โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

ปรากฏการณ์ 13 หมูป่าบอกอะไรกับเราได้บ้าง

Posted: 20 Jul 2018 10:26 AM PDT

1.จะดังได้ก็ต้องมีเนื้อเรื่องยอดเยี่ยม (Brilliant plot)

ปัจจัยพื้นฐานของปรากฏการณ์ครั้งนี้คือมีเนื้อเรื่องยอดเยี่ยมเพราะองค์ประกอบต่างๆ สามารถสอดรับกันอย่างลงตัวและส่งผลกระทบทางจิตวิทยามวลชนได้ลึกซึ้ง โดยเริ่มต้นจากตัวละครเกือบทั้งหมดเป็นเด็กบ้านนอกไร้เดียงสา เป็นทีมฟุตบอลซึ่งเข้าไปเที่ยวในถ้ำเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่สามารถช่วยตัวเองได้ในเวลาต่อมา (หากเป็นกลุ่มเด็กแว้น นักท่องเที่ยวจีน  กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฯลฯ ที่เข้าไปในถ้ำด้วยวัตถุประสงค์บางอย่าง ก็ย่อมได้รับความสนใจหรือความเห็นอกเห็นใจที่ลดลงไป) สำหรับสถานที่เกิดเหตุคือดอยนางนอนในอำเภอแม่สายดูเร้นลับและมีเสน่ห์แบบทางเหนือตามสายตาของคนต่างถิ่น  การช่วยเหลือกลุ่มหมูป่าในถ้ำยังพบความกดดันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน  อันเกิดจากอุปสรรคและภัยคุกคามดังเช่นความคดเคี้ยวของถ้ำและน้ำท่วมจากฝนที่ตกอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้ประชาชนต้องลุ้นอย่างใจจดใจจ่อถึงขั้นนอนไม่ค่อยหลับถึงชะตากรรมของกลุ่มหมูป่าที่หากไม่เสียชีวิตก็กำลังเผชิญกับความอดอยาก  ที่สำคัญสื่อมวลชนยังแต่งแต้มสีสันปรากฏการณ์ด้วยคำเล่าลือต่างๆ นาๆ เกี่ยวกับเรื่องลึกลับและไสยศาสตร์ที่เป็นความเชื่อฝังลึกในสังคมไทย ซึ่งยังสะท้อนออกมาได้ผ่านพิธีกรรมสารพัดในการช่วยกลุ่มหมูป่า ตอกย้ำโดยคำทำนายของบุคคลศักดิ์สิทธิ์อย่างครูบาบุญชุ่ม[1] เช่นเดียวกับทฤษฎีสมคบคิดซึ่งหลายทฤษฎีมีเนื้อหาหลุดโลกยิ่งทำให้ผู้คนรู้สึกตื่นเต้นยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ปรากฏารณ์ยังได้วีรบุรุษคือบรรดาผู้พยายามช่วยเหลือกลุ่มหมูป่า อย่างเช่นหน่วยซีลและผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ได้ชื่นชมกับยกย่องและมีตัวร้ายกับตัวตลกในคนๆ เดียวกันคือ พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ให้ได้เกลียดชังกับล้อเลียน ปรากฏการณ์ยังสร้างจุดสูงสุดทางอารมณ์ให้มวลชนหลายครั้งเช่นตอนที่นักดำน้ำค้นพบเด็กและโค้ชซึ่งนั่งรวมกันอย่างน่าเวทนา  จ่าแซมเสียชีวิตขณะพยายามขนถังออกซิเจน การพยายามนำกลุ่มหมูป่าออกจากถ้ำที่สื่อบอกว่าอันตรายมาก ฯลฯ ก่อนทุกสิ่งทุกอย่างจะคลี่คลายไปแบบเปี่ยมสุขในตอนจบ ประดุจดังเทพนิยายหรือตำนานพื้นบ้านในยุคใหม่ที่สามารถถูกแต่งเติมโดยสื่อมวลชนและการเล่าลือกันผ่านโซเชียลมีเดียได้ตามใจของประชาชนทั่วไป (โซเชียลมีเดียมอบอำนาจให้กับประชาชนในการมีส่วนร่วมในการเล่าเรื่องแม้ว่าจะไม่ได้ไปถึงปากถ้ำด้วยตัวเอง อันเป็นปรากฏการณ์แบบโลกเสมือนจริงหรือ Virtual reality กระนั้นก็ยังสามารถสร้างแรงกดดันให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จริงๆ ได้)

 

2. การพุ่งทะยานของลัทธิชาตินิยม

ปรากฏการณ์ 13 หมูป่าเกิดขึ้นในเวลาแห่งขาลงของคสช.และความซบเซาของลัทธิชาตินิยมไทยซึ่งถูกซ้ำเติมโดยความขัดแย้งทางการเมืองที่ปะทุขึ้นมาเรื่อยๆ ย่อมทำให้คนจำนวนมากรู้สึกแปลกแยกและโหยหาบรรยากาศเก่าๆ ที่คนไทยรักสามัคคีกับช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามภาพฝันๆ แบบลัทธิชาตินิยม การแสดงความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใย[2] และการมีส่วนร่วมของคนหลากหลายกลุ่มอาชีพในการช่วยเหลือกลุ่มหมูป่า (ต่อมารัฐได้หยิบฉวยโดยการตีตราว่าเป็นเรื่องของ "จิตอาสา" ซึ่งเป็นคำสำคัญในลัทธิราชาชาตินิยม) ได้ร่วมกันจุดกระแสลัทธิชาตินิยมให้พุ่งทะยานขึ้น  ยิ่งลัทธิชาตินิยมมีความโดดเด่นมากเพียงใด มวลชนก็ยิ่งให้ความสนใจมากขึ้นอีก จนเป็นปัจจัยเสริมซึ่งกันและกัน แม้ว่าจะมีตัวละครอื่นเช่นนักประดาน้ำชาติต่างๆ  ได้มาดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างน่าประทับใจ ลัทธิชาตินิยมก็สามารถผนวกคนเหล่านั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งได้เช่นการสร้างความรู้สึกว่าประเทศไทยมีเสน่ห์หรือแรงดึงดูดบางอย่างให้ต่างชาติได้มาเสี่ยงชีวิตเพื่อร่วมภารกิจและบุคคลเหล่านั้นเป็นเพียงแค่แขกรับเชิญคือไม่สามารถมีบทบาทนำในการช่วยเหลือได้เท่ารัฐ

ตามความคิดของผู้เขียน ลัทธิชาตินิยมที่แท้จริงต้องอิงอยู่กับหลักความเท่าเทียมกันของชนชั้น รวมไปถึงแนวคิดเสรีนิยมบางอย่างเช่นการยอมรับความหลากหลายและสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น  ในความจริงยังมีชนชายขอบในสังคมไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือเช่นเดียวกับกลุ่มหมูป่า แต่รัฐต้องการสร้างผลงานเป็นรูปธรรมและง่ายดายจากการช่วยเหลือบุคคลเพียงกลุ่มเดียวซึ่งเป็นจุดสนใจของมวลชน ดังนั้นปรากฏการณ์  13  หมูป่าถือได้ว่าอิงแอบอยู่บนลัทธิชาตินิยมที่ถูกสร้างขึ้นมาผ่านสื่อ (ที่กำกับโดยรัฐ) อย่างที่เรียกว่า Entertainment Nationalism ที่ถูกจุดกระแสให้ดังได้อย่างรวดเร็ว เพราะง่ายสำหรับการบริโภคของมวลชนประดุจอาหารจานด่วน

3. การเสริมสร้างอำนาจนำแบบรวมหมู่ (Collective Hegemony)

ความโด่งดังของปรากฏการณ์ 13 หมูป่าประการหนึ่งเกิดจากการประโคมข่าวโดยรัฐ ในฐานะเป็นเรื่องเปรียบเทียบ (Allegory) ที่รัฐต้องการสะท้อนให้คนไทยเห็นว่าพวกเขาต้องพึ่งพิงรัฐในฐานะผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาตลอดกาล อันเป็นการตอกย้ำถึงความภักดีของประชาชนที่มีต่อรัฐ[3] นอกจากนี้รัฐยังได้จ่าแซมเป็นสัญลักษณ์ของผู้พลีชีพซึ่งเป็นภาพจำลองของการเสียสละขั้นสูงสุดของรัฐเพื่อประชาชนแม้จะเป็นทหารนอกราชการก็ตาม[4] กระนั้นสำหรับตัวรัฐเองประกอบไปด้วยตัวละครทางการเมืองอีกหลายกลุ่มซึ่งพยายามเสริมสร้างอำนาจนำแบบรวมหมู่ (เพราะในปัจจุบันไม่มีใครสามารถกุมอำนาจนำแบบเด็ดขาดได้) โดยการแย่งชิงบทบาทนำในการช่วยเหลือกลุ่มหมูป่าอย่างเช่นกองทัพ คสช. ราชการ และที่ขาดเสียไม่ได้คือ พวกนิยมเจ้า ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองและอนาคตที่กำลังจะมีการเลือกตั้งซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มนักการเมืองเข้ามาแบ่งอำนาจร่วม จึงทำให้กลุ่มบุคคลเหล่านั้นถือว่าชะตากรรมของกลุ่มหมูป่ามีผลกระทบอย่างสูงต่ออำนาจนำอันขาดเสถียรภาพของตนเหนือสังคมไทยซึ่งกำลังหมกมุ่นอยู่กับชะตากรรมของกลุ่มหมูป่า  อันเป็นสาเหตุว่าทำไมจึงมีสถานีวิทยุออนไลน์ของบุคคลบางกลุ่มซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกลุ่มการเมืองเหล่านั้นได้เสนอทฤษฎีสมคบคิดว่าปรากฎการณ์ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นมาไม่ใช่เหตุบังเอิญ

ปรากฎการณ์ 13 หมูป่ายังเสริมสร้างอำนาจนำของรัฐส่วนกลางเหนือท้องถิ่นท่ามกลางกระแสแนวคิดการกระจายอำนาจ  กลุ่มหมูป่าเปรียบได้ดังตัวแทนของคนท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพาอาศัยการช่วยเหลือจากรัฐส่วนกลางโดยมีตัวแทนคือผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งบังเอิญมีความโดดเด่นกว่านายกรัฐมนตรีซึ่งคะแนนความนิยมหายไปจากการหาเสียงหน้าปากถ้ำ เพราะท้องถิ่นมีบทบาทด้อยกว่าเพราะขาดกำลังคนและความเชี่ยวชาญในการรับมือกับวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งปัจจุบันไปประจำอยู่จังหวัดพะเยาคือนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากรยังเป็นภาพของ "คนดี" จากกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของท้องถิ่น อันอาจส่งผลกระทบต่อความคิดในเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในอนาคตก็เป็นได้

4.การโหยหาสังคมในอุดมคติของชาวโลก

เช่นเดียวกับคนไทย ชาวโลกเองต่างก็จำเจกับข่าวซึ่งมักนำเสนอเหตุการณ์ต่างๆ ในด้านเลวร้ายเช่นสงครามกลางเมือง  ภัยพิบัติ การก่อการร้าย การละเมิดสิทธิมนุษยชาติ และโดนัลด์ ทรัมป์ ฯลฯ   แม้ว่ากลุ่มหมูป่าจะอยู่ในประเทศโลกที่ 3 แต่เนื้อเรื่องอันยอดเยี่ยมของปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยมีจุดเริ่มต้นคือบรรดานักประดาน้ำนานาชาติเข้าร่วมภารกิจ[5] สามารถดึงดูดความสนใจและความเอื้ออาทรจากคนทั่วมุมโลกโดยปราศจากการแบ่งแยกศาสนาหรือเชื้อชาติใด อันเป็นสังคมในอุดมคติตามแนวคิด Cosmopolitanism   ที่ชาวโลกโหยหาเป็นอย่างมาก ซึ่งสามารถดูได้จากคอมเมนต์ในเฟซบุ๊คของสำนักข่าวต่างๆ  ทว่าก็มีประชากรโลกที่เคราะห์ร้ายไม่แพ้กันไม่ว่าชาวโรฮิงญา ชาวซีเรีย ชาวเยเมน ฯลฯ รวมไปถึงผู้อพยพเข้าไปในยุโรปเป็นจำนวนมากที่ชาวโลกอาจหลงลืม ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร เพราะชาชินกับเหตุการณ์ดังกล่าวจากการนำเสนอของสื่อกระแสหลักมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน และหลายประเทศก็เกิดกระแสต่อต้านผู้อพยพซึ่งหลั่งไหลเข้ามาในประเทศตัวเองเป็นจำนวนมาก  ปรากฎการณ์ 13 หมูป่าจึงจุดกระแสความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ของชาวโลกเพียงผิวเผิน เป็นภาพปรากฎที่สร้างความสุขให้แก่ชาวโลกเพียงชั่วคราว

นัยไม่นับการเกาะกระแสทั่วโลกไม่ว่าโดยเจ้าของบริษัทขนาดยักษ์ องค์กรเกี่ยวกับฟุตบอลนานาชาติ ผู้นำของประเทศต่างๆ  โดยเฉพาะนายโดนัลด์ ทรัมป์ก็เป็นตัวอย่างของนักการเมืองที่ต้องการหยิบฉวยเอาความโหยหาเช่นนี้ของชาวโลกมาเพื่อคะแนนเสียง จากการที่เขาได้ทวิตเตอร์ยกย่องทางการสหรัฐฯ ในการเข้าช่วยเหลือเด็กติดในถ้ำ ทำให้มีคนออกมาโจมตีเป็นจำนวนมากว่าเขา (แสร้ง) เห็นอกเห็นใจพวกหมูป่าแต่ไม่ใส่ใจชะตากรรมของเด็กๆ ที่ถูกถูกแยกจากพ่อแม่ซึ่งอพยพหนีเข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย

 

เชิงอรรถ

[1] ปรากฏการณ์  13 หมูป่ายังตอบสนองความโหยหาของชาวพุทธเป็นจำนวนมากท่ามกลางความเสื่อมโทรมของศาสนาพุทธอันเกิดจากพฤติกรรมอันไม่ดีไม่งามของพระภิกษุที่ได้รับการเสนอผ่านสื่อเสมอมา อย่างกรณีครูบาบุญชุ่มนั้นตั้งอยู่บนคติผู้มีบุญมาโปรดสัตว์อันมีมานานในสังคมไทย คำทำนายที่ถูกต้องของท่านยิ่งทำให้ชาวพุทธรู้สึกว่ายังมีพระดีบารมีล้นพ้นหลงเหลืออยู่ เมื่อมีการถกเถียงในบรรดาพลเมืองชาวเน็ตระหว่างพวกเสรีนิยมกับพวกอนุรักษ์นิยมว่าควรจะให้การยกย่องใครมากกว่ากันระหว่างคนที่ปฏิบัติภารกิจจริงๆ  กับนักบวชที่อิงกับพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ ก็ได้มีชาวพุทธหัวอนุรักษ์นิยมจำนวนมากได้ออกมาปกป้องครูบาอย่างแข็งขัน

[2]  ตามความจริงแล้วก็ไม่สามารถมีใครบอกได้ว่าความห่วงใยเช่นนี้จะมีในคนไทยทั้งหมด เราต้องพยายามซื่อสัตย์กับตัวเองว่ามีคนอีกเป็นจำนวนมากที่มีความสุขกับการหายนะของคนอื่น ไม่เช่นนั้นคงจะไม่มีข่าวอาชญากรรมอย่างการทำร้ายร่างกายกันหรือการปล้นจี้ เท่าที่ผ่านมามีคนโพสต์ในเฟซบุ๊คเป็นทำนองว่ากลุ่มหมูป่าน่าจะเสียชีวิตแล้ว อันทำให้ประชาชนชาวเน็ต (Netizen) เข้าไปโจมตีเป็นอย่างมาก คนที่มีความคิดดังกล่าวส่วนใหญ่จึงขาดเวทีในการแสดงออก ปรากฎการณ์หมูป่าจึงเป็นการจัดภาพจำลองของการมีศีลธรรมของคนไทยให้อยู่ในมิติเดียว จนกลายเป็นภาพฝันๆ ของสังคมไทยที่คนรู้สึกอิ่มเอมเป็นอย่างยิ่ง

[3]  เป็นสาเหตุว่ากลุ่มประชาชนที่เข้าไปช่วยเหลือในหลายครั้งถูกลดบทบาทอย่างเช่นนายกสมาคมน้ำบาดาลไทยถูกกีดกันไม่ให้เข้าถ้ำ  ถึงแม้ว่ามีปัจเจกชนหลายคนจะมีชื่อเสียง (ในขณะที่หลายคนเป็นเพียงตัวตลก น่ารำคาญ)  ได้รับการยกย่องเสียยิ่งกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคน  แต่ก็เป็นเพียงชั่วขณะ เพราะภาพปรากฎของพวกเขาก็ไม่สามารถมีพลังหรือยืนยงได้เท่ากับรัฐ หรืออาจจะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐผ่านคำว่า "จิตอาสา"

[4] มีบุคคลอีกมากมายที่เสียสละตัวเองให้กับสังคมในวงกว้างและเป็นระยะเวลาอันยาวนานยิ่งกว่าจ่าแซมแต่ไม่ได้รับเกียรติในการจัดพิธีศพอย่างใหญ่โต หรือได้รับรูปปั้นจากเฉลิมชัย โฆษิตพิพัตน์ เพียงเพราะพวกเขาไม่สามารถตอบสนองความตอบการเช่นนี้ของรัฐได้ ด้วยบทบาทของเขาหรือเธออย่างเช่นเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรหรือกลุ่มประชาชนที่ต่อสู้กับรัฐและนายทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม

[5] นักประดาน้ำที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่เป็นฝรั่งผิวขาว อันเป็นการหวนระลึกถึงแนวคิดหลายศตวรรษก่อนที่ยังคงทรงอิทธิพลไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบันนั้นคือคนขาวมีความเหนือกว่าคนเชื้อชาติอื่นและเป็นภาระของคนขาวในการปกป้องดูแลคนเหล่านั้น (White man's burden)

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เทียบอัตราดอกเบี้ย ‘หนี้ครู’ กับ 'หนี้ธนาคาร'

Posted: 20 Jul 2018 10:23 AM PDT

เทียบอัตราดอกเบี้ย 'หนี้ครู' จากโครงการของธนาคารออมสินพบจ่ายดอกเบี้ย 5.15% ถึง 6% ต่อปี ผิดนัดชำระปรับอีก 8% ของเงินต้นคงเหลือ ส่วนดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ลูกค้ารายย่อย MMR 7.12% ถึง 7.37% ต่อปี ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลไม่ใช้หลักประกัน ดอกเบี้ยพุ่งกระฉูดแตะ 15.5% ถึง21% ต่อปี ขณะที่ล่าสุดธนาคารออมสินทำหนังสือเวียนให้เร่งรัดฟ้องคดีครูที่ไม่เข้าร่วมมาตรการผ่อนปรนชำระหนี้

