โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com

Link to ประชาไท

สันติภาพปางโหลง : เมียนมา 2018 ความรุนแรงสู่โต๊ะเจรจา [คลิป]

Posted: 11 Jul 2018 09:25 AM PDT

เสวนา SEAS Talk  3.18 หัวข้อ "สันติภาพปางโหลง เมียนมา 2018 : ความรุนแรงสู่โต๊ะเจรจา" เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ห้อง LA206-7 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

อภิปรายโดย สมฤทธิ์ ลือชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านชาติพันธุ์วัฒนธรรมอุษาคเนย์, ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วงเสวนาในช่วงที่พม่ากำลังจัดการประชุมปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21 ครั้งที่ 3 จับตากระบวนการเจรจาสันติภาพในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือพม่าในยุครัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีว่ามีความคืบหน้าหรือถดถอยประการใดบ้าง เป้าหมายที่ไม่ตรงกันตั้งแต่กองทัพพม่าที่ต้องการมีบทบาทอย่างสูงในทางการเมืองรวมทั้งเล่นบทเป็นผู้พิทักษ์รัฐ ส่วนฝ่ายการเมืองพม่าก็ไม่ต้องการให้อิสระแก่กลุ่มชาติพันธุ์ในระดับเข้มข้น ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าก็มีเป้าหมายที่หลากหลายตั้งแต่การร่วมสร้างสหพันธ์รัฐ เขตปกครองตนเอง ไปจนถึงการมีรัฐเอกราช

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คืนวันพุธปลดอาวุธ คสช. iLaw X Prachatai | EP3 ศาลทหารกับทนายอานนท์

Posted: 11 Jul 2018 09:03 AM PDT

"คืนวันพุธปลดอาวุธ คสช." โดย iLaw X Prachatai สัปดาห์นี้พาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ ประกาศ คสช. ที่ให้เอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร ประกาศ คสช. 3 ฉบับ ส่งผลให้ประชาชนนับพันต้องไปต่อสู้คดีในศาลทหาร บางคดีไม่มีสิทธิอุทธรณ์ - ฎีกา บางคดีต้องไปต่อสู้กันในพื้นที่ค่ายทหาร พบกับ "ทนายน้อยๆ" อานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรมที่ต้องขึ้นศาลทหารทั้งในฐานะทนายความและในฐานะจำเลย

และร่วมเป็นหนึ่งใน 10,000 รายชื่อเพื่อปลดอาวุธ คสช. ได้ที่ www.ilaw.io

รับชมรายการ คืนวันพุธปลดอาวุธ คสช. ได้ทางเฟซบุ๊กไลฟ์ทางเพจ @prachatai และ @ilaw ทุกคืนวันพุธ ตั้งแต่เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป และรับชมทาง YouTube ได้ในวันพฤหัสบดี

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตือนแรงงานไทยในไต้หวัน กลับประเทศ 'ปิดบัญชี-ซิมการ์ด'

Posted: 11 Jul 2018 06:09 AM PDT

เตือนแรงงานไทยในไต้ควรปิดบัญชีธนาคารเมื่อสิ้นสุดการจ้างงานและการต่อสัญญาจ้างเพื่อประโยชน์ในการรักษาสิทธิของตัวเองและป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบ เมื่อสิ้นสุดการจ้างงานก่อนเดินทางกลับประเทศไทยให้ดำเนินการปิดบัญชีธนาคาร และนำสมุดบัญชีรวมทั้งซิมการ์ดโทรศัพท์ติดตัวกลับไปด้วย เพื่อป้องกันมิจฉาชีพนำไปใช้ประโยชน์ผิดกฎหมาย


แรงงานไทยในไต้หวัน (แฟ้มภาพกระทรวงแรงงาน)

11 ก.ค. 2561 สำนักงานแรงงานไทยเมืองเกาสง-ไต้หวัน แจ้งเตือนแรงงานไทยที่ทำงานในไต้หวันว่าควรปิดบัญชีธนาคารเมื่อสิ้นสุดการจ้างงานและการต่อสัญญาจ้างเพื่อประโยชน์ในการรักษาสิทธิของตัวเองและป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบ

ตามนโยบายคุ้มครองแรงงานต่างชาติของไต้หวัน 1. กระทรวงแรงงานไต้หวันมีนโยบายคุ้มครองแรงงานต่างชาติตามกฎหมายเช่นเดียวกับแรงงานท้องถิ่น ภายใต้แนวคิดว่าแรงงานต่างชาติมีคุณูปการทางด้านระบบเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมของไต้หวัน จึงพัฒนาปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองดูแลแรงงานต่างชาติให้มีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรฐานหอพักทั้งในสถานประกอบการและบนเรือประมง และบทลงโทษกรณีจ้างงานแบบผิดกฎหมาย เป็นต้น 2. กรณีสิ้นสุดการจ้างงาน ก่อนเดินทางกลับประเทศไทยให้ดำเนินการปิดบัญชีธนาคาร และนำสมุดบัญชีรวมทั้งซิมการ์ดโทรศัพท์ติดตัวกลับไปด้วย เพื่อป้องกันมิจฉาชีพนำไปใช้ประโยชน์ผิดกฎหมาย และ 3. กรณีที่ถูกเรียกรับค่าต่อสัญญาจ้าง สามารถเก็บหลักฐาน ภาพถ่าย หรืออัดเสียงพูดคุย เพื่อร้องทุกข์ต่อไปได้

อนึ่งในปี 2559 มีการ บังคับใช้ กม. แรงงานต่างชาติในไต้หวัน ครบสัญญา 3 ปีไม่ต้องเดินทางออกนอกประเทศแล้ว ต่อมาในปี 2560 ได้มีการออกประกาศ เรื่อง กฎหมายการจ้างงาน มาตรา 52 ฉบับแก้ไข ระบุว่าให้นายจ้างขอยื่นเอกสารต่อสัญญาจ้างแรงงานต่างชาติต่อกระทรวงแรงงานไต้หวันได้ทันทีโดยก่อนที่จะครบสัญญา 2-4 เดือน นายจ้างและลูกจ้างจะต้องตัดสินใจว่าจะต่อสัญญาใหม่หรือไม่หากต้องการต่อสัญญาใหม่ ให้นายจ้างยื่นคำร้องต่อศูนย์บริการจ้างตรงซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หลังได้รับอนุญาตแล้ว ให้นำใบอนุญาต ไปประกอบการยื่นขอต่ออายุใบถิ่นที่อยู่หรือ ARC ส่วนแรงงานหรือนายจ้างที่ไม่ประสงค์จะต่อสัญญาใหม่ แต่แรงงานยังต้องการทำงานกับนายจ้างรายใหม่ต่อไป ให้นายจ้างเดิมยื่นต่อศูนย์บริการจ้างตรงก่อนครบกำหนดสัญญา 2-4 เดือนเช่นกัน 

