ตามที่ทางรัฐบาลชี้แจงยังพูดถึงเรือมีปัญหาซึ่งก็มีปัญหาจริงทั้งอุปกรณ์ชูชีพและระบบความปลอดภัย แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่อยู่ดี นอกจากนั้นก็ต้องดูประสิทธิภาพในการกู้ภัยและช่วยชีวิตผู้ประสบภัยและการเยียวยาว่ามีปัญหาอย่างไรหรือไม่ โดยรวมจึงเป็นปัญหาของระบบดูแลความปลอดภัยในการเดินทางด้วยเรือซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ถ้าทางรัฐบาลแสดงความเสียใจและบอกว่าจะตรวจสอบว่าเป็นความบกพร่องของใครและจะหาทางปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ให้เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นอีก รวมทั้งจะหาทางช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวของผู้เสียชีวิตให้ดีที่สุด ทุกฝ่ายก็คงพอรับได้

แต่อากัปกิริยาและคำพูดของรองนายกฯ เพียงประโยคเดียวที่ว่า "เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนจีนที่ทำกับนักท่องเที่ยวจีนเอง" ทำให้ทุกอย่างพังหมด ครอบครัวผู้เสียชีวิตผิดหวังและโกรธอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับประชาชนจีนอีกหลายล้านคน

ไม่ว่านักท่องเที่ยวจะเป็นคนชาติใด ก็ต้องได้รับการดูแลจากทางราชการไทยเหมือนๆ กันและไม่ว่าเจ้าของเรือหรือบริษัททัวร์จะเป็นของชาติใดก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยทั้งนั้น เรื่องนี้จึงไม่เกี่ยวกับใครเป็นคนชาติไหน หรือคนชาติไหนทำอะไรกับคนชาติไหน แต่เป็นความรับผิดชอบของรัฐไทยที่ต้องดูคนที่เดินทางอยู่ในประเทศไทยอย่างเท่าเทียมกัน

มาถึงวันนี้ เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างมากและอาจจะมากขึ้นไปอีกหากไม่มีการแก้ปัญหา การปรับปรุงมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทั่วประเทศเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่แบบวัวหายล้อมคอก ซึ่งหากพยายามกันจริงก็คงไม่เกินความสามารถ แต่ถ้าไม่แก้ที่ต้นตอของปัญหาคือการทำร้ายจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิตและประชาชนจีนอีกหลายล้านคน เรื่องนี้คงจะเสียหายมากยิ่งขึ้นไปอีก

การจะแก้ปัญหานี้ไม่ควรเริ่มจากมิติความสูญเสียรายได้ของการท่องเที่ยว แต่ต้องมองจากความมีมนุษยธรรมและความรับผิดชอบต่อหน้าที่เสียก่อน การทำร้ายจิตใจอย่างรุนแรงนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะลบออกง่ายๆ คงไม่ได้ จะหวังให้รองนายกฯ ผู้เป็นต้นเหตุสำคัญไปแก้ปัญหาก็คงยาก เพราะถ้าท่านคิดอะไรเป็นก็คงไม่พูดอย่างนั้นออกมาและป่านนี้ก็คงหาทางแก้ปัญหาไปแล้ว

ทางออกในเรื่องนี้จึงมีอยู่ทางเดียวคือนายกรัฐมนตรีควรจะประกาศขอโทษครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้งหลายที่คนในรัฐบาลไปทำร้ายจิตใจของเขา ประกาศแสดงความรับผิดชอบว่าระบบการดูแลความปลอดภัยผู้เดินทางและนักท่องเที่ยวยังบกพร่องและจะปรับปรุงอย่างจริงจังกับจะดูแลเยียวยาครอบครัวของผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่

นี่ไม่ใช่การจะไปเอาอกเอาใจคนชาติใดชาติหนึ่งจนเกินไป ไม่ว่าเรื่องนี้เกิดกับใคร เป็นคนไทยหรือคนจากประเทศใด ก็ควรได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสมเช่นเดียวกันทั้งนั้น

 


เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Chaturon Chaisang

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อเมริกาโนที่กรุงเทพ กับเรื่องราวการเมืองที่มาเลเซีย

Posted: 16 Jul 2018 08:03 AM PDT

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2561 เวลา 20.00 น. ที่โรงแรมสุโกศล ถนนศรีอยุธยา ผมได้มีโอกาสพบปะกับ Chua Tian Chang, เป็นรองหัวหน้าพรรคยุติธรรมประชาชนแห่งมาเลเซีย ( People's Justice Party of Malaysia. )โดยพรรคนี้เกิดจากระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเมื่อครั้งมีการปลดนายอันวาร์ อิบราฮิม ( Anwar Ibrahim) ออกจากพรรคอัมโน ในเดือนกันยายน 1998 ต่อมานายอันวา ถูกจำคุกเนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก แต่พรรคยังคงดำเนินการต่อเนื่องจนได้ที่นั่งในสภาจำนวน 31 ที่นั่ง และยังมีบทบาทร่วมกับองค์กรประชาชนกลุ่มต่างๆในการเคลื่อนไหวขบวนการปฏิรูปในมาเลเซีย จนกระทั่งการเลือกตั้งล่าสุดจับมือกับมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียผู้ดุดัน วัย 92 ปี หวนกลับมาคลุกฝุ่นการเมือง ได้รับชัยชนะเป็นนายกรัฐมนตรีที่แก่ที่สุดในเอเชีย โดยโค่นล้มนายนาจิบ ราซัค ซึ่งถูกกล่าวหาว่า มีการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมโหฬารในกองทุนเพื่อการลงทุนแห่งชาติ "วันเอ็มดีบี" (1MDB)

เราสองคนออกจากโรงแรมสุโกศล เดินไปบนถนนพญาไท เข้าร้านกาแฟ Bean Around Cafe ใกล้กับเซ็นจูรีพลาซ่า นอกจากเรื่องราวส่วนตัวกับอดีตที่เคยคบหาสมาคมกันมายาวนานแล้ว ยังได้สนทนาเรื่องการเมืองได้รสชาติเข้มข้นไปกับ กาแฟดำอเมริกาโน่ ซึ่งก็คือเอสเปรสโสเจือจาง ราคาใกล้เคียงกับมาเลเซียมาก ละเลียดลิ้นได้รสชาดกลมกล่อม กลิ่นหอมละมุน 