สำรวจอัตราดอกเบี้ย 'หนี้ครู' จาก "โครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา" หรือ ช.พ.ค. และ "โครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม" หรือ ช.พ.ส. ที่ธนาคารออมสินและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ยื่นข้อเสนอให้ครูกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ แก้ปัญหาหนี้ครู โดยให้สมาชิกรวมหนี้จากหลายแหล่งมาไว้ที่ธนาคารออมสินเพียงที่เดียว

โดยอัตราดอกเบี้ยโครงการ ช.พ.ค. หลังปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 5.15% ถึง 6% ต่อปี ได้แก่

ช.พ.ค.2 และ ช.พ.ค.3 อัตราดอกเบี้ยเดิม MLR หรือ 6.5% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยใหม่ ลดลง 0.5% เป็น 6% ต่อปี

ช.พ.ค.4 อัตราดอกเบี้ยเดิม MLR หรือ 6.50% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยใหม่ ลดลง 0.75% เป็น 5.75% ต่อปี

ช.พ.ค.5 อัตราดอกเบี้ยเดิม MLR หรือ 6.5% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยใหม่ ลดลง 1% เป็น 5.5% ต่อปี

ช.พ.ค.6 อัตราดอกเบี้ยเดิม MLR-0.5 หรือ 6% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยใหม่ ลดลง 0.75% เป็น 5.25% ต่อปี

ช.พ.ค.7 อัตราดอกเบี้ยเดิม MLR-0.85 หรือ 5.65% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยใหม่ ลดลง 0.5% เป็น 5.15% ต่อปี

ส่วนอัตราดอกเบี้ยโครงการ ช.พ.ส. อัตราดอกเบี้ยเดิม MLR หรือ 6.5% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยใหม่ ลดลง 0.75% เป็น 5.75% ต่อปี

โดยเงื่อนไขของโครงการ ช.พ.ค. สามารถผ่อนชำระได้ 30 ปี การกู้เงินโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่สามารถใช้บุคคลค้ำประกัน หรือทำประกันชีวิตกับธนาคารไว้เป็นหลักประกันก็ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมโครงการต้องจ่ายเบี้ยประกันล่วงหน้า 9 ปี ซึ่งแตกต่างจากการทำประกันทั่วไปที่จ่ายเบี้ยประกันปีต่อปี หากผิดนัดชำระหนี้ มีเบี้ยปรับร้อยละ 8 ของเงินต้นคงเหลือ นอกจากนี้หากเจ้าหนี้คือธนาคารออมสิน ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ลูกหนี้ต้องยอมให้คิดตามอัตราดอกเบี้ยใหม่

นอกจากนี้ยังปรับเกณฑ์ผ่อนชำระหนี้ใหม่ ให้กับลูกหนี้ชั้นดีที่ชำระเงินกู้เป็นประจำ ได้แก่ หนึ่ง ปลอดเงินต้น 3 ปี จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ในกรณีที่ครูมีเงินในบัญชีเกิน 30% ของจำนวนเงินกู้ทั้งหมด สอง ปลอดเงินต้น 3 ปี จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 50% กรณีที่มีเงินในบัญชีเหลือ 15-30% ของจำนวนเงินกู้ทั้งหมด และสาม ปลอดเงินต้น 3 ปี จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 25% กรณีที่มีเงินใบบัญชีเหลือต่ำกว่า 15%

ผอ.ธนาคารออมสินยืนยันดอกเบี้ยถูกกว่าสินเชื่อบุคคล

ในรายงานของวอยซ์ออนไลน์ ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า โครงการเงินกู้ ช.พ.ค.นี้เกิดขึ้นเพื่อจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก ช.พ.ค. เพื่อชำระหนี้และนำเงินไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและบุคคลในครอบครัว การศึกษา รักษาพยาบาล และใช้จ่ายกรณีจำเป็นอื่นๆ จากที่ครูต้องกู้หนี้นอกระบบ เสียดอกเบี้ยร้อยละ 10-20 ต่อเดือน โครงการนี้ธนาคารออมสินได้เข้ามาช่วยให้ครูเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยตามข้อตกลงใหม่คิดดอกเบี้ยในอัตรา 5-6% ต่อปี ผ่อนชำระนาน 30 ปี ขณะที่สินเชื่อบุคคลทั่วไปในระบบสถาบันการเงินที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 – 28 ต่อปี นอกจากนี้เงินกู้ ช.พ.ค. ยังคิดดอกเบี้ยลดต้นลดดอกเช่นเดียวกับสินเชื่อเคหะที่มีเงินงวดผ่อนชำระต่ำ ทำให้สามารถกู้เงินในจำนวนที่สูงขึ้นได้ แล้วแต่ความจำเป็นของครู

สำหรับยอดสินเชื่อของโครงการ ช.พ.ค. ที่มีผู้กู้รวม 433,000 ราย คิดเป็นวงเงินกู้ประมาณ 406,000 ล้านบาท มีหนี้เสียหรือ NPLs ประมาณ 4,079 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.94 ของลูกหนี้ทั้งหมด

เทียบอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ MRR และสินเชื่อไม่ใช้หลักประกัน

ผู้สื่อข่าวพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสินเชื่อประเภทบุคคลของธนาคารพาณิชย์ ที่ให้กู้กับลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR (Minimum Retail Rate) และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่ใช้หลักประกัน พบว่าธนาคารพาณิชย์ตัวอย่าง 5 แห่ง กำหนดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี MMR ระหว่าง 7.12% ถึง 7.37% และอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลไม่ใช้หลักประกันที่ 15.5% ถึง21%

ธนาคารกสิกรไทยให้ดอกเบี้ย MRR 7.12% ต่อปี สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่ใช้หลักประกันอยู่ที่ 17.12% ต่อปี

ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ดอกเบี้ย MRR 7.37% ต่อปี สินเชื่อส่วนบุคคลไม่ใช้หลักประกันอยู่ที่ 19.37% ต่อปี

ธนาคารทหารไทย ให้ดอกเบี้ย MRR 7.275% ต่อปี สินเชื่อส่วนบุคคลไม่ใช้หลักประกันอยู่ที่ 15.5% ต่อปี

ธนาคารกรุงเทพ ให้ดอกเบี้ย MRR 7.125% ต่อปี สินเชื่อส่วนบุคคลไม่ใช้หลักประกันที่อยู่ 18% ต่อปี

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้ดอกเบี้ย MRR 7.2% ต่อปี ให้สินเชื่อบุคคลไม่ใช้หลักประกันอยู่ที่ 21% ต่อปี

ในส่วนของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (ข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2561) สำหรับวงเงินกู้ 3 ปีแรกอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ตัวอย่าง 7 แห่ง อยู่ระหว่าง 2.97-4.25% ต่อปี เงื่อนไขเป็นไปตามข้อเสนอและรายละเอียดของแต่ละธนาคาร โดยข้อมูลใน ddproperty ระบุดังนี้

ธนาคารกรุงเทพ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 4.50% ต่อปี

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 2.97% ต่อปี

ธนาคารกสิกรไทย อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 3.22% ต่อปี

ธนาคารทหารไทย อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีอยู่ที่ 3.50% ต่อปี

ธนาคารกรุงไทย อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 4.20% ต่อปี

ธนาคารออมสิน อัตราดอกเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 4.25% ต่อปี

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ มีอัตราดอกเบี้ยของแต่ละโครงการไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับธนาคารจะกำหนด

000

ก่อนหน้านี้กลุ่มครูในนามเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทยนำโดยอวยชัย วะทา ประกาศเชิญชวนครู 4.5 แสนคนขอพักชำระหนี้ครูเป็นเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่สิงหาคม และขอปรับโครงสร้างดอกเบี้ยเหลือ 1% โดยอ้างว่ามีระบบโครงสร้างการชำระหนี้ที่ไม่เป็นธรรม โดยขอให้เปิดการเจรจากับรัฐบาลและธนาคารออมสินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้และระบบการจ่ายหนี้ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ก.ค. มติชนออนไลน์เผยแพร่หนังสือเวียนของธนาคารออมสิน มีหนังสือเวียนของถึงกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าสำนักงานว่าภายในเดือนสิงหาคมนี้ให้เร่งรัดการฟ้องคดีลูกหนี้สินเชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่ชำระหนี้

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์: ความเป็นแรงงาน หนี้ กับโอกาสการรวมตัวยุคหลังสหภาพแรงงาน

Posted: 20 Jul 2018 10:10 AM PDT

ข่าวหนี้ครูที่เป็นที่โจทก์ขวัญกันอย่างกว้างขวางได้ทำให้เห็นถึงการถกเถียงกันอย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นมุมมองคลาสสิกแบบอนุรักษ์นิยมที่มองว่า ครูเหล่านี้คือ ผู้ไม่รู้จักอดออมประหยัด ฟุ้งเฟ้อ และไม่เป็นเยี่ยงอย่างที่ดีให้กับเด็กนักเรียน นักศึกษา โดยเฉพาะเมื่อไปเทียบกับการที่บัณฑิตเบี้ยวหนี้กยศ. หรือการมองในสายตาฝั่งทุนนิยมที่เห็นว่า พวกเขาเหล่านี้คือ ผู้แพ้ในโลกทุนนิยม ผู้ที่ไร้วินัยทางการเงิน ใช้เงินเกินตัว การเรียกร้องรัฐให้มาอุ้มถือว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบสังคม ขณะที่ฝั่งมาร์กซิสต์ก็เสนอว่า นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่พวกครูเผชิญอยู่ แต่ก็ถูกโจมตีว่า วิธีคิดเช่นนี้ทำให้ละเลยปัญหาที่เกิดจากปัจเจกโดยไปโทษโครงสร้างเสียทั้งหมด ข้อถกเถียงเหล่านี้ ไม่แน่ใจนักว่าจะนำพวกเราไปสู่ทิศทางใด อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีเรื่องที่จะชวนคุยอยู่ 2-3 ประเด็น ดังนี้

 

1. ความเป็นแรงงานที่หายไป

กรณีหนี้ครูครั้งนี้ได้ทำให้กลุ่มครูที่รวมตัวกันเรียกร้อง ถูกแบ่งแยกออกมาจากสังคม กลายเป็นปัจเจกที่ต่อรองผลประโยชน์เพื่อตัวเองลักษณะเช่นนี้จึงผลักให้ครูกลายเป็นเป้าวิจารณ์ในที่สาธารณะดังที่กล่าวไปแล้วเบื้องต้น โดยที่ผู้วิจารณ์จำนวนมากไม่ตระหนักว่า พวกเราก็อยู่ในโครงสร้างทุนนิยมที่ถูกขูดรีดไปด้วยกัน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากปัญหาของการหายไปของการตระหนักถึง "ความเป็นแรงงาน" ในกลุ่มคนและวิชาชีพต่างๆ หลังจากที่อุดมการณ์การเมืองที่ขัดง้างกับทุนนิยมแบบสังคมนิยมได้เสื่อมมนต์ขลังไปหลายสิบปี

แรงงานถูกทำให้กลายเป็นคำธรรมดาสามัญ ทั้งยังแฝงนิยามความดูถูกเหยียดหยามไปในตัว จึงพบว่ามีคนอยู่ไม่มากนักที่นิยามตนเองเป็นแรงงาน คำว่าแรงงานจึงถูกจัดให้อยู่คนกลุ่มแคบๆ นั่นคือ กรรมกรผู้ใช้แรงงาน คนในโรงงาน ทั้งที่แรงงานจำนวนมากอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างกฎหมายแรงงาน กฎหมายประกันสังคมที่ถูกบังคับให้ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุน ฯลฯ

อย่างครูก็เป็นวิชาชีพหนึ่งที่นับเป็นแรงงานได้ เพียงแต่ว่าในสังคมไทยอาชีพมักจะผูกอยู่กับเกียรติที่มากับสถานภาพความศักดิ์สิทธิ์ ครูแม้จะถูกเปรียบเป็นเรือจ้าง แต่ก็มิได้เป็นแรงงาน ครูเป็นผู้มีศักดิ์ศรีที่สูงกว่านั้น เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ ที่นิยามตัวเองหลีกออกจากความเป็นแรงงานทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

กรณีครูที่เป็นข้าราชการ (ไม่นับกรณีครูอัตราจ้าง ครูเอกชนที่สภาพการจ้างย่ำแย่กว่า และแทบจะไม่มีความมั่นคงและสวัสดิการที่สมเหตุสมผล) ยังมีความซับซ้อนไปอีก เนื่องจากพวกเขามีสถานะเป็นข้าราชการที่ไม่ถือเป็นแรงงานตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ทั้งยังมีสวัสดิการแบบข้าราชการที่เหนือกว่าสิทธิประกันสังคมตามแรงงานทั่วไปเข้าถึง ยังไม่นับว่าฐานเงินเดือนของครูปัจจุบันเมื่อเทียบกับอายุงานแล้วถือว่ามีระดับที่สูงมาก ดังนั้นข่าวหนี้ครู จึงสร้างความหมั่นไส้ให้กับแรงงานจำนวนมากไปด้วยในฐานะที่พวกเขาไม่เล่นตามกติกา แม้จะมีแต้มต่อกว่าคนกลุ่มอื่นๆ

การไม่ตระหนักถึงความเป็นแรงงาน จึงเป็นผลต่อการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับแรงงานที่มีจำนวนมหาศาลในประเทศ นั่นทำให้ผู้ที่เป็นแรงงานไร้อำนาจต่อรองกับนายจ้าง และผลกระทบอันไม่เป็นธรรมอื่นๆ กรณีนี้ครูที่ถูกแยกออกมาแล้วจึงง่ายที่จะถูกโจมตีและถูกทำลายชื่อเสียงโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากแนวร่วมแรงงานอื่นๆ เลย

แรงงานทั้งหลายถูกทำให้เชื่อและมีสามัญสำนึกว่า เราต้องทำงานดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดไปตามกลไกของตลาดทุนและแรงงาน เก็บเงิน ประหยัด อดออม ลงทุนอย่างชาญฉลาดแล้ว สักวันพวกเขาจะมีชีวิตในฝันที่สุขสบาย เห็นได้ชัดที่สุดคือ การลงทุนผ่านการซื้อหวยเดือนละ 2 ครั้ง การดิ้นรนของพวกเขานั้นเกิดขึ้นท่ามกลางระบบสาธารณูปโภคที่รัฐไม่เอื้อให้สำหรับการดำเนินชีวิต เช่น การขนส่งสาธารณะ การศึกษาฟรีที่มีคุณภาพ ฯลฯ ทำให้พวกเขาต้องลงทุนกับสิ่งที่ไม่จำเป็นหากการบริการสาธารณะมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือ คนทั่วไปยังเห็นดีเห็นงามกับการที่รัฐไม่ต้องมีพันธะสนับสนุนสวัสดิการที่ว่ามานี้ด้วย

ความเชื่อและความรับรู้เหล่านี้เป็นเชื้ออย่างดีให้แก่นโยบายรัฐที่ปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่า รัฐสวัสดิการ แนวนโยบายสายสังคมนิยมที่ให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่พื้นฐาน แน่นอนว่า อาจถกเถียงกันได้ถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐสวัสดิการก็เสนอว่า หากพื้นฐานเบื้องต้นดีจะนำไปสู่ชีวิตโดยรวมของสังคมที่ดีขึ้นและตอบแทนมายังรายได้ของประเทศ ขณะที่อีกฝ่ายก็เห็นว่าเป็นการเสี่ยงในการลงทุนที่มีมูลค่ามหาศาลมากเกินไป นั่นหมายถึง ให้ประชากรในประเทศไปวัดความเสี่ยงเอาเอง ใครโชคดีหน่อยแม้จะไม่ได้มีฐานะดีมาตั้งแต่ต้น แต่อาจจะมีเครือข่ายอุปถัมภ์นี่ช่วยเหลือกันได้ก็จะสามารถหาช่องทางโอกาสไต่เต้าเพื่อสู่ความฝันได้

 

2. หนี้กับภาระในโลกทุนนิยม

ในจักรวาลที่ทุนนิยมกำชัยชนะอยู่นอกเหนือไปจากอาชีพครู แทบทุกอาชีพในสังคมสมัยใหม่ ล้วนแต่เผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ สำหรับคนที่มีต้นทุนชีวิตที่มากพอ เช่น เป็นตระกูลผู้มั่งมี หรือครอบครัวข้าราชการทำให้คนเหล่านี้ไม่ต้องห่วงพะวงกับค่าใช้จ่ายพื้นฐานในชีวิตมากนัก ไม่ว่าจะเป็นรายจ่ายจำเป็นในชีวิตประจำวัน รายจ่ายด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ฯลฯ หรือการลงทุนด้านที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ และเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ

แต่เชื่อได้ว่าประชากรส่วนใหญ่ในสังคมนี้มิได้มีต้นทุนชีวิตเช่นนั้น ในครอบครัวที่ต้นทุนต่ำ การเข้าถึงทุนวิธีหนึ่งก็คือ การเป็นหนี้ไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาว เห็นได้ชัดจากกรณีเงินกู้ยืมทางการศึกษาที่รู้จักกันดีคือ กยศ. ที่เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเพื่อลงทุนในด้านการศึกษา เงินกู้กรณีผ่อนสร้าง/ซื้อที่พักอาศัยที่เป็นเงินก้อนที่อาจจะเรียกได้ว่า ก้อนใหญ่ที่สุดในชีวิตที่มีระยะเวลาผ่อนส่งยาวนาน 20-30 ปีไม่ต้องนับถึงค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝันจากการเจ็บไข้ได้ป่วย การประสบอุบัติเหตุ

ชีวิตประจำวันของคนไทยเกี่ยวพันกับเงินอย่างแยกจากกันได้ยาก รายจ่ายในหนึ่งเดือนที่นับตั้งแต่ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ยังไม่ต้องนับภาษีสังคมต่างๆ ในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู ซื้อง่ายขายคล่อง ปัญหาอาจยังไม่ชัด จนกระทั่งเศรษฐกิจฝืดเคือง ความจริงที่โหดร้ายของโลกทุนนิยมก็ปรากฏขึ้นอย่างแจ่มแจ้ง

การใช้เงินเพื่ออำนวยความสะดวก ซื้อความสุข ปลอบประโลมตัวเองด้วยสินค้าและบริการต่างๆ แม้จะดูผิดบาปกว่าการก่อหนี้จากการลงทุนที่สมเหตุสมผล จะไม่ถูกประณามตราบใดที่ยังเล่นตามกติกา ไม่ใช้เงินเกินตัว ข่าวหนี้ครูจึงอยู่นอกมาตรฐานการใช้เงินเช่นนี้

อาจลืมไปว่าในโลกทุนนิยมที่ไม่มีตาข่ายรองรับสวัสดิการของชีวิต ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติที่เป็นกันทุกสังคม ทั้งที่เราสามารถออกแบบสังคมที่สร้างความจำเป็นพื้นฐานให้กับประชาชนได้ ความฝันแบบทุนนิยมจึงบดบังความเป็นไปได้ทางนโยบายรัฐสวัสดิการและนโยบายทางสังคมนิยมไปด้วย

 

3. โอกาสการรวมตัวหลังยุคสหภาพแรงงาน...สภาแรงงานและสวัสดิการ?