สำหรับแนวปฏิบัติในการตรวจรับรองเอกสารสัญญาจ้างแรงงานไทยดังนี้ 1. กรณีที่นายจ้างประสงค์ที่จะจ้างแรงงานไทยรายเดิม ขอความร่วมมือให้ต่อสัญญาจ้างใหม่ในไต้หวันทันทีซึ่งสำนักแรงงาน ณ เมืองเกาสงพิจารณาเห็นว่า กรณีที่ส่งแรงงานไทยรายเดิมกลับไปต่อสัญญาจ้างที่ประเทศไทยเป็นการแสวงประโยชน์จากค่าบริการจัดหางานโดยไม่เป็นธรรม 2. กรณีที่แรงงานไทยขอโอนย้ายนายจ้างใหม่เมื่อได้รับอนุญาตแล้วนายจ้างใหม่ต้องนำเอกสารการจ้างแรงงานจำนวนสองชุดยื่นต่อสำนักแรงงานไทย ณ เมืองเกาสง ภายในเวลา 1 เดือน และ 3. กรณีที่แรงงานไทยขอกลับไปพักที่ประเทศไทยหลังนายจ้างได้ต่อสัญญาจ้างใหม่ในไต้หวันแล้ว ขอความร่วมมือให้บริษัทจัดหางานประชาสัมพันธ์ให้แรงงานไทยไปรายงานตัวที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกแห่ง เพื่อขอต่ออายุบัตรสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ มิฉะนั้นด่านตรวจคนเข้าเมืองจะไม่อนุญาตให้เดินทางออกจากประเทศไทยกลับมาไต้หวันได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'หลิวเซีย' ภรรยา 'หลิวเสี่ยวโป' เดินทางไปเยอรมนีแล้ว หลังถูกรัฐบาลจีนขังในบ้าน 8 ปี

Posted: 11 Jul 2018 05:15 AM PDT

กระทรวงต่างประเทศของจีนเปิดเผยว่า หลิวเซีย ภรรยาม่ายของนักกิจกรรมจีนชื่อดังหลิวเสี่ยวโป เดินทางออกจากประเทศจีนแล้วหลังจากถูกทางการจีนคุมขังอยู่ภายในบ้านเป็นเวลา 8 ปี

หลิวเสี่ยวโปผู้เป็นสามีของเธอเป็นนักกิจกรรมชื่อดังที่ได้รางวัลโนเบล แต่เขากลับต้องเสียชีวิตขณะรับโทษคุมขังในคุก 11 ปี ด้วยโรคมะเร็งปอดโดยถูกกล่าวหาว่า "ยุยงปลุกปั่นล้มล้างอำนาจรัฐ" ขณะที่หลิวเซียก็ถูกคุมขังอยู่ภายในบ้านนับตั้งแต่สามีของเธอได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2553 และไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกประเทศแม้แต่จะไปเข้ารับการรักษาทางการแพทย์

อย่างไรก็ตามล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา หลิวเซีย ได้เดินทางไปยังกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยที่หลิวฮุ่ยน้องชายของเธอให้สัมภาษณ์ต่อสื่อซีเอ็นเอ็นยืนยันในเรื่องนี้ เขายังกล่าวขอบคุณคนที่เป็นห่วงคนที่ช่วยเหลือเธอและอวยพรให้เธอมีชีวิตที่สงบและมีความสุข ขณะที่ทางการจีนก็ยืนยันในที่ประชุมแถลงข่าวรายวันเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกันโดยเปิดเผยว่าหลิวเซียเดินทางไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ

ซีเอ็นเอ็นระบุว่าการปล่อยตัวหลิวเซียเกิดขึ้นในช่วงก่อนครบรอบ 1 ปี การเสียชีวิตของสามีเธอ และหนึ่งวันหลังจากที่หลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนพบปะกับแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี

แพทริก พูน นักวิจัยประเด็นจีนจากองค์กรแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลกล่าวว่าหลิวเซียไม่หยุดต่อสู้เพื่อสามีของเธอที่ถูกคุมขังด้วยการอ้างโทษแบบผิดๆ มาโดยตลอด ทำให้เธอโดนลงโทษอย่างโหดร้าย ทางการจีนพยายามจะทำให้เธอหยุดเรียกร้อง แต่เธอก็ยังคงยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อไป มันจึงเป็นเรื่องที่ยินดีที่ตอนนี้หลิวเซียได้เป็นอิสระแล้ว พูนยังเรียกร้องให้ทางการจีนเลิกข่มเหงรังแกครอบครัวของหลิวด้วย เพราะทางการจีนเคยคุกคามญาติๆ ของหลิวเซียเพื่อเป็นเครื่องมือกดดันเธอไม่ให้เธอพูด

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา หลิวเซียมีสภาวะทางจิตใจที่ย่ำแย่จากการถูกข่มเหงรังแกโดยรัฐบาล เธอแสดงออกเรียกร้องความช่วยเหลือด้วยความรู้สึกสิ้นหวังต่อโลก "ไม่มีอะไรเหลือในโลกนี้สำหรับฉันอีกแล้ว" "ตายไปยังง่ายกว่า สำหรับฉันแล้ว แค่อยากใช้ความตายเพื่อต่อสู้กลับ ไม่มีอะไรง่ายไปกว่านี้อีกแล้ว"

เพื่อนของหลิวเซียเคยเปิดเผยว่าหลิวเซียมีอาการโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรงมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยมักจะเห็นเธอร้องไห้หรือสะอึกสะอื้นผ่านทางคลิปเสียง บางครั้งก็แสดงออกถึงความไม่พอใจอย่างหนักต่อสภาพที่เป็นอยู่ เธอบอกว่าเธอโกรธมากจนพร้อมจะตายได้

มีรัฐบาลต่างประเทศหลายแห่งที่เรียกร้องให้ทางการจีนปล่อยตัวหลิวเซียผู้ที่ถูกคุมขังในบ้านทั้งที่ไม่ได้มีความผิดใดๆ เลย ฝ่ายสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเองก็แสดงความเป็นห่วงในเรื่องที่หลิวเซียถูกคุมขังโดยไม่ทราบว่าเป็นสถานที่แห่งใดและในเรื่องที่เธอมีความเจ็บป่วยทางใจ พวกเขาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลจีนปล่อยตัวหลิวเซียให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการเดินทาง

กระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีเคยกล่าวไว้เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาว่าพวกเขาจะหารือกับจีนเรื่องคดีของหลิวและบอกว่าพวกเขายินดีถ้าหากหลิวเซียจะเดินทางมาที่เยอรมนี

เมื่อหลิวเซียอยู่ในกรุงเบอร์ลินแล้วเธอจะเข้าร่วมชุมชนผู้พลัดถิ่นชาวจีนที่อาจจะเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ก็ส่งอิทธิพลทางความคิด ไม่ว่าจะเป็นศิลปินอย่างอ้ายเว่ยเว่ย หรือนักเขียนต่อต้านรัฐบาล เหลียวอี้หวู่ หนึ่งในศิลปินจีนที่อาศัยในเยอรมนี ปาดิวเข่า กล่าวว่ากรณีที่หลิวเซียได้เดินทางมาเยอรมนีได้เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์แต่ก็น่ากังวลที่รัฐบาลยังให้พี่น้องของเธออยู่ในจีนทำให้ไม่รู้ว่าหลิวเซียจะแสดงออกได้มากน้อยแค่ไหน แต่เขาก็บอกว่าจะรอชมบทกวีหรืองานภาพถ่ายชิ้นใหม่จากหลิวเซีย

 

เรียบเรียงจาก

Widow of Nobel Peace Prize laureate Liu Xiaobo leaves China, CNN, 10-07-2018

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีลาภลอย - ยกเว้นภาษีเงินได้ฯ ลดผลกระทบการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

Posted: 11 Jul 2018 04:07 AM PDT

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีลาภลอย วางเขตไว้ไม่เกินรัศมี 5 กม.รอบพื้นที่โครงการฯ  มาตรการภาษีบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ร่าง พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล ฯลฯ

ที่มาภาพ https://th2-cdn.pgimgs.com/cms/news/2016/06/Trin-1.original.jpg

เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติที่สำคัญหลายประเด็น ประกอบด้วย มติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ)  และ ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. ....

โดยมีรายละเอียดดังนี้

ร่างภาษีลาภลอย ไม่เกินรัศมี 5 กม.

พรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.ได้มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. .... (หรือภาษีลาภลอย) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินการลงทุนจัดทำโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ (โครงการฯ) จำนวนมาก ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ซึ่งเมื่อโครงการฯ ดังกล่าวเริ่มดำเนินการจนกระทั่งแล้วเสร็จ จะส่งผลให้ที่ดินและห้องชุดบริเวณรอบโครงการฯ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีและสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจากผู้ที่ได้รับประโยชน์ดังกล่าว จึงเห็นควรให้มีการจัดเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินหรือห้องชุดที่ได้รับประโยชน์จากการเพิ่มของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดอันเนื่องมาจากการพัฒนาโครงการฯ และนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาประเทศต่อไป โดย ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐหรือเป็นเจ้าของห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาทและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอการจำหน่ายซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ

2. โครงการฯ ที่จัดเก็บภาษี คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่น ๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง

3. การจัดเก็บภาษีแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้ 3.1 ในระหว่างการดำเนินการจัดทำโครงการฯ จะจัดเก็บภาษีจากการขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือห้องชุดซึ่งตั้งอยู่รอบพื้นที่โครงการฯ ในรัศมีที่กำหนด 3.2 เมื่อการก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ จะจัดเก็บภาษีเพียงครั้งเดียวจาก 1) ที่ดินหรือห้องชุดเฉพาะส่วนที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท(ยกเว้นภาษีให้แก่ที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้เพื่อพักอาศัยและที่ดินที่ใช้ประกอบเกษตรกรรม) 2) ห้องชุดของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่รอจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ

4. พื้นที่จัดเก็บภาษี กำหนดขอบเขตไว้ไม่เกินรัศมี 5 กิโลเมตรรอบพื้นที่โครงการฯ ทั้งนี้ กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษี ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการออกประกาศกำหนดพื้นที่ที่จะจัดเก็บภาษีในแต่ละโครงการฯ

5. หน่วยงานจัดเก็บภาษี ได้แก่ กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีโครงการฯตั้งอยู่

6. ฐานภาษีเพื่อการคำนวณภาษี ให้คำนวณจากส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดที่เพิ่มขึ้นระหว่างวันที่รัฐเริ่มก่อสร้างโครงการฯ และมูลค่าในวันที่การก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ สำหรับโครงการฯ ที่ยังก่อสร้างอยู่ในวันที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ ให้ใช้วันที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้เป็นวันเริ่มต้นในการคำนวณฐานภาษี ทั้งนี้ การคำนวณมูลค่าที่ดินและห้องชุด ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุดเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์กำหนดเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ ในกรณีห้องชุดไม่สามารถคำนวณส่วนต่างของมูลค่าห้องชุดได้ เนื่องจากไม่มีราคาประเมินห้องชุดให้คำนวณส่วนต่างดังกล่าวเท่ากับร้อยละ 20 ของมูลค่าห้องชุด

7. การคำนวณภาษีให้ใช้ฐานภาษีของที่ดินหรือห้องชุดที่คำนวณได้คูณด้วยอัตราภาษี

8. อัตราภาษี กำหนดเพดานอัตราสูงสุดของภาษีที่กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บได้ ไม่เกินร้อยละ 5 ของฐานภาษี ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงจะกำหนดในพระราชกฤษฎีกา

9. ภาษีที่จัดเก็บได้ให้นำส่งเงินภาษีเข้าคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน

10. โครงการฯ ที่จัดเก็บภาษี คือ โครงการฯ ที่ยังก่อสร้างอยู่ในวันที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ หรือโครงการฯ ที่จะก่อสร้างภายหลังจากวันที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้

ร่าง พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล

ครม. มติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง  เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา  ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ระบุว่า กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคลโดยได้กำหนดบทนิยามให้ "ทรัสต์" หมายความว่า นิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์และ "การจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล" หมายความว่า การบริหารจัดการทรัพย์สินของผู้ก่อตั้งทรัสต์เพื่อประโยชน์ของผู้รับประโยชน์ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในสัญญาก่อตั้งทรัสต์ ทั้งนี้ ให้รวมถึงการจัดการทรัพย์สินในกองทรัสต์ภายหลังผู้ก่อตั้งทรัสต์ถึงแก่ความตาย โดยขอบเขตของทรัสต์ตาม พ.ร.บ.นี้ ให้มีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล และไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการดังต่อไปนี้ คือ 1) มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 2) การระดมทุนจากประชาชน 3) การจัดการทรัสต์ที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน และ 4) การจัดการทรัสต์ที่มีลักษณะเป็นทรัสต์เพื่อการประกอบธุรกิจที่มีกฎหมายกำกับดูแล ทั้งนี้ยังได้กำหนดหลักการต่าง ๆ เกี่ยวกับทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล

ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

ครม. อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

ครม. ยังรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเสนอ 

รวมทั้งให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเร่งรัดดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารทุนหมุนเวียน แล้วส่งผลการพิจารณาให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป และให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2549 (เรื่อง ขั้นตอนการจัดตั้งองค์การมหาชน) และให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวตามความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ต่อไป

ยกเว้นภาษีเงินได้ฯ บรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้

โดย สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา ประกอบด้วย 

1. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 และส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละสิบห้าของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้าง ให้แก่ 1.1 บุคคลธรรมดา ซึ่งมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน และมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) (6) (7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร รวมกันไม่เกินหนึ่งร้อยล้านบาทต่อปีก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ทั้งนี้ ในปีภาษีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ และ 1.2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน และมีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการรวมกันไม่เกินหนึ่งร้อยล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

2. บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ 2.1 มีการจ่ายค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างประกาศกำหนด ซึ่งให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป 2.2 มีการจ่ายค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้างในอัตราสูงกว่าอัตราค่าจ้างรายวันเดิมที่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างก่อนวันที่ 1 เม.ย. พ.ศ. 2561 และ 2.3 ไม่มีการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เนื่องจากรายจ่ายในการจ้างงานตามพระราชกฤษฎีกาอื่นที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรอีก ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

ครม. ยังมีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย 
 
สาระสำคัญของร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย  เป็นการกำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยกำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นรายปีประเทศละไม่เกิน 100 คนต่อปี และไม่เกิน 50 คนต่อปี สำหรับคนไร้สัญชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยสามารถยื่นคำขอมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยต่อไป อันเป็นการส่งเสริมให้คนต่างด้าวเข้ามาลงทุนและทำงานในประเทศไทย 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โทษประหารในมุมอดีตรอง ผบก.จเรตำรวจ : กระบวนการยุติธรรมที่ผิดพลาดเป็นเรื่องโหดร้าย

Posted: 11 Jul 2018 02:47 AM PDT

มุมมองอดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร ผู้ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยมีปัญหามากมาย ตั้งแต่การบิดเบือนคำให้การจนถึงการประหารนอกกฎหมาย ชี้หากลงโทษประหารย่อมไม่มีวันแก้ไขคืนกลับได้เลยถ้าลงโทษผิดคน

  • แนวคิดต่อผู้กระทำผิดมีการเปลี่ยนแปลงจากที่มองเป็นคนชั่วร้ายต้องลงโทษมาสู่การแก้ไข เพราะมองเห็นคุณค่าในชีวิต
  • กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยมีปัญหา การสอบสวนไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ที่แม่นยำ ทำให้เกิดการลงโทษผู้บริสุทธ์
  • ต้องทำการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

การประหารผู้ต้องขังครั้งล่าสุดหลังจากว่างเว้นไปเกือบ 10 ปี จุดกระแสการถกเถียงอันร้อนแรงในสังคมไทยว่า โทษประหารควรมีอยู่หรือไม่ มันนำไปสู่การโต้เถียงด่าทอกันระหว่างสองฟากความคิด

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้จัดงานเสวนาเรื่อง 'ทางออกโทษประหารกับปัญหากระบวนการยุติธรรม' เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ ให้มุมมองต่อประเด็นนี้ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหามากมาย ทำให้การลงโทษจำเลยสุ่มเสี่ยงที่จะลงโทษผู้บริสุทธิ์ และถ้าเป็นการลงโทษประหารชีวิตด้วยแล้ว ย่อมหมายความว่าจะไม่มีวันแก้ไขคืนกลับได้เลยหากลงโทษผิดคน

จากลงโทษสู่การแก้ไข

การที่เราพูดถึงเรื่องโทษประหาร มันเป็นสัญญาณของความสิ้นหวังต่อกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ กระบวนการยุติธรรมโบราณถือเอาการประหารเป็นหลักและก็ไม่ใช่การประหารแบบปัจจุบัน แต่ประหารแบบโหดเหี้ยมเพื่อให้คนกลัว หลักสำคัญคือแก้แค้นให้กับผู้เสียหายและทำให้สังคมปลอดภัย ปลอดภัยแบบแน่นอนเด็ดขาด ไม่ต้องเสียเวลาควบคุมตัว กำจัดเลย

การลงโทษทางอาญาสมัยโบราณถือหลักการลงโทษรุนแรงมาตลอด ในยุโรปแค่เป็นหนี้แล้วไม่ใช้ เอาไปขังคุกมืดขึ้นกับจำนวนเงิน แล้วปรากฏการณ์เหล่านี้ก็คลายตัวไปตามความเจริญก้าวหน้าของสังคม ซึ่งเขาคิดว่าพวกนี้เป็นพวกชั่วร้าย แก้ไขอะไรไม่ได้ สมัยก่อนก็คงไม่มีความละเอียดอ่อนที่จะคิดแก้ไข แล้วประเทศเราก็เจริญไปตามตะวันตก ขณะที่ตะวันตกมีความคิดก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จากเดิมที่มองอาชญากรเป็นคนชั่วร้ายเปลี่ยนเป็นคนป่วย ทำนองเดียวกันกับการปฏิบัติต่อผู้ป่วยจิตเวชที่สมัยก่อนก็ปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม แต่ตอนหลังก็มีความพยายามในการแก้ไข

ทั้งหมดทั้งปวงมันขึ้นกับว่าเราเห็นคุณค่าในตัวมนุษย์แค่ไหน สังคมที่เจริญจะเห็นคุณค่าของชีวิตมากกว่าสังคมที่เจริญน้อยกว่า ต้องยอมรับว่าสังคมตะวันตกมีความคิดเหล่านี้ เขาจึงยกเลิกโทษประหาร ในประเทศยุโรปแทบทั้งหมดก็ยกเลิกไปแทบทั้งสิ้น เวลานี้ประเทศที่ยังมีโทษประหารเหลือเพียงส่วนน้อย