เทียนชัว กล่าวว่า พรรคยุติธรรมประชาชน จับมือกับมหาเธร์ ก็เพราะว่า เป็นโอกาสสำคัญนำการเปลี่ยนแปลงในมาเลเซียได้ ถึงแม้ว่าในอดีต พรรคของตนถูกนายมหาเธร์ เล่นงานจนติดคุกติดตะราง แต่ในวันนี้เพื่อจะโค่นรัฐบาลที่พรรคอัมโนที่ใหญ่ที่สุดและอยู่ในอำนาจครอบงำการเมืองมาเลเซียตั้งแต่ได้รับเอกราชมายาว นานกว่า 61ปีด้วยกัน จำเป็นที่พรรคจะต้องร่วมมือกับมหาเธร์ โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า เมื่อมหาเธร์ได้รับชัยชนะแล้วจะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงสองปีจะลาออกเปิดทางให้กับอันวาร์ อิบราฮิม ลงสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งแล้ว นายอันวาร์จึงได้รับการปล่อยตัวทันที(16พค.61) เขาได้รับพระราชทานอภัยโทษจากสมเด็จพระราชาธิบดีมูฮัมหมัดที่ 5 แห่งรัฐกลันตัน ยังดีเปอร์ตวนอากง..พระองค์ปัจจุบันแห่งมาเลเซีย จากการที่ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด ร้องขอให้มีการพระราชทานอภัยโทษนายอันวาร์ หลังจากชนะการเลือกตั้งของมาเลเซีย

ความหอมกรุ่นของกาแฟอุ่น ยังกระตุ้นให้การสนทนาของเราไหลเวียนไปตามเส้นเลือดสู่สมองยังแจ่มใสให้รับรู้เรื่องราวจากการสนทนาได้เป็นอย่างดี เทียนชัว ยังคงพูดถึงเรื่องการเมืองต่อไปอีกว่า 

ขณะที่นายมหาเธร์ ได้เป็นรัฐบาลแล้วจะได้เร่งรัดการปฏิรูปในมาเลเซียทุกด้านตามที่ได้ประกาศเป็นนโยบายระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง โดยจะดำเนินการทันทีในการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือที่เรียกกันว่าภาษีขายและบริการ (Sales and service tax) ซึ่งเคยเก็บในอัตรา 6 เปอร์เซ็นต์ แล้วเปลี่ยนมาเก็บภาษีสินค้าและบริการ(goods and service tax) และเน้นการเก็บภาษีรายได้ลดหลั่นตามรายได้กันไป เป็นการช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น คือ ลดรายจ่ายจากการจับจ่ายใช้สอยบริโภคของประชาชนในมาเลเซีย ซึ่งแน่นอนว่ารัฐจะสูญเงินรายได้มหาศาล แต่ได้เตรียมการไว้แล้วว่า จะต้องทำการลดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองทุกส่วนของรัฐ เป็นการลดทอนการคอรัปชั่นลงไปด้วย เพราะเงินจำกัดมาก และจะทบทวนสัมปทานของรัฐและโครงการขนาดใหญ่ด้วยการลดงบประมาณผู้รับเหมาและผู้ได้รับสัมปทานลงไปอีก 20 เปอร์เซ็นต์ 

การสนับสนุนมหาเธร์ ขึ้นสู่อำนาจนั้นเชื่อว่า จะจัดการกวาดล้างฐานกำลังเก่าของพรรคอัมโนให้ลดน้อยลงไปได้ อีกทั้งมหาเธร์ ในอดีตแม้จะเคยเล่นงานฝ่ายค้านอย่างหนัก แต่ก็ได้จัดการลดบทบาทของกษัตริย์ในมาเลเซียลงไปอย่างมาก ปัจจุบันมียังดีเปอร์ตวนอากง เป็นกษัตริย์ มาจากเจ้าผู้ครองรัฐทั้ง 9 รัฐ ในมาเลเซียตะวันตกจากทั้งหมด 13 รัฐของมาเลเซีย ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และหมุนเวียนกันไปตามลำดับหากดำรงตำแหน่งถึงสองครั้งแล้วจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งอีกต่อไป

ส่วนประเด็นบทบาทกองทัพในมาเลเซียนั้น เทียนชัวกล่าวว่ามาเลย์ปกครองแบบสหพันธรัฐ เป็นรัฐรวม ไม่ได้เป็นรัฐเดี่ยวแบบผูกขาด ทหารกระจายกันไปตามแต่ละรัฐ กองทัพขึ้นตรงกับรัฐบาล การเมืองมีศูนย์กลางที่รัฐสภาและรัฐบาลเท่านั้น ไม่มีอำนาจนอกระบบแทรกแซงหลังจากได้เอกราชแล้ว ไม่เคยมีการรัฐประหารเกิดขึ้นเลย เมื่อถามว่า ที่มาเลเซียมีเรื่องเกี่ยวกับ จ๊อกกี้กับ เจ้าของคอกม้า แบบประเทศไทยหรือเปล่า เทียนชัวหัวเราะระริก พร้อมกับตอบด้วยความงุนงง ว่าไม่มี แบบในประเทศไทยแน่นอน 

แผนการบริหารช่วง 100 วันของมหาเธร์ อีกด้านหนึ่งคือ การจัดตั้งหน่วยงานเพื่อดูแลและปราบปราบการทุจริตคอร์รัปชัน ในการพิจารณาบทบาทของนักการเมือง-ข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกองทุนภาครัฐต่างๆ เช่นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งจะทำให้มาเลเซียโปร่งใส เทียบชั้นกับสิงคโปร์ สหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์เลยทีเดียว ในด้านเศรษฐกิจจะยกระดับนวัตกรรมในการผลิตและกระจายรายได้ ส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานในการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ใช้ระบบภาษีดึงรายได้จากคนรวยมาจัดสวัสดิการคนจน

พรรคยุติธรรมประชาชนได้เข้าร่วมกับรัฐบาลมหาเธร์ โดยดูแลในส่วนการคมนาคมและพลังงาน ในเรื่องราคาน้ำมันที่มาเลเซียถูกกว่าประเทศไทย ก็เพราะมาเลเซียนำรายได้จากการส่งออกน้ำมันมาอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศ เพื่อสร้างเสถียรภาพในกระบวนการผลิต การขนส่ง ให้มีความมั่นใจกันว่า ประชาชนจะได้ใช้พลังงานในราคาที่ไม่แพงนัก ควบคู่ไปกับเชื่อมโยงระบบรางกับรถเมล์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวป้อนขนส่งอย่างเป็นระบบ รวมไปถึงการขยายเมือง สร้างเมืองใหม่ตามแนวทางรถไฟความเร็วสูง ขณะนี้มาเลเซียมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ 6-7 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน

กาแฟหมดถ้วย คาเฟอีนกระตุ้นให้การสนทนาของเราสองคน ดำเนินต่อไป แม้ว่ายังคงติดใจกับรสหอมกรุ่นของกาแฟอเมริกาโน่ อยากจะลองสั่งอย่างอื่นมาละเลงลิ้น แต่ทว่าราคากาแฟแพงเกินกำลังเงินในกระเป๋า สำหรับผม ในฐานะเจ้าภาพต้องเลี้ยงกาแฟ ต้องรู้จักประมาณตน ตามทฤษฎีพอเพียง จึงต้องขอรีบจบการสนทนาลงเสียก่อน