เมื่อกล่าวถึงการรวมตัวด้านแรงงานแล้ว อาจต้องยอมรับว่านี่ไม่ใช่ยุคที่รุ่งเรืองของสหภาพแรงงานอีกต่อไป สหภาพหลายกลุ่มไปร่วมกับฝ่ายเผด็จการทหารนิยม และสหภาพในทุกวันนี้มักมีภาพที่อยู่ในวงแคบนั่นคือในโรงงานเอกชน และไม่สามารถจะขยายแนวร่วมได้มาก บางครั้งก็ได้ยินว่าในสหภาพแรงงานก็มีสมาชิกที่มีอายุมาก ไม่มีสมาชิกอายุน้อยๆ เข้าไปทำงานร่วมกับสหภาพมากนัก

สหภาพแรงงานยังกระจุกตัวอยู่ในแหล่งงานประเภทโรงงาน รัฐวิสาหกิจ จำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตเมืองใหญ่และย่านอุตสาหกรรม ทั้งที่แรงงานนั้นกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ในปัจจุบันสหภาพแรงงานจึงยังมิใช่ทางออกของแรงงานส่วนใหญ่ในประเทศ เนื่องจากไม่ได้มีพลังมากพอจะสามารถสร้างเอกภาพและเครือข่ายที่กว้างขวางได้อย่างที่ควรจะเป็น ทั้งที่ปัญหาแรงงานจำนวนมากมีผลกระทบในวงกว้างเช่นเรื่อง ระบบประกันสังคม รู้กันอยู่แล้วว่า กฎหมายประกันสังคมที่บังคับให้แรงงานต้องจ่ายเงินสมทบ คนและเม็ดเงินจำนวนมากเกี่ยวข้องกับระบบนี้ แต่กลายเป็นว่าระบบนี้ ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของเจ้าของเงินอย่างที่ควรจะเป็น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าขาดอำนาจการต่อรองที่กว้างขวางในระดับประเทศ

เช่นเดียวกับกรณีหนี้ครู หากมีการรวมตัวของเหล่าแรงงานที่เข้มแข็ง เครือข่ายเกษตรกร หรืออาชีพอื่นๆ ไม่ว่าจะในนามสหภาพแรงงานหรือหน่วยงานใด ก็จะเป็นกลุ่มก้อนที่สร้างอำนาจต่อรองให้กับเหล่าครู เช่นเดียวกันกับความไม่เป็นธรรมอื่นกับแรงงานในวิชาชีพอื่นๆ ก็จะมีพื้นที่เช่นนี้สำหรับหาทางออกที่สมเหตุสมผลและสมศักดิ์ศรีเช่นกัน

ผู้เขียนเห็นว่า เราอาจจะต้องออกแบบกลไกที่เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับแรงงานและสวัสดิการขึ้นมาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์และการต่อรองอำนาจของเหล่าแรงงานทั้งผอง ในเมื่อภายใต้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ตัดแรงงานในสถานที่ราชการออกไป การรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานในหน่วยงานรัฐ  และการรวมสหภาพแรงงานข้ามหน่วยงานกับสถานประกอบการกับหน่วยงานรัฐเป็นสหพันธ์แรงงานก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ไม่เพียงแต่เรื่องแรงงาน สิ่งที่สัมพันธ์กันไปด้วยคือ สวัสดิการซึ่งจะนำไปสู่การวางรากฐานของรัฐสวัสดิการในอนาคต

ในที่นี้ขอเสนอกลไกการทำงานในเชิงโครงสร้างแบบใหม่นั่นก็คือ "สภาแรงงานและสวัสดิการ"

ก่อนจะพูดถึงรายละเอียด ผู้เขียนอยากยกตัวอย่างองค์กรของนายทุนและผู้ประกอบการในนาม"หอการค้า" และ "สภาอุตสาหกรรม" องค์กรทั้งสองยึดครองพื้นที่ทางการเมืองได้ทั้งในระดับประเทศและจังหวัดสร้างอำนาจต่อรอง เป็นปากเป็นเสียงให้กับสมาชิกของตน ทั้งยังไปอยู่ในกลไกของรัฐในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2520[1] ที่รวมเอาสมาคมธนาคารไทยเข้าไปด้วยนั่นหมายถึง นี่คือการผนึกกำลังกันของกลุ่มทุนนิยมของประเทศไปนั่นเอง ส่วนคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2524[2] ทั้งกกร.และกรอ.ล้วนนี้มีบทบาทสำคัญในนโยบายรัฐในยุคเผด็จการเต็มใบและครึ่งใบ ตลอดจนประชารัฐของรัฐบาลเผด็จการในยุคนี้ภายใต้การประสานงานอย่างใกล้ชิดจากสำนักงานคณะกรรมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สภาแรงงานและสวัสดิการจึงควรถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้แก่เหล่าแรงงานที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศ สภาแห่งนี้โดยแนวคิดแล้วจะทำหน้าที่ต่อรองกับนโยบายของรัฐ การแสดงจุดยืนจากชนชั้นแรงงาน รวมไปถึงโต้แย้งถกเถียงนโยบายที่ไม่เป็นธรรมกับแรงงาน เช่น การพิจารณาสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคม และอาจรวมไปถึงการผลิตนโยบายรัฐสวัสดิการที่สอดคล้องกับความต้องการและความเป็นไปได้ของแรงงาน

ที่สำคัญคือ อำนาจดังกล่าวมิได้ทำงานในพื้นที่ระดับประเทศเท่านั้น ทุกวันนี้หอการค้าและสภาอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญต่อรัฐบาลและการดำเนินการของจังหวัดต่างๆ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมักดำเนินไปโดยผลประโยชน์ของชนชั้นของตน ขณะที่แรงงานที่มีจำนวนมากกว่ามาก กลับไร้ซึ่งพื้นที่การต่อรองตั้งแต่ระดับประเทศมาจนถึงระดับจังหวัด ดังที่กล่าวไปแล้วว่า สหภาพแรงงานเองก็ไม่มีน้ำยามากพอ ทั้งยังไม่มีฐานสำคัญในระดับพื้นที่ สภาแรงงานและสวัสดิการจังหวัดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างอำนาจการต่อรอง นอกจากประเด็นแรงงานแล้ว พันธกิจหนึ่งของสภาแห่งนี้คือ การให้ความสำคัญกับประเด็นสวัสดิการของแรงงาน และความเป็นไปได้ของรัฐสวัสดิการซึ่งเป็นฐานสำคัญของแนวคิดแบบสังคมนิยมที่จะสร้างสังคมที่เท่าเทียม สภาแห่งนี้ยังควรจะเป็นพี่เลี้ยงทางด้านความรู้ความจัดการต่างๆ ด้านแรงงานและสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้และอำนวยความสะดวกในจัดตั้งสหภาพแรงงาน การสร้างความรู้ จัดเสวนานโยบายด้านแรงงาน และรัฐสวัสดิการ ที่เป็นตัวเชื่อมระดับประเทศกับความเป็นไปได้อื่นๆ ในท้องถิ่นอีก

อย่างไรก็ตามในรายละเอียดผู้เขียนก็ยังนึกไม่ออกว่า ที่มาและกระบวนการจะเป็นอย่างไร แต่ต้องขีดเส้นใต้เน้นด้วยว่า กระบวนการการได้มาซึ่งสภาแห่งนี้จะต้องเป็นประชาธิปไตยที่ยอมรับกันได้ และการดำรงอยู่ในตำแหน่ง ผู้มีอำนาจในสภาจะต้องได้รับการตรวจสอบจากเหล่าแรงงานอย่างจริงจัง ทำงานอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้

เรื่องหนี้ครูในวันนี้ จึงมิได้เป็นแค่ประเด็นดราม่าในสังคมออนไลน์ แต่มันสะท้อนให้เห็นรากฐานสำคัญของโลกทุนนิยมในไทย ทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่การคิด ถกเถียง ถึงความเป็นไปได้ใหม่ของสังคมไทยอีกด้วย.

 

เชิงอรรถ

 

[1] คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.). "ประวัติ". สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2561จาก http://www.jsccib.org/th/home/history

[2] สำนักงานคณะกรรมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. "กรอ. กลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ". สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2561จาก www.nesdb.go.th/ewt_dl_link.php?nid=5272

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ใบตองแห้ง: ท.ทหารในเล้า

Posted: 20 Jul 2018 09:57 AM PDT

เป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คิด คิดจะมารับใช้ชาติ กลับได้ฝึกอาชีพเลี้ยงไก่

โฆษก ทบ.ชี้แจงพัลวัน ไม่ใช่เอาทหารไปรับใช้ พลทหารได้รับมอบหมายให้ไปดูแลบ้านพักของทางราชการ บังเอิญ นายทหารผู้เข้าพักใช้พื้นที่ด้านหลังเลี้ยงไก่เป็นงานอดิเรก ก็มอบหมายให้ช่วยดูแลไก่ ในลักษณะไหว้วาน เป็นงานเสริมนอกหน้าที่หลัก เป็นเรื่องของน้ำใจ และความสมัครใจ ถ้าพบว่าใช้วาจาไม่เหมาะสม ทางหน่วยต้องว่ากล่าวตักเตือน

ยิ่งชี้แจงยิ่งไปกันใหญ่ ชาวบ้านขำกลิ้ง อย่างนี้ก็มีด้วย "ไหว้วาน แสดงน้ำใจ" แล้วถ้าไม่มีน้ำใจช่วยนายเลี้ยงไก่ล่ะ ถูกซ่อมไหม

บิ๊กป้อมช่วยพูดอีกราย บอกว่าตามระเบียบไม่มีทหารรับใช้แล้ว มีแต่ขอยืมตัวไป ชาวบ้านก็ยังฮาได้อีก อะไรๆ ก็ยืม พลทหารก็ยืม นาฬิกาก็ยืม ขอยืมบ้างได้ไหม

ผบ.ทบ.พูดน่าฟังหน่อย บอกว่าสั่งสอบแล้ว ถ้าพบความผิดลงโทษวินัยเด็ดขาด พร้อมกับเตือน ผบ.หน่วย โลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว จะทำแบบเดิมๆ ไม่ได้ การขอ พลทหารไปใช้ ต้องเป็นภารกิจที่เหมาะสม

กระนั้นเมื่อถามว่าจะยกเลิกการนำพลทหารมารับใช้ ในบ้านหรือไม่ ท่านก็บอกว่า ผบ.หน่วยต้องพิจารณา ความเหมาะสม ไม่ใช่เป็นสิทธิที่จะขอได้ ถ้าไม่จำเป็น ไม่เหมาะสมก็ไม่ได้

เอาเข้าจริงคือไม่มีอะไรเปลี่ยน ทุกท่านพูดคล้ายกัน ตามระเบียบไม่มีทหารรับใช้แล้ว มีแต่การขอยืมตัวไปปฏิบัติภารกิจ หรือส่งไปดูแลบ้านพักของราชการ แล้วบังเอิ๊น บ้านหลังนั้นมีนายทหารพักอยู่ ก็เลยไหว้วานให้แสดงน้ำใจ ปัดกวาดถูบ้าน ซักผ้าล้างจาน หรือเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ตามแต่ท่านเจ้าของบ้านจะมีอาชีพเสริมอะไร

ไม่มีทหารรับใช้ มีแต่ทหารดูแลบ้านพัก ฟังเข้าท่าดี เหมือนน้ำท่วมให้เรียกว่าน้ำรอระบาย คำสั่งหัวหน้ารัฐประหารให้เรียกว่ากฎหมาย

ฟังไปฟังมา การเอาทหารไปเลี้ยงไก่ หรือไปเป็นคนใช้ น่าจะไม่ผิด กองทัพไม่ยกเลิก ต่อไปก็ยังทำได้ แต่ต้อง สมัครใจ เต็มใจ ทหารเกณฑ์จะได้ไม่โวยในโลกโซเชี่ยล ทำให้กองทัพเสียหาย เรื่องใหญ่จึงไม่ใช่ใช้ทหารเลี้ยงไก่ แต่เป็นใช้แล้วดูแลไม่ดี ด่าทอ หมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จนเขาไปโวย

นี่ไง โลกเปลี่ยนไปเยอะแล้ว ชาวโลกไม่มีรัฐประหาร กันแล้ว แต่ คสช.อยู่เกินสี่ปี ประสบความสำเร็จในการ ปราบปรามค้ามนุษย์ แถมประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระ แห่งชาติ

ฉะนั้น ความเป็นจริงคือ ทหารรับใช้ก็ยังมีตามบ้านนายพันนายพลแทบทุกหลัง เพียงแต่โลกเปลี่ยนไปเยอะแล้ว สมัยนี้คุณนายก็เป็นคนชั้นกลาง นิสัยดีมีมารยาท มีไม่กี่รายหรอกที่โขกสับพลทหารเป็นข้าทาส แบบให้ซักผ้าในกะละมัง นั่นมันยุคสมัยไหน เดี๋ยวนี้เขาใช้เครื่องซักผ้าทั้งนั้น พลทหารก็อยู่สบาย ไม่ลำบากเหมือนอยู่หน่วย อย่างมากก็ตัดหญ้า ล้างรถ ทำความสะอาดบ้าน ช่วยงานทั่วไป เงินเดือนก็ได้เต็มไม่ถูกหักค่าประกอบเลี้ยงเหมือนอยู่กองร้อย เผลอๆ ลากลับบ้านยังให้ตังค์ติดกระเป๋าแบบน้ำใจคนไทย บางรายรับใช้ถูกใจ ปลดประจำการไม่มีที่ไป นายยังช่วยให้บรรจุทหารอีกต่างหาก

บางคนจึงบอกว่าคลิปทหารเลี้ยงไก่ เป็นแค่ดราม่า ที่ถูกกดขี่มีแค่ไม่กี่คน ส่วนใหญ่อยู่กันด้วยความสมัครใจ ถ้อยทีถ้อยอาศัย

ใช่เลย แต่ขณะเดียวกัน มันก็เป็นยอดภูเขาน้ำแข็งของระบบอภิสิทธิ์ทหาร ที่มีเหนือข้าราชการทั่วไป ไม่ต้องพูด ถึงชาวบ้านตาดำๆ แหม่ ถ้าครูเลี้ยงไก่ในบ้านพัก แล้ว เอานักเรียนไปใช้บ้าง คงไม่ต้องโวยวายจะเบี้ยวหนี้ให้สังคมรุมประณาม

พลทหารกินเงินเดือนจากภาษีประชาชน เดือนละ 10,000 บาท ถูกเกณฑ์มารับใช้ชาติ พลัดพรากจากครอบครัวทั้งที่มีภาระ แต่นายทหารเอามาเป็นคนรับใช้ ต่อให้ดูแลดี เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็ต้องถามว่าถูกต้องแล้วหรือ ประหยัดค่าจ้างไปเท่าไหร่ เป็นผลประโยชน์ที่ควรได้หรือไม่

นี่ยังไม่นับบางรายที่เอาไปเฝ้าไร่ เฝ้าบ่อปลา หรือเสิร์ฟอาหาร ต่อให้ดูแลดี มีค่าตอบแทน ก็เป็นการหาประโยชน์จากอำนาจหน้าที่

และยังไม่พูดถึงกรณีที่ดินทหารกว้างใหญ่ จนเลี้ยงไก่ได้ มีอาชีพเสริมกันหลากหลาย หน่วยทหารก็เอาไปหารายได้นอกงบประมาณ นี่เดี๋ยวจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ เห็นบอกว่าเป็นสวัสดิการ แต่ส่วนราชการอื่นมีไหม

โปรดเข้าใจ หลังรัฐประหารครั้งนี้ ทหารยังมีอำนาจอีกยาวนาน 5 ผบ.เหล่าทัพจะคุม ส.ว.คุมยุทธศาสตร์ชาติอีก 20 ปี ฉะนั้น ระวังให้ดี สังคมจะจับจ้องระบบอภิสิทธิ์ทหารอย่างเข้มข้นและเลี่ยงไม่พ้น

 

ที่มา: www.khaosod.co.th/hot-topics/news_1357159

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ดราม่า

Posted: 20 Jul 2018 09:41 AM PDT

คําที่ใช้มากจนเป็นที่เข้าใจกันดีในหมู่นักเล่นโซเชียลมีเดียคำหนึ่งคือ "ดราม่า" ผมเดาว่าคงมาจากคำว่า dramatic ในภาษาอังกฤษ คือผลสะเทือนใจอย่างแรงที่ได้จากการแสดง แต่เราอาจได้รับผลสะเทือนใจเช่นนี้จากเหตุการณ์ที่ไม่ใช่ "การแสดง" ก็ได้ มันไม่ใช่แค่จัดฉาก, จัดเครื่องแต่งกาย, ส่องไฟ, จัดกล้อง, แต่งหน้า ฯลฯ ซึ่งทำให้สิ่งที่ทำอยู่ (เช่น พูดทางทีวีทุกวันศุกร์) มีลักษณะเหมือนฉากละคร ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า theatrical ไม่ใช่ dramatic

ดราม่าที่ใช้ในภาษาไทยเป็นการแสดงที่ดูเหมือนไม่มีใครตั้งใจแสดง แต่กลับให้ผลสะเทือนใจกว่า แม้กระนั้นความหมายไทยดูจะส่อไปในทาง "มากเกินไป" เช่น เศร้าเกินไป, ดีใจเกินไป, เครียดเกินไป, เก่งเกินไป, ดีเกินไป, ชั่วเกินไป ฯลฯ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า melodramatic มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าละคร ไม่ว่าจะเป็นการแสดงแบบไหน ก็ล้วนมีเรื่องที่จะสื่อทั้งนั้น ผมใช้คำว่าเรื่องอาจชวนให้นึกถึงเนื้อเรื่อง แต่ผมต้องการหมายถึงแก่นเรื่องมากกว่า จะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า "บทเรียน", "นิทานเรื่องนี้สอนว่าอะไร", "ปรัชญา" ฯลฯ ก็ได้ เพราะใกล้เคียงกับความหมายที่ผมต้องการมากกว่า