กฎหมายและโทษประหารมีอยู่ 3 ลักษณะคือประเทศที่มีโทษประหารอยู่ในกฎหมายและมีการบังคับใช้จริงจัง เช่น จีนประหารปีหนึ่งเป็นพันๆ คน อีกประเภทหนึ่งคือยกเลิกไปเลย ไม่มีอยู่ในกฎหมาย ประเภทสุดท้ายคือมีโทษประหารอยู่ในกฎหมาย แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้จริง ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น กระทั่งกระแสความเจริญก้าวหน้าในโลกตะวันตก การตระหนักของพวกเราเองที่รู้สึกว่าเขาก็เป็นผู้ป่วยคนหนึ่ง ถ้าเรายึดปรัชญาที่ว่าส่วนใหญ่อาชญากรเกิดจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เราควบคุมได้ ป้องกันได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดปกติ ลักษณะทางพันธุกรรมที่มีความเป็นอาชญากรมาแต่กำเนิดก็มี เจอใครพูดผิดหูก็ชกทันที ยิงทันที แต่ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยสิ่งแวดล้อม ปัญหาคือข้อมูลเหล่านี้เราไม่ค่อยมี

ลองสังเกตดู หลายกรณีเกิดจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมกระตุ้นทั้งนั้น บางคนมีความอดทนต่อความคับแค้นใจได้มาก แต่บางคนก็ถึงจุดที่ทนไม่ได้ ตัวอย่างคุณป้าจอมขวาน วันนั้นถ้ามีปากเสียง แกอาจจะบันดาลโทสะเอาขวานจามหัว แกก็เป็นอาชญากรไป จะเห็นว่ามันเกิดขึ้นได้ แล้วมันเป็นเพราะอะไร เพราะว่าไม่ควบคุม ไม่เป็นธุระในการบังคับใช้กฎหมาย ทุกอย่างมีกฎหมายหมด แต่รัฐไม่เป็นธุระหรือทำท่าเป็นธุระแต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติจริง แล้วทุกคนผมก็คิดว่าอยู่ในสภาพนี้ได้ทั้งนั้น อยากเข้าไปจัดการเอง พอเข้าไปจัดการเองก็เกิดการกระทบกระทั่งกลายเป็นอาชญากรไป

ศาลก็ไม่มั่นใจว่าจำเลยผิดจริง

โทษประหารในกฎหมายไทยมีอยู่สี่ห้าลักษณะ ในเรื่องการฆ่าก็คือฆ่าโดยไตร่ตรอง ฆ่าอย่างทารุณโหดร้าย ฆ่าเจ้าพนักงาน ฆ่าเพื่อปกปิดความผิด และข่มขืนฆ่า ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต และเรื่องยาเสพติดที่ผลิต นำเข้า ส่งออกเพื่อการค้า เหล่านี้มีบทลงโทษประหารสถานเดียว ซึ่งศาลเองก็ไม่สามารถลงโทษเป็นอื่นได้ ศาลเองก็ไม่อยากลงโทษประหาร ถึงแม้จะมีหลักฐานชัดเจนก็ไม่อยากลงโทษประหาร ด้วยความรู้สึกว่าไม่อยากประหารชีวิตใคร

ผมคิดว่าเราทุกคน โดยเฉพาะประเทศเราที่เป็นเมืองพุทธคงไม่มีใครอยากเป็นคนสั่งให้ประหาร เพชฌฆาตก็เพียงลั่นไกตามกระบวนการของกฎหมาย แต่จะเห็นว่าไม่มีใครอยากเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น สังคมไทยรู้สึกอับจน ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร โทษไม่รุนแรงพอ ใครที่มีโทษประหารชีวิต สารภาพก็ลดโทษ อันนี้ธรรมดา ไม่มีทางเลือก เมื่อจำเลยรับสารภาพศาลก็ต้องลดโทษให้ ถ้าไม่ลดโทษจะผิดหลักกระบวนการยุติธรรม ศาลจะได้แน่ใจว่าคนคนนั้นกระทำความผิด

กรณีที่มีโทษประหาร บางคนต่อสู้คดีอย่างสุดชีวิต บางทีต่อให้ศาลเห็นหลักฐาน ศาลก็ไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าคนคนนี้ทำผิดจริงหรือไม่ แต่ที่น่าตกใจคือบางกรณีไม่มีความชัดเจนเลยก็มี ศาลจึงไม่ค่อยอยากลงโทษประหาร หรือกรณีคนที่ฆ่าผู้อื่น รับสารภาพ ศาลก็ลงโทษประหารไม่ได้ บางกรณีลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ทำไม 7 ปีออกมาแล้ว ถ้ามีปัญหาเรื่องกระบวนการลดโทษก็ต้องไปว่ากันตรงนั้น คนที่ถูกพิพากษาลงโทษตลอดชีวิต ผมตรวจสอบดู ส่วนใหญ่ต้องถูกจำคุกไม่ต่ำกว่า 15 ปี

จริงๆ การติดคุกก็ทำให้เข็ดหลาบ คนที่ก่ออาชญากรรมไม่ได้คิดหรอกว่ามีโทษแค่ไหน บางทีมีอารมณ์ก็ลุยกันไป พอเกิดเหตุแล้วก็กระทำผิดต่อเนื่องไป เช่น หั่นศพ ทำลายศพ เป็นความต่อเนื่อง บางทีไม่ได้ตั้งใจ ต้องทำผิดไปเรื่อยๆ คนก็มองว่าโหดร้าย ต้องประหาร แต่เมื่อจำเลยรับสารภาพแล้วก็ไม่อาจจะประหารได้

ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

มีบางกรณีที่มีพยานหลักฐานว่าผู้ถูกประหารไม่ได้กระทำความผิด หลายฝ่ายก็พยายามไม่พูดถึง ซึ่งผมคิดว่าไม่ถูกต้อง มีพยานปรากฏออกทีวี พูดแบบนี้ๆ กลายเป็นว่าพยานถูกดำเนินคดีฐานเอาความเท็จเข้าสู่คอมพิวเตอร์ นี่เป็นเพราะเราไม่พยายามค้นหาความจริง

การที่เรามี พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ตั้งแต่ปี 2526 สะท้อนว่า สังคมยอมรับว่าคำพิพากษาอาจมีความผิดพลาดได้ ถ้ามีหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญก็สามารถขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ เมื่อก่อนไม่มีนะครับ คำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่การมีกฎหมายรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่สะท้อนว่าเรายอมรับว่าศาลก็เป็นมนุษย์ปุถุชน อาจจะมีความผิดพลาดได้

แต่ปัญหาคือตั้งแต่ปี 2526 จนถึงปัจจุบัน เรายังไม่มีการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ได้สำเร็จเลย เข้าสู่กระบวนการพิจารณาประมาณ 3 ราย อีกเกือบ 200 รายมีการยื่น แต่ที่น่าเสียใจคือใครที่พยายามยื่นขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่กลายเป็นคนเสียหาย ถูกมองเป็นคนกะล่อนปลิ้นปล้อน ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะเป็นสิทธิตามกฎหมาย กระบวนทัศน์ของผู้เกี่ยวข้องควรเข้าใจว่า ถ้ามีหลักฐานใหม่ก็ควรให้ความยุติธรรม ไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย

และถ้าพิจารณาอย่างจริงจัง มันจะนำไปสู่การแก้ไขกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ด้วย แต่ถ้าเราปกปิดไว้ ทุกอย่างก็เหมือนเป็นไปด้วยดี ทำให้ไม่เกิดการแก้ไข เพราะเราไม่ยอมรับความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าชั้นใด ทุกฝ่ายจะตะแบงไปกันหมด

ทุกวันนี้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนได้รับจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหาย ผู้ต้องหา ไม่รับแจ้งความ จับแพะ หรือคดีอาญาที่อัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้อง ซึ่งไม่ใช่ความยุติธรรม คดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องแล้วใครเป็นผู้กระทำความผิดล่ะ แล้วถ้าสั่งไม่ฟ้อง ผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวอย่างไม่เป็นธรรม หรือถ้าศาลยกฟ้องก็ยิ่งไปใหญ่เลย ถ้าเป็นผู้บริสุทธิ์ เขาก็เป็นแพะในชั้นศาล แต่ถ้าเขาเป็นผู้กระทำความผิด เขาก็ลอยนวลเลย ก็ไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหาย มีคดีประมาณร้อยละ 40 ที่จำเลยต่อสู้คดีแล้วศาลยกฟ้อง ขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นถ้าอัยการสั่งฟ้อง ศาลจะลงโทษเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เขาจะไม่แจ้งข้อหาใครง่ายๆ แจ้งแล้วอัยการสั่งไม่ฟ้อง อัยการฟ้องแล้วศาลยกฟ้อง

หลักคิดของพนักงานอัยการก็ต้องมีการปฏิรูปครับ จากแค่มีหลักฐานพอฟ้องก็ฟ้อง แต่ต้องมีหลักฐานเพียงพอให้ศาลลงโทษได้จึงจะฟ้อง ถ้าอัยการฟ้องคดีไหน แล้วศาลยกฟ้อง อัยการจะต้องถูกตรวจสอบว่าบกพร่องอะไร โจทย์จะไปตกที่พนักงานสอบสวน ตำรวจ คุณต้องทำให้คดีเกิดขึ้นน้อย การสอบสวนต้องมีประสิทธิภาพ รวบรวมหลักฐานให้แน่นหนา ชัดเจน และเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ปัญหาของประเทศเราคือไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์อย่างยิ่งเลย โดยเฉพาะการสอบปากคำพยานบุคคล คุณจะสอบกันยังไงก็ได้ ระหว่างโมโหอยู่จะพูดความจริงทั้งหมดก็ยังไม่สอบ ค่อยรอให้หายโมโหแล้วสอบก็ได้ ที่พูดไม่จด ที่จดไม่ได้พูด

ที่น่าตกใจคือบางทีพยานไม่ต้องการให้การในชั้นสอบสวน เพราะไม่รู้ว่าให้การไปแล้วจะถูกบิดเบือนอย่างไร ผู้ต้องหาเองก็ไม่อยากให้การแก้ข้อกล่าวหา ขอให้การชั้นศาล เมื่อเป็นอย่างนี้ อัยการก็ต้องฟ้องศาล ถือว่าไม่มีข้อต่อสู้ก็ฟ้องเลย จริงๆ ไม่ใช่ผู้ต้องหาไม่อยากให้การ แต่กลัวว่าให้การไปแล้วจะถูกบิดเบือนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เช่น อ้างพยานสักคน ตำรวจก็ไปสอบพยานปากนี้ จากที่เห็นก็กลายเป็นไม่เห็น เป็นต้น เป็นกระบวนการยุติธรรมที่วิปริต

สรุปคือเราจะคิดอย่างไรกับโทษประหารขึ้นอยู่กับว่าเราคิดอย่างไรกับอาชญากรรม ถ้าเราคิดว่าเขาเป็นผู้ป่วยที่ต้องแก้ไข หลักในการลงโทษเอาคนติดคุก ความจริงมันก็ดับแค้นได้ไม่น้อย ทำให้สังคมปลอดภัย ไม่ใช่ว่าลงโทษแบบต้องการให้สะใจ การจำคุกตลอดชีวิตที่พูดกันว่าติดจริงเจ็ดปี สิบปี บางทีก็พูดกันผิดๆ ความจริงติดกันไม่น้อย แต่เรื่องการลดโทษ เราต้องไปควบคุมตรงนั้น คนที่ต้องโทษประหารชีวิต แม้ไม่ได้ประหารจริง อย่างน้อยเขาก็ถูกจำคุกตลอดชีวิตนะครับ เขาต้องตายในคุก แต่เขาถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต เขาอาจได้รับการลดโทษ แต่ศักยภาพในการก่ออาชญากรรมจะถูกทำลายไปด้วยอายุขัยของเขาเอง

เราต้องยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศเรามีปัญหา และในทัศนะของผมมันมีปัญหาที่ร้ายแรงมาก เราพูดกันมากมาย แต่ก็ไม่มีใครมีข้อมูลจะยืนยันได้ว่ามีผู้ต้องคำพิพากษาที่ไม่ได้ทำผิดจริง ซึ่งมันไม่ควรจะมีแม้แต่รายเดียว เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็บัญญัติเอาไว้ว่า ศาลจะลงโทษใครจะต้องสิ้นสงสัย ต้องเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัย ไม่ใช่คดีที่มีแค่โทษประหาร แต่ทุกคดี แต่ประเทศของเราเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ไม่ใช่ มีคดีไม่น้อยที่ผู้ต้องหารับสารภาพโดยไม่ได้กระทำความผิด รับซะ จะได้จบๆ ไป รับสารภาพในชั้นสอบสวนเพื่อเอาตัวรอดจากการถูกทรมาน ใดๆ ก็แล้วแต่

กรณีมือปืนป็อปคอร์น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง รายนี้ผมมีโอกาสคุยในเรือนจำ เขาก็พูดตลอดว่าเขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย แล้วผมก็ประเมินว่าศาลคงยกฟ้อง ศาลก็ยกฟ้องจริงๆ ติดคุกอยู่สามสี่ปี ถามว่าทำไมไม่ประกันตัว ประกันตัวออกไปอาจจะถูกฆ่าตาย อยู่ในเรือนจำปลอดภัยกว่า นี่คือประเทศไทย และก็อีกมากมาย

กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ผิดพลาดเป็นเรื่องโหดร้าย

คนในประเทศเรายังไม่มีความเข้าใจต่อหลักอาชญวิทยาในเรื่องปัจจัยการกระทำความผิด ความจริงมีอะไรที่โหดร้ายกว่านั้นมาก มันมีการประหารนอกกฎหมายอยู่มากมายในประเทศเรา ปี 2547 ปี 2548 ผมเป็นผู้กำกับอยู่สถานีตำรวจ มีคนถูกฆ่านอกกฎหมายถึง 2,500 คนในช่วงเวลา 3 เดือน และอาจจะมากกว่านั้นถึง 5,000 คนที่ไม่เป็นข่าว คนส่วนใหญ่กลับเฉยๆ บางคนสะใจ ถ้ามารอสามศาลไม่ทันใจ แบบนี้ดีกว่า 2,500 ศพนี้ล้วนแต่เป็นคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดทั้งสิ้น

ในประเทศที่กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ เขาก็ยังยกเลิกโทษประหารชีวิต ผมคุยกับผู้พิพากษาผู้ใหญ่ ที่ไม่อยากพิพากษาประหารชีวิตเพราะไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ มีท่านหนึ่งบอกว่าเคยพิพากษาประหารชีวิตไปแล้ว กรมราชทัณฑ์ก็เอารูป เอาเอกสารมาให้เซ็นเพื่อยืนยันว่าถูกต้อง ประหารไปแล้วด้วย แกก็ยังไม่สบายใจจนทุกวันนี้ ไม่ค่อยแน่ใจ อย่าลืมว่าคำพิพากษาเป็นเรื่องสมมติ ไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าตราบใดยังไม่ได้ประหารชีวิต ผู้พิพากษาก็สบายใจว่าคนคนนั้นยังมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าประหารไปแล้ว พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีก็ช่วยอะไรไม่ได้ แม้ว่าจะไม่ห้าม เพราะญาติก็จะได้รับการชดเชย

กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ผิดพลาดเป็นเรื่องโหดร้าย ไม่ใช่เฉพาะคนที่ถูกลงโทษ ญาติพี่น้องก็ถูกตราหน้า ต่อให้อัยการสั่งไม่ฟ้องก็ตาม ทำอย่างไรเราจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศให้มีความเป็นวิทยาศาสตร์ แม่นตรง เชื่อถือได้

ส่วนโทษประหารในทัศนะของผม ในอนาคตก็ต้องยกเลิก จะช้าเร็วแค่ไหนก็ขึ้นกับความเข้าใจของผู้คนในสังคม โทษประหารเป็นสัญญาณของการอับจนทางความคิดว่าเราไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้ แล้วสังคมไทยกำลังเดินมาด้วยดีในการไปสู่แนวโน้มของการยกเลิกโทษประหาร

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลยกฟ้อง 14 คนงานเมียนมา ข้อหาหมิ่นฯ บ.ธรรมเกษตร ชี้ใช้สิทธิโดยสุจริตร้อง กสม.

Posted: 10 Jul 2018 11:49 PM PDT

ศาลยกฟ้อง 14 คนงานเมียนมา ข้อหาหมิ่นประมาท บ.ธรรมเกษตรฯ เหตุใช้สิทธิโดยสุจริตในการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน ให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิอันเป็นไปตามกฎหมายและสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี

ภาพจาก เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'NSP LEGAL Office

11 ก.ค.2561 สำนักกฎหมายเอ็น เอส พี รายงานผ่านเฟสบุ๊กแฟนเพจ 'NSP LEGAL Office' ว่า วันนี้ (11 ก.ค.61) ศาลแขวงดอนเมือง อ่านคำพิพากษาคดีระหว่าง บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องแรงงานข้ามชาติ จำนวน 14 คน เป็นจำเลย ฐานหมิ่นประมาท แจ้งข้อความอันเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยแบ่งเป็น 4 ประเด็น ดังนี้

ประเด็น การทำงานของจำเลยทั้ง 14  ฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 14 ทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน จริง โดยพิจารณาจากเอกสารที่แรงงานทั้ง 14 อ้างถึงซึ่งได้แนบไปพร้อมคำร้องเรียนต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณีรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพการทำงานที่ได้ไปให้การกับพนักงานตรวจแรงงาน ดังนั้นข้อความในหนังสือร้องเรียนที่แม้จะไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาพักผ่อนอย่างละเอียดจึงไม่ใช่การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือจงใจปกปิดข้อเท็จจริง

ประเด็นการทำงานล่วงเวลา ศาลพิจารณาว่า จำเลยมีการทำงานล่วงเวลาจริง เห็นจากรายการในบัตรลงเวลาการทำงานโดยเฉพาะในเดือน พค 59 ที่มีการระบุด้วยลายมือเเทนการลงเวลาในเครื่องอัตโนมัติว่า "เครื่องเสีย" ซึ่งศาลเห็นว่าหากโจทก์ไม่ให้จำเลยทำงานล่วงเวลาจริงก็ไม่จำเป็นต้องให้ลงเวลาในบัตรดังกล่าว ประกอบกับจำเลยรับว่าไม่ได้ห้ามไม่ให้จำเลยเข้าไปทำงานในเวลากลางคืน และพนักงานของ บ.บีฟูดส์ฯ ได้ให้การต่อพนักงานตรวจแรงงานฯว่าช่วงไก่อนุบาล จำเป็นต้องมีการทำงานในตอนกลางคืน จริงเป็นการให้การที่รับฟังได้

ประเด็นค่าจ้าง ศาลพิจารณาว่า โจทก์จ่ายค่าจ้างให้จำเลยต่ำกว่าอัตราจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด โดยพิจารณาจากการพิจารณาเอกสาร การสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานประกอบกับพิพากษาของศาลแรงงานที่สอดคล้องต้องกันในเรื่องของการจ่ายค่าจ้างว่าไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

ประเด็นเรื่องการยึดบัตร ศาลพิจารณาว่าแม้ กสม จะมีรายงานผลการตรวจสอบสรุปว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีที่แรงงานถูกยึดเอกสารและถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง แต่ศาลเห็นว่า กสม ไม่ได้พิจารณาว่าข้อความตามหนังสือร้องเรียนของจำเลยนั้นเป็นเท็จหรือไม่อย่างไรจึงยังไม่พอฟังว่าการร้องเรียนของจำเลยเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือหมิ่นประมาทโจทก์ เมื่อพิจารณาจากคำเบิกความของทั้งสองฝ่าย ศาลฟังได้ว่าแม้จำเลยจะสามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้แต่จะต้องขออนุญาตและขอหนังสือเดินทางจากพนักงานของโจทก์ล่วงหน้าและไม่สามารถเดินทางกลับในระหว่างที่มีไก่ในฟาร์มได้อีกทั้งโจทก์รับว่ามีเจ้าหน้าที่ของโจทก์ขับรถรับส่งจำเลยไปตลาดเพียงสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งอาจจะทำให้จำเลยรู้สึกว่าพวกตนถูกจำกัดเสรีภาพได้ ประกอบกับภาพถ่ายที่จำเลยอ้างส่งและเบิกว่าเป็นภาพถ่ายขณะลงลายมือชื่อรับเอกสารประจำตัวจากพนักงานของโจทก์โดยโจทก์มิได้นำพนักงานคนดังกล่าวมาเบิกความโต้แย้ง ประกอบกับพนักงานตรวจแรงงานได้เบิกความว่าได้ขอตรวจดูเอกสารประจำตัวของแรงงานต่อผู้แทนของโจทก์ซึ่งผู้แทนของโจทก์เป็นคนนำเอกสารดังกล่าวมาให้ดังนั้นจึงเชื่อว่าเอกสารของแรงงานทั้ง 14 มีผู้แทนของโจทก์ยึดไว้จริง