เราสองคนเดินไปด้วยกันและยังคงสนทนากันต่อไป ท่ามกลางละอองเม็ดฝนโปรยปรายบนถนนพญาไทมุ่งสู่ที่พักถนนศรีอยุธยาในเวลา5 ทุ่มตรง ผมกลับมาถึงบ้านบันทึกเรื่องราวการสนทนาเพียงบางส่วน เล่าสู่กันฟัง


 

ที่มา: https://prakaifai.com/2018/07/16/325/

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐบาลใหม่มาเลเซียเดินหน้ารถไฟฟ้าสายใหม่ หลังหั่นงบได้ 47% จากแผนรัฐบาลเดิม

Posted: 16 Jul 2018 08:00 AM PDT

หลิมกวนอิง รมว.คลังของพรรครัฐบาลชุดใหม่มาเลเซีย "แนวร่วมแห่งความหวัง" ปัดฝุ่นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า LRT3 จากรัฐบาลชุดเก่าโดยตั้งงบก่อสร้างราว 1.36 แสนล้านบาท ลดได้ 1.23 แสนล้านบาท หรือ 47% จากงบที่รัฐบาลชุดก่อนเคยเสนอไว้สูงถึง 2.59 แสนล้านบาท โดยการหั่นงบรอบนี้ เป็นการทำตามสัญญาช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่าจะลดงบประมาณของโครงการที่มีการใช้จ่ายสูงเกินจริง

หน้าแรกของแผ่นพับแสดงข้อมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า LRT3 โดยล่าสุด รมว.คลังมาเลเซียคนใหม่ สั่งหั่นงบประมาณลง 47%

แผนที่ก่อสร้างรถไฟฟ้า LRT3 จากสถานี Bandar Utama ไปยัง Johan Setia ระยะทาง 37 กม.

มาเลเซียกินีรายงานว่า รัฐบาลมาเลเซียชุดใหม่รื้อฟื้นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าแบบรางเบา LRT3 อีกครั้งหนึ่ง สามารถปรับลดการใช้งบประมาณโครงการนี้ไปได้จำนวนมากโดยคงประสิทธิภาพเดิมไว้ จากที่ก่อนหน้านี้เคยมีการระงับโครงการไปในสมัยรัฐบาลของนาจิป ราซัค ทั้งนี้มีการอนุมัติงบประมาณก่อสร้างรถไฟฟ้า LRT3 เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยปรับงบประมาณเหลือ 16,630 ล้านริงกิต หรือ 136,000 ล้านบาท หรือลดลงจากเริ่มร้อยละ 47 ขณะที่รัฐบาลเดิมเสนอใช้ประมาณ 31,650 ล้านริงกิต หรือ 258,900 ล้านบาท

โดย รมว.คลังของรัฐบาลปัจจุบัน หลิมกวนอิง ระบุว่าการตั้งงบประมาณใหม่สำหรับโครงการถไฟฟ้า LRT3 ความยาว 37 กม. รอบนี้ช่วยประหยัดเงินของประเทศได้ 15,020 ล้านริงกิต หรือราว 122,800 ล้านบาท โดยการงบประมาณในครั้งนี้จะเป็นเรื่องที่ทำตามที่สัญญาเอาไว้ช่วงเลือกตั้งว่าจะลดการใช้งบประมาณโครงการสูงเกินจริงจากรัฐบาลก่อน

สำหรับรายละเอียดของการหั่นโครงการ ได้แก่ 1. มีการลดการสั่งซื้อขบวนรถไฟฟ้าแบบ 6 ตู้โดยสาร 42 ขบวน เหลือสั่งซื้อแบบ 3 ตู้โดยสาร 22 ขบวน โดยผลการศึกษาใหม่ระบุว่าขบวนรถไฟจำนวน 22 ขบวน เพียงพอกับความต้องการของผู้โดยสารไปจนถึงปี พ.ศ. 2578

2. ลดขนาดก่อสร้างโรงเก็บและซ่อมบำรุงขบวนรถไฟฟ้า 3. ออกแบบสถานีรถไฟฟ้าใหม่ โดยยึดรูปแบบสถานีที่มีอยู่เดิมคือ Kelana Jaya LRT แทนการออกแบบเป็นสถานีขนาดใหญ่

3. ยกเลิกการก่อสร้าง 5 สถานีรถไฟฟ้า LRT เนื่องจากผลการศึกษาพบว่ายังมีผู้โดยสารน้อย

4. ยกเลิกอุโมงค์และทางยกระดับความยาว 2 กม. ที่ยังไม่จำเป็น ที่สถานี Persiaran Hishamuddin และ Shah Alam

5. ขยายเวลาก่อสร้างจนแล้วเสร็จไปอีก 4 ปี จากเดิมปี 2563 ไปเป็นปี 2567 โดยโครงการจะสร้างเสร็จช้าไป 4 ปี เนื่องจากมีการตัดงบประมาณที่เรียกว่า "ค่าเร่งก่อสร้าง" ออกไปด้วย

หลิมกวนอิง ยังแถลงถึงรายละเอียดการปรับลดงบประมาณในครั้งนี้ต่อไปว่า ถึงแม้งบ 16,630 ริงกิต จะถือเป็นงบประมาณครอบคลุมรายจ่ายโครงการทั้งหมด รวมไปถึงค่าสัญญารับเหมา, ค่าจัดซื้อที่ดิน, ค่าบริหารโครงการ, ค่าธรรมเนียมที่ปรึกษา, ค่าปฏิบัติการ และค่าต้นทุน อีกทั้งยังคัดรวมกับภาวะเงินเฟ้อช่วงที่มีการก่อสร้างไว้แล้ว การประเมินงบประมาณโครงการใหม่ยังช่วยลดค่าดอกเบี้ยได้อีกถึง 14,000 ล้านริงกิต หรือราว 115,000 ล้านบาท ด้วย

นอกจากแถลงประกาศเรื่องนี้แล้ว ในวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมารัฐบาลชุดใหม่ของมาเลเซียยังปฏิเสธคำขอของบริษัท Prasarana Malaysia ที่ของบประมาณโครงการเพิ่ม 22,000 ล้านริงกิต หรือ 180,000 ล้านบาท ด้วย โดยทางรัฐมนตรีกระทรวงการคลังระบุว่าพวกเขาจะไม่ให้งบประมาณเพิ่มเติมจนกว่าจะมีการทยทวนปรับงบประมาณใหม่ในทางที่จะทำให้ใช้งบประมาณน้อยลงขณะที่ยังคงคุณภาพ ความสมบูรณ์ และความปลอดภัย ของระบบรางและบริการเอาไว้ได้

ทางการมาเลเซียแถลงอีกว่ารถไฟฟ้า LRT3 เป็นโครงการที่สำคัญซึ่งจะสามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากถึง 36,700 ราย ต่อชั่วโมงในทุกเส้นทาง ช่วยแก้ปัญหารถติดได้สำหรับถนนในเขตกลังถึงเปตาลิงจายา โดยที่พวกเขาใช้วิธีการที่เรียกว่าหุ้นส่วนส่งมอบโครงการ (project delivery partner หรือ PDP) ซึ่งเป็นการหารือและปรับการจัดหาวัตถุดิบระหว่างหุ้นส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Prasarana Malaysia, บรรษัทร่วมทุนการก่อสร้างของมาเลเซียเอ็มอาร์ซีบี จอร์จ เคนต์ และคณะกรรมการการขนส่งทางบก