เมื่อมองในแง่นี้ ดราม่าคือการสื่อสารทางสังคมอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องที่สังคมทบทวนคุณค่าบางอย่างร่วมกัน ผมใช้คำว่าทบทวน เพราะไม่จำเป็นต้องตอกย้ำเสมอไป บางครั้งก็เป็นการตั้งคำถามกับคุณค่าบางอย่าง แต่ไม่ใช่เพื่อล้มล้างคุณค่านั้น หากเพื่อให้ความหมายใหม่หรือปรับความหมายเก่าให้มีความหมายในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ดราม่าจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกสังคม ไม่ใช่เพราะมีโซเชียลมีเดียแพร่หลายเพียงอย่างเดียว กรณีฆาตกรรมโหดของบุญเพ็ง หีบเหล็ก ซึ่งเกิดตั้งแต่สมัย ร.5 เป็นดราม่าใหญ่ครั้งหนึ่งของคนกรุงเทพฯ ยังมีนิทานคำกลอนซึ่งแต่งหลังดราม่าไม่นานพิมพ์ออกขายและตกทอดมาถึงทุกวันนี้ ก่อนหน้าบุญเพ็งขึ้นไป แม่นาคพระโขนงก็อาจเป็นดราม่าอีกครั้งหนึ่ง แต่งเติมเสริมต่อเนื้อเรื่องกันจนแก่นเรื่องของดราม่าครั้งแรกคืออะไร ก็ไม่ทราบเสียแล้ว

ดราม่าเป็นการสื่อสารทางสังคมที่มีพลังมากเป็นพิเศษในสังคมไทย (และน่าจะเป็นสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกหลายสังคม) ในประเพณีการแสดงของไทย เราไม่แยกนักแสดงกับผู้ชมออกจากกัน การที่ผู้ชมจะส่งเสียง ด่าทอ หรือแสดงความชื่นชม จนแม้แต่แทรกแซงเวทีทางกายภาพเลย (เช่น ขว้างสิ่งของขึ้นไป หรือเรียกนักแสดงมาตบรางวัล แม้ในระหว่างการแสดง) ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ และพึงทำในบางกรณีด้วย

ดราม่าจึงไม่ได้สื่อ "สาร" ของผู้แต่งบทหรือผู้จัดละครให้แก่สังคมโดยรวม แต่สังคมเองนั่นแหละร่วมเขียนบทและร่วมจัดละครขึ้นทั้งโรง เสียงเชียร์และเสียงด่า ไม่ว่าจะเป็นแต่เสียงหรือเป็นม็อบด้วยก็ตาม ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของดราม่า ซึ่งสื่อ "สาร" ของสังคมให้แก่สังคมเอง

ดราม่าเรื่องใหญ่สุดในสังคมไทยเวลานี้คือเรื่องเด็กติดถ้ำที่เชียงราย แทบจะหาคนที่ไม่รู้ "เนื้อเรื่อง" ของเหตุการณ์นี้ไม่ได้เลย ไม่แต่เนื้อเรื่องอย่างเดียว แม้แต่แก่นเรื่องก็ดูเหมือนจะรับได้ทั่วถึงทุกคน เพราะถูก "ดราม่า" ให้ชัดจนยากที่จะไม่รับได้ และนั่นคือความเป็นปึกแผ่น หรือ solidarity ในภาษาอังกฤษ

ความเป็นปึกแผ่นทางสังคมคือสิ่งที่สังคมไทยกำลังขาดแคลนที่สุด และเป็นที่สำนึกกันได้ทั่วไปในทุกชนชั้น ทุกฝ่ายเห็นว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้เราก้าวไปข้างหน้าไม่ได้ หรือแม้แต่ก้าวให้พ้นจากอำนาจทหารก็ไม่ได้ด้วย

แก่นเรื่องนี้เหมาะสมอย่างยิ่งกับเนื้อเรื่อง เด็กที่เข้าไปติดในถ้ำเป็น "คนชายขอบ" ของสังคมไทย เป็นเด็ก "บ้านนอก" ระดับชายแดนเลยทีเดียว ซ้ำบางคนยังไม่มีสัญชาติเสียอีก แต่ในขณะเดียวกันเขาได้ก้าวหรือกำลังก้าวเข้าสู่ "ความเป็นไทย" แล้ว เพราะเขาใฝ่ฝันจะเป็นนักฟุตบอลมืออาชีพ อันเป็นกีฬาที่สร้างความเป็นปึกแผ่นแก่สังคม เพราะเป็นที่นิยมในหมู่คนทุกชนชั้นจริงเสียด้วย

ดังนั้น คนในทุกสถานภาพทางเศรษฐกิจ ทุกสถานภาพทางสังคม และทุกเสื้อสี ต่างอุทิศทรัพย์สิน, เวลา, ความรู้ความเชี่ยวชาญ, กำลังใจ ฯลฯ ให้ความช่วยเหลือเต็มกำลังความสามารถของตนเท่าที่ต่างจะทำได้ ด้วยคำกล่าวที่ได้ยินจากทุกฝ่ายอยู่เสมอว่า "คนไทยด้วยกัน" อันเป็นคำที่หายไปเป็นเวลานานแล้ว และน่าจะได้ยินใน 2552 และ 2553 เป็นอย่างยิ่ง นับว่าสอดคล้องกับแกนเรื่องหลักของดราม่า คือความเป็นปึกแผ่น

 

อันที่จริงเนื้อเรื่องของดราม่าติดถ้ำจะเล่าแก่นเรื่องอื่นนอกจากความเป็นปึกแผ่นก็ได้ เช่น คุณค่าของชีวิต ตั้งแต่ผมเกิดมาจนบัดนี้ ไม่เคยมีครั้งไหนที่เราทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหมดที่เรามี รวมทั้งระดมสรรพกำลังจากมิตรประเทศ เท่าที่สถานะของไทยในการเมืองโลกจะทำได้ เพื่อช่วยชีวิตเด็กและโค้ชฟุตบอล 13 คน โดยไม่สนใจสถานะทางเศรษฐกิจ-สังคมหรือการเมืองของคนเหล่านี้เลย เพราะคนไทยมองเห็นชีวิตไม่ว่าของคนเล็กคนน้อยเท่าไรว่ามีคุณค่าเสมอเหมือนกัน เท่าไรเท่ากัน แต่ชีวิตต้องรอด

แล้วคิดว่าดราม่าที่มีแก่นเรื่องแบบนี้ จะก่อให้เกิดความกระตือรือร้นและเอาใจใส่ได้เท่ากับแก่นเรื่องแบบแรกหรือ?

ดราม่าต้องมีเนื้อเรื่องที่น่าสนใจน่าติดตาม แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีแก่นเรื่องที่แฝงคาใจผู้คนด้วย

ทำไมคนไทยใน พ.ศ.นี้จึงอยากฟังแก่นเรื่องความเป็นปึกแผ่นของชาติ? ก็เพราะนี่กำลังเป็นปัญหาที่ค้างคาใจคนไทยมากที่สุด พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ พ.ศ.นี้คือช่วงที่คนไทยรู้สึกว่าชาติเรากำลังขาดความเป็นปึกแผ่นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ใน พ.ศ.2524 ไทยรัฐไปพบเรื่องของ ด.ญ.วัลลี ซึ่งสู้อุตส่าห์ดูแลแม่และยายที่ป่วยและช่วยตนเองไม่ได้ โดยการวิ่งจากโรงเรียนกลับไปป้อนข้าวป้อนน้ำทุกเวลาเที่ยง ทั้งๆ ที่ ด.ญ.วัลลีเพิ่งเรียนอยู่ชั้น ป.5

เรื่องเด็กยากจนประสบปัญหาอย่างหนักในชีวิตใน 2524 คงมีอีกหลายกรณี แต่ไทยรัฐเลือกที่จะเสนอเนื้อเรื่อง ด.ญ.วัลลีไปพร้อมกับแก่นเรื่องลูกกตัญญู (ข้อเขียนบางชิ้นบอกว่า "ที่สุดในโลก" ด้วย) นับเป็นดราม่าใหญ่ที่เรียกผู้ชมและผู้แสดงไทย (ซึ่งดังที่กล่าวข้างต้นแล้วว่าคือคนคนเดียวกัน) เข้าไปร่วมเขียนบทและจัดการอย่างคึกคักที่สุดหนหนึ่ง

 

ถ้าไทยรัฐเลือกเสนอแก่นเรื่องของ ด.ญ.วัลลี เป็นเรื่องโอกาสอันไม่เท่าเทียมกันของเด็กไทย หรือคนแก่คนพิการจำนวนมากที่ถูกรัฐและสังคมทอดทิ้ง หรือนโยบายรัฐสวัสดิการ ฯลฯ เรื่องของ ด.ญ.วัลลีก็ไม่มีวันเป็นดราม่าขึ้นมาได้ (และไทยรัฐก็อาจเจ๊งไปนานแล้ว)

เพราะความกตัญญูกำลังเริ่มเป็นปัญหาค้างคาใจคนไทยใน 2524 มากขึ้นตามลำดับ คนไทยจำนวนมากขึ้นทั้งในชนบทและเมือง ต้องละทิ้งพ่อแม่ปู่ย่าตายายไว้ที่บ้าน เพื่อออกมาหางานทำนอกบ้านตนเอง ไกลบ้าง ใกล้บ้าง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือคนจำนวนไม่น้อยต้องละทิ้งการผลิตที่มีฐานอยู่บนครอบครัว มาสู่การงานที่ตัดขาดอย่างชั่วคราวหรืออย่างค่อนข้างถาวรจากครอบครัวของตนเอง

ในความรู้สึกคนไทยยังสำนึกถึงความกตัญญูอย่างเต็มเปี่ยม (หากไม่มีสำนึกก็ไม่ต้องมีอะไรคาใจสิครับ) แต่ชีวิตจริงไม่อาจทำตามความคาดหวังของคุณค่านั้นได้เสียแล้ว เนื้อเรื่องของ ด.ญ.วัลลี และแก่นเรื่องที่ไทยรัฐเลือกใช้ในการนำเสนอข่าวแต่ต้น จึงเข้ามาชดเชยความว้าวุ่นใจของคนไทยจำนวนมากพอดี ถึงไม่ใช่ลูกกตัญญูเท่า ด.ญ.วัลลี แต่การเข้าร่วมแสดงในดราม่า ช่วยตอกย้ำความยกย่องที่คนไทยซึ่งไม่อาจปฏิบัติความกตัญญูได้เหมือนเดิม ว่ายังดำรงอยู่อย่างมั่นคงในจิตใจ

ประเด็นที่อยากย้ำในที่นี้ก็คือ แก่นเรื่องของดราม่า จะต้องเข้ากับอารมณ์ความรู้สึกของคนกลุ่มใหญ่ในสังคม และในแต่ละช่วงเวลาพอดีด้วย ไม่ใช่ว่า-ดราม่าทุกเรื่อง จะ "ติดตลาด" ได้ง่ายๆ เพียงเพราะมันเป็นดราม่าเท่านั้น

กลับมาสู่แก่นเรื่องของดราม่าเด็กติดถ้ำอีกทีหนึ่ง ควรชี้ให้เห็นไว้ด้วยว่า แม้ความเป็นปึกแผ่นกลายเป็นแก่นเรื่องหลัก แต่กว่าจะเป็นได้ มีแก่นเรื่องอื่นถูกเสนอขึ้นมาแข่งอีกหลายแก่น หากไม่อาจทานทนต่อความนิยมของแก่นเรื่องหลักได้จึงเงียบหายไป เช่น ความคลั่งชาติ (Thai Chauvinism) ที่เหยียดนักดำน้ำต่างชาติ เพื่อยกนักดำน้ำไทยให้เหนือกว่า หรือเปลี่ยนจากความเป็นปึกแผ่นไปสู่การมองหาเหยื่อสำหรับชี้นิ้วกล่าวโทษ หรือยกย่องสรรเสริญในฐานะปัจเจก

กระบวนการที่จะเกิดแก่นเรื่องหลักขึ้นได้ในดราม่าแต่ละครั้ง มีความสลับซับซ้อนเกินกว่าจะนับเป็นผลงานของใครคนใดคนหนึ่งได้แท้จริง มันเกิดขึ้นโดยหลายๆ กลุ่ม หลายๆ ฝ่ายเข้ามาให้ความหมายที่อาจไม่เหมือนกันทีเดียว แต่ก็มีกระบวนการเลือกสรรจากหลายกลุ่มหลายฝ่ายจนแกนเรื่องหลักค่อยๆ ปรากฏขึ้นมา และคนจำนวนมากอยากเข้าร่วมแสดง

แม้กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าแกนเรื่องหลักไม่ได้ถูก "สร้าง" ขึ้นเสียเลยทีเดียว ที่มองเห็นได้จากผิวนอกสุดคือสื่อสร้างมันขึ้นมา แต่สื่อก็ไม่ได้สร้างตามใจชอบ หากสร้างขึ้นอย่างไม่ตั้งใจจากความพยายามให้ความหมายแก่ดราม่าตามที่เก็งว่าจะถูกใจลูกค้า ซึ่งก็คือคนชั้นกลางในสังคม หากมันติดตลาดแล้ว ผู้กระโดดขึ้นมาแสดงบนเวที ก็ต้องเต้นต้องรำไปตามแกนเรื่องหลัก

ภายใต้แกนเรื่องหลักที่กำหนดดราม่า ผู้แสดงทุกกลุ่มทุกฝ่ายยังสามารถกำหนดท้องเรื่องของดราม่าให้ตนขึ้นไปยืนอยู่กลางเวที เบียดขับคนอื่นให้ไปยืนริม หรือตกเวทีไปเลย ดังนั้นในแกนเรื่องหลักที่ทุกฝ่ายยอมรับ ก็ยังมีการให้ความหมายซ้อนลงไปในความหมายของแกนเรื่องหลักไปพร้อมกันอยู่ด้วย

ภายใต้แกนเรื่องหลักความเป็นปึกแผ่นของสังคมไทยนี้ จนถึงวันที่เขียนบทความนี้ซึ่งได้นำบางส่วนของนักฟุตบอลเด็กออกมาได้แล้ว ใครคือ "พระเอก" ของดราม่าเรื่องนี้?

เห็นได้ชัดว่าภาครัฐส่วนกลางคือพระเอก สรรพกำลังที่ทุ่มเทลงไปในการช่วยเหลือเด็กติดถ้ำคือรัฐส่วนกลาง แม้มีเอกชนและหน่วยงานต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วม ก็ทำงานหนุนเสริมรัฐส่วนกลางไทย และภายใต้การกำกับของรัฐส่วนกลาง ยิ่งผู้อำนวยการการกู้ภัยมีความสามารถสูงอย่างผู้ว่าฯ เชียงราย ก็ยิ่งทำให้ "บท" พระเอกของรัฐส่วนกลางเด่นชัดขึ้นไปอีก

ดราม่าเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า สมควรแล้วที่ท้องถิ่นของรัฐไทย พึงถูกส่วนกลางควบคุมกำกับชี้นำและประคับประคอง เพราะท้องถิ่นไม่มีกำลังพอจะดูแลตนเองได้ และนี่คือรัฐในอุดมคติของคนชั้นกลางในเมืองไม่ใช่หรือ?

แต่ก็อย่าลืมด้วยว่า ประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่ค่อยได้เล่ากันคือการต่อสู้ของท้องถิ่น เพื่อรักษาอิสรภาพของตนไว้ให้ดำรงอยู่สืบไป ถึงไม่ใช่ในฐานะรัฐเอกราช แต่ก็อยากมีอิสรภาพในการจัดการตนเองได้มากกว่านี้มากนัก สำนึกเช่นนี้แสดงตัวออกได้ไม่ง่ายนักในรัฐไทยสมัยใหม่ (และยิ่งไม่ง่ายขึ้นไปอีกภายใต้รัฐบาลทหาร) ในดราม่าที่รัฐส่วนกลางเป็นพระเอก ท้องถิ่นจะแสดงตัวตนของตนออกมาบนเวทีได้อย่างไร แม้แต่เครื่องสูบน้ำสักเครื่องก็มีแรงไม่พอจะดูดน้ำในบ่อให้หมดในพริบตาได้ จะไปทำอะไรกับน้ำในถ้ำ ถึงขนเครื่องสูบน้ำไปสัก 100 เครื่อง ก็แทบไม่ปรากฏเป็นข่าวให้ใครได้รับรู้อยู่นั่นเอง เมื่อเทียบกับสูบน้ำพญานาคของกรมชลประทาน

 

อย่างไรก็ตาม หากมองจากสำนึกท้องถิ่นดังกล่าว เด็กต้องติดถ้ำก็เพราะ "อำนาจ" ของท้องถิ่น นั่นคือเจ้าแม่เขานางนอนกักเด็กเอาไว้ เพราะถ้ำหลวงเขานางนอนนั้นมีตำนานท้องถิ่นที่เล่าถึงเจ้าแม่ซึ่งอดอาหารนอนตายสยายผมเป็นเขาทั้งลูก จะช่วยเด็กได้ก็ต้องเจรจาต่อรอง (negotiate) กับเจ้าแม่ ซึ่งในกรณีนี้ย่อมเป็นตัวแทนของอำนาจท้องถิ่น

พิธีกรรมที่ถูกสื่อเรียกว่า "ไสยศาสตร์" ทั้งหมดจึงถูกจัดอยู่หน้าถ้ำหลายครั้งหลายหน รวมทั้งเชิญ "ครูบา" อันเป็นอำนาจอีกอย่างหนึ่งของท้องถิ่นเข้ามาร่วมเจรจาต่อรองกับเจ้าแม่ด้วย แต่ "บท" ของท้องถิ่นเหล่านี้ถูกแกนเรื่องหลักและ "บท" ของรัฐส่วนกลางเบียดขับออกไปในนามของประสิทธิภาพและวิทยาศาสตร์ จนต้องไปยืนอยู่ริมเวที หรือตกเวทีไปเลย

ดราม่าจึงเป็นการสื่อสารทางสังคม ที่สื่อทั้งสารหลักที่อยากให้สื่อ และสารรองที่บางครั้งก็ไม่อยากให้สื่อ แม้กระนั้นมันก็ถูกสื่อออกไปจนได้

(ความในตอนท้ายนี้เป็นหนี้ความคิดบทความเรื่อง "Myth and politics in Thailand"s cave rescue operation," ของคุณ Edoardo Siani ซึ่งลงในวารสารออนไลน์ New Mandala วันที่ 3 กรกฎาคม 2018 อันเป็นบทความที่วิเคราะห์หาความหมายทางสังคมของปฏิบัติการกู้เด็กจากถ้ำที่กระตุ้นความคิดอย่างยิ่ง)

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กรกฎาคม 2561

ที่มา: www.matichonweekly.com/column/article_118529

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

#หยุดทำร้ายแหวน #หยุดอยุติธรรม โบว์ ณัฏฐา เขียนถึง แหวน ณัฎฐธิดา

Posted: 20 Jul 2018 09:29 AM PDT

ทำไมสิ่งที่เกิดขึ้นในศาลทหารวันนี้จึงไม่อาจเข้าใจได้ และไม่อาจยอมรับได้?