ดังนั้น ศาลจึงพิพากษายกฟ้องโจทก์เนื่องจากจำเลยใช้สิทธิโดยสุจริตในการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน เพื่อให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิอันเป็นไปตามกฎหมายและสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา มาตรา 329 (1)และพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีตามครรลองคลองธรรม 

 

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย เสนอรัฐทบทวน EIA โรงน้ำตาล-โรงไฟฟ้า ขอผู้ว่าฯตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริ

Posted: 10 Jul 2018 10:29 PM PDT

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย รวมตัวหน้าหมู่บ้านคัดค้านโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ยก 4 เหตุผลโต้รายงาน EIA เสนนรัฐบาลเร่งทบทวน พร้อมขอผู้ว่าฯ ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการมีส่วนร่วมของประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตรที่อาจได้รับผลกระทบ

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2561 เวลา 09.30 น.กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร กว่า 250 คน รวมตัวกันบริเวณปาทางสามแยกทางเข้าหมู่บ้านเชียงเพ็ง เพื่อคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล จากกรณีที่จะมีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.น้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ โดยเฉพาะโรงงานน้ำตาลนั้นกำลังดำเนินการก่อสร้างไปอย่างรวดเร็ว หลังจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ได้รับมติเห็นเห็นชอบจาก คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา และทางบริษัทได้ขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) โดยทางกระทรวงอุสาหกรรมได้อนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา

มะลิจิตร เอกตาแสง อายุ 57 ปี กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า การก่อสร้างโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล แม้จะเป็นการก่อสร้างในเขตพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ แต่ก็จุดที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ใน ต.เชียงเพ็ง และตำบลอื่นๆ ใน จ.ยโสธรซึ่งอยู่ในผลที่รัศมี 5 กิโลเมตร ที่อาจจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่กระบวนการที่ผ่านชุมชนที่อาจจะได้รับผลกระทบไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น การดำเนินการของภาครัฐและผู้ประกอบการดำเนินไปอย่างรวดเร็ว แม้ที่ผ่านมาทางกลุ่มจะได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อคัดค้านมาโดยตลอด

มะลิจิตร ระบุด้วยว่า รายงานEIA ที่ผ่านการพิจารณาไปแล้วนั้น มีความขัดแย้งกับข้อมูลของชุมชน อย่างน้อย 4 ประเด็นหลัก คือ

1.ในขั้นตอนของการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่พื้นที่รัศมี  กิโลเมตรที่อาจได้รับผลกระทบ ประชาชนไม่ได้ทีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

 2.ไม่มีการทำความตกลงและทำประชาคมกับชุมชนที่อยู่ในลำน้ำเซบายถึงการกำหนดระดับน้ำในการผันน้ำให้อยู่ในระดับที่ชุมชนยอมรับร่วมกันทั้งกลางน้ำ ปลายน้ำ และไม่มีการจัดประชุมประชาคมกลุ่มผู้ใช้น้ำและทรัพยากรในลำน้ำเซบายในประเด็นเรื่องการผันน้ำเข้าไปใช้ในโครงการ 2 ล้าน ลบ.ม./ปี ซึ่งโครงการจะมีแผนในการผันน้ำจากลำน้ำเซบายเข้าพื้นที่โรงงานน้ำตาลในช่วงฤดูน้ำหลาก ที่จะก่อให้เกิดการแย้งชิงทรัพยากรน้ำจากชุมชน

3. การดำเนินกิจการดังกล่าวขัดกับนโยบายจังหวัด การดำเนินการโครงการโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ถือว่าเป็นโครงการที่ขัดแย้งกับนโยบายแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ พ.ศ.2560 – 2564  โดยเฉพาะ จังหวัดยโสธรที่กำลังดำเนินการขยายพื้นที่ปลูกพืชอินทรีย์ การปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ หรือพืชอื่นๆ ที่เป็นพืชหมุนเวียน ซึ่งเป็นนโยบายของจังหวัดยโสธรเมืองแห่งวิถีอีสาน ซึ่งการดำเนินนโยบายของจังหวัดจะไม่มีผลกระทบต่อทรัพยากรดิน น้ำ ป่า

4.ความไม่เหมาะสมในการดำเนินโครงการเชิงพื้นที่ เพราะใกล้ชุมชน ใกล้แหล่งน้ำ แต่ถ้ามีโรงงานเกิดขึ้นจะนำมาซึ่งปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ปัญหามลพิษทางน้ำ ทางอากาศ ปัญหาการจราจร และอื่นๆ

สิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า การที่ชาวบ้านออกมาแสดงพลังในครั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านไม่เอาโรงงานน้ำตาล ไม่เอาโรงไฟฟ้าชีวมวล และไม่ยอมรับอีไอเอที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น  เนื่องจากชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร พื้นที่ตำบลอื่นและชาวบ้านที่อาศัยลำน้ำเซบายซึ่งอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรงงานอุตสาหกรรม ได้มีข้อเสนอ 2 ระดับดังนี้ คือ

1.ระดับนโยบาย เสนอให้ทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โรงงานน้ำตาลทราย บริษัทมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด (อำนาจเจริญ) และเสนอให้ ทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(SEA) ตลอดจนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลขั้นตอนกระบวนการได้มาซึ่งใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานน้ำตาล เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบ

2.ในระดับพื้นที่ เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงการมีส่วนร่วม ทรัพยากรชุมชน และสุขภาพ กรณีที่ชาวบ้านในรัศมี 5 กิโลเมตร ในพื้นที่ จ.ยโสธร คัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล

ติดตามความเคลื่อนไหว ประชาไท แอด LINE ไอดี @prachatai (มีแอทนำหน้า) และเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น