เรียบเรียงจาก

Putrajaya greenlights LRT3 after halving cost​​​​​​​, Malaysiakini, 12-07-2018

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาชิก Pussy Riot ถูกดำเนินคดีหลังป่วนเกมนัดชิงบอลโลก

Posted: 16 Jul 2018 06:19 AM PDT

4 นักกิจกรรมรัสเซียจากกลุ่ม Pussy Riot ถูกดำเนินคดีหลังวิ่งลงกล่าวสนามในเกมนักชิงบอลโลก เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมือง

 
 
 
จากเพจ PussyRiot
 
16 ก.ค. 2561 สำนักข่าว BBC รายงานว่า เจ้าหน้าตำรวจที่รัสเซียได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ประท้วง 4 รายของกลุ่ม Pussy Riot ที่วิ่งเข้าไปป่วนการแข่งขันระหว่างฟุตบอลโลกรอบชิงชนะเลิศระหว่างทีมชาติฝรั่งเศส และทีมชาติโครเอเชียเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทั้งสี่ถูกตั้งข้อหา 2 คดี ได้แก่ ฝ่าฝืนกฎการชมกีฬา และแต่งตัวเลียนแบบเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 รูเบิ้ล (ประมาน 5,300 บาท) และ 1,500 รูเบิ้ล (ประมาน 800 บาท)
 
นักกิจกรรมทั้งสี่ ซึ่งเป็นผู้ชาย 1 คน และผู้หญิงอีก 3 คน ได้กระโดดลงไปในสนามในช่วงครึ่งหลังของการแข่งขัน ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยลากตัวออกจากสนาม หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว กลุ่ม Pussy Riot ได้ทวีตข้อความระบุว่า นักกิจกรรมทั้งสี่คนถูกกักตัวข้ามคืนที่สถานีตำรวจก่อนจะถูกนำตัวไปศาลในวันต่อมา 
 
ทางกลุ่มยังได้ระบุข้อเรียก 6 ข้อของการประท้วงดังกล่าวได้แก่ 1. ปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมด 2. หยุดการจำคุกคนที่กด "ไลค์" 3. หยุดการจับกุมผู้ประท้วงอย่างผิดกฎหมาย 4. เปิดให้มีการแข่งขันทางการเมือง และ 5. ยุติการการดำเนินคดีและจับคนเข้าคุกอย่างไม่มีเหตุผล และ 6. คือ เปลี่ยนตำรวจที่ทำตัวเหมือนมนุษย์โลกให้เป็นตำรวจที่ดีงามแบบเทวดา โดยข้อเรียกร้องข้อสุดท้ายนี่เป็นเหตุผลที่ผู้ประท้วงทั้ง 4 คนแต่งตัวเลียนแบบเจ้าหน้าที่ตำรวจรัสเซีย
 
ก่อนหน้านี้ สมาชิกกลุ่ม Pussy Riot 3 คน เคยถูกตัดสินจำคุกหลังแสดงดนตรีพังค์ที่มีเนื้อหาโจมตีประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ในช่วงการเลือกตั้งเมื่อปี 2012 โดย BBC ระบุว่าผู้ชายที่กระโดดลงไปในสนามคือ ปีเตอร์ เวอร์ซิลอฟ สามีของ นาเดซด้า โตโลคอนนิโคว่า หนึ่งในสามสมาชิก Pussy Riot ที่ถูกจำคุกเมื่อปี 2012 นั่นเอง
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สมัชชาคนจน' จ่อร้อง รบ.แก้ปัญหา 'ยาฆ่าหญ้า-ค่าครองชีพ-บัตรทอง-สิทธิแรงงาน' พรุ่งนี้

Posted: 16 Jul 2018 01:17 AM PDT

สมัชชาคนจนเตรียมเข้ายื่นหนังสือที่ทำเนียบฯ พรุ่งนี้ ร้องแก้ปัญหานำเข้าสารเคมีอันตราย ราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้น กระทบค่าครองชีพ ปัญหาสวัสดิการรักษาพยาบาลจากระบบบัตรทอง และปัญหาด้านแรงงาน ที่คนงานที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมมากขึ้น

16 ก.ค.2561 เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'สมัชชาคนจน' แจ้งว่า พรุ่งนี้ (17 ก.ค.61)  เวลา 10.30 น. ตัวแทนสมัชชาคนจน จะเดินทางยื่นหนังสือเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งรัดในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาล คสช. ผ่านนโยบาย และออกประกาศคำสั่งต่างๆ ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ. เดิม) บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

สำหรับปัญหาดังกล่าวประกอบด้วย 4 ประเด็นคือ 

1. การนำเข้าสารเคมีอันตราย โดยเฉพาะ พาราควอต (ยาฆ่าหญ้า)เพื่อใช้ในภาคการเกษตร ที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้ยังสามารถใช้ได้ในประเทศไทย ทั้งที่เกิดผลกระทบขึ้นมากมายต่อชีวิตเกษตรกร และผู้บริโภคประชาชนทั่วไป ทั้งเสียชีวิต และสะสมปนเปื้อนตกค้าง ในสภาพแวดล้อม และอาหารที่ทุกคนบริโภค จึงขอให้พิจารณาการจำกัดหรือยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ คือ พาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโฟเซต

2. ราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนแพงขึ้นทุกวัน ในขณะที่รายได้ของประชากร กลับไม่ได้มากตาม ทำให้คนไทยต้องจนลง จากเงินในกระเป๋าที่ต้องจ่ายไปเป็นค่าเชื้อเพลิงพลังงาน และจากปัญหาความไม่โปร่งใสในแวดวงธุรกิจพลังงาน

3. ปัญหาสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล จากระบบบัตรทอง ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีความพยายามจะปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยผิดไปจากเจตนารมณ์เบื้องต้นที่ต้องการให้เกิดระบบสวัสดิการและความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ในด้านการดูแลรักษาพยาบาล เพื่อให้เกิดเป็นระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทยทุกคน โดยจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคนที่ใช้ระบบบัตรทอง โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนคนยากจน ที่จะถูกเลือกปฏิบัติสงเคราะห์อย่างไม่เป็นธรรม เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำในด้านการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล

4. ปัญหาด้านแรงงาน ที่ปัจจุบันมีจำนวนคนงานที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมมากขึ้น โดยที่หน่วยงานของรัฐไม่สามารถเข้าไปดูแลช่วยเหลือแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที กลับปล่อยให้บรรดาคนงานที่ถูกปิดงานเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต้องเผชิญชะตากรรมโดยลำพัง โดยรัฐได้กำหนดนโยบายต่างๆ ที่ให้สิทธินักลงทุนมากขึ้นแทบทุกด้าน แต่สิทธิด้านแรงงานกลับไม่ได้รับการเหลียวแล แก้ไข