เช้านี้เป็นครั้งแรกที่โบว์ได้พบและสัมผัสพูดคุยกับคุณแหวน ณัฏฐธิดา มีวังปลา พยาบาลอาสาผู้รอดชีวิตและพยานปากสำคัญคดีหกศพวัดปทุม พี่น้องหลายคนไปให้กำลังใจด้วยความหวังเต็มเปี่ยมว่าหลังการระดมทุนโดย"สมาพันธ์นักกฏหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ"จนประสบความสำเร็จด้วยยอดเงินถึง 900,000 บาทที่ศาลได้ตั้งไว้สำหรับการยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวแล้ว หัวค่ำวันนี้เราคงจะได้ต้อนรับแหวนสู่อิสรภาพ

แหวนเองก็มีความหวังนั้นเช่นกัน จึงมีรอยยิ้มอ่อนโยนให้ทุกคน ยกมือไหว้ขอบคุณกับทุกข่าวสารที่ได้ยิน น้ำตาไหลเป็นช่วงๆด้วยความอัดอั้นกับชะตากรรมที่เผชิญตลอดกว่า 3 ปี 4 เดือนจากข้อกล่าวหาที่ได้รับ เพียงเพราะเธอยืนยันจะไม่ถอนตัวจากการเป็นพยานในคดีสังหารหมู่ประชาชน แหวนยกมือไหว้บ่อยครั้งจนเราต้องบอกให้หยุด เพราะคือพวกเราต่างหากที่ต้องขอบคุณแหวนสำหรับการยืนหยัดเพื่อความถูกต้องด้วยราคาที่ต้องจ่ายด้วยชีวิต

ทนายวิญญัติและทีมงานก็คงมาถึงศาลด้วยความหวังไม่ต่างกัน ขณะหอบเงินเหยียบล้านที่พี่น้องประชาชนจำนวนนับไม่ถ้วนได้ลงขันกันในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มีใครไม่ลำบาก

พี่น้องที่ไปให้กำลังใจถูกห้ามไม่ให้เข้าไปรอในอาคาร มีเจ้าหน้าที่มาไล่ด้วยเหตุผลว่าไม่มีนโยบายให้ผู้มาเยี่ยมนั่งรอข้างใน อันที่จริงศาลทหารก็ไม่ใช่ที่ที่พลเรือนควรต้องข้องแวะแต่แรก ทุกคนจึงนั่งรอตามบันไดและนอกรั้ว ก่อนจะส่งแหวนกลับเรือนจำช่วงบ่าย และรับรู้ภายหลังการพิจารณาว่าศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า"ยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม" เราคุ้นเคยกับประโยคนี้ดี เพราะได้ยินมานับครั้งไม่ถ้วนเมื่อครั้งมีความพยายามขอประกันตัวไผ่ดาวดิน เป็นจำนวนครั้งที่มากจนไผ่จำต้องยอมรับสารภาพในที่สุด

ความเลวร้ายของสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ คือการทำให้เรื่องของแหวนกลายเป็นกรณีตัวอย่างของการละเมิดหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนที่สมบูรณ์แบบในยุคเผด็จการ

  • ศาลทหารไม่มีความชอบธรรมที่จะตัดสินคดีพลเรือน การที่รัฐบาลคสช.ยอมรับกับสหประชาชาติเรื่องการยกเลิกการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร แต่กลับยังปล่อยให้คดีที่ค้างอยู่ดำเนินในศาลทหารต่อไป ถือเป็นความกะล่อนที่น่าละอาย
     
  • สิทธิในการประกันตัวเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน บุคคลต้องได้รับการปฏิบัติในฐานะผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับคำตัดสินเป็นที่สุด
     
  • คดี 112 นี้เจ้าหน้าที่ได้อายัดตัวแหวนหลังจากตั้งข้อหาไปแล้วถึงสองปี ทั้งที่ระหว่างนั้นแหวนก็ถูกกักขังจากการเป็นจำเลยในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการปาระเบิดศาลอาญา แต่เจ้าหน้าที่กลับอายัดตัวตามหมายจับที่ขอมาในวันที่แหวนได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวจากคดีแรก ส่อเจตนาให้ตั้งคำถามได้ว่าการตั้งข้อหา 112 แล้วไม่ดำเนินการสอบสวนคดีถึงสองปีแต่กลับมาขออายัดตัวในวันที่แหวนได้รับการปล่อยตัว เป็นไปเพื่อแผนยืดเวลาในการกักขังเพื่อไม่ให้พยานปากเอกในคดีที่ทหารถูกชี้ว่ายิงประชาชนคนนี้ได้ออกมามีอิสรภาพหรือไม่
     
  •  เหตุผลที่ใช้ในการกักขังแหวนตั้งแต่ขั้นอนุมัติฝากขังเมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมาคือ "ผู้ต้องหาถูกจับตามหมายจับ ประกอบกับการสอบสวนยังไม่เสร็จส้ิน หากปล่อยชั่วคราวแล้วเกรงว่าจะหลบหนี จึงไม่อนุญาต" นั้น เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นและขัดหลักนิติธรรม แหวนถูกอายัดตัวตามหมายจับทั้งที่ไม่มีหมายเรียก จะคาดเดาว่าแหวนอาจหลบหนีจนเป็นเหตุให้จำกัดอิสรภาพทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความผิดย่อมไม่เป็นธรรม การสอบสวนพยานที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนสามารถดำเนินได้อย่างราบรื่นโดยที่แหวนไม่ต้องอยู่ในคุก
     
  • คำกล่าวอ้างของศาลทหารในวันนี้ว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมจึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทั้งที่แหวนถูกขังมาเป็นปีโดยไม่มีความคืบหน้าของการดำเนินคดี จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจทำความเข้าใจและยอมรับได้ด้วยมโนสำนึกของคนที่เห็นคุณค่าของความยุติธรรม

การที่แหวนต้องเดินทางกลับเรือนจำในวันนี้ พร้อมกับปัญหาสุขภาพกายและจิตที่ทรุดลง โดยแขวนความหวังไว้กับการยื่นขอประกันตัวครั้งต่อไปในอีก 46 วันข้างหน้า จึงเป็นเรื่องโหดร้ายที่คนในเครื่องแบบถืออาวุธได้กระทำกับผู้หญิงมือเปล่าหนึ่งคน เพียงเพราะเธอไม่หยุดที่จะยืนหยัดเพื่อความเป็นธรรม

ช่วงเวลานับจากนี้จนกว่าแหวนจะได้รับสิทธิขั้นต่ำของความเป็นมนุษย์ จึงจะเป็นช่วงเวลาแห่งการร่วมกันยืนหยัดอีกครั้งเพื่อความยุติธรรมและหลักนิติธรรมที่ถูกบั่นทอน เพราะเธอคือตัวแทนของการถูกละเมิดอย่างสมบูรณ์แบบ

 

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รู้จัก ‘พื้นที่การเรียนรู้สาธารณะ’ การศึกษาในยุคที่ห้องเรียนเสื่อมมนต์ขลัง

Posted: 20 Jul 2018 08:02 AM PDT

ชวนดูตัวอย่างของการศึกษาแบบใหม่เมื่อภาคประชาชน ประชาสังคม โรงเรียน ทำพื้นที่เรียนรู้อยู่ทั่วประเทศ กับความพยายามให้ความหมายการศึกษาในอีกมุมและการร้อยเรียงองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายของพวกเขาเพื่อตะโกนว่าการศึกษาไทยต้องมีทางเลือก

เวลาถามว่าต้นขั้วของปัญหาต่างๆ ในสยามประเทศคืออะไร การชี้เป้าไปที่การศึกษาดูเป็นข้อเท็จจริงที่จะก่นด่าท่าไหนก็ถูกไปเสียหมด ที่ผ่านมามีความพยายามมากมายในการปฏิรูปการศึกษา หนึ่งในแนวคิดที่ถูกพูดถึงนานแล้วคือการพานักเรียนออกจากห้องเรียนสี่เหลี่ยมทั้งในทางพื้นที่และทางความรู้สึกนึกคิด

ทฤษฎีการเรียนการสอน แนวคิดทางสังคมแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงขึ้นได้ละลายความศักดิ์สิทธิ์ของห้องเรียนและโรงเรียนในแบบร่วมสมัยที่เห็นในหนังครูไหวใจร้ายที่แบ่งผู้ให้-ผู้รับความรู้ได้ง่ายดายและชัดเจนเหมือนแยกแยะนักฟุตบอลออกจากกรรมการ โลกของการเรียนรู้วันนี้กว้างขวางขึ้นพอที่ทุกคนสามารถออกแบบโลกของการเรียนรู้/ศึกษาตามบริบทของท้องที่และตัวบุคคล ช่วงเวลานี้จึงเหมือนเป็นช่วงที่สุกงอมในการพานักเรียนและการศึกษาออกจากห้องเรียน

ปัจจุบัน ภาคประชาชน ประชาสังคมในหลายท้องที่ทั่วไทยมีการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างการศึกษา สร้างการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป ในวันนี้คนเหล่านี้ต่างพยายามค้นหาและสร้างนิยามการศึกษาแบบใหม่ที่สาธารณชนจัดการองค์ความรู้ที่แต่ละที่มีได้ด้วยตนเองภายใต้คำจำกัดความ 'พื้นที่เรียนรู้สาธารณะ'

ภาพบรรยากาศงาน

สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและสมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาได้จัดเวทีร่วมสร้างและขัเคลื่อนเครือข่ายพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ ครั้งที่หนึ่งในวันที่ 19-20 ก.ค. 2561 ที่โรงแรม M2 De Bangkok กรุงเทพฯ โดยมีภาคประชาชน และภาคประชาสังคมที่ทำพื้นที่การศึกษาในท้องถิ่นหลายพื้นที่ทั่วประเทศมาเข้าร่วมราว 30 กลุ่ม

หลากมิติ หลายความหมายบนพื้นที่การเรียนรู้แบบใหม่

แม้เวทีจะมุ่งสร้างเครือข่ายที่มีเป้าหมายและทิศทางร่วมกัน ขับเคลื่อนบนเป้าหมายเดียวกัน มียุทธศาสตร์สื่อสารร่วมกัน แต่ความเข้าใจ หรืออย่างน้อยภาพของนักการศึกษาสาธารณะมีความแตกต่างกัน มุมมองที่แตกต่างนั้นอยู่บนฐานความเข้าใจร่วมเรื่องเงื่อนไขด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และสภาพปัญหาของระบบการศึกษาในระบบ

เข้าถึงได้ง่าย มีเสรีภาพ การออกแบบร่วมกัน พื้นที่ทั้งในทางกายภาพและจินตภาพ หลากหลายเชื้อชาติ ต่อยอดได้ แชร์ความรู้ได้ ถ่ายทอดและสืบสาน

เหล่านี้เป็นหนึ่งในไม่กี่คำสำคัญที่ผู้เข้าร่วมพยายามนิยามพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ แต่ภาพของพื้นที่ดังกล่าวอาจอธิบายได้ผ่านสิ่งที่แต่ละคนทำ ซึ่งผู้เข้าร่วมเวทีครั้งนี้ส่วนมากจัดทำพื้นที่การเรียนรู้หลายด้านไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมชุมชน สิ่งแวดล้อม การเรียนรู้เพื่อเข้าใจตนเอง เข้าใจธรรมชาติผ่านหลายวิธีการ

ชาล สร้อยสุวรรณ จากสำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ อุตรดิตถ์ติดยิ้ม หนึ่งในผู้เข้าร่วมเวทีพูดคุย เล่าให้ประชาไทฟังว่า อุตรดิตถ์ติดยิ้มเป็นพื้นที่การเรียนรู้ ทำโปรแกรมการเรียนรู้ สนับสนุนให้คนลุกมาจัดกิจกรรม การเรียนรู้ในเรื่องที่เขาเก่ง เริ่มจากทำกลุ่มกิ่งก้านใบกันเองก่อน จนถึงตอนนี้ก็นับเวลาได้ 18 ปีแล้ว ส่วนที่อุตรดิตถ์ก็ทำมา 10 ปีจากการชวนเพื่อนๆ มาทำร่วมกัน โดยแรกเริ่มทำจากความสนใจทำกระบวนการเรียนรู้ ค่อยๆ พัฒนา มีความชัดเจนว่าจะทำเรื่องอะไร วันนี้ชาลบอกว่าเครือข่ายเป็นสิ่งที่สำคัญในการผลักดันเส้นทางการศึกษาอีกกระแสที่มีมานานแล้วให้เป็นที่รู้จักและยอมรับ

"พอเราทำงานมาชัดเจนระดับหนึ่งเราก็เลือกช่องว่าจะทำเรื่องการเรียนรู้ เวลานี้เราชัดเจนแล้วว่าการลุกมาทำคนเดียวไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ชัดเจน ต้องให้พลังของคนที่ทำเรื่องเดียวกันมาช่วยกันส่งเสียงหรือลุกมาทำด้วยกัน ร่วมมือและหาทางที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยกัน"

"ตอนนี้กลุ่มมีความหลากหลาย แต่ละกลุ่มก็จะมีวิธีคิด วิธีทำงานไม่เหมือนกัน แต่จะเดินไปด้วยกันภายใต้การเห็นเป้าหมายร่วมอย่างไร ที่กลัวอีกเรื่องคือการไม่หลุดจากวิธีการเดิมๆ การทำต้นแบบ การจัดเวิร์คช็อป ประชุม เทศกาลแล้วก็จบแค่ตรงนั้น มันจะหารูปแบบ วิธีคิดใหม่ ทำใหม่ที่เข้าถึงคนยุคสมัยนี้ด้วย" ชาลกล่าว

พิจิตรา ศิลป์เลิศปรีชา และสืบสาย พูลมี หนุ่มสาวจากกลุ่มลักยิ้ม ที่ทำงานบนพื้นที่ชุมชนสามแพร่ง ย่านพระนคร กรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชนจากโรงเรียนในท้องที่และจัดทำศิลปะชุมชนโดยร่วมกับกลุ่มศิลปิน โดยกลุ่มได้ทำงานมาแล้วเป็นเวลา 10 ปี

"สิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่แค่เรื่องศิลปะ ชุมชน แต่มันเป็นการเรียนรู้อีกทางที่เด็กปัจจุบันไม่เคยเห็นทางนี้ เคยเห็นแต่การเรียนในห้อง ที่ผ่านมาเด็กที่เข้ามาอยู่กับเราจะเห็นว่าส่วนหนึ่งของการพัฒนาต้องอาศัยการเรียนนอกห้องเรียน ไปเจอสิ่งต่างๆ นอกห้องบ้าง" พิจิตรากล่าว

พิจิตรายังเพิ่มเติมว่า จากเดิมที่มีภาพจำของความรู้ว่าเป็นโรงเรียน ตอนนี้เธอคิดว่าความรู้มีอยู่ทุกที่ และกิจกรรมที่ลักยิ้มทำก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเยาวชนที่เธอเองเห็นว่าควรต้องมีประสบการณ์นอกห้องเรียนบ้าง และการเรียนรู้เช่นนี้ไม่ควรถูกตีกรอบให้เป็นเพียงอาหารเสริมด้านการศึกษา เพราะฐานคิดเช่นนั้นสร้างภาพของความไม่จำเป็นให้กับการหาความรู้ในรูปแบบอื่น

"อย่างที่เราไปจะนะ (อ.จะนะ จ.สงขลา) เราพบว่ามีคนที่ฟังเสียงปลาได้ ลงไปในน้ำแล้วหาปลาจากการฟังเสียงของปลา ซึ่งมันเป็นหนึ่งวิชาเรียนเลยแต่ว่าอยู่กับชาวบ้าน ถ้าเขาคิดว่าเป็นกิจกรรมยามว่างก็จะไม่มีทางรู้อะไรแบบนี้"

ในขณะที่สืบสายกล่าวว่า ตลอดเวลาที่ทำงานกับลักยิ้มมา พบว่าเยาวชนที่เข้ามาส่วนมากไม่มีเป้าหมายในชีวิต เพียงแต่ใช้ชีวิตตามรูปแบบ และตนก็คาดหวังว่าการสร้างเครือข่ายจะเป็นกุญแจในการปลดพันธนาการที่เกิดจากการศึกษาได้ไม่สักทางใดก็ทางหนึ่ง

"ที่เราสนใจคือมันจะเปลี่ยนไปยังไงได้บ้าง แม้ลักยิ้มอยู่มาสิบปีแต่ก็ไม่ได้ลงมาทำเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องเป็นราว แต่เนื่องจากเราต้องทำงานกับเด็ก ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เกี่ยวข้องกับเด็กไปหมด สิ่งที่เราเจอจากการทำงานกับเด็กคือเขาหาตัวเองไม่เจอ ไม่มีเป้าหมายในชีวิต ไม่รู้ว่าอยากเป็นใคร อยากไปไหน รู้แต่ว่าเรียน เรียนเสร็จก็ต้องเรียนพิเศษ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ซึ่งมันก็เป็นผลจากการศึกษานั่นแหละ เราก็อยากจะรู้ว่าจะเปลี่ยนได้ไหม เปลี่ยนอย่างไรถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งกับมันด้วย"

สืบสายคิดฝันถึงขั้นการให้มี 'กระทรวงสาธารณะศึกษา' ซึ่งเป็นหนึ่งในไอเดียที่ผุดขึ้นท่ามกลางการพูดคุยของเครือข่าย เขาเชื่อว่าการมีกระทรวงนี้ขึ้นมาก็เพื่อรองรับการศึกษาในแบบที่พวกเขาและเครือข่ายจัดกัน ไม่ใช่การลบใครออกไปแต่เป็นทางเลือกให้สังคมเมื่อต้องพูดถึงช่องทางของการศึกษา

"เราไม่ได้ปฏิเสธโรงเรียนที่สอนวิชาการ แต่มันต้องมีทางเลือกมากกว่าวิชาการไหม มันควรมีเรื่องชีวิตบ้างที่โรงเรียนปกติไม่มี มันถึงนำมาสู่กระทรวงที่ควรต้องรองรับเรื่องพวกนี้ด้วย"

"ล่าสุดไปเป็นอาสาสมัครในงานของโครงการสปาร์คยูชื่อ 'จะนะน่าอยู่นะจ๊ะ' ก็พาน้องนั่งรถไฟไปลงใต้ บางคนพอรู้ว่าจะลงใต้ก็กลัว ไม่เคยไป ไม่รู้จะเป็นยังไง พอได้ไปสัมผัสจริงๆ ไปช่วยงานในฐานะอาสาสมัคร ไปลงพื้นที่ที่รัฐเป็นพื้นที่สีแดงที่รัฐบอกว่ามีการต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราก็พาเขาไปเจอชาวบ้านจริงๆ ได้ไปนั่งคุยกันจริงๆ ชาวบ้านเล่าเรื่องราวของตัวเอง พาไปดุพ้นที่ที่จะทำเป็นโรงไฟฟ้า ไปเดินบนหาดทราย เหยียบทะเล ไปเห็นความอุดมสมบูรณ์จริงๆ เห็นคน เห็นธรรมชาติ ชุมชน ทรัพยากร แม้กระทั่งไปกินปูกินกุ้งซึ่งบ้างคนไม่เคยรู้เรื่องเหล่านี้มาก่อน คนที่พอรู้ว่าจะไปภาคใต้ก็กลัว พอไปเห็นจริงก็ เฮ้ย ไม่ได้เป็นแบบนั้นนี่หว่า ทำไมข่าวถึงเสนอแบบนั้น แล้วทะเลคืออะไร หาดทรายคืออะไร สำคัญอย่างไร ทำไมต้องรักษาทะเล มันเปิดโลกเขามากมาย ที่เราแพ้อาหารทะเลไม่ใช่เพราะแพ้สัตว์ทะเล แต่แพ้สารเคมีที่สัตว์ทะเลไปกินจากโรงงานที่เขาปล่อยลงทะเลแล้วเราก็มาแพ้"

"ภาพที่เด็กมองชาวบ้าน มองการประท้วง การขึ้นมาอดข้าวก็เปลี่ยนไป จากที่คิดว่าพวกนี้วุ่นวาย รับเงิน แต่พอเห็นแววตา ใบหน้า เห็นชีวิตเขาจริงๆ ก็เปลี่ยนไป ซึ่งห้องเรียนสี่เหลี่ยมที่เราอยู่มันไม่มีทาง (จะทำได้)" สืบสายกล่าว

ทุกคนเรียนได้ vs จำกัดวง: คำตอบของการศึกษาคือความชอบ

วัชระ เกตุชู จากศูนย์การเรียนชุมชนวิถีไท อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ให้ความเห็นของพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะที่ค่อนข้างแตกต่างว่า ไม่ใช่ทุกคนจะมีสิทธิ์และต้องดูตามความเหมาะสม เนื่องจากศูนย์การเรียนของเขาคือวิถีชีวิต ดังนั้นเพียงแค่คนที่มีความสนใจนั้นไม่พอ แต่ต้องเป็นคนที่เข้าใจหรืออยากจะเข้าใจ จึงจะไปด้วยกันได้

เด็กกับงานศิลปะ (ที่มา: Facebook/ ศูนย์การเรียนชุมชนวิถีไท)

ศูนย์การเรียนวิถีชุมชนไทยทำหลายอย่าง ทั้งธุรกิจชุมชน วิสาหกิจชุมชน พยายามรวบรวมผลผลิตของชาวบ้านในชุมชนแล้วสร้างอำนาจต่อรองในการขาย ผลิตปุ๋ยหมักให้ชาวบ้าน เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ มีสวัสดิการชุมชน ให้ชาวบ้านมาออมวันละหนึ่งบาทแล้วก็ให้สวัสดิการ สร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติให้ชุมชน  ให้ความรู้เรื่องพลังงานทางเลือก โซลาร์เซลล์ ก๊าซชีวภาพ รวมถึงการดูแลสุขภาพในแบบการแพทย์ทางเลือก พื้นที่เรียนรู้นี้เป็นทั้งของชาวบ้าน คนทั่วไปและชาวต่างชาติด้วย

"ที่ของผมก็มีข้อจำกัดเรื่องความสนใจ แต่อาจจะไม่เข้าใจ คนที่ไม่เข้าใจก็อาจจะต้องไว้ทีหลัง เพราะเราต้องเอาคนทีสนใจและเข้าใจก่อน คือตัวพื้นที่เอง ช่วงหนึ่งก็มีข้อจำกัดเช่น ถ้าต้องใช้เวลาอธิบายหรือเรียนรู้กับคนที่ไม่เข้าใจก็เป็นเรื่องหนัก แต่คนที่เข้าใจมาบ้างแล้วอยากเข้าใจให้ลึกซึ้งไปอีกก็อาจจะได้"

"ที่ผ่านมาก็มีฝรั่งที่ต้องการมาเรียนรู้กับเรา เราเป็นมังสวิรัตที่กินตามยถากรรม หมายถึงกินในสิ่งที่เราปลูก ที่เรามีในบ้าน ในชุมชน แต่ฝรั่งบางคนที่มาส่วนใหญ่กลัวขาดโปรตีน บางคนต้องกลับก่อนเพราะว่าเขามีความรู้ที่เขารู้มาว่าต้องกินโปรตีนเท่านั้นเท่านี้ต่อวัน" วัชระกล่าว

ในมุมการศึกษา ศูนย์ฯ ได้เริ่มทำมาแล้วถึง 14 ปี ปัจจุบันเปิดสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมปลายโดยไม่ได้คิดค่าเล่าเรียน แต่จัดเป็นกิจกรรมแล้วรับบริจาคตามแต่จะให้ ศูนย์ฯ สามารถออกเอกสารสำคัญทางการศึกษา (ปพ.) เนื่องจากได้รับการรับรองจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยม เขต 12 แล้ว

"ลงไปทำจริงๆ เช่น ทำสวนก็ไปทำสวน ทำไร่ก็ไปทำไร่ สอนเขาเรื่องกิจกรรม เรียนรู้ผ่านกิจกรรมเช่นทำค่ายสุขภาพ ร่วมค่ายครอบครัวนานาชาติ ร่วมกิจกรรมเดินสู่การเปลี่ยนแปลง เดินเพื่อการค้นหาตัวเอง ทำโครงการที่ตัวเองสนใจ และส่งไปอยู่กับคนที่ทำอาชีพนั้นเลย เช่น อยากเป็นศิลปินก็ให้ไปอยู่กับศิลปิน" วัชระเล่าวิธีการเรียนการสอนที่ทำกันในศูนย์ฯ เขาพบว่านักเรียนที่มาเรียนมีความชัดเจนมากขึ้นว่าต้องการอะไร อยากเป็นอะไร อยากทำอะไร

ห้าปีที่ผ่านมา วัชระตกผลึกได้ว่าความรู้มีหลากหลาย ไม่ได้ตายตัว ซึ่งก็ต้องทดลองเรียนรู้กันไปเพื่อหาความเหมาะสมกับตัวเอง แต่สุดท้ายสิ่งที่เหมาะกับศูนย์ฯ ก็คือการเรียนรู้กับวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ และพยายามให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เพื่อค้นหาตัวเอง ให้อยู่กับชุมชน เรียนรู้เพื่อให้รักชุมชนและบ้านเกิด

ผู้อบรมนำเสนอแผนการทำกิจกรรมร่วมกัน

แต่อดุลย์ ภู่ภัทรางค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองงูเหลือมพิทยาคม ควบตำแหน่งนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แห่งประเทศไทยเห็นต่างกับวัชระในเรื่องการเข้าถึงการศึกษา อาจด้วยบริบทที่แตกต่าง ที่ทำให้มีความคิดว่าโรงเรียนควรเป็นพื้นที่การเรียนรู้ให้กับทุกคนตามความชอบ และหวังว่าโรงเรียนในสังกัด อบจ. จะเป็นทั้งสถานศึกษาที่คำนึงถึงคุณภาพการเรียนการสอน ควบคู่ไปกับการเป็นพื้นที่ให้นักเรียน รวมถึงคนทั่วไปได้เรียนรู้ในสิ่งที่ได้ใช้ประโยชน์จริง

"ถ้าเด็ก เยาวชนอยากเรียนอะไรผมก็คิดว่าต้องมีให้เขา มันมีเครดิตที่ได้รับการยอมรับว่าโรงเรียนคือที่ศึกษาเล่าเรียน ดังนั้นไม่ต้องไปโฆษณาอะไรเลย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในโรงเรียน ถ้าการศึกษาภาคประชาชนไปอยู่ในโรงเรียนด้วยแล้วใครจะไม่มาเรียน ผมยังคิดเลยว่าเด็กที่มีปัญหาการเรียนในบางเรื่อง อยากเรียนในสิ่งที่ชอบ การศึกษาทางเลือกจะสามารถเข้ามาช่วยได้ไหมเพราะผมไม่ถนัด มาทำในพื้นที่โรงเรียน หรือจะกำหนดพื้นที่ตรงไหนก็คุยกันได้ ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้ผู้เรียนที่ไม่ต้องเป็นเด็กก็ได้ที่จบจากโรงเรียนท้องถิ่นที่เป็นที่ยอมรับ" อดุลย์กล่าว

"เราอาจจะฉีกแนวไปเลย อยากเรียนอะไรก็ไปเรียนรู้ ไม่อยากตื่นเช้าแต่ตื่นสายๆ หน่อยก็เรียนได้ น่าจะมีความหลากหลาย แต่สุดท้ายเด็กสามารถที่จะประกอบอาชีพได้ วุฒิการศึกษาถ้าคลายไปก็น่าจะดี จะเทียบโอนเลยได้ไหม ก็จะทำให้คนเลือกเรียนตามศักยภาพ ตามความแตกต่างของเขา เขาจะได้ไม่รู้สึกว่ามีปมด้อย เพราะเรายอมรับกันว่าการศึกษามันตลอดชีวิตและหลากหลาย แต่พอเอาเข้าจริงๆ ไม่เห็นมันหลากหลาย"

"ไม่ใช่ว่าคุณภาพหมายถึงสอบอะไรได้คะแนนเยอะๆ คุณภาพอาจหมายถึงการออกไปแล้วประกอบอาชีพได้ หาที่เรียนต่อได้ ไม่เป็นภาระสังคม หรือมีอาชีพทำเลย หลายแห่งก็มีงานทำขณะเรียน เช่นเป็นนักฟุตบอล เดี๋ยวนี้มีอคาเดมี มีนักร้อง อย่างที่เชียงรายก็มีโปรกอล์ฟ เขาก็มาเรียนเฉพาะวิชาสามัญ แต่วิชาทักษะเพิ่มเติมจะเป็นวิชากอล์ฟ"

อดุลย์หวังว่าการมาประชุมเครือข่ายรอบนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการประกาศให้สังคมรับรู้และตื่นตัวว่าการศึกษามีหลายแบบที่เป็นที่ยอมรับและสามารถทำได้สำเร็จ

นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนสังกัด อบจ. ระบุว่า ว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนที่ถูกโอนถ่ายจากกระทรวงศึกษาธิการไปสังกัดกับ อบจ. ตามแนวคิดกระจายอำนาจการศึกษาในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติแล้วจำนวนกว่า 300 โรงเรียนจากราว 57 จังหวัด

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก กล่าวว่า การเรียนรู้ที่ให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุขและตอบโจทย์อนาคตเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง และระบบการศึกษาของรัฐไม่สามารถปรับตัวได้ทันอย่างแน่นอน โดยเห็นว่าการศึกษาเพื่ออนาคตต้องเริ่มจากการสร้างกระบวนการค้นพบตัวเองว่ารัก ชอบ มีความถนัดหรือความฝันอะไร การศึกษาที่ผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นเป้าหมายที่แคบไปแล้ว

ด้านยุทธชัย เฉลิมชัย รักษาการนายกสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยกล่าวว่า ปัจจุบันวิทยาการความรู้เปลี่ยนเร็วมาก ความรู้ใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา และไม่มีใครสามารถผูกขาดความรู้ได้ และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องเกิดการเรียนรู้ใหม่ให้ทันกับกาลสมัย  การศึกษาในระบบก็ต้องเรียนไป แต่การศึกษาเพื่อค้นพบตัวเองนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำคู่ขนานไปด้วย หรือในท้ายที่สุดอาจจะก้าวข้ามสู่การเรียนรู้ในโลกที่เป็นจริงและวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่ ก็คือการเชื่อมโยงกับชุมชนและทุกภาคส่วนในสังคมในลักษณะเครือข่ายพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะและเครือข่ายสื่อ

เส้นทางการจัดตั้งขบวนพื้นที่สาธารณะศึกษายังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ตามตารางของโครงการจะต้องมีการอบรมสื่อ ขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะผ่านแอพพลิเคชั่นและแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น เพจ อบรมหนุนเสริมขบวน ให้ความรู้ด้านเครื่องมือสนับสนุนและติดตามเช่น Google Management สรุปบทเรียน แล้วนำไปสู่เวทีสาธารณะเพื่อประกาศวาระ ซึ่งปักหมุดกำหนดการณ์ไว้ที่เดือน ธ.ค. 2561

พื้นที่เรียนรู้สาธารณะจะเติมเต็ม แข่งขัน หรือยื้อแย่งพื้นที่การศึกษาของไทยได้หรือไม่ อย่างไร เชิญชวนผู้อ่านติดตามเส้นทางใหม่ของการศึกษายาวๆ ส่วนอะไรจะสำคัญกว่ากันระหว่าง 'จุดหมาย' กับ 'การเดินทาง' สิ่งที่จะบอกได้คงมีเพียงเวลา

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

กสม. ประเมินสถานการณ์สิทธิฯ ห่วงโครงการพัฒนา-คำสั่ง คสช. ยังกระทบประชาชน

Posted: 20 Jul 2018 06:21 AM PDT

กสม. นำเสนอรายงานผลการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และผลการปฏิบัติงาน ปี 2560 ต่อที่ประชุม สนช. ชื่นชมรัฐบาลก้าวหน้าแก้ปัญหาค้ามนุษย์-ขับเคลื่อนหลักธุรกิจกับสิทธิฯ ห่วงโครงการพัฒนา-คำสั่ง คสช. ยังกระทบประชาชน

19 ก.ค. 2561 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) รายงานว่า ที่รัฐสภา ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ และเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และภิรมย์ ศรีประเสริฐ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 45/2561 เพื่อชี้แจงรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2560 และรายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560

ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำเสนอภาพรวมผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2560 สรุปว่า นับเป็นความก้าวหน้าที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้มีหมวดหน้าที่ของรัฐเพื่อเป็นหลักประกันการทำหน้าที่ของรัฐ ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างไรก็ดี กสม. ยังมีข้อสังเกตและห่วงใยในประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ มาตรา 25 ซึ่งวางหลักในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ว่า การใดที่ไม่ได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น และการนั้นไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำได้ นั้น มีขอบเขตมากน้อยเพียงใด และจะมีผลกระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้การรับรองไว้หรือไม่

นอกจากนี้ ในปี 2560 ที่ผ่านมา กสม. ได้รับทราบด้วยความชื่นชมว่า สมาชิก สนช. ได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา โดยให้เพิ่มมาตรา 161/1 ที่กำหนดให้การใช้สิทธิฟ้องคดีอาญาต้องทำโดยสุจริต นับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนในกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องโดยไม่สุจริต เพื่อกลั่นแกล้งจำเลยในพื้นที่ห่างไกล หรือฟ้องในข้อหาที่หนักกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้ ยังมีความก้าวหน้าในการตราพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้รับการปรับสถานะในรายงานการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาจากระดับ 'Tier 2 ต้องเฝ้าจับตามอง' ขึ้นเป็นระดับ Tier 2 ด้วย  

เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำเสนอเนื้อหารายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2560 สรุปความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) พบว่า รัฐบาลมีความก้าวหน้าในตรากฎหมายและนโยบายที่คุ้มครองสิทธิและกลุ่มบุคคลต่าง ๆ รวมถึงมีความพยายามในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงทางการเมืองที่จะขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNGPs) โดยมีบัญชาให้รัฐวิสาหกิจนำหลักการชี้แนะดังกล่าวไปใช้ในการดำเนินกิจการด้วย  

อย่างไรก็ดี กสม. ยังมีข้อกังวล ต่อสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การเข้าถึงสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพและการศึกษาของเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติและผู้สูงอายุไร้สัญชาติ การที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อนุญาตให้มีการต่ออายุนำเข้าสารเคมีการกำจัดศัตรูพืชไปอีก 6 ปี ทั้งที่มีการคัดค้านจากหลายภาคส่วน และการดำเนินนโยบายของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่น นโยบายการทวงคืนผืนป่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งดำเนินการโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีข้อท้าทายสำคัญในการกำกับการลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนสัญชาติไทยที่ทำให้เกิดผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีการกำกับดูแลอย่างจริงจัง

ขณะที่ความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รัฐบาลได้จัดทำแผนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบ โดยมีความพยายามแก้สถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้เป็นผลให้สถิติความรุนแรงลดลง อย่างไรก็ดี กสม. ยังมีข้อกังวลต่อประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากในปี 2560 กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมมากที่สุด โดยที่ส่วนใหญ่เป็นการกล่าวอ้างการกระทำการละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนั้นยังมีประเด็นการจำกัดเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการชุมนุมผ่านการบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ตลอดจนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายก็ยังอยู่ระหว่างการทบทวน

ภิรมย์ ศรีประเสริฐ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำเสนอภาพรวมรายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 สรุปว่า ด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในปี 2560 กสม. รับเรื่องร้องเรียนจำนวน 924 เรื่อง อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ตรวจสอบได้จำนวน 629 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมมากที่สุดร้อยละ 31 ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้จำนวนมาก และในปีดังกล่าวมีเรื่องที่ตรวจสอบแล้วเสร็จ 1,000 กว่าเรื่อง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ กสม. เสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีกรณีสำคัญ เช่น (1) พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ส่งผลกระทบต่อชุมชนชายฝั่ง โดย กสม. ได้เสนอมาตรการแก้ไขปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในประเด็นที่ขอให้มีการขยายเวลาแจ้งการครอบครองอาคารหรือสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ  (2) การแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรพลังงานของประเทศไทยโดย กสม. ได้มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514  (3) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อ ครม. เพื่อให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการกำหนดให้กรดโฟลิกเป็นส่วนประกอบในอาหารเพื่อแก้ไขความพิการแต่กำเนิด (4) การคุ้มครองสิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง กสม. ได้มีข้อเสนอแนะต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอให้แก้ไขระเบียบที่กำหนดการคัดแยกประวัติของเด็กและเยาวชนออกจากการกระทำความผิดของบุคคลทั่วไป และ (5) การปรับปรุงกฎหมายแก้ไขปัญหาเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตอุทยานแห่งชาติกับที่เอกชนทับซ้อนกัน และกรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการทวงคืนผืนป่าตามคำสั่ง คสช. 64/2557 และ 66/2557