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ผู้เสพคือผู้ป่วย’(จบ): ระบบบังคับบำบัด เมื่อยังไปไม่ถึงจึงเป็นได้แค่อาชญากร

Posted: 16 Jul 2018 12:43 AM PDT

ระบบบำบัดผู้เสพยาเป็นแนวคิดใหม่ในการจัดการปัญหายาเสพติด เราจะพาไปดูภาพรวมของระบบ ค่ายทหารกลายเป็นกำลังหลักในการบำบัด ตามมาด้วยเรือนจำซึ่งไม่มีความพร้อมใดๆ และสถาบันธัญญารักษ์ที่พบว่าการบังคับบำบัดตามกฎหมาย ผู้เสพไม่ค่อยให้ความร่วมมือนัก ฯลฯ

รายงานตอนแรก ชวนดูนโยบายรัฐไทยที่มีความพยายามจะแก้ปัญหายาเสพติดในทิศทางใหม่ เช่นเดียวกับเทรนด์โลกที่แยกแยะผู้เสพออกจากผู้ค้า แล้วเน้นการฟื้นฟูเยียวยาให้ผู้เสพเลิกเสพกลับมามีที่ยืนในสังคม พร้อมกับชวนดูช่องว่างของระบบมีอะไรบ้าง การสร้างตัวชี้วัดเป็น "ยอดจำนวน" ของผู้ได้รับการบำบัด ทำให้เกิดการหว่านแหจับกุม ซึ่งอาจเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคล ยังไม่ต้องพูดถึงแนวคิดล้ำๆ อย่างสิทธิของผู้ใช้ยา นอกจากนี้ระบบ(บังคับ)บำบัดยังผ่อนผันเพียง 1 ครั้งที่ผู้เสพสามารถเลือกเข้าสู่การบำบัดแทนการถูกลงโทษทางอาญา แต่หากถูกจับกุมอีกครั้งก็จะถูกดำเนินคดีในท้ายที่สุด

ตอนสุดท้ายนี้ เราจะดูว่าเส้นทางการเข้าสู่ระบบบำบัดมีกี่สาย และการบำบัดในปลายทางขั้นสุดท้ายคือ เรือนจำ ซึ่งกรมราชทัณฑ์กำลังแบกรับภารกิจการบำบัดฟื้นฟูที่หนักเกินศักยภาพ

หลังจากถูกจับกุมและได้รับการตรวจสารเสพติดในร่างกายกับทางโรงพยาบาลแล้ว คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในเขตพื้นที่ต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงยุติธรรมภายในพื้นที่ จะทำหน้าที่จำแนกว่าผู้ป่วยควรได้รับการบำบัดแบบใด ภายใต้สังกัดหน่วยงานใด จำเป็นต้องควบคุมตัวหรือไม่

รูปแบบการบำบัดในระบบบำบัดแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆ คือ

1) แบบควบคุมตัว ผู้รับการบำบัดจะถูกควบคุมตัวอยู่ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรภาพผู้ติดยาเสพติด ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ รวม 90 แห่ง และเข้าโปรแกรมบำบัดเป็นระยะเวลา 4-6 เดือน เป้าหมายของการควบคุมตัวก็เพื่อกันผู้ป่วยออกจากยาเสพติดให้ได้มากที่สุด

2) ระบบไม่ควบคุมตัว ผู้รับการบำบัดจะต้องเข้าโปรแกรมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามศูนย์ฟื้นฟูฯ เป็นเวลา 12 วัน หลังจากเสร็จโปรแกรมแล้วต้องเข้ารายงานตัวทุกเดือนและรับการสุ่มตรวจปัสสาวะเป็นเวลา 1 ปี หากหลบหนี หรือพบสารเสพติดระหว่างกระบวนการดังกล่าว ผู้ป่วยจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ปัญหาใหญ่ของระบบบังคับบำบัดก็คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแลโดยแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข หากแต่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง โดยในบรรดาศูนย์ฟื้นฟูฯ 90 แห่งทั่วประเทศนี้ เป็นค่ายทหาร หรืออยู่ในการดูแลของทหารและตำรวจ มากถึง 57 แห่ง ศูนย์ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุขมีเพียง 20 แห่งเท่านั้น อีก 11 แห่งเป็นของกระทรวงมหาดไทย มี 2 แห่งเป็นของกระทรวงยุติธรรม


ดูภาพใหญ่ที่นี่

นายแพทย์ล่ำซำ ลักขณาภิชนชัช รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจด้านวิชาการและการแพทย์ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี โรงพยาบาลธัญญารักษ์ กล่าวว่า แม้กระทรวงสาธารณสุขจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางโปรแกรมบำบัดฯ และอบรมวิทยากร ท้ายที่สุดแล้ว แต่ละค่ายก็จะมีวิธีปฏิบัติตามศักยภาพและความถนัดของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งค่ายทหารก็จะเน้นการฝึกวินัยเสียเป็นส่วนใหญ่

"การบำบัดยาเสพติดมันไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารณสุข ยังมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้วย ภาคราชการด้วยกันเองก็ทำหลายหน่วยงาน เช่นกลาโหมก็จะมีค่ายวิวัฒน์พลเมือง ค่ายขวัญแผ่นดินของมหาดไทย แม้กระทั่งกระทรวงยุติธรรมคุมประพฤติเองก็เปิดลักษณะการบำบัดแบบนี้ซึ่งอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้าง ในหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุขเขาก็มีความเชี่ยวชาญในการฝึกระเบียบฝึกวินัย แต่ในส่วนของความรู้ในด้านการบำบัดยาเสพติดนั้นมันไม่ใช่แค่เรื่องระเบียบวินัยอย่างเดียวที่จะทำให้เลิกยาได้ ทางเราจึงต้องเข้าไปช่วยดูแลว่าจะเสริมความรู้ยังไงบ้าง"

นอกจากจะได้รับการบำบัดโดยผู้ไม่มีความรู้ทางการแพทย์แล้ว ระบบบังคับบำบัดยังสร้างปัญหาในขั้นตอนการรักษาโดยแพทย์อีกด้วย ล่ำซำให้ความเห็นว่าระบบในปัจจุบันที่ตั้งต้นจากการตรวจปัสสาวะเพื่อสกัดจับผู้ติดยาเสพติดนั้นสร้างปัญหาในขั้นตอนการบำบัดอยู่พอสมควร เพราะผู้ที่เข้าสู่กระบวนการผ่านช่องทางนี้มักจะให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงเพื่อหลีกเลี่ยงการบำบัดที่พวกเขาไม่ต้องการ

"การตรวจปัสสาวะมันบ่งบอกได้แค่ว่า ณ ตอนนั้นเขามีสารเสพติดอยู่ในร่างกาย แต่ถึงขั้นจะระบุว่าเป็นผู้ใช้ ผู้เสพหรือผู้ติด อันนี้มันต้องคุยรายละเอียด และผู้เสพก็ต้องให้รายละเอียดข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเรื่องที่เขามีส่วนได้ส่วนเสีย เขาเลยไม่ให้ข้อเท็จจริงอยู่แล้ว เขาก็พูดในสิ่งที่ทำให้เขาดูดี"

ในส่วนที่สถาบันธัญญารักษ์ดูแลนั้น นพ.ล่ำซำระบุว่า โดยปกติแล้วหากผู้ป่วยไม่ได้มีอาการติดรุนแรง แพทย์จะไม่ค่อยให้แอดมิดในโรงพยาบาลแต่ใช้วิธีการเรียกมาให้คำปรึกษาเป็นครั้งคราว แต่ในเคสที่มีอาการติดหนักในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิต หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการกลับเสพซ้ำ หรือครอบครัวไม่พร้อมที่จะดูแล ก็จะต้องแอดมิดภายในโรงพยาบาล กระบวนการรักษาจะเริ่มจากการถอนพิษยาเสพติดในร่างกายด้วยการใช้ยา ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาน 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรง หลังจากถอนพิษแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการฟื้นฟูทางด้านจิตใจ ในบางกรณีก็จะมีการฝึกอาชีพให้กลับเข้าสู่สังคมได้โดยไม่ต้องกลับไปยุ่งเกี่ยวกับวงจรยาเสพติดอีก กระบวนการตรงนี้ใช้เวลาราว 4 เดือน หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการติดตามผล เป็นช่วงที่ปล่อยให้ผู้ป่วยกลับออกไปใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ แต่จะมีการเรียกมาพูดคุยต่อเนื่อง 12 เดือน

นพ.ล่ำซำระบุว่าในแต่ละปีทางสถาบันฯ มีผู้ป่วยยาเสพติดในการดูแลประมาณ 100,000 - 300,000 คนต่อปี ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ถูกบังคับบำบัดเพื่อแลกกับการไม่ต้องรับโทษอาญา ประมาณร้อยละ 43 หรือมากกว่า 40,000 คน ในขณะที่ผู้ที่สมัครใจเข้ามารับการบำบัดจริงๆ มีอยู่ราวร้อยละ 41 ส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 15 เป็นระบบต้องโทษ เป็นผู้ที่ต้องได้รับการบำบัดภายในเรือนจำ

นั่นหมายความว่าในแต่ละปีจะมีผู้ใช้ยามากกว่า 40,000 คนถูกบังคับให้เข้ารับการบำบัดที่พวกเขาไม่ได้ต้องการตั้งแต่ต้น คนกลุ่มนี้จึงไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการรักษา อย่างไรก็ตามล่ำซำก็ยังคงมองว่า มาตรการกึ่งบังคับในส่วนนี้ยังควรมีอยู่ เพราะอาการติดยาเสพติดก็เหมือนกับมะเร็ง ที่ยิ่งเจอเร็วโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดก็ยิ่งมากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือของผู้รับการบำบัดด้วยเช่นกัน

"ถ้าถูกบังคับมาเราต้องทำความเข้าใจกับผู้ป่วยก่อนว่า จริงๆ แล้วการมาบำบัดแบบนี้เป็นข้อเสียที่เขาจะไม่มีอิสระ เสรีภาพเท่าที่ควร แต่ว่าก็ถือเป็นข้อดีอีกแบบหนึ่งในแง่ที่กฎหมายเปิดช่องให้เรามาเปลี่ยนแปลงตัวเอง ถ้าผ่านมาทางช่อง คำสั่ง คสช.ที่108 เมื่อบำบัดเสร็จแล้วก็จะไม่มีประวัติข้อมูลคดี อีกเรื่องหนึ่งถ้าเกิดมีโรคอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้น อาจจะเป็นโรคทางสมองหรืออื่นๆ ก็จะได้ดูแลช่วยเหลือกันไป ส่วนถ้ามีความจำเป็นถ้าเขาไม่หนักมากเราก็นัดมาถี่ตามความรุนแรงของผู้ป่วยแล้วก็จะมีการติดตามเป็นระยะไป รายที่หนักมากก็ค่อยให้ทำการรักษาบำบัดที่โรงพยาบาลเลย" นพ.ล่ำซำกล่าว

แล้วเหตุใดผู้ใช้ยาจึงไม่ค่อยสมัครใจเข้ารับการบำบัด?

ล่ำซำกล่าวว่าทัศนคติของสังคมไทยยังคงมองผู้ใช้ยาเป็นอาชญากรที่ต้องได้รับการกำจัด แนวคิด "ผู้เสพคือผู้ป่วย" ที่รัฐบาลพยายามผลักดันยังคงเป็นแค่คำขวัญที่สวยหรู แต่ไม่ได้สะท้อนออกมาเป็นนโยบายที่ชัดเจน ยกตัวอย่างคือสิทธิในการรักษา แม้สวัสดิการ 30 บาทรักษาทุกโรคจะครอบคลุมค่ารักษาอาการป่วยจากสารเสพติด แต่ผู้ประกันตนผ่านระบบประกันสังคมกลับไม่ได้สิทธิดังกล่าว และถึงแม้สวัสดิการข้าราชการจะครอบคลุมค่ารักษาในส่วนนี้ แต่ข้าราชการเองกลับไม่ค่อยใช้กัน เนื่องจากกลัวว่าจะมีผลกระทบต่อประวัติการรับราชการ

"คนทั่วไปก็ยังมองคนติดยาเป็นคนที่ทำความผิด ในประเทศตะวันตก เขามองว่าเรื่องคนติดยาไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร สามารถแก้ไขได้ เขามองคนที่ใช้ยาเสพติดว่าเหมือนคนกินเหล้า คนดูดบุหรี่ มองว่าเป็นปัญหาเฉพาะตัว ไม่ใช่เป็นปัญหาอาชญากร แต่ในสังคมไทยเราไม่ใช่ ฉะนั้นถ้าเราค่อยๆ แก้ทัศนคติตัวนี้ได้ เวลาเขาบำบัดเสร็จก็สามารถไปทำงานประกอบอาชีพได้ตามปกติ แต่ในปัจจุบันไม่ใช่ พอรู้ว่ามีประวัติยาเสพติดคือไม่ได้งาน" ล่ำซำกล่าว

ข้อจำกัดของการบำบัดภายในเรือนจำ

ในบรรดาผู้รับการบำบัดยาเสพติดทั้ง 3 ประเภทคือ ระบบสมัครใจ, ระบบบังคับบำบัดตามพ.ร.บ.ฟื้นฟูฯ หรือ คำสั่งหัวหน้าคสช.108/2557, ระบบต้องโทษ  

กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ระบบต้องโทษ

ผู้ต้องขังคดียาเสพติดกว่า 200,000 คน ต้องผ่านกระบวนการบำบัดโดยผู้ที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข หรือไม่เช่นนั้นก็ไม่เคยได้รับการบำบัดเลย

นายบัส (นามสมมติ) วัย 39 ปี เล่าว่า ตัวเขาเคยเข้าเรือนจำ 2 ครั้งในข้อหาครอบครอบครองไอซ์และเมทแอมเฟตตามีนเพื่อจำหน่าย อันที่จริงตัวเขาไม่ได้เป็นผู้ขาย เพียงแต่ซื้อของมาจำนวนมากเพื่อเก็บไว้ใช้กับเพื่อน แต่ด้วยกฎหมายยาเสพติดที่จำแนกผู้เสพกับผู้ขายจากจำนวนสารเสพติดที่ครอบครอง บัสจึงต้องรับโทษจำคุกในฐานะผู้จำหน่ายเป็นระยะเวลา 5 ปี 12 เดือนในปี 2539 และต้องจำคุกอีก 3 ปี 6 เดือนในปี 2554

เขากล่าวว่า ในช่วงที่เขาถูกคุมขัง เขาไม่เคยได้รับการบำบัดอะไร ภาพที่เขาเห็นคือนักโทษกว่า 700 ชีวิตที่เบียดเสียดกันอยู่ภายในทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ซึ่งเป็นที่คุมขังผู้ต้องหาคดียาเสพติดที่ครอบครองสารปริมาณมาก กล่าวอย่างง่ายก็คือพวก "เอเย่น" ซึ่งมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติปะปนกันไป

"ไม่เห็นจะมีอะไรบำบัดเลย ผมไปอยู่ก็เหมือนกับไปรอการตัดสิน รอย้ายเรือนจำ ไม่เคยเห็นใครไปบำบัดอะไรเลย บำบัดคือการฟื้นฟูร่างกายใช่ไหม แต่นี่มีแค่ออกกำลังกายตอนเช้าแล้วก็หมดไป แล้วมันเรียกว่าการบำบัดได้ยังไง"

บัสเปิดเผยว่ามีเพื่อนผู้ต้องหาจำนวนมากในแดนเดียวกับเขาที่เข้ามาในฐานะผู้เสพที่ซื้อของตุนไว้เยอะไปหน่อย แต่กลับออกไปประกอบอาชีพผู้ขาย เนื่องจากการได้เข้ามาพบกับเอเย่นรายใหญ่ภายในคุก ประกอบกับทัศนคติในสังคมที่ยังคงมองผู้ใช้ยาเป็นอาชญากร ยังทำให้ผู้ที่มีประวัติยาเสพติดไม่สามารถหางานสุจริตทำได้หลังพ้นโทษ ทั้งหมดนี้จึงเป็นการบีบให้คนเหล่านี้ต้องกลับเข้าสู่วงจรยาเสพติดและพัฒนาจากผู้เสพมาเป็นผู้ขายหลังพ้นโทษ

นั่นหมายความว่าไม่มีกระบวนการบำบัดภายในเรือนจำเลยหรือ? คำตอบคือยังมีอยู่ แต่ยังไม่ได้มาตรฐานและไม่เพียงพอ

พรพรรณ ศิลปวัฒนาพร นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการ ของกรมราชทัณฑ์เปิดเผยว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ต้องขังที่มีประวัติใช้สารเสพติดอยู่ประมานหนึ่งแสนต้นๆ แต่ศักยภาพในการบำบัดฟื้นฟูของกรมราชทัณฑ์สามารถรองรับได้เพียงประมาน 20,000 คนต่อปีเท่านั้น โดยกระบวนการบำบัดส่วนใหญ่จะเป็นการเข้าค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและแนวคิดของผู้ใช้ยา ผ่านการฝึกสมาธิ ฝึกควบคุมอารมณ์ และเรียนรู้โทษของยาเสพติด การฝึกมองโลกในแง่ดี และก่อนที่จะพ้นโทษก็จะมีกระบวนการบำบัดอีกครั้งเป็นหลักสูตรระยะเวลา 3 วันเพื่อเตรียมความพร้อมผู้ต้องหาก่อนจะออกไปสู่โลกภายนอก

หากย้อนกลับไปที่เป้าหมายการบำบัดในระบบต้องโทษ ที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าไว้ที่ 20,700 ราย แต่ทำได้จริง 15,314 ราย ในกรณีของกรมราชทัณฑ์กลับทำได้ทะลุเป้ามาโดยตลอด โดยในปี 2559 มีการตั้งเป้าผู้ต้องขังที่ผ่านการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไว้ที่ 17,700 ราย แต่มีผู้ผ่านการบำบัดถึง 19,449 ราย ส่วนเป้าในปี 2560 ตั้งไว้ที่ 17,700 ราย แต่ทำได้จริง 21,668 ราย

เหตุผลที่ยอดของสองหน่วยงานต่างกันก็เพราะว่าผู้ต้องขังจะได้รับการบำบัดกับกระทรวงสาธารณสุขได้ก็ต้องเมื่อมีคำสั่งศาลเท่านั้น ส่วนรายอื่นที่ศาลไม่ได้มีคำสั่ง แต่ผ่านกระบวนการคัดกรองภายในเรือนจำก็จะต้องผ่านระบบบังคับบำบัดผ่านในเรือนจำ

ตัวเลขดังกล่าวนอกจะสะท้อนว่ากรมราชทัณฑ์กำลังแบกรับภารกิจการบำบัดฟื้นฟูที่หนักเกินศักยภาพแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ที่แต่ละหน่วยงานจะมีเป้าหมายและเป้าหมายยอดผู้รับการบำบัดเป็นของตัวเอง จนยากที่คำนวนหาจำนวนผู้ป่วยยาเสพติดที่อยู่ในประเทศไทยในทุกระบบ เพราะนอกจากกระทรวงสาธารณสุขกับกรมการแพทย์แล้ว กรมคุมประพฤติ กระทรวงมหาดไทย ต่างก็มีภารกิจในการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดของตัวเองแยกย่อยลงไปอีก

นอกจากกรมราชทัณฑ์จะไม่สามารถรองรับการบำบัดได้อย่างครบถ้วนแล้ว ปัญหาด้านทรัพยากรบุคคลก็เป็นปัจจัยสำคัญ หากตั้งหลักว่า "ผู้เสพคือผู้ป่วย" ผู้ทำหน้าที่ให้การบำบัดภายในเรือนจำก็ควรจะเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพกับนักจิตวิทยาเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงกรมราชทัณฑ์มีนักจิตวิทยาเพียง 29 คน จากเรือนจำ 142 แห่งทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ในเรือนจำจริงๆ เพียง 22 คนเท่านั้น ส่วนอีก 7 คนจะประจำอยู่ที่กองบริการทางการแพทย์ กรมราชทัณฑ์