ด้านการส่งเสริมกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน กสม. ได้ดำเนินการส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน เช่น การให้ความรู้เรื่องสิทธิชุมชนให้แก่เยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้และเจ้าหน้าที่รัฐ การสัมมนาปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติและสิทธิในความเป็นพลเมืองของรัฐไทย เพื่อรวบรวมข้อมูลจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล การสัมมนาขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNGPs)  ในประเทศไทย การจัดเวที กสม. พบประชาชนในภูมิภาคเพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมกิจกรรมสิทธิมนุษยชนร่วมกับเครือข่ายสถาบันการศึกษา องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ นอกจากนี้ในปี 2560 กสม. ยังได้จัดทำรายงานคู่ขนานตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)  

อนึ่ง ในช่วงปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่ กสม. ดำเนินงานตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เกิดปัญหาบางประการ เช่น การที่ กสม. ถูกปรับลดสถานะจากเอเป็นบี เนื่องจากองค์ประกอบของ กสม. และองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาไม่หลากหลายและยังไม่มีบทบัญญัติคุ้มกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของกสม. ซึ่ง กสม. ได้เสนอความเห็นในการแก้ไขประเด็นดังกล่าวไว้ที่ สนช. แล้ว ซึ่งต่อมามีการปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าวดังที่ปรากฏใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

15 ปี 'ดาวดิน' กับความหวังต่อ 'พรรคสามัญชน' ที่จะตอบโจทย์การต่อสู้เพื่อชาวบ้าน

Posted: 20 Jul 2018 05:37 AM PDT

งานครบรอบ 15 ปี 'นี่หรือคือบทเรียน' 3 ดาวดินเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวเพื่อสังคมเส้นทางการต่อสู้เพื่อชาวบ้าน ระบุไม่เคยรู้สึกเสียดายที่มาเรียนรู้ในเส้นทางนี้ ชู 'พรรคสามัญชน' คือคำตอบที่ชัดที่สุดและเป็นเครื่องมือการเคลื่อนไหวต่อไปในอนาคต

15 ก.ค. ที่ผ่านมา ณ บ้านดาวดิน จังหวัดขอนแก่น กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม หรือ "ดาวดิน" จัดงานครบรอบ 15 ปี "นี่หรือคือบทเรียน" ในช่วงแรกพูดคุยถึงจุดเริ่มต้น บทเรียนในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาและมุมมองการเคลื่อนไหวปัจจุบัน ส่วนช่วงที่สองพูดคุยเรื่อง จากดาวดินสู่สามัญชน จากนักกิจกรรมนักศึกษาสู่การก่อตั้งพรรคสามัญชน โดยตัวแทนจากกลุ่มดาวดิน 3 คนคือ วงศกร สารปรัง (ดาวดินรุ่นที่ 4 ) นิติกร ค้ำชู (ดาวดินรุ่นที่ 6 ) และ พายุ บุญโสภณ (ดาวดินรุ่นที่10 )

จุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหว

วงศกร กล่าวว่า ตอนเข้ามาเป็นนักศึกที่ ม.ขอนแก่น ตนไม่ได้คิดว่าจะได้มาทำกิจกรรมทางสังคม แต่ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว จุดเริ่มต้นคือการไปค่ายเป็นค่ายนิติศาสตร์เรียนรู้สังคม ค่ายที่เป็นเชิงพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาของชาวบ้าน เน้นการนั่งพูดคุย หลังจากได้พูดคุยได้แลกเปลี่ยนจึงทำให้เห็นว่ายังมีปัญหาแบบนี้อยู่มากในสังคมหลังจากนั้นจึงได้เข้ามารู้จักกับกลุ่มดาวดิน ช่วงปี 49 - 50 ในช่วงนั้นมีกระบวนการประชาชนเคลื่อนไหวทางการเมือง การรวมตัวกันเพื่อขับไล่หรือแก้ปัญหา ตนจึงได้ซึมซับในส่วนนั้นแต่ก็ยังไม่ได้เข้าไปเคลื่อนไหวมาก แต่เริ่มรู้สึกสนใจลงพื้นที่เพื่อการเรียนรู้เรื่องราวปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในบริเวณภาคอีสานส่วนมากเป็นการเรียนรู้ผ่านการทำค่าย

ดังนั้นชีวิตนักศึกษาของกลุ่มดาวดินช่วงนั้นเน้นการลงพื้นที่รับรู้ปัญหาชาวบ้านและช่วยเหลือการเคลื่อนไหวของชาวบ้านเป็นหลัก เมื่อไปช่วยเราไม่ได้มีบทบาทที่จะไปนำชาวบ้านเราแค่ไปช่วยหาน้ำหาข้าวแล้วไปอยู่กับชาวบ้าน สิ่งหนึ่งที่ดาวดินเชื่อกันมาตลอดคือ เราจะอยู่เคียงข้างประชาชนที่ถูกกดขี่ไม่นำและไม่ตาม แต่เราจะเคียงข้างพยายามร่วมคิดร่วมทำร่วมแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน มีช่วงหนึ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีปัญหาเรื่องม.นอกระบบแต่เราไม่เห็นด้วย จึงได้เคลื่อนไหวเรื่องนี้แต่ระหว่างที่สู้ก็คิดว่าเราจะมีอำนาจอะไรไปสู่กับเขาได้ เขามีทั้งกฎหมายทั้งนโยบายแต่เราทำได้เพียงพูดแลกเปลี่ยนกัน กลุ่มดาวดินเราจะมีคำหนึ่งคือคำว่าเราจะเชื่อในเสรีภาพทุกตารางนิ้วในมหาวิทยาลัย จึงได้ชวนเพื่อนๆในและนอกมหาวิทยาลัยที่เห็นด้วยมาร่วมเคลื่อนไหว หลังจากนั้นก็มีคำถามหนึ่งที่ถามว่านักศึกษาหายไปไหน จริงๆแล้วนักศึกษาไม่ได้หายไปไหนเพียงแต่สิ่งที่เรียนรู้สิ่งที่สนใจในสถานการณ์แต่ละยุคมันไม่เหมือนกัน ช่วงแรกๆกลุ่มดาวดินเรายังไม่ได้พูดถึงการต่อสู้ทางการเมืองโดยตรง

ตัวแทนดาวดินรุ่นที่ 4 ยังกล่าวต่อว่า ในยุคของตนโชคดีตรงที่มีทรัพยากรบุคคลและทางพื้นที่ ที่พร้อมเปิดให้เราเข้าไปเรียนรู้ จึงทำให้เราได้พัฒนาความคิดไปพร้อมๆกัน แต่ปัญหาหลักๆ คือปัญหาภายใน มีช่วงหนึ่งที่รัฐทำโครงการตั้งเสาไฟฟ้าขนาดใหญ่จากลาวมาไทย ที่จังหวัดอุดร แล้วตั้งเสาในลักษณะฟันปลาสาเหตุที่ตั้งแบบนี้คือเขาพยายามเลี่ยงที่ดินของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ แต่กลับมาลงในที่นาของชาวบ้านแทน ในตอนนั้นมีชาวบ้านประมาณ 10  กว่าคนพยายามไปขัดขวางเพื่อตกลงกันว่าให้เลื่อนที่นานี้ไปก่อนรอให้เก็บผลผลิตเสร็จค่อยทำแต่เขาก็ไม่ยอม ตอนนั้นเราก็ได้ไปร่วมยืนเป็นกำแพงเพื่อไม่ให้รถขุดที่ดินระหว่างที่เรียกร้องอยู่ก็มีตำรวจประมาณ 200 นายก็มาจับชาวบ้านกับนักศึกษารวมกันประมาณ 20 คน แล้วแจ้งข้อหาดำเนินคดีเราก็ไปติดคุกอยู่กับชาวบ้านประมาณ 10 ชั่วโมง แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้จากตรงนี้คือ ปัญหาอีกส่วนหนึ่งมันอยู่ที่โครงสร้างรัฐไทยหรือระบบราชการไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงๆและการปฏิบัติตัวของเจ้าหน้าที่ไม่ได้คำนึงบนฐานของประชาชน

นิติกร กล่าวว่า ตนรู้จักกลุ่มดาวดินตั้งแต่มาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นครั้งแรก จุดที่ทำให้ความคิดของตนเปลี่ยนไปคือการไปทำค่าย ตอนไปค่ายต้องไปลงพื้นที่เพื่อเตรียมประเด็นมาทำค่าย เมื่อไปถามข้อมูลกับชาวบ้านเขาได้เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อย่างเช่นใน จ.หนองบัวลำภูชาวบ้านเล่าว่ามีเจ้าหนี้ที่ของรัฐลงไปหาแล้วเอากระดาษไปให้ชาวบ้านเขียนชื่อ จากนั้นเจ้าหน้าที่รัฐได้เอารายชื่อไปทำต่อแล้วมีเอกสารออกมาว่าชาวบ้านได้ยินยอมยกที่ดินให้กับโครงการรัฐทั้งที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องเลย จริงๆในทางกฎหมายมันถูกต้องมีเอกสารมีสัญญามีลายเซ็นแต่วิธีการที่ได้มานั้นมันไม่ถูกต้อง กฎหมายที่ช่วยรักษาความยุติธรรม ที่ช่วยให้เกิดความยุติธรรมหลังจากที่ไปเจอมาตนจึงคิดว่ากฎหมายมันทำให้เกิดความยุติธรรมได้จริงหรือ เราในฐานะคนเรียนนิติศาสตร์คงต้องทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง จึงได้เริ่มสนใจปัญหาชาวบ้านมากขึ้นเริ่มเคลื่อนไหวไปทำกิจกรรมไปม็อบ

ตัวแทนดาวดินรุ่นที่ 6 กล่าวด้วยว่า ในช่วงนั้นกลุ่มดาวดินก็ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวทางการเมืองหรือเคลื่อนไหวเชิงโครงสร้างแต่ก็ยังเน้นไปที่ปัญหาของชาวบ้าน จากนั้นจึงเริ่มขยายผลว่าทำไมปัญหาเหล่านั้นจึงเกิดขึ้นมาได้ เริ่มมีการทำโรงเรียนการเมืองที่บ้านดาวดิน เริ่มเรียนรู้ว่าสาเหตุของปัญหามาจากไหน จนมาถึงเรื่องที่ต้องเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง เราพยายามชวนเพื่อนๆพยายามที่จะสร้างขบวนการนักศึกษา เพื่อที่จะให้เห็นว่านักศึกษาหรือคนที่เห็นในกระบวนการที่ไม่เป็นธรรมนั้นยังมีอยู่ ดังนั้นกลุ่มดาวดินในช่วงของตนนั้นก็ยังเน้นที่ปัญหาชาวบ้านอยู่ แต่เพิ่มเติมคือมีความพยายามที่จะสร้างขบวนการนักศึกษาถึงแม้ว่าจะไม่สำเร็จก็ตาม

พายุ กล่าวว่า ตนรู้จักกับกลุ่มดาวดินเพราะว่าเพื่อนให้มารับที่บ้านดาวดิน แล้วจึงมีโอกาสได้มาร่วมวงสังสรรค์ด้วย หลังจากนั้นได้ไปลงพื้นที่ด้วยกันพื้นที่แรกที่ได้ไปเรียนรู้คือเหมืองแร่เมืองเลย อยู่ที่วังสะพุง พอลงพื้นที่ได้ไปคุยกับชาวบ้านทำให้ตนได้เห็น ชาวบ้านแถวนั้นทำไร่ทำนาปกติแต่ไม่สามารถกินของพวกนั้นได้เพราะผลกระทบจากเหมืองแร่ คือเหมืองแร่ทองคำนั้นเขาไปทำเหมืองอยู่บนภูเขา ในขั้นตอนการทำแร่ก็จะใช้สารเคมีต่างๆเช่น สารไซยาไนด์ สารหนู เพื่อที่จะได้ทองคำออกมาจากก้อนดิน แล้วเมื่อภูเขาอยู่สูงสารต่างๆก็จะซึมผ่านน้ำลงมานาชาวบ้านจึงทำให้สารเคมีตกค้างอยู่ในนาข้าวหรือบ่อน้ำต่างๆ พอลงพื้นที่เสร็จจึงทำให้เรารู้ว่ากลุ่มดาวดินคือคนที่นำความรู้ด้านนิติศาสตร์ ด้านกฎหมายไปบอกกับชาวบ้าน ตนเห็นด้วยว่าชีวิตนักศึกษาควรทำแบบนี้บ้างหลังจากนั้นจึงเริ่มเข้ามาอยู่กับบ้านดาวดิน

เมื่อเข้ามาแล้วในสมัยนั้นก็ได้เคลื่อนไหวตามกระแสสังคม ถ้าเทียบกับปัจจุบันก็เหมือนกับเรื่องเสือดำ เรื่องการละเมิดสิทธิหรือเรื่องทาประหาร ถ้าการเคลื่อนไหวใหญ่ๆในช่วงนั้นการเมืองไทยมันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากประชาธิปไตยมาเป็นรัฐประหาร ตนไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารอยู่แล้วเพราะที่เรียนกฎหมายมาการฉีกรัฐธรรมนูญมันเป็นโทษทางกฎหมาย จึงมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องไปชู้ป้ายผ้าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น แล้วหลังจากนั้นก็โดนจับเป็นครั้งแรกในชีวิต แต่ตนก็ไม่ได้รู้สึกกลัวกลับคิดว่าเมื่อทำมาแล้วควรจะทำให้สุด ถ้าถามถึงเรื่องผลกระทบที่ตามทั้งเรื่องเรียนหรือครอบครัวเรามีปัญหาอะไรหรือเปล่า อย่างแรกเลยตนคิดว่าการมาทำกิจกรรมทางการเมืองต่างๆนั้นความเป็นห่วงของครอบครัวย่อมมีอยู่แล้ว พอรู้ว่ามาอยู่ในกลุ่มดาวดินครอบครัวก็ขอให้ออกมา ครอบครัวเป็นประตูด่านแรกเลยที่คนออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องเจอ แต่ถ้าเราแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนกลับครอบครัวว่าทำไปทำไมเขาน่าจะเข้าใจ

ตัวแทนดาวดินรุ่นที่ 10 กล่าวด้วยว่า นอกจากปัญหาทางครอบครัวยังมีการกดดันจากเจ้าหน้าที่ ปัญหาทางคณะก็บอกว่าถ้าทำแบบนี้ระวังเรียนไม่จบ ช่วงที่นายกมาขอนแก่นมีทหารประมาณ 10-20 นาย บุกเข้ามาบ้านดาวดินโดยที่เราไม่รู้เรื่องเลย มันเป็นปัญหาพอสมควรแต่ก็ไม่ได้กระทบกับการทำงานของกลุ่มดาวดินขนาดนั้น เพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ตั้งแต่ช่วงแรกๆมาจนปัจจุบันการทำงานของกลุ่มดาวดินจะแตกต่างกันบ้างมีหลายๆอย่างเข้ามา สิ่งสำคัญที่สุดในการทำกิจกรรมนี้คือเมื่อทำไปแล้วคือไม่ได้ทำเฉยๆเราทำไปแล้วกลับมาพูดคุยกันทุกครั้งว่าสิ่งที่ทำไปได้อะไรบ้างมีข้อดีข้อเสียยังไงเพื่อนำไปปรับสำหรับครั้งต่อไป บ้านดาวดินเป็นเหมือนสนามซ้อมสำหรับนักศึกษาที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

จากวันแรกของดาวดินสู่พรรคสามัญชนในปัจจุบัน

พายุ กล่าวว่า จากการเคลื่อนไหวของดาวดินทำให้เรียนรู้สังคม รู้ปัญหาชาวบ้านแล้วนำประเด็นปัญหาออกสู่สาธารณะ แต่ท้ายที่สุดแล้วที่เราออกไปสู่ก็จะหยุดอยู่แค่ให้ไปยื่นหนังสือกับคนนั้นคนนี้แล้วก็ต้องรอกว่าจะมีใครมาตอบทุกพื้นที่เป็นแบบนี้ เราไม่สามารถฝากความหวังกับใครได้เลยจึงต้องหาทางให้ตัวเองมีอำนาจต่อรองสามารถสู้กับปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังจึงมีพรรคสามัญชนขึ้นมา ทำไมดาวดินถึงมาเคลื่อนไหวทางการเมืองคือปัญหาทุกปัญหามันเกิดจากนโยบายของรัฐจากกฎหมาย ชาวบ้านหรือคนในพื้นที่ไม่มีสิทธิที่จะกำหนดชีวิตตัวเองไม่มีสิทธิเลือก ปัญหาที่แท้จริงคือโครงสร้างทางการเมือง เราไม่เคยพึ่งพรรคการเมืองไหนที่เป็นพรรคของประชาชนจริงๆ ดังนั้นในเมื่อไม่สามารถพึ่งพาหรือฝากความหวังกับใครได้เราจึงต้องพึ่งตัวเองจึงได้จัดตั้งพรรคสามัญชนขึ้นมา ที่มาของคำว่าสามัญชนก็คือพวกเรา ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ คนที่โดนกดขี้ นักศึกษาหรือว่าใครก็คือสามัญชนและทุกคนมีความเท่าเทียม

ตัวแทนดาวดินรุ่นที่ 10 กล่าวว่า ตนไม่ได้รู้สึกว่าตัดสินใจผิดพลาดกับการที่เข้ามารู้จักพี่ๆ บ้านดาวดิน แต่ตอนนี้รู้สึกว่ามันมีความท้าทายมีข้อพิสูจน์จากตัวเราเองที่เราเชื่อมั่นตั้งแต่แรกว่าเราเข้ามาเพื่อที่จะทำอะไรให้มันเปลี่ยนแปลงสังคม ตั้งแต่เข้ามาเป็นดาวดินจนตอนนี้เป็นดาวดินในสังกัดพรรคสามัญชน มันเป็นบทพิสูจน์หนึ่งเราจะก้าวไปข้างหน้าและเราจะก้าวไปให้ถึงเป้าหมายให้ได้ ถึงแม้การเคลื่อนไหวของดาวดินในอนาคตจะเปลี่ยนไป แต่เราก็ไม่ลืมจุดเริ่มต้นที่มาจากชาวบ้านเราก็จะสนับสนุนพรรคสามัญชนอย่างเต็มที่