พรพรรณกล่าวว่าบุคลากรที่ขาดแคลนที่สุดในกระบวนการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดในเรือนจำคือนักจิตเวช เนื่องจากผู้ที่ใช้ยาเสพติดมาเป็นเวลานาน แล้วต้องหยุดยาในทันที มักจะเกิดอาการทางจิตแทรกซ้อนเช่นหูแว่วหรือเห็นภาพหลอน ซึ่งควรได้รับการดูแลเหมือนกับผู้ป่วยภายในโรงพยาบาล ในปัจจุบันมีผู้ต้องขังที่มีอาการทางจิตที่อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ประมาน 3,000 คน และประมานร้อยละ 10 เป็นอาการทางจิตที่มีผลมาจากการใช้สารเสพติด

นอกจากนี้ลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ภายในเรือนจำที่มีลักษณะหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ ทุกปี เช่นคนที่รับผิดชอบฝ่ายการศึกษาในปีที่แล้ว อาจจะถูกย้ายมาทำฝ่ายฟื้นฟูผู้ต้องขังในปีต่อมา จึงทำให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยภายในเรือนจำไม่มีความต่อเนื่อง และเป็นเหตุให้ต้องมีการอบรมเจ้าหน้าที่กันใหม่ทุกปีประมาน 300 - 360 คน

อย่างไรก็ดีกรมราชทัณฑ์มีความพยายามที่จะพัฒนาเรือนจำให้สามารถรองรับผู้ป่วยยาเสพติดได้อย่างมีมาตรฐาน โดยจัดให้มีการประเมินร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรับรองคุณภาพสถานพยาบาลยาเสพติด (ประเภทฟื้นฟูสภาพ) ระบบต้องโทษ ซึ่งจะประเมินโดยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขผ่านมิติต่างๆ เช่น ความแออัด สภาพแวดล้อม หรือจำนวนแพทย์ที่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ แต่ก็มีเรือนจำที่ผ่านมาตรฐานดังกล่าวเพียง 31 แห่งเท่านั้น

พรพรรณกล่าวว่าปัญหาหลักๆ ที่มีเรือนจำผ่านเกณฑ์การประเมินน้อยเป็นเพราะปัญหาด้านบุคลกรขาดแคลน ในบางแห่งมีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดเพียง 1 คนเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ใช่บุคลกรทางการแพทย์อีกด้วย

นอกจากนี้นายแพทย์ล่ำซำของสถาบันธัญญารักษ์ยังกล่าวว่า การประเมินดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทางเรือนจำสมัครใจที่จะขอรับการประเมินเท่านั้น ทางสาธารณสุขไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปตรวจสอบเรือนจำที่ไม่ได้ขอรับการประเมิน ซึ่งส่วนเรือนจำส่วนใหญ่ที่ขอเข้ารับการประเมินก็มักจะมีความพร้อมอยู่แล้ว จึงผ่านการประเมินเสียเป็นส่วนใหญ่

ภาพเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมของรัฐไทยในการทำให้ "ผู้เสพคือผู้ป่วย" อย่างแท้จริง ตราบใดที่การตั้งด่านตรวจปัสสาวะเพื่อหาผู้ป่วยยังคงมีอยู่ ตราบใดที่สวัสดิการทางสังคมยังไม่ยอมรับผู้ใช้ยาเสพติดเฉกเช่นประชาชนทั่วไป ตราบใดที่คุกไทยยังไม่เอื้อให้ผู้พึ่งพิงยาหลุดออกจากวงจรยาเสพติดได้จริงๆ และสถานที่ทำงานต่างๆ ยังรังเกียจผู้มีประวัติใช้ยา ตราบนั้นผู้ป่วยก็ยังคงเป็นอาชญากร

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กอ.รมน.แจงกรณีศาลจังหวัดปัตตานี สั่งประหารชีวิตจำเลยคดี ลอบยิงทหารพรานเสียชีวิต

Posted: 16 Jul 2018 12:07 AM PDT

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจงกรณีศาลจังหวัดปัตตานีพิพากษาประหารชีวิต 'อิบรอเฮม' จำเลยคดีลอบยิงทหารพรานเสียชีวิต ย้ำยังมีสิทธิในการยื่นขออุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายได้กำหนดไว้

 
16 ก.ค. 2561 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) รายงานว่า เมื่อเวลา 9.00 น. พ.อ.ธนาวีร์  สุวรรณรัตน์ รองโฆษกกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงกรณีศาลจังหวัดปัตตานี มีคำพิพากษาตัดสินประหารชีวิต อิบรอเฮม สุไหงบารู ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
1. ตามที่พนักงานอัยการ เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง อิบรอเฮม สุไหงบารู ในความผิดคดี ลอบยิงเจ้าหน้าที่ทหารพราน กองร้อยทหารพราน 2208 เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2556 พื้นที่ บ้านกอตอรานอ หมู่ที่ 1 ต.คลองใหม่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี  ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารพรานเสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 1 นาย และคดีอื่นๆ ตามหมาย  ป.วิอาญา จำนวน  3 หมายนั้น เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2561 ศาลชั้นต้นจังหวัดปัตตานี ได้มีคำพิพากษาตัดสิน ประหารชีวิต อิบรอเฮม สุไหงบารู
 
2. พฤติกรรม อิบรอเฮม สุไหงบารู ได้เคยก่อคดี มีหมายจับ ป.วิอาญา จำนวน 3 หมาย คือ กรณียิงพระสงฆ์และราษฎร เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 7 ราย ในพื้นที่ ต.แม่ลาน อ.แม่ลาน 
จังหวัดปัตตานี เมื่อ 13 ก.พ. 2557 กรณีปล้นชิงทรัพย์รถยนต์ ในพื้นที่ หมู่ที่ 6 ต.บ่อทอง อ.หนองจิก เมื่อ 1 ส.ค. 2556 และกรณียิงเจ้าหน้าที่ทหารพราน กองร้อยทหารพรานที่ 2208 เสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 1 นาย ในพื้นที่ ต.คลองใหม่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อ 12 ก.ย. 2556 
 
3. จากพฤติกรรมที่ปรากฏของจำเลยที่ได้ก่อเหตุถึง 3 คดี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย ได้รับบาดเจ็บ 8 ราย และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้รับความเสียหาย โดยในห้วงที่ผ่านมาส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องได้ให้การช่วยเหลือเยียวยาแก่ครอบครัวของผู้สูญเสียดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับผู้กระทำความผิด  ก็จะต้องถูกลงโทษ ซึ่งผลคำพิพากษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ ของศาล ซึ่งได้พิจารณาตามพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคล  พยานวัตถุ และพยานแวดล้อม ที่ทำให้ศาลเชื่อว่า จำเลยกระทำความผิดจริง จึงมีคำสั่งพิพากษาลงโทษดังกล่าว
 
อย่างไรก็ตาม จำเลยยังมีสิทธิในการยื่นขออุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายได้กำหนดไว้
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น