วงศกร กล่าวว่า หลายอย่างที่ทำมามันเหมือนทำไม่สุด ปัญหาก็เหมือนแก้ไขไม่ได้ทั้งหมด เพราะว่าสุดท้ายแล้วคนที่ออกนโยบาย กฎหมายต่างๆมันไม่ได้ถูกควบคุมโดยประชาชนไม่ได้ถูกกำหนดโดยคนที่ได้รับผลจากมัน  เราได้เรียนรู้จากตรงนี้จึงต้องเริ่มที่จะขยับไปมีพื้นที่ทางการเมืองเพื่อได้มีการเข้าถึงได้มีส่วนร่วมได้พูดคุยปัญหาและร่วมกำหนดนโยบายได้ ทางเดียวที่เป็นวิถีทางประชาธิปไตยคือพรรคการเมือง ถ้าจะมองในหลายๆประเทศเขาก็มีนักการเมืองที่มาจากประชาชนจริงๆเขามีกระบวนการมีพื้นที่ให้ชาวบ้านได้พูดคุย แต่ไม่เคยมีในเมืองไทยแม้จะมีความพยายามที่จะทำมาในหลายๆยุคแต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้น เราจึงคิดว่าการจัดตั้งทางการเมืองคือทางที่จะแก้ไข จริงๆพรรคสามัญชนมันไม่ได้พึ่งเกิดช่วงนี้แต่มีการคุยกันมาราวๆ 10 ปี ในปี 57 พรรคสามัญชนเคยจะไปจดทะเบียนวางไว้เป็นวันที่ 25 พฤษภา 2557 แต่เกิดรัฐประหารก่อนจึงไม่สามารถจดได้

ถ้าพูดถึงว่าทำไมดาวดินต้องมาเคลื่อนไหวพรรคการเมืองนั้น ตัวแทนดาวดินรุ่นที่ 4 กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยจะรู้จัดดาวดินจริงๆคือการเคลื่อนไหวร่วมกับชาวบ้านเมืองเลยมันจึงเกิดกระว่านักศึกษาที่สนใจสังคมยังมีอยู่ กลุ่มดาวดินจึงถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงนั้น แต่พอขยับขึ้นมาเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยกลับมีดราม่าว่าทำงานช่วยชาวบ้านดีอยู่แล้วมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองทำไม พูดได้เต็มปากเลยว่าถ้าเราไม่ข้องเกี่ยวกับการเมืองประชาชนก็ยังคงเดือดร้อนต่อไปปัญหายังแก้ไม่สุด เพราะฉะนั้นทางแก้คือเราต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง มีส่วนร่วมในนโยบาย การลงพรรคการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนแต่ตอนนี้ตัดสินใจแล้วว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่จะช่วยสร้างสังคมให้เกิดความเท่าเทียม ให้เกิดประชาธิปไตยและประชาชนมีส่วนร่วมกันจริงๆ

วงศกร กล่าวว่า ตนไม่ได้คิดเสียดายที่ได้มาเรียนรู้ในเส้นทางนี้ ดาวดินก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่ทำให้ตนได้เติบโต จากคนที่กินเหล้าไปวันๆไม่ได้คิดเรื่องอะไรแบบนี้พอมาถึงจุดนี้ก็รู้สึกว่ามันดีกับตัวเองแล้ว ดาวดิน 15 ปีมันไม่ได้เกินขึ้นมาพอให้เวลาผ่านไป แต่ในวันนี้มันคือการตัดสินใจแล้วมีความเชื่อมั่นแล้วว่าการทำพรรคสามัญชนคือคำตอบที่เราจะมุ่งไปด้วยกัน เราจะสร้างฝันสร้างหวังด้วยเครื่องมือที่เรียกว่าพรรคสามัญชน

นิติกร กล่าวว่า จากการสรุปบทเรียนของดาวดินที่ผ่านมา 10 กว่าปีมันเห็นได้ว่าปัญหาหลักของประเทศไทยอย่างหนึ่งคือ การรวมศูนย์อำนาจตัดสินใจอยู่กับกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้นจึงทำให้ปัญหาต่างๆมันเกิดขึ้น เมื่อเราเชื่อว่าสาเหตุมาจากตรงนี้จึงพยายามมองไปหาทางออกที่จะทำให้คนมีอำนาจตัดสินใจ มีการกระจายอำนาจออกจากจุดๆนั้นจะมีวิธีการใดบ้าง เลยมาคุยกันว่าการสร้างพรรคการสร้างพื้นที่ให้กับตัวเองนี่แหละคือทางที่ถูกต้องทางที่เราต้องไป ดังนั้นจากสิ่งที่เรียนรู้มามันจึงทำให้เราตัดสินใจแน่วแน่และมั่นใจว่าแนวทางการทำพรรคการเมืองจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้การเคลื่อนไหว,ความหวัง,ความฝันและเป้าหมายของเราสำเร็จ พรรคที่เกิดขึ้นคือเราต้องการให้ทุกคนได้เป็นเจ้าของกันจริงๆ สามารถเข้าถึงได้ง่ายมีส่วนร่วมภายในอย่างแท้จริง ตอนนี้พยายามหานโยบายถ้าถามว่าพรรคสามัญชนมีนโยบายอะไรตอนนี้ยังไม่สรุป เราใช้วิธีการที่เรียกว่าคารวานสามัญชนเพื่อเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านแล้วหยิบเอาความคิดเห็นหรือปัญหาต่างๆขึ้นมาเพื่อรวบรวมเป็นนโยบาย

อนาคนของดาวดิน

สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดินในอนาคตนั้น นิติกร กล่าวว่า จะเปลี่ยนไปที่เปลี่ยนไปคือมันจะมีมิติในด้านการเคลื่อนไหวทางด้านการเมืองร่วมกับชาวบ้านเข้ามาด้วยในรูปแบบพรรค พอตัดสินใจว่าจะทำพรรคเราก็ได้ไปปรึกษากับพี่น้องชาวบ้านต่างๆ สิ่งที่รับรู้ได้อย่างหนึ่งคือชาวบ้านเขารู้สึกว่ามีความหวัง เขาตื่นเต้นที่ในชีวิตหนึ่งจะได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งพรรคการเมือง พอเราเห็นความรู้สึกคนมันจึงไปต่อได้ การทำพรรคหรือแนวทางการสร้างพรรคที่ทุกคนเป็นเจ้าของนั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ดาวดินหลังจากนี้ก็น่าจะเคลื่อนไหวในทางการเมืองโครงสร้างนโยบายอย่างเต็มที่ วัฒนธรรมแนวคิดที่ว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเราอยากให้เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ อยากให้เชื่อว่าตัวเราเองสามารถเป็นนักการเมืองได้เอง สามารถเคลื่อนไหวต่อรองได้เองจะได้ไม่ต้องไปฝากความหวังไว้กับใครนอกจากเราจะสร้างเอง

ตนไม่เสียใจที่ชีวิตเข้าเกี่ยวข้องกับเรื่องแบบนี้ แต่กลับดีใจมากกว่ามันทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีเป้าหมาย มีคุณค่า เป็นความภาคภูมิใจของชีวิตที่เกิดมาครั้งหนึ่งแล้วได้มาทำอะไรแบบนี้และส่วนตัวถ้าถามว่าไม่ได้มาเคลื่อนไหวแบบนี้แล้วจะทำอะไร คือตอบไม่ได้ คิดไม่ออก เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าตอนนี้คงจะเหลือแค่อย่างเดียวคือการทำพรรค ทำตามความเชื่อความฝันของดาวดินที่มีอยู่ให้สำเร็จจนวันสุดท้าย

 

รายงานเสวนาโดย ทัศมา ประทุมวัน ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท ประจำปีการศึกษา 1/2561 จากคณะศิลปศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีความสนใจด้าน ข่าว การเมือง การ์ตูน และซีรีส์เกาหลี

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

พิชัย นริพทะพันธุ์ : 'อีอีซี' เป้าหมายดี แต่วิธีการยังไม่ผ่าน

Posted: 20 Jul 2018 03:35 AM PDT

สนทนากับอดีตรัฐมนตรีช่วยคลัง พิชัย นริพทะพันธุ์ วิพากษ์อีอีซี ระบุเห็นด้วยกับโครงการ ประเทศไทยต้องการเครื่องยนต์สร้างการเติบโต แต่วิธีการและผลลัพธ์ยังไม่ผ่าน ลด แลก แจก แถมมากเกินไป หวั่นกระทบผู้ประกอบการไทยอนาคต ถามทำไมต้องรวมที่ดินมักกะสันในโครงการรถไฟเชื่อสามสนามบิน หรือมีผู้ชนะในใจแล้ว

 

  • โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจำเป็นต่อการสร้างการเติบโตของประเทศไทย
  • รัฐบาลให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนมากเกินไป บางกรณีอาจกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในอนาคต
  • อีอีซีต้องไม่ละเลยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพราะในอนาคตมูลค่าการฟื้นฟูอาจสูงกว่ามูลค่าการลงทุน
  • โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินไม่ควรรวมการพัฒนาที่ดินมักกะสัน

พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลสมัคร

อีอีซีหรือโครการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด-ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ถือเป็นโครงการเรือธงด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หวังจะใช้อีอีซีเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

ในเชิงหลักการ พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และอดีตรัฐนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เห็นด้วยกับอภิโครงการนี้ แต่ในเชิงวิธีการและผลลัพธ์เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

พิชัยเห็นด้วยว่า ประเทศไทยวันนี้ต้องการเครื่องมือสร้างความเติบโต (Growth Engine) อีสเทิร์น ซีบอร์ดที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในอดีต ปัจจุบันถือว่าเต็มศักยภาพแล้ว จำเป็นต้องขยายพื้นที่ ผนวกกับผลพวงจากการพัฒนาที่ผ่านมาทำให้ภาคตะวันออกมีความพร้อมกว่าภาคอื่นในด้านโครงสร้างพื้นฐาน

"ผมจึงเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลนี้ทำอีอีซีเพราะมันเป็นทางที่ถูกต้องและจำเป็น"

เรียกว่าอีอีซีเป็นภาคบังคับของรัฐบาล พิชัยกล่าวว่าเนื่องจากหลังการรัฐประหาร ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ลงทุนหลักของไทยกลับไม่มีการลงทุนเลย นิกเคอิ รีวิว ระบุว่ามูลค่าการลงทุนหายไปกว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ในปีแรกของการรัฐประหาร มองในแง่นี้ ต้องถือว่ารัฐบาลใช้เวลานานเกินไปกว่าจะคิดแก้ไขเรื่องนี้ กระนั้น ตัวเลขการลงทุนก็ยังไม่กระเตื้องขึ้น

"รัฐบาลต้องถามตัวเองว่าทำไม เพราะตัวเลขตั้งแต่เปิดอีอีซีมาไม่ดีขึ้นเลย ไตรมาสแรกการลงทุนที่แท้จริงหายไป 2.7 หมื่นล้าน ซึ่งแปลก เปิดอีอีซีแล้ว แทนที่จะมีตัวเลขการลงทุนเพิ่มขึ้น มีตัวเลขขอบีโอไอเพิ่มขึ้น แต่กลับไม่มีตัวเลขการลงทุนจริง กลับลดลงจากปีที่แล้ว ทั้งที่ปีที่แล้วก็แย่อยู่แล้ว ปีนี้กลับลดลงไปอีก แสดงว่าสิ่งที่รัฐบาลทำไม่เวิร์ค

"รัฐบาลต้องกลับมาดูตัวเองว่าทำอะไรผิดพลาดหรือไม่ อย่างน้อยคุณต้องมีทิศทางที่ชัดเจนว่าใครจะมาลงทุนกับคุณแน่ๆ แต่ไม่มี บีโอไอที่ขอค้างไว้เป็นล้านๆ ก็ชะงักหมด เพราะจริงๆ ลงได้เลยทันทีกับคำขอที่ค้างอยู่หรือจะขอปรับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่กลับไม่มีใครลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสงสัย แล้ว 4 ปีที่ผ่านมาคุณทำอะไร ทำไมจึงเพิ่งจะคิดทำตอนนี้"

เป็นไปได้หรือไม่ที่ตัวเลขการลงทุนจากญี่ปุ่นอาจจะลดลง แต่ตัวเลขการลงทุนจากจีนเพิ่มขึ้น

พิชัยไม่เห็นด้วย เขากล่าวว่าการลงทุนจากจีนก็น้อย เพราะประเทศจีนยังมีพื้นที่กว้างใหญ่ ยังต้องการการลงทุนในประเทศอีกมาก ดังนั้น จีนจะไปลงทุนต่างประเทศเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น การลงทุนต่างประเทศจึงไม่ใช่นโยบายหลัก ขณะที่ญี่ปุ่นมีการลงทุนเต็มพื้นที่แล้ว นโยบายหลักคือการหาที่ลงทุนในต่างประเทศ แต่ผลพวงจากสถานการณ์ทางการเมืองทำให้ญี่ปุ่นขนเงินไปลงทุนในประเทศอื่นในอาเซียนแทน

"แล้วคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (รองนายกรัฐมนตรี) ก็ไม่เข้าใจว่า จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไม่ถูกกันตั้งแต่อดีต พอคุณเป็นเขตญี่ปุ่น จีนกับเกาหลีก็ไม่อยากมาลงทุน เกาหลีไปลงทุนเวียดนามมโหฬารเลย ลงทุนในไทยนิดเดียว คุณสมคิดรับไม่ได้ คุณไม่เข้าใจความคิดความรู้สึกของนักลงทุน นักลงทุนเกาหลีลงทุนในเขตที่มีคนเกาหลีอยู่ ไม่ลงทุนในเขตที่จีนอยู่เพราะเขาไม่ถูกกับจีน คุณต้องไปตั้งเขตใหม่ให้เขา ถ้าคุณไม่เข้าใจ คุณก็จะสะเปะสะปะ"

ด้านสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลมอบให้แก่นักลงทุน พิชัยมีทัศนะว่าเป็นการลด แลก แจก แถมที่มากเกินไป และไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดตามมาต่อผู้ประกอบการของไทย

"อย่างอาลีบาบา คุณให้เขาเยอะแยะไปหมด แล้วธุรกิจออนไลน์ในอนาคตของไทยจะสู้กับอาลีบาบาได้อย่างไรเมื่อคุณให้สิทธิประโยชน์เขาเยอะขนาดนี้ คุณไม่ได้มองว่าอาลีบาบาเป็นธุรกิจที่จะมีการแข่งขันกับไทยด้วยหรือเปล่า"

อีกประเด็นคือความต้องการดึงดูดการลงทุนจนละเลยสิ่งแวดล้อมอาจสร้างผลกระทบที่ย้อนกลับคืนไม่ได้ กลายเป็นว่าอนาคตต้องตามแก้ปัญหามลภาวะแพงกว่าการลงทุนที่ได้รับ

ส่วนกรณีเช่าที่ดิน 99 ปี พิชัยไม่เห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่ ประสบการณ์การทำธุรกิจในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศทุนนิยมเต็มขั้น เขายอมรับได้กับเรื่องนี้

"ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือถ้าเรามีโอกาสเป็นรัฐบาล เราจะทำอย่างไรให้อีอีซีเกิดผล ปัญหาหลักๆ ที่มันไม่เกิดผลคืออะไร ผมคิดว่าประการแรกคือการเจรจาการค้ากับประเทศหลักๆ อย่างอเมริกา อียู ออสเตรเลียยังทำไม่ได้ จึงเกิดข้อจำกัดว่าถ้ามาลงทุนแล้วจะขายใครได้หรือเปล่า จะเจอกำแพงภาษีหรือเปล่า ขณะที่ไปลงทุนประเทศอื่นสามารถมั่นใจว่าจะขายได้เพราะมีเอฟทีเอแล้ว

"เมื่อใส่ปัจจัยความเสี่ยงทางการเมืองเข้าไปก็ทำให้เป็นปัญหาต่อการลงทุน ผมคิดว่าประเด็นนี้มีส่วนอยู่ไม่มากก็น้อย เราก็ต้องพยายามสร้างความมั่นใจ แต่รัฐธรรมนูญก็ยังไม่รู้จะทำให้รัฐบาลในอนาคตมีปัญหาหรือเปล่า ถ้าเราสร้างความมั่นใจได้ รัฐบาลมีความมั่นคง มีทิศทางในการเจรจาการค้า ผมว่าโอกาสการลงทุนเพิ่มขึ้นก็มี เพราะประเทศไทยก็มีศักยภาพที่จะลงทุนอยู่แล้ว

"ส่วนตัวกฎหมายผมไม่ใช่นักกฎหมาย ไม่ได้ดูในรายละเอียด อีอีซีโดยหลักการแล้วดี แต่ผมเชื่อว่ามีหลายเรื่องต้องแก้ไข บางเรื่องถ้าจะส่งผลกระทบต่อประเทศระยะยาว เช่น การข้ามเรื่องการทำอีไอเอ เอชไอเอ"

พิชัยยังตั้งข้อสังเกตต่อโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินเกี่ยวกับการรวมที่ดินมักกะสันเข้าไปในโครงการ

"การเอาที่ดินมักกะสันเข้าไปแถมในโครงการ ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่ ที่ดินผืนนี้บางคนวิเคราะห์มูลค่าสูงถึง 2 แสนกว่าล้านบาท เมื่อ 10 กว่าปีก่อนยังประเมินไว้ที่ 80,000 กว่าล้านบาท คุณจะเอามาปนกันทำไม ที่คุณเอามาปนกันเพราะคุณมีผู้ชนะในใจแล้วหรือยัง ส่วนตัวผมเชื่อว่ามันไม่ได้เกี่ยวข้องกัน โครงการเชื่อมต่อสามสนามบินด้วยตัวโครงการเองน่าจะคุ้มทุนอยู่แล้ว การแถมที่ดินมักกะสันไม่ได้ให้ประโยชน์สูงสุดกับประเทศ ถ้าจะใช้ประโยชน์ที่ดินผืนนี้ก็เปิดให้คนมาประมูล เพราะคนทำรถไฟอาจจะไม่ชำนาญการพัฒนาที่ดิน คนที่ชำนาญการพัฒนาที่ดินก็อาจไม่ชำนาญเรื่องรถไฟก็ได้ แบบนี้คุณก็ต้องไปหาคนที่ชำนาญทั้งสองเรื่องซึ่งมีไม่เยอะ มีคนในใจหรือเปล่า"

พิชัยทิ้งท้ายการสนทนาว่า

"รัฐบาลต้องกลับมาดูตัวเองหรือไม่ว่าปัญหาคืออะไร ทำไมหลังการรัฐประหารแล้วการลงทุนหายไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ รัฐบาลต้องยอมรับความจริงและคิดว่าจะแก้อย่างไร"

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น